ฉบับที่ 119 “มูลค่า” ในกายทองคำ

  “มูลค่า” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “value” นั้น เป็นหัวใจหลักหรือเป็นคุณค่ามูลฐานที่สำคัญประการหนึ่งของผู้คนในสังคมแห่งการบริโภค  แล้ว “มูลค่า” กลายมาเป็นมูลฐานแห่งชีวิตของผู้บริโภคได้อย่างไร? เราอาจควานหาคำตอบได้จากโฆษณาผลิตภัณฑ์ประทินผิวยี่ห้อหนึ่งที่แพร่ภาพผ่านโทรทัศน์  โฆษณาชิ้นนี้เปิดฉากมาด้วยความอลังการของราชสำนักจีนในอดีตอันไกลโพ้น โดยเริ่มด้วยภาพของขุนนางนายหนึ่งส่งถวายแหวนทองคำให้แด่พระจักรพรรดิ แล้วพระองค์ก็นำแหวนมาร้อยเป็นสร้อยคล้องคอของราชินีรูปงาม ทันใดนั้นพระศอของพระนางก็เปล่งฉัพพันรังสีแห่งทองคำออกมาในบัดดล  เสียงผู้บรรยายสตรีก็พูดขึ้นในโฆษณาว่า “ผู้ใดได้ครอบครองทองคำ ผู้นั้นจะคงความเปล่งประกายแห่งวัยและความรักชั่วนิรันดร์ ด้วยเหตุนี้ ทองคำจึงกลายเป็นสุดยอดปรารถนาของอำนาจมืด…”   ภาพตัดกลับมาที่ราชินีรูปงามขี่ม้าหนีศัตรูที่ตามล่าไปถึงหน้าผาแห่งหนึ่ง เมื่อพระนางจวนตัวและกำลังจะถูกชิงแหวนทองคำไป พระนางจึงกระชากแหวนทองออกจากพระศอ แล้วเขวี้ยงลงไปในหุบผา พร้อมกับเสียงผู้บรรยายกล่าวต่อไปว่า “...และแล้วฟ้าก็ลิขิตให้มันสูญหายไปในกาลเวลา...” จากนั้นโฆษณาก็ตัดมายังภาพแหวนที่กลิ้งลงไปด้านล่างของหน้าผา แล้วสลายกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ประทินความงามบรรจุขวด พร้อมเสียงบรรยายว่า “…จนถึงวันที่อานุภาพแห่งทองคำกลับคืนมาอีกครั้ง เพื่อสานต่อความรักให้คงอยู่ชั่วนิรันดร์...” บัดนี้ราชินีนางนั้นได้กลับมาเกิดในชาติภพปัจจุบัน เธอเดินอยู่ในร้านขายวัตถุโบราณ และเอื้อมไปหยิบแหวนทองคำขึ้นมาเชยชม พร้อมกับมีรัศมีออร่าเปล่งออกมาจากเรือนกายของเธอ ชายหนุ่มเดินเข้ามาในร้านวัตถุโบราณ เขาถึงกับตะลึงงันและสัมผัสได้ถึงอดีตชาติที่แฝงอยู่ในรัศมีทองคำที่เคลือบกายของหญิงสาวนางนั้น แม้กาลเวลาจะผ่านพ้นไป แต่เธอก็ยังมี “ผิวที่เปล่งประกายดุจวัยเยาว์” ก่อนที่โฆษณาจะจบลงด้วยภาพของผลิตภัณฑ์ที่เปล่งรัศมีออร่าสีทองฉานต่อสายตาของผู้ชม จากโฆษณาข้างต้น ดูเหมือนว่า “ทองคำ” มิใช่จะเป็นแค่ “ทองคำ” หรือเป็นแค่ธาตุทางธรณีวิทยาชนิดหนึ่งที่ชำแรกอยู่ในสายแร่เหมือนกับโลหะชนิดอื่น ก่อนที่มนุษย์เราจะเพียรขุดค้นแร่ธาตุดังกล่าวนั้น ขึ้นมาทำเป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย แต่ทว่า “ทองคำ” ดูจะเป็นสิ่งที่มนุษย์เรา “เสกมนตรา” ให้มีมูลค่าบางอย่างที่มากเกินโลหะวัตถุ และจะมีก็แต่เฉพาะมนุษย์บางคนเท่านั้นที่จะเข้าถึงหรือเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้น ทองคำจึงมิใช่วัตถุที่มีไว้สำหรับปัจเจกบุคคลทั่วไป แต่เป็นวัตถุที่จำเพาะไว้ก็แต่ราชินีรูปงามที่จะมีไว้คล้องพระศอของพระนางเท่านั้น และยิ่งเมื่อมาถึงในกาลปัจจุบัน ทองคำจากพระศอของราชินีงามได้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของสาวๆ รุ่นใหม่ ก็ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า มนุษย์เราได้กำหนดมูลค่าบางอย่างที่เพิ่มพูนยิ่งขึ้นให้กับวัตถุอย่างทองคำ ในอดีตนั้น มูลค่าที่มนุษย์ให้ความสำคัญแก่ชีวิตของตนนั้น จะเป็นบรรดามูลค่าที่เกิดจากอรรถประโยชน์ใช้สอยต่างๆ ซึ่งถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็คือ ทุกครั้งที่มนุษย์เราเสพหรือบริโภควัตถุใดๆ เป้าหมายเบื้องแรกสุดของเราก็มักจะเป็นการใช้วัตถุแห่งการบริโภคเพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอด หรือเพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์บางประการต่อตัวเรา   ตัวอย่างของมูลค่าเชิงอรรถประโยชน์นี้ก็เช่น เรากินข้าวบริโภคอาหารก็เพื่อให้อิ่มท้อง เราสวมเสื้อผ้าก็เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย เราใช้ครีมชะโลมผิวก็เพื่อให้ความชุ่มชื่นแก่ผิวกาย เพราะฉะนั้น ในแง่นี้การบริโภคข้าว เสื้อผ้า และครีมบำรุงผิว ก็คือการบริโภคใน “มูลค่าใช้สอย” ของวัตถุต่างๆ ดังกล่าว จนเมื่อยุคสมัยผ่านไป ดูเหมือนว่า การบริโภคเพื่อความอยู่รอดหรือเพื่ออิ่มท้อง อาจไม่ใช่เป้าหมายเดียวและไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของผู้คนอีกต่อไปแล้ว มนุษย์ยุคนี้เริ่มรู้จักมักคุ้นที่จะพัดพาเอามูลค่าแบบใหม่มาฉาบเคลือบให้กับชีวิตของตนเอง ด้วยเหตุดังกล่าว ทุกวันนี้มนุษย์เราจึงได้สร้างวัตถุอย่างทองคำขึ้นมา ก็เพื่อให้กลายเป็นบางสิ่งบางอย่างที่มีความหมายมากกว่าแค่ทองคำธรรมดาๆ หรือเป็นทองคำที่ผนวกมูลค่าเชิงความหมายหรือ “สัญญะ” ที่จะบอกคนอื่นว่า หากใครได้ครอบครองสัญญะแห่งทองคำแล้ว คนนั้นก็จะ “เปล่งประกายแห่งวัยเยาว์และความรักชั่วนิรันดร์”   ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ตั้งแต่ยุคอาณาจักรจีนโบราณจวบจนถึงปัจจุบัน มนุษย์จึงไม่ได้ไล่ล่าแค่วัตถุแบบทองคำ แต่เป็นการทั้งไล่และทั้งล่าตามหา “สัญญะ” หรือมูลค่าเชิงความหมายที่แนบมาในทองคำ เพราะมูลค่าเชิงสัญญะที่อยู่ในทองคำนี่เอง จะทำให้ผู้ครอบครองมูลค่าดังกล่าวมีอำนาจเปล่งประกายรัศมีเหนือผู้อื่น และเป็นรัศมีออร่าที่ก้าวข้ามผ่านกาลเวลา   และที่น่าสนใจก็คือ ในยุคอาณาจักรจีนโบราณนั้น แม้จะมีการกำหนดคุณค่าแห่งสัญญะเอาไว้ในวัตถุอย่างทองคำ แต่มนุษย์เราหรือราชินีรูปงามก็พร้อมจะสลัดมูลค่าดังกล่าวทิ้งลงหุบเหวไป หากแม้นว่าสัญญะดังกล่าวได้ผันกลายเป็น “สุดยอดปรารถนาของอำนาจมืด” ที่จะเข้ามาครอบงำมวลมนุษย์เอง   แต่ในยุคแห่งการบริโภคแล้ว อำนาจแห่งสัญญะนั้น จะมืดหรือจะสว่างก็คงไม่สำคัญเท่าไรนัก เพราะดูเหมือนว่า จะเป็นมนุษย์เรานั่นเองที่จับเอามูลค่าสัญญะในทองคำมาบรรจุเอาไว้ในขวด ก่อนที่เราเองก็จะเลือกเอาสัญญะนั้นมาฉาบเคลือบชะโลมผิวพรรณให้เปล่งประกาย   มูลค่าเชิงสัญญะที่เคลือบเอาไว้ถ้วนทั่วสรรพางค์กายเช่นนี้ จึงทำให้มนุษย์เราติดกับอยู่ในวังวนของสิ่งปลอมๆ เพราะมันมิใช่การบริโภคของจริงที่เป็นรูปธรรม(แบบข้าวปลาอาหารที่เป็นอรรถประโยชน์ใช้สอยจริง ๆ) แต่ทว่า การบริโภคดังกล่าวเป็นเพียงการเสพความหมายเชิงนามธรรม ที่ยิ่งกินยิ่งประทินยิ่งเสพ เราเองก็จะถูกลวงล่อว่าดูดีมีอำนาจเหนือมนุษย์คนอื่น มนุษย์เรามีต่างเพศต่างผิวพรรณกันเป็นธรรมชาติปกติอยู่แล้ว แต่หากในวันนี้ ผู้หญิงรูปงามบางคนเริ่มใช้ผิวกายที่เปล่งรัศมีทองคำออกมาแสดงความหมายว่า เธอดูดีดูเด่นดูมีคุณค่ากว่าบุคคลอื่น ๆ บางทีเราเองก็อาจต้องกลับมาคิดกันใหม่ว่า แล้วมูลค่าในกายทองคำเป็นมูลค่าอันแท้จริงของอิสตรีกันจริงหรือ?

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 180 จะเป็นอย่างไรเมื่อ(ร่าง) รัฐธรรมนูญใหม่ ไม่มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

หลายท่านที่ติดตามข่าวคงได้เห็นแล้วว่าภาคประชาชนมีแอคชั่นทวงสิทธิผู้บริโภคที่หายไปในรัฐธรรมนูญ กับกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกว่า 150 คน ได้ไปยื่นหนังสือคัดค้านการประชุมของสคบ.และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่มีมติไม่สนับสนุนกฎหมายอ้างเหตุซ้ำซ้อน และขอให้สนับสนุนกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กับ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ โดยมี นายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีสำนักนายกฯ เป็นผู้รับหนังสือแทน ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้ จึงขอพาไปติดตามสองความคิดเห็นของ ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และนางสาว สารี อ๋องสมหวัง ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อ(ร่าง) รัฐธรรมนูญใหม่ ไม่มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคดร.ไพบูลย์ ช่วงทองส่วนตัวผมมองว่า การทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดปัจจุบันยึดโยงและสอบถามความเห็นประชาชนน้อย ทำให้หลายภาคส่วน ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า เป็นการร่างรัฐธรรมนูญแบบย้อนยุคไปเมื่อสมัย 40 ปี ที่แล้ว ที่ให้รัฐทำทุกอย่าง ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ล้าสมัย และเป็นสาเหตุสำคัญในการนำพาประเทศมาถึงทางตันทางการเมือง ไม่มีทางออก จนต้องนำมาสู่การรัฐประหารปี 2558 โดย คณะ คสช. ส่วนตัวผมมองว่า การเข้ามาของ คสช. ผมมองว่าไม่ถูกต้อง แต่ในขณะนั้น สังคมเราไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า การใช้อำนาจในการเข้ามาควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง ที่ ประชาชน 2 ฝ่าย มีแนวโน้มที่จะปะทะกันและนำไปสู่ ความรุนแรง และอาจเป็นบาดแผลที่ยากเกินกว่าจะเยียวยา ในประวัติศาสตร์ของประเทศได้ แต่เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองสงบขึ้น ส่วนตัวผมมองว่า ประชาชนได้ฝากความหวังว่าการทำงาน ของ คสช. จะกลับมาแก้ปัญหา การกระจายอำนาจ  รักษาหลักการ เคารพสิทธิมนุษยชน เพิ่มสิทธิพลเมือง ขยายสิทธิผู้บริโภค โดยยอมนิ่งสงบทั้งๆ ที่ การฉีกรัฐธรรมนูญ เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งต้องเข้าใจนะครับว่า รัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกไปนั้น จะดีจะเลวอย่างไร ก็ผ่านเสียงประชามติของประชาชนทั้งประเทศมาแล้ว และส่วนตัวผม รัฐธรรมนูญ ปี 40 ที่ถูกฉีกไปเมื่อปี 49 ก็รับรองสิทธิของผู้บริโภคไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 57  “มาตรา 57 สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องบัญญัติให้มีองค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎและข้อบังคับและให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค” นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญปี 50 ที่ถูกฉีกอีกครั้ง ก็ยังคงรับรองสิทธิ โดยบัญญัติไว้ว่า “มาตรา 61 สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภครวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย” ในขั้นตอนการร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ... นั้น องค์กรผู้บริโภคได้ร่วมผลักดันให้เกิดกฎหมายนี้ มาตั้งแต่ขั้นตอนการ ล่ารายชื่อประชาชน จำนวนกว่า 12,000 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน ได้ดำเนินมาจนถึงขั้น ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา และ กำลังรอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไปนั้น ก็เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้น โดย คสช. ประกาศยึดอำนาจ ขึ้นทำให้ พรบ. ที่มีประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวที่ยาวนานของภาคประชาสังคม ต้องมีอันต้องตกไป ล่าสุดจากรายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบและรับหลักการร่าง พรบ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมเสนอร่างพรบ. ดังกล่าวต่อ คณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสร้างดุลภาพแห่งอำนาจการจัดการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยคำนึงถึง 3 ด้าน คือ ภาครัฐ ภาคผู้ประกอบการ และภาคประชาชน น่าเสียดาย ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ หมดวาระไปก่อน และเมื่อ มีการจัดตั้ง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้น ความสำคัญของงานด้านการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ถูกลดทอนความสำคัญลง ตามเหตุปัจจัยตามสถานการณ์ทางการเมืองต้องขออนุญาต เล่าประวัติศาสตร์และความเป็นมาของ การคุ้มครองผู้บริโภคในอดีตให้เห็นภาพก่อน เพราะ การเคลื่อนไหว ตลอด 17 ปี ที่ผ่านมา งานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์ทางการเมืองอยู่มาก จนถึงขณะนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับอ.มีชัยและคณะ ไม่ปรากฏ บทบัญญัติ ให้สมกับ แนวความคิดปฏิรูปงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ ต้องสร้างดุลภาพทางอำนาจ ทั้งสามฝ่ายให้เกิดขึ้น จากสิทธิประชาชนในฐานะผู้บริโภค แปลงร่างเป็น การคุ้มครองผู้บริโภค ที่ยกให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐ ผมมองว่า เป็นการลดทอนบทบาท ของการมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครอง งานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เหมือนกับ ด้านคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และคุ้มครองสิทธิชุมชน ที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์อยู่ สิทธิอันชอบธรรมอย่างหนึ่งของคนทำงานทางด้านการเคลื่อนไหวงานทางด้านการคุ้มครองผู้บริโภค คือ การเสนอข้อมูล และให้ความรู้ กับประชาชน ตลอดจนทำข้อเสนอและความเห็นผ่านไปยัง อ.มีชัยและคณะ ต่อ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อเสนอให้มีการปรับแก้ เพราะ ความเห็นของประชาชนย่อมมีน้ำหนักกว่า ความเห็นของ ผู้บริหารหน่วยงานรัฐ ที่ เมื่อถึงวัยเกษียณแล้ว ก็จะหมดบทบาทหน้าที่ต่องานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทันที ในขณะที่ รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น กฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่มีฐานความคิดว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย จะยังคงมีผลต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน หากบทบัญญัติใด ไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว ประชาชนก็มีสิทธิและหน้าที่อันชอบธรรมในการที่จะปฏิเสธ ไม่รับ ร่างธรรมนูญฉบับนั้น สารี อ๋องสมหวังส่วนตัวดิฉันคิดว่า รัฐธรรมนูญที่มีการยกร่างใหม่ไม่ว่าในยุคสมัยใด ยังไม่เคยปรากฎว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนลดลง แต่ก็ต้องบอกว่าฉบับนี้ สิทธิพื้นฐานของมนุษย์ที่สำคัญ สิทธิของประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค และสิทธิของกลุ่ม ถูกลดทอนและหายไปจำนวนมาก  มีปัญหาทั้งเรื่องโครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญ ที่ย้ายหมวดสิทธิของประชาชนจำนวนมากไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ทำให้กฎหมายสูงสุดของประเทศกลายเป็นเครื่องมือของรัฐในการใช้อำนาจลิดรอนสิทธิของประชาชน เนื้อหาสาระที่เป็นปัญหา และรวมทั้งไม่เป็นปัจจุบันและไม่แก้ปัญหาในอดีตหากมองเฉพาะส่วนสิทธิของผู้บริโภคที่อยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ก็เขียนไว้แบบแคบๆ ในมาตรา 57 ว่า รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้บริโภครวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตน ซึ่งการเขียนไว้เพียงเท่านี้ จะทำให้หน่วยงานรัฐ สามารถตีความได้ว่า ตนเองมีมาตรการ หรือกลไกคุ้มครองสิทธิที่ครบถ้วนแล้ว การส่งเสริม และการสนับสนุนให้รวมกลุ่มปัจจุบันก็มีการดำเนินการแล้วเป็นระยะ ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงมาตรการหรือกลไกอะไรในการคุ้มครองผู้บริโภค “การเขียนแบบนี้ เป็นการยึดสิทธิของผู้บริโภคไปอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐ  แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่ระบุให้มีองค์กรของผู้บริโภคระดับประเทศ หรือองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็น หรือเสนอหน่วยงานของรัฐในการออกกฎหมาย กฎ หรือมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค นั่นคือการออกกฎหมาย กติกาที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคไม่ถูกผูกขาดในมือของหน่วยงานรัฐเท่านั้น ช่วยสนับสนุนหน่วยงานรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย ตรวจสอบหน่วยงานรัฐในการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้และทักษะที่จำเป็นด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และฟ้องคดีเพื่อสาธารณะประโยชน์ โดยให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย” การเขียนไว้สั้นๆ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือว่าถอยหลังไปก่อนปี 2522  ทำให้ผู้บริโภคขาดองค์กรของผู้บริโภคระดับประเทศ ในการทำหน้าที่แทนผู้บริโภค หรือในต่างประเทศจะเรียกว่า สิทธิที่จะมีตัวแทนผู้บริโภคในการกำหนดกติกา( Right to representation) ในการต่อรองกับภาคธุรกิจเพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และยิ่งสำคัญมากกับประเทศไทยที่หน่วยงานรัฐในบ้านนี้เมืองนี้ ข้าราชการชั้นผู้น้อยไม่กล้าเถียงชั้นผู้ใหญ่ หรือไม่กล้าเถียงนักการเมืองเพื่อให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น หรือหากมองไปในรัฐธรรมนูญ 2540 ในอดีตที่กำหนดให้มีองค์การอิสระ แต่เมื่อไม่ได้เขียนว่า เป็นอิสระอย่างไร ก็เป็นที่ถกเถียงมาก ว่าองค์การอิสระนี้สามารถเขียนไว้ภายใต้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้หรือไม่ หรือจะต้องทำเป็นกฎหมายเฉพาะ จนทำให้ไม่สามารถออกกฎหมายได้ และเป็นเหตุให้รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ สิ่งนี้สะท้อนว่าทุกตัวอักษรในรัฐธรรมนูญไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ มีที่ไปที่มา และประวัติศาสตร์มากมายส่วนประเด็นความซ้ำซ้อนที่เลขาธิการสคบ. มองว่า “องค์กรผู้บริโภคนี้ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะกระบวนการในการจัดทำและบังคับใช้กฎหมาย มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ของทางราชการกำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐจะต้องมีกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอยู่แล้ว และการคุ้มครองผู้บริโภคถือเป็นหน้าที่หลักของภาครัฐ เป็นการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินคดี การเปรียบเทียบความผิดที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นการใช้อำนาจทางปกครองซึ่งเป็นอำนาจโดยตรงตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร จึงไม่ควรเป็นหน้าที่ของภาคประชาชนเป็นผู้ดำเนินการ แต่ภาคประชาชนควรมีบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุนภารกิจของภาครัฐ และเติมเต็มในมิติอื่นๆ ที่ภาครัฐยังไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นการที่ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดให้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองมีอำนาจและหน้าที่หลายประการ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของหน่วยงานของรัฐและมีกฎหมายกำกับอยู่แล้ว จึงเป็นการซ้อซ้อนกับกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่ประชุมของหน่วยงานรัฐและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 66 คน โดยไม่มีผู้บริโภค จึงไม่เห็นด้วยที่จะให้มีกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนี้ต้องบอกว่า เป็นความน่าเบื่อของสคบ. ที่ทุกครั้งของการตัดสินใจต้องมีภาคธุรกิจ และทำหน้าที่แทนผู้บริโภคไม่ได้ และสะท้อนว่า รัฐไม่เคารพหลักการหรือมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย หรือฟังความเห็นจากทุกฝ่ายจริงตามที่อ้าง ไม่งั้นจำนวน 66 คนนี้ ต้องมีตัวแทนขององค์กรผู้บริโภคที่สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้มาโดยตลอดขอให้อ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ดี จะเห็นว่า ได้ว่า องค์กรนี้ไม่ได้ใช้อำนาจรัฐ ไม่สามารถให้คุณให้โทษกับภาคธุรกิจได้ ทำหน้าที่ให้ความเห็นและเสนอแนะกับหน่วยงานรัฐ แต่มีหน้าที่โดยตรงในการให้ข้อมูลผู้บริโภคให้มีความรู้ เท่าทันสามารถต่อรองกับผู้ประกอบการได้ หรือแม้แต่อำนาจในการฟ้องก็เป็นเพียงสิทธิพื้นฐานเทียบเท่าประชาชนในการยื่นฟ้อง เพราะศาลยุติธรรมเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐในการพิจารณาคดี สุดท้ายอยากฝากไปภาคธุรกิจ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ ต้องบอกว่าหมดยุคธุรกิจใต้โต๊ะ หรือไม่นับถือผู้บริโภค ยุคปัจุบันและอนาคตต้องยึดความพึงพอใจของผู้บริโภคเป็นสำคัญ หากสังคมทำให้เกิดอำนาจต่อรองของผู้บริโภคมากเท่าไหร่ ย่อมสะท้อนคุณภาพของสินค้าและบริการของประเทศนั้น ๆ ดังที่เราเห็นในประเทศพัฒนาแล้ว หรือแม้แต่เพื่อนบ้านเราอย่างประเทศสิงคโปร์สิทธิของผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญในอดีต จนถึงร่างฉบับปัจจุบัน                  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 150 หนังสือไม่เคยหลอกลวงคนอ่าน

“จรัญ หอมเทียนทอง” ในวัย 59 ปี หลงใหลในโลกหนังสือมาตั้งแต่ยุค 14 ตุลาคม 2516 จวบจนปัจจุบันก่อตั้งสำนักพิมพ์แสงดาว เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักอ่านในเมืองไทย ที่ต้องการลิ้มรสทางปัญญาที่หลากหลายทั้ง ความรู้ตลอดไปจนเรื่องสารพันบันเทิง  ในวันนี้กับอีกบทบาท ในตำแหน่งนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย สิ่งที่ นายกฯ คนใหม่ ลั่นวาจาหลังได้รับการคัดเลือก คือ การสร้างธุรกิจหนังสือให้เติบโตท่ามกลางเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำให้สำนักพิมพ์อยู่ได้อย่างมั่นคงและเสมอภาค รวมทั้งความพยายามที่จะผลักดันหนังสือไทยให้เผยแพร่ไปยังต่างประเทศมากกว่าเดิม นิตยสารฉลาดซื้อ และสำนักพิมพ์ของเราที่อยู่ในสถานะ โรงพิมพ์ทางเลือก ไปถึงธุรกิจสิ่งพิมพ์ขนาดเล็ก (มาก)ถึงกับตาลุกวาว กับนโยบาย ลองมาดูกันสิว่า “แสงดาว” แห่งศรัทธากับเส้นทางหนังสือทางเลือกจะเดินทางต่อไปอย่างไร ทิศทางของหนังสือทางเลือกในอนาคตอันใกล้จะเป็นอย่างไร จะพูดแบบใช้สำนวนเลยไหม ทิศทางเป็นทิศทางที่มีทางเลือกไม่มาก มีทางเลือกไม่มากหมายความว่าทุกคนเองจะต้องเป็นมืออาชีพมากขึ้น คำว่ามืออาชีพคืออะไร คือคุณต้องอ่านลูกค้าคุณให้ออก คุณจะผลิตหนังสือมาเป็นขยะไม่ได้แล้ว ต่อไปนี้การผลิตหนังสือหนึ่งเล่มจะต้องเป็นการผลิตหนังสือที่ผ่านการคิดมาพอสมควร มาแบบว่าไปตายเอาดาบหน้านั้นจะได้ตายสมใจ เพราะว่าช่องทางในการจัดจำหน่ายมันไม่มี มันน้อย เหตุผลที่มันน้อยคือหนังสือมันเยอะพอหนังสือมันเยอะนั้นวันหนึ่ง เมื่อการตลาดมาใช้กับวงการหนังสือมันทำให้วงการหนังสือมันเปลี่ยนไป คือพูดตรงๆ ปัจจุบันนี้หนังสือทุกเล่มเมื่อเอาการตลาดมาใช้ หนังสือมันเป็นสินค้าวัฒนธรรม เมื่อสินค้าวัฒนธรรมถูกตลาดมาครอบงำ วัฒนธรรมมันก็จะเปลี่ยนไปเป็นวัฒนธรรมที่ถูกจัดสรร เหมือนเรากลับไปดูละครทีวีที่เราดูทุกวันนี้เป็นวรรณกรรมไทยที่ถูกจัดสรรมาเพื่อทำเป็นละครทีวี เมื่อมันเป็นละครถูกจัดสรรมาเพื่อจัดทำเป็นละครทีวีคุณค่าทางศิลปะมันหายไป แต่มันจะมีคุณค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อเราจับประเด็นนี้มาใช้กับวรรณกรรมต่อไปนี้วรรณกรรมดีๆ มันก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะวรรณกรรมดีๆ นั้นมันไม่สามารถตอบโจทย์ที่ต่อยอดได้ คือ ตอบโจทย์ที่เป็นละครทีวี สภาพตลาดจึงเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นคำตอบเดียวกับที่เราตอบหนังสืออิสระว่าคนทำหนังสืออิสระขนาดเล็กจึงจำเป็นต้องหาตลาดตัวเอง ถามว่าตลาดของตัวเองหาอย่างไรก็คือคุณต้องใช้โซเชียลมีเดียใช้แฟนคลับของตัวเอง เพื่อสร้างจุดขายของตัวเองบางทีคุณจะเห็นสบู่ Local ยากนะขณะที่สบู่ลักส์ขายได้ สบู่ดอกบัวคู่ก็ขายได้แต่เขาขายตลาดของเขา เขาสร้างจากจุดเล็กๆ ของเขาขึ้นมา ปัจจุบันนี้สบู่ดอกบัวคู่นี้พอขายจนได้มาสักพักเริ่มไม่ใช้ดอกบัวคู่แล้ว ดอกบัวคู่ใช้การตลาดนำใช้เป็น Twin Lotusให้คนรู้สึกว่าไม่ใช้ดอกบัวคู่ ผมเห็นสินค้านี้ Twin Lotus มันก็คือดอกบัวคู่ ในวงการหนังสือก็เช่นเดียวกันแต่วงการหนังสือนั้นจะมีข้อด้อยตรงที่คนทำหนังสือนั้นไม่มีช่องทางจำหน่ายหนังสือของตัวเองต้องไปอาศัยช่องทางจำหน่ายของคนอื่นเขา อุปสรรคคือช่องทางการจำหน่ายจึงเป็นปัญหาหนึ่งซึ่งมันทำให้เป็นความจำเป็นของสมาคมผู้จัดพิมพ์จะต้องหาช่องทางขายให้สมาชิกเรา เราจึงให้โอกาสสมาชิกที่เป็นรายเล็กรายกลางเราจึงจัดหาที่ทางให้เอื้อประโยชน์กับรายเล็กรายกลาง ถามว่าคุณรังเกียจรายใหญ่เหรอ ไม่ใช่ครับแต่รายใหญ่เขามีโอกาสในการขายของเขาอยู่แล้ว โอกาสเมื่อมันเกิดเพิ่มขึ้นโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ ความเพิ่มขึ้นมันควรจะเป็นของรายเล็กมากกว่าเราไม่ควรจะเอาโอกาสนั้นไปให้รายใหญ่อีก พูดง่ายๆ คือคนรวยเขามีโอกาสของเขาอยู่แล้วเราไปเพิ่มโอกาสให้เขาทำไม การเพิ่มโอกาสให้เขาเขาไม่รู้สึกดีใจกับเราหรอกเพราะเขารู้สึกว่าเขามีอยู่แล้ว แต่ถ้าเราให้โอกาสกับคนเล็กนั้นเขาจะดีใจมากกว่าเหมือนกับคุณเอาเงิน 500 บาทไปให้เศรษฐีเขาก็ไม่สนใจแต่ถ้าคุณเอาเงิน 100 บาทไปให้คนจนคุณจะเหมือนเป็นเทพเจ้าเลยนะ ฉันใดก็ฉันนั้นครับ  การตลาดของคนทำหนังสือรายเล็กจะไปในทิศทางอย่างไร ? ทิศทางหนังสือรายเล็กนั้นถ้าคิดว่าเขาจะเข้าตลาดใหญ่ๆ ได้จะต้องเป็นหนังสือของคนตัวเล็กที่มี Talk of the Town ถ้าหนังสือคุณไม่ใช่ Talk of the Town นะโอกาสที่จะได้ไปลืมตาอ้าปากนั้นยาก แต่ถามว่าร้านหนังสือรายใหญ่ที่ไม่เอาของเขามาวางนั้นผิดไหม ไม่ผิด เพราะร้านหนังสือขนาดใหญ่นั้นค่าเช่าที่เขาแพง เขาจึงจำเป็นจะต้องวางสินค้าที่จะต้องสร้างรายได้ให้เขาสูงสุด เมื่อหนังสือของรายเล็กนั้นไม่ใช่หนังสือที่อยู่ในกระแส ไม่ใช่หนังสือ Talk of the Town การไหลเวียนหนังสือในร้านเขาต่อการเช่าพื้นที่ 1 ตรม.นั้น เขาย่อมเอาหนังสือที่ได้เงินเร็วมากกว่าหนังสือที่ขายได้ช้า ฉะนั้นงานวรรณกรรมดีๆ ของดีมักจะขายช้า ในโลกนี้ของดีที่ขายดีก็มีบ้าง แต่ของดีนี้ขายยากมาก  ถ้าอย่างนั้นเราจะสร้างวัฒนธรรมในการอ่านอย่างไร ? วัฒนธรรมของการอ่านไม่ต้องสร้างครับ  เราต้องสร้างฐานของการอ่านมากขึ้นเพื่อเมื่อคนอ่านหนังสือมากขึ้นคนจะสามารถคัดกรองได้ว่าในอนาคตนั้นเขาจะอ่านหนังสือแบบไหน วันนี้คนเข้าร้านหนังสือใหญ่ อ่านหนังสือตามกระแสที่เป็น Talk of the Town ไม่ผิดครับแต่เมื่อเขาอ่านบ่อยๆ แล้วเขาจะรู้ว่าหนังสือเหล่านั้นอาจจำให้ความเพลิดเพลินเขาแต่ให้อรรถประโยชน์น้อยกว่าหนังสือคลาสสิกมาก วันหนึ่งเขาจะรู้เองครับตามอายุของเขา ดังนั้นสิ่งที่เราควรจะทำก็คือทำอย่างไรถึงจะเพิ่มคนอ่านหนังสือให้มากขึ้น เพราะถ้าเราเพิ่มคนอ่านให้มากขึ้นแล้วคนอ่านเขาจะคัดกรองหนังสือของเขาเอง  การที่มีการอ่านหนังสือบนTablet มันมีส่วนช่วยหรือทำให้ตลาดหนังสือเดิมเล็กลงไหม ผมว่าการอ่านหนังสือบน E-Book ไม่ทำให้คนอ่านหนังสือลดลงแต่ว่าการอ่านหนังสือบน E-Book นั้นเป็นอีกหนึ่งช่องทางของคนอ่านหนังสือ แต่ถ้าถามว่าทำให้หนังสือเล็กลงหรือไม่ ไม่ครับเพราะให้อรรถประโยชน์ในการอ่านไม่สะดวกครับ E-Bookนั้นจะอ่านได้เฉพาะที่เป็น Magazine หนังสือพิมพ์ เพราะถ้าเป็นหนังสือนิยายหนึ่งเล่มนั้นคุณไม่สามารถอ่านจบได้ภายในวันเดียว อย่าลืมว่า E-Book มีเงื่อนไขในการอ่านเรื่องของแสงที่สะท้อนออกมาจากเครื่องอันนี้เรื่องที่หนึ่ง สองคือคุณต้องอ่านในที่ที่มีสัญญาณไปถึง สามมันมีค่าไฟที่คุณต้องใช้ สี่การอ่านหนังสือนั้นคลาสสิกกว่า E-Book ครับอันนี้เป็นทัศนะผมนะครับ E-Bookเป็นเพียงแค่แฟชั่นชั่วครั้งชั่วคราว แต่ที่พูดไม่ได้หมายความว่าไปดูถูกตลาด E-Book นะครับแต่ว่า E-Bookนั้นเป็นอีกช่องทางเลือก ผมก็ดีใจที่อย่างน้อยทำให้มีคนอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง วันนี้เวลาเราเจอเด็กอ่านหนังสือจากโทรศัพท์ IPhone อ่านหนังสือจาก Facebook เราไม่เสียใจครับ เราดีใจเพราะว่าคนอ่านหนังสือมากขึ้นให้เขาใช้เวลาว่างในการอ่านหนังสือดีกว่าใช้เวลาว่างในการคุย ซึ่งการอ่านจะอ่านใน Facebook มันก็เรื่องของเขา แต่ขอให้คนรักการอ่านก่อน เป้าหมายของสมาคมฯ คือทำอย่างไรให้คนรักการอ่านก่อนนี่คือเป้าหมายของเรา   การที่เราจะก้าวเข้าสู่ AEC ตลาดหนังสือไทยมันจะไปอย่างไร ? มีคนพูดกันมากว่าเมื่อเราก้าวเข้าสู่ AEC แล้วหนังสือมันจะเป็นอย่างไร ผมเรียนว่าหนังสือคือวัฒนธรรม วัฒนธรรมเราคือหนังสือไทยเรามีความพร้อมที่จะแปลเป็นภาษาอังกฤษไหมครับ อย่าลืมว่ามีภาษากลางเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน เราเองมีความพร้อมที่จะแปลเป็นภาษาอังกฤษไหมแล้วหนังสือในแถบอาเซียน สิ่งเดียวที่จะทำให้สื่อสารและซื้อขายกันคล่องตัวที่สุดในอาเซียน คือหนังสือการ์ตูนครับ เพราะหนังสือการ์ตูนไม่จำเป็นต้องบอกความมาก ชัดเจน ฉะนั้นตลาดที่ไปอาเซียนคือหนังสือการ์ตูนและต้องทำบทพากษ์เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมีคนทำได้ระดับหนึ่ง AEC กับหนังสือนั้นคือต้องเข้าใจว่า AEC นั้นคือเขตปลอดภาษีสำหรับสินค้าในแทบอาเซียนธรรมดาถ้าไม่ใช่ AEC หนังสือก็เป็นสินค้าปลอดภาษีอยู่แล้ว ดังนั้นตัวนี้มันมีมาก่อน AEC ครับ เพราะว่าไม่ใช่เฉพาะ AEC นะครับโลกนี้คุณส่งหนังสือเรียนไปที่ไหนก็แล้วแต่หนังสือเรียนเป็นสินค้าที่ยกเว้นภาษีอากรครับ AEC นี้ว่าด้วยมาตรฐานการค้าและภาษีอากรของประเทศในกลุ่มอาเซียนแต่ว่าหนังสือนั้นเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นอยู่แล้ว AEC ไม่มีผลกับหนังสือครับ เพราะว่าถึงแม้ไม่มี AEC หนังสือก็ไม่เสียภาษีอยู่แล้วครับ มีคนชอบพูดว่าเข้าสู่ AEC แล้วหนังสือจะเป็นอย่างไร คือ AEC นั้นว่าด้วยเรื่องสินค้า หนังสือก็คือสินค้าชนิดหนึ่งแต่หนังสือเป็นสินค้าที่ไม่ว่าคุณจะส่งไปที่ไหนในโลกนี้นะครับ ทางยุโรป ประเทศจีน หรืออเมริกา หนังสือส่งไปทุกที่ทั่วโลกยกเว้นภาษีหมดครับ คือเห็นความสำคัญของโลกนี้ไหมครับโลกใบนี้การส่งสินค้าทางอากาศถ้าสินค้าคุณเป็นหนังสือนะครับคุณจะได้ลดค่าขนส่งลงไป 50% คือพิกัดศุลกากรโลกเขาเน้นหนังสือเลยนะ หนังสือเป็นสินคาชนิดเดียวในโลกที่ยกเว้นอากรครับ  แล้วเรื่องราคามีผลกับการอ่านหนังสือไหม ราคาหนังสือลดลงยากครับถ้าตราบใดประเทศเรายังมีสินค้าขายฝาก อยู่ถ้าร้านหนังสือประเทศเราซื้อสินค้าขาดไม่ฝากขายเหมือนซื้อซีอิ้วขาวตราเด็กสมบูรณ์หรือซื้อน้ำปลา หนังสืออาจจะราคาถูกลงแต่ปัจจุบันหนังสือเป็นสินค้าที่ฝากขาย เมื่อคุณทำหนังสือมา 100 เล่ม คุณลงทุนไป 100 บาทคุณเอาหนังสือ 100 เล่มนี้ไปวางไว้ที่ร้านนายอินทร์ ร้านซีเอ็ดคุณไม่รู้ว่าผ่านไป 3 เดือนหนังสือคุณจะขายได้กี่เล่ม 100 บาทที่คุณลงทุนไปอีก 3 เดือนขายได้ 2 เล่มคุณก็เจ๊งแล้วเพราะคุณไม่เคยรู้ชะตาของหนังสือคุณว่าชะตากรรมมันจะไปทางไหน เพราะว่าร้านหนังสือวางหนังสือไว้เฉยๆ เขาไม่ได้ทำการตลาดให้คุณ ผมจึงบอกว่าหนังสือในอนาคตนั้นถ้าหนังสือไม่มีความเด่นดังด้วยตัวของมันเอง ไม่ใช่หนังสือ Talk of the Townแล้วนั้นก็ปิดตัวได้ง่าย ยกเว้นแต่หนังสือนั้นจะเป็นหนังสือที่ซึ่งมีคนตามอ่านอยู่ตลอดเวลา เช่น สามก๊กมีคนอ่านตลอด คุณพิมพ์ไปอย่างไรก็ขายได้ คุณพิมพ์หนังสือธรรมดาที่ไม่มีจุดขาย ไม่มีความดีเด่นของวรรณกรรม คุณทำมาก็ขายไม่ออก   เราควรควบคุมราคาหนังสือไหมเพื่อให้ยุติธรรมกับคนอ่าน อย่างกำหนดเพดานต้นทุน ไม่มีเพดานครับ ใครจะกำหนดต้นทุนอย่างไรก็ได้เพราะว่าสินค้าต้องเป็นสินค้าฝากขายเขาต้องการให้จุดคุ้มทุนต่ำที่สุด จุดคุ้มทุน 50% คูณกำไรหนังสือ 50% แต่ 50% ที่เป็นกำไรนั้นคือสต๊อกนะครับ คุณก็ไม่รู้ว่าคุณจะแปลสต๊อกให้กลายเป็นเงินได้อย่างไรอันนี้คือปัญหาของมันครับ   สุดท้ายหนังสือจะคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร คือคุ้มครองผู้บริโภคนั้นจะมาคุ้มครองหนังสือไหม ผมว่าหนังสือมันไม่เคยหลอกลวงคนอ่าน ตัวหนังสือไม่เคยเป็นพิษเป็นภัยกับใครนะครับ ยกเว้นแต่ว่าเขาซื้อหนังสือโป๊เองอันนั้นช่วยไม่ได้เพราะว่าหนังสือโป๊ขายรูปนะครับ ฉะนั้นหนังสือเป็นสินค้าที่ สคบ.เขาก็ไม่ออกระเบียบมานะคือจะเห็นว่าคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคไม่เคยมีใครมาร้องเรียนเรื่องหนังสือนะ   งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "หนังสือเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนโลก 40 ปี 14 ตุลา 16" โดยจะมีความพิเศษกว่าทุกครั้ง คือการจัดสรรพื้นที่ให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ออกร้านจำหน่ายหนังสือเพิ่มขึ้น และการจัดนิทรรศการหนังสือต้องห้าม เพื่อให้เยาวชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยมากขึ้น    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 140 จิระชัย มูลทองโร่ย สคบ.ยุคนี้ จะไม่มองแบบม้าลำปาง

“...ภาครัฐมักมองทางตรงมากกว่าการมองข้าง เดี๋ยวนี้ต้องมอง 360 องศา เราจะไม่มองแบบม้าลำปาง จะต้องมีการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ ถ้าผู้บริโภคมีปัญหาขึ้นมาหน่วยงานภาครัฐจะต้องระดมสรรพกฎหมาย ระดมสรรพกำลังในการแก้ไขปัญหา...” ฉลาดซื้อฉบับนี้พาคุณไปทำความรู้จักคนคุ้นเคย ที่ทำงานคู่ขนานกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมาตลอด ท่าน “จิระชัย มูลทองโร่ย” เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 55 หากแต่คลุกคลีอยู่ใน สคบ.มากว่า 12 ปีแล้ว ไปดูแนวคิดการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในยุคของเลขาฯ สคบ.ท่านนี้กันค่ะ ประเด็นใดในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ถือเป็นความท้าทายของ สคบ. งานคุ้มครองผู้บริโภคที่ต้องทำต่อก็คือ ต้องผลักดันประเด็นในการคุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นรูปธรรม ทุกวันนี้เราซื้อสินค้าด้วยความเสี่ยง ซื้อไปแล้วเกิดปัญหาใครจะรับผิดชอบ ผู้บริโภคเองก็ต้องมาร้องที่ สคบ. ซึ่งนั่นเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคแบบเดิมๆ เราจึงจัดทำเครื่องหมายของ สคบ.แสดงไว้บนผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ว่าเมื่อไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการแล้วจะไม่ถูกเอาเปรียบ ไม่ถูกหลอกลวง หรือเมื่อไปซื้อสินค้าและใช้บริการแล้วเกิดปัญหา ผู้ประกอบการต้องแสดงความรับผิดชอบ หรือชดใช้อย่างชัดเจน แต่ที่ยังไปไม่ได้ก็คือการรับผิดชอบของผู้ประกอบการ นั่นก็คือถ้าหากเกิดความเสียหายขึ้นมาจะมีหลักการรับประกันอย่างไร ยังอยู่ในการทำความเข้าใจกันอยู่ ซึ่งตอนนี้มีสินค้าและบริการที่ต้องทำตรา สคบ.แล้ว 26 รายการ 8 หมวด นั่นก็คือทั้งอสังหาริมทรัพย์ สินค้า สุขภาพ ฯ   อีกความท้าทายก็คือการเป็นศูนย์กลางในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สคบ.เป็นหน่วยงานเดียวที่คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคทั้ง 5 ข้อนี้ การประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ และภาคประชาชนในการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีความสำคัญ เพราะภาครัฐมักมองทางตรงมากกว่าการมองข้าง เดี๋ยวนี้ต้องมอง 360 องศา เราจะไม่มองแบบม้าลำปาง จะต้องมีการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ ถ้าผู้บริโภคมีปัญหาขึ้นมาหน่วยงานภาครัฐจะต้องระดมสรรพกฎหมาย ระดมสรรพกำลังในการแก้ไขปัญหา ในต่างจังหวัดนั้นมีความสำคัญอย่างมาก ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีคนแค่เพียง 10 ล้านกว่าคน ในต่างจังหวัดอีกกว่า 75 จังหวัดล่ะ “ใครดูแลเขา” ในอดีต สคบ.อาจจะไม่มีการประสานความร่วมมือทางหนังสือเท่าไรนัก แต่ต่อจากนี้ไปจะประสานความร่วมมือและพบปะพูดคุยกันให้มากยิ่งขึ้น ประสานส่วนผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการผมถือว่าเป็นต้นน้ำของการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ต้องประสานก่อนเลยก็คือสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ สคบ.เข้าไปรับฟังขอบเขตงานด้วย และจะร่วมมือกันในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างไร นั่นก็คือต้องดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มีการติดฉลาก ดูการโฆษณา ดูสัญญาก่อน ต่อไปก็ไปดูเรื่องความรับผิดชอบว่าถ้าเกิดความเสียหาย จะเยียวยาหรือให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างไร สินค้าที่มีปัญหามีหลักเกณฑ์อย่างไรในการเยียวยา ประสานส่วนภาคประชาชน ที่มีการรวมกลุ่มกันชัดเจนแล้ว อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ก็จะมีเครือข่ายผู้บริโภค ในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเรามีจุดหมายเดียวกัน ก็คือการคุ้มครองผู้บริโภค แต่การทำงานของมูลนิธิฯ อาจจะง่ายและกระชับกว่า ก็จะได้ผนวกไปด้วยกัน หรืออาจจะเชิญตัวแทนองค์กรผู้บริโภคเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ สคบ. รวมไปถึงการทดสอบสินค้า การรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบผู้ประกอบการ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ก็อยู่ระหว่างการตั้งคณะทำงานขึ้นมาในช่วงปี 2556 อยากจะทำงานด้วยไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือส่วนต่างจังหวัด มีแผนงานอะไรก็บอกกันให้รู้ สคบ.จะได้ส่งคนเข้าไปช่วยดำเนินการด้วย การทำงานร่วมกัน?...จะเป็นลักษณะแบบไหน จะเป็นคล้ายๆ ระบบสั่งการเหมือนภาครัฐทำกับภาครัฐหรือเปล่า ไม่เหมือนแน่นอน การสั่งการในภาครัฐก็อาจจะทำได้เป็นเรื่องๆ ที่เป็นนโยบายร่วมกัน เราใช้คำว่า “ประสานงาน หรือบูรณาการเข้าด้วยกัน” ร่วมกันทำงาน “สคบ.จะไม่ใช่ One man show” แต่จะประสานงานร่วมกัน สคบ.จัดการกับผู้ประกอบการอย่างไร อีกหน้าที่ที่ต้องทำก็คือการตรวจสอบผู้ประกอบการ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ต้องทำตามหน้าที่ที่ระบุไว้ในกฎหมาย อย่างไปสำรวจเต็นท์รถยนต์มือสอง ว่ามีการจัดทำฉลาก ทำหลักฐานการรับเงินหรือเปล่า ในห้างสรรพสินค้ามีสินค้าหมดอายุมาขายไหม ฉลากถูกต้องหรือเปล่า สำรวจเสร็จ สคบ.ในฐานะมีหน้าที่และอำนาจทางกฎหมาย ก็จะเข้าไปดำเนินการจัดการกับผู้ประกอบการ ซักถามเรื่องกฎหมาย ตักเตือน ก็ว่ากันไป ในเรื่องการจัดการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ส่วนนี้มีปัญหาและได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ว่ามีความล่าช้า ไม่ทันใจประชาชน แต่ก็ต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาของ สคบ.ในชั้นการเจรจาไกล่เกลี่ย สามารถจบลงได้ 80 % ซึ่งการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นประโยชน์ของคู่กรณีทั้งคู่ ผมยังให้ความสำคัญอยู่ ก่อนที่จะยื่นเรื่องฟ้องศาล ผมไม่ตามใจผู้ร้องนะ อย่างซื้อรถยนต์ใหม่มาแล้วมีปัญหา จะขอเปลี่ยนคันเลย ก็ต้องให้บริษัทชี้แจง แก้ไขจุดบกพร่องก่อน ให้เวลาผู้ประกอบการบ้าง เรื่องร้องเรียนที่ยังค้างอยู่ เป็นจำนวนมากที่ผู้ร้องไม่ยินยอมรับการชดเชยความเสียหายตามที่บริษัทนำเสนอ หรือตามที่ สคบ.เห็นว่าสมควรแล้ว แต่ผู้ร้องยังเรียกร้องตามอำเภอใจ ซึ่งผมเองมั่นใจว่าจะใช้อำนาจในการบริหารยุติเรื่องและให้ผู้ร้องไปฟ้องศาลด้วยตนเอง การดำเนินคดีในชั้นศาลผมถือว่าไม่เป็นประโยชน์ส่วนรวม การจะฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ผมมีองค์ประกอบ 3 เหตุผล 1.ต้องเป็นผู้บริโภค 2.ต้องถูกละเมิดสิทธิ 3.ต้องเป็นประโยชน์ส่วนรวม สคบ.ฟ้องแทนผู้บริโภค จะฟ้องรวมหมู่ได้ไหม เรื่องการฟ้องแทนเราฟ้องให้อยู่แล้ว ถ้าฟ้องแล้วเป็นประโยชน์กับส่วนรวมเราก็ฟ้องแทนให้ อย่างผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องซื้อหมามาเลี้ยงผ่านไป 2 วัน แล้วหมาตาย สคบ.ก็รับเรื่องแล้วชวนมาไกล่เกลี่ย เจ้าของฟาร์มเสนอไม่ชดเชยให้ แต่ถ้าซื้อตัวใหม่จะลดให้ครึ่งราคา ส่วนผู้ร้องไม่รับข้อเสนอ จะให้ชดเชยเป็นค่าสุนัข 10,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลอีก 9,000 บาทรวมค่าเสียเวลา ฟาร์มบอกว่าตั้งแต่ขายมาไม่มีปัญหาอะไรเลย กรณีแบบนี้เราก็ฟ้องให้นะครับ เพราะเราถือว่าตลาดนัดจตุจักร มีคนเข้าออกประจำ อาจจะพบปัญหาเหมือนกับกรณีรายนี้ด้วยก็ได้ เพราะเราเห็นถึงประโยชน์ส่วนรวม แต่ถ้ามาเกี่ยงกันในเรื่องการชดเชยที่ต่างกันแค่ 500 หรือ 1,000 บาท แบบนี้เราไม่ฟ้องให้ แต่ถ้าผู้ประกอบการมีการโกงผู้บริโภคแค่ 1 บาท เราก็ฟ้องให้ เพราะสินค้าผลิตมาเท่าไร...มากมาย เราก็เปรียบเทียบตัวเลขผู้ประกอบการกับตัวเลขผู้ร้องว่าเป็นอย่างไร ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์กับส่วนรวมเราก็ฟ้องแทนผู้บริโภคได้   สคบ.มีบทลงโทษผู้ประกอบการ แต่การไม่เปิดเผยชื่อผู้ที่ถูกลงโทษ ถูกปรับทำให้ผู้บริโภคยังถูกละเมิดต่อ วิธีการแบบนี้ยกเลิกได้ไหม อือ...หลายคนตำหนิ สคบ.อย่างนี้ว่าลงโทษผู้ประกอบการ แต่ไม่บอกว่าใคร ความจริงเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย มาตรา 10 อนุ3 บอกให้ สคบ.เปิดเผยรายชื่อผู้ประกอบการรวมถึงสินค้า ว่ามีผู้ประกอบการรายใดที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ สคบ.เองก็ปรับปรุงว่าเราต้องมีสื่อที่จะลงข่าวเหล่านี้ ก็อยู่ระหว่างการจัดทำสื่อ แล้วก็เผยแพร่สู่สื่อมวลชน เครือข่ายผู้บริโภคและพี่น้องประชาชน เพราะการจะเปิดเผยชื่อได้นั้น ต้องผ่านมติคณะอนุกรรมการก่อนถึงจะเปิดเผยรายชื่อได้ จะเปิดเผยรายชื่อทันทีก็ไม่ได้ ไม่งั้น สคบ.เองนั้นละจะถูกฟ้อง   องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 61 จะช่วยหนุนการทำงานของ สคบ.อย่างไรบ้าง และมีความคิดเห็นต่อ กม.นี้อย่างไร เป้าหมายการทำงานของ สคบ.กับ องค์กรผู้บริโภค มีเป้าหมายเดียวกันคือการคุ้มครองผู้บริโภค จะแตกต่างกันก็แค่ภารกิจ วิธีการ มีอะไรที่เราทำร่วมกันได้ก็มาแชร์กัน อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถ้ามีโอกาสเข้าไปเป็นกรรมการองค์การอิสระฯ ก็เข้าไปทำงานเลย แบบนี้มูลนิธิฯ ก็จะมีแนวทางในการขยายความร่วมมือต่อไปได้ แล้วถ้าถามต่อว่า สคบ.จะอยู่อย่างไร ผมก็ต้องอยู่เพราะเป็นหน่วยงานภาครัฐ แต่องค์การอิสระฯ รัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างไร ก็ควรที่จะทำอย่างนั้น เช่นรัฐธรรมเขียนอำนาจหน้าที่ไว้ 3 แต่กลับไปเพิ่มเป็น 4 5 6 นั้นเป็นการก้าวก่ายแล้ว ไม่ได้ต่อต้านนะ เห็นด้วยที่ให้มีเพราะต้องมีหน่วยงานกลางขึ้นมาเพื่อบูรณาการทุกเรื่อง เข้ามาเสริม เข้ามาหนุนงาน ให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมมากกว่า ควรจะมีกรอบอย่างนั้น เรื่องการจัดสรรงบประมาณดำเนินการ สคบ.ตั้งมา 30 กว่าปีแล้ว ยังได้งบไม่ถึง 200 ล้านเลย แล้วองค์การนี้เพิ่งจะร่างขึ้นมาไปเอาค่าหัวดำเนินการ 3 บาท 5 บาท ไปเอาเกณฑ์อะไรมา ทำไมไม่ให้ สคบ. เพราะถือว่าเป็นหน่วยงานหลักด้วยซ้ำ ปีหนึ่งได้ 100 ล้านบาท ก็ส่งงบลงพื้นที่ กระจายทุกจังหวัดที่ ให้กับประชาชนที่มีโครงการมากมาย บุคลากรก็ต้องให้ความรู้ทุกเรื่อง ยังได้ไม่ถึง 200 ล้านเลย แล้วนี่องค์การนี้เพิ่งจะเกิด มีคณะกรรมการ 15 คน ภารกิจหนักหนาขนาดไหน ต้องเอาค่าหัว 3 บาท 5 บาท แต่ผมไม่ได้คัดค้านนะ แต่ควรที่จะเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย @.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 ละครไม่พึ่งโฆษณาและบทไม่ต้องตบตี มีได้ไหม?

  รัศมี เผ่าเหลืองทอง  นักเขียน นักแปล ผู้กำกับ ที่หลายคนรู้จักในนาม คณะละคร สองแปดนักเขียนบท มือรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดีหรือ ตุ๊กตาทอง  บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2528   จากเรื่องผีเสื้อและดอกไม้  และบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม  พ.ศ. 2534  จาก  วิถีคนกล้าโดยมีประโยคเด็ดที่เป็นจั่วหัวของเรื่องคือ "ทำให้คนอื่นกลัว ทำให้ไม่กลัวคนอื่น” ประโยคนี้อาจจะเป็นประโยคต้นแบบที่ให้ความหมายเหมาะสมกับคนใน“ วิถี ”แห่งยุคการบริโภคสื่อ อย่างในปัจจุบันก็ได้  เมื่อครึ่งหนึ่งของชีวิตประจำมีโฆษณา ถ้าพูดถึงอิทธิพลของสื่อ “โฆษณา” จะเป็นตัวที่แสดงให้เห็นชัดเจนมากที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตคน การทำโฆษณามันเป็นการพยายามที่จะทำให้คนอยากได้ พอเราไปเห็นภาพที่เกิดขึ้นจริงๆ ตอนปี 2533 ช่วงที่เขียนบทภาพยนตร์เรื่องวิถีคนกล้า (ภาพยนตร์วิถีคนกล้าเป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2534 กำกับโดย ยุทธนา มุกดาสนิท ซึ่งสร้างจากบทประพันธ์ชื่อเรื่องเดียวกันของ มาลา คำจันทร์ และเขียนบทภาพยนตร์โดย อ.รัศมี เผ่าเหลืองทอง) ต้องเดินทางไปบนดอย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรถเข้าไม่ถึงนะ ก็ได้ยินเรื่องเล่าจากเพื่อนที่เป็นนายอำเภอว่าชาวเขาได้ดูทีวี ซึ่งการที่จะดูทีวีได้ต้องใช้ไฟเสียบจากแบตเตอรี่รถยนต์  แล้วทีนี้พอลงดอยเข้าเมืองไปซื้อของใช้ก็จะบอกกับร้านค้าว่า “เอารีจ้อยส์ขวดนึง” นึกภาพออกเลยว่าเขาคงเห็นภาพผมพลิ้ว สลวย หอม แน่นอนละเขาต้องอยากเป็นแบบนั้น พอเข้าเมืองก็ซื้อทันที เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นภาพชัดมากในสิ่งที่สื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ทำกับคนดู   การทำโฆษณา 1 ชิ้นมีงบประมาณเยอะมากทั้งการใช้ดารา ใช้ซูเปอร์สตาร์ของประเทศมาโฆษณา ค่าตัวกี่ล้านบาท ไหนจะค่าการผลิตอีกรวมแล้วก็ไม่น่าต่ำกว่า 20 ล้าน เพื่อโฆษณาลูกอมขาย 2 เม็ดบาท 3 เม็ดบาท เขาต้องขายให้ได้มากเท่าไรเพื่อที่จะคุ้มทุน และภาพโฆษณามันก็จะฝังเข้าไปเป็นค่านิยมของคนโดยไม่รู้ตัว ถูกกระตุ้นให้เกิดความยาก ต้องซื้อ ต้องใช้ เพื่อให้เหมือนกับคนอื่นๆ จะได้ไม่ตกยุค เพื่อให้ได้รับการยอมรับ ซึ่งตรงนี้เองเป็นเรื่องที่น่ากลัว   ในต่างประเทศการทำโฆษณามีจริยธรรมมาก เขาจะใส่อารมณ์ขันเข้าไป ต่างกับเมืองไทยที่จะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้คนที่ดูติด มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ใช้แรงดึงดูดทางเพศในการโฆษณา เพื่อให้คนติดตาและจำสินค้าได้ ไม่ว่าสินค้าจะมีคุณภาพหรือไม่ก็ตาม   ที่เราต้องคิดกันต่อก็คือเราจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้มันเป็นอย่างนี้ต่อไป ก็เลยมองไปว่าข้อแรกตัวผู้บริโภคอย่างเราๆ ต้องแข็งแรง ต้องเท่าทันโฆษณา แม้แต่คนที่มีความรู้ก็ตกอยู่ในความอยากได้เมื่อดูโฆษณา ข้อสองก็คือคนที่ทำโฆษณาต้องมีสำนึกและต้องรู้ว่าสิ่งที่เขาทำและสื่อออกมาส่งผลอย่างไรบ้าง ไม่ใช่หลอกล่อผู้บริโภคอย่างเดียว ข้อสามก็คือการควบคุมโฆษณาให้ไม่เกินเลย ต้องยอมรับส่วนหนึ่งว่าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารส่วนหนึ่งอยู่ได้ด้วยโฆษณา แต่ก็ต้องมีการควบคุมด้วยว่าไม่ควรจะเกินเลยมากไปเช่นการโฆษณาแฝงในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร อย่างการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพ ก็ต้องมีผลิตภัณฑ์ถูกนำเสนออยู่หน้าข้างๆ แถบจะแยกไม่ออกเลยว่าเป็นการโฆษณา เพราะเจตนาที่จะหลอกล่อ เหมือนดูถูกสติปัญหาของคนอ่าน สิ่งที่กองบรรณาธิการทำเหมือนดูถูกสติปัญญาของคนอ่านชัดเจน เหมือนโฆษณาแฝงในละครก็มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ วางประกอบฉาก บางรายการทีวีนึกว่าทำรายการโฆษณา ซึ่งเราต้องเฝ้าระวังและต้องมีการควบคุมด้วยเช่นกัน   การให้เราต่อต้านบริโภคนิยม แต่ทั้งๆ ที่เรายังปล่อยให้มีโฆษณาแบบนี้อยู่ แล้ววันๆ ก็ไม่มีสาระอะไร เป็นเพียงคำขวัญที่พูดกันไปวันๆ   การควบคุมในเรื่องการทำโฆษณามีมานานแล้ว ทั้งการเฝ้าระวังโฆษณาที่เกินจริง ที่ถี่เกินไป ถ้าการควบคุมไม่ได้ผลจริงๆ ก็ต้องออกมาเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำงาน อีกส่วนก็คือต้องเรียกร้องกลุ่มผู้บริโภคให้ออกเคลื่อนไหวโดยการใช้สื่อนี่ละในการออกมารณรงค์และเรียกร้อง ซึ่งต้องต่อสู้อย่างมากทั้งกลุ่มทุน ทั้งผู้ผลิต ก็ต้องลองดู   โซเชียลเน็ตเวิร์คกับการผลิตสื่อเพื่อผู้บริโภค ถ้าหากเราทำสื่อที่มีเนื้อหาก็ต้องค่อยๆ ทำไป อาจจะไม่ต้องดังตูมตาม เหมือนโฆษณาลดเหล้า แต่เราค่อยๆ ซึมลึกก็น่าจะดีนะ อย่างการนำเสนอเรื่องทดสอบ ข้อมูลวิชาการต่างๆ ของฉลาดซื้อ ก็น่าจะมีคนสนใจ และคิดว่ามีความจำเป็นที่จะขยายสื่อของเราออกไปในสื่อวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ อย่างสื่อวิทยุทำได้ง่าย อีกอย่างก็คือมีเนื้อหาอยู่แล้วและคนเราก็ฟังเป็นหลัก ทำงานบ้าน ขับรถ ก็ฟังวิทยุได้ ทำเป็นละครวิทยุหรือทำเป็นเรื่องเล่าก็ได้ อย่างเรานำเรื่องราวจากหนังสือฉลาดซื้อมาเล่าให้คนฟังได้ แล้วก็จะเป็นช่องทางรับสมาชิกได้เพิ่มขึ้น เปิดช่องทางการมีส่วนร่วมให้เพิ่มขึ้นอย่างการเปิดรับสายโทรศัพท์ให้เข้ามาพูดคุยในรายการ ซึ่งปัจจุบันก็ง่ายขึ้น และต้องหาบุคลิกของรายการของตัวเราให้เจอ เรื่องมีสาระไม่จำเป็นต้องเครียด ทำให้เป็นเรื่องสนุกๆ ได้ น่าจะทำได้นะเพราะเรามีเครือข่ายวิทยุชุมชนหรืออาจจะประสานงานกับเครือข่ายพุทธิกา หากไม่มีคนจัดรายการก็เปิดรับคนรุ่นใหม่อย่างนักศึกษา เปิดรับอาสาสมัครเข้ามาจัดรายการ ให้เขาเหล่านั้นได้เข้ามาเรียนรู้โลกจริงๆ เพื่อเป็นการเปิดให้มีส่วนร่วมทางสังคมด้วยก็น่าจะดี   ละครดี ไม่ต้องตบตีคนก็ติดได้ ละครไทยผ่านไปกี่ปีก็ยังเหมือนเดิม ถ้าบอกว่าคนดูชอบ...ซึ่งถ้ามองไปที่คนดูก็ต้องบอกว่าเอ่อ..ดูละครแล้วมันสะใจ ดูแล้วมาคุยได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความถ้ามีละครที่ดีแล้วพวกเขาจะไม่ดู หรือดูแล้วไม่ได้ความคิด ไม่งั้นทำไมเขาถึงดูหนังจีนเปาบุ้นจิ้น สามก๊ก คนที่ดูละครน้ำเน่ากันอยู่ก็ดู ดูแล้วเขาก็ได้ความคิด แต่ทำไมไม่เอาละครดีๆ มาให้ดู ก็เพราะว่าคนทำละครไม่มีจิตสำนึกทางสังคมเลย แล้วก็มักง่าย  เมื่อตัวเองไม่มีความสามารถที่จะทำเรื่องที่มันยากๆ ลึกซึ้ง ที่ซับซ้อน ให้ง่ายต่อความเข้าใจ แบบเรื่องเปาบุ้นจิ้น เรื่องสามก๊ก หรือของญี่ปุ่น ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำงาน แต่ละครที่เราเห็นฉายกันอยู่เราจะรู้ว่ามันไม่ได้ใช้เวลา หรือใช้ความคิดสักเท่าไรเพราะว่ามันใช้สูตรเดิมๆ  ตัวละครจะมีอาชีพ เหตุการณ์ ฉาก คำพูด ประเด็นขัดแย้ง ก็แบบเดิม ก็จะเห็นว่าทำไปอย่างง่ายๆ คนดูก็ตอบรับดี แล้วก็พยายามเอาชนะละครเรื่องอื่นๆด้วยการใส่ความรุนแรงมากขึ้น ใส่ความวาบหวามมากขึ้น เพื่อเป็นการเอาชนะกัน ซึ่งไม่ใช่เป็นการเอาชนะกันด้วยความสามารถและสติปัญญา พูดง่ายๆ ก็คือมันเป็นความมักง่ายของคนทำ แล้วคนดูก็ถูกอ้างว่าเป็นเพราะคนดูชอบ ถึงต้องทำออกมาแบบนี้ แต่จริงๆ แล้ว คนทำไม่มีความสามารถที่จะทำออกมาในรูปแบบอื่นมากกว่า แล้วพอดูเยอะมันก็ส่งผลต่อสังคม ส่งผลต่อคนผลิตด้วยก็จะขาดความมั่นใจในการผลิตรูปแบบอื่นด้วย มันจึงกลายเป็นปัญหาในการทำงานสร้างสรรค์และการทำงานที่มีรสนิยมด้วย เพราะฉะนั้นต้องหาทางผลิตและแก้ปัญหาให้ได้ ไม่ใช่ปล่อยไปแบบนี้...”  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 153 มะเร็ง บัตรทองและการส่งต่อผู้ป่วย

มะเร็งเป็นโรคร้ายที่มีคนไทยป่วยเป็นจำนวนมากและคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คุณวิภาก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ต้องเผชิญหน้ากับโรคร้ายแรงนี้และคาดหวังถึงการรักษาที่จะช่วยให้เธอผ่านพ้นความเจ็บป่วยนี้ไปได้คุณวิภามีสิทธิในบัตรทองหรือสิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยามเจ็บไข้เธอมักจะไปใช้บริการการแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเสมอ โดยจ่ายเงินเองไม่พึ่งระบบหลักประกัน แต่ในการตรวจรักษาครั้งล่าสุดจากอาการเลือดออกทางช่องคลอด แพทย์วินิจฉัยว่าเธอเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3 ซึ่งการรักษาพยาบาลต้องทำอย่างต่อเนื่องและมีค่าใช้จ่ายสูง แพทย์จึงแนะนำให้เธอติดต่อกับสถานพยาบาลต้นสังกัดที่เธอมีสิทธิในระบบหลักประกันเพื่อลดภาระในเรื่องค่ารักษาพยาบาลปัญหาแรกคือ เธอไม่แน่ใจว่าเธอมีสิทธิบัตรทองที่สถานพยาบาลไหน ปัญหานี้แก้ไม่ยากเพราะเพียงตรวจสอบจากฐานข้อมูล ก็พบว่าเป็นสถานพยาบาลใดปัญหาที่สองคือ เมื่อสามีพาเธอไปติดต่อเพื่อขอรับการรักษาสถานพยาบาลดังกล่าว ทั้งสองพบว่าสถานพยาบาลแห่งนี้ไม่มีศักยภาพพอในการรักษาโรคร้ายของเธอ จึงร้องขอให้ทางสถานพยาบาลทำเรื่องส่งต่อ โดยประสงค์ให้ส่งต่อไปรักษาตัวที่ รพ.รามาธิบดี ซึ่งคุณวิภาคุ้นเคยและมีประวัติการตรวจวินิจฉัยโรคพร้อมอยู่แล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยบอกเพียงว่าจะทำเรื่องส่งตัวผู้ป่วยให้ไปรักษาที่สถาบันมะเร็งเท่านั้น ถ้าจะรักษาที่รามาธิบดีผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง สามีของคุณวิภาจึงโทรศัพท์มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และขอให้ช่วยเหลือให้ทางสถานพยาบาลต้นสังกัดทำเรื่องให้ภรรยาได้เข้ารับการรักษาที่ รพ.รามาธิบดี การแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้ประสานไปยังสถานพยาบาลที่คุณวิภามีสิทธิบัตรทองอยู่ ทราบข้อมูลตรงกับที่สามีคุณวิภาร้องเรียนมา แต่ทางสถานพยาบาลแห่งนี้แจ้งว่า ไม่สามารถทำตามประสงค์ของผู้ร้องได้เนื่องจาก รพ.รามาธิบดีไม่ได้เป็นโรงพยาบาลในเครือข่าย หากเกินกว่าความสามารถในการรักษาทั้งระดับสถานพยาบาลปฐมภูมิและทุติยภูมิ จะส่งต่อไปที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลในเครือข่ายเท่านั้น   หากผู้ป่วยยังยืนยันจะรักษาพยาบาลที่ รพ.รามาธิบดี ก็ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง โดยไปทำเรื่องตามขั้นตอนการย้ายสิทธิกับทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)เรื่องการส่งตัวนี้เป็นหนึ่งในปัญหาที่ทาง สปสช.ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดปัญหาหนึ่ง ซึ่งยังคงต้องมีการสื่อสารให้ผู้มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าใจในระบบของบัตรทองหรือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะมีลำดับขั้นของการดูแลรักษา คือถ้าสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิหรือคลินิกใกล้บ้านใกล้ใจ ไม่สามารถรักษาได้ จะส่งต่อการรักษาไปที่โรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ ซึ่งมีอุปกรณ์ที่รักษาผู้ป่วยได้ หากยังรักษาไม่ได้อีกจึงจะส่งต่อไปรักษาในสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงสุด ซึ่งอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน โดย สปสช.จะติดตามดูแลค่ารักษาของผู้ป่วยไปตามสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยถูกส่งตัวไปรักษาเมื่ออธิบายให้ทั้งคุณวิภาและสามีเข้าใจ ทั้งสองก็ยินดีให้ทางสถานพยาบาลทำเรื่องส่งตัวคุณวิภาไปรักษาที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ แต่สามีคุณวิภาก็แอบกังวลว่า ภรรยาอาจต้องรอคิวการรักษานานแล้วจะทำให้อาการของภรรยาทรุดหนักลง ซึ่งปัญหานี้ทางสถานพยาบาลตามสิทธิของคุณวิภาได้ช่วยประสานกับทางสถาบันมะเร็งฯ เป็นที่เรียบร้อย และเร่งทำใบส่งตัวให้อย่างเร็วที่สุด ปัจจุบันคุณวิภาได้เข้ารับการรักษา ณ สถาบันมะเร็งแห่งชาติแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ตรวจสุขภาพฝากครรภ์ ใครๆ ก็ใช้บัตรทองได้

เราอาจเคยได้ยินว่าสิทธิด้านสุขภาพต่างๆ ที่รัฐจัดให้ ทั้งสิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) หากใครมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะไปใช้สิทธิอีกอย่างหนึ่งไม่ได้ ด้วยความรู้แบบนี้และความอ่อนแอในการสื่อสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้ประชาชนพลาดสิทธิที่มีอยู่ได้เช่นกันสุพัตรา เป็นพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่งมีสิทธิประกันสังคม เธอตั้งครรภ์อยากจะฝากครรภ์พอเปิดไปดูรายละเอียดความคุ้มครองเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในประกันสังคม ก็พบแต่เงินช่วยเหลือเหมาจ่าย 13,000 บาทให้ค่าคลอดบุตรเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าต้องควักเงินสำรองจ่ายไปก่อนจนคลอดบุตรแล้วถึงจะไปขอเบิกคืนได้ ก็อยากจะประหยัดเงินมากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เธอจึงขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมจนทราบว่า ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ได้ให้สิทธิแก่ผู้ถือบัตรประกันสังคมและคนไทยทุกคนให้มาใช้สิทธิบัตรทองได้ในการรับบริการสาธารณสุขเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ซึ่งรวมถึงการฝากครรภ์ด้วย โป๊ะเช่ะ...ไม่ต้องควักเงิน ลุย !สุพัตรา เดินเข้าไปที่โรงพยาบาลราชวิถีเพื่อขอฝากครรภ์และขอใช้สิทธิบัตรทอง เรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเป็นงง  บอกใช้ไม่ได้มีสิทธิประกันสังคมอยู่แล้วก็ให้ไปเบิกเงินกับทางนั้นซะ คนถือบัตรประกันสังคมจะใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้เพียงเรื่องการคุมกำเนิดเท่านั้น รอคลอดก่อนแล้วค่อยใช้สิทธิทำตอนทำหมันนะจ๊ะซึมเล็กๆ เมื่อได้รับคำตอบแบบนั้น สุพัตราหยิบมือถือโทรไปที่ call center สปสช. 1330 ถามความชัดเจนว่ามันเป็นยังไงกันแน่ เห็นใบประชาสัมพันธ์บอกว่าใช้ได้ไง call center สปสช. ยืนยันว่า ผู้ถือบัตรประกันสังคมสามารถใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเรื่องการฝากครรภ์ได้ และแนะนำให้สุพัตราไปคุยกับทางศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลราชวิถีอีกครั้ง สุพัตราอุ้มท้องอ่อนๆ แล้วค่อยๆ เดินไปที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อขอยืนยันการใช้สิทธิอีกคำรบ“ไม่ได้ค่ะ เราเคยมีผู้ถือบัตรประกันสังคมมาขอใช้สิทธิแบบน้องนี่แหละค่ะ ก็ต้องแจ้งว่าผู้ที่ใช้สิทธิได้จะเป็นผู้ที่ส่งประกันสังคมไม่ครบ 7 เดือนเท่านั้นค่ะ” เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลอธิบาย สุพัตราจึงกดโทรศัพท์และขอให้เจ้าหน้าที่ สปสช. ได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ คุยกันอยู่พักใหญ่สุดท้ายศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลก็ยังยืนยันไม่ให้เธอใช้สิทธิ แถมยังบอกว่า ไม่มีนโยบาย หากต้องการใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้ไปขอใช้สิทธิที่สถานพยาบาลอื่นแทน  จะเรียกว่าเป็น “ไล่” อย่างสุภาพก็ว่าได้เมื่อการใช้สิทธิล้มเหลว สุพัตราจึงโทรคุยกับเจ้าหน้าที่ สปสช. อีกครั้ง เจ้าหน้าที่แจ้งว่าแม้ สปสช.จะมีนโยบายดังกล่าว แต่ สปสช. ไม่มีอำนาจบังคับให้โรงพยาบาลทำตามนโยบายดังกล่าวได้“เอ้า...แล้วมันจะเรียกว่านโยบายได้ไงน่ะ เที่ยงนี้ขนมจีนอย่ากินดีกว่า มันคงไม่มีน้ำยาเหมือนกัน” สุพัตราบ่นกับตัวเองพร้อมควักเงิน 760 บาทเป็นค่าดำเนินการฝากครรภ์ให้กับโรงพยาบาล ก่อนนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาหลังรับเรื่องร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ตรวจสอบที่มาที่ไปในสิทธิการรับบริการสาธารณสุข การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้พบความเป็นมาว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ดำเนินงานภายใต้นโยบายสาธารณสุขที่ต้องการให้ประชาชนได้รับบริการทางสุขภาพทั้งด้านการรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพ การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคอย่างมีมาตรฐาน เสมอภาค และเท่าเทียมกัน รวมถึงการพัฒนาสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องการลดอัตราตายของเด็กและทารก อัตรามารดาตาย การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญ เป็นต้น จึงได้ดำเนินการแปลงนโยบายที่ว่าสู่การปฏิบัติเพื่อให้มีการดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง มีระบบบริการเน้นการดูแลในระดับ Primary care และในชุมชน โดยจัดให้มีบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์จนถึงวัยสูงอายุโดยการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว/ตามกิจกรรมหรือตามผลงานบริการ ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ที่กำหนด นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ผู้มีสิทธิอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในอนาคต  โดยเปิดให้ผู้ที่ใช้สิทธิประกันสังคมและสิทธิราชการ สามารถใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้จากเอกสารเผยแพร่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพยังยืนยันว่า ผู้มีสิทธิประกันสังคมสามารถเข้าขอใช้สิทธิการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ไม่ใช่แค่การฝากครรภ์ แต่ยังรวมไปถึงการวางแผนครอบครัวแบบชั่วคราว ทั้งการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ห่วงอนามัย แม้กระทั่งการจะขอรับการตรวจหามะเร็งปกมดลูก ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้เมื่อได้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว มูลนิธิฯจึงได้ทำหนังสือเรียนถึง ประธานคณะกรรมการคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขเพื่อให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้ในเวลาต่อมาได้มีการประสานงานระหว่าง สปสช. กับโรงพยาบาลราชวิถีอีกครั้ง และมีการยินยอมให้สุพัตราสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้ เนื่องจากการฝากครรภ์อยู่ในบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ให้ความคุ้มครองแก่คนไทยทุกคน โดยต้องเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพประเด็นนี้ทำให้เห็นจุดอ่อนใหญ่ๆ 2 จุด คือ ความคุ้มครองด้านสุขภาพของประกันสังคมใครอยากใช้สิทธิต้องควักเงินก่อนและมีข้อจำกัดของวงเงินซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และเน้นให้ความคุ้มครองด้านการรักษาแต่ไม่เน้นด้านการป้องกัน ขณะที่นโยบายในความคุ้มครองของหลักประกันสุขภาพแม้จะมีนโยบายที่ดีมุ่งหวังดูแลประชาชนถ้วนหน้าแต่ยังมีการปฏิบัติที่ไม่ถ้วนหน้าจากสถานพยาบาลบางแห่งหรือบางครั้งอยู่ จำเป็นที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะต้องวางกรอบระเบียบแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิได้อย่างแท้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 ทองเนื้อเก้า : “แม่” ในหลายหลากมุมนิยาม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้กำหนดนิยามความหมายของคำว่า “แม่” เอาไว้ว่า หมายถึง “หญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูลูก” ภายใต้นิยามแบบนี้ บ่งบอกนัยกับเราหลายอย่าง ตั้งแต่การบ่งชี้ว่า บุคคลที่เป็น “แม่” ต้องเป็นเพศหญิงเท่านั้น และผู้หญิงที่เป็น “แม่” ก็มีบทบาทแรกในฐานะของ “ผู้ให้กำเนิด” แต่บทบาทที่เหนือยิ่งสิ่งใดของ “แม่” ที่ตามมานั้น ก็ต้อง “เลี้ยงดูลูก” อันถือเป็นหน้าที่ที่สังคมมอบหมายภาระให้กับเธอ อย่างไรก็ดี นิยามความหมายของแม่ตามพจนานุกรมอาจจะเป็นเรื่องหนึ่งก็จริง แต่ทว่า ในโลกความเป็นจริงของความเป็นแม่แล้ว ก็อาจมีความหลายหลากและมากไปกว่านิยามที่บัญญัติเอาไว้แค่ในเล่มพจนานุกรม และความหลากหลายในนิยามของแม่นี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับการสะท้อนออกมาให้เห็นผ่านละครโทรทัศน์ที่ถูกกล่าวขานถึงอย่างมากเมื่อช่วงราวหนึ่งหรือสองเดือนที่ผ่านมาอย่างเรื่อง “ทองเนื้อเก้า” เรื่องราวชีวิตของตัวละครสามคนที่ผูกโยงให้ต้องมาร่วมในชะตากรรมเดียวกันอย่าง “ลำยอง” หญิงสาวสวยขี้เมาที่ขาดซึ่งอุดมคติของความเป็นแม่และเมียที่ดีที่จารึกอยู่ในพจนานุกรม “สันต์” นายทหารเรือหนุ่มที่ชีวิตพลิกผันเมื่อเลือกลำยองมาเป็นภรรยาคนแรกของเขา และ “วันเฉลิม” อภิชาตบุตรผู้ที่ไม่ว่าแม่จะขี้เหล้าหรือร้ายกาจเพียงไร แต่เด็กน้อยวันเฉลิมก็ยังคงเป็น “ทองเนื้อเก้า” ที่เปล่งปลั่งความกตัญญูต่อมารดาไม่เสื่อมคลาย   แม้โดยโครงเรื่องของ “ทองเนื้อเก้า” จะเล่าถึงชีวิตของสาวขี้เมากับความล่มสลายครั้งแล้วครั้งเล่าในชีวิตครอบครัวของเธอ (ซึ่งคงไม่แตกต่างจากเนื้อเพลงนำของละครที่ร้องว่า “จุดจบเธอคงจะไปไม่สวย ถ้าหากเธอยังทำตัวเสียเสีย...”) แต่อีกด้านหนึ่ง ฉากหลังของละครก็ได้ฉายให้เราเห็นภาพของ “แม่” ที่หลายหลากแตกต่างกันไปอย่างน้อยสามคน เริ่มต้นจากตัวละครอย่าง “ปั้น” แม่ของสันต์ ซึ่งถูกสร้างให้เป็นแม่ตามแบบฉบับที่สังคมไทยปรารถนา เป็นแม่ที่ขยันทำมาหากิน เก็บหอมรอมริบ และอบรมสั่งสอนลูกชายจนได้ดี จะว่าไปแล้ว แม่ในแบบยายปั้นนี้ก็น่าจะสอดรับตามความหมายที่พจนานุกรมบัญญัติไว้มากที่สุด ส่วนคนที่สองก็คือ “แล” แม่ที่ทะเยอทะยานอยากให้ลูกสาวอย่างลำยองได้สามีที่ร่ำรวย และด้วยเหตุที่ยายแลทั้งขี้ขโมย ติดการพนัน แทงหวย ติดเหล้า จนเรียกได้ว่ารวมดาวแห่งความทะยานอยากเอาไว้ “แม่ปูที่เดินเบี้ยวๆ” แบบยายแล จึงเป็นต้นแบบให้ลำยองกลายเป็น “ลูกปูที่เดินเบี้ยวไปมา” ตามๆ กัน แน่นอนว่า บทบาทของแม่แบบยายปั้นกับยายแลที่แตกต่างกันนี้ ก็คงเป็นความจงใจของละครที่ต้องการสื่อความเปรียบเทียบให้ผู้ชมเห็นว่า “ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น” หรือเผลอๆ “ลูกไม้ก็จะอาจจะหล่นอยู่ใต้ต้น” เลยนั่นแหละ เพราะฉะนั้น ก็คงไม่ต่างจากคำโบราณที่ว่า “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” ลูกที่จะเติบโตเป็นเมล็ดพันธุ์ที่งอกงามได้ ก็ต้องมาจากการเลี้ยงดูบ่มเพาะจากพ่อแม่อย่างตาสินและยายปั้น แต่หากเป็น “พ่อแม่รังแกฉัน” แบบตาปอและยายแลแล้วไซร้ โศกนาฏกรรมชีวิตของลูกก็คงไม่แตกต่างไปจากตัวละครอย่างลำยองเท่าใดนัก จากแม่สองแบบแรก ก็มาสู่แบบในแบบที่สามที่สวิงกันมาสุดขั้วสุดโต่งไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็คือ แม่ในเจเนอเรชั่นถัดมาอย่างลำยองนั่นเอง ในขณะที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯระบุว่า แม่หมายถึง “หญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูลูก” แต่สำหรับลำยองแล้ว นิยามความเป็นแม่กลับมาเพียงครึ่งแรกครึ่งเดียวคือ “หญิงผู้ให้กำเนิด” แต่ทว่าครึ่งหลังในฐานะ “ผู้เลี้ยงดูลูก” นั้น กลับไม่เคยปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับของลำยองเอาเสียเลย ในแง่ของ “ผู้ให้กำเนิด” นั้น ละครได้วาดภาพให้ลำยองถือกำเนิดลูกแบบชนิดคนแล้วคนเล่า หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ นับแต่เลิกรากับสันต์ ลำยองก็มาคบกับเจ้าของโรงงานอย่าง “เฮียกวง” นักพนันในบ่อนอย่าง “เมืองเทพ” ไปจนถึงมีสัมพันธ์กับชายมากหน้าหลายตาไม่เว้นแม้แต่คนขับรถรับจ้าง และลำยองก็ให้กำเนิดลูกกับผู้ชายเหล่านั้นคนแล้วคนเล่าชนิดยายแลผู้เป็นมารดาเองถึงกับงุนงง แต่ในแง่ของ “ผู้เลี้ยงดูลูก” นั้น ลำยองกลับไม่เคยใยดีกับการเลี้ยงดูลูกคนใดของเธอเองเลย ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่า ลำยองได้ปฏิเสธทัศนะที่ว่า ลูกจะดีหรือไม่ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านการอบรมเลี้ยงดูจากมารดาผู้ให้กำเนิด และที่น่าสนใจยิ่งก็คือ แม้ว่าภาพของลำยองจะไม่เป็นไปตามความเป็นแม่ในอุดมคติก็ตาม แต่ทว่าชะตาชีวิตของวันเฉลิมผู้เป็นลูกของลำยองนั้นกลับแตกต่างกันไปอีกทางหนึ่ง ถึงแม้ลำยองจะไม่ได้ “เลี้ยงดู” หรือแม้แต่ใส่ใจกับวันเฉลิมและลูกๆ คนใดของเธอเลยก็ตาม แต่วันเฉลิมก็กลับเป็นเด็กที่ดีแสนดี เป็นยอดยิ่งของความกตัญญู ไม่เพียงแต่ดูแลมารดาที่ขี้เมาหรือเจ็บป่วยจนถึงช่วงสุดท้ายของลำยองจะสิ้นลมหายใจเท่านั้น เขายังดูแลน้องๆ และอบรมสั่งสอนจนน้องๆ เหล่านั้นสามารถเป็นคนดีได้ในที่สุด ในมุมนี้ก็เหมือนกับละคร “ทองเนื้อเก้า” จะบอกเราๆ ว่า แม้สังคมไทยจะยึดถือค่านิยมที่เชื่อว่าลูกที่ดีก็ต้องมาจากแบบพิมพ์ที่ดีของพ่อแม่เท่านั้น แต่ก็อาจมีข้อยกเว้นบางเงื่อนไขเหมือนกันที่เด็กคนหนึ่งอาจจะเป็นคนดีได้ แม้ว่าเขาจะไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อมสรรพก็ตาม แต่ถึงกระนั้น จุดยืนของละครก็ไม่ได้เชื่อในทัศนะที่ว่า เด็กจะดีหรือเป็น “ทองเนื้อเก้า” ได้ ก็ด้วย “ทองเนื้อแท้” ที่ติดตัวเองมาเสียทีเดียว ตรงกันข้าม ละครก็ยังยืนยันว่า ผ้าจะเป็นสีขาวบริสุทธิ์ได้ก็ต้องมาจากการขัดกับการเกลาจากสังคมเท่านั้น เพราะฉะนั้น หากสถาบันครอบครัวหรือแม่อย่างลำยองทำหน้าที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานที่เขียนไว้ในพจนานุกรม แต่สังคมยังมีสถาบันอื่น ๆ เช่นสถาบันวัดและศาสนา ที่ทำหน้าที่กล่อมเกลาเยาวชนเป็นการทดแทนได้แล้ว เด็กๆ ก็สามารถเปล่งประกายเป็น “ทองเนื้อเก้า” ได้เช่นกัน เหมือนกับที่วันเฉลิมได้รับการอบรมขัดเกลาจาก “หลวงตาปิ่น” มาตลอดทั้งเรื่องของละคร บทสรุปของ “ทองเนื้อเก้า” นอกจากจะทำให้เราเห็นความจริงในชีวิตว่า ความเป็นแม่ไม่ได้มีอยู่แบบเดียวเหมือนกับที่เรารับรู้กันโดยทั่วไป แต่ในเวลาเดียวกัน ถึงจะมีแม่ที่มีวัตรปฏิบัติที่เบนเบี่ยงไปจากค่านิยมที่ผู้คนยึดถือกันอยู่บ้าง สังคมเราก็มิได้สิ้นหวังเสียทีเดียว เผลอๆ คำตอบสุดท้ายที่จะมาช่วยจรรโลงเกื้อกูลสถาบันครอบครัวทุกวันนี้ ก็อาจต้องย้อนกลับไปพึ่งพิงคุณงามความดีของสถาบันศาสนาที่สร้าง “ทองบริสุทธิ์” ให้เป็น “ทองเนื้อเก้า” ได้เฉกเช่นเดียวกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 132 สามหนุ่มเนื้อทอง : บนกึ่งกลางระหว่าง “ทองแท้” กับ “ทองเทียม”

  นิทานพื้นบ้านที่ทุกคนคงรู้จักดีเรื่อง “สังข์ทอง” เคยเล่าเรื่องเอาไว้ว่า เบื้องลึกเบื้องหลังของร่างเจ้าเงาะที่รูปดำอัปลักษณ์ ข้างในนั้นคือ “เนื้อทอง” ผ่องพรรณ และจะมีก็แต่นางรจนาเท่านั้นที่มองเห็นทะลุทะลวงเข้าไปภายใน “เนื้อทอง” ที่ซ่อนรูปอยู่ จนต้องเสี่ยงพวงมาลัยไปเป็นเนื้อคู่ตุนาหงันกัน นิทานอย่างเรื่อง “สังข์ทอง” นั้น อันที่จริงก็คือ กุศโลบายของคนโบราณที่สอนว่า เวลาเราจะตัดสินใครคนใดนั้น จะดูแค่รูปลักษณ์ภายนอกอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องมองเข้าไปให้เห็นคุณค่าภายในว่าเป็น “เนื้อทองแบบแท้ ๆ” หรือเป็นแค่ “เนื้อทองชุบทองเทียม” กันแน่ เพราะฉะนั้น แม้แต่จะเป็นเรื่องของการเลือกคนรักหรือคู่ครอง บรรพสตรีทั้งหลายก็ควรที่จะเลือกคุณค่าที่อยู่ข้างใน มากกว่าจะสนใจดูแต่เพียงรูปกายภายนอกเท่านั้น ผิวเปลือกนอกกายคงจะไม่สำคัญเท่ากับแก่นแท้ ๆ ที่อยู่ภายในนักหรอก แต่ดูเหมือนว่า พอมาถึงยุคนี้สมัยนี้ พระสังข์ที่ถอดรูป “ดำแต่นอกในแผ้วผ่องเนื้อนพคุณ” นั้น ท่าทางจะหาได้แสนลำบากยากเย็นเสียแล้วล่ะ คงจะมีเหลือก็แต่บรรดาเนื้อทองนพคุณที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบเต็มร้อยเท่าใดนัก ก็เหมือนกับบรรดาตัวละคร “สามหนุ่ม” ที่ถูกออกตัวไว้ตั้งแต่แรกว่าเป็นพวก “เนื้อทอง” ไม่ว่าจะเป็นคุณกริชชัย ผู้กองวัชระ หรือนายธีธัชนั้น ผู้ชมละครเรื่องนี้ก็คงสงสัยเหมือนกับผมว่า มีใครกันบ้างหนอที่จะเป็น “เนื้อทองแท้จริง ๆ” ให้นางรจนาได้เลือกเอาไว้เป็นคู่ครอง ??? เริ่มต้นก็จาก “เนื้อทองหมายเลขหนึ่ง” หรือคุณกริชชัย CEO หนุ่ม ผู้ที่แม้จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานในฐานะนักธุรกิจผู้บริหาร แต่ทว่า ในเรื่องความรักที่เขามีต่ออรุณศรีเลขานุการสาวนั้น เขากลับเป็นคนที่อินโนเซ้นต์และมึนๆ บื้อๆ ไร้เดียงสาในเรื่องของความรักเสียเหลือเกิน จนถึงขนาดที่ครั้งหนึ่งคุณโอบบุญพี่ชายของแอ๊วถึงกับพูดเหน็บแนมความสัมพันธ์ระหว่างน้องสาวของตนกับคุณกริชชัยว่า “เราน่ะ...หัดเป็นผู้หญิงฉลาดกับเค้าบ้างนะ มีผู้ชายหน้าตามึนๆ พูดจาตรงๆ มาให้เลือกถึงบ้านแบบนี้ ถ้ายังไงก็ลองให้โอกาสเขาบ้างให้โอกาสตัวเองบ้าง...” ส่วน “เนื้อทองหมายเลขสอง” หรือผู้กองวัชระ ที่แม้จะเป็นนายตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ซึ่งเก่งกล้าสามารถในการปราบปรามผู้ร้าย แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ช่างขลาดเขลาและ “ถนัดแต่จะหนี” ในการจัดการปัญหาส่วนตัว ชนิดที่ว่าต้องวิ่งหนีแบบหัวซุกหัวซุนไม่กล้าเผชิญหน้ากับคุณแหนมคู่หมั้นที่ตนบอกเลิก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้กองวัชระได้พบรักใหม่กับเจ้าของผับสาวอย่างคุณฝ้ายด้วยแล้ว คุณผู้กองหนุ่มก็ยิ่งแสดงความขี้ขลาดวิ่งหนีหลบหน้าคุณแหนม จนปัญหาต่างๆ ขวั้นเกลียวมาขนาดที่คุณฝ้ายต้องเอ่ยกับแฟนหนุ่มของเธอว่า “ผู้หญิงอย่างฉันไม่ต้องการความเห็นใจ แต่ต้องการความมั่นใจ...ที่ผ่านมาคุณวิ่งหนีจนปัญหาทับถมมากเกินกว่าจะแก้ไขด้วยการบอกเลิกเพียงคำเดียว...” และก็มาถึง “เนื้อทองคนสุดท้าย” อย่างนายธีธัช หนุ่มเจ้าชู้หาตัวจับยาก ที่วันๆ ไม่ได้ทำงานทำการอันใด เพราะมีมรดกเก่าเอาไว้ใช้อย่างล้นเหลือ เพราะฉะนั้น ด้วยรูปที่หล่อพ่อที่รวยและมรดกที่ล้นฟ้าเช่นนี้ ธีธัชจึงไม่ใช่คนที่จะแคร์ความรู้สึกของผู้หญิงคนใด รวมถึงคุณกรผู้หญิงที่แม้จะดีแสนดีและเข้าใจชีวิตแบบไม่ได้ยากเย็นนัก ก็ยังไม่สามารถจะรั้งชายเจ้าชู้อย่างธีธัชได้ จนกระทั่งเสือต้องมาสิ้นลาย เมื่อเจอกับสัตวแพทย์สาวอย่างลำเภา ที่ผิดแผกแตกต่างจากคนอื่นๆ และมองผู้ชายกะล่อนเจ้าชู้แบบธีธัชไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยงที่เธอรักษาโรคนั่นแหละ ก็เลยทำให้ “นายหมาใหญ่” อย่างธีธัชถูกปราบเสียจนสิ้นฤทธิ์ เพราะฉะนั้น ถึงจะเป็น “สามหนุ่มเนื้อทอง” แต่ก็มีคำถามตามมาว่า ทุกวันนี้ผู้ชายที่เป็น “เนื้อทองแท้” แบบไร้ซึ่งการปนเปื้อนจะมีอยู่จริงหรือ ??? เพราะถึงจะ “เนื้อทอง” แต่ก็ปนเปื้อนความมึนๆ เซ่อๆ ไร้เดียงสา ความขลาดเขลาถนัดแต่หนีปัญหา หรือความกะล่อนแบบเจ้าชู้ไปวันๆ ผู้ชายแบบทองแท้ปราศจากตำหนิจึงอาจเป็นเพียงภาพที่ดำรงอยู่ในอุดมคติเท่านั้น ในด้านหนึ่ง ละครก็ได้ชี้ให้เห็นว่า สังคมมนุษย์เรานั้นมีตัวเลือกผู้ชายตั้งแต่เลวได้สุดขั้วแบบปรานต์ ที่แม้จะหล่อขั้นเทพแต่ข้างในก็เป็นซาตานผู้ไม่เคยให้ความรักกับผู้หญิงคนใดอย่างจริงจัง และหวังปอกลอกผู้หญิงทุกคนที่เข้ามาในชีวิตของเขา “หนุ่มเนื้อทองชุบ” แบบนี้อาจมีหาได้ตามท้องตลาดทั่วไป แต่อีกด้านหนึ่ง สำหรับผู้ชายดีๆ นั้น ละครกลับบอกเราว่าที่ดีแบบเลอเลิศจริงๆ คงไม่มีอีกแล้วในยุคนี้ หากจะมีหลงเหลืออยู่ ก็เป็นผู้ชายดีๆ แบบมีตำหนิอยู่บ้าง หรือไม่ได้เลิศเลอเพอร์เฟ็คเป็น ideal type ตัวละครกลมๆ แบบที่มีดีบ้างปนเปื้อนมุมที่แย่ๆ อยู่บ้างเช่นนี้ อาจเป็นตัวเลือกที่ถูกต้องมากกว่าจะวิ่งไปหาแต่บรรดา “เทพบุตรเนื้อทองแท้ ๆ” ที่ไม่เคยมีอยู่จริง “แม้แผ่นดินสิ้นชายที่หมายเชย อย่ามีคู่เสียเลยจะดีกว่า” อาจจะเป็นวลีที่ใช้ได้กับผู้หญิงในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง แต่พอมาถึงยุคนี้สมัยนี้ ผู้หญิงที่จะตามหา “หนุ่มเนื้อทอง” คงต้องยึดสโลแกนที่ว่า “nobody’s perfect” หรือไม่มีใครในสากลพิภพหรอกที่สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ หากคุณผู้หญิงจะรอให้เจอเจ้าเงาะถอดรูปแล้วข้างในเป็นเนื้อทองผุดผ่องอำพัน ก็คงจะหาไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ผู้ชายดีๆ แต่โง่ๆ เซ่อๆ หรืออาจจะขี้ขลาดและเจ้าชู้ไปบ้าง ก็คงเป็นออพชั่นที่พอเหมาะพอเจาะกับสังคมในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ก็คงจะเป็นแบบที่เสียงก้องในใจของน้องลำเภาที่เธอให้คำตอบกับตัวเองเอาไว้ว่า “ผู้ชายที่ดีในโลกนี้มีอยู่สองแบบ คนแรกนั้นยังไม่เกิด ส่วนอีกคนหนึ่งได้ตายไปแล้ว…” คำตอบในใจของลำเภา ก็คงจะเป็นคำตอบเดียวกับที่อยู่ในใจทั้งคุณแอ๊ว คุณฝ้าย และคุณผู้หญิงยุคนี้อีกหลายๆ คนว่า ถ้าคิดจะเลือกครองคู่กับชายสักคน คงต้องบอกกับตัวเองว่า “I love you just the way you are” เท่านั้นแหละ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 กระแสต่างแดน

  ทองนี้ได้แต่ใดมา ร้านทองไฮโซในอังกฤษให้ข้อมูลที่ไม่ค่อยจะตรงกับความเป็นจริงนัก เวลาที่ถูกถามเรื่องแหล่งที่มาหรือกระบวนการในการสรรหาวัตถุดิบเพื่อนำมาทำเป็นเครื่องประดับ  คนที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้แก่รายการทีวีแนวสืบสวนสอบสวน Dispatches ที่ใช้วิธีซ่อนกล้องเข้าไปเก็บข้อมูลในประเด็นที่สังคมกำลังสนใจ   คราวนี้เขาส่งทีมงานเข้าไปทำทีเป็นจะซื้อเครื่องประดับทองในร้านหรูอย่าง ร้าน Argos ร้าน Goldsmiths ร้านH. Samuel ร้าน Ernest Jones และ Leslie Davis แต่ก่อนจะซื้อก็ลองยิงคำถามกับพนักงานในร้านว่าทองที่นำมาผลิตเป็นเครื่องประดับแบรนด์ของร้านนั้นมีที่มาอย่างไร   แล้วก็พบว่าพนักงานที่พูดคุยด้วยส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องกระบวนการผลิตสินค้าที่ตนเองขายอยู่สักเท่าไร บางคนไม่รู้ว่าร้านของตัวเองสั่งซื้อทองมาจากที่ไหน แต่ก็ยังตอบแบบมึนๆ ว่ามันก็เป็นทองที่ได้มาอย่างถูกจริยธรรมนั่นแหละ (โดยไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมใดๆ ให้) แต่ทั้งนี้ก็ไม่สามารถบอกได้ว่ามาจากไหนอยู่ดี บางรายถึงกับบอกลูกค้าว่าไม่มีทางที่ลูกค้าจะรู้ได้ ถึงแม้จะมีการอ้างว่าได้รับการรับรองจากสถาบันอะไรก็ตาม   สรุปว่าแม้ลูกค้าเมืองผู้ดีจะทุ่มเทซื้อทองจากร้านใหญ่ๆ ก็ยังไม่สามารถจะมั่นใจได้อยู่ดีว่าทางเลือกของตนเองนั้นไปสนับสนุนการใช้แรงงานเด็ก การทำให้ชุมชนใกล้เหมืองทองเต็มไปด้วยสารพิษ หรือการทำลายสภาวะแวดล้อมโดยรวมหรือไม่   เอารูปจาก Clip นี้ได้ป่าวhttp://www.channel4.com/programmes/dispatches/articles/the-real-price-of-gold-video-clip -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------  กาแฟกับภัยแล้ง คุณรู้หรือไม่ ว่าการปลูกต้นกาแฟเพื่อนำมาชงเป็นกาแฟใน 1 แก้วขนาด 125 มิลลิลิตร นั้นจะต้องใช้น้ำถึง 140 ลิตร หรืออีกนัยหนึ่ง องค์กร Water Footprint Network เขากำลังจะบอกเราว่า อัตราส่วนระหว่างกาแฟกับน้ำที่ใช้นั้น เท่ากับ 1:1100  ขณะนี้ได้เกิดภาวะแห้งแล้งอันสืบเนื่องมาจากการปลูกกาแฟขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบราซิลและโคลัมเบียซึ่งเป็นสองประเทศในกลุ่มผู้ผลิตกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้นแล้วคอกาแฟทั้งหลายโปรดรับทราบว่าต่อไปนี้ราคาเมล็ดกาแฟจะต้องแพงขึ้นอย่างแน่นอน  นอกจากนี้ เกษตรกรที่หมู่บ้านฮามา ทางตอนใต้ของกรุงแอดดิส อบาบา เมืองหลวงของเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟคุณภาพเลิศนั้นกำลังประสบปัญหาหนี้ เพราะผลผลิตกาแฟที่ได้นั้นลดลงกว่าเดิม  ทางออกสุดท้ายที่ต้องหาให้ได้ร่วมกัน คือการกำหนดให้บริษัทที่รับซื้อเมล็ดกาแฟ เลือกซื้อจากแหล่งที่มีการจัดการน้ำในการเพาะปลูกที่ดีเท่านั้น  ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากบรรดาผู้ผลิตกาแฟสำเร็จรูปและร้านกาแฟพอสมควรทีเดียว คราฟท์ฟูดส์ ผู้ผลิตกาแฟสำเร็จรูปยี่ห้อแม็กซเวลล์ เฮ้าส์ ได้ให้คำมั่นว่าจะรับซื้อกาแฟจากแหล่งที่ได้รับการรับรองโดย Rainforest Alliance (องค์กรที่ทำหน้าที่คล้ายๆ Fair Trade ที่เรารู้จักกัน แต่เน้นหนักที่ประเด็นสิ่งแวดล้อม) เท่านั้น  หรือเนสท์เล่ ที่อังกฤษ ก็ประกาศให้เงินสนับสนุนการปลูกกาแฟด้วยวิธีที่ยั่งยืน ในประเทศเอธิโอเปีย  สตาร์บัคส์ก็ประกาศลดการใช้น้ำในร้านลงให้ได้ร้อยละ 25 ภายในอีก 4 ปีข้างหน้า ขณะนี้แต่ละสาขาสามารถลดการใช้น้ำลงได้วันละ 100 แกลลอน เท่ากับว่าโดยรวมแล้วสามารถลดการใช้น้ำลงไปได้ร้อยละ 22 แล้ว   กาแฟเป็นหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงที่สุด ด้วยยอดขายทั่วโลกกว่า 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป แม้แต่ประชากรในประเทศที่ดื่มชาเป็นหลักอย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีก็ยังหันมาบริโภคกาแฟกันตามยุคสมัย-------------------------------------------------------------------------------------------------- แบคทีเรียอาละวาด วิกฤตใหม่ในยุโรป นอกจากปัญหาเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจที่เราได้รับรู้กันอยู่ทุกวันแล้ว ยุโรปยังมีอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเช่นกัน  ถึงวันนี้ผู้คนกว่า 25,000 คน ในยุโรปได้เสียชีวิตลงด้วยเชื้อจอมดื้อยาอย่างแบคทีเรีย MRSA ซึ่งเชื้อตัวเดียวกันนี้ทำให้สหรัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาไปกว่า 21,000 ล้านเหรียญเช่นกัน คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมบริษัทยาถึงไม่คิดจะผลิตยาปฏิชีวนะ(หรือที่เราถนัดเรียกว่ายาแก้อักเสบหรือยาฆ่าเชื้อ) ตัวใหม่ๆ ออกมาขายกันบ้าง ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่ามีการดื้อยาเกิดขึ้นมากมาย   นี่เป็นเรื่องที่สหภาพยุโรปกำลังขบคิดหาทางออก   สาเหตุที่บริษัทยาขาดแรงจูงใจในการลงทุนคิดค้นยาตัวใหม่ๆ ออกมาก็เพราะรายได้ที่เกิดจากยาประเภทนี้มีไม่มากนัก เรารับประทานประมาณ 2 – 3 วันก็หาย แถมยังเป็นยาที่เสี่ยงต่อการ “ดื้อ” มากกว่ายาชนิดอื่นๆ นอกจากนั้น ยาฆ่าเชื้อนั้นถือเป็นยาสำคัญที่ต้องทำให้ทุกคนไม่ว่าจะจนหรือรวยสามารถเข้าถึงได้ ยาเหล่านี้จึงถูกกดดันให้มีราคาถูกด้วย  จึงทำให้บริษัทเหล่านี้ทำการตลาดโดยเน้นที่การทำยอดขายปริมาณมาก และนั่นทำให้เกิดการสั่งและการใช้ยาดังกล่าวเกินความจำเป็น ที่นำไปสู่การดื้อยาในที่สุด  สหพันธ์สมาคมยาและอุตสาหกรรมยาแห่งยุโรปหรือ EFPIA มีข้อเสนอให้สร้าง “แรงจูงใจ” ใหม่ๆ ให้กับบริษัทผู้ผลิตยา เช่น การได้รับลดหย่อนภาษีถ้ามีการทำวิจัยยาดังกล่าว การได้รับรางวัล “ยาดีมีประสิทธิภาพ” หรือการขยายเวลาครอบครองสิทธิบัตร เป็นต้น   โอเวอร์โดส โรคระบาดอเมริกันชน ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ติดตามข่าวคนดังในฮอลลิวูด คุณคงจะคุ้นเคยกับสาเหตุการตายยอดฮิตของบรรดาผู้มีอันจะกินเหล่านั้นว่าหนีไม่พ้นการใช้ยาเกินขนาด หรือที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า โอดี (หรือ Overdosed) นั่นเอง   มีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าอาการโอดีนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับหมู่เซเลบริตี้อเมริกันเท่านั้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา “การใช้ยาในทางที่ผิด” ได้กลายเป็น “โรคระบาด” ในสังคมอเมริกันไปแล้ว ปัจจุบันนี้มีจำนวนคนอเมริกันที่เสียชีวิตเพราะการใช้ยาในทางที่ผิดมากกว่าจำนวนคนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ด้วยซ้ำ สาเหตุการตายโดยเฉียบพลันอันดับหนึ่งในกว่าร้อยละ 50 ของรัฐในอเมริกา คือการใช้ยาในทางที่ผิดนั่นเอง ปีที่แล้ว มีคนอเมริกันเกือบ 30,000 คน เสียชีวิตเพราะการใช้ยาเกินขนาด และในฟลอริด้าเพียงรัฐเดียวก็มีผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุดังกล่าวกว่า 3,000 คน  คนอเมริกันนั้นนิยมพึ่งพายาแก้ปวดกันไม่น้อย และคนกลุ่มนี้นี่เองที่บริโภคร้อยละ 80 ของยาแก้ปวดที่มีฝิ่นเป็นส่วนประกอบที่ผลิตได้ทั้งหมดในโลก  คนอเมริกันแต่ละคนใช้ยาประมาณ 74 – 369 มิลลิกรัม เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า จากช่วงปี ค.ศ. 1997 ถึง ค.ศ. 2007    ทิ้งของสูง   ปีนี้โครงการ Save Everest สามารถเก็บขยะลงมาจากเอเวอเรสต์ได้กว่า 8 ตัน(มากกว่าปีที่แล้ว 3 ตัน) นี่ขนาดเก็บตามเส้นทางระหว่างสนามบินลุคลากับเมืองนัมเชเท่านั้นนะ   ข่าวบอกว่าเส้นทางดังกล่าวเต็มไปด้วยกระป๋องออกซิเจน กระป๋องอาหาร ขวดน้ำดื่ม ซองยา ถุงพลาสติก รวมไปถึงของเสียจากมนุษย์ หรือแม้แต่ซากศพของคนที่เสียชีวิตในระหว่างการเดินทาง   3,210 กิโลกรัมของขยะทั้งหมดที่เก็บมาได้ จะถูกกำจัดที่เมืองนัมเช ซึ่งขณะนี้มีแผนที่จะสร้างโรงกำจัดขยะเพิ่มเป็น 15 แห่ง ขยะที่เหลือนั้นจะถูกนำไปยังเมืองกาฐมาณฑุ เพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพและนำกลับมาใช้ใหม่ต่อไป   ผู้รับผิดชอบโครงการเก็บขยะที่ว่านี้ได้แก่ สมาคมผู้ปีนเขาเอเวอเรสต์และการท่องเที่ยวแห่งเนปาล ด้วยทุนในการทำงาน 780,000 เหรียญสหรัฐ หวังว่าจะพอใช้สำหรับเก็บและจัดการขยะที่ยังหลงเหลืออยู่บนภูเขาอีกประมาณ 20 ตัน   แต่ถ้านักท่องเที่ยวกว่า 35,000 คน รวมกับลูกหาบและไกด์อีกประมาณ 80,000 คนที่มาผจญภัยที่เอเวอเรสต์ในแต่ละปีจะช่วยกันแบกขยะของตัวเองกลับลงมาด้วยก็คงจะดีไม่น้อย

อ่านเพิ่มเติม >