นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 139 เสียงผู้บริโภค

ถูกยกเลิกเที่ยวบิน แถมคืนเงินไม่คร

คุณอาทรร้องเรียนสั้นๆ มาว่า....

ผมได้จองตั๋วเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-โคลอมโบ ศรีลังกา เพื่อไปท่องเที่ยวระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม 2555 ปรากฎว่าทางสายการบินแจ้งยกเลิกครับ และแจ้งว่าจะคืนเงินให้เฉพาะส่วนที่เป็นค่าตั๋วและค่าธรรมเนียมต่างๆ แต่จะไม่คืนเงินในส่วนที่ซื้อเพิ่มเติมคือ ค่าโหลดกระเป๋าและค่าอาหารบนเครื่อง และยังไม่สามารถแจ้งให้โอนเงินเข้าบัญชีได้อีกครับ จะโอนเงินผ่านช่องทางที่ซื้อเข้ามาเท่านั้น คือผ่านทางบัตรเครดิตให้ซึ่งเงินก็จะไปอยู่ในบัตรไม่สามารถเบิกมาได้เป็นเงินสด แถมยังคืนไม่ครบอีก

จึงอยากจะขอปรึกษาว่าผมจะดำเนินการอย่างไรได้บ้างครับ รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมและเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคทั้งๆ ที่เป็นความผิดของตนเองแท้ๆ ที่ยกเลิกไฟท์การบิน ทำให้เกิดความเสียหายแถมยังรับผิดชอบแบบครึ่งๆ กลางๆ อีกครับ

 

แนวทางแก้ไขปัญหา

ปัญหาที่เกิดจากการใช้บริการโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ หรือเครื่องบิน ล้วนอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายในเรื่อง “รับขนคนโดยสาร” ที่มีข้อกำหนดหลักๆ สรุปเป็นภาษาให้พอเข้าใจได้ว่า ผู้ประกอบการรับส่งผู้โดยสารจะต้องรับผิดต่อผู้โดยสารในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวผู้โดยสาร หรือในความเสื่อมเสียอย่างใดๆ ที่เป็นผลโดยตรงจากการที่ต้องชักช้าในการขนส่งผู้โดยสาร เว้นแต่การเสียหายหรือชักช้านั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากความผิดของผู้โดยสารเอง

 

ในขณะที่กระทรวงคมนาคม ได้ออกประกาศเรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทย ในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 แม้จะบังคับใช้เฉพาะสายการบินของไทย และบินในเส้นทางภายในประเทศ แต่ก็พอนำมาเทียบเคียงเรียกร้องสิทธิให้กับผู้โดยสารท่านนี้ได้

ประกาศฉบับนี้ได้กล่าวถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในกรณีการยกเลิกเที่ยวบิน หรือการปฏิเสธการขนส่ง ว่าสายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสาร โดยมีทางเลือกให้ผู้โดยสาร 2 ทาง ทางเลือกแรกคือ รับเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ถูกเรียกเก็บคืนเต็มตามจำนวนที่จ่ายไป หากสายการบินจะชำระเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทนเงินค่าโดยสาร และค่าธรรมเนียม จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้โดยสารก่อนแล้วเท่านั้น ทางเลือกที่สอง คือ การเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร หรือจุดหมายปลายทางอื่นที่ใกล้เคียงกับจุดหมายปลายทางเดิมโดยเร็วที่สุดภายในวันเดียวกัน วันถัดไป หรือวันอื่นตามความสมัครใจของผู้โดยสาร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้โดยสาร และที่นั่งว่างที่สายการบินสามารถจัดให้ได้ โดยสายการบินต้องไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมไม่ว่าในกรณีใด ๆ แต่หากการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินนั้นมีค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นที่ต่ำกว่าจำนวนเงินค่าโดยสาร และค่าธรรมเนียมที่ผู้โดยสารได้ชำระไว้แล้ว สายการบินต้องชำระเงินส่วนต่างคืนให้กับผู้โดยสารด้วย

สำหรับวิธีปฏิบัติในการคืนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่น หรือเงินส่วนต่างให้แก่ผู้โดยสารนั้น สายการบินจะต้องคืนเงินให้ผู้โดยด้วยวิธีการที่ผู้โดยสารเลือก เช่น เงินสด โอนผ่านบัญชีธนาคาร เช็คธนาคาร เป็นต้น ซึ่งประกาศฉบับนี้ยังได้กำหนดระยะเวลาการคืนเงินด้วย คือ
(ก) กรณีผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารด้วยเงินสดต้องดำเนินการคืนให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน 
(ข) กรณีผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารด้วยบัตรเครดิตต้องดำเนินการคืนให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน

ระเบียบนี้แม้จะไม่ใช่ระเบียบที่ใช้กับการบินระหว่างประเทศ แต่ก็ใช้เป็นหลักในการเรียกร้องสิทธิของเราได้ เบื้องต้นเมื่อเกิดปัญหาการถูกแจ้งยกเลิกเที่ยวบินและต้องการเรียกร้องเงินคืนให้ผู้โดยสารทำหนังสือจะเป็นจดหมายหรืออีเมล์ก็ได้ไปถึงสายการบินเพื่อแสดงเจตจำนงความต้องการของตนเองให้ชัดเจน และกำหนดวิธีการคืนเงินให้ชัดเจนด้วย เท่านี้ก็ถือเป็นการประกาศสิทธิของผู้บริโภคที่สายการบินจะต้องรับผิดชอบแล้วครับ ผลที่ได้รับก็ไม่นานเกินรอ และดีกว่าโทรคุยอย่างเดียวแน่นอน

 

 

เสียความรู้สึกเอทีเอ็มเออเรอร์ ไร้รับผิดชอบ

เดือนนี้ 2 รอบแล้วค่ะ คุณพิมพ์พรผู้ใช้บัตรเอทีเอ็มธนาคารกรุงไทยเธอว่างั้น

รอบแรกเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2555 เป็นบัตรประเภทรายปี 200 บาท แล้วได้เข้าไปทำใหม่เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2555 เปลี่ยนเป็นประเภท 500 บาท ฟรีรายปี 3 ปี กดได้ทุกธนาคาร ทุกสาขา ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการกด

แล้วล่าสุด โดนยึดเมื่อ 27 มีนาคม 2555 (วันที่ส่งเรื่องร้องเรียน) ตอนประมาณ 12.00 น. ที่ตู้ธนาคารกรุงเทพ สาขาบิ๊กซี จ.ตาก

เธอบอกว่า กดเอทีเอ็มใส่รหัสถูกต้อง แต่พอจะไปกดไปที่เมนูบัญชีออมทรัพย์ ทันใดนั้นหน้าจอได้ขึ้นข้อความ งดใช้บริการชั่วคราวและไม่ยอมคายบัตรออกมา

พอเข้าไปติดต่อที่ธนาคารกรุงเทพเจ้าของตู้ แจ้งว่าเป็นบัตรเอทีเอ็มของธนาคารทหารไทย ได้รับคำตอบว่า รอไปก่อน ไม่รู้ว่าจะไปเปิดตู้เมื่อไหร่ เพราะไม่รู้ว่าเงินจะหมดเมื่อไหร่

คุณพิมพ์พรบอกว่า ตอนนี้ตู้ขึ้นข้อความว่า งดใช้บริการชั่วคราวแล้ว ได้รับคำตอบกลับมาว่า “อืมม ม นั่นแหละ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะไปแก้ไข ให้รอไปก่อน ไม่ก้อไปติดต่อทำบัตรใหม่”

ได้รับคำตอบแบบนี้เลยถึงอึ้งกิมกี่ ไม่รู้จะเซ้าซี้ขอความช่วยเหลือจากธนาคารเจ้าของตู้ยังไงต่อไป คุณพิมพ์พรจึงรีบมาแจ้งทางธนาคารทหารไทย ได้รับคำแนะนำว่า ให้ทำบัตรใหม่ อายัดบัตรเดิม เพราะตู้อื่นยึด เราเอาคืนไม่ได้

“แบบนี้แล้วจะให้เราทำบัตรประเภทกดได้ทุกตู้ทำไมล่ะคะ คุณพี่ แล้วยังจะให้เราทำบัตรใหม่เสียค่าบัตร อีก 500 บาท ทั้งๆ ที่เราเพิ่งทำใหม่ไปเมื่อไม่ถึง 2 อาทิตย์ เราถามว่า ไม่มีทางออกทางไหน อีกเหรอคะ เค้าตอบว่าไม่มี ต้องทำใหม่อย่างเดียวและเสีย 500 บาท ถ้าแบบนี้ เดือนหนึ่ง เราไปกดเงินแล้วโดนยึดบัตรทุกครั้งที่กด เราก้อต้องเสียเงินทำบัตรใหม่ทุกครั้งเหรอคะ ถ้ากด 10 ครั้ง เสีย 10 รอบ รอบละเท่าไหร่คะ เสียดายเงินค่ะ รบกวน ขอคำปรึกษา และคำแนะนำหน่อยค่ะ”

 

แนวทางแก้ไขปัญหา

เหตุการณ์ทำนองนี้ต้องเรียกว่า “ผีซ้ำด้ำพลอย” คือโดนกระทำจากผีนอกบ้านแล้วยังโดนผีเรือนในบ้านเหยียบซ้ำอีก (ด้ำ ภาษาอีสานแปลว่า ผีบ้าน ผีเรือน )

เท่าที่ติดตามการร้องเรียนในเรื่องนี้ มีปัญหากันเยอะเหมือนกัน บางรายกดเงิน เงินไหลออกมา แต่ตัวบัตรไม่ยอมคืนออกมา บางรายกำลังทำรายการอยู่ อยู่ๆหน้าจอตู้ดับเครื่องรีเซ็ทใหม่ เงินไม่ได้บัตรไม่ออก เดือดร้อนกันเป็นแถวๆ เพราะไม่มีบัตรกดเบิกเงิน พอไปติดต่อกับธนาคารเจ้าของตู้ก็บอกว่าต้องรออีก 10-15 วันถึงจะมาเปิดตู้ให้ แต่บอกไม่ได้ว่าจะมาเมื่อไหร่เพราะต้องเป็นความลับเดี๋ยวโจรมันรู้ สุดท้ายทนรอไม่ไหวก็ต้องเสียเวลาเสียเงินทำบัตรใหม่กัน

ข้อแนะนำ

1.ใช้บัตรเอทีเอ็มของธนาคารไหนก็ควรกดของธนาคารนั้นดีที่สุด จำเป็นหรือหาตู้ไม่ได้จริงค่อยไปกดตู้ของธนาคารอื่น เวลาเกิดเรื่องยุ่งยากจะได้ติดต่อแค่ธนาคารเดียว

2.ตู้ที่จะกดเงิน ส่ายสายตาหาดูก่อนว่า มีกล้องวงจรปิดที่สามารถใช้งานได้เป็นปกติ ไม่มีสิ่งกีดขวาง อาทิเช่น รังนกมาบังมุมกล้อง เมื่อเกิดปัญหาให้แสดงอาการฟ้องต่อหน้ากล้องทันที เช่น ได้เงินไม่ครบก็ให้นับเงินหน้ากล้องแล้วชูบอกให้เห็นว่าเงินไม่ครบ เพื่อให้ภาพบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

3.ถ้าเป็นไปได้เลือกกดตู้ที่ตั้งอยู่หน้าธนาคารนั่นแหละดีที่สุด มีทั้งกล้อง มีทั้งเจ้าหน้าที่ พนักงานรักษาความปลอดภัยคอยให้ความช่วยเหลือ

4.หากบัตรเอทีเอ็มถูกยึดไม่ว่าจะเกิดที่ตู้ของธนาคารเจ้าของบัตรเองหรือธนาคารอื่น คนที่จะเอาออกมาได้ก็คือธนาคารที่เป็นเจ้าของตู้ ให้เข้าไปแจ้งพร้อมกรอกเอกสารร้องเรียนทันที ระบุตำแหน่งที่ตั้งและหมายเลขของตู้ พร้อมขอชื่อพนักงานและผู้จัดการสาขา พร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อเรื่องการติดตามรับบัตร หากพนักงานบริการไม่เอาอ่าวเอาทะเล ให้รีบติดต่อร้องเรียนกับผู้จัดการสาขาโดยตรงทันที โดยขอให้เร่งรัดติดตามเอาบัตรกลับคืนโดยเร็วและให้นัดหมายวันเวลารับบัตรให้ชัดเจน

5.ในกรณีที่ไม่ใช่ความผิดพลาดของผู้บริโภค ไม่ควรใจด่วนทำบัตรใหม่ หากธนาคารไม่มีนโยบายยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับปัญหาเออร์เรอร์ลักษณะนี้ ควรเบิกถอนเงินด้วยสมุดบัญชีก่อน ดังนั้นไม่ควรหลงเชื่อธนาคารง่ายๆ ที่แนะนำให้ทำบัตรเอทีเอ็มโดยไม่มีสมุดบัญชี กันไว้ดีกว่าแก้ครับ

 

 

 

 

ปัญหาหนึ่งของบัตรสมาร์ทเพิร์ส

บัตรไม่ชำรุดแต่ถูกบอกว่าชำรุด แนะให้ทำบัตรใหม่จ่ายเงินเพิ่ม

คุณยิ่งยศร้องเรียนเข้ามาว่า...

ผมได้ซื้อบัตรสมาร์ทเพิร์ส Smart Purse ที่บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด ออกร่วมกับ SF cinema city ก็ใช้ได้ตามปกติตลอด

จนมาวันหนึ่งนำบัตรไปแตะกับเครื่องอ่าน แต่เครื่องไม่อ่านแจ้งไปทางบริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด เขาให้ไปติดต่อกับเอสเอฟ แต่เอสเอฟไม่รับคืนเพราะเลิกใช้บัตรนี้แล้ว

ทาง บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด จึงให้ไปคืนที่ 7-11 ก่อนส่งบัตรไป ผมให้ทางผู้จัดการร้าน 7-11 ตรวจดูบัตรว่าแตกหักหรือไม่ แต่ก็ไม่มีร่องรอยแตกหัก พอส่งบัตรไป ทาง บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด แจ้งว่าบัตรแตก ให้ซื้อบัตรใหม่ในราคา 160 บาท และบัตรโอนได้แต่เงินคงเหลือในบัตร แต้มไม่สามารถโอนได้ ผมไม่ยอม

ตอนหลัง บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด จึงให้โอนแต้มได้ แต่ต้องซื้อบัตรใหม่อยู่ดี พร้อมส่งหนังสือและบัตรกลับมาให้ จึงเรียนสอบถามว่าผมจะสามารถทำอะไรได้บ้างกับกรณีนี้ครับ เพราะก่อนส่งไป ผู้จัดการร้าน 7-11 ก็ตรวจสอบแล้วว่าบัตรไม่แตกแต่พอไปถึง บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด กลับแจ้งว่าบัตรแตก

 

แนวทางแก้ไขปัญหา

เราได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลที่ http://www.thaismartcard.co.th ได้รับคำอธิบายขยายความว่า

บัตรสมาร์ทเพิร์ส คือ การเก็บเงินสดไว้ในบัตรในรูปของเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการผ่านเครื่อง ณ ร้านค้าที่รับบัตรสมาร์ทเพิร์ส เหมาะสำหรับการใช้จ่ายที่มีมูลค่าไม่มากนักแทนการใช้ธนบัตรหรือเหรียญ โดยมูลค่าในบัตรจะลดลงตามปริมาณการใช้ และสามารถเติมเงินลงในบัตรได้ด้วยเงินสด ที่จุดรับบริการเติมเงิน ได้แก่ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทรูช้อป ยามาฮ่า โชคดีติ่มซำ และSF Cinema ซึ่งการทำบัตรหายเท่ากับการทำเงินหายจึงควรดูแลเหมือนเงินสดและเก็บในที่ปลอดภัย

สำหรับข้อดีที่บริษัทใช้ชักชวนผู้บริโภคมีหลายข้อ เช่น

- บัตรสมาร์เพิร์สสามารถลดภาระ และความเสี่ยงจากการถือเงินสดช่วยให้ผู้ถือบัตรมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นในการพกพาบัตรเพียงใบเดียวแต่ใช้งานได้หลากหลาย
- ผู้ถือบัตรจะได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว แก้ปัญหาการซื้อของแล้วไม่มีเงินทอน
- ผู้ถือบัตรสามารถนำบัตรสมาร์ทเพิร์สไปใช้ยังบริการอื่นๆ ที่รับบัตร นับเป็นช่องทางใหม่ในการจับจ่ายใช้สอย เช่น โทรศัพท์ ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม โรงภาพยนตร์ ร้านหนังสือ-บันเทิง ระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น
- บัตรสมาร์ทเพิร์สช่วยบริหารค่าใช้จ่ายส่วนตัวอย่างมีประสิทธิภาพ
- ผู้ถือบัตรสามารถใช้บริการของธุรกิจหลากหลายประเภทที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจนภายในบัตรใบเดียวกัน พร้อมระบบความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
- ผู้ถือบัตรมีโอกาสได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ เพิ่มเติมสำหรับผู้ถือบัตรจากร้านค้าและเครือข่าย

บัตรที่บริษัท ออกร่วมกับองค์กรภาคเอกชน (Co-Branded Card)

เมื่อได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วว่าการที่บัตรใช้งานไม่ได้ ไม่ได้เกิดจากการใช้งานหรือความบกพร่องของผู้บริโภค เราจึงได้โทรติดต่อไปที่บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด เพื่อขอให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องแจ้งกลับมาว่าจะปรึกษากับผู้ใหญ่และติดต่อมาอีกครั้ง

หลังจากประสานงานกับทางบริษัทไทยสมาร์ทการ์ดแล้ว ได้มีการชี้แจงว่าได้ดำเนินการเปลี่ยนบัตรใหม่ให้กับทางผู้ร้องเรียนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งนี้ทางบริษัทฯ แจ้งว่าเป็นการเข้าใจผิดระหว่างลูกค้ากับทางส่วนหน้าร้านในการเปลี่ยนบัตร บริษัทฯ ต้องขออภัยทางลูกค้าด้วย จบข่าว สมาร์ทเพิร์ส

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง:

รวมข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?

ท่านใดที่กำลังคิดว่ารายได้ของท่านจะต้องเสียภาษีเท่าไร และมีอะไรมาหักลดหย่อนได้บ้าง เราเลยนำเสนอข้อมูลในท่านตามลิงค์ด้านล่าง เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัวเสียภาษีปีนี้นะคะ :) การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ 2560   By กรมสรรพากร  https://goo.gl/Y5GxhZโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ ปีภาษี 2560 ค่าลดหย่อน  By Kapook.com   https://goo.gl/MEgCYUวางแผนลดหย่อนภาษีปี 60 ฉบับบุคคลธรรมดา มีอะไรหักได้บ้าง  By plus.co.th  https://goo.gl/Nyfi5Uครม.ไฟเขียวลดหย่อนภาษีเพิ่มเท่าตัว มีผลปีภาษี 2560 ช่วยค่าครองชีพมนุษย์เงินเดือน  By matichon  https://goo.gl/JQAukmปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแจกถ้วนหน้า By thaipublica https://goo.gl/5c25X4ขอบคุณข้อมูลกรมสรรพากร Kapook.complus.co.th matichonthaipublica

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 จ่ายจริงมากกว่าราคาที่แสดงไว้

สินค้าตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ มักมีราคาติดไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าหากต้องการซื้อสินค้าดังกล่าว ต้องจ่ายเงินเท่าไร อย่างไรก็ตามหากเรานำสินค้านั้นๆ ไปจ่ายเงินที่พนักงานคิดเงิน แล้วพบว่าราคาไม่ตรงตามป้าย สิ่งที่เราควรทำคือ ปกป้องสิทธิของตัวเอง ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณจอห์นเป็นชาวต่างชาติที่มักซื้อสินค้าจากร้านค้าวิลล่า มาร์เก็ต (Villa market) เป็นประจำ เพราะร้านดังกล่าวจำหน่ายสินค้าต่างๆ มากมาย ทั้งของสด ของแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รวมทั้งสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ วันหนึ่ง ภายหลังจากการเลือกซื้อขนมคบเขี้ยวยี่ห้อหนึ่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งป้ายแสดงราคาว่า 49 บาทต่อถุง แต่เมื่อนำไปชำระเงินกลับพบว่ากลายเป็น 59 บาทต่อถุง คุณจอห์นไม่แน่ใจว่าตัวเองดูราคาผิดไปหรือไม่ ดังนั้นเมื่อชำระเงินเสร็จเรียบร้อย เขาจึงกลับไปถ่ายรูปราคาสินค้าจากชั้นวางขายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน พร้อมสอบถามไปกับผู้จัดการสาขา ผู้จัดการสาขาได้ชี้แจงกลับมาว่าราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นเก่า อย่างไรก็ตามเมื่อออกมาจากร้านเขาก็ตัดสินใจโทรศัพท์ไปสอบถามที่ร้านดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งพบว่าคำตอบกลับไม่เหมือนเดิม ครั้งนี้ผู้จัดการร้านคนเดิมกลับแจ้งว่า ราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นล่าสุดสำหรับวันนี้ดังนั้นคุณจอห์นจึงตัดสินใจแวะไปร้านค้าดังกล่าว ในอีกสาขาหนึ่งและซื้อสินค้าชนิดเดียวกัน ซึ่งพบว่าบนชั้นวางขายก็ติดราคาไว้ที่ 49 บาท แต่เมื่อนำมาชำระเงินก็ถูกคิดราคา 59 บาทเช่นเดิม เขาจึงเชื่อว่าการกระทำของร้านค้าดังกล่าว ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ส่งเอกสารการร้องเรียนไปยังกรมการค้าภายใน เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของร้านค้า โดยขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับร้านค้า และขอให้แจ้งผลการดำเนินการกลับมายังศูนย์ฯ โดยสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องมีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน คือ ใบเสร็จรับเงิน และรูปถ่ายราคาสินค้าจากชั้นวางขาย ทำให้ภายหลังได้รับเรื่อง กรมการค้าภายในจึงดำเนินการสั่งปรับ นิติบุคคลของร้านค้า วิลล่า มาร์เก็ต 3,000 บาท และผู้จัดการร้านทั้ง 2 สาขา คนละ 1,500 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลนำจับให้ผู้ร้องอีก ร้อยละ 25 ของราคาปรับ คือ 1,500 บาท

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 โดนเชิดเงินหนีหลังจองรถ

แม้คนส่วนใหญ่ต่างมั่นใจว่าการเช่าซื้อรถยนต์ที่ศูนย์บริการจะมีความปลอดภัย แต่หากเราประมาทเพียงเล็กน้อยก็สามารถโดนเชิดเงินจองรถ ที่จ่ายให้กับตัวแทนของบริษัทไปแล้วก็ได้ คุณสุชาติเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่ง รุ่น พรีเมล่า (Premera) จากศูนย์นิสสัน ราคาประมาณ 530,000 บาท โดยจ่ายค่าจองรถไว้ก่อนจำนวน 5,000 บาท ถัดมาอีก 2 วัน พนักงานของบริษัทได้ติดต่อมาว่า ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่จองรถ ซึ่งหากต้องการรับสิทธิดังกล่าวต้องโอนเงินมาเพิ่มอีก 5,000 บาท เมื่อผู้ร้องได้รับข้อมูลดังนั้นและเชื่อว่าเป็นโปรโมชั่นของบริษัทจริง จึงโอนเงินไปเพิ่ม แต่เหตุการณ์ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะอีก 1 อาทิตย์ถัดมา พนักงานคนเดิมก็โทรศัพท์เข้ามาอีกครั้งเพื่อแจ้งว่า ทางบริษัทต้องการคำยืนยันที่ชัดเจนว่าผู้ร้องยังต้องการรถ ซึ่งทางบริษัทจะนำเข้าหรือสั่งมาให้ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ โดยสามารถยืนยันสิทธิได้ด้วยการโอนเงินมาเพิ่มอีก 22,000 บาท หลังจากตัดสินใจสักพัก ผู้ร้องก็หลงเชื่อและโอนเงินไปอีกครั้ง ซึ่งหากรวมๆ แล้ว จำนวนเงินที่ผู้ร้องโอนให้พนักงานคนดังกล่าวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 32,000 บาทเวลาต่อมาคุณสุชาติก็ได้นัดหมายกับไฟแนนซ์ และพนักงานของบริษัทรถที่เขาโอนเงินไปให้ เพื่อให้มาตกลงเรื่องการส่งค่างวดรถ อย่างไรก็ตามพนักงานคนดังกล่าวกลับบ่ายเบี่ยง และอ้างว่าไม่สะดวกทุกครั้งที่เขานัด ทำให้คุณสุชาติเริ่มไม่พอใจและติดต่อกลับไปยังบริษัทฯ เพื่อสอบถามปัญหา ภายหลังการพูดคุยและสอบถามถึงจำนวนเงินที่โอนไปก่อนหน้านี้ ทางบริษัทฯ กลับแจ้งว่า ไม่เคยได้รับเงินที่คุณสุชาติโอนเข้ามาก่อนหน้านี้เลย และเมื่อติดต่อไปยังพนักงานคนดังกล่าวก็พบว่า เขาได้ลาหยุดมาหลายวันแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ตามเมื่อคุณสุชาติถามถึงการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางบริษัทฯ ก็ตอบกลับว่า ไม่สามารถรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ คุณสุชาติต้องเป็นคนจัดการเอง ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เขาจึงไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องเข้ามาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อต้องการทราบว่าการที่บริษัทฯ ปฏิเสธการรับผิดชอบเช่นนี้ สามารถทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ชี้แจงกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ คือ ตามหลักกฎหมายตัวการตัวแทน กำหนดไว้ว่า ตัวการย่อมมีความผูกพันกับบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลาย อันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้กระทำไปในขอบเขตแห่งฐานตัวแทนนั้น หมายถึง การที่ตัวแทนได้ไปกระทำการในนามของบริษัท โดยได้กระทำในขอบเขตที่บริษัทให้ทำ ก็ต้องถือว่าทางบริษัทต้องรับผิดชอบกับตัวแทนนั้นด้วย ปกติบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จะต้องมีตัวแทนคนหนึ่งหรือหลายคนกระทำการแทนบริษัท ตามกฎหมายข้อบังคับหรือตราสารที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น1. พนักงานของบริษัท เมื่อได้มีการกระทำแทนบริษัทในกิจการภายในวัตถุประสงค์ของบริษัท พนักงานบริษัทจึงถือเสมือนเป็นตัวแทนของบริษัท2. หากทางพนักงานได้ทำการแทนบริษัท โดยได้รับเงินภายในกรอบวัตถุประสงค์ของบริษัท ทางบริษัทย่อมมีความผูกพัน ในจำนวนเงินที่พนักงานนั้นได้รับ แต่ถ้าหากพนักงานได้ทำการแทนนอกวัตถุประสงค์แล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นผลผูกพันต่อบริษัท3. ตามที่ผู้ร้องได้ทำการโอนเงินให้กับพนักงาน โดยผู้ร้องเข้าใจว่าพนักงานนั้นเป็นตัวแทนและเป็นผู้มีอำนาจเรียกเก็บเงินของบริษัท จึงถือว่าผู้ร้องได้โอนเงินนั้นไปโดยสุจริต โดยถือว่าบริษัทได้ทำการยอมรับให้พนักงานนั้น เป็นตัวแทนของตนในการรับหรือเก็บเงินของผู้ร้อง เพราะฉะนั้นทางบริษัทจึงต้องรับผิดชอบต่อผู้ร้อง ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกโดยสุจริต จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ร้อง4. หากพนักงานบริษัทได้กระทำการใดที่อยู่ในขอบเขตอำนาจตรงตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ถือว่าเป็นการกระทำแทนบริษัท บริษัทจึงต้องรับผิดชอบในการที่พนักงานนั้นได้กระทำแทนบริษัทไป เสมือนกับทางบริษัทได้กระทำการนั้นด้วยตนเอง จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า บริษัทฯ ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบจากการกระทำของพนักงานคนดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เอกสารการจองรถที่ผู้ร้องนำมาเป็นหลักฐานนั้น ไม่ใช่เอกสารการจองฉบับจริงของบริษัท แต่เป็นสำเนาการถ่ายเอกสาร ซึ่งผู้ร้องให้ข้อมูลว่า พนักงานนำใบจองรถที่ถ่ายสำเนามาให้เซ็นชื่อ ซึ่งเขาเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเอกสารการจองรถของบริษัทจริงๆ โดยมารู้ภายหลังว่าพนักงานคนดังกล่าว ได้แอบนำใบจองฉบับจริงไปถ่ายเอกสาร ซึ่งหากเราไม่สังเกตก็อาจทำให้โดนหลอกได้ง่ายๆ  

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 แก้ปัญหารถยนต์ใหม่มือหนึ่งชำรุดบกพร่อง

เมื่อเราซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่ง ย่อมต้องคาดหวังในประสิทธิภาพที่คุ้มค่ากับราคา อย่างไรก็ตามใช่ว่ารถยนต์ใหม่มือหนึ่งทุกคันจะไม่มีปัญหากวนใจ ซึ่งเราควรแก้ไขปัญหาอย่างไรลองมาดูเหตุการณ์นี้กันคุณสุนีย์ต้องการซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อ วอลโว่ รุ่น S60 T4F จากบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคาเกือบ 2 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภายหลังเธอสังเกตเห็นว่าในใบสั่งจองรถยนต์คันดังกล่าว ประทับตราข้อความว่า “รถทดลองขับ/รถผู้บริหารใช้แล้ว” เมื่อสอบถามไปยังผู้จัดการฝ่ายขายก็ได้รับคำตอบว่า ที่ต้องประทับตราข้อความเช่นนั้น เนื่องจากเป็นโปรโมชั่นพิเศษ เพื่อให้ผู้ร้องผ่อนได้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ ทำให้เธอไม่ติดใจอะไรและตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาอย่างไรก็ตามเมื่อรับรถมาแล้วประมาณ 4 เดือน เธอพบว่ารถยนต์มีอาการสั่นรุนแรงและสตาร์ทไม่ติด ทำให้ต้องส่งเข้าศูนย์ซ่อม ซึ่งภายหลังศูนย์ได้เปลี่ยนแบตเตอรี่ให้ เพราะมีปัญหาเกิดจากแบตเตอรี่เสื่อม ทำให้เธอข้องใจว่า ทำไมรถยนต์ใหม่ถึงมีปัญหาเช่นนี้ เมื่อสอบถามข้อมูลจึงพบว่ารถคันดังกล่าวผลิตในปี 2014 ทำให้อาจมีปัญหาแบบนี้ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุนีย์จึงมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อขอคำปรึกษา เนื่องจากก่อนหน้าที่เธอจะตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าว ได้แจ้งกับพนักงานแล้วว่าต้องการรถรุ่นใหม่ล่าสุด หรือรุ่นที่ผลิตในหรือ 2015 ไม่ใช่รุ่นเก่าเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องขอข้อมูลการซ่อมที่ผ่านมาทั้งหมดจากศูนย์บริการ เพื่อให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับรุ่นและประวัติต่างๆ พร้อมส่งจดหมายถึง บริษัท วอลโว่ คาร์ ประเทศไทย เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งภายหลังก็ได้รับการยืนยันว่า รถคันดังกล่าวไม่ใช่รุ่นที่ผู้ร้องต้องการ ดังนั้นตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาจองรถ พบว่าหากบริษัทมีการส่งรถไม่ตรงตามสัญญา เช่น ผิดรุ่นดังกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ร้องสามารถคืนรถคันดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเจรจากับทางบริษัทก็ได้รับการชี้แจงว่า รถยนต์รุ่นนี้ไม่มีการผลิตในปี 2015 ซึ่งรถคันนี้เป็นรถใหม่ แต่อาจจอดทิ้งไว้นานจนทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น แต่ยินยอมรับผิดชอบด้วยการคืนเงินที่ลูกค้าจ่ายไป พร้อมปิดไฟแนนซ์ให้ โดยขอหักค่าเสื่อมจำนวน 60,000 บาท ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวจึงยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)