ฉบับที่ 274 สำรวจฉลากโภชนาการ “ขนมในกระเช้าปีใหม่”

        ช่วงเทศกาลส่งความสุขในปีใหม่นี้ ผู้บริโภคคนไหนกำลังคิดจะเลือกซื้อขนมอบกรอบหวานหอม และขนมขบเคี้ยวเค็มๆ มันๆ ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์สีสันสดใส มาจัดกระเช้าปีใหม่ ด้วยหวังว่าผู้รับจะชอบใจ อยากให้แตะเบรกไว้ก่อน เพราะแม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ยอดฮิตที่มักมอบให้กันในโอกาสพิเศษต่างๆ แต่อย่าลืมว่าขนมเหล่านี้มีส่วนผสมหลักเป็นแป้ง น้ำตาล เนย นม เกลือ ผงฟู และสารกันเสีย ซึ่งหากกินเข้าไปเยอะๆ บ่อยๆ อาจเกิดการสะสมของน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดได้         นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างขนมในกระเช้าปีใหม่ (คุกกี้ บิสกิต แครกเกอร์ และพาย) จำนวน 11 ตัวอย่าง ในช่วง 1 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2566 มาเปรียบเทียบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ (ปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม) และราคาต่อปริมาณ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคว่าจะเลือกขนมเหล่านี้จัดใส่กระเช้าปีใหม่ดีไหมหนอ  ผลการสำรวจ        ·     ทุกตัวอย่างระบุเลขที่ใบอนุญาตจาก อย. ไว้ถูกต้อง ตรวจสอบข้อมูลได้         ·     เมื่อพิจารณาฉลากโภชนาการของขนม 11 ตัวอย่าง พบว่า ยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค มีปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำมากที่สุดคือ 34 กรัม ส่วนยี่ห้อไฮไท แครกเกอร์ รสดั้งเดิม และ ยี่ห้อเดนม่า คุกกี้สอดไส้รสผลไม้ มีน้อยที่สุดคือ 25 กรัม         ·     เมื่อเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 หน่วยบริโภค พบว่า            -        ปริมาณพลังงานมากที่สุด = 180 กิโลแคลอรี คือยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค ส่วนยี่ห้อล็อตเต้ ช็อกโกพาย บานาน่า มีน้อยที่สุด  = 120 กิโลแคลอรี            -        ปริมาณน้ำตาลมากที่สุด = 11 กรัม  คือยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม ส่วนยี่ห้อไฮไท แครกเกอร์ รสดั้งเดิม มีน้อยที่สุด = 2 กรัม             -        ปริมาณไขมันมากที่สุด = 9 กรัม ได้แก่ ยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค และยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ส่วนยี่ห้อล็อตเต้ ช็อกโกพาย บานาน่า และยี่ห้อแซง มิเชล กาเลต โอ เบอร์ ทิน บัตเตอร์ คุกกี้ มีน้อยที่สุด = 5 กรัม             -        ปริมาณโซเดียมมากที่สุด = 135 มิลลิกรัม คือ ยี่ห้อแมคไวตี้ส์ ไดเจสทีฟ ออริจินอล(บิสกิตข้าวสาลี) ส่วนยี่ห้อเดนม่า คุกกี้สอดไส้รสผลไม้  มีน้อยที่สุด = 40 มิลลิกรัม         ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อบาวเซ่น เดโลบา บลูเบอร์รี่ แพงสุดคือ 0.95 บาท ส่วนยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม ถูกสุดคือ  0.22 บาท  ข้อสังเกต        - เมื่อคำนวณในปริมาณ 1 หน่วยบริโภคที่เท่ากัน คือ 30 กรัม (ปริมาณเฉลี่ย ได้จากผลรวมของปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ÷ 11) พบว่า ยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ มีปริมาณพลังงานมากที่สุด = 160 กรัม ส่วนยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม มีทั้งน้ำตาล (11.96 กรัม) และโซเดียม (141.30 มิลลิกรัม) ในปริมาณมากที่สุด         - หากเรากินโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม 1 ห่อ (3 ชิ้น) จะได้รับน้ำตาลเกือบครึ่งหนึ่งของที่แนะนำให้กินได้ต่อวัน(ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 24 กรัมต่อวัน) ถ้าเผลอกินเพลินเกิน 2 ห่อต่อวัน ร่างกายจะได้น้ำตาลเกินจำเป็น         - วัยผู้ใหญ่ไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้น หากกินขนมแมคไวตี้ส์ ไดเจสทีฟ ออริจินอล (บิสกิตข้าวสาลี) 2 ชิ้น หรือโอรีโอ ช็อกโกแลตครีม 3 ชิ้น ก็จะได้รับโซเดียมเกินครึ่งหนึ่งของที่แนะนำไว้แล้ว        - เมื่อลองนำเกณฑ์สัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกสุขภาพ” มาพิจารณา ในปริมาณขนม 100 กรัม         ขนมบิสกิตและแครกเกอร์   กำหนดให้มีน้ำตาล ≤ 7 กรัม  และโซเดียม ≤ 500 มิลลิกรัม พบว่าทุกตัวอย่างมีน้ำตาลเกิน และมีโซเดียมอยู่ในเกณฑ์        ขนมคุกกี้  กำหนดให้มีน้ำตาล ≤ 20 กรัม และ โซเดียม ≤ 300 มิลลิกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างมีน้ำตาลเกิน และมีโซเดียมเกินเกณฑ์นี้ 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม (471.01 มก.)  ยี่ห้อบาวเซ่น เดโลบา บลูเบอร์รี่ (348.48 มก.) และยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค (323.53 มก.)         - ทุกตัวอย่างบอกวันผลิตและวันหมดอายุไว้ มีอายุตั้งแต่ 10 – 21 เดือน โดยมี 8 ตัวอย่างที่อายุ 1 ปี         - ยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ระบุวันหมดอายุ 01.12.23 และมีอายุนับจากวันผลิตนานถึง 21 เดือน         - มี 3 ตัวอย่างที่ผลิตในประเทศไทย ส่วนใหญ่ผลิตจากต่างประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เยอรมันฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร         - ทุกตัวอย่างแสดงข้อความเตือนว่า “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ”     ฉลาดซื้อแนะสำหรับผู้ให้        - หากจะซื้อขนมมาจัดกระเช้าปีใหม่ ต้องดูวันหมดอายุให้ดีๆ เพราะอาจมีสินค้าใกล้หมดอายุมาวางขายปะปนบนชั้นได้ ยิ่งถ้าใครซื้อแบบกระเช้าสำเร็จรูปก็ต้องตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ         - เลือกซื้อขนมที่ผลิตในประเทศไทย สนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ         - เปลี่ยนเป็นขนมที่ดีต่อสุขภาพแทน เช่น กระเจี๊ยบมอญอบกรอบ บร็อคโคลี่อบแห้ง งาดำอัดแท่งหวานน้อย ลูกเดือยกล้อง ถั่วเปลือกแข็ง (อัลมอนด์ วอลนัท) อบไม่ปรุงรส ดาร์คช็อคโกแล็ต (มี %cocoa มากกว่า 70%) เป็นต้น         - อย. แนะนำให้มอบกระเช้าของขวัญปีใหม่ในแบบ “สุขใจผู้ให้ ห่วงใยผู้รับ” โดยเลือกที่มีสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองแล้วว่ามีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมต่อสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สำหรับผู้รับ        - เมื่อได้รับขนมเหล่านี้เป็นของขวัญ มักได้เป็นกล่องหรือกระป๋องใหญ่ แกะแบ่งห่อเล็กปันคนอื่นๆ ด้วยก็ดีไม่ต้องเก็บไว้เยอะ และอย่าเผลอกินเกินจำนวนหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลากโภชนาการ เดี๋ยวจะอ้วน         - ถ้าวันไหนรู้ตัวว่ากินคุกกี้ แครกเกอร์ เยอะเกินแล้ว ก็ควรจะออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไป จะได้กินขนมให้อร่อยต่อไปได้โดยไม่ต้องกลัวอ้วนหรือรู้สึกผิดต่อตัวเอง         - กินขนมคู่กับน้ำเปล่าดีที่สุด หากไม่อยากได้รับน้ำตาล ไขมันและโซเดียมเพิ่มอีก         - อย่าชะล่าใจ กินขนมอบกรอบรสหวานๆ เสี่ยงเป็นเบาหวานแล้วยังเสี่ยงเป็นโรคไตด้วย เพราะโซเดียมไม่ได้มีแต่ในเกลือที่ให้รสเค็ม แต่ยังแฝงอยู่ในผงฝูและสารกันบูดที่เป็นส่วนผสมของขนมเหล่านี้ด้วย  ข้อมูลอ้างอิงwww.thaihealth.or.thwww.oryor.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ซักก่อนใส่

        หลายคนอาจมีความชอบเป็นส่วนตัวในการสวมใส่เสื้อผ้าใหม่เอี่ยมที่มิได้ซักมาก่อน ด้วยรู้สึกว่าการรีดเสื้อหรือกางเกงให้เรียบเหมือนที่วางขายในร้านนั้นทำได้ยาก จึงขอใส่โชว์ให้ดูดีที่สุดสักครั้งหนึ่งก่อนซัก         ใครที่ทำเช่นนี้ย่อมมีโอกาสสัมผัสกับสารเคมีที่ก่ออันตรายเช่นภูมิแพ้ได้ เนื่องจากการใส่เสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ซักนั้นระหว่างที่เหงื่อออกมักก่อให้เกิดการเสียดสีระหว่างเนื้อผ้าและผิวกายจนทำให้สีย้อมผ้าส่วนที่อาจหลงเหลือในการผลิตหลุดออกมาสู่ผิวกาย นอกจากนี้แล้วอุปกรณ์ใหม่ในการเล่นกีฬาที่ทำจากผ้าหรือใยสังเคราะห์ที่สัมผัสกับผิวหนัง เช่น ที่รัดเข่า รัดน่อง รัดข้อมือ ฯ ก็เป็นอีกแหล่งของสีย้อมผ้าส่วนเกินที่หลุดออกมาก่อปัญหาภูมิแพ้ได้เช่นกัน         มีงานวิจัยหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า เสื้อผ้าใหม่ที่ยังไม่ได้ซักมีสารเคมีที่เป็นพิษตกค้างอยู่ เช่น บทความเรื่อง Quinolines in clothing textiles—a source of human exposure and wastewater pollution? ในวารสาร Analytical and Bioanalytical Chemistry ของปี 2014 ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มในสวีเดนได้ทดสอบเสื้อผ้า 31 ตัวอย่างที่ซื้อจากร้านค้าปลีกที่มีความหลากหลายทั้งในด้านสี วัสดุ ยี่ห้อ และราคาจากบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ จอร์เจีย โปรตุเกส จีน บัลแกเรีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี กัมพูชา สวิตเซอร์แลนด์ อียิปต์ อิตาลี ปากีสถาน โปแลนด์ ซึ่งผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า ตรวจพบสารเคมีกลุ่ม “ควิโนลีน (quinoline)” และอนุพันธ์อีก 10 ชนิด ใน 29 ตัวอย่าง โดยระดับของสารเคมีกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงเป็นพิเศษในเสื้อผ้าโพลีเอสเตอร์ สำหรับสารประกอบ Quinoline ต่าง ๆ ที่ถูกใช้ในการผลิตสีย้อมเสื้อผ้านั้น หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา หรือ EPA ได้จัดว่าเป็น " possible human carcinogen" (เป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์) เนื่องจากการศึกษาบางเรื่อง เช่น Tumor-Initiating Activity of Quinoline and Methylated Quinolines on The Skin of Sencar Mice ในวารสาร Cancer Letters ของปี 1984 ได้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสารกลุ่มนี้กับการกระตุ้นเนื้องอกในหนูทดลอง เพียงแต่ว่ายังไม่มีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง         นอกจากนี้สารเคมีอีกชนิดที่พบได้ในเสื้อผ้าใหม่คือ ไนโตรอะนิลีน (Nitroaniline) ซึ่งใช้ในการสังเคราะห์สีย้อมผ้ากลุ่มเอโซ (Azo dyes) นั้นมีบทความเรื่อง NTP Toxicology and Carcinogenesis Studies of p-Nitroaniline (CAS No. 100-01-6) in B6C3F1 Mice (Gavage Studies) ใน National Toxicology Program technical report series ปี 1993 ที่ระบุหลักฐานการศึกษาในสัตว์ทดลองที่เชื่อมโยงผลเสียเนื่องจากสารเคมีนี้ต่อสุขภาพผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้น (ซึ่งรวมถึงมะเร็ง) ถ้าสารเคมีบางส่วนยังคงติดอยู่ในเส้นใยของเสื้อผ้า                 MDA เป็นสารที่นำมาใช้สำหรับผลิตโพลียูรีเทน ซึ่งมีการนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตเส้นใยสแปนเด็กซ์ (Spandex) ที่ยืดแล้วหดกลับได้เท่ากับขนาดเดิม และสามารถรีดให้เรียบได้ด้วยเตารีดที่อุณหภูมิต่ำ ทนต่อเหงื่อไคลและไขมันจากร่างกายได้ดีกว่ายางธรรมชาติ ใยสแปนเด็กซ์ถูกย้อมสีต่างๆ ได้ ทนต่อการขัดสีและทนต่อปฎิกริยาออกซิเดชั่นดี จึงมีความนิยมนำมาใช้ทำเป็นส่วนหนึ่งของชุดชั้นในสตรี ชุดอาบน้ำ ขอบถุงเท้า ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ต้องการให้มีการยืดกระชับ เช่น ผ้าพันข้อเท้าและหัวเข่า ผ้าพันกล้ามเนื้อ เป็นต้น ดังนั้นสินค้าเหล่านี้จึงอาจมี MDA ตกค้างได้         นอกจากสาร MDA แล้วเครื่องนุ่งห่มต่างๆ มักถูกย้อมด้วยสีกลุ่มเอโซซึ่งหลายชนิดสหภาพยุโรปห้ามใช้หรือจำกัดการหลงเหลือของสี ทั้งที่สีบางชนิดไม่ได้ก่อมะเร็งด้วยตัวมันเอง เพียงแต่ขณะใช้อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารก่อมะเร็งได้ ดังแสดงในบทความเรื่อง Formation of a carcinogenic aromatic amine from an azo dye by human skin bacteria in vitro ในวารสาร Human & Experimental Toxicology ของปี 1999 ซึ่งให้ข้อมูลว่า สีย้อมเอโซบางชนิดถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารประกอบแอโรแมติกอะมีนโดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง อีกทั้งมีข้อมูลทางพิษวิทยาว่า สารประกอบแอโรแมติกอะมีนหลายชนิดถูกดูดซึมได้ทางผิวหนัง โดยในการศึกษานี้ผู้วิจัยได้นำเอา Direct Blue 14 (สีเอโซชนิดหนึ่งซึ่งมักถูกใช้สำหรับผ้าฝ้าย ป่าน ไหมเทียม และเส้นใยเซลลูโลสอื่นๆ) มาผสมกับเชื้อ Staphylococcus aureus (พบได้ทั่วไปบนผิวหนังมนุษย์) แล้วบ่มในเหงื่อสังเคราะห์ (20 มิลลิลิตร, pH 6.8) ที่ 28 องศาเซลเซียส นาน 24 ชั่วโมง จากนั้นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากปฏิกิริยาถูกสกัดและวิเคราะห์โดยใช้ HPLC ที่มีชุดตรวจวัดเป็น mass spectrometer ทำให้ตรวจพบสาร o-tolidine (3,3'-dimethylbenzidine) ซึ่งเป็นสารพิษในระดับ IARC Group 2B carcinogen (อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์) และอนุพันธ์ของ Direct Blue 14 อีกสองชนิดซึ่งยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยที่ชัดเจน         บทความที่ศึกษาในประเด็นเดียวกันอีกเรื่องคือ Azo dyes in clothing textiles can be cleaved into a series of mutagenic aromatic amines which are not regulated yet ในวารสาร Regulatory Toxicology and Pharmacology ของปี 2017 ให้ข้อมูลว่า สีย้อมเอโซเป็นสีที่แบคทีเรียที่ผิวหนังหลายชนิดสามารถเปลี่ยนแปลงสีชนิดนี้ไปเป็นแอโรแมติกอะมีน ซึ่งอาจถูกดูดซึมทางผิวหนังในปริมาณที่อาจก่อปัญหา เพราะเป็นที่ทราบกันว่า สีเอโซต่างๆ อาจถูกเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งชนิดแอโรแมติกอะมีนชนิดใดชนิดหนึ่งใน 22 ชนิดที่ถูกห้ามพบในสิ่งทอที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป (ดูรายละเอียดได้จาก เอกสาร COMMISSION REGULATION (EC) No 552/2009 of 22 June 2009) และผลการทดสอบจาก Ames Test (การทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์) ซึ่งใช้ทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ในการศึกษานี้พบว่า แอโรแมติกอะมีน 4 ชนิดเป็นสารก่อกลายพันธุ์ ซึ่งเมื่อนับรวมกับข้อมูลเดิมที่เปิดเผยต่อสาธารณะแล้วว่า มีสีที่ถูกเปลี่ยนเป็นสารก่อกลายพันธุ์ 36 ชนิด จึงทำให้ระบุได้ว่า จากสีเอโซ 180 ชนิด (ซึ่งนับเป็น 38% ของสีย้อมเอโซในฐานข้อมูลสีย้อมผ้า) ถูกเปลี่ยนโดยแบคทีเรียบนผิวหนังไปเป็นแอโรแมติกอะมีนที่ก่อกลายพันธุ์ได้ 40 ชนิด        ผู้บริโภคหลายท่านอาจไม่เคยทราบว่า โดยปรกติแล้วเสื้อผ้าที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมมักใช้สารเคมีหลายชนิดช่วยในการผลิต (ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องเปิดเผยสิ่งเหล่านี้แก่ผู้บริโภค) สารเคมีหลายชนิดนั้นรวมถึงสารเคมีกันน้ำและกันน้ำมัน ที่นิยมกันคือ ฟลูออโรเซอร์แฟกแตนต์ (fluorosurfactant ที่ใช้มากคือ Per- and polyfluoroalkyl substances หรือ PFAS ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับสารเคลือบกระทะชนิดที่ไม่ต้องใช้น้ำมันคือ Polytetrafluoroethylene (PTFE)) ที่มีงานวิจัยเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลยที่รายงานถึงความปลอดภัย         การซักเสื้อผ้าก่อนใส่นั้นทำให้โอกาสเสี่ยงอันตรายจากสารเคมีหมดไปหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่เสมอไป” เพราะยังอาจมีสารเคมีอื่นๆ ที่อาจทยอยหลุดออกจากเสื้อผ้าสู่ผิวหนังเมื่อเสื้อผ้ามีอายุและเสื่อมสภาพ หรือกำลังสวมระหว่างการเล่นกีฬาจนเหงื่อซก ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรเปลี่ยนเสื้อที่สวมใส่เล่นกีฬาจนเปียกเหงื่อระหว่างเล่นกีฬาบ้าง ทั้งนี้เพราะสารเคมีที่หลุดออกมาได้เหล่านี้ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างดีเกี่ยวกับการดูดซึมของผิวหนังหรือผลกระทบต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ………… การระบุเส้นใยธรรมชาติ 100 %              ผู้บริโภคทั่วไปมักมีความคิดว่า วัสดุสังเคราะห์มักใช้สารเคมีมากกว่าเส้นใยธรรมชาติ ดังนั้นจึงพบได้เสมอว่า มีเสื้อผ้าที่ระบุว่าผลิตจาก 'ผ้าฝ้าย 100%' เพื่อให้ผู้บริโภคดีใจว่าอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาตินั้น มักไม่บอกข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารเคมีหรือสารเติมแต่งใดที่ถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงเส้นใยเพื่อเพิ่มมูลค่า และถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เสื้อผ้าฝ้ายแบรนด์เนมที่ติดฉลากว่าเป็น ผ้าฝ้าย 100% นั้น บางตัวใส่สบายมากแต่ถ้าพ่อไม่รวยพอคงซื้อใส่ไม่ไหวแน่        นิตยสารฉลาดซื้อฉบับที่ 149 ในปี 2556 เคยรายงานผลการเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชาย (สีดำ) มาตรวจหาสารก่อมะเร็งที่ปนในสีย้อมและฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับย่น) แล้วต่อมาในฉลาดซื้อฉบับที่ 259 ประจำเดือน กันยายน 2565 ฉลาดซื้อได้รายงานผลทดสอบกางเกงชั้นในชายสีดำอีกครั้งเพื่อเป็นการติดตามผลจากครั้งแรกซึ่งพบว่า กางเกงชั้นในสำหรับผู้ชาย 3 ตัวอย่าง ที่ตรวจทั้งหมดนั้นมีสีย้อมที่ให้สารประกอบแอโรแมติกอะมีนเกินกำหนดคือ กางเกงในชื่อดังราคา 1090 บาทต่อ 6 ตัว (พบ 61.40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) กางเกงในราคา 169 บาทต่อ 2 ตัว (พบ 59.89 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และมีกางเกงในอีกหนึ่งยี่ห้อที่ตรวจพบแม้ไม่เกินมาตรฐานซึ่งขาย 169 บาทต่อ 2 ตัวเช่นกัน (พบ 14.55 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) สำหรับสารเคมีที่ตรวจพบนั้นคือ 4,4'-ไดอะมิโนไดฟีนิลเม็ทเทน (4,4'-Diaminodiphenylmethane) หรืออีกชื่อคือ 4,4'-เมทิลีนไดแอนิลีน (4,4’-Methylenedianiline หรือ MDA) ได้ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในสถานที่ทำงาน โดย US National Institute for Occupational Safety and Healthของสหรัฐอเมริกา สำหรับในประเทศไทยนั้น MDA เป็นสารเคมี 1 ใน 24 ชนิดที่ถูกห้ามพบในสินค้าต่างๆ ตามมาตรฐาน มอก. 2346-2550        เคยมีบทความเรื่อง Detection of azo dyes and aromatic amines in women under garment ในวารสาร Journal of Environmental Science and Health, Part A: Toxic/Hazardous Substances and Environmental Engineering ของปี 2016 ได้รายงานถึงการประเมินตัวอย่างชุดชั้นในสตรีจำนวน 120 คอลเลคชั่นที่ถูกซื้อจากหลายห้างสรรพสินค้าเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่า มีการปล่อยสารประกอบแอโรแมติกอะมีนสู่ผิวหนังเพียงใด ผลการวิเคราะห์พบว่า 74 ตัวอย่าง ตรวจพบสารกลุ่มแอโรแมติกอะมีนในระดับต่ำ ในขณะที่ 18 ตัวอย่างพบสารกลุ่มแอโรแมติกอะมีนสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ppm)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 สวัสดีปีใหม่เดินทางปลอดภัย

        ขณะทำต้นฉบับนี้ อีกไม่กี่วันปี 2564 ก็จะจากไป ขณะที่หลายคนต่างหวาดกลัวและกังวลว่าโควิด-19 จะกลับมาอีกมั้ย แต่พฤติกรรมคนส่วนใหญ่กลับละเลยการป้องกันตนเอง และกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติกันแล้ว โดยเฉพาะความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนที่พบว่ากว่า 95 เปอร์เซ็นต์มาจากพฤติกรรมการขับขี่ การขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย (เหมือนเดิม) และกลายเป็นเรื่องตลกร้ายที่ขำไม่ออก เมื่อทุกคนคิดว่าการมาของโควิด-19 นั้นทำให้อุบัติเหตุทางถนนลดลง จึงมีผลทำให้หลายมาตรการของรัฐหย่อนยานลดประสิทธิภาพลงตามไปด้วย         แน่นอนว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะมีจำนวนลดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ รัฐบาลใช้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อหยุดการเดินทางของผู้คนทั้งประเทศ ตลอดจนการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มของมึนเมาเพื่อลดการรวมกลุ่มสังสรรค์ในทุกกิจกรรม รวมถึงการที่ประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจได้เองว่า ต้องป้องกันตนเองจากสถานการณ์โรคระบาดและลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยในทุกกิจกรรม         อย่างไรก็ดีแม้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะน่ากลัว แต่ก็เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ต้องทุ่มเทสรรพกำลังทุกภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันมากที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งรัฐบาลก็ทำได้แล้วตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และมีผลให้สถานการณ์ความตึงเครียดของโรคระบาดโควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ         นับเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลมีมาตรการเข้มข้นเพื่อต้องการหยุดเจ็บหยุดตายและป้องกันทุกชีวิตจากโควิด-19 ให้ได้ แต่เมื่อหันกลับมามองดูสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนที่มีคนเจ็บและตายมากกว่าหลายเท่าตัวตลอดหลายปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า “ยังไม่เห็นความทุ่มเทของหน่วยงานเจ้าภาพหลักของประเทศและหน่วยงานในสังกัดทุกภาคส่วน ที่มีเป้าหมายร่วมเพื่อจะหยุดเจ็บหยุดตายให้ได้เหมือนโควิด-19” หากแต่เป็นเพียงวาทะกรรมอันสวยหรูของผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและสังคมบางกลุ่ม เน้นสร้างสรรค์กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ รณรงค์แบบเดิมทุกปี ที่สำคัญยังทำแค่เพียงช่วงเทศกาลเท่านั้น         ขณะที่ประเทศไทยก้าวข้ามผ่านทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2554 – 2563 (ที่ล้มเหลว) มาแล้วรอบหนึ่ง และปัจจุบันกำลังเข้าสู่แผนความปลอดภัยทางถนนในทศวรรษหน้า พ.ศ. 2565 – 2575 และยังมีแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติภายใต้แผนแม่บทด้านความมั่นคง เพื่อการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัทางถนน มีเป้าหมายเพื่อลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตางถนนลงร้อยละ 50 ในปี พ.ศ. 2565 และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกและดิจิทัล มีเป้าหมายการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนไว้ไม่เกิน 12 ต่อแสนประชากรในปี พ.ศ. 2564 - 2570 รวมถึงกรอบการดำเนินงานระดับโลกด้านความปลอดภัยทางถนนที่ประเทศไทยรับมาดำเนินการด้วย เช่น 12 เป้าหมายโลกสำหรับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน หรือ Global road safety performance targets ปฏิญญาสตอกโฮล์ม (Stockholm Declaration) หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อการขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน         จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีแผนดำเนินการและแผนปฏิบัติการมากมายหลายระดับชั้น เพื่อเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นไปตามตัวชี้วัดของข้อตกลงที่กำหนดไว้ หากแต่เมื่อขั้นตอนและระบบปฏิบัติงานยังขาดความชัดเจนต่อเนื่องและเชื่อมต่อในแต่ละระดับ หลายฝ่ายจึงมีความเชื่อในทางเดียวกันว่า เป้าหมายการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่กำหนดไว้ไม่เกิน 12 ต่อแสนประชากรภายใน 6 ปีข้างหน้า หรือปี 2570 นั้น “ไม่น่าจะทำได้”         เพราะหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ในปี 2563 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตของประชากรจากอุบัติเหตุทางถนนอยู่ที่ 27.20 คนต่อแสนประชากร หรือมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่ 17,831 คน ลดลงจากในปี 2562 ที่ 19,904 คน (ส่วนหนึ่งที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดน้อยลงมีผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19) ซึ่งต่อจากนี้หากจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้เหลือ 12 ต่อแสนประชากรภายในปี 2570 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้นั่นเท่ากับว่าประเทศไทยจะต้องมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเหลือเพียง 8,474 คนเท่านั้น         ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว เป้าหมายการลดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 12 ต่อแสนประชากรเชื่อว่าไม่น่าจะทำได้ หากถอดบทเรียนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาก็อาจจะพอพิสูจน์ให้เห็นว่าความรุนแรงและความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนนั้น เป็นเรื่องที่สามารถป้องกันและลดจำนวนลงได้  อุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่เรื่องเวรกรรมความเชื่อหรือมายาคติของสังคมอีกต่อไป การสร้างมาตรการ เป้าหมาย และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนตรงประเด็นเป็นนโยบายหลักของประเทศ ตั้งแต่ระบบการบังคับบัญชาลงมาถึงส่วนปฏิบัติงาน รวมถึงการสนับสนุนภาคีเครือข่าย และท้องถิ่นเพื่อให้มีการดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วนคือสิ่งที่ควรต้องดำเนินการให้จริงจังได้เท่ากับมาตรการป้องกันโควิด 19         แน่นอนว่าเป้าหมายสูงสุดอาจจะเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องการเวลาและความร่วมมือ และปลายทางอาจไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ระหว่างทางตัวเลขผู้เสียชีวิตต้องน้อยลงกว่านี้ให้ได้ เพราะเราคงไม่หวังให้มีโรคระบาดใหม่เพื่อมาหยุดการเจ็บตายจากอุบัติเหตุทางถนนอีกแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ขอเกิดใหม่ใกล้ๆ เธอ : แม้แต่เทวดาก็ทำผิดพลาดอยู่บ่อยไป

        ตามคติความเชื่อของคนไทยนั้น “เทวดา” ก็คือ ชาวสวรรค์ ซึ่งมีทิพยสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นกายทิพย์ หูทิพย์ ตาทิพย์ หรือลิ้มรสอาหารทิพย์ และเสวยสุขดำรงตนอยู่ในสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ         กระนั้นก็ดี ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดานั้น หาใช่จะแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิงไม่ แม้คนไทยจะมีวิธีคิดที่จำแนกความสัมพันธ์สามส่วนระหว่างสวรรค์ (ที่อยู่ของเทวดา) โลก (ที่อยู่ของมนุษย์) และนรก (ที่อยู่ของผีชั้นต่ำ) อันเป็นภพภูมิที่แบ่งพื้นที่ตามลำดับชั้นก็ตาม แต่บ่อยครั้งที่สามภูมิภพนี้ก็ไม่ได้ตัดขาดจากกันแบบ “ทางใครทางมัน” เสียทีเดียว         ในนิทานพื้นบ้านสมัยก่อน ชะตากรรมของตัวละครมักถูกแทรกแซงด้วยอำนาจของเทวดาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ชีวิตคู่ที่ลงเอยมักจะมีทวยเทพคอยอุ้มสมให้สมรักสมรสกันได้ ชีวิตคู่ที่ต้องพลัดพรากบางครั้งก็มักมาจากการที่เทพยดาบันดาลลมหอบให้จรจากกัน หรือแม้แต่บางทีก็แสร้งแปลงร่างปลอมตัวมายั่วล้อเล่นกับปุถุชนวิถี เฉกเช่นการเล่นตีคลีเพื่อทดสอบคุณธรรมความดีของพระสังข์ ก็เคยกระทำมาแล้วเช่นกัน         การที่ผู้คนในอดีตยอมรับและอยู่ใต้อาณัติที่จะให้ทวยเทพเทวดามากำกับการกระทำใดๆ แห่งตนแบบนี้ ด้านหนึ่งก็ด้วยมนุษย์เชื่อว่า “สวรรค์มีตา” และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนต่างกอปรขึ้นด้วยความเป็นกลาง และเป็นเทพผู้สถิตไว้ซึ่งความยุติธรรม แม้จะเข้ามาแทรกแซงปริมณฑลชีวิตทางโลกของตนก็ตาม         ครั้นพอมาถึงกาลปัจจุบัน ที่เหตุผลถูกกำหนดให้อยู่เหนือความงมงาย และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่กลายเป็นตรรกะสำคัญกว่าองค์ความรู้เหนือธรรมชาติแบบดั้งเดิม แต่ก็ใช่ว่าคติความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของเทวดาฟ้าดินจะหายไปไม่ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดาเบื้องบนได้ถูกท้าทายด้วยคำถามที่ว่า จะยังคงดำรงอยู่หรือปรับแต่งแปลงโฉมหน้ากันไปอย่างไร         ละครโทรทัศน์เรื่อง “ขอเกิดใหม่ใกล้ๆ เธอ” ผูกเรื่องอยู่บนพื้นฐานปาฏิหาริย์แห่งความรักของนางเอก “อรรพี” ที่ต้องสูญเสีย “ภาคย์” ผู้เป็นสามี จากเหตุการณ์อุบัติเหตุเครื่องบินตก ในขณะที่เธอกำลังตั้งครรภ์ แต่ทว่าในความเป็นจริงนั้น การตายของภาคย์กลับเกิดจากความผิดพลาดจากการทำงานของสรวงสวรรค์         ในขณะที่มนุษย์โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่ง “บิ๊กดาต้า” หรือปริมาณข้อมูลอันมหาศาล ที่ท่วมบ่าและซัดกระหน่ำเข้ามา จนบางครั้งก็ยากเกินกว่าที่ชีวิตประจำวันของคนเราจะปรับตัวตามทัน สภาพการณ์ดังกล่าวก็เลยล่วงเข้าไปสู่สรวงสวรรค์ทั้งเจ็ดชั้นโดยด้วยเช่นกัน                  เมื่อต้องเผชิญหน้ากับบิ๊กดาต้าที่ถาโถมท่วมท้น ภาระงานอันล้นมือและการประมวลผลข้อมูลที่ผิดพลาดของ “เทวา” เทวดาอินเทิร์นผู้สถิตอยู่บนสวรรค์ จึงเกิดสภาวะ “เออเร่อร์” และส่งผลให้ภาคย์ต้องเสียชีวิตก่อนอายุขัย ดังนั้น “หน่วยเหนือ” ผู้เป็นต้นสังกัด จึงบัญชาให้เทวาส่งภาคย์กลับมาเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง         ด้วยเหตุดังนี้ ภาคย์ก็ได้กลับมาเกิดในร่างใหม่ของ “ทิชงค์” บุตรชายของ “ชนา” ผู้ชอบทำบุญเข้าวัดเป็นประจำ โดยเงื่อนไขที่เทวากำหนดไว้ให้กับภาคย์ก็คือ เขาจะมีเวลาบนโลกมนุษย์ได้เพียง 24 ปีเท่านั้น และหากวันใดที่ภาคย์ไม่ตระหนักถึงการกระทำความดี เขาก็จะพลัดพรากจากอรรพีไปตลอดกาล         จากนั้น 23 ปีผ่านไปไวยิ่งกว่าโกหก อรรพีได้เข้ามาดูแลบริษัท “ลมติดปีก” ซึ่งเป็นธุรกิจให้เช่าเครื่องบินเล็กแบบไม่หวังผลกำไร และเป็นจิตอาสาที่คอยบินไปรับอวัยวะจากผู้บริจาค เพื่อไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย โดยมี “อิสร์” เพื่อนรักของภาคย์คอยดูแลให้กำลังใจอรรพีอย่างใกล้ชิด ก่อนที่ในตอนท้ายเรื่อง ละครจะเฉลยว่า อิสร์เองกลับเป็นคนร้ายและเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาคย์เสียชีวิตเช่นกัน         และเพราะผูกพันกันมาแต่ปางก่อน ในภพใหม่นี้ ทิชงค์ที่เป็นเพื่อนรักกับ “ภาม” บุตรชายของอรรพีและภาคย์ จึงได้หวนกลับมา “เกิดใหม่ใกล้ๆ เธอ” อีกคำรบหนึ่ง โดยมีเทวาที่ถูกลงโทษให้กลายมาเป็นบัดดี้เทวดาประจำตัว และคอยสนับสนุนให้เขาทำความดี เพื่อแลกกับความทรงจำในชาติภพก่อนให้กลับคืนมา         จากโครงเรื่องที่ผูกเปลาะปมเอาไว้เช่นนี้ ในด้านหนึ่งเราก็ยังได้เห็นอำนาจของเทวดาที่สามารถแทรกแซงความรักและการพลัดพรากของปัจเจกบุคคลให้อยู่ใต้อาณัติได้ ไม่แตกต่างจากคติความเชื่อที่คนไทยสมัยก่อนเคยยึดถือเป็นเรื่องเล่ากันมา         แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเวลาเปลี่ยนไป และโลกทัศน์ของผู้คนก้าวหน้าขึ้น ละครโทรทัศน์ก็ได้ฉายภาพความสัมพันธ์แบบใหม่ๆ ที่นางเอกอรรพีสามารถสวมบทบาทเป็นนักบินหญิงได้เฉกเช่นบุรุษเพศ หรือได้เห็นความรักข้ามรุ่นของอรรพีกับพระเอกหนุ่มรุ่นลูก ที่กลายเป็นเรื่องยอมรับกันได้แล้วในสังคมปัจจุบัน         และภายใต้บริบทแห่งโลกทัศน์ที่ก้าวหน้าเปลี่ยนไปอีกเช่นกัน ภาพของเทวดาและอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนก็มีอันต้องผันตัวตามไปด้วย เริ่มตั้งแต่ฉากของสรวงสวรรค์ซึ่งถูกรังสรรค์ไว้จนกลายเป็นยูโทเปียอันทันสมัย ที่มีทั้งน้ำพุกลางลานและลิฟต์กลขับเคลื่อน เทวดาต่างปรากฏตนแบบหล่อเท่ในชุดสูทสีขาว แถมยังสวมบทบาทเป็นมัคคุเทศก์หนุ่มพาวิญญาณพระเอกเดินทัวร์วิมานสวรรค์ตั้งแต่ฉากต้นๆ ของเรื่อง         ที่ชวนขบขันยิ่งไปกว่านั้นก็คือ แม้จะกลายสภาพเป็นแดนสวรรค์อันทันสมัย แต่ใจกลางหลักแห่งปัญหาทั้งหมดของเรื่อง ก็ล้วนมาจากโปรแกรมการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลที่ผิดพลาดเออเร่อร์ของเทวดา ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นกลางที่สุดในการพิพากษากำหนดความเป็นไปของทุกชีวิตบนโลกมนุษย์นั่นเอง         พร้อมๆ กันนั้น ในขณะที่ความศักดิ์สิทธิ์ในยุคเก่าก่อนธำรงอำนาจได้ก็ด้วยความยุติธรรมไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่พอทุกวันนี้ที่ปุถุชนเริ่มตั้งคำถามต่อความเป็นกลางว่า ยังเป็นจริงอยู่ได้ถึงระดับใด ปฏิบัติการของเทวดาจึงไม่ต้องหมกเม็ดอำพรางความเป็นอัตวิสัยส่วนตนกันอีกต่อไปแล้ว เหมือนกับที่เทวาเองก็เลือกเข้าข้าง แสดงออกทั้งดีใจ เสียใจ และร่วมลุ้นภารกิจความรักของพระเอกนางเอกกันอย่างออกหน้าออกตา         จะว่าไปแล้ว โดยแกนหลักของเรื่องที่พระเอกกลับมาเกิดในร่างชายหนุ่มในภพชาติใหม่ ก็น่าจะเป็นอุทาหรณ์กับผู้ชมว่า ชีวิตคนเราล้วนสั้นนักและไม่แน่นอน อันเป็นนัยตอกย้ำให้เราตระหนักถึงการมุ่งมั่นทำความดี เช่นเดียวกับทิชงค์ที่ได้พูดกับอรรพีในฉากใกล้หมดเวลาของเขาในตอนท้ายเรื่องว่า “เรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว มันเป็นเรื่องจริง ขอเพียงศรัทธาในความดีก็พอ”         แต่ก็อีกเช่นกัน หากการทำคุณงามความดีตามคติความเชื่อของคนไทย จะมีเทวดาอารักษ์คอยบริบาลคุ้มครอง หรือแม้แต่แทรกแซงชะตาชีวิตโดยที่มนุษย์มิอาจสำเหนียกได้ แต่สำหรับในยุคที่ความเป็นกลางเริ่มถูกตั้งคำถาม และความยุติธรรมมีแนวโน้มจะถูกท้าทาย อำนาจของทวยเทพเทวดาก็อาจไม่ได้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์อีกต่อไป เพราะในทุกวันนี้ แม้แต่เทวดาก็เออเร่อร์และตัดสินผิดพลาดได้บ่อยไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 เกือบเสียความสัมพันธ์ เพราะของขวัญปีใหม่

        เทศกาลปีใหม่ เรามีธรรมเนียมการมอบของขวัญปีใหม่ให้แก่ญาติ หรือเพื่อนๆ เพื่อมิตรภาพและความสัมพันธ์อันดีของกันและกัน ซึ่งห้างร้านต่างๆ ก็จัดเซตของขวัญไว้ให้ผู้บริโภคจับจ่ายเป็นของขวัญปีใหม่ให้เลือกมากมาย         ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน คุณภูผาเห็นว่าใกล้เทศกาลปีใหม่ จึงไปเดินเลือกซื้อของขวัญปีใหม่ไว้มอบให้ญาติผู้ใหญ่ของแฟนที่ร้านค้าแห่งหนึ่งย่านดอนเมือง เมื่อเดินเลือกดูเรื่อยๆ เห็นว่า ชุดของขวัญน้ำผักผลไม้แพคคู่ของบริษัทหนึ่งน่าสนใจ เหมาะเป็นของขวัญผู้ใหญ่ แพคเก็จสวยงาม เมื่อดูวันหมดอายุแล้วก็เหลือมากกว่า 6 เดือน จึงสั่งซื้อไปจำนวน 30 ชุด ราคา 2,970 บาท        เมื่อสั่งชุดใหญ่พนักงานเลยเอาลังใหม่ให้ คุณภูผาก็แบกกลับบ้านไปให้แม่แฟนไว้แจกเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับญาติผู้ใหญ่ ช่วงปีใหม่คุณแม่ของแฟนคุณภูผาก็นำชุดของวัญน้ำผักผลไม้ไปมอบให้กับญาติที่เคารพ แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้น ญาติบอกมาว่าน้ำผักผลไม้ที่นำไปมอบให้หมดอายุตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว คุณภูผารู้สึกว่าการกระทำของร้านค้าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และเสียใจที่นำของหมดอายุไปมอบให้กับญาติของแฟน ทำให้คุณแม่ของแฟนถูกญาติมองไม่ดี อีกทั้งยังทำให้ตนเองเข้าหน้ากับคุณแม่ของแฟนไม่ค่อยติดจากการซื้อชุดของขวัญหมดอายุ          เมื่อทราบเรื่องคุณภูผาก็ติดต่อไปยังร้านค้าที่ซื้อชุดของขวัญ เพื่อให้ร้านค้ารับผิดชอบ ร้านค้าบอกให้เขานำสินค้าไปเปลี่ยนที่ร้าน คุณภูผาคิดว่า “ทำไมเขาต้องนำสินค้าเขาไปเปลี่ยนที่ร้านค้า เพราะเขาต้องเสียเวลา เสียทั้งค่าน้ำมันรถไปเปลี่ยนสินค้า ในเมื่อการจำหน่ายสินค้าหมดอายุไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเขา” ในฐานะที่เขาเป็นผู้บริโภคร้านค้าควรรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เขาต้องการแค่ขอให้ร้านค้าออกหนังสือขออภัยต่อเขากับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้นำไปสื่อสารกับแม่แฟน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิ คุณภูผาได้แจ้งไปยังเฟซบุ๊กของบริษัทน้ำผลไม้ด้วย แนวทางแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แจ้งผู้ร้องว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เบื้องต้นแนะนำให้ผู้ร้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เพื่อเป็นหลักฐาน และนัดเจรจาระหว่างคู่กรณีเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน         ในวันนัดประชุมมีผู้ร้อง ตัวแทนร้านค้า และตัวแทนบริษัทน้ำผลไม้เข้าร่วมประชุมด้วย ตัวแทนบริษัทขอร่วมรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ชุดของขวัญของบริษัท และรู้สึกว่าตนเองมีส่วนผิดเนื่องจากไม่เก็บผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุจากร้านค้าที่จำหน่าย ผู้ร้องจะได้รับผลิตภัณฑ์น้ำผักผลไม้ชุดของขวัญปีใหม่จำนวน 30 ชุด และหนังสือขออภัยจากบริษัทอีกหนึ่งฉบับ ภายหลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องเพียงไม่กี่วัน         ในส่วนร้านค้าแสดงความรับผิดชอบกับผู้ร้อง โดยมอบหนังสือขออภัยหนึ่งฉบับ กิ๊ฟวอยเชอร์ 3,000 บาท และเงินชดเชยเยียวยาตามผู้ร้องเสนอ ผู้ร้องบอกว่ามีหนังสือขออภัยจากบริษัทแล้วไม่เป็นไร และขอเป็นเงินค่าสินค้า 2,970 บาท และเงินค่าเยียวยาอีก 40,000 บาท เพื่อจะนำไปจัดทริปกับครอบครัวแฟน คุณแม่แฟน กระชับความสัมพันธ์ ร้านค้ายินดีทำตามที่ผู้ร้องเสนอ เพราะว่าเป็นความผิดพลาดของทางร้านและขออภัยผู้ร้องด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2562

สี่ล้อแดงเชียงใหม่ปรับตัว เริ่มใช้แอปฯ ต้นปี 2563        หลังกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาออกกฎหมายรองรับแกร็ป ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการสี่ล้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีอยู่ทั้งหมด 2,465 คัน ขณะที่สี่ล้อแดงเชียงใหม่ ก็เตรียมพร้อมปรับตัว โดยในต้นเดือน ม.ค.63 สหกรณ์นครลานนาเดินรถ เตรียมเปิดใช้แอปพลิเคชัน CM TAXI ที่ร่วมพัฒนาโดย กระทรวงพลังงานและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยแอปฯ มีการใช้งานทุกอย่างเหมือนกับ Grab มีการแสดงระยะทาง อัตราค่าโดยสาร และข้อมูลรถที่จะให้บริการ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจ ในขณะที่ผู้ใช้เฟสบุ๊คบางรายแสดงความเห็นว่า นอกจากการทำแอปฯ แล้วอยากให้ปรับปรุงเรื่องการให้บริการและการคิดราคาค่าโดยสารด้วย สสส. ชวนเลิกบุหรี่ ผ่าน อสม.        สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที “ชวน ช่วย เลิกบุหรี่” เพื่อให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านแนวคิดและกระบวนการทำงานระหว่างภาคีเครือข่ายที่มีส่วนในการขับเคลื่อน พร้อมประกาศเจตนารมณ์ “ปักหมุด หยุดสูบ” ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่ และสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างปัจจัยเอื้อต่อการลด ละ เลิกสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ         โดยข้อมูลจากระบบบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการปี 2560 พบว่ามีผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคจากบุหรี่ถึง 553,611 ครั้ง คิดเป็นค่ารักษาพยาบาลรวม 21,389 ล้านบาท แต่ละครั้งต้องนอนรักษาที่โรงพยาบาลเฉลี่ย 7 วัน โดยเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในแต่ละครั้งเฉลี่ย 38,638 บาท หรือ 6,806 บาทต่อวันสสส. จึงสนับสนุนโครงการจัดความรู้และสื่อสารการขับเคลื่อนงานตามพันธกิจชวนและช่วยเลิกบุหรี่ ดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัด ผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน “อสม.” โดยมีโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นแกนกลางสนับสนุนให้เครือข่ายและ อสม. ทำหน้าที่ชวนและช่วยคนในชุมชนให้เลิกสูบบุหรี่ตามบริบท วิถีชีวิต สภาพสังคม และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่​ผู้สูงอายุไทยยังรู้สึกว่าดูแลตนเองได้        ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้สัมภาษณ์กลุ่มผู้สูงอายุในประเด็นการดูแลตนเองว่า “จำเป็นต้องมีคนดูแลปรนนิบัติในงานกิจวัตรประจำวันหรือไม่” โดยคำตอบจากกลุ่มผู้สูงอายุ 60 - 69 ปี ร้อยละ 94 บอกว่าสามารถดูแลตนเองได้ ซึ่งสัดส่วนของคำตอบนี้ ลดลงตามอายุที่มากขึ้น ในกลุ่มผู้สูงอายุวัย 80 ปีขึ้นไป เหลือร้อยละ 76.2 ในผู้ชาย และร้อยละ 58.4 ในผู้หญิง         นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้สูงอายุชายร้อยละ 90.9 และผู้หญิงร้อยละ 84.6 ตอบว่าไม่ต้องการผู้ดูแล และส่วนที่ต้องการและมีผู้ดูแลมีร้อยละ 7.4 ในเพศชาย และ 13.4 ในเพศหญิง         ส่วนกลุ่มที่ต้องการ แต่ไม่มีผู้ดูแล มีร้อยละ 1.7 - 2.1 เมื่อจำแนกตามอายุและเพศ โดยกลุ่มอายุ 60 - 69 ปี ที่ไม่ต้องการผู้ดูแล มีสูงถึงร้อยละ 94.6 ในเพศชาย และ 93.4 ในเพศหญิง ซึ่งอาจอธิบายได้ว่ากลุ่มนี้ยังแข็งแรงและช่วยตัวเองได้        ส่วนคำถามที่ว่า ‘ใครเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ’ ผู้สูงอายุที่ตอบว่ามีผู้ดูแลในชีวิตประจำวันซึ่งอาจมีมากกว่าหนี่งคน คือ บุตรสาวมีสัดส่วนสูงสุด (ร้อยละ 45.1) รองลงมาคือ คู่สมรส (ร้อยละ 28.1) บุตรชาย (ร้อยละ 18.4) และหลาน (ร้อยละ 6.2) สรุปได้ว่าเป็นผู้ดูแลในระบบครอบครัว และดูเหมือนว่าผู้ดูแลจากระบบบริการ เช่น ผู้ช่วยพยาบาล หรือ ผู้ดูแลรับจ้าง ยังไม่มีบทบาทมากนัก         อย่างไรก็ตาม แม้จะเชื่อมั่นว่าดูแลตัวเองได้ แต่จากสถิติระบุผู้สูงอายุ ‘พลัดตก-หกล้ม' ต้องเข้ารับบริการทางแพทย์ฉุกเฉินเฉลี่ย 140 ครั้ง/วัน เสียชีวิตเฉลี่ย 3 คน/วัน พบรอบ 3 ปี รับบริการทางแพทย์ฉุกเฉินถึง 141,895 ราย แม้ลักษณะบ้านที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุควรเป็น ‘บ้านชั้นเดียว’ แต่ผู้สูงอายุกลับอยู่ 'บ้านหรือตึกสองชั้นขึ้นไป' มากที่สุดที่ 44% ต้องใช้บันไดขึ้นลงทุกวัน 48.8% ต้องเดินบนพื้นที่ลื่น 31.7% มีผู้สูงอายุเพียง 24.6% เท่านั้นระบุว่าอยู่บ้านที่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับตนเอง เด็กไทยเล่นเกมส์ออนไลน์เกินวันละ 8 ชั่วโมง        สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานอื่นๆ จัดเสวนาเรื่อง “เปิดวิถีออนไลน์...เด็กไทยกับภัยใกล้ตัว” โดยได้นำผลการวิจัยเชิงสำรวจ หัวข้อ "สถานการณ์การเล่นเกมส์ออนไลน์ของเด็กไทย" ประจำปี 2562 ซึ่งสำรวจนักเรียนระดับมัธยมศึกษา, ปวช. และ ปวส. รวม 3,056 คน จากทั่วประเทศใน เดือน ก.ย. – ต.ค.62 พบว่า เด็กส่วนใหญ่ 2,730 คน หรือ ร้อยละ 89.33 เคยเล่นเกมส์ออนไลน์ โดยเล่นเกมเกือบทุกวัน ร้อยละ 64.66 เฉลี่ย 3-5 ชั่วโมง หากเป็นเด็กในพื้นที่ กทม. ร้อยละ 8.1 จะใช้เวลาเล่นเกมส์มากกว่า 8 ชั่วโมงในวันหยุด         โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้เด็กเล่นเกมส์ออนไลน์มากที่สุด คือ เพื่อนชักชวน รองลงมาคือ ข้อมูลจากสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าเกมส์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของเด็กไทย คือ ROV ร้อยละ 51.38 รองลงมา คือ PUBG MOBILE ร้อยละ 18.21 และ Free Fire ร้อยละ 15.53         ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายกับเกมส์ออนไลน์ พบว่าในจำนวนผู้ที่ตอบว่า เคยเสียเงินในการเล่นเกมออนไลน์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.13 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดนั้น พบว่าร้อยละ 30.9 ในจำนวนดังกล่าว ใช้จ่ายมากกว่า 500 บาทต่อเดือน         ทั้งนี้ ยังพบว่า เด็กต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ในหลายรูปแบบ จนอาจนำไปสู่การทำร้ายตนเองและผู้อื่นทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ และทางสังคม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างความฉลาดทางดิจิทัลให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้เท่าทันต่อกระบวนการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ เช่น สอนให้เด็กจัดการตัวตนและรับผิดชอบต่อการกระทำบนโลกออนไลน์ สอนให้ใช้เวลาออนไลน์อย่างพอเหมาะ ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ การงาน และชีวิตด้านอื่น สอนให้ยืดหยุ่น เข้มแข็ง รับมือกับการกลั่นแกล้งได้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร้อง ‘ศาลปกครองสูงสุด’ ระงับขึ้นค่าทางด่วน        เมื่อ 20 ธ.ค.62 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน ระงับการขึ้นเงินค่าผ่านทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมือง - โทลล์เวย์) ที่เตรียมจะปรับขึ้นในวันที่ 22 ธ.ค.62 ซึ่งยังเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด หากยังคงปล่อยให้ขึ้นราคาค่าผ่านทาง จะส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเดือดร้อนและความเสียหายต่อประชาชน และขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษาจะถึงที่สุด         โดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิฯ รู้สึกผิดหวังที่กรมทางหลวงไม่ยอมทำอะไร หลังจากที่มีคำพิพากษาศาลปกครองกลางเมื่อปี 2558 ที่ให้มีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องสัมปทาน ซึ่งความเป็นจริงแล้วขณะนี้ประชาชนควรจะได้รับสิทธิในการใช้ทางดังกล่าวโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน เนื่องจากสัญญาสัมปทานได้สิ้นสุดไปตั้งแต่ปี 2557        แต่ด้วยทางบริษัทฯ ได้มีการทำตัวเลขขาดทุนที่เกินจริง ทำให้มีการขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 20 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2577 และยังมอบอำนาจให้เอกชนสามารถปรับขึ้นค่าผ่านทางได้โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตหน่วยงานใด ตนจึงฝากถึงนายกรัฐมนตรีให้รีบลงมาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งกรมทางหลวงควรรักษาผลประโยชน์ของประชาชนที่ใช้ทางให้มากกว่านี้ อีกทั้งเพื่อรักษาสิทธิและคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคนด้วย        อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ศาลมีคำสั่งไม่รับคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ความเดือดร้อนเสียหายดังกล่าว มิใช่เป็นความเดือดร้อนเสียหายที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ หรือยากแก่การเยียวยาแก่ไข เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดิน สายวิภาวดีรังสิต และพหลโยธิน อยู่ใต้ทางยกระดับ ที่สามารถใช้จร ไปมาได้ ผู้ฟ้องคดี จึงมีโอกาสเลือกที่จะใช้เส้นทางอื่น ที่ไม่ต้องชำระค่าบริการผ่านทางตามที่กล่าวแทนทางด่วนยกระดับอุตราภิมุข ช่วงดินแดง-ดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน ทั้งขาออกและขาเข้าที่ต้องชำระค่าผ่านทางดังกล่าวได้ อีกทั้งยังมีการเปิดให้บริการขนส่งมวลชน ในเส้นทางใกล้เคียง และที่จะเปิดให้บริการในเส้นทางเดียวกัน เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ที่สามารถใช้บริการเป็นทางเลือกในการให้บริการได้         ดังนั้น คำร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านงส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานดังกล่าว ก่อนพิพากษาจนกว่าคดีจะถึงที่สุดนั้น จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอ ตามมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติจัดตังศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง. พ.ศ. 2542 จึงมีคำสั่งไม่รับคำขอให้ศาลกำหนดมาตราการ หรือวิธีการคุ้มครองบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 214 อันดับโลกอันแสนเศร้า

ไทยเป็นอันดับ 1 ของโลก ประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดปี 2560 มีอัตราผู้เสียชีวิต 36.2 รายต่อแสนประชากร                                                                                                                                                                The World Atlasใกล้วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ทีไร เราจะเห็นภาพมวลชนจำนวนมหาศาลที่ต้องเดินทางกลับบ้านหาครอบครัวหรือไปพักผ่อนท่องเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ หลังจากทำงานหนัก ทุกปีจะมีคนเรือนแสนเบียดเสียดอัดแน่นแทบจะไม่มีที่ยืนที่สถานีขนส่งหมอชิตเพื่อรอรถโดยสารกลับบ้านต่างจังหวัด คนที่วางแผนซื้อตั๋วล่วงหน้าก็สบายหน่อย รับประกันความผิดหวังมีรถขึ้นแน่นอน แต่คนไปที่หวังหาเอาดาบหน้าล้วนต้องผิดหวังทุกราย หลายคนต้องรอรถนานข้ามคืนกว่ารถจะมี อีกหลายคนต้องขึ้นรถเสริมซึ่งไม่รู้เลยว่ารถคันที่ขึ้นเป็นรถผีรถเถื่อนหรือเปล่า รถคันนั้นผ่านการตรวจสภาพมีประกันภัยมั้ย บนถนนก็มีรถมากเคลื่อนตัวตามกันได้ช้าในทุกเส้นทาง เรียกได้ว่าเกือบจะถึงบ้านกันก็อ่วมอรทัยกันทีเดียวเชียวทั้งนี้แต่ละปีในช่วงหยุดยาวปีใหม่ 7 วันอันตราย ที่มีคนเดินทางกลับบ้านกันเป็นจำนวนมากนั้น มีหลายคนโชคดีที่ได้กลับไปกอดพ่อแม่ กอดลูกหลานด้วยความดีใจหลังจากไม่ได้เจอกันมานาน กลับกันมีอีกหลายคนที่กลับไม่ถึงบ้าน  หรือถึงบ้านแต่ก็กลับในสภาพร่างที่หมดลมหายใจ ด้วยสาเหตุสำคัญ คือ อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นซึ่งช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ในทุกๆ ปี ตามสถิติที่รวบรวมไว้จะเป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนทางถนนสูง เป็นสาเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งๆ ที่หน่วยงานและภาคีอาสาในแต่ละจังหวัด ล้วนต่างจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี แต่ก็ยังคงมีสถิติการเสียชีวิตและบาดเจ็บที่สูงในช่วง 7 วันอันตรายอยู่เช่นเดิมโดยในปี 2561 ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุทางถนนสะสมเฉพาะแค่ในช่วง 7 วันอันตรายทั่วประเทศทั้งหมด 3,841 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 423 คน ผู้บาดเจ็บ 4,005 คน โดยมีสัดส่วนลดลงจากปี 2560 เล็กน้อย แต่จากจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกิดขึ้น ต้องยังถือว่ามีจำนวนมากเกินกว่าจะรับได้ และเป็นวิกฤตของความสูญเสียที่ต้องเจอกันแบบนี้ทุกปีปัญหาของอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยและทุกประเทศจึงเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ และร่วมวางแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน ตัวเลขจากการประมาณการขององค์การอนามัยโลก WHO ในปี 2015 มีผู้เสียชีวิตต่อปีทั่วโลกมากถึง 1.25 ล้านคนต่อปี และเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 90 ) อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยรายงานความปลอดภัยทางถนนระดับโลก 2558 พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนเป็นอันดับ 2 ของโลก หรือ 24,237 คนขณะที่ในปี 2559 ประเทศไทยมีจำนวนยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 22,356 คน หรือเฉลี่ยวันละ 62 ราย หรือคิดเป็นชั่วโมงละ 2-3 ราย โดยผู้เสียชีวิตมีอายุอยู่ในช่วง 15-29 ปี มีผู้รักษาตัวในโรงพยาบาลจากกรณีอุบัติเหตุทางถนนประมาณ  1 แสนคน และกลายเป็นผู้พิการราว 60,000 คนต่อปี โดยรัฐต้องสูญเสียงบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท นับว่าเป็นความสูญเสียอย่างมากมายมหาศาลสอดคล้องกับข้อมูลจากการเปิดเผยของเว็บไซต์เวิลด์แอตลาส The World Atlas ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 เกี่ยวกับประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดในโลกปี 2560 ปรากฎว่า ประเทศไทยได้ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลก มีอัตราผู้เสียชีวิต 36.2 รายต่อแสนประชากร จากเดิมที่รั้งอันดับ 2และล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยรายงาน Global Status Report on Road Safety เรื่องรายงานความปลอดภัยทางถนนระดับโลก  ระบุว่า จากข้อมูลในปี 2018 อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้น ทำให้มีคนเสียชีวิตทุกๆ 24 วินาที ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากถึง 1.35 ล้านคนต่อปี (มากกว่าที่รายงานในปี 2015 ถึง 10 ล้านคน) ขณะที่ประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในลำดับที่ 9 (ลดลงจากเดิมเมื่อปี 2015 ที่อยู่ลำดับที่ 2) มีอัตราผู้เสียชีวิต 32.7 รายต่อแสนประชากร หรือเสียชีวิตประมาณ 22,491 คนต่อปี  ในขณะที่ 10 อันดับแรกจากการจัดอันดับของ WHO ล้วนเป็นประเทศจากแอฟริกาทั้งสิ้น มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นอันดับ 1 ในประเทศกลุ่มอาเซียน นำห่างเวียดนามซึ่งตามมาเป็นอันดับ 2 ที่ 26.7 เป็นอันดับ 1 สองปีซ้อนของเมืองหลวงที่มีรถติดติดอันดับโลกจากรายงานประเมินสภาพจราจรทั่วโลก หรือ Global Traffic Scorecard ประจำปี 2017 ของ INRIX และเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์เป็นอันดับ 1 ของโลกอีกด้วยจากผลงานติดอันดับโลกของประเทศไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา และโดยเฉพาะผลรายงาน Global Status Report on Road Safety ในปีล่าสุด แม้ว่าประเทศไทยจะมีอันดับที่ดีขึ้นจากอันดับที่ 2 มาอยู่อันดับที่ 9 แต่ถ้าพิจารณาตามรายละเอียดที่มีในรายงานจะพบว่า อัตราการตายของประเทศไทยไม่ได้ลดลงเหมือนที่เข้าใจกัน แถมแผนปฏิบัติการหลายอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ด้วย  ท้ายที่สุดถ้าทุกฝ่ายยังไม่ใส่ใจกับเรื่องนี้จริงๆ เป้าหมายที่จะลดอัตราการตายทางถนนลงคงไม่มีวันเกิดขึ้น อันดับโลกของไทยในเรื่องนี้ก็ยังอยู่ด้วยกันไปอีกนานแสนนาน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ห้างติดฉลากใหม่ทับข้อมูลเดิม

เดี๋ยวนี้ห้างต่างๆ มีการขายผลไม้สดปอกเปลือกจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นที่นิยมมาก เพราะทั้งสะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการรับประทาน แต่หากเราซื้อสินค้ามาแล้วพบว่า สินค้านั้นมีบางอย่างผิดปกติ เราจะสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไร คุณภูผาซื้อเม็ดบัวต้มสุกจากร้านโกเด้นเพลส มาจำนวน 1 กล่อง เมื่อเปิดกล่องเพื่อจะทานพบว่าเม็ดบัวมีกลิ่นเหม็นเขียว จึงตรวจสอบฉลากดูพบว่า มีการติดฉลากใหม่ทับฉลากเก่า โดยเปลี่ยนวันที่ผลิตและวันหมดอายุใหม่ จากฉลากเดิมที่หมดอายุไปแล้ว วันรุ่งขึ้นเขาจึงไปติดต่อร้านโกเด้นเพลสสาขาที่ซื้อสินค้าว่า เมื่อวานได้ซื้อเม็ดบัวต้มสุกไป แล้วพบว่าเป็นของเก่าแต่มีการติดฉลากใหม่ทับ เขาจึงต้องการให้ทางร้านคืนเงินเมื่อได้ฟังคุณภูผาทักเช่นนั้น พนักงานหันไปคุยกันว่า “ของที่พลัสไปเมื่อวานลูกค้าบอกว่าเสีย”  ทำให้คุณภูผารู้สึกว่าพนักงานน่าจะทำแบบนี้เป็นประจำหรือไม่ พนักงานอีกคนหนึ่งจึงรับกล่องสินค้าพร้อมหยิบกล่องเม็ดบัวที่เหลือในชั้นวางไปด้วย จากนั้นขอใบเสร็จเพื่อไปยกเลิกการสั่งซื้อสินค้าในเครื่องคิดเงิน และคืนเงินให้ตามราคาที่ได้ซื้อไป โดยไม่มีการขอโทษหรือรับผิดใดๆ จากพนักงานเลย คุณภูผารู้สึกว่าร้านค้าเอาเปรียบผู้บริโภค จึงมาร้องเรียนศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้แนะนำผู้ร้องว่า การกระทำของโกเด้นเพลสเป็นการจำหน่ายสินค้าหมดอายุ ซึ่งผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 การจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ผู้ร้องถ่ายรูปสินค้าและใบเสร็จ นำไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานอย่างไรก็ตามผู้ร้องไม่ได้ไปแจ้งความตามคำแนะนำ เนื่องจากได้ให้ใบเสร็จและคืนสินค้าให้โกเด้นเพลสแล้วไม่ได้ถ่ายภาพเก็บไว้ ศูนย์พิทักษ์จึงนัดเจรจาระหว่างผู้ร้องกับบริษัทฯ บริษัทฯ ชี้แจงว่าไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน และปัจจุบันได้ลงโทษพนักงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดการฝึกอบรมพนักงานใหม่ทั้งหมดเรื่องการตรวจสอบสินค้าโดยเฉพาะอาหารปรุงสำเร็จบรรจุแพ็ค สุดท้ายได้กล่าวขอโทษคุณภูผา ซึ่งไม่ได้ติดใจเอาเรื่องอะไรกับบริษัทอีก เพียงขอให้บริษัทฯ ทำหนังสือขอโทษและชี้แจงเรื่องมาตรการในการแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีระบบตรวจสอบสินค้าเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับผู้บริโภครายอื่นอีก ศูนย์พิทักษ์สิทธิเองก็ได้แนะนำให้บริษัทฯ จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนหรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์เพื่อเป็นช่องทางติดต่อระหว่างลูกค้าและบริษัทด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 สินค้าใหม่ ใช้ครั้งแรกก็พังแล้ว

แม้จะเป็นสินค้าใหม่ แต่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาการชำรุดบกพร่อง หากเราซื้อสินค้าที่มีปัญหาเช่นนี้ขึ้นมา จะสามารถแก้ไขได้อย่างไรบ้างไปดูกันคุณสมัยกำลังจะไปเที่ยวต่างประเทศ จึงไปเดินเลือกซื้อกระเป๋าเดินทางที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังแถวรังสิต เธอตัดสินใจซื้อกระเป๋ายี่ห้อหนึ่ง ราคาประมาณ 2,000 บาทกลับบ้านมา แต่เมื่อนำไปใช้งานในวันเดินทางจริง กลับพบว่าหูกระเป๋าด้านข้างและด้านบนหลุดออกมา ทำให้ไม่สามารถถือหรือลากกระเป๋าได้ ส่งผลให้ได้รับความลำบากในการเดินทางอย่างมากเมื่อกลับมาประเทศไทย คุณสมัยจึงรีบติดต่อไปยังบริษัท เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งได้รับการตอบกลับมาว่า ทางบริษัทยินดีจะซ่อมกระเป๋าดังกล่าว ด้วยการเปลี่ยนหูกระเป๋าให้ใหม่ คุณสมัยไม่รับข้อเสนอดังกล่าวเพราะรู้สึกว่าหูกระเป๋าสามารถใส่และหลุดออกได้ง่าย จึงอาจทำให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำอีกหากนำไปใช้งาน แต่เนื่องจากบริษัทไม่ได้เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างอื่นเพิ่มเติม เธอจึงตัดสินใจส่งเรื่องไปร้องเรียนยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พร้อมโทรศัพท์มายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธ์ได้แนะนำผู้ร้องว่า ตามมาตรา 472 ประมวลกฎหมายแพ่งฯ กรณีสินค้าชำรุดบกพร่อง จนเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่มุ่งจะใช้เป็นปกติ ผู้ขายต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้หากผู้ร้องไม่ยอมรับข้อเสนอของบริษัท ก็สามารถแจ้งความประสงค์ขอคืนสินค้าได้ ส่งผลให้ภายหลังก่อนการเจรจาที่ สคบ. ทางบริษัทก็ได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมมาว่า ยินดีจะเปลี่ยนกระเป๋ารุ่นอื่นให้ แต่หากมีราคาแพงกว่าก็จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม ทั้งนี้ผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรนั้น ผู้ร้องยินดีไปเจรจาที่ สคบ. ต่อด้วยตนเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ปีใหม่นี้ เลือกอะไรเป็นของฝาก!

นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมมือกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,271 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน 2560  ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่างผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่าผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร การซื้อของฝากให้กับญาติสนิท มิตรสหาย และของฝากประเภทใดที่มีความนิยมในการเลือกซื้อ ซึ่งมีการแบ่งแยกตามแต่ละภาคของประเทศไทย รวมไปถึงการตรวจสอบฉลากเรื่องของวันหมดอายุ สถานที่ผลิต ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าจะซื้อของฝากจากการท่องเที่ยว อันดับหนึ่งคือ ขนม ของทานเล่น ร้อยละ 26.6 อันดับที่สองคืออาหารแห้ง ร้อยละ 26.0 อันดับที่สามคือของชำร่วย พวงกุญแจ ฯลฯ ร้อยละ 24.4 อันดับที่สี่คือเครื่องแต่งกาย ร้อยละ 23.0 และอันดับที่ห้าคือผักสด ผลไม้สด ร้อยละ 20.9ของฝากจากภาคเหนือ อันดับแรกคือน้ำพริกหนุ่ม ร้อยละ 36.1 อันดับที่สองคือแคบหมู ร้อยละ 29.7 อันดับที่สามคือหมูยอ ร้อยละ 25.0 อันดับที่สี่คือไส้อั่ว ร้อยละ 24.6 และอันดับที่ห้าคือใบชา ร้อยละ 18.3ของฝากจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันดับแรกคือแหนมเนือง ร้อยละ 34.7 อันดับที่สองคือหมูยอ ร้อยละ 29.4 อันดับที่สามคือกุนเชียง ร้อยละ 26.9 อันดับที่สี่คือแหนม ร้อยละ 19.7 และอันดับที่ห้าคือน้ำพริก ร้อยละ 18.3ของฝากจากภาคตะวันออก อันดับแรกคือขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 29.1 อันดับที่สองคือข้าวหลาม ร้อยละ 27.5 อันดับที่สามคืออาหารทะเลแห้ง ร้อยละ 26.3 อันดับที่สี่คือผลไม้อบแห้ง ร้อยละ 21.6 และอันดับที่ห้าคือน้ำปลา ร้อยละ 17.5ของฝากจากภาคกลาง อันดับแรกคือขนมเค้ก ร้อยละ 27.3 อันดับที่สองคือสายไหม ร้อยละ 27.1อันดับที่สามคือโมจิ ร้อยละ 26.8 อันดับที่สี่คือกะหรี่พัฟ ร้อยละ 22.0 และอันดับที่ห้าคือขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 21.9ของฝากจากภาคตะวันตก อันดับแรกคือทองหยิบทองหยอด ร้อยละ 27.7 อันดับที่สองคือขนมหม้อแกง ร้อยละ 27.6 อันดับที่สามคือขนมชั้น ร้อยละ 25.3 อันดับที่สี่คือขนมปังสัปปะรด ร้อยละ 23.4 และอันดับที่ห้าคือมะขามสามรส ร้อยละ 19.7ของฝากจากภาคใต้ อันดับแรกคือปลาหมึกแห้ง ร้อยละ 32.5 อันดับที่สองคือกะปิ ร้อยละ 29.3 อันดับที่สามคือกุ้งแห้ง ร้อยละ 24.2 อันดับที่สี่คือน้ำพริก ร้อยละ 22.3 และอันดับที่ห้าคือเครื่องแกง ร้อยละ 21.3กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีการตรวจดูวันเดือนปีที่หมดอายุ ร้อยละ 44.8 รองลงมาไม่มีการตรวจดู ร้อยละ 35.4 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 19.8 และมีการตรวจดูสถานที่ผลิต ร้อยละ 44.8 รองลงมาไม่มีการตรวจดู ร้อยละ 34.2 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 21.0และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่เคยได้รับของฝากที่หมดอายุจากบุคคลอื่น ร้อยละ 54.8 รองลงมาไม่แน่ใจ ร้อยละ 28.8 และเคยได้รับของฝากที่หมดอายุจากบุคคลอื่น ร้อยละ 16.4นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวเสริมเรื่องการเลือกซื้อสินค้าของฝากว่า ฉลากเป็นสิ่งจำเป็นและผู้บริโภคไม่ควรละเลยที่จะตรวจสอบข้อมูลที่แสดงบนฉลากก่อนการตัดสินใจซื้อ เนื่องจากฉลากเป็นหนึ่งในสิทธิของผู้บริโภคที่ว่าด้วยการได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณาคุณภาพที่ถูกต้อง และเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ดังนั้นก่อนการซื้อทุกครั้ง ควรปฏิบัติดังนี้1) ให้พิจารณาว่ามีฉลากหรือไม่ หากเป็นสินค้าที่ไม่มีฉลาก ควรหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ตามหากของฝากประเภทอาหารหลายๆ ชนิดเป็นอาหารประเภทที่ผลิตขายเฉพาะหน้าร้านของตัวเอง กฎหมายอนุญาตให้ไม่ต้องแสดงฉลาก ดังนั้นก่อนซื้อผู้บริโภคควรสอบถามข้อมูลสำคัญอย่าง วันที่ผลิตและวันหมดอายุ การเก็บหรือการดูแลรักษา ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นหรือไม่ เพื่อไม่ให้อาหารบูดเสียเร็ว 2) ถ้าหากมีการแสดงฉลาก ให้พิจารณาการแสดงรายละเอียดบนฉลากว่า เป็นภาษาไทย และ ถูกต้อง ครบถ้วน หรือไม่ ทั้งนี้หากฉลากไม่เป็นภาษาไทยควรหลีกเลี่ยงหากพบผู้ประกอบการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ผู้ประกอบการอาจมีความผิดได้สองกรณี ดังนี้ กรณีแรก หากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิตจะเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (2) ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ 2522 เรื่อง ผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย อาหารปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปีและปรับตั้งแต่ห้าพันถึงหนึ่งแสนบาทกรณีที่สอง หากไม่แสดงฉลากหรือแสดงฉลากไม่ถูกต้องครบถ้วน จะมีความผิดตามมาตรา 6 (10) ของ พ.ร.บ.อาหารฯ  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สามหมื่นบาท  หากซื้อสินค้ามาแล้วพบความผิดปกติหรือได้รับอันตรายจากการบริโภคสามารถใช้สิทธิร้องเรียนได้โดยตรงกับผู้ผลิต/ ผู้จัดจำหน่ายตามที่อยู่ที่ระบุไว้บนฉลากหรือตามสถานที่ที่ซื้อสินค้ามานอกจากนี้ก่อนเลือกซื้อของกินเป็นของฝาก นอกจากพิจารณาเรื่องฉลากเป็นสำคัญแล้ว ยังต้องดูเรื่องอื่นๆ ควบคู่กัน เพื่อให้ได้ของฝากที่สะอาดปลอดภัยต่อการบริโภค ไม่ว่าจะเป็น 1) สถานที่ขายหรือสถานที่เก็บรักษาต้องสะอาด ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสิ่งไม่พึงประสงค์ เช่น แมลง สารเคมี และอาหารควรถูกเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับแต่ละประเภทของอาหาร2) สภาพภาชนะบรรจุต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ฉีกขาด ไม่มีร่องรอยที่อาจทำให้เกิดการรั่วซึมของสิ่งปนเปื้อน3) ลักษณะของอาหารต้องอยู่ในสภาพปกติ ไม่มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อน ไม่มีร่อยรอยของการเกิดเชื้อราหรือเชื่อจุลินทรีย์ หรืออยู่ในสภาพอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยในการบริโภคที่ผ่านมาเคยมีข้อมูลผลทดสอบเรื่องความไม่ปลอดภัยของของฝากกลุ่มอาหารอยู่บ้าง เช่น เมื่อปี 2559 ว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตรวจน้ำพริกพร้อมบริโภค เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาร้าสับ น้ำพริกตาแดง น้ำพริกนรก แจ่วบอง เป็นต้น ที่จำหน่ายตามตลาดสด ตลาดนัด ศูนย์โอทอป ศูนย์ของฝากทั่วประเทศ พบว่าจากทั้งหมด 1,071 ตัวอย่าง พบว่า ไม่ผ่านมาตรฐาน 164 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 15 ส่วนใหญ่พบปัญหาเรื่องการใช้วัตถุกันเสียเกินปริมาณที่อนุญาต การปนเปื้อนจุลินทรีย์และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ เช่น เชื้อบาซีลัส ซีเรียส และ เชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟิงเจน รวมทั้งในกรณีของ ปลาหมึกแห้ง ที่มูลนิธิฯ เคยสุ่มวิเคราะห์ตัวอย่างปลาหมึกแห้ง เมื่อปี 2553 พบการปนเปื้อนโลหะหนักทั้ง 8 ตัวอย่างที่สุ่มทดสอบ ทั้ง แคดเมียม ตะกั่ว และ ปรอท โดยเฉพาะ แคดเมียม ที่พบเกินค่ามาตรฐาน 4 จาก 8 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบส่วนในกลุ่ม ขนมปัง ขนมอบ ขนมเค้ก ก็มักมีความเสี่ยงในเรื่องของสารกันบูด ส่วนอาหารจำพวกแหนมเนือง มีความเสี่ยงของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษที่อาจปนเปื้อนมาพร้อมผักสดที่ล้างทำความสะอาดไม่ดีพอ เช่นเดียวกับอาหารจำพวกเนื้อสัตว์หรือแปรรูปจากเนื้อสัตว์ หากรับประทานโดยที่อาหารไม่ผ่านการปรุงให้สุก หรือผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานก็อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 Lemon Law กฎหมายมะนาว กับ รถใหม่เจ้าปัญหา

ข่าวรถใหม่ป้ายแดง มีปัญหาซ่อมแล้วซ่อมอีก จนผู้บริโภคต้องออกมาประท้วงบริษัทรถยนต์ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทุบรถ ติดป้ายประจาน เอาควายมาลาก ฯลฯ ยังคงมีปรากฏอยู่ตามหน้าสื่ออยู่เป็นระยะ ๆ ล่าสุด เมื่อต้นเดือน พฤษภาคม 2560 ก็เพิ่งมีข่าว “เศรษฐีนีชาวขอนแก่น เดือด ซื้อรถหรูป้ายแดงแต่ซ่อมไม่เลิก เลยเอาต้นไม้ไปปลูกบนรถประชดหน้าบริษัท” ปรากฏการณ์เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า กลไกการแก้ไขปัญหาในระบบปกติ เช่น การเจรจาให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบ เอารถเข้าไปซ่อมครั้งแล้วครั้งเล่า การร้องเรียนกับหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคภาครัฐ หรือแม้แต่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย มันไม่ Work ผู้บริโภคเหล่านี้จึงเลือกใช้วิธีการออกมาหาความยุติธรรมที่ข้างถนน มาฟ้องสื่อ ฟ้องสังคม ฟ้อง Social Media  เพราะดูแล้วจะได้ผลรวดเร็วกว่า การใช้พลังทางสังคมเข้าไปกดดัน (Social Sanction) เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหานั้น หลายกรณี เมื่อสังคมให้ความสนใจ จับตามอง ก็ได้รับการดูแลแก้ไขอย่างรวดเร็ว แต่ทางเลือกนี้ก็มิได้เหมาะสำหรับทุกคน เพราะต้องใช้พลังอย่างมากในการต่อสู้เพื่อให้เป็นข่าว และที่สำคัญ มันเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นราย ๆ ไป เคลียร์รายนี้ได้ เดี๋ยวก็มีรายใหม่โผล่มาอีก ตราบใดที่ยังไม่ปรับปรุงระบบการจัดการปัญหาในช่องทางปกติให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และเข้าถึงได้โดยสะดวก หนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาเชิงระบบที่องค์กรผู้บริโภคพยายามผลักดันกันมาโดยตลอดก็คือ “ประเทศไทยต้องมีกฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า” เช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายนี้ ก็คือ สินค้าใหม่ทุกชนิด ที่ผู้บริโภคซื้อไปแล้ว หากพบว่ามีความเสียหาย ชำรุดบกพร่อง ใช้งานไม่ได้ หรือไม่เป็นไปไปตามสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกได้ว่าจะให้ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนสินค้าใหม่ ถ้าหากซ่อมเกิน 2 ครั้งแล้ว ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และสิทธินี้ยังรวมถึงผู้เช่าซื้อด้วย เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์  ที่ถึงแม้จะยังผ่อนไม่หมด ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ แต่ไฟแนนซ์ ผู้ให้เช่าซื้อ ก็ต้องให้สิทธินี้แก่ผู้บริโภคในการเรียกร้องให้เจ้าของสินค้าซ่อมแซม หรือเปลี่ยนสินค้า ถ้าของที่เช่าซื้อมาเกิดชำรุดบกพร่อง ซึ่งกฎหมายนี้ก็จะช่วยให้ผู้บริโภคมีทางออก ไม่ต้องดิ้นรน คิดหาวิธีประท้วงแบบแปลก ๆ ใหม่ ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากสังคมและสื่อพูดถึง “กฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า” นี้  ในแวดวงคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคก็มักจะเรียกทับศัพท์ตามอย่างฝรั่งว่า “Lemon Law” ซึ่งฟังดูแล้วก็ชวนให้สงสัยว่า สินค้าใหม่ที่มันชำรุดบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ รถใหม่ป้ายแดงที่มันซ่อมแล้วซ่อมอีก มันเกี่ยวข้องยังไงกับมะนาว เรื่องนี้ มีผู้รู้เล่าให้ฟังว่า มีที่มาจาก “Joke ตลกร้าย” ที่พูดถึงฝรั่งชาติต่าง ๆ ไว้ว่า “สวรรค์ของคนยุโรป ก็คือ ที่ที่ทุกคนได้กินอาหารที่ปรุงโดย เชฟชาวฝรั่งเศส เพราะคนฝรั่งเศสนั้นพิถีพิถันเรื่องอาหารการกิน ขับรถยนต์ที่สร้างโดยวิศวกรชาวเยอรมัน รถหรูยอดนิยมยี่ห้อ Benz , BMW นั้นก็สัญชาติเยอรมัน มีตำรวจอังกฤษคอยดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย  มีคนรักเป็นชาวอิตาเลียน และมีชาวสวิสเซอร์แลนด์ทำหน้าที่บริหารจัดการทุกอย่างที่ว่ามา ส่วนนรกของชาวยุโรป ก็คือ ที่ที่ทุกคนต้องกินอาหารอังกฤษ ใช้รถยนต์ฝรั่งเศส มีตำรวจเป็นชาวเยอรมัน มีคนรักชาวสวิส และบริหารทุกสิ่งอย่างโดยชาวอิตาเลียน JOKE นี้ ก็สะท้อนว่า ในสายตาชาวตะวันตก รถยนต์ที่แย่ ก็คือ รถจากประเทศฝรั่งเศส  ซึ่งรถยนต์ยี่ห้อดังของฝรั่งเศสก็คือ “ซีตรอง” (Citroen) ซึ่งในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “มะนาว” ส่วนเหตุที่นาย อังเดร ซีตรอง ผู้ก่อตั้งบริษัท ตั้งชื่อยี่ห้อรถยนต์ว่า “Citroen” ก็เพราะว่า ต้นตระกูล ปู่ของเขาสร้างฐานะมาจากการค้าขายมะนาว จึงตั้งชื่อสกุลตามธุรกิจที่ทำ ดังนั้น พอรุ่นหลานมาสร้างธุรกิจผลิตรถยนต์ก็เลยเอาชื่อสกุล “ซีตรอง” มาตั้งเป็นยี่ห้อรถยนต์ พอคนอเมริกันออกกฎหมายมาเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าใหม่ที่บกพร่องหรือรถใหม่ป้ายแดงที่มีตำหนิ ผู้คนก็เลยนึกถึง รถ Citroen (Lemon) ของชาวฝรั่งเศส จึงพากันเรียกกฎหมายดังกล่าวด้วยชื่อเล่น ว่า Lemon Law  เรื่องนี้ จริงเท็จประการใด ยังไม่ทราบแน่ชัด อาจจะเป็นแค่ เรื่องเล่าอำกันเล่นๆ ของฝรั่งก็เป็นได้ เพราะรถยนต์ Citroen จากประเทศฝรั่งเศส ก็ได้ชื่อว่าเป็นรถยนต์ที่มีเทคโนโลยี ล้ำสมัยมากยี่ห้อหนึ่งส่วนข้อสันนิษฐานที่สอง คาดว่า “Lemon” นี้เป็นคำสแลงในภาษาอังกฤษ ในความหมายที่ว่า “แสบ แย่” ซึ่งน่าจะมาจากรสชาติที่เปรี้ยวจี๊ด ของมะนาว ดังที่มีสำนวนว่า “when life gives you lemons , make lemonade” และก็มีการนำมาใช้ในแวดวงรถยนต์ ในความหมายที่ว่า “เอาของไม่ดี มาหลอกขายว่าเป็นของดี” ถ้าเป็นสำนวนแบบไทย ๆ ก็ต้องพูดว่า “ย้อมแมวขาย” ซึ่งมีที่มาจาก คนไทยสมัยก่อนจะนิยมเลี้ยงแมวที่มีลักษณะดี โดยดูจากสีขน จุดแต้ม ตามส่วนต่าง ๆ บนตัวแมว เพราะเชื่อว่า แมวพวกนี้จะให้คุณ ให้โชค แต่แมวที่มีลักษณะดีก็ใช่ว่าจะหากันง่าย ๆ จึงมีพวกคิดไม่ซื่อ ไปจับแมวทั่วๆ ไปมาย้อมสี แต่งแต้ม ให้ดูเหมือนแมวตามตำรา แล้วเอาไปหลอกขายคนซื้อ  ดู ๆ แล้วเรื่อง “คนใจคด หากินไม่สุจริต” นี่เห็นจะมีเหมือนกันทุกชาติ ทุกภาษา และมีเหมือนกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ที่จะไม่เหมือนกันอยู่อย่างก็คือ ต่างชาติเขาคิดแก้ไข พัฒนากฎหมาย ป้องกันปัญหา คุ้มครองคนของเขาไม่ให้ถูกเอาเปรียบมานานแล้ว แต่ไทยเรายังไปไม่ถึงไหน ปล่อยให้พวก นักขายจอมกะล่อน ปลิ้นปล่อน กลมกลิ้งเป็นลูกมะนาว หากินเอาเปรียบผู้คนอยู่จนทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 ปลอดภัยปีใหม่ เตือนภัยผู้อ่าน

ช่วงเทศกาลปีใหม่ ผู้อ่านหลายท่านคงได้ของขวัญกันบ้างแล้ว โอกาสนี้เภสัชกรจนๆ อย่างกระผมไม่รู้จะหาอะไรมามอบเป็นของขวัญให้ผู้อ่านได้ทั่วถึง เลยถือโอกาสมอบข้อมูลเตือนภัยแบบรวมมิตร แด่ผู้อ่านทุกท่านเพื่อความปลอดภัย จะได้ไม่ต้องเสี่ยงอันตรายครับ กาแฟลดความอ้วนจากจีน ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เป็นกาแฟที่ซัดเซพเนจรมาจากจีน แต่อย่าไปสงสารครับ เพราะมันลักลอบนำเข้ามาโดยไม่ได้ขออนุญาต อย. แถมยังมีข้อความภาษาไทยท้าทายกฎหมาย โดยระบุโต้งๆ บอกว่าเผาไขมัน 26 วัน สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานีพบ จึงส่งตรวจวิเคราะห์เบื้องต้น ปรากฏว่า ผสมซาลบูทามีน ซึ่งเป็นยาอันตราย (ตัวที่เคยเป็นข่าวว่านักเรียน ม.6 จากนนทบุรีเสียชีวิต ภายหลังจากการรับประทานผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนที่ผสมสารตัวนี้มาแล้วไง จำได้หรือเปล่าครับ) แว่วว่ากำลังขายดิบขายดีแถวๆ ตลาดกิมหยงและโรงเกลือ   ยาแผนโบราณแต่ดันแถมสเตียรอยด์ พนักงานโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งยืนทำงานต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ได้ซื้อมารับประทานแก้อาการปวดตาม ข้อเข่าและขา โดยรับประทานติดต่อกันมานานแล้ว ระยะหลังๆ เพื่อนร่วมงานชักสังเกตเห็นว่าไฉนเพื่อนเรามีราศีจับแบบแปลกๆ ผิดปกติ คือ หน้าเริ่มบวม และร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยบ่อยๆ จึงส่งยามาให้ สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตรวจสอบ ผลพบว่า ยานี้มีเลขทะเบียนยาถูกต้อง แต่ฉลากและบรรจุภัณฑ์กลับไม่ถูกต้อง และเมื่อใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจ กลับพบว่ามีสเตียรอยด์ผสมอยู่ ข่าวว่ายาดังกล่าวมีขายทางวิทยุชุมชนบางสถานีและขายตรงจากตัวแทนจำหน่าย ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ   สมุนไพรไทย ก็ดันใส่สเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ ไม่มีเลขทะเบียนยานะครับ (แสดงว่าไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง) แต่กลับมีตัวแทนจำหน่าย โดยมักจะเร่ไปเสนอขายตามร้านค้าในชุมชนและร้านขายยา สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นตรวจสอบ ก็พบว่ามีสเตียรอยด์ผสมอยู่เช่นกัน       ยาน้ำสามัญประจำบ้านแผนโบราณก็บริการสารสเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์นี้มาเป็นข่าวดังเพราะมีคุณครูท่านหนึ่งซึ่งป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ได้ซื้อมาจากเพื่อนครูด้วยกัน (ที่เป็นตัวแทนจำหน่าย) ยาชนิดนี้กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ข้าราชการครูและครอบครัว ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อคุณครูท่านนี้รับประทานแล้วอาการภูมิแพ้หาย จึงเริ่มสงสัยว่าปลอดภัยหรือไม่ เลยส่งต่อมายังสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้ตรวจสอบ ผลปรากฎว่าฉลากมีเลขทะเบียนยาถูกต้อง แต่เมื่อใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจ กลับพบว่ามีสเตียรอยด์ผสมอยู่ อีกแล้ว   วิธีการขายของผลิตภัณฑ์ 3 ชนิดหลังนี้จะคล้ายๆ กัน คือจะขออนุญาตเลขทะเบียนยาอย่างถูกต้อง แต่เวลาขายอาจจะทำผลิตภัณฑ์อีกรูปแบบหนึ่ง ช่องทางที่ขายส่วนใหญ่จะมีตัวแทนขายเพื่อเจาะลึกเข้าไปในชุมชน บางส่วนขายผ่านทางวิทยุชุมชน พอตรวจเจอก็อ้างว่าเป็นของปลอม ยังไงถ้าใครเจอช่วยแจ้งสาธารณสุขจังหวัดด้วยนะครับ ถือว่าเป็นของขวัญแด่ผู้บริโภคท่านอื่นๆ ร่วมกันด้วยครับ สวัสดีปีใหม่ ปลอดภัยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 เปิดบ้านใหม่เพื่อผู้บริโภค

Who 99สุมาลี พะสิม /เรียบเรียง   งานคุ้มครองผู้บริโภคที่ใครๆ อยากเห็นวันที่ 26 เมษายน 2552 ที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทุกคนมีสิทธิเล่มนี้จึงขอเก็บบรรยากาศมาฝากสมาชิกค่ะ พร้อมนำเสนอทรรศนะต่างๆ ของกัลยาณมิตรทั้งหลายมาฝากค่ะ       รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร“สิ่งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำนั้นก็คือว่าทำเรื่องคุณประโยชน์มาพอสมควร สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือต้องพยายามสร้างเครือข่ายคนที่จะมาคุ้มครองผู้บริโภคด้วยตัวเขาเองให้มากขึ้น กระจายตัวมากขึ้น แล้วก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งอาศัยมูลนิธิฯ อย่างเดียวก็ค่อนข้างลำบากที่ต้องทำทุกเรื่องสำหรับการเปิดบ้านใหม่หลังนี้ก็ขอแสดงความยินดีด้วย อย่างน้อยก็คือว่าเราก็มีส่วนร่วมเล็กน้อยที่ร่วมระดมทุน “เดี่ยวไมโครโฟน” หาทุนให้มูลนิธิฯ ซึ่งจะทำให้เป็นที่ทำงานที่กว้างขวางต่อไป”   บุญยืน ศิริธรรม เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม“เราอยากให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขับเคลื่อนเรื่องการสนับสนุนเครือข่ายผู้บริโภคให้เข้มแข็งมากขึ้น สนับสนุนด้านข้อมูลและด้านอื่นๆ เพื่อที่จะทำให้ผู้บริโภคลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองได้ และผู้บริโภคจะเป็นอิสระมากขึ้น พ้นจากอุ้งมือของทุนนิยม ซึ่งเราเชื่อว่าการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นไม่มีใครคุ้มครองผู้บริโภคได้ดีเท่ากับตัวของผู้บริโภค ต้องทำให้ตัวผู้บริโภคลุกขึ้นมาสู้ให้ได้มูลนิธิฯ ควรจะเป็นพี่เลี้ยงและเป็นสื่อกลางไม่ว่าเครือข่ายต้องการอะไรก็น่าจะให้ได้ และอยากให้ทำงานเชิงรุกไม่ใช่แค่ตั้งรับอยู่ในกรุงเทพฯ แต่อยากให้ลงไปที่พื้นที่และเชื่อมร้อยในพื้นที่ต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคส่วนหนึ่งรับเรื่องร้องเรียนก็จริง แต่ก็อีกด้านหนึ่งก็คือจะทำอย่างไรให้เกิดศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในทุกภูมิภาค เมื่อผู้บริโภคเดือดร้อนก็ประสานงานกับจังหวัดนั้นได้เลยโดยมีมูลนิธิเป็นผู้สนับสนุนข้อมูล”   นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผอ.สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม“สิ่งที่อยากให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำต่อไปก็คือการประสานเครือข่าย นอกจากประสานงานเครือข่ายผู้บิรโภคแล้วก็อยากให้ประสานงานเครือข่ายข้อมูลที่ติดตามเรื่องเหล่านั้น ดังนั้นไม่ว่าเรื่องยากแค่ไหนเมื่อมีผู้เชี่ยวชาญแล้วก็จะสามารถแก้ไขได้ เพราะถ้ามีผู้เชี่ยวชาญ 1 คนเข้าใจ ประชาชนที่เหลือก็จะเข้าใจได้ และก็จะรวมเป็นพลังเพื่อการขับเคลื่อนต่อไปได้การเปิดบ้านใหม่ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเพราะเป็นจุดศูนย์กลางของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมูลนิธิฯ จะต้องทำหน้าที่ในการประสานงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มากขึ้นทั้งให้ภาคประชาชน ภาครัฐ นักวิชาการ ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น แล้วก็มีส่วนร่วมเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อน”   ณาตยา แวววีรคุปต์ สื่อมวลชน“มองในฐานะของความเป็นสื่อมวลชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถือว่าเป็นศูนย์กลางของข้อมูลในเรื่องสิทธิผู้บริโภคและการใช้สิทธิของผู้บริโภค ซึ่งเป็นประโยชน์มากในการนำมาย่อยและเผยแพร่ต่อ ในการนำเสนอสิ่งต่างๆ ที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาให้เห็นออกมาเป็นรูปธรรม และง่ายที่สื่อจะนำมาเผยแพร่ต่อ แต่ก็ไม่ใช่แค่ว่าจะนำเอาแค่เรื่องร้องเรียนมาเท่านั้น ยังมีความรู้ด้วย ยังมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความคิดในการคุ้มครองสิทธิต่อผู้บริโภคได้ด้วยตัววารสารฉลาดซื้อก็มีประโยชน์ค่ะ อ่านทุกเล่ม ต้องบอกว่าอ่านเกือบทุกหน้า ซึ่งหนังสือพยายามสะท้อนให้เราเห็นว่าการใช้สิทธิของผู้บริโภคไม่ใช่เรื่องไกลตัว จริงๆ แล้วมันเกี่ยวกับทุกคน แต่จะมีสักกี่คนที่ใช้สิทธิ พอเราได้เห็นเรื่องราวๆ ต่างๆ ที่ฉลาดซื้อนำมาเผยแพร่ ทำให้เราได้เห็นว่ายังมีคนลุกขึ้นมาทำเรื่องพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคไม่ใช่แค่กับตัวเองเท่านั้น แต่สิ่งที่เขาทำแล้วถูกนำมาเผยแพร่ต่อมันส่งผลต่อผู้บริโภคคนอื่นๆ ให้เกิดความเชื่อมั่นด้วยว่ามาใช้สิทธิเถอะนะถ้าหากว่าถูกละเมิด ไม่ต้องไปบ่นอย่างเดียวซึ่งฉลาดซื้อก็สื่อออกมาได้และง่ายในการทำความเข้าใจ แล้วก็เป็นฐานในการที่จะหยิบมาทำงานด้านสื่อต่อไปได้”   ดำรง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร“ขอแสดงความยินดีกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยที่เปิดบ้านใหม่ใจกลางเมือง ผู้บริโภคจะได้มาร้องเรียนได้ง่ายขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายก็คงเพิ่มขึ้นแน่นอน สำหรับใครที่จะร่วมบริจาคให้กับมูลนิธินี้ก็เชิญได้ครับ แนวทางในการทำงานที่ทำอยู่ถือว่าถูกทางแล้วที่เปิดรับเรื่องร้องทุกข์ ทำหนังสือฉลาดซื้อซึ่งก็เป็นสื่อตัวหนึ่งที่มีประโยชน์ ผมเองก็เป็นแฟนคลับคนหนึ่งที่อ่าน แล้วก็ดึงบางส่วนไปเป็นข้อมูลให้กับหนังสือคู่สร้างคู่สมของผมด้วย ก็ฝากไว้ว่าให้ตามเรื่อง พ.ร.บ.องค์การอิสระผู้บริโภคต่อไป พอมี พ.ร.บ.ตัวนี้แล้วก็คิดว่าคงจะทำงานสะดวกขึ้น ช่วยเหลือคนได้เยอะขึ้น ขอให้กำลังใจทุกคนครับ” จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเดินมาไกลแล้วนะ แต่ก็ต้องเดินต่อไปในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมสำหรับประชาชนทุกส่วน และขอให้มูลนิธิฯ ทำงานต่อไปในการสร้างและเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ในการปฏิรูปสังคม ในการสร้างระบบความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิบัตรยาที่ทำไปแล้ว ก็ขอให้ทำเพื่อความเป็นธรรมของผู้บริโภคต่อไม่ว่าจะเป็นเรื่องบัตรเครดิต เรื่องสิทธิต่างๆ ให้กับประเทศของเราต่อไป”   ปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจ“ทุกวันนี้เราอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมก็จำเป็นต้องมีองค์กรที่จะต้องคอยดูแล แต่ก็ไม่แปลกที่เราจะใช้กลไกของทุนนิยมเพื่อกำหนดผลงาน แต่ผลสุดท้ายของงานเราต้องหักตัวเองออกจากทุนนิยมเข้าสู่สังคมนิยมได้ก็โดยการนำเงินที่ได้มาบางส่วนให้องค์กรสาธารณะกุศลแบบผมทำ ที่เราจำเป็นต้องทำแบบนี้ก็เพราะเราอยู่ในระบบทุนนิยม อยากให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคลองพิจารณาสร้างผลกำไรขึ้นจากการปฏิบัติงานเพราะดูแล้วกำไรไม่ใช่สิ่งที่น่าเกลียดเพราะว่าถ้ามูลนิธิฯ สามารถลงไว้เป็นความเห็นขององค์กรว่า กำไรที่ได้มาจะมอบให้กับกิจการสาธารณะกุศล ไม่ได้แจกจ่ายให้พนักงาน เพราะว่าอะไรรู้ไหม เพราะว่าพอมีกำไรขึ้นก็จะมีการสร้างการวัดผลของการทำงานของแต่ละฝ่ายขึ้นมา ทำให้เกิดมีเป้าหมายขึ้นมา แต่ต้องกำหนดระยะกำไรที่เหมาะสมขึ้นมา แล้วกำไรที่ได้ก็ไม่ได้ไปไหนจะคืนกลับให้กับสังคมต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 อย่าชะล่าใจกับเครื่องใหม่มือหนึ่ง

แม้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อยอดนิยมของคนส่วนใหญ่อย่าง iphone จะเปิดตัวด้วยราคาที่สูงเพียงไร แต่ก็ยังได้รับความสนใจจากผู้ที่ชื่นชอบอยู่เสมอ เช่นเดียวกับผู้ร้องรายนี้ที่ต้องการซื้อ iphone รุ่นใหม่อย่าง 6s Plus ที่มีราคาสูงกว่าสามหมื่นบาท แต่การตัดสินใจซื้อของเขามีจุดพลาดอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่ได้ตรวจเช็คสภาพเครื่องก่อน ทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังเดิมทีผู้ร้องซื้อโทรศัพท์ดังกล่าวจากบูทของ เอไอเอส ในงาน Thailand expo 2016 โดยไม่ได้มีการตรวจสอบความสมบูรณ์ของหน้าจอโทรศัพท์ก่อน เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตามเมื่อกลับถึงบ้านและเปิดเครื่องใช้งานก็พบว่าหน้าจอเกิดความผิดปกติของเม็ดสี หรือ Dead Pixel เป็นจุดสีเขียวขนาดเท่าปลายเข็ม เขาจึงนำโทรศัพท์กลับไปเปลี่ยนที่บูทดังกล่าว แต่ก็พบว่าเลยเวลาจัดกิจกรรมของงานแล้ว ทำให้ต้องกลับไปอีกครั้งในวันรุ่งขึ้นแทน ภายหลังแจ้งปัญหากับพนักงานก็ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ ถ้าจะเปลี่ยนต้องเป็นภายในวันที่ซื้อเท่านั้น และหากต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควรติดต่อกับบริษัทของ iphone ด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้ผู้ร้องจึงมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงบริษัทของโทรศัพท์ คือ บริษัท แอปเปิ้ล เซาท์ เอเชีย (ประเทศไทย) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เพื่อให้พิจารณาเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ โดยให้ชี้แจงเหตุผลว่าการที่โทรศัพท์ดังกล่าวเกิดปัญหา Dead Pixel เป็นจุดสีเขียว ไม่ใช่ความผิดของผู้ซื้อ เพราะโทรศัพท์น่าจะมีปัญหาดังกล่าวตั้งแต่แรกอยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้ร้องมีสิทธิที่จะได้รับโทรศัพท์ที่มีคุณภาพตามราคาที่ซื้อ ซึ่งภายหลังผู้ร้องส่งหนังสือไปบริษัท แอปเปิ้ล ก็ได้รับการตอบกลับว่าสามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ โดยให้ไปติดต่อศูนย์บริการเอไอเอส ที่สาขาสยามพารากอน และเมื่อผู้ร้องสามารถเปลี่ยนเครื่องได้ที่ศูนย์บริการดังกล่าวเรื่องจึงยุติลง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 นำเครื่องเก่ามาแลกใหม่

หลัง เอไอเอส (AIS) ประกาศสิ้นสุดการให้บริการเครือข่าย AIS 2G (GSM Advance และ 1-2-Call 2G) บนคลื่นความถี่ 900 MHz ผู้ที่ใช้บริการเครือข่ายดังกล่าวในระบบ 2G จึงต้องเปลี่ยนซิมและเครื่องโทรศัพท์ใหม่ ให้สอดคล้องกับการใช้งานในระบบ 3G โดยทางเครือข่ายก็ออกโปรโมชั่นมาอำนวยความสะดวกลูกค้าด้วยการให้ “นำเครื่องเก่ามาแลกเครื่องใหม่ฟรี” อย่างไรก็ตามโปรโมชั่นดังกล่าวก็ได้สร้างความสับสนให้กับลูกค้าบางราย เมื่อพนักงานแจ้งว่าให้เปลี่ยนเครื่อง ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมากับผู้ร้องที่ใช้บริการเครือข่ายดังกล่าว โดยขณะที่เขากำลังโทรศัพท์พูดคุยกับเพื่อน ก็มีสายแทรกจากโอเปอเรเตอร์ถึง 2 ครั้งว่า มือถือของเขาไม่รองรับระบบ 3G ให้นำเครื่องเก่ามาเปลี่ยนที่ศูนย์บริการของ AIS ฟรี ซึ่งหากไม่นำมาเปลี่ยนจะทำให้ใช้งานต่อไปไม่ได้ ภายหลังเขานำมือถือที่ใช้งานอยู่คือ ยี่ห้อ I-mobile รุ่น I-style 2.8 ไปเปลี่ยนเป็น  AIS LAVA ตามคำแนะนำของโอเปอเรเตอร์ดังกล่าวอย่างไรก็ตามพนักงานที่ศูนย์ฯ กลับแจ้งว่า รุ่นที่เขาต้องการหมด และแนะนำให้เปลี่ยนเป็น ยี่ห้อ I-mobile รุ่น I-style 7.8 DTV แทน โดยให้เพิ่มเงินอีก 1,190 บาท พร้อมจ่ายค่าบริการเหมาจ่ายล่วงหน้าอีก 200 บาท รวมเป็น 1,390 บาท และเซ็นสัญญาผูกมัดการใช้งานกับเครือข่ายดังกล่าว (AIS One - 2 – Call) อีก 1 ปีทั้งนี้เมื่อผู้ร้องนำมือถือเครื่องใหม่กลับมาใช้งานก็พบว่า เครื่องมีอาการค้าง เปิด - ปิดเอง (Restart) ตลอดเวลา ความละเอียดภาพหน้าจอไม่ชัดเจน และการเชื่อมต่อสัญญาณ WIFI ก็แย่ลง เมื่อเปรียบเทียบกับมือถือเครื่องเก่าที่เคยใช้งานมา เขาจึงนำมือถือดังกล่าวกลับไปที่ศูนย์ฯ เพื่อแก้ไข พนักงานจึงนำเครื่องใหม่มาเปลี่ยนให้ แต่เป็นยี่ห้อและรุ่นเดิม ซึ่งหลังจากที่เขาลองทดสอบดู ก็พบว่ายังมีปัญหาเหมือนเดิมทางศูนย์บริการ จึงแนะนำให้ผู้ร้องนำเครื่องใหม่ที่มีปัญหา ไปซ่อมที่ศูนย์บริการของ I-mobile ด้วยตนเอง โดยการซ่อมดังกล่าวอาจใช้เวลา 1 เดือน ซึ่งผู้ร้องไม่สามารถส่งซ่อมได้ เพราะระหว่างนั้นมีความจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ อย่างไรก็ตามเมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ เขาจึงกลับไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโทรศัพท์ยี่ห้อดังกล่าว ซึ่งพบความจริงหลังได้ลองเปรียบเทียบข้อมูลจำเพาะ (Spec) ระหว่างเครื่องรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ว่า ไม่มีความแตกต่างกันมากเท่าไรนัก นอกจากนี้มือถือเครื่องเก่าของเขาก็สามารถรองรับระบบ 3G ได้อยู่แล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงทำให้ผู้ร้องมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพราะเห็นว่า เครือข่ายดังกล่าวมีการเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด สร้างความสับสนให้ลูกค้า และยังใช้วิธีแกมบังคับให้นำเครื่องมาเปลี่ยนใหม่ ทั้งๆ ที่เครื่องเดิมนั้นไม่มีปัญหาในการใช้งานแต่อย่างใด โดยมีข้อเรียกร้องคือ1. ขอให้ทางบริษัท คืนเครื่องเก่าให้ คือ โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ I-mobile รุ่น I-style 2.8 พร้อมคืนเงินค่าส่วนต่างที่ได้จ่ายไปแล้วจำนวน 1,390 บาท พร้อมยกเลิกสัญญาผูกมัดดังกล่าว2. ขอให้ทางบริษัท เปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ โดยเป็นรุ่นอื่นที่มีคุณภาพดี ในมูลค่าเทียบเท่ากับโทรศัพท์เครื่องเก่าของเขา และบวกเงินค่าส่วนต่างที่ได้เสียไปประมาณ 2,500 – 3,000 บาท พร้อมกับยกเลิกสัญญาผูกมัดดังกล่าวแนวทางการแก้ไขปัญหาในประเด็นเรื่องโทรศัพท์ใช้งานได้ไม่ดีนั้น ศูนย์พิทักษ์สิทธิ ได้แนะนำให้ผู้ร้องตรวจเช็คระบบของตัวเครื่องโทรศัพท์และ SIM AIS ที่ใช้งานอยู่ก่อน เพราะอาจเกิดจากสัญญาณในพื้นที่การใช้งานนั้นๆ ไม่เสถียร แต่อาการเครื่องค้างยังเหมือนเดิม ส่วนในประเด็นเรื่องข้อเรียกร้องผู้ร้องสามารถทำได้ เพราะบริษัทไม่สามารถบังคับให้ผู้ร้องทำสัญญาผูกมัดดังกล่าว โดยอิงตามประกาศของ กสทช. ที่เคยออกมาชี้แจงสิทธิผู้บริโภคในด้านกิจการโทรคมนาคมว่า การใช้บริการโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตที่มีสัญญาให้ใช้ 6 เดือนหรือ 1 ปี สามารถยกเลิกก่อนได้ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ ซึ่งหากผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคประสบปัญหา จากการใช้บริการโทรคมนาคมสามารถร้องเรียนต่อ กสทช . โดยตรงได้ที่เบอร์ 1200 กด 1 (ฟรี) อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องได้มีการไปเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางบริษัทที่ สคบ. ซึ่งยินยอมทำตามข้อเรียกร้องข้อ 2 ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว เรื่องจึงยุติลงทั้งนี้สำหรับผู้ที่ต้องนำเครื่องเก่าไปแลกเครื่องใหม่ ควรศึกษารายละเอียดด้านข้อมูลจำเพาะต่างๆ ของเครื่องเดิมก่อน และเงื่อนไขต่างๆ ในการเปลี่ยนเครื่อง โดยเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของเครื่องข่ายดังกล่าวได้ที่ http://www.ais.co.th/judhai/ ข้อมูลอ้างอิงเรื่อง สิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม : http://tcp.nbtc.go.th/uploads/vdo/pdfPublication/RightConsumer.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 “เมื่อรถใหม่ ไม่ใหม่อย่างที่คิด”

ปัญหารถยนต์ใหม่ป้ายแดงกลับมาอีกแล้ว หลังผู้บริโภคถอยมาได้สองวันแล้วขับไปเที่ยวต่างจังหวัดพร้อมครอบครัว แต่ดันเกิดอุบัติเหตุยางระเบิดเสียหลักบนทางด่วน เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสทั้งครอบครัว หลังสอบถามไปยังบริษัทรถยนต์ดังกล่าว กลับปฏิเสธว่ารถยนต์มีปัญหา อ้างเป็นเพราะปัจจัยแวดล้อม แม้ผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากมายในการซื้อสินค้าและใช้บริการต่างๆ แต่ความเสี่ยงในการเลือกซื้อสินค้าต่างๆ เหล่านั้นกลับไม่ได้ลดลงเท่าไรนัก เพราะ เราก็ไม่มีทางรู้ได้ว่า สินค้าที่เราเลือกไว้อย่างดีแล้วนั้น จะดีจริงตามที่เราคิดไว้หรือไม่ เนื่องจากสินค้าเหล่านั้นอาจมีความชำรุดบกพร่องอันเนื่องมาจากขาดการตรวจสอบคุณภาพจากผู้ผลิต หรือผ่านการตรวจสอบแต่ไม่พบข้อบกพร่องในขั้นตอนการผลิต ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความชำรุดบกพร่อง หรือมีคุณภาพตามที่ได้ระบุไว้หรือไม่ รวมถึงการบริการต่างๆ ของผู้ประกอบการที่ไม่ได้เป็นไปตามสัญญา ล้วนส่งผลให้ผู้บริโภคตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ได้รับสินค้าที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่เป็นไปตามโฆษณา เหมือนกรณีของคุณสุชาติที่เกือบได้รับอันตรายถึงชีวิตคุณสุชาติและภรรยาเข้ามาร้องเรียนหลังจากซื้อรถยนต์ใหม่ป้ายแดงยี่ห้อ เชฟโรเลต รุ่นสปิน (Chevrolet Spin) มาได้ 2 วัน แล้วเกิดอุบัติเหตุยางระเบิด ทำให้ทั้งครอบครัวที่โดยสารไปด้วยกันวันนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยเมื่อทางบริษัทรถยนต์นำยางรถดังกล่าวไปตรวจสอบกลับพบว่า ยางไม่มีความผิดปกติใดๆ จึงปฏิเสธว่าสาเหตุไม่ได้เกิดจากยางรถยนต์ของบริษัท หากแต่เป็นเพราะปัจจัยภายนอกอื่นๆ มากกว่า เช่น ผู้ร้องขับรถยนต์ไปทับตะปูหรือก้อนหินขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่ในวันเกิดเหตุกำลังขับรถอยู่บนเส้นทางด่วนบูรพาวิถี ไม่มีก้อนหินใหญ่ใดๆ รวมทั้งอากาศปลอดโปร่ง ไม่มีปัจจัยใดที่ทำให้ยางระเบิดได้แน่นอน อย่างไรก็ตามหลังจากผู้ร้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้นำยางรถยนต์ที่เหลือไปตรวจสอบ ซึ่งผลปรากฏว่ายางรถที่เหลือทั้ง 3 ล้อเป็นยางเก่าทั้งหมด ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้ผู้ร้องติดต่อไปยังบริษัทประกันภัยและเจ้าหน้าฝ่ายขายของรถยนต์ (ไฟแนนซ์) เพื่อทำหนังสือยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ หรือการจ่ายค่างวดรถยนต์ เพราะ ตั้งแต่เกิดเรื่องผู้ร้องก็ไม่ได้มีการใช้รถ แต่ว่าต้องจ่ายค่าเช่ามาเป็นระยะเวลา 2 เดือนแล้ว อย่างไรก็ตามไฟแนนซ์ก็ได้ปฏิเสธโดยอ้างว่าเป็นเพียงผู้ให้กู้ยืมเงินไม่เกี่ยวกับกับการซื้อรถยนต์ และไม่ยอมให้ยกเลิกเพียงแต่ให้ชะลอการจ่ายค่างวดแทน ต่อมาก็ได้แนะนำให้ผู้ร้องใช้ประกันภาคสมัครใจชั้น 1 คุ้มครองรถยนต์ที่เสียหาย โดยให้ช่วยตรวจสอบว่ารถยนต์มีความผิดปกติอย่างไรจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าวขึ้นแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้นอกจากผู้ร้องจะได้เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แล้ว ยังได้มีการดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาล โดยหลังจากการเจรจากับอัยการก็ได้ข้อเสนอ 2 ข้อดังนี้ 1. ให้ทางบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต รับรถคืนไปและช่วยเหลือเงินชดเชยค่างวดที่ผู้ร้องได้เสียไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ ค่าดาวน์รถยนต์และค่าเช่าซื้อ พร้อมขอให้ผู้ร้องได้รับส่วนลดพิเศษสำหรับการซื้อรถยนต์ยี่ห้อ เชฟโรเลต คันใหม่ หรือ 2. ทางบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต และศูนย์บริการซ่อมรถคันดังกล่าวให้เหมือนเดิม พร้อมช่วยเยียวยาค่าเสียหายและค่าเช่าซื้อจนกว่ารถยนต์นั้นจะซ่อมเสร็จ และหารถยนต์คันใหม่ให้ผู้ร้องใช้งานจนกว่าจะได้รถยนต์คืนหลังจากบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต นำข้อเสนอกลับไปพิจารณาก็ได้แจ้งกับผู้ร้องว่า บริษัทประกันภัยรถยนต์ตกลงที่จะรับซื้อซากรถ และทางบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต จะให้การช่วยเหลือส่วนหนึ่งเพื่อให้ผู้ร้องขาดทุนน้อยลง ส่วนทางไฟแนนซ์ก็จะยกเว้นค่าเบี้ยปรับให้ ด้านฝ่ายผู้ร้องเมื่อเห็นว่าทุกฝ่ายมีความเต็มใจที่จะให้การช่วยเหลือ จึงตกลงรับข้อเสนอและยุติเรื่องแต่เพียงเท่านี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 รถใหม่ป้ายแดง ใช้ได้แค่ 6 เดือน กุญแจพัง!

ข่าวครึกโครมกรณี  รถยนต์ยี่ห้อดัง  เชฟโรเลต รุ่นครูซ ที่ผลิตปี 2011-2012 เกียร์พัง   ทำให้ คุณสุษมา  โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเช่นกัน ว่าตนได้รับความเสียหายจากการใช้รถยนต์ยี่ห้อนี้เหมือนกัน  แต่เป็นรุ่นแคปติวา  ผลิตปี 2013 ที่ใช้ชื่อพี่ชายเป็นผู้ซื้อมาตั้งแต่เดือนเมษายน 56  ในงานมอเตอร์โชว์ และซื้อเป็นเงินสดถึงหนึ่งล้านหกแสนกว่าบาทรถยนต์ใช้ไปได้ประมาณ  6  เดือน  คุณสุษมาขับรถไปทำธุระ พอจะขับรถกลับบ้าน  เปิดรีโมทกุญแจพบว่า ไม่ปลดล็อก  จึงใช้กุญแจไขเข้าไป แต่กลับใช้กุญแจสตาร์ทรถไม่ได้ และมีไฟสัญลักษณ์ต่างขึ้นบนหน้าปัดรถเต็มไปหมด  จึงโทรเรียก Call Center 1734บริษัทฯ รีบส่งทีมช่างมาตรวจ แต่แก้ไขไม่ได้   จึงส่งเข้าศูนย์บริการสาขาแจ้งวัฒนะในวันรุ่งขึ้น   ช่างที่ศูนย์ตรวจสอบ  3 สัปดาห์ หาสาเหตุไม่พบ   ศูนย์ได้ประสานให้ช่างจากสำนักงานใหญ่มาตรวจสอบ ได้ทำการรื้อเบาะและคอนโซลรถออกทั้งหมด  จึงพบว่า ชุดสายไฟที่อยู่ด้านล่างมีปัญหา(น่าจะเกิดจากความบกพร่องของวัสดุสายไฟและจากการผลิตรถยนต์)“ดิฉันได้สอบถามที่ Call Center   ทางนั้นชี้แจงว่ามีการสั่งอะไหล่จากศูนย์ฯ แล้ว แต่ยังไม่มีกำหนดส่งให้ศูนย์ฯ  ดิฉันก็พยายามติดต่อกับบริษัทอีกหลายครั้ง(เพราะรถต้องใช้งาน) ทั้งทางโทรศัพท์และทำหนังสือสอบถามและเร่งให้ดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมส่งทางเมล์  ไม่ได้รับการติดต่อกลับหรือมีความคืบหน้าใดๆ เลย” ล่าสุดประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 57  ได้รับแจ้งว่า ซ่อมระบบไฟแล้ว แต่เมื่อใส่เบาะกลับไปพบว่าสตาร์ทไม่ติดอีก  คุณสุษมาจึงขอให้บริษัทส่งรถทดแทนให้ใช้  แต่สุดท้ายต้องนำไปคืนเพราะรถเบรกไม่อยู่ เหตุการณ์นี้นอกจากจะมีความรู้สึกที่แย่กับการให้บริการของบริษัท ยังสร้างความเสียหายให้แก่คุณสุษมาเป็นอย่างมาก  จนอยากให้บริษัทซื้อรถคืนไป การแก้ไขปัญหาเมื่อมูลนิธิฯ ได้รับโทรศัพท์จากผู้ร้อง จึงแนะนำให้ผู้ร้องเก็บหลักฐานการซ่อมรถและทำหนังสือถึงศูนย์บริการสาขาแจ้งวัฒนะสอบถามว่า เหตุใดจึงซ่อมไม่ได้  เสียเพราะอะไร  และเชิญผู้ร้องมาที่ศูนย์พิทักษ์เพื่อพูดคุยและสอบถามถึงวัตถุประสงค์ว่าต้องการเรียกร้องอย่างไร  ซึ่งผู้ร้องและพี่ชายเข้ามาที่มูลนิธิฯ ขอให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย   โดยผู้ร้องยังประสงค์ใช้รถต่อ  แต่ขอให้บริษัทขยายการรับประกันเป็น 7 ปี หรือ 200,000 กม. จ่ายค่าชดเชยที่ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์วันละ 1,500 บาทหลังการเจรจาไกล่เกลี่ย  คุณสุษมายอมรับข้อเสนอของบริษัทฯ ที่ยอมขยายระยะเวลารับประกันเป็น 5 ปีหรือ 150,000  กม. แล้วแต่เงื่อนไขใดถึงก่อน และได้รับเงินชดเชยค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ เดือนละ 35,000  บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงิน 105,000 บาทก็ต้องขอขอบคุณบริษัทฯ ที่มองเห็นความสำคัญและพร้อมแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 โนเกียราคาเป็นหมื่น ซื้อใช้แค่ 11 วัน เจ๊ง!

คุณบุญเลิศ ฉลองปีใหม่ให้กับตัวเองด้วย โนเกีย C7-00 มือถือหน้าจอสัมผัส ซื้อด้วยเงินสดในราคา 13,950 บาทวันที่ไปซื้อนั้นเป็นวันที่ 2 มกราคม 2554 หลังวันขึ้นปีใหม่หนึ่งวัน โดยไปซื้อจากร้านจำหน่ายมือถือของบริษัท ทีจี เซลลูล่าร์เวิลด์ จำกัด ซึ่งมีสาขาอยู่บนชั้น 3 ของห้างเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า แต่คุณบุญเลิศมีโอกาสใช้งานมือถือเครื่องนี้ได้เพียงแค่ 11 วันเท่านั้น เพราะในวันที่ 13 มกราคม ปรากฏว่าเครื่องเปิดใช้งานไม่ได้ จอภาพดับสนิทคุณบุญเลิศ จึงเดินทางออกจากบ้านพักที่คลองหลวง ปทุมธานี มาที่ร้านที่ซื้อมือถือมาซึ่งอยู่ที่ห้างเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า“เอ่อ...เครื่องมันจอดับเลยครับ ขอเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้มั้ยครับ” คุณบุญเลิศถามด้วยน้ำเสียงเกรงใจเหมือนกับว่าไปยืมมือถือเขามาใช้“เอ่อ ไม่ได้หรอกค่ะ เพราะพี่ซื้อไปใช้เกิน 7 วันแล้ว เกินระยะเวลาที่เรารับประกันการเปลี่ยนคืนสินค้านะคะ” พนักงานขายยิ้มละไม ตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำหลังจากนับนิ้วดูจำนวนวันแล้ว“แล้วอย่างนี้ จะทำอะไรได้บ้างครับ มือถือราคาเหยียบหมื่นสี่ แต่ใช้งานได้แค่ 10 วันเอง”“ก้อส่งซ่อมสิคะ พี่ติดต่อที่ศูนย์โนเกียได้เลย” พนักงานขายตอบ ก่อนหันไปคุยกับลูกค้าคนใหม่ ปล่อยคุณบุญเลิศที่ยืนกำมือถือจอดับให้ตัดสินใจว่าจะพาชีวิตไปทางไหนต่อไปเอาเองคุณบุญเลิศนั้นเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ของเมืองไทย คือ “ว่านอนสอนง่าย” มาตั้งแต่เกิดอยู่แล้ว หลังบรรลุว่าถูกร้านขายมือถือปัดความรับผิดชอบแน่นอน ก็ไม่ได้โวยวายตีโพยตีพายอะไร ยอมทำตามคำแนะนำที่ไร้เยื่อขาดใย พามือถือไปส่งซ่อมที่ศูนย์บริการของโนเกียที่ห้างฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต ในทันที พนักงานที่ศูนย์บริการโนเกียได้ตรวจสอบแก้ไขเครื่องในวันนั้น ไม่นานก็บอกว่าใช้ได้แล้ว คุณบุญเลิศถามด้วยความสงสัยว่าเครื่องเสียเพราะเหตุอะไร ช่างซ่อมบอกด้วยความมั่นใจสมเป็นช่างผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์มือถือที่ได้มาตรฐานว่า “ไม่ทราบสาเหตุเหมือนกันครับ”คุณบุญเลิศรับมือถือกลับมาใช้งานด้วยอาการงงๆ แต่ก็ดีใจว่ามือถือไม่เป็นอะไรมากคิดในใจว่า “ช่างนี่เก่งจริงๆ ซ่อมมือถือได้ ทั้งๆ ที่ไม่รู้สาเหตุ”จะเป็นเพราะความไม่รู้สาเหตุที่เครื่องเสียหรือเปล่าไม่ทราบแน่ เพราะต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ มือถือเกิดอาการจอดับ หลับสนิท ขึ้นมาอีก คุณบุญเลิศต้องพาเครื่องมือถือไปที่ศูนย์โนเกียอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นการซ่อมที่ยาวนานเหมือนจะนานนิรันดร์สำหรับคุณบุญเลิศ เพราะนับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์เรื่อยมา เรื่องราวข่าวคราวการซ่อมมือถือโนเกียราคาเกือบหมื่นสี่ไม่มีความคืบหน้าเลยเป็นเวลาเกือบสองอาทิตย์จึงต้องนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่สินค้าที่ซื้อมานั้นเกิดความชำรุดบกพร่อง ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยที่มิใช่ความผิดของผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าไปใช้งาน ไม่ว่าความชำรุดบกพร่องนั้นผู้ขายสินค้าจะรู้มาก่อนหรือไม่ก็ตาม ผู้ขายสินค้าต้องรับผิดชอบในสินค้าที่ชำรุดบกพร่องนั้น จะซ่อม จะเปลี่ยนคืน หรือคืนเงินให้กับลูกค้าก็ว่ากันไปแต่หากผู้ขายสินค้าไม่สนใจใยดี ห้ามผู้บริโภคปล่อยเรื่องนิ่งเฉยยาวนานเกินหนึ่งปี เพราะจะไม่สามารถฟ้องคดีบังคับให้ผู้ขายสินค้ารับผิดชอบได้ ตรงนี้เป็นข้อกฎหมายสำคัญที่ควรทราบกันดังนั้นแม้ผู้ขายสินค้าจะอ้างว่า ได้แปะป้ายแจ้งให้กับลูกค้าทราบอย่างแจ่มแจ้งแดงแจ๋แล้วว่าจะรับผิดชอบเปลี่ยนคืนสินค้าให้แค่ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ซื้อสินค้าไป แต่เมื่อพบว่าสินค้าที่ซื้อมานั้น เสียใช้งานไม่ได้ ซ่อมแล้ว แล้วก็ต้องซ่อมอีก เป็นอย่างนี้ ผู้บริโภคยังมีสิทธิที่จะขอเปลี่ยนสินค้าได้แม้จะเกิน 7 วันไปแล้วก็ตามเราได้แนะนำให้คุณบุญเลิศมีจดหมายไปถึงบริษัทโนเกียสำนักงานใหญ่ เพื่อเสนอทางเลือก 3 ทางคือ ให้รับผิดชอบซ่อมแก้ไขสินค้าโดยเร็ว หากซ่อมไม่ได้ให้เปลี่ยนสินค้าใหม่ หรือหากเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ไม่ได้ให้คืนเงินค่ามือถือโดยทันที มิเช่นนั้นผู้บริโภคอาจฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ ซึ่งสามารถเรียกค่าเสียหายได้ทั้งราคาค่าสินค้า และค่าขาดโอกาสในการใช้มือถือดังกล่าวไม่นานหลังจากที่ได้ทำหนังสือตามคำแนะนำไป เราได้รับแจ้งจากคุณบุญเลิศว่า โนเกียได้ซ่อมสินค้าจนสามารถใช้งานได้เป็นปกติแล้ว โดยการเปลี่ยนชุดเมนบอร์ดของเครื่องใหม่ให้“ขอขอบพระคุณมูลนิธิฯ ที่ได้ให้คำแนะนำและติดตามเรื่องอย่างต่อเนื่อง ขอโทษที่ไม่ได้โทรมาแจ้งตอนนี้ มือถือใช้งานได้เป็นปกติมากว่า 2 เดือนแล้วครับ” คุณบุญเลิศกล่าวด้วยความสบายใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 กระแสต่างแดน

  ของขวัญต้อง “เป็นกลาง” ของขวัญที่เด็กๆ คาดหวังจะได้ในวันคริสต์มาสหรือปีใหม่ คงจะหนีไม่พ้นของเล่น ผู้ใหญ่อย่างเราก็มักจะซื้อหาของขวัญที่นอกจากจะไม่เป็นอันตรายแล้ว ยังต้องเลือกให้เหมาะกับเด็กหญิงหรือเด็กชายด้วย ว่าแต่มันต้องเป็นเช่นนั้นด้วยหรือ? ห้างค้าปลีกแห่งหนึ่งในสวีเดน (ในเครือบริษัททอยส์อาร์อัส) สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการด้วยการนำเสนอภาพเด็กผู้หญิงถือปืนของเล่น และเด็กผู้ชายกอดตุ๊กตา ในแคตาล็อกของเล่นสำหรับเทศกาลคริสต์มาสที่ผ่านมา เพราะเชื่อว่าการตลาดต้องตอบสนองกระแสสังคม องค์กรเฝ้าระวังการโฆษณาและการทำการตลาดสินค้าสำหรับเด็กของสวีเดน ออกมาชื่นชมว่าเป็นก้าวที่สำคัญมาสำหรับสังคมสวีเดนซึ่งส่งเสริมบทบาทและความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชายอยู่แล้ว ถนนหนทางในเมืองใหญ่อย่างสต็อคโฮล์ม หรือโกเตนเบิร์ก คุณจะเห็นบรรดาคุณพ่อเข็นรถเข็นพาลูกออกไปเดินเล่น มากพอๆ กับคุณแม่ เพราะที่นี่พ่อได้รับสิทธิหยุดงานมาเลี้ยงลูกได้ถึง 60 วัน องค์กรดังกล่าวเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าสื่อต่างๆ ไม่ควรตอกย้ำบทบาทหญิงชายแบบที่เป็นการเหมารวม ในโฆษณาหรือในแคตาล็อคสินค้า (เช่น มีแต่เด็กผู้หญิงเท่านั้นที่เล่นแต่งตัวตุ๊กตา หรือเด็กผู้ชายเท่านั้นที่จะเล่นรถหรือปืน เป็นต้น) สื่ออังกฤษและอเมริกันไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ หนังสือพิมพ์เดอะเทเลกราฟของอังกฤษมีบทความที่ตั้งข้อสังเกตว่าสังคมสวีเดนคงเพี้ยนไปแล้ว และเด็กผู้ชายอาจจะมีความเบี่ยงเบนทางเพศมากขึ้น ขณะเดียวกันคอลัมนิสต์ชาวอเมริกันก็ประชดประชันว่าวิทยาศาสตร์ไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว สวีเดนสามารถใช้กระบวนการ “วิศวกรรมสังคม” ทำให้เด็กชายและเด็กหญิงเหมือนกันได้ ไม่แน่ ... สวีเดนอาจจะมาถูกทางแล้วก็ได้ สมัยนี้อะไรๆ ก็ต้องเป็นกลางไว้ก่อน ... จริงมั้ยพี่น้อง?      อาจไม่มี “วันสิ้นโรค” หลายคนโล่งอกที่เราผ่านพ้น “วันสิ้นโลก” ในปี 2012 มาได้ แต่คุณรู้หรือไม่ว่ายังมีสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นให้เราได้ลุ้นกันอีก ทุกวันนี้เราเชื่อมั่นว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่และกำลังจะมีต่อไปจะช่วยให้เราสามารถผลิตยาออกมารักษาอาการเจ็บป่วยได้ทุกชนิด แต่คุณรู้หรือไม่? งานวิจัยที่คิดค้นยาปราบเชื้อโรคตัวใหม่ๆ นั้น จัดว่าล้าหลังอยู่ไม่ต่ำกว่า 10 ปี และยาทุกตัวที่มีอยู่ขณะนี้ ยังไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้  ง่ายๆ ก็คือถ้าเราบังเอิญล้มป่วยด้วยแบคทีเรียตัวที่ว่าเข้า มันก็คงจะเป็น “วันสิ้นเรา” สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคใหม่ๆ ยังสามารถรักษาโรคติดเชื้อได้สำเร็จเพียงแค่ 2 ใน 3 ของคนไข้ที่เข้ารับการรักษาเท่านั้น  ส่วนคนไข้ที่เหลือนั้นมีอาการดื้อยา ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพราะยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ ไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคตัวดังกล่าวได้ ปัญหาเรื่องเชื้อโรคดื้อยานี้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่มนุษย์ต้องเผชิญในปี 2013 (นอกเหนือจากปัญหาโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำของรายได้ การขาดแคลนน้ำใช้ ภาวะสังคมสูงวัย ภัยจากการเชื่อมต่อในโลกออนไลน์ ฯลฯ) ตามรายงานของ World Economic Forum ประเทศที่ยากจนอาจมีส่วนทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคด้วยปัญหาด้านสุขอนามัย การขาดแคลนน้ำสะอาด ความเป็นอยู่ที่แออัด หรือความขัดแย้งทางการเมือง ในขณะที่ประเทศที่ร่ำรวยก็ยังไม่สามารถแก้ความเข้าใจผิดของประชาชนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อได้ การสำรวจในยุโรปพบว่าคนฝรั่งเศสมากกว่าครึ่งเข้าใจว่าต้องใช้ยาปฏิชีวนะ หรือที่บ้านเรานิยมเรียกว่า “ยาแก้อักเสบ” เพื่อรักษาไข้หวัด หรือในบางประเทศแพทย์จะนิยมสั่งยาให้แบบค็อคเทล (จัดไปหลายๆ ตัวทีเดียวเลย) เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้องจากความล่าช้าในการรักษา เพราะยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นการติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรีย หรือชี้ชัดลงไปไม่ได้ว่าเป็นไวรัสหรือแบคทีเรียชนิดใด ความเสี่ยงนี้สามารถเกิดขึ้นคุณได้ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใด และมันอาจส่งผลต่อการขาดแคลนอาหาร  เนื่องจากการติดเชื้อที่ไม่สามารถรักษาได้ ในปศุสัตว์ หรือเกิดการกีดกันการนำเข้าอาหาร เพราะกลัวการติดเชื้อจากนอกประเทศ  นอกจากนี้รัฐบาลประเทศต่างๆ อาจจะเพิ่มมาตรการควบคุม/จำกัดการเดินทาง หรือการย้ายถิ่นที่อยู่ของประชากรด้วย ทางที่ดีเราต้องเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อไปให้ถึง “วันสิ้นโรค” ให้จงได้     ค่าธรรมเนียมกำจัดซาก ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง เมื่อรถที่เราใช้ต้องเก่าผุพังเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา แล้วเราจะทำอย่างไรกับขยะรถเหล่านี้? หลายประเทศเริ่มใช้วิธีการเก็บค่าธรรมเนียมการกำจัดซากรถจากผู้ผลิตและผู้นำเข้ารถยนต์ อย่างกรณีของรัสเซียเขาก็เพิ่งจะประกาศกฏหมายใหม่ที่ระบุให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจากรถทุกคันที่ผลิตขึ้นหลังวันที่ 1 กันยายน ปี 2555 สนนราคาสำหรับรถเล็กอยู่ที่ 20,000 รูเบิล (ประมาณ 20,000 บาท) ต่อคันเป็นอย่างต่ำ ส่วนรถบรรทุก รถบัส อย่างต่ำอยู่ที่คันละ150,000 รูเบิล (ประมาณ 150,000 บาท) ทางการบอกว่าเงินที่เก็บมาก็เพื่อใช้ในการสร้างโรงงานรีไซเคิลรถยนต์ ผู้ผลิตเจ้าไหนมีแผน “รับกลับ” สำหรับรถที่ตนเองผลิต ก็ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าว ทั้งนี้กฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตมีโรงงานรีไซเคิลรถเก่าในทุกภูมิภาคของประเทศ และในเมืองที่มีประชากรมากกว่า 500,000 คน งานนี้น่าจะหมายถึงราคารถที่สูงขึ้น เพราะผู้ผลิตอาจเลือกวิธีผลักภาระต่อมาที่ผู้บริโภค แต่ตัวแทนอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์เขาบอกว่าไม่น่าเป็นอย่างนั้น  เพราะผู้ผลิตน่าจะเอาไปถัวกับภาษีนำเข้าอะไหล่ที่ลดลงหลังจากรัสเซียเข้าเป็นสมาชิก WTO หรือองค์กรการค้าโลก คนรัสเซียคงอิจฉาเราแย่เลย เพราะนอกจากจะไม่ต้องจ่ายค่ารีไซเคิลรถแล้วรัฐยังคืนภาษีให้อีกต่างหาก   หวานไม่หยุด หลายคนอาจจะตั้งใจแน่วแน่ว่าปีใหม่นี้จะต้องลดน้ำหนักให้ได้ แต่ส่วนใหญ่มักไม่ประสบความสำเร็จ ...อย่าได้ท้อใจเด็ดขาด ทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยข้อมูล(เกี่ยวกับน้ำตาล) และทักษะการอ่าน(ฉลาก) นักวิจัยเขาแนะนำให้ระวังส่วนผสมในอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ตัวที่ชื่อว่า Corn Syrup หรือน้ำเชื่อมข้าวโพดเพราะมันมีน้ำตาลฟรุคโตสสูงการทดลองครั้งนี้ ใช้เครื่องสแกน MRI (magnetic resonance imaging) ติดตามการไหลเวียนของเลือดในสมอง ในคนหนุ่มสาว 20 คน ที่มีน้ำหนักตัวปกติ หลังจากดื่มเครื่องดื่มที่มีกลูโคสหรือฟรุคโตสเข้าไป ภาพสแกนแสดงให้เห็นว่า กลูโคสจะปิดหรือยับยั้งกิจกรรมในบริเวณของสมองที่ควบคุมความอยากรับประทานอาหาร ในขณะที่ฟรุคโตสไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  ความอยากอาหารจึงยังคงมีอยู่ ... และส่งผลให้เรากินอาหารมากเกินไป ภาพสแกนที่ว่านี้สอดคล้องกับความรู้สึกหิวของผู้ที่เข้ารับการทดสอบด้วย ทางออกของผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักคือ การทำอาหารทานเองและลดการบริโภคเครื่องดื่มหรืออาหารสำเร็จรูปที่มีฟรุคโตสลง (อย่าลืมพกแว่นขยายไปด้วยล่ะ เดี๋ยวจะหาว่า ฉลาดซื้อ ไม่เตือน) และอย่าลืมป่าวประกาศให้เพื่อนฝูงได้ทราบโดยทั่วกันว่าคุณจะลดน้ำหนักให้ได้กี่กิโลกรัม ภายในเวลาเท่าไร ที่สำคัญอย่าได้นำรูปนางแบบผอมไม่มีใส้ หรือนายแบบซิกซ์แพคมาติดตู้เย็น (หรือที่ไหนก็ตาม) เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการลดน้ำหนักเด็ดขาด งานวิจัยจากเนเธอร์แลนด์เขายืนยันแล้วว่า พวกที่เห็น “รูปสร้างแรงบันดาลใจ” เหล่านี้คืออุปสรรคตัวสำคัญที่ทำให้เราแอบกินจุบจิบ และล้มเลิกความตั้งใจจะลดน้ำหนักไปในที่สุด ในขณะที่พวกที่ไม่ได้เห็นรูปดังกล่าวสามารถลดน้ำหนักได้จริงๆ   วันนี้คุณมีความสุขแล้วหรือยัง? ศาสตราจารย์ชอยอินโชล จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลพร้อมทีมงานได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของคนในวัยระหว่าง 20 ถึง 39 ปี จำนวน 1,000 คน (หญิง 491 คน ชาย 509 คน) ว่าพวกเขามีความสุขมากน้อยแค่ไหนปรากฏว่า 1 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจบอกว่าพวกเขาไม่รู้สึกว่าตัวเองมีความสุขเลยแม้เพียงสักครั้งในหนึ่งสัปดาห์ สาเหตุหลักเพราะรายได้ไม่พอใช้เรามาแจกแจงสาเหตุของความทุกข์กันดูบ้าง -- ร้อยละ 3.3 ตอบว่าเป็นทุกข์เพราะเรื่องเพื่อน  ร้อยละ 15.6 บอกว่ามีปัญหาชีวิตรัก และมีถึงร้อยละ 36.8 ตอบว่าทุกข์หนักเพราะปัญหาการเงินรุมเร้า กลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 40 ล้านวอนต่อปี (ประมาณ 1,100,000 บาท) มีความสุขสัปดาห์ละ 3.5 ครั้ง ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ ระหว่าง 20 – 40 ล้านวอน (560,000 - 1,100,000 บาท)  มีความสุขสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และกลุ่มที่หาเงินได้ระหว่าง 10 – 20 ล้านวอน ( 280,000 – 560,000 บาท) มีความสุขเพียง 2.8 ครั้งต่อสัปดาห์การศึกษาก็พอช่วยได้บ้าง เขาพบว่าหนุ่มสาวกลุ่มที่จบมหาวิทยาลัยมีความสุข 3.2 ครั้งต่อสัปดาห์ ในขณะที่กลุ่มที่จบชั้นมัธยมปลายมีความสุข 2.4 ครั้งต่อสัปดาห์แล้วกันไปนะ ไม่มีความสุขเพราะเงินไม่พอใช้ก็พอเข้าใจได้ นึกว่าเขาจะไม่มีความสุขเพราะหน้าตาไม่เป๊ะเวอร์เหมือนดาราเสียอีก

อ่านเพิ่มเติม >