ฉบับที่ 246 กู้บ้านไม่ผ่านขอเงินคืนได้ไหมนะ

        การซื้อบ้านอาจเป็นการใช้เงินก้อนใหญ่ในชีวิตของหลายคน บางคนซื้อเงินสดบางคนซื้อโดยขอยื่นกู้เงินจากธนาคาร ซึ่งการยื่นกู้จากธนาคารก็ไม่ได้ง่ายเลย เพราะธนาคารอาจจะไม่ให้กู้ก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าได้ทำสัญญาจองและจ่ายเงินมัดจำไปด้วยแล้ว ก็อาจจะเป็นเรื่องไม่ง่ายอีกเหมือนกันที่จะได้เงินมัดจำคืน         คุณภูผากับแฟนกำลังวางแผนสร้างครอบครัวเล็กๆ ของเขา โดยวางแผนกันว่าจะซื้อบ้านสักหลังหนึ่ง เผื่ออนาคตจะได้ให้ลูกมีพื้นที่ไว้วิ่งเล่นได้ เขาและแฟนจึงตกลงทำสัญญาจองบ้านโดยได้จ่ายเงินมัดจำไปจำนวนหนึ่งกับเซลล์ของโครงการ หลังจากนั้นเขาได้ดำเนินเรื่องยื่นกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร แต่ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่เขาคิด เพราะว่าเขาถูกธนาคารปฏิเสธ ธนาคารแจ้งมาว่าเรื่องกู้ซื้อบ้านที่เขายื่นมาธนาคารพิจารณาแล้วเขาไม่ผ่านเกณฑ์ เมื่อผลออกมาแบบนี้เขาก็แจ้งไปยังเซลล์ว่าเขายื่นเรื่องกู้ซื้อบ้านกับธนาคารไม่ผ่าน เขาต้องการเงินมัดจำคืนเนื่องจากในสัญญาจองระบุไว้ว่า ถ้าผู้ทำสัญญาจองกู้ธนาคารไม่ผ่าน ทางโครงการจะคืนเงินมัดจำให้เต็มจำนวน เขาแจ้งเซลล์ไปหลายครั้งหลังจากที่ธนาคารแจ้งผลการพิจารณามา แต่เซลล์ก็ยังไม่ยอมคืนเงินมัดจำเสียที โดนเลื่อนวันโอนเงินก็หลายครั้ง เขาอยากได้เงินจำนวนนั้นไปใช้ธุระอย่างอื่น ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงมาปรึกษาสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี แนวทางการแก้ไขปัญหา        สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานีแนะนำผู้ร้องว่า การคืนมัดจำให้กับผู้ทำสัญญาจองในกรณีกู้ธนาคารไม่ผ่านมีระบุไว้ในสัญญา โครงการต้องคืนเงินให้ผู้ร้องตามสัญญาไม่ต้องเป็นกังวล ถ้าโครงการไม่คืนเงินจริงๆ ผู้ร้องสามารถฟ้องดำเนินคดี เพื่อให้โครงการคืนเงินมัดจำตามสัญญาได้ ผู้ร้องชนะคดีแน่นอน         สมาคมฯ แนะนำวิธีการเพิ่มเติมว่า ให้ผู้ร้องกำหนดวันคืนเงินมัดจำให้เซลล์อีกครั้งหนึ่ง โดยกำหนดให้เซลล์คืนเงินมัดจำให้แก่ผู้ร้องภายใน 15 วัน ถ้าครบ 15 วันแล้วเซลล์ยังไม่คืนเงินมัดจำ ผู้ร้องทำจดหมาย ขอให้โครงการคืนเงินมัดจำให้แก่ผู้ร้อง ส่งจดหมายไปยังผู้บริหารโครงการ เล่าเหตุการณ์คร่าวๆ ของผู้ร้อง โดยส่งแบบไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เพื่อให้ทางโครงการคืนเงินมัดจำให้แก่ผู้ร้อง และอาจแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับเซลล์และโครงการ         หลังจากผู้ร้องแจ้งไปยังเซลล์ว่า ให้คืนเงินให้แก่ผู้ร้องภายใน 15 วัน ถ้าไม่คืนผู้ร้องจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เซลล์ก็โอนเงินให้แก่ผู้ร้องภายในเวลา 15 วัน ตามที่ผู้ร้องกำหนดไว้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 คนกรุง 83.9 % มีหนี้สิน 54.3 % รู้ว่ามี พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ และ 28.5 % เคยถูกประจานทำให้อับอาย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,135 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 27 - 30 มิถุนายน 2564 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เนื่องจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 มีผลใช้บังคับจริงในวันที่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นไป ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกาศใช้บังคับ คือ เพื่อป้องกันและแก้ไขการทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม การขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น เป็นการปกป้องลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ ในรูปแบบต่างๆ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน ร้อยละ 83.9 โดยการกู้ซื้อรถยนต์เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 36.7 อันดับสองคือ การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 33.9 อันดับสามคือ การกู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 21.9 อันดับสี่คือ การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 20.6 อันดับห้าคือ การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 19.2 และอันดับหกคือ การกู้ยืมจากสหกรณ์ ร้อยละ 10.5                 โดยหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อันดับสองคือ บริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง ร้อยละ 30.6 อันดับสามคือ กองทุน ร้อยละ 23.1 อันดับสี่คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 20.8 อันดับห้าคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 18.8 และอันดับหกคือ สหกรณ์ ร้อยละ 12.8                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบเรื่อง พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 คุ้มครองลูกหนี้ร้อยละ 54.3 ทราบว่าพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มีการคุ้มครองลูกหนี้เพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 49.8                 ในส่วนของการที่ไม่เคยผิดนัดผ่อนชำระ ร้อยละ 48.5 เคยผิดนัดผ่อนชำระ ร้อยละ 40.6 และไม่เคยถูกทวงถามหนี้ ร้อยละ 45.0 เคยถูกทวงถามหนี้ ร้อยละ 37.9                 โดยเคยถูกทวงถามหนี้ ผ่านทางจดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึกมากที่สุด ร้อยละ 32.4 อันดับสองคือ การคิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 26.4 อันดับสามคือ พูดจาไม่สุภาพ ร้อยละ 20.5 อันดับสี่คือ ทวงหนี้กับญาติ ร้อยละ 11.2 อันดับห้าคือ ประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 9.7                ทราบว่าการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ร้อยละ 50.7 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. ร้อยละ 42.4 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ร้อยละ 42.6                 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 61.7 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 52.0                 ทราบว่า การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 42.6 และไม่ทราบว่า ผู้ทวงถามหนี้ ต้องขออนุญาตจดทะเบียนประกอบธุรกิจทวงหนี้และข้าราชการห้ามประกอบธุรกิจทวงถามหนี้  ร้อยละ 32.3                 ไม่เคยถูกทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 53.3 เคยถูกทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 25.7 และไม่เคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 59.2 เคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 16.8                 ทราบว่า หากเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จะร้องเรียนผ่าน สถานีตำรวจ มากที่สุด ร้อยละ 60.7 อันดับสองคือ คณะกรรมการการกํากับการทวงถามหนี้ประจําจังหวัด สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร้อยละ 31.6 อันดับสามคือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร้อยละ 25.0 อันดับสี่คือ เขตหรือที่ว่าการอำเภอ ร้อยละ 19.0 อันดับที่ห้าคือ สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน ร้อยละ 16.9 อันดับที่หกคือ สำนักงานสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ร้อยละ 16.0 และอันดับสุดท้ายคือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร้อยละ 13.1 โดยไม่แน่ใจว่าได้รับการแก้ไขปัญหา จากเคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 66.2                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ คือถูกประจานทำให้อับอาย เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 28.5  อันดับที่สองคือ ถูกส่งคนติดตาม ร้อยละ 14.4 อันดับที่สามคือ ถูกข่มขู่ ร้อยละ 13.1

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 244 วิธีรับมือกับการทวงหนี้

        เจษเป็นหนี้บัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวนเงินประมาณ 70,000 บาท ต่อมาเขาผิดนัดชำระ เพราะมีปัญหาทางด้านการเงินไม่สามารถหมุนเงินเพื่อมาชำระหนี้ได้ ตอนนี้เขาผิดนัดมาประมาณ 2-3 งวด แต่ว่าตอนนี้มีบริษัท บริหารทรัพย์สิน เจ จำกัด ซึ่งรับซื้อหนี้มาจากธนาคารไทยพาณิชย์ได้โทรมาหาเขา และเรียกให้เขาชำระหนี้ พอเขาบอกว่าไม่มีชำระก็เริ่มพูดจาไม่ดี บอกว่าถ้าไม่ชำระจะไปเข้าหาผู้อำนวยการหรือผู้จัดการของเขาที่บริษัท ให้ทราบว่าไม่ควรมีพนักงานที่คิดโกงเจ้าหนี้ ซึ่งเขาคิดว่ามันไม่ถูกต้องถ้าทวงหนี้ไม่ได้เจ้าหนี้ควรจะฟ้องศาลจะถูกต้องกว่า เขาจึงขอคำปรึกษาว่า จะมีทางไหนที่จะร้องเรียนหน่วยงานที่เอาเปรียบประชาชนเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ปัจจุบันมีกฎหมายทวงหนี้คือ พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ออกมาใช้บังคับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้มีการทวงหนี้โดยละเมิดสิทธิของลูกหนี้ เช่น พูดจาหยาบคาย ดุด่า หรือนำความลับของลูกหนี้ไปบอกกับบุคคลที่ 3  ซึ่งถือเป็นการผิดกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาท หรือประจาน มีโทษขั้นต่ำคือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         เพราะฉะนั้นถ้าผู้ร้องหรือลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้เข้ามาทวงถามหนี้แบบผิดกฎหมาย ผู้ร้องสามารถแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ ซึ่งผู้ร้องจะต้องรวบรวมหลักฐานการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคลิปเสียงที่เจ้าหนี้โทรศัพท์เข้ามาด่า หรือพูดจาหยาบคาย จดหมายที่เขียนมาข่มขู่ ตลอดจนหลักฐานอื่นๆ ที่เกิี่ยวข้อง นำไปแจ้งความในคดีอาญาเพื่อให้ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย นอกจากแจ้งความที่สถานีตำรวจแล้วผู้ร้องยังสามารถแจ้งได้ที่ กรมการปกครอง สำนักงานคณะกรรมการทวงหนี้ประจำจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ กองบัญชการตำรวจนครบาลอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ‘หนี้’ ในการแพร่ระบาดของโควิด-19

‘เงินด่วน ไม่ต้องใช้เอกสาร โอนเงินไวใน 30 นาที ติดต่อ xx-xxxx-xxxx’         ไม่ว่าจะร้อนเงินหรือเปล่า ภาพของกระดาษพร้อมข้อความลักษณะนี้มีให้เห็นเนืองนิจ อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าบนโลกที่ไม่มีอะไรฟรี คนเราจะได้เงินมาง่ายๆ ได้อย่างไร ต่อให้เป็นเงินกู้ก็เถอะ         เรารู้อยู่แก่ใจว่าความเร็วและง่ายมาพร้อมต้นทุนที่สูงลิบลิ่ว หนี้นอกระบบมีอัตราดอกเบี้ยชนิดขูดเลือดเนื้อ แต่ในสถานการณ์ที่ทางเลือกจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน เงินสดในมือสำหรับใช้จ่ายไม่เพียงพอ การกู้เงินจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทย ณ สิ้นปี 2563 ที่สูงถึง 14 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 18 ปีจากการเก็บข้อมูลของของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคิดเป็นร้อยละ 89.3 ของจีดีพีปี 2563         ตัวเลขข้างต้นบ่งชี้ว่าทั้งความสามารถในการชำระหนี้และการออมของครัวเรือนไทยลดต่ำลงจนน่ากังวล         ขณะเดียวกันแอปปล่อยเงินกู้ผิดกฎหมายก็กำลังสร้างปัญหาใหม่ตามมา คำถามมีอยู่ว่าแม้การไม่มีหนี้จะเป็นลาภอันประเสริฐ แต่ในฐานะผู้บริโภคที่ยังต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อใช้จ่ายจะรับมืออย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ช่วยได้แค่ไหน โควิด-19 ทำปัญหาหนี้ลุกลาม         เรามาลงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นจากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปี 2563 แม้จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 89.3 แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้หนี้เติบโตช้าลง ถึงกระนั้นระดับหนี้ก็ยังเพิ่มขึ้นสวนทางเศรษฐกิจที่หดตัว เมื่อดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนถอยหลังไป 3 ปีก็พบด้วยว่าหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นทุกปี โดยในปี 2561 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 78.4 และร้อยละ 79.8 ในปี 2562         ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ถ้ามองด้านอัตราการเติบโตของหนี้กลับพบว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2563 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.9 ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี ซ้ำยังชะลอลงจากร้อยละ 5.1 ในปี 2562 ซึ่งแสดงผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยที่ทั้งผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ต่างก็ระมัดระวังมากขึ้น         ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ต่อไปว่า กลุ่มผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจและผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้จะมีภาระหนี้หรือ Debt Service Ratio (DSR) สูงกว่าผู้กู้ในกลุ่มอื่นๆ แรงกดดันที่ทั้งสองกลุ่มนี้ต้องเผชิญคือความสามารถในการชำระคืนหนี้ลดลง ช่องว่างในการก่อหนี้ก้อนใหม่ลดลง และระดับการออมของครัวเรือนลดต่ำลง         นอกจากนี้ยังประเมินว่าหากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เงินกู้ยืมภาคครัวเรือนปี 2564 อาจมีโอกาสเติบโตสูงกว่าปี 2563 ผลที่ตามมาคือสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะขยับสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 89-91 ต่อจีดีพีในปี 2564         ทั้งนี้ตัวเลขเงินกู้ยืมภาคครัวเรือนไตรมาสที่ 4 ปี 2563 จากเว็บไซต์ ธปท. ปรับปรุงล่าสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 พบว่า เป็นเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 10,778,538 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ 4,785,134 ล้านบาท ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 1,781,439 ล้านบาท เพื่อการศึกษา 309,608 ล้านบาท เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น 3,902,357 ล้านบาท  และบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของ ธปท. 1,027,240 ล้านบาท ความโหดร้ายของหนี้นอกระบบ         หนี้นอกระบบเป็นปัญหาและโหดร้ายต่อผู้กู้ทั้งในแง่กฎหมายและมนุษยธรรม ข้อมูลของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสืบสวนคดีพิเศษ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561–วันที่ 24 พฤษจิกายน 2562 ในส่วนที่มีการร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี มีผู้ร้องเรียนจำนวน 4,748 รายกระจายไปตามภาคต่างๆ โดยพื้นที่ภาคกลางมีมากที่สุดถึง 1,926 ราย และ 663 รายอยู่ในเขตกรุงเทพฯ         ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นเงินกู้-ในที่นี้เฉพาะที่ผิดกฎหมาย-เกิดขึ้นจำนวนมาก สามารถกู้ง่าย เร็ว ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก ทำให้ประชาชนที่เข้าไม่ถึงเงินกู้ในระบบต้องตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก กรณีการเข้าจับกุมแอปพลิเคชั่นเงินกู้นอกระบบรายใหญ่ของชาวจีน 2 คนในกรุงเทพฯ เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาของศูนย์ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ (ศปน.ตร.) พบว่ามีเงินหมุนเวียนถึง 20 ล้านต่อวัน มีพนักงานทวงหนี้คนไทย 53 คน และไม่ได้มีแอปยูบาท (U Baht) เพียงแอปเดียว         แต่มีถึง 12 แอป ได้แก่ 1.speed wallet 2.cash 24 3.Marscash 4.bee bath max 5.cash 24 6.u-wallet 7.yoo card 8.cash map 9.take cash 10.pp cash 11.lend cash และ 12.เงินฟ้าผ่า โดยมีข้อมูลลูกหนี้ 8,600 กว่าราย การปล่อยกู้มีตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นโดยใช้บัตรประชาชน บัญชีเงินฝาก และหมายเลขโทรศัพท์ ถ้าคุณกู้ 2,000 บาทจะได้รับเงินจริงเพียง 1,300 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 35 ต่อสัปดาห์         การตรวจสอบจากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ​รายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลขณะนี้มีเพียง 2 บริษัทคือ บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด และบริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด ดังนั้น หากเจอแอปเงินกู้ที่ไม่ใช่ 2 บริษัทนี้หรือไม่มีแหล่งที่มาชัดเจน ตรวจสอบที่อยู่ไม่ได้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นแอปเงินกู้ผิดกฎหมาย ถ้าหากหลงกู้เงินไปแล้ว คุณอาจเสียมากกว่าที่คิด นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้นบริโภค กล่าวว่า         “ปัญหาสำหรับแอปที่ผิดกฎหมาย คือไม่รู้ว่าวิธีการสมัครจะขอข้อมูลส่วนบุคคลอะไรบ้าง เวลาที่เราสมัครผ่านแอปมักจะขอข้อมูลส่วนบุคคลและเขารู้จากเราฝ่ายเดียว แต่เราไม่รู้เลยว่าแอปที่เราขอกู้เงินเป็นใคร มีตัวตนหรือเปล่า เวลาเราจ่ายหนี้ จ่ายให้ใคร เป็นบุคคลหรือนิติบุคคล ยกเว้นเป็นแอปที่ถูกกฎหมายสามารถตรวจสอบได้ แต่ถ้าผิดกฎหมายบางทีจะขออะไรมากมาย และสิ่งที่เกิดขึ้นคือความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หลายรูปแบบ ตั้งแต่ขโมยข้อมูลในโทรศัพท์ ขายข้อมูลของเรา ปัจจุบันจะมีการฝังมัลแวร์ไว้ในระบบโทรศัพท์ เวลาที่เราทำธุรกรรมทางการเงินมันก็จะดูดข้อมูลของเราไปในระดับหนึ่งและอาจขโมยข้อมูลเราไปได้ แอพอาจทำให้เกิดภัยการเงินออนไลน์”         และแน่นอนว่าแอปผิดกฎหมายมีวิธีการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากระบบของแอปพวกนี้จะดูดข้อมูลเบอร์โทรของลูกหนี้ไปและโทรทวงหนี้จากหมายเลขเหล่านั้น การเอาเปรียบของหนี้ในระบบ         ในช่วงเวลายากลำบากนี้ แม้แต่ลูกหนี้ในระบบก็เผชิญปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมาตรการขั้นต่ำออกมาเป็นนโยบายขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์และนอน-แบงค์ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้โดยการขอพักชำระหนี้ ซึ่งมีหลายรูปแบบตั้งแต่พักชำระเงินต้น พักชำระดอกเบี้ย พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย แต่พบว่าธนาคารพาณิชย์เลือกมาตรการให้ลูกหนี้พักชำระหนี้เงินต้นโดยยังต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่ ปัญหามีอยู่ว่า         “สมมติเราขอพักชำระหนี้ 6 เดือน เราก็จ่ายแต่ดอกเบี้ย เจ้าหน้ายังได้ดอกเบี้ยอัตราคงที่ ไม่ใช่ลดต้นลดดอก” นฤมลอธิบาย “กรณีที่เจอคือเงินต้นที่ถูกพักเอาไว้ยังถูกคิดดอกเบี้ยอยู่ แทนที่ 6 เดือนที่เราพักชำระหนี้เราจะไม่เสียดอกเบี้ยเลย แต่สุดท้ายก็ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยใน 6 เดือนต่อไป คือเดือนที่ 7 ต้องจ่ายดอกเบี้ยเหมือนเดือนที่ 6 พอเดือนที่ 8 ดอกเบี้ยจึงจะลดลงเพราะได้ดอกเบี้ยเดือนที่ 7 ไปลดยอดเงินต้น         “ธนาคารไม่ได้บอกว่าเงินต้นที่พักเอาไว้ 6 เดือนจะไม่คิดดอกเบี้ย ยังถือว่ามีหนี้อยู่อีก 6 เดือน เพราะฉะนั้น 6 เดือนที่ถูกยืดออกไปก็ยังถูกคิดดอกเบี้ยอยู่ มันถูกคิดดอกเบี้ยตลอดเวลา ทั้งที่ดอกเบี้ยเงินต้นที่ยืดออกมามันคือจ่ายไปแล้วใน 6 เดือนที่พักชำระหนี้เงินต้นเอาไว้ ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ อันนี้จึงเป็นนโยบายที่ไม่ได้ช่วยเหลือลูกหนี้จริง เพียงแค่ช่วงที่พักชำระหนี้เงินต้นไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่เท่านั้น เพราะการช่วยเหลือลูกหนี้จริงๆ มันต้องพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอก”         และในบางกรณีมีลูกหนี้ที่ถูกธนาคารพาณิชย์พักชำระหนี้โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ยินยอม ทวงหนี้แบบไหนทำได้ รู้ไว้ลดแรงกดดัน         ในกรณีหนี้นอกระบบ นฤมลเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงแจ้งความดำเนินคดีกับแอปผิดกฎหมาย         ส่วนกรณีของหนี้ในระบบ การทำเข้าใจ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 เบื้องต้นน่าจะช่วยให้ลูกหนี้มีภูมิคุ้มกันจากการทวงถามหนี้ผิดกฎหมายได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงจากฝั่งเจ้าหนี้ว่ากฎหมายฉบับนี้เข้าข้างฝั่งลูกหนี้มากเกินไป ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดเพราะวัตถุประสงค์ของกฎหมายกำลังพูดถึงพฤติกรรมการทวงถามหนี้ที่เจ้าหนี้สามารถทำได้และทำไม่ได้         ประการแรก เจ้าหนี้สามารถโทรทวงถามหนี้ลูกหนี้ได้เพียงวันละครั้งตั้งแต่ 08.00-20.00 ในวันธรรมดา และ 08.00-19.00 ในวันหยุด ที่กฎหมายกำหนดเช่นนี้เพื่อให้ลูกหนี้มีเวลาจัดการ         ประการที่ 2 ผู้ติดตามทวงหนี้เวลาติดต่อกับลูกหนี้จะต้องแสดงตัวโดยมีเอกสารว่าได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ติดตามทวงถามหนี้ และในกรณีที่จะรับชำระเงินจากลูกหนี้ผู้ทวงถามจะต้องมีใบรับมอบอำนาจจากบริษัท หากถ้าไม่มีเอกสารจะไม่สามารถรับเงินได้ ทวงถามได้อย่างเดียว         ประการต่อมา ผู้ทวงถามหนี้ไม่สามารถทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่ลูกหนี้ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาได้ เช่น ลูกหนี้ระบุว่าถ้าไม่สามารถติดต่อตนได้ให้ติดต่อสอบถามกับภรรยา ญาติ หรือบุคคลใดก็ตามที่ลูกหนี้ระบุไว้ โดยกฎหมายให้กล่าวถึงการเป็นหนี้ของลูกหนี้กับบุคคลที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น แต่ถ้าเป็นบุคคลอื่นที่ลูกหนี้ไม่ได้ระบุไว้ทำได้แค่ถามสถานที่หรือที่ทำงานของลูกหนี้เท่านั้น เช่น ลูกหนี้ยังอยู่บ้านนี้หรือไม่ หรือทำงานที่นี่หรือเปล่า ไม่สามารถบอกว่าลูกหนี้เป็นหนี้        นฤมลกล่าวว่า หลังจากมีกฎหมายฉบับนี้ออกมา สถานการณ์ปัญหาการทวงถามหนี้มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หนี้เป็นมากกว่าปัญหาระดับปัจเจก         สำหรับลูกหนี้คนใดที่กำลังเผชิญปัญหาหรือใกล้จะเผชิญปัญหา นฤมลแนะนำให้ติดต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงอย่าง ธปท. ซึ่งจะช่วยเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยกับคู่สัญญาให้ อย่ารอให้ผิดนัดชำระหนี้         “เราเคยมีข้อเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยหลายเรื่อง ถ้าเป็นหนี้ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดทางธนาคารแห่งประเทศไทยควรมีนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลหรือพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงปลายธันวาคม 2564 ให้เศรษฐกิจฟื้นตัว คนมีงานทำ หรือจนกว่าจะมีสามารถชำระหนี้ได้ก็ค่อยชำระหนี้ มันก็จะช่วยเหลือผู้บริโภคมากกว่าการใช้มาตรการขั้นต่ำ เพราะถ้าเป็นมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยมันจะชัดเจน แต่ถ้าเป็นการขอความร่วมมือและออกมาตรการขั้นต่ำ ธนาคารพาณิชย์จะทำหรือไม่ทำก็ได้ซึ่งก็ทำ แต่ทำขั้นต่ำ คือพักชำระหนี้เงินต้น”         ถอยออกมาเพื่อมองภาพในระดับที่ใหญ่ขึ้น เราจะพบปัญหาเชิงระบบที่หลบซ่อนแบบเปิดเผยมานานมากนั่นคือ การเข้าถึงสินเชื่อถูกกฎหมาย ซึ่งทำให้คนจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระและแรงงานนอกระบบไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ต้องวิ่งเข้าหาหนี้นอกระบบ แม้ว่าจะมีความพยายามแก้ไข แต่ก็ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เป็นการฉีกช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้น        อีกด้านหนึ่งเมื่อมองในแง่ความเป็นธรรมทางสังคม เงินที่ธนาคารปล่อยกู้มาจากเงินฝากของผู้ฝากรายย่อยจำนวนมาก แต่ผู้ฝากรายย่อยกลับไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารได้ผิดกับผู้กู้รายใหญ่ นอกจากนี้ ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ถูกวิจารณ์ว่ามีส่วนต่างมากเกินไป         ปัญหาหนี้สินจึงไม่ใช่แค่ปัญหาระดับปัจเจก ยังมีโครงสร้างและระบบอันบิดเบี้ยวค้ำจุนมันอยู่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 คุณครูประจำชั้นถูกทวงหนี้จากหนี้ของพ่อแม่นักเรียน

        การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบการบางรายต้องปิดกิจการ ส่งผลให้ลูกจ้างตกงาน ไม่มีรายได้ ความจำเป็นบังคับให้ต้องกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งการกู้เงินกับธนาคารลูกจ้างรายวัน ส่วนมากไม่สามารถกู้ได้ เพราะไม่มีหลักประกัน การกู้นอกระบบจึงเป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่ง ยิ่งปัจจุบันมีแอปพิเคชั่นสำหรับกู้เงินก็ยิ่งสะดวกรวดเร็วเข้าไปอีก ไม่ต้องมีหลักประกันใดๆ แต่ต้องแลกกับความเสี่ยงที่อาจถูกทวงหนี้แบบผิดกฎหมาย หรือส่งผลกระทบกับคนรอบตัวลูกหนี้         แชมป์เป็นคุณครูโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก วันหนึ่งมีสายโทรศัพท์จากเบอร์แปลกเข้ามา เขารับสายทางปลายสายสอบถามว่า เขาคือครูแชมป์ใช่ไหม เขาตอบว่าใช่ หลังจากนั้นปลายสายก็แจ้งมาว่า โทรศัพท์มาจากบริษัทให้กู้เงิน คุณชบาได้กู้เงินผ่านแอปกู้เงิน จำนวน 3,000 บาท ให้ครูแชมป์ไปบอกให้คุณชบาช่วยใช้หนี้ด้วย หรือให้ครูแชมป์ใช้หนี้แทนคุณชบา แต่เขาก็ปฏิเสธไปเพราะเขาไม่รู้จักคุณชบา         ต่อมาคุณครูจึงทราบว่า คุณชบาที่บริษัทให้กู้เงินโทรศัพท์มาทวงหนี้คือ แม่ของนักเรียนประจำชั้นของเขานั้นเอง เขางงมากว่าบริษัทให้กู้เงินโทรศัพท์มาทวงหนี้ที่เขาได้อย่างไร หลังจากนั้นเขาก็ได้รับโทรศัพท์ทวงหนี้จากการที่พ่อแม่ของนักเรียนประจำชั้นของเขาไปกู้เงินผ่านแอปกู้เงินออนไลน์ไม่ว่างเว้น เขาจึงโพสเฟซบุ๊กแจ้งผู้ปกครองนักเรียนว่า ได้โปรดอย่าให้เบอร์โทรศัพท์ของเขากับบริษัทให้กู้เงิน ปรากฏว่ามีคุณครูหลายคนเข้ามาคอมเมนท์ว่า ได้รับโทรศัพท์จากบริษัทให้กู้เงินจากแอปกู้เงินเหมือนกัน ครูแชมป์จึงปรึกษามาว่า เขาจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องการทวงหนี้นั้น กฎหมายกำหนดว่าเจ้าหนี้ต้องทวงหนี้กับลูกหนี้เท่านั้น ห้ามทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้เด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็น คนรู้จัก เพื่อนที่ทำงาน คนข้างบ้าน ฯลฯ เว้นแต่จะระบุไว้แต่แรกในสัญญา หากฝ่าฝืนมีโทษโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามบอกกับคนอื่นว่าลูกหนี้เป็นหนี้ ยกเว้น สามี ภรรยา บุพการี หรือผู้สืบสันดาน ของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558         แอปกู้เงินโทรศัพท์มาทวงหนี้กับครูแชมป์ซึ่งเป็นบุคคลอื่นไม่ใช่ลูกหนี้ และบอกกับคุณแชมป์ว่าแม่ของนักเรียนครูแชมป์เป็นหนี้กับตนเอง เป็นการทวงหนี้ผิดกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ดังนั้นครูแชมป์สามารร้องเรียนการทวงหนี้ผิดกฎหมายได้ที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำท้องถิ่น ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง, สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง, สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2564

เตือนอย่าหลงเชื่อ "กู้เงินออนไลน์"         กระทรวงการคลัง เอาจริง เตรียมดำเนินคดีมิจฉาชีพแอบอ้างหลอกประชาชนให้ "กู้เงินออนไลน์" ก่อนเก็บค่าดำเนินการอมเงินหนีหาย โดยนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้แอบอ้างเป็นผู้ให้บริการทางการเงินผ่านสื่อดิจิทัล หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยมีพฤติการณ์หลอกลวงประชาชน ดังนี้         - ต้องทำสัญญากู้เงิน และต้องโอนเงินค่าดำเนินการ หรือค่าธรรมเนียมล่วงหน้าก่อน ซึ่งจะให้โอนเข้าบัญชีผู้ให้กู้เงิน ซึ่งเป็นชื่อบุคคลธรรมดา         - ผู้แอบอ้างบางราย อ้างว่าได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังแล้ว และมีการแสดงหนังสืออนุญาตที่ทำการปลอมแปลงขึ้นมา         - ผู้แอบอ้างได้เปลี่ยนชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นชื่อนิติบุคคลของผู้ที่แอบอ้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ         - ทำให้มีประชาชนหลายรายหลงเชื่อ พร้อมทั้งโอนเงินค่าดำเนินการหรือค่าธรรมเนียมไปให้ผู้แอบอ้าง และไม่ได้รับเงินกู้ตามความประสงค์ที่จะขอกู้ยืมเงินจึงขอเตือนประชาชนให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อภายใต้การกำกับที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ถูกต้องตามกฎหมายก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ที่เว็บไซต์ www.1359.go.th และหากพบเบาะแสบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่แอบอ้าง สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359 หรือสามารถแจ้งความร้องทุกข์โดยตรงได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599 มพบ. เรียกร้องสายการบินคืนเงินค่าตั๋วโดยสาร ระบุพร้อมดำเนินคดี          จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้สายการบินยกเลิกเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากนั้น นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณียังไม่ได้รับเงินค่าตั๋วโดยสารคืนจากสายการบิน จำนวน 228 ราย จึงได้ติดต่อประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยสายการบินเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา 2 แบบ คือ หนึ่ง คืนเป็นเครดิตให้กับผู้บริโภคเพื่อเก็บไว้ใช้บริการในครั้งต่อไป หรือสอง คืนค่าตั๋วในกรณีที่ผู้บริโภคต้องการเงินคืน         อย่างไรก็ตาม จากการติดตามความคืบหน้าเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ทำให้ทราบว่ายังมีผู้บริโภคที่ใช้บริการสายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท แอร์จอย สต๊อค และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ รวม 31 ราย ที่ยังไม่ได้รับเงินคืน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 557,929.27 บาท ดังนั้นทางศูนย์ฯ จึงทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาแต่พบว่ามีเพียงคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ที่ตั้งวงประชุมเพื่อหารือแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องสายการบิน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า         ทางมูลนิธิฯ จึงเตรียมดำเนินคดีเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า “ระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 1 ปีเต็ม ยังมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับเงินคืน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป และทราบว่าที่ผ่านมาทางภาครัฐก็ได้ช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan ให้ผู้ประกอบการสายการบินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว สายการบินก็ควรคืนเงินให้กับผู้บริโภค หากยังคงเพิกเฉยก็คงต้องเดินหน้าฟ้องสายการบินต่อไป” เฉลิมพงษ์กล่าว         39 องค์กรร่วมฟ้องบอร์ด กขค. ขอเพิกถอนคำสั่งควบรวมซีพีเทสโก้          15 มีนาคม  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ 37 องค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภคทั่วประเทศ รวมกันเป็นโจทก์ฟ้อง คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และ สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าต่อศาลปกครอง กรณีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการ CP-Tesco อาจขัดกฎหมาย         จากการที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 มีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านการอนุญาตครั้งนี้ โดยเห็นว่าจะทำให้เครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ในกลุ่มธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นสูงถึง 83.97% อีกทั้งเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารสำคัญหลายประเภท ทั้งวัตถุดิบ สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งนำไปสู่การผูกขาดทางการค้า ทำให้กลไกการตลาดไม่เป็นอิสระ ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดต่อ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจในตลาดสินค้าและบริการต่าง ๆ ให้มีการแข่งขันมากที่สุดภายใต้หลักเสรีและเป็นธรรม และขัดต่อสิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการอย่างอิสระตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522         โดยผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลไต่สวนคำร้องและขอให้ศาลมีคำสั่ง กำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยมีคำสั่งให้ระงับการรวมธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ ของบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ไว้ก่อนชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ผู้บริโภคยินดีจ่ายเพิ่มไม่เกิน 20% กับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม         ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจพฤติกรรมและมุมมองความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อปัญหาและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม พบผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่อาจช่วยลดการสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นงดหรือลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติกและหันมาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย หรือแม้แต่การเดินทางโดยรถสาธารณะแทนรถส่วนตัว ทั้งนี้พบว่ากว่าร้อยละ 55 ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาที่แพงกว่าสินค้าปกติทั่วไประหว่าง 1 – 20 % ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า รองลงมาคือร้อยละ 23 เต็มใจที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาเท่าเดิม หรือไม่แตกต่างจากสินค้าปกติทั่วไป 6 วิธีจับสังเกตแชร์ลูกโซ่          กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สคบ. และ กองปราบปราม สรุปข้อสังเกตเพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อขบวนการแชร์ลูกโซ่ ดังนี้ 1.ผลตอบแทนสูงกว่าความเป็นจริง 2.เชียร์ให้ลงเงินเยอะๆ ไม่พูดถึงความเสี่ยง 3.เน้นหาเครือข่าย ยิ่งชวนคนมาลงทุนเยอะยิ่งได้เงินเยอะ 4.หว่านล้อม กดดันให้รีบตัดสินใจ 5.อ้างคนมีชื่อเสียงร่วมลงทุน และ 6.ตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีหน่วยงานรับรอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบคิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายลูกหนี้เรียกดอกเบี้ยคืนหรือไม่

        ฉบับนี้ขอพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในช่วงนี้  นั่นคือ “การกู้เงิน” อย่างที่เราทราบกันว่า พอเกิดโรคระบาดโควิด หลายคนตกงานขาดรายได้ แต่รายจ่ายยังมีเหมือนเดิม บางคนถึงขั้นต้องไปกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในแต่ละวันและมีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกไปกู้เงินนอกระบบ ผลที่ตามมาคือ ถูกคิดดอกเบี้ยที่สูง เจ้าหนี้นอกระบบบางรายคิดดอกเบี้ยถึงร้อยละ 3 ต่อเดือน ซึ่งแน่นอนว่าเกินอัตราที่กฎหมายให้เรียกได้ กล่าวคือ  กฎหมายกำหนดให้การกู้ยืมเงิน ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ  15 ต่อปี  หรือ  ร้อยละ  1.25  ต่อเดือน หากคิดเกินนี้ ย่อมตกเป็นโมฆะ          อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เคยมีการนำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งประเด็นที่ว่าดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายทุกเดือนๆ ที่ถูกคิดเกินกฎหมายส่วนนี้ ลูกหนี้จะมีสิทธิเรียกคืนได้หรือไม่  ซึ่งศาลฏีกาได้วางหลักไว้ว่า เงินที่เป็นดอกเบี้ยดังกล่าว ลูกหนี้เรียกร้องให้คืนไม่ได้และเจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวเช่นกัน แต่ต้องนำเงินส่วนนี้ไปหักกับเงินต้นที่ลูกหนี้ค้างชำระตามสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อหักแล้วเงินต้นเหลือเท่าใด ลูกหนี้ก็รับผิดชอบหนี้เฉพาะส่วนที่เหลือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560         การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยหาอาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ แต่ในข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วและจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ 7,500 บาท ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่ง คงเหลือหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับนี้ 42,500 บาท เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัดคือวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2560)         ดังนั้น หากท่านใดตกเป็นลูกหนี้นอกระบบ เราควรต้องรอบคอบโดยเก็บหลักฐานการชำระเงินส่วนดอกเบี้ยและเงินต้นแต่ละเดือนไว้ แนะนำให้โอนเข้าบัญชี ไม่ควรชำระเป็นเงินสด เพราะเจ้าหนี้จะไม่มีใบเสร็จหรือหลักฐานชำระหนี้ให้เรา เพื่อหากเกิดข้อพิพาทขึ้น เราจะได้มีหลักฐานต่อสู้ได้ว่าเงินดอกเบี้ยที่เราจ่ายไปนี้ ต้องนำไปหักเงินต้น จะอ้างว่าที่ผ่านมาเราจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยไม่ได้ เพราะเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 1.25 ต่อเดือน หรือร้อยละ 15 ต่อปี นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 บอกเลิกสัญญา Work & Travel เพราะโควิด-19

วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยอยากไป Work & Travel ในต่างประเทศ เพราะนอกจากการทำงานระยะสั้น ๆ หาประสบการณ์แล้ว ยังได้ท่องเที่ยวในประเทศนั้นๆ ด้วย เช่นเดียวกับคุณกันตพล ที่อยากให้ลูกชายได้เปิดประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ จึงตัดสินใจส่งลูกชายเข้าโครงการ Work & Travel ในประเทศสหรัฐอเมริกากับบริษัทตัวแทนแห่งหนึ่งระยะเวลา 3 เดือน โดยคุณกันตพลได้ผ่อนค่าใช้จ่ายเป็นรายงวด รวมเป็นเงินทั้งหมดแล้วเกือบ 80,000 บาท         แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้กำหนดการการเดินทางไปทำงานและท่องเที่ยวที่อเมริกาของลูกชายคุณกันตพลต้องพับลง บริษัทที่จัดโครงการ Work & Travel ได้แจ้งกับคุณกันตพลว่า ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น โดยทางบริษัทจะคืนเงินให้ประมาณ 50,000 บาท         คุณกันตพลทราบดังนั้น ก็คิดว่าเงินที่บริษัทคืนให้นั้นน้อยเกินไปหรือไม่ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นคุณกันตพลได้ชำระไปแล้วล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าโครงการ ค่าธรรมเนียมวีซ่า ค่ามัดจำตั๋วเครื่องบิน การที่บริษัทหักเงินไปเกือบ 30,000 บาทนั้นดูไม่เป็นธรรมเอาเสียเลย แนวทางการแก้ไขปัญหา                 กรณีที่บริษัทแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสนั้น เท่ากับเป็นการบอกเลิกสัญญา ซึ่งจะต้องคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคโดยทันที หากจะมีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ต้องชี้แจงรายละเอียดของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน มีการแสดงเอกสารหลักฐานค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงให้ได้ทราบอย่างครบถ้วน ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็สามารถใช้สิทธิฟ้องร้องได้         ทั้งนี้ ผู้บริโภคเองสามารถบอกเลิกสัญญากับบริษัทที่จัดทำโครงการในลักษณะ Work & Travel ได้ โดยทำหนังสือบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับ หากทางบริษัทเอเจนซี่จะหักค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ต้องชี้แจงและแนบหลักฐานให้ผู้บริโภคได้รับทราบด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 แอปกู้เงิน !! อันตรายกว่าหนี้นอกระบบ

        วิกฤตโควิดทำให้หลายครอบครัวต้องดิ้นรนหาเงินเลี้ยงครอบครัวต้องทำทุกทางทั้งที่รู้ว่าเสี่ยงและเสียเปรียบ เรื่องร้องเรียนล่าสุดจากผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาดอกเบี้ยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งปัจจุบันมีมากมายทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย        ผู้บริโภครายนี้ได้รับคำแนะนำว่า ถ้าจะกู้เงินและไม่มีการตรวจสอบอะไรมากก็ให้ทดลองใช้แอ๊ปนี้ดู กู้ง่าย แต่ต้องจ่ายคืนภายใน 7 วัน ก่อนหน้านี้เคยทดลองของธนาคารต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้เลยทดลองดู         คนที่ไม่เคยกู้คงไม่รู้ว่าดอกเบี้ยโหดมาก ดอกเบี้ยมากกว่าหนี้นอกระบบหนี้อาบังรายวันเป็นร้อยเท่า ซึ่งคนกู้ในวิกฤตแบบนี้ก็ไม่เกี่ยงขอให้ได้เงินสดไปจัดการปัญหาใกล้ตั         เริ่มจากอนุมัติเงินกู้จำนวน 2,000 บาท ได้รับเงินโอนกลับมาเพียง 1,200 บาท ดอกเบี้ย 800 บาท และต้องจ่ายคืน 2,000 บาทภายใน 7 วัน หนี้นอกระบบอาบังทั้งหลายที่ว่าโหดหักทันทีเพียงร้อยละ 20         กู้ออนไลน์ผ่านแอ๊ปนี้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 40 ภายใน 7 วัน แต่ในระบบไม่ได้เขียนว่าเป็นดอกเบี้ยแต่จะถูกทำให้เข้าใจว่า เป็นค่าออกแบบระบบในการกู้เงิน ค่าบริการและหากผิดนัดชำระหนี้ภายใน 7 วัน คิดดอกเบี้ยรายวันแบบทบต้นไปเรื่อยๆ         หากคิดดอกเบี้ยภายใน 1 ปี ดอกเบี้ยก็จะสูงมากถึง 2,085% ทั้งที่ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล กันยายน 2653 กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแก่ผู้บริโภคแต่ละรายรวมไม่เกิน 20,000 บาท และมีกำหนดระยะเวลาการชำระคืนสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแต่ละสัญญาไม่เกิน 6 เดือน โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ในการกู้ยืม และกำหนดอัตราดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ รวมกันไม่เกินร้อยละ 25 ต่อปี (https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2020/Pages/n6463.aspx)         นอกเหนือจากดอกเบี้ยโหด ผู้กู้ยืมจะต้องอนุญาตให้ระบบเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลเพื่อน ญาติ หรือโทรศัพท์ทุกคนที่เรามีรูปภาพต่างๆ เพราะไม่อย่างนั้นจะกู้เงินไม่ได้ก็จะทำให้เกิดการทวงหนี้ผิดกฎหมายทวงหนี้กับสามีและญาติตอนตี 3 พรบ.ทวงหนี้ที่อนุญาตให้ทวงหนี้ไม่เกิน 6 โมงเย็น ไม่มีความหมาย         ระบบที่ออกแบบมาให้ง่ายกลับเล่นงานทุกอย่างที่ใกล้ตัว ถามใครที่มีทางออกไม่ตีบตัน คงไม่ต้องทำแบบนี้แน่นอน         สิ่งที่จะช่วยป้องกันผู้บริโภคคงต้องเริ่มตั้งแต่ระบบสวัสดิการทางสังคมแบบถ้วนหน้า เพื่อรับมือกับเหตุการณ์แบบวิกฤตโควิดในครั้งนี้  บำนาญประชาชนสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นความมั่นคงของทุกครอบครัวการเรียนรู้การบริหารจัดการเงินอย่างเป็นระบบของครอบครัวในทุกช่วงวัย         ทำให้อย่างไรให้ตรวจสอบแอ๊บได้ง่ายว่า ได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือไม่ หรือถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายหรือธปท.มีเครื่องมือที่ช่วยตรวจสอบว่า แอ๊ปไหนไม่ปลอดภัยหรือคิดดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศก่อนที่จะตัดสินใจกู้เงินออนไลน์ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบมากในปัจจุบัน         ส่วนตำรวจไซเบอร์ต้องทำงานเชิงรุกกวาดจับลงโทษจริงจังให้เข็ดอย่าคิดเพียงว่า จับแล้วเกิดได้อีกแต่ก็น่าจะดีกว่าไม่ทำอะไรและเป็นอันตรายกับผู้บริโภคมากขึ้นทุกวัน         สิ่งที่ผู้บริโภคต้องทำ คือช่วยกันแจ้งความแอ๊ปเหล่านี้แต่น่าสนใจคนร้องเรียนมีพี่ชายเป็นตำรวจ แต่กลับแนะนำน้องว่าอย่าไปแจ้งความเลยไม่น่าจะได้อะไรถึงเวลาผู้บริโภคต้องพึ่งตนเอง หวังว่าสภาองค์กรของผู้บริโภคที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นที่พึ่งเรื่องนี้อีกแรง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ยืมเงินผ่านแชต เป็นหลักฐานฟ้องศาลได้ไหม

          สวัสดีครับ ฉบับนี้นำเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันมาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะเรื่องการหยิบยืมเงิน ที่ต้องบอกว่าไม่เข้าใครออกใคร ยิ่งช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ที่อะไรๆ ก็ดูแพงไปหมด เกิดภาวะเงินขาดมือ หมุนไม่ทัน ก็ต้องหยิบยืมจากคนใกล้ตัวมาหมุนไปก่อน และช่องทางสื่อสารที่นิยมกัน ยืมเงินกันง่ายไม่ต้องมาจ้องตา คือคุยยืมกันผ่านอินบ๊อกในเฟซบุ๊คหรือไลน์  ซึ่งหลายคนยังไม่ทราบว่าข้อความแชตสนทนาในเฟซบุ๊คหรือไลน์ ใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องได้  จึงอยากนำความรู้ดีๆ มาฝากสำหรับการแชตอย่างไรให้มีหลักฐาน และมีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง        ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจข้อกฎหมายเกี่ยวกับการยืมเงินกันก่อน โดย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดเกี่ยวกับการยืมเงินกันไว้ว่า ถ้ามีการกู้ยืมเงินเกิน 2,000 บาท ต้องทำหนังสือเป็นหลักฐานและลงลายมือชื่อ จึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 กล่าวถึง "ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ คือ อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่น ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น"        จากข้อความดังกล่าวถูกตีความว่า แชตที่สามารถใช้เป็นหลักฐานแทนหนังสือ ต้องมีองค์ประกอบดังนี้            1. ข้อความสนทนา (Chat) ที่ระบุข้อความขอยืมเงิน จำนวนเงิน และเห็นบัญชีผู้ใช้ว่าเป็นใครมาขอยืมเงิน            2. บัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน (Account) ในแชตจะต้องสามารถระบุชื่อบัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน และเป็นข้อมูลชื่อบัญชีผู้ใช้ที่มีระบบปลอดภัยและเชื่อถือได้            3. หลักฐานการโอนเงิน (Slip) ที่ระบุวันเวลาที่โอนเงิน ไม่แก้ไขวันเวลารับส่งข้อความ             หากมีหลักฐานดังที่กล่าวมา ถือเป็นหนังสือใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องศาลได้[1]            อีกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเรื่องการฟ้องคดีกู้ยืมเงิน คือ อายุความฟ้องคดีกู้ยืมเงิน  โดยแบ่งเป็นสองลักษณะ คือ 1.   ถ้าสัญญากู้ยืมเงินมีกำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ จะมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12442/2553 แม้จะมีข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขในการชำระเงินกู้คืนทุกเดือนตามคำสั่งหรือกำหนดชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน เดือนละ 148,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี เริ่มชำระคืนงวดแรกวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 และงวดต่อๆ ไปทุกวันที่ 23 ของเดือนจนกว่าเงินต้นและดอกเบี้ยจะได้มีการชำระครบถ้วนแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เมื่อผู้ให้กู้เดิมและจำเลยที่ 1 เลือกผูกพันตามข้อตกลงในการชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยคืนโดยวิธีชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกเดือนรวมระยะเวลา 5 ปี นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กู้เดิมหรือโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องกับจำเลยที่ 1 จึงต้องบังคับตามข้อตกลงที่คู่สัญญาเลือกปฏิบัติผูกนิติสัมพันธ์กันนั้น เมื่อข้อตกลงชำระหนี้เงินกู้คืนที่ตกลงผูกนิติสัมพันธ์กันนั้นเป็นการชำระหนี้เพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) หาใช่มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ตามที่โจทก์ฎีกาไม่ อนึ่ง กรณีที่มีการชำระต้นเงินคืนบางส่วน หรือชำระดอกเบี้ย ย่อมเป็นกรณีลูกหนี้รับสภาพหนี้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง และให้นับอายุความใหม่นับแต่เวลานั้น ตามป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ประกอบมาตรา 193/15 2.   สัญญากู้ยืมเงินที่ไม่มีข้อตกลงให้ผ่อนชำระคืนต้นเงินเป็นงวดๆ จะใช้อายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด 10 ปี ตามป.พ.พ. มาตรา 193/30 "มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี" สัญญากู้ยืมเงินที่มีข้อตกลงให้ชำระต้นเงินคืนในคราวเดียว เช่น ให้ชำระต้นเงินทั้งหมดคืนในวันที่ 30 มิ.ย.59 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6830/2551 ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเดือนละครั้ง และจะต้องชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2540 เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2539 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 เกินกว่า 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า การกู้ยืมเงินกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป” จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสาร จ.1 ข้อ 4 กำหนดให้จำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทุกเดือน ซึ่งจะครบกำหนดชำระดอกเบี้ยเดือนแรกในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 การที่จำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จึงเป็นการผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยได้ทันทีตามสัญญาข้อ 6 โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไป โดยไม่จำต้องรอจนครบกำหนดชำระเงินคืนตามสัญญาอายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 10 ปีวันที่ 10 มิถุนายน 2549 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 เกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ หมายเหตุ แม้สัญญากู้ยืมเงินที่พิพาทในคดีนี้ แม้มีจะข้อตกลงให้ผ่อนชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน แต่ในส่วนของต้นเงินนั้น คู่สัญญาตกลงกันให้ชำระในวันที่ 9 พ.ค.40 ในคราวเดียว จึงใช้อายุความ 10 ปี ตามป.พ.พ. มาตรา 193/30 [1] เพจเฟสบุ๊ค สำนักงานกิจการยุติธรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2560ระวังอาหารเสริมผสม “ยาต้านซึมเศร้า”นางศิริวิทย์ หลิ่มโตประเสริฐ นักวิชาการสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เผยผลการตรวจวิเคราะห์อาหารเสริม 2 ตัว ลอบผสมยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือ “ยาต้านซึมเศร้า” เตือนผู้บริโภคที่รับประทานอาจเกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2 ยี่ห้อที่ตรวจพบการปนเปื้อน ได้แก่ 1.KITO DETOX เลขสารบบอาหาร 74-2-03357-1-0091 รุ่นที่ผลิต AA000308 ผลิตโดย บริษัท สยามเฮลท์แอนบิวตี้แคร์ จำกัด และ 2.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร CORE LIPO 8 DIETRY SUPPLEMENT PRODUCT เลขสารบบอาหาร 13-1-13653-1-0112 รุ่นที่ผลิต 112974C ผลิตโดยบริษัท เนเจอร์ นิวทริ จำกัด ยาฟูลออกซิทีนเป็นยาแผนปัจจุบันใช้ต้านอาการซึมเศร้า ต้องจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ตัวยามีผลข้างเคียงทำให้เบื่ออาหาร เมื่อนำไปใช้ไม่ถูกจะมีโทษ อาจจะทำให้ผู้ได้รับยามีอาการคลื่นไส้ มีผลต่อการมองเห็น ปวดท้อง แน่นหน้าอก และอาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลวเสียชีวิต อย่ากิน!!!ขนม “BLACK POWDER” ทำเด็กหมดสติอย.ฝากเตือน เด็กๆ พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และบุคลากรในสถานศึกษา เฝ้าระวังอันตรายจาก “ขนมหน้าโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน” หลังพบเด็กทานขนมที่มีลักษณะเป็นผงคล้ายเกล็ดน้ำตาล มี 2 สี 2 รสชาติ บรรจุในขวดเล็กๆ รูปร่างเหมือนขวดน้ำอัดลม สีดำ บนฉลากเขียนคำว่า “BLACK POWDER” แล้วเกิดอาการเวียนหัว อาเจียน นอนซึม ตาลอย และไม่มีอาการตอบสนอง จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล หลังตรวจสอบขนมดังกล่าว บนฉลากมีเพียงชื่อยี่ห้อ และข้อความภาษาจีน ไม่มีข้อความภาษาไทย และไม่มีเลข อย.โดยที่ผ่านมา อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่มลูกกวาด ลูกอม และกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการใช้สีผสมอาหารมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยังพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารและขนมต้องสงสัย ถูกนำมาขายให้กับเด็กวัยอนุบาลและประถมตามหน้าโรงเรียนต่างๆ ทั้งนี้ อย. ได้ฝากถึง พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ครู-อาจารย์ ช่วยเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังขนมที่ผลิต จำหน่าย หรือนำเข้าโดยผิดกฎหมาย หากพบมีการนำเข้าหรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ สามารถแจ้งไปยัง อย. หรือ สาธารณสุขจังหวัดได้ทันทีเอาผิด รพ.เอกชน แจกคูปองน้ำมันให้อาสากู้ภัยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ลงดาบโรงพยาบาลเอกชนที่จัดโปรโมชั่นให้เจ้าหน้าที่กู้ภัย ทั้งแจกคูปองเติมน้ำมัน คูปองสะสมแต้ม เพื่อแลกกับการนำผู้ป่วยฉุกเฉินมาส่งที่โรงพยาบาล เนื่องจากผิดกฎหมายสถานพยาบาล นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า รพ.เอกชนดังกล่าวจัดทำโปรโมชันนี้ตั้งแต่ช่วง ก.พ. ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือมูลนิธิกู้ภัย แต่ภายหลังเมื่อมีการการตรวจสอบ รพ.เอกชนดังกล่าวก็ได้ยุติการทำโปรโมชันไปตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยทาง รพ.เอกชน ก็ได้ทำให้หนังสือแจ้งต่อ สบส. ว่า ไม่ได้มีเจตนารมณ์ไม่ดีในการจัดโปรโมชันดังกล่าว และไม่ได้สนับสนุนการส่งผู้ป่วยข้ามเขตแต่อย่างใด อีกทั้งตั้งแต่จัดโปรโมชันดังกล่าว รพ. ก็ไม่ได้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อ รพ.ดังกล่าวยอมรับว่าได้จัดโปรโมชันจริง สบส. ก็จะดำเนินการตามกฏหมาย ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ในมาตรา 38 ที่ว่าด้วยการห้ามโฆษณา โอ้อวด ลด แลก แจก แถม เพื่อชักชวนให้มีผู้มารับบริการจากสถานพยาบาลของตน โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ “ทุบรถโชว์” ประชดแก้ปัญหาไม่คืบหน้ากลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการใช้รถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด รุ่นเฟียสต้า และรุ่นโฟกัส กว่า 60 คน รวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานใหญ่ บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส ประเทศไทย จำกัด เพื่อเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดัง หลังจากผู้เสียหายประสบปัญหาจากการใช้รถยี่ห้อดังกล่าวทั้งๆ ที่เพิ่งซื้อมาได้ไม่นาน โดยปัญหาที่พบมีทั้ง เกียร์กระตุก รถสั่น และที่ร้ายแรงที่สุดคือเบรกไม่อยู่ โดยกลุ่มผู้เสียหายนอกจากจะมีการอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องแล้ว ยังการนำพลั่วมาทุบรถยนต์คันที่มีปัญหา เพื่อแสดงถึงความไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของบริษัทซึ่งที่ผ่านมากลุ่มผู้เสียหายเคยไปร้องเรียนกับทั้งศูนย์บริการของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ สคบ. สำนักนายกรัฐมนตรี และสภาทนายความ แต่ก็ยังไม่ได้รับการชดเชย นอกจากนี้กลุ่มผู้ร้องยังรู้สึกไม่พอใจในการแก้ปัญหาของ สคบ. ที่ได้มีการนำรถรุ่นที่พบปัญหาไปทดสอบแล้วผลออกมาว่ารถปลอดภัยดี ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ฟอร์ดเคยออกมายอมรับว่ารถยนต์รุ่นที่มีการร้องเรียนมีปัญหาจริง คงต้องติดตามกันต่อไปว่าคดีนี้จะจบอย่างไร ผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยที่เหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ค้าน ม.44 เร่งผ่าน “สิทธิบัตรยา” กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ออกมาแสดงความกังวลและขอคัดค้านแนวคิดของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เตรียมใช้ ม.44 เป็นช่องทางพิเศษเร่งรัดพิจารณาและออกสิทธิบัตร แก้ปัญหาความล่าช้าคำขอสิทธิบัตรที่ค้างอยู่กว่า 12,000 ฉบับ ซึ่งคาดว่าเป็นคำขอเกี่ยวกับยาถึง 3,000 ฉบับ และเกือบทั้งหมดเป็นคำขอสิทธิบัตรแบบ Evergreening หรือสิทธิบัตรที่ไม่มีความใหม่ เนื่องจะทำให้เกิดปัญหาต่อระบบสาธารณสุขในประเทศ ทั้งการผูกขาด ปัญหายาราคาแพง นำไปสู่การเข้าถึงยาที่ยากขึ้นในอนาคตภาคประชาชนได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยา พร้อมเสนอให้มีการทบทวน โดยให้พิจารณาถึงเหตุผลที่แท้จริงของความล่าช้าในการออกสิทธิบัตร ที่นอกจากจะมีสาเหตุมาจากความด้อยประสิทธิภาพของกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ยังมีสาเหตุมาจาก บริษัทยาหรือผู้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรอาศัยช่องว่างของ พ.ร.บ. สิทธิบัตรที่ให้ระยะเวลาในการยื่นเอกสารรายละเอียดการจดสิทธิบัตรยาวนานถึง 5 ปี และมักจะมายื่นเอกสารในปีท้ายๆ ทำให้การพิจารณาคำขอไม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว ซึ่งกรณีนี้เป็นประโยชน์กับผู้ยื่นคำขอ เพราะกฎหมายให้สิทธิคุ้มครองนับตั้งแต่วันยื่น ทั้งที่คำขอนั้นยังไม่ได้รับพิจารณาตามกระบวนการตรวจสอบสิทธิบัตร กลายเป็นเครื่องมือให้ผู้ยื่นใช้ผูกขาดตลาดและราคายานอกจากนี้ การเร่งออกสิทธิบัตรกลับยิ่งส่งผลกระทบต่อการสนับสนุนนวัตกรรมในประเทศ เนื่องจากคำขอที่ค้างอยู่โดยเฉพาะในเรื่องยา ส่วนใหญ่เป็นคำขอที่ไม่เข้าข่ายสมควรจะได้รับสิทธิบัตร หรือเรียกว่าสิทธิบัตรต่อยอดแบบไม่มีวันตาย ยิ่งเร่งออกสิทธิบัตรยิ่งไปจำกัดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ในประเทศ รวมทั้งจะก่อให้เกิดปัญหาสิทธิบัตรด้อยคุณภาพและการผูกขาดตลาดยาและยาแพงโดยไม่จำเป็น  ทั้งนี้การพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตร โดยเฉพาะยา ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เพราะมีข้อมูลจำนวนมากและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อพิสูจน์ว่าคำขอฯ นั้นมี “ความใหม่” และ “ขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ออมสินปฏิเสธบังคับลูกค้ากู้เงินต้องทำประกัน

 คุณวิชัยบอกว่า ถูกธนาคารออมสินบังคับให้ทำประกันชีวิตเพื่อค้ำประกันเงินกู้สินเชื่อประเภทสวัสดิการ ถ้าไม่ทำประกันก็ไม่อนุมัติ และวงเงินประกันสูงมาก รายละเอียดเป็นอย่างไร มาติดตามกันครับคุณวิชัยบอกว่า ไปกู้ยืมเงินกับธนาคารออมสิน สาขาวังสะพุง จ.เลย เป็นจำนวนเงิน 2.8 ล้านบาท โดยมีที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดชำระเงิน 17 ปี และธนาคารออมสินสาขาวังสะพุงให้ทำประกันชีวิตกับบริษัทอาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด ค่าเบี้ยประกันเป็นเงิน 238,089.25 บาท และกับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด ค่าเบี้ยประกันอีก 42,015.75 บาท รวมเบี้ยประกันทั้งสองบริษัทเป็นเงิน 280,105 บาท โดยต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันครั้งเดียวในวันทำสัญญากู้เงิน โดยให้ธนาคารเป็นผู้รับผลประโยชน์คุณวิชัยมีคำถามว่าเงินเบี้ยประกันตก 10% ของยอดเงินกู้ เมื่อชำระเงินกู้จนหมดตามสัญญาก็ไม่ได้คืน“ผมถือว่าผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างยิ่ง และสงสัยว่าธนาคารมีผลประโยชน์กับบริษัทประกันภัยหรือไม่” แนวทางแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีหนังสือสอบถามไปที่ท่านกรรมการผู้จัดการธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ผลปรากฏว่าเงียบไม่มีคำตอบ เลยทำหนังสือไปติดตามความคืบหน้าอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2554 และได้พยายามติดต่อสอบถามทางโทรศัพท์อยู่หลายครั้ง ในที่สุดในวันที่ 7 กันยายน 2554 ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ จึงได้มีคำชี้แจงกลับมาอย่างเป็นทางการ บอกว่า... ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อบุคคล ได้ตรวจสอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการให้สินเชื่อสวัสดิการสำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในเรื่องการให้สินเชื่อบุคคล กรณีที่ผู้กู้ต้องการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และหรือประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อกับบริษัทผู้รับประกันที่ธนาคารกำหนด ให้รวมค่าเบี้ยประกันในจำนวนเงินให้กู้ได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่จำนวนเงินให้กู้รวมทั้งหมดต้องไม่เกินตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด และระยะเวลาเอาประกันต้องไม่เกินระยะเวลาชำระเงินกู้ตามสัญญา สำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิตให้เป็นไปตามอัตราเบี้ยประกันของบริษัทผู้รับประกัน “จากรายละเอียดดังกล่าวพิจารณาได้ว่า ธนาคารฯ ไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินสินเชื่อสวัสดิการแก่ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมกับการทำประกันชีวิต เพียงแต่หากผู้กู้มีความประสงค์ต้องการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และหรือประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อกับบริษัทผู้รับประกันที่ธนาคารกำหนดให้รวมค่าเบี้ยประกันในจำนวนเงินให้กู้ได้เท่านั้น” เมื่อมีคำตอบชัดเจนแบบนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงมีความเห็นว่า คุณวิชัยน่าจะสามารถเรียกเงิน 280,105 บาท ที่ถูกหักไปเป็นเบี้ยประกันภัยคืนจากบริษัทประกันภัยได้ เหตุผลสำคัญเพราะคุณวิชัยไม่ได้มีความประสงค์ที่จะทำประกันมาตั้งแต่แรกแล้ว และยังได้มีการทักท้วงทั้งทางวาจาและลายลักษณ์อักษรมาโดยตลอด แต่ที่ต้องทำไปเพราะถูกหว่านล้อมชักชวนจากพนักงานธนาคาร และยังไม่มีการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน จนทำให้ลูกค้าเข้าใจว่า ถ้าไม่ทำประกันภัยจะทำให้ขอสินเชื่อไม่ได้ การเข้าทำสัญญาจึงดูเหมือนการถูกบังคับจิตใจกันกลายๆเมื่อมีคำยืนยันจากธนาคารออมสินเช่นนี้อีกก็สามารถใช้เป็นหลักฐานในการเจรจาบอกเลิกสัญญากับบริษัทประกันภัยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 กู้แบงค์ผ่าน แต่คุณภาพบ้านไม่ผ่าน อยากบอกเลิกสัญญาขอเงินค

  เป็นปัญหาเรื่องบ้านๆ ที่ฉีกไปอีกมุม แต่น่าสนใจไม่แพ้ในหลายเรื่องที่เคยนำเสนอไปคุณสุปราณี ส่งแฟกซ์ขอคำปรึกษามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมาเธอเล่าว่า เมื่อประมาณวันที่ 27 พฤศจิกายน 2553 ได้เข้าไปดูตัวอย่างบ้านที่โครงการโฮมการ์เด้นวิลล์-บายพาส ของบริษัท อิมเมจ พร็อพเพอร์ตี้ ทู จำกัด ซึ่งตั้งสำนักงานขายอยู่ที่ถนนรัตนพิธาน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมาดูแบบบ้านตัวอย่าง เห็นรายการของแถมต่างๆ พิจารณาราคาบ้านและที่ดินตก 1.6 ล้าน แถมโครงการยังมีสัญญาที่มีเงื่อนไขว่า หากกู้ธนาคารไม่ผ่าน 90% ของราคาบ้านและที่ดิน โครงการยินดีคืนเงินจองเงินทำสัญญาให้ลูกค้าทันทีคุณสุปราณีเธอปิ๊งทันทีครับ เห็นสัญญาและเงื่อนไขแบบนี้ จึงตกลงวางเงินจองเงินทำสัญญารวม 40,000 บาทในวันนั้นทันทีคุณสุปราณี คงเป็นคนที่มีเครดิตดีมากในสายตาของธนาคาร เพราะผลการอนุมัติเงินกู้จากธนาคารผ่านเกิน 90% ของราคาบ้านและที่ดิน จึงโทรไปแจ้งโครงการเพื่อนัดโอนบ้านในช่วงบ่ายของวันที่ 27 มกราคม 2554 และไม่ลืมแจ้งกับโครงการว่าจะขอเข้าตรวจเช็คสภาพความเรียบร้อยของบ้านก่อนในช่วงเช้าของวันที่นัดหมายโอนบ้านการขอดูความเรียบร้อยของบ้านก่อนโอนถือเป็นความรอบคอบที่คุ้มค่ามาก ในวันที่ 25 มกราคมก่อนถึงวันโอนบ้าน 2 วัน คุณสุปราณีไปเซ็นสัญญาเงินกู้กับธนาคารเพื่อเตรียมจ่ายเช็คให้กับโครงการตามวันที่นัดไว้ แต่พอได้ไปดูสภาพบ้านในช่วงเช้าของวันโอน ก็ต้องร้องโอย...เพราะสภาพบ้านยังไม่เรียบร้อย ช่างไม่มีการเก็บงานและยังไม่ติดตั้งของแถมให้ตามเงื่อนไข ตัดสินใจเซย์โนไม่โอนบ้านทันที วันรุ่งขึ้นโทรศัพท์ไปแจ้งเซลล์ว่าขอยกเลิกไม่โอนบ้าน วันที่ 2 กุมภาพันธ์ เดินทางเข้าไปเซ็นเอกสารขอเงินค่าทำสัญญาคืน แต่พอถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เซลล์โทรมาแจ้งว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว และไม่คืนเงินทั้งหมดให้คุณสุปราณีจึงส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี เพราะเสียความรู้สึกไปตั้งแต่ทีแรกแล้วกับการดำเนินการของโครงการ แนวทางแก้ไขปัญหาการที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่สามารถสร้างบ้านให้เสร็จเรียบร้อยได้ในระยะเวลาที่กำหนดกันไว้ตามสัญญา แม้จะหลุดไปเพียงแค่วันหรือสองวัน ผู้บริโภคมีสิทธิใน 2 ทางเลือก คือ จะรับโอนบ้านหรือยืนยันบอกเลิกสัญญาขอเงินจองเงินทำสัญญาคืนก็ได้เข้าใจว่า คุณสุปราณี เธอคงไม่แน่ใจในคุณภาพบ้านว่าจะเรียบร้อยจริงหรือเปล่าตามที่เซลล์บอกมา และไม่อยากเสียเวลากับโครงการ จึงยืนยันเจตนาที่จะขอบอกเลิกสัญญาและขอเงินค่าทำสัญญาคืน เราจึงแนะนำให้ทำจดหมายบอกเลิกสัญญาขอเงินคืนแจ้งถึงกรรมการผู้จัดการฝั่งผู้ประกอบธุรกิจไปให้ชัดแจ้ง พร้อมเขียนท้ายจดหมายว่าสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยไม่ต้องไปส่งด้วยตัวเอง แต่ให้ใช้วิธีส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนตอบรับไปไม่นาน...คุณสุปราณีก็ได้รับเงินคืนตามข้อเรียกร้องเป็นที่เรียบร้อย ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับฝั่งผู้ประกอบธุรกิจว่า “สัญญาต้องเป็นสัญญา” ถ้าไม่รักษาสัญญากับผู้บริโภคที่มีความฉลาดขึ้น รับประกันว่าขายสินค้าไม่ได้แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 แก้หนี้นอกระบบ ต้องพบตำรวจดีที่สุด

คุณพรมีอาชีพค้าขาย โดยปกติของคนที่ประกอบอาชีพนี้ซึ่งมีกิจการไม่ใหญ่โตอะไรนักจะไปขอกู้เงินเพื่อลงทุนจากสถาบันการเงินต่างๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จึงเป็นธรรมดาที่ต้องมีการพึ่งพาเจ้าหนี้นอกระบบบ้าง ทั้งๆ ที่รู้ว่าดอกมันโหดแสนโหด แต่เพื่อความอยู่รอดก็ต้องยอมคุณพรไปทำสัญญาเงินกู้กับคนรู้จักกัน และก็เป็นปกติของพวกปล่อยกู้ที่จะอ้างว่าผู้หนุนหลังเป็นคนมีสีหรือผู้มีอิทธิพลลักษณะใดลักษณะหนึ่ง สำหรับเจ้าหนี้รายนี้อ้างว่ามีสามีเป็นตำรวจทางหลวง คุณพรตกลงทำยอดกู้ 30,000 บาท ถูกหักเป็นค่าดำเนินการ 18,000 บาท ได้รับเงินจริง 12,000 บาท ทางผู้ให้กู้ให้ทำสัญญาเงินกู้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แต่ผู้กู้ต้องจ่ายเงินคืนรายวันๆ ละ 180 บาท โดยคุณพรได้ชำระมากว่า 7 เดือนแล้ว แต่หลักฐานทั้งหมดอยู่กับเจ้าหนี้ต่อมาคุณพรได้ติดต่อกับเจ้าหนี้บอกว่าจะขอคืนเงินต้น 20,000 บาทได้ไหมแล้วปิดบัญชีกัน แต่ทางเจ้าหนี้ไม่ยอมบอกต้องชำระเต็ม 30,000 บาทตามสัญญา ถ้าหากยังไม่ชำระเงินต้นคืนก็ต้องจ่ายดอกรายวันไปจนกว่าจะมีเงินต้น 3 หมื่นบาทมาคืนให้เจ้าหนี้“เมื่อครู่นี้เองค่ะน้อง พี่ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหนี้รายนี้ เขาบอกว่าจะส่งตำรวจมาเก็บเงินให้เตรียมไว้ ถ้าไม่เคลียร์ต้องมีเรื่องแน่นอน ตอนนี้พี่กับสามีพี่ไม่กล้าอยู่ที่บ้านแต่ห่วงแม่ที่เฝ้าบ้านอยู่ จะทำอย่างไรดีน้อง” คุณพรโทรศัพท์เข้ามาปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่คาบเกี่ยวกับความผิดทางอาญาทั้งเรื่องการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมายและการข่มขู่ กรรโชก สิ่งที่ควรทำโดยทันทีคือ การไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุครั้งแรกที่คุณพรได้รับคำแนะนำ ก็คิดเหมือนกับลูกหนี้นอกระบบโดยทั่วไปว่าเจ้าหนี้มีคนมีสีเข้ามาเกี่ยวข้องไปแจ้งความกับตำรวจจะได้เรื่องได้ประโยชน์อะไร แต่ท้ายสุดได้ลองทำตามคำแนะนำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท กลับพบสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจร้อยเวรให้บริการด้วยความประทับใจ ทั้งรับแจ้งความและช่วยสืบเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวเจ้าหนี้นอกระบบรายนี้ด้วย ซ้ำยังให้นามบัตรและเบอร์มือถือส่วนตัวให้อีก พร้อมกับแจ้งกับคุณพรว่า ให้ติดต่อได้ทันทีหากเจ้าหนี้ส่งคนไปคุกคามท้ายที่สุดเจ้าหนี้รายนี้เมื่อรู้ว่าจะต้องเจอตำรวจตัวจริงเข้า ก็ยอมที่ยุติเรื่องตกลงเรียกเก็บหนี้ตามที่ตกลงกันไว้แต่แรกเท่านั้น ไม่มีการเรียกเก็บดอกเบี้ยรายวันอีกต่อไป เพราะรู้ว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายและอาจติดคุกได้ถ้าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีจริง ๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 กระแสต่างแดน

รับประกันความเหนียว ในครึ่งแรกของปี 2013 ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร ที่คนอังกฤษร้องเรียนบ่อยที่สุดคือเรื่องที่เกี่ยวกับ “การประกันเงินกู้” ธนาคารและบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่อังกฤษนิยมขายบริการเงินกู้พ่วงกับการประกัน ด้วยเงื่อนไขว่าจะรับผิดชอบจ่ายหนี้ให้ในกรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถทำงานได้ แต่เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยกลับไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไร เพราะบรรดาข้อยกเว้นยุบยิบที่แนบท้ายมาในกรมธรรม์นั่นเอง ผู้ตรวจการด้านการเงินการธนาคารของอังกฤษบอกว่า ในบรรดาเรื่องร้องเรียน 327,000 เรื่องที่ส่งเข้ามา มีถึงร้อย 86 ที่เป็นกรณีธนาคารเบี้ยวเงินชดเชย หรือไม่ก็ถ่วงเวลาให้ผู้เอาประกันต้องรอโดยไม่จำเป็น   รายงานดังกล่าวระบุว่า 1 ใน 3 เป็นการร้องเรียนพฤติกรรมของสถาบันการเงินในกลุ่ม Lloyds Banking Group โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารแห่งสกอตแลนด์ ที่มีคนร้องเรียนมากกว่า 58,000 ราย และที่ถูกร้องเรียนมากเป็นอันดับสองได้แก่ บาร์เคลย์ ด้วยเรื่องร้องเรียนกว่า 44,000 เรื่อง ผู้ตรวจการฯ พบว่าบริษัทเหล่านี้ตั้งเงินสำรองสำหรับการประกันเหล่านี้ไว้ถึง 18,000 ล้านปอนด์ แต่ก็ยังปฏิเสธการให้เงินชดเชยกับผู้เอาประกันแม้ในกรณีที่สมควรจ่าย และที่สำคัญ 1 ใน 3 ของกรณีขอรับการชดเชยที่ถูกปฏิเสธไปนั้น เมื่อตรวจสอบดูแล้วพบว่าเข้าข่ายการได้รับเงินชดเชยด้วย ยังดีตรงที่ในการยื่นเรื่องกับผู้ตรวจการนั้น เขากำหนดให้ธนาคาร/บริษัทที่ขายประกัน เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย 550 ปอนด์ต่อเรื่องร้องเรียน ไม่ว่าเรื่องนั้นจะได้รับผลการพิจารณาว่าธนาคาร/บริษัทต้องรับผิดชอบหรือไม่ ค่อยยังชั่ว ... นึกว่าต้องซื้อประกันเพื่อความมั่นใจว่าประกันเงินกู้ที่ซื้อไว้จะจ่ายค่าชดเชยให้เราอีกด้วยนะนี่   ถูกไป..ไม่กล้าซื้อ ในห้างเมโทรของเวียดนาม ส้มนำเข้าจากออสเตรเลียขายในราคาเพียงกิโลกรัมละ 50,999 ดอง(75 บาท) แอปเปิ้ลจากอเมริกาก็กิโลกรัมละ 44,900 ดอง(66 บาท) เท่านั้น แต่กลับไม่เป็นที่นิยมเพราะผู้บริโภคไม่แน่ใจว่ามันมาจากไหนกันแน่ เป็นที่รู้กันทั้งประเทศว่าเวียดนามมีกฎระเบียบการนำเข้าผลไม้ที่เข้มงวด ซึ่งกำหนดให้มีการตรวจสอบเพื่อหาแมลง โรคระบาด หรือสารเคมีตกค้างต่างๆ ราคาผลไม้นำเข้าที่นั่นจึงค่อนข้างแพง กระทรวงการเกษตรและการพัฒนาชนบท ยืนยันว่าปัจจุบันผลไม้ที่นำเข้าจากประเทศตะวันตกนั้นมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่เห็นขายกันอยู่ตามท้องถนนส่วนใหญ่เป็นการลักลอบนำเข้า ที่สำคัญข่าวเขาบอกว่า เป็นเรื่องยากที่จะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของผลไม้นำเข้า เพราะแม้แต่สมาคมผักและผลไม้แห่งเวียดนามเองก็แสดงข้อมูลเกี่ยวกับผลไม้ส่งออกเท่านั้น ถ้าอยากรู้ก็ต้องอาศัยข้อมูลจากภายนอก แอปเปิ้ลส่วนใหญ่ที่ขายในเวียดนามมาจากจีน โดยอ้างอิงตัวเลขของจีนที่ระบุว่ามูลค่าการส่งออกแอปเปิ้ลมาเวียดนามในระหว่างปี 2008 -2010 อยู่ที่ 53 ล้านเหรียญ ในขณะที่ตัวเลขจากอเมริกามีเพียง 8 ล้านเหรียญเท่านั้น   แบรนด์นั้นสำคัญแต่ ... การสำรวจความเห็นของคน 134,000 คน ทั่วโลก โดย Havas Media Group พบว่า ผู้บริโภคไม่รู้สึกอาลัยอาวรณ์นัก ถ้าร้อยละ 73 ของแบรนด์ต่างๆ ที่มีอยู่นั้นจะหายไปจากโลกนี้ และพวกเขาเชื่อว่ามีเพียง 1 ใน 5 ของแบรนด์เหล่านี้เท่านั้นที่ทำให้คุณภาพชีวิตผู้บริโภคดีขึ้นจริงๆ ถ้าเจาะดูเฉพาะคนยุโรป จะเห็นว่าค่อนข้างโหดทีเดียว พวกเขาเชื่อว่ามีเพียงร้อยละ 5 ของแบรนด์เท่านั้นที่ทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น และก็ไม่แคร์แม้ว่าร้อยละ 93 ของแบรนด์ที่มีอยู่จะหายไป มีเพียง 1 ใน 5 ของคนยุโรปและ 1 ใน 4 ของคนอเมริกันเท่านั้น ที่เชื่อว่าแบรนด์เหล่านี้สื่อสารกับตนเองด้วยความจริงใจเวลาที่ให้คำมั่นสัญญาหรือประกาศเจตนารมณ์ใดก็ตาม เจ้าของแบรนด์อาจจะอยากทบทวนการใช้งบประมาณหลายพันล้านปอนด์ที่ทุ่มเทให้กับการสร้างแบรนด์ แล้วหันมาเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมแทน เพราะตัวเลขจากตลาดหุ้นยืนยันว่าบริษัทที่แสดงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมได้ชัดเจน จะมีผลประกอบการที่สูงกว่าด้วย ที่น่าสนใจคือผู้บริโภคเชื่อว่าแบรนด์สามารถมีบทบาทในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและเพิ่มสุขภาวะของพวกเขา  คนยุโรปและอเมริกากว่าครึ่งก็เห็นด้วย แต่ในปัจจุบันแบรนด์เหล่านี้ยังไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังดังกล่าวได้   เหมือนเดิม .. โซเดียมด้วย ด้วยกระแสกดดันให้ลด ละ เลิก อาหารที่มีไขมัน เกลือหรือน้ำตาลสูง ทำให้เราคิดไปว่าบรรดา ร้านอาหารจานด่วนรายใหญ่ๆ เขาคงจะปรับเปลี่ยนเมนูให้เป็นมิตรต่อสุขภาพมากขึ้น ... หรือเปล่า? งานสำรวจที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Journal of the Academy of Nutrition and Diabetes เปิดเผยว่า ปริมาณแคลอรี่และโซเดียมในอาหารจานหลักของร้านฟาสต์ฟู้ดในอเมริกาในปี 2011 ก็ไม่ได้ลดลงจากปี 2010 แต่อย่างใด ข้อมูลดังกล่าวเป็นผลจากสำรวจอาหารจากหลัก 26,000 เมนู ในร้านจานด่วน 213 สาขาทั่วอเมริกา ในปี 2010 ค่าเฉลี่ยของพลังงานที่ได้จากอาหารจานหลัก 1 จานในร้านเหล่านี้อยู่ที่ 670 แคลอรี่ และยังคงเท่ากับค่าในปี 2011 ที่ร้านอาหารเริ่มแสดงข้อมูลโภชนาการของอาหารเมนูต่างๆ แล้ว และแม้จะมีการลดปริมาณแคลอรี่ลงเล็กน้อยในเมนูทั่วไป กลับไม่มีการลดปริมาณแคลอรี่ในเมนูสำหรับเด็ก ส่วนปริมาณโซเดียมโดยเฉลี่ยก็ลดลงเพียง 15 มิลลิกรัมต่อเมนูเท่านั้น ผู้วิจัยยังพบด้วยว่า แม้ร้านเหล่านี้จะปรับเปลี่ยนเมนูอยู่เป็นประจำ แต่ทุกครั้งที่มีการเพิ่มเมนูเพื่อสุขภาพก็จะมีการใส่เมนูตามใจปากเข้ามาด้วย การสำรวจนี้ฟันธงว่า ผู้ประกอบการยังไม่ได้ปรับปรุงโภชนาการของอาหารในร้านให้ดีขึ้น  มาตรการที่กำหนดให้แสดงข้อมูลโภชนาการเพียงอย่างเดียวจึงน่าจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้คนอเมริกามีนิสัยการกินที่ดีขึ้น     พร้อมรับคนสูงวัย การสูงวัยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชากรทุกคนอยู่ตลอดเวลา เรามาดูกันว่าประเทศไหนพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุกว่ากัน การสำรวจ Global AgeWatch Index 2013 ที่ทำใน 91 ประเทศ ซึ่งครอบคลุมร้อยละ 89 ของจำนวนประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ได้จัดอันดับให้สวีเดนเป็นประเทศที่ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตและสุขภาวะดีที่สุด แม้จะไม่ได้เป็นที่หนึ่งในแต่ละด้านที่ทำการสำรวจ ซึ่งได้แก่ 1) ความมั่นคงทางรายได้  2) สุขภาพ  3) การจ้างงาน/การศึกษา และ 4) สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต  แต่สวีเดนซึ่งมีประชากรวัย 60 ขึ้นไปประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด 9.5 ล้านคน ก็ติดอยู่ในอันดับท็อปเท็นของทุกด้าน ในด้านรายได้ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีที่มีรายได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรายได้เฉลี่ยของประชากรนั้นมีเพียงแค่ร้อยละ 9 และคนสวีเดนยังมีอายุคาดหลังวัย 60 ไปอีก 24 ปี อีกทั้งเขายังพบว่ามีประชากรในวัย 50 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 95.6 ที่รู้สึกว่าชีวิตยังมีความหมาย และผู้ที่มีอายุระหว่าง 55 – 64 ปีที่ยังมีงานทำอยู่ก็มีมากกว่าร้อยละ 70 ด้วย ตำแหน่งประเทศที่ผู้สูงอายุมีรายได้ดีที่สุดนั้นเป็นของลักเซมเบิร์ก ด้านสวิตเซอร์แลนด์ได้ครองตำแหน่งประเทศที่ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีที่สุด ส่วนนอร์เวย์รั้งตำแหน่งประเทศที่มีอัตราการจ้างงานผู้สูงอายุสูงที่สุด ในขณะที่ผู้สูงวัยชาวเนเธอร์แลนด์คือกลุ่มคนที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตได้โดยอิสระมากที่สุด และหากคุณสงสัย ... ประเทศไทยก็ไม่ขี้เหร่ เข้าอันดับที่ 42 ซึ่งเป็นอันดับที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน (งานนี้เขาไม่ได้สำรวจที่สิงคโปร์) และเราได้อันดับที่ 8 ในเรื่องของสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุด้วย เพราะมีถึงร้อยละ 89 ที่รู้สึกว่าตนเองสามารถติดต่อเพื่อนหรือญาติได้ในกรณีที่มีปัญหา และมีมากกว่าร้อยละ 80 ที่รู้สึกว่ายังสามารถเดินไปไหนมาไหนในเมืองได้โดยไม่ต้องกลัวอันตราย   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 กระแสต่างแดน

ยิ่งสุข ยิ่งหวาดระแวงมีข้อค้นพบจากงานวิจัยว่า คนเราซื้อระยะประกันเพิ่มสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายด้วยสองสาเหตุ หนึ่ง คือเราไม่สามารถประเมินความเสี่ยงได้อย่างถูกต้อง สองสภาวะจิตใจของเราในขณะที่ซื้อนั้นมันสุขเกินไปยิ่งเรามีความสุขมากเท่าไร เราก็จะยิ่งอยากหลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากเท่านั้นปกติแล้วก่อนที่เราจะลงมือซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ราคาแพงสักชิ้นเรามักจะต้องทำการศึกษามาดีพอใช้ น้อยคนนักที่จะหาข้อมูลเรื่องการซื้อเวลารับประกันเพิ่ม แต่การประกันแบบนี้กลับมีคนตัดสินใจซื้อมากมายคนขายก็มักให้เหตุผลกับเราว่า เราอาจพลั้งเผลอทำอุปกรณ์เหล่านี้ตกหล่นเมื่อไรก็ได้ และซื้อการประกันนั้นก็ง่ายมาก ประหยัดเวลา คิดแล้วถูกกว่าออกไปกินข้าวนอกบ้านหนึ่งมื้อเสียอีก ทำนองนี้เป็นต้นเหตุที่ทางร้านพยายามอย่างยิ่งที่จะขายการรับประกันเพิ่มให้กับลูกค้าก็เพราะ บริการดังกล่าวสามารถทำเงินมหาศาลให้กับทางร้านนั่นเอง ลองคิดดูว่าประกันเพิ่มสำหรับเน็ตบุ๊คราคา 400 เหรียญนั้นเท่ากับ 130 เหรียญ (เกือบ 1ใน 3) เลยทีเดียวSquareTrade เป็นบริษัทที่ขายการรับประกันให้กับสินค้าที่ซื้อขายทางอินเตอร์เน็ตเป็นต้น เชื่อหรือไม่บริษัทนี้สามารถขายการรับประกันให้กับเน็ทบุ๊คตัวเดียวกันในราคา 60 เหรียญเท่านั้น ซีอีโอ ของ SquareTrade บอกว่าบริการประกันแบบนี้มันไม่ใช่บริการที่ไม่ดีนะ เพียงแต่ร้านต่างๆ มักขายในราคาที่แพงเกินกว่าเหตุเท่านั้นเองในทางกลับกัน หน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคจะแนะนำว่าเราไม่ควรเสียเงินกับการเพิ่มระยะรับประกันเหล่านั้นเลยจะดีกว่า เพราะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องซ่อมหรือถ้าจะซ่อม มันก็อยู่ในงบประมาณเดียวกับค่าซื้อการรับประกันเพิ่มนั่นแหละเรามักคิดว่าอย่างไรเสียค่าซื้อประกันเพิ่มมันก็ยังน้อยกว่าค่าซื้อสินค้าใหม่ แต่ยังไม่มีใครรู้เลยว่าอัตราการเสียของสินค้าเหล่านี้เป็นเท่าไร แต่ขอบอกว่ามันต่ำกว่าที่คุณคิดแน่นอนคอนซูเมอร์รีพอร์ต นิตยสารเพื่อผู้บริโภคของอเมริกา ได้ทำการสำรวจกับผู้อ่าน แล้วทำการคำนวณอัตราการเสียของอุปกรณ์เหล่านี้ในระยะ 3 ถึง 4 ปี และพบว่าอัตราการเสียของเครื่องเล่นโทรทัศน์ มีเพียงร้อยละ 3 (จากเครื่องเล่นโทรทัศน์ทั้งหมด 10 ยี่ห้อ) ในขณะที่อัตราการเสียของกล้องถ่ายรูปมีร้อยละ 10อัตราสูงที่สุดได้แก่ โน๊ตบุ้ค (ร้อยละ 43) แต่นั่นเป็นการเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุและการมีของเหลวหกใส่คีย์บอร์ด ซึ่งโดยทั่วไปก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขรับประกันอยู่แล้ว ... นั่นสิ แล้วคนเราซื้อประกันเพิ่มเพราะอะไรนักวิชาการให้ทัศนะว่า เราซื้อประกันพวกนี้เพราะเราอยู่ในอารมณ์ที่ดีเกินไปขณะที่กำลังจะได้มาซึ่งสินค้าที่เราเฝ้าฝันถึงมานาน สถิติบอกว่าคนเรานิยมซื้อระยะเวลารับประกันเพิ่มให้กับสินค้าประเภทที่ให้ความสุข มากกว่าสินค้าที่ซื้อเพราะต้องใช้ประโยชน์จากมัน (อย่างเครื่องซักผ้าหรือตู้เย็น)ฟังดูคล้ายเราควรหาเรื่องให้ตัวเองอารมณ์เสียสักเล็กน้อยก่อนออกไปซื้อของ จะได้ตัดสินใจอย่างมีสติขึ้นนะนี่จัดระเบียบเนื้อสดเชื่อหรือไม่ว่าประเทศที่ส่งออกเนื้อวัวมากเป็นอันดับสองของโลกอย่างออสเตรเลีย ไม่มีระบบการติดฉลากระบุคุณภาพสำหรับเนื้อวัวที่ขายในประเทศของตนเอง ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงไม่สามารถรู้ได้ว่า เนื้อที่ตนเองกำลังจะซื้อไปทำอาหารรับประทานนั้นเป็นเนื้อที่มีคุณภาพในระดับใดว่ากันว่าปัจจุบัน ร้อยละ 3 ของเนื้อวัวที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตในออสเตรเลีย เป็นเนื้อโคแก่ ที่แพ็คขายโดยติดฉลากว่าเป็นเนื้อ “คุณภาพเยี่ยม” หรือที่เรียกติดปากในภาษาฝรั่งว่า “พรีเมี่ยม” นั้นแลทุกวันนี้ออสเตรเลียไม่มีระบบการคัดแยกแบบบังคับสำหรับเนื้อวัวที่ขายในประเทศ มีเพียงโครงการแบบสมัครใจ ซึ่งก็มีเพียงเจ้าของไร่ปศุสัตว์เพียง 12,500 ไร่ จากทั้งหมด 160,000 ไร่ เท่านั้นที่สมัครเข้าร่วมโครงการให้การรับรองขององค์กร Meat and Livestock Australiaภายใต้ระบบรับรองที่ว่านี้ เนื้อจากโคเนื้อที่มีอายุสามปีครึ่งขึ้นไป หรือเนื้อโคนมที่พ้นวัยให้นมแล้วจะถูกจัดเข้าประเภทที่เหมาะกับการบริโภคในรูปแบบของเนื้อบดเท่านั้น แต่มีอีกข้อตกลงดั้งเดิมที่ระบุว่า เนื้อโคอายุมากเหล่านั้นสามารถนำมาขายในรูปแบบของสก็อตช์ฟิลเล่ท์ หรือ ทีโบนได้ ถ้ามีการระบุที่ฉลากว่าเป็นเนื้อโค “ราคาประหยัด”ทำไปทำมาบางห้างก็เลยทำมึนๆ ติดฉลากบรรดาเนื้อโคแก่เหล่านั้นว่า “พิเศษ” ไปด้วย ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าได้ของดีราคาถูก (ซึ่งความจริงแล้ว มันคือของไม่ดี ราคาถึงได้ถูก)รัฐบาลนิวเซาท์เวลส์ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการเสนอให้มีระบบการรับรองแบบเดียวกับ AUS-Meat ที่ใช้ในการรับรองและคัดแยกประเภทของเนื้อวัวที่ส่งออกจากออสเตรเลียไปขายทั่วโลกนั้นแลPenFriend เพื่อนใหม่ใช้อ่านฉลากหลายคนรู้จักสิ่งที่เรียกว่า PenFriend ที่คุณครูภาษาอังกฤษสมัยประถมเคยให้เราฝึกเขียนจดหมายภาษาอังกฤษถึงเพื่อนต่างชาติ (นี่ถือเป็นการเช็คอายุคนอ่านไปในตัว เด็กเดี๋ยวนี้คงใช้ MSN Hi5 หรือ Facebook กันแล้ว)แต่ PenFriend นาทีนี้ คือ อุปกรณ์หน้าตาคล้ายปากกาชนิดใหม่ที่ทำให้ผู้พิการทางสายตา สามารถอ่านฉลากบนสินค้าต่างๆ ได้ อุปกรณ์ดังกล่าวใช้ระบบบาร์โค้ด ซึ่งเมื่อสแกนด้วยปากกาดิจิตัลแล้วจะไปเปิดไฟล์ เอ็มพี3 ที่บันทึกเสียงเอาไว้นั่นเองอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นมาในโครงการร่วมระหว่างสถาบันผู้พิการทางสายตาแห่งชาติของอังกฤษและบริษัทลิงกัว มันตรา มีราคาประมาณ 60 ปอนด์ (ประมาณ 3,200 บาท) และสามารถใช้ในการทำฉลากตั้งแต่ อาหาร เสื้อผ้า ดีวีดี หรือ อัลบั้มเพลงต่างๆ ได้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Optical Identification (OID) นี้จะพิมพ์จุดเล็กๆ ลงไปบนแผ่นสติกเกอร์ ซึ่งสามารถอ่านได้ด้วยสแกนเนอร์ที่อยู่ตรงปลายของปากกา และขณะที่มันสแกน ก็จะเปิดไฟล์เสียงที่บันทึกไว้เพื่อบอกว่า ของที่อยู่ในขวดนั้นเป็นอะไร ซึ่งหมายความว่าจะบันทึกวันหมดอายุหรือคำแนะนำในการประกอบอาหารไว้ด้วยได้ ประกาศ! ห้ามใช้ทีวีกินไฟคณะกรรมาธิการด้านพลังงานของรัฐแคลิฟอร์เนียลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า ต่อไปนี้โทรทัศน์ขนาดไม่เกิน 58 นิ้ว ที่ขายในรัฐดังกล่าว จะต้องลดอัตราการกินไฟลงอย่างน้อยร้อยละ 33 ภายในปี พ.ศ. 2554 และจะต้องลดลงร้อยละ 49 ภายในปีพ.ศ. 2556ร้อยละ 10 ของการบริโภคพลังงานไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนียเกิดจากการเปิดเครื่องรับโทรทัศน์ (ยิ่งเป็นโทรทัศน์จอพลาสมานั้น ก็จะยิ่งกินไฟมากกว่าโทรทัศน์ธรรมดาถึง 3 เท่า)ถ้าทุกคนในรัฐเปลี่ยนมาใช้โทรทัศน์ที่สามารถใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ก็จะประหยัดค่าไฟได้ 30 เหรียญต่อเครื่อง ต่อปีเลยทีเดียวอุตสาหกรรมผู้ผลิตโทรทัศน์ว่าอย่างไรน่ะหรือ บ้างก็โวยวายว่านี่มันเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเป็นการแทรกแซงกลไกตลาด ซึ่งกำลังทำให้เกิดการผลิตสินค้าที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว (ขณะนี้มีโทรทัศน์ประหยัดไฟขายอยู่ในท้องตลาดประมาณ 1,000 รุ่นแล้ว)ในแต่ละปี คนแคลิฟอร์เนียซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ 4 ล้านเครื่องหนี้ศัลยกรรมขณะนี้ประเทศเวเนซูเอล่ากำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ หลังจากที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปีแม้เศรษฐกิจจะไม่เป็นใจแต่คนเวเนซูเอล่าก็ยังมุ่งมั่นที่จะทำหน้าเด้ง ดูดไขมัน และเสริมหน้าอกกันต่อไป สถิติการทำศัลยกรรมที่นี่ไม่เคยลดลงเลย ไม่เค้ย ไม่เคย ที่เขาจะคิดหยุดทำ เพียงแต่คิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะได้ทำเท่านั้นทางออกคือการรูดปรึ๊ด หรือไม่ก็หาเงินกู้นั่นเองแพทย์ศัลยกรรมคนหนึ่งบอกว่า ยิ่งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนก็ยิ่งอยากจะใช้จ่ายเพื่อการปลอบประโลมตัวเองมากขึ้น บ้างก็งัดเอาเงินเก็บออกมาทำสวย ที่ไม่มีก็กู้ยืมกันมาทีเดียว แพทย์คนเดิมบอกว่าลูกค้าบางรายยอมย้ายออกมาอยู่ในห้องเช่าที่เล็กลงเพื่อจะได้มีเงินเหลือไปทำการแปลงโฉม ส่วนอีกรายเอารถไปขายเพื่อหาเงินมาดึงหน้านักจิตวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเวเนซูเอล่าบอกว่าเรื่องนี้มันเกิดกับคนส่วนน้อย เพราะผู้หญิงกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำนั้น มักไม่มีเงินเก็บให้ถอนออกมาใช้ หรือมีทรัพย์สินอะไรที่จะเอาไปขายได้อย่างนั้นหรอกแต่ถ้าดูจากโฆษณาของคลินิกศัลยกรรมตามสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจะเห็นว่า คลินิกเหล่านี้นั่นแหละที่เสนอปล่อยเงินกู้ให้เพื่อการศัลยกรรม หรืออีกนัยหนึ่งอุตสาหกรรมนี้กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องในทุกสภาพเศรษฐกิจคนที่นี่จำนวนไม่น้อยมองว่าการทำศัลยกรรมไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย พวกเขาเชื่อว่าคนเราจำเป็นจะต้องสวย ถึงคุณไม่อยากจะสวยแต่แรงกดดันจากสังคมก็ทำให้คุณอยากจะไปพึ่งมีดหมออยู่นั่นเอง ร้อยละ 60 ของผู้หญิงที่นั่นทำการผ่าตัดเพิ่มขนาดหน้าอก และหลายคนก็ทำมากกว่าหนึ่งครั้งด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 ซื้อขายที่ดินกันปลอมๆ เพื่อให้กู้เงินธนาคารได้ มีผลทางกฎหมายอย่างไร

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน กลับมาพบกันอีกครั้งนะครับ ในเล่มนี้อยากจะพูดถึงเรื่องของคนที่มีทรัพย์สินเป็นที่ดินและบ้าน แต่อยู่ไปอยู่มากลายเป็นหนี้ กลายเป็นคนไม่มีเครดิต แล้วกำลังจะถูกเขายึดบ้านยึดที่ไปขาย เมื่อไม่อยากให้ที่ดินและบ้านของตนถูกบังคับใช้หนี้  จึงหาทางออกโดย ไปตกลงกับเพื่อนหรือญาติที่เครดิตดีกว่า ให้นำบ้านและที่ดินไปจำนองเพื่อกู้ยืมเงินธนาคารแทน ซึ่งก็มีเรื่องจริงเกิดขึ้นกับท่านหนึ่ง เขาก็ไปทำสัญญาซื้อขายกันบังหน้า เพื่อให้เพื่อนที่เครดิตดีกว่าไปกู้เงินธนาคารมาให้ โดยมีข้อตกลงกันว่าเจ้าของที่ดินและผู้กู้เงินธนาคารจะเป็นผู้ผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารคนละครึ่งผ่อนหมดจะแบ่งที่ดินคืนครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งตกเป็นของผู้กู้และทำสัญญาเช่าที่ดินกับผู้กู้เงินเป็นประกัน เพื่อให้ผ่อนหนี้เงินกู้ตามสัญญา ต่อมาเจ้าของที่ดินไม่ชำระหนี้ตรงตามกำหนด คนที่กู้เงินและมีชื่อในโฉนดที่ดินจึงนำสัญญาเช่ามาฟ้องขับไล่เจ้าของที่ดินเป็นคดี ซึ่งเรื่องนี้ ได้สู้คดีกันจนถึงศาลฎีกา และศาลได้ตัดสินไว้ว่า สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินและสัญญาเช่าดังกล่าว ทำกันโดยไม่มีเจตนาจะซื้อขายกันจริง หรือเช่ากันจริง จึงเป็นเจตนาลวง ไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย แต่เรื่องนี้ มีข้อสัญญาบางส่วน ซึ่งศาลมองว่าใช้บังคับกันได้ แยกออกจากสัญญาซื้อขาย หรือเช่าดังกล่าว โดยมองเจตนาแท้จริงว่า ต้องการแบ่งที่ดินกันคนละครึ่ง เมื่อเจ้าของที่ดินผ่อนชำระหนี้ตามที่ตกลง จึงมีฐานะเป็นเจ้าของร่วม ผู้กู้จึงไม่มีสิทธิไปฟ้องขับไล่เจ้าของที่ดิน  โดยมีรายละเอียดตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2952/2554 ดังนี้ สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทเป็นสัญญาที่ทำขึ้นโดยไม่มีเจตนาแท้จริงให้ผูกพันกัน เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์และจำเลย เพื่อให้โจทก์นำที่ดินและบ้านพิพาทไปจำนองเป็นประกันหนี้กู้ยืมต่อธนาคาร และให้จำเลยทำสัญญาเช่าเพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคาร สัญญาซื้อขายและสัญญาเช่าดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง เจตนาที่แท้จริงของโจทก์และจำเลยเกิดจาก ส. และจำเลยเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยเนื่องจากเจ้าหนี้จะยึดที่ดินและบ้านที่อยู่อาศัยชำระหนี้ แต่จำเลยและ ส. ไม่สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารมาชำระหนี้ได้ จึงต้องขอให้โจทก์เป็นผู้กู้ยืมเงินให้เพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของจำเลย เพื่อจะนำที่ดินมาเป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยและ ส. โดยจำเลยและ ส. มีหน้าที่ร่วมกันผ่อนชำระหนี้ที่โจทก์กู้ยืมมาคนละครึ่ง หากจำเลยและ ส. ร่วมกันชำระหนี้จนครบ 10 ปี ตามสัญญาจำนอง หนี้จะหมด จำเลยมีสิทธิได้แบ่งที่ดินส่วนที่จำเลยปลูกบ้านแล้วจำนวนครึ่งหนึ่งของที่ดินทั้งหมดนอกจากส่วนที่กันเป็นถนน ส่วนที่ดินที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจะตกเป็นของ ส. ซึ่งถือเป็นตัวการซึ่งเชิดโจทก์เป็นตัวแทนทำนิติกรรมแทน ส. สัญญาตามบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาซื้อขายที่ดินแม้จะถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท แต่เจตนาที่แท้จริงของโจทก์และจำเลยที่ต้องการให้ ส. และจำเลยมีที่ดินอยู่อาศัยคนละครึ่ง จึงให้จำเลยร่วมผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารครึ่งหนึ่ง เพื่อว่าเมื่อจำเลยร่วมผ่อนชำระหนี้ครบแล้วจะได้แบ่งที่ดินครึ่งหนึ่ง จึงพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีเจตนาจะให้ตกลงในส่วนนี้แยกออกจากสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ข้อตกลงในส่วนนี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะและมีผลผูกพันโจทก์ว่า เมื่อจำเลยร่วมผ่อนชำระหนี้จำนองแก่ธนาคารแม้เพียงบางส่วนจำเลยก็มีสิทธิในที่ดินพิพาทฐานะในเจ้าของร่วมด้วยเช่นกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทอีกเรื่อง เป็นกรณีโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เอาที่ดินตาม น.ส.3 ก. ของโจทก์ทำสัญญาขายฝากไว้แก่จำเลยเพื่อยืมเงินจากจำเลย 30,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยอ่านหนังสือไม่ออก จึงไม่ทราบว่าสัญญาที่ทำเป็นสัญญาซื้อขายมิใช่สัญญาขายฝาก ในวันเดียวกันที่ทำสัญญาดังกล่าว จำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์ว่าการทำสัญญาซื้อขายข้างต้นนั้นเป็นการขายฝากที่ดินมีกำหนด 2 ปี สัญญาซื้อขายที่ดินจึงเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาขายฝาก ต่อมาโจทก์ขอไถ่ถอนที่ดินจากจำเลย จำเลยไม่ยอมให้ไถ่ถอน จึงมาฟ้องคดีเพื่อให้จำเลยรับเงินจากโจทก์และโอนที่พิพาทคืนโจทก์ ซึ่งศาลก็มองว่าเรื่องนี้ เป็นการทำ “นิติกรรมอำพราง” คือทำสัญญาซื้อขายกันลวงๆ โดยเจตนาแท้จริงที่อำพรางไว้ คือให้เป็นสัญญาขายฝากที่ดิน ซึ่งก็ต้องบังคับตามสัญญาขายฝาก แต่เรื่องนี้ การขายฝากไม่ได้จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลจึงถือว่าที่ดินดังกล่าว ที่จำเลยได้ไปเป็นลาภมิควรได้ จึงต้องคืนที่ดินให้โจทก์  โดยมีรายละเอียดตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 165/2527โจทก์ต้องการกู้เงินจำเลย จำเลยไม่มีเงิน จึงตกลงจดทะเบียนซื้อขายที่พิพาทมี น.ส.3ก. เพื่อจำเลยจะได้นำน.ส.3ก. ไปยืมเงินเพื่อนมาให้โจทก์กู้ หลังจากนั้นอีก4 วันโจทก์มารับเงินจากจำเลย แล้วโจทก์จำเลยทำสัญญาขายฝากที่พิพาทกันเอง ดังนี้ ถือได้ว่าการทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทเพื่ออำพรางสัญญาขายฝาก สัญญาซื้อขาย จึงเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณี ที่จะไม่ผูกพันกันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก( ปัจจุบันคือ มาตรา 155 )  ส่วนนิติกรรมขายฝากที่ถูกอำพรางไว้ เมื่อไม่ได้จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 115 กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้โจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย และจำเลยต้องคืนที่ดินให้โจทก์จากตัวอย่างกรณีพิพาทที่ยกมาให้ศึกษากันนี้ ก็อยากเตือนผู้บริโภคว่า การทำสัญญาใดๆ ก็ตาม เราควรทำอย่างสุจริต ไม่ควรไปเสี่ยงทำสัญญากันหลอกๆ เพื่อให้มีผลผูกพันกันโดยไม่มีข้อสัญญาเป็นหนังสือรับรอง เพราะเมื่อภายหลังเกิดการผิดข้อตกลงกัน สัญญาเหล่านี้จะไม่มีผลใช้บังคับกันได้ และเกิดปัญหาต้องมาพิสูจน์ซึ่งอาจทำได้ยากลำบาก และหากคู่สัญญาของเราเกิดอยากเอาเปรียบเราก็จะทำให้เดือดร้อนได้  หลักที่ว่าสัญญาต้องเป็นสัญญาก็ไม่สามารถนำมาใช้กับกรณีเช่นนี้ได้นะครับ  ซึ่งหากโชคร้ายท่านก็อาจต้องสูญเสียทรัพย์โดยไม่ตั้งใจ ดังนั้นขอให้มีสติก่อนที่จะทำสัญญาใดก็ตาม และทำด้วยความระมัดระวังอ่านข้อสัญญาต่างๆ ให้ดี เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนเองไม่ให้ถูกใครมาเอาเปรียบได้นะครับ สำหรับวันนี้ ก็ขอจบเพียงเท่านี้ ไว้พบกันใหม่ในฉบับหน้าครับ สวัสดีครับ

อ่านเพิ่มเติม >