ฉบับที่ 117 กระแสต่างแดน

ถ้าจะรับ ช่วยขยับมาอีกนิดไปรษณีย์เดนมาร์คเขาบอกว่าเดี๋ยวนี้ปริมาณจดหมายที่จะต้องจัดส่งน้อยลงอย่างฮวบฮาบ แล้วจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้ไปต่อในโลกที่ใครๆก็ใช้แต่จดหมายอิเลคทรอนิกส์ หรือไม่ก็บีบีหากันแทบจะทุกนาทีอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้กิจการเขาก็ดีอยู่ สถิติบอกว่า ในปีค.ศ. 1999 ชาวแดนิชเขาส่งจดหมายกันคนละ 272 ฉบับ  อีก 10 ปีต่อมา จำนวนจดหมายลดลงเหลือ 181 ฉบับต่อคนต่อปี เขาคาดว่ากว่าจะถึงปีค.ศ.  2019 ตัวเลขนี้ก็จะลดลงเหลือง เพียง 70 เท่านั้น (นี่น้อยของเขาแล้วนะ) คิดไปคิดมา Post Denmark ก็ตัดสินใจขึ้นค่าธรรมเนียมการส่งจดหมายเสียเลย จากเดิมที่เคยคิดค่าส่งจดหมายธรรมดาฉบับละ 5.5 โครเนอร์ (ประมาณ 30 บาท) ก็ขึ้นเป็น 8 โครเนอร์ (ประมาณ 44 บาท)  ข่าวว่ามาตรการอัพราคานี้จะทำให้ Post Denmark มีรายได้เพิ่มขึ้น 100 ล้านโครเนอร์ ยังมีเด็ดกว่านั้น เขาตั้งเป้าจะลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งด้วยการขอความร่วมมือจากประชากรกว่า 100 ครัวเรือน ให้ย้ายกล่องรับจดหมายจากหน้าประตูบ้านตนเองออกมาให้ใกล้ถนนให้มากที่สุดด้วย ... นะ ช่วยๆกัน   รับบริการตรวจความดันเพิ่มไหมครับ ต่อไปคุณผู้ชายที่ไปใช้บริการร้านตัดผมในรัฐเท็กซัส อเมริกา ก็อาจจะได้รับบริการเสริมเป็นการตรวจวัดความดันให้ด้วยทั้งนี้เพราะมีผลการวิจัยออกมาแล้วว่าถ้าทางร้านตัดผมเสนอบริการดังกล่าวให้ทุกครั้งที่ลูกค้าเข้าไปตัดผม จะทำให้ลูกค้าชายเหล่านั้นมีแนวโน้มในการไปพบแพทย์เพื่อจัดการกับปัญหาความดันโลหิตสูงมากขึ้น และทำให้คนเหล่านั้นให้กลับมามีความดันระดับปกติในที่สุด งานวิจัยที่ลงพิมพ์ในวารสารวิชาการ Archives of Internal Medicine เขาทดลองให้ร้านตัดผม 17 ร้าน ในรัฐเท็กซัสในเขตดัลลัส เคาน์ตี้ ซึ่งเป็นเขตที่มีผู้อยู่อาศัยเป็นอเมริกันชนผิวสี ลองเสนอบริการเสริมที่ว่านั้น โดยแยกการบริการออกเป็นสองระดับ ร้านกลุ่มแรก (8 ร้าน) แจกแผ่นพับให้ความรู้กับลูกค้าที่มีความดันโลหิตสูงเกินปกติ ร้านกลุ่มที่สอง (อีก 9 ร้านที่เหลือ) ทั้งแจกแผ่นพับและตรวจวัดความดันให้ลูกค้าทุกครั้งที่มาใช้บริการ พร้อมกับให้ช่างผมคะยั้นคะยอให้ลูกค้าไปพบแพทย์ ข่าวบอกว่าถ้าลูกค้ามีผลการตรวจจากแพทย์มาแสดง ก็จะได้ตัดผมฟรีอีกด้วย ผลปรากฏว่า ลูกค้าร้านตัดผมเกินกว่าครึ่งหนึ่งสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตของตนเองได้ ทั้งนี้มีลูกค้าถึงร้อยละ 20 ในกลุ่มที่ได้รับบริการตรวจเช็คความดันทุกครั้งที่ไปใช้บริการในช่วงเวลา 2 ปี กลับมามีความดันโลหิตในระดับปกติด้วย ... เป็นบริการเสริม (สุขภาพ) ที่เข้าท่าดีเหมือนกันนะนี่   คูปองลดความอ้วน สมาชิกที่ติดตามช่วงกระแสต่างแดน คงจำกันได้ว่าเมืองนิวยอร์กนั้นเขาช่างมุ่งมั่นสร้างสุขภาพให้ชาวเมืองอยู่เนืองๆ คราวนี้นายกเทศมนตรีนายไมเคิล บลูมเบิร์ก สร้างกระแสอีกครั้งด้วยการเสนอให้มีการตั้งกฎห้ามใช้คูปองอาหารเพื่อแลกซื้อน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มผสมน้ำตาลชนิดอื่นๆ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน คูปองดังกล่าวซึ่งแจกให้กับผู้มีรายได้น้อย เช่น ผู้อพยพ ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการฯ ก็ไม่สามารถใช้แลกซื้อบุหรี่ เครื่องดื่มอัลกอฮอล์ หรืออาหารสำเร็จรูปได้ เขาว่าเจตนาของมาตรการดังกล่าวคือการลดจำนวนผู้เป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานในเมืองนิวยอร์ก แต่หลายคนมองว่ามันเป็นการกล่าวหาผู้มีรายได้น้อยว่าพวกเขาเลือกซื้ออาหารไม่เป็น บางคนเสนอว่าแค่จัดโปรแกรมให้ความรู้เรื่องโทษของการดื่มน้ำอัดลมก็น่าจะเพียงพอ บลูมเบิร์กบอกว่าขอทดลองห้ามสักสองปีก่อน เพื่อดูว่าจำนวนผู้ป่วยเบาหวานจะลดลงหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ก็อาจจะห้ามตลอดไป เครื่องดื่มที่อยู่ในข่ายถูกห้ามซื้อด้วยคูปองได้แก่ เครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูงกว่า 10 คาลอรี่ต่อ 8 ออนซ์ ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการรับรองจากรัฐนิวยอร์กแล้วและกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกระทรวงเกษตร ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องคูปองอาหารของอเมริกา คุณบลูมเบิร์กแกคงต้องลุ้นตัวโก่ง เพราะเมื่อปีค.ศ. 2004 กระทรวงเกษตรเคยปฏิเสธข้อเสนอของรัฐมินิโซตา ที่ต้องการให้ห้ามนำคูปองดังกล่าวไปซื้ออาหารขยะมาแล้ว เหตุที่เมืองนี้เขาจริงจังกันมากเรื่องการลดน้ำตาลก็เพราะมีสถิติอย่างเป็นทางการว่า 1 ใน 8 ของผู้ใหญ่ที่นั่นเป็นโรคเบาหวาน และเกือบร้อยละ 40 ของนักเรียนโรงเรียนรัฐบาลในระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่สอง มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน และอัตราการเป็นโรคอ้วนในย่านที่ผู้อยู่อาศัยมีรายได้น้อยนั้นจะสูงกว่า ในขณะเดียวกันก็พบว่าอัตราการบริโภคเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลในเขตรายได้ต่ำนั้นจะสูงกว่าด้วย เทศบาลเมืองนิวยอร์กเคยเสนอให้มีการเก็บภาษีจากน้ำอัดลมมาแล้ว แต่ก็ถูกแรงต้านจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและบรรดาร้านขายของชำไม่น้อย โฆษกสมาคมเครื่องดื่มแห่งอเมริกาออกมาโต้ตอบข้อเสนอของนายกเทศมนตรีว่า “นี่เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลพยายามจะเข้ามากำหนดว่าคนนิวยอร์กจะดื่มจะกินอะไร” ก็... นะ สำนักอนามัยเขาประเมินไว้ว่าการดื่มน้ำอัดลมปริมาณ 12 ออนซ์ซึ่งให้พลังงานสูงถึง 150 คาลอรี่ ทุกวัน จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นปีละ 15 ปอนด์  ซึ่งก็ไม่น่าจะใช้สิ่งที่คนนิวยอร์กต้องการอยู่แล้ว   ฉลากใหม่ลดขยะ ญี่ปุ่นเขาก็มีปัญหาเรื่องฉลากกับเขาเหมือนกัน แต่รู้สึกว่าจะเป็นคนละแนวกับบ้านเรา เคยเห็นแต่ปัญหาอาหารหมดอายุแล้วยังวางขายอยู่ แต่ที่นี่บรรดาร้านค้าปลีกเขารีบเก็บอาหารสำเร็จรูปออกจากชั้นก่อนจะถึงวันหมดอายุจริง ซึ่งทำให้อาหารที่ยังรับประทานได้อยู่ต้องกลายเป็นขยะไปโดยไม่จำเป็น  องค์กรผู้บริโภคของญี่ปุ่นเลยต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อลดปริมาณขยะจากอาหารสำเร็จรูปซึ่งกระทรวงเกษตรของญี่ปุ่นประเมินไว้ว่ามีปริมาณ 5 ล้าน ถึง 9 ล้านตันต่อปี  ว่าแล้วก็เสนอให้รัฐบาลออกคำแนะนำเรื่องการติดฉลากอาหารพวกนี้ ก่อนที่จะประกาศใช้มาตรการติดฉลากแบบแจ้งเวลาที่เหมาะที่สุดในการรับประทาน (best-by date) โดยให้ผู้ผลิตอาหารเพิ่มข้อความเพื่อแจ้งผู้บริโภคว่าอาหารเหล่านั้นยังสามารถรับประทานได้แม้จะผ่านช่วงเวลา “ที่ดีที่สุด” ไปแล้วก็ตาม  ข่าวบอกว่าระบบฉลากที่แสดง best-by date นั้นจะเริ่มใช้ในเดือนมีนาคมปีหน้า ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นยังใช้ระบบฉลากที่แสดงว่าควรบริโภคก่อนวันที่เท่าไร (use-by date) แต่ก็อย่างที่บอกไป บรรดาร้านค้าต่างก็ไม่ยอมเสี่ยงขายอาหารสำเร็จรูปที่เก็บไว้เกินหนึ่งในสามของเวลาระหว่างวันผลิตจนถึงวันหมดอายุ เรียกว่าเสียของข้าไม่ว่า ... เสียหน้าข้ายอมไม่ได้   ดูไบเข้มงานคุ้มครองผู้บริโภคฉลาดซื้อขอพาคุณผู้อ่านไปเยือนรัฐดูไบ ของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กันบ้าง ทุกท่านคงทราบอยู่แล้วว่าที่นั่นมีแต่ของแพง ของมีระดับ คราวนี้ดูไบบอกว่าเขาต้องการสร้างชื่อในการเป็นแหล่งช็อปปิ้งและท่องเที่ยวระดับเวิร์ลด์คลาสด้วยการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ว่าแล้วก็เริ่มจากการกำหนดให้ร้านค้าต่างๆ ติดประกาศแจ้งสิทธิของผู้บริโภคบริเวณหลังเคานท์เตอร์คิดเงิน ให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ขนาดตัวอักษรนั้นเขาก็กำหนดไว้ทางอ้อมด้วยการทำประกาศสำเร็จรูปไว้ให้ร้านต่างๆเข้าไปดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของหน่วยงาน แล้วสั่งพริ๊นท์บนกระดาษขนาด A4 เป็นอย่างต่ำ ใครอยากพิมพ์เองให้สวยกว่านั้น เขาก็ระบุไว้ว่าขนาดตัวอักษรต้องไม่เล็กไปกว่าฉบับที่เตรียมไว้สำเร็จรูปนั้นแล นอกจากนี้ยังต้องแจ้งให้ทราบด้วยว่าถ้าผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ จะต้องติดต่อที่ไหน อย่างไร ข่าวบอกว่าเขาจะมีผู้ตรวจการจากส่วนงานคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ มาคอยสอดส่องดูแล ใครไม่ติดประกาศที่ว่า ก็จะถูกตักเตือนหนึ่งครั้ง เตือนแล้วยังไม่ติดก็จะต้องเสียค่าปรับประมาณ 81,000 บาท หรืออาจจะถูกสั่งปิดร้านชั่วคราวไปเลย การแจ้งให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงสิทธิของตนเองนั้นครอบคลุมไปถึงธุรกิจอื่นๆ อย่างอสังหาริมทรัพย์ หรือบริการการเงินการธนาคารด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 กระแสต่างแดน

เรื่องเท้าของสาวอังกฤษ ไม่ใช่มีแต่สาวจีนเท่านั้นที่นิยมการมีเท้าเล็ก ข้อมูลงานวิจัยของสมาคมแพทย์โรคเท้าแห่งอังกฤษระบุว่าในช่วงมหกรรมลดราคารองเท้าประจำหน้าร้อนเมื่อปีก่อน มีสาวเมืองผู้ดีร้อยละ 37 ซื้อรองเท้าที่เล็กกว่าขนาดเท้าจริงของพวกเธอ (ข่าวบอกว่าปัจจุบันขนาดเท้าโดยเฉลี่ยของสาวอังกฤษเท่ากับ เบอร์ 6)งานวิจัยครั้งนี้สำรวจผู้หญิงอังกฤษจำนวน 2,000 คน โดยสมาคมดังกล่าวยังพบอีกว่าร้อยละ 80 ของผู้หญิงกลุ่มนี้มีปัญหาเกี่ยวกับเท้า เช่น นิ้วเท้าผิดรูป เล็บขบ เป็นต้น แต่มีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่ไปพบแพทย์ ร้อยละ 73 ของสาวๆ เหล่านี้ ใส่รองเท้าที่มีส้นสูงเกินห้านิ้วอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง โดยแต่ละครั้งจะสวมเป็นเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง มีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่สวมรองเท้าที่มีส้นสูงไม่เกินสองนิ้วที่น่าเป็นห่วงคือแม้บรรดาผู้เชี่ยวชาญจะออกมาแนะนำว่าไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงเกินอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง แต่ก็ยังมีจำนวนไม่น้อยที่ใส่ส้นสูงกันห้าวันต่อสัปดาห์ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความจริงแล้วปัญหาเท้านั้นแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการใส่รองเท้าที่เป็นมิตรต่อเท้า แต่ที่ยากคือจะทำอย่างไรให้สาวๆ ยอมเลิกใส่รองเท้าส้นสูงซึ่งใครๆ ก็บอกว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเสริมลุคให้ดูดีนั่นเอง ก็ไม่แน่นักเพราะแม้แต่วิคตอเรีย เบคแฮม ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าถ้าเธอไม่ได้ใส่ส้นสูงแล้วจะคิดอะไรไม่ออก ก็ยังเปลี่ยนมาใส่รองเท้าส้นแบนสลับกับรองเท้ากีฬาเวลาที่เธอไปไหนมาไหน เหตุผลน่ะหรือ ก็เพราะเธอคือหนึ่งในสาวอังกฤษที่เป็นโรคนิ้วเท้าผิดรูปนั่นเอง +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ต้องการอาสาสมัครเปิดเผยข้อมูลการใช้โทรศัพท์ถ้าเราใช้โทรศัพท์มือถือบ่อยๆ เราจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบบประสาท เนื้องอก โรคซึมเศร้า หรือโรคนอนไม่หลับ มากกว่าคนที่ไม่ค่อยใช้หรือไม่ งานวิจัยชิ้นล่าสุดโดยองค์กรที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของนิวเคลียร์และรังสีของประเทศฟินแลนด์ (STUK) กำลังจะหาคำตอบนี้ให้ได้ ด้วยงานวิจัยแบบที่ยังไม่มีใครกล้าทำมาก่อน การสำรวจที่เกิดจากการผลักดันขององค์การอนามัยโลกครั้งนี้จะเป็นการขอข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของผู้ใช้โทรศัทพ์มือถือโดยตรงจากผู้ให้บริการ เหตุที่เลือกทำงานสำรวจดังกล่าวที่ฟินแลนด์ก็เพราะที่นั่นมีการใช้โทรศัพท์มือถือกันมานานกว่าที่ใดๆ ในโลก (คนที่นั่นเขาใช้มือถือมาตั้งแต่ช่วงปี 80 แล้ว) ในปีที่ผ่านมาผู้วิจัยได้สุ่มหมายเลขโทรศัพท์ขึ้นมา 30,000 เลขหมาย และส่งเอกสารไปยังเจ้าของเบอร์เหล่านั้น เพื่อให้ลงชื่อแสดงความยินยอมให้ผู้ให้บริการมือถือของตนเปิดเผยข้อมูลการใช้โทรศัพท์ (หมายเลข และเวลา) กับองค์กร STUKใครที่ยินดีเข้าร่วมงานวิจัยก็ให้ลงชื่อและส่งกลับมา จากนั้นพวกเขาก็จะได้รับแบบสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพและพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ของตนเอง ข่าวไม่ได้บอกว่าเขาต้องการผู้เข้าร่วมกี่คน แต่บอกว่าการสุ่มหมายเลขหาอาสาสมัครนี้จะยังดำเนินการต่อไปในปีนี้และปีหน้าด้วย ก็ได้แต่หวังว่าคนประเทศนี้เค้าจะไม่มีกิ๊กกันมากนัก ไม่เช่นนั้นคงต้องรอกันนานกว่าจะได้อาสาสมัครที่ยอมเปิดเผยข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือตามจำนวนที่นักวิจัยเขากำหนด และอาจจะไม่เสร็จภายในเวลาห้าปีตามแผน +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ อวตาร VS ขงจื้อ รัฐบาลจีนเขาใช้มาตรการเด็ดขาดในการลดคู่แข่งให้กับภาพยนตร์ชีวประวัติของขงจื้อซึ่งจะเข้าฉายในช่วงวันหยุดตรุษจีนที่เพิ่งผ่านไป เรื่องนี้ทำได้ไม่ยากแค่ประกาศยกเลิกการฉายภาพยนตร์แอนิเมชั่นอวตาร ในแบบสองมิติในโรงหนังทั่วประเทศจีนเท่านั้นเอง ถ้าใครอยากดูจริงๆ ก็ต้องไปดูในแบบสามมิติที่ยังมีฉายอยู่ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ ทางผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ UME ของจีนเขาบอกว่าไม่น่าจะมีผลกระทบใดๆ (ก็คงจะไม่มีจริงๆ นั่นแหละเพราะร้อยละ 90 ของโรงหนังค่ายนี้เป็นโรงหนังสามมิติหรือไม่ก็โรงหนังไอแม็กซ์) และการถอนโปรแกรมเรื่องอวตารซึ่งทำยอดขายตั๋วได้สูงที่สุดในประเทศจีน (ได้ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 300 ล้านหยวน หรือ 1,500 ล้านบาท) ออกไปจะทำให้มีโรงสำหรับฉายภาพยนตร์เรื่องขงจื้อมากขึ้น แต่ผู้บริโภคนี่สิ ถ้าอยากดูก็ต้องจ่ายค่าตั๋วหนังแพงขึ้น ในขณะที่ตั๋วหนังธรรมดาใบละไม่เกิน 40 หยวน (200 บาท) ถ้าเป็นตั๋วหนังสามมิติก็ไม่ต่ำกว่า 60 หยวน (300 บาท) โรงไอแม็กซ์ก็ไม่ต่ำกว่า 130 หยวน (650 บาท) ที่ประเทศจีนมีโรงภาพยนตร์ธรรมดาทั้งหมด 4,500 โรง โรงหนังสามมิติ 800 โรง และโรงหนังไอแม็กซ์อีก 10 กว่าโรง ++++++++++++++++++++++++++++++++++++ อินเดียหยุดแผนปลูกมะเขือดัดแปรพันธุกรรมเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วรัฐบาลอินเดียประกาศอนุญาตให้มีการปลูกมะเขือม่วงดัดแปรพันธุกรรมพันธุ์ BT bringal เพื่อการค้าได้ หลังจากที่การปลูกในแปลงทดลองเป็นผลสำเร็จในปีก่อนหน้านั้น แต่วันนี้นายใจราม ราเมช รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินเดีย ออกมาประกาศว่าอินเดียจะระงับการปลูกพืชดังกล่าวไว้ก่อน จนกว่าจะมีผลการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกว่ามันปลอดภัยต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้กำลังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างรุนแรงในอินเดีย ข่าวระบุว่าคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมชนิดนี้มีอยู่อย่างละเท่าๆ กัน เกษตรกรส่วนหนึ่งมองว่านี่คือทางรอดของพวกเขาเพราะทุกวันนี้ต้องใช้สารเคมีปริมาณมากในการควบคุมวัชพืชให้กับมะเขือม่วง พวกเขาหวังว่าเจ้า BT bringal ที่คิดขึ้นมาโดย บริษัท Mahyco ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของมอนซานโต ในอินเดียนั้นจะเป็นคำตอบ ในขณะที่อีกฝ่ายยังไม่เชื่อว่ามะเขือม่วงแบบดัดแปรพันธุกรรมนั้นจะสามารถช่วยเกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับสารเคมีได้จริง เพราะพวกเขาเห็นมาแล้วว่าฝ้ายดัดแปรพันธุกรรม BT cotton ที่ปลูกกันมาได้ระยะหนึ่งแล้วนั้นไม่ได้ช่วยลดการใช้สารเคมีหรือเพิ่มผลผลิตต่อไร่แต่อย่างใด อินเดียคือผู้ผลิตมะเขือม่วงรายใหญ่ที่สุดในโลก และมีมะเขือชนิดนี้มากกว่า 4,000 พันธุ์ ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ เลิกสะสมแต้มกันเถอะบัตรสะสมแต้มของห้างค้าปลีกไม่ได้ช่วยให้คุณจับจ่ายได้อย่างคุ้มค่าขึ้นแต่อย่างใด งานวิจัยโดยนิตยสารเพื่อผู้บริโภค Choice ของออสเตรเลียเขายืนยันว่าอย่างนั้น Choice พบว่าในปีที่ผ่านมาคนออสซี่ใช้จ่ายเงินในห้างค้าปลีกสัปดาห์ละ 156 เหรียญ (ประมาณ 4,600 บาท) ถ้าคิดจากอัตรานี้ ผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของบัตรสมาชิกห้างค้าปลีกจะต้องใช้เวลา 7 ปีถึงจะสะสมแต้มได้เพียงพอสำหรับแลกตั๋วเครื่องบินไปกลับซิดนีย์ – เมลเบิร์น (ไม่รวมภาษีและค่าธรรมเนียม) แต่ปัญหาคือเจ้าคะแนนสะสมที่ว่านั้นมีอายุแค่ 3 ปีเท่านั้น นอกจากนี้เขายังพบอีกว่าสมาชิกห้างโคลหรือวูลเวิร์ธ ต้องใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 15,000 หรือ 11,000 เหรียญ (442,000 หรือ 324,000 บาท) ตามลำดับ ถึงจะแลกคูปองราคา 50 เหรียญ (1,400 บาท) ซึ่งคิดแล้วก็เท่ากับการได้ส่วนลดไม่เกิน 70 เซ็นต์ (20 บาท) ต่อการซื้อของในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งเราสามารถประหยัดเงินจำนวนเท่านั้นได้ทันทีด้วยด้วยการซื้อของให้น้อยลงหนึ่งชิ้น หรือเลือกยี่ห้อที่ราคาถูกกว่า หรือถ้าจะให้ดีก็ไปซื้อจากร้านที่เขาขายถูกกว่านั้นเสียเลย ไม่จำเป็นต้องรักเดียวใจเดียว คนที่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ จากบัตรสมาชิกเหล่านี้ก็มีแต่ทางห้างที่ออกบัตรนั่นเอง เพราะนอกจากยอดขายจะเพิ่มขึ้นเห็นๆ (มีสถิติที่ระบุว่าลูกค้าทั่วไปของห้างแห่งหนึ่งใช้จ่ายเฉลี่ยปีละประมาณ 23,500 บาท ในขณะที่ลูกค้าที่มีบัตรสมาชิกของห้างจะใช้จ่ายเฉลี่ยมากกว่านั้นอีกประมาณ 800 บาท) ทางห้างยังได้ข้อมูลส่วนตัวพร้อมพฤติกรรมการจับจ่ายของลูกค้าไปวางแผนการตลาดได้อีก ร้านวอลมาร์ทในอเมริกาก็เคยพบว่า ในช่วงบ่ายวันศุกร์กลุ่มลูกค้าผู้ชายที่อายุระหว่าง 25–35 ปี จะซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูปพร้อมๆ กับเบียร์ ก็เลยย้ายเบียร์มาวางไว้ที่ชั้นใกล้ๆ กับชั้นผ้าอ้อมสำเร็จรูปเสียเลย ผลคือยอดขายเพิ่มขึ้นถล่มทลาย นอกจากนี้บัตรสมาชิกที่ให้สะสมแต้มพวกนี้ยังดึงดูดให้ลูกค้ากลับมาจับจ่ายที่ร้านนั้นๆ อีกด้วย เพราะว่ากันว่าโดยธรรมชาติแล้วผู้บริโภคมักจะหลายใจ(งานวิจัยเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภคพบว่ามีลูกค้าเพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้นที่จะซื้อของจากร้านเดียว) Choice บอกว่าถ้าผู้บริโภคต้องการจะประหยัดก็อย่าไปหวังพึ่งโปรโมชั่นสะสมแต้มพวกนี้ แค่เปลี่ยนไปจับจ่ายในห้างค้าปลีกที่ใกล้บ้านเดือนละครั้ง(อย่างน้อยๆ ก็ประหยัดค่าน้ำมันรถได้ทันที) และเลือกสินค้าแบบเปรียบเทียบราคาต่อหน่วย และถ้าต้องการซื้อของเพียงไม่กี่ชิ้นก็อุดหนุนร้านโชว์ห่วยแถวบ้านดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดนศศิวรรณ ปริญญาตรเชื่อโค้กซิ ถ้ามีคนบอกคุณว่าน้ำอัดลมโค้กไม่ทำให้คุณอ้วนหรือฟันผุ คุณก็คงไม่เชื่อ แต่เชื่อเถอะนะว่า บริษัทโคคา โคล่า เซาท์ แปซิฟิก เขากล้าโฆษณาให้คุณเชื่ออย่างนั้นจริงๆ   โฆษณาทางโทรทัศน์ชิ้นดังกล่าวมีดารายอดนิยมของออสเตรเลีย เคอรี่ อาร์มสตรอง เป็นพรีเซ็นเตอร์ เคอรี่ซึ่งแต่งงานแล้วและมีลูกชายสามคนพูดกับผู้ชมว่า “ตอนนี้ดิฉันรู้แล้วว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง ดีจังที่ได้รู้ว่าเราสามารถดื่มเครื่องดื่มสุดโปรดของครอบครัวต่อไปได้อย่างสบายใจ”   ซึ่งก่อนหน้านั้นเนื้อหาในโฆษณาได้พูดถึง “ข่าวลือ” เกี่ยวกับเครื่องดื่มโค้ก ในทำนอง “เขาว่ากันว่า กินโค้กแล้วอ้วน ... กินโค้กแล้วฟันผุ” จากนั้นก็จบลงด้วยการฟันธงว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงแค่ข่าวลือเท่านั้น ก็เท่ากับบอกคนดูว่า เครื่องดื่มโค้กไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หรือฟันผุ นั่นเอง   โฆษณาชิ้นนี้จึงถูกคณะกรรมการเพื่อผู้บริโภคและการแข่งขันทางการค้าของออสเตรเลียเบรกเข้าอย่างจัง คณะกรรมการฯ สั่งให้โคคา โคล่าออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงในโฆษณาดังกล่าวต่อผู้บริโภคโดยด่วน เนื่องจากข้อความในโฆษณาของโค้กนั้นถือว่าอุกอาจอย่างยิ่ง เพราะมันทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดว่าโค้กนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเด็ก เรื่องนี้จบลงที่บริษัทโคคา โคล่า ยินยอมซื้อเนื้อที่ในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันทั่วทุกรัฐในออสเตรเลีย เพื่อชี้แจงสิ่งที่ตนเองได้โมเมไปก่อนหน้านี้ รวมถึงการชี้แจงในเว็บไซต์ของบริษัทเองด้วย แต่ยังไม่หมด คณะกรรมการฯ ออกคำสั่งให้บริษัทชี้แจงเรื่องปริมาณคาเฟอีนด้วย เนื่องจากบริษัทเคยบอกกับผู้บริโภคเป็นทำนองว่า โค้กไม่ได้มีคาเฟอีนในปริมาณที่มากมายอย่างที่เข้าใจกัน ไดเอทโค้กขนาด 250มล. นั้น มีคาเฟอีนปริมาณเท่ากับครึ่งหนึ่งของชาในปริมาณ 250 มล. เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว (ในข้อมูลที่บริษัทได้แก้ไขแล้ว) โค้กมีคาเฟอีนถึง 2/3 ของชาในปริมาณเดียวกัน อยากประหยัด ต้องลดน้ำหนักก่อนบินขณะนี้ในอเมริกานั้นมีการคิดค่าโดยสารเครื่องบินตามน้ำหนักตัวผู้โดยสารมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ล่าสุดสายการบินยูไนเต็ดก็ออกมาประกาศว่า ผู้โดยสารที่ตัวใหญ่เกินกว่าที่นั่งในชั้นประหยัดนั้น อาจจะต้องถูกขอร้องให้ซื้อตั๋วสองที่นั่งหรือไม่ก็เพิ่มเงินเพื่อเปลี่ยนเป็นตั๋วชั้นธุรกิจซึ่งที่นั่งมีขนาดใหญ่กว่าแทน สายการบินดังกล่าวบอกว่าเหตุที่ต้องมีนโยบายดังกล่าวขึ้นมาก็เพราะเมื่อปีที่แล้วมีผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 700 คน ที่มาร้องเรียนกับทางบริษัทว่าได้รับความอึดอัดเป็นอย่างยิ่งตลอดการเดินทางเพราะผู้โดยสารที่นั่งข้างๆ นั้นตัวใหญ่เกินไป ในยุคที่สายการบินกำลังประสบปัญหาด้านการเงิน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้องจากผู้โดยสาร เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นแล้วกับสายการบินเวอร์จิน แอตแลนติก ที่ต้องจ่ายค่าเสียหายถึง 13,000 ปอนด์ (ประมาณ 660,000 บาท) ให้กับบาร์บาร่า ฮิวสัน ซึ่งถูกผู้โดยสารที่นั่งข้างๆ เบียดจนได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่กล้ามเนื้อขา (ข่าวบอกว่าทุกวันนี้เธอยังคงต้องใช้ไม้เท้าช่วยในการเดิน) ทางฝั่งอังกฤษก็มีสายการบินไรอันแอร์ ที่ดูเหมือนจะเป็นผู้บุกเบิกในการนำนโยบายดังกล่าวมาใช้บ้าง สายการบินได้ทำการสำรวจความเห็นผู้บริโภคว่า บริษัทควรเก็บเงินจากผู้โดยสารที่มีความต้องการพิเศษหรือไม่ ขณะนี้มีคนโหวตเข้ามาแล้ว 45,000 คน และเกือบร้อยละ 50 เห็นด้วยกับการคิดเงินเพิ่มจากผู้โดยสารที่มีน้ำหนักเกิน (เสียงโหวตยอดนิยมอันดับสองได้แก่ การคิดเงินเพิ่มจากคนที่เข้าไปสูบบุหรี่ในห้องน้ำบนเครื่องบิน) ความจริงเรื่องการคิดเงินเพิ่มจากผู้โดยสารที่มีน้ำหนักเกินนี้เป็นสิ่งที่สายการบินต่างๆ คิดมานานแล้วแต่ไม่มีใครกล้าทำจริงๆ แต่ไรอันแอร์บอกว่าคราวนี้เป็นเสียงเรียกร้องจากผู้โดยสารเอง แต่ข่าวเขาไม่ได้บอกนะว่า จะลดค่าโดยสารให้กับผู้โดยสารที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานด้วยหรือเปล่า โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์สีเขียว คุณก็เป็นได้ หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวเรื่องการเปิดตัวภาพยนตร์เพื่อสิ่งแวดล้อมเรื่อง The Age of Stupid เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแล้ว เหตุการณ์เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2055 เมื่อโลกเข้าสู่ภาวะล่มสลาย ตัวเอกซึ่งเป็นชายชราคนหนึ่งมองกลับไปยังอดีตของเขา แล้วถามตนเอง (ถามคนดูด้วย) ว่าเหตุใดมนุษย์จึงไม่ลงมือทำอะไรในขณะที่พวกเขายังมีโอกาส ภาพยนตร์เรื่องนี้มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง นอกจากจะมีดารานำที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้ว และมีผู้กำกับคือ แฟนนี่ อาร์มสตรอง ก็เคยที่ทำภาพยนตร์เรื่อง McLibel เมื่อปี 2005 ซึ่งเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับนักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมสองคนที่เคยยืนหยัดต่อต้านยักษ์ใหญ่ฟาสต์ฟู้ดอย่างแมคโดนัลด์มาแล้ว อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจคือที่มาของเงินทุนที่ใช้ในการสร้างหนังเรื่องดังกล่าวผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้มีทั้งหมด 228 ราย (ในนี้มีทีมฮ็อคกี้ และศูนย์สุขภาพด้วย) ซึ่งก็คือคนกลุ่มหนึ่งที่ยินดีบริจาคเงินให้กับทีมผู้สร้าง ด้วยการลงหุ้น (ในที่นี้น่าจะเป็นลงขัน) กันคนละตั้งแต่ 500 ถึง 35,000 ปอนด์ รวมๆ แล้วเป็นทุนสร้างทั้งหมด 450,000 ปอนด์ (ประมาณ 23 ล้านบาท) ที่ทีมงานสามารถนำไปสร้างหนังได้โดยไม่มีการแทรกแซงแต่อย่างใด แฟนนี่บอกว่า สาเหตุที่มีคนจำนวนถึง 25 ล้านคนได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับแมคโดนัลด์ ทั้งๆ ที่หนังเรื่อง McLibel ของเธอถูกห้ามฉายในโรงภาพยนตร์ ก็เพราะว่ามันเป็นหนังที่เธอเป็นเจ้าของเอง และเธอสามารถให้สิทธิการฉายกับช่องเคเบิลที่ติดต่อเข้ามา และการที่เธอไม่ได้รับสปอนเซอร์จากบริษัทใดๆ ก็หมายความว่าเธอสามารถนำเสนอเรื่องราวได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องตัดบางตอนออกเพราะเกรงใจใครด้วย ส่วนการฉายรอบปฐมทัศน์ของหนังเรื่องนี้ก็แหวกแนวเล็กน้อย แทนที่จะเป็นการจำกัดเฉพาะนักข่าวบันเทิงหรือคนดังที่ดูอยู่ที่โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งในลอนดอน ผู้จัดได้ฉายพร้อมๆ กัน ในโรงหนัง 60 โรงทั่วประเทศอังกฤษ รวมถึงในอินเตอร์เน็ตด้วย ที่เก๋ไปกว่านั้นคือ ผู้กำกับบอกด้วยว่าในการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกสร้างขึ้นตลอดเวลาการถ่ายทำเป็นปริมาณทั้งหมด 94 ตัน ซึ่งก็เท่ากับปริมาณก๊าซดังกล่าวที่คนอเมริกัน 4 คน หรือคนอังกฤษ 8 คน จะสร้างขึ้นในเวลา 1 ปี นั่นเอง เพื่อน .. เราหลอกนายว่ะเราควรจะดีใจที่มีสินค้ามากมายในท้องตลาดที่ “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เพราะมันทำให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ รู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม แต่…เราดีใจไม่ออกเสียแล้ว เพราะความจริงคือ มีเพียงร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้เท่านั้นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ นี่คือผลการสำรวจโดยองค์กร TerraChoice Environmental Marketing ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐบาลแคนาดา ที่มีหน้าที่สอดส่องดูแลการเรื่องฉลากแสดงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ องค์กรดังกล่าวบอกว่ามีจำนวนผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่า “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เพิ่มขึ้นอย่างมากมายในช่วงสองปีที่ผ่านมาและผู้ผลิตก็เริ่มใช้เทคนิคการตลาดที่หลากหลายขึ้น ความจริงแล้วก็เป็นเรื่องดี เพราะนั่นหมายความว่าผู้บริโภคกำลังให้ความสนใจต่อเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และบริษัทก็พยายามจะสนองตอบความต้องการนั้นๆ แต่ข่าวร้ายคือ เมื่อทำการสำรวจดูสินค้าในซูเปอร์มาร์เกตในอเมริกาและแคนาดาทั้งหมด 2,219 ชิ้น (องค์กรดังกล่าวบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ คำโฆษณา ข้อมูลสนับสนุน และการให้ข้อมูลจากบริษัท แล้วนำมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ขององค์กรรัฐที่ควบคุมดูแลเรื่องการค้าที่เป็นธรรม ทั้งอเมริกาแคนาดา ออสเตรเลีย หรือแม้แต่ ISO) กลับพบว่ามีถึงร้อยละ 98 ของผลิตภัณฑ์ ที่เข้าข่าย “แอบอ้าง” ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่แย่ไปกว่านั้นคือเขาพบว่าผู้ผลิตเหล่านี้มีการอุปโลกน์เครื่องหมายรับรองปลอมๆ จากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมา เพื่อหลอกลวงผู้บริโภคอีกด้วย สถานที่ราชการ กรุณางดตั้งเป็นชื่อบุหรี่องค์กรต่อต้านการสูบบุหรี่แห่งหนึ่งในจีน ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้ใช้ชื่อ “จงหนานไห่” เป็นยี่ห้อบุหรี่อีกต่อไป วู ยี ชุน รองผู้อำนวยการขององค์กรพัฒนาเอกชน Think Tank Research Center for Health Development บอกว่าการยินยอมให้มีบุหรี่ยี่ห้อดังกล่าวอยู่ในท้องตลาดต่อไป เท่ากับเป็นการส่งเสริมการสูบบุหรี่ทางอ้อม เธอบอกว่าชื่อ “จงหนานไห่” (ซึ่งเป็นชื่อทำเนียบรัฐบาลของจีน) อาจจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดว่าบุหรี่ยี่ห้อดังกล่าวได้รับการรับรองจากรัฐบาล บุหรี่จงหนานไห่ เป็นหนึ่งในบุหรี่ยี่ห้อดังๆ ที่มีขายในประเทศจีน ซึ่งมีมูลค่าการตลาดถึงเจ็ดหมื่นแปดพันล้านหยวน (ประมาณ 40,000 ล้านบาท) นักกฎหมายหลายคนบอกว่าการใช้ชื่อดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเครื่องหมายการค้า เพราะในมาตรา 10 ของกฎหมายฉบับดังกล่าวระบุว่าห้ามนำชื่อของสถานที่ราชการมาใช้เป็นชื่อยี่ห้อสินค้า แต่ทั้งนี้เมื่อสามปีก่อน สำนักงานเครื่องหมายการค้าแห่งปักกิ่งได้อนุญาตให้บริษัทโรงงานยาสูบปักกิ่งใช้ชื่อ “จงหนานไห่” ได้ต่อไปจนถึงปี ค.ศ. 2017 นี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกที่จะให้รัฐบาลห้ามใช้ชื่อของสถานที่ราชการมาตั้งเป็นยี่ห้อสินค้า แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยมีใครประสบความสำเร็จ บริษัทต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะเก็บชื่อเดิมไว้ เพราะว่ากันว่าถ้าต้องเปลี่ยนชื่อจริงๆ บริษัทนี้จะต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนหลายร้อยล้านหยวน นอกจากนี้ บุหรี่จงหนานไห่ ยังมีประเด็นที่ไม่เข้าตากรรมการอีกสองเรื่องคือ หนึ่ง บริษัทบอกกับผู้บริโภคว่า ส่วนหนึ่งของรายได้จากการขายบุหรี่ดังกล่าวจะมอบให้กับองค์กรการกุศลที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน สองคือบริษัทสื่อสารให้ผู้สูบบุหรี่เข้าใจว่า บุหรี่ที่มีน้ำมันดินเป็นส่วนประกอบในปริมาณต่ำจะเป็นอันตรายต่อร่างกายน้อยลง ซึ่งไม่เป็นความจริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 เจ้าของโครงการคนใหม่จะต้องรับผิดต่อผู้บริโภคที่ซื้อคอนโดจากเจ้าของโครงการเดิมอย่างไร

เดิมผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะซื้อจะขายห้องชุดจากเจ้าของโครงการคนเดิม  ต่อมาเจ้าของโครงการคนเดิมได้ขายโครงการให้แก่เจ้าของโครงการคนใหม่สองราย ต่อมาผู้บริโภคได้มีหนังสือทวงถามให้เจ้าของโครงการรายใหม่ทั้งสองรายให้โอนห้องชุดให้แก่ตน แต่เจ้าของโครงการรายใหม่ทั้งสองรายไม่ยอมโอนให้โดยอ้างว่า ยังไม่ได้เปลี่ยนสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเป็นชื่อของเจ้าของโครงการคนใหม่ทั้งสองราย   ผู้บริโภคจึงได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลโดยฟ้องเจ้าของโครงการเดิมเป็นจำเลยที่ 1 เจ้าของโครงการคนใหม่เป็นจำเลยที่ 2 และ 3 ตามลำดับ โดยขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสามให้โอนห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมปฏิบัติก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม หรือหากโอนไม่ได้ก็ให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ มาดูกันว่าศาลฎีกาจะว่าอย่างไร    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1412/2557 ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทระหว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาต่างตอบแทน ฐานะของโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน ไม่มีฝ่ายใดเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้แต่ฝ่ายเดียว เมื่อต่อมาจำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพร้อมอาคารชุด ซึ่งรวมถึงห้องชุดพิพาทด้วยแก่จำเลยที่ 2 และ 3 และจะโอนหนี้ที่เกิดจากสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย ก็จะใช้วิธีการแบบโอนสิทธิเรียกร้องธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 หาได้ไม่ แม้จะฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ดำเนินการเปลี่ยนสัญญากับลูกค้าผู้จองซื้อห้องชุดกับจำเลยที่ 1 ภายในเวลาที่กำหนดไว้แม้แต่รายเดียว ก็มีผลเพียงแค่จำเลยที่ 1 ไม่หลุดพ้นจากความรับผิดเพราะหนี้เดิมมิได้ระงับไปเท่านั้น  แต่ข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่ดินพร้อมอาคารชุดพิพาทไปทั้งโครงการรวมทั้งสิทธิเรียกร้องและภาระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการที่จำเลยที่ 1 มีต่อลูกค้าทุกรายรวมทั้งโจทก์ ก็ยังเข้าเป็นลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกรวมอยู่ด้วย การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้คัดค้านการโอนที่ดินพร้อมอาคารชุดตลอดทั้งโอนสิทธิและหน้าที่ภาระผูกพันต่างๆ ที่มีต่อลูกค้าผู้จองซื้อห้องชุดระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 และโจทก์มีพฤติการณ์ว่า เข้าถือเอาประโยชน์โดยการทวงถามให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้แก่ตนด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ตามสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว กรณีจึงต้องตามบทบัญญัติ มาตรา 374  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ปฏิเสธไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาที่โจทก์บอกกล่าวทวงถาม ย่อมเป็นการผิดสัญญา จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะยกเรื่องที่ยังไม่ได้เปลี่ยนสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเป็นชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้จะขายมาปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อสู้ว่าขาดอายุความตามสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งตามสัญญาดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193(30) คดีนี้ก่อนครบ 10 ปี นับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดก่อสร้างอาคารชุดไม่แล้วเสร็จคือ ปี 2535 จำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 24 มิถุนายน 2541  ถึงโจทก์ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 จะทำโครงการให้แล้วเสร็จ หากจำเลยที่ 1 แก้ไขปัญหาการเงินให้ลุล่วงแล้ว ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัย แสดงให้เห็นเป็นปริยายว่า ยอมรับสภาพหนี้ เป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14(1)  ต้องเรามีการนับอายุความใหม่ ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 คือวันที่ 24 มิถุนายน 2541  โจทก์ฟ้องวันที่ 28 สิงหาคม 2549 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ สรุป จำเลยต้องสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 วิธียื่นฎีกาต่อศาลฎีกาในคดีผู้บริโภค

ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ได้เปลี่ยนแปลงระบบการฎีกาสำหรับคดีผู้บริโภคโดยให้ศาลฎีกามีอำนาจกลั่นกรองเฉพาะคดีผู้บริโภคที่มีความสำคัญหรือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะขึ้นสู่ศาลฎีกาเท่านั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการฎีกาจากเดิมในคดีแพ่งสามัญ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.)มาตรา 248 ที่ใช้ “ ระบบสิทธิ” ซึ่งถือหลักว่า การฎีกาเป็นสิทธิของคู่ความ การห้ามฎีกาเป็นข้อยกเว้นมาเป็น “ ระบบอนุญาต “ ซึ่งถือว่า การฎีกาเป็นสิ่งที่กฎหมายห้าม คู่ความจะสามารถฎีกาได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา เหตุผลก็เนื่องจากระบบการฎีกาแบบเดิมคู่ความที่แพ้คดีมักใช้สิทธิฎีกาเป็นช่องทางในการประวิงคดี ทั้งๆ ที่คดีนั้นไม่เป็นสาระอันควรขึ้นสู่ศาลฎีกา ทำให้การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาเกิดความล่าช้าโดยไม่จำเป็นและก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่คู่ความที่สุจริต ดังนั้น มาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ จึงได้กำหนดให้คู่ความที่ประสงค์จะยื่นฎีกาต้องขออนุญาตจากศาลฎีกาก่อนคดีนั้นจึงจะขึ้นสู่ศาลฎีกาได้ ส่วนวิธีการยื่นฎีกาต่อศาลฎีกานั้นจะต้องทำอย่างไรนั้นก็ศึกษาได้จากกรณีศึกษาดังนี้   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5344/2554 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ ได้บัญญัติไว้ในหมวด 4 ว่าด้วยฎีกา และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภคฯ ได้บัญญัติไว้ในหมวด 8 ว่าด้วยฎีกา ไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น ในการยื่นฎีกาคดีผู้บริโภคจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเหล่านั้น บทบัญญัติใน มาตรา 248 แห่ง ป.วิ.พ. จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับในคดีผู้บริโภคได้ และตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้คดีที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วคู่ความอาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินสองแสนบาทหรือในปัญหาข้อกฎหมายภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภค โดยในวรรคสองได้บัญญัติไว้อีกว่า การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้คู่ความยื่นฎีกาไปพร้อมกับคำร้องนั้นด้วย โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นแล้วให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องพร้อมฎีกาดังกล่าวไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว กับมาตรา 52 บัญญัติว่า ศาลฎีกาอาจอนุญาตให้ฎีกาตาม มาตรา 51 ได้ เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นปัญหาสำคัญอื่นที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย จากบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า เมื่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว คู่ความจะยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คดีนั้นต้องมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินกว่าสองแสนบาทหากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินกว่าสองแสนบาท คู่ความก็ไม่อาจฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เลย ส่วนฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนั้น ไม่ว่าคดีนั้นจะมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเพียงใดก็ตาม คู่ความสามารถยื่นฎีกาได้เสมอ ไม่มีข้อจำกัดห้ามฎีกาแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้คดีที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถยื่นฎีกาได้ คู่ความที่ฎีกาต้องยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาพร้อมกับฎีกาด้วย ศาลชั้นต้นจะด่วนมีคำสั่งรับฎีกาของคู่ความโดยที่คู่ความมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวเสียก่อนให้ครบถ้วนหาได้ไม่ คดีนี้แม้โจทก์จะฎีกาอ้างว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและในปัญหาข้อกฎหมายโดยทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินกว่าสองแสนบาทก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาดังกล่าวโดยที่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาพร้อมกับฎีกา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฎีกาโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์จึงเป็นการรับฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย หมายเหตุ ต่อมามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5359/2554 วินิจฉัยในทำนองเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 แอบทำผิด แต่ไม่ยอมรับ ยังไงก็ต้องรับผิด (2)

  เรื่องผู้บริโภคซื้อห้องชุดโดยเชื่อว่าเป็นโครงการในเครือของบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียงน่าเชื่อถือ แต่เวลาทำสัญญาผู้บริโภคกลับต้องทำสัญญากับบริษัทฯ โนเนม อีกบริษัทหนึ่ง เมื่อเกิดปัญหาห้องชุดสร้างไม่เสร็จ ผู้บริโภคจะสามารถฟ้องเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากบริษัทใหญ่ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาได้หรือไม่นั้น มาตามต่อกันเลยครับ   “...จำเลยที่ 2 นำสืบว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้บริหารการขายซึ่งรับค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 โดยทำหน้าที่ชักชวนประชาชนให้มาซื้อห้องชุดในโครงการเท่านั้น ใบโฆษณาเอกสารหมาย จ.18 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำ จำเลยที่ 2 เพียงมีหน้าที่รับไปแจกจ่ายเท่านั้น (ศาล)เห็นว่า ตามใบโฆษณาเอกสารหมาย จ.9 มีข้อความว่า “ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) (จำเลยที่ 2) ได้เล็งเห็นถึงความเจริญเติบโตทางธุรกิจที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในย่านประตูน้ำจึงพัฒนาแนวคิดทางด้านการจัดศูนย์รวมการค้าขาย ทั้งประเภทการค้าส่งและการค้าปลีกเป็นรูปแบบใหม่ให้เข้ามารวมอยู่ในจุดเดียวกันในชื่อโครงการว่า “ โครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียม “ โดยมอบหมายให้บริษัทโกลเด้น เกท พลาซ่า จำกัด “ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเข้ารับผิดชอบเป็นเจ้าของโครงการ และเอกสารโฆษณาหมาย จ.18 แผ่นที่ 5 มีข้อความว่า “ ...รับประกันโดยบริษัทแผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน)  ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งหมดเป็นหลักประกันความสำเร็จที่ชัดเจนสำหรับธุรกิจในอนาคตของคุณ”  และในแผ่นที่ 15 และ 21 มีข้อความว่า “ เจ้าของโครงการและกรรมสิทธิ์ที่ดินบริษัทโกลเด้น เกท พลาซ่า จำกัด ทุนจดทะเบียน 10,000,000  บาท บริหารโครงการโดยบริษัทแผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) (บมจ.474 )ทุนจดทะเบียน 750,000,000 บาท(ชำระเต็มมูลค่า) ประธานกรรมการคุณหญิงศศิมา  ศรีวิกรม์ กรรมการผู้จัดการ นายประภา  สมุทรโคจร...” ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ และข้อความดังกล่าวย่อมทำให้พยานโจทก์และประชาชนทั่วไปที่พบเห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันดำเนินธุรกิจโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 มีทุนจดทะเบียนสูงถึง 750,000,000 บาท ขณะที่จำเลยที่ 1 มีทุนจดทะเบียนเพียง 10,000,000 บาท  และในเอกสารดังกล่าวมีข้อความย้ำหลังข้อความเกี่ยวกับทุนจดทะเบียนของจำเลยที่ 2 ว่า “ ชำระเต็มมูลค่า“ ประกอบด้วย  ย่อมจูงใจให้ผู้พบเห็นข้อความนี้เชื่อถือโครงการดังกล่าวจากฐานะความมั่นคงของจำเลยที่ 2  ประกอบกับนางสาว ป. พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่ซื้อห้องชุดในโครงการดังกล่าวคนหนึ่งเบิกความว่า ก่อนตกลงซื้อพยานหนังสือเชิญชวนจากจำเลยที่ 2 ให้ซื้ออาคารและห้องชุดของจำเลยที่ 2 และบริษัทในเครือรวมทั้งโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียมด้วย  ซึ่งเป็นการยืนยันว่าโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียมเป็นโครงการหนึ่งในเครือของจำเลยที่ 2 ข้ออ้างที่ว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้บริหารโครงการทำหน้าที่ขายและไม่รู้เห็นในการจัดทำเอกสารโฆษณาหมาย จ.18 ทั้งเหตุที่ต้องระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้บริหารโครงการเพื่อเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ กฎกระทรวงฉบับที่ 4 ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 นั้น ไม่สมเหตุสมผล จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์  แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเอกสารหมาย จ.2 จ.3 จ.7 จ.10 และ จ.19 เป็นการทำสัญญาระหว่างผู้บริโภคทั้ง 21 ราย ในคดีนี้กับจำเลยที่ 1 ก็ตาม  แต่จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวย่อมฟังได้โดยแจ้งชัดว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันดำเนินธุรกิจโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียมโดยต่างมีประโยชน์ร่วมกันในโครงการดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อผู้บริโภคทั้ง 21 ราย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น “   แอบชักใยเบื้องหลัง ก็โดนครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 แอบทำผิด แต่ไม่ยอมรับ ยังไงก็ต้องรับผิด (1)

  คดีเด็ดสำหรับเดือนนี้เป็นคำพิพากษาฎีกาใหม่ล่าสุด เป็นเรื่องผู้บริโภคซื้อห้องชุดโดยเชื่อว่าเป็นโครงการในเครือของบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียงน่าเชื่อถือ มีทุนจดทะเบียนเป็นร้อยล้าน แต่เวลาทำสัญญาผู้บริโภคกลับต้องทำสัญญากับบริษัทฯ โนเนม อีกบริษัทหนึ่งที่มีทุนจดทะเบียนแค่ สิบล้าน ครั้นเกิดปัญหาห้องชุดสร้างไม่เสร็จ ผู้บริโภคจะสามารถฟ้องเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากบริษัทใหญ่ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาได้หรือไม่  คดีนี้สามารถใช้เป็นบทเรียนสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำ แต่ทำมาหากินในระดับโครงการร้อยล้าน พันล้าน ซึ่งถ้าดูแค่ทุนจดทะเบียนอาจจะคิดไปได้ว่า ฟ้องไปก็เปล่าประโยชน์ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าบริษัททำมาหากินในลักษณะส่งรายได้ให้กับบริษัทใหญ่ เราก็ฟ้องให้เป็นจำเลยร่วมกันได้เลยครับ   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2637-2638 /2553 คดีระหว่าง คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โจทก์ กับ บริษัทโกลเด้น เกท พลาซ่า จำกัด กับพวก จำเลย  ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า “... พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 (บริษัทโกลเด้น เกท พลาซ่า จำกัด) เป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียมและทำสัญญาขายห้องชุดกับผู้บริโภคทั้ง 21 ราย แล้วผิดสัญญาก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและหยุดการก่อสร้าง   ผู้บริโภคทั้ง 21 ราย ร้องเรียนต่อโจทก์และมอบอำนาจให้โจทก์บอกเลิกสัญญาและเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เพิกเฉยจึงถือว่าสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้บริโภคทั้ง 21 ราย ในคดีนี้เป็นอันเลิกกัน โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้บริโภคทั้ง 21 ราย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 (บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องหรือไม่  โจทก์มี นางสาว ค. นาง ม. นางสาว ป. นาง ท. และ นาง พ. ผู้บริโภคสั่งซื้อห้องชุดในโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียมเบิกความทำนองเดียวกันว่า รู้จักโครงการดังกล่าวจากแผ่นพับโฆษณาเอกสารหมาย จ.9 และทราบจากพนักงานขายของโครงการว่าเป็นโครงการของคุณหญิงศศิมา  ศรีวิกรณ์ และเป็นโครงการในเครือของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์  พยานทั้งห้าจึงให้ความเชื่อถือในโครงการและตกลงซื้อห้องชุดในโครงการดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้บริหารการขายซึ่งรับค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 โดยทำหน้าที่ชักชวนประชาชนให้มาซื้อห้องชุดในโครงการเท่านั้น ใบโฆษณาเอกสารหมาย จ.18 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำ จำเลยที่ 2 เพียงมีหน้าที่รับไปแจกจ่ายเท่านั้น”  เอาล่ะสิ จำเลยที่ 2 บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่ใช่คู่สัญญาโดยตรง พยายามดิ้นที่จะไม่รับผิดชอบในคดีนี้ แล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร ขอพักไว้แค่นี้ก่อนนะครับ เนื่องจากมีเนื้อหาฎีกาที่ค่อนข้างยาว ติดตามกันต่อฉบับหน้าครับ  แต่ยังไงเสีย คนผิดก็ต้องรับผลแห่งการกระทำเสมอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 โทรทัศน์ความคมชัดสูง (UHD TV) ยังล้ำหน้าสำหรับเกินไปสำหรับผู้บริโภคของไทย

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการตอนนี้การประมูลทีวีดิจิตอลเสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังอยู่ระหว่างทดลองออกอากาศในบางพื้นที่ นโยบายแจกกล่อง set top box และราคาคูปองที่จะแจกให้ผู้บริโภค สรุปว่าอยู่ที่ 690 บาท ตามที่องค์กรผู้บริโภคเสนอ สำหรับท่านที่กำลังเลือกซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ จะเห็นว่าเริ่มมีโทรทัศน์ความคมชัดสูงมาก ที่เรียกว่า Ultra High Definition Television (UHD TV) ดังนั้น ขอเสนอบทความเกี่ยวกับเรื่อง UHD TV ซึ่งทางองค์กรผู้บริโภคของเยอรมนีได้ทำการสำรวจและมีข้อมูลบางประเด็นสำหรับความเหมาะสมทางด้านเทคนิคมานำเสนอ เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ในยุคดิจิตัลทีวี โทรทัศน์ความคมชัดสูงมาก แบบ UHD นี้ เป็นเทคนิคการรับสัญญาณภาพที่พัฒนาต่อมาจาก โทรทัศน์แบบความคมชัดธรรมดา (Standard Definition: SD) ซึ่งมีความละเอียดของจุดการรับภาพ (Resolution) 0.4 ล้านจุด (pixel) โทรทัศน์แบบความคมชัดสูง (High Definition: HD) มีจุดในการรับภาพ (Resolution) 2 ล้านจุด (pixel)  และโทรทัศน์แบบความคมชัดสูงมากจะมีจุดในการรับภาพ 8 ล้านจุด (3840 x 2160 pixel) ปัจจุบัน สถานีที่ประมูลช่องทีวีดิจิตอลในระบบความคมชัดสูง (Full HD) จะส่งสัญญาณภาพที่ระดับความชัด 2 ล้านจุดเท่านั้น (1920 x 1080 pixel) ในกรณีที่โทรทัศน์แบบ HD Ready จะมีระดับความชัดอยู่ที่ (1280 x 720 pixel) ซึ่งต่ำกว่าแบบ Full HD ในกรณีที่ทางสถานีโทรทัศน์ส่งสัญญาณ แบบ SD หรือ HD ผ่านโทรทัศน์แบบ UHD การแปลงสัญญาณภาพจะทำให้สังเกตถึงความเพี้ยนของภาพได้ เพราะฉะนั้นการรับสัญญาณโทรทัศน์ในขณะนี้ ด้วยโทรทัศน์แบบ HD จึงจะมีความสอดคล้องกับการรับสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์มากกว่า คำแนะนำของขององค์กรผู้บริโภคเยอรมันในขณะนี้ คือ คุณภาพของ UHD และ HD แทบไม่ต่างกัน ในขณะที่ ราคาต่างกันมาก เนื่องจากสายตาของคนยังไม่สามารถจับความแตกต่างความคมชัดของภาพระหว่าง UHD และ HD ได้ หากระยะห่างระหว่างจอภาพและผู้ชมรายการไม่ได้ไกลมาก และจอภาพมีขนาดเล็ก   อย่างไรก็ตามโทรทัศน์แบบความคมชัดสูงมากนี้ เหมาะกับรายการโทรทัศน์ที่บันทึกด้วยกล้องความคมชัดพิเศษ ภายใต้เทคโนโลยี 4K โดยในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้ให้บริการหนังและวิดีโอออนไลน์อย่าง Amazon Instant Video, Maxdome และ Netfix จะเปิดให้บริการดูหนังและซีรีส์ ผ่าน Video Streaming ภายใต้ความคมชัดสูงมาก ซึ่งเงื่อนไขที่สำคัญในการรับชมผ่านอินเตอร์เนต คือ ความเร็วของอินเตอร์เนตในระบบ 4G โดยจะต้องมีความเร็วอินเตอร์เนตไม่ต่ำกว่า 25 Mbits ต่อวินาที นอกจากช่องทางในการรับชมหนังและภาพยนตร์ผ่านรายการโทรทัศน์ หรือผ่านระบบอินเตอร์เนตแล้ว ก็สามารถรับชมผ่านแผ่น ที่เป็นระบบ UHD ได้เช่นกัน แต่ผู้ชมรายการก็ต้องซื้อเครื่องเล่นที่สามารถเล่นแผ่นได้ในระบบ UHD ด้วยจึงจะได้ภาพที่มีความคมชัดสูงมาก หากมีโทรทัศน์ที่เป็นระบบ UHD แต่เครื่องเล่นแผ่นไม่ได้เป็นระบบ UHD ก็จะไม่เกิดประโยชน์ในการรับชมภาพที่ทีความคมชัดสูง เพราะฉะนั้นผู้บริโภคในเมืองไทยที่ต้องการรับชมรายการที่มีความคมชัดสูง ขณะนี้เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ ระดับความคมชัดแบบ HD ก็เพียงพอ และในอนาคตเมื่ออินเตอร์เนตความเร็วสูง หรือ ระบบ 4G เกิดขึ้นในเมืองไทยเมื่อใด เมื่อนั้น โทรทัศน์ แบบ UHD ก็ เป็นทางเลือกในการรับชมภาพความคมชัดสูงมากที่น่าสนใจครับ (ที่มา : วารสาร Test ฉบับ 7/2014)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 161 ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในสัญญาซื้อขาย และการคุ้มครองผู้บริโภค

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป ได้ดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการฯ ดังที่กำหนดไว้ใน (ร่าง) พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ... เพื่อทดลองทำหน้าที่ของอนุกรรมการฯ ตามเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายดังกล่าว โดย ได้มีความเห็นให้จัดทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในสัญญาซื้อขายและการคุ้มครองผู้บริโภค โดย นายเชิดวุฒิ สินพิมลบูรณ์ นักวิจัยในโครงการนี้ ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยได้นำไปประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และขยายผลโดยการนำเสนอต่อผู้แทนภาครัฐและภาคธุรกิจ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป โดยผลจากการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าการปรับปรุงหลักกฎหมายในการจัดการกับปัญหาข้อพิพาทเรื่องสินค้ามือหนึ่งชำรุดบกพร่องในลักษณะทำนองเดียวกับที่หลายประเทศได้ดำเนินการแล้วจะเป็นประโยชน์ และทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันในการปรับปรุงและพัฒนามาตรการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น หลักกฎหมายว่าด้วยความรับผิด(ของผู้ขาย) เพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าถือเป็นหลักกฎหมายสำคัญที่รัฐจะนำไปเป็นกฎเกณฑ์ในการสร้างความสงบและผาสุก(ในแง่ของการทำสัญญาซื้อขาย) ให้แก่สังคม อีกทั้ง หลักกฎหมายดังกล่าวยังมีความสำคัญต่อความคล่องตัวและความมั่นคงทางพาณิชย์อีกด้วย ซึ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้มีการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 1 หมวด 2 ส่วนที่ 2 ตั้งแต่มาตรา 472 ถึงมาตรา 474 โดยบัญญัติไว้อย่างกว้างๆ ซึ่งในทางหนึ่งก็อาจจะส่งผลให้สามารถใช้และตีความกฎหมายได้อย่างยืดหยุ่นตามกาลเวลา แต่ก็อาจจะสร้างความสับสนและก่อให้เกิดอุปสรรคในการบังคับใช้และการตีความได้เช่นกัน   ประกอบกับมาตราดังกล่าวได้บัญญัติและบังคับใช้มาตั้งแต่พุทธศักราช 2472 และด้วยกาลเวลาที่ผ่านมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานย่อมส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนั้น กับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในปัจจุบันย่อมแตกต่างกันไปมาก ทั้งในแง่เทคโนโลยี ความซับซ้อนของสินค้า พฤติกรรมของคู่สัญญา หรือวิธีการดำเนินการค้าขายก็แตกต่างกันมากมายในแง่ทางเทคนิค ดังนั้น จึงควรจะต้องทำการวิเคราะห์และศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อค้นหาปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเท่าที่จะเป็นไปได้ และนอกเหนือไปจากประเด็นปัญหาเกี่ยวกับบทนิยามของความชำรุดบกพร่องของสินค้า รวมถึงภาระในการพิสูจน์เกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องของสินค้าแล้ว ยังมีประเด็นที่ควรต้องทำการศึกษาต่อไปว่า ความชำรุดบกพร่องที่ผู้ขายต้องรับผิดนั้นได้แก่ความชำรุดบกพร่องที่ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาใด ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นก่อน ระหว่าง หรือหลังการส่งมอบสินค้าแล้วก็ได้ และเมื่อปรากฏว่าผู้ขายต้องรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องแล้วก็จะต้องมาแจกแจงสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย รวมถึงการพิจารณาเกี่ยวกับอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวเนื่องกับความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง โดยได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบหลักกฎหมายดังกล่าวที่ปรากฏในประเทศเยอรมนีและสิงคโปร์ (Lemon Law) ผลการศึกษา เมื่อพิจารณาจากระบบความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องของไทยที่ปรากฏในมาตรา 472 ถึง 474 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว จะพบว่าบทบัญญัติความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องมีขอบเขตกว้างและไม่ชัดเจน ก่อให้เกิดความยุ่งยากในการตีความ อันส่งผลต่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ และแม้ว่าพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจะมีมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคที่หลากหลายก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียงการบัญญัติเกี่ยวกับวิธีพิจารณาหรือกรอบการใช้อำนาจของศาลเท่านั้น อีกทั้งโครงสร้างการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องที่ปรากฏในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ยังเป็นการบัญญัติการคุ้มครองผู้บริโภคที่เรียกได้ว่า “กล้าๆ กลัวๆ” เมื่อเปรียบเทียบกับของเยอรมนีและสิงคโปร์ ดังจะเห็นได้จากการการบัญญัติการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องเอาไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความ ซึ่งก็เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องที่ “ผิดฝา ผิดตัว” ดังนั้น การคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องที่ปรากฏในระบบกฎหมายไทยควรจะมีการจัดระบบเสียใหม่ เพื่อลบภาพ “กล้าๆ กลัวๆ และผิดฝา ผิดตัว” ออกไปให้ได้ ...   เปรียบเทียบหลักกฎหมายของเยอรมนีและสิงคโปร์ กรณีสินค้าชำรุดบกพร่อง เยอรมนี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 เป็นต้นมา เยอรมนีได้ทำการปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่ง (Das Bürgerliches Gesetzbuch; BGB)  ขนานใหญ่  โดยหนึ่งในนั้นคือ การนำข้อความคิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาใส่ไว้ในระบบความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งในส่วนองค์ประกอบของนิยามความชำรุดบกพร่อง เหตุยกเว้นความรับผิด รวมไปถึงสิทธิต่างๆ ของผู้ซื้อไม่ว่าจะเป็น การเรียกให้ซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้า การขอลดราคาตามสภาพ การบอกเลิกสัญญา (ขอคืนสินค้าและขอรับเงินที่ชำระไปคืน) รวมไปถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่ผู้บริโภคทำสัญญากับผู้ประกอบธุรกิจ จะต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภคในบางประเด็นเป็นกรณีพิเศษ เช่น บทสันนิษฐานความชำรุดบกพร่อง หรือข้อห้ามในการยกเว้นสิทธิต่างๆ ของผู้บริโภคตามกฎหมาย เป็นต้น สิงคโปร์ (Lemon law) ระบบความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องของสิงคโปร์เป็นระบบความรับผิดที่ปรากฏในระบบคอมมอนลอว์ คือถือเอาข้อตกลงตามสัญญาเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงที่ปรากฏชัดแจ้งหรือข้อตกลงโดยปริยายเป็นต้น กรณีที่ผิดข้อตกลงที่เป็นสาระสำคัญของสัญญา (breach of conditions) ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะไม่ขอผูกพันตนตามสัญญาอีกต่อไปได้ โดยสามารถปฏิเสธที่จะไม่รับมอบสินค้าหรือโดยการขอกลับคืนสู่สถานะเดิม เสมือนหนึ่งไม่เคยมีสัญญาต่อกัน โดยการบอกเลิกสัญญาและการเรียกค่าเสียหายหลังจากเลิกสัญญาไปแล้ว และในกรณีที่ในการผิดข้อตกลงที่มิได้เป็นสาระสำคัญของสัญญานั้น (breach of warranties) ผู้ซื้อยังคงต้องผูกพันตนตามสัญญาต่อไปได้ โดยสามารถเรียกค่าเสียหายได้ แต่มิได้ให้สิทธิในการปฏิเสธที่จะรับมอบทรัพย์ที่ซื้อขายหรือยกเลิกสัญญาแต่อย่างใด ดังนั้น สิทธิของผู้ซื้อจึงมีน้อยกว่าหรือหากจะมองในมุมมองของผู้บริโภคจะถือได้ว่า Sale of Goods Act ไม่ปรากฏการคุ้มครองผู้บริโภคเลย ซึ่งก็มีความพยายามที่จะตีความ Sale of goods act เพื่อให้คุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งก็ปรากฏความพยายามที่จะอธิบายว่าผู้ขายจะสามารถป้องกันมิให้ผู้ซื้อยกเลิกสัญญาได้ โดยการส่งมอบสินค้าที่ไม่ชำรุดบกพร่องให้ทันแก่เวลา (เอาสินค้านั้นกลับไปแก้ไข ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่) แต่คำอธิบายดังกล่าวก็ยังมิได้มีการบัญญัติสิทธิดังกล่าวไว้ในกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น จึงเกิดปรากฏการณ์ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย หรือเรียกสั้นๆ ว่า Lemon Law ขึ้น โดยจะเป็นการเพิ่มเติมในส่วนที่ว่า ผู้ขายจะรับผิดอย่างไร (สิทธิของผู้ซื้อในการเรียกให้ผู้ขายรับผิด) โดยจะมีการบัญญัติถึงการซ่อมแซมแก้ไข การเปลี่ยนสินค้า รวมถึงการลดราคาตามสภาพ รวมถึงบทสันนิษฐานความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องด้วย สำหรับท่านที่สนใจในรายงานฉบับสมบูรณ์ ทางอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการจะทำการเผยแพร่ผลการศึกษา ผ่านทางเวบไซต์ของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค http://www.consumerthai.org/main/index.php?option=com_content&view=section&layout=blog&id=24&Itemid=179 หรือ สามารถติดต่อเพื่อขอรับเอกสารในรูปอิเลคโทรนิคส์ไฟล์ ได้ทางฝ่ายเลขานุการอนุกรรมการ ตามที่อยู่อีเมลด้านล่างนี้ pohin59@gmail.com;     //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 150 ตัวอย่างหลักสูตร การคุ้มครองผู้บริโภคในโรงเรียน: ความเท่าทันสื่อ (Media Competency)

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการบทความนี้ผมได้แปลสรุปมาจากสื่อการเรียนการสอนของ องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี ที่ได้จัดทำสื่อให้กับคุณครูและเด็กนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดทำหลักสูตรดังกล่าวมีองค์กรภาคเอกชนหลายหน่วยงานได้เข้ามาร่วมกันทำงาน  สำหรับเนื้อหาในเรื่องความเท่าทันสื่อนี้ องค์กรคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนเข้ามามีบทบาทที่สำคัญ จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่างานบางอย่างรัฐไม่ได้ดำเนินการเอง แต่สนับสนุนให้องค์กรภาคเอกชนดำเนินการ แม้แต่เรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนในการศึกษาขั้นพื้นฐานรัฐก็ไม่ได้ผูกขาดไว้คนเดียว องค์กรปกครองส่วนท้องถื่นในบ้านเราที่มีความเข้มแข็งในการปกครองตนเอง ก็น่าจะนำไปประยุกต์ใช้กับ โรงเรียนในสังกัดกันบ้างนะครับ ในปี 1998 ผลการศึกษาของ JIM* การใช้มัลติมีเดียของวัยรุ่นอายุระหว่าง 12- 19 ปี พบว่ามีเพียง 19 % เท่านั้นที่ใช้อินเตอร์เน็ต และ 20 % ที่ไม่ได้มีโอกาสสัมผัสกับอินเตอร์เน็ตหรือ โทรศัพท์มือถือเลย ในขณะที่ผลการศึกษาในปี 2010 กว่า 90 % ของวัยรุ่นเล่นอินเตอร์เน็ตทุกวันและวันละหลายครั้ง วัยรุ่น 97 % มีโทรศัพท์มือถือส่วนตัว และหากนับรวมสื่ออื่นๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และยูทูบ ตลอดจนเกมส์คอมพิวเตอร์ จะเห็นว่าสื่อทั้งหลายเหล่านี้อยู่รอบๆ ตัวของวัยรุ่น เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ รับทราบ และเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ครู อาจารย์ยุคนี้ ที่กลัวว่าสื่อยุคใหม่จะส่งผลในเชิงลบต่อพฤติกรรมวัยรุ่นยุคนี้ จนเป็นที่มาของความเสื่อมในด้านวัฒนธรรม (Sittenverfall) การแพร่หลายของสื่อประเภทต่างๆ นี้ มีผลต่อวัยรุ่นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นผลทางด้านบวก หรือผลทางด้านลบ เป็นทั้งโอกาสและเป็นทั้งความเสี่ยง หน้าที่อย่างหนึ่งของคุณครูและพ่อแม่ต่อการรับมือกับสภาพของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นก็คือ เข้าไปทำความรู้จัก เรียนรู้ นำตัวอย่างที่ดีมาสอน อธิบายเรื่องความเสี่ยงและความน่ากลัวของสื่อ ให้วัยรุ่นรับฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่วัยรุ่นในยุคนี้จะต้องเรียนรู้ และสามารถคิดวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนกำหนดการใช้เวลาอยู่กับสื่อต่างๆ เหล่านี้ ได้ด้วยตนเอง จึงเป็นที่มาของหลักสูตร การเท่าทันสื่อ (Media Competency) พัฒนาการและการสนับสนุน หลักสูตรการเท่าทันสื่อ จะมีกระบวนการดังต่อไปนี้ คือความรู้ในเรื่องสื่อ (Knowledge) กระบวนการการประเมินผล (Reflexion) และกระบวน การการจัดการ (Take action) จากกระบวนการเรียนรู้การเท่าทันสื่อตามแนวความคิดดังกล่าว วัตถุประสงค์ของหลักสูตรนี้ คือ การสามารถวิเคราะห์การใช้สื่อต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งกระบวนการประเมินผล จะเป็นกระบวนการสำคัญ เนื่องจากเด็กวัยรุ่นจำนวนมากได้ใช้สื่อต่างๆ อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน การที่เปิดโอกาสให้เด็กสามารถทำการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้สื่อของตัวเอง การอภิปรายในเรื่องงานอดิเรกอื่นๆ ในเวลาว่าง และสามารถทำการประเมินระดับของการเสพติดสื่อได้ สำหรับคุณครูหรือพ่อแม่ที่ เกิดก่อนปี 1980 นั้นต้องเข้าใจว่า เป็นพวกอพยพเข้ามาสู่ยุคดิจิตอล(Digital Immigrants) ในขณะที่เด็กที่เกิดหลังปี 1980 นั้น จะเป็นพวกชนพื้นเมืองยุคดิจิตอล(Digital Natives) เนื่องจากคนกลุ่มนี้พอเกิดมาจำความได้ ก็รู้จักสื่อต่างๆ ที่รายรอบตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนที่เกิดมารุ่นก่อนต้องทำความเข้าใจในการสอน Media Competency ภายใต้หลักการที่ว่า เป็นกัลยาณมิตรต่อกันและกัน คือ ไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วยกับบางสิ่งบางอย่างที่คนรุ่นใหม่กระทำทุกเรื่อง แต่ภายใต้ความหวังดีที่มีให้นั้น ก็สามารถเป็นที่ปรึกษากับพวกเขาเหล่านั้นได้ เนื่องจากพ่อ แม่ ผู้ปกครองมีวุฒิภาวะที่สมบูรณ์ เพียบพร้อมกว่าเด็กวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนการเจริญเติบโต เนื้อหาในหลักสูตรนั้นทางองค์กรผู้บริโภค ได้จัดเตรียมไว้ให้กับคุณครูทางอินเตอร์เน็ต คุณครูสามารถดาวน์โหลด เพื่อมาประกอบการเรียนการสอนในห้องได้ นอกจากนี้ยังมีช่องทางให้คุณครูสามารถประเมินหลักสูตร เพื่อเป็นเสียงสะท้อนให้กับฝ่ายจัดทำหลักสูตรได้อีกด้วย เยอรมันเป็นชาติที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาทุกระดับ และสิทธิในการได้รับการศึกษาก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้ตราไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของไทย เพียงแต่เขาเอาจริง และทำจริงมากกว่าของเราในตอนนี้   *JIM เป็นโครงการการสำรวจอิทธิพลของสื่อที่มีต่อเด็กวัยรุ่น โดยทุกๆปี โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 1998 จะทำการสอบถามวัยรุ่นจำนวน 1,000 คน ในประเด็นดังต่อไปนี้ การทำกิจกรรมในยามว่าง หัวข้อที่สนใจและแหล่งของข้อมูล รายการโทรทัศน์ที่ชื่นชอบ การใช้สื่อประเภทต่างๆ ที่มีอยู่ การใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต แนวความคิดในการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์กับโรงเรียน การใช้โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 140 Social TV เมื่อผู้บริโภค มีช่องทางในการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการตอนนี้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) มีมติเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตัล และ มีมติเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตเพิ่มเติมในส่วนการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตัล พร้อมให้นำร่างประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่าสังคมกำลังเดินหน้าไปสู่การสื่อสารยุคดิจิตัล การให้ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นกับผู้บริโภค เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตัลเป็นสิ่งสำคัญ วันนี้ผมขอนำสถานการณ์เกี่ยวกับ เรื่อง Social TV ของเยอรมนี ที่อยู่ในยุคทีวีดิจิตัลมานำเสนอครับ การบริโภคสื่อโดยเฉพาะการดูโทรทัศน์ในเยอรมนี ได้เปลี่ยนรูปแบบการรับชมเนื่องมาจาก การเข้ามามีบทบาทของ Social Network ได้แก่ Facebook และ Twitter ตลอดจนการขยายตัวของ smart phone ที่ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสื่อสารของผู้บริโภค   คำว่า Social TV เกิดขึ้นจากการหลอมรวมของเทคโนโลยีระหว่าง โทรทัศน์ และ Social Media จากผลสำรวจของบริษัท Viacom Media Network ของเยอรมนี ซึ่งได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์พฤติกรรม การบริโภคสื่อในรูปของ Social TV ผลการสำรวจกิจกรรมที่ผู้บริโภคนิยมมากที่สุดมีดังต่อไปนี้ รับชมรายการพร้อมกับเพื่อนๆ 85 % สืบค้นเนื้อหาและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับรายการทีวี 61% ดูวิดิโอบันทึกรายการ ผ่าน Social Media 58 % โดยผู้บริโภคที่รับชมรายการ Social TV ให้ความสำคัญกับ สามเรื่องดังนี้ การติดต่อสื่อสาร (Communication) สำรวจความเห็น (Check Comment) และ เนื่อหาของรายการ (Consume Content ) เรียกว่า เป็นสามเหลี่ยม สามซี ของการเสพสื่อของผู้บริโภคในยุคนี้ที่เดียว การที่ผู้บริโภครับชม รายการผ่าน Social TV ก็เนื่องจากต้องการข้อมูลและเนื้อหาเพิ่มเติม ที่ไม่ใช่เนื้อหาทั่วๆ ไป ยกตัวอย่างเช่น Behind the scene material, Episode หรือ Clip ที่เป็น Highlight  และด้วยความสามารถของ Smart Phone ที่เป็นเครื่องมือสื่อสารของคนในยุคดิจิตัล จึงสามารถใช้เครื่องมือนี้ ผ่านโปรแกรม ที่เรียกว่า Second Screen App ที่สามารถไปควบคุมการทำงานของโทรทัศน์ในบ้าน (First TV) สืบค้นเนื้อหาข้อมูล และแนะนำรายการต่อๆ ไปได้ นอกจากนี้ หัวใจของ Social TV คือ พฤติกรรมลักษณะ Socialize ได้แก่ การแลกเปลี่ยน ถกเถียง อภิปรายและแสดงความรู้สึกนึกคิดในสังคมออนไลน์เป็นวงกว้างได้  และที่สำคัญสำหรับในภาคธุรกิจที่สำคัญก็คือ การสั่งซื้อสินค้าและเล่นเกมส์ได้อีกด้วย ตัวอย่างของ App ที่เป็น Social TV คือ Zeebox, GetGlue Shazam และ Tweek (เป็น App ของเยอรมนี) IntoNow เป็น App ที่ทำหน้าที่ของ Social TV ที่มีอยู่ในตลาดขณะนี้ มีฟังค์ชัน ให้คำแนะนำสำหรับผู้บริโภคในราย (TV Guide) และสามารถจัดเก็บสถิติต่างๆ ไว้ด้วย บทสรุป Social TV เป็นความท้าทายของรายการทีวีที่มีจำนวนผู้เข้าชมรายการเป็นจำนวนมาก เช่น Academy Fantasia, Thailand Got Talent หรือ การแข่งขันกีฬาแมตช์สำคัญๆ ว่าจะใช้ Social TV เป็นเครื่องมือสำคัญในการมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive) ระหว่างรายการทีวีและผู้บริโภคสื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและแสดงตัวตนได้อย่างไร  เพราะปัจจุบันช่องทางที่ผู้บริโภคใช้ในการสื่อสารไปยังรายการต่างๆ คือ SMS ซึ่งยังเป็นการสื่อสารแบบทางเดียวอยู่ ยังมีข้อจำกัดมากในเรื่องของการเข้ามาร่วมเล่นในรายการที่เป็น Social Event ในขณะนี้ และที่สำคัญ ส่ง SMS มันครั้งละสามบาทครับ ในโลกออนไลน์และยุคดิจิตัล ถือว่ามันยังแพงเกินไปครับ แหล่งข้อมูล Guido Bülow, Das Fernsehen im Wandel- Second Screen Apps für das Social TV, 21. Symposium Deutsche TV-Plattform, 2012  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 บทเรียน ทีวี จอดำ กับมาตรการป้องกันผู้บริโภคจากการถูกเอาเปรียบ

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติยุโรป หรือ ศึกยูโร 2012 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่สำหรับคนที่สนใจในเกมส์การแข่งขันแล้ว แต่สำหรับคนทำงานเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชน น่าจะใช้เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียน โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ชมโทรทัศน์ในบ้านเรา ที่จะมีการเปลี่ยนระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลในอนาคตอันใกล้นี้ ใครที่เป็นสมาชิกทรูวิชันส์ ดูทีวีผ่านระบบเคเบิล หรือผ่านระบบดาวเทียมนั้นต่างก็ก่นด่า และเบื่อหน่ายรำคาญ กับการเห็นแก่ได้ของฝ่ายทุน ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ทรู แกรมมี หรือแม้แต่ สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเองก็ตาม การเอาเปรียบผู้บริโภคโดยอาศัยลิขสิทธิ์ในทางการค้านั้น แม้แต่ในประเทศเยอรมนีเอง ที่ภาคประชาชนเข้มแข็ง ภาคการเมืองเป็นอิสระจากระบบทุนมากกว่าของไทยเรา เพราะพรรคการเมืองไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติของระบบทุนนิยมสามานย์ นั้น มีการจัดการอย่างไรในเรื่องนี้ บทความฉบับนี้ผมขออนุญาตนำบทเรียนจากทางเยอรมันมาเล่าสู่กันฟังครับ   ผู้บริโภคโดนจำกัดสิทธิ เพราะเทคโนโลยีก้าวล้ำ แต่คุณธรรมที่ล้าหลัง ในประเทศเยอรมนีเองนั้น หลังจากเปลี่ยนการแพร่สัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาลอกมาเป็นระบบดิจิตอลโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2012 แล้ว ผู้บริโภคก็ประสบปัญหาไม่สามารถรับชม รายการโทรทัศน์ทั้งจาก ฟรีทีวีได้ ถึงแม้ว่า จะมีช่องฟรีทีวีที่หลากหลาย และรายได้ของช่องสถานีฟรีทีวีจะมาจากโฆษณาก็ตาม ช่องรายการของโทรทัศน์สาธารณะที่มีอยู่  2 ช่องในระดับสหพันธรัฐ และอีก 1 ช่องในระดับรัฐบาลท้องถิ่น ที่ทำหน้าที่และมีบทบาทเหมือนกับช่องไทย พีบีเอสบ้านเรา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทผู้ให้บริการเคเบิลทีวี และผู้ให้บริการทีวีดาวเทียม ต้องการจะขายเครื่องรับสัญญาณของตนให้กับผู้บริโภคโดยถือโอกาสใช้การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปใช้ในการหาประโยชน์ในทางธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคส่วนมากก็จะต้องเสียค่าบริการรายเดือนเหมือนกับบ้านเรา และที่ร้ายไปกว่านั้น ในกรณีที่ผู้บริโภคย้ายที่อยู่จากมลรัฐหนึ่งไปอยู่อีกมลรัฐหนึ่ง กล่องรับสัญญาณที่ผู้บริโภคมีอยู่เดิมนั้นไม่สามารถรับสัญญาณได้อีกต่อไป ต้องไปซื้อกล่องรับสัญญาณอีก เพราะในการเปลี่ยนผู้ให้บริการนั้น ก็ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์รับสัญญาณไปด้วย ในกรณีนี้ ผู้บริโภคจะจ่ายสองเด้ง คือ จ่ายในรูปของภาษี เพราะช่องรายการโทรทัศน์สาธารณะนั้น จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีของประชาชน แต่ถ้าผู้บริโภคอยากจะดูรายการก็ต้องจ่ายสตางค์เพื่อจะซื้อกล่องรับสัญญาณอีก ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายแล้ว รัฐจะต้องดำเนินนโยบายให้ประชาชนเข้าถึงรายการสาธารณะโดยทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ในกรณีของฟรีทีวี ซึ่งมีรายได้จากการขายเวลาโฆษณา ถึงแม้นว่าประชาชนได้ชมรายการจากฟรีทีวี ก็ต้องดูโฆษณาจากฟรีทีวีด้วย ผู้ประกอบการฟรีทีวีได้รับรายได้สองต่อคือค่าโฆษณาและเงินรายได้จากสถานีโทรทัศน์ที่ต้องการเพิ่ม rating ให้กับสถานีของตน แต่ประชาชนขาดทุนสองเด้งเช่นกัน คือ จ่ายค่าสมาชิกให้กับบริษัทประกอบกิจการเคเบิลทีวี และจ่ายภาษีให้กับรัฐด้วย   ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในเยอรมันทำอย่างไร ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่เกี่ยวข้อง เช่น สหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค (VZBV) และ สหพันธ์องค์กรคุ้มครองสิทธิคนอยู่บ้านเช่า (Der Deutsche Mieterbund) และสหพันธ์องค์กรผู้ประกอบกิจการที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ (Bundesverband deutscher Wohnungs- und Immobilienunternehmen) ได้ทำหนังสือแถลงการณ์ประท้วงไปยังรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลางเพื่อให้เปลี่ยนแปลงนโยบายที่ไม่ได้เป็นมิตรกับผู้บริโภคในเรื่องการเข้าถึงสื่อทีวีสาธารณะเช่นนี้ พร้อมกับสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภค ได้จัดเวทีสานเสวนา (Dialog) ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค (น่าสังเกตว่านักการเมือง ของเขานั้น ไม่ได้เติบโตมาจากกลุ่มทุน แต่เติบโตมาจากพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองจริงๆ แยกออกมาจากกลุ่มธุรกิจอย่างสิ้นเชิง กรรมการบริหารพรรค ไม่ได้มีรากเหง้ามาจากแวดวงธุรกิจเหมือนกับนักการเมืองส่วนใหญ่ในบ้านเรา)   บทเรียนของเยอรมนีกับการกำกับดูแลภายใต้ กสทช. สำหรับองค์กรคุ้มครองสิทธิคนอยู่บ้านเช่านั้น เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ เพราะ คนเยอรมันส่วนใหญ่ ไม่มีบ้านหรือที่ดินเป็นของตนเอง จะอยู่ห้องเช่า (Wohnung) เป็นส่วนมากของจำนวนประชากรทั้งหมด เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของคนที่อยู่บ้านเช่าเพื่อมิให้ถูกบริษัทธุรกิจทำบ้านให้เช่านั้นเอาเปรียบ เนื่องจากบ้านเช่าหรือห้องเช่าในเยอรมนีนั้นส่วนมากจะมีระบบรับสัญญาณเคเบิลทีวี  อยู่ในห้องแล้วเรียบร้อย ผู้เช่าห้องสามารถบอกรับการเป็นสมาชิกได้เลย ไม่ต้องทำเรื่องติดตั้ง หรือต่อสายเข้ามาในบ้านเหมือนบ้านเรา สำหรับเรื่องการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณเคเบิลนั้น กสทช. สมควรจะเข้ามาควบคุมดูแล ร่วมกับบริษัทเอกชน เพราะเป็นเรื่องโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน หาก กสทช. กำกับดูแลดี ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์และเข้าถึงสัญญาณโทรทัศน์ได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับจะเกิดการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างคุ้มค่า ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2555- 2559 ภายใต้ยุทธศาสตร์ ที่3 การกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีการแก้ไขเยียวยาปัญหาอย่างรวดเร็วและไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งถึงแม้นว่า กสทช. จะออกคำสั่งทางปกครองสั่งปรับทรู วิชันส์ วันละสองหมื่นบาทนั้น ย่อมเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด มูลค่าในการสั่งปรับน้อยมาก ไม่กระทบกระเทือนกับธุรกิจ  และไม่สามารถเยียวยาผู้บริโภคได้เลย หลังจบฟุตบอลยูโรแล้ว กสทช. ฟรีทีวี และทีวีสาธารณะอาจต้องร่วมกันหามาตรการป้องกันการผูกขาด ที่มาในรูปของลิขสิทธิ์ที่กลุ่มทุนนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ในการจำกัดสิทธิผู้บริโภคในการเข้าถึง Event ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอลโลก ฟุตบอลยูโร และกีฬาโอลิมปิคในอนาคต เหมือนกับที่สื่อสาธารณะของเยอรมนี ไม่ยอมก้มหัวให้กับการหากำไรของทุนนิยมในประเทศของเขาครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 เข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอล ผู้บริโภคต้องเตรียมตัวอย่างไร

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ สัญญาณแบบอนาลอก เป็นสัญญาณโทรทัศน์ที่จะหมดยุคภายใน 4-5 ปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยเราจะก้าวเข้ามาสู่ยุคโทรทัศน์แบบดิจิตอล ซึ่งผู้บริโภคที่มีความรู้ในเรื่องเทคนิคอย่างค่อนข้างจำกัดนั้น สมควรที่จะต้องหาความรู้พื้นฐาน ตลอดจนการเตรียมการในการที่จะรับสัญญาณแบบใหม่นี้ ความรู้พื้นฐานที่ผู้บริโภคควรมีไว้กับตัวนั้น ผมนำมาจากความรู้ของคณะทำงานในการเตรียมตัวการเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลของเยอรมัน เนื่องจากประเทศเยอรมนีได้ก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลก่อนเราไปล่วงหน้าหลายปี องค์ความรู้ในด้านการเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนผู้ให้บริการ หน่วยงานกำกับดูแล และผู้บริโภค ประเทศเขาสามารถทำได้และทำร่วมกันได้เป็นอย่างดี เราสามารถขอหยิบยืมองค์ความรู้ของเขามาประยุกต์ใช้ในบ้านเราได้ ก็จะทำให้การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเป็นไปได้อย่างราบรื่น และเป็นภาระกับผู้บริโภคได้อย่างน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ตอนนี้เรามี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ครบถ้วนสมบูรณ์แบบแล้ว และเป็นความคาดหวังใหม่ของสังคม โดยเฉพาะในส่วนของผู้บริโภค ที่ไม่ต้องการการถูกเอารัดเอาเปรียบจากภาคธุรกิจเหมือนอย่างในอดีตที่ผ่านมา นอกจากการควบคุมกิจการในด้านนี้แล้ว ภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การให้ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นกับผู้บริโภค เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลที่จะเดินเข้ามาหาเราในเร็วๆ นี้ การเตรียมความพร้อมในยุคของทีวีดิจิตอลนั้น สำหรับผู้บริโภคที่มีโทรทัศน์ที่รับสัญญาณผ่านเสาอากาศ ก็ต้องจัดหา อุปกรณ์ตัวแปลงสัญญาณที่เราเรียกว่า Set-Top-Box ที่จะแปลงสัญญาณจากอนาลอกมาเป็นดิจิตอล สำหรับทีวีที่มีจุดเชื่อมต่อเป็นแบบ สการ์ต (Scart) เวลาที่เราเลือกซื้อ Set Top Box นั้น ก็จะต้องพิจารณาดูว่า มีจุดเชื่อมต่อสำหรับ การต่อผ่านแผ่น สการ์ตหรือไม่ดังรูปที่ 1 ถ้าทีวีที่ไม่มีแผ่นสการ์ต แต่มีจุดเชื่อมต่อเป็น coaxial cable ก็ต้องเลือก Set-Top-Box ที่มีตัวรับตัวเสียบดังรูปที่ 2ในกรณีที่มีการเชื่อมต่อกับเครื่องเล่นดีวีดี หรือแอมปลิฟายเออร์ การเลือกซื้อ Set – Top- Box ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า มีจุดที่สามารถเชื่อมต่อได้ทั้ง แผ่นสการ์ต และจุดเชื่อมต่อแบบโคแอกเซียลดังรูปที่ 3   บทสรุป ผู้บริโภคต้องเตรียมการสำรวจอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เครื่องเล่นอิเลคทรอนิกส์ ที่มีอยู่แล้วในบ้าน เช่น โทรทัศน์ เครื่องเล่นวีดีโอ เครื่องเล่นดีวีดี และแอมปลิฟายเออร์ ว่า มีจุดเชื่อมต่อกี่จุด และมีจุดเชื่อมต่อเป็นแบบใดแล้ว ผู้บริโภคก็ควรจะเลือกอุปกรณ์ Set Top Box ที่เหมาะสมสามารถที่จะต่อเชื่อมเข้ากับเครื่องเล่นอิเลคทรอนิกส์ ที่มีอยู่แล้ว โดยดูจากจุดเชื่อมต่อของ Set top box ว่าจะมีจุดเชื่อมต่อให้หลายจุดและเพียงพอหรือไม่ ก่อนที่จะพิจารณาต่อในเรื่องคุณภาพของสัญญาณ และราคา ในส่วนของ กสทช. ควรต้องกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ Set Top Box ที่จะนำมาเสนอขายในท้องตลาด โดยกำหนดให้อุปกรณ์นั้นรองรับกับอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ที่มีอยู่ในครัวเรือนและที่ขายในตลาดบ้านเรา โดยเฉพาะการกำหนดจำนวนและประเภทของจุดเชื่อมต่อขั้นต่ำ ที่จะต้องมีจำนวนเพียงพอ เพื่อให้ผู้บริโภคไม่ต้องรับภาระมากเกินไปในการจัดหาอุปกรณ์เสริมและสายสัญญาณต่างๆ ที่จะต้องใช้ในการรับสัญญาณระบบดิจิตอลที่ได้เริ่มมีการทดลองออกอากาศกันบ้างแล้ว     รูปที่ 1 การเชื่อมต่อระหว่างเสารับสัญญาณและอุปกรณ์ Set Top Box ที่เป็นแบบแผ่นสการ์ต   รูปที่ 2 การเชื่อมต่อระหว่างเสารับสัญญาณและอุปกรณ์ Set Top Box ที่เป็นแบบสายโคแอกเซียล   รูปที่ 3 การเชื่อมต่อระหว่างเสารับสัญญาณและอุปกรณ์ Set Top Box ที่เป็นทั้งแบบสายสการ์ตและสายแบบโคแอกเซียล   แหล่งข้อมูลอ้างอิงwww.ueberallfernsehen.de

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 เมื่อน่านฟ้าถูกปิด ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง ตอนที่ 2

  คราวที่แล้วได้นำเสนอข้อแนะนำในการปฏิบัติสำหรับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินในสหภาพยุโรป ไปด้วยกันหลายข้อ ได้แก่ คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อ เที่ยวบินถูกยกเลิก ล่าช้า หรือถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่อง, ค่าชดเชยกรณีที่กระเป๋าเดินทางล่าช้า สูญหาย หรือเสียหายได้หรือไม่, ทำการจองรถเช่าไว้แล้ว และวางแผนที่จะไปรับรถที่สนามบินปลายทาง แต่ไม่สามารถไปรับรถได้ (ตามเวลา/ไม่สามารถรับรถได้เลย)…ซึ่งยังไม่หมดนะครับ ยังมีคำแนะนำที่น่าสนใจอีกหลายข้อ ดังนี้ คำแนะนำในการปฏิบัติสำหรับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินในสหภาพยุโรป(ต่อ) 5. แล้วถ้าไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เนื่องจากการยกเลิกเที่ยวบิน และบริการเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจท่องเที่ยว• รายงานปัญหาต่อบริษัทเรือ/รถไฟ/รถประจำทางทันที และควรทำเป็นลายลักษณ์อักษร• รวบรวมเอกสารประกอบให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำไมถึงไม่สามารถไปยังจุดหมายปลายทางตามที่วางแผนไว้ได้• ถ้าได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้ว ผู้โดยสารอาจจะขอเงินคืนได้ โดยอ้างสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น• ถ้าไม่ได้จ่ายเงินล่วงหน้า แจ้งยกเลิกการเดินทางโดยเรือ/รถไฟ/รถประจำทาง เป็นลายลักษณ์อักษร โดยอ้างถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ (การปิดน่านฟ้า) อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น• ตรวจสอบว่ากรมธรรม์ประกันภัยครอบคลุมสถานการณ์นี้หรือไม่ ถ้าเป็นกรณีที่เป็นสัญญาที่แยกกัน หรือไม่ใช่แพ็คเกจท่องเที่ยว ไม่มีกฎของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกในสถานการณ์เหล่านี้ ดังนั้น ผลทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้ ภายใต้กฎของสหภาพยุโรป ผู้โดยสารไม่มีสิทธิได้รับเงินคืนจากบริษัทสายการบิน 6. แล้วถ้าไม่สามารถต่อเที่ยวบินได้เนื่องจากการปิดน่านฟ้า (ก) ในกรณีที่เป็นเที่ยวบินทรานสิท (ข) ในกรณีที่บัตรโดยสารสองใบซื้อแยกกัน ก) ดูข้อ 7 กรณีแพ็คเกจท่องเที่ยวข) ผู้โดยสารมี• สิทธิที่จะได้รับข้อมูลจากสายการบิน (เช่น สายการบินต้องให้ข้อมูลเรื่องสิทธิในฐานะผู้โดยสาร และต้องแจ้งสถานการณ์ให้ผู้โดยสารรับทราบกรณีมีการเปลี่ยนแปลง)• สิทธิที่จะเลือกระหว่างการขอเงินค่าบัตรโดยสารคืนหรือการเปลี่ยนเส้นทางไปยังจุดหมายปลายทางของผู้โดยสาร• สิทธิที่จะได้รับการดูแลตามที่อธิบายไว้ในข้อ 1 ถ้าทางเลือกของผู้โดยสารคือการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ และการยกเลิกเที่ยวบินทรานสิทเกิดขึ้นหลังจากที่ออกจากสถานที่พักอาศัยแล้ว 7. ในกรณีที่จองแพ็คเกจท่องเที่ยวไว้ แล้วเที่ยวบินถูกยกเลิกไม่สามารถเดินทางได้เพราะน่านฟ้าปิด สามารถเรียกร้องเงินที่จ่ายไปแล้วทั้งหมดหรือบางส่วนสำหรับแพ็คเกจท่องเที่ยวได้หรือไม่(ตัวอย่างของแพ็คเกจท่องเที่ยวคือสิ่งที่ผู้โดยสารเลือกจากโบรชัวร์ของบริษัทท่องเที่ยว ซึ่งรวมเที่ยวบินและการพักโรงแรมไว้ด้วย การท่องเที่ยวของผู้โดยสารจะไม่ถือว่าเป็นแพ็คเกจท่องเที่ยวถ้าผู้โดยสารจองบริการต่างๆ แยกจากกัน ถ้าผู้โดยสารยังไม่เริ่มต้นเดินทางผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลจากสายการบินหรือจากบริษัทท่องเที่ยว ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับเงินคืนเต็มจำนวนที่จ่ายไป (รวมถึงค่าโดยสารและค่าโรงแรม) หรือผู้บริโภคอาจจะรับแพ็คเกจทดแทน ถ้าได้รับการยื่นข้อเสนอจากผู้จัด ผู้โดยสารไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยอื่น นอกจากการเรียกร้องเงินคืน ถ้าแพ็คเกจท่องเที่ยวถูกยกเลิกเนื่องจากสถานการณ์ไม่ปกติ (“เหตุสุดวิสัย”) ซึ่งกรณีเถ้าภูเขาไฟระเบิดปกคลุมน่านฟ้า จะถูกพิจารณาเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ทำให้ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยอื่นเพิ่มเติม  ถ้าผู้โดยสารอยู่ที่จุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทนำเที่ยว (หรือตัวแทนท่องเที่ยว) ตัวอย่างเช่น ข้อมูลสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง การยกเลิกและระยะเวลาที่ล่าช้า เครื่องดื่ม อาหารและอุปกรณ์ในการสื่อสาร ผู้จัด (หรือตัวแทนท่องเที่ยว) ยังต้องจัดหาทางเลือกอื่นที่เหมาะสมโดยไม่ให้ผู้โดยสารจ่ายค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น สำหรับความต่อเนื่องของแพ็คเกจ รวมถึงการปรับเปลี่ยนการเดินทาง เช่น เที่ยวบินสองสามวันหลังจากนั้น และที่พักในโรงแรม  (คำแนะนำ ผู้โดยสารควรจะเก็บใบเสร็จรับเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เนื่องจากการถูกระงับเที่ยวบิน) 8. กรณีจองบ้านพักตากอากาศ/โรงแรม/เรือ แยกจากกัน ถ้าเครื่องบินไม่สามารถออกเดินทางได้เนื่องจากการปิดน่านฟ้า ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจองคืนหรือไม่• รายงานปัญหาต่อเจ้าของบ้านพัก/โรงแรม/บริษัททันที และควรทำเป็นลายลักษณ์อักษร• รวบรวมเอกสารประกอบให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำไมไม่สามารถไปยังสนามบินปลายทางตามที่วางแผนไว้ได้• ถ้าผู้โดยสารได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้ว อาจจะขอเงินคืนได้ โดยอ้างสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น• ถ้าผู้โดยสารไม่ได้จ่ายเงินล่วงหน้า แจ้งยกเลิกการเช่าพัก เป็นลายลักษณ์อักษร โดยอ้างถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ (การปิดน่านฟ้า) อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น (คำแนะนำ ผู้โดยสารควรจะเก็บใบเสร็จรับเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เนื่องจากการถูกระงับเที่ยวบิน) ถ้าทำสัญญาแยกกัน หรือไม่ใช่แพ็คเกจท่องเที่ยว ไม่มีกฎของสหภาพยุโรปข้อใดที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกในลักษณะนี้ ดังนั้น ผลทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับสัญญาที่เกี่ยวข้องและกฎหมายที่บังคับใช้ ภายใต้กฎของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับสิทธิของผู้โดยสารทางอากาศผู้โดยสารไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยจากบริษัทสายการบิน การ ทำงานขององค์การอิสระผู้บริโภคของยุโรป เป็นการกระทำที่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคสากลแบบไม่จำกัดเรื่องเชื้อชาติ และสีทางการเมืองของผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการปิดน่านฟ้า และจริงๆ แล้วคณะกรรมมาธิการยุโรปได้มีนโยบายเฝ้าระวังสายการบินราคาถูกที่มักจะมีปัญหาเรื่องเครื่องบินล่าช้า หรือยกเลิกเที่ยวบินเป็นประจำจนทำให้ผู้โดยสารเดือดร้อนมาก หวังว่าหากเพื่อนสมาชิกฉลาดซื้อจะได้ประโยชน์จากบทเรียนครั้งนี้บ้าง และถ้ากรมขนส่งทางอากาศ ที่ทำหน้าที่เป็น เรกูเลเตอร์โดยตรง เห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินในประเทศไทยในปี 2552 ที่มีจำนวนผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 50 ล้าน คนต่อปี* นำไปปรับใช้กับสายการบินในประเทศไทยเราบ้างก็จะได้รับการสรรเสริญจากผู้โดยสารอีกไม่น้อยเลยทีเดียว * ข้อมูลจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 111 เมื่อน่านฟ้าถูกปิด ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง ตอนที่ 1

จากเหตุภูเขาไฟอายยาฟยาพลาเยอร์คุดุในไอซ์แลนด์ปะทุขึ้น จนทำให้เกิดกลุ่มหมอกและควันไฟปกคลุมทั่วท้องฟ้าจนมีผลให้ทางอียูต้องสั่งปิดน่านฟ้า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งการปิดน่านฟ้าได้สร้างความวุ่นวายใหญ่หลวงให้เกิดขึ้นทั่วทั้งยุโรปต่อนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางทั่วไป แต่แม้จะเป็นสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ สิทธิของผู้โดยสารทางอากาศของสหภาพยุโรปยังคงใช้ได้อยู่ เป็นที่น่าสังเกตว่า สิทธิของผู้บริโภคนั้น เป็นสิทธิสภาพนอกอาณาเขต หากคนไทยที่เดินทางไปยุโรปแล้วประสบเคราะห์กรรมจากภัยธรรมชาติครั้งนี้ สิทธิของผู้บริโภคก็ย่อมได้รับความคุ้มครองเช่นกันโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนาและความเชื่อ ตลอดจนสีทางการเมือง เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวในทางการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์การอิสระนั้น จึงถือว่าเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองร่วมกันของการเมืองภาคประชาชน ซึ่งผู้บริโภคควรจะช่วยกันขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง คำแนะนำในการปฏิบัติสำหรับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินในสหภาพยุโรป 1. เกิดอะไรขึ้นถ้าเที่ยวบินถูกยกเลิก ล่าช้า หรือถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่องถ้าเที่ยวบินของเราถูกยกเลิก หรือล่าช้าเป็นเวลาเกินกว่าห้าชั่วโมง หรือผู้โดยสารได้รับการปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่อง ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะขอเงินคืนเต็มจำนวนสำหรับบัตรโดยสารที่ไม่ได้ใช้ หรือสามารถยอมรับการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ไปยังจุดหมายปลายทางสุดท้ายได้ ซึ่งหมายความว่าผู้โดยสารสามารถเลือกได้ระหว่างการขอเงินคืนหรือการเปลี่ยนเส้นทาง ถ้าผู้โดยสารเลือกขอเงินคืน ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะขอเงินคืนเต็มจำนวนค่าบัตรโดยสารที่ได้จ่ายไป(รวมภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นๆ) สำหรับการขอเงินคืน ผู้โดยสารควรจะยื่นเรื่องต่อบริษัทสายการบินที่ทำการจองบัตรโดยสารไว้ จำไว้ว่าเมื่อไรที่ผู้โดยสารรับเงินคืนแล้ว สายการบินไม่มีข้อผูกมัดต่อผู้โดยสารในเรื่องการเปลี่ยนเส้นทางใหม่หรือการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ถ้าผู้โดยสารเลือกการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทสายการเช่นอาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์สื่อสาร การขนส่งระหว่างสนามบินและที่พักของผู้โดยสาร และถ้าจำเป็นก็ต้องเปิดห้องพักโรงแรมสำหรับพักค้างคืนให้ โดยขึ้นกับความล่าช้าเกิดขึ้น  2. ผู้โดยสารมีสิทธิในค่าชดเชยอื่นๆ หรือไม่ (นอกเหนือจากที่อธิบายไว้ในข้อ 1) ถ้าเที่ยวบินถูกยกเลิก ล่าช้า หรือถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่องภายใต้สถานการณ์พิเศษ เช่น การปิดน่านฟ้า ผู้โดยสารไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 3. สามารถขอค่าชดเชยกรณีที่กระเป๋าเดินทางล่าช้า สูญหาย หรือเสียหายได้หรือไม่3.1 ควรจะทำอย่างไรถ้ากระเป๋าเดินทางมาถึงล่าช้า“ล่าช้า” หมายความว่ากระเป๋าของผู้โดยสารเดินทางมาถึงภายในเวลา 21 วันนับจากวันที่ผู้โดยสารมาถึงสนามบินปลายทาง ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ (อนุสัญญามอนทรีออล) ผู้โดยสารมีสิทธิได้รับค่าชดเชยสูงสุดประมาณ 1,223 ยูโรสำหรับความล่าช้า อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้ • ขณะที่ยังอยู่ที่สนามบิน ผู้โดยสารควรกรอกแบบฟอร์ม PIR (Passenger Irregularity Report) ที่โต๊ะรับร้องเรียนเรื่องกระเป๋า โดยปกติมักจะตั้งอยู่ในบริเวณที่รับกระเป๋า ควรให้รายละเอียดเกี่ยวกับกระเป๋าของผู้โดยสารและเก็บสำเนาแบบฟอร์มไว้กับตัวเอง ถ้ากระเป๋าเดินทางมาถึงภายในสามสัปดาห์นับจากเวลาถึงของผู้โดยสาร แสดงว่าเกิดความล่าช้าขึ้น ผู้โดยสารควรจะร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงสายการบินภายใน 21 วัน เพื่อร้องขอค่าชดเชยเรื่องความล่าช้า • เก็บบัตรที่นั่ง (Boarding pass) และป้ายชื่อคล้องกระเป๋าไว้ (baggage tags) • หาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายเรื่องค่าใช้จ่ายประจำวันของบริษัทสายการบินถ้าเป็นไปได้ • ถามรายละเอียดผู้ติดต่อของแผนกกระเป๋าและถามว่ามีระบบติดตามข้อมูลออนไลน์เพื่อให้ตรวจสอบสถานะกระเป๋าหรือไม่ • เก็บใบเสร็จรับเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นทั้งหมดที่เกิดจากความล่าช้าของกระเป๋าไว้ภายใต้อนุสัญญามอนทรีออล ผู้โดยสารมีเวลา 21 วัน นับจากวันที่กระเป๋าถูกส่งมาถึง เพื่อยื่นแบบเรียกร้องค่าชดเชยที่เป็นลายลักษณ์อักษร 3.2 ควรจะทำอย่างไรถ้ากระเป๋าเดินทางชำรุดเสียหายขณะที่ยังอยู่ที่สนามบิน ควรกรอกแบบฟอร์ม PIR (Passenger Irregularity Report) ที่ได้จากสายการบิน ระบุความเสียหายที่มีต่อกระเป๋าของผู้โดยสาร ซึ่งหมายความว่าสายการบินจะมีบันทึกการร้องเรียนของผู้โดยสาร ผู้โดยสารควรที่จะเก็บสำเนาไว้ด้วย จากนั้นเขียนจดหมายถึงสายการบินภายใน 7 วัน นับจากวันที่กระเป๋ามาถึง และแนบสำเนาแบบฟอร์ม PIR ไปด้วยเพื่อเรียกร้องค่าชดเชย ภายใต้กฎหมาย ผู้โดยสารมีสิทธิได้รับค่าชดเชยสูงถึงประมาณ 1,223 ยูโร สำหรับความเสียหาย 3.3 ควรจะทำอย่างไรถ้ากระเป๋าเดินทางสูญหายไปโดยเกิดจากการกระทำของสายการบินกระเป๋าของผู้โดยสารจะถือว่า “สูญหาย” ถ้าผู้โดยสารไม่ได้รับกระเป๋าเดินทางภายใน 21 วัน หรือถ้าสายการบินแจ้งว่าสูญหาย ขณะที่ยังอยู่ที่สนามบิน ควรกรอกแบบฟอร์ม PIR (Passenger Irregularity Report) ที่ได้จากสายการบิน รายงานถึงกระเป๋าที่ยังไม่มา ซึ่งหมายความว่าสายการบินจะบันทึกการร้องเรียนของผู้โดยสาร ผู้โดยสารควรที่จะเก็บสำเนาไว้ด้วย ถ้ากระเป๋าไม่มาภายใน 21 วัน เขียนจดหมายถึงสายการบินเรียกร้องค่าชดเชย ภายใต้กฎหมายผู้โดยสารมีสิทธิได้รับค่าชดเชยสูงถึงประมาณ 1,223 ยูโร สำหรับความสูญเสีย 4.ทำการจองรถเช่าไว้แล้ว และวางแผนที่จะไปรับรถที่สนามบินปลายทาง แต่ไม่สามารถไปรับรถได้ (ตามเวลา/ไม่สามารถรับรถได้เลย) เนื่องจากการปิดน่านฟ้า – จะต้องปฏิบัติอย่างไร • แจ้งบริษัทรถเช่าทันทีที่ทำได้ และควรแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร • รวบรวมเอกสารประกอบให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำไมถึงไม่สามารถไปยังสนามบินปลายทางตามที่วางแผนไว้ได้ • ถ้าได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้ว ผู้โดยสารอาจจะขอเงินคืนได้ โดยอ้างสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น • ถ้าไม่ได้จ่ายเงินล่วงหน้า แจ้งยกเลิกการเช่ารถเป็นลายลักษณ์อักษร โดยอ้างถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ (การปิดน่านฟ้า) อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น • ตรวจสอบว่ากรมธรรม์ประกันภัยครอบคลุมสถานการณ์นี้หรือไม่ กรณีนี้เป็นสัญญาที่แยกกัน หรือไม่ใช่แพ็คเกจท่องเที่ยว ไม่มีกฎของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกในสถานการณ์เหล่านี้ ดังนั้นผลทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้ ภายใต้กฎของสหภาพยุโรป ผู้โดยสารไม่มีสิทธิได้รับเงินคืนจากบริษัทสายการบิน เนื่องจากเนื้อที่จำกัด ขอนำเสนอส่วนที่เหลือในตอนหน้าครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 109 GT200 กับการคุ้มครองผู้บริโภค

นับตั้งแต่ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ แห่งคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 ให้สังคมไทยรับทราบทั่วกันว่า เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 ที่จัดซื้อกันมาใช้ในหลายหน่วยราชการ ด้วยราคาแสนแพงนี้ ไม่น่าทำงานจริงได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในทุกระดับ มีทั้งผู้ที่เชื่อถือว่าเครื่องนี้จะทำงานได้ และมีผู้ที่เชื่อว่าเครื่องมือนี้ไม่สามารถทำงานได้ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิทยาศาสตร์) จนกระทั่งท้ายสุดรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นเจ้าภาพในการตรวจสอบ และผลการทดสอบก็เป็นที่ทราบกันอย่างชัดเจนแล้วว่า จากการตรวจ 20 ครั้ง ถูกต้องเพียง 4 ครั้งเท่านั้น หรือคิดเป็นโอกาสถูกเพียง 20% หรือเท่ากับการเดาสุ่ม ซึ่งน้อยกว่าการเดาสุ่มอีกแบบที่บอกเพียงแค่ว่า “มีหรือไม่มี” เสียอีก (ซึ่งโอกาสถูกยังมีมากถึง 50%) ซึ่งหมายความว่าเครื่องมือที่ตรวจสอบนี้ไม่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับราคาที่แพงเป็นแสนเป็นล้านบาท น่าแปลกใจว่า บรรดาหน่วยงานทั้งหลายกลับมุ่งมั่นที่จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่นี้ต่อไป พร้อมทั้งมีการชี้แจงเป็นระยะว่า ผู้ใช้ตัวจริงจากพื้นที่จริงยืนยันว่าใช้ได้ แม้ว่าการตรวจสอบจะให้ผลในทางตรงข้ามก็ตาม.... สังคมไทยที่ยังเป็นสังคมประเภทที่อาศัยความเชื่อมากกว่าความจริง เช่นเชื่อว่าวัวห้าขาจะสามารถใบ้หวยได้หรือการขูดหาเลขท้ายสองตัวสามตัวจากต้นไม้ประหลาดหน้าตาคล้ายมังกร ความเชื่อเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะมีคนที่บังเอิญถูกเลขท้ายเพียงแค่คนหรือสองคนจากคนที่ขูดหาเป็นร้อยเป็นพันคน แล้วมีคนเพียงไม่กี่คนที่ถูกหวย ก็โพนทะนาว่ามันแม่นมาก ศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก คนอื่นๆ ที่ขูดแล้วได้เลขที่ไม่ถูกต้องก็พาลพาด่าทอตัวเองว่า เราดันไม่ไปขูดตรงที่เค้าขูดเอง หรือขูดไม่ถูกวิธี หรือขูดโดยใช้อุปกรณ์ที่ไม่สมควรเช่นมีดหรือส้อมเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเหล่านี้ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใครทั้งสิ้น นอกจากวัวหรือต้นไม้ที่จะถูกรบกวนโดยความไม่รู้ของผู้คน แต่สำหรับความเชื่อในเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดนี้ หากเชื่อว่าเครื่องทำงานได้ แต่พอถึงเวลาใช้งานเครื่องทำงานไม่ได้หรือทำงานผิดพลาด นั่นอาจหมายถึงชีวิตของทั้งผู้ที่ตรวจหาหรือประชาชนที่จะต้องรับเคราะห์กรรม ดังนั้น เรื่องราวประเภทนี้จึงควรใช้ความจริงเป็นสิ่งตัดสินใจมากกว่าความเชื่อ ผมเชื่อว่าบรรดานักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานต่างๆ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกกรรมการเพื่อตรวจสอบเครื่อง GT200 ซึ่งคงเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีการออกแบบการทดลองใช้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่ถ้าผมได้ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย ผมคงจะขอเสนอให้ผู้ที่เชี่ยวชาญชำนาญใช้งานเครื่องนี้มาเป็นผู้ทดสอบด้วยตนเอง ขอเชิญผู้ที่ชำนาญมากที่สุด อยู่ในสภาวะที่ท่านคิดว่าพร้อมที่สุด แล้วเชิญท่านมาทดสอบใช้เครื่อง เพื่อให้เห็นชัดกันไปจริงๆ ว่า มันใช้ได้หรือไม่ได้โดยตัวท่านเอง หรือแม้การพิสูจน์จะผ่านไปแล้ว กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็ควรเปิดโอกาสให้ทุกท่านที่ใช้งานเครื่องนี้จริง จากพื้นที่จริงและมีข้อสงสัยในประสิทธิภาพได้มาทดสอบด้วยตนเอง ซึ่งน่าจะบรรเทาความคลางแคลงใจในประสิทธิภาพลงไปได้อีกระดับหนึ่ง การจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นในหลายรัฐบาล หลายผู้นำ จำนวนเครื่องมากน้อยต่างๆ กันไป แล้วแต่ความต้องการของหน่วยงานที่ใช้ และเมื่อมีประเด็นในด้านประสิทธิภาพของเครื่องมือกับราคาที่แพงมาก ก็คงมีคำถามจากสังคมมากมายในทำนองว่า มีการคอรัปชันหรือไม่ ใต้โต๊ะบนโต๊ะหรือไม่ หรือเราโดนหลอกหรือไม่ การตอบคำถามเพื่อแก้ประเด็นเหล่านี้กลับไปอยู่ที่ความพยายามบอกว่าเครื่องทำงานได้มีประสิทธิภาพดี เหตุเกิดเพียงเพราะนักวิชาการชอบมากวนน้ำให้ขุ่น แต่ไม่ได้เคยมีความพยายามที่จะพิสูจน์ให้ทราบว่าการจัดซื้อโปร่งใสหรือไม่ หรือแม้กระทั่งเราอาจถูกหลอกให้ซื้อเครื่องเหล่านี้จริงๆ เพราะการยอมรับในข้อสงสัยเรื่องการจัดซื้อย่อมเท่ากับยอมรับว่าอาจมีการทุจริตในองค์กร และการยอมรับเรื่องถูกหลอกขายของ ก็จะทำความเสียหาย เสียหน้า เสียชื่อเสียงขององค์กรนั่นเอง หากผมเป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่มีเครื่องมือเหล่านี้อยู่ในครอบครอง ทันทีที่นายกฯ ได้แถลงผลการทดสอบจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อย่างเป็นทางการว่าเครื่องมือไม่มีประสิทธิภาพและขอให้ระงับการใช้งาน สิ่งแรกที่ผมจะทำคือฟ้องร้องบริษัทที่ขายเครื่องมือดังกล่าวต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภค หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทันที ผมเห็นว่าการถูกหลอกขายของยังไม่น่าจะอับอายเท่ากับการทรยศคดโกงชาติด้วยการคอรัปชัน หน่วยงานราชการทั้งหลายที่จัดซื้อถือว่าเป็นผู้บริโภคโดยตรงได้ซื้อเครื่องมือเหล่านี้มาใช้หลายเครื่อง แต่พิสูจน์และปรากฎชัดแล้วว่าเครื่องมือเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพจริงตามที่กล่าวอ้าง ถือเป็นการหลอกลวงอย่างชัดเจน ถ้าร้องเรียนต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภค ศาลจะพิจารณาอย่างรวดเร็ว ในกรณีที่ผู้บริโภค (ในที่นี้ผู้ชื้อคือหน่วยงานของรัฐ) เมื่อประเด็นข้อพิพาทข้อใดจำเป็นต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการผลิต การประกอบ การออกแบบหรือส่วนผสมของสินค้า การให้บริการหรือการดำเนินการใดๆ ซึ่งศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจนั้น ผลการพิจารณาตัดสินก็จะชี้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าใครเป็นคนผิดดังนั้นหากหน่วยงานของรัฐจัดซื้อไปเนื่องจากเชื่อในคำโฆษณากล่าวอ้าง แล้วได้สินค้าที่ไม่มีประสิทธิภาพจริง จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรที่จะรีบดำเนินการฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค หากผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขายเชื่อมั่นว่าเครื่องมือของตนสามารถทำงานได้ตามที่กล่าวอ้างจริง ก็หาหลักฐานมายืนยันพิสูจน์ให้ศาลท่านเห็นได้เลยครับ อย่าใช้วิธีปิดบริษัทหนีไปเสียก่อน ซึ่งเท่ากับยอมรับว่าท่านมาหลอกขาย และเมื่อศาลตัดสินหรือมีความเห็นเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว หน่วยงานของรัฐก็ควรรีบดำเนินการฟ้องร้องศาลอื่นๆ ต่อไป เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเงินภาษีของพวกเรากลับคืนมา ซึ่งควรที่จะรวมไปถึงค่าเสียหายของบรรดาทหาร ตำรวจ รวมทั้งบุคลากรของรัฐที่ต้องเสี่ยงภัยใช้เครื่องมือไม่มีประสิทธิภาพนี้ไปด้วยครับ แน่นอนครับ ผมเชื่อว่า อ้อยเข้าปากช้างแล้ว ยากที่จะไปดึงเอาออกมาได้ เช่นเดียวกัน เงินที่เราได้จ่ายไปแล้วสำหรับเครื่องมือประเภท “ไม้ล้างป่าช้า” คงจะไม่มีวันที่ตามคืนกลับมาได้ อย่างไรก็ตาม ผมอยากที่จะให้สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นบทเรียนแก่ประเทศไทย แก่หน่วยงานของรัฐทั้งหลายที่จะต้องดำเนินการจัดซื้อเครื่องมือพิเศษทันสมัยล้ำยุคอื่นๆ ได้ควรได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนถ่องแท้ และในกรณีที่มีข้อข้องใจสงสัย ในประเทศไทยมีองค์กรของรัฐและเอกชนที่มีเทคโนโลยีทัดเทียมหรือล้ำหน้าอารยประเทศอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมเชื่อว่าหลายองค์กรเหล่านี้พร้อมที่จะให้ความเห็นในเชิงวิชาการอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่มีอคติความเชื่อและผลประโยชน์แอบแฝง เพื่อที่คนไทยจะได้ไม่เสีย “ค่าโง่” กันอีกต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 96 ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีอันตราย และบทบาทของภาครัฐในการคุ้มครองผู้บริโภค (2)

ช่วง ฉลาด ช้อปดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค บทความในฉบับนี้ มาว่ากันต่อเรื่องผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีอันตราย ปนเปื้อนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันแทบทุกวัน ดูว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้าน มีผลิตภัณฑ์อะไรบ้างที่เราควรระมัดระวัง  ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายจานชามที่ทำมาจากพลาสติก จานชามประเภทนี้จะพบสาร Bisphenol A สารเคมีตัวนี้มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และจะทำให้เกิดความผิดปรกติทางพฤติกรรม (Behavioral disorder) อีกด้วย สารตัวนี้สามารถปนเข้ามากับอาหารที่เรารับประทานเข้าไป หากใช้ภาชนะพลาสติกที่มีสารดังกล่าวอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟ เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะพลาสติก โดยใช้ภาชนะที่ทำจากกระเบื้อง เซรามิกส์ หรือแก้วแทนพลาสติกคลุมโต๊ะรับประทานอาหารที่ทำจาก พีวีซี (PVC: Poly Vinyl Chloride) สินค้าตัวนี้มีสารพลาสติไซเซอร์ (Plastisizer) ผสมอยู่ด้วย อันตรายของสารเคมีดังกล่าว คือ อาจก่อให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากและทำให้ปริมาณของเชื้ออสุจิลดลงครีมทาผิวและโลชั่น ต้องระวังที่มีส่วนผสมของพลาสติไซเซอร์ (Plastisizer) และกลิ่นมัสค์สังเคราะห์ (Musk Fragrance) ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นและเกิดอาการคันจากการแพ้ได้ เวลาเลือกซื้อครีมทาผิวควรอ่านที่ฉลากดูว่าส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์มีสารเคมีเหล่านี้อยู่หรือไม่ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจากสารเหล่านี้ โดยเฉพาะคนที่เป็นภูมิแพ้ บทบาทของภาครัฐในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อความปลอดภัยจากสารเคมีฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงตัวอย่างองค์กรเอกชนและบทบาทในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในยุโรปไปแล้ว ฉบับนี้ ขอยกตัวอย่างบทบาทภาครัฐโดยเฉพาะของสหภาพยุโรปในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคกันบ้าง เป็นที่ทราบกันแล้วว่า สหภาพยุโรป (EU) มีคณะกรรมการที่ดูแลด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะนโยบายด้านการใช้สารเคมีในการผลิตสินค้า ที่ปัจจุบันมีสารเคมีที่ใช้ประมาณ 70,000 ชนิด และกว่า 70% ของสารเคมีนั้น ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของมนุษย์ แต่กลับไม่มีข้อมูลในด้านผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งสารเคมีดังกล่าว มีการตรวจพบในเสื้อผ้าจากใยสังเคราะห์ จอคอมพิวเตอร์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ดังที่เคยเขียนเล่าให้เพื่อนๆ สมาชิกทราบไปแล้ว สาเหตุที่ทางกรรมการดูแลทางด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (EU commissioner for consumer protection) และองค์กรภาคประชาชนต้องให้ความสนใจในเรื่องนี้ เนื่องจากตามสถิติ พบว่าคู่สามีภรรยามากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถมีบุตรได้เพราะได้รับสารเคมีอันตราย ที่มีผลต่อระบบการสืบพันธุ์ ทำให้ระบบการสืบพันธุ์บกพร่อง มีเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้น คนงานในยุโรปกว่า 23% ป่วยเป็นโรคมะเร็ง เพราะเกิดจากการทำงานในโรงงานที่มีสารเคมีอันตรายเป็นเวลานาน จึงต้องหามาตรการในการป้องกันปัญหาดังกล่าว นโยบายการควบคุมสารเคมีอันตราย (REACH)ขณะนี้สหภาพยุโรปจะผลักดันมาตรการที่สำคัญ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจาณาร่างกฎหมายที่จะออกบังคับใช้ คือ การบันทึกเก็บข้อมูล (Registration) การตรวจสอบ (Evaluation) และการออกใบอนุญาต (Authorization of Chemicals) ซึ่งมีชื่อย่อว่า REACH โดยภายในระยะเวลา 10 ปี สหภาพยุโรปจะทำการศึกษาสารเคมีกว่า 30,000 ชนิด ว่ามีผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะหาสารเคมีทดแทนสารเคมีที่เป็นอันตราย หรือสามารถจัดการและควบคุมการใช้สารเคมีเหล่านี้ได้ดีขึ้น เนื้อหาสาระของ REACH คือ สารเคมีต้องถูกตรวจและทดสอบถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะออกสู่ตลาด และถ้าสารเคมีใดก็ตามที่วางอยู่ในตลาดแล้ว ก็สามารถทำการทดสอบย้อนกลับไปได้อีกด้วย หากผู้ผลิตสารเคมีละเลยในการกระทำตามมาตรการดังกล่าว จะโดนอาญัติสินค้าไม่ให้จำหน่าย นอกจากนี้ในปี 2009 ผู้ผลิตและผู้ขายจะต้องให้ข้อมูลกับลูกค้า ว่าสินค้าของผู้ผลิตนั้นมีสารเคมีที่เป็นพิษ ปนเปื้อนหรือผสมมาในสินค้าหรือเปล่า ซึ่งผู้ผลิตจะต้องตอบและให้ข้อมูลกับลูกค้าภายใน 45 วัน โดยถือเป็นบริการของผู้ผลิตและไม่สามารถไปเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากลูกค้าได้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลเพิ่มเติม ในด้านความปลอดภัยจากสารเคมี และจากมาตรการนี้จะมีผลทำให้งบประมาณทางด้านการสาธารณสุข โดยเฉพาะงบประมาณที่ใช้ในการเยียวยารักษาคนป่วย และผู้บริโภค ลดลง จากการประมาณของสหภาพยุโรป เมื่อมาตรการ REACH ออกเป็นกฏหมายบังคับใช้แล้วจะสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 50,000 ล้านยูโร ภายในระยะเวลา 30 ปี แต่ที่สำคัญก็คือ สุขภาพและสวัสดิภาพภาพของประชาชนในยุโรปที่ไม่สามารถวัดเป็นตัวเงินได้นั้น จะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล และกฏหมายนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ขายที่ไม่ได้อยู่ในยุโรปด้วย เพราะสินค้าที่จะนำไปขายในยุโรปทุกชนิดจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 อาเซียนกับการคุ้มครองผู้บริโภค ฝันไกลที่ต้องไปให้ถึง

    การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือที่คุ้นกันในชื่อ เออีซี (Asean Economic Community) สร้างโอกาสมากมายให้กับประเทศในอาเซียนที่ช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างกันให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน และสินค้า-บริการระหว่างกัน    ทว่า โอกาสมักมาพร้อมความท้าทาย ในมิติสิทธิผู้บริโภค เออีซีนำปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคต้องหันมาให้ความสนใจ ลองนึกดูว่าถ้าสินค้าที่ผลิตในอาเซียนถูกส่งเข้าไปขายในอาเซียนด้วยกัน หากสินค้ามีปัญหาจะมีกลไกอะไรที่จะช่วยคุ้มครองดูแลผู้บริโภคใน 10 ประเทศได้ แล้วถ้าสินค้านั้นเป็นสินค้าประเภทอาหารหรือยา ผลกระทบก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่จะต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้ และติดตามการทำงานของภาครัฐในการดูแลสิทธิของผู้บริโภค    เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับอาเซียนขึ้น เท่าที่ปรากฏขณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 องค์กรหลักคือ สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซี (SEACC: Southeast Asian Consumer Council) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคประชาชนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม และไทย ที่จะคอยเกาะติดประเด็นสิทธิผู้บริโภค คู่ขนานไปกับอีกองค์กรหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลของประเทศในอาเซียนที่เรียกว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียน หรือ เอซีซีพี (ACCP : ASEAN Committee on Consumer Protection) โดยในส่วนของประเทศสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนในเอซีซีพีถามว่าเอซีซีพีมีภารกิจอะไร คำตอบคือ เพื่อคอยประสานงานด้านการดำเนินการและกำกับติดตามการจัดทำกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการความร่วมมือร่วมใจและใส่ใจเป็นพิเศษ ยุทธศาสตร์ของอาเซียน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคƒ    อุฬาร จิ๋วเจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้ทาง ACCP ได้มีการร่างแผนยุทธศาสตร์ขึ้นมา โดยส่งร่างเข้าไปยังที่ประชุมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่สำคัญด้วยกัน 4 ประการเรียกว่า แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2559-2568 ตามแผนนี้กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการตามแผนปฏิบัติการทั้งหมด 4 ด้านยุทธศาสตร์ที่ 1 คือการจัดทำกรอบการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียน ให้มีการกำหนดหลักการขั้นสูงด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หมายถึง การยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นระดับสากล ซึ่งจะต้องมีการทบทวนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศสมาชิก และเมื่อพอทบทวนเสร็จจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายของประเทศภายในสมาชิกให้เป็นสากลยุทธศาสตร์ที่ 2 การคุ้มครองและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้บริโภคในระดับสูง ยุทธศาสตร์นี้จะพูดในเรื่องของการส่งเสริม เช่น การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคผ่านการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ออนไลน์สำหรับผู้บริโภค และต้องมีการนำเสนอประเด็นข้อกังวลของผู้บริโภคต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐ เอ็นจีโอยุทธศาสตร์ที่ 3 สนับสนุนให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อหลักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและทำธุรกรรมข้ามพรมแดน วิธีการก็คือส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนผ่านการตั้งกลไกการหารือและการพัฒนาชุดเครื่องมือข้อมูลข่าวสาร มีการบังคับใช้กฎมายอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยของสินค้าต่างๆ มีการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยหรือที่เรียกว่า Alert System ขึ้นมา ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบูรณาการนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในอาเซียน การส่งเสริมให้มีการประสานกันในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคกับส่วนอื่นๆ เช่น ประเด็นการแข่งขันทางการค้า E-Commerce และจะต้องมีการพัฒนาดัชนีการเพิ่มขึ้นของความเข้มแข็งและประสิทธิภาพของผู้บริโภคในอาเซียน มีการพัฒนากลไกการประเมินผลกระทบด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีต่อผู้บริโภคเหล่านี้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่กำลังจะจบลงในปีนี้ ที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมในสังคมว่า จะต้องพัฒนามาตรฐานระบบการคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศและรองรับการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการและข้อมูลข่าวสารอย่างเสรีในประชาคมอาเซียน การเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎระเบียบด้านมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ การปรับปรุงกฎหมายระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง โดยครอบคลุมถึงคุณภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและการคุ้มครองสิทธิ รวมถึงช่องทางการรับข้อร้องเรียน พร้อมทั้งปรับปรุงกลไกเฝ้าระวังคุณภาพมาตรฐานการตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการ จากการร้องเรียน การเพิ่มสมรรถนะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค สร้างความตระหนักของ ผู้บริโภคในการรักษาสิทธิและดูแลผลกระทบจากการใช้สินค้าและบริการ ควบคู่ไปกับการกระตุ้น จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจเอกชนสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน การผนึกกำลังของภาคประชาสังคมสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายเพิ่มเติมว่า“แต่เนื่องจากการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยและในอาเซียนมีการแยกส่วน ตัว สคบ. หรือเอซีซีพีดูเฉพาะเรื่องสินค้าปลอดภัยหรือความร่วมมือในบางเรื่อง แต่ก็มีกรรมการเฉพาะด้าน เช่น กรณีอาหารเสริมหมามุ่ย มีคณะกรรมการที่เรียกว่า Traditional Medicine and Health Product ซึ่งกรรมการชุดนี้จะดูเรื่องยาสมุนไพร ซึ่งก็ไปกำหนดกติกาอีกที ทำแนวทางเรื่องยา เครื่องสำอาง คือ เขาจะมีกรรมการเฉพาะในบางด้านอีกต่างหาก ไม่ได้หมายความว่าเอซีซีพีดูทุกเรื่อง ซึ่งก็คล้ายๆ กับบริบทในประเทศ เพราะแต่ละที่ก็จะมีเหมือน อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ของทุกประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือในประเด็นเฉพาะบางด้านก็มีความร่วมมือแยกออกไป”อีกด้านหนึ่ง ฟากคนทำงานด้านสิทธิผู้บริโภคก็เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และได้ผลักดันจนเกิดสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซี โดยมีพันธกิจในการก่อตั้งคือ เป็นตัวแทนและส่งเสริมการเคารพสิทธิของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคในภูมิภาค  ส่งเสริมให้เกิดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและเสนอความเห็นเพื่อการตัดสินใจของอาเซียนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค และทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาชนทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และระดับโลก เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคสารี กล่าวว่า SEACC เป็นอีกหนึ่งกลไกที่พยายามผลักดันให้รัฐสนับสนุนให้เกิดกลไกคุ้มครองผู้บริโภคข้ามแดนขึ้น และอีกข้อผลักดันหนึ่งที่สำคัญคือ ทุกครั้งที่รัฐบาลประชุมก็ขอให้มีการจัดประชุมกับองค์กรผู้บริโภคควบคู่กันไป แล้วให้โอกาสภาคประชาสังคมเข้าไปเสนอประเด็นเรื่องผู้บริโภคในการประชุมของเอซีซีพีกติกากลาง-การเชื่อมโยงข้อมูล งานหลักที่ต้องรีบดำเนินการ    อุฬาร อธิบายว่า เบื้องต้นขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ต่างก็มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเป็นของตนเอง บางประเทศเพิ่งร่าง บางประเทศเพิ่งผ่านสภา เช่น กัมพูชาที่เพิ่งจะมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนเมียนมาร์ก็เพิ่งตั้งหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น เป็นต้น ซึ่งการจะมีกฎหมายกลางระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่จะต้องพัฒนาต่อไป ในเบื้องต้นมีแค่ความตกลงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อุฬารเห็นว่าการสร้างกติการ่วมกันนั้นมีความเป็นไปได้“มันมีความเป็นไปได้ เนื่องจากประชาคมอาเซียน เราก็อยู่ในสังคมโลกเหมือนกัน ทางสหประชาชาติก็กำหนดไกด์ไลน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคออกมา ซึ่งประเทศสมาชิกก็ต้องรับมาปฏิบัติ มีคณะกรรมการ กรรมาธิการกฎหมายการค้าแห่งสหประชาชาติ ก็ประชุมกันเพื่อกำหนดเกณฑ์ในเรื่องของกฎหมายการค้า ซึ่งการคุ้มครองผู้บริโภคมันเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งแต่ละประเทศก็คงจะต้องปรับแก้กฎหมายของตนเองให้สอดคล้อง พอกฎหมายของตนเองสอดคล้องแล้ว มันก็จะมีกำหนดกติการ่วมกันได้ในอนาคต”อีกหนึ่งเรื่องสำคัญคือการสร้างฐานข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าในระดับชาติหรือระดับอาเซียน อุฬารยอมรับว่า ปัจจุบันฐานข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยยังกระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 20 หน่วยงาน ซึ่งตอนนี้ สคบ. พยายามปรับองค์กรเพื่อให้มีศูนย์ข้อมูลแห่งชาติด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น เพื่อดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรืออาจจะเชื่อมโยงข้อมูลกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ด้วย เพราะทาง สคบ. เห็นว่าทาง มพบ. มีข้อมูลที่เป็นเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคอยู่มากพอสมควร ซึ่งควรนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลส่วนในระดับชาติจะต้องเชื่อมโยงกับอาเซียน ซึ่งตรงนี้ทางอาเซียนก็ได้เริ่มจัดทำอินเตอร์เน็ต แพล็ตฟอร์มขึ้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประเทศสมาชิกสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและจะมีการพัฒนาต่อไป“ตอนนี้น่าจะยังไม่มีตัวอย่างการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูล ตอนนี้เราอยู่ในระหว่างการเริ่มต้นการพูดคุยกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สพทอ. (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เราทำ MOU ร่วมกัน ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวผม เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะนำมากำหนดนโยบายพื้นฐาน ถ้าเราขาดข้อมูลที่ถูกวิเคราะห์ สังเคราะห์ออกมาให้ครบถ้วน วิธีการแก้ไขปัญหามันก็จะไม่ตอบโจทย์ ซึ่งตอนนี้รูปธรรมยังไม่ออกมาเป็นแพทเทิร์นที่สมบูรณ์ จะมีเรื่องการระงับข้อพิพาทข้ามแดน การเยียวยาผู้บริโภค การเจรจาไกล่เกลี่ยออนไลน์ ต่างๆ เหล่านี้พ่วงเข้ามาด้วย ตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการริเริ่มเบื้องต้นเท่านั้น อย่าง สคบ. เอง ตอนนี้ก็กำลังเสนอเรื่องการปรับปรุงโครงสร้าง ปรับปรุงระบบงานเพื่อให้สอดคล้องและมีความเป็นสากลมากขึ้นกับทาง สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อนเสนอทางรัฐบาลต่อไป”อุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามอย่างไรก็ตาม ในมุมมองของสารี สะท้อนทัศนะวิพากษ์ต่อการดำเนินการเรื่องของรัฐบาลว่ายังไม่มีความกระตือรือร้นมากนัก โดยยกตัวอย่างว่า“มีความร่วมมือตัวหนึ่งที่น่าสนใจ เรียกว่าการรายงานผลิตภัณฑ์ที่เอาออกจากท้องตลาดหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย อยู่ในหน่วยที่เรียกว่า Product Alert อันนี้คือฝั่งเอซีซีพี พบว่าประเทศไทยเข้าไปแอคทีฟกับการรายงานเรื่องพวกนี้น้อยมาก ทั้งที่เรามีสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยเรื่องสินค้า บริการเยอะแยะ ด้วยความที่มันอาจจะมีหน่วยงานเยอะก็ได้อย่างของเวียดนามมีการรายงานเรื่อง โน้ตบุ๊ค เลอโนโว รถยนต์รุ่นนั้นรุ่นนี้ที่มีปัญหา เราเสนอให้ สคบ. นำข้อมูลเหล่านี้มาเผยแพร่ให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ เพราะบางรุ่นอาจจะผลิตที่เวียดนาม เราเชื่อว่า ถ้าพบความผิดพลาดในบางประเทศ ก็น่าจะพบความผิดพลาดที่บ้านเรา ถ้าผู้บริโภครู้ก็จะได้แก้ปัญหา แต่ขณะนี้ต้องบอกว่ามีแต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเท่านั้น ที่เอาข้อมูลนี้มาใช้ประโยชน์ แต่หน่วยงานของรัฐไม่ได้เอาข้อมูลออกมาทำเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนตื่นตัว รู้ว่ามีสินค้ารุ่นนี้ที่ประเทศนี้เอาออกจากท้องตลาดหรือในยุโรปที่ใช้กติกาเดียวกัน ใช้ระบบฐานข้อมูลเชื่อมโยงกัน เช่น ไทยส่งผักไปยุโรปและพบว่ามีซัลโมเนลลา(เชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ) ปนเปื้อน ภายใน 24 ชั่วโมง 27 ประเทศในยุโรปจะรู้หมดว่าผักนี้อยู่ในตลาดไหน บ้านเรายังไม่มีระบบแบบนี้ แม้ว่าจะมียุทธศาสตร์ให้ความสำคัญกับสินค้าปลอดภัยที่ค้าขายกันอยู่ตามชายแดน เรายังไม่เห็นระบบเตือนภัยลักษณะนี้ หรืออย่างอินโดนีเซียก็ก้าวหน้ามาก เขาเอาไดร์เป่าผมออกจากท้องตลาดเพราะไม่มีฉลากเป็นภาษาบาฮาซาร์ ซึ่งมันสะท้อนระดับความจริงจังของการจัดการเรื่องพวกนี้ที่แตกต่างกัน”สารีเห็นว่า การสร้างกติกากลางเป็นประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยยกตัวอย่างว่าขณะนี้สิงคโปร์มีกฎหมายคืนสินค้า ถ้าสิงคโปร์สั่งรถจากไทยไป แล้วพบว่ามีการชำรุด บกพร่อง คนสิงคโปร์จะได้เงินคืนหรือได้รถคันใหม่ ขณะที่ไทยยังไม่มีมาตรการทำนองนี้ เพราะฉะนั้นต้องทำกติกากลางร่วมกัน    ในมิตินี้ อุฬาร กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือความแตกต่างระหว่างกฎหมายภายในแต่ละประเทศ เรื่องขององค์กรที่รับผิดชอบเป็นองค์กรหลักในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคที่แตกต่างกันภายในประเทศ เรื่องขอความกระจัดกระจายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้เกิดการซ้ำซ้อน เกิดช่องว่าง ซึ่งตรงนี้มันจะต้องมาปรับทัศนคติหน่วยงานที่รับผิดชอบภายในประเทศให้เกิดการบูรณาการกันอย่างแท้จริง ตอนนี้ สคบ. ก็เสนอให้มีศูนย์ประสานการขับเคลื่อนนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น โดยที่แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มาบูรณาการในเรื่องของการขับเคลื่อนแผนงานโครงการและก็มีการแก้ไขกฎหมายไปพร้อมๆ กัน“อุปสรรคอีกประการหนึ่ง คือ เรื่องของตัวผู้บริโภคเอง เนื่องจากว่าช่องว่างระหว่างรายได้ การศึกษาของของบุคคลในประเทศเรามีค่อนข้างหลากหลาย ทีนี้จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคมีข้อมูลเพียงพอ ให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงกระบวนการเยียวยาได้โดยง่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันต้องช่วยกันทำ”    อุฬาร เสริมว่า การทำ One Stop Service ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทาง สคบ. กำลังพัฒนา โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นศูนย์กลางเพื่อส่งต่อข้อมูลการร้องเรียนของผู้บริโภค ส่วนในกรณีสินค้าจากต่างประเทศ อุฬารอธิบายว่า“สมมติว่ามีผู้ประกอบการรายหนึ่งของจังหวัดหนองคาย ไปซื้อสินค้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน และผู้บริโภคของเราเกิดความเสียหาย ผู้บริโภคมาเรียกร้องขอให้ชดเชย เยียวยา พอเข้าระบบนี้ก็จะถูกคัดกรองและส่งผ่านระบบการเยียวยาข้ามแดนไป จากไทยผ่านไปที่ สปป.ลาว ทางองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่นั่นก็ไปดำเนินการเพื่อเรียกร้องการเยียวยาความเสียหายจากผู้ผลิตที่นั่น เป็นต้น”ทั้งหมดนี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดที่ทาง สคบ. กำลังดำเนินการ แม้ว่าจะพบเผชิญอุปสรรคอยู่บ้าง ขณะที่สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซีก็ยังคงเกาะติดการทำงานของภาครัฐ เพื่อปรับปรุงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไปหมายเหตุ หน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคในกรอบอาเซียนคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ซึ่งทางนิตยสารฉลาดซื้อได้ทำการขอสัมภาษณ์ แต่เนื่องจากความล่าช้าของระบบราชการ และการส่งต่อคำร้องขอสัมภาษณ์อันไม่สิ้นสุด จึงทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลจากทาง อย. มาเสนอได้ทันในการนำเสนอครั้งนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 184 สำรวจเครื่องหมาย Q ปลอดภัย-ได้มาตรฐาน? และเรื่องราวที่ใหญ่กว่านั้น

พูดถึงพืชผักผลไม้ ความวิตกกังวลของผู้บริโภคอย่างเราๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องสารเคมีตกค้าง เรียกได้ว่าเป็นปัญหาคลาสสิกประการหนึ่งของไทย ยิ่งเมื่อเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ที่เปิดเผยผลการสุ่มตรวจค่าสารเคมีตกค้างจากผักและผลไม้เป็นประจำทุกปี พบว่า ตัวอย่างผักผลไม้ที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q มีสารพิษตกค้างเกินค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด หรือ MRL มากที่สุดถึงร้อยละ 57.14เรียกได้ว่าข่าวนี้เพิ่มความไม่ไว้ใจต่ออาหารของผู้บริโภคและสะเทือนไปถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าของเครื่องหมาย Q ถึงขนาดว่ากรมวิชาการเกษตรตั้งท่าจะฟ้อง Thai-PAN ในข้อหาหมิ่นประมาท ขณะที่ Thai-PAN ก็ตอบรับด้วยการบอกว่าจะฟ้องกลับฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่    ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะทำความรู้จักกับเครื่องหมาย Q และปัญหาสารเคมีตกค้างทางการเกษตร ที่ไม่ใช่แค่มิติแคบๆ ว่าเพราะเกษตรกรเห็นแก่ตัว แต่เป็นปัญหาระดับมหภาคที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วนสารเคมี-คิว-อาหารปลอดภัย ปัญหางูกินหาง ผู้บริโภคไม่มั่นใจ    ปัญหาสารเคมีตกค้างในพืชผักไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาเรื้อรังที่รู้กันในวงกว้างจนอาจไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวกันอีก มันไม่ใช่แค่ว่าเกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลงปริมาณมากและส่งต่อยาพิษสู่ผู้บริโภค แต่ยังมีปัญหาเชิงระบบที่ทำให้เรื่องนี้แก้ยากกว่าที่คิด (ดูล้อมกรอบ-สารเคมี: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด)    และแล้วมันก็สร้างเขาวงกตอันวกเวียนให้เรื่องนี้ เพราะเมื่อสารเคมีตกค้างเป็นปัญหา ภาครัฐซึ่งพยายามส่งเสริมเรื่องอาหารปลอดภัยก็ได้ผลักดันนโยบายต่างๆ ออกมาเพื่อแก้ไข แต่ยังไม่สามารถควบคุมที่ต้นตออย่างการจำกัดการนำเข้าและควบคุมการใช้สารเคมีได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าอุปสรรคสำคัญข้อหนึ่งคืออิทธิพลของบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรยักษ์ใหญ่ ในบรรดานโยบายยิบย่อยเหล่านั้นก็มีเครื่องหมายคิวรวมอยู่ด้วย เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารปลอดภัย คิวจึงเกิดขึ้นเพื่อการันตีว่าผักผลไม้ที่ติดเครื่องหมายนี้ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ซึ่งแน่นอนว่า ราคาของพืชผักประเภทนี้ย่อมมีราคาสูงกว่าตามท้องตลาดโดยทั่วไป ทว่าการตรวจสอบของ Thai-PAN กลับทำให้เห็นว่า คิวไม่สามารถการันตีได้ทั้งที่จ่ายแพงกว่า แล้วผู้บริโภคจะจ่ายแพงกว่าเพื่ออะไร  อิสรีย์ เจียมอนุกูลกิจ เป็นคนหนึ่งที่บริโภคผักผลไม้อินทรีย์มาเกือบ 10 ปีด้วยเหตุผลด้านสุขภาพและคิดว่าผักและเนื้อสัตว์ปลอดสารมีรสชาติดีกว่า โดยปกติเธอจะซื้อสินค้าเหล่านี้จากซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างและตลาดนัดเกษตรกรบางโอกาส แม้เธอจะไม่รู้จักเครื่องหมายคิวมาก่อน แต่เมื่อเธอรู้ข่าวเรื่องนี้ เธอบอกว่า“รู้สึกหดหู่และผิดหวังที่เราให้ความเชื่อมั่นต่อสิ่งที่เจ้าของฟาร์มได้ให้คำมั่นสัญญาเรื่องความปลอดภัย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้ตรวจสอบคุณภาพของสินค้า ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในการบริโภคผักผลไม้อินทรีย์ แต่ก็รู้สึกว่าเป็นตัวเลือกที่มีอยู่ไม่มากในกรุงเทพฯ เลยเลือกมองเรื่องความสด สะอาด และรสชาติแทน และหลีกเลี่ยงผักที่มีแนวโน้มที่จะใช้สารเคมีเยอะๆ”-----------------------------------------------------------------------------------------------   สารเคมี: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด    การปนเปื้อนสารเคมีในพืชผักผลไม้เป็นเพียงปลายเหตุของห่วงโซ่ปัญหาที่ยาวกว่านั้น รากฐานปัญหาจริงๆ ของเรื่องนี้คือประเทศไทยไม่มีการควบคุมดูแลการนำเข้าและการใช้สารเคมีให้อยู่ในร่องในรอย โดยข้อมูลปริมาณการนำเข้าสารเคมีจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2553-2558 เรียงตามลำดับคือ 117,815 ตัน, 164,538 ตัน, 134,480 ตัน, 172,826 ตัน, 147,375 ตัน และ 149,546 ตัน    กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานกินเปลี่ยนโลกและรองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก Thai-PAN กล่าวว่า ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีทั้งหมดจากต่างประเทศ ซึ่งสารเคมีเหล่านั้นจะต้องมีการขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย จึงจะสามารถจำหน่ายในประเทศได้ ซึ่งการที่สารเคมีตัวหนึ่งจะขึ้นทะเบียนได้จะต้องมีการตรวจสอบตามหลักวิชาการว่าปลอดภัย หมายถึงไม่มีพิษเกินไปทั้งต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม ไม่มีการตกค้างยาวนาน การลดจำนวนการขึ้นทะเบียนสำหรับสารเคมีอันตรายถือเป็นการควบคุมชั้นที่หนึ่ง    “ชั้นที่ 2 คือควรมีการควบคุมการขาย การโฆษณาอย่างเข้มงวด มีการกำกับดูแลการใช้ให้เป็นไปตามหลักวิชาการจริงๆ คือทุกครั้งที่ชี้ปัญหานี้ขึ้นมาก็จะโทษว่าเกษตรกรเห็นแก่ตัว แค่นี้มันแก้ปัญหามั้ย อันนี้เป็นโจทย์การกำกับดูแลของหน่วยงานราชการ ซึ่งก็คือกรมวิชาการเกษตรที่ยังทำหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้เกิดการใช้อย่างถูกต้องได้ เขาห้ามใช้ในอาหารก็เอาไปใช้ ห้ามใช้ในข้าวก็ใช้ในข้าว คือสารเคมีเวลาขึ้นทะเบียนจะถูกระบุด้วยว่าใช้ในอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ถูกใช้ทั่วไปดังนั้นต้องคุมที่การขายด้วยว่าเอาไปใช้อะไร คนขายจึงต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญการ ได้รับการอบรมเหมือนการขายยารักษาโรค คุณปลูกคะน้า ปลูกแตงโม ใช้อันนี้ๆ ได้ ไม่ใช่เอาไปใช้กับทุกสิ่งอย่าง นี่คือการควบคุมกำกับดูแลการใช้ ซึ่งหมายถึงคุณต้องไปควบคุมที่การขายและการโฆษณา”เปรียบเทียบผลย้อนหลัง แนวโน้มดีขึ้นThai-PAN ทำการสำรวจสารเคมีตกค้างในผักตั้งแต่ 2555-2559 (ยกเว้นปี 2556 ที่ตรวจข้าวบรรจุถุงแทน) พบว่า กลุ่มสินค้าผักซึ่งมีการสุ่มเก็บตัวอย่างมาแล้ว 3 ครั้งในปี 2555, 2557 และ 2558 เมื่อนำข้อมูลภาพรวมทั้ง 3 ปีมาเปรียบเทียบกับข้อมูลในปี 2559 โดยนำเฉพาะการวิเคราะห์สารตกค้างใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น พบว่า ตัวอย่างผักที่พบสารพิษตกค้างสูงกว่าค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดหรือ MRL (Maximum Residue Limit) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลดลงเป็นลำดับ จากที่เคยพบสูงถึงร้อยละ 48.57 ในปี 2555 ลดลงเหลือร้อยละ 38.71 ในปี 2557 ร้อยละ 22.50 ในปี 2558 และลดลงเหลือร้อยละ 17.98 ในปี 2559มองในแง่นี้หมายความว่า การสุ่มตรวจสอบตัวอย่างและเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะช่วยสร้างการตื่นตัวและผู้ประกอบการเพิ่มความละเอียดรอบคอบมากขึ้นในการลดการปนเปื้อน กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานกินเปลี่ยนโลกและรองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เชื่อว่าวิธีการนี้ Thai-PAN มาถูกทาง“กลุ่มที่เราจับตาดูมีแนวโน้มดีขึ้น คือมีการตกค้างปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานน้อยลง แสดงว่าเมื่อชี้ปัญหา ปัญหาก็ได้รับการแก้ไข มีการระวังตัวมากขึ้น ดีขึ้น แต่พอมาปีนี้เราขยายขอบเขตการตรวจ จากเดิมเราตรวจสารกำจัดศัตรูพืช 90 กว่าชนิด ปีนี้ตรวจหาเพิ่ม 450 ชนิด ตัวเลขก็เลยขึ้นมา อันที่เราไม่เคยเจอก็เข้ามา ถ้าเราจับตาดูเพิ่มขึ้น ชี้เป้ามากขึ้น มันก็มีแนวโน้มว่าจะครอบคลุมตัวสารเคมีตกค้างมากชนิดขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าอาหารเราก็จะปลอดภัยมากขึ้น”การเพิ่มจำนวนสารเคมีที่ตรวจหาทำให้พบว่า ผักและผลไม้ที่ได้รับตราคิวพบสารเคมีตกค้างมากที่สุดจากทุกแหล่ง โดยพบสูงถึงร้อยละ 57.14ตีให้ตรงจุด    ภายหลังที่มีการเปิดเผยข้อมูลนี้ออกมาโดย Thai-PAN กรมวิชาการเกษตรได้ออกมาโต้แย้งและพยายามอธิบายให้เห็นความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายคิว 2 ประเภท แต่นี่คงไม่ใช่จุดที่ต้องขยายความให้ยืดยาว เพราะอะไร? กิ่งกรชี้ประเด็นว่า เมื่อผู้บริโภคเห็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยโดยหน่วยงานภายใต้กรมวิชาการเกษตร ผู้บริโภคย่อมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าพืชผักผลไม้นั้นๆ ย่อมมีความปลอดภัย คงไม่ใช่หน้าที่ที่จำเป็นนักที่ผู้บริโภคจะต้องแยกแยะได้ว่าอะไรคือความต่างของเครื่องหมายคิวแต่ละชนิด    “ประเด็นหลักของเราไม่ได้สนใจว่าจะเป็นเครื่องหมายอะไร หรือไม่ได้อะไรเลยก็ตาม แต่การมีตราคิวติด ถามว่าเป็นความรับผิดชอบของใคร กรมวิชาการเกษตรหรือสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติก็ต้องไปดูว่าใครเอาตราของตนเองไปใช้โดยไม่ถูกต้อง มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอก ถ้าผู้บริโภคซื้อไปด้วยความเข้าใจว่าเป็นตราคิวจริง มีตัวเลขการรับรองเป็นปัจจุบัน ใช้ถูกต้อง แต่สินค้าผิดสเป็กก็เป็นหนึ่งประเด็น แต่ถ้าไม่ใช่ตราคิวจริงหรือปลอมก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง หมายความว่าผู้ที่ไม่ได้รับตรานี้ไปใช้ เอาไปใช้โดยผิดกฎหมาย ทั้งสองประเด็นเป็นความรับผิดชอบของใคร ก็ของเจ้าของตรา เราคิดว่านี่คือการปล่อยปละละเลยที่ไม่ควบคุมกำกับดูแลให้เป็นที่น่าเชื่อถือเพียงพอ ทำเสมือนว่าคุณปล่อยให้ผู้บริโภคถูกผู้ประกอบการหลอก โดยเอาสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพตามที่อ้างมาขายในราคาที่สูงกว่าราคาที่ผู้บริโภคจะซื้อได้ตามท้องตลาด” กิ่งกร อธิบายอะไรคือจุดอ่อนของเครื่องหมายคิว?ผศ.พีรชัย กุลชัย อาจารย์ประจำภาควิชาพัฒนาการเกษตรและการจัดการทรัพยากร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และผู้ตรวจอิสระของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) อธิบายว่า ประเด็นนี้ต้องเริ่มจากตัวเกษตรกรก่อน เพราะว่ากระบวนการตรวจสอบโดยทั่วๆ ไปก็เหมือนกับระบบคุณภาพแบบหนึ่ง เป็นการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของตัวสินค้า ผู้ผลิตต้องมีความตระหนักเรื่องนี้ก่อน สองคือเรื่ององค์กรรับรอง ผู้ตรวจก็ทำหน้าที่ตรวจสอบไป หมายถึงผู้ตรวจตรารับรอง ในองค์กรรับรองก็จะมีตัวมาตรฐานว่าข้อหนึ่งสองสามต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งผู้ผลิตหรือเกษตรกรต้องศึกษาก่อนว่าถ้ารับการรับรองจากมาตรฐานนี้ เราจะทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้ เพราะมันมีหลายมาตรฐาน ซึ่งเกษตรกรต้องมีการเตรียมตัว แล้วพอผู้ตรวจไปตรวจอย่างน้อยปีละครั้งก็จะเขียนรายงานขึ้นมา แล้วก็จะมีกรรมการอีกชุดหนึ่งเรียกว่าอนุกรรมการรับรอง อนุฯ นี้ก็จะดูจากเอกสารและพิจารณาว่าจะรับรองหรือไม่ นี่คือกระบวนการคร่าวๆ“แต่อันที่จริงถ้าผู้ผลิตซื่อสัตย์และทำตามมาตรฐาน มันก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร กระบวนการรับรอง เราไม่ได้รับรองตัวผลผลิต แต่เรารับรองกระบวนการผลิต หมายความว่าในกระบวนการผลิตมีการป้องกันการปนเปื้อนหรือสารเคมีในทุกขั้นตอน แต่โดยธรรมชาตก็มีสารเคมีล่องลอยอยู่แล้ว ปนเปื้อนได้บ้าง แต่ต้องไม่เกิดค่ามาตรฐาน”การตรวจสอบของ มกท. จะตรวจสอบความเป็นไปได้ของผลผลิตมีควรจะมีมากน้อยแค่ไหน เช่น เกษตรกรแจ้งมาว่าจะปลูกผักกวางตุ้ง 1 ไร่ ในรอบการผลิตนั้นในระบบอินทรีย์ปริมาณการผลิตไม่ควรจะเกินเท่าไหร่ ถ้าปริมาณสูงขึ้นมาอย่างผิดปกติก็ต้องชี้แจงว่าเพราะเหตุใด มีการสวมสิทธิ์หรือไม่ การรับรองของ มกท. เกษตรกรจะเป็นผู้ชำระเงินเพื่อรับการตรวจ หากผ่านก็จะได้รับการรับรองจาก มกท. ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองอีกทีจากสหพันธ์การเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศ หรือไอโฟม (International Federation of Organic Agricultural Movement: IFOAM) หมายความว่าตัวเกษตรกรมีแรงจูงใจที่จะได้รับการตรวจสอบอยู่แล้ว ขณะที่ตัวองค์กรผู้ตรวจเองก็ต้องรักษามาตรฐานการตรวจสอบของตนเพื่อไม่ให้สูญเสียความน่าเชื่อถือแต่ในกรณีเครื่องหมายคิว ผศ.พีรชัยตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องหมายคิวเป็นของรัฐบาล ซึ่งมีการตรวจสอบคล้ายๆ กับ มกท. เพียงแต่มีข้าราชการเป็นผู้ตรวจสอบและมีรอบของการทำงาน แต่เพราะมีการให้การรับรองจำนวนมาก แบบปูพรม ตัวนโยบายก็ต้องการให้เกษตรกรได้เครื่องหมายคิว ทำให้การติดตามตรวจสอบหรือการตรวจซ้ำอาจมีปัญหา ผศ.พีรชัย ประเมินจากระบบว่า“ถ้าเกษตรกรไม่ซื่อสัตย์ พอได้คิวแล้วก็อาจจะไม่ค่อยใส่ใจเท่าไหร่ พอจังหวะราคาดีก็อาจจะเร่งโดยการใช้สารเคมีเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้ผลผลิตได้จำนวนหรือผักสวยตามที่ตลาดต้องการ ด้านหน่วยงานรัฐ งบประมาณที่ลงไม่มีความต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ก็ทำตามงบประมาณ แต่ระบบของเอกชน คุณต้องจ่ายเงิน เหมือนกับเราซื้อตรา ซื้อความมั่นใจ แต่เราไม่สามารถปั๊มตราเองได้ ต้องให้องค์กรตรวจสอบมารับรองเรา องค์กรตรวจสอบก็ต้องเอาจริงเอาจัง หลุดไม่ได้ เพราะเกษตรกรอุตส่าห์จ่ายตังค์ให้ได้ตรา ทำแบบนี้ ความเชื่อมั่นระยะยาวจะไม่เกิดแต่คิวเป็นของฟรี หน่วยราชการบริการ มีข้อจำกัดด้านกำลังคน งบประมาณ บางทีการตรวจสอบไปไม่ถึง ลงรายละเอียดไม่ถึง ก็อาจจะมีจุดบกพร่องหรือรั่วไหล แต่ราชการก็พยายามชูคิวขึ้นมาเพื่อให้ดูว่ามีมาตรฐาน มีการรับรอง แต่ว่าก็ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างเข้มข้น อันนี้ก็เป็นข้ออ่อนประการหนึ่ง”คราวนี้ลองมาฟังเสียงเกษตรกรบ้าง สุรศักดิ์ ใจโปร่ง เจ้าของสวนฟุ้งขจร-บึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ที่ทำเกษตรอินทรีย์มา 9 ปี เขาเป็นเกษตรกรคนหนึ่งที่ได้รับเครื่องหมายคิวรับรองเรื่องกระบวนการผลิตในด้านหนึ่ง สุรศักดิ์มองว่า สินค้าเกษตรปลอดภัยหรืออินทรีย์ ตลาดเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้น เครื่องหมายคิวจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถก้าวไปได้ไกลกว่าเดิม จากพื้นฐานที่เริ่มจากตลาดสีเขียวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ทำให้สุรศักดิ์มีทัศนะว่า ตลาดสีเขียวเน้นเรื่องความไว้ใจระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ส่วนเครื่องหมายคิวเป็นปัจจัยในการก้าวสู่ตลาดที่กว้างขึ้น “คิวที่เราเห็นตามห้าง เหมือนเป็นกลลวงทางสังคมที่ว่าเป็นการแอบอ้าง คิวเป็นแค่ความปลอดภัย ไม่มีความเชื่อใจเป็นส่วนผสม ตรวจปีละครั้ง แต่เราจะเข้าสู่สังคม เราก็ต้องเอามาตรฐานคิวเป็นก้าวแรก ที่เราเห็นมีการปนเปื้อนเยอะ จุดหนึ่งเพราะเกษตรกรไม่มีพื้นที่ปลูกของเขาเอง ต้องไปรับซื้อจากเกษตรกรที่เขาเชื่อใจระดับหนึ่ง ถ้าคนเรามีความโลภ ขาดจิตสำนึก ก็จะมองแค่จะขายผลผลิตเยอะ ก็ขัดกับหลักการเกษตรอินทรีย์ของเรา ที่จะไม่เน้นผลผลิต แต่เน้นทำงานด้วยความสบายใจ ผักที่เราให้กับผู้บริโภคเราคิดว่ามันเป็นยา ไม่ทำให้เขาไม่สบาย ให้ผู้บริโภคได้ทานของที่ดีที่สุด”    ขณะที่ ผศ.พีรชัยและสุรศักดิ์จะให้มุมมองเรื่องความซื่อสัตย์ของตัวเกษตรกรว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย ด้านกิ่งกรกลับแสดงทัศนะอีกมุมหนึ่งเชิงระบบว่า การผลิตสินค้าเกษตรมีคนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่จำนวนมาก การรับรองก็มีรายละเอียดที่ยุ่งยาก เช่น เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานในพื้นที่กี่แปลงและในพื้นที่แปลงนั้นผลิตอะไรบ้าง จะต้องมีการทำบัญชีตามระบบ ถ้าได้รับการรับรองคะน้า กะหล่ำ ไม่ได้หมายความว่าพืชชนิดอื่นจะได้รับการรับรองตามไปด้วย จึงต้องมีการทำงานร่วมกันทั้งตัวเกษตรกรและเจ้าหน้าที่กิ่งกร กล่าวว่า ตัวระบบฐานข้อมูลตรวจสอบรับรองค่อนข้างมีปัญหา ระบบมาตรฐานที่ดีตัวระบบฐานข้อมูลต้องเที่ยงตรง แม่นยำ ตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเกษตรกรคนหนึ่งได้รับการรับรองเป็นเนื้อที่กี่ไร่ มีผลผลิตอะไรบ้างในปีนั้นๆ ระบบอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานจะมีการรับรองกันปีต่อปี มีการสุ่มตรวจสอบ ดังนั้น    “ถ้าระบบตรวจเช็คไม่ดี มันสอดไส้ได้ตลอดเวลา บอกเกษตรกรไม่ซื่อสัตย์ แน่นอน ถ้าไม่ซื่อสัตย์ก็ทำได้ตลอด ได้ทุกทาง เช่นเอามาสวม เพราะฉะนั้นต้องสร้างกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับและสร้างความน่าเชื่อถือตลอดทั้งระบบ ต้องมีระบบฐานข้อมูลที่ดีรองรับและมีการตรวจสอบตลอดเวลา มีการอัพเดทข้อมูลสม่ำเสมอ แล้วคนทำทำตามหน้าที่ มีหน้าที่ทำให้ถูกต้องก็ทำให้ถูกต้อง มีหน้าที่ตรวจสอบรับรองตามขั้นตอนอย่างไรก็ทำจริงๆ ไม่ใช่แค่ให้เขาเซ็นชื่อ จะมาบอกว่าคนนั้นซื่อสัตย์ คนนี้ไม่ซื่อสัตย์ มันไม่ใช่ประเด็น”    กล่าวโดยสรุปคือจะต้องมีระบบที่ดี ที่มีประสิทธิภาพกว่านี้    แต่นี่ก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างที่รากเหง้าอย่างแท้จริง หากภาครัฐยังปล่อยปละละเลยการจำกัดการนำเข้าสารเคมีจนท่วมประเทศเช่นเวลานี้--------------------------------------------------------------------------------------------------------เครื่องหมาย Q คืออะร? คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติมีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 29  กรกฎาคม 2546 ให้หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นเครื่องหมายเดียวกัน คือเครื่องหมาย Q เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการใช้เครื่องหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเพื่อใช้แสดงให้เห็นว่าสินค้าเกษตรและอาหารมีคุณภาพและความ ปลอดภัย พร้อมทั้งสื่อถึงผู้บริโภคภายในประเทศและประเทศคู่ค้าให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบการผลิตและผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ เป็นที่มาของพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551  หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของลักษณะของเครื่องหมาย การได้มาก การใช้เครื่องหมาย และการแสดงเครื่องหมาย Q มีรายละเอียดปลีกย่อยอยู่มากและซับซ้อน ในที่นี้จึงขออธิบายเฉพาะเครื่องหมายรับรอง Q กับสินค้าเกษตรและอาหารโดยย่นย่อเครื่องหมายรับรอง Q หมายถึง เครื่องหมายรับรองที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศใช้เพื่อแสดงถึงการให้การรับรองสินค้าเกษตรและอาหาร ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่ประกาศโดยหรือได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ในด้านความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) และด้านคุณภาพที่จำเป็น  (Essential Quality) โดยผู้ที่ต้องการใช้เครื่องหมาย Q จะต้องยื่นคำขอกับหน่วยรับรอง ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการที่หน่วยรับรองกำหนด เมื่อผ่านเกณฑ์แล้วจึงสามารถติดเครื่องหมาย Q บนสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของสินค้านั้น โดยผู้ได้รับการรับรองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการรับรองผลิตภัณฑ์และการแสดงเครื่องหมายรับรองที่หน่วยรับรองกำหนด    หลักเกณฑ์ดังกล่าว เช่น การผลิตในระดับฟาร์มของสินค้าเกษตรต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) และได้รับการตรวจสอบรับรองโดยหน่วยรับรองที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง, ผู้ขออนุญาตใช้เครื่องหมายต้องมีระบบการเรียกคืนหรือติดตามสินค้าได้ กรณีที่พบว่ามีปัญหา และสินค้าต้องถูกตรวจสอบคุณภาพที่จำเป็นและตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ เช่น สารพิษตกค้าง สารปนเปื้อน หรือสิ่งอันตรายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ตามแผนการตรวจที่หน่วยรับรองกำหนด เป็นต้นข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ www.acfs.go.th/qmark

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 183 สมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 “ร่วมผลักดันระบบการคุ้มครองผู้สูงวัย”

ทุกวันที่ 30 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ จะร่วมกันจัดงานสมัชชาผู้บริโภคไทย เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวในประเด็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และเรื่องที่ยังอยู่ในกระแสการรณรงค์ของภาคประชาชนในประเทศต่างๆ สำหรับงานสมัชชาผู้บริโภคไทยประจำปี 2559 ครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และ สสส. จัดงานขึ้นเมื่อวันที่ 29 – 30 เมษายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้าแกรนด์ นนทบุรี โดยมีประเด็นหลักคือ ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย และปัญหารถโดยสารสาธารณะกรณีรถสองชั้นฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ภายในงานทั้งสองวันสมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 วันที่ 29 เมษายน 2559ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย เหตุผลที่ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย กลายเป็นธีมหลักของงานมาจากการที่ประเทศเรา ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมของผู้สูงอายุ(ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้ว โดยจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด หรือราว 10 ล้านคน และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2564 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า (เมื่อสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มเป็นร้อยละ 20) แต่เราจะพบว่าปัญหาของผู้สูงวัยในฐานะผู้บริโภคนั้น ยังคงมีอยู่และเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นที่เราต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดระบบการคุ้มครองผู้สูงวัยที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมปาฐกถาพิเศษจาก นพ. วิชัย โชควิวัฒน กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงแนวทางในการสร้างระบบคุ้มครองผู้บริโภคในสังคมสูงวัยว่า “แม้ผู้สูงอายุจะผ่านโลกมามาก แต่เมื่อสูงวัยก็จะมีความเปราะบางตามธรรมชาติ เช่น เมื่อเกษียณจากการทำงาน โอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก็จะลดลง จึงมีโอกาสมากที่จะถูกชักจูงจากผู้ที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ หรือในกรณีที่ต้องการสินค้าและบริการมาช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ก็อาจตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ได้ง่าย ดังนั้นจึงควรมีมาตรการการดูแลที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุถูกเอารัดเอาเปรียบหรือตกเป็นเหยื่อจนกลายเป็นปัญหาสังคม ทั้งนี้หากเราพิจารณาจากการศึกษาเรื่อง การเข้าถึงและความพึงพอใจต่อบริการตามสิทธิผู้สูงอายุ เมื่อปี 2558 จะพบว่าผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 85 ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันของตนเองได้ทั้งหมด ที่เหลือร้อยละ 13 ช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน และมีเพียงร้อยละ 2 ที่ช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย ดังนั้นประเทศไทยควรมีวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูงวัยในกลุ่มใหญ่ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ยาวนานที่สุด ส่วนกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน ควรสนับสนุนให้ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ และช่วยฟื้นฟูผู้สูงวัยที่เหลืออีกร้อยละ 2 ให้ช่วยเหลือตัวเองได้บ้างโดยเราสามารถสร้างผู้สูงวัยให้เป็นพลังสังคมได้ ด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้สูงวัยอย่างครบวงจร ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ 1. ต้องพัฒนาให้ผู้สูงวัยมีความเข้มแข็ง โดยพัฒนาผู้สูงวัยในฐานะปัจเจกบุคคล โดยต้องทำให้อยู่ในภาวะพึ่งพิงน้อยที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการส่งเสริมผู้สูงวัยทำงาน ทั้งงานอาชีพและงานสังคม เพราะจะทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกได้ว่า ตนเองมีคุณค่า นอกจากนี้จะทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร และสามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ด้วย 2. ต่อมาต้องพัฒนาองค์กรต่างๆ ทั้งของผู้สูงวัยเอง และองค์กรที่ทำงานด้านผู้สูงวัย 3. รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายของบุคคลและองค์กรผู้สูงวัย และ 4. พัฒนาสภาพแวดล้อม ทั้งกฎหมาย สิ่งแวดล้อม สื่อ ระบบงาน กลไกต่างๆ ที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งของผู้สูงวัย” นอกจากนี้ นพ. วิชัย ยังได้เปรียบเปรียบสังคมผู้สูงวัยระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ไว้ว่า บ้านเขารวยก่อนแล้วจึงแก่ แต่บ้านเราแก่ก่อนแล้วจึงรวย เพราะติดกับดักรายได้ปานกลาง และแม้รัฐบาลจะช่วยจ่ายเงินค่ายังชีพให้กับผู้สูงอายุเดือนละ 600 ถึง 1,000 บาท แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ในประจำวันได้ ดังนั้นสังคมไทยจึงควรเร่งพัฒนาการคุ้มครองผู้สูงวัยให้เป็นระบบ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ต่อจากปาฐกถา คือการเสวนาถึงทุกข์ของผู้สูงวัย ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาต่างๆ ของผู้บริโภคสูงวัย ที่มีสาเหตุมาจากสินค้าหรือบริการ ตลอดจนปัญหาความมั่นคงในชีวิตและสุขภาพ มีตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นดังกล่าว นายเชษฐา แสนสุข ตัวแทนเครือข่ายผู้สูงอายุในชุมชนแออัด กล่าวว่า “ทุกข์ของผู้สูงอายุในเมืองส่วนใหญ่คือปัญหาเรื่องสุขภาพ และเรื่องค่าใช้จ่าย การหวังพึ่งลูกหลานอย่างเดียวไม่สามารถทำได้ จึงอยากให้รัฐจัดบำนาญแห่งชาติ เพื่อเป็นหลักประกันในชีวิตให้กับทุกคน หรือนางทองม้วน นกแก้ว ตัวแทนผู้สูงอายุจากจังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีประสบการณ์เป็นเหยื่อโฆษณายามาหลายครั้ง โดยสั่งซื้อยาตามโฆษณาทางวิทยุ เพราะอยากหายจากอาการป่วยที่เป็นอยู่และหลงเชื่อดาราดังทั้งหลายที่มาโฆษณา ซึ่งมาพบภายหลังว่ายาต่างๆ เหล่านั้นไม่มีความปลอดภัย”ก่อนจบการเสวนาจึงได้มีการร่วมกันสรุปข้อเสนอสำหรับ แนวทางการแก้ปัญหาทุกข์ของผู้บริโภคสูงวัยให้มีความยั่งยืน 6 ข้อ ดังนี้ 1. รัฐควรพิจารณาให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันในช่วงสุดท้ายของชีวิต 2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาผ่านสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ควรควบคุมการโฆษณายาอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้มีผู้หลงเชื่อจนตกเป็นเหยื่อโฆษณายาเกินจริง โดยเฉพาะผู้สูงวัย ผู้ป่วย และคนต่างจังหวัด 3. รัฐบาลควรให้การดูแลผู้สูงอายุมากกว่านี้ โดยเฉพาะการออกกฎหมายดูแลผู้สูงอายุ เพราะส่วนใหญ่ มีความกังวลว่าบั้นปลายจะลำบาก โดยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่ควรต่ำกว่า 2,600 บาทต่อเดือน เพื่อให้ผู้สูงอายุพออยู่ได้ 4. รัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายที่รัฐคิด เข้าไปมีส่วนร่วมและนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายนั้นๆ เพราะส่วนใหญ่แล้ว ผู้คิดนโยบายไม่ได้เข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริง มักทำตามกระแสการเรียกร้อง แต่ไม่ได้คิดทั้งระบบ เช่น ปัญหาการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ รัฐควรกำหนดนโยบายและแนวทาง ที่สามารถสร้างหลักประกันรายได้พื้นฐานให้กับผู้สูงอายุได้ เพราะหากมีหลักประกันรายได้เพียงพอต่อการยังชีพในระดับหนึ่ง คนกลุ่มนี้ก็จะไม่เป็นภาระอีกต่อไป 5. ผู้มีอำนาจในสังคม ควรมองว่า ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ แต่เป็นคลังสมองของสังคม สามารถสร้างคุณูปการต่อประเทศได้ และสุดท้าย 6. ประกันสังคม ควรปรับเปลี่ยนอัตราการจ่ายบำนาญที่ปัจจุบันกำหนดตายตัวไว้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นแต่ละปีทั้งนี้ภายหลังกิจกรรมในห้องประชุมใหญ่เสร็จสิ้น ก็มีการแบ่งการเสวนาเป็นห้องย่อยทั้งหมด 3 ห้องในประเด็นคือ 1. ประกันภัยผู้สูงวัย 2. ผู้สูงอายุกับการบริโภคยา อาหารและเครื่องมือแพทย์ที่เป็นปัญหา และ 3. ความเป็นไปได้ทางการเงินการคลังในการมีบำนาญพื้นฐานทั่วหน้าของประชาชน ซึ่งแต่ละห้องนั้นก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจที่ต่างกัน ดังนี้สรุปประเด็นห้องย่อยที่หนึ่ง เรื่องประกันภัยผู้สูงวัย ประเด็นหลักของการเสวนาคือ ปัญหาของประกันภัยชนิดนี้ ที่มักนำดาราหรือพิธีกรสูงวัยมาดึงดูดใจลูกค้าด้วยการใช้คำโฆษณาว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ไม่ต้องตอบคำถามใดๆ” ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่หลงเชื่อทำประกัน เพราะถูกโฆษณาเกินจริงและขาดข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง เพราะโฆษณาดังกล่าวไม่ได้บอกรายละเอียดทั้งหมดว่า กรมธรรม์ประกันภัยชนิดนี้ให้ผลคุ้มครองอะไรบ้าง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาเมื่อ ผู้ทำประกันภัยเกิดเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต  แนวทางแก้ไขปัญหานี้จึงเป็นหน้าที่หลักของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งนางสาวราตรี เนตรพระฤทธิ์  ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและพัฒนาการคุ้มครองสิทธิ คปภ. กล่าวว่า ทาง คปภ. ได้ออกกฎเกณฑ์และระเบียบเรื่องการโฆษณาหรือเสนอขายว่า ต้องมีถ้อยคำที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนไม่สับสน และจะต้องบอกให้ชัดเจนว่า ถ้าหากเจ็บป่วยตายภายใน 2 ปี จะมีสิทธิ์ได้รับเฉพาะเบี้ยประกันภัยคืนบวกกับเงินเพิ่มเท่านั้นอย่างไรก็ตามหากผู้สูงวัยต้องการซื้อประกัน ควรศึกษาข้อมูลจากหลายๆ แห่งก่อนตัดสินใจ เช่น www.oic.or.th ที่รวบรวมข้อมูลเรื่องบริษัทประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัยแต่ละชนิดแต่ละประเภทพร้อมทั้งคำอธิบาย มีข้อมูลสถิติเรื่องการร้องเรียน ข้อมูลสถิติเรื่องการลงโทษบริษัทประกันภัย และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถโทรศัพท์ไปที่สายด่วนประกันภัย 1186 ซึ่งจะแนะนำได้ว่าควรเข้าไปคลิกตรงไหนในเว็บไซต์ นอกจากนี้ควรเก็บหลักฐานการโฆษณาต่างๆ ไว้ด้วย เช่น ใบปลิวโฆษณา เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่นกัน และเมื่อได้กรมธรรม์มาแล้ว ควรอ่านหรือศึกษาคู่มือ เพื่อให้ทราบว่าสิทธิประโยชน์ในข้อสัญญาเป็นอย่างไร นอกจากนี้นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ยังได้ฝากข้อเสนอเพิ่มเติมอีก 5 ข้อดังนี้ 1.ในกรณีประกันแบบสูงวัย มีเงื่อนไขการจ่ายเบี้ยประกันก็คือต้องตายหลังเวลา 2 ปีจึงจะได้ทุนประกัน มีความเห็นว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวเกินไป จึงขอให้พิจารณาทบทวนเรื่องนี้ใหม่ 2.ขอให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายเรื่องการโฆษณาซึ่งปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้ และขอให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าบริษัทไหนได้ดำเนินการทางกฎหมายไปแล้ว เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนโฆษณา 3.เพิ่มบทกำหนดโทษของตัวแทนในกรณีที่ขายประกันแบบผิดจรรยาบรรณ ไม่ใช่แค่เพิกถอนใบอนุญาต 4.ขอให้มีมาตรการบังคับให้บริษัทประกันภัยมีระบบ Call Center ที่ลูกค้าติดต่อง่าย เพราะขณะนี้มีบริษัทประกันภัยที่เสนอขายประกันทางโทรศัพท์ แต่เมื่อมีการติดต่อกลับเพื่อขอยกเลิกสัญญา ติดต่อไม่ได้ หรือติดต่อยากมาก และ 5.การยกเลิกประกันขอให้ทำได้ในกรณีเดียวคือ ขอให้ยกเลิกภายใน 30 วันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดว่า ถ้าผ่านตัวแทนต้องดำเนินการภายใน 15 วัน ขอให้มีการปรับให้เท่ากัน เพราะอย่างน้อยจะได้มีเวลาศึกษา สรุปประเด็นห้องย่อยที่สอง ผู้สูงอายุกับการบริโภคยา อาหารและเครื่องมือแพทย์ที่เป็นปัญหา พบว่าปัญหาหลักคือ การหลงเชื่อในสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยาแผนโบราณต่างๆ โดยจะมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ผู้สูงอายุนิยมใช้ประจำ เช่น น้ำมันปลา สาหร่ายสไปรูไลน่า แคลเซียม โปรตีนผง จมูกข้าว ซึ่งมักได้รับการชักชวนให้ซื้อจากผู้ใกล้ชิด  หรือจากผู้ประกอบวิชาชีพ แต่เราจะพบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่ได้ปลอดภัยและมีประโยชน์เสมอไป เช่น ผลิตภัณฑ์บางชนิดโฆษณาว่ามาจากปลาน้ำลึก ซึ่งถ้าไปคนเป็นหอบหืดกินเข้าไปก็จะอันตาย หรือแม้แต่คลอโรฟิลล์ก็พบว่า มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใส่สารบางอย่างเข้าไป จนทำให้คนที่กินแล้วก็ใจสั่น หรือการกินยาแผนโบราณบางชนิด ก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ยา ตัวบวมจากสเตียรอยด์ที่ใส่ลงไป หรือมีจ้ำเลือดออกใต้ผิวหนังได้ ดังนั้นจึงต้องมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เช่น ให้ผู้สูงอายุควรมีผู้ดูแลหรือสร้างความรู้เชิงวิชาการ ที่ทำให้เข้าใจเรื่องข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องของความปลอดภัย แต่ต้องมีประโยชน์ด้วย รวมทั้งควบคุมคุณภาพและราคา นอกจากนี้สภาวิชาชีพต้องควบคุมให้คนของตัวเองดูแลและทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคด้วย เพราะทุกวันนี้คนในวิชาชีพกลุ่มหนึ่งเป็นคนขายผลิตภัณฑ์นี้ ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและทำให้ของขายดีขึ้น และควรปรับปรุงฉลากโภชนาการ ให้อ่านเข้าใจง่าย ส่วนกรณีที่เครื่องมือแพทย์มีปัญหา มีสาเหตุจากการนำไปสาธิต โฆษณา โอ้อวด เกินความจริง เช่น ใช้รักษาโรคโน้นโรคนี้ได้ ทั้งที่ไม่ได้งานวิจัยมาสนับสนุน แต่ใช้เทคนิคคือให้ไปใช้ฟรี มีการเล่นเกม แจกรางวัล ของขวัญ โปรโมชั่นเยอะแยะ ซึ่งผู้บริโภคไม่ควรหลงเชื่อ เพราะไม่มีผลิตภัณฑ์สุขภาพตัวไหนที่สามารถรักษาได้ครอบจักรวาล สรุปประเด็นห้องย่อยที่สาม ความเป็นไปได้ทางการเงินการคลังในการมีบำนาญพื้นฐานทั่วหน้าของประชาชน ห้องนี้มีคนเข้าร่วมหนาแน่นมากที่สุด เพราะผู้สูงวัยส่วนใหญ่ต่างก็มีความทุกข์ในเรื่องของรายได้ หรือมีรายได้ต่ำทำให้ไม่สามารถเก็บออมได้มากพอเมื่อสูงวัย และต่างต้องการให้รัฐจัดสวัสดิการบำนาญให้ผู้สูงวัยทุกคน ซึ่งควรอยู่ในอัตราใกล้เคียงกับเส้นความยากจน ตามที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุไว้ในปี 2557 คือ 2,600 บาทต่อเดือน แต่ประเด็นคือรัฐจะสามารถจัดสรรงบให้ผู้สูงอายุได้เพียงพอหรือไม่อย่างไรก็ตามในการเสวนาครั้งนี้ ก็มีการร่วมกันเสนอแนวทางการแก้ปัญหา หรือความเป็นไปได้ในการมีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าของประชาชนคือ 1.รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะ กลุ่มที่เป็นแรงงานนอกระบบมีส่วนร่วมออมเพื่อการเกษียณ หรือผลักดันโครงการให้ความรู้ทางการเงิน และปรับนโยบายการลงทุนของกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ เพื่อเพิ่มผลตอบแทน 2.เตรียมความพร้อมสำหรับรับคนสูงวัยซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การสนับสนุนการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน ลดแรงกดดันที่รัฐต้องใช้พลังในการลงทุนด้านต่างๆ ให้เอกชนมาร่วมด้วย ปรับปรุงการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ หาแหล่งเงินอื่นที่นอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดิน นอกจากนี้จากงานวิจัยของนักวิชาการในและต่างประเทศก็ได้ยืนยันว่า ประเทศไทยมีงบเพียงพอในการจัดสรรสวัสดิการบำนาญดังกล่าว เพียงแต่ต้องบริหารงบให้กระจายอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และปฏิรูประบบภาษี รวมทั้งการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม กำไรในตลาดหุ้น และควรปรับขึ้นภาษีอย่างเป็นธรรม ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทุกคนต่างก็หวังว่าข้อเสนอต่างๆ จะเป็นจริง เพราะบำนาญชราภาพถือว่าเป็นสวัสดิการหรือสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐควรจัดสรรให้ประชาชนในประเทศ    เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับเนื้อหากิจกรรมของวันแรก เรียกได้ว่าเสวนากันในประเด็นที่เกี่ยวกับกับผู้สูงอายุในทุกแง่มุมที่เป็นปัญหากันเลยทีเดียว สมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 วันที่ 30 เมษายน 2559การเสวนาปัญหารถโดยสารสองชั้นจากข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ที่ได้นำเสนอข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เมื่อปี 2558 พบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสองชั้น สูงกว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถบัสชั้นเดียวถึง 6 เท่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารดังกล่าว จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรณรงค์ให้รถโดยสารสองชั้นทุกคัน ต้องผ่านทดสอบการลาดเอียง ทั้งนี้หากวิเคราะห์สาเหตุหลักของอุบัติเหตุดังกล่าว พบว่าไม่ได้มาจากผู้ขับขี่เพียงอย่างเดียว แต่รถมีปัญหาเรื่องโครงสร้าง และการออกแบบที่ไม่เหมาะสมกับเส้นทางและถนนในประเทศ หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดสากล เช่น UNECE R66 ที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของโครงสร้างและการทดสอบตัวถังรถโดยสารหลายประการ ดังนี้ 1.ตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงที่อยู่สูงกว่ารถชั้นเดียว เนื่องจากมิติรถสองชั้นที่สูง 4.20 ม. ยาวกว่า 12.00 ม. หนักกว่า 18  ตัน ยังไม่รวมน้ำหนักของผู้โดยสารและสัมภาระด้านบน เพราะฉะนั้นด้วยรถที่มีความสูงขนาดนี้ เมื่อวิ่งด้วยความเร็วบนถนนจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้โดยเฉพาะทางโค้ง ทางลาด 2.ปัญหาโครงสร้างความแข็งแรง ที่ส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากการนำคัสซีเก่ามาซ่อมแซม และดัดแปลงเป็นตัวถังรถใหม่ เพื่อลดต้นทุนนำเข้ารถใหม่จากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่าเท่าตัว ซึ่งผู้บริโภคไม่มีทางรู้ได้ว่ารถคันไหนต่อเติมดัดแปลงมาอย่างไร  และ 3. ปัญหาระบบเบรก ที่มักจะขัดข้องหรือหยุดทำงานขณะวิ่งลงเนินเขาระยะทางยาว การคุมเข้มความแข็งแรงของโครงสร้างรถ และโครงสร้างเบาะผู้โดยสาร ที่ยังขาดความแข็งแรงและไม่มีจุดยึดเกาะกับรถตามมาตรฐานสากล ซึ่งยังไม่มีการกำหนดข้อบังคับและบทลงโทษชัดเจน  อย่างไรก็ตามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็ได้จัดทำข้อเสนอระยะสั้น เพื่อเป็นมาตรการเร่งด่วนแก่กรมการขนส่งทางบกเพื่อพิจารณา 4 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้กรมฯ ออกประกาศใหม่ให้รถโดยสารสองชั้นทุกคันต้องเข้ารับการทดสอบการลาดเอียง 2.ขอให้รถโดยสารสองชั้นที่ผ่านการทดสอบการลาดเอียงต้องแสดงสัญลักษณ์หรือติดสติ๊กเกอร์ว่าผ่านการทดสอบอย่างชัดเจนบริเวณด้านหน้าและด้านข้างรถเพื่อเป็นตัวเลือกในการใช้บริการให้กับผู้บริโภค 3. ขอให้กรมกำหนดเส้นทางเสี่ยงสำหรับรถโดยสารสองชั้น โดยพิจารณาจากสภาพถนน และจำนวนอุบัติเหตุของรถขนาดใหญ่ ต้องห้ามใช้เส้นทางโดยเด็ดขาดพร้อมกำหนดโทษหากฝ่าฝืน 4. ขอให้กรมพัฒนาระบบ GPS ในรูปแบบเชิงป้องกันอุบัติเหตุแบบ Real time ที่สามารถแจ้งเตือนและสกัดจับได้ทันที โดยเชื่อมโยงหรือส่งต่อกับระบบฐานข้อมูลหน่วยงานอื่นๆ ในระดับพื้นที่ เช่น ตำรวจทางหลวง สำนักงานขนส่งแต่ละจังหวัด เป็นต้นซึ่งข้อเสนอทั้ง 4 จะได้มีการติดตามเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคต่อไป ----------------------------------------------------------------------------------------------------รางวัลยกย่องสื่อมวลชลที่มีส่วนร่วมต่อการสร้างความรู้และนำเสนอข่าวสารด้านการคุ้มครองผู้บริโภคโดย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สื่อมวลชนทำข่าว สารคดีเชิงข่าวการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีคุณภาพและมีคุณค่าต่อการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น รวมทั้งเพื่อส่งเสริมกำลังใจให้สื่อมวลชนไทย โดยแบ่งออกเป็นประเภทสื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ดังนี้ ประเภทสื่อโทรทัศน์ ประกอบด้วยรางวัลข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่ ข่าวลิฟท์บีทีเอส โดย นายอาธิต พันธุ์ปิยะศิริ จากสำนักข่าวไทย อสมท. และสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม  ได้แก่ ผลงานเรื่องศัลยกรรมปรับโครงสร้างจมูก สวยหรือเสี่ยง โดย นางสาวศิริพร กิจประกอบ ผู้สื่อข่าวกองข่าวเฉพาะกิจ ช่อง 9 MCOT HDประเภทสื่อออนไลน์ ประกอบด้วยรางวัลสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่ ผลงานเรื่องร้าวทรุดบ้านหรูรัชวิภา โดย นางสาวธิดารัตน์ เมืองจันทร์ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ และรางวัลชมเชยสารคดีเชิงข่าวเรื่อง มหากาพย์ 2 ปีสะพานถล่ม ร้องเรียนสารพัดหน่วยงาน – ไร้ความคืบหน้า โดย นายณัฐพร วีระนันท์ สำนักข่าวอิศรา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point