ฉบับที่ 249 ตลาดหุ้นไทย ผูกขาดจนสิ้นหวัง

        สำหรับสายนักลงทุนหุ้น งาน BETTER TRADE SYMPOSIUM 2021: WARP TO THE FUTURE ที่จัดไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 ได้ยิน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนคุณค่า (Value Investor) ของไทยพูดว่า         “จากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากว่า 20 ปี ไม่เคยมีครั้งไหนรู้สึกสิ้นหวังกับตลาดหุ้นไทยเท่าครั้งนี้ เพราะตลาดหุ้นไทยไม่ไปไหน แถมยังไม่มีหุ้นเด็ดๆ ถูกๆ น่าลงทุน” แถมแกก็หนีไปลงทุนหุ้นต่างประเทศเสียแล้ว ไม่เท่านั้น ยังชวนคนรุ่นใหม่ไปลงทุนหุ้นเมืองนอกด้วย         ฟังแล้วหลายคนสะดุ้ง ขนาดจิ้งจกทักยังลังเล นี่นักลงทุนคุณค่าอันดับต้นๆ ของไทยพูดขนาดนี้จะไม่ฟังเลยก็กระไรอยู่ จริงไหม? ข่าวจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานคำพูดของ ดร.นิเวศน์ อีกว่า ตลาดหุ้นไทยจะทนภาวะเลวร้ายต่อไปไม่ไหว เช่น คนแก่ตัวขึ้นมาก คนทำงานน้อยลง เศรษฐกิจไม่ก้าวหน้า ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ในที่สุดตลาดหุ้นก็ไปต่อยาก                 พักเรื่องคนแก่ คนทำงานน้อยลง กับเศรษฐกิจแย่ๆ ไว้ก่อน แล้วใส่เครื่องหมายคำพูดที่ “ไม่มีความคิดสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในการประกอบธุรกิจ ถ้าเราจะซื้อหุ้นสักบริษัทหนึ่งและถือยาวๆ แน่นอนว่าเราต้องอยากได้บริษัทที่จ่ายปันผลดีและมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะทำแบบนี้ได้ ตัวบริษัทก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มีความสามารถในการแข่งขัน ลงทุนกับการวิจัยและพัฒนา         หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ ผูกขาดหรือเกือบผูกขาด         บริษัทใหญ่ๆ ในตลาดหุ้นไทยโดยมากใหญ่ได้จากวิธีหลัง ลองไปไล่ดูสิ น้ำมัน สนามบิน ขนส่ง ค้าปลีก การสื่อสาร ผูกขาดท้างงงน้านนน                 ในทางเศรษฐศาสตร์ การผูกขาดคือความเลวร้ายขั้นสุด เพราะมันทำให้ผู้ที่ผูกขาดได้ค่าเช่าส่วนเกินจากเศรษฐกิจ ได้กำไรเกินพอดี ไม่ต้องคิดอะไรใหม่ๆ อยู่เฉยๆ เงินก็มา เพราะไม่มีใครมาแข่งด้วย ในประเทศพัฒนาแล้วจึงให้ความสำคัญกับการต่อต้านการผูกขาด             ไม่เหมือนไทย รัฐบาลกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการผูกขาด อย่างข่าวล่าสุดที่บริษัทมือถืออันดับ 2 กับ 3 จะควบรวมกัน นักวิชาการออกมาเตือนแล้วว่า เฮ้ย นี่มันผูกขาดนะ มันลดผู้เล่นในตลาดลงไปนะ สุดท้ายแล้วผู้บริโภคจะไม่มีทางเลือกและทำอะไรไม่ได้นะ เพราะมันมีแค่ 2 เจ้าให้เลือก         เหมือนรถไฟฟ้าเส้นหลัก ไม่ขึ้นเจ้านี้ ก็ไม่มีให้ขึ้น ไปนั่งรถเมล์โบราณนู่น         อย่าคิดว่ามีเงินลงทุนแล้วจะรวยได้แบบไม่แคร์สังคม เพราะถ้าสังคมมันห่วยจากรัฐที่ไม่ไยดีประชาชน แต่เอื้อนักธุรกิจ มันก็จะย้อนกลับมาทำร้ายผลตอบแทนจากการลงทุนในที่สุด         ...แล้วจะไม่สิ้นหวังได้ยังไง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 กองทุนลดหย่อนภาษี ยิ่งลด ยิ่งเหลื่อมล้ำ

        ตอนนี้ขอพูดถึงเรื่องการออมผ่านกองทุนและส่วนที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งส่วนหลังนี่เหมือนจะไม่ใช่เรื่องการออมสักเท่าไหร่ เพราะมันต่อกับภาพใหญ่กว่านั้น มาเริ่มกันเลย         เชื่อว่าหลายคนลงทุนผ่านกองทุนรวมแบบ SSF หรือ Super Savings Fund (ซึ่งของเดิมก็คือ LTF Long Term Equity Fund) และ RMF หรือ Retirement Mutual Fund เพราะนอกจากจะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าฝากธนาคารให้เงินเฟ้อกัดแทะเล่นแล้ว ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย         จะว่าไปมันคือการสร้างแรงจูงใจให้คนออมเงินนั่นแหละ แถมยังส่งผลดีต่อตลาดทุนอีก คนส่วนใหญ่เลือกลงทุนในกองทุน 2 ประเภทนี้ก็หวังจะเอาไปลดหย่อนภาษี โดย SFF สามารถซื้อได้ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่เกิน 200,000 บาท ส่วน RMF ก็คล้ายคลึงกันคือซื้อได้ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท         จำนวนเงินที่ซื้อนี่แหละสามารถเอาไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนตัวอื่นๆ แล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท         สำหรับคนที่รายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี อยากได้ลดหย่อนเยอะๆ หรือไม่อยากจ่ายภาษีให้รัฐบาลประยุทธ์เอาไปถลุงเล่นกับเรือดำน้ำ มันก็เป็นเรื่องดีนั่นแหละ อย่างไรก็ตาม มันมีอีกแง่มุมที่เราต้องตระหนักเนื่องจากผลร้ายของมันกำลังทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่สูงอยู่แล้ว สูงมากขึ้นๆ ไปอีก         จากบทความ ‘ยิ่งลดหย่อน…ยิ่งเหลื่อมล้ำ?: บทเรียนจากการให้สิทธิลดหย่อนภาษี LTF และ RMF’ โดย นรชิต จิรสัทธรรม และ กฤตยาณี กิตติพัฒน์พาณิช ที่เผยแพร่ใน https://www.the101.world/ltf-rmf-and-inequality/#_ftn1 ระบุว่า ยิ่งมีช่วงห่างระหว่างอัตราเติบโตของการลดหย่อนกับรายรับภาษีเงินได้มากขึ้น ผลที่ตามมาคือความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดยสรุปออกมาได้ 3 ประเด็นคือ         ประการแรก มาตรการลดหย่อนภาษีในการลงทุน LTF และ RMF สร้างต้นทุนค่าเสียโอกาสของรายรับทางการคลังของประเทศหรือตัดโอกาสในการสร้างรายได้ทางการคลังเพื่อใช้ปันส่วนใหม่ให้เกิดการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมมากขึ้น        ประการที่สอง สิทธิประโยชน์ของ LTF และ RMF เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคนที่มีรายได้สูงมากกว่าผู้มีรายได้น้อย         ประการที่สาม ผลตอบแทนเฉลี่ยที่เกิดจาก LTF และ RMF เติบโตสูงกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 4 เท่า คนที่ถือสินทรัพย์นี้ไว้ในมือ เมื่อเวลาผ่านไปจะยิ่งมีรายได้จากผลตอบแทนเพิ่มมากกว่าผู้ที่มีรายได้จากแค่เงินเดือนและไม่ได้ถือสินทรัพย์ทางการเงิน         แต่มาตรการออกมาแล้ว ห้ามคนลงทุนก็ไม่ได้ แล้วจะทำยังไง         คิดแบบเร็วคงหนีไม่พ้นการผลักดันให้เกิดรัฐสวัสดิการที่ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย มีสวัสดิการผู้สูงอายุ มีบำนาญแห่งชาติ มีระบบการตรวจสอบให้ภาษีทุกบาททุกสตางค์ถูกใช้อย่างคุ้มค่า ไม่ใช่ต้องหมดไปกับการซื้ออาวุธ จ่ายเงินเดือนนายพลที่วันๆ ไม่มีงานทำ หรือเอาไปให้ใครถลุงเล่นฟรีๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 รวมพลังกินให้เรียบ

        รายงาน Food Waste Index Report 2021 ของ UNEP ประเมินว่าในปี 2019 ทั่วโลกมีขยะอาหารประมาณ 931 ล้านตัน (ร้อยละ 61 มาจากครัวเรือน ร้อยละ 26 มาจากกิจการร้านอาหาร อีกร้อยละ 13 มาจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าปลีก) นั่นหมายความว่าร้อยละ 17 ของ “อาหาร” ที่ผลิตได้ ต้องถูกทิ้งไปเฉยๆ  ตัวเลขจากสหรัฐอเมริการะบุว่าผักผลไม้ที่ “เสีย” ไปในช่วงระหว่างการเก็บเกี่ยวมาจนถึงร้านค้านั้นมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านเหรียญ  นักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังระบุอีกว่า ร้อยละ 10 ของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็มีที่มาจากขยะอาหารเหล่านี้         นอกจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม “อาหารเหลือทิ้ง” ยังเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของครัวเรือนด้วย เช่น สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (U.S. Bureau of Economic Analysis) พบว่ามลรัฐที่ผู้คน “เสียเงินซื้อของกินมาทิ้ง” มากที่สุดในอเมริกาคือรัฐเวอร์มอนต์ ที่อัตราคนละ 1,374.24 เหรียญ (ประมาณ 45,800 บาท) ต่อปี ขณะที่ประชากรในรัฐโอคลาโฮมา ซึ่ง “ทิ้งของกิน” น้อยที่สุดในประเทศ ก็ยังทิ้งเงินไปถึง 743.58 เหรียญ (ประมาณ 24,800 บาท) ต่อคนต่อปี         ยังไม่นับเรื่องความย้อนแย้งที่เรามี “อาหารถูกทิ้ง” ปริมาณมหาศาล ในขณะที่ประชากรไม่ต่ำกว่า 690 ล้านคนทั่วโลก (อ้างอิงสถิติล่าสุดของสหประชาชาติ) อยู่อย่างอดอยาก         ปัญหาเรื่องการกินทิ้งกินขว้างนี้เกิดขึ้นทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา  ในอเมริกา ร้อยละ 30 – 40 ของสิ่งที่ควรจะเป็นอาหารกลับกลายไปเป็นขยะ ด้านสหภาพยุโรปก็มีขยะอาหารถึงร้อยละ 20 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด แต่นั่นยังไม่เท่าเมืองไทยใหญ่อุดมของเราที่มีขยะจากอาหารเหลือทิ้งถึงร้อยละ 64 ของขยะทั้งหมด ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี พ.ศ. 2560 ระบุว่า คนไทยหนึ่งคนสร้างขยะอาหารถึงปีละ 254 กิโลกรัมเลยทีเดียว         สิ่งที่หลายประเทศลงมือทำ หรือกำลังจะทำเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน คือการใช้กฎหมายเพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทั้งจากครัวเรือน ร้านอาหาร และร้านค้าปลีก ลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี 2025 (สหภาพยุโรป) หรือภายในปี 2030 (อเมริกาและไทย เป็นต้น)           ระหว่างที่บ้านเรากำลังศึกษาจัดทำมาตรการและแนวทางในการลดขยะอาหาร เราขอชวนคุณมาส่องกฎหมายหรือข้อบังคับของประเทศอื่นไปพลางๆ ก่อน ไอร์แลนด์         ประเทศนี้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะอาหารมาตั้งแต่ปี 2009 เขากำหนดข้อห้ามหรือข้อปฏิบัติสำหรับกิจการโรงแรม ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงพยาบาล สถานรับเลี้ยงดูเด็กหรือคนชรา รวมถึงโรงอาหารของสถานประกอบการประเภทโรงงานไว้อย่างชัดเจน เช่น ห้ามนำขยะอาหารไปฝังกลบ ต้องใช้บริการ “รถเก็บขยะ” จากหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น หากต้องการทำปุ๋ยหมักก็ต้องทำเรื่องขอใบอนุญาตก่อน แม้แต่การนำอาหารเหลือไปเลี้ยงสัตว์ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เกาหลีใต้         เกาหลีใต้มีกฎหมาย “จ่ายตามปริมาณที่ทิ้ง” มาตั้งแต่ปี 2013  เขากำหนดให้ครัวเรือนเก็บขยะอาหารลงในถุงที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แล้วนำไปทิ้งในถังอลูมิเนียมซึ่งสามารถชั่งน้ำหนัก คำนวณค่าธรรมเนียม แล้วส่งบิลไปเรียกเก็บถึงบ้านทุกเดือน ด้วยเทคโนโลยี RFID         วิธีนี้ได้ผลดีมาก นอกจากชาวบ้านจะ “รีดน้ำ” ออกจากขยะเพื่อประหยัดค่าธรรมเนียม (ร้อยละ 80 ของน้ำหนักขยะมาจาก “ความชื้น”) ทำให้โรงงานจัดการขยะไม่ต้องนำ “น้ำขยะ” ไปเทลงชายฝั่งถึงวันละ 3,800 ตันอย่างที่เคย ปัจจุบันเกาหลียังสามารถเปลี่ยนขยะอาหารให้เป็นปุ๋ยได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 จากที่เคยทำได้เพียงร้อยละ 2 เมื่อปี 1995         เกาหลีเคยเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ที่มีขยะอาหารเหลือทิ้งมากที่สุด เมื่อปี 2005 เขามีขยะอาหารถึงวันละ 17,100 ตัน สาเหตุหนึ่งคือวัฒนธรรมการกินแบบที่ต้องมี “บันชัน” หรือเครื่องเคียงถ้วยเล็กๆ ในทุกมื้อ บ้านไหนมีฐานะ เครื่องเคียงก็ยิ่งต้องหลากหลายมากขึ้น ของเหลือจึงเพิ่มตามไปด้วย ฝรั่งเศส         ในปี 2016 ฝรั่งเศสออกกฎหมายให้ซูเปอร์มาร์เก็ตนำอาหารที่ขายไม่หมดไป “บริจาค” เท่านั้น หากยังดื้อดึงจะ “ทำลาย” อาหารที่ยังอยู่ในสภาพที่รับประทานได้ ห้างเหล่านี้จะถูกปรับในอัตราร้อยละ 0.1 ของยอดขายในปีนั้น (นโยบายทำนองนี้มีใช้ในนอร์เวย์ เดนมาร์ก ญี่ปุ่น และเกาหลี เช่นกัน)         นอกจากนี้ยังกำหนดให้บริการจัดเลี้ยง จัดเตรียมถุงให้กับแขกที่มาในงานได้นำอาหารเหลือกลับไปรับประทานด้วย         ในขณะเดียวกันก็กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารทบทวน “วันที่ควรบริโภค” ที่แจ้งต่อลูกค้า โดยคำนึงถึงเรื่องการลดขยะอาหารด้วย    สิงคโปร์         สิงคโปร์สามารถจัดการกับขยะได้ดีอย่างที่เรารู้กัน แม้ขยะอาหารในประเทศเขาจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 11 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด แต่สิงคโปร์ตั้งเป้าไว้สูงกว่านั้น เขามีสิ่งที่เรียกว่า Zero Waste Masterplan ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายว่าด้วยความยั่งยืนของทรัพยากร ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2019         ภายใต้แผนดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการ เช่น ห้าง โรงแรม หรือโรงอาหาร จะต้องจัดให้มี “พื้นที่สำหรับจัดการขยะอาหาร” และเมื่อถึงปี 2024 ผู้ประกอบการจะต้องมีการคัดแยกขยะเพื่อนำไปจัดการ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่าย  ขณะเดียวกันก็มีการฝึกอบรมอาสาสมัครเพื่อให้เป็นตัวแทนออกไปให้ความรู้กับชุมชนด้วย จีน         จีนผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการห้ามทิ้งอาหารออกมาหมาดๆ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากจะสั่งแบนคลิปวิดีโอประเภท “โชว์กินแหลก” แล้ว (ฝ่าฝืนมีค่าปรับ 100,000 หยวน หรือประมาณ 520,000 บาท)  เขายังมีบทลงโทษร้านอาหารที่ให้พนักงานมาคอย “เชียร์” ให้ลูกค้าสั่งอาหารเยอะๆ (ค่าปรับ 10,000 หยวน หรือประมาณ 52,000 บาท) หรือร้านที่มีอาหารเหลือทิ้งมากเกินไป (ปรับ 5,000 หยวน หรือประมาณ 26,000 บาท)         ทั้งนี้เขาอนุญาตให้ร้านอาหารคิดเงินเพิ่มเพื่อเป็นค่าจัดการกับอาหารที่เหลือได้ โดยต้องมีการติดป้ายบอกลูกค้าให้ชัดเจน         ในปี 2020 มีการรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกัน “กินให้เกลี้ยงจาน” เพื่อลดขยะจากอาหาร และให้ร้านอาหารยอมให้ลูกค้าสั่งอาหารไม่ครบคนได้ (เช่น มากัน 5 คน แต่สั่งเพียง 4 จาน)  สเปน         กฎหมายของสเปนที่ออกมาในปีนี้ (2021) เจาะจงไปที่ร้านค้าปลีก ด้วยการกำหนดให้ทางร้านนำผักผลไม้หน้าตาไม่ดีออกมาจำหน่าย แทนที่จะคัดทิ้งไป และสำหรับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (พื้นที่เกิน 400 ตารางเมตร) ห้างต้องจัดโปรแกรม “ส่งเสริมการขาย” เพื่อจูงใจให้ลูกค้าอยากซื้อผักผลไม้ดังกล่าวด้วย          ในกรณีที่ขายไม่ได้จริงๆ เขากำหนดให้นำไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศลหรือธนาคารอาหาร หากฝ่าฝืนมีค่าปรับระหว่าง 6,000 – 150,000 ยูโร (ประมาณ 230,000 – 5,800,000 บาท)         ฟิลิปปินส์เพื่อนบ้านเราก็กำลังลุ้นร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ลดขยะอาหาร ที่มีสาระสำคัญคล้ายกับกรณีของสเปน เช่นกัน     เวียดนาม         กฎหมายที่จะเริ่มใช้ในปี 2022 ตามแผนการลดขยะครัวเรือนของเวียดนาม กำหนดให้แต่ละบ้านแยกขยะออกเป็น 3 ประเภท (ขยะรีไซเคิล ขยะอาหาร และขยะอื่นๆ )  จัดเก็บในถุงบรรจุชนิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดการขยะตามจำนวนถุงที่ใช้ โดยผู้ให้บริการเก็บขยะมีสิทธิที่จะปฏิเสธการเก็บได้ หากผู้ทิ้งไม่ทำตามเงื่อนไข    รายละเอียดเรื่องค่าธรรมเนียมอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ปัจจุบันครัวเรือนในเขตเมืองของเวียดนามจ่ายค่าธรรมเนียมการเก็บขยะเดือนละ 25,000 – 30,000 ดอง (ประมาณ 35 - 45 บาท)https://www.un.org/en/global-issues/foodhttps://www.bloomberg.com/news/articles/2021-07-21/food-waste-problem-is-even-bigger-than-we-thought#:~:text=An%20estimated%202.5%20billion%20tons,and%20U.K.%20retailer%20Tesco%20Plc.https://uspackagingandwrapping.com/blog/which-states-waste-the-most-food.html?fbclid=IwAR21gG1TcjzjEbZn6ysS4NcCRouWLqKsjWfrWoJ3-zLaWoX9brFmSeYObGchttps://www.unep.org/resources/report/unep-food-waste-index-report-2021https://www.bworldonline.com/food-waste-not-want-not/?fbclid=IwAR193Pe4ZQF1VYMdb0tjZ5nEKwuQmbwq97KpvaF78imj3fl7iEZ3Uh-rMfohttps://www.nycfoodpolicy.org/food-policy-snapshot-south-korea-food-waste/https://www.globaltimes.cn/page/202104/1222490.shtmlhttps://stopfoodwaste.ie/resource/food-waste-the-lawhttps://ec.europa.eu/food/safety/food-waste/eu-actions-against-food-waste_enhttps://www.pewtrusts.org/en/research-and-analysis/blogs/stateline/2021/07/08/waste-not-some-states-are-sending-less-food-to-landfillshttps://www.fda.gov/food/consumers/food-loss-and-wastehttps://www.thaihealth.or.th/Content/50924   https://e.vnexpress.net/news/news/vietnam-to-apply-pay-as-you-throw-model-by-2025-4193441.html

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 รู้ว่าเสี่ยง เลยต้องกระจายความเสี่ยง

        รอบนี้ขอพูดถึง ‘ความเสี่ยง’ อีกสักครั้งแบบมัดรวมรวบตึง ก่อนนี้พูดแค่ว่าเวลาไปซื้อกองทุน ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต้องให้เราทำแบบประเมินความเสี่ยงว่าเราเป็นสายแข็งแค่ไหน แบกมันได้แค่ไหน เวลาเห็นตัวเลขเป็นสีแดงจะได้ไม่ตกอกตกใจ เป็นวิธีจัดการความเสี่ยงอย่างหนึ่ง         ความเสี่ยงมาในหลายรูปแบบ ถ้าตามอ่านกันมาแต่ต้นพื้นที่นี้พูดถึงการรับมือความเสี่ยงไว้หลายทางอยู่ เริ่มตั้งแต่การมีเงินฉุกเฉิน 6-12 เดือนที่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เอาชีวิตรอดได้หากตกงาน (แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ลากยาวมา 2 ปีกับความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐ เงินฉุกเฉินคงเกลี้ยงแล้ว ใครบอกการเมืองไม่เกี่ยวกับเรา)         ประกันชีวิต เดินอยู่ดีๆ เราอาจตกหลุมตกบ่อที่ขาดการบำรุงรักษาจากหน่วยงานรัฐ แข้งขาหัก ทำงานไม่ได้ การมีประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ จะช่วยแบกความเสี่ยงตรงนี้แทนเรา บางผลิตภัณฑ์จ่ายเงินชดเชยรายวันจากการเสียรายได้ให้ด้วย         ยังรวมถึงประกันชีวิต ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัยใดๆ ก็ตามที่เราสามารถถ่ายโอนความเสี่ยงออกไปได้ถือเป็นตัวเลือกที่ดี ลองนึกดูว่าบ้านที่อุตส่าห์ทุ่มเทผ่อนเกิดไฟไหม้ รถถูกขโมย หรือตัวคุณผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวเป็นอะไรขึ้นมา อย่างน้อยจะมีเงินก้อนหนึ่งให้คนอยู่หลังได้พอมีจังหวะตั้งตัว         จุดระวังคือต้องเลือกบริษัทประกันที่มีความน่าเชื่อถือ ไม่เบี้ยวผู้เอาประกันเหมือนที่เป็นข่าว และเลือกกรมธรรม์ที่พอเหมาะพอสมตามกำลัง ไม่เว่อร์วัง         ความเสี่ยงอีกประเภทหนึ่งเกิดจากการแทงม้าตัวเดียว หนังสือหรือคอร์สที่สอนการจัดการการเงินหรือการลงทุนต้องพูดเรื่องกระจายความเสี่ยงแน่นอน ถ้าไม่มีก็ไม่ควรซื้อแต่แรก         เคยได้ยินกันใช่ไหม? อย่าใส่ไข่ทั้งหมดลงในตะกร้าใบเดียว เพราะถ้าตะกร้าหลุดมือคุณจะเสียไข่ทั้งหมด เวลาลงทุนหุ้นถึงมีคำแนะนำว่าให้ลงในอุตสาหกรรมต่างกัน เช่น กระจายเงินลงในหุ้นกลุ่มสื่อสาร กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มค้าปลีก เป็นต้น         กองทุนรวมก็เหมือนกัน มีคนจัดการให้แต่เราเป็นคนเลือกธีมการลงทุนเองอยู่ดี เช่น ลงทุนหุ้นในประเทศ ลงทุนหุ้นจีน หุ้นเวียดนาม หุ้นสหรัฐฯ สารพัดสารเพ ถ้าถือแต่กองทุนรวมหุ้นไทยตอนนี้คงกุมขมับเพราะแกว่งไปมา แต่ถ้ามีกองทุนหุ้นต่างประเทศด้วยน่าจะเครียดน้อยลง         ยังมีกองทุนรวมผสมอารมณ์ว่ากระจายความเสี่ยง จัดพอร์ตให้เสร็จสรรพ ไม่ต้องซื้อหลายกองให้ยุ่งยาก         คร่าวๆ พอหอมปากหอมคอ รายละเอียดจริงเยอะกว่านี้มากมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 “ทิ้ง” เพื่อโลก

        หลายปีที่ผ่านมาเราได้ยินเรื่องของเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนกันมาพอสมควร เราได้รับข้อมูลเรื่องผลกระทบของการบริโภคที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และตระหนักว่า “การคัดแยกขยะ” นั้นมีส่วนอย่างยิ่งในการลดโลกร้อน แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ลงมือทำ บ้างก็ทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่ถูกต้อง แม้จะมีการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะแล้วก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะในทางปฏิบัติมีรายละเอียดที่ซับซ้อน เช่น ขวด กล่อง ถุง หรือแพ็คเกจต่างๆ ประกอบด้วยวัสดุหลายประเภท ผู้ผลิตแต่ละเจ้าให้ความสนใจในเรื่องนี้ต่างกัน ในขณะที่ภาครัฐของหลายๆ ประเทศก็ยังไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ             เรามาดูกรณีตัวอย่างจากออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ และเดนมาร์ก ที่รัฐบาลร่วมกับภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม กำหนดแนวปฏิบัติในการจัดทำฉลากที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถคัดแยกขยะได้อย่างถูกต้อง รองรับการนำกลับไปแปรรูปมาใช้ใหม่ และกรณีของสิงคโปร์ที่ใช้วิธีส่งเสริมให้แบรนด์ต่างๆ “ลดขนาด” ของบรรจุภัณฑ์ ด้วยการให้ “โลโก้” ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสนับสนุนแบรนด์เหล่านี้ได้  ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์          ก่อนหน้านี้คนออสเตรเลียมีความสับสนอยู่ไม่น้อยกับ “ฉลากรีไซเคิล” ที่มีถึง 200 รูปแบบ ผู้ผลิตที่นั่นให้ความสนใจเรื่องนี้มาก ต่างคนต่างก็คิดรูปแบบเฉพาะออกมาใช้กับสินค้าตัวเอง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ “ตามไม่ทัน” จึงยังคง “ทิ้งผิด” อยู่นั่นเอง ความพยายามนั้นจึงเท่ากับสูญเปล่า          ต่อมาออสเตรเลียและนิวซีแลนด์แก้เกมด้วยการใช้ระบบฉลากรีไซเคิลที่เรียกกันว่า ARL (Australasian Recycling Label) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย APCO หรือ Australian Packaging Covenant Organization ร่วมกับ Planet Ark และ PREP (Packaging Recyclability Evaluation Postal) Design         คณะกรรมการที่ดูแลโครงการนี้แบ่งออกเป็นสองชุด ได้แก่ คณะที่ดูแลเรื่องข้อมูล (ซึ่งต้องมีความแม่นยำสูงมาก) และคณะที่ดูแลเรื่องการสื่อสารกับผู้บริโภค สมาชิกของทั้งสองคณะประกอบด้วยตัวแทนจากแบรนด์/ร้านค้าปลีก อุตสาหกรรมรีไซเคิล/จัดการขยะ ตัวแทนจากรัฐบาล และองค์กรไม่แสวงหากำไร           ผลิตภัณฑ์ภายใต้ระบบ ARL (สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกต และร้านค้าประเภทอื่นๆ ที่ร่วมโครงการ) จะมีสัญลักษณ์ 3 รูปแบบได้แก่         -        ลูกศรทึบวิ่งวน หมายถึง รีไซเคิลได้ (เจอถังรีไซเคิลที่ไหน ทิ้งได้เลย)         -        ลูกศรโปร่งวิ่งวน หมายถึง รีไซเคิลได้แบบมีเงื่อนไขตามที่แจ้งไว้ใต้สัญลักษณ์         -        ถังขยะ หมายถึง ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ทางเดียวที่ไปคือบ่อขยะ           ทั้งหมดนี้จะระบุชัดเจนว่าชิ้นส่วนไหน ต้องทิ้งอย่างไร          เช่น ตัวอย่างนี้ ส่วนที่เป็นกล่อง สามารถใส่ลงในถังรับขยะรีไซเคิลได้เลย ในขณะที่พลาสติกที่ห่อหุ้มมาจะต้องนำไป “ส่งคืนร้าน” ส่วนฝานั้นให้ทิ้งเป็นขยะทั่วไป          หัวใจของความสำเร็จของโครงการนี้คือข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ แบรนด์ที่เข้าร่วมโครงการ (ปัจจุบันเป็นแบบสมัครใจ) จะต้องประเมิน “ความสามารถในการรีไซเคิล” ของแพ็คเกจสินค้าตัวเอง โดยอ้างอิงกับฐานข้อมูลของ PREP ซึ่งมีการอัปเดตทุกปี โครงการนี้ยังส่งเสริมเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนด้วยการช่วยผู้ประกอบการออกแบบแพ็คเกจที่ตอบโจทย์เรื่องรักษ์โลกด้วย          ออสเตรเลียตั้งเป้าว่าภายในปี ค.ศ. 2025 แพ็คเกจผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะต้องเข้าเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ ใช้ซ้ำได้ รีไซเคิลได้ หรือ ย่อยสลายได้   เดนมาร์ก          ระบบ Pant A, B, C ของเดนมาร์กเป็นอีกตัวอย่างที่ยืนยันว่า จะมีการส่งต่อ “ขยะ” ไปสู่กระบวนการรีไซเคิลมากขึ้น หากผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ชัดเจนและได้ผลตอบแทนเป็นเงิน            Pant ในภาษาแดนิช แปลว่า “มัดจำ” เมื่อซื้อเครื่องดื่มในเดนมาร์ก ผู้บริโภคจะต้องจ่ายค่ามัดจำขวดหรือกระป๋องให้กับทางร้าน โดยร้านจะคำนวณค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้ที่หน้าเคาน์เตอร์ตามอัตราต่อไปนี้           เมื่อผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์เหล่านี้มาคืนกับ “ตู้รับคืนอัตโนมัติ” ที่ตั้งอยู่ตามร้านค้าหรือปั๊มน้ำมันที่ร่วม โครงการ ซึ่งมีอยู่ 3,000 แห่งทั่วประเทศ ตู้ดังกล่าวก็จะออก “ใบเสร็จ” ให้ผู้บริโภคนำไปใช้ซื้อของในร้าน หรือจะรับเป็นเงินสดก็ได้เช่นกัน           หรือใครจะเก็บรวบรวมไว้ที่บ้านให้ได้เยอะๆ ก่อนก็ไม่ว่ากัน กรณีนี้ผู้บริโภคสามารถนำขวดหรือกระป๋องไปคืนที่ “Pantstation” ซึ่งสามารถรับได้ครั้งละ 90 ชิ้น ปัจจุบันมีสถานีรับคืนอยู่ใน 12 เมืองทั่วประเทศ          ขวดหรือกระป๋องจากตู้เหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยัง Dansk Retursystem องค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลระบบการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของเดนมาร์ก ตั้งแต่การจัดเก็บ คัดแยก ไปจนถึงการหลอมเพื่อผลิตขวดหรือกระป๋องขึ้นมาใหม่          จากข้อมูลของ DR การหลอมกระป๋องใช้แล้วขึ้นมาใหม่ ใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตกระป๋องขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ต้นถึงร้อยละ 95         โครงการที่ริเริ่มขึ้นในปี 2002 โดยผู้ผลิตเบียร์ร่วมกับหน่วยงานรัฐ ภายใต้การดูแลของกระทรวงสิ่งแวดล้อมนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง          ข้อมูลในปี 2019 ระบุว่าอัตราการส่งคืนขวด/กระป๋องเครื่องดื่ม โดยผู้บริโภคสูงถึงร้อยละ 92         นอกจากเดนมาร์กแล้ว โมเดลการมัดจำขวดก็มีใช้ในเยอรมนี สวีเดน และนอร์เวย์เช่นกัน  สิงคโปร์         กรณีของสิงคโปร์นั้นแม้จะไม่ใช่เรื่องการรีไซเคิล แต่ก็เป็นโครงการที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะเป็นการ “ตัดตอน” การใช้ทรัพยากรและพลังงาน รวมถึงลดการสร้างขยะโดยไม่จำเป็น          ตั้งแต่ปี 2017 รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มโครงการติด “โลโก้” ให้กับสินค้าที่มีการปรับลดขนาดบรรจุภัณฑ์ ภายใต้ข้อตกลง SPA (Singapore Packaging Agreement) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ไม่ใส่บรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่เกินปริมาณสิ่งของด้านใน และเลือกสนับสนุนแบรนด์ที่ใส่ใจกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น           สินค้าที่จะติดโลโก้ “Reduced packaging” ภายใต้โครงการ LPRP (The Logo for Products with Reduced Packaging) จะต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการโครงการ โดยผู้ผลิตจะต้องส่งหลักฐานข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการลดปริมาณการใช้วัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์ เพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาในการใช้โลโก้ดังกล่าว   ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 ระบุว่าโครงการนี้สามารถลดขยะบรรจุภัณฑ์ได้ถึง 54,000 ตัน และประหยัดเงินค่าวัตถุดิบได้ 130 ล้านเหรียญ   เอกสารอ้างอิง รายงานกรณีศึกษาโดยสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International)  โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และเครือข่าย One Planet    https://www.consumersinternational.org/media/361469/unep_ci_2021_arl_case_study.pdf https://www.consumersinternational.org/media/361467/unep_ci_2021_pantabc_case_study.pdf https://www.consumersinternational.org/media/361470/unep_ci_2021_lprp_case_study.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ฮาวทู (ไม่) ทิ้ง

         ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ตระหนักถึงผลกระทบจากการกินการใช้สินค้า/บริการ และต้องการทางเลือกที่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 74 ของผู้บริโภคในยุโรป สหรัฐอเมริกา และอเมริกาใต้ ยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่แพ็คเกจรีไซเคิลได้         ผู้ประกอบการหลายเจ้าก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น มาดูกันว่าสินค้าอุปโภคบริโภคจากผู้ผลิตค่ายใหญ่ มีการปรับปรุงแพ็คเกจให้เหลือเป็น “ขยะ” น้อยลง และให้ความรู้กับผู้บริโภคเรื่องวิธีการ “ทิ้ง”หรือ “รีไซเคิล” แพ็คเกจที่ใช้แล้วหรือไม่           Consumers International หรือสหพันธ์ผู้บริโภคสากล ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกใน 9 ประเทศ (บราซิล โปรตุเกส ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย อินเดีย และฮ่องกง ทั้งหมดนี้มีผู้บริโภครวมกันไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านคน) ทำการสำรวจบรรจุภัณฑ์ของกินของใช้ยอดนิยม 11 ชนิดที่มีจำหน่ายในประเทศดังกล่าว ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564 ว่าสามารถคัดแยกไปรีไซเคิลได้สะดวกหรือไม่และมีฉลากที่ให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงใด         มีข้อค้นพบที่น่าสนใจจากการสำรวจดังนี้        · ในภาพรวม ร้อยละ 35 ของแพ็คเกจผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่สำรวจยังเป็นภาระในการรีไซเคิล        · ถ้าเฉลี่ยเป็นรายชิ้นจะพบว่า ร้อยละ 17 ของแพ็คเกจแต่ละชิ้นไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และยิ่งเป็นพลาสติกชิ้นบางเบา ก็ยิ่งยากต่อการรีไซเคิล        · เมื่อเทียบแพ็คเกจสินค้า 11 ชนิด ในแต่ละประเทศ ฮ่องกงมีสัดส่วนของแพ็คเกจที่นำไปรีไซเคิลได้มากที่สุด ในขณะที่บราซิลมี “ขยะ” เหลือทิ้งมากที่สุด          ·  สำหรับอีก 7 ประเทศ ดูได้จากตารางด้านล่างนี้                   · ฉลากสินค้าเหล่านี้ในทุกประเทศที่สำรวจ ไม่ระบุวิธี “ทิ้ง” บางชนิดมีแพ็คเกจที่นำไปรีไซเคิลได้ แต่ฉลากกลับไม่แจ้งไว้ หรือกรณี M&M ของโปรตุเกส ที่แพ็คเกจระบุว่าให้นำไปทิ้งลงถัง ทั้งๆ ที่มันสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100%        · ฉลากมีข้อความที่ไม่สามารถเข้าใจได้ง่ายโดยผู้บริโภคในประเทศ เช่น ฉลากน้ำแร่ซานเพลลิกรีโน ที่ขายในออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ กลับมีการแสดงสัญลักษณ์แบบที่ใช้ในยุโรป        · จากการเปรียบเทียบฉลากสินค้า 11 ชนิด ใน 9 ประเทศ พบว่า ออสเตรเลีย บราซิล และฝรั่งเศส มีสินค้าที่มีฉลากให้ข้อมูลรีไซเคิลมากกว่า 8 ชนิด อินเดีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร มีระหว่าง 5 – 8 ชนิด ฮ่องกงและโปรตุเกสมีไม่เกิน 4 ชนิด                     โดยสรุป ผู้บริโภคใน 9 ประเทศที่ทำการสำรวจรู้สึกว่า การคัดแยกขยะเพื่อการรีไซเคิลเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย ฉลากที่ไม่ชัดเจนหรือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็ทำให้การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอย่างรับผิดชอบต่อโลกเป็นเรื่องยาก หากต้องการไปให้ถึงเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน ภาระเรื่องนี้ต้องไม่ใช่ของผู้บริโภคอย่างเดียว ผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามนี้ รวมถึงภาครัฐที่ปัจจุบันยังมีระดับการจัดการเรื่องนี้แตกต่างกันไป ก็ควรมีกฎเกณฑ์ในเรื่องฉลากและมีศูนย์รีไซเคิลไว้รองรับด้วย           หลัก 7R ที่ผู้บริโภคอย่างเราสามารถใช้เพื่อช่วยลดขยะ        REFUSE         ปฏิเสธสิ่งที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม            REDUCE        ลดการใช้อย่างฟุ่มเฟือย รวมถึงเลือกสินค้าที่สามารถใช้งานได้นานขึ้น        REUSE           ใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำหลายครั้งก่อนทิ้ง        REFILL           เลือกใช้สินค้าชนิดเติมได้ เพื่อลดขยะบรรจุภัณฑ์        REPAIR          ซ่อมแซมเพื่อให้สามารถใช้ต่อได้ แทนที่จะปลดระวางมันไปเป็นขยะ        RETURN        เลือกสินค้าที่สามารถส่งคืนบรรจุภัณฑ์กลับสู่ผู้ผลิตได้          RECYCLE     แยกขยะที่ยังมีประโยชน์ออกมาเพื่อส่งแปรรูป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 รู้จัก ‘ความเสี่ยง’ ไม่เสี่ยงเลยก็เป็นความเสี่ยงแบบหนึ่ง

        “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษา...บลาๆๆ”         ประโยคแสนคุ้นเคย ได้ยินบ่อย เร็วรัว และนึกสงสัยว่าคนพูดหายใจทางไหน แต่ก็เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ ผู้ที่คิดลงทุนไม่ว่าจะในอะไรก็ตามแต่ต้องใส่ใจ มีคำพูดประมาณว่าในการลงทุนนั้นไม่มีอะไรที่เราควบคุมได้เลย หุ้น ทองคำ น้ำมัน ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ สิ่งเดียวที่เราพอจะควบคุมได้คือ ‘ความเสี่ยง’         เป็นเหตุผลให้ต้องเตือนไว้เสมอว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ต่อให้คุณลงทุนเองก็เถอะ หรือเวลาเปิดบัญชีกองทุนรวมกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทางพนักงานจะต้องให้คุณทำแบบทดสอบประเมินความเสี่ยงทุกครั้ง พอครบรอบระยะเวลาก็ให้ประเมินเพื่อดูว่าความเสี่ยงที่คุณเคยรับได้เปลี่ยนไปหรือเปล่า         สมมติว่าคุณทำแบบประเมินความเสี่ยงแล้วผลออกมาว่า คุณรับความเสี่ยงได้ระดับ 4 ก็จะมีการแนะนำกองทุนที่มีความเสี่ยงไม่เกิน 4 ให้คุณพิจารณา ถึงตรงนี้คงเกิดคำถามว่า ถ้าฉันอยากลงทุนในกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูงกว่า 4 ล่ะจะทำได้ไหม?         ทำได้ แต่ทาง บลจ. จะยื่นเอกสารให้คุณเซ็นรับรองว่าคุณยอมรับความเสี่ยงมากกว่าที่คุณทำแบบประเมินไว้         ว่าแต่ทำไมต้องทำ? คำตอบง่ายที่สุดคือแต่ละคนรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน เช่นคุณจะเจอคำถามว่าคุณคาดว่าไม่จำเป็นต้องใช้เงินที่นำมาลงทุนนานแค่ไหน สมมติคุณตอบว่าภายใน 1 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นเกินไปถ้าคิดลงทุนในหุ้นเพราะมันมีโอกาสขาดทุนสูง ถ้าคุณฝืนลงทุนไปโดยไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน แล้วมีเหตุให้ต้องใช้เงิน แต่กองทุนที่ถือไว้ยังขาดทุนอยู่ล่ะ         หรือคำถามว่าคุณยอมรับผลขาดทุนได้แค่ไหน คุณรู้อยู่แล้วว่าการลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องระยะยาว คุณเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว เงินก้อนที่ใช้ลงทุนเป็นเงินเย็นพร้อมจะให้มันทำงานยาวๆ ไป แม้ในระยะสั้นจะขาดทุน แต่ระยะยาวกำไรเติบโตแน่ คุณอาจยอมรับการขาดทุนได้สูงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของเงินต้นหรือมากกว่า         เห็นไหมล่ะว่าการประเมินความเสี่ยงจำเป็นแค่ไหน         มันก็ย้อนกลับไปตอนแรกๆ ที่พูดถึงการรู้จักตัวเองนั่นแหละ มันไม่ใช่แค่รู้ว่าตัวเองมีเงินแค่ไหน มีความรู้เท่าไหร่ แต่ต้องรู้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ด้วย         ทีนี้ก็จะมีบางคนกลัว ไม่กล้าเสี่ยง ไม่อยากเห็นเงินต้นหดหาย กลัวเจ็บหนัก เลยใช้วิธีดั้งเดิมที่คิดเองเออเองว่าไม่เสี่ยงชัวร์ คือการฝากเงินไว้กับธนาคารเฉยๆ         ผิด ไม่มีอะไรที่ไม่เสี่ยง ธนาคารล้มได้ วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ล้มกันระเนนระนาด หรือต่อให้ไม่ล้ม คุณก็จะเจอกับความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อที่กัดกินมูลค่าเงินของคุณ ต่อให้จำนวนเงินเท่าเดิม มูลค่าก็ลดลงอยู่ดี         ไม่มีอะไรที่ไม่เสี่ยงหรอก อยู่ที่ว่าเสี่ยงแบบมีความรู้หรือไม่มีความรู้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 Passive กับ Active คุณชอบแบบไหน?

        ขอพูดถึงกองทุนรวมต่อจากคราวที่แล้ว (คงมีอีกเรื่อยๆ นั่นแหละ) เพราะมันยังไม่จบ        กองทุนรวมแบ่งได้หลายแบบ หนึ่งในหลายแบบนั้นคือการแบ่งแบบ Passive Fund หรือ Index Fund กับแบบ Active Fund         ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมที่ลงในตราสารหนี้ ตราสารเงิน หุ้น หรือธีมอะไรก็ตาม จะมีสิ่งที่เรียกว่าเกณฑ์มาตรฐานหรือ Benchmark เพื่อใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงาน กองทุนรวมแบบ Passive จะพยายามทำผลตอบแทนให้เท่าหรือใกล้เคียงกับเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนแบบ Active จะพยายามเอาชนะตลาด         และกองทุนทั้งสองประเภทก็มีข้อดี-ข้อเสียต่างกันไป มาเริ่มกันที่แบบ Active         ข้อดีของกองทุนแบบนี้ที่เห็นกันชัดๆ คือมันมีโอกาสให้ผลตอบแทนดีกว่าหรืออาจขาดทุนน้อยกว่า ในเมื่อเป็นการบริหารแบบ Active ผู้จัดการกองทุนย่อมต้องพยายามทำผลตอบแทนให้สูงๆ เข้าไว้ในยามที่ตลาดกำลังขึ้นและขาดทุนให้น้อยที่สุดในขาลง (หรืออาจมีกำไรก็ได้) เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ผู้จัดการกองทุนและทีมย่อมต้องทำการบ้านเยอะ วิเคราะห์ข้อมมูล ซื้อๆ ขายๆ สินทรัพย์ ฟังแล้วก็ดูเข้าท่า แต่...         ใครจะมาบริหารจัดการเงินให้เราฟรีๆ ล่ะ ของพวกนี้มีค่าใช้จ่ายทั้งนั้นแหละ และจุดนี้เองคือข้อเสียของกองทุนแบบ Active ค่าธรรมเนียมเอย ค่าบริหารจัดการกองทุนเอย นั่นนู่นนี่ ทำให้ในระยะยาวแล้วมันอาจไม่ได้ชนะตลาดจริงอย่างที่กล่าวอ้าง เพราะผู้ถือหน่วยจะถูกค่าจิปาถะพวกนี้กัดกินผลตอบแทนจนต่ำกว่าตลาดในที่สุด         ตรงกันข้ามกับแบบ Passive ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเห็นๆ ผู้จัดการกองทุนก็แค่จัดสรรเงินลงทุนตามตลาด คุณได้ผลตอบแทนเท่ากับตลาด โดยที่มันจะไม่ถูกกัดกินจากค่าใช้จ่ายต่างๆ เหมือนกับกองทุนรวมแบบ Active         จุดอ่อนคือในยามที่ตลาดร้อนแรง กองทุนรวมแบบ Active อาจทำผลตอบแทนได้มากกว่าตลาดจนคุณอิจฉา และในยามตลาดห่อเหี่ยวมันก็อาจขาดทุนน้อยกว่า         อย่างไรก็ตาม นักลงทุนระดับโลกและนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าในไทยบางคนต่างแนะนำกองทุนรวมแบบ Passive ด้วยเหตุผลว่าในระยะยาวแล้วไม่มีใครหรอกที่สามารถเอาชนะตลาดหุ้นได้ เผลอๆ แพ้ด้วย เมื่อเป็นอย่างนั้นเราจะจ่ายเงินแพงๆ ให้กับบริษัทจัดการกองทุนไปทำไม         แต่กูรูด้านกองทุนรวมบางคนก็ให้ความเห็นว่า มันอาจจะจริงกับตลาดหุ้นขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ หรือที่อื่นๆ แต่สำหรับตลาดหุ้นไทยที่จำนวนบริษัทมหาชนยังไม่มากเท่า เรื่องที่ว่ากองทุนรวมแบบ Passive ให้ผลตอบแทนดีกว่าแบบ Active อาจยังไม่เป็นจริง         สุดท้ายอยู่ที่คุณเลือกว่าชอบแบบไหน...หลังจากเจอะเจอสไตล์ของตัวเองและทำความเข้าใจมันแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 คนกรุง 83.9 % มีหนี้สิน 54.3 % รู้ว่ามี พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ และ 28.5 % เคยถูกประจานทำให้อับอาย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,135 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 27 - 30 มิถุนายน 2564 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เนื่องจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 มีผลใช้บังคับจริงในวันที่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นไป ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกาศใช้บังคับ คือ เพื่อป้องกันและแก้ไขการทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม การขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น เป็นการปกป้องลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ ในรูปแบบต่างๆ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน ร้อยละ 83.9 โดยการกู้ซื้อรถยนต์เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 36.7 อันดับสองคือ การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 33.9 อันดับสามคือ การกู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 21.9 อันดับสี่คือ การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 20.6 อันดับห้าคือ การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 19.2 และอันดับหกคือ การกู้ยืมจากสหกรณ์ ร้อยละ 10.5                 โดยหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อันดับสองคือ บริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง ร้อยละ 30.6 อันดับสามคือ กองทุน ร้อยละ 23.1 อันดับสี่คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 20.8 อันดับห้าคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 18.8 และอันดับหกคือ สหกรณ์ ร้อยละ 12.8                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบเรื่อง พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 คุ้มครองลูกหนี้ร้อยละ 54.3 ทราบว่าพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มีการคุ้มครองลูกหนี้เพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 49.8                 ในส่วนของการที่ไม่เคยผิดนัดผ่อนชำระ ร้อยละ 48.5 เคยผิดนัดผ่อนชำระ ร้อยละ 40.6 และไม่เคยถูกทวงถามหนี้ ร้อยละ 45.0 เคยถูกทวงถามหนี้ ร้อยละ 37.9                 โดยเคยถูกทวงถามหนี้ ผ่านทางจดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึกมากที่สุด ร้อยละ 32.4 อันดับสองคือ การคิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 26.4 อันดับสามคือ พูดจาไม่สุภาพ ร้อยละ 20.5 อันดับสี่คือ ทวงหนี้กับญาติ ร้อยละ 11.2 อันดับห้าคือ ประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 9.7                ทราบว่าการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ร้อยละ 50.7 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. ร้อยละ 42.4 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ร้อยละ 42.6                 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 61.7 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 52.0                 ทราบว่า การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 42.6 และไม่ทราบว่า ผู้ทวงถามหนี้ ต้องขออนุญาตจดทะเบียนประกอบธุรกิจทวงหนี้และข้าราชการห้ามประกอบธุรกิจทวงถามหนี้  ร้อยละ 32.3                 ไม่เคยถูกทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 53.3 เคยถูกทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 25.7 และไม่เคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 59.2 เคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 16.8                 ทราบว่า หากเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จะร้องเรียนผ่าน สถานีตำรวจ มากที่สุด ร้อยละ 60.7 อันดับสองคือ คณะกรรมการการกํากับการทวงถามหนี้ประจําจังหวัด สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร้อยละ 31.6 อันดับสามคือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร้อยละ 25.0 อันดับสี่คือ เขตหรือที่ว่าการอำเภอ ร้อยละ 19.0 อันดับที่ห้าคือ สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน ร้อยละ 16.9 อันดับที่หกคือ สำนักงานสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ร้อยละ 16.0 และอันดับสุดท้ายคือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร้อยละ 13.1 โดยไม่แน่ใจว่าได้รับการแก้ไขปัญหา จากเคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 66.2                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ คือถูกประจานทำให้อับอาย เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 28.5  อันดับที่สองคือ ถูกส่งคนติดตาม ร้อยละ 14.4 อันดับที่สามคือ ถูกข่มขู่ ร้อยละ 13.1

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 การใช้ยาเพิ่มน้ำหนักดีจริงหรือ

        อยากเพิ่มน้ำหนัก อยากอ้วน แต่กินเท่าไรก็ไม่อ้วน ในเมื่อกินอาหารไม่อาจช่วยได้ กินยาช่วยเลยละกัน ทำแบบนี้ได้ไหม แล้วจะได้ผลจริงหรือเปล่า มันจะเป็นการแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหากันนะ เรามาทำความรู้จักกับยาเพิ่มน้ำหนักกันเถอะ         ความหมาย         ยา  คือ สารทางธรรมชาติหรือสารเคมีที่ผ่านกรรมวิธีแล้วนำมาใช้งานให้ออกฤทธิ์ต่อร่างกาย เพื่อใช้ในการป้องกัน รักษา บำบัด หรือบรรเทาอาการของโรค ซึ่งจะแตกต่างในสรรพคุณและวิธีการใช้ ยาจะมีการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าและมีการตรวจสอบถึงผลกระทบที่จะตามมากับผู้ใช้อย่างละเอียดก่อนจะอนุญาตให้ใช้ในคน เพราะยาบางประเภทอาจจะรักษาอาการหรือรักษาโรคชนิดหนึ่งหาย แต่กลับไปทำลายระบบร่างกายส่วนอื่น และทำให้ต้องรักษาการป่วยของร่างกายที่เกิดจากการรับประทานยาตัวนั้นด้วย ถึงตรงนี้จะพบว่า ยานั้นผ่านการตรวจสอบค่อนข้างละเอียด หากใช้ถูกวิธีก็เกิดผลดี แต่ก็อันตรายถ้าใช้ไม่เหมาะสม แล้วยาช่วยเพิ่มน้ำหนักนั้นมีอยู่จริงไหม         ยาช่วยเจริญอาหารหรือที่มักเรียกกันว่า “ยาเพิ่มน้ำหนัก” ที่รู้จักกันในวงกว้าง คือ ยาไซโปรเฮปทาดีน (Cyproheptadine) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อการค้าว่า “เพอริแอคติน” (Periactin) และยาพิโซติเฟน (Pizotifen)         อันที่จริงสรรพคุณต้นฉบับนั้นเป็นยาแก้แพ้  แต่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการง่วงนอนและอื่นๆ โดยออกฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินสูงขึ้น ทำให้ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อน้ำตาลต่ำก็จะไปกระตุ้นที่ศูนย์ความหิวในสมอง จึงทำให้เกิดอาการหิวหรืออยากกินอาหารมากขึ้น บ่อยขึ้น จึงช่วยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในทางอ้อมได้          อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้ก็จะมีผลข้างเคียงหลายอย่างในการใช้จึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือขอคำแนะนำก่อนใช้ยาจากเภสัชกร ส่วนขนาดและระยะเวลาที่เหมาะสมของการใช้ยาต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น หมายความว่า เราไม่ควรไปซื้อรับประทานเอง         ไม่กินยาได้ไหม         ปัญหาสุขภาพนั้น สิ่งแรกเลยที่ต้องจัดการคือ การค้นหาสาเหตุของปัญหา ถ้ามีรูปร่างผอมและดัชนีมวลกายน้อย เรี่ยวแรงไม่มี อาจเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ เช่น กินอาหารไม่ถูกต้อง เป็นพันธุกรรม มีนิสัยการกินที่ผิด (เลือกกิน) หรืออาจมีปรสิตแอบอยู่ในตัว ฯลฯ จึงควรแก้ไขให้ถูกที่ โดยเริ่มจากพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยว่าไม่ได้มีสาเหตุทางกายภาพ เช่น มีพยาธิ เป็นกรรมพันธุ์หรือโรคร้าย หากสาเหตุเกิดจากโรคต้องให้แพทย์รักษา แต่หากเป็นเรื่องของพฤติกรรมลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้ดู         ·     ปรับวิธีกินให้เหมือนกับคนอ้วน            1.กินเร็วหรือเคี้ยวอาหารเร็วขึ้น            2.เพิ่มมื้ออาหาร            3.งดดื่มน้ำระหว่างรับประทาน            4.กินอาหารที่ให้พลังงานสูง                  ·     กินให้ถูกหลักโภชนาการ            1.กินอาหารดีมีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่  ไม่เลือกกิน            2.เพิ่มสัดส่วนหรือเน้นอาหารกลุ่มโปรตีนและไขมันเพิ่มเติมในมื้ออาหาร เพื่อช่วยเสริมกล้ามเนื้อ เช่น อกไก่ โปรตีนจากปลา ไข่ ธัญพืช กะทิ ถั่วและเมล็ดพืชต่างๆ         ·     เพิ่มการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี             ลองนำคำแนะนำข้างต้นนี้ไปปรับใช้ น่าจะช่วยเพิ่มน้ำหนักได้ แต่การเพิ่มน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืนต้องทำไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ แล้วผลลัพธ์จะออกมาดี และแน่นอนว่าดีกว่าการกินยาช่วยเพิ่มน้ำหนัก เพราะนั่นเป็นเพียงการใช้เสริมเพื่อให้เกิดความอยากอาหารขึ้นเท่านั้น ผลข้างเคียงก็เยอะ จึงไม่ควรเป็นสิ่งยึดหลัก เอาเป็นแค่ทางเลือกก็พอหากจำเป็นจริงๆ           ยาเพิ่มน้ำหนัก หรือยาช่วยเจริญอาหาร        1. ยาต้านซีโรโทนิน  (serotonin antagonist)             1.1 ไซโปรเฮปทาดีน (Cyproheptadine) : เป็นยาแก้แพ้ที่รู้จักในชื่อการค้าว่า “เพอริแอคติน” (Periactin)  มีสรรพคุณต้านฤทธิ์ของสารฮิสตามีนที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ ต้านฤทธิ์ซีโรโทนิน และออกฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินสูงขึ้น ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อน้ำตาลต่ำก็จะไปกระตุ้นที่ศูนย์ความหิวในไฮโปทาลามัส (ส่วนหนึ่งของสมอง) ทำให้หิวหรืออยากกินอาหารมากขึ้น บ่อยขึ้น จึงช่วยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในทางอ้อมได้ แต่น้ำหนักตัวจะไม่เพิ่มและยังอาจลดลงด้วยซ้ำเมื่อหยุดยา              ผลข้างเคียง             - ง่วงนอนตอนกลางวัน จึงอาจกระทบต่อผลการเรียนหรือการทำงาน             - ทำให้เกิดอาการอยู่ไม่สุข พลุ่งพล่าน             - ยังยั้งการหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต (ถ้าใช้ในเด็กอาจทำให้เด็กตัวเตี้ย)             1.2 พิโซติเฟน (Pizotifen) : มีฤทธิ์และผลข้างเคียงคล้ายคลึงกับไซโปรเฮปทาดีน แต่มีราคาแพงกว่า         โดยทั่วไปแพทย์จะให้ใช้ยา 2 ชนิดนี้ ไม่นานเกิน 2 สัปดาห์ เพื่อเลี่ยงไม่ให้ไปรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ        2. ยากลุ่มคอร์ติโคสตีรอยด์และอะนาบอลิกฮอร์โมน             2.1 ยากลุ่มคอร์ติโคสตีรอยด์ : ผู้ขายยาบางรายมักผสมยานี้ลงใน “ยาชุด” หลายแบบ และโฆษณาว่าเป็นยาบำรุงร่างกายบ้าง ยาชุดเพิ่มความอ้วนบ้าง อันที่จริง ยากลุ่มนี้จัดว่าเป็น “ยาอันตราย” ห้ามซื้อขายโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ เพราะมีผลข้างเคียงรุนแรงต่อผู้กินยาอย่างผิดวิธี ตัวยากลุ่มนี้ เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เด็กซาเมทาโซน  ผลข้างเคียง             - กระดูกหยุดเจริญเติบโตในเด็ก และกระดูกผุในผู้ใหญ่             - ร่างกายบวมฉุจากการคั่งของเกลือและน้ำ ผู้ใช้ยาจึงหลงคิดว่าอ้วนขึ้น            - ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง เกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย             - อาจเป็นเบาหวานหรือแผลในกระเพาะอาหาร             - ถ้าใช้ต่อเนื่องนานๆ จะกดการทำงานของต่อมหมวกไต และเสพติดได้             - อาจเกิดสิว ซึ่งรักษายาก ผิวหนังบาง ผิวหนังแตกเป็นริ้วตามหน้าท้องและขาอ่อน         2.2 อะนาบอลิกฮอร์โมน : ยากลุ่มนี้ที่มีแพร่หลายในท้องตลาดคือ แอนโดเจน เป็นฮอร์โมนที่มีมากในเพศชาย มีฤทธิ์กระตุ้นการเจริญของกระดูกและกล้ามเนื้อ ทำให้มีลักษณะของเพศชาย เช่น เสียงห้าว มีหนวดขนขึ้นดกดำ อวัยวะเพศชายเจริญรวดเร็ว 

อ่านเพิ่มเติม >