ฉบับที่ 152 หลักการคืนรถใหม่ที่มีข้อบกพร่อง : แนวทางปฏิบัติในประเทศเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการติดตามข่าวปัญหาของผู้ซื้อรถเชพโรเลทครูซ ที่พบว่ารถเกิดข้อบกพร่อง และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ เป็นอันตรายต่อคนขับและผู้โดยสารได้ ผู้บริโภคพยายามที่จะขอให้ทางบริษัทซื้อรถคืน ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบพิสูจน์ ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมก่อนที่จะฟ้องร้องต่อศาล ในกรณีที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้นั้น ผมมีแนวทางในเรื่องนี้ โดยจะขอเล่าแนวทางปฏิบัติของทางเยอรมันดังต่อไปนี้ครับ ในกรณีที่ซื้อรถใหม่ โดยปกติผู้บริโภคจะได้รับการประกันสองรูปแบบ คือ การรับประกันจากผู้ขาย ที่เรียกว่า Dealer Guarantee และได้รับประกันจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เรียกว่า Manufacturer Guarantee โดยจะมีระยะเวลาประกันนาน 2 ปี  ในกรณีที่ผู้บริโภคพบว่ารถมีข้อบกพร่อง (Defects) หลังจากส่งมอบรถก่อน 6 เดือนจะใช้สิทธิการประกันรถก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าหลังจาก 6 เดือนไปแล้ว ต้องพิสูจน์ว่ารถตอนส่งมอบนั้นมีข้อบกพร่อง และผู้บริโภคใช้รถอย่างถูกต้อง จึงจะสามารถใช้สิทธิจากการรับประกันของผู้ผลิตได้ ในกรณีที่รถใหม่เป็นรถที่มีข้อบกพร่องหลายจุด (Montagsauto: Monday cars) เบื้องต้นผู้บริโภคไม่สามารถจะคืนรถได้ทันที ต้องปล่อยให้ทางผู้ขาย หรือ ผู้ผลิตทำการซ่อมแซมรถก่อน และหากลองซ่อมแล้ว 2 ครั้งยังไม่สามารถแก้ไขข้อบกพร่องได้ ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะร้องเรียนต่อผู้ผลิต หรือฟ้องร้องต่อศาลเพื่อยกเลิกสัญญา หรือให้ทางผู้จำหน่ายซื้อรถคืนได้ อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคที่จะขายรถคืนให้กับทางบริษัทนั้น โดยทั่วไปจะโดนหักค่าเสื่อมราคา คิดเป็น 0.67% ของราคาเต็มของรถต่อระยะทางที่รถวิ่ง 1000 กิโลเมตร เนื่องจากลักษณะของรถ Monday cars นี้ มักจะมีจุดบกพร่องหลายๆ จุด เพราะฉะนั้นหากรถจอดอยู่ในอู่ซ่อมเป็นระยะเวลานานๆ รวมแล้วมากกว่าระยะเวลาที่รถวิ่ง ผู้บริโภคก็สามารถใช้ประเด็นนี้ ฟ้องร้องต่อศาลเพื่อยกเลิกสัญญาการซื้อขาย โดยเป็นกรณีที่เรียกว่า “สินค้าอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถยอมรับได้” (Unzumutbarkeit: Unacceptability) สามารถขอเปลี่ยนรถใหม่ หรือขอให้ทางบริษัทซื้อรถคืนกลับไปได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามในกรณีที่ รถ แสดงอาการว่าผิดปกติและอาจส่งผลต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสาร ก็สามารถที่จะใช้สิทธิผ่าน กฎหมายสินค้าที่ไม่ปลอดภัยได้ (Product Liability Law) โดยบังคับให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายเป็นฝ่ายพิสูจน์ ในกรณีที่เป็นคดีฟ้องร้องไม่สามารถตกลงไกล่เกลี่ยกันได้ แต่เนื่องจากในเยอรมันหรือประเทศที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของผู้บริโภคและประชาชน หากรถยนต์ส่อเค้าว่ามีข้อบกพร่อง ทางบริษัทก็จะทำการแสดงความรับผิดชอบทันที ไม่ต้องใช้กฎหมายมาบีบบังคับ เหมือนในเมืองไทย เพราะทางบริษัทผลิตรถยนต์ เป็นห่วงเรื่องภาพพจน์ของยี่ห้อเขา มากกว่าที่จะใช้สิทธิในการต่อสู้คดีความทางศาลครับ และกรณีรถยนต์เชพโรเลทนี้ คาดว่าผู้บริโภคของไทยยังต้องเหนื่อยกับการเรียกร้องสิทธิให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบอีกพอสมควรทีเดียว ตรงนี้เป็นตัวชี้วัดสำหรับการรับผิดชอบต่อสังคมได้เป็นอย่างดีว่าเป็นอย่างไร แหล่งข้อมูล www.adac.de

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 118 พรปีใหม่ สร้างได้ด้วยตัวเอง

พรปีใหม่ สร้างได้ด้วยตัวเองกองบรรณาธิการ   ในทุกช่วงเทศกาลปีใหม่ สิ่งที่เราจะทำกันนอกจากมอบของขวัญหรือการจัดงานฉลองรื่นเริงแล้ว ก็คือการส่งมอบ คำอวยพร อันเป็นถ้อยคำที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดี หวังให้เกิดความสุขสมหวังแก่คนที่เรานิยมรักใคร่  จริงแท้แล้ว ความสุขสมหวังในชีวิตตามคำพรอันแสนดีนั้น เราท่านสามารถสร้างได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอใครมาหยิบยื่นให้ก่อน  ฉลาดซื้อฉบับต้อนรับปีใหม่ 2554 นี้ จึงขอมอบแนวทางที่จะทำให้ท่านสามารถสร้างพรปีใหม่ให้แก่ตัวเองได้อย่างง่ายๆ แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมปีใหม่อย่างที่เคยๆ มาในปีก่อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น   บุญ สร้างได้หลายทางไม่จำเพาะแค่การตักบาตรหรือถวายสังฆทาน การทำบุญคือ การทำให้เราลด ละ ความโลภและความเห็นแก่ตัวลง ด้วยการสละ ซึ่งอาจเป็นสละแรงกาย ทรัพย์ หรือปัญญาเพื่อบุคคลอื่น  ดังนั้นการทำบุญคือ การสละอย่างฉลาด ไม่ใช่การตั้งหน้าตั้งตาซื้อ การทำบุญในพุทธศาสนาจึงสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้   ทำบุญอย่างถูกวิธี 1.การให้ทาน บริจาคเงิน สิ่งของ 2.การถือศีลหรือลดความประพฤติไม่ดี และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น 3.การเรียนรู้ ฝึกจิตให้สงบไม่เศร้าหมอง ทำให้เกิดปัญญา 4.การสละแรงกายช่วยเหลือสังคมและผู้อื่น เป็นงานเพื่อส่วนรวม 5.การอ่อนน้อมถ่อมตน แม้มีอาวุโสกว่าก็มีเมตตา รู้จักให้เกียรติ 6.การยอมรับและมีความยินดีในการทำความดีของผู้อื่น 7.การเผื่อแผ่โอกาสให้ผู้อื่นได้ร่วมทำบุญหรือความดีกับเรา พร้อมเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นได้รับส่วนบุญนั้นด้วย 8.การรับฟังธรรมะและข้อคิดดีงาม 9.การให้ธรรมะและและข้อคิดที่ดีงามแก่ผู้อื่น10. การนึกคิดในทางที่ถูกต้องดีงาม   ไม่มีเงิน ก็ทำบุญได้ทำบุญไม่ได้แปลว่าให้ทานเสมอไป ไม่มีเงินเลยก็สามารถทำบุญได้ ด้วยการงดสิ่งเสพติด งดอบายมุข ก็ถือว่าได้บุญแล้ว รักษาศีล ไม่ประพฤติตนเป็นคนเกเร อันธพาล ไม่เป็นหนี้เป็นสินหรือไม่ใช่จ่ายให้เกินตัว ทำให้ชีวิตให้โปร่งเบาโดยลดกิเลสต่างๆ ลง เหล่านี้ไม่ต้องใช้เงิน ก็นับเป็นการทำบุญที่อานิสงค์ ไม่แพ้การให้ทานแต่ประการใด  ปีใหม่ไม่ดื่มจากสถิติของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ (ศปภ.) พบว่า จำนวนอุบัติเหตุใน 100 ราย มี 41 รายเกิดจากผู้ขับดื่มเหล้ามึนเมา และสาเหตุการตายของคนไทยเนื่องจากอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคมะเร็ง ทำให้มีคนตาย 1,300 คนต่อปี สูญเสียทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท   การสูญเสียที่มากมายนี้ทำให้หลายหน่วยงานออกกฎ มาตรการต่างๆ มาป้องกัน เช่น ห้ามดื่มสุราสำหรับผู้ขับขี่รถ ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีบริการน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็รับทราบกันดี แต่ก็ยังพบการละเมิดกฎหมายอยู่บ่อยๆ ทำให้สถิติการเสียชีวิตอันมีสาเหตุเชื่อมโยงกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ลดลง อย่างนี้แล้ว หากเราจริงใจในการอวยพรผู้อื่นให้มีความสุขจริง อีกทั้งไม่เสี่ยงพาตัวเองไปเป็นผู้ก่ออุบัติเหตุที่สร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น รวมถึงสร้างสุขให้แก่ตัวเองด้วยการสร้างสุขภาพที่ดี ปีใหม่นี้ก็ขอให้งดดื่ม งานเลี้ยงรื่นเริงสังสรรค์ต่างๆ ก็ปรับนิดหน่อยให้สามารถสนุกสนานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์   คนไทยดื่มสุราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 260,000 คน พบดื่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบสิบปี (2535-2545) จาก 992 ล้านลิตร เป็น 1,926 ล้านลิตร ที่มา สำนักงานสถิติแห่งชาติ   อดหวานต้านโรคคนไทยรับประทานน้ำตาลมากกว่า 20 ช้อนชาต่อวัน จากปกติที่ไม่ควรเกิน 6-8 ช้อนชาต่อวัน ทำให้คนไทยติดรสหวาน เด็กรุ่นใหม่ก็ติด รสหวาน โรคที่ไม่ควรเป็นในวัยเด็กอย่างเบาหวานจึงพบได้ในทุกวันนี้ รวมทั้งโรคอ้วนที่เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหัวใจ หลอดเลือดและความดันโลหิตสูง   เทศกาลปีใหม่เป็นช่วงที่มีงานเลี้ยงเฉลิมฉลองมาก ทั้งงานเลี้ยงที่ทำงาน สถานที่บันเทิงบ้านญาติ มิตร บางบ้านก็จัดปาร์ตี้กันเองในครอบครัว โอกาสที่จะรับประทานของหวานของมันก็มีมากขึ้น เพราะอาหารสำหรับงานเลี้ยงปีใหม่หนีไม่พ้นอาหารหวาน ขนมนมเนย ขนมเค้ก เบเกอรี่ ฟาสต์ฟู้ด ของทอด น้ำหวาน น้ำอัดลม ฯลฯ ซึ่งล้วนมีน้ำตาลสูงและให้พลังงานมาก แต่ร่างกายกลับไม่ค่อยได้นำพลังงานมาใช้เท่าที่ควรเพราะหลายคนถือเป็นช่วงพักผ่อน(เอาแต่นอน)  ทำให้ช่วงนี้หลายคนน้ำหนักตัวพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว  ถ้าไม่อยากให้ชีวิตในช่วงเริ่มต้นของปีใหม่ กลายเป็นปีแห่งโรคภัยไข้เจ็บและโรคอ้วน ควรรับประทานหวานๆ ให้น้อยลง และอย่าละเลยการออกกำลังกาย  ..........ส่วนผสมส่วนใหญ่ของคุกกี้ และเค้ก ทำมาจากแป้ง น้ำตาล เนย ไข่ และไขมัน ที่ให้รสหวานเป็นหลัก มีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มได้ง่าย เสี่ยงเกิดโรคอ้วน ขนมเค้ก 1 ชิ้นเล็ก ขนาดประมาณ 35 กรัม ให้พลังงานถึง 140 กิโลแคลอรี ส่วนคุกกี้ 1 ชิ้น ขนาด 10 กรัม ให้พลังงานถึง 51 กิโลแคลอรี ..........ถ้ากินติดต่อกันในปริมาณ 1 ปอนด์(0.45 กก.)ต่อวัน จะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานถึง 1,600 กิโลแคลอรี เกือบเท่ากับที่ร่างกายต้องการพลังงานจากอาหารอื่นรวมวันละ 2,000 กิโลแคลอรี…   ของขวัญจากใจของขวัญ คือสิ่งที่นิยมมอบให้แก่กันในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่นิยมกันมากในช่วงหลังๆ ก็ได้แก่ กระเช้าผลไม้ กระเช้าของขวัญ เพราะเป็นดูกลางๆ ไม่มากไปน้อยไป ส่วนคนสนิทชิดใกล้ก็แล้วแต่จะเลือกสรรให้กัน ฉลาดซื้อเมื่อฉบับ 106 ธ.ค. 2552 เราก็จัดโพลล์กันไปรอบว่าด้วย สิบของขวัญที่ไม่อยากได้ และของขวัญที่ควรจะมอบให้แก่กันเพื่อมิให้เกิดการสูญเสียในทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งก็คือ “เงินสด” อย่างไรก็ตามถ้าจะเลือกมอบกระเช้าของขวัญ กระเช้าผลไม้ เป็นของขวัญปีใหม่   อย่าลืมว่าปีนี้ ทั้ง อย.และ สคบ.เขาพร้อมช่วยผู้บริโภค ด้วยการออกตรวจร้านค้าปลีก ร้านค้าทั่วไปเพื่อให้จัดกระเช้าของขวัญที่มีคุณภาพไม่แอบเอาของใกล้หมดอายุมาใส่ไว้ และในกรณีที่ผู้ประกอบการมีการ นำผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนวัตถุอันตราย และนำสินค้าที่หมดอายุ ไร้คุณภาพมาจำหน่ายในรูปแบบกระเช้า ให้ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากจำหน่าย อาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่มีฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท   “การให้ของขวัญ สิ่งสำคัญต้องไม่อยู่ที่ตัววัตถุ แต่อยู่ที่น้ำใจ และถ้าเราให้ของขวัญในสิ่งที่ช่วยประเทืองปัญญาจะดีมาก ไม่ใช่ให้ของขวัญที่กระตุ้นโลภะ โทสะ หรือว่าเป็นของขวัญที่บั่นทอนสุขภาพ ของขวัญถ้ามันไปสนองกิเลสของผู้รับ มันก็เป็นโทษทั้งแก่ผู้รับและผู้ให้ ในทางพุทธศาสนาก็ไม่ได้บุญ แต่ถ้าคุณให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต เกื้อกูลสติปัญญา ประเทืองอารมณ์ จรรโลงใจ เหล่านี้จะเป็นบุญแก่ทั้งผู้รับและผู้ให้” พระไพศาล วิสาโลใช้บัตรเครดิตให้ถูกทางข้อดีของการถือบัตรเครดิต คือความปลอดภัยและสะดวกในการใช้จ่าย เพราะการถือบัตรเครดิตโอกาสสูญหายหรือถูกขโมยมีน้อยกว่าการถือเงินสด (บัตรห ายก็ยังอายัดไว้ได้ ส่วนเงินไปแล้วไปเลย) นอกจากนี้ยังให้มูลค่าเพิ่มในการใช้อภิสิทธิ์ จากสถาบันการเงินที่ออกบัตรในการรับบริการที่แตกต่าง เช่น ได้รับสิทธิ์ซื้อสินค้าในราคาพิเศษ ได้รับความคุ้มค   รองด้านประกันภัยโดยไม่ต้องซื้อกรมธรรม์ ได้รับของกำนัลเมื่อใช้จ่ายผ่านบัตร ได้เงินคืนจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเมื่อถึงยอดที่กำหนด ฯลฯ  ซึ่งสถาบันการเงินต่างก็เพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อหวังเอาใจลูกค้ากันเต็มที่   แต่ผู้ใช้บัตรเครดิตจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่สูงนี้ ก็ต่อเมื่อผู้ใช้บัตรเครดิตมีการวางแผนทางการเงินที่ดี โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไม่เกินกำลังความสามารถของตนเองในการชำระคืนในเดือนถัดไป มิฉะนั้นท่านจะต้องตกลงในกับดักทางการเงิน ที่สุดท้ายกลายเป็นหนี้ก้อนโต การใช้บัตรเครดิตให้ปลอดภัย   1. จ่ายหมด ไม่มียอดค้างชำระ  การชำระสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิตเปรียบเสมือนการนำเงินในอนาคตมาใช้ เมื่อถึงรอบบัญชีเรียกเก็บหากชำระไม่เต็มจำนวนก็จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยในรอบบัญชีถัดไป ซึ่งในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อปี 2. การใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ไม่ควรเกินร้อยละ 20 ของรายได้ต่อเดือน 3. อย่าติด Late Charge ถ้าจ่ายทั้งหมดไม่ได้ ก็จ่ายเท่ายอดขั้นต่ำ แต่จ่ายตามกำหนด ถ้าจ่ายช้ากว่าวันนัดชำระ จะเสียค่าปรับที่แพงขึ้นอีกจากค่าทวงถาม 4. อย่าเบิกเงินสดด้วยบัตรเครดิต ประเภทวีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ด เพราะจะเสียค่าธรรมเนียมแพงประมาณ 3% ของเงินสดที่เบิกออกมา บวกด้วยค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม และเมื่อรวมเงินต้นและดอกเบี้ยแล้ว จ่ายหนักแน่ 5. ไม่เบิกเงินสดจากบัตรเครดิตใบหนึ่งเพื่อไปโปะหนี้บัตรเครดิตอีกใบหนึ่ง เพราะสุดท้ายจะกลายเป็น งูกินหาง ติดหนี้ก้อนโตในทุกบัตร อย่าลืมว่า ดอกเบี้ยบัตรเครดิตนั้นแพงมาก หากพบว่าเริ่มมีปัญหาจากการใช้บัตรวิธีที่ดีที่สุดคือ หยุดการใช้บัตรเครดิตและวางแผนคืนเงินอย่างถูกต้อง ท่านสามารถขอคำปรึกษาได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2553 (ไม่รวมการใช้จ่ายของชาวต่างประเทศที่ถือบัตรเครดิตต่างประเทศ และการเบิกเงินสดล่วงหน้า) โดยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 712,000 - 727,650 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.0 ถึง ร้อยละ 17.5  จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ปี 2552  ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  เลือกรถโดยสารให้ปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่ จัดเป็นช่วงที่มีการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะที่สูงสุดช่วงหนึ่งของปี และทุกๆ ปี ก็พบว่า มีผู้โดยสารจำนวนมากทีเดียวที่พบอุบัติเหตุจากรถโดยสารที่ตัวเองนั่งไปโดยทั่วไปคนส่วนใหญ่เลือกนั่งรถกับบริษัทรถโดยสารที่คุ้นเคย หรือได้รับการบอกเล่าปากต่อปาก โดยคำนึงเรื่องความสะดวกสบายเป็นหลัก แต่น้อยคนนักที่จะคิดด้านความปลอดภัยและคิดจะตรวจสอบบริษัทรถโดยสารด้วยตัวเอง  ข้อมูลจากโครงการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เขาฝากมาว่า ในการขึ้นรถโดยสารทุกครั้ง ควรหลีกเลี่ยงการใช้บริการรถโดยสารสองชั้นเนื่องจากมีข้อจำกัดด้านจุดสมดุล  รถโดยสารที่ดีต้องมีส่วนที่เป็นโครงเหล็กมากกว่ากระจก บนรถต้องมีเข็มขัดนิรภัย ถังดับเพลิง หรืออุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เบาะที่นั่งต้องยึดติดมั่นคง และมีเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อศูนย์บริการได้  นอกจากนั้น ผู้โดยสารทุกท่านยังสามารถช่วยกันดูแลสอดส่องการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ยามเมื่อเกิดอุบัติเหตุนอกจากจะทำเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้บริโภคเองแล้วยังเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพการบริการโดยเฉพาะด้านความปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานสากลอีกด้วย  ฝากข้อมูลหรือแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ ติดต่อได้ที่โครงการฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ วิธีปฏิบัติ 3 ขั้นตอน ขั้นแรกผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถในการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล และค่าปลงศพกรณีเสียชีวิตจากบริษัทประกันภัยของรถโดยสารที่เกิดเหตุโดยจะต้องดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายภายใน 180 วันหลังจากเกิดเหตุพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาบันทึกประจำวันของตำรวจ สำเนากรมธรรม์ประกัยภัยรถที่เกิดอุบัติเหตุในกรณีที่เสียชีวิตต้องเตรียมสำเนาใบมรณะบัตร และสำเนาทะเบียนบ้านหรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของทายาทมาด้วย   ขั้นที่สองนั้น สามารถใช้สิทธิเรียกร้องจากกรมธรรม์ภาคสมัครใจและบริษัทรถโดยสารจากความเสียหายทางด้านทรัพย์สิน และค่าเสียโอกาสอื่นๆหรือที่เราเรียกกันว่า ค่าทำขวัญ โดยมีข้อควรระวังคือ การลงลายมือชื่อในการรับค่าสินไหมทดแทนทั้งจากบริษัทประกันและบริษัทรถยนต์    หากมีเงื่อนไขในเอกสารการรับเงินหรือข้อตกลงใดๆว่า ผู้เสียหายยอมรับเงินโดยไม่ติดใจเอาความกับบริษัทแล้วจะทำให้ไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมได้ในภายหลัง   ขั้นสุดท้าย สิทธิการเรียกร้องทางกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคสามารถขอแบบฟอร์มได้ที่ศาล และติดต่อมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคหรือเขียนเองโดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มจาก www.consumerthai.org โดยฟ้องคดีได้ที่ศาลในภูมิลำเนาของผู้ประกอบการซึ่งจะต้องฟ้องร้องภายในระยะเวลา 1 ปีนับแต่ทราบความเสียหายในส่วนของผู้ที่ทำละเมิดโดยตรงคือ คนขับรถและบริษัทรถ  แต่ในส่วนของบริษัทประกันนั้นเราสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ภายในระยะเวลา2 ปีนับแต่ทราบถึงความเสียหายท่านสามารถใช้สิทธิผ่านช่องทางการร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point