ฉบับที่ 262 เรื่องน่าผิดหวังแห่งปี

        เป็นธรรมเนียมประจำปีของ CHOICE องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียที่จะประกาศรางวัล Shonky Awards ให้กับสินค้าหรือบริการที่สร้างความผิดหวังให้ผู้บริโภคมากที่สุด มาดูกันว่าในปี 2022 หลังการระบาดของโควิดเริ่มคลี่คลาย มีผู้ประกอบการเจ้าไหนได้รางวัลนี้ไปเชยชมกันบ้าง          เริ่มจาก Qantas สายการบินแห่งชาติของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสายการบินที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด เพราะความคับข้องใจของลูกค้าที่ต้องเจอปัญหาเที่ยวบินล่าช้า (สถิติการตรงต่อเวลาของควอนตัสขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 70 แต่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีเที่ยวบินตรงเวลาเพียงร้อยละ 47 เท่านั้น) สัมภาระสูญหาย และความสับสนวุ่นวายขณะทำการเช็คอิน พวกเขาคิดแล้วไม่เข้าใจ อุตส่าห์ควักกระเป๋าจ่ายค่าตั๋วสำหรับ “สายการบินพรีเมียม” แต่ได้รับบริการไม่ต่างกับสายการบินต้นทุนต่ำ         แถมด้วยเรื่องเก่าที่เคลียร์ไม่จบจากยุคโควิด เมื่อผู้โดยสารที่ไม่สามารถเดินทางได้ในช่วงที่รัฐบาลจำกัดการเดินทางต่างก็ได้รับ “เวาเชอร์”​ ไว้ใช้ภายหลัง แต่กลับพบว่าตั๋วที่ใช้เวาเชอร์ซื้อได้นั้นมีราคาแพงกว่าปกติ ในขณะที่ “คะแนนสะสม” ของหลายคนก็ไม่ได้รับการต่ออายุทั้งที่ไม่มีโอกาสได้ใช้ในช่วงโควิด         แน่นอนว่าต้องมีคำถามจากลูกค้ามากมาย แต่สายการบินกลับไม่เตรียมการไว้รองรับ บางคนที่โทรไปคอลเซ็นเตอร์ของควอนตัส ต้องถือสายรอเกือบ 50 นาที บริษัทต้องปรับปรุงอีกมาก หากต้องการจะใช้สโลแกน “Spirit of Australia” ต่อไป         ตามด้วยผลิตภัณฑ์อาหารที่อ้างว่าคิดค้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ปกครองที่ลูกไม่ชอบกินผัก บริษัท Steggles ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไก่ ที่อยู่คู่กับออสเตรเลียมาเกือบร้อยปี ได้ปล่อยนักเก็ตไก่แช่แข็ง แบบ “ซ่อนผัก” ออกสู่ตลาด พร้อมฉลากที่ระบุว่ามีส่วนผสมของ “ผัก” ถึง ¼ ถ้วยหรือ 50 กรัม พร้อมรูปดอกกะหล่ำบนกล่อง คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายถูกใจยิ่งนัก แม้ต้องจ่ายแพงกว่านักเก็ตไก่ธรรมดา ก็ยอมเปย์        แต่สารอาหารที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์มีเพียง โปรตีน ไขมัน น้ำตาล และโซเดียม ทำให้ CHOICE เกิดข้อสงสัยจึงส่งตรวจวิเคราะห์หา “ความเป็นผัก” ในนักเก็ตดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีอยู่เพียงน้อยนิด และ “ผัก” ที่ว่านั้นส่วนใหญ่เป็นมันฝรั่ง (ร้อยละ 11) ส่วนดอกกะหล่ำตามรูปบนบรรจุภัณฑ์นั้นมีเพียงร้อยละ 3           หากคำนวณโดยนับรวมทั้งดอกกะหล่ำและมันฝรั่ง ปริมาณผักที่ได้ก็เป็นเพียงร้อยละ 20 ของปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน พูดง่ายๆ ถ้าจะกินให้ได้ปริมาณที่เพียงพอ เด็กต้องกินมากกว่าหนึ่งกล่อง ในขณะที่ข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัทระบุว่า หนึ่งกล่อง (ขนาด 400 กรัม) เหมาะสำหรับรับประทาน 4 คน           ต่อไปขอแนะนำให้รู้จักกับผลิตภัณฑ์เพื่อการหุงต้มที่ชื่อว่า Zega Digital หม้อต้มที่อ้างว่าใช้งานง่าย สะดวก ทันสมัย สั่งงานผ่านแอปพลิเคชันได้ แถมยังช่วยคุณประหยัดพลังงาน เพราะคุณสามารถปิดแก๊สก่อนอาหารสุกแล้วความร้อนในหม้อที่มีผนังสองชั้นทำหน้าที่ให้ความร้อนต่อไป         มันดีงามเสียจน CHOICE ต้องซื้อมาทดลองใช้ หลังจากทำตามคำแนะนำในคู่มือของบริษัท ทีมงานพบว่าทั้งไก่และผักยังไม่เข้าข่าย “สุก” และซอสก็ไม่เหนียวข้นอย่างที่ควรจะเป็น แต่ที่อันตรายอย่างยิ่งคือเขาพบว่าบริเวณตรงกลางของเนื้อสัตว์มีอุณหภูมิเพียง 66 องศาเซลเซียส (ซึ่งควรเป็น 75 องศา หรือสูงกว่า เพื่อความปลอดภัยจากจุลินทรีย์) และพวกเขายังต้องนำหม้อดังกล่าวไปตั้งเตาต่ออีก 90 นาที จึงจะได้อาหารสุกพร้อมรับประทานได้อย่างปลอดภัย ... ดูแล้วไม่น่าจะประหยัดทั้งเงิน ทั้งพลังงาน         ด้านบริษัทผู้ผลิตออกมาตอบโต้ว่าน่าจะเป็นเพราะทีมงานยังไม่คุ้นเคยกับการใช้ผลิตภัณฑ์สุดไฮเทคของเขามากกว่า และบริษัทได้ส่งคำแนะนำในการทำเมนูดังกล่าวให้กับองค์กรผู้บริโภคแล้ว         มาที่ผลิตภัณฑ์เงินกู้ซึ่งมีอยู่มากมายในออสเตรเลียกันบ้าง (คนออสซี่ก็เป็นหนี้มีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับห้าของโลก) ปีนี้ CHOICE ยินดีมอบรางวัลเจ้าหนี้ยอดแย่ให้แก่ VetPay บริการเงินกู้เพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลสัตว์เลี้ยง        มองเผินๆ บริการนี้คือความหวังของบรรดา “ทาส” ที่ไม่ได้ซื้อประกันสุขภาพให้กับสัตว์เลี้ยงของตัวเอง เพราะเบี้ยประกันแสนแพง แถมยังมีเงื่อนไขข้อยกเว้นอีกมากมาย โฆษณาของ VetPay กล่อมบรรดาทาสว่าพวกเขาจะมีโอกาสนำน้องแมว น้องหมา หรือน้องอื่นๆ ไปรับการรักษาแบบผ่อนส่งได้ ด้วยการจ่ายค่ารักษาให้กับคลินิกเบื้องต้นเพียงร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือก็ผ่อนชำระเป็นรายปักษ์กับบริษัทด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.4 พร้อมกับ “ค่าธรรมเนียมการผ่อนจ่าย” ทุกงวด งวดละ 2.5 เหรียญ ซึ่งลูกหนี้จะทราบข้อมูลเหล่านี้หลังจากได้สมัครเป็นสมาชิกรายปี และจ่ายค่าสมาชิกในอัตรา 49 เหรียญ (ประมาณ 1,200 บาท) แล้ว         เว็บไซต์ของบริษัทเขียนเอาไว้หล่อๆ ทำนองว่า เราเข้าใจคนรักสัตว์เป็นอย่างดี เราเป็นพันธมิตรกับคลินิกสัตวแพทย์ในการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ ช่วยให้เจ้าของตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมโดยมีข้อมูลประกอบ และยินดีเป็นตัวกลางระหว่างคลินิกกับเจ้าของสัตว์         แต่ในทางปฏิบัติแล้วดูเหมือนบริษัทกำลังหาประโยชน์จากเจ้าของสัตว์เสียมากกว่า  VetPay เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เงินกู้ที่แพงที่สุดที่ CHOICE เคยพบมาเลยทีเดียว         รางวัลสุดท้ายของปีนี้ CHOICE ขอมอบให้กับร้านดอกไม้ออนไลน์ Bloomex บริษัทสัญชาติแคนาดาที่มีสาขาในอเมริกาและออสเตรเลียด้วย บริษัทที่อ้างว่าได้สร้างรอยยิ้มให้ผู้คนไม่ต่ำกว่า 3.8 ล้านคนทั่วโลกมาแล้ว กลับทำให้คนออสซี่ได้แต่ยิ้มอ่อน        ปัญหานี้เรื้อรังยาวนานจนมีการตั้งกลุ่มใน facebook เพื่อการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวความผิดหวังจากบริการส่งดอกไม้และกระเช้าของขวัญดังกล่าวกันอย่างจริงจัง         มีเสียงเรียกร้องจากผู้บริโภคให้บริษัท “หยุดรับออเดอร์” หากไม่พร้อมหรือไม่มีความมั่นใจว่าสามารถจัดส่งดอกไม้ได้ตามกำหนดเวลา เพราะการรับออเดอร์เกินตัวทำให้เกิดความผิดหวังกันทั่วหน้า กรณีที่อุกอาจที่สุดคือกรณีของผู้หญิงคนหนึ่งที่สั่งซื้อช่อดอกไม้ “ขนาดใหญ่พิเศษ” หกช่อ ในราคา 325 เหรียญ (ประมาณ 7,700 บาท) ให้นำไปส่งในงานพิธีศพของคนรู้จัก ผ่านไปหนึ่งวันหลังงานจบ เธอเพิ่งจะได้รับดอกไม้ที่หน้าประตูบ้านในเวลาตีสอง และสิ่งที่เธอได้คือดอกเดซี่ช่อเดียว ในสภาพเหี่ยวสุดๆ         เมื่อโทรไปคอมเพลนและขอรับเงินคืน (เธอพยายามอยู่สองวันกว่าจะมีคนรับสาย) ก็ถูกพนักงานวางหูใส่ บริการอะไรกันนี่ ... ทั้งช้าและเฉา ไม่เข้ากับสโลแกน “เฟรช ฟาสต์ แอนด์แฟร์” ของบริษัทเอาเสียเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 จงทำให้ ‘เวลา’ อยู่ข้างเรา

        ปัจจัย 3 อย่างที่มีผลต่อการสะสมความมั่งคั่งให้งอกเงย ได้แก่ เงินต้น อัตราผลตอบแทน และเวลา หมายความว่าถ้าใครมีเงินตั้งต้นสำหรับลงทุนมากกว่า สร้างอัตราผลตอบแทนได้มากกว่า และมีเวลามากกว่า ก็จะสร้างความมั่งคั่งได้มากกว่า         มักจะพูดกันว่าแต่ละคนมีเงินตั้งต้นไม่เท่ากันตามแต่ต้นทุนชีวิต ส่วนอัตราผลตอบแทนถ้าอิงจากผลตอบแทนตามดัชนี set 50 ก็คงอยู่ราวๆ 8-10 เปอร์เซ็นต์ทบต้น นี่ไม่ได้พูดถึงการลงทุนชนิดหวือหวานะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พอจะทำให้คนที่มีเงินตั้งต้นไม่มากแต่สามารถสร้างความมั่งคั่งได้แบบไม่น้อยหน้านักก็คือ ‘เวลา’         วอร์เรน บัฟเฟตต์ (คนนี้อีกแล้ว) นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าสร้างผลตอบแทนต่อปีจากการลงทุนที่ 22 เปอร์เซ็นต์ทบต้น ตอนปี 2020 มีความมั่งคั่งสุทธิ 84,500 ล้านดอลลาร์ (พระเจ้าช่วย!!!) อันเป็นผลลัพธ์จากการที่เขาเริ่มลงทุนตั้งแต่อายุ 10 ขวบ (พระเจ้าช่วย!!!)        แค่บัฟเฟตต์ลงทุนช้ากว่านี้ไป 15 ปีหรือก็คือเริ่มลงทุนตอนอายุ 25 ปีซึ่งเป็นวัยเริ่มทำงาน ความร่ำรวยของเขาจะไม่สูงขนาดนี้ ตัวเลขจะต่างอย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว         เขาถึงพูดกันว่ายิ่งเริ่มต้นเร็วก็ยิ่งได้เปรียบไงล่ะ         เอาล่ะ ใช่ว่าเด็กอายุ 10 ทุกคนจะหมกมุ่นกับการลงทุนเหมือนบัฟเฟตต์ซะทีไหน เว้นเสียแต่พ่อแม่จะเก็บออมและลงทุนเตรียมไว้ให้ ซึ่งก็คงมีไม่มากนักหรอก แต่ท่านคุณเริ่มจัดการการเงินส่วนบุคคลตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน คุณก็มีโอกาสสูงที่จะเกษียณแบบรวยๆ         หมายความว่าตั้งแต่โรงเรียนถึงอุดมศึกษาจะต้องเตรียมองค์ความรู้ด้านการเงินส่วนบุคคลไว้ให้เนิ่นๆ         ปัญหาไม่ใช่แค่ว่าสถาบันการศึกษาไทยไม่สอนเรื่องนี้ แต่ยังอยู่ที่วินัยในการออมของแต่ละคนด้วย เพราะต่อให้มีความรู้ ถ้าไม่ลงมือทำก็ไร้ประโยชน์         มันอาจจำเป็นที่ต้องมีกลไกของรัฐเข้ามาช่วย อันที่จริงก็มีแล้วอย่างกองทุนการออมแห่งชาติสำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการและไม่ได้อยู่ในกองทุนประกันสังคม แต่มันก็ยังไม่ครอบคลุมและจำนวนเงินที่จะได้รับหลังเกษียณก็ไม่มากมาย         เคยมีพรรคการเมืองเสนอนโยบาย ‘หวยบำเหน็จ’ คือไหนๆ ชาวบ้านก็ซื้อหวยอยู่แล้ว เงินที่ซื้อแทนที่จะซื้อทิ้งๆ ก็เก็บเป็นเงินออมไปเลย เป็นนโยบายที่น่าสนใจ         ประเด็นคือนอกจากประชาชนจะเก็บออม ลงทุนด้วยตนเองแล้ว ถ้ารัฐสร้างกลไกการออมที่หลากหลายและสามารถรองรับคนได้ทุกกลุ่มตั้งแต่เริ่มทำงาน มันจะยิ่งช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินของประชาชนได้มาก         เมื่อรวมกับสวัสดิการอื่นๆ ที่ดีมีคุณภาพ คนไทยชีวิตดีแน่นอน...ว่าแล้วก็ตื่นจากฝัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 เรื่องยุ่งๆ ของซิลิโคนในครีมนวดผม

        สืบเนื่องจากข่าวเรื่อง ผลสำรวจฉลาก "ครีมนวดผม" ของนิตยสารฉลาดซื้อ พบว่าเจอสารซิลิโคนทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพเส้นผม เช่น ผมร่วง ได้นั้น (ติดตามรายละเอียดได้จากนิตยสารฉลาดซื้อฉบับที่ 257) ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางตามกฎหมายเรื่องเครื่องสำอางนั้น ได้ออกหนังสือชี้แจงว่า         “ผลิตภัณฑ์ครีมนวดผมมักใส่สารในกลุ่มซิลิโคน เช่น สารไดเมทิโคน (Dimethicone) เพื่อคุณสมบัติช่วยเคลือบเส้นผมทำให้เส้นผมนุ่มลื่น ไม่พันกัน โดยสารในกลุ่มซิลิโคนนี้ ประเทศไทยอนุญาตให้ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้โดยมิได้กำหนดเงื่อนไขและปริมาณการใช้เช่นเดียวกับกฎระเบียบสากลด้านเครื่องสำอาง และเนื่องจากครีมนวดผมมีน้ำเป็นส่วนผสม ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตง่าย จึงมีความจำเป็นต้องใส่สารกันเสีย โดยสามารถใช้สารกันเสียในครีมนวดผมมากกว่า 1 ชนิดได้อย่างปลอดภัยหากใช้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด...”          ดังนั้นทางนิตยสารฉลาดซื้อจึงขอนำเสนอเรื่องราวของ ซิลิโคน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ได้รับการเฝ้าระวังเพราะถูกใช้ในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เพื่อประกอบเป็นความรู้เพิ่มเติมให้กับผู้บริโภค โดย ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระได้ให้ข้อมูลว่า EU ได้กล่าวถึงการเตือนให้ระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบเป็น  silicone ชนิด cyclopentasiloxane (D5) ซึ่งมักมีการเจือปนที่ไม่ต้องการของ cyclotetrasiloxane (D4) (Cyclotetrasiloxane (D4) เป็นพิษต่อระบบการสืบพันธุ์ของมนุษย์และสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยมีผลกระทบระยะยาวที่คาดเดาไม่ได้)         Wikipedia ให้ข้อมูลพร้อมเอกสารอ้างอิงว่า สารประกอบซิลิโคนโดยเฉพาะ cyclic siloxanes D4 และ D5 เป็นสารก่อมลพิษในอากาศและในน้ำ และมีผลเสียต่อสุขภาพในสัตว์ทดลอง ใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลต่างๆ The European Chemicals Agency (สำนักงานเคมีภัณฑ์แห่งยุโรป) พบว่า "D4 เป็นสารที่ตกค้างยาวนาน สะสมทางชีวภาพและเป็นพิษ (PBT หรือ persistent, bioaccumulative and toxic) และ D5 เป็นสารที่ตกค้างยาวนานมากและสะสมในสิ่งมีชีวิตมาก (vPvB หรือ very bioaccumulative)"         ในปี 2015 คณะกรรมการวิทยาศาสตร์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค (SCCS) ของ EU  ระบุว่าระดับของ Cyclotetrasiloxane (D4) ที่เป็นสิ่งเจือปนของ Cyclopentasiloxane (D5) ควรถูกทำให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าต้องการใช้ D5 ในเครื่องสำอาง จากนั้นเมื่อต้นปี 2017 คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้เสนอให้ห้ามใช้ Cyclotetrasiloxane (D4) และ Cyclopentasiloxane (D5) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบบล้างออก โดยมีสารอย่างใดอย่างหนึ่ง 0.1% ขึ้นไป การห้ามนี้เมื่อเผยแพร่อย่างเป็นทางการจะครอบคลุมผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แชมพู ครีมนวด เจลอาบน้ำ ฯลฯ         ผู้ผลิตสินค้าจึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า Cyclopentasiloxane (D5) ที่ใช้ในการผลิตสินค้ามีความบริสุทธิ์สูงสุด (99%) และไม่มี Cyclotetrasiloxane (D4) พร้อมทั้งวางแผนที่จะปรับสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบบล้างออกด้วย Cyclopentasiloxane โดยลดปริมาณลงถึง 0.1% หรือโดยการแทนที่ด้วยซิลิโคนชนิดอื่น         รายงานฉบับสุดท้ายเรื่อง  the Opinion on decamethylcyclopentasiloxane (cyclopentasiloxane, D5) in cosmetic products ของ EU (รับรองในการประชุมเมื่อ 25 มีนาคม 2015) ให้ข้อมูลว่า SCCS (Scientific Committee on Consumer Safety) พิจารณาว่า การใช้ Cyclopentasiloxane (D5) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีความปลอดภัยในระดับความเข้มข้นที่รายงานได้ศึกษา ยกเว้นการใช้ในสเปรย์แต่งผมและผลิตภัณฑ์สเปรย์กันแดด         โดยแท้จริงแล้วการใช้ในสเปรย์แต่งผมและผลิตภัณฑ์สเปรย์กันแดดที่ความเข้มข้นสูงสุดที่ผู้ผลิตกำหนดในวิธีใช้และตามสมมติฐานที่ SCCS มีอยู่สรุปได้ว่า การสัมผัสกับ D5 อาจทำให้ความเข้มข้นของอากาศสูงกว่าค่าที่ SCCS พิจารณาว่า D5 อาจเป็นพิษเฉพาะที่ในตำแหน่งที่ถูกพ่น การสัมผัสกับ D5 ที่มาจากผลิตภัณฑ์สเปรย์สำหรับการจัดแต่งผมยังทำให้เกิดการสัมผัสรวมในระดับสูงซึ่งอาจนำไปสู่ความเข้มข้นในอากาศที่สูงกว่าค่าที่ SCCS พิจารณาว่าปลอดภัย ความคิดเห็นนี้ไม่ครอบคลุมถึงการใช้ Cyclopentasiloxane (D5) ในผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก             Cyclopentasiloxane (D5) อาจมีการปนเปื้อนของ Cyclotetrasiloxane (D4) ซึ่งในสหภาพยุโรปจัดว่า เป็นพิษต่อการสืบพันธุ์ ดังนั้นระดับการปนเปื้อนของ Cyclotetrasiloxane (D4) ใน Cyclopentasiloxane (D5) ควรต่ำที่สุด SCCS ทราบดีว่ามีการเสนอข้อจำกัดเกี่ยวกับ D4 และ D5 ในผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (personal care) ภายใต้ระเบียบการเข้าถึงอันเนื่องมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อม         ประเด็นคือ เครื่องสำอางในไทยยี่ห้อใดบ้างที่มีองค์ประกอบเป็น D5 และมี D4 (ปนเปื้อน) น่าจะเป็นสิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแล หรือนิตยสารฉลาดซื้อน่าจะได้มีการเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ค่าเฉลี่ยกับความมั่นคงด้านพลังงานและของชีวิต

        เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้จัดเสวนาเรื่อง “รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟฟ้าแพง ขัดรัฐธรรมนูญ?” (อย่าลืมอ่านเครื่องหมายคำถามด้วยนะ) โดยผมเองได้มีโอกาสกล่าวเปิดการเสวนาในครั้งนั้น จึงขอถือโอกาสนำมาเล่าให้ชาว “ฉลาดซื้อ” ฟังในบางประเด็นดังต่อไปนี้ครับ         เอาเรื่องรัฐธรรมนูญก่อนเลยครับ         รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 56 วรรคสอง กำหนดว่า “โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใด ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้”นอกจากนี้ ในมาตรา 72 วรรคห้า กำหนดว่า “ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า รวมทั้งพัฒนาและสนับสนุนให้มีการผลิตและการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน” เป็นที่น่าสังเกตว่า คำว่า “ความมั่นคงด้านพลังงาน” เป็นคำที่เพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2560 สองฉบับก่อนหน้านี้คือปี 2540 และ 2550 ยังไม่มีครับ         เท่าที่ผมติดตามความหมายของ “ความมั่นคงด้านพลังงาน” ค่อยๆ พัฒนามาอย่างต่อเนื่องโดยเริ่มต้นอย่างแคบๆ เช่น สามารถมีใช้ตลอดเวลา ราคาไม่แพง หากเป็นกรณีไฟฟ้าก็ต้องให้อุปสงค์กับอุปทานต้องเท่ากันตลอดเวลา เป็นต้น แต่ในระยะต่อมาความหมายเริ่มกว้างขึ้น เช่น มีมิติของความยั่งยืน ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำและมีความเป็นธรรม         ความจริงแล้วโลกรู้จัก “ความไม่มั่นคงด้านพลังงาน” ก่อนที่รู้จัก “ความมั่นคงด้านพลังงาน” เสียด้วยซ้ำ โดยเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่ประเทศกลุ่มโอเปค (OPEC) ขึ้นราคาน้ำมันดิบ 4 เท่าตัวในปี 2516  Evan Hillebrand ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (University of Kentucky Patterson School สหรัฐอเมริกา) ได้ให้ความหมายที่ลึกซึ้งมากว่า “ความมั่นคงทางพลังงานไม่ใช่แค่เรื่องความสำคัญของพลังงาน แต่เกี่ยวข้องกับว่าพลังงานมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติอย่างไร” ย้ำนะครับว่า มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติด้วย เหตุการณ์ประเทศรัสเซียถล่มโรงไฟฟ้าในประเทศยูเครนคงจะเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ได้อย่างดี มีคนสรุปว่า “ในช่วงที่อุณหภูมิหนาวจัดการทำลายโรงไฟฟ้าคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” มันสาหัสกว่าการทำลายความมั่นคงของชาติเสียอีก         ความมั่นคงด้านพลังงานไม่ใช่แค่หมายถึง (1) การมีพลังงานใช้ตลอดเวลา (2) ในราคาที่สามารถจ่ายได้และมีเสถียรภาพ แต่ยังคงหมายถึง (3) การพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย (4) มีการปล่อยคาร์บอนและมลพิษน้อย และ (5) มีความเป็นธรรม มีธรรมาภิบาลในการกำกับดูแล จากความหมายของศาสตราจารย์ Evan Hillebrand และความหมาย 5 ข้อข้างต้นพอสรุปได้ว่า “ประเทศใดไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีธรรมาภิบาล ประเทศนั้นไม่มีความมั่นคง” และน่าจะเป็นจริงกับเรื่องทั่วๆ ไปด้วย         ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 คนไทยจ่ายค่าไฟฟ้าทั้งประเทศคิดเป็นมูลค่า 3.65 แสนล้านบาท ซึ่งตอนนั้นค่าไฟฟ้ายังไม่ได้ขึ้นมากนัก ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี ค่าเอฟทีได้ขึ้นจาก 24.77 เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย (จำได้ใช่ไหมครับ)  ดังนั้นพอจะประมาณได้ว่า ค่าไฟฟ้าปี 2565 ทั้งปีน่าจะประมาณ 7.4-8.0 แสนล้านบาทซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีกิจการไฟฟ้า         คราวนี้มาถึงมาตรา 56 ที่พอสรุปให้กระชับได้ว่า การทำให้รัฐเป็นเจ้าของสาธารณูปโภค(ระบบการผลิตไฟฟ้า)น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้ แต่เนื่องจากระบบการผลิตไฟฟ้าประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนของโรงไฟฟ้าซึ่งนับถึงเดือนสิงหาคม 2565 มีจำนวน 53,030 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของรัฐหรือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ร้อยละ 32 ที่เหลือร้อยละ 68 ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนไปแล้ว ส่วนของโครงข่ายสายส่งเป็นของ กฟผ.ทั้ง 100%  และส่วนฝ่ายจัดจำหน่ายซึ่งเป็นของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงรวมกันเป็น 100%  การคิดความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของระบบไฟฟ้าว่าเป็นของรัฐหรือของเอกชนนั้น ควรจะคิดกันอย่างไร จะคิดรวมทั้งระบบทั้ง 3 ส่วน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้กรรมสิทธิ์ของรัฐก็น่าจะไม่น้อยกว่าร้อยละ 51    หรือจะคิดทีละส่วนๆ เพราะถือว่าหากส่วนใดส่วนหนึ่งไม่มีความมั่นคงก็ส่งผลให้ทั้งระบบก็ไม่มีความมั่นคงไปด้วย         ภาพบนเป็นภาพคนเอาเท้าข้างหนึ่งแช่น้ำเย็นอุณหภูมิลบ 60 องศาเซลเซียสซึ่งเย็นกว่าน้ำแข็ง เท้าอีกข้างหนึ่งแช่ในน้ำร้อนบวก 60 องศาเซลเซียส น่าจะพอลวกไข่ได้ เมื่อเป็นดังนี้ หากเราคิดตามหลักการหาค่าเฉลี่ยทางคณิตศาสตร์หรือทางสถิติ เราก็จะได้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของคนคนนี้ก็ยังเท่าเดิม คือ 37 องศาเซลเซียส  ทั้งๆที่ ในความเป็นจริงแล้ว เท้าทั้งสองข้างอาจจะเปื่อยพองไปแล้วก็ได้         สิ่งที่ผมยกมาเปรียบเทียบ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะครับ แต่มีคนเขียนเป็นหนังสือชื่อ How to lie with Statistics ขายดีด้วยทั่วโลก และมีคนแปลเป็นภาษาไทยว่า “วิธีปั่นหัวคนด้วยสถิติ”  ผมอธิบายเพิ่มเติมดังรูป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 Growth Mindset กับคนจน (2)

        มีหนังสือเล่มหนึ่งที่อยากแนะนำให้อ่านกัน ‘The Broken Ladder’ หรือชื่อไทยว่า ‘เมื่อบันไดหัก มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา’ โดย Keith Payne ของสำนักพิมพ์ Bookscape มันพยายามทำความเข้าใจว่าทำไม๊ทำไมคนจนถึงชอบทำตัวที่ดูยังไง๊ยังไงก็ไม่เป็นคุณกับชีวิตตัวเองเลย         ถ้าเราเอาเรื่อง Growth Mindset มาจับ มันก็ง่ายดีที่เราจะสรุปว่าคนจนไม่มี Growth Mindset เป็นพวก Fixed Mindset ไม่ยอมเรียนรู้ ไม่ยอมพัฒนาตัวเอง เอาแต่รอความช่วยเหลือ แถมที่ดูน่าหงุดหงิดคือทั้งที่เงินก็ไม่ค่อยจะมียังทำตัวแย่ๆ อย่างสูบบุหรี่ กินเหล้า ไม่เรียนหนังสือ แถมมีลูกเร็วอีกต่างหาก         Keith Payne เรียกว่า พฤติกรรมบั่นทอน สิ่งนี้แหละนำไปสู่ข้อสรุปอันหละหลวมที่ว่าคนจนก็เพราะทำตัวเอง         Keith Payne ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมบั่นทอนน่ะเป็นเรื่องจริง เห็นๆ กันอยู่ คนจนเองก็มีส่วนทำตัวเอง แต่ๆๆ ...“ความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อพฤติกรรมของเรา และความแตกต่างของพฤติกรรมแต่ละคนก็ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นได้”         ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำกว้างเป็นกาแล็กซี่ทางช้างเผือกแบบสังคมไทย มันส่งผลต่อพฤติกรรมของคนจนอย่างมีนัยสำคัญ มันคือผลของวิวัฒนาการและจิตใจ         คนจนไม่รู้หรอกว่าพรุ่งนี้จะเป็นยังไง จะมีกินมั้ย จะมีค่านม ค่าเทอมให้ลูกหรือเปล่า ต้องดิ้นรนทุกทางให้มีวันพรุ่งนี้ ความไม่มั่นคงนี้เองทำให้พวกเขาต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเฉพาะหน้ามากกว่าอนาคตที่ยังลูกผีลูกคน         คนจนมักถือคติว่า ‘ใช้ชีวิตให้เต็มที่ อีกไม่นานก็ตายแล้ว’ และ ‘ไม่มีอะไรจะเสีย’ เป็นคำที่ Keith Payne ใช้ ก็เพราะชีวิตพวกเขาเป็นเช่นนั้น         การพัฒนาตนเองน่ะเหรอ? การเรียนรู้น่ะเหรอ? การยอมรับความผิดพลาดและใช้เป็นบทเรียนน่ะเหรอ? มันต้องใช้ทั้งเวลาและเงินซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของพวกเขาเชียวนะ         การมี Growth Mindset น่าจะดีแหละ แต่บอกว่าคนจนเพราะไม่มี Growth Mindset ก็คงไม่ใช่เสียทีเดียว         Keith Payne ย้ำตลอดทั้งเล่มว่าความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อพฤติกรรม ความคิด ความเชื่อของคนเรา คนที่อยู่บนบันไดสถานะต่างกัน มีมุมมองต่อโลกและชีวิตต่างกัน         บางที Growth Mindset ควรต้องมีองค์ประกอบว่าด้วยความเข้าใจและการอยู่ร่วมกับความหลากหลายของผู้คนบนโลกทั้งด้านสถานะทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความคิด พฤติกรรม ฯลฯ รวมถึงการมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แทนที่จะเอาแต่เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 อากาศดีต้องมีได้

        มลภาวะทางอากาศเป็นอีกปัญหาระดับโลกที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน ทุกวันนี้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะอากาศที่ไม่สะอาด ไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคนต่อปี ในขณะที่ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5 หรือฝุ่นจิ๋ว) จากไอเสียรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ควันไฟจากการหุงต้มหรือการให้ความอบอุ่น รวมถึงพื้นที่ทะเลทรายที่เพิ่มขึ้นและไฟป่าที่รุนแรงขึ้นเพราะภาวะโลกร้อน ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มปริมาณขึ้น         เดือนกันยายนปี 2564 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศปรับเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ ลดเพดานค่าฝุ่นจิ๋วที่ยอมรับได้ลงมาที่ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง (จากเดิม 25 ไมโครกรัม)  การตรวจวัดโดย IQAir  บริษัทสัญชาติสวิสที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฟอกอากาศ พบว่ามีเพียง 222  เมืองจาก 6,475 เมือง ใน 117 ประเทศเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์องค์การอนามัยโลก แต่มีถึง 93 ประเทศที่มีอากาศที่เลวร้ายเกินเกณฑ์ถึงสิบเท่า           จากรายงานดังกล่าว ในบรรดา 50 เมืองที่อากาศเลวร้ายที่สุดในโลกในปี 2564 มีถึง 46 เมืองที่อยู่ในภูมิภาคอินเดียกลางและอินเดียใต้ โดยมีบังคลาเทศรั้งตำแหน่งประเทศที่อากาศเป็นพิษที่สุดในโลก ด้วยค่าฝุ่นจิ๋ว 76.9 ไมโครกรัมต่อหนึ่งลูกบาศก์เมตร ประเทศอื่นในอันดับต้นๆ ได้แก่ แชด ปากีสถาน ทาจิกิสถาน อินเดีย โอมาน คีร์กีสถาน บาห์เรน อิรัก และเนปาล         ส่วนประเทศที่อากาศสะอาดที่สุดคือ นิวคาลิโดเนีย ซึ่งเป็นเกาะในทะเลแปซิฟิกใต้ (ค่าฝุ่นจิ๋ว 3.8 ไมโครกรัมต่อหนึ่งลูกบาศก์เมตร) ตามด้วยเวอร์จินไอแลนด์ เปอโตริโก เคปเวิร์ด ซาบา ฟินแลนด์ เกรนาดา บาฮามาส์ ออสเตรีย และเอสโตเนีย         อย่างไรก็ตาม บริษัท IQAir บอกว่าปัจจุบันเขายังไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศครอบคลุมทั่วทุกประเทศ จึงอาจมีเซอร์ไพรส์เกิดขึ้นได้ทุกปี เช่น ก่อนปี 2564 ไม่เคยมีชื่อประเทศแชดปรากฏ แต่เมื่อมีสถานีตรวจวัด ประเทศนี้คว้าอันดับประเทศที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดอันดับสองของโลกไปเลย          เมืองหรือประเทศที่ประสบปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศ มีแผนลดมลพิษหรือควบคุมมาตรฐานอากาศกันอย่างไร เราลองไปสำรวจกัน         เริ่มจากฟินแลนด์ซึ่งเป็นแชมป์โลกด้านอากาศสะอาด ก็ยังมีค่าฝุ่นจิ๋วเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ (ค่าฝุ่นจิ๋วของฟินแลนด์คือ 5.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และในเขตตัวเมืองเฮลซิงกิก็ยังคงมีไนโตรเจนไดออกไซด์เกินมาตรฐานถึงสามเท่า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคหัวใจ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจอันมีสาเหตุมาจากมลภาวะปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย      เทศบาลเมืองร่วมกับมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ องค์กรกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาของเมือง ได้ริเริ่มโครงการ HOPE (Healthy Outdoor Premises for Everyone) ที่ให้ประชากรมีส่วนร่วมติดตามคุณภาพอากาศในพื้นที่กลางแจ้ง โดยอาสาสมัครอย่างน้อย 150 คนจะพกอุปกรณ์ตรวจวัดติดตัวไปด้วยตามเส้นทางที่ใช้ประจำวัน มหาวิทยาลัยเชื่อว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะเก็บข้อมูลได้แม่นยำที่สุดในโลก         ส่วนประเทศที่คุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในยุโรปอย่างโปแลนด์ ซึ่งมีถึง 36 เมืองที่ติดอันดับ “เมืองอากาศแย่ที่สุด 50 เมืองในยุโรป” และมีประชากรเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะมลพิษทางอากาศมากถึง 47,000 คนทุกปี ก็กำลังรณรงค์อย่างจริงจัง รวมถึงออกมาตรการจำกัดการใช้ถ่านหินและการใช้ฟืนหุงต้มหรือสร้างความอบอุ่น และมีแผนเพิ่มการติดตั้งเซนเซอร์ให้ทั่วถึงเพื่อให้เอื้อต่อการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายด้วย          โปแลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่มีการทำเหมืองถ่านหินมากที่สุดในยุโรปรองจากเยอรมนี ยังพึ่งพาถ่านหินเป็นหลักในอุตสาหกรรมต่างๆ ในขณะที่บ้านเรือนทั่วไปก็ยังใช้เตาผิงแบบดั้งเดิมเพื่อให้ความอบอุ่นด้วย         ในภาพรวมสหภาพยุโรปซึ่งมีประชากรประมาณ 450 ล้านคน กำลังผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการจำกัดปริมาณฝุ่นจิ๋วภายในปี 2573 และตั้งเป้าว่าภายในปี 2593 จะต้องไม่มีสารก่อมลพิษในอากาศเลย  เป้าหมายนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ผู้คนต้องกลับไปพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลกันมากขึ้น         ข้ามทวีปไปอเมริกาใต้เพื่อดูความพยายามของโบโกตา เมืองหลวงของโคลัมเบียกันบ้างพิษส่วนใหญ่ของโบโกตาซึ่งมีประชากร 500,000 คน มาจากการเดินทางขนส่ง (ที่เหลือเป็นควันจากไฟป่าในประเทศข้างเคียง)         คลอเดีย โลเปซ นายกเทศมนตรีของโบโกตาประกาศตั้งเป้าว่าโบโกตาจะลดมลภาวะลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 10 ภายในปี 2567 โดยมีแผนเปลี่ยนรถเมล์ทั้งหมดให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้า 100% เพื่อให้ระบบขนส่งสาธารณะของเมืองนี้เป็นระบบที่สะอาดที่สุดในโลก         เมื่อต้นปี 2565 โบโกตามีรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการรวม 655 คันในหกเส้นทาง และจากคำนวณพบว่าการมีรถเมล์จำนวนดังกล่าววิ่งรับส่งผู้โดยสารในเมืองสามารถทำให้อากาศสะอาดขึ้นเทียบได้กับการปลูกต้นไม้ 148,000 ต้น ทางเมืองจึงมีแผนจะจัดหารถดังกล่าวมาให้บริการเพิ่มอีก 830 คันภายในสิ้นปี และโบโกตายังประกาศจะเป็นเมืองที่มีรถเมล์พลังงานไฟฟ้าให้บริการมากที่สุดในโลกรองจากจีนด้วย         มาที่กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ โซลเผชิญกับมลภาวะที่เข้าขั้นวิกฤตเช่นกัน งานวิจัยคาดการณ์ว่าหากไม่มีการลงมือแก้ไขโดยด่วน ประชากรกว่า 10 ล้านคนในมหานครแห่งนี้จะมีอายุสั้นลง 1.7 ปี        นอกจากไอเสียจากรถยนต์แล้ว กรุงโซลและอีกหลายพื้นที่ในเกาหลีใต้ยังได้รับผลกระทบจาก “ฝุ่นเหลือง” ที่เคยเชื่อกันว่าถูกพัดพามาจากทะเลทรายในจีนและมองโกเลีย แต่ต่อมีการศึกษาที่ยืนยันว่ามีฝุ่นเหลืองจากเขตอุตสาหกรรมของเกาหลีมากกว่าที่พัดมาจากประเทศจีนด้วยซ้ำ ที่สำคัญเกาหลีใต้ยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 61 โรง ที่ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าสนองร้อยละ 52.5 ของความต้องการไฟฟ้าในประเทศ         แผนรับมือของเกาหลีใต้เริ่มจากการประกาศเพิ่มจำนวนสารอันตรายควบคุมในอากาศเป็น 32 ชนิด (จาก 18 ชนิดในกฎหมายฉบับก่อนหน้า) เมื่อปี 2563 นอกจากนี้ยังมีกฎหมายห้ามรถเครื่องยนต์ดีเซลเข้ามาวิ่งในเขตเมือง ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป และรัฐบาลเกาหลีใต้ยังได้ร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการทำฝนเทียมเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นเหลือง และร่วมมือกับเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์วัดคุณภาพอากาศ ที่สามารถซอกแซกเข้าไป “ตรวจ”​ โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก โดรนตรวจการณ์พื้นที่ชายฝั่ง รวมถึงใช้ดาวเทียมของตัวเองในการตรวจวัดคุณภาพอากาศให้บ่อยขึ้น และตรวจวัดปริมาณสารก่อมลพิษถึง 7 ชนิด        กรุงเทพมหานครที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของประชากรไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนของเรานั้น ตามแผน  “Green Bangkok 2030” ที่ประกาศไว้เมื่อปี 2562 เราได้ให้คำมั่นไว้ว่ากรุงเทพฯ จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประชากร จาก 7.30 ตารางเมตรต่อคน เป็น 10 ตารางเมตรต่อคนภายในปี 2573 และพื้นที่เหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงได้จากที่อยู่อาศัยในระยะไม่เกิน 400 เมตร หรือใช้เวลาเดินไม่เกิน 5 นาทีด้วย แผนนี้เน้นไปที่ “เครื่องฟอกอากาศ” เป็นหลัก ยังต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะมีกฎระเบียบหรือนโยบายใหม่ๆ ออกมาเพื่อจัดการกับต้นตอของมลพิษในเมือง    https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-03-22/every-country-is-flunking-who-air-quality-standard-report?leadSource=uverify%20wallhttps://thecitizen.plus/node/51769https://thl.fi/en/web/thlfi-en/-/the-tightened-recommendations-for-air-quality-by-who-pose-new-challenges-even-to-finlandhttps://innovationorigins.com/en/selected/helsinki-citizens-help-measuring-air-pollution/https://www.unep.org/news-and-stories/story/five-cities-tackling-air-pollutionhttps://bogota.gov.co/en/international/2023-bogota-will-have-biggest-electric-fleet-after-chinahttps://www.koreatimes.co.kr/www/world/2022/11/501_338651.htmlhttps://www.privacyshield.gov/article?id=Korea-Air-Pollution-Control

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 Growth Mindset กับคนจน (1)

        ยุคนี้ใครๆ ก็ต้องพูด Growth Mindset ทั้งผู้บริหาร นักการศึกษา จนถึงไลฟ์โค้ช คำนี้มีที่มาจากหนังสืออันโด่งดังของด็อกเตอร์ Carol Dweck ที่ชื่อว่า ‘Mindset’         ด็อกเตอร์ Carol แบ่ง Mindset เป็น 2 แบบคือ Fixed Mindset กับ Growth Mindset อธิบายง่ายๆ ได้ว่าคนที่มีความคิดแบบ Fixed Mindset จะมองว่าทุกสิ่งอย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่อยากผิดพลาด ไม่อยากเรียนรู้จึงไม่พยายาม         ส่วน Growth Mindset ตรงข้าม คือเชื่อว่าคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ พัฒนาตัวเองและชีวิตให้ดีขึ้นได้ ชอบที่จะเรียนรู้และไม่กลัวความผิดพลาด เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ เสมอเพราะเชื่อว่ามันคือหนทางก้าวไปข้างหน้า        ถ้าว่ากันด้วยนิยามนี้ คนที่มี Growth Mindset ย่อมมีโอกาสมากกว่าในชีวิต         ในเรื่องทางการเงินก็เช่นกัน Growth Mindset ช่วยส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จทางการเงินได้มากกว่า เพราะคนที่มี Growth Mindset ใส่ใจกับการเรียนรู้และการเรียนรู้เป็นการลงทุนในตัวเองเบื้องต้นที่สำคัญที่สุด มุ่งมั่นพัฒนาตนเองด้วยความเชื่อว่าชีวิตสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้         คนที่มี Growth Mindset รู้ว่าควรตั้งเป้าหมายให้ชีวิตอย่างไร เป็นเป้าหมายที่สมเหตุสมผลและมีความเป็นไปได้ วัดผลได้ มีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน และเป็นระบบ         คนที่มี Growth Mindset ล้มเหลวและผิดพลาดได้เหมือนคนอื่นๆ แต่พวกเขาจะลุกขึ้นเร็ว มองความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนวิธี และนำไปพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในครั้งต่อๆ ไป        คนที่มี Growth Mindset สนใจการลงมือทำมากกว่าการบ่นหรือโทษคนอื่น ไม่รอให้ทุกอย่างพร้อมหรือรู้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นไปไม่ได้ แต่จะทำเต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์เท่าที่ตัวเองพร้อมและรู้ในขณะนั้นๆ ไม่รอโอกาส แต่วิ่งเข้าหาโอกาส และกล้าเสี่ยง เพราะต้องไม่ลืมว่าการไม่เสี่ยงเลยคือความเสี่ยงอย่างหนึ่ง         ถ้าคุณอยากจะพัฒนา Growth Mindset ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองต่อสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งมีให้อ่านเยอะแยะมากมายบนอินเตอร์เน็ต เช่น การยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตนเอง (และของคนอื่น) เพราะมันจะทำให้คุณตระหนักว่าคุณต้องทำผิดพลาดแน่ๆ ในสักวัน ฉะนั้นอย่าไปกังวลมาก แค่เปิดรับประสบการณ์ ทดลองทำสิ่งที่ไม่เคยคิดหรือไม่เคยกล้าทำ อย่างการลงทุน คุณอาจเริ่มลงทุนจำนวนน้อยๆ กับกองทุนที่ศึกษามาแล้ว เป็นต้น         แต่เรื่องนี้จะหักมุมตอนท้าย เป็นไปได้หรือที่เราจะทำให้คน 7 พันล้านคนบนโลกมี Growth Mindset แล้วคนที่ประสบความสำเร็จซึ่งมักจะวัดด้วยตัวเงินคือคนที่มี Growth Mindset คนจนที่มีพฤติกรรมน่าหงุดหงิดในสายตาชนชั้นกลางล่ะ เพราะพวกเขามี Fixed Mindset หรือมันมีปัจจัยอื่นอีกที่ทำให้เขาเป็นแบบนั้น         ...มาดูกันฉบับหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ตามดูการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่ม APEC

        เนื่องจากในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) เรามาตามดูการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มสมาชิกซึ่งมีจำนวน 21 สมาชิก (บางสมาชิกไม่ได้เป็นประเทศ)         ผมได้รวบรวมข้อมูลในปี 2015 และปี 2021 เพราะว่าในปี 2015 เป็นปีที่มีข้อตกลงปารีสเพื่อให้ประเทศต่างๆช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่วนใหญ่ก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ก๊าซนี้คือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนและภัยพิบัติต่างๆ ตามมา แล้วก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่ก็มาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคพลังงานและการขนส่งเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้นก็คือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั่นเอง         จำนวนประชากรของกลุ่มเอเปกมีประมาณ 37% ของโลก แต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันถึง 60% ของโลก ดังนั้น หากประเทศใดมีร้อยละของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2015 กับ 2021 เพิ่มขึ้นมากก็แสดงว่าประเทศนั้นๆให้ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติด้วยดี เรามาดูกันเลยครับ        จากข้อมูลในรูปข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า ในปี 2015 ของประเทศไทยปล่อยมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเล็กน้อย แต่พอถึงปี 2021 กลับต่ำกว่า ในขณะที่ประเทศเวียดนาม เริ่มจากเกือบศูนย์(มากไม่เห็นในรูป) จนพุ่งปรี๊ดถึง 10.53%  ในช่วงเวลาเดียวกัน         ความจริงดังกล่าวได้สะท้อนว่ารัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นรัฐบาลเดียวที่อยู่มาตลอดนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาโลกร้อนขององค์การสหประชาชาติเท่าที่ควร         นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นการลดการพึ่งพิงพลังงานจากต่างประเทศซึ่งมีราคาผันผวนเป็นอย่างมากนับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นต้นมา         อนึ่ง เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรีที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ออกมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมให้มีการใช้โซลาร์เซลล์บนหลังคาประชาชน โดยใช้ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า หรือ Net Metering  หากมติดังกล่าวได้รับการปฏิบัติจริง ผู้บริโภคจะสามารถลดภาระค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกหลายสตางค์ต่อหน่วยในงวดถัดไป การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านในประเทศไทยก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศออสเตรเลียซึ่งติดไปแล้วกว่า 3 ล้านหลังคา ทั้งๆ ที่มีจำนวนประชากรไม่ถึงครึ่งของประเทศไทย         จึงขอฝากให้ผู้บริโภคช่วยกันติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องปากท้องของผู้บริโภคที่นับวันจะชักหน้าไม่ถึงหลังแล้ว ยังจะช่วยลดภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับ 259 มาตัดยอดค่าไฟฟ้าแพงด้วยโซลาร์เซลล์บนหลังคากันเถอะ

ดังที่เราทราบกันดีแล้วว่า ในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคมปีนี้ค่าไฟฟ้าได้ขึ้นราคาไปแล้ว ด้วยเหตุผลว่าค่าเชื้อเพลิงซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซธรรมชาติขึ้นราคา โดยค่า Ft ได้ขึ้นจาก 24.77 เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย  และมีแนวโน้มที่ค่อนข้างแน่นอนว่าในช่วง 4 เดือนถัดไปของปี 2566 จะต้องขึ้นราคาอีก         ที่ผมใช้คำว่าค่อนข้างแน่นอนก็เพราะว่า ผลการคำนวณค่า Ft ในรอบ 4 เดือนสุดท้ายของปี 2565 จะต้องขึ้นเป็น 2 บาทกว่าต่อหน่วย ไม่ใช่ 93.43 สตางค์ แต่ที่ลดลงมาแค่นี้ก็เพราะรัฐบาลได้ผลักภาระชั่วคราวไปให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับไปก่อน ส่งผลให้ กฟผ.เป็นหนี้กว่า 8 หมื่นล้านบาท ต่อให้ราคาก๊าซฯกลับมาเป็นปกติ กฟผ.ก็ต้องเก็บเงินจากผู้บริโภคมาคืนอยู่ดี ค่าไฟฟ้าจึงไม่มีทางจะถูกลงในช่วงสั้นๆ         หากมองในช่วงยาว ๆ รัฐบาลได้อนุมัติให้ ปตท.ลงทุนก่อสร้างระบบนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมีราคาแพงมาก ปัญหากิจการพลังงานไฟฟ้าไทยจึงค่อยๆรัดคอผู้บริโภคให้แน่นขึ้นๆ ค่าไฟฟ้าก็จะแพงขึ้นและแพงขึ้น ทั้งๆที่มีหนทางอื่นที่จะทำให้ถูกลงได้แต่รัฐบาลไม่เลือก         นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่สำคัญอื่นๆอีก ซึ่งผมจะไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่ขอมาชวนผู้บริโภคคิดเพื่อการพึ่งตนเอง ด้วยการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตนเอง         เรามาดูค่าไฟฟ้าในบ้านเรากันก่อนครับ ซึ่งปกติผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ดู แต่เราชอบบ่นว่าค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งก็เป็นความจริง ถ้าเราหยุดอยู่แค่นี้ก็จะไม่มีอะไรดีขึ้น  แต่ถ้าเราสามารถค้นพบความจริงที่เราสามารถลงมือแก้ไขด้วยตนเองได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี         จากข้อมูลในตาราง(ดังภาพ) พบว่าค่าไฟฟ้าประเภทผู้อยู่อาศัยเป็นอัตราก้าวหน้า นั้นคือยิ่งใช้มากอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยยิ่งแพงขึ้น  จากภาพอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับหน่วยที่ 401 ขึ้นไปจะเท่ากับ 5.73 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)         จากการสอบถามเพื่อนๆที่เดินออกกำลังกายด้วยกันพบว่า แต่ละบ้านก็ใช้ไฟฟ้าเกิน 400 หน่วยต่อเดือน บางรายมากกว่า 600 หน่วยถึง 700 หน่วย ดังนั้น หากมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา จะทำให้ยอดจำนวนการใช้ไฟฟ้าของบ้านนั้นลดลงมา ส่วนที่ลดลงจะเป็นส่วนที่มีอัตราค่าไฟฟ้าสูง ผมขอสมมุติว่าอัตราค่าไฟฟ้าส่วนที่เป็นยอดเท่ากับ 5.60 บาทต่อหน่วย เรามาดูกันว่า ผลจากการติดโซลาร์เซลล์จะคุ้มทุนภายในกี่ปี วิธีการคิดจุดคุ้มทุนอย่างง่าย         เนื่องจากผลตอบแทนจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีหลายปัจจัย เช่น ต้นทุนซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของอุปกรณ์ที่ใช้ ได้แก่ แผงโซลาร์ อินเวิตเตอร์ อุปกรณ์ยึด สายฟฟ้า ค่าการติดตั้ง จำนวนกิโลวัตต์ที่ติด ทิศทางการรับแสง ระยะเวลาและเงื่อนไขการประกัน เป็นต้น        สมมุติว่า ขนาด 3 กิโลวัตต์ ราคารวม 125,000 บาท (สมมุติว่าเท่ากับ A บาท) สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,300 หน่วยต่อกิโลวัตต์ ตลอด 25 ปี สามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 97,500 หน่วย (สมมุติว่าเท่ากับ B)         ดังนั้น ต้นทุนเฉลี่ยของค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้ตลอด 25 ปี เท่ากับ A หารด้วย B ซึ่งเท่ากับ 1.28 บาทต่อหน่วย โดยไม่คิดค่าดอกเบี้ยจากการลงทุน ไม่คิดค่าสึกหรอและการบำรุงรักษาซึ่งมีน้อยมาก         คราวนี้มาคิดเรื่องจุดคุ้มทุน สมมุติว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้เองไปแทนที่ค่าไฟฟ้าที่เราต้องซื้อจากการไฟฟ้า 5.60 บาทต่อหน่วย มูลค่าดังกล่าวเท่ากับ 21,840 บาทต่อปี (สมมุติว่าเท่ากับ C) ระยะเวลาคุ้มทุนจะเท่ากับ A หารด้วย C ซึ่งเท่ากับ 5.7 ปี หรือ 5 ปี 8 เดือน  โดยที่การใช้งานได้นานอีก 19 ปีกว่า ถ้าคิดเป็นผลตอบแทนต่อปีก็ประมาณ 13%  ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในขณะนี้ไม่ถึง 1%         ที่ผมนำมาคิดทั้งหมดนี้เป็นเรื่องการลงทุนอย่างเดียว แต่เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์เป็นการลดภาวะโลกร้อน ลดมลพิษทางอากาศ ลดน้ำเสีย เพิ่มการจ้างงาน ซึ่งทั้งโลกกำลังวิกฤต  สนใจไหมครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 เมื่อโลกเผชิญวิกฤติอาหาร

        องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติร่วมกับ World Food Program องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารกับผู้ที่ขาดแคลน คาดการณ์ว่าในช่วงกลางปี 2022 มีผู้คนไม่ต่ำกว่า 222 ล้านคนใน 53 ประเทศ ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ในจำนวนนี้มีถึง 45 ล้านคน ใน 37 ประเทศที่ “ใกล้อดตาย” โดยหกประเทศที่น่าเป็นห่วงที่สุดได้แก่ อัฟกานิสถาน เยเมน โซมาเลีย เอธิโอเปีย ซูดานใต้ และไนจีเรีย ในโซนเอเชียแปซิฟิกยังมีศรีลังกาและปากีสถานที่น่ากังวลเช่นกัน         การขาดแคลนอาหารหรือภาวะอดอยากหิวโหยในประเทศเหล่านี้เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ หรือการขาดเสถียรภาพทางการเมือง แต่ปัจจุบัน ภาวะโลกร้อน การระบาดของโควิด19 รวมถึงสงครามยืดเยื้อระหว่างสองประเทศผู้ส่งออกอาหารและปัจจัยการผลิตรายใหญ่ของโลกอย่างรัสเซียและยูเครน กำลังทำให้ประเทศอื่นๆ ต้องเตรียมรับมือกับ “ความไม่มั่นคงทางอาหาร” เช่นกัน         ประเทศจีนเตรียมรับมือกับวิกฤติอาหารตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาดหรือสงครามด้วยซ้ำ ความมั่นคงทางอาหารเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงย้ำเรื่องนี้ออกทีวีอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่ขอให้เลิกกินทิ้งกินขว้าง ประกาศว่า “อาหารของคนจีน ต้องผลิตโดยคนจีนและเป็นเจ้าของโดยคนจีน” และมอบหมายให้ทุกคนในประเทศ (ประมาณ 1,400 ล้านคน) ร่วมกันสร้างความมั่นคงทางอาหาร          แต่จีนก็จะยังต้องพบกับความท้าทายอีกมากในช่วงสิบปีข้างหน้า ทั้งจากภัยแล้งรุนแรงที่ทำให้ผลผลิตตามฤดูกาลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ในขณะที่ประชากรที่มีรายได้มากขึ้น ก็มีความต้องการบริโภคมากขึ้นด้วย มีการคาดการณ์กว่าในอีกแปดปีข้างหน้า ความสามารถในการผลิตอาหารของจีนจะอยู่ที่ร้อยละ 58.8 ของความต้องการในประเทศเท่านั้น         ที่ผ่านมาจีนได้ปฏิรูปสิทธิในที่ดินทำกิน ยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร ลงทุนในเทคโนโลยีประหยัดน้ำ และเทคโนโลยีการผลิตอาหาร รวมถึงเพิ่มการผลิตเมล็ดพันธุ์ กระทรวงเกษตรและการชนบทของจีนระบุว่าได้เปิดกิจการเมล็ดพันธุ์เพิ่มอีก 116 แห่ง (จากที่เคยมีอยู่ 100 แห่ง) นอกจากนี้ทั้งรัฐบาลและเอกชนของจีนยังออกไปกว้านซื้อที่ดินและกิจการผลิตอาหารในต่างประเทศด้วย         มาดูที่อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสองของโลกกันบ้าง รัฐบาลกังวลว่าจะมีข้าวไม่พอต่อความต้องการของประชากร 1,380 ล้านคนในประเทศ เพราะปีนี้ผลผลิตข้าวลดลงไปประมาณ 10 – 12 ล้านตัน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อินเดียประกาศห้ามส่งออก “ปลายข้าว” ซึ่งเป็นข้าวที่มีราคาถูกกว่าและเป็นทางเลือกให้กับคนรายได้น้อย (ที่ผ่านมาปลายข้าวจะมีผู้รับซื้อจากต่างประเทศเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์) นอกจากนี้ยังเรียกเก็บภาษีร้อยละ 20 จากข้าวบางชนิดที่ส่งออกด้วย เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อ “ลูกค้า” ของอินเดีย (ปัจจุบันมี 133 ประเทศ) กลุ่มที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่คาดหวังว่าจะซื้อข้าวได้ในราคาถูกด้วย         มาตรการลักษณะนี้อาจกลายเป็น “นิวนอร์มอล” เพราะภาวะอากาศสุดขั้วและฝนฟ้าที่คาดเดาไม่ได้ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของอินเดียไม่มีเหลือเฟือเหมือนที่เคย สองวันหลังประกาศว่าจะส่งออกข้าวสาลีให้ได้ 10 ล้านตันในปีนี้ อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีอันดับสามของโลกรองจากรัสเซียและยูเครน ก็กลับลำ ประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลีโดยให้มีผลทันที (ยกเว้นในบางประเทศ) และอินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับสองของโลกยังประกาศจำกัดการส่งออก เพื่อให้มีน้ำตาลเพียงพอต่อความต้องการในประเทศด้วย         ด้านยุโรปก็เตรียมรับมือกับภาวะขาดแคลนอาหารในช่วงฤดูหนาวเช่นกัน สืบเนื่องจากมาตรการแก้เผ็ดกลุ่มประเทศตะวันตกด้วยการปิดท่อส่งก๊าซของรัสเซีย         สหภาพเกษตรกร Copa-Cocega บอกว่าผลิตภัณฑ์เบเกอรีและผลิตภัณฑ์จากนมวัวจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะขั้นตอนการพาสเจอไรส์และการทำนมผงต้องใช้พลังงานมหาศาล ราคาเนยจึงแพงขึ้นร้อยละ 80 ในขณะที่นมผงก็แพงขึ้นร้อยละ 55         ขณะที่เนเธอแลนด์ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ ก็ประกาศหยุด/ลด การปลูกผัก ผลไม้ และดอกไม้ ในโรงเรือน เนื่องจากต้นทุนพลังงานในฤดูหนาวปีนี้แพงเกินไป เช่นเดียวกับ Nordic Greens Trelleborg ผู้ปลูกมะเขือเทศรายใหญ่สุดของสวีเดน ที่ยอมรับว่าหน้าหนาวปีนี้จะไม่มีผลผลิตมะเขือเทศออกสู่ตลาดเพราะ “สู้ค่าไฟไม่ไหว”           สถานการณ์นี้อาจทำให้ยุโรปกลับไปใช้แผนดั้งเดิม นั่นคือยุโรปเหนือจะไม่ผลิตพืชผักนอกฤดูกาล แต่จะยกให้เป็นหน้าที่ของแหล่งผลิตในยุโรปใต้ เช่นสเปน ซึ่งไม่ต้องพึ่งพาฮีทเตอร์ เพราะอากาศอบอุ่นอยู่แล้ว         แล้วประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาหารไปเลี้ยงชาวโลกเป็นอันดับต้นๆ พอจะวางใจเรื่องนี้ได้ไหม ทีมวิจัยจาก Economist Impact จัดอันดับให้ไทยมีความมั่นคงทางอาหารเป็นลำดับที่ 64 จาก 113 ประเทศที่เขาสำรวจ ขณะที่สิงคโปร์ซึ่งพึ่งพาอาหารนำเข้าเป็นหลักได้คะแนนเป็นอันดับที่ 28        เมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่าจุดแข็งของเราคือ “ราคา/ความสามารถในการซื้อหาอาหาร” (83.7 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100) แต่ในหมวดที่เหลือเราทำได้ไม่ดีนัก เช่น “ความสามารถในการผลิตอาหาร” เราได้ 52.9 คะแนน ด้าน “ความยั่งยืนและการปรับตัวรับความเสี่ยง” เราได้เพียง 51.6 คะแนน และเราสอบตกในเรื่อง “คุณภาพ (ความหลากหลายและคุณค่าทางอาหาร) และความปลอดภัย” ที่เราได้เพียง 45.3 คะแนน------ เอกสารอ้างอิง    https://www.fao.org/3/cc2134en/cc2134en.pdfhttps://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Farming-out-China-s-overseas-food-security-questhttps://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/India-clamps-down-on-rice-exports-as-global-food-worries-growhttps://www.dw.com/en/how-can-india-protect-its-food-security-under-extreme-weather-conditions/a-62011438https://www.businessinsider.com/food-energy-gas-crisis-europe-farmers-shut-operations-reduce-production-2022-9https://impact.economist.com/sustainability/project/food-security-index

อ่านเพิ่มเติม >