ฉบับที่ 169 สมัชชาผู้บริโภคไทย ปี 2558 องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคจะได้ในรัฐบาลนี้หรือไม่ หลังรอมา 17 ปี

ในทุกวันที่ 15 มีนาคม ซึ่งเป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ จะร่วมกันจัดงานสมัชชาผู้บริโภคไทย เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวในประเด็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ทั้งประเด็นที่องค์กรสิทธิผู้บริโภคสากลกำหนดเป็นเรื่องเด่นประจำปี และเรื่องที่ยังอยู่ในกระแสรณรงค์ของภาคประชาชนในประเทศต่างๆ ซึ่งในปี 2558 นี้ เครือข่ายผู้บริโภคไทย ก็ยังคงติดตามและพยายามเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 15 มีนาคม ปี พ.ศ. 2558 นี้ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ได้ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และ สสส. จัดงานวัน “สมัชชาผู้บริโภค” ขึ้นเมื่อวันที่ 15-16 มีนาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยมีประเด็นหลักในการจัดงานคือ สิทธิผู้บริโภคในการได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องเด่นประจำปี ขององค์กรผู้บริโภคสากล โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมปฏิรูปการคุ้มครองตัวเองในเรื่องอาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ รวมทั้งการจัดทำข้อเสนอในเชิงนโยบาย และกำหนดทิศทางในการพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิผู้บริโภคในการได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หมายถึง ความปลอดภัยจากการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่มีผลต่อชีวิตและทรัพย์สินในการบริโภคสินค้าและบริการ เช่น  การควบคุมสินค้าจำพวกอาหารเจือปนสารพิษ ยารักษาโรคที่หมดอายุและมีสารพิษ ตลอดจนของเล่นหรือเครื่องใช้ที่ก่อให้เกิดอันตราย เป็นต้น ซึ่งภายในงานได้ชวนให้ผู้บริโภคร่วมกันผลักดันในเรื่องของอาหารปลอดภัย ควรมีฉลากอาหารที่ดี ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และการควบคุมคุณภาพอาหารในโรงเรียน โรงพยาบาล รวมถึงส่งเสริมและติดตามการกำหนดมาตรการอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ภายในงานมีการนำตัวอย่างอาหารปลอดภัยมาตั้งร้านได้แก่ ผักปลอดสารพิษ ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีราคาเพียงแค่ถุงละ 10 บาท หรือ กุ้งแห้งตัวใหญ่ๆ เนื้อแน่นถุงละ 100 บาท ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมงานพากันจับจ่ายใช้สอยซื้ออาหารที่ทั้งถูกและปลอดภัยกันอย่างสบายๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการปนเปื้อนสารเคมี ทั้งยังมีการนำตัวอย่างของอาหารที่ไม่ปลอดภัยมาเปิดเผยด้วยเช่นกัน โดยแสดงจำนวนปริมาณน้ำตาลและโซเดียมที่เกิดกำหนดอย่างไม่ปิดบังตรายี่ห้อ ซึ่งก็เป็นที่น่าตกใจว่าอาหารที่ไม่ปลอดภัยเหล่านั้น เป็นอาหารที่พวกเราต่างก็บริโภคกันทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งมีปริมาณโซเดียมสูงลิบ มากกว่าปริมาณสูงสุดที่องค์การอนามัยโลกกำหนดปริมาณโซเดียมที่เราควรได้รับต่อวัน คือ วันละ 6 กรัม หรือ 2,400 มิลลิกรัม หรือน้ำตาลปริมาณมากในชาเขียวสำเร็จรูป ที่ไม่โฆษณากันด้วยเรื่องคุณค่าแล้วแต่ใช้วิธีการชิงโชครถยนต์แทน   ความคืบหน้าขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ประเด็นสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ เรื่องความคืบหน้าขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ที่หลังจากได้มีการรณรงค์องค์การอิสระมาอย่างยาวนานถึง 17 ปี จนเรื่องเข้าสู่ สส. และ สว. ไปแล้ว แต่ก็ยังโดนเคราะห์ถูกยกกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่นั่นก็ไม่ได้ลดพลังของผู้บริโภคในการผลักดันกฎหมายนี้ต่อแต่อย่างใด เพราะ หากกฎหมายนี้สำเร็จก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคทุกคน ขณะนี้สถานะปัจจุบันของกฎหมายองค์การอิสระ คือ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สปช. ซึ่งหากผ่านแล้วขั้นตอนต่อไปคือเข้าสู่ ครม. โดยการทำงานขององค์การอิสระ จะร่วมมือกับ สปช. ในการปฏิรูปโดยการใช้พิมพ์เขียว (blueprint) เพื่อการปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็นขององค์กรทั่วประเทศ หากเราจะพูดถึงความสำคัญของกฎหมายนี้ ก็สามารถสรุปเป็นประเด็นสั้นๆ ได้ 6 ประการดังนี้ ประการแรก กฎหมายฉบับนี้จะทำให้สามารถเปิดเผยชื่อสินค้าที่เอาเปรียบผู้บริโภคได้ ประการที่สอง เป็นปากเสียงของผู้บริโภคในการถูกเอารัดเอาเปรียบ ประการที่สาม เผยแพร่ข้อมูลเฉพาะด้านที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ประการที่สี่ รับเรื่องร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาผู้บริโภคแบบครบวงจร (one stop service) ประการที่ห้า ตรวจสอบงานคุ้มครองผู้บริโภคทั้งรัฐและเอกชน และประการสุดท้าย ดำเนินงานเชิงรุก ผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เรียกได้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้ใช้สิทธิได้เต็มที่ในฐานะพลเมือง เป็นการสร้างความเข็มแข็งให้องค์กรผู้บริโภคนั่นเอง อย่างไรก็ตามหากมีองค์การอิสระเกิดขึ้นแล้วสิ่งที่ตามมาคือ ต้องทำความเข้าใจกับผู้บริโภค ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ทั้งในส่วนของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการคุ้มครองผู้บริโภคด้านต่างๆ ให้สามารถใช้อำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพในการจับปรับลงโทษผู้กระทำผิด และในส่วนขององค์การอิสระทำหน้าที่พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ องค์กรผู้บริโภค ตรวจสอบและให้ความเห็นต่อหน่วยงานของรัฐ สำหรับใครที่พลาดอดไปก็ไม่เป็นไร รอพบกันใหม่อีกครั้งในปีหน้า เพราะ กิจกรรมดีๆ แบบนี้ยังคงจัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงสิทธิในการคุ้มครองตนเองและพัฒนาให้ผู้บริโภคเข้าใจสิทธิผู้บริโภคสากล โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับข้อมูลความรู้อันจำเป็นต่อการบริโภคอย่างเท่าทันในยุคบริโภคนิยมเช่นนี้ต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 168 2 ทศวรรษพืชและอาหารจีเอ็มโอ

2 ทศวรรษพืชและอาหารจีเอ็มโอผลกระทบต่อสุขภาพและการต่อต้านของผู้บริโภค การถกเถียงเกี่ยวกับจีเอ็มโอ(genetically engineered organism) หรือสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและอาหารดัดแปรพันธุกรรม (genetically engineered food) ปะทุขึ้นในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติได้ผลักดันให้รัฐบาลปัจจุบันเปิดให้มีการทดลองพืชจีเอ็มในแปลงเปิด และเตรียมให้มีการปลูกเชิงพาณิชย์ แต่ได้รับการคัดค้านจากเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อย องค์กรผู้บริโภค และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย เป็นต้น อาหารดัดแปลงพันธุกรรม เป็นอาหารที่ได้มาจากผลิตภัณฑ์ของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นจากกระบวนการดัดแปลงพันธุกรรม โดยมีการตัดต่อหน่วยพันธุกรรม(gene) ของสิ่งมีชีวิตไปสู่สิ่งมีชีวิตเป้าหมายเพื่อให้ได้ลักษณะที่ต้องการ เช่น ตัดต่อหน่วยพันธุกรรมจากแบคทีเรียเข้าไปใส่ในถั่วเหลือง หรือข้าวโพดเพื่อให้พืชดังกล่าวสามารถผลิตสารพิษขึ้นในเนื้อเยื่อของพืช ดังนั้นเมื่อแมลงกัดกินพืชนั้น ทำให้แมลงตายโดยหวังว่าวิธีการนี้จะทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง หรือตัดต่อหน่วยพันธุกรรมของไวรัสใส่ในพืช เพื่อให้พืชนั้นสามารถต้านทานสารเคมีกำจัดวัชพืช เกษตรกรสามารถพ่นสารเคมีได้มากโดยไม่ต้องกลัวว่าพืชนั้นจะได้รับผลกระทบ เป็นต้น การตัดต่อพันธุกรรมดังกล่าวถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบทั้งในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปัญหาการผูกขาด เพราะแม้แต่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่มีความเห็นเป็นที่ยุติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังที่ ดร.เดวิด ซูซูกิ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม-พันธุศาสตร์ที่มีชื่อเสียงผู้เขียนตำราเกี่ยวกับพันธุศาสตร์ซึ่งเป็นตำราที่ใช้แพร่หลายมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวเอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “นักวิทยาศาสตร์คนใดที่บอกคุณว่าจีเอ็มโอปลอดภัยหรือไม่ต้องกังวล ถ้าไม่ใช่เพราะไม่ประสีประสากับความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์แล้ว ก็เป็นเพราะเขาจงใจโกหก แท้จริงแล้วไม่มีใครทราบหรอกว่าผลกระทบระยะยาวของจีเอ็มโอจะเป็นเช่นไร”   ปัญหาสำคัญที่เป็นศูนย์กลางของการคัดค้านของผู้บริโภค กลุ่มสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยมีอยู่สามเรื่องสำคัญคือ ปัญหาความไม่เชื่อมั่นต่อความไม่ปลอดภัยของอาหารดังกล่าว ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากจีเอ็มโอ และปัญหาการผูกขาดของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่มาพร้อมระบบกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้เกิดการผูกขาดพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ซึ่งเป็นฐานรากของระบบอาหาร ผลกระทบต่อสุขภาพของเรื่องจีเอ็มโอ ปัญหาผลกระทบต่อเรื่องสุขภาพที่เกิดขึ้นจากอาหารดัดแปรพันธุกรรมเกี่ยวข้องกับความกังวลเกี่ยวกับความเป็นพิษจากสารที่ถูกผลิตขึ้น  โอกาสที่จะเกิดการแพ้และการที่การต้านทานยาปฏิชีวนะจากยีนแปลกปลอมที่ใช้ในกระบวนการตัดต่อพันธุกรรม ตลอดจนสัดส่วนและองค์ประกอบของสารอาหารที่แตกต่างไม่เทียบเท่ากับอาหารทั่วไปที่เราเคยรับประทาน เป็นต้น กลุ่มผู้สนับสนุนมักอ้างว่า กระบวนการประเมินความเสี่ยงทำให้สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าวได้ แต่ยังไม่สามารถทำให้เกิดความมั่นใจได้เนื่องจากเหตุผล 3 ประการคือ หนึ่ง งานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของอาหารจีเอ็มโอมักเป็นการทำการทดลองในระยะสั้นๆ เท่านั้น ในขณะที่ผลกระทบนั้นเป็นเรื่องระยะยาว สอง อุปสรรคสำคัญสำหรับการทดสอบความปลอดภัยของพืชจีเอ็มโอ เกิดจากการขัดขวางของบริษัทผู้ผลิตจีเอ็มโอไม่ให้มีการนำผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อให้นักวิชาการอิสระทำการประเมินเรื่องความปลอดภัยนั้น เรื่องนี้ทำให้ประชาคมวิทยาศาสตร์อดรนทนไม่ได้จนต้องทำจดหมายร้องเรียนรัฐบาลสหรัฐ สาม สาธารณชนตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาเรื่องความปลอดภัยทางอาหารของ FDA สหรัฐเนื่องจากพวกเขาพบว่าเหล่าผู้บริหารระดับสูงหลายคนมาจากผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่จีเอ็มโอ คณะทำงานของ UN ที่ใช้ชื่อว่า International Assessment of Agricultural Knowledge Science and Technology for Development (IAASTD) ซึ่งเป็นคณะทำงานระหว่างประเทศเพื่อประเมินความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทางการเกษตรสำหรับการพัฒนา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกระบวนการประเมินจาก 110 ประเทศ 900 คน ได้เผยแพร่เอกสารที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของจีเอ็มโอว่า “ผลกระทบของจีเอ็มโอยังเป็นที่เข้าใจน้อยมากในปัจจุบัน ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางนโยบายและทำให้การวิจัยเรื่องความเสี่ยงเปิดเผยต่อสาธารณะ” “การประเมินเทคโนโลยีนี้ยังตามหลังการพัฒนาของมัน ข้อมูลที่มียังไม่เพียงพอ กระจัดกระจายและขัดแย้งกันเอง ทั้งประเด็นความเสี่ยง ผลกระทบและผลประโยชน์ของมัน ทั้งในประเด็นทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ” เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ไคล์ฟ เจมส์ ผู้ก่อตั้งและประธานกิตติมศักดิ์ ISAAA (International Service for the Acquisition of Agri-Biotech Application) องค์กรที่ตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น มอนซานโต้ ซินเจนทา ดูปองท์ ได้เข้าพบกับนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อผลักดันให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย เจมส์บอกกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของไทยว่า พืชจีเอ็มโอนั้นมีความปลอดภัย จากการที่ผู้บริโภคในสหรัฐได้บริโภคผลิตภัณฑ์มานานถึง 19 ปีแล้ว แต่กลับไม่พบปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพแต่ประการใด คำกล่าวข้างต้นเคยถูกตอบโต้โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาที่รวมตัวกันในนาม เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรป (The European Network of Scientists for Social and Environmental Responsibility- ENNSSER) ว่าที่จริงยังไม่มีงานศึกษาเชิงระบาดวิทยา (epidemiological studies)เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จากการบริโภคอาหารจีเอ็ม ดังนั้นการอ้างว่ามีผู้บริโภคในอเมริกาเหนือบริโภคจีเอ็มโอมาเป็นเวลานานนับสิบปี แต่ก็ไม่เห็นปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นเพียงการพูดลอยๆ โดยไร้การศึกษาทางวิทยาศาสตร์รองรับ ในทางตรงกันข้ามกลุ่มนักเคลื่อนไหวและผู้ที่ติดตามปัญหาเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอในสหรัฐกลับพบว่า การปลูกพืชจีเอ็มโอในสหรัฐเพิ่มขึ้นทำให้มีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชไกลโฟเสทเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว( 90% ของพืชจีเอ็มโอในสหรัฐเป็นพืชที่ตัดต่อยีนต้านทานยาปราบวัชพืช) ไกลโฟเสทเหล่านั้นกระจายไปในดิน น้ำ และอากาศ รวมทั้งพบปนเปื้อนในผลผลิตถั่วเหลืองและข้าวโพด และล่าสุดนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้พบว่าสถิติการใช้สารไกลโฟเสทที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐมีลักษณะคล้ายกับกราฟการเพิ่มของโรคหลายชนิดเช่น อัลไซม์เมอร์ ออร์ทิสติค และมะเร็งตับ เป็นต้น     ขณะนี้เริ่มมีงานวิจัยเป็นจำนวนมากที่พบว่าไกลโฟเสทซึ่งมาพร้อมกับพืชจีเอ็มโอนั้นมีพิษเรื้อรังต่อสุขภาพของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น “สารกำจัดวัชพืชที่มีไกลโฟเสทเป็นส่วนผสมมีความเป็นพิษและรบกวนการทำงานของเซลล์ต่อมไร้ท่อของมนุษย์” (Gasnier C. และคณะ ตีพิมพ์ใน Toxicology. 2009 Aug 21; 262(3): 184 – 91) งานวิจัยนี้พบว่าแม้ใช้สารนี้ใน ระดับที่ต่ำเช่นเพียง 0.5 ppm ก็มีผลกระทบต่อต่อมไร้ท่อ และมีผลกระทบต่อ DNA ในระดับที่ใช้เพียง 5 ppm เท่านั้น นักวิจัยได้เสนอให้มีการพิจารณาสารเคมีนี้เป็นสารก่อมะเร็งและก่อกลายพันธุ์ งานวิจัยชิ้นสำคัญในประเทศไทยต่อประเด็นเรื่องจีเอ็มโอ งานวิจัยชิ้นสำคัญในประเทศไทยที่สนับสนุนข้อค้นพบของประชาคมวิทยาศาสตร์คืองานวิจัยของ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (โดย Thogprakaisang S., Thiantanawat A., Rangkadilok N., Suriyo T., Satayavivad J.) ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Food and Chemical Toxicology( Food and Chemical Toxicology 59 (2013) 129–136) เรื่อง “ไกลโฟเสท ชักนำให้เซลล์มะเร็งเต้านมของมนุษย์เจริญเติบโต โดยผ่านทางตัวรับของฮอร์โมนเอสโตรเจน” ข้อค้นพบสำคัญของงานศึกษานี้คือ “ไกลโฟเสท ทำให้เพิ่มการเจริญขยายตัวเฉพาะในโรคมะเร็งเต้านมที่ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนของมนุษย์” และ “ไกลโฟเสท ในขนาดความเข้มข้นต่ำก็มีผลกระทบต่อการทำงานของเอนไซม์เอสโตรเจน” อาจจะเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า จีเอ็มโอเกี่ยวข้องโดยตรงกับโรคออร์ทิสติค อัลไซม์เมอร์ และมะเร็งชนิดต่างๆ แต่อย่างน้อยที่สุดข้อมูลเหล่านี้ควรทำให้ผู้ที่กล่าวอ้างว่าประชาชนบางภูมิภาคที่บริโภคอาหารจีเอ็มโอเป็นเวลานานหลายปีไม่เห็นว่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพต้องสงบปากสงบคำลงไปในที่สุด การต่อต้านที่ขยายตัวออกไปมากยิ่งขึ้น แม้จะเริ่มมีการปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1996 แต่กลับเป็นประชาชนในทวีปยุโรปที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเป็นภูมิภาคแรก โดยกระแสการต่อต้านพืชและอาหารจีเอ็มโอได้เริ่มต้นในยุโรปมานานเกือบ 20 ปี กลุ่มผู้สนับสนุนจีเอ็มโอเคยเชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปกระแสการต่อต้านจะค่อยๆ ลดลงในที่สุด แต่กลับเป็นไปในทางตรงข้าม โดยผลการสำรวจพบว่า กระแสการสนับสนุนอาหารจีเอ็มโอกลับยิ่งลดลง ทั้งในยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออก ที่น่าสนใจคือ ประเทศที่อนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอได้ในพื้นที่จำกัด เช่น สเปน และโปรตุเกส ซึ่งประชาชนมากกว่า 60% เคยสนับสนุนอาหารจีเอ็มโอเมื่อปี 1996 บัดนี้กลับลดเหลือเพียง 35-37% เท่านั้น บางประเทศที่มีประชากรเป็นจำนวนมากและเป็นตลาดสำคัญของการส่งออกอาหารของไทย เช่น ฝรั่งเศสและเยอรมนี มีผู้สนับสนุนอาหารจีเอ็มโอเพียง 16% และ 22% ตามลำดับเท่านั้นเมื่อเวลาผ่านไป ประชาชนได้รับทราบข้อมูลมากขึ้น พวกเขาจึงปฏิเสธอาหารดัดแปลงพันธุกรรม และเลือกระบบอาหารที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงความเป็นธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับเรื่องจีเอ็มโอในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาคือการแพร่ขยายการต่อต้านไปยังสหรัฐอเมริกา ประเทศซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดและประเทศที่มีพื้นที่ปลูกพืชประเภทนี้มากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของโลก จุดเริ่มต้นการต่อต้านที่สำคัญที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2556 เมื่อประชาชนในหลายรัฐทั่วสหรัฐร่วมเดินขบวนต่อต้านจีเอ็มโอและบริษัทที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันเรื่องนี้ โดยประมาณการว่ามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนั้นประมาณ 2 ล้านคน  พวกเขาเคลื่อนไหวต่อต้านสินค้าทุกชนิดที่ผลิตจากจีเอ็มโอ โดยให้การสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์แทน พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการติดฉลากสินค้าจีเอ็มโอเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการตัดสินใจ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดาราและศิลปินอเมริกันคนแล้วคนเล่าพร้อมใจกันลุกขึ้นเรียกร้องให้มีการติดฉลากอาหารจีเอ็ม ลงนามในคำแถลงต่อต้านจีเอ็มโอ บอยคอตบริษัทที่ต่อต้านการติดฉลาก และหลายคนเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านบรรษัท ดาราและศิลปินเหล่านั้น ได้แก่ Neil Young, Danny DeVito, Susan Sarandon, Daryl Hannah, Michael J Fox, Elijah Wood, James Kaitlin, Olson Taylor, Bill Maher,James Taylor, Dave Matthews, Maroon 5, Chevy Chase, Roseanne Barr, Kristin Bauer van Straten, Kimberly Elise, Mariel Hemingway, Bianca Jagger, Vivienne Westwood, Jeremy Irons, Bill Pullman, Amy Smart, Sara Gilbert, Ed Begley Jr, Anne Heche, Frances Fisher, Rashida Jones, Kimberly Elise, Ziggy Marley, Julie Bowen,Emily VanCamp เป็นต้น กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทุ่มเงินหลายร้อยล้านเหรียญโหมโฆษณาเพื่อต่อต้านการติดฉลากของบรรดารัฐต่างๆ ในขณะที่จำนวนเงินการระดมทุนของฝ่ายที่เรียกร้อง "สิทธิที่จะรู้ที่มาของอาหาร" น้อยกว่าหลายเท่าตัว บางรัฐผู้บริโภคได้รับชัยชนะในการออกกฎหมายติดฉลาก บางรัฐก็พ่ายแพ้ แต่ทุกคนบอกตรงกันว่า "นี่เป็นแค่เพียงการเริ่มต้น" เท่านั้น กระแสการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อต่อต้านจีเอ็มโอ และตอบโต้การผูกขาดระบบเกษตร/อาหารของบรรษัทกำลังเติบโต   ขณะนี้รัฐบาลไทยได้ตั้ง "คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์มาใช้ในประเทศไทย" เพื่อพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์และบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะไม่ตัดสินใจให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทยเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่ม ในขณะที่ผลกระทบเกี่ยวกับจีเอ็มโอนั้นจะส่งผลกระทบไม่เฉพาะต่อการส่งออก หรือปัญหาที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่จะส่งผลอย่างสำคัญต่อความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อยและความมั่นคงทางอาหารของประเทศโดยรวมด้วย เพราะเมื่อใดที่ประเทศไทยเดินหน้าพืชจีเอ็มโอ เท่ากับเราได้ละทิ้งเกษตรกรรมที่ยืนอยู่บนความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นจุดแข็งของเราไปพึ่งพาต่างชาติ ระบบเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากบรรษัทจะสร้างความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารได้อย่างไร ?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 ธุรกิจสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ

จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ประเทศไทยเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ตัวชี้วัดก็คือ จำนวนประชากรสูงวัย(อายุ 60 ปีขึ้น) ณ ปัจจุบันมีมากกว่า 9 ล้านคน ซึ่งเกิน 10% ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ ที่ระบุว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกิน 10% หรืออายุ 65 ปี ขึ้นไปเกิน 7% ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่ตามมากับตัวเลขอายุที่มากขึ้น คือ ความเสื่อมถอยของร่างกาย ทั้งหูตาที่ฝ้าฟาง ข้อ กระดูกที่เปราะบาง ความกระฉับกระเฉงลดลง ไม่อาจเคลื่อนไหวได้ตามใจนึก อีกทั้งความเสื่อมถอยของร่างกายทำให้เป็นโรคได้ง่ายโดยเฉพาะกลุ่มโรคติดเชื้อ และถ้ายิ่งใช้ชีวิตแบบไม่ค่อยระวังตัว โรคเรื้อรังในกลุ่มหัวใจ เส้นเลือด ก็กลายเป็นโรคประจำตัวที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการทุพพลภาพหรือพิการได้มากที่สุด ระดับผู้สูงอายุไทยอาจแบ่งได้เป็นสามระดับ คือ กลุ่มสูงอายุวัยต้น 60-79 ปี วัยปลาย 80-99 ปี และกลุ่มอายุเกิน 100 ปีขึ้นไป  ซึ่งในช่วงวัยต้นร่างกายยังไม่เสื่อมถอยมาก ประกอบกับความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ ทำให้ยังสามารถทำงานได้ เป็นประโยชน์ทั้งกับครอบครัวและชุมชน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ต้องเข้าสู่ระยะพักผ่อน งานการต่างๆ ที่เคยทำได้ ก็อาจไม่สามารถทำได้อีกและต้องการผู้ช่วยเหลือดูแลในบางกิจกรรม เช่น  การเดินทาง  การใช้ขนส่งสาธารณะ การใช้โทรศัพท์ การเข้าใช้ห้องสุขา การอาบน้ำ การประกอบอาหาร เป็นต้น และเมื่อเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงมากที่สุด คือ ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ต้องนอนติดเตียง ภาระทั้งหมดก็จะตกมาที่ผู้ดูแล ซึ่งสังคมไทยแต่เดิมมาก็ฝากไว้กับลูกหลาน หรือญาติพี่น้อง แต่สถานการณ์ปัจจุบันคือ ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งไม่มีลูก ต้องอยู่ตามลำพัง และถึงแม้จะมีลูก พวกเขาเหล่านั้นก็มีภาระที่มากมายรอบด้าน อาจทั้งในฐานะของพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูกของตน ตลอดจนภาระในการทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ถ้าผู้สูงอายุต้องเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงไม่ว่าจะมากหรือน้อย ใครจะเป็นผู้ดูแล?   สถานบริการดูแลผู้สูงอายุ จำนวนผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลไม่ว่าจะระดับมากหรือระดับน้อย ที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ส่งผลให้มีความต้องการการดูแลในสถานบริการเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่ปรากฏว่าภาครัฐยังไม่มีการจัดให้มีบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุกลุ่มนี้อย่างชัดเจน มีเพียงสถานสงเคราะห์คนชรา(บ้านพักคนชรา) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่ออุปการะผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาทุกข์ยากเดือดร้อนไม่มีผู้ดูแลหรือไม่ก็ไร้ที่อยู่อาศัยเท่านั้น ขณะที่สถานบริการดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ของภาคเอกชน ทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาล หรือจดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ หรือที่เราเรียกว่า เนอร์สซิ่งโฮม (Nursing Home) จะมีราคาค่าใช้จ่ายที่สูง และยังพบปัญหาในเรื่องของมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุที่ยังไม่มีมาตรฐานชัดเจนโดยตรง ตลอดจนอุปกรณ์การดูแลและสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ไม่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่นเรื่องแสงสว่าง พื้นผิวห้อง ทางลาด จำนวนผู้ดูแลที่ไม่พอต่อจำนวนผู้สูงอายุ เป็นต้น เนื่องจากยังไม่มีบริการการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวในภาครัฐ  มีแต่การบริการโดยภาคเอกชน   แต่ด้วยการจดทะเบียนของสถานพยาบาลเอกชนของไทยนั้นมีหลายลักษณะมาก ทำให้เราไม่สามารถทราบจำนวนสถานบริการผู้สูงอายุที่แน่ชัดได้ อีกทั้งในการประกอบธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุ ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลก็ได้ แค่จดทะเบียนการค้าเท่านั้นก็สามารถดำเนินธุรกิจนี้ได้แล้ว ธุรกิจสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ อาจหมายถึง สถานบริการที่ไม่ใช่โรงพยาบาล แต่มีการให้บริการที่พำนัก บริการยาแก่ผู้สูงอายุที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเป็นประจำ โดยทั่วไปจะครอบคลุม การให้บริการที่พักค้างคืน บริการอาหารการดูแลความสะอาดเสื้อผ้าและที่พัก ตลอดจนความสะอาดของร่างกาย พร้อมทั้งติดตามดูแลสุขภาพเบื้องต้นอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ได้ให้การรักษาพยาบาล หากมีความเจ็บป่วยจะบริการนำส่งต่อแผนกคนไข้ของโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่อรับการรักษาพยาบาลต่อไป โดยอาจมีบริการเสริมอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมพิเศษ ที่ช่วยส่งเสริมให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ถ้าการให้บริการเน้นการดูแลเพื่อการฟื้นฟูสภาพสำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพาและทุพพลภาพช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และต้องการบริการพยาบาลและยาเป็นประจำ จะจัดเป็น “สถานพยาบาล” ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 และเป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยการประกอบกิจการสถานพยาบาล พ.ศ. 2545 อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปัจจุบัน คือ การให้บริการในธุรกิจนี้จะมีลักษณะของการผสมผสาน  โดยที่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลแม้จะให้บริการในลักษณะของการบริบาลผู้สูงอายุก็ตาม และสถานบริการดูแลผู้สูงอายุหลายแห่งแม้แต่จดทะเบียนการค้าก็ยังไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้อง ประเภทของการให้บริการ การบริการในสถานดูแลผู้สูงอายุในกลุ่มที่ไม่เน้นเรื่องการฟื้นฟูบำบัด ซึ่งผู้รับบริการส่วนใหญ่ไม่มีภาวะพึ่งพิง หรือพึ่งพิงไม่มาก ยังพอสามารถช่วยตัวเองได้ ส่วนใหญ่จะครอบคลุมการบริการหลักและมีการให้บริการเสริมเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและดึงดูดใจลูกค้า ดังนี้   บริการหลัก บริการเสริม Ø บริการดูแลผู้สูงอายุด้านความเป็นอยู่ทั่วไป Ø บริการที่พักค้างคืน Ø บริการอาหาร 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 มื้อ Ø ดูแลทำความสะอาดของร่างกาย Ø ดูแลทำความสะอาดเสื้อผ้า Ø ติดตามดูแลสุขภาพเบื้องต้นแต่ไม่ได้ให้การรักษาพยาบาล หากมีความเจ็บป่วย Ø จะบริการนำส่งต่อแผนกคนไข้ของโรงพยาบาลใกล้เคียง Ø กิจกรรมกายภาพบำบัดเบื้องต้น Ø กิจกรรมสันทนาการต่างๆ และกิจกรรมตามวัฒนธรรมประเพณี Ø บริการรถรับ-ส่งจากบ้าน Ø นำส่งผู้สูงอายุตามแพทย์นัด Ø ทัศนศึกษา Ø บริการด้านจิตใจ เช่น การจัดกิจกรรมทางศาสนา Ø บำบัดในรูปแบบพิเศษต่างๆ เช่น วารีบำบัด Ø บริการด้านความรู้ข่าวสารใหม่และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ Ø การบรรยายจากวิทยากรรับเชิญต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลในการดำเนินชีวิต Ø การบริการประสานงานกับองค์กรอื่นๆ เช่น การให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และการฌาปนกิจ   สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงสูง เช่น เป็นผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หรือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องหรือพักฟื้นจากการเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ลักษณะการให้บริการของสถานดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะอยู่ในข่าย เนอร์สซิ่งโฮม ซึ่งบริการที่จัดให้ได้แก่ บริการบำบัดทางการแพทย์ เช่น บริการยา การตรวจวัดอุณหภูมิ ความดันโลหิต บริการให้อาหารทางสายยาง ดูดเสมหะ บริการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสภาพ การป้องกันแผลกดทับ ฯลฯ แต่ดังที่ได้กล่าวไป ส่วนใหญ่การให้บริการของสถานดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันจะมีลักษณะผสมผสาน จึงจำเป็นต้องเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการในการเข้ารับบริการ   ค่าใช้จ่ายไม่ธรรมดา ผู้ที่เลือกใช้บริการในสถานดูแลผู้สูงอายุ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นลูกหลานของผู้สูงอายุ บางทีผู้สูงอายุก็เป็นผู้เลือกใช้บริการสถานดูแลเหล่านี้ด้วยตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นต้องมีความสามารถในการจ่ายพอสมควร ปกติราคาจะขึ้นอยู่กับบริการที่นำเสนอ ค่าบริการมีทั้งแบบรายวันและรายเดือน รวมทั้งเงินค้ำประกันหรือค่าประกันแรกเข้า(ส่วนนี้จะคืนเมื่อบอกเลิกใช้บริการ)   ในลักษณะรายวันค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 800-1000 บาท ส่วนรายเดือนประมาณ 10,000-25,000 บาท ทั้งนี้สถานบริการบางแห่ง ยังมีค่าบริการเสริมอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากค่าบริการปกติ เช่น การเฝ้าไข้เฉพาะบุคคล ค่ายานพาหนะรับส่งโดยกะทันหัน ค่ายาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งโดยรวมแล้วอาจสูงถึง 30,000 บาท/เดือน จากการสำรวจหากเป็นสถานบริการดูแลผู้สูงอายุในโรงพยาบาลจะมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด เพราะได้รวมค่าแพทย์และพยาบาลเข้าไว้ด้วย ค่าใช้จ่ายตกอยู่ที่ประมาณเดือนละ 30,000-50,000 บาท และจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการบางท่านให้ความเห็นว่า การเรียกเก็บค่าบริการสูง ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันปัญหาการทิ้งผู้สูงอายุไว้กับสถานดูแล   มาตรฐานควบคุมและการคุ้มครองด้านบริการ กรณีสถานดูแลผู้สูงอายุในส่วนของเอกชน ยังไม่มีมาตรฐานกำกับที่ชัดเจน เว้นแต่ที่จดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลสำหรับดูแลผู้สูงอายุ ตามกฎหมายสถานพยาบาล ที่มีกองการประกอบโรคศิลปะเป็นผู้กำกับดูแล นอกจากนี้ต้องบอกว่า ไม่มีองค์กรกำกับดูแลโดยตรง ทั้งในส่วนมาตรฐานการให้บริการ การกำกับดูแลและการขึ้นทะเบียน ดังนั้นหากเกิดปัญหาจากการใช้บริการ คงต้องดำเนินการร้องเรียนในเรื่องสัญญากับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ถ้าสถานบริการดูแลผู้สูงอายุได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกองการประกอบโรคศิลปะ ก็สามารถร้องเรียนได้โดยตรง หรืออาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้โดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค   การเลือกสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ สถานดูแลผู้สูงอายุที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง ควรจัดให้เป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะในการดูแลผู้สูงอายุ หากเป็นไปได้ การดูแลโดยคนในครอบครัวย่อมดีที่สุด แต่หากบางครั้งมีความจำเป็น เช่น ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง อาจพิจารณาเลือกจ้างผู้ดูแลพิเศษประจำบ้าน ซึ่งท่านสามารถดูแลต่อได้เมื่อผู้ดูแลกลับไป อีกทั้งผู้สูงอายุก็ได้อยู่ในบ้าน ซึ่งสร้างความอบอุ่นใจได้มากกว่า การเลือกสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ ควรพิจารณาเรื่องทำเลที่ตั้ง ซึ่งควรจะใกล้บ้านและสะดวกในการเดินทาง สิ่งแวดล้อมรอบอาคารที่ให้บริการควรมีความสงบไม่พลุกพล่าน ไม่มีมลภาวะที่เป็นพิษ อีกทั้งควรพิจารณาในส่วนของอุปกรณ์เช่น เตียงนอน เครื่องมือแพทย์ การรักษาความสะอาดของสถานที่ ลักษณะทางกายภาพบางอย่างที่อาจไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น บันไดลาดชันเกินไป ประตูแคบไป ห้องน้ำสุขภาพภัณฑ์ต่างๆ   ควรได้รับการออกแบบให้เหมาะกับผู้สูงอายุ  ส่วนเรื่องราคาค่าบริการให้พิจารณาเปรียบเทียบกับการบริการที่จะได้รับ และระมัดระวังเรื่องค่าบริการเสริม ที่ไม่รวมอยู่ในค่าบริการปกติ และที่สำคัญอีกประการคือ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ควรเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนสอนหลักสูตรดังกล่าวหลายแห่ง และควรมีจำนวนที่เหมาะสมกับผู้ใช้บริการ เพื่อให้สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงอย่างมีคุณภาพ   แม้ว่าผู้สูงอายุจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เหมือนในอดีต แต่ก็ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นควรช่วยกันเรียกร้องและผลักดันให้รัฐได้เข้ามามีส่วนในการดำเนินงาน สถานดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่เป็นของรัฐ หรือหน่วยงานของชุมชน หรือในรูปแบบที่เหมาะสม ได้มาตรฐานและเป็นธรรมโดยถือเป็นสวัสดิการที่รัฐพึงมอบให้กับประชาชนกลุ่มสูงวัยที่ได้มีส่วนร่วมสร้างสังคมมา   ไทยสู่ยุค “คนชราเต็มเมือง” จี้รัฐกันเงินก้อนโตไว้ดูแล หมอแนะผู้สูงวัยตุนเงิน “3 ล้านบาท” ไว้รักษา 2 โรคยอดฮิต! ผู้จัดการออนไลน์ 6 กุมภาพันธ์ 2556 ประเทศไทยใกล้เข้าสู่ภาวะคนชราเต็มเมือง แพทย์ชี้โรคหัวใจ-มะเร็ง ผลาญงบดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอ่วม แนะว่าที่ “คนแก่” ต้องเตรียมเงินค่ารักษาตัวโรคละ 1.5 ล้านบาท พร้อมเตรียมใจรับสภาพปัญหาขาดแคลนผู้ดูแลระดับวิกฤต “สิ่งที่รัฐบาลจะต้องรีบทำก็คือการส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยน วิถีชีวิตไปสู่แนวทางที่จะไม่เป็นโรคอย่างจริงจัง ซึ่งทำได้หลายระดับ ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ในรูปแบบของข้อมูลเฉยๆ แต่รวมไปถึงการส่งเสริมทางสังคม เช่น จัดถนนหนทางให้คนขี่จักรยานได้โดยไม่มีรถมาชน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนออกกำลังกายระหว่างเดินทางไปทำงาน เพราะตอนนี้โอกาสที่คนไทยจะได้ออกกำลังกายแทบจะเหลืออยู่อย่างเดียวคือ การเดินทางไปทำงาน” นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ แพทย์หัวหน้าศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลพญาไท 2 แสดงทัศนะต่อบทบาทเชิงรุกที่รัฐบาลควรทำในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของ ประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยแล้ว   อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” เมื่อมีสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มสูงถึงร้อยละ 14 และต่อจากนั้นอีกไม่เกิน 10 ปี ไทยจะเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ในปี พ.ศ. 2575 เมื่อประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ประชากร 1 ใน 5 จะมีอายุสูงกว่า 65 ปี และประชากรครึ่งหนึ่งในประเทศไทยจะมีอายุสูงกว่า 43 ปี! อาจจะช้าเกินไปด้วยซ้ำที่ประเทศไทยเพิ่งมาตั้งคำถามกันว่า จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้างเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคผู้สูงวัยเต็มอัตรา ? นพ.สันต์กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้แม้แต่ชาวไร่ชาวนาก็ไม่ได้ออกแรง ส่งผลให้ชาวไร่ชาวนามีอัตราการเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นโรคของคนไม่ออกแรง สูงพอๆ กับคนที่อยู่ในเมือง เพราะชาวไร่ชาวนาในปัจจุบันกลายเป็นผู้จัดการท้องนาที่ไม่ต้องออกแรงเหมือนเดิม กิจกรรมการเกี่ยวข้าวไถนาล้วนแต่เป็นหน้าที่ของรถเกี่ยวรถไถที่ถูกจ้างมาแทน ที่แรงคน “ทำอย่างไรจะให้คนได้เดินทางไปทำงานพร้อมกับออกกำลังกายไปในตัว เป็นเรื่องที่ต้องทำในระดับรัฐบาล โดยอาจจะตั้งต้นด้วยเมืองเล็กๆ นำร่องขึ้นมาสักเมือง กำหนดถนนสำหรับคนเดินและขี่จักรยานโดยเฉพาะ แล้วค่อยๆ ขยายออกไป ในที่สุดคนก็จะได้ออกกำลังกาย เพราะอย่างไรเขาก็ต้องเดินทางไปทำงานอยู่แล้ว ทุกวันนี้บางคนเขาก็อยากเดินหรือขี่จักรยานไปทำงาน แต่ทำไม่ได้ เพราะกลัวถูกรถชน” ดังนั้นรัฐต้องส่งเสริมให้คนเริ่มรักษาสุขภาพตนเองตั้งแต่วันนี้ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นคนจะเสี่ยงต่อ 3 กลุ่มโรควัยชราต่อไปนี้ 1. กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคกลุ่มหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง จากข้อมูลปัจจุบันคนไทยราว 55% มีปัจจัยเสี่ยงของโรคเหล่านี้ ทำให้คนไทยเกินครึ่งเสียชีวิตจากโรคกลุ่มนี้ 2. โรคสมองเสื่อม ซึ่งมากับคนอายุยืน 3. โรคซึมเศร้า ซึ่งตามมากับภาวะสมองเสื่อมและโรคเรื้อรัง และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า “3 โรคนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตของประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมคนชรา โดยเฉพาะ 2 โรคที่ค่ารักษาพยาบาลแพงกว่าเพื่อนคือ โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง เพราะทางการแพทย์ยังไม่รู้วิธีรักษา จึงต้องรักษาที่ปลายเหตุ ส่งผลให้เป็นกลุ่มโรคที่กินเงินมากที่สุด โดยสังเกตได้จากการลงทุนของโรงพยาบาลภาคเอกชนที่จะเน้นลงทุนในกลุ่มนี้ เพราะสามารถเก็บเงินได้มาก” นพ.สันต์บอกอีกว่า ต้นทุนค่ารักษาพยาบาล 2 โรคแพงในโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งค่ารักษาพยาบาลขั้นต้นของโรคมะเร็งในโรงพยาบาลเอกชนจะตกอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาท ไม่นับรวมต้นทุนการดูแลเมื่อคนไข้ทุพพลภาพหรือเป็นผู้ป่วยเรื้อรังระยะสุด ท้าย ซึ่งในทางการแพทย์อาจจะหยุดให้การรักษา เมื่อถึงจุดที่รักษาแล้วคุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้น ขณะที่ต้นทุนการรักษาโรคหัวใจ เฉพาะค่ารักษาขั้นต้นในโรงพยาบาลเอกชน จะมี 2 ชนิด คือ ชนิดที่จบลงโดยไม่ต้องผ่าตัด ค่ารักษาอยู่ที่ประมาณ 400,000 บาท และชนิดที่ต้องจบลงด้วยการผ่าตัดมีค่ารักษาประมาณ 800,000 บาท “นี่เป็นค่ารักษาขั้นต้นที่ยังไม่ได้นับรวมความยืดเยื้อเรื้อรังและ ค่าเสียโอกาสที่ทำงานไม่ได้ ดังนั้น ถัวเฉลี่ยแล้วโรค 2 กลุ่มนี้จะมีต้นทุนการรักษาขั้นต้น 6-8 แสนบาทต่อคนต่อโรคโดยประมาณ ไม่นับรวมภาวะทุพพลภาพที่เกี่ยวเนื่องจากโรค และการรักษาในฐานะผู้ป่วยที่สิ้นหวังระยะสุดท้าย ซึ่งการรักษาลุกลามจนเสียชีวิตก็ไม่น่าจะถูกกว่าการรักษาขั้นต้น โดยอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่พอๆ กัน หรือมากกว่า ดังนั้นโดยประมาณแล้วจะต้องใช้เงินต่อโรค 1,500,000 บาทต่อการดูแลผู้ป่วย 1 คน” ในขณะที่โรคสมองเสื่อมกับโรคซึมเศร้า มีต้นทุนการรักษาไม่แพง แต่ต้นทุนที่แพงไม่แพ้กันคือต้นทุนในแง่ของคุณภาพชีวิต เพราะคนที่เป็น 2 โรคนี้ชีวิตจะไม่มีคุณภาพ ยิ่งไปกว่านั้นคือจะไปมีต้นทุนที่ผู้ดูแล ซึ่งโครงสร้างสังคมไทยในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ยังมีผู้ดูแลเป็นคนในครอบครัวอยู่ แต่หลังจาก 10 ปีข้างหน้าไปแล้ว ยังไม่มีหลักฐานว่าใครจะเป็นผู้ดูแลคนชราเป็นที่คาดการณ์ว่าผู้ที่จะต้องทำหน้าที่ดูแลคงจะเป็นภาระของสังคม นั่นหมายความว่ารัฐอาจจะต้องจัดตั้ง Nursing Home ขึ้นมาดูแลคนสูงอายุที่ไม่มีใครเอา เพราะลูกไม่พอเลี้ยงดู จากขนาดครอบครัวที่เล็กลง และผู้สูงอายุส่วนหนึ่งไม่มีลูกหลาน เพราะฉะนั้นถึงจุดหนึ่งโรคในกลุ่มโรคชราเรื้อรังจะต้องตกเป็นภาระของสังคม โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดี๋ยวนี้เป็นต้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 ต้อนรับปี 2558 ด้วยการปรับทัศนคติ

จั่วหัวเช่นนี้ ก็ไม่มีอะไรมากแค่อยากเล่นกับกระแสนิดหน่อย จริงๆ เรื่องที่ “ฉลาดซื้อ” จะนำเสนอต่อไปนี้ไม่ใช่เรื่อง “ทัศนคติ” ตรงๆ  แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดทัศนคติ นั่นคือ “ความเชื่อ” ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาช้านาน ความเชื่อ คือ ความมั่นใจต่อสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นความจริง ต่อเมื่อมีข้อมูลใหม่ๆ มาหักล้าง ความเชื่อก็เปลี่ยนไปได้ เช่น ครั้งหนึ่งมนุษย์เชื่อกันว่า โลกแบน แต่เชื่อไหมว่า ความเชื่อบางอย่างแม้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันไปแล้ว ก็ยังเป็นความเชื่อที่ฝังหัวของคนส่วนใหญ่อยู่ พิสูจน์ได้จากการที่ยังมีคนหยิบเอาความเชื่อ(ผิดๆ) มาเอ่ยอ้างในสื่อต่างๆ  ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดขึ้นจากการบอกเล่าสืบต่อกันมา โดยผู้ฟังเองก็ไม่ได้ใส่ใจกันนักว่า ความเชื่อนั้นเป็นเรื่องจริงหรือแค่มายาคติ ดังนั้นเพื่อต้อนรับปีใหม่ 2558 ฉลาดซื้อ จึงขอเชิญท่านมาปรับทัศนคติ...ไม่ใช่ มาปรับความเชื่อ 58 เรื่อง ที่หลายคนยังคงเชื่อกันอยู่                    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 165 เตรียมตัว รู้ทัน รับมือ ป้องกัน “สังคมก้มหน้า”

กลายเป็นภาพชินตาในสังคมยุคนี้ไปเสียแล้ว กับภาพที่ผู้คนต่างก้มหน้าก้มตาจดจ่ออยู่กับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของตัวเอง ทั้งติดต่อสื่อสารพูดคุย ดูหนังฟังเพลง เล่นเกม ท่องอินเตอร์เน็ต ฯลฯ ไม่ว่าจะบนรถเมล์ รถไฟฟ้า ร้านอาหาร หรือแม้แต่ตามท้องถนนทั่วไป จนมีการให้คำจำกัดความกับยุคที่ผู้เอาแต่ก้มหน้าเข้าหาจอมือถือและแท็บเล็ตว่าเป็น “สังคมก้มหน้า” (Phubbing) ซึ่งหมายถึงสังคมที่ผู้คนเลือกใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์หรือโซเชียลเดีย (social media) มากกว่าจะปฏิสัมพันธ์กับสังคมรอบข้าง ว่างเมื่อไหร่เป็นต้องเปิดเฟซบุ๊ค เช็คทวิตเตอร์ตลอดเวลา เฝ้าแต่จะกดถูกใจในอินสตาแกรม วันไหนไม่ได้เซลฟี่แล้วรู้สึกเหมือนจะเป็นไข้ เหล่านี้คืออาการที่บอกให้รู้ว่าคุณได้เป็นพลเมืองของสังคมก้มหน้าแบบเต็มตัวเรียบร้อยแล้ว   “สังคมก้มหน้า” สังคมของคนป่วย “โรคติดจอ” เป้าหมายของการใช้เทคโนโลยีคือการทำให้ชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น เรื่องของการติดต่อสื่อสารที่ทุกวันนี้เราสามารถพูดคุย ส่งข้อความ หรือรูปภาพต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วผ่านระบบอินเตอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ เรามีสังคมออนไลน์หรือที่เรียกกันว่าโซเชียลเน็ตเวิร์ค เอาไว้คอยติดตามข่าวสารต่างๆ หรือพบปะแลกเปลี่ยนพุดคุยในเรื่องราวที่เราสนใจกับกลุ่มคนที่มีความสนใจแบบเดียวกับเรา ที่สำคัญคือเป็นแหล่งหาข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่ช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ที่กล่าวมาทั้งหมดคือข้อดีที่เราได้รับจากใช้งานสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเพื่อท่องไปในโลกอินเตอร์เน็ตหรือโลดแล่นอยู่ในสังคมออนไลน์ ...แต่ทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนมี 2 ด้านเสมอ...เมื่อมีข้อดี ย่อมมีข้อเสียที่ถูกซ่อนเอาไว้ รอเวลาปรากฏตัวออกมาให้เห็น หากว่าเราใช้ของสิ่งนั้นอย่างขาดการยับยั้งชั่งใจ หรือใช้อย่างไม่เหมาะสม เพราะการที่เราสามารถเข้าถึงสิ่งต่างๆ ได้อย่างง่ายดายเพียงปลายนิ้วสัมผัส ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตบนมือถือและแท็บเล็ต ทำให้หลายคนใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมือถือและแท็บเล็ต มากกว่าจะสนใจเหตุการณ์รอบๆ ตัว หลายคนอยากพูดคุยกับคนที่ไม่เคยพบเจอกันมากกว่าที่จะสื่อสารกับคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัว หลายคนรู้สึกมีความสุขที่ได้โพสรูปภาพหรือบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านสังคมออนไลน์ มากกว่าที่จะเล่าให้เพื่อนฝูงหรือคนรู้จักฟัง การที่เราค่อยๆ ให้ความสำคัญกับโลกออนไลน์หรือที่หลายคนเรียกว่า “โลกเสมือนจริง” (หมายถึงโลกที่ถูกสมมติขึ้น แต่ว่าส่งผลกระทบต่อชีวิตจริง) เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน หน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ต่อผู้คนรอบข้าง และรวมถึงสุขภาพ  ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ   สัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเป็น “โรคติดจอ” -เป็น “โนโมโฟเบีย” (Nomophobia) ที่ย่อมาจาก “no mobile phone phobia” แปลว่า “โรคกลัวไม่มีมือถือใช้” จัดเป็นโรคจิตประเภทหนึ่ง อยู่ในกลุ่มของพวกที่มักวิตกกังวลมากเกินไป เป็นที่อาการของคนติดมือถือแบบสุดๆ จะเริ่มรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวายใจทันทีที่โทรศัพท์มือถือแบตหมด หรือไปอยู่ในที่ที่ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต เพราะปกติจะเป็นคนที่หมกมุ่นอยู่กับหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ต คอยแต่จะเช็คข้อความ จดจ่ออยู่กับเฟซบุ๊ค เฝ้าหน้าจอว่าใครจะมากดไลค์เราบ้าง ถ้าได้ยินเสียงเตือนจากมือถือเมื่อไหร่จะต้องรีบคว้ามือถือขึ้นมาเช็คทันที หรือตื่นเช้าปุ๊บก็ต้องรีบคว้ามือถือขึ้นมาดูเป็นสิ่งแรก ใครที่กำลังมีพฤติกรรมแบบนี้ขอเตือนว่าคุณกำลังเข้าข่ายเป็น “โนโมโฟเบีย”   -อัพสเตตัส คือ กิจวัตรประจำวัน หลายคนให้คำนิยามว่า เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ คือไดอารี่ของคนในยุคปัจจุบัน รู้สึกอะไร คิดอะไร ก็เขียนระบายลงไปในเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เขียนปุ๊บก็โพสต์ปั๊บออนไลน์ทันที กลายเป็นไดอารี่ที่ต้องการสื่อสารสู่โลกภายนอก ไม่ได้แค่อยากเขียนระบายเงียบๆ เก็บไว้อ่านคนเดียวเหมือนการเขียนไดอารี่แบบเมื่อก่อน เพราะมีความอยากบอกต่อให้คนอื่นได้รู้ แถมบางครั้งก็ต้องการการโต้ตอบกลับจากคนอื่นๆ ในสังคมออนไลน์ เกิดเป็นความคาดหวัง การต้องการความสนใจ ซึ่งบางคนเมื่อไม่ได้รับการสนองตอบหรือได้รับแต่ไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง ความรู้สึกไม่ดี ความทุกข์ใจ ไม่พอใจ ก็อาจเกิดขึ้นตามมา กลายเป็นว่าต้องมาทุกข์ใจกับสิ่งที่ตัวเองโพสต์ไว้   -อะไรมาใหม่ก็ต้องขอมีส่วนร่วม พฤติกรรมอย่างหนึ่งของคนที่คอยเฝ้าอยู่แต่หน้าจอ ก็คือกลัวตามกระแสไม่ทัน เรื่องไหนที่โลกออนไลน์กำลังนิยมกัน ก็ต้องขอเข้าไปมีส่วนรวม ต้องขอแชร์ ขอเขาไปคอมเม้นต์ บางคนก็เอาใจไปฝักใฝ่กับเรื่องนั้นๆ มากเกินไป ทั้งๆ ที่เรื่องนั้นไม่ได้เกี่ยวกับข้องใดๆ กับเรา ไม่ได้มีผลกับชีวิต กลายเป็นว่าต้องไปเสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่ได้มีความสำคัญกับตัวเอง แถมบางคนก็จริงจังเอาเก็บมาคิดให้ปวดหัวให้เป็นทุกข์กับตัวเองโดยใช่เหตุ   -“เฟซบุ๊ค” ทุก (ข์) เวลา หลายคนอาจจะคิดว่าเฟซบุ๊คช่วยให้เรามีเพื่อนเพิ่มขึ้น ได้เจอกับเพื่อนเก่าที่ไม่ได้ติดต่อกันมานาน แล้วก็ยังได้เจอกับเพื่อนใหม่ๆ อยู่เสมอ คนที่เล่นเฟซบุ๊คก็น่าจะเป็นคนที่มีความสุข มีเพื่อนเยอะ แต่ก็มีนักจิตวิทยาหลายคนที่ระบุว่าจริงๆ แล้วคนที่ติดเฟซบุ๊คหลายคนมีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า (Facebook Depression Syndrome) เพราะคนเหล่านั้นยึดติดอยู่กับโลกในสังคมออนไลน์มากเกินไป จนลืมคิดถึงโลกของความเป็นจริง เวลาที่ไม่ได้รับการตอนสนองจากสังคมออนไลน์ก็จะรู้สึกเหมือนว่าตัวเองถูกทอดทิ้ง รู้สึกเหงา ไม่มีคนสนใจ เมื่อยิ่งรู้สึกไม่ดีมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งหาทางระบายผ่านในโลกออนไลน์มากขึ้นเท่านั้น ในโลกของสังคมออนไลน์หลายอย่างเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ในเฟซบุ๊คคนส่วนใหญ่คงไม่มีใครที่อยากจะโพสต์ภาพหรือเรื่องราวแย่ๆ หรือส่วนที่ไม่ดีของตัวเองให้คนอื่นรู้ เราจึงได้เห็นแต่ชีวิตที่สมบูรณ์แบบของใครต่อใครอยู่ในสังคมออนไลน์ บางคนนำสิ่งเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับตัวเองแล้วรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า ก็กลายเป็นการสร้างความทุกข์ให้กับตัวเอง   -รู้สึกเหงาใจถ้าไม่มีใคร line มาหา โปรแกรมไลน์ (line) ถือเป็นโปรแกรมสื่อสารผ่านข้อความที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอยู่ในเวลานี้ หลายคนสื่อสารผ่านไลน์มากกว่าที่จะพุดคุยโดยตรงด้วยการโทรศัพท์เพราะสะดวกกว่า ที่สำคัญโปรแกรมไลน์สามารถส่งข้อความคุยพร้อมกันแบบเป็นกลุ่มครั้งละหลายๆ คนได้ ส่งภาพ ส่งวิดีโอ และมีลูกเล่นต่างๆ ที่น่าสนใจ หลายคนจึงเลือกใช้ไลน์เป็นโปรแกรมแรกๆ ในการติดต่อสื่อสาร นอกจากนี้ไลน์ยังกลายมาเป็นโปรแกรมที่หลายคนนิยมใช้สำหรับหาเพื่อนใหม่ ผ่านเว็บไซต์ที่มีการโพสไอดีไลน์หาเพื่อนคุย หาเพื่อนแชท ทำให้หลายๆ คนติดการสื่อสารในไลน์ บางคนแชทคุยไลน์ได้เป็นวันๆ แต่บางครั้งการที่เราแชทไลน์ไปหาเขาใช่ว่าเขาจะต้องไลน์ตอบกลับมา บางคนถึงขั้นทุกข์หนักหากเวลาที่แชทไลน์ไปแต่อีกฝ่ายแค่เปิดอ่านไม่ยอมตอบกลับ   -ยอด like ไม่กระเตื้อง เห็นแล้วเคืองใจ คนที่ติดเฟซบุ๊ค ชอบโพสต์ชอบแชร์สิ่งต่างๆ มักจะเป็นคนที่โหยหาการกด “ถูกใจ” หรือ “ไลค์” (like) จากคนในสังคมออนไลน์ บางคนที่ขั้นนั่งเฝ้านั่งคอยยอดไลค์ เพราะถ้าเห็นคนมากดไลค์มาคอมเม้นต์เยอะๆ แล้วรู้สึกดีมีความความสุข แต่ถ้าเป็นตรงกันข้ามโพสต์อะไรไปก็ไม่มีคนมาไลค์ แชร์อะไรไปก็ไม่มีคนสนใจ ก็จะกลายเป็นไม่สบอารมณ์ขึ้นมาทันที รู้สึกแย่ รู้สึกตัวเองด้อยค่า ไม่มีใครสนใจ กลายเป็นโรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ค -“เซลฟี่” นี้เพื่อทุกคน การเสพติดการถ่ายภาพตัวเอง หรือที่นิยามกันแบบสากลว่า “เซลฟี่” (selfie) กำลังเป็นพฤติกรรมของคนติดจอทั่วโลก ซึ่งการรักการถ่ายภาพตัวเอง ความอยากที่จะแสดงตัวตนในสังคมออนไลน์ไม่ใช่เรื่องผิด แต่หากมีอาการถึงขั้นที่จะต้องเซลฟี่ในทุกๆ เรื่องที่ทำ บอกโลกให้รู้ในทุกอย่างที่ตัวเองทำ แถมยังต้องเป็นรูปที่ตัวเองต้องดูดีที่สุดเท่านั้น หากไม่ดีพอก็จะต้องขอถ่ายใหม่ หรือจะต้องใช้โปรแกรมแต่งภาพช่วยก็ยอม ขอแค่รูปที่โพสต์ไปมีคนมากดไลค์กดถูกใจ มีคนมาคอมเม้นต์ชื่นชมจนตามอ่านไม่ทัน แต่ถ้ารูปไหนโพสต์ไปแล้วไม่ได้รับการตอบรับก็จะรู้สึกแย่ทันที นักจิตวิทยาหลายคนออกมาแสดงความเป็นห่วงคนที่ชอบเซลฟี่แล้วซีเรียสกับการปรับแต่งรูปภาพของตัวเองให้ดูดี ดูสวย ดูขาว กว่าความเป็นจริงว่า อาจกลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในโลกความเป็นจริง แม้ในสังคมออนไลน์จะดูเป็นคนมีความมั่นใจกล้าแสดงออก แต่นั่นเป็นเพราะได้ผ่านการปรุงแต่งจนตัวเองพอใจแล้ว แต่พอมาในโลกความเป็นจริงไม่มีโปรแกรมหรือแอพลิเคชั่นมาช่วย ก็คอยแต่รู้สึกกังวลใจว่าตัวเองจะดูไม่ดี คนที่มองมาจะคิดกับเราแบบไหน กลายเป็นว่าชีวิตจริงก็อาจจะหันไปหาวิธีช่วยอย่างการผ่าตัดศัลยกรรมหรือพึ่งพวกอาหารเสริมนู้นนี่นั่นที่ขายกันเกลื่อนในอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็มีข่าวอาหารเสริมเครื่องสำอางปลอมใช้แล้วหน้าพัง กินแล้วป่วย หรือพวกหมอศัลยกรรมเถื่อนทำคนไข้เสียชีวิตให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวของคนที่เสพติดเซลฟี่และแสวงหาความสมบูรณ์แบบมากจนเกินไป ----------------------------------   รีบจัดการตัวเองก่อนเป็น “โรคติดจอ” -วิธีที่จะทำให้เราไม่เป็นโรคติดจอในยุคสังคมก้มหน้า สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการต้องรู้จักควบคุมตนเอง รู้จักใช้อุปกรณ์สื่อสาร โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์ เท่าที่จำเป็น เลือกใช้ในด้านที่เป็นประโยชน์กับตัวเรา ไม่ใช่ใช้จนไปเบียดบังกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน -เราสามารถเลือกใช้โปรแกรมโซเชียลมีเดียเท่าที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อเรา ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกอย่างที่มี ไม่จำเป็นต้องตามกระแส -อย่าไปจริงจังหรือยึดติดกับเรื่องราวในโซเชียลมีเดีย -รู้จักที่จะใช้เวลากับคนรอบข้างให้มากขึ้น เวลาไปกินข้าวกับเพื่อนๆ คนในครอบครัว ก็ควรเก็บมือถือไว้บ้าง ไม่ต้องเอาขึ้นมาวางไว้ใกล้ตัว -ไม่จำเป็นต้องพกมือถือตลอดเวลา -ปิดมือถือเวลาที่เข้านอน -ไม่ต้องตั้งเตือนเมื่อมีข้อความเข้า เราจะได้ไม่ต้องคอยพะวงว่ามีใครส่งอะไรมาหาเรา ค่อยมาอ่านเมื่อมีเวลาว่างก็ได้ -หากิจกรรมอย่างอื่นทำนอกจากแค่เล่นมือถือหรือแท็บเล็ต อย่างเช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ไปดูหนัง ฯลฯ -ใช้วิธีโทรศัพท์คุยกันบ้าง แทนที่จะส่งเพียงข้อความ โดยเฉพาะยิ่งถ้าเป็นธุระสำคัญๆ -ลองหาวันหยุดสัก 1 วันใน 1 สัปดาห์หรือใน 1 เดือน ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือหรือโซเชียลมีเดียใดๆ ลองดูสิว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรบ้าง   10 เรื่องที่  “ไม่” ควรทำ เมื่อใช้โซเชียลมีเดีย 1.ไม่โพสข้อมูลสำคัญของตัวเองลงในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น เลขที่บัตรประชาชน เลขที่บัตรเครดิต ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือแม้แต่อีเมล เพราะอาจมีมิจฉาชีพที่แฝงตัวอยู่ในโซเชียลมีเดีย นำข้อมูลสำคัญเหล่านี้ของคุณไปใช้หาประโยชน์ ทำให้คุณเสียทรัพย์ เสียชื่อเสียง ใครที่ยังคิดว่าเฟซบุ๊คคือพื้นที่ส่วนตัว อยากจะโพสต์อะไรก็ได้เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ โพสต์นะโพสต์ได้แต่คุณก็ต้องพร้อมจะรับผิดชอบในผลที่ตามด้วยเช่น ที่สำคัญคือเฟซบุ๊คไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว ถึงแม้คุณจะตั้งค่าความเป็นส่วนตัว แต่ถึงอย่างไรสิ่งที่คุณโพสต์ก็จะถูกบันทึกไว้โดยผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียเหล่านั้นไป ไม่ว่าจะเป็นการกดไลค์กดแชร์ใดๆ ในเฟซบุ๊ค ทุกสิ่งจะถูกระบบนำไปประมวล แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นที่ได้จากคุณไปขายหรือแลกเปลี่ยนให้บริษัทธุรกิจต่างๆ ทั้งบริษัทวิจัย บริษัทสถิติ บริษัทโฆษณา 2.ไม่ส่งต่อ รูปภาพ ข้อความ ที่อาจสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น เพราะในโลกของโซเชียลมีเดียทุกอย่างล้วนแต่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งบางครั้งความเร็วอาจสร้างความเสียหายอย่างที่คุณเองอาจคาดไม่ถึง การส่งต่อข้อมูลต่างในโซเชียลมีเดีย จึงต้องมีความระมัดระวัง เพราะการกดแชร์เพียงครั้งเดียวของคุณ อาจสร้างความเสียหายให้กับคนอื่นๆ หรือแม้แต่ตัวคุณเอง หากสิ่งที่คุณแชร์เป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย ข้อมูลที่สร้างความความใจผิดในสังคม หรือเป็นข้อมูลที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับผู้อื่น เพราะใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มีการระบุไว้ชัดเจนว่า แม้คุณจะใช้คนต้นคิดที่สร้างความเสียหายนั้น แต่ในฐานะคนที่ส่งต่อก็มีความผิดด้วยเช่นกัน 3.ไม่รับคนที่ไม่รู้จักเป็นเพื่อน ยิ่งคุณมีเพื่อนในเฟซบุ๊คมากเท่าไหร่ก็ยิ่งอันตรายมากขึ้นเท่านั้น คนที่รู้สึกดีกับการที่มีเพื่อนเป็นพันๆ คนในเฟซบุ๊ค จงตระหนักไว้ให้ดีว่าในเพื่อนจำนวนหลายพันคนนั้น อาจจะมีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาหวังหาประโยชน์จากตัวคุณก็เป็นได้ เชื่อแน่ว่าคนที่มีเพื่อนในเฟซบุ๊ค 1,000 คน อาจมีคนที่คุณรู้จักจริงๆ ไม่ถึง 100 คนด้วยซ้ำ อย่าลืมว่าสิ่งที่คุณโพสต์ลงในเฟซบุ๊ค มีคนจำนวนหลายพันคนเห็นสิ่งนั้น หากมันเป็นข้อมูลสำคัญของคุณอาจถูกมิจฉาชีพนำไปใช้ประโยชน์หรือสร้างความเสียหายให้กับคุณ 4.ไม่คลิ้กหรือโหลดโปรแกรมที่ไม่น่าไว้ใจ ในโปรแกรมโซเชียลมีเดียมักจะมีโปรแกรมเสริมอื่นๆ คอยมาเสนอให้เราโหลดเพิ่มอยู่เสมอ หรือจะเป็นพวกคลิปวิดีโอแปลกๆ ที่ชอบโผล่ออกมาล่อใจให้คนใช้โซเชียลมีเดียต้องเผลอคลิ้กเข้าไปดู ซึ่งมันอาจเป็นไวรัสทำลายมือถือหรือคอมพิวเตอร์ของคุณ หรืออาจเป็นโปรแกรมของแฮ็กเกอร์ที่หวังจะมาล้วงข้อมูลต่างๆ ของคุณไปหาประโยชน์ 5.ไม่โพสต์หรือให้ข้อมูลของญาติ เพื่อน หรือคนที่คุณรู้จัก นอกจากข้อมูลของตัวคุณเองที่ไม่ควรเปิดเผยในโซเชียลมีเดียแล้ว ข้อมูลสำคัญๆ ของคนใกล้ตัวคุณอย่างญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน ก็ไม่ควรนำมาเปิดเผยในโซเชียลมีเดีย เพราะเคยมีกรณีที่มิจฉาชีพนำข้อมูลของผู้ใช้โซเชียลมีเดียไปแอบอ้างสร้างเรื่องโกหกกับญาติของผู้ใช้โซเชียลมีเดียคนนั้น แล้วหลอกให้โอนเงินไปเข้าบัญชีของมิจฉาชีพ เพราะฉะนั้นการแสดงข้อมูลที่ระบุถึงตัวเราและคนใกล้ตัวจึงต้องอาศัยความระมัดระวังอย่างมาก 6.ไม่แสดงสถานที่ที่คุณอยู่หรือกำลังจะไป ในโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ค หรือ อินสตาแกรม จะมีส่วนที่เรียกว่า “check in” หรือการแสดงตำแหน่งที่อยู่ของเรา ซึ่งการแสดงที่อยู่ ณ ขณะนั้นของเราอาจกลายเป็นภัยแก่ตัวเอง เพราะไม่แน่ว่าอาจมีมิจฉาชีพหรือผู้ที่ไม่หวังดีต่อเรา จ้องคอยทำร้ายเราอยู่ ซึ่งหากใครไม่ต้องการแสดงตำแหน่งที่อยู่ในเวลาที่โพสต์สิ่งต่างๆ ในโซเชียลมีเดียสามารถเลือกปิดการแสดงตำแหน่งที่อยู่ได้ โดยปิดในมือถือหรือแท็บเล็ตที่เมนูตั้งค่าความเป็นส่วนตัว 7.ไม่ตั้งรหัสผ่านที่เดาง่ายเกินไป สิ่งแรกๆ ที่เหล่าแฮ็กเกอร์จะขโมยในระบบโซเชียลก็คือ รหัสผ่าน (password) เพราะถ้าสามารถรู้รหัสผ่านได้ก็สามารถเจาะเข้าไปหาข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นการป้องกันขั้นแรกคือต้องตั้งรหัสผ่านให้มีความยากต่อการคาดเดาของพวกแฮ็กเกอร์และมิจฉาชีพ วิธีที่นิยมใช้กันก็คือ ตั้งรหัสผ่านที่มีทั้งตัวอักษรและตัวเลขผสมกัน มีทั้งตัวอักษรเล็กและอักษรใหญ่ 8.ไม่พิมพ์แอดเดรสของโซเชียลเว็บไซต์ที่ใช้งานอยู่ลงบนเบราเซอร์ที่ไม่น่าไว้วางใจ อีกหนึ่งกลยุทธ์ของพวกแฮ็กเกอร์ก็คือสร้างหน้าเบราเซอร์ (web browser) หรือลิงค์ (link) ปลอมขึ้นมา เพื่อหลอกให้ผู้ใช้คลิ้กหรือกดเข้าไปยังเว็บโซเชียลมีเดียที่ใช้งานอยู่ เพื่อลอบขโมยข้อมูลอย่าง ชื่อผู้ใช้งาน (username) และรหัสผ่าน (password) ไปใช้งานในทางที่ผิด 9.ไม่เปิดโปรแกรมโซเชียล มีเดียทิ้งไว้ในเวลาที่คุณไม่ได้อยู่ที่หน้าจอ การล็อคอินหน้าเว็บโซเชียลมีเดียของคุณทิ้งไว้ ขณะที่คุณไม่ได้อยู่ตรงหน้าจอ อาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่คุณคาดไม่ถึง หลายคนคงเคยเจอเหตุการณ์เปิดเฟซบุ๊คทิ้งเอาไว้ แล้วมีเพื่อนมาแอบเล่นโฟสต์อะไรบ้าๆ บอๆ แกล้งเรา กลายเป็นภาระให้ต้องตามแก้ตัว ตามลบสิ่งที่เพื่อนโพสต์แกล้งเราไว้ แต่หากบังเอิญว่าคนที่แอบใช้โซเชียลมีเดียของเราไม่ใช่เพื่อนเรา แต่ถ้าเป็นผู้ไม่หวังดีหรือมิจฉาชีพ เข้ามาขโมยข้อมูลสำคัญๆ ของเราไป อาจนำความเสียหายร้ายแรงมาสู่เราได้ 10.ไม่เชื่อข้อความแปลกๆ ที่ส่งมาโดยเพื่อนของคุณในทันที การแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นในโซเชียลมีเดียถือเป็นเรื่องพบเห็นได้ทั่วไป เพราะฉะนั้นถึงแม้จะมีข้อความที่มาจากเพื่อนของคุณหรือในคนที่คุณรู้จักในโซเชียลมีเดีย แต่ก็อย่าเพิ่งแน่ใจว่านั้นเป็นเพื่อนของคุณจริงๆ ยิ่งถ้าเป็นข้อความที่น่าสงสัย หรือเป็นลิงค์ที่ต้องมีการโหลดหรือคลิ้กต่อ ห้ามคลิ้กดูทันทีโดยเด็ดขาด เพราะนั้นอาจเป็นไวรัสคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือของพวกแฮ็กเกอร์ ที่หวังมาลวงข้อมูลหรือสร้างความเสียหายให้กับคอมพิวเตอร์ของคุณ เพื่อความแน่ใจที่สุด คุณควรสอบถามกับเพื่อนของคุณก่อนว่านั้นคือข้อความที่เขาตั้งใจส่งมาหาคุณหรือเปล่า ถ้าเป็นไปได้ควรใช้วิธีโทรศัพท์ถามกับเพื่อนของคุณโดยตรง   สังคมก้มหน้ากับผลเสียต่อสุขภาพ สายตา – การมองภาพในมือถือ แท็บเล็ต หรือ คอมพิวเตอร์นานๆ จะทำประสาทตาล้า ตาแห้ง ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นสาเหตุให้จอประสาทตาเสื่อมเร็วขึ้น คอ – เวลาที่นั่งก้มหน้าเล่นมือถือหรือแท็บเล็ตนานๆ จะทำให้คอและบ่าเกิดอาการเมื่อยล้า ถ้าอาการหนักมากๆ ก็อาจจะส่งผลรุนแรงถึงขั้นปวดคอ ขยับคอลำบาก ไปจนถึงทำให้รู้สึกหัวหรือเวียนหัว หลัง – การนั่งในท่าเดิมนานๆ อาจทำให้หลังเกิดอาการเกร็ง ซึ่งการก้มคอนานๆ ก็ส่งผลให้หลังเกิดอาการปวด เมื่อยล้า ได้ด้วยเช่นกัน ระบบการหายใจ – การนั่งเล่นมือถือ แท็บเล็ต ในท่าเดิมนานๆ นอกจากจะทำให้ปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่แล้วนั้น ยังส่งผลต่อระบบการไหลเวียนของเลือด ระบบการหายใจ การนั่งหลังงุ้มจะทำให้หายใจไม่สุดปอด หายใจสั้นติดขัด ส่งผลเสียต่อสุขภาพ นิ้วมือ – การใช้นิ้วมือกด พิมพ์ จิ้ม บนจอมือถือและแท็บเล็ตนานๆ จะทำให้นิ้วรู้สึกชา ปวดข้อมือ ปวดที่บริเวณโคนนิ้วโป้ง หากทิ้งไว้นานๆ อาจทำให้เกิดอาหารนิ้วล็อก เส้นเอ็นข้อมืออักเสบ สภาวะอารมณ์ – การเล่นโซเชียลมีเดียมากเกินไป จนขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างในโลกความจริง อาจทำให้กลายเป็นคนเก็บตัว บางคนสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ขาดทักษะในการสื่อสารกับผู้อื่น หากหมกมุ่นในโลกโซเชียลมีเดียมากเกินไป หรือเจอเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจในโลกโซเชียล ก็จะมีอาการเครียดและเป็นทุกข์ใจมากกว่าเวลาที่อยู่ในโลกความจริง   อย่าปล่อยให้สมาร์ทโฟน – แท็บเล็ตเป็นพี่เลี้ยงเด็ก พ่อ-แม่หลายคนเต็มใจซื้อสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตให้ลูก เพราะคิดว่าลูกจะได้มีความรู้ เป็นเด็กทันสมัย ลูกจะได้มีกิจกรรมทำเวลาว่าง ซึ่งเหตุผลที่ยกมาก็ต้องบอกว่าพ่อ – แม่คิดไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะแท็บเล็ตแม้จะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ดีๆ ที่เด็กสามารถค้นหาได้จากในอินเตอร์เน็ต มีโปรแกรมดีๆ ที่ใช้ฝึกความรู้ของเด็กๆ ได้ แต่เรื่องที่ไม่ดี สิ่งที่เป็นอันตรายต่อเด็กก็มีซ้อนเร้นอยู่มากไม่แพ้กัน การปล่อยให้เด็กใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเราจะวางใจได้อย่างไรว่าเด็กจะไม่ถูกสิ่งที่ไม่ดีทำร้าย? เด็กที่ใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมากเกินไป จะส่งผลให้กลายเป็นเด็กสมาธิสั้น มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย นอกจากนี้ยังทำให้ขาดปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหา ขาดการคิดไตร่ตรองในการวิเคราะห์ข้อมูล บางคนก็มีปัญหาในเรื่องทักษะการพูด การสื่อสารกับผู้อื่น เด็กบางคนติดมากจนไม่ยอมกินข้าว ไม่ทำกิจกรรมอื่น ในระยะยาวก็ส่งผลต่อสุขภาพทั้งเรื่องของสายตา นิ้วมือ ข้อมือ การควบคุมการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตกับเด็กๆ จึงเป็นหน้าที่สำคัญของพ่อ – แม่ ควรมีการกำหนดเวลาในการใช้ให้กับเด็กๆ ไม่ควรเกินวันละ 1 – 2 ชั่วโมง เวลาที่เด็กใช้ควรอยู่ในสายตาของพ่อ – แม่ ถ้าเป็นไปได้พ่อ – แม่ควรเล่นไปพร้อมกันกับเด็ก คอยสอนให้เด็กรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี สอนให้เด็กรู้ว่าอันตรายจากการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต และโซเชียลมีเดียมีอะไรบ้าง -ประเทศไทยมีผู้ใช้ facebook สูงถึง 28 ล้านคน หรือคิดเป็น 42% ของประชากรทั้งประเทศ -ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีผู้ใช้ facebook มากเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยอันดับ 1 คือประเทศสหรัฐอเมริกา ที่จำนวน 180 ล้านราย -โซเชียลมีเดีย 3 อันดับยอดนิยมของคนไทย คือ 1.facebook 28 ล้านราย, 2.instagram 1.7 ล้านราย และ 3.twitter  4.5 ล้านราย -สิ่งคนไทยนิยมใน facebook มากที่สุดคือ  โพสต์รูปภาพ 57% รองลงมาคือ เช็คอิน 33% โพสต์พร้อมลิงค์ 21% วิดีโอ 3% และ โพสต์สถานะเฉยๆ 2% ที่มา : ข้อมูลจากงาน Thailand Zocial Awards 2014 โดย Zocial inc

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 164 ยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร

บทนำ เมื่อ อเล็คซานเดอร์ เฟลมมิ่ง ค้นพบเพนนิซิลลิน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลก ถือเป็นความยิ่งใหญ่ในการรักษาโรคติดเชื้อในคน ซึ่งในยุคนั้น มีปัญหาโรคติดเชื้อมากมาย และผู้คนต้องเสียชีวิตจำนวนมาก  เขาได้บรรยายในวันที่รับรางวัลโนเบล เมื่อปีพ.ศ.2492 ว่า มันเป็นการไม่ยากที่จะก่อให้เกิดการดื้อยาในเชื้อแบคทีเรีย เมื่อใช้ยาในขนาดน้อย ๆ ที่ไม่เพียงพอในการกำจัดเชื้อโรค จะนำไปสู่เชื้อที่มีความดื้อด้านทนทานต่อยามากขึ้น แต่ดูเมือนผู้คนยังไม่ตื่นตระหนก จึงยังคงใช้ยาปฏิชีวนะกันมากมาย อย่างไม่ระมัดระวัง ใช้ไม่ถูกต้อง ใช้เกินจำเป็น ตลอดมา องค์การอนามัยโลกได้สะท้อนปัญหาเชื้อดื้อยามานานแล้ว ตั้งแต่ปีพ.ศ.2541 และมีรายงาน มีเอกสารยุทธศาสตร์ มีมติต่าง ๆ ออก มาอยางต่อเนื่อง โดยล่าสุดคือในปีนี้เอง มีรายงานขององค์การอนามัยโลกที่ สะท้อนผลการสำรวจสถานการณ์การดื้อยาทั่วโลก[1] พบว่ามีสถานการณ์เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพอยู่ในระดับเลวร้ายมาก และพบช่องว่างการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหารมาก เมื่อเทียบกับในคน  ในสมัชชาอนามัยโลก ปีพ.ศ. 2557 (WHA67.25)[2] จึงมีมติแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ และเรียกร้องประเทศสมาชิกให้รีบเร่งดำเนินการต่าง ๆ ถึง 10 เรื่อง เช่น การพัฒนาระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา ใน 3 ด้าน คือผู้ป่วยในสถานพยาบาล ผู้ป่วยนอกและชุมชน และรวมถึง ในสัตว์และการใช้ในส่วนที่ไม่ใช่คน เช่น ในการเกษตร  การมีนโยบายของประเทศที่ชัดเจน เป็นต้น เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจ  World Economic Forum ซึ่งเป็นองค์ด้านเศรษฐกิจ มีการประชุมและจัดทำรายงายทุกปี  ซึงเมื่อปีพ.ศ. 2556 ได้จัดทำรายงาน เกี่ยวกับสภาวะปัจจัยเสี่ยงของโลก Global Risk 2013[3] และหนึ่งในความเสี่ยงที่ได้หยิบยกมา เป็นโรคแห่งความอหังกาของมนุษย์โดยแท้  คือเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพและรวมถึงยาปฏิชีวนะด้วย  ที่เกิดทั้งจากการใช้ในคนและใช้สัตว์อย่างไม่ระมัดระวัง ปัญหาเกิดจากการรักษาในคนและ การนำมาใช้ในการเกษตร ทั้งการปลูกพืช และในการเลี้ยงสัตว์ (ปศุสัตว์ และประมง) มีการสะท้อนปัญหาของการดื้อยาปฏิชีวนะ นำไปสู่ปัญหาไม่มียาปฏิชีวนะใช้  และอนาคต ผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร เรื่องสิ่งแวดล้อม และนิเวศน์วิทยา และเรียกร้องทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ผลิต ผู้ควบคุม ไปจนถึงผู้ใช้ในทุกระดับ ให้ตระหนักเรื่องนี้ให้มากกว่าปกติ จึงควรมาทำความเข้าใจถึงเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะและปัญหาเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร  พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ให้คำจำกัดความ ของ “ห่วงโซ่อาหาร[4]” ว่า หมายความว่า วงจรการผลิตอาหารตั้งแต่วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต การเพาะปลูก การเพาะเลี้ยง การตัดแต่ง การแปรรูป การขนส่ง การปรุง การประกอบ การบรรจุ การเก็บรักษา การจัดจำหน่าย การกระจาย จนถึงผู้บริโภค รวมทั้งการนำเข้า การนำผ่าน และการส่งออก สถานการณ์ของประเทศไทย สถานการณ์มีได้ 2 ลักษณะ คือ กลุ่มแรก พบมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์สัตว์ เช่น  ไก่ กุ้ง ซึ่งพบมีรายงานมานานแล้ว อีกกลุ่มที่น่ากลัวและพบรายงานเร็ว ๆ นี้ คือการพบเชื้อ และโดยเฉพาะเชื้อดื้อยาในผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับมนษย์ เช่นไก่ รายงานในปี พ.ศ. 2545 พบว่า มีการตรวจพบ สารตกค้างของยาปฏิชีวนะในกลุ่มไนโตฟูแรน (Nitrofurans) ในสินค้ากุ้งและไก่แช่แข็งจากประเทศไทยที่ส่งไปที่สหภาพยุโรป ส่งผลให้มีการระงับการนำเข้าและส่งคืนสินค้าที่มาจาก ประเทศไทย รวมถึงมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ตั้งข้อกำหนดที่เข้มงวด เช่น การตรวจสอบสารตกค้างทุกครั้งที่นำเข้า ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์ มีการตรวจพบเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาแวนโคมัยซิน (vancomycin) ในเนื้อไก่ที่ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น มีรายงานอื่น ๆ อีกมากมาย เช่นการตรวจพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในบ่อเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ที่สงขลา [5] รุ่งทิพย์ ชวนชื่น[6] (2553) ได้ศึกษาพันธุกรรมการดื้อยาและการปรากฏของ virulence factors ในเชื้อ Salmonella enterica ที่แยกได้จากโคนม เนื้อสุกรและผู้ป่วย  พบการแพร่กระจายของเชื้อ Samonella ดื้อยาในฟาร์มโคนม เนื้อสุกรและผู้ป่วย โดย class 1 integrons มีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายและการถ่ายทอดพันธุกรรมการดื้อยาในเชื้อเหล่านี้ รวมทั้งเชื้อเหล่านี้ยังมีปัจจัยก่อความรุนแรงของโรค ผลการวิจัยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อการบริโภคอย่าง รวมถึงการส่งเสริมให้การศึกษาพันธุกรรมการดื้อยาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทราบปัญหาที่แท้จริงของการดื้อยาในเชื้อและสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ มีรานงานการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล[7] ว่าทำการตรวจสอบเนื้อไก่สดที่แพ็กขายในซุปเปอร์มาร์เกต พื้นที่ใกล้เคียง รพ.ศิริราช จำนวน 200 แพ็ก พบว่าเกินครึ่ง (56.7%) มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในลำไส้ใหญ่ของคนทั่วไป และเชื้อซัลโมเนลลา เอนเตอโรติก้า (Salmonella enteritica) ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง พบว่าเกินค่ามาตรฐานที่ 500 ตัว ต่อ 25 กรัมของเนื้อสัตว์  และในจำนวนเชื้อที่ปนเปื้อนทั้ง 2 ชนิดเป็นเชื้อดื้อยาถึงร้อยละ 40 อาจจะทำให้คนทั่วไปได้รับเชื้อดื้อยาโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงน่าเป็นห่วงว่ายังมีการใช้จนได้ตรวจพบยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับคนอีกต่อไปหรือไม่ และเป็นยาปฏิชีวนะประเภทใด พบในผลิตภัณฑ์ชนิดใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจพบเชื้อดื้อยา พบเชื้ออะไรอีกบ้าง และดื้อต่อยาปฏิชีวนะชนิดใด  เหล่านี้เกิดมาได้อย่างไร ผลเสียหายต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ รุนแรงและมากมายเพียงใด ระบบเฝ้าระวังเรื่องนี้เป็นอย่างไร ศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ [8] (National Antimicrobial Resistance Surveillance Thailand, NARST) ดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2541 มีรายงานต่อเนื่องทุกปีถึงสถานการณ์เชื้อดื้อยาในมนุษย์ โดยได้ตัวอย่างมาจากโรงพยาบาลเป็นหลัก จึงยังมีตัวอย่างจากชุมชนไม่มากนัก รายงานจากกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2556 และ 2557[9] ระบุว่าคนไทยติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะปีละกว่า 1 แสนคน ใช้เวลารักษาตัวนานขึ้นรวมกันปีละกว่า 3 ล้านวัน ในปี 2553 มีผู้ป่วยติดเชื้อชนิดดื้อต่อยาปฏิชีวนะ 5 ชนิด เสียชีวิต 38,481 ราย เชื้อจุลชีพ 5 ชนิด ได้แก่ 1.เอสเชอริเชีย โคไลหรืออี.โคไล (Escherichia coli) ที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและทางเดินอาหาร 2.เคลบซีลลา นิวโมเนอี (Klebsiella pneumoniae) ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอดอักเสบ 3.เชื้ออะซีนีโตแบคเตอร์ บอแมนนิอาย (Acinetobactor baumannii) เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดบวม 4.ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) ทำให้เกิดโรคติดเชื้อหลายระบบของร่างกาย เช่น โรคปอดบวม ติดเชื้อในกระแสเลือด และ5.สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ที่ดื้อต่อยาเมทิซิลิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อันได้แก่ กรมประมง กรมปศุสัตว์ มีหน้าที่เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาเฉพาะในสัตว์ที่หน่วยงานรับผิดชอบ  แต่ยังมีกลุ่มเกษตรกรรมที่ใช้ยาปฏิชีวนะในการปลูกพืช  ยังไม่มีระบบการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาที่ชัดเจน มีเพียงงานวิจัยประปรายที่ระบุการพบการตกต้างของยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์ และมีการศึกษาในภายหลังถึงการพบเชื้อดื้อยาด้วย ที่น่าอันตรายมากต่อผู้รับประทาน และต่อสุขภาพเกษตรกรด้วย ห่วงโซ่อาหาร มียาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยามาอยู่ได้อย่างไร การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์มีวัตถุประสงค์ หลัก 3 ประการ คือ เพื่อการรักษา เพื่อการป้องกันโรค และเพื่อเร่งการเจริญเติบโตวิธีการให้ทั้ง 3 วิธีนี้มีความแตกต่างกันไป เชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้นในสัตว์นั้นสามารถถูกส่งผ่านไปยังคนได้ โดย 3 วิธีหลักๆ คือ[10] 1) การบริโภคเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ จากสัตว์ 2) การสัมผัสกับสัตว์โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสัตว์ และ  3) การรับเชื้อจากสิ่งแวดล้อม เช่น ในแหล่งน้ำและดิน เป็นต้น  มีรายงานของประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า 5 จาก 90 ตัวอย่าง เนื้อหมูที่วางขายในร้านขายของชำในรัฐลุยเซียนามีเชื้อ Methicillin-resistance Staphylococcus aureus (MRSA) อยู่ และมีการศึกษายืนยันความสัมพันธ์ของการใช้ยาในสัตว์และการเกิดเชื้อดื้อยา MRSA ที่ส่งผ่านมายังคน ใจพร พุ่มคำ (2555) อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดปัญหาเชื้อดื้อยาและยาปฏิชีวนะ ตกค้างในเนื้อสัตว์ไว้ 7 ประการ 1. ความจำเป็นของผู้เลี้ยงในการใช้ยาในสัตว์ เนื่องจากโอกาสที่สัตว์จะป่วยมีได้โดยเฉพาะในฟาร์มทีไม่ได้มาตรฐาน 2. การใช้ยาอย่างผิดกฎหมาย เช่นใช้เภสัชเคมีภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาสำเร็จรูป ฉลากไม่ถูกต้องหรือใช้ยาคนไปผสมให้สัตว์กิน ทำให้อาจได้ขนาดไม่ถูกต้อง 3. การใช้ยาอย่างไม่ถูกวิธี เช่น ใช้ยาไม่ตรงกับโรค ผิดขนาด ผิดช่วงเวลา วิธีการใช้ไม่การใช้ยาสูงขึ้น ใช้ยานานขึ้น หรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นที่แรงขึ้น แพงขึ้น 4. ไม่มีการหยุดยาตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้มียาตกค้างในเนื้อเยื่อของสัตว์ในปริมาณที่เป็นอันตรายได้ 5. การไม่ตรวจหาสารตกค้างหรือการตรวจอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ผู้เลี้ยงสัตว์บางรายไม่มีการสุ่มตรวจหาสาร ตกค้างในสัตว์ก่อนการฆ่าหรือจับสัตว์มาบริโภค 6. การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ในการกำกับดูแลสถานที่จำหน่ายยาสัตว์  รวมถึงสถานนำเข้า หรือผลิต เป็นสิ่งสำคัญ หากมีความอ่อนแอและไม่ทั่วถึงย่อมเกิดปัญหาตามมาแน่นอน ถือเป็นการดูแลที่ต้นน้ำ 7. มีระบบติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์การเกิดเชื้อ-ดื้อยา และยาตกค้างในเนื้อสัตว์ ต้องถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และครอบคลุม เช่นเดียวกันว่าหากระบบไม่เข้มแข็งก็ติดตามไม่ทนสถาณการณ์ อย่างไรก็ดี หลายคนตั้งคำถามว่า ประเด็นในเรื่องนี้ อยู่ที่ว่า ในความเป็นจริง การอนุญาตให้ใช้ยาฏิชีวนะในอาหารสัตว์  แล้วพักเวลาก่อนการขาย นั้น ทำให้ตรวจไม่พบไม่มียาปฏิชีวนะตกค้าง   แต่น่าจะป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาในเนื้อสัตว์ ส่วนยาปฏิชีวนะในสวนผลไม้ต่าง ๆ เช่นสวนส้ม ยังไม่มีการศึกษามากนักว่าตกค้างในผลไม้เท่าไหร่ และตกค้างในสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ มีอันตรายแก่ผู้คนอย่างไร โดยเฉพาะการเกิดเชื้อดื้อยา การควบคุมการนำเข้า การกระจายและการใช้ยาปฏิชีวนะของไทย เป็นอย่างไร พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551[11] และฉบับแก้ไข พ..ศ. 2556[12] เป็นการกำหนดมาตรฐาน และออกใบอนุญาต ผลิต ส่งออก และนำเข้า สินค้าเกษตรมาตรฐาน ทั้งนี้ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)[13] ทำหน้าที่ เป็นแกนประสาน รวม 7 ประการ เช่น  เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร   กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้สอดคล้องกับสากล และ รับรองระบบงานผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศไม่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อขายซึ่งอาหารสัตว์ทุกประเภททีมีสารอะโวพาร์ซินเป็นส่วนผสม  จึงมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ ให้ยกเลิกข้อความใน (3) ของข้อ 3 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2538) เรื่อง วัตถุที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นยา ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2538 นั่นคือกลับให้ อะโวพาร์ซิน ( Avoparcin ) ที่อยู่ในสภาพของสารผสมล่วงหน้า กลับไปเป็นยาอย่างเดิม รือยกเลิกไปเลย น่าสับสน น่าสนใจว่า ตั้งแต่พ..ศ. 2522 เป็นต้นมา มีการประกาศยกเว้นให้ยาปฏิชีวนะหลายชนิด ไม่เป็นยา นั่นคือนำไปใช้ผสมในอาหารสัตว์ได้ เช่น ให้ เตตราซัยคลิน และ สเตรปโตมัยซิน ในขนาด ไม่เกิน 15% ใช้ในทางเกษตรกรรมได้ และยกเว้นไม่ถือเป็นยา (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2524 เรื่องวัตถุที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นยา) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 34 (พ.ศ. 2548) เรื่อง วัตถุที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นยา ข้อ 3 ให้ยาต้านจุลชีพที่เป็นสารผสมล่วงหน้า ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการเจริญเติบโตของสัตว์ในด้านเกษตรกรรม ซึ่งได้รับยกเว้นจากการเป็นยาตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2538) รวมทั้งที่ได้ขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 ไว้แล้ว ได้รับยกเว้นจากการเป็นยาเป็นเวลา 2 ปี นับจากวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ และเมื่อพ้นกำหนดแล้ว การผลิต ขายหรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งวัตถุดังกล่าว ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 4 วัตถุตามข้อ 2 และข้อ 3 ต้องไม่แสดงสรรพคุณบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรือความเจ็บป่วยสำหรับสัตว์ จากการสืบค้นในเวปไซต์ ต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะ ความเข้าใจผิด และความละเลยในการใช้    เช่น มีคำถาม ว่าสเตรปโตมัยซิน มีขายที่ไหนเอ่ย?  ที่ใช้กับพืชนะครับ คำตอบคือ  ร้านขายยาปราบศัตรูพืช คุณอยู่ใกล้ที่ไหนลองไปเดินหาดู  ตามตลาดร้านขายยาฆ่าแมลง มีทั่วไป เป็นยาปฏิชีวนะ  ครอบจักรวาล ส่วนมากเขาไม่นิยมใช้ เพราะมีสารตกค้าง  อันตรายต่อคน เขาใช้น้ำหมักชีวภาพ ใช้สารสะเดา หรือไม่  ก็ใช้ตัวฮั่มหรือแตนเบียน ไล่แมลง แต่ในความเป็นจริงมีการอนุญาตตามกฎหมมายให้ยกเว้นจากการเป็นยา ทิศทางการรณรงค์เชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหารของ นานาชาติ การได้เรียนรู้มาตรการจัดการในต่างประเทศมีประโยชน์ในการเสนอแนะต่อหน่วยงานรับผิดชอบของไทยไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง กรมปศุสัตว์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) กระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2548 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้มีมติระงับการใช้สารเสริม (additives) กลุ่มยาปฏิชีวนะ (antibiotic) ประเภทสารเร่งการเจริญเติบโต (growth promoters) เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเลี้ยงสัตว์ จำนวน 4 รายการ[14] ได้แก่  1. Monensin sodium : ใช้ในการขุนเลี้ยงโค กระบือ 2. Salinomycin sodium : ใช้ในการขุนเลี้ยงสุกร 3.  Avilamycin : ใช้ในการขุนเลี้ยงสุกร ไก่ และไก่งวง 4.  Flavophospholipol : ใช้ในการขุนเลี้ยง กระต่าย ไก่ไข่ ไก่ ไก่งวง สุกร ลูกสุกร วัว ลูกวัว มติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2549 โดยยาปฏิชีวนะนี้เป็น 4 รายการสุดท้ายที่ยังเคยคงอนุญาต และยังสอดคล้องกับมติเดิม เกี่ยวกับแผนการควบคุมเชื้อดื้อยาของสภายุโรป [15] ได้ทราบว่ามีการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะบางรายการในการเป็นส่วนผสมอาหารเพื่อการเจริญเติบโต และนโยบายว่าจะควบคุมยาปฏิชีวนะทุกชนิดในการเป็นสารเร่งการเจริญเติบโต แต่ข้อเท็จจริง มีการอนุญาตใช้สารที่เรียกว่า pre-mix ใช้ผสมให้สัตว์ กินทั้งในรูปอาหารและในรูปเป็นน้ำผสม เพื่อระบุว่าเป็นการป้องกันและรักษา การติดเชื้อของโรค การอนุญาตดังกล่าว จะนำไปสู่การใช้ไม่ระมัดระวัง และนำไปสู่การเกิดเชื้อดื้อยาหรือไม่ การเฝ้าระวังสถานการณ์การกระจายและใช้ ตลอดจนการเกิดเชื้ออดื้อยาจึงจำเป็นที่สุด   [1] WHO (2014) ANTIMICROBIAL RESISTANCE: Global Report on Surveillance, Available from  http://apps.who.int/iris/bitstream/10665/112642/1/9789241564748_eng.pdf?ua=1 [2]WHO (2014) SIXTY-SEVENTH WORLD HEALTH ASSEMBLY:   Antimicrobial resistance, Available from http://apps.who.int/gb/ebwha/pdf_files/WHA67/A67_R25-en.pdf?ua=1 [3]WEF (2013) Global Risk 2013  http://www3.weforum.org/docs/WEF_GlobalRisks_Report_2013.pdf [4] พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ.. 2551 http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538973927&Ntype=19 [5] การตกค้างของยาปฏิชีวนะในบ่อเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม http://www.fisheries.go.th/quality/กุ้งขาวแวนนาไม.pdf [6] รุ่งทิพย์ ชวนชื่น (2553) การศึกษาพันธุกรรมการดื้อยาและปัจจัยในการก่อความรุนแรงของโรคของเชื้อซาลโมเนลล่า เอ็นเทอริก้าที่แยกได้จากห่วงโซ่อาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [7] ไทยรัฐ (2555) พบไก่สดในซุปเปอร์มาร์เกตมี “เชื้อดื้อยา” http://www.thairath.co.th/content/264356 [8] http://narst.dmsc.moph.go.th/ [9] http://narst.dmsc.moph.go.th/news001.html  และ http://news.mthai.com/general-news/348974.html [10] ใจพร พุ่มคำ (2555) อาหาร (ไม่) ปลอดภัย ...ผลจากการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ วารสารอาหารและยา กันยายน-ธันวาคม 2555 http://journal.fda.moph.go.th/journal/032555/02.pdf [11] http://www.acfs.go.th/km/download/thai_agrilaw_3.pdf [12]http://www.acfs.go.th/km/download/thai_agrilaw_2.pdf [13] http://www.acfs.go.th/index.php [14]European Commission (2005) Ban on antibiotics as growth promoters in animal feed enters into effect, available from  http://europa.eu/rapid/press-release_IP-05-1687_en.htm [15] European Commission (2001) Commission proposals to combat anti-microbial resistance , available from http://europa.eu/rapid/press-release_IP-01-885_en.htm

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 163 รับมือกับความเสี่ยงเรื่อง บ้าน

บ้าน..เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตของคนทุกคน  หลายคนคงมีความฝันที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเพราะความจำเป็นของครอบครัว หรือการอยากมีบ้านหลังแรกในชีวิตเป็นของตนเอง แต่การลงทุนเรื่องที่อยู่อาศัยทุกวันนี้ มีปัจจัยความเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งจากตัวผู้ซื้อที่ไม่มีความพร้อมจากสภาพเศรษฐกิจ และความไม่สนใจในสิทธิผู้บริโภคของผู้ประกอบการ  ทำให้การจะได้บ้านสักหลังกลายเป็นเรื่องที่ยากเสียแล้ว แต่การจะมีบ้านในสภาพแวดล้อมที่ดีที่เหมาะสมกลับเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า เพราะเราพบว่าปัญหาที่เกิดหลังการซื้อบ้าน มีอยู่มากมาย ดังนั้นการรู้วิธีแก้ไขปัญหาก่อนที่ปัญหาจะเกิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ   ภาพรวมปัญหาด้านที่อยู่อาศัย จากข้อมูลการร้องเรียนของผู้บริโภคต่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย สามารถจัดกลุ่มปัญหาได้ดังนี้ บ้าน / ที่ดิน / อาคารพาณิชย์ ไม่สร้างบ้านตามสัญญา , ไม่ได้สร้างตามแบบที่ขออนุญาต ไม่สามารถโอนบ้านได้ตามสัญญา วัสดุที่นำมาสร้างบ้านไม่มีคุณภาพ ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการประมูลของธนาคาร แต่ต้องรับภาระฟ้องขับไล่ผู้อยู่อาศัยเดิม ชำรุดหลังปลูกสร้าง ,  ผู้รับเหมาทิ้งงาน ก่อสร้างล่าช้า สัญญาไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้บริโภค 2.  อาคารชุด / คอนโดมิเนียม สร้างไม่เสร็จตามสัญญา ปัญหาการบริหารจัดการงานของนิติบุคคล ที่ไม่รักษาผลประโยชน์ลูกบ้าน ไม่โอนตามสัญญา พื้นที่ไม่ครบตามสัญญา ไม่คืนเงินมัดจำ วัสดุไม่มีคุณภาพ ชำรุดหลังรับโอน สัญญาไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้บริโภค 3.  สาธารณูปโภค / พื้นที่ส่วนกลาง (รวมทั้งบ้านและอาคารชุด) ไม่สร้างสาธารณูปโภคตามสัญญา ไม่มีพื้นที่ส่วนกลางตามแบบที่ขออนุญาตจัดสรร ปัญหาการบริหารจัดการงานของนิติบุคคล ที่ไม่รักษาผลประโยชน์ของลูกบ้าน นำพื้นที่ส่วนกลางไปจำหน่ายให้กับบุคคลหรือหน่วยงานอื่น 4.  อื่นๆ เช่น การขอคำปรึกษาการฟ้องคดี   เรื่องควรรู้เพื่อเตรียมรับมือกับความเสี่ยง Ø ปัญหาระหว่างการจองหรือก่อนตกลงทำสัญญา ผู้บริโภคขาดข้อมูลการตัดสินใจในการซื้อ หรือละเลยการแสวงหาข้อมูล เรื่องความพร้อมของผู้บริโภคเองและความมั่นคงของผู้ประกอบการในโครงการที่ต้องการซื้อขาย รวมถึงปัญหาของสัญญาจะซื้อจะขายที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ส่งผลให้เกิดปัญหาการเสียเงินจองเงินมัดจำ แล้วเมื่อเกิดปัญหาก็เรียกคืนไม่ได้   ก่อนเสียเงินจอง ผู้ซื้อต้องรู้อะไรบ้าง แม้ปัญหาที่อยู่อาศัยจะมีหลายระดับ แต่ก้าวแรกของปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย  คือ การทำสัญญาจอง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา  ซึ่งขั้นตอนหนึ่งที่ผู้ซื้อสามารถเริ่มได้ด้วยตัวเอง  โดยไม่ต้องรอหน่วยงาน เพื่อจะได้ที่อยู่อาศัยดีๆ อย่างที่วาดหวังไว้ คือ การใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง ด้วยวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้ 1.  รู้จักตัวเองให้ดีก่อน  จำไว้ ก้าวแรกของปัญหา คือเราต้องป้องกัน เมื่อมีความคิดอยากจะมีบ้านสักหลัง  ผู้ซื้อต้องประมาณกำลังซื้อและความพร้อมของตนเองก่อน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ว่ามีเพียงพอหรือไม่ เพราะท่านอาจเจอปัญหาผิดนัดชำระ  กลายเป็นซื้อบ้านไม่ได้บ้าน แถมยังต้องเป็นหนี้ก้อนโตอีกต่างหาก 2. ศึกษาข้อมูลและรายละเอียดของโครงการที่สนใจ  ตรวจสอบโครงการที่สนใจ ว่าเป็นโครงการบริษัทใด มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ บริษัทเป็นที่รู้จักหรือมีผลงานการบริหารจัดการโครงการในอดีตหรือไม่ เพื่อเปรียบเทียบผลงาน โดยดูจากใบโฆษณาการขาย หรือ เว็บไซด์ของโครงการนั้นๆ ที่สำคัญ ผู้ซื้อต้องไม่ลืมที่จะเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องของโครงการทั้งหมดไว้ด้วย 3. ต้องรู้กฎหมายเบื้องต้น   การอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ใช่คำตอบที่ดีนัก ผู้ซื้อควรต้องรู้ว่า เบื้องต้นมีกฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายบ้านและที่ดิน  เพื่อเป็นอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบการ หรือ เป็นการเพิ่มศักยภาพทางข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของผู้ซื้อได้ 4. ไปดูสถานที่จริง  มีหลายกรณีที่ ภาพจากหน้าเว็บไซด์หรือเอกสารแนะนำโครงการ(โบรชัวร์) มีความแตกต่างจากสถานที่จริง ดังนั้นผู้ซื้อควรตระหนักถึงข้อนี้ มิใช่เพียงแค่ดูจากใบโบรชัวร์หรือหน้าเว็บไซด์ ผู้ซื้อต้องไปสำรวจสภาพของสถานที่ตั้ง ตัวอย่างบ้านหรือห้องชุดของโครงการว่าเป็นอย่างไร  มีความสะดวก เหมาะสมสอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันและตรงกับความต้องการหรือไม่ 5.  ศึกษาสัญญาจะซื้อจะขายให้ดี  ก่อนการทำสัญญาและวางเงินจอง  ผู้บริโภคควรสอบถามถึงรูปแบบของสัญญาว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ หรือขอตัวอย่างหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายจากผู้ขายเพื่อมาศึกษาเป็นตัวอย่างก่อนตัดสินใจ  รวมถึงข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับโครงการมาพิจารณาก่อน เพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจ โดยต้องเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไว้เป็นหลักฐานด้วย กรณีสัญญาจะซื้อจะขายบ้านจัดสรรนั้น  ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543  กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องใช้แบบมาตรฐานสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร ตามประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2546 ซึ่งหากผู้จัดสรรที่ดินใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา  34 มีโทษตามมาตรา 63 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือกรณีอาคารชุด  ตามมาตรา 6/2 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551  กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องใช้แบบมาตรฐานสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ระหว่างผู้มีกรรมสิทธิในที่ดินและอาคารกับผู้จะซื้อห้องชุด  หรือแบบ อช.22 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย  ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา  6/2  มีโทษตามมาตรา 63  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท 6. มีสติ อย่าหลงเชื่อพนักงานขาย ผู้ซื้อไม่ควรเร่งรีบที่จะเสียเงินจองเพราะของแถม สิทธิพิเศษ บรรยากาศ การให้บริการของโครงการ เช่น เห็นมีผู้คนสนใจจองเป็นจำนวนมาก หรือพนักงานสวยๆ พูดจาหวานๆ มาคอยต้อนรับดูแลอย่างดี เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการหาลูกค้าและกลวิธีอย่างหนึ่งเพื่อดึงดูดผู้สนใจ 7. ทำสัญญาต้องมีใบจอง    การทำสัญญาจองบ้านหรือคอนโดแต่ละครั้ง ผู้ประกอบการต้องมีใบจองหรือสัญญาจองให้กับผู้ซื้อ เพื่อใส่รายละเอียดข้อมูลการซื้อขายเป็นหลักฐาน เช่น วันเวลาสถานที่ทำสัญญาจอง , ชื่อผู้จองและผู้รับจอง , รายการทรัพย์สินและราคา ต่อกัน (ถ้าไม่มีห้ามทำสัญญาจองด้วยเด็ดขาด)     วิธีแก้สุดแนว ของการจองบ้าน มีอะไรบ้าง ? หากเสียเงินทำสัญญาจองแล้ว แต่กู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อจะได้เงินจองคืนได้หรือไม่ ก่อนทำสัญญาจอง ผู้ซื้อต้องตรวจสอบเครดิตการเงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินก่อน ว่าสามารถกู้เงินได้หรือไม่ หากพร้อม ค่อยทำสัญญาต่อไป ผู้ซื้อต้องไม่อาย ที่จะสอบถามผู้ประกอบการให้ชัดเจน ว่าหากผู้ซื้อกู้ธนาคารไม่ผ่าน จะคืนเงินหรือไม่ เพื่อความชัดเจนในการตัดสินใจของผู้ซื้อ ผู้ซื้อต้องรู้จักสังเกตเงื่อนไขในสัญญาให้ดี หากพบข้อความในทำนองว่า ถ้ากู้ธนาคารไม่ผ่านจะถูกริบเงิน  ผู้ซื้อต้องโต้แย้งและขอให้แก้ไขข้อความดังกล่าวโดยทันที หากผู้ประกอบการไม่ยอมแก้ไขสัญญา ผู้ซื้อก็ไม่ควรทำสัญญาด้วย การทำเรื่องกู้เงินกับธนาคารเดียวอาจจะมีความเสี่ยง ผู้ซื้อควรขอยื่นกู้มากกว่าหนึ่งธนาคาร และอาจหาผู้ค้ำประกันหรือผู้กู้ร่วม เพื่อเพิ่มโอกาสในการกู้ให้ผ่านมากขึ้น   หลังทำสัญญาจองแล้ว กู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อต้องกลับไปดูสัญญาให้ละเอียดว่ามีข้อความเกี่ยวกับ ถ้าผู้ซื้อกู้ธนาคารไม่ผ่านแล้วผู้ประกอบการจะคืนเงินหรือไม่ หากไม่มีข้อความระบุ ว่าจะไม่คืนเงิน กรณีกู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อมีสิทธิเรียกร้องผู้ประกอบการขอเงินคืนได้ทันที ด้วยการทำหนังสือขอเงินคืน โดยทำเป็นจดหมายลงทะเบียนแนบใบตอบรับ แต่หากมีข้อความระบุ ว่าจะไม่คืนเงิน กรณีกู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อก็ยังมีสิทธิเรียกร้องขอเงินคืนด้วยการทำหนังสือถึงผู้ประกอบการ เพื่อขอเงินคืน โดยทำเป็นจดหมายลงทะเบียนแนบใบตอบรับได้เช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการต้องใช้สัญญามาตรฐานในการทำสัญญาซื้อขายกับผู้ซื้อ ซึ่งสัญญามาตรฐานจะไม่มีสัญญาข้อนี้อยู่ หากผู้ประกอบการปฏิเสธการคืนเงินทุกกรณี ผู้ซื้อมีสิทธิร้องเรียนต่อหน่วยงาน เช่น สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย และฟ้องคดีต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภคเพื่อเรียกร้องเงินคืนได้       สิ่งที่ผู้บริโภคควรรู้ ก่อนรับโอนกรรมสิทธิ หลังจากที่เราทราบวิธีการเบื้องต้นในการที่จะซื้อบ้านแล้ว หลังจากวางเงินมัดจำหรือเงินจองแล้ว ก็จะอยู่ในระหว่างที่เราต้องใส่ใจในเรื่องการผ่อนชำระค่าบ้านแก่โครงการ ก่อนที่จะรับโอนบ้าน หรือการโอนกรรมสิทธิ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้ซื้อบ้านต้องใช้ความระมัดระวัง มากกว่าก่อนการทำสัญญา เพราะเงินเฉลี่ยประมาณ 10-20 % ของราคาขายได้ถูกชำระไปแล้วกับการทำสัญญา หากภายหลังพบว่า บริษัทเอาเปรียบเช่นไม่ก่อสร้างตามกำหนด บ้านไม่เป็นไปตามแบบบ้านตัวอย่าง ฯลฯ ผู้ซื้อบ้านบางรายส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าที่จะหยุดผ่อนชำระ เพราะหากไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิตามกำหนดก็จะเป็นผู้ผิดสัญญา และถูกริบเงินดาวน์   ข้อสังเกตและคำเตือนมีดังนี้ 1. ผู้บริโภคต้องชำระเงินค่าผ่อนบ้านให้ตรงตามกำหนดเวลาและเงื่อนไขในสัญญา  ไม่ควรผิดนัด หรือค้างชำระหนี้ มิฉะนั้น ท่านอาจถูกทางโครงการบอกเลิกสัญญาซื้อขายเอาได้เนื่องจากตกเป็นผู้ผิดสัญญา  และอาจถูกริบเงินค่ามัดจำในที่สุด 2. ในระหว่างที่ผ่อนบ้านนั้น ก็ควรเตรียมเอกสารและหลักฐานต่างๆ  ในการทำเรื่องขอกู้เงินผ่อนบ้านกับสถาบันการเงินหรือธนาคารต่างๆ ให้เรียบร้อย  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ตามมาคือ กู้เงินไม่ผ่านและถูกริบเงินมัดจำเนื่องจากผิดสัญญา ไม่สามารถรับโอนบ้านได้ 3. ก่อนที่จะรับโอน  ควรใส่ใจ แวะตรวจดูบ้านที่ทำสัญญาซื้อขาย  หากยังไม่ดำเนินการหรือดำเนินการก่อสร้างล่าช้า  ผู้บริโภคควรระงับการชำระเงินค่าผ่อนบ้านเอาไว้ก่อน และทำหนังสือแจ้งไปยังโครงการให้รีบดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา 4. แต่หากทำหนังสือแจ้งแล้ว โครงการยังเพิกเฉยหรือดำเนินการล่าช้า ไม่สร้างให้เสร็จตามสัญญา  กรณีเช่นนี้ ถือว่าโครงการเป็นผู้ผิดสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอเงินที่ชำระไปแล้วคืน  และหากมีค่าเสียหายเกิดขึ้นจากการที่บ้านสร้างไม่เสร็จ เช่น ต้องไปซื้อบ้านที่อื่น ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็สามารถเรียกร้องให้โครงการรับผิดในส่วนนี้ได้อีกเช่นกัน 5. หรือหากบ้านที่จะซื้อ ทางโครงการได้สร้างเสร็จแล้ว ก่อนการรับโอนกรรมสิทธิ ผู้บริโภคควรตรวจดูสภาพของบ้านอย่างละเอียด โดยแจ้งนัดตรวจบ้านกับเจ้าหน้าที่โครงการให้ชัดเจน อาจทำเป็นหนังสือแจ้งทางโครงการและควรนัดช่วงเช้า เพื่อให้มีเวลาตรวจสอบได้ทั้งวัน อีกทั้งมีแสงสว่างเพียงพอ ทำให้สามารถตรวจสอบได้ละเอียดอีกด้วย หากตรวจสอบบ้านแล้ว พบว่าบ้าน ยังไม่เรียบร้อย   ไม่เหมาะสมกับการพักอาศัยอยู่ คำตอบเดียวที่ทำได้ คือ ห้ามรับโอนกรรมสิทธิ์ โดยเด็ดขาด !!  แม้จะถูกรบเร้า ขอร้อง อ้อนวอน จากพนักงานขาย ผู้บริโภคควรทำหนังสือแจ้งไปยังโครงการให้รีบดำเนินการแก้ไข  และขอขยายกำหนดเวลารับโอนกรรมสิทธิออกไปก่อน จนกว่าทางโครงการจะดำเนินการเสร็จเรียบร้อย จึงจะยอมรับโอนกรรมสิทธิบ้านตามสัญญาได้   Ø ปัญหาหลังการโอนกรรมสิทธิ ผู้บริโภคจำนวนมากมักเจอปัญหาหลังการโอนกรรมสิทธิแล้ว ไม่ว่าจะพบการชำรุดเสียหาย บ้านจัดสรรปลูกสร้างผิดแบบ การไม่มีสาธารณูปโภคตามสัญญา การบริหารจัดการของนิติบุคคลที่เอารัดเอาเปรียบ ฯลฯ เมื่อผู้บริโภคเรียกร้อง ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักเพิกเฉย ทำให้ผู้บริโภคต้องฟ้องคดีต่อศาลเป็นหนทางสุดท้าย เกิดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมาย   Ø หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน ด้านที่อยู่อาศัย 1. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. ร้องเรียนด้วยตัวเองได้ที่ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10120 สายด่วน 1166 http://www.ocpb.go.th Email : consumer@ocpb.go.th2. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ (ศาลากลางประจำจังหวัดทุกจังหวัด)3. กรมที่ดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 โทรศัพท์ : 02-1415555 http://www.dol.go.th4. การเคหะแห่งชาติ เลขที่ 905 ถนนนวมินทร์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240 โทรศัพท์ 0-2351-7777 สายด่วน 1615 Email : prdi@nha.co.th5. ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 02 248 3734-7 โทรสาร 02 248 3733  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 162 สำรวจราคากล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี

หลายคนคงมีโอกาสได้รับชมช่องรายการทีวีระบบดิจิตอลกันบ้างแล้ว ซึ่งประเทศไทยเราได้เริ่มทำการออกอากาศช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลทีวี (Digital Television) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา โดยระยะแรกจะยังรับชมได้แค่ในบางพื้นที่ของประเทศ แต่คาดว่าจะสามารถออกอากาศครอบคลุมให้ได้ในพื้นที่ 80% ของประเทศภายในต้นปี 2558 เชื่อว่าบางคนก็คงสัมผัสได้ถึงความแตกต่างจากการรับชมทีวีแบบแต่ก่อนเคยดูมา อย่างน้อยก็เรื่องของช่องรายการที่มีเพิ่มมาให้ได้รับชมกันมากขึ้น แต่เชื่อว่าหลายคนก็อาจมีข้อสงสัยว่า ทีวีดิจิตอลจริงๆ แล้วมันคืออะไร ทำไมต้องเปลี่ยนเป็นดิจิตอลทีวี จำเป็นมั้ยที่ต้องเปลี่ยน แล้วถ้าที่บ้านอยากจะดูดิจิตอลทีวีบ้างต้องทำอย่างไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของราคาคูปองแลกกล่องรับสัญญาณดิจิตัลทีวีที่ทาง กสทช. จะแจกให้ 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ โดยเคาะราคาออกมาอยู่ที่ 690 บาท ปรับลดลงมาจากเดิมที่เคยตั้งไว้ที่ 1,000 บาท คูปองนี้เอาไปใช้ยังไง และทำไมต้อง 690 บาท เอาเป็นว่าเรามาค่อยๆ ทำความเข้าใจไปพร้อมกันได้เลย จาก 1,000 ทำไมถึงกลายมาเป็น 690 หลายคนที่ติดตามข่าวเรื่องแผนการแจกคูปองสำหรับเป็นส่วนลดแลกกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีของทาง กสทช. คงจะพอทราบแล้วว่าเกิดปัญหามาต่อเนื่องเรื่องวงเงินของมูลค่าคูปอง จากที่ กสทช. บอกว่าจะแจกคูปองทุกบ้านบ้านละ 1 ใบ มูลค่า 1,000 บาท ซึ่งไม่นานหลังจากนั้น องค์กรผู้บริโภคโดยคณะทำงาน “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน” ก็ได้ออกมาคัดค้านว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ไม่เหมาะ และเรียกร้องให้ปรับลดลงมาให้เหลือที่ 690 บาท   ต้นทุนจริงกล่องดิจิตอลทีวีแค่ไม่กี่ร้อยบาท ผู้บริโภคหลายคนคงจะสงสัยว่า ทำไมต้องเรียกร้องให้ลดราคาคูปอง ได้ 1,000 ก็น่าจะดีกว่าได้แค่ 690 ไม่ใช่หรือ? ผู้บริโภคต้องไม่ลืมว่าคูปองที่ได้นำไปแลกเป็นเงินสดไม่ได้ ใช้ได้แค่เป็นส่วนลดในการซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีหรือทีวีที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณทีวีดิจิตอลพร้อมในตัวเท่านั้น การตั้งราคาคูปองที่สูงเกินไปของทาง กสทช. ส่งผลให้การตั้งราคากล่องรับสัญญาณสูงตามไปด้วย ทั้งที่มีการศึกษาข้อมูลมาแล้วว่าต้นทุนของราคากล่องรับสัญญาณจริงๆ อยู่ในหลักไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.alibaba.com ซึ่งเป็นเว็บขายอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคออนไลน์ทั่วโลก พบว่า ราคากล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี รุ่น DVTB T2 มีราคาขายอยู่ที่เพียง 403 บาท สำหรับการสั่งซื้อที่ขั้นต่ำ 5,000 ชิ้น นอกจากนี้ ทาง กสทช. น่าจะทราบดีอยู่แล้วถึงราคาต้นทุนของกล่อง เพราะมีอำนาจในการตรวจสอบโครงสร้างราคาต้นทุนที่แท้จริงได้ แรกเริ่มเดิมที่ กสทช. มีมติเรื่องแนวทางการแจกคูปองส่วนลดเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลทีวี ซึ่งกำหนดมูลค่าคูปองไว้ที่ 690 บาท แจกให้กับผู้บริโภค 22 ล้านครัวเรือน รวมเป็นงบประมาณที่ใช้คือ 15,190 ล้านบาท แต่หลังจากนั้น คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) กลับมีมติเห็นชอบอนุมัติมูลค่าราคาคูปองขึ้นเป็น 1,000 บาท ทำให้งบประมาณที่ใช้พุ่งสูงไปถึง 25,000 ล้านบาท โดยที่ไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ไม่มีการเปิดเผยต้นทุนต่อสาธารณะและไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งคูปองส่วนลด 1,000 บาทนี้ ถูกกำหนดให้สามารถนำไปแลกเป็นส่วนลดได้ทั้ง 1.กล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี พร้อมสายอากาศแบบติดตั้งภายในอาคารที่มีภาคขยาย (Active Antenna) 2.เครื่องรับโทรทัศน์ที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลในตัว และ 3.กล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี รุ่นที่รองรับการรับชมความคมชัดสูง หรือ HD ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลัง กสทช. ปรับราคาคูปองขึ้นเป็น 1,000 บาท นอกจากงบประมาณของประเทศจะถูกใช้เพิ่มมากขึ้น ผิดไปจากหลักการที่กำหนดไว้แต่แรกแล้ว ยังส่งผลเสียโดยตรงกับผู้บริโภค เพราะทำให้ราคากล่องรับสัญญาณมีราคาสูงขึ้นตามมูลค่าของคูปอง ซึ่งจากการสำรวจราคากล่องดิจิตอลที่วางขายอยู่ในท้องตลาด ราคาจะอยู่ที่ 1,000 – 2,000 บาท แต่อย่างที่ได้ให้ข้อมูลไปแล้วว่าต้นทุนจริงๆ ของกล่องดิจิตอลต่อให้บวกราคาที่บริษัทผู้ผลิตได้กำไรแล้ว ราคาขายก็ไม่น่าเกิน 1,000 บาท   ผลเสียของคูปอง 1,000 บาท กลายเป็นภาระของผู้บริโภค การประกาศให้ราคาคูปองที่ 1,000 บาทจึงเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน ทำให้ประเทศชาติเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งมีเพียงกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการที่ กสทช. อนุมัติราคาคูปองที่ 1,000 บาท มีเพียงแค่ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ค้ากล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลที่สามารกำหนดราคากล่องสูงๆ ตามราคาคูปองได้ 2 .บริษัทจำหน่ายดิจิตอลทีวี ซึ่งราคาคูปอง 1,000 บาทสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคนำไปใช้เป็นส่วนลดซื้อทีวี และ 3.ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวี เพราะผู้บริโภคสามารถนำคูปองไปเป็นส่วนลดในการซื้อกล่องดาวเทียมหรือเคเบิล ซึ่งแม้ราคาจะแพงกว่ากล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีธรรมดา แต่รายการที่มีให้รับชมดึงดูดใจผู้บริโภคได้มากกว่า แต่นั้นก็ถือเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเข้าถึงการรับชมดิจิตอลทีวีในรูปแบบฟรีทีวี ไม่ต้องมีภาระในการจ่ายค่าบริการรายเดือน เครือข่ายผู้บริโภคจึงได้เรียกร้องให้ กสทช. ต้องปรับลดราคาคูปองจาก 1,000 บาท ลงมาเหลือที่ 690 บาท เพื่อไม่เป็นสร้างภาระให้กับผู้บริโภค ไม่ใช้งบประมาณของประเทศไปอย่างไม่เหมาะสม พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากบรรดาผู้ผลิตกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลปรับลดราคาสินค้าของตัวเองลงให้เหมาะสมกับต้นทุนจริง เพื่อคูปองถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่อยากให้เป็นเครื่องช่วยให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเข้าถึงการรับชมดิจิตอลทีวีอย่างทั่วถึงเท่าเทียม   พลังของผู้บริโภคมีผล กสทช.ยอมปรับราคาคูปองที่ 690 ในที่สุดความตั้งใจดีขององค์กรผู้บริโภคก็เป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. กสทช. ก็ได้มีมติสรุปราคาคูปอง (น่าจะเป็นที่แน่นอนแล้ว) ให้ลดลงมาอยู่ 690 บาท โดยคูปองราคา 690 บาทนี้จะสามารถใช้เป็นส่วนลดแลกซื้อได้เฉพาะ โทรทัศน์ระบบดิจิตอลที่มีภาครับในตัว และอุปกรณ์แปลงสัญญาณระบบดิจิตอล (Set-Top-Box) มาตรฐาน DVB-T2 ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงาน กสทช. (มีสติ๊กเกอร์ตราครุฑแปะอยู่ที่กล่อง) เท่านั้น ไม่สามารถนำไปแลกกล่องรับสัญญาณดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีแบบที่เคยกำหนดไว้ในคูปองราคา 1,000 บาท โดยคูปองแลกซื้อดิจิตอลทีวีจะแจกให้กับ 22.9 ล้านครัวเรือน ตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง ณ เดือนมีนาคม 2557 โดยจะส่งทางไปรษณีย์  คาดว่าจะเริ่มส่งได้ช่วงปลายเดือนกันยายนหรือกลางเดือนตุลาคม ซึ่งจะเริ่มแจกก่อนใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เชียงใหม่ สงขลา และขอนแก่น *สำรวจราคาล่าสุดสิงหาคม 2557 --------------   ขอต้อนรับเข้าสูยุค “ดิจิตอลทีวี” ดิจิตอลทีวี เป็นชื่อเรียกของระบบการส่งสัญญาณโทรทัศน์ ทั้งภาพและเสียงเข้าสู่เครื่องรับโทรทัศน์ของแต่ละบ้าน ซึ่งก็คือช่องรายการต่างๆ ที่เรารับชมกันอยู่ แต่ก่อนแต่ไรมาระบบสัญญาณโทรทัศน์ในบ้านเราจะเป็นระบบที่เรียกว่า ระบบอนาล็อก (Analog) ซึ่งส่งสัญญาณช่องรายการทีวีที่ทุกบ้านสามารถดูได้ฟรีๆ 6 ช่องรายการ คือ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 (NBT) และ ไทยพีบีเอส โดยการรับชมก็ขอแค่มีทีวีสักเครื่องติดเข้ากับเสาอากาศสักอัน จะเป็นก้างปลาหนวดกุ้งก็แล้วแต่ แค่นี้ก็รับชมฟรีทีวี 6 ช่องรายการที่บอกไว้ได้แล้ว แต่การมาถึงของดิจิตอลทีวีจะทำให้การรับชมฟรีทีวีของคนไทยต้องเปลี่ยนไป และน่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพราะการส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลจะช่วยทำให้คุณภาพของภาพและเสียงมีความคมชัดสูงมากกว่าระบบอนาล็อกเดิม ระบบเสียงจะเปลี่ยนเป็นระบบ Surround จากเดิมที่เป็นแค่ระบบ Stereo ส่วนภาพก็มีช่องรายการที่ออกอากาศด้วยระบบความคมชัดสูง (High Definition – HD) ต่างจากระบบอนาล็อกที่มีแค่ช่องรายการที่ความคมชัดของภาพอยู่ในระดับปกติ (Standard Definition – SD) เท่านั้น แถมช่องรายการที่เป็นฟรีทีวีก็มีเพิ่มมากขึ้นจาก 6 ช่อง เพิ่มเป็น 48 ช่อง เพียงแต่การที่จะรับชมช่องรายการทีวีระบบดิจิตอลนั้น จำเป็นต้องมีตัวช่วย คือ กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล หรือ Set top Box นำมาติดตั้งเข้ากับทีวีเครื่องเดิมที่บ้านเพื่อแปลงสัญญาณดิจิตอลแสดงผลผ่านหน้าจอทีวี กลายเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงต้องหาซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีมาต่อเข้ากับทีวีที่บ้าน ซึ่งทาง กสทช. ก็ช่วยเหลือประชาชนส่วนหนึ่งด้วยการแจกคูปองมูลค่า 690 บาท ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นส่วนลดสำหรับแลกซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีและทีวีรุ่นใหม่ๆ ทีมีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลทีวีในตัวไม่ต้องติดกล่องก็ชมได้     นอกจากนี้ดิจิตอลทีวี จะได้เปรียบทีวีดาวเทียม คือ หากมีการถ่ายทอดสดรายการกีฬาสำคัญๆ ทีวีดาวเทียมจะมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด จึงทำให้จอดำ แต่ทีวีดิจิตอล สามารถรับได้ปกติ เพราะเป็นระบบฟรีทีวีแบบเดียวกับการใช้เสาหนวดกุ้ง (ไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด)   อยากดูดิจิตอลทีวีต้องทำยังไง? ถ้าหากอยากให้ทีวีทีบ้านออกอากาศช่องรายการในระบบดิจิตอลทีวี มีวิธีหลักๆ อยู่ 3 วิธีด้วยกัน หาซื้อทีวีเครื่องใหม่ที่มีตัวรับสัญญาณหรือจูนเนอร์ที่รองระบบดิจิตอลทีวีในตัว (integrated Digital Television หรือ iDTV) ซึ่งสามารถรับสัญญาณระบบดิจิตอลทีวีได้ทันที ไม่ต้องติดกล่องรับสัญญาณ หรือ Set Top Box แค่นำทีวีต่อเข้ากับเสารับสัญญาณโดยตรงก็สามารถรับชมช่องรายการทีวีดิจิตอลได้ทันที (สามารถตรวจสอบ ยี่ห้อ รุ่น ของทีวีที่รองรับระบบสัญญาณดิจิตอลในตัวเครื่องได้ที่ https://broadcast.nbtc.go.th/tools/idtv) ส่วนถ้าใครไม่อยากเสียเงินซื้อทีวีใหม่ แต่ทีวีที่บ้านยังเป็นรุ่นเก่า ไม่ว่าจะเป็นทีวีจอตู้ หรือจะเป็นทีวีจอแบนรุ่นใหม่ๆ ทั้งพลาสม่า, LCD, LED ถ้าหากเขาไม่ได้เป็นทีวีรุ่นที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลทีวีในตัว ยังไงก็ดูช่องรายการดิจิตอลทีวีไม่ได้ ถ้าไม่มีตัวช่วยอย่าง กล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี โดยกล่องรับสัญญาณต้องเป็นรุ่นที่สามารถแปลงสัญญาณที่เรียกว่า DVB T2 ได้ โดยขั้นตอนการติดตั้งเพื่อรับชมก็ไม่ยากแค่นำกล่องรับสัญญาณไปต่อสายนำสัญญาณที่มาจากเสาอากาศ ก้างปลา หรือหนวดกุ้ง ก็แล้วแต่สะดวก จากนั้นก็ใช้สาย AV หรือสาย HDMI ต่อเข้าที่ทีวีแค่นี้ก็ชมดิจิตอลทีวีได้แล้ว (ข้อควรรู้สำหรับคนที่ตั้งใจจะชมช่องรายการความคมชัดสูง หรือ ช่อง HD จากกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล ต้องต่อสายรับสัญญาณจากกล่องรับสัญญาณเข้าสู่ทีวีด้วยสาย HDMI เท่านั้น เพราะสายสัญญาณ AV เป็นการส่งสัญญาณแบบอนาล็อก การรับชมช่องแบบ HD ก็จะได้คุณภาพความคมชัดไม่สมบูรณ์ 100% เพราะฉะนั้นถ้าอยากดูช่อง HD ที่คมชัดจริงๆ ต้องต่อด้วยสายสัญญาณ HDMI นั้นแปลว่า ทีวีที่จะรับชมก็ต้องมีช่องสำหรับเสียบสัญญาณ HDMI มาพร้อมด้วยเช่น งานนี้ใครที่ยังใช้ทีวีรุ่นเก่าพวกทีวีจอตู้ก็จะต้องเจอปัญหาเพราะไม่มีช่องรับสัญญาณ HDMI ถ้าอยากชมก็ต้องยอมเปลี่ยนเป็นทีวีจอแบนรุ่นใหม่ๆ แทน) แต่ถ้าที่บ้านใครปกติรับชมทีวีผ่านกล่องจานดาวเทียมหรือเคเบิลอยู่แล้ว (เช่น True, GMMZ, IPM, sunbox, PSI ฯลฯ) สามารถรับชมช่องรายการดิจิตอลทีวีได้ทันที 48 ช่องเช่นกัน แต่รูปแบบการเรียงลำดับช่องรายการก็แตกต่างจากช่องรายการที่เรียงไว้เป็นมาตรฐานของกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีทั่วไป นอกจากนี้หากอยากจะรับชมช่องรายการที่เป็นแบบ HD ก็ต้องเลือกกล่องรับสัญญาณดาวเทียมที่รองรับระบบ HD ด้วยเช่นกัน การรับชมก็แค่ถอดปลั๊กกล่องรับสัญญาณดาวเทียมที่รับชมอยู่ แล้วเสียบใหม่ไปที่เครื่อง เครื่องจะเริ่มทำงานใหม่และค้มหาสัญญาณดิจิตอลทีวีโดยอัตโนมัติ   วิธีการติดตั้งกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี 1. ตรวจสอบสายอากาศ สายสัญญาณ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ว่ายังสามารถใช้งานได้เป็นปกติดีหรือไม่ 2. นำสายสัญญาณที่เชื่อมต่อมาจากเสาอากาศต่อเข้ากับกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล 3. เชื่อมต่อสายสัญญาณจากกล่องดิจิตอลทีวี ด้วยสายสัญญาณ AV หรือสาย HDMI เข้าสู่ทีวี 4. เปิดเครื่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี เมื่อกล่องรับสัญญาณทำงานที่หน้าจอทีวีจะแสดงหน้าเมนู อันดับแรกให้เลือกภาษาที่แสดงเป็นภาษาไทย (กล่องรับสัญญาณทุกรุ่นทุกยี่ห้อที่ได้รับการรับรองจาก กสทช. ต้องมีเมนูเลือกเป็นภาษาไทย) จากนั้นให้ตั้งค่าเปิดไฟเลี้ยงสำหรับทีวีที่ใช้เสาสัญญาณแบบที่มีไฟเลี้ยง (Active Indoor Antenna ส่วนใหญ่จะเสาอากาศขนาดเล็กที่ติดตั้งภายในอาคาร) จากเลือกเมนูคำสั่งค้นหาช่องรายการ กล่องรับสัญญาณก็จะทำการค้นหาสัญญาณและช่องรายการแบบอัตโนมัติ เท่านี้ก็ดูทีวีดิจิตอลได้แล้ว   มาตรฐานด้านเทคนิคของเครื่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี 1.ต้องสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอลในระบบ Second Generation Digital Terrestrial Television Broadcasting System (DVB-T2) ได้ทั้งแบบมาตรฐานความคมชัดปกติ (Standard Definition: SD) และแบบมาตรฐานความคมชัดสูง (High Definition: HD) 2. เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลต้องมีคุณลักษณะทางไฟฟ้าและความปลอดภัยตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน มอก. 1195  หรือฉบับที่ใหม่กว่า 3. ข้อกําหนดทางเทคนิคด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Compatibility) ข้อกําหนดทางเทคนิคด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าสําหรับเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดินให้เป็นไปตามที่กําหนดไว้ในมาตรฐาน CISPR 13 หรือ มอก. 2185-2547 4. ครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลต้องมาพร้อมกับคู่มือการติดตั้งและใช้งานทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 5. รีโมทคอนโทรล (Remote Control) ต้องมีปุ่มนูนสัมผัส (Tactile marking) บนปุ่มกดตัวเลข “5” 7. รีโมทคอนโทรล (Remote Control) ต้องมีปุ่มสําหรับการเลือกช่องสัญญาณเสียงที่รองรับการใช้งานการบรรยายด้วยเสียง (Audio Description) ได้ โดยอาจเป็นปุ่มสําหรับเลือกช่องสัญญาณเสียงโดยทั่วไป เช่น ปุ่ม “Audio” หรือเป็นปุ่มสําหรับเปิดหรือปิดการบรรยายด้วยเสียงเป็นการเฉพาะ เช่น ปุ่ม “AD” 8. การแสดงผลภาพ ต้องรองรับการแสดงผลความคมชัดสูง ดังต่อไปนี้ -ความละเอียด 1920x1080 แบบ interlace (1080i) ที่มีอัตราเฟรม (frame rate) 25 ภาพต่อวินาที และอัตราส่วนภาพ (aspect ratio) 16:9 รองรับการแสดงผลความคมชัดสูง -ความละเอียด 1280x720 แบบ progressive (720p) ที่มีอัตราเฟรม (frame rate) 50 ภาพต่อวินาที และอัตราส่วนภาพ (aspect ratio) 16:9 รองรับการแสดงผลความคมชัดปกติ -ความละเอียด 720x576 แบบ interlace (576i) ที่มีอัตราเฟรม (frame rate) 25 ภาพต่อวินาทีและ อัตราส่วนภาพ (aspect ratio) 16:9 และ 4:3 9. การถอดรหัสสัญญาณเสียงแบบ 2 ช่องเสียง (stereo) แบบ MPEG-4 HE AACv2 ตามมาตรฐาน ISO/IEC 14496-3 10. เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลต้องรองรับการแสดงผลเมนูบนจอภาพเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีค่าเริ่มต้นเป็นภาษาไทยหรือผู้ใช้ต้องสามารถเลือกภาษาได้ในการใช้งานครั้งแรก   (ที่มา : ประกาศ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคสำหรับเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2556)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 161 Consumer Report 2013

การออกกฎ ระเบียบ การทำสัญญา ตลอดจนมาตรการต่างๆ โดยรัฐ มีผลกระทบต่อผู้บริโภคหรือประชาชนโดยตรง เช่น การเสนอปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน  การปรับขึ้นราคาค่าทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ต่างส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชน เพราะต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้น สำคัญคือ จะประท้วงคัดค้านอย่างไรก็ไม่ประสบผล เพราะจำนนด้วยเงื่อนไขที่รัฐไปผูกพันไว้ อย่างกรณีการปรับขึ้นราคาค่าทางด่วน ประชาชนจะคัดค้านก็ไม่ทันแล้ว เมื่อเอกชนอ้างว่า เป็นไปตามเงื่อนไขในการทำสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนที่เกิดขึ้นในอดีต ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งต่างก็ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนนั้น จึงได้ตราบทบัญญัติเรื่องของการมีส่วนร่วมไว้ในมาตราที่ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค (มาตรา 57 ในรัฐธรรมนูญ ปี 40 และมาตรา 61 ในรัฐธรรมนูญปี 50) โดยกำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น เพื่อทำหน้าที่สำคัญคือ “ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ...” ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาจากการกระทำที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่...ในระหว่างรอให้เกิด องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ (ติดตามกระบวนการจัดทำกฎหมายได้จาก http://www.indyconsumers.org/index.php/know/introduce )  ภาคประชาสังคมด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ได้ร่วมมือกันทดลองสร้างรูปแบบ “คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน” ขึ้นมา และได้ทดลองทำหน้าที่   ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ใน 7 ประเด็นสำคัญ ดังนี้   1.ด้านการเงินและการธนาคาร 2.ด้านการบริการสาธารณะ 3.ด้านที่อยู่อาศัย 4.ด้านบริการสุขภาพ 5.ด้านสินค้าและบริการทั่วไป 6.ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม 7.ด้านอาหาร ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางฉลาดซื้อ จึงขอนำสรุปผลการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ในปี 2556 มาเผยแพร่ เพื่อที่เราผู้บริโภค จะได้ร่วมกันติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง -------------------------------------------------------------------------------- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 61 บัญญัติไว้ว่า… สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูล ที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการ บังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้ บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย -------------------------------------------------------------------------------- ด้านการเงินและการธนาคาร ร้องกันเพียบ ขายบัตรเดบิตพวงประกัน! เคยไหม? แค่จะเปิดบัญชีใหม่ ทำบัตรเอทีเอ็มธรรมดา ทำไมธนาคารหลายแห่งต้องเสนอบัตรเดบิตพ่วงประกันอุบัติเหตุ โดยอ้างว่าบัตรเอทีเอ็มธรรมดาหมด หรือได้ยกเลิกบริการบัตรแบบธรรมดาไปแล้ว ทำให้ลูกค้าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น อีกทั้งพนักงานธนาคารยังพูดจาหว่านล้อมกึ่งบังคับให้ทำบัตรเดบิตพ่วงประกันชีวิต ที่มา http://www.talkystory.com/?p=56419 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดเวทีสาธารณะ พร้อมจัดทำข้อเสนอ 3 เรื่อง ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แก่ 1.ยกเลิกการขายพ่วงบัตรเดบิต บัตร เอทีเอ็ม พ่วงการขายประกันภัย ข้อเสนอนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหนังสือตอบว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทย จะขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการ และออกประกาศ หรือกำหนดมาตรการบังคับ การขายพ่วงบัตรเครดิต บัตร ATM และประกันภัย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย จะให้แยกแบบฟอร์มการสมัคร (ออกประกาศในวันที่ 1 มกราคม 2557) 2.ยกเลิกการบังคับทำบัตรเครดิตแทนบัตร เอทีเอ็ม ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดการปัญหาการบังคับทำบัตรเดบิต แทนบัตร ATM แล้ว (ความจริงคือ เป็นทางเลือกอยู่แล้ว แต่พนักงานธนาคารมักโน้มน้าวให้ลูกค้าเชื่อหรือบังคับว่าต้องทำเป็นบัตรเดบิตเท่านั้น) 3.ลดราคาค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต ข้อเสนอนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการ   ความก้าวหน้า : หากมีเรื่องของการร้องเรียนด้านการเงินการธนาคารผ่านคณะกรรมการฯ สามารถส่งต่อเรื่องร้องเรียนไปที่ “ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน(ศคง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทันที ขณะเดียวกันหากมีประกาศเรื่องมาตรการใดๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการเงินการธนาคารจากธนาคารแห่งประเทศไทย จะแจ้งมาที่คณะกรรมการฯ ทันที เพื่อประกาศให้ผู้บริโภครับทราบ   ด้านการบริการสาธารณะ v ขึ้นค่าทางด่วน ขึ้นค่าทางด่วน(อีกแล้ว) ข่าวร้ายที่สุดของผู้ใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพฯ ในรอบปี 2556 เห็นจะไม่พ้นข่าวการขึ้นค่าทางด่วน ทางด่วน 1 และทางด่วนขั้นที่ 2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน(56) นี้!!!! “ทำไมถึงต้องขึ้นค่าทางด่วน?????” คงเป็นคำถามของผู้ใช้รถใช้ถนนหลายคนสงสัย” ที่มา http://www.thairath.co.th/content/331581 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ จัดเวทีสาธารณะ  “บทบาทองค์การอิสระฯ” เรื่องการขึ้นค่าทางด่วน ในวันที่ 21 สิงหาคม 56 และ “ทำหนังสือถึงการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)” เรื่องขอให้ยุติการขึ้นราคาอัตราค่าผ่านทางขั้นที่ 1-2 พร้อมยื่นข้อเสนอ 3 เรื่อง ได้แก่ ให้ยุติการขึ้นค่าผ่านทาง ให้ทบทวนการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษ ให้พิจารณาแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 โดยคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ผลการดำเนินการ : การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ตอบเป็นหนังสือชี้แจงว่า การปรับอัตราค่าผ่านทางเป็นไปตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ระหว่าง กทพ. กับบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด ( BECL ) โดยในสัญญากำหนดให้มีการจัดเก็บค่าผ่านทางและกำหนดให้ปรับค่าผ่านทางทุกระยะเวลา 5 ปี เพื่อคงมูลค่าที่แท้จริงของอัตราค่าผ่านทางไว้ โดยการปรับตามอัตราเพิ่มของดัชนีผู้บริโภคสำหรับกรุงเทพมหานครที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์และตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด การพิจารณาต่อสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่   กทพ. ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย   v ขึ้นราคาก๊าซ ดีเดย์ ขึ้นราคาก๊าซ 1 กันยา มติ ครม. ตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค. 2556 ให้ขึ้นราคาก๊าซภาคครัวเรือนในวันที่ 1 ก.ย. 2556 จากราคาเดิม 18.13 บาทต่อกิโลกรัม สามารถขึ้นราคาได้เดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ไปจนถึงราคา 24.82 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 1 ปี   คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ ได้ทำความเห็นเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและกระทรวงพลังงานในการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG เป็นหนังสือคัดค้านเรื่อง “การปรับขึ้นราคาราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือน” พร้อมข้อเสนอสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ 1.ควรการเก็บเงินจากธุรกิจปิโตรเคมีในอัตรา 12.55 /ก.ก. เข้ากองทุนน้ำมัน เช่นเดียวกับ ภาคอุตสาหกรรมอื่น 2.ปรับลดอัตราค่าผ่านท่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ 3.กำหนดราคาเนื้อก๊าซที่จำหน่ายให้กับผู้ซื้อทุกรายเป็นอัตราเดียวกัน   ผลการดำเนินการ : กระทรวงพลังงานหนังสือ ตอบเป็นหนังสือชี้แจงว่า ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก๊าซ LPG เป็นราคาตามกลไกตลาดและไม่ได้รับการชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ตั้งแต่ต้นทางเหมือนกับภาคอื่นๆ จึงทำให้ราคาขายก๊าซ LPG ภาคปิโตรเคมีสะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริง โดยไม่ได้รับการอุดหนุนมาตั้งแต่แรก (ภายหลังมีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนในอัตรากิโลกรัมละ 1 บาท เพื่อช่วยเหลือภาคส่วนอื่นในการลดภาระของกองทุนน้ำมันอีกด้วย)  ส่วนของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งใช้ ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงนั้น กองทุนน้ำมันได้ชดเชยต้นทุนมาตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ราคาขายถูกลง ดังนั้นจึงมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ คืนในภายหลังทำให้ราคาราคาขายปลีกสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ในการปรับอัตราค่าผ่านท่อนั้น เป็นไปตามมติของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ( กพช.)  โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการทบทวนทุกระยะเวลา 5 ปี หรือกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้ดำเนินการพิจารณาการปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซทางท่อให้มีความเหมาะสมตามที่ กพช. กำหนดต่อไป รัฐไม่ได้ให้อภิสิทธิ์แก่กลุ่มธุรกิจหนึ่งธุรกิจใด ซึ่งความจริงก๊าซที่มาจากอ่าวไทยนั้นก็ได้จำหน่ายให้กับผู้ใช้ทุกรายในอัตราเดียวกัน เพียงแต่ก๊าซธรรมชาติที่จำหน่ายให้กับภาคไฟฟ้า ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมนั้น เป็นราคาที่มีการเฉลี่ยรวมกับก๊าซจากพม่าแล้วก๊าซ LNG ซึ่งโรงแยกก๊าซก็ไม่ได้มีการนำก๊าซจากทั้งสองแหล่งนี้ไปใช้แต่อย่างใด   ด้านบริการสุขภาพ ชี้ป่วยฉุกเฉินทำบัตรทองเสียสิทธิ ...เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ภายหลังตั้งกองทุนเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรีโดยไม่ถามสิทธินั้น ส่งผลกระทบให้ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ได้รับผลกระทบไม่สามารถใช้สิทธิตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ระบุว่าประชาชนมีสิทธิ์เข้ารับการรักษาฟรีเมื่อมีการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ มีเหตุอันควร ซึ่งตอนนี้ไม่สามารถใช้ได้แล้ว ต้องเสียเงินหมด เพราะคำว่าฉุกเฉินจะถูกตีความตามนิยามของสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ซึ่งการตีความค่อนข้างแคบ ที่มา http://www.thaipost.net/news/231213/83745 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ ได้ทำหนังสือให้ความเห็นต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ขอให้ ทบทวนข้อบังคับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุอันควร กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ. 2555  ที่อาจขัดต่อกฎหมาย ข้อเสนอนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สปสช.   ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ฟิตเนสดังเอาเปรียบผู้บริโภค ประเด็นร้อนปี 55-56 เกี่ยวกับธุรกิจออกกำลังกาย คือ กรณีแคลิฟอร์เนียฟิตเนส โดนผู้บริโภคร้อง ทั้งปิดบริการโดยไม่แจ้งให้ทราบ มีการรับสมัครสมาชิกตลอดชีพทั้งที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้แล้ว ผิดสัญญาแต่ไม่คืนเงินค่าสมาชิกให้กับลูกค้า ปัญหาใหญ่คือ ปัญหาข้อสัญญาไม่เป็นธรรม เช่น ทำสัญญาแล้วต้องใช้บริการให้ครบ 1 ปีจึงจะสามารถบอกเลิกสัญญาได้ ทั้งนี้ศูนย์บริการส่วนใหญ่จะหักเงินบัตรเครดิตผู้บริโภคทันทีในคราวแรก  หรือบางรายต้องจ่ายค่าใช้บริการอื่นเพิ่มจากการชักชวนของพนักงานขาย เช่น ครูฝึกส่วนตัว โปรแกรมเสริมที่หลากหลาย   ซึ่งมีผู้บริโภคมาร้องเรียนถึง 680 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท ที่มา ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการได้จัดทำความเห็นต่อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ขอให้ปรับปรุง ประกาศ สคบ. ว่าด้วยธุรกิจออกกำลังกาย ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากอนุกรรมการด้านสัญญาหมดวาระ   ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม คลื่นความถี่ คือหัวใจของการสื่อสาร ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการใช้งาน 3G และ 4G และผู้ให้บริการมือถือเจ้าใหญ่ในประเทศไทยทั้ง 3 ราย ต่างต้องการการเติมเต็มช่วงคลื่นความถี่ต่ำ-สูงของตนเพื่อการแข่งขัน การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ส่งผลดีต่อธุรกิจโทรคมนาคมและส่งผลบวกทางอ้อมต่อเศรษฐกิจประเทศ ที่นอกเหนือจากเม็ดเงินที่ได้จากการประมูล โดยเฉพาะที่เกิดจากการลงทุนโครงข่ายของผู้ให้บริการมือถือและการเติบโตของ ธุรกิจแอพพลิเคชั่นหรือคอนเทนต์ ซึ่งล้วนทำให้เกิดการจ้างงานและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศเช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย ทำให้ผู้ให้บริการมือถือต้องถือครองคลื่นหลายช่วงความถี่เพื่อการแข่งขัน คุณสมบัติของคลื่นแต่ละช่วงความถี่แตกต่างกัน คลื่นความถี่ต่ำเช่น 700, 850 และ 900 MHz จะสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้กว้าง แต่ไม่เหมาะสำหรับการใช้งานในบริเวณที่มีความต้องการข้อมูลในปริมาณสูงหรือ หนาแน่น ในทางกลับกัน คลื่นความถี่สูงเช่น 1800, 2100 และ 2600 MHz จะครอบคลุมพื้นที่ได้แคบกว่าคลื่นความถี่ต่ำ แต่จะสามารถรับส่งข้อมูลได้ปริมาณมากและรวดเร็วมากกว่า โดยปกติแล้วผู้ให้บริการมือถือจึงต้องการถือครองอย่างน้อยสองช่วงความถี่ คือ ช่วงคลื่นความถี่ต่ำเพี่อให้บริการในต่างจังหวัดที่มีความต้องการใช้ข้อมูล ไม่ค่อยหนาแน่นแต่ต้องครอบคลุมพื้นที่กว้าง และช่วงคลื่นความถี่สูงเพื่อให้บริการในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้บริการ ข้อมูลที่สูงและมีการใช้งานหนาแน่นเช่น กรุงเทพฯ ที่มา http://www.scbeic.com/document/note_20140402_1800   v การประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ จัดทำความเห็นเสนอต่อ กสทช. เรื่องการประมูลคลื่นความถี่ 2100  MHz โดย ขอให้ กสทช. ดำเนินการโดยคำนึงถึง “ประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมและต้องดำเนินการในลักษณะที่มีการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึงในกิจการด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมแก่การเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ” ผลการดำเนินการ : กสทช. จัดประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz โดยไม่ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการฯ แต่อย่างใด   v กรณีหมดอายุสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ ได้จัดเวที “ ทางออกผู้บริโภค กรณีซิมดับฯ ” เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 และจัดทำ ทำความเห็นเสนอต่อ กสทช. เรื่องกรณีหมดอายุสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz ข้อเสนอ ดังนี้ ขอให้มีการเร่งรัดการดำเนินการโอนย้ายเครือข่ายให้เต็มตามศักยภาพ คือ 300,000 เลขหมายต่อวัน กสทช. ต้องให้มีการเพิ่มประเด็นในการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญากาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... กสทช. ต้องเร่งตั้งคณะทำงานประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และกำหนดวันในการจัดการประมูลคลื่นโดยเร่งด่วน บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองรายคือ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (มหาชน) จะต้องคืนเงินคงเหลือในระบบให้กับผู้ให้บริการ และในกรณีที่บริษัทจะตัดสัญญาณผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่พรีเพดบริษัทจะต้องแจ้งผ่านข้อความสั้นให้ทราบล่วงหน้าก่อน  3 วัน พร้อมทั้งระบุจำนวนเงินคงค้างในระบบให้ผู้บริโภครับทราบและเพื่อให้ขอคืนเงินได้ด้วยอย่างชัดเจน ขอให้ซูเปอร์บอร์ดดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ในกรณีที่ กสทช. ไม่สามารถดำเนินการให้เกิดการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ทั้งที่เป็นภาระหน้าที่ที่ทราบล่วงหน้ามาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเป็น กสทช.   ผลการดำเนินการ : ไม่มีการตอบรับจาก กสทช.แต่ประการ   v กรณีโฆษณาผิดกฎหมายในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ ได้จัดทำข้อเสนอต่อ กสทช.  ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกรณีโฆษณาผิด กฎหมายในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์  โดยขอให้ กสทช. ยึดหลักการการกระจายการถือครองและใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ให้ครอบคลุมองค์กรสาธารณประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในทีวีดิจิตอลประเภทบริการสาธารณะ นอกเหนือจากหน่วยงานรัฐกำหนดสัดส่วนคลื่นความถี่ไว้ไม่น้อยกว่า 20% ในทุกพื้นที่เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการบริการชุมชนรวมทั้งเร่งเผยแพร่ความรู้ที่ชัดเจนกับผู้บริโภค ก่อนการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์ระบบอะนาล็อกไปสู่ระบบทีวีดิจิตอล   ผลการดำเนินการ : ไม่มีการตอบรับจาก กสทช.แต่ประการ   รายชื่อคณะกรรมการ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รศ.ดร.จิราพร  ลิ้มปานานนท์        ประธาน / ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ นายจุมพล  ชื่นจิตต์ศิริ                 รองประธาน / ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ ดร.เดือนเด่น  นิคมบริรักษ์            กรรมการ / ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคาร ผศ.ประสาท  มีแต้ม                    กรรมการ / ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ ผศ.รุจน์  โกมลบุตร                     กรรมการ / ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและโทรคมนาคม ผศ. ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง              กรรมการ / ผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและบริการทั่วไป นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา             กรรมการ / ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ นางสาวชลดา บุญเกษม              กรรมการ / ผู้แทนเขต 1 ภาคกลาง นายน้ำค้าง มั่นศรีจันทร์               กรรมการ / ผู้แทนเขต 2 ภาคตะวันออก 10.  นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ                   กรรมการ / ผู้แทนเขต 3 ภาคอีสานตอนบน 11.  นางอาภรณ์ อะทาโส                   กรรมการ / ผู้แทนเขต 4 ภาคอีสานตอนล่าง 12.  นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล              กรรมการ / ผู้แทนเขต 5 ภาคเหนือ 13.  นางสาวบุญยืน ศิริธรรม               กรรมการ / ผู้แทนเขต 6 ภาคตะวันตก 14.  ภญ.ชโลม  เกตุจินดา                  กรรมการ / ผู้แทนเขต 7 ภาคใต้ 15.  นายศิริศักดิ์ หาญชนะ                 กรรมการ / ผู้แทนเขต 8 กรุงเทพมหานคร   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 160 เรื่องต้องรู้ก่อนซื้อคอนโด

จากเดิมที่คอนโดมิเนียมหรืออาคารชุดเคยเป็นที่อยู่อาศัยที่ถูกสร้างขึ้นในพื้นที่เฉพาะอย่างย่านธุรกิจสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ เช่น สาธร สีลม สุขุมวิท เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการเดินทางเข้ามาทำงาน ของคนที่อยู่อาศัยห่างออกไปในพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากการจราจรที่แสนแออัด คอนโดมิเนียมจึงเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับคนที่ทำงานในพื้นที่ดังกล่าว แม้มีข้อจำกัดในแนวราบ แต่คอนโดสามารถทำแนวดิ่งได้หลายชั้น และแม้จะมีพื้นที่น้อยแต่สามารถแบ่งพื้นที่ใช้สอยได้จำนวนมากกว่าบ้านจัดสรร ที่สำคัญคือผู้บริโภคหรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของคอนโดนิเนียมในย่านธุรกิจมีกำลังทรัพย์มากพอที่จะจับจองเป็นเจ้าของได้ แต่ปัจจุบันการขยายตัวของแนวรถไฟฟ้า ที่เริ่มออกสู่พื้นที่ชั้นนอกแถบชานเมืองของกรุงเทพฯ ยกตัวอย่างสถานีกรุงธนบุรี – บางหว้าที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อช่วงปลายปี 56 ซึ่งการเกิดของเส้นทางรถไฟฟ้ามาพร้อมกับการเกิดขึ้นของคอนโดมิเนียมจำนวนมาก เชื่อหรือไม่ว่า โครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายตั้งแต่ปี 2552 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่อยู่รอบรัศมี 500 เมตรจากแนวรถไฟฟ้าสถานีกรุงธนบุรีถึงสถานีบางหว้ามีทั้งสิ้นประมาณ 31 โครงการ รวมประมาณ 14,900 หน่วย ซึ่งใน 31 โครงการนี้มีที่สร้างเสร็จแล้ว 14 โครงการ และขายหมดแล้วเรียบร้อยถึง 12 โครงการ ข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  พบว่ามีสถิติการจดทะเบียนอาคารชุดทั่วประเทศ ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2540 จนถึง พฤษภาคม ปี 2557 พบว่ามีการจดทะเบียนอาคารชุดทั่วประเทศจำนวน 6,606 โครงการ เป็นจำนวนห้องหรือยูนิตรวม 624,434 หน่วย ซึ่งหากแบ่งเฉพาะพื้นที่ในกรุงเทพฯ จะมีอาคารชุดที่จดทะเบียนเท่ากับ 2,460 โครงการ เป็นจำนวนยูนิต 362,553 หน่วย ต่างจังหวัด 4,146 โครงการ เป็นจำนวนยูนิต 261,878 หน่วย โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่มีการเกิดขึ้นของอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมมากที่สุด คือ เฉพาะในกรุงเทพฯ มีการจดทะเบียนถึง 371 โครงการ เป็นจำนวนยูนิตถึง 50,602 หน่วย   ปัญหาจากการซื้อคอนโด เรื่องร้องเรียนอันดับ 1 สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาพร้อมปริมาณที่เพิ่มขึ้นของคอนโดก็คือ เรื่องร้องเรียนจากผู้ซื้อ ผู้ที่อยู่อาศัย มีตัวเลขยืนยันจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่สรุปจำนวนเรื่องร้องเรียนตลอดปี 2556 ที่ผ่านมา เรื่องร้องเรียนในกลุ่มที่อยู่อาศัย ถือเป็นเรื่องร้องเรียนมากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 1,324 ราย จากจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 3,150 ราย โดยเรื่องร้องเรียนในกลุ่มที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์ สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.ปัญหาจากบ้านจัดสรร 2.ปัญหาการเช่าพื้นที่ และ 3.ปัญหาจากอาคารชุดและคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุด คือมีจำนวนผู้ร้องเรียนถึง 629 ราย เป็นเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 1,390 เรื่อง ปัญหาที่ร้องเรียนส่วนใหญ่ ได้แก่ ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา คอนโดนิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วไม่ตรงตามสัญญา สร้างไม่ได้มาตรฐาน คอนโดที่สร้างไม่เป็นไปตามที่โฆษณา บ้านไม่เรียบร้อยตอนโอนกรรมสิทธิ์ บ้านชำรุดบกพร่องภายหลังโอนกรรมสิทธิ์ ฯลฯ ปัญหาที่ผู้บริโภคต้องเตรียมพร้อมรับมือเมื่อซื้อคอนโด 1.สร้างเสร็จช้ากว่ากำหนด คอนโดส่วนใหญ่จะมีการเปิดให้จองก่อนที่สร้างแล้วเสร็จ บางโครงการเปิดให้จองตั้งแต่ยังไม่ลงเสาเข็ม ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นตามมาก็คือ คอนโดสร้างเสร็จล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดที่ได้แจ้งไว้กับผู้ซื้อเมื่อตอนที่มีการตกลงทำสัญญา ผู้ซื้อย้ายเข้าอยู่ไม่ได้ ซึ่งผู้ซื้อบางรายมีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องย้ายเข้าไปอยู่ตามช่วงเวลาที่ตกลงไว้แต่แรก เมื่อย้ายเข้าไปอยู่ไม่ได้ก็จึงกลายเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ซื้อ บางรายก็ต้องเสียเงินเพิ่มเพื่อหาที่อยู่อาศัยชั่วคราว เพราะคอนโดก็จ่ายเงินซื้อไปแล้ว ผ่อนมาก็หลายเดือนยังไงก็คงต้องรอ ปัญหานี้ ผู้ซื้อมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยได้ เพราะเป็นการผิดสัญญา ซึ่งผู้ซื้อต้องตรวจสอบให้ชัดเจนตั้งแต่ตอนทำสัญญา เพราะในหนังสือสัญญาต้องมีการระบุด้วยว่า หากเป็นการสร้างคอนโดเสร็จล่าช้าไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ ผู้ซื้อมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยโดยคิดดอกเบี้ย เป็น % จากเงินต้นทั้งหมดที่ได้จ่ายไป ซึ่งในสัญญาเจ้าของโครงการต้องมีการระบุไว้ การก่อสร้างอาจมีการล่าช้ากว่าที่กำหนดได้ไม่เกินกี่เดือนหรือหากเกิดปัญหาสุดวิสัย อย่าง เกิดภัยธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งทางโครงการต้องมีการแจ้งให้ผู้ซื้อทราบล่วงหน้า Tip วิธีแก้ปัญหาคือ ผู้ซื้อต้องส่งจดหมายแบบตอบรับถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทเจ้าของโครงการ (โดยเก็บสำเนาไว้กับตัวเอง 1 ชุด) พร้อมแนบสำเนาหลักฐานต่างๆ เช่น เอกสารการทำสัญญา หลักฐานการซื้อขาย แผ่นโฆษณาหรือหนังสือสัญญาที่มีการแจ้งรายละเอียดการรับผิดชอบกรณีสร้างคอนโดนแล้วเสร็จล่าช้ากว่ากำหนด หากไม่ได้รับการตอบรับความรับผิดชอบจากโครงการ ให้นำเรื่องฟ้องต่อ สคบ. ซึ่งหากท้ายที่สุดต้องมีการฟ้องร้องเป็นคดีความ ก็สามารถฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ 2.โครงการไม่ได้รับอนุญาตให้สร้าง สิ่งที่ผู้ซื้อคอนโดหลายคนอาจยังไม่รู้และอาจจะมองข้ามไป คือเรื่องของการขอใบอนุญาตก่อสร้างและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment (EIA) Report) ซึ่งตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มีข้อกำหนดให้อาคารชุดที่มีที่อยู่อาศัยรวมกันตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป รวมถึงอาคารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ฝั่งทะเล ทะเลสาบหรือชายหาด หรือที่อยู่ใกล้ หรือในอุทยานแห่งชาติ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ ที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่รวมกันทุกชั้น หรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกัน ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  คือ รายงานที่โครงการก่อสร้างต่างๆ ต้องทำการศึกษาถึงผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินการก่อสร้างโครงการ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพิจารณาถึงความเหมาะสมของการพัฒนาโครงการดังกล่าว หากพบว่าโครงการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะไม่ได้รับใบอนุญาติก่อสร้างจากสำนักโยธาธิการในพื้นที่ Tip เพราะฉะนั้นหากคอนโดใดที่มีห้องมากกว่า 80 ห้อง ผู้ซื้อต้องไม่ลืมสอบถามเรื่องใบขออนุญาตก่อสร้าง เพราะโครงการนั้นเข้าข่ายต้องมีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยิ่งเดี๋ยวนี้คอนโดส่วนใหญ่เปิดจองตั้งแต่ยังไม่เริ่มมีการก่อสร้าง ซึ่งการทำรายงานอาจทำในภายหลัง หากโครงการนั้นไม่ผ่านเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม  โครงการต้องหยุดการก่อสร้าง ผู้ซื้อคอนโดก็จะได้รับความเสียหาย ต้องมาเสียเวลาเรียกร้องขอเงินคืน และก็ไม่อาจจะแน่ใจได้ว่าจะได้รับเงินคืนทั้งหมดภายในระยะเวลานานแค่ไหน สามารถตรวจสอบเรื่องใบอนุญาตก่อสร้างโครงการได้ที่ จากกรมโยธาธิการ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร สำนักโยธาธิการจังหวัด   3.เชิดเงินจองหนี สาเหตุของการถูกเชิดเงินจองหรือเงินมัดจำจองซื้อห้องคอนโด มักจะเกิดจากการที่หลงเชื่อนายหน้าหรือตัวแทนขายที่มาเสนอขายคอนโด จนตกลงทำสัญญาซื้อขายกันโดยที่สัญญาดังกล่าวไม่ไปถึงบริษัทที่รับผิดชอบโครงการ พอผู้ซื้อจะไปติดต่อแสดงตัวเป็นเจ้าของห้อง ก็พบว่าไม่มีการทำสัญญาใดๆ ไว้ นายหน้าหรือตัวแทนขายที่ได้ตกลงจ่ายเงินกันไว้ก็หนีหายไปพร้อมเงิน กลายเป็นว่าทุกข์ก็ตกมาอยู่กับผู้ซื้อ สุดท้ายก็ต้องแจ้งความดำเนินคดีกันไป ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เป็นคดีความบนหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง Tip การป้องกัน เวลาตกลงทำสัญญาใดๆ มีการจ่ายเงินล่วงหน้า ต้องทำกับบุคคลหรือบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ มีเอกสารยืนยันรับรองชัดเจน แสดงที่มาที่ไป หรือหากไม่มั่นใจสามารถตรวจสอบข้อมูลบริษัทกับทาง สคบ.หรือที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์   4.สร้างเสร็จแต่ไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้ อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เกิดจากการที่คอนโดเปิดให้จองตั้งแต่ยังไม่ดำเนินงานสร้าง ผู้ซื้อส่วนใหญ่จึงได้แต่มองดูห้องตัวอย่างหรือภาพโฆษณานำมาใช้ประกอบการตัดสินใจ เมื่อคอนโดสร้างเสร็จเรียบร้อยพร้อมย้ายเข้าไปอยู่ก็มักเจอเข้ากับปัญหา เมื่อสภาพห้องจริงๆ ไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้ Tip ใน พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2551 มีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาอาคารชุด ที่ช่วยให้ผู้ซื้อไม่ต้องถูกเอาเปรียบจากการโฆษณาของผู้ประกอบการเจ้าโครงการ โดยใน พ.ร.บ.ระบุไว้ว่า ใหข้อความหรือภาพที่โฆษณาหรือหนังสือชักชวนเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อ-ขาย หากข้อความหรือภาพใดในโฆษณามีความหมายขัดแย้งกับข้อความในสัญญาให้ตีความเป็นประโยชน์ต่อผู้ซื้อ ป้องกันการเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ โดยเจ้าของโครงการต้องมีการเก็บสำเนาเอกสารที่เป็นสื่อโฆษณาทุกประเภท ทุกชิ้นไว้ จนกว่าจะขายห้องชุดหมด และต้องมีการส่งสำเนาให้นิติบุคคลอาคารชุดเก็บไว้อย่างน้อยหนึ่งชุด นอกจากนี้ข้อความและภาพโฆษณาจะต้องตรงกับหลักฐานและรายละเอียดที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้ ซึ่งต้องมีการระบุรายละเอียดเรื่องของทรัพย์สินส่วนกลางเอาไว้ด้วย   กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ที่เป็นข้อกำหนดเพื่อคุ้มครองผู้ซื้อบ้านและห้องชุดในอาคารชุด ผ่านการควบคุมการโฆษณา ได้มีการกำหนดรายละเอียดข้อความโฆษณาขายคอนโดที่ลงในหนังสือพิมพ์ แผ่นพับ โบร์ชัวร์ ซึ่งคอนโคที่ดีควรมีข้อความดังต่อไปนี้อยู่ในโฆษณา -ข้อความที่แสดงว่าโครงการได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารถูกต้องเรียบร้อยแล้วหรือยัง -เดือน ปีที่เริ่มต้นก่อสร้างและที่กำหนดว่าจะก่อสร้างอาคารชุดแล้ว -ข้อความที่แสดงว่าจะไปจดทะเบียนเป็นอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ -ตำแหน่งที่ดิน เลขที่ของโฉนดที่ดิน จำนวนที่ของที่ดินของโครงการ และแผนผัง -ข้อความที่แสดงว่าที่ดินและอาคารชุดมีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน บุคคล หรือนิติบุคคลใด หรือไม่ -จำนวนชั้นและจำนวนห้องชุดของอาคารชุดนั้น -ข้อความที่แสดงที่ว่าในอาคารชุดหลังเดียวกันนี้ มีห้องชุดเพื่อใช้เป็นเฉพาะที่อยู่อาศัย หรือใช้เป็นเฉพาะสำนักงาน หรือเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและสำนักงาน -ข้อความที่แสดงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและค่าภาษีอากรที่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในห้องชุด มีหน้าที่ต้องชำระตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด -รายการและขนาดของทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลและทรัพย์ส่วนกลาง ในกรณีที่มีการโฆษณาว่าจะจัดให้มีทรัพย์ส่วนบุคคลภายนอกห้องชุดหรือทรัพย์ส่วนกลาง นอกจากที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด รวมทั้ง เดือน ปี ที่เริ่มต้นก่อสร้างหรือจัดหาและที่กำหนดว่าจะก่อสร้างหรือติดตั้งทรัพย์สินนั้นแล้วเสร็จ -ชื่อและที่อยู่ของผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุด ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลต้องระบุทุนจดทะเบียน ทุนชำระแล้ว ชื่อกรรมการผู้จัดการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการผู้มีอำนาจ ลงลายมือชื่อผูกพันนิติบุคคล -ข้อความที่แสดงว่าภาพโฆษณาเป็นภาพของจริงหรือภาพจำลองจากของจริง   5.ถูกบังคับให้โอนกรรมสิทธิทั้งที่ยังสร้างไม่เสร็จ คอนโดบางแห่งอาจมีการยื่นข้อเสนอให้ผู้ซื้อรีบรับโอนกรรมสิทธิห้อง ทั้งๆ ที่ตัวห้องยังสร้างไม่แล้วเสร็จดี โดยทางเจ้าของโครงการมักจะมีข้อเสนอต่างๆ มาเย้ายวนยั่วใจแก่ผู้ซื้อห้อง ทั้งส่วนลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการโอน ลดค่าส่วนกลาง ทำให้ผู้ซื้อหลายคนตัดใจยอมโอนกรรมสิทธิทั้งที่ห้องยังไม่เสร็จ ทำให้ไม่มีโอกาสได้ตรวจดูห้อง ซึ่งพอถึงเวลาย้ายเข้าไปอยู่จริงเมื่อเจอปัญหาความบกพร่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากอุปกรณ์เครื่องใช้ทั้งหลาย ระบบประปา ไฟฟ้า ฯลฯ ถึงเวลานั้นการเรียกร้องการแก้ปัญหาก็จะยิ่งเป็นปัญหา เพราะการเรียกร้องความรับผิดชอบจากเจ้าของโครงการก็เป็นเรื่องยาก เพราะเขาก็จะอ้างว่าห้องได้ถูกโอนให้เป็นกรรมสิทธิของผู้ซื้อแล้ว เมื่อเป็นแบบนี้การแก้ปัญหาก็จะต้องกลายเป็นภาระของผู้ซื้อ คำแนะนำที่ดีที่สุดคือ อย่ารับโอนกรรมสิทธิห้องหากผู้ซื้อยังไม่เห็นห้องที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว  เพื่อผู้ซื้อจะได้มีโอกาสตรวจสอบคุณภาพของห้อง หากพบจุดชำรุดบกพร่องจะได้มีการแจ้งให้ทางโครงการทำการแก้ไขให้แล้วเสร็จเรียบร้อยเสียก่อน จะได้ไม่ต้องมาเป็นภาระของผู้ซื้อในภายหลัง Tip หากผู้ซื้อเจอกับกรณีที่เจ้าของโครงการพยายามบังคับหรือใช้ข้อกำหนดใดๆ มาบังคับให้ผู้ซื้อต้องรีบทำการรับโอนกรรมสิทธิห้อง ทั้งๆ ที่ผู้ซื้อเห็นว่าสภาพห้องยังไม่แล้วเสร็จเรียบร้อย หรือยังมีข้อบกพร่องที่ต้องมีการแก้ไข ซึ่งข้อชำรุดบกพร่องในบางจุดอาจเสี่ยงตาอความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย ผู้ซื้อสามารถแจ้งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สคบ. หรือ กรมที่ดิน เพื่อให้ดำเนินการกับเจ้าของโครงการเพื่อดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อย   6.พบความเสียหายในคอนโดหลังโอนกรรมสิทธิ ปัญหาบางอย่างถ้าไม่ได้เข้าไปอยู่เสียก่อน ก็คงไม่มีโอกาสได้รู้ ผู้ซื้อหลายๆ คนต้องเจอปัญหาหนักใจหลังจากย้ายข้าวย้ายของเข้าไปอยู่ บางคนอยู่มาเป็นปีถึงเจอ บางคนไม่กี่เดือน บางคนซ้ำร้ายย้ายไปอยู่ไม่ทันข้ามคืนก็เจอเข้ากับปัญหาซะแล้ว ซึ่งปัญหาต่างๆ มี่เกิดขึ้นแน่นอนว่าต้องดำเนินการแก้ไข แต่ใครละเป็นผู้รับผิดชอบ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดแบบสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายห้องชุด ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ในส่วนของสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด (อ.ช. 22) ในข้อที่ 8 ได้มีการกำหนดเรื่องความรับผิดชอบของผู้ขายหรือเจ้าของโครงการในส่วนของความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นไว้ดังนี้ 1.ผู้ขายต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากความชำรุดบกพร่องของอาคารชุดหรือห้องชุด ในกรณีดังต่อไปนี้ 1.1 กรณีที่เป็นโครงสร้างและอุปกรณ์อันเป็นส่วนประกอบอาคารที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันจดทะเบียนอาคารชุด 1.2 กรณีส่วนควบอื่นนอกจากโครงสร้างและอุปกรณ์อันเป็นส่วนประกอบอาคารตามข้อ 1.1 ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี 2.ผู้ขายต้องแก้ไขความชำรุดบกพร่องของอาคารชุดที่เกิดขึ้นภายใน 30 วันนับแต่วันที่ผู้ซื้ออาคารชุดได้แจ้งเป็นหนังสือให้ทราบถึงความชำรุดบกพร่องนั้น เว้นแต่ในกรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้น เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน ผู้ขายต้องดำเนินการแก้ไขในทันทีที่ได้รับแจ้ง หากผู้ขายไม่ดำเนินการแก้ไขความชำรุดบกพร่องดังกล่าวข้างต้น ผู้ซื้อมีสิทธิดำเนินการแก้ไขเองหรือจะให้บุคคลภายนอกแก้ไขให้ก็ได้ โดยผู้ขายยินยอมชดใช้ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแก้ไขความชำรุดบกพร่องดังกล่าว   Tip หากพบเจอปัญหาความชำรุดบกพร่องภายในคอนโดนหลังโอนกรรมสิทธิ ซึ่งเป็นความบกพร่องในส่วนที่ทางเจ้าของโครงการต้องเป็นผู้รับผิดชอบแก้ไข ให้ลองสอบถามเจ้าของห้องรายอื่นๆ ในโครงการ ว่าพบปัญหาในลักษณะเดียวกันหรือไม่ เพราะหากมีผู้เสียหายหลายๆ รายที่พบปัญหาในลักษณะเดียวกันแล้วรวมตัวกันเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ประกอบการ พลังในการต่อร้องจะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น หากยังไม่ได้รับการรับผิดชอบจากเจ้าของโครงการ ก็ให้รวมตัวไปแจ้งต่อ สคบ. ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่กลุ่มผู้อาศัยในคอนโดรวมตัวกันไปฟ้องร้องเรียกร้องเงินชดเชยจากเจ้าของโครงการผ่าน สคบ. สำเร็จมาแล้ว   หัวใจของการซื้อคอนโด -เข้มเรื่องสัญญา สัญญาคือเอกสารหลักฐานที่สำคัญที่ผู้ซื้อสามารถนำมาใช้เป็นข้อยืนยันกรณีที่เกิดปัญหาจากการซื้อขาย เพื่อใช้เรียกร้องต่อรองกับผู้ขายหรือเจ้าของโครงการ เพราะฉะนั้นต้องให้ความสำคัญกับรายละเอียดต่างๆ ที่อยู่ในสัญญา โดยต้องให้สัญญานั้นเป็นธรรมกับทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมากที่สุด ซึ่งทาง สคบ. ได้มีออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 โดยหลักเกณฑ์ของสัญญาซื้อขายคอนโดที่ดีควรมีรายละเอียดดังนี้ 1.สัญญาที่ผู้ขายทำกับผู้ซื้อต้องมีข้อความภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัด มีขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่า 2 มิลลิเมตร 2.ข้อสัญญาที่รองรับว่าผู้ขายมีกรรมสิทธิในที่ดิน และมีคำมั่นว่าจะดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดให้แล้วเสร็จและจะนำไปจดทะเบียนอาคารชุด หรือดำเนินการก่อสร้างอาคารชุด หรือก่อสร้างอาคารชุดเสร็จแล้วจะนำไปจดทะเบียนอาคารชุด หรือมีกรรมสิทธิห้องชุดในอาคารชุดและผู้ลงนามในสัญญาเป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันตามสัญญาไว้ท้ายสัญญาแล้ว 3.ข้อสัญญาต้องแสดงว่าที่ดิน อาคารและห้องชุดในอาคารชุดมีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน หรือบุคคลใด 4.บอกตำแหน่งที่ดิน เลขที่ของโฉนดที่ดิน จำนวนเนื้อที่ของที่ดินโครงการ แผนผังแสดงเขตที่ดินหรือที่ตั้งของอาคารชุด 5.ต้องแจ้งราคาขายต่อตารางเมตร และพื้นที่ห้องชุดที่จะซื้อขาย 6.ราคาซื้อขายที่ทำการตกลงกัน การชำระเงิน วิธีการ ระยะเวลา ขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ 7.วัตถุประสงค์การใช้พื้นที่ทุกส่วนของอาคารชุด รายละเอียดที่เกี่ยวข้องของห้องชุดในอาคารชุด รายการและขนาดของทรัพย์ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวก 8.ข้อมูลการก่อสร้าง ลักษณะ ยี่ห้อ ชนิด รุ่น คุณภาพ ขนาด สี ของวัสดุ ผิวพื้น ผิวหนัง ผิวเพดาน หลังคา สุขภัณฑ์ต่างๆ ประตูหน้าต่าง และอุปกรณ์ประกอบประตูหน้าต่าง ตามมาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ถ้าหากไม่สามารถหาวัสดุตามที่กำหนดไว้จากท้องตลาดได้ ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดหาวัสดุที่มีคุณภาพดีกว่าหรือเทียบเท่ามาใช้ก่อสร้างแทน โดยผู้ขายจะต้องดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามรูปแบบและรายการที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย นอกจากนี้ผู้ขายจะต้องเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งมาตรวัดปริมาตร และปริมาณการใช้สาธารณูปโภคทั้งในส่วนกลางและส่วนที่แยกต่อภายในห้องชุด กรณีมาตรวัดในส่วนที่แยกต่อภายในห้องชุดผู้ขายเป็นผู้ดำเนินการขอติดตั้งโดยชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการติดตั้งไปก่อน และเมื่อได้โอนกรรมสิทธิห้องชุดให้แก่ผู้ซื้อโดยโอนมาตรวัดให้เป็นชื่อของผู้ซื้อแล้ว ผู้ขายจึงจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากผู้ซื้อได้แต่ไม่เกินจำนวนเงินที่จ่ายไปก่อนนั้น 9.รายละเอียดเบี้ยปรับ กรณีผิดนัดชำระของผู้ซื้อ การบอกเลิกสัญญา 10.การชดเชยกรณีผู้ขายสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา หรือมีการเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งใดไปจากที่เคยตกลงกันไว้ในสัญญา   ใบโบชัวร์ แผ่นพับ หรือแม้แต่สปอร์ตโฆษณาทางทีวี อินเตอร์เน็ต ก็ถือเป็นเอกสารหลักฐานชิ้นสำคัญ เพราะการโฆษณาต่างๆ ถูกนับร่วมเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสัญญาที่ผู้ขายได้ทำกับผู้ซื้อ หากผู้ซื้อพบว่าคอนโดที่ซื้อจากผู้ขายสภาพจริงไม่ต้องตามที่ได้โฆษณาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ดำเนินงานสร้าง หรือแม้แต่สาธารณูปโภคต่างๆ หากไม่เป็นตามที่โฆษณาไว้ สามารถนำหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏในสื่อโฆษณามาใช้ฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยได้   -จริงจังเรื่องการเงิน การวางแผนการชำระเงินถือเป็นขั้นตอนสำคัญ หากต้องการเป็นเจ้าของห้องพักในคอนโดสักห้อง สิ่งสำคัญก็คือการสำรวจสถานภาพการเงินของตัวเองให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อคอนโด ดูความสามารถในการรับภาระหนี้สินที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ความมีวินัยในการผ่อนชำระเงินในแต่ละงวด ซึ่งอย่างน้อยควรมีเงินออมที่สามารถนำมาใช้ผ่อนชำระได้นาน 3 – 6 เดือน ในกรณีที่หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น เจ็บป่วย หรือขาดรายรับ เพื่อให้การชำระเงินค่างวดยังสามารถดำเนินต่อไปได้ หากผู้ซื้อผิดนัดชำระค่างวด จ่ายไม่ตรงตามกำหนดที่ได้ทำสัญญาไว้กับผู้ขาย ผู้ซื้อก็มีสิทธิ์           ถูกบอกเลิกสัญญา ซ้ำร้ายอาจถูกริบเงินมัดจำที่จ่ายไว้เมื่อตอนตกลงทำสัญญา   -ให้ความสำคัญเรื่องส่วนกลาง-สาธารณูปโภค พื้นที่และสาธารณูปโภคส่วนกลาง ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ผู้ซื้อคอนโดต้องให้ความสำคัญและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะค่าส่วนกลางที่จะต้องมีการเรียกเก็บกับผู้อยู่อาศัยในคอนโด จะเป็นค่าใช้จ่ายที่ผูกมัดตลอดการอยู่อาศัย เพราะฉะนั้นหากเห็นว่าบริการส่วนกลางใดที่มีอยู่ในคอนโดแล้วต้องเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย อย่างเช่น สระว่ายน้ำ ฟิตเนส โซนพักผ่อน ห้องประชุม ฯลฯ หากเราคิดว่าไม่ค่อยได้ใช้ หรือคงใช้ได้ไม่คุ้มกับค่าส่วนกลางที่ต้องจ่ายทุกเดือน ก็ควรเลือกคอนโดที่ไม่มีสาธารณูปโภคส่วนกลางที่เราไม่ต้องการ ลองเปรียบเทียบราคาค่าส่วนกลางเทียบกันหลายๆ โครงการ เลือกสิ่งที่เราต้องการและราคาที่เหมาะสมกับกำลังเงินของเรา แต่ต้องไม่ลืมให้ความสำคัญการบริการสาธารณูปโภคที่มีความจำเป็นอย่าง ที่จอดรถ ที่ต้องมีเพียงพอให้กับเจ้าของห้องทุกห้อง อย่างน้อย 1 ห้องต่อ 1 คัน ระบบรักษาความปลอดภัย ที่โครงการต้องระบุให้ชัดเจนว่ามีระบบและอุปกรณ์ที่ช่วยเรื่องความปลอดภัยอะไรบ้างในโครงการ ไม่ว่าเป็น การทำงานของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ระบบป้องกันอัคคีภัย รวมถึงสภาพแวดล้อมรอบคอนโด ที่เหมาะแก่การเป็นพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัย ไม่ใกล้แหล่งอันตราย หรือเสี่ยงอาชญากรรม   -ตรวจรับต้องรอบคอบ การตรวจรับคอนโดถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก เพราะหากตรวจรับไม่ดีมีปัญหาในภายหลังก็จะกลายมาเป็นปัญหาปวดใจ ได้บ้านหลังใหม่แต่ก็ต้องอยู่ไปแบบไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นเมื่อถึงวันที่ต้องมีการตรวจรับคอนโด ผู้ซื้อควรสละเวลาในการตรวจรับให้มากที่สุด ตรวจดูความเรียบร้อยต่างๆ ภายในห้องให้ครบถ้วนทุกซอกทุกมุม ควรมีผู้รู้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในการตรวจรับคอนโดมาช่วยตรวจ โดยต้องเตรียมอุปกรณ์อย่าง กล้องถ่ายรูป สมุด ปากกาไว้สำหรับจดความชำรุดบกพร่องต่างๆ ที่พบจากการตรวจ เพื่อจะใช้เป็นข้อมูลแจ้งให้กับผู้ที่รับผิดชอบในการดูแลแก้ไข สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในตรวจรับคอนโดประกอบด้วย วัสดุปูพื้น ผนัง เพดาน ประตู หน้าต่าง บันได การติดตั้งสุขภัณฑ์ ระบบสุขาภิบาล ระบน้ำ การปั้มน้ำ การระบายน้ำ การรั่วซึม ระบบไฟฟ้า การเดินสายไฟทั้งตามผนัง และบนฝ้า รวมทั้งเรื่องแสงสว่างของหลอดไฟ ระบบรับสัญญาณโทรทัศน์ สัญญาณโทรศัพท์ ตรวจดูโครงสร้างอาคาร ต้องไม่มีรอยร้าว การแอ่น – เอียงของโครงสร้าง ดูงานสี สีที่ทามีความสม่ำเสมอของเนื้อสี ความกลมกลืน ไม่มีรอยด่าง เนื้อสีไม่หลุดลอกหรือปูดโป่ง วัสดุที่ทำด้วยเหล็กไม่ร่องรอยสนิม ส่วนวัสดุที่ทำด้วยไม้ก็ต้องไม่มีสภาพผุกร่อน -มีปัญหาต้องร้องเรียน ข้อมูลจาก คณะอนุกรรมการด้านที่อยู่อาศัย โดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point