ฉบับที่ 140 รักเกิดในตลาดสด : พหุวัฒนธรรมของบรรดา

“รับไหมครับ ความรักดีดี ที่ไม่มีขายอยู่ทั่วไป รับไหมครับ ตัวผมจริงใจ อยากให้คุณไปฟรีฟรี...” เมื่อเพลง “รักดีดีไม่มีขาย” ของพี่โจ๊กโซคูลดังขึ้น คอแฟนละครโทรทัศน์ก็คงจะรู้ในทันทีว่า ละครเรื่อง “รักเกิดในตลาดสด” ได้เริ่มเปิดแผงออกอากาศแล้ว โดยมีพ่อค้าขายผักจอมยียวนอย่างต๋อง และแม่ค้าขายปลาหน้าหมวยอย่างกิมลั้ง เป็นตัวละครเอกที่ต้องฝ่าด่านเจ๊กิมฮวยผู้ปากร้ายใจดี กว่าที่ “รัก” ของตัวละครทั้งคู่จะ “เกิด” และลงเอย “ในตลาดสด” กันด้วยดี แล้วเหตุไฉน ความรักดีดีจึงไม่มีขายอยู่ทั่วไป แต่ได้ถูกจำลองภาพเอาไว้ให้มาเกิดกันอยู่ใน “ตลาดสด” เช่นนี้ด้วย ? หากอธิบายตามหลักทางเศรษฐศาสตร์แล้วนั้น “ตลาด” เป็นพื้นที่ที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ยิ่งกับสังคมไทยด้วยแล้ว ตลาดเป็นส่วนหนึ่งของระบบวัฒนธรรมที่แยกไม่ออกจากชีวิตของคนไทยตั้งแต่ไหนแต่ไรมา   แม้เราจะเชื่อกันว่า กระบวนการทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอยู่บนพื้นฐานของ “การผลิต” และ “การบริโภค” สินค้าหรือวัตถุต่างๆ เป็นหลัก แต่ถ้ากระบวนการทางเศรษฐกิจขาดซึ่งช่องทางของ “การแพร่กระจาย” ไปเสียแล้ว สินค้าหรือวัตถุต่างๆ ที่ได้รับการผลิตขึ้นมาเสียดิบดี ก็ไม่มีวันจะเข้าถึงมือของผู้บริโภคไปได้ บนพื้นฐานของวิถีการผลิตเยี่ยงนี้นี่เอง “ตลาด” ก็คือกลไกสำคัญที่เป็นข้อต่อซึ่งเชื่อมผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าหากัน หรือกล่าวง่ายๆ ได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกผักหรือชาวประมงที่หาปลามาได้ในแต่ละวัน ก็ล้วนต้องอาศัยทั้งต๋อง กิมลั้ง กิมฮวย และพ่อค้าแม่ขายทั้งหลาย มาเป็นสะพานเชื่อมต่อผลผลิตของเขาเหล่านั้นไปสู่ห้องครัวของผู้บริโภค และเมื่อตลาดได้กลายเป็นฟันเฟืองสำคัญของกระบวนการทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่ “ความรัก” เท่านั้นที่จะบังเกิดขึ้นในตลาด หากแต่ถ้าเรามองภาพในระดับที่กว้างขึ้น ก็จะพบว่า สังคมไทยของเรานั้นก็น่าจะก่อรูปก่อร่างสร้างวัฒนธรรมและระบบความสัมพันธ์อันแตกต่างหลากหลายขึ้นมาจากพื้นที่ของตลาดสดด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คงไม่แตกต่างไปจากชื่อของ “ตลาดร่วมใจเกื้อ” ที่เป็นพื้นที่การใช้ชีวิตของตัวละครต่างๆ ในท้องเรื่องนั่นเอง ในตลาดสดร่วมใจเกื้อนั้น ก็เป็นภาพจำลองของสังคมไทยซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย หรือที่เรียกกันแบบกิ๊บเก๋ได้ว่าเป็น “สังคมแบบพหุวัฒนธรรม” ที่ตัวละครจะมีทั้งรักกันบ้าง แง่งอนกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง แต่ก็เกื้อกูลกันอยู่เป็นระยะๆ เพราะฉะนั้น ตลาดสดจึงมีตั้งแต่ตัวละครวัยรุ่นแบบต๋อง กิมลั้ง กิมแช จาตุรงค์ และกลุ่มก๊วนของต๋อง ที่ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมและอัตลักษณ์แบบวัยรุ่นขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดอีเว้นท์คอนเสิร์ตของต๋องกันกลางตลาด การจัดส่งน้องกิมแชไปแข่งขันประกวดนักร้องล่าฝัน หรือแม้แต่แง่มุมเล็กๆ อย่างการโพสท่ายกนิ้วถ่ายรูปแบบวัยรุ่นผ่านมือถือไอโฟนที่เห็นอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ในขณะเดียวกัน ตลาดร่วมใจเกื้อก็ยังมีการดำเนินไปของอีกหลากหลายชีวิต เริ่มตั้งแต่บรรดาวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์น้อยใหญ่ ทั้งแบบไทย แบบจีน แบบแขก ไปจนถึงกระแสท้องถิ่นนิยมแบบตัวละครสาวเหนืออย่างเครือฟ้าที่อู้กำเมืองอยู่ตลอดเวลาที่มาตลาด หรืออ้ายคำมูลพ่อค้าส้มตำอีสานที่ก็เว้าลาวโลดอยู่เป็นเนืองๆ ชุมชนตลาดสดยังมีวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิมที่ถูกหล่อเลี้ยงไว้ แบบที่เราเองก็เห็นได้จากตัวละครอย่างคนทรงเจ้าที่ “ทำเพื่อลูก” อย่างน้าจะเด็ด ที่แม้ตอนต้นจะทรงเจ้าเข้าผีหลอกลวงต้มตุ๋นชาวบ้านอยู่ทุกวี่วัน แต่ตอนหลังก็กลับใจมาใช้ศาสตร์แห่งพิธีกรรมเป็นภูมิปัญญาให้คนในตลาดยึดมั่นทำแต่ความดี และในส่วนแง่มุมเล็กๆ อื่นๆ ของละคร ตลาดสดแห่งนี้ก็ยังฉายภาพสังคมพหุวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่มีการโคจรมาพบกันระหว่างวิถีชีวิตของชนชั้นที่แตกต่าง หรือระหว่างเจ้าของตลาดสดอย่างคุณสดศรีและณดา กับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าผู้เช่าแผง กลุ่มวัฒนธรรมของเพศที่สามอย่างคิตตี้กะเทยสาวที่ต้องแอบเก็บงำความลับเรื่องรสนิยมทางเพศของเธอไว้ไม่ให้บิดารับรู้ กลุ่มวัฒนธรรมของผู้พิการทางร่างกายอย่างน้อยหน่าช่างเสริมสวยที่ต่อสู้ชีวิตอย่างเข้มแข็ง และอีกหลากหลายกลุ่มวัฒนธรรมที่ “ร่วมใจเกื้อ” และต่างก็มีเหตุผลในการสร้างและดำเนินชีวิตของพวกเขาในแบบที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่าในด้านหนึ่ง ละครจะได้ชี้ให้เห็นสัจธรรมข้อหนึ่งที่ว่า ตลาดสดทุกวันนี้ไม่ได้เป็นชุมชนที่ผูกขาดการเป็นข้อต่อของโลกแห่งการผลิตและโลกแห่งการบริโภคเอาไว้อยู่เพียงเจ้าเดียว เพราะชุมชนตลาดสดต้องอยู่ในภาวะการต่อสู้ดิ้นรนกับการเกิดขึ้นของพื้นที่ค้าขายใหม่ๆ อย่างห้างสรรพสินค้า ที่พยายามใช้เล่ห์กลทุกอย่างที่จะฮุบตลาดสดออกไปจากเส้นทางเศรษฐกิจของตน แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็จะเห็นริ้วรอยแห่งการเปลี่ยนผ่านลบล้างคราบไคลของตลาดสดในแบบวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม มาสู่วิถีการผลิตแบบใหม่ๆ เพื่อก้าวเข้าสู่กระแสธารแห่งความทันสมัย นับตั้งแต่การจัดรูปลักษณ์ของแผงค้าขายให้ดูดึงดูดและทันสมัยมากขึ้น การสร้างตลาดสดให้สะอาดสะอ้านไม่เป็นแหล่งเพาะหนูและเชื้อโรค การรณรงค์ให้พ่อค้าแม่ขายสวมหมวกคลุมผมให้เป็นไปตามหลักสุขอนามัย และการผลิตวัฒนธรรมใหม่ๆ อีกมากมายเพื่อป้อนออกสู่ชุมชนตลาดสดร่วมใจเกื้อแห่งนี้ ภาพของตลาดร่วมใจเกื้อแบบนี้ก็คงไม่แตกต่างไปจากภาพรวมของสังคมไทยเท่าใดนัก เพราะเราเองก็กำลังก้าวผ่านจากวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม สู่สังคมที่เจริญก้าวหน้าภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่สังคมไทยแบบ “ร่วมใจเกื้อ” พึงรำลึกเสมอก็คือ บนเส้นทางสู่ความทันสมัยทางเศรษฐกิจนั้น สังคมเราอาจไม่ได้มีหน้าตาเป็นแบบมวลรวม หากแต่ฉากหลังก็ยังคงหล่อหลอมความแตกต่างหลากหลายแบบ “พหุวัฒนธรรม” เอาไว้ด้วยเช่นกัน และหากพ่อค้าแม่ขายพลพรรคของต๋องและกิมลั้งร่วมใจเกื้อกูลและสร้าง “รักให้บังเกิดในตลาดสด” ขึ้นมาได้ฉันใด กลุ่มวัฒนธรรมอันหลากหลายก็น่าที่จะสร้าง “ความแตกต่างที่ไม่แตกแยก” ให้กับสังคมไทยได้เช่นกันฉันนั้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 150 กระแสต่างแดน

เรื่องคับอกของผู้สูงวัย ปีนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดพิมพ์สมุดปกขาวว่าด้วยสถานการณ์ผู้บริโภค แต่นั่นยังไม่ใช่ไฮไลท์ของข่าวนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะได้รับเรื่องร้องเรียนน้อยลงถึงร้อยละ 20.4 ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (เหลือ 836,662 กรณี) แต่ปรากฏว่าจำนวนเรื่องร้องเรียนจากผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.7 (มีถึง 207,513 กรณี) ถ้ามองโดยรวมแล้ว ร้อยละ 56 ของผู้ร้องเรียนเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งได้รับความเดือดร้อนรำคาญจาก ผู้ที่โทรศัพท์มาชักชวนให้ซื้อสินค้า/บริการ ตามด้วยการได้รับสินค้าสุขภาพบ่อยครั้งทั้งๆ ที่ไม่ได้สั่งซื้อ แต่ที่เจ็บปวดที่สุดคือการถูกหลอกลวงโดยคนที่อาสาจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าหรือบริการนั่นเอง ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข แล้วยังต้องเสียเงินให้ใครไปอีกก็ไม่รู้     ผิดที่แม่ เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2006 หนูน้อยเอมม่าวัย 3 ขวบชาวอังกฤษ ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังและตับ เมื่อรถที่คุณแม่ของเธอเป็นคนขับถูกรถอีกคันชน ขณะเกิดเหตุเอมม่านั่งอยู่บนเบาะรองนั่งสำหรับเด็ก ชนิดไม่มีพนักพิง แม้ว่ารถของคู่กรณีจะเป็นฝ่ายผิด แต่บริษัทประกันของเขาโต้แย้งว่าแม่ของเด็กควรมีส่วนร่วมจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกด้วย เพราะเป็นความประมาทเลินเล่อของเธอที่ให้ลูกนั่งเบาะเสริม ทั้งๆ ที่ในร ถก็มีเบาะชนิดที่เหมาะสมกับลูกอยู่ด้วย เดือนเมษายนปี 2012 ศาลชั้นต้นตัดสินว่าลูอิส แม่ของเอมม่า มีส่วนทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บจากการให้ลูกนั่งบนเบาะผิดประเภท และต้องร่วมจ่าย 1 ใน 4 ของค่าชดเชย ลูอิสขออุทธรณ์ แต่ศาลก็ยังยืนยันคำพิพากษาเดิม ศาลให้ความเห็นว่าแม้ลูอิสเป็นแม่ที่ยอดเยี่ยม แต่ก็เธอไม่ควรนำเบาะเสริมชนิดดังกล่าวมาใช้ และอาการบาดเจ็บของเอมม่าจะไม่รุนแรงขนาดนี้ถ้าเธอเลือกใช้เบาะชนิดที่มีพนักพิงและเข็มขัด ซึ่งเธอก็มีอยู่ในรถ ที่สำคัญ เมื่อพิจารณาคู่มือการใช้เบาะเสริมแล้วพบว่า เอมม่ามีน้ำหนักที่เหมาะสมกับการใช้เบาะดังกล่าว (เธอหนัก 15 กิโลกรัม) แต่เอมม่ายังขาดส่วนสูงไป 8 เซนติเมตร และยังอายุไม่ถึง 4 ขวบตามที่คู่มือแจ้งไว้     กินเนื้อเมื่อโอกาสเหมาะ คณะกรรมาธิการด้านอาหารของรัฐสภาอังกฤษเขาบอกว่าอังกฤษเป็นอีกประเทศที่อาจต้องเผชิญกับภาวะอาหารขาดแคลนในเวลาอันใกล้นี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลรีบดำเนินการเพิ่ม “ความมั่นคงทางอาหาร” โดยด่วน คณะกรรมาธิการมีข้อเสนอให้รัฐบาลรีบออกนโยบายลดอาหารเหลือทิ้ง(อังกฤษก็เหมือนที่อื่นๆ ในโลก ที่กิน 7 ส่วน ทิ้ง 3 ส่วน) รวมถึงมาตรการลดความผันผวนของราคาอาหาร และรณรงค์ให้ชาวเมืองผู้ดีเลิกรับประทานเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลัก เรียกว่าต้องเป็นโอกาสพิเศษจริงๆ ถึงจะมีเนื้อสัตว์ขึ้นโต๊ะ และเขาขอให้เป็นเนื้อจากปศุสัตว์ที่เลี้ยงในทุ่งหญ้าเท่านั้น เรามาช่วยกันลุ้นว่าปฏิบัติการกู้กระเพาะจะเกิดขึ้นได้ทันเวลาหรือไม่ อังกฤษเคยมีประสบการณ์เรื่องวิกฤตราคาอาหารมาแล้วสองครั้งเมื่อปี  2008 และ 2011 เพราะความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และการผลิตเชื้อเพลิงจากพืชที่ทำให้ต้องแบ่งเนื้อที่ทางการปลูกพืชอาหารไปปลูกพืชพลังงานแทน ปัจจุบันโลกเรามีประชากร 7,100 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประมาณ 1,000 ล้านคนที่ยังอดอยาก และมีเด็กเสียชีวิตจากภาวะทุพโภชนาการถึงปีละ 2.3 ล้านคน     ตลาดนัดแต้มเขียว มีข่าวมาฝากคนที่ชอบเดินตลาดนัดของเก่า ถ้ามีเวลาอย่าลืมแวะไปที่เม็กซิโกซิตี้ เพราะที่นั่นเขามีโครงการของเก่าแลกผักสด ตลาดนี้ไม่ต้องพกเงินไป แต่ให้คุณเก็บรวบรวมกล่องนม ขวดพลาสติก หนังสือพิมพ์เก่า หรือกระดาษลังที่ไม่ใช้แล้วไปแทน จากนั้นนำของที่ว่านี้ไปเปลี่ยนเป็นแต้ม(เขาเรียกมันว่า Green Points) แล้วนำแต้มที่คุณสะสมได้ไปซื้อผัก ผลไม้ออกานิกกลับบ้านไปทำกับข้าว เทศบาลเมืองเม็กซิโกซิตี้ ที่มีประชากร 20 ล้านคน บอกว่าเป้าหมายหลักของโครงการคือการทำให้ชาวเมืองแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการส่งต่อไปยังโรงงานรีไซเคิลด้วย ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างก็ถูกใจตลาดนี้ ผู้ซื้อได้ของดีราคาถูกกลับบ้าน แถมยังได้เคลียร์บ้านช่องให้สะอาดเอี่ยม ส่วนผู้ขายก็ยินดีเพราะได้เงินก้อนจากขายเหมาพืชผลให้เทศบาลนั่นเอง     แพชชั่นนิสตา แชมป์บริโภคผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยส่วนบุคคล (สบู่ แชมพู ครีมนวดผม ยาสีฟัน โลชั่นทาผิว โรลออน โคโลจน์ น้ำยาบ้วนปาก) ในการสำรวจล่าสุดได้แก่ สาวฟิลิปปินส์ การสำรวจโดยบริษัท NBC Universal International Television และ “นักรบรองเท้าส้นสูง” พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว สาวตากาล็อกใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถึง 9 แบรนด์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่สาวๆ ในอีก 4 ประเทศที่เขาไปทำการสำรวจ (มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฮ่องกง) ใช้เพียง 6 ผลิตภัณฑ์เท่านั้น เขาสอบถามผู้หญิงอายุระหว่าง 20 ถึง 44 ปี จำนวน 600 คนจากแต่ละประเทศ พวกเธอมีที่พักอาศัยในเขตเมืองและดูเคเบิลทีวีเป็นประจำ 1 ใน 3 ของสาวฟิลิปปินส์ บอกว่าพวกเธออยู่ในกลุ่ม แพชชั่นนิสตา Passionista หรือสาวที่พึ่งพาตนเอง ทำตามความฝัน และสนุกกับปัจจุบัน ในขณะที่มีเพียง 1 ใน 4 ของ สาวๆ ที่อื่นเท่านั้นที่จัดตัวเองเข้ากลุ่มนี้ กลุ่มที่เล็กลงมาหน่อยคือ โซเชียลไซเดอร์ (Socialcider) ที่หมายถึงผู้หญิงที่ชอบเข้าสังคม ใช้โซเชียลเน็ทเวิร์คเป็นประจำ มองโลกในแง่ดีและพอใจกับชีวิต โดยเฉลี่ยแล้วสาวฟิลิปปินส์มีเพื่อนบนเฟสบุ้ค 523 คน (สาวอาเซียนโดยรวม มีเพื่อนเฟสบุ้ค 389 คน) ผู้สำรวจบอกว่าวิถีชีวิตทั้งแบบ แพชชั่นนิสตา และโซเชียลไซเดอร์ เป็นปัจจัยที่ทำให้สาวๆ เหล่านี้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ค่อนข้างมาก ไม่รู้จะตีความว่าพวกเธอสะอาดเนี้ยบที่สุด หรือว่าพวกเธอมีโอกาสได้รับสารเคมีมากที่สุดนะนี่   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 กระแสต่างแดน

บล็อกเกอร์ต้องสำแดง ออสเตรเลียเกิดปิ๊งไอเดียจัดระเบียบการทำการตลาดทางอินเตอร์เน็ตด้วยการออกข้อบังคับให้เจ้าของบล็อกประเภท “วิจารณ์ผลิตภัณฑ์” หรือ “ใช้ดีแล้วบอกต่อ” แสดงที่มาที่ไปของสินค้าที่ตัวเองพูดถึงด้วย   เงินค่าจดทะเบียนน่ะมีไหม เดนมาร์กนั้นนอกจากจะเป็นประเทศที่รถมีราคาแพงจนน่าตกใจแล้ว ยังเป็นประเทศที่การจดทะเบียนรถก็แพงไม่แพ้กันอีกด้วย เดนมาร์กมีค่าจดทะเบียนรถยนต์สูงที่สุดในยุโรป ที่ประมาณ 1,180 โครเนอร์ (ประมาณ 7,800 บาท) ซึ่งองค์กรผู้บริโภคลงความเห็นว่าราคานี้ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง และเป็นการเก็บเงินเกินไปถึง 1,000 โครเนอร์ (ประมาณ 6,500 บาท) เลยทีเดียว เขาอ้างอิงจากข้อมูลของสรรพากรที่บอกว่าค่าภาษีอยู่ที่ 160 โครเนอร์ (1,055 บาท) ส่วนตัวป้ายทะเบียนก็ราคาประมาณ 22 โครเนอร์ (145 บาท) แล้วที่เหลือนี่น่าจะเป็นค่าอะไร??? สมาคมผู้เป็นเจ้าของรถยนต์แห่งเดนมาร์กและสหพันธ์ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ก็เห็นด้วยว่าหลักการคิดค่าธรรมเนียมดังกล่าวดูไม่ค่อยจะโปร่งใสสักเท่าไร รัฐบาลเดนมาร์กมีรายได้จากการค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนและการโอนรถถึงปีละ 780 ล้านโครเนอร์ (ประมาณ 5 พันกว่าล้านบาท) อังกฤษ เปิดเสรีโฆษณาแฝง การโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์เคยเป็นเรื่องผิดกฎหมายในอังกฤษ แต่หลังจากเดือนกันยายนที่ผ่านมาสถานีโทรทัศน์ที่เอกชนเป็นเจ้าของสามารถอนุญาตให้มีโฆษณาแฝงได้ สภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทำให้รัฐบาลอังกฤษเปลี่ยนใจ เพราะการอนุญาตให้มีโฆษณาแฝงได้จะทำให้สถานีโทรทัศน์ของเอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงปีละ 100 ล้านปอนด์ (5,000 กว่าล้านบาท) แค่สถานีไอทีวีสถานีเดียวก็สามารถหาเงินเพิ่มได้ถึง 72 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3,800 ล้านบาท) แล้ว ฝ่ายที่สนับสนุนเรื่องนี้อ้างว่าจะเป็นผลดีต่อผู้ชม เพราะการที่สถานีมีทุนมากขึ้น ก็จะสามารถจัดหารายการดีๆ มาให้ดูกันมากขึ้น สตีเฟ่น บาร์เน็ท อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวสมินสเตอร์ บอกว่าคนดูอาจเกิดอาการสับสนระหว่างเนื้อหาของละครกับเนื้อหาส่วนที่เป็นโฆษณาได้ และเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ผู้จัดละครจะสร้างเนื้อหามารองรับการโฆษณาแฝง เพื่อหารายได้เสริมเข้ารายการมากกว่าการเขียนบทเพื่อสร้างอรรถรสตามที่ควรจะเป็น ปีเตอร์ บาซาลเกต ผู้สร้างรายการบิ๊กบราเธอร์ที่เรารู้จักกันดีก็ออกมาบอกว่า เรื่องนี้ควรปล่อยให้ผู้บริโภคเป็นคนตัดสิน ถ้าคนดูรู้สึกเลี่ยนกับโฆษณาแฝงเหล่านี้พวกเขาก็จะปิดทีวีหนีไปเอง แถมยังบอกว่าทุกวันนี้อังกฤษก็ซื้อรายการจากอเมริกาที่มีโฆษณาแผงพ่วงมาด้วยมากมายอยู่แล้ว แล้วไหนจะบรรดาเสื้อยืดพร้อมโลโก้ที่เป็นสปอนเซอร์ให้กับนักกีฬาอีก มีเพิ่มมาอีกนิดหน่อยก็ไม่น่าจะมีใครเดือดร้อนก็คงจับตาต้องดูกันต่อไปว่าคนอังกฤษจะได้ดูรายการที่ดีขึ้นจริงๆ หรือจะมีแต่รายการที่เต็มไปด้วยโฆษณาแฝงที่อยู่ดีๆ ผู้ชมก็ได้เห็นสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลเหมือนซิทคอมในบางประเทศหรือไม่หมายเหตุ การห้ามโฆษณาแฝงในอังกฤษยังคงมีอยู่สำหรับสถานีบีบีซี และรายการสำหรับเด็กในโทรทัศน์ทุกช่อง   ของมันมีจริงๆ นะเคยไหมที่เราตั้งใจไปซื้อของลดราคา ตามที่เห็นในโฆษณา แต่ต้องผิดหวังเพราะทางร้านบอกว่าของหมดแล้ว ที่เดนมาร์กเขามีการทำสำรวจไว้ เขาบอกว่ามีผู้บริโภคที่ผิดหวังกลับบ้านมือเปล่าไปถึง 1 ใน 10 อันนี้เป็นการสำรวจกับผู้บริโภคจำนวน 500 คน เมื่อคำนวณดูแล้วพบว่าในแต่ละปีจะมีประชากรชาวเดนมาร์กที่พลาดหวังถึง 250,000 คนเชียว ข่าวบอกว่าต่อไปนี้รัฐบาลจะเอาจริงแล้ว กับของที่โฆษณาว่าลดสุดๆ ลดล้างสต็อก หรือลดพลีชีพนั้น ต้องมีอยู่ที่ร้านจริงๆ และอีกหน่อยอาจจะมีกฎหมายระบุไปเลยว่าต้องมีของในสต็อกอย่างน้อยกี่ชิ้นด้วย มองในมุมกลับหรือมองในแง่ดีก็หมายความว่า มีถึง 9 ใน 10 เชียวนะที่มาซื้อแล้วได้ของกลับไปจริงๆ   โรคระบาดหลังหวัดสายพันธุ์ใหม่ข่าวนี้เก็บตกจากเกาหลีใต้ ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังคงแพร่ระบาด และเรายังคงต้องปฏิบัติตามหลักการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” กันอยู่ ที่เกาหลีใต้นั้นหลายคนร่ำรวยอู้ฟู่ขึ้นตั้งแต่มีข่าวการแพร่ระบาด เพราะทั้งหน้ากากอนามัย น้ำยาทำความสะอาดมือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทั้งหลายล้วนแล้วแต่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า อย.ของเกาหลีเลยต้องออกมาให้สติกับผู้บริโภค เพราะการแข่งขันที่สูงมากนั้นหมายถึงเจ้าของสินค้าจะต้องโฆษณาสินค้าของตัวเองว่าเลิศเกินใครและโดยมากจะเกินจริง เพื่อดึงดูดใจผู้บริโภค เช่น ตามกฎหมายของเกาหลีนั้น หน้ากากที่ไม่ผ่านเกณฑ์ KF94 ขององค์การอนามัยโลกไม่สามารถจะโฆษณาว่า “ป้องกันการติดเชื้อ” ได้ แต่ก็มีหน้ากากดังกล่าววางขายอยู่เกลื่อน นอกจากนี้ยังมีการจงใจสร้างความสับสนระหว่าง น้ำยาล้างมือ (ธรรมดา) กับน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ในขณะที่น้ำยาล้างมือนั้น จัดเป็นเครื่องสำอางซึ่งตามกฎหมายก็หมายความว่าไม่อาจนำมาโฆษณาว่าสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ แม้แต่โรงพยาบาลก็ยังกลัวตกรถไฟต้องหาประโยชน์จากความตื่นกลัวของผู้บริโภคเสียหน่อย ด้วยการแนะนำให้คนไข้รับการตรวจที่เรียกว่า Rapid Antigen Test เพื่อการยืนยันว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิด A ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 – 40,000 วอน (600 -1,200 บาท) โดยบอกว่าจะรู้ผลเร็วกว่าการตรวจ RT-PCR ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน ทางอย.ที่นั่นออกมาประณามโรงพยาบาลเหล่านี้ว่าไม่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค เพราะการตรวจดังกล่าวนั้นแม้จะรวดเร็วกว่าแต่ให้ความแม่นยำน้อยมาก และทำให้สูญเสียโอกาสในการได้รับการรักษาอย่างทันเวลาด้วย   นาทีนี้คนที่มีคอมพิวเตอร์และสามารถเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ได้มักจะหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตอยู่เสมอก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ ก็ตาม และผู้บริโภคก็มักจะพบกับบล็อกประเภทที่ดูเหมือนเขียนขึ้นจากใจจริงโดยผู้บริโภคด้วยกันที่อยากแบ่งปันเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ผู้บริโภคอาจยังไม่รู้แน่ชัดคือ บล็อกเกอร์เหล่านั้นได้รับค่าตอบแทนให้มาพูดถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ เพราะปัจจุบันการกระทำดังกล่าวเป็นหนึ่งในยุทธวิธีการตลาดของบริษัทต่างๆ โดยการอาศัยช่องว่างที่ขณะนี้ยังไม่มีการควบคุมการทำการตลาดบนอินเตอร์เน็ตอย่างชัดเจน คณะกรรมการการค้าแห่งออสเตรเลียบอกว่า การใช้วิธีขายแบบนี้มีผลทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดอย่างยิ่ง จึงออกกฎว่าตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2552 ปีนี้เป็นต้นไป ขอให้บล็อกเกอร์ที่วิจารณ์หรือให้คะแนนผลิตภัณฑ์ในเน็ตนั้น ระบุให้ชัดเจนว่าสินค้าที่พวกเขาพูดถึงนั้น เป็นสินค้าที่บริษัทให้มาฟรีหรือไม่ และได้รับค่าตอบแทนเท่าไรจากบริษัทในการพูดถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าว คณะกรรมการฯ บอกว่ากฎนี้มีเจตนาจะจัดระเบียบการทำการตลาดของบริษัทต่างๆ โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะจำกัดเสรีภาพบล็อกเกอร์แต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม >