ฉบับที่ 268 กินปิ้งย่างร้านดัง จนท้องเสีย

        คุณน้ำผึ้ง ผู้ชื่นชอบในการกินปิ้งย่างเป็นชีวิตจิตใจ  เธอได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เธอกับแฟนได้เดินทางไปที่ห้างสรรพสินค้าย่านรัชดา เพื่อรับประทานปิ้งย่างร้านดังที่มีหลายสาขาทั่วประเทศ โดยเมื่อวันที่เกิดเหตุเธอเล่าว่า เมื่อถึงร้านดังกล่าวเธอและแฟนก็ได้สั่งอาหารทันทีเป็นเนื้อชุดใหญ่หม่าล่าและเนื้อธรรมดา อย่างละ 1 ถาดใหญ่ และน้ำมะนาวอัญชัญ 2 แก้ว พอได้อาหารมาเธอกับแฟนก็ได้กินกันอย่างเอร็ดอร่อย และตบท้ายด้วยอาหารหวานไอศกรีมอีก 2 ถ้วย พอกินเสร็จก็เช็คบิลเรียบร้อยในราคา 1,600 บาท อิ่มหนำสำราญ         แต่เรื่องเกิดหลังจากที่กลับบ้านมาประมาณ 4 ทุ่มกว่าๆ ทั้งเธอและแฟนมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงแต่ตัวเธอกับแฟนยังชะล่าใจคิดว่ายังไงเดี๋ยวก็คงจะหาย จึงไม่ได้ไปหาหมอ จนวันต่อมาแฟนคุณน้ำผึ้งมีอาการดีขึ้น แต่เธอสิ ทำไมยังไม่หายอีก สุดท้ายจึงได้ตัดสินใจไปหาหมอ ซึ่งจากการตรวจของแพทย์แจ้งว่า อาการของเธอเกิดจากอาหารเป็นพิษ “คุณไปกินอะไรมา”         คุณน้ำผึ้งจึงคิดว่ายังไงก็น่าจะมาจากอาหารปิ้งย่างที่กินเข้าไป จึงรีบติดต่อเพจเฟซบุ๊กของทางร้าน เพื่อถามหาความรับผิดชอบ ซึ่งทางร้านแสดงออกโดยมีการเสนอให้เป็น Gift Voucher ชดเชยเป็นจำนวน 2,000 บาท โดยต้องไปรับประทานอาหารที่ร้านเท่านั้น แต่เธอไม่อยากไปกินร้านดังกล่าวแล้ว (ไม่ไหวนะ)  เพราะหวาดระแวงและเข็ดจากอาหารร้านดังกล่าว จึงปฏิเสธไปโดยทางร้านก็ได้มีการเสนอต่อว่าทางร้านสามารถรับผิดชอบได้แค่ 300 บาทเท่านั้น ทางคุณน้ำผึ้งจึงได้ติดต่อมาที่ทางมูลนิธิฯ เพื่อให้ช่วยเหลือกรณีดังกล่าว โดยผู้ร้องต้องการเรียกค่ารักษาพยาบาลจากทางร้าน แนวทางการแก้ไขปัญหา เบื้องต้นทางมูลนิธิฯ  ได้ให้คำแนะนำกับผู้ร้อง ดังนี้        1. ให้ผู้ร้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ ลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน เพื่อยืนยันว่าผู้ร้องไม่ได้กลั่นแกล้งร้านค้าแต่อย่างใด        2. รวบรวมค่าเสียหายทั้งหมด และทำจดหมายส่งถึงทางร้านอาหารเพื่อให้รับผิดชอบเยียวยาค่าเสียหายโดยจดหมายให้ส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับเท่านั้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานต่อไป พร้อมสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค        3. ในกรณีส่งจดหมายไปแล้วเลยกำหนดที่ระบุ ทางมูลนิธิฯ ยินดีจะทำการไกล่เกลี่ยให้ระหว่างผู้ร้องกับคู่กรณี        4. หากไกล่เกลี่ยแล้วยังไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค โดยไม่เสียเงินค่าธรรมเนียมขึ้นศาลแต่อย่างใด         ทั้งนี้ จากการติดตามของเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ  ทางผู้ร้องแจ้งว่า หลังจากส่งจดหมายขอให้ชดเชยค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดจำนวน 770 บาท ทางบริษัทได้ติดต่อผู้ร้องและแจ้งว่าจะนำเข้าปรึกษากับผู้บริหารก่อน  ซึ่งต่อมาทางบริษัทได้ตกลงที่จะให้เงินค่าชดเชยเป็นค่ารักษาพยาบาลจำนวนเต็มเป็นเงิน 770 บาท  เป็นอันว่าจบไปด้วยดีทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากทางผู้ร้องเองก็พอใจที่จะรับค่าชดเชยรักษาพยาบาลเพียงเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ‘เนอสเซอรีเถื่อน !! โกงเงินอย่าวแยบยล’

        คุณมิน เป็นคุณแม่ที่ต้องวุ่นทำงานหารายได้หลักเลี้ยงดูครอบครัวเมื่อมีลูกเล็ก จึงมองหาพี่เลี้ยงเด็กเข้ามาช่วยดูแลลูก แต่คุณมินไม่รู้จักใครจึงหาข้อมูลจาก กูเกิ้ล  เพราะหวังว่าจะเจอเนิร์สซิ่งโฮมที่ดีไว้วางใจได้ แล้วคุณมินก็เปิดเว็บไซต์เจอ  “ เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” (ชื่อสมมุติ) ที่อวดอ้างว่า รับจัด-ส่ง พี่เลี้ยงดูแลเด็กทั่วประเทศและมีรีวิวจากผู้ที่เคยใช้บริการเข้ามาชื่นชมบนเว็บไซต์มากมาย         “ เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” แจ้งคุณมินว่ามีค่าใช้จ่ายใช้บริการคือ ค่าเงินเดือนพี่เลี้ยง 16,000 บาท ค่ามัดจำล่วงหน้า 13,000 บาท โดยเป็นค่าประกันจ้างแรงงาน  1 หมื่นบาท และค่าบริการจัดส่งพี่เลี้ยง 3,000  บาท หาก “ เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” ไม่ส่งพี่เลี้ยงมาตามสัญญาจะคืนมัดจำให้ลูกค้าหรือหากส่งแล้วลูกค้าไม่เอาพี่เลี้ยง หรือไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้พี่เลี้ยง เสื้อน้อยจะยึดเงินมัดจำไว้เช่นกัน คุณมินตกลงจ่ายเงินและทำสัญญาว่าจ้างบริการดูแลพี่เลี้ยงเด็ก และเมื่อถึงวันที่ 12 ก.พ. ‘นิ่มนวล’ พี่เลี้ยงชาวลาว วัย 36 ก็มาที่บ้านตามนัด         พี่เลี้ยงทำงานเลี้ยงดูลูกของคุณมินอย่างดี แต่...ทำได้ไม่ถึง 3 วัน ‘นิ่มนวล’ ก็มาขอลาหยุดโดยอ้างว่าขอไปต่อใบอนุญาตทำงานต่างด้าว คุณมินเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญจึงให้ลา แต่เมื่อกลับมาทำงานอีกครั้งได้ 4 วัน นิ่มนวลก็บอกว่า จะไม่ทำงานต่อแล้วและขนของออกจากบ้านไปทันที ในวันที่ 23 ก.พ. 66         คุณมิน จึงติดต่อ “เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” เพื่อให้ส่งพี่เลี้ยงคนใหม่มาแทนแต่พยายามติดต่อเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่ของ “เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม”ก็แค่รับปากว่าจะส่งพี่เลี้ยงคนใหม่มาให้แต่ก็ไม่ส่งมาให้เสียที คุณมินพยายามติดต่อหลายครั้ง และเริ่มติดต่อยากขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่อ้างว่าป่วยเข้าโรงพยาบาลบ้าง อ้างเหตุอื่นๆ อีกหลายอย่าง สุดท้ายคุณมินก็ไม่ได้พี่เลี้ยงคนใหม่ และเจ้าหน้าที่ยังเบี้ยวนัดหลังจากรับปากว่าจะเข้ามาตกลงที่บ้านของคุณมิน จนวันที่ 5 มี.ค. คุณมินก็ติดต่อไม่ได้ทั้งเบอร์ ทั้งไลน์ ของ “เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม”        ด้วยมี สัญญาว่าจ้างบริการดูแลพี่เลี้ยงเด็กกันอยู่ คุณมินจึงเดินทางจาก กรุงเทพฯ ไปที่ “เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” ตามที่อยู่บนเว็บไซต์แต่พอไปถึงกลับโป๊ะแตก เพราะที่อยู่ดังกล่าว เป็นเพียงร้านซ่อมจักรยานยนต์ โดยที่เจ้าของร้านซ่อมจักรยานยนต์ไม่รู้จัก “เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” และไม่รู้ที่มา ที่ไปของหมายศาลมากมายเลยที่ถูกส่งมาที่ร้านเลย         วันที่ 15 มี.ค. คุณมินจึงเดินทางมาขอความช่วยเหลือกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะไปแจ้งความแล้วและตำรวจไม่รับแจ้งความเพราะมองว่าเป็นคดีแพ่ง และคุณมินพยายามหลายต่อหลายครั้งเพื่อกลับไปค้นหา“เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” อีกครั้ง จนเจอตัวเจ้าของ ซึ่งเจ้าของไม่ได้หนีดังนั้นคุณมินจึงพาตัวไปหาตำรวจเพื่อขอให้คืนเงินมัดจำ 1 หมื่นบาท เจ้าของกิจการขอผัดผ่อนจ่ายก่อน 3,000 บาทและสัญญาว่าจะคืนเงินมัดจำส่วนที่เหลือให้ในวันถัดไป แต่...กลับหายตัวไปเช่นเดิม ตอนนี้คุณมินจึงฟ้องเป็นคดีอาญาแล้ว เพราะมีเอกสารสัญญามีอยู่ครบทุกประการ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ความเสียหายกรณีนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า เกิดจากมิจฉาชีพใช้ช่องโหว่ทางกฏหมาย โดยเลี่ยงคดีอาญาฐานฉ้อโกง ด้วยการรับเงินมัดจำ แต่ส่งคน ไปก่อนเพียง  2-3 วัน เพื่อจะใช้เป็นเหตุอ้างว่า บริษัทผิดไม่ได้ เพราะผู้รับจ้างไม่รับผิดชอบการทำงานไม่เกี่ยวกับบริษัท เหตุการณ์เช่นนี้จะทำเป็นขบวนการ เวียนคนไปรับจ้างแต่ละบ้าน แค่ 2-3 วัน หลอกเอาเงินค่ามัดจำบ้านละ 1.3 หมื่นบาท บางบ้านไม่อยากเสียเวลาฟ้องร้องขบวนการนี้ก็จะได้เงินไปฟรีๆ        1.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีข้อแนะนำ สำหรับผู้ที่ต้องการ ว่าจ้างเนิร์สซิ่งโฮม ควรตรวจสอบไปยัง กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่ดูแลเรื่องนี้ เพื่อศึกษาข้อมูลระยะเวลาเปิดดำเนินการ ความไว้ใจของผู้ใช้บริการ แต่ปัจจุบันการยื่นจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ ทำได้ง่ายมาก จึงเป็นช่องโหว่ให้กับมิจฉาชีพ ใช้เป็นเกราะทำธุรกิจหลอกลวง การตรวจสอบเท่านี้จึงไม่พอ ควรตรวจสอบ ไปที่ กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วย        2.ความเสียหายลักษณะนี้เข้าข่ายคดีอาญา ฐานฉ้อโกง ดังนั้น ผู้เสียหายหากจะเอาผิดให้ถึงที่สุด ต้องจ้างทนายความเพื่อดำเนินการส่งฟ้องชั้นศาล แต่หากเคสนี้เป็นคดีแพ่ง ตามที่ตำรวจอ้างถึงผู้เสียหายต้องฟ้องไปที่ “ ศาลแผนกคดีผู้บริโภค “ ที่พร้อมให้คำปรึกษาด้านคดีความ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ท่อน้ำในหมู่บ้านจัดสรรแตก หลังเข้าอยู่เพียง 2 ปี

        หลายปัญหาในหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้น ภายหลังลูกบ้านเข้าไปอยู่อาศัย เช่น เรื่องราวของคุณดิว ที่ซื้อบ้านในหมู่บ้านจัดสรรที่ประกาศว่ารับประกันโครงสร้างถึง 5 ปี แต่เมื่อเข้าอยู่เพียง 2 ปี ปัญหาก็เริ่มเกิด เมื่อในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เกิดเหตุเกิดท่อน้ำที่โครงการฯ ได้ออกแบบไว้ใต้บ้านแตกแบบที่คุณดิวไม่อาจรู้ตัวได้เลย เพราะน้ำในบ้านยังใช้งานได้ตามปกติ และไม่มีน้ำไหลเอ่อ รบกวนเพื่อนบ้านเลยสักนิด            คุณดิวมารู้ตัวต่อเมื่อสิ้นเดือนถูกเรียกเก็บค่าน้ำสูงมาก 18,600 กว่าบาท คุณดิวจึงรู้ได้ว่าต้องมีความผิดปกติเกิดขึ้นแน่ๆ  จึงไปติดต่อที่สำนักงานการประปาเพื่อให้ตรวจสอบและพบว่ามิเตอร์น้ำไม่ได้เสียแต่เป็นปัญหาที่ท่อน้ำใต้บ้าน   คุณดิวจึงไปกลับมาติดต่อที่นิติบุคคลของหมู่บ้านแต่แล้วนิติบุคคลกลับไม่รับเรื่องรับผิดชอบเรื่องใดๆ คุณดิวจึงเข้าไปเขียนคำร้องที่สำนักงานใหญ่ของโครงการหมู่บ้านจัดสรร เพื่อให้รับผิดชอบทั้งค่าเดินลอยทอน้ำใหม่ และค่าน้ำที่ถูกเรียกเก็บ         การติดต่อไปที่สำนักงานใหญ่ คุณดิวคาดว่าจะได้รับความช่วยเหลือ แต่กลับได้รับแต่ความเงียบเฉย คุณดิวร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิฯ จึงออกจดหมายไปถึงบริษัทที่สำนักงานใหญ่ หลังจากนั้นคุณดิวจึงเริ่มได้รับการติดต่อจาก สำนักงานใหญ่ว่าจะรับผิดชอบค่าน้ำที่ถูกเรียกเก็บจำนวน 50 % ซึ่งคุณดิวไม่รับข้อเสนอเพราะยังน้อยกว่าค่าน้ำที่เขาจ่ายจากเหตุที่เสียหายอยู่มาก อีกทั้งตลอดหลายเดือนที่ติดตามทวงถามความรับผิดชอบ เขาได้หยุดงานเพื่อดำเนินเรื่องต่างๆ ยาวนานเป็นความเสียหายหรือภาระเพิ่มเติมอีกด้วย    แนวทางการแก้ไขปัญหา                 ·     คุณดิวฝากบอกว่า หากเกิดปัญหาขึ้นแล้วและพยายามร้องขอความรับผิดชอบและถูกปฏิเสธหมดทุกช่องทางก็อย่าหมดความหวัง ให้พยายามหาข้อมูลต่อไปว่ามีหน่วยงานใดที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้บ้าง  กรณีการร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คุณดิวได้ร้องเรียนผ่านมาทางเฟสบุ๊คเพจ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ตอบกลับรวดเร็ว คุณดิวจึงกลับมามีความหวัง                ·     เมื่อเกิดปัญหาแล้ว รวบรวมเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ให้มากที่สุด อย่างรัดกุม กรณีของคุณดิวได้เก็บบิลค่าน้ำในเดือนก่อนๆ เอกสารที่ได้เข้าไปเขียนคำร้องต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน รูปถ่ายจุดท่อน้ำแตกไว้อย่างครบถ้วน          ในช่วงต้นเดือนเมษายน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างคุณดิวและบริษัทเจ้าของโครงการฯ และมีข้อสรุปให้ บริษัทฯ รับผิดชอบค่าเดินลอยท่อน้ำใหม่ และค่าน้ำ จำนวน 70% บริษัทจ่ายเงิน 13,000 บาท คืนให้คุณดิวเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 พ่อเลี้ยงเดี่ยว ไม่ได้จดรับรองบุตร อาจไม่ได้เงินค่าสินไหม

        คุณพ่อหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จะเป็นสิทธิ์ของแม่ตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว ส่วนพ่อต้อง “จดทะเบียนรับรองบุตร” ถึงจะมีสิทธิ์ในตัวลูก ซึ่งคุณชัยก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่เลิกกับเมียนานแล้ว และเลี้ยงลูกเองมาโดยไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตรตั้งแต่แรก ซึ่งเขาไม่คาดคิดว่าเรื่องนี้จะทำให้มีปัญหาทางข้อกฎหมายต่างๆ ที่ยุ่งยากตามมาในภายหลัง         เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อลูกชายวัย 14 ปีของเขาประสบอุบัติเหตุ จากการนั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ไปกับเพื่อนแล้วรถเกิดเสียหลักวิ่งแหกโค้งกระแทกพื้นถนน ลูกชายเขาถูกนำส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาล หมอเอกซ์เรย์ พบกะโหลกแตก มีเลือดคั่งในสมอง ต้องผ่าตัดด่วน รักษาตัวได้เพียง 5 วัน จึงเสียชีวิต         ขณะที่หัวอกคนเป็นพ่อที่ต้องสูญเสียลูกไปกะทันหันนั้นกำลังเศร้า เขากลับต้องมาเครียดซ้ำอีก เมื่อไปยื่นเรียกค่าสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งระบุไว้ว่า ถ้าเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้ 500,000 บาท เพื่อหวังนำมาเป็นค่าปลงศพลูกชาย แต่กลับพบว่าตนไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินส่วนนี้ ซึ่งคนที่จะมีสิทธิ์นี้ได้ก็คือแม่ของลูก โดยทางตำรวจได้ออกหมายเรียกตัวแม่ของลูกไปแล้ว แต่ก็ยังติดต่อไม่ได้ คุณชัยจึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เขาควรทำอย่างไรจึงจะมีสิทธิ์รับค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้แนวทางการแก้ไขปัญหา        1. เมื่อผู้ร้อง(พ่อ)มีบุตรแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับภรรยาและไม่ได้จดรับรองบุตรที่เกิดมา ผู้ร้องจึงเป็นเหมือนบุคคลภายนอก ไม่เกี่ยวข้องกับบุตร ไม่สามารถรับค่าสินไหมตาม พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถ จำนวน  500,000 บาทได้ แต่แม่ของลูกยังมีสิทธิ์ได้รับเงินตามกฎหมาย จึงตามแม่ให้มารับเงินดังกล่าวได้         2. หากติดต่อแม่ของลูกไม่ได้ สิทธิ์นี้ก็ต้องตกกับทายาทโดยธรรมในลำดับถัดไป คือผู้ที่มีสายสัมพันธ์ทางสายโลหิต ได้แก่ 2.1 ผู้สืบสันดาน 2.2 บิดามารดา 2.3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 2.4 พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน 2.5 ปู่ย่าตายาย 2.6 ลุงป้าน้าอา ถ้ายังมีอยู่ก็เรียกมารับค่าสินไหมตรงนี้ได้         3. แต่ถ้าไม่มี ผู้ร้องอาจจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอรับรองบุตรและให้ศาลตัดสินว่าผู้ร้องเป็นบิดาของบุตร ซึ่งผู้ร้องจะต้องหาเหตุผลรวมทั้งพยานหลักฐานเข้ามาประกอบให้ศาลเห็นว่า ผู้ร้องเป็นบิดาที่แท้จริง เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ผู้ร้องจึงจะมีสิทธิ์ได้รับค่าสินไหมตาม พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถ          ในกรณีนี้ หลังจากได้รับคำแนะนำไป คุณชัยได้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และศาลมีคำพิพากษาว่า “ให้พ่อเป็นผู้ปกครองเด็กอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” แล้ว เขากำลังเร่งขอคัดคำพิพากษาเพื่อนำไปยื่นต่อ “บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด” ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษา เพื่อขอรับเงินค่าสินไหมในส่วนที่ได้ครึ่งหนึ่งคือ 250,000 บาท ส่วนแม่ของลูกยังติดต่อไม่ได้ ซึ่งหากเจอตัวแล้วแม่ทำหนังสือสละสิทธิ์เงินที่เหลืออีก 250,000 บาท คุณชัยก็จะได้เงินนี้ไปด้วย แต่ถ้ายังหาตัวแม่ไม่เจอ เงินส่วนนี้ก็จะเข้ากองทุนผู้ประสบภัยต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 “ดูดไขมัน” บทเรียนที่ต้องการส่งต่อ

        ข่าวประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อจากคลินิกเสริมความงามยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางรายทำให้เสียรูปโฉมไปตลอด ไม่สามารถแก้ไข กลับคืนดังเดิมได้ กรณีของคุณพงษ์พัฒน์  ลอมคุณารักษ์ ที่ได้เข้าไปรับการฉีด Fat Away เพื่อสลายไขมันบริเวณหน้าท้องส่วนล่างที่คลินิกชื่อดังในจังหวัดพิษณุโลก ในช่วงปี 2564 นอกจากไขมันจะไม่สลายหายไปแม้แต่น้อยแล้ว เขายังต้องรักษาตัว เจาะท้อง ล้างแผลอยู่กว่าหนึ่งเดือน อันตรายที่รุนแรงที่สุดระหว่างรักษาตัวคือเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ !ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นตอนไหน อย่างไร           ช่วงปี 64 ผมเริ่มอ้วน น้ำหนักขึ้นมาเยอะมากถึง 97 แล้ว ตอนนั้นไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ผมเลยหาวิธีดู ศึกษาแล้วทางคลินิกเขาก็โฆษณามาว่า เห็นผลจริง ไม่มีอันตราย ผมถามหมดว่ามีผลเสีย มีผลกระทบอะไร คลินิกก็แจ้งว่าไม่มี เขาพูดให้เราเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เขาทำมันทำได้ ผมเลยเข้าไปรับบริการ ฉีด Fat Away เพื่อสลายไขมันบริเวณหน้าท้องส่วนล่างที่คลินิก คลินิกชื่อดังในจังหวัดพิษณุโลก           พอฉีดแล้วมีรอยเข็มเต็มหน้าท้องเลย แล้วมีรอยช้ำใหญ่ วันนั้นทางแพทย์ กับเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่ตอนแรก เขาบอกว่าจะไม่มีรอยช้ำ ไม่มีอะไรเลย พอเป็นแล้ว เขาก็บอกว่าประมาณ 2 สัปดาห์ก็จะหาย แต่ผ่านไปรอยเข็มหาย แต่รอยช้ำก็ยังไม่หาย ทางคลินิกก็โทรชวนให้ผมไปฉีดเพิ่ม ผมก็บอกว่าให้หายก่อน ตอนที่ผมไปฉีดผมไม่ได้คาดหวังว่า ฉีดไปแล้วจะเห็นผล 100 %  คือผมหวังแค่ว่า ฉีดแล้ว มันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแต่ก็ไม่คิดว่ามันจะกลับมาแย่ขนาดนี้ แล้วหลังจาก 2-3 สัปดาห์แล้ว อาการเป็นอย่างไร          ตอนแรกผม ไม่รู้ว่าเป็นอะไรมันเป็นรอยช้ำอย่างที่บอก ผมรอให้หายแต่ไม่หาย  ผมถ่ายรูปส่งให้คลินิก แล้วเข้าไปที่คลินิกเล่าว่าอาการเป็นแบบนี้  ช้ำแล้วเจ็บไม่หาย คลินิกก็นัดให้เข้าไปตรวจ แพทย์คนที่ฉีดให้ผมตรวจแล้วไม่ได้บอกว่าเป็นอะไร หรือสาเหตุเกิดจากอะไร เขาขอออกไปโทรปรึกษาอาจารย์ใหญ่ข้างนอก พอกลับเข้ามาแล้วก็ขอเจาะ ดูด เขาโปะยาชา แล้วเขาก็ขอกรีดเลยตอนนั้นเร็วมาก เขากรีดเป็นรอย เพื่อระบายหนองออกมา หลังจากนั้นแพทย์บอกว่าต้องล้างแผลที่คลินิกทุกวันเพราะเป็นหนอง ผมบอกว่าไม่สะดวก ที่จะต้องมาล้างแผลทุกวันที่คลินิก คุณหมอเลยเสนอให้ผมไปล้างแผลที่สถานพยาบาลใกล้บ้านและให้คำมั่นว่า  ค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะค่าทำแผล ค่าน้ำมันรถไปทำแผล ค่ารักษาตั้งแต่เริ่มจนหาย ค่าตรวจร่างกายต่างๆ หากกังวลว่าจะมีผลข้างเคียงใดๆ หมอและคลินิกจะออกให้ทั้งหมด และจะโทรติดตามอาการคนไข้ทุกวัน  ผมเลยไปล้างแผลที่สถานพยาบาลที่ผมสะดวก ผมถามหมอที่คลินิกว่าผมเป็นอะไร เขาก็บอกว่า ผมเป็นหนอง    แล้วที่คลินิก บอกว่าจะรับผิดชอบ เขาได้รับผิดชอบอะไรบ้าง            วันรุ่งขึ้นผมก็ไปล้างแผลปกติ เขาก็โทรมาสอบถามอาการ ผมก็ส่งเอกสารค่าบิล ค่าน้ำมันรถ จำนวน 1,300 บาท เขาก็โอนเงินมาให้ในวันนั้นเลย  แต่วันต่อมาผมก็ไปล้างแผลอีกเพราะต้องล้างทุกวัน ทนายความของคลินิกก็โทรมา บอกว่าไม่ขอรับผิดชอบแล้ว  ให้ผมรับผิดชอบตัวเอง จะไปรักษาหรือไปทำอะไร ก็ให้เราไปรักษาเองเลย เพราะเขาไม่มั่นใจว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผม เกิดจากคลินิก  แต่ที่ได้กรีดหนองให้ในครั้งแรก เป็นความช่วยเหลือเบื้องต้นที่หมอทั่วไปก็ต้องทำ         แล้วตอนแรกที่เขาบอกว่าจะรับผิดชอบ ผมให้เขาไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ เพราะเขาพูดอย่างเดียวมันเป็นคำพูด พอได้ยินว่า “ให้ไปลงประจำวัน” เขาไม่คุยด้วยเลย ถ้าตอนนั้นเขารับผิดชอบ เรื่องคงไม่มาถึงตอนนี้  ผมก็ไม่เข้าใจว่า เขาจะรับผิดชอบแต่เขาไม่ลงบันทึกประจำวันไว้ ผมไม่ต้องการอะไรมาก คือแค่ต้องการให้หาย และได้รับการดูแลที่ดีที่สุด แม้ทางคลินิกจะบอกว่าสาเหตุไม่ได้เกิดจากเขา แต่คุณพงษ์พัฒน์เชื่อมั่น         ตอนที่ผมไปรักษาตัวที่สถานพยาบาล ผมไปล้างแผลทุกวัน แล้วไปตรวจกับแพทย์เฉพาะทางทุก 2 สัปดาห์ ผมถามว่าผมเป็นอะไร หมอก็บอกว่า เรื่องนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่น่าจะมาจาก 2 สาเหตุคือ 1. เกิดจากกระบวนการ ที่เข็มอาจจะไม่สะอาด  และ 2.เกิดจากการใช้ยา  ซึ่งการแพ้ยาเกิดได้น้อยมากซึ่งถ้าแพ้ยาคือต้องแพ้ทั้งหมด ทุกเข็มที่ฉีดไปคือจะต้องมีรอยทั้งหมดเลย  ไม่น่าจะเกิดแค่รอยเดียว ผมพยายามสอบถามคนรู้จักที่ทำคลินิกด้วยกันมาเรื่อยๆ  ผมก็มั่นใจที่จะต่อสู้ ตลอดเวลาที่รักษาตัว  มีอาการเป็นอย่างไร         ช่วงที่รักษาตัว ผมไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้เลยเพราะว่าทำแผลเป็นแผลเปิด ไม่ใช่แผลเย็บ ฆ่าเชื้อ ใช้ยา และยัดเข้าไปแผล  แล้วก็ต้องรอจนกว่าเนื้อจะเติมเข้ามาเต็ม ซึ่งต้องใช้เวลา         ผมรักษาตัว ทำแผลอยู่กว่า 1 เดือน ระหว่างนี้ก็มีหนองทุกวัน ผมไปล้างแผลทุกวัน ผมใช้ชีวิตปกติไม่ได้เลยผมนอนไม่ค่อยหลับ เวลานอนเลือด หนอง ออกมาตลอดเวลา ผมเครียดมาก         นอกจากอาการทางร่างกาย จิตใจ ช่วงนั้นผมก็ขาดรายได้ด้วย ผมทำอาชีพอิสระเป็นเหมือนนายหน้า   วิ่งซื้อของส่งช่วงนั้นคือจะทำไม่ได้ เพราะว่าเดินทางไม่ได้ แล้วเริ่มดำเนินการเพื่อต่อสู้อย่างไร         หลังจากแผลหายแล้ว  ผมก็ไปแจ้งความเลย แต่พอแจ้งความแล้ว ทนายความของคลินิกก็ติดต่อผมมาเลย   ทนายความของคลินิกติดต่อมาว่าอย่างไร         เขาให้ผมยุติการดำเนินการต่างๆ คือให้เราจบ  จบๆ กันไป  เหมือนว่าไม่ต้องมีอะไรเกิดขึ้น ถ้าเราไม่ยอมจบ เขาจะฟ้องกลับ พูดทำนองเรื่องนี้พิสูจน์ไม่ได้  ถ้าเราดำเนินคดีกับคลินิก เขาก็จะดำเนินการฟ้องกลับ เขาพูดว่าสิ่งที่เกิดกับผมไม่ได้เป็นความผิดของเขา แต่คุณพงษ์พัฒน์ไม่ได้หวั่นกลัว         ใช่ครับ ไม่ได้หวั่นกลัว แต่หวั่นใจว่าเกิดอะไรกับร่างกายเรา แต่มันเลยจุดที่เราจะกลัวมาแล้ว เพราะว่าตอนที่ผมรักษาตัวทรมานมากหมอที่รักษาผมยังบอกว่า เรื่องนี้ถ้าเลวร้ายที่สุดคือสามารถทำให้เสียชีวิตได้เลย  1 เดือนที่เราต้องรักษาตัวมาก่อนที่เราจะแจ้งความ ผมเลยจุดเลวร้ายมาแล้ว  แต่ผมต้องการที่จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เพราะตอนที่รักษาตัวก็ไม่ได้มาดูแล แล้วยังเอาทนายมาข่มขู่  ตอนนั้นผมก็รู้สึกว่า ไม่มีอะไรจะเสียแล้วระหว่างต่อสู้ ผมก็หาข้อมูลมาตลอด หลังจากแจ้งความแล้ว ดำเนินการต่ออย่างไร            หลังจากที่ผมแจ้งความเสร็จ  ผมก็ไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่ สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัดพิษณุโลก และยื่นขอความเป็นธรรม ตามหน่วยงานต่างๆ  ยื่นตามเพจขอความช่วยเหลือ มียื่นขอความเป็นธรรมกับรายการ สำนักข่าวช่อง 36  ร้องเรียนกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  ต่อมา สำนักงานสาธารณสุขก็เข้ามาตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วเขาก็ส่งความเห็นมาว่า  เกิดจากความบกพร่องของคลินิกเรื่องการจัดการ เขาได้ส่งใบตรวจยืนยันได้ว่าผมมาใช้บริการที่นี่จริง  ผมก็เอาใบนี้มาให้ตำรวจ ผมเข้าไปปรึกษาทางสำนักงานอัยการ เขาบอกว่า เรื่องนี้มันก็มีมูล  คือว่าให้เราแจ้งความและสามารถดำเนินคดีได้ ผมกลับมาหาตำรวจบอกว่าหลักฐานยังไม่เพียงพอให้รอก่อน หลังจากนั้นผมก็ยื่นเรื่องไปที่แพทยสภา  แพทยสภาบอกว่าต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ         ผมเดินทางเข้ากรุงเทพ ไปที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข  เพื่อไปยื่นเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบ เอาใบที่เขาแจ้งว่า บกพร่อง หลังจากนั้น เขาก็บอกว่า เขามีมูลความผิด ทำไมสาธารณสุขไม่ทำการลงโทษ  หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์มีใบแจ้งมาที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่จังหวัดพิษณุโลก ให้ดำเนินการลงโทษ แจ้งคลินิกและปรับกรรมการผู้บริหาร  และแพทย์ประมาณ 4 หมื่นกว่าบาท เข้าข่ายความผิดฐาน ผิด พรบ.  โฆษณา โอ้ อวด เกินความจริง         การยื่นเรื่องที่แพทยสภา เขาก็ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวน มีหนังสือมาให้ผมเดินทางไปที่แพทยสภาผมเล่าเหตุการณ์ว่าเป็นอย่างไรจนสุดท้ายก็มีหนังสือออกมาว่าแพทย์ที่ให้บริการผมมีความผิดจริง  ผมได้มายื่นร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วย มีเจ้าหน้าที่โทรติดตามสอบถามว่าผมเป็นอย่างไรบ้าง อยู่ต่อเนื่อง   เรียกได้ว่า คุณพงษ์พัฒน์ได้ต่อสู้ จนถึงที่สุด         ครับ เพราะระหว่างที่ยังมีเรื่องนี้กับผม เขาก็ยังเปิดขายคอร์สแบบนี้  ไม่ได้หยุด อะไรเลยซึ่งส่วนหนึ่งที่ผมออกมาร้องเรียน และยื่นเรื่องเพื่อจะเอาผิด เพราะผมต้องการเตือนให้ทุกคนรู้ด้วยว่า สิ่งที่เขาขาย มันไม่ได้มีความปลอดภัยนะ แต่ระหว่างนี้ผมก็ไม่ได้ประจาน ฝากถึงประชาชนที่อาจจะตกเป็นเหยื่อได้         ผมเข้าใจว่าทุกคนต้องการผลลัพธ์ที่แบบว่า  ลดน้ำหนัก ต้องการให้เห็นผลเร็วที่สุด แต่วิธีการแบบนี้เรา เป็นหนูทดลองยาด้วย การลดน้ำหนักที่ดีที่สุดคือการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ดีที่สุดแล้ว เราไม่ควรไปพึ่งพวกที่เป็นสารแต่งเติม หรือว่าอะไรมาช่วยเราด้านนี้  และเวลาเกิดปัญหาขึ้น คืออยากให้ตั้งสติและพยายามต่อสู้และหาข้อมูล  และเราก็ต้องยื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาทำงานด้วย  เพราะเราก็ไม่สามารถที่จะสู้คนเดียวได้ และการต่อสู้ต่างๆ  เราได้คำแนะนำของหน่วยงานด้วยว่าเราต้องทำอย่างไร  1-2- 3- 4   เพราะถ้าคนทั่วไปจะไม่รู้ได้เลยว่า การต่อสู้จะต้องทำอย่างไร แล้วการดำเนินคดีกับแพทย์เป็นเรื่องที่ยาก  เพราะมีกฎระเบียบมาควบคุมอยู่ว่า  ถ้าจะดำเนินคดีกับแพทย์ ต้องได้รับความเห็นชอบจากแพทยสภาก่อน แต่แพทยสภาก็ไม่ได้ปกป้องแพทย์เสมอไปถ้าแพทย์ผิดจริง สามารถดำเนินคดีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ผลิตภัณฑ์กันแดด 2023

        ได้เวลานำเสนอผลทดสอบเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์กันแดดประจำปีกันอีกครั้ง ระหว่างที่บ้านเราเข้าสู่ฤดูฝน (แต่แดดจ้าไม่เคยหายไป) ทางยุโรปกำลังเข้าสู่ฤดูร้อนและเป็นช่วงที่ผลิตภัณฑ์นี้กำลังเป็นที่ต้องการ เรามีผลิตภัณฑ์กันแดดทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ ในรูปแบบของครีม โลชัน และสเปรย์ ที่มีค่า SPF30 และ SPF50+ ที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศในยุโรปร่วมกันส่งเข้าทดสอบมาฝากสมาชิก ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงคัดเลือกมาเพียง 24 ผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนในลำดับต้นๆ เท่านั้น คะแนนการทดสอบแบ่งออกเป็น 4 ด้านดังนี้ร้อยละ 65       ประสิทธิภาพในการป้องกัน UVA/UVBร้อยละ 20       ความพึงพอใจของผู้ใช้ (เช่น ไม่เหนอะหนะ ไม่ทิ้งคราบ)ร้อยละ 10       ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร้อยละ 5         ฉลากเป็นมิตรต่อผู้บริโภค        ในภาพรวมเราพบว่าคะแนนประสิทธิภาพในการกันแดดและความพึงพอใจของผู้ใช้ ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต่างกันมากนัก (ทั้งหมดจัดอยู่ในระดับ 4 ดาวขึ้นไป)  แต่ก็มีผลิตภัณฑ์หลายยี่ห้อที่ต้องปรับปรุงเรื่องฉลากและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเคลมเกินจริงหรือเคลมในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้  ผลิตภัณฑ์กันแดดที่เราทดสอบไม่มีสารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (EDCs) และไม่มีพาราเบน ซึ่งถือว่าเป็นไปตามที่กล่าวอ้างบนฉลาก แต่เราก็พบว่าค่า SPF ที่แจ้งไว้นั้น มีทั้งที่เกินและขาดจากค่าที่วัดได้จริงในห้องปฏิบัติการ ที่ให้มาเกินเราไม่ว่า แต่ก็มีอย่างน้อย 6 ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF น้อยกว่าที่แจ้งไว้บนฉลากผลการทดสอบยืนยันอีกครั้งว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ราคาแพงเพื่อดูแลผิวหนังก่อนออกเผชิญแสงแดด พลิกหน้าถัดไปเพื่อหาครีม/สเปรย์กันแดดที่ถูกใจคุณได้เลย         ·     ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่พบในร้านค้าออนไลน์ และคำนวณจากหน่วยเงินในประเทศต้นทาง เช่น ยูโร ปอนด์อังกฤษ หรือแดนิชโครน เป็นต้น โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point



ฉบับที่ 268 กระแสต่างแดน

แบนดีไหม         ฮ่องกงกำลังพิจารณาห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น หลังสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) อนุมัติให้ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดฟุกุชิมะที่ผ่านการบำบัด ปริมาณ 1.3 ล้านตัน ลงสู่ทะเลได้ในช่วง 30 ปีข้างหน้า         นอกจากอาหารทะเลชนิดสด แห้ง ดอง แช่เย็น และแช่แข็ง ฮ่องกงยังจะแบนเกลือทะเล สาหร่าย และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำให้ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น (คิดเป็นร้อยละ 13 ของร้านอาหารที่จดทะเบียนในฮ่องกง) ได้รับผลกระทบ อาจมีถึง 3 ใน 10 ร้านที่ต้องเลิกกิจการ         ฮ่องกงเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นรายใหญ่ที่สุดอันดับสอง รองจากจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นไปก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว            ส่วนประเทศไทย อเมริกา แคนาดา อังกฤษ และอีก 30 กว่าประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกมาตรการห้ามหรือจำกัดการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นมานานแล้ว  ช่วยน้องกลับบ้าน         สืบเนื่องจากการร้องเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยในกัวลาลัมเปอร์ ที่ไม่สามารถกลับบ้านได้ในช่วงปิดเทอม เนื่องจากบ้านอยู่ไกลถึงรัฐซาบาห์ ซาราวัก หรือเกาะลาบวน ซึ่งต้องเดินทางโดยเครื่องบิน แต่ราคาตั๋วกลับสูงเกินเอื้อม แม้จะทำงานพิเศษ ก็ยังมีรายได้ไม่พอซื้อตั๋ว         ในที่สุดกระทรวงคมนาคมมาเลเซียตัดสินใจแจกเวาเชอร์มูลค่า 300 ริงกิต (ประมาณ 2,300 บาท) ให้กับนักศึกษาเพื่อใช้ซื้อตั๋วเครื่องบินในประเทศ รายงานระบุว่าแผนนี้สามารถช่วยเหลือนักศึกษาได้ไม่ต่ำกว่า 56,000 คน ด้วยงบประมาณ 16.8 ล้านริงกิต โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มในวันที่ 15 สิงหาคมนี้         สภานักศึกษาฯ มองว่ารัฐมาถูกทางแล้ว แต่ยังต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มด้วย เช่น นักศึกษาบางคนต้องนั่งเครื่องบินมากกว่าหนึ่งต่อ รวมถึงรัฐควรจัดให้มีความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน เช่น การกลับบ้านด่วนเพื่อไปร่วมงานศพของคนในครอบครัว         เมื่อต้นปีรัฐบาลประกาศว่าจะเจรจากับผู้ประกอบการสายการบินให้จัดตั๋วราคาพิเศษสำหรับนักศึกษา แต่แผนดังกล่าวไม่มีความคืบหน้า    ไม่มาเลยดีกว่า         การรถไฟสวิตเซอร์แลนด์ (SBB) ภูมิใจในความตรงต่อเวลาในการให้บริการมาโดยตลอด แต่เมื่อเปิดบริการ “ขบวนรถไฟความเร็วสูงข้ามประเทศ” จากเยอรมนีเข้ามายังเมืองหลักในประเทศ เช่น คูร์ ซูริค หรือ อินเทอร์ลาเคน สถิติความล่าช้าของเขากลับเพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง         เพราะขบวนรถจากเยอรมนีมาสายบ่อย ตารางเวลาเดินรถที่ออกแบบไว้เพื่อการเชื่อมต่อจึงไม่สามารถใช้การได้ สถิติปีที่แล้วระบุว่าร้อยละ 80 ของขบวนรถไฟที่มาช้าคือขบวนที่มีต้นทางในเยอรมนี         เพื่อไม่ให้เสียชื่อไปมากกว่านี้ สำนักงานขนส่งของสวิตเซอร์แลนด์ จึงเสนอว่าเมื่อสัญญาร่วมให้บริการหมดลงในปี 2035 เขาจะให้รถไฟจากเยอรมนีส่งผู้โดยสารเป็นป้ายสุดท้ายที่สถานีเมืองบาเซิลตรงชายแดนเท่านั้น ผู้โดยสารที่ต้องการเข้าเมืองจะต้องเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟขบวนท้องถิ่น         หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย การตัดลดเส้นทางไม่น่าจะเอื้อต่อแผนลดโลกร้อน นักท่องเที่ยวคงไม่อยากหอบกระเป๋าขึ้นลงหลายรอบ แม้แต่รัฐบาลกลางก็ไม่เห็นด้วยและเกรงว่าเรื่องนี้อาจยังแก้ไม่ถูกจุด   กติกานักสู้         หน่วยงานป้องกันการผูกขาดทางการค้าของอิตาลีเริ่มสอบสวน CoopCulture ผู้ให้บริการขายตั๋วเข้าชม “โคลอสเซียม” หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวว่าการซื้อตั๋วเพื่อเข้าชมสถานที่แห่งนี้ด้วยตนเอง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะบริษัททัวร์ใหญ่ๆ กว้านซื้อไปหมดแล้ว         จากการตรวจสอบพบว่า จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม มีตั๋วเหลืออยู่เพียง 3 ใบในเว็บขายตั๋วอย่างเป็นทางการของโคลอสเซียม (ราคาตั๋วปกติอยู่ที่ 18 ยูโร หรือประมาณ 700 บาท)        แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน เว็บของบริษัททัวร์หลายเจ้ากลับมี “ทัวร์โคลอสเซียมพร้อมตั๋วและไกด์” ให้เลือกมากมายในราคาตั้งแต่ 37.50 ถึง 74 ยูโร (1,430 ถึง 2,820 บาท)        CoopCulture ยืนยันว่าบริษัทมีระบบป้องกันการกว้านซื้อ และยินดีให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบ ในขณะที่องค์กรผู้บริโภค Codacons ก็ออกมาเรียกร้องให้มีกฎหมายห้ามการซื้อตั๋วไปขายต่อ รวมถึงเพิ่มบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนด้วย  ผิดซ้ำต้องแฉ         ตั้งแต่ต้นปี 2566 สำนักอนามัยเทศบาลเมืองไทเป ได้สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ขนมหวานแช่แข็งและเครื่องดื่มเย็นทั้งหมด 299 รายการ เพื่อหาแบคทีเรียที่เป็นอันตราย (เช่น ซัลโมเนลลา อีโคไล) และพบว่ามี 20 ผลิตภัณฑ์หรือร้อยละ 6.7 ที่ไม่ผ่านเกณฑ์        ตามระเบียบของไทเป ผู้ประกอบการที่มีอาหารหรือเครื่องดื่ม “ไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัย จะได้รับแจ้งจากสำนักฯ พร้อมกับ “เดดไลน์” ในการปรับปรุง แต่การตรวจครั้งล่าสุดยังพบว่ามากกว่าร้อยละ 50 ยังคงสอบตกเหมือนเดิม        พ.ร.บ.ความปลอดภัยและอนามัยด้านอาหารของไต้หวันกำหนดโทษปรับสำหรับร้านค้าที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องปริมาณจุลินทรีย์ไว้ที่ระหว่าง 30,000 ถึง 3,000,000 เหรียญ         สำนักอนามัยฯ ยังเตือนภัยผู้บริโภคด้วยการเปิดเผยชื่อเมนู ชื่อร้าน รวมถึงสาขาที่ตั้ง พร้อมรูปถ่ายในการแถลงข่าวด้วย หากสนใจกดเข้าไปดูได้ที่ลิงก์นี้ https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4947489

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ นวัตกรรมแห่งอนาคตที่ต้องเตรียมรับมือ

        กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวในเวทีงาน Innovation Keeping The World ที่จัดไปเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ว่า ประเทศไทยมีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า BEV ซึ่งรวมทั้ง BEV Plug-In Hybrid และรถไฮบริด BEV ในปี 2565 มากกว่า 20,816 คัน คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 400 เมื่อเทียบกับปี 2564         ขณะที่ https://marketeeronline.co/archives/311702  ระบุข้อมูลจากกรุงศรี ออโต้ (Krungsri Auto) ว่า สัดส่วนสินเชื่อใหม่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อยู่ที่ 4,624 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 217 ซึ่งเกินเป้าไปแล้วจากยอดสินเชื่อใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล มกราคม-พฤษภาคม 2566 ที่ 1,440 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23 ของยอดสินเชื่อใหม่ EV ทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน         สองย่อหน้าข้างบนเหมือนกำลังส่งสัญญาว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนและพฤติกรรมผู้บริโภคก็เช่นกัน เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นทุกขณะ ทั้งยังเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับสิ่งแวดล้อมในบางมิติ แต่ก็สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมในบางมุมซึ่งต้องมานั่งคุยกันว่าจะแก้ไขอย่างไร         ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะไปทำความรู้จักรถยนต์ไฟฟ้าหรือ Electric Vehicle (EV) ให้มากขึ้นก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพราะสิ่งที่ต้องเตรียมไม่ใช่แค่เงินในกระเป๋า แต่กินความถึงวิธีคิด (mindset) ใหม่ๆ กับอีกหลายเรื่องที่ต้องแลกเปลี่ยนถกเถียงเพื่อวางกติกากับเทคโนโลยีที่มาแน่ๆ ชิ้นนี้ รู้จักรถยนต์ไฟฟ้า รู้จักตัวเอง         สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ (สวพ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบ่งได้ 4 ประเภทคือ ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด หรือ (HEV, Hybrid electric vehicle) เป็นลูกผสมที่ใช้น้ำมันทั่วไปและมอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมแบตเตอรี่        ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (PHEV, Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ซึ่งใช่ทั้งน้ำมันและไฟฟ้าเช่นกัน แต่เพิ่มระบบเสียบปลั๊กชาร์จไฟ (plug-in)         ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV, Battery Electric Vehicle) เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าและใช้พลังงานแบตเตอรี่ไฟฟ้าจากการเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าอย่างเดียว         และสุดท้าย ยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV, Fuel Cell Electric Vehicle) เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) โดยเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากภายนอก สามารถจุพลังงานจำเพาะได้สูงกว่าแบตเตอรี่ในปัจจุบัน แต่สถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนยังมีน้อยมาก         นอกจากการรู้ว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีแบบไหนบ้างแล้ว ก่อนจะซื้อผู้บริโภคควรต้องศึกษาหาข้อมูลให้มากและพิจารณาองค์ประกอบหลายด้าน ตั้งแต่จุดประสงค์ในการใช้งาน ถ้าทำอาชีพเซลล์ต้องขับระยะทางไกลๆ ติดต่อกัน การวางแผนชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้มีพลังงานเพียงพอตลอดก็อาจยุ่งยากกว่าคนที่ใช้แค่ขับไปทำงานทั่วไป         เมื่อเป็นรถยนต์ไฟฟ้าผู้บริโภคจำเป็นต้องเข้าใจความจุของแบตเตอรี่กับระยะทางที่วิ่งได้ไกลที่สุด ระยะเวลาในการชาร์จเพราะการชาร์จไฟกระแสสลับกับกระแสตรงกินเวลาต่างกัน รวมถึงพิจารณาหัวจ่ายไฟฟ้าที่ใช้กับรถ เพราะรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นออกแบบที่ชาร์จแบตเฉพาะของตนทำให้หาหัวชาร์จยากจึงอาจทำให้ไม่สะดวก ขณะเดียวกันก็ต้องสำรวจด้วยว่าในเมืองที่ตนพักอาศัยมีแหล่งชาร์จจุดใดบ้าง         ส่วนการบริการหลังการขายเป็นสิ่งที่ผู้จำหน่ายต้องให้ความสำคัญอยู่แล้ว ผู้บริโภคมีสิทธิถามเพื่อรับสิทธิประโยชน์ส่วนนี้     ศึกษาและวางแผนก่อนซื้อ         ปารัช ทวีศักดิ์ ยอมไม่มีรถขับอยู่หลายปีเพื่อรอซื้อรถไฟฟ้า สาเหตุเพราะน้ำมันมีราคาแพงและเธอเชื่อว่ามันจะเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาแทนที่รถยนต์น้ำมัน เธอเล่าว่า         “ใช้เวลานานเหมือนกัน ยอมที่จะไม่ใช่รถเลย น่าจะประมาณหกเจ็ดปีได้ แต่หมายถึงว่าเราก็ใช้รถกับแฟน เราให้เขาใช้โดยที่ไม่ซื้อคันใหม่ เก็บเงินไว้ก่อนเพื่อรอรถไฟฟ้าอย่างเดียวเพราะเรารู้ว่ารถไฟฟ้าเข้ามาแล้ว แล้วทั่วโลกให้การยอมรับ ระหว่างนี้ก็ศึกษาเรื่องระบบไฟว่าต้องเติมยังไง ก็ค่อยๆ ศึกษา สอบถามจากพนักงานขาย เสิร์ชดูบ้าง เข้าไปอยู่ตามกลุ่มเฟสบุ๊ค เป็นกลุ่มรถของยี่ห้อนี้ ยี่ห้ออื่นด้วย ค่อยๆ หาข้อมูลไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะรับรถ”         รถยนต์ไฟฟ้าที่ปารัชซื้อมาในเวลานั้นไม่ได้อยู่ในช่วงที่มีการสนับสนุนจากรัฐบาล เธอจึงซื้อมาในราคาล้านต้นๆ แต่เมื่อนำมาคำนวณแล้วเธอคิดว่าคุ้มเมื่อเทียบกับการจ่ายค่าน้ำมัน เธอยกตัวอย่างว่าถ้าวิ่ง 2,000 กิโลเมตรต่อเดือนเธอจะจ่ายค่าไฟแค่ 1,000 บาท แต่ถ้าเป็นรถยนต์น้ำมันตัวเลขจะขยับขึ้นไปถึง 6,000 บาท         สำหรับคนที่ลังเลกับการซื้อรถไฟฟ้า หนึ่งในความลังเลใหญ่คือจุดชาร์จ เพราะต่อให้เป็นการชาร์จที่บ้าน ปารัชก็ยังรู้สึกยุ่งยากเนื่องจากต้องไปทำเรื่องกับการไฟฟ้าเพื่อนำมิเตอร์มาติด         “มิเตอร์มีสองแบบด้วย แบบทีโอยูกับแบบธรรมดา ธรรมดาก็ราคาปกติ จ่ายเท่าที่เราจ่ายค่าไฟ แต่ถ้าเป็นทีโอยู หลังสี่ทุ่มถึงเก้าโมงเช้าเรทราคาจะลดไปครึ่งหนึ่ง แต่จะเสียค่าหม้อแปลงเพิ่ม นี่เลือกแบบทีโอยูแล้วติดเฉพาะรถไฟฟ้าอย่างเดียว แยกหม้อกับของที่บ้านเลย”         ปารัชยอมรับว่าหลังจากหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้วก็ไม่อยากกลับไปใช้รถยนต์น้ำมันอีกเลย ส่วนหนึ่งคงเพราะเธอสามารถปรับตัวกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้แล้ว ใช่ การเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การศึกษาข้อมูล แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการปรับวิธีคิด (mindset) ปรับ mindset         การเติมพลังงานให้แก่รถยนต์ไฟฟ้าแตกต่างจากรถยนต์น้ำมัน ผู้บริโภคจำเป็นต้องปรับพฤติกรรมและวางแผนพลังงานที่จะใช้กับรถของตนให้เพียงพอ ชัยภวิศร์ ธวัชชัยนันท์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสินค้าและบริการ สภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่าการชาร์จที่บ้านถือว่าคุ้มค่าที่สุดเพราะสามารถเลือกได้ว่าจะชาร์จเวลาใด ช่วงไหน ควรติดตั้งมิเตอร์แบบใด         “เราควรชาร์จไฟรถเวลาไหนอย่างไร ชาร์จให้เต็มพอดีๆ แล้วก็ตัดหรือถนอมแบตเตอร์รี่ มันก็ต้องคิดว่าถ้าจะถนอมให้ใช้ได้นานก็ควรหลีกเลี่ยงการชาร์จกระแสตรงถ้าไม่จำเป็น บริหารการชาร์จกระแสสลับที่บ้าน เป็นวิธีคิดที่อาจจะต้องเรียนรู้ซึ่งผมคิดว่าไม่ยาก เพียงแต่จะซับซ้อนกว่าการเติมน้ำมัน”         แม้ปัจจุบันจะมีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นและจะมากขึ้นอีก แต่ก็ยังมีจำกัดกว่าปั๊มน้ำมัน ผู้ขับขี่จำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงให้รัดกุม ต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าถ้าแบตใกล้หมดจะเติมจุดไหน อย่างไร เพราะต่อให้มีจุดชาร์จก็อาจใช้ไม่ได้ เนื่องจากกำลังซ่อมแซม มีคนจองไว้ หรือหัวชาร์จใช้ไม่ได้กับรถที่ขับ         ประเด็นนี้สอดคล้องกับปารัช เธอเล่าว่าเราจะต้องหาจุดเติมไฟใกล้บ้าน ต้องคำนวณว่ารถจะต้องวิ่งได้กี่วัน เพราะตัวรถแต่ละรุ่นไม่เท่ากัน รถของเธอวิ่งได้ประมาณ 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง แต่ก็มีคำแนะนำว่าถ้าชาร์จแบบเร็วไม่ชาร์จเต็มถึง 500 กิโลเมตร และถ้าต้องเดินทางออกจากบ้านและชาร์จไฟระหว่างทางก็ต้องรอทำให้ต้องคำนวณเรื่องเวลาด้วย เธอสรุปว่า         “มีรถยนต์ไฟฟ้าต้องมีการวางแผนค่อนข้างเยอะ ไม่เหมือนรถน้ำมันที่วิ่งเข้าปั๊มเติมปุ๊บปั๊บเสร็จ”         การขับด้วยความเร็วเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่ต้องปรับเปลี่ยน คนขับรถยนต์น้ำมันจะรู้รอบเครื่องเมื่อเร่งความเร็วซึ่งเป็นการเตือนผู้ขับให้รู้ตัวว่าขับเร็วเกินไปหรือไม่และชะลอความเร็วลง ในทางกลับกัน ความเงียบของรถยนต์ไฟฟ้าทำให้ไม่มีเสียงเตือนจากเครื่องยนต์ ผู้ขับอาจไม่รู้ตัวจึงเสี่ยงทั้งต่ออุบัติเหตุและการทำผิดกฎจราจร        ความเงียบยังก่อความไม่ราบรื่นอีกประการหนึ่ง หากเป็นการขับในชุมชน คนที่สัญจรไปมา สัตว์จร หรือสัตว์เลี้ยงอาจไม่รู้ตัว แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นจะสร้างเสียงเทียมขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะดังเพียงพอต่อการได้ยิน จึงเป็นหน้าที่ของผู้ขับที่ต้องคอยระมัดระวังในส่วนนี้ ความยุ่งยากของผู้บริโภคในเวลานี้         นอกจากความคิดและพฤติกรรมที่ต้องปรับยังมีประเด็นที่แผ่กว้างกว่าเรื่องเชิงปัจเจก ตัวอย่างเช่นเบี้ยประกัน ชัยภวิศร์ กล่าวว่า         “ถ้ารถมูลค่าเท่าๆ กัน ในความเข้าใจผม เบี้ยประกันรถไฟฟ้าจะสูงกว่ารถน้ำมันระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงขนาดสองสามเท่า ประกันภัยในช่วงแรกที่ปีล่าสุดจะแถมประกันภัยประเภท 1 มาให้ ส่วนปีที่ 2 เราจ่ายเองบางทีค่าประกันสูงทำให้ผู้บริโภคตกใจได้ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องรณรงค์คุยกันว่าค่าประกันภัยจำเป็นต้องแพงขนาดนี้หรือไม่         “หรือถ้ามีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยรถที่เรียกว่า active safety ทำยังไงไม่ให้รถเกิดอุบัติเหตุเสียก่อน ไม่ว่าจะเบรกเองอัตโนมัติ มีระบบเลี้ยวหักหลบอัตโนมัติ อะไรก็แล้วแต่ ซึ่งช่วยลดอุบัติเหตุ จะช่วยลดเบี้ยประกันได้หรือไม่ เรื่องนี้ต้องไปทำงานเชิงนโยบายกัน แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่ทำให้เบี้ยประกันลดลงมา เพราะฉะนั้นผู้บริโภคต้องเผื่อเงินไว้สำหรับการซื้อประกันภัยรถในปีต่อๆ ไป”         อะไรอีก? เบื้องต้นการชาร์จนับเป็นจุดยุ่งยากที่สุดในเวลานี้ นอกจากเรื่องหัวชาร์จที่ไม่เหมือนกันแล้ว ตู้ชาร์จบางแห่งเขียนว่า low priority แปลว่าถ้าไฟบริเวณนั้นตกตู้นั้นจะชาร์จไม่ได้เร็วตามที่ระบุไว้ โดยเฉพาะที่ห่างไกลหรือชนบท ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาการชาร์จยาวนานออกไป         และเนื่องจากตู้ชาร์จไฟมีหลายแบรนด์แต่ละแบรนด์มีแอปพลิเคชันของตนเอง ผู้บริโภคต้องโหลดแอปฯ จำนวนมากเพื่อใช้กับตู้ชาร์จแต่ละเจ้าทำให้เกิดความยุ่งยาก บางแอปฯ ยังขอข้อมูลผู้บริโภคจำนวนมากทั้งที่ไม่น่าเกี่ยวข้องกับการรับบริการ เช่น ขอที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งบัตรประชาชน มันเป็นการล่วงละเมิดสิทธิมากไปมั้ย แค่จะจ่ายเงินซื้อไฟ ทำไมต้องรู้ที่อยู่ เบอร์โทร บางแอปฯ ถึงกับต้องรู้เลขบัตรประชาชนโดยไม่จำเป็น         อีกเรื่องที่เกี่ยวข้องก่ำกึ่งว่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ก็คือ จุดชาร์จในห้างสรรพสินค้าหลายแห่งเป็นกระแสสลับและคิดค่าชาร์จเป็นชั่วโมง ไม่ได้คิดเป็นจำนวนหน่วยกระแสไฟ ทำให้บางครั้งผู้บริโภคชาร์จไฟให้ห้างสรรพสินค้า 3 ชั่วโมงแต่ได้ไฟไปเพียง 30 กิโลวัตต์ แต่ค่าชาร์จชั่วโมงละ 40 บาท ทั้งที่เงิน 120 บาทถ้าชาร์จตามจุดชาร์จข้างนอกเรียกว่าได้พลังงานแทบจะเต็มสองรอบ         ประเด็นต่างๆ เหล่านี้คาดว่าต้องอาศัยเวลาพูดคุย แลกเปลี่ยน ถกเถียง เพื่อสร้างระบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อลดความยุ่งยากและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค เตรียมรับมือพลวัตจากนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้า         มิติสุดท้ายที่จะกล่าวถึงเป็นเรื่องกฎหมาย ต้องยอมรับว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการจราจรทางบกมุ่งจัดระเบียบรถยนต์น้ำมัน เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มปริมาณขึ้น กฎหมายมีความจำเป็นต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกันไปหรือไม่         ชัยภวิศร์คิดว่ากฎหมายเดิมส่วนใหญ่ยังคงใช้ได้ เช่น การจำกัดความเร็ว เมาแล้วขับ เป็นต้น มีเฉพาะเรื่องเสียงที่เขาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเขียนกฎหมายกำกับว่าในที่ที่ใช้ความเร็วต่ำหรือในเขตชุมชน เสียงเทียมควรจะดังหรือมีลักษณะกระตุ้นเตือนทั้งคนและสัตว์ได้มากพอเพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากความพลั้งเผลอ         นอกจากนี้ อนาคตที่รถยนต์เปลี่ยนไปเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น หากเกิดอุบัติเหตุว่าเจ้าของรถหรือบริษัทรถยนต์จะเป็นฝ่ายรับผิดชอบ นี่ก็เป็นประเด็นทางกฎหมายที่ต้องตระเตรียมแนวทางเอาไว         สุดท้ายของท้ายสุด แบตเตอรี่ การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของไทยค่อนข้างหละหลวม ตรงนี้จะกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมหากไม่เตรียมการรับมือ        “เรื่องนี้ฝรั่งคุยกันเยอะ เขาทำก่อนเรา เห็นปัญหาก่อนเรา เพราะฉะนั้นแบตเตอรี่ตอนนี้มีหลายชนิดและกำลังปรับอยู่เรื่อยๆ กระบวนการจัดการของเสียที่จะเกิดขึ้นถูกเอาไปรียูสได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องดูให้ครบ life cycle ว่าจะเอากลับไปใช้ใหม่ได้กี่รอบ กี่ครั้ง และถึงจุดที่ต้องถูกทำลายจะทำยังไง ต้องบอกว่าบ้านเราการจัดการของเสียพวกนี้ยังด้อยมากๆ แต่ไม่ใช่แค่แบตรถไฟฟ้าอย่างเดียว แต่เป็นของเสียอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดยังไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีการพูดคุย และยังผลักภาระเป็นของสาธารณะ ไม่ใช่ของผู้ประกอบการ         “บางประเทศผู้ประกอบต้องมีแผนเอาแบตเตอรี่มือถือของตัวเองออกจากตลาดอย่างไร จัดการยังไง เป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิตซึ่งเมืองไทยยังทำน้อยมาก ต้องมีมาตรการ แรงจูงใจ สนับสนุนผู้ประกอบการที่จัดการเรื่องพวกนี้ได้ดี รวมถึงออกแบบนวัตกรรมที่แบตเตอรี่หรือตัวเครื่องสามารถรีไซเคิล รียูสในเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ในโลกหลายรุ่นจุดขายคือใช้วัสดุเหลือใช้มาผลิตตัวรถ แบตเตอรี่ เอามาเป็นจุดขายว่ารีไซเคิลง่ายขึ้น”         ชัยภวิศร์เสนอข้ามไปอีกขั้นว่า รัฐอาจออกมาตรการสนับสนุนหรือสร้างแรงจูงใจให้การผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้ เช่น ส่งเสริมการใช้วัสดุที่มาจากการรีไซเคิ้ล การรับจัดการแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพแล้วของผู้ประกอบ หรือตู้ชาร์จไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น         อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมที่ยังคงมีพลวัตต่อเนื่อง ผู้ใช้หรือผู้ที่กำลังคิดจะซื้อควรศึกษาข้อมูลข่าวสารให้ละเอียดรอบคอบ ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลก็ได้เวลาต้องปรึกษาหารือว่าจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลักสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ปุ๊นหนักหัวใจวายได้นะ

        ปุ๊นนั้นเป็นคำที่นักการเมืองคนหนึ่งกล่าวในการหาเสียงสมัยเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งผู้เขียนตีความทั้งจากฟังการหาเสียงและเคยอ่านพบในหลายบทความเกี่ยวกับกัญชาว่า “ปุ๊น” น่าจะหมายถึงการสูบกัญชา (กริยา) ก็ได้หรือหมายถึงตัวกัญชา (นาม) ก็ได้ ในประเด็นหลังนี้เว็บ https://siamrath.co.th เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 มีบทความหนึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า วัยรุ่นโบราณมักเรียกกัญชาว่า "เนื้อ" หรือ "ปุ๊น" หรือ "ใบหญ้าร่าเริง" และวัยรุ่นสมัยต่อมาบางกลุ่มเรียกกัญชาว่า "ชาเขียว" หรือ "หนม" เหตุที่เรียกกัญชาเพราะว่า"เนื้อ" เพราะกลิ่นกัญชาจากการสูบที่ลอยมาหอมคล้ายเนื้อวัวย่าง (ประเด็นนี้น่าจะขึ้นกับความชอบส่วนตัวของแต่ละคนมากกว่า) บทความนั้นกล่าวต่อประมาณว่า สายเขียวมักไม่สูบกัญชาเพียว ๆ เลยเพราะแรงเกินไป ต้องเอากัญชามายำก่อนกับเครื่องยำหลากหลาย เช่น ยาเส้นในบุหรี่ โดยใช้นิ้วคลึงผสมในสัดส่วนที่พึงใจแล้วบีบอัดให้แน่น ก่อนใช้มีดซอยให้ละเอียด อาจพลิกแพลงเอาเหล้าพรมหรือใส่สารเสพติดอื่นๆ เข้าไป แล้วพันลำลงบ้องไม้ไผ่เพื่อสูบ ซึ่งหลังเสพในระยะแรกจะล่องลอย ร่าเริง หัวเราะง่าย เนื่องจากฤทธิ์ของ Tetrahydrocannabinol (THC) หลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมงแล้ว กัญชาจะออกฤทธิ์กดประสาทจนทำให้ลิ้นเริ่มพันกัน พูดไม่รู้เรื่อง ง่วงซึม         เป็นที่ตระหนักกันดีว่าไม่มีอะไรในโลกที่ดีเลิศเพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกับเหรียญย่อมมีสองด้าน กัญชาก็เช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีการพร่ำพรรณาถึงความดีของกัญชาในทางการแพทย์บางประการ ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพย่อมมีออกมาบ้างเช่น มีงานวิจัยใหม่ที่แสดงถึงปัญหาของยาเสพติดซึ่งรวมถึงกัญชาต่อโอกาสเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว โดยในการศึกษาเชิงสังเกตตีพิมพ์เป็นบทความเรื่อง Cannabis, cocaine, methamphetamine, and opiates increase the risk of incident atrial fibrillation (กัญชา โคเคน เมทแอมเฟตามีน และฝิ่นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว) ในวารสาร European Heart Journal ของปี 2022 ซึ่งได้ตรวจสอบผลกระทบระยะยาวของยาเสพติด เช่น เมทแอมเฟตามีน (หรือยาบ้า) โคเคน ฝิ่น และกัญชา แล้วพบความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นในความเสี่ยงสำหรับภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation)  ผลข้างเคียงของยาดังกล่าวนี้อยู่ในลักษณะที่เกิดทันทีหรือไม่เกิดทันที อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ได้ให้หลักฐานที่แสดงว่า การใช้สารเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงระยะยาวในการเกิดโรคเรื้อรังซึ่งส่งผลเสียต่อผู้ป่วยในแบบที่มักจะเป็นไปตลอดชีวิต         ข้อมูลทางการแพทย์ในบทความต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตอธิบายประมาณว่า อาการภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วนั้นคือ ภาวะที่มีการกระตุ้นการทำงานของหัวใจห้องบนแบบผิดปรกติซึ่งมีการกระตุ้นกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ ส่งผลให้การบีบตัวของหัวใจห้องบนไม่เป็นตามระบบที่ควรเป็น ตามมาด้วยการที่หัวใจเต้นเร็วแบบไม่สม่ำเสมอ มีแรงบีบต่ำกว่าปรกติ ผลแทรกซ้อนของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว คือ หัวใจสูบฉีดเลือดออกได้ลดลง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมมักนำไปสู่ภาวะหัวใจวายในที่สุด นอกจากนี้การที่เลือดหมุนวนตกค้างในหัวใจห้องบนอาจก่อให้เกิดลิ่มเลือดแล้วหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมองได้สูงกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมักเกิดถึงร้อยละ 5-15 ของกลุ่มคนอายุ 80-90 ปี แต่การศึกษาใหม่ที่นำมาเล่าในบทความนี้พบว่า คนที่ใช้ยาเสพติดซึ่งรวมถึงกัญชามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเกิดอาการดังกล่าว         งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์เป็นบทความในวารสาร European Heart Journal ของปี 2022 ซึ่งนักวิจัยใช้แบบสอบถามหาข้อมูลจากชาวแคลิฟอร์เนียอายุเกิน 18 ปี จำนวน 23,561,884 คน ที่มีความจำเป็นต้องเข้าแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล หรือใช้บริการการผ่าตัดผู้ป่วยนอก หรือเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2005 ถึงธันวาคม 2015 ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ผู้ให้ข้อมูล 98,271 คนเสพเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า), 48,701 รายเสพโคเคน, 10,032 รายเสพฝิ่น และ 132,834 รายเสพกัญชา ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตลอดระยะเวลาการศึกษา 10 ปี ผู้ให้ข้อมูลที่เคยใช้ยาเสพติด 998,747 คน (4.2%) ซึ่งไม่เคยมีอาการภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมาก่อน ได้เริ่มมีอาการดังกล่าวหลังจากการติดตามนาน 10 ปี         สำหรับผลสรุปของการศึกษานั้นนักวิจัยพบว่า ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วเพิ่มขึ้น 86% ถ้ามีมีการใช้เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า), 74% ถ้ามีการใช้ฝิ่น, 61% ถ้ามีการใช้โคเคน และ 35% ถ้ามีการใช้กัญชาซึ่งผู้ทำวิจัยได้กล่าวว่า นี่เป็นการศึกษาครั้งแรกที่สังเกตเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการใช้กัญชา (นอกเหนือไปจากยาเสพติดอื่น) และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว         ในบทความดังกล่าวนั้นผู้ทำวิจัยได้พยายามอธิบายถึงกลไกที่สารเสพติดทั้งหลายมีอิทธิพลต่อภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วว่า เกิดเนื่องจากความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระดับหนึ่งต่อการทำงานของหัวใจในลักษณะการปรับตัวทางไฟฟ้า (electrical remodeling) เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมของช่องทางเข้าออกของไอออนเฉพาะที่เซลล์ประสาท ดังที่เคยมีการศึกษาเรื่อง Cannabinoid interactions with ion channels and receptors (ปฏิสัมพันธ์ของแคนนาบินอยด์ต่อช่องไอออนและตัวรับ) ในวารสาร Channels ของปี 2019 ซึ่งตั้งสมมุติฐานว่า สารสำคัญดังกล่าวในกัญชาน่าจะมีผลต่อการปรับตัวของเยื่อหุ้มเซลล์ (membrane fluidity) ซึ่งส่งผลถึงการทำหน้าที่ของเซลล์ประสาท         นอกจากนี้ยังมีการศึกษาซึ่งใช้สัตว์ทดลองในบทความเรื่อง Cannabidiol Impairs Brain Mitochondrial Metabolism and Neuronal Integrity (แคนนาบิไดออลบั่นทอนเมตาบอลิซึมของไมโทคอนเดรียในสมองและความสมบูรณ์ของเส้นประสาท) ในวารสาร Cannabis and Cannabinoid Research ของปี 2023 ให้ข้อมูลว่า สาร CBD (ซึ่งมีในกัญชาเพื่อก่อให้เกิดความสมดุลในการออกฤทธิ์ของสาร THC) ในระดับความเข้มข้นต่ำเป็นไมโครโมลาร์นั้นมีผลต่อการลดระดับการสร้างพลังงาน (mitochondrial respiration) ของไมโทคอนเดรียโดยปรับเปลี่ยนการซึมผ่านผนังของไมโทคอนเดรียของสารชีวเคมี ซึ่งรวมถึงการดูดซึมแคลเซียมและยับยั้งช่องทางเข้าออกของอนุมูลคลอไรด์ของไมโตคอนเดรีย จนน่าจะทำให้ปริมาณแคลเซียมในไมโทคอนเดรียลดลง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นกับเซลล์ cardiac myocytes ซึ่งเป็นเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ผลที่ตามมาคือ การทำงานของเซลล์นั้นคงผิดปรกติหรือหมดประสิทธิภาพ         กล่าวกันว่าผลการศึกษาที่รายงานนั้นเป็นแนวทางสำคัญต่อการวิจัยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วในอนาคต โดยอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้เพียงแต่มากหรือน้อยเพียงใดเท่านั้น ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงการใช้สารเสพติดเหล่านี้ซ้ำๆ และเรื้อรังทำให้ผู้ทำวิจัยจำเป็นต้องทำการแยกแยะว่า รูปแบบการบริโภคกัญชาที่ต่างกันนั้นมีผลต่อภาวะทางสุขภาพที่เป็นปัญหาอย่างไรหรือไม่ อีกทั้งการศึกษาทางระบาดวิทยาเชิงสังเกตแบบย้อนกลับ (เกิดผลแล้วตามหาเหตุ) เช่นนี้ คนที่มีอคติอยู่แล้วว่ากัญชาเป็นของดีอาจไม่ยอมรับ ทำให้จำเป็นต้องมีการศึกษาทางระบาดวิทยาที่วางแผนเพื่อดูผลที่เกิดในอนาคตหลังจากการควบคุมตัวแปรต่าง ๆ ไว้ไม่ให้แสดงปัญหา         ข้อจำกัดสำหรับการค้นพบในการศึกษานี้คือ เนื่องจากเป็นการศึกษาในลักษณะที่ต้องการตรวจสอบการใช้สารต่าง ๆ ที่อาศัยความร่วมมือในการรายงานด้วยตนเองของผู้ให้ข้อมูล ซึ่งบางกรณีอาจไม่น่าเชื่อถือเท่าที่ควร เนื่องจากเมื่อใดที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้สารเสพติดที่ผิดกฎหมายผู้ให้ข้อมูลอาจกังวลผลทางกฏหมายที่อาจตามมาหลังการให้ข้อมูล ดังนั้นการศึกษาที่ได้กล่าวถึงในบทความนี้ผู้วิจัยจึงใช้การเข้ารหัสด้านการดูแลสุขภาพจากผู้ให้บริการด้านสุขภาพซึ่งมีข้อมูลต่าง ๆ จากการตรวจวัดทางคลินิกเป็นหลักฐานโดยไม่เชื่อมโยงไปถึงผู้ให้ข้อมูล         ในสถานะการที่ผู้คนซึ่งชื่นชอบการสูบกัญชาพบว่า มีการเพิ่มแง่มุมทางกฎหมายจนเสมือนเป็นการเปิดไฟเขียวในสิ่งที่เขาทั้งหลายชอบ การคำนึงถึงผลด้านสุขภาพที่เคยรับรู้กันมาในอดีตอาจถูกบิดเบือนให้ลืมไป ซึ่งปรากฏการณ์นี้น่าจะกลายเป็นประเด็นหลักของปัญหาด้านสาธารณสุขในอนาคตอันใกล้ที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาสังคมที่รุนแรง อีกทั้งสิ่งที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ในงานวิจัยเกี่ยวกับสารเสพติดคือ ไม่สามารถระบุประเภทหรือปริมาณเมื่อมีการใช้สารเสพติดหลายชนิดผสมกันจนทำให้ยากที่จะระบุถึงปริมาณที่มีการใช้ต่อปัญหาทางสุขภาพที่เกิดขึ้นได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 สิ่งที่ควรรู้ ก่อนศัลยกรรมเพิ่มความสวย

        ปัจจุบันมีคลินิกเสริมความงามเปิดใหม่มากมาย แถมราคาในการผ่าตัดบางคลินิกก็ถูกแสนถูก ล่อตาล่อใจผู้บริโภคกันสุดๆ  แต่ว่าราคาถูกที่ว่านั้น..ถ้าเจอที่ดีก็ถือว่าโชคดีไป เจอไม่ดีก็อาจจะได้หมอเถื่อนมาทำหน้าเราแทน จากหน้าสวยก็จะกลายเป็นหน้าพัง  อย่างกระแสข่าวเรื่องจับหมอปลอมตามคลินิกเสริมความงามก็มีมาให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ เต็มโลกออนไลน์         แม้ว่า ฉลาดซื้อ จะรู้อยู่ว่าหลายคนที่ต้องการศัลยกรรมใบหน้าคงรู้กันอยู่แล้วว่าการทำหัตถการประเภทนี้ค่อนข้างเสี่ยง แต่ถ้าความเสี่ยงที่เราเอาไปแลก มันคือความผิดพลาดจากทางคลินิกที่มักง่าย ไม่ได้มาตรฐานมันก็คงไม่คุ้มเสี่ยงใช่ไหม ดังนั้น ฉลาดซื้อ ก็อยากให้ทุกคนที่กำลังตัดสินใจจะไปทำศัลยกรรม ลองมาพิจารณาข้อมูลที่ควรเช็กกันก่อนเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงาม เช็กก่อนศัลยกรรมเพื่อความปลอดภัย        ·     อย่างแรกที่ต้องเช็คเลย คือ การตรวจเช็กใบอนุญาตสถานพยาบาล 11 หลัก อันนี้สำหรับตรวจสอบว่าคลินิกที่ให้บริการเป็นคลินิกเถื่อนหรือไม่ ซึ่งก่อนเข้ารับบริการควรสังเกตว่ามีติดไว้หน้าคลินิกเพื่อให้ผู้ที่เข้ารับบริการนั้น สามารถตรวจเช็กได้อย่างสะดวก เช็กได้ที่ https://hosp.hss.moph.go.th/ หรือ http://privatehospital.hss.moph.go.th         ·     ตรวจสอบใบประกอบวิชาชีพแพทย์ โดยต้องมีติดอยู่หน้าที่เข้าบริการอย่างชัดเจน  ต้องมีภาพถ่ายของแพทย์ ชื่อ-นามสกุล  สาขาและเลขที่ใบอนุญาตของผู้ให้บริการ และสามารถ                นำไปเช็กได้ที่ https://checkmd.tmc.or.th/ หรือโทรสอบถามแพทย์สภาโดยตรง        ·     ทำการเช็กภาพถ่ายที่ติดอยู่หน้าห้องกับผู้ที่ทำหัตถการให้ว่าเป็นคนเดียวกันหรือไม่ หากไม่ใช่ ให้หลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำหัตถการด้วย ไม่ต้องเกรงใจคลินิกเพราะเราต้องปลอดภัยไว้ก่อน        ·     เวลาเข้าคลินิกเพื่อทำศัลยกรรมต่างๆ อีกเรื่องที่ต้องระวัง คือ อุปกรณ์ ยา ซิลิโคน ฟิลเลอร์หรือโบท็อกซ์ ซึ่งต้องมี อย. รับรอง ยกตัวอย่าง คลินิกถูกกฎหมายส่วนมาก เมื่อทำหัตถการจะเปิดตัวยาให้เราดูอย่างชัดเจนก่อนเริ่มฉีด เมื่อเสร็จก็จะให้กล่องตัวยากลับบ้าน ซึ่งเราควรจะเลือกคลินิกที่เมื่อเราเข้ารับบริการนั้น ทางคลินิกสามารถเปิดข้อมูลตัวยาที่จะฉีดให้เราดูได้อย่างชัดเจน ไม่ปกปิดข้อมูล        ·     หากทำหัตถการที่จะต้องวางยาสลบ  คลินิกควรต้องมีวิสัญญีแพทย์อันนี้สำคัญ เผื่อกรณีคนไข้มีอาการแพ้ยาสลบ หรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ทั้งนี้ ควรมีเครื่องมือและอุปกรณ์รองรับในกรณีฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัย        ·     การรับผิดชอบของคลินิกกรณีหากเราเกิดความเสียหายต่อการรักษาของแพทย์ในคลินิก จะมีแนวทางในการชดเชยเยียวยาอย่างไร        ·     คลินิกสะอาดมีสุขอนามัยอนามัยหรือไม่  และก่อนเข้าบริการควรไปสำรวจที่ตั้งของคลินิกที่ต้องการเข้ารับบริการก่อนว่ามีอยู่จริง         ทั้งนี้  เราควรที่จะต้องสอบถามแพทย์เพื่อให้ตรวจเช็กความพร้อมของร่างกายเราด้วย และตัวเราเองควรบอกข้อมูลกับแพทย์ให้ครบถ้วน เช่น แพ้ยาอะไร มีโรคประจำตัวอะไร พร้อมกับสอบถามรายละเอียดให้ชัดเจน พยายามอย่าเชื่อรีวิวโฆษณาในโลกออนไลน์หรือโปรโมชันราคาถูกจนเกินไป         อีกเรื่องที่ต้องเตือนคือ หมอกระเป๋า แน่นอนว่าไม่มีความปลอดภัย ผู้บริโภคบางคนอาจจะคิดว่าฟิลเลอร์แท้ โบท๊อกซ์แท้ฉีดยังไงก็คงไม่เป็นไร แต่จริงๆ มีความเสี่ยงมาก เพราะใบหน้าของเรามีทั้งเส้นเลือด เส้นประสาทมากมาย  ดังนั้นการทำหัตถการควรต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น        นอกจากนี้ หากผู้บริโภคพบเจอสถานประกอบพยาบาลเถื่อนเบื้องต้นสามารถร้องเรียนได้ที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สายด่วน 1426 หรือ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ โทรศัพท์ 02 5918844  ข้อมูลจาก  https://www.hfocus.org/content/2021/10/23328https://ffcthailand.org/case/65https://www.springnews.co.th/blogs/spring-life/819276

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 สงครามแย่งก๊าซธรรมชาติ

เราบ่นกันมากว่าค่าไฟฟ้าแพงมาก จะเรียกว่าราคาแพงที่สุดตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมาก็ว่าได้ จนในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองต่างก็เสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่จะเป็นจริงหรือไม่ ผู้บริโภคอย่างเราก็ต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไป รวมทั้งต้องร่วมกำหนดนโยบายของผู้บริโภคเองด้วยปัญหาสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงก็คือนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องการกับการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติของคนไทยทุกคน ที่คนไทยเราได้ร่วมกันพิทักษ์รักษามาตลอดที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า ร้อยละ 56 ของไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทยนั้น ผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติ ดังนั้น เรามาพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับก๊าซฯที่เราใช้ในการผลิตไฟฟ้ากันสักหน่อย รวมทั้งที่มา และราคา ดังรูปข้างล่างนี้  ว่ากันตามรูปเลยนะครับผมขอสรุปว่า ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศไทยมาจาก 3 แหล่งคือ(1)          จากประเทศไทยเราเอง(ทั้งในอ่าวไทยและบนบก) ราคาในเดือนธันวาคม 2565 เท่ากับ  239 บาทต่อล้านบีทียู เราเริ่มใช้ก๊าซในยุคที่เขาคุยว่า “โชติช่วงชัชวาล” ประมาณปี 2524(2)          จากประเทศเมียนมาร์ ผ่านท่อก๊าซฯ ราคา 375 บาทต่อล้านบีทียู  เริ่มนำเข้าตั้งแต่ปี 2543(3)          ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าทางเรือ ราคา 599 บาทต่อล้านบีทียู เริ่มนำเข้าครั้งแรกปี 2553 และโปรดสังเกตว่า ราคาแปรผันมาก จาก 717 เป็น 599 บาทต่อล้านบีทียูในเวลาเดือนเดียว จากข้อมูลดังกล่าวเราจะเห็นได้ว่า ราคา LNG  สูงกว่าราคาในประเทศไทยมากกว่า 2 เท่าตัว ตรงนี้แหละครับที่เป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลว่า จะให้ใคร หรือกลุ่มไหนได้ใช้ประโยชน์จากก๊าซทั้ง 3 แหล่งที่มีราคาแตกต่างกันมากขนาดนี้ผมไม่ทราบว่า ก่อนที่จะมีการนำเข้า LNG ทางกระทรวงพลังงานได้คิดราคาก๊าซจาก 2 แหล่งอย่างไร แต่หลังจากปี 2553 ที่ได้นำก๊าซทั้ง 3 แหล่ง ทางกระทรวงฯได้นำราคาก๊าซทั้ง 3 แหล่งมาเฉลี่ยกันเพื่อให้ ภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรงแยกก๊าซ(หรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี) และภาคยานยนต์(เอ็นจีวี) ใช้ในราคาที่เท่ากับค่าเฉลี่ย หรือที่เรียกว่า ราคา Pool Gasแต่โรงแยกก๊าซหรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะได้ใช้ในราคาที่ผลิตจากประเทศไทย ถ้าในภาพข้างต้นก็ราคา 239 บาทต่อล้านบีทียู ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าต้องจ่ายในราคา 376 บาทโดยอาศัยข้อมูลจากกระทรวงพลังงานพบว่า ก๊าซ 1 ล้านบีทียูสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 129 หน่วย ดังนั้น หากต้องใช้ Pool Gas ต้นทุนค่าก๊าซ(อย่างเดียว)จะเท่ากับ 376/129  หรือ 2.91 บาทต่อหน่วยแต่หากรัฐบาลมีนโยบายให้ก๊าซจากประเทศไทยซึ่งเป็นของคนไทย ให้คนไทยทั้งประเทศได้ใช้ก่อน โดยนำไปผลิตไฟฟ้าซึ่งมีจำนวนมากเพียงพอ ต้นทุนค่าก๊าซก็จะลดลงเหลือเท่ากับ 239/129 หรือ 1.85 บาทต่อหน่วยเห็นกันชัดๆเลยใช่ไหมครับว่า ต้นทุนนี้ลดลง 1.06 บาทต่อหน่วยแต่เนื่องจากไฟฟ้าที่คนไทยใช้ผลิตจากก๊าซ 56% ดังนั้น เมื่อเฉลี่ยทั้งประเทศแล้วค่าไฟฟ้าจะลดลงถึง 59 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ยังไม่ได้คิดถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าล้นเกินเลยที่นำไปสู่ค่าความพร้อมจ่ายทั้งที่ไม่ได้มีการเดินเครื่องผลิตเลยในปี 2565 คนไทยใช้ไฟฟ้าประมาณ 2 แสนล้านหน่วย หากรัฐบาลไทยมีการเปลี่ยนนโยบายว่า ก๊าซฯจากประเทศไทยให้คนไทยได้ใช้ผลิตไฟฟ้าก่อน ก็จะทำให้มูลค่าไฟฟ้าลดลงได้ถึงประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ผลประโยชน์ตรงนี้ก็จะตกอยู่กับประชาชนผู้บริโภคแต่ปัจจุบันนี้เงินก้อนนี้ได้ไหลเข้าไปอยู่ในกระเป๋าของธุรกิจปิโตรเคมี อันเป็นผลมาจากสงครามแย่งก๊าซธรรมชาติ นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ไซบูทรามีนเกลื่อนเมือง.....ปัญหาเรื้อรังที่รอจุดสิ้นสุด

        เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จังหวัดขอนแก่นได้ประกาศแจ้งเตือนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “คอร์เซ่” ตรวจพบไซบูทรามีนซึ่งทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล1 และในวันเดียวกันนี้ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่ข่าวพบไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร NQ S Cross ซึ่งตำรวจ ปคบ.กับ อย.ได้ทลายเครือข่ายผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่าย ในพื้นที่ 4 จุดของจังหวัดตาก สุโขทัย  และพิษณุโลก 2          “ไซบูทรามีน” เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท  ทำให้ลดความอยากอาหารอิ่มเร็วขึ้นและช่วยกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายส่งผลให้ร่างกายมีน้ำหนักลดลง  เดิมมีการนำมาใช้เป็นยาลดความอ้วน แต่เนื่องจากไซบูทรามีนทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญลดลง เช่น หัวใจ สมอง จนอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดและสมองขาดเลือดฉับพลัน ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้   ซึ่งผู้ผลิตได้สมัครใจถอนทะเบียนจากท้องตลาดแล้วทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเมื่อ 11 ตุลาคม 2553  แม้จะไม่มีไซบูทรามีนที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่ยังคงมีการลักลอบนำไปใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก ทำให้พบอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้หากใช้ร่วมกับยาอื่นที่มีผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิต         ปัจจุบัน “ไซบูทรามีน” ถูกยกระดับให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ในครอบครองผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผสมไซบูทรามีนเพื่อการค้า จะต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ 1-15 ปี  และปรับตั้งแต่ 100,000-1,500,000 บาท แม้“ไซบูทรามีน”ถูกปรับเปลี่ยนประเภทตามกฎหมายทำให้มีบทลงโทษหนักขึ้น  แม้จะมีการตรวจจับดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ปัญหาก็ยังคงอยู่ ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องดูแลตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ  หากพบอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวภายหลังรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้เสียหายจะต้องกล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง  โดยการร้องเรียนหรือให้ข้อมูลผู้จำหน่ายแก่หน่วยงานหรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด่านนำเข้า เช่น กรมศุลกากรและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะต้องร่วมกันสกัดการนำเข้าสารไซบูทรามีนหรืผลิตภัณฑ์ที่ปลอมปนไซบูทรามีนมิให้เข้ามาทำอันตรายต่อประชาชน  และหากพบผลิตภัณฑ์ที่ปลอมปนไซบูทรามีน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะต้องประกาศผลวิเคราะห์ให้ประชาชนทราบ  เพื่อจะมิให้มีผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อรายต่อไป   ที่มา        1. ศูนย์ประสานงานอาหารปลอดภัยจังหวัดขอนแก่น สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2566 https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02LQYqAggoAUUcEWnBaBJ1Xumxg49hLDhhRH1kiqZqVS7wJRWGdfsHkS8fHBrNcXLEl&id=100054673890265        2. สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2566   https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/190296/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 พนักงานธนาคารหลอกผู้บริโภคช่วยซื้อหน่วยลงทุน แต่กลับเอาเงินไปส่วนตัว ธนาคารต้องร่วมรับผิดหรือไม่

        ทุกวันนี้ หลายคนคงตั้งคำถามต่อความรับผิดชอบของธนาคาร ว่าเมื่อเราฝากเงินไว้ในบัญชีของธนาคาร ธนาคารควรมีหน้าที่ดูแลเงินของเราให้ดี เพราะเป็นวิชาชีพหนึ่งที่ต้องสร้างความไว้วางใจเพื่อให้คนเอาเงินมาไว้กับตน แต่ตามข่าวจะเห็นได้ว่า เมื่อเกิดปัญหาถูกขโมยข้อมูลและมีการดูดเงินออกจากบัญชี ธนาคารกลับไม่ได้รับผิดชอบ ผู้บริโภคอย่างเราเสียเองต้องไปดิ้นรนแจ้งความดำเนินคดีกับมิจฉาชีพเอง ซึ่งถ้ามองในมุมกฎหมายแล้ว การที่เราเอาเงินไปฝากธนาคาร “เงินที่นำเข้าบัญชีธนาคาร” ถือเป็น “เงินของธนาคาร” ตามสัญญาฝากเงิน เพียงแต่ธนาคารมีหน้าที่ตามสัญญาฝากเงินต้องนำเงินจำนวนเดียวกันกับที่ฝากมาคืนเรา ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจความรับผิดของธนาคาร จึงขอหยิบยกคดีเรื่องหนึ่งซึ่งน่าสนใจมาเป็นกรณีศึกษา          เป็นกรณีธนาคารพาณิชย์ จัดให้มีบริการพนักงานธนาคารเพื่อคอยดูแลลูกค้าคนสำคัญ ไปหาลูกค้าถึงที่เพื่อช่วยจัดการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ของลูกค้า และต่อมาพนักงานธนาคารคนดังกล่าว ไปหลอกให้ลูกค้าคือผู้บริโภคจัดทำเอกสารอ้างว่าจะไปซื้อหน่วยการลงทุน แต่กลับนำใบนำฝาก/โอน มาทำรายการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้บริโภคเข้าบัญชีของบุคคลอื่นโดยมิได้นำไปซื้อหน่วยลงทุน ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนหลายสิบล้านบาท ผู้บริโภคในฐานะเจ้าของเงินและเป็นลูกค้าของธนาคารจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ธนาคารรับผิด          ศาลฏีกาได้ตัดสินให้ธนาคารต้องรับผิดในผลการกระทำของพนักงานธนาคารคนดังกล่าว ในฐานะนายจ้างต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้าง เพราะการที่ธนาคารจัดให้มีพนักงานดูแลลูกค้ารายใหญ่ด้วยการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมกับธนาคารถึงที่ทำการของลูกค้าโดยลูกค้าไม่ต้องมาดำเนินการที่สาขาของธนาคารด้วยตนเอง ถือเป็นบริการอย่างหนึ่งของธนาคารเพื่อประโยชน์ในกิจการของธนาคารเอง ธนาคารจึงสมควรคัดเลือกพนักงานที่ไว้ใจได้มาทำหน้าที่นี้และคอยสอดส่องไม่ให้ทำผิดหน้าที่   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1802/2565         จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ การจัดให้มีพนักงานดูแลลูกค้ารายใหญ่ด้วยการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมกับจำเลยถึงที่ทำการของลูกค้าโดยลูกค้าไม่ต้องมาดำเนินการที่สาขาของจำเลยด้วยตนเอง ถือเป็นบริการอย่างหนึ่งของจำเลยเพื่อประโยชน์ในกิจการของจำเลยเอง ซึ่งจำเลยสมควรคัดเลือกพนักงานที่ไว้ใจได้มาทำหน้าที่นี้และคอยสอดส่องไม่ให้ทำผิดหน้าที่ เมื่อ จ. พนักงานผู้มีหน้าที่ดูแลลูกค้าของจำเลยกลุ่มลูกค้าบุคคลได้รับมอบหมายจากจำเลยให้เป็นผู้ดูแลโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ การที่ จ. อำนวยความสะดวกให้โจทก์ด้วยการนำใบนำฝาก/โอน และใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อถึงที่ทำการของโจทก์ แล้วรับเอกสารดังกล่าวมาดำเนินการต่อที่สาขาของจำเลย ถือเป็นกิจการของจำเลยที่มอบหมายให้ จ. ไปกระทำ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์มอบหมายให้ จ. เป็นตัวแทนของโจทก์ไปทำธุรกรรมกับจำเลยดังที่จำเลยฎีกา การที่ จ. รู้จักสนิทสนมคุ้นเคยกับโจทก์มาก่อนมีผลเพียงทำให้โจทก์ให้ความไว้วางใจ จ. ในฐานะพนักงานของจำเลยที่มาอำนวยความสะดวกให้โจทก์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น หาทำให้ จ. กลับกลายเป็นตัวแทนของโจทก์ไปทำธุรกรรมกับจำเลยไม่ จ. เพียงทำหน้าที่นำเอกสารที่ใช้ในการถอนเงินและซื้อหน่วยลงทุนไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อแล้วรับเอกสารจากโจทก์ไปมอบให้พนักงานของจำเลยที่มีอำนาจหน้าที่ในการทำธุรกรรมนั้น ๆ เป็นผู้ดำเนินการต่อ หาใช่ว่า จ. เป็นผู้รับทำธุรกรรมให้โจทก์ด้วยตนเองไม่         ดังนั้น แม้ขณะทำธุรกรรมดังกล่าว จ. ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้แนะนำการลงทุนดังที่จำเลยฎีกา การกระทำของ จ. ก็ยังอยู่ในขอบอำนาจและในกิจการที่ได้รับมอบหมายจากจำเลย เมื่อ จ. นำใบนำฝาก/โอน มาทำรายการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์เข้าบัญชีของบุคคลอื่นโดยมิได้นำไปซื้อหน่วยลงทุนอันผิดไปจากความประสงค์ของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ จ. ลูกจ้างของจำเลยกระทำไป ในทางการที่จ้างโจทก์สามารถตรวจสอบได้โดยง่ายว่า จ. ได้ซื้อหน่วยลงทุนถูกต้องตามความประสงค์ของโจทก์ในแต่ละครั้งหรือไม่ โดยการเรียกสมุดคู่ฝากบัญชีและสมุดบัญชีกองทุนรวมทั้งเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบทุกครั้งภายหลังจากที่ได้มอบหมายให้ไปทำธุรกรรม ทั้งการโอนเงินตามฟ้องแต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกัน หากโจทก์ได้ตรวจสอบดังเช่นวิญญูชนพึงกระทำก็ย่อมจะทราบได้ตั้งแต่แรกว่ามีการทำธุรกรรมผิดไปจากความประสงค์ของตน ซึ่งอาจจะอายัดเงินในบัญชีของผู้รับโอนกลับคืนมาได้ทันหรืออย่างน้อยก็ทำให้สามารถป้องกันมิให้เกิดความเสียหายซ้ำอีก แต่โจทก์กลับมอบสมุดคู่ฝากบัญชีและสมุดบัญชีกองทุนให้ จ. เป็นผู้เก็บรักษา ทั้งยังปล่อยปละไม่ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมจนเวลาล่วงเลยมานานหลายเดือนจึงทราบเหตุละเมิด ถือได้ว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์ประกอบด้วย         การกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชำระแก่โจทก์มากน้อยเพียงใด จึงต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งละเมิดแล้ว เห็นว่า ความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดขึ้นเพราะฝ่ายจำเลยเป็นผู้ก่อมากกว่า ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์สองในสามส่วน เป็นเงินรวม 14,333,333.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,000,000 บาท นับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ของต้นเงิน 3,666,666.67 บาท นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 และของต้นเงิน 6,666,666.67 บาท นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2558 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดรวม 21,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน และเมื่อศาลฎีกาแก้ไขจำนวนเงินที่ให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ จึงเห็นสมควรแก้ไขค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยใช้แทนโจทก์เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ควบคุมดูแลสุขภาพด้วย CalkCal

        ปัจจุบันเครื่องดื่มที่ให้ความสดชื่นกับร่างกายมีหลากหลายชนิดและเป็นที่ชื่นชอบกันมากโดยเฉพาะกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เลือกที่จะบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวาน อาทิ ชานมไข่มุก ชาเย็น กาแฟเย็น เป็นต้น อีกทั้งการเลือกบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวานเหล่านี้อาจช่วยทำให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า จึงทำให้บริโภคจำนวนมากในแต่ละวัน         กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยถึงสถิติคนไทยติดหวานกินน้ำตาลเฉลี่ยวันละ 25 ช้อนชา ซึ่งมากกว่าที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ถึง 4 เท่า โดยพฤติกรรมเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดหัวใจ และฟันผุ ตามมาได้         นอกจากความเสี่ยงข้างต้น ยังมีความเสี่ยงที่เกิดจากอาหารประเภทอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายจนเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้อีก ดังนั้นการดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยการเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสมในแต่ละวัน และตรงตามความต้องการของร่างกาย เพื่อควบคุมดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและห่างไกลจากโรคภัย ฉบับนี้มาแนะนำให้ลองมาใช้ตัวช่วยในการควบคุมอาหารกับแอปพลิเคชัน “CalkCal” กันดู ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ไม่ยุ่งยาก ง่ายต่อการใช้งานเป็นอย่างมาก         แอปพลิเคชันนี้เน้นในเรื่องของการควบคุมอาหารเป็นหลัก ใช้งานในรูปแบบการบันทึกจำนวนแคลอรีโดยเลือกจากเมนูอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน จะสอบถามข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ เพศ ส่วนสูง น้ำหนัก รวมไปถึงเป้าหมายของการลดน้ำหนัก เพื่อนำมาคำนวณและหาค่าเฉลี่ยในการควบคุมพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวัน ภายในแอปพลิเคชันจะแบ่งหมวด 5 หมวด ได้แก่ หมวด Calories หมวด Statistic หมวด Exercise หมวด Setting และหมวด About Us         การใช้งานไม่มีความซับซ้อนใดๆ เมื่อผู้ใช้แอปพลิเคชันต้องการกรอกรายละเอียดมื้ออาหารที่รับประทานในแต่ละวัน ให้กดที่หมวด Calories จะปรากฎชื่อรายการอาหารพร้อมจำนวนแคลอรี เมื่อค้นหาเมนูอาหารเจอแล้ว จะต้องระบุจำนวนและเลือกมื้ออาหาร โดยจะแบ่งมื้ออาหารเป็น 4 มื้อ ได้แก่ มื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น และมื้ออาหารว่าง กรณีที่ไม่เจอเมนูอาหารที่ต้องการสามารถเพิ่มรายการได้เอง ซึ่งให้กดเลือกปุ่มเครื่องหมายบวกที่อยู่ด้านบนขวามือ         หมวด Statistic ช่วยคำนวณปริมาณแคลอรี่ในแต่ละวันว่าควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนหมวด Exercise จะเป็นรายการการออกกำลังกายพร้อมจำนวนแคลอรีที่จะถูกเผาผลาญออกไป         เป้าหมายของการห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ ย่อมสัมพันธ์กับการเลือกรับประทานอาหาร ดังนั้นการควบคุมอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายอย่างแท้จริง รวมถึงการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงสุขภาพดีได้ เลิกติดหวานและหันมาติดการออกกำลังกายและควบคุมอาหารให้เหมาะสมกันดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ผลทดสอบยาปฎิชีวนะตกค้างในเนื้อกุ้ง

        ทุกปีนิตยสารฉลาดซื้อยังคงมุ่งมั่นเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยในอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าอาหารการกินของเราได้รับการใส่ใจทั้งในภาคการเกษตร ประมงและภาคอุตสาหกรรมอาหาร เรื่องการตกค้างของยาปฏิชีวนะในอาหาร เป็นหนึ่งประเด็นที่ทางนิตยสารฉลาดซื้อ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดลำดับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากปัญหาการดื้อยายาต้านจุลชีพที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากการที่มีการนำยาปฏิชีวนะไปใช้ในการเกษตร ประมง หากวิธีการเลี้ยงตลอดจนการดูแลสัตว์ทำไม่ได้มาตรฐานย่อมก่อให้เกิดผลกระทบของการตกค้างของตัวยาปฏิชีวนะในวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารได้และอาจกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพ         การดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) แสดงถึงภัยคุกคามระดับโลกที่สำคัญต่อมนุษย์ สัตว์ พืช อาหารและสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2019 มีการประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตเกือบ 5 ล้านคนที่เกี่ยวข้องกับ AMR จากแบคทีเรียรวมถึง  1.27 ล้านคนที่เสียชีวิตจากสาเหตุโดยตรง (ที่มา WHO)          ในปีนี้ ฉลาดซื้อ ร่วมกับโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จากการสนับสนุนของ สสส. ดำเนินการเก็บตัวอย่าง “กุ้งขาว” สัตว์เศรษฐกิจของไทย ซึ่งมีการพบรายงานของการตกค้างในเนื้อกุ้งขาว ฉลาดซื้อจึงสุ่มตัวอย่างกุ้งขาว ในปี 2566 นี้เพื่อนำมาทดสอบหาการตกค้างของยาปฏิชีวนะเพื่อให้เป็นชุดการเฝ้าระวังในด้านวัตถุดิบอาหารจากที่เคยทำมาในปีก่อนหน้า ได้แก่ ฟาสต์ฟู้ด เนื้อหมู เนื้อไก่และเครื่องในไก่ น้ำส้มคั้น ปลาทับทิม         เราเก็บตัวอย่างกุ้งขาวจากแหล่งที่เป็นตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ได้แก่ ตลาดธนบุรี ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดไท ตลาดท่าน้ำนนทบุรี ตลาดปากน้ำ สมุทรปราการ ตลาดมหาชัย สมุทธสาคร ตลาดคลองเตยและห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ได้แก่ กูร์เมต์ สยามพารากอน ทอปส์ บิ๊กซี ฟู้ดแลนด์ กูรเม่ต์ มาร์เกต เดอะมอลล์ ห้างโลตัส และห้างแมคโคร  รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง นำส่งห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ISO 17025 เพื่อทดสอบหาตัวยา 4 กลุ่ม ได้แก่ Nitrofurans metabolites , Chloramphenicol , Veterinary drug residues (Tetracycline group) และ Malachite green ผลการทดสอบ        เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะทั้ง 4 กลุ่ม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 หุ้น ‘STARK’ หายนะนักลงทุนรอบล่าสุด

        น่าเสียดายที่หุ้น STARK ไม่ใช่ตัวเดียวกับบริษัทของ Tony Stark หรือไอรอน แมนแห่งจักรวาลมาร์เวล ไม่งั้นคงเป็นหุ้นเนื้อหอมที่ใครๆ ก็อยากได้ แต่หุ้น STARK ดันเป็นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หมวดธุรกิจวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร         ราคาพาร์ตอนเริ่มซื้อขายคือ 1 บาท เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 6.65 บาทต่อหุ้นในปี 2562 เรียกว่าถ้าใครได้ซื้อตอนราคาหุ้น 1 บาท แล้วขายตอนราคาสูงสุดก็ได้กำไรไปเหนาะๆ 6 เท่ากว่าๆ แบบนี้ไงใครๆ ถึงอยากเล่นกับไฟในตลาดหุ้น         เดือนสองเดือนที่ผ่านมา STARK กลายเป็นหายนะของใครหลายคน ประเมินกันคร่าวๆ ว่าความเสียหายน่าจะมากกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากหุ้นกู้ 5 รุ่น รวม 9.1 พันล้านบาทที่ผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว บวกกับข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตงบการเงินอีก 2.5 หมื่นล้านบาท ส่วนราคาหุ้นน่ะหรือ? วันที่ 29 มิถุนายน 2566 หล่นมาเหลือแค่ 0.02 บาท หรือ 2 สตางค์ นักลงทุนบางคนที่ยอมให้สัมภาษณ์แบบไม่เปิดเผยชื่อขาดทุนไป 100 ล้านบาทจาก STARK ตัวเดียว         ลองดูรายได้ของ STARK ปี 2562-2564 มีรายได้ตามลำดับดังนี้ 11,607 ล้านบาท, 16,917 ล้านบาท,  27,129 ล้านบาท ส่วนปี 2565 แค่ 9 เดือนมีรายได้ถึง 21,877 ล้านบาท ขณะที่กำไรตั้งแต่ปี 2562-2564 เรียงตามลำดับคือ 123 ล้านบาท, 1,608 ล้านบาท, 2,783 ล้านบาท และแค่ 9 เดือนของปี 2565 ก็กำไรไปแล้ว 2,216 ล้านบาท รายได้กับกำไรพุ่งพรวดขนาดนี้มีหรือนักลงทุนทั้งรายย่อย รายใหญ่ หรือกองทุนรวมจะไม่เข้าซื้อ         แต่แล้วก็เริ่มมีอะไรแปลกๆ เพราะปี 2565 STARK ไม่ได้ส่งงบการเงิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เลยต้องขึ้นเครื่องหมาย SP หรือกระงับการซื้อขายชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2565 ก่อนจะรู้ความจริงภายหลังจากงบการเงินปี 2565 ว่า STARK ขาดทุนสะสมมากกว่า 10,379 ล้านบาท ถ้านับหนี้สินที่ติดค้างกับสถาบันการเงินและผู้ถือหุ้นกู้ เท่ากับว่า STARK ล้มละลายไปแล้ว         แน่นอนว่าพอเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลท. กับ 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนก็ต้องออกมาแอ็คชั่นเพื่อเรียกความมั่นใจ...ก็เป็นแบบนี้ทุกที         เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า STARK ที่เป็นซุปเปอร์ฮีโร่มีแต่ในหนัง และ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” แล้วก็ต้องคอยติดตามดูให้ดี อย่างที่เห็นว่างบการเงินก็หลอกกันได้ถ้าผู้บริหารตั้งใจจะเล่นแร่แปรธาตุ ลงทุนอย่างระมัดระวัง กระจายความเสี่ยง และอย่าฝากผีฝากไข้ไว้กับหุ้นดาวเด่นตัวใดตัวหนึ่ง         และอยากบอกว่ากรณีหุ้น STARK จะไม่ใช่กรณีสุดท้ายแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 อเมริกากับการใช้แรงงานเด็ก

        ตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา เด็กอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไป สามารถเข้าสู่ระบบการจ้างงานได้ แต่หากอายุยัง ไม่ถึง 16 ปี รัฐจะจำกัดชั่วโมงการทำงานเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสไปโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีงานอันตรายบางอย่างใน โรงงานอุตสาหกรรมหรือในโรงฆ่าสัตว์ที่กฎหมายระบุห้ามทำ         ที่ผ่านมามีการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวมากขึ้นถึงร้อยละ 60 ตั้งแต่ปี 2018 และผู้กระทำผิดก็เป็นผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่เสียด้วย เช่น กรณีของแมคโดนัลด์ ที่กระทรวงแรงงานพบว่า “จ้าง” เด็กไม่ต่ำกว่า 300 คน ทำงานโดยไม่ให้ค่าจ้างหรือให้ในอัตราที่ต่ำมาก  ในจำนวนนั้นมีเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ สองคนรวมอยู่ด้วย         หลุยส์วิล บาวเออร์ฟู้ด เจ้าของแฟรนไชส์แมคโดนัลด์ 10 สาขา จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ทำงานเกินเวลาที่กำหนด บางครั้งเกินตีสอง โดยไม่จ่ายค่าจ้างล่วงเวลา         บริษัทบอกว่างานของเด็กเหล่านี้คือเตรียมอาหาร เสิร์ฟ ทำความสะอาดร้าน รับออเดอร์ และคิดเงิน แต่การสืบสวนพบว่าเด็กบางคนประจำการอยู่หน้าเตาทอดฟรายส์ ซึ่งตามกฎหมายแล้ว หน้าที่นี้ต้องเป็นของผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ส่วนเด็กอายุ 10 ขวบสองคนที่ว่านั้น บริษัทอ้างว่าเป็นลูกหลานของพนักงานซึ่งเป็นผู้จัดการร้านกะดึก และ“งาน” ที่ทำก็อยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามบริษัทถูกปรับเป็นมูลค่า 212,000 เหรียญ (7.25 ล้านบาท)         อีกตัวอย่างเป็นกรณีของเด็กหนุ่ม “วัย 18” ที่ทำงานอยู่ในโกดังแห่งหนึ่งของบริษัทประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ของค่ายรถจากเกาหลี ฮุนไดมอเตอร์กรุ๊ป         เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจโกดังแห่งนี้ หลังได้รับเบาะแสจากพลเมืองดีว่ามีเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ทำงานอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็พบ “พนักงานหน้าเด็ก” กำลังง่วนอยู่กับการวางซ้อนอุปกรณ์โลหะขนาดใหญ่จริงๆ ตามเอกสารการจ้างงาน “พนักงานชาย” คนนี้ชื่อ เฟอร์นันโด รามอส บัตรประจำตัว (ที่ทำปลอมหยาบๆ แบบไม่กลัวถูกจับได้) ระบุว่าเขาอายุ 34 ปีและมาจากรัฐเทนเนสซี         แต่ความจริงแล้วเด็กซึ่งเป็นผู้อพยพจากเม็กซิโกคนนี้อายุ 16 ปี(แต่โกหกเจ้าหน้าที่ว่าอายุ 18) เคยเรียนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมต้นแห่งหนึ่งในเมืองมอนต์โกเมอรี เด็กยอมรับว่าไม่ได้ไปเรียนนานแล้ว และใช้บัตรปลอมนี้สมัครเข้าทำงานกับหลายบริษัทมาตั้งแต่อายุ 14 เบื้องต้นกระทรวงแรงงานสั่งปรับบริษัทจัดหางานสามแห่ง ฐานจ้างเด็กทำงานโดยผิดกฎหมาย รายละ 5,050 เหรียญ (ประมาณ 173,000 บาท)         ทางด้านฮุนได ซึ่งมียอดขายรถยนต์เป็นอันดับสามในอเมริกา รีบแถลงข่าวทันทีว่าเขาไม่เคยมีนโยบายจา้ งคนอายุต่ำกวา่ 18 ปี ต่อไปนี้บริษัทจะตรวจสอบซัพพลายเออรกวดขันไม่ให้มีการจ้างงานผ่านบุคคลที่สาม และจะจัดสัมมนาเพื่อทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย         บทวิเคราะห์จากสื่อมวลชนระบุว่าปัญหาการใช้แรงงานเด็กในสหรัฐฯ รุนแรงขึ้นเพราะหลายปัจจัยอย่างแรกคือโรคระบาด ความต้องการบริโภคสินค้าและบริการหลังการระบาดของโควิด 19 ทำให้ผู้ประกอบการต้องรับมือกับการขาดแคลนแรงงาน ในขณะที่ความสามารถในการจ่ายค่าจ้างก็น้อยลงเด็กเหล่านี้จึงเป็นทางออก        การอพยพหนีความยากจนหรือความรุนแรงในอเมริกาใต้ก็ทำให้มีแรงงานเด็กผิดกฎหมายมากขึ้นสถิติระบุว่าในปี 2022 เด็กจากพื้นที่ดังกล่าวขอลี้ภัยเข้ามาในสหรัฐถึง130,000 คน และเมื่อพวกเขาถูกละเมิด ทั้งตัวเด็กและพ่อแม่ก็ไม่แจ้งความ เพราะยังไม่มั่นใจเรื่องสิทธิอยู่อาศัยในอเมริกา         อีกปัจจัยคือทุนนิยมที่กำลังระบาดไปทั่วประเทศ ภาคธุรกิจอ้างว่าพวกเขาให้โอกาสคนจนได้มีรายได้มีที่อยู่อาศัย ช่วยลดปัญหาคนอดอยากและคนไร้บ้านไปในตัว ภาครัฐเองก็ออกกฎหมายที่ช่วยให้การจ้างงานเด็กเป็นเรื่องง่ายขึ้น เช่น รัฐอาคันซอ อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า16 ปี สมัครเข้าทำงานได้โดยไม่ต้องแสดงใบอนุญาตทำงานที่ทางการออกให้ หรืออีก 10 มลรัฐที่เพิ่มชั่วโมงทำงานของเด็ก ยกเลิกข้อห้ามเรื่องการทำงานอันตราย อนุญาตให้เด็กทำงานในสถานที่ ๆ มีการเสริ์ฟอัลกอฮอล และลดค่าแรงขั้นต่ำสำหรับเด็ก เป็นต้น         โทษสูงสุดของการใช้แรงงานเด็กตามกฎหมายปัจจุบันของสหรัฐคือค่าปรับไม่เกิน 15,138 เหรียญต่อกรณี (ประมาณ 514,450 บาท) ซึ่งถือว่าน้อยเกินไป บริษัทขนาดใหญ่ที่มีกำไรมหาศาลสามารถจ่ายได้โดยไม่เดือดร้อน         รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศแผนปราบปรามการใช้แรงงานเด็กโดยให้กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์เป็นเจ้าภาพ แต่สังคมอเมริกันเองยังไม่ตระหนักถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจก็แกล้งทำไม่รู้ไม่เห็น เพราะคิดว่าเด็กเหล่านี้ “ไม่ใช่ลูกหลานเรา” ก็ตามที่รัฐบาลทำได้ตามนี้จึงจะถือได้ว่าเห็นแก่ประโยชน์ของบริโภคอย่างแท้จริง!ที่มา:https://www.straitstimes.com/world/united-states/us-vows-clampdown-on-alarming-child-labour-surge https://www.japantimes.co.jp/news/2023/05/01/world/fake-id-hyundai-child/?fbclid=IwAR2toYrBilsK2WnaYh xTeW9AxHBdGcowjhCQzYtnoUgY6-0k1OrYiMyqQP8 https://www.channelnewsasia.com/business/mcdonalds-franchises-fined-us-child-labour-violations-3462256? fbclid=IwAR2NncrkFhMMGGHOIPSWhbW0GGVIBjWBxAWUdSecQwgKrEwftHhSp3FSfgI https://www.theguardian.com/commentisfree/2023/mar/31/child-labor-laws-republicans

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 ประกาศเลิกวิ่งเทรลกะทันหันแค่ 1 วัน ทำอะไรได้บ้าง

        คุณตุ๊กตาและครอบครัวหลงใหลการวิ่งมาราธอนมาก โดยเฉพาะวิ่งเทรล (Trail Running) หรือการวิ่งในรูปแบบของการผจญภัยตามบริเวณพื้นที่ธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่า ภูเขา ทุ่งหญ้ากว้าง แล้วแต่ภูมิประเทศของสถานที่จัดงาน เมื่อได้ทราบข่าวการวิ่งเทรลที่เกาะช้าง โดยบริษัทจัดงานที่มีชื่อเสียง คุณตุ๊กตาจึงสมัครทันทีไม่รีรอ และแน่นอนว่าไม่พลาดที่จะบริหารจัดการเรื่องตั๋วเรื่องที่พักบนเกาะช้างอย่างว่องไว พร้อมกับคาดหวังถึงความสุข สนุกสนานของงานวิ่งครั้งนี้         “เราสมัครวิ่งตั้งแต่เมษายน 2565 ล่วงหน้าเป็นปีเลยนะ เสียค่าสมัคร 2,400 บาท เป็นการวิ่งระยะทาง 40 กิโลเมตร แล้วยังจ่ายเงินค่าโรงแรมไปอีก 4,000 บาท มีค่าเดินทางด้วยแล้วนี่ก็เตรียมพร้อมล่วงหน้าไปถึงก่อน เข้าพักแล้วด้วย อ้าวเฮ้ย...บริษัทผู้จัดงานประกาศยกเลิกผ่านเฟซบุ๊กก่อนจะวิ่งแค่ 1 วัน เงิบเลยค่ะ”         คุณตุ๊กตาเล่าว่าในเพจของผู้จัดงานแจ้งเหตุผลว่า งานล่มเพราะทางอุทยานแห่งชาติหมูเกาะช้างและเทศบาลตำบลเกาะช้าง ไม่อนุญาต “แบบนี้ก็แสดงว่าทางผู้จัดการไม่ได้ทำเรื่องยื่นขออนุญาตใช่ไหม บริษัทนี้ใหญ่มากนะทำไมทำงานพลาดเรื่องง่ายๆ แค่นี้” และถึงทางบริษัทจะประกาศคืนเงินที่ทางบริษัทเรียกว่า ชดเชยสิทธิประโยชน์  แต่ต้องรอนานพอสมควรคือจ่ายคืนเป็นรอบไม่ใช่ทันที ตอนนี้ใกล้ถึงรอบที่เราต้องได้รับการชดเชยค่าสมัครแล้วยังไม่มีการติดต่อมาเลยดิฉันจะทำอย่างไรได้บ้างคะ เป็นคำถามเพื่อขอรับคำแนะนำจากทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         งานวิ่งเทรลนี้เป็นงานใหญ่มีผู้สมัครเข้าร่วมมากกว่า 2000 ราย เมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ตรวจสอบจากข้อความหน้าเพจของทางผู้จัด เมื่อ 18 เมษายน 2566 ปรากฎข้อความแจ้งคืนเงินให้ผู้เสียหายตามกำหนดรอบเรียงตามคิวที่ยื่นเรื่องขอรับการชดเชย ซึ่งยังปรากฎว่ามีผู้เสียหายหลายคนยังไม่ได้รับการคืนเงิน สำหรับคุณตุ๊กตานั้น ทางศูนย์ฯ ได้ช่วยทำหนังสือแจ้งบริษัทให้เร่งชดเชยเงินต่อผู้ร้องตามกำหนด แต่ขณะที่เขียนบทความนี้คุณตุ๊กตายังไม่ได้เงินคืนตามรอบที่กำหนดไว้ คือ 24 พฤษภาคม และสำคัญสุดคือ บริษัทประกาศชดเชยเฉพาะค่าสมัครวิ่ง ไม่รวมกับค่าเสียหายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าที่พัก         กรณีคุณตุ๊กตา เป็นเพียงผู้ร้องรายเดียวที่ติดต่อมาที่ มพบ. ดังนั้นเพื่อให้เกิดการชดเชยที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อคนในวงกว้าง มุลนิธิฯ จึงประกาศแจ้งให้ผู้เสียหายจากงานวิ่งเทรลเกาะช้างเร่งส่งหลักฐานมาที่ www.ffcthailand.org/complaint  เพื่อนำสู่การเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้จัดงานเพื่อให้คืนเงินอย่างเร่งด่วน และหากเจรจาไม่เป็นผลอาจเข้าสู่กระบวนการฟ้องคดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >