ฉบับที่ 216 รัฐสวัสดิการ เมืองไทยต้องไปให้ถึง

รัฐสวัสดิการ (welfare state) คือ มโนทัศน์การปกครองซึ่งรัฐมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจและสังคมของพลเมือง โดยอาศัยหลักความเสมอภาคของโอกาส การกระจายความมั่งคั่งอย่างชอบธรรม และความรับผิดชอบต่อสาธารณะแก่ผู้ไม่สามารถจัดหาขั้นต่ำสำหรับชีวิตที่ดีได้ กลุ่มประเทศนอร์ดิก เช่น ไอซ์แลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์กและฟินแลนด์ รวมอยู่ในรัฐสวัสดิการสมัยใหม่รัฐสวัสดิการเกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนเงินทุนจากรัฐสู่บริการที่จัดให้ (เช่น สาธารณสุข การศึกษา) ตลอดจนสู่ปัจเจกบุคคลโดยตรง ("ผลประโยชน์") รัฐสวัสดิการจัดหาเงินทุนจากการเก็บภาษีแบบแบ่งความมั่งคั่ง (redistributionist taxation) และมักเรียกว่าเป็น "เศรษฐกิจแบบผสม" ประเภทหนึ่ง การเก็บภาษีดังกล่าวปกติรวมการเก็บภาษีเงินได้จากผู้มีรายได้สูงมากกว่าผู้มีรายได้ต่ำ เรียก ภาษีอัตราก้าวหน้า ซึ่งช่วยลดช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยและคนจน (ที่มา วิกิพีเดีย) รัฐสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับคนไทยเป็นได้ต้องปฏิรูประบบภาษี        ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ระบุว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องปฏิรูประบบภาษี และงบประมาณเพื่อรัฐสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับคนไทยถ้วนหน้า ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการอนาคตประชากรไทยอาจจะมีปัญหา โดยเฉพาะคนรายได้น้อยและคนที่มีรายได้ปานกลาง        หากดูตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นหนึ่งประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง บวกกับความเชื่อมั่นว่า “คนชั้นกลาง” ในประเทศสามารถทำมาหากินและสร้างสิ่งที่เรียกว่า “อเมริกันดรีม” แต่มีบทความในนิตยสารฉบับหนึ่งเมื่อปี 2561 ที่ชี้ให้เห็น “การจมลงของชนชั้นกลาง” อันเนื่องมาจากปัญหาหลัก 3 ด้าน คือ 1. ด้านการศึกษา 2. ด้านการสาธารณสุข และ 3. ด้านที่อยู่อาศัย โดยทั้ง 3 ด้านนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้คนชั้นกลางมีเงินเหลือเก็บน้อยลง และเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป จากการเป็นประเทศผู้นำทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ทำให้การจ้าง “คนชั้นกลาง” ทำงานประจำน้อยลงเรื่อยๆ        ดังนั้น เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย “ด้านการศึกษา” พบว่าเดิมมีการจัดระบบการศึกษาฟรี จนถึง 12 ปี กระทั่งมีรัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. การศึกษาฟรีลดลงมาเหลือเพียงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับเท่านั้น และเมื่อพิจารณาลึกลงไปกว่านั้นจะพบว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ตามข้อเท็จจริงว่า “โรงเรียนบางแห่ง” ไม่ใช่การศึกษาฟรีจริง เพราะยังมีการบังคับในเรื่องต่างๆ เช่น การแต่งกายต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ รวมถึงมีการเปิดห้องเรียนพิเศษเพื่อเก็บเงินเพิ่มเติม          และที่มีปัญหาหนักคือระดับ “มหาวิทยาลัย” ที่รัฐบาลมีการอุดหนุนงบให้นักศึกษาปีละ 10,000 บาทต่อคน แต่จากข้อมูลพบว่าในจำนวนกลุ่มคนที่จนที่สุดของประเทศ 20% นั้นมีเพียง 5% เท่านั้นที่สามารถเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้ ที่เหลือคือ เข้าไม่ถึง นี่คือสิ่งที่คนชั้นกลางไปไม่ถึง และไม่ได้รับสิทธิได้รับเงินอุดหนุนดังกล่าว รวมกว่า 95% แปลว่าเงินที่รัฐอุดหนุนเพื่อการศึกษาตกอยู่กับคนที่รวยที่สุด 20%           “เหมือนรัฐบาลยังมีกำแพงการช่วยเหลืออยู่ ช่วยแต่ไม่ได้ช่วยเต็ม เข้าใจว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งใจให้แบบนี้ แต่การที่ไม่ได้คิดครบทั้งระบบกลายเป็นการกีดกันคนจนโดยทางอ้อม และยังเบี่ยงไปจ่ายให้คนรวยทางอ้อมด้วยเช่นกัน”  “ด้านสุขภาพ” แน่นอนว่าประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหามี 2 เรื่องคือ ประชาชนต่างจังหวัด แม้จะเข้าระบบหลักประกัน แต่ยังมีค่าใช้จ่ายสูงในการเดินทางไปรับการรักษา และมีปัญหาการเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลชั้นนำในกรุงเทพหรือเมืองใหญ่          “หากแบ่งคนออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 20% จะพบว่าเงินที่รัฐบาลจ่ายส่วนมากกลับมาอยู่ที่คนกลุ่มที่รวย 20% บวกกับคนที่รวยที่สุดที่อยู่ในสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งมีงบประมาณค่ารักษาเฉลี่ย 1.5 หมื่นบาท ในขณะที่คนทั่วไปได้รับเพียง 3.4 พันบาทต่อหัว นี่คือปัญหาของการใช้งบประมาณที่สรุปแล้วเป็นการช่วยเหลือคนที่มีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองได้อยู่แล้ว ในขณะที่พี่น้องคนจนได้รับการช่วยเหลือน้อยแถมเข้าถึงยาก” ขณะที่ “คนชั้นกลางของไทย” ก็จะเป็นกลุ่มเดือดร้อนไปด้วย เพราะถ้าพูดถึง “เรื่องการศึกษา” มีการเรียนฟรีก็จริง แต่ก็มีสิ่งล่อคือ ทัศนคติว่าเรียนโรงเรียนธรรมดาคุณภาพจะไม่ถึง ต้องเรียนคลาสพิเศษ หรือไปเรียนโรงเรียนเอกชน หรือในระดับมหาวิทยาลัย ก็จะมีคอร์สอินเตอร์ ซึ่งไม่มีมาตรการควบคุมเรื่องการเก็บค่าบริการพิเศษเหล่านี้ว่าต้องเป็นเท่าไร เหมือนอเมริกามีการทำข้อมูลค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาสูงกว่ารายได้เยอะมาก แต่ประเทศไทยไม่มีการทำตรงนี้ รัฐบาลใช้กลยุทธ์เวลาใครวิจารณ์ก็ระบุว่า ไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้อง แต่เมื่อถามหาตัวเลขที่ถูกต้องรัฐบาลก็บอกว่าไม่มี  “ส่วนค่ารักษา” หากอยู่ในระบบบัตรทองแล้วรู้สึกรอนาน ก็ต้องไป รพ.เอกชน ที่ยังไม่มีกลไกควบคุมราคา ซึ่งก็ยังหวังว่าจะเริ่มควบคุมได้ในปีนี้ เช่นเดียวกับ “ที่อยู่อาศัย” ไม่มีการควบคุมเลย         นี่เป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางของไทยต้องต่อสู้คล้ายๆ กับคนชั้นกลางในอเมริกา จึงต้องถามคนชั้นกลางในประเทศไทยว่า จะสู้อย่างไรดี มาร่วมกันลงทุนเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการดีกว่าหรือไม่ เช่น มีการเสนอว่าไม่ต้องมีการลดหย่อนภาษี จำพวกกองทุนแอลทีเอฟ แต่จ่ายภาษีเต็มๆ ไปแล้วรัฐนำเงินนั้นมาสร้างสวัสดิการที่เพียงพอ  เพราะการมีรัฐสวัสดิการ คือการสร้างความมั่นใจให้กับทุกคนว่าจะสามารถเดินต่อไปได้         แต่สิ่งที่ต้องพูดเพื่อให้เข้าใจกันเกี่ยวกับระบบภาษี นั้นเรียนว่า ทุกคน รวมถึงคนจนต่างก็เสียภาษีกันทั้งสิ้น แน่นอนว่าภาษีเงินได้ เมื่อลองคำนวณแล้วคนชั้นกลางเสียภาษีประมาณปีละ 60,000 บาท ถือว่าเยอะต่อครอบครัว แต่ใน 60,000 บาทนั้น เป็นภาษีรายได้แค่นิดเดียว ที่เหลือเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีทางอ้อม ขณะที่คนจนอาจไม่ได้เสียภาษีเงินได้  เพราะเงินได้ไม่ถึงตามระบบจัดเก็บภาษี แต่ย้ำว่าภาษีมูลค่าเพิ่มต้องจ่ายกันทุกคน ซึ่งหากคำนวณแล้วคนจนต้องจ่ายแพงกว่าด้วยซ้ำ        “ใน 20% ที่รวยที่สุดของประเทศมีรายได้เฉลี่ย 60,000 บาท ใช้บริโภคประมาณ 40,000 บาทเบ็ดเสร็จเสียภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 2,000 บาทเท่านั้น เมื่อหารด้วย 60,000 บาทของรายได้ แปลว่าเสียภาษีแค่ 3% ของรายได้ แต่คนจนมีรายได้ประมาณ 10,000 บาท แต่มีรายจ่ายประมาณ 12,000 บาท แล้วต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเบ็ดเสร็จประมาณ 500 บาท คิดเป็นประมาณ 6% ของรายได้”           ดร.เดชรัต ย้ำว่า ดังนั้นจำเป็นต้องปฏิรูประบบภาษี ซึ่งตนเคยมีประสบการณ์ ตอนที่เคยไปอยู่เดนมาร์คและเสียภาษีประมาณ 40% ของเงินได้ แต่ไม่ต้องไปซื้อรถยนต์ เพราะระบบรถเมล์ดี นั่งแล้วสบายใจ ในขณะที่อยู่เมืองไทยเสียภาษี 10% แต่ทันทีที่กลับมาต้องซื้อรถยนต์ เพราะที่บ้านรถสาธารณะไม่มีออกมา ดังนั้นหากให้เอาเงิน 6 แสนที่จ่ายให้กับบริษัทรถมาจ่ายเป็นภาษีให้รัฐ เพื่อนำไปพัฒนาระบบขนส่ง พัฒนารถเมล์ให้ดี อยากให้เมืองไทยลงทุนกับสิ่งเหล่านี้          สิ่งที่ต้องเปลี่ยนจริงๆ คือภาษีเกี่ยวกับทรัพย์สิน ปัจจุบันจ่ายน้อยมาก อย่างตนเองมีที่ที่บางบัวทองประมาณ  10 ล้านบาทต่อไร่ แต่เสียภาษี 40 บาทเท่านั้น พอเก็บภาษีน้อย คนก็ซื้อที่ตุนไว้          อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเรื่องภาษี คนไทยต้องเปลี่ยนมุมมองว่า การเก็บภาษีคือ การเก็บจากคนกลุ่มหนึ่งไปให้อีกกลุ่มหนึ่ง แต่ในต่างประเทศไทยที่เชื่อเรื่องสวัสดิการเขามองต่างจากเรา โดยเขาจะมองว่าเป็นการลงทุนเพื่อให้ประเทศเข้มแข็งไปพร้อมกันทั้งประเทศ ดังนั้นหากเราเชื่อว่าการลงทุนเดี่ยวๆ แล้วจะรอดนั้นเป็นไปได้ยาก หากไม่ใช่คนชั้นสูงไม่มีทางรอด ดังนั้นหากจะรอดพร้อมกันคือ ต้องมาลงทุนในรัฐสวัสดิการพร้อมกัน.รัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเท่าเทียม        นายนิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักสุขภาพและเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ระบุว่า ณ วันนี้สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ในหลายๆ ด้าน จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องร่วมมือกันผลักดันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ อย่างน้อยใน 3 ด้าน คือ การสร้างหลักประกันด้านสุขภาพ หลักประกันรายได้  หลักประกันด้านการศึกษา        การสร้างหลักประกันสุขภาพ        เป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกที่ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม เพราะปัจจุบันรัฐสวัสดิการในข้อนี้ ถูกตัดแบ่งออกเป็น 3 กองทุน คือ สวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ซึ่งโดยหลักคิดเบื้องต้นต้องรวม 3 กองทุนนี้เข้าด้วยกัน เพราะการมี 3 กองทุนเป็นเหตุให้มีความเหลื่อมล้ำสูง แต่ละระบบโดยรวมแล้วใช้งบประมาณจากรัฐ 100% อยู่แล้ว แต่ได้รับงบไม่เท่ากัน        อย่างกองทุนประกันสังคมนับเป็นความเหลื่อมล้ำแบบดับเบิ้ลไปอีก เพราะในขณะที่รัฐจ่ายให้กับกองทุนบัตรทองประมาณ 3 พันบาทต่อหัว จ่ายให้ข้าราชการประมาณ 1.2 หมื่นบาทต่อหัว แต่พอเป็นประกันสังคมต้องมาหาร 3 คือนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ เท่ากับรัฐจ่ายให้ผู้ประกันตนเพียงพันกว่าบาท จะเห็นว่ารัฐใช้เงินในเรื่องเดียวกัน แต่ให้ไม่เท่ากัน ผู้ประกันตนจึงถูกรัฐละเลยเรื่องสุขภาพมากที่สุด เป็นคนที่ถูกกระทำซ้ำซ้อน แถมต้องจ่ายเงินเพิ่มเองด้วย ดังนั้นควรเอาเงินที่รัฐจ่ายอยู่เพื่อดูแลสุขภาพของคนไทยทั้ง 3 กองทุนมารวมกัน แล้วกระจายไปทุกหัวประชากร แต่ละกองทุนจะได้งบเพิ่มทั้งหมด       “ใน 3 กองทุนนี้มีภาพลวงตาอยู่ คือกองทุนข้าราชการที่ดูเหมือนว่ารัฐจ่ายให้มากกว่ากองทุนอื่นๆ ได้สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่า แต่จริงๆ แล้วต้นทุนค่ารักษาไม่ได้ต่างจากสิทธิอื่นเลย เพียงแต่โรงพยาบาลที่รักษาข้าราชการในโรคเดียวกันนั้น มีการเรียกเก็บเงินเกินไปเยอะกว่ากองทุนอื่นๆ เพราะคิดว่าชาร์จได้ ก็ชาร์จโอเว่อร์ เลยถูกมองว่าในโรคเดียวกันทำไมถึงจ่ายไม่เท่ากัน”        อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจว่า การรวมกองทุนไม่ได้ไปลดทอนสิทธิประโยชน์ที่ข้าราชการเคยได้ แต่จะไปช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ทุกคนได้สิทธิประโยชน์ในการรักษาที่เท่ากัน ตามที่ควรจะได้ ทั้งนี้จะเห็นว่าปีที่ผ่านมา(2561) สิทธิข้าราชการเป็นสิทธิที่ถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพราะเป็นสิทธิที่ไม่ควรถูกเรียกเก็บเยอะขนาดนี้ แต่กลับถูกเรียกเก็บเยอะมากเกินกว่าที่ควรจะต้องเป็น แต่ที่ผ่านมาตัวข้าราชการก็ไม่รู้ กรมบัญชีกลางก็เพิ่งรู้ตัวหลังจากมีการเขย่าเรื่องนี้มากขึ้น จึงเริ่มมีการตรวจสอบ กำกับใบเบิกแต่ละใบมากขึ้น        สำหรับสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทอง และประกันสังคมนั้นก็เป็นสิทธิประโยชน์ที่สมเหตุสมผลอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเพิ่มอะไรอีก เพียงแต่การรวมกองทุนแบบนี้ คนที่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นคือ สถานพยาบาล เพราะปัจจุบันบัตรทองได้งบรายหัวประมาณ 3.4 พันบาท ประกันสังคม 3.3 พันบาท ข้าราชการปลายเปิด โดยเฉลี่ยประมาณ 1.2 หมื่นบาท ถ้าเอา 3 กองทุนนี้มารวมกันแล้วเขย่าค่าหัวใหม่ จะพบว่าทุกคนได้ค่าหัวประมาณ 6 พันกว่าบาท แสดงว่าหน่วยบริการที่เคยได้รับงบจากบัตรทองก็ได้เงินเพิ่มขึ้นเกือบ 100% แล้วถ้าใช้ระบบการเหมาจ่าย และมีการกำกับผู้ป่วยใน กำกับควบคุมราคายา ก็ทำให้หน่วยบริการรู้ว่าตัวเองได้เงินเหมาจ่ายไปเท่าไร มีรายรับที่ชัดเจน แน่นอนล่วงหน้า 80% นั่นหมายความว่ามีรายรับเพิ่มขึ้นเท่าตัว ส่วนกรณีมีผู้ป่วยในก็ไปคิดตามค่าใช้จ่ายจริง โดยดูค่าจ่ายตามรายโรคว่าเท่าไร ก็เหมือนทำให้หน่วยบริการที่มีปัญหากับบัตรทองดีขึ้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ไม่ต้องไปต่อรองของบประมาณทุกปีๆ        นิมิตร์ย้ำว่า เรื่องนี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นให้ได้ หากยังไม่เกิดปัญหาหน่วยบริการไม่ได้รายรับอย่างที่ควรจะได้ เพราะเวลาที่ สปสช.ทำงบประมาณขาขึ้น สมมติว่า 3.7 พันบาทต่อคน กรมบัญชีกลางคิดเรื่องนั้น เรื่องนี้ ครม.คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว ไม่เคยอนุมัติงบให้ตามจำนวนที่ขอ ทั้งที่จำนวนเงินที่ขอไปนั้น ขออยู่บนความสมเหตุสมผล จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ค่ายาเพิ่มขึ้น เป็นต้น แต่กลับไม่เคยอนุมัติเต็ม และเป็นปัญหารากเหง้าที่ทำให้สถานพยาบาลรู้สึกว่าได้รับงบประมาณไม่เท่าที่ควรจะได้รับ ดังนั้นต้องจัดการปัญหานี้ มีปัญหาทะเลาะ ต้องรีดศักยภาพจากหน่วยบริการ สถานพยาบาลมีปัญหาขาดสภาพคล่อง วนเวียนไม่จบ             หลักประกันด้านรายได้        เพราะทุกคนที่เกิดมามีรายจ่ายทันที แต่กลับไม่รู้ว่าจะมีรายได้จากไหนมาจ่าย ดังนั้นรัฐจะต้องดูแลให้คนแต่ละช่วงวัยมีรายได้เพียงพอที่จำรับผิดชอบชีวิตของตัวเองในแต่ละช่วงวัย เพื่อทำให้ชีวิตเดินไปข้างหน้าได้ เช่น เด็กที่เกิดมาแต่ละคน จะทำอย่างไรให้เด็กคนนั้นมีหลักประกันรายได้ที่ทำให้ครอบครัวไม่ต้องเป็นทุกข์ว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไร จะเอาเงินที่ไหนมาเลี้ยงลูก ค่าอาหาร ค่าอื่นๆ ที่จะมาบริหารจัดการให้ลูกได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี       ดังนั้นการสร้างหลักประกันด้านรายได้นั้น เป็นหมุดหมายสำคัญของคนที่ขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการอยากให้เกิด แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าจะเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ ซึ่งมีการเสนอว่าต้องเริ่มตั้งแต่ “เกิดยันตาย” หมายความว่าเมื่อเด็กคนหนึ่งเกิดมาควรมีหลักประกันรายได้อยู่บนเส้นความยากจนคือ เด็กเกิดมาต้องไม่จน ถ้าไม่จนคือต้องมีเงิน 3 พันบาทต่อเดือน ครอบครัวที่จะมีลูกก็จะมั่นใจได้เลยว่ารัฐจะมีรายได้ให้ 3 พันบาทต่อเดือนสำหรับดูแลลูก แน่นอนว่า 3 พันบาทนั้นไม่เพียงพอ แต่อย่างน้อยก็มีเงินบริหารจัดการที่เกินเส้นความยากจนของคน 1 คนอยู่แล้ว       พอเข้าสู่วัยรุ่น อาจจะขยับมาเป็น 3.5 พัน พอถึงวัยทำงาน ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตามจะมีรัฐสวัสดิการอยู่ที่ 3 พันบาท ถ้าคิดว่าอยู่ได้ด้วยเงินเท่านี้ โดยไม่ทำงานก็เป็นเรื่องของคุณ แต่ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ต้องทำงานเพิ่ม เชื่อว่าวิธีคิดการทำหลักประกันด้านรายได้ จะทำให้คนสามารถบริหารจัดการชีวิตได้คล่องตัวกว่าที่เป็นอยู่ ความเครียด โรคซึมเศร้า หรือความวิตกกังวลว่าจะอยู่อย่างไรก็อาจจะลดลงได้ เพราะมีเงินแน่ๆ อย่างน้อย 3 พันบาท แล้วไปบริหารจัดการต่อเพื่อให้มีเงินมากขึ้น       สรุปทุกคนตั้งแต่เกิดจนตายจะมีรายได้ต่อเดือนอยู่บนฐานความยากจน เช่น ชาวสวนยาง ในช่วงที่ราคาตกมากๆ อาจจะหยุดกรีดหรือกรีดยางให้น้อยลง เพื่อให้พอมีเงินมาสมทบกับเงินที่ได้รับนี้ บริหารจัดการให้อยู่ได้ แล้วเมื่อราคายางสูงขึ้นก็กลับมากรีดยางใหม่ ซึ่งจะทำให้คนบริหารจัดการชีวิตของตัวเองได้ แทนที่จะไปโค่นสวนยางเพื่อไปปลูกอย่างอื่นที่ราคาดีกว่า เพราะฉะนั้นหลักประกันด้านรายได้น่าจะเป็นเครื่องมือให้เราแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความจนเรื้อรังได้       แน่นอนว่าเมื่อมีการเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา ก็จะมีคำถามตามมาว่าประเทศไทยพร้อมที่จะทำแบบนี้จริงหรือ เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก นิมิตร์ ระบุว่า สิ่งที่กำลังพูดถึงนี้หมายถึงการใช้เงินปีละประมาณ 3 แสนล้านบาท แต่เมื่อลองมาดูแล้วจะพบว่า ปัจจุบันรัฐจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีละประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ใช้เงินสงเคราะห์ครอบครัวยากจนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท คนพิการปีละประมาณ หมื่นกว่าล้านบาท และเงินสงเคราะห์อีกมากที่กระจัดกระจายกันอยู่รวมๆ ประมาณ 2 แสนล้านบาท จะเห็นว่ามีเม็ดเงินอยู่พอสมควรที่พอให้บริหารจัดการได้ แล้วก็มาบริหารจัดการ หรือรัฐจัดลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละกระทรวงใหม่ มาเขย่า บริหารจัดการใหม่ ซึ่งเชื่อว่าการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินใหม่อย่างเป็นธรรม ทำให้ประเทศมีเงินพอที่จะมาบริหารจัดการเรื่องนี้       โจทย์ที่สอง หากเขย่าแล้วยังไม่พอ ก็มาดูระบบภาษี บริหารจัดการ การลดภาษีที่รัฐให้กับส่วนนั้น ส่วนนี้มันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมอะไรหรือไม่ ก็มาเขย่าเรื่องนี้ใหม่ ซึ่งคนที่ผลักดันเรื่องหลักประกันรายได้มองเรื่องนี้แล้วประเทศมีเงินพอ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐมีเจตจำนงที่จะบริหารจัดการเพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการหรือไม่         รัฐสวัสดิการด้านการศึกษา        รัฐต้องมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เด็กไม่ต้องไปกู้เงินจาก กยศ. ณ วันนี้มีพรรคการเมืองหลายพรรคที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ บางพรรคพยายามคิดแต่ก็ปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับรสนิยมของตัวเอง บางพรรคคิด แต่ก็เป็นการจัดสรรให้คนเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่คนไทยทั้งหมด บางพรรคคิดจะทำแต่ก็ไม่มีนโยบายชัดเจน ได้แต่ขายมุกเก่าว่ามีความสามารถในเชิงบริหารจัดการ แต่ก็ไม่เคยบอกว่าจะทำอย่างไร ในขณะที่บางพรรคไม่เอาเรื่องนี้เลย            อย่างไรก็ตามคนที่กุมอำนาจรัฐมักมองเรื่องนี้เป็นภาระของประเทศ เพราะฉะนั้นการจะหวังพึ่งนักการเมืองเพื่อทำเรื่องนี้ เป็นเรื่องยาก เพราะนักการเมืองเองก็มองเรื่องนี้เป็นภาระ ส่วนข้าราชการที่บริหารจัดการเรื่องนี้ก็มองเป็นภาระ เพราะคนพวกนี้ไม่ได้อยู่บนความทุกข์ยาก และยังอยู่บนฐานความกังวลว่า หากทำแล้วอาจจะกระทบรัฐไม่มีเงินจ่ายบำนาญให้ ดังนั้นเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ต้องเขย่าสังคมทั้งสังคมให้เห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องกดดันให้รัฐบาลทำให้ได้ หากไม่มีพลังของประชาชนออกมากดดัน เรื่องเหล่านี้ก็ไม่เกิด และสิ่งที่จะทำให้เกิดพลังของประชาชนก็ต้องทำให้ประชาชนมีความรู้และเข้าใจเรื่องเหล่านี้และช่วยกันลุกขึ้นมาเรียกร้อง อย่างการเลือกพรรคการเมืองที่เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญก็เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ส่วนพรรคใดที่ไม่เห็นความสำคัญเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ต้องเลือก--------- ข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจาก เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (เครือข่าย WE FAIR)        ข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” 7 ประเด็น ได้แก่ 1. การศึกษา 2.สุขภาพ 3.ที่อยู่อาศัยและที่ดิน 4.งาน รายได้ ประกันสังคม 5. ระบบบำนาญถ้วนหน้า 6. สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ 7. การปฏิรูประบบภาษี        1. ด้านการศึกษา เสนอดังนี้ 1) เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชนถ้วนหน้า อายุ 0-18 ปี 3,000 บาท/เดือน 2) เงินสนับสนุนเยาวชนถ้วนหน้า ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยหรืออนุปริญญา/ปวส. 3,000 บาท/เดือน 3) ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก อายุ 0-3 ขวบ งบฯ รายหัว 10,000 บาท/คน/ปี 4) สถานศึกษามีการพัฒนามาตรฐานกลาง งบฯ รายหัว 16,000 บาท/คน/ปี ส่วนสถานศึกษาสำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะให้พิจารณางบประมาณเพิ่มเติมได้ 5) มหาวิทยาลัยพัฒนามาตรฐานกลาง ควบคุมค่าหน่วยกิต เรียนฟรีระดับมหาวิทยาลัย /ปวส.นำร่องด่วน 6) เงินสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพ ในหลักสูตรที่รัฐกำหนด ตามช่วงวัยของประชากร โดยจะใช้ประมาณ 600,000 ล้านบาท เพิ่มจากระบบสงเคราะห์การเลี้ยงดูเด็กเฉพาะคนจน 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท ประมาณ 260,000 บาท        2. ด้านสุขภาพ ข้อเสนอ คือ 1) กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียวที่มีคุณภาพสูง 2) งบประมาณด้านสุขภาพ คิดตามรายหัว 8,000-8,500 บาท/คน/ปี โดยงบประมาณที่ใช้ ประมาณ 467,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากฐานงบฯ เดิม 311,000 ล้านบาท แต่จะมีงบฯ เพิ่มเติมจากการเกลี่ยงบฯ สุขภาพจากส่วนราชการ ประมาณ 60,000 ล้านบาท        3. ด้านที่อยู่อาศัยและที่ดิน ข้อเสนอคือ 1) การเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยสูงสุด 2% ต่อปี 2) ที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน ในพื้นที่ตำบลละไม่น้อยกว่า 1,000 ห้อง 3) เกษตรกรต้องเข้าถึงที่ดินทำกินเพื่อการเกษตร 15 ไร่ ต่อครอบครัว 4) เข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่ดินการเกษตร ดอกเบี้ยสูงสุด 2% ต่อปี 5) การกระจายการถือครองที่ดิน ด้วยระบบภาษีอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน การปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินของหน่วยงานรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งงบฯ จะใช้ประมาณ 108,000 ล้านบาท คำนึงลักษณะการลงทุนระยะยาวเพื่อที่อยู่อาศัย งบฯ ส่วนอื่นๆ เป็นการวางมาตรฐานทางกฎหมายไม่มีค่าใช้จ่ายโดยตรง        4. ด้านงาน รายได้ ประกันสังคม ข้อเสนอคือ 1) ค่าจ้างขั้นต่ำตามดัชนีผู้บริโภค 500 บาท/วัน ปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ 2) ค่าจ้างแรงงาน ให้เป็นไปตามอายุงาน เพิ่มขึ้นปีละ 2% 3) ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นระบบประกันสังคมถ้วนหน้า 4) การสมทบเงินเพดานสูงสุดประมาณ 30,000 บาท/เดือน 5) ปฏิรูปประกันสังคมแรงงานนอกระบบ กรณีรายได้สูง สามารถสมทบเพิ่มเติม 1,800 บาท หรือ 2,700 บาท/เดือน จากอัตราส่วน 9% จากฐานเงินเดือน 20,000 บาท หรือ 30,000 บาท กรณีรายได้น้อย สมทบ 100 บาท รัฐสมทบ 900 บาท เพื่อให้มีฐานเงินเดือน 10,000 บาท ขาดสมทบได้สูงสุด 12 เดือน เมื่อยื่นภาษี หากมีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท/ปี รัฐสมทบให้เพื่อเป็นหลักประกันเมื่อเกษียณอายุ ตามฐานเงินเดือน 10,000 บาท 6) การลาคลอด 180 วัน ใช้ร่วมกันได้ชายหญิง ทุกเพศสภาพ (สำหรับเด็ก 1 คน ) โดยได้รับค่าจ้างปกติ และ 7) การว่างงาน ให้ประกันสังคมจ่ายทุกกรณี จำนวน 80% ของฐานเงินเดือน เป็นเวลา 6 เดือน เมื่อพ้นจากการลงทะเบียนว่างงานให้ 6 เดือน ให้ได้ค่าจ้างเท่าค่าจ้างขั้นต่ำ จนกระทั่งเข้างานใหม่ โดยต้องเข้ารับการฝึกอบมรม สัมภาษณ์และเริ่มงานใหม่ภายใน 3 เดือน สำหรับงบประมาณใช้ จากการสมทบเพิ่มเติมประมาณ 2 แสนล้านบาท ให้สำนักงานประกันสังคม         5 ระบบบำนาญแห่งชาติ ข้อเสนอคือ 1) เปลี่ยน “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เป็น “บำนาญถ้วนหน้า” 3,000 บาท/เดือน เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้ ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนโดยเฉลี่ยของประเทศ 2) มีการปรับเพิ่มขึ้นทุก 5 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภค 3) รัฐบาลจ่ายตรงให้แก่ประชาชนผ่านกรมบัญชีกลาง ซึ่งงบประมาณใช้เพิ่มขึ้น 270,000 ล้านบาท แต่สามารถได้จากงบประมาณส่วนข้าราชการโดยประมาณ 223,762 ล้านบาท เมื่อมีการปฏิรูปบำนาญประกันสังคมทั้งระบบควบคู่กับบำนาญแห่งชาติ        6.สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ ข้อเสนอ คือ 1) เพิ่ม “เบี้ยยังชีพคนพิการ” จาก 800 บาท/เดือน เป็น 3,000 บาท/เดือน 2) คนพิการมีอิสระในการจัดซื้อกายอุปกรณ์เองตามวงเงินที่รัฐจัดให้ เพื่อการดำรงชีวิตได้อิสระ คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เอื้ออำนวยการเข้าถึงและจัดให้มีผู้ช่วยคนพิการ ความสะดวกในการเดินทาง การบริการสาธารณะ 3) คนพิการได้รับเงินสนับสนุนในการฝึกอบรมอาชีพในหลักสูตรที่รัฐกำหนด โดยเสรี ไม่จำกัดว่า จะต้องมีอาชีพที่รัฐกำหนดให้เท่านั้น 4)  ประชาชนทุกเพศสภาพต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการและสิทธิการรักษาพยาบาล ตลอดจนกระบวนการการข้ามเพศถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ถือเป็นเรื่องความสวยงาม เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนเพศ การศัลยกรรมทรวงอก การใช้ฮอร์โมนเพศและยาต้านฮอร์โมนเพศ ให้อยู่ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสามารถลาพักงานเพื่อเข้ากระบวนการข้ามเพศได้โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ 5) พนักงานบริการทางเพศต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ โดยไม่นำความผิดทางอาญามาเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ และทบทวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสวัสดิการ(พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539) 6) ชนเผ่าพื้นเมืองต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ ไม่จำกัดเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทย ดำรงชีวิตโดยได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเข้าถึงบริการสาธารณะ ที่ดินและที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การเข้าถึงข้อมูลและเอื้ออำนวยให้มีล่ามและการแปลภาษาชนเผ่าพื้นเมือง 7) ยกเลิกหลักสูตรการเรียนการสอน และการนำเสนอเนื้อหาผ่านข่าวสาร ละคร ภาพยนตร์ผ่านสื่อต่างๆ ที่สร้างภาพประทับจำแก่กลุ่มทางสังคม ซึ่งสร้างให้เกิดอคติ ความเกลียดชัง เหยียดเชื้อชาติ เพศสภาพ สถานะทางชนชั้น ลักษณะทางกายภาพของผู้อื่น ตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล 8) สร้างพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด เป็นสถานที่สร้างการเรียนรู้ ด้านสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น 9) สร้างสวนสาธารณะ หอศิลปวัฒนธรรม ลานกีฬา เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน สันทนาการของประชาชนและชุมชน        7. การปฏิรูประบบภาษี เสนอให้มีการปฏิรูประบบภาษีและการจัดสรรงบฯ โดยการคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม จะทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้ โดยมีมาตรการ ดังนี้ 1) การลดหย่อนภาษีการส่งเสริมการลงทุน BOI และการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงค่าเช่าที่ดินและผลกำไรทางธุรกิจ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 240,000 ล้านบาท 2) ภาษีรายได้จากตลาดหุ้น 30% ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 150,000 ล้านบาท 3) การลดหย่อนภาษีทุกเงื่อนไข อาทิ LTF ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 100,000 ล้านบาท 4) ภาษีที่ดินส่วนเกิน 10 ไร่ ยกเว้นที่ดินเพื่อการเกษตร 20 ไร่ (ปัจจุบันที่ดินกว่า 75 ล้านไร่ ในกลุ่มผู้ถือครองที่ดินประมาณ 3 ล้านคน) เก็บภาษีอัตราก้าวหน้าเริ่มต้นไร่ละ 2,000 บาท/ปี ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 150,000 ล้านบาท/ปี 5) ภาษีมรดกที่มีการปรับอัตราภาษีขั้นต่ำและเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้น ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 10,000-50,000 ล้านบาท 6) ภาษีอัตราก้าวหน้า ฐานภาษีสูงสุด 45% ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 50,000 ล้านบาท 7) ปรับลดงบฯ กระทรวงกลาโหม 70 % และการปฏิรูประบบราชการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 180,000 ล้านบาท 8) ปรับลดระบบบำนาญข้าราชการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 220,000 ล้านบาท 9) ปรับลดการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 63,000 ล้านบาท 10) บัตรคนจนและโครงการประชารัฐ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 100,000 ล้านบาท 11)  การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นจากการมีรัฐสวัสดิการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 150,000 ล้านบาท 12. ทุกคนยื่นภาษีเพื่อรับสิทธิสวัสดิการแม้รายได้ไม่ถึงตามหลักเกณฑ์           รวมงบประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท เพียงพอต่อการทำรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ทีวีดิจิทัลกับสิ่งแอบแฝง

“สารสกัดตัวนี้นำเข้าจากต่างประเทศ จะช่วยให้ผิวหน้าของคุณกระจ่างใส ชุ่มชื่น”“กลัวไหมว่าแต่งหน้าแล้วหน้าเทา พี่ใช้ครีมตัวนี้แล้วไม่มีปัญหาเลย “ถ้าไม่ดีจริง ไม่กล้าบอกต่อหรอก”“มั่นใจได้เพราะเขามี อย.”เรามักจะพบประโยคเหล่านี้อยู่เนืองๆ ผ่านทางรายการโทรทัศน์สักช่อง บางครั้งอาจถึงขนาดที่ว่าเปิดไปกี่ช่องๆ ก็เจอคนดังกำลังบรรยายสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ที่ถืออยู่ในมือ พร้อมกับสาธิตการใช้งาน ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยโปรโมชั่นเขย่าใจ ลดแลกแจกแถมขนานใหญ่ จนผู้บริโภคอย่างเราๆ อยากจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรสั่งซื้อทันทีทันใดแต่เดี๋ยวก่อน! คุณรู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะรู้สึกเคยชิน หากแต่ต้องสะกิดตัวเองแรงๆ แล้วเตือนสติว่า เรากำลังเสพ ‘โฆษณาแฝง’ โดยไม่ได้ตั้งใจหลายคนอาจจะสงสัยว่าเสพไปแล้วเป็นอะไร มีผลเสียอย่างไร ก็คงต้องเท้าความเสียก่อนว่า ในยุคปัจจุบันผู้คนมักจะเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางของสื่อใหม่ (new media) มากขึ้น เนื่องด้วยคุณลักษณะสำคัญต่างๆ ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนยุคใหม่ เช่น เนื้อหาสั้น กระชับ เข้าใจง่าย เข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ฯลฯ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อเก่า (old media) หลายๆ ประเภทยังคงได้รับการใช้งานจากกลุ่มคนจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ที่มีการพัฒนาจากระบบอะนาล็อกสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งมีความโดดเด่นในแง่คุณภาพของการรับชมที่ดีขึ้น มีการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่มีโอกาสเข้ามาผลิตเนื้อหาและสร้างความหลากหลายในวงการสื่อ ขณะที่ผู้ชมเองก็มีทางเลือกในการรับชมโทรทัศน์ที่เพิ่มขึ้นทว่าเมื่อการแข่งขันระหว่างช่องโทรทัศน์ไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ กอปรกับการเติบโตของสื่อใหม่ที่เข้ามาช่วงชิงความสนใจของผู้รับสาร ทำให้โฆษณา (advertising) ซึ่งเป็นรายได้หลักของธุรกิจโทรทัศน์เกิดการเลื่อนไหลไปยังพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น ผู้ประกอบการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลหรือ ‘ทีวีดิจิทัล’ จึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจตนเอง กลยุทธ์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้อย่างมากคือ ‘โฆษณาแฝง’ ซึ่งเป็นการโฆษณาสินค้าและบริการที่สอดแทรกไปกับเนื้อหาอย่างแยบยล จนผู้บริโภคไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เหมือนกับโฆษณาทั่วไป ทำให้สินค้าและบริการนั้นๆ มีโอกาสซึมลึกเข้าไปในใจของผู้บริโภคโดยไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพที่มักจะพบได้บ่อยๆ เช่น อาหารเสริม ยาบำรุงร่างกาย เครื่องสำอาง เป็นต้น สิ่งที่น่ากังวลคือสื่อโทรทัศน์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่และครอบคลุมทั่วประเทศ ผู้บริโภคจึงมีลักษณะทางประชากรศาสตร์หลากหลาย ทั้งในด้านเพศ อายุ อาชีพ การศึกษา และด้านอื่นๆ ซึ่งส่งผลต่อวิจารณญาณและความรู้เท่าทันสื่อที่ไม่เท่ากัน อันนำไปสู่ทัศนคติและพฤติกรรมการตอบสนองต่อโฆษณาแฝงที่แตกต่างกัน เช่น โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมความงามยี่ห้อหนึ่งอาจไม่มีผลต่อผู้สูงวัย แต่กลับกระตุ้นความต้องการซื้อในกลุ่มวัยรุ่นได้อย่างมาก จนนำไปสู่ค่านิยมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่แพร่หลายนอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคคาดหวังว่าจะได้รับสาระหรือความบันเทิงจากรายการโทรทัศน์อย่างเต็มที่ แต่กลับถูกยัดเยียดโฆษณาที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาด้วย เนื่องจากผลประโยชน์เชิงธุรกิจของผู้ประกอบการโทรทัศน์และเจ้าของสินค้าและบริการ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นการเอาตัวรอดจากวิกฤติการณ์ขององค์กรสื่อโดยละเลยต่อความต้องการและสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคหรือไม่ ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงการตั้งคำถามไปยังจริยธรรมของผู้ประกอบการ เจ้าของสินค้าและบริการ หรือนักการตลาดเพียงเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงการขาดความรู้เท่าทันสื่อของผู้บริโภค และประสิทธิภาพในการคัดกรองโฆษณาแฝงของหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแล ซึ่งยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยในระดับที่ผู้บริโภคจะสามารถฝากความเชื่อมั่นไว้ได้จากปัญหาที่เกิดขึ้นนำไปสู่งานศึกษาเรื่อง “รูปแบบของโฆษณาแฝงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพในรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล” ซึ่งมุ่งที่จะค้นหาคำตอบว่าทีวีดิจิทัลยุคปัจจุบันมีการใช้โฆษณาแฝงในลักษณะใดบ้าง โดยใช้การสำรวจทีวีดิจิทัล 2 ประเภท ได้แก่ บริการสาธารณะ และบริการทางธุรกิจ รวมทั้งเลือกรูปแบบรายการโทรทัศน์ที่หลากหลาย ประกอบด้วย รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (non-fiction) เช่น ข่าว สาระความรู้, รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) เช่น ละคร ซิทคอม ซีรีส์ และรายการให้ความบันเทิงเบาสมอง (Light Entertainment) เช่น ทอล์กโชว์ เกมโชว์ ซึ่งออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2561 โดยเลือกพิจารณาเฉพาะอาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยตรงข้อค้นพบในการศึกษาครั้งนี้อาจจำแนกออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้1. ประเภทของผลิตภัณฑ์สุขภาพ  ผลิตภัณฑ์สุขภาพ หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต มีวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อสุขภาพอนามัยหรืออาจมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ตลอดจนมีความเกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งในงานศึกษาพบว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปรากฏในรูปของโฆษณาแฝง ได้แก่              •      อาหาร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนม น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร              •      ยา เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร              •      เครื่องสำอาง เช่น ครีมบำรุงผิว เซรั่มบำรุงเส้นผม         2. รูปแบบของโฆษณาแฝงจากการศึกษาสามารถจำแนกข้อมูลโฆษณาแฝงตามแนวทางของ ธาม เชื้อสถาปนศิริ (2552) ที่อธิบายว่าโฆษณาแฝงมีทั้งหมด 5 รูปแบบได้ดังนี้            •      แฝงสปอตสั้นหรือวีทีอาร์ (VTR) ก่อนเข้ารายการแต่ละช่วงจะมีโลโก้สินค้าและเสียงบรรยายว่า “สนับสนุนรายการโดย...” พร้อมกับบรรยายสรรพคุณสินค้าพ่วงเข้ามาด้วย เช่น “ดื่มง่าย ละลายน้ำดี ไม่มีกลิ่นคาว ราคาพิเศษสุดๆ โทรสั่งเลย...”    •      แฝงภาพกราฟิก โดยมีโลโก้สินค้าปรากฏที่ฉากหลัง หรือมีภาพสินค้า ตราสินค้า และสโลแกนปรากฏที่มุมจอเป็นระยะ รวมทั้งมีกรอบสินค้าที่บริเวณขอบจอ (window logo)   •      แฝงวัตถุ พบค่อนข้างมาก เช่น วางสินค้าไว้ที่โต๊ะ พิธีกรพูดถึงสินค้าและมีการแพนกล้องไปที่สินค้า วางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก มีป้ายสินค้าหรือภาพสินค้าเป็นฉากหลัง   •      แฝงบุคคล พิธีกรใส่ผ้ากันเปื้อนที่มีตราสินค้า หรือตัวละครหยิบจับสินค้าขึ้นมาใช้งาน พร้อมกับพูดชื่อยี่ห้ออย่างชัดเจน    •      แฝงเนื้อหา พบได้มากที่สุด โดยส่วนใหญ่มักจะออกแบบเนื้อหาโฆษณาแฝงให้สอดคล้องกับเนื้อหารายการ หากเป็นรายการทอล์กโชว์จะมีการสัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ผลงาน แล้วนำไปสู่เรื่องของความงามหรือความสำเร็จซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสินค้า พร้อมสาธิตการใช้งาน เช่น ทาครีม รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตลอดจนมอบสินค้าให้แก่พิธีกรหรือผู้ร่วมรายการ หรือรายการสุขภาพก็มีการแนะนำสินค้าที่มีสรรพคุณในการดูแลสุขภาพ ตลอดจนการออกแบบให้ผู้ดำเนินรายการหรือตัวละครต้องใช้สินค้านั้นๆ เช่น ใช้ในการประกอบอาหาร หรือประกอบอาชีพ ขณะเดียวกันก็พบว่ามีการสอดแทรกโฆษณาแฝงที่โจ่งแจ้งและไม่เชื่อมโยงกับเนื้อหาเช่นกัน โดยผู้ประกาศข่าวพูดโฆษณาสินค้าและโปรโมชั่นในช่วงหนึ่งของรายการ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับข่าวที่นำเสนอแม้แต่น้อยนอกจากนี้ ยังพบรูปแบบของการทำโฆษณาแฝงที่น่าสนใจอีกลักษณะหนึ่ง นั่นคือ การผลิต ‘รายการแนะนำสินค้าโดยเฉพาะ’ ขึ้นมา โดยออกแบบให้มีลักษณะคล้ายรายการสุขภาพเป็นหลัก บางส่วนเป็นรายการวาไรตี้ และบางส่วนออกแบบให้คล้ายรายการเล่าข่าว ลักษณะการนำเสนอจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับรายการแล้วจึงเชื่อมโยงไปสู่สินค้า เช่น รายการสุขภาพก็จะให้ความรู้เรื่องสุขภาพ หรือรายการข่าวนำเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ แล้วชี้นำว่าสินค้าสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยมีการสัมภาษณ์ผู้ใช้สินค้าจริงและอ้างอิงข้อมูลทางการแพทย์หรืองานวิจัยเพื่อเสริมความน่าเชื่อถือของสินค้า ในส่วนของรายการวาไรตี้มีการจัดวางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก และนำสินค้ามาเป็นโจทย์ให้ผู้เข้าแข่งขันทายราคา   จุดประสงค์สำคัญของรายการประเภทนี้ คือ แนะนำสรรพคุณสินค้าและโปรโมชั่น พร้อมกับเชิญชวนให้เกิดการซื้อ แม้ว่าหน้าตาของรายการประเภทจะละม้ายคล้ายคลึงกับการแฝงเนื้อหาโดยทั่วไป ทว่าจุดต่างที่สังเกตได้ชัดเจนคือ            3. ความสัมพันธ์ของประเภทรายการและโฆษณาแฝง    การศึกษาในครั้งนี้ยังพบความสอดคล้องระหว่าง ‘ประเภทของรายการโทรทัศน์’ กับโฆษณาแฝงที่นำเสนอ โดยประเภทของรายการโทรทัศน์มักจะมีผลต่อการออกแบบโฆษณาแฝง ไม่ว่าจะเป็นด้านเนื้อหาหรือด้านรูปแบบของโฆษณาแฝง ดังรายละเอียดต่อไปนี้              3.1 รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (non-fiction)                 มักจะนำเสนอเนื้อหาในเชิงข้อมูลหรือสาระความรู้แล้วค่อยๆ สอดแทรกโฆษณาแฝงเข้าไป พิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการสื่อสารด้วยถ้อยคำที่ค่อนข้างเป็นทางการ น่าเชื่อถือ มีการอ้างข้อมูลประกอบ                1) รายการข่าว/เล่าข่าว                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (ตราสินค้าปรากฏที่ฉากหลัง, มีโลโก้สินค้าปรากฏในจอด้านหน้าโต๊ะผู้ประกาศข่าว) แฝงวัตถุ (วางสินค้าไว้ที่โต๊ะ, พิธีกรพูดถึงสินค้าและมีการแพนกล้องไปที่สินค้า) และแฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับปัญหาความงาม แล้วโยงไปสู่สินค้า)                2) รายการสุขภาพ                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงเนื้อหา (พิธีกรนำเสนอเรื่องสุขภาพ แล้วแนะนำสินค้าที่มีสรรพคุณในการดูแลสุขภาพ)           3.2 รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction)                 มักจะสอดแทรกโฆษณาแฝงเข้ากับเรื่องราวหรือตัวละคร เช่น แฝงกับสถานที่ หรือตัวละครมีความจำเป็นต้องใช้สินค้านั้นๆ                1) ซิทคอม                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงวัตถุ (วางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก, มีป้ายสินค้าเป็นฉากหลัง) และแฝงเนื้อหา (ตัวละครมีอาชีพที่ต้องใช้สินค้านั้นๆ)                2) ละคร/ซีรีส์                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอ) และแฝงเนื้อหา (ตัวละครหยิบสินค้าขึ้นมาใช้ มีการพูดถึงตราสินค้าโดยตรงหรือกล้องแพนไปที่สินค้านั้น)           3.3 รายการให้ความบันเทิงเบาสมอง (Light Entertainment)                 พบว่าโฆษณาแฝงมีความกลมกลืนกับเนื้อหาของรายการ เช่น รายการทอล์กโชว์ที่สัมภาษณ์นักแสดงหญิงก็มักจะแฝงสินค้าด้านความสวยความงาม หรือรายการทำอาหารก็มีโฆษณาแฝงเกี่ยวกับอาหาร                1) รายการทอล์กโชว์                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงสปอตสั้น (ก่อนเข้ารายการมีโลโก้และเสียงบรรยายผู้สนับสนุนรายการ) แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอเป็นระยะ) แฝงวัตถุ (มีสินค้าวางบนโต๊ะและมีภาพสินค้าที่ฉากหลัง) และแฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ผลงาน แล้วโยงไปสู่สินค้าในตอนท้าย)                2) รายการเกมโชว์/แข่งขัน                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงสปอตสั้น (แนะนำผู้สนับสนุนรายการ) และแฝงวัตถุ (มีป้ายโลโก้สินค้าตรงที่นั่งของผู้แข่งขัน)                3) รายการอาหาร                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอ) แฝงวัตถุ (วางสินค้าไว้ในฉาก) แฝงบุคคล (พิธีกรใส่ผ้ากันเปื้อนที่มีตราสินค้า) และแฝงเนื้อหา (แจกสินค้าให้แขกรับเชิญ หรือร่วมสนุกตอบคำถามชิงรางวัลจากสินค้ายี่ห้อนั้นๆ)                4) รายการแนะนำอาชีพ                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ แล้วเชื่อมโยงไปถึงสินค้า)                5) รายการประเภทอื่นๆ เช่น วาไรตี้ ท่องเที่ยว                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (มีภาพสินค้า ตราสินค้า และสโลแกนปรากฏที่มุมจอ) และแฝงเนื้อหา (พาชมบ้านแขกรับเชิญแล้วพบสินค้าวางอยู่ แขกรับเชิญก็บรรยายสรรพคุณสินค้า พร้อมกับชี้ชวนให้ซื้อ)          3.4 รายการแนะนำสินค้าโดยเฉพาะ                มักจะสอดแทรกโฆษณาแฝงที่เข้ากับรูปแบบรายการ เช่น รายการเชิงสุขภาพก็นำเสนอสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ มีการอ้างอิงข้อมูลจากผู้ใช้สินค้าจริงและข้อมูลทางการแพทย์หรืองานวิจัย รายการวาไรตี้มีการแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกมีลักษณะเป็นซิทคอมก็ใช้รูปแบบแบบแฝงวัตถุ (จัดวางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก) ช่วงต่อมาจะเป็นการแข่งขันโดยนำสินค้ามาเป็นโจทย์ให้ผู้แข่งขันทายราคา เป็นต้น                จากข้อมูลที่กล่าวมาจะเห็นว่าโฆษณาแฝงในรูปแบบดั้งเดิมก็ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ล้มหายไปจากหน้าจอโทรทัศน์ และในขณะเดียวกันก็ยังมีโฆษณาแฝงรูปแบบใหม่เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งสามารถตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมได้ใน 2 ประเด็น ดังนี้                 1. รายการ ‘ยั่งยืน’ กับ ‘ไม่ยั่งยืน’                      เราสามารถแบ่งลักษณะของรายการโทรทัศน์ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รายการ ‘ยั่งยืน’ หมายถึง รายการที่ออกอากาศมานาน/มีระยะเวลาในการออกอากาศ 1 ชั่วโมงขึ้นไป/อยู่ในช่วงเวลาไพร์มไทม์ (prime time)/กำหนดวันและเวลาออกอากาศที่แน่นอน/เป็นรายการที่มีจำนวนผู้ชมมากหรือเป็นที่รู้จักในวงกว้าง กล่าวได้ว่า เป็นรายการที่มีแนวโน้มจะคงอยู่ในระยะยาว เช่น รายการทูเดย์โชว์ (3 HD), คุยโขมงบ่ายสามโมง (MCOT HD), ซีรีส์เป็นต่อ 2018 (ONE 31)                     รายการ ‘ไม่ยั่งยืน’ หมายถึง รายการที่เพิ่งผลิตและออกอากาศในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา/มีระยะเวลาในการออกอากาศ 10-30 นาที (บางรายการอาจถึง 1 ชั่วโมง)/วันและเวลาออกอากาศไม่แน่นอน กล่าวได้ว่า เป็นรายการที่มีแนวโน้มจะคงอยู่เพียงชั่วคราวหรือในระยะสั้นๆ เช่น รายการใส่ใจไกลโรค (ช่อง 8), รายการพลังชีวิต (NOW 26)                     แม้ว่ารายการทั้งสองรูปแบบจะมีความแตกต่างกันในด้านคุณลักษณะ แต่กลับพบว่ามีการนำเสนอโฆษณาแฝงด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งในอดีตนั้นรายการยั่งยืนจะไม่นำเสนอโฆษณาแฝงอย่างหนักหน่วงเหมือนเช่นปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นวิกฤตการณ์ขององค์กรสื่อ ตลอดจนความย่ำแย่ทางเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้ผลิตรายการและสถานีโทรทัศน์แทบทุกช่องต้องหาทางเอาตัวรอดจากสภาวะดังกล่าว เราจึงพบโฆษณาแฝงกระจายตัวไปตามรายการต่างๆ อย่างครอบคลุมไม่ว่าช่องเล็กหรือใหญ่ก็ตาม                  2. แฝงแบบ ‘เนียน’ กับ ‘ไม่เนียน’                      อาจกล่าวได้ว่า รูปแบบของโฆษณาแฝงมีทั้งแนบเนียนและไม่แนบเนียน ซึ่งอธิบายได้ดังนี้                      แนบเนียน หมายถึง นำเสนอเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับรายการ แล้วจึงนำไปสู่การเสนอขายผลิตภัณฑ์  เช่น รายการทอล์กโชว์มีการสัมภาษณ์นักแสดงเกี่ยวกับการดูแลตนเอง แล้วจึงโยงเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ หรือรายการด้านสุขภาพนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บและการดูแลสุขภาพ แล้วจึงแนะนำผลิตภัณฑ์ ซึ่งลักษณะการดำเนินรายการจะค่อนข้างราบลื่น (smooth) มีลำดับขั้นตอนในการนำพาไปสู่เป้าหมาย (ผลิตภัณฑ์สุขภาพ) มีจุดเชื่อมโยงที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกคล้อยตามได้                      ไม่แนบเนียน หมายถึง เสนอขายผลิตภัณฑ์อย่างโจ่งแจ้ง โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระในรายการ เช่น รายการข่าว ผู้ประกาศข่าวอธิบายสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง พร้อมชี้ชวนช่องทางการสั่งซื้อให้แก่ผู้ชม โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับข่าวที่นำเสนอแม้แต่น้อย ลักษณะเช่นนี้อาจทำให้ผู้ชมเกิดความตะขิดตะขวงใจ เนื่องจากเนื้อหาที่ไม่ปะติดปะต่อกัน                       ข้อแตกต่างดังกล่าวนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงระดับความสร้างสรรค์ของผู้ผลิตในการจัดวางโฆษณาแฝงลงในรายการของตนเองแล้ว ยังสามารถตั้งข้อสังเกตต่อไปได้อีกว่า การนำเสนอแบบแนบเนียนนั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วงกว่า เพราะผู้ชมเสพเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้คล้อยตามไปกับสารที่ได้รับอย่างง่ายดาย ในขณะที่การนำเสนอแบบไม่แนบเนียนมักจะทำให้ผู้ชมรู้ตัวและรู้ทันเสียก่อน จนนำไปสู่การระแวดระวังได้ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปหากมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ความน่าเชื่อถือของผู้ดำเนินรายการ ความถี่ในการรับชม เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ชมได้ทั้งสิ้น                        แต่ไม่ว่าโฆษณาแฝงเหล่านี้จะถูกนำเสนอหรือรังสรรค์ออกมาในแบบใดก็ตามต่างก็สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวงการทีวีดิจิทัลได้เป็นอย่างดี ในยุคสมัยที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ คาดหวังเนื้อหาน้ำดีมีคุณภาพ ผู้ประกอบการเองก็ต้องขวนขวายหาทางอยู่รอดเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคที่ต้องตระหนักถึงสิทธิที่พึงมี เสพสื่ออย่างระแวดระวัง และรู้จักตรวจสอบสิ่งที่เสพอยู่เสมอ เมื่อผู้บริโภคมีความกระตือรือร้น (active consumers) ก็ย่อมส่งผลไปยังผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัวให้ตอบสนองต่อความรู้เท่าทันและพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้ในอนาคต  แหล่งข้อมูล:ธาม เชื้อสถาปนศิริ. (2552). รู้เท่าทันโฆษณาแฝง. กรุงเทพฯ: ออฟเซ็ทครีเอชั่น.ปวรรศ จันทร์เพ็ญ. (2560). กลยุทธ์ใหม่กับโฆษณาแฝงในปัจจุบัน. นิเทศสยามปริทัศน์, 12(13).พชร แกล้วกล้า และคณะ. (2559). จับตายโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย. กรุงเทพฯ: พิมพ์ดี. 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 คุณภาพรถเมล์ไทย

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ปัญหาคุณภาพรถเมล์ของประเทศไทยมีมานานแล้ว โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ “ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริการ” อาทิ ตัวรถ สภาพรถ การให้บริการ กับ “ปัญหาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง” เช่น ป้ายรถเมล์ จุดจอด การเชื่อมต่อ เชื่อมโยง เป็นต้นสำหรับ “ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริการ” พบว่ามีปัญหาตั้งแต่สภาพตัวรถ รวมถึงรูปแบบการประกอบการ โครงสร้างองค์กรที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างยากลำบาก ในกรณีที่เป็นรถของขนส่งมวลชน(ขสมก.) มีปัญหาสะสมที่ไม่สามารถซื้อรถใหม่ได้ หรือจัดซื้อได้ล่าช้า ปัจจุบันรถใน กทม. และปริมลฑล มีอยู่ประมาณ 7-8 พันคัน เข้าใจว่าเป็นรถเก่าไม่น่าจะต่ำกว่า 4-5 พันคัน จะมีรถใหม่ของขสมก.จะเข้ามาประมาณ 2-3 พันคันในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอควรมีปริมาณรถใหม่มากกว่านี้ รวมถึงมีกลไกกำกับดูแลคุณภาพในอนาคตต่อไปว่าจะการันตีได้อย่างไรเมื่อเปลี่ยนรถแล้วคุณภาพต้องดีด้วย ต้องเข้มข้นเรื่องการรับพนักงาน รวมถึงเรื่องของค่าตอบแทน เช่น ค่าโดยสารที่เหมาะสม เพราะก็ยังมีคำถามอยู่ว่าค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นอย่างไร ด้านหนึ่งบอกว่าค่าโดยสารไม่ควรสูงเกินไป แต่รัฐก็ไม่มีกลไกทำเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ก็เลยเป็นปัญหาค่าโดยสารที่กำหนดอยู่ปัจจุบันจะทำให้ได้คุณภาพการให้บริการที่ดีหรือไม่ ถ้าจะให้ได้พนักงานที่มีคุณภาพต้องอนุญาตให้เขาสามารถขึ้นค่าโดยสารได้บ้างหรือไม่ แต่คงไม่ได้ขึ้นมากเกินไป เช่น ปัจจุบันเก็บอยู่ 9 บาท สำหรับรถร้อน ถ้าปรับราคาขึ้นเป็น 11-12 บาท เป็นไปได้หรือไม่ ตอนนี้เราเริ่มคุยกันแล้วว่าน่าจะพอขึ้นได้ และพอจ่ายได้ เพราะอยากได้บริการที่ดี แต่กลัวว่าขึ้นไปแล้วยังได้บริการแย่เหมือนเดิม อะไรจะการันตี  “เวลาสำรวจความพึงพอใจเรื่องพวกนี้ก็จะเห็นภาพว่าผู้โดยสารมีความรู้สึกคล้ายกันว่ารถเก่า บริการไม่ดี รถขาดระยะ ความถี่ไม่ดี รอนาน สภาพโดยรวมไม่สะดวกสบาย”  คำถามที่จะตามมาคือต่อให้คุณภาพรถเมล์ดีแล้ว “โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง” จะดีตามมาหรือไม่ ซึ่งจากการสำรวจทั้งในกทม. และปริมณฑลพบว่ามีปัญหาคล้ายกันคือ ตำแหน่งป้ายไม่ชัดเจน ที่พักพิงผู้โดยสาร เช่น ศาลาไม่ครบ ปัญหาที่ตามมาคือการบริการช่วงเช้ามืด และช่วงค่ำ มีแสงสว่างไม่เพียงพอ เสี่ยงเกิดอันตราย ตรงนี้ผู้ประกอบการคงไม่ได้เป็นคนจ่าย หน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลน่าจะต้องเป็นคนที่ลงทุน เพราะที่ผ่านมาก็มีการลงทุนเรื่องรถไฟฟ้า อะไรต่างๆ มากมาย ทำไมไม่ลงทุนเรื่องเหล่านี้บ้าง “จริงๆ เรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนารถเมล์น้อยไป ถ้าพัฒนาเต็มที่ต้องดีทั้งตัวรถ และคนขับ พนักงานประจำรถ ตรงนี้เริ่มมีการปฏิรูปบ้าง แต่ที่ยังขาด คือโครงสร้างพื้นฐาน และการเชื่อมต่อ เรื่องป้ายรถเมล์ ถ้าจะทำต้องทำควบคู่กัน  ไม่อย่างนั้นคนเดินมาป้ายรถเมล์ก็ไม่อยากเดิน ไม่จูงใจให้คนมาใช้รถเมล์” อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้เริ่มได้รับการแก้ไขบ้างแล้ว อย่างเช่น รถเมล์ในกรุงเทพจากเดิมมีเพียงการให้บริการของ “ขสมก.” เท่านั้น ปัจจุบันก็มี “เอกชน” เข้ามาร่วมเดินรถด้วย อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย โดยให้บริษัทเอกชน บางรายสามารถยื่นขอใบอนุญาตได้โดยตรง และเดินรถเองได้ ตรงจุดนี้ทำให้สามารถเปลี่ยนรถใหม่ได้เอง แต่ความอิสระนี้ยังไม่ได้การันตีว่าการให้บริการจะมีคุณภาพ ต้องมีระบบกำกับดูแลที่ต้องตรวจสอบคุณภาพรถเอกชนที่จะเข้ามาวิ่งในระบบต่อไป ส่วนปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องยังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนว่าจะมีการปรับปรุงอย่างไร  ปัญหารถขาดระยะ-เส้นทางเดินรถ “รถเมล์ขาดระยะ” มาจากทั้งปัญหาการจราจร และจำนวนรถไม่เพียงพอ ยิ่งรถติดมากยิ่งทำให้รถขาดระยะมาก ตรงนี้ก็พูดยาก เพราะหลายครั้งปริมาณการเดินทางของคน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนนั้นสูงมาก ซึ่งถ้าทำให้คนขึ้นรถเมล์มากเท่าไหร่ ก็จะลดการใช้รถส่วนบุคคลเท่านั้น รถไม่ติด และจะส่งผลดีกับทั้งคู่คือรถติดน้อยลง ต้นทุนการประกอบการก็น้อยลง ไม่ต้องซื้อรถมาเก็บไว้จำนวนมาก ทำรอบความถี่ได้ นี่เป็นปัญหาที่คิดว่าแก้ไขยาก เพราะประเทศไทยยังไม่มีมาตรการจำกัดการใช้รถส่วนบุคคลเท่าไหร่นัก ส่วนเรื่องเส้นทางการเดินรถนั้น ถือว่ามีความครอบคลุมระดับหนึ่ง แต่ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ “การทับซ้อนเส้นทาง” แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาระดับหนึ่ง แต่ความครอบคลุมปัจจุบันเรียกว่าลากเส้นรถเมล์ไม่ทันกับการขยายเมือง สวัสดิการภาครัฐเดิมรัฐบาลมีนโยบายรถเมล์ฟรีให้ประชาชนก็ถือว่ามีความครอบคลุมระดับหนึ่ง พอเปลี่ยนมาเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็จะเปลี่ยนแปลงอีกแบบ ซึ่งเท่าที่เห็นยังไม่มีข้อมูล เลยยังวิจารณ์ไม่ได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือรัฐเองให้การสนับสนุนระบบขนส่งพวกนี้เพียงพอหรือยังในเชิงของการลงทุน รัฐอาจจะไม่ต้องให้เป็นสวัสดิการสำหรับคนขึ้นรถเมล์ แต่อาจจะต้องลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการรถเมล์หรือไม่ เรื่องป้ายรถเมล์ เรื่องจุดจอด เรื่องการบำรุงรักษา รัฐต้องเข้ามาดูมากขึ้น เสมือนเป็นการสนับสนุนทางอ้อม พัฒนาระบบ เรื่องคุณภาพของการให้บริการก่อน เมื่อเริ่มดีขึ้นค่อยเริ่มหาช่องทางในการให้เงินอุดหนุนเงินเฉพาะกลุ่ม เช่น การลดค่าโดยสาร 50 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้สูงอายุ ลดค่าโดยสาร 25 เปอร์เซ็นต์สำหรับนักเรียน นักศึกษา ให้เฉพาะกลุ่มที่มีเหตุผลน่าจะทำได้ และไม่ควรมองเป็นเรื่องการเมือง คุณภาพรถเมล์กับผู้พิการ-ผู้สูงอายุมีคำถามว่าการพัฒนาระบบขนส่งหลงลืมผู้พิการ และผู้สูงอายุ จริงๆ ถ้ากรณีรถเมล์ปัจจุบันถึงแม้จะยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่าให้ใช้รถเมล์ชานต่ำ แต่มีสัญญาณที่ดีจากผู้ประกอบการ  อย่างเช่น ขสมก. หากจะมีการเปลี่ยนรถเมล์ก็เปลี่ยนเป็นชานต่ำ ซึ่งอยู่ระหว่างการสั่งซื้อและนำเข้ามาใช้ ซึ่งจะเอื้อต่อการใช้งานของผู้พิการ และผู้สูงอายุขึ้นลงได้สะดวกขึ้น แต่ปัญหาก็ย้อนกลับมาที่โครงสร้างพื้นฐาน เช่น สมมติว่ารถเมล์เข้าป้ายได้ แต่ทางเท้า หรือป้ายรถเมล์ไม่ดี คนพิการก็ใช้ไม่ได้ หรือถ้าปัญหาเรื้อรัง เข้าป้ายไม่ได้คนพิการต้องลงมาที่ถนน ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ ลำบาก ดังนั้นตรงนี้ถ้าจะทำต้องทำทั้งระบบพร้อมกัน    สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการก่อนจะมีรถเมล์ชานต่ำในประเทศไทย ต้องยอมรับว่าคนพิการที่นั่งรถเข็นไม่สามารถขึ้นรถเมล์ได้เลย ถ้าจะขึ้นก็ต้องคลานขึ้น มีคนช่วยยกวีลแชร์ ซึ่งมีแต่น้อย หากไม่จำเป็นก็ไม่ไป เพราะการคลานขึ้นรถเมล์เป็นภาพที่ไม่น่าดู ส่วนผู้พิการที่ต้องใช้ไม้เท้าก็มีความยากลำบาก อุบัติเหตุพลัดตกจากรถเมลมีให้เห็นบ่อย ปัญหาใหญ่ที่สุด คือลักษณะของรถสูง ประตูแคบ บวกกับพฤติกรรมขับรถและการให้บริการของพนักงานประจำรถ “พฤติกรรมของพนักงานขับรถไม่ต้องอธิบายมาก จอดปุ๊บไปปั๊บ ถ้าคนพิการขึ้นรถเมล์ บางทีมีการตะโกนบอก คนพิการมา หลบให้คนพิการขึ้นหน่อย เร็วๆ ได้ยินแบบนี้ถามว่าเรามีความสุขที่จะไปต่อไหม เราก็อาย เรากลายเป็นจุดรวมสายตาของทุกคน ซึ่งมีทั้งสายตาที่เห็นอกเห็นใจ และสายตาที่มีคำถามว่ามาทำไม คุณลำบากแล้วมาทำไม สร้างปัญหา คือไม่ขึ้นรถเมล์แล้วจะให้คนพิการเดินทางอย่างไร ให้อยู่กับบ้านอย่างนั้นหรือ” ในอดีตปัญหาแบบนี้ชัดเจนมาก ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ แต่ถือว่าดีขึ้น เริ่มตั้งแต่ ขสมก. จัดซื้อรถเมล์ใหม่ เป็นรถเมล์ชานต่ำทั้งหมด ซึ่งอันที่จริงเมื่อ 10 ปีก่อน เดิม ขสมก. ไม่ต้องการซื้อรถเมล์ชานต่ำ แต่ด้วยการต่อสู้อย่างเข้มข้นของเครือข่ายผู้พิการต่างๆ เครือข่ายผู้สูงอายุ รวมถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำให้ทุกวันนี้ ขสมก.มีนโยบายใหม่ชัดเจนว่าถ้าจะซื้อรถเมล์ใหม่ ต้องเป็นรถเมล์ชานต่ำเท่านั้น ทั้งนี้ รถเมล์ชานต่ำล็อตแรก 489 คัน ที่จะทยอยส่งมอบเข้ามา แม้ยังมีบางจุดที่ต้องปรับปรุง แต่ไม่ถึงกับเป็นประเด็นใหญ่มาก เพราะต้องยอมรับว่าล็อตแรกอาจจะมีปัญหาเพราะเป็นครั้งแรกที่แปลงกฎหมาย เป็นทีโออาร์ ตัวรถอาจจะมีความคาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่โดยรวมถือว่าเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ เพราะประตูกว้างขึ้น เดินสเต็ปท์เดียว ก้าวขาจากฟุตบาทขึ้นตัวรถได้เลย ถือว่ามีความปลอดภัยสูง มีระบบเซ็นเซอร์ มีกล้องวงจรปิด อย่างไรก็ตาม มีรถเมล์ใหม่แล้วก็ต้องมาพร้อมการบริการที่มีการปรับปรุงทั้งพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งถือว่ามีการพัฒนาที่ดีขึ้น แต่การจอดให้ตรงป้ายยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งต้องเรียนว่า “รถเมล์ชานต่ำ” นั้นการจอดให้ตรงป้ายถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะจะมีบันไดพาดจากตัวรถมายังฟุตบาท หากจอดไม่ตรงบันไดก็ต้องวางกับถนนซึ่งจะทำให้ชันมากเป็นอันตราย นอกจากนี้การปรับสภาพแวดล้อมบริเวณป้ายรถเมล์ก็มีความสำคัญ รวมถึงการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่ารถจะบริการคนพิการอย่างไร ก็ต้องมีการสื่อสารและพัฒนานอกจากนี้ ปัญหาอีกอย่างคือ รถเมล์ชานต่ำที่จะเข้ามา 489 คัน นั้นคิดเป็นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนรถเมล์ของ ขสมก. ซึ่งปกติ ขสมก.เดินรถเมล์ประมาณ 120 สาย ดังนั้นจึงมีคำถามตามมาว่ารถเมล์ชานต่ำล็อตนี้เอาไปวางบนเส้นทางอย่างไร ยกตัวอย่างรถ 1 สาย มีรถ 20 คัน แล้วรถจะเข้ามาทุก 10-15 นาที แสดงว่าผู้พิการ ผู้สูงอายุเดินออกมาก็จะเจอรถเมล์ชานต่ำทุกคัน แต่ถ้าสมมติในสายนั้นมีรถเมล์ 20 คัน แต่มี รถเมล์ชานต่ำ 5 คัน ถามว่า 5 คันนั้นจัดวางอย่างไร ถ้าทำแบบผสมตามสัดส่วน แสดงว่ารถเมล์แบบเก่าต้องผ่านไปแล้ว 5 คัน คันที่ 5 ถึงจะเป็นรถเมล์ชานต่ำ แสดงว่าต้องรอเมล์ประมาณ 1 ชั่วโมง “ถามว่าในชีวิตจริงที่ต้องไปทำงานทุกวัน เราจะใช้บริการรถเมล์แบบนี้ได้หรือไม่ การแก้ปัญหาต้องมีตารางเดินรถชัดเจน จริงอยู่ว่าสภาพการจราจรของ กทม.เอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ก็สามารถปรับตามความเหมาะสมได้ วันนี้ตัวรถสะดวก บริการดีขึ้น แต่จำนวนรถยังไม่เพียงพอ เว้นแต่ว่า ขสมก.จะวางรถเมล์ชานต่ำใหม่ทั้งเส้นทั้งหมด อันนี้แน่นอนใช้ได้เลย ถ้าเอามาผสมกันก็ไม่สะดวก ดังนั้นเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาระยะยาว คิดว่า ภายใน 5-10 ปี ของขสมก.น่าจะได้มาทดแทนทั้งหมด ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการด้วย แต่ปัญหาที่คาราคาซังอยู่คือเนื่องจาก ขสมก.จัดซื้อรถใหม่ไม่สะดวก เลยแก้ปัญหาโดยการนำรถเก่ามาปรับปรุง เปลี่ยนเครื่องยนต์ ทำตัวถัง ทำสี แต่บอดี้อยังเหมือนเดิม และใช้ต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี เพราะฉะนั้นปัญหาของผู้พิการ และผู้สูงอายุก็ยังคงมีอยู่”อย่างไรก็ตาม ปัญหารถเมล์ไม่ได้มีแค่ของ ขสมก. เท่านั้น แต่ยังมีรถร่วมบริการด้วย และดูเหมือนว่าสัดส่วนจะเพิ่มสูงกว่าขสมก. ในขณะที่กรมการขนส่งทางบกก็ยังไม่พูดชัดเจนว่ารถร่วมฯ ที่ให้สัมปทานใหม่จะต้องเป็นรถเมล์ชานต่ำหรือไม่ ซึ่งเราพยายามคุยกับกรมการขนส่งทางบกว่าควรกำหนดไว้ในเงื่อนไขสัมปทานด้วย ก็นับเป็นเรื่องที่ดีที่รถร่วมบริการเส้นแรกที่วิ่งระหว่าง รพ.รามาธิบดี บางพลี จ.สมุทรปราการ ไปยังรพ.รามาธิบดี ย่านราชวิถีนั้นทางบริษัทเอกชนได้นำเอารถเมล์ชานต่ำมาให้บริการ แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้ากำหนดให้ชัดว่าจากนี้เป็นต้นไป รถใหม่ที่เข้ามาต้องเป็นรถเมลชานต่ำเท่านั้น ถ้าปล่อยเป็นเรื่องความสมัครใจแล้วมีทั้งรถเมล์ชานต่ำ ชานสูงก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ “เราพยายามคุยกับกระทรวงคมนาคมแล้ว เราไม่ไปแตะรถเมล์คันเก่า แต่ขอแค่ว่ารถเมล์ใหม่ที่จะเข้ามาต้องเป็นรถเมล์ชานต่ำ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เขา รมว.-รมช.คมนาคม ก็ยังไม่ตอบ ซึ่งถือว่ายังเป็นปัญหาอยู่ในกรณีรถร่วมบริการ” นอกจากนี้ หากเป็นการนำเอารถตู้มาให้บริการเพิ่มมากขึ้น ก็จะยิ่งเป็นอุปสรรคกับคนพิการที่ต้องนั่งรถเข็นแน่นอน แต่บรรเทาได้หากมีการอบรมและขอความร่วมมือ เช่น ให้คนพิการนั่งหน้า และเก็บรถเข็นไว้ด้านหลังรถ แต่ปัญหาคือ ดีไซน์ของรถตู้ส่วนมากต้องพยายามบรรทุกผู้โดยสารให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่วนถ้าเป็นคนพิการตาบอด ปัญหาน้อยกว่า อาจต้องจับสัญญาณเสียง ซึ่งรถบางคันก็มี ถ้าไม่มีก็อาศัยการสอบถามคนรอบข้าง ในขณะที่ปัญหาคนหูหนวก อาจจะต้องมีการตื่นตัวอยู่เสมอ และอีกกลุ่มที่ต้องนึกถึงคือผู้ปกครองของผู้พิการทางสติปัญญา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมแปลก คนทั่วไปมักไม่เข้าใจ และมองว่าทำไมครอบครัวไม่ดูแลลูก แต่ความจริงคือพ่อ แม่ควบคุมไม่ได้ เรื่องนี้ต้องให้ความรู้กับคนไทยเรื่องความแตกต่างของคนในสังคม อย่าด่วนตำหนิ มองกันในเชิงลบ คงไม่มีใครปรารถนาทำสิ่งไม่เหมาะไม่ควรในที่สาธารณะ “ดังนั้นโดยรวมการใช้บริการรถเมล์ของผู้พิการใน กทม. ปริมณฑล มีความสะดวกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นรถเมล์ชานต่ำ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนรถเมล์ที่วิ่งให้บริการในปัจจุบันประมาณ 7,000-10,000 คัน”ทั้งนี้ถ้าพูดถึงเรื่องความสะอาด คุณภาพอากาศภายในรถเมลไทย ตรงนี้ในฐานะที่มีโอกาสคลุกคลีกับคณะกรรมการที่เขียนสเป็คของรถ คิดว่าสิ่งที่เราขาดคือ ความรู้ ความเข้าใจที่แท้จริงของรถโดยสาร และความร่วมมือของทุกฝ่าย ยกตัวอย่างรถเมล์ที่ดี คงไม่ใช่รถราคาถูก แต่กระบวนการจัดซื้อ จัดจ้างของไทยต้องการรถที่ราคาถูกที่สุด แล้วจะหวังเรื่องคุณภาพที่ดีที่สุดอย่างไร ทางแก้ คือเขียนคุณสมบัติให้ได้มาตรฐาน แต่ตรงนี้ก็มีปัญหาอีกตรงที่ระเบียบ มาตรฐานของกรมการขนส่งทางบก หรือมาตรฐานอุตสาหกรรม เป็นมาตรฐานที่ต่ำ เมื่อเขียนสเป็คก็ต้องเขียนต่ำ เพราะถ้าเขียนสูงก็ถูกตั้งคำถามว่า เอื้อประโยชน์ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ คิดว่านี่เป็นปัญหาของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศไทย มันมีช่องว่างอยู่ระหว่างสินค้าที่มีคุณภาพและราคา รวมถึงความรู้ความเข้าใจของคนกำหนดระเบียบ สุดท้ายอาจจะสำคัญที่สุด คือการให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ใช้ ว่าผู้ใช้ควรจะได้สินค้าที่ดี ที่มีคุณภาพแบบไหน คิดว่า เวลานโยบายกำหนดมาก็มีการกำหนดเงื่อนไขมาด้วย แต่ไปบีบคนทำงานให้ไม่สามารถมองเป้าของผู้บริโภคเป็นหลัก หรืออย่างการจัดซื้อ จัดจ้างรถเมล์ ทำไม ขสมก.รถพัง รถหมดสภาพเยอะแยะ แต่การจัดซื้อต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ในเวลา 10 ปีนี้ประชาชนสูญเสียโอกาสในการได้ใช้บริการรถเมล์ที่ดีไปแค่ไหน “คนใช้บริการรถเมล์เป็นคนที่รายได้ไม่สูง คนกลุ่มนี้ไม่มีปากมีเสียง นี่คือปัญหาสำคัญ คนมีปาก เสียงคือคนใช้รถยนต์ส่วนตัว ได้สิทธิประโยชน์ในการขยายถนน ลดภาษี แต่คนใช้รถโดยสารประจำทางไม่สามารถส่งเสียงให้ฝ่ายนโยบายได้ยินได้ ทำให้กระบวนการจัดซื้อยืดยาว และได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ปัญหาเลยตามมา นี่เป็นปัญหาเชิงระบบ โครงสร้างนโยบายของประเทศ” วันนี้มีรถเมล์ชานต่ำเข้ามาแล้ว แต่การพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับคนทุกกลุ่ม ทั้งความสะอาด การอำนวยความสะดวกต่างๆ  เข้าใจว่าได้ทำไปพอสมควร แต่ไม่สามารถตอบได้ว่า ณ วันนี้ มันเอื้ออำนวยมากน้อยแค่ไหน แต่เราก็เห็นจุดที่เป็นข้อบกพร่องปรากฏออกมาเป็นระยะๆ  ในภาพรวมทางเท้า ป้ายรถเมล์ พื้นที่สาธารณะ คนเดินถนน ในกทม. รัฐบาลให้ความสำคัญน้อยมาก ส่วนตัวไม่คิดว่าแนวคิดการขยายถนนเพื่อรองรับปริมาณรถยนต์แล้วจะทำให้การจราจรคล่องตัวนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ขยายถนนเท่าไหร่รถก็ยังติด การไม่ให้ความสำคัญกับการทำทางเท้าที่มีคุณภาพ ทั้งแคบ สกปรกและเหม็นขยะ ไม่เรียบ ไม่มีความปลอดภัย ใครจะอยากเดินมาขึ้นรถเมล์ตราบใดที่รัฐบาล หรือ กทม. ไม่ได้ใส่ใจวางนโยบายให้ความสำคัญกับทางเท้ามากกว่าการขยายถนน ที่ผ่านมามักได้ยินนโยบายการหาเสียงว่าจะแก้ปัญหาการจราจรภายในระยะเวลาเท่านั้น เท่านี้ เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีถนนเพิ่ม คนก็ซื้อรถเพิ่มเป็นธรรมดา แต่ถ้าเราขยายพื้นทางเดินเท้าให้ประชาชน ปรับปรุงเรื่องคุณภาพ และความสะอาด คิดว่าประชาชนจะค่อยๆ ปรับพฤติกรรมมาใช้รถสาธารณะมากขึ้น ทางเดินเท้าคือสิ่งสำคัญเช่นกัน บรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ธุรกิจเฉพาะกลุ่มคน ใครจะเปิดก็ต้องระบุให้ชัดว่าต้องมีพื้นที่สำหรับการจราจรภายใน ไม่ใช่สร้างปัญหารถติดบนท้องถนนส่วนรวม เพราะทำให้ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องเดือดร้อนไปด้วย.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 แร่ใยหินที่รัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้ แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมี

นับแต่มี มติ ครม. ให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เมื่อเดือนเมษายน 2554 ผ่านมา 7 ปีแล้ว ทุกวันนี้ประเทศเรายังนำเข้าแร่ใยหินประมาณ 4 หมื่นตันทุกปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า แม้แต่คำสั่งของรัฐบาลก็ใช่ว่าจะมีผลในทางปฏิบัติได้ง่ายๆ สำหรับประเทศนี้  แร่ใยหินเป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพตัวที่สำคัญที่สุด      แร่ใยหิน เป็นกลุ่มของแร่ในธรรมชาติจำพวกเส้นใยเซอร์เพนไทน์(serpentine) หรือแอมฟิโบล(amphibole) ซึ่งเป็นแร่ที่มีประโยชน์ทางการค้าเนื่องจากมีคุณสมบัติแข็งแรง เป็นสื่อนำความร้อนต่ำและทนทานต่อการกัดกร่อนของสารเคมี จึงนิยมนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความทนทานสูงทั้งความร้อนและกรด ด่าง เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ฝ้าเพดาน ฉนวนกันความร้อน ท่าน้ำซีเมนต์ เบรกและคลัทช์รถยนต์ เสื้อกันไฟ เป็นต้น แต่เพราะก่ออันตรายสูงโดยเฉพาะต่อคนทำงานที่ต้องสัมผัสแร่ตลอดเวลา ซึ่งมีผลการศึกษายืนยันชัดเจนว่า แร่ใยหิน เป็นต้นเหตุราวครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตด้วยมะเร็งจากการประกอบอาชีพ   และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภควัสดุที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินได้อีกด้วย หากเกิดกรณีที่วัสดุเสื่อมสภาพจนฝุ่นแร่ฟุ้งกระจายออกสู่อากาศ       แร่ใยหินชนิดหลัก คือ ไครโซไทล์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มสารเซอร์เพนไทน์ ปัจจุบันยังคงมีการใช้อยู่ ขณะที่กลุ่มแอมฟิโบล เกือบทุกประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกการนำเข้าแล้ว รวมทั้งประเทศไทยด้วย      สำหรับประเทศไทยมีการใช้แร่ใยหินมาอย่างยาวนาน เพราะไม่มีการทำเหมืองแร่ใยหินในไทย ดังนั้นเกือบทั้งหมดจึงเป็นการนำเข้า โดยเริ่มมีการนำเข้าตั้งแต่ปี 2518 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ  เคยนำเข้าสูงสุดถึงเกือบ 180,000 ตัน ในปี 2540 ก่อนฟองสบู่แตก จนถึงปัจจุบันไม่น่าเชื่อว่าขณะที่หลายประเทศ ซึ่งกังวลต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ได้สั่งห้ามการนำเข้าแร่ใยหินทุกชนิด แต่ไทยยังติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศผู้นำเข้าแร่ใยหินมากที่สุดในโลก ส่วนประเทศผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ ของโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ รัสเซีย จีน บราซิล คาซัคสถานและแคนาดา ตารางการนำเข้าแร่ใยหินข้อถกเถียงเรื่องการก่อมะเร็งของไครโซไทล์      ประเทศไทยยังมีการนำเข้าแร่ใยหิน ไครโซไทล์ ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ทั้งที่มากกว่า 60 ประเทศทั่วโลกต่างก็ยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกชนิดแล้ว เพราะห่วงใยต่อสวัสดิภาพของคนในประเทศ ประเทศไทยเองก็มีคณะทำงาน (เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประไทย หรือ T-BAN) ที่ติดตามเฝ้าระวังและพยายามผลักดันให้เกิดการห้ามใช้แร่ใยหินทุกชนิดในประเทศไทย ด้วยเหตุผลว่าการใช้แร่ใยหินเพื่อทำเป็นวัสดุต่างๆ นั้น  ส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน วิธีที่ดีที่สุดคือ หยุดการใช้ทันที  ซึ่งการทำงานทั้งทางด้านวิชาการและรณรงค์ภาคสังคม ทำให้เกิดมติคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 12 เมษายน 2554 ที่เห็นชอบตามยุทธศาสตร์ “สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ที่เสนอโดยสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยเห็นชอบแนวทางห้ามนำเข้า แร่ใยหินไครโซไทล์และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินทุกชนิด พร้อมมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติต่อไป      หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าและส่งออก กฎหมายว่าด้วยโรงงานและกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำเนินการประกาศห้ามนำเข้าได้ทันทีหรือวางแนวปฏิบัติในการยกเลิกให้ชัดเจน กลับไม่ดำเนินการใดๆ โดยยกเหตุผลว่า  “ประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แร่ใยหินไครโซไทล์อยู่ ด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยจะต้องมีการระบุถึงวัสดุทดแทนแร่ใยหินที่มีอันตรายน้อยกว่าหรือไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ”  (เหตุผลดังกล่าวไม่มีน้ำหนักแล้ว เมื่อเทคโนโลยีปัจจุบันได้มีวัสดุทดแทนแร่ใยหินแล้ว ซ้ำยังมีราคาถูกกว่าอีกด้วย)      ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงยังไม่มีมาตรการใดๆ ต่อมติ ครม. ดังกล่าว จากที่เคยคาดการณ์กันว่า ประเทศไทยน่าจะยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินได้แล้ว กลับยังต้องรอต่อไป เหมือนปล่อยให้คนไทยยังต้องเสี่ยงต่อภาวะโรคที่เกิดจากแร่ใยหิน ซึ่งในความเป็นจริงนั้น แม้แต่จะยกเลิกได้ทันทีในปี 2554  แต่ในอนาคตก็จะยังมีผู้ป่วยจากแร่ใยหินเกิดขึ้นอีก เนื่องจากประเทศไทยมีการใช้แร่ใยหินกันมานานหลายสิบปี และโรคที่เกิดจากแร่ใยหินมีระยะฟักตัวยาวนาน ดังนั้นการลดอันตรายที่ดีที่สุดจึงควรเป็นการหยุดใช้ทันทีเพื่ออนาคตของคนรุ่นถัดไป การทอดเวลาหยุดนำเข้าออกไปเรื่อยๆ ก็เหมือนกับการปล่อยให้คนไทยยังคงเสี่ยงต่อภัยของแร่ใยหินหรือเพิ่มผู้ป่วยขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นเอง      แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการแน่นหนา แต่ขณะเดียวกันกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์กลับดำเนินการโต้ตอบทางข้อมูลว่า ไครโซไทล์ปลอดภัยในการใช้ และไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แม้แต่เจ้ากระทรวงอุตสาหกรรม นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ซึ่งให้สัมภาษณ์ไว้ในข่าวของไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 12 มกราคม 2558 ถึงความก้าวหน้าในการห้ามการนำเข้าแร่ใยหินยังกล่าวว่า “...การแก้ปัญหาที่เหมาะสมคือปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยขณะนี้ผู้ผลิตกระเบื้องทั่วโลกกำลังทยอยยกเลิกการใช้แร่ใยหิน และในไทยเหลือเพียง 2 ราย ที่อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตอีก ทั้งยังไม่พบรายงานผู้ที่ได้รับอันตรายจากการใช้กระเบื้องมุงหลังคาที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน...”      นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคคลที่ระบุว่า เป็นศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ อ้างว่า แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นใยหินประเภทที่ก่ออันตรายน้อยมาก ใช้กันมากกว่า 70 ปี ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบใยหินที่รู้จักกันดี ได้แก่ กระเบื้องซีเมนต์มุงหลังคา ท่อน้ำซีเมนต์ชลประทานและท่อประปา ขนาดใหญ่ ฉนวนต่างๆ และผ้าห้ามล้อและจานคลัตช์ คนไทยดื่มน้ำฝนจากหลังคา และน้ำประปาจากท่อน้ำใยหินมาหลายสิบปี ยังไม่ปรากฏว่ามีใครเป็นโรคจากใยหิน      ข้ออ้างดังกล่าวขัดแย้งกับผลการศึกษาทั้งในประเทศและองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งยืนยันว่า แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง โดยมีโรคที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสแร่ใยหินที่สำคัญ ได้แก่ โรคหรือภาวะผิดปกติที่เยื่อหุ้มปอด (น้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ปอดแฟบเป็นก้อน เยื่อหุ้มปอดหนาตัวเป็นหย่อม เยื่อหุ้มปอดหนาตัวทั่วไป) พังผืดในปอดจากแร่ใยหิน มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อเลื่อม(เมโสเธลิโอมา) มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งรังไข่และเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ผศ.ดร.นพ.ณรงค์ภณ ทุมวิภาต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้บรรยาย เรื่อง “แร่ใยหิน : ภัยเงียบที่องค์กรผู้บริโภคคุณภาพต้องรู้” ภายในงานประชุมวิชาการองค์กรผู้บริโภคคุณภาพว่า จากโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุแร่ใยหิน โดย ศ.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ ซึ่งได้อาศัยข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2558-2559 พบว่า มีการรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหิน 385 ราย แต่จากการที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ดำเนินการยืนยันความถูกต้อง พบว่า มีผู้ป่วยโรคเหตุใยหินจริง 28 ราย แบ่งเป็นมะเร็งเยื่อเลื่อม 26 ราย ประกอบด้วย มะเร็งเยื่อหุ้มปอด 21 ราย มะเร็งเยื่อบุช่องท้อง 3 ราย มะเร็งเยื่อหุ้มหัวใจ 1 ราย และมะเร็งที่อัณฑะ 1 ราย พังผืดในปอดจากแร่ใยหิน 1 ราย และเยื่อหุ้มปอดหนาตัวเป็นหย่อม 1 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสแร่ใยหินจากการประกอบอาชีพ     ทั้งยังระบุอีกว่า “ประเทศไทยมีปัญหาการวินิจฉัยโรคจากแร่ใยหินได้น้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมีข้อจำกัด คือ รอยโรคปอดจากแร่ใยหินมีความคล้ายกับโรคปอดชนิดอื่น อาจทำให้แพทย์คาดไม่ถึงว่า เกิดจากแร่ใยหิน ประกอบกับโรคที่เกิดขึ้นมีระยะฟักตัวของโรคนานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป เช่น พังผืดในปอดจากแร่ใยหินใช้เวลา 20-40 ปี มะเร็งปอดมากกว่า 15 ปี มะเร็งเยื่อหุ้มปอดยิ่งน่ากลัว เพราะใช้เวลามากกว่า 40 ปี และยังหาการสัมผัสแร่ใยหินขั้นต่ำที่ทำให้เกิดโรคไม่ได้ เป็นต้น จนทำให้ผู้ป่วยหลงลืม ทำให้ไม่สามารถซักประวัติโดยละเอียดได้ เพราะคนที่เคยสัมผัสแร่ใยหินอาจมีการเปลี่ยนงานมานาน รวมถึงอาจมีพฤติกรรมเสี่ยงจากปัจจัยอื่น เช่น สูบบุหรี่ ทำให้ไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ชัดเจน ทำให้คนที่ไม่อยากแบนแร่ใยหิน เอาข้อมูลนี้มาบอกผิดๆ ว่า คนป่วยไม่เคยสัมผัสแร่ใยหินมาก่อน จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย หากไม่เคยสัมผัสคงไม่ป่วย และย้ำว่า การไม่มีประวัติสัมผัสไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการสัมผัสมาก่อน เพราะการซักประวัติอาจไม่ละเอียดพอ ทำให้ไม่มีการบันทึกในข้อมูลผู้ป่วย”แนวทางในการยุติการนำเข้าแร่ใยหินและการป้องกันกลุ่มเสี่ยงสำคัญ คณะทำงานในโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ได้เสนอแนวทางการเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ได้แก่ การตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงในโรงงานหรืออาชีพที่สัมผัสใยหิน ควรมีการบังคับใช้กฎหมายในการให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หากไม่ดำเนินการต้องมีการลงโทษตามกฎหมาย นอกจากนี้ ต้องจัดทำทะเบียนคนงานที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหิน โดยสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ควรจัดระบบเฝ้าระวังติดตามกลุ่มคนงานทั้งในกลุ่มคนงานที่สัมผัสแร่ใยหินและคนงานก่อสร้างอิสระในระยะยาว รวมถึงหาแนวทางในการดูแลสุขภาพคนเหล่านั้นหากเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคเหตุใยหินภายหลังออกจากงานไปแล้ว ที่สำคัญคือการหาแนวทางติดตามคนงานในระยะยาวโดยไม่สูญหาย     ส่วนแนวทางในการยุติการนำเข้า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาแม้เครือข่ายนักวิชาการและกลุ่มองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีการนำเสนอเหตุผลและหลักฐานทางวิชาการเกี่ยวกับอันตรายของแร่ใยหินมากเพียงใดก็ตาม แต่ภาครัฐก็ยังไม่มีการประกาศเป็นนโยบายที่ชัดเจน รวมทั้งไม่มีมาตรการระดับประเทศที่จะนำไปสู่การสร้างหลักประกันสูงสุดให้กับประชาชน  กุญแจดอกสำคัญอยู่ที่หน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงคือ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นหลักแทนที่จะมองถึงผลได้ผลเสียแต่ในเชิงเศรษฐกิจ     หรืออาจต้องทำดำเนินการตามข้อเสนอของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณาเรื่องการแบนแร่ใยหิน และ คณะกรรมการพิจารณาสารเคมี 3 ชนิด คือ คณะกรรมการชุดเดียวกัน ซึ่งมีกลุ่มคนที่สนับสนุนการใช้สารพิษรวมอยู่ ซึ่งเมื่อดูแล้วจะพบว่า   ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องเดียวกันที่กระทบกับสุขภาพประชาชน ดังนั้นมันมีความชัดเจนแล้วว่ามันมีผลต่อสุขภาพ หากยังมีการใช้เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งเพิ่มปริมาณผู้ป่วยขึ้นไปอีก สิ่งที่จะต้องทำเพื่อให้ทั้งสองเรื่องมีความเป็นไปได้ คือ    การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตัวคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่มีอำนาจตัดสินใจ หรือไม่ก็ต้องพิจารณาให้มีการแบนไปเลยทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 มือถือกับเด็ก ภัยจากเทคโนโลยีที่ยากจะควบคุม

มาถึงศตวรรษนี้แล้วคงไม่มีใครปฏิเสธการเข้ามาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตให้ง่ายขึ้นด้วยปลายนิ้ว จนปัจจุบันกลายมาเป็นปัจจัยที่ 5 ที่มนุษย์ทุกคนแสวงหา อย่างไรก็ตาม ในแง่มุมตรงกันข้าม ความง่ายของมันทำให้เกิดปัญหาตามมาได้หากใช้โดยไม่รู้เท่าทัน จากผู้ที่กุมโลกทั้งใบเอาไว้ในมืออาจกลายเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะ “เด็ก” ที่อยู่ในช่วงการสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกาย สมอง สติปัญญา ทักษะชีวิตและการเข้าสังคม เมื่อราวๆ กลางปี 2561 นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันพบเด็กเล็กเป็น “โรคไฮเปอร์เทียม” มากขึ้น คือมีอาการคล้ายโรคไฮเปอร์แต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย เกิดจากการเลี้ยงดูด้วยการ “ปล่อยให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เล่นแท็ปเล็ต สมาร์ทโฟนเพื่อทำให้เด็กนิ่ง ไม่ซน” ในวงการจิตแพทย์พบว่าความเร็วของภาพในเกม ซึ่งเปลี่ยนทุก 3 วินาทีจะส่งผลโดยตรงต่อสมองทำงานไม่ลงตัว คุมสมาธิไม่ได้ ทำให้ทักษะการอ่าน การเขียน การพูดของเด็กแย่ลง อารมณ์ร้อน รอคอยไม่เป็น มีปัญหาการอยู่ร่วมกับเด็กวัยเดียวกันหรือคนอื่น นอกจากนี้ เมื่อเด็กอยู่กับสมาร์ทโฟน ติดกับความสนุกสนานของภาพเคลื่อนไหว เด็กจะนั่งนิ่ง ไม่มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและมวลกล้ามเนื้อต่างๆ รวมถึงการสื่อสารกับคนรอบข้าง นับเป็นจุดเริ่มต้นของผลกระทบด้านลบ ปัญหาแสงสีฟ้ากับสายตาขี้เกียจ นพ.ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าการใช้สมาร์ทโฟนมีผลทำให้เด็กสายตาสั้นมากขึ้น และแสงสีฟ้าจากจอโทรศัพท์มือถือก็มีผลทำให้คนรุ่นหลังๆ เสี่ยงเป็นโรคต้อกระจกมากขึ้น และเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ขอเริ่มที่ “ปัญหาแสงสีฟ้า” ก่อน แสงที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่นแสงแดด ประกอบด้วยสีหลายสี เช่น คราม น้ำเงิน แสงสีฟ้า เขียว เหลือง แสด แดง เป็นต้น แต่ละสีมีคลื่นความถี่แตกต่างกัน  แสงสีฟ้าที่มีในจอโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นแสงความยาวคลื่นที่มีความถี่สูงกว่าแสงสีชนิดอื่นๆ จึงมีพลังงานสูงกว่าแสงสีอื่น ทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่บริเวณจอประสาทตามากขึ้น ซึ่งวงการแพทย์มีความเป็นห่วงว่าอาจจะทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เร็วกว่าเวลาอันควร ซึ่งโรคนี้จะนำมาซึ่งการสูญเสียการมองเห็น “สมัยก่อนเราจะพบโรคนี้ในคนที่ทำงานกลางแจ้ง แต่ก็มักพบเมื่ออายุประมาณ 70-80 ปี ขึ้นไปแล้ว แต่การที่เด็กเล่นโทรศัพท์ โดยเฉพาะการเล่นตอนกลางคืนจากเดิมที่ตอนกลางวันก็โดนแสงธรรมชาติอยู่แล้ว ก็ยังมาโดนแสงโทรศัพท์อีก ยิ่งถ้าปิดไฟเล่นจะทำให้ม่านตาขยายเข้าไปมากกว่าเดิม ดังนั้นจักษุแพทย์จึงเป็นห่วงว่าคนในยุคหน้าจะเป็นจอประสาทตาเสื่อมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น” มาที่ผลกระทบของการใช้โทรศัพท์มือถือที่ทำให้เด็กมีปัญหาสายตาสั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเล่ากันยาวหน่อย คือ เนื่องจากเมื่อมีการใช้สายตามองในระยะใกล้ๆ ทำให้เด็กต้องใช้สายตามากขึ้น และการเพ่งสายตามากขึ้นจะทำให้เกิดปัญหา “สายตาสั้นเทียม” หมายความว่าเด็กมีอาการเพ่งค้างของสายตา มองไกลไม่ชัด เมื่อไปพบจักษุแพทย์แล้วหยอดยาลดการเพ่ง จากนั้นก็วัดค่าสายตาแล้วจะพบว่าไม่มีปัญหาจริงๆอย่างไรก็ตามมีการศึกษาวิจัยทั่วโลก โดยเฉพาะโซนเอเชีย พบว่าการใช้สายตามองใกล้มากๆ ของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ค่อยได้ออกไปเล่นกลางแจ้ง หรือมองไกลๆ เลยจะทำให้มีปัญหาสายตาสั้นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีกรรมพันธุ์พ่อแม่สายตาสั้น เด็กที่เล่นสมาร์ทโฟนมากขึ้นก็ยิ่งทำให้สายตาสั้นมากขึ้น เร็วขึ้นกว่าเวลาอันควร ปัจจุบันบางประเทศพบเด็กสายตาสั้นครึ่งหนึ่งของเด็กทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน“ยิ่งอายุน้อยยิ่งมีผลกระทบเยอะ เพราะว่าความสามารถในการเพ่งจะมากที่สุดตั้งแต่ตอนเกิดและค่อยๆ ลดลง รวมทั้งความสามารถในการขยายตัวของลูกตาที่มีผลทำให้สายตาสั้นนั้นจะพบเร็วมากในช่วง 2 ขวบแรก เพราะเป็นช่วงที่ลูกตามีโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้สูง ดังนั้นถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เราไม่แนะนำให้เล่นเลย เพราะว่าลูกตายังมีความบอบบาง ยังไม่แข็งแรงพอ ถ้าทำให้เด็กมีการเพ่งตั้งแต่อายุยังน้อยก็มีโอกาสที่จะเกิดสายตาสั้นเร็วมากขึ้น” รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาคือเวลาที่เด็กมีปัญหาสายตา ไม่ว่าจะสั้นเทียมหรือสั้นจริง เด็กอาจจะไม่รู้ว่านั่นคือปัญหา จึงไม่ได้บอกผู้ปกครอง แน่นอนว่าเมื่อมีปัญหาการมองเห็นแล้วย่อมมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ด้านอื่น ตามมา ที่กังวลคือมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความพิการถาวรจากโรค “สายตาขี้เกียจ” คือเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ เป็นเวลาทองของการพัฒนาจอประสาทตา หากมองไม่ชัด ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม จะทำให้จอประสาทตาไม่พัฒนา เมื่อจอประสาทตาไม่พัฒนา มารู้ตัวอีกทีหลังจากที่เด็กมีอายุมากกว่า 10 ขวบแล้ว จะแก้ไขให้กลับมามองเห็นปกติไม่ได้ ต่อให้ตัดแว่นให้ใส่ก็ตาม ทั้งนี้ เมื่อตามองไม่ชัด สมองก็ไม่พัฒนา สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือตาเหล่ คือข้างหนึ่งมองเห็นปกติ ข้างหนึ่งไม่ปกติ หากไม่ได้รับการแก้ไข ข้างนั้นจะพิการไป แต่ปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งคือสายตาผิดปกติ ปัจจุบันพ่อแม่ที่พาลูกเข้ามาตรวจกับจักษุแพทย์พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งมีปัญหาสายตาสั้น และเกือบทุกรายมีปัญหาติดโทรศัพท์มือถือ แนวทางการป้องกันมีข้อแนะนำว่าไม่ควรให้เกิดการเพ่งอย่างต่อเนื่อง เรามีสูตร 20 : 20 : 20 คือ เมื่อเด็กใช้สายตามองใกล้ทุก 20 นาที ต้องหยุดพักมองไกลๆ อย่างน้อย 20 ฟุต อย่างน้อย 20 วินาที ถึงจะกลับมาใช้มือถือต่อได้  ส่วนระยะห่างจากมือถือกับดวงตาควรห่างกันประมาณ 33-40 เซนติเมตร ไม่ควรปิดไฟเล่น อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างแล้วแต่บริบท แต่ที่ต้องย้ำคือ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรใช้สมาร์ทโฟน  ส่วนวัยที่โตมาหน่อยเข้าใจว่า ทุกวันนี้เราไม่สามารถกันเด็กออกจากมือถือหรือเทคโนโลยีได้ แต่ต้องใช้อย่างเหมาะสม ดังนั้นต้องมีกติกาการใช้ ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นที่ตั้งเวลาการใช้งานได้ หรืออย่างไต้หวัน ที่มีกฎหมายให้เด็กมีกิจกรรมกลางแจ้งอย่างน้อยวันละ 90 นาที มือถือพาเด็กเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่ได้อย่างง่ายดายและน่าเป็นห่วงรศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบเด็กอายุประมาณ 9 เดือน ถูกเลี้ยงดูด้วยสมาร์ทโฟน พ่อแม่จะเปิดการ์ตูนในยูทูปให้ดู ตั้งค่าเอาไว้เลย 4-5 เรื่อง ซึ่งก็พบว่าเด็กอายุแค่นั้นสามารถใช้เองได้ด้วย เด็กอยากดูเรื่องไหนก็เอามือจิ้มๆ เข้าไป รู้จักการไถมือ เราพบว่าตัวเด็กเองนั้นสนใจมาก มองตาม ฟัง อยู่นิ่งๆ ได้นาน จนกระทั่ง 10-12 เดือน ก็ติดมือถือแล้วที่ผ่านมามีเด็ก 3-4 คนที่มาคลินิกผม เด็กพวกนี้พูดภาษาอังกฤษเก่งมาก สำเนียงชัดมากจากการดูยูทูปพวกนี้ ถือว่ามีประโยชน์เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ผู้ปกครองพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แต่ในทางกลับกันก็พบว่าเมื่อถึงวัยที่เด็กไปโรงเรียน เด็กก็ไม่ยอมเล่นกับเพื่อน ไม่คุย แยกตัวอยู่คนเดียว พูดภาษาอังกฤษได้ แต่สื่อสารกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง “เราจะสังเกตว่าภาษาเป็นการสื่อสารของมนุษย์ มีภาษาพูด จะมองตา มองปาก ขณะคุยกันจะมีการสื่อความรู้สึกไปพร้อมกับภาษาพูด ในเด็กเล็กซึ่งเป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนา ถ้าเล่นแต่มือถือ  เรียนรู้การสื่อสารผ่านมือถือซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว อยู่กับเรื่องเรียนภาษา สำเนียง โดยไม่มีอารมณ์ ความรู้สึก จนก่อพฤติกรรมการแยกตัว เขานึกไม่ออกหรอก ว่าการสื่อสารกับมนุษย์จริงๆ ต้องใช้อารมณ์แบบไหน เขาไม่รู้ โตมาหวังจะแก้ไขให้เขารู้จักสื่อสารด้วยความรู้สึก ความรัก ความเกลียดชังต่างๆ มันสร้างได้ยาก ถามว่าแก้ได้ไหม บอกเลยว่าแก้ยาก และจะเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพจิตในอนาคต”รศ.นพ.อดิศักดิ์ บอกว่า ถ้าเป็นการเล่นและติดโทรศัพท์มือถือในกลุ่มเด็กโต ก็จะมีปัญหาคนละแบบ ส่วนใหญ่มักเล่นเกมเพื่อความสนุก  แต่ก็มีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งเพื่อการเรียนรู้  ลึกลับ รุนแรง ยิงกันเลือดสาด เรื่องเพศ เป็นต้น หากล้นมากๆ จนไร้การควบคุมก็จะนำไปสู่การสูญเสียพัฒนาการ ไม่กิน ไม่นอน และเกิดปัญหาเด็กติดเกมตามมา“อาการติดเกม”  เป็นอาการที่คล้ายกับการติดสารเสพติด ติดยา เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารในสมอง ต้องการเกมที่แรงขึ้น เครื่องมือที่ดีขึ้น ใครห้ามจะโกรธ โมโห มีอารมณ์ ต้องใช้การบำบัด ปรับพฤติกรรม “ถอนออกจากเกม” เหมือนรักษาการติดยา แต่ก็เป็นพฤติกรรมที่แก้ไขได้ อย่างไรก็ตาม นอกจากเกมแล้วยังพบการติดโซเชียลมีเดียรูปแบบอื่นที่มากับโทรศัพท์มือถือ เช่น เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ไลน์ ดูนั่นดูนี่ เปิดทั้งวัน ปิดไม่ได้ ถ้าไม่ได้ดูจะมีความกังวล ฯลฯ  ยิ่งปัจจุบันพบว่าเด็กสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เหมือนกับผู้ใหญ่ เพราะไม่มีการแยกแยะกลุ่มเนื้อหาเฉพาะ แม้จะบอกว่าแยกแล้ว แต่ในความเป็นจริงสามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด ทำให้เด็กเข้าถึงเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมได้อย่างง่ายดาย เช่น แค่พิมพ์คำว่า “โป๊” คำเดียว ก็ขึ้นมาเป็นเนื้อหาลามกอนาจารเลย พอเข้าไปแล้วคลิกอีก 2-3 ที ก็ดูได้แล้ว ซึ่งถ้าเทียบกับโลกแห่งความเป็นจริง สื่อประเภทหนังสือโป๊ สื่ออนาจาร ตลอดจนสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ ล้วนแต่ถูกควบคุมเอาไว้หมด แต่อินเทอร์เน็ตมีทุกอย่าง เข้าได้อย่างเสรี ดังนั้นถ้าสนับสนุนให้เด็กวันนี้ใช้สื่อโซเชียล โดยพวกผู้ใหญ่บอกว่าต้องส่งเสริมให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ต ทำทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ต ทำการบ้าน ส่งงานผ่านทางอินเทอร์เน็ต ก็ต้องออกแบบให้สามารถดูแลสภาพปัญหาที่ว่านี้ให้ได้ก่อน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างๆ ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่เก็บเงินเด็กแล้วเปิดไปมีแต่ภาพโป๊ ทั้งๆ ที่เป็นสายของเด็ก ต้องร่วมกันทำ “อินเทอร์เน็ตสีขาว” หรืออินเทอร์เน็ตที่เปิดมาแล้วเจอเนื้อหาที่ปลอดภัย หากจะเข้าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเฉพาะสำหรับผู้ใหญ่ถึงจะต้องมีการลงทะเบียนอีกรูปแบบหนึ่ง  “ปัจจุบันเด็กเข้าอินเทอร์เน็ตด้วยโทรศัพท์มือถือส่วนตัว หากไปลงทะเบียนกับบริษัทที่ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ต้องกำหนดรูปแบบอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยสำหรับเครื่องนั้น ซึ่งปัจจุบันทำได้อยู่แล้ว เช่น ต่ำกว่า 13 ปีห้ามใช้เฟซบุ๊ค เกมประเภทนี้เหมาะสมกับอายุเท่าไหร่ คือพ่อ แม่เป็นคนลงทะเบียนอินเทอร์เน็ตให้ หากมีการเข้าเว็บที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมกับอายุเด็ก ก็ตัดทันที ปัจจุบันมีบริการนี้อยู่แต่ไม่ค่อยได้ประชาสัมพันธ์ ที่ประเทศอังกฤษทำให้ฟรีเลย” ปัญหาอีกอย่างที่ซ่อนอยู่กับการใช้โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตของเด็กๆ คือ เรื่องความรุนแรง การล่วงละเมิดเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ผู้ใหญ่หรือมิจฉาชีพบางคนใช้การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียในการล่อลวงเด็ก หลอกขายสินค้า เสียเงินเสียทอง ที่หนักสุดคือการหลอกล่อพาเด็กไปทำอนาจารทางเพศ แน่นอนว่าเด็กผู้หญิงตกเป็นเหยื่อมากกว่าเด็กผู้ชาย และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง คือครอบครัวไม่เข้มแข็ง พ่อ แม่แยกทางกัน เป็นต้น “ผมมีคนไข้คนหนึ่งถูกหลอกลวงทางเพศจากแอปสนทนาทางโซเชียลมีเดีย 12 ครั้งเพื่อไปข่มขืน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางอยู่แล้วจากการที่พ่อ แม่แยกทางกัน ตัวเด็กเองอยู่กับพี่สาวสองคน เรื่องนี้เกิดขึ้นเยอะเหมือนกัน และเกือบทั้งหมดที่เข้ามาปรึกษา เป็นเหยื่อของคนที่เพิ่งรู้จักกันครั้งแรกผ่านทางโซเชียล” สำหรับข้อถกเถียงเรื่องคลื่นความถี่จากโทรศัพท์มือถือกับสมองนั้น ต้องเรียนว่า มีคนศึกษาเยอะว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีผลต่อมะเร็งในสมองหรือไม่ มีผลต่อมะเร็งกับเซลล์ชั้นในหรือไม่ แต่เข้าใจว่างานวิจัยยังไม่มีผลยืนยันชัดเจน ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วคลื่นแม่เหล็กนั้นจะมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ การใช้โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตผิดวิธีนั้นมีอันตราย ตั้งแต่การทำลายพัฒนาการ การเสพเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมซึ่งเป็นการบ่มเพาะพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว การใช้โดยที่ผู้ใหญ่เข้าถึงหรือป้องกันได้ยาก คนร้ายเข้าถึงตัวเด็กได้ง่าย ถูกล่อลวงทางเพศ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน “เด็กที่เสียชีวิต เด็กที่เสียพัฒนาการ เด็กที่ถูกกระทำนั้น เกิดขึ้นจริงแล้วในสังคม แต่ยังไม่ยอมแก้ไข ผู้ใหญ่หากมีการพูดถึงเรื่องนี้มักอ้างเรื่องของอิสรภาพ กระทรวงวัฒนธรรมเองพูดอย่างทำอย่าง ปากพูดถึงอินเทอร์เน็ตสีขาว แต่กลับทำยาก”อย่างไรก็ตาม การใช้โทรศัพท์มือกับเด็กไม่ใช่จะมีแต่เรื่องแย่ๆ ร้ายๆ ประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็กก็มี แต่ต้องมีการสร้างความสมดุลเพื่อให้มีโทรศัพท์มือถือเพื่อการเรียนรู้ของเด็กจริง อย่างกรณีการฝึกภาษา ตอนนี้ที่เราแนะนำเลยคือ เด็กต่ำกว่า 2 ขวบไม่ให้ใช้สื่อหน้าจอเลย หากจะใช้ในกรณีที่ต้องการฝึกภาษา ต้องเอามาเป็นเครื่องมือของพ่อแม่ในการสื่อสารกับลูก โดยเน้นเป็นการสบตาของพ่อ แม่ ลูก แล้วเอาโทรศัพท์มือถือมาสอนควบคู่ เช่น เปิดเสียงสัตว์ชนิดต่างๆ ประกอบ เป็นต้น ไม่ใช่เปิดทิ้งไว้ให้เด็กดูเพียงลำพัง อย่าปล่อยให้อยู่ด้วยกันเพียงลำพัง ลูกต้องติดใจที่ได้เล่นกับแม่หรือพ่อ แล้วยอมพูดตามสำเนียงตามโทรศัพท์มือถือ เพราะแม่เป็นคนถือ แม่เชียร์อยู่ ไม่ใช่เด็กติดใจมือถือ เราจะอยู่กันอย่างนี้ไม่ได้ การใช้อินเทอร์เน็ตต้องมีการควบคุมเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก พ่อแม่ต้องควบคุมการใช้งานทั้งเรื่องเนื้อหาและระยะเวลาที่ใช้งาน วันนี้เมืองไทยต้องมีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กจากสื่อออนไลน์ ล้อไปกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เป็นไปไม่ได้ที่ภายนอกมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 2546 บอกว่ามิให้ผู้อื่นผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ เช่น เอาเด็กไปอยู่ในจุดอันตราย กระทำร้ายต่อเด็ก ล่วงละเมิดต่อเด็ก เขียนไว้ในกฎหมายเยอะแยะ แต่ในอินเทอร์เน็ตกลับคุมไม่ได้ เอาเด็กเข้าไปอยู่ในจุดอันตราย เอาไปอยู่ในโซเชียลมีเดียเป็นการทำลายพัฒนาการเด็ก ถ้าบอกว่ามี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ดูแลอยู่ บอกเลยว่าไม่จริง ล่าสุดที่เพิ่งมีการแก้ไขกฎหมาย ยังไม่เห็นการพูดถึงเรื่องนี้ พ.ร.บ.คอมพ์ฯ พูดถึงแต่เรื่องคนที่เข้าไปล้วงข้อมูลออนไลน์จะผิดอย่างนั้น ผิดอย่างนี้ ไม่พูดถึงผู้ร้ายที่ขายของผิดกฎหมาย อย่างบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งไม่เข้าใจ เพราะกระทรวงพาณิชย์ออกกฎหมายห้ามนำเข้า กรมสรรพากรบอกว่าห้ามขายในประเทศ ผิดกฎหมาย แต่ในออนไลน์มีหมด ซื้อง่าย มีโฆษณาด้วย สิ่งผิดกฎหมายต่างๆ ที่ห้ามในโลกแห่งความเป็นจริงกลับพบว่ามีหมดเลยบนโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม พอพูดเรื่องการดูแลเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต ก็มักมีการอ้างเรื่องผลกระทบกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจหรือการจำกัดสิทธิเสรีภาพบ้าง แต่เปิดช่องให้ทำในเรื่องที่เป็นการกระทบกับพัฒนาการเด็ก พอพูดเรื่องนี้แล้วก็ขอเอ่ยถึงเรื่อง “อี-สปอร์ต” ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่กีฬา ไม่มีการส่งเสริมการออกกำลัง แต่มันคือเรื่องของธุรกิจ ซึ่งกระทบพัฒนาการเด็ก เป็นการเพิ่มจำนวนเด็กติดเกมอย่างเห็นได้ชัด แต่ด้วยความกลัวว่าเศรษฐกิจจะก้าวไม่ทันชาวบ้านเขา มหาวิทยาลัยเปิดสอนกันเยอะมาก เปิดสอนให้คนไปทำธุรกิจอี-สปอร์ตได้ แต่ไม่ได้สอนให้รู้โทษ  ร้านเกมในต่างจังหวัดเปลี่ยนเป็นศูนย์อี-สปอร์ต ทั้งนั้น เด็กเล่นเลอะเทอะไปหมด กฎระเบียบไม่ต้องมี เพราะการกีฬาอนุมัติ เพราะกลัวเศรษฐกิจไม่ทันกิน ก็เลยวางคุณภาพเอาไว้ก่อน  ปัจจุบันเห็นแล้วว่าถ้ามองแต่เศรษฐกิจเบื้องหน้า แต่คนไร้คุณภาพ ประเทศจะพัฒนาไปได้แค่ไหน ตอนนี้ต้องยอมรับว่า 4.0 หากไม่คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ มันไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ อัตราเด็กถูกทำร้ายและอัตราการเสียชีวิตของเด็กอาจเพิ่มมากขึ้น คิดว่าถ้าชั่งน้ำหนักแล้วไม่คุ้ม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ป้องกันตั้งแต่แรกดีกว่ามาตามแก้ไข  และเป็นเรื่องที่ต้องดูแลกันตั้งแต่ระดับนโยบาย จะให้เป็นเรื่องของครอบครัว หรือเรื่องบุคคลไม่ได้ เพราะความสามารถในการ “คิด วิเคราะห์ แยกแยะ” ของเด็กยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ การมีโทรศัพท์มือถือจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแล ใส่ใจ จากผู้ปกครอง รวมถึงผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมืองที่ต้องทำให้เด็กๆ ได้รับความปลอดภัย   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 รู้จักกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ตอนที่ 2

บทเรียนการทำคดีผู้บริโภคก่อนมีกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่มทุกวันนี้ปัญหาของผู้บริโภคที่เกิดมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแบบปัจเจกคือ เกิดกับคนๆ เดียว แต่ปัจจุบันมีปัญหาหลายกรณีที่เป็นปัญหาที่เกิดกับผู้บริโภคหลายคนในเวลาเดียวกัน เช่น กรณี สถานออกกำลังกายแคลิฟอร์เนีย ว้าวปิดตัวโดยไม่แจ้งลูกค้า หรือ กรณีอุบัติเหตุรถโดยสาร หรือ กรณีปัญหาสาธารณูปโภคบ้านจัดสรร ซึ่งเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว กระบวนการใช้สิทธิเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายของผู้บริโภค จะมีความแตกต่างกันตามสภาพของแต่ละบุคคลคือ ต้องแยกกันฟ้อง บางกรณีฟ้องคนละศาล ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งของคำพิพากษา หรือการไม่สะดวกต่อกระบวนการใช้สิทธิดังกล่าว ขอยกกรณีศึกษา จากการฟ้องคดีของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ผ่านมาดังต่อไปนี้ กรณีแคลิฟอร์เนีย ว้าวมีผู้บริโภคมากกว่า 600 ราย มาร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าได้รับความเสียหายจากการปิดกิจการของบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฯ  โดยไม่แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า เป็นเหตุให้สมาชิกจำนวนมากได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้บริการได้ตามสัญญา ทั้งที่ยังมีอายุสัญญาใช้บริการอยู่  และได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้วอีกทั้งยังพบว่า กรณีนี้มีการกระทำผิดหลายอย่าง เช่น การฝ่าฝืนประกาศ สคบ. เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา โดยกำหนดห้ามทำสัญญาเป็นสมัครสมาชิกเกิน 1 ปี แต่ทางแคลิฟอร์เนียเปิดรับสมัครสมาชิกตลอดชีพ เพื่อระดมเงินค่าสมัครของผู้ใช้บริการ ก่อนที่จะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปต่างประเทศ และทยอยปิดกิจการลงจนหมดสิ้น ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการทั่วประเทศกว่า 1 แสนราย ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ กรณีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะกรณีรถยนต์โดยสารประจำทางบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด วิ่งระหว่างเส้นทาง อ.แม่สะเรียง – จ.เชียงใหม่ แล้วรถเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำระหว่างทาง เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกว่า 40 คน  ผู้เสียหายแต่ละรายต้องใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแยกเป็นรายคดี เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย  ซึ่งผู้เสียหายที่เจ็บมากและเจ็บน้อย ต่างก็ต้องแยกฟ้องคดีส่วนของตนเอง ในทางปฏิบัติอาจฟ้องหลายๆ คนรวมกันได้ แต่มีความยุ่งยากค่อนข้างสูงกรณีรถยนต์ชำรุดบกพร่อง (เชฟโรเล็ต)  จากกรณีความชำรุดบกพร่องของสินค้ารถยนต์เชฟโรเลต ที่พบปัญหาในระบบส่งกำลัง ระบบเกียร์  ของรถยนต์รุ่นครูซ และแคปติว่า ของรถยนต์เชฟโรเลต โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ซื้อรถจนถึงปัจจุบัน แต่บริษัทก็ไม่สามารถแก้ไขให้รถมีสภาพปกติเหมาะกับการใช้งานได้แต่เมื่อคดีไม่สามารถเจรจาตกลงการเยียวยาได้ ผู้เสียหายทั้ง 7 ราย จึงตัดสินใจฟ้องบริษัท บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย ,  บริษัทผู้ขายรถยนต์ (ดีลเลอร์) และบริษัทเช่าซื้อ เป็นคดีผู้บริโภค ต่อศาลแพ่ง โดยฟ้องแยกเป็น 7 คดี เรียกค่าเสียหาย ทั้งนี้ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง 4 ประเด็น คือ1.ขอให้รับผิดชอบคืนเงินดาวน์และค่างวดการเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วทั้งหมด2.ขอให้บริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้สอยรถยนต์ต่อผู้ให้เช่าซื้อเต็มจำนวนแทนผู้บริโภค เนื่องจากสาเหตุที่ต้องบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและเรียกเงินคืนนั้นเพราะสินค้าชำรุดบกพร่องจากการผลิต ไม่ใช่จากการใช้งานปกติของผู้บริโภค3.ขอให้ศาลห้ามบริษัทฯ จำหน่ายรถยนต์รุ่นพิพาท และให้เรียกเก็บสินค้าดังกล่าวจนกว่าจะได้เปลี่ยนแปลงให้มีความปลอดภัย แต่หากแก้ไขไม่ได้นั้นห้ามผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่าย4.ขอเรียกค่าเสียหายต่อจิตใจที่ต้องหวาดกลัว วิตกกังวล ตลอดเวลาในการใช้รถยนต์พิพาทวันที่ 9 ตุลาคม 2558  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ 6 คดี ชนะคดีโดยศาลพิจารณาตามหน้าที่ของบริษัทที่ต้องชำระคืน ทั้งเงินดาวน์และเงินที่ผ่อนชำระค่างวดไปแล้ว นั้นก็คือผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ของบริษัทเชฟโรเล็ต คืนเงินดาวน์ทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่ชำระคืนให้ผู้บริโภคจนเสร็จ และให้บริษัทไฟแนนซ์ ผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์คืนเงินค่าเช่าซื้อที่ผ่อนไปทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันรับฟ้องคดีนกว่าจะชำระหมด  และให้โจทก์ชำระเงินค่าใช้รถยนต์ให้กับบริษัทผู้เช่าซื้อรถยนต์วันละ 100 บาท ตั้งแต่วันรับรถจนกว่าจะคืนรถ  แต่อีกคดี ปรากฏว่า แม้ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นเดียวกัน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ กลับพิพากษายกฟ้องโจทก์ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างโจทก์ขออนุญาตฎีกา ดังนั้น จะเห็นได้ว่าจากการฟ้องคดีรถยนต์ดังกล่าวนี้  แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นการฟ้องคดีที่ผู้เสียหายมีความเสียหายแบบเดียวกัน มีจำเลยคนเดียวกัน ในปัญหาข้อเท็จจริงแบบเดียวกัน แต่ก็ศาลก็อาจมีผลคำพิพากษาที่แตกต่างกันได้   จากตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นว่าปัญหาของผู้บริโภคหลายครั้งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะโดยสภาพของการทำธุรกิจ ย่อมเข้าถึงผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาจากการบริโภคสินค้าและบริการ จึงทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคจำนวนมาก บางครั้งการร้องเรียนหรือฟ้องคดีเพื่อให้ได้รับการชดเชยเยียวยา อาจไม่ได้รับการดูแลที่เท่าเทียมกัน และผู้บริโภคที่เสียหายแต่ละรายก็ไม่มีกำลังทรัพย์หรือความรู้ที่เท่าทันมากพอที่จะคุ้มครองสิทธิของตนเอง จึงจำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มของผู้เสียหายเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง มีตัวแทนกลุ่มในการเรียกร้องสิทธิ รวมถึงมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองประโยชน์ของคนจำนวนมากจากความเสียหายเดียวกัน[1] จุฬารัตน์  ยะปะนัน. หนังสือจุลนิติ พ.ค. - มิ.ย. 53[2] เกรียงศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์. สรุปสาระสำคัญการดำเนินคดีแบบกลุ่ม[3] ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “บทเรียน 10 ปี ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 รู้จักกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ตอนที่ 1

การดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action คืออะไร        การดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action เป็นหนึ่งในวิธีพิจารณาความ เพื่อเยียวยาความเสียหายให้แก่กลุ่มผู้เสียหายที่มีจำนวนหลายคน  ให้ทั่วถึง รวดเร็ว เป็นธรรม  สร้างภาระและค่าใช้จ่ายแก่ภาครัฐน้อยที่สุด  โดยมีรูปแบบการดำเนินคดีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เนื่องจากเป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ในการทำคดีเพียงครั้งเดียว และสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่มีความสามารถฟ้องคดีเพื่อตนเองได้ หรือผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจำนวนเพียงเล็กน้อย หลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดี และป้องกันความขัดแย้งกันของคำพิพากษา ตลอดจนเป็นมาตรการในการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประเทศไทย ได้ออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558 ว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา[1]คดีอะไรบ้างที่ฟ้องคดีแบบกลุ่มได้   การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะใช้ในกรณีที่มีผู้ถูกโต้แย้งสิทธิเป็นจำนวนมาก เช่น ในคดีคุ้มครองผู้บริโภคที่มีผู้เสียหายจำนวนมากจากการใช้สินค้าและบริการ ซึ่งเกิดจากผู้ประกอบการรายเดียวกัน หรือในคดีละเมิดที่มี ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำเป็นบุคคลจำนวนมาก   ซึ่งบ่อยครั้งความเสียหาย อาจเกิดจากอุบัติเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ ซึ่งแต่ละครั้ง ที่มีเหตุละเมิดดังกล่าวจะมีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำนั้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่พบปัญหามากขึ้นในปัจจุบัน เพราะการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในแต่ละครั้งนั้น จะมีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกันนอกจากนี้ ยังรวมถึง คดีอื่นๆ เช่น คดีแรงงาน คดีเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์   การแข่งขันทางการค้า  เป็นต้น[i] ศาลที่มีอำนาจรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีแบบกลุ่มได้   ศาลที่มีอำนาจรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีแบบกลุ่มได้  คือ ศาลยุติธรรมทุกศาล(ยกเว้น ศาลแขวง) ทั้งศาลแพ่ง  ศาลจังหวัด  ศาลภาษีอากร  ศาลแรงงาน  ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการ ค้าระหว่างประเทศ  เป็นต้น(แต่ไม่รวมไปถึงศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ) หลักการสำคัญของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม·ผู้ที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกันจะอยู่ในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่ม และเฉพาะสมาชิกกลุ่มที่เป็นโจทก์  เท่านั้นที่จะมีฐานะเป็นคู่ความในคดี·โจทก์และทนายความโจทก์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับสมาชิกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม โดยศาลจะต้องคัดเลือกผู้ที่จะเป็นโจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์อย่างละเอียดรอบคอบ·การเริ่มดำเนินคดีแบบกลุ่มจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน  เมื่อเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎหมายและตามข้อกำหนดที่จะออกตามมาที่จะสามารถดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ทุกประการแล้ว  การดำเนินคดีนั้นๆ ในศาลจะไม่เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่มโดยอัตโนมัติ  แต่โจทก์จะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่มต่อศาลเสียก่อน  และเมื่อศาลอนุญาตแล้ว  จึงจะให้ถือว่าการดำเนินคดีในคดีนั้นเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม การยื่นคำร้องฝ่ายโจทก์จะต้องเป็นฝ่ายยื่นคำร้องไปพร้อมกับการยื่นคำฟ้อง·การออกจากลุ่ม โดยสมาชิกกลุ่มมีสิทธิแสดงเจตนาต่อศาลในการขอออกจากการเป็นสมาชิก และไม่ประสงค์จะผูกพันในคำพิพากษาคดีแบบกลุ่ม เพื่อไปฟ้องคดีของตนเองได้·ผลของคำพิพากษาสมควรผูกพันบุคคลอื่นที่ไม่ได้เข้ามาในคดีโดยวิธีการแจ้งหรือประกาศเพื่อให้สมาชิกกลุ่มทราบถึงความเคลื่อนไหวของคดีและทราบถึงสิทธิของตน·โจทก์ ต้องมีความสามารถทำแทนคนอื่นได้ กล่าวคือ โจทก์จะต้องทำหน้าที่แทนสมาชิกกลุ่มทั้งหมดซึ่งอาจมีจำนวนมากโดยที่ไม่เคยพบปะกันมาก่อน และการทำหน้าที่ของโจทก์จะส่งผลกระทบต่อสมาชิกกลุ่มคนอื่นๆ โจทก์จึงเป็นตัวละครที่มีความสำคัญมาก จึงมีความจำเป็นที่ศาลจะต้องควบคุมตรวจสอบผู้ที่เป็นผู้แทนกลุ่มโดยเคร่งครัด ·กลุ่มบุคคล แม้ความเสียหายต่างกันก็ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้  หมายถึง บุคคลที่มีสิทธิอย่างเดียวกัน เนื่องจากข้อเท็จจริงและกฎหมายอย่างเดียวกัน และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มเหมือนกัน แม้ว่าลักษณะของความเสียหายจะแตกต่างกันก็ตาม เช่น นางสาวแดง ฟ้า และส้ม ซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่ง จากห้างสรรพสินค้าคนละที่ คนละจังหวัดกันไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่ปรากฎว่าพอทุกคนใช้เครื่องสำอางเกิดอาการเป็นผื่นแดง ผิวลอกลาย ต้องไปหาหมอเสียค่ารักษาพยาบาล กรณีเช่นนี้ทั้งสามคนถือว่าเป็นกลุ่มบุคคล เมื่อมาร้องเรียนและรวมกลุ่มกัน ก็สามารถตกลงกันให้ใครคนหนึ่งเป็นตัวแทน ฟ้องร้องและดำเนินคดีแบบกลุ่มกับบริษัทเครื่องสำอางได้ โดยคนที่เหลือก็เป็นสมาชิกกลุ่ม แม้แต่ละคนจะมีความเสียหายต่างกันก็ตาม ·ทนายความฝ่ายโจทก์ ต้องรับผิดชอบสูงจึงมีสิทธิได้รับเงินรางวัล หลังจากที่ศาลอนุญาตให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว ทนายความของโจทก์จะทำหน้าที่เป็นทนายความของกลุ่มด้วย ซึ่งบทบาทของทนายความฝ่ายโจทก์นี้ก็มีความสำคัญไม่แพ้ตัวโจทก์ เพราะทนายความจะเป็นผู้รวบรวมผู้ที่ได้รับความเสียหาย รวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งจ่ายเงินทดรองในการดำเนินคดีทั้งหมดไปก่อน เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแสวงหาพยานหลักฐานและค่าใช้จ่ายในการติดต่อประสานงานสมาชิกกลุ่ม เป็นต้น ซึ่งกฎหมายได้กำหนดความสามารถของทนายความฝ่ายโจทก์ไว้ว่า ต้องสามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม และต้องไม่มีผลประโยชน์ขัดหรือแย้งกับสมาชิกกลุ่ม หากปรากฏว่าทนายความไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม หรือเมื่อทนายความถอนตัว สมาชิกกลุ่มสามารถร้องขอต่อศาลให้มีการเปลี่ยนตัวทนายความฝ่ายโจทก์ได้  ทนายความของกลุ่มจึงมีภาระหน้าที่สูงกว่าทนายความคดีทั่วไป เนื่องจากต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ให้คนเป็นจำนวนมากและต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงในการออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปก่อน ดังนั้น เพื่อเป็นค่าตอบแทนและแรงจูงใจ กฎหมายจึงกำหนดให้ทนายความกลุ่มมีสิทธิได้รับเงินรางวัลทนายความ ศาลจะเป็นผู้กำหนดเงินรางวัลทนายความให้เมื่อการดำเนินคดีสิ้นสุดแล้ว โดยพิจารณาจากความยากง่ายของคดี และระยะเวลาการทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินแบบกลุ่ม  แต่ไม่เกินจำนวนร้อยละ 30 ของจำนวนค่าเสียหายที่สมาชิกกลุ่มมีสิทธิได้รับ โดยจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินรางวัลให้ทนายความ·ศาล ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงแบบเชิงรุก ในระบบวิธีพิจารณาปกติ ศาลจะดำเนินกระบวนการพิจารณาด้วยระบบกล่าวหา คือ โจทก์และจำเลยนำเสนอพยานหลักฐานของตนต่อศาล ศาลมีหน้าที่ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและตัดสินไปตามที่ปรากฏ แต่ในการพิจารณาคดีแบบกลุ่มนั้น ศาลจะมีบทบาทในเชิงรุกโดยใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณา กล่าวคือ ศาลมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้เอง ไม่ผูกพันอยู่เฉพาะแต่พยานหลักฐานที่คู่ความนำเสนอเท่านั้น  โดยมีเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มทำหน้าที่ช่วยเหลือศาล·เมื่อมีการพิจารณาคดีแบบกลุ่มแล้ว หากศาลเห็นว่าสมาชิกในกลุ่มได้รับความเสียหายต่างกัน ศาลก็สามารถแบ่งสมาชิกในกลุ่มออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้ เพื่อความสะดวกในการพิสูจน์เรื่องจำนวนค่าเสียหาย[2] สิทธิของสมาชิกกลุ่ม (ที่ไม่ได้เป็นโจทก์ผู้เริ่มคดี)       มีสิทธิดังนี้ 1. เข้าฟังการพิจารณาคดี2. ร้องขอต่อศาลถ้าเห็นว่าโจทก์ไม่มีคุณสมบัติหรือส่วนได้เสียในคดี3. ขอตรวจเอกสารหรือขอคัดสำเนาเอกสารในสำนวนความ4. จัดหาทนายคนใหม่แทนทนายที่ขอถอนตัวหรือที่ศาลสั่งเปลี่ยนทนาย5. ร้องขอเข้าแทนที่โจทก์6. คัดค้านสมาชิกอื่นในกลุ่มที่ร้องขอเข้าแทนที่โจทก์7. คัดค้านการที่โจทก์ขอถอนฟ้อง8. คัดค้านการตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ9. คัดค้านการตกลงเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด10.ตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของสมาชิกอื่น11. แต่งตั้งทนายความให้เป็นผู้ดำเนินการแทนตนตาม 1 ถึง 10 ข้างต้นได้ประโยชน์ของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม·ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี·เป็นมาตรการที่เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น·ทำให้การดำเนินคดีในปัญหาอย่างเดียวกันได้รับผลเป็นอย่างเดียวกันโดยจำเลยจะไม่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาที่แตกต่างกัน·ทำให้ผู้ที่จะฝ่าฝืนกฎหมายเกิดความยับยั้งชั่งใจในการที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย·เป็นมาตรการที่ได้รับความคุ้มครองผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และผู้ที่ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยให้ได้รับการเยียวยาแก้ไขตัวอย่างคดีผู้บริโภคที่มูลนิธิฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มนับตั้งแต่มีกฎหมายฟ้องคดีแบบกลุ่มประกาศใช้ในประเทศไทยในปี 2558  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม จึงมีการสนับสนุนผู้บริโภคให้เกิดการรวมกลุ่ม และฟ้องคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มในหลายกรณี ที่สำคัญ ดังนี้ 1.ฟ้องคดีสินค้าไม่ปลอดภัย กรณีเครื่องสำอางเมื่อวันที่   18  กันยายน  2560   กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องผู้ประกอบธุรกิจเป็นคดีผู้บริโภค และขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551  คดีนี้สืบเนื่องจากจำเลย เป็นผู้จำหน่ายเครื่องสำอางใช้ชื่อการค้าว่า “เมย์โรว”  โดยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง คือ เพิร์ลลี่ อินแทนซีพ ไวท์ โลชั่น เป็นเครื่องสำอางประเภทผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย เพื่อจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป ด้วยการโฆษณา และจำหน่ายสินค้าทางสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ค ตัวแทนจำหน่าย และอื่นๆ โดยได้โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเชื่อถือเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ของจำเลยว่า “ผิวขาวสวย ปัง ปัง ปัง”  “ขาวสุดพลัง ขาวได้มง อยากขาว ต้องลอง” และอื่นๆจากการโฆษณาชวนเชื่อของจำเลยดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ และผู้บริโภครายอื่นอีกหลายรายเชื่อว่าสินค้าของจำเลยเป็นจริงตามที่โฆษณา ปลอดภัยต่อสุขภาพ และร่างกาย จึงซื้อสินค้าของจำเลยมาใช้กับตนตามที่จำเลยโฆษณา แต่เมื่อมีการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายของจำเลยเป็นประจำทุกวัน ปรากฏว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา อันเกิดจากการแพ้สารเคมีที่ผสมอยู่ในเครื่องสำอางของจำเลย เมื่อไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย แพทย์วินิจฉัยว่าสาเหตุที่ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสม สารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้  ผลการดำเนินการ  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสี่ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ยกคำร้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และมีการประกาศแจ้งการดำเนินคดีแบบกลุ่มลงหนังสือพิมพ์ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่าง นัดพร้อมและนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว2.ฟ้องคดีสินค้าโฆษณาเกินความเป็นจริงเมื่อวันที่   30  มิถุนายน 2560   กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องบริษัท เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน  ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืน และเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน  1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา   คดีนี้สืบเนื่องจากจำเลย เป็นผู้จำหน่าย “กระทะโคเรียคิง (KOREA KING)” โดยจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั่วไป ด้วยการโฆษณา และจำหน่ายสินค้าของจำเลยทางสื่อโฆษณาทางช่องโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์ เฟสบุ๊ค และอื่นๆ โดยได้โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะเชิญชวนให้ผู้บริโภคทั่วไปเกิดความเชื่อถือว่าผลิตภัณฑ์ของจำเลยเป็นกระทะไม่ใช้น้ำมัน ทำอาหารไม่ติดกระทะ ราคาถูก เหมาะสำหรับทำอาหารคลีน หรืออาหารเพื่อสุขภาพ เป็นกระทะที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย  จากการโฆษณาชวนเชื่อของจำเลยดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสอง และผู้บริโภครายอื่นๆ อีกจำนวนมากหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยมีราคาแพง แต่จำเลยจัดรายการส่งเสริมการขาย(PROMOTION) จำหน่ายในราคาพิเศษ และสินค้ามีคุณสมบัติเป็นจริงตามที่โฆษณา รวมทั้งปลอดภัยต่อสุขภาพ และร่างกาย จึงสำคัญผิดในสาระสำคัญของราคา และคุณสมบัติของสินค้าจำเลย จึงซื้อสินค้าจำเลยมาใช้กับตนและครอบครัวตามที่จำเลยโฆษณา  เมื่อโจทก์ทั้งสองและผู้บริโภครายอื่นๆ ได้ใช้สินค้าของจำเลยตามวิธีการที่จำเลยโฆษณาไว้ ผลปรากฏว่าไม่เป็นไปตามที่จำเลยโฆษณาไว้ เช่น กระทะดำไหม้  อาหารติดกระทะ ไม่ทนความร้อน ฯลฯ           ผลการดำเนินการ  ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างไต่สวนคำร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม3.ฟ้องคดีบริษัทคิดค่าโทรศัพท์เกินจริง   เมื่อวันที่   15 พฤษภาคม  2561   ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากการที่ผู้เสียหายถูกคิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาทีเป็นนาที ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากการคิดค่าบริการเกินจริงเป็นวงกว้าง  มีการแยกฟ้องเป็นสามคดี ตามค่ายมือถือ คือ เอไอเอส ดีแทคและทรู  เรียกค่าเสียหายรวมไม่น้อยกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้จ่ายให้ชดเชยและเยียวยาแก่ผู้ใช้มือถือทุกคนกว่า 90 ล้านเลขหมายในประเทศไทย กำหนดโจทก์ผู้ฟ้องคดี  เป็นแกนนำคดีละ 2 คน  แบ่งตามผู้ใช้บริการแบบรายเดือนกับเติมเงิน  โดยแบ่งเป็นสองศาล คือ คดีดีแทค ยื่นฟ้องที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ.527/2561 ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนคำร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม ในวันที่  18  มิถุนายน  2561 เวลา 9.00 น. ส่วนเอไอเอสและทรู  ยื่นฟ้องที่ศาลแพ่ง (รัชดา) โดยเอไอเอสเป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 2023/2561  และทรู เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 2031/2561  และมีการแถลงข่าวต่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561  ณ สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผลการดำเนินการ   โดยทั้งสามคดีอยู่ระหว่างศาลนัดไต่สวนคำร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม[3] 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 สิทธิการเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ผลกระทบจากกฎหมายห้ามธุรกิจอุ้มบุญ

รู้หรือไม่ ก่อนจะมีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์  ประเทศไทยเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของผู้มีบุตรยากทั่วทุกมุมโลกในการเข้ามารับการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย แต่เนื่องจากไม่มีกฎหมายที่เข้ามาดูแลเป็นการเฉพาะทำให้เกิด “ธุรกิจอุ้มบุญ” โดยมีสาวไทยขายมดลูกอุ้มท้องแทนจำนวนหนึ่งแบบลับๆ เรื่องแดงออกมาจากกรณีชาวต่างชาติจ้างหญิงไทย “อุ้มบุญ” เมื่อให้กำเนิดลูกแฝดแล้วคนหนึ่งปกติ อีกคนเป็นโรคดาวน์ซินโดรม สุดท้ายชายชาวต่างชาติก็รับเลี้ยงแค่เด็กที่มีความปกติเท่านั้น แล้วทิ้งเด็กดาวน์ซินโดรมไว้ให้แม่อุ้มบุญดูแล จนเป็นข่าวครึกโครม และเมื่อมีการสอบสวนเชิงลึกก็พบว่าชายชาวต่างชาติที่มาว่าจ้างหญิงไทยตั้งครรภ์นั้น เคยก่อคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหญิงมาแล้ว 2 ครั้ง จนถูกจำคุกอย่างไรก็ตามปัญหาเกี่ยวกับการรับจ้างอุ้มบุญยังมีให้เห็นอยู่เนืองๆ ตลอดจนปัญหาการทอดทิ้งเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีให้แม่อุ้มบูญชาวไทยดูแล เพราะพอผู้ว่าจ้างเห็นหน้าเด็ก เห็นลักษณะเด็กแล้วไม่พอใจ ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์อีก หรืออย่างกรณีคู่รักชาย - ชาย มาว่าจ้างหญิงไทยอุ้มบุญก็เคยเจอ จนนำมาสู่การออกพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ในปี 2558 ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เป็นหลัก โดยห้ามซื้อ-ขายไข่ อสุจิ หรือสเปิร์ม และห้ามว่าจ้าง หรือรับจ้างตั้งภรรค์แทน หรือเรียกว่า “อุ้มบุญ” เด็ดขาดสถานการณ์การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การเข้าถึง(บริการรักษาภาวะมีบุตรยาก) ถ้าลงให้ลึกจริงๆ มีหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องมาตรการช่วยเหลือผู้ที่มารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากยังมีไม่มากนัก เรื่องค่ารักษาไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ การลางานไม่ได้ รวมถึงเมื่อมีโรคที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการมีบุตรยากประกันก็ไม่จ่าย เช่น ถุงน้ำในรังไข่ ซีสต์ พอผู้หญิงคนหนึ่งป่วยเป็นโรคนี้ บอกแพทย์ไปประกันไม่จ่ายทันที ถือว่าไม่เป็นธรรมมากรศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ ประธานอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลกระบุว่าผู้ที่แต่งงานกันแล้วและตั้งใจที่จะมีบุตร แต่ไม่มีภายในระยะเวลา 1 ปี ถือว่าเป็นผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและหาแนวทางรักษาต่อไป ส่วนคู่แต่งงานที่ฝ่ายภรรยามีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไปไม่ต้องรอให้ถึง 1 ปี หากยังไม่ตั้งครรภ์ภายใน 6 เดือนก็ควรพบแพทย์ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก ถ้าพูดถึงอัตราผู้มีปัญหาภาวะมีบุตรยากของไทยในปัจจบันมีอยู่ประมาณร้อยละ 10 – 15 ซึ่งมาจากหลายปัจจัยที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะปัจจุบันที่ฝ่ายหญิงมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงขึ้น จึงยังไม่อยากจะคิดถึงการมีบุตร การตั้งครรภ์ในขณะที่ยังมีความเจริญก้าวหน้า แต่จะเริ่มมาคิดถึงการตั้งครรภ์เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เกิดปัญหาภาวะมีบุตรยากตามมา เพราะปัญหาเซลล์รังไข่เกิดสภาพไม่สมบูรณ์ ตกไข่ยาก หรือได้ไข่ที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ เมื่อตั้งครรภ์แล้วก็แท้งง่าย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโรคประจำตัวของคนที่มีอายุมากเช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ รวมถึงความเครียดจากภาระงานที่พิ่มขึ้นจากความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทุกประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสิ้น ทั้งนี้สาเหตุที่เกิดจากฝ่ายชายก็ไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาภาวะมีบุตรยากนั้นมีหลายวิธีการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยแพทย์จะพิจารณาเป็นรายกรณี และเริ่มรักษาทีละสเต็ปจากน้อยไปหากมากคือ เริ่มจากการตรวจหาสาเหตุ หากพบว่าภาวะมีบุตรยากเกิดจากการมีโรคประจำตัวอะไรก็รักษาโรคนั้นๆ ก่อน เช่น ไทรอยด์ เบาหวาน ซีสต์ ความเครียด การใช้ยาหรือสารต่างๆ เป็นต้น เมื่อรักษาแล้วก็มีโอกาสตั้งภรรค์ หากแก้ไขปัญหาเบื้องต้นไม่สำเร็จจึงไปถึงการใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือการเจริญพันธุ์  ทั้งนี้ เทคโนโลยีช่วยเหลือการเจริญพันธุ์มีหลายวิธีเช่นกัน เริ่มจากการคัดเชื้ออสุจิ ฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในรังไข่ หรือเรียกว่าผสมเทียม หรือกระตุ้นไข่ หากยังไม่สำเร็จก็ขยับไปอีกขั้นหนึ่งคือการทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ประเทศไทยสามารถทำได้หมด ปัจจุบันประเทศไทยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ด้วยการทำเด็กหลอดแก้ววิธีต่างๆ ประมาณปีละ 1 หมื่นรายตัวเลขเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ แต่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับอัตราผู้มีบุตรยากในประเทศไทย โดยคิดว่าไม่น่าจะถึงร้อยละ 10 ที่เป็นเช่นนี้สะท้อนว่าประชากรไทยที่มีปัญหายังรับรู้ และเข้าถึงบริการนี้น้อย เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่มีอัตราการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ค่อนข้างมาก เช่น ญี่ปุ่น มีผู้รับบริการประมาณ 2 แสนรายต่อปี บางประเทศอัตรการเข้ารับบริการพุ่งถึง 4 แสนรายต่อปี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์มาช่วยเหลือผู้มีบุตรยาก แต่ก็เพราะมีการเอาไปใช้ในเชิงธุรกิจ จนนำมาสู่การออกเป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ซึ่งเมื่อกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ก็มีผลกระทบทั้งผลดี และผลเสีย โดยผลดีก็ทำให้ประเทศไทยอยู่ในร่องในรอยแบบที่สากลโลกเขาทำอยู่ แต่กรณีที่ 2 คือทำให้เรื่องการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากโดยเทคโนโลยีเข้าช่วยนั้นทำได้ยากขึ้น เสียเวลามากขึ้น บางครั้งคนที่มีปัญหามีบุตรยากและต้องการมีบุตรจริงๆ เข้าถึงบริการน้อยลง ที่จริงเรื่องการเข้าถึงน้อยลงถ้าลงให้ลึกจริงๆ มีหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องมาตรการช่วยเหลือผู้ที่มารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากยังมีไม่มากนักเรื่องค่ารักษาไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ การลางานไม่ได้ รวมถึงเมื่อมีโรคที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการมีบุตรยากประกันก็ไม่จ่าย เช่น ถุงน้ำในรังไข่ ซีสต์ พอผู้หญิงคนหนึ่งป่วยเป็นโรคนี้ บอกแพทย์ไปประกันไม่จ่ายทันที ถือว่าไม่เป็นธรรมมากนอกจากนี้สถานพยาบาลที่รักษาภาวะมีบุตรยาก ปัจจุบันที่มีอยู่ 70 แห่ง ถือว่าน้อยมากและส่วนใหญ่เป็นของเอกชน ซึ่งมีราคาแพง จากที่เข้าถึงบริการยากอยู่แล้ว ก็เลยยากที่จะเข้าถึงไปกันใหญ่ สำหรับหลักเกณฑ์การอุ้มบุญตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเข้มงวดนั้นไม่ได้เป็นปัญหา เช่น การหาคนมารับเป็นแม่อุ้มบุญนั้นจริงๆ ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นคนสายเลือดเดียวกันเท่านั้น แต่หากเป็นหญิงที่ไม่ใช่สายเลือดเดียวกันก็จะต้องมีการตรวจสอบที่เข้มงวดหน่อย เพราะต้นกำเนิดของกฎหมายก็มาจากปัญหาเรื่องการมีธุรกิจรับตั้งครรภ์แทนเกิดขึ้น ซึ่งถ้าเป็นต่างประเทศจะนับเรื่องนี้เป็นปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย ข้อเสนอแนะสู่การแก้ไขปัญหาเพราะฉะนั้นเรื่องกฎหมายนับว่ามีความเหมาะสม แต่ถ้าจะแก้ไขก็ต้องทำให้ผู้ที่มีปัญหามีบุตรยากเข้าถึงบริการรักษาได้ง่ายขึ้นต้องมีทางเลือก อันดับแรกคือการมี “สิทธิ” เดินเข้าไปในโรงพยาบาลได้โดยที่ไม่มีอุปสรรคเรื่องของเวลา เรื่องค่าใช้จ่ายเหมาะสม หรือบางส่วนควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และควรแก้ไขเรื่องที่ประกันไม่จ่ายสินไหมโดยอ้างว่าเพราะปัญหาการมีลูกยากทำให้มีปัญหาถุงน้ำในรังไข่ ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวเลยก็ได้ นับว่าไม่มีความเป็นธรรมอย่างยิ่ง แต่เกาหลีบังคับเลยว่าบริทประกันห้ามปฏิเสธการจ่าย “สิ่งที่อยากเห็นจริงๆ คือการเปิดให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากควรเปิดในสถานพยาบาลของรัฐถึงจะแก้ปัญหาได้ ในความเป็นจริงมันไม่ใช่เช่นนั้น ปัจจุบันภาครัฐไม่ได้จัดสรรคงบประมาณส่วนนี้ให้ ทำให้โรงพยาบาลรัฐไม่ตั้งหน่วยดูแลเรื่องนี้เพราะเก็บเงินไม่ได้ ดังนั้นหากรัฐเห็นว่าเรื่องนี้ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ก็ควรตั้งในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งหากจะทำจริงๆ ศักยภาพที่มีนั้นสามารถทำได้ เพราะเรื่องที่ยากกว่านี้โรงพยาบาลรัฐก็สามารถทำได้ดี” รศ.นพ.กำธร กล่าวอีกว่า ถ้าดูสถานการณ์การเกิดในประเทศไทยตอนนี้ตอนนี้ลดลงไปมาก โดยอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rates - TFR) เดิมอยู่ที่ 6 และลดลงมาเรื่อยๆ จนถึง 2.1 และปัจจุบันลงมาถึง 1.5 ภายในระยะเวลา 20 กว่าปี ในขณะที่องค์การอนามัยโลกถือว่าประเทศที่มีความมั่นคงทางประชากรควรจะมีอัตราเพิ่มประชากรอยู่ที่ 2.1 เพราะฉะนั้นถือว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง แต่เท่าที่ดูกลับไม่ค่อยมีมาตรการแก้ปัญหาอะไรมากนัก ไม่ตื่นเต้น ไม่มีมาตการส่งเสริมการเกิด รวมถึงดูแลรักษาภาวะมีบุตรยากก็เข้าไม่ถึง ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ถือว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิที่ประชาชนต้องเข้าถึง ในขณะที่นานาชาติหากอัตราเจริญพันธุ์รวมลดลงมาถึงระดับ 1.8 เขาจะต้องตื่นตัวในการหามาตรฐานมาส่งเสริมการเกิดให้เพิ่มขึ้น หรืออย่างประเทศญี่ปุ่นอัตราเจริญพันธุ์รวม ตอนนี้อยู่ที่ 1.46 ถึงกับตกใจมากและออกมาตรการมากมายเพื่อแก้ปัญหา และส่งเสริมการเกิดให้เพิ่มขึ้น เรื่องนี้ประเทศไทยควรจะจริงจังได้แล้วเพราะตอนนี้ประเทศไทย เป็นสังคมผู้สูงอายุมาถึงเร็วกว่าที่คิดไว้ เด็กเกิดมา 1 คนอาจจะต้องดูแลพ่อ แม่ พี่ น้อง อีกจำนวนมากเพราะไม่มีคนมาหารเฉลี่ยด้วย แล้วปัญหาเรื่องเศรษฐกิจแรงงานก็ตามมาแน่นอน หากยังไม่ตื่นตระหนก หาทางแก้ไขอย่างจริงจัง อนาคตจะกระทบกับความมั่นคงของประเทศ เพราะที่เห็นเดินอยู่ตามถนนในเมืองไทยอาจจะเต็มไปด้วยชาวต่างชาติ " อัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rates - TFR) ของไทยปัจจุบันคือ   1.5 ในขณะที่องค์การอนามัยโลกถือว่าประเทศที่มีความมั่นคงทางประชากรควรจะมีอัตราเพิ่มประชากรอยู่ที่ 2.1 หากดำเนินต่อไปโดยไม่ได้รับการแก้ไข ไทยจะมีแต่ประชากรสูงวัยและขาดแคลนแรงงานซึ่งเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ "ด้าน นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล บอกว่า ภายหลังจาก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ บังคับใช้ก็เพื่อแก้ไขปัญหาการรับจ้างอุ้มบุญ ซึ่งถูกมองเป็นเรื่องการค้ามนุษย์ในสายตาของสังคมโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการรับจ้างอุ้มบุญจำนวนมากจริงๆ มีธุรกิจทางด้านนี้เกิดขึ้นเยอะ แต่หลังจากที่กฎหมายนี้ออกมาจะเห็นว่าสถานการณ์การรับจ้างอุ้มบุญในประเทศไทยก็ซาลงไปมากอย่างไรก็ตาม ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาจากการคุมเข้มเรื่องการ “อุ้มบุญ” คือ การเข้าถึงยาก ราคาแพง จนอาจจะทำให้ครอบครัวที่มีบุตรทำให้ตัดสินใจไปพึ่งการทำอุ้มบุญในต่างประเทศแทนด้าน นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล บอกว่า ภายหลังจาก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ บังคับใช้ก็เพื่อแก้ไขปัญหาการรับจ้างอุ้มบุญ ซึ่งถูกมองเป็นเรื่องการค้ามนุษย์ในสายตาของสังคมโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการรับจ้างอุ้มบุญจำนวนมากจริงๆ มีธุรกิจทางด้านนี้เกิดขึ้นเยอะ แต่หลังจากที่กฎหมายนี้ออกมาจะเห็นว่าสถานการณ์การรับจ้างอุ้มบุญในประเทศไทยก็ซาลงไปมากนายจะเด็จ บอกอีกว่า สำหรับทางออก ทางเลือกสำหรับคนที่มีบุตรยาก สิ่งหนึ่งที่อยากให้มองสำหรับสังคมไทยตอนนี้จะเห็นว่าเรามีเด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาก็มีหลายๆ ครอบครัวที่มีบุตรยาก มารับเด็กจากสถานสงเคราะห์ไปเป็นบุตรบุญธรรม แต่ก็ยังมีเพียงส่วนน้อย เพราะติดกับทัศนคติเดิมที่ว่า “เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม” จึงไม่มั่นใจว่าเด็กที่โตมาจะเป็นอย่างไร ตรงนี้ต้องบอกว่าคุณภาพของเด็กต่างก็อยู่ที่การเลี้ยงดู เมื่อเด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เด็กคนนั้นก็สามารถเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคมไทยได้ เพราะฉะนั้นสังคมไทยต้องปรับทัศนคติตรงนี้ หากอยากมีบุตรจริงๆ แล้วติดขัดในข้อกฎหมายก็สามารถใช้ทางเลือกนี้เป็นทางออกได้ ขณะเดียวกันภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนด้วย โดยอาจจะนำเอาครอบครัวที่ประสบความสำเร็จจากการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม ที่พร้อมจะเปิดเผยข้อมูล มาช่วยกันรณรงค์ให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วย ไม่ใช้ออกกฎหมาย ออกมาตรการบังคับใช้อย่างเดียวพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์  2558สาระหลักตามกฎหมายสามารถแบ่งได้ดังนี้ ผู้มีที่ต้องการให้มีการตั้งครรภ์แทน มาตรา 21 ระบุว่า ต้องเป็นสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสัญชาติไทย ถ้าคนใดคนหนึ่งไม่มีสัญชาติไทยก็ต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ทั้งนี้แพทย์ต้องรับรองว่ามีบุตรยากและต้องการมีบุตรโดยการตั้งครรภ์แทน ผู้รับตั้งครรภ์แทน หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน คือ ต้องมิใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตาม แต่เป็นญาติสืบสายโลหิต ในกรณีไม่มีญาติสืบสายโลหิตและต้องใช้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตามหญิงที่ตั้งครรภ์แทนต้องเคยมีบุตรมาก่อน และต้องได้รับความยินยอมจากสามีก่อนวิธีการตั้งครรภ์แทนมาตรา 22 การตั้งครรภ์แทนมี 2 วิธี 1.ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีและไข่ของภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทน และ 2.ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีหรือไข่ของภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทนกับไข่หรืออสุจิของผู้อื่น ทั้งนี้ ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมาตรา 23 ก่อนดำเนินการต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการให้ดําเนินการให้มีการตั้งครรภ์ก่อน หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 47 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับคุณสมบัติของแพทย์ที่จะใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 15  ระบุว่าต้องแพทย์ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามและต้องปฏิบัติตามมาตรฐานในการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ถ้าเป็นผู้มีคุณสมบัติมาทำจะมีความผิดตามมาตรา 46 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับทั้งนี้ก่อนให้บริการ เกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ในมาตรา 16 ระบุเอาไว้ว่าแพทย์จะต้องตรวจและประเมินความพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อมของผู้ขอรับบริการ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน และผู้บริจาคอสุจิหรือไข่ที่จะนํามาใช้ดําเนินการ รวมทั้งการป้องกันโรคที่อาจมีผลกระทบต่อเด็กที่จะเกิดมาด้วยความเป็นบิดาและมารดาของเด็กและการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี ช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ มาตรา 29 เด็กที่เกิดมาเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์จะมีบุตร มาตรา 30 ถ้าสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนถึงเสียชีวิตก่อนเด็กเกิด ให้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนเป็นผู้ปกครองเด็กคนนั้นนั้นจนกว่าจะมีการตั้งผู้ปกครองขึ้นใหม่โดยคํานึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของเด็กนั้นเป็นสําคัญมาตรา 32 ให้สามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์เป็นคนแจ้งการเกิดของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ในกรณีสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนถึงแก่ความตายก่อนเด็กเกิด ไม่อยู่ในประเทศไทย หรือไม่ปรากฏตัวภายหลังจากการคลอดเด็กนั้น ให้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมีหน้าที่แจ้งการเกิดมาตรา 33 ห้ามมิให้สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์จะมีบุตรโดยการตั้งครรภ์แทนปฏิเสธการรับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนดังกล่าว ฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 49 จําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ มาตรา 41 ห้ามมิให้ผู้ใดซื้อ เสนอซื้อ ขาย นําเข้า หรือส่งออก ซึ่งอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน ฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 51 โทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับข้อห้ามทำธุรกิจอุ้มบุญสำหรับประเด็นที่เป็นปัญหาจนนำมาสู่การออกพระราชบัญญัติดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในมาตรา 24 ห้ามมิให้ผู้ใดดําเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้าฝ่าฝืนมีความผิดมาตรา 48 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาทมาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทําการเป็นคนกลางหรือนายหน้า ฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 49 ต้องระวางโทษ จําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ มาตรา 28 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาว่ามีหญิงรับตั้งครรภ์แทนไม่ว่าจะได้กระทําเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือไม่ก็ตาม ฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 49 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 เมื่อ ‘จิตใจ’ ไม่สบาย สิทธิของผู้ป่วยจิตเวช

“ปี 2556 ประชาชนในกรุงเทพมหานครที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีอาการป่วยทางจิตเวชและมีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 11.5 หรือประมาณ 520,000 คน” น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ปัจจุบัน เราคุ้นเคยกับความป่วยไข้ทางจิตเวชมากขึ้น โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า อาจจะเป็นเพราะมีผู้ป่วยที่เปิดเผยตัวเอง ข่าวคราวของดารา นักร้องที่เป็นโรคซึมเศร้า (ขนาดว่าช่วงหนึ่งมีการพูดถึงกระแส ‘อยากซึมเศร้า’ เพราะรู้สึกว่าความป่วยไข้ชนิดนี้เท่) ถึงกระนั้น ตัวเลขข้างต้นก็น่าตกใจ เพราะมันหมายความว่าทุกๆ 10 คนที่เดินเหินในมหานครแห่งนี้ มี 1 คนที่ป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพจิต‘ฉลาดซื้อ’ จะพาไปรู้จักอาการทางจิตเวช แนวทางดูแลตัวเอง การอยู่ร่วมกับผู้ป่วย และสิทธิบางประการที่ควรรู้ เพราะเราทุกคนอาจป่วยทางจิตได้เหมือนกับที่ใครๆ ก็ป่วยเป็นไข้หวัดได้ซึมเศร้าเรื้อรัง เอก (นามสมมติ) รับรู้ถึงความผิดปกติบางอย่างในตัวเอง มันเริ่มจากความรู้สึกเศร้าและอยากร้องไห้แบบไม่มีต้นสายปลายเหตุ ตอนแรกเขาก็ยังไม่ได้สนใจอะไร กระทั่งอาการดังกล่าวเกิดขึ้นติดต่อกัน 2 วันจนเกือบทำการทำงานไม่ได้ เอกไม่ได้มีความเชื่อผิดๆ ที่ว่าการไปพบจิตแพทย์คือการถูกตีตราว่า ‘บ้า’ เขาจึงตัดสินใจลองไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลจิตเวชของรัฐแห่งหนึ่ง หลังการพูดคุยกับจิตแพทย์เกือบ 2 ชั่วโมง เอกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Dysthymia หรือโรคซึมเศร้าเรื้อรัง จิตแพทย์จ่ายยาให้เขา แม้ว่าเอกจะพยายามต่อรองเพื่อขอรับการรักษาแบบอื่นที่ไม่ต้องใช้ยา เช่น การทำจิตบำบัด แต่ก็ไม่อาจทัดทานได้ เขากินยาอยู่ได้ไม่กี่วัน เนื่องจากไม่ชอบผลข้างเคียงจากยาดังกล่าว นัดพบจิตแพทย์ครั้งที่ 2 แพทย์ยังคงยืนกรานให้เขาทานยา แม้ว่าเขาจะยังขอพบนักจิตวิทยา กระทั่งครั้งที่ 3 จิตแพทย์จึงยอมให้เขาพบนักจิตวิทยาเพื่อทำจิตบำบัด ระหว่างการทำจิตบำบัด เอกรู้สึกว่าอาการแย่ลง ความรู้สึกเศร้าเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น เขาจึงตัดสินใจไปพบจิตแพทย์อีกครั้งในโรงพยาบาลที่เขามีสิทธิประกันสังคมอยู่ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและรับฟัง Second Opinion ทว่า ก่อนที่จะได้พบแพทย์ทั่วไป  ซึ่งจะเป็นผู้วินิจฉัยเรื่องการส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทาง พยาบาลที่ทำการตรวจสุขภาพแจ้งแก่เขาว่า อาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือนเพื่อทำนัดและรอพบจิตแพทย์ คำพูดดังกล่าวทำให้เอกตัดสินใจเดินออกมา นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และอดีตคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในประกันสังคมมักหลีกเลี่ยงที่จะส่งต่อแพทย์เฉพาะทาง เพื่อต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้นผู้มีสิทธิจะต้องเรียกร้อง ร้องเรียน หรือยืนยันสิทธิในการรักษาของตน แน่นอนว่าเอกไม่รู้เรื่องนี้และไม่ได้ยืนยันสิทธิที่ว่า และก็ไม่น่าจะใช้เอกคนเดียวที่ไม่รู้เรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของเอกสะท้อนแง่มุมต่อผู้ป่วยจิตเวชหลายประการ มันไม่เหมือนอาการป่วยกายเสียทีเดียว การไปหาหมอเป็นกระบวนการทั่วๆ ไปที่ใครๆ ก็พอจะนึกออก แต่พอเป็นความเจ็บป่วยทางจิต เอกและเชื่อว่าผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร “สังคมไทยอาจไม่คุ้นชินกับการที่ใครสักคนต้องไปพบจิตแพทย์ เรายังมองเป็นเรื่องประหลาด เป็นคนบ้า ซึ่งเราอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า ความเจ็บป่วยทางจิตเป็นโรคโรคหนึ่ง ไม่ใช่อะไรที่แปลกประหลาด” นิมิตร์ เทียนอุดมสิทธิของเรา นิมิตร์บอกว่า โดยหลักทั่วไปแล้ว สิทธิประกันสังคมให้การดูแลสวัสดิการสุขภาพแก่ผู้ถือสิทธิไม่ต่างจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักเป็นเบื้องต้น คือเรามีสิทธิได้รับสวัสดิการสุขภาพ ผู้ป่วยจิตเวชก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นแต่เชื่อหรือไม่? กว่าจะถึงวันนี้ วันที่ผู้ป่วยจิตเวชได้รับการรักษาอย่างเสมอหน้าอาการป่วยไข้ทั่วไป ต้องผ่านการต่อสู้ไม่ต่างจากโรคเรื้อรังอื่นๆ“สมัยแรกที่มีสิทธิประโยชน์ กรณีจิตเวชถูกตีความว่าต้องรักษายาวนานเกินกว่า 180 วัน ทำให้มีปัญหาว่าบางทีโรงพยาบาลรับมารักษาแล้ว 180 วันก็ไม่ได้ดีขึ้น แค่ทุเลา ต้องจำหน่ายออก แล้วก็รับใหม่ หรือบางทีก็ให้กลับบ้านเลย ไปดูแลตัวเองที่บ้าน ทำให้เกิดปัญหา จึงมีการผลักดันให้ยกเลิกและปรับแก้กติกาที่ว่า การรักษาที่เกิน 180 วันจะไม่คุ้มครอง ไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งจุดนี้เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเพราะทำให้ได้รับการรักษาต่อเนื่อง เนื่องจากโรคทางจิตเวชเป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง ต้องอยู่ในความดูแล ต้องกินยา การยกเลิกกติกาข้อนี้จึงถือเป็นเรื่องที่พวกเราช่วยกันเคลื่อน จนผู้ป่วยจิตเวชก็ได้รับสิทธิประโยชน์นี้และมันก็ได้อานิสงค์ไปยังโรคอื่นๆ ที่ต้องรักษาเกิน 180 วันด้วยประการที่ 2 คือปัญหาเรื่องยาที่ต้องสั่งจ่ายให้แก่ผู้ป่วยจิตเวช ช่วงหนึ่งแพทย์ที่พร้อมจะดูแลยกประเด็นนี้ขึ้นมาว่า ทำอย่างไรยาจึงจะถูก เพราะถ้าไปอยู่ในค่าเหมาจ่ายรายหัว แล้วยาแพง โรงพยาบาลก็รู้สึกเป็นภาระและอาจจะปฏิเสธการรักษาได้ ดังนั้น ตอนที่มีการสู้เรื่องซีแอล (มาตรการบังคับใช้ Compulsory Licensing: CL) ก็ดูยาตัวนี้ด้วย ทำให้ได้ยาริสเพอริโดน (Risperidone) ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชกลับมามีชีวิตปกติได้” นิมิตร์ กล่าวเรื่องสิทธิและยาได้รับการแก้ไข ถึงกระนั้นใช่ว่าปัญหาจะหมดไปโดยสิ้นเชิง ในทางปฏิบัติ ทุกวันนี้ยังคงมีปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยที่ยุ่งยาก เนื่องจากผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องใช้โรงพยาบาลใกล้บ้าน หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวช แล้วโรงพยาบาลแห่งนั้นไม่มีจิตแพทย์ก็จำเป็นต้องส่งต่อ แล้วใช่ว่าทุกพื้นที่จะมีจิตแพทย์ หมายความว่าการหาหมอใกล้บ้านกลายเป็นหาหมอไกลบ้าน สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือการบ่ายเบี่ยงการส่งตัว เพราะโรงพยาบาลที่ส่งตัวต้องตามไปจ่ายค่ารักษาให้แก่หน่วยบริการที่รับผู้ป่วยไปดูแลโรงพยาบาลต้นทางอาจทำใบส่งตัวครั้งละ 3 เดือนให้แก่ผู้ป่วยหรือที่หนักกว่า คือต้องทำใบส่งตัวใหม่ทุกครั้งที่นัดพบแพทย์ สร้างความยุ่งยากในชีวิตผู้ป่วยและญาติ นิมิตร์เสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จะขจัดความยุ่งยากด้วยการปรับกติกาเสียใหม่ เช่น การทำใบส่งตัวครั้งละ 1 ปี เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติไม่ต้องเดินทางมารับใบส่งตัวบ่อยๆอีกด้านหนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขคงต้องลงมาศึกษาอย่างจริงจังว่า ด้วยสถานการณ์สุขภาพจิตที่หนักมือขึ้นทุกขณะ ปัจจุบันประเทศไทยมีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเพียงพอแล้วหรือยังส่วนด้านการดูแลรักษาต่อเนื่อง สปสช. ยังคงเดินหน้านโยบายดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนอย่างต่อเนื่องโดยจับมือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดระบบบริการจิตเวชในชุมชน ตั้งแต่การกินยาต่อเนื่องจนถึงการปรับทัศนคติคนในชุมชนและลดการตีตรา“สังคมไทยอาจไม่คุ้นชินกับการที่ใครสักคนต้องไปพบจิตแพทย์” นิมิตร์กล่าวเสริม “เรายังมองเป็นเรื่องประหลาด เป็นคนบ้า ซึ่งเราอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า ความเจ็บป่วยทางจิตเป็นโรคโรคหนึ่ง ไม่ใช่อะไรที่แปลกประหลาด”ดูแลตัวเอง จิตแพทย์อภิชาติ แสงสิน นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เห็นว่า ปัจจุบันความเข้าใจของผู้คนต่อผู้ป่วยจิตเวชเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีและรับรู้ว่าเป็นความป่วยไข้อย่างหนึ่งที่ต้องได้รับการรักษา เพียงแต่โรคทางจิตเวชค่อนข้างนามธรรม จับต้องได้ยากกว่าโรคทางกาย มาถึงตรงนี้ เมื่ออาการทางจิตเวชเป็นความป่วยไข้ไม่ต่างจากไข้หวัดหรือปวดท้อง มันก็ย่อมมีแนวทางที่เราจะดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากปัญหาสุขภาพจิต การออกกำลังกาย การพักผ่อนหย่อนใจ คลายความตึงเครียดจากภาระในชีวิตประจำวันเป็นอะไรที่น่าจะรู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่เรายังมีคำแนะนำเพิ่มเติมจากจิตแพทย์อภิชาติ นั่นคือการคอยติดตามตนเองหรือมีสติรู้ตัวอยู่กับปัจจุบัน(ต้องเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า คำว่า การมีสติ ในที่นี้ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางศาสนาแต่อย่างใด) มีด้วยกัน 3 เทคนิค คือ 1.การอยู่กับการกระทำ คอยรู้ตัวเสมอว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพราะหลายครั้งที่เรามักเผลอไผล ทำบางสิ่ง แต่ใจคิดอีกอย่าง ซึ่งมักจะเป็นอดีตไม่ก็อนาคต 2.การรับรู้ความคิด คอยรู้เสมอว่ากำลังคิดอะไรอยู่ 3.การรับรู้อารมณ์ คอยติดตามอารมณ์ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร เฉยๆ เสียใจ เศร้า ดีใจ หรือโกรธ เป็นต้น ซึ่งการติดตามอารมณ์จะค่อนข้างยากกว่าการติดตามการกระทำหรือความคิด จิตแพทย์อภิชาติเสริมว่า เราไม่สามารถตามดูทั้ง 3 อย่างพร้อมกันได้ ดังนั้น อะไรที่เด่นชัดที่สุดให้ตามดูสิ่งนั้น ประโยชน์ของเทคนิค 3 ข้อ คือการทำให้เราสามารถรับรู้สัญญาณปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ทันท่วงที จิตแพทย์อภิชาติกล่าวว่า “แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราป่วย สังเกตได้จากความรับผิดชอบที่เราควรทำได้ปกติเกิดสูญเสียไป ความรับผิดชอบที่ว่าแบ่งเป็น 3 ด้านคือความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เช่น เพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว ชุมชน เป็นต้น หน้าที่การงาน และการฟื้นคืนสภาพจิตใจหรือการผ่อนคลายความตึงเครียดได้ ถ้าทั้ง 3 เรื่องนี้หรือด้านใดด้านหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องทั้ง 3 ด้าน เกิดบกพร่องหรือสูญเสีย ก็มีแนวโน้มว่าน่าจะป่วย ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินว่ามีปัญหาอย่างไร เพื่อจะได้รักษาต่อไป”เมื่อนำกรณีของเอกไปสอบถาม จิตแพทย์อภิชาติอธิบายว่า “จริงๆ ผู้ป่วยกับจิตแพทย์สามารถคุยกันได้ ต้องดูก่อนว่าความเจ็บป่วยที่ว่านั้นคืออะไร และดูว่าภาวะการตัดสินใจของผู้ป่วยมีมากน้อยแค่ไหน เขามีสิทธิเลือกการรักษาที่เหมาะกับเขาได้ แต่ถ้าแพทย์เห็นว่าไม่เหมาะสมหรือจะเป็นอันตราย หรือไม่มีประโยชน์ต่อการรักษา แพทย์ก็อาจต้องให้คำแนะนำหรือเลือกทางที่ดีที่สุด แต่ในกรณีผู้ป่วยจิตเวชที่ความสามารถในการตัดสินใจบกพร่องไปแล้ว ไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ไม่สามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้ กรณีนี้ก็ต้องมีผู้ทำการแทน เช่น คู่สมรส ญาติ หรือบุตร ตัดสินใจแทนเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการดูแลรักษาให้มากที่สุด การรักษาอาการทางจิตเวช การให้ยาก็ส่วนหนึ่ง การทำจิตบำบัดก็ส่วนหนึ่ง ในกรณีทั่วไป การให้ยาจะช่วยให้อาการดีขึ้นเร็ว การทำจิตบำบัดก็มีข้อดีและช่วยได้ แต่จะช้ากว่าการให้ยา เพราะปัจจุบันความรู้ทางการแพทย์พัฒนา โรคทางจิตเวชคือการทำงานของสมองที่ผิดปกติไป ยาเข้าไปช่วยปรับให้สมองทำงานได้ดีขึ้น อาการก็จะดีขึ้น การทำจิตบำบัดก็จะช่วยเสริมตรงนี้ด้วย เสริมในด้านการปรับความคิด พฤติกรรม อารมณ์” กรณีที่ผู้ป่วยทานยาแล้วแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียง ให้หยุดยาและกลับไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเปลี่ยนหรือปรับขนาดยา แต่หากไม่แพ้หรือไม่มีผลข้างเคียง ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเอง เนื่องจากการรักษาโรคทางจิตเวชซึ่งเป็นโรคเรื้อรังต้องทานยาต่อเนื่อง ยาทางจิตเวชกว่าจะออกฤทธิ์เต็มที่ต้องใช้เวลา 2-4 สัปดาห์ ต้องค่อยๆ ติดตามผลว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เมื่อหายดีแล้วก็ยังต้องทานยาต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้พ้นระยะโรค เมื่อพ้นระยะแล้วก็ใช่ว่าจะหยุดยาได้ทันที แต่ต้องค่อยๆ ลดยาลง ขณะที่โรคทางจิตเวชบางโรคต้องกินยาตลอดชีวิต วินัยในการทานยาจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ป่วยและญาติต้องตระหนัก“หลายครั้งที่คนรอบข้างพยายามเข้าไปจัดการ แก้ปัญหา หรือแนะนำ ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของผู้แนะนำโดยไม่ได้เข้าใจปัญหาของผู้ป่วยจริงๆ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญกว่าการแนะนำคือการรับฟัง บางครั้งผู้ป่วยแค่ต้องการคนรับฟังหรือเข้าใจสิ่งที่ต้องการพูดเท่านั้น”อยู่ร่วมกัน สำหรับผู้ที่ต้องอยู่กับผู้ป่วยจิตเวช สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือการปรับทัศนคติ โรคทางจิตเวชจับต้องยาก อธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ยาก หลายครั้งถูกมองว่าเรียกร้องความสนใจหรือแกล้งทำบ้าง คนรอบข้างต้องปรับทัศนคติใหม่ว่ามันคือความเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่ไม่มีใครอยากเป็น ประการต่อมา จิตแพทย์อภิชาติบอกว่า ต้องรับฟังอย่างเข้าใจ หลายครั้งที่คนรอบข้างพยายามเข้าไปจัดการ แก้ปัญหา หรือแนะนำ ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของผู้แนะนำโดยไม่ได้เข้าใจปัญหาของผู้ป่วยจริงๆ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญกว่าการแนะนำคือการรับฟัง บางครั้งผู้ป่วยแค่ต้องการคนรับฟังหรือเข้าใจสิ่งที่ต้องการพูดเท่านั้น ซึ่งอาจได้ผลดีกว่าการแนะนำให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้เสียอีก ประการที่ 3 เฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วย เมื่อเห็นความผิดปกติ ความเปลี่ยนแปลง ดูไม่เป็นคนเดิม ควรพามารับการรักษาหรือการบำบัด เพราะหลายครั้งที่มองข้ามไป ละเลย รู้อีกทีก็อาการรุนแรงเสียแล้ว และประการสุดท้าย เก็บอาวุธหรือสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ให้ห่างจากผู้ป่วย เพราะอารมณ์เป็นสิ่งที่ไว เมื่อมันผุดขึ้นมาโดยไม่เท่าทัน อาจนำไปสู่กระทำที่ไม่ทันยั้งคิดทั้งต่อตนเองและผู้อื่น หากไม่ใช่กรณีที่หนักหนาจริงๆ ผู้ป่วยจิตเวชสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ เพียงเราปรับทัศนคติ ลดการตีตรา และรับฟัง ก็ไม่ยากนักที่เราจะเป็นเพื่อนกับผู้ป่วยจิตเวช

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 แนวทางความเป็นไปได้เพื่อแก้ปัญหาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพง

11 พ.ค. 2561 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน หรือ คอบช.โดยคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ พร้อมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้กำกับดูแลการกำหนดราคาค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนทั้งค่ายา ค่ารักษา และค่าเวชภัณฑ์ ด้วย 4 ข้อเสนอสำคัญ ค่ารักษา รพ.เอกชนแพง ปัญหาค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนที่แพงจนเป็นที่รู้กันนั้น แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมที่สะท้อนความคับข้องใจของคนไทย เมื่อนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้ชักชวนประชาชนร่วมลงชื่อกับ www.change.org/privatehospitals เมื่อปี 2558 เพื่อนำรายชื่อเข้าเสนอต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมค่ารักษาพยาบาล  “ทุกสื่อพร้อมใจกันประโคมข่าวชนิดที่ดิฉันไม่เคยเจอมาก่อน ต้องให้สัมภาษณ์ 3 คืน 4 วันติดกันจนไข้ขึ้น ผลคือประชาชนลงชื่อมากถึง 3.5 หมื่นชื่อในสองสัปดาห์” นางปรียนันท์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ผลจากเสียงสะท้อนของคนไทย รัฐบาล คสช.ที่ขณะนั้นกำลังต้องการสร้างผลงาน ท่านนายกรัฐมนตรีได้บัญชาการให้มีการจัดการปัญหาดังกล่าว จึงเกิดความเคลื่อนไหวทั้งจากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหา โดยแนวทางการแก้ไขที่วางไว้ในปีนั้น คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน ได้จัดตั้งคณะทำงาน มุ่งแก้ไข 3 ประเด็นหลัก ได้แก่1. รวบรวมข้อมูลค่ายา ค่าบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ ประกาศในเว็บไซต์กลางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจสอบได้ 2. เปิดสายด่วนรับเรื่องจากประชาชน 3 เบอร์ เพื่อให้ข้อมูลประชาชน และรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน 3. เรื่องบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 72 ชั่วโมง ฟรีทุกที ไม่มีการเรียกเก็บเงินจากประชาชน ถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2561 มีเพียงแนวทางที่ 3 คือ การให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินที่สำเร็จ  นอกนั้นยังอยู่ในขั้นศึกษาวิจัย ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ในระยะเวลาที่ผ่านมา  เกิดการผลักดันให้มีการควบคุมราคายา โดยกรมการค้าภายในได้กำหนดให้ยาเข้าไปอยู่ในประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2561 เรื่องการกำหนดสินค้าและบริการควบคุม  ซึ่ง ข้อ 3 (16) กำหนดให้ ยารักษาโรคเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งจะมีผลให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจดูแลป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่ายหรือกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรมได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองมาตรการที่ได้มา ยังไม่เพียงพอต่อการจัดการกับปัญหา   ความเคลื่อนไหวปี พ.ศ.2561เมื่อมองสภาพการณ์ปัจจุบัน แม้บทบาทของภาครัฐจะเริ่มอ่อนลงไป แต่ภาคประชาชนยังต้องเดินหน้าต่อ ในงานเสวนา “ความเป็นไปได้ในการตรวจสอบและกำกับค่ารักษาพยาบาลแพง” เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านบริการสุขภาพ  ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเราทุกคน เพราะทุกคนมีโอกาสจะป่วยหรือเป็นผู้บริโภคที่อาจต้องไปใช้บริการของโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ในช่วงปีที่ผ่านมา มูลนิธิผู้บริโภครวมถึงเครือข่ายตามพื้นที่ต่างๆ พบว่า หนึ่งในห้าอันดับต้นๆ ที่ได้รับการร้องเรียน เป็นเรื่องเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนมีราคาแพง” ดังนั้นภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้จุดประกายมาตั้งแต่ ปี 2558 จึงต้องก้าวต่อไป       ฉลาดซื้อได้ร่วมฟังเสวนาดังกล่าว พบว่า มีสาระที่น่าสนใจและน่าจะพอเป็นแนวทางให้ผู้บริโภคได้เข้าใจร่วมกันว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน สำหรับการที่จะทำให้ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนนั้น เหมาะสมและเป็นธรรม จึงขอนำเนื้อหาโดยสรุปมานำเสนอไว้ ณ ที่นี้  พ.ต.อ.รศ.พณาเจือเพชร์ กฤษณะราช อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดระยองกล่าวว่า ประสบการณ์ตรงคือ ญาติเส้นโลหิตในสมองแตก ถูกพาส่งโรงพยาบาลเอกชนตอนเที่ยงคืนในสภาพไม่รู้สึกตัว เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่กว่าจะได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทำการรักษาคือบ่ายสองโมงของวันถัดมา ประสบการณ์นี้ทำให้ต้องค้นหาข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งพบว่า โรงพยาบาลที่เกิดเหตุการณ์ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ประจำ ต้องตามตัวมาจากโรงพยาบาลรัฐ สิ่งนี้สวนทางกับความคาดหวังของญาติคนป่วย ที่ต้องการรักษาชีวิตคนให้ทันท่วงที จึงรีบพามาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งเรื่องที่ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำ คงเป็นเพราะโรงพยาบาลต้องการ “ตัดค่าใช้จ่าย” นั่นเอง  ประเด็นต่อมาคือ กรณีของญาติเข้าข่ายเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตนเองพบว่า ทาง รพ.ไม่ได้แจ้ง สพฉ. ตามระเบียบปฏิบัติ การเข้ารักษาตัวเพียงสองวันต้องจ่ายเงินไปเกือบล้านบาท เพราะทาง รพ.ไม่ทำตามเงื่อนไข และเมื่อตนโพสต์เรื่องราวบนโซเชียล กลับถูกตอบโต้จากแพทย์คนหนึ่ง ที่มีนามสกุลเดียวกันกับกรรมการแพทยสภา นี่เรียกว่า ผลประโยชน์ทับซ้อนของหน่วยงานที่ควรจะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่  บทเรียนครั้งนี้ทำให้ได้ข้อสรุปว่า เหตุที่โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลแพง เพราะประเทศไทยเราไม่มีกฎกติกาอะไรที่จัดการปัญหานี้ได้ เคยลองศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกา ส่วนใหญ่ก็เป็นประโยชน์ต่อทางโรงพยาบาลทั้งนั้น ภาครัฐเองก็สนับสนุน เช่น นโยบาย Medical Hub, การอนุญาตให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าตลาดหุ้น ซึ่งยิ่งส่งเสริมให้เกิดการแสวงหาผลกำไร ทั้งที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล  ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี ทุกสิ่งในโลกเป็นทวิภาวะ คือมีสองด้าน โรงพยาบาลเอกชนมีด้านมืด โรงพยาบาลรัฐก็มีเช่นกัน การมองอะไรด้านเดียวจะทำให้เราถูกบีบให้คิดกว้างไม่ได้ เดิมสังคมมนุษย์อยู่กันด้วยความไว้วางใจ แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนผ่านมีคนอยู่ร่วมกันมากมาย ความไว้ใจอาจไม่พอ ต้องมีรัฐเข้ามาเป็นคนจัดการ อย่างไรก็ตามเราก็ไม่อาจวางใจรัฐได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ สังคมวันนี้จึงมาถึงสิ่งที่เรียกว่า เทคโนโลยี ซึ่งไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ย่อมถือเป็นกติกาที่วางใจได้  ยกตัวอย่าง “ถ้าตนเองมีเทคโนโลยีที่มีข้อมูลส่วนตัวทุกอย่างอยู่ในนี้และควบคุมมันได้  หมายถึงอนุญาตให้ใครก็ได้เข้าถึงข้อมูลนี้  วันหนึ่งเกิดป่วยต้องไปหาหมอท่านหนึ่ง และเห็นข้อมูลรายการความสามารถในการรักษาโรคของหมอท่านนี้ เช่น ผ่าตัดมา 100 ราย รอด 70 ราย และมีท่านที่ 2,  3,  4  ให้เปรียบเทียบพร้อมกับราคา เมื่อเห็นว่าหมอท่านนี้ท่าทางจะเก็บเงินน้อยที่สุดด้วยฝีมือที่เท่ากัน เพราะฉะนั้นอนุญาตให้หมอเข้ามาหน้ากระดานอิเล็กทรอนิกส์ได้ นั่นแปลว่า หมอสามารถเปิดดูข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองได้ และถ้าหากตั้งโจทย์ไปว่า วันนี้มียาอยู่ 5 รายการ  แต่มีอาการมึนๆ ไม่แน่ใจว่าเกิดจากยาหรือไม่ ด้วยความเชี่ยวชาญของแพทย์ท่านนั้นก็จะบอกได้ เช่นให้ตัดยารายการที่ 4 ออกน่าจะดีขึ้น  พอหมอให้ความรู้มาก็จ่ายเงินไปอาจจะเป็น bitcoin หรืออะไรก็แล้วแต่   supply chain ซึ่งเป็นคนให้ยาก็จะรู้เลยว่า รอบหน้ายาขนานนี้ไม่ควรจ่ายให้อีก  นี่คือตัวอย่างของเทคโนโลยีที่ทำให้เราไม่ต้องมาเผชิญหน้ากัน” เรื่องการใช้เทคโนโลยีนี้เกิดการทดลองขึ้นแล้วในหลายประเทศ  อย่างไรก็ตามไม่ได้บอกว่านี่คือคำตอบสำเร็จที่จะให้ความหวังทั้งหมด  ในงานวิจัยของผมการได้ข้อมูลจากโรงพยาบาลเอกชนไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะไม่มีระบบที่จะเข้าถึงได้ ต้องพลิกแพลง สิ่งที่ค้นพบคือ เมื่อจำแนกโรงพยาบาลเอกชนเป็น 3 ประเภท คือ ในตลาดหลักทรัพย์  นอกตลาดหลักทรัพย์ และมูลนิธิ  ค่ารักษาพยาบาลในกลุ่มโรคและวิธีการรักษาที่ใกล้เคียงกัน  ราคาแพงที่สุดคือโรงพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์  รองลงมาก็คือโรงพยาบาลนอกตลาดหลักทรัพย์ และถูกที่สุดคือโรงพยาบาลของมูลนิธิ  โรงพยาบาลที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ราคาแพง เพราะถูกกดดันตามกติกาว่าต้องขยายผลกำไรและกิจการทุกๆ ปี คำถามคือ ถ้าฝากความหวังกับกลไกของรัฐ สามารถทำให้โรงพยาบาลเอกชนออกมาจากตลาดหลักทรัพย์ ได้หรือไม่ ถ้าทำได้ราคาจะไม่แพงอย่างที่เป็นอยู่ และเมื่อโรงพยาบาลเอกชนมีอยู่สามประเภท มีราคาขายที่แตกต่างกัน  ทำอย่างไรที่เราจะส่งเสริมให้โรงพยาบาลที่มีราคาขายถูกสุด มีบทบาทและได้ส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นในภาคเอกชน ทพ.อาคม  ประดิษฐ์สุวรรณ  ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการ สุขภาพ สำนักสถานพยาบาลและประกอบโรคศิลปะ ดูแลโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ 350 กว่าโรง  และคลินิกเอกชนประมาณ 20,000 กว่าแห่ง โรงพยาบาลเอกชนเองมีหลายประเภท ที่ปิดกิจการไปจำนวนมากก็มี ตนเองเห็นด้วยกับ นพ.ไพบูลย์ ว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่ควรเข้าตลาดหุ้น อย่างประเทศญี่ปุ่นบริการทางการแพทย์เข้าตลาดหุ้นไม่ได้ หมอของโรงพยาบาลรัฐบาลจะไปรักษาโรงพยาบาลเอกชน หรือหมอโรงพยาบาลเอกชนจะมารับราชการก็ไม่ได้ เขาห้ามและแยกเป็นสัดส่วนกัน   ในปี 2558 กระทรวงสาธารณสุขได้รับนโยบายให้แก้ไขปัญหาเรื่องราคาค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนที่แพงมาก แนวทางแยกเป็นสองเรื่อง คือ การแก้ไขปัญหายาราคาแพง กับค่ารักษาพยาบาลแพง จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ปัญหาแรกที่แก้ไขคือเรื่องของยาเป็นสินค้าควบคุม ที่ออกจากกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน  ทำอย่างไรจะควบคุมราคายาจากต้นทางได้ กระทรวงพาณิชย์มีกรรมการ เรียกว่า กรรมการควบคุมสินค้าราคากลาง(กกร.) คณะกรรมการนี้มีอำนาจเข้าไปกำหนดราคาสินค้าจากต้นทาง จากโรงงานได้ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์แล้ว กลับมาที่การควบคุมราคาบริการๆ ก็ผลักดันจนเกิดนโยบายเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน ฟรี 72 ชั่วโมง ซึ่งก็ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกหลายจุด แล้วเรื่องของค่ารักษาแพงได้ทำอะไรไปบ้าง ขณะนี้มีการจัดทำร่างประกาศ ตามมาตรา 3 เรื่องของการประกาศชนิดหรือประเภทของการรักษาพยาบาล  ยาเวชภัณฑ์ การบริการทางการแพทย์ หรือการบริการอื่นของสถานพยาบาล “การประกาศค่ารักษาพยาบาลต่อไปนี้ต้องทำเป็นแพ็คเกจ ถ้าราคาสามพันก็คือสามพัน จบกันแค่นี้ไม่มีอะไรเพิ่มเติม จะมาบอกว่าค่าผ้าก๊อซ ค่าเข็มฉีดยาเหมือนสมัยก่อนไม่ได้ ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมต้องแจ้ง  นี่คือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้ และเตรียมเสนอรัฐมนตรีเพื่อให้ประกาศออกมา น่าจะเสร็จในเร็วๆ นี้” อย่างไรก็ตามประกาศฉบับนี้ เราจะไม่สามารถกำหนดเรื่องราคาได้ เพราะบริการทางการแพทย์ไม่ใช่สินค้าควบคุม  ที่ทำได้คือ ต่อไปเมื่อโรงพยาบาลประกาศค่ารักษาพยาบาลแล้ว ต้องไม่เก็บเกินนั้น  ถ้าเกินคือผิดกฎหมายและมีบทลงโทษจำคุกด้วย ถ้าถามว่าแล้วกระทรวงสาธารณสุขจะมีนโยบายเรื่องกำหนดหรือควบคุมราคาไหม มองว่าปัญหาที่จะตามมาคือ เรื่องของมาตรฐานและคุณภาพ  เพราะโรงพยาบาลเอกชนมีหลายระดับ ในเรื่องเดียวกัน การควบคุมอาจต่างกัน ต้องมีการคิดทบทวนพอสมควร เพราะต้องยอมรับว่าตอนนี้ประเทศเราขายบริการทางการแพทย์อยู่ ปีที่แล้วมีคนเข้ารับบริการที่ประเทศเรามากที่สุดในโลกด้วย  และวันนี้ถ้าเราจะคิดเรื่องของการคุมราคา  มีคนเสนอให้คิดคนไทยราคาหนึ่ง คนต่างชาติราคาหนึ่ง แบบนี้ก็มีเรื่องสองมาตรฐานเกิดขึ้นแล้ว นางปรียนันท์  ล้อเสริมวัฒนา  ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ พูดกันตรงๆ ว่า ปัญหาอยู่ที่เวลาหน่วยงานรัฐทำงานไม่ค่อยให้ภาคประชาชนไปมีส่วนร่วม  จริงๆ แล้วเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ไม่อยากแตะเรื่องค่ารักษาเลย  เพราะว่าแค่ทำเรื่องความเสียหายก็ทำไม่ทันแล้ว แต่ว่าบังเอิญได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนเกี่ยวข้องกับมาตรฐานการรักษาด้วย ปัญหาเรื่องการเก็บค่ารักษาแพงมีเข้ามาอยู่เรื่อยๆ มีกรณีโรงพยาบาลเอกชนฟ้องร้องเรียกค่ารักษาจากคนไข้ ขนาดหน่วยงานอย่าง สปสช.บอกว่า คนไข้ไม่ต้องจ่าย แต่ในทางเอกสารหลักฐาน คนไข้จะแพ้คดี เพราะมีการเซ็นลายมือชื่อยินยอมไปแล้วว่า “ยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น”   ถามว่าเซ็นทำไม เวลาจริงๆ ที่เราหรือญาติเรากำลังจะเป็นจะตาย พนักงานโรงพยาบาลจะเอาเอกสารมากมายมาให้ก็ต้องเซ็นทั้งนั้น ภาพคนแก่หอบโฉนดที่ดินเอาไปมอบให้ทนายของโรงพยาบาลเอกชนเพื่อชดใช้หนี้นั้น  มันเศร้ามาก ต่อมาที่เครือข่ายได้ทำแคมเปญลงลายมือชื่อเสนอนายกฯ ให้แก้ปัญหา ก็มีการสั่งให้ตั้งกรรมการแต่อย่างที่ท่าน ผอ.อาคมพูด ตั้งแล้วก็ทิ้งภาคประชาชนเอาไว้ข้างหลัง  ไม่ให้เราไปมีส่วนร่วมเหมือนเราก็เต้นอยู่ข้างนอก พูดอะไรไปเขาไม่ให้ราคาเราเลย  คุยแต่วงราชการด้วยกัน หน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้  ภาคประชาชนถูกละเลยอย่างชัดเจน ปัจจุบันปัญหาก็ยังอยู่จุดเดิม คือเมื่อเกิดเรื่องขึ้นประชาชนยังต้องไปร้องเรียนหลายหน่วยงาน แค่ผู้บริโภคมีปัญหา สงสัยเรื่องบิลใบเดียว ค่าหมอ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ 1-2   รายการ  จำนวนเงินเป็นแสนๆ คืออะไรบ้าง  ต้องวิ่งไปหลายหน่วยงาน ไม่มี  One Stop Service   ทางออกที่ ท่าน อ.ไพบูลย์ กับ ท่าน สว.เสนอ น่าสนใจมาก  แต่ในฐานะประชาชนที่นอนอยู่กับปัญหา วันนี้จึงขอถามว่ามีความเป็นไปได้ไหม ถ้าเราอยากได้กรรมการที่จะเป็นจุดที่ช่วยประชาชนได้ ไม่ต้องวิ่งไปหลายหน่วยงาน แค่ไปที่นี่ที่เดียว   ข้อเสนอและทางออกที่น่าสนใจจากวงเสวนา “ตอนนี้อยากขอให้ช่วยกันลงชื่อใน Change.org ให้ครบห้าหมื่น เพื่อยื่นนายกฯ อีกครั้ง ว่าขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล  เราเสนอชื่อไปเลยและฟอร์มทีมไปเลย ถ้าเราเอาห้าหมื่นชื่อไปยื่นแล้วรัฐบาลไม่ขยับ เราจะตั้งกันเองเป็น “แพทยสภาเพื่อประชาชน” คู่ขนานกันไป เวลาวินิจฉัยเรื่องอะไรให้ประชาชนร้องเข้ามา เราก็จะมีข้อมูล  โปรโมทกรรมการชุดนี้ให้เต็มที่เลย  หลังจากนั้นค่อยเคลื่อน เอานักวิชาการและผู้รู้เข้ามา” นางปรียนันท์  ล้อเสริมวัฒนา  “เพิ่มอำนาจซื้อของกองทุน ที่สหรัฐอำนาจซื้อของเขามากพอที่จะทำให้โรงพยาบาลเอกชนจำนวนไม่น้อยต้องกังวลที่จะถูกตัดทอนสิทธิ แต่ถามว่ารายได้ของโรงพยาบาลเอกชนไทยส่วนใหญ่มาจากไหน คำตอบคือไม่ได้มาจากกองทุนของรัฐ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องคิดกลไกที่ให้รัฐไปส่งเสริมให้โรงพยาบาลเอกชนที่ทำตัวดีได้รับประโยชน์มากกว่าโรงพยาบาลที่มีปัญหา สุดท้าย ข้อเสนอของตนเองก็คือ การใช้เทคโนโลยี ภาษาอังกฤษเรียกว่า Block Chain  ที่ตัดคนกลางออกไปจากวงจรปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนที่จะมาแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการทุกชนิด จะทำให้การสื่อสาร  การรู้เท่าทันกันดีขึ้นมาก  รวมทั้งจะทำให้สังคมอยู่กันโดยมีกติกา  โดยที่ไม่ต้องฝากความหวังไว้กับคนกลาง”    ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล  “ส่งเสริมโรงพยาบาลรัฐให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการมากขึ้น แทนที่จะเอาเงินไปจ่ายเอกชน จ่ายให้รัฐดีกว่า รวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องและใช้ประโยชน์จากกฎหมายให้มากที่สุด สุดท้ายประชาชนต้องช่วยกันทำให้แพทยสภาเป็นที่พึ่งของประชาชนได้จริง ไม่สับสนในบทบาทตนเอง” พ.ต.อ.รศ.พณาเจือเพชร์ กฤษณะราช--------------------------------------------4 ข้อเสนอของ คอบช. ยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 25611. ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดออกประกาศให้ "บริการสาธารณสุข" เป็นบริการควบคุม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 โดยให้ผู้ประกอบการ สถานพยาบาลดำเนินการส่งรายการราคาต้นทุนการรักษา ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลส่งให้ทางกรมการค้า เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดราคาควบคุม2. กำหนดมาตรการระยะสั้น โดยประกาศราคาสูงสุดหรือราคากลาง อาทิ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการวิชาชีพ โดยให้นำราคากลางตามที่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กองทุนหลักประกันสุขภาพ ทั้ง 3 ระบบ (บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ) และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน มาใช้ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการประกาศราคาควบคุมตามข้อ 13. พัฒนาระบบรับเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาค่าบริการรักษาพยาบาล ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ค่าบริการวิชาชีพ ที่มีราคาแพง เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและรับประกันการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในกรณีจำเป็น เพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค4. ทบทวนมาตรการควบคุมราคายาและบริการรักษาพยาบาล ตัวอย่างเช่น "ยารักษาโรคซึ่งกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการฉบับที่1 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดสินค้าและบริการควบคุม หมวดยารักษาโรค (16 )" เช่นเดียวกันกับการควบคุมราคาผ้าอนามัย โดยให้มีการแจ้งต้นทุนราคาและรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง

อ่านเพิ่มเติม >