ฉบับ 259 มาตัดยอดค่าไฟฟ้าแพงด้วยโซลาร์เซลล์บนหลังคากันเถอะ

ดังที่เราทราบกันดีแล้วว่า ในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคมปีนี้ค่าไฟฟ้าได้ขึ้นราคาไปแล้ว ด้วยเหตุผลว่าค่าเชื้อเพลิงซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซธรรมชาติขึ้นราคา โดยค่า Ft ได้ขึ้นจาก 24.77 เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย  และมีแนวโน้มที่ค่อนข้างแน่นอนว่าในช่วง 4 เดือนถัดไปของปี 2566 จะต้องขึ้นราคาอีก         ที่ผมใช้คำว่าค่อนข้างแน่นอนก็เพราะว่า ผลการคำนวณค่า Ft ในรอบ 4 เดือนสุดท้ายของปี 2565 จะต้องขึ้นเป็น 2 บาทกว่าต่อหน่วย ไม่ใช่ 93.43 สตางค์ แต่ที่ลดลงมาแค่นี้ก็เพราะรัฐบาลได้ผลักภาระชั่วคราวไปให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับไปก่อน ส่งผลให้ กฟผ.เป็นหนี้กว่า 8 หมื่นล้านบาท ต่อให้ราคาก๊าซฯกลับมาเป็นปกติ กฟผ.ก็ต้องเก็บเงินจากผู้บริโภคมาคืนอยู่ดี ค่าไฟฟ้าจึงไม่มีทางจะถูกลงในช่วงสั้นๆ         หากมองในช่วงยาว ๆ รัฐบาลได้อนุมัติให้ ปตท.ลงทุนก่อสร้างระบบนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมีราคาแพงมาก ปัญหากิจการพลังงานไฟฟ้าไทยจึงค่อยๆรัดคอผู้บริโภคให้แน่นขึ้นๆ ค่าไฟฟ้าก็จะแพงขึ้นและแพงขึ้น ทั้งๆที่มีหนทางอื่นที่จะทำให้ถูกลงได้แต่รัฐบาลไม่เลือก         นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่สำคัญอื่นๆอีก ซึ่งผมจะไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่ขอมาชวนผู้บริโภคคิดเพื่อการพึ่งตนเอง ด้วยการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตนเอง         เรามาดูค่าไฟฟ้าในบ้านเรากันก่อนครับ ซึ่งปกติผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ดู แต่เราชอบบ่นว่าค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งก็เป็นความจริง ถ้าเราหยุดอยู่แค่นี้ก็จะไม่มีอะไรดีขึ้น  แต่ถ้าเราสามารถค้นพบความจริงที่เราสามารถลงมือแก้ไขด้วยตนเองได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี         จากข้อมูลในตาราง(ดังภาพ) พบว่าค่าไฟฟ้าประเภทผู้อยู่อาศัยเป็นอัตราก้าวหน้า นั้นคือยิ่งใช้มากอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยยิ่งแพงขึ้น  จากภาพอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับหน่วยที่ 401 ขึ้นไปจะเท่ากับ 5.73 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)         จากการสอบถามเพื่อนๆที่เดินออกกำลังกายด้วยกันพบว่า แต่ละบ้านก็ใช้ไฟฟ้าเกิน 400 หน่วยต่อเดือน บางรายมากกว่า 600 หน่วยถึง 700 หน่วย ดังนั้น หากมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา จะทำให้ยอดจำนวนการใช้ไฟฟ้าของบ้านนั้นลดลงมา ส่วนที่ลดลงจะเป็นส่วนที่มีอัตราค่าไฟฟ้าสูง ผมขอสมมุติว่าอัตราค่าไฟฟ้าส่วนที่เป็นยอดเท่ากับ 5.60 บาทต่อหน่วย เรามาดูกันว่า ผลจากการติดโซลาร์เซลล์จะคุ้มทุนภายในกี่ปี วิธีการคิดจุดคุ้มทุนอย่างง่าย         เนื่องจากผลตอบแทนจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีหลายปัจจัย เช่น ต้นทุนซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของอุปกรณ์ที่ใช้ ได้แก่ แผงโซลาร์ อินเวิตเตอร์ อุปกรณ์ยึด สายฟฟ้า ค่าการติดตั้ง จำนวนกิโลวัตต์ที่ติด ทิศทางการรับแสง ระยะเวลาและเงื่อนไขการประกัน เป็นต้น        สมมุติว่า ขนาด 3 กิโลวัตต์ ราคารวม 125,000 บาท (สมมุติว่าเท่ากับ A บาท) สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,300 หน่วยต่อกิโลวัตต์ ตลอด 25 ปี สามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 97,500 หน่วย (สมมุติว่าเท่ากับ B)         ดังนั้น ต้นทุนเฉลี่ยของค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้ตลอด 25 ปี เท่ากับ A หารด้วย B ซึ่งเท่ากับ 1.28 บาทต่อหน่วย โดยไม่คิดค่าดอกเบี้ยจากการลงทุน ไม่คิดค่าสึกหรอและการบำรุงรักษาซึ่งมีน้อยมาก         คราวนี้มาคิดเรื่องจุดคุ้มทุน สมมุติว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้เองไปแทนที่ค่าไฟฟ้าที่เราต้องซื้อจากการไฟฟ้า 5.60 บาทต่อหน่วย มูลค่าดังกล่าวเท่ากับ 21,840 บาทต่อปี (สมมุติว่าเท่ากับ C) ระยะเวลาคุ้มทุนจะเท่ากับ A หารด้วย C ซึ่งเท่ากับ 5.7 ปี หรือ 5 ปี 8 เดือน  โดยที่การใช้งานได้นานอีก 19 ปีกว่า ถ้าคิดเป็นผลตอบแทนต่อปีก็ประมาณ 13%  ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในขณะนี้ไม่ถึง 1%         ที่ผมนำมาคิดทั้งหมดนี้เป็นเรื่องการลงทุนอย่างเดียว แต่เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์เป็นการลดภาวะโลกร้อน ลดมลพิษทางอากาศ ลดน้ำเสีย เพิ่มการจ้างงาน ซึ่งทั้งโลกกำลังวิกฤต  สนใจไหมครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 เมื่อโลกเผชิญวิกฤติอาหาร

        องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติร่วมกับ World Food Program องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารกับผู้ที่ขาดแคลน คาดการณ์ว่าในช่วงกลางปี 2022 มีผู้คนไม่ต่ำกว่า 222 ล้านคนใน 53 ประเทศ ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ในจำนวนนี้มีถึง 45 ล้านคน ใน 37 ประเทศที่ “ใกล้อดตาย” โดยหกประเทศที่น่าเป็นห่วงที่สุดได้แก่ อัฟกานิสถาน เยเมน โซมาเลีย เอธิโอเปีย ซูดานใต้ และไนจีเรีย ในโซนเอเชียแปซิฟิกยังมีศรีลังกาและปากีสถานที่น่ากังวลเช่นกัน         การขาดแคลนอาหารหรือภาวะอดอยากหิวโหยในประเทศเหล่านี้เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ หรือการขาดเสถียรภาพทางการเมือง แต่ปัจจุบัน ภาวะโลกร้อน การระบาดของโควิด19 รวมถึงสงครามยืดเยื้อระหว่างสองประเทศผู้ส่งออกอาหารและปัจจัยการผลิตรายใหญ่ของโลกอย่างรัสเซียและยูเครน กำลังทำให้ประเทศอื่นๆ ต้องเตรียมรับมือกับ “ความไม่มั่นคงทางอาหาร” เช่นกัน         ประเทศจีนเตรียมรับมือกับวิกฤติอาหารตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาดหรือสงครามด้วยซ้ำ ความมั่นคงทางอาหารเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงย้ำเรื่องนี้ออกทีวีอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่ขอให้เลิกกินทิ้งกินขว้าง ประกาศว่า “อาหารของคนจีน ต้องผลิตโดยคนจีนและเป็นเจ้าของโดยคนจีน” และมอบหมายให้ทุกคนในประเทศ (ประมาณ 1,400 ล้านคน) ร่วมกันสร้างความมั่นคงทางอาหาร          แต่จีนก็จะยังต้องพบกับความท้าทายอีกมากในช่วงสิบปีข้างหน้า ทั้งจากภัยแล้งรุนแรงที่ทำให้ผลผลิตตามฤดูกาลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ในขณะที่ประชากรที่มีรายได้มากขึ้น ก็มีความต้องการบริโภคมากขึ้นด้วย มีการคาดการณ์กว่าในอีกแปดปีข้างหน้า ความสามารถในการผลิตอาหารของจีนจะอยู่ที่ร้อยละ 58.8 ของความต้องการในประเทศเท่านั้น         ที่ผ่านมาจีนได้ปฏิรูปสิทธิในที่ดินทำกิน ยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร ลงทุนในเทคโนโลยีประหยัดน้ำ และเทคโนโลยีการผลิตอาหาร รวมถึงเพิ่มการผลิตเมล็ดพันธุ์ กระทรวงเกษตรและการชนบทของจีนระบุว่าได้เปิดกิจการเมล็ดพันธุ์เพิ่มอีก 116 แห่ง (จากที่เคยมีอยู่ 100 แห่ง) นอกจากนี้ทั้งรัฐบาลและเอกชนของจีนยังออกไปกว้านซื้อที่ดินและกิจการผลิตอาหารในต่างประเทศด้วย         มาดูที่อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสองของโลกกันบ้าง รัฐบาลกังวลว่าจะมีข้าวไม่พอต่อความต้องการของประชากร 1,380 ล้านคนในประเทศ เพราะปีนี้ผลผลิตข้าวลดลงไปประมาณ 10 – 12 ล้านตัน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อินเดียประกาศห้ามส่งออก “ปลายข้าว” ซึ่งเป็นข้าวที่มีราคาถูกกว่าและเป็นทางเลือกให้กับคนรายได้น้อย (ที่ผ่านมาปลายข้าวจะมีผู้รับซื้อจากต่างประเทศเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์) นอกจากนี้ยังเรียกเก็บภาษีร้อยละ 20 จากข้าวบางชนิดที่ส่งออกด้วย เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อ “ลูกค้า” ของอินเดีย (ปัจจุบันมี 133 ประเทศ) กลุ่มที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่คาดหวังว่าจะซื้อข้าวได้ในราคาถูกด้วย         มาตรการลักษณะนี้อาจกลายเป็น “นิวนอร์มอล” เพราะภาวะอากาศสุดขั้วและฝนฟ้าที่คาดเดาไม่ได้ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของอินเดียไม่มีเหลือเฟือเหมือนที่เคย สองวันหลังประกาศว่าจะส่งออกข้าวสาลีให้ได้ 10 ล้านตันในปีนี้ อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีอันดับสามของโลกรองจากรัสเซียและยูเครน ก็กลับลำ ประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลีโดยให้มีผลทันที (ยกเว้นในบางประเทศ) และอินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับสองของโลกยังประกาศจำกัดการส่งออก เพื่อให้มีน้ำตาลเพียงพอต่อความต้องการในประเทศด้วย         ด้านยุโรปก็เตรียมรับมือกับภาวะขาดแคลนอาหารในช่วงฤดูหนาวเช่นกัน สืบเนื่องจากมาตรการแก้เผ็ดกลุ่มประเทศตะวันตกด้วยการปิดท่อส่งก๊าซของรัสเซีย         สหภาพเกษตรกร Copa-Cocega บอกว่าผลิตภัณฑ์เบเกอรีและผลิตภัณฑ์จากนมวัวจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะขั้นตอนการพาสเจอไรส์และการทำนมผงต้องใช้พลังงานมหาศาล ราคาเนยจึงแพงขึ้นร้อยละ 80 ในขณะที่นมผงก็แพงขึ้นร้อยละ 55         ขณะที่เนเธอแลนด์ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ ก็ประกาศหยุด/ลด การปลูกผัก ผลไม้ และดอกไม้ ในโรงเรือน เนื่องจากต้นทุนพลังงานในฤดูหนาวปีนี้แพงเกินไป เช่นเดียวกับ Nordic Greens Trelleborg ผู้ปลูกมะเขือเทศรายใหญ่สุดของสวีเดน ที่ยอมรับว่าหน้าหนาวปีนี้จะไม่มีผลผลิตมะเขือเทศออกสู่ตลาดเพราะ “สู้ค่าไฟไม่ไหว”           สถานการณ์นี้อาจทำให้ยุโรปกลับไปใช้แผนดั้งเดิม นั่นคือยุโรปเหนือจะไม่ผลิตพืชผักนอกฤดูกาล แต่จะยกให้เป็นหน้าที่ของแหล่งผลิตในยุโรปใต้ เช่นสเปน ซึ่งไม่ต้องพึ่งพาฮีทเตอร์ เพราะอากาศอบอุ่นอยู่แล้ว         แล้วประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาหารไปเลี้ยงชาวโลกเป็นอันดับต้นๆ พอจะวางใจเรื่องนี้ได้ไหม ทีมวิจัยจาก Economist Impact จัดอันดับให้ไทยมีความมั่นคงทางอาหารเป็นลำดับที่ 64 จาก 113 ประเทศที่เขาสำรวจ ขณะที่สิงคโปร์ซึ่งพึ่งพาอาหารนำเข้าเป็นหลักได้คะแนนเป็นอันดับที่ 28        เมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่าจุดแข็งของเราคือ “ราคา/ความสามารถในการซื้อหาอาหาร” (83.7 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100) แต่ในหมวดที่เหลือเราทำได้ไม่ดีนัก เช่น “ความสามารถในการผลิตอาหาร” เราได้ 52.9 คะแนน ด้าน “ความยั่งยืนและการปรับตัวรับความเสี่ยง” เราได้เพียง 51.6 คะแนน และเราสอบตกในเรื่อง “คุณภาพ (ความหลากหลายและคุณค่าทางอาหาร) และความปลอดภัย” ที่เราได้เพียง 45.3 คะแนน------ เอกสารอ้างอิง    https://www.fao.org/3/cc2134en/cc2134en.pdfhttps://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Farming-out-China-s-overseas-food-security-questhttps://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/India-clamps-down-on-rice-exports-as-global-food-worries-growhttps://www.dw.com/en/how-can-india-protect-its-food-security-under-extreme-weather-conditions/a-62011438https://www.businessinsider.com/food-energy-gas-crisis-europe-farmers-shut-operations-reduce-production-2022-9https://impact.economist.com/sustainability/project/food-security-index

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 การออมไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นฐานของการลงทุน

        วันนี้กลับมาคุยกันเรื่องเบสิกสุดๆ อีกครั้งนั่นก็คือ การออมและการลงทุน         เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็พูดเรื่องการออมและการลงทุน ไปๆ มาๆ เลยเอา 2 คำนี้มารวมเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งต้องบอกดังๆ ว่า ไม่ใช่ มันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่มันเกี่ยวเนื่องกัน         การออมคือการเก็บเงินนั่นแหละ เข้าใจง่ายสุด เราเก็บเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ เตรียมไว้เป็นค่าเทอม เก็บไว้ไปเที่ยวต่างประเทศ หรือเก็บไว้เผื่อเหตุฉุกเฉินต่างๆ ค่อยๆ เก็บหอมรอมริบไปตามกำลัง บ้างเสนอว่าควรเก็บ 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ บ้างก็ว่าไม่พอแล้วต้องอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ บ้างก็ว่าควรเก็บ 1 ใน 4         ฝากธนาคารเป็นวิธีเก็บเงินออมที่คนส่วนใหญ่ใช้ซึ่งเป็นวิธีที่น่าจะปลอดภัยและสะดวกที่สุด โดยได้รับดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็ต่ำเตี้ยด้วยเช่นกัน ไม่ชนะเงินเฟ้อแน่นอน ยิ่งฝากค่าเงินยิ่งเล็กลง แต่ไม่มีเงินออมฝากธนาคารเลยได้ไหม ก็ไม่ได้อีกเพราะเป็นเรื่องของสภาพคล่อง         คราวนี้ พอเก็บเงินได้เยอะขึ้นๆ จะปล่อยกินดอกเบี้ยในธนาคารอย่างเดียว ชาตินี้คงไม่มีเงินพอเกษียณ หลังจากจัดแจงแบ่งส่วนเงินออมที่มีแล้ว เราถึงกันเงินส่วนหนึ่งออกไปลงทุนหรือเก็บเงินออมเพื่อการลงทุน         เห็นแล้วนะว่าการออมไม่ใช่การลงทุน แต่การออมเป็นฐานของการลงทุน เงินออมใช้เป็นเงินลงทุนต่อยอดสร้างผลตอบแทน         ถามว่าไม่ต้องออมได้ไหม เพราะฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยน้อย สู้เอาไปลงทุนเลยดีกว่า?         ตอบว่าไม่ได้ บ้าบิ่นเกินไป คอลัมน์นี้เคยพูดถึงเงินออมฉุกเฉิน อารมณ์คล้ายๆ กัน การลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยต้องใช้เวลา (ต่อให้คุณเป็นสายเทรดเดอร์หรือสายเก็งกำไรก็ยังจำเป็นต้องมีเงินสำรอง) ถ้าเอาเงินมาลงทุนโดยไม่มีหลังพิง เกิดขาดสภาพคล่อง เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือขาดรายได้จะทำยังไง ก็ต้องไปดึงเอาเงินที่ลงทุนออกมาทั้งที่ยังขาดทุนอยู่หรือดีหน่อยคือไม่ขาดทุน แต่คุณจะเสียโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาว         เอ๊ะ แล้วที่โฆษณาออมหุ้นๆ กันล่ะ เป็นการลงทุนหรือการออมกันแน่? อันนี้น่าสนใจ         การออมหุ้นเป็นการลงทุน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงกว่าการฝากเงินธนาคารแต่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ที่ใช้คำว่า ออมหุ้น เพราะคนทำมาหากินธรรมดาจะเอาเงินถุงเงินถังจากไหนไปซื้อหุ้นทีละเป็นหมื่นเป็นแสนหุ้น ดังนั้น โบรกเกอร์จึงเสนอบริการให้เราได้ทยอยสะสมหุ้มโดยไม่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่         พอค่อยๆ สะสมหุ้น มันเลยให้อารมณ์เหมือนกันออม ถึงเรียกว่าออมหุ้น แต่ไม่ใช่ออมเงิน ที่สำคัญก่อนจะออมหุ้นต้องออมเงินให้ได้ก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 ชีวิตไรเดอร์ไทย เสี่ยงภัยและไร้สวัสดิการ

        ปัจจุบันคนไทยมีการใช้บริการสั่งอาหารส่งถึงที่พักหรือเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดอาชีพบริการส่งอาหารเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีผู้ให้บริการหลายเจ้า ทั้งสัญชาติไทย และต่างชาติ อาทิ อาทิ แกร๊บ, ไลน์แมน, ฟู๊ดแพนด้า ชอปปี้ เป็นต้น ยิ่งในช่วงโควิด 19 ระบาด ซึ่งเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของคนอย่างมาก ทั้งการงดเว้นการเดินทาง การทำงานจากบ้าน และปัญหาคนตกงาน ซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งต้องเข้าสู่อาชีพไรเดอร์เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากหลักหมื่นรายในช่วงก่อนการระบาดโควิด มาเป็นหลักแสนคนในช่วงที่โควิด-19 ระบาดตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน         อย่างไรก็ตามเมื่อมองไปที่ตัวพนักงานหรือไรเดอร์นั้น ต้องถือว่าเป็นอาชีพอิสระรูปแบบใหม่ ซึ่งกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถดูแลเรื่องสิทธิ สวัสดิการแรงงานกลุ่มนี้ได้อย่างครอบคลุม ส่วนหนึ่งติดปัญหาเรื่องการตีความสถานภาพของไรเดอร์ว่าเป็นลูกจ้างแพลตฟอร์ม หรือพาร์ทเนอร์ (หุ้นส่วนแรงงาน) ซึ่งไม่ตรงกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน           มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว เพราะพนักงานไรเดอร์ก็คือส่วนหนึ่งของงานบริการที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคไทยไปแล้ว จึงได้ทำการศึกษาโดยการสัมภาษณ์พนักงานไรเดอร์ต่อประเด็นเรื่องสิทธิในฐานะคนทำงานอาชีพอิสระนี้ ว่าทุกข์ สุขอย่างไรบ้าง และมีข้อจำกัดใดที่ทางไรเดอร์มองว่าพวกเขาควรได้รับจากสังคม         จากการรวบรวมข้อมูลร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์พบว่า มีปัญหาเรื่องระบบการทำงานที่ยังเป็นข้อเหลื่อมล้ำของผู้ปฏิบัติงาน ทั้งด้านเทคโนโลยี อายุ ทำให้ได้รับงานน้อยลง ซึ่งส่งผลถึงโอกาสในการได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษจากแอพพลิเคชั่น อีกทั้ง ยังเป็นช่องโหว่ ให้คนที่เชี่ยวชาญใช้เทคโนโลยีช่วยโกงการกดรับออร์เดอร์ ที่สำคัญคือ มีปัญหาเรื่องค่าตอบแทนที่คิดตามระยะทางไม่มีมาตรฐานกลาง แต่ละแอพฯ กำหนดค่าตอบแทนเอง และใช้แรงจูงใจอื่นๆ ไม่มีสิทธิสวัสดิการ ไม่มีประกันสุขภาพ ไม่มีประกันอุบัติเหตุ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ไรเดอร์ต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับงานเร็ว ส่งงานเร็ว จึงพบการกระทำผิดกฎหมายจราจร ทั้งขับรถฝ่าไฟแดง ขับย้อนศร กลับรถที่ห้ามกลับ ขับบนทางเท้า เป็นต้น นำมาซึ่งอุบัติเหตุบนท้องถนน ดังนั้นกลุ่มไรเดอร์จึงมีข้อเรียกร้องคือ อย่างน้อยให้มีการเพิ่มค่ารอบที่เป็นธรรม มีสวัสดิการบ้าง เช่นประกันอุบัติเหตุ            จากข้อค้นพบจากการศึกษา มูลนิธิฯ จึงรวบรวมผลและจัดทำเป็นข้อเสนอให้กระทรวงแรงงานเข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อผลักดัน 2 เรื่องสำคัญให้สามารถใช้ได้จริง ดังนี้           1. มีการการกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และ         2. ผลักดันให้เจ้าของแพลตฟอร์มมีการทำประกันอุบัติเหตุให้กับไรเดอร์ เป็นต้น ทั้งนี้เชื่อว่า หากมีการผลักดันอย่างน้อย 2 ประเด็นนี้ คือเรื่องค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และมีประกันอุบัติเหตุ จะทำให้ไรเดอร์คลายกังวลได้มากขึ้น ไม่ต้องเร่งรีบในการทำรอบจนเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บ เสียชีวิตบนท้องถนน         ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูล มูลนิธิฯ ทราบว่ากระทรวงแรงงานเอง มีความพยายามในการที่จะเข้ามาดูแลสิทธิสวัสดิการของกลุ่มไรเดอร์ รวมถึงแรงงานนอกระบบรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มเติม เบื้องต้นคือมีการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยระหว่างเจ้าของ หรือผู้แทนแพลตฟอร์ม กับกลุ่มไรเดอร์         และจนถึงขณะนี้ทราบว่าได้มีการผลักดันร่างพ.ร.บ. แรงงานนอกระบบ พ.ศ.... ซึ่งผ่านครม.ไปแล้ว ตามที่ โฆษกกระทรวงแรงงานออกมาเปิดเผยว่า จะทำให้แรงงานนอกระบบได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ มีความปลอดภัยในการทำงาน มีหลักประกันทางสังคม ตลอดจนมีสัญญาการทำงานที่เป็นธรรม เช่น ไม่กำหนดเงื่อนไขทำให้ต้องเร่งรีบทำงานอย่างมีความเสี่ยง หรือต้องทำงานหนักเกินปกติจนเสียสุขภาพ ผลตอบแทนที่เป็นธรรม การจ่ายค่าตอบแทนตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนดสวัสดิการและหลักประกันขั้นพื้นฐาน เป็นต้น         ทาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เองหวังว่ารูปธรรมในการแก้ไขปัญหาด้วยการกำกับของกฎหมายจะออกมาโดยเร็ว เพื่อเป็นการยกระดับแรงงานไทยให้ได้รับสิทธิ ความเป็นธรรมเท่าเทียมอย่างแท้จริง         “วันนี้โลกก้าวไปไกล แต่กฎหมายยังล้าหลัง หากยังใช้ภาษาแบบเดิมๆ คงไม่พอ ตามไม่ทันกับการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไป กระทรวงแรงงานต้องเร่งตีความคำว่าพาร์ทเนอร์ออกมาให้ได้ และเข้าไปให้การดูแลสิทธิสวัสดิการให้กับไรเดอร์”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 8 ปี พลเอกประยุทธ์ 8 ปีแผนพลังงานไฟฟ้า ทำไมค่าไฟฟ้าแพง?

        พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 จนถึงวันนี้ก็เกิน 8 ปีไปแล้ว ข้อถกเถียงในประเด็นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมก็ว่ากันไปตามกระบวนการ ในที่นี้ผมจะกล่าวถึงเฉพาะประเด็นพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องค่าไฟฟ้า ว่าในช่วง 8 ปีดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและเพราะอะไร โดยจะนำเสนอเพียง 3 ประการต่อไปนี้         ประการที่หนึ่ง สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าฐานได้เพิ่มขึ้นจาก 2.07 บาทต่อหน่วยในกลางปี 2557 เป็น 2.57 บาทต่อหน่วยในปลายปี 2558 และเป็น 3.25 บาทต่อหน่วยในปัจจุบัน (กันยายน-ธันวาคม 2565)  หรือเพิ่มขึ้น 57% ในช่วง 8 ปี เฉลี่ยร้อยละ 7.13 ต่อปี         โดยปกติครอบครัวคนชั้นกลางจะใช้ไฟฟ้ามากกว่า 150 หน่วยต่อเดือน  โดยอัตราค่าไฟฟ้าเป็นแบบก้าวหน้า คือยิ่งใช้มาก อัตราต่อหน่วยจะยิ่งสูงขึ้น ผมลองใช้เว็บไซต์ของการไฟฟ้านครหลวงเพื่อคำนวณค่าไฟฟ้า พบว่า ถ้าใช้เดือนละ 600 หน่วย อัตราเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.06 บาทต่อหน่วย เห็นไหมครับว่ามันมากกว่า 3.25 บาทซึ่งเป็นอัตราสำหรับผู้ใช้ 150 หน่วย  ถ้าขยับขึ้นเป็น 1,000 หน่วย อัตราก็จะกระโดดไปที่ 4.20 บาทต่อหน่วย         ที่กล่าวมาแล้วเป็นเฉพาะค่าไฟฟ้าฐานเท่านั้น แต่ค่าไฟฟ้าจริงๆที่เราจ่ายประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน อีก 2 ส่วนที่เหลือคือ ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือที่เรารู้จักกันว่า ค่าเอฟที และค่าบริการ 38.22 บาทต่อเดือน จากนั้นก็ตบท้ายด้วยภาษีมูลค่าเพิ่มของทั้งสามส่วนอีก 7%         ปัจจุบัน ค่าเอฟที(ซึ่งมาจาก (1) ค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ. (2) ค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน และ (3) ค่านโยบายของรัฐบาลของงวดใหม่ที่ผันแปรไปจากค่าไฟฟ้าฐาน) เท่ากับ 93.43 บาทต่อหน่วย คิดเบ็ดเสร็จแล้ว ถ้าใช้ไฟฟ้าจำนวน 1,000 หน่วยต่อเดือนจะต้องจ่ายเท่ากับ 5,530.03 บาท เฉลี่ย 5.53 บาทต่อหน่วย แต่ถ้าใช้เพียง 900 หน่วย ค่าเฉลี่ยต่อหน่วยก็จะลดลงมาเหลือ 5.51 บาท         ภาพข้างล่างนี้แสดงสถิติของค่าเอฟทีในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับข้อสรุปค่าไฟฟ้าฐานที่ผมค้นคว้ามาประกอบครับ           ประการที่สอง กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเพิ่มจาก 29% ในสิ้นปี 2557 เป็น 51% ในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2565         นับตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(หรือPDP) มาแล้ว 3 แผน คือ PDP2015 , PDP2018 และ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 และกำลังจะมี PDP2022 ในเร็วๆ นี้         แผนพีดีพีก็คือแผนที่กำหนดว่าในปีใดจะมีโรงไฟฟ้าจำนวนเท่าใดเข้าสู่ระบบผลิตไฟฟ้า ใช้เชื้ออะไรบ้าง และให้รัฐหรือเอกชนเป็นเจ้าของอย่างละเท่าใด         จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานพบว่า ตอนสิ้นปี 2557 กำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบมีจำนวน 34,668 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของ กฟผ. 45% แต่พอถึงสิ้นเดือน พฤษภาคม 2565 กำลังการผลิตทั้งระบบมี 50,515 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของ กฟผ.เพียง 31% เท่านั้น         นี่คือการคุมกำเนิดหรือจำกัดการเติบโตของ กฟผ. แล้วหันมาส่งเสริมโรงไฟฟ้าเอกชน ส่งผลให้เจ้าของโรงไฟฟ้าเอกชนร่ำรวยมหาศาลอย่างรวดเร็ว         ประการที่สาม  ค่าไฟฟ้าแพงเพราะนโยบายเอื้อกลุ่มทุนให้ใช้ก๊าซฯของรัฐบาล         ไฟฟ้าที่คนไทยใช้ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 2 แสนล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณ 60% ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง แต่การจัดหาก๊าซฯมาจาก 4 แหล่ง คือ (1) แหล่งในประเทศไทย (2) นำเข้าจากเมียนมา (3) แหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และ (4) นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยที่ LNG นำเข้าจะมีราคาแพงกว่าเมื่อเทียบกับอีก 3 แหล่งที่เหลือ  ปริมาณการจัดหาและการใช้ดังแสดงในภาพถัดไป           เขียนมาถึงตอนนี้ทำให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง (ฮาโรลด์ ลาสเวลล์, 1902-1978) ได้กล่าวอย่างสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า “การเมืองคือการตัดสินใจว่าจะให้ใครได้อะไร เมื่อใดและอย่างไร” (“Politics is who gets what, when, and how.”)         ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นผลผลิตของเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ คือสามารถอัดก๊าซฯให้เป็นของเหลวแล้วบรรจุใส่ถัง สามารถขนส่งทางเรือได้ เริ่มนำเข้ามาเพียงเล็กน้อยตั้งแต่ปี 2553 แต่เริ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนในสมัยพลเอกประยุทธ์         สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ต้องตัดสินใจคือ เมื่อเรามีก๊าซฯจำนวนจำกัด เราควรจะตัดสินใจให้ใครได้ใช้ก่อน ระหว่างภาคการผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วประเทศซึ่งส่วนมากเป็นคนยากจน มีหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น แถมต้องประสบกับภัยพิบัติจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 กับภาคปิโตรเคมีซึ่งสร้างกำไรได้มหาศาลให้กับผู้ถือหุ้นไม่กี่หมื่นราย         ด้วยเหตุทั้ง 3 ประการที่กล่าวมาแล้วนี้ จึงส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย ขณะเดียวกันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ก็ถูกบอนไซและเป็นหนี้แทนประชาชนกว่า 8 หมื่นล้านบาท แต่ภาคธุรกิจพลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติได้ร่ำรวยอย่างมหาศาล        ความจริงเรื่องทำนองนี้มีการก่อตัวให้เราเห็นแนวโน้มมานานแล้ว แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นตัวเร่งให้ความหายนะรวดเร็วและรุนแรงขึ้น  ทั้งๆ ที่ ก่อนหน้าที่พลเอกประยุทธ์จะเข้ามา ประชาชนได้เรียกร้องให้มีการประเทศในหลายด้านรวมทั้งการปฏิรูปพลังงานด้วย  แต่แล้วนอกจากจะไม่ได้ปฏิรูปแล้วยังได้ซ้ำเติมให้สถานการณ์สาหัสกว่าเดิมมากๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 ‘สินทรัพย์ทางเลือก’ เมื่อของรักเพิ่มมูลค่า

        การลงทุนให้เงินงอกเงยไม่ได้มีแค่หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมเท่านั้น มันยังมีสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพวกสินค้าโภคภัณฑ์ ทอง หรือน้ำมัน แต่เป็นสิ่งของจับต้องได้ที่ก็กำลังข้ามจักรวาลไปเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้         เคยได้ยินกันใช่ไหมเรื่องการแปลงสิ่งที่รัก สิ่งที่หลงใหล (Passion) ให้เป็นรายได้ คล้ายๆ กันนั่นแหละ คนเรามักมีของสะสมที่ชื่นชอบ พออยู่กับมันไปนานๆ เข้าความรู้ต่อสิ่งของชนิดนั้นก็เพิ่มพูน แล้วมูลค่าของสิ่งที่สะสมก็เพิ่มพูนขึ้นตามไปด้วย         ถึงตรงนี้คงร้องอ๋อกันแล้ว ใช่เลย ของสะสมบางประเภทสามารถแปลงเป็นสินทรัพย์มีค่าได้ ของสะสมของคนมีเงินมักมีราคาสูงซึ่งเจ้าตัวก็น่าจะคาดการณ์ว่าอนาคตสามารถปล่อยได้ในราคาที่สูงกว่าหลายเท่าตัว เช่น งานศิลปะ โบราณวัตถุ รถ กระเป๋าแบรนด์เนม เป็นต้น         การจะสะสมสินทรัพย์จำพวกนี้นอกจากต้องมีเงินแล้วยังต้องมีความรู้แน่นหนา ไม่ถูกย้อมแมวขาย รู้ที่มาที่ไปของวัตถุ อย่างถ้าเป็นงานศิลปะก็ต้องอ่านขาดทีเดียว อย่างใครถือครองงานของถวัลย์ ดัชนีไว้น่าจะรู้สึกอิ่มเอมกว่าศิลปินโนเนม         แต่ไม่จำเป็นเสมอไปที่สินทรัพย์ทางเลือกจะมีราคาแพงเว่อร์วัง ของบางอย่างในช่วงเวลาหนึ่งอาจไม่ได้มีมูลค่าอะไรเลยด้วยซ้ำ พอผ่านไปๆ มูลค่ากลับถีบตัวเป็นหลักล้านก็มีเพราะเป็นของหายาก เป็นที่ต้องการในแวดวงเฉพาะกลุ่ม เช่น การ์ดจากการ์ตูนหรือเกมฮิตบางใบขายกันหลักล้าน (แม่เจ้า!!!) การ์ดนักกีฬา แสตมป์ ไล่เรียงไปจนถึงหนังสือหายาก พระเครื่อง นาฬิกา หิน เครื่องเขียน ของเล่น ฯลฯ         ประเด็นอยู่ที่ว่ามันคาดการณ์ยากพอสมควรว่าของที่เราสะสมจะมีมูลค่าเพิ่มในอนาคตหรือเปล่า ของบางอย่างก็ผ่านมาเป็นกระแสตูมตามชั่ววูบไหวแล้วหายไป ยกตัวอย่างจตุคามรามเทพที่เคยฮิตกันอยู่ช่วงหนึ่ง ทำออกมากี่รุ่นๆ ก็ปล่อยได้หมด         เมื่อกระบวนการปั่นราคาไปถึงจุดหนึ่ง คนมาก่อนได้กำรี้กำไร คนมาช้าจ่ายรอบวง งานเลี้ยงก็เลิกรา แปรสภาพเป็นคุกกี้โอริโอที่แจกฟรียังแทบไม่มีคนอยากได้                 ไหนจะเรื่องของวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ อย่างพระเครื่องรุ่นหายากเป็นสินทรัพย์มีค่าสูงในไทย แต่อาจไม่มีค่าในประเทศตะวันตก         ถึงบอกว่าต้องอาศัยความรู้เยอะทีเดียวถ้าหวังจะลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก แต่ถ้าสะสมเพราะใจรักและมีความสุข มูลค่าจะเพิ่มก็เป็นแค่ผลพลอยได้ แบบนี้ก็ทำไปเถอะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 คนกรุงเทพฯ ต้องการระบบขนส่งมวลชนแบบไหน

        ผ่านมาสักระยะหนึ่งแล้วที่ประเทศไทยเรามี “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตำแหน่งนี้อาจเป็นความหวังอีกครั้งหนึ่งที่มวลชนชาวกรุงเทพฯ คาดหวังว่าระบบขนส่งมวลชนของเมืองแห่งนี้ น่าจะดีขึ้นเสียที แต่ความคาดหวังเป็นเรื่องหนึ่งส่วนผลลัพธ์อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ เพราะว่าลำพังแค่อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาระบบขนส่งมวลชนเมืองซึ่งดำรงอยู่มาอย่างยาวนานนี้ได้  อย่างไรก็ตามก่อนจะไปถึงเรื่องว่าแก้ได้หรือแก้ไม่ได้ เรามาทบทวนกันสักนิดว่า คนกรุงเทพฯ เขามีความหวังหรือความต้องการในเรื่องใดบ้างของบริการขนส่งมวลชนสำรวจกับใคร เมื่อไร         นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้บริการขนส่งมวลชน ในกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,200 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 8 - 17 กันยายน 2564    ผลสำรวจน่าสนใจ         คนกรุงเทพฯ มีขนส่งมวลชนให้เลือกได้อย่างเพียงพอ (ร้อยละ 85) อย่างไรก็ตามระยะทางที่สามารถเดินเท้าไปถึงจุดใช้บริการต้องเดินในระยะทางประมาณ 1,000 เมตร ถึงร้อยละ 38.2 ระยะทาง 500 เมตร ร้อยละ 27.1 ระยะทาง 1,500 เมตร ร้อยละ 18.5 และมากกว่า 1,500 เมตร ร้อยละ 16.2         ขนส่งมวลชนที่มีให้เลือกใช้บริการ (จากที่พักอาศัย) มากที่สุดคือ รถโดยสารประจำทาง ขสมก (รถเมล์) ร้อยละ 84 อันดับที่สองคือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 72.7 อันดับที่สามคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 51.7 อันดับที่สี่คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 48.4 อันดับที่ห้าคือ รถสองแถว ร้อยละ 44.7 และอันดับสุดท้ายคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 33.5         ดังนั้นการเดินทางของกลุ่มตัวอย่างจึงตอบว่าใช้บริการ รถโดยสารประจำทาง ขสมก (รถเมล์) มากที่สุด ร้อยละ 68 อันดับที่สองคือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 42.6 อันดับที่สามคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 45.5 อันดับที่สี่คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 30 อันดับที่ห้าคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 28.2 และอันดับสุดท้ายคือ รถสองแถว ร้อยละ 23 โดยจุดประสงค์ของการใช้ขนส่งมวลชนนั้นคือ ไปทำงาน ร้อยละ 61.5 ทำธุระส่วนตัว ร้อยละ 54 ซื้อสินค้า ร้อยละ 37.1 ท่องเที่ยว ร้อยละ 27 และอันดับสุดท้ายคือ เรียนหนังสือ ร้อยละ 16.2         ในส่วนของความถี่ คำตอบส่วนใหญ่คือ 5-6 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 23 อันดับที่สองคือ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 22.5 และอันดับที่สามคือ ใช้ทุกวัน ร้อยละ 21.8  เรื่องที่คนกรุงเทพฯ ต้องการจากระบบขนส่งมวลชน        -        รถโดยสารประจำทาง ขสมก. (รถเมล์)             อันดับที่หนึ่งคือ ด้านความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 34.6 อันดับที่สองคือ ราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 30.6 อันดับที่สามคือ บริการของรถเมล์มีมาตรฐานตรงเวลา ไม่ล่าช้า ร้อยละ 29.7 อันดับที่สี่คือ รถเมล์มีบริการที่มีคุณภาพ ในการรับส่งผู้โดยสาร ร้อยละ 27.7 อันดับที่ห้าคือ อัตราค่าโดยสารเหมาจ่ายรถร้อน 10 บาท (ทั้งวัน) ร้อยละ 26.7         -        รถไฟฟ้า             อันดับที่หนึ่งคือ ด้านราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 47.1 อันดับที่สองคือ ความสะดวกในการเข้าถึงสถานี และเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 43.1 อันดับที่สามคือ การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทุกสายเพื่อลดค่าแรกเข้าเหลือครั้งเดียว (ขึ้นหลายสายก็จ่ายครั้งเดียว) ร้อยละ 41.6 อันดับที่สี่คือ การออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับการเข้าถึงรถไฟฟ้าของกลุ่มผู้พิการ ร้อยละ 39.4 อันดับที่ห้าคือ ต้องการให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อประชาชน ร้อยละ 38.9        -        เรือโดยสาร             อันดับที่หนึ่งความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 32 อันดับที่สองคือ มีท่าเรือโดยสารที่ปลอดภัยในทุกจุดที่ให้บริการ ร้อยละ 20.6 อันดับที่สามคือ ราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 19.4 อันดับที่สี่คือ มีการจัดการการขึ้นลงเรืออย่างเป็นระบบ ร้อยละ 18.6 อันดับที่ห้าคือ สามารถใช้ตั๋วร่วมสำหรับรถเมล์ ขสมก. รถเมล์ร่วมเอกชนได้ และรถไฟฟ้าทุกสายได้ (บัตรใบเดียว) ร้อยละ 18.1

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 มาติดโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองกันเถอะ ผลตอบแทน 15% ต่อปี

        บทความนี้มี 3 ส่วน คือ (1) แรงจูงใจ (2) อุปสรรคและทางออกที่เปิดบ้างแล้ว และ (3) ต้นทุนและผลตอบแทนหนึ่ง แรงจูงใจ         เป็นที่คาดกันว่าในงวดใหม่คือ เดือนกันยายน-ธันวาคมนี้จะมีการขึ้นค่าไฟฟ้าในรูปของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft จาก 24.77 บาทต่อหน่วย เป็นเท่าใดก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันแต่คาดว่าจะขึ้นมากกว่าทุกๆครั้งที่ผ่านมา เมื่อรวมทั้งค่าไฟฟ้าฐานและภาษีมูลค่าเพิ่มคาดว่าค่าไฟฟ้าน่าจะประมาณ 5 บาทต่อหน่วย สาเหตุสำคัญที่ทางราชการบอกเราก็คือราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศไทยซึ่งมีราคาถูกมีจำนวนลดลง จึงต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีราคาสูงมาก         เท่าที่ผมสอบถามจากเพื่อนๆ โดยส่วนมากมักจะไม่รู้ว่าตนเองใช้ไฟฟ้าเดือนละกี่หน่วย แต่จะตอบได้ว่าประมาณสักกี่บาท เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ผมขอสมมุติว่า บ้านอยู่อาศัยประเภท 1.2 ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 600 หน่วย ค่าไฟฟ้าในปัจจุบันจะเท่ากับ 2,796.86 บาท เฉลี่ยหน่วยละ 4.66 บาท หากมีการขึ้นค่า Ft เป็น 65 สตางค์ต่อหน่วย (สมมุตินะครับ) ค่าไฟฟ้าจะขึ้นเป็น 3,055.14 บาท เฉลี่ย 5.09 บาทต่อหน่วย ข้อมูลนี้มีความสำคัญต่อการตัดสินใจว่าเราควรจะติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาหรือไม่ ถ้าจะติดควรจะติดเท่าใดกี่ปีจึงจะคุ้มทุนสอง อุปสรรคและทางออกที่เปิดบ้างแล้ว         แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เรามาทำความเข้าใจถึงนโยบายและข้อปฏิบัติของรัฐบาลกันสักหน่อยหลังการรัฐประหารโดย คสช.เมื่อปี 2557 ได้ไม่นานนัก “สภาปฏิรูปชาติ” ได้ทำข้อเสนอให้กระทรวงพลังงานจัดทำโครงการ “โซลาร์รูฟ ภาคประชาชน” คือให้ประชาชนสามารถติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง หากมีเหลือก็สามารถขายให้กับการไฟฟ้าได้ภายใต้โครงการใหญ่ที่สะท้อนถึงเจตนาที่เร่งด่วนว่า “Quick Win” คือให้สำเร็จหรือประสบชัยชนะเร็วๆ         กระทรวงพลังงานโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกระเบียบเพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าวตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 โดยได้ตั้งเป้าว่าจะติดตั้งให้ได้ทั้งประเทศรวมกัน 100 เมกะวัตต์ ถ้าเฉลี่ยมีการติดตั้งหลังละ 5 กิโลวัตต์ รวม 2 หมื่นหลังคา ภายในเดือนธันวาคม 2562 โดยตั้งกติกาแบบท้าทายว่าใครมาก่อนจะได้รับอนุญาตก่อน ครบโควต้าแล้วหมดกันนะ         ฟังอย่างนี้แล้วดูเหมือนว่ากระทรวงพลังงานได้ตอบสนองนโยบายเร่งด่วนนี้อย่างเต็มที่เลยหรือ Quick จริงๆ แต่จนแล้วจนรอดจนถึงปัจจุบันนี้มีผู้แจ้งความสนใจไม่ถึง 1.8 เมกะวัตต์ ทำไมประชาชนไม่ตอบสนอง ทั้ง ๆ ที่มีการเรียกร้องต้องการ         เหตุผลสำคัญก็คือว่า กกพ.ได้ตั้งกติกาที่หยุมหยิมเกินความจำเป็นและไม่สมเหตุสมผลในเชิงการลงทุนและรายได้ เช่น (1) สัญญารับซื้อแค่ 10 ปี แต่อายุโซลาร์ 25-30 ปี ระยะเวลาที่เหลือจะให้ทำอย่างไร (2) รับซื้อในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย แล้วขยับมาเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย ทั้ง ๆที่ การไฟฟ้าขายให้ผู้บริโภคในราคาประมาณ 4.40 บาทต่อหน่วย  (3) ต้องติดมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัวราคาประมาณ 8 พันบาท เพื่อวัดปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้การไฟฟ้า (4) ต้องให้มีการเซ็นรับรองความแข็งแรงของอาคาร ทั้งๆ ที่คนธรรมดาๆ สามารถดูด้วยตาเปล่าก็รู้ว่ามีความแข็งแรงหรือไม่ และ (5) ต้องให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าตรวจมาตรฐานของอุปกรณ์ ข้อนี้ผมเห็นด้วยว่ามีความจำเป็นครับ แต่ถ้าแค่มีคำแนะนำที่ชัดเจนและบังคับใช้อย่างจริงจังก็น่าจะใช้ได้แล้ว เพราะเจ้าของบ้านก็คำนึงถึงความปลอดภัยบนหลังบ้านตัวเองเป็นหัวใจสำคัญเช่นกัน         สภาองค์กรของผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวแทนของผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ทำข้อเสนอนี้ถึงทั้งรัฐบาลและกระทรวงพลังงานหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด         แต่แล้วก็มีข่าวดีจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งเพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ สาระสำคัญคือมีการผ่อนผันเงื่อนไขเดิมของการไฟฟ้า 2 ประการ คือ         หนึ่ง  ไม่มีการตรวจสอบเงื่อนไขขีดจำกัดของหม้อแปลงไฟฟ้า (ว่าไม่เกิน 15% ของพิกัดหม้อแปลง) ที่มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่มีขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ กล่าวคือ ต่อจากนี้ไม่ต้องคำนึงประเด็นนี้แล้ว         สอง ให้ยกเว้นการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า ตามข้อกำหนดฯ         ความสำคัญของประกาศฉบับนี้อยู่ที่ข้อที่สองนี้ คืออนุญาตให้ไฟฟ้าที่เราผลิตได้ในตอนกลางวันสามารถไหลย้อนเข้าไปในระบบสายส่งได้ เปรียบเหมือนเป็นการฝากพลังงานไฟฟ้าไว้ในสายไฟฟ้า (เพื่อนำไปให้บ้านอื่นใช้ก่อน) ในช่วงนี้มิเตอร์แบบจานหมุนก็จะหมุนถอยหลัง ตัวเลขที่มิเตอร์ก็จะลดลง เมื่อถึงเวลาที่เจ้าของบ้าน (ที่ติดโซลาร์) จะใช้ไฟฟ้าจากสายส่งก็จะไหลผ่านมิเตอร์ จานหมุนในมิเตอร์ก็จะหมุนเดินหน้า ตัวเลขก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าที่มาจดมิเตอร์ก็ว่ากันไปตามตัวเลขที่ปรากฎสมมุติว่าเราใช้ไฟฟ้าจริงๆ จำนวน 600 หน่วย แต่เราผลิตได้เอง 350 หน่วย เราก็จ่ายเงินเพียง 250 หน่วย แต่ถ้าเราใช้ไฟฟ้าเพียง 300 หน่วย ทางการไฟฟ้าก็จะได้รับไฟฟ้าไปจำนวน 50 หน่วย โดยไม่คิดราคาให้กับเจ้าของบ้านแต่อย่างใด         แต่ถ้าเป็นระบบที่เรียกว่า “Net Metering” หรือการหักลบกลบหน่วย ทางการไฟฟ้าจะต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าของบ้านจำนวน 50 หน่วย เท่าที่ผมทราบจากหลายประเทศ ทั้งที่เป็นประเทศร่ำรวยและยากจนก็ใช้ระบบนี้กันเป็นส่วนใหญ่เพราะเป็นระบบที่ประหยัดที่สุด ไม่ต้องติดตั้งมิเตอร์ราคา 8,000 บาท เพราะถ้าขายไฟฟ้าได้ราคา 2.20 บาทต่อหน่วย หลังคาที่ติดขนาด 3 กิโลวัตต์ต้องใช้เวลาประมาณ 10 เดือนจึงจะได้ค่ามิเตอร์คืน ระยะเวลาการคืนทุนก็ต้องยืดออกไปอีก         แต่เอาเถอะครับ การที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผ่อนผันให้ขนาดนี้ก็ถือว่าเป็นผลดีพอสมควรแล้ว ไม่ทราบว่าการไฟฟ้านครหลวงจะมีประกาศแบบนี้บ้างเมื่อไหร่         เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุผลที่ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใช้ในการผ่อนผันดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากเหตุผลทางวิศวกรรมหรือความปลอดภัยที่เคยอ้างกันว่าไฟฟ้าจะไหลย้อนไปดูดพนักงานที่กำลังซ่อมระบบเลย แต่เป็นเหตุผลทางนโยบายที่ต้องการตอบสนองผู้ใช้ไฟฟ้าเรื่อง “การลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน” ประเทศออสเตรเลียซึ่งมีประชากรไม่ถึงครึ่งของประเทศไทยแต่มีการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาไปแล้ว 2.3 ล้านหลังคาเมื่อต้นปี 2022 และเป็นการติดภายใต้ระบบ “Net Metering” สาม ต้นทุนและผลตอบแทน         ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องได้ลดลงราคาอย่างต่อเนื่อง แต่จากสถานการณ์การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนทั้งระบบเพิ่มขึ้น 10-20%   เท่าที่ผมติดตามต้นทุนพร้อมค่าแรงติดตั้งขนาด 3 กิโลวัตต์ น่าจะประมาณ 1.2-1.3 แสนบาท ใช้พื้นที่ประมาณ 16 ตารางเมตร โดยที่ 1 กิโลวัตต์สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 1,300 - 1,450 หน่วย ขึ้นอยู่กับว่าอยู่จังหวัดใด และทิศทางในการรับแสงแดดว่าเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นขนาด 5 กิโลวัตต์ ก็ประมาณ 1.5 - 2.0 แสนบาท         ในที่นี้ผมขอสมมุติว่า ขนาด 3 กิโลวัตต์ ลงทุน 130,000 บาท ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 3X1,300 หรือ 3,900 หน่วย หรือ 325 หน่วยต่อเดือน  ถ้าเราคิดอย่างง่ายๆ ว่า ไฟฟ้าที่เราผลิตได้ 1 หน่วย ทำให้เราลดค่าใช้จ่ายได้ 5 บาท (ตามอัตราค่าไฟฟ้าที่จะขึ้นใหม่เดือนกันยายนนี้) นั่นคือ ได้ผลตอบแทนเดือนละ 1,650 บาท ปีละ 19,500 บาท ใช้เวลา 6.7 ปีก็คือทุน ถ้าคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยก็ 15% ต่อปี โดยที่ทุนที่เราลงไปยังใช้งานต่อได้อีก 18 ถึง 23 ปี         นี่เป็นการคิดอย่างคร่าวๆ ตามเงื่อนไขที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ในทางปฏิบัติจริงในปีที่ 12 เราต้องเปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้นใหม่ เช่น อินเวอร์เตอร์ (ซึ่งไม่ใช่ส่วนที่มีราคาแพงที่สุด) ในขณะที่แผงโซลาร์เซลล์ (และเป็นส่วนที่แพงที่สุด) จะมีอายุการใช้งานนาน 25-30 ปี นอกจากนี้อาจจะต้องเสียเงินค่าล้างแผงบ้างปีละครั้ง แต่เท่าที่ผมทราบบางบ้านติดมา 4 ปีแล้วยังไม่ได้ล้างแผงเลย ปล่อยให้ฝนช่วยล้างให้ ผลผลิตก็ไม่ได้ตกต่ำอย่างมีนัยสำคัญ อ่านมาถึงตอนนี้ ท่านคิดอย่างไรครับ เงินออมของท่านที่ฝากธนาคารให้ผลตอบแทนเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปีเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 “เราทำกันเอง” ทศวรรษที่สูญหาย

        เพจ Club VI เอาโควทของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ Money Chat Thailand มาเผยแพร่         “ดัชนีตรงนี้เกิดมาเมื่อเก้าปีกว่าแล้ว ถ้ายังอยู่แถวๆ นี้ก็คือ 10 ปีที่หายไป ซึ่งมันก็หายไปพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจ ภาวะที่ไม่ค่อยดีของประเทศไทย ต้องยอมรับอย่างนี้ว่าประเทศไทยแย่มากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จะไปโทษใครก็ไม่ได้ เราทำกันเอง”                  มีคนเข้าไปเม้นท์กันหลากหลายเกี่ยวกับคำพูดนี้ จำนวนมากเลยพูดประมาณว่า อย่าใช้คำว่า ‘เรา’ เพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วย มีแค่คนจำนวนหนึ่งที่ออกมาทำให้ประเทศไทยต้องเป็นแบบนี้         ว่าแต่ ดร.นิเวศน์ พูดถึงอะไร         แกพูดถึงดัชนีตลาดหุ้นไทยหรือ SET INDEX ที่วนเวียนย่ำยืนอยู่กับที่มาเกือบ 10 ปี ถ้าดูของวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 SET INDEX อยู่ที่ 1,552.73 จุด ส่วนดัชนี SET 50 อยู่ที่ 950.20 จุด ขณะที่ดัชนีหุ้นตลาดประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเพื่อนบ้านเดินหน้าทำนิวไฮกันตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา         แปลว่าคนที่ลงทุนในกองทุนดัชนีมา 10 ปีนี่แทบไม่ได้ผลตอบแทนอย่างที่ควรจะเป็นเลย ส่วนใครที่ลงทุนได้ไม่นาน ถ้าใจไม่นิ่งก็อาจถอดใจไปก่อนเพราะดัชนี SET 50 เต้นสามช่ากันทุกวัน ขึ้นหนึ่งลงสองอยู่แบบนี้จนน่าเหนื่อยใจ         อ้างอิงจากบีบีซีไทย ศาสตราจารย์ อาร์ทูโร บริส ผู้อำนวยการศูนย์ความสามารถในการแข่งขันโลก สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ (IMD World Competitiveness Center) เดินทางมาไทยครั้งแรกปี 2557 หลังประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจ ตอนนั้น "เกิดความรู้สึกเชิงบวกอยู่มากในสังคม" และ "ผู้นำภาคธุรกิจหลายคนก็ให้การสนับสนุนรัฐบาล" เพราะมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี ยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในไทย         แล้ววันนี้ล่ะ นักธุรกิจเหล่านั้นบอกว่า "ความรู้สึกด้านบวกเหล่านั้นมันหายไปหมดแล้ว เหล่าผู้บริหารต่างบอกในผลสำรวจว่าพวกเขามีทัศนคติด้านลบต่อรัฐบาลและนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลไทยดำเนินการ"         รายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันฉบับล่าสุด กลางเดือนมิถุนายน พบว่าประเทศไทยตกลงไป 2 อันดับ ผู้อำนวยการบริสบอกว่าที่น่ากังวลมากกว่าอันดับที่ลดลงของไทยคือปัจจัยชี้วัดส่วนใหญ่ที่ร่วงลงมาจากจุดที่ค่อนข้างดีมาถึงอันดับกลางตาราง เมื่อย้อนดู 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปีแรกที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีประกาศลงในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา         เห็นไหมว่าการเก็บออม การลงทุน ความมั่นคงในชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี เกี่ยวข้องกับการเมืองมากแค่ไหน ‘เรา’ กำลังจมหายไปในทศวรรษที่สาบสูญและยังไม่รู้ว่าจะลอยพ้นน้ำได้เมื่อไหร่หากประชาธิปไตยยังง่อนแง่นแบบนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 ลืมฉันได้ไหม

        เทคโนโลยีในการระบุตัวตนด้วยข้อมูลใบหน้า ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราคุ้นเคยกันดีกับฟังก์ชันปลดล็อกสมาร์ตโฟน หรือการยืนยันตัวตนเพื่อความปลอดภัยที่สนามบินบางแห่ง แต่เราอาจไม่สบายใจนัก หากมีใครมาแอบส่องและบันทึกข้อมูลใบหน้าของเราขณะจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าอยู่ในห้าง          เรื่องนี้กำลังเป็นเรื่องร้อนที่ออสเตรเลีย หลังองค์กรผู้บริโภค Choice ได้สำรวจการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในห้างค้าปลีก 25 แห่ง และพบว่ามีห้างค้าปลีกสามห้าง ได้แก่ Kmart, Bunnings และ The Good Guys ที่นำเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้ ด้วยเหตุผลหลักคือป้องกันการสูญหายของสินค้า โดยทางห้างอ้างว่าได้ติดป้ายแจ้งให้ผู้บริโภคทราบแล้วว่าการเดินเข้าประตูมาถือเป็นการยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวแต่ป้ายเหล่านี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก ถ้าไม่ตั้งใจมองก็อาจพลาดไปได้ง่ายๆ จึงเกิดคำถามว่า ห้างแน่ใจได้อย่างไรว่าลูกค้าเห็น และได้อ่านป้ายดังกล่าวแล้วจริงๆ และผู้บริโภครู้หรือไม่ว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปใช้หรือจัดเก็บอย่างไร นานแค่ไหน ส่งต่อให้ใคร ปลอดภัยจากการถูกแฮคหรือไม่ ที่สำคัญคือไม่มีออปชัน “ไม่ยินยอมให้จดจำใบหน้าของฉัน” ให้ลูกค้าได้เลือก        การสำรวจความคิดเห็นของนักช้อป 1,000 คน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโดย Choice พบว่ามีถึงร้อยละ 76 ที่ไม่รู้ว่ามีการนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้ในห้าง  ร้อยละ 78 บอกว่าตนเองรู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัย และร้อยละ 83 บอกว่าห้างควรแจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าด้วย            เทคโนโลยีที่ว่านี้ นอกจากจะเก็บข้อมูล “ใบหน้า” ของลูกค้าแล้ว ยังติดตามจำนวนครั้งที่ลูกค้าเข้าร้าน ช่วงเวลาและระยะเวลาที่อยู่ในร้าน อีกทั้ง “รีแอคชัน” ของลูกค้าเมื่อเห็นป้ายราคา หรือโฆษณาต่างๆ รวมไปถึงบุคคลที่มักจะมาเดินช้อปด้วยกัน เป็นต้น          ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนี้บอกว่า ข้อมูลใบหน้าของลูกค้าจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับภาพในฐานข้อมูลที่มีการ tag แยกหมวดหมู่ไว้ และในอุดมคติ ภาพใบหน้าเหล่านี้จะถูกเข้ารหัสและนำไปจัดเก็บไว้อย่างปลอดภัยในไฟล์ที่อ่านได้โดยอัลกอริธึมเฉพาะเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ยังไม่มีใครสามารถรับรองได้        ส่วนในทางเทคนิค ห้างสามารถนำข้อมูลใบหน้าที่มีอยู่ ไปเทียบกับ “รูปถ่าย” ในโซเชียลมีเดียที่เจ้าของหน้าโพสต์ไว้ ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเครดิต ฐานะทางเศรษฐกิจ กลุ่มคนที่คบหาหรือแม้แต่ทัศนคติทางการเมืองของลูกค้าได้ด้วย        โดยสรุปคือองค์กรผู้บริโภคเป็นกังวลและต้องการความโปร่งใสเรื่องแนวปฏิบัติในการจัดการข้อมูลของบริษัทเหล่านี้ เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นการละเมิดกฎหมายความเป็นส่วนตัวของออสเตรเลียที่ระบุว่า “ข้อมูลที่ผู้ประกอบการจัดเก็บ จะต้องเหมาะสมกับเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ และจะต้องไม่มากไปจนอาจก่อให้เกิดอันตราย”         ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลแห่งออสเตรเลีย Australian Information Commissioner (OAIC) กำลังดำเนินการสอบสวนห้าง Kmart และ Bunnings ว่านำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้อย่างไร ละเมิดกฎหมายเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือไม่ ทั้งสองห้างบอกว่ายินดีให้ความร่วมมือ ในขณะที่ The Good Guys ก็ประกาศหยุดการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวไว้จนกว่าจะรู้ผลการสอบสวน        ระหว่างนี้ Choice ได้ให้คำแนะนำแบบติดตลกไว้ว่า หากผู้บริโภคไม่อยากถูกจดจำใบหน้าเวลาไปเดินห้าง ก็ให้ใส่หมวก ใส่แว่นกันแดด หรือหน้ากากอนามัยไปพลางๆ ก่อน แต่ก็ต้องทำใจเพราะช่วงเวลาทองนี้คงมีอีกไม่นาน เทคโนโลยีดังกล่าวกำลังถูกพัฒนาให้ฉลาดขึ้นทุกวันhttps://www.smh.com.au/technology/kmart-and-bunnings-use-of-face-recognition-tech-sparks-investigation-20220713https://www.choice.com.au/consumers-and-data/data-collection-and-use/how-your-data-is-used/articles/kmart-bunnings-and-the-good-guys-using-facial-recognition-technology-in-storehttps://www.securityindustry.org/wp-content/uploads/2022/04/future-of-facial-recognition-web.pdf

อ่านเพิ่มเติม >