ฉบับที่ 140 สารพันปัญหามือถือต้อนรับ 3G

การประมูลใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G ในกลางเดือนตุลาคมนี้ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตคงไม่พ้นผู้ให้บริการ 3 เจ้าใหญ่ คือ เอไอเอส ดีแทค และ ทรูแน่นอนว่าการประมูลครั้งนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะได้ใช้ระบบมือถือทันสมัยแบบใหม่เสียทีหลังจากที่แคล้วคลาดกันมานาน แต่คำถามสำคัญที่ผู้บริโภคควรตระหนักไปพร้อมกัน คือเรื่องคุณภาพบริการที่ปัจจุบันแนวทางการแก้ไขจาก กสทช. ยังไม่ค่อยคืบหน้านัก เพื่อไม่หลงปลื้มกับโทรศัพท์ระบบใหม่จนลืมความจริงในปัญหาการดูแลผู้บริโภค เลยขอนำเรื่อง “เจ็บแล้วต้องจำ” เอามาให้อ่านเตือนสติต้อนรับระบบ 3G กันเรื่องเจ็บแล้วต้องจำของบริการมือถือ1.ซิมแจกฟรี ระวังโดนดีถูกเก็บรายเดือนมีร้องเรียนเข้ามากันเยอะ อย่างรายนี้บอกว่า ช่วยหน่อยนะคะ พอดีไปเดินอนุสาวรีย์ชัย เจอซุ้มแจกซิมทรูมูฟ มีพนักงาน 4-5 คน เดินเข้ามาหาและบอกว่าถ้าบัตรประชาชนมีเลข 0 มารับซิมฟรีได้เลย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ขอดูบัตรประชาชนด้วย แล้วเค้าก็เอาบัตรประชาชนไป แล้วเอาซิมมาให้โดยให้เซ็นชื่อรับซิมบอกว่าแค่เซ็นรับซิมเฉยๆ ไม่มีอะไร และถ้าไม่เปิดใช้ซิมก็ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร พอได้ซิมมาก็ไม่ได้เปิดใช้ เพราะซิมเป็นรายเดือนและเป็นไมโครซิม ต่อมามีใบแจ้งหนี้มาที่ที่อยู่ตามบัตรประชาชน และต้องชำระก่อนวันสิ้นเดือน เลยโทรติดต่อที่ศูนย์บริษัทมือถือเจ้าของซิม พนักงานบอกว่าเป็นซิมรายเดือนถึงไม่เปิดก็มีค่าใช้จ่ายให้ชำระยอดนี้ก่อนถึงจะปิดเบอร์ให้ได้ ถ้าไม่ชำระก็จะมีการเรียกเก็บต่อไปอีกประมาณ 3 เดือน ถ้ายังค้างชำระอยู่จะตัดเบอร์แต่จะต้องติด Black list  ต่อไปจะทำธุรกรรมอะไรไม่ได้ 2. เอสเอ็มเอสขยะ ขยะที่กำจัดยากที่สุดในโลก ขอบอก...!เป็นลูกค้า DTAC ค่ะ ในช่วงบิลสองเดือนที่ผ่านมา มีค่าบริการที่ไม่เคยสมัครรับบริการ ในใบแจ้งหนี้ ตรวจดูแล้วเป็น “ค่าบริการข้อมูลข่าวสารบันเทิง ผ่าน SMS” โทรไปคอลเซ็นเตอร์ว่ามีค่าใช้จ่ายนี้มาได้อย่างไร ได้รับคำอธิบายว่า เป็นลักษณะของการ ส่ง sms เข้าโทรศัพท์ แล้ว DTAC ก็คิดเงินกับลูกค้าเลยเราร้องทุกข์ไปว่า ไม่ต้องการ ไม่รับ ไม่สมัคร ป้องกัน ลบ SMS ดังกล่าวออกไปให้หมด แต่คำตอบที่ได้รับคือ“ไม่สามารถป้องกันได้ 100% เนื่องจากผู้ให้บริการมีค่อนข้างเยอะและมีรูปแบบบริการที่หลากหลาย”วิธีป้องกันที่ผู้ให้บริการให้คำแนะนำคือ หากได้รับข้อความลักษณะดังกล่าวอีก สามารถแจ้ง ลักษณะข้อความ กลับไปที่ DTAC ได้เฮ้อ...จะหาหนทางอย่างไรดีคะ ที่ไม่ต้อง โทรไปรบกับ call center ทุกๆ ครั้งที่ได้รับใบแจ้งหนี้เพราะทางลูกค้าเองก็ยืนยันว่า ไม่ต้องการ ไม่รับ ไม่สมัคร บล็อค SMS ดังกล่าวออกไปให้หมด ทำไมบริษัทมือถือถึงช่วยลูกค้าไม่ได้3.สั่งซื้อสินค้าทางเน็ต เจ้าของเว็บไม่รับผิดชอบผมสั่งซื้อกล่องรับสัญญาณเคเบิลทีวีจากเว็บไซต์ขายสินค้าแห่งหนึ่ง  จำนวนเงิน 4,000 บาท ใช้งานได้ไม่ถึง 24 ชม.สินค้ามีปัญหา ชี้แจงอาการไป ผู้ขายแจ้งให้ส่งกลับเพื่อเคลมของใหม่ แล้วผู้ขายก็ทวงถามเรื่องค่าส่ง EMS ผมปฏิเสธเพราะผู้ขายควรจะรับผิดชอบ และผมก็เสียค่าส่ง EMS กลับไปให้ 97 บาท จึงเห็นว่าต่างคนต่างรับผิดชอบค่าส่ง แต่ผู้ขายพยายามผลักภาระค่าส่งมาให้ผม พยายามบอกว่าเป็นภาระของผู้ซื้อ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการระบุเงื่อนไขการเคลมสินค้าบนหน้าเว็บไซต์ ผมเห็นว่าคุยกันไม่รู้เรื่องและไม่ประทับใจในการให้บริการ จึงขอยกเลิกและขอเงินคืน แต่กลับมาบอกว่าไม่มีนโยบายคืนเงิน เงื่อนไขนี้ในหน้าเว็บไซต์ก็ไม่มีระบุเหตุการณ์เกิดขึ้นและผ่านมากว่า 45 วันแล้ว ผมเขียนไปทวงถามเรื่องเงินคืนหลายครั้ง ก็เงียบ ล่าสุดผมเขียนไปบอกว่ายินดีรับสินค้าคืน แต่ขอเปลี่ยนรุ่น ก็ยังคงเงียบอีกเห็นว่าถูกโกงแน่แล้ว จึงต้องมาขอคำแนะนำครับ ควรทำอย่างไรครับ แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาทั้ง 3 เรื่องที่ยกมายังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแนวทางการแก้ไขปัญหาของ กสทช. ก็ยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากการออกประกาศหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องยังไม่คืบหน้ามากนัก ผู้บริโภคจึงต้องรู้วิธีการช่วยเหลือตัวเองไปพลางๆ ก่อนปัญหาในเรื่องที่ 1 และ 2 สามารถจัดการได้โดยผู้บริโภคควรมีหนังสือไปถึงผู้ให้บริการมือถือกรณีที่เป็นเรื่องหนี้ค่าโทรศัพท์ที่ไม่เคยเปิดใช้บริการ หรือถูกหลอกให้เปิดใช้บริการมือถือโดยที่ไม่ทราบว่ามีค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน เมื่อได้รับใบเรียกเก็บหนี้ค่ามือถือรายเดือน ไม่ต้องไปตกใจ หรือต้องไปที่ศูนย์บริการ เพราะเจรจามักไม่ได้หมายความตามตัวอย่างเรื่องที่ยกมาให้เห็น วิธีที่ดีที่สุดและจบเรื่องได้ไว คือ ให้มีหนังสือปฏิเสธตอบกลับไป ว่าเราไม่เคยเปิด ไม่เคยใช้ และไม่มีความต้องการที่จะใช้มาแต่แรกแล้ว ดังนั้นอย่าส่งจดหมายทวงหนี้ค่าโทรศัพท์มารังควานอีก ไม่เช่นนั้นจะขอเรียกค่าเสียหายฐานก่อความเดือดร้อนรบกวนรำคาญกรณีเรื่องเรียกเก็บค่าเอสเอ็มเอสขยะ หรือเอสเอ็มเอสที่เผลอสมัครเข้ารับบริการโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็ให้ใช้วิธีการเดียวกัน ส่วนคนที่ต้องการโทรศัพท์มือถือของตัวเองสะอาดมากๆ ไม่มีข้อความแปลกปลอมเข้ามาเลย ตามจริงมีเทคโนโลยีสามารถทำได้แต่ผู้ให้บริการเมืองไทยเรายังไม่ริเริ่มทำ วิธีแก้ก็ให้เขียนจดหมายเสนอไปที่บริษัทมือถือว่า หากจะปล่อยให้มีข้อความแปลกปลอมเข้ามาที่มือถือเราอีก ขอคิดค่าเสียหายครั้งละ 100 บาท 1,000 บาท หรือจะสูงต่ำไปกว่านี้ก็พิจารณากันดู ขึ้นอยู่กับเส้นความรำคาญใจของแต่ละคน ยื่นข้อเสนอไปที่บริษัทมือถือให้พิจารณาดู ใครใช้วิธีนี้ได้ผลช่วยกลับมาเล่าให้ฟังกันด้วยกรณีที่ 3 มีข้อแนะนำอย่างเดียว อย่าไปซื้อมัน ตราบใดที่เราไม่รู้ตัวตนว่ามันเป็นใคร บ้านช่องห้องหออยู่ที่ไหน คำโบราณสอนไว้ คนไม่มีหัวนอนปลายตีนไม่น่าคบ เอามาใช้กรณีพวกขายของทางเน็ตได้ จะซื้อสินค้าผ่านเน็ตรอแป๊บครับ ทราบข่าวว่าภาครัฐตอนนี้กำลังมีการวางมาตรการออกประกาศให้ผู้ขายสินค้าผ่านเน็ตต้องมาลงทะเบียนเสียก่อน แต่เหตุผลสำคัญคือรัฐบาลอยากจะเก็บภาษีคนพวกนี้ ไม่ได้หวังคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง ทราบแล้วเปลี่ยน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 เอาโน้ตบุ๊คไปซ่อมที่อมรเซียร์แล้วถูกน้ำท่วม...

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 จบไปหลายเดือนแล้ว แต่ผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องหรือปัญหาลูกตามน้ำยังมีให้เห็นกันเรื่อยๆเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ธัญชนกได้นำโน้ตบุ๊คที่มีปัญหาจอภาพ ไปซ่อมที่อมรเซียร์รังสิต หลังจากซ่อมเสร็จจ่ายค่าซ่อมไป 2,700 บาท รับเครื่องกลับมาใช้ได้เพียง 1 วัน อีกวันถัดมาก็กลับมาเป็นแบบเดิมอีก จึงรีบเอาเครื่องกลับไปเคลมอีกครั้ง โดยไม่ได้เซฟข้อมูลอะไรไว้ เพราะไม่คิดว่าหลังจากวันนั้นน้ำจะเข้าท่วมปทุมธานีถ้าใครเคยไปเซียร์คงจะนึกภาพออกว่าร้านอมรที่เปิดรับซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องอิเล็กทรอนิคส์ต่างๆ นั้น ตั้งอยู่ในส่วนชั้นใต้ดินของเซียร์รังสิต ธัญชนกเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้นว่า เธอโทรไปถามว่าจะได้เครื่องเมื่อไร ก็ได้รับคำตอบว่า ช่างไม่มาทำงานเพราะน้ำท่วมบ้าน แต่กว่าน้ำจะเข้าในเซียร์ก็กินเวลา 2-3 วัน และทางห้างก็ป้องกันโดยเอากระสอบทรายมากั้น มารู้อีกทีเดือนธันวาคมโดยโทรถามกับช่างเองเพราะเบอร์อมรติดต่อไม่ได้เลย คำตอบที่ได้รับคือเครื่องจมน้ำทั้งหมด ให้มาติดต่อเคลมเครื่องเดือนมีนาคม 2555 โดยจะตีราคา ณ ปัจจุบัน“เราไม่ได้เอาเครื่องมาขายนะที่จะตีราคาขายให้ ให้แค่ 4,500-5,000 บาท โดยอ้างเหตุผลว่าห้างประสบอุทกภัย แล้วเราล่ะ เราก็โดนเหมือนกันต้องออกจากพื้นที่ไปเช่าห้องอยู่ และถามว่าแล้วข้อมูลของเราล่ะ ใครรับผิดชอบ ตีราคาให้เท่านี้แล้วเราก็ต้องมานั่งซื้อเครื่องใหม่เพิ่มเงินตั้งเยอะ เราไม่ได้ต้องการให้คุณซื้อเครื่องใหม่ให้หรอก เพราะรู้ว่าคุณไม่ทำแบบนั้นแน่ แค่ช่วยตีราคาให้มันยุติธรรมหน่อย”“อยากรู้ว่ามัวทำอะไรกันอยู่ทำไมไม่ขนย้ายเครื่องขึ้นชั้นบนก่อนที่น้ำจะเข้าชั้นใต้ดิน ซึ่งมีเวลาหลายวัน และโน้ตบุ๊คเล็กๆ ไม่หนักอะไร” เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาธัญชนกโทรไปถามเรื่องการชดใช้ ได้รับคำตอบว่า ให้รอประกันแจ้งมาว่าเครื่องเราจะเคลมได้เท่าไร เธอรู้สึกว่า ต้องรออย่างเดียว ต้องรอประกันอีกทั้งที่รอมารวมๆ ก็ 6 เดือนแล้ว บอกให้รอไปอีกว่าภายในปีนี้ ไม่รู้ว่าต้องรออีกนานเท่าไร และผลจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้“ปัจจุบันก็ยังไม่มีการติดต่อมาเลย ซึ่งปกติก็ไม่เคยมีติดต่อมา เว้นแต่เราจะโทรตามเรื่องเอง และมีเพื่อนชาวออนไลน์ก็ได้เจอปัญหานี้เหมือนกัน แบบนี้เราจะดำเนินการกับทางอมรได้อย่างไร ช่วยทีค่ะ” แนวทางแก้ไขปัญหาการที่มีลูกค้านำโน้ตบุ๊คมาให้ซ่อม ดังนั้นโน้ตบุ๊คจึงอยู่ในความครอบครองของร้านซ่อม ร้านซ่อมจะต้องเก็บรักษาโน้ตบุ๊คของลูกค้าไว้ในที่ปลอดภัย และต้องมีความระมัดระวังตามสมควรที่จะไม่ให้ข้าวของของลูกค้าสูญหายหรือเสียหาย การที่ร้านซ่อมทราบล่วงหน้าถึงสองวันว่าน้ำกำลังจะเข้าท่วมห้าง และการที่ร้านซ่อมตั้งอยู่ในชั้นใต้ดินของห้างย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่ร้านจะถูกน้ำท่วมได้ แต่กลับไม่มีการโยกย้ายข้าวของของลูกค้าที่นำมาซ่อมไปไว้ในที่ที่ปลอดภัยตามประกาศคำเตือนของรัฐบาลที่ออกมาเป็นระยะๆ ถือได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่อของร้านซ่อมที่ไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้ทรัพย์สินของลูกค้าเสียหาย ดังนั้นร้านซ่อมจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกค้าหลังจากที่ได้ติดตามเรื่องมาได้ระยะหนึ่ง คุณธัญชนกได้แจ้งว่าทางร้านซ่อมยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้เป็นเงิน 11,900 บาท ซึ่งเป็นยอดที่ตนพึงพอใจจึงรับไว้ ส่วนข้อมูลที่สูญหายไปพร้อมกับเครื่อง ก็ต้องทำใจเพราะเป็นความบกพร่องของตนเองเช่นกันที่ไม่ได้ทำการบันทึกข้อมูลเก็บไว้ก่อนส่งซ่อมสำหรับลูกค้ารายอื่นที่พบปัญหาเดียวกันให้ใช้เหตุผลตามที่ว่ามาประกอบการเจรจาเรียกค่าเสียหาย เชื่อว่าจะเกิดผลสมบูรณ์โดยไม่ต้องใช้ทนายความหรือขึ้นโรงศาลขึ้นศาลให้เมื่อย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 รายงานปัญหาผู้บริโภค ปี 2553 และจับตาภัยผู้บริโภคปี 2554 ตอนที่ 2

1. ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม• เอสเอ็มเอสกวนใจ และอินเตอร์เน็ตสุดอืดปัญหากลุ่มนี้ อันดับหนึ่งเป็นปัญหาของการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ราวร้อยละ 48 และอันดับสองคือ ปัญหาการใช้บริการอินเตอร์เน็ตร้อยละ 33 ในกลุ่มปัญหาโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น เรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุดคือ ปัญหาเอสเอ็มเอสกวนใจ หรือสมัครเข้าใช้บริการโดยไม่ได้ตั้งใจและถูกหักเงินค่าใช้บริการ ซึ่งเรื่องนี้จะเชื่อมโยงกับปัญหาการคิดค่าบริการผิดพลาดด้วย เนื่องจากถูกหักเงินโดยไม่ทราบเหตุผลส่วนปัญหาอินเตอร์เน็ตนั้น จะมีสองเรื่องใหญ่ที่ผู้บริโภคร้องเรียนคือ ปัญหาเน็ตช้า ไม่เร็วอย่างที่โฆษณา และปัญหาซื้อสินค้าผ่านเน็ต ถูกหลอกให้โอนเงินแต่ไม่ได้สินค้า แนวทางแก้ไข• กรณีมีเอสเอ็มเอสขยะเข้ามากวนใจตลอดเวลา ผู้บริโภคสามารถทำข้อตกลงกับผู้ให้บริการมือถือได้ว่าโทรศัพท์มือถือเบอร์ใดที่ไม่ต้องการรับเอสเอ็มเอสขยะได้ และหากยังมีเข้ามาอีกก็สามารถเรียกค่าเสียหายกับผู้ให้บริการได้ เพราะถือว่าได้ทำสัญญาตกลงกันแล้ว• กรณีสมัครเอสเอ็มเอส โดยไม่ตั้งใจ เมื่อทราบว่าเกิดปัญหานี้ขึ้นให้ผู้บริโภคติดต่อกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือโดยทันที เพื่อแจ้งยกเลิกการใช้บริการรับข้อความเอสเอ็มเอสและมิให้เรียกเก็บเงิน หรือหากมีการหักเงินเรียกเก็บไปแล้ว ก็ให้ผู้ให้บริการมือถือคืนเงินโดยทันที เพราะถือว่าเป็นการใช้บริการที่ผู้บริโภคไม่ได้ตั้งใจสมัคร• ปัญหาเน็ตช้า ผู้บริโภคควรเข้าไปในเว็บไซต์ที่มีบริการตรวจสอบความเร็วเน็ต และปริ้นท์ข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน หากความเร็วเน็ตที่ใช้ได้ไม่ถึง 80% จากความเร็วที่โฆษณา ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องให้ผู้ให้บริการแก้ไขปัญหาให้มีความเร็วตามที่โฆษณาได้และยังขอลดหย่อนค่าบริการได้ หรือปฏิเสธการจ่ายค่าบริการได้ หากไม่สามารถใช้บริการอินเตอร์เน็ตได้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่มีหลักฐานชัดเจน• ส่วนการซื้อสินค้าผ่านเน็ตนั้น ทราบว่าในขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการกับปัญหานี้ โดยพยายามให้มีการเรียกเก็บภาษีการซื้อขายสินค้าผ่านเน็ต ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภครู้ตัวตนผู้ขายสินค้าได้ชัดเจนมากขึ้น   2. ปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ คนร้องคอนโดแซงหน้าปัญหาบ้านจัดสรร ในปี 2553 ปัญหาของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมเบียดแซงหน้าปัญหาของหมู่บ้านจัดสรรไปแบบเฉียดฉิว โดยกลุ่มปัญหาอสังหาริมทรัพย์ การร้องรียนเรื่องคอนโดคิดเป็นร้อยละ 40 และปัญหาหมู่บ้านจัดสรรอยู่ที่ร้อยละ 37 ปัญหาคอนโด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องผิดสัญญาจะซื้อจะขายของผู้ประกอบธุรกิจ คือ สร้างไม่เสร็จ สร้างล่าช้า สร้างไม่ได้มาตรฐาน แต่ผู้บริโภคที่ไม่รู้เหลี่ยมกฎหมายมักตกเป็นฝ่ายถูกฟ้องร้องเหตุไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญา ในขณะที่หมู่บ้านจัดสรรจะมีปัญหาในการจะซื้อจะขายบ้านและที่ดิน โดยที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินจอง เงินดาวน์ไปก่อน ในระหว่างที่รอคำตอบขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน แต่เมื่อทราบผลว่าสินเชื่อไม่อนุมัติ ทำให้ผู้บริโภคต้องสูญเงินจองเงินดาวน์ไปเป็นจำนวนมาก แนวทางแก้ไข• กรณีคอนโดมีปัญหาในการก่อสร้าง สร้างไม่เสร็จ สร้างล่าช้า สร้างไม่ได้มาตรฐาน เมื่อผู้บริโภคทราบเหตุปัญหาในขั้นตอนไหน ลักษณะใด ให้ทำหนังสือทักท้วงให้ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไขหรือให้ก่อสร้างให้เป็นไปตามที่ตกลงไว้ในสัญญาโดยทันที อย่าใช้วิธีโทรศัพท์ติดตามเพียงอย่างเดียว และไม่ให้จ่ายเงินค่างวดจนกว่าปัญหาที่ทักท้วงไปนั้นจะได้รับการแก้ไขลุล่วงเรียบร้อย หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญา และเรียกค่าเสียหายได้ • กรณีซื้อบ้านจัดสรร ที่ต้องขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินแล้วยังไม่รู้ผลอนุมัติ เพื่อป้องกันไม่ให้สูญเงินจองเงินดาวน์ไปแบบกินเปล่า ก่อนที่จะลงนามในสัญญาจองและสัญญาจะซื้อจะขาย ผู้บริโภคควรขอให้ผู้ประกอบธุรกิจระบุไว้ในสัญญาเลยว่า หากกู้ไม่ผ่านผู้ประกอบธุรกิจยินดีจะคืนเงินจอง เงินดาวน์ทั้งหมด หรือในสัดส่วนเท่าไหร่ก็ว่าไปตามที่จะตกลงกัน หากผู้ประกอบธุรกิจหรือพนักงานขายไม่ยินยอม ให้เดินออกมาได้เลย ไม่ต้องสนใจกับโครงการนั้นอีกต่อไป   3. ปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข• ฟิตเนส...สัญญาชั่วฟ้าดินสลาย ในช่วงเดือนกันยายน ปี 2553 มีหนังไทยเรื่องหนึ่งเข้าฉาย คือเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย เป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมความรักสุดหน่วงระหว่างอาสะใภ้กับหลานชายของสามี แบบ “ความรักชั่วนิรันดร์ การลงทัณฑ์ชั่วชีวิต” ดูไปแล้วเอามาเทียบกับการเป็นสมาชิกบริการฟิตเนสช่างเหมือนกันได้แบบไม่ผิดเพี้ยน ต่างกันนิดเดียวคือฟิตเนสจะออกแนว “สมาชิกชั่วนิรันดร์ การลงทัณฑ์ชั่วชีวิต” เป็นสมาชิกไปแล้ว เลิกไม่ได้ ต้องจ่ายเงินไปเรื่อยๆ ลูกเดียว นอกจากฟิตเนสแล้ว จากการร้องเรียนยังพบว่าบรรดาศูนย์สุขภาพและความงามจำพวกสปามีการใช้สัญญาชั่วนิรันดร์ลักษณะนี้กับผู้บริโภคเช่นกัน นับเป็นภัยผู้บริโภคอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจับตาในปี 2554ปัญหาสัญญาสัญญาไม่เป็นธรรมของบริการฟิตเนส เป็นปัญหายอดฮิตที่มีการร้องเรียนในกลุ่มปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข โดยมีมากถึงร้อยละ 45 แนวทางแก้ไข• ผู้บริโภคควรตั้งสติก่อนคิดทำสัญญา• หากหลงเข้าทำสัญญาไปแล้ว ถ้าเป็นการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต หากไม่ประสงค์จะใช้บริการต้องรีบทำหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยเร็วที่สุด ด้วยเหตุผลที่ผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาเป็นเท็จ เกินจริง หรือผิดสัญญาในข้อสำคัญ แล้วให้ส่งสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญาไปที่บริษัทบัตรเครดิตเพื่อให้ระงับการเรียกเก็บเงินโดยทันที• หากผู้ประกอบธุรกิจฟิตเนสผิดสัญญาในเงื่อนไขสำคัญ นอกจากจะสามารถบอกเลิกสัญญาได้แล้ว ผู้บริโภคยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือเรียกร้องค่าสมาชิกคืนได้ แต่หากเจรจาไม่สำเร็จอาจต้องใช้การฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคในท้ายที่สุด4. ปัญหาด้านอาหาร ยา เครื่องสำอางจับตา...อาหารไม่ปลออดภัยปัญหาด้านอาหารเท่าที่มีการร้องเรียนกับมูลนิธิฯ มีสองลักษณะใหญ่คือ อาหารไม่ปลอดภัย และการโฆษณาเป็นเท็จหรือเกินจริง  โดยอาหารไม่ปลอดภัยนั้นมักเกิดในลักษณะของอาหารไม่บริสุทธิ์ โดยมีสาเหตุใหญ่ๆ คือ มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ และเกิดปัญหาในกระบวนการผลิต การบรรจุหรือการเก็บรักษา ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ กรณีที่เคยนำมาลงในฉลาดซื้อ เช่น พบตัวมอดในนมผงสำหรับเด็กเล็ก นมบูดเสียก่อนกำหนดส่วนด้านการโฆษณาที่เป็นเท็จหรือสงสัยว่าเป็นเท็จนั้น มักพบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาตามสื่อทีวีดาวเทียมหรือสื่อวิทยุชุมชนต่างๆ แนวทางแก้ไขใน 7 กลุ่มปัญหา ปัญหาด้านอาหาร ยา เครื่องสำอางนับเป็นกลุ่มปัญหาที่มีการร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นจำนวนน้อยที่สุด ทั้งนี้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น การมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอย่างชัดเจน ความเสียหายไม่ชัดเจน หรือเสียหายไม่มาก หรือพบปัญหาบ่อยมากจนเป็นเรื่องชินชา อย่างไรก็ดีปัญหากลุ่มนี้นับเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากที่สุดกว่ากลุ่มใด จึงจำเป็นที่มูลนิธิฯ จะต้องดำเนินการรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้ใช้สิทธิให้มากยิ่งขึ้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 รายงานปัญหาผู้บริโภค ปี 2553 และจับตาภัยผู้บริโภคปี 2554 ตอนที่ 1

เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคต้องประสบวิบากกรรมเพลิงไหม้สำนักงาน ทำให้พวกเราเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ต้องกลายเป็นชนเผ่าเร่ร่อนชั่วคราวสถานที่ทำงานต้องถูกย้ายไปย้ายมา สัมภาระข้าวของที่ต้องแบกขนกันอีรุงตุงนัง ที่สำคัญสายโทรศัพท์พื้นฐานซึ่งเป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนหลัก เหลือใช้งานเพียงเบอร์เดียวจากที่เคยมีอยู่ 3 เบอร์ด้วยสภาพที่ทุลักทุเลของศูนย์พิทักษ์สิทธิฯที่ไม่ต่างจากชาวบ้านที่โดนน้ำท่วม ทำให้การทำงานรับเรื่องร้องเรียนของศูนย์พิทักษ์สิทธิฯในปี 2553 มียอดรับเรื่องร้องเรียนที่ไม่ค่อยน่าภูมิใจเท่าไรนักคือนับได้ 796 กรณี(นับแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน) ซึ่งลดลงไปกว่าครึ่งเมื่อเทียบยอดรับเรื่องร้องเรียนในปี 2552 ที่มีถึง 1,587 รายอย่างไรก็ตาม ถึงแม้เรื่องร้องเรียนจะผ่านเข้ามาน้อย แต่กระบวนการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังคงคุณภาพเข้มข้นให้มากที่สุดเท่าที่พวกเราจะมีแรงทำได้ และส่งผลต่อการปกป้องสิทธิของผู้บริโคภที่สำคัญหลายประการภาพรวมเรื่องร้องเรียนปี 2553ในปี 2553 ปัญหาหนี้สิน การเงิน การธนาคาร ยังคงสร้างความทุกข์ให้กับผู้บริโภคนำมาเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 45 ของกลุ่มเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ตามมาห่างๆ ด้วยปัญหาบริการสาธารณะ คิดเป็นร้อยละ 14 ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม ร้อยละ 11 และที่เกาะกลุ่มตามมาติดๆ คือปัญหาจากการซื้อหรือใช้สินค้าและบริการทั่วไป ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ปัญหาจากการใช้บริการสุขภาพและสาธารณสุข ปัญหาอาหาร ยา เครื่องสำอาง คิดเป็นร้อยละ 8,8,7 และ 3 เรียงตามลำดับ นอกนั้นเป็นเรื่องร้องเรียนอื่นๆที่ไม่ใช่ปัญหาด้านผู้บริโภคอีกร้อยละ 4 แน่นอนว่าปัญหาเรื่องร้องเรียนอันดับต้นๆ ของทุกกลุ่มปัญหาจะเป็นปัญหาผู้บริโภคที่ต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดในปี 2554 ปัญหาเหล่านั้นมีเรื่องใดบ้าง เชิญติดตามได้     1. ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร • หนี้บัตรเครดิต ปัญหาอมตะที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิต ครองแชมป์เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งของมูลนิธิฯมาตั้งแต่ปี 2550 สำหรับในปี 2553 เรื่องร้องเรียนหนี้บัตรเครดิตมีทั้งสิ้น 268 กรณี(เฉพาะที่มีการบันทึก) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 74 ของเรื่องร้องเรียนในกลุ่มการเงินการธนาคารที่มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 360 กรณีลักษณะปัญหาที่มีการร้องเรียนหรือขอคำปรึกษา คือ ใช้บัตรเครดิตในทางไม่เหมาะสม เช่น เบิกถอนเป็นเงินสดเพื่อมาลงทุนประกอบธุรกิจแต่ไม่สามารถสู้กับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่สูงของบัตรเครดิตได้พยายามช่วยเหลือตนเองจนเกิดหนี้หลายบัตร เพิ่มเป็นหนี้หลายทางทั้งในและนอกระบบ ขาดความรู้ในการจัดการบริหารหนี้สิน และเลือกใช้วิธีหมุนเงินในอนาคตจนสุดสายป่าน ท้ายสุดต้องผิดนัดชำระหนี้ยกแผง เกิดทุกข์ติดตามเป็นกระบวน คือ ถูกติดตามทวงถามหนี้ไม่เป็นธรรม บางรายถูกหักเงินในบัญชีเงินเดือน ถูกฟ้องศาล และถูกบังคับคดี  บางครอบครัวถึงกับอยู่ในสภาพล่มสลายโดยมิได้เป็นบุคคลล้มละลาย   แนวทางแก้ไข• ความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างวินัยการใช้จ่ายและการจัดการบริหารหนี้ ดังนั้น จึงควรมีการส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชนในการใช้บริการด้านการเงินการธนาคารอย่างเต็มที่ เช่น การทำบัญชีครัวเรือน เพื่อการบริหารจัดการรายได้ การออม การใช้จ่าย การให้ความรู้ในการขอสินเชื่อตรวจสอบค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย รวมทั้งการทำธุรกรรมด้านการเงินต่างๆ เป็นต้น• ให้เร่งออกกฎหมายคุ้มครองประชาชนอย่างเหมาะสม เช่น กฎหมายติดตามทวงถามหนี้ที่เป็นธรรม , กฎหมายบัตรเครดิตที่มีการกำกับดูแลค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ,กฎหมายการแข่งขันด้านการเงิน เป็นต้น• รัฐควรจัดให้มีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก• ควรกำกับผู้ประกอบธุรกิจให้มีวินัยในการปล่อยสินเชื่อ เช่น การให้วงเงินและเพิ่มวงเงินของบัตรเครดิต ควรใช้ข้อมูลเครดิตบูโรมาประกอบการพิจารณา ไม่ใช่ใช้ฐานจากยอดใช้จ่าย ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงทั้งต่อลูกหนี้และผู้ประกอบธุรกิจได้ง่าย เป็นต้น • การเช่าซื้อรถยนต์และการจองรถสองเรื่องนี้เปรียบเหมือนปัญหาคู่แฝดสำหรับคนอยากมีรถแต่ไม่มีเงินสด และเป็นปัญหาลูกพี่ลูกน้องของคนที่มีปัญหาหนี้บัตรเครดิต หรือผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงินต่างๆการขอสินเชื่อผ่อนรถจากไฟแนนซ์เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเป็นเจ้าของรถใหม่ป้ายแดงได้สะดวกรวดเร็วมากที่สุดวิธีการหนึ่ง แต่การที่ผู้บริโภคบางรายมีปัญหาทางด้านการเงิน ประวัติเครดิตมีตำหนิ แต่ไม่สามารถสลัดความอยากออกจากจิตใจได้เพราะถูกโฆษณาเล้าโลมจนอ่อนระรวย คนกลุ่มนี้มักตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่ใช้ธุรกิจซื้อขายรถยนต์บังหน้าได้ง่ายๆ โดยจะถูกหลอกให้วางเงินจองรถอย่างน้อย 5,000 บาท เพื่อแลกกับการซื้อรถใหม่ราคาถูกกว่าปกติ แถมออฟชั่นเพียบ แต่สุดท้ายมักถูกริบเงินจองในท้ายที่สุด เพราะถูกอ้างว่าขอสินเชื่อจากไฟแนนซ์ไม่ผ่านแนวทางแก้ไขo ให้ผู้บริโภครู้ว่า กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมีการควบคุมสัญญาการซื้อขายรถที่มีการจองแล้วo สัญญาจะซื้อจะขายรถต้องมีรายละเอียดของรถที่ชัดเจน พร้อมกำหนดวันที่คาดว่าจะส่งมอบรถo เมื่อรู้ว่าขอสินเชื่อไฟแนนซ์ไม่ผ่าน ให้แจ้งแก่ผู้ขายโดยทันที ให้เป็นลายลักษณ์อักษรดีที่สุด เพราะสัญญาควบคุมกำหนดไว้ว่า เมื่อผู้ขายทราบเรื่องนี้จะต้องคืนเงินจองให้โดยเร็ว ไม่ถือว่าผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญา  o อย่าซื้อรถกับเต้นท์ขายรถเลื่อนลอย ควรซื้อรถกับผู้ขายที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลo ถ้าจะซื้อรถกับบุคคลธรรมดา ต้องไม่ซื้อรถกับคนที่ไม่ให้สำเนาบัตรประชาชน   2. ปัญหาด้านบริการสาธารณะ• รถโดยสารสาธารณะ ยมทูตติดล้อในกลุ่มปัญหาด้านบริการสาธารณะ เกือบครึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ในช่วงปี 2553 มียอดผู้ประสบภัยจากรถโดยสารที่ปรากฏเป็นข่าวมากกว่า 2,000 รายในจำนวนนี้ผู้ประสบภัยกว่าครึ่งได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากบริการรถโดยสารปรับอากาศประจำทาง สาเหตุสำคัญมาจากระบบการบริการที่ขาดคุณภาพมาตรฐาน ทั้งคุณภาพของรถและคุณภาพของคนขับที่มาของปัญหา : รถโดยสารสาธารณะกลุ่มใหญ่เป็นรถร่วมบริการของภาคเอกชน ขาดการอุดหนุน ส่งเสริมด้านความรู้และเงินทุนจากรัฐ ทำให้ไม่สามารถยกระดับคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยได้อย่างเป็นระบบ การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มแข็งและขาดความชัดเจน การประกันภัยภาคบังคับเน้นการเยียวยาด้านชีวิตและร่างกาย ส่วนประกันภัยภาคสมัครใจเน้นใช้หลักฐานานุรูป หรือความยากดีมีจนเป็นเกณฑ์การพิจารณาเยียวยาความเสียหาย ระบบประกันภัยทั้งสองแบบยังให้ความสำคัญในสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารด้านอื่นๆในระดับที่น้อยมาก แนวทางแก้ไข• ให้รัฐประกาศรับรองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ และมีเกณฑ์ในการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นที่ชัดเจน และไม่ตัดสิทธิในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม รวมทั้งให้มีบทกำหนดโทษหากมีการละเมิดสิทธิผู้โดยสาร• ให้จัดตั้งกองทุนคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะขึ้น ภายใต้ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522  ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร  ส่งเสริมอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการที่มีประวัติการให้บริการที่ดีโดยอาจเป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และเป็นทุนในการพัฒนาองค์ความรู้สู่บริการรถโดยสารที่มีคุณภาพและปลอดภัยอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการผลักภาระของผู้ประกอบการมาสู่ผู้บริโภค และไม่ให้เป็นภาระกับรัฐบาลมากจนเกินไป• แหล่งที่มากองทุน ให้พิจารณาจากเงินรายได้ที่ได้รับจากภาษีรถยนต์ส่วนบุคคล ค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล  เงินค่าปรับ เงินสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตรง เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น   3. ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป• รถยนต์ไม่ได้คุณภาพ และรถยนต์ซื้อใหม่ ใช้ไปซ่อมไปปัญหาในกลุ่มรถยนต์ เป็นเรื่องร้องเรียนหลักในด้านสินค้าและบริการทั่วไปที่เข้ามาที่มูลนิธิฯเกือบจะทุกยี่ห้อดังปัญหามีหลายลักษณะ ตัวอย่างปัญหาในกลุ่มรถใหม่ เช่น รถติดก๊าซเอ็นจีวีจากโรงงานระบบทำงานไม่สมบูรณ์ ซื้อรถใหม่ป้ายแดงแต่มีปัญหาจุกจิกเกิดขึ้นตลอด ทำให้เกิดข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนรถใหม่แต่ถูกผู้ประกอบธุรกิจปฏิเสธ  ส่วนปัญหาเรื่องคุณภาพมาตรฐานของรถนั้น มีการร้องเรียนและกลายเป็นคดีฟ้องร้อง มี 2 กรณี คือ รถชนอย่างแรงแต่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัส ผู้ประกอบธุรกิจอ้างว่ารถชนผิดเหลี่ยมและชนแรงไม่พอ กับอีกกรณีคือ มีควันพิษรั่วไหลเข้ามาในห้องโดยสาร โดยผู้ขับขี่ไม่รู้ตัว และเกิดปัญหาสุขภาพ  แนวทางแก้ไข• ในกรณีที่พบว่ารถเกิดปัญหาชำรุดบกพร่อง ผู้บริโภคควรให้ผู้ประกอบธุรกิจทำการซ่อมแก้ไขก่อน และให้เก็บหลักฐานการซ่อมนั้นไว้ทุกครั้ง โดยผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายในค่าขาดโอกาสในการใช้รถยนต์ หรือขอให้มีรถใช้ระหว่างซ่อมได้• เมื่อให้โอกาสผู้ประกอบธุรกิจทำการซ่อมแก้ไขแล้วหลายครั้ง แต่ยังเกิดปัญหาเดิมขึ้นมาอีก หรือเกิดปัญหาใหม่ต่อเนื่อง ผู้บริโภคควรใช้สิทธิฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายหรือขอเปลี่ยนรถได้• แนวทางนี้ใช้สำหรับกรณีรถยนต์ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานเช่นกัน   ฉบับนี้คงรายงานได้เพียงแค่นี้ ติดตามเรื่อง สื่อและโทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ ปัญหาบริการด้านสุขภาพ อาหารและยา ได้ในฉบับหน้า ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 รำคาญเชฟโรเลตป้ายแดงกินน้ำมันเครื่อง

คุณไพฑูรย์ได้เดินทางเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษาปัญหารถยนต์กินน้ำมันเครื่องแต่ศูนย์บริการไม่เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ให้ จะใช้วิธีซ่อมอย่างเดียวคุณไพฑูรย์เล่าว่า ได้ซื้อรถยนต์เชฟโรเลต โคโลราโด รุ่น 2,500 ซีซี  เพื่อใช้รับจ้างบรรทุกของทั่วไป ตั้งแต่ปี 2548 มีระยะประกันเครื่องยนต์ 100,000 กิโลเมตรหรือ 3 ปี  วิ่งวันละไม่ต่ำกว่า 400 กิโลเมตร ปัญหาที่ทำให้คุณไพฑูรย์หัวเสียกับรถคันนี้มากคือ น้ำมันเครื่องจะหาย ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทุก 5,000 กิโลเมตรแทนที่จะเป็น 10,000 กิโลเมตรเหมือนรถป้ายแดงคันอื่นคุณไพฑูรย์ได้นำรถเข้าศูนย์บริการแจ้งถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ฝ่ายช่างของศูนย์บริการแจ้งว่าเป็นอาการปกติของรถรุ่นนี้ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องบ่อยมากทุกๆ 5,000 กิโลเมตร สุดท้ายทนต่อค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ไหวจึงเปลี่ยนมาใช้ศูนย์บริการอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งช่างเครื่องของศูนย์บริการแห่งนี้ได้ให้ข้อมูลว่ารถยนต์รุ่นนี้มีอายุการถ่ายน้ำมันเครื่องทุก 10,000 กิโลเมตรช่างเครื่องจึงได้แนะนำให้เข้าไปตรวจสอบกับศูนย์บริการใหญ่ คุณไพฑูรย์จึงได้ทำตามคำแนะนำโดยได้มีการทดสอบตามขั้นตอน เช่น ติดตั้งอุปกรณ์ดักไอน้ำมันเครื่อง แล้วให้ขับไปใช้งานเพื่อดูผลทีละหมื่นกิโลเมตรแต่อาการน้ำมันเครื่องหายก็ไม่หายเสียที ทดสอบตามขั้นตอนจนถึงเลขไมล์วิ่งมาที่ 95,947 กิโลเมตร จึงได้มีการนัดให้มาแก้ไขปรับปรุงเครื่องยนต์ ก็พอดีกับที่คุณไพฑูรย์ต้องใช้รถกว่าจะเข้าศูนย์บริการได้ เลขไมล์ก็เกิน 100,000 กิโลเมตรแล้ว คุณไพฑูรย์เห็นว่า ทางศูนย์บริการนั้นทราบดีว่าเครื่องยนต์มีปัญหาก่อน 100,000 กิโลเมตร แทนที่จะนัดเพื่อให้มาเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่แทนเครื่องยนต์เดิมกลับใช้วิธีแก้ไขเครื่องยนต์แทน จึงมาขอคำปรึกษากับมูลนิธิฯว่า จะเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้หรือไม่เพราะเป็นรถซื้อมาป้ายแดงแล้วเกิดปัญหาเช่นนี้แนวทางแก้ไขปัญหากรณีของความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้น สามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ แต่อย่างไรก็ดีการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้าใหม่ให้แก่ผู้บริโภคแทนการแก้ไขซ่อมแซมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องนั้น ก็ต่อเมื่อศาลเชื่อว่าความชำรุดบกพร่องนั้นมีอยู่ในขณะส่งมอบสินค้าและไม่อาจแก้ไขให้กลับคืนสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติ หรือถึงแม้จะแก้ไขแล้วแต่หากนำไปใช้บริโภคแล้วอาจเกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของผู้บริโภคได้  หรือพูดง่าย ๆ ก็คือแม้จะนำเรื่องขึ้นสู่ศาล หากศาลเห็นว่าความชำรุดบกพร่องนั้นไม่เกิดผลอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของผู้บริโภค ศาลก็จะสั่งให้มีการซ่อมสินค้าก่อน คงจะไม่สั่งให้เปลี่ยนสินค้าโดยทันที ซึ่งในกรณีรถของคุณไพฑูรย์นั้นทราบว่าศูนย์บริการได้ดำเนินการซ่อมแก้ไขเครื่องยนต์ให้จนสามารถใช้งานได้ตามปกติ และปัญหาน้ำมันเครื่องหายได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้วโดยที่ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะทางศูนย์บริการถือว่ายังอยู่ในระยะรับประกันอยู่  การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็น แต่ที่เสียความรู้สึกคือปัญหาถูกปล่อยให้เยิ่นเย้อยาวนานตรงนี้ต้องถือเป็นบทเรียนของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน ที่ศูนย์บริการมักใช้วิธีประวิงเวลาจนอายุประกันใกล้หมดหรือหมดไปและหาเหตุที่จะไม่รับผิดชอบต่อลูกค้า ทางแก้ไขคือ การทักท้วงไม่ควรทักท้วงด้วยวาจาอย่างเดียว ควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่แรกเมื่อทราบถึงปัญหา และหากทักท้วงล่าช้าก็จะลำบาก อย่างไรก็ดี หากคุณไพฑูรย์มีหลักฐานพบว่าปัญหาน้ำมันเครื่องหายยังปรากฏขึ้นอยู่หลังการซ่อมแซมแล้วก็ยังสามารถนำเรื่องฟ้องต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภคเพื่อขอให้เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ได้เช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 107 “ไฮสปีดกลายเป็นโลว์สปีด”

ปัญหาของอินเตอร์เน็ตที่มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคมากที่สุดในขณะนี้คือ เน็ตช้า ความเร็วไม่เป็นไปตามที่โฆษณา อารมณ์สะเทือนใจของชาวเน็ตเป็นอย่างไรบ้างลองอ่านดูกันครับ“ที่บ้านดิฉันใช้บริการอินเตอร์เน็ต แบบ 3Mb ค่ะ ใช้มาสองปีแล้ว แต่เพิ่งเปลี่ยนแพคเกจเป็น 3MB เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาและเมื่อเปลี่ยนแล้ว ความเร็วไม่เต็มสปีดสักเท่าไหร่ ที่สำคัญ หลุดบ่อยมากค่ะ โดยเฉพาะเวลาที่ฝนตก และตอนกลางคืนใช้ได้ 5-10 นาที เน็ตก็ตัดแล้วทำอะไรไม่ได้เลยโทรศัพท์ไปแจ้งกับทางศูนย์บริการก็รับเรื่องแบบแกนๆ เคยโทรไปหลายครั้งแล้วรอสายนานมาก แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขสักทีตอนนี้ใช้งานที่ราชบุรีค่ะ ศูนย์บริการปิดตอนห้าโมงเย็น แต่ปัญหาเกิดตอนกลางคืนค่ะ เคยโทรไปฝากเรื่องตอนกลางคืน เพราะอินเตอร์เน็ตใช้ไม่ได้ตอนเช้าพนักงานเพิ่งจะโทรมา ปัญหาก็หายไปแล้ว ทำแบบนี้ก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไรจริงมั้ยคะ?? จ่ายเต็มราคาทุกครั้งแต่เจอสภาพอินเตอร์เน็ตแบบนี้สมควรเรียกร้องมั้ยล่ะคะ”หรืออีกกรณีหนึ่ง“ผมทำสัญญาใช้บริการอินเตอร์เน็ตรายเดือน ความเร็ว 3 เม็ก แต่ความเร็วจริงต่างกับที่โฆษณาเอาไว้มากครับน่าจะโฆษณาว่าเน็ต 2.5 เม็กมากกว่า ต้องจ่ายเงินให้ทีโอทีทุกเดือน แต่ก็มีความรู้สึกเหมือนโดนเอาเปรียบอยู่ทุกเดือน ต่างกับของ ทีทีแอนด์ที มากครับ 3 เม็กเต็ม บางวันก็จะตกมาอยู่ที่ 2.9 หรือ 2.8 ดาวน์โหลดทุกอย่างเร็วทันใจ ผมใช้เน็ตของทีโอทีดาวน์โหลดไฟล์ให้ลูกค้า บางไฟล์ ต้องรอถึงสามวันกว่าจะโหลดเสร็จ ทั้งๆ ที่ เคยใช้ของทีทีแอนด์ทีใช้เวลาแค่ 8 ชั่วโมง เก็บค่าใช้บริการเท่ากันแท้ๆ แต่ทีโอทีกลับเอาเปรียบผู้บริโภคไม่ดีเลยครับ” “ดูหนัง ฟังเพลงได้ช้ามากๆ กระตุกหยุดโหลดทุกสามวินาที ทั้งที่เป็น 3 เม็ก เช็คความเร็วดูปรากฏว่าไม่ถึง 3 เม็ก โทรไปร้องเรียนที่ 1100 คอนแทคเซ็นเตอร์ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่รับสาย โทรไปกี่ครั้งก็ไม่มีเจ้าหน้าที่รับสาย มีแต่เสียงตอบรับอัตโนมัติว่าคู่สายบริการเต็มให้โทรมาใหม่เสียความรู้สึกมากๆ รบกวนช่วยรับเรื่องร้องเรียนของฉันด้วยค่ะ มันไม่ยุติธรรมเลยที่ต้องเสียค่าบริการเต็ม แต่ได้รับบริการห่วยๆแบบนี้” ฯลฯ “มีปัญหาสัญญาณหลุดบ่อย อีกทั้งมีความล่าช้าในการแก้ไข และไม่ได้รับความเร็วตามที่กำหนด 3 เม็กแต่ใช้งานได้เพียงไม่ถึง 1 เม็ก แต่ก็ยังเก็บค่าบริการรายเดือนเต็มจำนวนอีกด้วยทุกเดือน โดยที่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขให้เสร็จสมบูรณ์”แนวทางแก้ไขปัญหาบรรดาสารพันปัญหาอินเตอร์เน็ตล่าช้า ไม่เป็นไปตามสัญญา สามารถดำเนินการได้ 4 แนวทางนะครับ 1. สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ได้จัดทำโครงการทดสอบความเร็วอินเตอร์เน็ตของผู้ให้บริการร่วมกับ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย บนเว็บไซต์ www.speedtest.or.th ให้ไปเช็คความเร็วอินเตอร์เน็ตและแจ้งไว้เป็นหลักฐานที่นี่ ปกติแล้วถ้าได้ความเร็วสัก 80% ขึ้นไปก็ถือว่าเป็นคุณภาพที่พอรับได้ครับ2. ถ้าโทรแจ้งที่คอลเซนเตอร์แล้วไม่ได้ผล ผู้บริโภคทำหนังสือร้องเรียนโดยตรงที่บริษัทผู้ให้บริการ โดยเรียนถึงกรรมการผู้จัดการ เรื่องขอให้แก้ไขปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานการบริการ และขอให้คืนเงินค่าบริการในช่วงที่ไม่ได้ใช้งานไปหักลบกลบหนี้ของบิลรอบเดือนถัดไป ดังนั้นควรระบุให้ชัดเจนว่าเน็ตช้ามากในช่วงไหนถึงไหนจากหลักฐานที่เราได้เช็คจากwww.speedtest.or.th3. หากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไม่แก้ไขปัญหา หรือยังไม่ยอมคืนเงินในช่วงที่ไม่ได้ใช้บริการหรือใช้บริการแล้วแต่ได้ความเร็วไม่เป็นไปตามโฆษณาหรือสัญญา ให้ทำหนังสือร้องเรียนพร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนส่งถึงผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หรือ สบท. ส่งไปที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) 404 อาคารพหลโยธินเซนเตอร์ ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทร.02-2790250 โทรสาร 02-2790251 หรือจะเดินทางไปร้องเรียนด้วยตนเองก็ได้4. การร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สิ่งที่เราจะดำเนินการให้คือ ออกจดหมายเรียกร้องให้บริษัทปรับปรุงคุณภาพบริการ หากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ อีก คุณสามารถขอให้มูลนิธิฯ ดำเนินการเขียนคำฟ้องเพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นคดีผู้บริโภคได้ครับ ความผิดของผู้ให้บริการคือ การให้บริการที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานไม่เป็นไปตามที่โฆษณาหรือสัญญาไว้ครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 ไก่ทอดกับปัญหาน้ำมันทอดซ้ำ

ไก่ทอด เป็นหนึ่งในรายการอาหารสุดคลาสสิกที่แข่งกับหมูปิ้งแบบหายใจรดต้นคอมาอย่างยาวนานในวิถีชีวิตสังคมเมืองที่เร่งรีบ อันตรายจากการกินไก่ทอดที่ทุกคนน่าจะรู้กันดีคือ ไขมัน เพราะมันเป็นของทอด! กินมากไปไขมันพอกพูนแน่นอน   แต่คราวนี้เราขอชักชวนไปอีกเรื่องหนึ่ง อาจเรียกว่าเป็นอันตรายแบบเงียบๆ ก็ได้ นั่นคือ “น้ำมันทอดซ้ำ” ฉลาดซื้อขอนำท่านผู้อ่านมาดูผลทดสอบน้ำมันทอดซ้ำในไก่ทอดแบบวัดกันไปเลยว่ามีผู้ประกอบการรายใดบ้างที่ละเลยปัญหาเรื่องนี้   ชาวฉลาดซื้อเดินดุ่ยๆ ไปสุ่มซื้อไก่ทอดทั้งแบรนด์ท้องถิ่นและแฟรนไชส์ ที่เรียกว่า มีชื่อเสียงพอตัว ในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 21 – 23 มกราคม 2556 จำนวน 11 ตัวอย่าง แล้วนำส่งทดสอบ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี การทดสอบทำโดยนำตัวอย่างไก่ทอดมาบีบเอาน้ำมันออกแล้วใช้ชุดทดสอบน้ำมันทอดซ้ำตรวจหาค่า “โพลาร์” เพื่อวัดการเสื่อมสภาพจากการใช้งานของน้ำมันที่ใช้ทอด   ผลทดสอบ ข่าวดีคือ “ฉลาดซื้อ” พบว่าเกือบทุกตัวอย่างมีค่าโพลาร์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีเพียงตัวอย่างเดียวที่พบการใช้น้ำมันทอดซ้ำเกินค่ามาตรฐานได้แก่ ไก่ทอด แมคโดนัล (McDonald) สาขาห้าง เซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ข้างสำนักงานของ “ฉลาดซื้อ” นี่เอง) โดยพบโพลาร์เกินกว่าร้อยละ 25 อันเป็นตัวบ่งชี้ว่าน้ำมันเสื่อมสภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 283) พ.ศ. 2547 และวินิจฉัยได้ว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน ฝ่าฝืนมาตรา 25 (3) ของพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท   ข้อสังเกต มี 3 ตัวอย่างที่พบสารโพลาร์เกือบเกินค่ามาตรฐาน(น้ำมันใกล้เสื่อมสภาพ) ได้แก่ ไก่ทอดหาดใหญ่จากตลาดปทุมธานี ไก่ทอดเจ๊กีจากซอยโปโล ถนนพระราม 4 และไก่ทอดจีระพ้นธ์ จากตลาดหลังการบินไทย วิภาวดี   อันตรายของน้ำมันทอดซ้ำ น้ำมันที่ใช้ซ้ำจนเสื่อมคุณภาพเป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้รับประทานทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบ โรคหัวใจวาย โรคอัมพฤกษ์หรืออัมพาตและภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้หรือกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ไอของน้ำมันที่เสื่อมสภาพจะมีกลุ่มสารก่อมะเร็งทำให้ผู้ทอดอาหารเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดจากการสูดดม อันตรายของน้ำมันทอดซ้ำที่เสื่อมคุณภาพเกิดจากโครงสร้างของน้ำมันถูกเปลี่ยนเป็นสารประกอบที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น สารโพลาร์ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดหัวใจตีบ และสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เป็นต้น ฉลาดซื้อแนะนำ จากตารางข้อมูลจะเห็นว่าของแพงและเป็นแฟรนส์ไชส์ใช่ว่าจะมีมาตรฐานที่ดีและปลอดภัยเสมอไป ดังนั้น “อย่าติดแบรนด์” ช่วยลดความเสี่ยงได้เยอะอยู่ครับ ควรหลีกเลี่ยงไม่ซื้ออาหารทอดจากร้านค้าที่ใช้น้ำมันมีกลิ่นเหม็นหืน เหนียวสีดำคล้ำ ฟองมาก เหม็นไหม้ (ถ้าได้เห็นน้ำมันนะครับ) ทอดไก่รับประทานเองครับ รู้แน่นอนว่าปลอดภัยหรือไม่ (เพราะเราทำเอง ฮา…) หาคนช่วยรับประทาน(อร่อยกว่ากินคนเดียว) และกินแต่พออิ่ม อย่ากินไก่ทอดอย่างเดียวให้มีผักเคียงด้วยจะช่วยลดความเสี่ยงจากการได้รับไขมันและน้ำมันทอดซ้ำในของทอดได้ เพราะใยอาหารและสารอาหารในผักช่วยลดการสะสมของไขมันในร่างกายและยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งด้วยครับ   ตารางแสดงผลทดสอบน้ำมันทอดซ้ำในไก่ทอด ชื่อตัวอย่าง สถานที่เก็บตัวอย่าง ราคา ผลทดสอบ สรุปผล ไก่ทอดหาดใหญ่ ตลาดปทุมธานี 40 บาท/ชิ้น สีชมพูจาง น้ำมันใกล้เสื่อมสภาพ ไก่ทอดนายเอส (S) โรงอาหาร ม.เกษตรฯ 22 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอดอนงค์ ตลาด อตก. 25 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอด McDonald ห้าง Center One 124 บาท/ 2 ชิ้น ไม่มีสี น้ำมันเสื่อมสภาพเกิน 25% ไก่ทอดเจ๊กี ซ.โปโล ถ.พระราม 4 200 บาท/ตัว สีชมพูจาง น้ำมันใกล้เสื่อมสภาพ ไก่ทอดสมุนไพร หน้าอาคารพหลโยธินเพลส 35 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอดเดชา ปากซอยไมยราพ ถ.เกษตร-นวมินทร์ 45 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอด Chester Grill ห้าง Center One 140 บาท/ 4 ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอดจีระพันธ์ ตลาดหลังการบินไทย 30 บาท/ชิ้น สีชมพูจาง น้ำมันใกล้เสื่อมสภาพ ไก่ทอดหาดใหญ่ ตลาดบางจาก 40 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอด KFC ห้าง Center One 108 บาท/ 3 ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 %    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 167 ปัญหาที่ดินตาบอด ไม่มีทางออก จะทำอย่างไร ? ตอนที่ 2

ยังอยู่ในเรื่องของ “ที่ดินตาบอด” กันนะครับ เมื่อที่ดินของเรา “ไม่มีทางติดกับทางสาธารณะ หรือไม่มีทางเชื่อมไปสู่ทางสาธารณะได้” เราสามารถใช้กฎหมายช่วยได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ได้บัญญัติไว้ว่า “ ที่ดินแปลงใด มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่า เจ้าของที่ดินแปลงนั้น จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ ไปสู่ทางสาธารณะได้ที่ดินแปลงใด มีทางออกได้ แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือ ทะเล หรือ มีที่ชัน อันระดับที่ดิน กับทางสาธารณะ สูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่า ให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับที่ และ วิธีทำทางผ่านนั้น ต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็น ของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึง ที่ดินที่ล้อมอยู่ ให้เสียหายแต่น้อยที่สุด ที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็น ผู้มีสิทธิจะผ่าน จะสร้างถนน เป็นทางผ่าน ก็ได้ผู้มีสิทธิจะผ่าน ต้องใช้ค่าทดแทน ให้แก่เจ้าของที่ดิน ที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหาย อันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้น นอกจากค่าเสียหาย เพราะสร้างถนน ท่านว่า จะกำหนดเป็นเงินรายปี ก็ได้” จะเห็นว่ากฎหมายให้สิทธิเจ้าของที่ดิน ซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นรายล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะสามารถมี “ ทางจำเป็น “ ขึ้นมาได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9325/2553 การฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นโจทก์จะฟ้องได้ต่อเมื่อที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่น ล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1349 แต่หากเป็นกรณีแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกัน ทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกนั้นแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่งหมายถึงทาง สาธารณะที่มีอยู่ในขณะแบ่งแยกนั้นแล้ว ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 เมื่อปรากฏว่า การแบ่งแยกที่ดินพิพาทกับที่ดินของโจทก์ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1275 กระทำกันในปี 2531 ก่อนมีถนนพุทธมณฑลสาย 1 ในปี 2541 กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 มาบังคับได้ ทางจากที่ดินของโจทก์ออกสู่ทางสาธารณะทั้ง 3 ทาง เป็นเส้นทางที่ต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นและไม่ปรากฏว่าเป็นทางสาธารณะ อีกทั้งไม่ใช่ทางที่เป็นภารยทรัพย์ของที่ดินของโจทก์ ซึ่งเจ้าของอาจจะอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ และแม้เจ้าของที่ดินนั้นจะยินยอมให้โจทก์ผ่านที่ดินของตนได้ก็ไม่ใช่สิทธิตามกฎหมาย ประกอบกับมีระยะทางจากที่ดินของโจทก์ไปสู่ทางสาธารณะไกลไม่สะดวก จึงฟังได้ว่า ที่ดินของโจทก์ถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของผู้อื่นจนไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้ แต่การที่จะเปิดทางจำเป็นนั้น ต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของโจทก์โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอย ที่ดินพิพาทให้เสียหายน้อยที่สุด  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3484-3485/2548 ที่ดินของจำเลยและของ บ. เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์ แม้จะแบ่งแยกออกจากที่ดินของโจทก์ เป็นของ บ. ก่อนแล้วจึงแบ่งแยกที่ดินของ บ. เป็นของจำเลยภายหลัง ก็ไม่ทำให้ที่ดินของจำเลยไม่ใช่ที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์มาแต่เดิม แต่อย่างใด ถือว่าที่ดินของโจทก์และจำเลยเป็นที่ดินที่มีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาจาก ที่ดินแปลงเดียวกัน เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางพิพาท เป็นทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 กรณีรู้อยู่ว่าที่ดินที่จะซื้อเป็นที่ดินตาบอดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เช่นนี้ ศาลฎีกาก็วินิจฉัยว่าผู้ซื้อก็มีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็นได้  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5103/2547 การขอผ่านทางที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกจากทางสาธารณะนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มุ่งพิจารณาถึงสภาพที่ดินนั้น จะต้องถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเป็นสำคัญ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงมีสิทธิจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ โดยมิต้องกำหนดเงื่อนไขว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมจะต้องได้ที่ดินมาโดยสุจริต แม้จะฟังได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินมาโดยรู้อยู่แล้วว่ามีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ออกสู่ทางสาธารณะหมดไป ทางจำเป็นสามารถใช้ได้ตลอดไปเลยหรือ มีระยะเวลาสิ้นสุดเมื่อใด ? ด้วยเหตุที่ทางจำเป็นเกิดขึ้น เป็นการได้สิทธิตามกฎหมาย    กฎหมายมุ่งคุ้มครองสิทธิของผู้ที่มีที่ดินตาบอดจนไม่มีทางเชื่อมต่อสู่ทางสาธารณะเท่านั้น ดังนั้น เมื่อวันใดเจ้าของที่ดินนั้นมีทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้  หรือไปซื้อที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ทำให้ตนมีที่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ ทำให้ความจำเป็นต้องใช้ทางของผู้อื่นหมดไป   เช่นนี้   ก็ขอผ่านที่เขาอีกไม่ได้ ทางจำเป็นก็สิ้นสุดลง จากข้อมูลข้างต้น หวังว่าคงช่วยให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิของตนบนที่ดินตาบอดมากขึ้นนะครับ และในฉบับหน้า จะมีกฎหมายอะไรที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมาเล่าสู่กันฟังอีก คอยติดตามนะครับ สวัสดีครับ...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 ปัญหาที่ดินตาบอด ไม่มีทางออก จะทำอย่างไร ?

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ก็มีเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับที่ดินซึ่งเป็นประโยชน์ที่ผู้บริโภคควรรู้ไว้ เพื่อพิทักษ์สิทธิของตนเองมาแนะนำอีกเช่นเคยครับ ท่านผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “ที่ดินตาบอด” แค่ชื่อก็ฟังดูไม่น่าจะดีแล้วใช่ไหมครับ แต่หลายท่านคงนึกสงสัยว่าทำไมต้องเรียกแบบนั้น  ความจริงก็คือที่ดินตาบอดเป็นที่ดินซึ่ง  “ไม่มีทางติดกับทางสาธารณะ หรือไม่มีทางเชื่อมไปสู่ทางสาธารณะได้”    ซึ่งหลายท่านคงมีที่ดินเป็นของตนเอง แต่ก็มักเจอปัญหาว่า ไปซื้อที่ดินไว้แล้วปรากฏว่าที่ดินที่ซื้อนั้น ถูกที่ดินของคนอื่นรายล้อม เป็นที่ดินซึ่งอยู่ห่างจากถนนหนทางพอสมควรการเข้าออกต้องผ่านทางที่ดินของผู้อื่น  แล้วอย่างนี้ จะทำอย่างไรดี ถึงจะสามารถมีทางเข้าออกจากที่ดินของตนเองสู่ทางสาธารณะได้ ในเรื่องนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ได้บัญญัติไว้ว่า “ ที่ดินแปลงใด มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่า เจ้าของที่ดินแปลงนั้น จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ ไปสู่ทางสาธารณะได้ ที่ดินแปลงใด มีทางออกได้ แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือ ทะเล หรือ มีที่ชัน อันระดับที่ดิน กับทางสาธารณะ สูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่า ให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ ที่ และ วิธีทำทางผ่านนั้น ต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็น ของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึง ที่ดินที่ล้อมอยู่ ให้เสียหายแต่น้อยที่สุด ที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็น ผู้มีสิทธิจะผ่าน จะสร้างถนน เป็นทางผ่าน ก็ได้ ผู้มีสิทธิจะผ่าน ต้องใช้ค่าทดแทน ให้แก่เจ้าของที่ดิน ที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหาย อันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้น นอกจากค่าเสียหาย เพราะสร้างถนน ท่านว่า จะกำหนดเป็นเงินรายปี ก็ได้” จากบทกฎหมายดังกล่าว เห็นได้ว่ากฎหมายให้สิทธิเจ้าของที่ดิน ซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นรายล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะสามารถมี “ ทางจำเป็น “ ขึ้นมาได้ ดังนั้นสิทธิดังกล่าวเรียกว่าเป็นทรัพยสิทธิ เป็นสิทธิเหนือทรัพย์สินที่มีการรับรองไว้โดยกฎหมาย เจ้าของสิทธิดังกล่าวใช้อ้างกับบุคคลทั่วไปได้ ดังนั้นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวจึงไม่ต้องไปจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีเจ้าของที่ดินมีที่ติดทางสาธารณะ เช่น คลอง  แต่ปรากฏว่า คลองดังกล่าวน้ำตื้นเขิน ไม่สามารถใช้สัญจรไปมาได้เป็นเวลานานแล้ว เช่นนี้ เจ้าของที่ดินตาบอดก็สามารถขอให้เปิดทางจำเป็นได้เช่นกัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800 - 801/2544 คลองบางไผ่น้อย แม้ใช้เรือสัญจรเข้าออกได้ แต่ก็ขาดความสะดวกที่จะใช้สอยเป็นทางสาธารณะได้ตามปกติ จึงยังไม่พอที่จะถือได้ว่าเป็นทางสาธารณะตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1349 เหตุนี้โจทก์ทั้งสามจึงมีความจำเป็นที่จะต้องผ่านที่ดินของจำเลยซึ่ง ล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะโดยใช้ทางเดินพิพาทผ่านเข้าออกได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามใช้ทางเดินพิพาทเป็นทางจำเป็นนั้น ชอบแล้ว ในบางครั้งคนที่ใช้ทางเป็นเพียงผู้เช่าที่ดินจากเจ้าของที่ดินตาบอด ตนเองไม่ได้ใช้ทาง แต่ก็สามารถฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้ แม้สิทธิในทางจำเป็นตามมาตรา 1349 จะให้สิทธิเจ้าของที่ดินมีสิทธิใช้ทางจำเป็น แต่เจ้าของที่ดินก็สามารถให้คนอื่นใช้สิทธิในที่ดินแทนตนได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1364/2553 โจทก์เคยใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะ และในขณะยื่นฟ้อง ผู้เช่าที่ดินของโจทก์ทำสวนผลไม้ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินโจทก์มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกเช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นในที่ดินพิพาทของจำเลย แต่ถ้าเจ้าของที่ดินไม่ได้เป็นโจทก์ฟ้อง โดยมีผู้เช่าหรือผู้อาศัยสิทธิในที่ดินเป็นคนฟ้องคดี ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า ผู้เช่าหรือผู้อาศัยสิทธิในที่ดินไม่มีอำนาจฟ้อง ( คำพิพากษาฏีกาที่ 5740/2551 ) กรณีที่ดินแปลงเดียวกัน แล้วต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นหลายแปลง เช่นนี้ ทำให้เจ้าของที่ดินบางแปลงไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่กฎหมายก็มีทางออกให้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ได้ให้สิทธิเจ้าของที่ดินตาบอดดังกล่าว ขอให้เจ้าของที่ดินซึ่งรายล้อมอยู่นั้นเปิดทางจำเป็นได้ โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน โดย บัญญัติว่า “ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน” ซึ่งแตกต่างจากกรณี มาตรา1349 ที่ต้องเสียค่าทดแทนด้วย ผมขอลงเรื่องราวเพิ่มเติมออกไปอีกสักฉบับนะครับ รอติดตามครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 ปัญหาราคาพลังงาน ความจริงที่ไม่เท่ากัน

  พลังงานราคาแพง ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 1.ปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) อัตรา 50 สตางค์ต่อกิโลกรัมต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมถึงธันวาคม 2555 รวม 6 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาเอ็นจีวีสิ้นปีจะอยู่ที่ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบัน 8.50 บาทต่อกิโลกรัม (เท่ากับปรับขึ้นสูงถึง 70%) 2. ปรับขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) อัตรา 75 สตางค์ต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมถึงธันวาคม 2555 หรือราคาหน้าโรงกลั่น รวม 9 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาแอลพีจีสิ้นปีจะอยู่ที่ 27.13 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบัน 18.13 บาทต่อกิโลกรัม3. ปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซินทั้งระบบอัตรา 1 บาทต่อลิตร ทำให้เบนซิน 91 อยู่ที่ 31.09 บาทต่อลิตร เบนซิน 95 อยู่ที่ 42.42 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 35.44 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 จะอยู่ที่ 37.19 บาทต่อลิตร และอี 20 อยู่ที่ 34.44 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซล อัตรา 60 สตางค์ต่อลิตร อยู่ที่ 31.09 บาทต่อลิตร เพื่อส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยน้ำมันทั้ง 2 ชนิดปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 ส่วนการปรับขึ้นครั้งต่อไป กระทรวงพลังงานระบุว่าจะพิจารณาอัตราที่เหมาะสมและเสนอ กพช. พิจารณาอีกครั้ง ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติเห็นชอบตามมติ กพช. ให้ปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี ด้วยเหตุผลเพื่อให้ราคาจำหน่ายสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง คำถามก็คือ ต้นทุนที่แท้จริง เป็นความจริงของใคร ต้นทุนพลังงานที่แท้จริง ?? จากผลการศึกษาและจากการจัดประชุมสัมมนาหลายครั้งที่ผ่านมาของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา พบว่า นโยบายการลอยตัวเชื้อเพลิงทุกประเภทของรัฐบาล ซึ่งรวมถึงการประกาศให้ปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG และ NGV ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงทางเลือก โดยอ้างถึงความต้องการให้ราคาเชื้อเพลิงสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงนั้น  ข้อเท็จจริงคือ รัฐบาลใช้ฐานข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนรอบด้าน  และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งที่เรื่อง พลังงานแพงจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างใหญ่หลวง ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำ รายงานการศึกษา ของคณะกรรมาธิการฯ มาสรุปสาระสำคัญ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลอีกด้าน ที่ไม่ค่อยมีสื่อใดจะนำไปเปิดเผย   รายงานศึกษาตรวจสอบ เรื่อง “ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ” ของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา   1.ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบขนาดใหญ่หลายแหล่ง และมีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา   ปัจจุบันประเทศไทยมีการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบทั่วประเทศแล้วกว่า 5,000 หลุม  โดยมีแปลงสัมปทานทั้งสิ้น 81 แปลง แท่นผลิต 225 แท่น     เดือนมิถุนายนปี 2553 ไทยสามารถขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวได้ 40 ล้านลิตรต่อวัน และก๊าซธรรมชาติ (เทียบเท่าน้ำมันดิบ) ปริมาณ 105 ล้านลิตรต่อวัน จากเอกสารรายงานประจำปี 2552 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ระบุว่าปริมาณการขายปิโตรเลียมของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2524 ถึงสิ้นปี 2552 รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,628,647.50 ล้านบาท4 โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จัดเก็บค่าภาคหลวงได้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 329,729.26 ล้านบาท เท่ากับร้อยละ 12.54 และตั้งแต่ปี 2528 ถึงปี 2551 มีการจัดเก็บภาษีเงินได้เป็นจำนวนเงิน 429,212.28 ล้านบาท5 หากรวมค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ที่จัดเก็บตั้งแต่ปี 2524-2552 โดยเทียบกับมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้จากพื้นแผ่นดินไทย รายได้ที่รัฐจัดเก็บได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศเท่ากับร้อยละ 28.87 ของมูลค่าเท่านั้น ซึ่งจัดว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศที่มีทรัพยากรปิโตรเลียมอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยมีสถิติในการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปัจจุบัน  แผนภูมิปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ  ก๊าซธรรมชาติ  และก๊าซธรรมชาติเหลว (เทียบเท่าน้ำมันดิบ)จำนวนล้านลิตรต่อปี (พ.ศ. 2529-2553) ที่มา : กระทรวงพลังงานจากฐานข้อมูลของสถาบัน Energy Information Administration (EIA) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปี 2552 ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติอันดับ 23 และเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบ1อันดับ 35 จากจำนวน 217 ประเทศของโลก2  ขณะที่กลุ่มโอเปค หรือ Organization of the Petroleum Exporting Countries (OPEC) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มผู้ผลิตพลังงานปิโตรเลียมขนาดใหญ่ของโลกจำนวน 12 ประเทศ จัดอยู่ในผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับที่ 31 แรกของโลก  ข้อมูลดังกล่าวของสถาบัน EIA จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตพลังงานได้ปริมาณมาก แม้ว่าไทยจะไม่มีศักยภาพมากเท่าประเทศซาอุดิอาระเบียก็ตาม การผลิตปิโตรเลียมของไทยยังมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยมูลค่าของปิโตรเลียมที่สูงนี้เองทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่ต้องเผชิญกับปัญหาการบริหารจัดการรายได้จากทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม การทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ระดับสูง การใช้อำนาจโดยมิชอบ และความขัดแย้งในสังคม   2. การขึ้นราคาก๊าซ NGV เป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ ?     บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ได้ประชาสัมพันธ์ถึงต้นทุนที่แท้จริงของ NGV อยู่ที่ 14.96 บาท/ กิโลกรัมการขาย NGV ในราคา 8.50 บาท/กิโลกรัม จึงทำให้ ปตท ขาดทุน และต้องการให้รัฐบาลขึ้นราคา NGV   โครงสร้างราคา NGV ของ ปตท ต้นทุนเนื้อก๊าซ 8.39 บาท + ¬¬¬ค่าบริหารจัดการและขนส่ง 5.56 บาท + ภาษีมูลค่าเพิ่ม,ภาษีค่าการตลาด 1.01 บาท  รวม 14.96 บาท/กิโลกรัม   2.1 ต้นทุนเนื้อก๊าซ 8.39 บาท เป็นราคาที่สูงเกินจริง? โฆษณาของ ปตท. ระบุว่า “ต้นทุนเนื้อก๊าซที่ 8.39 บาท/ ก.ก. เป็นราคาเดียวกับที่ขายให้โรงไฟฟ้า” แต่ ปตท. ไม่เคยสดงข้อมูลต่อสาธารณะเลยว่า ราคาเนื้อก๊าซที่ ปตท. ซื้อจากปากหลุมก๊าซในอ่าวไทยนั้นราคาเท่าไหร่?  ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่แท้จริงโดยตรง คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา พบข้อมูลว่า ปตท. ซื้อก๊าซจากปากหลุมก๊าซในอ่าวไทย ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลกเกือบ 45-50% เช่น ในปี 2551 ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดสหรัฐ  ที่แหล่ง Henry Hub อยู่ที่ 8.79 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู แต่ราคาปากหลุมก๊าซในอ่าวไทย ปตท.ซื้ออยู่เพียง 4.85 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู (รายละเอียดตามตารางด้านล่าง) ปัจจุบัน (ตุลาคม 2554)  ราคาก๊าซธรรมชาติตลาดโลกถูกลงอย่างมาก ในแหล่ง Henry Hub ราคาอยู่ที่ 3.63 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูหรือเท่ากับ 4 บาท/กิโลกรัมเท่านั้น (คิดเทียบจากค่าความร้อน NGV จาก ปตท = 35,947 บีทียู/ก.ก.) ข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลที่รัฐบาลและ ปตท. ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน ดังนั้น ประชาชนจึงต้องตั้งคำถามกับ รมต.พลังงานและรัฐบาลว่า ได้เคยตรวจสอบหรือไม่ว่า ปตท. มีต้นทุนค่าซื้อก๊าซจากปากหลุมในอ่าวไทยในราคา 2 บาท/กิโลกรัม จริงหรือไม่ ถ้าใช่ย่อมแสดงว่า ราคาเนื้อก๊าซ 8.39 บาท/กิโลกรัม ที่ ปตท. โฆษณาประชาสัมพันธ์และนำไปเสนอขอปรับขึ้นราคากับรัฐบาลนั้น ย่อมเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จ และสูงกว่าราคาต้นทุนที่แท้จริงถึง 4 เท่าตัว 2.2 ต้นทุนปั๊ม NGV และค่าขนส่ง 5.56 บาท/กิโลกรัม  ต้นทุนที่สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพของ ปตท ? ก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยผลิตได้ ส่วนใหญ่ใช้โดยตรงเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ปตท.)และโรงไฟฟ้าเอกชน และเมื่อนำไปอัดใส่ถังด้วยความดันสูงสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ได้ (NGV) เนื่องจาก NGV เป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติเบากว่าอากาศ และมีน้ำหนักเบากว่า LPG หลายเท่าตัวจึงมีแรงดันมหาศาล การขนส่งไปให้ถึงสถานีบริการอย่างปลอดภัยจึงเป็นปัญหาสำคัญ เพราะ NGV ไม่สามารถบรรจุลงถังเหล็กขนาดใหญ่แบบรถบรรทุกก๊าซ LPG ได้ จึงต้องใช้วิธีส่งตามท่อส่งก๊าซหรือบรรจุลงในถังก๊าซที่มีความแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษเท่านั้น และจะมีสถานีบริการ NGV ทำหน้าที่จ่ายก๊าซ NGV ให้กับผู้ใช้รถยนต์ NGV ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2554 มีสถานีบริการ NGV จำนวน 453 สถานี จำหน่ายก๊าซ NGV 6,895 ตันต่อวัน และ สถานีบริการ NGV ที่มีอยู่แบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ สถานีบริการ NGV แนวท่อส่งก๊าซฯ และสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อส่งก๊าซฯ ข้อมูลจาก ปตท ณ วันที่ 30 กันยายน 2554 พบว่า มีสถานีบริการ NGV แนวท่อส่งก๊าซฯ เพียง 104 แห่งทั่วประเทศ (มีการใช้งานอยู่เพียงร้อยละ 54 ของกำลังการผลิตเท่านั้น)  ดังนั้นจึงมีสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อส่งก๊าซฯมากถึงเกือบ 350 สถานี การตั้งสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อส่งก๊าซฯ จำนวนมาก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการขาดทุนของก๊าซ NGV เนื่องจากสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อฯ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณใกล้ชุมชนที่ไม่มีแนวท่อก๊าซธรรมชาติผ่าน จึงต้องพึ่งพารถบรรทุกพ่วง(Trailer) ขนส่ง NGV จากสถานีจ่ายก๊าซฯ หลัก ซึ่งการขนส่ง NGV ในแต่ละเที่ยวจะขนส่งในสถานะที่เป็นก๊าซจึงบรรจุได้ในปริมาณน้อย มีระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งนาน มีค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้สถานีบริการ NGV นอกแนวท่อฯ นี้มีปริมาณ NGV สำหรับบริการแก่ผู้ใช้รถ NGV ไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่ความต้องการใช้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และผู้ใช้ NGV จะต้องรอจนกว่ารถ Trailer รอบถัดไปจะมาถึง สถานีบริการ NGV แนวท่อฯ เป็นสถานีฯ ที่ตั้งอยู่ตามแนวท่อส่งก๊าซฯ ซึ่งรับก๊าซธรรมชาติจากท่อส่งก๊าซฯ โดยตรง และสามารถจำหน่ายให้กับผู้ใช้รถ NGV ได้โดยตรง ดังนั้น สถานีบริการฯ ประเภทนี้จึงไม่ต้งพึ่งพารถ Trailer ในการขนส่ง NGV ทำให้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องความต่อเนื่องของปริมาณก๊าซฯ สำหรับให้บริการผู้ใช้รถ NGV จึงได้รับความสะดวกในการเติม NGV ที่สถานีบริการ NGVตามแนวท่อฯ ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ สถานีบริการ NGV จึงควรจะอยู่ตามแนวท่อส่งก๊าซ ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องมีการบริหารสินค้าคงคลัง(Inventory) และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางรถบรรทุก เพราะก๊าซถูกส่งไปตามแนวท่ออยู่แล้ว แต่หากเพิ่มสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อฯให้มีมากขึ้น ต้นทุนของค่าขนส่งก็จะสูงตามไปด้วย แทนที่ ปตท. จะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มสถานีบริการ NGV  แนวท่อฯ ให้มากขึ้น กลับแก้ปัญหาด้วยการปรับขึ้นราคาผลักภาระมาให้ผู้ใช้ก๊าซ NGV แทน จึงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้รถยนต์ NGV ทั้งหมดเป็นอย่างยิ่ง เมื่อคิดเทียบต้นทุนค่าปั๊ม ค่าขนส่งก๊าซที่ ปตท. แสดงอยู่ที่ 5.56 บาท/กิโลกรัม (ซึ่งไม่ควรจะสูงขนาดนี้หากเป็นสถานีบริการ NGV แนวท่อฯ) รวมกับราคาเนื้อก๊าซ NGV ที่ ปตท ใส่เข้ามาอีก 8.39 บาท/กิโลกรัม จะพบว่าต้นทุนค่าปั๊มและค่าขนส่งก๊าซมีสัดส่วนสูงถึง 40% ของราคาก๊าซทั้งหมดที่ยังไม่รวมภาษี แต่หากคิดเทียบจากต้นทุนราคาเนื้อก๊าซที่แท้จริงซึ่งซื้อจากหลุมก๊าซในอ่าวไทยที่ 2 บาท/กิโลกรัม จะพบข้อมูลที่น่าตกใจยิ่งกว่าว่า สัดส่วนของต้นทุนค่าปั๊ม ค่าขนส่งสูงถึง 73% ของราคาก๊าซทั้งหมดยังไม่รวมภาษี ใครที่ทำธุรกิจคงรู้ดีว่า...ถ้าต้นทุนค่าขนส่งมีสัดส่วนสูงขนาดนี้ หากไม่มีวิธีแก้ไขทางอื่น การเลิกทำธุรกิจน่าจะเป็นความคิดที่ดีที่สุด เพราะธุรกิจทั่วไปไม่สามารถผลักภาระขนาดนี้มาให้กับผู้บริโภคได้อย่างแน่นอน   3. การขึ้นราคาก๊าซ LPG เป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ ? ก๊าซ LPG เป็นก๊าซที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติและโรงกลั่นน้ำมัน โดยการนำเอาก๊าซโพรเพนกับก๊าซบิวเทนซึ่งเป็นส่วนประกอบของก๊าซธรรมชาติมาผสมกัน อัดใส่ถังก็จะเป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas - LPG) หรือที่เรียกว่า ก๊าซหุงต้ม สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน เชื้อเพลิงของรถยนต์ และนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทได้อีกด้วย ความจริงที่ควรรู้คือ รถยนต์ LPG ไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้ก๊าซ LPG ขาด และต้องเสียเงินนำเข้า จึงไม่ใช่เหตุผลที่รัฐบาลจะใช้เพื่อการปรับขึ้นราคา LPG ในปี 2553 ประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซ LPG ได้ 4.4 ล้านตัน พบว่าภาคครัวเรือนใช้อยู่ที่ 2.4 ล้านตัน และรถยนต์ใช้ 6.8 แสนตัน รวมแล้วเท่ากับ 3.1 ล้านตันเท่านั้น ยังเหลือให้ภาคอุตสาหกรรมได้ใช้ถึง 1.3 ล้านตันโดยไม่ต้องนำเข้า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ก๊าซ LPG ไม่พอเพียง เป็นเพราะกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มบริษัทในเครือของ ปตท. มีการใช้ LPG ในปริมาณที่สูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้ LPG ที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงพอ ในปี 2551-2553 การใช้ก๊าซ LPG ของกลุ่ม อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ที่ 9 แสนตัน , 1.28 ล้านตัน และ 1.59  ล้านตัน เรียงตามลำดับ เป็นปริมาณการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด แม้แต่ข้อมูลที่กระทรวงพลังงานเสนอต่อที่ประชุม กพช. เพื่อขอปรับราคา LPG ที่ผ่านมา ยังแสดงให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีสัดส่วนการใช้ LPG สูงเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 68% ของปริมาณที่ประชาชนทั้งประเทศใช้ นี่จึงเป็นสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ก๊าซ LPG ไม่เพียงพอ และเกิดภาระ การชดเชยจากการนำเข้าจาก ต่างประเทศ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 – กันยายน 2554 คิดเป็นเงินประมาณ 57,339 ล้านบาท แทนที่รัฐบาลจะไปจัดเก็บเงินค่าก๊าซกับกลุ่มปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น กลับกำหนดให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบ ส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพียงกิโลกรัมละ 1 บาทเท่านั้น ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้ก๊าซ LPG ต้องจ่ายเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน ในอัตรากิโลกรัมละ 8 - 11 บาท (ในช่วงปี 2555 เป็นต้นไป) และยังผลักภาระมาให้ประชาชนด้วยการขึ้นราคา LPG อีก   ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ข้อขี้แจงของ ปตท. ต่อกรณีต้นทุนราคาก๊าซเอ็นจีวี ปตท. ยืนยันว่าต้องปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีขึ้นตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ 8.50 บาท ต่อกิโลกรัม ต่ำกว่าต้นทุนมาก โดยราคากลางที่สถาบันปิโตรเลียมทำการศึกษาอยู่ที่ 15 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งการที่ภาครัฐอุดหนุนราคามาโดยตลอดเป็นการบิดเบือนกลไกราคา ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ทำให้ขณะนี้มีประชาชนออกรถใหม่ที่ใช้เอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงมาวิ่งบนท้องถนนเพิ่มถึงวันละ 300 คัน ซึ่งสุดท้ายจะมาแย่งการเติมก๊าซเอ็นจีวีจากรถบรรทุกและรถขนส่ง ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ จะทำให้ก๊าซเอ็นจีวีขาดแคลน และ ปตท.ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น และหากไม่ขึ้นราคาก็ต้องเข้าไปอุดหนุน โดยที่ผ่านมาตลอด 9 ปี ปตท. ขาดทุนสะสมแล้วกว่า 40,000 ล้านบาท การนำราคาก๊าซแอลเอ็นจีในสหรัฐฯมาอ้างอิงกับราคาของปตท. และพบว่าราคาที่สหรัฐฯถูกกว่า นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่สามารถมาอ้างอิงได้ เนื่องจากเป็นคนละแหล่งกับที่ ปตท.นำเข้า ซึ่ง ปตท.นำเข้ามาจากพม่า จีน และยังต้องมีต้นทุนค่าขนส่งในระดับสูง นอกจากนี้ราคาก๊าซที่สหรัฐฯ ต่ำ เนื่องจากเป็นนโยบายภายในประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน   ต่อกรณีต้นทุนราคาก๊าซแอลพีจี ปตท. บริษัทที่กำลังจะถูกแปรรูปอีกครั้งได้ชี้แจงถึงราคาต้นทุกก๊าซแอลพีจีว่า  การคำนวณราคาก๊าซที่ทำโดยสถาบันปิโตรเลียม ซึ่งได้ประมาณการต้นทุนราคาแอลพีจีแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ  ต้นทุนโรงแยกก๊าซอยู่ที่ 14.10 บาท กิโลกรัม มีราคาขายปลีกจะอยู่ที่ 21.80 บาท กิโลกรัมซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้ให้เงินชดเชยราคาก๊าซส่วนนี้ ทำให้ผู้ผลิตต้องรับภาระ 3.50 บาท กิโลกรัม หรือ 612 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนที่สองต้นทุนโรงกลั่นอยู่ที่ 23.33บาท กิโลกรัม ซึ่งรัฐบาลจ่ายเงินชดเชย 12.88 บาท กิโลกรัม หรือ 955ล้านบาท/เดือน ส่วนที่สามคือ ต้นทุนการนำเข้าอยู่ที่ 29.28บาท กิโลกรัม ซึ่งรัฐบาลจ่ายชดเชย 19.22บาท กิโลกรัม หรือ 2,153 ล้านบาทต่อเดือน และจากโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจี และขอยืนยันว่าราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีปัจจุบันยังต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงอยู่มาก และปัจจุบันรัฐบาลต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยการนำเข้าก๊าซแอลพีจีถึง 2 หมื่น 6 พันล้านบาท และชดเชยราคาให้โรงกลั่นน้ำมันอีก 1หมื่นล้านบาท นายวัชระ คุณาวัฒนาวุฒิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายวางแผนหน่วยธุรกิจก๊าซ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) )   โครงสร้างราคาที่อิงประโยชน์ผู้ขาย โครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจีกับเอ็นจีวียึดราคาที่ต่างกัน ขณะที่แอลพีจีไปยึดราคาตลาดโลกแต่เอ็นจีวียึดตลาดในประเทศ นอกจากนี้ยังพบว่าลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อก๊าซแอลพีจีคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ต้องซื้อก๊าซในราคาที่สูงกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 4 เท่าตัว  เมื่อราคาแอลพีจีสูงก็ไปยึดหลักอิงตามราคาตลาดโลก หลักอิงนี้จะได้ประโยชน์ต่อผู้ขายอย่างเดียว แต่เมื่อเป็นก๊าซเอ็นจีวีราคาตลาดโลกต่ำกว่า 3-4 เท่า เราไม่อิงตลาดเขาแต่ยึดตลาดในประเทศ (แสดงว่าจะใช้ราคาอะไรก็ได้ใช่หรือไม่)   นางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่10 อันดับแรกของ ปตท. ณ วันที่ 9 กันยายน 2554 ลําดับที่ รายชื่อ จํานวนหุน รอยละของจํานวน หุนทั้งหมด 1. กระทรวงการคลัง 1,459,885,575 51.145 2. กองทุนรวม วายุภักษ หนึ่ง โดย บลจ. เอ็มเอฟซี จํากัด (มหาชน) 217,900,000 7.634 3. กองทุนรวม วายุภักษ หนึ่ง โดย บลจ. กรุงไทย จํากั ด (มหาชน) 217,900,000 7.634 4. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร จํากัด 88,919,503 3.115 5. CHASE NOMINEES LIMITED 42 72,840,201 2.552 6. HSBC (SINGAPORE) NOMINEES PTE LTD 57,254,742 2.006 7. STATE STREET BANK AND TRUST COMPANY 41,235,271 1.445 8. NORTRUST NOMINEES LTD 31,371,462 1.099 9. สํานักงานประกันสังคม (2 กรณี) 25,794,700 0.904 10. STATE STREET BANK EUROPE LIMITED ที่มา http://ptt-th.listedcompany.com/shareholdings.html   กําไรและที่มาของรายได้ของปตท.วิเคราะห ผลการดําเนินงาน แยกตามกลุมธุรกิจ ป กําไรกอนหัก ดอกเบี้ยและ ภาษี (ลานบาท) กําไรก่อนหัก ภาษีและดอก เบี้ย หนวยธุรกิจ กาซธรรมชาติ (ลานบาท) กําไรจาก ธุรกิจการ สํารวจ และผลิต ปโตรเลี่ยม (ปตท สผ) (ลานบาท) กําไร (ขาดทุน) จากธุรกิจ น้ำมัน (ลานบาท) จากการคา ระหวางประเทศ (ลานบาท) คาใชจายในการบริหาร (ลานบาท) คาตอบแทน กรรมการ (ลานบาท) กําไรสุทธิทั้งป (ลานบาท) กําไรตอหุน(บาท) 2551 109,882.83 48,505 74,643 (1,720) 4,310 18,190 389 66,535 18 2552 102,004.71 32,921 51,570 9,000 2,016 22,322 508 68,690 21 2553 139,037.13 37,617 64,348 9,402 2,338 24,196 697 99,930 29 2554 ถึง ก.ย. 54 137,367.382 เกาเดือนแรก 21,052 465 101,772 มค-กย 54 31 อ้างอิงจาก รายงาน 56-1 ประจําปี 2553 หน้า 306 , 311 รอบปีงบประมาณ 2554 (1 ต.ค. 2553 - 30 ก.ย. 2554) ปตท.ใช้งบประมาณว่าจ้างหน่วยงาน องค์กรเอกชน โฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการและกิจกรรมต่างๆ รวม 44 รายการ วงเงินรวม 651.1 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณ 2553 ปตท.ได้ใช้เงินประชาสัมพันธ์ ผ่านบริษัทต่างๆ 34 รายการ รวมเม็ดเงิน 687.2 ล้านบาท รวม 2 ปี ปตท.หว่านเม็ดเงินเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์สูงเกือบ 1,400 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >