ฉบับที่ 135 ผลร้ายของการชำระหนี้ที่ขาดอายุความไปแล้ว

โดยปกติเจ้าหนี้จะต้องฟ้องบังคับชำระหนี้ภายในอายุความที่กฎหมายบัญญัติไว้  ซึ่งอาจจะเป็น 6 เดือน ถึง 10 ปี เช่น  กรณีผู้พักอาศัยในโรงแรมจะเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพราะความสูญหายหรือบุบสลายของทรัพย์สินที่ผู้พักอาศัยพามาไว้ในโรงแรมจากเจ้าสำนักโรงแรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 678   หรือ 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสัญญาฝากทรัพย์ในกรณีฟ้องเรียกให้ใช้เงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์หรือให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ตามมาตรา 671 หรือ 1 ปีในกรณีของการฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดตามมาตรา 488 วรรคหนึ่ง หรือ 2 ปี ในกรณีผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตฟ้องเรียกคืนเงินที่ได้ออกทดรองจ่ายแทนผู้ถือบัตรไปตาม มาตรา 193/34(7) หรืออย่างยาวที่สุดก็ไม่เกิน 10 ปี ดังกรณีที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความมิได้ทำให้สิทธิเรียกร้องหรือหนี้รายนั้นระงับสิ้นไปเพียงแต่ให้ลูกหนี้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้เท่านั้น  หากลูกหนี้ยอมชำระหนี้ให้ ถึงจะไม่รู้ว่าหนี้ขาดอายุความแล้ว ก็ถือเป็นการชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 193/28 วรรคหนึ่งมิใช่ลาภมิควรได้ ลูกหนีจึงไม่มีสิทธิเรียกคืนจากเจ้าหนี้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 408(2)   ถ้าลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ที่ขาดอายุความ เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องบังคับชำระหนี้นั้นได้ กฎหมายเพียงแต่ให้สิทธิลูกหนี้ที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้เท่านั้นตามมาตรา 193/10 หากลูกหนี้มิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแจ้งชัด คดีก็เท่ากับลูกหนี้มิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้  ศาลจะยกเรื่องอายุความขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้เพราะมาตรา 193/29 บัญญัติห้ามไว้ ในกรณีที่หนี้ขาดอายุความไปแล้ว แต่ถ้าลูกหนี้ได้สละประโยชน์แห่งอายุความนั้นเสีย  จะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ตามเช่น  ปฏิบัติการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้บางส่วน  ทั้งๆ ที่รู้ว่าหนี้ดังกล่าวขาดอายุความ  ลูกหนี้ก็ไม่อาจยกอายุความที่ขาดไปแล้วนั้นขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ และต้องเริ่มนับอายุความเดิมกันใหม่  นับแต่วันที่ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นตามมาตรา 193/24 มาดูกรณีศึกษาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7912/2553 จำเลยใช้บัตรเครดิตของธนาคาร ก. ซื้อสินค้าและบริการ  ธนาคาร ก. แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ภายในวันที่ 9 พฤศจิกายน  2537 แต่จำเลยไม่ชำระ  ธนาคาร ก.จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน  2537 เป็นต้นไป  เมื่อสัญญาใช้บัตรเครดิตมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 และครบกำหนดวันที่ 10 พฤศจิกายน 2539   หลังจากที่อายุความครบกำหนดแล้ว  จำเลยได้ผ่อนชำระหนี้จากการใช้บัตรเครดิตให้แก่ธนาคาร ก. หลายครั้งตั้งแต่ปี 2540 ติดต่อกันเรื่อยมา  โดยชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 8 ตุลาคม  2544  เป็นการแสดงออกโดยปริยายว่า  จำเลยได้สละประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24 จำเลยย่อมไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้ธนาคาร ก.   และโจทก์ซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคาร ก. ได้ และต้องเริ่มนับอายุความใหม่จากวันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้าย ซึ่งนับถึงวันฟ้องยังไม่ครบ 2 ปี จึงไม่ขาดอายุความ หมายเหตุผู้เขียน ลูกหนี้บัตรเครดิตทั้งหลายจำไว้ให้แม่นๆ  หนี้ขาดอายุความไปแล้ว อย่าเผลอผ่อนชำระใดๆ ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >