ฉบับที่ 127 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ก้าวสำคัญของงานผู้บริโภคไทย

  แม้จะพยายามใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังอย่างเต็มที่ แต่เราทุกคนคงยากที่จะหลีกเลี่ยงจากการถูกเอารัดเอาเปรียบได้ เนื่องด้วยอำนาจในการจัดการเกี่ยวกับวิถีการบริโภคนั้นไม่ได้อยู่ในมือของผู้บริโภค แต่ไปผูกพันกับระบบเศรษฐกิจ บรรษัทข้ามชาติ นักการเมืองและพ่อค้า คงมีก็แต่ผู้บริโภคที่แข็งแรงมากพอเท่านั้นที่จะมีโอกาสรอดได้ ซึ่งก็เป็นแค่คนส่วนน้อย ทุกวันนี้ประชาชนผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับปัญหาการละเมิดสิทธิอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง   ความฝันของผู้บริโภค   ความฝัน ความจริง ของดี ราคาไม่แพง ของห่วย ราคาแพง อาหารสะอาด ปลอดภัย อาหารปนเปื้อนสารพิษ สารเคมี ไปไหนมาไหนสะดวก บริการขนส่งสาธารณะได้มาตรฐาน ไปไหนไม่ค่อยมีทางเลือก ราคาไม่คุ้มบริการ ตลอดปีมีแต่อุบัติเหตุ ค่าน้ำ ไฟ โทรศัพท์ สมเหตุสมผล มีการบริหารจัดการที่ดี ราคาขึ้นไม่มีเหตุผล คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้เรื่องโครงสร้างราคา   ความฝันกับความจริงมักจะสวนทางกัน ไม่ว่าผ่านมากี่ยุคสมัย ผู้บริโภคยังต้องดิ้นรนเพื่อให้รอดจากการถูกเอาเปรียบ   ทำไมงานคุ้มครองผู้บริโภคบ้านเราไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าหากมองว่า ทางออกของการดูแลผู้บริโภคคือ กฎหมาย ประเทศไทยก็มีกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก แล้วทำไมผู้บริโภคจึงยังถูกเอาเปรียบ??? ก็เพราะกฎหมายมีข้อจำกัดที่ว่า ทำได้แค่ดูแลเฉพาะเรื่องที่กรอบกฎหมายของตนเองกำหนดไว้เท่านั้น โดยทุกกฎหมายเน้นการป้องกันที่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาหาร ยา ที่ดิน ประกันชีวิต ฯลฯ ซึ่งเน้นควบคุมที่ผู้ประกอบการหรือต้นน้ำ ด้วยแนวคิดที่ว่าถ้าผู้ประกอบการดีเสียอย่าง ผู้บริโภคก็ปลอดภัย ซึ่งในความเป็นจริง ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะขีดความสามารถของหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลกฎหมาย ไม่อาจทำได้ถึงขนาดที่จะควบคุมผู้ประกอบการทุกรายและทุกสินค้าหรือบริการ เพราะโลกทุกวันนี้อยู่ในสภาพการผลิตที่ล้นเกิน และการบริโภคที่มากเกินไป ถามว่า แล้วมีกฎหมายที่เน้นที่ตัวผู้บริโภคไหม ก็มีอยู่ 1 ฉบับที่ระบุถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค คือ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่มีสำนักงานหนึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับ พ.ร.บ. นี้ คือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ.   ทว่า สคบ.ก็ขับเคลื่อนงานผู้บริโภคได้ไม่มาก เพราะถูกจำกัดบทบาทด้วยกฎหมายเช่นกัน กล่าวคือ สคบ.ดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคได้เฉพาะเรื่องที่ไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดของรัฐรับผิดชอบอยู่แล้ว เช่น เรื่องอาหาร ไม่ใช่บทบาทของ สคบ. แต่เป็นบทบาทของ อย. หรือเรื่องการเงินการธนาคารก็ไม่ใช่ สคบ. แต่เป็นบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ดังนั้นที่หลายคนเข้าใจว่า สคบ.เป็นหน่วยงานกลางของงานคุ้มครองผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง อีกทั้ง สคบ. ก็มิได้มีบทบาทหน้าที่ที่จะไปกำหนดนโยบายหรือมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศ นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ว่า ทำไมงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีข้อจำกัดอย่างมาก เมื่อหันกลับมามองที่ภาคประชาชน ก็ยิ่งพบสภาพการณ์ที่ย่ำแย่ ประชนชนทั่วไปยังเข้าใจในสิทธิผู้บริโภคน้อยเกินไป ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกซื้อเลือกใช้ อาจเรียกได้ว่า “มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก” ทีเดียว ส่วนใหญ่ถูกชวนเชื่อให้ลุ่มหลงไปกับคำโฆษณา การประชาสัมพันธ์และการตลาดที่รุกรานเข้าไปในพื้นที่ทุกช่วงเวลาของชีวิต ทั้งในรายการข่าว ในละคร บนรถเมล์ ในโรงภาพยนตร์  ฯลฯ ยิ่งผนวกรวมกับความรู้สึกไม่อยากจะใช้สิทธิหรือร้องเรียน เพราะกลัวปัญหายืดเยื้อเรื้อรัง จนปล่อยเลยตามเลย ก็เลยกลายเป็นจุดอ่อนให้ผู้ประกอบการยิ่งได้ใจเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคมาตลอด  เพราะคนจ้องจะเอาเปรียบมีมากเกินไปและแข็งแรงเกินไป หรืออาจเป็นเพราะผู้บริโภคเราอ่อนแอเกินไป รู้น้อยเกินไป เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคก็มีมากมายหลากหลายเสียเหลือเกินตั้งแต่เรื่องเล็กอย่างกระดาษทิชชู จนถึงเรื่องระดับประเทศอย่างน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะฉะนั้นถ้าหวังให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค คอยไล่ตามแก้ปัญหา ย่อมไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม ในระยะยาวถ้าหวังให้งานคุ้มครองผู้บริโภคเข้มแข็ง ก็ต้องส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง จนถึงขนาดมีอำนาจต่อรองกับภาคการผลิตได้ สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นในกฎ ระเบียบต่างๆ ที่กระทบกับการบริโภคได้ ไม่เป็นเพียงหน่วยย่อยเล็กๆ ที่ถูกกระทำดังเช่นทุกวันนี้   หน่วยพิทักษ์ผู้บริโภคกับการเดินทาง 14 ปี อันที่จริงเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้น ยังคงวนเวียนเขียนได้ไม่เคยเก่า ราวกับเป็นเรื่องธรรมดาของประเทศนี้ แม้เหตุการณ์จะผ่านไปหลายสิบปี รัฐบาลเปลี่ยนไปหลายชุด ผู้บริโภคก็ยังเป็นเหยื่อไม่เคยเปลี่ยน ถึงอย่างไร โลกนี้ก็ไม่สิ้นไร้ซึ่งความหวัง เมื่อปี พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ร่างโดยภาคประชาชนได้กล่าวถึงการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในมาตรา 57 โดยกำหนดไว้ว่า “ต้องมีองค์การอิสระ” ที่มีผู้แทนผู้บริโภคมาทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎและข้อบังคับต่างๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ด้วยความที่เป็นกลไกใหม่ “องค์การอิสระ” ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันมากมาย โดยเฉพาะคำว่า “อิสระ” ว่าแค่ไหน อย่างไร รวมทั้งจุดอ่อนสำคัญที่ไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญให้แน่ชัดว่าต้องเกิดองค์การนี้ภายในระยะเวลากี่ปี สุดท้ายก็ตายจากไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญปี 2540   แต่เพราะปัญหาผู้บริโภคเป็นเรื่องของคนทุกคน คำว่า “คุ้มครองผู้บริโภค” และ “องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค” จึงกลับมาในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 อีกครั้ง โดยคราวนี้ขยับไปที่ มาตรา 61 โดยแก้ไขจุดอ่อนที่มีในคราวรัฐธรรมนูญ 2540 โดยองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคในมาตรา 61 แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า ต้องการให้เป็นองค์กรที่เป็น “อิสระ” จากหน่วยงานของรัฐจริงๆ ไม่ใช่อยู่ในกำกับของรัฐ และนำบทเรียนเรื่องกรอบเวลามาปรับให้เป็นรูปธรรม โดยเขียนบทเร่งรัดกำหนดกรอบเวลาไว้ในมาตรา 303 ว่า รัฐบาลชุดแรกหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ประกาศใช้ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ต้องจัดทำกฎหมายองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคให้เสร็จและบังคับใช้ได้ภายใน 1 ปี ถ้าเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ปี 2554 นี้เราคงมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เกิดขึ้นแล้ว แต่หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ มีการเปลี่ยนรัฐบาลถึง 3 คณะใน 1 ปี เราถึงยังไม่มีองค์การอิสระฯ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเสียที   การขยับตัวของภาคประชาชน ในสมัยรัฐธรรมนูญ ปี 2540 องค์กรผู้บริโภคคึกคักกันพักใหญ่ เพราะเห็นทางรอดของผู้บริโภคไทย ที่รัฐธรรมนูญให้แนวทาง การกำเนิดขององค์กรใหม่ ที่จะมาทำหน้าที่ หน่วยพิทักษ์ผู้บริโภค ที่เป็นหน่วยงานกลางในเรื่องผู้บริโภคจริงๆ ไม่ใช่ตัวแทนเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หน่วยงานที่จะทำหน้าที่หลักในการคุ้มครองผู้บริโภค เฝ้าระวังและให้ความเห็นในกฎหมายหรือมาตรการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภค   สามปีแรก(2541 – 2543) เป็นงานเดินสายสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคและหน่วยงานต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวคิดเรื่อง ความเป็นอิสระ อำนาจ หน้าที่ ต่อมาก็มีการยกร่าง กฎหมายองค์การอิสระขึ้น และทำความเข้าใจกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จนถึงช่วงท้ายๆ ของอายุรัฐธรรมนูญปี 2540 สามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอกฎหมายได้ถึง 50,000 รายชื่อ แต่น่าเสียดาย ความหวังครั้งนั้นหายวับไปพร้อมกับเหตุรัฐประหาร 19 กันยายน 2549   แม้สิบปีจะยังไม่มีองค์การอิสระฯ เกิดขึ้น แต่ก็เหมือนกับได้เป็นการสร้างความพร้อม และปูพื้นฐานส่วนหนึ่งให้กับภาคประชาชน รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ เมื่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถือกำเนิดขึ้นและบทบัญญัติที่เกี่ยวกับองค์การอิสระไม่ได้หายไป ภาคประชาชนก็เริ่มขยับตัวอีกครั้ง การผลักดันกฎหมายโดยภาคประชาชนการเข้าชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 10,000 คน เสนอ (ร่าง) พ.ร.บ. องค์การอิสระผู้บริโภค ฉบับประชาชน   15 มีนาคม 2551 เริ่มรณรงค์ครั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 50องค์กรภาคประชาชน ประกาศเจตนารมณ์ และรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ ในการเสนอกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภค และรณรงค์ในจังหวัดต่างๆ  19 กุมภาพันธ์ 2552 ยื่นรายชื่อ  12,208 ชื่อ ต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา   23 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2552 รัฐสภาตรวจสอบรายชื่อ กระบวนการตรวจสอบรายชื่อ ความถูกต้องสมบูรณ์ รวมจำนวนที่ตรวจสอบได้  11,700  รายชื่อ   4 มีนาคม 2552 รัฐสภาส่งข้อมูลให้ กกต. ตรวจสอบสิทธิ 1 เมษายน 2552กกต. ส่งรายชื่อไปให้กรมการปกครองเป็นผู้ตรวจสอบ กรมการปกครองทำการส่งรายชื่อไปปิดประกาศในพื้นที่เพื่อร้องคัดค้าน เป็นเวลา 20 วัน   พฤษภาคม 2552กกต. ส่งกลับรายชื่อที่รับรองมาที่รัฐสภา     26  พฤษภาคม  2552รัฐสภาแจ้งผลการตรวจสอบ สรุปว่ามีผู้เข้าชื่อครบ 10,000 ชื่อ   1 มิถุนายน 2522 ประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ส่งให้นายกรัฐมนตรีลงนามให้คำรับรอง   หลังนายกรัฐมนตรีรับรอง ภาคประชาชนได้รับหนังสือจากเลขาธิการประธานรัฐสภา จะพิจารณาบรรจุเข้าวาระการประชุมของรัฐสภา   5 ตุลาคม 2553สภาผู้แทนราษฎร รับหลักการของร่างกฎหมาย 7 ฉบับรวมทั้ง พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ฉบับประชาชน โดยตั้งกรรมาธิการ 54  คน เป็นกรรมาธิการภาคประชาชน 18 คน   27 มกราคม 2554 พิจารณาร่างกฎหมายแล้วเสร็จ พร้อมเสนอให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป   9 กุมภาพันธ์ 2554 บรรจุวาระร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค วาระที่ 2   20 เมษายน 2554(ร่าง)พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 3 วาระ 10 พฤษภาคม 2554  รัฐบาลประกาศยุบสภา การพิจารณากฎหมายของวุฒิสภาต้องหยุดชะงักไป เพื่อรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี อีกครั้งหนึ่งภายใน 60 วันหลังการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง วุฒิสภาจึงจะสามารถพิจารณาร่างกฎหมายนี้ต่อไปได้   องค์การอิสระฯ ตามมาตรา 61 ทางออกระยะยาวที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม หลังผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร์ทั้ง 3 วาระ และรอลุ้นระทึกว่า รัฐบาลใหม่จะสานฝันให้ผู้บริโภคได้ทันหรือไม่ เรามาดูบทบาทหน้าที่ขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนี้กันสักหน่อย องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามร่างกฎหมายฉบับนี้ มีบทบาทสำคัญ  8 ประการ ได้แก่ 1. ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค 2. ตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและรายงานไปยังหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ และอาจรายงานเรื่องดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา รวมทั้งเผยแพร่เรื่องดังกล่าวต่อสาธารณชน  ทั้งนี้ ให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบดังกล่าวรายงานผลการพิจารณาและการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการภายในระยะเวลาอันสมควร 3. ดำเนินการและสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริง หรือแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้บริโภค ในการนี้จะระบุชื่อสินค้าหรือบริการ หรือชื่อของผู้ประกอบการด้วยก็ได้ 4. สนับสนุนการใช้สิทธิร้องเรียนของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบการ และดำเนินการให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ 5. ดำเนินคดีต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม โดยคณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งเลขาธิการหรือพนักงานขององค์การเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดี รวมทั้งมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่ร้องขอได้ด้วย  ทั้งนี้ การฟ้องและดำเนินคดีดังกล่าว ให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด  6. สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภคดังกล่าว ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  7. ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัย  รวมทั้งจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรผู้บริโภคหรือประชาชนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ  8. จัดให้มีการประชุมสมัชชาองค์กรผู้บริโภคอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเพื่อประเมินการดำเนินงานขององค์การ และติดตามตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค   ถ้านับเวลาจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็เป็นเวลากว่าสี่ปีมาแล้ว แต่หากนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่มีการระบุให้จัดตั้งองค์การอิสระไว้ในมาตรา 57 ก็เป็นระยะเวลายาวนานถึง 14 ปี และหากรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพียงแค่ปล่อยให้เวลาผ่านเลยวันที่ 30 กันยายน 2554 การดำเนินการในการออกกฎหมายก็จะต้องเริ่มใหม่หมด นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของผู้บริโภค อีกทั้งความตั้งใจและการดำเนินการที่ผ่านมาของภาคประชาชนจะกลายเป็นศูนย์ ต่อจากนี้ไป เราคงต้องมาร่วมลุ้นระทึกกันอีกครั้ง ว่าองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จะกลับไปเริ่มต้นกันใหม่หรือดำเนินการต่อไปอย่างสง่าผ่าเผย ได้โปรดติดตาม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 126 เมื่อ(คนทำงาน)ผู้บริโภคทั้งโลกมาเจอกัน

  ฉลาดซื้อฉบับนี้พาสมาชิกเปลี่ยนบรรยากาศไปย่ำฮ่องกงกันบ้าง เราไม่ได้พาคุณไปซอกแซกตามแหล่งช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนม แต่เราจะพาคุณผู้อ่านไปเข้าร่วมขบวนการผู้บริโภคในระดับโลกในงานสมัชชาผู้บริโภคของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล   * Consumers International World Congress 2011 ครั้งที่ 19 ที่จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าฮ่องกง เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา งานนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่างๆ กว่า 700 คน มาแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ตั้งแต่การณรงค์เรื่องอาหารการกินให้ปลอดภัยไร้สิ่งปนเปื้อน รวมถึงไม่มีแป้ง น้ำตาล หรือเกลือมากเกินไป เรื่องลดผลกระทบของการบริโภคต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการรณรงค์ให้บรรดาธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ เลิกเอาเปรียบผู้บริโภค และการร่วมกันหาทางออกเมื่อ “ลิขสิทธิ์” กลายเป็นสิ่งที่จำกัดการเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่างๆ----------------------------------------------------------------------------------- สหพันธ์ผู้บริโภคสากล Consumers International คือใคร CI เป็นกระบอกเสียงของผู้บริโภคในระดับโลกมากว่า 50 ปี มีสมาชิกเป็นองค์กรผู้บริโภค 220 องค์กร ใน 115 ประเทศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็เป็นสมาชิก ในการประชุม G 20 ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ สหพันธ์จะเรียกร้องให้ประเทศกลุ่ม G 20 กำหนดกฎเกณฑ์ที่จะสามารถคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้บริการการเงิน การธนาคาร หรือการลงทุน ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  คุณรู้หรือไม่ผู้นำระดับโลกคนแรกที่หยิบยกเรื่องของสิทธิผู้บริโภคขึ้นมาพูดถึงอย่างเป็นทางการคือ ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2506 ในที่ประชุมสภาคองเกรสของอเมริกา โดยเขาได้กล่าวถึงสิทธิผู้บริโภค 4 ประการ ได้แก่  และจากนั้นเป็นต้นมาวันที่ 15 มีนาคมของทุกปีจึงถือเป็นวันผู้บริโภคสากลด้วย -----------------------------------------------------------------------------------   HOT ISSUESการตลาดอาหารสำหรับเด็กที่แทรกซึมไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก เป็นหนึ่งในเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการความร่วมมือจากประเทศต่างๆ เพื่อรับมือกับบริษัทข้ามชาติที่ใช้กลยุทธ์ในการล่อลวงเด็กให้บริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยเกลือ น้ำมัน และน้ำตาล กันจนอ้วนลงพุงก่อนวัยอันควร เมื่อบริษัทอาหารและบริษัทโฆษณาเป็นบริษัทข้ามชาติซึ่งทำการตลาดอาหารในลักษณะเดียวกันทั่วโลก  การผลักดันให้มีกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการโฆษณาของบริษัทข้ามชาติเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง   องค์กรผู้บริโภคของเกาหลีใต้ Consumers Korea ก็มีการรณรงค์เรื่องนี้เข้มข้นคล้ายกับที่บ้านเรา เขาได้เสนอเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร* (Traffic Light Label) ให้รัฐบาลพิจารณาแต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้ยินสัญญาณตอบรับใดๆ (คล้ายกับที่บ้านเราเหมือนกัน) ขณะนี้มีเพียงประเทศอังกฤษประเทศเดียวที่มีฉลากไฟจราจรบนหีบห่ออาหาร จึงเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายองค์กรผู้บริโภคในอีกหลายๆ ประเทศ   *(สีเขียว หมายถึงการมีเกลือ ไขมัน หรือน้ำตาลในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สีเหลือง เมื่อมีสารอาหารดังกล่าวในปริมาณที่ค่อนข้างมาก และสีแดง เมื่อมีเกลือ ไขมัน หรือน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไป) 1. การทบทวนพฤติกรรมในการบริโภคของเราทั้ง 2,000 ล้านคนที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ เมื่อการบริโภคของเราส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราจึงต้องหันมาเลือกซื้อสินค้าหรือบริการโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการมากกว่าราคาหรือแบรนด์กันมากขึ้น ผู้บริโภคต้องร่วมมือกันกดดันให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างตรงไปตรงมา   เรื่องนี้องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumers Research & Testing จะทำหน้าที่เป็นผู้เสาะหาข้อมูลดังกล่าว จากการสำรวจนโยบายเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการต่างๆ โดยจะเผยแพร่ผ่านนิตยสารขององค์กรสมาชิกที่เป็นองค์กรเพื่อผู้บริโภคในแต่ละประเทศ เช่น นิตยสาร Which? ของอังกฤษ นิตยสาร Stiftung Warentest ของเยอรมนี นิตยสาร Consumers Report ของอเมริกา นิตยสาร CHOICE ของออสเตรเลีย และนิตยสารฉลาดซื้อ ของประเทศไทย เป็นต้น  2. เรื่องของบริการทางการเงิน การธนาคาร ซึ่งนาทีนี้ถือเป็นเรื่องที่ฮ็อตที่สุด เมื่อเศรษฐกิจของหลายประเทศมีอาการเข้าขั้นโคม่ากันไปตามๆ กัน เราเห็นธนาคารใหญ่ล้มละลายกันเป็นว่าเล่น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้บริโภคทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาต่างก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ เพราะเรายังไม่การคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องการเงินการธนาคารที่ดีนั่นเอง  ผู้บริโภคทั่วโลกถูกเอาเปรียบโดยสถาบันการเงินในรูปแบบคล้ายๆ กัน ธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ มีกำไรมากมายจากการคิดดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมจากเรา และเมื่อเกิดวิกฤตการเงินขึ้น รัฐบาลก็นำเงินภาษีของเราไปช่วยอุ้มธนาคารเหล่านั้นอีก  เราได้ยินเรื่องน่าสนใจจากองค์กรผู้บริโภค Consumentenbond จากเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีประชากรประมาณ 15 ล้านคน ประเทศนี้มีบริษัททางการเงินไม่ต่ำกว่า 5,000 แห่ง (มากกว่าจำนวนร้านหมอฟันทั้งประเทศ) และเนื่องจากคนดัทช์ส่วนใหญ่มีฐานะทางการเงินค่อนข้างดี จึงทำให้มี “ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน” ออกมาในตลาดค่อนข้างมาก และผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ถูกออกแบบมาให้มีความซับซ้อนจนผู้บริโภคไม่สามารถเข้าด้วยตนเองได้ จึงต้องขอคำแนะนำจาก “ที่ปรึกษา” ซึ่งก็มักเป็นผู้ที่ได้ “ค่าคอมมิชชั่น” จากการผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคเลือกลงทุน ผู้บริโภคชาวดัทช์ก็ไม่ต่างกับผู้บริโภคบ้านเรา เมื่อไม่ชอบคิดมากจึงต้องจ่ายแพงเกินไปโดยไม่จำเป็น Consumentenbond จึงวางแผนว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า จะรณรงค์ให้ยกเลิกค่าคอมมิชชั่นเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์มากขึ้น เพราะเชื่อว่าที่ปรึกษาเหล่านั้นอาจไม่ได้แนะนำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา เพราะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังจะรณรงค์ให้ผู้ประกอบการ นำเสนอผลิตภัณฑ์การเงิน ที่สามารถเข้าใจได้ง่าย ในราคาที่เหมาะสมและมีคุณภาพดีขึ้น   3. อีกประเด็นที่เขานำมาถกเถียงกันในงานสมัชชาครั้งนี้คือ เรื่องของสิ่งที่เรียกว่า “ทรัพย์สินทางปัญญา” ที่ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคทั้งต่อการเข้าถึงยา และการเข้าถึงความรู้   เราทราบกันดีแล้วว่าระบบสิทธิบัตรยา ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงยาที่มีราคาแพงได้ โดยเฉพาะยาสำหรับโรคมะเร็ง เบาหวาน หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งส่งผลต่อระบบสาธารณะสุขทั่วโลก เรื่องนี้ฟังแล้วชวนปวดตับอย่างยิ่ง คุณรู้หรือไม่ว่าการลงทุนวิจัยยาใหม่นั้นมีมูลค่าเพียงร้อยละ 10 -15 ของราคายาที่ขายเท่านั้น ที่เหลือเป็นมูลค่าการทำการตลาดทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้นร้อยละ 80 ของ”ยาใหม่” ไม่มีประโยชน์ในการรักษาเพิ่มเติมแต่อย่างใดด้วย   ในการประชุมครั้งนี้เมื่อผู้ประสานงานโครงการการเข้าถึงความรู้ สหพันธ์ผู้บริโภคสากล เปิดเผยผลสำรวจให้ผู้เข้าร่วมสมัชชาฟังว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ยอมให้ระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความรู้ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่า “การใช้อย่างเป็นธรรม” หรือ Fair Use ในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเช่นกัน สรุปว่านี่เป็นอีกประเด็นที่องค์กรผู้บริโภคจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนอย่างจริงจัง   โลกในยุคสังคมเครือข่าย ที่เราเป็นได้มากกว่าผู้บริโภค สุนทรพจน์ โดย เกิร์ด ลีออนฮาร์ด ผู้ได้รับการยกย่องจากหนังสือพิมพ์วอลสตรีต เจอร์นัล ว่าเป็นหนึ่งในนักอนาคตศาสตร์ชั้นนำของโลกในสาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสถาบัน The Future Agency และเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หลายแห่ง  “กว่าร้อยละ 90 ของสิ่งที่ผมจะนำมาเล่าให้ท่านฟังในวันนี้เป็นสิ่งที่ผมได้มาจากคนอื่น และผมต้องขอบคุณบุคคลเหล่านั้น ปัจจุบันเราควรจะอยู่ในโลกที่มีแต่การแบ่งปัน (Sharing) เรากลับต้องเผชิญกับการปิดกั้นมากขึ้น เราเคยอยากได้ Global Village ที่ประกอบไปด้วยความเป็นเอกภาพ ความสงบ และสันติ และทุกวันนี้สิ่งที่จะทำให้เกิดหมู่บ้านของคนทั้งโลกได้ควรจะเป็น “การเข้าไปมีส่วนร่วม” เพราะฉะนั้นการปิดกั้นจึงเท่ากับเป็นความล้มเหลวของระบบ ที่สำคัญเราต้องไม่ลืมว่าอีกไม่นานทุกสิ่งที่เรารู้ก็จะต้องถูก “ทำสำเนา” ต่อๆ กันไป   ทุกวันนี้เราไม่ได้เป็นแค่ผู้บริโภค  กว่าร้อยละ 70 ของเด็กอเมริกัน นำเรื่องราวของตัวเองขึ้นไป “แชร์” ในอินเตอร์เน็ต  ทุกวันนี้ “ผู้ใช้” หรือ User ก็ถือเป็น “เนื้อหา” บนอินเตอร์เน็ต เช่นกัน ปัจจุบันบริษัทต่างๆ สามารถลดต้นทุนในการทำการตลาดลงด้วยการปล่อยให้ “ผู้ใช้” เหล่านี้เป็นผู้ทำการตลาดแทน  อย่าลืมว่าสถานีกระจายข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบันคือ Facebook ซึ่งเป็นกลไกในการเผยแพร่ข้อมูลที่ดีมาก ผู้บริโภคต้องใช้ประโยชน์จากอำนาจนี้ให้เต็มที่ เราสามารถแสดงความชื่นชมได้ แสดงความไม่พอใจก็ได้ ผู้ประกอบการพร้อมที่จะฟังการประเมินที่สร้างสรรค์จากผู้บริโภคเสมอ สังเกตได้จากผลรางวัลตอบแทนที่ให้เวลาที่เราให้ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามหรือแบบรับความคิดเห็น   เป้าหมายของธุรกิจวันนี้จึงต้องเปลี่ยนไป ไม่ใช่การสร้างเงิน สร้างผลกำไร หรือแม้แต่การสร้างอำนาจต่อรอง สิ่งที่ธุรกิจในยุคนี้จะต้องสร้างคือ “ความไว้วางใจ” จริงหรือไม่ที่การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาคือกุญแจนำไปสู่ความสำเร็จของสื่อบันเทิงดิจิตัลอย่างที่ค่ายธุรกิจบันเทิงเสนอไว้ ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะในปี ค.ศ. 2000 ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายเพื่อธุรกิจบันเทิงคนละ 71 เหรียญ แต่เมื่อถึงปี ค.ศ. 2009 การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลงเหลือแค่คนละ 26 เหรียญ จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะเปลี่ยนเป้าหมายจาก “การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา” มาเป็น “การเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าไปมีส่วนร่วม”  ปัจจุบันเราแทบจะใช้เวลากับหน้าจอคอมพิวเตอร์มากกว่าหนังสือกันแล้ว ข้อดีของการอยู่หน้าจอคือการที่เราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมหรือแบ่งปันในชุมชนเสมือนนั้นๆ ได้  วันนี้เราควรสร้างระบบความสัมพันธ์แบบชนเผ่าขึ้นมา ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่เราต้องการ “ความเป็นอิสระ ไม่ต้องพึ่งพาใคร” มาเป็นการรับเอาแนวคิด “การพึ่งพาซึ่งกันและกัน” เข้ามาแทน จากแนวคิด “เครือข่าย” เฉยๆ เป็น “การเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย” หรือจากสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นเจ้าของ” เปลี่ยนเป็น “การเข้าถึง” เป็นต้น  แม้แต่เรื่องของการจัดการกับการละเมิดลิขสิทธ์ก็มีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาด้วยการทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อนั้นได้โดยไม่ลำบาก ผมอยากนำเสนอรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาแบบไม่คิดเงิน เพียงแค่ผู้ที่นำไปใช้เคารพสิทธิของผู้นำเสนอเนื้อหาด้วยการปฏิบัติตาม “เงื่อนไขการนำไปใช้” เท่านั้น”   สิทธิผู้บริโภค อดีต ปัจจุบัน และอนาคตโดย นายอันวา ฟาซาล  หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสหพันธ์ผู้บริโภคสากลถ้าถามว่ากระดาษทิชชูที่คุณใช้อยู่มีความยาวเท่าไร คนส่วนใหญ่มักจะตอบไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเราเป็นเพียง “ผู้บริโภค” ธรรมดาๆ ซึ่งไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ และนี่เองคือเหตุผลที่เราจะต้องมี “องค์กรผู้บริโภค” ขึ้นมา  ลองสมมติว่ามีคนจากกาแลกซีมาประเมินสภาวะของผู้บริโภคบนโลกใบนี้ เขาคงจะงงเหมือนกันว่านี่คือโลกชนิดไหนกันที่มีคนฆ่าตัวตายทุกๆ 40 วินาที มีคนถูกฆ่าตายทุกๆ 60 นาที และมีจำนวนคนเป็นโรคอ้วนมากกว่าคนอดอยาก  25 ปีก่อน เหตุการณ์โรงไฟฟ้าระเบิดที่เชอโนบิลทำให้เราต้องใช้เงินในการ “เก็บกวาด” ผลกระทบเป็นเงินถึงสองแสนกว่าล้านเหรียญ เราเคยตกลงกันแล้วว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก แต่เราก็ลืมมันไปแล้ว จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุที่ฟุกุชิมะที่เราต้องใช้งบประมาณในการเก็บกวาดถึงสามแสนล้านเหรียญ น่าแปลกใจที่เรามีงบประมาณพอที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ แต่เรากลับไม่มีเงิน 2,500 ล้านเหรียญ ในการดูแลสุขภาพหรือจัดการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาส ซึ่งจะว่าไปแล้วเงินจำนวนดังกล่าวเป็นจำนวนเงินที่คนอเมริกันใช้จ่ายไปกับการซื้อบุหรี่ เท่ากับจำนวนที่คนในสหภาพยุโรปซื้อเหล้าในเวลาหนึ่งเดือน การแก้ปัญหาของผู้บริโภค จะทำเหมือนการช่วยเด็กที่ถูกทิ้งลอยน้ำมาทีละคนไม่ได้ เราต้องหาเวลาไปจัดการกับคนที่โยนเด็กลงมาให้ได้ องค์กรผู้บริโภคต้องการคนที่มีวิสัยทัศน์มาร่วมกันทำงาน ในการทำงานนั้นมีระดับของวิสัยทัศน์อยู่ 3 ระดับด้วยกัน เช่น ในกลุ่มคนที่กำลังทำงานอย่างเดียวกัน ถ้าถามว่ากำลังทำอะไรอยู่ บางคนตอบว่า “กำลังก่ออิฐ” บางคนตอบว่า “กำลังสร้างโรงเรียน” ในขณะที่บางคนมองว่าตนเอง “กำลังสร้างอนาคตให้กับเด็ก” คนกลุ่มนี้คือคนที่เราต้องการ  องค์กรภาคประชาชน หรือพลังมวลชนคือความหวัง ผมขอเสนอสูตรใหม่ในการทำงานเรียกว่าสูตร  A B C นั่นคือเริ่มจาก A หมายถึง Agony คือความรู้สึกว่าเราทนต่อไปไม่ได้แล้ว และต้องทำอะไรซักอย่าง จากนั้นเราต้อง Brave คือกล้าพอที่จะท้าทายระบบ และจะต้อง Creative คือเสนอทางออกอย่างสร้างสรรค์ ในการเคลื่อนไหวในงานคุ้มครองผู้บริโภคนั้นเราจะต้องมีคนทั้งสองกลุ่ม ได้แก่กลุ่ม Ph D. ซึ่งผมหมายถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางวิชาการ และกลุ่ม BSD (Blood, Sweat, Tears) ที่พร้อมจะทุ่มเททำงานด้วยเลือด หยาดเหงื่อและน้ำตา แต่ทั้งหมดนี้จะยังไม่ทำให้เราประสบความสำเร็จ จนกว่าเราจะมีปัจจัยที่เรียกว่า GTD > Getting things done! ซึ่งหมายถึงการลงมือทำจริง  ผมขอพูดถึงบาป 11 ประการ ที่นำไปสู่ปัญหาสังคมทุกวันนี้ ที่ผมขอเพิ่มจากบาป 7 ประการของมหาตมะ คานธี คือ 1. การเมืองที่ไม่มีหลักการ2. การมีความมั่งคั่งโดยไม่ต้องทำงาน3. การมีความสนุกสนานอย่างไร้สติ4. การมีความรู้แต่ไม่มีคุณสมบัติ5. การทำธุรกิจโดยไม่มีศีลธรรม6. วิทยาศาสตร์ที่ปราศจากมนุษยธรรม7. การมีศาสนาแต่ไม่มีความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์8. การมีสิทธิแต่ไม่มีความรับผิดชอบ9. การมีอำนาจโดยไม่สามารถตรวจสอบได้ 10. การพัฒนาโดยปราศจากความยั่งยืน11. กฎหมายที่ไม่มีความยุติธรรม   เมื่อมองกลับไปในอดีตเราจะเห็นว่า ชาวฮิตไตท์มีกฎหมายผู้บริโภคใช้ตั้งแต่เมื่อ 3,500 ปีที่แล้ว โดยหลักๆ แล้วเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความปลอดภัยของอาหาร การห้ามการเอาเปรียบหรือหลอกลวงกัน  เอกสารฉบับแรกที่พูดถึงเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคได้แก่ เอกสารขององค์กรแรงงานโลกที่ชื่อว่า“คำแนะนำเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค” ซึ่งเป็นการให้ความรู้กับผู้ใช้แรงงานว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผลได้อย่างไร  แต่ทั้งนี้เนื้อหาของคู่มือการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติซึ่งกำลังจะมีอายุครบ 25 ปีในเร็วๆ นี้แทบจะไม่ได้มีการปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นเลย เรื่องนี้เราต้องรณรงค์ให้เกิดขึ้นและผมขอชักชวนให้เรามาร่วมกันเรียกร้องให้สหประชาชาติประกาศ “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” ในปี พ.ศ. 2555 ด้วย  และถ้ามองต่อไปในอนาคต ผมของเสนอทางออก 11 ประการ ให้กับผู้ที่สนใจงานคุ้มครองผู้บริโภคดังนี้1. เราต้องรีบจัดการกับคดีที่ก่อกับผู้บริโภค2. เราต้องทำรายงานสภาวะผู้บริโภคทุกปี เพื่อให้เห็นพัฒนาการ ความสำเร็จ และเป้าหมายที่จะต้องไปให้ถึง3. การสร้างศักยภาพให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะขึ้นมาสืบสานงานต่อจากคนรุ่นเก่า4. เราใช้อินเตอร์เน็ตเป็นประตูไปสู่ฐานข้อมูลสำหรับผู้บริโภค รวบรวมเอกสาร และพร้อมที่จะเผยแพร่ออกไป 5. สร้างสายด่วนสำหรับผู้บริโภค ที่พร้อมจะตอบคำถามให้กับทุกคน6. การมอบรางวัล Consumers Champion Awards 7. การเปิดเผยข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการ8. การสร้างความสุขมวลรวมประชาชาติ Gross National Happiness9. การสร้างระบบเตือนภัย และระบบแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลและการจัดการหรือ Consumer Interpol 10. การเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการประชุมว่าด้วยสิ่งแวดล้อม Rio 2012 ที่จะมีการประกาศ Rights of Mother Earth11. การกระจายพลัง เราจะต้องอาศัยพลัง 5 ประการ ได้แก่ พลังของคนแต่ละคน พลังของหลายๆ คนรวมกัน พลังของข่าวสารข้อมูล พลังแห่งความดีงาม และพลังจากการเผยแพร่ความสำเร็จ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 125 รถตู้โดยสารดัดแปลง...ความปลอดภัยที่คุณเลือกได้

ชีวิตสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบทั้งในด้านการใช้ชีวิต รวมไปถึงเรื่องการเดินทาง ประกอบกับภาวะวิกฤติการน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ที่ต้องเดินทางในเขตกรุงเทพมหานคร หรือปริมณฑลจำนวนมากลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัวลงและเลือกที่จะเดินทาง โดยใช้รถตู้บริการโดยสารสาธารณะกันมากขึ้น อุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้นกับรถตู้โดยสารสาธารณะบ่อยครั้ง ได้นำมาซึ่งความเสียหายต่อทรัพย์สินและสูญเสียชีวิตที่มิอาจจะประมาณมูลค่าได้   บ่อยครั้งที่มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า เหตุการณ์เหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ ผู้ที่เกี่ยวข้องมีมาตรการหรือแนวทางอะไรที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย ให้เกิดขึ้นได้จริงกับการโดยสารรถตู้ ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นที่มีอยู่ สำหรับแนวทางหรือมาตรการด้านระเบียบการบริหารจัดการนั้น ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบก็พยายามเร่งรัดหาแนวทางกันมาต่อเนื่อง และคาดว่าน่าจะมีความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมในทางบวกอีกในอนาคตอันสั้น  รถตู้โดยสารกับมาตรฐานที่มีอยู่(จริง) ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุอันน่าสลดใจกับรถตู้โดยสารสาธารณะ อย่างล่าสุดที่รถตู้โดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพประสบอุบัติเหตุบนทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2553 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 9 ราย หรือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2553 ที่ได้เกิดอุบัติเหตุรถตู้โดยสารรับจ้างที่มีผู้โดยสารเต็มคัน ชนหัวเกาะบริเวณทางแยกและเสียหลักตกจากทางพิเศษลงไปบนถนนพระราม 6 นั้น ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย ได้กลับมาตระหนักถึงความปลอดภัยและคุณภาพของการให้บริการรถตู้โดยสารกันทุกครั้ง หลายๆ เสียง หลายๆ สื่อ ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า “เมื่อไหร่จะมีมาตรฐานรถตู้ในบ้านเราสักที”  ในความเป็นจริงนั้น ที่ผ่านมาก็ได้มีผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบ ริเริ่มพยายามจะหามาตรการ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดอุบัติเหตุ จากการโดยสารรถตู้สาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการที่กรมการขนส่งทางบก ได้ประกาศแจ้งกำหนด ให้มีการควบคุมคุณภาพรถตู้บริการให้เป็นประเภทมาตรฐาน 2 (จ)*   ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2551 ซึ่งมีมติให้รถตู้โดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) เป็นเชื้อเพลิงควบคู่กับน้ำมันมีสภาพอายุการใช้งานไม่เกิน 10 ปี มีการควบคุมระยะห่างระหว่างเก้าอี้โดยสาร (ดังที่แสดงในภาพที่ 1) มีการกำหนดให้ใช้รถที่มีหลังคาสูงและนอกเหนือจากนี้ ยังมีการควบคุมการตรวจสภาพรถทุกๆ 6 เดือน เพื่อตรวจเช็คระบบความปลอดภัย ระบบไฟส่องสว่าง การแข็งแรงของการยึดที่นั่งผู้โดยสารกับตัวรถหรือประตูรถ และมีการควบคุมมลพิษ ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 23 เมษายน 2553 ที่ผ่านมานั้น ได้มีรถตู้ส่วนบุคคลมาจดทะเบียน จำนวนทั้งสิ้นแล้วกว่า 9,000 คันแล้ว (ที่มา: กรมการขนส่งทางบก)   ภาพที่ 1 การควบคุมระยะที่นั่งผู้โดยสารตามมาตรฐาน 2(จ) (ที่มา: กรมการขนส่งทางบก)   อุบัติเหตุลดลง ความรุนแรงไม่ลดตาม อะไรคือสาเหตุ ?จากการที่หลายๆ ฝ่ายที่ผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารรถตู้สาธารณะอย่างเข้มข้น ผลปรากฏว่า ในปี พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา ได้เกิดอุบัติเหตุที่มีรถตู้โดยสารสาธารณะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งหมด 1,253 ครั้ง ลดลงจากปี พ.ศ. 2552 ไปได้ 20 เปอร์เซ็นต์ (1,549 ครั้ง - ที่มา:  ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย) นับว่าเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่แท้จริงของแต่ละมาตรการก็ยังคงเป็นการเลี่ยงอุบัติเหตุไม่ให้เกิดขึ้น (Active safety) และลดความรุนแรงในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว (Passive safety) ซึ่งโดยทั่วไปนั้น  ปัจจัยหลัก ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยในการจราจร มีดังต่อไปนี้  1) มนุษย์ - พฤติกรรม วินัย มารยาทในการใช้รถและถนนของมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ขับขี่รถ ผู้ร่วมใช้ถนน และผู้โดยสารรถ เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุด ที่มีผลต่อความปลอดภัยบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการขับขี่ การเคารพกฎจราจรของผู้ขับขี่เอง หรือการตระหนักถึงความปลอดภัยด้วยตนเองของผู้โดยสาร เช่น การคาดเข็มขัดนิรภัย หรือไม่โดยสารรถที่มีจำนวนผู้โดยสารมากกว่าที่นั่งที่มีอยู่ เป็นต้น 2) ยานพาหนะ - นอกเหนือจากสภาพของรถโดยสารที่สัมพันธ์กับอายุการใช้งานของตัวรถแล้วนั้น การดัดแปลงด้วยการเพิ่มที่นั่งผู้โดยสารและติดตั้งระบบแก๊สเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักรวมและสมดุลน้ำหนักตัวรถเปลี่ยนแปลงจากตัวรถตู้แบบเดิม ก็มีผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยในการขับขี่ ในสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเบรกรถโค้งที่ความเร็วสูง หรือการเบรกกะทันหัน เป็นต้น เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัยในการขับขี่ของรถตู้ ในปัจจุบันผู้ผลิตหลายราย ได้ทำการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยหลายชนิดเป็นอุปกรณ์พื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ(Active Safety) เช่น ระบบ ABS หรือ ESP หรืออุปกรณ์ที่จะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุต่อผู้โดยสาร(Passive Safety) อาทิ เข็มขัดนิรภัย หรือระบบถุงลมนิรภัย เป็นต้น 3) สิ่งแวดล้อม - อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการจราจร ก็คือ สภาพของถนนที่ชำรุดผุผัง เป็นหลุมเป็นบ่อ มีสิ่งกีดขวางการจราจร ทำให้ที่รถต้องชะลอความเร็วหรือเปลี่ยนเส้นทางโดยกะทันหัน รวมถึง สัญญาณจราจรที่ไม่ชัดเจน อาทิ ป้ายจราจร เส้นแบ่งทางเดินรถ สิ่งเหล่านี้เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด   แนวคิดและการวิเคราะห์สถานการณ์ในการขับขี่ที่เป็นอันตราย ต่อไปจะขอนำเสนอแนวคิดและการวิเคราะห์สถานการณ์ในการขับขี่ที่เป็นอันตราย เสี่ยงต่อการทำให้เกิดอุบัติเหตุกับรถตู้ที่ได้รับการดัดแปลงเพื่อเป็นรถโดยสารด้วยหลักพลศาสตร์ยานยนต์ (Vehicle dynamics) และเสนอแนะแนวทางเชิงปฏิบัติที่สามารถทำได้จริง เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยของการโดยสารรถตู้บริการ โดยยกตัวอย่างการวิเคราะห์จากกรณีศึกษาดังต่อไปนี้  “หลุดโค้ง ท้ายปัด ล้อล็อคไถล” ของรถตู้ เกิดขึ้นได้อย่างไร  ในกรณีศึกษานี้จะนำตัวอย่างจาก รถตู้ดัดแปลงตามประเภทมาตรฐาน 2(จ) มาพิจารณาและเสนอแนะแนว ทางแก้ไขปรับปรุงที่เป็นไปได้ เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการขับขี่และความปลอดภัยในการโดยรถตู้ให้มากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้  • มีคนขับและผู้โดยสาร ในรถรวมทั้งหมด 15 คน  • ผู้โดยสารมีน้ำหนักเฉลี่ย 68 กิโลกรัมต่อคน • มีการติดตั้งถังแก๊ส CNG ขนาด 90 ลิตรที่ห้องสัมภาระทั้งหมด 2 ถัง• มีแก๊สบรรจุอยู่ประมาณครึ่งถัง   • การติดตั้งระบบเชื้อเพลิงโดยใช้ ก๊าซธรรมชาตินั้นได้คุณภาพผ่านข้อกำหนดแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นข้อ กำหนดที่สำคัญต่อความปลอดภัยจากการติดตั้ง ไม่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะของรถ  ผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการดัดแปลงในกรณีนี้คือ ปริมาณน้ำหนักรวมและสมดุลน้ำหนักของรถที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสามารถเปรียบเทียบน้ำหนักของรถตู้โดยสารโครงสร้างเดิมและแบบที่มีการดัดแปลงได้ดังแสดงตารางที่ 1 ซึ่งจากตารางข้างต้นจะพบว่า รถตู้ที่ได้รับการดัดแปลงในกรณีที่ศึกษานั้น มีจะน้ำหนักของรถรวมถึง 3,350 กิโลกรัม เพิ่มจากประเภทที่ไม่ได้ดัดแปลงประมาณ 400 กิโลกรัม  นอกเหนือจากนี้ ภาพที่ 2 จะแสดงให้เห็นว่า น้ำหนักส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นของตัวรถตู้จากการดัดแปลงนั้นจะอยู่ที่ตำแหน่งส่วนท้ายของรถ ซึ่งทำให้สัดส่วนการกระจายน้ำหนักหรือแรงกดของเพลาหน้าและเพลาท้ายของรถตู้หลังการดัดแปลงนั้น แตกต่างจากสภาพเดิมของรถ ตัวอย่าง เช่น จากอัตราส่วน 56% ต่อ 44% เปลี่ยนเป็น 47% ต่อ 53% ซึ่งหมายความว่า สัดส่วนแรงกดที่ล้อหน้าทั้งสองล้อต่อน้ำหนักรวมจะลดลงไปกว่าเดิม ในขณะที่แรงกดที่ล้อหลังจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลนี้จะสามารถวิเคราะห์ผลกระทบต่อความปลอดภัย รวมถึงสมรรถนะของรถในการออกตัว การเร่ง หรือการเบรก ทั้งทางตรงและทางโค้งได้เป็นกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้     น้ำหนักรถรวมกรณีที่มีผู้โดยสารเต็มคัน 2,926 กิโลกรัม 3,350 กิโลกรัมตารางที่ 1: เปรียบเทียบน้ำหนักรถโดยสารตู้ประเภทที่ศึกษาก่อนและหลังการดัดแปลง   ภาพที่ 2 สัดส่วนน้ำหนักที่เพลาหน้าและหลังของรถตู้ที่ทำการศึกษา ก่อนและหลังดัดแปลงติดตั้งถังแก๊ส  กรณีที่ 1) รถตู้หลุดโค้งการเลี้ยวโค้งของรถเป็นหนึ่งในสถานการณ์ระหว่างการขับขี่และจราจรที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด และหนึ่งในประเภทของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดก็คือ การที่รถเสียหลักหลุดโค้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายๆ ปัจจัย หนึ่งในปัจจัยหลักก็คือการที่น้ำหนักหรือแรงกดของรถที่ล้อหลังมีมากกว่าที่ล้อหน้าในปริมาณที่มาก ดังที่แสดงในภาพที่ 2 จะพบว่าปริมาณของแรงกดที่ล้อหลังทั้งสองล้อ ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่แรงกดที่ล้อหน้าทั้งสองล้อได้ลดลงไปจากเดิม ซึ่งตามทฤษฏีพลศาสตร์ยานยนต์แล้วนั้น ในกรณีรถที่มีการกระจายน้ำหนักที่ล้อหลังมากกว่าล้อหน้า แล้วถูกขับเลี้ยวเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง(หรือที่เรียกว่า “การเลี้ยวเร็ว“) รถจะมีแนวโน้มของการเคลื่อนที่ที่เรียกว่า  ”อันเดอร์สเตียริง” (Understeering) หรือ “การหลุดโค้ง“ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ง่ายกับรถยนต์ประเภทขับเคลื่อนล้อหลัง หรือรถที่มีสัดส่วนน้ำหนักส่วนท้ายมากกว่าด้านหน้า ดังที่แสดงในภาพที่ 3 เหตุการณ์ “อันเดอร์สเตียริง” จะเกิดขึ้นในขณะที่เริ่มเลี้ยวเข้าโค้ง โดยที่คนขับบังคับเลี้ยวจากการหักเลี้ยวของพวงมาลัยตามรัศมีการโค้งของถนน ในขณะที่ล้อหลังของรถทั้งสองข้าง พยายามที่จะเคลื่อนที่ต่อไปในทิศทางเดิมก่อนที่จะเข้าโค้ง ผลที่เกิดขึ้นกับสมรรถนะของรถโดยที่ผู้ขับขี่ก็จะสามารถรู้สึกได้คือ ช่วงท้ายรถจะมีลักษณะหน่วงฝืนทิศทางการเลี้ยว หากคนขับไม่แก้ไขสถานการณ์หรือไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ช่วย ก็อาจจะทำให้รถ ”หลุดโค้ง” ได้ ภาพที่ 3 ปรากฏการณ์อันเดอร์สเตียริง (Understeering) หรือ การหลุดโค้งของรถ   การเคลื่อนที่ของรถอีกประเภทที่ถือว่ามีอันตรายมากกว่านั้นจะเรียกว่า “โอเวอร์สเตียริง” (Oversteering) หรือ “การท้ายปัด“ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้บ่อยกับรถประเภทขับเคลื่อนล้อหน้า โดยสามารถอธิบายได้จากสถานการณ์ที่ส่วนท้ายของรถนั้น ถูกหมุนปัดในทิศทางที่ทำให้รถเสียการทรงตัวเป็นมุมมากกว่าความรัศมีความโค้งของถนน ในขณะที่ส่วนหน้าของรถถูกบังคับเลี้ยวปกติ (รูปที่ 4)   ภาพที่ 4 ปรากฏการณ์โอเวอร์สเตียริง (Oversteering) หรือ การท้ายปัดของรถ  แนวทางการแก้ไขสำหรับการแก้ไขปรากฏการณ์ “อันเดอร์สเตียริง“ หรือ “การหลุดโค้ง” ซึ่งจะเป็นกรณีที่จะเกิดขึ้นได้บ่อยกับรถตู้โดยสารที่มีน้ำหนักด้านท้ายสูงนั้น สามารถทำได้ด้วยบังคับหมุนพวงมาลัยในทิศทางเข้าโค้งให้มากยิ่งขึ้นไปจากเดิม เพื่อบังคับดึงให้ตัวรถทั้งคันเลี้ยวเข้าสู่รัศมีความโค้งที่ต้องการ ซึ่งเป็นการแก้ไขได้ด้วยผู้ขับขี่เอง นอกเหนือจากนี้ ในปัจจุบันผู้ผลิตรถหลายรายได้ติดตั้งอุปกรณ์ชนิด Active Safety เพื่อควบคุมการเคลื่อนที่ของรถให้ปลอดภัย ด้วยการควบคุมการเบรกของล้อรถทั้งสี่ล้อโดยอิสระต่อกันด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า Electronic Stability Control (ESC) ซึ่งจะทำหน้าที่ป้องกันการล็อคไถลและเสียหลักของรถที่มีผลต่อความปลอดภัยเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามด้วยราคาที่ยังสูง อุปกรณ์นี้จึงไม่ได้มีติดตั้งอยู่ในรถตู้โดยสารทั่วไป  กรณีที่ 2) ล้อหน้าล็อคไถล ระหว่างเบรกทางตรง ในการวิเคราะห์สมรรถนะของการเบรกทางตรงของรถนั้น สามารถนำทฤษฏีแรงเสียดทานมาใช้พิจารณาได้ โดยแรงเบรกที่ล้อรถนั้นจะเป็นแรงเสียดทาน(friction) ที่เกิดขึ้นระหว่างยางรถทั้งสี่ล้อกับพื้นถนน ซึ่งคำนวณได้จากผลคูณของน้ำหนักหรือแรงกดที่ล้อนั้นๆ (Normal force) กับค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน(Friction coefficient) โดยค่าของตัวแปรนี้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพความขรุขระของถนน ความชื้นของพื้นถนน หน้าผิวสัมผัสของยางรถยนต์ แรงดันลมของล้อรถ เป็นต้น   ภาพที่ 5 แรงเบรกและแรงกดที่ล้อหน้าและหลังระหว่างการเบรกของรถ  จากรูปที่ 5 ในขณะที่รถถูกเบรกนั้น จะเกิดแรงฉุดหรือแรงหน่วงที่เกิดขึ้นจะกระทำที่จุดศูนย์ถ่วงของรถ ซึ่งทางฟิสิกส์จะเรียกว่า “แรงปฏิกิริยา” (Reaction) ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจาก “แรงกิริยา” (Action) หรือแรงเบรกที่ล้อทั้งสี่ข้าง แรงฉุดระหว่างการเบรกนี้จะเป็นทำให้เกิดแรงกดที่ล้อหน้า และแรงยกที่ล้อหลังของรถเป็นปริมาณที่เท่ากัน ส่งผลให้น้ำหนักหรือแรงกดที่ล้อทั้งสี่ข้างเปลี่ยนแปลง(แรงกดที่ล้อหน้าเพิ่มขึ้น แรงกดล้อหลังที่ลดลง) ซึ่งจากสมการการคำนวณแรงเบรกที่ล้อดังที่ได้กล่าวไปนั้น จะสามารถพิจารณาได้ว่า กรณีที่ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานคงที่ แรงเบรกที่ล้อจะแปรผันตรงกับแรงกดที่ล้อ โดยจากแรงกดที่ล้อหน้าที่เพิ่มขึ้นนั้นจะทำให้แรงเบรกของรถที่ล้อหน้านั้นเพิ่มขึ้น ในขณะที่แรงเบรกของรถที่ล้อหลังน้อยลง สำหรับกรณีรถตู้ดัดแปลง ที่มีน้ำหนักที่ท้ายรถเพิ่มขึ้นประมาณ 400 กิโลกรัม จากน้ำหนักถังแก๊ส หรือเทียบได้กับแรงกดประมาณ 3,924 นิวตัน ซึ่งตามทฤษฏีนั้นล้อหลังทั้งสองข้างของรถจะสามารถสร้างแรงเบรกได้มากขึ้นกว่ารถที่ไม่ได้รับการดัดแปลง เนื่องจากสัดส่วนแรงกดที่ล้อหน้าลดลง สัดส่วนความต้องการแรงเบรกล้อหน้าก็จะลดลงไปด้วยเมื่อเทียบกับที่ล้อหลัง ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น ในขณะที่คนขับเหยียบแป้นเบรกเพื่อทำการลดความเร็วรถ น้ำมันเบรกยังคงถูกส่งกระจายไปที่เบรกล้อหน้าในปริมาณเท่าเดิม ซึ่งก็จะส่งผลให้ล้อหน้าสามารถล็อคหรือไม่หมุนได้ชั่วขณะ และเกิดการไถลไปกับพื้นถนนในที่สุด ซึ่งสถานการณ์ที่เรียกว่า “ล้อหน้าล็อค” นี้ จะทำให้คนขับไม่สามารถบังคับทิศทางการเลี้ยวของรถได้  แนวทางการแก้ไขเนื่องจากกรณีที่พิจารณาเป็นการเบรกรถที่ทางตรง การควบคุมทิศทางรถไม่ได้ชั่วขณะจึงถือว่าไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายสูง การปล่อยและสัมผัสแป้นเบรกอีกครั้งของคนขับ ก็สามารถทำให้ล้อหมุนระหว่างการเบรกและไม่ถูกล็อคได้ ทำให้สามารถควบคุมการบังคับเลี้ยวได้อีกครั้ง ในปัจจุบันเพื่อให้สามารถใช้ข้อดีของน้ำหนักหรือแรงกดที่ล้อในกรณีที่มีการบรรทุกหรือกระจายน้ำหนักที่ตัวรถแบบต่างๆ ให้ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีความปลอดภัยมากขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์หลายๆ รุ่น ได้ทำการติดตั้งระบบควบคุมการกระจายน้ำมันเบรกไปยังล้อต่างๆ ของรถ หรือแบ่งสัดส่วนแรงเบรกที่ล้อหน้าและหลังของรถ ให้เหมาะสมกับน้ำหนักที่บรรทุก (หรือที่เรียกว่า “Electronic Brake Force Distribution, EBD”) ซึ่งเป็นระบบที่เสริมเข้ากับระบบป้องกันการล็อคของล้อ (Anti-Lock Braking System, ABS) เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเบรกตามน้ำหนักบรรทุกของรถ ป้องกันการล็อคของล้อและไถลเสียหลักของรถได้  กรณีที่ 3) รถเสียหลักระหว่างเบรกทางโค้ง จากที่ได้กล่าวในหัวข้อที่ 2 แล้วนั้น แนวโน้มของการเคลื่อนที่เลี้ยวโค้งของรถที่ช่วงท้ายมีน้ำหนักมากคือ เหตุการณ์ “อันเดอร์สเตียริง” ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการหมุนพวงมาลัยไปในทิศทางการเข้าโค้งเดิมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อดึงให้ตัวรถกลับสู่องศาการเลี้ยวโค้งเดิม  ในกรณีที่ศึกษานี้ รถตู้จะถูกเบรกกะทันหันจากความเร็วสูงระหว่างการเลี้ยวโค้ง (ภาพที่ 6)  จากการที่ผู้ขับขี่เหยียบแป้นเบรกด้วยความแรงและรวดเร็ว จะส่งผลให้จานเบรกจับหรือดุมเบรกถูกจับด้วยแรงปริมาณมาก ทำให้ล้อที่ถูกเบรกหยุดหมุนไปชั่วขณะที่เรียกว่า “ล้อล็อค” และไถลโดยไม่หมุนไปกับพื้นถนน ซึ่งในระหว่างนี้เอง ล้อหลังที่หยุดหมุนไปชั่วขณะ ล้อจะไม่สามารถสร้างแรงต้านแรงกระทำภายนอกจากด้านข้าง(Lateral force) ใดๆ  ที่เกิดขึ้นในเวลานั้นๆ ได้ เช่น แรงที่เกิดจากลมพัด ผลที่เกิดขึ้นก็คือล้อหลังของรถจะปัด รถจะไถลไปในทิศทางตามแรงกระทำนั้นๆ และเสียการทรงตัวหรือไถลออกจากรัศมีเลี้ยวโค้งของถนน และเกิดอุบัติเหตุได้ในที่สุด สถานการณ์นี้ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่เป็นอันตรายมาก และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะกับรถที่มีน้ำหนักหรือแรงกดที่ล้อหลังมาก อย่างรถตู้โดยสารสาธารณะ   ภาพที่ 6 การล็อคของล้อหลังและเสียหลักระหว่างการเบรกของรถ  แนวทางการแก้ไขโดยทั่วไป เหตุการณ์ล้อหลังล็อคและไถล จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งเป็นการยากที่ผู้ขับขี่จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน แนวทางป้องกันที่พอจะสามารถบรรเทาความรุนแรงได้ ก็คือจะเป็นการติดตั้งระบบ Electronic Stability Control (ESC) ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคู่กับระบบ Anti-Lock Braking System (ABS) เพื่อป้องกันการล็อคไถลและเสียหลักของรถ รวมไปถึงการติดตั้งอุปกรณ์นิรภัย ประเภท Passive safety อย่างถุงลมนิรภัย เป็นต้น จากที่ได้บรรยายในบทความมาแล้วนั้น จะเป็นสถานการณ์เสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นได้กับรถยนต์ทุกประเภท โดยเฉพาะกับรถตู้โดยสารในกรณีที่ศึกษา รวมไปถึงแนวทางแก้ไขเชิงเทคนิคและในด้านการจัดการจากทัศนะของผู้เขียน ซึ่งแสดงในตารางที่ 2  หากมีผู้ตั้งถามว่าจะสามารถลดอุบัติเหตุลงได้จริงหรือไม่นั้น ก็ขอตอบว่าตามทฤษฏีแล้วสามารถทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากได้รับการสนับสนุนด้วยการเริ่มต้นแก้ไขตรงที่ปัจจัยหลักสามประการ ได้แก่ มนุษย์ ยานพาหนะ และสิ่งแวดล้อม   ตารางที่ 2: แนวทางการสร้างความปลอดภัยในการโดยสารรถตู้สาธารณะตามเกณฑ์การพิจารณาต่างๆ   จากข้อมูลข้างต้นสิ่งที่น่าจะเริ่มต้นได้ง่ายที่สุด เร็วที่สุด โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร เมื่อเทียบกับแนวทางอื่นๆ และยังมีผลกระทบสูงมาก ก็คือการแก้ไขปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจาก “มนุษย์” ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมคนขับหรือผู้โดยสารนั่นเอง ส่วนในทางปฏิบัตินั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน   สำหรับผู้ที่โดยสารรถตู้เองนั้น “การเลือกความปลอดภัย” ในการโดยสารรถตู้สาธารณะ เริ่มพิจารณาได้ ตั้งแต่ก่อนที่จะขึ้นรถตู้โดยสารแต่ละคัน เช่น เลือกรถตู้ที่สภาพภายนอกดูไม่เก่าหรือมีอะไรชำรุด อย่าเลือกโดยสารรถตู้ที่จอดไม่ตรงจุด ไม่โดยสารรถตู้ที่รับผู้โดยสารเกินจำนวนเก้าอี้ ไม่โดยสารรถตู้ที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัยในแต่ละที่นั่ง หลังจากที่ขึ้นรถแล้วก็คาดเข็มขัดนิรภัยและล็อคประตูข้างเสมอ   ในกรณีที่เป็นผู้ขับขี่ก็ควรให้คำแนะนำแก่ผู้โดยสาร อย่างไรก็ตามแม้ว่าแนวทางดังที่กล่าวนี้จะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แต่ในทางปฏิบัติจริง ยังมีคนจำนวนน้อยคำนึงถึงหรือปฏิบัติตาม ทั้งๆ ที่ความปลอดภัยนั้น เป็นสิ่งที่คุณหรือใครๆ ก็เลือกได้ เพียงแต่ว่าคุณจะเริ่มเมื่อไหร่เท่านั้นเอง   ข้อมูลและภาพประกอบอ้างอิง1. กรมการขนส่งทางบก 2. ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย3. Heißing, Bernd; Ersoy, Metin: Fahrwerkhandbuch - Grundlagen, Fahrdynamik, Komponenten, Systeme, Mechatronik, Perspektiven. Wiesbaden: Vieweg/Teubner, 2008.

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 124 ผู้แทนยา ปิดยอดให้ได้ อะไรก็ทำ

  7.30 นาฬิกา “กวาง” หญิงสาวบุคลิกดี แต่งตัวสวย ท่าทางมั่นใจถือถุงบรรจุแก้วกาแฟเดินเข้าไปในห้องตรวจโรคแผนกอายุรกรรม วางแก้วกาแฟลงบนโต๊ะพร้อมห่อกระดาษทิชชูที่มีชื่อยาของบริษัทเธอไว้ข้างๆ เพื่อให้แพทย์รู้ว่าใครเป็นผู้มี “น้ำใจ” หลังจากนั้นก็มายืนที่บริเวณทางเดินไปห้องตรวจโรคของแพทย์ในโรงพยาบาลเพื่อคอย “รีมายด์” หรือบอกชื่อยาของบริษัทพร้อมทั้งสรรพคุณสั้นๆ ว่ายาของเธอดีกว่ายาของบริษัทคู่แข่งอย่างไรแก่แพทย์ที่เดินผ่านไปมา ถุงกระดาษประทับชื่อยาที่วางอยู่บนพื้นเต็มไปด้วยของกระจุกกระจิกที่ประทับชื่อยาหรือชื่อบริษัท เช่น ปากกา เครื่องคิดเลข กระดาษทิชชู สมุด ไดอารี เพื่อใช้เป็นกุญแจนำเข้าบทสนทนาและให้แพทย์คุ้นชินกับชื่อยา ไม่นับรวมช่วงเทศกาลต่างๆ ที่เธอต้องหอบถุงกระดาษบรรจุของขวัญเพื่อมากำนัลแก่แพทย์ หวังให้เกิดความประทับใจและส่งผลให้ช่วยใช้ยาที่เธอขาย  “ผู้แทนยา” คืออาชีพของเธอ อาชีพที่หนุ่มสาวหลายคนอยากจะเข้ามาทำ เนื่องจากอิสระ ไม่มีเวลาการทำงานที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ถ้า “ปิดยอด” หรือทำได้ถึงเป้าของบริษัทเร็ว เดือนนั้นก็ไม่ต้องไปทำงานเลยก็ได้ และที่สำคัญเงินเดือนดี ผู้แทนยาน้องใหม่บางคนหากขยันก็ทำเงินค่าคอมมิชชันได้ถึงหลักแสนในเดือนแรก แต่ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็มาทำอาชีพนี้ได้ เพราะต้องมีบุคลิกและหน้าตาดี ถ้าให้ง่ายก็บวกเส้นสายอีกนิดหน่อย ส่วนกวางเข้ามาทำงานนี้ได้เพราะรุ่นพี่แนะนำให้ ส่วนจะเรียนจบเภสัชศาสตร์หรือสายวิทยาศาสตร์มาหรือไม่นั้น ไม่สำคัญเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่สำคัญสำหรับอาชีพผู้แทนยาคือ ต้อง“คุย” กับแพทย์รู้เรื่อง ไม่นานนักแพทย์ก็เริ่มทยอยกันเดินผ่านทางเดิน ด้วยความที่แพทย์มีเวลาแค่เล็กน้อย ประกอบกับเพื่อนร่วมอาชีพที่รออยู่บริเวณนั้นมีจำนวนมากเช่นกัน ทำให้แพทย์ไม่สามารถจะหยุดคุยกับผู้แทนยาทุกคนได้ เธอจึงต้องใช้วิธีวิ่งเข้าไปหาแพทย์ ยื่นปากกาให้ รีบรีมายด์สั้นๆ พร้อมทั้งประโยคสำคัญ  “อาจารย์ขา ฝากยาของหนูด้วยนะคะ”แพทย์พยักหน้า แล้วรีบเดินจากไป เป็นโอกาสของผู้แทนยาหนุ่มสาวที่ยืนรออยู่ข้างหน้า  แม้จะเป็นการกระทำที่ซ้ำๆ ต้องพูดประโยคเดิมๆ ทุกวัน เหมือนเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและไม่สำคัญ แต่ผู้แทนยาทุกคนก็รู้ว่าการรีมายด์ยาสำคัญมาก เธอรู้ว่าแพทย์บางคนต้องการเห็นผู้แทนยามาทำงานจึงจะสั่งใช้ยา โดยผู้แทนยาต้องมายืนเรียงแถวให้แพทย์เห็นหน้า เรียกว่า “เช็คชื่อ” โดยเฉพาะยาของสองบริษัทที่เหมือนกัน  หากแพทย์มีเวลาให้เธอสัก 5-10 นาที เธอก็จะเข้าไปคุยให้ข้อมูลรายละเอียดเรื่องยาในห้องตรวจหรือ “ฟูลเปเปอร์” แม้จะน่าอึดอัดเล็กน้อยเพราะคนไข้ที่รอตรวจจะมองเธอด้วยสายตาสงสัย หรือบางคนอาจจะชักสีหน้าด้วยความไม่พอใจที่เธอทำให้ต้องเสียเวลารอ...ทำไงได้ นี่คืองานของเธอ แต่วันนี้ทุกอย่างช่างวุ่นวาย เพราะเธอต้องไปเตรียมจัดเลี้ยงอาหารกลางวันให้แก่แพทย์และแพทย์ประจำบ้านที่ห้องประชุมอีก  เกือบ 11 นาฬิกาหลังจากที่แพทย์ทุกคนเข้าห้องตรวจ ก็ถือเป็นเวลาพักของพวกผู้แทนยา กวางและเพื่อนร่วมอาชีพเดินไปทานข้าวที่โรงอาหารของโรงพยาบาล นั่งคุยถึงเรื่องสัพเพเหระ หรือทำกิจกรรมต่างๆ นานา เธอไม่ลืมที่จะโทรไปสั่งอาหารกล่องของภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นกลางห้างดัง ติดต่ออาจารย์แพทย์ที่จะมาบรรยายเรื่องยาอีกครั้ง และภารกิจอื่นๆ อีกมากมายที่เธอต้องบริการแพทย์ซึ่งเป็น “ลูกค้า” เมื่ออยู่ในอาชีพผู้แทนยา   เรื่องธรรมดาในโรงพยาบาล ? กิจวัตรประจำวันของผู้แทนยาเช่น “กวาง” เป็นสิ่งที่คุ้นตาและเกิดขึ้นจริงในโรงพยาบาล นอกจากนี้ผู้แทนยายังมีความเห็นว่า การอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่แพทย์ เช่น ลงชื่อเข้าประชุมวิชาการ จองห้องพักโรงแรมให้เมื่อมีประชุม ขับรถรับส่งไปประชุมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จัดเลี้ยงอาหารหรือกาแฟยามเช้า หรือแม้แต่ไปจัดการธุระที่ธนาคารให้แก่แพทย์ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงาน และเป็นการแสดงน้ำใจ ซึ่งจะทำให้แพทย์ช่วยใช้ยา   “มันเหมือนกับเป็นการเซอร์วิส มายด์ค่ะ เหมือนกับน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า อย่างแพทย์ในช่วงเวลาที่เขาเร่งรีบ เขาก็ “อ่ะ ไปแบงค์ให้ผมหน่อยซิ” หรือ “ไปส่งผมตรงนี้หน่อย” “ไปส่งสนามบินหน่อย” อันนี้ก็เป็นการเซอร์วิส เพราะว่าเขาอาจจะไม่มีเวลาหรือกำลังรีบ เพราะว่าหมอเนี่ย เขาจะมีเวลาไม่ค่อยเพียงพออยู่แล้ว เขาก็จะไหว้วานเรา เขาอยู่โรงพยาบาล ที่จอดรถก็ไม่ค่อยมี หรือไม่งั้นตอนเย็นเขาจะไปประชุม แล้วบริษัทนี้สนับสนุนวิชาการโดยการลงทะเบียนให้เขา ผู้แทนบริษัทนี้ต้องเซอร์วิสโดยการที่ไปส่งหมอ” ซี ผู้แทนยาสาวจากบริษัทยาต่างชาติกล่าว  เช่นเดียวกับน้ำ ผู้แทนยาจากบริษัทยาต่างชาติอีกคนที่มีความเห็นในทำนองเดียวกัน “หมอบางคนทำงานจนดึก ต้องเข้ามาตรวจคนไข้แต่เช้า ตรวจแต่ละครั้งก็ต้องอธิบายให้คนไข้ฟัง หมอก็เหนื่อย เพลีย คอแห้ง แล้วก็ไม่มีคนเอาน้ำไปให้ แล้วใครจะทำ เราก็ทำให้เพราะเป็นการแสดงน้ำใจแก่หมอ เรื่องการประชุมบางครั้งต้องให้บริษัทยาลงชื่อเข้าให้ ถึงหมอมีเงินแค่ไหน แต่ถ้าลงเองก็ลงไม่ได้ แล้วหมอก็ต้องทำงานทั้งวัน จะเอาเวลาที่ไหนไปจองห้องพัก สายการบิน เวลาไปเมืองนอก หมอจะรู้ได้ยังไง บริษัทยาก็ต้องทำให้ ส่วนเรื่องการขับรถรับส่ง หมอไม่มีเวลา บางทีเลิกดึก ก็ต้องขับรถไปรับไปส่ง เวลาหมอเดินทาง ขึ้นเครื่องบินแล้วจะเอารถไปไว้ที่ไหน ก็ต้องไปส่งหมอ เป็นน้ำใจ” เธอกล่าวโดยเน้นย้ำว่าเป็นการแสดง “น้ำใจ” เท่านั้น   สายสัมพันธ์สีเทาในความสัมพันธ์ระหว่างผู้แทนยาและแพทย์ การแสดงถึง “น้ำใจ” เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะยิ่งผู้แทนยาคนไหนแสดง “น้ำใจ” มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่แพทย์จะใช้ยาของผู้แทนยาคนนั้น ซึ่งถือเป็นการ“แสดงน้ำใจกลับคืน”มากเท่านั้น เช่นที่อาจารย์แพทย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัดของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าวไว้ว่า   “เราไม่ได้เป็นเบี้ยล่างคนขายยา เราไม่จำเป็นต้องซื้อยาเขา เขาไม่ใช่พ่อแม่ แต่ถ้าเรามีบริษัทยาเข้ามาก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น มีคนมาให้ไม้บรรทัดเรา ไม่ต้องไปซื้อเอง ปากกาไม่ต้องซื้อเอง มีข้าวกินตอนเที่ยง น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เป็นความสัมพันธ์แบบวินวิน เขาขายยาได้ แล้วก็ช่วยเราบ้างตามความสมควร”   “ถ้ายาตัวนั้นเข้าโรงพยาบาลแล้วผู้แทนยาจะพามาเลี้ยงอาหาร เลี้ยงขนม พอยาเข้าโรงพยาบาลมันจะมีส่วนลด ส่วนเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเขาจะเอาส่วนลดเปอร์เซ็นต์นี้มาเลี้ยงข้าวพวกหมอผู้ใช้ยา คล้ายๆ กับเป็นการตอบแทนที่ใช้ยาเขา อะไรทำนองนี้” นายแพทย์คลินิกโรคกระดูกและข้ออีกคนในโรงพยาบาลเดียวกันกล่าว   แต่แพทย์คนหนึ่งของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้แทนยากล่าวว่า   “ผู้แทนยาจะยืนเกะกะตามทางเดินก่อนถึงห้องตรวจคนไข้ คอยยื่นเอกสารและของแจกพร้อมโฆษณากับแพทย์ว่าอย่าลืมช่วยใช้ยาเขาเป็นที่เอิกเกริก คนไข้ที่นั่งรอก็เห็นกันทั้งนั้น คอยวิ่งตามลงบันไดเพื่อโฆษณาและรีบยัดของฝากใส่มือแพทย์ ชาวบ้านที่เห็น เขาใช้คำว่า นอกจากเกะกะกีดขวางแล้ว ยังทำตัวน่าเกลียดมาก เหมือนเปรตมารอขอส่วนบุญเป็นโขยง”   ที่มากกว่านั้น แพทย์หญิงคนหนึ่งยังกล่าวว่า “เท่าที่ได้ยินเรื่องหมอหนุ่มกับผู้แทนสาวมีเรื่อยๆ เช่น ผู้แทนต้องการให้ยาตัวเองทำยอดให้ได้ภายในเดือนนี้ ไม่เช่นนั้นอาจต้องถูกออกหรือตัดเงินเดือน ทำให้ต้องยอมทำอย่างไรก็ได้ให้แพทย์ยอมใช้ยาของตัวเอง เพื่อให้ยอดขึ้น บางรายก็ยอมมีความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือเพศสัมพันธ์เพื่อแลกกับยอดการใช้ยา อันนี้ยังมีอยู่ให้ได้ยินและเป็นที่รู้กันในบางรายที่ทำเป็นประจำ”  จะเห็นได้ว่าผู้แทนยาพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้แก่แพทย์ เพื่อให้เกิด “ความคุ้นเคย” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้แทนยาหวังให้เกิดขึ้น เพราะจะส่งผลให้แพทย์ “ช่วย” ใช้ยา  “หมอใช้ยาโดยเสน่หาอยู่แล้ว ถ้ายาเหมือนกัน สรรพคุณเหมือนกัน แต่ถ้าให้เลือกสั่งยากับผู้แทนยาที่มามีน้ำใจ ช่วยเหลือ กับคนที่ไม่ทำอะไรให้เลย จะเลือกใครล่ะ” พลอย ผู้แทนยาสาวที่ทำงานกับบริษัทยาต่างชาติมากว่าสิบปีกล่าว เช่นเดียวกับความเห็นของปลา ผู้แทนยาจากบริษัทต่างชาติอีกคน “บางทียามันเข้าในโรงพยาบาลทีนึงหลายตัว แต่หมอสามารถใช้ตัวไหนก็ได้ ถ้าเขาเห็นเรา ตอนเย็นเราไปนั่งรอ เขาเห็นความขยันของเราปุ๊บเนี่ยนะ มีผล คือหมอเขาจะช่วยใช้ยาของเรามากขึ้น นึกถึงยาเราก่อน เขาเรียกว่าความขยัน ความเห็นอกเห็นใจ เหมือนกับความสัมพันธ์ อะไรอย่างนี้”  แพทย์ผู้สั่งยาก็มีความเห็นไปในทำนองเดียวกัน โดยนายแพทย์คลินิกโรคกระดูกและข้อของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งให้ความเห็นสั้นๆ ว่า “ใครมาบ่อยก็ใช้ของเขา ใครไม่มาก็ไม่ใช้ของเขา” หรือความเห็นจากนายแพทย์อีกคนในแผนกเดียวกัน “ผู้แทนยาคนไหนที่เข้ามาประจำ เราคุ้นเคยไง เราก็อาจจะโน้มเอียงมาทางคนคุ้นเคย คนหนึ่งนานๆ โผล่หน้ามาที ทั้งที่ยาดีกว่าแต่ว่าเราไม่คุ้นเคย เราก็อาจจะโน้มเอียงมาทางคนคุ้นเคย เพราะฉะนั้นความสม่ำเสมอมีผลต่อยอดของยา”  “ก็มีผลสิ จะเลือกยาของคนที่คุ้นเคยมากกว่า มีผลนะ ชัดเจน แต่ไม่ถึงขั้นว่าเห็นคนนี้แล้วเป็นคะแนนสงสารหรืออะไร ไม่เกี่ยวกัน เพราะเวลาที่เราเห็นคนนี้ ก็เหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ ถูกไหม สัญลักษณ์ของยี่ห้อนี้ พอเวลาเราเจอคนไข้ปุ๊บ เราก็จะนึกถึงอันนี้ก่อน เช่น คนไข้คนนี้เหมาะกับยากลุ่มนี้ แต่กลุ่มนี้มีสามตัว เรานึกอะไรได้ก่อนล่ะ ความเคยชินเราชินอะไรก่อน ก็คืออันนั้นแหละ” แพทย์หญิงแผนกอายุรกรรมของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าว  ส่วนแพทย์หญิงภาควิชาอายุศาสตร์ของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งก็ให้ความเห็นว่า “มีบางครั้งที่ผู้แทนยาทำตัวไม่เหมาะสม เช่น ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวเกินไปนิดนึง หรือวางตัวแบบ...ถ้าใช้คำว่าเสมอมันก็น่าเกลียดไปเนอะ แต่มันเป็นอย่างนั้น ทำตัวสนิทสนมจนเกินไป มันก็มีบ้าง” หัวหน้าพยาบาลของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์ที่ทำงานมากว่า 20 ปีให้ความเห็นว่า “ผู้แทนยานำเสนอในลักษณะที่ตื้อเหลือเกิน มันไม่ได้เป็นการขายของทั่วไป มันไม่ได้ขายของที่ใช้สำหรับส่วนตัวที่คุณจะต้องมาตื้อหรือว่าอะไร เพราะจริงๆ มันน่าจะแข่งขันกันด้วยคุณภาพที่ไม่ต้องใช้กลยุทธพวกนี้มากนัก และส่วนตัวมองว่าผู้แทนยาก็ทำหน้าที่ในการนำเสนอยาที่เกินบทบาทของผู้แทนมาก ซึ่งก็เป็นความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ด้วย อย่างเช่น การแต่งกาย รูปร่างหน้าตา ที่นำเสนอยามันไม่จำเป็นต้องขนาดนี้ มันยิ่งกว่าแอร์โฮสเตส ยิ่งกว่าอะไรซะอีก นี่มันสวยเหมือนไม่ใช่มาขายยาน่ะ มันไม่ได้พูดกันลักษณะมืออาชีพที่จะมาขายของที่มีคุณประโยชน์ มันใช้กลยุทธอื่นมากเกินไปจนทำให้เราคิดได้ว่ามันไม่น่าจะตรงไปตรงมา เช่นการแต่งกาย หน้าตาที่จะต้องคัด จะต้องสวย และสิ่งของที่เอามานำเสนอที่มากกว่าตัวยา”   บริการยกระดับ “มันไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว”นอกจากการกระทำในระดับส่วนตัวแล้ว ผู้แทนยายังเข้าไปให้ผลประโยชน์ในระดับแผนกหรือภาควิชาต่างๆ ของโรงพยาบาลอีกด้วย เช่น จัดเลี้ยงให้แพทย์ในภาควิชาต่างๆ ของโรงพยาบาลช่วงเที่ยง มีประชุมวิชาการย่อยที่เกี่ยวข้องกับยาโดยผู้แทนยาเอง หรือที่นิยมคือการเชิญอาจารย์แพทย์ที่มีชื่อเสียงในเรื่องที่ต้องการขายยามาบรรยายให้ฟังว่ายาใหม่ดีอย่างไร มีข้อแนะนำใหม่ๆ ว่าให้เริ่มใช้ยานี้อย่างไร ซึ่งการกระทำเช่นนี้ไม่มีข้อจำกัดแน่นอน ขึ้นอยู่กับภาควิชา บางภาควิชาก็จะกำหนดว่าให้มาได้วันใดบ้าง เช่น ทุกวันศุกร์ บางภาควิชาให้มาวันใดก็ได้ เช่น ภาควิชาอายุรกรรมในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งกลางกรุงเทพฯ มีสมุดให้ผู้แทนยาลงชื่อขอเลี้ยงอาหารเที่ยง ซึ่งทุกวันจะมีผู้แทนยาลงชื่อเลี้ยงเต็มไปจนถึงปีหน้า  “แต่ละภาควิชา มีการใช้ยาที่แตกต่างกัน ผู้แทนยาจะขอเข้ามานำเสนอยาโดยแลกเปลี่ยนกับการแจกข้าวประชุม ไม่ว่าจะเป็นเช้า กลางวันหรืออาหารว่างตามแต่มื้อ หมอจะได้กินข้าวฟรี โดยเฉพาะภาควิชาหรือหน่วยงานใหญ่ๆ ที่ใช้ยาราคาแพงเป็นประจำ จะมีข้าวกลางวันเจ้าอร่อยกินฟรีตลอด” แพทย์หญิงภาควิชาอายุรศาสตร์ของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าว  ดาว ผู้แทนยาจากบริษัทยาต่างชาติเล่าว่า “จะมีการประชุม ซึ่งทางเราจะมีการสนับสนุนให้กับแพทย์ เหมือนอย่างแพทย์จะมีการประชุมตอนเช้า ส่วนใหญ่เกือบทุกที่จะมีการเรียนการสอนโดยแพทย์ที่เป็นระดับอาจารย์ซึ่งจบเฉพาะทางแล้ว เขาจะมาสอนเด็กกันตอนเช้า ซึ่งเด็กนี่จะเป็นพวกเรสิเดนท์ที่มาจากนักศึกษาแพทย์เทิร์นขึ้นมาเรียนเฉพาะทาง ก็จะมีการสอนกันตอนเช้า ทางเราก็จะมีการสนับสนุนวิชาการ โดยอาจจะมีการจัดประชุมให้โดยการสนับสนุนพวกเอกสาร ห้องประชุม อาหารเช้า อะไรอย่างนี้”  “นอกจากงบของโรงพยาบาลและงบประมาณแผ่นดินแล้ว ก็จะมีส่วนของบริษัทยาสนับสนุน เช่น น้ำหรืออาหาร เพราะว่าโดยปกติ งบของทางราชการได้มาแค่ส่วนหนึ่ง แล้วถ้าเกิดจะให้ประชาชนหรือคนอื่นเข้ามาเนี่ย ในส่วนค่าอาหารเขาอาจจะจำเป็นต้องจ่ายเอง ก็ไม่ค่อยมีใครอยากจะเข้ามาเท่าไหร่ แต่ถ้าเรามีเงินสนับสนุนตรงนี้ก็โอเค เป็นเหมือนกับการที่ทำให้คนเข้ามาเยอะขึ้น” นายแพทย์คลินิกโรคกระดูกและข้อโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าว ส่วนนายแพทย์อีกคนในโรงพยาบาลและแผนกเดียวกันให้ความเห็นว่า “ถ้ายาตัวไหนที่เข้าโรงพยาบาลแล้วยอดใช้เยอะ ทางบริษัทยาก็จะให้งบสนับสนุนกลุ่มงานหรือสนับสนุนแผนก ไม่ได้ให้เป็นรายส่วนตัว เช่น สมมติว่าแผนกศัลยกรรม ก็ให้งบช่วยเหลืองานปีใหม่ เท่านี้ครับ นอกจากนั้นก็จะมีทางแผนกไปรบกวนบริษัทเขา คือขอเขา เช่นมีงานประชุมวิชาการเกี่ยวกับยา เช่นยารักษาโรคกระดูกพรุน มีประชุมวิชาการเกี่ยวกับกระดูกพรุน แล้วก็มีสปอนเซอร์เกี่ยวกับบริษัทนี้อยู่ คือบริษัทยาตัวนี้เกี่ยวข้องอยู่ เราก็ขอไปประชุมได้ไหม ก็มีทั้งในและต่างประเทศ”   ไม่เว้นแม้แต่การเข้าไปช่วยจัดงานเลี้ยงให้กับแผนกเภสัชกรรม “แผนกเภสัชมีคนทำงานหลายคน ใครก็อยากมีโบนัส อยากจัดงานเลี้ยงปีใหม่ แต่โรงพยาบาลรัฐจะเอาเงินมาจากไหน บริษัทยาก็เข้าไปช่วยทำให้” ทราย ผู้แทนยาสาวจากบริษัทยาต่างชาติกล่าว   ผลประโยชน์ทับซ้อน แล้วคนไทยจะไปทางไหนข้อมูลจากเอกสารหลัก ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมฯ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 กล่าวว่า ประเทศไทยประสบกับปัญหาค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการประมาณ 5 ล้านคน พบว่าเพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่า หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 55,000 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2551 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในระบบประกันสังคมและระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งสองระบบรวม 57 ล้านคน มีมูลค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในปีเดียวกันคิดเป็นเงินรวมเพียง 97,700 ล้านบาทเท่านั้น  ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการสั่งใช้ยาในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการเป็นแบบปลายเปิด จ่ายตามเบิก จึงเป็นเหตุให้ไม่เป็นไปตามหลักการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ด้วยการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม  มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่น่าสนใจหลายทาง เช่น จัดตั้งองค์การอิสระให้ทำหน้าที่รับผิดชอบ จัดระบบ ตรวจสอบ รวบรวมและรายงานสถานการณ์การใช้ยาและการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมในระดับประเทศ โดยมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนและภาคประชาสังคมร่วมตรวจสอบ และเสนอยุทธศาสตร์ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม โดยต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากเครือข่ายสถาบันการศึกษาและสถานพยาบาลที่ต้องพัฒนาหลักเกณฑ์จริยธรรมด้านการส่งเสริมการขายยาที่เป็นของแต่ละสถาบัน บังคับใช้ และปรับปรุงหลักเกณฑ์อย่างต่อเนื่องให้ทันต่อสถานการณ์  และสถานพยาบาลก็ต้องร่วมผลักดันให้เกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายเป็นหนึ่งในการพิจารณามาตรฐานโรงพยาบาลควบคู่กับเกณฑ์มาตรฐานในเรื่องการใช้ยาที่เหมาะสม เสนอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ แจ้งรายงานผลการสั่งจ่ายยาที่ผิดปกติเพื่อให้แพทย์ผู้สั่งใช้ยารับทราบและแก้ไขปรับปรุงเป็นรายปี โดยอาจพิจารณาเชื่อมโยงกับความถี่ของการเข้าพบผู้แทนยา องค์กรวิชาชีพด้านสุขภาพ เช่น แพทยสภา สภาเภสัชกรรม ต้องพัฒนาหลักเกณฑ์จริยธรรมด้านการส่งเสริมการขายยาให้เป็นส่วนหนึ่งของจริยธรรมหรือจรรยาบรรณวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพแต่ละสาขา ร่วมดำเนินการเผ้าระวังการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม จัดให้มีบทลงโทษหนัก กรณีพบว่ามีส่วนร่วมในขบวนการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม เช่น การรับ-ให้ของขวัญ ของชำร่วย การเลี้ยงรับรองโดยมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการสั่งใช้ยา เป็นต้น และนำมาตรการเชิงบวกมาใช้เพื่อสนับสนุนการประกอบวิชาชีพตามหลักการใช้ยาที่เหมาะสม ด้านสื่อมวลชนและภาคีทุกภาคส่วนก็ต้องร่วมกันสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัดของโรงพยาบาลและสนับสนุนให้เกิดกลไกตั้งแต่การคัดเลือกยา การติดตามและประเมินการใช้ยา สนับสนุนระบบติดตามการใช้ยาภายในโรงพยาบาลเพื่อเป็นเครื่องมือให้เกิดการใช้ยาที่เหมาะสม และพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานการรักษา ส่วนภาคประชาชนสามารถร่วมแก้ปัญหานี้ได้โดย ร่วมกันสนับสนุนการรวมตัวของภาคประชาชนในการติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม และนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งนี้ให้จัดงบประมาณสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมเฝ้าระวังด้วย จัดทำแผนการเฝ้าระวังปัญหาและติดตามการดำเนินงานเพื่อแสดงความก้าวหน้าของการดำเนินงาน และประเมินผล โดยนำเสนอผลสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง  ทุกภาคส่วนร่วมกันจัดทำแผนการเฝ้าระวังปัญหาและติดตามการดำเนินงานเพื่อแสดงความก้าวหน้าของการดำเนินงาน และประเมินผล โดยนำเสนอผลสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ต้องจัดให้มีงบประมาณเพื่อให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมเฝ้าระวัง  และสุดท้าย สื่อมวลชนมีบทบาทร่วมกับภาคประชาสังคมในการให้ความรู้ประชาชนเพื่อส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสมและสร้างความเท่าทันต่อขบวนการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม การขายยาจะเทียบกับอาชีพขายของทั่วไปที่ต้องมีการทำโปรโมชั่นไม่ได้ เพราะยานั้นเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคน กินมากไม่ได้แค่ทำให้อ้วนเหมือนกินขนม ใช้มากไม่ได้ทำให้แค่เปลืองเหมือนกระดาษชำระ เลือกยี่ห้อที่ชอบ ไม่ได้ต่างแค่ความพอใจที่ได้...แต่ผลอาจถึงขั้นเสียชีวิต

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 123 ซอฟท์แวร์ / สื่อบันเทิง: ถูกก็ได้ ทำไมต้องแพง

  สองทศวรรษที่ผ่านมา การรับรู้ของเราในเรื่อง “การละเมิดลิขสิทธิ์” ที่เกิดขึ้นกับสื่อบันเทิงและซอฟท์แวร์นั้น มักผ่านมุมมองและการให้ข้อมูลของอุตสาหกรรมบันเทิงที่ทุ่มทุนมหาศาลเพื่อทำงานวิจัยหรือการสำรวจในเรื่องดังกล่าว หลายคนจึงอาจสงสัยว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นเครื่องมือของธุรกิจในการสร้างความเข้าใจของสังคมให้เป็นไปในแบบที่ธุรกิจเหล่านี้ต้องการ ซึ่งเป็นการคิดคำนวณเฉพาะเรื่องความเสียหายของผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์ แต่ไม่เคยมีการประเมินบทบาทหรือผลกระทบของ “การละเมิดลิขสิทธิ์” ที่มีต่อสังคมโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา ฉลาดซื้อ เล่มนี้จึงขอนำเสนองานวิจัยของสภาวิจัยสังคมศาสตร์ (Social Science Research Council) เรื่อง Media Piracy in Emerging Economies ซึ่งเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ทำการศึกษาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง ภาพยนตร์ และซอฟท์แวร์ ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่อย่าง บราซิล รัสเซีย อินเดีย อัฟริกาใต้ เม็กซิโก และโบลิเวีย ทีมนักวิจัย 35 คน ใช้เวลากว่า 3 ปี ในการเก็บข้อมูลเรื่องการเติบโตของการละเมิดลิขสิทธิ์ในยุคที่ ใครๆ ก็มีเทคโนโลยีดิจิตัลราคาถูกไว้ใช้ รวมถึงการเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมบันเทิง/ซอฟท์แวร์ เพื่อให้รัฐบาลในแต่ละประเทศปรับแก้กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่ว่าด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์ให้มีความเข้มข้นขึ้น การละเมิดลิขสิทธิ์ มีบทบาทอย่างไรในตลาดแต่ละประเทศหรือตลาดโลก มันตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างไร มีการละเมิดมากน้อยแค่ไหน การบังคับใช้กฎหมายได้ผลหรือไม่ การให้การศึกษาช่วยได้หรือไม่ มาเฟียมีบทบาทในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน --------------------------------------------------------------------------------------------------------------งานวิจัยนี้พบว่าความพยายามในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ในกลุ่มประเทศดังกล่าวนั้นไม่ประสบความสำเร็จ และเสนอว่าปัญหาลิขสิทธิ์นั้นควรถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวในการเข้าถึงสื่อบันเทิงที่ถูกกฎหมาย และปัญหาที่เกิดขึ้นก็ควรเรียกว่าปัญหาของการตั้งราคา แทนที่จะมองว่าเป็น ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์   --------------------------------------------------------------------------------------------------------------  HILIGHT จากงานวิจัย• ราคาที่สูงเกินสอยสินค้าประเภทสื่อบันเทิงนั้นถูกตั้งราคาไว้สูง ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านี้ยังมีรายได้น้อย และเทคโนโลยีดิจิตัลก็มีราคาถูก เมื่อพิจารณารายได้ของคนในบราซิล รัสเซีย หรืออัฟริกาใต้แล้ว จะพบว่าราคาขายปลีกของซีดี ดีวีดี หรือโปรแกรมไมโครซอฟต์ออฟฟิศ แพงกว่าในยุโรปหรืออเมริกา 5 ถึง 10 เท่า   • จะให้ดีต้องมีการแข่งขัน ตัวแปรที่จะทำให้สินค้าลิขสิทธิ์มีราคาที่ถูกลงได้แก่ การแข่งขันกันเองระหว่างผู้ประกอบการในประเทศเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด เพราะโดยส่วนมากแล้ว ทั้งในธุรกิจภาพยนตร์ เพลง และโปรแกรมซอฟท์แวร์ ในประเทศกำลังพัฒนา มักถูกครองตลาดโดยบริษัทข้ามชาติ   • การศึกษาช่วยอะไรไม่ได้ แม้อุตสาหกรรมบันเทิงจะพยายามบอกกับผู้บริโภคว่า “การละเมิดลิขสิทธิ์” นั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำด้วยสาเหตุนานาประการ แต่งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าประชากรของกลุ่มประเทศที่เข้าไปทำการสำรวจนั้นไม่ได้มีความรู้สึกรังเกียจพฤติกรรมการละเมิดแต่อย่างใด และที่สำคัญการละเมิดลิขสิทธิ์ยังเป็นสิ่งที่ทำกันเป็นปกติทั่วไปและมีแนวโน้มจะมากขึ้นด้วย   • เปลี่ยนพฤติกรรมไม่ง่ายเหมือนเปลี่ยนกฎหมาย ภาคธุรกิจประสบความสำเร็จในงานล็อบบี้เพื่อทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่กลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆลงมือใช้กฎหมายเหล่านั้นจริงๆ งานวิจัยพบว่าไม่มีวิธีการที่จะปรับให้เกิดสมดุลระหว่างการบังคับใช้กฎหมายและหลักความชอบธรรม • มาเฟียไม่มี แต่ “มาฟรี” นี่สิมาแรงไม่พบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างการละเมิดลิขสิทธิ์กับมาเฟียหรือผู้ก่อการร้ายในประเทศที่เข้าไปทำวิจัย และทุกวันนี้บรรดาพวกที่แอบทำสำเนางานเหล่านี้เพื่อขาย และพวกที่แอบลักลอบนำสินค้าไปขายในประเทศอื่นก็เจอโจทย์เดียวกันกับบรรดาค่ายหนังหรือเพลง นั่นคือปัญหา “ของฟรี” ที่บรรดาคอหนัง คอเพลง เขาแบ่งปันกันผ่านอินเตอร์เน็ตนั่นเอง   • การปราบปรามไม่ได้ผล หลังจากมีการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างเข้มข้นมากว่าทศวรรษ ทีมวิจัยก็ยังไม่พบว่ามันทำ การค้าเทปผี ซีดีเถื่อนพวกนี้ลดน้อยลงเลย   นโยบาย Global Pricingระบบราคาเดียว เสียวทั่วโลกงานวิจัยฉบับนี้เสนอว่าระบบการตั้งราคาแบบที่เรียกว่า Global Pricing ที่ยึดการตั้งราคาตามบริษัทแม่ (ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรป) เป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงค่าครองชีพของผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนา น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคใน รัสเซีย บราซิล อัฟริกาใต้ อินเดีย หรือเม็กซิโก (หรืออาจจะประเทศไทยด้วย) พากันหันไปหาทางเลือก “แผ่นผี”  งานวิจัยระบุว่า อุตสาหกรรมบันเทิงเองก็คาดการณ์ไว้ว่าจะมีการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ถึงร้อยละ 90 ของตลาดในอินเดีย ในขณะที่จะมีการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงประมาณร้อยละ 82 ของตลาดในเม็กซิโก และจะมีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ประมาณร้อยละ 68 ในตลาดรัสเซีย  เรามาดูตัวอย่างการเปรียบเทียบราคาดีวีดีภาพยนตร์ เรื่อง The Dark Knight   ราคาขายในแต่ละประเทศ (บาท) ราคาที่คำนวณตามกำลังซื้อของคนอเมริกัน ราคา “แผ่นผี” ราคา “แผ่นผี”คำนวณตามกำลังซื้อของคนอเมริกัน อเมริกา 720 - - - รัสเซีย 450 2,250 150 750 บราซิล 450 2,565 105 600 อัฟริกาใต้ 420 3,360 84 672 อินเดีย 427.75 19,230 36 1,620 เม็กซิโก 810 4,620 22.5 127.50   ราคาซีดีเพลง อัลบัม Viva La Vida ของวง Coldplay   ราคาขายในแต่ละประเทศ (บาท) ราคาที่คำนวณตามกำลังซื้อของคนอเมริกัน ราคา “แผ่นผี” ราคา “แผ่นผี”คำนวณตามกำลังซื้อของคนอเมริกัน อเมริกา 510 - - - รัสเซีย 330 1,650 150 750 บราซิล 420 2,400 75 420 อัฟริกาใต้ 615 4,920 81 660 อินเดีย 255 11,550 36 1,620 เม็กซิโก 420 2,415 30 172.50   ราคาโปรแกรม Microsoft Office 2007 Home and Student Edition   ราคาขายในแต่ละประเทศ (บาท) ราคาที่คำนวณตามกำลังซื้อของคนอเมริกัน ราคา “แผ่นผี” ราคา “แผ่นผี”คำนวณตามกำลังซื้อของคนอเมริกัน อเมริกา 4,470 - - - รัสเซีย 4,470 22,350 - - บราซิล 3,270 18,630 - - อัฟริกาใต้ 3,420 27,360 - - อินเดีย 3,000 135,000 60 2,700 เม็กซิโก 4,650 26,490 30 120   *ราคา คิดเป็นเงินบาทด้วยอัตรา 30 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ   เหตุที่ของแท้ ราคาไม่ถูก งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่าการตั้งราคาของบริษัทข้ามชาติ นั้นมีจุดประสงค์หลักสองประการคือ• เพื่อปกป้องโครงสร้างราคาในประเทศที่ประชากรมีรายได้สูง ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัท• เพื่อรักษาตำแหน่งผู้ครองตลาดในประเทศกำลังพัฒนาไว้ ในขณะที่รายได้ของประชากรกำลังเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ   ทั้งสองอย่างเป็นกลวิธีการสร้างกำไรสูงสุดสำหรับตลาดทั้งโลก ไม่ใช่ตลาดของแต่ละประเทศ ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้ไม่เกิดการแข่งขันทางราคาอย่างแท้จริงในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ แต่ข้อบกพร่องของแนวคิดนี้คือ ปัจจุบันเทคโนโลยีนั้นมีราคาถูกลงอย่างรวดเร็ว เร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้หลายเท่า จึงทำให้เกิดการบริโภคสื่อดิจิตัลในรูปแบบใหม่ๆ ที่บริษัทยักษ์ใหญ่บันเทิงเหล่านี้ ยังไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร ซึ่งเรารู้ๆ กันอยู่ว่าเทคโนโลยีนี้เองที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” งานวิจัยชิ้นนี้ฟันธงว่า ถ้าอุตสาหกรรมบันเทิงไม่ยอมลงมาแข่งขันกันในตลาดล่าง ก็ต้องยอมรับความแตกต่างระหว่างสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ราคาถูกกับฉบับถูกลิขสิทธิ์ที่ราคาแพงต่อไป --------------------------------------------------------------------------------------------------------3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ >> ราคาของสินค้าบันเทิงที่สูงเกินไป >> รายได้ของประชากรส่วนใหญ่ยังต่ำอยู่>> ความแพร่หลายของเทคโนโลยีราคาถูก-------------------------------------------------------------------------------------------------------- อย่างไรจึงจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เชื่อหรือไม่ว่า “การละเมิดลิขสิทธิ์” ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ นั้น ยังไม่เคยมีใครให้ความหมายหรือขอบเขตที่ชัดเจน งานวิจัยนี้ระบุว่า ความไม่ชัดเจนที่ว่าเกิดขึ้นโดยจงใจ เพราะไม่ต้องการให้เกิดการแยกแยะระหว่างการทำสำเนาด้วยเจตนาต่างๆ กัน ตั้งแต่การกระทำที่ชัดเจนว่าผิดกฎหมาย เช่น การทำสำเนาเพื่อขาย การทำสำเนาภายในขอบเขตของข้อยกเว้นตามกฎหมาย ไปจนถึงการทำสำเนาเพื่อใช้ส่วนตัวซึ่งเมื่อก่อนนี้ถือว่าทำได้ไม่ต้องวิตกว่าจะถูกดำเนินคดี แต่ที่แน่ๆ แม้การการละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายต้องสูญเสียรายได้บางส่วนไป แต่ในขณะเดียวกัน มันเป็นช่องทางในการเข้าถึงสินค้าบันเทิงรวมถึงซอฟต์แวร์ของผู้คนในประเทศกำลังพัฒนาด้วย --------------------------------------------------------------------------------------------------------ความเสียหายอันประเมินค่าไม่ได้สมาพันธ์ซอฟท์แวร์ทางธุรกิจ ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ที่จำนวนมหาศาลถึง 51,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2552 และยังระบุว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้ผู้คนกว่า 750,000 คนต้องตกงาน และทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 2 แสนล้านเหรียญ (กว่า 6 ล้านล้านบาท)  ข้อมูลนี้ฟังดูน่าตกใจและได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างท่วมท้น แต่เอาเข้าจริงไม่มีใครทราบว่าตัวเลขเหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร  บางครั้งก็มีการใช้ข้อมูลยอดขายของสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์มาแสดงถึงความเสียหายของธุรกิจของตนเอง เช่น สมาคมซอฟท์แวร์เพื่อความบันเทิงของสหรัฐฯ ระบุว่าในปี พ.ศ. 2550 นั้นธุรกิจของตนได้รับความเสียหายเป็นมูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 90,000 ล้านบาท) ซึ่งงานวิจัยเล่มนี้พบว่าเป็นการใช้ตัวเลขจากยอดขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นั่นเอง  ทั้งนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าการที่เราซื้อดีวีดีภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์มาหนึ่งแผ่น มันหมายถึงการที่ผู้ประกอบการ (ในที่นี้คือเจ้าของลิขสิทธิ์) ขาดโอกาสในการขายดีวีดีลิขสิทธิ์ของตนเองเสมอไปหรือไม่ พูดง่ายๆ มันก็มีความเป็นไปได้ไม่ใช่หรือ ที่แม้ว่าจะไม่มีแผ่นผีให้ซื้อ เราก็จะไม่ซื้อดีวีดีลิขสิทธิ์ที่มีราคาแพงอยู่ดี --------------------------------------------------------------------------------------------------------   ของแท้ ราคาถูก เป็นไปได้ เรามักได้ข้อมูลจากภาคธุรกิจว่า การมีกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดมากขึ้นจะนำไปสู่การเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมบันเทิงหรือซอฟท์แวร์ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มอัตราการจ้างงาน ส่งเสริมการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ผู้คนในประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสในการเข้าถึงสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ได้มากขึ้นไปเองโดยปริยาย   นี่คือเหตุผลที่ทำให้เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหัวข้อในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศตั้งแต่ช่วงปี 1980 เป็นต้นมา   แต่อุตสาหกรรมบันเทิงไม่เคยพูดถึงเรื่องของการแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยระบบการตั้งราคา   งานวิจัยชิ้นนี้เสนอว่าโลว์คอสต์โมเดล น่าจะเป็นไปได้ถ้ามีบริษัทที่แข่งขันกันด้านราคาและบริการในตลาดท้องถิ่น ซึ่งการแข่งขันลักษณะนี้มีอยู่แพร่หลายทั้งในอเมริกาและยุโรป ซึ่งมีการจำหน่ายสื่อบันเทิงราคาถูกผ่านช่องทางดิจิตัล   ในอินเดียก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จ เพราะที่นั่นบริษัทภาพยนตร์และค่ายเพลงท้องถิ่นครองตลาด และเป็นผู้ตั้งราคาที่ดึงดูดใจผู้คนทุกระดับรายได้ เรียกว่าราคาของแท้ที่นั่นสามารถแข่งกับฉบับละเมิดลิขสิทธิ์ได้เลย   บางแห่งก็ใช้วิธีสนับสนุนการมีซอฟท์แวร์แบบโอเพ่นซอร์ส ซึ่งช่วยจำกัดอำนาจและการตั้งราคาของซอฟท์แวร์ที่จัดจำหน่ายโดยบริษัทได้   งานวิจัยนี้ย้ำว่าผู้ประกอบการในท้องถิ่นนี้เองที่เป็นตัวแปรสำคัญ เพราะบริษัทเหล่านี้จะยอมลดราคาลงเพื่อจับลูกค้าในตลาดล่างให้มากขึ้น เมื่อมีบริษัทพวกนี้มาลงแข่งเพื่อแย่งชิงตลาดผู้บริโภคในท้องถิ่น การแข่งขันจึงสูงตามไปด้วย   ติดตามตอนต่อไป   “การละเมิดลิขสิทธิ์” นั้นนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น ด้วยปัจจัยภายนอกที่กล่าวมาแล้วข้างต้น – ราคาที่แพงเกินรายได้ เทคโนโลยีราคาถูกที่มีแพร่หลาย และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการถกเถียงกันให้ตกว่าทางออกของเรื่องนี้อยู่ที่ไหน การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดขึ้นทั้งในรูปแบบของการปราบปรามทางอินเตอร์เน็ตหรือการตรวจจับอย่างเข้มงวดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำไปสู่ผลเช่นใด และยังไม่เห็นความพยายามจากภาคอุตสาหกรรมในการตั้งเป้าว่า อย่างไรจึงจะถือเป็นความสำเร็จ ต้องใช้อำนาจแค่ไหน หรือจะต้องลงทุนต่อสังคมมากน้อยเพียงใด   แม้แต่ความพยายามในการให้การศึกษากับเด็กรุ่นใหม่ในเรื่องวัฒนธรรมของลิขสิทธิ์ทางปัญญา  ก็ยังไม่มีหลักฐานใดจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค ที่บ่งชี้ว่าจะเด็กรุ่นใหม่จะปฏิเสธการทำสำเนาเพื่อใช้ส่วนตัว หรือจะไม่ซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 122 ใครๆ ก็อยากมีรถโดยสารที่มีคุณภาพ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 24 จังหวัด โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะประจำทางในท้องถิ่นเส้นทางภายในจังหวัดและเส้นทางระหว่างจังหวัด ในช่วงระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 8 เมษายน 2554 พบว่า ผู้บริโภคมีปัญหาเรื่องพนักงานขับรถ ขับเร็ว หรือขับรถหวาดเสียว และพนักงานขับรถโดยสารใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สนทนาระหว่างปฏิบัติหน้าที่สูงสุด นอกจากนี้ยังพบว่า เวลาที่ผู้บริโภคจะคืนตั๋วเมื่อไม่สามารถเดินทางได้ เกือบ 50 % ไม่ได้เงินคืน แต่...ผู้บริโภคเกือบ 90 % ไม่เคยใช้สิทธิร้องเรียนเมื่อเกิดปัญหาจากคุณภาพและงานบริการของรถโดยสารเลย   ผลสำรวจความคิดเห็น • รถประจำทางวิ่งในจังหวัด1.บริการยอดนิยม อันดับหนึ่ง รถสองแถว 44.8 % ตามมาด้วย รถทัวร์โดยสารปรับอากาศ 35.4 % รถเมล์(ไม่ปรับอากาศ) 33.9 % และรถตู้ 24.4 %   2.คุณภาพงานบริการ 2.1 ความถี่ในการรับตั๋วหลังจ่ายค่าโดยสาร ใน 100 คน ไม่เคยได้ตั๋วเลย 9 คน ผลสำรวจ ไม่เคยได้รับตั๋วโดยสารหรือไม่มีบัตรอื่นใดให้เลย 35 % ได้รับตั๋วโดยสารทุกครั้ง 34.4 % ได้รับเป็นบางครั้ง 22.1 % และไม่ได้รับตั๋ว แต่ได้รับเป็นบัตรหมายเลขแทน 8.5 %2.2 การระบุราคาและหมายเลขที่นั่งไว้อย่างชัดแจน ใน 100 คน มี 21 คนที่ไม่เคยเห็นราคาและเลขที่นั่งบนตั๋ว ผลสำรวจ มีการระบุราคาและหมายเลขที่นั่ง 37 % มีการระบุราคาแต่ไม่ระบุหมายเลขที่นั่ง 32.3 % ไม่มีการระบุราคาและไม่ระบุหมายเลขที่นั่ง 20.5 % ไม่มีการระบุราคาแต่ระบุหมายเลขที่นั่ง 10.2 %2.3 การเก็บค่าโดยสาร ครึ่งหนึ่ง โอเคและคิดว่าเหมาะสม มี 19 % ที่บอกแพงเกินไปผลสำรวจ เห็นว่า ถูกต้อง เหมาะสม 50.6 % ไม่แน่ใจเพราะ ไม่ทราบว่าอัตราค่าโดยสารเป็นเท่าไหร่ 30.9 % ถูกต้อง แต่ไม่เหมาะสมเพราะแพงเกินไป 18.5 % 2.4 การขอเงินค่าโดยสารคืนเมื่อจ่ายเงินค่าโดยสารแล้ว แต่ไม่สามารถเดินทางได้ มีถึง 46 % บอกว่า ไม่เคยขอคืนได้เลย ผลสำรวจ ขอไม่ได้เลย 46.1 % ขอได้และได้เงินคืนครบถ้วน 30.6 % ขอได้เหมือนกัน แต่ได้เงินคืนไม่ครบ 23.3 %2.5 การติดประกาศแจ้งถึงข้อมูล เงื่อนไขในการให้บริการของรถโดยสาร ณ จุดพักรถ เกือบครึ่งหนึ่ง ไม่เคยเห็นประกาศใดๆ เลยผลสำรวจ ไม่มีการติดประกาศ 43.3 % มีติดประกาศ ในบริเวณที่เห็นได้ในชัดเจน 32.8 % มีติดประกาศ แต่ไม่อยู่ในบริเวณที่จะเห็นได้อย่างชัดชัดเจน 23.9 % 2.6 บริการของพนักงานประจำรถโดยสาร มากกว่าครึ่งหนึ่ง พอรับได้ (สงสัยชิน)ผลสำรวจ พึงพอใจปานกลาง 64.9 % พึงพอใจน้อย 21.3 % พึงพอใจมาก 10.6 % และไม่พึงพอใจเลย3.2 % 2.7 เคยโดยพนักงานประจำรถ แสดงกริยาไม่สุภาพ เช่น ลวนลาม เสียดสี ข่มขู่ กรรโชก ใน 100 คน มี 35 คนที่เคยโดนมาแล้ว ผลสำรวจ เคย 34.8 % ไม่เคย 65.2 %   3. ความปลอดภัยและการเยียวยาความเสียหาย เรื่องของพนักงานขับรถ 3.1 พนักงานขับรถโดยสาร มีการแสดงป้ายใบอนุญาตการขับขี่ไว้ในรถโดยสารสาธารณะหรือไม่ ใน 100 คน มี 35 คน ตอบว่า ไม่แน่ใจ ผลสำรวจ มี 38.1 % ไม่แน่ใจ 35.2 % ไม่มี 26.7 % 3.2 เคยเห็นพนักงานขับรถเม้าท์มือถือระหว่างขับรถไหม 80 % เห็นมากับตา ผลสำรวจ เคยพบ 80.8 % ไม่เคยพบ 19.2 % เคยพบใช้โทรศัพท์สนทนาโดยใช้มือจับ  53.4 % เคยพบใช้ในขณะที่รถจอด  13.2 % เคยพบใช้โดยเสียบผ่านหูฟัง (Small talk)  11.6 % และ ไม่แน่ใจ 2.7 % 3.3 เคยเจอพนักงานขับรถ ขับเร็ว น่ากลัว หวาดเสียวไหม ผู้บริโภค 75 % มีประสบการณ์ระทึกมาแล้ว ทั้งนั้น โดยมี 28 % เจอประจำ ผลสำรวจ เคย 75.2 % ไม่เคย 20.8 % เคยเป็นบางครั้ง 36.3 % เคยบ่อยมาก 28 % เคยนานๆครั้ง 14.4 % และไม่แน่ใจ  4 % (สงสัยว่าหลับ) 3.4 เคยเจอพนักงานขับรถเมาขณะขับรถไหม 63 % ไม่เคยเห็นคนขับเมาเลย ผลสำรวจ เคยพบ 15.7 % ไม่เคยพบ 62.7 % และไม่แน่ใจ 21.6 % (คงเนียนมาก) 3.5 เคยเจอคนขับรถสูบบุหรี่ขณะขับไหม เกือบ 40 % เคยเจอเหมือนกัน ผลสำรวจ เคยพบ 39 % ไม่เคยพบ 47.4 % ไม่แน่ใจ 13.6 % 3.6 เคยพบพนักงานขับรถมีอาการง่วงหรือหลับในขณะขับรถหรือไม่ มากกว่าครึ่งหนึ่งยังไม่เคยเจอ (โชคดีจัง) ผลสำรวจ เคยพบ 18 % ไม่เคยพบ 54.2 % ไม่แน่ใจ 27.8 % 3.7 เคยพบรถโดยสารที่จอดรับผู้โดยสารนอกจุดรับส่งที่กำหนดหรือไม่ ผลสำรวจ เคยพบ 53.3 % ไม่เคยพบ 25.5 % ไม่แน่ใจ เพราะไม่รู้ตำแหน่งจุดจอดที่กำหนด 21.2 % 3.8 เคยพบรถโดยสารที่ขับช้าเกินควรหรือขับกีดขวางทางรถคันอื่นไหม ขับเร็วก็เจอมาแล้ว ขับช้าก็ต้องมีบ้าง เกือบครึ่งหนึ่งก็เจออยู่บ้าง ผลสำรวจ เคยพบ 48.2 % ไม่เคยพบ 51.8 % เรื่องสภาพรถโดยสาร3.9 รถโดยสารที่ท่านใช้บริการมีเข็มขัดนิรภัย หรือไม่ ผลสำรวจ พบว่า มี 57.6 % ไม่มี 42.4 % 3.10 เข็มขัดนิรภัยอยู่ในสภาพที่เหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่ ผลสำรวจ เหมาะสม 55.2 % ไม่เหมาะสม (พันไว้หลังที่นั่ง , สายสั้น ,สายขาด , ไม่มีหัวคาด ฯลฯ) 44.8 % 3.11  เคยพบรถโดยสารที่ผู้โดยสารต้องยืนโดยสารเพราะไม่มีที่นั่งพอหรือไม่ผลสำรวจ เคย 74.4 % ไม่เคยพบ 25.6 % 3.12 เห็นด้วยหรือไม่ที่ผู้โดยสารต้องยืนโดยสารบนรถโดยสารผลสำรวจ ไม่เห็นด้วย 79 % เห็นด้วย 16.5 % และ ไม่แน่ใจ 0.5 % 3.13 รู้ไหมว่า ป้ายทะเบียนของรถโดยสารสาธารณะจะต้องใช้ป้ายทะเบียนสีเหลืองตัวอักษรสีดำตามกฎหมายกำหนดเท่านั้นผลสำรวจ รู้ 60 % ไม่รู้ 40 % 3.14 แล้วรถโดยสารที่ท่านใช้บริการส่วนใหญ่เป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง สำหรับขนส่งผู้โดยสารใช่หรือไม่ ผลสำรวจ ใช่ 57.8 % ไม่ใช่ 34.5 % ไม่แน่ใจ 7.7 % 3.15 สภาพรถโดยสารที่ท่านใช้บริการส่วนใหญ่ มีสภาพมั่นคงแข็งแรงหรือไม่ผลสำรวจ สภาพมั่นคงแข็งแรง เหมาะสมกับการใช้งาน 70.0 % สภาพเก่า ทรุดโทรม ไม่เหมาะกับการใช้งาน 30.0 % 3.16 รถโดยสารที่ท่านใช้บริการส่วนใหญ่ มีสภาพภายใน สะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น เหมาะสมกับการใช้บริการหรือไม่ ส่วนใหญ่สะอาดใช้ได้เลย ผลสำรวจ สะอาด ไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ 70.3 % ไม่สะอาด สกปรก ทรุดโทรม มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ 29.7 %   เรื่องการชดเชยเยียวยาความเสียหาย 3.17 เคยประสบอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถโดยสารวิ่งในจังหวัดหรือไม่ ผลสำรวจ ไม่เคย 89 % เคย 11 % 3.18 เคยเจอรถเสียระหว่างเดินทางไหม ผลสำรวจ ไม่เคย 59.9 % เคยสิ 40.1 % 3.19 ถ้าเกิดปัญหาจากการใช้บริการ เคยร้องเรียนไหม เกือบ 88 % ไม่เคยใช้สิทธิเลย(เศร้าจัง) ผลสำรวจ ไม่เคย 87.5 % เคย 12.5 % 3.20 ช่องทางที่ผู้บริโภครู้ว่า ถ้าเกิดปัญหาเรื่องรถโดยสารจะร้องเรียนได้ที่ไหน ผลสำรวจ ผู้ประกอบการ  68.6 % บริษัทประกันภัย 45.5 % กรมการขนส่งทางบก 43 %โรงพยาบาล 11.6 % มูลนิธิ องค์กรทางสังคม 10.9 % และสื่อมวลชน 6.8 % 3.21 รถโดยสารที่ท่านโดยสารมานั้นได้มีการแจ้งความคุ้มครองในการประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือไม่ผลสำรวจ ไม่แจ้ง 60.8 % แจ้ง 39.2 % 3.22 รถโดยสารที่ท่านโดยสารมานั้นได้มีการแจ้งความคุ้มครองในการประกันภัยตามประกันภัยรถเพิ่มเติม หรือไม่ผลสำรวจ ไม่มีแจ้ง 65.9 % มีแจ้ง 34.1 %   4.การกำกับดูแล การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 4.1 คิดว่าการกำกับดูแลคุณภาพบริการรถโดยสารสาธารณะของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดผลสำรวจ ปานกลาง 52.7 % น้อย 31.5 % มาก 15.8 % 4.2 คิดว่า ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับคุณภาพบริการรถโดยสารสาธารณะหรือไม่ผลสำรวจ สมควร 94.4 % ไม่สมควร 5.6 % 4.3 คิดว่า ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลด้านคุณภาพและความปลอดภัยของบริการรถโดยสารด้วยช่องทางใดบ้าง ผลสำรวจ จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน 75.9 % จัดตั้งหน่วยเฝ้าระวัง และรายงาน พฤติกรรมของผู้ประกอบการเจ้าของรถ พนักงานขับรถ พนักงานเก็บเงิน 60.7 % มาร่วมกำหนดนโยบาย มาตรการ เช่น บทลงโทษผู้กระทำความผิดซ้ำ และไม่แก้ไข 53.2 % เป็นอาสาสมัคร ให้ข้อมูลเรื่องสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ 40.4 % --   • รถประจำทางวิ่งระหว่างจังหวัด1.บริการยอดนิยม อันดับหนึ่ง รถทัวร์โดยสารปรับอากาศ 54.3 % รถตู้ 36.2 % รถเมล์ (ไม่ปรับอากาศ) 33.7 %รถสองแถว 17.1 %   2.คุณภาพงานบริการ 2.1 ความถี่ในการรับตั๋วหลังจ่ายค่าโดยสาร ใน 100 คน ไม่เคยได้ตั๋วเลย 13 คน ผลสำรวจ ได้รับตั๋วโดยสารทุกครั้ง  58.6 % ได้รับเป็นบางครั้ง 24.7 % ไม่เคยได้รับตั๋วโดยสารหรือไม่มีบัตรอื่นใดให้เลย 12.3 % ไม่ได้รับตั๋ว แต่ได้รับเป็นบัตรหมายเลขแทน 4.4 %2.2 การระบุราคาและหมายเลขที่นั่งไว้อย่างชัดแจน ผลสำรวจ มีการระบุราคา และหมายเลขที่นั่ง 47.9 % มีการระบุราคา แต่ไม่ระบุหมายเลขที่นั่ง 34.2 % ไม่มีการระบุราคา และไม่ระบุหมายเลขที่นั่ง 11 % ไม่มีการระบุราคา แต่ระบุหมายเลขที่นั่ง 6.9 %2.3 การเก็บค่าโดยสาร ครึ่งหนึ่ง โอเคและคิดว่าเหมาะสม ผลสำรวจ ถูกต้อง เหมาะสม 55.1 % ถูกต้อง แต่ไม่เหมาะสมเพราะแพงเกินไป 15.6 % ไม่แน่ใจเพราะ ไม่ทราบว่าอัตราค่าโดยสารเป็นเท่าไหร่ 29.3 % 2.4 การขอเงินค่าโดยสารคืนเมื่อจ่ายเงินค่าโดยสารแล้ว แต่ไม่สามารถเดินทางได้ มีถึง 40 % บอกว่า ไม่เคยขอคืนได้เลย ผลสำรวจ ขอไม่ได้เลย 39.2 % ขอได้และได้เงินคืนครบถ้วน 31.9 % ขอได้ แต่ได้เงินคืนไม่ครบถ้วน 28.9 % 2.5 การติดประกาศแจ้งถึงข้อมูล เงื่อนไขในการให้บริการของรถโดยสาร ณ จุดพักรถ เกือบครึ่งหนึ่ง เคยเห็นประกาศใดๆ เลยผลสำรวจ มีติดประกาศ ในบริเวณที่เห็นได้ในชัดเจน 42.7 % ไม่มีการติดประกาศ 31.3 % มีติดประกาศ แต่ไม่อยู่ในบริเวณที่จะเห็นได้อย่างชัดชัดเจน 26 % 2.6 บริการของพนักงานประจำรถโดยสาร 72.5 พอรับได้ (สงสัยชิน)ผลสำรวจ พึงพอใจปานกลาง 72.5 % พึงพอใจน้อย 13.8 % พึงพอใจมาก 10.9 % ไม่พึงพอใจเลย 2.8 % 2.7 เคยโดยพนักงานประจำรถ แสดงกริยาไม่สุภาพ เช่น ลวนลาม เสียดสี ข่มขู่ กรรโชก ใน 100 คน มี 35 คนที่เคยโดนมาแล้ว ผลสำรวจ เคย 35 % ไม่เคย 65 % 3. ความปลอดภัยและการเยียวยาความเสียหาย เรื่องของพนักงานขับรถ 3.1 พนักงานขับรถโดยสาร มีการแสดงป้ายใบอนุญาตการขับขี่ไว้ในรถโดยสารสาธารณะหรือไม่ ใน 100 คน มี 40 คน ตอบว่า ไม่แน่ใจ ผลสำรวจ มี 42.7 % ไม่แน่ใจ 39.9 % ไม่มี 17.4 % 3.2 เคยเห็นพนักงานขับรถเม้าท์มือถือระหว่างขับรถไหม เกือบ 80 % เห็นมากับตา ผลสำรวจ เคยพบ 78.9 % ไม่เคยพบ 21.1 % เคยพบใช้โดยเสียบผ่านหูฟัง (Small talk) 11.9 % เคยพบใช้ในขณะที่รถจอด 10.5 % เคยพบใช้โทรศัพท์สนทนาโดยใช้มือจับ 53 % ไม่แน่ใจ 3.5 % 3.3 เคยเจอพนักงานขับรถ ขับเร็ว น่ากลัว หวาดเสียวไหม ผู้บริโภค 73 % มีประสบการณ์ระทึกมาแล้ว ทั้งนั้น ผลสำรวจ เคย 72.9 % ไม่เคย 27.1 % เคยเป็นบางครั้ง 34.5 % เคยบ่อยมาก 19.5 % เคยนานๆ ครั้ง 14.4 % ไม่แน่ใจ 4.6 % 3.4 เคยเจอพนักงานขับรถเมาขณะขับรถไหม 67 % ไม่เคยเห็นคนขับเมาเลย ผลสำรวจ เคยพบ 14.5 % ไม่เคยพบ 66.8 % ไม่แน่ใจ 18.7 3.5 เคยเจอคนขับรถสูบบุหรี่ขณะขับไหม 33.5 % เคยเจอเหมือนกัน ผลสำรวจ เคยพบ 33.5 % ไม่เคยพบ 56.6 % ไม่แน่ใจ 9.9 % 3.6 เคยพบพนักงานขับรถมีอาการง่วงหรือหลับในขณะขับรถหรือไม่ ผลสำรวจ เคยพบ 15.9 % ไม่เคยพบ 61.8 % ไม่แน่ใจ 22.3 % 3.7 เคยพบรถโดยสารที่จอดรับผู้โดยสารนอกจุดรับส่งที่กำหนดหรือไม่ ผลสำรวจ เคยพบ 49.7 % ไม่เคยพบ 30.2 % ไม่แน่ใจ เพราะไม่รู้ตำแหน่งจุดจอดที่กำหนด 20.1 % 3.8 เคยพบรถโดยสารที่ขับช้าเกินควรหรือขับกีดขวางทางรถคันอื่นไหม ขับเร็วก็เจอมาแล้ว ขับช้าก็ต้องมีบ้าง ผลสำรวจ เคยพบ 36.6 % ไม่เคยพบ 63.4 % เรื่องสภาพรถโดยสาร3.9 รถโดยสารที่ท่านใช้บริการมีเข็มขัดนิรภัย หรือไม่ ผลสำรวจ พบว่า มี 66.4 % ไม่มี 33.4 %3.10 เข็มขัดนิรภัยอยู่ในสภาพที่เหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่ ผลสำรวจ เหมาะสม 52.8 % ไม่เหมาะสม (พันไว้หลังที่นั่ง , สายสั้น ,สายขาด , ไม่มีหัวคาด ฯลฯ) 47.2 %3.11  เคยพบรถโดยสารที่ผู้โดยสารต้องยืนโดยสารเพราะไม่มีที่นั่งพอหรือไม่ผลสำรวจ เคยพบ 71.1 % ไม่เคยพบ 28.9 %3.12 เห็นด้วยหรือไม่ที่ผู้โดยสารต้องยืนโดยสารบนรถโดยสารผลสำรวจ ไม่เห็นด้วย 83.5 % เห็นด้วย 11.3 % ไม่แน่ใจ 5.1 %3.13 รู้ไหมว่า ป้ายทะเบียนของรถโดยสารสาธารณะจะต้องใช้ป้ายทะเบียนสีเหลืองตัวอักษรสีดำตามกฎหมายกำหนดเท่านั้นผลสำรวจ ทราบ 62.7 % ไม่ทราบ 37.3 %3.14 แล้วรถโดยสารที่ท่านใช้บริการส่วนใหญ่เป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง สำหรับขนส่งผู้โดยสารใช่หรือไม่ ผลสำรวจ ใช่ 59.9 % ไม่ใช่ 8.0 % ไม่แน่ใจ 32.1 %3.15 สภาพรถโดยสารที่ท่านใช้บริการส่วนใหญ่ มีสภาพมั่นคงแข็งแรงหรือไม่ผลสำรวจ มั่นคงแข็งแรง เหมาะสมกับการใช้งาน 72.1 % สภาพเก่า ทรุดโทรม ไม่เหมาะกับการใช้งาน 24.2 % 3.16 รถโดยสารที่ท่านใช้บริการส่วนใหญ่ มีสภาพภายใน สะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น เหมาะสมกับการใช้บริการหรือไม่ ส่วนใหญ่สะอาดใช้ได้เลย ผลสำรวจ สะอาด ไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ 71.8 % ไม่สะอาด สกปรก ทรุดโทรม มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ 27.1 %   เรื่องการชดเชยเยียวยาความเสียหาย 3.17 เคยประสบอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถโดยสารวิ่งในจังหวัดหรือไม่ ผลสำรวจ ไม่เคย  89.4 % เคย 10.6 % 3.18 เคยเจอรถเสียระหว่างเดินทางไหม ผลสำรวจ ไม่เคย  59.9 % เคย 40.1 % 3.19 ถ้าเกิดปัญหาจากการใช้บริการ เคยร้องเรียนไหม เกือบ 89 % ไม่เคยใช้สิทธิเลย(เศร้าจัง) ผลสำรวจ ไม่เคย 88.8 % เคย 11.2 % 3.20 ช่องทางที่ผู้บริโภครู้ว่า ถ้าเกิดปัญหาเรื่องรถโดยสารจะร้องเรียนได้ที่ไหน ผลสำรวจ ผู้ประกอบการ 69.1 % กรมการขนส่งทางบก 46.8 % มูลนิธิ องค์กรทางสังคม 7.2 %โรงพยาบาล 6.6 % บริษัทประกันภัย 42 % สื่อมวลชน 4 %3.21 รถโดยสารที่ท่านโดยสารมานั้นได้มีการแจ้งความคุ้มครองในการประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือไม่ผลสำรวจ ไม่แจ้ง 59.4 % แจ้ง 40.6 %3.22 รถโดยสารที่ท่านโดยสารมานั้นได้มีการแจ้งความคุ้มครองในการประกันภัยตามประกันภัยรถเพิ่มเติม หรือไม่ผลสำรวจ ไม่มีแจ้ง 67.8 % มีแจ้ง 32.2 % 4.การกำกับดูแล การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 4.1 คิดว่าการกำกับดูแลคุณภาพบริการรถโดยสารสาธารณะของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดผลสำรวจ ปานกลาง 59.1 % น้อย 28.1 % มาก 12.7 % 4.2 คิดว่า ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับคุณภาพบริการรถโดยสารสาธารณะหรือไม่ ผลสำรวจ สมควร 92.8 % ไม่สมควร 7.2 % 4.3 คิดว่า ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลด้านคุณภาพและความปลอดภัยของบริการรถโดยสารด้วยช่องทางใดบ้าง ผลสำรวจ จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน 72.6% จัดตั้งหน่วยเฝ้าระวัง และรายงาน พฤติกรรมของผู้ประกอบการ เจ้าของรถ พนักงานขับรถ พนักงานเก็บเงิน 68.4 % ร่วมกำหนดนโยบาย มาตรการ เช่น บทลงโทษผู้กระทำวามผิดซ้ำ และไม่แก้ไข 51.6 % เป็นอาสาสมัคร ให้ข้อมูลเรื่องสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ 35.8 %   วิธีการสำรวจ เนื้อหาของแบบสำรวจส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ส่วนที่ 2 คุณภาพบริการและมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะส่วนที่ 3 สิทธิเรื่องความปลอดภัยและการเยียวยาความเสียหาย ส่วนที่ 4 การกำกับดูแล และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ส่วนที่ 5 ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม  โดยผู้ตอบจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดเป้าหมายที่ทำการสำรวจ และเป็นผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ  จังหวัดที่ทำการสำรวจจำนวน 24 จังหวัด ใน 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 7 จังหวัด คือ เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง เชียงราย แพร่ เพชรบูรณ์ พิจิตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร ภาคใต้ 6 จังหวัด คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล สงขลา พัทลุง ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก รวม 7 จังหวัด คือสระบุรี ตราด สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และกาญจนบุรี  ทำการสำรวจทั้งสิ้นจำนวน 1,310 ชุด โดยเป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารประจำทางที่วิ่งในจังหวัดจำนวน 562 คน และเป็นเส้นทางระหว่างจังหวัด 748 คน -------------------------------------------------------------------- สิทธิของผู้บริโภคบริการรถสาธารณะ1. ผู้โดยสารมีสิทธิร้องเรียนหรือฟ้องร้องเพื่อให้ผู้ให้บริการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา เยียวยา หรือชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น 2. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายจากการประกันภัยโดยไม่มีการประวิงเวลา หรือบังคับให้ประนีประนอมยอมความ 3. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายทั้งทางร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน และสิทธิอื่น ๆ ที่ถูกละเมิด 4. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายด้วยหลักแห่งพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด 5. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนและของผู้อื่น 6. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้บริการรถโดยสาร 7. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการบริการจากรถโดยสารและผู้ให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน 8. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพเกี่ยวกับบริการรถโดยสาร รวมทั้งความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ที่ถูกต้องเป็นจริง ครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจใช้บริการ 9. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในด้านสัญญา และราคาค่าบริการ 10. ผู้โดยสารมีอิสระในการเลือกใช้บริการรถโดยสารด้วยความสมัครใจ และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม --------------------------------------------------------------------

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 121 ถึงเวลาคนไทยใช้ระบบประกันสุขภาพมาตรฐานเดียวกัน

  “จะดีไหม!?...ถ้า 0.88% ของเงินเดือนที่เราและนายจ้างต้องจ่ายให้ระบบประกันสังคมในกรณีเจ็บป่วย ถูกนำไปเพิ่มเป็นเงินบำนาญหลังเกษียณ ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาลเวลาเจ็บป่วยก็เปลี่ยนให้ไปใช้บัตรทองซึ่งให้สิทธิรักษาฟรีกับคนไทยทั่วประเทศอยู่แล้ว...”   ผู้ประกันตนระบบประกันสังคมฟังทางนี้!!! เรารู้จักสิทธิของตัวเองดีพอหรือยัง? คงยังมีหลายคนที่สงสัยว่า “ผู้ประกันตน” ที่ว่านี้หมายถึงใคร ?  ผู้ประกันตน ก็คือ พวกเราเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ต้องจ่ายเงินให้กับประกันสังคม โดยการหักจากเงินเดือน (แบบอัตโนมัติ) ทุกเดือนเดือนละ 5% สำหรับเป็นเงินไว้สำหรับสมทบเพื่อสิทธิประโยชน์ เวลาที่เราเจ็บป่วยแล้วใช้บริการที่สถานพยาบาล หรือเป็นเงินช่วยเหลือตอนตกงาน รวมทั้งจะได้มีเงินบำนาญไว้ใช้ตอนอายุมาก ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้มีเงินส่วนหนึ่งไว้ค่อยช่วยเหลือเวลาที่เราลำบาก โดยไม่ใช่แค่เราเท่านั้นที่ต้องจ่ายเงินสมทบให้กับประกันสังคม แต่นายจ้างและรัฐก็ร่วมจ่ายสมทบเพื่อสิทธิของเราด้วย โดยนายจ้างจ่าย 5% ของเงินเดือนของเรา ส่วนรัฐช่วยน้อยลงมาหน่อยที่ 2.75% ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจ เหล่ามนุษย์เงินเดือนก็ต้องจ่าย 5% ของเงินเดือน เข้าสู่กองทุนประกันสังคม หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่า  “นานทีปีหนถึงจะได้เข้าโรงพยาบาล แล้วแบบนี้ทำไมต้องมาจ่ายเงินให้ประกันสังคมด้วย”  ไขข้อข้องใจ ที่เราต้องจ่ายก็เพราะว่าหลักการของประกันสังคมคือเรื่องของการ “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” เงินของเราที่ถูกหักให้ประกันสังคมทุกๆ เดือนนั้นจะกลายไปเป็นเงินกองกลางสำหรับบริหารจัดการดูแลทุกๆ คนที่อยู่ในระบบประกันสังคมร่วมกับเรา ใครป่วยต้องรักษาพยาบาลก็ได้รับการดูแล วันหนึ่งถ้าเราไปหาหมอก็จะได้รับการดูแลเช่นกัน หรือถ้าวันหนึ่งเราตกงานหรือเกษียณก็จะมีเงินชดเชยให้ ซึ่งก็คือเงินของเราที่ถูกหักไปทุกๆ เดือนนั้นแหละ   5% ของเงินเดือนที่เราจ่ายให้ประกันสังคมถูกใช้ไปทำอะไรบ้าง   %ของเงินเดือนที่จ่าย สิทธิประโยชน์ สิทธิที่ได้รับ เงื่อนไขการใช้สิทธิ 0.88% กรณีเจ็บป่วย *รักษาฟรีที่ รพ.ตามสิทธิที่เลือกไว้ *เงินทดแทนการขาดรายได้ ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนใช้สิทธิครั้งแรก 0.12% กรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนหญิง *ได้เงินทดแทน 13,000 บาทต่อครรภ์ ได้ไม่เกิน 2 คน *เงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ไม่เกิน 90 วัน ผู้ประกันตนชาย *ได้เงินทดแทน 13,000 บาท ต่อครรภ์ ได้ไม่เกิน 2 คน ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 7 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนคลอดบุตร 0.44% กรณีทุพพลภาพ *ใช้บริการ รพ.ของรัฐฟรี *หากเป็น รพ.เอกชน -ผู้ป่วยในเดือนละ 4,000 บาท -ผู้ป่วยนอกเดือนละ 2,000 บาท *เงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค้าจ้างรายเดือนไปตลอดชีวิต *อวัยวะเทียมที่จำเป็นฟรี ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนทุพพลภาพ 0.06% กรณีตาย เงินสงเคราะห์ และค่าปลงศพ 40,000 บาท *หากส่งสมทบมาแล้วมากกว่า 3 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้เงินสงเคราะห์ เท่ากับค่าจ้าง 1 เดือนครึ่ง *หากสมทบมากกว่า 10 ปี เงินสงเคาระห์เท่ากับค่าจ้างของผู้ประกันตน 5 เดือน ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายใน 6 เดือนก่อนตาย 3% กรณีชราภาพ *จะได้รับบำนาญ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย หากส่งสมทบมามากกว่า 180 เดือน *หากส่งสมทบมาไม่ถึง 180 เดือน จะได้รับบำเหน็จเท่ากับเงินสมทบทั้งหมดบวกกับดอกเบี้ยตามอัตราที่สำนักงานประกันสังคมประกาศในแต่ละปี อายุ 55 ปี บริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง 0% (เพราะรัฐออกให้) กรณีสงเคราะห์บุตร *เดือนละ 400 บาท ไปจนบุตรอายุ 6 ปี และได้ครั้งละ 2 คน ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายใน 36 เดือนก่อนได้รับสิทธิ 0.5% กรณีว่างงาน *หากถูกให้ออกโดยไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างจะได้ 50% ของค่าจ้างรายวันไม่เกิน 6 เดือน *หากลูกจ้างลาออกหรือหมดโครงการจะได้ 30% ของค่าจ้างรายวันไม่เกิน 3 เดือน ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนว่างงาน   ความจริงเรื่องประกันสุขภาพ ประเทศไทยเรา ไม่ได้มีระบบประกันสุขภาพสำหรับดูแลเรื่องความป่วยไข้ของคนไทยแค่ระบบประกันสังคมเท่านั้น แต่ยังมีอีก 2 ระบบสำคัญที่ค่อยเป็นที่พึ่งเรื่องสุขภาพของคนไทย นั้นคือ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อที่ว่า “ระบบบัตรทอง” ซึ่งเป็นระบบที่รัฐดูแลจัดการ ถือเป็นสวัสดิการให้กับคนไทยทุกคน ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม หรือระบบประกันสุขภาพอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยที่ได้รับการดูแลเรื่องการรักษาพยาบาล ค่ายา ประมาณ 47 ล้านคน งบประมาณที่ใช้ก็มาจากเงินภาษีของเรานี่แหละ  คิดเป็นตัวเลขก็ประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยค่ารักษาพยาบาลเหมาจ่ายต่อคนที่รัฐออกให้อยู่ที่ประมาณ 2,401.33 บาท อีกระบบ คือ ระบบสวัสดิการข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ สำหรับดูแลข้าราชการและครอบครัว ซึ่งมีประมาณ 5 ล้านคนทั่วประเทศ งบประมาณที่ใช้ก็มาจากเงินภาษีของเราอีกนั้นแหละ ซึ่งให้งบประมาณดูแลสูงถึง 7 หมื่นล้านบาท ค่ารักษาพยาบาลเหมาจ่ายรายต่อคนประมาณ 10,000 บาท  ส่วนระบบประกันสังคม ซึ่งดูแลเหล่าลูกจ้างและมนุษย์เงินเดือนซึ่งมีอยู่ประมาณ 9 ล้านคน โดยงบประมาณที่นำมาใช้ดูแลสุขทุกข์ก็มาจากเงินที่เราถูกหักจากเงินเดือนทุกๆ เดือน บวกกับนายจ้างและรัฐช่วยสมทบให้ ซึ่งเงินที่เราจ่ายไปถูกนำไปเฉลี่ยสำหรับการดูแลคุ้มครองหลายๆ ส่วน (อย่างที่เราแจกแจงให้ดูในตารางก่อนหน้านี้) ซึ่งถ้าดูเฉพาะส่วนของค่ารักษาพยาบาลเราจะมีงบประมาณดูแลอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่น 2 พันล้านบาท คิดเป็นค่ารักษาพยาบาลเหมาจ่ายที่คนละ 2,105.26 บาท  “น่าคิดมั้ย?...ทำไมระบบประกันสังคมถึงเป็นระบบประกันสุขภาพระบบเดียว ที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบเอง”   ทั้ง ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ ระบบสวัสดิการข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ใช้เงินจากรัฐซึ่งก็มาจากเงินภาษีของเราเองในการดูแลเรื่องสุขภาพของคนที่อยู่ในระบบ แต่ระบบประกันสุขภาพในระบบประกันสังคน ผู้ประกันตนต้องเป็นคนจ่ายสมทบเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลก ว่าทำไมรัฐจึงไม่ดูแลเรื่องสุขภาพของคนไทยให้เหมือนกันเป็นระบบเดียว เพราะเมื่องบประมาณที่ใช้ดูแลก็มาจากเงินภาษีของคนไทยทุกคนอยู่แล้ว ทำไมเรายังต้องจ่ายเพิ่มอีก?!  จริงอยู่ที่ว่าระบบประกันสังคม เป็นระบบการดูแลคุ้มครองความมั่นคงของชีวิตที่ดีและมีประโยชน์ คือมีทั้งเรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและในแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข และยังเป็นการออมเพื่ออนาคต แต่หากสามารถนำหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขในเรื่องของการดูแลสุขภาพให้เท่าเทียมเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกระบบก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่ามั้ย?   มาเปลี่ยนเป็นระบบสุขภาพที่เท่าเทียมกันเถอะ“ถ้าเปลี่ยนให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ว่ายังจ่ายสมทบเท่าเดิม แล้วนำเงินที่ต้องจ่ายกรณีเจ็บป่วยไปเพิ่มให้กรณีชราภาพ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนมากกว่า”ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ ระบบบัตรทอง ทำหน้าที่ดูแลเรื่องสุขภาพคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศอยู่แล้ว หากจะเพิ่มการดูแลให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ก็คงไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกหรือยุ่งยากอะไร ถือเป็นการช่วยเหลือผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ยังเป็นเพียงคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินในการดูแลรักษาสุขภาพยามเจ็บป่วย ถึงแม้จะเปลี่ยนไปรับความคุ้มครองในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ก็เชื่อว่าผู้ประกันตนส่วนใหญ่ก็ยังยินดีที่จะจ่ายสมทบในระบบประกันสังคม เพราะยังมีข้อดีในส่วนของการออมเพื่ออนาคต ทั้งการช่วยเหลือตอนว่างงาน และเงินบำเหน็จบำนาญตอนเกษียณ  ซึ่งถ้าหากได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพจากระบบบัตรทองแล้ว เงินที่เคยจ่ายให้ประกันสังคมกรณีเจ็บป่วย 0.88% ของเงินเดือน ก็น่าจะถูกไปเพิ่มในส่วนของเงินชราภาพ ตอนเกษียณอายุเราจะได้มีเงินใช้เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันเราได้เงินบำนาญจากการจ่ายเงินสมทบให้ประกันสังคมอยู่ที่ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ถ้าหากได้อีก 0.88% ของเงินเดือนไปเพิ่ม %เฉลี่ยของเงินที่จะได้เป็นบำนาญก็จะสูงขึ้น หรือถ้าเป็นเงินบำเหน็จ ซึ่งปัจจุบันใช้เกณฑ์คิดจากเงินสมทบทั้งหมดที่เราจ่าย + กับอัตราดอกเบี้ยอีกนิดหน่อย ถ้าได้ 0.88% ของเงินเดือนไปเพิ่มก็จะทำให้ได้บำเหน็จเยอะขึ้นจากเดิมทันที (อย่าคิดว่า 0.88% ของเงินเดือนเป็นเงินไม่กี่บาท ถ้าหากเราเงินเดือนเดือนละ 10,000 บาท แต่ละเดือนเราก็จ่ายสมทบไป 88 บาท 1 ปี เราจะจ่ายไป 1,056 บาท และถ้าเป็น 10 ปี ก็เท่ากับเงิน 10,560 บาทเลยนะ)  และยิ่งถ้าเรานำเงินสมทบให้ระบบประกันสังคมจาก กรณีคลอดบุตร 0.12% ของเงินเดือน และ กรณีทุพพลภาพ 0.44% ของเงินเดือน ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ให้ความดูแลคุ้มครองตรงนี้ด้วยเช่นกัน ไปเพิ่มให้เงินสมทบสำหรับกรณีชราภาพอีก ตัวเงินหรือสิทธิที่เราจะได้รับการดูแลหลังเกษียณในฐานะผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมก็น่าจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก  ***แต่ที่เล่ามาทั้งหมดยังเป็นแค่ความฝันและความหวัง ของเหล่าผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่อยากเห็นเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง เพราะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวผู้ประกันตนและสังคมโดยรวม งานนี้ก็คงต้องวิงวอนภาครัฐและบรรดาผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ช่วยทำให้ฝันเล็กๆ ของลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน และมนุษย์เงินเดือนในระบบประกันสังคมเป็นจริงด้วยเถิด*** ************************************************** “ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน” มาร่วมกันสร้างระบบหลักประกันสุขภาพให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน อยากเชิญชวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทุกคนมาร่วมกันสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่เท่าเทียม สิทธิประโยชน์ที่ดีและเหมาะสมสำหรับพวกเราผู้จ่ายเงินสมทบในระบบประกันสังคม เพราะเงินทุกบาทที่เราจ่ายไปมีความหมาย ประกันสังคมต้องสามารถเป็น “หลักประกันให้สังคมได้อย่างแท้จริงและมีประสิทธิ”  ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม สามารถเข้าร่วม หรือติดตามข่าวสาร ข้อมูลต่างๆ ของการประกันสังคม ได้ที่หน้า facebook ของ “ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน” **************************************************  ตัวอย่างสิทธิประโยชน์การบริการทางการแพทย์ที่แตกต่างกันของระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ***(O) = คุ้มครอง   (X) = ไม่คุ้มครอง   ลักษณะการบริการ ระบบประกันสังคม ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ โรคเดียวกันที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลเกิน 180 วัน X   O กรณีมีความจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เจ็บป่วยฉุกเฉิน แล้วไม่สามารถใช้บริการ รพ. ที่ลงทะเบียนไว้ได้ O ไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี O ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โรคหรือประสบอันตรายจากการใช้สารเสพติด X O เฉพาะหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข ได้รับอันตรายหรือทุพพลภาพจากการที่ตัวเองตั้งใจให้เกิด (กรณีพยายามฆ่าตัวตาย) X O การบริการรักษาตัวเองหรือฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ที่บ้านหลังออกจาก รพ. X O การส่งต่อผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพสูงกว่าทางอากาศยาน (เฮลิคอปเตอร์) X O ไม่เกิน 60,000 บาทต่อครั้ง การช่วยเหลือเบื้องต้นให้แกผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ X O 1.เสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงิยช่วยเหลือไม่เกิน 200,000 บาท 2.สูญเสียอวัยวะหรือพิการ จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 120,000 บาท 3.บาดเจ็บหรือเจ็บต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 50,000 บาท การให้ยาไวรัสโรคเอดส์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังสัมผัส เช่น ถูกข่มขืน หรือติดเชื้อระหว่างปฏิบัติงาน เช่น แพทย์ พยาบาล X O การบริการแพทย์แผนไทยหรือแพทย์ทางเลือก X O ข้อมูลประกอบบทความ : “สู่ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว สู่หลักประกันทั้งสังคม”.เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, “รายงานการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประจำปี 2552”, “รายงานประจำปีสำนักงานประกันสังคม 2552”, “คู่มือบัตรทองสำหรับอาสาสมัครสาธารณะสุข”, “สรุปสาระสำคัญพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ. 2537 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542”, บทความ “ระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย” สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย, http://www.posttoday.com/ข่าว/อาชญากรรม-สังคม/72522/เทียบผลประโยชน์-บัตรทองดีกว่าประกันสังคมทุกด้าน/page-1/   เปรียบเทียบบริการทางการแพทย์ของระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   ระบบประกันสังคม ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีประสบอันตราย/อุบัติเหตุ ขอรับค่าบริการได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง ทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อน สามารถเบิกคืนจากสำนักงานประกันสังคมในอัตราที่กำหนดดังนี้ 1.สถานพยาบาลของรัฐ -ผู้ป่วยนอก สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น -ผู้ป่วยใน สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ยกเว้น ค่าห้อง และค่าอาหารเบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท 2.สถานพยาบาลของเอกชน *ผู้ป่วยนอก สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,000 บาท และสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงเกิน 1,000 บาทได้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนด **ผู้ป่วยใน สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนด กรณีที่ใช้บริการที่หน่วยบริการซึ่งขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้รับบริการไม่ต้องเสียค่าบริการหรือค่าใช้จ่าย และสามารถใช้สิทธิใช้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ตามความจำเป็นโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง กรณีใช้บริการที่สถานบริการอื่น ผู้รับบริการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเฉพาะส่วนที่เกินจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายให้สถานบริการ โดยสถานบริการดังกล่าวจะต้องแจ้งให้ผู้ป่วยและญาติทราบก่อนการให้บริการทุกครั้ง   การคลอดบุตร ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีคลอดบุตรสำหรับตนเองหรือคู่สมรส มีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์ในการคลอดบุตรคนละ 2 ครั้ง รวมถึงประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร ได้แก่ ค่าตรวจรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด ค่ากินอยู่และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่าบริการและค่ารักษาพยาบาลทารกแรกเกิด ค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย ค่าบริการอื่นที่จำเป็น ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ โดยจะได้รับเงินเหมาจ่ายค่าคลอดบุตร จำนวน 13,000 บาท สำหรับการคลอดบุตร (อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป) ของผู้ประกันตนหรือภริยาของผู้ประกันตน หรือหญิงซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ประกันโดยเปิดเผยกรณีผู้ประกันไม่มีภริยา *กรณีผู้ประกันหญิง สามารถคลอดบุตรที่สถานพยาบาลใดก็ได้ จะได้รับเงินเหมาจ่ายค่าคลอดบุตร จำนวน 13,000 บาท และยังจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรอีก ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบเฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน และสามารถหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรครั้งหนึ่ง ไม่เกิน 60 วัน *กรณีผู้ประกันตนชายที่มีภรรยาจดทะเบียนสมรส หรือหญิงซึ่งอยู่กินฉันสามีภรรยาแต่มิได้จดทะเบียนสมรส สามารถคลอดบุตรที่สถานพยาบาลใดก็ได้ จะได้รับเงินเหมาจ่ายค่าคลอดบุตร จำนวน 13,000 บาท แต่ไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร *กรณีเป็นผู้ประกันตนทั้งสามีและภรรยา ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้คนละ 2 ครั้ง รวมกันได้ไม่เกิน 4 ครั้ง โดยบุตรที่นำมาใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตร ไม่สามารถนำมาขอรับค่าคลอดบุตรได้อีก และแนะนำให้ใช้สิทธิของภรรยาก่อนเนื่องจากจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรด้วยนอกเหนือจากค่าคลอดบุตร จำนวน 13,000 บาท สนับสนุนค่ารักษาพยาบาลตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม จำนวนไม่เกิน 2 ครั้ง (กรณีบุตรมีชีวิตอยู่) ครอบคลุมถึงค่าตรวจและรับฝากครรภ์ โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง จนสิ้นสุดการตั้งครรภ์ และการตรวจเยี่ยมดูแลหลังคลอด และจะได้รับวัคซีนทุกชนิดวัคซีนตามตารางแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน (EPI) ของกรมควบคุมโรค *คุ้มครองถึงหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นผู้ประกันตนสิทธิประกันสังคมที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 7 เดือน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย บริการทันตกรรม 1. กรณีถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ฐานอคริลิก และรากฟันเทียม 2.การผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ กรณีผู้ประกันตนไม่มีปัญหาด้านการกลืน แต่ช่องเพดานโหว่มีเพดานกว้างพอประมาณ ครอบคลุมอยู่ในเงินเหมาจ่ายรายหัว หมายเหตุ: 1) ผู้ประกันตนมีสิทธิเข้ารับการบริการสถานพยาบาลใดก็ได้ในกรณี ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน โดยสำรองเงินจ่ายไปก่อนและนำหลักฐานมาขอเบิกเงินคืนได้ในอัตราไม่เกิน 300 บาทต่อครั้ง ปีละไม่เกิน 600 บาท และมีสิทธิใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ฐานอคริลิก (พลาสติก) 1-5 ซี่ ในวงเงินไม่เกิน 1,200 บาท ตั้งแต่ 6 ซี่ขึ้นไปจะเบิกได้ไม่เกิน 1,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ฐานอคริลิก 2) ผู้ประกันยังต้องร่วมจ่ายในกรณีที่วงเงินเกินกำหนด โดยสามารถไปใช้บริการที่ใดก็ได้ 1.กรณีถอนฟัน การผ่าตัดช่องปาก (oral surgery) อุดฟัน ขูดหินปูน การเกลารากฟัน (root planing) ฟันเทียมฐานพลาสติก และทันตกรรมประดิษฐ์ 2.การรักษาโพรงประสาทฟันน้ำนมสำหรับเด็กเคลือบหลุมร่องฟัน (ในกลุ่มอายุไม่เกิน 15 ปี) นอกจากนั้นยังมีงานทันตกรรมเพิ่มทวีที่ดูแลเด็กชั้นประถมปีที่ 1 ทุกคนอย่างครบวงจร 3.ทันตกรรมรักษาในเด็กและหญิงตั้งครรภ์ 4.การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปาก ได้แก่ การตรวจสุขภาพช่องปาก การแนะนำด้านทันตสุขภาพ 5.การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคฟันผุ เช่น กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ 6.การผ่าตัดแก้ไขความพิการผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ รวมถึงการจัดฟัน และแก้ไขปัญหาด้านการพูด (สำหรับเด็ก) โดยค่าผ่าตัดสามารถรับค่าใช้จ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราที่กำหนด ค่าเพดานเทียมในอัตรา 500 บาทต่อชิ้น ค่าอรรถบำบัด/แก้ไขการพูด จ่าย 3,850 บาทต่อรายต่อปี ค่าทันตกรรมบำบัด (ฟื้นฟู) จ่าย 12,000 บาทต่อรายต่อปี หมายเหตุ: ผู้มีสิทธิไม่ต้องร่วมจ่ายในกรณีที่วงเงินเกินกำหนด การส่งต่อผู้ป่วยไปหน่วยบริการที่มีศักยภาพสูงกว่า กรณีมีความจำเป็น ต้องรับหรือส่งตัวผู้ป่วยไปตรวจวินิจฉัยหรือรักษาต่อยังสถานพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง สามารถเบิกค่าพาหนะตามอัตรา ดังนี้ 1.ภายในเขตจังหวัดเดียวกัน สำหรับค่ารถพยาบาลหรือเรือพยาบาลจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาทต่อครั้ง และ 300 บาทต่อครั้งสำหรับพาหนะรับจ้างหรือส่วนบุคคล 2.กรณีข้ามเขตจังหวัดจ่ายเพิ่มจากกรณีภายในเขตจังหวัดเดียวกันอีกตามระยะทางกิโลเมตรละ 6 บาท (ตามระยะทางกรมทางหลวง) ให้จ่ายตามราคาเรียกเก็บแต่ไม่เกินราคากลางที่กำหนดในแต่ละประเภทพาหนะและระยะทาง ดังนี้ 1.ค่าบริการรับส่งต่อทางรถยนต์ เป็นไปตามระยะทาง ถ้าไม่เกิน 50 กิโลเมตร ให้เบิกตามค่าใช้จ่ายจริงในอัตราไม่เกิน 500 บาท แต่ถ้ามากกว่า 50 กิโลเมตรขึ้นไป ให้เบิกจ่ายค่าชดเชยครั้งละ 500 บาท และให้ได้รับค่าชดเชยเพิ่มอีกกิโลเมตรละ 4 บาทต่อระยะทางจากหน่วยบริการต้นทางถึงหน่วยบริการปลายทาง (ตามระยะทางกรมทางหลวง) 2.ค่าบริการรับส่งต่อทางเรือ เป็นไปตามประเภทเรือ และระยะทางอัตราจ่ายไม่เกิน 35,000 บาทต่อครั้ง โรคไต 1) การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาแบบถาวร เหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลในความตกลง และจ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท และเบิกค่าวางท่อพร้อมอุปกรณ์ได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อรายต่อ 2 ปี 2) การฟอกเลือด เหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลในความตกลง และเบิกได้ครั้งละไม่เกิน 1,500 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 3,000 บาทต่อสัปดาห์ ค่าเตรียมเส้นเลือด (Shunt) อัตรา 20,000 บาทต่อรายต่อ 2 ปี 3) การปลูกถ่ายไต ค่าใช้จ่ายก่อนการปลูกถ่ายไต เหมาจ่ายให้สถานพยาบาลไม่เกิน 30,000 บาทต่อราย ค่าใช้จ่ายระหว่างปลูกถ่ายไต เหมาจ่ายให้สถานพยาบาลไม่เกิน 230,000 บาทต่อราย โดยครอบคลุมผู้ประกันตนและผู้บริจาคไตเป็นเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตรวมทั้งการรักษาภาวะสลัดไตอย่างเฉียบพลันของผู้ประกันเป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ทำการปลูกถ่ายไต ค่าใช้จ่ายหลังการปลูกถ่ายไต สำหรับสถานพยาบาลที่ปลูกถ่ายไตผู้ประกันตนที่มีสิทธิโดยครอบคลุมการตรวจรักษา ยากดภูมิคุ้มกัน ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตรวจปัสสาวะ ตรวจระดับยากดภูมิภูมิคุ้มกัน เหมาจ่ายในอัตรา ดังนี้ ปีที่ 1 เดือนที่ 1-6 เดือนละ 30,000 บาท เดือนที่ 7-12 เดือนละ 20,000 บาท ปีที่ 2 เดือนที่ 1-6 เดือนละ 15,000 บาท ปีที่ 3 เป็นต้นไป เดือนละ 10,000 บาท หมายเหตุ: การปลูกถ่ายไต จะไม่ได้รับคุ้มครองเมื่อผู้ป่วยเป็นไตวายเรื้อรังก่อนเป็นผู้ประกันตน 1) การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาแบบถาวร เหมาจ่ายค่าบริการให้โรงพยาบาล 220,000 บาทต่อรายต่อปี หรือ 18,320 บาทต่อรายต่อเดือน (ค่าน้ำยา 14,100 บาท ร่วมกับ ค่าดูแลครบวงจร) 2) การฟอกเลือด ผู้ป่วยลงทะเบียนก่อน 1 ต.ค. 51 1,000 บาทต่อครั้ง+ผู้ป่วยร่วมจ่าย 500 บาท 1,200 บาทต่อครั้ง (อายุเกิน 60 ปี+มีโรคเรื้อรัง) +ผู้ป่วยร่วมจ่าย 500 บาท ผู้ป่วยลงทะเบียนหลัง 1 ต.ค. 51 1,500 บาทต่อครั้ง 1,700 บาทต่อครั้ง (อายุเกิน 60 ปี+มีโรคเรื้อรัง) ค่าเตรียมเส้นเลือด (Shunt) จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาทต่อรายต่อ 2 ปี 3) การปลูกถ่ายไต ค่าใช้จ่ายก่อนการปลูกถ่ายไต ให้สิทธิผู้ป่วยที่สามารถหาไตบริจาคได้ โดยได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายคือ (1) ค่าเตรียมผู้รับบริจาคก่อนเข้ารับการผ่าตัดที่สมองตาย 40,000 บาท (2) ค่าเตรียมผู้รับบริจาคก่อนเข้ารับการผ่าตัดที่มีชีวิต ก่อนเข้ารับการผ่าตัด 40,000 บาท (จ่ายไม่เกิน 2 ครั้ง) ระหว่างเข้ารับการผ่าตัด 32,800 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับเตรียมผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด 31,300 บาทและค่าเตรียมผู้รับบริจาคระหว่างรอผู้บริจาคที่สมองตาย ทุก 3 เดือน ครั้งละ 1,800 บาท ค่าใช้จ่ายระหว่างปลูกถ่ายไต จ่ายตามความเสี่ยง ตั้งแต่ Protocol I-IV โดยมีค่าใช้จ่ายต่ำสุดคือ 143,000 บาท และสูงสุดคือ 292,000 บาท กรณีมีภาวะแทรกซ้อนจ่ายตาม Protocol ทั้งสิ้น 7 Protocol โดยมีค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายตั้งแต่ 23,000 บาทและสูงสุดคือ 493,000 บาท ค่าใช้จ่ายหลังปลูกถ่ายไต สนับสนุนค่าใช้จ่าย ยากดภูมิ ตรวจทางห้องปฏิบัติการตรวจปัสสาวะ ตรวจระดับยากดภูมิคุ้มกัน เหมาจ่าย ดังนี้ ปีที่ 1 เดือนที่ 1-6 เดือนละ 30,000 บาท เดือนที่ 7-12 เดือนละ 25,000 บาท ปีที่ 2 เดือนละ 20,000 บาท ปีที่ 3 เป็นต้นไป เดือนละ 15,000 บาท

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 120 เส้นทางสายกุหลาบ

  สิ่งที่หลายคนนิยมมอบให้กันเพื่อสื่อแทนความรักและเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของวันวาเลนไทน์ คือ “กุหลาบ” ราชินีแห่งดอกไม้ เธอกลายมาเป็นสัญลักษณ์ได้อย่างไร มีคุณค่ามากพอไหมสำหรับการบอกรัก เรามาติดตามเส้นทางชีวิตของเธอกัน  เมื่อถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี ดอกกุหลาบจะกลายเป็นของที่หลายๆ คนต้องการ เพราะดอกกุหลาบจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ดอกไม้ธรรมดา แต่จะกลายเป็นของขวัญสุดล้ำค่าที่ใช้เป็นสื่อแสดงถึงความรักความรู้สึกดีๆ ของคนที่ให้ไปถึงยังคนที่รับ (อาจจะฟังดูเว่อร์ๆ แต่เรื่องแบบนี้เชื่อว่าคนที่เคยมีความรักน่าจะเข้าใจดี) ช่วงเทศกาลแห่งความรัก นอกจากคนที่มีความรักหัวใจจะชื่นบานแล้ว การซื้อ-ขายดอกกุหลาบก็ดูจะคึกคักเบิกบานตามไปด้วย  เมื่อดอกกุหลาบกลายเป็นของมีค่าที่คนมีความรักต่างก็เรียกหาในวันวาเลนไทน์ ลองมาดูกันซิว่า  ดอกกุหลาบในช่วงเทศกาลแห่งความรัก มีความลับอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า?   บนทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบกุหลาบ เป็นไม้ตัดดอกที่ออกตลอดทั้งปี ซึ่งปกติถ้าไม่ใช่ช่วงวันวาเลนไทน์ เราจะซื้อกุหลาบมาสำหรับไหว้พระ รอยมาลัย หรือตกแต่งใส่แจกัน กุหลาบถือเป็นดอกไม้ที่ขายง่าย หาซื้อก็ง่าย ในเมืองไทยเรามีพื้นที่ปลูกกุหลาบตัดดอกอยู่ประมาณ 5,500 ไร่ โดยกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ที่ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ที่เหลือจะกระจายอยู่ที่ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงรายและบางจังหวัดในภาคกลาง เช่น นครปฐม และราชบุรี เหตุที่อำเภอพบพระเป็นแหล่งปลูกกุหลาบตัดดอกแหล่งใหญ่ของประเทศ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศเหมาะสม ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป พื้นที่ก็มีความลาดชันน้อยกว่าทางเหนือ แถมยังนิยมใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีค่าแรงที่ถูกกว่า ที่อำเภอพบพระจะปลูกกุหลาบเพื่อส่งขายไปทั่วประเทศตลอดทั้งปี ดอกกุหลาบที่วางขายที่ปากครองตลาด ตลาดดอกไม้สำคัญของคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็มาจากที่นี่ รวมทั้ง เชียงใหม่และเชียงรายด้วย   แต่ใช่ว่าบ้านเราจะนิยมเฉพาะแต่ดอกกุหลาบในประเทศ เพราะเราก็ยังคงต้องนำเข้าดอกกุหลาบจากต่างประเทศ หลักๆ จะมาจาก เนเธอร์แลนด์และจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการปลูกดอกไม้สวยงามอยู่แล้ว ความสวยงามและสีสันของดอกกุหลาบจะมีความแตกต่างกับกุหลาบที่ปลูกในบ้านเราอยู่บ้าง ด้วยความที่สายพันธุ์และสภาพของภูมิอากาศในพื้นที่ที่ปลูกกุหลาบมีความแตกต่างกัน แต่อย่าคิดว่าดอกกุหลาบนำเข้าจะต้องสวยกว่าหรือแพงกว่าดอกกุหลาบที่ปลูกในประเทศเสมอไป เพราะราคาของกุหลาบไม่ได้ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มา แต่ว่าขึ้นอยู่กับสภาพความสวยงามและขนาดของดอกกุหลาบ   เมื่อรักคือการให้...งั้นไปซื้อกุหลาบกัน ถ้าใครเคยไปเดินเลือกซื้อกุหลาบที่ปากคลองตลาด ก็จะเห็นว่าที่นี้มีกุหลาบให้เลือกซื้อมากมาย หลายสี หลายขนาด ที่สำคัญก็คือมีหลายราคา ดอกกุหลาบที่ปากคลองตลาดมีทั้งแบบที่ปลูกในบ้านเราและดอกที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยกุหลาบที่ขายกันจะมีทั้งแบบที่ขายเป็นมัด มัดหนึ่งมีตั้งแต่ 20 – 50 ดอก มัดรวมกันไว้เป็นห่อ มีทั้งแบบดอกสีเดียวและแบบคละสี ซึ่งถ้าขายในลักษณะนี้จะเป็นดอกกุหลาบที่ไม่ค่อยสวยเท่าไร ดอกจะช้ำๆ ใน 1 มัดอาจจะมีดอกที่สวยจริงๆ แค่ไม่กี่ดอก แต่ดีตรงที่ราคาจะถูก  ส่วนแบบที่ขายแยกเป็นดอกก็จะแพงกว่าแบบที่ขายเป็นมัด แต่เราสามารถเลือกได้ ได้เห็นสภาพของดอกกุหลาบจริงๆ และแบบที่ขายเป็นดอกเดี่ยวๆ ดอกกุหลาบจะมีคุณภาพมากกว่า สวยกว่า ดอกใหญ่กว่า ที่สำคัญคือ ทางร้านจะเก็บรักษาดีกว่า คือมีการดูแลพรั่งพร้อม ดอกกุหลาบจะถูกแช่น้ำไว้ ทำให้ดอกยังดูสด กลีบดอกจะไม่มีรอยช้ำ เพราะไม่ได้ถูกมัดหรือถูกวางทับรวมกันไว้ แต่ถ้าใครพอจะมีงบสูงสักหน่อยในการจะเลือกซื้อดอกกุหลาบ แล้วอยากได้แบบที่สวยโดนใจ เอาไปให้ใครแล้วเขาต้องประทับใจแน่นอน แนะนำให้เลือกจากร้านที่เขารับจัดดอกไม้ เพราะตามร้านรับจัดดอกไม้ส่วนใหญ่ เขาจะคัดดอกกุหลาบที่สวยงาม ดอกใหญ่ ก้านยาว แถมเรายังเจาะจงเลือกได้ว่าใน 1 ช่อ จะให้ดอกกุหลาบกี่ดอก สีอะไรบ้าง ตกแต่งด้วยอะไร เรียกว่าไม่ต้องลุ้นเหมือนการซื้อดอกกุหลาบแบบที่ขายเป็นมัดๆ และก็ไม่ต้องเหนื่อยไปจัดช่อเองถ้าซื้อแยกเป็นดอกๆ แต่กุหลาบจัดช่อนั้นขอแนะนำเฉพาะคนที่พร้อมจะลงทุนให้กับความรักจริงๆ เท่านั้น เพราะกุหลาบแบบจัดช่อจะมีราคาค่อนข้างสูง ส่วนมากจะอยู่ที่หลักพันบาท ขึ้นอยู่กับจำนวนดอกและความยาวของก้านดอก แถมบรรดาร้านที่รับจัดช่อดอกไม้ยังมีจุดขายที่เรื่องความสะดวกสบายของลูกค้า เพราะมีทั้งบริการสั่งจองช่อดอกไม้ออนไลน์และบริการเดลิเวอร์รี่ส่งดอกไม้ถึงมือผู้รับให้ด้วย ++++การแบ่งเกรดของดอกกุหลาบจะดูกันที่ความยาวของก้าน ยิ่งก้านยาวจะถือเป็นกุหลาบที่มีความสวยงามมากแถมหายาก ทำให้ราคาก็ยิ่งสูงมากตามไปด้วยการแบ่งเกรดของดอกกุหลาบก็มีตั้งแต่ เกรดของดอกกุหลาบ ความยาวของก้าน (เซนติเมตร)เกรดพิเศษ         60 ขึ้นไปเกรดเอ             50เกรดบี              40เกรดซี              30ตกเกรด            น้อยกว่า 30 +++++++++   เมื่อถึงวันวาเลนไทน์ ดอกกุหลาบก็กลายเป็นของมี (มูล) ค่า (สูง)++ ถือเป็นเรื่องที่คนที่มีความรักต้องเตรียมใจ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่ราคาดอกกุหลาบช่วงวาเลนไทน์จะปรับขึ้นมากกว่าราคาที่ขายในช่วงเวลาปกติมาก ++ การขึ้นราคาของดอกกุหลาบมาจากเหตุผลง่ายๆ ว่าเมื่อสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ค้าจะปรับราคาให้สูงขึ้น โดยผู้ซื้อเองก็ยินดีที่จะจ่ายเพื่อแลกกับสินค้าที่ต้องการ  ++ ราคาดอกกุหลาบในช่วงวันวาเลนไทน์จะสูงกว่าช่วงปกติถึง 3 เท่า  ++ ไม่ใช่แค่ดอกกุหลาบเท่านั้น ที่ราคาจะสูงขึ้นในช่วงวันวาเลนไทน์ แต่ดอกไม้สวยงามอื่นๆ ทั้ง คาร์เนชั่น ลิลลี่ ทิวลิป เยียบีร่า ราคาก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน  ++ ราคากุหลาบจะไม่ตายตัวจะปรับเปลี่ยนทุกวัน แม่ค้ากุหลาบที่ปากคลองตลาดบอกว่าการตั้งราคาขายจะดูจากหลายปัจจัยหลายองค์ประกอบ ทั้งจากคุณภาพของดอกไม้ ความคับคั่งของการซื้อ – ขาย ถ้าวันไหนดอกกุหลาบขายดีมีคนเดินเยอะก็สามารถตั้งราคาสูงได้ แต่ถ้าวันไหนตลาดเงียบเหงาก็จำเป็นต้องลดราคาหรือตั้งราคาให้ถูกลงเพื่อให้สินค้าขายได้ง่ายขึ้น  ++ ความต้องการดอกกุหลาบในวันวาเลนไทน์จะมีมากกว่าช่วงเวลาปกติถึง 10 เท่า  ++ ราคากุหลาบจะค่อยๆ สูงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาทองของดอกกุหลาบ  ++ กุหลาบไม่ได้แพงแค่ช่วงเทศกาลแห่งความรักเท่านั้น แต่ช่วงที่มีการรับปริญญาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม ดอกกุหลาบก็จะมีราคาสูงขึ้นด้วยเช่นกัน  ++ กุหลาบเกรดดีๆ ที่ปลูกในบ้านเรา จะมีราคาต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 10 - 15 บาท ในขณะที่ดอกกุหลาบที่นำเข้าจากต่างประเทศต้นทุนจะถูกกว่า เนื่องจากกุหลาบเกรดคุณภาพในบ้านเรา ยังมีการปลูกกันน้อย  ++ ช่วงวันวาเลนไทน์ดอกกุหลาบแบบที่มัดขายเป็นห่อจะขายดีที่สุด เพราะราคาถูก เนื่องจากลูกค้ากลุ่มหลักที่จะหาซื้อดอกกุหลาบในวันแห่งความรักก็คือ นักเรียน – นักศึกษา ซึ่งยังไม่มีรายได้ ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีรวมเงินกันซื้อแล้วค่อยไปแบ่งกุหลาบกัน ++ ร้านขายกุหลาบหรือร้านที่รับจัดช่อดอกไม้บางร้าน มีบริการรับสั่งจองกุหลาบล่วงหน้าสำหรับวันวาเลนไทน์ ถ้าหากสั่งแต่เนินๆ สัก 2 – 3 อาทิตย์ จะได้ราคาที่ถูกลงกว่าซื้อใกล้ๆ วันวาเลนไทน์++++++++++++++++++++++++++++++++++++   แม้ดอกกุหลาบจะเป็นสัญลักษณ์ของความรักและวันวาเลนไทน์ แต่ผลสำรวจเมื่อปี 2553 พบว่า ของขวัญยอดฮิตในวันวาเลนไทน์หาใช่ดอกกุหลาบไม่ แต่กลับเป็นช็อกโกแลต โดยมีการสรุปตัวเลขจำนวนเงินที่ใช้ในการซื้อช็อกโกแลตเอาไว้ว่า 1 คน จะลงทุนไปกับการซื้อช็อกโกแลตประมาณ 292 บาท ส่วนดอกกุหลาบได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 งบในการซื้อดอกไม้ให้คนที่รักจะอยู่ที่ประมาณ 285 บาท โดยดอกกุหลาบสีแดงได้รับความนิยมมากที่สุด รองลงคือสีขาว และสีชมพู (ในผลสำรวจไม่ได้บอกว่างบที่ใช้ซื้อของขวัญในวันวาเลนไทน์นั้น เป็นงบที่ใช้กับผู้รับแค่ 1 คนหรือเปล่า ถ้าใครมีแฟนหรือคนที่แอบชอบหลายคน ก็อาจจะต้องใช้งบซื้อของมากกว่าที่บอกในผลสำรวจนะ อิอิ)ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย +++++++++++++++++   ไม่รักได้ไง ถ้าดอกกุหลาบที่ให้ ราคา 5 แสน!!!อย่าเพิ่งตกใจ เพราะดอกกุหลาบราคานี้มีขายจริงๆ ดอกกุหลาบช่อกลมสำหรับวันวาเลนไทน์ จำนวน 799 ดอก ซึ่งสื่อความหมายว่า “รักเธอตลอดกาล” ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของช่อกุหลาบมีความกว้างถึง 1 เมตร เรียกว่าใครที่ได้รับดอกกุกลาบ 799 ดอก ราคา 5 แสนบาทไปเป็นของขวัญ ก็คงประทับใจไม่รู้ลืม อาจจะประทับใจจนช็อคไปเลยก็ได้ ส่วนที่จะรักเธอตลอดกาลหรือเปล่าอันนี้คงบอกไม่ได้  เคยมีคนบอกว่าความรักทำได้ทุกสิ่ง แต่เรื่องนี้ต้องเฉพาะคนที่มีเงินถึงจริงๆ เท่านั้นถึงจะทำได้(***ช่อดอกกุกลาบ 799 ดอก ราคา 5 แสนบาท มีขายจริงๆ ที่ มิสลิลลี่ ฟลาเวอร์)++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++   ดอกกุหลาบแบบขายเป็นห่อ ราคาประมาณ 70 – 180 บาทส่วนใหญ่เป็นกุหลาบจาก อ.พบพระ จ.ตาก ห่อหนึ่งจะมีกุหลาบอยู่ประมาณ 50 ดอก ข้อดีคือราคาถูก ได้กุหลาบเยอะ แต่ข้อเสียคือ ดอกกุหลาบมักจะไม่ค่อยสวย ดอกเล็ก กลีบดอกช้ำ เพราะถูกมัดรวมกันมา การดูแลจากชาวสวนและแม่ค้าหลังจากตัดดอกและก่อนนำมาวางขายมีน้อยมาก ซื้อมา 1 มัด 50 ดอก อาจจะดอกที่สวยถูกใจเหมาะจะเอาไปให้คนที่รักไม่ถึง 10 ดอก   ดอกกุหลาบแบบขายเป็นกำ ราคาประมาณ 100 – 500 บาท1 กำจะมีดอกกุหลาบ ประมาณ 10 – 20 ดอก คุณภาพของดอกจะดีกว่าแบบที่ขายเป็นห่อ ดอกใหญ่กว่า ส่วนมากเป็นดอกกุหลาบเชียงใหม่ หรือไม่ก็เป็นดอกกุหลาบนำเข้า ใน 1 กำจะมีให้เลือกทั้งแบบสีเดียวและคละสี แต่ลักษณะการขายเป็นกำก็ยังมีข้อเสียคล้ายๆ กับกุหลาบที่ขายเป็นห่อคือการจัดเก็บและขนส่งจากสวนมายังตลาด กุหลาบมีโอกาสได้รับความบอบช้ำสูง   ดอกกุหลาบแบบขายเป็นดอก ราคาประมาณ 20 บาท จนถึงหลักร้อยดอกกุหลาบที่แยกขายแบบดอกเดียวมีหลากหลายรูปแบบ ความสวยงามและคุณภาพของดอกก็เป็นไปตามราคา ยิ่งดอกใหญ่ สด กลีบไม่ช้ำ ก้านยาว ราคาก็ยิ่งสูง   ดอกกุหลาบแบบขายแบบจัดช่อ – หลักร้อย จนถึงหลักหมื่นเรื่องคุณภาพและความสวยงามของดอกกุหลาบไปต้องพูดถึง แถมยังตกแต่งมาเป็นช่อเรียบร้อย เรื่องราคาก็ว่ากันไปตามคุณภาพ ชนิด และปริมาณของดอกไม้ ฝีมือของคนจัดช่อ รับประกันว่าถูกใจคนรับ แต่ราคาอาจจะไม่ถูกสำหรับคนซื้อ ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ปลูกกุหลาบแดงไว้เพื่อเธอการปลูกกุหลาบในบ้านเราจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือแบบเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ การปลุกกุหลาบแบบเชิงปริมาณ คือการปลูกที่เน้นที่จำนวนของดอกกุหลาบ ปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ให้ดอกมากเก็บเกี่ยวได้เร็ว แต่ดอกกุหลาบที่ได้จะไม่ค่อยได้คุณภาพ ดอกจะมีขนาดเล็ก ก้านสั้น หรือไม่ก็มีตำหนิจากโรคและแมลง ทำให้อายุของดอกกุหลาบจะค่อนข้างสั้น ไม่เหมาะแก่การนำไปปักแจกัน แต่การผลิตดอกกุหลาบในลักษณะนี้ทำให้เกษตรกรสามารถตัดดอกกุหลาบส่งขายตลาดได้ทุกวัน ส่วนการปลูกกุหลาบเชิงคุณภาพ เป็นการปลูกที่ต้องมีการดูแลกุหลาบอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ช่วงของการปลุกไปจนถึงหลังการเก็บเกี่ยว นิยมปลูกในโรงเรือนเพื่อควบคุมอุณหภูมิและป้องกันแมลง ดอกกุหลาบที่ได้จะมีคุณภาพสูง นิยมส่งไปตามร้านที่รับจัดช่อดอกไม้ซึ่งต้องใช้ดอกกุหลาบที่มีขนาดใหญ่ สีสด ไม่มีตำหนิที่กลีบดอก ซึ่งกุหลาบในลักษณะนี้เมืองไทยยังผลิตได้น้อยกว่าความต้องการของตลาด จึงทำให้ยังต้องมีการนำเข้าดอกกุหลาบจากต่างประเทศ ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++   ฉันซื้อกุหลาบให้ตัวเอง...ไม่ว่าจะซื้อกุหลาบให้ตัวเอง หรือให้คนอื่นๆ ลองมาดูเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ในการเลือกซื้อกุหลาบ ให้ได้ดอกที่สวยถูกใจ ไม่ผิดหวังทั้งคนให้และคนรับ   1.เลือกดอกที่ยังดูสด ไม่เหี่ยวแห้ง ไม่มีรอยช้ำ หรือสีสันไม่สดใส ไม่เปล่งปลั่ง เพราะแบบนั้นแสดงว่ากุหลาบขาดน้ำ จะเก็บไว้ได้ไม่นาน 2.นอกจากดูที่ดอกแล้วก็ต้องดูที่ใบด้วย ใบก็ต้องสวย ไม่เหี่ยว หรือห่อลู่ ไม่หักงอ ใบอยู่เต็มไม่ขาด 3.ลองจับที่กลีบดอกกุหลาบเบาๆ กุหลาบที่สุขภาพดีกลีบต้องยังมีความแข็ง จับแล้วไม่ช้ำหรือหักตามแรงกด แต่วิธีนี้ต้องอาจต้องแอบทำ เพราะส่วนใหญ่แม้ค้ามักจะไม่ให้เราสัมผัสดอกกุหลาบ ระวังถูกแม่ค้าโกรธ  4.ถ้าซื้อดอกกุหลาบแล้วเก็บข้ามคืนเพื่อใช้งานในวันถัดไป ต้องเลือกที่ดอกยังไม่บานเต็มที่ แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นดอกตูมจนเกินไป เพราะอาจจะเป็นดอกที่ไม่บานแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นควรเลือกดอกที่กลีบยังเป็นทรงสวย บานออกบางแล้ว แต่ไม่ขยายมากจนเกินไป  5.ดูว่าร้านมีการดูแลดอกกุหลาบยังไงบ้าง เพราะดอกกุหลาบที่ถูกตัดมาขายจะขาดน้ำไปเลี้ยง หากแม่ค้านำมาขายโดยไม่ได้แช่น้ำ ดอกกุหลาบก็มีโอกาสเหี่ยวเร็ว  6.ถ้าไปเลือกซื้อที่ปากคลองตลาด ก็ควรยอมเสียเวลาเดินเลือกให้ทั่ว เพราะอย่างที่รู้ว่าที่นี่เป็นแหล่งขายดอกไม้ มีให้เลือกหลายร้านหลายแบบหลายราคา ลองเปรียบเทียบกันดู รับรองต้องเจอแบบที่ทั้งถูกทั้งใจถูกทั้งราคาแน่นอน  กุหลาบแทนใจ...อยากเก็บไว้หลายๆ วัน1.เมื่อซื้อกุหลาบมาแล้ว ให้เด็ดใบที่ไม่ต้องการออกบ้าง แล้วนำไปแช่ในน้ำ นำไปเก็บในที่ที่อากาศเย็น ไม่มีแดดส่อง ซึ่งการหลีกเลี่ยงไม่ให้กุหลาบถูกแดดก่อนนำไปใช้งานก็เพื่อป้องกันการสังเคราะห์แสง เพราะดอกอาจเปลี่ยนสภาพ และอย่าให้อุณหภูมิของน้ำร้อนหรือเย็นเกินไป 2.อย่าแช่ดอกกุหลาบไว้ในแจกันหรือภาชนะที่ใส่น้ำจนแน่นเกินไป เพราะมีผลต่อการดูดซึมน้ำของดอกกุหลาบ ถ้าแช่ดอกกุหลาบมากเกินไปจนดอกต้องเบียดกันแน่นอาจทำดอกและใบชำ 3.หมั่นเปลี่ยนน้ำในแจกันทุกวัน ดอกกุหลาบก็ชอบน้ำสะอาดๆ เพราะฉะนั้นเวลาทุกครั้งที่เปลี่ยนน้ำอย่าลืมล้างทำความสะอาดแจกันด้วย  4.การตัดก้านกุหลาบเพื่อนำมาปักแจกัน ควรตัดในแนวเฉียง เพราะปลายก้านในลักษณะเฉียงจะช่วยให้ดอกกุหลาบดูดซับน้ำได้มากขึ้น 5.ริดหนามออกก็สามารถช่วยชะลอไม่ให้กุหลาบเฉาเร็วได้ แต่อย่าให้มีรอยฉีกที่ก้านเพราะกลายเป็นว่าจะทำให้ดอกไม้เน่าเร็วแทน  6.ว่ากันว่าถ้าใส่เหรียญสลึงลงในแจกันที่จัดดอกกุหลาบไว้ ส่วนผสมที่เป็นทองแดงในเหรียญจะช่วยยับยั้งเชื้อแบคที่เรียที่อยู่ในแจกัน ทำให้ดอกกุหลาบไม่เหี่ยวเร็ว++++++++

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 เขาหลอกให้เด็กเป็นนักช้อปได้อย่างไร

เรียบเรียงจากหนังสือเรื่อง Born to Buy แต่งโดย จูเลียต บี. ชอร์   เมื่อปี 2546 โครงการวิจัย Child Watch ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ระบุเด็กไทยเป็นนักบริโภค และติดวัตถุมากกว่าครอบครัวและศาสนา ในรอบ 1 เดือนพบว่า เด็กกินอาหารจานด่วนเฉลี่ยราว 3 ครั้ง ไปเดินห้างสรรพสินค้าประมาณ 4 ครั้ง ซื้อเครื่องสำอางค์บำรุงผิวประมาณ 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กวัยรุ่นในต่างจังหวัดราวร้อยละ 50 ที่เข้าร้าน internet เป็นประจำ และร้อยละ 30 มีโทรศัพท์มือถือใช้และจากการที่เด็กวัยรุ่นใช้เวลาไปกับกระแสบริโภคนิยม และหมดเวลาไปกับการเดินห้าง หรือพูดคุยกับเพื่อน หรือเล่นเกมผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เด็กวัยรุ่นใช้เวลากับครอบครัวน้อยลงด้วย  กระแสบริโภคนิยมได้เข้าไปก่อร่างสร้างตัวในเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่เพียงแต่เด็กไทยเท่านั้นที่ต้องเผชิญวิกฤตนี้ เด็กทั่วโลกก็ไม่ต่างกัน  ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำผลงานวิจัยเชิงลึกของจูเลียต บี. ชอร์ ในหนังสือเรื่อง Born to Buy ที่ตีแผ่เทคนิคการโฆษณา และช่องทางในการเข้าถึงเด็กๆ ชาวอเมริกัน รวมถึงศึกษาผลกระทบจากวัฒนธรรมการบริโภคที่มีต่อจิตใจของเด็กเหล่านั้นด้วย โดยมีเด็กประถม 5 – 6 จำนวน 300 คนและผู้ปกครอง 25 คนเข้าร่วมการวิจัยครั้งนี้ มานำเสนอ ท่านสามารถหาอ่านฉบับเต็มได้จาก คุณหนูนักช็อป เมื่อโฆษณาบอกให้ลูกคุณต้องซื้อ. จูเลียต บี. ชอร์ เขียน ศศิวรรณ ปริญญาตร แปล สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก,2553.   คุณหนูนักช้อปงานวิจัย* ที่ทำกับเด็กอเมริกัน ฟันธงแล้วว่าเด็กที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการบริโภคมาก จะมีปัญหาทางจิตใจมากขึ้นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล สมาธิสั้น หรือมีความรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า นอกจากนี้ยังมีสุขภาพแย่ลงด้วย   ในภาพรวมแล้วเด็กอเมริกันทุกวันนี้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง ทั้งๆที่อัตราความยากจนไม่ได้สูงเหมือนเมื่อก่อน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีปัจจัยลบที่บั่นทอนสุขภาวะของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา ปัจจัยที่ว่านั้นได้แก่ค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับวัตถุและการบริโภค  ที่สำคัญการตลาดและโฆษณากำลังจู่โจมพวกเขามากขึ้นทุกวัน ในทุกที่ๆพวกเขาอยู่ จึงไม่ได้มีเพียง “เด็กมีปัญหา” เท่านั้นที่ถูกดึงเข้าสู่วังวนแห่งบริโภคนิยม   เรื่องที่คุณอาจรู้แล้วเกี่ยวกับกลยุทธ์การโฆษณา1. โฆษณาจะนำเสนอภาพโลกของสินค้าดังกล่าวที่เป็นมิตรกับเด็ก โลกนั้นจะไม่มีครู ไม่มีพ่อแม่ที่น่ารำคาญ นี่คือโฆษณาที่สร้างขึ้นจากผลการวิจัยเรื่องเจตคติของเด็กต่อครูและพ่อแม่  2. โฆษณาจะต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าพวกเขาจะไม่เอาไหน ไม่เท่ ถ้าพวกเขาไม่มีสินค้าตัวดังกล่าวในครอบครอง ขอบอกว่ากลยุทธ์นี้ได้ผลกว่าการบอกเด็กให้ไปซื้อสินค้านั้นมาด้วยซ้ำ  3. โฆษณาจะเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับความต้องการทางอารมณ์ของเด็กๆ เช่น การต้องการเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม โฆษณาจึงนิยมส่งสารไปยังเด็กๆว่า ซื้อสินค้าตัวนี้สิ แล้วหนูจะมีเพื่อนแน่นอน   4. โฆษณาที่จะได้ผลนั้นจะต้องทำให้เด็กเกิดความต้องการอย่างท่วมท้นด้วย เราจึงได้เห็นการสร้างความตื่นเต้นเร้าใจด้วยแสง เสียง หรือภาพคลื่นครีมมหึมา หรือทะเลช็อกโกแลต เสมอๆ  5. บริษัทมักอ้างว่าโฆษณาไม่ได้มีผลต่อเด็กมากมายอย่างที่ผู้ใหญ่หลายคนวิตกกัน แต่ก็ยังตอบคำถามไม่ได้ว่าทำไมถึงทุ่มเงินให้กับการโฆษณาเป็นเงินหลายพันล้านเหรียญต่อปี   กลยุทธ์การตลาดที่ผู้ประกอบการใช้ในการเข้าถึงเด็กๆ1. สร้างอาณาจักรที่ทำให้เด็กรู้สึกเป็นอิสระได้โดยผ่านทางการบริโภค  2. เมื่อเด็กมีเงินใช้มากขึ้น หัวใจของวัฒนธรรมการบริโภคของพวกเขาคือการได้รู้สึกพิเศษเหนือคนอื่นๆ บริษัทต่างๆจึงพยายามปรับราคาสินค้าขึ้น เพื่อจะได้ดูเป็นสินค้า “เกินเอื้อม” และทำให้เด็กๆหลงใหล อยากเป็นเจ้าของมากขึ้น  3. สิ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จของการทำการตลาดสินค้าสำหรับเด็กคือความเท่ทันสมัย เพราะนาทีนี้มันคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ได้ในชีวิตของพวกเขา  4. นักการตลาดรู้ว่าเด็กเล็กก็ดูรายการสำหรับวัยรุ่น หรือรายการสำหรับผู้ใหญ่ และเด็กทุกคนก็มีความต้องการลึกๆที่ “อยากจะเป็นผู้ใหญ่” จึงจงใจนำเสนอสินค้าที่ “แก่กว่าวัย” ให้กับกลุ่มเป้าหมาย  5. การสื่อสารสองความหมายก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เช่น ในการโฆษณาอาหารสำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่ง เนื้อหาที่ส่งไปยังพ่อแม่คืออาหารดังกล่าวมีวิตามินและทำจากวัตถุดิบที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ในขณะที่บอกกับเด็กๆ ว่าอาหารนั้นทานแล้วสนุกสนาน มีเพื่อนมากมาย  6. มีงานวิจัยที่ระบุว่าครอบครัวที่มีเวลาให้ลูกน้อยจะให้เงินลูกใช้มากขึ้นเพื่อเป็นการ “ไถ่บาป” และการใช้เงินทดแทนเวลานั้นเป็นสิ่งที่แม่นิยมทำมากกว่าพ่อ นักการตลาดจึงไม่พลาดโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากความรู้สึกผิดดังกล่าว ด้วยการสื่อสารถึงเด็กๆว่าสินค้าต่างหากที่อยู่เคียงข้างพวกเด็กๆเสมอ (ไม่ใช่พ่อแม่)  7. นักการตลาดใช้วิธี “สร้างโลก 360 องศา” ด้วยการจู่โจมผู้บริโภคด้วยข้อมูลจากทุกด้าน ในสื่อทุกประเภท รวมถึงการตลาดแบบ “ใช้ดีแล้วบอกต่อ” ด้วย 8. เงินซื้อได้ทุกอย่าง นักการตลาดสามารถจ่ายเงินให้พ่อแม่เพื่อซื้อเวลาที่จะได้พูดคุยกับลูกของพวกเขาได้อย่างเป็นส่วนตัวแม้กระทั่งการมาถ่ายวิดีโอลูกของตนในห้องนอนหรือห้องอาบน้ำ ---------------------------------------------------------------------------------------- เด็กกับพลังตื๊อเป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยกันดี แต่เรื่องใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นคือเด็กกำลัง “ฝึก” พ่อแม่ให้จัดหาสิ่งที่ต้องการให้โดยไม่ต้องร้องขออีกต่อไป เพราะเมื่อพ่อแม่เรียนรู้ว่าเด็กชอบหรือไม่ชอบอะไร ก็จะพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ลูกไม่ชอบ เพราะไม่อยากเสียเงินหรือเวลาไปกับสิ่งที่ซื้อมาแล้วลูกจะไม่กิน ไม่ใช้ ซึ่งก็เข้าทางทั้งเด็กและทั้งคนที่จะหากำไรจากเด็ก ---------------------------------------------------------------------------------------- - สหรัฐอเมริกามีศูนย์การค้ากว่า 105,000 แห่ง เมื่อปลายปีพ.ศ. 2552 มีพื้นที่ช้อปปิ้งประมาณ 7,000 ล้านตารางฟุต เมื่อนำมาเฉลี่ยกับจำนวนประชากร 300 กว่าล้านคนแล้ว อเมริกันชนแต่ละคนจะมีพื้นที่ศูนย์การค้าประมาณ 23 ตารางฟุต - ข้อมูลจาก The International Council of Shopping Centers จากสถิติของกรุงเทพมหานคร เมื่อปีพ.ศ. 2551 กรุงเทพฯ มีศูนย์การค้าทั้งหมด 136 แห่ง (และตลาดนัดอีกนับไม่ถ้วน)- อัตราการเป็นเจ้าของเครื่องรับโทรทัศน์ของอเมริกันชน เท่ากับ 740 เครื่องต่อ 1,000 คน (เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก เบอร์มิวดาและโมนาโค) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 86 ที่ 236 เครื่องต่อ 1,000 คน ----------------------------------------------------------------------------------------   เด็กติดแบรนด์ ข้อมูลจากการสำรวจของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในอเมริการะบุว่าโดยเฉลี่ยแล้ว เด็กอายุ 10 ขวบ จะสามารถจดจำแบรนด์ได้ระหว่าง 300 ถึง 400 แบรนด์  เวลาที่เด็กอ้อนให้ซื้อของ พวกเขามักจะระบุแบรนด์ของสินค้า และที่แย่กว่านั้นเด็กอเมริกันเดี๋ยวนี้จะร้องอยากได้สินค้า “แบรนด์ดัง” เท่านั้น และประสบการณ์การบริโภคของเด็กอเมริกัน (และก็คงจะไม่ต่างกับเด็กที่บ้านเรา) ทุกวันนี้ก็จะต้องหรูหราขึ้นด้วยเด็กไม่ได้มีทางเลือกมากมาย อย่างที่พวกเขาเข้าใจ ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันธุรกิจสื่อและความบันเทิงสำหรับเด็กก็ อยู่ในมือของ 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ ดิสนีย์ เวียคอม นิวส์คอร์ป และเอโอแอล ไทม์ วอร์เนอร์ เท่านั้น   อย่างนี้จะดีไหมงานวิจัยเรื่องดังกล่าวมีข้อเสนอดังต่อไปนี้ • ให้มีการเก็บภาษีร้อยละ 2 จากโฆษณาที่ออกอากาศทางวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และอินเทอร์เน็ท เมื่อฉายในเวลาที่มีผู้ชมในวัยต่ำกว่า 18 ปี ดูเกินร้อยละ 25  • รวมโฆษณาเอาไว้ในช่องเดียวกัน เมื่อบริษัทอ้างว่าโฆษณานั้นเต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ มีคุณค่า ก็ไม่มีอะไรต้องวิตก คนที่ชอบดูโฆษณาก็จะตามไปดูเอง ดูแต่โฆษณาให้จุใจกันไปเลย • เปลี่ยนระบบจากการให้โฆษณาเป็นผู้สนับสนุนรายการ มาเป็นระบบที่ผู้ชมสามารถจ่ายเงินซื้อสาระที่ต้องการชมได้เลย   หน่วยสืบราชการลับ GIA: Girls Intelligence Agency Girls Intelligence Agency หรือ GIA ที่ว่านี้ไม่ได้เป็นสาขาหนึ่งของซีไอเอ หรือหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด แต่กิจการของเขาก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้างตรงที่ จีไอเอก็มี “สายลับ” เช่นกัน  เว็บไซต์ของจีไอเอ ระบุว่าตนเองมีสายลับหญิงในสังกัดประมาณ 40,000 คน พวกเธออายุระหว่าง 8 – 29 ปี อยู่ทั่วอเมริกา ซึ่งจะทำการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่จีไอเอเพื่อแจ้งข้อมูล ข้อมูลที่ว่านี้ได้แก่ความคิดเห็น ความฝัน เป้าหมาย แรงบันดาลใจของบรรดาสาวๆเหล่านั้นและเพื่อนๆของเธอ จากนั้นบริษัทก็จะแปรข้อมูลที่ได้ให้เป็นข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อ “ลูกค้า” ซึ่งก็คือบริษัทที่ต้องการเพิ่มยอดขายสินค้าสำหรับเด็กและวัยรุ่นหญิงนั่นเอง จีไอเอ จะให้ “สิทธิพิเศษ” กับเด็กที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเป็น “เจ้าหน้าที่” ของตนด้วยการให้โอกาสพวกเธอทดลองใช้ผลิตภัณฑ์หรือไม่ก็เชิญพวกเธอเข้าร่วมงานเปิดตัวสินค้าต่างๆ  เด็กๆเหล่านี้จะได้รับการอบรมเทคนิคการล้วงความลับจากเพื่อนๆ โดยจีไอเอ บอกกับพวกเธอว่าพวกเธอจะต้องสอดรู้สอดเห็นเพื่อองค์กร   หนึ่งในสิ่งที่ “สาวสืบราชการลับ” ตัวน้อยเหล่านี้ต้องทำคือจัดงานปาร์ตี้ชุดนอน เชิญเพื่อนๆอีก 11 คนมาร่วมงาน เพื่อมา “ทดลองใช้สินค้าตัวอย่างก่อนใคร” และ “กินอาหารขยะกันให้พุงกาง” ไม่ว่าเด็กๆเหล่านี้จะรู้ตัวหรือไม่ งานปาร์ตี้ดังกล่าวก็คือการทำโฟกัสกรุ๊ปเพื่อสำรวจความเห็นของผู้บริโภคและเป็นชั่วโมงขายของไปโดยปริยาย  โดยหลังงานเลิก บรรดาเจ้าภาพตัวน้อยๆ เหล่านี้จะต้องรายงานผลกลับไปยังหน่วยเหนือของพวกเธอ นอกจากนี้บางครั้งจีไอเอจะส่งเจ้าหน้าที่ไปบันทึกภาพปาร์ตี้ดังกล่าวไว้ด้วย จีไอเอถึงกับกล้าพูดว่าสายลับแต่ละคนจะสามารถเข้าถึงเพื่อนสาวของพวกเธอได้อีก 512 คน ได้ในทุกแง่มุมของชีวิต ฟังแล้วก็น่าวิตกแทนพ่อแม่ของพวกเธอและของเด็กๆที่พวกเธอเรียกว่า “เพื่อน” เพราะไม่รู้ว่าคำว่า “มิตรภาพ” จะยังมีความหมายเหมือนเดิมหรือไม่---ตลาดสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในสหรัฐคือสินค้าสำหรับเด็กและวัยรุ่นหญิง จีไอเอระบุในเว็บไซต์ว่าขณะนี้สหรัฐอเมริกามีประชากรที่เป็นเด็กหญิงอายุระหว่าง 10 – 19 ปีกว่า 18 ล้านคน และเด็กเหล่านี้มีการใช้จ่ายรวมกันถึงปีละ 75,000 ล้านเหรียญ  นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่าวัยรุ่นมีส่วนในการทำให้เกิดการใช้จ่ายของครอบครัวถึง 700,000 ล้านเหรียญต่อปี และร้อยละ 56 ของวัยรุ่นเหล่านี้เป็นวัยรุ่นหญิง---

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 118 พรปีใหม่ สร้างได้ด้วยตัวเอง

พรปีใหม่ สร้างได้ด้วยตัวเองกองบรรณาธิการ   ในทุกช่วงเทศกาลปีใหม่ สิ่งที่เราจะทำกันนอกจากมอบของขวัญหรือการจัดงานฉลองรื่นเริงแล้ว ก็คือการส่งมอบ คำอวยพร อันเป็นถ้อยคำที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดี หวังให้เกิดความสุขสมหวังแก่คนที่เรานิยมรักใคร่  จริงแท้แล้ว ความสุขสมหวังในชีวิตตามคำพรอันแสนดีนั้น เราท่านสามารถสร้างได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอใครมาหยิบยื่นให้ก่อน  ฉลาดซื้อฉบับต้อนรับปีใหม่ 2554 นี้ จึงขอมอบแนวทางที่จะทำให้ท่านสามารถสร้างพรปีใหม่ให้แก่ตัวเองได้อย่างง่ายๆ แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมปีใหม่อย่างที่เคยๆ มาในปีก่อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น   บุญ สร้างได้หลายทางไม่จำเพาะแค่การตักบาตรหรือถวายสังฆทาน การทำบุญคือ การทำให้เราลด ละ ความโลภและความเห็นแก่ตัวลง ด้วยการสละ ซึ่งอาจเป็นสละแรงกาย ทรัพย์ หรือปัญญาเพื่อบุคคลอื่น  ดังนั้นการทำบุญคือ การสละอย่างฉลาด ไม่ใช่การตั้งหน้าตั้งตาซื้อ การทำบุญในพุทธศาสนาจึงสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้   ทำบุญอย่างถูกวิธี 1.การให้ทาน บริจาคเงิน สิ่งของ 2.การถือศีลหรือลดความประพฤติไม่ดี และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น 3.การเรียนรู้ ฝึกจิตให้สงบไม่เศร้าหมอง ทำให้เกิดปัญญา 4.การสละแรงกายช่วยเหลือสังคมและผู้อื่น เป็นงานเพื่อส่วนรวม 5.การอ่อนน้อมถ่อมตน แม้มีอาวุโสกว่าก็มีเมตตา รู้จักให้เกียรติ 6.การยอมรับและมีความยินดีในการทำความดีของผู้อื่น 7.การเผื่อแผ่โอกาสให้ผู้อื่นได้ร่วมทำบุญหรือความดีกับเรา พร้อมเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นได้รับส่วนบุญนั้นด้วย 8.การรับฟังธรรมะและข้อคิดดีงาม 9.การให้ธรรมะและและข้อคิดที่ดีงามแก่ผู้อื่น10. การนึกคิดในทางที่ถูกต้องดีงาม   ไม่มีเงิน ก็ทำบุญได้ทำบุญไม่ได้แปลว่าให้ทานเสมอไป ไม่มีเงินเลยก็สามารถทำบุญได้ ด้วยการงดสิ่งเสพติด งดอบายมุข ก็ถือว่าได้บุญแล้ว รักษาศีล ไม่ประพฤติตนเป็นคนเกเร อันธพาล ไม่เป็นหนี้เป็นสินหรือไม่ใช่จ่ายให้เกินตัว ทำให้ชีวิตให้โปร่งเบาโดยลดกิเลสต่างๆ ลง เหล่านี้ไม่ต้องใช้เงิน ก็นับเป็นการทำบุญที่อานิสงค์ ไม่แพ้การให้ทานแต่ประการใด  ปีใหม่ไม่ดื่มจากสถิติของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ (ศปภ.) พบว่า จำนวนอุบัติเหตุใน 100 ราย มี 41 รายเกิดจากผู้ขับดื่มเหล้ามึนเมา และสาเหตุการตายของคนไทยเนื่องจากอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคมะเร็ง ทำให้มีคนตาย 1,300 คนต่อปี สูญเสียทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท   การสูญเสียที่มากมายนี้ทำให้หลายหน่วยงานออกกฎ มาตรการต่างๆ มาป้องกัน เช่น ห้ามดื่มสุราสำหรับผู้ขับขี่รถ ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีบริการน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็รับทราบกันดี แต่ก็ยังพบการละเมิดกฎหมายอยู่บ่อยๆ ทำให้สถิติการเสียชีวิตอันมีสาเหตุเชื่อมโยงกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ลดลง อย่างนี้แล้ว หากเราจริงใจในการอวยพรผู้อื่นให้มีความสุขจริง อีกทั้งไม่เสี่ยงพาตัวเองไปเป็นผู้ก่ออุบัติเหตุที่สร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น รวมถึงสร้างสุขให้แก่ตัวเองด้วยการสร้างสุขภาพที่ดี ปีใหม่นี้ก็ขอให้งดดื่ม งานเลี้ยงรื่นเริงสังสรรค์ต่างๆ ก็ปรับนิดหน่อยให้สามารถสนุกสนานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์   คนไทยดื่มสุราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 260,000 คน พบดื่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบสิบปี (2535-2545) จาก 992 ล้านลิตร เป็น 1,926 ล้านลิตร ที่มา สำนักงานสถิติแห่งชาติ   อดหวานต้านโรคคนไทยรับประทานน้ำตาลมากกว่า 20 ช้อนชาต่อวัน จากปกติที่ไม่ควรเกิน 6-8 ช้อนชาต่อวัน ทำให้คนไทยติดรสหวาน เด็กรุ่นใหม่ก็ติด รสหวาน โรคที่ไม่ควรเป็นในวัยเด็กอย่างเบาหวานจึงพบได้ในทุกวันนี้ รวมทั้งโรคอ้วนที่เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหัวใจ หลอดเลือดและความดันโลหิตสูง   เทศกาลปีใหม่เป็นช่วงที่มีงานเลี้ยงเฉลิมฉลองมาก ทั้งงานเลี้ยงที่ทำงาน สถานที่บันเทิงบ้านญาติ มิตร บางบ้านก็จัดปาร์ตี้กันเองในครอบครัว โอกาสที่จะรับประทานของหวานของมันก็มีมากขึ้น เพราะอาหารสำหรับงานเลี้ยงปีใหม่หนีไม่พ้นอาหารหวาน ขนมนมเนย ขนมเค้ก เบเกอรี่ ฟาสต์ฟู้ด ของทอด น้ำหวาน น้ำอัดลม ฯลฯ ซึ่งล้วนมีน้ำตาลสูงและให้พลังงานมาก แต่ร่างกายกลับไม่ค่อยได้นำพลังงานมาใช้เท่าที่ควรเพราะหลายคนถือเป็นช่วงพักผ่อน(เอาแต่นอน)  ทำให้ช่วงนี้หลายคนน้ำหนักตัวพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว  ถ้าไม่อยากให้ชีวิตในช่วงเริ่มต้นของปีใหม่ กลายเป็นปีแห่งโรคภัยไข้เจ็บและโรคอ้วน ควรรับประทานหวานๆ ให้น้อยลง และอย่าละเลยการออกกำลังกาย  ..........ส่วนผสมส่วนใหญ่ของคุกกี้ และเค้ก ทำมาจากแป้ง น้ำตาล เนย ไข่ และไขมัน ที่ให้รสหวานเป็นหลัก มีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มได้ง่าย เสี่ยงเกิดโรคอ้วน ขนมเค้ก 1 ชิ้นเล็ก ขนาดประมาณ 35 กรัม ให้พลังงานถึง 140 กิโลแคลอรี ส่วนคุกกี้ 1 ชิ้น ขนาด 10 กรัม ให้พลังงานถึง 51 กิโลแคลอรี ..........ถ้ากินติดต่อกันในปริมาณ 1 ปอนด์(0.45 กก.)ต่อวัน จะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานถึง 1,600 กิโลแคลอรี เกือบเท่ากับที่ร่างกายต้องการพลังงานจากอาหารอื่นรวมวันละ 2,000 กิโลแคลอรี…   ของขวัญจากใจของขวัญ คือสิ่งที่นิยมมอบให้แก่กันในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่นิยมกันมากในช่วงหลังๆ ก็ได้แก่ กระเช้าผลไม้ กระเช้าของขวัญ เพราะเป็นดูกลางๆ ไม่มากไปน้อยไป ส่วนคนสนิทชิดใกล้ก็แล้วแต่จะเลือกสรรให้กัน ฉลาดซื้อเมื่อฉบับ 106 ธ.ค. 2552 เราก็จัดโพลล์กันไปรอบว่าด้วย สิบของขวัญที่ไม่อยากได้ และของขวัญที่ควรจะมอบให้แก่กันเพื่อมิให้เกิดการสูญเสียในทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งก็คือ “เงินสด” อย่างไรก็ตามถ้าจะเลือกมอบกระเช้าของขวัญ กระเช้าผลไม้ เป็นของขวัญปีใหม่   อย่าลืมว่าปีนี้ ทั้ง อย.และ สคบ.เขาพร้อมช่วยผู้บริโภค ด้วยการออกตรวจร้านค้าปลีก ร้านค้าทั่วไปเพื่อให้จัดกระเช้าของขวัญที่มีคุณภาพไม่แอบเอาของใกล้หมดอายุมาใส่ไว้ และในกรณีที่ผู้ประกอบการมีการ นำผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนวัตถุอันตราย และนำสินค้าที่หมดอายุ ไร้คุณภาพมาจำหน่ายในรูปแบบกระเช้า ให้ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากจำหน่าย อาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่มีฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท   “การให้ของขวัญ สิ่งสำคัญต้องไม่อยู่ที่ตัววัตถุ แต่อยู่ที่น้ำใจ และถ้าเราให้ของขวัญในสิ่งที่ช่วยประเทืองปัญญาจะดีมาก ไม่ใช่ให้ของขวัญที่กระตุ้นโลภะ โทสะ หรือว่าเป็นของขวัญที่บั่นทอนสุขภาพ ของขวัญถ้ามันไปสนองกิเลสของผู้รับ มันก็เป็นโทษทั้งแก่ผู้รับและผู้ให้ ในทางพุทธศาสนาก็ไม่ได้บุญ แต่ถ้าคุณให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต เกื้อกูลสติปัญญา ประเทืองอารมณ์ จรรโลงใจ เหล่านี้จะเป็นบุญแก่ทั้งผู้รับและผู้ให้” พระไพศาล วิสาโลใช้บัตรเครดิตให้ถูกทางข้อดีของการถือบัตรเครดิต คือความปลอดภัยและสะดวกในการใช้จ่าย เพราะการถือบัตรเครดิตโอกาสสูญหายหรือถูกขโมยมีน้อยกว่าการถือเงินสด (บัตรห ายก็ยังอายัดไว้ได้ ส่วนเงินไปแล้วไปเลย) นอกจากนี้ยังให้มูลค่าเพิ่มในการใช้อภิสิทธิ์ จากสถาบันการเงินที่ออกบัตรในการรับบริการที่แตกต่าง เช่น ได้รับสิทธิ์ซื้อสินค้าในราคาพิเศษ ได้รับความคุ้มค   รองด้านประกันภัยโดยไม่ต้องซื้อกรมธรรม์ ได้รับของกำนัลเมื่อใช้จ่ายผ่านบัตร ได้เงินคืนจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเมื่อถึงยอดที่กำหนด ฯลฯ  ซึ่งสถาบันการเงินต่างก็เพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อหวังเอาใจลูกค้ากันเต็มที่   แต่ผู้ใช้บัตรเครดิตจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่สูงนี้ ก็ต่อเมื่อผู้ใช้บัตรเครดิตมีการวางแผนทางการเงินที่ดี โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไม่เกินกำลังความสามารถของตนเองในการชำระคืนในเดือนถัดไป มิฉะนั้นท่านจะต้องตกลงในกับดักทางการเงิน ที่สุดท้ายกลายเป็นหนี้ก้อนโต การใช้บัตรเครดิตให้ปลอดภัย   1. จ่ายหมด ไม่มียอดค้างชำระ  การชำระสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิตเปรียบเสมือนการนำเงินในอนาคตมาใช้ เมื่อถึงรอบบัญชีเรียกเก็บหากชำระไม่เต็มจำนวนก็จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยในรอบบัญชีถัดไป ซึ่งในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อปี 2. การใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ไม่ควรเกินร้อยละ 20 ของรายได้ต่อเดือน 3. อย่าติด Late Charge ถ้าจ่ายทั้งหมดไม่ได้ ก็จ่ายเท่ายอดขั้นต่ำ แต่จ่ายตามกำหนด ถ้าจ่ายช้ากว่าวันนัดชำระ จะเสียค่าปรับที่แพงขึ้นอีกจากค่าทวงถาม 4. อย่าเบิกเงินสดด้วยบัตรเครดิต ประเภทวีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ด เพราะจะเสียค่าธรรมเนียมแพงประมาณ 3% ของเงินสดที่เบิกออกมา บวกด้วยค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม และเมื่อรวมเงินต้นและดอกเบี้ยแล้ว จ่ายหนักแน่ 5. ไม่เบิกเงินสดจากบัตรเครดิตใบหนึ่งเพื่อไปโปะหนี้บัตรเครดิตอีกใบหนึ่ง เพราะสุดท้ายจะกลายเป็น งูกินหาง ติดหนี้ก้อนโตในทุกบัตร อย่าลืมว่า ดอกเบี้ยบัตรเครดิตนั้นแพงมาก หากพบว่าเริ่มมีปัญหาจากการใช้บัตรวิธีที่ดีที่สุดคือ หยุดการใช้บัตรเครดิตและวางแผนคืนเงินอย่างถูกต้อง ท่านสามารถขอคำปรึกษาได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2553 (ไม่รวมการใช้จ่ายของชาวต่างประเทศที่ถือบัตรเครดิตต่างประเทศ และการเบิกเงินสดล่วงหน้า) โดยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 712,000 - 727,650 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.0 ถึง ร้อยละ 17.5  จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ปี 2552  ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  เลือกรถโดยสารให้ปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่ จัดเป็นช่วงที่มีการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะที่สูงสุดช่วงหนึ่งของปี และทุกๆ ปี ก็พบว่า มีผู้โดยสารจำนวนมากทีเดียวที่พบอุบัติเหตุจากรถโดยสารที่ตัวเองนั่งไปโดยทั่วไปคนส่วนใหญ่เลือกนั่งรถกับบริษัทรถโดยสารที่คุ้นเคย หรือได้รับการบอกเล่าปากต่อปาก โดยคำนึงเรื่องความสะดวกสบายเป็นหลัก แต่น้อยคนนักที่จะคิดด้านความปลอดภัยและคิดจะตรวจสอบบริษัทรถโดยสารด้วยตัวเอง  ข้อมูลจากโครงการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เขาฝากมาว่า ในการขึ้นรถโดยสารทุกครั้ง ควรหลีกเลี่ยงการใช้บริการรถโดยสารสองชั้นเนื่องจากมีข้อจำกัดด้านจุดสมดุล  รถโดยสารที่ดีต้องมีส่วนที่เป็นโครงเหล็กมากกว่ากระจก บนรถต้องมีเข็มขัดนิรภัย ถังดับเพลิง หรืออุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เบาะที่นั่งต้องยึดติดมั่นคง และมีเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อศูนย์บริการได้  นอกจากนั้น ผู้โดยสารทุกท่านยังสามารถช่วยกันดูแลสอดส่องการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ยามเมื่อเกิดอุบัติเหตุนอกจากจะทำเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้บริโภคเองแล้วยังเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพการบริการโดยเฉพาะด้านความปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานสากลอีกด้วย  ฝากข้อมูลหรือแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ ติดต่อได้ที่โครงการฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ วิธีปฏิบัติ 3 ขั้นตอน ขั้นแรกผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถในการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล และค่าปลงศพกรณีเสียชีวิตจากบริษัทประกันภัยของรถโดยสารที่เกิดเหตุโดยจะต้องดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายภายใน 180 วันหลังจากเกิดเหตุพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาบันทึกประจำวันของตำรวจ สำเนากรมธรรม์ประกัยภัยรถที่เกิดอุบัติเหตุในกรณีที่เสียชีวิตต้องเตรียมสำเนาใบมรณะบัตร และสำเนาทะเบียนบ้านหรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของทายาทมาด้วย   ขั้นที่สองนั้น สามารถใช้สิทธิเรียกร้องจากกรมธรรม์ภาคสมัครใจและบริษัทรถโดยสารจากความเสียหายทางด้านทรัพย์สิน และค่าเสียโอกาสอื่นๆหรือที่เราเรียกกันว่า ค่าทำขวัญ โดยมีข้อควรระวังคือ การลงลายมือชื่อในการรับค่าสินไหมทดแทนทั้งจากบริษัทประกันและบริษัทรถยนต์    หากมีเงื่อนไขในเอกสารการรับเงินหรือข้อตกลงใดๆว่า ผู้เสียหายยอมรับเงินโดยไม่ติดใจเอาความกับบริษัทแล้วจะทำให้ไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมได้ในภายหลัง   ขั้นสุดท้าย สิทธิการเรียกร้องทางกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคสามารถขอแบบฟอร์มได้ที่ศาล และติดต่อมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคหรือเขียนเองโดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มจาก www.consumerthai.org โดยฟ้องคดีได้ที่ศาลในภูมิลำเนาของผู้ประกอบการซึ่งจะต้องฟ้องร้องภายในระยะเวลา 1 ปีนับแต่ทราบความเสียหายในส่วนของผู้ที่ทำละเมิดโดยตรงคือ คนขับรถและบริษัทรถ  แต่ในส่วนของบริษัทประกันนั้นเราสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ภายในระยะเวลา2 ปีนับแต่ทราบถึงความเสียหายท่านสามารถใช้สิทธิผ่านช่องทางการร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point