ฉบับที่ 186 Repair café การจัดการทางสังคมในการลดขยะอิเลคทรอนิกส์

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการจากบทความฉบับที่แล้ว นำเสนอปัญหาของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ที่มีความรู้สึกว่า เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์ มือถือ คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน มีอายุการใช้งานที่สั้นมากจนผิดปกติ บางครั้งการชำรุดบกพร่องของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กล่าวมานั้นยังพอใช้งานได้ เพียงแต่ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์บางชิ้นชำรุดเสียหาย ต้องการแค่เปลี่ยนอะไหล่ แต่พอติดต่อศูนย์บริการหลังการขาย ก็ประสบปัญหาอะไหล่ไม่มี หรือค่าแรงในการซ่อมแพงกว่าการซื้ออุปกรณ์เครื่องใหม่ ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นองค์กรผู้บริโภค และหน่วยงานภาครัฐของเยอรมนีที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ต่างมีความกังวลกับการที่อายุการใช้งานเฉลี่ยของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มสั้นลง ซึ่งนอกจากจะเป็นการสูญเสียและสิ้นเปลืองงบค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคแล้ว ยังก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะอิเลคทรอนิกส์ตามมาอีกด้วยสำหรับบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอวิธีการทางสังคม ที่เข้ามาช่วยจัดการเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดมาจาก การชำรุดบกพร่องของโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ตโฟนก่อนอายุอันสมควรRepair Café Repair Café เป็นการรวมกลุ่มของผู้มีใจรักสิ่งแวดล้อมและต้องการลดปัญหาขยะอิเลคทรอนิกส์ เนื่องจากว่า การซ่อมสมาร์ตโฟนในเยอรมนีมีราคาแพงมาก ไม่ว่าจะซ่อมเล็กหรือซ่อมใหญ่ เนื่องจากค่าแรงของช่างซ่อมนั้นมีราคาสูงตามมาตรฐานช่างฝีมือในประเทศที่พัฒนาแล้ว การรวมกลุ่มในรูปแบบ repair café จึงเป็นการนัดพบปะกันของผู้ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งการรวมตัวกันของกลุ่มคนเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการช่วยเหลือกัน เพื่อให้คนในกลุ่มสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในกรณีที่สมาร์ตโฟนมีปัญหา โดยในกลุ่มจะมีผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นช่างซ่อมมืออาชีพมาสอน และสนับสนุนทางด้านทักษะและความรู้ ตลอดจนการช่วยหาอะไหล่ ในรูปแบบอาสาสมัคร และหากการซ่อมไม่ประสบความสำเร็จทาง repair café ก็ไม่ได้รับประกันผล เนื่องจากการให้ช่างซ่อมมืออาชีพตามร้านหรือตามศูนย์ซ่อมของสมาร์ตโฟนนั้นๆ บางครั้งก็ไม่ได้ดีไปกว่าการซ่อมเองในรูปแบบ repair café ตัวอย่างการซ่อมเองตามกลุ่ม repair café ที่ผู้บริโภคสามารถซ่อมได้เอง เช่น การเปลี่ยนหน้าจอที่แตกหักชำรุด บางครั้งอาสาสมัครที่มาช่วยเหลือการซ่อม คือ นักศึกษาตามมหาวิทยาลัย การซ่อมสมาร์ตโฟนยิ่งรุ่นใหม่ๆ ก็จะยิ่งซ่อมเองได้ยากกว่า การที่มาพบปะกับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอาสาสมัคร จึงเป็นวิธีการที่ดีกว่าการซ่อมด้วยตัวเองเพียงคนเดียว สำหรับเวลาที่ใช้ในการซ่อมขึ้นอยู่กับความชำนาญและประสบการณ์ของอาสาสมัครทางเทคนิค จากการสำรวจข้อมูลขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนี ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า กรณีตัวอย่างการซ่อม หน้าจอสมาร์ตโฟน ราคาซ่อมที่ศูนย์จะตกประมาณ 166 ยูโร ซึ่งราคานี้รวมค่าแรงและค่าอะไหล่แล้ว แต่ลูกค้าต้องรอนานถึง 10 วัน ในขณะที่การซ่อมตาม repair café จะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง และราคาค่าซ่อมไม่คิด แต่คิดค่าอะไหล่ 100 ยูโร และค่ากาแฟ อีก 10 ยูโร รวมเป็น 110 ยูโร สามารถประหยัดเงินได้ 56 ยูโร แต่ประหยัดเวลาได้ถึง 10 วันรูปแบบการจัดการทางสังคมแบบนี้ถือได้ว่า เป็นการจัดการเรื่องขยะอิเลคทรอนิกส์ที่ทำให้เกิดความยั่งยืน และทำประโยชน์ให้สังคมส่วนรวม และผู้บริโภคที่สามารถจัดการซ่อมแซมสมาร์ตโฟนของตัวเองได้ ก็ย่อมมีความรู้สึกภาคภูมิใจในความสามารถของตน และมีส่วนร่วมในการลดปัญหาขยะอิเลคทรอนิกส์ไปพร้อมๆ กันด้วยประเทศแรก ที่ให้กำเนิด repair café คือ ประเทศ เนเธอร์แลนด์ โดยเริ่มในปี 2009 โดยดำเนินการในรูปแบบมูลนิธิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความยั่งยืนในการผลิตและการใช้ทรัพยากรโลก ปัจจุบันมีจำนวน repair café 1,000 แห่ง ใน 25 ประเทศ ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเบอร์ลินมีอัตราการจัด repair café บ่อยครั้งมาก เนื่องจากทางเทศบาลให้การสนับสนุนไม่คิดค่าใช้จ่ายในการใช้พื้นที่สาธารณะเช่น โรงเรียน สมาคมเพื่อการกุศล และศูนย์เยาวชนที่กระจายอยู่ตามชุมชน รูปแบบการจัดการทางสังคมเพื่อสาธารณกุศลลักษณะนี้น่าสนใจมาก ในประเทศไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ น่าที่จะมีรูปแบบการจัดการของสังคมเพื่อสิ่งแวดล้อมลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเข้มแข็งของพลเมืองและจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชน ในการก้าวไปสู่สังคมแห่งสุขภาวะ(ที่มา: Test ฉบับที่ 6/2016)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 140 จับตาการจัดการปัญหา “คอนเทนต์ขยะ” จากทีวีดาวเทียม

หลังจากปล่อยให้คนไทยได้ลิ้มชิมรสชาติรายการจากทีวีดาวเทียมที่มี “คอนเทนต์ขยะ” (เนื้อหารายการแย่ๆ ทั้งขายสินค้าอันตราย สินค้าอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง รายการขายเซ็กส์ ยาอวดอ้างสรรพคุณทางเพศ ฯลฯ) กันมาเนิ่นนานหลายปี ซึ่งมีคนเจ็บ ตายกันไปพอสมควรแล้ว ในที่สุด กสทช. ก็เตรียมคลอด ระเบียบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดาวเทียม เสียที ------------------------------------------------------------- เสพสื่อขยะกันมานาน...กว่ากลไกคุ้มครองจะมาถึง พฤติกรรมการเสพสื่อโทรทัศน์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากอดีตมาก หลายรายการผู้ชมไม่ต้องรอเฝ้าหน้าจออีกแล้ว เพราะสามารถย้อนกลับมาดูได้ ด้วยการดูรายการย้อนหลังจากช่อง ยูทูป เพียงแค่มีอินเตอร์เน็ต และรายการยอดนิยมในปัจจุบันก็ไม่ได้จำกัดหรือผูกขาดเฉพาะแต่ในฟรีทีวีทั้ง 6 ช่องเท่านั้น แต่เป็นรายการโทรทัศน์ที่รับชมผ่านทีวีดาวเทียม (หรือเคเบิลทีวี ที่นำคอนเทนต์มาจากทีวีดาวเทียมอีกที)   ด้วยจำนวนช่องที่มีเป็นจำนวนมากถึง 200 ช่อง ทำให้ทีวีดาวเทียมต้อนรับผู้ผลิตรายการหน้าใหม่ที่เป็นใครก็ได้ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็น “ขาใหญ่” ในวงการเท่านั้น เรียกว่าใครๆ ก็สามารถสร้างคอนเทนต์เองได้ มีช่องรายการของตนเองได้ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ เกิดทางเลือกที่หลายหลายสำหรับผู้ชมรายการโทรทัศน์ เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้รับชมรายการที่มีความแตกต่างจากฟรีทีวีปกติ รูปแบบรายการที่น่าสนใจ ใหม่ แนวและตรงกลุ่มเป้าหมาย แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย ที่สำคัญคือ เปิดโอกาสผู้ชมเจอกับรายการที่ไม่เหมาะสม หลอกลวง ชวนเชื่อ งมงาย ตลอดจนรายการที่มุ่งแต่จะขายสินค้า และทำโฆษณาอย่างไร้จรรยาบรรณ  โดยรายการเหล่านี้สามารถออกอากาศซ้ำๆ (รีรัน) ได้มากกว่า 1 ครั้งในวันเดียวกันด้วย เรียกว่าเป็นสวรรค์สำหรับ รายการประเภทขายสินค้าหลอกลวงกันเลยทีเดียว ที่สำคัญไม่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎ ระเบียบ ใดๆ ด้วย   หากมองจากฐานผู้ชมรายการโทรทัศน์ในปัจจุบัน คนไทยเปิดรับกับทีวีดาวเทียมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขล่าสุด Penetration อัตราการเข้าถึงครัวเรือนไทยของจานดาวเทียมและเคเบิลทีวี จากการสำรวจของบริษัท AGB Nielsen ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาสิ้นสุดเดือน ส.ค.2555 จากเดิมในเดือนส.ค.ปีที่แล้ว อัตราการเข้าถึงเฉลี่ยทั่วประเทศประมาณ 50% เท่ากับ 10.5 ล้านครัวเรือนไทย เพิ่มเป็นประมาณอัตราการเข้าถึงประมาณ 60% ของครัวเรือนไทย หรือประมาณ 12 ล้านครัวเรือนแล้ว คาดว่าอีกประมาณ 3-4 ปีข้างหน้าครัวเรือนไทยเกินกว่า 90% น่าจะติดตั้งเคเบิลทีวีและจานดาวเทียมเรียบร้อยแล้ว คนไทยนิยมชมชอบการเสพสื่อโทรทัศน์มากกว่าสื่ออื่นๆ จาก "รายงานประเมินผลกระทบการออก หลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวกและการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์" ซึ่งเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของ กสทช. ระบุว่า การเข้าถึงสื่อต่างๆ ของคนไทย ทีวีเป็นสื่อที่เข้าถึงได้สูงสุดถึง 98% หรือประมาณ 63 ล้านคน วิทยุ 40 ล้านคน หนังสือพิมพ์ 12 ล้านคน (การเข้าถึงสื่อโทรทัศน์ของครัวเรือนไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศเอเชีย แปซิฟิก ที่อยู่ในระดับประมาณ 84% ของครัวเรือน แต่อัตราการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านสิ่งพิมพ์ของไทย ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชียแปซิฟิกถึง 3 เท่า) เมื่อผนวกกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว การเข้าถึงทีวีดาวเทียมของผู้ชมจึงรุดหน้าไปก่อน “การกำกับควบคุม” ซึ่งอยู่ภายใต้ พรบ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยังทำอะไรไม่ได้จนกว่าจะมี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เพิ่งเกิดเมื่อ 20 ธันวาคม 2553 แต่...กว่าจะได้ คณะกรรมการ กสทช. ตัวจริง 11 คน ก็เดือนกันยายน 2554 ดังนั้นในช่วงเวลาก่อนที่จะมี กสทช.ตัวจริง จึงเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า สุญญากาศ คือใครใคร่ทำอะไรก็ได้ บางคนก็เรียกช่วงเวลานั้นว่า ช่วงเวลาสื่อเถื่อนเกลื่อนเมือง ทั้งทีวีดาวเทียมเถื่อน เคเบิลทีวีเถื่อน และสถานีวิทยุเถื่อน (จนตอนนี้ กันยายน 2555 ก็ยังเถื่อนอยู่เพราะยังไม่มีการออกใบอนุญาตตามกฎหมาย ประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2551) ความที่เป็นสุญญากาศนี้เอง ทำให้โฆษณาและรายการโทรทัศน์ที่สร้างความเชื่อผิดๆ ให้ชาวบ้านเบ่งบานเต็มที่ แม้ในบางผลิตภัณฑ์เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง ที่มีหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำกับดูแลการโฆษณาอยู่ ก็ทำอะไรได้ไม่มาก สั่งจับ สั่งปรับไม่ทันผู้ประกอบการที่ไร้จรรยาบรรณ ทำได้แค่เตือนผู้บริโภค ที่ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยจะฟัง อย.เท่าไหร่เพราะเชื่อผู้จัดรายการมากกว่า ก็แหม...คนดังในสังคมทั้งนั้น ทั้งทนายความที่อ้างตัวว่าทำเพื่อชาวบ้าน ดารานางแบบที่ออกมาสอนเพศศึกษากันอย่างเปิดเผยจนน่าหวาดเสียว ต่างก็ร่วมกันช่วยขายสินค้าที่อวดอ้างว่าดีต่อสุขภาพ ฟื้นฟูสุขภาพ รักษาได้ทุกโรค แก้เซ็กส์เสื่อม เพิ่มประสิทธิภาพให้อวัยวะเพศ ทั้งชาย หญิง ทำให้ผอมเพรียวได้ในสามวัน เจ็ดวัน และอีกสารพัดด้วยตรรกะที่เหนือธรรมชาติ ผู้ประกอบการบางรายมีช่องรายการเพื่อขายสินค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ ได้ถึง 4-5 ช่อง ทั้งวันก็เวียนรายการซ้ำไปซ้ำมา เพื่อเชิญชวนให้ซื้อสินค้า ซึ่งราคาแพงทั้งสิ้น (เขาว่าถ้าตั้งราคาถูกเกินไป คนจะไม่เชื่อถือ ของดีต้องแพงว่างั้น) ทำให้ผู้ประกอบการต่างก็ร่ำรวยกันไปถ้วนหน้า แค่เอาเศษผัก ผลไม้มาป่นขาย ก็ทำให้มีเงินขนาดซื้อทีมสโมสรฟุตบอลระดับไทยพรีเมียร์ลีกได้ และสรรพคุณที่ตอกย้ำซ้ำซากมานานหลายปี ก็ทำให้ชื่อสินค้าติดตลาดไปเรียบร้อย โดยสามารถเอาชื่อไปออกสื่อฟรีทีวีได้โดยไม่ต้องบอกสรรพคุณอีกแล้ว เป็นการยกระดับสินค้าไปอีกขั้น โดยกฎหมายก็ตามไปเอาผิดอะไรไม่ได้ ------------------------------------------------------------- ทำให้ถูกกฎหมายจะได้จัดการได้เสียที หลังจากปล่อยให้ฟอนเฟะกันมาหลายปี ก็ได้เวลาสำหรับการจัดระเบียบแล้ว ล่าสุด(กันยายน 2554) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้อนุมัติ ร่างประกาศกสทช. ที่เกี่ยวกับโครงข่ายกิจการบรอดแคสติ้ง, สิ่งอำนวยความสะดวก, กิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์และกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมฯ รวม 4 ฉบับ ที่คงจะลงราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ในอีกไม่นาน (หากไม่มีกรณีฟ้องร้องจากฝั่งผู้ประกอบกิจการเสียก่อน) โดยรูปแบบการออกใบ อนุญาตประกอบกิจการนั้น จะเริ่มด้วย  การออกใบอนุญาตฯ ชั่วคราว 1 ปีก่อน เพื่อเร่งให้ช่องรายการต่างๆ ทั้งเคเบิลทีวีกว่า 1,000 รายและทีวีดาวเทียมกว่า 200 รายเข้าสู่กระบวนการกำกับดูแลก่อน จากนั้นจึงออกใบอนุญาตระยะ 4-14 ปี “เพราะหากออกใบอนุญาตฯ ระยะยาวแก่ผู้ประกอบการ จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดและใช้เวลากว่า 1เดือนต่อการออกใบอนุญาต 1 ใบ ทำให้ขั้นตอนการนำผู้ประกอบการเข้าสู่กระบวนการกำกับดูแลจะล่าช้ายิ่งขึ้น อาจใช้เวลานานหลายปี” สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. สายบรอดแคสติ้ง กล่าวกับสื่อมวลชน โดยหลังให้ใบอนุญาตฯ ชั่วคราว 1 ปีแล้ว การออกใบอนุญาตระยะที่ 2 จะพิจารณาจากการร้องเรียนของผู้บริโภคเป็นเงื่อนไขในการออกใบอนุญาต ซึ่งหากมีผู้ร้องเรียนมาก ระยะเวลาของใบอนุญาตระยะที่ 2 ก็จะสั้นลงหรือเพิกถอนใบอนุญาตก็เป็นได้ ส่วนการกำหนดผังรายการทีวีดาวเทียมแบบไม่บอกรับสมาชิก จะผ่อนผันให้สามารถรายงานผังรายการยืดหยุ่นได้มากกว่าฟรีทีวีภาคพื้นดิน (กรุงเทพธุรกิจ 10 กันยายน 2555) สรุปว่านับจากนี้ไปจะไม่มี "ทีวีเถื่อน" หลังจากที่เถื่อนกันมานาน และนับจากนี้ไปก็คงต้อง “จับตา” ดูกันล่ะว่า เมื่อผู้ประกอบการทั้งหลายเข้าสู่กฎ ระเบียบ แล้ว จะยังมีรายการขยะ โผล่ออกมาให้ประชาชนได้เสพกันอยู่อีกหรือไม่ และคงได้วัดกันไปว่า หน่วยงานทั้งหลายจะมีน้ำยาพอที่จะคุ้มครองผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน ------------------------------------------------------------- ปัจจุบันการรับชมรายการโทรทัศน์ในประเทศไทย ทำได้ 3 รูปแบบ คือ 1.ฟรีทีวี (ช่อง 3 5 7 9 11และไทยพีบีเอส) โดยผ่านเสาอากาศทีวี(แบบหนวดกุ้งหรือก้างปลา) หรือรับชมผ่านกล่องรับสัญญาณของเคเบิลทีวี หรือทีวีดาวเทียม อีกที 2.เคเบิลทีวี รับชมรายการผ่านกล่องรับสัญญาณที่มาทางสายเคเบิล เป็นการให้บริการแบบบอกรับสมาชิก ผู้ชมต้องจ่ายค่าแรกเข้าและบริการรายเดือน 3.ทีวีดาวเทียม รับชมผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียม โดยครั้งแรกจะต้องมีการติดตั้งจานดาวเทียมพร้อมกล่องรับสัญญาณ หรือปัจจุบันมีขายเฉพาะกล่องสัญญาณ(โดยผ่านจานดาวเทียมอะไรก็ได้ที่ติดตั้งไว้ก่อนแล้ว) ส่วนใหญ่เมื่อติดตั้งครั้งแรกแล้ว จะไม่มีค่ารายเดือนอีก เว้นแต่มี คอนเทนต์พิเศษ ที่ต้องเข้ารหัสเก็บเงินค่าดู ------------------------------------------------------------- “เจนิฟู้ด จะขายเสียอย่าง ใครจะทำไม” แม้ อย.จะออกแถลงข่าวเรื่องการลงดาบ เจนิฟู้ด ดังนี้ อย. สั่งเชือดโฆษณาผลิตภัณฑ์เอนไซม์เจนิฟู้ด หลังดื้อแพ่งโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์ดาวเทียม และเคเบิลทีวีอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่มีคำสั่งให้ระงับโฆษณา ส่อเจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย และทำธุรกิจอย่างไร้จริยธรรม หลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อ อย. เอาจริง ลงโทษหนัก ทั้งโฆษณาเป็นเท็จ มีโทษจำคุก และโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งจะปรับทุกครั้งที่พบการโฆษณาทั้งผู้โฆษณาและ สื่อที่เผยแพร่ พร้อมเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ เพราะเป็นการเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ จากการที่มีผลิตภัณฑ์อาหาร “เอนไซม์ เจนิฟู้ด” นำเข้าโดย บริษัท เบสไฟว์ อินเตอร์เทรด จำกัด ซึ่งขอขึ้นทะเบียนกับ อย. เป็นเครื่องดื่มพืชผักผลไม้ผสม (ตราเจนิฟู้ด) เลขสารบบอาหาร 10-3-10838-1-0001 มีการโฆษณาอ้างว่าเป็น “เอนไซม์” ทางสื่อโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีกว่า 10 ช่อง โดยมีข้อความโฆษณาอวดอ้างรักษาได้สารพัดโรค เช่น ป้องกัน ยับยั้งต่อต้าน ทำลายโรคต่าง ๆ เป็นทางเลือกที่ได้ผลสูง , รักษาแผลกดทับเนื่องจากอัมพฤกษ์, ใช้โรยแผลที่มีเนื้อมะเร็งแผลบวม มีหนองจะช่วยดูดซับสารพิษทั้งหมด ฯลฯ โดยนำบทสัมภาษณ์ผู้ป่วย อาทิ ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน เบาหวาน ความดัน มะเร็ง ไขมันอุดตัน มะเร็งเต้านม หัวใจตีบ ฯลฯ ที่รับประทานผลิตภัณฑ์เอนไซม์ดังกล่าวแล้วอาการป่วยดีขึ้น หรือหายจากอาการป่วย หรือนำผู้ที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในสังคมมาโฆษณา เพื่อจูงใจให้ตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์มาใช้ ซึ่ง อย. ได้มีคำสั่งระงับโฆษณาดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งแจ้งไปยังสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีให้งดเผยแพร่ แต่จากการตรวจสอบพบว่า ยังมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร “เอนไซม์ เจนิฟู้ด” ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวีหลายช่อง ได้แก่ Home Channel, I Channel, OHO Channel, DooDee Channel, Nice Channel,MYTV, Thai Vision, เกษตร แชนแนล, MY MV5, Hi Channel, Star Channel และช่องลายไทย โดยการกระทำดังกล่าวถือว่าเจตนาละเมิดคำสั่งการระงับโฆษณา ซึ่ง อย. เตรียมดำเนินการอย่างเข้มงวด ตามนโยบายคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยจะดำเนินคดีตามกฎหมายในข้อหาโฆษณาด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท และฝ่าฝืนคำสั่งระงับโฆษณา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับเป็นรายวันวันละไม่น้อยกว่า 500 บาท แต่ไม่เกิน 1,000 พันบาท ตลอดเวลาที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง นอกจากนี้ สื่อที่ทำการเผยแพร่โฆษณาดังกล่าว อันได้แก่ สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี จะมีความผิดในข้อหาโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของ ดังนั้นแม้ในความเป็นจริง ทั้ง อย.ได้สั่งลงโทษ และ กสทช.ได้มีคำสั่งแบนโฆษณา "เจนิฟู้ด" ไปแล้ว แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะหาเจ้าภาพไปดำเนินการไม่ได้ ขณะเดียวกัน อาหารเสริม "เจนิฟู้ด" ได้เปิดช่องทีวีดาวเทียมทั้งระบบซีแบนด์ และเคยูแบนด์ 5 ช่องคือ เย็นใจ, เบาใจ, พอใจ, เพลินใจ และช่องทนายประมาณ ทำซีเอสอาร์ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองต่อไป มิเพียงเท่านั้น "เจนิฟู้ด" ได้รับการประสานงานมาจากมูลนิธิมิราเคิล ออฟ ไลฟ์ฯ ให้เข้ามาช่วยเหลือสโมสรฟุตบอลสมุทรสงคราม เอฟซี โดยเปลี่ยนชื่อเป็น "เจนิฟู้ด สมุทรสงคราม เอฟซี" ซึ่งเวลานี้ "นายพล คนขอนแก่น" กลายเป็นคนดังในวงการไทยพรีเมียร์ลีกไปโดยปริยาย ------------------------------------------------------------- ปัจจุบันผู้บริโภคไทยมีจำนวน 21 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่รับชมผ่านจานดาวเทียม 10 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็น จานดำ 6 ล้านครัวเรือน จานแดง 1.5 ล้านครัวเรือน จานเหลือง 1.5 ล้านครัวเรือน และจานส้ม 1 ล้านครัวเรือน ส่วนอีก 11 ล้านครัวเรือน จะดูผ่านเคเบิลทีวีท้องถิ่น 4 ล้านครัวเรือน และอีก 7 ล้านครัวเรือน ที่รับชมโทรทัศน์ผ่านเสาก้างปลา  ทั้งนี้ ประเมินว่าจากแนวโน้มดังกล่าว คาดว่าภายใน 3-4 ปีข้างหน้า เสาก้างปลาจะหมดไปจากตลาดของประเทศไทย เพราะผู้บริโภคจะหันมาติดจานดาวเทียมแทน ขณะที่ราคาการติดจานเคเบิลทีวี ในปัจจุบัน เริ่มต้นที่ 1,200 บาทเท่านั้น ถือว่ามีราคาลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ขณะที่ปีหน้าจะมีดาวเทียมไทยคม 6 เกิดขึ้น คาดว่าจะมีช่องเคเบิลทีวีเกิดขึ้นใหม่ประมาณ 150-200 ช่อง เพราะดาวเทียมไทยคมมีช่องรับสัญญาณจำนวนมาก ขณะที่เม็ดเงินลงทุนในธุรกิจดาวเทียมต่อปีจะอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท ที่มา http://www.thaipost.net/node/53665 ------------------------------------------------------------- อันตราย! สินค้าหลอกลวงเกลื่อนเมืองสื่อดาวเทียมตัวแพร่ระบาด ในท้องตลาดตอนนี้มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอยู่มากมายและต่างก็มีกลเม็ดโฆษณา ทำการตลาดแตกต่างกันไป สิ่งที่เป็นจุดเดียวกันคือการมีสรรพคุณที่ดูดีเกินจริง โดยมักจะมีคำอธิบายในแบบของตัวเอง ซึ่งอาจสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน คือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณด้านความงามและเรื่องเพศ กับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณด้านสุขภาพหรือรักษาโรคเรื้อรัง ซึ่งผลของการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นเป็นไปได้ที่ผู้ใช้ส่วนหนึ่งอาจได้ผลลัพธ์ที่พอใจ แต่ก็พบกรณีร้องเรียนมากมายถึงการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด กฎหมายไม่สามารถกระทำอวดอ้างได้ ทว่าปัญหาก็คือตอนนี้ยังไม่มีกลไกการลงโทษที่ทำให้โฆษณาเหล่านั้นหายไปเสียที คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับการร้องเรียนมากกว่า 100 กรณีต่อ 1 เดือน ซึ่ง ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยาเผยว่า จากข้อมูลที่แยกเป็นประเภทของลักษณะการทำผิดกฎของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารพบว่า การโฆษณาอวดอ้างถือเป็นกรณีที่มีการร้องเรียนมากที่สุด ประเด็นเรื่องโฆษณานี่เยอะที่สุด สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะอาหารไม่ใช่ยา เราไม่ให้โฆษณาสรรพคุณทางยา แต่ส่วนใหญ่แล้วทำขึ้นมาจะต้องโฆษณาสรรพคุณใช้ป้องกันรักษาได้ ซึ่งก็จะโอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น ทั้งนี้มาตรการในการดำเนินการลงโทษนั้นมีตั้งแต่ระงับโฆษณา และดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับ ซึ่งหากไม่หยุดโฆษณาก็จะมีโทษที่หนักขึ้น โดยโฆษณาเหล่านี้จะพบเห็นบ่อยตามช่องทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี(ซึ่งส่วนใหญ่ก็นำเนื้อหามาจากทีวีดาวเทียม) ในทางปฏิบัติก็มีการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ในการควบคุม ทว่ากลับไม่มีอำนาจมากนัก เพราะยังคงพบการฝ่าฝืนอย่างต่อเนื่อง ในประเด็นการควบคุมลงโทษนั้น สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยว่า แม้ อย.ร่วมกับ กสทช.สั่งห้ามโฆษณาเหล่านี้ในสื่อทุกประเภท ทว่าในทางปฏิบัติอย่างการเผยแพร่สัญญาณนั้นจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือ จากบริษัท ไทยคม จำกัดในการตัดสัญญาณเพื่อปิดสถานีที่ฝ่าฝืนกฎ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเคยร่วมกับเครือข่ายที่ทำเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค 16 จังหวัด สำรวจการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร และเสริมอาหารทั้งหลายที่ไม่เหมาะสม ผิดกฎหมาย ไม่ขออนุญาตโฆษณา ซึ่งพบว่า มันมีปัญหาเยอะ และทาง กสทช. ได้สั่งให้ห้ามโฆษณาแล้ว แต่ก็ยังพบว่ายังมีการโฆษณากันอยู่ เพราะทางไทยคมไม่สั่งระงับสัญญาณ ต้องไปขอความร่วมมือที่ไทยคม แต่ไทยคมมีความรับผิดชอบต่อกรณีนี้น้อยเกินไป โดยอ้างว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ แต่ความจริงแล้วหากไทยคมพบว่า สถานีต่างๆ ยังมีการโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต หรือโฆษณาที่ไม่เป็นจริง ก็สามารถให้ปิดรายการหรือปิดสถานีได้เลย ไทยคมต้องดำเนินการตามนั้น หากไทยคมจะอ้างว่าตัวเองได้สัมปทานจากไอซีทีไม่ต้องทำตามกฎหมาย มันไม่ได้ เพราะว่าไทยคมเป็นคนดูแลหรือควบคุมโฆษณาของพวกนี้ ผ่านพวกช่องดาวเทียมโดยตรง ขณะเดียวกัน กสทช. ก็จะบอกว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีกติกาที่กำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ จริงๆ เขาได้มีความร่วมมือกับ อย. ดังนั้น เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม ที่เป็นเท็จหลอกลวง มันทำไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้นเราก็อยากให้ไทยคมร่วมมือ สิ่งที่สำคัญ คือ อย.กับ กสทช. ต้องมีเครื่องมือในการบังคับลงโทษ หากมีเพียงคำสั่งห้ามแต่ไม่มีกลไกที่ในการติดตาม การดำเนินการก็ไร้ผล และโฆษณาที่ชวนเชื่อเกินจริงก็ยังคงอยู่”   ที่มา หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน ------------------------------------------------------------- ทุกข์ล้นเหลือเหยื่อโฆษณา จากการที่กลไกการควบคุมโฆษณานั้นไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงผู้ที่จ้องฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจ ทำมาหากินบนการหลอกลวงหนทางที่เปิดกว้างให้เห็นกำไร และความสำเร็จชนิดตีหัวเข้าบ้าน ทำให้โศกนาฏกรรมอย่างการกินอาหารเสริมที่เชื่อว่าจะรักษาโรค กลับยิ่งทำให้โรครุมเร้าหนักขึ้นอาจถึงขั้นเสียชีวิตเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ลอย เจ้ขี้เกียจพิมพ์ แนบ พีดีเอฟไฟล์ มาให้ เอาหน้า 9-12 ลงที นะ เป็นตัวอย่างกรณีดื่มเจนิฟู้ด แล้วอันตราย ดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ : www.thaidrugwatch.org/download/books/adsvictim.pdf

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 138 เพิ่มค่าให้ “ขยะ” ด้วยภารกิจ “รีไซเคิล”

ใครที่ยังมอง “ขยะ” ว่าเป็นแค่ของไร้ค่าไม่มีราคา ทิ้งลงถังไปแล้วก็แล้วกัน ใครที่คิดแบบนั้นคงไม่ใช่ผู้บริโภค “ฉลาดซื้อ” ตัวจริง ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ อย่าปล่อยให้ขยะเป็นแค่ของที่ถูกทิ้งเพียงเพราะเราไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะประโยชน์ของขยะยังมีอีกมากแต่เราเองกลับมองข้ามหรืออาจไม่เคยรู้มาก่อน ถึงเวลาที่ผู้บริโภคยุคใหม่ ต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติ ปรับทัศนคติในการใช้ คิดใหม่ก่อนทิ้ง เติมคุณค่าให้ขยะ ไม่สร้างภาระให้โลก   สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “ขยะ” แต่สร้างปัญหาใหญ่ยักษ์ระดับโลก เราเคยถามตัวเองกันมั้ยว่า “แต่ละวันเราได้สร้างขยะทิ้งไว้บนโลกใบนี้มากน้อยแค่ไหน?” “เราได้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าแล้วหรือยัง?” “เรากังวลเรื่องภัยธรรมชาติ เฝ้าบ่นเรื่องปัญหาโลกร้อน แต่ตัวเราเองได้ลงมือช่วยดูแลโลกใบนี้บ้างหรือเปล่า?”   หลายคนยังคงคิดว่าขยะก็เป็นเพียงแค่ขยะไม่ได้มีค่าหรือมีความหมายอะไร เป็นแค่ของที่ถูกทิ้ง ไม่มีอะไรให้ต้องคิดถึง แต่เรื่องขยะไม่คิดไม่ได้ เพราะขยะถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ยิ่งทุกวันนี้เราทิ้งขยะกันมากจนน่าเป็นห่วง ขยะยิ่งมากก็ยิ่งส่งผลเสียต่อธรรมชาติ ทั้งการสูญเสียทรัพยากรหลายอย่างในการจัดการกับขยะ ทั้งสิ้นเปลืองพลังงานในการเก็บรวบรวมและขนย้ายขยะมาไว้ในสถานที่ที่เหมาะสม หรือการเข้าไปรุกรานเบียดเบียนพื้นที่ของชาวบ้านชนบทเพื่อกองสุมขยะที่ยังไม่สามารถจัดการได้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญแม้ขยะจำนวนหนึ่งถูกจัดเก็บไป แต่ยังมีขยะอีกจำนวนมากที่ตกหล่นไม่ได้รับการจัดเก็บไปไว้ในที่ที่เหมาะสม ซึ่งขยะเหล่านี้จะยิ่งก่อปัญหาลุกลามใหญ่โต ทั้งภาพที่ชวนรังเกียจและกลิ่นที่สุดทน รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์แมลงและเชื้อโรคที่ก่ออันตราย “ไม่เห็นเป็นไร ทุกวันก็มีพนักงานเก็บขยะอยู่แล้วนี่” หลายคนอาจคิดแบบนี้ เราไม่เห็นต้องทำอะไรก็ได้ ปล่อยให้พนักงานเขาเป็นคนจัดการไป แต่เรื่องจริงที่ควรรู้คือ ปริมาณขยะในบ้านเรามีเยอะมาก ไม่ว่าหน่วยงานไหน ก็ไม่สามารถจัดการเก็บขยะพร้อมทำลายได้อย่างสมบูรณ์ กรมควบคุมมลพิษ รายงานข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยที่ทางหน่วยงานดำเนินการจัดเก็บรวมทั่วทั้งประเทศเมื่อปี 2554 คือ 16 ล้านตัน ในจำนวนนี้มีเพียง 4.10 ล้านตันเท่านั้นที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์(ถูกนำไปรีไซเคิล 3.39 ล้านตัน ที่เหลือนำไปหมักทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ก๊าซชีวภาพ ประมาณ 0.59 ตัน ส่วนอีกแสนกว่าตันถูกนำไปผลิตพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงทดแทน) ส่วนขยะที่เหลืออีกราว 12 ล้านตันยังกองเป็นภูเขาขยะที่ยังไม่ได้รับการจัดการ จากตัวเลขจะเห็นว่ามีขยะที่ถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์ค่อนข้างน้อยมาก คือแค่ 26% ของปริมาณขยะทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งเคยมีการตั้งเป้ากันไว้ว่าอย่างน้อยน่าจะมีขยะสัก 50% ที่เข้าสู่กระบวนแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ สำหรับเหตุผลที่การรีไซเคิลขยะในบ้านเรายังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง คงเป็นเพราะพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่ให้ค่าขยะว่าเป็นสิ่งของไร้ค่า ทิ้งแล้วก็แล้วกัน ไม่ให้ความสำคัญกับการแยกขยะหรือมองเรื่องการรีไซเคิลว่าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสำคัญของการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่การแยกขยะเพื่อการรีไซเคิลเป็นเรื่องง่ายๆ ซึ่งทุกคนทำได้   8,939 ตัน คือปริมาณขยะต่อวันในกรุงเทพฯ 1,800 ตัน คือปริมาณขยะที่เป็นพลาสติก ซึ่งต้องใช้เวลาย่อยสลายมากกว่า 450 ปี 3 เท่า คือพื้นที่ที่ขยะพลาสติกใช้ในการฝั่งกลบมากกว่าขยะชนิดอื่นๆ 100 กิโลกรัม คือปริมาณขยะที่คนกรุงเทพฯ สร้างภายในเวลาแค่ 1 วินาที 7,000,000,000 (เจ็ดพันล้าน) กิโลกรัม คือปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ยต่อปี ที่จะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ในอีก 14 ปีข้างหน้า ถ้าหากคนกรุงเทพฯยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสร้างขยะ 10% คือปริมาณขยะจริงๆ ที่ต้องจัดการด้วยการเผาหรือฝังกลบ ที่เหลือสามารถคัดแยกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ใหม่หรือนำกลับมารีไซเคิลได้ ที่มา: เอกสาร “กรุงเทพฯเมืองสวรรค์” สำนักงานกรุงเทพมหานคร “รีไซเคิล” หนึ่งในวิธีการจัดการปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะ รู้กันหรือเปล่าว่าขยะแต่ละวันที่เราทิ้งกันนั้น กว่า 30% สามารถนำกลับมารีไซเคิล (Recycle) ได้ ขยะที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้หลักๆ ก็จะเป็นขยะ 4 ชนิดที่เราคุ้นเคยกันดี คือ กระดาษ ขวดแก้ว พลาสติก และโลหะ “การสร้างนิสัยในการแยกขยะ” จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคธรรมดาๆ อย่างเราทุกคนสามารถลงมือทำได้ทันทีและควรทำอย่างยิ่ง “การสร้างนิสัยในการแยกขยะ” เพราะขยะมีหลายประเภท แน่นอนขยะบางอย่างก็ไม่เหมาะนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการนำไปรีไซเคิล เพราะฉะนั้นเราจึงต้องรู้จักที่จะแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ออกจากขยะชนิดอื่นๆ และถ้าจะให้ยิ่งดีก็ควรแยกขยะที่จะนำไปรีไซเคิลตามประเภทของขยะ เช่น กระดาษก็แยกรวมไว้ส่วนหนึ่ง ขวดแก้วก็รวมไว้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งขยะรีไซเคิลที่เราแยกไว้สามารถนำไปขาย เปลี่ยนขยะเป็นเงินได้ จะขายให้กับคนที่เขามารับซื้อตามบ้าน หรือจะไปขายเองโดยตรงกับร้านที่เขารับซื้อของเก่าก็ได้ หลายๆ คนอาจยังมีทัศนคติด้านลบเกี่ยวกับการขายขยะ ทั้งๆ ที่การแยกขยะเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เรื่องของเงินที่ได้จากการขายขยะที่สามารถรีไซเคิลได้นั้นเป็นเพียงแค่ผลพลอยได้เท่านั้น สิ่งที่เป็นหัวใจจริงๆ คือเราได้ช่วยลดขยะบนโลกใบนี้ ได้ทำหน้าที่ของผู้บริโภคที่ดี รู้จักที่จะใช้ รู้จักที่จะช่วย ใช้อย่างคุ้มค่า ใช้อย่างพอเพียง การแยกขยะทำให้ขยะแต่ละประเภทได้เดินทางต่อไปยังที่ที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่ถูกทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ถูกปล่อยให้เป็นเพียงแค่ภาระของโลก ซึ่งท้ายสุดก็จะกลายเป็นปัญหากลับมาหาเราทุกคนอยู่ดี ในถังขยะ 1 ใบ มีอะไรบ้าง 50% ขยะย่อยสลายได้ – พวกเศษอาหาร กิ่งไม้ใบไม้ 30% วัสดุรีไซเคิล – กระดาษ แก้ว โลหะ พลาสติก 19% ขยะทั่วไป – ขยะที่ย่อยสลายยาก เช่น ถุงพลาสติก โฟม เศษวัสดุก่อสร้าง อิฐ หิน 1% ขยะมีพิษ/ขยะอันตราย – ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ แบตเตอรี่ ที่มา: “การใช้ประโยชน์จากขยะอย่างรู้ค่า พัฒนาคุณภาพชีวิต” กองนโยบายและแผนงาน สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เปลี่ยนขยะเป็นเงินด้วยการคัดแยกขยะ ขวดแก้ว การแบ่งชนิดของขวดแก้วเพื่อการคัดแยกนำไปรีไซเคิล จะแบ่งโดยดูองค์ประกอบหลักๆ 2 อย่าง คือ สีของขวดแก้ว กับ ชนิดของสิ่งที่บรรจุอยู่ในขวด เช่น เป็นขวดซอส ขวดยา ขวดเครื่องดื่ม ซึ่งการรีไซเคิลถ้าหากขวดยังอยู่ในสภาพดีไม่มีรอยแตกบิ่นเสียหาย ก็จะถูกนำไปล้างทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) ส่วนที่เป็นเศษแก้วแตก จะถูกนำไปบดให้ละเอียด กัดสีออก ล้างทำความสะอาด จากนั้นก็นำไปหลอมใหม่เพื่อผลิตเป็นขวดแก้ว กระดาษ กระดาษเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ง่าย หากต้องจัดเก็บเพื่อนำไปรีไซเคิลก็ควรจัดเก็บในที่ที่ไม่เสี่ยงต่อการเปียกน้ำหรือความชื้น การแบ่งชนิดของกระดาษก่อนส่งรีไซเคิล นอกจากจะเพิ่มราคาในกรณีที่นำไปขายแล้ว ยังช่วยให้ง่ายต่อการนำรีไซเคิล การแบ่งตามชนิดของกระดาษและรูปแบบการใช้งาน เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ การดาษกล่องแข็งสีน้ำตาล กระดาษที่เป็นพวกนิตยสาร กระดาษที่ใช้พิมพ์เอกสารต่างๆ ฯลฯ พลาสติก ขยะพลาสติกถือว่ามีความหลากหลายค่อนข้างมาก บางชนิดไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ อย่างเช่น ถุงพลาสติกหรือภาชนะและอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีความแข็งตัวสูง ทนต่อความร้อน ซึ่งยากต่อการนำมาหลอมเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โลหะ เป็นขยะที่มีความหลากหลายเช่นเดียวกับพลาสติก ซึ่งส่วนใหญ่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ไม่ว่าจะเป็น เหล็ก ทองเหลือง ทองแดง สแตนเลส ตะกั่ว ซึ่งการรีไซเคิลจะใช้วิธีนำไปหลอมเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ   ขยะอื่นๆ ที่สามารถรีไซเคิลได้ ยังมีของอีกหลายอย่างที่เรามองว่าเป็นขยะ แต่สามารถนำไปขายเป็นสินค้ารีไซเคิลได้ เช่น ยางรถยนต์ อะลูมิเนียม น้ำมันพืชเก่า เศษน้ำตาเทียน แผ่นซีดี เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ฯลฯ   4 ขั้นตอนในการแยกขยะก่อนนำไปขาย เรารู้แล้วว่าขยะที่ขายได้หลักๆ มีอยู่ 4 ชนิด คือ กระดาษ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก และ โลหะกับอลูมิเนียม ที่นี้เรามาลงมือแยกขยะไว้ขายเพื่อให้มันถูนำไปรีไซเคิลกันได้เลย ขั้นแรก หาถังหรือถุงขยะที่ไว้สำหรับแยกขยะทั้ง 4 ชนิดออกจากขยะชนิดอื่นๆ เพื่อเตรียมไว้สำหรับขายโดยเฉพาะ ขั้นที่สอง ต้องใส่ใจดูแลขยะที่เราจะขายด้วย พยายามให้อยู่ในสภาพดีที่สุดเพราะราคาก็จะดีด้วย เช่น กระดาษก็อย่าทิ้งให้เปียกหรือชื้น หรือถ้าเป็นขวดแก้วก็ต้องไม่รอยแตกรอยร้าว ที่สำคัญคือ ขยะในบ้านที่เรารวบรวมไว้สำหรับรีไซเคิลส่วนใหญ่จะเป็นพวกภาชนะบรรจุต่างๆ พวกน้ำดื่มบ้าง ซอสปรุงรสต่างๆ บ้าน หากล้างทำความสะอาดก่อนได้ก็จะดีมาก เพราะเมื่อนำไปขายราคาก็จะดีขึ้น แถมยังป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นหรือเชื้อโรค หากต้องเก็บไว้ปริมาณมากๆ หรือเป็นเวลานานๆ ขั้นที่สาม แม้จะเป็นขยะชนิดเดียวกันแต่ราคาไม่เหมือนกัน เช่น ขวดแก้ว ถ้าเป็นขวดใสก็ราคาหนึ่งขวดขุ่นก็อีกราคาหนึ่ง เทคนิคเพิ่มราคา เราจึงควรแยกตามลักษณะของขยะแต่ละชนิดด้วยเวลาที่เราจะนำไปขาย ขวดใสก็ขายรวมกับขวดใส ขวดขุ่นก็ขายรวมกับขวดขุ่น อย่าขายปนกัน ถ้าเป็นกระดาษก็ต้องแยกตามชนิด กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษขาว A4 กระดาษลัง กระดาษนิตยสาร พวกนี้ราคาแตกต่างกันหมด ส่วนขวดน้ำพลาสติกก็ต้องแยกฝากับขวดออกจากกัน เพราะเป็นพลาสติกคนละชนิด คนละราคา ขั้นที่สี่ พอเราเก็บรวบรวมขยะได้ในปริมาณพอสมควรแล้ว ก็นำไปขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า หรือบางที่อาจมีซาเล้งหรือรถกระบะขับมารับซื้อถึงหน้าบ้าน แต่ถ้าจะให้ดีก็ลองขอเบอร์คนที่เขารับซื้อขยะแล้วนัดหมายกันให้เขามารับซื้อในวันเราแยกเก็บขยะไว้ได้ในปริมาณที่พอจะขายก็สะดวกดี แค่นี้เราก็สามารถเปลี่ยนขยะธรรมดาให้กลายเป็นของมีค่าได้แล้ว แถมยังได้ช่วยดูแลโลกของเราอีกด้วย   (*เราสามารถดูราคากลางรับซื้อขยะรีไซเคิล ได้ที่เว็บไซต์ของสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย www.tipmse.or.th และเว็บไซต์ของร้านรับซื้อขยะรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ www.wongpanit.com หรือสอบถามโดยตรงกับหน่วยรับซื้อใกล้บ้าน)   ----------------------------------------------------------------------------------- เปลี่ยนขยะเป็นทองคำ “มูลนิธิพุทธฉือจี้” ที่ไต้หวัน ถือเป็นหนึ่งในองค์กรสาธารณกุศลระดับโลกที่ให้ความสำคัญและมองเห็นคุณค่าของการรีไซเคิล ที่นี่สามารถเปลี่ยนขยะให้เป็นทองได้จริงๆ เรามาลองดูตัวอย่างความสำเร็จขององค์กรแห่งนี้กัน ขยะเลี้ยงทีวี" ความสำเร็จของฉือจี้ ในโลกยุคปัจจุบันนี้ มีองค์กรศาสนาขนาดใหญ่ของโลกองค์กรหนึ่ง ทำโครงการ"ขยะเลี้ยงทีวี" ได้สำเร็จ นั่นคือมูลนิธิฉือจี้ ขององค์กรพุทธฉือจี้ ในประเทศไต้หวัน สามารถนำรายได้จากขยะ มาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมต้าอ้าย ภายใต้คำขวัญ เปลี่ยนขยะเป็นทองคำ สร้างทีวีคุณธรรมนำสังคม เดิมที ขยะเป็นปัญหาใหญ่ของไต้หวัน แต่ฉือจี้มองทะลุว่า หากเข้ามาบริหารจัดการด้านขยะ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของไต้หวันแล้ว ยังจะเป็นแหล่งรายได้มหาศาล เมื่อรวบรวมพลังมหาชนมาตั้งใจทำแล้ว จะกลายเป็นขุมทรัพย์มหึมาทันที ดังนั้นโครงการขยะเลี้ยงทีวี จึงเริ่มเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2533 ภายใต้การคิด และพานำทำของท่านธรรมจารย์เจิ้งเหยียน ผู้นำสูงสุดขององค์กรพุทธฉือจี้ กับภิกษุณี และฆราวาสอีกไม่กี่คนเท่านั้น สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกจิตอาสา ช่วยกันทำงานด้านขยะ ช่วงแรกๆ มีรายได้จากขยะเพียงวันละ 200-300 บาท ต่อมามีสมาชิกจิตอาสาเข้าร่วมอุดมการณ์มากขึ้น จึงมีการขยายศูนย์รับบริจาคขยะที่เป็นวัสดุรีไซเคิล รวมทั้งของใช้ที่ผู้บริจาคไม่ใช้แล้วเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จวบจนถึงปัจจุบันกว่า 20 ปี จากวันเริ่มก่อตั้งโครงการ"ขยะเลี้ยงทีวี" ขณะนี้มีศูนย์รับบริจาคและสาธิตการแยกขยะของฉือจี้ กระจายอยู่ทั่วไต้หวัน 5,000 กว่าแห่ง มีการฝึกอบรมจนมีอาสาสมัครเป็นจิตอาสาทำงานด้านพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ประมาณ 60,000 คน มีรายได้จากขยะมาเลี้ยงสถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย ประมาณเดือนละ 20-50 ล้านบาท และยังมีเงินเหลือไปใช้ในกิจการการกุศลด้านอื่นๆ อีกหลายด้านด้วย(ข้อมูลจาก http://www.ioewm.blogspot.com/2009/08/tzuchi-success.html) ซึ่งกิจกรรมรีไซเคิลเพื่อสังคมของมูลนิธิพุทธฉือจี้ สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลกที่ได้ไปเยี่ยมชมดูงานหรือรับรู้เรื่องราวดีๆ เช่นนี้ ในประเทศไทยเองก็หลายคนหลายองค์กรที่มีปณิธานแนวแน่เรื่องการจัดการกับปัญหาขยะเพราะมี “มูลนิธิพุทธฉือจี้” เป็นแม่แบบในดวงใจ รู้จักมูลนิธิพุทธฉือจี้ในไทยได้ที่ www.tzuchithailand.org/th/ หรือ ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 135 พฤษภาคม 2555 -----------------------------------------------------------------------------------   ขยะที่กรุงเทพมหานครเก็บรวบรวมจากบ้านเรือนประชาชน จะถูกส่งต่อไปที่โรงงานกำจัดขยะซึ่งในกรุงเทพฯ มีอยู่ด้วยกัน 3 แห่ง คือ อ่อนนุช สายไหม และหนองแขม ซึ่งจะได้ขยะส่วนที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ กับส่วนที่ต้องนำไปฝั่งกลบ โดยเฉลี่ยแต่ละวันมีขยะที่ถูกนำไปฝั่งกลบถึง 8,700 ตัน ซึ่งจะถูกนำไปฝั่งในพื้นที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา กับอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มีขยะเพียงแค่ 1,100 ตันต่อวันเท่านั้น ที่จะถูกนำเข้าโรงคัดแยกเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ โดยในจำนวนนี้จะเป็นขยะอินทรีย์หรือขยะเศษอาหารประมาณ 600 ตัน เป็นขยะที่ไม่ย่อยสลายที่ต้องนำไปหมักต่อเพื่อรอคัดแยกเป็นปุ๋ยหมักอีกประมาณ 400 ตัน ส่วนขยะที่สามารถคัดแยกเพื่อนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิลนั้นมีแค่ประมาณ 100 ตันเท่านั้น ที่มา: เอกสาร “กรุงเทพฯเมืองสวรรค์” สำนักงานกรุงเทพมหานคร

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point