ฉบับที่ 106 แฟนคลับเกาหลีแห่ร้อง กลัวทรูจัดคอนเสิร์ต “ห่วย”

“Super Junior the 2nd Asia Tour - Super Show2การแสดงสุดพิเศษ โดยบอยแบนด์สุดฮอท จากประเทศเกาหลี นำเสนอความันส์แบบเต็มรูปแบบกับทัวร์คอนเสิร์ตครั้งที่สองของวง Super Junior ทรู มิวสิค ได้นำพวกเขากลับมาพบแฟนๆ แบบเต็มรูปแบบอีกครั้ง แบบเต็มอิ่มถึง 2 รอบ”นี่เป็นส่วนหนึ่งของข้อความในการโฆษณาการแสดงคอนเสิร์ต Super Show2 ของ ทรูมิวสิค ทรูไลฟ์ โดยระบุถึงช่องทางการจำหน่ายตั๋วเข้าชมคอนเสิร์ตซึ่งจะเปิดการแสดง 2 รอบในเย็นวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 28-29 พฤศจิกายน 2552 แต่กลับไม่ระบุสถานที่ว่าจะเปิดการแสดงที่ไหน เพียงแค่โฆษณาว่าจะมีการแถลงข่าวในเย็นวันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2552 และระบุสถานที่ว่าเป็นที่ห้างชื่อดังย่านสยามอย่างชัดเจน ทำให้สมาชิกและแฟนคลับดาราเกาหลีพยายามสอบถามกันให้วุ่น แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดชี้แจงที่ชัดเจน มีเพียงข้อความที่แจ้งว่า“สำหรับรายละเอียดอื่นๆ จะทยอยแจ้งให้ทราบหลังจากที่ได้สรุปเรียบร้อยแล้ว รวมถึงในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ”ทำให้เกิดเสียงบ่นกันขรม และมีการร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือด้วย อย่างแฟนคลับท่านหนึ่งได้ร้องเรียนมาว่าจากเวบไซต์ที่โพสให้ด้านบน ข้อความโฆษณาคอนเสิร์ตนี้มีการแก้ไขเป็นระยะๆ เมื่อมีผู้บริโภคคอมเมนต์ตอบ (แต่ตอนนี้ก็ได้ปิดรับคอมเมนต์ไปแล้ว) มันหมายความว่า “ทางบริษัททรูฯ ไม่ต้องการความคิดเห็นของทางแฟนคลับเหรอคะ?” รายละเอียดที่ให้ไว้ก็ไม่ได้ชัดเจน 100% (ผังที่นั่ง สถานที่จัดคอนเสิร์ต ฯลฯ) “บอกตามตรงว่า ไม่อยากให้ทางทรูจัดคอนเสิร์ตเกาหลีเลยเพราะที่ผ่านมา (สองครั้งสองครา) จัดงานได้แย่มาก ครั้งแรกเป็นงานคอนเสิร์ตปิดถนนที่ RCA เมื่อสองสามปีก่อนถนนแคบมาก (เคยไปกันใช่มั้ยคะ) แต่แจกบัตรเด็กเป็นพันคน กับมินิคอนเสิร์ตที่พากันมาโชว์แค่สองสามเพลงวันนั้นเด็กเหยียบกัน เป็นลมกันเป็นร้อยนะคะ ไร้ความรับผิดชอบมากๆ เวทีก็เล็กนิดเดียว (แต่ Super Junior มีกัน 13 คน) แค่คนเบียดกัน เวทีก็แทบพังแล้วค่ะ”ครั้งต่อมาเป็นคอนเสิร์ต Super Junior Super Show เมื่อกลางปีก่อนเรียกได้ว่าทางบริษัทไม่มีความพร้อมในด้านใดเลย“ปกติแล้วจะจัดคอนเสิร์ตหรืออะไรก็ตามควรแจ้งหรือประชาสัมพันธ์รายละเอียดอย่างน้อย 3 เดือน ถูกมั้ยคะ แต่บริษัททรูฯ แจ้งภายใน 1 เดือนครึ่งค่ะ แล้วรายละเอียดทุกอย่างของงานก็ไม่ชัดเจนเลย จนกระทั่ง 2-3 วันก่อนเปิดขายบัตรจึงค่อยออกมาบอกรายละเอียดที่(เกือบจะ)ชัดเจนให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ได้รับทราบซึ่งถ้าหากว่าไม่มีผู้บริโภค (หรือแฟนคลับ SJ) คอยโพสคอมเมนต์ต่อว่า ทางบริษัททรูฯ ก็คงไม่ออกมาแจ้งรายละเอียดอย่างจริงจังและชัดเจนเท่าที่ควร…”นอกจากข้อร้องเรียนนี้แล้วเมื่อเปิดเข้าไปในเว็บไซต์ของทรูไลฟ์ ทรูมิวสิคเองก็พบว่ามีผู้เขียนความเห็นในทำนองต่อว่าเรื่องการไม่บอกรายละเอียดของทรูหลายกระทู้ความเห็น สำหรับการดำเนินการของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนั้น เมื่อได้มีผู้ร้องเรียนเข้ามา มูลนิธิได้ทำหนังสือด่วนแจ้งถึงผู้บริหารของทรูเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาต่อไป เพราะหากทรูจัดการคอนเสิร์ตไม่เป็นไปตามที่โฆษณา หรือเกิดอุบัติเหตุจนมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตเกิดขึ้น บรรดาผู้ที่ซื้อตั๋วเข้าชมคอนเสิร์ตสามารถใช้สิทธิฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายได้ทันทีครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 ตั้งใจให้มีส่วนร่วมจริงเปล่าคะ…รัฐสภา

ในกระแสการเมืองที่เชี่ยวกราก ประดุจน้ำที่หลั่งไหลจากเขื่อนแตก กระแสหนึ่งที่ถาโถมการเมืองไทยคือประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ(นี่ยังไม่บวกประเด็นป๋า/ประเด็นพี่ไหนๆ นะ) ถึงกับต้องบอกว่า ร้อน......เจงๆ นั่นแน่คิดว่าเราจะเขียนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญอีกแล้วละซิ.. ถ้าคิดอย่างนั้นขอบอกว่า คุณ...คิดผิด แฮ่ๆ เพราะเราจะเขียนเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนกับระบบนิติบัญญัติของชาติไทยตั้งแต่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 เป็นต้นมากระแสการมีส่วนร่วมของประชาชนก็โดดเด่นขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง และกระแสนี้ก็ยังต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทำให้มีหน่วยราชการมากมาย วิ่งมาหาแกนนำภาคประชาชน เพราะการมีประชาชนเข้าร่วมเป็นหนึ่งเกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จในการทำงาน หน่วยงานไหนที่สามารถนำประชาชนเข้าร่วมได้มากถือว่ามีผลงานมาก ทำให้ทุกหน่วยราชการต่างแย่งชิงกลุ่มองค์กรภาคประชาชน เพื่อให้หน่วยงานของตนผ่านตัวชี้วัด ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลย ว่าทำไมชาวบ้านมี ชุดฟอร์ม ที่แสดงสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าของจากหน่วยงานราชการหลายหน่วย(จนชาวบ้านกลายเป็นคนของรัฐไปหมดน่าเหนื่อยใจจริงๆ)และยิ่งไปกว่านั้นกระแสการมีส่วนร่วมได้ลุกลามเข้ามาถึงสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ต้องบอกก่อนนะเรื่องที่เขียนอาจมีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้อง แต่มิใช่ประเด็นหลักเป็นเพียงประเด็นที่อยากชี้ให้เห็นว่าจริงแล้วหน่วยงานเหล่านี้ มีความจริงใจให้ประชาชนเข้าร่วมจริงหรือไม่ พอดีผู้เขียนได้ถูกเชิญเข้าไปเป็นอนุกรรมาธิการชุดหนึ่งในวุฒิสภา(โอ้ย...หากใครได้รับเชิญเข้าไปอาจคิดว่ามันเป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูลไปเลยก็ว่าได้ ว่า...เข้าไปนั่น...) ผู้เขียนถูกเชิญเข้าไปก็รู้แต่ว่าเราต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ และในชุดนี้ยังมีการเชิญพี่น้องจากต่างจังหวัดเข้าร่วมด้วย ไกลที่สุดก็คือมาจากปัตตานี ทุกคนมากด้วยความเต็มใจและมุ่งมั่น แต่เชื่อไหมว่า การมีส่วนของประชาชนมันเป็นแค่เรื่องที่เขียนไว้เท่ๆ ในรัฐธรรมนูญและในกฎหมายอื่นๆเท่านั้นเอง.... เพราะกฎระเบียบอื่นๆ ไม่ได้แก้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะเกณฑ์การจ่ายค่าเดินทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาเข้าร่วมไม่มี มีแต่ เกณฑ์เก่าสมัยพระเจ้าเหาได้มั้งที่เอามาใช้ และถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยแท้ ในระเบียบของรัฐสภา ผู้ที่ถูกเชิญเข้ามาเป็นอนุกรรมาธิการจะมีเบี้ยเลี้ยงให้ครั้งละ 500 บาทจะมาจากไหนก็ช่างเธอ...ฉันให้เท่านี้ล่ะตามระเบียบ ผู้เขียนไม่เดือดร้อนอะไรเพราะอยู่แค่สมุทรสงคราม ชิลล์ๆ อยู่แล้ว แต่คิดถึงคนที่มาจากปัตตานี คิดไหมว่าเขาจะเดือดร้อน คิดดูชาวบ้านธรรมดาๆ ไม่มีเงินเดือนไม่มีรายได้มั่นคงจะเข้ามาร่วมได้ไหม บางคณะประชุมเดือนละ 2 ครั้ง บางคณะประชุมทุกอาทิตย์ชาวบ้านที่ไหนจะมีเงินออกค่าเดินทางเองเข้ามาร่วมได้จริงไหมล่ะท่านถ้าชี้ให้เห็นชัดๆ ก็คือเกณฑ์ของรัฐสภาคือเกณฑ์ที่ผู้เข้าร่วมเป็นนักการเมือง เป็น ส.ส. หรือสว. อยู่แล้ว หรือราชการระดับหัวๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือกลุ่มทุนที่ไม่เดือนร้อนเรื่องค่าเดินทาง ชี้ให้เห็นว่าคนที่คิดเกณฑ์นี้ไม่ได้คิดเผื่อสำหรับประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่เคยคิดว่าจะมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ซะด้วยซ้ำ และนี่คือเรื่องที่อยากนำเสนอว่าอย่าว่าแต่หน่วยการราชการในพื้นที่ไม่จริงใจกับการมีส่วนร่วมของประชาชน รัด-ฐะ ก็เหมือนกัน มีแต่ปากดีว่าประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ประชาชนต้องมาก่อนอย่างนั้นอย่างนี้...(มาแล้วเดือดร้อน.จะมายังไง...) เอาเข้าจริงก็ไม่เห็นหัวชาวบ้าน แม้แต่จะคิดกฎเกณฑ์ที่อำนวยความสะดวกในการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดยังไม่ทำเลย ดีแต่พล่ามกันไปวันๆ น่าเหนื่อยจริงนะประเทศไทย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 รถไฟไหม้หลังเข้าศูนย์ซ่อม

คุณรัชตะ (นามสมมติ)ใช้รถยนต์ฮอนด้า แอคคอร์ด (V6) รุ่นปี 2003 มาได้ประมาณ 3 ปี 3 เดือน วิ่งประมาณ 113,XXX กิโลเมตรต่อมาในราว ๆ กลางเดือนกันยายน 2552 บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีจดหมายถึงคุณรัชตะรวมทั้งผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ฮอนด้า แอคคอร์ด (V6) รุ่นปี 2003 ถึง 2007 ว่าให้นำรถยนต์ฮอนด้ารุ่นดังกล่าวเข้ารับการเปลี่ยนท่อน้ำมันของระบบบังคับเลี้ยว เนื่องจากพบว่า ท่อน้ำมันระบบบังคับเลี้ยวเกิดเสื่อมสภาพ หลังจากผ่านการใช้งาน ส่งผลให้ระบบบังคับเลี้ยวทำงานผิดปกติและต้องใช้แรงในการหมุนเพิ่มขึ้นขณะหมุนพวงมาลัย โดยบริษัทฯ จะดำเนินการเปลี่ยนอะไหล่ชิ้นใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงคุณภาพ(เพิ่มเติม) โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่ประการใดในวันพุธที่ 23 กันยายน 2552 คุณรัชตะได้นำรถเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการฮอนด้าเอกอินทราฮอนด้า ออโตโมบิล เพื่อเปลี่ยนชุดลิ้นปีกผีเสื้อและเปลี่ยนท่อน้ำมันของระบบบังคับเลี้ยวตามที่บริษัทฮอนด้าแจ้ง และได้ไปรับรถออกมาในวันศุกร์ที่ 25 กันยายน 2552 คุณรัชตะได้เล่าถึงเหตุการณ์ระทึกขวัญในวันที่ไปรับรถที่เกือบเป็นวันมรณะของตนเองว่าผมรับรถออกมาเมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. และขับขึ้นทางด่วนโยธินพัฒนา วิ่งแค่พักเดียว (ถึงประมาณแถวพระราม 9) ก็เกิดอาการพวงมาลัยหนัก/แข็ง (อาการแบบพวงมาลัยหมุนแทบไม่ไปจากระบบพาวเวอร์ไม่ทำงาน) จึงได้นำรถลงบริเวณคลองตันเพื่อวกขึ้นทางด่วนกลับไปศูนย์ฯ(เอกอินทราฮอนด้า ออโตโมบิล) หลังจากผ่านด่านเก็บเงินเพื่อขึ้นกลับไปศูนย์ดังกล่าวซักระยะ การจราจรเริ่มชะลอตัว เริ่มได้กลิ่นเหม็นไหม้ กลิ่นเหมือนการไหม้ของน้ำมันเครื่องโดนความร้อน ซึ่งในกรณีนี้น่าจะเป็นน้ำมันพาวเวอร์ที่รั่วฉีดไปทั่วห้องเครื่อง และเริ่มเห็นควันขาวซึ่งน่าจะเป็นควันจากน้ำมันพาวเวอร์โดนความร้อน ผมจึงได้โทรเข้าศูนย์ เพื่อสอบถามว่าจะทำอย่างไรดีศูนย์แนะนำให้จอดและให้รถลากของทางด่วนลากไปส่ง ผมจึงได้ขับตัดเข้าข้างทาง (บริเวณดังกล่าวเป็นทางบรรจบบนทางด่วน ช่วงพระราม 9) และจอดบริเวณตู้โทรศัพท์ ซึ่งระหว่างนั้นยังไม่ได้ลงจากรถเนื่องจากมีฝนพรำๆ ซึ่งตอนนั้นยังคุยอยู่กับศูนย์ฯ เพื่อขอเบอร์ทางด่วน และได้เบอร์ 1543 ของทางด่วนเพื่อโทรขอความช่วยเหลือระหว่างนั้นกลุ่มควันขาวเริ่มมากขึ้น เนื่องจากตอนนี้รถจอดนิ่งสนิทแล้ว ไม่มีลมพาควันออกไป และจึงเริ่มสังเกตเห็นเปลวเพลิงลุกขึ้นมาบริเวณระหว่างฝากระโปรงและกระจกบังลมหน้า (บริเวณช่องที่ปัดน้ำฝน) จึงได้ออกจากรถ โดยหลังจากนั้นเพลิงได้โหมไหม้จนไม่สามารถควบคุมได้ (เจ้าหน้าที่กู้ภัยทางด่วนใช้ถังดับเพลิงมือถือ หมดไป 4 ถัง) ซึ่งต้องรอรถน้ำของหน่วยกู้ภัยเพื่อเข้าระงับเหตุจึงสามารถควบคุมเพลิงได้ หลังเกิดเหตุ ซึ่งรถเสียหายบริเวณห้องเครื่องทั้งหมดและลามบริเวณส่วนหน้าของคนขับจากการถูกเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่การทางได้ให้เข้าลงบันทึกประจำวันที่ สน.ทางด่วน 1 เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเสียหายของการทาง ประกอบด้วยค่าใช้จ่าย เติมสารดับเพลิง 4 ถัง, ค่ารถน้ำ 1 คัน, พื้นทางเสียหาย (เข้าใจว่าประกันเป็นผู้สำรองจ่าย) ภายหลังจากลงบันทึกประจำวันที่ สน. ทางด่วนแล้ว รถถูกลากไปรอที่ศูนย์เอกอินทราเพื่อรอการตรวจพิสูจน์ โดยได้นัดทำการตรวจสอบในวันจันทร์ ที่ 28 กันยายน 2552ทั้งนี้ผมโดยส่วนตัวมั่นใจว่าเป็นความผิดพลาดจากการเปลี่ยนท่อน้ำมันระบบบังคับเลี้ยว (ท่อ Hi Power) โดยเป็นข้อผิดพลาดจากการเปลี่ยน/ประกอบ หรือ ตัวอะไหล่ โดยมีข้อสังเกตจากการที่ศูนย์ขอเลื่อนการรับรถผม 1 วัน โดยแจ้งว่าเปลี่ยนท่อ Hi Power แล้วพวงมาลัยมันหนัก (ผมก็ไม่ได้ถามว่าที่บอกว่าหนักนี่คือหนักขึ้น หรือหนักขนาดไหน) โดยศูนย์แจ้งว่าขอไล่ลมและตรวจสอบทั้งระบบ นอกจากนี้ ก่อนที่จะเกิดเหตุเพลิงไหม้ อาการก็คือพวงมาลัยหนัก/แข็ง จากระบบพาวเวอร์นี้เองโดยในปัจจุบัน (3 ตุลาคม 2552) บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับทราบเรื่องแล้ว รวมทั้งได้ส่งพนักงานเพื่อเข้ามาตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว (ตั้งแต่วันอังคารที่ 29 กันยายน 2552) แต่ไม่พบการสรุปสาเหตุของปัญหา หรือแนวทางการชดเชยค่าเสียหายแต่อย่างใด และมีข้อสังเกตว่า ศูนย์บริการ เอกอินทราฮอนด้า ออโตโมบิล จำกัด / บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์เท่าที่ควร และไม่ได้ดำเนินการเพื่อเร่งการสรุปสาเหตุ หรือพิจารณาการชดเชยแต่อย่างใด เนื่องจากตั้งแต่เกิดเรื่อง ผมจะต้องเป็นคนติดตามเกือบทั้งหมด ตั้งแต่นัดประกันเข้าตรวจสอบ, การแจ้งเรื่องให้ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะเจ้าของผลิตภัณฑ์เข้ามาร่วมตรวจสอบ, การเรียกร้องให้ได้มาซึ่งการชดเชยเบื้องต้น (ได้ขอรถชั่วคราวเพื่อสำรองใช้ 1 คัน) , และจากการติดตามจากเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ซึ่งเป็นผู้ดูแลปัญหานี้ (ติดตามวันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน 2552 และ ศุกร์ 2 กันยายน 2552) ก็ได้ความว่ายังไม่มีความคืบหน้าทั้งที่เป็นกรณีที่มีความรุนแรง รวมทั้งมีผู้ใช้รถรุ่นเดียวกันที่ถูกเรียกให้เข้าไปดำเนินการเปลี่ยนท่อดังกล่าวจำนวนมากสิ่งที่คุณรัชตะต้องการขอความช่วยเหลือคือต้องการให้เร่งการสรุป การชดเชยค่าเสียหาย รวมทั้งเป็นแกนหลักในการแนะนำถึงความสมเหตุสมผลของการชดเชยที่พึงจะได้รับ ทั้งการชดเชยต่อทรัพย์สิน การชดเชยต่อความไม่ปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการชดเชยอื่นๆ ที่พึงจะประเมินได้ตามสมควรแนวทางแก้ไขปัญหาคุณรัชตะร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในวันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม 2552 หลังจากที่รถไฟไหม้ได้ 1 อาทิตย์และพยายามตามเรื่องด้วยตนเอง จนในที่สุดได้มีหนังสือแจ้งจากคุณรัชตะว่าศูนย์บริการฮอนด้า (เอกอินทราฮอนด้า) ได้แสดงความรับผิดชอบในเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว คือ หนึ่ง ได้มีการจัดหารถยนต์สำรองใช้ระหว่างดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2552 สอง ศูนย์บริการฮอนด้าฯ แห่งนี้ได้ทำการชดเชยค่าเสียหายทั้งในส่วนของทรัพย์สินและค่าเสียหายอื่น ๆ ตามที่คุณรัชตะได้รียกร้อง โดยที่คุณรัชตะพึงพอใจต่อการดำเนินการดังกล่าวของศูนย์ฯ และไม่ติดใจเอาความหรือเรียกร้องอื่น ๆ เพิ่มเติมแต่อย่างใดสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ฮอนด้า แอคคอร์ด (V6) รุ่นปี 2003 ถึง 2007 และได้รับแจ้งให้ไปเปลี่ยนท่อน้ำมันของระบบบังคับเลี้ยว(เพิ่มเติม) หากสงสัยว่าอาจมีปัญหาเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนอะไหล่ ไม่ควรปล่อยให้ชักช้าเนิ่นนานไป รีบติดต่อศูนย์บริการโดยทันทีเป็นดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 ฉันทนาถูกผีสวมสิทธิเบิกเงิน

เรื่องนี้เป็นเรื่องของลูกจ้างแรงงานโชคร้ายที่ถูกผีสวมสิทธิจนเกือบไม่ได้ใช้สิทธิประกันสังคมคุณกิตติมา สาวใหญ่วัย 48 ปี ทำงานอยู่ในโรงงานผลิตชุดชั้นในแห่งหนึ่ง และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกับโรงพยาบาลนวมินทร์ 2 ได้ร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา เห็นทางโรงพยาบาลแห่งนี้ขึ้นป้ายว่า บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรี ตามโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 76 จังหวัดทั่วประเทศพอทำเรื่องลางานได้ในวันที่ 24 สิงหาคม 2552 จึงเดินทางไปที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ตั้งใจจะไปใช้สิทธิตรวจรักษา แต่เมื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตรวจสอบข้อมูลในคอมพิวเตอร์พบว่า ตนได้ใช้สิทธิตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 และวันที่ 18 มีนาคม 2552 ซึ่งข้อมูลนี้ถูกบันทึกโดยโรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิรักษาฟรีได้สำหรับปี 2552คุณกิตติมา รู้สึกแปลกใจ และไม่ทราบว่า ทางโรงพยาบาลอ้างสิทธิของตนได้อย่างไร เพราะในปี 2552 ตนยังไม่ได้ไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเลย แต่ก็พอนึกขึ้นได้ว่า เมื่อปี 2551 โรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล มาออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจมะเร็งปากมดลูกที่โรงงาน เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 ตนและเพื่อนร่วมงานหลายคนได้ใช้บริการ“ตอนนั้นเสียค่าใช้จ่าย 199 บาทด้วยค่ะ” คุณกิตติมาให้ข้อมูล แนวทางแก้ไขปัญหาอันว่าโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 76 จังหวัดทั่วประเทศนั้น มีที่มาจากการที่ในปัจจุบันโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศไทย เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เพราะทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรบุคคลและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งปากมดลูกต้องมีการค้นหา โดยการตรวจหาเซลล์มะเร็งให้พบตั้งแต่อยู่ในระยะเริ่มแรกและในระยะก่อนเป็นมะเร็งซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาในระยะลุกลาม และจากการศึกษาขององค์การอนามัยโลก ได้พบว่าการคัดกรองด้วยการทำ pap smear (ซึ่งเป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกวิธีหนึ่ง) ในสตรีกลุ่มเป้าหมายอายุ 35,40,45,50,55,60ปี ทำให้ช่วยลดอัตราการเกิดและอัตราการตายจากโรคมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนั้น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดทำโครงการนี้ขึ้น โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับบริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คือสตรีที่ใช้สิทธิประกันสังคม และสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จะเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยค่าบริการให้กับโรงพยาบาลแทน สำหรับการคัดกรองด้วยวิธี pap smear สปสช.จะทำการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการให้รายละ 250 บาท นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนหลายแห่งเข้าร่วมโครงการนี้และทำให้แรงงานที่มีประกันตนกับสำนักงานประกันสังคมอย่างเช่นคุณกิตติมาก็ได้รับสิทธิตรวจรักษาฟรีด้วยแต่เมื่อคุณกิตติมาได้ให้ข้อเท็จจริงว่า ได้เคยตรวจมะเร็งปากมดลูกที่โรงงานกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของโรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 และยังเสียค่าใช้จ่าย 199 บาทด้วย ซ้ำเมื่อมาขอตรวจอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2552 กลับมีบันทึกข้อมูลของโรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนลว่าคุณกิตติมาได้ใช้บริการไปแล้วเมื่อ 18 มีนาคม 2552 อย่างนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นว่ามีใครไปแอบใช้สิทธิโดยที่เจ้าตัวไม่รู้หรือไม่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการ สปสช. เขตพื้นที่ 13 กรุงเทพมหานครเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาลงโทษหน่วยบริการที่เบิกงบประมาณค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ พร้อมแก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้บริโภคไปเมื่อ 14 กันยายน 2552 และในวันที่ 8 ตุลาคม 2552 สปสช. เขตพื้นที่ 13 ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า สำนักงานฯ ได้ประสานและทำหนังสือถึงคุณกิตติมาให้ไปรับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ที่โรงพยาบาลนวมินทร์ 2 ได้ตามสิทธิ โดยให้โรงพยาบาลนวมิทนร์ 2 เบิกชดเชยบริการกับสำนักงานฯ ได้ ส่วนปัญหาสำคัญคือเรื่องข้อเท็จจริงข้อมูลการเบิกจ่ายนั้น ขณะนี้สำนักงานฯ อยู่ในระหว่างการตรวจสอบการบริการอยู่  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 ทวงหนี้โหดจาก สนง.กฎหมายของ เอไอเอส

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) เป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการโทรคมนาคม ที่ผู้บริโภคจำนวนมากให้ความไว้วางใจในการเลือกใช้บริการ โดยบริการหลายอย่างต้องถือว่ามีคุณภาพมาก แต่ยกเว้นอยู่อย่าง คือมารยาทในการติดตามทวงถามหนี้ของสำนักงานกฎหมายที่ทำงานให้ต้องถือว่าอยู่ในขั้นด้อยพัฒนาเอามากๆคุณธิติวัฒน์ ได้รับหนังสือติดตามทวงถามหนี้ที่เต็มไปด้วยข้อความ ข่มขู่ คุกคาม จากสำนักงานกฎหมายเซนิท ลอว์ จำกัด ซึ่งทำงานทวงหนี้ให้กับเอไอเอสเริ่มจาก การประทับตราแดงด้วยข้อความขนาดใหญ่ “ด่วนที่สุด” และ “เอกสารสำคัญเลขที่......./2552 และขึ้นหัวจดหมาย เรื่อง “ขอให้ชำระหนี้ก่อนบังคับคดี” (ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการฟ้องร้อง)สำหรับเนื้อหาในจดหมายทวงหนี้ก็ด้อยพัฒนาเอามากๆ“ตามที่ท่านได้ค้างชำระค่าบริการโทรศัพท์กับบริษัทฯ ทางสำนักงานฯ ขอแจ้งให้ท่านทราบว่า บัญชีรายชื่อของท่านได้ถูกตรวจสอบและพิจารณาให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมส่งรายชื่อเข้าข้อมูลเครดิตกลางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”เท่านี้ยังไม่พอ ข้อความข่มขู่กดดัน ยังสำรอกออกมาอีกหลายขยอก“ท่านต้องถูกบังคับคดี โดยทางสำนักงานจะนำเจ้าพนักงานบังคับคดี ไปยังบ้านที่ท่านมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านเพื่อทำการยึดทรัพย์ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นของท่านหรือไม่ก็ตาม...และนำทรัพย์สินที่ยึดได้ออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ที่ค้างชำระ”พร้อมกับใส่ข้อความในลงเว็บว่า “(ซึ่งถ้าหากทรัพย์ที่ยึดไม่ใช่ของท่าน เจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงจะต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ไปร้องขัดทรัพย์ที่ศาล)” ที่หนักหนาสาหัสคือการกำหนดเวลาชำระหนี้ด้วยข้อความว่า “หากท่านต้องการระงับข้อพิพาท ทางสำนักงานให้โอกาสสุดท้ายกับท่าน(ดูเหมือนใจดีมาก) โดยท่านต้องชำระหนี้ภายใน 24 ชั่วโมง นับจากวันที่ได้รับหรือถือว่าได้รับหนังสือฉบับนี้...”หากคุณธิติวัฒน์เป็นหนี้จริง ก็ต้องกัดฟันทนคำข่มขู่ คุกคาม ดังกล่าว แล้วพยายามหาเงินมาใช้หนี้ให้ทันตามเวลาที่ถูกกำหนดมาให้ (ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยมีใครทำได้หรอกครับ) แต่ข้อเท็จจริงคือว่า คุณธิติวัฒน์ ไม่เคยเปิดใช้บริการหมายเลขโทรศัพท์ที่ถูกทวงหนี้มา จึงเป็นเรื่องที่ต้องร้องเรียนมาให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยจัดการให้แนวทางแก้ไขปัญหาไม่ว่าผู้บริโภคจะเป็นหนี้ค่าโทรศัพท์จริงหรือไม่ การออกจดหมายทวงหนี้ก็ควรเป็นเพียงการแจ้งยอดหนี้และช่องทางในการชำระหนี้เท่านั้น ไม่ควรจะมีลักษณะเนื้อหาของการข่มขู่กดดันในลักษณะใด ๆ ทั้งสิ้น และเมื่อผู้บริโภคถูกทวงหนี้ค่าโทรศัพท์ที่ตนเองไม่ได้เปิดใช้บริการ หรือเปิดใช้บริการแต่ค่าโทรศัพท์ไม่ถูกต้องตรงตามที่มีการใช้งานจริง ผู้บริโภคไม่ควรใช้วิธีร้องเรียนผ่านทางคอลเซนเตอร์ของบริษัทผู้ให้บริการอย่างเดียวครับ ควรทำเป็นหนังสือทักท้วงการเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าว หากผู้บริโภคไม่ได้เปิดใช้บริการก็ให้ปฏิเสธโดยทันทีว่าตนมิได้เป็นผู้เปิดใช้บริการ กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคมกำหนดไว้ว่าถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่จะต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่าผู้บริโภคเป็นผู้เปิดใช้บริการหรือได้ใช้บริการโทรศัพท์จริงหรือไม่ หากไม่สามารถหาข้อมูลหลักฐานมายืนยันพิสูจน์ได้ก็ไม่สามารถมาเรียกเก็บหนี้กับผู้บริโภคได้หลังจากที่มูลนิธิฯ ได้ช่วยทำจดหมายร้องเรียนไปยังเอไอเอสแล้ว เอไอเอสจึงได้มีหนังสือตอบรับกลับมาโดยทันทีว่ากำลังตรวจสอบข้อมูลหลักฐานอยู่ และหากไม่สามารถหาข้อมูลมายืนยันว่าคุณธิติวัฒน์เป็นผู้เปิดใช้บริการโทรศัพท์รายเดือนหมายเลขนี้จริงภายใน 60 วันนับแต่ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนก็ถือว่าสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บหนี้ส่วนนี้ไปทันที  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ขอแก้ด้วยคน

และแล้ว เหตุการณ์น่าระทึกใจจากการชุมนุมประท้วงต่างๆ ทั้งเรื่องสีเสื้อ เรื่องทวงคืนเขาพระวิหาร ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ตามมาด้วยเสียงถอนหายใจดังๆ ที่แสดงถึงความโล่งอกโล่งใจ ของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพ่อแม่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ก็หายใจได้ชื่นปอดมากขึ้น เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เชื่อได้ว่ารัฐบาลยังน่าจะยืนระยะต่อไปได้อีกพักหนึ่งแน่ๆทันทีที่สิ้นเสียงปี่กลองของการชุมนุม พลันก็มีเสียงโหยหวนจากเหล่านักการเมือง เรื่องการขอแก้รัฐธรรมนูญดันแทรกขึ้นมาทันทีทันใด โดยการขอแก้ครั้งนี้มีนัยยะสำคัญว่า คราวนี้ต้องแก้ให้ได้ ใครเอาช้างมาฉุดก็น่าจะยาก หากมีการแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จก็หมายความว่า ปี่กลองการเลือกตั้งต้องดังขึ้นมาอีกครั้งอย่างแน่นอน ดังนั้นหากจะพูดว่าการแก้รัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้งเกือบๆ จะเป็นเรื่องเดียวกันก็ไม่ผิดเมื่อพูดถึงการเลือกตั้งสำหรับผู้เขียนนั่นหมายถึงการไม่มีทางเลือก เพราะคำว่าเลือกตั้งควรจะหมายถึงสิทธิที่เราจะเลือกใครก็ได้ที่เราชอบ แต่ความจริงคือเราเลือกคนที่เราชอบไม่ได้(ไม่มีคนชอบให้เราเลือก) เราต้องเลือกคนที่พรรคการเมืองจัดมาให้(ผู้ผลิตสินค้า) ถ้าเปรียบนักการเมืองเป็นสินค้าก็เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคเลือกไม่ได้ เหมือนถูกบังคับให้ต้องซื้อสินค้าที่คุณภาพต่ำ และไร้มาตรฐานแบบไม่มีทางเลือก และเมื่อเลือกไปแล้วรู้ว่าสินค้าไม่ดี การขอคืนสินค้าขั้นตอนการคืนก็ยุ่งยาก สรุปคือมันคืนไม่ได้ (จริงอยากใช้พรบ.ขายตรงที่บอกว่าสินค้าซื้อแล้วไม่พอใจสามารถคืนเงินได้ใน 7 วัน แฮ่ๆ แต่มันก็ใช้ไม่ได้ง่ะ..)ครั้นเราจะไม่ไปเลือกก็อาจถูกประณามว่านอนหลับทับสิทธิ ไม่ใช่นักประชาธิปไตยอีก(อึดอัดว่ะ) การตัดสินใจเลือกของเราที่มุ่งหวังจะเลือกคนที่เราชอบจึงเป็นไปไม่ได้ จากที่ต้องการเลือกคนที่ดีที่สุด กลายมาเป็นว่าเราต้องเลือกคนที่คิดว่าพอมีความดีหลงเหลือหน่อย(เลวน้อยที่สุด) บางคนใช้วิธีอารยะขัดขืน โดยการฉีกบัตรเลือกเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ต้องการสินค้าที่เขาส่งมา หรือไม่ออกไปใช้สิทธิมันซะเลย ให้มันสิ้นเรื่องสิ้นราวกันไป หรือทางออกสุดท้ายของการใช้สิทธิคือการกาช่องไม่ประสงค์จะเลือกผู้ใด (โนโหวต) และตรงนี้เองคือปัญหา เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ให้สิทธิตรงนี้ไว้ แต่จริงๆ คือไม่มีสิทธิ เพราะผลที่เกิดขึ้นคือ การกาช่องไม่ใช้สิทธิ มีผลเท่าบัตรเสียเท่านั้น คือไม่มีผลใดๆ ต่อการนับคะแนนเลือกตั้งเลย ไม่รู้ว่าให้สิทธิตรงนี้ไว้ทำไม ? ดังนั้นหากต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญจริงๆ ก็อยากจะเสนอให้ มีการแก้เรื่องผลการโนโหวต ให้มีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่ากับการกาช่องลงคะแนน เพราะประชาชนจำนวนหนึ่งก็อึดอัดกับการที่ต้องเลือกคนที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอมา และต้องกล้ำกลืนฝืนทนเลือกทั้งๆ ที่ไม่เต็มใจ และเมื่อหากจะแก้รัฐธรรมนูญกันทั้งที ก็เลยอยากขอแก้ด้วยคนโดยขอเสนอแก้ไขให้ผลการโนโหวต จำนวนกี่ % ก็ว่ากันไป ให้มีผลให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นอันโมฆะ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ต้องการสินค้าที่พรรคการเมืองส่งมาให้เลือก โดยให้พรรคการเมือง ส่งคน มาให้เราเลือกใหม่อีกครั้ง...หากอยากจะแก้กันจริงๆ กล้าแก้ตามที่เราเสนอมั้ยล่ะ..ท่านนักการเมือง .......................

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ปั๊มแก๊สไม่ยอมทอนเศษสตางค์

ดิฉันมีข้อสงสัยที่จะหารือดังนี้ค่ะ คุณนลินศิริเริ่มเรื่องดิฉันเพิ่งซื้อรถที่ใช้เชื้อเพลิง NGV มาใช้ค่ะที่สงสัยคือเวลาไปเติมแก๊ส NGV แต่ละปั๊ม เวลามีเศษสตางค์ไม่ว่าจะมากน้อยเท่าไหร่ จะถูกปั๊มปัดเศษเป็นจำนวนเต็ม 1 บาทเพิ่มทุกปั๊ม อย่างเติมเป็นเงิน 87.40 บาทหรือ 87.90 บาทก็จะถูกคิดเป็น 88.00 บาทคุณนลินศิริให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีครั้งหนึ่งเคยไปเติมแก๊สและต้องจ่าย 87.40 บาท คุณนลินศิริพอดีมีเศษสตางค์ก็เลยให้เด็กปั๊มไป 87.50 บาท“เขามองหน้า แล้วบอกเอาคืนไปเหอะ ดิฉันก็รับเงินเศษ 50 สตางค์คืน”อย่างนี้ก็ถือว่าโชคดีเพราะปั๊มรังเกียจเศษสตางค์“แต่บางครั้งเราก็คิดว่าเศษน้อยคือแค่ 9-10 สตางค์เขาน่าจะปัดทิ้ง เขาก็ไม่เคยปัดทิ้งมีแต่จะปัดขึ้นแล้วไม่ใช่ปัดเป็นสลึงหรือห้าสิบสตางค์ ส่วนใหญ่จะปรับขึ้นเป็นหนึ่งบาทเลย” “ดิฉันสงสัยว่า เราดูถูกค่าเงิน 25 สตางค์กันแล้วหรือถ้าเด็กปั๊มจะบอกว่า ผมไม่สะดวกทอนเงินดิฉันก็คงยินดีที่จะให้มากกว่ามาบังคับกัน เคยได้ยินข่าวพักหนึ่งเรื่องเดียวกันกับปั๊มแก๊ส LPG แล้วเงียบหายไป ก็เลยสงสัยว่าเรื่องนี้(ปัดเศษสตางค์ขึ้นเป็นหนึ่งบาท) เป็นเรื่องปกติหรือเปล่าจะได้ทำใจค่ะแนวทางแก้ไขปัญหาปัจจุบันประเทศไทยมีเหรียญที่มีค่าเงินที่น้อยที่สุดที่สามารถนำมาชำระหนี้กันได้คือที่ 25 สตางค์ หากเราซื้อสินค้าแล้วมีเศษสตางค์ที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของ 25 สตางค์คือ 12.50 สตางค์ ในทางปฏิบัติก็ควรจะปัดเป็น 0 สตางค์ เพราะไม่สามารถหาเหรียญหรือธนบัตรมาชำระหนี้กันได้ แต่หากมูลหนี้นั้นมีค่าตั้งแต่ 12.50 สตางค์ขึ้นไป ก็ให้ชำระหนี้หรือทอนเงินด้วยเหรียญ 25 สตางค์ แต่การที่สินค้ามีมูลค่าตกเศษสตางค์แล้วผู้ประกอบธุรกิจปรับเป็นมูลค่า 1 บาท ต้องไม่ถือว่าเป็นเรื่องปกติครับ เนื่องจากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้ประกาศให้ก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวีและก๊าซแอลพีจีที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ ถือเป็นสินค้าชนิดหนึ่งในสินค้าหลายร้อยชนิดที่จะต้องแสดงราคาจำหน่ายขายปลีกให้ผู้บริโภคทราบ หากผู้ประกอบธุรกิจไม่แสดงราคาขายปลีกให้ผู้บริโภคทราบจะมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือหากมีการจำหน่ายสินค้าในราคาที่สูงเกินกว่าราคาที่แสดง จะถือว่ามีความผิดในลักษณะเดียวกันคือไม่ได้แสดงราคาป้าย มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทเช่นกัน อันเป็นความผิดตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสามารถกล่าวโทษร้องทุกข์ได้กับกรมการค้าภายใน หรือสำนักงานการค้าภายในจังหวัด โทรสายด่วน 1569 หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ครับเพราะถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ด้วยเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ติดหนี้เพราะเสาไฟฟ้า

เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เสาไฟฟ้าเป็นเหตุหนึ่งของการเกิดหนี้ได้ แต่เรื่องนี้ไม่ต้องไปเสาะหาเหตุผลให้ปวดขมองครับ เพราะผู้ร้องรายนี้ดันขับรถไปชนเสาไฟฟ้าของกรมทางหลวงเข้าเลยต้องถูกเรียกค่าเสียหายไปตามระเบียบ แต่ที่หนักหนาสาหัสคือยอดหนี้เป็นแสนนี่สิจะรับผิดชอบอย่างไรดีเหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549 ที่คุณพิรมไปพลาดพลั้งขับรถไปชนเสาไฟฟ้า พร้อมอุปกรณ์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของแขวงการทางระยอง กรมทางหลวง ซึ่งได้ประเมินเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 123,579 บาท แขวงการทางระยองทำหนังสือแจ้งให้ชดใช้ค่าเสียหายมา 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2550 เรื่อยมาจนถึงปี 2552 เห็นหนังสือทวงหนี้ เห็นค่าเสียหายแต่ละครั้งหัวใจแทบหล่น แต่ก็จนปัญญาอยากเป็นพลเมืองดีก็ไม่รู้ว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาชดใช้ได้ นอกจากประกันภัยชั้นหนึ่งที่ได้ทำให้กับรถไว้แต่บริษัทประกันก็ไม่ยอมจ่ายสักทีจึงส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหาคุณพิรมจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับกรมทางหลวง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 437 ถึงแม้ว่าคดีจะขาดอายุความภายใน 1 ปีตามมาตรา 448 แต่หากยังไม่มีการทำเรื่องจากแขวงการทางระยองเสนอขออนุมัติฟ้องไปยังอธิบดีกรมทางหลวงก็ถือว่ากรมทางหลวงในฐานะผู้เสียหายโดยตรงยังไม่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดก็เป็นได้ จึงไม่ควรประมาทในจุดนี้ แต่เมื่อรถของคุณพิรมทำประกันภัยประเภท 1 ไว้กับบริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย จำกัด ซึ่งสัญญาตามหน้ากรมธรรม์ที่จะรับผิดชอบในความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกจำนวน 2.5 ล้านบาทต่อครั้ง ดังนั้นคุณพิรม จึงควรส่งสำเนาจดหมายของแขวงการทางระยองที่ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนแสนกว่าบาทนี้ให้ประกันภัยจ่ายค่าสินไหมแทนตามสัญญาประกันภัย หากมีการประวิงเวลา ไม่จ่ายค่าสินไหมคุณพิรมสามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โทรสายด่วน 1186หากคุณพิรมถูกกรมทางหลวงฟ้องร้องในชั้นศาล ให้เรียกบริษัทประกันภัยเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีทันทีเพื่อให้ไปจ่ายค่าเสียหายแทนในชั้นศาลต่อไปประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น และในมาตรา 437 บัญญัติว่า บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแก่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 “รถเปลี่ยนเป็นเงิน” อันตรายติดเสาไฟฟ้า

“หนูจ๋า ช่วยป้าด้วยจ้ะ...!”“มีอะไรหรือคะป้า” เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถาม“คืออย่างนี้...”ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้รับฟังความทุกข์จากป้าอารีย์ที่หลั่งไหลออกมาอย่างไม่ขาดสาย“สามีป้ามีปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ป้าต้องทำงานหาเงินคนเดียว ทำทุกอย่างทั้งเย็บมุ้งขาย ทั้งทำสวนอยู่ต่างจังหวัด ยังไม่พอนะหนู แม่สามีของป้าแกก็มาป่วยเข้าอีกคน ป้าแทบหมดหนทางไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายจุนเจือครอบครัว”ที่เล่ามาเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ปัญหาจริง ๆ ของป้าอารีย์เกิดขึ้นเมื่อ...“ป้าต้องใช้เงินมากไม่รู้จะไปกู้ที่ไหน เห็นเบอร์ตามเสาไฟฟ้าที่บอกว่า ให้นำรถไปเปลี่ยนเป็นเงินได้ พอดีสามีป้ามีรถกระบะอยู่คันหนึ่ง ก็ตัดสินใจวินาทีนั้นล่ะ กะจะเอารถไปจำนำเปลี่ยนเป็นเงินมาใช้กันก่อน มีเงินเมื่อไหร่ค่อยไปไถ่ถอนคืนทีหลัง”ป้าอารีย์จึงโทรไปขอความช่วยเหลือตามเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้ในป้ายข้างเสาไฟฟ้าทันที“ตอนนั้นประมาณเดือนกรกฎาคม ปี 2548 เขาบอกคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน ใช้สมุดรถยนต์ค้ำประกัน ก็นัดหมายทำสัญญากันเลย” “ไปทำสัญญากันที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งแถวถนนเพชรเกษม ช่วงบางแค วันนั้นเห็นมีพนักงานแค่ 2 คน ก็เอารถเราไปให้เขาดูด้วย เขาตีราคาบอกว่าได้แค่ 70,000 บาท และให้วางสมุดทะเบียนรถไว้กับเขาแต่รถเอาไปใช้ได้ป้าก็ลังเลอยู่แต่สามีป้า ซึ่งเป็นเจ้าของรถตกลงเซ็นสัญญาทันที ก็ไม่ได้อ่านเอกสารหรอกเพราะตัวเล็กมาก แล้วพนักงานก็ให้ป้าเซ็นกำกับในสัญญานี้ด้วย โดยบอกว่าป้าเป็นเจ้าบ้านต้องเซ็นอนุญาตให้รถที่จำนำทะเบียนนั้นจอดได้ ป้าก็งง ๆ อยู่แต่ก็เซ็นไป”“เมื่อทำสัญญาเสร็จป้ากับสามีได้รับเงินแค่ 64,000 บาท เพราะพนักงานแจ้งว่ามีค่าใช้จ่าย 6,000 บาท หลังจากนั้นเขาก็ให้ป้ากับสามีเดินทางไปโอนทะเบียนรถให้เขา โดยให้พนักงานอีกคนขับรถของสามีป้าตามไปที่ขนส่งเขาเอารถไปทำเรื่องอยู่นานมาก แล้วเมื่อทำเรื่องโอนรถเสร็จป้ายังต้องเสียค่าโอนอีก 1,050 บาท”สรุปว่าวันนั้น ป้าอารีย์กับสามีได้รับเงินเพียงแค่ 62,950 บาท เท่านั้น จากการจำนำรถ 70,000 บาทและไม่ได้รับเอกสารใดๆ กลับบ้านเลยหลังจากนั้นไม่นานป้าอารีย์ได้รับเอกสารสัญญาส่งมาทางไปรษณีย์ เมื่อแกะเปิดดูแบบเต็มๆ ถึงได้รู้ว่าสัญญาที่ได้ทำไปนั้นแทนที่จะเป็นสัญญาจำนำรถกลับเป็นสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ของตัวเอง โดยมีหนี้เช่าซื้อรถจำนวน 137,700 บาท ผ่อนงวดละ 3,825 บาท ระยะเวลาผ่อน 36 งวด ได้รับเอกสารสัญญาแล้วป้าอารีย์ก็น้ำตาตกใน แต่ไม่ได้ทักท้วงอะไรตั้งหน้าตั้งตาผ่อนรถของตัวเองไปโดยไม่ปริปาก มีบางงวดที่ขาดส่งหรือล่าช้าไปบ้างจึงถูกเรียกเบี้ยปรับและค่าติดตามทวงถามเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ก็กัดฟันสู้ จนเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2551 คราวนี้ป้าอารีย์และสามีไม่มีเงินกันจริงๆ จึงไม่ได้ชำระเงินค่างวดอีก“พอถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2551 มีคนของไฟแนนซ์มาทวงหนี้ถึงที่บ้านแจ้งว่าให้ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อทั้งหมด 50,000 กว่าบาทไม่เช่นนั้นจะยึดรถทันที แต่อีกไม่กี่วันป้าได้โทรไปถามยอดหนี้ให้แน่ใจอีกครั้งกลับได้รับแจ้งว่ามีหนี้เช่าซื้อถึง 70,000 กว่าบาทและถ้าจ่ายไม่ได้จะถูกยึดรถ”“ป้ากับสามีไม่รู้จะทำอย่างไรจากที่ไปขอกู้เงินเขาแค่ 70,000 บาท จ่ายคืนหนี้มาตั้ง 2-3 ปีก็ยังไม่หมด ตอนนี้เอารถยนต์ไปหลบที่ต่างจังหวัดอยู่ อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือป้าด้วย”แนวทางแก้ไขปัญหาน่าเห็นใจครับกับปัญหาเศรษฐกิจระดับครัวเรือนที่ไม่มีทางออก เมื่อไม่มีแหล่งเงินกู้ในที่สว่างก็ต้องไปหาเก็บเอาตามเสาไฟฟ้ากันอย่างนี้ล่ะครับชีวิตคนไทยเมื่อเสียรู้เข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถของตัวเองไปแล้วก็คงต้องเดินหน้าต่อไปล่ะครับ เมื่อดูใบเสร็จรับเงินที่ป้าอารีย์จ่ายค่างวดไปแล้วพบว่าค้างเหลืออยู่อีกแค่ 7 งวด เป็นเงิน 26,775 บาท เพื่อไม่ให้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อจึงแนะนำให้ป้าอารีย์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ให้ครบ โดยใช้วิธีโอนเงินเข้าบัญชีไฟแนนซ์ไป ไม่ต้องสนใจว่าใบเสร็จที่ได้รับจะถูกหักเป็นเบี้ยปรับล่าช้าหรือไม่ เพราะธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ถือเป็นธุรกิจที่ถูกคณะกรรมกาคุ้มครองผู้บริโภคเขาควบคุมสัญญาไว้ แม้จะให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิคิดเบี้ยปรับ เบี้ยล่าช้า ได้แต่สัญญาควบคุมก็ห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลูกค้าชั้นดีรายย่อยของธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) บวกสิบ(MRR. + 10) อย่างที่หลาย ๆ ไฟแนนซ์ชอบเขียนกันไว้ในสัญญา หรือค่าทวงถามก็ให้คิดได้แต่ต้องอยู่ในอัตราที่เหมาะสมสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นตามนั้นจริง ที่สำคัญสัญญาควบคุมเขาถือว่าเมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่างวดและค่าใช้จ่ายอื่นใดที่ปรากฏในสัญญาและไม่ขัดต่อสัญญาควบคุมของ สคบ.แล้วถือว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นตกเป็นของผู้เช่าซื้อโดยทันที และผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ต้องดำเนินการโอนทะเบียนรถให้ผู้เช่าซื้อโดยทันทีภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารที่เกี่ยวกับการโอนทะเบียนจากผู้เช่าซื้อครบถ้วนดังนั้นเมื่อป้าอารีย์ได้ชำระค่างวดรถไปครบถ้วนหลังจากนั้นมูลนิธิฯ จึงได้ช่วยทำหนังสือแจ้งไฟแนนซ์ให้ทำการโอนเปลี่ยนชื่อในสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ ตอนแรกไฟแนนซ์ก็ทำทีอิดเอื้อนจะขอเรียกเก็บเบี้ยปรับอยู่แต่ด้วยไม่มีข้อต่อสู้ทางกฎหมายเนื่องจากสัญญาที่ทำขึ้นได้กำหนดค่าเบี้ยปรับที่ขัดต่อสัญญาควบคุมท้ายที่สุดจึงต้องทำการโอนเปลี่ยนชื่อรถโดยไม่มีเงื่อนไขครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถได้เวลาแก้ใหม่แล้ว

ช่วงนี้หากใครได้ดูข่าวทีวีนอกจากข่าวเรื่องการเมือง เรื่องสนุกสนานของรัฐบาล และเครือข่ายของอดีตนายกทักษินที่ต่อสู้กันด้วยการสาดน้ำลายใส่กันบนหน้าจอทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมถึงการใช้ระบบเทคโนโลยีถล่มกันอย่างเมามันแล้ว ก็ยังมีข่าว(ที่ต้องพยายามดู) ของเครือข่ายผู้บริโภค ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องปัญหาจากการใช้ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ เพราะ พรบ.ฉบับนี้เป็น พรบ.ที่บังคับทุกคนที่มีรถต้อง ทำพรบ.ทุกคนทุกคัน การบังคับดังกล่าวเป็นการบังคับให้ชาวบ้านอย่างเราๆ ต้องจ่ายเงินให้บริษัทประกันภัยเอกชน ที่เวลารับเงินเราแสนจะอำนวยความสะดวกทุกอย่าง มีตัวแทนไว้คอยรับทำประกันทุกที่ ทุกตรอกซอกซอยมีหมด แต่เวลาจะจ่ายสินไหมคืนเราเมื่อเราประสบอุบัติเหตุ กลับเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีเทคนิคมากมายที่จะประวิงเวลาและทำทุกวิถีทาง ที่จะจ่ายเงินให้น้อยที่สุดหรือไม่ต้องจ่ายเลยก็ยิ่งดี (ว่าไปนั่น)ผู้บริโภคเลยสุดทนกับกฎหมายที่แสนจะเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน แต่ชาวบ้านอย่างเราๆแสนจะเสียเปรียบ เสียเปรียบอย่างไรนะหรือ หากพูดไปเรื่อยๆ อาจจะเห็นภาพได้ยาก จึงขอยกตัวอย่างหนึ่งมาเล่าสู่กันฟังเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552 มีโทรศัพท์มาร้องทุกข์กับผู้เขียน กรณีคนถูกรถชนตาย 3 ศพ โดย พ่อ-แม่ ตายหมดเหลือลูกสาวคนเดียวน่าสงสารมาก ผู้เขียนได้ขับรถไปฟังเรื่องราว จึงทราบว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2552 ผู้เสียชีวิตคือนายสำเริง จันทร์รอด(ผู้ขับขี่) โดยมีนายสมโภช ณ บางช้าง และนาง ยุวดี ณ บางช้าง ซ้อนท้ายกลับจากตลาดแม่กลอง มาบนถนนวงแหวนรอบนอก ดอนหอยหลอดจังหวัดสมุทรสงคราม(ที่มีรถไม่หนาแน่น) โดยขับมาปกติ แต่จู่ๆ ก็มีรถฟอร์จูนเนอร์(โตโยต้า) ขับสวนมาด้วยความเร็วสูงและแหกโค้งมาชน ทำให้ทั้ง 3 คนตายคาที่ และรถคันดังกล่าวขับหนีไป แต่ถูกตำรวจสกัดจับไว้ได้ในสภาพมึนเมาเต็มที่รถมอเตอร์ไซด์คันที่ถูกชนได้ทำพรบ.ผู้ประสบภัยจากรถไว้กับบริษัทนำสินประกันภัย แต่ที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ ชาวบ้านไม่รู้เลยว่าเมื่อประสบเหตุอย่างนี้ เขาต้องทำอะไรบ้าง เมื่อผู้เขียนถามว่าตำรวจไม่แนะนำอะไรบ้างหรือ ก็ได้คำตอบว่าไม่มี ไม่เห็นตำรวจบอกอะไรเลย ผู้เขียนถามต่อว่ารู้ไหมว่าพรบ.รถที่เราทำนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วเราจะได้อะไรบ้าง คำตอบคือ ไม่รู้ รู้แต่ว่าต้องทำพรบ.ไม่อย่างนั้นจะถูกตำรวจจับ ผู้เขียนฟังแล้วสะท้อนใจจริงๆ นี่ล่ะชาวบ้านตัวจริง คือไม่รู้อะไรเลยทั้งๆ ที่เป็นสิทธิของตัวเอง กลายเป็นว่าที่ทำประกันเพราะกลัวตำรวจ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็เพิกเฉย ไม่สนใจทุกข์ร้อนของชาวบ้านเลย ตามพรบ.แล้วผู้ซ้อนซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 ต้องได้ค่าปลงศพ ศพละ 100,000 บาท ผู้ขับขี่ต้องได้รับค่าปลงศพเบื้องต้น 35,000 บาทภายใน 7 วัน(ที่เหลือรอพิสูจน์ถูกผิด) แต่นี่ดูรึคนตาย 3 คน 7 วัน แล้วการช่วยเหลือเบื้องต้นจาก พรบ.ยังไม่มีเลยสักบาท (ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงครามได้เข้ามาช่วยเหลือเรื่องนี้แล้ว) เป็นไงล่ะเรื่องที่เล่ามาพอจะเห็นปัญหากันบ้างหรือยัง อาจจะมีบางคนบอกว่าช่วยไม่ได้อยากโง่เอง ก็ให้ลองคิดดูว่าเด็กผู้หญิงที่อายุแค่ 15 ปี ที่เสียทั้งพ่อและแม่ไปในเวลาเดียวกัน เขาจะเอาสมองที่ไหนมาคิด และนี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่ว่าทำไมเครือข่ายผู้บริโภคจึงลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ยกเลิกหรือทบทวน พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ โดยให้มีการเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้านอย่างเราๆ บ้าง เพราะปัจจุบัน องค์กรกำกับดูแลการประกันภัย เช่น คณะกรรมการส่งเสริมและกำกับธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ทำให้เราขาดความเชื่อมั่นในพรบ.ฉบับนี้จะรอรัฐบาลก็ไม่ได้ผู้บริโภคอย่างเราจึงต้องลุกขึ้นมาร่วมกันเขียนกฎหมายในชื่อใหม่คือ “กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ” โดยโอนค่ารักษาพยาบาลไปใช้ตามสิทธิของแต่ละคน โดยพรบ.นี้จะจ่ายเพียงค่าสินไหม กรณีบาดเจ็บต่อเนื่อง ทุพลภาพ เสียชีวิต เท่านั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างล่ารายชื่อนะ ใครเห็นด้วยเร่งมาลงชื่อโดยไว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 เจ้าหนี้อายัดเงินเดือน ทำไมไม่มีบอกกล่าว

 คุณธิดา ลูกหนี้นามสมมติ ได้ร้องทุกข์ออนไลน์มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าขอร้องเรียนเกี่ยวกับการอายัดเงินเดือนของธนาคารฮ่องกงแบงค์ โดยคุณธิดาได้ให้รายละเอียดว่าเนื่องจากได้เป็นหนี้กับธนาคารแห่งนี้และถูกฟ้องและไปขึ้นศาลเรียบร้อยแล้ว โดยมีการทำยอมที่ศาลโดยกำหนดชำระคืน 30 งวดๆ ละ 3,400 บาท คุณธิดาแจ้งว่าได้ชำระตามสัญญาประนีประนอมไปประมาณ 7 งวดแล้ว โดยงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 ชำระเงินตรงตามที่ทำยอมไว้ แต่ในงวดที่ 5-7 ชำระไม่ตรงตามจำนวน โดยชำระได้แค่งวดละ 2 พันกว่าบาทเท่านั้น เนื่องจากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ พอไม่ชำระตรงตามจำนวนในงวดที่ 5 มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาแจ้งให้ชำระให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอม แต่ในงวดที่ 6 และ 7 พอจ่ายไปงวดละ 2 พันกว่าบาท ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาอีก ก็คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่อีกไม่กี่วันต่อมาได้มีหมายอายัดเงินเดือนมาที่บริษัทที่ทำงานอยู่คุณธิดาได้พยายามติดต่อเจรจากับสำนักงานกฎหมายที่ดำเนินการอายัดเงินเดือน โดยสัญญาว่าจะเคลียร์ยอดที่ค้างจ่ายให้ครบและขอจ่ายในงวดต่อไปตามปกติที่ 3,400 บาท แต่สำนักงานกฎหมายปฏิเสธแจ้งว่าคุณธิดาได้ทำผิดสัญญาประนอมยอมความแล้ว ต้องบังคับคดีด้วยการอายัดเงินเดือนเพื่อนำมาชำระหนี้ก่อนทำสัญญาประนีประนอมคุณธิดาจึงถามมาว่า ทำไมการอายัดเงินเดือนถึงไม่มีเรียกไกล่เกลี่ยก่อน   แนวทางแก้ไขปัญหาการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ลูกหนี้จะต้องมั่นใจว่าตนจะสามารถชำระหนี้ได้ เพราะโดยทั่วไปแล้วทางเจ้าหนี้มักจะขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมโดยมีเงื่อนไขว่าหากลูกหนี้ผิดสัญญาประนีประนอมที่ได้ทำกันขึ้นให้เจ้าหนี้สามารถบังคับคดีให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ตามจำนวนที่ได้ฟ้องแต่แรกได้ มิใช่หนี้ที่เหลือจากการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมกันดังนั้นเมื่อลูกหนี้ผิดสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ไม่ชำระหนี้เต็มตามจำนวนที่ได้ตกลงกันไว้ในแต่ละงวด หรือชำระหนี้คลาดเคลื่อนไปจากกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา เจ้าหนี้อาจถือว่าลูกหนี้ผิดสัญญาได้ทันทีและสามารถนำสัญญาไปขอบังคับคดีได้โดยไม่ต้องฟ้องศาลอีกหรือต้องมีการบอกกล่าวหรือต้องมานั่งไกล่เกลี่ยกันอีก เพราะถือว่าลูกหนี้ทราบเป็นอย่างดีแล้วจากการทำสัญญาและยังกระทำผิดสัญญาอีกแต่ลูกหนี้อย่าเพิ่งวิตกเกินการณ์ เพราะการอายัดเงินเดือนจากลูกหนี้นั้นกฎหมายอนุญาตให้อายัดได้เพียงร้อยละ 30 จากยอดเงินเดือนเต็มก่อนหักภาษีหรือประกันสังคม หากใครมีเงินเดือนเกินหมื่นนิด ๆ กฎหมายยังช่วยลูกหนี้อีกเล็กน้อยด้วยการกำหนดว่า การอายัดเงินเดือนจะต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้ไว้อย่างน้อย 10,000 บาทเพื่อการดำรงชีพ จึงหมายความว่าลูกหนี้รายใดที่มีเงินเดือนต่ำกว่าหมื่นบาทจึงไม่มีสิทธิถูกอายัดเงินเดือนได้ และหากลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายราย ก็ไม่สามารถถูกอายัดเงินเดือนในคราวเดียวกันได้หากเจ้าหนี้รายแรกได้อายัดเต็มตามวงเงินที่กฎหมายอนุญาตแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 แม็กซ์เนต ของทีทีแอนด์ทีจ่ายเต็มเดือนแต่ใช้ได้แค่ครึ่งเดือน

สวัสดีค่ะ ดิฉันเปิดใช้บริการอินเทอร์เน็ตของ Maxnet หมายเลข 038-727-000 แต่ในทุกๆ เดือนจะเกิดปัญหาค่ะ“ทุกๆ เดือนจะเกิดปัญหาคืออินเทอร์เน็ตจะใช้ไม่ได้ประมาณ 2 อาทิตย์ จนมาถึงเดือนนี้(กรกฎาคม 2552) ทุกวัน ดิฉันโทรแจ้งทางศูนย์ เขาบอกดิฉันเดี๋ยวทางเราจะแจ้งช่างให้ไปดูแล แต่จนป่านนี้ยังไม่มีใครมาสนใจ แล้วทุกเดือนดิฉันเขียนเรื่องขอลดยอด แต่ใบแจ้งค่าใช้บริการยังคงเรียกเก็บในราคาเต็มคือ 1,166.30 บาท/เดือน การที่อินเทอร์เน็ตใช้ได้ 2 อาทิตย์แล้วปัญหาเกิด 2 อาทิตย์ ดิฉันไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ทำไมเขายังกล้าเก็บเงินกับลูกค้าอยู่อีก...”เป็นเนื้อหาจากจดหมายที่คุณอุไรส่งมาบอกเล่าเรื่องร้องเรียนในปัญหาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ให้บริการโดยบริษัท ทีทีแอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด(มหาชน) เราได้รับจดหมายฉบับนี้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยความอยากรู้ว่าบริการอินเทอร์เน็ตของแม็กซ์เนตเป็นอย่างไร จึงได้ท่องเข้าไป www.maxnet.co.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเจ้านี้ พบข้อความโฆษณาที่เกี่ยวกับคุณภาพของอินเตอร์เน็ตที่จัดให้บริการกับลูกค้าหลายจุด ตัวอย่าง“ทีทีแอนด์ทีรุกตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เปิดตัวแคมเปญใหม่ "ติด Maxnet ติดสปีดให้ชีวิต" หวังเจาะ 3 กลุ่มเป้าหมายหลักทั้งนักเรียน คนวัยทำงาน และธุรกิจขนาดเล็ก หวังขยายฐานลูกค้าทั่วประเทศ ตั้งเป้าผู้ใช้บริการสิ้นปี 2549 ที่ 300,000 ราย และจะขยายเป็น 500,000 รายภายในปี 2550นายประจวบ ตันตินนท์ กรรมการ บริษัท ทีทีแอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัทในเครือ บมจ. ทีทีแอนด์ทีกล่าวว่า "แนวคิดของการออกแคมเปญใหม่ "ติด Maxnet ติดสปีดให้ชีวิต" คือการทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่าที่สุด และสามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ ซึ่งบริษัทเชื่อมั่นว่าแม็กซ์เน็ตจะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่มได้อย่างลงตัว โดยเราได้นำเสนอผ่านภาพยนตร์โฆษณาชุด Run ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าแม็กซ์เน็ตช่วยขจัดความล่าช้าและข้อจำกัดต่างๆ ของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างราบรื่น"ที่มา :ข่าวเด่น TT&T “TT&Tรุกเน็ตไฮสปีด ส่ง Maxnet เจาะกลุ่มผู้ใช้ทั่วประเทศ” วันที่ 10/11/2549แต่ไม่ว่าจะโฆษณาอย่างไร ไฮสปีดยี่ห้อนี้ก็ยังมีเงื่อนไขในการให้บริการไม่ต่างจากไฮสปีดยี่ห้ออื่น1. บริการ Hi Speed Internet เป็นบริการแบบแชร์สปีด ความเร็วที่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้บริการในขณะนั้น (Non Guarantee Speed)2. ความเร็วในการเชื่อมต่อ คือ ความเร็วของคอมพิวเตอร์กับโครงข่ายของ ทีทีแอนด์ที ไม่ใช่ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูล ความเร็วในการดาว์นโหลดที่แท้จริงอาจต่ำกว่าความเร็วสูงสุดในการเชื่อมต่อที่ผู้ใช้บริการเลือกไว้ โดยเฉพาะเว็บไซด์ที่อยู่ต่างประเทศ อาจมีผลมาจากหลายปัจจัย เช่น สภาพของคอมพิวเตอร์ สภาพและระยะทางของสายโทรศัพท์คู่สายภายในของผู้เช่า และการติดขัดของข้อมูลอินเทอร์เน็ต รวมถึงอุปกรณ์ Server และ Router ของเว็บไซด์ที่เข้าชม และปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการ ที่มา : ข้อควรรู้ http://www.maxnet.co.th/knowledge.phpคำถามคือว่าจะนำข้ออ้างดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดชอบกับลูกค้าได้หรือไม่คำตอบคือ ไม่ได้ครับ เพราะว่าประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคม พ.ศ.2544 กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า ผู้ให้บริการ(โทรคมนาคมทั้งหมด เช่น โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรืออินเทอร์เน็ต) มีหน้าที่ต้องให้บริการโทรคมนาคมตามมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการตามที่ได้โฆษณาหรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ โดยมาตรฐานและคุณภาพ การให้บริการดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ประกาศกำหนด ดังนั้นเกณฑ์คุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมจึงมิใช่เกณฑ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะมานึกเอาตามใจชอบได้ส่วนกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องขึ้นกับการให้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการจนทำให้ผู้ใช้บริการไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ กฎหมายฉบับเดียวกันกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการที่จะต้องดำเนินการแก้ไขเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถกลับมาใช้บริการได้โดยเร็ว และผู้ให้บริการไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการในช่วงเวลาที่เกิดเหตุขัดข้องดังกล่าวได้ เว้นแต่ผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าเหตุขัดข้องนั้นเกิดจากผู้ใช้บริการหากผู้ให้บริการยังคงเรียกเก็บค่าบริการอยู่ผู้ใช้บริการสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนที่เกิดขึ้นได้กับผู้ให้บริการหรือผ่านทางสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โทร.สายด่วน 1200 หรือจะให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายและดอกเบี้ยด้วยก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 จองรถไม่ได้รถ ต้องได้เงินจองคืน

เรียน ผู้จัดการ บริษัท พระนครออโต้เซลล์เรื่อง ขอเงินค่าจองรถป้ายแดงคืนจากที่ได้ตกลงกันกับทางบริษัทไปแล้วนั้นว่าดิฉันจะรับเงื่อนไขจากบริษัท คือรับเงินคืนจำนวน 3,000 บาท จากที่ได้จองทั้งสิ้นเป็นเงิน 5,000 บาท โดยในการรับเงื่อนไขระบุในเอกสารการจองว่า ให้โอนเงิน 1,000 บาท เข้าบัญชีเลขที่ 688-000000-0 อีก 2,000 บาททางบริษัทยืนยันว่าจะจ่ายเป็นเช็คและแฟกซ์หน้าเช็คที่สั่งจ่ายเข้าบัญชีภายในวันที่ตกลงกัน แต่หลังจากนั้นดิฉันได้รอแฟกซ์แต่ก็ไม่มีแฟกซ์หน้าเช็คกลับมาดิฉันจึงอยากเรียนมา จริง ๆ แล้ว ดิฉันเช็คดูแล้วว่าทางบริษัท ผิดนัด ซ้ำแล้วซ้ำอีก นับตั้งแต่วันจองจนหาบริษัทไฟแนนซ์ให้ไม่ได้ และพยายามทำให้เรื่องยืดเยื้อและล่าช้า การกระทำดังกล่าวทำให้ดิฉันอดคิดไม่ได้ว่า ทางบริษัทจะริบเงินจองทั้งหมดจริง...นี่เป็นส่วนหนึ่งของจดหมายที่คุณกฤชญากรส่งถึงบริษัทขายรถยนต์แห่งหนึ่งเพื่อทวงถามเงินจองที่ได้จ่ายไปจำนวน 5,000 บาท แต่บริษัทรถอ้างว่าคุณกฤชญากรติดเครดิตบูโร ไฟแนนซ์ไม่อนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อให้สักราย และได้เสนอเปลี่ยนรถที่จะขายให้เป็นคันใหม่ คุณกฤชญากรเห็นว่าไม่ได้รถตามที่ต้องการไว้แต่แรก จึงบอกเลิกสัญญาการจองและขอเงินค่าจองรถคืน แต่เกือบร้อยทั้งร้อยล่ะครับที่จะเจอการโยกโย้ โยกเย้ ประวิงเวลา เตะถ่วงไปเรื่อย ๆ ไม่คลายเงินจองออกมาง่าย ๆ จนผู้จองรถโดยส่วนใหญ่จำต้องทิ้งเงินจองไป ที่ผ่านมา ธุรกิจกินเงินจองรถนี่บรรดาเต้นท์รถเบิกบานมาก เพียงแค่ลงทุนค่าโฆษณาผ่านหนังสือขายฝากรถยนต์ แจ้งโฆษณาว่ามีรถทุกรุ่น ทุกเฉดสี ไม่ว่าใหม่หรือเก่า ก็สามารถหาให้ได้ แถมราคาย่อมเยากว่าศูนย์ตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตเป็นหมื่น แค่นี้ก็มีลูกค้ามาถวายเงินจองให้ตรึม พอลูกค้ามาติดต่อก็บอกว่าหารถให้ได้แน่ ไฟแนนซ์ก็ผ่านแน่ ๆ ขอแค่วางเงินจองไว้ 5,000 บาท พอถึงจังหวะที่จะกินเงินจองกับลูกค้าก็จะมีสูตรตายตัวในทำนองว่า ลูกค้าปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับเครดิตบูโร เลยไม่สามารถจัดไฟแนนซ์ให้ได้ เมื่อลูกค้าเป็นคนผิดสัญญาการจองเอง ดังนั้นจึงต้องถูกยึดเงินจอง ลูกค้ากลับไปดูสัญญาก็เห็นเป็นจริงเช่นนั้นเสียด้วยแต่เขียนซะตัวเล็กกระจ้อยร่อย ท้ายสุดต้องยอมเสียเงินไป เรื่องทำนองนี้เคยนำลงในฉลาดซื้อมาครั้งสองครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้มีข้อกฎหมายเด็ดสะระตี่ไว้ให้ผู้บริโภคใช้เรียกเงินจองคืนได้แบบสมบูรณ์แบบครับแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยท่วงทำนองการประกอบธุรกิจที่ทุจริตของบรรดาเต้นท์รถทั้งหลายทำให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนิ่งเฉยไม่ได้ ในที่สุดจึงได้ใช้แผนเผด็จศึกที่ได้ผลมาแล้วกับหลายๆ ธุรกิจ คือการประกาศให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา หลายคนยังไม่รู้จักเพราะประกาศฉบับนี้เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2551 นี่เอง ถือเป็นประกาศควบคุมสัญญาล่าสุดที่ สคบ. มีออกมาประกาศฉบับนี้ใช้ควบคุมการประกอบกิจการขายรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเอารถยนต์ออกขายโดยให้ผู้บริโภคทำการจองซื้อ และผู้ประกอบธุรกิจได้รับเงินหรือรับสิ่งใดไว้เป็นมัดจำ และให้คำมั่นว่าจะส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคตามเวลาที่กำหนดในสัญญาทีนี้ในเรื่องของการซื้อขายรถยนต์ที่มีการจอง ประกาศฉบับนี้ได้เขียนข้อสัญญาที่ควบคุมไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจไปปรับเปลี่ยนราคารถยนต์ที่จองไว้สูงขึ้น หรือไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา หรือ ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กำหนดในสัญญานอกจากนี้ยังมีการควบคุมสัญญาที่สำคัญอีกข้อหนึ่งว่า หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์ และผู้บริโภคไม่ได้รับสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาการส่งมอบรถยนต์ ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญากันได้ผลของการบอกเลิกสัญญากันตามเงื่อนไขที่ได้ว่ามา คือ ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภคภายใน 15 วันแม้ผู้ประกอบธุรกิจอาจจะหัวหมออ้างว่า สัญญาที่ทำกับผู้บริโภคไม่มีข้อสัญญาเหล่านี้ แต่ไม่สามารถจะใช้ยกเป็นเหตุในการไม่ยอมคืนเงินจองเงินมัดจำให้กับผู้บริโภคได้ครับ เนื่องจาก ตามหลักกฎหมายควบคุมสัญญาของ สคบ. นั้นมีหลักการสำคัญคือ หากสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำขึ้นไม่มีข้อสัญญาตามที่ สคบ. ได้กำหนดไว้ กฎหมายจะถือว่าสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจมีข้อสัญญาที่ สคบ. กำหนดไว้อยู่ด้วยแล้ว และหากสัญญาข้อใดของผู้ประกอบธุรกิจที่เขียนแล้วไปฝ่า ไปฝืนข้อสัญญาที่ สคบ. ได้กำหนดไว้ กฎหมายควบคุมสัญญาจะถือว่าไม่มีข้อสัญญานั้นปรากฏอยู่ในข้อสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจ พูดง่ายๆ คือ ข้อสัญญาใดที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคจะเอามาบังคับใช้กันไม่ได้หลักการนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า “ธุรกิจที่ควบคุมสัญญา” ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ไม่ให้ไม่ว่า…ขอแค่อย่าทำร้าย

เป็นที่รับรู้กันว่า ประชาธิปไตยบ้านเรา เป็นไปอย่างทุลักทุเล แต่ก็สนุกดีแบบไทยๆ ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นไทยก็ยังเป็นไทยอยู่วันยังค่ำ(จริงไหม?)เสร็จจากการประท้วง สุดฤทธิ์สุดเดช กันไปตามอัธยาศัยแล้ว ถึงการเมืองบ้านเราจะยังมีกรุ่นๆ กันอยู่บ้างแต่ก็ทำให้เราๆ ท่านๆ หายใจได้ทั่วปอดขึ้นใช่ไหมล่ะ เมื่อการเมืองเบาบางลง ก็ตามมาด้วยเสียงเพรียกร้องหาความช่วยเหลือจากกลุ่มผู้เดือดร้อนกลุ่มต่างๆ ที่ดังขึ้นมาแทรกแทนเสียงโหยหวน.. ของเหล่านักการเมือง ทั้งกลุ่มหนี้สินชาวนา กลุ่มหนี้สินอื่นๆ และเรื่องราคาสินค้าเกษตรที่ต้องเรียกร้องกันทุกปี เพราะไม่ว่าพรรคการเมืองพรรคไหนขึ้นมาบริหารประเทศ ก็ไม่มีการวางแผนแก้ไขปัญหาเรื่องราคาสินค้าทางการเกษตรแบบระยะยาวเลยสักพรรคเดียว มีเพียงการแก้ไข แบบขอไปที น้อง-พี่-ลุง-ป้า จึงต้องออกมาร้องขอความช่วยเหลือกันทุกปีจะว่า น้อง-พี่-ลุง-ป้า เหล่านี้คือเหยื่ออันโอชะของนักการเมืองก็ไม่น่าจะผิด เพราะการแก้ไขแต่ละครั้ง ใช้งบมหาศาลและก็รั่วไหลทุกครั้งที่มีโครงการช่วยเหลือ(ก็อดคิดเสียไม่ได้ว่าเพราะเรื่องนี้ใช่หรือไม่ที่ทำให้เหล่านักการเมืองจึงไม่คิดแก้ไขแบบจริงๆ จังๆ กันเสียที) แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาส่งเสียงมาสู่รัฐ เขาเหล่านั้นไม่เคยร้องขอให้รัฐไปช่วยเหลืออะไร ขอเพียงขอให้เขาได้อยู่กับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ที่เขาคุ้นชินเท่านั้น เขาเหล่านั้นคือกลุ่มคนที่ออกมาคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และโรงงานขนาดใหญ่ ที่พวกเขากลัวว่าการก่อสร้างเหล่านั้นจะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม อาชีพ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ของพวกเขา แก่นแท้ของการร้องขอนั้น เขาไม่เคยขอให้รัฐช่วยอะไร ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ หรืออื่นๆ เขาขอเพียงรัฐยอมปล่อยให้เขาได้อยู่ในสิ่งที่เขาเคยอยู่เท่านั้นจนได้อ่านข่าวที่ กกต. ชี้ออกมาว่า ท่าน สส.ผู้ทรงเกียรติ หลายท่านน่าจะพ้นสภาพการเป็น สส.เพราะตนเองหรือภรรยาเข้าไปถือหุ้น ในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ ทั้งหุ้น ปตท. หุ้นไฟฟ้า และหุ้นอื่นๆ อ้อ..เพราะอย่างนี้นี่เองนักการเมืองทั้งหลายถึงไม่ใยดีและเพิกเฉยต่อคำเรียกร้อง ของกลุ่มผู้คัดค้านเพื่อสิ่งแวดล้อม ก็ท่านทั้งหลายที่กล่าวถึงมามีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่มากมายนี่เอง อ่านข่าวแล้วรู้สึกสะใจจริงๆ เพราะไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหน ที่สามารถล้างบางนัก การเมืองขี้ฉ้อได้เท่ารัฐธรรมนูญปี 50 นี้เลย(สะใจเจงๆๆ) เพราะการเขียนไว้ว่าห้ามนักการเมืองมีผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นถูกต้องแล้ว เพราะนักการเมืองเป็นผู้มีอำนาจการตัดสินใจในการบริหารจัดการในทุกด้าน และนักการเมืองก็เป็นมนุษย์มันก็หนีไม่พ้นที่จะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม ความเป็นธรรมจะไม่มีวันเกิดขึ้นจริงได้ถ้าไม่สามารถกำจัดผลประโยชน์ทับซ้อนออกไปได้(ถึงแม้ออกไม่หมดแต่ก็ดีกว่าไม่ออกเลย) เอาเป็นว่าผู้เขียนชูจั๊ก-กะ-แร้ เชียร์เพื่อนพ้องน้องพี่ พลังบริสุทธิ์ที่ก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตัว ออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมไว้ให้เป็นของขวัญสำหรับลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป และช่วยยืนยันสโลแกนที่ว่า “ไม่ให้ไม่ว่าขอแค่อย่าทำร้าย” ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนและขอให้ไอ้พวกขี้ฉ้อสูญพันธุ์จากประเทศไทยไปสักที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ห้างใหญ่หนีอาญาขายของหมดอายุยอมชดใช้ผู้บริโภค

 “ฮัลโหล...มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคใช่ไหมคะ”“ค่ะ ใช่ค่ะ ไม่ทราบว่ามีปัญหาอะไรจะร้องเรียนคะ”“ชื่อสุนีย์นะคะ คืออย่างงี้ค่ะ ตอนนี้กำลังยืนเรียกค่าเสียหายจากทางห้างอยู่ เพราะเขาเอาของหมดอายุมาขายให้เรา เราจะเรียกค่าเสียหายกับเขาได้ไหมคะ”พอได้ยินคำถาม เจ้าหน้าที่รับเรื่องของเราถึงกับตื่นเต้น ก็ไม่ให้ตื่นเต้นได้ไงเจอผู้บริโภคที่รักษาสิทธิของตัวเองเต็มที่อย่างนี้ไม่ได้หาได้ง่ายๆ และเป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ จึงค่อยๆ ปล่อยคำถามหารายละเอียดออกไป “ไหนช่วยเล่ารายละเอียดหน่อยนะคะว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงต้องคิดเรียกค่าเสียหายกับเขา” แล้วคุณสุนีย์ก็เล่าเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเอง เธอบอกว่าตอนนี้กำลังอยู่ที่ห้างตราดอกบัว สาขาแจ้งวัฒนะ เพื่อมาเรียกร้องค่าเสียหายกับทางห้าง เป็นค่ารถ ค่าเสียเวลา รวมเป็นเงิน 500 บาท ซึ่งก่อนหน้าที่จะมายืนเรียกค่าเสียหายนั้น ประมาณสัก 4-5 วันที่ผ่านมาคือวันที่ 6 มิถุนายน 2552คุณสุนีย์ได้มาซื้อสินค้าประเภทอาหารที่ห้างแห่งนี้แล้วนำกลับไปรับประทานที่บ้าน แต่เมื่อมาตรวจดูสินค้าพบว่าสินค้าหมดอายุไปแล้วเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552 คุณสุนีย์เห็นว่าไม่เป็นธรรมจึงขับรถกลับมาร้องเรียนเรียกค่าเสียหาย “ตอนนี้กำลังรอทางห้างเขาตัดสินใจอยู่ว่าจะเอาไง” แนวทางแก้ไขปัญหา ตามกฎหมายอาหารที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เป็นผู้ดูแลอยู่ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารหมดอายุที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ จะเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ อาจถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และหากพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับถึง 3 หมื่นบาท ผู้บริโภคที่พบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารหมดอายุ หากต้องการให้มีการดำเนินคดี ให้แจ้งไปที่สายด่วน อย.โทร.1556 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดแต่สำหรับคุณสุนีย์ต้องการเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 500 บาทเพื่อเป็นค่ารถค่าเสียเวลาที่มาซื้อของหมดอายุ ท้ายสุดห้างซูเปอร์สโตร์แห่งนี้ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 500 บาทตามที่ผู้บริโภคเรียกร้อง นับเป็นการใช้สิทธิและบทลงโทษกับผู้ประกอบการด้วยฝีมือผู้บริโภคชั้นเยี่ยม ขอปรบมือให้ 40 แปะ!  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 แม่บ้านดวงอับ ถูกแบงค์ฟ้องหนี้บัตรเครดิต

แทบเป็นลมล้มทั้งยืนเมื่อเห็นหมายศาลส่งมาถึงบ้านแจ้งให้ไปศาลในวันที่ 17 สิงหาคม 2552 และให้ชำระหนี้บัตรเครดิตให้กับธนาคารกรุงเทพ เป็นเงินสามหมื่นกว่าบาท“ได้รับเงินแค่เดือนละ 4-5 พันบาท จะเอาปัญญาที่ไหนไปใช้เงินเขา ที่สำคัญยังไม่รู้เลยว่าเคยไปทำบัตรเครดิตใบนี้ไว้ตอนไหน”คุณชิดชนก แม่บ้านทำความสะอาดอยู่ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) โอดครวญ“ก็เคยได้รับจดหมายทวงหนี้จากธนาคารมาก่อนเหมือนกัน เขาบอกว่าเราได้รับอนุมัติให้ใช้บัตรเครดิตของธนาคาร และก็มียอดหนี้แจ้งมาในจดหมาย เรากับสามีก็งงๆ เพราะบัตรเครดิตสักใบก็ไม่เคยเห็น ไม่เคยใช้แล้วจะมีหนี้ได้อย่างไร ไม่มีความรู้ทางข้อกฎหมายด้วยว่าจะต้องทำยังไงต่อไป คิดในแง่ดีไปว่าเขาอาจจะส่งผิดก็ไม่ได้สนใจอะไร”เมื่อไม่มีการทักท้วงใดๆ ออกไป ในที่สุดหมายฟ้องคดีจึงมาเกาะที่หน้าประตูบ้านทันที คราวนี้ทั้งบ้านเหมือนร้อนเป็นไฟอยู่เฉยกันไม่ได้ ต้องมานั่งตรวจเอกสารต่างๆ ที่แนบมากับหมายฟ้อง ก็มาสะดุดกับลายเซ็นชื่อของตัวเองในใบสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิต“ไม่ใช่ลายเซ็นของเราแน่นอน” คุณชิดชนกยืนยัน”“คนอื่นอาจจะดูเหมือนมาก แต่เราเห็นแล้วบอกเลยว่าไม่ใช่ ส่วนรายละเอียดอย่างอื่น เช่น ยอมรับว่าชื่อ-นามสกุลเป็นของเรา เลขบัตรประชาชนก็เป็นของเรา แต่ที่อยู่บ้าน เบอร์โทรศัพท์ ไม่ใช่ เป็นบ้านใครเบอร์โทรศัพท์ใครก็ไม่รู้ มาดูชื่อสถานที่ทำงานก็ไม่ใช่บริษัทที่เราทำงานให้อยู่ แถมแจ้งรายได้ถึง 3 แสนบาทต่อปีอีก มันไม่ใช่ตัวเราเลยน่ะ เงินเดือนเราแค่ 4-5 พันเท่านั้น” หลังจากนั้นคุณชิดชนกจึงหอบหลักฐานประจำตัว หลักฐานตามสำนวนฟ้องคดีที่ได้รับมาโดยไม่ต้องการวิ่งไปหาธนาคารกรุงเทพ เพื่อปฏิเสธภาระหนี้ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2552 แต่ด้วยความร้อนใจที่วันนัดของศาลใกล้เข้ามาเรื่อยๆ คุณชิดชนกจึงดิ้นรนไปร้องทุกข์กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้รับเรื่องในเวลาต่อมาแนวทางแก้ไขปัญหา สำหรับผู้บริโภคที่โดนแจ็คพอตมีหนี้บัตรเครดิตทั้งที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของบัตรหรือใช้บัตร ให้ใช้หลักทักท้วงและปฏิเสธโดยทันที ดังนี้ครับ1.เมื่อผู้บริโภคตรวจสอบพบว่าตนไม่ได้เป็นผู้เข้าทำสัญญาขอใช้บัตรเครดิตกับธนาคาร หรือไม่ได้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือบริการตามที่มีใบแจ้งหนี้มา ให้ทำหนังสือปฏิเสธสัญญาหรือรายการใช้จ่ายดังกล่าวโดยทันทีและส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนตอบรับถึงธนาคารโดยทันที(การโทรไปที่ศูนย์บริการของผู้ประกอบธุรกิจมีข้อดีคือสะดวก ง่าย แต่ผู้บริโภคจะไม่มีหลักฐานไว้ยืนยันในภายหลัง)2.ถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต หรือธนาคารที่จะเป็นผู้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการทำสัญญาว่ามีผู้ปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสารมาทำสัญญาหรือไม่3. หนี้ที่เกิดขึ้นถือเป็นหนี้เสียของธนาคารที่ธนาคารจะต้องติดตามดำเนินคดีเองกับผู้กระทำผิด มิใช่ผู้บริโภคในส่วนผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาของคุณชิดชนกได้รับการชี้แจงจากธนาคารกรุงเทพว่าหลังคุณชิดชนกมาแจ้งเรื่อง ธนาคารจึงได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการขอทำบัตรเครดิตและยอมรับว่าเป็นเอกสารที่ไม่เกี่ยวข้องกับคุณชิดชนกแต่ที่ช้าไปบ้างก็เพราะธนาคารต้องใช้เวลาตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้แน่ใจโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 3 อาทิตย์ ท้ายที่สุดธนาคารยินยอมที่จะถอนฟ้องคุณชิดชนกในวันที่ศาลนัดโดยทันที แต่เพื่อความปลอดภัย... มูลนิธิฯ จึงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่พร้อมทนายไปเป็นพี่เลี้ยงในวันขึ้นศาลด้วย หากธนาคารเกิดเปลี่ยนใจคุณชิดชนกจะสามารถต่อสู้คดีได้ทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ตุ๋นออนไลน์

“ผมชื่อ พรชัย เตชะไพบูลย์ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยครับ”คุณธัญชนก รู้สึกปลื้มสุดๆ ที่การเข้าเอ็มเอสเอ็นในวันนั้นทำให้มีโอกาสได้รู้จักกับนักการเมืองชื่อดังของพรรคการเมืองที่ชื่นชอบ และให้รู้สึกสงสารมากๆ ที่ทราบว่าเขาเป็นหนึ่งในนักการเมือง 111 รายที่ถูกห้ามเล่นการเมืองปกติแล้วคุณธัญชนกจะใช้บริการโปรแกรมรับ-ส่งข้อความทางอินเทอร์เน็ตหรือเอ็มเอสเอ็นโดยผ่านการเป็นสมาชิกกับเว็บไซต์ www.sanook.com ทำให้มีโอกาสสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนที่ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตาอยู่เสมอ แต่ครั้งนี้ถือว่าพิเศษสุดเพราะผู้ที่อ้างว่าเป็นนายพรชัย เตชะไพบูลย์ ได้บอกว่าในวงคุยเอ็มเอสเอ็นขณะนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ก็กำลังร่วมวงสนทนาอยู่ด้วย“เราคุยกันเรื่องการเมือง เรื่องหุ้น เขาบอกว่านอกจากจะเป็นนักการเมืองแล้ว ยังทำธุรกิจหลายประเภท เช่น ขายเสื้อผ้าส่งออก ทำธุรกิจรังนก และทำรีสอร์ทที่จังหวัดระยอง แต่ที่ทำให้เกิดรายได้เป็นกอบเป็นกำมาจากการเล่นหุ้น ปตท.เขาแนะนำให้เราซื้อหุ้น ปตท.กับเขา เขายกตัวอย่างว่าหากหุ้นราคา 1 บาทถ้าซื้อเราจะได้ค่าตอบแทนถึง 500 บาท และอ้างว่าคุณสุดารัตน์(เกยุราพันธุ์) ก็กำลังเล่นเอ็มเอสเอ็นกับเราด้วย ระหว่างนั้นก็พูดคุยกันเรื่องการเมืองกับเรื่องหุ้น ทำให้เราหลงเชื่อ”“เขาบอกห้ามเราบอกใคร เขาบอกว่าหุ้นนี้เป็นหุ้นนักการเมืองรู้กันเฉพาะวงในเท่านั้นถ้าบอกเขาต้องเดือดร้อนแน่” แค่ระยะเวลาการติดต่อเพียงแค่สองวันแต่ด้วยผลประโยชน์บังตาและคำพูดสำทับที่น่าเชื่อถือเหมือนได้คุยกับนักการเมืองจริงๆ ทำให้เหยื่ออย่างคุณธัญชนกเชื่ออย่างไม่สนิทใจและตกลงขอซื้อหุ้นจากนักการเมืองกำมะลอรายนี้ไป 100,000 หุ้นในราคา 750,000 บาท และโอนเงินเข้าบัญชีให้กับนักต้มตุ๋นรายนี้ในเวลาต่อมา “รอบแรกก็หลงเชื่อโอนไปให้ 50,000 บาท เขาบอกว่าเราต้องลงพอร์ต 3 ครั้ง เขาพูดจาน่าเชื่อถือมากๆ เราก็เชื่ออีก ต่อมาก็โอนเงินให้เขาเรื่อยเป็นครั้งๆ สองแสนห้า สองแสน ห้าหมื่น สองหมื่น เรื่อยมาทั้งหมดก็เจ็ดแสนกว่าได้ ระยะเวลาเพียงแค่สองอาทิตย์เท่านั้นแล้วก็เป็นเงินที่กู้เขาทั้งหมด เขาบอกว่าจะโอนเงินจากการขายได้ให้ในวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2551 สุดท้ายก็เงียบไป”เมื่อสงสัยว่าจะถูกหลอก คุณธัญชนกจึงได้ค้นข้อมูลหาชื่อ “นายพรชัย เตชะไพบูลย์” ในโปรแกรม Google ทำให้พบชื่อนายพรชัย หรือคิม เจริญวัฒนาไพบูลย์ อายุ 40 ปี ซึ่งเคยถูกตำรวจจับกุมในข้อหาแอบอ้างชื่อคนดังฉ้อโกงประชาชนมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 8-9 ปีที่แล้ว เมื่อเทียบเคียงรูปการณ์ที่ตนเองประสบ...จึงตัดสินใจเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในทันทีผลการดำเนินการ บ่วงกรรมตามทันครับเพราะเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2551 เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทำการจับกุมตัวนายพรชัย หรือคิม เจริญวัฒนาไพบูลย์ ได้พร้อมสมุดเงินฝากธนาคารต่างๆ ซึ่งมียอดเคลื่อนไหวในบัญชี มูลค่านับล้านบาท โดยสามารถจับกุมตัวได้ที่ด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเซนจูรี่พลาซ่า ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจากการสอบสวนเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่า นายพรชัยผู้ต้องหารายนี้จบการศึกษาแค่ระดับ ม.6 แต่ที่บ้านค่อนข้างมีฐานะเพราะเปิดกิจการขายผลไม้ และเสื้อผ้าย่านโบ๊เบ๊ จึงสามารถซื้อมือถือรุ่นแพง ๆ ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมาทำการหลอกลวงผู้เสียหายได้ โดยบางครั้งก็จะอาศัยเช่าชั่วโมงตามร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ลงมือก่อเหตุ ก่อนรายของคุณธัญชนกนั้น นายพรชัยเคยหลอกลวงผู้หญิงรายหนึ่งให้โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อจ่ายค่าหุ้นมาแล้วกว่า 300,000 บาท แต่เมื่อผู้เสียหายจะเอาเรื่อง นายพรชัยจึงได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากบิดา ให้พาทนายความนำเงินไปเคลียร์หนี้ให้จนผู้เสียหายยอมความแต่ครั้งนี้ หลังไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คุณธัญชนกก็ได้มาร้องขอความช่วยเหลือด้านคดีความกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย และมูลนิธิฯ ได้จัดทนายความจากศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคให้ความช่วยเหลือในทางคดี จนทำให้ผู้เสียหายได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีกับอัยการได้ท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 ศาลจังหวัดพระโขนงได้ตัดสินให้นายพรชัย เจริญวัฒนาไพบูลย์ มีความผิดฐานฉ้อโกงลงโทษจำคุก 7 ปี 6 เดือน แต่นายพรชัยให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือโทษจำคุก 3 ปี 9 เดือน และให้จำเลยคืนเงิน 750,000 บาทแก่คุณธัญชนกด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 สิ่งนี้หรือคือเสรีภาพของสื่อมวลชน

หมีแพนด้า หมีแพนด้า หมีๆ แพนด้า...ช่วงนี้พูดได้ว่า ไม่มีข่าวอะไรที่ฮิตฮอต เกินข่าวแพนด้าตัวน้อยที่น่ารัก น่าชัง กับแม่หลินฮุ่ย ที่เล่นเอาพ่อช่วงช่วง ตกกรอบข่าวไปจนหาไม่เจอเลยทีเดียว ความน่ารักของแพนด้าน้อยคงช่วยทำให้ผู้ที่ได้ชมนั่งอมยิ้มทุกครั้งที่ได้เห็นภาพ ความรักความผูกพันระหว่างแม่หมีกับลูกหมี (ถึงแม้เป็นการเห่อตามกระแสก็เถอะ) แต่ก็ถือได้ว่าข่าวแพนด้ายังเป็นข่าวที่ทำให้ผู้รับข่าวสารอ่านแล้ว ดูแล้วมีความสุขพอสมควรตรงกันข้ามกับอีกข่าวหนึ่ง ดังไม่แพ้กัน แต่กี่ครั้งที่เห็นก็อดที่จะสะท้อนใจไม่ได้และรู้สึกไม่สบายใจ นั่นคือข่าวที่พ่อ-ลูก ของอดีตนักร้องลูกทุ่งชื่อดังออกมาทะเลาะกันเป็นเวลาติดต่อกันหลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ทั้งสองข่าวนี้ดังไม่แพ้กัน ต่างกันอยู่ที่ข่าวแพนด้า(ข่าวของสัตว์)นำเสนอให้เห็นมุมของความรักความผูกพันระหว่างแม่หมีกับลูกหมี ที่มีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง แต่ข่าวหลัง(ข่าวของคน) เป็นการนำเสนอความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างลูกกับพ่อ ผู้เขียนในฐานะผู้บริโภคข่าวสารไม่เข้าใจเลยว่า การสื่อสารเรื่องนี้(ของคน)สู่สังคม สื่อต้องการสื่อสารอะไร การที่ลูกกับพ่อออกมาทะเลาะกัน ไม่ว่าใครจะผิดจะถูกอย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ก็คือผู้เสียหายและตกเป็นจำเลยของสังคมโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง ดังนั้นมันเป็นการสมควรแล้วหรือ ที่ต้องนำข่าวนี้ออกมาเผยแพร่ แบบเจาะลึกชอนไช ทุกซอกทุกมุมแบบนี้ เรียกได้ว่ามีการเผยแพร่ข่าวสารแบบครบวงจรกันเลยทีเดียวทั้งทางข่าวทีวี ข่าวจากสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่เว้นแม้แต่รายการทอล์คโชว์ต่างๆ ดังเสมือนว่า พ่อ-ลูก คู่นี้เป็นเหยื่ออันโอชะ เป็นแหล่งทำมาหากินของวงการข่าวสารของไทยก็ว่าได้ โดยไม่เว้นเวลาให้เขาหายใจหายคอกันเลยทีเดียวสื่อที่เห็นส่วนใหญ่มักทำตัวเป็นบ่างช่างยุ ถามทางโน้นที ยั่วทางนี้ที เหมือนว่ามีความสุขมากมายที่ได้เสนอข่าวนี้ออกไป(หรือว่าเพื่อเงินทำได้หมด) ทั้งๆ ที่ข่าวแบบนี้ ไม่มีใครได้ประโยชน์ใดๆ ทั้งพ่อทั้งลูกก็เสียหาย คนอ่านก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรที่ประเทืองปัญญา ดีไม่ดีเกิดการเลียนแบบขึ้นมาอีก การเสนอข่าวนี้ยิ่งจะเป็นการตอกย้ำจารึกรอยแผล แห่งความล่มสลายของครอบครัวไว้ในสังคม(ต้องการอย่างนั้นกันหรือ) ซึ่งผู้เขียนไม่เข้าใจจริงๆ ว่าวงการข่าวสารไทย ที่ออกมาเรียกร้องว่าผู้สื่อข่าวต้องมีอิสระในการนำเสนอข่าว ปราศจากการแทรกแซงใดๆ (ซึ่งก็เห็นด้วย) แต่ตัวเองอิสระแล้วยังไงล่ะ พวกเขาเคยคิดบ้างไหมที่จะปล่อย(เหยื่อ)พ่อ-ลูกคู่นี้ให้เขาได้มีอิสระที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวเขาเองได้บ้างหรือเปล่า ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้บริโภคข่าวคนหนึ่งหวังอย่างยิ่งว่าวงการข่าวสารของไทยจะพัฒนามากขึ้น เสนอข่าวสารอย่างมีสติ จะนำความจริงที่จะเกิดประโยชน์ต่อสังคม ตีแผ่ความฉ้อฉล สร้างการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาสังคมได้มากขึ้น ไม่ใช่เสนอข่าวตามกระแสตลาดอย่างเดียวเหมือนทุกวันนี้ โดยเห็นความจ็บปวดของแหล่งข่าวเป็นอาหารอันโอชะ ก็ไม่รู้ว่าจะฝากเรื่องนี้ไว้กับใคร ผู้บริโภคอย่างเรายังคงต้องบริโภคข่าวแบบไม่มีทางเลือกต่อไป นี่คือเสียงหนึ่งของผู้บริโภคที่อยากบ่นดังๆ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตื่นๆๆ กันเสียที เฮ้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 ฮะจิบังเสนอเงินลูกค้า 5 หมื่น จบเรื่องอาหารทำพิษ

รายงานความคืบหน้า กรณีลูกค้าฮะจิบังร้องเรียนว่ามีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงหลังรับประทานอาหารที่ร้านฮะจิบัง ราเมน สาขาเทสโก้ โลตัส พระราม 3จากความเดิมต่อจากฉบับที่แล้ว กรณีคุณแพรวพรรณ(นามสมมติ) และครอบครัวไปนั่งรับประทานอาหารที่ร้านฮะจิบังสาขาดังกล่าวแล้วเกิดท้องเสียอย่างรุนแรง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 หลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังฟสือแจ้งไปยังบริษัท ไทยฮะจิบัง จำกัด เพื่อขอให้บริษัทพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภคด้วยความเป็นธรรมตามสมควร ต่อมาในวันที่ 2 มิถุนายน 2552 บริษัทไทยฮะจิบัง จึงได้มีหนังสือตอบกลับมาที่มูลนิธิฯ ใจความสรุปได้ว่า ในวันเกิดแหตุที่ผู้บริโภคได้ร้องเรียนนั้น ร้านฮะจิบังสาขาดังกล่าว ได้จำหน่ายอาหารชนิดเดียวกันกับที่ผู้ร้องเรียนและครอบครัวรับประทานให้แก่ลูกค้าอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ปรากฏว่ามีลูกค้ารายใดมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับรายของผู้ร้องเรียนและครอบครัวแต่อย่างใด หากการเจ็บป่วยของผู้ร้องเรียนและครอบครัวเกิดจากอาหารที่รับประทานจากร้านของบริษัทจริง ลูกค้ารายอื่น ๆ จะต้องมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงด้วย ดังนั้น อาการท้องร่วงของนางสาวพรรณราย และครอบครัวอาจเกิดจากการได้รับเชื้อโรคบิดชนิดเฉียบพลันจากที่อื่นก่อนมารับประทานอาหารที่ร้านฮะจิบัง ราเมน เมื่อยังไม่ได้พิสูจน์ว่าเชื้อโรคบิดชนิดเฉียบพลันเกิดจากการรับประทานอาหารของร้านฮะจิบังราเมน บริษัทฯจึงยังไม่อาจพิจารณาเยียวยาค่าเสียหายได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยินดีที่จะพิสูจน์หาความจริงจนเป็นที่แน่ชัดเสียก่อนล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา ตัวแทนของบริษัท ไทยฮะจิบัง ได้เข้าเจรจากับผู้ร้องเรียนที่สำนักงานเขตยานนาวา โดยผู้ร้องเรียนได้เสนอเรียกค่าเสียหายไปทั้งสิ้น 168,000 กว่าบาท แต่ทางบริษัทฯ ยินดีที่จะจ่ายเพื่อเป็นการแสดงความมีน้ำใจให้กับลูกค้าที่อาจเกิดความเข้าใจผิดในบริการของร้านฮะจิบัง ราเมนเป็นเงิน 50,000 บาทถ้วน และขอให้ยุติเรื่องพิพาททั้งหมด ผู้ร้องเรียนปฏิเสธและขอเดินหน้าที่จะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป ความคืบหน้าในการตรวจสอบด้านความปลอดภัยของอาหารในร้านฮะจิบัง ราเมน สำนักงานเขตยานนาวา ได้ดำเนินการตรวจสอบสุขลักษณะของร้านฮะจิบัง ราเมน สาขาเทสโก้ โลตัส พระราม 3 และทำการสุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร น้ำแข็ง และน้ำดื่ม ไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2552 หลังเกิดเหตุประมาณ 3 สัปดาห์ ผลการตรวจวิเคราะห์พบอาหารจำนวน 8 จาก 11 รายการที่ไม่อยู่ในมาตรฐาน โดยส่วนใหญ่พบเชื้อแบคทีเรียโคลิฟอร์ม เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ทั้งในน้ำแข็งและอาหารที่สุ่มตรวจ โดย 1 ตัวอย่างพบเชื้อแบคทีเรียอีโคไลเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดสำหรับอาหารปรุงสุก สำนักงานเขตจึงมีคำสั่งให้ร้านอาหารแห่งนี้มีการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการผลิตอาหารให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค อาทิเช่น การมีคำสั่งให้ไม่แช่สิ่งของอื่นใดในภาชนะที่บรรจุน้ำแข็งที่ใช้ดื่ม ให้ทำความสะอาดวัตถุดิบด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนนำมาปรุงประกอบอาหาร ให้ผู้ที่สัมผัสอาหารทุกคนล้างมือก่อนและหลังสัมผัสอาหาร เป็นต้นต่อมาในวันที่ 28 เมษายน 2552 สำนักงานเขตยานนาวาได้เข้าตรวจสอบสุขลักษณะของร้านฮะจิบัง ราเมนแห่งนี้อีกครั้ง เพื่อติดตามผลการปฏิบัติตามคำสั่งและสุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร รวม จำนวน 11 รายการเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจครั้งนี้พบว่ายังมีการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในผักโรยหน้าและน้ำแข็ง ส่วนอาหารชนิดอื่นไม่พบปัญหาใด ๆ สำหรับผลการตรวจสุขภาพของพนักงานในร้าน พบว่า เป็นใบรับรองแพทย์ที่ส่งให้เจ้าหน้าที่มาจากคลินิกเอกชน เจ้าหน้าที่จึงให้ตรวจสุขภาพใหม่ โดยให้เข้ารับการตรวจสุขภาพที่สถานพยาบาลของรัฐ และแนบผลการตรวจ Lab ส่งต่อเจ้าหน้าที่ด้วยทุกคน ซึ่งสำนักงานเขตยานนาวาได้รายงานผลการดำเนินการเฝ้าระวังทั้งหมดนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ไปด้วยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 อพาร์ตเม้นท์อมเงินประกัน

คุณเจนรวี เป็นนักศึกษาของสถาบันราชภัฏจันทรเกษม ปีสุดท้าย เข้าทำสัญญาขอเช่าห้องพักกับเอกอาทิตย์อพาร์ตเม้นท์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2551และสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 1 มีนาคม 2552ก็เหมือนกับนักศึกษาที่กำลังเดินหาหอพักทั่วไปล่ะครับไม่ค่อยได้อ่านสัญญากันหรอก เห็นมีห้องว่างให้เช่า ราคาห้องไม่แพงพอสู้ไหว ทิศทางลม ทำเล ความสะดวกปลอดภัยเหมาะสม มีเงินค่าเช่าห้องล่วงหน้าพร้อมเงินประกันก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรตกลงเซ็นสัญญาไป มันก็แค่เรื่องเช่าห้องพัก ...“ก็เห็นว่าเป็นสัญญาเช่าแค่ปีเดียวค่ะ กะว่าจะเช่าแค่นั้น พอครบปีเราเรียนจบรับปริญญาพอดี พอถึงตอนนั้นก็ไปขอคืนห้อง เอาเงินประกันคืนคงไม่มีอะไรวุ่นวาย วางเงินประกันไว้ 5,000 บาทค่ะ” คุณเจนรวีให้ข้อมูล ล่วงมาถึงเดือนกันยายน 2551 อพาร์ตเม้นท์แห่งนี้ได้ติดตั้งเคเบิลทีวีบริการให้กับผู้เช่าพักอาศัย โดยจะคิดค่าบริการเพิ่มจากค่าห้องอีกเดือนละ 200 บาท และได้จัดโปรโมชั่นให้ชมฟรี 4 เดือนแรกก่อนคิดค่าบริการจริง ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป แต่หากผู้เช่าห้องรายใดมาทำการต่อสัญญาใหม่เพื่อยืนยันการเช่าพักอาศัยต่อ ทางอาร์ตเม้นท์จะยกเว้นค่าบริการเคเบิ้ลให้ตลอดอายุสัญญาฉบับใหม่รวมระยะเวลา 1 ปีคุณเจนระวีเล่าว่าตอนที่ผู้ดูแลอพาร์ตเม้นท์มาแจ้งรายละเอียดของโปรโมชั่นนี้ ตอนนั้นกำลังวุ่นอยู่กับการขยำขยี้เสื้อผ้าอยู่หลังห้องพอดี“เขาบอกว่าให้เอาสัญญาเช่าห้องมาให้เขา แล้วจะได้ส่วนลดค่าเคเบิ้ลทีวีเดือนละ 200 บาท เราอยากได้ก็เลยส่งสัญญาให้เขาไป หายไปสักอาทิตย์หนึ่งเขาก็เอาสัญญามาคืนให้ตอนนั้นจำไม่ได้ค่ะว่าเราได้เซ็นลายมือชื่ออะไรเพิ่มเติมไปหรือเปล่า และไม่ได้เอะใจหรอกค่ะว่ามีการแก้ไขวันเริ่มสัญญาเช่าห้องกันใหม่ ตอนที่รับสัญญาคืนเขาก็มาตอนที่เรากำลังซักผ้าอยู่พอดี” พอถึงเดือนกุมภาพันธ์จึงได้ไปติดต่อขอคืนห้องล่วงหน้าก่อนหมดสัญญาและขอคืนเงินประกันจำนวน 5,000 บาท แต่ทางอพาร์ตเม้นท์แจ้งว่าจะไม่คืนเงินประกันให้เนื่องจากคุณเจนรวีแจ้งการย้ายออกผิดเงื่อนไขเนื่องจากพักอาศัยยังไม่ครบ 12 เดือน“เราก็เถียงเขาใหญ่เลยค่ะว่าเราอยู่มาตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว จะออกในเดือนมีนาคมปีนี้ทำไมถึงไม่ครบ 12 เดือน แต่พอเขาให้เราเอาสัญญาขึ้นมาดูก็ตกใจค่ะ เพราะสัญญาที่เราถือไว้มันถูกแก้ไขวันเริ่มสัญญาใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม 2552 ซึ่งก็มีลายเซ็นของเราลงไว้เรียบร้อยเลย ตอนที่เราอยากได้เคเบิ้ลฟรี”คุณเจนรวีพยายามเจรจาต่อรองต่างๆ นานาแต่ท้ายที่สุดทางอพาร์ทเมนท์ยืนกระต่ายขาเดียว ให้คุณเจนรวีจ่ายค่าห้องและค่าใช้จ่ายที่ค้างอยู่ ส่วนเงินประกันขอยึด เมื่อไม่มีทางออกสุดท้ายจึงต้องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหาสาระสำคัญของสัญญาที่อพาร์ทเม้นท์ทำกับคุณเจนรวีและใช้เป็นเหตุในการริบเงินมัดจำได้กำหนดไว้ว่า ระยะเวลาการเช่าต้องไม่น้อยกว่า 12 เดือน ถ้าผู้เช่าบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ผู้ให้เช่าสามารถริบเงินที่ชำระไว้ทั้งหมด โดยผู้เช่าไม่มีสิทธิโต้แย้งหรือเรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้น ในส่วนของเงินค่าประกันห้องนั้นได้กำหนดว่า เงินค่าประกันห้องที่เหลือจากการหักค่าทำความเสียหายแล้ว จะคืนให้หลังจากที่ผู้เช่าได้ย้ายออกจากหอพักเป็นเวลา 30 วัน ....ซึ่งสัญญาลักษณะนี้หอพัก หรืออพาร์ทเม้นท์หลายแห่งได้ถ่ายแบบใช้เป็นเงื่อนไขเพื่องับเงินมัดจำค่าห้องของเด็กนักศึกษาจำนวนมากแต่เรื่องนี้มีทางออกครับ เนื่องจากคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้ธุรกิจการให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เรียกเงินประกันเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550ดังนั้นสัญญาที่คุณเจนรวีทำใหม่กับอพาร์ตเม้นท์เมื่อ 1 มกราคม 2552 จึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของประกาศฉบับนี้ด้วย โดยในส่วนของเงินประกันตามประกาศฉบับนี้ สัญญาการเช่าที่พักอาศัยทุกฉบับจะต้องมีข้อความว่า ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันทันทีเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเช่าที่อยู่อาศัยหรือเมื่อสัญญาเช่าที่อยู่อาศัยเลิกกัน เว้นแต่กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประสงค์จะตรวจสอบความเสียหายที่ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ หากผู้เช่ามิได้ทำความเสียหาย ให้ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันภายใน 7 วัน โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจรับภาระค่าใช้จ่ายในการนำส่งคืนเงินประกันนั้น ตามที่ผู้เช่าแจ้งให้ทราบ ดังนั้นจึงถือว่าสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบผู้เช่าของอพาร์ตเม้นท์ในกรณีนี้จึงขัดต่อประกาศดังกล่าวและถือว่าไม่มีข้อความส่วนนี้ในสัญญา ดังนั้นผู้ให้เช่าห้องพักต้องคืนเงินค่ามัดจำให้กับผู้บริโภคโดยไม่มีเงื่อนไขครับ  

อ่านเพิ่มเติม >