ฉบับที่ 129 วัคซีนสมอง (เข็มที่ 3) มหัศจรรย์น้ำผัก

  ผู้เขียนเป็นคนตื่นนอนเช้าราวตีสี่ถึงตีห้า ไม่ใช่ว่าขยันอะไรหนักหนา แต่เป็นเพราะมักเกิดอาการหิวในช่วงเช้าตรู่ และถ้าไม่ได้กินอาหารจะเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดหัวไมเกรนเอาง่ายๆ ยกเว้นกรณีเดียวคือ พอตื่นมาแล้วได้ออกกำลังไม่ว่าจะทำงานบ้านหรือเล่นกีฬา ก็สามารถเลื่อนไปกินอาหารเช้าได้ราว 7 โมงเช้า ความที่นอนตื่นเช้า เลยมักมีโอกาสได้ดูอะไรหลายๆ อย่างทางโทรทัศน์ที่เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการโฆษณาขายสินค้าหลอกลวงผู้บริโภคต่างๆ ยังไม่ตื่น ความจริงสินค้าหลายอย่างที่โฆษณาขายนั้นไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่คำพูดที่ใช้โฆษณานั้นเป็นตัวก่อปัญหา เนื่องจากเป็นคำโฆษณาที่ไร้ปัญญาหรือเจตนาจะหลอกลวงผู้บริโภคเอาดื้อๆ โดยคนที่โฆษณานั้นส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่มีอาชีพตบตาคนทั่วไปเป็นอาจิณคือ  นักแสดง นั่นเอง สินค้าที่กระทบใจผู้เขียนว่า ไม่ควรมีการโฆษณาเพ้อเจ้อขนาดนี้คือ เครื่องสกัดน้ำผลไม้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มันก็คือเครื่องปั่นแยกกากเพื่อให้เราคั้นน้ำผลไม้กินได้สะดวกขึ้นนั่นเอง ผู้เขียนเคยซื้อไว้ชุดหนึ่งให้นักศึกษาใช้ในห้องปฏิบัติการที่สถาบันราคาประมาณ 300 บาท ซึ่งเป็นของลดราคาแต่คุณภาพปรกติ และปัจจุบันก็ยังใช้อยู่เรื่อยๆ ตามความจำเป็นในการทำวิจัย ส่วนเครื่องสกัดน้ำผักผลไม้เพื่อให้ได้เอนไซม์มากินบำรุงร่างกายที่มีโฆษณาขายทางโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ทนั้น มีตัวอย่างราคาที่พบในการโฆษณาทั่วไปเช่น “ราคาช่วงแนะนำ 15,900 บาท เหลือ 14,900 บาท กรุงเทพ ปริมณฑล จัดส่งฟรี ต่างจังหวัดค่าขนส่ง ทั่วประเทศ 300 บาท พร้อมบริการหลังการขายที่ครบครัน ทั้งอะไหล่ และบริการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ XXXHome Product โทร. 081 8357YYY, 02 4131ZZZ และ Fax. 02 8698AAA ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทเครื่องคั้นแยกกากน้ำผัก ผลไม้ เพื่อสุขภาพ แบรนด์ดังของอเมริกา สั่งผลิตและติดแบรนด์ของตนเอง ตัวอย่างเช่น OBAMA (ชื่อสมมุติ) รุ่น VRT 330 (HD) และ VRT350 และอีกหลายแบรนด์ดัง สำหรับรุ่นที่จำหน่ายในประเทศไทย YAHOM (นี่ก็ชื่อสมมุติ) รุ่น HU-100 เป็นรุ่น TOP สุด เทียบเท่า OBAMA VRT350 ในประเทศสหรัฐอเมริกา” และมีอีกเครื่องหนึ่งโฆษณาในเว็บเดียวกันว่า “มีราคาช่วงแนะนำ คือ 22,500 บาท กรุงเทพฯ ปริมณฑล จัดส่งฟรี” พร้อมกำกับคำโฆษณาว่าเหมาะสำหรับใช้สกัดน้ำผักจากต้นอ่อนข้าวสาลี ซึ่งฝรั่งนิยมดื่มกัน เข้าใจว่ามันคงมีกลิ่นรสคล้ายน้ำสกัดจากหญ้า เพราะข้าวสาลีก็เป็นหญ้า ดังนั้นเครื่องนี้คงเหมาะกับคนที่สมองมีปัญญาคิดในระดับใด ท่านผู้อ่านคงพอเดาได้ ความจริงการดื่มน้ำผักและน้ำผลไม้เป็นเรื่องที่ดี น่าสนับสนุน แต่ผู้ดื่มก็ควรดื่มอย่างมีสติ รู้จักใช้ปัญญาคิดว่า ต้องการดื่มเพราะอะไร ซึ่งมันไม่ถึงกับมีเหตุผลเป็นร้อยแปดพันประการดอก ทั่วไปแล้วน้ำผักน้ำผลไม้นั้น ควรดื่มเพื่อแก้กระหาย ซึ่งดีกว่าการดื่มน้ำอัดลมใส่สี ผลประโยชน์ทางอ้อมที่ได้คือ สารที่เป็นประโยชน์พวกไวตามินบางชนิดและเกลือแร่หลายตัว ที่สำคัญก็คือ ผักและผลไม้หลายชนิดที่นำมาทำเป็นเครื่องดื่มในปัจจุบันนั้น เป็นพืชสมุนไพร มีศักยภาพในการกระตุ้นระบบทำลายสารพิษได้ดี เพียงแต่ต้องปรุงให้ดีหน่อย เพื่อกลบกลิ่นรสที่รุนแรงเกินห้ามใจ (ห้ามใจให้กินนะครับไม่ใช่ห้ามใจไม่ให้กิน) แต่ในบางเว็บไซต์ได้ผลิตน้ำผักและผลไม้ในแบบฉบับที่ไม่รู้ไปเรียนมาจากตำราเล่มไหน เช่น ผลิตน้ำหมักเอนไซม์จากผลไม้กว่า 20 ชนิด หมักนานกว่า 6 ปี เป็นอย่างต่ำ โดยใช้สูตรและวิธีการหมักตามธรรมชาติของ XXX แห่งชมรม YYY ภายใต้การดูแลของมูลนิธิ ZZZ  เป็นน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพที่ใช้เวลาในการหมักบ่มเพื่อสกัดเอาเอนไซม์และสาร อาหาร แร่ธาตุ วิตามิน ออกมาจาก…(บลา ๆๆๆๆๆ)…. ซึ่งดูไปดูมามันคือ น้ำส้ม (หมัก) ผลไม้รวมเสียมากกว่า แต่สิ่งที่รับได้ยากและเป็นเครื่องบ่งชี้ความมั่วซั่วของเว็บไซต์คือ การอ้างสรรพคุณว่า น้ำผลไม้เพื่อสุขภาพ มีประโยชน์ในการปรับความเป็นกรดเป็นด่างในร่างกาย  ทำให้ระบบการย่อยและการขับถ่ายดีขึ้น ทำให้แต่ละเซลล์ในร่างกายได้สารอาหารอย่างสมดุล  สลายสารพิษและสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย( ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ )  อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามินและเกลือแร่ คือ วิตามินบีรวม, บี 1, บี 2, บี12 สิ่งที่บ่งชี้ความมั่วนั้นมีหลายประเด็น แค่ประเด็นว่า น้ำผลไม้ให้โปรตีน ก็ลำบากใจที่จะรับแล้ว ทั้งนี้เพราะผลไม้ที่ให้โปรตีนนั้น ตั้งแต่ผู้เขียนหารับประทานโดยการสอนหนังสือมานั้น ก็ยังนึกไม่ออกเลยว่าได้แก่อะไรบ้าง ถ้าเป็นถั่วบางชนิดพอพูดได้ว่า มีโปรตีนสูง แต่ผลไม้ที่เป็นแหล่งของโปรตีนนั้น นึกไม่ออกเอาทีเดียว ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคควรหาความรู้ไว้ประจำตัวก็คือ สารอาหารที่ร่างกายต้องการมี 5 กลุ่มคือ แป้ง โปรตีน ไขมัน แร่ธาตุและไวตามิน นั้นมีอยู่ในอาหารอะไร ซึ่งข้อมูลประเภทนี้หาได้ตามหนังสือเรียนชั้นมัธยมทั่วไป การออกมาบอกว่า ผลไม้ให้โปรตีนนั้นมันส่ออะไรบางอย่างที่ท่านผู้อ่านควรคิดได้เองว่าควรเชื่อเว็บสังคโลกนี้หรือไม่ อีกตัวอย่างของการนำเอาผลไม้มาผสมปนกันแล้วหมักได้เป็นน้ำ มหามนตรา (ชื่อสมมุติ) ซึ่งแนะนำให้ “ควรดื่ม มหามนตรา อย่างน้อย 30 นาทีก่อนทานอาหาร เพราะเมื่อกระเพาะไม่เต็มไปด้วยอาหาร มหามนตรา สามารถซึมเข้าสู่ระบบต่างๆ ของร่างกายได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ยิ่งตอนเช้าหลังจากตื่นนอน ให้ มหามนตรา เป็นสิ่งแรกที่ท่านดื่ม ยกเว้นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคกระเพาะควรดื่ม มหามนตรา หลังอาหาร หลังจากเปิดใช้แล้วให้รีบปิดฝาคืนเพื่อมิให้จุลินทรีย์ในอากาศเข้าไปทำปฏิกิริยากับน้ำผลไม้ในขวด  และไม่ควรแช่ตู้เย็นเพราะจะทำให้จุลินทรีย์ดีๆ ที่จะเข้าไปช่วยท่านเข้าจำศีลและเมื่อท่านดื่มเข้าไปเขาจะใช้เวลาในตื่นกลับมา บางขวดอาจจะยังมีแรงดันอยู่บ้างเนื่องจากความตื่นตัวของจุลินทรีย์ที่ดีที่มีอยู่ใน มหามนตรา ขอท่านอย่าได้ตกใจ ถือได้ว่าเป็นเรื่องปรกติ” โดยมีเป้าหมายของลูกค้าคือ ผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพ อาทิ เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด โรคกระเพาะ เบาหวาน มะเร็ง เอดส์ ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจ พาร์กินสัน เป็นต้นโลหิตต่ำ โรคหัวใจ พาร์กินสัน เป็นต้นการโฆษณาแบบนี้ทำให้ท่านผู้บริโภคได้ดื่ม (น้ำผลไม้ปนเชื้อจุลินทรีย์อะไรก็ได้แบบไม่ระบุเจาะจง) ที่มีลักษณะเหมือนจะเป็นน้ำหมักชีวภาพที่มหาวิทยามหิดล ศาลายาได้ผลิตจากของเหลือพวกผักผลไม้ แล้วจ่ายแจกฟรีให้บุคลากรนำไปใช้เป็นปุ๋ยน้ำรดต้นไม้ เนื่องจากมันมีความคล้ายหรือใช่เลยว่าเป็น น้ำอีเอ็ม นั่นเอง ความพยายามของผู้ประกอบการในการขายสินค้าที่ตนเองก็ไม่รู้จักจริงว่ามันมีประโยชน์ตามที่คิดหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่เห็นได้จากโทรทัศน์ทั่วโลก ไม่ต่างกัน เพราะถ้าที่ไหนมีคนที่คิดว่าตนเองไม่แข็งแรง (ซึ่งก็อาจจริง) ณ ที่นั้นก็จะมีคนพยายามหยิบยื่น สิ่งที่อาจใช่หรือไม่ใช่ ขายให้ หลายครั้งในตอนเช้ามืดที่ผู้เขียนเห็นดาราออกมาให้ข้อมูลว่า ผู้บริโภคควรบริโภคน้ำผักเพื่อให้ได้เอนไซม์ที่ช่วยให้สุขภาพดี ผู้เขียนมักจะถามตัวเองว่า มันเป็นเอนไซม์ตัวไหนหว่าที่อยู่ในผักแล้วมนุษย์ต้องการ ในวิชาชีวเคมีที่ผู้เขียนเรียนจบมาจากจุฬาเมื่อสามสิบปีก่อนสอนว่า ส่วนใหญ่ของเอนไซม์ที่อยู่ในอาหารคนนั้นมักถูกทำลายด้วยความร้อน การปั่นผักนั้นแม้ไม่ใช่ความร้อน แต่แรงอัด กระแทก ปั่นของเครื่องมักทำให้เอนไซม์เสียคุณภาพ ดังนั้นเวลานักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับเอนไซม์ ไม่ว่าจากพืชหรือสัตว์ จะต้องเป็นคนสุภาพในการสกัดเอนไซม์ ไม่ลงมือลงไม้แบบรุนแรงเพราะเอนไซม์จะเสียสภาพใช้งานไม่ได้ ทำไมนักแสดงละครและภาพยนตร์ต่าง ๆ ที่รับโฆษณาเครื่องปั่นน้ำผักผลไม้ จึงมักกล่าวสนับสนุนให้คนซื้อเครื่องที่โฆษณาไปผลิตเอนไซม์จากพืชกิน คำตอบน่าจะง่าย ๆ ว่า เขาไม่เคยเรียนชีวเคมีมา คนที่เขียนบทให้เขาพูดก็ไม่เคยเรียนมา เจ้าของบริษัทก็ไม่เคยเรียนมา คนประดิษฐ์อุปกรณ์นี้อาจเคยเรียนมาแต่สอบตกชีวเคมีแบบไม่เหลือความรู้เลย ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นอันตรายต่อกระเป๋าผู้บริโภค เพราะการซื้อเครื่องปั่นสักเครื่อง เพื่อใช้ทำน้ำผักน้ำผลไม้ดื่มนั้นเป็นการดี แต่ไม่ควรต้องจ่ายในราคาหลายพันบาทจนถึงหลายหมื่นบาทขึ้นไป เพียงเพราะหลงเชื่อดาราที่ไร้ความรู้มาบอกเท่านั้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 128 วัคซีนสมอง (เข็มที่ 2) ความรู้พื้นฐานของชีวิต

  ถ้าต้องการปิ้งลูกชิ้น 1 ไม้ให้สุกพร้อมกันทั้งไม้ ควรใช้อุปกรณ์แบบใดและวางในลักษณะเช่นใด  1. ใช้ตัวสะท้อนพาราโบลารับแสงอาทิตย์ นำลูกชิ้นวางไว้ที่จุดโฟกัส2. ใช้แว่นขยายซึ่งเป็นเลนส์นูนทำหน้าที่รวมแสง และวางลูกชิ้นไว้ที่จุดโฟกัสของเลนส์ด้านตรงข้ามกับด้านที่แสงตกกระทบ3. ใช้แผ่นโค้งพาราโบลารับแสงอาทิตย์ และวางลูกชิ้นไว้ตามแนวจุดโฟกัส4. ใช้กล่องอบแห้งแสงอาทิตย์ และวางลูกชิ้นภายในกล่องอบแห้ง  ที่ท่านผู้อ่านเห็นนี้เป็น ข้อสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย วิชาวิทยาศาสตร์กายภาพชีวภาพ วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2546 เวลา 15.00 -17.00 น ได้มาจาก http://www.unigang.com ซึ่งแสดงให้เห็นความพยายามของคนออกข้อสอบในการประยุกต์ความรู้เกี่ยวกับแสงอาทิตย์และพลังงานสู่ชีวิตประจำวันของผู้เรียน แต่ความพยายามนี้น่าจะไร้ประโยชน์เพราะคงไม่มีใครทำในชีวิตจริง ยิ่งถ้าไปถามเด็กที่ไม่ได้เรียนสายสามัญเพื่อเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย เด็กคงบอกว่า ไปเซเว่น ก็ได้คำตอบแล้ว  ผู้เขียนเคยคุยกับผู้เข้าฟังการบรรยายต่างๆ ที่เกี่ยวกับอาหาร โภชนาการและสุขภาพ พบว่าความรู้ทางวิชาการที่ได้จากการไปโรงเรียนนั้น หลายอย่างไรไม่ได้ช่วยให้ประชาชนเอาตัวรอดจากการถูกหลอกลวงให้ซื้อสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพเลย เพราะเป็นความรู้ที่ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานในด้านการ คิดเป็น ของสมอง แต่มักเป็นความรู้ตายที่จำไว้ใช้ตอบข้อสอบ เมื่อเวลาผ่านไปก็ลืม ดังนั้นเมื่อพบผู้ประกอบการขายสินค้าสุขภาพที่มีความสามารถพิเศษในการเสกสรรปั้นแต่งข้อมูล โอกาสที่ถูกหลอกของผู้บริโภคจึงเกิดขึ้น  ดังนั้นในฉลาดซื้อฉบับนี้เราจะมาพิจารณาดูว่า ทำไมคนเราถึงยอมถูกหลอกให้ซื้ออะไรต่อมิอะไรกิน ซึ่งดูเหมือนกับเพลง รู้ว่าเขาหลอก ของศิรินทรา นิยากร ที่บรรยายว่ามันเป็นเวรกรรมที่ต้องถูกหลอกทั้งที่ก็รู้   จุดอ่อนของผู้บริโภค การหลอกลวงนั้นมีทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่คนอเมริกันซึ่งน่าจะมีความรู้ดี แต่เมื่อมีปัญหาทางสุขภาพ หลายส่วนก็ยังหลงเชื่อกระบวนการรักษาที่บางครั้งดูไม่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์  ความรู้ทางวิทยาการการแพทย์ของมนุษย์ในปัจจุบันได้ก้าวหน้าไปมากแล้ว แต่ผู้ที่ทนทุกข์ทรมานต่อการเผชิญกับความเจ็บป่วยเรื้อรัง ความผิดปรกติของร่างกาย หรือแม้แต่ความตายที่กำลังมาเยือน ยังจำเป็นต้องหาอะไรก็ได้ ที่ให้ความหวังว่าจะพ้นจากทุกขเวทนาที่ประสบอยู่ สภาวการณ์ดังกล่าวนี้จึงเอื้อต่อการถูกเอาเปรียบในการถูกกล่อมให้ซื้อทั้งสินค้าและบริการสุขภาพจากนักขาย ซึ่งบางครั้งเป็นผู้ที่จบการศึกษาสูงแต่ไร้คุณธรรม โดยที่เหยื่อนั้นมักมีลักษณะต่อไปนี้เป็นองค์ประกอบ ขาดความระแวงระไว อาการนี้เป็นโทษสมบัติหลักของผู้เคราะห์ร้ายซึ่งมักเชื่อในข้อมูลที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ แม้แต่บนกระดาษที่พับเป็นถุงกล้วยแขก ยิ่งถ้าคนให้ข้อมูลเป็นดอกเตอร์ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นด๊อกจากไหน เชื่อได้หรือไม่ เพราะในอเมริกานั้นด๊อกห้องแถวมีเยอะมาก พวกนี้มักอ้างว่าตนเองมีประสบการณ์สูง ผู้เคราะห์ร้ายก็จะทึกทักเองว่าข้อมูลคงเป็นจริงดังโฆษณา ยิ่งถ้าเป็นการขายสินค้าหรือบริการที่รับประกันความรวดเร็ว สะดวกสบาย หายจากโรคง่าย ความเชื่อถือก็จะง่ายขึ้น ผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้จึงอาจถูกจำแนกได้ว่า มีปัญหาทางจิตโดยคิดว่าตนเองนั้นอ่อนแอทั้งปัญญาและร่างกาย ทำให้ต้องหาคนที่ฉลาดกว่ามาปกป้อง สื่อสาธารณะบางประเภทก็เป็นแหล่งที่มาของข้อมูลหลอกลวง ปัญหานี้มักไม่มีใครยื่นมือเข้าไปจัดการ เพราะของชั่วร้ายหลายคนพยายามหลีกเลี่ยง แม้แต่คนที่มีหน้าที่ดูแลก็พยายามหลีก สื่อเหล่านี้มีทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์และออกอากาศด้วยกรรมวิธีต่างๆ โดยเฉพาะประเภทหนีไปอยู่บนดาวเทียมนั้น ร้อยละร้อยหารับประทานแบบหลอกลวงทั้งสิ้น โดยเมื่อได้เงินจากเหยื่อแล้วมักไม่สนใจรับผิดชอบต่อคำรับประกันว่าสินค้านั้นใช้ได้หรือไม่ ผู้เขียนก็ไม่ทราบว่าเราจะพึ่ง กสทช ที่เพิ่งได้มาหมาดๆ หรือไม่ เพราะคลื่นของสื่อหลายคลื่นเป็นคลื่นหลอกลวงประจำวันเชื่อในสิ่งมหัศจรรย์ ประเด็นนี้เป็นลักษณะทั่วไปของคนไทยที่มักกล่าวว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เห็นพืชหรือสัตว์หรือสิ่งของที่มีลักษณะประหลาดก็กราบไหว้บูชาได้ ดังนั้นพี่น้องชาวไทยหลายคนจึงง่ายต่อการที่จะถูกโน้มน้าวให้เชื่อในความมหัศจรรย์ของอะไรก็ตามที่อาจมีเศษทองคำเปลวติดอยู่ แล้วนำมาบูชาหรือแช่น้ำดื่ม หรือแม้แต่ซื้อหนังสือมาสวดคาถาภาษาประหลาดเพื่อปลุกเสกอะไรสักอย่างด้วยอาคมเพื่อหวังช่วยตนเอง  มั่นใจในตนเองสูง ลักษณะดังกล่าวนี้มีโอกาสได้ทั้งสองด้านในการถูกชักชวนให้ซื้อสินค้าไม่เข้าท่าคือ อาจซื้อทันทีหรือไม่ซื้อตลอดไป ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องมีศิลปะในการหลอกสูงมากที่จะขายสินค้าให้บุคคลประเภทนี้ ซึ่งถ้าขายได้ ก็จะขายได้กับคนอื่นได้ เนื่องจากลูกค้าลักษณะนี้จะทุ่มกายถวายหัวประชาสัมพันธ์สินค้าต่อในลักษณะ หมาจิ้งจอกหางด้วน ที่พยายามประโลมเล้าให้คนมีความคิดเหมือนตน ความสิ้นหวังในชีวิต ผู้เคราะห์ร้ายหลายคนประสบปัญหาโรคร้ายที่แม้แพทย์ก็บอกว่า เป็นอาการของโรคที่อยู่ในกลุ่มร้อยละ 10 ของการเจ็บป่วยที่รักษาหรือไม่รักษาก็หาย คือ คนไข้หายไปจากโลกนี้  เคยมีท่านผู้รู้ท่านหนึ่งบรรยายทางวิทยุสถานีหนึ่งว่า โรคที่มนุษย์เป็นนั้นแบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกมีจำนวนร้อยละ 80 ไม่ต้องรักษาก็หายได้เอง ส่วนกลุ่มที่สองนั้นเป็นร้อยละ 10 ที่หายเมื่อได้รักษา ส่วนกลุ่มที่สามคืออีกร้อยละ 10 รักษาอย่างไรก็ตาย ดังนั้นเมื่อมีใครสักคนมาหยิบยื่นการบำบัดโรคที่เป็นความหวังว่าอาจหายได้ให้ ทุกคนในกลุ่มที่สามก็จะไขว่คว้า ซึ่งหลายครั้งก็อาจหายหรือยืดอายุได้  ผู้เขียนได้เคยเห็นตัวอย่างของคนไข้ป่วยเป็นเอดส์สองคนที่ทำงานที่เดียวกัน คนหนึ่งตายไปตามความเป็นไปของโรค ในขณะที่อีกคนขวนขวายหาอะไรต่อมิอะไรมากิน แล้ววันหนึ่งก็ดูดีขึ้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้ต้องเชื่อว่า เอดส์รักษาให้หายไม่ได้ แต่อยู่กับมันอย่างมีหวังได้ ถ้าปฏิบัติตนถูก แต่จะมีสักกี่คนที่จะโชคดีอย่างนี้ เพราะส่วนมากจะถูกหลอกเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนอกจากโรคร้ายแรงแล้ว ยังมีกลุ่มคนที่สิ้นหวังจากความแก่ ความที่ไม่สามารถหยุดยั้งความเหี่ยว กล่าวง่าย ๆ ว่าเอาชนะสังขารไม่ได้ ก็มักจะเป็นเหยื่ออันโอชาของผู้ขายโดยหวังว่าจะกลับมาเป็นหนุ่มสาวได้  รู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า alienation ความรู้สึกนี้คนที่เคยไปอยู่ต่างประเทศในเมืองที่ไม่มีคนไทยเลยคงเข้าใจดี เป็นความรู้สึกว่ามองไม่เห็นใครเป็นที่พึ่ง บุคคลที่รู้สึกเช่นนี้ จะต่อต้านการรักษาพยาบาลแบบแพทย์แผนปัจจุบันและมักชอบวิธีการทางธรรมชาติ ไม่ชอบการใช้ยาซึ่งเป็นสารเคมีเนื่องจากมีความรู้บ้างว่า สารเคมีนั้นมักมีความเป็นพิษเมื่อใช้ในปริมาณสูง ในขณะที่สารธรรมชาติซึ่งมักอยู่ในรูปของสมุนไพร(ไม่ใช่สารบริสุทธิ์) กว่าจะแสดงความเป็นพิษนั้นจะต้องใช้ปริมาณสูงมากๆ จนเป็นไปไม่ได้ที่จะรับสารนั้นเข้าร่างกาย ลักษณะที่เด่นชัดของเหยื่อเหล่านี้คือ มีความไม่เชื่อถืออย่างรุนแรงต่อผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข อุตสาหกรรมอาหาร บริษัทยา และหน่วยงานรัฐ ซึ่งอาจเนื่องมาจากระบบการทำงานของบุคลากรของรัฐเป็นแบบพิธีรีตองมากจนน่าเบื่อ ดังนั้นหลายครั้งที่คนกลุ่มนี้จะเป็นเหยื่อของการแพทย์นอกระบบ ซึ่งมักอยู่ในที่ห่างไกลจากตัวเมือง คนไข้เข้าถึงได้เร็ว ไม่ต้องใช้เวชระเบียนให้เบื่อหน่าย  จากตัวอย่างลักษณะของผู้ที่มีอาการภูมิต้านทานสมองบกพร่องนี้จะเห็นว่า การที่จะทำให้คนไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้านั้น คงต้องทำการกำจัดลักษณะดังกล่าวด้วยการวางพื้นฐานการศึกษาให้มีการกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของสมองในการรับรู้ข้อมูลว่า ข้อมูลด้านสุขภาพที่ได้รับนั้นเป็นข้อมูลถูกหรือผิดเสียก่อน เพื่อให้การบริโภคสินค้าหรือบริการด้านสุขภาพนั้นเป็นไปในทางที่ไม่มีการหลอกลวง  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 127 วัคซีนสมอง (เข็มที่ 1) โฆษณามหาหลอก

  ผู้เขียนเคยได้ดูรายการโทรทัศน์ที่มีวิทยากรออกมาให้คำจำกัดความของ โฆษณา ว่า เป็นการสร้างการรับรู้ของผู้บริโภค โดยการให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ การโฆษณานั้นจะมีเป้าหมายที่แน่นอนว่า ผู้รับข้อมูลเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน หรือวัยใกล้แย้มฝาโลง เป็นต้น  เป้าหมายของการโฆษณาในแต่ละวัยนั้นจำแนกย่อยได้อีกเช่น วัยรุ่นไร้สมอง(พวกไร้สิ่งยึดเกาะทางจิตใจ ต้องหาไอดอลไว้สักการะ) วัยรุ่นขี้เกียจเรียน(ประเภทอยากเอ็นติดมหาวิทยาลัยดีๆ แต่ขี้เกียจเรียนเลยต้องกินสินค้าที่เข้าใจว่าเพิ่มความคิดให้สมอง) เป็นต้น สำหรับวัยใกล้แย้มฝาโลงก็คงต้องแบ่งเป็นหญิงและชาย เช่น ขายสินค้ากันหน้าเหี่ยว อกย้อย ไร้สมรรถนะความเป็นชาย เป็นต้น  นอกจากนี้การโฆษณายังรวมทั้งการสื่อในวัตถุประสงค์ที่ทำให้องค์กรดูมีคุณค่าเช่น บางองค์กรหารับประทานแบบผูกขาดการทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งอากาศและน้ำ แต่ออกมาปลูกป่าบ้างเป็นครั้งคราว  เขาทำโฆษณากันอย่างไร  ในการทำโฆษณานั้น ผู้ที่คิดโฆษณาจะคิดตัวโฆษณาโดยอาศัยความเชื่อของผู้บริโภค และมาตรฐานการกำกับดูแลเรื่องโฆษณาในแต่ละประเทศเป็นพื้นฐานสำคัญ แต่ที่เป็นลักษณะร่วมของการโฆษณาคือ การให้ข้อมูลเฉพาะด้านดีของสินค้าเท่านั้น ส่วนที่เป็นปัญหาเนื่องจากสินค้าจะมีการเม้มริมฝีปากไว้ไม่ให้มันหลุดรอดออกมาให้ผู้บริโภคได้ยิน โดยหมายว่าให้ผู้บริโภคไปมีประสบการณ์ตรงเอาเอง เหมือนเป็นการสนองตอบนโยบายของหลายโรงเรียนที่พยายามให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่เด็กๆ เรียกว่า ควายเซนเตอร์ การโฆษณานั้นไม่ว่าจะเป็นทางโทรทัศน์ วิทยุ แผ่นพับ เศษกระดาษปลิว หรืออื่น ๆ อาจแบ่งแบบง่าย ๆ โง่ ๆ ได้เป็น การโฆษณาตรงๆ ชนิดจะขายอะไรก็บอกเลยจะขาย ขอให้ผู้บริโภคเชื่อแล้วมาซื้อเถอะไม่ผิดหวังได้เสียเงินแน่ แต่ไอ้ที่จะได้รับการตอบแทนแบบที่ต้องการนั้นคนทำโฆษณาไม่รู้ด้วย เพราะคนทำโฆษณาไม่ได้เป็นคนทำสินค้า การโฆษณาแบบนี้บางครั้งก็ไม่ได้เป็นการหลอกลวงอะไรเช่น การโฆษณายาถ่ายพยาธิ ซึ่งต่างกับการโฆษณาขายขยะที่ถูกทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มที่มักอวดอ้างสรรพคุณเกินเลยความจริง  แบบที่สองเป็นการโฆษณาแบบประชาสัมพันธ์ เป็นการทำเพื่อให้คนสามารถจดจำชื่อบริษัทได้ว่ายังมี brand นี้อยู่ในโลกนะ เพราะสินค้าของบริษัทนั้นได้ติดตลาดแล้ว ไม่ต้องโฆษณาก็น่าจะอยู่ได้ แต่ไม่ไว้ใจเสียทีเดียว เนื่องจากลูกค้าขาประจำนั้นก็แก่ไปตามวันเวลา ลูกของลูกค้าอาจไม่รู้จักสินค้าหรืออาจบอกว่า เนื่องจากเป็นสินค้าที่พ่อแม่ใช้ มันเลยต้องเชยระเบิด เพราะพ่อแม่อยู่ในยุค baby boom แต่ลูกมันเป็นพวก generation XYZ ขืนใช้สินค้า brand เดียวกันกับพ่อแม่เพื่อนล้อตาย ดังนั้นบริษัทจึงต้องหาทางดึงพวกลูกทรราชเหล่านี้ให้กลับไปมี brand royalty เหมือนพ่อแม่ ด้วยวิธีการต่างๆ แม้กระทั่งการหลอกลวง ประเภทที่สาม การโฆษณาแบบดูฉลาดแฝงความโง่ ซึ่งมักเห็นตามละครซิทคอม(ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ซิทคอมที่แท้จริง เนื่องจากเป็นการเปิดเทปเสียงคนหัวเราะ ปรบมือ ถ้าเป็นซิทคอมจริงต้องมีการหมุนกล้องไปให้เห็นว่า มีคนนอกกองถ่ายเข้าไปนั่งดูแล้วเอ็นจอยไปด้วย) คนทำโฆษณามักคิดว่าต้องทำแบบนี้เพราะคนไม่ชอบดูโฆษณาตรง ต้องหาวิธีแฝงเช่น เอาถ้วยกาแฟที่มียี่ห้อไปวางบนโต๊ะอ่านข่าว เอาป้ายโฆษณาสินค้าไปแปะที่หลังคาตึกแถวเวลาถ่ายช็อตอินเสิร์ตก่อนเข้าฉากจริง เหล่านี้แสดงความขี้เท่อของการโฆษณาออกมาโดยแท้  มีประเด็นหนึ่งที่น่าประหลาดใจคือ ไม่มีการกำหนดให้การโฆษณาสินค้าต้องบอกราคากลางของสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้เป็นเครื่องตัดสินใจในการซื้อสินค้านั้น ดังนั้นสินค้าที่มาจาก lot เดียวกัน จึงอาจมีราคาที่ต่างกันเมื่อซื้อต่างแหล่งขาย ยกเว้นกรณีของน้ำมันที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ ซึ่งรัฐคุมราคาไว้ให้ใกล้กัน เพราะบางทีคนละยี่ห้อก็มาจากโรงกลั่นเดียวกัน ไม่ต้องโฆษณาหลอกให้มากนักผู้บริโภคก็ตัดสินใจซื้อ โดยความรู้สึกว่า เป็นบริษัทของคนไทยหรือต่างด้าว ซึ่งคล้ายๆ เป็นการวัดใจในความรักชาติไปกลายๆ  ลักษณะโฆษณาเอาเปรียบผู้บริโภค โฆษณาที่เอาเปรียบผู้บริโภคนั้นมีมากมาย เช่น กรณีบริการอินเตอร์เน็ตบอกว่าเร็วถึง 6.0 Mb นั้น เมื่อมีผู้นำไปทดสอบจริงในบริเวณที่เป็นแหล่งที่ควรจะมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตเร็ว เช่น สยามสแควร์นั้นกลับพบว่ามีความเร็วจริงแค่ 0.1 Mb บริษัทจะตอบโต้ทันทีว่า เพราะมีคนบ้าเน็ตอยู่แถวนั้นเยอะ อยากให้เร็วจริงก็ต้องไปเล่นแถวบางกระเจ้าสมุทรปราการหรือบางระมาดใกล้พุทธมณฑลสิ จะได้เร็วตามที่โฆษณาไว้  บางครั้งก็มีการโฆษณาสินค้าแบบปิดๆ เปิดๆ เช่น นำคนที่ไม่ใช่ทันตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจริงๆ มายืนหันหลังแนะนำผลิตภัณฑ์ยาสีฟัน โดยบอกในโฆษณาว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญที่โดยจรรยาบรรณแล้วให้เห็นหน้าไม่ได้ ลักษณะนี้เป็นการพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า รัฐไม่ได้ดูแลหรือไม่อยากดูแลในเรื่องนี้ ปล่อยให้คนออกมาโกหกได้ในที่สาธารณะ  ความจริงแล้วในประเด็นการโกหกผ่านสื่อนั้นน่าจะมีการควบคุมอย่างจริงจัง เช่น ถ้าพรีเซนเตอร์บอกว่าดื่มสินค้านี้เป็นประจำทุกวันในโฆษณา พร้อมทำท่าเปิดตู้เย็นที่มีแต่เครื่องดื่มที่โฆษณา ทั้งที่ในสถานการณ์จริงแล้วรากแตกออกมาทุกครั้งที่ลองดื่ม ก็น่าจะมีกฎหมายสักข้อที่จะลงโทษฐานหลอกลวง หรืออย่างน้อยองค์กรทางศาสนาน่าจะออกมาประณามว่าเป็นคนผิดศีลข้อ 4  ในเรื่องการผิดศีลข้อ 4 นี้ผู้เขียนได้ดูรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งชื่อ ทีวีธรรมดา ซึ่งออกอากาศทางไทยพีบีเอสแต่ต้องไปดูย้อนหลังใน youtube เพราะในเว็บของไทยพีบีเอสผู้เขียนหาไม่พบ เป็นตอนชื่อ คนหลอกคน ซึ่งมีดาราที่น่าสนใจมาออกรายการและได้เปิดประเด็นว่า การผิดศีลข้อ 4 นั้นเป็นเรื่องที่ร้ายแรง เพราะมันเป็นการไปก่อให้เกิดการผิดศีลข้ออื่นได้อีก ผู้เขียนลองนั่งหาตัวอย่างเอง(เพราะผู้ร่วมรายการมีเวลาน้อยที่จะยกตัวอย่าง) ก็นึกได้ว่า ตัวแทนขายรถ(ไม่ว่ายี่ห้อใด) ถ้ามีศีลข้อ 4 ควรจะบอกลูกค้าว่า รถของบริษัทนั้นมันก็ดีอยู่ถ้าไม่ขับเร็วเกินไป เช่น ถ้าเหยียบเกิน 150 กม ต่อชั่วโมงแล้ว โอกาสไปเกิดใหม่(ซึ่งอาจไม่ได้เป็นคน) จะสูงมาก ดังนั้นถ้ายังอยากเป็นคนอยู่ควรขับไม่เกิน 100 กม ต่อชั่วโมง ซึ่งก็มีสิทธิได้ใบสั่งจากตำรวจแล้ว อีกตัวอย่างคือ การโฆษณาขายเครื่องดื่มที่มีแทนนินสูง เช่น ชา นั้น น่าจะบอกผู้บริโภคว่า กินมากอาจอึแข็งได้ ซึ่งถ้าเป็นนานๆ ไปอาจกลายเป็นริดสีดวงทวาร หรือถ้าไม่มีอาการอึแข็งก็หมายความว่าสินค้านั้นเป็นน้ำล้างถุงชา เพราะเขารู้กันมาตั้งแต่พระเจ้าจิ๋นซีฮ๋องเต้ยังไม่ตายว่า การดื่มชาแก่ๆ ทำให้อาการถ่ายท้องหยุดชะงัดนัก และถึงชานั้นชงไม่แก่ก็ทำให้ถ่ายลำบากบ้างพอควรในหลายคน ผู้ใหญ่สมัยก่อนจึงห้ามเด็กดื่มน้ำชากาแฟเนื่องจากมันทำให้สุขภาพไม่ดีเพราะท้องผูก และนอนไม่หลับ  อย่างไรก็ดีโฆษณาที่ดูถูกปัญญาของผู้บริโภคนั้นได้มีการถูกตอบโต้บ้างเหมือนกัน ผู้เขียนได้มีโอกาสไปพบการพิสูจน์ของผู้บริโภคที่ลุกขึ้นมาบอกว่า โฆษณานั้นไม่เป็นความจริงเลย โดยมีผู้บริโภคสตรีลุกขึ้นมาบอกในเว็บ http://www.sudtua.com/index.php?topic=5423.0;wap2 ว่า ผ้าอนามัยที่มีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายยี่ห้อ และบ้างก็พัฒนาไปถึงขนาดมีกลิ่นชาเขียว  นั้น คุณเธอกล่าวว่าได้ลองมาหมดแล้ว ทั้งแบบไม่มีปีก มีปีก แบบยาวจนถึง 35 เซนติเมตร รวมถึงบางยี่ห้อที่บอกว่ามีเส้นใยพิเศษเหมือนมีชั้นล็อคสามชั้นกันการซึมเปื้อนไม่หวั่นแม้วันมามาก ปรากฏว่าไม่ว่าจะมีปีกหรือไม่มีปีกนั้นมันช่างหลุดง่ายหลุดดายเสียจริงๆ บางทีแปะเสร็จแล้วชั่วเดินออกจากห้องน้ำ ปีกก็หลุด หรือแบบที่พรีเซนเตอร์ใส่แล้วตื่นนอนมาบอกว่าแห้งสนิทศิษย์ส่ายหน้านั้น จริงๆ แล้วตรงกันข้าม เป็นต้น   ดังนั้นจะเห็นว่า ตราบใดที่รัฐ โดยเฉพาะสภาที่เราเลือกคนเข้าไปทำหน้าที่ออกกฎหมาย ยังไร้ความสำนึกในการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องการโฆษณาแล้ว รีโมทโทรทัศน์แบบขายถูกตามตลาดนัด ย่อมขายดีแน่เพราะตัวที่มากับโทรทัศน์นั้นถูกกดเปลี่ยนหนีโฆษณาที่คิดว่าผู้บริโภคโง่พังไปก่อนอายุอันควรนั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 134 ผักหวานป่าต้มปลาย่าง

ตั้งแต่ช่วงกลางกุมภาพันธ์- ต้นมีนาคม ที่ผ่านมา ปัญหาควันไฟในภาคเหนือก็วนกลับมาสร้างปัญหาให้กับคนที่นั่นกันอีกหน  เช็คกระแสข่าวในประเทศไทยดู ก็พบว่าคนที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนที่ทำให้เกิดควันจากไฟป่ามากที่สุด ก็หนีไม่พ้นคนที่อยู่กับป่า  โดยเฉพาะคนเก็บผักหวานป่าและเห็ดโคนมาขาย แต่ช้าก่อน...จริงหรือที่ ผักหวานป่าเป็นต้นตอของควันมหึมามหาศาลที่ก่อปัญหาอย่างที่สื่อพาให้เราเข้าใจไปแบบนั้น? ผักหวานป่า จากอาหารบ้านๆ แต่กลับกลายเป็นเมนูยอดนิยมในปัจจุบัน ก็เพราะมาจากชุดความรู้โดยคนกลุ่มหนึ่งที่ระบุว่า เป็นเมนูสุขภาพจากอาหารพื้นบ้าน  ดังนั้นจึงมีเมนูที่มีผักหวานร่วมอยู่ด้วยในหลายชนิดอาหาร เช่น แกงเห็ดผักหวานแบบอีสาน  ทั้งแบบปรุงสำเร็จตามร้านข้าวแกง  แบบกึ่งสำเร็จรูปในห้างสรรพสินค้าที่ผู้บริโภคนำมาปรุงเองที่บ้าน  และแบบที่ยืนสั่งรอจากร้านที่ปรุงให้ตามสั่งที่ผุดขึ้นมามากมายในตลาดนัดและริมฟุตบาทในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะแหล่งที่มีคนงานอีสานอยู่หนาแน่น   ร้านก๋วยเตี๋ยวบางแห่งยังเลือกใช้ผักหวานป่าเป็น เมนูเรียกลูกค้า แข่งกับก๋วยเตี๋ยวตำลึงและก๋วยเตี๋ยวแบบดั้งเดิมที่ใช้ถั่วงอก ต้นคะน้า   ความนิยมต่อผักหวานป่าที่มีเพิ่มมากขึ้น แต่ข้อจำกัดสำคัญของผักหวานป่าที่มีให้กินได้เฉพาะหน้าแล้ง และมีขึ้นได้ในบางพื้นที่เท่านั้น ทำให้เกิดความพยายามที่จะทำการเพาะขยายพันธุ์ผักหวานป่าในแปลงเกษตรแทนการเก็บจากป่า ซึ่งมักมีขึ้นหลังจากป่าถูกเผา(ปัจจุบันมีนวัตกรรมการขยายพันธุ์ผักหวานได้หลายวิธี ทั้งการเพาะเมล็ด การชำไหล การตอน และการสกัดจากรากต้นผักหวานที่มีอายุมาก) ผักหวานป่าจึงกลายเป็นผักหวานป่าในแปลงเกษตรกรรมที่ทำรายได้ดีให้กับผู้ปลูกตาม demand ของผู้บริโภค และทำให้หาซื้อกินกันได้เกือบตลอดทั้งปี ดังนั้นสัดส่วนการหาผักหวานป่าของคนที่อยู่ป่าก็คงจะมีแต่น่าจะเป็นส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับกำลังการผลิตและบริโภคที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน  เพราะไม่ใช่ว่าผักหวานป่าเกิดขึ้นได้ทุกจุดทั่วไปในป่า อย่างที่เจ้าหน้าที่รัฐยกขึ้นอ้างว่าเป็นเหตุสำคัญของการเกิดควันในช่วงดังกล่าว หากมองในมุมของคนที่ทำงานกับเกษตรกรมานาน ปัญหาการควันที่เกิดจากเผ่าพื้นที่การเกษตรน่าจะมาจากการเปลี่ยนระบบการปลูกพืชในป่าตามนโยบายของรัฐ  จากไร่หมุนเวียนมาเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างสำหรับการปศุสัตว์ อย่างข้าวโพด ถั่วเหลือง ฯลฯ  มากกว่า เพราะในระยะไม่ถึงทศวรรษให้หลังมานี้ก็มีพืชอย่างยางพาราและปาล์มน้ำมันเข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของชาวบ้าน(อีกแหละก็ตามความต้องการที่มีมากขึ้นของผู้บริโภคเช่นกัน) ดังนั้นเราๆ ท่านๆ ก็มีส่วนในการเผาผลาญให้เกิดควันทั้งในบ้าน  บนถนน ในโรงงานอุตสาหกรรม  การผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินและการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการบินก็สร้างปัญหาควัน มลพิษ และภาวะโลกร้อนไม่แพ้กันกับการเผาที่เกิดขึ้นในแปลงเกษตร (อย่างไรก็ตามก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ได้จากการเผาเศษซากใบไม้ สร้างปัญหาเรื่องพิษต่อการสูดดมเข้าสู่ร่างกายและโลกร้อนน้อยกว่า ก๊าซที่เผาไหม้เชื้อเพลิงจากน้ำมันใต้ผืนดินและถ่านหิน  อีกทั้งต้นไม้ยังทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ นั้นหมุนเวียนกลับมาอยู่ในดินและต้นไม้ได้ด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสงของต้นไม้) เดิมชาวบ้านในป่าภาคเหนือใช้ระบบการปลูกพืชหมุนเวียน แต่ก็ถูกนโยบายรัฐควบคุมโดยกล่าวหาว่าเป็นการทำลายป่าโดย ในนามว่า “ไร่เลื่อนลอย” ทั้งที่ระบบการปลูกพืชไร่หมุนเวียนนั้นเป็นระบบการจัดสรรพื้นที่ปลูกแบบยั่งยืน  ชาวบ้านจะเลือกเผาแปลงบางแปลง  แล้ววนกลับไปปลูกในแปลงที่เผาอีกครั้งในช่วงระยะเวลา 4-8 ปี หมุนเวียนกันไปในพื้นที่ที่จำกัดของแต่ละครอบครัว  ส่วนช่วงเวลาในการเผาจะเลือกในช่วงที่ไม่มีความกดอากาศสูงจากตอนใต้ของจีนแผ่เข้ามาในภาคเหนือของไทย เพราะต้องสัมพันธ์กับช่วงที่เหมาะสมกับฝนจะตกลงมาหลังการเผาป่าเพื่อการเพาะปลูกในรอบถัดไป ส่วนชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ป่า ทำการเกษตร หากินและเก็บของป่าขาย  ทั้งในภาคเหนือ อีสาน และใต้ ต่างประสบปัญหารัฐประกาศที่อุทยาน พื้นที่ป่าสงวนทับที่ทำกิน  จนชาวบ้านในพื้นที่ป่าต้องคดีและขึ้นโรงขึ้นศาลนับหมื่นราย    จนทำให้ประชาชนหน้าหมอง ต่างสงสัยว่าการที่รัฐควบคุม โดยการละเมิดสิทธิที่พวกเขาเคยอยู่และทำกินมาก่อนการประกาศของนโยบายรัฐที่ดำเนินการมีข้าราชการเป็นผู้ชงขึ้นนั้น ใช้ได้เฉพาะกับชาวบ้านที่ด้อยอำนาจ แต่กับนายทุนและผู้มีอิทธิพลรายใหญ่ๆ  ที่มากอำนาจวาสนาบารมีทั้งหลายกับเพิกเฉยใช่ไหม  ทั้งที่บุคคลเหล่านั้นสร้างปัญหามากกว่าที่ชาวบ้านในป่าจะสร้างปัญหา “ทุบหม้อข้าวตัวเอง” จากการเผาป่าอย่างที่รัฐกล่าวหาพวกเขาเสียอีก --------------------------------------------------------------------------------------------------------- แกงผักหวาน  ส่วนประกอบที่ใช้มี พริกขี้สดหรือพริกขี้หนูแดง  5 – 7 เม็ด  ปลาสดย่าง  ½ ถ้วย   หอมแดง  3 – 5 หัว  กะปิ  1 ช้อนชา ( หรือปลาร้า 1 ช้อนโต๊ะ)  และผักหวาน 2 กำ    บางคนก็ใส่ทั้งกะปิและปลาร้า  และบางคนก็ไม่ใส่ทั้งกะปิและปลาร้าก็ได้ เลือกเอาตามอัธยาศัย วิธีทำ ระหว่างใส่น้ำลงในหม้อ 1 ถ้วย ตั้งให้น้ำเดือด เราเตรียมเครื่องแกงโดย ตำกะปิ พริกและหอมแดงให้เข้ากัน พอแหลกแล้วใส่ปลาย่างลงไปตำให้เข้ากัน   เมื่อน้ำเดือดดีแล้วตักเครื่องแกงใส่ลงในหม้อ  ต้มสักพัก  5 นาที ก็ใส่ผักหวานที่เด็ดเอาแต่ยอดอ่อน  ชิมรสและแต่งรสด้วยเกลือและน้ำปลาร้า  แล้วยกลง    บางบ้านนิยมใส่วุ้นเส้นและเห็ดลงไปด้วย   โดยจะใส่เห็ดในช่วงเดียวกับเครื่องแกงและใส่วุ้นเส้นพร้อมผักหวาน   สวนใครที่ชอบเผ็ดร้อนจะเติมเม็ดพริกไทยลงไปในช่วงโขลกน้ำพริกแกงด้วยก็ได้ ไม่ว่ากัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 162 เลือกบริโภค “ผัก” ปลอดสาร ต้องมั่นใจว่าปลอดภัยจริง

“กินผักดี  มีประโยชน์” แนวทางหนึ่งที่คนรักสุขภาพเชื่อกันว่าจะทำให้ห่างไกลจากโรควิถีชีวิต ซึ่งเป็นโรคที่รายงานจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนยุคนี้ถึงกว่า 66 % โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจากการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ การบริโภคอาหารนอกบ้าน ประเภทอาหารจานด่วน การมีพฤติกรรมกินอาหารมีไขมันแบบเดิมๆ ซ้ำๆ จึงทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา อาทิ เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ฯลฯ ­­ “เตรียมผักไว้ทำกับข้าว” กินที่บ้านกับคนในบ้าน ดีทั้งสุขภาพ และมีความสุขกับคนในครอบครัว ลูกๆ หลานๆ  แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่า “ผัก” ที่บริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ปลอดสารพิษ กินดี และมีประโยชน์จริง เพราะผักปลอดสารพิษที่นำมาขายตามท้องตลาดและห้างสรรพสินค้า มีมากชนิดเสียจนบางครั้งก็ทำให้สับสนว่าจะเลือกซื้อร้านไหน หรือ ยี่ห้อไหนดี หรือว่าจำเป็นหรือไม่ที่หันมาบริโภคผักปลอดสารพิษที่มีราคาสูงกว่าผักทั่วไปถึง 3-4 เท่าตัว สำหรับผักปลอดสารพิษนั้น หลายๆ คนอาจเข้าใจว่ามีกรรมวิธีการปลูกขึ้นโดยธรรมชาติ และไม่มีการใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น อันที่จริงแล้วอ่านดูจากข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ซึ่งทำหน้าที่ดูแลและตรวจสอบมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร พบว่าเขาอนุญาตให้มีการใช้สารเคมีบางชนิดในผักปลอดสารพิษได้ เช่น ปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง ฮอร์โมน แต่มีข้อแม้คือ สารเคมีดังกล่าวจะต้องมีสารตกค้างในระยะสั้นเท่านั้น และจะต้องหยุดใช้ก่อนการเก็บเกี่ยวที่ทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดไว้  ซึ่งนี่ถือเป็นมาตรการป้องกันระดับหนึ่งของหน่วยงานภาครัฐ จากตารางข้างต้น อธิบายได้ว่า ผักอินทรีย์ หรือผักออร์แกนิค คือผักที่ไม่ใช้สารเคมี ทั้งสิ้นในการปลูก ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีกำจัดโรค กำจัดแมลง กำจัดศัตรูพืช ไม่ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ ไม่ใช้เมล็ดดัดแปลงพันธุกรรม และให้ความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม. ส่วนผักอนามัย จะปลูกแบบใช้สารเคมีในปริมาณที่กรมฯ กำหนด มีการใส่ใจเรื่องความสะอาดทุกขั้นตอน ก่อนและหลังการเก็บและบรรจุลงหีบห่อ สำหรับ  ผักปลอดสารพิษ ต้องไม่มีการใช้สารเคมีแต่ก็มีบางชนิดที่สามารถใช้ได้ ผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเป็นการปลูกโดยน้ำนั้น ยาฆ่าแมลงและยาปราบ ศัตรูพืชจะเข้าสู่ผักได้ แต่ทราบว่ากรมฯ เขาก็ได้กำหนดปริมาณที่เหมาะสมไว้แล้วเช่นกัน ฟังดูอย่างนี้ก็จะรู้สึกว่าผักอินทรีย์ หรือผักออร์แกนิค น่าจะสะอาดที่สุดและปลอดภัย กว่าผักประเภทอื่น แต่ก็มีราคาสูงมาก ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคแล้วว่าจะเลือกซื้อแบบไหน ที่น่าคิดคือ เรามั่นใจได้อย่างไรว่า ข้อความที่พิมพ์ไว้บนถุงผักที่วางขายตามร้าน ได้ผ่านการปลูกแบบปลอดสารพิษจริงๆ ไม่ใช่แค่พิมพ์ข้อความไว้เท่านั้น ก็คงต้องฝากหน่วยงานไปเข้มงวดกวดขันกันหน่อย หรือหากไม่อยากเสียเงินเยอะๆ ก็ซื้อผักธรรมดาตามท้องตลาดก็ได้ แต่ลองเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เช่น อย่าเลือกซื้อแต่ผักที่สวย ไม่มีหนอนหรือแมลงกัดกิน เพราะนั่นแสดงว่าอาจมีการใช้สารเคมีในการปลูก แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไปเพราะได้ข่าวว่าหลังๆ นี้เริ่มมีวิธีการหลอกลวงขั้นเทพ คือสามารถทำให้ผักที่ขายมีร่องรอยเหมือนหนอนกินได้แล้ว เท็จจริงอย่างไรก็ลองสืบหาข้อเท็จจริงกันต่อไป กินผักตามฤดูกาล กินผักหน้าตาแปลกๆ บ้าง ไม่ซ้ำซากอยู่แต่กับผักเดิมๆ ก็ช่วยได้มาก ข้อสำคัญไม่ว่าจะเลือกซื้อผักปลอดสารพิษ หรือไม่ปลอดสารพิษมาแล้วก็ต้องล้างให้สะอาดด้วยอย่างน้อยก็ช่วยลดสารปนเปื้อนลงได้ระดับหนึ่ง(เว้นพวกดูดซึม อันนี้สุดจะเยียวยา) ก่อนนำมารับประทานหรือปรุงอาหาร จะได้มั่นใจขึ้นเป็นสองเท่า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 129 ผักบุ้งโหรงเหรง

  สำนวน น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง หมายถึง  พูดมากแต่ได้เนื้อความน้อย สำนวนนี้มีมาแต่โบราณ ด้วยเมืองไทยเราในพื้นที่ภาคกลางนั้นเป็นที่ลุ่ม อุดมไปด้วยแม่น้ำลำคลอง ยิ่งในฤดูที่น้ำหลากช่วงปลายฤดูฝนต่อถึงฤดูหนาว จะมีน้ำจากภาคเหนือมาท่วมท้องทุ่งนาเป็นปกติทุกปี น้ำจะท่วมอยู่นาน 3-4 เดือน แล้วค่อยๆ แห้งลงไป   ผักบุ้ง เป็นพืชพันธุ์ที่อยู่ใกล้ชิดกับคนไทยมานานแต่โบราณกาล นิยมกินกันทั้งผู้ดี ไพร่ สมัยอยุธยาถึงกับเคยมีบันทึกในพงศาวดารกล่าวถึงการเก็บภาษีผักบุ้งไว้ด้วย ผักบุ้งในไทยแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ผักบุ้งไทยและผักบุ้งจีน ผักบุ้งไทย เป็นสายพันธุ์ธรรมชาติที่ขึ้นเองหรือชาวบ้านนำมามัดเป็นแพลอยอยู่ตามแม่น้ำลำคลอง ลำต้นมีสีเข้ม เขียวอมม่วง ทนทานแข็งแรง แต่ยางมากสักหน่อย   ส่วนผักบุ้งจีนเป็นพันธุ์ที่นำมาจากต่างประเทศ นิยมปลูกเป็นการค้า ลำต้นค่อนข้างขาว ใบสีเขียวอ่อน มียางน้อยกว่าผักบุ้งพันธุ์ไทย ผักบุ้งจีนนี้ถ้าโดนความร้อนจะนิ่มและเปื่อยง่าย จึงนิยมใช้ทำอาหารประเภทผัด โดยเฉพาะผัดผักบุ้งไฟแดง ส่วนผักบุ้งไทยจะนิยมกินสดเป็นผักแกล้มหรือใส่ในก๋วยเตี๋ยว ในแกงเทโพ หรือลวกกินกับน้ำพริก เขาว่ากันว่ากินผักบุ้งแล้วตาหวาน ก็ดูจะมีส่วนจริงตรงที่ผักบุ้งทุกพันธุ์มีวิตามินเอสูง ถ้ารับประทานเป็นประจำจะช่วยบำรุงสายตา ในตำรายาไทย ใช้ต้นต้มกับน้ำตาลรับประทานเป็นยาถอนพิษเบื่อเมาได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 น้ำตาลในน้ำผักผลไม้

เครื่องดื่มประเภทน้ำผักผลไม้ สามารถสร้างทัศนคติเชิงบวกให้กับผู้บริโภคได้เสมอ เพราะมักโฆษณาว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งมันคงเป็นเช่นนั้นจริงๆ หากเครื่องดื่มเหล่านั้นไม่ผสมน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน หรือตามที่นักโภชนาการแนะนำคือ 24 กรัม/วัน หรือ 6 ช้อนชา/วัน เพราะน้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทหนึ่งที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ซึ่งหากเราบริโภคมากเกินไป สามารถเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคอ้วนหรือฟันผุ ทั้งนี้ไม่ว่าน้ำตาลนั้นจะมาจากการสกัดหรือเป็นน้ำตาลฟรักโทสที่อยู่ในผลไม้ก็ตาม เพราะร่างกายของเราสามารถเปลี่ยนน้ำตาลฟรักโทสให้กลายเป็นกลูโคส เพื่อใช้เป็นพลังงานได้เช่นกันฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอเสนอผลทดสอบ ปริมาณน้ำตาลในน้ำผักผลไม้จำนวน 27 ตัวอย่างจาก 8 ยี่ห้อยอดนิยม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพ และป้องกันการบริโภคน้ำตาลมากเกินความต้องการโดยไม่รู้ตัว ซึ่งยี่ห้อไหนจะมีน้ำตาลมากหรือน้อยกว่ากัน ไปดูกันเลย    ตารางผลทดสอบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 ผักสดในตลาด กับการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง

เนื่องด้วยเกิดความผิดพลาดขึ้นใน นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 136 มิถุนายน 2555 ในคอลัมน์ทดสอบ “ผักขึ้นห้าง วางใจได้แค่ไหนเรื่องสารเคมี” ซึ่งเนื้อหาในส่วนของผลวิเคราะห์ ที่มีการรายงานปริมาณสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ปนเปื้อนในตัวอย่างผักที่ทดสอบเป็นหน่วย มล./กก. หรือ มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม นั้น ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือ ต้องใช้หน่วยเป็น มก./กก. หรือ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามที่แสดงไว้ในตารางรายงานการตรวจวิเคราะห์ กองบรรณาธิการต้องขออภัยกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และจะเพิ่มความรอบคอบในการตรวจทานแก้ไขให้มากยิ่งขึ้น จึงเรียนขออภัยมา ณ ที่นี้   หลังจากเราพาไปสำรวจการปนเปื้อนของสารเคมีในผักสดที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตกันเมื่อฉบับที่แล้ว คราวนี้ก็มาถึงภาคต่อที่ฉลาดซื้อขอเปลี่ยนบรรยากาศพาไปตะลุยตลาดสด ลองไปดูกันสิว่าผักสดจากตลาดจะปลอดภัยจากสารเคมีหรือไม่?   ฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างผักที่ขายในตลาดสด 2 แห่ง คือ ตลาดห้วยขวาง และตลาดประชานิเวศน์ เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ยาฆ่าแมลง โดยผักที่เราเลือกมาทดสอบประกอบด้วย กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และพริกจินดา (เช่นเดียวกับที่เราทดสอบผักจากห้างค้าปลีก) ลองไปดูกันสิว่าผักที่เรารับประทานกันอยู่เป็นประจำทั้ง 7 ชนิดนี้ จะปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงมากน้อยแค่ไหน “ผักบุ้ง” ปลอดภัยไร้สารตกค้าง อย่างน้อยก็มีเรื่องน่าดีใจ เมื่อผลการวิเคราะห์ที่ได้บอกกับเราว่า ตัวอย่าง ผักบุ้งจีน จากทั้ง 2 ตลาด ไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งถ้าใครยังจำผลการวิเคราะห์ผักสดที่วางขายในห้างเมื่อฉบับที่แล้วได้ ตัวผักบุ้งจีนที่เก็บจากซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งตัวอย่างที่เป็นตราห้างและตัวอย่างที่ได้เครื่องหมาย Q ก็ไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีผักสดอีกหนึ่งตัวอย่างที่ไม่พบยาฆ่าแมลง นั่นคือ กะหล่ำปลี จากตลาดประชานิเวศน์ ส่วนตัวอย่างกะหล่ำปลีจากตลาดห้วยขวาง พบการปนเปื้อนของสาร คาร์โบฟูราน (Carbofuran) แต่ไม่เกินระดับมาตรฐาน   สารตกค้างที่พบส่วนใหญ่ไม่มีเกณฑ์ในไทย ถ้าลองดูจากผลวิเคราะห์จะเห็นว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่พบในตัวอย่างผักสดที่เรานำมาวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่มีในเกณฑ์ “มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ” (มกอช.) ซึ่งเท่ากับว่าไม่ควรพบการตกค้าง แต่ที่ยังพบการปนเปื้อนอยู่ก็เป็นการบอกให้รู้ถึงปัญหาของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในบ้านเรา ที่ยังคงมีการใช้กันเป็นจำนวนมาก แถมชนิดของสารเคมีที่ใช้กันก็มีหลากหลาย พูดได้เลยสุขภาพของคนไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง   “ผักชี” และ “พริกจินดา” ความเสี่ยงสูง ตัวอย่าง ผักชี และ พริกจินดา จากทั้ง 2 ตลาด ถือเป็นตัวอย่างผักสดที่พบการปนเปื้อนของสารเคมีมากจนน่าตกใจ โดยในหนึ่งตัวอย่างพบการปนเปื้อนสารเคมี 3 – 4 ชนิด แถมสารเคมีที่พบส่วนใหญ่อยู่ในระดับเกินมาตรฐาน ซึ่งผักซีเป็นผักที่ มกอช. ไม่ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานกำกับไว้ ดังนั้นจึงไม่ควรพบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง แม้หลายคนอาจจะมองว่าผักทั้งสองชนิดถ้าคิดเป็นต่อหนึ่งมื้อเราจะรับประทานในปริมาณที่น้อยมาก แต่ผลร้ายของการใช้ยาฆ่าแมลงมันมีมากกว่าที่เราคิด ทั้งผลของการสะสมในระยะยาวที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ รวมถึงสุขภาพของเกษตรกรผู้ใช้สารโดยตรง คุณภาพของดินและระบบนิเวศวิทยาที่จะถูกทำลายจากการใช้สารเคมี นี่ยังไม่นับรวมถึงผลเสียของเศรษฐกิจที่เราต้องขาดดุลจากการนำเข้าสารเคมี และการที่ผักของประเทศไทยถูกห้ามนำเข้าไปขายยังต่างประเทศเพราะเขาตรวจพบว่าผักของเรามีการปนเปื้อนสารเคมีเกินมาตรฐาน เป็นสารเฝ้าระวังแท้ๆ แต่ว่าเจอเพียบ สารเคมีกำจัดศัตรูที่เราตรวจพบในตัวอย่างผักสดทั้ง 14 ตัวอย่าง จากตลาดสดทั้ง 2 ตลาด ไม่ว่าจะเป็น อัลดิคาร์บ (aldicarb), คาร์โบฟูราน (carbofuran), ไดโครโตฟอส (dicrotophos), อ๊อกซามิล (oxamyl), อีพีเอ็น (EPN), เมโทมิล (methomyl) และ เมทิดาไธออน (methidathion) จัดเป็นสารเคมีที่อยู่ใน “รายชื่อวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวัง” ซึ่งหมายถึงสารเคมีที่ต้องมีการแจ้งการนำเข้า การผลิต ส่งออก และต้องมีใบอนุญาตในการครอบครอง เพราะจัดเป็นสารเคมีที่มีพิษร้ายแรง ออกฤทธิ์แบบเฉียบพลัน เป็นอันตรายกับผู้ที่ได้รับสารแม้เพียงปริมาณไม่มาก ซึ่งทั้งๆ ที่เป็นสารเคมีอันตราย แม้จะไม่ได้มีการห้ามใช้แบบเด็ดขาด แต่ก็น่าจะมีการควบคุมการใช้ที่ค่อนข้างเข้มงวด แต่จากผลวิเคราะห์เห็นได้ชัดเลยว่าบรรดาสารเคมีที่อยู่ในการเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตร เกษตรกรยังคงหาซื้อมาใช้กันเป็นจำนวนมาก เรียกว่ายังคงใช้กันเป็นเรื่องปกติ ถึงเวลาต้อง “แบน” เครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีเกษตร (Thai – PAN : Thailand Pesticide Alert Network) ที่มาจากการรวมตัวกันของ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้บริโภค และภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการด้านการเกษตร เกษตรกร กำลังช่วยกันผลักดันให้ภาครัฐยกเลิกการนำเข้าและผลิตสารเคมีในประเทศไทย 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน (carbofuran), เมโทมิล (methomyl), ไดโครโตฟอส (dicrotophos) และ อีพีเอ็น (EPN) ซึ่งจากการวิเคราะห์เราพบสารทั้ง 4 ชนิดนี้ กระจายอยู่ในตัวอย่างผักสดที่เราสุ่มเก็บมาทดสอบเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่สารเหล่านี้เป็นกลุ่มเฝ้าระวังเพราะมีอันตรายมาก ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้สารเหล่านี้ไปแล้ว แต่ประเทศไทยเรากลับยังมียอดการนำเข้าเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ หากยังไม่มีการยกเลิกการนำเข้าและการประกาศห้ามใช้ เรียกว่าสุขภาพของคนไทยก็ยังคงต้องเสี่ยงกับอันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อไป ตัวอย่างประเทศที่ประกาศห้ามการใช้สารเคมีทั้ง 4 ชนิด รายชื่อสารเคมี ประเทศที่ประกาศห้าม คาร์โบฟูราน (carbofuran) สหภาพยุโรป อเมริกา เมโทมิล (methomyl) สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฟินแลนด์ ตุรกี สิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย (ยกเลิกบางสูตร) ไดโครโตฟอส (dicrotophos) อินเดีย ปากีสถาน สิงคโปร์ สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย อีพีเอ็น (EPN) อเมริกา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย แคนาดา มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า นิวซีแลนด์ เวียดนาม อินเดีย   ทีมา: ข้อมูลพื้นฐานของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเฝ้าระวัง 4 ชนิด โดย มูลนิธิชีววิถี   ผักแพง เพราะอะไร ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีข่าวคราวที่ชวนให้หลายๆ คนปวดใจ โดยเฉพาะคนที่รักสุขภาพและชื่นชอบการรับประทานผัก เมื่อข้าวของต่างๆ เดินหน้าขึ้นราคา พืชผักต่างๆ ก็ไม่ยอมตกเทรนด์ขอเกาะขบวนกลายเป็นสินค้าราคาแพงกับเขาด้วย หลายๆ คนสงสัยว่าบ้านเราเป็นเมืองเกษตรกรรมแท้ๆ แต่ไหงผักถึงราคาแพง เหตุผลที่เราได้ยินได้ฟังมาเขาบอกว่าเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งภัยธรรมชาติ น้ำมันแพง ค่าแรงขึ้น ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเมื่อรวมกันก็กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ต้นทุน” แล้วรู้กันหรือว่าเปล่าอีกหนึ่งต้นทุนสำคัญที่ส่งผลต่อราคาผักที่หลายคนบ่นว่าแพงทุกวันนี้ก็คือ “สารเคมีกำจัดศัตรูพืช”   ผักแพง ยาฆ่าแมลงก็มีส่วน เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าสารเคมีทางการเกษตรเป็นสารพิษที่ส่งผลเสียกับร่างกาย แม้มันจะเป็นตัวช่วยให้กับเกษตรกรในการป้องกันรักษาพืชผักที่ปลูกไม่ให้ถูกรบกวนจากแมลงหรือวัชพืช แต่ก็เสี่ยงกับการที่สารเคมีจะตกค้างในผัก ข้อมูลสถิติการนำเข้าวัตถุอันตราย ของสำนักงานควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้รายงานเอาไว้เมื่อปี 2553 ประเทศไทยเรามีการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากถึงเกือบ 120 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นเงินที่เราต้องเสียไปกว่า 18,000 ล้านบาท (รู้แล้วใช่มั้ยว่าทำไมเราถึงกินผักราคาแพง) ซึ่งถ้าลองนำตัวเลขการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาเทียบกันในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการนำเข้ามีแต่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แถมยังเพิ่มมากขึ้น 2 – 3 เท่าตัวเลยทีเดียว (ปี 2543 สถิติการนำเข้าจะอยู่ที่แค่ประมาณ 50 ล้านกิโลกรัมเท่านั้น)   ปัญหายาฆ่าแมลงในผัก ทุกคนต้องช่วยกันรับผิดชอบ แม้เราจะเริ่มรู้สึกตรงกันแล้วว่าการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในบ้านเรานั้นอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง เพราะมันอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนไทยเราป่วยเป็นมะเร็งกันมากขึ้น แต่แนวทางการแก้ไขเพื่อลดปริมาณการใช้ก็ยังไม่เห็นความชัดเจน เกษตรกรเองก็ยังต้องพึ่งพาสารเคมีเพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณมากพอที่จะทำให้เกษตรกรมีกำไร (ว่ากันว่าทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายในส่วนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกษตรกรต้องจ่ายคิดได้เท่ากับ 10 – 30% ของต้นทุนทั้งหมด) ภาครัฐเองก็อาจยังมีการส่งเสริมเรื่องความเข้าใจในการใช้สารเคมีและรวมถึงแนวคิดการทำเกษตรปลอดสารแก่เกษตรกรน้อยเกินไป แถมยังไม่มีมาตรการที่ใช้คุมเข้มการขาย การโฆษณา สารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งสร้างความเข้าใจผิดให้กับเกษตรกร แม้แต่ผู้บริโภคอย่างเราเองก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับการใช้สารเคมีของเกษตรกร เพราะทุกวันนี้เราแทบไม่ได้สนใจกันแล้วว่าผักชนิดไหนออกช่วงฤดูกาลอะไร เราเลือกกินแต่ผักชนิดเดิมๆ ตลอดทั้งปี (เช่น คะน้า ผักกาด ถั่วฝักยาว ฯลฯ) เกษตรกรเองจึงเลือกปลูกแต่ผักตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งเป็นผักแค่ไม่กี่ชนิด ลองคิดดูแล้วกันว่าผักชนิดเดิมๆ ที่มีให้เรากินตลอดเวลา จะต้องพึ่งสารเคมีมากแค่ไหนถึงปลูกให้เรากินได้ทั้งปี   ตารางรายงานการตรวจวิเคราะห์ ผัก กลุ่มตลาดสด (ตลาดห้วยขวาง) ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์ (มก./กก.) เกณฑ์มาตรฐาน (ไม่เกิน มก./กก.) สารกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส สารกลุ่มคาร์บาเมต ไทย (มกอช.) ยุโรป กะหล่ำปลี ไม่พบ Carbofuran น้อยกว่า 0.01 Carbofuran 0.2 Carbofuran 0.02   คะน้า   Dicrotophos 2.02 Oxamyl น้อยกว่า 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Oxamyl 0.01 Dicrotophos ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) ถั่วฝักยาว Acephate น้อยกว่า 0.05 EPN 0.34 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Acephate 0.02 EPN  ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) ผักกาดขาว ไม่พบ Carbofuran 0.01 Methomyl น้อยกว่า 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Carbofuran  0.02 Methomyl 0.02 ผักบุ้งจีน ไม่พบ ไม่พบ - - ผักชี Chlorpyrifos 0.10 EPN 1.02 Methidathion 0.06 Methomyl 0.04 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.05 Methidathion 0.02 Methomyl 0.3 EPN  ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) พริกจินดา Chlorpyrifos 0.05 Methidathion 0.11 Carbaryl 0.01 Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.5 Methidathion ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.05 Methidathion 0.02 ตารางรายงานการตรวจวิเคราะห์ ผัก กลุ่มตลาดสด (ตลาดประชานิเวศน์) ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์ (มก./กก.) เกณฑ์มาตรฐาน (ไม่เกิน มก./กก.) สารกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส สารกลุ่มคาร์บาเมต ไทย (มกอช.) ยุโรป กะหล่ำปลี ไม่พบ ไม่พบ - - คะน้า ไม่พบ Aldicarb น้อยกว่า 0.01 Methiocarb 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Aldicarb 0.02 Methiocarb 0.1 ถั่วฝักยาว Omethoate 0.07 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) แต่หากลองเทียบกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง มีการกำหนดเกณฑ์การตกค้างของ Omethoate ไว้ในผักหลายชนิด (แต่ไม่มีถั่วฝักยาว) ซึ่งค่าเฉลี่ยสูงสุดที่กำหนดไว้คือ 0.05 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) ผักกาดขาว ไม่พบ Carbofuran 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Carbofuran  0.02 ผักบุ้งจีน ไม่พบ ไม่พบ - - ผักชี   Chlorpyrifos น้อยกว่า 0.05 Aldicarb 0.02 Carbofuran 1.13 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.05 Aldicarb 0.02 Carbofuran 0.02 พริกจินดา   Chlorpyrifos 0.07 Methidathion 0.10 Triazophos 0.05 Carbaryl 0.02 Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.5 Methidathion และ Triazopho ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.05 Methidathion 0.02 Triazopho 0.01   : เก็บตัวอย่างเมื่อ เดือนมีนาคม 2555 : ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งทดสอบเท่านั้น : วิเคราะห์ผลโดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 ผักขึ้นห้าง วางใจได้แค่ไหนเรื่องสารเคมี

ผักสดผลไม้เป็นอาหารที่มีประโยชน์ แต่ในกระบวนการปลูกก็มีเรื่องของสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก สุขภาพที่ดีก็อาจเปลี่ยนเป็นสุขภาพที่ร้ายได้ หลายหน่วยงานจึงจัดทำมาตรฐานเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ฉลาดซื้อเลยขอโอกาสช่วยตรวจสอบซ้ำให้กับผู้บริโภค โดยฉลาดซื้อได้คัดเลือกผักจำนวน 7 ชนิด เพื่อนำมาวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ยาฆ่าแมลง ผักทั้ง 7 ชนิดที่เราเลือกมานั้นประกอบด้วย กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และ พริกจินดา ล้วนเป็นผักยอดนิยมที่มักจะถูกเลือกเป็นส่วนประกอบในหลายๆ เมนู หาซื้อหารับประทานได้ทั่วไป ฉลาดซื้อเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะรับประทานผักเหล่านี้เป็นประจำ ตัวอย่างผักทั้ง 7 ชนิดที่นำมาวิเคราะห์ในครั้งนี้ ได้เลือกสุ่มเก็บตัวอย่างผักที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง เพราะเห็นว่าปัจจุบันมีหลายๆ บ้าน หลายๆ ครอบครัวนิยมเลือกซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น โดยตัวอย่างผักที่เราเก็บจากซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อนำมาทดสอบทั้ง 7 ชนิด จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือผักที่ได้รับเครื่องหมาย Q ซึ่งเป็ นตรารับรองสินค้าเกษตรคุณภาพ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ส่วนอีกหนึ่งกลุ่ม จะเป็นผักที่จำหน่ายโดยใช้ตราหรือยี่ห้อของทางห้างเอง (House brand)   การวิเคราะห์จะดูการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2 กลุ่ม คือ กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และ กลุ่มคาร์บาเมต ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกผักนิยมใช้กันมากในปัจจุบัน โดยเราจะนำผลวิเคราะห์ที่ได้มาเทียบเคียงเกณฑ์ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด ที่ออกโดยมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) 1. รายงานการตรวจวิเคราะห์ ผัก กลุ่มมาตรฐาน Q ตัวอย่าง ยี่ห้อ ผู้ผลิต ราคา ผลการวิเคราะห์ (มก./กก) มาตรฐาน (ไม่เกิน มก./กก.)   สารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต สารกลุ่มคาร์บาเมต ไทย (มกอช.) ยุโรป   กะหล่ำปลี ตราโครงการหลวง โครงการหลวง เชียงใหม่ 69 บ. / 1 กก. ไม่พบ ไม่พบ - -   คะน้า ตรา Fresh Deli ไร่ฐิติวันต์ - ไม่พบ Methiocarb น้อยกว่า 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Methiocarb 0.1   ถั่วฝักยาว ตราผักด๊อกเตอร์ บ.ผักด๊อกเตอร์ จำกัด 39 บ. / แพ็ค ไม่พบ Cardofuran 0.07 Methomyl 0.08 Carbofuran 0.1 Methomyl 1 Carbofuran 0.02 Methomyl 0.02   ผักกาดขาว ตราผักด๊อกเตอร์ บ.ผักด๊อกเตอร์ จำกัด 45 บ. / แพ็ค ไม่พบ ไม่พบ -   -   ผักบุ้งจีน ตรา Fresh Deli ไร่ฐิติวันต์ - ไม่พบ ไม่พบ - -   ผักชี ตรา Fresh Deli ไร่ฐิติวันต์ - Methidathion น้อยกว่า 0.05 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Methidathion 0.02   พริกจินดา ตรา Fresh Deli ไร่ฐิติวันต์ - Chlorpyrifos 0.31 ไม่ พบ Chlorpyrifos 0.5 Chlorpyrifos 0.5   2. รายงานการตรวจวิเคราะห์ ผัก กลุ่มตราห้าง (House Brand) ตัวอย่าง ยี่ห้อ ผู้ผลิต ราคา ผลการวิเคราะห์ มาตรฐาน (ไม่เกิน มก./กก.) สารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต สารกลุ่มคาร์บาเมต ไทย (มกอช.) ยุโรป กะหล่ำปลี เทสโก้ โลตัส สาขา บางประกอก - - ไม่พบ ไม่พบ - - คะน้า โฮม เฟรช มาร์ท สาขา เดอะ มอลล์ งามวงศ์วาน - 25 บ. / 250 กรัม Methidathion น้อยกว่า 0.05 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Methidathion 0.02 ถั่วฝักยาว เทสโก้ โลตัส สาขา พระราม 2 - 7 บ. / แพ็ค Ethion น้อยกว่า 0.05 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการ ตกค้าง) Ethion 0.01 ผักกาดขาว เทสโก้ โลตัส สาขา บางประกอก - 36.75 / 1 หัว ไม่พบ ไม่พบ - - ผักบุ้งจีน เทสโก้ โลตัส สาขา พระราม 1 - 5 บ. / แพ็ค ไม่พบ ไม่พบ - - ผักชี กูเม่ร์ มาร์เก็ต สยามพารากอน - 29 บ. / 80 กรัม Chlorpyrifos 0.84 Methidathion 0.06 Aldicarb 0.01 Carbofuran 0.75 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.05 Methidathion 0.02 Aldicarb 0.02 Carbofuran 0.02 พริกจินดา เทสโก้ โลตัส สาขา พระราม 1 - - Methidathion น้อยกว่า 0.05 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Methidathion 0.02     : เก็บตัวอย่างเมื่อเดือน มีนาคม 2555 : ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งทดสอบเท่านั้น : วิเคราะห์ผลโดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ผลการวิเคราะห์ เริ่มที่ข่าวดี ผลจากการวิเคราะห์บอกกับเราว่า ผัก 3 ใน 7 ชนิด คือ กะหล่ำปลี ผักกาดขาวและผักบุ้งจีน ทั้ง 2 กลุ่มตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ว่าจะในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตหรือกลุ่มคาร์บาเมต งั้นมาดูผักอีก 4 ชนิด ที่ตรวจพบการปนเปื้อน มาดูกันสิว่าจะมีผลต่อผู้บริโภคอย่างเรามากน้อยแค่ไหน ผักคะน้า เริ่มกันที่ ผักคะน้า โดยตัวอย่างในกลุ่มผักที่ได้รับมาตรฐาน Q เป็นผักคะน้ายี่ห้อ เฟรช เดลี่ (Fresh Deli) พบการปนเปื้อนสารในกลุ่มคาร์บาเมต ที่ชื่อว่า เมทธิโอคาร์ป (Methiocarb) ที่ปริมาณน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งหากจะเทียบตามเกณฑ์ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ไม่ได้มีกำหนดเกณฑ์ของ เมทธิโอคาร์ป เอาไว้ เราจึงเทียบกับมาตรฐานสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของยุโรป ซึ่งกำหนดให้คะน้า (ใช้คำค้นหาว่า Chinese broccoli) พบการปนเปื้อน เมทธิโอคาร์ป ได้ไม่เกิน 0.1 มล. ต่อ กก. ซึ่งเท่ากับว่าผลการวิเคราะห์ที่ได้ไม่เกินเกณฑ์ที่เหมาะสม ส่วนตัวอย่าง ผักคะน้า ในกลุ่มตราห้าง ที่เก็บตัวอย่างจาก โฮม เฟรช มาร์ท สาขา เดอะ มอลล์ งามวงศ์วาน พบการปนเปื้อนของสารเคมีในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ตัวที่มีชื่อว่า เมทิดาไทออน (Methidathion) ปริมาณที่พบคือ น้อยกว่า 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งก็ไม่ได้มีกำหนดไว้ในเกณฑ์ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของ มกอช. เช่นกัน เพราะฉะนั้นเมื่อนำไปเทียบกับเกณฑ์ของยุโรปที่กำหนดให้ เมทิดาไทออน ที่กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 0.02 มล. ต่อ กก. ผลทดสอบที่ได้จึงเกินจากเกณฑ์ที่กำหนดไปนิดๆ   ถั่วฝักยาว ตัวอย่าง ถั่วฝักยาว มาตรฐาน Q ที่นำมาวิเคราะห์ คือ ตราผักด๊อกเตอร์ พบการปนเปื้อนวัตถุอันตรายทางการเกษตรเฉพาะในกลุ่มคาร์บาเมต 2 ตัว คือ คาร์โบฟูราน (Carbofuran) ที่ปริมาณ 0.07 มล. ต่อ กก. อีกตัวคือ เมโทมิล (Methomyl) ที่ปริมาณ 0.08 มล. ต่อ กก. ซึ่งสารเคมีทั้ง 2 ตัว มีการกำหนดไว้ในเกณฑ์ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของ มกอช. โดยในถั่วฝักยาว อนุญาตในพบการปนเปื้อนของ คาร์โบฟูราน สูงสุดไม่เกิน 0.1 มล. ต่อ กก. ส่วน เมโทมิล สูงสุดได้ไม่เกิน 1 มล. ต่อ กก. เท่ากับว่าผลทดสอบ ถั่วฝักยาว มาตรฐาน ตราผักด๊อกเตอร์ พบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของ มกอช. มาดูที่ตัวอย่าง ถั่วฝักยาว ที่ใช้ตราของห้างสรรพสินค้า ซึ่งเราเก็บตัวอย่างมาจาก ห้างเทสโก้ โลตัส สาขาพระราม 2 พบการปนเปื้อนของสารเคมีในกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส 1 ตัว คือ อีไทออน (Ethion) ที่ปริมาณน้อยกว่า 0.05 มล. ต่อ กก. ซึ่งในเกณฑ์ของ มกอช. ไม่ได้มีการกำหนดปริมาณที่สามารถพบได้ของสารนี้ในถั่วฝักยาว แต่มีการกำหนดไว้ในกลุ่มของถั่วทั้งชนิดที่เป็นฝักสดและชนิดเมล็ดแห้ง โดยตั้งเกณฑ์การปนเปื้อนไว้ที่ไม่เกิน 1 มล. ต่อ กก. หากลองใช้เกณฑ์นี้เป็นตัวตั้ง การพบ อีไทออน ที่ปริมาณน้อยกว่า 0.05 มล. ต่อ กก. ก็ถือว่าห่างจากเกณฑ์สูงสุดที่ตั้งไว้ค่อนข้างมาก   ผักชี ในมาตรฐานสารเคมีในสินค้าเกษตรของ มกอช. ไม่ได้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของ ผักชี เอาไว้ ทำให้เราต้องนำไปเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยของยุโรปแทน โดยตัวอย่าง ผักชีมาตรฐาน Q ตรา เฟรช เดลี่ (Fresh Deli) พบการปนเปื้อนของ เมทิดาไทออน (Methidathion) น้อยกว่า 0.05 มล. ต่อ กก. ซึ่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์สินค้าเกษตรของยุโรป กำหนดไว้ให้ถั่วฝักยาวสามารถพบการปนเปื้อนของ เมทิดาไทออน ได้ไม่เกิน 0.02 มล. ต่อ กก. ซึ่งนั้นเท่ากับว่าตัวอย่างผักชีมาตรฐาน Q ที่เรานำมาทดสอบพบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงเกินมาตรฐาน เช่นเดียวกับ ตัวอย่าง ผักชีตราห้าง ที่พบการปนเปื้อนของสารเคมีหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) 0.84 มล. ต่อ กก., เมทิดาไทออน (Methidathion) 0.06 มล. ต่อ กก., อัลดิคาร์บ (Aldicarb) 0.01 มล. ต่อ กก., และ คาร์โบฟูราน (Carbofuran) 0.75 มล. ต่อ กก. โดยผลวิเคราะห์ที่ได้ถือว่าน่าตกใจ เพราะในเกณฑ์สินค้าเกษตรปลอดภัยของยุโรป อนุญาตให้พบการปนเปื้อนของ คลอร์ไพริฟอส ไม่เกิน 0.05 มล. ต่อ กก. และ คาร์โบฟูราน ก็กำหนดให้ไม่เกิน 0.02 มล. ต่อ กก. แต่เมื่อดูตัวเลขที่ได้จากการวิเคราะห์จะเห็นว่าพบการปนเปื้อนสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในปริมาณที่สูงมาก จนน่าเป็นห่วง   พริกจินดา พริกจินดา มาตรฐาน Q ตรา เฟรช เดลี่ (Fresh Deli) พบการปนเปื้อนของ คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) ที่ 0.31 มล. ต่อ กก. ซึ่งเกณฑ์ที่กำหนดไว้ทั้งของ มกอช. และยุโรป คือไม่เกิน 0.5 มล. ต่อ กก. เท่ากัน ตัวอย่างพริกจินดามาตรฐาน Q จึงถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนตัวอย่าง พริกจินดาตราห้าง พบการปนเปื้อนของ เมทิดาไทออน (Methidathion) น้อยกว่า 0.05 มล. ต่อ กก. โดยเกณฑ์ของ มกอช. ไม่ได้กำหนดไว้ เมื่อนำไปเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานของยุโรปซึ่งกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 0.02 มล. ต่อ กก. ดังนั้นผลวิเคราะห์ที่ได้ที่ว่าน้อยกว่า 0.05 มล. ต่อ กก. ก็อาจจะถือว่าเกินเกณฑ์ของยุโรป แต่ก็เป็นปริมาณที่ไม่มาก   สรุป -ใครที่ยังเข้าใจว่าผักมาตรฐาน Q เป็นผักปลอดสารคงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ เพราะผักที่ได้รับมาตรฐาน Q จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นเพียงผักที่ได้รับการการันตีว่ามีการใช้สารเคมีอยู่ในเกณฑ์ที่ทางสำนักงานกำหนดว่าปลอดภัยเท่านั้น หากมีการสุ่มตรวจต้องพบการตกค้างของสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงเกินจากเกณฑ์ที่ มกอช. กำหนด ยืนยันได้จากตัวอย่างผักที่เรานำมาทดสอบ หลายตัวยังพบการปนเปื้อนของสารเคมี (ถ้าหากอยากทานผักที่ปลอดสารเคมีจริงๆ ต้องเลือกผักที่เป็นผักเกษตรอินทรีย์) -อันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จะสะสมในระยะยาว เป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็ง ส่งผลเสียต่อสมอง และระบบทางเดินหายใจ ส่วนพิษเฉียบพลันซึ่งมักเกิดกับกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีโดยตรง อาการที่จะเกิดขึ้นก็มีทั้ง เวียนหัว อาเจียน ปวดท้องรุนแรง ไปจนถึงเกิดอาการใจสั่น หายใจติดขัด (จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในช่วงปี 2543 – 2552 มีผู้ป่วยจากพิษสารกำจัดศัตรูพืชเฉลี่ยปีละ 1,996 ราย) -จากผลการวิเคราะห์สารเคมีที่พบในตัวอย่างผักกลุ่มที่ได้รับเครื่องหมาย Q แต่ละชนิดส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ของ มกอช. ยกเว้น ถั่วฝักยาว ที่พบการปนเปื้อนเกินเกณฑ์ที่ มกอช. กำหนด -ที่น่าสังเกตคือ ผักชี ซึ่ง มกอช. ไม่ได้มีเกณฑ์กำหนดเรื่องการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง โดยตัวอย่าง ผักชี มาตรฐาน Q เมื่อนำผลวิเคราะห์ที่ได้ไปเทียบกับเกณฑ์ของยุโรป แม้จะเกินมาตรฐานแต่ก็เป็นปริมาณที่ไม่มาก แต่เมื่อเป็นตัวอย่าง ผักชีตราห้าง กับพบการปนเปื้อนเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับที่ค่อนข้างสูง แม้หลายคนอาจจะคิดว่าผักชีเป็นผักที่เราใช้โรยหน้าในอาหารเมนูต่างๆ ซึ่งปกติเราจะทานในปริมาณที่น้อยมากๆ การปนเปื้อนของสารเคมีอาจไม่ส่งผลร้ายอะไร แต่การพบปริมาณการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงจำนวนมากแบบนี้ แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การใช้สารเคมีในการเกษตรของบ้านเราซึ่งยังมีมากจนน่าเป็นห่วง ในระยะยาวอันตรายของสารเคมีของส่งผลกระทบกับสุขภาพของเกษตรกรมากกว่าผู้บริโภค เพราะเกษตรกรสัมผัสกับสารเคมีอันตรายเหล่านี้โดยตรงและเป็นประจำทุกวันติดต่อกันเป็นเวลานาน ด้านการส่งออกก็จะเกิดปัญหาหากเราส่งผักที่มีการปนเปื้อนแบบนี้ออกไป ทางแก้ไขก็ต้องเป็นให้ความรู้กับเกษตรกรผู้ผลิต ว่าสารเคมีที่ใช้อยู่เป็นอันตรายยังไง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการ ลดการใช้ การผลิต การนำเข้า สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตราย กระตุ้นและส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราเองก็ต้องช่วยกันส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ แม้ราคาจะแพงกว่าผักทั่วไป แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าเพราะได้สุขภาพที่ดีเป็นการตอบแทน -ไม่ว่าจะเป็นผักชนิดใด การล้างทำความสะอาดก่อนทานจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย แม้แต่ผักที่ปอกเปลือกก่อนทาน ก็ต้องล้างทำความสะอาดก่อนปอกเปลือก   ------------------------------------------------------------------------------------- รู้จักเครื่องหมาย Q เครื่องหมาย Q บนสินค้าเกษตร คือเครื่องหมายรับรองที่ออกโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรับรองว่าผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารผ่านเกณฑ์ของคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร (food safety) และด้านคุณภาพที่จำเป็น (essential quality) ซึ่งประโยชน์ของการติดเครื่องหมาย Q ในสินค้าเกษตรที่ครอบคลุมทั้ง พืช ปศุสัตว์ และประมง คือการเป็นเครื่องมือที่ใช้ควบคุมมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร ไล่ตั้งแต่ระดับฟาร์ม การแปรรูป การขนส่ง ช่วยให้ผู้บริโภครู้ถึงแหล่งที่มาของสินค้า สามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ในกรณีที่เกิดปัญหาหรือได้รับอันตรายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์นั้นๆ   “คาร์โบฟูราน” (Cardofuran) ที่พบในตัวอย่าง ผักชี ตราห้าง กับ ถั่วฝักยาว มาตรฐาน Q และ “เมโทมิล” (Methomyl) ที่พบในตัวอย่าง ถั่วฝักยาว มาตรฐาน Q ถือเป็น 2 ใน 4 สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ เครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีเกษตร (Thai – PAN : Thailand Pesticide Alert Network) ที่เกิดจากการรวมตัวกันของ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้บริโภค และภาคีที่เกี่ยวข้อง กำลังผลักดันให้ภาครัฐเพิกถอนทะเบียน ยกเลิกการนำเข้าและผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้สารเคมีทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นสารที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันสูง มีความอันตรายถึงชีวิตแม้จะได้รับสารพิษเพียงเล็กน้อย มีหลายประเทศที่ประกาศไม่ให้ใช้สารเหล่านี้ไปแล้ว โดยประเทศที่ประกาศแบน คาร์โบฟูราน ประกอบด้วย สหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา, จีน และ จาไมก้า ส่วนประเทศที่ยกเลิกการใช้ เมโทมิล ได้แก่ สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ฟินแลนด์, สิงคโปร์ ส่วนสารเคมีอีก 2 ตัวที่เครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีเกษตรเสนอให้มีการยกเลิกการใช้ในประเทศไทยคือ ไดโครโตฟอส (Dicrotophos) และ อีพีเอ็น (EPN)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 124 น้ำผัก – ผลไม้รวม 100%

  เพราะเรารู้ว่าแฟนๆ “ฉลาดซื้อ” เป็นคนที่รักและห่วงใยดูแลสุขภาพ ฉบับนี้เรามีผลทดสอบเครื่องดื่มยอดฮิตสำหรับคนรักสุขภาพอย่าง “น้ำผัก – ผลไม้รวม 100%” มาฝาก  ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์น้ำผักพร้อมดื่มทั้ง 100% และไม่ 100% ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น มีการผลิตออกมาหลากหลายยี่ห้อหลากหลายรสชาติ ตอบรับกระแสรักสุขภาพของคนรุ่นใหม่ ซึ่งการเลือกดื่มน้ำผัก – ผลไม้พร้อมดื่มนั้นสะดวกสบาย หาซื้อง่าย เข้ากับยุคสมัยที่ผู้คนหันมาห่วงใยสุขภาพมากขึ้นแต่กับมีเวลาดูแลตัวเองน้อยลง แถมบางคนที่ไม่ชอบกินผักก็เลือกที่จะดื่มน้ำผักแทน เพราะกินง่ายกว่า รสชาติก็อร่อยกว่า  ลองมาหาคำตอบกันดูสิว่า น้ำผัก – ผลไม้รวม 100% พร้อมดื่ม จะเป็นทางเลือกใหม่ของคนรักสุขภาพได้จริงหรือ? ------------------------------------------------------------------------------------------ น้ำผัก - ผลไม้ถือเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปประเภทหนึ่ง เป็นวิธีการเพิ่มมูลค่าให้กับผัก – ผลไม้ ในช่วงเวลาที่ผัก – ผลไม้ล้นตลาดและราคาตกต่ำ การแปรรูปน้ำผัก – ผลไม้ยังเป็นช่วยยืดอายุของผักและผลไม้เพราะสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานขึ้น ประเภทของน้ำผัก ผลไม้1.น้ำผลไม้เข้มข้น ทำจากน้ำผลไม้แท้ที่ผ่านการต้มเพื่อให้น้ำระเหยออกบางส่วนจนได้เป็นน้ำผลไม้เข้มข้น เวลาดื่มต้องผสมกับน้ำให้เจือจางก่อน ซึ่งน้ำผลไม้เข้มข้นนิยมใช้เป็นส่วนผสมในขนม ไอศครีม และเครื่องดื่มต่างๆ 2.น้ำผัก - ผลไม้พร้อมดื่ม ก็คือน้ำผลไม้บรรจุกล่องหรือขวดที่วางขายอยู่ตามร้านค้าหรือร้านสะดวกซื้อทั่วไป ซึ่งน้ำผัก – ผลไม้พร้อมดื่มก็ทั้งแบบที่เป็นน้ำผัก – ผลไม้ 100% และแบบที่ไม่ถึง 100% คือจะอยู่ที่ประมาณ 25 – 50% ซึ่งคือการนำน้ำผลไม้เข้มข้นมาเจือจางและแต่งรสชาติเพิ่มเติม ------------------------------------------------------------------------------------------ สรุปผลทดสอบ -ถือเป็นข่าวดีของผู้บริโภคที่สามารถสบายใจได้ว่าน้ำผัก – ผลไม้รวมพร้อมดื่ม 100% ที่เราทดสอบทั้ง 10 ตัวอย่าง ปลอดภัยจากการปนเปื้อนและสารเคมีทางการเกษตร -เครื่องดื่มน้ำผัก – ผลไม้รวม 100% แม้จะอ้างว่ามีส่วนประกอบจากน้ำผัก – ผลไม้หลาย 10 ชนิด แต่ถ้าเราลองดูข้อมูลส่วนประกอบจะเห็นว่า เกือบทุกยี่ห้อจะมีน้ำแครอทเป็นส่วนประกอบหลัก หรือกว่า 30% ของส่วนประกอบทั้งหมด ที่เหลือก็จะเป็นน้ำผลไม้ที่ทำหน้าที่เพิ่มรสชาติให้ดื่มง่ายและอร่อยขึ้น เช่น น้ำสับปะรด น้ำส้ม น้ำแอปเปิ้ล ส่วนน้ำผักอื่นๆ จะผสมมาในสัดส่วนที่น้อยมากๆ ไม่ถึง 10%  -เครื่องดื่มน้ำผัก – ผลไม้รวม 100% บางยี่ห้อมีการเติมวิตามินลงไปด้วย แต่ก็ในปริมาณที่น้อยมาก แถมวิตามินส่วนใหญ่ถูกทำลายได้ง่ายมาก โดยเฉพาะวิตามินซี ทั้งจากการถูกความร้อน แสงแดด หรือสัมผัสกับอากาศ แม้จะมีการเติมวิตามินลงไป แต่น้ำผัก – ผลไม้รวมพร้อมดื่มก็ให้วิตามินได้ไม่เท่าผัก – ผลไม้สดๆ อยู่ดี  -ปริมาณน้ำตาลจากการทดสอบ พบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ 9.27 กรัม / 100 มิลลิลิตร ถ้าคิดปริมาณน้ำตาลเป็นช้อนชาจะอยู่ประมาณ 2 ช้อนชากว่าๆ (1 ช้อนชา = 4.2 กรัม) ปริมาณน้ำตาลที่นักโภชนาการแนะนำให้รับประทานต่อวันคือ ไม่ควรเกิน 4 ช้อนชาสำหรับเด็ก และ 6 ช้อนชาสำหรับผู้ใหญ่ ถ้าหากเราดื่มน้ำผัก – ผลไม้รวมพร้อมดื่ม 1 แก้ว หรือประมาณ 200 มิลลิลิตร เราก็จะได้น้ำตาลที่ประมาณ 4 ช้อนชา ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง  ดังนั้นใครที่คิดจะดื่มน้ำผัก น้ำผลไม้พร้อมดื่มเพื่อเป็นตัวช่วยในการลดน้ำหนักอาจจะต้องคิดใหม่   ผลทดสอบปริมาณน้ำตาลและการปนเปื้อนของสารเคมีทางเกษตรในน้ำผัก – ผลไม้รวมพร้อมดื่ม 100% ชื่อผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิต ส่วนประกอบ ราคา (บาท) ผลการทดสอบ น้ำตาล / 100 มิลลิลิตร  (กรัม) การปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตร กลุ่มคาร์บาเมต กลุ่มสารสังเคราะห์ไพรีทรอยด์ ดอยคำ น้ำผักผลไม้รวม 100% โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป น้ำสับปะรด 50% น้ำแครอท 31% น้ำเสาวรส 7% น้ำมะเขือเทศ 7% น้ำบีทรูท 5% 55 บ. / 1 ลิตร 9.3 ไม่พบ ไม่พบ Chooze ชูส น้ำผักผลไม้รวมผสมผักโขม 100% Universal food public company limited   น้ำองุ่นขาว 43% น้ำสับปะรด 30% น้ำส้ม 20% น้ำแตงกวา 4% น้ำผักโขม 1.3% น้ำแครอท 1.2% น้ำฝักทอง 0.5% 69 บ. / 1 ลิตร 8.6 ไม่พบ ไม่พบ Big C น้ำผักผสมน้ำผลไม้รวม 100% บริษัท มาลีบางกอก จำกัด   น้ำแครอท 30% น้ำส้ม 27% น้ำแอปเปิ้ล 25% น้ำฟักทอง 5% น้ำสับปะรด 5% น้ำนะนาว 3.97% น้ำมะเขือเทศ 3% น้ำขึ้นฉ่าย 1% วิตามิน ซี 0.03% 45 บ. / 1 ลิตร 11.4 ไม่พบ ไม่พบ ชบา น้ำผักผสมน้ำผลไม้รวม 100% บริษัท มาลีบางกอก จำกัด   น้ำแครอท 40% น้ำแอปเปิ้ลแดง 17.47% น้ำส้มเขียวหวาน 15% น้ำฟักทอง 10% น้ำสับปะรด 5% น้ำขึ้นฉ่าย 5% น้ำมะเขือเทศ 5% น้ำมะนาว 2.5% วิตามิน ซี 0.03% 51 บ. / 1 ลิตร 10.3 ไม่พบ ไม่พบ ยูนิฟ น้ำผักผลไม้รวม 100% บริษัท ยูนิ-เพรสซิเดนท์ (ประเทศไทย) จำกัด น้ำแครอท 40% น้ำสับปะรด 32.3% น้ำส้ม 15% น้ำแอปเปิ้ล 13% น้ำมะเขือเทศ 3.3% น้ำมะนาว 2% น้ำขึ้นฉ่าย 2% น้ำฟักทอง 1% น้ำแครอทม่วง 0.3% น้ำองุ่นแดง 0.1% 52 บ. / 1 ลิตร 9.8 ไม่พบ ไม่พบ ทิปโก้ 100% น้ำผักผลไม้รวม 32 ชนิด บริษัท ทิบโก้ เอฟแอนด์บี จำกัด   น้ำผักผสมน้ำผลไม้รวม จากน้ำผักผสมน้ำผลไม้รวมเข้มข้น 32 ชนิด 39.4187925% น้ำส้มจากน้ำส้มเข้มข้น 30% น้ำแอปเปิ้ลจากน้ำแอปเปิ้ลเข้มข้น 15% น้ำส้มเช้งจากน้ำเช้งเข้มข้น 10% น้ำมะม่วง 3% น้ำแอปเปิ้ลไซเดอร์ 2% ใยอาหาร 0.55% วิตามินซี 0.03% วิตามินเอ 0.0012% วิตามินบี 2 0.000005% วิตามินบี 1 0.0000025% 69 บ. / 1 ลิตร 8.6 ไม่พบ ไม่พบ V8 เครื่องดื่มน้ำผักผสม ผลิต บริษัท แคมเบลล์ ซุปคัมปานี จำกัด เมืองแคมเด็น รัฐนิวเจอร์ซี่ สหรัฐอเมริกา นำเข้า บริษัท ซีโน-แปซิฟิค เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด น้ำมะเขือเทศ 44.05% น้ำผัก 33.07% เกลือ 0.95% แต่งกลิ่นธรรมชาติ 129 บ. / 964 ซีซี 4.0 ไม่พบ ไม่พบ เซปเป้ ฟอร์วันเดย์ บริษัท ทรัพย์อนันต์ เยนเนอรัลฟู้ด จำกัด น้ำผักรวม (คื่นฉ่าย, ผักกาดหอม, ผักโขม, บีทรูท, ผักชีฝรั่ง, บล๊อกโคลี่) 30% น้ำแครอทจากน้ำแครอทเข้มข้น 30% น้ำส้มจากน้ำส้มเข้มข้น 20% น้ำสับปะรดจากน้ำสับปะรดเข้มข้น 20% แต่งกลิ่นเลียนธรรมชาติ 25 บ. / 350 มิลลิลิตร 10.4 ไม่พบ ไม่พบ Malee veggies 100% บริษัท มาลีสามพราน จำกัด (มหาชน) น้ำผลไม้รวม 88% (น้ำแอปเปิ้ลแดง, น้ำองุ่นขาว, น้ำแอปเปิ้ลเขียว, น้ำกีวี) น้ำผักรวม 12% (น้ำคื่นฉ่าย, น้ำบร็อกโคลี่, น้ำหน่อไม้ฝรั่ง, น้ำแตงกาว, น้ำผักขม) 49 บ. / 1 ลิตร 10.0 ไม่พบ ไม่พบ Smile น้ำผักผลไม้รวม 100% บริษัท นูบูน จำกัด   น้ำผักรวม 40% น้ำแอปเปิ้ล 25% น้ำสับปะรด 24% น้ำส้ม 8% น้ำแพชชั่น 3% 98 บ. / 1 ลิตร 10.3 ไม่พบ ไม่พบ     ฉลาดซื้อแนะนำ1) หากอยากจะดื่มน้ำผัก – ผลไม้ให้ได้คุณค่าและดีกับสุขภาพร่างกายจริงๆ ฉลาดซื้อแนะนำให้คั้นดื่มเอง เพราะเราสามารถเลือกผัก – ผลไม้จะมาทำได้  ถ้าไม่อยากได้น้ำตาลเยอะเราสามารถเลือกผัก – ผลไม้ที่ไม่หวานมากมาทำ แถมน้ำผัก น้ำผลไม้ที่เราคั้นเองปั่นเองก็จะมีทั้งกากใยและเนื้อผัก – ผลไม้เหลืออยู่ด้วย ซึ่งก็คือใยอาหารที่มีประโยชน์ช่วยในการขับถ่าย 2) คั้นน้ำผักดื่มเอง ต้องล้างทำความสะอาดผักก่อนจะนำมาทำน้ำผัก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรที่มากับผัก  3) น้ำผักควรเป็นเพียงเครื่องดื่มเพื่อหลีกหนีความจำเจเท่านั้น การรับประทานผักสดเป็นประจำมีความจำเป็นต่อร่างกายมากกว่า ถ้าอาหารในแต่ละมื้อที่เรารับประทานมีผักเป็นส่วนประกอบในปริมาณที่มากพออยู่แล้ว การดื่มน้ำผักก็ไม่มีความจำเป็น ซึ่งราคาของน้ำผักก็สูงกว่าราคาของผักสดธรรมดาที่เราซื้อมาประกอบอาหารค่อนข้างมาก   ----------------------------------------------------------------------------------------- 7,500 ล้านบาท คือตัวเลขมูลค่าทางการตลาดน้ำผัก – ผลไม้ในบ้านเรา ซึ่งธุรกิจน้ำผัก – ผลไม้ในบ้านเรามีอัตราการเติบโตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ซึ่งมาจากกระแสรักสุขภาพ2,400 ล้านบาท คือตัวเลขมูลค่าทางการตลาดเฉพาะน้ำผัก – ผลไม้ 100% ซึ่งถือว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับน้ำผัก – ผลไม้ประเภทอื่นๆ  (ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปีที่ 15 ฉบับที่ 2519 วันที่ 29 พฤษภาคม 2552) -----------------------------------------------------------------------------------------  ทำน้ำผักไว้ดื่มเองก็ได้  หากอยากจะได้น้ำผัก – ผลไม้ที่รสชาติถูกใจและดีต่อสุขภาพจริงๆ รวมทั้งประหยัดด้วย การเลือกผัก – ผลไม้มาคั้นเองจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด (ใครอยากรู้สูตรการทำน้ำผัก – ผลไม้ลองคลิกไปที่ http://www.vegetablejuicerecipes.org/ มีให้เลือกลองทำหลากหลายสูตรหลากหลายเมนู) แต่การทำน้ำผัก – ผลไม้เองต้องอย่าลืมสิ่งสำคัญที่สุด คือการล้างทำความสะอาด เพราะผัก – ผลไม้สมัยนี้วางใจไม่ได้เรื่องสารเคมีปนเปื้อน แทนที่จะมีสุขภาพดีอาจต้องมาป่วยเพราะยาฆ่าแมลงก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 สำรวจคุณภาพผักในประเทศ (2)

  “ฉลาดซื้อ” ฉบับที่แล้วนำเสนอได้เพียงแค่ คะน้ากับบร็อคโคลี่ คราวนี้เรามาต่อกัน อีกสามชนิด  ได้แก่  กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำและถั่วฝักยาว ครับ เป็นการสำรวจในครั้ง เดียวกันกับผักคะน้าและบร็อคโคลี่จาก 8 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และสตูล   ดอกกะหล่ำ ตัวอย่างที่ทดสอบ : 8 ตัวอย่างจากพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัดในการเก็บตัวอย่างจำนวน 1 ครั้ง คือ เดือนพฤศจิกายน52สารปนเปื้อนที่ทดสอบ : สารพิษตกค้างทางการเกษตร 3 ประเภท คือยากันรา-คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate) และยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ (Pyrethiod)  ผลทดสอบสารเคมีปนเปื้อนในดอกกะหล่ำ : 1.พบยากันรา-คาร์เบนดาซิมในตัวอย่างจำนวน 2 ตัวอย่าง(1) อย่างจากห้างคาร์ฟูร์ จ.เชียงใหม่ ที่ปริมาณ 0.59 มก./กก. (2) ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จ.พะเยา ปริมาณยากันราที่พบเท่ากับ 0.14 มก./กก. 2.พบยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตจำนวน 2 ตัวอย่าง(1) อย่างจากห้างคาร์ฟูร์ จ.เชียงใหม่ พบสารคลอร์ไพริฟอสที่ปริมาณ 0.024 มก./กก.(2) ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จ.พะเยา พบสารคลอร์ไพริฟอสเช่นกัน ที่ปริมาณ 0.0138 มก./กก.อย่างไรก็ตามปริมาณสารเคมีที่พบอยู่ในปริมาณที่ต่ำและไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายกับการบริโภค 3.พบยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์จำนวน 4 ตัวอย่าง แต่เมื่อนำมาตรฐานอาหารที่มีสารพิษตกค้างตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 288 มาใช้ประกอบการพิจารณาจะพบว่ามีเพียง 3 ตัวอย่างที่ไม่ผ่านมาตรฐาน สารเคมีที่พบได้แก่แลมป์-ดาไซฮาโลทริน เปอร์เมทริน ไซฟลูทริน เฟนวาเลอเรท และเดลทาเมทริน ปริมาณที่พบแต่ละชนิดอยู่ระหว่าง 0.01 – 0.3 มก./กก. โดยมีปริมาณรวมของสารเคมีตกค้างสูงสุดตามลำดับดังนี้(1) ตัวอย่างจากห้างคาร์ฟูร์ จ.เชียงใหม่ ที่ปริมาณ 0.5 มก./กก. (2) ต้วอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จ.พะเยา ที่ปริมาณ 0.4 มก./กก. (3) ตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี จ.มหาสารคาม ที่ปริมาณ 0.01 มก./กก.  สรุปความเสี่ยงของสารเคมีตกค้างในดอกกะหล่ำ มีความเสี่ยงกับการได้รับอันตรายจากยากันรา-คาร์เบนดาซิม สารเคมีกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และสารเคมีกลุ่มไพรีทอยด์ ดังนั้นหากจะรับประทานต้องทำการล้างให้สะอาดเรียบร้อยก่อนนำมาปรุงอาหาร ตารางแสดงผลทดสอบสารเคมีปนเปื้อนในดอกกะหล่ำ จังหวัด ยี่ห้อ/สถานที่เก็บ ผู้ผลิต/นำเข้า Carbendazim (มก./กก.) Organophosphate (มก./กก.) Pyrethiod (มก./กก.) เก็บตัวอย่างเดือนพฤศจิกายน 2552 กรุงเทพ ฟู้ดแลนด์หลักสี่ - ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ สมุทรสงคราม เทสโก้ โลตัส บ.เอกชัยดิสทริ บิวชั่นซิสเทม ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ ขอนแก่น ตลาดสดเทศบาล3 นำเข้าจากจีน ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ มหาสารคาม บิ๊ก-ซี กิตติพงษ์ ไม่พบ ไม่พบ Cypermethrin  0.15 Deltamethrin 0.01 สตูล เทสโก้ โลตัส นำเข้าจากจีน ไม่พบ ไม่พบ Cypermethrin 0.08 สงขลา ตลาดกิมหยง - ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ เชียงใหม่ คาร์ฟูร์ คาร์ฟูร์ 0.59 Chlorpyrifos 0.024 Cyhalothrin 0.0216 Permethrin 0.068   Cyfluthrin 0.078 Cypermethrin 0.101 Fenvalerate 0.03 Deltamethrin 0.311 พะเยา เทสโก้ โลตัส - 0.14 Chlorpyrifos 0.0138 Cyhalothrin 0.02 Permethrin 0.11    Cypermethrin 0.05 Fenvalerate 0.265 Deltamethrin 0.024   กะหล่ำปลีตัวอย่างที่ทดสอบ : 8 ตัวอย่างจากพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัดในการเก็บตัวอย่างจำนวน 1 ครั้ง คือ เดือนพฤศจิกายน 52สารปนเปื้อนที่ทดสอบ : สารพิษตกค้างทางการเกษตร 3 ประเภท คือยากันรา-คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate) และยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ (Pyrethiod)   ผลทดสอบสารเคมีปนเปื้อนในกะหล่ำปลี :  1.พบการปนเปื้อนของยากันรา-คาร์เบนดาซิม จำนวน 2 ตัวอย่าง จาก 8 ตัวอย่างที่ทดสอบ โดยตัวอย่างที่พบ การปนเปื้อนได้แก่ (1) ตัวอย่างห้างเทสโก้ โลตัส จ.พะเยา ปริมาณยากันราที่พบเท่ากับ 0.24 มก./กก. (2) ตัวอย่างจากห้างแมคโคร จ.เชียงใหม่ ปริมาณยากันราที่พบเท่ากับ 0.16 มก./กก.  2.พบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตในตัวอย่างจำนวน 2 ตัวอย่าง ได้แก่(1) ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จากจ.พะเยามี 2 ชนิดคือ เมทามิโดฟอส (Methamidophos) และคลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) ที่ปริมาณเท่ากันคือ 0.009 มก./กก. (2) ตัวอย่างจากห้างแมคโครจ.เชียงใหม่พบการตกค้างของสารเคมี 4 ชนิดได้แก่ เมทามิโดฟอส(Methamidophos) คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) โพรทิโอฟอส (Prothiofos) และ อีพีเอ็น (EPN) ปริมาณของสารเคมี ที่พบทั้ง 4 ชนิดไม่มีชนิดใดสูงเกินกว่า 0.01 มก./กก.แม้ว่าจะพบสารเคมีมากกว่า 1 ชนิดในทั้งสองตัวอย่างแต่เนื่องจากปริมาณของสารเคมีที่พบแต่ละชนิดอยู่ในจำนวนที่จัดได้ว่าน้อยมากทำให้ถึงจะนำปริมาณสารทั้งหมดที่พบมารวมกัน (ไม่เกิน 0.03 มก./กก.) ก็ยังเป็นปริมาณที่ต่ำและไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายเมื่อบริโภค  3.พบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ในตัวอย่างจำนวน 3 ตัวอย่าง โดยเป็นตัวอย่างจาก (1) ตัวอย่างจากห้างแมคโคร จ.เชียงใหม่ และ (2) ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จ.พะเยา พบการตกค้างของยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ที่มาตรฐานอาหารที่มีสารพิษตกค้างไม่ได้ระบุให้ใช้ได้จำนวน 5 ชนิดเท่ากัน ได้แก่ แลมป์ดา ไซแฮโลทริน (Lambda- Cyhalothrin)เปอร์เมทริน (Permethrin) ไซฟลูทริน (Cyfluthrin) เฟนวาเลอเรท (Fenvalerate) และ เดลทาเมทริน (Deltamethrin)โดยตัวอย่างจากห้างแมคโคร  จังหวัดเชียงใหม่มีปริมาณรวมของสารเคมีสูงกว่าตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัสจังหวัดพะเยาเกือบสี่เท่าที่ปริมาณ 1.73 มก./กก. ขณะที่ตัวอย่างจากจังหวัดพะเยามีปริมาณของสารเคมีตกค้างรวมเท่ากับ 0.45 มก./กก.(3) ตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี จ.มหาสารคาม พบสารเคมีตกค้างเพียงชนิดเดียวคือเดลทาเมทริน ที่ปริมาณ 0.03 มก./กก.   ตารางแสดงผลทดสอบสารเคมีปนเปื้อนในกะหล่ำปลี จังหวัด ยี่ห้อ/สถานที่เก็บ ผู้ผลิต/นำเข้า Carbendazim(มก./กก.) Organophosphate(มก./กก.) Pyrethiod(มก./กก.) เก็บตัวอย่างเดือนพฤศจิกายน 2552 กรุงเทพ ฟู้ดแลนด์หลักสี่ - ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ สมุทรสงคราม เทสโก้ โลตัส บ.เอกชัยดิสทริ บิวชั่นซิสเทม ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ ขอนแก่น ตลาดสดเทศบาล3 - ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ มหาสารคาม บิ๊ก-ซี วุฒิ อำนวยชัยผลกิจ ไม่พบ ไม่พบ Deltamethrin 0.03 สตูล เทสโก้ โลตัส นำเข้าจากจีน ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ สงขลา ตลาดกิมหยง นำเข้าจากจีน ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ เชียงใหม่ แม็คโคร แม็คโคร 0.16 Methamidophos 0.0059 Chlorpyrifos 0.0107  Prothiofos 0.0044            EPN* 0.0044 Cyhalothrin 0.216 Permethrin 0.068  Cyfluthrin 0.057 Cypermethrin 0.027 Fenvalerate 0.539 Deltamethrin 0.881 พะเยา เทสโก้ โลตัส - 0.24 Methamidophos 0.0087 Chlorpyrifos 0.0089 Cyhalothrin 0.0217 Permethrin 0.11    Cyfluthrin 0.099 Cypermethrin 0.142 Fenvalerate 0.082 Deltamethrin 0.045 * = สารเคมีอันตรายที่กระทรวงเกษตรเฝ้าระวังการใช้งาน   ถั่วฝักยาว ตัวอย่างที่ทดสอบ : 8 ตัวอย่างจากห้างค้าส่งและค้าปลีกขนาดใหญ่ ได้แก่ บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส คาร์ฟู และ แมคโครหรือตลาดสดของพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัดในการเก็บตัวอย่างจำนวน 1 ครั้ง เมื่อเดือนมีนาคม 2553 สารปนเปื้อนที่ทดสอบ : สารเคมีปนเปื้อน 3 กลุ่ม คือ ออร์กาโนฟอสเฟต ไพรีทอยด์ และคาร์บาเมต ผลทดสอบสารเคมีปนเปื้อนในดอกกะหล่ำ : 1.พบยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตในตัวอย่างจำนวน 5 ตัวอย่าง แต่เมื่อนำมาตรฐานอาหารที่มีสารพิษตกค้างฉบับที่ 288 มาประกอบการพิจารณาจะพบตัวอย่างที่ไม่ผ่านมาตรฐานจำนวน 4 ตัวอย่าง โดยพบสารเคมีหลายชนิดได้แก่ โพรฟิโนฟอส (Profenofos), คลอร์ไพริฟอส (Chlopyriphos) และ เมทิดาไทออน (Methidathion) กับอีพีเอ็น (EPN) ซึ่ง 2 ตัวหลังเป็นสารเคมีอันตรายที่กระทรวงเกษตรเฝ้าระวังการใช้งาน ตัวอย่างตกมาตรฐานที่พบการปนเปื้อนสูงสุดคือตัวอย่างจากตลาดสด อำเภอละงู จังหวัดสตูล พบ อีพีเอ็น ซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายที่เฝ้าระวังการใช้งานที่ปริมาณ 0.48 มก./กก.   2.พบยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ในตัวอย่างจำนวน 4 ตัวอย่าง แต่เมื่อพิจารณากับมาตรฐานจะพบว่าเกินมาตรฐานจำนวน 3 ตัวอย่าง สารเคมีที่พบนอกเหนือหรือไม่ผ่านตามมาตรฐานกำหนดประกอบด้วย ไซเปอร์เมทริน (Cypermethrin)แลมป์ดา ไซฮาโลทริน (Lambda-Cyhalothrin) ไซฟลูทริน (Cyfluthrin) เดลทาเมทริน (Deltamethrin) และเปอร์เมทริน (Permethrin) ตัวอย่างที่พบมากที่สุดคือ ตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จ.เชียงใหม่ และตัวอย่างจากห้างเทสโก โลตัส จ.พะเยา พบสารเคมีปนเปื้อนทั้ง 4 ชนิด 3.พบยาฆ่าแมลงกลุ่มคาร์บาเมตเกินมาตรฐานจำนวน 1 ตัวอย่างคือตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาสมุทรสงครามของผู้ผลิตคือร้านสมพิศ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี สารเคมีที่พบได้แก่ คาร์โบฟูราน*(ฟูราดาน : สารเคมีทางการเกษตรที่หลายประเทศยกเลิกการใช้ไปแล้วเนื่องจากมีอันตรายสูงแต่ประเทศจัดให้อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังการใช้งาน) ที่ปริมาณ 0.01 มก./กก. สรุปความเสี่ยงของสารเคมีตกค้างในถั่วฝักยาวถั่วฝักยาวถือว่าเป็นผักที่เราผู้บริโภคต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะปกติเรามักจะทานเป็นผักแกล้มกับน้ำตก ส้มตำซึ่งเราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าร้านที่เราไปทานได้ล้างทำความสะอาดเรียบร้อยดีหรือเปล่า ถ้าไม่ไว้ใจยังไงก็ควรหลีกเลี่ยงหรือทานแต่น้อย หรือเลือกซื้อมาทานที่บ้านล้างผักเองแบบนี้น่าจะอุ่นใจกว่า ตารางแสดงผลทดสอบสารเคมีปนเปื้อนในถั่วฝักยาว จังหวัด ยี่ห้อ/สถานที่เก็บ ผู้ผลิต/นำเข้า Organophosphate  (มก./กก.) Pyrethiod (มก./กก.) Carbamate (มก./กก.) เก็บตัวอย่างเดือนมีนาคม 2553 กรุงเทพ ตลาดซอยอารีย์ - Dimethoate 0.58 Cypermethrin 0.1 Methomyl* 0.02 สมุทรสงคราม เทสโก้ โลตัส ร้านสมพิศ Methidathion* 0.01 ไม่พบ Carbofuran

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 116 สำรวจคุณภาพผักในประเทศ(1)

ใครๆ ก็รู้ว่าทาน “ผัก” นั่นดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย กินแล้วสุขภาพดี ผิวพรรณดี แต่หน้าตาจะดีด้วยหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่เดี๋ยวก่อน!? คนที่รักการกินผักอย่าเพิ่งมีความสุขกับการกินผักจนมองข้ามเรื่องความปลอดภัย เพราะเดี๋ยวนี้โลกของเราเปลี่ยนไป ผักดีๆ ก็อาจกลายเป็นวายร้ายทำลายสุขภาพเราได้ ก็จะเพราะอะไรซะอีกละ ถ้าไม่ใช้บรรดาสารเคมีตกค้างจากการเพราะปลูก ที่ใส่เพื่อให้ผักโตไว ไล่แมลง และจะได้มีใบสวยๆ แต่ถ้าเรารับประทานเข้าไปรับรองชีวิตนี้ไม่สวยแน่ๆ “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้เราจึงมีผลทดสอบสารเคมีตกค้างในผักยอดนิยม 3 ชนิด ได้แก่ คะน้า บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี จาก 8 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และสตูล มานำเสนอ   บร็อคโคลี่ตัวอย่างที่ทดสอบ : 16 ตัวอย่างจากพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัดในการเก็บตัวอย่างจำนวน 2 ครั้ง คือ เดือนกันยายน 2552 กับเดือนมกราคม 2553 สารปนเปื้อนที่ทดสอบ : สารพิษตกค้างทางการเกษตร 3 ประเภท คือยากันรา-คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate) และยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ (Pyrethiod)  ผลทดสอบสารเคมีปนเปื้อนในบร็อคโคลี่ :1.พบการปนเปื้อนของยากันรา-คาร์เบนดาซิมในตัวอย่างจำนวน 3 ตัวอย่าง ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของคาร์เบนดาซิมได้แก่(1) ตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี จ.เชียงใหม่ เก็บตัวอย่างเมื่อ ก.ย. 2552 ปริมาณสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.92 มก./กก. (2) ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จ.พะเยา เก็บตัวอย่างเมื่อ ก.ย. 2552 ปริมาณสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.43 มก./กก. (3) ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จ.สตูล เก็บตัวอย่างเมื่อ ม.ค. 2553 ปริมาณสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.005 มก./กก.  2.พบยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตในตัวอย่างจำนวน 7 ตัวอย่าง โดยพบสารเคมีหลายชนิดที่ไม่ใช่มาลาไธออน (Malathion) ซึ่งมาตรฐาน มกอช. และ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 288 ระบุให้ใช้ได้ สารเคมีที่พบได้แก่ อะซีเฟต (Acephate) โพรฟิโนฟอส (Profenofos) เมทามิโดฟอส (Methamidophos) และคลอร์ไพริฟอส (Chlopyriphos) และมีปริมาณสารเคมีที่พบแต่ละชนิดอยู่ระหว่าง 0.005 – 0.09 มก./กก. ตัวอย่างที่พบสารเคมีสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ (1) ตัวอย่างที่เก็บจากห้างบิ๊กซี จ.เชียงใหม่ เก็บตัวอย่างเมื่อ ก.ย. 2552 พบ เมทามิโดฟอส (Methamidophos) ที่ปริมาณ 0.09  มก./กก. (2) ตัวอย่างจากห้างสยามพารากอน กทม. เก็บตัวอย่างเมื่อ ก.ย. 2552 พบอะซีเฟต (Acephate) ที่ปริมาณ 0.08 มก./กก. (3) ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาพระราม 1 กทม. และ ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดสมุทรสงคราม เก็บตัวอย่างเมื่อ ม.ค. 2553 พบคลอร์ไพริฟอส (Chlopyriphos) ที่ปริมาณ 0.06 มก./กก. ทั้ง 2 ตัวอย่าง 3.พบยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ในตัวอย่างจำนวน 5 ตัวอย่าง โดยพบสารเคมีหลายชนิดได้แก่ เดลทาเมทริน (Deltamethrin) ไซเปอร์เมทริน (Cypermethrin) แลมป์ดา-ไซแฮโลทริน (Lambda-cyhalothrin) เฟนวาเลอเรต (Fenvalerate) และไซฟลูทริน (Cyfluthrin) และมีปริมาณสารเคมีที่พบในแต่ละชนิดอยู่ระหว่าง 0.01 – 0.97 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนมากในปริมาณที่ต้องระวังได้แก่ (1) ตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี จ.เชียงใหม่เก็บตัวอย่างเมื่อ ก.ย. 2552 พบสารเคมีทั้ง 5 ชนิดที่กล่าวมาข้างต้นในปริมาณรวมกันเท่ากับ 1.61 มก./กก. (2) ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จ.พะเยา เก็บตัวอย่างเมื่อ ก.ย. พบสารเคมีทั้ง 5 ชนิดเช่นเดียวกับตัวอย่างจากจังหวัดเชียงใหม่ ที่ปริมาณรวมกันเท่ากับ 0.59 มก./กก.   สรุปความเสี่ยงของสารเคมีในบร็อคโคลี่จากผลการทดสอบจะเห็นว่าบร็อคโคลี่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารเคมีหลายชนิดโดยเฉพาะตัวอย่างที่เก็บจากจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดพะเยาเช่นเดียวกับผักคะน้าแต่อยู่ในอัตราความเสี่ยงที่น้อยกว่าเนื่องจากปริมาณสะสมของสารเคมีที่พบมีน้อยกว่า     คะน้า ตัวอย่างที่ทดสอบ : 24 ตัวอย่างจากพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัดในการเก็บตัวอย่างจำนวน 3 ครั้ง คือ เดือนกันยายน 2552 เดือนมกราคม 2553 และเดือนมีนาคม 2553  สารปนเปื้อนที่ทดสอบ : สารพิษตกค้างทางการเกษตร 3 ประเภท คือยากันรา-คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ยาฆ่าแมลงกลุ่ม   ออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate) และยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ (Pyrethiod) ผลทดสอบสารเคมีปนเปื้อนในคะน้า :1.พบการปนเปื้อนของยากันรา-คาร์เบนดาซิมในตัวอย่างจำนวน 8 ตัวอย่าง (*มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช. – 2551) มีระบุไว้ว่ายากันรา-คาร์เบนดาซิมจะพบมากในของแห้ง เครื่องเทศ และผลไม้ แต่ในผักคะน้าไม่มีระบุไว้ (ซึ่งน่าจะหมายความว่าไม่ควรพบสารดังกล่าวตกค้างในผักคะน้า) 3 ตัวอย่างที่พบมากที่สุดคือ (1) ตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี สาขามหาสารคาม จ.มหาสารคาม เก็บตัวอย่างเมื่อ ก.ย. 2552 ปริมาณสารเคมีที่พบเท่ากับ 2.41 มก./กก. (มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) (2) ตัวอย่างจากห้างแมคโครสาขาหาดใหญ่ จ.สงขลา เก็บตัวอย่างเมื่อ ม.ค. 2553 ปริมาณของสารเคมีที่พบเท่ากับ 1.93 มก./กก. (3) ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จ.พะเยาเก็บตัวอย่างเมื่อ ก.ย. 2552 ปริมาณของสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.48 มก./กก.  2.พบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตในตัวอย่างจำนวน 8 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่พบการปนเปื้อนของสารเคมี 2 – 3  ชนิดในตัวอย่างเดียว โดยมีชนิดของสารเคมีที่พบ ได้แก่ เมทามิโดฟอส (Methamidophos), โพรฟิโนฟอส (Profenophos) และ ไดโครโทฟอส (Dicrotrophos) กับ อีพีเอ็น (EPN) ซึ่ง 2 ตัวหลังเป็นสารเคมีอันตรายที่กระทรวงเกษตรเฝ้าระวังการใช้งาน โดยสารเคมีทั้งหมดไม่อนุญาตให้ใช้ในผักคะน้า สำหรับตัวอย่างที่พบสารเคมีปนเปื้อนสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ (1) ตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จ.เชียงใหม่ เก็บตัวอย่างเมื่อ มี.ค. 2553 พบสารเคมีร่วมกันหลายชนิดแต่อยู่ในปริมาณน้อยมากยกเว้นเพียงชนิดเดียวที่มีปริมาณสูงอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ โพรฟิโนฟอส ที่ปริมาณ 0.67 มก./กก. (2) ตัวอย่างจากตลาดกิมหยง อำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา เก็บตัวอย่างเมื่อ มี.ค. 2553 พบสารเคมีชนิด อีพีเอ็น (EPN) ที่ปริมาณ 0.38 มก./กก. (3) ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จ.พะเยา เก็บตัวอย่างเมื่อ ม.ค. 2553 พบสารเคมีชนิด ไดโครโทฟอส (Dicrotrophos)* ที่ปริมาณ 0.36 มก./กก.   3.พบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ (Pyrethiod) ในตัวอย่างจำนวน 8 ตัวอย่าง ตัวอย่างที่พบยาฆ่าแมลงสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ (1) ตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จ.เชียงใหม่ เก็บตัวอย่างเมื่อ มี.ค. 2553 สารเคมีที่พบคือ ไซเปอร์เมทริน (Cypermethrin) ที่ปริมาณ 8.54 มก./กก. [จัดอยู่ในเกณฑ์อันตรายเพราะหากเทียบกับผักตระกูลกะหล่ำแล้ว ปริมาณสารเคมีที่พบสูงกว่าที่มาตรฐานมกอช. กำหนดไว้ถึง 8 เท่า] คู่กับ แลมป์ดาไซแฮโลทริน (lambda-cyhalothrin) ที่ปริมาณ 0.04 มก./กก. คิดเป็นปริมาณสารเคมีรวมเท่ากับ 8.58 มก./กก. (2) ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จ.พะเยา เก็บตัวอย่างเมื่อ ก.ย. 2552 สารเคมีที่พบคือ เดลทาเมทริน (Deltamethrin) ที่ปริมาณ 4.22 มก./กก. [จัดอยู่ในเกณฑ์อันตรายเพราะปริมาณสารเคมีที่พบสูงกว่าที่มาตรฐาน มกอช. ระบุให้ใช้ได้สูงสุดไม่เกิน 0.5 มก./กก. ไปเกือบ 9 เท่า] ไซเปอร์เมทริน (Cypermethrin) ที่ปริมาณ 0.1 มก./กก. ไซฟลูทริน (Cyfluthrin) ที่ปริมาณ 0.09 มก./กก. และ เปอร์เมทริน (Permethrin) ที่ปริมาณ 0.03 มก./กก. คิดเป็นปริมาณสารเคมีรวมเท่ากับ 4.44 มก./กก. (หมายเหตุ: สารเคมีที่มาตรฐานอนุญาตให้ใช้ได้และมีการใช้ไม่เกินมาตรฐานจะไม่ถูกนำมารวมคำนวนด้วย) (3) ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จ.เชียงใหม่ เก็บตัวอย่างเมื่อ ก.ย. 2552 สารเคมีที่พบคือ เดลทาเมทริน (Deltamethrin) ที่ปริมาณ 0.97 มก./กก. ไซเปอร์เมทริน (Cypermethrin) ที่ปริมาณ 0.43 มก./กก. และ แลมป์ดาไซแฮโลทริน ((lambda-cyhalothrin) ที่ปริมาณ 0.02 มก./กก. รวมปริมาณสารเคมีทั้งหมดเท่ากับ 1.42 มก./กก.   สรุปความเสี่ยงของสารเคมีในผักคะน้าคะน้าถือเป็นผักยอดฮิตนิยมนำมาทำเป็นอาหารหลายเมนู จากปริมาณสารเคมีที่พบแต่ละประเภทในการทดสอบ สามารถสรุปได้ว่าผักคะน้าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะได้รับอันตรายจากสารพิษตกค้างทางการเกษตร ดังนั้นควรต้องมีการล้างทำความสะอาดให้ดีก่อนรับประทาน เวลาซื้อมาทำอาหารก็ควรเลือกที่ใบมีรอยกัดกินของแมลงบ้าง ถ้าเลือกแต่ที่ใบสวยงามเรียบร้อยรับประกันได้เลยว่าได้รับสารเคมีมาเพียบแน่นอน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 184 สำรวจเครื่องหมาย Q ปลอดภัย-ได้มาตรฐาน? และเรื่องราวที่ใหญ่กว่านั้น

พูดถึงพืชผักผลไม้ ความวิตกกังวลของผู้บริโภคอย่างเราๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องสารเคมีตกค้าง เรียกได้ว่าเป็นปัญหาคลาสสิกประการหนึ่งของไทย ยิ่งเมื่อเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ที่เปิดเผยผลการสุ่มตรวจค่าสารเคมีตกค้างจากผักและผลไม้เป็นประจำทุกปี พบว่า ตัวอย่างผักผลไม้ที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q มีสารพิษตกค้างเกินค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด หรือ MRL มากที่สุดถึงร้อยละ 57.14เรียกได้ว่าข่าวนี้เพิ่มความไม่ไว้ใจต่ออาหารของผู้บริโภคและสะเทือนไปถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าของเครื่องหมาย Q ถึงขนาดว่ากรมวิชาการเกษตรตั้งท่าจะฟ้อง Thai-PAN ในข้อหาหมิ่นประมาท ขณะที่ Thai-PAN ก็ตอบรับด้วยการบอกว่าจะฟ้องกลับฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่    ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะทำความรู้จักกับเครื่องหมาย Q และปัญหาสารเคมีตกค้างทางการเกษตร ที่ไม่ใช่แค่มิติแคบๆ ว่าเพราะเกษตรกรเห็นแก่ตัว แต่เป็นปัญหาระดับมหภาคที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วนสารเคมี-คิว-อาหารปลอดภัย ปัญหางูกินหาง ผู้บริโภคไม่มั่นใจ    ปัญหาสารเคมีตกค้างในพืชผักไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาเรื้อรังที่รู้กันในวงกว้างจนอาจไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวกันอีก มันไม่ใช่แค่ว่าเกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลงปริมาณมากและส่งต่อยาพิษสู่ผู้บริโภค แต่ยังมีปัญหาเชิงระบบที่ทำให้เรื่องนี้แก้ยากกว่าที่คิด (ดูล้อมกรอบ-สารเคมี: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด)    และแล้วมันก็สร้างเขาวงกตอันวกเวียนให้เรื่องนี้ เพราะเมื่อสารเคมีตกค้างเป็นปัญหา ภาครัฐซึ่งพยายามส่งเสริมเรื่องอาหารปลอดภัยก็ได้ผลักดันนโยบายต่างๆ ออกมาเพื่อแก้ไข แต่ยังไม่สามารถควบคุมที่ต้นตออย่างการจำกัดการนำเข้าและควบคุมการใช้สารเคมีได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าอุปสรรคสำคัญข้อหนึ่งคืออิทธิพลของบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรยักษ์ใหญ่ ในบรรดานโยบายยิบย่อยเหล่านั้นก็มีเครื่องหมายคิวรวมอยู่ด้วย เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารปลอดภัย คิวจึงเกิดขึ้นเพื่อการันตีว่าผักผลไม้ที่ติดเครื่องหมายนี้ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ซึ่งแน่นอนว่า ราคาของพืชผักประเภทนี้ย่อมมีราคาสูงกว่าตามท้องตลาดโดยทั่วไป ทว่าการตรวจสอบของ Thai-PAN กลับทำให้เห็นว่า คิวไม่สามารถการันตีได้ทั้งที่จ่ายแพงกว่า แล้วผู้บริโภคจะจ่ายแพงกว่าเพื่ออะไร  อิสรีย์ เจียมอนุกูลกิจ เป็นคนหนึ่งที่บริโภคผักผลไม้อินทรีย์มาเกือบ 10 ปีด้วยเหตุผลด้านสุขภาพและคิดว่าผักและเนื้อสัตว์ปลอดสารมีรสชาติดีกว่า โดยปกติเธอจะซื้อสินค้าเหล่านี้จากซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างและตลาดนัดเกษตรกรบางโอกาส แม้เธอจะไม่รู้จักเครื่องหมายคิวมาก่อน แต่เมื่อเธอรู้ข่าวเรื่องนี้ เธอบอกว่า“รู้สึกหดหู่และผิดหวังที่เราให้ความเชื่อมั่นต่อสิ่งที่เจ้าของฟาร์มได้ให้คำมั่นสัญญาเรื่องความปลอดภัย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้ตรวจสอบคุณภาพของสินค้า ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในการบริโภคผักผลไม้อินทรีย์ แต่ก็รู้สึกว่าเป็นตัวเลือกที่มีอยู่ไม่มากในกรุงเทพฯ เลยเลือกมองเรื่องความสด สะอาด และรสชาติแทน และหลีกเลี่ยงผักที่มีแนวโน้มที่จะใช้สารเคมีเยอะๆ”-----------------------------------------------------------------------------------------------   สารเคมี: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด    การปนเปื้อนสารเคมีในพืชผักผลไม้เป็นเพียงปลายเหตุของห่วงโซ่ปัญหาที่ยาวกว่านั้น รากฐานปัญหาจริงๆ ของเรื่องนี้คือประเทศไทยไม่มีการควบคุมดูแลการนำเข้าและการใช้สารเคมีให้อยู่ในร่องในรอย โดยข้อมูลปริมาณการนำเข้าสารเคมีจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2553-2558 เรียงตามลำดับคือ 117,815 ตัน, 164,538 ตัน, 134,480 ตัน, 172,826 ตัน, 147,375 ตัน และ 149,546 ตัน    กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานกินเปลี่ยนโลกและรองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก Thai-PAN กล่าวว่า ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีทั้งหมดจากต่างประเทศ ซึ่งสารเคมีเหล่านั้นจะต้องมีการขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย จึงจะสามารถจำหน่ายในประเทศได้ ซึ่งการที่สารเคมีตัวหนึ่งจะขึ้นทะเบียนได้จะต้องมีการตรวจสอบตามหลักวิชาการว่าปลอดภัย หมายถึงไม่มีพิษเกินไปทั้งต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม ไม่มีการตกค้างยาวนาน การลดจำนวนการขึ้นทะเบียนสำหรับสารเคมีอันตรายถือเป็นการควบคุมชั้นที่หนึ่ง    “ชั้นที่ 2 คือควรมีการควบคุมการขาย การโฆษณาอย่างเข้มงวด มีการกำกับดูแลการใช้ให้เป็นไปตามหลักวิชาการจริงๆ คือทุกครั้งที่ชี้ปัญหานี้ขึ้นมาก็จะโทษว่าเกษตรกรเห็นแก่ตัว แค่นี้มันแก้ปัญหามั้ย อันนี้เป็นโจทย์การกำกับดูแลของหน่วยงานราชการ ซึ่งก็คือกรมวิชาการเกษตรที่ยังทำหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้เกิดการใช้อย่างถูกต้องได้ เขาห้ามใช้ในอาหารก็เอาไปใช้ ห้ามใช้ในข้าวก็ใช้ในข้าว คือสารเคมีเวลาขึ้นทะเบียนจะถูกระบุด้วยว่าใช้ในอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ถูกใช้ทั่วไปดังนั้นต้องคุมที่การขายด้วยว่าเอาไปใช้อะไร คนขายจึงต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญการ ได้รับการอบรมเหมือนการขายยารักษาโรค คุณปลูกคะน้า ปลูกแตงโม ใช้อันนี้ๆ ได้ ไม่ใช่เอาไปใช้กับทุกสิ่งอย่าง นี่คือการควบคุมกำกับดูแลการใช้ ซึ่งหมายถึงคุณต้องไปควบคุมที่การขายและการโฆษณา”เปรียบเทียบผลย้อนหลัง แนวโน้มดีขึ้นThai-PAN ทำการสำรวจสารเคมีตกค้างในผักตั้งแต่ 2555-2559 (ยกเว้นปี 2556 ที่ตรวจข้าวบรรจุถุงแทน) พบว่า กลุ่มสินค้าผักซึ่งมีการสุ่มเก็บตัวอย่างมาแล้ว 3 ครั้งในปี 2555, 2557 และ 2558 เมื่อนำข้อมูลภาพรวมทั้ง 3 ปีมาเปรียบเทียบกับข้อมูลในปี 2559 โดยนำเฉพาะการวิเคราะห์สารตกค้างใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น พบว่า ตัวอย่างผักที่พบสารพิษตกค้างสูงกว่าค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดหรือ MRL (Maximum Residue Limit) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลดลงเป็นลำดับ จากที่เคยพบสูงถึงร้อยละ 48.57 ในปี 2555 ลดลงเหลือร้อยละ 38.71 ในปี 2557 ร้อยละ 22.50 ในปี 2558 และลดลงเหลือร้อยละ 17.98 ในปี 2559มองในแง่นี้หมายความว่า การสุ่มตรวจสอบตัวอย่างและเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะช่วยสร้างการตื่นตัวและผู้ประกอบการเพิ่มความละเอียดรอบคอบมากขึ้นในการลดการปนเปื้อน กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานกินเปลี่ยนโลกและรองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เชื่อว่าวิธีการนี้ Thai-PAN มาถูกทาง“กลุ่มที่เราจับตาดูมีแนวโน้มดีขึ้น คือมีการตกค้างปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานน้อยลง แสดงว่าเมื่อชี้ปัญหา ปัญหาก็ได้รับการแก้ไข มีการระวังตัวมากขึ้น ดีขึ้น แต่พอมาปีนี้เราขยายขอบเขตการตรวจ จากเดิมเราตรวจสารกำจัดศัตรูพืช 90 กว่าชนิด ปีนี้ตรวจหาเพิ่ม 450 ชนิด ตัวเลขก็เลยขึ้นมา อันที่เราไม่เคยเจอก็เข้ามา ถ้าเราจับตาดูเพิ่มขึ้น ชี้เป้ามากขึ้น มันก็มีแนวโน้มว่าจะครอบคลุมตัวสารเคมีตกค้างมากชนิดขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าอาหารเราก็จะปลอดภัยมากขึ้น”การเพิ่มจำนวนสารเคมีที่ตรวจหาทำให้พบว่า ผักและผลไม้ที่ได้รับตราคิวพบสารเคมีตกค้างมากที่สุดจากทุกแหล่ง โดยพบสูงถึงร้อยละ 57.14ตีให้ตรงจุด    ภายหลังที่มีการเปิดเผยข้อมูลนี้ออกมาโดย Thai-PAN กรมวิชาการเกษตรได้ออกมาโต้แย้งและพยายามอธิบายให้เห็นความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายคิว 2 ประเภท แต่นี่คงไม่ใช่จุดที่ต้องขยายความให้ยืดยาว เพราะอะไร? กิ่งกรชี้ประเด็นว่า เมื่อผู้บริโภคเห็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยโดยหน่วยงานภายใต้กรมวิชาการเกษตร ผู้บริโภคย่อมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าพืชผักผลไม้นั้นๆ ย่อมมีความปลอดภัย คงไม่ใช่หน้าที่ที่จำเป็นนักที่ผู้บริโภคจะต้องแยกแยะได้ว่าอะไรคือความต่างของเครื่องหมายคิวแต่ละชนิด    “ประเด็นหลักของเราไม่ได้สนใจว่าจะเป็นเครื่องหมายอะไร หรือไม่ได้อะไรเลยก็ตาม แต่การมีตราคิวติด ถามว่าเป็นความรับผิดชอบของใคร กรมวิชาการเกษตรหรือสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติก็ต้องไปดูว่าใครเอาตราของตนเองไปใช้โดยไม่ถูกต้อง มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอก ถ้าผู้บริโภคซื้อไปด้วยความเข้าใจว่าเป็นตราคิวจริง มีตัวเลขการรับรองเป็นปัจจุบัน ใช้ถูกต้อง แต่สินค้าผิดสเป็กก็เป็นหนึ่งประเด็น แต่ถ้าไม่ใช่ตราคิวจริงหรือปลอมก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง หมายความว่าผู้ที่ไม่ได้รับตรานี้ไปใช้ เอาไปใช้โดยผิดกฎหมาย ทั้งสองประเด็นเป็นความรับผิดชอบของใคร ก็ของเจ้าของตรา เราคิดว่านี่คือการปล่อยปละละเลยที่ไม่ควบคุมกำกับดูแลให้เป็นที่น่าเชื่อถือเพียงพอ ทำเสมือนว่าคุณปล่อยให้ผู้บริโภคถูกผู้ประกอบการหลอก โดยเอาสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพตามที่อ้างมาขายในราคาที่สูงกว่าราคาที่ผู้บริโภคจะซื้อได้ตามท้องตลาด” กิ่งกร อธิบายอะไรคือจุดอ่อนของเครื่องหมายคิว?ผศ.พีรชัย กุลชัย อาจารย์ประจำภาควิชาพัฒนาการเกษตรและการจัดการทรัพยากร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และผู้ตรวจอิสระของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) อธิบายว่า ประเด็นนี้ต้องเริ่มจากตัวเกษตรกรก่อน เพราะว่ากระบวนการตรวจสอบโดยทั่วๆ ไปก็เหมือนกับระบบคุณภาพแบบหนึ่ง เป็นการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของตัวสินค้า ผู้ผลิตต้องมีความตระหนักเรื่องนี้ก่อน สองคือเรื่ององค์กรรับรอง ผู้ตรวจก็ทำหน้าที่ตรวจสอบไป หมายถึงผู้ตรวจตรารับรอง ในองค์กรรับรองก็จะมีตัวมาตรฐานว่าข้อหนึ่งสองสามต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งผู้ผลิตหรือเกษตรกรต้องศึกษาก่อนว่าถ้ารับการรับรองจากมาตรฐานนี้ เราจะทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้ เพราะมันมีหลายมาตรฐาน ซึ่งเกษตรกรต้องมีการเตรียมตัว แล้วพอผู้ตรวจไปตรวจอย่างน้อยปีละครั้งก็จะเขียนรายงานขึ้นมา แล้วก็จะมีกรรมการอีกชุดหนึ่งเรียกว่าอนุกรรมการรับรอง อนุฯ นี้ก็จะดูจากเอกสารและพิจารณาว่าจะรับรองหรือไม่ นี่คือกระบวนการคร่าวๆ“แต่อันที่จริงถ้าผู้ผลิตซื่อสัตย์และทำตามมาตรฐาน มันก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร กระบวนการรับรอง เราไม่ได้รับรองตัวผลผลิต แต่เรารับรองกระบวนการผลิต หมายความว่าในกระบวนการผลิตมีการป้องกันการปนเปื้อนหรือสารเคมีในทุกขั้นตอน แต่โดยธรรมชาตก็มีสารเคมีล่องลอยอยู่แล้ว ปนเปื้อนได้บ้าง แต่ต้องไม่เกิดค่ามาตรฐาน”การตรวจสอบของ มกท. จะตรวจสอบความเป็นไปได้ของผลผลิตมีควรจะมีมากน้อยแค่ไหน เช่น เกษตรกรแจ้งมาว่าจะปลูกผักกวางตุ้ง 1 ไร่ ในรอบการผลิตนั้นในระบบอินทรีย์ปริมาณการผลิตไม่ควรจะเกินเท่าไหร่ ถ้าปริมาณสูงขึ้นมาอย่างผิดปกติก็ต้องชี้แจงว่าเพราะเหตุใด มีการสวมสิทธิ์หรือไม่ การรับรองของ มกท. เกษตรกรจะเป็นผู้ชำระเงินเพื่อรับการตรวจ หากผ่านก็จะได้รับการรับรองจาก มกท. ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองอีกทีจากสหพันธ์การเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศ หรือไอโฟม (International Federation of Organic Agricultural Movement: IFOAM) หมายความว่าตัวเกษตรกรมีแรงจูงใจที่จะได้รับการตรวจสอบอยู่แล้ว ขณะที่ตัวองค์กรผู้ตรวจเองก็ต้องรักษามาตรฐานการตรวจสอบของตนเพื่อไม่ให้สูญเสียความน่าเชื่อถือแต่ในกรณีเครื่องหมายคิว ผศ.พีรชัยตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องหมายคิวเป็นของรัฐบาล ซึ่งมีการตรวจสอบคล้ายๆ กับ มกท. เพียงแต่มีข้าราชการเป็นผู้ตรวจสอบและมีรอบของการทำงาน แต่เพราะมีการให้การรับรองจำนวนมาก แบบปูพรม ตัวนโยบายก็ต้องการให้เกษตรกรได้เครื่องหมายคิว ทำให้การติดตามตรวจสอบหรือการตรวจซ้ำอาจมีปัญหา ผศ.พีรชัย ประเมินจากระบบว่า“ถ้าเกษตรกรไม่ซื่อสัตย์ พอได้คิวแล้วก็อาจจะไม่ค่อยใส่ใจเท่าไหร่ พอจังหวะราคาดีก็อาจจะเร่งโดยการใช้สารเคมีเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้ผลผลิตได้จำนวนหรือผักสวยตามที่ตลาดต้องการ ด้านหน่วยงานรัฐ งบประมาณที่ลงไม่มีความต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ก็ทำตามงบประมาณ แต่ระบบของเอกชน คุณต้องจ่ายเงิน เหมือนกับเราซื้อตรา ซื้อความมั่นใจ แต่เราไม่สามารถปั๊มตราเองได้ ต้องให้องค์กรตรวจสอบมารับรองเรา องค์กรตรวจสอบก็ต้องเอาจริงเอาจัง หลุดไม่ได้ เพราะเกษตรกรอุตส่าห์จ่ายตังค์ให้ได้ตรา ทำแบบนี้ ความเชื่อมั่นระยะยาวจะไม่เกิดแต่คิวเป็นของฟรี หน่วยราชการบริการ มีข้อจำกัดด้านกำลังคน งบประมาณ บางทีการตรวจสอบไปไม่ถึง ลงรายละเอียดไม่ถึง ก็อาจจะมีจุดบกพร่องหรือรั่วไหล แต่ราชการก็พยายามชูคิวขึ้นมาเพื่อให้ดูว่ามีมาตรฐาน มีการรับรอง แต่ว่าก็ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างเข้มข้น อันนี้ก็เป็นข้ออ่อนประการหนึ่ง”คราวนี้ลองมาฟังเสียงเกษตรกรบ้าง สุรศักดิ์ ใจโปร่ง เจ้าของสวนฟุ้งขจร-บึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ที่ทำเกษตรอินทรีย์มา 9 ปี เขาเป็นเกษตรกรคนหนึ่งที่ได้รับเครื่องหมายคิวรับรองเรื่องกระบวนการผลิตในด้านหนึ่ง สุรศักดิ์มองว่า สินค้าเกษตรปลอดภัยหรืออินทรีย์ ตลาดเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้น เครื่องหมายคิวจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถก้าวไปได้ไกลกว่าเดิม จากพื้นฐานที่เริ่มจากตลาดสีเขียวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ทำให้สุรศักดิ์มีทัศนะว่า ตลาดสีเขียวเน้นเรื่องความไว้ใจระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ส่วนเครื่องหมายคิวเป็นปัจจัยในการก้าวสู่ตลาดที่กว้างขึ้น “คิวที่เราเห็นตามห้าง เหมือนเป็นกลลวงทางสังคมที่ว่าเป็นการแอบอ้าง คิวเป็นแค่ความปลอดภัย ไม่มีความเชื่อใจเป็นส่วนผสม ตรวจปีละครั้ง แต่เราจะเข้าสู่สังคม เราก็ต้องเอามาตรฐานคิวเป็นก้าวแรก ที่เราเห็นมีการปนเปื้อนเยอะ จุดหนึ่งเพราะเกษตรกรไม่มีพื้นที่ปลูกของเขาเอง ต้องไปรับซื้อจากเกษตรกรที่เขาเชื่อใจระดับหนึ่ง ถ้าคนเรามีความโลภ ขาดจิตสำนึก ก็จะมองแค่จะขายผลผลิตเยอะ ก็ขัดกับหลักการเกษตรอินทรีย์ของเรา ที่จะไม่เน้นผลผลิต แต่เน้นทำงานด้วยความสบายใจ ผักที่เราให้กับผู้บริโภคเราคิดว่ามันเป็นยา ไม่ทำให้เขาไม่สบาย ให้ผู้บริโภคได้ทานของที่ดีที่สุด”    ขณะที่ ผศ.พีรชัยและสุรศักดิ์จะให้มุมมองเรื่องความซื่อสัตย์ของตัวเกษตรกรว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย ด้านกิ่งกรกลับแสดงทัศนะอีกมุมหนึ่งเชิงระบบว่า การผลิตสินค้าเกษตรมีคนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่จำนวนมาก การรับรองก็มีรายละเอียดที่ยุ่งยาก เช่น เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานในพื้นที่กี่แปลงและในพื้นที่แปลงนั้นผลิตอะไรบ้าง จะต้องมีการทำบัญชีตามระบบ ถ้าได้รับการรับรองคะน้า กะหล่ำ ไม่ได้หมายความว่าพืชชนิดอื่นจะได้รับการรับรองตามไปด้วย จึงต้องมีการทำงานร่วมกันทั้งตัวเกษตรกรและเจ้าหน้าที่กิ่งกร กล่าวว่า ตัวระบบฐานข้อมูลตรวจสอบรับรองค่อนข้างมีปัญหา ระบบมาตรฐานที่ดีตัวระบบฐานข้อมูลต้องเที่ยงตรง แม่นยำ ตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเกษตรกรคนหนึ่งได้รับการรับรองเป็นเนื้อที่กี่ไร่ มีผลผลิตอะไรบ้างในปีนั้นๆ ระบบอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานจะมีการรับรองกันปีต่อปี มีการสุ่มตรวจสอบ ดังนั้น    “ถ้าระบบตรวจเช็คไม่ดี มันสอดไส้ได้ตลอดเวลา บอกเกษตรกรไม่ซื่อสัตย์ แน่นอน ถ้าไม่ซื่อสัตย์ก็ทำได้ตลอด ได้ทุกทาง เช่นเอามาสวม เพราะฉะนั้นต้องสร้างกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับและสร้างความน่าเชื่อถือตลอดทั้งระบบ ต้องมีระบบฐานข้อมูลที่ดีรองรับและมีการตรวจสอบตลอดเวลา มีการอัพเดทข้อมูลสม่ำเสมอ แล้วคนทำทำตามหน้าที่ มีหน้าที่ทำให้ถูกต้องก็ทำให้ถูกต้อง มีหน้าที่ตรวจสอบรับรองตามขั้นตอนอย่างไรก็ทำจริงๆ ไม่ใช่แค่ให้เขาเซ็นชื่อ จะมาบอกว่าคนนั้นซื่อสัตย์ คนนี้ไม่ซื่อสัตย์ มันไม่ใช่ประเด็น”    กล่าวโดยสรุปคือจะต้องมีระบบที่ดี ที่มีประสิทธิภาพกว่านี้    แต่นี่ก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างที่รากเหง้าอย่างแท้จริง หากภาครัฐยังปล่อยปละละเลยการจำกัดการนำเข้าสารเคมีจนท่วมประเทศเช่นเวลานี้--------------------------------------------------------------------------------------------------------เครื่องหมาย Q คืออะร? คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติมีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 29  กรกฎาคม 2546 ให้หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นเครื่องหมายเดียวกัน คือเครื่องหมาย Q เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการใช้เครื่องหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเพื่อใช้แสดงให้เห็นว่าสินค้าเกษตรและอาหารมีคุณภาพและความ ปลอดภัย พร้อมทั้งสื่อถึงผู้บริโภคภายในประเทศและประเทศคู่ค้าให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบการผลิตและผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ เป็นที่มาของพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551  หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของลักษณะของเครื่องหมาย การได้มาก การใช้เครื่องหมาย และการแสดงเครื่องหมาย Q มีรายละเอียดปลีกย่อยอยู่มากและซับซ้อน ในที่นี้จึงขออธิบายเฉพาะเครื่องหมายรับรอง Q กับสินค้าเกษตรและอาหารโดยย่นย่อเครื่องหมายรับรอง Q หมายถึง เครื่องหมายรับรองที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศใช้เพื่อแสดงถึงการให้การรับรองสินค้าเกษตรและอาหาร ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่ประกาศโดยหรือได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ในด้านความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) และด้านคุณภาพที่จำเป็น  (Essential Quality) โดยผู้ที่ต้องการใช้เครื่องหมาย Q จะต้องยื่นคำขอกับหน่วยรับรอง ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการที่หน่วยรับรองกำหนด เมื่อผ่านเกณฑ์แล้วจึงสามารถติดเครื่องหมาย Q บนสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของสินค้านั้น โดยผู้ได้รับการรับรองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการรับรองผลิตภัณฑ์และการแสดงเครื่องหมายรับรองที่หน่วยรับรองกำหนด    หลักเกณฑ์ดังกล่าว เช่น การผลิตในระดับฟาร์มของสินค้าเกษตรต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) และได้รับการตรวจสอบรับรองโดยหน่วยรับรองที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง, ผู้ขออนุญาตใช้เครื่องหมายต้องมีระบบการเรียกคืนหรือติดตามสินค้าได้ กรณีที่พบว่ามีปัญหา และสินค้าต้องถูกตรวจสอบคุณภาพที่จำเป็นและตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ เช่น สารพิษตกค้าง สารปนเปื้อน หรือสิ่งอันตรายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ตามแผนการตรวจที่หน่วยรับรองกำหนด เป็นต้นข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ www.acfs.go.th/qmark

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 104 ผัก ผัก ผัก ไม่กินผักทำไม(เรา)ต้องบอก

ที่จั่วหัวอย่างนี้ไม่ได้จะมารีวิวหนังแต่อย่างใดหรอกนะครับ เพียงแต่ได้รับคำสั่งจากทาง บก. ของนิตยสารฉลาดซื้อให้ไปเขียนสรุปเนื้อหาที่เคยออนแอร์ทางรายการ “กระต่ายตื่นตัว” ที่ทำกันอยู่ให้ออกมาเป็นบทความเกี่ยวกับ “ผักปลอดสารพิษ” ให้คุณผู้อ่านได้ย่อยง่ายๆ กันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อต้อนรับเทศกาลกินเจ ให้ได้บุญกันทั้งคนกินและคนปลูก ไอ้กระผมก็คันไม้คันมืออยากจะเขียนใจแทบขาดแล้วสิครับ เพราะปกติทำแต่รายการโทรทัศน์ไม่เคยเขียนบทความกับเขาเสียที เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายๆ ท่านคงจะเคยมีประสบการณ์เดินเลือกซื้อผักในซูเปอร์มาเก็ตกันมาบ้างแล้วใช่ไหมล่ะครับ ทีนี้เคยผ่านตากับคำว่า “ผักปลอดสาร” หรือ “ผักอนามัย” ที่ติดอยู่ตามฉลากหรือแพ็คเกจจิ้งกันบ้างหรือเปล่าเอ่ย ขอเดาต่อเลยแล้วกันนะครับว่าเมื่อวิญญาณทางตาของคุณผู้อ่านได้เห็นรูปดังนั้น สัญญาก็พลันจดจำคำว่า “ปลอด” หรือ “อนามัย” ได้ สังขารก็เลยปรุงแต่งต่อไปว่า “ผักนี้ต้องปลอดภัยไร้สารพิษใดๆ แน่ๆ เลย” เอาล่ะสิครับ ชงมาซะขนาดนี้ ท่านผู้มีญาณทั้งหลายพึงเกิดคำถามขึ้นมาแล้วใช่ไหมล่ะครับว่า “อ้าว แล้วอย่างนี้มันปลอดภัยจริงหรือ?”    ขออนุญาตปรับความเข้าใจให้ตรงกันก่อนนะครับ คือคำว่า “ปลอด” เนี่ย ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานคือ พ้นจาก, ปราศจาก ฉะนั้น ผักปลอดสาร (พิษ) ก็ควรที่จะหมายความว่า “ผักที่ปราศจากสารพิษทั้งหลายทั้งปวง” หรือมีค่าสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเท่ากับ “ศูนย์” ในทางคณิตศาสตร์ แต่เอาเข้าจริงแล้วคุณผู้อ่านเชื่อไหมครับว่าเจ้าผักเหล่านี้ยังมีสารเหล่านั้นเจือปนอยู่ “อ้าว ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นไปได้ล่ะ นี่ผู้ผลิตโกหกเราอย่างนั้นรึ?”... ผมขออธิบายให้ฟังดังนี้ครับ   ผักสวยๆ งามๆ ที่เรามักจะพบเห็นได้ทั่วไปตามห้างสรรพสินค้าซูเปอร์มาเก็ตตลาดนัดแผงลอยต่างๆ ไม่ว่าจะมีฉลากติดตรงแพ็คเกจพร้อมเขียนตัวเบ้อเร่อว่าปลอดสาร, ไร้สาร, ผักอนามัย หรืออะไรก็ตามแต่หรือจะเป็นแค่ผักเปลือยๆเปล่าๆที่แม่ค้าจัดเป็นกองมัดเป็นกำใส่ตะกร้าโชว์ไว้ ถ้าไม่ใช่ผักอินทรีย์หรือผักสวนครัวที่ปลูกเอง ก็ล้วนแล้วแต่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตทั้งสิ้นครับ อาทิ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง เอนไซม์เร่งการเจริญเติบโตต่างๆ ฯลฯ ถึงตรงนี้หลายท่านคงเกิดเครื่องหมายคำถามขึ้นมาอีกเป็นแน่แท้ ว่าอย่างนั้นทำไมถึงเรียกว่าผักปลอดสารทั้งๆ ที่มันยังมีการใช้สาร (พิษ) อยู่ล่ะ วิสัชนาว่า...ก็ปริมาณสารที่ใช้อยู่นั้นเมื่อนำมาสุ่มทดสอบแล้ว พบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่บริโภคเข้าไปแล้วไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายน่ะขอรับครับผม ซึ่งวิธีที่เขาใช้ทดสอบกันนั้นก็หาใช่วิธีอื่นไกลครับ หนูทดลอง (อีกแล้ว) นี่เอง โดยจะนำสารเคมีแต่ละชนิดมาทดสอบกับหนู เพื่อนร่วมโลกผู้น่าสงสารดูว่าปริมาณแค่ไหนจึงจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย (ของหนู) จากนั้นจึงคำนวณสัดส่วนปริมาณสารเคมีที่ร่างกายได้รับแล้วไม่เป็นอันตรายระหว่างหนูกับคน บันทึกเอาไว้เป็นค่ามาตรฐานสำหรับการสุ่มตรวจผักตามแหล่งที่มาต่างๆ ย้ำว่า “สุ่ม” ตรวจนะครับ เพราะไม่มีทางที่จะนำเอาผักทุกต้นทุกแปลงจากทุกไร่ทั่วประเทศมาทดสอบได้ทันในแต่ละวัน อีกทั้งงบประมาณยังสูงลิบลิ่วอีกด้วย นอกจากนี้ อย่าลืมนะครับว่าค่ามาตรฐานความปลอดภัยสำหรับคนนั้นก็ได้มาจากการคำนวณ ตัวเลขที่ไม่เป็นอันตรายสำหรับหนู(ทดลอง) มิได้หมายความว่าพอนำมาคำนวณด้วยสูตรคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์แปลงค่าหาผลลัพธ์ออกมาแล้ว จะสามารถยืนยันการันตีได้ว่าไม่มีอันตรายต่อคน อีกทั้ง สารเคมีที่นำมาใช้ทดลองก็ไม่ได้ทดลองพร้อมกันทีเดียวหลายๆ สาร เพียงแต่แยกสารเพื่อทดสอบทีละครั้ง อย่างนี้ เราจะมั่นใจได้หรือว่าสารเคมีเมื่ออยู่รวมกันในผักจะไม่ทำปฏิกิริยาในเชิงเสริมประสิทธิภาพในการทำลายตับ ไต ไส้ พุง ของเรา แหม..สาธยายมาซะขนาดนี้ คุณผู้อ่านหลายท่านคงจะมีแวบคิดขึ้นมาบ้างใช่ไหมครับว่า “แล้วอย่างนี้จะเหลืออะไรให้กูกินล่ะ? ต้องไปปลูกผักสวนครัวเองเลยมั้ย?” ใจเย็นๆ ครับ ลองย้อนกลับไปดูย่อหน้าที่ 4 ก่อน คุณจะพบกับคำว่า... ใช่แล้วครับ “ผักอินทรีย์” นั่นเอง บางท่านที่เคยผ่านการเรียนวิชาเกษตรตอนประถมอาจจะพอจำได้คลับคล้ายคลับคลา ส่วนบางท่านที่ลืมไปแล้วก็ไม่เป็นไรครับ เดี๋ยวจะอธิบายให้โดยละเอียดเลย ผักอินทรีย์ ก็คือผักที่อาศัยกระบวนการผลิตโดยวิธีทางธรรมชาตินั่นเอง ปราศจากการใช้วัตถุสังเคราะห์ใดๆ ทั้งปวง เอาล่ะครับ...โผล่มาแล้วพระเอกตัวจริงของเรา ซึ่งการจะจัดว่าเป็นผักอินทรีย์หรือไม่นั้น เขาไม่ได้วัดกันที่ผลผลิตแบบสุ่มๆ ผักมาตรวจนะครับ แต่เขาจะวัดกันที่ขั้นตอนกระบวนการ คือ 1) จะต้องปราศจากสารเคมีในปัจจัยการผลิตแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ และ 2) บริเวณแปลงหรือไร่ที่ทำการเพาะปลูกนั้น เมื่อตรวจสอบแล้วจะต้องพบว่าไม่มีร่องรอยการใช้สารอย่างน้อย 3-4 ปีเลยทีเดียว ทีนี้มาว่าด้วยเรื่องหลักการกันบ้าง แน่นอนครับว่ากระบวนการผลิตผักอินทรีย์นั้นไม่มีคำตอบสำเร็จรูปตายตัว เนื่องจากแต่ละพื้นที่แต่ละดินแดนก็จะมีระบบนิเวศที่แตกต่างกัน เกษตรกรจะต้องใส่ใจศึกษาเรียนรู้ภายในระบบนิเวศของตนเอง (Knowledge Intensive) เช่น ลักษณะดินฟ้าอากาศเป็นอย่างไร แมลงที่พบได้บ่อยคือตัวอะไร ให้คุณหรือให้โทษมากกว่ากัน หรือต้องใช้สมุนไพรชนิดใดจัดการ ฯลฯ เกษตรกรอาจต้องใช้เวลาอยู่ในแปลงปลูกมากขึ้น ไม่ใช่ขาดอะไรก็หามาใส่ๆๆ (Input Intensive) ปุจฉาต่อมาคือ...ถ้ามันทำกันได้ง่ายๆ ขนาดนั้น แล้วใยจะต้องใช้สารเคมีอีกล่ะครับ... นี่แหละที่นักวิชาการรวมถึงพวกหัวการค้าเสรีเขาไม่เชื่อว่ามันจะทำได้ คุณผู้อ่านก็เช่นกันนะครับอย่าเพิ่งปักใจเชื่อข้อมูลที่ผมเขียนทีเดียวเชียวล่ะ ใช้หลักกาลามสูตรของพระสมณโคดมบรมครูเจ้าของเราพิจารณาเหตุและผลกันก่อน เอาเป็นว่า...ถ้าอยากพิสูจน์ให้เห็นจะๆ กับตา ผมก็จะขออาสาทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์นำทางคุณผู้อ่านทุกๆ ท่านไปดูไร่ผักเกษตรอินทรีย์ของจริงกันเลยดีกว่านะครับ ตะลุยแปลงผักอินทรีย์กระผมและเพื่อนทีมงานรายการ “กระต่ายตื่นตัว” ก็ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจไร่เกษตรอินทรีย์กันที่บ้านป่าคู้ล่าง จังหวัดสุพรรณบุรีครับ โดยมีพี่ปัญญา งามยิ่ง เกษตรกรยุคบุกเบิกของที่นี่เป็นคนพาเดินทัวร์และให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมแบบปลอดสาร 100 เปอร์เซ็นต์ว่าเขาทำกันอย่างไร ก่อนอื่นเลยต้องขอเกริ่นก่อนนะครับว่าชาวบ้านที่นี่เขามีวิถีชีวิตพอเพียงทำกันแบบพอมีพออยู่ ใครใคร่ปลูกอะไรก็ปลูกอันนั้น ไม่มีการบังคับกันแต่ประการใด ดังนั้น ไร่ของแต่ละท่านจึงมีความปัจเจกแตกต่างกันออกไป อย่างไร่ของพี่ปัญญาเองก็จะใช้วิธีการแบ่งโซนตามความต้องการน้ำครับ พืชชนิดไหนต้องการน้ำเยอะน้ำน้อยจัดสรรปันส่วนกันออกไป อย่างเช่น คะน้าต้องการน้ำเยอะหน่อยก็ไว้โซนนึง ไชเท้าได้รับน้ำเยอะไปไม่ดีก็ไว้อีกโซนหนึ่ง ส่วนปริมาณของผักแต่ละชนิดที่จะปลูกก็จะดูจากความยากง่ายในการดูแลรักษา เช่น คะน้านี่ดูแลยากเพราะกินปุ๋ยมากกินน้ำมากก็ให้ลงเยอะหน่อย สมมติว่าลง 2 แปลงเทียบกับผักกวางตุ้งที่ดูแลรักษาไม่ยากเท่าไหร่ใช้พื้นที่แปลงเดียว พอเก็บเกี่ยวก็จะได้ปริมาณน้ำหนักเท่ากัน ดังนี้เป็นต้น และที่สำคัญก็จะเวียนพืชผักตามแต่ละแปลงเพื่อไม่ให้ดินเสื่อมสภาพด้วยครับ อ๊ะ...จะกลายเป็นสอนปลูกผักซะแล้วสิเนี่ย ตัดกลับมาที่เรื่องเกษตรอินทรีย์ต่อนะครับ ซึ่งด้วยเหตุที่ว่าอาศัยธรรมชาติเป็นปัจจัยในการผลิตเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ (ที่เหลือคือการเอาใจใส่ดูแลของเกษตรกร) ผลก็เลยทำให้ไม่สามารถควบคุมปริมาณผลผลิตตามต้องการได้ อย่างเช่น หน้าหนาวก็จะได้ผลผลิตในปริมาณมากหน่อย หน้าฝนหรือหน้าแล้งก็จะได้ผลผลิตลดหลั่นกันลงมา หรือพืชบางชนิดอาจไม่ออกผลเลยในบางช่วงฤดูกาล อีกทั้งปัญหาแมลงศัตรูพืชก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เกษตรกรต้องให้ความสำคัญ โดยการเรียนรู้วิธีที่จะทำให้พืชและสัตว์อยู่ในอัตราส่วนที่สมดุลกัน ซึ่งอาจจะเลือกใช้สมุนไพร อาทิ สะเดา, หางไหล เป็นตัวขับไล่แมลง แต่กระนั้นผักที่ได้ออกมาก็อาจจะมีร่องรอยถูกกัดกินรวมไปถึงรูปทรงก็คงไม่สวยงามเท่าใดนักเมื่อเทียบกับผักที่อุดมไปด้วยสารเคมียาฆ่าแมลง เริ่มเห็นภาพกันแล้วใช่ไหมครับ ก็ไอ้ผักแคระๆ แกร็นๆ ที่ดูเหมือนไม่สมประกอบบ้างมีรูแหว่งรูโหว่เล็กบ้างใหญ่บ้างที่เรามักจะร้อง “ยี้” เวลาที่พบเห็นตามแผงขายผักทั่วไปนั่นล่ะครับ ปลอดภัยยิ่งนักแล แต่เมื่อจิตมันเคยชินกับความพอใจในรูปสวยงามจนติดเป็นนิสัย แล้วแม่ค้าที่ไหนเขาอยากจะเอาผักซีดๆเหี่ยวๆ มานั่งขายให้เมื่อยกันล่ะครับ ทีนี้พอบริโภคผักสวยๆ งามๆ ที่เปี่ยมด้วยสารพิษเข้าไปนานเข้าๆสะสมไปเรื่อยๆ จนโรคนู้นโรคนี้ถามหาเป็นว่าเล่นแล้วก็กลับมาไม่พอใจกันอีก แบบนี้มันก็ไม่ยุติธรรมเหมือนกันนี่จริงไหมครับ? ทีนี้เริ่มเห็นพิษภัยของรูปสวยๆ งามๆ กันบ้างหรือยัง? ซื้อผักห้างหรือซื้อผักของเกษตรกรโดยตรง ต่างกันตรงไหนเอาล่ะครับ ในเมื่อเริ่มมีคนเห็นโทษภัยจากการใช้สารเคมี ก็เลยเริ่มเกิดการหันมาบริโภค “ผักปลอดสารอย่างแท้จริง” ในวงเล็กๆ ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็ยังมีสัดส่วนเพียงกะจิริดเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ แล้วห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ซูเปอร์มาเก็ตทั้งหลายจำเป็นด้วยหรือที่จะต้องหันมาสนใจนีชมาร์เก็ต (Niche Market) กลุ่มนี้... โอเค อาจจะมีผู้ประกอบการบางรายใส่ใจและคำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดกับตัวผู้บริโภคอันจะตามมาภายหลัง แต่จะให้ทำอย่างไรล่ะ ในเมื่อฉันต้องการผักจำนวน 100 กิโลกรัมเพื่อวางบนชั้นให้ลูกค้าเลือกหยิบเลือกซื้อ แต่คุณกลับมีให้ฉันแค่ 50 หรือบางวันก็ 30, 20... มันคาดการณ์ไม่ได้... แบบนี้จะให้เกษตรกรแบกรับภาระความรับผิดชอบส่วนที่เหลือแต่ฝ่ายเดียวมันก็ไม่ไหว ดังนั้น เพื่อความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต เขาจึงรวมตัวกันและสร้างสรรค์ระบบ CSA (Community Supported Agriculture) ขึ้นมา หมายความว่าผู้บริโภคจะต้องเป็นฝ่ายที่เข้ามาสนับสนุนเกษตรกร และจะต้องร่วมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนไปพร้อมๆกัน ผู้บริโภคที่เป็นสมาชิก (หมายถึงผู้สนใจซื้อผักอินทรีย์จากไร่โดยตรงโดยไม่ผ่านคนกลาง) จะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือนหรือ 1 ปีเพื่อเป็นค่าพักค่าแรงค่าดำเนินการ โดยให้สมาชิกระบุเลยว่าต้องการผักอินทรีย์อาทิตย์ละกี่กิโล แต่ต้องเข้าใจก่อนนะว่าความไม่แน่นอนคือ คุณมิอาจ “เลือก” ผักได้ตามใจชอบ (ต้องแล้วแต่ว่าช่วงนี้ผักชนิดใดเจริญเติบโตได้ดี) และอาจจะไม่ได้รับปริมาณผักตรงตามที่ระบุ (ซึ่งเป็นไปได้ทั้งมากกว่าและน้อยกว่า) หลังจากนั้นก็จะมีรถขนผักส่งตรงให้คุณถึงบ้านอาทิตย์ละ 2 วัน อ่านถึงบรรทัดนี้แล้ว คุณผู้อ่านอาจจะมีความรู้สึกว่าเกษตรกรเอารัดเอาเปรียบเกินไปรึเปล่า? ตรงนี้อยากให้ลองถามใจตัวเองกันดูสักหน่อย ว่าที่ผ่านมา “เขา” หรือ “เรา” ที่เป็นฝ่ายเอาเปรียบ ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย คนไทย 60 กว่าล้านคนบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักทุกวัน แต่ทำไมชาวนาส่วนใหญ่กลับเป็นหนี้ มันตลกไหมล่ะครับ?... นี่ก็เช่นกัน มีสมาชิกที่เลิกรับผักเพราะไม่พอใจและไม่เข้าใจระบบ โดยเห็นว่าผักอินทรีย์นี้มีราคา แพงกว่าผักที่ขายอยู่ในท้องตลาด ผมขอยกราคาจริงมาเลยแล้วกันนะครับนั่นคือ กิโลกรัมละ 70 บาทถามว่าแพงไหมครับ?... ถ้าแพงแล้วมันแพงจากอะไรล่ะ? เทียบกับราคาที่แพ็คขายในห้าง 1 ขีด 2 ขีด 20 บาท ดีไม่ดีจะถูกกว่าเอาด้วย จริงอยู่ที่พอไปห้างแล้วเราได้ผักตามต้องการ แต่คุณรู้ไหมว่าหอมกระเทียมที่คุณหยิบใส่ตะกร้านั้นมาจากไหน? ผักคะน้าที่เตรียมจะนำไปทำกับข้าวเย็นนี้มีกระบวนการผลิตอย่างไร? แน่นอนว่าคุณไม่รู้ แต่ถ้าเป็น CSA คุณจะรู้จักกระบวนการผลิตทั้งหมดรวมไปถึงสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ถึงแปลงปลูกให้เห็นกับตาตัวเองเหมือนอย่างที่ผมและทีมงานได้แวะไปเยี่ยมชมที่บ้านป่าคู้ล่างมายังไงล่ะครับโดยส่วนตัวผมมีความรู้สึกว่าปัญหาของบ้านเราคือราคาพืชผลทางการเกษตรค่อนข้างต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่มาก ผมขอยกตัวอย่างที่ประเทศญี่ปุ่น กล้วยหอม 1 ลูกของเขาเทียบเป็นเงินไทยแล้วตกลูกละประมาณ 50 บาทเชียวนะครับ (บ้านเราได้เป็นหวีเลย) ถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้นล่ะ?... วิสัชนาว่า...ก็เพราะเราดันไปลอกเลียนวัฒนธรรมการผลิตตลอดจนการค้าแบบตะวันตกมาน่ะสิครับ อย่าลืมว่าตั้งแต่อดีตกาลนานมาใครๆ เขาก็รู้ว่าประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม มีทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรดินอุดมสมบูรณ์ รวมไปถึงสภาพอากาศก็เหมาะสมเป็นใจให้แก่การทำไร่ ทำนา ปลูกผัก ปลูกข้าว ฯลฯ ด้วยประการทั้งปวง แต่ละบ้านแต่ละพื้นที่ก็จะมีแปลงเกษตรไว้ปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ หมุนเวียนสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามแต่ละฤดูกาล อย่างไรก็มีผลผลิตตลอดทั้งปีแน่ๆ ไม่อดตาย แล้วอยู่ดีๆ วันหนึ่งก็ไม่รู้ว่าไอ้ทฤษฎีเกษตรเชิงเดี่ยวปลูกพืชผลชนิดเดียวเป็นไร่ใหญ่ๆ มันเข้ามาได้อย่างไร? จากสังคมเกษตรแบบพออยู่พอกินกลับกลายมาเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิตไม่ว่าจะเป็นสารเคมียาฆ่าแมลงหรือรถแทร็คเตอร์ จากการผลิตเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนกลายเป็นการผลิตเพื่อแข่งขันเพื่อค้าขาย ใครปลูกมากก็รวยมากก็อยู่ได้ ทีนี้พอมีผู้ผลิตปริมาณมากเข้าๆราคาสินค้าก็ตกลงฮวบฮาบ อย่างหน้าฝนนี่ผักกาดหอมหายากเพราะเจริญเติบโตได้ไม่ค่อยดี ทุกคนก็จะเร่งผลิตแต่ผักกาดหอม ที่มีอยู่เท่าไหร่ก็ใส่แต่เมล็ดพันธุ์ผักกาดหอม เก็บเกี่ยวได้เท่าไหร่ไปวางขายที่ตลาดทั้งตลาดก็มีแต่ผักกาดหอมแล้วราคาผักกาดหอมจะไม่ตกได้อย่างไร? เช่นกันครับเมื่อพวกคนกลางห้างร้านต่างๆ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ตลาดการค้าเสรีเปิดกว้าง ผลคือต่างฝ่ายต่างแย่งกันลดราคาเพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้เข้าไปจับจ่ายใช้สอยยังพื้นที่ของตน ห้างร้านไหนขายของถูกกว่าผู้บริโภคก็จะไปแออัดกันอยู่ ณ ที่นั้น แต่มันก็ไม่ลำบากอะไรนี่ครับในเมื่อกำไรยังเท่าเดิม เนื่องจากไปลดทางฝั่ง “ต้นทุน” เอา ยิ่งคนกลางห้างร้านตัวใหญ่เท่าไหร่ก็ยิ่งมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตมากขึ้นเท่านั้น ถ้ายังไม่เข้าใจผมจะสมมติเล่นๆดูนะครับ สมมติว่าราคาผักที่คุณต้องจ่ายคือ 10 บาท ห้างได้กำไร 7 บาท ผู้ผลิตหรือเกษตรกรได้ส่วนแบ่ง 3 บาท วันต่อมาราคาผักตกลงมาอยู่ที่ 9 บาท แต่ห้างก็ยังคงกำไร 7 บาทเช่นเดิมในขณะที่เกษตรกรผู้ผลิตรายได้หดลงเหลือ 2 บาท... ฉะนั้นแล้ว ไม่ใช่ว่าผักที่มาจากระบบเกษตรอินทรีย์จะ “แพง” กว่าผักที่วางอยู่ตามห้างร้านแผงขายในซูเปอร์ฯ ทั่วไปหรอกนะครับ แต่มันสะท้อนให้เราเห็นถึงต้นทุนในการผลิตจริงๆ ที่เกษตรอยู่ได้โดยไม่ลำบากต่างหากล่ะ คุณผู้อ่านผู้มีญาณทั้งหลายพึงเห็นด้วยกับผมไหมล่ะครับว่าเราควรที่จะร่วมมือกันเลิกผลิตสินค้าเกษตรที่เน้นแต่ปริมาณจนราคามัน “ต่ำ” กว่าความเป็นจริง เพราะหากจะเน้น “ถูก” เอาใจผู้บริโภคอย่างไรก็ตามเราก็มิอาจสู้จีนหรือเวียดนามได้อยู่แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือหันมายกระดับการผลิตภาคเกษตรกรรมให้เน้นไปที่คุณภาพดีกว่า อย่างผักอินทรีย์ปลอดสารที่กระผมได้กล่าวมาแล้วเป็นตัวอย่าง เกษตรกรบ้านเราก็จะได้มีรายได้ที่ดีขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็จะได้บริโภคแต่สินค้าที่มีคุณภาพด้วย ไม่ดีหรือครับ? สำหรับผู้บริโภคที่สนใจซื้อผักจากเกษตรกรโดยตรง สามารถติดต่อที่โครงการผักประสานใจตู้ ปณ.15 อำเภอด่านช้าง สุพรรณบุรี 72180 คุณระวีวรรณ ศรีทอง โทรศัพท์ 081-981-8581  แหล่งซื้อผักปลอดสารนอกซูเปอร์มาร์เก็ตคลังเกษตรอินทรีย์ (Organic’s Warehouse)โดยสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนโดย Oxfam GBที่อยู่ : เจเจ มาเก็ต ถ.อัษฎาธร ต.ป่าตัน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50000โทรศัพท์/โทรสาร : 053-233694  สหกรณ์เกษตรอินทรีย์กองทุนข้าว จำกัดเลขที่88 หมู่ 7 บ้านทนง ต.แกใหญ่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ติดต่อคุณธัญญา แสงอุบล โทรศัพท์ 044 - 514206 ชมรมรักษ์ธรรมชาติเลขที่ 52 ต.น่าโส่ อ.กุดชุม จ.ยโสธรติดต่อคุณชุธิมา ม่วงมั่น โทรศัพท์ 089-0370094 , 045-738429หรือดูรายชื่อผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์อื่นๆ เช่น ข้าว ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ที่ผ่าน มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ได้ที่ http://www.actorganic-cert.or.th

อ่านเพิ่มเติม >