ฉบับที่ 256 ลืมฉันได้ไหม

        เทคโนโลยีในการระบุตัวตนด้วยข้อมูลใบหน้า ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราคุ้นเคยกันดีกับฟังก์ชันปลดล็อกสมาร์ตโฟน หรือการยืนยันตัวตนเพื่อความปลอดภัยที่สนามบินบางแห่ง แต่เราอาจไม่สบายใจนัก หากมีใครมาแอบส่องและบันทึกข้อมูลใบหน้าของเราขณะจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าอยู่ในห้าง          เรื่องนี้กำลังเป็นเรื่องร้อนที่ออสเตรเลีย หลังองค์กรผู้บริโภค Choice ได้สำรวจการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในห้างค้าปลีก 25 แห่ง และพบว่ามีห้างค้าปลีกสามห้าง ได้แก่ Kmart, Bunnings และ The Good Guys ที่นำเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้ ด้วยเหตุผลหลักคือป้องกันการสูญหายของสินค้า โดยทางห้างอ้างว่าได้ติดป้ายแจ้งให้ผู้บริโภคทราบแล้วว่าการเดินเข้าประตูมาถือเป็นการยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวแต่ป้ายเหล่านี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก ถ้าไม่ตั้งใจมองก็อาจพลาดไปได้ง่ายๆ จึงเกิดคำถามว่า ห้างแน่ใจได้อย่างไรว่าลูกค้าเห็น และได้อ่านป้ายดังกล่าวแล้วจริงๆ และผู้บริโภครู้หรือไม่ว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปใช้หรือจัดเก็บอย่างไร นานแค่ไหน ส่งต่อให้ใคร ปลอดภัยจากการถูกแฮคหรือไม่ ที่สำคัญคือไม่มีออปชัน “ไม่ยินยอมให้จดจำใบหน้าของฉัน” ให้ลูกค้าได้เลือก        การสำรวจความคิดเห็นของนักช้อป 1,000 คน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโดย Choice พบว่ามีถึงร้อยละ 76 ที่ไม่รู้ว่ามีการนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้ในห้าง  ร้อยละ 78 บอกว่าตนเองรู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัย และร้อยละ 83 บอกว่าห้างควรแจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าด้วย            เทคโนโลยีที่ว่านี้ นอกจากจะเก็บข้อมูล “ใบหน้า” ของลูกค้าแล้ว ยังติดตามจำนวนครั้งที่ลูกค้าเข้าร้าน ช่วงเวลาและระยะเวลาที่อยู่ในร้าน อีกทั้ง “รีแอคชัน” ของลูกค้าเมื่อเห็นป้ายราคา หรือโฆษณาต่างๆ รวมไปถึงบุคคลที่มักจะมาเดินช้อปด้วยกัน เป็นต้น          ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนี้บอกว่า ข้อมูลใบหน้าของลูกค้าจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับภาพในฐานข้อมูลที่มีการ tag แยกหมวดหมู่ไว้ และในอุดมคติ ภาพใบหน้าเหล่านี้จะถูกเข้ารหัสและนำไปจัดเก็บไว้อย่างปลอดภัยในไฟล์ที่อ่านได้โดยอัลกอริธึมเฉพาะเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ยังไม่มีใครสามารถรับรองได้        ส่วนในทางเทคนิค ห้างสามารถนำข้อมูลใบหน้าที่มีอยู่ ไปเทียบกับ “รูปถ่าย” ในโซเชียลมีเดียที่เจ้าของหน้าโพสต์ไว้ ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเครดิต ฐานะทางเศรษฐกิจ กลุ่มคนที่คบหาหรือแม้แต่ทัศนคติทางการเมืองของลูกค้าได้ด้วย        โดยสรุปคือองค์กรผู้บริโภคเป็นกังวลและต้องการความโปร่งใสเรื่องแนวปฏิบัติในการจัดการข้อมูลของบริษัทเหล่านี้ เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นการละเมิดกฎหมายความเป็นส่วนตัวของออสเตรเลียที่ระบุว่า “ข้อมูลที่ผู้ประกอบการจัดเก็บ จะต้องเหมาะสมกับเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ และจะต้องไม่มากไปจนอาจก่อให้เกิดอันตราย”         ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลแห่งออสเตรเลีย Australian Information Commissioner (OAIC) กำลังดำเนินการสอบสวนห้าง Kmart และ Bunnings ว่านำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้อย่างไร ละเมิดกฎหมายเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือไม่ ทั้งสองห้างบอกว่ายินดีให้ความร่วมมือ ในขณะที่ The Good Guys ก็ประกาศหยุดการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวไว้จนกว่าจะรู้ผลการสอบสวน        ระหว่างนี้ Choice ได้ให้คำแนะนำแบบติดตลกไว้ว่า หากผู้บริโภคไม่อยากถูกจดจำใบหน้าเวลาไปเดินห้าง ก็ให้ใส่หมวก ใส่แว่นกันแดด หรือหน้ากากอนามัยไปพลางๆ ก่อน แต่ก็ต้องทำใจเพราะช่วงเวลาทองนี้คงมีอีกไม่นาน เทคโนโลยีดังกล่าวกำลังถูกพัฒนาให้ฉลาดขึ้นทุกวันhttps://www.smh.com.au/technology/kmart-and-bunnings-use-of-face-recognition-tech-sparks-investigation-20220713https://www.choice.com.au/consumers-and-data/data-collection-and-use/how-your-data-is-used/articles/kmart-bunnings-and-the-good-guys-using-facial-recognition-technology-in-storehttps://www.securityindustry.org/wp-content/uploads/2022/04/future-of-facial-recognition-web.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 รวมพลังสู้ ‘เงินเฟ้อ’

        ศัตรูสำคัญของเงินออมคือเงินเฟ้อ มันเหมือนมอดปลวกที่คอยกัดกิน ‘มูลค่าเงิน’ ของเราให้ถอยถดลดลง         ทำไมต้องใช้คำว่า ‘มูลค่าเงิน’ เพราะยังมีผู้คนไม่น้อยสับสนระหว่างจำนวนเงินกับมูลค่าเงินน่ะสิ เหมือนจะเคยเล่าไปแล้วว่าถ้าคุณฝากเงินไว้ในธนาคารที่ดอกเบี้ยต่ำเตี้ย สมมติว่าแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมปี 2565 ของไทยอยู่ที่ 7.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี หมายความว่าต่อให้เงิน 100 บาทในธนาคารได้ดอกเบี้ย 1 บาท ความจริงคือเงินของคุณมีมูลค่าต่ำกว่า 100 บาทไปแล้วจากเงินเฟ้อที่สูงลิบลิ่ว         เงินเฟ้อคือสภาวะที่ข้าวของในท้องตลาดราคาขยับสูงขึ้นๆ อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ ทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการต่างๆ ได้ในปริมาณลดลง         สาเหตุของเงินเฟ้อในไทยรอบนี้ที่นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์เกิดจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น (น้ำมันนั่นแหละ) ไหนจะภาครัฐยังลดมาตรการอุดหนุนค่าครองชีพ ส่วนภาคธุรกิจก็ส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อมายังผู้บริโภค (ขึ้นราคาสินค้า) แต่รอบนี้หนักกว่าเคยเพราะเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นทั่วโลกสืบเนื่องจากสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด เพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 75 bps เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ปี 2537 ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ก็ตั้งท่าจะขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อเหมือนกัน         เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องนำเงินไปลงทุนต่อยอดให้งอกเงยมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ         แต่การลงทุนอะไรที่จะชนะเงินเฟ้อได้? คำตอบคือหุ้น และถ้าไม่มีเวลาไล่ดูหรือศึกษาหุ้นที่ละตัว กองทุนรวมหุ้นก็เป็นตัวเลือกที่ดี เพราะในระยะยาวแล้ว ย้ำว่าในระยะยาวหุ้นรวมเงินปันผลให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อได้         สินทรัพย์อีกประเภทคืออสังหาริมทรัพย์ เพราะมันไม่ขึ้นกับความผันผวนของภาคอุตสาหกรรมและตลาดหุ้น แล้วค่าเช่าก็มักเพิ่มสูงขึ้นตามเงินเฟ้อนั่นแหละ แต่จะควักเงินก้อนซื้อที่ดิน ซื้อตึกแถวเองคงยาก ก็มีรีทหรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REAL ESTATE INVESTMENT TRUST: REIT) ให้เลือกลงทุน         บ้างก็ว่าทองคำหรือกองทุนรวมทองคำเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการรักษามูลค่าเงิน เพราะโลหะสีเหลืองนี่ขยับมูลค่าตามเงินเฟ้อเหมือนกัน         ถ้าใครตามส่องบรรดาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนช่วงนี้ จะเห็นว่าแนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมในหุ้นต่างประเทศกันยกใหญ่ ยังไงก็ควรศึกษาก่อนตัดสินใจให้ดีๆ อย่าเชื่อคำโฆษณาอย่างเดียวเป็นอันขาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 ราคาน้ำมันในกำมือของพ่อค้าพลังงาน (2)

        ในปี 2564 คนไทยใช้น้ำมันสำเร็จรูปจำนวน 134 ล้านลิตรต่อวัน หากมีการคิดค่าการกลั่นรวมสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นสัก 3 บาทต่อลิตร ก็คิดเป็นมูลค่าที่ถูกปล้นไปถึงวันละ 500 ล้านบาท ที่น่าสังเกตก็คือ ในเดือนกันยายน 2564 รัฐบาลเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลลิตรละ 1 บาทเพื่อเข้ากองทุนน้ำมัน แต่ในเดือนพฤษภาคม รัฐบาลได้นำเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยถึง 9.30 บาทต่อลิตร พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นี่คือหนี้ที่ผู้บริโภคต้องจ่ายคืนในภายหลัง เมื่อราคาน้ำมันลดลง         เราในฐานะผู้บริโภคไม่มีทางทราบได้หรอกว่า ค่าการกลั่นรวมควรจะเป็นเท่าใดจึงจะเป็นธรรมกันทั้งสองฝ่ายระหว่างเจ้าของโรงกลั่นกับผู้บริโภค แต่การที่โรงกลั่นคิดค่าการกลั่นไว้ที่ระดับไม่เกิน 2 บาทต่อลิตรติดต่อกันมานานอย่างต่อเนื่องกว่า 6 ปีเต็ม ก็แสดงว่า ค่าการกลั่นที่ผ่านมาจึงเป็นที่พอใจของเจ้าของโรงกลั่นแล้ว มีกำไรแล้ว ไม่จำเป็นต้องนำไปเปรียบเทียบกับค่าการกลั่นในต่างประเทศ         ถ้ากิจการกลั่นน้ำมันมี “ต้นทุนอย่างอื่น” อยู่จริง แล้วทำไมในปีอื่นๆ จึงมีค่าต่ำกว่านี้มาตลอดอย่างน้อย 6 ปีเต็ม ถ้าจะอ้างว่าเป็นสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนในการกลั่นน้ำมันสูงขึ้นก็ไม่น่าจะเป็นไปได้  เพราะต้นทุนในการกลั่น เช่น ค่าแรง ค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าสึกหรอของเครื่องจักร ก็ยังคงเท่าเดิม         หากเรายึดเอาตามนิยามของ “ค่าการกลั่นรวม” คือ มูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูป (ที่โรงกลั่น) แล้วลบด้วยราคาน้ำมันดิบ (ที่หน้าโรงกลั่น) ทั้งตัวตั้ง (คือมูลค่าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป) และตัวลบ (คือราคาน้ำมันดิบ) ซึ่งทั้งสองตัวก็มีราคาสูงขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้ (คือค่าการกลั่นรวม) จึงควรจะเท่าเดิม (หากค่าใช้จ่ายในการกลั่นเท่าเดิม)         จริงไหมครับ (หยุดคิดสักครู่)         ดังนั้น ผมจึงขอสรุปว่า การขึ้นค่าการกลั่นรวมจึงเป็นการฉวยโอกาสของเจ้าของโรงกลั่นนั่นเอง         อยากเรียกร้องให้ปลัดกระทรวงพลังงานอธิบายว่า “ต้นทุนอื่นคืออะไร” นอกจากนี้การที่ปลัดกระทรวงพลังงานอ้างว่า ธุรกิจโรงกลั่นเป็นตลาดเสรี มันเสรีจริงหรือ หรือเสรีที่จะกำหนดราคาเอาตามอำเภอใจกระนั้นหรือ         รายการเจาะลึกทั่วไทยฯ (7 มิ.ย.65) ได้นำผลประกอบการของโรงกลั่น 2 โรง พบว่า กำไรสุทธิของโรงกลั่นดังกล่าวในรอบ 3 เดือนแรกของปีนี้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2564 ทั้งปี (ดูภาพประกอบ)         ยังมีอีกสองประเด็นสำคัญที่ทำให้เราคาน้ำมันในประเทศไทยแพงอย่างผิดปกติ        ประเด็นแรกคือค่าการตลาด         จากการรวบรวมข้อมูลค่าการตลาดน้ำมันเบนซินและดีเซล (เฉลี่ยรายเดือน) พบว่า ได้เกิดปรากฏการณ์ที่เหมือนกับค่าการกลั่น กล่าวคือ เมื่อราคาน้ำมันดิบลดลง ค่าการตลาดก็เพิ่มขึ้น ดังแสดงในภาพ เช่น ในเดือนพฤศจิกายน 2564 (ค่าการตลาด 2.02 บาทต่อลิตร) และ ธันวาคม 2564 (ค่าการตลาด 2.06 บาทต่อลิตร) เป็นต้น แม้ส่วนต่างของค่าการตลาดจะน้อยแต่เมื่อเทียบกับการใช้วันละ 134 ล้านลิตร ก็คิดเป็นมูลค่าไม่น้อย        ประเด็นที่สอง การคิดค่าขนส่งเทียม         การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยเป็นการกำหนดโดยการอิงราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ (Mean of Platts : MOP Singapore) โดยคิดการบวกด้วยค่าขนส่งน้ำมันจากท่าเรือสิงโคโปร์มายังโรงกลั่นในประเทศไทย นอกจากนี้ยังบวก ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียน้ำมันระหว่างขนส่ง ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ฯลฯ         แต่จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน (สถานการณ์พลังงานไทย 2564) พบว่า ประเทศไทยผลิตน้ำมันสำเร็จรูปโดยโรงกลั่นในประเทศไทย จำนวน  1.106 ล้านบาร์เรลต่อวัน (161.5 ล้านลิตรต่อวัน) โดยมีการใช้ภายในประเทศ 134 ล้านลิตรต่อวัน ที่เหลือจึงมีการส่งออกประมาณ 32.3 ล้านลิตรต่อวัน  แต่ก็มีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพียง 5.6 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้นเราสามารถกล่าวโดยประมาณได้ว่าน้ำมันสำเร็จรูปที่ใช้ในประเทศไทยทั้งหมด เป็นน้ำมันที่กลั่นในประเทศไทยเราเอง ไม่ได้นำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์แต่ประการใด แต่กระทรวงพลังงานได้กำหนดให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นไทยที่ขายให้คนไทยใช้ทั้งหมดในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดสิงคโปร์ โดยบวกเอาค่าขนส่งและค่าอื่นๆ หรือที่เรียกว่า “ค่าขนส่งทิพย์” ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง        ตามธรรมเนียมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ผู้บริโภคได้เลือกรัฐบาลให้ไปเป็นผู้กำกับดูแลกติกาให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค ทั้งนี้ ต้องอย่างโปร่งไส และตรวจสอบได้ แต่รัฐบาลนี้กำลังทำอะไรอยู่จึงได้ปล่อยให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบเช่นนี้ และนับจากวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 อัตราภาษีสรรพสามิตจะลดลงอีก(คาดว่าจะเหลือประมาณ 1.34 บาทต่อลิตร) เจ้าของโรงกลั่นจะฉวยโอกาสขึ้นค่าการกลั่นรวมไปอีกเท่าใด ผู้บริโภคต้องช่วยกันติดตาม ตรวจสอบนะครับ มิเช่นนั้นเราจะถูกเขาเอาเปรียบตลอดไป         คราวหน้า(ถ้าไม่ลืมหรือมีอย่างอื่นมาแทรก) ผมจะเขียนเรื่องมีความเป็นไปได้ไหมที่โลกจะเลิกใช้น้ำมัน และเมื่อไหร่ โปรดติดตามครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ราคาน้ำมันในกำมือของพ่อค้าพลังงาน (1)

        ก่อนที่จะเริ่มต้นเขียนบทความนี้ ผมได้เช็คราคาน้ำมันที่กระทรวงพลังงานประกาศ (7 มิ.ย.65) พบว่าราคาเบนซิน 51.46 บาทต่อลิตร ในขณะที่ราคาดีเซลหมุนเร็ว 33.94 บาทต่อลิตร  ผมคิดในใจว่าน่าจะเป็นราคาที่สูงที่สุดตั้งแต่ผมจำความได้ แต่เมื่อได้เช็คย้อนหลังไปหนึ่งวันพบว่า ราคาเบนซิน 52.06 บาท โดยที่ราคาดีเซลยังเท่าเดิม        ผู้บริโภคเราหลายคนถูกทำให้เข้าใจว่า ราคาน้ำมันที่คนไทยจ่ายอยู่นี้แพงเพราะกลไกราคาในตลาดโลก เรามาดูความเป็นจริงกันครับ ผมมี 3 เรื่องหลักๆที่จะเล่าให้ฟัง         ผมจึงได้สืบค้นข้อมูลโดยเริ่มต้นจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก(ดูไบ)และ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินดอลลาร์ (ดังรูปแรก) ทำให้เราทราบว่าราคาน้ำมันดิบในวันที่ 7 มิ.ย.65 เท่ากับ 24.68 บาทต่อลิตร  ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยเท่ากับ 33.94 บาทต่อลิตร         ราคามันต่างกันถึงเกือบ 10 บาทต่อลิตร มันเป็นเพราะอะไรครับ        ผมได้ฟังการสัมภาษณ์ปลัดกระทรวงพลังงาน(คุณกุลิศ สมบัติศิริ) จากรายการเจาะลึกทั่วไทยฯ (19 พ.ค.65) พอสรุปได้ว่า รัฐบาลได้จะลดภาษีสรรพสามิตเฉพาะกลุ่มดีเซลเท่านั้น โดยลดลง 5 บาทต่อลิตร พร้อมกับได้เท้าความว่า “คราวที่แล้วได้ลดภาษีลง 3 บาทต่อลิตร โดย 2 บาทเป็นการเอาไปช่วยเหลือกองทุนน้ำมันซึ่งขาดทุนอยู่หลายหมื่นล้านบาท และอีก 1 บาทเพื่อลดราคาหน้าปั๊มให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ยังบอกว่ากระทรวงพลังงานมีเป้าหมายว่าจะควบคุมราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร”         สิ่งที่ผมได้นำเสนอไปแล้ว คือราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (24.68 บาทต่อลิตร) และราคาน้ำมันสำเร็จรูปดีเซลหน้าโรงกลั่น (33.94 บาทต่อลิตร)  เราอาจจะสงสัยว่าผลต่างของราคาที่เพิ่มขึ้นประมาณ 10 บาทต่อลิตรนั้นเป็นราคาที่เป็นธรรมหรือไม่          ในวงการธุรกิจน้ำมัน เขามีศัพท์อยู่คำหนึ่งคือ “ค่าการกลั่นรวม (Gross Refinery Margin)” ซึ่งหมายถึงผลต่างระหว่างมูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่กลั่นได้ทุกชนิดรวมกัน(ที่หน้าโรงกลั่น) กับราคาน้ำมันดิบที่โรงกลั่นเช่นเดียวกัน นั่นคือ ยังไม่รวมค่าขนส่งน้ำมันดิบจากตลาดโลกมาถึงโรงกลั่น         คำถามก็คือ ค่าการกลั่นรวมควรจะเป็นเท่าไหร่จึงจะเป็นธรรมกับผู้บริโภคและเจ้าของโรงกลั่น         จากคำให้สัมภาษณ์ของปลัดกระทรวงพลังงาน (ในรายการเจาะลึกทั่วไทยฯ) ได้ความว่าทางกระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาค่าการกลั่นอยู่ พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ผมก็ไปเจรจาเปิดข้อมูลมาดู ค่าการกลั่นมีต้นทุนอย่างอื่นอยู่ด้วย และเป็นตลาดเสรีด้วย”         เมื่อพิธีกรในรายการตั้งคำถามแบบชี้นำว่า “ตอนนี้ค่าการกลั่นประมาณ 12-13 ดอลลาร์ (หรือ 2.61-2.83 บาทต่อลิตร) ใช่ไหม” ปลัดกระทรวงพลังงานตอบว่า “ใช่ และกำลังเจรจาให้เขาลดลงมาอีก”         ผมรู้สึกแปลกๆ กับคำตอบของปลัดกระทรวงพลังงานท่านนี้มาก โดยเฉพาะใน 2 ประเด็นคือ “เขามีต้นทุนอย่างอื่นอยู่ด้วย” และ “กิจการโรงกลั่นเป็นตลาดเสรี”         ผมไม่ทราบว่าต้นทุนอย่างอื่นของโรงกลั่นคืออะไร แต่จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานเองพบว่า  นับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงเดือนมกราคมปี 2565 ค่าการกลั่นรวมไม่ถึง 2 บาทต่อลิตร (ยกเว้นปี 2560 และ 2561 ที่เกินมาเล็กน้อย)  ซึ่งในช่วงเวลา 6 ปีเศษ อัตราภาษีสรรพสามิตของน้ำมันดีเซลลิตรละ 5.99 บาทมาตลอดแต่พอรัฐบาลลดภาษีลงมาเหลือ 3.20 บาท ค่าการกลั่นรวมก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จาก 1.35 บาทต่อลิตรในเดือนมกราคม 65 จนมาอยู่ที่ 5.15 และ 5.82 บาทต่อลิตรในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ดูภาพประกอบ         โปรดดูรูปประกอบอีกครั้งครับ พอรัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตลงมา เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน แต่เจ้าของโรงกลั่นน้ำมันก็ฉวยโอกาสขึ้นค่าการกลั่นในเดือนเมษายนและพฤษภาคม         เพื่อให้เห็นภาพของปัญหาได้ชัดเจนขึ้น ผมได้นำเสนอข้อมูลสำคัญใน 2 ช่วงเวลาคือ 27 กันยายน 2564 และ 19 พฤษภาคม 2565 (ดังภาพประกอบ)        จากภาพ ผมได้ใช้ปากกาวงไว้ 4 ก้อน เราจะเห็นว่า เมื่อภาษีสรรพสามิตลดลง ค่าการกลั่นรวมก็เพิ่มขึ้นจาก 1.15 บาทต่อลิตรเป็น 5.82 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว แล้ว...อย่างไร คราวหน้ามาต่อกันครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 คนกทมร้อยละ 60.8 ตัดสินใจซื้อรถยนต์จากราคาของรถยนต์ ร้อยละ 75 ต้องการให้ภาครัฐกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์ โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,119 กลุ่มตัวอย่าง                  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ได้กล่าวถึงเหตุผลของการสำรวจครั้งนี้ว่า เนื่องจากสถิติข้อมูลในปี 2564 ของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนนระบุว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจำนวนมากถึง 8,218 ราย ทำให้เห็นว่าความปลอดภัยบนท้องถนนนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาการเสียชีวิตจำนวนมากก็คือ รถยนต์ โดยเฉพาะในส่วนของ มาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์ ทั้งระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน (ACTIVE SAFETY) คือ ระบบที่ช่วยป้องกัน หรือหลีกเลี่ยง ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และส่วนระบบความปลอดภัยเชิงแก้ไข (PASSIVE SAFETY) คือ ระบบที่ช่วยลด หรือหลีกเลี่ยงอันตรายให้แก่ทั้งผู้ขับและผู้โดยสารเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งรถยนต์ทุกคันควรต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์โดยการกำกับจากหน่วยงานของทางภาครัฐ ซึ่งควรเป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ต่างๆ ในรถยนต์ รวมไปถึงเรื่องของการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในเรื่องของการรับประกันอุปกรณ์ต่างๆ ของรถยนต์ด้วย         ในกรณีของการรับประกับอุปกรณ์ต่างๆ ของรถยนต์ โดยส่วนใหญ่ผู้จำหน่ายรถยนต์จะมีเงื่อนไขการรับประกันเอาไว้ให้ ซึ่งจะมีกำหนดเอาไว้ทั้งระยะทางและระยะเวลา อย่างเช่น รับประกัน 3 ปี 100,000 กิโลเมตร โดยเงื่อนไขนี้หมายความว่า รถยนต์ใหม่จะมีการรับประกันคุณภาพเอาไว้ในระยะทาง 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร โดยนับวันหมดประกันเมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิน ถ้าเราใช้รถ 100,001 กิโลเมตรภายใน 1 ปี ก็ถือว่าสิ้นสุดระยะรับประกัน หรือใช้รถเพียง 300 กิโลเมตร แต่เกิน 3 ปี แล้ว การรับประกันก็สิ้นสุดลงเช่นกัน โดยจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่รับรถยนต์และการรับประคุณภาพรถใหม่ โดยมีเงื่อนไขคือ การเสื่อมคุณภาพหรือทำงานบกพร่องต้องเกิดจากการใช้ทั่วไปของลูกค้าเท่านั้น การดัดแปลงปรับแต่งชิ้นส่วน หรือ กระทำการซ่อมแซมใดๆ โดยทีมช่างที่ไม่ใช่ศูนย์บริการรถยนต์ ลูกค้าจะต้องใช้ศูนย์บริการเป็นประจำเท่านั้น ซึ่งกรณีที่กล่าวมานี้ทำให้เกิดข้อสงสัยเช่นกันว่า ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อรถยนต์ได้รับการชี้แจงเงื่อนไขจากผู้ขายหรือไม่        การสำรวจในครั้งนี้ให้ความสำคัญกับคำถามในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์ และสอบถามถึงเรื่องของเงื่อนไขการรับประกันด้วยว่าผู้บริโภคในกลุ่มตัวอย่าง กทม. นั้นมีความคิดเห็นเช่นไร ซึ่งพอที่จะสรุปภาพรวมที่น่าสนใจดังต่อไปนี้         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีรถยนต์ประเภท รถยนต์นั่งขนาดกลาง (Mid-Size Car) ร้อยละ 33.1 มากที่สุด อันดับที่สอง คือ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก (Compact Car) ร้อยละ 18.1 อันดับที่สาม คือ รถกระบะ (Pick-Up) ร้อยละ 13.6 อันดับที่สี่ คือ รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ (Full-Size Car) ร้อยละ 10.5 และอันดับที่ห้า คือ รถอีโคคาร์ (ECO-Car) ร้อยละ 5.4        ในส่วนของการตัดสินใจซื้อรถยนต์จะพิจารณาจาก ราคาของรถยนต์ ร้อยละ 60.8 มากที่สุด อันดับที่สอง คือ รูปแบบการใช้งานของผู้ซื้อ ร้อยละ 60.1 อันดับที่สาม คือ ยี่ห้อรถยนต์ ร้อยละ 47.3 อันดับที่สี่ คือ รุ่นรถยนต์ ร้อยละ 47.1 และอันดับที่ห้า คือ อุปกรณ์ความปลอดภัยของรถยนต์ ร้อยละ 33.1         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่า รถยนต์ใหม่ที่ซื้อจะมีเงื่อนไขการรับประกัน โดยจะมีกำหนดเอาไว้ทั้งระยะทางและระยะเวลา  โดยนับวันหมดประกันเมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิน ร้อยละ 83.2 ทราบว่า รถยนต์ใหม่จะมีเงื่อนไขการรับประกัน จะเป็นการรับประกันเฉพาะ “ชิ้นส่วนหลัก” ที่ไม่ใช่วัสดุสิ้นเปลือง ร้อยละ 76.3         และทราบว่า การรับประคุณภาพรถใหม่ มีเงื่อนไขคือ การเสื่อมคุณภาพหรือทำงานบกพร่องต้องเกิดจากการใช้ทั่วไปของลูกค้าเท่านั้น การดัดแปลงปรับแต่งชิ้นส่วน หรือ กระทำการซ่อมแซมใดๆ โดยทีมช่างที่ไม่ใช่ศูนย์บริการรถยนต์ ลูกค้าจะต้องใช้ศูนย์บริการเป็นประจำเท่านั้น ร้อยละ 73.5 โดยเคยอ่านรายละเอียดและศึกษาข้อมูลความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ร้อยละ 72.0             กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถยนต์ที่มีความจำเป็นมากที่สุดคือ             เข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 60.9            อันดับที่สอง คือ ระบบเบรกฉุกเฉิน ร้อยละ 52.3            อันดับที่สาม คือ ถุงลมนิรภัย ร้อยละ 50.0            อันดับที่สี่ คือ ระบบเตือนการชนด้านหน้า พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ร้อยละ 37.3             และอันดับที่ห้า ระบบควบคุมความเร็ว ร้อยละ 37.1           โดยคิดว่ารถยนต์ควรมีอุปกรณ์ความปลอดภัย เพื่อช่วยให้ปลอดภัยในการขับขี่ มากที่สุดคือ เข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 57.3 อันดับที่สอง คือ ระบบเบรกฉุกเฉิน ร้อยละ 56.4 อันดับที่สาม คือ ถุงลมนิรภัย ร้อยละ 52.7 อันดับที่สี่ คือ ระบบเตือนการชนด้านหน้า พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ร้อยละ 47.7 และอันดับที่ห้า ระบบตัดวาวล์น้ำมันเชื้อเพลิงอัตโนมัติ ในกรณีรถพลิกคว่ำ ร้อยละ 44.0         เมื่อสอบถามความคิดเห็น ในส่วนของมาตรฐานความปลอดภัยรถยนต์ว่าขึ้นอยู่กับราคารถยนต์ (รถยิ่งแพงมาตรฐานยิ่งสูง) ว่าเห็นด้วยหรือไม่ พบว่า เห็นด้วย ร้อยละ 61.2 และ ต้องการให้ภาครัฐกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยพื้นฐานที่จำเป็นของรถยนต์ทุกคัน ร้อยละ 75.0 โดยคิดว่าอุปกรณ์มาตรฐานความปลอดภัยพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีในรถยนต์ทุกคันไม่ว่าราคา รุ่น หรือยี่ห้อใด คือ เข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 59.7 อันดับที่สอง คือ ระบบตัดวาวล์น้ำมันเชื้อเพลิงอัตโนมัติ ในกรณีรถพลิกคว่ำ ร้อยละ 53.4 อันดับที่สาม คือ ระบบเบรกฉุกเฉิน ร้อยละ 52.9 อันดับที่สี่ คือ ระบบเตือนการชนด้านหน้า พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ร้อยละ 52.7 และอันดับที่ห้า ถุงลมนิรภัย ร้อยละ 51.0 เก็บข้อมูลในวันที่ 17 - 23 กรกฏาคม 2564 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 DCA ชีวิตจริงไม่สวยหรูอย่างที่คิด

        ค้นดูต้นฉบับที่เคยเขียน เฮ้ย ไม่เคยเขียนวิธีการเก็บออมแบบ DCA หรือ Dollar-Cost Averaging เลยได้ยังไงนะ บ้าไปแล้ว ทั้งที่เป็นวิธียอดฮิตและน่าจะเหมาะที่สุดสำหรับคนที่ไม่มีเวลาศึกษาทำความเข้าใจการลงทุนมากนัก        แปลว่าตอนนี้จะเล่าเรื่อง DCA ใช่มั้ย? ไม่ใช่ (อ้าว)        การลงทุนแบบ DCA พูดให้เข้าใจง่ายคือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนโดยลงเงินเท่ากันทุกเดือนในกองทุนรวมหรือหุ้น ใดๆ ก็ตาม ที่สำคัญต้องเป็นการลงทุนระยะยาว กูรูมักบอกว่าอย่างน้อย 7 ปี วิธีนี้ช่วยลดความเสี่ยงได้ดีและเหมาะกับคนที่ไม่มีเงินก้อนใหญ่ๆ         DCA เป็นวิธีการที่ดี แต่ชีวิตจริงไม่ได้หรูหราหมาเห่าแบบนั้นน่ะ         ไม่นานมานี้ มีเพจเกี่ยวกับการลงทุนเผยแพร่เนื้อหาว่ายิ่งทำ DCA เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ประมาณว่าถ้าอยากมีเงิน 10 ล้านหลังเกษียณต้อง DCA ต่อเดือนเท่าไหร่ ถ้าได้ผลตอบแทน 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปีแบบทบต้น        เกษียณตอนอายุ 60 ถ้าเริ่มเก็บตั้งแต่ 25 ต้องเก็บเดือนละ 5,000 ถ้าเริ่มตอน 30 ต้องเก็บเดือนละ 7,500 ถ้าเริ่มตอน 40 ต้องเก็บเดือนละ 18,500 ถ้าเริ่มช้าเท่าไหร่ ตัวเลขเงินเก็บต่อเดือนจะยิ่งมโหฬาร         คำถาม-คนทำงานที่จะเก็บเงินได้ 5,000 บาทตั้งแต่เริ่มต้นทำงานมีสักกี่คนในประเทศนี้ มนุษย์เงินเดือนปริญญาตรีที่รัฐบาลโม้ว่าจะกำหนดเดือนเริ่มต้นที่ 15,000 บาทยังทำไม่ได้เลย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของคนไทยในปี 2565 อยู่ที่ 244,838 บาท หารด้วย 12 เดือนจะเท่ากับ 20,400 บาท         เงิน 20,400 บาทเยอะมากมั้ยกับสภาพเงินเฟ้อเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่เพิ่มขึ้น 5.73 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดในรอบ 13 ปีสูตรสำเร็จที่ว่า DCA เท่าๆ กันทุกเดือน พอฐานเงินเดือนสูงขึ้น ก็เพิ่มยอดเงินลงทุนแต่ละเดือนให้มากขึ้น พอเกษียณก็จะมีเงินเก็บไว้ใช้สบายๆ ดูจะโลกสวยเกินไปสำหรับคนไทยทุกคนโดยเฉลี่ย อย่าว่าแต่สิบล้านเลย เงินเก็บหลักหมื่น หลักแสน คนไทยจำนวนมากยังไปไม่ถึง         พูดแบบนี้อย่าตีเจตนาว่า ไม่ต้องเก็บออม ใช้เงินหาความสุขให้เต็มที่ เปล่า แค่จะบอกว่าเราปล่อยให้คนในสังคมเหลื่อมล้ำมากๆ เก็บเงินตามยถากรรมไม่ได้หรอก คนส่วนใหญ่ไม่มีทางไปถึงแน่         ต้องมีอย่างอื่นอีกเยอะแยะ รัฐสวัสดิการ กฎหมายแรงงานที่ดี สวัสดิการสุขภาพ ระบบคมนาคมขนส่ง การศึกษาที่ฟรีจริงๆ กระบวนการยุติธรรมที่เอื้อให้กับคนทุกชนชั้น การเมืองที่เสรีและเป็นประชาธิปไตย ฯลฯ พวกนี้แหละที่จะคอยโอบอุ้มผู้คนในสังคม ไม่ใช่เอะอะบอกให้เก็บเงินท่าเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 การพึ่งตนเองด้านพลังงานด้วยโซลาร์เซลล์

        คงทราบกันแล้วนะครับว่า ทางกระทรวงพลังงานได้ประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าในรูปของ “ค่าไฟฟ้าผันแปร” หรือ “ค่าเอฟที” ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม จาก 1.39 บาทต่อหน่วยเป็น 24.77 บาทต่อหน่วยอ่านมาถึงตรงนี้หลายท่านก็คงจะรู้สึกงงกับศัพท์แสงที่เกี่ยวข้องเสียแล้ว แต่อย่ากังวลเลยครับ ถ้าเราเริ่มให้ความสนใจ เราจะค่อยๆ รู้มากขึ้นๆ         ผมได้แนบภาพแสดงการคิดค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่เดือนละ 300 ถึง 1,000 หน่วยมาให้ดูประกอบแล้วครับ มีอยู่คำหนึ่งที่เราควรระวังคือ ค่าไฟฟ้าเป็นอัตรา “ก้าวหน้า” นั่นคือ ยิ่งเราใช้มาก อัตราค่าไฟฟ้ายิ่งแพงขึ้น เช่น ถ้าใช้ 300 หน่วยต่อเดือน เมื่อรวมทุกอย่างแล้วเราต้องจ่ายเฉลี่ยหน่วยละ 4.40 บาท แต่ถ้าเราใช้ถึง 1,000 หน่วย ค่าเฉลี่ยก็เท่ากับ 4.80 บาทต่อหน่วย เห็นความแตกต่างที่สำคัญนะครับ คือนอกจากจะเสียเงินเพิ่มขึ้นเพราะใช้มากแล้ว อัตราต่อหน่วยก็เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นการใช้อย่างประหยัดจึงเป็นสิ่งสำคัญ           ในบทความนี้ผมตั้งใจจะพูดถึงการพึ่งตนเองด้านพลังงานไฟฟ้าทั้งในระดับประเทศและระดับครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับครัวเรือนซึ่งเราทุกคนต่างมีอำนาจเต็มและสามารถลงมือปฏิบัติได้ทันทีหากเราพอจะมีเงินหรือรู้จักการบริหารการเงินของเราเอง         ในปี 2564 คนไทยทั้งประเทศใช้ไฟฟ้ารวมกันคิดเป็นมูลค่า 6.9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้พอประเมินได้ว่าเป็นค่าเชื้อเพลิง คือก๊าซธรรมชาติอย่างเดียวประมาณ 3.2 แสนล้านบาท  แม้ว่าก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ (ประมาณ 60%) มาจากแหล่งในประเทศไทยเราเอง แต่ราคาก็ผูกพันกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกซึ่งสามารถกำหนดราคาได้เองตามอำเภอใจของกลุ่มทุนผู้ผลิต สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้พิสูจน์ให้เราเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ประเทศเรากำลังยืมจมูกคนอื่นหายใจ        กล่าวเฉพาะการผลิตไฟฟ้า ไทยเราซึ่งเป็นประเทศต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติ แต่เราใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าถึง 64% ใช้แสงแดดซึ่งเรามีมากมายเพียง 2.3% เท่านั้น ในขณะที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) มากที่สุดในโลก แต่เขาใช้ก๊าซฯผลิตไฟฟ้าเพียง 38% เท่านั้น และใช้แสงแดด 3.9%         คราวนี้มาดูข้อมูลการผลิตไฟฟ้าด้วยแสงแดดซึ่งเป็นทรัพยากรที่ธรรมชาติได้มอบให้กับมนุษยชาติทั่วโลก ความจริงที่น่าตกใจสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างไประเทศไทยปรากฏอยู่ในรูปข้างล่างครับ         ในปี 2558 ประเทศไทยเคยผลิตจากแสงแดดได้มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเพียงเล็กน้อย และมากกว่าของประเทศเวียดนามค่อนข้างเยอะ แต่พอผ่านไป 6 ปี ประเทศไทยผลิตได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึงกว่า 2 เท่าตัว  และถูกเวียดนามแซงหน้า ในขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งมีแสงแดดน้อยกว่าบ้านเรา ได้ผลิตจากแสงแดดเพิ่มขึ้นเป็น 711 หน่วยต่อคน หรือเกือบ 9 หมื่นล้านหน่วยทั้งประเทศ คิดเป็น 42% ของพลังงานไฟฟ้ารวมทั้งหมดที่ประเทศไทยผลิต         ถ้าเราสังเกตเส้นกราฟในรูปจะพบว่า การใช้แสงแดดเพื่อผลิตไฟฟ้าในปี 2564 ของประเทศไทยกลับน้อยกว่าในปี 2563 เล็กน้อย ในขณะที่ของประเทศอื่นๆ รวมทั้งค่าเฉลี่ยของโลกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (ยกเว้นเยอรมนีที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย) พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประเทศไทยซึ่งถูกองค์กรระดับสากลจัดให้เป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่เรากำลังพัฒนาไปในทางที่ผิด เราหลงไปใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นธุรกิจผูกขาดและเรามีเองไม่มากพอ มากขึ้นๆ ในขณะที่แสงแดดซึ่งมีมากและกระจายตัวอยู่ทั่วไป ไม่สามารถผูกขาดได้ แต่เรากลับไม่นำมาใช้ประโยชน์ด้วยนโยบายที่กลุ่มทุนพลังงานฟอสซิลเป็นผู้กำหนดขึ้น         คราวนี้เรามาดูกันว่า ถ้าเราต้องการจะพึ่งตนเองด้านพลังงานไฟฟ้าในระดับครัวเรือนโดยการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาจะต้องติดขนาดเท่าใด ลงทุนเท่าใดและจะได้ผลตอบแทนร้อยละเท่าใดต่อปี         สิ่งแรกที่เราควรจะถามตัวเองก็คือว่า ที่ผ่านมาเราใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละกี่หน่วย คิดเป็นเงินจำนวนเท่าใด         สมมุติว่าในครอบครัวเราใช้ไฟฟ้าเดือนละ 400 หน่วย จากตารางในรูปแรกเฉลี่ย 4.49 บาทต่อหน่วย (หมายเหตุ ในปี 2564 โดยเฉลี่ยผู้อยู่อาศัยในประเทศไทยใช้ไฟฟ้าเดือนละ 73 หน่วยต่อคนต่อเดือน ถ้าครอบครัว 5 คนก็ใช้ประมาณ 330 หน่วย)  ผมขอแนะนำให้ติดโซลาร์เซลล์ขนาด 3 กิโลวัตต์ ซึ่งจะต้องลงทุนประมาณ 1.2 แสนบาท (ข้อย้ำว่าประมาณ) โดยมีผลตอบแทนและแผนที่ศักยภาพของผลผลิตจากโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย แสดงแล้วในรูปประกอบ         ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การคำนวณข้างต้นมาจากการประมาณอย่างคร่าวๆ เท่านั้น (แต่ใกล้เคียงความจริงมาก) ทั้งเงินลงทุน ผลผลิตและค่าไฟฟ้าซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขึ้นราคาอีกในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ โดยผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 11% ต่อปี  สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยฝากธนาคารประเภทประจำเยอะอยู่นะ         โดยสรุป ผู้นำรัฐบาลมักจะพูดให้ประชาชนฟังอยู่เสมอๆ ว่า ประเทศไทยเรายึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวนโยบาย แต่ในความเป็นจริงเฉพาะเรื่องพลังงานไฟฟ้า รัฐบาลกลับทำในสิ่งตรงกันข้าม คือเลือกใช้พลังงานที่ไม่มีในประเทศของตนเอง และกีดกันพลังงานที่เรามีอย่างไม่จำกัด คือพลังงานจากแสงแดดน่าเสียดายแดดที่รัฐบาลยืนบังแดด ผู้บริโภคคิดอย่างไร จะทำอะไรเพื่อเพิ่มการพึ่งตนเองให้มากขึ้นก็รีบตัดสินใจได้แล้ว จะรออะไรละครับ?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 28-DeFi ระบบการเงินไร้คนกลาง (คงต้องรออีกนาน)

        ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลได้สร้างสินทรัพย์ชนิดใหม่ๆ ขึ้นมาหลายอย่าง มีคนรวยจากมันก็มาก บาดเจ็บก็เยอะ บิทคอยน์นี่ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นชัดเจน ช่วงที่ผ่านมาทำเอาหลายคนน้ำตาตกเพราะเงินดิจิทัลตกเอาๆ         โลกดิจิทัลยังไปต่อไม่รอใครทั้งนั้น ราวๆ 5 ที่แล้วหรือปี 2018 โลกเราก็ได้รู้จักกับ DeFi หรือ Decentralized Finance แปลเป็นไทยน่าจะประมาณว่า การเงินแบบกระจายศูนย์หรือบางทีก็เรียกว่าเป็นการเงินแบบไม่มีคนกลาง         คนกลางในที่นี้เป็นใคร?         ง่ายสุดคือธนาคาร ตั้งแต่สยามเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ธนาคารก็มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อเศรษฐกิจไทย มีอิทธิพลชี้เป็นตายของธุรกิจเนื่องจากเป็นผู้กุมเงินสดและมีสิทธิจะให้ใครกู้หรือไม่กู้ ในยุคทหารครองอำนาจเราจึงเห็นนายธนาคารอัญเชิญนายพลไปนั่งเป็นคณะกรรมการกันมากมาย ปล่อยกู้ให้พวกพ้อง นักการเมือง จวบจนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ธนาคารและสถาบันการเงินล้มระเนนระนาดนั่นแหละ อิทธิพลของนายธนาคารจึงลดลง แต่ไม่ได้หมดไป         ขณะที่ตระกูลมหาเศรษฐีอาจใช้แค่นามสกุลบนบัตรประชาชนกู้เงินจากธนาคารได้ไม่ยากเย็น รายเล็กรายน้อยกลับลำบากยากเข็ญ ต้องพินอบพิเทา กว่าจะได้เงินสักแดงมาทำธุรกิจหรือซื้อบ้าน         แต่ DeFi ไม่ง้อธนาคาร มันเปิดทางให้ผู้กู้เข้าถึงผู้ปล่อยกู้ได้โดยตรง ถึงตรงนี้คงเกิดคำถามว่าถ้าเกิดผู้กู้ชักดาบล่ะ เรื่องนั้นไม่ต้องห่วง เพราะผู้กู้จะต้องฝากทรัพย์สินดิจิทัลของตนไว้บนแพลตฟอร์มเพื่อค้ำประกัน อารมณ์เหมือนแม่ค้าเอาทองไปตึ๊งไว้กับอาเสี่ยหรือเราไปโรงรับจำนำนั่นแหละ         ฟังดูดีใช่ไหม? ยังไม่แน่ DeFi ยังมีข้อบกพร่องให้แก้ไขอีกมาก แม้จะมีคนเริ่มลงทุนสร้างผลตอบแทนจากมันแล้ว แต่ผลตอบแทนก็ยังไม่คงที่ ความปลอดภัยก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์         ที่สำคัญ ถ้าคิดว่ามันจะมาแทนสถาบันการเงิน ช่วยให้รายเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้คงต้องคิดใหม่ คำถามพื้นฐานที่สุดคือเวลานี้มีคนไทยที่เป็นชนชั้นกลางหรือผู้มีรายได้น้อยสักกี่คนที่มีความรู้เรื่องนี้ มีสักกี่คนที่มีสินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับค้ำประกัน         แค่ Digital Divide หรือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตระหว่างเขตเมืองกับชนบทยังต่างกันอยู่เลย เรายังต้องการนโยบาย การส่งเสริม และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอีกเยอะเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนและเข้าถึงการออมการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ         แล้วในประเทศที่เพิ่งประกาศให้ใช้อีเมล์รับ-ส่งหนังสือราชการได้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2564 คิดดูแล้วกันว่าต้องรออีกนานแค่ไหน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ฟาสต์แฟชันยังคงฟาสต์ฟอร์เวิร์ด

        หลายคนคงได้ยินข่าวเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่าสหภาพยุโรปประกาศข้อเรียกร้องต่ออุตสาหกรรมแฟชัน ขอให้ผลิตสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนและความสะดวกในการซ่อมแซมหรือรีไซเคิล รวมไปถึงการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค เช่น ระยะเวลาการใช้งาน หรือหลักฐานสนับสนุนว่าสินค้าตนเอง “รักษ์โลก” อย่างไร            สหภาพยุโรปมีสถิติการนำเข้าเสื้อผ้าสูงที่สุดในโลก และในช่วงสิบปีที่ผ่านมามูลค่าการนำเข้าสินค้าประเภทเสื้อผ้าของยุโรปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 62 เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะกระแส “ฟาสต์แฟชัน” ที่แพร่ขยายไปทั่วโลก ปัจจุบันผู้คนสามารถซื้อเสื้อผ้าได้บ่อยและมากกว่าเดิม ด้วยราคาที่ถูกลง รวมถึงคอลเลคชันใหม่ๆ ที่ออกมาดึงดูดใจลูกค้าอยู่ตลอดเวลาจนเสื้อผ้าที่มีอยู่ดู “เอ๊าท์” ไปโดยปริยาย และถ้าเบื่อหรือไม่ชอบก็แค่ซุกมันไว้หรือไม่ก็ทิ้งไปแล้วซื้อใหม่ สถิติระบุว่าคนในสหภาพยุโรปทิ้งเสื้อผ้ากันคนละประมาณ 11 กิโลกรัมต่อปี          แต่นั่นก็ยังไม่เท่าไรเมื่อเทียบกับประเทศที่มี “การบริโภคเสื้อผ้าต่อคน“ เป็นอันดับหนึ่งของโลก อย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีอัตราการทิ้งเสื้อผ้าของประชากรอยู่ที่ 37 กิโลกรัมต่อคนต่อปี  ในขณะที่ออสเตรเลียตามมาเป็นอันดับสอง ด้วยสถิติการซื้อเสื้อผ้าคนละ 27 กิโลกรัม และทิ้งในอัตรา 23 กิโลกรัมต่อปี         ผู้บริโภคอาจไม่คิดว่าการมีเสื้อผ้าล้นตู้จะส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากมายนัก เมื่อไม่มีพื้นที่จัดเก็บ ก็แค่นำไปบริจาคให้มูลนิธิต่างๆ หรือขายเป็นเสื้อผ้ามือสองหาเงินเข้ากระเป๋า บริษัทที่รับซื้อเสื้อผ้าเก่าเพื่อส่งออกไปขายยังประเทศอื่นก็มี ... แต่เดี๋ยวก่อน รู้หรือไม่ว่าร้อยละ 10 ของก๊าซเรือนกระจกในโลกเรามาจาก “ขยะเสื้อผ้า” ที่ชาวโลกร่วมสร้างกันปีละไม่ต่ำกว่า 92 ล้านตัน (เทียบเท่ากับการนำเสื้อผ้าหนึ่งคันรถบรรทุกไปเทลงบ่อขยะหรือเตาเผาทุกหนึ่งวินาที) และหากไม่มีความพยายามใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงเทรนด์นี้ นักวิชาการคาดการณ์ว่าโลกเราจะมีขยะเสื้อผ้า 134 ล้านตันในปี 2030         แม้การ “รีไซเคิล” ดูจะเป็นทางออก แต่ปัจจุบันมีเสื้อผ้าเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนการดังกล่าว ด้วยความซับซ้อนของดีไซน์เสื้อผ้ายุคนี้ ส่วนประกอบตกแต่ง เส้นใยหลากหลายชนิด รวมถึงสีเคมีที่ใช้ย้อม ล้วนเป็นอุปสรรคที่ทำให้การรีไซเคิลเป็นเรื่องยากและมีต้นทุนสูง           ในขณะที่อีกร้อยละ 80 ของเสื้อผ้าเหล่านี้จะถูก “ส่งต่อ” ไปยังประเทศที่สามเพื่อขายเป็นเสื้อผ้ามือสอง แต่เรื่องมันไม่ง่ายอย่างที่คิด ฉลาดซื้อขอพาคุณไปดูเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศกานา ที่กำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมจาก “ขยะเสื้อผ้า”  หน้าผาหลากสี        ทุกสัปดาห์จะมีเสื้อผ้าใช้แล้วจากยุโรป อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย จำนวน 60 ตู้คอนเทนเนอร์ (หรือประมาณ 15 ล้านชิ้น) ถูกส่งเข้ามายังเมืองอักกรา เมืองหลวงของกานา ฮับเสื้อผ้ามือสองที่ใหญ่ที่สุดในอัฟริกาตะวันตก และที่ตั้งของ “ตลาดคันตามันโต” ที่มีแผงค้าเสื้อผ้ามือสองกว่า 5,000 แผง         ก่อนหน้านี้ ทุกครั้งที่มีการเปิดกระสอบ (ที่ผู้ค้าทุนหนาซื้อมาในราคา 95,000 เหรียญ) พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยจะกรูกันเข้ามาแย่งกันหยิบฉวย “เสื้อผ้าแบรนด์เนม” ที่สามารถนำไปขายทำราคาได้สูงๆ แต่เดี๋ยวนี้แค่แย่งให้ได้ “เสื้อผ้าสภาพดีพอขายได้” ก็เก่งมากแล้ว         เพราะปัจจุบันในบรรดาเสื้อผ้าใช้แล้วที่นำเข้ามายังกานา มีเพียงร้อยละ 60 เท่านั้นที่สภาพดีพอที่จะนับเป็น “สินค้า” ส่วนที่เหลือต้องคัดทิ้งเป็นขยะ ที่สำคัญยังมีส่วนที่เป็น “ขยะ” อยู่แล้วปะปนมาในกระสอบด้วย         ภาระนี้จึงตกเป็นของชาวเมืองที่นี่ ศักยภาพในการกำจัดขยะของเมืองอักกราอยู่ที่วันละ 2,000 ตัน เมื่อขยะทั่วไปของเมืองรวมกับขยะเสื้อผ้าอีก 160 ตันต่อวัน จึงเกินความสามารถที่จะจัดการได้ ส่วนที่เหลือจึงถูกนำไปเผา แต่เนื่องจากปริมาณของมันมหาศาลจึงไม่สามารถเผาได้หมด เสื้อผ้าที่เหลือจากการเผาก็จะถูกนำไปกองรวมกันให้เผชิญแดดลมและความชื้นไปตามสภาพ เกิดเป็นกองขยะริมชายฝั่งทะเล ที่ถูกอัดแน่นพอกพูนขึ้นทุกวันจนดูคล้ายกับหน้าผาหลากสี ที่กลายเป็น “แลนด์มาร์ก” ของเมืองนี้ไป         แต่มันคงจะไม่ถูกพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในเร็วๆ นี้ เพราะนอกจากจะเป็นมลพิษทางสายตาแล้ว พลาสติกหรือสารเคมีจากสีย้อมที่รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำยังสร้างความลำบากให้กับชีวิตชาวบ้านที่ต้องอาศัยใช้น้ำและชีวิตของสัตว์น้ำในทะเลด้วย         ประเทศในอัฟริกาประเทศอื่นก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน บางแห่งรุนแรงจนรัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซง เช่น กรณีของรวันดา ที่ตัดสินใจแบนการนำเข้าเสื้อผ้าเหล่านี้ไปเลย เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและปกป้องอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในประเทศ ในขณะที่เคนยา และแทนซาเนีย กลับไม่สามารถทำอย่างนั้นได้เพราะติดเงื่อนไขที่ทำไว้กับสหรัฐอเมริกา หากไม่รับ “ขยะ” เหล่านี้ ก็จะต้องพบกับปัญหาเศรษฐกิจที่จะตามมา ฟาสต์แฟชันยังคงฟาสต์ฟอร์เวิร์ด >>>         ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา แบรนด์เสื้อผ้าจากฝั่งยุโรปที่เคยจำหน่ายเสื้อผ้าปีละ 2 ซีซัน ก็สามารถผลิตออกมาวางขายได้ถึงปีละ 12 ถึง 24 คอลเลคชัน และเป็นที่รู้กันของ “สายแฟ” ว่าเดี๋ยวนี้มีเสื้อผ้าออกใหม่ทุกสัปดาห์ (เท่ากับ 52 ไมโครซีซัน เลยทีเดียว)         นอกจากนี้การเปิดตัวของร้านเสื้อผ้าออนไลน์ที่รองรับการสั่งซื้อตลอด 24 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น SHEIN ร้านเสื้อผ้าออนไลน์ (ประเภทไม่มีหน้าร้าน) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทมียอดขาย 6,200 ล้านเหรียญในปี 2020 และ 15,000 ล้านเหรียญในปี 2021 และความร้อนแรงนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา บริษัทซึ่งมีมูลค่า 100,000 เหรียญสหรัฐ ยังสามารถระดมทุนได้อีก 1,000 ล้านเหรียญ         ตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ SHEIN คือสหรัฐฯ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงในวัยต่ำกว่า 25 ปี เรื่องนี้สอดคล้องกับงานวิจัยที่ระบุว่ากลุ่มคนที่ซื้อเสื้อผ้ามากที่สุดคือวัยรุ่นผู้หญิง เขาพบว่าคนกลุ่มนี้ซื้อเสื้อผ้าปีละ 50 ถึง 60 ชิ้น และในจำนวนนี้มีมากกว่าร้อยละ 10 ที่ไม่เคยหยิบออกมาใส่        กระแสสังคมโซเชียลที่กระตุ้นการซื้อด้วยวาทกรรม “ของมันต้องมี” ภาพการหิ้วถุงพะรุงพะรังเดินหัวเราะร่าเริงออกจากร้าน รวมถึงการนำเสนอว่าการซื้อเสื้อผ้าเพื่อมาใส่ (เพียงครั้งเดียว) ในโอกาส “พิเศษ” นั้นเป็นเรื่องปกติ ล้วนมีอิทธิพลต่อ “คนรุ่นใหม่”         งานสำรวจจากอังกฤษพบว่า หนึ่งในสามของสาวๆ ที่นั่นมองว่าเสื้อผ้าที่สวมใส่แล้วหนึ่งหรือสองครั้ง ถือเป็นเสื้อผ้า “เก่า”  ในขณะที่หนึ่งในเจ็ดบอกว่าการปรากฏตัวซ้ำในภาพถ่ายด้วย “ชุดเดิม” เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ที่น่าสนใจคือ คน Gen Z และมิลเลนเนียล ที่ขึ้นชื่อว่าตระหนักถึงปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนหน้า และให้การยอมรับ “เสื้อผ้ามือสอง” มากกว่าคนรุ่นก่อน กลับไม่ตั้งคำถามว่าถ้าเสื้อผ้าราคาถูกขนาดนี้ คนที่เกี่ยวข้องในสายการผลิต (เช่น เกษตรกร เจ้าของโรงงาน พนักงานโรงงาน ธุรกิจขนส่ง) จะได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมหรือไม่                                                                         ข้อมูลอ้างอิงhttps://ecdpm.org/talking-points/sustainable-fashion-cannot-stop-eu-borders/?fbclid=IwAR0QRttzmKb8VB7cT2p0_N4ObdoNBWKEDOZTbgW1GJEy0DaZ-zNiJW63DTYhttps://www.abc.net.au/news/2021-08-12/fast-fashion-turning-parts-ghana-into-toxic-landfill/100358702?fbclid=IwAR2HZoRrPYBNtPLrsd0vN1V1dGSiJf7a4tXiNleJ7QP00bHoh_DT8lAtM1ghttps://www.abc.net.au/news/2021-06-11/textile-waste-consumption-under-estimated/100184578?fbclid=IwAR08GFcy-Y-PJAwx6Qris5Qk7l_cwZ-_KQZb9UovsdXeSjnEJqJ1Fa6jOfMhttps://www.scmp.com/lifestyle/fashion-beauty/article/3173201/why-does-gen-z-buy-so-much-fast-fashion-if-theyre-so?fbclid=IwAR1kNqi92pJPbFdett3nJH6Z99Dq8LQlMu7iJ3lJ5RUW15s-EEWoaF3oSR0https://www.bbc.com/future/article/20200710-why-clothes-are-so-hard-to-recyclehttps://fashiondiscounts.uk/fast-fashion-statistics/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 ลงทุนในตัวเองก่อน รวมแหล่งเรียนรู้ด้านการเงิน การลงทุน แบบไม่ขายฝัน

        พื้นที่ตรงนี้ย้ำหลายครั้งว่า การลงทุนในตัวเองหรือพูดให้ชัดคือลงทุนในความรู้และทักษะ เรื่องนี้น่าจะเถียงยาก เพราะลองว่ามีความรู้และทักษะซะอย่างย่อมนำไปใช้ต่อยอดได้         ในแง่การลงทุนก็เหมือนกัน ถ้าต้องการลงทุนแบบไม่ทุกข์ร้อนใจมากนัก เข้ากับสไตล์ของตัวเอง ก็ต้องศึกษาหาข้อมูลความรู้ เลยคิดว่าตอนนี้จะรวบรวมแหล่งความรู้ให้คนที่คิดจะเริ่มลงทุนใช้เป็นห้องเรียน โดยเกณฑ์ที่ใช้เลือกคือไม่ขายฝัน ประเภทผลตอบแทน 10 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือนหรือออกแนวแชร์ลูกโซ่ ตัดทิ้ง         สอง-ฟรี อันนี้สำคัญ บางคนเสียเงินค่าคอร์สแพงเว่อร์ แถมโดนขายคอร์ส ชวนลงทุนอีก         สาม-ปูพื้นฐาน ต้นไม้ที่มั่นคงเกิดจากรากที่แผ่กว้างและลึก         สี่-เข้าถึงได้ง่ายเพราะทั้งหมดอยู่บนอินเตอร์เน็ต         เว็บไซต์ต่อไปนี้บางคนอาจรู้จักอยู่แล้ว         1. www.set.or.th เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งหลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี อย่างน้อยก็ต้องเคยได้ยินชื่อ ด้านบนของเว็บมีส่วนที่ชื่อว่า ‘ความรู้การลงทุน’ คลิกเข้าไปจะเจอกับคลิปแนะนำตั้งแต่การเงินส่วนบุคคลเริ่มต้นจนถึงการลงทุนในอนุพันธ์กันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีแนะนำการเป็นผู้ประกอบการอีกต่างหาก แค่สมัครและล็อกอินเข้าไป คุณจะพบแหล่งเรียนรู้ที่ฟรีและดี         2. www.a-academy.net เป็นเว็บไซต์ที่ทำขึ้นโดยศักดา สรรพปัญญาวงศ์ ผู้ก่อตั้งและวิทยากรประจำเว็บไซต์ จัดเป็นแหล่งเรียนรู้เริ่มต้นที่ดีมากๆ แหล่งหนึ่ง ไม่ขายฝัน สมเหตุสมผล เริ่มต้นจากการเงินส่วนบุคคล การจัดการหนี้สิน การวางแผนภาษี การวางแผนเกษียณ การลงทุนในหุ้นและกองทุนรวม เรียกว่าถ้าดูจบทุกคลิปก็น่าจะเซียนการลงทุนกันเลยทีเดียว         3. doctorwanttime.com/ เว็บที่มีชื่อไทยน่ารักๆ ว่าหมอยุ่งอยากมีเวลา เจ้าของคือ พญ.อรพรรณ คงพันธุ์วิจิตร เป็นเว็บที่ขยับขึ้นมาอีกเลเวลหนึ่งเพราะจะเน้นเรื่องการลงทุนหุ้นและกองทุนรวมโดยเฉพาะ มีสอนการอ่านงบการเงิน การคัดเลือกหุ้น คัดเลือกกองทุน สอนแบบเข้าใจง่าย ไม่ใช่ศัพท์แสงยุ่งยากฟังแล้วหัวจะปวด         4. bear-investor.com/ เน้นการลงทุนหุ้นและกองทุนรวมเช่นกัน ความแตกต่างคือสำหรับคนที่สนใจกองทุนรวมแบบดัชนี ผู้ก่อตั้งเว็บเชื่อมั่นว่าการลงทุนแนวทางนี้ตอบโจทย์และให้ผลตอบแทนดีกว่ากองทุนเชิงรุกที่ระยะยาวแล้วไม่สามารถเอาชนะตลาดได้ หลายบทความอธิบายแบบเจาะลึกว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ อาจจะไม่ได้สอนการลงทุนโดยตรง แต่พูดในเชิงวิธีคิด ข้อเสียคือเว็บไม่ได้อัพเดทมาสักพักใหญ่แล้ว แต่บทความเดิมๆ ที่มีอยู่เยอะแยะยังทันสมัยเสมอ         ยังมีแหล่งเรียนรู้อีกเยอะแยะ เอาแค่พอหอมปากหอมคอ เข้าไปศึกษาหาอ่านกันและขอให้มีความสุขกับการลงทุน

อ่านเพิ่มเติม >