ฉบับที่ 276 PFAS อุบัติภัยสารเคมีอันตรายที่เข้าสู่มนุษย์ทุกช่องทาง

        ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกหวั่นวิตกและส่งสัญญาณเตือนถึงอันตรายของสารเคมีกลุ่ม PFAS หรือ Per- and Polyfluoroalkyl Substances  อย่างแพร่หลาย         ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงจะพาไปทำความรู้จักถึงอันตรายและการรับมือที่เราจะสามารถทำได้ PFAS  คืออะไร         PFAS  (per-and polyfluoroalkyl substances)        เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีคุณลักษณะมีพันธะทางเคมีระหว่างอะตอมของคาร์บอนและฟลูโอรีน ที่ยึดเหนี่ยวกันแน่นมากทำให้มีความเสถียรสูงและสลายตัวยาก สารเคมีกลุ่ม PFAS คุณสมบัติสำคัญคือต้านความร้อน น้ำมันและน้ำได้ดี  ปัจจุบันสารเคมีกลุ่มนี้มีมากถึง 14,000 ชนิดและถูกนำมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม         PFAS เป็นสารเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้น ถูกค้นพบตั้งแต่ใน ค.ศ. 1940 คุณสมบัติด้านความทนทาน ยากต่อการสลายตัว และเมื่อสลายแล้วยังแปรเปลี่ยนสภาพเป็นอีกสารหนึ่งได้ตลอดเวลา ดังนั้นทั่วโลกจึงขนานนาม สารเคมีกลุ่มนี้ในอีกชื่อว่า “สารเคมีตลอดกาล”          PFAS  พบได้ทั้งในดิน แหล่งน้ำ สัตว์น้ำ เช่น ปลา อาหารแปรรูป น้ำดื่ม เสื้อผ้า อุปกรณ์เครื่องครัว บรรจุภัณฑ์บรรจุอาหาร เช่น กล่องพิซซ่า ถุงใส่ป๊อบคอร์น ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แชมพู เครื่องสำอาง ไหมขัดฟันและยังอีกมากมาย  อันตรายของสารเคมี  PFAS         ราว 4 เดือนผ่านมาแล้วที่ทีมข่าวของสำนักข่าว Bloomberg ได้ลงไปสอบสวนถึงการปนเปื้อนของ PFAS  ในชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งอยู่บนหมู่เกาะแฟโร         หมู่เกาะแห่งนี้อยู่แอตแลนติกเหนือ ชาวบ้านในชุมชนประกอบอาชีพประมงมากว่าร้อยปี พวกเขายืนยันว่าในพื้นที่ไม่มีการประกอบอุตสาหกรรมเคมีใดๆ เลยแต่ตอนนี้สารเคมี PFAS กลับกำลังปนเปื้อนในชุมชนของเขาอยู่เต็มไปหมด         PFAS  เดินทางไปแล้วทุกๆ ที่แม้ในพื้นที่ห่างไกลจนอาจยากจะจินตนาการถึง ด้านผลกระทบต่อสุขภาพยิ่งชัดเจน แต่เมื่อย้อนมองกลับไปยังพื้นที่จุดต้นกำเนิดของสาร  PFAS        ณ ฝั่งตะวันออกของรัฐมินิโซตาใกล้กับสำนักงานใหญ่ของบริษัท 3M บริษัทที่เริ่มผลิตสารเคมีมาตั้งแต่ปี 1902 ซึ่งในปี 1960 บริษัทได้ฝังกลบสารเคมีขนาดใหญ่ไว้ในพื้นที่ ต่อมาสารเคมีดังกล่าวได้รั่วไหลลงสู่สิ่งแวดล้อมเป็นบริเวณกว้าง สิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ แต่สถิติมะเร็งในเด็กในพื้นที่บริเวณนี้ต่างหากที่ส่งเสียงดังเพราะเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ          เอมี่ (Amy) มารดาของบุตรสาวชื่อ Lexi ที่เป็นมะเร็งตั้งแต่วัยเด็กเล่าว่าเธอเริ่มสงสัยว่า บุตรสาวเป็นมะเร็งจากสภาพแวดล้อมในเมืองโอ๊คเดล รัฐมินนิโซตา เพราะเธอดื่มน้ำจากแหล่งน้ำในชุมชน นอกจากนั้น Lexi ยังได้รับประทานปลาจากทะเลสาบในพื้นที่โดยรอบอยู่เสมอเพราะคนในครอบครัวชอบตกปลา และนั่นอาจทำให้เธอต้องกลับมาฉุกคิดว่าสภาพแวดล้อมที่เธออยู่นี้ อาจไม่ได้ปลอดภัยต่อลูกน้อย เมื่อต้องสัมผัสทั้งน้ำดื่มและอาหาร ที่ล้วนมาจากแหล่งน้ำในพื้นที่อยู่อาศัย Lexi ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งตั้งแต่เธอยังเด็ก และต้องเข้ารับการบำบัดในโปรแกรมอย่างเคร่งคัดกว่า 5ปี  ปัจจุบันอาการของ Lexi ดีขึ้น แต่เด็กหลายคนไม่โชคดีเหมือนเธอ เมื่อสถิติข้อมูลระบุว่าผู้เสียชีวิตในเมืองโอ๊คเดล จากปี 2003 – 2015 กว่า 171% นั้น เสียชีวิตจากมะเร็งเมื่อเปรียบเทียบการการเสียชีวิตนอกพื้นที่การปนเปื้อน  PFAS ไม่เพียงทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง         การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในขณะนี้พบว่า PFAS ส่งผลต่อการลดอัตราการเจริญพันธุ์  การทำงานของตับ ระบบเลือดและหัวใจ เพิ่มความดันในหญิงตั้งครรภ์ ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า  ลดภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ในการปกป้องคุ้มครองโรคให้อ่อนแอลง         การแพร่กระจายของ PFAS ได้กระจายกว้างออกไปอย่างมากในปัจจุบัน ในปี 2023  หน่วยงานสำรวจเชิงธิรณีวิทยาของรัฐบาลกลางสหรัฐ เผยแพร่ผลงานวิจัยล่าสุดที่บ่งชี้ว่า น้ำประปากว่าเกือบครึ่งประเทศมีการปนเปื้อนสาร PFAS  และไม่เหมาะสำหรับการบริโภค เพราะเสี่ยงทำให้เกิดโรคต่างๆ ทั้งโรคมะเร็ง ไทรอยด์ โรคอ้วน ทำลายตับและระบบฮอร์โมนของร่างกาย         ปี 2023 เช่นเดียวกันที่นักวิทยาศาสตร์จาก Environmental Working Group ได้ตรวจตัวอย่างปลาน้ำจืด 500 ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาเป็นปลาน้ำจืด 44 สายพันธุ์ เช่น กลุ่มปลากะพง ปลากดอเมริกัน ปลาคอด ซึ่งเป็นปลาที่นิยมนำมาทำเป็นอาหาร ผลการศึกษาพบกลุ่มตัวอย่างมีปริมาณสารเคมี PFAS เฉลี่ย 9,500 นาโนกรัมต่อเนื้อปลา 1 กิโลกรัม ทำให้ปลาน้ำจืดมีสารเคมีตกค้างสูงมากกว่าปลาทะเลถึง 280 เท่า         นักวิทยาศาสตร์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการบริโภคปลาน้ำจืดหนึ่งครั้งต่อปีอาจเท่ากับการดื่มน้ำ ที่มีสารเคมี PFAS เป็นเวลาหนึ่งเดือน ซึ่งเป็นการรับเคมีในปริมาณที่สูงและอันตราย        ทั่วโลกร่วมส่งเสียงเตือนอันตรายของ PFAS             แม้ชื่อสารเคมี PFAS จะเริ่มปรากฏในหน้าสื่อต่างๆ ในช่วงระยะ  5 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเข้าสู่การรับรู้ของผู้คนมากขึ้นแล้ว กลับถูกนักวิทยาศาสตร์กล่าวถึงกันอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะทั้งงานวิจัยตลอดจนการออกมาเรียกร้องของนักวิทย์ซึ่งพยายามให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ควบคุมการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มนี้ มีมานานกว่า 10 ปี แต่กลับไม่เคยได้รับการขานรับ  ทั้งที่มันอันตรายต่อมนุษย์อย่างมาก         ในปี 2022 นักวิทยาศาสตร์อิสระกว่า 110 คนได้รวมตัวกันออกมาเตือนถึงอันตรายของ PFAS ในน้ำดื่ม ทั้งยังตอกย้ำว่า มาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มที่กำหนดให้มีสาร PFOA และ PFOS ซึ่งเป็นสาร 2 ชนิดในกลุ่มสารเคมี PFAS ที่พบได้บ่อยไม่ได้เป็นมาตรฐานที่ทำให้ประชาชนปลอดภัยจาก PFAS ได้         ปัจจุบันประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจาก PFAS  และเริ่มมีมาตรการ ควบคุม จำกัด ไปจนถึงการห้ามใช้สาร PFAS ในหลายระดับที่แตกต่างกัน  สหภาพยุโรป         ในสหภาพยุโรปการกำกับควบคุมการใช้สารเคมีอยู่ภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วย สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน โดยองค์การจัดการสารเคมีแห่งสหภาพยุโรป European Chemical Agency (ECHA) ได้สร้างระเบียบเครื่องมือกลไกให้ประเทศสมาชิกร่วมปฎิบัติตามอนุสัญญาฯ เพื่อปกป้องทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม          ปัจจุบันการควบคุมการใช้สารเคมี PFAS ในสหภาพยุโรปมีหลายระดับ บางชนิดมีการห้ามใช้แล้วเช่น การห้ามใช้ PFAS ในโฟมกันไฟตั้งแต่ปี 2011 และยังคงอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านการห้ามใช้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดกลุ่มที่ให้ใช้อย่างจำเป็น ซึ่งมีการกำกับ ควบคุมอย่างเคร่งครัด     สหภาพยุโรป เป็นภูมิภาคแรกๆ ที่ตื่นตัว เห็นถึงอันตรายของสาร PFAS และแม้จะมีความต้องการให้ยุติการใช้ PFAS อย่างสิ้นเชิงแต่ยังเป็นเรื่องยากเพราะได้เผชิญกับการแทรกแซงของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมต่างๆ อย่างหนักมาโดยตลอด   สหรัฐอเมริกา         ปัจจุบันหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาได้ ผ่านกฎหมายเพื่อ ‘ห้าม’ หรือ ‘จำกัด’ การใช้สาร PFAS แล้วโดยรัฐแคลิฟอร์เนียได้ห้ามใช้ PFAS ทั้งหมดในเครื่องสำอางในเดือน ตั้งแต่กันยายน 2022 โดยมีช่วงเปลี่ยนผ่านสำหรับการบังคับใช้หลังวันที่ 1 มกราคม 2025  และไม่นานนี้เอง รัฐมินิโซต้าได้ผ่านกฎหมายห้ามใช้ PFAS โดยตั้งใจในผลิตภัณฑ์ต่างๆ และให้เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป จนถึงในปี 2032 ซึ่งได้กำหนดให้เป็นปีที่บรรลุการไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้สาร PFAS  โดยสมบูรณ์          อย่างไรก็ตามหลายรัฐของสหรัฐอเมริกายังมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เช่น นอร์ทแคโรไลนา ช่วงปลายปี 2023  ที่สหประชาชาติหรือ UN ถึงกับตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ลงตรวจสอบและเตือนภัยให้ประชาชนทราบถึงอันตรายของสารเคมี PFAS ในภูมิภาคนี้หลังพบว่า โรงงาน The Fayetteville โดยบริษัท Chemours เป็นแหล่งสำคัญที่ปล่อย PFAS ออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยแม้ UN ได้ส่งจดหมายถึงบริษัทและระบุถึงงานวิจัยที่ตรวจพบสารเคมี PFAS ของ Chemours ในปลาและพืชผล รวมถึงตัวอย่างเลือดของคนในคนในภูมิภาคนี้กว่า 97% แต่ก็ยังไม่รับการตอบรับที่จะเฝ้าระวังให้มากขึ้น         ในรัฐเทกซัสในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เกษตรสองรายยังได้ยื่นฟ้องบริษัทSynagro บริษัทจัดการของเสียขนาดใหญ่ที่ได้นำโคลนหมักมาขายให้เกษตรโดยอ้างว่าเป็นดินโคลนที่มีสารอาหารใช้ทดแทนเป็นปุ๋ยทางเลือกได้และราคาถูกกว่า แต่เมื่อเกษตรนำมาโคลนเหลวเข้ามาใช้แล้ว ไม่นานสุขภาพก็เริ่มแย่ลง สัตว์เลี้ยงตายลง สารเคมีปนเปื้อนในน้ำดื่ม ปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ที่ส่งออกจำหน่ายด้วย         การเข้าไปทดสอบโดยองค์กร PEER หรือ Public Employees for Environmental Responsibility ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรยังพบว่าในฟาร์มของเกษตรกรดังกล่าว ในน้ำดื่มปนเปื้อน PFAS มากกว่าค่ามาตรฐานถึง 13,000 เท่า ปนเปื้อนในเนื้อสัตว์เกินระดับที่ปลอดภัยถึง 250,000 เท่า สิ่งที่น่าตกใจ คือ ความเสียหายที่ยิ่งใหญ่นี้กำลังแพร่ไปข้ามรัฐในอเมริกาเมื่อมีการขายโคลนในลักษณะนี้ไปในหลายๆ ที่ เกษตรกรจึงยื่นฟ้องต่อบริษัท Synagro เนื่องจากบริษัท ควร/น่าจะคาดหมายได้ หรือตรวจสอบก่อนว่าสินค้าที่ขายออกไปมีความปลอดภัยต่อชีวิต ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือไม่         ในสหรัฐอเมริกาสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมหรือ EPA ได้จัดตั้งสภาด้าน PFAS ขึ้นมาโดยตรง ตั้งแต่ปี  2021 เพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อปกป้องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมจากผลกระทบจาก PFAS และรัฐบาล ได้ทุุ่มงบประมาณเพื่อกำจัดสาร PFAS และควบคุมผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกปี  นิวซีแลนด์        ปัจจุบันนิวซีแลนด์ได้ผ่านกฎหมายห้ามใช้สารเคมี PFAS ในเครื่องสำอางโดยให้มีผลตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป ปัจจุบันจึงนับเป็นช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่าน ให้ภาคผู้ผลิตมองหา คิดค้น สารทดแทนใหม่  นิวซีแลนด์นับเป็นประเทศแถวหน้าที่ปกป้องประชาชนเชิงรุกจากสารเคมี PFAS ทั้งนี้เพราะคณะวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Auckland  ได้ตรวจเครื่องสำอางที่นำเข้าภายในประเทศพบว่าถึง 90% ปนปื้อนสาร PFAS จึงทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงอันตรายร่วมกันอย่างชัดเจน  ออสเตรเลีย         ตั้งแต่ปี 2023 ประเทศออสเตรเลียประกาศที่จะเป็นประเทศที่ควบคุมการใช้ PFAS ทั้งตั้งแต่การผลิตภายในประเทศ การนำเข้าและการส่งออก  ควบคุมในแผนงานเจ็ดอุตสาหกรรมสารเคมีใน  ออสเตรเลียที่ห้ามใช้สารเคมีที่จะส่งผลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง โดยรัฐบาลจะประกาศรายชื่อสารเคมี ที่ห้ามใช้ภายในวันที่ 1 ก.ค. 2025 กลุ่มธุรกิจสารเคมีทั้งหมดจึงต้องหาสารตัวเลือกอื่นๆ มาใช้ทดแทน โดยจะให้มีการใช้สารเคมี PFAS เพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น        ก่อนหน้านี้ รัฐบาลออสเตรเลียได้พัฒนาโปรแกรมให้ภาคธุรกิจ ยุติการใช้สารเคมี PFAS แบบสมัครใจมาแล้วและยังกำหนดการใช้อย่างเคร่งครัดในโฟมกันไฟ การประกาศแผนการควบคุม PFAS ครั้งล่าสุดจึงเป็นการยกระดับขึ้นอีกขั้นของความจริงจังในการปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน         สถานการณ์ของ PFAS ในประเทศไทย        ในปี 2566 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ห้ามใช้สารPFAS รวมถึงอนุพันธ์ของสาร 13 รายการ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2566 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง พ.ศ. 2566         เช่นเดียวกับประเทศในสหภาพยุโรปและอาเซียน เนื่องจากจัดเป็นสารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์โดย ต่อมา อย.ยังได้ตรวจสอบเครื่องสำอางที่ขออนุญาตจดแจ้งในประเทศไทยแล้ว ไม่พบการใช้สาร PFAS (Per- and polyfluoroalkyl substances) หรือสารเคมีอมตะ         อย่างไรก็ตามการใช้สารเคมี PFAS ในเครื่องสำอางเป็นเพียงอุตสาหกรรมหนึ่งเท่านั้น ปัจจุบันมีการนำสาร PFAS ไปใช้เป็นวัตถุตั้งต้นทั้งในอุตสาหกรรมพลาสติกเครื่องปรับอากาศ สิ่งทอ ยานยนต์ ปิโตรเคมี ไฟฟ้า รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมทางการแพทย์และอีกมากมาย         เดือน กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มูลนิธิบูรณะนิเวศและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ร่วมกับ เครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ หรือ IPEN ศึกษาทดสอบการปนเปื้อนของสาร PFAS "สารเคมีตลอดกาล" ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอใน 13 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งตัวอย่างเสื้อผ้าเข้าทดสอบ จากทั้งหมด 13 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศในยุโรป 7 ประเทศ (เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ สหราชอาณาจักร เซอร์เบีย มอนเตเนโกร) 4 ประเทศในเอเชีย (บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ไทย) สหรัฐอเมริกา และเคนยา         ผลการตรวจวิเคราะห์เสื้อผ้าทั้งหมดจาก 13 ประเทศรวม 72 ตัวอย่าง (แจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง และเสื้อผ้าประเภทอื่นอีก 16 ตัวอย่าง) พบว่ามี 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 65.3) ที่มีสาร PFAS หรือมีระดับ EOF ที่บ่งชี้ว่ามีสารดังกล่าว และจากแจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง มีถึง 35 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62.5) ที่มีสารเคมี PFAS หรือมีระดับ EOF ที่บ่งชี้ว่ามีสารดังกล่าว ทั้งนี้พบเสื้อกลุ่มแจ็กเก็ต 16 ตัวอย่าง มีปริมาณสารเคมี PFAS เกินระดับที่สหภาพยุโรปกำหนด         ในกรณีของประเทศไทยพบการปนเปื้อนในทุกตัวอย่างที่ส่งไป 6 ตัวอย่าง หากเปรียบเทียบกันระหว่างตัวอย่างที่มีสาร PFAS สูงที่สุดของแต่ละประเทศในเอเชียด้วยกัน จะพบว่า ตัวอย่างที่ ที่ซื้อจากอินเดียมีปริมาณ PFAS สูงสุด (702.2 นาโนกรัม/กรัม) ตามด้วยตัวอย่างจากไทย (379.9 นาโนกรัม/กรัม) ในขณะที่ตัวอย่างจากบังคลาเทศและศรีลังกามีสาร PFAS ในปริมาณ 6.8 และ 2.7 นาโนกรัม/กรัม ตามลำดับ         การศึกษาวิจัยครั้งนี้ IPEN และเครือข่ายองค์กรสมาชิก จึงได้เสนอต่อรัฐบาลทุกประเทศ เร่งดำเนินการดังนี้         1.ออกประกาศห้ามใช้สารเคมี PFAS ในเสื้อผ้าและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ         2. สนับสนุนการพัฒนาข้อกำหนดในการควบคุมสารเหล่านี้ทั้งหมดในระดับสากล (รวมถึงฟลูออริเนตโพลีเมอร์แบบสายโซ่ด้านข้างและฟลูออโรโพลิเมอร์) และปฏิบัติตามอย่างกลไก         3. บังคับให้มีการเปิดเผยวัสดุและสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ เช่น ออกกฎหมายที่บังคับให้ผู้ผลิตแจ้งส่วนประกอบในสินค้าต่อประชาชนทั่วไป ร้านค้าปลีก และหน่วยงานกำกับดูแล         4. วางแผนและส่งเสริมให้เกิดผลประโยชน์ทางธุรกิจ การสนับสนุนทางการเงิน และการช่วยเหลือต่างๆ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปใช้ทางเลือกที่ปลอด PFAS โดยดูแลให้การเปลี่ยนผ่านนั้นเป็นไปอย่างยุติธรรมต่อพนักงานและชุมชน         5.เพิ่มทรัพยากรและศักยภาพของศุลกากรในการตรวจวิเคราะห์สินค้านำเข้าที่มีการใช้หรือปนเปื้อนสาร  PFAS         ในมุมมองของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองว่า เนื่องจากมีการใช้สาร PFAS ในหลากหลายอุตสาหกรรม การที่หน่วยงานรัฐแม้มีงบประมาณจำกัด แต่ได้ตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้า เช่นที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ได้ตรวจสาร PFAS ในเครื่องสำอาง การตรวจสินค้าอุปโภค บริโภคที่สาร PFAS มีความเสี่ยงจะเข้าสู่ร่างกายในลักษณะนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง ช่วยให้ประชาชน ได้เฝ้าระวังอันตรายและสุขภาพ จึงควรการดำเนินให้เกิดความต่อเนื่องและหลากหลายสินค้า และสำหรับกลุ่มผู้ผลิต เมื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การยุติการใช้สาร PFAS อาจจะใช้เวลายาวนาน         ปัจจุบันการมีฉลากที่ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคว่าสินค้าที่ซื้อหรือใช้ มีสาร PFAS ชนิดใดและปริมาณเท่าใด พร้อมทั้งแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการใช้สินค้าดังกล่าว        จึงเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มดำเนินการได้แล้วตั้งแต่วันนี้ เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนทุกคน                                   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 5 เรื่องเตือนภัยผู้บริโภค ปี 2567

        ปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับร้องเรียนจากประชาชนทั้งหมด 1,600 เรื่อง ครอบคลุมทั้งเรื่อง บริการสุขภาพ, อาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ, สื่อและโทรคมนาคม ,สินค้าและบริการทั่วไป , อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย , การเงิน การธนาคาร , บริการขนส่งและยานพาหนะและเรื่องพลังงานกับสิ่งแวดล้อม ในจำนวนเหล่านี้เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ หมวดสินค้าและบริการทั่วไป มีมากถึง 630 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 39 จากทุกข์ของผู้บริโภคทั้งหมดที่ร้องเรียนเข้ามา  ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยตลอดปี 2567 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงขอย้ำเรื่องสำคัญ 5 เรื่องที่ประชาชนควรระวังตัวก่อนตกเป็นเหยื่อสูญเงินทรัพย์สิน    1.มิจฉาชีพหลอกจากการซื้อของออนไลน์         กลุ่มที่ถูกหลอกจากการซื้อของออนไลน์มีหลายลักษณะ ไม่ว่าซื้อของแล้วไม่ได้ของเลยหรือซื้อของแล้วได้ไม่ตรงตามสินค้าที่สั่ง สั่งสินค้าแล้วได้รับแต่ไม่มีคุณภาพเพียงพอให้ใช้งานได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วในสินค้าและบริการทุกประเภท ไม่ว่าจะของใช้ โทรศัพท์มือ เสื้อผ้า อาหาร และบริการหลายประเภท เช่น ที่พักโรงแรม รีสอร์ทต่างๆ         ตัวอย่างล่าสุดของเรื่องร้องเรียนจากความเดือดร้อนของ เพจปลอม ที่เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือ ผู้เสียหายนั้นถูกมิจฉาชีพจาก เพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa โพสต์ภาพข้อความและที่พักที่หาดเจ้าสำราญ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี หลอกให้จองที่พัก โดยเมื่อผู้เสียหายเห็นรูปที่พักในเพจสวยถูกใจ จึงติดต่อไปสอบถามรายละเอียดเพื่อจองที่พักในช่วงเดือน ธันวาคม ปี 2566 ที่ผ่านมาซึ่งแอดมินเพจก็ตอบกลับมาอย่างรวดเร็วและเสนอส่วนลด 3,300 บาท หากเธอโอนเงินค่าที่พักเข้ามาทันที เมื่อผู้เสียหายโอนเงินแล้วต่อมาทางเพจยังแจ้งให้โอนค่าประกันความเสียหายของที่พักอีก 5,000 บาท ผู้เสียหายไม่ได้คิดมากอะไรนัก คิดว่าเงินประกันย่อมได้คืนในตอนสุดท้าย จึงโอนเงินให้อีกเป็นครั้งที่ 2 รวมโอนเงินไปทั้งสิ้น 14,700 บาท  ต่อมาผู้เสียหายจึงพบว่า ความจริงเมื่อเดินทางไปตามแผนที่ไม่พบที่พักดังกล่าว (BEACH VIEW pool Villa) แต่กลับเป็นที่พักของโรงแรมชื่อ Canary Good Pool Villa ซึ่งเจ้าของได้ดำเนินการแจ้งความแล้วเช่นกันที่ถูกมิจฉาชีพนำรูปไปใช้           “ถามว่าทำไมเราถึงเชื่อและหลงโอนเงินไปให้ คือในเพจเขาเหมือนจริงทุกอย่าง มีรูปห้อง มีรูปคนมาเข้าพัก มีรีวิว มีการกดไลค์ มีผู้ติดตามทุกอย่าง เราเลยเชื่อ ตอนนี้เราได้ดำเนินการแจ้งความไปแล้วแต่ถึงตอนนี้ยังไม่ได้เงินคืนเพราะตำรวจออกหมายเรียกไปแล้วแต่เขายังไม่มาเราก็กำลังติดตามเรื่องอยู่” ผู้เสียหายเล่าให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น         มิจฉาชีพหลอกให้ซื้อของและบริการส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบของการสร้างเพจปลอมหรือบัญชีโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น ในแพลตฟอร์ม TikTok  ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อขายบนแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบผู้ขายสินค้าหรือบริการได้ มีที่อยู่แน่ชัด ผู้ขายมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญและมีระบบการระงับการเงิน การประกันเงินที่เพียงพอเมื่อความเสียหายเกิดขึ้น  2.สินค้าและบริการที่ซื้อขายล่วงหน้า         กลุ่มเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุดทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและที่สภาองค์กรของผู้บริโภคที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ สินค้าและบริการที่ซื้อขายล่วงหน้าครอบคลุมหลายเรื่อง เช่น การเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงาม การซื้อบัตรคอนเสิร์ต การสมัครใช้บริการฟิตเนส บริการท่องเที่ยว รวมถึงการทำสัญญาประกันภัยประเภทต่างๆ ด้วย         สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับ ‘ข้อสัญญา’ แต่ไม่มีกฎ ระเบียบที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สินหลายลักษณะอย่างมาก บางกรณีแม้ความเสียหายอาจเป็นจำนวนไม่มาก แต่เมื่อประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อก็ทำให้มิจฉาชีพได้เงินไปจำนวนมาก         กรณีการเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงามเกิดได้ทั้งตั้งแต่ถูกล่อลวงให้ใช้บัตรเครดิตแม้ต่อมาผู้บริโภคจะขอยกเลิกก็ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก อาจต้องเสียเงินไปบางส่วนแล้ว บางกรณีประชาชนถูกชักชวนให้ซื้อคอร์สเสริมความงามแต่ต่อมาถูกยกเลิกสัญญา หรือสถานเสริมความงามปิดตัวลงไม่สามารถใช้บริการได้ และหลายกรณีเข้าใช้บริการแล้วต่อมากลับพบว่า คลินิกใช้ยาไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ หลายกรณีประชาชนเกิดความเสียหายขึ้นกับร่างกายจากการรับบริการแต่ถูกปฏิเสธความรับผิดชอบ ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องเพื่อให้เกิดการชดใช้ค่าเสียหายซึ่งกินเวลาเนิ่นนาน         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังได้รับเรื่องร้องเรียนสินค้าและบริการประเภทประกันภัยมากขึ้นเช่นกัน ทั้งการจ่ายเบี้ยประกันภัยไปแล้วหลายปีแต่เมื่อเจ็บป่วยกลับไม่ได้รับการคุ้มครองตามสัญญาประกัน  และบางกรณีได้ครบกำหนดสัญญาประกันแต่ไม่ได้รับผลตอบแทนครบตามที่สัญญาประกันได้โฆษณาไว้  3.ความปลอดภัยของ แอปพลิเคชัน การเงิน การลงทุนต่างๆ         แม้เรื่องนี้ยังมีร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิไม่มากนัก  แต่เราเห็นว่าปัจจุบันและในอนาคตคนรุ่นใหม่ๆ จะสนใจการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ในสกุลเงินที่หลากหลายมากขึ้น ประชาชนจึงต้องศึกษาปัญหาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอยู่สม่ำเสมอติดตามปัญหาว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้เสียหายได้รับการเยียวยาชดเชยหรือไม่และจะต้องดำเนินการอย่างไร          กรณีที่มีผู้ร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือผู้เสียหายได้ซื้อขายคริปโต (สกุลเงินดิจิทัล) ผ่านแพลตฟอร์มสีเขียว มาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีแล้วก็ไม่มีปัญหาใดๆ แต่ต่อมาในเดือน ธันวาคม 2565 กลับได้รับข้อความแจ้งเตือนว่า   "เหรียญของท่านได้รับการถอนเรียบร้อยแล้ว" โดยพบว่าเหรียญถูกสั่งถอนจนไม่มีเหรียญเหลืออยู่ในบัญชีเลย แม้ผู้เสียหายจะแจ้งตำรวจให้ดำเนินคดี  และทางแพลตฟอร์มสีเขียวได้ดำเนินการส่งข้อมูลรายละเอียดให้ตำรวจเพื่อประกอบสำนวนคดีแล้ว แต่ผู้เสียหายก็ยังไม่ได้รับเงินคืนยังต้องต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อป้องสิทธิของตัวเอง 4.  สื่อและโทรคมนาคม         หลังบริษัท ทรู และดีแทคได้ควบรวมจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 และ กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไข / มาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนากิจการโทรคมนาคม แต่จากการสำรวจโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ สภาองค์กรของผู้บริโภคที่สำรวจประชาชนกว่า 2,924 รายพบว่า80% ของผู้ใช้บริการพบปัญหาการใช้งาน โดยเครือข่ายที่พบปัญหามากที่สุด คือ ทรู 47% ดีแทค 34% เอไอเอส 18% และ อื่น ๆ 1% โดย 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า (29%) สัญญาณหลุดบ่อย (19%) ต้องใช้โปรโมชันใหม่ที่แพงขึ้น เมื่อโปร ฯ เดิมหมด (14%) ค่าแพ็คเกจเท่ากันหมด ไม่มีตัวเลือก (12%)  คอลเซ็นเตอร์โทรติดยาก (10%)         ปัจจุบันนอกจากปัญหาสำคัญ 5 เรื่องดังกล่าวแล้ว ประชาชนยังคงร้องเรียนปัญหาอื่นๆ เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับบริษัทผู้ให้บริการค่ายสัญญาณมือถือ เช่น การถูกหลอกให้เปิดเบอร์โทรศัพท์  กรณีไม่เคยเปิดใช้งานเบอร์ดังกล่าว แต่ถูกเรียบเก็บค่าบริการซึ่งมีอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงประชาชนได้น้อยในหลายพื้นที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจาก การย้ายเสาสัญญาณจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเสาสัญญาณภายหลังการควบรวมธุรกิจดังกล่าวด้วย   5.การซื้อ - เช่าอสังหาริมทรัพย์ คอนโด ที่อยู่อาศัย         ปัญหากลุ่มนี้มีหลายลักษณะ เริ่มตั้งแต่การจองคอนโด ที่อยู่อาศัย ที่สุดท้ายคอนโดก็สร้างไม่เสร็จตามกำหนดสัญญา หรือแม้แต่เมื่อเข้าอยู่อาศัย เป็นเวลาไม่นานก็อาจเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความรับผิดชอบจากบริษัทเจ้าของโครงการได้ มีกรณีถูกเรียกเก็บค่าส่วนกลางมากขึ้น หรือไม่ได้ใช้พื้นที่ส่วนกลางตามสัญญาเพราะมีไม่เพียงพอ  หรือกรณีที่อยู่ไปยาวนานแล้วก็อาจเป็นคอนโดที่ผิดกฎหมายได้ ดังที่เราได้เห็นจากกรณีแอชตัน อโศก มาแล้ว  ......................................................... ผู้บริโภคจะป้องกันตัวเอง ได้อย่างไร           คุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำว่า จากปัญหาที่ประชาชนจำนวนมากถูกมิจฉาชีพหลอกให้ซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ ขอเรียกร้องให้แพลตฟอร์มที่เป็นช่องทางการขาย รวมถึงบริษัทขนส่ง ควรร่วมเข้ามากำหนดมาตรการกำกับดูแลด้วย โดยควรมีระบบที่สามารถบันทึก บัญชีของมิจฉาชีพหรือผู้ขายที่ใช้ส่งของ ควรมีระบบที่ช่วยกันตรวจสอบว่าหากถูกตีกลับบ่อยครั้ง อาจมีระงับบัญชีชั่วคราว ระงับการโอนเงินให้ร้านค้าเพื่อนำเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหายได้ทันท่วงที         “แพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้ง Facebook และ TikTok เราจะเห็นว่าเป็นพื้นที่ของการซื้อขายไปแล้ว แต่การจัดทำระบบเพื่อความปลอดภัย การตรวจสอบเพื่อยืนยันตัวตนของร้านค้ายังพัฒนาไม่มากเท่าแพลตฟอร์มที่พัฒนามาเพื่อการซื้อขายจริงๆ เราจึงเรียกร้องว่าหากประชาชนใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อทำการซื้อขายแล้วเจ้าของแพลตฟอร์มก็ควรจะต้องยกระดับ มาตรการความปลอดภัยมากขึ้นด้วย ให้มีความปลอดภัยที่เพียงพอ”         ในด้านอสังหาริมทรัพย์ คอนโด ที่อยู่อาศัยนฤมลสะท้อนว่ากฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้เอื้อที่จะคุ้มครองผู้บริโภคเลย ผู้บริโภคเป็นผู้เช่าซื้อ ผ่อนไปนาน 3 เดือนหรือ 20 ปี สถานะไม่ได้ต่างกันหากยังผ่อนไม่หมดหรือแต่เมื่อผ่อนหมดไปแล้วผู้บริโภคก็จะใช้อำนาจขัดทรัพย์ไม่ได้ กฎหมายยังมีช่องว่างที่ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบอยู่มาก         กรณีที่มีเรื่องฟ้องคดีแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังพบว่าปัจจุบันมีปัญหาที่บริษัทเจ้าของโครงการยังสามารถโอนถ่ายทรัพย์สินไปเสียก่อน หรือ ทำให้บริษัทล้มละลาย ทำให้ผู้บริโภคที่เสียหายไม่ได้รับการชดเชย เยียวยา ซึ่งเรื่องนี้นฤมลสะท้อนว่าเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง จะต้องร่วมมือกันในอีกหลายฝ่ายเพราะต้องเป็นนโยบาย มีการแก้ไขกฎหมายที่ชัดเจน ประชาชนถึงจะได้รับการคุ้มครองได้         คุณธนทรัพย์  ชิตโสภณดิลก  เจ้าหน้าที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และแจ้งเบาะแส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กล่าวถึงปัญหาประชาชนถูกดูดเงินออกจากแอพพลิเคชั่น การเงิน การลงทุนต่างๆว่า ปัญหาดังกล่าวเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2564 และเป็นปัญหาอย่างมากในปี 2565 ปัจจุบันแม้จะมีแนวโน้มลดลงแต่ประชาชนยังต้องระมัดระวัง          “คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) มีฝ่ายงานที่กำกับดูแลความปลอดภัยของผู้ประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิตัลอยู่แล้ว ระบบในแอพลิเคชั่นมีการให้ยืนยันตัวตนทุกครั้งที่มีการฝาก - ถอน แต่ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเราต้องให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้เกิดการรู้เท่าทัน โดยภาพรวมที่ผ่านมา ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิตัล มักจะถูกโจรกรรมโดยการเข้าไป พิชชิ่ง คือการกดเข้าเว็บไซต์ที่มิจฉาชีพสร้างมาเพื่อหลอกหากไม่ได้ดูให้ดีเพราะชื่อโมเดนของเว็บไซต์จะคล้ายกันมากเช่นเว็บไซต์  zintmes เขาจะปลอมเป็น zintmess  เมื่อเข้าไปแล้วก็จะมีช่องให้กรอกข้อมูล Username และ Password เหมือนกัน หากเผลอกรอกข้อมูลนี้ไปแล้วมีโอกาสสูงอย่างมากที่มิจฉาชีพจะมีข้อมูลของผู้เสียหายและเข้ามาในบัญชีจริง โอนถ่ายเงินไปซื้อเหรียญอื่น และโอนต่อไปเรื่อยๆ จนไปต่างประเทศ การสืบว่า บัญชีปลายทางเป็นบริษัท หรือเป็นใคร เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ที่ตำรวจแล้ว หากไปต่างประเทศจึงปรากฏตามข่าวว่าตำรวจยังสามารถดำเนินการได้ล่าช้า”         ด้านปัญหาที่ประชาชนเข้ารับบริการจากคลินิกเสริมความรับ และได้รับความไม่เป็นธรรม ถูกปัดความรับผิดชอบจากความเสียหายที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า สคบ. มีกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนในเรื่องนี้ คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563 หากประชาชนมีหลักฐานการจ่ายเงินและยังไม่ได้เข้าใช้บริการก็ย่อมสามารถขอรับเงินคืนได้  ซึ่งตามมาตรา 11 พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ระบุให้การโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา หากประชาชนพบเห็นการโฆษณาจากที่ใดให้เก็บหลักฐานไว้ และเมื่อมีหลักฐานการจ่ายเงินเป็นหลักฐานประกอบอีก กฎหมายจะถือว่าสัญญาเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว แม้ว่าประชาชนจะไม่ได้ทำสัญญาที่เฉพาะเจาะจงก็ตาม หากภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือยกเลิกประชาชนไม่ได้รับสินค้าหรือใช้บริการ ก็ถือว่าผิดสัญญา สามารถนำหลักฐานการโฆษณา การจ่ายเงิน ในการฟ้องเรียกเงินคืนได้ นอกจากนี้ ยังมี พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 หากประชาชนศึกษาไว้จะเป็นประโยชน์ช่วยคุ้มครองสิทธิของตนเองได้  ทำยังไงไม่ให้ถูกหลอก          ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร รอง สว. (สอบสวน) กก.2 กองบังคับการปราบปราม  การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า 5 อันดับสูงสุดของเรื่องที่มีการแจ้งความออนไลน์เข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือการหลอกให้ซื้อสินค้าและบริการ หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หลอกให้รักโรแมนส์สแกม และการโดนหลอกผ่านคอลเซนเตอร์           " สำนักงานตำรวจเรามีโครงการ CIB เตือนรักระวังภัย 4 ห้องหัวใจระวังโจรเพราะมี 4 มิจฉาชีพเข้ามาในรูปแบบของความรักคือ 1.1.Romance Scam หลอกให้รัก หลอกให้โอน ด้วยการปลอมเป็นชาวต่างชาติ หน้าตาดี หลอกว่าจะบินมาแต่งงาน ส่งของมีค่ามาให้ ให้เราโอนเงินค่าดำเนินการ 2.Hybrid Scam หลอกให้ลงทุน ด้วยการปลอมโปรไฟล์ให้ดูดี เข้ามาตีสนิทพูดคุยเชิงชู้สาว ก่อนจะใช้คารมคำหวานหลอกให้ลงทุน 3.Sextortion ข่มขู่กรรโชกทางเพศ ด้วยการหลอกให้ถ่ายรูปโป๊ ชวนแลกภาพโป๊เปลือยก่อนจะนำไปแบล็กเมล์ ข่มขู่จะปล่อยภาพหลุดแลกเงิน 4.Dating fraud ลวงให้ออกเดท ด้วยการ หลอกให้เหยื่อไว้ใจ ขอนัดเจอ ก่อนล่อลวงไปข่มขืน กักขัง คิดถึงสัมพันธ์ออกแบบจำลอง และทำร้ายร่างกาย”         ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร ให้คำแนะนำ/ ข้อสังเกตเพื่อให้ประชาชน ป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไว้ดังนี้        ·     เพจปลอมที่หลอกขายสินค้า หรือให้จองที่พักมักจะลดราคาสินค้ามากเป็นพิเศษ ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าท้องตลาดมากจนผิดสังเกต         ·     บัญชีที่ให้โอนเงินหากเป็นโรงแรมหรือที่พัก ควรเป็นชื่อโรงแรมหรือบริษัทโดยตรง ไม่ใช่ชื่อบุคคล         ·     เมื่อติดต่อพูดคุยเพื่อสอบถามรายละเอียดในการซื้อสินค้าหรือบริการแนะนำให้ประชาชนขอเบอร์โทรศัพท์และหมั่นโทรไปสอบถามข้อมูลให้บ่อยครั้งที่สุด เพราะโดยปกติเบอร์โทรศัพท์ของมิจฉาชีพจะตั้งระบบให้ไม่สามารถโทรกลับ หรือติดต่อได้โดยง่าย          ·     หากประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกว่าเป็นตำรวจหรือหลอกว่าเข้าไปพัวพันกับคดียาเสพติดใดๆ อย่าตื่นตระหนกแต่ให้ขอข้อมูลจากมิจฉาชีพว่ามาจากสถานีตำรวจใดและให้ประชาชนตรวจสอบกลับไปที่สถานีตำรวจดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มิจฉาชีพอ้างถึงได้ติดต่อมาจริงหรือไม่         ·     มิจฉาชีพที่เข้ามาหลอกไม่ว่าจะทั้งในเพจปลอม หรือ คอล เซ็นเตอร์มักมีลักษณะเร่งรัดให้ตัดสินใจโดยเร็วโดยการยื่นข้อเสนอ จูงใจต่างๆ หรืออาจทำให้ตระหนก ตกใจไม่มีเวลาคิดตรวจสอบข้อมูลจนรีบโอนเงินไป        ·     ประชาชนควรหมั่นติดตาม ข่าวสารแจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ อย่างสม่ำเสมอเหมือนกันการฉีดวัคซีนการเตือนภัยให้ตัวเอง หากทำไม่สม่ำเสมออาจไม่เท่าทันรูปแบบของมิจฉาชีพที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปทุกวัน         ·     ให้ประชาชนมีสติในการซื้อ ไม่โลภ หากสินค้าราคาถูกกว่าตลาดมากๆ ควรมองว่าเป็นเรื่องผิดสังเกตเพราะปัจจุบัน มีการปลอมสินค้าทุกรูปแบบ เช่น ผงชูรส ผงซักฟอก เป็นต้น  และควรซื้อสินค้าจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ การซื้อในแพลตฟอร์มออนไลน์ควรซื้อในแพลตฟอร์มที่มีการตรวจสอบตัวตนของผู้ขาย   มีมาตรการความปลอดภัย           ·     ปัจจุบัน ประชาชนควรเพิ่มเติมความรู้เท่าทันเทคโนโลยีต่างๆ เช่น รู้ว่า ใช้ AI สร้างบุคคลคนหนึ่งขึ้นมาได้จริง หรือการการพูดคุยกับ มิจฉาชีพทางคอล เซ็นเตอร์นานๆ แม้หลายคนมองเป็นเรื่องสนุกแต่เทคโนโลยีจะสามารถปลอมเสียงของเราไปหาประโยชน์กับรายชื่อผู้ติดต่อในมือถือของเราได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่274 ปี 2567 สู่ประเทศไทยที่ธุรกิจโทรคมนาคมผูกขาดแล้วโดยสมบูรณ์

        วันที่ 1  มีนาคม 2567  จะครบรอบระยะเวลา 1 ปี  หลังบริษัททรู และดีแทค ดำเนินการควบรวมเป็นบริษัทใหม่ร่วมกันเสร็จสมบูรณ์ อย่างเป็นทางการในชื่อ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)”        ปัจจุบันกว่า 10 เดือนภายหลังการควบรวม สถานการณ์ไม่ผิดแผกและยังใกล้เคียงกับหลายคำเตือนที่หลากหลายฝ่ายได้ส่งเสียงเตือน ก่อน กสทช.ส่งสัญญาณ ไฟเขียวให้เกิดกการควบรวม ครั้งสำคัญในครั้งนี้        คือตลาดและอุตสาหกรรมโทรคมคมในประเทศไทย จาก 3 ราย จะเหลือเพียง 2 รายที่มีส่วนแบ่งตลาดที่ใกล้เคียงกัน ส่งผลต่อการแข่งขันอย่างเสรี ไม่อาจมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเปิดให้บริการได้อีกแล้วโดยง่าย และผลกระทบต่างๆ สุดท้ายย่อมตกถึงประชาชน         แรกเริ่มผลกระทบที่ประชาชนได้รับ ไม่ได้เด่นชัดมาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่มาจากศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ 101 Public Policy Think Tank ที่ได้ติดตามศึกษาวิจัยในชื่อว่า "กสทช. กับการ (ไม่?) บังคับใช้ตามมาตรการควบรวม TRUE-DTAC" เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา         งานศึกษาชิ้นนี้ได้สัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดตามมาตรการการควบรวมที่ กสทช. กำหนดให้บริษัทต้องดำเนินการและเรื่องสำคัญคือ การลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของทั้งสองค่ายที่จะต้องลดลงร้อยละ 12  ใน 90 วัน แต่ข้อค้นพบจากงานวิจัยครั้งนี้กลับไม่เป็นไปอย่างนั้น         รายงานวิจัยซึ่งสำรวจประสบการณ์ผู้บริโภคจำนวน 99 หมายเลข จาก "ทุกค่ายมือถือ" ใน 50 จังหวัดทุกภูมิภาค (ระบบเติมเงิน 48 หมายเลข และระบบรายเดือน 51 หมายเลข) พบว่า หลังจากการควบรวมของทรู-ดีแทค ผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมไทยทั่วประเทศจ่ายค่าบริการโทรศัพท์มือถือโดยเฉลี่ยลดลงราว 0.5-3.1% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการรวมธุรกิจ แต่นาทีการโทรและปริมาณอินเทอร์เน็ตมือถือที่ผู้บริโภคได้รับก็ลดลงด้วยเช่นกัน         อย่างไรก็ตาม เมื่อดูเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้เครือข่ายของทรูและดีแทค กลับพบว่ากลุ่มนี้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยรวมราว 2.9% โดยกลุ่มที่ใช้แพ็กเกจแบบรายเดือนจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นสูงถึง 12.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยที่นาทีการโทรได้เพิ่มเพียง 1.4% เท่านั้น ส่วนปริมาณอินเทอร์เน็ตที่ได้รับกลับลดลง 3.3%         ราคาค่าบริการจริง ๆ ยังลดลงไม่ถึงตามเกณฑ์ 12% ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจจะลดลงไปเพียง 2-3% เท่านั้น...หรือหากมองว่านาทีการโทรได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนปริมาณอินเทอร์เน็ตที่ได้รับกลับลดลงด้วย...ค่าบริการย่อมไม่เคยลดลงเลย         อีกฟากหนึ่ง ผลเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการไม่ได้อยู่เพียงในรายงานวิจัยชิ้นนี้เท่านั้น เมื่อประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมากขึ้นๆ อย่างต่อเนื่อง ถึงปัญหาจากการใช้บริการสัญญาณมือถือ ทั้งความเร็วอินเตอร์เน็ตที่มีปัญหา ต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น และอีกหลากหลายปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญและอาจเป็นสัญญาณถึงปัญหาอื่นอีกมากมายที่ยังไม่ได้รวบรวมให้สังคมได้รับรู้ จึงเป็นที่มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับสภาผู้บริโภค จัดทำแบบสำรวจ เรื่อง ผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนของผู้บริโภคที่ใช้บริการทุกเครือข่าย ตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566         การสำรวจครั้งนี้ มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 2,924 ราย ผลการสำรวจพบ 5 ปัญหาใหญ่คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า , สัญญาณหลุดบ่อย ,โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น, ค่าแพ็กเกจ ราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก, และ call center โทรติดยาก โดยร้อยละ 81 ที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้ใช้บริการค่ายมือถือที่ควรวมธุรกิจโทรคมนาคม         นอกจากผลสำรวจความคิดเห็น ผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายหลังควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม  ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2566 นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาดำเนินโครงการทดสอบการใช้งาน call center ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ได้แก่ AIS, DTAC, NT และ TRUE โดยเก็บข้อมูลการทดสอบในระหว่างวันที่ 5 - 17 กันยายน 2566         เพื่อเฝ้าระวังมาตรฐานการให้บริการ  Call Center หลังทรูและดีแทคได้ควบรวมกิจการเมื่อวันที่ 1 มี.ค. และประชาชนจำนวนมากยังหวังพึ่ง Call Center ในการสอบถามข้อมูล รับปัญหา และแก้ไขปัญหาให้พวกเขา          การทดสอบครั้งนี้สำรวจในกลุ่มผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,116 ราย โดยใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือของทั้ง 4 เครือข่าย และเบอร์โทรศัพท์พื้นฐาน (02) โทร.ติดต่อ call center ของทุกค่ายมือถือ         ผลการทดสอบตอกย้ำถึงปัญหา call center โทรติดยาก โดยพบว่า ระยะเวลานานสุดที่จับคือนานถึง 28.10 นาที เมื่อใช้เบอร์เครือข่าย NT โทร.ไปยัง call center ของ TRUE call center ของ TRUE ยังเป็นค่ายมือถือที่ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยนานสุดทุกขั้นตอน         นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ และรองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ฝ่ายเผยแพร่ ผู้ริเริ่มโครงการทดสอบการใช้งาน call center ของมือถือค่ายต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หลังบริษัททรูและดีแทคได้ควบรวมธุรกิจตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566เผยด้วยความห่วงกังวลว่า บริการ Call Center เป็นช่องทางสำคัญที่คอยรับเรื่อง แก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค การควบรวมธุรกิจที่ไม่มีการปรับเพิ่มการให้บริการ ยิ่งทำให้ Call Center กระจุกตัวและมีสัดส่วนน้อยลงเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้บริการที่ค่ายมือถือต้องดูแลมากขึ้นหลังการควบรวมจึงต้องไม่ลดมาตรฐานลง ด้วยการมีเจ้าหน้าที่ call center ที่เป็นมนุษย์อย่างเพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่บริการด้วย AI เพียงอย่างเดียวซึ่งเป็นข้อเสนอที่ประชาชนได้เสนอผ่านการสำรวจด้วยเช่นกัน         ย้อนกลับไปดู กสทช. ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง                 ก่อนเสียงร้องเรียนถึงปัญหาจากการใช้บริการค่ายมือถือของประชาชนจะดังขึ้นเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปดูกันสักนิดว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล โดยตรง ได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง         ตั้งแต่เริ่มแรก แม้ กสทช.มีท่าทีหลีกเลี่ยงบทบาทหน้าที่ของตนเอง ด้วยการยืนยันว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่เพียง ‘รับทราบ’ การควบรวมธุรกิจครั้งนี้เท่านั้น           อย่างไรก็ตามแม้ในวันที่  20 ต.ค. 2565  กสทช. จะใช้อำนาจเพียง ‘รับทราบ’ แต่มติดังกล่าว ยังมาพร้อมกำหนดเงื่อนไข/ มาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคมที่ กสทช. วางกำหนดไว้เองคือ        1.  การกำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย                •  อัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลงร้อยละ 12                •  ให้มีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการ                •  ให้นำส่งข้อมูลต้นทุนและข้อมูลที่จำเป็นโดยให้มีหน่วยงานตรวจสอบ                •  ให้ประกาศให้ผู้ใช้บริการรับทราบ เพื่อมีการตรวจสอบและมีบทลงโทษกรณีทำไม่ได้         2.  การกำหนดราคาค่าบริการ โดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ (Average Cost Pricing)                •  จัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญเพื่อทำหน้าที่สอบทาน (Verify) ความถูกต้องของข้อมูลตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนเฉลี่ย (AC) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (MC) ที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันของแต่ละรายบริการ และข้อมูลต่างๆ เมื่อมีการรวมธุรกิจให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยผู้ยื่นคำร้องรวมธุรกิจเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดพร้อมจัดจ้างที่ปรึกษา         3.  การคงทางเลือกของผู้บริโภค                •  กำหนดให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี         4.  สัญญาการให้บริการ                •  บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างบริษัทและผู้ใช้บริการ รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับตามที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์และได้รับการยินยอมจากผู้ใช้บริการแล้ว         5.  การประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ ภายหลังการรวมธุรกิจ                •  บริษัทต้องประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการคงไว้ซึ่งคุณภาพในการให้บริการและค่าบริการที่เป็นธรรม และจะต้องกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการหลังการรวมธุรกิจ โดยสำนักงาน กสทช. อาจกำหนดแนวทางและระยะเวลาการดำเนินการ รวมถึงเงื่อนไขในการปฏิบัติในเรื่องการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ดำเนินการต่อไป          ฉัตร คำแสง หนึ่งในคณะวิจัย ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ 101 Public Policy Think Tank ชี้ว่า ข้อมูลภายหลังการควบรวมคือ เครือข่ายคู่แข่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการควบรวมครั้งนี้ ซึ่งก็คือเอไอเอส ยังมีการปรับเปลี่ยนราคา ปริมาณการโทรและอินเทอร์เน็ตมือถือให้เท่ากับกลุ่มทรู-ดีแทคด้วย รายงานการดำเนินการของทรู-ดีแทค ชี้ว่า อาจไม่ได้มีการปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะตามที่รายงานต่อ กสทช. และข้อมูลยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของการแข่งขันที่ลดลงในตลาดโทรคมนาคมที่อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงเสนอแนะว่า กสทช. ควรนำข้อมูลอื่น ๆ เช่น ข้อมูลสำรวจประสบการณ์ที่ผู้บริโภคได้พบเจอ มาประกอบการพิจารณาด้วย         "ทั้ง 3 เจ้า แพ็กเกจแทบจะก๊อป (copy) วางกันหมด มันเห็นหลักฐานอยู่ว่า การแข่งขันที่ลดลงทำให้ผู้บริโภคไม่ได้ประโยชน์จากการควบรวมครั้งนี้ตามที่โฆษณา" นักวิจัย 101 PUB ระบุ         ณัฐวดี เต็งพาณิชย์กุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)   ผู้รวบรวมผลกระทบจากการรวมธุรกิจ ทรู- ดีแทค และเสนอต่อคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า “ หลังประกาศควบรวมธุรกิจวันที่ 1 มี.ค. 2566 เพียง วันที่ 3 มี.ค. เราก็พบว่ามีการสำรวจราคาแพ็กเกจทั้ง 3 เครือข่าย มีการปรับราคาแพ็คเกจมือถือรายเดือนทั้ง 3 เครือข่าย จนเท่ากันหมด เคสร้องเรียนที่เข้ามาที่มูลนิธิ ยังมีทั้งปัญหาความเร็วอินเตอร์เน็ตลดลง, เน็ตไม่พอต้องซื้อแพคเกจเสริม หลังการควบรวมสัญญาณอ่อน  ใช้ได้บางพื้นที่ ไม่ครอบคลุม ถูกเปลี่ยนโปรโมชั่นโดยไม่ได้แจ้งล้วงหน้าและต้องจ่ายราคาสูงขึ้น ปัญหาการเปลี่ยนสิทธิพิเศษ ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้ร้องเรียนมีหลักฐานเข้ามาประกอบชัดเจน”         ที่ผ่านมากสทช.  ได้จัดแถลงข่าวด่วน วันที่19 ธ.ค.66 กสทช.ในเรื่อง ”เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้บริโภค หลังทรู – ดีแทค ถูกร้องเรียนเรื่องคุณภาพ - บริการ “ ยืนยัน ค่าบริการเฉลี่ยลดลง 12 เปอร์เซ็นต์ หลังทรูควบรวมดีแทค ยังไม่พบปัญหาตามที่ผู้บริโภคร้องเรียนทุกกรณี ที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินการการยุบเสาไปยังพื้นที่ซึ่งครอบคลุมมากกว่า จึงทำให้สัญญาณให้บริการไม่เสถียรในบางช่วงเวลาและไม่ได้สื่อสารให้ผู้ใช้บริการในพื้นที่ทราบ โดย กสทช. ได้สุ่มตรวจความเร็วของอินเทอร์เน็ตในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ยืนยันได้ว่า คุณภาพการให้บริการไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ นี่คือเสียงจากนาย ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.         อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากภาพรวมการทำงานของ กสทช. กลับไม่ได้ราบรื่น เรียบร้อยตามถ้อยแถลงดังกล่าวเมื่อการประชุมของ กรรมการของ กสทช. ไม่อาจขึ้นได้ สะท้อนความขัดแย้งภายในจนไม่อาจขับเคลื่อนวาระสำคัญที่ กสทช.จะต้องดำเนินการมาตลอดปี 2566 โดยประชุมของ กรรมการ กสทช. ล่มต่อเนื่องถึง 7 ครั้ง  ซึ่งแม้จะมีความพยายามจัดการประชุมให้เกิดขึ้นสำเร็จโดยเป็นการประชุม 3 วันต่อเนื่องในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาคือ วันที่ 20 25 และ 26 ธันวาคม 2566 แต่ในการประชุมครั้งแรกของปี 2567 คือวันที่ วันที่ 10 ม.ค.ยังมีวาระเพื่อพิจารณา 52 วาระ ทั้งยังมีวาระที่ค้างพิจารณาอยู่ถึง 72 วาระ  วาระสำคัญจำนวนมากเป็นเรื่องสำคัญ เร่งด่วนที่ควรพิจารณาให้แล้วเสร็จเมื่อ 4- 6 เดือนมาแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ลุล่วงได้         การทำงานของ กสทช.ที่ผ่านมาจึงทั้งล่าช้า ไม่อาจตัดสินใจเรื่องสำคัญจนคั่งค้างจำนวนมาก ไม่เท่าทันต่อความเดือดร้อนของประชาชน การกำกับติดตามการดำเนินการของบริษัทที่ไม่เป็นไปอย่างเชิงรุก รอให้บริษัทรายงานผลการดำเนินการเข้ามาให้พิจารณาเท่านั้น  อะไรที่ยังเป็นความหวังอยู่บ้าง         แม้ประชาชนได้รับปัญหา และมีภาระที่ต้องจ่ายมากขึ้นจากการควบรวมธุรกิจของทรูและดีแทคแล้ว และการทำงานของ กสทช. ยังล่าช้า ไม่อาจให้ความชัดเจนและเชื่อมั่นต่อสังคมได้ อย่างไรก็ตามในรอบปีที่ผ่านมา ยังมีสัญญาณที่ดีในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เมื่อศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. ที่อนุญาตให้ควบรวมกิจการของทรู-ดีแทค ที่ออกมาเมื่อเดือน ต.ค. 2565 โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่าแม้เป็นการยื่นฟ้องพ้นเวลาแต่มีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการเป็นวงกว้าง ถือเป็นการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ         “บริการโทรคมนาคม เป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย จึงทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ การที่ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมจะควบรวมธุรกิจกันหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม  มีผลทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบในวงกว้าง จึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง กรณีจึงเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามนัยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับฟ้องคดีไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 52 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว         การที่ศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบมความนั่น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป ”  ข้อความดังกล่าวนี้คือคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด          “ข้อมูลจากสำนักบริหารและจัดการเลขหมายโทรคมนาคม ในปี 2565 หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทั้ง ทรูและดีแทค รวมกันแล้วมีมากกว่า  77,000,000 เลขหมาย การควบรวมธุรกิจครั้งนี้จึงส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ตอนนี้คดีนี้จึงเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลปกครองชั้นต้นแล้ว และเราจะรวบรวมผลกระทบต่อประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชั้นศาลต่อไป ”         “การดำเนินการหลังจากนี้ เรากำลังทำแนวทางเพื่อการทดสอบความเร็วของอินเตอร์เน็ต (Speed Test) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเราตระหนักดีว่าเราจะต้องทำงานบนฐานข้อมูลที่ชัดเจน รัดกุมมากขึ้น เช่นที่เราได้ทำในการสำรวจที่ผ่านมา ทำให้ความเดือดร้อน ปัญหาต่างๆ ถูกรวบรวมและสื่อสารมาได้อย่างมีพลัง และเราจะดำเนินการอีกหลายอย่าง เราจะไม่ทำให้เรื่องนี้เงียบเพียงเพราะ กสทช. หรือบริษัทออกมาบอกว่าเขาได้ดำเนินการอะไรแล้วบ้าง แต่ความเดือดร้อนยังมีอยู่ ถึงทุกวันนี้เรายุติการสำรวจไปแล้วแต่เรื่องร้องเรียนปัญหาจากการใช้บริการค่ายมือถือก็ยังเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ อยู่ต่อเนื่อง ” นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวถึงสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป         โดยที่ผ่านมา วันที่ 22 ธันวาคม 2566 นฤมล ได้ร่วมกับ นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายคณะทำงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมถึง คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช. เพื่อเรียกร้องให้ กสทช. เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวม TRUE – DTAC พร้อมแนบหลักฐานผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากเครือข่ายมือถือทุกระบบ จำนวน 2,924 ราย        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า การดำเนินการที่ดีที่สุดในเวลานี้เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการมือถือให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค และการแข่งขันในตลาด คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กสทช. ควรกำกับดูแลให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการเฉพาะ ที่ กสทช. ได้เป็นผู้กำหนดวางแนวทางไว้ด้วยตนเองอย่างเข้มงวด         นอกจากเงื่อนไข/ มาตรการเฉพาะ ที่ กสทช.ได้วางไว้แล้วสิ่งที่ในวันนี้ กสทช.ไม่อาจปฏิเสธได้แล้วอีกต่อไปจะต้องดำเนินการเปิดรับฟังเสียงและข้อเสนอแนะจากประชาชน ที่วันนี้พร้อมเข้ามีส่วนร่วมและทุกปัญหาที่ร้องเรียน มีหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้         เพราะเพียงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดำเนินการสำรวจเพียงช่องทางออนไลน์ระหว่างวันที่   9 - 23 พฤศจิกายน 2566 ประชาชนยังสามารถให้ข้อเสนอได้ต่อทั้ง กสทช.และบริษัทผู้ให้บริการอย่างชัดเจน         จึงไม่ยากเลยที่ กสทช. จะดำเนินการรับฟังข้อเสนอเหล่านี้ไปตรวจสอบ หากวันนี้ กสทช.มองเห็นแล้วว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนแล้วจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 สถานการณ์ผู้บริโภคประจำปี 2566

        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคปี 2566 ได้รับเรื่องร้องเรียนและให้คำปรึกษาตั้งแต่เดือน มกราคม-พฤศจิกายน 2566 ดำเนินการสำเร็จ 1,277 เรื่อง จากเคสร้องเรียนทั้งหมด 1,614 เรื่อง โดยแบ่งปัญหาของผู้บริโภค 9 เรื่องเด่นใน 4 หมวด ได้แก่ สินค้าและบริการทั่วไป, บริการขนส่งและยานพาหนะ, อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย, การเงินการธนาคารและประกัน เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ หมวดสินค้าและบริการทั่วไป มีมากถึง 630 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 39 จากทุกข์ของผู้บริโภคทั้งหมดที่ร้องเรียนเข้ามา     9 เรื่องเด่น ประจำปี 2566    เรื่องที่ 1        ·     หมวดบริการขนส่งและยานพาหนะ        M-Flow ตามที่มีนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วนและมอเตอร์เวย์ โดยการใช้เทคโนโลยี AI พัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางด้วยกล้องตรวจบันทึกภาพป้ายทะเบียนรถ ผ่านระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) บนเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ของกรมทางหลวง  ได้แก่ ด่านทับช้าง 1 ด่านทับช้าง 2 ด่านธัญบุรี 1 ด่านธัญบุรี 2 นั้น          มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ใช้บริการ และประสบปัญหาเรื่องการถูกเรียกเก็บค่าปรับทางด่วน  โดยมีเรื่องร้องเรียนดังนี้         1. อัตราค่าปรับแพง ระบบ M-Flow กำหนดให้ผู้ใช้บริการชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันใช้บริการ หากไม่ชำระภายในระยะเวลาดังกล่าวจะถูกปรับ 10 เท่าของค่าธรรมเนียม โดยให้ผู้ใช้บริการดำเนินการชำระเงิน หากไม่เห็นด้วยให้เข้ามาชี้แจงต่อกรมทางหลวงภายในระยะเวลาที่กำหนด (ให้ระยะเวลาเข้าไปชี้แจงประมาณ 8 วัน) หากไม่ดำเนินการชี้แจงจะถูกปรับจากการไม่มาชี้แจงตามกำหนดเวลา (200 บาทต่อกรณี) ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าอัตราค่าปรับไม่เหมาะสมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ เนื่องจากผู้ใช้บริการไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง         2. ไม่ทราบว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ใช้ระบบ M-Flow ผู้ใช้บริการบางคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด ทำให้ไม่ทราบว่า หากใช้เส้นทางของระบบ M-Flow แล้วต้องชำระค่าบริการหรือไม่ หรือต้องชำระค่าบริการอย่างไร หรือบางรายอาจถูกรถเบียดเปลี่ยนเส้นทางไม่ได้ จนหลุดเข้าไปใช้เส้นทางดังกล่าวโดยไม่ตั้งใจ แล้วไม่ทราบว่าต้องดำเนินการชำระเงินอย่างไร ซึ่งกว่าจะได้รับหนังสือแจ้งเตือน ก็เลยกำหนดระยะเวลาที่ต้องชำระไปแล้ว         3.ป้ายแสดงไม่ชัดเจน จำนวนป้ายแสดงน้อย และมีขนาดเล็ก หากไม่สังเกต หรือไม่คุ้นเส้นทางก็จะไม่ทราบว่าเส้นทางข้างหน้าเป็นเส้นทาง M-Flow         4.ไม่รู้ยอดอัตราค่าบริการ และช่องทางการชำระ ไม่มีการประชาสัมพันธ์ช่องทางการชำระเงินให้ผู้ใช้บริการรับทราบ ซึ่งผู้ใช้บริการบางรายไม่ทราบด้วยว่าได้ใช้งานผ่านเส้นทาง M-Flow แล้ว         5.หนังสือแจ้งให้ชำระค่าบริการมาถึงช้า ทำให้เกินกำหนดชำระต้องเสียค่าปรับ ผู้ใช้บริการบางรายแจ้งว่า หนังสือแจ้งให้ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง ส่งมาถึงก่อนวันถึงกำหนดเพียง 1 วัน โดยไม่ได้ระบุช่องทางการชำระเงินมาในหนังสือ แต่ระบุเพียงว่า “ท่านสามารถชำระผ่านเว็บไซต์ระบบ M-Flow  (www.mflowthai.com)” หรือบางรายได้รับหนังสือหลังจากเกินกำหนดชำระแล้ว ทำให้ต้องเสียค่าปรับจำนวน 10 เท่า         6.ระบบโต้แย้งค่าผ่านทาง ไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ ระบบ M-Flow ได้จัดให้มีการส่งเหตุผลการโต้แย้งค่าผ่านทางได้ ผ่านเว็บไซต์ https://mflowthai.com/mflow/dispute และเหตุผลในการโต้แย้งค่าผ่านทาง ไม่ครอบคลุมปัญหาที่ผู้ใช้บริการได้รับจริง โดยในเว็บไซต์จะมีเหตุผลการโต้แย้งให้เลือกได้ดังนี้         (1) มีหนังสือยกเว้นภายหลังผ่านทาง         (2) ชำระเงินแล้วมีหนังสือแจ้งเตือน/ขอคืนเงิน/ขอคืนแต้ม         (3) ไม่ได้ผ่านทาง         (4) ข้อมูลซื้อขายรถไม่ตรงกับกรมขนส่งทางบก         (5) ซื้อขายรถแบบโอนลอย         (6) รถสวมทะเบียน         (7) รถหาย/รถโดนขโมย         (8) การผ่านทางซ้ำ (การสร้างรายการผ่านทางซ้ำ)         (9) ขนาดรถไม่ถูกต้อง         (10) เคลื่อนย้ายรถส่งซ่อมการดำเนินการ         1. ทำหนังสือขอให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการใช้งานระบบ M-FLOW พร้อมแนบรายชื่อผู้เสียหาย (มพบที่.119/2565)                                                                      2.ทำหนังสือ/ข้อเสนอ ขอให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการใช้งานระบบ M-FLOW (มพบที่ 272/2566)    เรื่องที่ 2        ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        งานวิ่ง Ultra Trail Unseen Koh Chang 2023 ถูกยกเลิก แต่บริษัท ทีละก้าว จำกัด ไม่คืนเงินซึ่งจะจัดในวันที่ 21-22 ม.ค. 66 จัดที่โรงเรียนสลักเพชร เกาะช้างใต้ จ.ตราด โดยสมัครทางช่องทาง Google Form 2023 ผู้เสียหายได้ชำระค่าสมัครเรียบร้อย ต่อมาวันที่ 20 ม.ค.2566 เพจ Ultra-Tail Unseen Koh Chang ประกาศแจ้งยกเลิกงานดังกล่าว ทำให้เกิดความเสียหาย ผู้ร้องจึงประสงค์ให้บริษัทคืนเงินค่าสมัคร โดยได้แจ้งขอคืนเงินไปยังบริษัทฯแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการคืนเงินแต่อย่างใด        การดำเนินการ         1. บริษัท ทีละก้าว จำกัด จัดการแข่งขันวิ่งเทรลเกาะช้าง จังหวัดตราด ในวันที่ 21-22 มกราคม 2566 และได้มีการประกาศยกเลิกฉุกเฉิน ผ่านเพจ ""Ultra-Trail Unseen Koh Chang"" ที่เป็นของผู้จัดงาน ประกาศเพียง 1 วัน และแจ้งเพียงช่องทางเดียว         2. 3 มิถุนายน 2566 เนื่องจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทราบปัญหาการยกเลิกงานวิ่งดังกล่าวจึงได้ตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก Ultra-Trail Unseen Koh Chang ของ ผู้จัดงานวิ่ง พบว่าโพสต์ล่าสุด 18 เมษายน 2566 ได้โพสต์แจ้งการคืนเงินเฉพาะค่าสมัครวิ่งให้กับผู้เสียหายตามกำหนดรอบเรียงตามคิวที่ยื่นเรื่อง แต่จนถึงต้นเดือนมิถุนายน ยังมีผู้เสียหายจำนวนมาก ที่ยื่นเรื่องตามคิวแรกแจ้งว่า ยังไม่ได้รับเงินคืน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงประกาศให้ผู้เสียหายงานวิ่งเทรลเกาะช้าง ส่งหลักฐานเพื่อนำสู่การไกล่เกลี่ยกับผู้จัดให้เร่งจ่ายเงินคืน พร้อมส่งหลักฐานประกอบการร้องเรียน กรณี Ultra Trail Unseen Koh Chang 2023 (งาน UTKC 2023) (21-22 มกราคม 2566) ดังนี้            (1) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน            (2) หลักฐานการสมัครวิ่ง, หมายเลขประจำตัวนักวิ่ง             (3) หลักฐานการโอนเงิน            (4) หลักฐานการจองที่พัก หรือค่าเสียหายอื่นๆ         มีผู้ร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจำนวน 18 ราย         3. 13 กรกฎาคม 2566 เชิญบริษัทฯมาไกล่เกลี่ย ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ซึ่งดำเนินการไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 จากการไกล่เกลี่ย ผู้ร้องและบริษัทฯได้ทำบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาท ดังนี้             (1)  บริษัทฯจะดำเนินการตรวจสอบรายชื่อนักวิ่งที่ตกหล่นและอัพเดตรายชื่อนักวิ่งให้สามารถตรวจสอบได้ พร้อมระบุลำดับการคืนเงินผ่านเพจ ""Ultra-Trail Unseen Koh Chang"" และบริษัทฯจะดำเนินการตอบข้อความผู้ร้องและเคลื่อนไหวข้อมูลทางเพจ ภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2566             (2)  บริษัทฯจะดำเนินการประสานนักวิ่งเพื่อขอข้อมูลที่พัก รวบรวมเพื่อประสานสภาอุตสาหกรรม ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามที่ประสานไว้             (3)  บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินแก่นักวิ่งตามรอบที่ลงทะเบียนเดิม โดยจะเริ่มคืนรอบที่ 2 ภายใน 2 เดือนนับแต่วันที่มาไกล่เกลี่ย ผู้ร้องตกลงรับข้อเสนอที่บริษัทฯแจ้ง             (4)  13 กันยายน 2566 ผู้เสียหายรอบการคืนเงิน 16 กรกฎาคม – 16 สิงหาคม 2566 แจ้งมายังมูลนิธิฯว่ายังไม่ได้รับการคืนเงินจากบริษัทฯตามที่ได้ทำบันทึกไว้ จึงประสานไปยังบริษัทฯแจ้งว่าจะดำเนินการตรวจสอบและคืนเงินแก่ผู้ร้องภายในวันที่ 22 กันยายน 2566 เมื่อครบกำหนดผู้ร้องกลับไม่ได้รับเงินคืนตามสัญญา และตรวจสอบจากผู้ร้องพบว่ายังไม่มีผู้ร้องคนใดได้รับการคืนเงิน            (5)  12 ตุลาคม 2566 ติดต่อบริษัทฯสอบถามความคืบหน้าการคืนเงิน บริษัทฯขอให้ส่งรายชื่อผู้เสียหายอีกครั้ง มูลนิธิฯจึงส่งอีเมล์พร้อมแนบรายชื่อผู้เสียหายอีกครั้ง            (6)  18 ตุลาคม 2566 บริษัทฯแจ้งว่าได้รับอีเมล์และรายชื่อผู้เสียหายแล้ว บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 แต่จนถึงปัจจุบันผู้เสียหายยังไม่ได้รับการการคืนเงินและไม่ได้รับการติดต่อกลับจากบริษัทฯ ทั้งนี้มูลนิธิฯไม่สามารถติดต่อบริษัทฯได้เช่นเดียวกัน ***  ซึ่งผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับผู้ประกอบการได้ โดยสามารถแจ้งความประสงค์ในการดำเนินคดีพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง มายังมูลนิธิฯเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีได้     เรื่องที่ 3        ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        การปรับผังเวทีคอนเสิร์ต Mark Tuan ‘the other side’ Asia Tour 2023 in Thailand บัตรราคา 6,500 บาท ในรอบการแสดงที่กรุงเทพ และ บัตรราคา 4,500 บาท ในรอบการแสดงที่ขอนแก่น  ทำให้ผู้ซื้อบัตรคอนเสิร์ตที่ไม่พอใจการจัดเวทีรูปแบบใหม่         การดำเนินการ         ดำเนินการเจรจาแทนผู้ร้อง โดยผู้จัดงาน บริษัท ไบร์ท แพนเทอร์ จำกัด ได้ติดต่อมาที่มูลนิธิฯ บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินแก่ผู้ร้องที่ประสงค์จะขอเงินคืน หากผู้ร้องจะขอเงินคืนสามารถแจ้งชื่อ-สกุล เบอร์ติดต่อ/อีเมล์ และให้มูลนิธิฯดำเนินการประสานไปยังบริษัทฯ แต่ทั้งนี้ในส่วนของการเปลี่ยนผังบริษัทฯแจ้งว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้     เรื่องที่ 4        ·     หมวดอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย            บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สร้างคอนโด 4 ปีไม่เสร็จตามสัญญา ไม่คืนเงิน โดยมีโครงการดังนี้             1.โครงการ RISE Phahon - Inthamara : ขณะนี้สร้างเสร็จถึงชั้น 2 แต่บอกว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 31 ธันวาคม 2564             2.โครงการ The Excel ลาซาล 17 : ขณะนี้ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่บอกว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 31 ธันวาคม 2564             3.โครงการ The Excel Hideaway รัชดาห้วยขวาง : ขณะนี้ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่บอกว่าสร้างเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ : 31 ธันวาคม 2562            4.โครงการ The Excel Hideaway สุขุมวิท 50 : ผู้เสียหายแจ้งขอยกเลิกสัญญาตั้งแต่ก่อนก่อสร้างแล้วเสร็จ ( ซึ่งเดิมแจ้งว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์มีกำหนด กุมภาพันธ์ 2563)             5. โครงการ Impression เอกมัย สร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ : มิถุนายน 2563  โดยมูลนิธิฯดำเนินการช่วยยื่นฟ้องคดีที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี , และยื่นฟ้อง ที่ ศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี         การดำเนินการ         ดำเนินการช่วยเหลือผู้ร้องโดยการฟ้องคดี                               1. ฟ้องที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี                                              2.ยื่นฟ้อง ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี     เรื่องที่ 5     ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        Asia Society Fitness สาขารามคำแหง119 ปิดให้บริการ สมาชิกที่สมัครในสาขาดังกล่าวไม่สะดวกไม่สามารถไปใช้บริการในสาขาอื่น บริษัทฯไม่กำหนดแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา  ผู้บริโภคต้องการยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน บริษัทฯแจ้งว่าจะดำเนินการคืนเงินภายใน30 วัน เมื่อครบกำหนดบริษัทฯไม่คืนเงินและไม่สามารถติดต่อบริษัทฯได้         การดำเนินการ        ทำหนังสือขอให้คืนเงิน (มพบที่ 147/2566) แต่ไม่ได้รับการตอบกลับจากบริษัทฯ     เรื่องที่ 6    ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป          ถูกว่าจ้างให้ซื้อมือถือ  ปัจจุบันมือถือกับค่ายผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มีการทำโปรโมชั่นร่วมกัน ด้วยการจำหน่ายมือถือในราคาพิเศษ แต่แลกด้วยการทำสัญญาเปิดใช้บริการอย่างน้อย 1 ปี (ซิมรายเดือน) จุดนี้จะมีช่องให้มีคนหาผลประโยชน์เข้าตนเองได้ คือ การจ้างบุคคลทั่วไป ใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน เพียงแค่อายุ 18 ปีขึ้นไปและมีบัตรประชาชน ซื้อมือถือและเปิดใช้บริการแทนตน โดยแลกกับการจ่ายเป็นค่าจ้างให้ 300-500 บาท มองเผินๆ ก็น่าจะดีเพราะไม่ได้ทำอะไรมาก แค่ซื้อเครื่องให้และรับเงินค่าจ้างสบายๆ แต่อาจลืมมองไปว่าคนที่ลงลายมือชื่อทำสัญญาใช้บริการนั้นคือเจ้าของบัตรประชาชน” ดังนั้นในกรณีที่เกิดการค้างชำระค่าบริการ หรือโทรศัพท์ถูกนำไปใช้ก่ออาชญากรรม คนที่ต้องรับผิดชอบก็คือคนที่ทำสัญญา     การดำเนินการ         ตามพระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ระบุว่า เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         รวมถึงผู้ที่เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ทั้งนี้หากบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้เปิดบัญชี ให้รีบดำเนินการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที และใช้เอกสารที่แจ้งความไปติดต่อขอยกเลิกสัญญากับผู้ให้บริการ     เรื่องที่ 7    ·     หมวดการเงินการธนาคาร/ประกัน         ทำประกันแบบสะสมทรัพย์ 20 ปีแต่ได้รับเงินปันผลไม่ครบตามสัญญา ผู้ร้องสมัครทำประกันแบบสะสมทรัพย์ 20 ปี ตรีคูณ  (มีเงินปันผล)  จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท เริ่มทำสัญญาวันที่ 8 สิงหาคม 2545 กรมธรรม์ครบสัญญาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ผู้ร้องแจ้งว่าก่อนทำสัญญาพนักงานขายแจ้งแก่ผู้ร้องว่าหากทำสัญญาครบ 20 ปี จะได้รับเงินปันผลจำนวน 500,000 บาท  ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาบริษัทฯแจ้งว่าจะจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ร้องจำนวน 70,000 บาท ผู้ร้องจึงทำเรื่องร้องเรียนโต้แย้งการจ่ายเงินปันผล บริษัทฯพิจารณาเสนอการจ่ายเงินเพิ่มเติมจากเดิมแก่ผู้ร้องเป็นจำนวน 180,000 บาท แต่ผู้ร้องไม่รับข้อเสนอเนื่องจากไม่เป็นตามสัญญาที่ระบุว่าผู้ร้องจะต้องได้รับเงินปันผลจำนวน 500,000 บาท  หลังจากรับเรื่องร้องเรียนมูลนิธิฯทำหนังสือเชิญบริษัทฯมาเจรจาแต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับใดๆจากทางบริษัทฯ จึงดำเนินการฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้ร้อง         การดำเนินการ         1.ทำหนังสือเชิญบริษัทฯมาไกล่เกลี่ย ( มพบ. 038/2566)บริษัทฯไม่มาไกล่เกลี่ย         2.ดำเนินการช่วยเหลือผู้ร้องโดยการฟ้องคดี          เรื่องที่ 8    ·     สินค้าและบริการทั่วไป         ร้องเรียนกรณีถูกบริษัท  มิเนอรัล บิวตี้ จำกัด  เสนอขายเครื่องสำอางค์ของ Aqua Mineral แพงเกินจริง         การดำเนินการ         เจรจาตามความประสงค์ที่ร้องเรียน     เรื่องที่ 9    ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป          ธุรกิจนำเที่ยว บริษัท อ้วนผอม อะราวด์ เดอะ เวิลด์ จำกัด หรือทัวร์ “อ้วน ผอม จอมเที่ยว” ยกเลิกทัวร์ ทำให้มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก และเกิดความเสียหายกว่า 50 ล้านบาท         การดำเนินการ         ประสานกรมการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยวแจ้งกรณีถูกบริษัท อ้วนผอม อะราวด์ เดอะ เวิลด์ จำกัด ยกเลิกทัวร์ให้ผู้เสียหายเตรียมเอกสารหลักฐาน 5 รายการ ดังนี้         1. รายการนำเที่ยวที่ซื้อ         2. ใบเสร็จรับเงิน         3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ชำระเงิน         4. หลักฐานการแจ้งยกเลิกการเดินทาง (ถ้ามี)         5. เอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อความการแชตพูดคุยต่างๆ         ส่งทางอีเมล tgtcenter@tourism.go.th หรือ เดินทางมาร้องเรียนได้ตนเอง ที่กรมการท่องเที่ยว (บริเวณโถงกลาง) ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ         หลังจากส่งเอกสารครบถ้วนนิติกรจะติดต่อกลับไปยังผู้ร้องทั้งนี้กรมจะดำเนินการเชิญบริษัทฯมาเจรจาหากบริษัทฯไม่มาเจรจาหรือเจรจาไม่ได้ กรมจะนำเงินกองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยวมาชดเชยแก่ผู้เสียหาย และจะดำเนินการส่งเรื่องให้สคบ.ดำเนินการฟ้องคดี         สามารถติดตามการแถลงข่าว สถานการณ์ผู้บริโภค ปี 2566 ได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค | มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแถลงผลงานปี2566 (ffcthailand.org)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ภัยการเงินในเด็กและเยาวชน

        กลางปีที่ผ่านมา  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เผยข้อมูลภาพรวมการทำงานรับเรื่องร้องเรียนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 พบปัญหาผู้บริโภคอันดับต้นๆ คือถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงในหลากหลายรูปแบบ และที่น่าวิตกอย่างมาก คือมีเยาวชนจำนวนมากถูกหลอกให้ทำธุรกรรมด้านการเงินมากขึ้นและมากขึ้น  อีกทั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้เรายังได้เห็นข่าวเด็กและเยาวชนถูกหลอกให้ซื้อโทรศัพท์แต่ไม่ได้ของทั้งยังไม่ได้เงินคืน  หรือหลายคนถูกหลอกให้โอนเงินซื้อสินค้า ซึ่งนำมาสู่การตัดสินใจจบชีวิตลง นับเป็นสถานการณ์ที่น่าสะเทือนใจของสังคม         รู้หรือไม่ว่า ภัยการเงินในโลกออนไลน์เป็นความเสี่ยงที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง ติด 1 ใน 5 ความเสี่ยงสำคัญระดับโลก         ในประเทศไทยข้อมูลจาก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565-30 มิถุนายน 2566) จำนวนคดีที่มีผู้เสียหายเกี่ยวกับภัยออนไลน์เข้าแจ้งความ 287,122 เรื่อง มาจาก 14 ประเภทคดี มูลค่าความเสียหายรวมอยู่ที่ 39,847,206,321 ล้านบาท โดยภัยการเงินทางออนไลน์เกิดขึ้นแล้วใน 7 กลุ่มประเภทคือ หลักๆ คือ 1.ซื้อของออนไลน์ จากโซเชียลมีเดีย ทั้งที่ไม่รู้จัก   2.หลอกยืมเงิน คนร้ายแฮกข้อมูลจากคนใกล้ตัวของเรา 3.หลอกจะให้ทำงาน  4.หลอกให้โอนเงิน / ลงทุน  5. หลอกให้จ่ายภาษี  6. หลอกให้ผ่อนสินค้าแทน 7. โรแมนส์ สแกม         ปัญหาเหล่านี้ ยิ่งซับซ้อนและแพร่ระบาด เมื่อลงไปในกลุ่มเปราะบางคือ เด็กและเยาวชน สำรวจภัยการเงินที่เข้าหาเยาวชนผ่านเรื่องร้องเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ข้อมูลเฉพาะในปี 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนภัยทางเงินออน์ไลน์ที่เข้ามาหาเยาวชนหลากหลายลักษณะ มีตัวอย่างดังนี้           กรณีที่ 1 เด็กอายุ 12 ปีถูกหลอกให้ผ่อนมือถือราคา กว่า 60,000 บาท         เรื่องราวของคุณเบญจวรรณ ที่ลูกสาวอายุ 12 ปี เห็นสื่อโฆษณาให้ผ่อนมือถือ ราคา 60,000 บาท ใน Instragram และหลงเชื่อโอนเงินไปให้หลายครั้ง  โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่ปรึกษาพ่อแม่ ต่อเมื่อพ่อแม่ได้รู้ขอคืนเงินกับทางร้านและไม่ยอมคืนเงิน จนคุณเบญจวรรณขู่จะดำเนินคดีจึงได้เงินคืนในที่สุด          กรณีที่ 2 โดนหลอกเปิดซิมเป็นหนี้หลักหมื่น!         นักศึกษามหาวิทยาลัยปี 1 ที่ต้องการหารายได้เมื่อห็นข้อความโฆษณาว่า “เงินเดือนหลักหมื่น! เป็นลูกจ้างบูธขายมือถือในห้างฯ รับทั้งแบบประจำและฟรีแลนซ์ จึงหลงเชื่อและสมัครแต่กลับถูกหลอกให้ไปลงทะเบียนซิมกับค่ายมือถือเพื่อยืนยันตัวตน จึงจะได้รับการพิจารณารับเป็นพนักงาน โดยมิจฉาชีพได้พาน้องนักศึกษาไปถึงศูนย์บริการและหลบหายไป เมื่อนักศึกษาเปิดซิมโทรศัพท์ได้ทั้ง 3 เบอร์โทรศัพท์แล้วจึงกลับมา 3 เดือนต่อมา นักศึกษาคนดังกล่าวถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก 3 ค่าย มือถือรวมกับค่าปรับเป็นเงินกว่า 2 หมื่น ทำให้นักศึกษา และคุณแม่เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะถูกหลอก ไม่ได้ทำงานและยังเสียเงินอีกด้วย           กรณีที่ 3 ขายตรง ขายฝัน ลวงเด็ก         เมื่อนักศึกษาหญิงวัย 17 ปี อยากมีรายได้และได้รับการชักชวน จาก UP LINE ของบริษัทขายตรงยักษ์ใหญ่สัญชาติตะวันตกรายหนึ่ง ( ไม่ใช่ แชร์ลูกโซ่ ) จึงขอเงินจากคุณพ่อเพื่อสมัครสมาชิก 1,500 บาทและได้รับคำแนะนำจากพ่อขายของเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปากกา ยาสีฟัน ต่อมาผู้เป็นพ่อได้รับโทรศัพท์และรู้ว่าลูกสาวไปกู้เงินนอกระบบเพื่อซื้อคอร์สดดูแลสุขภาพของบริษัทขายตรงดีงกล่าวราคา 15,000 บาทเพราะถูกชักชวนว่าหากไม่เคยทดลองใช้บริการเองจะขายสินค้าและบริการของบริษัทไม่ได้   นักศึกษาจึงไปกู้เงินในกลุ่มทวิตเตอร์ ที่เด็กๆ ปล่อยเงินกู้กันเองแต่กลับถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยราคาแพง จากนั้นยังถูกชักชวนให้เล่นพนันออนไลน์ สุดท้ายเป็นวังวนที่ไม่สามารถปิดหนี้กับบริษัทขายตรงได้  และทำให้มีหนี้สินรวมกว่า 5 หมื่นบาท  สาเหตุที่เราถูกหลอกและเยาวชนคือเหยื่อที่กำลังถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ         ทำไมมิจฉาชีพจึงหลอกเราได้ ข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ระบุว่า ประชาชนตกเป็นเหยื่อภัยการเงินทางออนไลน์ เพราะมี 3 องค์ประกอบสำคัญ ทำให้หลงเชื่อได้คือ          1.เทคโนโลยี ปัจจุบันสามารถ ปลอมเบอร์ ปลอมเอกสาร เปลี่ยนชื่อผู้ส่งให้ปลายทางเห็นว่าเป็นหน่วยงานใดก็ได้  หลายเรื่องประชาชนยังไม่ทราบว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถทำได้ เมื่อไม่มีความรู้จึงหลงเชื่อ         2. มีการซื้อขายข้อมูลกันจริงในประเทศไทย และยังมีข้อมูลรั่วไหล         3.มิจฉาชีพใช้จิตวิทยาสร้างความน่าเชื่อถือ โน้มน้าวและกดดัน ทำให้รีบตัดสินใจ         4. คนไทยยังขาดวินัยทักษะทางการเงินที่ดี  มีหนี้สินครัวเรือนสูง         การตกเป็นเหยื่อภัยการเงินทางออนไลน์จึงเป็นปัญหาเชิงระบบ เป็นปัญหาที่มีมิติที่ซับซ้อนเกิดจากหลายปัจจัยและเมื่อมิจฉาชีพเจาะกลุ่มลงมาที่กลุ่มเยาวชน ปัญหาจึงยิ่งบานปลาย          สพลดนัย  พระธรรมมัง  อายุ 17  ปี เลขานุการสภาเด็กและเยาวชน  จังหวัดชลบุรี  กล่าวว่า         “ผมเกิดมาในยุคที่มีโซเชียล มีอินเตอร์เน็ตแล้ว เราโตมากับสิ่งนี้ เราไม่มีความเข้าใจเปรียบเทียบว่าก่อนหน้านี้มีความปลอดภัยที่มากกว่านี้อย่างไร ซึ่งเราจะเน้นติดต่อกันทางโซเชียลตลอดและอาจจะทำให้พวกเราคิดว่าโลกโซเชียลที่เราใช้อยู่ปลอดภัยและเวลาที่เราคิดจาทำอะไรสักอย่าง  ด้วยความเป็นเด็ก เราอาจจะไตร่ตรองไม่ได้มากพอ  สิ่งที่เราทำไป เราคิดว่าไม่ได้มีผลต่อเรามากขนาดนั้น จนอาจเกิดเหตุการณ์  ผลกระทบกับเราไปแล้ว เราถึงรู้ทีหลังว่าไม่ทันแล้ว  ซึ่งเรามักจะไม่ค่อยกล้าปรึกษาผู้ใหญ่ เพราะกลัวการถูกต่อว่า”           ในปี 2565  กรมกิจการเด็กและเยาวชนเผยว่า เด็กไทยร้อยละ 81  มีแท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง ร้อยละ 64% มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน wi-fi ที่บ้าน ซึ่งการมีแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนเป็นของตนเองนั้น ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การเสี่ยงภัยออนไลน์เพิ่มมากขึ้น 40% ประกอบกับมิจฉาชีพเข้าหาเยาวชนด้วยการโน้มน้าว เชิญชวนให้เล่นพนัน ฝากเงินได้แม้ในจำนวนไม่มากเพียงหลัก 30 – 50 บาท ก็สามารถทำได้ ทำให้เยาวชนอาจประมาทหลงเข้าไปทำธุรกรรมแต่กลับทำให้ถูกดูดข้อมูล ข่มขู่ได้         ปัจจุบันพบว่ามีบัญชีม้าอยู่ในระบบธนาคารแล้วจำนวนมากถึง 200,000 - 500,000 บัญชี จากบัญชีธนาคารในประเทศทั้งหมดกว่า 121 ล้านบัญชี และยังพบรายชื่อผู้เข้าข่ายบัญชีม้าเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 1,000 รายชื่อ         นี่จึงเป็นองค์ประกอบที่พร้อมให้ภัยการเงินทางออนไลน์ยิ่งระบาด เมื่อเด็ก เยาวชนไทยส่วนใหญ่มีเครื่องมือการสื่อสารแล้วแต่กลับแวดล้อมด้วยมิจฉาชีพให้เข้าถึงได้ทุกเมื่อ และเมื่อถูกหลอกแล้วก็ยากแสนยากที่จะได้ทรัพย์สินที่สูญหายไป กลับคืนมา  เราจะดูแลเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยจากภัยการเงินออนไลน์ได้อย่างไร         คุณเบญจวรรณ ดำรงกิจการ  แม่ของเด็กหญิงวัย 12 ปีที่ได้เข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องการทำนิติกรรมของผู้เยาว์ หลังจากบุตรสาวได้ถูกหลอกให้ผ่อนมือถือราคากว่า 60,000 บาท เมื่อคุณเบญจวรรณทราบเรื่องและได้คำแนะนำจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและยืนยันจะดำเนินคดีกับมิจฉาชีพให้ถึงที่สุด สุดท้ายจึงได้รับเงินคืนเล่าว่า         “ลูกสาวน่าจะเห็นโฆษณาให้ผ่อนมือถือจากใน IG  เลยกดเข้าไป เขายังไม่มีบัญชีธนาคาร  แต่มีบัญชีทรูมันนี่ วอลเล็ทจึงโอนผ่อนจากตรงนั้น โทรศัพท์ราคา 60,000 บาท ลูกเราอยากได้ บอกกับทางร้านว่าพ่อแม่อนุญาตแล้ว แล้วเขาผ่อน 5 บาท บ้าง 100 บาทบ้าง ครั้งที่โอนเยอะที่สุด คือ 500 บาท ทางร้านก็บอกว่า ผ่อนมากน้อยไม่เป็นไร ขอให้โอนมาเรื่อยๆ พอเรารู้เราถามลูกว่า หนูลองคำนวณดูสิ  หนูผ่อนเท่านี้ อีกกี่ปีจะได้มือถือ คิดแล้ว 10 ปีแต่เด็กเขาอยากได้ เขายังเชื่อก็บอกเราว่า ‘แต่ร้านบอกว่า ถึงเวลานั้นหนูก็เปลี่ยนเครื่องได้นะแม่’  คือความไร้เดียงสาของเด็ก เขาไม่ได้คิดรอบคอบ ไม่ได้มองไปไกลๆ ได้”         “เรารู้ว่าลูกแอบผ่อนมือถือ เพราะเราแอบดูมือถือเขา เวลาที่เขาหลับ การที่ลูกมีโทรศัพท์มือถือไม่ได้หมายความว่า  เราจะไม่สามารถรู้เรื่องของเขาได้ เราตกลงกับลูกเลยว่า ตราบใดที่ลูกยังไม่บรรลุนิติภาวะ เราจำเป็นต้องมีรหัสเข้าดูมือถือเขา พอเกิดเรื่องนี้ขึ้น เราเอามาเป็นโอกาสที่เอาข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแชร์กับลูก ว่ามีความจำเป็นอะไรที่แม่ต้องเข้าไปดู เราคิดว่าพ่อแม่ปัจจุบันต้องใส่ใจในทุกสิ่ง แล้วต้องมีวิธีการในการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับลูกว่า เราไม่ได้ละเมิดสิทธิพื้นฐานของลูกนะ แต่มีความจำเป็นว่าถ้าเราปล่อยให้เขาตัดสินใจโดยที่เราไม่รับรู้ด้วยที่เขายังไม่บรรลุนิติภาวะจะมีความเสียหายอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง”         ธนกฤษ ลิขิตธรากุล นักจิตวิทยาคลินิก สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เผยว่า  การที่เด็กและเยาวชนถูกหลอกตกเป็นเหยื่อภัยการเงินทางออนไลน์ มีปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ปัจจัยภายในคือ เด็กและเยาวชนยังมีพัฒนาการทางสมองด้านอารมณ์ไม่เต็มที่ ทำให้เด็กมีความสามารถในการ เข้าใจ วางแผน การคาดคะเนเหตุการณ์ได้ไม่เท่าผู้ใหญ่ สมองส่วนอารมณ์ของเขายังหุนหัน พลันแล่น เป็นช่วงชีวิตที่จะเจ้าอารมณ์ ส่งผลให้เมื่อโดนหลอก มีปัญหาชีวิตเขาอาจจะจัดการได้ไม่เหมาะสม ทำร้ายตัวเองและหลายรายจบชีวิตตัวเองแบบที่ได้เห็นตามข่าว         “ ส่วนปัจจัยภายนอก คือมิจฉาชีพที่เขาเข้ามาหลอก ต้องยอมรับว่าเขาก็พัฒนา วิธีการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แล้วเราก็อยู่ในสังคมที่มีการซื้อขายข้อมูลด้วย  ถ้าใครมาพูดถึงข้อมูลส่วนตัวของเราที่เราไม่เคยบอกใคร เขาก็ดูน่าเชื่อถือขึ้นมาแล้ว คือไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปเดินให้เขาหลอก การถูกหลอกจึงเกิดขึ้นได้เพราะมีหลายปัจจัย เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราไม่อาจบอกได้ง่ายๆ ว่าเพราะเธอโง่หรือไม่ฉลาด ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถนำมาบูลลี่ได้ เพราะจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่หรือหมอ ก็ถูกหลอกได้หมด เราก็เห็นมาแล้ว”         ธนกฤษ ชี้ชวนให้เห็นว่า ความสำคัญคือการรับมือหลังจากเมื่อปัญหาได้เกิดขึ้นแล้วว่าครอบครัวสามารถเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กได้พราะสุดท้าย ด้วยความเป็นเด็กย่อมต้องการคำแนะนำและความช่วยเหลือ         “ บางครอบครัวบอกว่า มีอะไรมาบอกพ่อแม่ได้ทุกเรื่องนะ แต่พอมาเล่าแล้วโดนว่า “ทำไมถึงทำอย่างนั้น” “ไม่ฉลาดเลย” เด็กก็ได้รับ Feedback ที่ไม่ดีไป เขาก็เกิดการเรียนรู้ว่ามาปรึกษาพ่อแม่ไม่ได้นะ บางบ้านพ่อแม่อาจจะบอกตลอดว่า “ระวังนะ มันมาหลอก อย่าไปหลงเชื่อนะ” แต่วันนึงเมื่อตกเป็นเหยื่อ เขาเลยอาจจะคิดว่า เออ เรามันโง่จริงๆ แหละ พ่อแม่เตือนแล้วเด็กเขาดีลกับความกังวลได้ไม่นาน ก็จะเครียด จะเศร้า สุดท้าย อ่ะ ตายดีกว่าไหมล่ะ ตัวเองมองแล้วมันแก้ไขปัญหาไม่ได้ไง”         “การเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยให้ลูกหลานในครอบครัวของเราได้ ซึ่งในทางจิตวิทยาจะบอกว่าสัมพันธภาพของเรากับเขาดี พอดีแล้วเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ทำให้ประตูในการแก้ไขปัญหาเรามีมาก ที่เรามักจะได้ยินว่า เลี้ยงลูกเหมือนเพื่อน ไม่ตัดสิน ไม่วิพาก์วิจารณ์หรือตำหนิ อาจเป็นเรื่องที่ยังยากสำหรับบางครอบครัว แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องฝึก ค่อยๆ ฝึกเพื่อดูแลลูกหลานของเราเอง สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ถ้าปัญหายังไม่เกิดกับคุณ ลองถามตัวเองว่าถ้าเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น แล้วเราโกรธไหม เราโกรธแล้วเราทำอะไร เรายังอยากจะรับฟังปัญหา ความรู้สึกของลูกไหม เพราะการรับฟังจริงๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการช่วยกันแก้ไขปัญหาแล้ว เราต้องสำรวจความคิดของเราว่าเป็นอย่างไร แล้วเราต้องปรับความคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีใครผิด ใครถูกที่แท้จริง คนเป็นพ่อแม่ต้องกลับมาศึกษาอารมณ์ ความคิดของตัวเองว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว เราจะถามลูกว่า “ ทำไมลูกถึงมีปัญหา  ทำไม”  “ลูกไม่ได้คิดเหรอ” หรือเลือกจะรับฟังอย่างตั้งใจ แค่นี้เราก็ตอบได้แล้วว่าเราเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยให้กับลูกหลานได้หรือไม่ นี่คือจุดเริ่มต้น  ส่วนการตรวจเช็คโทรศัพท์ ผมคงไม่บอกว่า ทำอะไรดีหรือไม่ดี แต่ละบ้านย่อมมีความเหมาะสมที่จะทำอะไรได้แตกต่างกัน และถ้าสัมพันธภาพกับเด็กไม่ดี เราทำอะไรลงไปอาจจำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ก็ได้ แต่พัฒนาการช่วงวัยรุ่น เขาต้องการพื้นที่ส่วนตัวแล้วเขาหวง และผมมองว่า เราจะเช็คโทรศัพท์เขาทุกครั้งที่เรากังวลมันช่วยลดความกังวลของเราเอง หรือช่วยป้องกันลูกได้จริงๆ ผมมองว่า การพูดคุย แลกเปลี่ยนกันตลอด ว่าตอนนี้มีแบบนี้นะ หนูเจอแบบนี้บ้างไหม “ถ้าหน่วยงานราชการจริง ตำรวจจริง เขาไม่โทรหาเราครั้งเดียวหรอก เดี๋ยวเขาต้องมาหาเราเอง” ให้มีการแลกเปลี่ยนกันเป็นปกติ แล้วมีอะไรเขาเองที่อยากมาแลกเปลี่ยน มาเล่าให้เราฟังแบบนั้นน่าจะดีที่สุด”         นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เผยว่า ภัยการเงินในเด็กและเยาวชนที่มีร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีเรื่องการถูกหลอกไปเปิดซิมจำนวนมาก ซึ่งแม้หลายคนจะได้ทราบว่ากฎหมายการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 กำหนดโทษไว้ในมาตรา 9 ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก (บัญชีม้า) หรือให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์ (คนเปิดซิมม้า) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ยังอาจชะล่าใจว่าเมื่อเป็นเด็กจะได้รับโทษลดลง แต่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่ง่ายเลย         “กรณีที่เป็นเด็กและเยาวชน แน่นอนว่าเมื่อทำผิด ก็มีกระบวนการทางกฎหมายที่เน้นไปที่การบำบัด แก้ไขเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม  แต่สิ่งที่ได้รับเหมือนๆ กันคือการถูกเรียกเก็บเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นซึ่งเราจะเห็นว่าสุดท้ายผู้ปกครองก็จะเข้ามารับผิดชอบตรงนี้ หรือบางรายเด็กต้องการแก้ไขปัญหาเองก็กลายเป็นทำให้หาทางออกที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพมากขึ้น”         “ เรื่องภัยการเงินทางออนไลน์เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันดูหลายฝ่ายจริงๆ แต่ดิฉันคิดว่าทางออกที่ยั่งยืน เพื่อปกป้องเยาวชนของเราและทำได้ตั้งแต่ตอนนี้ คือการปลูกฝังเรื่องวินัย ทักษะความรอบรู้ทางการเงิน เริ่มจากเราสังเกตลูกหลานของเราว่าตอนนี้เขามีการใช้เงินอย่างไร มีระเบียบไหม และเราเองสามารถจะเป็นคนที่แนะนำให้ความรู้กับเขาได้ไหม เพราะจุดเริ่มต้นหลักๆ ที่ทำให้เราตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ คืออยากได้เงิน เมื่อเกิดปัญหา เรายิ่งต้องการเงินแต่เราไม่มี เราก็ไปกู้นอกระบบ ยิ่งทำให้สร้างปัญหาไปเรื่อยๆ  และยิ่งตอนนี้เราเห็นว่า มีบัตรเครดิต บัตรต่างๆ ให้นักศึกษาใช้ แม้คนกลุ่มนี้เขาจะยังไม่มีรายได้ประจำก็ตาม แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย สุดท้ายเป็นครอบครัวที่จะรับผลที่เกิดขึ้น”คำแนะนำเพื่อเฝ้าระวัง สร้างความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือ สื่อสาร        ·     หมั่นติดตามข่าวสารอยู่เสมอจะทำให้รู้เท่าทัน  เทคนิค วิธีการที่มิจฉาชีพใช้         ·     พูดคุย สร้างความเข้าใจและอัพเดตภัยการเงินต่างๆ ในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ         ·     ปลูกฝังวินัย ทักษะทางการเงินให้แก่เด็กและเยาวชนตั้งแต่ลูกยังเด็ก         ·     ติดตามความรู้การเงินการลงทุนดีๆ เพื่อเห็นโอกาสในการลงทุนที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ        ·     ตั้งค่าการใช้แอพลิเคชันที่ใช้อยู่เป็นประจำให้ปลอดภัย เช่น ไม่ใช้รหัสผ่านที่เป็นเบอร์โทรศัพท์ หรือ วัน เดือน ปีเกิด ไม่เชื่อมต่อแอพลิเคชั่นต่างๆ ให้ลิ้งค์เข้าหากัน เพื่อป้องกันการถูกดูดข้อมูล หรือการตั้งค่าไลน์ไม่ให้บุคคลสาธารณะเข้าถึงได้ให้กับมือถือของบุตรหลาน เป็นต้น         ·     ไม่ซื้อของออนไลน์จากร้านที่ไม่รู้จักหรือ ควรโทรไปสอบถามให้บ่อยครั้ง จนแน่ใจก่อน         ·     ไม่โอนเงินลงทุน หรือหลงเชื่อคนที่รู้จักแต่ติดต่อมาทางออนไลน์ เพราะบุคคลดังกล่าวอาจถูกแฮกข้อมูลได้ ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อน          ·     ก่อนกรอกข้อมูลบัตรเครดิต หรือข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ในเว็บไซต์ใดๆ ควรตรวจความปลอดภัยของเว็บไซต์ก่อนด้วยการเข้าไปตรวจเช็คโดเมนเนมของเว็บไซต์ว่าปลอดภัย เชื่อถือได้หรือไม่        ·     ระมัดระวังการถูกหลอกให้ติดตั้งแอปปลอมจาก google play เพราะแอปปลอมจะอนุญาตเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในเครื่องได้        ·     เลือกลงทุนในบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เท่านั้น โดยเข้าไปตรวจทะเบียนรายชื่อ Investor Alert ในเว็บไซต์ ก.ล.ต. ( www.sec.or.th ) หรือแอปพลิเคชัน SEC Check First        ·     ทุกการทำธุรกรรม การโอน การลงทุน เก็บหลักฐาน ข้อมูล รายละเอียดไว้เสมอเพื่อเป็นหลักฐานในการติดตามหาตัวคนร้ายในภายหลังได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 โรคซึมเศร้าไม่ใช่ปัญหาส่วนตัว: ผู้ป่วยก็ซึม ระบบรักษาพยาบาลยิ่งน่าเศร้า

        ความเหล่านี้ เขียนโดยผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรังและประสบการณ์ของเพื่อนอีกคนที่มานั่งสนทนากลุ่มท่ามกลางความหมองเศร้ามากมายจากแง่มุมแตกต่างกัน ทว่า “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ที่ประสบร่วมกันคือ “ทุกข์จาก ความพยายามในการหายป่วย”พูดให้ง่าย พวกเราเวียนว่ายทุกข์ระทมในระบบสุขภาพที่มีอยู่มานานแล้วแต่เราหาทางออกจากการรักษาโรคซึมเศร้าไม่เจอ        สมมติว่าผู้เขียนชื่อ ฐ. อดีตนักข่าว บรรณาธิการ นักวิจัยที่เคยไปทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มากกว่า 18 ปี ส่วนอีก 9 คนนั้น เป็นนักข่าวอิสระหนึ่งคน นักเขียนฟรีแลนซ์หนึ่งคน มีนักแปลที่ผันตัวจากพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง นักกฎหมายสิทธิมนุษยที่ทำงานช่วยเหลือผู้คนให้กับมูลนิธิแห่งหนึ่ง ผู้บริหารองค์กรระหว่างประเทศกำลังสองจิตสองใจว่าควรออกจากงานดีหรือไม่ อดีตเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ที่เป็นอดีตเพราะเขายอมรับว่าพ่ายแพ้ต่อความเจ็บป่วยจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงเหมือนที่ผ่านมา นักศึกษาปริญญาเอกที่ยังหาทางออกให้ตัวเองไม่ได้ นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่เพิ่งออกจากรั้วมหาวิทยาลัย 2 คน อายุเฉลี่ยทั้ง 10 คน อยู่ระหว่าง 20 ปีต้นๆ ถึง 50 ปี หากพวกเราไม่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า มีโอกาสได้ทำงานที่ดีกว่านี้อย่างมีความสุข รับประกันได้เลยว่า กลุ่มพวกเราคือวัยแรงงานที่สำคัญในการขับเคลื่อนสังคม สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับประเทศ และเป็นหัวหน้าครอบครัวที่่มีคุณภาพมากกว่านี้แน่นอน         ปัญหาร่วมในการดำเนินชีวิตและภาระทางจิตใจ แม้บางคนไม่พูดออกมาชัดถ้อยชัดคำนักก็ตาม สิ่งที่แน่นอยู่ในอกเป็นก้อนความทุกข์เศร้าขนาดใหญ่กว่าหัวใจ คือการตระหนักดีว่าพวกเรา (เคย) มีศักยภาพแค่ไหน และในกลุ่มพวกเราไม่มีใครสักคนอยากเป็นภาระแก่ใครในครอบครัว ไม่อยากเป็นภาระแก่เพื่อนร่วมงาน รวมทั้งไม่อยากเป็นภาระกับระบบสุขภาพใด ๆ ด้วยเช่นกัน  ก้อนที่กดทับหัวอกเรานี้, ทำให้พวกเราเจียมตัว ไม่มีปากเสียงเรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรม เป็นชายขอบของภาคแรงงาน ต้องเค้น ขูดรีด และกดดันตัวเองมากขึ้นเพื่อให้ตลาดแรงงานยอมรับข้อจำกัดนี้ จึงจำนน รับงานชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาทำเพื่อให้เกิดรายได้พอประทังชีวิต พอจ่ายค่ายาโดยไม่รบกวนคนรอบข้างมากเกินไป วันดีคืนร้ายก็มีข่าวเฟคนิวส์บอกว่า นายจ้างสามารถบอกเลิกจ้างผู้ป่วยซึมเศร้าได้ยิ่งทำให้พวกเราตื่นตระหนกเงียบ ๆ อยู่ในมุมมืด “อย่าตัดฟางเส้นสุดท้ายของเราทิ้งเลย” เสียงวิงวอนก้องกังวานในใจ                วัฎจักรของผู้ป่วยซึมเศร้า          การสนทนากลุ่มของพวกเรามีข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการ รวบรัดประเด็นสำคัญก่อน เช่น พบว่า ในวัฎจักรของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีคนอยู่อย่างน้อย 3 กลุ่มหลัก คือ         (1) คนที่ไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจนอาการปรากฏแล้วและไม่มีโอกาสเข้ารับการรักษาพยาบาล         (2) คนที่รู้ตัวว่าป่วยแต่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาล และ (3) ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่อยู่ระหว่างการรักษาและทุกข์อยู่กับระบบสุขภาพอย่างเดียวดาย         พวกเราทั้ง 10 คนอยู่ในกลุ่ม 3 นี้ทั้งหมด บางคนยกธงยอมแพ้กับระบบสวัสดิการที่ตัวเองมี ยอมจำนนเสียเงินจำนวนมากรักษากับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อย่นย่อระยะเวลาในการรอพบแพทย์ ลดขั้นตอนการรักษาเพื่อบรรเทาทุกข์ทางใจ (หรือซ้ำเติมทุกข์ที่มีอยู่ขึ้นอยู่กับสุขภาพของกระเป๋าเงินช่วงนั้น)         ประสบการณ์ร่วมของพวกเรายืนยันหนักแน่นว่า “ปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่ความทุกข์ระดับบุคคล” หรือเรื่องของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แม้เบ้าหน้าเรากำลังหัวเราะ เพื่อไม่ให้คนรอบข้างรู้สึกเป็นห่วงสุขภาพ แต่ในใจระหว่างฟังบทสนทนาของเพื่อนๆ หัวใจบีบเค้นเต้นรัววูบวิบวับ ต้องหายใจลึกๆ ไม่ใช่แค่จากจมูกลากลมหายใจไปถึงปอด แต่ฉันลากลมหายใจผ่านทวารจรดถึงปลายเท้าวนเช่นนี้หลายรอบมาก ใช่, โรคซึมเศร้าสามารถรักษาหายได้ แต่ไม่เคยมีใครบอกเราเลยว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคเรื้อรังทางจิตใจ เพื่อนนักเขียนที่นั่งในวงคุยเธอเป็นโรคนี้มาแล้วกว่า 20 ปี และต้องกินยาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน ถ้าวันไหนขาดยาต้านเศร้าวันนั้นชีวิตประจำวันถึงกับปั่นป่วนทีเดียว และทั้ง 10 คน ป่วยมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ปี ส่วนฉันป่วยมาแล้ว 8 ปี ทั้งไม่มีใครเตือนอย่างหนักแน่นว่า โรคซึมเศร้าหายแล้วก็สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้อีก หรืออย่าหยุดยาเองโดยแพทย์ไม่วางแผนถอนยาให้ เพราะถ้าโรคกลับมาใหม่มันจะร้ายกาจกว่าเดิม ซึ่งเป็นทางหนึ่งให้เกิดวงจรโรคเรื้อรังทางจิตใจตามมา         เอาเข้าจริง คนที่เข้าสู่วงการโรคซึมเศร้าไม่เห็นมีใครหลุดออกไปง่ายๆ เลย ฉันจินตนาการไม่ออกว่าการเป็นโรคเรื้อรังทางจิตใจระยะยาว ปลายทางมันจะเพิ่มการบั่นทอนการอยากมีชีวิตอยู่ต่อมากขนาดไหน และเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าจะหายจากโรคนี้ก่อนหรือหลังที่ฉันจะจากโลกนี้กันแน่         ความทุกข์ทับซ้อนเมื่อเข้าสู่ระบบสุขภาพ         ระหว่างนั่งคุยกัน มีเสียงหัวเราะที่ฉันไม่เข้าใจความหมายนั้น เช่น ทุกคนมีประสบการณ์ร่วมยามเจ็บป่วยด้วยโรคทางกายอื่นๆ ต้องเข้าโรงพยาบาล และพยาบาลด่านซักประวัติมักถามว่า มีโรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรังไหม? พอพวกเราบอกว่า “เป็นโรคซึมเศร้า” หรือบอกว่า “เป็นซึมเศร้าและวิตกกังวลร่วมด้วย” พยาบาลจะเงยหน้ามองแต่ไม่ระบุในใบคัดกรอง แต่ถ้าบอกว่าเป็น “โรคความดันสูง” หรือ “เบาหวาน” พยาบาลถึงจะจดบันทึกไว้ เอาเข้าจริง ฉันเคยมีความคิดอยาก “กวน” พยาบาลคัดกรองเหมือนกันว่า โรคซึมเศร้าไม่ถือเป็นโรคเรื้อรังทางการแพทย์หรือ? หรือเพราะกระแสรณรงค์ “สุขภาพดี เริ่มต้นที่ลดหวาน มัน เค็ม” อันเป็นบ่อเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จึงไม่นับโรคทางจิตเวชเป็นโรคเรื้อรังเข้าไปด้วยหรือสุดโต่งที่จะคิดได้คือ การรักษาโรคนั้น แยกขาดระหว่างโรคทางกายและใจ โดยไม่คิดว่ามันสัมพันธ์กัน         แง่นี้, สถานะและความหมายของ “โรคเรื้อรัง” ระหว่างโรคทางกายกับโรคทางจิตใจก็ไม่เท่ากันแล้ว ซึ่งบางครั้งคันปากแต่การไปทะเลาะกับพยาบาลก็ไม่ใช่เรื่องถูกที่ ถูกคน และถูกกาลเทศะ แต่ก็ยังติดใจประเด็นนี้อยู่มาก “ถ้ากระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญหรือกำหนดเป็นวาระว่า ‘โรคซึมเศร้าเป็นโรคเรื้อรังทางจิตใจ’ การทุ่มเททรัพยากร สวัสดิการ และการจัดการเชิงระบบจะดีขึ้นกว่านี้ไหม?”         ชวนคิดต่อเนื่องไปอีก เมื่อโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้อีก ทุกครั้งที่รัฐ โดยเฉพาะศูนย์โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต หรือผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข พูดถึง “ตัวเลข” จำนวนผู้ป่วยเชิงปริมาณ เช่น เมื่อต้นปี 2566 ระบุว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน ส่งผลให้คนไทยกว่า 70 % เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการชัดเจนในช่วงอายุ 25 ปี จากนั้น อาจเกิดเป็นโรคเรื้อรังทางจิตใจในระยะยาวได้ ทั้งมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป 20 เท่าตัว    [1]  น่าสนใจว่า “ตัวเลข” ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเชิงปริมาณสะสมดังกล่าว มีวิธีวิทยาในการนับและคำนวณอย่างไร เมื่อ ‘มี’ ผู้ป่วยที่หายแล้วและกลับมาเป็นใหม่เพิ่มเข้ามาทุกปี         “ฐานข้อมูลโรคซึมเศร้าไทย” เป็นมรดกของนวัตกรรมเมื่อ 13 ปีก่อนจาก “โครงการทศวรรษการป้องกันและแก้ปัญหาโรคซึมเศร้า” ระยะ 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2553 - 2563) นับเป็นความก้าวหน้าสอดคล้องกับกระแสสากล กรมสุขภาพจิตมีวิสัยทัศน์ว่า ภายในปี 2563 โรคซึมเศร้าจะไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ โดยมี “อัตราการเข้าถึงบริการ” เป็นตัวชี้วัด อันเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญให้เกิด “ระบบดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้า” ขึ้นมา รวมทั้งมีการคิดค้นทางวิชาการจนได้แบบคัดกรองสำหรับกลุ่มเสี่ยง แบบคัดกรองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า รวมทั้งแบบประเมินการฆ่าตัวตาย เพื่อใช้ส่งเสริมสุขภาพจิต และเป็นแนวทางในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ที่ยังใช้จริงจังต่อเนื่อง เป็นรูปธรรมจนถึงปัจจุบัน         อย่างน้อยช่วงเวลาของการรณรงค์นานนับกว่า 10 ปีภายใต้โครงการดังกล่าว สังคมเริ่มรู้จักและตระหนักถึงโรคนี้มากขึ้น เดิมผู้ป่วยซึมเศร้า 100 คนเข้าถึงบริการการรักษาเพียงแค่ 3 คน  ณ ปี 2566 ศูนย์โรคซึมเศร้าไทย ระบุว่า ระบบการดูแลสุขภาพสามารถทำให้ผู้ป่วยโรคนี้ 100 คนเข้าถึงบริการการรักษาเพิ่มเป็น 28 คน ซึ่งพวกเราทั้ง 10 คนก็คือผู้ป่วยซึมเศร้าที่ยังมีลมหายใจอยู่อย่างโดดเดี่ยวในสัดส่วน 28% ที่ไม่ร่วงหล่นจากระบบสุขภาพก็จริง แต่มีแนวโน้มเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและเสี่ยงฆ่าตัวตายสำเร็จด้วย!         แม้จะผ่านมามากกว่าสิบปีจนถึงทุกวันนี้,  “อัตราการเข้าถึงบริการ” ยังเป็นตัวชี้วัดหลักของกรมสุขภาพจิต ทั้งในแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (2566 - 2570) แผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2561 - 2580) ที่อยู่ภายใต้ร่มแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุข ที่วางโครงสร้างของแผนต่าง ๆ สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 - 2564) มากกว่านั้น มีข้อสังเกตว่าการเขียนทุกแผนและยุทธศาสตร์ต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข มักเขียน “ตัวชี้วัด” การเฝ้าระวังโรคและส่งเสริมสุขภาพเรียงตามลำดับโครงสร้างอายุประชากร จึงเห็นการวางน้ำหนักเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าไว้ที่กลุ่มผู้สูงอายุเป็นหลัก แทบไม่เอ่ยถึงในกลุ่มเด็ก เยาวชน และวัยแรงงงานเท่าใดนัก         ขณะที่ปัจจุบัน รัฐบาลที่ผ่านมาได้ดำเนินแผนราชการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566 - 2570) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา ด้วยงื่อนไขสำคัญคือ การฟื้นฟูสังคม การเมือง และเศรษฐกิจหลังเผชิญหน้ากับวิกฤติสถานการณ์โควิด 19 ระบาดที่เป็นปัจจัยหนึ่งให้ผู้คนเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชเพิ่มมากขึ้น อัตราการฆ่าตัวตายก็สูงเพิ่มมากขึ้นตามปัจจัยใหม่ๆ ทางสังคม  “โรคซึมเศร้า” ก็ยังถูกระบุให้เฝ้าระวังในกลุ่มผู้สูงอายุเช่นเดิม บนฐานคิดว่าสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ยิ่งทำให้แผนและยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่ถูกเขียนก่อนหน้าไม่ได้สมสมัยเพียงพอเพื่อร่วมรับมือกับสถานการณ์วิกฤติซ้อนวิกฤติที่กำลังดำเนินอยู่  ดังนั้น ถ้ายังให้ความสำคัญเพียงแค่ “ตัวชี้วัด” ยิ่งทำให้ “ระบบดูแลเฝ้าระวัง การบริการ และรักษาโรคซึมเศร้า” ถูกตั้งคำถามในมิติต่างๆ มากยิ่งขึ้น                    กรมสุขภาพจิตอาจมีบทบาทสำคัญในแง่การร่างแผนและยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดวาระทิศทางของประเทศ  ทว่าจำเลยที่ถูกตั้งคำถามด้านการบริการผู้ป่วยมากที่สุดกลับตกอยู่กับหน่วยบริการสุขภาพและเหนือกว่านั้นคือ สำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ในฐานะผู้กำหนดสิทธิประโยชน์การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการรักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิในสวัสดิการและผู้ประกันตน         แม้โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคใหม่ แต่น่าสังเกตว่า สิทธิประโยชน์ในกองทุนสวัสดิการสุขภาพต่างๆ เกี่ยวกับโรคทางจิตเวชยังตามหลังโรคทางกายอยู่มาก เช่น การเพิ่มจำนวนยาจิตเวชในบัญชียาหลักแห่งชาติให้เพียงพอกับพัฒนาการของโรคและปริมาณของจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมาก (ซึ่งปลายปี 2565 กรมสุขภาพจิต ในฐานะที่ดูแลโรงพยาบาลและสถาบันเฉพาะทางจิตเวชทั่วประเทศได้เสนอรายชื่อยาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า 4 ตัวเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ขณะนี้เรื่องยังติดอยู่ที่อนุกรรมพิจารณาบัญชียาหลักแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หมายความว่ายังไม่มีความคืบหน้าเรื่องนี้[2]) รวมทั้งการอำนวยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงการบำบัดด้านจิตเวชมากขึ้น ไม่ใช่เน้นการรักษาโดยรับยาจากแพทย์เป็นทางเลือกเดียว ส่วนเหตุผลจิตแพทย์และนักบำบัดจิตขาดแคลนขอให้ทดเงื่อนไขนี้ไว้ก่อน มิฉะนั้น การอภิปรายเชิงระบบจะจบแบบ ‘ลงร่อง’ ด้วยเหตุนี้เสมอ และกวาดประเด็นอื่น ๆ ไว้ใต้พรม         แง่นี้ การรับมือกับ “โรคซึมเศร้า” จึงไม่ใช่แค่ภาระของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่กองทุนสุขภาพต่างๆ ยังต้องเข้ามาทำหน้าที่ช่วยเป็นโครงข่ายนิรภัย (Safety Net) เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น และไม่มีผู้ป่วยร่วงหล่น หรือหลุดออกไปจากการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบสวัสดิการสุขภาพต่าง ๆ ที่ประเทศไทย มีอยู่ เหมือนกรณีตัวอย่าง เช่น         “เดย์” เป็นผู้ป่วยที่มาก่อนกาล ก่อนจะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก่อนกรมสุขภาพจิตจะเริ่มทศวรรษโรคซึมเศร้าฯ ก่อนการจัดตั้ง “ระบบดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้า” เธอเป็นนักข่าวองค์กรหนึ่งที่ป่วยด้วยโรคนี้มากกว่า 20 ปี วิชาชีพที่ทำงานแข่งกับเวลาและปัญหาสังคมสร้างความกดดัน ความเครียดเรื้อรัง จนร้องไห้ออกมาแบบควบคุมตัวเองไม่ได้ จึงตัดสินใจไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา การได้ระบายออกมาทำให้รู้ว่าตัวเองป่วยมากขนาดไหน แต่การจะไปรักษากับโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม พบว่าไม่มีแพทย์เฉพาะทาง โรงพยาบาลศรีธัญญาแนะนำว่า ถ้าพอมีกำลังทรัพย์ให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลวิภาวดี ซึ่งหมอที่นี่ช่วยได้มาก  ดังนั้นปัญหาแรกที่พบ คือ ระบบสวัสดิการไม่ตอบโจทย์ในการรักษาโรคทางจิตเวช เมื่อรักษากับโรงพยาบาลเอกชน ปัญหาใหม่ก็ตามมาอีก คือค่ายาแพง ค่ารักษาพยาบาลต่อเดือนสำหรับเมื่อ 20 ปีก่อน เฉลี่ยเดือนละ 5,000 กว่าบาท นับว่ามากทีเดียวเมื่อเทียบกับรายได้ เธอกินยาต้านเศร้าที่ผลิตในประเทศมาครบทุกตัว และน่าจะเป็นผู้ป่วยกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับยาต่างประเทศ นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ  ในที่สุดหมอแนะนำให้เธอซื้อยาตรงกับดีลเลอร์ยาเลยเพื่อลดค่าใช้จ่าย         แม้ค่ารักษาจะแพง แต่เธอไม่กล้าเปลี่ยนหมอ หรือเปลี่ยนโรงพยาบาล ด้วยกลัวการเริ่มต้นรักษาใหม่ นี่่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาตามมา เมื่ออาการเริ่มดีขึ้น เธอเชื่อว่าตัวเองหายแล้ว จึงหยุดยาเอง ก็กลายเป็นว่าเธอไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิมแม้งานง่าย ๆ จึงเข้ารับการรักษาใหม่อีกครั้งและการรักษาก็ยากขึ้นเพราะการกินยาไม่ต่อเนื่อง ต่อมา เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจระดับประเทศทำให้เธอเป็นนักข่าวกลุ่มแรกที่ตกงาน ต้องผันตัวเองเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ ความรู้สึกยิ่งดิ่งลง การขาดรายได้ทำให้เธอรับการรักษาไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งไม่มียาเพียงพอในการใช้ต่อเนื่อง ด้วยยาที่กินอยู่ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ทำให้การรักษาโรคของเธอซับซ้อนมากขึ้น เกิดภาวะวิตกกังวล นอนไม่หลับเรื้อรัง มีปัญหาด้านความทรงจำ การควบคุมอารมณ์ ฯลฯ         ทุกวันนี้ เธอยังรักษากับโรงพยาบาลวิภาวดีโดยจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง แต่การรักษาไม่ต่อเนื่อง การได้รับยาไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งไม่มีคำแนะนำให้รักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การบำบัดทางจิตและอารมณ์ควบคู่ เป็นปัจจัยที่ทำให้ “เดย์” กลายเป็นผู้ป่วยเรื้อรังทางจิตใจที่มีอยู่จริง และจิตใจก็พึ่งพิงไว้กับยา สิ่งที่เธอคาดหวังนั้น เรียบง่าย “น่าจะมีสักวันที่ชีวิตไม่ต้องกินยา เป็นคน ‘ปกติ’ แบบคนอื่นบ้าง”              “นิล” นักกิจกรรมทางสังคมที่เพิ่งพ้นจากรั้วมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า เขาเริ่มไม่เข้าใจภาวะที่ตัวเองผิดปกติ งานบางอย่างไม่สามารถทำให้เสร็จได้ ไม่สามารถสื่อสารกับครอบครัวได้ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม จนกระทั่งมีโอกาสเข้ารับคำปรึกษากับศูนย์สุขภาพจิตของมหาวิทยาลัย นักจิตบำบัดประเมินว่าเขาจำเป็นต้องพบจิตแพทย์ ช่วงแรกเขายังไม่อยากไปหาหมอ ไม่อยากกินยา รู้สึกการได้คุยกับนักจิตบำบัดตอบโจทย์อยู่แล้ว จนกระทั่งเรียนจบ ออกมาทำงานได้ระยะหนึ่งความกดดันต่าง ๆ และการเปลี่ยนสถานะทางสังคม โรคพัฒนาตัวอย่างเงียบๆ อาการดิ่งมาแบบไม่รู้ตัว จนในที่สุดต้องตัดสินใจรักษากับจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และทุกวันนี้ก็ยังต้อง กินยาอยู่         “ผมอยากให้มีกลไกที่จะช่วยให้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตรู้ตัวได้เร็วขึ้น เพื่อรู้วิธีรับมือและจัดการตัวเอง รวมทั้งเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง” นิล เอ่ยข้อเสนอจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง         ความน่าสนใจกรณีของ “นิล” คือ กว่าเขาจะเข้าใจตัวเองว่ามีภาวะวิตกกังวลและเป็นโรคซึมเศร้าต้องใช้เวลานานมาก จากชั้นมัธยมจนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย “นิล” อาจเป็นภาพตัวแทนของเด็กจำนวนหนึ่งที่ซ่อนเร้นตัวเองอยู่ในมุมมืด ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลด้วยวัย รวมทั้ง พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562) ไม่ได้ให้สิทธิในการตัดสินใจแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จำเป็นต้องมีผู้ปกครองตัดสินใจแทน อาจกล่าวได้ว่า การค้นหาผู้ป่วยจิตเวชที่มีอายุน้อยเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องไม่ง่าย การรายงาน “ตัวเลข” ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต่ำกว่าความเป็นจริงเมื่อเทียบกับกลุ่มวัยแรงงานและกลุ่มผู้สูงอายุ ยิ่งชวนให้เราตั้งคำถามกับ “จำนวนนับ” ของฐานข้อมูลโรคซึมเศร้าไทยที่เริ่มเก็บข้อมูลประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปมากขึ้น          ในวัยเดียวกัน “ต้น” นักกิจกรรมสังคมรุ่นใหม่ ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง เจ็บปวดร้าวรานเมื่อเห็นผู้คนและเพื่อนๆ ถูกคุกคามจากการใช้สิทธิทางการเมือง รู้สึกเครียด และถูกกดดันจากสถานการณ์รอบตัว เริ่มเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นแห่งแรก แม้ต้องจ่ายเงินเองทั้งหมด นานวันเข้ารับมือกับค่าใช้จ่ายไม่ไหว จึงตัดสินใจกลับไปใช้สิทธิรักษาพยาบาล 30 บาทที่ภูมิลำเนา โรงพยาบาลในจังหวัดหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้จะช่วยลดค่ารักษาพยาบาลไปได้ แต่ค่าใช้จ่ายการเดินทางกลายเป็นภาระไม่แพ้ค่ายาเพิ่มขึ้นแทน เขาไปกลับกรุงเทพฯ - ต่างจังหวัดอยู่หลายครั้ง จนยอมแพ้ ทั้งการรอคิวนานและรู้สึกว่าจิตแพทย์ไม่ได้รับฟังเพียงพอ รู้สึกถูกหมอตัดสินตัวเขาเหตุจากความคิดเห็นต่างทางการเมือง จนเริ่มคิดฆ่าตัวตาย แต่แฟนเข้ามาพบเสียก่อน จึงพากลับมารักษาตัวใหม่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอีกหน ชีวิต “ต้น” หักเหอีกครั้ง เมื่อเกิดวิกฤตโควิด 19 ระบาด เมืองปิด เขาตกงาน ไม่มีเงินค่ารักษาหรือเพื่อประทังชีวิตเพียงพอ จนต้องหยุดยาเอง เกือบสองปีผ่านไป จนกระทั่งได้งานใหม่จึงกลับมาเริ่มต้นรักษาอีกครั้งที่โรงพยาบาลราชวิถี         สิ่งที่รู้สึกท้อแท้มากกว่าค่ารักษาพยาบาล คือการต้องเริ่มต้นเล่าเรื่องที่เขาเผชิญใหม่ทุกครั้งที่เจอกับหมอคนใหม่ ในความเห็นของ “ต้น” จิตแพทย์มีน้อยอยู่แล้ว บางคนมีทัศนคติกับผู้ป่วยแย่ หลังจากดิ้นรนรักษาโรคซึมเศร้าอยู่หลายแห่ง การรับยาจากแพทย์ไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้น กลับทรมานและรู้สึกคุณค่าของตัวเองตกต่ำลงเรื่อยๆ ทุกครั้งที่กินยา จึงอยากให้มีนักจิตบำบัดเพิ่มขึ้น จิตแพทย์เพิ่มขึ้น ไม่อยากรักษาไกลจากที่พักอาศัย อยากให้แพทย์ทำใบส่งต่อเพื่อให้เขาอยู่ในระบบสวัสดิการ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปกลับทำใบส่งตัวระหว่างกรุงเทพฯ - ต่างจังหวัดทุก 3 เดือน หรือทุกครั้งที่ต้องพบแพทย์  ดังนั้น เพื่อลดขั้นตอนการส่งตัวอันยุ่งยาก วันนี้เขายอมรับภาระในการรักษาเองทั้งหมด          บนบ่าของวัยแรงงานมีเรื่องต้องแบกหามมากมาย ช่วงเรียนปริญญาตรี “คิม” ทั้งเรียนหนักและต้องดูแลพ่อที่ไตวาย ความเครียดสะสมนี้เพื่อนแม่จึงพาไปรักษากับจิตแพทย์และหมอสั่งยาให้ระยะหนึ่ง จน    ฤกระทั่งพ่อเสียชีวิต เธอรู้สึกว่าความกดดันลดลง อาการดีขึ้นจึงหยุดยาเอง จนกระทั่งเธอไปเรียนต่อปริญญาโทต่างประเทศตามลำพัง พบว่า ทำวิทยานิพนธ์ไม่ได้ นำเสนอผลงานไม่ได้ โชคดีว่าที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศมีศูนย์ให้คำปรึกษาสุขภาพจิตซึ่งดีมาก แต่ “คิม” ไม่อยากกินยาอีกแล้ว จึงพยายามขวนขวายหาชุมชนที่พูดคุยเรื่องการรักษาโรคซึมเศร้าในชุมชนออนไลน์ เพื่อดูแลตัวเอง และประคองตัวเองจนกระทั่งเรียนจบ กลับประเทศไทย ได้ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ ปัจจุบัน “คิม” เป็นผู้บริหารองค์กรระหว่างประเทศในฐานะตัวแทนประเทศไทยระดับภูมิภาคเอเชีย         ช่วงระยะเวลากว่า 10 ปี นับตั้งแต่พ่อเสียชีวิต การเรียนต่อต่างประเทศ การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งทางการเมืองของไทย ซึ่งเธอเป็นข้อต่อที่มีบทบาทสำคัญ หัวใจอันอ่อนล้าไม่ได้หยุดพักเลย เมื่อแม่ของ “คิม” เริ่มมีภาวะสมอง เสื่อมจากเนื้องอกในสมอง หลังผ่าตัด พฤติกรรมแม่เปลี่ยนไปจนแทบควบคุมตัวเองไม่ได้ ยิ่งทำให้เธอเครียดมาก จากการควบบทบาททางสังคมอันหนักอึ้งและบทบาท “ผู้ดูแลผู้ป่วยสูงอายุติดเตียง” (care giver) แม้จะจ้างผู้ช่วยมาประจำที่บ้านอีกคน เธอรู้ตัวดีว่าอาการโรคซึมเศร้าที่หายไปนานกลับมาเยือนอีกครั้ง แม้มีสิทธิตามหลักประกันบัตรทอง แต่ระบบไม่ได้ยืดหยุ่นให้เธอเข้าถึงได้นัก เมื่อเข้าใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ก็พบว่าการบริการไม่ได้ดีนักอย่างที่คาดหวัง จึงพยายามหาทางเลือกอื่นเป็นที่พึ่ง พบว่า สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตอบโจทย์กับชีวิตอันยุ่งเหยิง ช่วยรับฟังปัญหาได้ดี แต่ข้อจำกัดของระบบฮอตไลน์ทำหน้าที่รับฟังแบบตั้งรับ ไม่มีระบบติดตามคนไข้ หรือตามอาการของผู้ป่วยที่โทรมาใช้บริการ รวมทั้งการประเมินอาการช่วยส่งต่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพจนสำเร็จ         “เราไม่สามารถเป็นผู้ป่วยอีกคนในบ้าน เพราะเรายังต้องดูแลแม่ที่ป่วย ช่วงนี้ไม่อยากทำงานบริหาร อยากเปลี่ยนทำงานที่เบาลง แต่ยังเป็นงานที่เรายังภูมิใจได้ เปลี่ยนสภาพแวดล้อม มีเงินสักก้อนไว้ดูแลแม่ที่สมองเสื่อม หากวันหนึ่งเราเป็นอะไรไป น้องจะได้ดูแลแม่ต่อได้” คิมบอกถึงความคาดหวัง          วันนี้ “นรินทร์” นักศึกษาปริญญาเอก มาหาฉันที่บ้าน เพื่อแบ่งยาไปกิน ยา Venlafaxine หนึ่งในสี่ชนิดของยาต้านเศร้าที่กรมสุขภาพจิตพยายามผลักดันเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ “นรินทร์” ใช้สิทธิประกันสังคมรักษากับโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง แต่การพบแพทย์ครั้งล่าสุด โรงพยาบาลออก “ใบค้างยา” และ “ใบสั่งยา” ให้ เพราะตัวยาที่เขาจำเป็นต้องใช้นั้น ขาดตลาดและหมดสต๊อกของโรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถไปซื้อยาข้างนอกได้ และหากยา กลับเข้ามาในระบบอีกครั้ง (ซึ่งระบุระยะเวลาแน่นอนไม่ได้) จะโทรศัพท์เรียกให้มารับยาค้างจ่าย ฐ. กินยาตัวเดียวกับเขาและมียาตัวนี้เก็บสะสมไว้มาก จึงแบ่งยาให้ “นรินทร์” ไปกินก่อน นี่คือ สถานการณ์เดียวกับ “เดย์” ที่เคยเจอเมื่อหลายสิบปีก่อน และฉันก็เคยมีประสบการณ์เดียวกัน เมื่อมีเงินจึงซื้อยาจำเป็นเก็บไว้         มุมของวิชาชีพแพทย์ เภสัชกร        แง่นี้ การรับมือกับ “โรคซึมเศร้า” จึงไม่ใช่แค่ภาระของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่กองทุนสุขภาพต่างๆ ยังต้องเข้ามาทำหน้าที่ช่วยเป็นโครงข่ายนิรภัย (Safety Net) เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น และไม่มีผู้ป่วยร่วงหล่น หรือหลุดออกไปจากการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบสวัสดิการสุขภาพต่าง ๆ ที่ประเทศไทย มีอยู่ เหมือนกรณีตัวอย่าง เช่น         “เดย์” เป็นผู้ป่วยที่มาก่อนกาล ก่อนจะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก่อนกรมสุขภาพจิตจะเริ่มทศวรรษโรคซึมเศร้าฯ ก่อนการจัดตั้ง “ระบบดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้า” เธอเป็นนักข่าวองค์กรหนึ่งที่ป่วยด้วยโรคนี้มากกว่า 20 ปี วิชาชีพที่ทำงานแข่งกับเวลาและปัญหาสังคมสร้างความกดดัน ความเครียดเรื้อรัง จนร้องไห้ออกมาแบบควบคุมตัวเองไม่ได้ จึงตัดสินใจไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา การได้ระบายออกมาทำให้รู้ว่าตัวเองป่วยมากขนาดไหน แต่การจะไปรักษากับโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม พบว่าไม่มีแพทย์เฉพาะทาง โรงพยาบาลศรีธัญญาแนะนำว่า ถ้าพอมีกำลังทรัพย์ให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลวิภาวดี ซึ่งหมอที่นี่ช่วยได้มาก  ดังนั้นปัญหาแรกที่พบ คือ ระบบสวัสดิการไม่ตอบโจทย์ในการรักษาโรคทางจิตเวช เมื่อรักษากับโรงพยาบาลเอกชน ปัญหาใหม่ก็ตามมาอีก คือค่ายาแพง ค่ารักษาพยาบาลต่อเดือนสำหรับเมื่อ 20 ปีก่อน เฉลี่ยเดือนละ 5,000 กว่าบาท นับว่ามากทีเดียวเมื่อเทียบกับรายได้ เธอกินยาต้านเศร้าที่ผลิตในประเทศมาครบทุกตัว และน่าจะเป็นผู้ป่วยกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับยาต่างประเทศ นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ  ในที่สุดหมอแนะนำให้เธอซื้อยาตรงกับดีลเลอร์ยาเลยเพื่อลดค่าใช้จ่าย         แม้ค่ารักษาจะแพง แต่เธอไม่กล้าเปลี่ยนหมอ หรือเปลี่ยนโรงพยาบาล ด้วยกลัวการเริ่มต้นรักษาใหม่ นี่่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาตามมา เมื่ออาการเริ่มดีขึ้น เธอเชื่อว่าตัวเองหายแล้ว จึงหยุดยาเอง ก็กลายเป็นว่าเธอไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิมแม้งานง่าย ๆ จึงเข้ารับการรักษาใหม่อีกครั้งและการรักษาก็ยากขึ้นเพราะการกินยาไม่ต่อเนื่อง ต่อมา เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจระดับประเทศทำให้เธอเป็นนักข่าวกลุ่มแรกที่ตกงาน ต้องผันตัวเองเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ ความรู้สึกยิ่งดิ่งลง การขาดรายได้ทำให้เธอรับการรักษาไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งไม่มียาเพียงพอในการใช้ต่อเนื่อง ด้วยยาที่กินอยู่ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ทำให้การรักษาโรคของเธอซับซ้อนมากขึ้น เกิดภาวะวิตกกังวล นอนไม่หลับเรื้อรัง มีปัญหาด้านความทรงจำ การควบคุมอารมณ์ ฯลฯ         ทุกวันนี้ เธอยังรักษากับโรงพยาบาลวิภาวดีโดยจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง แต่การรักษาไม่ต่อเนื่อง การได้รับยาไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งไม่มีคำแนะนำให้รักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การบำบัดทางจิตและอารมณ์ควบคู่ เป็นปัจจัยที่ทำให้ “เดย์” กลายเป็นผู้ป่วยเรื้อรังทางจิตใจที่มีอยู่จริง และจิตใจก็พึ่งพิงไว้กับยา สิ่งที่เธอคาดหวังนั้น เรียบง่าย “น่าจะมีสักวันที่ชีวิตไม่ต้องกินยา เป็นคน ‘ปกติ’ แบบคนอื่นบ้าง”              “นิล” นักกิจกรรมทางสังคมที่เพิ่งพ้นจากรั้วมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า เขาเริ่มไม่เข้าใจภาวะที่ตัวเองผิดปกติ งานบางอย่างไม่สามารถทำให้เสร็จได้ ไม่สามารถสื่อสารกับครอบครัวได้ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม จนกระทั่งมีโอกาสเข้ารับคำปรึกษากับศูนย์สุขภาพจิตของมหาวิทยาลัย นักจิตบำบัดประเมินว่าเขาจำเป็นต้องพบจิตแพทย์ ช่วงแรกเขายังไม่อยากไปหาหมอ ไม่อยากกินยา รู้สึกการได้คุยกับนักจิตบำบัดตอบโจทย์อยู่แล้ว จนกระทั่งเรียนจบ ออกมาทำงานได้ระยะหนึ่งความกดดันต่าง ๆ และการเปลี่ยนสถานะทางสังคม โรคพัฒนาตัวอย่างเงียบๆ อาการดิ่งมาแบบไม่รู้ตัว จนในที่สุดต้องตัดสินใจรักษากับจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และทุกวันนี้ก็ยังต้อง กินยาอยู่         “ผมอยากให้มีกลไกที่จะช่วยให้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตรู้ตัวได้เร็วขึ้น เพื่อรู้วิธีรับมือและจัดการตัวเอง รวมทั้งเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง” นิล เอ่ยข้อเสนอจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง         ความน่าสนใจกรณีของ “นิล” คือ กว่าเขาจะเข้าใจตัวเองว่ามีภาวะวิตกกังวลและเป็นโรคซึมเศร้าต้องใช้เวลานานมาก จากชั้นมัธยมจนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย “นิล” อาจเป็นภาพตัวแทนของเด็กจำนวนหนึ่งที่ซ่อนเร้นตัวเองอยู่ในมุมมืด ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลด้วยวัย รวมทั้ง พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562) ไม่ได้ให้สิทธิในการตัดสินใจแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จำเป็นต้องมีผู้ปกครองตัดสินใจแทน อาจกล่าวได้ว่า การค้นหาผู้ป่วยจิตเวชที่มีอายุน้อยเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องไม่ง่าย การรายงาน “ตัวเลข” ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต่ำกว่าความเป็นจริงเมื่อเทียบกับกลุ่มวัยแรงงานและกลุ่มผู้สูงอายุ ยิ่งชวนให้เราตั้งคำถามกับ “จำนวนนับ” ของฐานข้อมูลโรคซึมเศร้าไทยที่เริ่มเก็บข้อมูลประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปมากขึ้น          ในวัยเดียวกัน “ต้น” นักกิจกรรมสังคมรุ่นใหม่ ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง เจ็บปวดร้าวรานเมื่อเห็นผู้คนและเพื่อนๆ ถูกคุกคามจากการใช้สิทธิทางการเมือง รู้สึกเครียด และถูกกดดันจากสถานการณ์รอบตัว เริ่มเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นแห่งแรก แม้ต้องจ่ายเงินเองทั้งหมด นานวันเข้ารับมือกับค่าใช้จ่ายไม่ไหว จึงตัดสินใจกลับไปใช้สิทธิรักษาพยาบาล 30 บาทที่ภูมิลำเนา โรงพยาบาลในจังหวัดหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้จะช่วยลดค่ารักษาพยาบาลไปได้ แต่ค่าใช้จ่ายการเดินทางกลายเป็นภาระไม่แพ้ค่ายาเพิ่มขึ้นแทน เขาไปกลับกรุงเทพฯ - ต่างจังหวัดอยู่หลายครั้ง จนยอมแพ้ ทั้งการรอคิวนานและรู้สึกว่าจิตแพทย์ไม่ได้รับฟังเพียงพอ รู้สึกถูกหมอตัดสินตัวเขาเหตุจากความคิดเห็นต่างทางการเมือง จนเริ่มคิดฆ่าตัวตาย แต่แฟนเข้ามาพบเสียก่อน จึงพากลับมารักษาตัวใหม่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอีกหน ชีวิต “ต้น” หักเหอีกครั้ง เมื่อเกิดวิกฤตโควิด 19 ระบาด เมืองปิด เขาตกงาน ไม่มีเงินค่ารักษาหรือเพื่อประทังชีวิตเพียงพอ จนต้องหยุดยาเอง เกือบสองปีผ่านไป จนกระทั่งได้งานใหม่จึงกลับมาเริ่มต้นรักษาอีกครั้งที่โรงพยาบาลราชวิถี         สิ่งที่รู้สึกท้อแท้มากกว่าค่ารักษาพยาบาล คือการต้องเริ่มต้นเล่าเรื่องที่เขาเผชิญใหม่ทุกครั้งที่เจอกับหมอคนใหม่ ในความเห็นของ “ต้น” จิตแพทย์มีน้อยอยู่แล้ว บางคนมีทัศนคติกับผู้ป่วยแย่ หลังจากดิ้นรนรักษาโรคซึมเศร้าอยู่หลายแห่ง การรับยาจากแพทย์ไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้น กลับทรมานและรู้สึกคุณค่าของตัวเองตกต่ำลงเรื่อยๆ ทุกครั้งที่กินยา จึงอยากให้มีนักจิตบำบัดเพิ่มขึ้น จิตแพทย์เพิ่มขึ้น ไม่อยากรักษาไกลจากที่พักอาศัย อยากให้แพทย์ทำใบส่งต่อเพื่อให้เขาอยู่ในระบบสวัสดิการ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปกลับทำใบส่งตัวระหว่างกรุงเทพฯ - ต่างจังหวัดทุก 3 เดือน หรือทุกครั้งที่ต้องพบแพทย์  ดังนั้น เพื่อลดขั้นตอนการส่งตัวอันยุ่งยาก วันนี้เขายอมรับภาระในการรักษาเองทั้งหมด          บนบ่าของวัยแรงงานมีเรื่องต้องแบกหามมากมาย ช่วงเรียนปริญญาตรี “คิม” ทั้งเรียนหนักและต้องดูแลพ่อที่ไตวาย ความเครียดสะสมนี้เพื่อนแม่จึงพาไปรักษากับจิตแพทย์และหมอสั่งยาให้ระยะหนึ่ง จน    ฤกระทั่งพ่อเสียชีวิต เธอรู้สึกว่าความกดดันลดลง อาการดีขึ้นจึงหยุดยาเอง จนกระทั่งเธอไปเรียนต่อปริญญาโทต่างประเทศตามลำพัง พบว่า ทำวิทยานิพนธ์ไม่ได้ นำเสนอผลงานไม่ได้ โชคดีว่าที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศมีศูนย์ให้คำปรึกษาสุขภาพจิตซึ่งดีมาก แต่ “คิม” ไม่อยากกินยาอีกแล้ว จึงพยายามขวนขวายหาชุมชนที่พูดคุยเรื่องการรักษาโรคซึมเศร้าในชุมชนออนไลน์ เพื่อดูแลตัวเอง และประคองตัวเองจนกระทั่งเรียนจบ กลับประเทศไทย ได้ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ ปัจจุบัน “คิม” เป็นผู้บริหารองค์กรระหว่างประเทศในฐานะตัวแทนประเทศไทยระดับภูมิภาคเอเชีย         ช่วงระยะเวลากว่า 10 ปี นับตั้งแต่พ่อเสียชีวิต การเรียนต่อต่างประเทศ การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งทางการเมืองของไทย ซึ่งเธอเป็นข้อต่อที่มีบทบาทสำคัญ หัวใจอันอ่อนล้าไม่ได้หยุดพักเลย เมื่อแม่ของ “คิม” เริ่มมีภาวะสมอง เสื่อมจากเนื้องอกในสมอง หลังผ่าตัด พฤติกรรมแม่เปลี่ยนไปจนแทบควบคุมตัวเองไม่ได้ ยิ่งทำให้เธอเครียดมาก จากการควบบทบาททางสังคมอันหนักอึ้งและบทบาท “ผู้ดูแลผู้ป่วยสูงอายุติดเตียง” (care giver) แม้จะจ้างผู้ช่วยมาประจำที่บ้านอีกคน เธอรู้ตัวดีว่าอาการโรคซึมเศร้าที่หายไปนานกลับมาเยือนอีกครั้ง แม้มีสิทธิตามหลักประกันบัตรทอง แต่ระบบไม่ได้ยืดหยุ่นให้เธอเข้าถึงได้นัก เมื่อเข้าใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ก็พบว่าการบริการไม่ได้ดีนักอย่างที่คาดหวัง จึงพยายามหาทางเลือกอื่นเป็นที่พึ่ง พบว่า สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตอบโจทย์กับชีวิตอันยุ่งเหยิง ช่วยรับฟังปัญหาได้ดี แต่ข้อจำกัดของระบบฮอตไลน์ทำหน้าที่รับฟังแบบตั้งรับ ไม่มีระบบติดตามคนไข้ หรือตามอาการของผู้ป่วยที่โทรมาใช้บริการ รวมทั้งการประเมินอาการช่วยส่งต่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพจนสำเร็จ         “เราไม่สามารถเป็นผู้ป่วยอีกคนในบ้าน เพราะเรายังต้องดูแลแม่ที่ป่วย ช่วงนี้ไม่อยากทำงานบริหาร อยากเปลี่ยนทำงานที่เบาลง แต่ยังเป็นงานที่เรายังภูมิใจได้ เปลี่ยนสภาพแวดล้อม มีเงินสักก้อนไว้ดูแลแม่ที่สมองเสื่อม หากวันหนึ่งเราเป็นอะไรไป น้องจะได้ดูแลแม่ต่อได้” คิมบอกถึงความคาดหวัง          วันนี้ “นรินทร์” นักศึกษาปริญญาเอก มาหาฉันที่บ้าน เพื่อแบ่งยาไปกิน ยา Venlafaxine หนึ่งในสี่ชนิดของยาต้านเศร้าที่กรมสุขภาพจิตพยายามผลักดันเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ “นรินทร์” ใช้สิทธิประกันสังคมรักษากับโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง แต่การพบแพทย์ครั้งล่าสุด โรงพยาบาลออก “ใบค้างยา” และ “ใบสั่งยา” ให้ เพราะตัวยาที่เขาจำเป็นต้องใช้นั้น ขาดตลาดและหมดสต๊อกของโรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถไปซื้อยาข้างนอกได้ และหากยา กลับเข้ามาในระบบอีกครั้ง (ซึ่งระบุระยะเวลาแน่นอนไม่ได้) จะโทรศัพท์เรียกให้มารับยาค้างจ่าย ฐ. กินยาตัวเดียวกับเขาและมียาตัวนี้เก็บสะสมไว้มาก จึงแบ่งยาให้ “นรินทร์” ไปกินก่อน นี่คือ สถานการณ์เดียวกับ “เดย์” ที่เคยเจอเมื่อหลายสิบปีก่อน และฉันก็เคยมีประสบการณ์เดียวกัน เมื่อมีเงินจึงซื้อยาจำเป็นเก็บไว้         มุมของวิชาชีพแพทย์ เภสัชกร        นพ.พนม เกตุมาน ที่ปรึกษาภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า จะมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชีกลุ่มนี้ราว 20% ขณะที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 70-80% ยังตอบสนองต่อยาในบัญชียาหลักได้ดี แต่ก็เริ่มไม่แน่ใจว่า ผู้ป่วย 80% ที่ตอบสนองต่อยาในบัญชียาหลักฯ จะรักษาได้หายขาดหรือไม่ หรือหากมีผลข้างเคียงก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยตัดสินใจหยุดการรักษากลางคันได้[3]         ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า ยาออริจินอลจากต่างประเทศ แม้จะขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว แต่ยังอยู่นอกบัญชียาหลักฯ มักจะมีราคาแพง ยิ่งจำนวนผู้ป่วยไม่แน่นอน เป็นยารักษาโรคเฉพาะทาง หรือยังอยู่ในวงจำกัด โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนมักไม่สั่งยาสต็อกไว้ในโรงพยาบาลมากนัก เพราะเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูงของโรงพยาบาล ผู้นำเข้ายาเองก็ไม่กล้านำเข้ามากนัก ดังนั้น ปัญหาการขาดยาเหล่านี้ในตลาด หรือโรงพยาบาลเป็นครั้งคราวจึงเกิดขึ้นเสมอ โดยเฉพาะยารักษาโรคมะเร็ง ยาด้านจิตเวช ในวงการยาเรียกว่า “ขาดคราว”         “ส่วนการพิจารณาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาตินั้น ทางวิชาการก็ต้องรอบคอบ ว่าเป็นยารักษาโรคเฉพาะทางจำเป็นสำหรับผู้ป่วยจริง ๆ โดยยาที่มีอยู่ไม่สามารถตอบสนองได้แล้ว หรือเป็นยาถูกทำให้จำเป็นจากการโปรโมทของบริษัทยา เมื่อเป็นการเสนอโดยกรมสุขภาพจิต หรือสมาคมจิตเวชแห่งประเทศไทย ก็น่าจะมีเหตุผลทางวิชาการรองรับที่น่าเชื่อถือ คงอีกไม่นานน่าจะมีคำตอบ"         เรื่องของ ฐ.         ฐ. เป็นคนกรุงเทพฯ แต่ทำงานในพื้นที่ความขัดแย้งเรื้อรังชายแดนใต้นานกว่าสิบปี การทำงานกับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรง เพื่อนร่วมงานและคนรอบข้างทยอยเสียชีวิต หรือได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคง กลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบมือสองเสียเอง อาการป่วยคืบคลานกัดกินใจไม่รู้ตัว จนกระทั่งชีวิตประจำวันเสีย งานประจำที่เคยทำได้ก็ทำไม่ได้ โลกค่อย ๆ พังทลายลงสู่ความดำมืด นอนไม่หลับ และตื่นตระหนก ผวากลางดึก น้ำหนักลดลงเห็นได้ชัด แต่ไม่รู้ตัว นอนติดเตียง จนเพื่อนรอบข้างผิดสังเกตนำส่งรักษาฉุกเฉินที่โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราช การุณย์เพื่อลดเวลาในการคอยแพทย์         ช่วงแรกของการรักษาเพื่อดึง ฐ กลับมาสู่ภาวะที่พอจะช่วยเหลือตัวเองและใช้ชีวิตประจำวันได้ จิตแพทย์นัดบ่อยและปรับยาทั้งชนิดและขนาดอยู่หลายขนาน นานหลายเดือน เพราะร่างกายไม่ตอบสนองทั้งอาหารและยา ผลข้างเคียงจากยาก็เยอะ ทั้งต้องกินยาต้านเศร้าควบคู่กับยานอนหลับ หรือยากล่อมประสาทให้นอนหลับสนิทได้บ้าง คนในวงการซึมเศร้าพึงรู้ข้อควรระวังประการหนึ่งว่า ยาต้านเศร้านั้นก็มีผลข้างเคียงนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะคิดฆ่าตัวตาย เช่น ฐ. กินยากล่อมประสาทคู่กับยาต้านเศร้า ครั้งหนึ่งระหว่างข้ามถนน ก็เห็นถนนกลายเป็นทะเล แหย่เท้าลุยลงไป จนกระทั่งได้ยินเสียงแตรมอเตอร์ไซต์และเสียงก่นด่าของคนขับลั่น จึงได้สติ จากนั้นก็กลายเป็นคนวิตกกังวล (แพนิค) ไม่กล้าออกจากบ้านอยู่พักใหญ่         ถ้าเรื่องยาต้านเศร้า ฐ ทดสอบมาแล้วเกือบทุกตัวในบัญชียาหลักฯ บอกได้ว่าตัวไหนกินแล้วมีผลข้างเคียงอย่างไร จนข้ามมากินยานอกบัญชีฯ ทำให้ค่ารักษาบานไปเดือนเกือบ 5,000 บาท จนเงินเก็บหมด หมอก็ใจดีเขียนใบสั่งยาให้ออกไปซื้อนอกโรงพยาบาลได้ หลังจากอาการเริ่มดีขึ้น สามารถกลับไปทำงานที่ปัตตานีอีกครั้ง ยาที่ ฐ กินนั้นไม่สามารถซื้อหาในจังหวัดชายแดนใต้ได้เลย ไม่ว่าจะขอซื้อจากร้านยาที่เป็นดีลเลอร์ระดับภาค ขอซื้อยาจากโรงพยาบาลรัฐและคลีนิคเอกชนก็ตาม จนต้องรบกวนเครือข่ายเพื่อน ฐ ให้รับใบสั่งยาและซื้อยาจากกรุงเทพฯ ส่งไปรษณีย์มาให้ที่ปัตตานี ถึงจุดหนึ่ง ฐ รับภาระค่ารักษาไม่ไหวจึงปรึกษาจิตแพทย์ใจดีอยากย้ายไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ โดยเสียดายว่าได้จิตแพทย์ที่เข้ากับตัวเราแล้ว กลับต้องไปเริ่มรักษาใหม่         ข้อน่าสังเกต หาก ฐ คือ ผู้ป่วยที่เป็น “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ในพื้นที่ขัดแย้งรุนแรงยืดเยื้อจังหวัดชายแดนใต้นานนับ 20 ปี คาดการณ์ว่าต้องมีคนได้รับผลกระทบทางจิตใจจำนวนมาก ผู้ป่วยโรคจิตเวชในพื้นที่นี้ไม่น่าจะน้อย โดยรู้กันดีว่าชายแดนใต้เป็นพื้นที่ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางทุกประเภท การขาดแคลนยารักษาโรคซึมเศร้าในหน่วยบริการอาจเป็นตัวแปรหนึ่งที่สะท้อนถึงปัญหาการเยียวยาด้านจิตใจผู้คนที่ได้รับกระทบจากเหตุความรุนแรง และคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการจิตเวชหรือไม่ ถ้าจะคิดต่อเรื่องนี้ก็มีคำถามให้ถามกันมากทีเดียว         ในส่วนของ ฐ. การต่อคิวนัดจิตแพทย์ตามสิทธิบัตรทองผ่านศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิของกรุงเทพมหานครเพื่อส่งต่อรักษากับโรงพยาบาลวชิรพยาบาลนั้น ใช้เวลาเกือบ 6 เดือน และทุกครั้งต้องไปเอา “ใบส่งต่อ” จากศูนย์ฯ ก่อน การเสียเวลาหนึ่งวัน ออกจากบ้านแต่เช้าไปเอาใบส่งต่อที่ศูนย์บริการสาธารณสุขและรีบมาพบแพทย์ให้ทันภายในเที่ยง ทุก 2 เดือน ความเร่งรีบเช่นนี้มันหายใจไม่ทั่วท้อง ระยะหลังต่อรองให้ศูนย์บริการสาธารณสุขออกใบส่งตัวให้เป็นหนึ่งปีเลย ทั้งยังต้องเป็นการวางแผนชีวิตการขึ้นลงกรุงเทพฯ - ปัตตานีให้สอดคล้องกับวันนัดของแพทย์ ที่น่าสนใจ แม้จะย้ายมาใช้สิทธิบัตรทอง ฉันยังต้องจ่ายค่ายาต้านเศร้านอกบัญชียาหลักฯ เองอยู่ดี แต่ราคาลดเหลือครั้งละ 1,500 - 2,200 บาท ด้วยความเหนื่อยล้าจากประการทั้งปวง ฐ. จึงหยุดยาเอง อาการก็ทรุดลง แต่ก็ถือว่าไม่แย่นัก แค่ชีวิตมันชืดชาเหลือเกิน         ชีวิตผกผันหัวใจอ่อนล้ามาก ช่วงวิกฤติโควิด 19 ระบาด ฐ. ถูกเรียกตัวจากปัตตานีให้เข้ามาทำงานประจำในองค์กรข่าวระดับประเทศ ด้วยเหตุผลความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็จริง แต่เหตุผลหลักที่กลับมาทำงานประจำอีกครั้งคือค่าตอบแทนจำนวนไม่น้อยที่สามารถจุนเจือครอบครัว ที่ถูกปิดกิจการจากการปิดเมืองเพื่อควบคุมโรค การแบกงาน แบกความเจ็บป่วยของตัวเอง และครอบครัวไม่ให้ล้มละลายในยามวิกฤติ ช่วงระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ขาดการรักษาและขาดยา ความกดดันนานานัปการทำให้โรคซึมเศร้ากลับมาอย่างเงียบๆ จน ฐ.ยอมกลับไปเริ่มต้นรักษาใหม่อีกครั้งที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล แต่อาการก็หนักแล้ว ไม่สามารถทำงานอย่างมืออาชีพได้อีกจึงตัดสินใจลาออกจากงานกลางปี 2565         บทเรียนจากการทำงานภาคใต้ เรื่องสิทธิเป็นเรื่องต้องต่อสู้ถึงจะได้มา         ฐ. รู้ภายหลังว่า การใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ ผู้ใช้สิทธิไม่ต้องจ่ายส่วนต่างค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งยานอก บัญชียาหลักแห่งชาติด้วย หากยาดังกล่าวแพทย์วินิยฉัยว่าจำเป็นต่อการรักษาก็สามารถเบิกได้ อ้าว... แล้วที่ผ่านมาคืออะไร? การคุยเรื่องสิทธิกับแพทย์ที่รักษาโดยไม่ให้เสียความสัมพันธ์ส่วนตัวไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อค่อย ๆ นึกหาสถานการณ์คิดถึงบรรยากาศในการพูดคุยและเริ่มคุยกับหมอ ก็พบว่า ไม่ใช่หมอทุกคนจะรู้เรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล หมอยกโทรศัพท์เช็คกับภาควิชา ห้องยา และโทรคุยกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพ จนทั้งระบบของโรงพยาบาลเข้าใจเรื่องตรงกัน เดือนสิงหาคม 2566 จึงเป็นครั้งแรก ที่ได้ใบอนุมัติเบิกค่ายานอกบัญชียาหลักฯ จากแพทย์ไปยื่นให้ห้องยา ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี และในรอบ 4 ปีที่รักษาโรคซึมเศร้าด้วยสิทธิบัตรทองโดยไม่ต้องเสียเงินสักบาท แต่ไม่รู้ว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคนอื่นได้อนิสงค์นี้ด้วยหรือไม่          สถานการณ์เหล่านี้เป็นบางตัวอย่างยืนยันว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช้ปัญหาส่วนตัว บางคนหาทางออกได้ แต่บางคนไม่สามารถต่อรองกับระบบได้ และบางคนก็ยอมแพ้ ...ช่วยพวกเราด้วย เรากำลังต่อสู้กับโรคซึมเศร้าอย่างเงียบ อยากหายป่วย ไม่อยากเป็นภาระใคร.  [1] “‘โรคซึมเศร้า’ ไทยน่าเป็นห่วง กว่า 70% เสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร”, เว็บไซต์คมชัดลึก, วันที่ 1 มีนาคม 2566. [2] “ป่วยซึมเศร้า รอหมอนาน กินยาแล้วแต่ไม่หายขาด?”, www.theactive.net., วันที่ 14 พฤศจิายน 2565. [3] อ้างแล้ว.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 เทคโนโลยี “ฝากไข่” ช่วยคนมีลูกเมื่อพร้อม กับข้อที่ต้องศึกษา รู้ก่อนเสียเงินมหาศาล

        ด้วยความที่ต้องทำมาหากินเลี้ยงปากท้อง หรือไม่ว่าจะเป็นเหตุผลความจำเป็นอื่นๆ ที่ทำให้หลายครอบครัวมีลูกเมื่ออายุมากขึ้น ด้ายสภาพร่างกายที่อาจไม่สมบูรณ์ถึงเวลานั้นบางคนก็ไม่สามารถมีลูกได้ หรือบางคนก็มีลูกยากและเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงทารกในครรภ์ที่เสี่ยงเกิดมาไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือในการมีลูกมากขึ้น อย่างเช่น หลายๆ ครอบครัวที่พอมีเงินก็จะเลือกใช้วิธี “ฝากไข่” ไว้กับสถานพยาบาลที่ให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากเอาไว้ก่อน เมื่อพร้อมจึงมาทำการผสมเทียมและฝังตัวอ่อนต่อไป         การกำกับดูแลสถานพยาบาลสำหรับผู้มีภาวะมีบุตรยาก         ปัจจุบันประเทศไทยถือว่ามีชื่อเสียงในเรื่องของการทำเด็กหลอดแก้ว จนแม้กระทั่งชาวต่างชาติที่มีปัญหาเรื่องมีบุตรยากก็เข้ามารับการรักษาในเมืองไทยจำนวนมากขึ้น เพราะมั่นใจในคุณภาพ มาตรฐานของสถานพยาบาลและบุคลากร ซึ่งในส่วนของสถานพยาบาลที่ให้การรักษาภาวะผู้มีบุตรยากนั้นจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)        นพ. สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสบส. อธิบายให้ฟังว่า การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีต่างๆ  แน่นอนว่ารวมไปถึงการเก็บไข่ ฝากไข่ กระทั่งสเปิร์มก็ตาม  ตลอดจนการตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) จะถูกกำกับด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรฐานด้านต่างๆ ทั้งเรื่องผู้รับบริการที่จะมีการกำหนดถึงความเป็นสามี ภรรยาตามกฎหมาย ตลอดจนกำหนดมาตรฐานสถานพยาบาล และบุคลากรการแทพย์           สำหรับ “สถานพยาบาล” ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฯ จะต้องจัดให้มี องค์ประกอบต่างๆ ตามมาตรฐาน ได้แก่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด มีองค์ประกอบ ของบุคลากร ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อน สูตินรีแพทย์ พยาบาล รวมทั้งมีสถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้ว สบส. จะออกหนังสือรับรองมาตรฐานฯ ให้ พร้อมทั้งจัดทำ โปรแกรม ICMART-IVE ซึ่งเป็นโปรแกรมคลังข้อมูลด้าน เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯของประเทศไทย (Big-DATA)         “ขณะนี้ประเทศไทยมีสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฯ ทั้งสิ้น 110 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นสถานพยาบาลรัฐ 16 แห่ง และสถานพยาบาลเอกชน 94 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลเอกชน 30 แห่ง และคลินิกเอกชน 64 แห่ง รองรับผู้รับบริการที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยากทั้งคนไทยและต่างชาติ อัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์เฉลี่ยสูงถึง 46 % ให้บริการทำเด็กหลอดแก้วกว่า 20,000 รอบการรักษา มีการผสมเทียมกว่า 12,000 รอบการรักษา  สร้างรายได้ในบริการทางการแพทย์นี้กว่า 7,500 ล้านบาท”         ส่วนเรื่องการตั้งครรภ์แทนนั้น ยิ่งมีความเข้มงวดมาก โดยกำหมายกำหนดว่า ในกรณีที่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้จะสามารถขออนุญาตดำเนินการให้มี การตั้งครรภ์แทนเป็นรายๆได้ ตามบทบัญญัติ มาตรา 23 ซึ่งจะต้องดำเนินการในสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรอง มาตรฐานการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ และโดยแพทย์ที่มีคุณสมบัติตามที่ กฎหมายกำหนด ซึ่งหากผ่านการอนุญาตดำเนินการให้มีการตั้งครรภแทน ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะออกหนังสืออนุญาตดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเป็นรายๆ ต่อไป           “นพ.สุระ” ย้ำว่า ประชาชนที่กำลังจะเข้ารับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์จะต้องทำในสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฯ  ต้องดำเนินการโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด และทำภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และห้ามทำในเชิงพาณิชย์ หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมายทั้งแพทย์ นายหน้า คู่สมรส และหญิงที่ตั้งครรภ์แทน หากมีปัญหาในการรับบริการ หรือพบเห็นการทำผิดกฎหมายสามารถแจ้งที่สายด่วนกรม สบส. 1426  เรื่องต้องรู้ การตลาดกับบริการรับฝากไข่         แม้จะมีข้อกำหนดตามกฎหมายที่ชัดเจนในการให้บริการ แต่ที่ผ่านมาก็พบว่ามีปัญหาอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะการโฆษณาหรือนำเสนอข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด ตลอดจนสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ดังเช่นกรณีหนึ่งที่เข้ามาร้องเรียนต่อ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ก็เป็นปัญหาเริ่มตั้งแต่กระบวนการ “เก็บไข่ ฝากไข่” เลยด้วยซ้ำ และทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้ เปิดเผยข้อมูลว่า มีผู้มาร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการฝากไข่ โดยผู้ร้องให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2564 ได้จ่ายเงินมัดจำจำนวน 100,000 บาท เพื่อตกลงซื้อแพ็คเกจฝากไข่ Oocyte Freezing Package ซึ่งราคาเต็มอยู่ที่ 189,000 บาท (หนึ่งแสนแปดหมื่นเก้าพันบาทถ้วน) กับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2565 เข้ารับการเก็บไข่ตามกระบวนการ พร้อมชำระเงินส่วนที่เหลือ รวมถึงค่ายาฮอร์โมนกระตุ้นเพิ่มเติมประมาณ 20,000 บาท  และวันที่ 21 มีนาคม 2565 โรงพยาบาลดังกล่าวได้นัดผู้ร้องเพื่อฟังผล และแจ้งว่าจะต้องชำระเงินเพิ่มอีก 40,000 บาท เพื่อแช่ไข่ที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลา 5 ปี ตามแพ็คเกจของโรงพยาบาลฯ แต่พยาบาลแจ้งแก่ผู้ร้องว่ายังไม่ต้องดำเนินการชำระเงิน ให้ผู้ร้องมาต่อสัญญาใหม่หลังจากสัญญาเดิมครบกำหนด เมื่อครบกำหนด 1 ปี         โรงพยาบาลฯ ส่งข้อความ ผู้ร้องเข้าใจว่าโรงพยาบาลติดต่อเพื่อให้เข้าไปดำเนินการต่อสัญญาตามใบนัด แต่ปรากฏว่าโรงพยาบาลแจ้งว่าศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจะดำเนินการปิดศูนย์ฯ โดยทางโรงพยาบาลมีข้อเสนอดังนี้ 1. ให้ผู้ร้องย้ายไปฝากกับ “แพทย์ที่ดูแลผู้ร้อง” ซึ่งได้ย้ายไปทำหัตถการในคลินิกอื่น หรือ 2. ให้ฝากกับโรงพยาบาลในเครือของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว แต่ผู้ร้องจะต้องชำระค่าฝากปีแรก 20,000 บาท และปีถัดไปขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลในเครือกำหนด         ทั้งนี้ ผู้ร้องไม่ประสงค์ย้ายการฝากไข่ไปที่คลินิกอื่นเพราะเชื่อมั่นในชื่อเสียงของโรงพยาบาลจึงตัดสินใจเลือกฝากที่โรงพยาบาลเดิมตั้งแต่แรกแม้จะมีค่าใช่จ่ายที่สูงกว่า แต่การที่ให้ยายไปฝากไข่ที่โรงพยาบาลในเครือแล้วต้องจ่ายค่าฝากปีแรก 20,000 บาท ส่วนปีถัดไปขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลในเครือกำหนดนั้น ผู้ร้องมองว่าไม่เป็นธรรม เพราะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มจากเดิมที่ได้ทำข้อตกลงกับโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการฝากแช่ไข่ 5 ปี จำนวน 40,000 บาท ไปอีกหลายเท่า ซ้ำในปีถัดไปโรงพยาบาลก็ไม่สามารถรับรองได้ว่าผู้ร้องจะต้องจ่ายเท่าไหร่  จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯเพื่อขอความช่วยเหลือ         ภายหลังรับเรื่องร้องเรียน ทางมูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือถึงผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวเมื่อเดือนเมษายน 2566 ซึ่งทางโรงพยาบาลฯ ก็ได้ทำหนังสือตอบกลับมาว่า โรงพยาบาลพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ร้อง โดยหากผู้ร้องประสงค์ย้ายไปฝากไข่กับสถานพยาบาลอีกแห่งจะคิดค่าใช้จ่ายในการฝากไข่ปีละ 20,000 บาท เป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่เริ่มย้ายไข่ หากครบกำหนดระยะเวลา 5ปี ค่าใช้จ่ายจะเป็นไปตามที่สถานพยาบาลแห่งนั้นกำหนด แต่ผู้ร้องปฏิเสธข้อเสนอ        มูลนิธิฯ จึงทำหนังสือขอให้ทบทวนค่าใช้จ่ายในการย้ายไปฝากไข่ที่สถานพยาบาลแห่งใหม่ โดย 3 ปีแรกขอให้คิดค่าใช้จ่ายจำนวน 40,000 บาท และ ปีต่อๆไป ปีละ 15,000 อีก 2 ปี ทั้งนี้หากไม่สามารถตกลงกันได้ผู้ร้องขอใช้สิทธิทางศาลเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป แต่ปรากฏว่าทางโรงพยาบาลปฏิเสธข้อเสนอของมูลนิธิฯ ทำให้ทางฝั่งผู้ร้องมีการปรึกษาหารือกับทีมกฎหมายอยู่ระยะเวลาหนึ่ง สุดท้ายตัดสินใจย้ายไข่ไปฝากกับสถานพยาบาลแห่งอื่นแทน แต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องน้ำยาการแช่ไข่ทำให้ไม่สามารถย้ายไปโรงพยาบาลปลายทางที่ผู้ร้องเลือกได้ ทำให้ผู้ร้องต้องเลือกข้อเสนอของโรงพยาบาลเอกชนดังที่ระบุไว้ในตอนต้น         ทั้งนี้ จะเห็นว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น แม้ว่าจะไม่ใช่บกพร่องจากตัวผู้บริโภคเอง สุดท้ายต้องมาแบกรับค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น มูลนิธิฯ จึงขอแนะนำผู้ที่มีความสนใจอยากฝากไข่ จะต้องศึกษาข้อมูลรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจ  เก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆ ไว้ เช่น ใบโฆษณา รายละเอียดคอร์ส หลักฐานการชำระเงิน ให้ครบถ้วนและที่สำคัญต้องมีสัญญา โดยสัญญาต้องมีความชัดเจน ระบุรายละเอียดข้อมูลครบถ้วน เช่น กรณีการยกเลิกสัญญา การย้ายโรงพยาบาล การคืนเงิน เป็นต้น         เทคโนโลยีเข้ามาช่วยส่งเสริมให้ผู้ที่อยากมีลูกสามารถมีลูกได้สมความตั้งใจ ทุกฝ่ายทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และผู้กำกับดูแล ต่างอยู่บนพื้นฐานกฎหมาย แม่หวังแต่ประโยชน์หรือผลกำไรที่จะ “เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์” เชื่อว่า นอกจากจะเป็นการช่วยให้ครอบครัวมีความสมบูรณ์แล้ว ยังช่วยให้ประเทศชาติมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น สู้กับวิกฤติเด็กเกิดน้อยในปัจจุบันได้ จากนั้นก็เข้ากระบวนการหล่อหลอมทางการศึกษา สังคม เพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพเป็นกำลังหลักของประเทศต่อไปอ้างอิงจากบทความของเว็บของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา National Institutes of Healthhttps://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4554370/#:~:text=The%20most%20problematic%20aspects%20in,granted%20oocyte%20cryopreservation%20is%20a..................................................Ø ตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลที่ให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2566) สถานพยาบาลที่ให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ – กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (moph.go.th)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ความเปราะบางของสิทธิผู้บริโภคในหนี้รถยนต์

        เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ นายสุรพล โอภาสเสถียร ได้ออกมาเตือนถึงสถานการณ์หนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ที่พุ่งสูง  มีรถยนต์เสี่ยงจะถูกยึดถึงกว่า 1 ล้านคัน เป็นสัญญาณเศรษฐกิจพัง ไม่ใช่แค่หงอย หรือ ซึม!         กลุ่มลูกหนี้ที่กำลังจะเป็นหนี้เสียในไตรมาสที่ 1 / 66 จำนวน 190,000  ล้านบาท และกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้วในไตรมาสที่ 1 / 66 จำนวน 180,000 ล้านบาท ทั้ง 2 กลุ่มมีมูลหนี้เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเวลาเดียวในจากปีก่อนถึงกว่า 40,000 ล้านบาท        กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาหนี้เสียคือกลุ่ม GEN Y ช่วงอายุ 18 – 32 ปี  มีพฤติกรรมจ่ายค่างวด 1- 3 งวด หรือค้าง 2 งวด และกลับมาจ่ายในงวดที่สามเพื่อประคับประคองหนี้ และไม่ให้รถถูกยึด!         นี่เป็นเพียงสถานการณ์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 66 เท่านั้น ยังไม่ต้องกล่าวถึงสถานการณ์ตลอดทั้งปีที่จะเกิดขึ้น         ผู้คนจำนวนมากกำลังตกในสถานการณ์เป็นหนี้เสียในกลุ่มหนี้เช่าซื้อรถยนต์ กลุ่มหนี้ที่ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองน้อยที่สุดประเภทหนึ่ง เพราะประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้เช่าซื้อทำให้ต้องอาศัยกฎหมายหลายฉบับทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรมและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีผลบังคับใช้กับสัญญาหลากหลายประเภทไม่ใช่เพียงสัญญาเช่าซื้อเท่านั้นทำให้ยังเกิดความ ‘ไม่พอดี’ หรือ ‘ช่องว่าง’ ในการกำกับดูแลทำให้ผู้บริโภคยังถูกเอาเปรียบ เช่น กรณีคุณยุพิน อายุ 45 ปี ทำอาชีพค้าขาย ใน จ. สุรินทร์ ที่เริ่มมีปัญหาค้างส่งงวดรถตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิดที่ผ่านมา          “ก่อนที่ยังไม่เกิดปัญหาโควิด พี่ยังหารายได้ได้คล่อง แต่เมื่อเกิดโควิดแล้วทางจังหวัดสั่งให้หยุดตลาดนัด 3 เดือน ทั้งเช้า- เย็น เราก็หมดโอกาสทำมาหากินแล้ว ตอนนั้นเราผ่อนรถอยู่กับอีกธนาคาร รายจ่ายเราเท่าเดิมแต่รายได้เราไม่มี ทั้งค่าบ้าน ค่าลูกไปโรงเรียน ค่ารถโรงเรียน ค่าเช่าบ้าน แล้วมีรายได้ทางเดียวเราเลยต้องไปพึ่งเงินกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยรายวันมาช่วยเราส่งเคลียร์หมด พอเราหมุนเงินไม่ทัน ค้างงวดรถ เราต้องจ่ายแบบค้าง 2 งวด และจ่ายงวดที่ 3 เพื่อให้รถยังอยู่เพราะเราต้องเอารถใช้ขับขายของ ”         “พอเข้างวดที่ 3 เราก็ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ) เขาบอกว่าหลังจากค้างถึงงวดที่ 3 แล้วต้องบวกไปอีกไม่เกิน 30 วัน  สัญญาจะยกเลิกอัตโนมัติแล้วถึงจะมีสิทธิยึดรถ เราก็เชื่อแบบนั้น แต่พอค้างงวดที่ 3 ผ่านไปวันเดียวเขามาที่บ้านเลย เราก็บอกว่า คุณจะยึดไม่ได้นะ เขาก็ไม่ฟัง เราบอกว่ายังมีกฎหมายที่ยังคุ้มครอง  เราไม่ให้ยึดเขาก็ไม่ยอม  เราเลยบอกว่าจะหาเงินมาให้ 1 งวด เขาบอกไม่ได้  คุณต้องเคลียร์ทั้งหมด  อย่างสมมุติเราผ่อนเดือนละ 10,000 เราก็ต้องหาเงินไปให้เขา 30,000 บาท พร้อมค่าติดตามอีก หลังจากนั้นไม่เกิน 1 อาทิตย์เราก็ส่งเข้าไปอีก 1 งวด เป็น 2 งวด เขาก็หยุดตามแต่บอกให้จ่ายเพิ่มให้คนติดตามอีก 1,200 เราก็ไม่ได้ให้ ”         หลังจากนั้นด้วยมีรายได้ไม่แน่นอน แม้เมื่อเริ่มกลับมาขายของในตลาดได้ แต่เมื่อเข้าช่วงหน้าฝน ขายของในตลาดนัดไม่ได้ติดต่อกัน 2-3 สัปดาห์ คุณยุพินเริ่มกลับมาค้างจ่าย แต่เมื่อหาเงินกลับไปโปะค่างวดรถกลับมีปัญหาที่หาข้อยุติไม่ได้ คุณยุพินจึงตัดสินใจรีไฟแนนซ์กับอีกสถาบันการเงินหนึ่ง         “เราเอาเงินไปจ่ายค่างวด 16,000 บาท จ่ายที่หน้าเคาน์เตอร์ธนาคารแต่เขาตัดเป็นค่าติดตามทวงถามทั้งหมดไม่ตัดงวดให้เรา เราเลยไม่เอาแล้ว พอมารีไฟแนนซ์กับอีกที่ เราไม่จ่ายหน้าเคาน์เตอร์แล้ว อันนี้คือบทเรียนที่เราได้เรียนรู้”         “ตอนนี้รถยังอยู่ เพราะเรายังพยายามจ่ายงวด 3 ไว้ เพื่อเอารถไว้ทำมาหากิน เราไม่คิดว่าจะเอารถไปแอบซ่อนไว้ที่ไหน เราชัดเจนว่าเราทำมาหากิน ถามว่าเราเสียเปรียบไหมเรารู้อยู่แล้วไฟแนนซ์เป็นแบบนี้  การจัดแบบนี้เราก็ยอมรับแต่ที่เป็นปัญหาเศรษฐกิจมันไม่ดีแบบนี้ เราจ่ายอยู่แล้ว เพราะเราอยากเอารถไว้ใช้ทำมาหากิน เราคิดว่ามีประชาชนแบบเราเยอะ เราถาม สคบ. เรายังอยู่ในช่วงเวลาที่กฎหมายคุ้มครองแต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่ นี่เป็นช่องว่างที่ประชาชนยังขาดความคุ้มครอง”         กรณีของคุณยุพินเป็นตัวอย่างสะท้อนว่า ประเทศไทยยังขาดกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิผู้เช่าซื้อที่เพียงพอ มีประสิทธิภาพและสามารถเป็นแนวทางให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติได้ถูกต้องตรงตามกันได้    สรุปปัญหา ที่ยังขาดการคุ้มครองผู้บริโภคในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์        · ดอกเบี้ยในช่วงที่พักชำระหนี้ มีการคิดไม่เป็นธรรม        · ไม่มีการกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้ที่ชัดเจน  ผู้ทวงถามหรือไฟแนนซ์คิดตามใจ        · การคิดยอดหนี้เช่าซื้อส่วนขาดไม่ชัดเจน และสูงกว่าที่ศาลจะพิพากษาให้ได้        · กฎหมายยังให้อำนาจกับผู้ให้เช่าซื้อมากเกินไป กล่าวคือยังไม่มีการนำสัดส่วนของการผ่อนชำระมาคิดให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เช่าซื้อ เช่น แม้ผู้เช่าซื้อบางรายจะผ่อนชำระมาจนใกล้จะหมดแล้ว แต่เมื่อขาดส่ง รถก็ถูกยึดไปอย่างง่ายดายแนวทางการต่อสู้ในชั้นศาล เมื่อถูกไฟแนนซ์ฟ้องคดี   ทนายความ กิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์  ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้ให้คำปรึกษาเรื่องหนี้รถยนต์ และการเงินการธนาคารโดยเฉพาะ ได้สรุปข้อควรรู้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคไว้ดังนี้         · ผู้เช่าซื้อสามารถคืนรถแบบไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างแม้แต่บาทเดียว หากไม่มีค่างวดรถค้างจ่าย เรื่องนี้ศาลได้มีคำพิพากษาออกมาแล้ว ใน  ฎ 1203/2565 , ฎ 5239/2561        · หากค้างจ่าย 3 งวดซ้อน กฎหมาย มีเงื่อนไขกำหนดให้ไฟแนนซ์ ต้อง” ทำหนังสือบอกเลิกสัญญา “แจ้งมาถึงผู้เช่าซื้อ “ และต้องนับไปอีก 30 วัน นับจากที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือ นั่นถึงจะทำให้ การบอกเลิกสัญญามีผลสมบูรณ์ตามสัญญาและตามกฎหมาย  หากไฟแนนซ์ มายึดรถไปก่อน  “ค่าส่วนต่างผู้เช่าซื้อไม่เสียแม้แต่บาทเดียว ” แต่ผู้เช่าซื้อ ยังต้องรับภาระ นั่นคือ “จ่ายค่าขาดประโยชน์ “ ในช่วงที่ค้างจ่ายค่าเช่าซื้อรถ 3 งวด        · เมื่อผู้เช่าซื้อถูกฟ้องร้องในชั้นศาล  ผู้เช่าซื้อควรยื่นคำให้การสู้คดีในชั้นศาลเพื่อร้องให้ศาลพิพากษาโดยการคำนวนเงินต้น และดอกเบี้ยแยกจากกัน  เช่น ราคาเช่าซื้อรถ 1 ล้านบาท ต้นทุนรถจริงอยู่ที่ราคา 6 แสนบาท บวก ดอกเบี้ย 60 งวด หรือ 5 ปี เท่ากับ 4 แสนบาท  สมมุตเมื่อจ่ายเงินงวดให้ไฟแนนซ์ ไปแล้ว 5 แสนบาทและไฟแนนซ์ ได้ยึดรถไปขายทอดตลาดได้เงิน 2.5 แสนบาท ไฟแนนซ์จึงได้กำไรแล้วส่วนหนึ่ง ศาลจึงจะพิพากษาให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบให้อีกตามความเหมาะสมซึ่งจะไม่สูงตามที่ไฟแนนซ์ได้ร้องขอต่อศาล           · ดังนั้นหากผู้เช่าซื้ ถูกไฟแนนซ์ฟ้องผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ อย่าตกใจ สามารถสู้คดีในศาล เพื่อลดหนี้ได้ แต่สิงสำคัญคือต้องไปศาล  นี่คือสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงเพื่อพิทักษ์สิทธิของท่านเองเพื่อให้ ศาลมีข้อมูลเพียงพอที่ใช้คัดง้างกับคำขอของไฟแนนซได้          · เมื่อถูกไฟแนนซ์ยึดรถเอาไปขายทอดตลาด  ไฟแนนซ์จะต้องมีหนังสือแจ้ง ผู้เช่าซื้อ ให้รับทราบ วัน - เวลา และ สถานที่ขาย ล่วงหน้า อย่างน้อย 7 วัน หากไฟแนนซ์ ไม่ยอมแจ้ง , ศาล ยกฟ้อง ทุกกรณี คณะกรรมการสัญญา “ เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา” ต้องทำตามระเบียบขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด   ความเคลื่อนไหว เพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ในปัจจุบัน   สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค        ช่วงเดือน มกราคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ ออกมาตรฐานกลางเพื่อให้มีการกำกับดูแลที่ครอบคลุมและเท่าเทียมในการให้บริการด้านนี้แก่ประชาชน ภายใต้ข้อกำหนดใหม่ของ สคบ. คือการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยการให้เช่าซื้อที่คำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ต่อปีสำหรับรถยนต์ใหม่ ไม่เกิน 15% สำหรับรถยนต์มือสอง และไม่เกิน 23% สำหรับรถจักรยานยนต์ การปรับเกณฑ์ในครั้งนี้มุ่งหวังให้ผู้ซื้อรถได้รับประโยชน์เป็นสำคัญ โดยผู้ซื้อรถที่ทำสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 จะใช้ข้อกำหนดใหม่ดังกล่าว         หากลูกหนี้นำเงินก้อนมาโปะปิดก่อนกำหนด เกณฑ์ใหม่กำหนดให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระไม่เกิน 40% (จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 50%) ของยอดดอกเบี้ยคงเหลือ โดยขึ้นอยู่กับจำนวนค่างวดที่ชำระไปแล้วด้วย เช่น หากชำระค่างวดมาเกิน 2 ใน 3 ของทั้งหมด แล้วนำเงินก้อนมาโปะปิดได้ก่อนกำหนด จะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่เหลือ รวมทั้งลดเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระค่างวดเหลือไม่เกิน 5% จากเดิมไม่เกิน 15% และปรับการคิดติ่งหนี้กรณีรถที่โดนยึด ให้คิดได้เฉพาะค่างวดที่ผิดนัดชำระ ค่างวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ก่อนมีการบอกเลิกสัญญา นอกจากนี้ ผู้ให้บริการยังต้องแจ้งสิทธิเรื่องการซื้อรถคืนและการขายทอดตลาดให้ลูกหนี้ทราบชัดเจน ซึ่งเกณฑ์ใหม่ทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)         ร่วมกันจัดทำ “ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551” (พ.ร.ฎ. ธุรกิจเช่าซื้อ-ลีสซิ่ง) เพื่อให้การประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อและลิสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีการกำกับตรวจสอบเป็นการเฉพาะเพื่อยกระดับการประกอบธุรกิจดังกล่าวให้มีมาตรฐาน ส่งเสริมการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินที่ไม่ส่งเสริมให้ก่อหนี้สินเกินตัว รวมทั้งมีการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม ได้รับข้อมูลโปร่งใสเพียงพอต่อการตัดสินใจ และเข้าถึงบริการด้วยราคาที่เหมาะสม ซึ่งร่าง พ.ร.ฎ. นี้ ได้รับความเห็นชอบหลักการจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ 1 พ.ย. 2566 นี้          มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีความหวังและจะติดตามต่อไปว่าผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครอง ...ได้รับความเป็นธรรมในการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ นวัตกรรมแห่งอนาคตที่ต้องเตรียมรับมือ

        กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวในเวทีงาน Innovation Keeping The World ที่จัดไปเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ว่า ประเทศไทยมีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า BEV ซึ่งรวมทั้ง BEV Plug-In Hybrid และรถไฮบริด BEV ในปี 2565 มากกว่า 20,816 คัน คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 400 เมื่อเทียบกับปี 2564         ขณะที่ https://marketeeronline.co/archives/311702  ระบุข้อมูลจากกรุงศรี ออโต้ (Krungsri Auto) ว่า สัดส่วนสินเชื่อใหม่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อยู่ที่ 4,624 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 217 ซึ่งเกินเป้าไปแล้วจากยอดสินเชื่อใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล มกราคม-พฤษภาคม 2566 ที่ 1,440 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23 ของยอดสินเชื่อใหม่ EV ทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน         สองย่อหน้าข้างบนเหมือนกำลังส่งสัญญาว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนและพฤติกรรมผู้บริโภคก็เช่นกัน เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นทุกขณะ ทั้งยังเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับสิ่งแวดล้อมในบางมิติ แต่ก็สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมในบางมุมซึ่งต้องมานั่งคุยกันว่าจะแก้ไขอย่างไร         ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะไปทำความรู้จักรถยนต์ไฟฟ้าหรือ Electric Vehicle (EV) ให้มากขึ้นก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพราะสิ่งที่ต้องเตรียมไม่ใช่แค่เงินในกระเป๋า แต่กินความถึงวิธีคิด (mindset) ใหม่ๆ กับอีกหลายเรื่องที่ต้องแลกเปลี่ยนถกเถียงเพื่อวางกติกากับเทคโนโลยีที่มาแน่ๆ ชิ้นนี้ รู้จักรถยนต์ไฟฟ้า รู้จักตัวเอง         สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ (สวพ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบ่งได้ 4 ประเภทคือ ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด หรือ (HEV, Hybrid electric vehicle) เป็นลูกผสมที่ใช้น้ำมันทั่วไปและมอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมแบตเตอรี่        ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (PHEV, Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ซึ่งใช่ทั้งน้ำมันและไฟฟ้าเช่นกัน แต่เพิ่มระบบเสียบปลั๊กชาร์จไฟ (plug-in)         ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV, Battery Electric Vehicle) เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าและใช้พลังงานแบตเตอรี่ไฟฟ้าจากการเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าอย่างเดียว         และสุดท้าย ยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV, Fuel Cell Electric Vehicle) เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) โดยเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากภายนอก สามารถจุพลังงานจำเพาะได้สูงกว่าแบตเตอรี่ในปัจจุบัน แต่สถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนยังมีน้อยมาก         นอกจากการรู้ว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีแบบไหนบ้างแล้ว ก่อนจะซื้อผู้บริโภคควรต้องศึกษาหาข้อมูลให้มากและพิจารณาองค์ประกอบหลายด้าน ตั้งแต่จุดประสงค์ในการใช้งาน ถ้าทำอาชีพเซลล์ต้องขับระยะทางไกลๆ ติดต่อกัน การวางแผนชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้มีพลังงานเพียงพอตลอดก็อาจยุ่งยากกว่าคนที่ใช้แค่ขับไปทำงานทั่วไป         เมื่อเป็นรถยนต์ไฟฟ้าผู้บริโภคจำเป็นต้องเข้าใจความจุของแบตเตอรี่กับระยะทางที่วิ่งได้ไกลที่สุด ระยะเวลาในการชาร์จเพราะการชาร์จไฟกระแสสลับกับกระแสตรงกินเวลาต่างกัน รวมถึงพิจารณาหัวจ่ายไฟฟ้าที่ใช้กับรถ เพราะรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นออกแบบที่ชาร์จแบตเฉพาะของตนทำให้หาหัวชาร์จยากจึงอาจทำให้ไม่สะดวก ขณะเดียวกันก็ต้องสำรวจด้วยว่าในเมืองที่ตนพักอาศัยมีแหล่งชาร์จจุดใดบ้าง         ส่วนการบริการหลังการขายเป็นสิ่งที่ผู้จำหน่ายต้องให้ความสำคัญอยู่แล้ว ผู้บริโภคมีสิทธิถามเพื่อรับสิทธิประโยชน์ส่วนนี้     ศึกษาและวางแผนก่อนซื้อ         ปารัช ทวีศักดิ์ ยอมไม่มีรถขับอยู่หลายปีเพื่อรอซื้อรถไฟฟ้า สาเหตุเพราะน้ำมันมีราคาแพงและเธอเชื่อว่ามันจะเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาแทนที่รถยนต์น้ำมัน เธอเล่าว่า         “ใช้เวลานานเหมือนกัน ยอมที่จะไม่ใช่รถเลย น่าจะประมาณหกเจ็ดปีได้ แต่หมายถึงว่าเราก็ใช้รถกับแฟน เราให้เขาใช้โดยที่ไม่ซื้อคันใหม่ เก็บเงินไว้ก่อนเพื่อรอรถไฟฟ้าอย่างเดียวเพราะเรารู้ว่ารถไฟฟ้าเข้ามาแล้ว แล้วทั่วโลกให้การยอมรับ ระหว่างนี้ก็ศึกษาเรื่องระบบไฟว่าต้องเติมยังไง ก็ค่อยๆ ศึกษา สอบถามจากพนักงานขาย เสิร์ชดูบ้าง เข้าไปอยู่ตามกลุ่มเฟสบุ๊ค เป็นกลุ่มรถของยี่ห้อนี้ ยี่ห้ออื่นด้วย ค่อยๆ หาข้อมูลไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะรับรถ”         รถยนต์ไฟฟ้าที่ปารัชซื้อมาในเวลานั้นไม่ได้อยู่ในช่วงที่มีการสนับสนุนจากรัฐบาล เธอจึงซื้อมาในราคาล้านต้นๆ แต่เมื่อนำมาคำนวณแล้วเธอคิดว่าคุ้มเมื่อเทียบกับการจ่ายค่าน้ำมัน เธอยกตัวอย่างว่าถ้าวิ่ง 2,000 กิโลเมตรต่อเดือนเธอจะจ่ายค่าไฟแค่ 1,000 บาท แต่ถ้าเป็นรถยนต์น้ำมันตัวเลขจะขยับขึ้นไปถึง 6,000 บาท         สำหรับคนที่ลังเลกับการซื้อรถไฟฟ้า หนึ่งในความลังเลใหญ่คือจุดชาร์จ เพราะต่อให้เป็นการชาร์จที่บ้าน ปารัชก็ยังรู้สึกยุ่งยากเนื่องจากต้องไปทำเรื่องกับการไฟฟ้าเพื่อนำมิเตอร์มาติด         “มิเตอร์มีสองแบบด้วย แบบทีโอยูกับแบบธรรมดา ธรรมดาก็ราคาปกติ จ่ายเท่าที่เราจ่ายค่าไฟ แต่ถ้าเป็นทีโอยู หลังสี่ทุ่มถึงเก้าโมงเช้าเรทราคาจะลดไปครึ่งหนึ่ง แต่จะเสียค่าหม้อแปลงเพิ่ม นี่เลือกแบบทีโอยูแล้วติดเฉพาะรถไฟฟ้าอย่างเดียว แยกหม้อกับของที่บ้านเลย”         ปารัชยอมรับว่าหลังจากหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้วก็ไม่อยากกลับไปใช้รถยนต์น้ำมันอีกเลย ส่วนหนึ่งคงเพราะเธอสามารถปรับตัวกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้แล้ว ใช่ การเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การศึกษาข้อมูล แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการปรับวิธีคิด (mindset) ปรับ mindset         การเติมพลังงานให้แก่รถยนต์ไฟฟ้าแตกต่างจากรถยนต์น้ำมัน ผู้บริโภคจำเป็นต้องปรับพฤติกรรมและวางแผนพลังงานที่จะใช้กับรถของตนให้เพียงพอ ชัยภวิศร์ ธวัชชัยนันท์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสินค้าและบริการ สภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่าการชาร์จที่บ้านถือว่าคุ้มค่าที่สุดเพราะสามารถเลือกได้ว่าจะชาร์จเวลาใด ช่วงไหน ควรติดตั้งมิเตอร์แบบใด         “เราควรชาร์จไฟรถเวลาไหนอย่างไร ชาร์จให้เต็มพอดีๆ แล้วก็ตัดหรือถนอมแบตเตอร์รี่ มันก็ต้องคิดว่าถ้าจะถนอมให้ใช้ได้นานก็ควรหลีกเลี่ยงการชาร์จกระแสตรงถ้าไม่จำเป็น บริหารการชาร์จกระแสสลับที่บ้าน เป็นวิธีคิดที่อาจจะต้องเรียนรู้ซึ่งผมคิดว่าไม่ยาก เพียงแต่จะซับซ้อนกว่าการเติมน้ำมัน”         แม้ปัจจุบันจะมีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นและจะมากขึ้นอีก แต่ก็ยังมีจำกัดกว่าปั๊มน้ำมัน ผู้ขับขี่จำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงให้รัดกุม ต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าถ้าแบตใกล้หมดจะเติมจุดไหน อย่างไร เพราะต่อให้มีจุดชาร์จก็อาจใช้ไม่ได้ เนื่องจากกำลังซ่อมแซม มีคนจองไว้ หรือหัวชาร์จใช้ไม่ได้กับรถที่ขับ         ประเด็นนี้สอดคล้องกับปารัช เธอเล่าว่าเราจะต้องหาจุดเติมไฟใกล้บ้าน ต้องคำนวณว่ารถจะต้องวิ่งได้กี่วัน เพราะตัวรถแต่ละรุ่นไม่เท่ากัน รถของเธอวิ่งได้ประมาณ 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง แต่ก็มีคำแนะนำว่าถ้าชาร์จแบบเร็วไม่ชาร์จเต็มถึง 500 กิโลเมตร และถ้าต้องเดินทางออกจากบ้านและชาร์จไฟระหว่างทางก็ต้องรอทำให้ต้องคำนวณเรื่องเวลาด้วย เธอสรุปว่า         “มีรถยนต์ไฟฟ้าต้องมีการวางแผนค่อนข้างเยอะ ไม่เหมือนรถน้ำมันที่วิ่งเข้าปั๊มเติมปุ๊บปั๊บเสร็จ”         การขับด้วยความเร็วเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่ต้องปรับเปลี่ยน คนขับรถยนต์น้ำมันจะรู้รอบเครื่องเมื่อเร่งความเร็วซึ่งเป็นการเตือนผู้ขับให้รู้ตัวว่าขับเร็วเกินไปหรือไม่และชะลอความเร็วลง ในทางกลับกัน ความเงียบของรถยนต์ไฟฟ้าทำให้ไม่มีเสียงเตือนจากเครื่องยนต์ ผู้ขับอาจไม่รู้ตัวจึงเสี่ยงทั้งต่ออุบัติเหตุและการทำผิดกฎจราจร        ความเงียบยังก่อความไม่ราบรื่นอีกประการหนึ่ง หากเป็นการขับในชุมชน คนที่สัญจรไปมา สัตว์จร หรือสัตว์เลี้ยงอาจไม่รู้ตัว แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นจะสร้างเสียงเทียมขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะดังเพียงพอต่อการได้ยิน จึงเป็นหน้าที่ของผู้ขับที่ต้องคอยระมัดระวังในส่วนนี้ ความยุ่งยากของผู้บริโภคในเวลานี้         นอกจากความคิดและพฤติกรรมที่ต้องปรับยังมีประเด็นที่แผ่กว้างกว่าเรื่องเชิงปัจเจก ตัวอย่างเช่นเบี้ยประกัน ชัยภวิศร์ กล่าวว่า         “ถ้ารถมูลค่าเท่าๆ กัน ในความเข้าใจผม เบี้ยประกันรถไฟฟ้าจะสูงกว่ารถน้ำมันระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงขนาดสองสามเท่า ประกันภัยในช่วงแรกที่ปีล่าสุดจะแถมประกันภัยประเภท 1 มาให้ ส่วนปีที่ 2 เราจ่ายเองบางทีค่าประกันสูงทำให้ผู้บริโภคตกใจได้ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องรณรงค์คุยกันว่าค่าประกันภัยจำเป็นต้องแพงขนาดนี้หรือไม่         “หรือถ้ามีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยรถที่เรียกว่า active safety ทำยังไงไม่ให้รถเกิดอุบัติเหตุเสียก่อน ไม่ว่าจะเบรกเองอัตโนมัติ มีระบบเลี้ยวหักหลบอัตโนมัติ อะไรก็แล้วแต่ ซึ่งช่วยลดอุบัติเหตุ จะช่วยลดเบี้ยประกันได้หรือไม่ เรื่องนี้ต้องไปทำงานเชิงนโยบายกัน แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่ทำให้เบี้ยประกันลดลงมา เพราะฉะนั้นผู้บริโภคต้องเผื่อเงินไว้สำหรับการซื้อประกันภัยรถในปีต่อๆ ไป”         อะไรอีก? เบื้องต้นการชาร์จนับเป็นจุดยุ่งยากที่สุดในเวลานี้ นอกจากเรื่องหัวชาร์จที่ไม่เหมือนกันแล้ว ตู้ชาร์จบางแห่งเขียนว่า low priority แปลว่าถ้าไฟบริเวณนั้นตกตู้นั้นจะชาร์จไม่ได้เร็วตามที่ระบุไว้ โดยเฉพาะที่ห่างไกลหรือชนบท ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาการชาร์จยาวนานออกไป         และเนื่องจากตู้ชาร์จไฟมีหลายแบรนด์แต่ละแบรนด์มีแอปพลิเคชันของตนเอง ผู้บริโภคต้องโหลดแอปฯ จำนวนมากเพื่อใช้กับตู้ชาร์จแต่ละเจ้าทำให้เกิดความยุ่งยาก บางแอปฯ ยังขอข้อมูลผู้บริโภคจำนวนมากทั้งที่ไม่น่าเกี่ยวข้องกับการรับบริการ เช่น ขอที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งบัตรประชาชน มันเป็นการล่วงละเมิดสิทธิมากไปมั้ย แค่จะจ่ายเงินซื้อไฟ ทำไมต้องรู้ที่อยู่ เบอร์โทร บางแอปฯ ถึงกับต้องรู้เลขบัตรประชาชนโดยไม่จำเป็น         อีกเรื่องที่เกี่ยวข้องก่ำกึ่งว่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ก็คือ จุดชาร์จในห้างสรรพสินค้าหลายแห่งเป็นกระแสสลับและคิดค่าชาร์จเป็นชั่วโมง ไม่ได้คิดเป็นจำนวนหน่วยกระแสไฟ ทำให้บางครั้งผู้บริโภคชาร์จไฟให้ห้างสรรพสินค้า 3 ชั่วโมงแต่ได้ไฟไปเพียง 30 กิโลวัตต์ แต่ค่าชาร์จชั่วโมงละ 40 บาท ทั้งที่เงิน 120 บาทถ้าชาร์จตามจุดชาร์จข้างนอกเรียกว่าได้พลังงานแทบจะเต็มสองรอบ         ประเด็นต่างๆ เหล่านี้คาดว่าต้องอาศัยเวลาพูดคุย แลกเปลี่ยน ถกเถียง เพื่อสร้างระบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อลดความยุ่งยากและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค เตรียมรับมือพลวัตจากนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้า         มิติสุดท้ายที่จะกล่าวถึงเป็นเรื่องกฎหมาย ต้องยอมรับว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการจราจรทางบกมุ่งจัดระเบียบรถยนต์น้ำมัน เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มปริมาณขึ้น กฎหมายมีความจำเป็นต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกันไปหรือไม่         ชัยภวิศร์คิดว่ากฎหมายเดิมส่วนใหญ่ยังคงใช้ได้ เช่น การจำกัดความเร็ว เมาแล้วขับ เป็นต้น มีเฉพาะเรื่องเสียงที่เขาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเขียนกฎหมายกำกับว่าในที่ที่ใช้ความเร็วต่ำหรือในเขตชุมชน เสียงเทียมควรจะดังหรือมีลักษณะกระตุ้นเตือนทั้งคนและสัตว์ได้มากพอเพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากความพลั้งเผลอ         นอกจากนี้ อนาคตที่รถยนต์เปลี่ยนไปเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น หากเกิดอุบัติเหตุว่าเจ้าของรถหรือบริษัทรถยนต์จะเป็นฝ่ายรับผิดชอบ นี่ก็เป็นประเด็นทางกฎหมายที่ต้องตระเตรียมแนวทางเอาไว         สุดท้ายของท้ายสุด แบตเตอรี่ การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของไทยค่อนข้างหละหลวม ตรงนี้จะกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมหากไม่เตรียมการรับมือ        “เรื่องนี้ฝรั่งคุยกันเยอะ เขาทำก่อนเรา เห็นปัญหาก่อนเรา เพราะฉะนั้นแบตเตอรี่ตอนนี้มีหลายชนิดและกำลังปรับอยู่เรื่อยๆ กระบวนการจัดการของเสียที่จะเกิดขึ้นถูกเอาไปรียูสได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องดูให้ครบ life cycle ว่าจะเอากลับไปใช้ใหม่ได้กี่รอบ กี่ครั้ง และถึงจุดที่ต้องถูกทำลายจะทำยังไง ต้องบอกว่าบ้านเราการจัดการของเสียพวกนี้ยังด้อยมากๆ แต่ไม่ใช่แค่แบตรถไฟฟ้าอย่างเดียว แต่เป็นของเสียอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดยังไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีการพูดคุย และยังผลักภาระเป็นของสาธารณะ ไม่ใช่ของผู้ประกอบการ         “บางประเทศผู้ประกอบต้องมีแผนเอาแบตเตอรี่มือถือของตัวเองออกจากตลาดอย่างไร จัดการยังไง เป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิตซึ่งเมืองไทยยังทำน้อยมาก ต้องมีมาตรการ แรงจูงใจ สนับสนุนผู้ประกอบการที่จัดการเรื่องพวกนี้ได้ดี รวมถึงออกแบบนวัตกรรมที่แบตเตอรี่หรือตัวเครื่องสามารถรีไซเคิล รียูสในเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ในโลกหลายรุ่นจุดขายคือใช้วัสดุเหลือใช้มาผลิตตัวรถ แบตเตอรี่ เอามาเป็นจุดขายว่ารีไซเคิลง่ายขึ้น”         ชัยภวิศร์เสนอข้ามไปอีกขั้นว่า รัฐอาจออกมาตรการสนับสนุนหรือสร้างแรงจูงใจให้การผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้ เช่น ส่งเสริมการใช้วัสดุที่มาจากการรีไซเคิ้ล การรับจัดการแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพแล้วของผู้ประกอบ หรือตู้ชาร์จไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น         อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมที่ยังคงมีพลวัตต่อเนื่อง ผู้ใช้หรือผู้ที่กำลังคิดจะซื้อควรศึกษาข้อมูลข่าวสารให้ละเอียดรอบคอบ ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลก็ได้เวลาต้องปรึกษาหารือว่าจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลักสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 ‘ทัวร์เกาหลี’

        ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคโดย ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนปัญหาของประชาชนจากการซื้อบริการทัวร์ท่องเที่ยวยังประเทศเกาหลี ทำให้สูญเสียเงิน หรือไม่ได้ท่องเที่ยวตามที่หวังไว้ หลายลักษณะ         ข้อมูลจากองค์การส่งเสริมท่องเที่ยวเกาหลี (KTO) ในเดือน มิถุนายน ปี 2023 เผยว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวเกาหลีมากถึง 570,000 คน/ปี สูงเป็นลำดับที่ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และไต้หวันแม้ประชาชนส่วนใหญ่จะนิยมเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวมากขึ้นต่อเนื่อง แต่การท่องเที่ยวกับครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อนขนาดใหญ่ การเดินทางโดยการซื้อทัวร์ยังมีความสำคัญ และยังได้รับความนิยม เรื่องเด่นฉบับนี้รวมประเด็นสำคัญที่ประชาชนควรได้รู้ก่อนตัดสินใจซื้อบริการทัวร์ท่องเที่ยวหลายลักษณะปัญหาที่พบจากเรื่องร้องเรียนกรณีซื้อทัวร์เกาหลีที่เข้ามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค        -          จองทัวร์ไปท่องเที่ยวประเทศเกาหลีระหว่างวันที่ 13-17 มีนาคม 2563 แต่ถูกเลื่อนเพราะจากสถานการณ์โควิด จ่ายเงินครบจำนวน 139 ,491 บาท แต่ไม่ได้ท่องเที่ยวต่อมาได้เจรจาไกล่เกลี่ย บริษัทได้เสนอเป็นเครดิตท่องเที่ยวจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2567         -          ซื้อทัวร์แบบกลุ่มไปเที่ยวเกาหลีกับเพื่อนร่วมงาน แต่ลงทะเบียนระบบ K-ETA (ระบบอนุมัติการเดินทางออนไลน์สำหรับชาวต่างชาติท่ีต้องการเข้าประเทศเกาหลีใต้โดยไม่ต้องขอวีซ่า) ไม่ผ่าน บริษัททัวร์ไม่ได้แจ้งเงื่อนไขในสัญญาว่าถ้าลงทะเบียนไม่ผ่าน ไม่สามารถเดินทางได้        -          ซื้อทัวร์ไปเที่ยวกับครอบครัวและญาติๆ รวมจำนวน 9 คน แต่ลงทะเบียนระบบ K-ETA ผ่านเพียง 4 รายเป็นเด็กเล็ก 3 รายและมีผู้ใหญ่เพียงคนเดียวและไม่ได้เป็นผู้ปกครองของเด็ก จึงจำต้องยกเลิกทัวร์ ถูกบริษัททัวร์หักเงินไปจำนวนมาก        -          จองทัวร์เพื่อไปเที่ยวลานสกีที่เกาหลี แต่เมื่อไปเที่ยวกลับไม่ได้ไปที่ลานสกีเพราะปิดบริการ บริษัทจึงพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวชดเชยในจุดอื่นๆ แต่นักท่องเที่ยวไม่พอใจเพราะไม่ได้เล่นสกีตามที่ทัวร์ได้โฆษณาไว้ จึงร้องขอเงินคืนในส่วนที่ทัวร์ไม่ได้จัดโปรแกรมให้เล่นสกี  เจาะเรื่องจริง ศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อทัวร์         กรณีของคุณพฤกษ สามกษัตริย์ ได้ซื้อทัวร์ไปเที่ยวแบบกลุ่มกับครอบครัวและญาติพี่น้อง รวมจำนวน 9 ราย ในราคาโปรโมชั่น 1 แถม 1 จากราคา 34,999 เฉลี่ยลดลงมาที่รายละ 17,499.5 บาท เป็นโปรแกรมท่องเที่ยวแบบ 5 วัน 3 คืน  คุณพฤกษซื้อทัวร์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และมีกำหนดเดินทางท่องเที่ยวในช่วงกลางเดือนมีนาคม         ปัญหาของคุณพฤกษเริ่มเกิดขึ้นในช่วงของการลงทะเบียนระบบ K-ETA (ระบบอนุมัติการเดินทางออนไลน์สำหรับชาวต่างชาติท่ีต้องการเข้าประเทศเกาหลีใต้โดยไม่ต้องขอวีซ่า) ซึ่งคุณพฤกษได้เลือกให้บริษัททัวร์เป็นผู้ดำเนินการให้ แต่แล้วจากการลงทะเบียนมีผู้ลงทะเบียนผ่านเพียง 4 ราย คือ คุณพฤกษ และลูกๆ ของญาติ เหตุนี้จึงทำให้คุณพฤกษ์ไม่อาจเดินทางไปท่องเที่ยวได้ จำต้องยกเลิกโปรแกรมทัวร์         อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนกลับไปแรกเมื่อบริษัทเสนอขายโปรแกรมทัวร์ให้แบบโปรโมชั่นคุณพฤกษ์ได้สอบถามถึงการตรวจ K-ETA  ตั้งแต่แรกเจ้าหน้าที่ของบริษัททัวร์กลับให้ข้อมูลว่า “ใช่ค่ะ ต้องทำค่ะ แต่จะรบกวนจองทัวร์เข้ามาก่อนได้ไหม  เพราะว่าเดี๋ยวโปรฯ มันจะหมด” และขอให้คุณพฤกษรีบตัดสินใจ โอนเงินให้บริษัทแบบเต็มจำนวน คือ 151,796 บาท และย้ำถึงเรื่องการลงทะเบียนระบบ K-ETA  ว่า “ไม่น่ามีปัญหาค่ะ เดี๋ยวจัดการให้เลย” “ไม่น่ามีปัญหานะคะ เพราะว่าไม่เคยมีใครมีประวัติอะไรเลย ดังนั้นทำคิดว่าน่าจะผ่าน”         เมื่อผลการลงทะเบียน K-ETA  ไม่ผ่าน คุณพฤกษจึงขอคืนเงินค่าทัวร์ที่ได้จ่ายไปเต็มจำนวน บริษัททัวร์จึงแจ้งว่าจะหักเงินไว้รวมจำนวน 33,732 บาท ในจำนวนนี้เป็นเงินที่บริษัทจะหักจากผู้ที่ลงทะเบียนK-ETA  ผ่านร้อยละ 50 ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านจะถูกหักรายละ 500 บาท          แน่นอนว่า คุณพฤกษไม่พอใจที่ถูกหักเงินไว้จำนวนมาก ทั้งที่บริษัทยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ แต่เมื่อศึกษาข้อมูลจากเอกสารของโปรแกรมท่องเที่ยวที่บริษัทได้ให้ไว้ คุณพฤกษพบว่า หลักเกณฑ์ ข้อกำหนดเหล่านี้ถูกระบุไว้ทั้งหมดในเงื่อนไขท้ายโปรแกรม เพียงขณะที่ซื้อทัวร์การสื่อสารของพนักงานบริษัทได้เร่งเร้าให้รีบซื้อและรีบจ่ายเงินเต็มจำนวน นี่คือความผิดพลาดที่ผู้ซื้อทัวร์อาจไม่ทันเฉลียวใจที่คุณพฤกษ์อยากบอกต่อเพราะประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้สูญเงินไปได้เปล่าๆ จำนวนมากและยังไม่ได้เที่ยว!           "เขาเขียนชัดเจนครับ  คือเขาระบุเลยนะว่า กรณีที่เราจ่ายเงินแล้ว และลงทะเบียนไม่ผ่าน เขาจะคืนเงินให้ 50% แต่กรณีผ่านแล้วมีการเปลี่ยนแปลง หรือไม่ไปเขาจะหักไว้ครึ่งนึงแล้วกำหนดเวลาคุณจะต้องทำลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ให้ผ่าน คือในเอกสารเขามี แต่การขายทัวร์ของเจ้าหน้าที่ของเขาไม่สื่อสารเราแบบนี้"         "ผมอยากให้บริษัททัวร์สื่อสารกับนักท่องเที่ยว กับผู้ซื้อทัวร์ให้ชัดเจน  สื่อสารความเสี่ยงให้ชัดเจนเลยว่า เขาจะไม่ได้รับเงินคืนเรื่องอะไรบ้าง ให้เน้นเรื่องนี้ตัวแดงบันทึกไว้ทุกที่เลย"  เมื่อเกิดปัญหาจากการซื้อทัวร์ท่องเที่ยว ประชาชนควรทำอย่างไร         เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  มูลนิธิฯ จะแนะนำให้ประชาชนผู้เดือดร้อนติดต่อไปยังสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศน์กลาง กรมการท่องเที่ยว พร้อมเอกสารหลักฐานต่างๆ ในการจองทัวร์ดังกล่าว  โดยกรมการท่องเที่ยวจะดำเนินการดังนี้        o  การสอบข้อเท็จจริง โดยจะนัดหมายบริษัท และประชาชนผู้ซื้อบริการท่องเที่ยวเข้ามาสอบข้อเท็จจริง นายทะเบียนจะพิจารณาข้อสาระสำคัญฝ่ายใดเป็นผู้ทำให้เกิดความเสียหายให้เกิดขึ้น เช่น บริษัทนำเที่ยวปฎิบัติตามสัญญาในการนำเที่ยวหรือไม่ หรือมาจากเหตุส่วนตัวของผู้ซื้อทัวร์เอง        o  เมื่อสอบข้อเท็จจริงแล้วจะเจรจาไกล่เกลี่ย หากบริษัทเป็นผู้ทำให้ความเสียหายเกิดขึ้น เช่น คีย์ข้อมูลของนักท่องเที่ยวผิดพลาด ทำให้การลงทะเบียน K-ETA ไม่ผ่าน นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางไปได้ บริษัทย่อมต้องคืนเงินให้แก่นักท่องเที่ยว        o  กรณีบริษัททัวร์ไม่จ่ายเงินคืน หรือหักเงินนักท่องเที่ยวไว้ส่วนใด บริษัทมีหน้าที่ที่จะต้องแสดงหลักฐานว่ามีค่าใช้จ่ายส่วนใดเกิดขึ้นอันเป็นความเสียหายต่อบริษัทอย่างชัดเจน หากไม่สามารถระบุได้ บริษัทต้องคืนเงินให้กับนักท่องเที่ยว        o  หากฝ่ายบริษัทเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายกับนักท่องเที่ยว แต่ไม่ยอมชดใช้ความเสียหายให้กับนักท่องเที่ยว นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้หักเงินหลักประกันของบริษัททัวร์นำมาชดเชยความเสียหายให้กับนักท่องเที่ยวไปพรางก่อน หากเงินหลักประกันยังไม่ครอบคลุมความเสียหายทั้งหมด กรมการท่องเที่ยวจะส่งเรื่องนี้ไปที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียน หาทางออกเพื่อชดเชยความเสียหายของนักท่องเที่ยวในส่วนที่เหลือต่อไป        o  ข้อแนะนำจากกรมการท่องเที่ยวก่อนที่ประชาชนตัดสินใจซื้อโปรแกรมทัวร์คือให้ศึกษาเงื่อนไขท้ายโปรแกรมอย่างละเอียด เพราะส่งผลต่อส่วนได้ ส่วนเสียกับนักท่องเที่ยวอย่างมาก

อ่านเพิ่มเติม >