นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 143 เสียงผู้บริโภค

ตุผลที่ “สก๊อต” ไม่แสดงวันหมดอายุ

คุณพรทิพย์ร้องเรียนมาว่า เครื่องดื่มสกัดเข้มข้น สก๊อต เพียวเร่ แสดงฉลากระบุเฉพาะวันที่ผลิต แต่ไม่มีการระบุวันหมดอายุหรือวันที่ควรบริโภคก่อน และการระบุวันที่ผลิตบนฉลากผลิตภัณฑ์บางส่วนพิมพ์ทับอยู่บนรูปภาพเครื่องหมายทางการค้า ขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยตรวจสอบให้ด้วย

 

นวทางการแก้ไขปัญหา

มูลนิธิฯ ได้มีหนังสือแจ้งข้อร้องเรียนข้างต้นไปถึงผู้ประกอบการคือ บริษัท สก๊อต อินดัสเตรียล(ประเทศไทย) จำกัด และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)

บริษัท สก๊อตฯ มีหนังสือตอบกลับมาว่า บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ.2543 เรื่องฉลาก ข้อ 11.2 (ตามจริงคือ ข้อ 3(11.2)) กล่าวคือ  แสดง เดือนและปีที่ผลิต หรือ วันเดือนและปีที่หมดอายุการบริโภคสำหรับอาหารที่เก็บไว้ได้เกิน 90 วัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ เข้าข่ายตามข้อกำหนดดังกล่าว จึงเลือกระบุเฉพาะเดือนและปีที่ผลิตลงบนฉลากผลิตภัณฑ์ ส่วนตัวเลขด้านหลังที่ต่อจากเดือนและปีที่ผลิตตามที่ผู้บริโภคร้องเรียนมาว่า เลือนรางนั้น เป็นตัวเลขแสดงรหัสสินค้าการผลิตสำหรับใช้ตรวจสอบภายในบริษัทฯ เท่านั้น

 

 

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า สำนักงานฯ(อย.) ขอความร่วมมือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีตรวจสอบสถานที่ผลิตบริษัทสก๊อตฯ พบว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มพรุนสกัดเข้มข้น ตราสก๊อตเพียวเร่ และเครื่องดื่มตราสก๊อตเพียวเร่ เท็นเบอร์รี่ ที่ฉลากไม่มีระบุวันเดือนปีที่หมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน และวันที่ผลิตมีการระบุไว้แต่ไม่ชัดเจน เนื่องจากพิมพ์ทับบนตราสินค้า แต่อาหารประเภทเครื่องดื่มสกัดเข้มข้น มิได้มีกฎหมายบังคับให้ต้องแสดงวันหมดอายุ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี จึงได้มีหนังสือขอความร่วมมือกับทางบริษัทฯ ให้แสดงวันหมดอายุบนฉลากผลิตภัณฑ์ และแสดงวันที่ผลิตให้ชัดเจน เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค

สรุปว่า อาหารที่เก็บไว้ได้เกิน 90 วัน ตามกฎหมายปัจจุบันไม่จำเป็นต้องแสดงวันหมดอายุก็ได้ จะบังคับเฉพาะอาหารที่เก็บได้ไม่เกิน 90 วันเท่านั้นที่ต้องแสดงวันหมดอายุบนฉลาก คำถามคือว่า แล้วชาวบ้านธรรมดาๆ เขาจะรู้ไหมนะว่า อาหารไหนเก็บได้เกินหรือไม่เกิน 90 วัน อันที่จริงหากจะเก็บได้เกิน 90 วัน ก็ควรจะมีขอบเขตอายุการขายอยู่บ้างน่าจะดีกว่ากระมัง

 

 

เชื่อหรือไม่ การโหลดของขึ้นเครื่องบิน อาจทำให้ของด้อยค่าลงได้

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2554 แม้เวลาผ่านมาได้ 1 ปีแล้ว แต่เหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นกับใครอีกก็ได้ ถ้าสายการบินและผู้ดูแลสนามบินไม่มีมาตรการความปลอดภัยที่ดีกว่าเดิม

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2554 คุณสุทธิดาเดินทางจากจังหวัดเชียงรายเข้ากรุงเทพมหานคร โดยสายการบินไทยเที่ยวเวลา 10.25 น. ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 11.30 น. มายืนรอรับกระเป๋าที่โหลดขึ้นเครื่องมาพร้อมกันอยู่เป็นนาน กลับไม่เห็นวี่แวว จึงได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ของการบินไทยรอประมาณ 1 ชั่วโมงก็ยังไม่ได้กระเป๋าคืน สรุปความได้ว่ากระเป๋าหายแน่แล้วเจ้าหน้าที่การบินไทยจึงให้เธอแจ้งเรื่องกระเป๋าหายไว้ และให้ไปรอที่โรงแรมที่พัก ถ้าได้กระเป๋าแล้วจะติดต่อกลับมา วันนั้นเธอใช้เวลาเดินทางบนเครื่องบินราว 1 ชั่วโมง แต่ต้องมาเสียเวลาติดตามเรื่องกระเป๋าหายข้ามปี

คุณสุทธิดาบอกว่า ในวันนั้นเธอต้องรีบมาประชุมที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เวลา 16.00 น. และยังมีการประชุมต่อเนื่องอีก 2 วัน เป็นงานประชุมระดับชาติ แต่เธอไม่มีของใช้ติดตัวอะไรเลย ของในกระเป๋ามีชุดประชุม 4 ชุด ซึ่งตัดใหม่สำหรับใส่ไปงานนี้ 2 ชุด มีทั้งเสื้อสูท ชุดไปรเวท กางเกง เครื่องสำอาง น้ำหอม ชุดชั้นในบอดี้สูท ยกทรง ที่ชาร์ตแบตกล้องถ่ายรูป มือถือ หนังสือ แผ่นซีดี วิตามิน รวมราคาประมาณ 3 หมื่นกว่าบาท

“ลำบากมากๆ และต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการซื้อสิ่งของต่างๆ เพื่อใช้ในการประชุมอย่างเร่งด่วน เสียค่าโทรศัพท์เพื่อติดต่อการบินไทย ที่สำคัญเกิดความวิตกกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้พักผ่อนและประชุมด้วยใจที่ไม่ปกติสุข”

สำนักงานการบินไทยบอกกับคุณสุทธิดาว่าให้รอครบ 21 วันก่อน ถ้าไม่ได้กระเป๋าจะทำเรื่องเคลมให้ พอถึงกำหนดกระเป๋ายังไม่ได้คืน คุณสุทธิดาจึงได้ทำเรื่องเคลมขอเรียกค่าเสียหายไป

“สำนักงานการบินไทยที่เชียงรายโทรมาบอกว่า ทราบเรื่องแล้วจะเคลมให้โดยคิดเป็นกิโลกรัม กิโลกรัมละ 450 บาท กระเป๋าดิฉันหนัก 13 กิโลกรัมรวมแล้วได้ประมาณ 5,850 บาท ซึ่งไม่คุ้มกับสิ่งที่เสียไป และไม่ได้เป็นความผิดของดิฉันด้วย การบินไทยทำแบบนี้ดิฉันรู้สึกยอมรับในเงื่อนไขไม่ได้ค่ะ ขอปรึกษาและขอความช่วยเหลือ ต้องทำอย่างไรต่อไปคะ”

 

แนวทางแก้ไข

หลังได้รับเรื่องร้องเรียน เรารู้สึกหนักใจเพราะกรณีนี้ยากแก่การพิสูจน์ว่ามีรายการทรัพย์สินและมูลค่าทรัพย์สินตามที่ผู้ร้องเรียนกล่าวอ้างจริงมากน้อยแค่ไหน จึงได้ขอให้ผู้ร้องทำรายละเอียดรายการทรัพย์สินที่สูญหายไปพร้อมกับกระเป๋าพร้อมมูลค่าราคาทรัพย์สิน เพื่อแนบส่งไปให้บริษัทการบินไทย ได้พิจารณาอีกครั้ง

ต่อมาการบินไทยได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า บริษัทฯ ตระหนักในความเสียหายที่เกิดขึ้นในการขนส่งสัมภาระของสุทธิดา และได้มีจดหมายขออภัยและชี้แจงไปยังคุณสุทธิดาแล้ว ถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลในการชดเชยค่าเสียหายกรณีสัมภาระสูญหาย สำหรับเที่ยวบินในประเทศ พิจารณาจากน้ำหนักจริงของสัมภาระที่สูญหาย กิโลกรัมละ 450 บาท ซึ่งในกรณีนี้ผู้โดยสารเดินทางในชั้นประหยัด พร้อมสัมภาระจำนวน 1 ชิ้น 13 กิโลกรัม ดังนั้นหากพิจารณาตามเกณฑ์ปรกติกรณีสัมภาระสูญหาย ผู้โดยสารจะได้รับค่าชดเชยเป็นเงินจำนวน 5,850 บาท ทั้งนี้ บริษัทฯ โดยสำนักงานเชียงรายได้พิจารณาชดเชยจากน้ำหนักสูงสุดที่อนุญาตคือ 20 กิโลกรัม ในการคำนวณค่าชดเชยเป็นเงินทั้งสิ้น 9,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดที่บริษัทฯ สามารถให้ได้นอกเหนือจากหลักเกณฑ์การพิจารณาตามปรกติ และขอยืนยันว่าจำนวนเงินค่าชดเชยดังกล่าว บริษัทฯ ได้พิจารณาเป็นกรณีพิเศษแล้ว

เราแจ้งคำยืนยันของการบินไทยฯ ให้คุณสุทธิดาพิจารณาอีกครั้งว่า จะตัดสินใจยอมรับในค่าชดเชยใหม่ที่การบินไทยเสนอหรือว่าจะดำเนินการฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป คุณสุทธิดาตกลงยอมรับในค่าชดเชยใหม่ เพราะหากจะฟ้องร้องต่อ เรื่องก็อาจกินเวลามากขึ้น และอาจได้รับการพิจารณาชดเชยความเสียหายที่ไม่ต่างกันมากนักก็ได้

คติเตือนใจสำหรับเรื่องนี้ เดินทางด้วยเครื่องบิน ถ้าคุณนำโน้ตบุ้คส์น้ำหนัก 1 กิโลกรัมโหลดขึ้นเครื่องแล้วเกิดสูญหาย จำไว้ว่าคุณจะได้เงินคืนเพียง 450 บาทเท่านั้น อยากได้มากกว่านั้นต้องฟ้องสถานเดียว  ทางที่ดีของมีค่าควรเก็บไว้กับตัวเราเป็นดีที่สุด

 

 

ป็นหนี้สองแสนเพราะทำสปาแบบไม่ตั้งใจ

ศิริวัลย์ อยากบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนจากบริการสปา หลังจ่ายเงินไปร่วมสองแสนบาท แต่อ้อยเข้าปากสปาปากแล้ว เอาออกยากยิ่งกว่าปากช้างเสียอีก

ศิริวัลย์บอกว่าเมื่อเดือนตุลาคมปลายปีที่ผ่านมา ได้สมัครสมาชิกสปาและสถานบริการฟิตเนส สปานั้นเป็นสปาหน้าและตัววงเงิน 20,000 บาท ส่วนสถานบริการฟิตเนสวงเงิน 25,000 บาท

เราถามว่า กล้าจ่ายเงินมากขนาดนั้นได้ไง เธอบอกว่า มันเริ่มจากการที่พนักงานขายเชิญชวนและให้เช็คสุขภาพ และได้ทดลองเข้าใช้บริการฟรี 1 ครั้ง พอไปเข้าใช้บริการครั้งแรก พนักงานขายก็พยายามเชิญชวนให้ปรับคอร์สขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างเข้ารับบริการพนักงานทำทรีทเมนต์ก็ยังแนะนำเสนอขายเครื่องสำอางอีก 1 ชุด

“ทุกครั้งที่รับบริการเสร็จ พนักงานขายและเจ้าหน้าที่ที่พนักงานขายแนะนำว่าเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติบริการจะพูดจาโน้มน้าวให้เราซื้อคอร์สเพิ่มขึ้น จนเราต้องยอมซื้อโดยจ่ายค่าคอร์สวีไอพีเป็นเงินรวม 200,000 บาท เครื่องสำอางอีก 1 ชุด 9,240 บาท รวมจ่ายทั้งสิ้น 209,240 บาท รูดบัตรเครดิตไปทั้งสิ้น 6 ครั้งค่ะ”

เธอเล่าเพิ่มเติมว่า ตอนสมัครคอร์สวีไอพี พนักงานขายแจ้งว่า เป็นสมาชิกโดยไม่มีหมดอายุ สามารถให้ผู้ใดมาใช้บริการด้วยก็ได้ ตอนที่ตกลงทำสัญญาไปก็ไม่มีโอกาสได้ศึกษาสัญญาอย่างละเอียดเนื่องจากมีพนักงานขายถึง 3 คนมาช่วยดำเนินการ นอกจากนั้นยังมีการคืนยอดบัตรเครดิตเข้าออกถึง 2 ครั้งจนสับสนไปหมด

“เราไม่มีโอกาสได้อ่านสัญญาอย่างถี่ถ้วน มีเพียงทำเครื่องหมายให้เราเซ็นชื่อ พนักงานขายเพียงพูดว่าเป็นไปตามที่เขาพูด”

นอกจากนี้เธอยังเล่าอีกว่า ในวันที่สมัครสมาชิกแล้วและได้ทดลองทำสลิม 2 ครั้ง หลังจากที่ทำครั้งแรกแล้วน้ำหนักลดเพียง 2 ขีด และเพิ่มขึ้นมาอีก 1 กิโลกรัมก่อนทำในครั้งที่สอง เมื่อทำเสร็จก็ลดลง 2 ขีด เสียเงินสองครั้งนั้นไป 11,000 บาท และยังมาเสียเงินทำสปาอีก 2 ครั้งเป็นเงิน 4,500 บาท เพียงแค่วูบเดียวแทนที่น้ำหนักจะถูกรีด กลับกลายเป็นเงินในกระเป๋าถูกรีดไป 15,500 บาท

หลังจากที่ได้สมัครไปแล้ว กลับมานั่งทบทวนสัญญาที่บ้าน พบว่ามีสัญญาบางข้อที่ไม่เป็นไปตามที่พนักงานให้ข้อมูล เช่น ระยะเวลาการเป็นสมาชิกที่บอกว่าเป็นตลอดชีพ แต่ในสัญญาระบุว่า สมาชิกมีอายุคงอยู่ได้ 2 ปี และต้องเข้ารับบริการให้ครบถ้วน การต่ออายุต้องมีการสมัครใช้บริการเพิ่ม 15,000 บาท นอกจากนี้เครื่องสำอางยังมีราคาแพงกว่าสินค้าที่โฆษณาทางอินเทอร์เน็ต และไม่มีภาษาไทยหรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นที่แสดงถึงความมั่นใจในผลิตภัณฑ์

เมื่อมีโอกาสได้ตรวจดูข้อสัญญาและข้อมูลต่างๆแล้ว ทำให้สติกลับคืนมา อยากจะบอกเลิกสัญญา และขอเงินที่ได้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไปร่วม 2 แสนบาทคืน แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด

“บริษัทฯ ไม่มีนโยบายคืนเงิน” นั่นคือคำตอบที่เธอได้รับ

 

นวทางแก้ไขปัญหา

ปัญหาเกี่ยวกับสัญญาบริการฟิตเนส  คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีประกาศขึ้นมาฉบับหนึ่ง เป็นประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2554 ระบุถึงสิทธิเลิกสัญญาของผู้บริโภคไว้ดังนี้

  1. ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีประเภทอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่นตามที่ได้แจ้งหรือสัญญาไว้กับผู้บริโภค หรือประเภทอุปกรณ์ดังกล่าวชำรุดบกพร่อง หรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิก และพื้นที่ออกกำลังกาย โดยผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการนั้นๆที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่ามาทดแทนได้ภายในเจ็ดวันนับแต่วันได้รับแจ้ง
  2. มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ยืนยันว่า การใช้บริการออกกำลังกายต่อไปอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกายหรือจิตใจผิดปกติ
  3. ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนของผู้ประกอบธุรกิจไม่มีความรู้ความชำนาญ หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายที่ไม่มีคำเตือนว่า ชำรุดบกพร่อง

เมื่อพิจารณาจากเหตุผลที่ผู้ร้องเรียนยกขึ้นมากล่าวอ้างเทียบกับสิทธิเลิกสัญญาของผู้บริโภคตามประกาศข้างต้น จะเห็นว่าไม่เข้ากันหรือไม่สามารถใช้เป็นเป็นสิทธิบอกเลิกสัญญาตามที่กฎหมายให้ความคุ้มครองได้

อย่างไรก็ดี มูลนิธิฯได้ติดต่อไปที่สถานบริการฟิตเนส เพื่อแจ้งถึงความประสงค์ของลูกค้าที่ต้องการขอเลิกสัญญาและขอเงินคืน ได้รับแจ้งกลับมาว่า บริษัทฯไม่มีการคืนเงินให้ลูกค้าทั้งหมด แต่จะคืนเงินให้ 85% หลังหักจากยอดที่ผู้บริโภคได้ใช้บริการไปแล้ว 5 ครั้ง เป็นเงิน 15,500 บาท รวมกับคอร์สที่ผู้บริโภคต้องเข้าใช้บริการเพิ่มเติมอีก 20,000 บาท โดยบริษัทขอหักค่าดำเนินการ 15% เป็นเงิน 26,061 บาท คงเหลือคืนผู้ร้อง 147,679 บาท

ศิริวัลย์นั่งคิดคำนวณดูแล้ว ท้ายที่สุดตัดสินใจยอมรับเงื่อนไขที่บริษัทเสนอมา พร้อมทั้งฝากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยเตือนผู้บริโภคในการเข้าทำสัญญาเสริมความงามหรือสถานบริการออกกำลังกายให้ตรวจสอบราคาค่าบริการให้ดี อ่านสัญญาให้ละเอียดก่อนเซ็น และอย่าสมัครเพราะขัดใจพนักงานขายไม่ได้

“หลังจากเข้าไปรับบริการจนครบคอร์สที่เหลืออีก 20,000 บาท ก็คงไม่ซื้อคอร์สเพิ่มแล้ว คงหยุดซื้อโดยเด็ดขาดแล้วค่ะ” ศิริวัลย์กล่าวด้วยความเข็ดขยาด

 

 

ผ่ตัดเกินพอดี

นิตยามีอาการปวดใต้ลิ้นปี่ ไปเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่ถือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่

แพทย์ตรวจพบว่ามีนิ่วอยู่ในถุงน้ำดี จึงทำการผ่าตัดออก และนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ 6 วันแพทย์จึงให้กลับบ้าน แต่เมื่อกลับไปพักที่บ้านได้ 1 อาทิตย์ เกิดอาการผิดปกติตัวเหลืองตาเหลืองไม่มีแรง นิตยาจึงเข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิอีกครั้ง แพทย์ได้เอ็กซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจหาว่ามีนิ่วไปอุดท่อถุงน้ำดีอีกหรือไม่ และแจ้งว่าหากอาการผิดปกติยังไม่หายจะส่งตัวผู้ร้องไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราชจากนั้นจึงให้เธอกลับไปรอดูอาการที่บ้าน

“อาการของดิฉันรู้สึกแย่ลงมาก ตัวเหลือง ตาเหลืองมากขึ้น อีกประมาณ 10 วัน หมอนัดตรวจอาการ แต่เป็นหมอคนใหม่บอกว่ามารักษาแทนหมอคนเดิมที่ทำการผ่าตัด ดิฉันบอกกับหมอที่มารักษาแทนว่า หมอคนเดิมบอกว่าถ้าพบสิ่งผิดปกติจะส่งตัวไปที่โรงพยาบาลศิริราชแล้วทำไมถึงเงียบ หมอถามว่า หมอคนเดิมบอกแบบนั้นหรือ ดิฉันก็ตอบว่าใช่ค่ะ แล้วคุณหมอท่านนั้นก็บอกว่าผมจะส่งคุณไปเอง”

นิตยาถูกทำเรื่องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชในเวลาต่อมา แต่ก็พบปัญหาว่าผลเอ็กซเรย์ของโรงพยาบาลเอกชนที่ส่งมานั้นดูผลได้ไม่ชัดต้องเอ็กซเรย์ใหม่ แต่ติดที่ต้องจ่ายค่าเอ็กซเรย์เองหากจะให้ศิริราชดำเนินการ     นิตยาจึงต้องย้อนกลับไปติดต่อที่โรงพยาบาลแห่งเดิม ซึ่งได้แจ้งให้เธอไปเอ็กซเรย์กับโรงพยาบาลในเครืออีกแห่งแล้วถึงได้นำผลเอ็กซเรย์ไปให้โรงพยาบาลศิริราชวินิจฉัยทำการรักษาต่อไป

นิตยาใช้เวลาในการเดินเรื่องขั้นตอนนี้กว่า 2-3 เดือน ขณะที่สภาพร่างกายแย่มากขึ้นเรื่อยๆ กว่าจะได้รับการผ่าตัดอีกครั้งจากโรงพยาบาลศิริราช

“ก่อนผ่าตัดคุณหมอบอกว่า การผ่าตัดครั้งนี้ต้องตัดไส้มาเย็บต่อน้ำดี เนื่องจากว่าท่อน้ำดีถูกตัดสั้นจนเกินไป(จากการผ่าตัดครั้งที่ผ่านมา) เลยทำให้การเย็บต่อก่อให้เกิดการตีบตันของทางเดินเลือด จึงเป็นสาเหตุทำให้ตัวเหลือง ตาเหลือง น้ำหนักลดจาก 55 เหลือ 44 กิโลกรัม”

ปัญหาจากการผ่าตัดครั้งแรกทำให้น้ำหนักตัวของนิตยาลดลงถึง 11 กิโลกรัมภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว จากตัวเหลืองก็กลายเป็นดำและคันตามตัวเป็นอย่างมากและตาก็เหลืองมากขึ้น ด้วยร่างกายที่อ่อนแอลงทำให้เธอไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม ขณะที่ต้องรับภาระส่งลูกเรียกระดับ ปวช. ส่งค่าบ้านที่จำนองไว้กับธนาคารก่อให้เกิดหนี้สินมากมายเพราะไม่สามารถประกอบอาชีพได้ในช่วงรักษาตัวและทำการผ่าตัด ทำให้นิตยาต้องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือในการเรียกร้องค่าเสียหายจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรก

 

แนวทางแก้ไขปัญหา

กรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้า ภายหลังการยื่นเรื่องตามคำแนะนำของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นิตยาได้รับพิจารณาเงินช่วยเหลือจำนวน 50,000 บาท  ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนที่ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดในครั้งแรก ได้รับคำร้องเรียนของนิตยาและรับที่จะรับผิดชอบเยียวยาในความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลได้ทำประกันภัยความเสี่ยงจากการรักษาพยาบาลไว้กับบริษัทประกันภัย ในที่สุดนิตยาได้รับการพิจารณาเยียวยาความเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 240,000 บาท เรื่องจึงเป็นอันยุติโดยมิต้องดำเนินการฟ้องร้องให้เป็นคดีความกัน

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง:

รวมข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?

ท่านใดที่กำลังคิดว่ารายได้ของท่านจะต้องเสียภาษีเท่าไร และมีอะไรมาหักลดหย่อนได้บ้าง เราเลยนำเสนอข้อมูลในท่านตามลิงค์ด้านล่าง เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัวเสียภาษีปีนี้นะคะ :) การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ 2560   By กรมสรรพากร  https://goo.gl/Y5GxhZโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ ปีภาษี 2560 ค่าลดหย่อน  By Kapook.com   https://goo.gl/MEgCYUวางแผนลดหย่อนภาษีปี 60 ฉบับบุคคลธรรมดา มีอะไรหักได้บ้าง  By plus.co.th  https://goo.gl/Nyfi5Uครม.ไฟเขียวลดหย่อนภาษีเพิ่มเท่าตัว มีผลปีภาษี 2560 ช่วยค่าครองชีพมนุษย์เงินเดือน  By matichon  https://goo.gl/JQAukmปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแจกถ้วนหน้า By thaipublica https://goo.gl/5c25X4ขอบคุณข้อมูลกรมสรรพากร Kapook.complus.co.th matichonthaipublica

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 จ่ายจริงมากกว่าราคาที่แสดงไว้

สินค้าตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ มักมีราคาติดไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าหากต้องการซื้อสินค้าดังกล่าว ต้องจ่ายเงินเท่าไร อย่างไรก็ตามหากเรานำสินค้านั้นๆ ไปจ่ายเงินที่พนักงานคิดเงิน แล้วพบว่าราคาไม่ตรงตามป้าย สิ่งที่เราควรทำคือ ปกป้องสิทธิของตัวเอง ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณจอห์นเป็นชาวต่างชาติที่มักซื้อสินค้าจากร้านค้าวิลล่า มาร์เก็ต (Villa market) เป็นประจำ เพราะร้านดังกล่าวจำหน่ายสินค้าต่างๆ มากมาย ทั้งของสด ของแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รวมทั้งสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ วันหนึ่ง ภายหลังจากการเลือกซื้อขนมคบเขี้ยวยี่ห้อหนึ่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งป้ายแสดงราคาว่า 49 บาทต่อถุง แต่เมื่อนำไปชำระเงินกลับพบว่ากลายเป็น 59 บาทต่อถุง คุณจอห์นไม่แน่ใจว่าตัวเองดูราคาผิดไปหรือไม่ ดังนั้นเมื่อชำระเงินเสร็จเรียบร้อย เขาจึงกลับไปถ่ายรูปราคาสินค้าจากชั้นวางขายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน พร้อมสอบถามไปกับผู้จัดการสาขา ผู้จัดการสาขาได้ชี้แจงกลับมาว่าราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นเก่า อย่างไรก็ตามเมื่อออกมาจากร้านเขาก็ตัดสินใจโทรศัพท์ไปสอบถามที่ร้านดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งพบว่าคำตอบกลับไม่เหมือนเดิม ครั้งนี้ผู้จัดการร้านคนเดิมกลับแจ้งว่า ราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นล่าสุดสำหรับวันนี้ดังนั้นคุณจอห์นจึงตัดสินใจแวะไปร้านค้าดังกล่าว ในอีกสาขาหนึ่งและซื้อสินค้าชนิดเดียวกัน ซึ่งพบว่าบนชั้นวางขายก็ติดราคาไว้ที่ 49 บาท แต่เมื่อนำมาชำระเงินก็ถูกคิดราคา 59 บาทเช่นเดิม เขาจึงเชื่อว่าการกระทำของร้านค้าดังกล่าว ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ส่งเอกสารการร้องเรียนไปยังกรมการค้าภายใน เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของร้านค้า โดยขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับร้านค้า และขอให้แจ้งผลการดำเนินการกลับมายังศูนย์ฯ โดยสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องมีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน คือ ใบเสร็จรับเงิน และรูปถ่ายราคาสินค้าจากชั้นวางขาย ทำให้ภายหลังได้รับเรื่อง กรมการค้าภายในจึงดำเนินการสั่งปรับ นิติบุคคลของร้านค้า วิลล่า มาร์เก็ต 3,000 บาท และผู้จัดการร้านทั้ง 2 สาขา คนละ 1,500 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลนำจับให้ผู้ร้องอีก ร้อยละ 25 ของราคาปรับ คือ 1,500 บาท

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 โดนเชิดเงินหนีหลังจองรถ

แม้คนส่วนใหญ่ต่างมั่นใจว่าการเช่าซื้อรถยนต์ที่ศูนย์บริการจะมีความปลอดภัย แต่หากเราประมาทเพียงเล็กน้อยก็สามารถโดนเชิดเงินจองรถ ที่จ่ายให้กับตัวแทนของบริษัทไปแล้วก็ได้ คุณสุชาติเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่ง รุ่น พรีเมล่า (Premera) จากศูนย์นิสสัน ราคาประมาณ 530,000 บาท โดยจ่ายค่าจองรถไว้ก่อนจำนวน 5,000 บาท ถัดมาอีก 2 วัน พนักงานของบริษัทได้ติดต่อมาว่า ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่จองรถ ซึ่งหากต้องการรับสิทธิดังกล่าวต้องโอนเงินมาเพิ่มอีก 5,000 บาท เมื่อผู้ร้องได้รับข้อมูลดังนั้นและเชื่อว่าเป็นโปรโมชั่นของบริษัทจริง จึงโอนเงินไปเพิ่ม แต่เหตุการณ์ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะอีก 1 อาทิตย์ถัดมา พนักงานคนเดิมก็โทรศัพท์เข้ามาอีกครั้งเพื่อแจ้งว่า ทางบริษัทต้องการคำยืนยันที่ชัดเจนว่าผู้ร้องยังต้องการรถ ซึ่งทางบริษัทจะนำเข้าหรือสั่งมาให้ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ โดยสามารถยืนยันสิทธิได้ด้วยการโอนเงินมาเพิ่มอีก 22,000 บาท หลังจากตัดสินใจสักพัก ผู้ร้องก็หลงเชื่อและโอนเงินไปอีกครั้ง ซึ่งหากรวมๆ แล้ว จำนวนเงินที่ผู้ร้องโอนให้พนักงานคนดังกล่าวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 32,000 บาทเวลาต่อมาคุณสุชาติก็ได้นัดหมายกับไฟแนนซ์ และพนักงานของบริษัทรถที่เขาโอนเงินไปให้ เพื่อให้มาตกลงเรื่องการส่งค่างวดรถ อย่างไรก็ตามพนักงานคนดังกล่าวกลับบ่ายเบี่ยง และอ้างว่าไม่สะดวกทุกครั้งที่เขานัด ทำให้คุณสุชาติเริ่มไม่พอใจและติดต่อกลับไปยังบริษัทฯ เพื่อสอบถามปัญหา ภายหลังการพูดคุยและสอบถามถึงจำนวนเงินที่โอนไปก่อนหน้านี้ ทางบริษัทฯ กลับแจ้งว่า ไม่เคยได้รับเงินที่คุณสุชาติโอนเข้ามาก่อนหน้านี้เลย และเมื่อติดต่อไปยังพนักงานคนดังกล่าวก็พบว่า เขาได้ลาหยุดมาหลายวันแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ตามเมื่อคุณสุชาติถามถึงการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางบริษัทฯ ก็ตอบกลับว่า ไม่สามารถรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ คุณสุชาติต้องเป็นคนจัดการเอง ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เขาจึงไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องเข้ามาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อต้องการทราบว่าการที่บริษัทฯ ปฏิเสธการรับผิดชอบเช่นนี้ สามารถทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ชี้แจงกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ คือ ตามหลักกฎหมายตัวการตัวแทน กำหนดไว้ว่า ตัวการย่อมมีความผูกพันกับบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลาย อันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้กระทำไปในขอบเขตแห่งฐานตัวแทนนั้น หมายถึง การที่ตัวแทนได้ไปกระทำการในนามของบริษัท โดยได้กระทำในขอบเขตที่บริษัทให้ทำ ก็ต้องถือว่าทางบริษัทต้องรับผิดชอบกับตัวแทนนั้นด้วย ปกติบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จะต้องมีตัวแทนคนหนึ่งหรือหลายคนกระทำการแทนบริษัท ตามกฎหมายข้อบังคับหรือตราสารที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น1. พนักงานของบริษัท เมื่อได้มีการกระทำแทนบริษัทในกิจการภายในวัตถุประสงค์ของบริษัท พนักงานบริษัทจึงถือเสมือนเป็นตัวแทนของบริษัท2. หากทางพนักงานได้ทำการแทนบริษัท โดยได้รับเงินภายในกรอบวัตถุประสงค์ของบริษัท ทางบริษัทย่อมมีความผูกพัน ในจำนวนเงินที่พนักงานนั้นได้รับ แต่ถ้าหากพนักงานได้ทำการแทนนอกวัตถุประสงค์แล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นผลผูกพันต่อบริษัท3. ตามที่ผู้ร้องได้ทำการโอนเงินให้กับพนักงาน โดยผู้ร้องเข้าใจว่าพนักงานนั้นเป็นตัวแทนและเป็นผู้มีอำนาจเรียกเก็บเงินของบริษัท จึงถือว่าผู้ร้องได้โอนเงินนั้นไปโดยสุจริต โดยถือว่าบริษัทได้ทำการยอมรับให้พนักงานนั้น เป็นตัวแทนของตนในการรับหรือเก็บเงินของผู้ร้อง เพราะฉะนั้นทางบริษัทจึงต้องรับผิดชอบต่อผู้ร้อง ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกโดยสุจริต จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ร้อง4. หากพนักงานบริษัทได้กระทำการใดที่อยู่ในขอบเขตอำนาจตรงตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ถือว่าเป็นการกระทำแทนบริษัท บริษัทจึงต้องรับผิดชอบในการที่พนักงานนั้นได้กระทำแทนบริษัทไป เสมือนกับทางบริษัทได้กระทำการนั้นด้วยตนเอง จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า บริษัทฯ ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบจากการกระทำของพนักงานคนดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เอกสารการจองรถที่ผู้ร้องนำมาเป็นหลักฐานนั้น ไม่ใช่เอกสารการจองฉบับจริงของบริษัท แต่เป็นสำเนาการถ่ายเอกสาร ซึ่งผู้ร้องให้ข้อมูลว่า พนักงานนำใบจองรถที่ถ่ายสำเนามาให้เซ็นชื่อ ซึ่งเขาเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเอกสารการจองรถของบริษัทจริงๆ โดยมารู้ภายหลังว่าพนักงานคนดังกล่าว ได้แอบนำใบจองฉบับจริงไปถ่ายเอกสาร ซึ่งหากเราไม่สังเกตก็อาจทำให้โดนหลอกได้ง่ายๆ  

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 แก้ปัญหารถยนต์ใหม่มือหนึ่งชำรุดบกพร่อง

เมื่อเราซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่ง ย่อมต้องคาดหวังในประสิทธิภาพที่คุ้มค่ากับราคา อย่างไรก็ตามใช่ว่ารถยนต์ใหม่มือหนึ่งทุกคันจะไม่มีปัญหากวนใจ ซึ่งเราควรแก้ไขปัญหาอย่างไรลองมาดูเหตุการณ์นี้กันคุณสุนีย์ต้องการซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อ วอลโว่ รุ่น S60 T4F จากบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคาเกือบ 2 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภายหลังเธอสังเกตเห็นว่าในใบสั่งจองรถยนต์คันดังกล่าว ประทับตราข้อความว่า “รถทดลองขับ/รถผู้บริหารใช้แล้ว” เมื่อสอบถามไปยังผู้จัดการฝ่ายขายก็ได้รับคำตอบว่า ที่ต้องประทับตราข้อความเช่นนั้น เนื่องจากเป็นโปรโมชั่นพิเศษ เพื่อให้ผู้ร้องผ่อนได้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ ทำให้เธอไม่ติดใจอะไรและตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาอย่างไรก็ตามเมื่อรับรถมาแล้วประมาณ 4 เดือน เธอพบว่ารถยนต์มีอาการสั่นรุนแรงและสตาร์ทไม่ติด ทำให้ต้องส่งเข้าศูนย์ซ่อม ซึ่งภายหลังศูนย์ได้เปลี่ยนแบตเตอรี่ให้ เพราะมีปัญหาเกิดจากแบตเตอรี่เสื่อม ทำให้เธอข้องใจว่า ทำไมรถยนต์ใหม่ถึงมีปัญหาเช่นนี้ เมื่อสอบถามข้อมูลจึงพบว่ารถคันดังกล่าวผลิตในปี 2014 ทำให้อาจมีปัญหาแบบนี้ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุนีย์จึงมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อขอคำปรึกษา เนื่องจากก่อนหน้าที่เธอจะตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าว ได้แจ้งกับพนักงานแล้วว่าต้องการรถรุ่นใหม่ล่าสุด หรือรุ่นที่ผลิตในหรือ 2015 ไม่ใช่รุ่นเก่าเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องขอข้อมูลการซ่อมที่ผ่านมาทั้งหมดจากศูนย์บริการ เพื่อให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับรุ่นและประวัติต่างๆ พร้อมส่งจดหมายถึง บริษัท วอลโว่ คาร์ ประเทศไทย เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งภายหลังก็ได้รับการยืนยันว่า รถคันดังกล่าวไม่ใช่รุ่นที่ผู้ร้องต้องการ ดังนั้นตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาจองรถ พบว่าหากบริษัทมีการส่งรถไม่ตรงตามสัญญา เช่น ผิดรุ่นดังกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ร้องสามารถคืนรถคันดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเจรจากับทางบริษัทก็ได้รับการชี้แจงว่า รถยนต์รุ่นนี้ไม่มีการผลิตในปี 2015 ซึ่งรถคันนี้เป็นรถใหม่ แต่อาจจอดทิ้งไว้นานจนทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น แต่ยินยอมรับผิดชอบด้วยการคืนเงินที่ลูกค้าจ่ายไป พร้อมปิดไฟแนนซ์ให้ โดยขอหักค่าเสื่อมจำนวน 60,000 บาท ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวจึงยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)