ฉบับที่ 258 ชีวิตไรเดอร์ไทย เสี่ยงภัยและไร้สวัสดิการ

        ปัจจุบันคนไทยมีการใช้บริการสั่งอาหารส่งถึงที่พักหรือเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดอาชีพบริการส่งอาหารเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีผู้ให้บริการหลายเจ้า ทั้งสัญชาติไทย และต่างชาติ อาทิ อาทิ แกร๊บ, ไลน์แมน, ฟู๊ดแพนด้า ชอปปี้ เป็นต้น ยิ่งในช่วงโควิด 19 ระบาด ซึ่งเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของคนอย่างมาก ทั้งการงดเว้นการเดินทาง การทำงานจากบ้าน และปัญหาคนตกงาน ซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งต้องเข้าสู่อาชีพไรเดอร์เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากหลักหมื่นรายในช่วงก่อนการระบาดโควิด มาเป็นหลักแสนคนในช่วงที่โควิด-19 ระบาดตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน         อย่างไรก็ตามเมื่อมองไปที่ตัวพนักงานหรือไรเดอร์นั้น ต้องถือว่าเป็นอาชีพอิสระรูปแบบใหม่ ซึ่งกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถดูแลเรื่องสิทธิ สวัสดิการแรงงานกลุ่มนี้ได้อย่างครอบคลุม ส่วนหนึ่งติดปัญหาเรื่องการตีความสถานภาพของไรเดอร์ว่าเป็นลูกจ้างแพลตฟอร์ม หรือพาร์ทเนอร์ (หุ้นส่วนแรงงาน) ซึ่งไม่ตรงกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน           มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว เพราะพนักงานไรเดอร์ก็คือส่วนหนึ่งของงานบริการที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคไทยไปแล้ว จึงได้ทำการศึกษาโดยการสัมภาษณ์พนักงานไรเดอร์ต่อประเด็นเรื่องสิทธิในฐานะคนทำงานอาชีพอิสระนี้ ว่าทุกข์ สุขอย่างไรบ้าง และมีข้อจำกัดใดที่ทางไรเดอร์มองว่าพวกเขาควรได้รับจากสังคม         จากการรวบรวมข้อมูลร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์พบว่า มีปัญหาเรื่องระบบการทำงานที่ยังเป็นข้อเหลื่อมล้ำของผู้ปฏิบัติงาน ทั้งด้านเทคโนโลยี อายุ ทำให้ได้รับงานน้อยลง ซึ่งส่งผลถึงโอกาสในการได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษจากแอพพลิเคชั่น อีกทั้ง ยังเป็นช่องโหว่ ให้คนที่เชี่ยวชาญใช้เทคโนโลยีช่วยโกงการกดรับออร์เดอร์ ที่สำคัญคือ มีปัญหาเรื่องค่าตอบแทนที่คิดตามระยะทางไม่มีมาตรฐานกลาง แต่ละแอพฯ กำหนดค่าตอบแทนเอง และใช้แรงจูงใจอื่นๆ ไม่มีสิทธิสวัสดิการ ไม่มีประกันสุขภาพ ไม่มีประกันอุบัติเหตุ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ไรเดอร์ต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับงานเร็ว ส่งงานเร็ว จึงพบการกระทำผิดกฎหมายจราจร ทั้งขับรถฝ่าไฟแดง ขับย้อนศร กลับรถที่ห้ามกลับ ขับบนทางเท้า เป็นต้น นำมาซึ่งอุบัติเหตุบนท้องถนน ดังนั้นกลุ่มไรเดอร์จึงมีข้อเรียกร้องคือ อย่างน้อยให้มีการเพิ่มค่ารอบที่เป็นธรรม มีสวัสดิการบ้าง เช่นประกันอุบัติเหตุ            จากข้อค้นพบจากการศึกษา มูลนิธิฯ จึงรวบรวมผลและจัดทำเป็นข้อเสนอให้กระทรวงแรงงานเข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อผลักดัน 2 เรื่องสำคัญให้สามารถใช้ได้จริง ดังนี้           1. มีการการกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และ         2. ผลักดันให้เจ้าของแพลตฟอร์มมีการทำประกันอุบัติเหตุให้กับไรเดอร์ เป็นต้น ทั้งนี้เชื่อว่า หากมีการผลักดันอย่างน้อย 2 ประเด็นนี้ คือเรื่องค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และมีประกันอุบัติเหตุ จะทำให้ไรเดอร์คลายกังวลได้มากขึ้น ไม่ต้องเร่งรีบในการทำรอบจนเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บ เสียชีวิตบนท้องถนน         ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูล มูลนิธิฯ ทราบว่ากระทรวงแรงงานเอง มีความพยายามในการที่จะเข้ามาดูแลสิทธิสวัสดิการของกลุ่มไรเดอร์ รวมถึงแรงงานนอกระบบรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มเติม เบื้องต้นคือมีการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยระหว่างเจ้าของ หรือผู้แทนแพลตฟอร์ม กับกลุ่มไรเดอร์         และจนถึงขณะนี้ทราบว่าได้มีการผลักดันร่างพ.ร.บ. แรงงานนอกระบบ พ.ศ.... ซึ่งผ่านครม.ไปแล้ว ตามที่ โฆษกกระทรวงแรงงานออกมาเปิดเผยว่า จะทำให้แรงงานนอกระบบได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ มีความปลอดภัยในการทำงาน มีหลักประกันทางสังคม ตลอดจนมีสัญญาการทำงานที่เป็นธรรม เช่น ไม่กำหนดเงื่อนไขทำให้ต้องเร่งรีบทำงานอย่างมีความเสี่ยง หรือต้องทำงานหนักเกินปกติจนเสียสุขภาพ ผลตอบแทนที่เป็นธรรม การจ่ายค่าตอบแทนตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนดสวัสดิการและหลักประกันขั้นพื้นฐาน เป็นต้น         ทาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เองหวังว่ารูปธรรมในการแก้ไขปัญหาด้วยการกำกับของกฎหมายจะออกมาโดยเร็ว เพื่อเป็นการยกระดับแรงงานไทยให้ได้รับสิทธิ ความเป็นธรรมเท่าเทียมอย่างแท้จริง         “วันนี้โลกก้าวไปไกล แต่กฎหมายยังล้าหลัง หากยังใช้ภาษาแบบเดิมๆ คงไม่พอ ตามไม่ทันกับการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไป กระทรวงแรงงานต้องเร่งตีความคำว่าพาร์ทเนอร์ออกมาให้ได้ และเข้าไปให้การดูแลสิทธิสวัสดิการให้กับไรเดอร์”

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 258 8 ปี พลเอกประยุทธ์ 8 ปีแผนพลังงานไฟฟ้า ทำไมค่าไฟฟ้าแพง?

        พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 จนถึงวันนี้ก็เกิน 8 ปีไปแล้ว ข้อถกเถียงในประเด็นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมก็ว่ากันไปตามกระบวนการ ในที่นี้ผมจะกล่าวถึงเฉพาะประเด็นพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องค่าไฟฟ้า ว่าในช่วง 8 ปีดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและเพราะอะไร โดยจะนำเสนอเพียง 3 ประการต่อไปนี้         ประการที่หนึ่ง สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าฐานได้เพิ่มขึ้นจาก 2.07 บาทต่อหน่วยในกลางปี 2557 เป็น 2.57 บาทต่อหน่วยในปลายปี 2558 และเป็น 3.25 บาทต่อหน่วยในปัจจุบัน (กันยายน-ธันวาคม 2565)  หรือเพิ่มขึ้น 57% ในช่วง 8 ปี เฉลี่ยร้อยละ 7.13 ต่อปี         โดยปกติครอบครัวคนชั้นกลางจะใช้ไฟฟ้ามากกว่า 150 หน่วยต่อเดือน  โดยอัตราค่าไฟฟ้าเป็นแบบก้าวหน้า คือยิ่งใช้มาก อัตราต่อหน่วยจะยิ่งสูงขึ้น ผมลองใช้เว็บไซต์ของการไฟฟ้านครหลวงเพื่อคำนวณค่าไฟฟ้า พบว่า ถ้าใช้เดือนละ 600 หน่วย อัตราเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.06 บาทต่อหน่วย เห็นไหมครับว่ามันมากกว่า 3.25 บาทซึ่งเป็นอัตราสำหรับผู้ใช้ 150 หน่วย  ถ้าขยับขึ้นเป็น 1,000 หน่วย อัตราก็จะกระโดดไปที่ 4.20 บาทต่อหน่วย         ที่กล่าวมาแล้วเป็นเฉพาะค่าไฟฟ้าฐานเท่านั้น แต่ค่าไฟฟ้าจริงๆที่เราจ่ายประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน อีก 2 ส่วนที่เหลือคือ ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือที่เรารู้จักกันว่า ค่าเอฟที และค่าบริการ 38.22 บาทต่อเดือน จากนั้นก็ตบท้ายด้วยภาษีมูลค่าเพิ่มของทั้งสามส่วนอีก 7%         ปัจจุบัน ค่าเอฟที(ซึ่งมาจาก (1) ค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ. (2) ค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน และ (3) ค่านโยบายของรัฐบาลของงวดใหม่ที่ผันแปรไปจากค่าไฟฟ้าฐาน) เท่ากับ 93.43 บาทต่อหน่วย คิดเบ็ดเสร็จแล้ว ถ้าใช้ไฟฟ้าจำนวน 1,000 หน่วยต่อเดือนจะต้องจ่ายเท่ากับ 5,530.03 บาท เฉลี่ย 5.53 บาทต่อหน่วย แต่ถ้าใช้เพียง 900 หน่วย ค่าเฉลี่ยต่อหน่วยก็จะลดลงมาเหลือ 5.51 บาท         ภาพข้างล่างนี้แสดงสถิติของค่าเอฟทีในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับข้อสรุปค่าไฟฟ้าฐานที่ผมค้นคว้ามาประกอบครับ           ประการที่สอง กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเพิ่มจาก 29% ในสิ้นปี 2557 เป็น 51% ในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2565         นับตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(หรือPDP) มาแล้ว 3 แผน คือ PDP2015 , PDP2018 และ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 และกำลังจะมี PDP2022 ในเร็วๆ นี้         แผนพีดีพีก็คือแผนที่กำหนดว่าในปีใดจะมีโรงไฟฟ้าจำนวนเท่าใดเข้าสู่ระบบผลิตไฟฟ้า ใช้เชื้ออะไรบ้าง และให้รัฐหรือเอกชนเป็นเจ้าของอย่างละเท่าใด         จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานพบว่า ตอนสิ้นปี 2557 กำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบมีจำนวน 34,668 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของ กฟผ. 45% แต่พอถึงสิ้นเดือน พฤษภาคม 2565 กำลังการผลิตทั้งระบบมี 50,515 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของ กฟผ.เพียง 31% เท่านั้น         นี่คือการคุมกำเนิดหรือจำกัดการเติบโตของ กฟผ. แล้วหันมาส่งเสริมโรงไฟฟ้าเอกชน ส่งผลให้เจ้าของโรงไฟฟ้าเอกชนร่ำรวยมหาศาลอย่างรวดเร็ว         ประการที่สาม  ค่าไฟฟ้าแพงเพราะนโยบายเอื้อกลุ่มทุนให้ใช้ก๊าซฯของรัฐบาล         ไฟฟ้าที่คนไทยใช้ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 2 แสนล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณ 60% ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง แต่การจัดหาก๊าซฯมาจาก 4 แหล่ง คือ (1) แหล่งในประเทศไทย (2) นำเข้าจากเมียนมา (3) แหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และ (4) นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยที่ LNG นำเข้าจะมีราคาแพงกว่าเมื่อเทียบกับอีก 3 แหล่งที่เหลือ  ปริมาณการจัดหาและการใช้ดังแสดงในภาพถัดไป           เขียนมาถึงตอนนี้ทำให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง (ฮาโรลด์ ลาสเวลล์, 1902-1978) ได้กล่าวอย่างสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า “การเมืองคือการตัดสินใจว่าจะให้ใครได้อะไร เมื่อใดและอย่างไร” (“Politics is who gets what, when, and how.”)         ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นผลผลิตของเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ คือสามารถอัดก๊าซฯให้เป็นของเหลวแล้วบรรจุใส่ถัง สามารถขนส่งทางเรือได้ เริ่มนำเข้ามาเพียงเล็กน้อยตั้งแต่ปี 2553 แต่เริ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนในสมัยพลเอกประยุทธ์         สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ต้องตัดสินใจคือ เมื่อเรามีก๊าซฯจำนวนจำกัด เราควรจะตัดสินใจให้ใครได้ใช้ก่อน ระหว่างภาคการผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วประเทศซึ่งส่วนมากเป็นคนยากจน มีหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น แถมต้องประสบกับภัยพิบัติจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 กับภาคปิโตรเคมีซึ่งสร้างกำไรได้มหาศาลให้กับผู้ถือหุ้นไม่กี่หมื่นราย         ด้วยเหตุทั้ง 3 ประการที่กล่าวมาแล้วนี้ จึงส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย ขณะเดียวกันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ก็ถูกบอนไซและเป็นหนี้แทนประชาชนกว่า 8 หมื่นล้านบาท แต่ภาคธุรกิจพลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติได้ร่ำรวยอย่างมหาศาล        ความจริงเรื่องทำนองนี้มีการก่อตัวให้เราเห็นแนวโน้มมานานแล้ว แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นตัวเร่งให้ความหายนะรวดเร็วและรุนแรงขึ้น  ทั้งๆ ที่ ก่อนหน้าที่พลเอกประยุทธ์จะเข้ามา ประชาชนได้เรียกร้องให้มีการประเทศในหลายด้านรวมทั้งการปฏิรูปพลังงานด้วย  แต่แล้วนอกจากจะไม่ได้ปฏิรูปแล้วยังได้ซ้ำเติมให้สถานการณ์สาหัสกว่าเดิมมากๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 กลุ่มผู้เสียหายเรียกร้องความยุติธรรม หลังชมการแสดงที่จกตาและไม่คุ้มค่าตั๋ว

        ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาไปติดตามประสบการณ์การใช้สิทธิของผู้บริโภคกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผนึกกำลังกันในเฟซบุ๊กกรุ๊ปชื่อ “รวบรวมผู้เสียหายจาก TRANCE STUDIO (เจ้าชายน้อย)” ผ่านการพูดคุยกับคุณณัฐนันท์ ชำนาญประดิษฐ์กุล (ทราย) และคุณณัฐนรี ลาภาอเนกอนันต์ (มิ้ม) ในฐานะตัวแทนผู้เสียหายและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้นด้วย โดยทั้งคู่จะมาเล่าถึงวิธีดำเนินการเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม หลังจากเข้าชมการแสดงเรื่อง “ Me&My Little Prince” ในช่วงวันที่ 3-19 มิถุนายน 2565 แล้วปรากฏว่าไม่เป็นไปตามที่บริษัทประชาสัมพันธ์ไว้ และไม่คุ้มกับค่าตั๋วที่จ่ายไปคุณณัฐนันท์ ชำนาญประดิษฐ์กุล (ทราย) คุณณัฐนรี ลาภาอเนกอนันต์ (มิ้ม) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีความเป็นมาอย่างไรคุณณัฐนันท์ :  ต้องย้อนไปเมื่อปี 2562 ทรายได้ไปชมการแสดงเรื่อง “เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย” ของ Blind  Experience ที่ผู้ชมต้องปิดตา เราประทับใจการจัดแสดงละครด้วยเทคนิคและวิธีการต่างๆ ของเขา แล้วทางบริษัทก็ทิ้งท้ายไว้ว่าถัดไปจะแสดงเรื่องเจ้าชายน้อย เราก็ติดตามในเพจมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีโฆษณาผ่านเพจบริษัทนี้ว่าจะจัดแสดงเรื่องเจ้าชายน้อยขึ้น แต่คนโพสต์บอกว่าจัดในนามบริษัท Trance studio และเขาเคยเป็นหนึ่งในผู้จัดของ Blind Experience มาก่อน เราก็ไม่ได้เอะใจอะไร เขามีลิงก์ให้เข้าไปกดต่อในเพจ Trance studio ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างๆ ว่าใช้เทคนิคอะไร ยังไง ทำให้เราเข้าใจว่าคงเป็นการแสดงแบบเดิมที่เคยประทับใจ ก็จองบัตรและจ่ายเงินเลย แต่พอถึงวันที่เข้าไปชมการแสดง กลับไม่เหมือนกับที่เราเคยดูเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่ได้ใช้เทคนิคเหล่านั้นในการแสดงจริงเลยคุณณัฐนรี :  มิ้มคิดว่า 90% ที่ซื้อบัตรดูเรื่องนี้ คือลูกค้าเก่าที่ตามมาจาก “เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย” ซึ่งประสบความสำเร็จมาก มีคนบอกต่อกันค่อนข้างเยอะ คือเหมือนบริษัท Trance studio เขาพยายามมาร์เกตติ้งให้ไปในทางที่ว่าการแสดงจะคล้าย ๆ กัน เราก็เข้าใจว่าทุกอย่างเหมือนเดิมหมดเลย แค่เปลี่ยนบริษัท แต่พอเข้าไปชมแล้วก็ต้องออกมาตั้งแต่ 10 นาทีแรก พร้อมกับอีกหลายคนเลย ทั้งที่การแสดงน่าจะเกือบ 2 ชั่วโมง ช่วยเล่าหน่อยว่าผิดหวังจากการเข้าชมการแสดงครั้งนี้ยังไงบ้างคุณณัฐนันท์ :  ครั้งก่อนที่เคยดูการแสดงแบบนี้ เขาจะมีห้องให้รอเพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ผ้าปิดตารับรู้ประสาทสัมผัสอื่นๆ แต่ครั้งนี้คือไม่มีการจัดระเบียบใด ๆ ทั้งๆ ที่เขาระบุว่ามีมาตรการป้องกันโควิด ตอนเดินเข้าไปในฮอลล์จะมีแสงนำทางและเสียงจากเทปเล่าเรื่อง พอถึงด้านใน ที่นั่งก็ติดกัน ห้องเป็นแบบมีเสา เอาผ้าดิบมาเป็นเวที 4 ด้าน แล้วฉายแสงจากโปรเจกเตอร์เข้าไป และเปิดเหมือนนิทานเสียง ซึ่งต่างจากที่เคยเข้าชมการแสดงรูปแบบนี้มาก่อนมาก ที่จะเป็นการแสดงจากคนจริงๆ มีคนตาบอดมาร่วมแสดงด้วย มีการใช้แสง สี เสียง กลิ่น มีการเดินมาสัมผัสเรา ทั้ง ๆ ที่ปิดตาแต่เรายังรับรู้ถึงมิติอื่นได้จริงๆคุณณัฐนรี :  พอมีฟีดแบกว่าการแสดงนี้ หนึ่ง-ไม่ใช่จัดโดยบริษัท Blind Experience สอง-ไม่มี 6 มิติที่เกิดขึ้นจริงตามที่โฆษณา มิมก็ทักไปถามบริษัทว่านี่เป็นการหลอกลวงหรือเปล่า เหมือนเขียนให้เข้าใจผิดในหลายๆ รูปแบบ ก็เลยอยากขอรีฟันด์ เขาก็แจ้งว่าไม่สามารถรีฟันด์ได้ในทุกกรณี ตอนแรกคิดว่าไม่เป็นไร แต่พอไปดูปุ๊บ มันไม่ใช่เลย ไม่มีอะไรที่เขาเคลมไว้เลย รู้สึกว่าหลายๆ อย่างทั้งการบริการ อุปกรณ์ หรือตัวการแสดงเอง ไม่สมกับราคาที่จ่ายไป 1,800 บาทเลย ซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยดูการแสดงต่าง ๆ มาบ้าง ถ้าราคานี้ควรจะเป็นกึ่งๆ ละครเวที มีการแสดงจากคนจริง ๆ ด้วย แล้วหลังจากนั้นได้ติดต่อกลับไปยังบริษัทไหมคุณณัฐนันท์ :  ทรายติดต่อเพจ Trance studio เขาไม่อ่าน ไม่ตอบ จึงไปถามทางเพจ Blind Experience ซึ่ง          หนึ่งในผู้ก่อตั้งหลักก็อินบอกซ์ส่วนตัวกลับมาชี้แจงว่า คนที่โพสต์โฆษณาเรื่อง“ Me&My Little Prince” บนเพจของเขานั้น เคยเป็นเหมือนหัวหน้าฝ่ายพีอาร์ในการจัดแสดงครั้งที่แล้ว คือเคยมีส่วนร่วมจริง แต่ว่าไม่ได้เป็นคนคิดคอนเซ็ปต์หลักค่ะ แล้วพวกเขาตกลงกันว่าหากแต่ละคนแยกย้ายกันไป เขายังคงเพจไว้ ทุกคนยังเป็นแอดมินเพจที่สามารถพีอาร์งานศิลปะการแสดงของตัวเองมาในเพจได้ ซึ่งทรายก็รู้สึกว่าเรายังไม่ได้รับความยุติธรรมใดๆ แค่ได้รับการอธิบายที่ไม่ได้ช่วยอะไรเราได้เลย พอเห็นว่ามีผู้ชมหลายคนไปคอมเมนต์ตำหนิในเพจ Trance studioนี่คือผิดปกติแล้ว จึงลองรวมกลุ่มคนที่ไปดูว่าคนอื่นรู้สึกเหมือนเราไหมคุณณัฐนรี :   วันนั้นพอเดินออกมาแล้ว นิมไปคอมเมนต์ในเพจ Trance studio เขาลบและบล็อกเลย เรารู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมเท่าไหร่ อย่างน้อยเขาควรจะขอโทษ หรือว่ารับผิดชอบอะไรสักอย่างกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะว่าไม่ใช่เราคนเดียวที่เข้าใจผิด เราก็เลยกลับเข้าไปขอคุยกับเจ้าของถึงหน้าเธียเตอร์ รออยู่เกือบ 2 ชั่วโมง เขาไม่ยอมมาคุย เรารู้สึกไม่โอเค จึงมาร่วมกันตั้งกลุ่มผู้เสียหายในกรณีนี้กับคุณทราย แสดงว่ากลุ่มผู้เสียหายนี้คือรวบรวมมาจากคนที่เข้าไปคอมเมนต์ในเพจ Trance studioคุณณัฐนันท์ :  ใช่ค่ะ ทรายก็ทักส่วนตัวบ้าง มีเพื่อนๆ ที่อยู่หลังบ้านช่วยกันอินบอกซ์ไปหาคนที่คอมเมนต์บ้าง แล้วจากนั้นทุกคนที่เราติดต่อไปก็มารวมกัน ถ้านับตั้งแต่ที่ทรายเริ่มสร้างกลุ่มในเฟซบุ๊กจนถึงวันที่ 27 มิถุนายนนี้ มี 230 บัญชีผู้ใช้ที่เข้ามาในกลุ่ม แล้วก็มีความคิดเห็นที่บอกว่าตัวเองเหมือนถูกหลอก แล้วก็ไม่คุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป เป็นจำนวน 195 ความเห็น และมี 38 บัญชีผู้ใช้ที่กรอกกูเกิลฟอร์มที่ทรายทำขึ้นมาเพื่อจะขอคืนค่าตั๋ว รวมบัตรแล้ว 90 ใบ เป็นเงิน 143,031 บาท ซึ่งทรายมีหลักฐานยืนยันทั้งหมด หลังจากรวมกลุ่มกันได้แล้ว ดำเนินการอย่างไรต่อคุณณัฐนันท์ :  ทรายไปติดต่อ สคบ.ก่อน เขาบอกว่าให้รวบรวมหลักฐาน พวกใบกำกับภาษีอะไรอย่างนี้ให้เสร็จทีเดียวก่อนค่อยมาแจ้ง แล้วมีเพื่อนในกลุ่มที่ติดต่อไปทางสรรพากร ให้ตรวจสอบรายได้ เพราะบริษัทไม่ได้ออกใบกำกับภาษีให้ทุกคน เราต้องขอไปเอง อย่างนี้ดูมีพิรุธ ซึ่งเพื่อนแต่ละคนก็ทำวิธีที่ตนถนัด จนไปเจออีกว่าภาพโฆษณาที่เขาใช้นั้นก็ไปก็อปมาจากที่อื่นแบบ 100% แค่ปรับแสงนิดเดียว ซึ่งเราอ้างอิงได้ว่าภาพมาจากเว็บอะไร ถูกจัดแสดงจริงที่ไหนแล้วทรายก็ต้องไปขอให้ตัวแทนจำหน่ายบัตรช่วยติดต่อ Trance studio เรื่องใบกำกับภาษี เขาถึงยอมตอบกลับมาว่าจะทำให้ ตอนนั้นเองที่ได้คุยกันว่าละครเวทีนี้เป็นไปตามที่คุณโฆษณาเลยไหม เขาก็ยังยืนยันว่าเป็นไปตามนั้น อยากจะแจ้งอะไรก็แจ้ง ระหว่างนั้นทรายก็ติดต่อมาที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ด้วยอีกทาง เพื่อให้ช่วยเหลือในการขอคืนเงินค่าตั๋วและดำเนินคดีตามกฎหมายคุณณัฐนรี : พวกเราคุยกันว่าต้องหาตัวกลางเพื่อมาประสาน หรือดูว่าสุดท้ายแล้วยังไง ใครถูกใครผิด ใครต้องรับผิดชอบ หรือว่าความถูกต้องคือตรงไหน หลังจากรวมกลุ่มกัน รวบรวบหลักฐานแล้ว ไปติดต่อผ่านตัวกลางน่าจะดีกว่า ซึ่งล่าสุดทางมพบ.ทำจดหมายนัดให้มาเจรจาไกล่เกลี่ยกันวันที่ 13 กันยายน แต่ทางบริษัทเขาขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 30 กันยายน ไม่แน่ใจว่าด้วยเหตุผลอะไร แล้วถ้าเขาไม่มา ก็อยากจะรู้ว่าปกติเลื่อนได้กี่รอบ เพราะว่าที่จริงถ้าเขาผลัดไปเรื่อยๆ ก็ลำบากพวกเราเหมือนกัน อยากให้ฝากถึงผู้บริโภคท่านอื่นว่าก่อนที่จะตัดสินใจซื้อตั๋วเข้าชมการแสดง ควรจะเลือกอย่างไรคุณณัฐนันท์ :  ถ้าเหมือนกรณีทรายนะคะ คงจะต้องสอบถามไปทางบริษัทหรือว่าเพจที่เคยดูว่าเป็นการแสดงลักษณะเดียวกันไหม ผู้จัดเดียวกันไหม ยังคงเป็นเทคนิคการแสดงเดียวกันไหม เพื่อความมั่นใจก่อนจะซื้อบัตร เพราะว่าทรายแค่เห็นเพจเดิมถูกแชร์ออกมา ก็กดซื้อเลย ไม่ได้สอบถามก่อนว่าเหมือนกับที่เคยดูไหม อะไรอย่างนี้ อยากฝากว่าจะต้องเช็กให้มั่นใจก่อนจะจ่ายเงิน ครั้งนี้ทรายไม่ได้รีเช็กอะไรเลย เพราะเราเชื่อว่าจะเหมือนครั้งที่ผ่านมา  คุณณัฐนรี : เดี๋ยวนี้อาจจะดูคำโฆษณายาก ดูรูปยาก มิมคิดว่าหลักๆ แล้วน่าจะดูความน่าเชื่อถือของตัวบริษัทที่จัดว่าก่อตั้งมานานแล้วหรือยัง เจ้าของมีใครบ้าง เคยทำโชว์แบบไหนมาบ้าง ตรงนี้เราอาจจะพลาดเองเพราะแทรนซ์เพิ่งเปิดเลย ไม่มีการโชว์ที่ไหนมาก่อน ไม่มีดิจิตอลฟุตปริ้นต์มาก่อนว่าเคยทำอะไรมาบ้าง แต่เราไปเชื่อแค่ว่าเขาเป็นคนที่เคยจัดเรื่องเล่าจากหิ่งห้อย เพราะประทับใจกับรอบที่แล้วมากๆ แล้วเข้าใจว่าเป็นทีมผู้จัดเดิม ต่อไปต้องละเอียดกว่านี้ หรือถ้าจะให้เซฟจริงๆ อาจรอดูรีวิวจากรอบสื่อก่อน แต่ต้องเลือกสื่อที่ตรงไปตรงมาและเชื่อถือได้จริงๆ ไม่ใช่สื่อที่บริษัทจ้างรีวิวนะคะ             ครั้งต่อไป คุณจะเลือกซื้อบัตรเข้าชมการแสดงต่างๆ จากอะไร ? 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 แจ็กพอตเศษฝอยขัดหม้อในอาหารกล่อง

        ปัจจุบันการใช้บริการแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ในการทำธุระต่างๆ เพื่อความสะดวกสบาย มักเป็นตัวเลือกแรกของผู้บริโภคยุคใหม่ เรื่องราวของคุณน้ำตาลในครั้งนี้ ก็เช่นกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาหารเดลิเวอรี่ ที่เธอได้เข้ามาเล่าให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟัง เผื่อว่าจะเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภคอื่นๆ ได้ใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา         เหตุการณ์มีอยู่ว่าเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา  คุณน้ำตาลกำลังนั่งประชุมงานอย่างเคร่งเครียดกับเพื่อนร่วมงานทั้งอาวุโสกว่าและคนรุ่นราวคราวเดียวกัน และเมื่อใกล้ถึงเวลาพักเที่ยง ณ ที่ห้องประชุมทุกคนได้เริ่มกดโทรศัพท์เข้าแอปพลิเคชันเพื่อเลือกสั่งอาหารกันทันที        สำหรับคุณน้ำตาลเลือกไปเลือกมาก็ได้อาหารที่ถูกใจนั้นคือ “ข้าวไก่ข้นออนเซ็น” เมื่อคุณน้ำตาลเลือกเสร็จ และทำรายการสั่งอาหารเรียบร้อยแล้ว ก็อดคิดถึงอาหารเที่ยงที่กำลังจะมาไม่ได้สมาธิประชุมเริ่มลดลงเรื่อยๆ เมื่ออาหารมาถึงทุกคนต่างไม่รีรอจัดการกับอาหารตรงหน้าของตน คุณน้ำตาลก็เช่นกัน แต่คำแรกก็ได้เรื่อง ...ขณะนำเข้าปากเธอสังเกตเห็นเศษอะไรสักอย่างเส้นหยิกๆ ตกใจสิ เศษอะไร! มองไปมองมาดันคล้ายเศษฝอยขัดหม้อ เลยให้เพื่อนร่วมงานที่นั่งอยู่ที่โต๊ะช่วยกันดูทันทีว่ามันคืออะไร สุดท้ายแล้วก็สรุปได้ว่ามันจะเป็นเศษฝอยขัดหม้อที่น่าจะหลุดออกมาตอนล้างกระทะ และมันมีขนาดที่เล็กมาก แม่ครัวอาจจะมองไม่เห็น         อดกิน คุณน้ำตาลหิวข้าวจนต้องฝากให้แม่บ้านช่วยซื้อมาให้ใหม่จากร้านค้าใกล้ที่ทำงานแทน ต่อมาหลังจากนั้น เธอก็เริ่มกระบวนการตามที่เคยได้รับคำแนะนำมา คือ ถ่ายรูปอาหารและสิ่งแปลกปลอมเก็บเอาไว้เพื่อเป็นหลักฐาน  จากนั้นก็ติดต่อร้องเรียนในศูนย์ช่วยเหลือของทางแอปพลิเคชันที่เปิดไว้ให้ผู้ใช้บริการแจ้งเหตุต่างๆ หากได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ ต่อมาทางแอปฯ ได้จัดการชดเชยค่าเสียหายให้กับทางคุณน้ำตาลโดยการคืนเงินให้ และยังให้ voucher แก่คุณน้ำตาลเพื่อใช้ในการลดราคาสินค้าในการสั่งครั้งต่อไป         เมื่อได้รับคำตอบที่พอใจจากทางแอปฯ คุณน้ำตาลก็ลดความโมโหหิวลงไปได้ และรับประทานข้าวกลางวันอย่างมีความสุขขึ้น         ข้อคิดจากเรื่องนี้ หนึ่งความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ การบ่นอาจไม่มีประโยชน์แต่การใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อเยียวยาสิ่งที่เกิดขึ้นสามารถช่วยคุณได้ และสองอาหารกล่องก่อนที่เราจะรับประทานควรมองหรือสังเกตสักหน่อยก่อนรับประทาน จะช่วยให้ปัญหาไม่บานปลายเป็นผลเสียแก่สุขภาพ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 อะไรลอยอยู่ในขวดน้ำผสมวิตามินซี

        ภูผาได้ซื้อน้ำดื่มวิตามินยี่ห้อดังเจ้าหนึ่งจำนวน 2 แพคมาไว้ที่หอเมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อซื้อมาก็ทยอยดื่มไปเรื่อยๆ วันนี้ก็เช่นกันเขาก็หยิบขวดน้ำจะมาเปิดดื่มตามปกติ ก่อนจะเปิดขวดเขาสังเกตเห็นเหมือนว่า ในขวดน้ำมีเศษผงอยู่ ตอนแรกคิดว่าไม่ใช่เพราะยังไม่ได้เปิดขวดผงไม่น่าจะเข้าไปได้ น่าจะเป็นเศษอะไรมากกว่าเพราะน้ำใสเลยทำให้มองผ่านขวดน้ำไปได้ แต่เมื่อหยิบขวดน้ำมาใกล้ๆ เศษผงก็ยังอยู่ เขาเลยเอามาส่องดูให้แน่ใจอีกที คราวนี้ชัดเจนเลย มีเศษผงลอยอยู่ในขวดน้ำเป็นก้อนขนาดเกือบเท่าหัวแม่มือ เขาก็แปลกใจไม่รู้ว่าจะมีผงก้อนขนาดนั้นอยู่ในขวดได้ยังไง จึงถ่ายวีดีโอขวดน้ำแล้วมาปรึกษามูลนิธิ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ผงหรือเศษฝุ่นที่พบเป็นสิ่งปนเปื้อนในอาหารอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธ์ โดยมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ         กรณีพบอาหารปนเปื้อนผู้บริโภคสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง ดังต่อไปนี้         1. ถ่ายรูป (ฉลากโดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า) พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์และใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)         2. นำหลักฐานทั้งหมดไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจใกล้เคียงเพื่อเป็นหลักฐาน         3. ให้ติดต่อแหล่งจำหน่ายน้ำดื่มหรือบริษัทผลิตน้ำดื่มที่ซื้อมาเพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชยและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน ขอให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         4. ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ สรุปปัญหาที่พบพร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงกรรมการผู้มีอำนาจหรือผู้จัดการไปยังบริษัทร้านค้าที่จัดจำหน่ายและบริษัทผู้ผลิตหมายเหตุ : ต้องเก็บใบรับเงินทุกครั้งที่มีการซื้อ เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันการซื้อและระบุตนเป็นผู้เสียหาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 พอโควิดคลี่คลายพี่แท็กซี่ก็ออกลายมาเลย

        สถานการณ์แพร่ระบาดโควิดกำลังดีขึ้น รัฐบาลคลี่คลายมาตรการต่างๆ ขนส่งมวลชนกลับมาให้บริการตามปกติไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถตู้ รถทัวร์ เรือ สายการบิน รถรับจ้าง การคิดค่าโดยสารก้น่าจะเป็นไม่ตามปกติ แต่กลับไม่เป็นแบบนี้ รถแท็กซี่กลับทำตัวไม่น่ารัก เรามาดูกันว่ารถแท็กซี่ทำตัวไม่น่ารักอย่างไร         คุณเชอรี่ ไปทำงานต่างจังหวัด เมื่อทำงานเสร็จเรียบร้อยก็นั่งเครื่องบินมาลงที่สนามบินดอนเมืองเพื่อเดินทางกลับบ้านแถวเมืองนนทบุรี เมื่อมาถึงสนามบินดอนเมืองประมาณสองทุ่ม เธอไปต่อแถวกดคิวเรียกรถแท็กซี่ในสนามบิน ได้คิวที่ 216 รอคิวประมาณร้อยกว่าคิว         “โอ๊ะ ท่าจะไม่ไหวเมื่อไหร่จะถึงบ้านกัน” คิดอย่างนั้นแล้ว เธอจึงไม่รอและลากกระเป๋าไปเรียกรถแท็กซี่หน้าสนาบินเพื่อกลับบ้านแทนการรอคิวแท็กซี่ในสนามบิน รถแท็กซี่หน้าสนามบินก็ไม่ค่อยมีเหมือนกัน แต่ก็มีคนรอเรียกอยู่หลายคน เธอเห็นว่า คนก่อนหน้าเธอสองสามคนเรียกแท็กซี่ แท็กซี่ก็ไม่ได้รับคนโบกก่อนหน้าเธอขึ้นไปสักราย จนลำดับถัดมาถึงเธอถึงรู้ว่าแท็กซี่ขอคิดราคาแบบเหมาไม่คิดราคาตามมิเตอร์ จากสนามบินดอนเมืองไปบ้านเธอแถวเมืองนนทบุรีคิดราคา 400 บาท         “พี่ก็คิดราคาขูดรีดเกินไป” คุณเชอรี่จึงปฏิเสธไม่ไป เพราะปกติเธอนั่งกลับบ้านประมาณแค่สองร้อยกว่าบาท เต็มที่สุดไม่เกินสามร้อย ไม่เพียงแท็กซี่คันดังกล่าวเธอยังเจอแท็กซี่คิดราคาแบบเหมาอีกสี่คันรวด เธอเรียกรถแท็กซี่ถึงห้าคันจึงเจอรถแท็กซี่ที่คิดราคาตามมิเตอร์ เธอจำได้ว่ารถแท็กซี่ต้องคิดราคาค่าโดยสารตามมิเตอร์ ดังนั้นจึงมาปรึกษามูลนิธิว่าจะทำอย่างไรได้บ้างไหมกับกรณีเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ตามกฎหมายแล้วรถแท็กซี่ต้องเก็บค่าบริการตามอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง ไม่สามารถคิดค่าบริการแบบเหมาได้ ถ้าพบรถแท็กซี่เรียกเก็บค่าบริการแบบเหมา สามารถร้องเรียนได้ที่กรมการขนส่งทางบก โทรศัพท์ 1584 โดยแจ้งทะเบียนรถและสถานที่ที่เกิดเหตุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 โทรมาชวนให้ทำประกันฟรี แต่เรียกเก็บค่าเบี้ยตอนหลัง

        การทำประกันภัยในรูปแบบต่างๆ ถ้าผู้บริโภคไม่พอใจเงื่อนไขในกรมธรรม์ก็สามารถขอยกเลิกได้ตามระยะเวลาที่กำหนด แต่เพื่อไม่ให้ต้องเสียเงิน เวลา และสุขภาพจิตโดยใช่เหตุ ผู้บริโภคควรศึกษาเงื่อนไขรายละเอียดของกรมธรรม์นั้นๆ ให้รอบคอบก่อนตอบตกลง หรือถ้ามีตัวแทนประกันโทรศัพท์มาชักชวนให้ทำประกันอุบัติเหตุโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย อยากให้เอะใจสักนิด จะได้ไม่โดนหลอกเหมือนคุณพร         เมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้เอง คุณพรได้รับโทรศัพท์จากคุณอ้อม ที่แนะนำตัวว่าเป็นตัวแทนขายประกันที่มีใบอนุญาตถูกต้อง จากบริษัทตัวแทนซึ่งเป็นนายหน้าของบริษัทประกันภัยชื่อดัง เธอโทร.มาแนะนำกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล แบบพิเศษพลัส โดยแจ้งว่าเป็นโปรโมชั่นพิเศษสำหรับผู้ที่ใช้บัตรเครดิตของธนาคารที่คุณพรเป็นลูกค้าอยู่ คุณพรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด พร้อมชี้แจงว่าเป็นประกันอุบัติเหตุที่ใช้ได้ทุกโรงพยาบาล มีค่ารักษาพยาบาลอุบัติเหตุจ่ายตามจริงครั้งละไม่เกิน 40,000 บาท หากเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุจะได้รับเงินเอาประกัน 1 ล้านบาท พอฟังจบ คุณพรก็ตอบตกลงไป         คุณพรมารู้ตัวว่าโดนหลอกซะแล้ว เมื่อได้รับกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุฉบับนี้พร้อมกับใบเรียกเก็บเงินค่าเบี้ยประกันปีละ 9,834 บาท จึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า หากตนจะขอยกเลิกกรมธรรม์นี้โดยไม่ให้เสียเปรียบผู้ประกอบการนั้นจะทำอย่างไรได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ คุณพรต้องทำเรื่องขอยกเลิกภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์มา โดยจะต้องทำเป็นหนังสือหรือจดหมายแบบลงทะเบียนตอบรับ พร้อมทั้งแนบสัญญากรมธรรม์นี้ ส่งไปถึงบริษัทประกันภัยที่เป็นคู่กรณี จากนั้นให้ทำสำเนาจดหมายขอยกเลิกสัญญานี้ส่งถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคปภ.ด้วย เมื่อทางบริษัทประกันภัยได้รับหนังสือแล้วจะต้องยกเลิกสัญญากรมธรรม์ให้คุณพรภายใน 30 วัน หากครบกำหนดแล้วบริษัทฯ ยังไม่ยอมยกเลิกสัญญาให้ คุณพรสามารถทำเรื่องร้องเรียนไปยัง คปภ.หรือสายด่วน 1186 ได้ทันที เพื่อให้ทาง คปภ.ดำเนินเรื่องให้ต่อไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 ไม่รับรถเพราะลองขับแล้วมีปัญหา แต่ตัวแทนจำหน่ายไม่คืนเงินจองให้เต็มจำนวน

        หากจ่ายเงินจองซื้อรถยนต์ไปแล้ว แต่พอได้ลองขับกลับพบว่ารถมีปัญหา ไม่ว่าใครก็คงต้องการยกเลิกสัญญาจองและขอเงินคืนทั้งนั้น เช่นเดียวกับคุณศรีที่ส่งอีเมลมาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะต้องการให้ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์คืนเงินจองให้เธอเต็มจำนวน          คุณศรีเล่าว่าเธอไปจองรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งในงานมอเตอร์โชว์เมื่อปลายปีที่แล้ว และได้ตกลงกับผู้จัดการฝ่ายขายว่าจะขอทดลองขับระยะสั้นๆ ก่อนตัดสินใจออกรถ เพราะเคยขับรถยนต์ยี่ห้อนี้แต่คนละรุ่นแล้วเจอปัญหารถขับลงซ้ายมาปีกว่ายังแก้ไม่หายเลย ต่อมาในวันนัดรับรถ 16 มกราคมปีนี้ คุณศรีได้ลองขับรถยนต์รุ่นที่จองไว้ ที่ความเร็ว 40-60 กม/ชม. แล้วปล่อยมือ ปรากฏว่ารถลงซ้ายมากกว่ารุ่นที่เธอเคยขับมาก่อนอีก เธอจึงปฏิเสธที่จะรับรถไว้ แม้อีก 2 สัปดาห์ถัดมา บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อนี้จะคืนเงินดาวน์ 500,000 บาท พร้อมเงินจดทะเบียนให้ แต่ยังไม่ได้คืนเงินจองรถ 10,000 บาทมาให้ด้วย เธอจึงทวงถามกลับไป ต่อมาประมาณเดือนมิถุนายน ทางบริษัทตัวแทนฯ แจ้งว่าจะคืนเงินให้เพียง 5,000 บาท พร้อมแนบสัญญามาให้เซ็นยินยอม แต่คุณศรีอ่านสัญญาแล้วเห็นว่ามีหลายข้อความที่เธอยอมรับไม่ได้ จึงปฏิเสธข้อเสนอนั้น และต้องการเรียกร้องความยุติธรรม โดยยืนยันให้บริษัทตัวแทนฯ คืนเงินจอง 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7% นับจากวันนัดรับรถให้กับเธอด้วย   แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในเบื้องต้นทางมูลนิธิฯ ได้โทรศัพท์กลับไปยังคุณศรี แนะนำให้เธอไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานก่อน โดยให้แจ้งว่าเรื่องราวตอนที่คุณศรีทดลองขับรถยนต์รุ่นที่จองแล้วพบการชำรุดบกพร่อง จึงปฏิเสธรับรถคันนี้เป็นความจริง จากนั้นให้ทำหนังสือส่งไปยังทางบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์คู่กรณี แจ้งขอค่าจองคืนเต็มจำนวน เนื่องจากรถมีการชำรุดบกพร่อง ภายใน 7-14 วัน หากไม่คืนก็จะดำเนินการต่อไปเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่แจ้งไปแล้ว คู่กรณียังเพิกเฉย คุณศรีสามารถนำหลักฐานการจองรถ หนังสือขอเงินคืน ใบลงบันทึกประจำวัน ไปฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคต่อไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 กระแสต่างแดน

ปลูกข้าวกันเถอะ        รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเร่งสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยด่วน ...ตามความเห็นของนายโตชิยูกิ อิโตะ อดีตนายพลประจำกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีคานาซาว่า  หลายสิบปีที่ผ่านมาคนญี่ปุ่นบริโภคข้าวและปลาน้อยลงมาก ในขณะที่ขนมปังและเนื้อสัตว์อื่นๆ  ได้รับความนิยมมากขึ้น แม้แต่ปลาที่นิยมก็เป็นปลาแมคเคอเรลและแซลมอนที่นำเข้าจากนอร์เวย์หรือชิลี“ครัว” ของคนญี่ปุ่นปัจจุบันจึงพึ่งพาสินค้านำเข้าเป็นหลัก แม้แต่ธัญพืชอาหารสัตว์ก็นำเข้าแทบทั้งหมด  เรื่องเงินไม่ใช้ปัญหาใหญ่ เพราะผู้คนมีรายได้มากขึ้น แต่หากเส้นทางขนส่งทางเรือมีเหตุให้ถูกปิดลง  เพราะสงครามที่อาจปะทุขึ้นระหว่างจีนกับไต้หวัน คนญี่ปุ่นลำบากแน่วันนี้ญี่ปุ่นมีพื้นที่ผลิตข้าวน้อยลงมากเพราะดีมานต์ที่ลดลง ประกอบกับชาวนาอายุมากขึ้นและไม่มีลูกหลานสนใจสืบทอด คนรุ่นใหม่ที่เข้าวงการก็เลือกที่จะปลูกข้าวเพียงปีละครั้ง แม้สภาพดินฟ้าอากาศจะเอื้ออำนวยให้ปลูกได้ถึงปีละสองครั้งก็ตาม ประหยัดไฟ        ปริมาณการบริโภคไฟฟ้าของเดนมาร์กในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปีนี้ ลดลงเกือบร้อยละสิบ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 Energinet หรือ “การไฟฟ้าเดนมาร์ก” ให้ข้อมูลว่าการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวันลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด สอดคล้องกับพฤติกรรม “นิวนอร์มอล” ของคนเดนมาร์กที่ประหยัดไฟด้วยการงดทำอาหารประเภทที่ต้องอบนาน ไม่ใช้เครื่องอบผ้า รวมถึงเปลี่ยนไปซักผ้า/ล้างจาน ในตอนกลางคืน และเลือกซัก/ล้างด้วยโปรแกรม “ประหยัด”  ค่าไฟในเดนมาร์กพุ่งขึ้นเป็น 7.72 โครนต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง จาก 2.87 โครน ในช่วงต้นปี ผู้ใช้ไฟฟ้าจึงพากันดาวน์โหลด “แอปฯ มอนิเตอร์ค่าไฟ” เพื่อเป็นตัวช่วยให้รู้ช่วงเวลาที่ค่าไฟถูกก่อนหน้านี้รัฐบาลช่วยจ่ายค่าไฟให้กับผู้มีรายได้น้อย 400,000 ครอบครัว ในอัตราครัวเรือนละ 6,000 โครน (ประมาณ 30,000 บาท) ทั้งนี้เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีสมาชิกครอบครัวที่อายุมากที่สุดโดยอัตโนมัติ  สองล้อกลับมาแล้ว        นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนสร้างความปวดหัวให้ผู้คนไม่น้อย แต่ผลพลอยได้คือการใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้น หลังซบเซาไปนานเพราะผู้คนเปลี่ยนไปใช้รถยนต์หรือรถสาธารณะเช่น สถิติการใช้จักรยานพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลังหยุดยาวช่วงวันแรงงานที่รัฐบาลสั่งปิดระบบขนส่งมวลชนบางส่วนและขอให้ผู้คนงดออกจากบ้านเพื่อลดการกระจายเชื้อ หรือกรณี “เซี่ยงไฮ้ล็อคดาวน์” ที่ผู้คนต้องสัญจรไปมาด้วยจักรยาน เพราะรัฐอนุญาตให้คนที่ออกจากบ้านได้เดินทางด้วยจักรยานเท่านั้นจนถึงวันนี้ ย่านใจกลางกรุงปักกิ่งก็มีการใช้จักรยานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47.8 นอกจากนโยบายโควิดแล้วยังมีปัจจัยเรื่องราคาน้ำมัน และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับการขับขี่จักรยานด้วยรายงานระบุว่าเรื่องนี้ส่งผลดีทั้งต่ออุตสาหกรรมผลิตจักรยานในประเทศจีน ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านเหรียญ ด้วยกำลังผลิตปีละ 76.4 ล้านคัน และผู้ผลิตจักรยานในอเมริกาและยุโรปซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป็นชนชั้นกลาง ที่ยินดีจ่ายค่าจักรยานได้ถึงคันละ 14,800 เหรียญ (ประมาณ 550,000 บาท) ขอคนช่วยเลี้ยง        สวัสดิการการเลี้ยงดูบุตรของเยอรมนีอาจดูน่าอิจฉาในสายตาของประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่กำหนดให้รัฐบาลจัดหาเดย์แคร์ หรือศูนย์รับเลี้ยง ให้กับเด็กวัย 3 ปีขึ้นไปที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงาน   แต่ปัจจุบันศูนย์ฯ เหล่านี้มีไม่เพียงพอ และไม่มีใครสนใจอยากสมัครมาทำงาน เพราะเป็นตำแหน่งพาร์ทไทม์ที่ค่าตอบแทนน้อย และไม่มีโอกาสก้าวหน้า รายงานระบุว่าเยอรมนียังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อีกอย่างน้อย 160,000 คนเมื่อพ่อแม่ไม่อยากใช้เวลา 90 นาที ขับรถไปส่งลูกที่ “ศูนย์ใกล้บ้าน” จึงหาทางออกด้วยการฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายาย ใช้บริการสถานรับเลี้ยงเด็กของเอกชน หรือจ้างพี่เลี้ยงไว้ที่บ้านหากเงินถึง และมี “คุณแม่” จำนวนไม่น้อยตัดสินใจอยู่บ้านเลี้ยงลูกเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้หญิง เพราะเมื่อไม่ได้ทำงาน พวกเธอก็มีเงินสะสมน้อยและมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะ “จน” ในยามแก่ กินน้อยก็ปัง        คอนเทนต์ประเภท “โชว์กินดะ” จากเกาหลีใต้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก จนคำว่า “ม็อกบัง” ได้ถูกนำไปบัญญัติไว้ในพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดในปี 2021 แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ชาวเกาหลีเองก็มีไม่น้อยนอกจากการกินมากไปจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือกินทิ้งกินขว้างที่ทำให้เกิดขยะโดยไม่จำเป็นแล้ว พฤติกรรมบางอย่างในคลิปเหล่านี้ก็ไม่ถูกต้องตามธรรมเนียมเกาหลี เช่น การกัดเส้นบะหมี่ให้ขาดทั้งที่ยังไม่หมดคำ หรือการเขี่ยอาหาร ที่เชื่อกันว่าจะนำมาซึ่งโชคร้ายคนส่วนหนึ่งจึงหันไปสนใจ “โซซิกจวา” ซึ่งเป็นรายการที่พูดถึงพฤติกรรมการกินอาหารเพียงเล็กน้อย (เพราะเจ้าตัวรู้สึกว่าเพียงพอต่อความต้องการ ไม่ใช่เพื่อการลดน้ำหนัก) และการเคี้ยวอาหารแต่ละคำให้นานขึ้น ของเหล่าเซเล็บเกาหลีช่อง Unnies without Appetite ที่มีซานดารา พัค อดีตสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป 2NE1  มาแชร์ประสบการณ์ว่าเธออยู่ได้ทั้งวันด้วยการกินกล้วยเพียงหนึ่งผล ก็มีผู้ยอดเข้าชมมากกว่าหนึ่งล้านวิว    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 ‘สินทรัพย์ทางเลือก’ เมื่อของรักเพิ่มมูลค่า

        การลงทุนให้เงินงอกเงยไม่ได้มีแค่หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมเท่านั้น มันยังมีสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพวกสินค้าโภคภัณฑ์ ทอง หรือน้ำมัน แต่เป็นสิ่งของจับต้องได้ที่ก็กำลังข้ามจักรวาลไปเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้         เคยได้ยินกันใช่ไหมเรื่องการแปลงสิ่งที่รัก สิ่งที่หลงใหล (Passion) ให้เป็นรายได้ คล้ายๆ กันนั่นแหละ คนเรามักมีของสะสมที่ชื่นชอบ พออยู่กับมันไปนานๆ เข้าความรู้ต่อสิ่งของชนิดนั้นก็เพิ่มพูน แล้วมูลค่าของสิ่งที่สะสมก็เพิ่มพูนขึ้นตามไปด้วย         ถึงตรงนี้คงร้องอ๋อกันแล้ว ใช่เลย ของสะสมบางประเภทสามารถแปลงเป็นสินทรัพย์มีค่าได้ ของสะสมของคนมีเงินมักมีราคาสูงซึ่งเจ้าตัวก็น่าจะคาดการณ์ว่าอนาคตสามารถปล่อยได้ในราคาที่สูงกว่าหลายเท่าตัว เช่น งานศิลปะ โบราณวัตถุ รถ กระเป๋าแบรนด์เนม เป็นต้น         การจะสะสมสินทรัพย์จำพวกนี้นอกจากต้องมีเงินแล้วยังต้องมีความรู้แน่นหนา ไม่ถูกย้อมแมวขาย รู้ที่มาที่ไปของวัตถุ อย่างถ้าเป็นงานศิลปะก็ต้องอ่านขาดทีเดียว อย่างใครถือครองงานของถวัลย์ ดัชนีไว้น่าจะรู้สึกอิ่มเอมกว่าศิลปินโนเนม         แต่ไม่จำเป็นเสมอไปที่สินทรัพย์ทางเลือกจะมีราคาแพงเว่อร์วัง ของบางอย่างในช่วงเวลาหนึ่งอาจไม่ได้มีมูลค่าอะไรเลยด้วยซ้ำ พอผ่านไปๆ มูลค่ากลับถีบตัวเป็นหลักล้านก็มีเพราะเป็นของหายาก เป็นที่ต้องการในแวดวงเฉพาะกลุ่ม เช่น การ์ดจากการ์ตูนหรือเกมฮิตบางใบขายกันหลักล้าน (แม่เจ้า!!!) การ์ดนักกีฬา แสตมป์ ไล่เรียงไปจนถึงหนังสือหายาก พระเครื่อง นาฬิกา หิน เครื่องเขียน ของเล่น ฯลฯ         ประเด็นอยู่ที่ว่ามันคาดการณ์ยากพอสมควรว่าของที่เราสะสมจะมีมูลค่าเพิ่มในอนาคตหรือเปล่า ของบางอย่างก็ผ่านมาเป็นกระแสตูมตามชั่ววูบไหวแล้วหายไป ยกตัวอย่างจตุคามรามเทพที่เคยฮิตกันอยู่ช่วงหนึ่ง ทำออกมากี่รุ่นๆ ก็ปล่อยได้หมด         เมื่อกระบวนการปั่นราคาไปถึงจุดหนึ่ง คนมาก่อนได้กำรี้กำไร คนมาช้าจ่ายรอบวง งานเลี้ยงก็เลิกรา แปรสภาพเป็นคุกกี้โอริโอที่แจกฟรียังแทบไม่มีคนอยากได้                 ไหนจะเรื่องของวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ อย่างพระเครื่องรุ่นหายากเป็นสินทรัพย์มีค่าสูงในไทย แต่อาจไม่มีค่าในประเทศตะวันตก         ถึงบอกว่าต้องอาศัยความรู้เยอะทีเดียวถ้าหวังจะลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก แต่ถ้าสะสมเพราะใจรักและมีความสุข มูลค่าจะเพิ่มก็เป็นแค่ผลพลอยได้ แบบนี้ก็ทำไปเถอะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 คนกรุงเทพฯ ต้องการระบบขนส่งมวลชนแบบไหน

        ผ่านมาสักระยะหนึ่งแล้วที่ประเทศไทยเรามี “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตำแหน่งนี้อาจเป็นความหวังอีกครั้งหนึ่งที่มวลชนชาวกรุงเทพฯ คาดหวังว่าระบบขนส่งมวลชนของเมืองแห่งนี้ น่าจะดีขึ้นเสียที แต่ความคาดหวังเป็นเรื่องหนึ่งส่วนผลลัพธ์อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ เพราะว่าลำพังแค่อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาระบบขนส่งมวลชนเมืองซึ่งดำรงอยู่มาอย่างยาวนานนี้ได้  อย่างไรก็ตามก่อนจะไปถึงเรื่องว่าแก้ได้หรือแก้ไม่ได้ เรามาทบทวนกันสักนิดว่า คนกรุงเทพฯ เขามีความหวังหรือความต้องการในเรื่องใดบ้างของบริการขนส่งมวลชนสำรวจกับใคร เมื่อไร         นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้บริการขนส่งมวลชน ในกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,200 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 8 - 17 กันยายน 2564    ผลสำรวจน่าสนใจ         คนกรุงเทพฯ มีขนส่งมวลชนให้เลือกได้อย่างเพียงพอ (ร้อยละ 85) อย่างไรก็ตามระยะทางที่สามารถเดินเท้าไปถึงจุดใช้บริการต้องเดินในระยะทางประมาณ 1,000 เมตร ถึงร้อยละ 38.2 ระยะทาง 500 เมตร ร้อยละ 27.1 ระยะทาง 1,500 เมตร ร้อยละ 18.5 และมากกว่า 1,500 เมตร ร้อยละ 16.2         ขนส่งมวลชนที่มีให้เลือกใช้บริการ (จากที่พักอาศัย) มากที่สุดคือ รถโดยสารประจำทาง ขสมก (รถเมล์) ร้อยละ 84 อันดับที่สองคือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 72.7 อันดับที่สามคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 51.7 อันดับที่สี่คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 48.4 อันดับที่ห้าคือ รถสองแถว ร้อยละ 44.7 และอันดับสุดท้ายคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 33.5         ดังนั้นการเดินทางของกลุ่มตัวอย่างจึงตอบว่าใช้บริการ รถโดยสารประจำทาง ขสมก (รถเมล์) มากที่สุด ร้อยละ 68 อันดับที่สองคือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 42.6 อันดับที่สามคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 45.5 อันดับที่สี่คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 30 อันดับที่ห้าคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 28.2 และอันดับสุดท้ายคือ รถสองแถว ร้อยละ 23 โดยจุดประสงค์ของการใช้ขนส่งมวลชนนั้นคือ ไปทำงาน ร้อยละ 61.5 ทำธุระส่วนตัว ร้อยละ 54 ซื้อสินค้า ร้อยละ 37.1 ท่องเที่ยว ร้อยละ 27 และอันดับสุดท้ายคือ เรียนหนังสือ ร้อยละ 16.2         ในส่วนของความถี่ คำตอบส่วนใหญ่คือ 5-6 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 23 อันดับที่สองคือ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 22.5 และอันดับที่สามคือ ใช้ทุกวัน ร้อยละ 21.8  เรื่องที่คนกรุงเทพฯ ต้องการจากระบบขนส่งมวลชน        -        รถโดยสารประจำทาง ขสมก. (รถเมล์)             อันดับที่หนึ่งคือ ด้านความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 34.6 อันดับที่สองคือ ราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 30.6 อันดับที่สามคือ บริการของรถเมล์มีมาตรฐานตรงเวลา ไม่ล่าช้า ร้อยละ 29.7 อันดับที่สี่คือ รถเมล์มีบริการที่มีคุณภาพ ในการรับส่งผู้โดยสาร ร้อยละ 27.7 อันดับที่ห้าคือ อัตราค่าโดยสารเหมาจ่ายรถร้อน 10 บาท (ทั้งวัน) ร้อยละ 26.7         -        รถไฟฟ้า             อันดับที่หนึ่งคือ ด้านราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 47.1 อันดับที่สองคือ ความสะดวกในการเข้าถึงสถานี และเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 43.1 อันดับที่สามคือ การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทุกสายเพื่อลดค่าแรกเข้าเหลือครั้งเดียว (ขึ้นหลายสายก็จ่ายครั้งเดียว) ร้อยละ 41.6 อันดับที่สี่คือ การออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับการเข้าถึงรถไฟฟ้าของกลุ่มผู้พิการ ร้อยละ 39.4 อันดับที่ห้าคือ ต้องการให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อประชาชน ร้อยละ 38.9        -        เรือโดยสาร             อันดับที่หนึ่งความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 32 อันดับที่สองคือ มีท่าเรือโดยสารที่ปลอดภัยในทุกจุดที่ให้บริการ ร้อยละ 20.6 อันดับที่สามคือ ราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 19.4 อันดับที่สี่คือ มีการจัดการการขึ้นลงเรืออย่างเป็นระบบ ร้อยละ 18.6 อันดับที่ห้าคือ สามารถใช้ตั๋วร่วมสำหรับรถเมล์ ขสมก. รถเมล์ร่วมเอกชนได้ และรถไฟฟ้าทุกสายได้ (บัตรใบเดียว) ร้อยละ 18.1

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 258 เรื่องสยองของสิวกับผงไม่พิเศษ

ก “เฮ้ยยย..ว่าไงวัยรุ่น นายเป็นสิวเหรอ?” ข “เออ..ว่ะ ทำไงดีวะ เป็นสิวไม่อยากไปเรียนเลย มียาดีแนะนำมั้ยเพื่อน” ก “จัดไปให้ไวเลยเพื่อน..ยาผงแบบซองผสมน้ำแต้มหัวสิว ไม่สยิว สิวหายแน่นอน” ข “แล้วมันดีในระยะยาวจริงเหรอ เห็นหลายคนใช้แล้วไม่หายแถมได้แผลเป็นด้วยน่ะสิ…เฮ้อ!!”         นานกว่า 40 ปีแล้วที่วัยรุ่นทุกยุคสมัยคุ้นเคยและผ่านตากับยาผงในซองสีส้มแดงที่ว่ากันว่ามันเสมือนผงพิเศษที่สามารถแผลงฤทธิ์พิชิตสิวบนใบหน้าได้ง่ายๆ จากคำร่ำลือผ่าน ปากต่อปาก พี่สู่น้อง ผู้ปกครองสู่ลูกหลาน แม้ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ยุคสมัย จนมีการพัฒนายารักษาสิวใหม่ๆ มากมาย แต่ยังคงพบว่าวัยรุ่นหลายคนก็ยังนิยมนำยาผงนี้มาทาหน้าแก้สิวกัน โดยแทบไม่รู้กันเลยว่ามันคือยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่งในกลุ่มยาซัลฟา มีตัวยาสำคัญคือ“Sulfanilamide”  สิวมาจากไหน?         มนุษย์เรามีผิวหนัง 3 ชั้น ชั้นแรกคือชั้นหนังกำพร้า คอยปกป้องสิ่งสกปรก เชื้อโรค ชั้นต่อไปคือชั้นหนังแท้ เป็นที่อยู่ของต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน เส้นขน ชั้นสุดท้ายคือชั้นที่อยู่ใต้ผิวหนังลงไป เป็นชั้นที่สะสมไขมันให้ความอบอุ่นร่างกาย ปกติเจ้าต่อมไขมันในชั้นหนังแท้ จะคอยหลั่งไขมันออกตามรูขุมขนเพื่อให้ผิวมีความชุ่มชื้น แต่เมื่อวันดีคืนดีมันเกิดการอุดตันจากการที่มีสิ่งสกปรกที่ผิวหนัง ไขมันมันก็จะสะสมจนอักเสบเกิดเป็นสิว นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆที่อาจทำให้เราเป็นสิวได้อีก เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่น เป็นต้น ดังนั้นการรักษาสิงที่ถูกต้องจึงต้องแก้ให้ตรงกับสาเหตุที่เกิด หากใช้ยาปฏิชีวนะแต้มสิวจะมีผลสยองอย่างไรบ้าง?         เนื่องจากยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ“Sulfanilamide”เป็นยาที่เคยนำมาใช้ในการรักษาแผลติดเชื้อด้วยการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในสมัยก่อนๆ และใช้กันอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการจดทะเบียนยา ให้มีสรรพคุณ เน้นเฉพาะรักษาสิวอักเสบที่มีสาเหตุจากเชื้อ Cutibacterium acnes แต่เนื่องจากมีการนำมาใช้พร่ำเพรื่อติดต่อกันนานหลายปี ปัจจุบันจึงพบว่าเชื้อตัวนี้“ดื้อยา Sulfanilamide”ไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีรายงานการแพ้ยาในกลุ่มซัลฟาในประชาชนชาวไทยมากขึ้น ซึ่งหากใครแพ้ยากลุ่มซัลฟาแล้วมาใช้ยา Sulfanilamide ก็จะมีโอกาสแพ้ด้วยเช่นกัน บางรายจะมีอาการรุนแรง เช่น ผิวหนังลอก หรือเป็นด่างดำตามผิวหนังถาวร จึงไม่มีการนำมาใช้รักษาสิวแล้ว เพราะมียาอื่นๆ ที่ดีกว่าและปลอดภัยกว่า         รู้อย่างนี้แล้ว ช่วยกันบอกต่อๆ และเตือนกันด้วย อย่านำยาผงดังกล่าวมาทาหน้าแก้สิวเลย เพราะนอกจากจะเสี่ยงอันตรายแล้ว มันไม่ใช่ผงที่จะรักษาสิวได้อย่างพิเศษแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 อยู่คอนโด เลี้ยงสัตว์ได้ไหม ใครกำหนด

        หลายท่านที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมหรืออาคารชุดคงทราบดีว่าการอยู่ด้วยกันในพื้นที่แนวดิ่ง เป็นเรื่องที่เราต้องอยู่อาศัยอยู่กับคนจำนวนมาก แม้จะอยู่แยกห้องส่วนตัว แต่ก็มีอาคาร มีทรัพย์ส่วนกลางที่ใช้สอยด้วยกัน เช่น พื้นที่จอดรถ ห้องออกกำลังกาย ลิฟต์ สระว่ายน้ำ  ดังนั้น การอยู่อาศัยในคอนโดจึงมีทั้งส่วนที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวและส่วนที่เป็นพื้นที่ส่วนรวม  ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่จะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ก็คือต้องสร้างกติการในการอยู่ร่วมกัน การใช้ทรัพย์สินร่วมกัน เพื่อแบ่งปันกันใช้ประโยชน์ ป้องกันปัญหาความขัดแย้ง  ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ก็มีข่าวดัง เกี่ยวกับผู้เป็นเจ้าของห้องชุดท่านหนึ่ง ที่ถูกฟ้องร้องต่อศาล เนื่องจากมีการเลี้ยงสัตว์โดยฝ่าฝืนกติการ่วมกันคือข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดและระเบียบนิติบุคคลอาคารชุดที่กำหนดไว้ โดยที่สุดศาลก็ตัดสินให้เจ้าของสัตว์และเป็นเจ้าของห้องชุดชำระเงินจำนวน 141,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 140,500 บาท นับจากวันที่ได้มีการฟ้องร้อง         คำถามที่เกิดขึ้นคือ แล้วข้อกำหนดที่ห้ามเลี้ยงสัตว์มาจากไหน ใครกำหนด  ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ที่อยู่อาศัยแนวดิ่งที่เราคุ้นกันในชื่อคอนโด เป็นที่พักอาศัยที่มีกฎหมายควบคุมไว้เป็นการเฉพาะ คือพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2551 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ วางกฎเกณฑ์ของเรื่องอาคารชุดตั้งแต่การเริ่มต้นโครงการไปตลอดจนการบริหารจัดการภายหลังโครงการแล้วเสร็จและเปิดให้ผู้ซื้อเข้าอยู่อาศัย ซึ่งเมื่อมีผู้ซื้อจำนวนหนึ่ง ก็จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารคอนโด จะทำหน้าที่บริหารนิติบุคคลอาคารชุด ภายใต้มติของที่ประชุมใหญ่สมาชิกเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของผู้อยู่อาศัยในคอนโด และออกกฎระเบียบการใช้ประโยชน์พื้นที่ส่วนกลางเพื่อประโยชน์ร่วมกันของบรรดาเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม รวมถึงการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางจากบรรดาสมาชิกเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามสัดส่วน ซึ่งแน่นอนว่าในเรื่องการเลี้ยงสัตว์ก็ต้องมีการหารือตกลงกันว่าสมควรให้มีการเลี้ยงสัตว์ได้หรือไม่ เพียงใด โดยกำหนดไว้ในข้อบังคับและระเบียบของนิติบุคคลอาคารชุด         ในแง่หนึ่ง หลายคนมองว่าการนำสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงในพื้นที่ส่วนบุคคลในคอนโด ก็ควรทำได้ เพราะถือเป็นสิทธิและเสรีภาพของเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมทุกคนในคอนโด ไม่มีกฎหมายข้อใดห้ามไว้  แต่ในอีกมุมหนึ่ง การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงก็ต้องไม่ไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นหรือสร้างความเสียหายแก่ร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยเช่นกัน  หากมีการสร้างความเดือดร้อนนรำคาญ ส่งเสียงดังรบกวนการอยู่อาศัยของเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมคนอื่น ก็ต้องมีการจัดการตามข้อบังคับหรือระเบียบของนิติบุคคลอาคารชุดที่ได้วางไว้          โดยปกติ คอนโดส่วนใหญ่จะไม่อนุญาตให้เจ้าของกรรมสิทธิ์นำสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงไว้ในคอนโด หากมีการอนุญาตก็จะอนุญาตแบบเงื่อนไข โดยการออกระเบียบเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในคอนโดของคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด จะอยู่ภายใต้มติของที่ประชุมใหญ่สมาชิกเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมที่ได้จัดให้มีการประชุมขึ้นเป็นประจำทุก ปี ดังนั้น บรรดาข้อบังคับของอาคารชุดที่ออกมาก็เปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญสำหรับคอนโดนั้นๆ ที่คนในคอนโดส่วนใหญ่เห็นชอบร่วมกัน ทุกคนจึงต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตาม ตลอดจนไปถึงระเบียบต่างๆที่ออกภายใต้ข้อบังคับดังกล่าวด้วย  ดังนั้น  หากใครเป็นคนรักสัตว์เลี้ยงและชอบสัตว์เลี้ยง ก่อนซื้อคอนโดก็ควรตรวจสอบเกี่ยวกับข้อบังคับ กติกาหรือระเบียบในเรื่องการเลี้ยงสัตว์ให้ดี ก่อนตัดสินใจ มิฉะนั้น จะทำให้เกิดปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในคอนโด และอาจลุกลาม จนท้ายที่สุดต้องเสียเงินมากมาย ดังเช่นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมที่เป็นข่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 เฝ้าระวังสาธารณภัยผ่าน Thai Disaster Alert

        สภาพอากาศของประเทศไทยในช่วงฤดูฝนมักมาคู่กับการเกิดลมมรสุมหรือเกิดพายุพัดผ่านตลอด ดังนั้นการติดตามข่าวสารเพื่อแจ้งเตือนเรื่องพายุเข้าจึงมีความสำคัญอย่างมาก เมื่อประชาชนได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด จะทำให้สามารถรับมือและป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะการเกิดพายุพัดผ่านบริเวณใดจะส่งผลให้ประชาชนบริเวณนั้นได้รับผลกระทบจากการฝนตกหนักเบาตามลำดับ จนอาจกลายเป็นภัยธรรมชาติตามมาได้         ด้วยหน้าที่ที่ต้องเฝ้าระวังเพื่อติดตามจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติจากน้ำ บรรเทาสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นในประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. กระทรวงมหาดไทย จึงได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการสาธารณภัยนี้โดยการพัฒนาแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Thai Disaster Alert โดยสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android         แอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert มีหน้าที่แจ้งเตือนภัยข่าวสารสาธารณภัยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศแบบ Real Time ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อให้ประชาชนที่ใช้แอปพลิเคชันได้ทราบข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว ทำให้ทันท่วงทีในการเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกันตนเองและทรัพย์สินก่อนที่ภัยจะมาถึง ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงและผลกระทบได้อีกทางหนึ่ง         เมื่อติดตั้งแอปพลิเคชันเรียบร้อยแล้ว แอปพลิเคชันจะให้ผู้ใช้งานใส่ข้อมูลเพศ วันเดือนปีเกิด ต่อจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนให้เลือกจังหวัดที่ต้องการรับแจ้งเตือนภัยได้ 3 จังหวัด ซึ่งจังหวัดที่เลือกนั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ภายหลัง และเลือกตั้งค่าเปิดสิทธิ์เข้าถึงตำแหน่งที่ตั้ง (Location Service) บนสมาร์ทโฟน ซึ่งหน้าแอปพลิเคชันจะปรากฎหมวดหมู่ ได้แก่ สัญลักษณ์กระดิ่ง สัญลักษณ์แผนที่ สัญลักษณ์ที่ตั้ง (Location) สัญลักษณ์โทรศัพท์ และสัญลักษณ์รูปคน         สัญลักษณ์กระดิ่ง จะแสดงข่าวสารการแจ้งเตือนโดยเรียงข่าวล่าสุดอยู่ด้านบนสุด เป็นข้อความสั้นๆ กระชับ และมีเอกสารอ้างอิงของข้อมูลนั้นๆ มุมบนขวาเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปดูแหล่งที่มาได้ทันที ในหน้านี้จะมีเมนู 2 เมนูเพิ่มเติม ได้แก่ เมนูแจ้งเตือนในพื้นที่และเมนูแจ้งเตือนล่าสุด โดยเมนูแจ้งเตือนล่าสุดจะสามารถเลือกค้นหาข่าวตามช่วงวันเวลาต่างๆ ได้ตามต้องการ ทั้งนี้สามารถเปลี่ยนภาษาที่แสดงบนแอปพลิเคชันได้ที่หน้านี้         สัญลักษณ์แผนที่จะแสดงภาพแผนที่ประเทศไทย โดยจะขึ้นแสดงเป็นแถบสีในพื้นที่จังหวัดนั้นว่ามีพื้นที่ไหนเสี่ยงต่อการเกิดสาธารณภัยบ้าง ผู้ใช้งานสามารถกดเลือกจังหวัดบนแผนที่ เพื่อดูการแจ้งเตือนเฉพาะจังหวัดได้ สัญลักษณ์ที่ตั้ง (Location) เป็นหมวดสำหรับปรับเปลี่ยนจังหวัดที่ต้องการรับแจ้งเตือนภัย สัญลักษณ์โทรศัพท์เป็นหมวดที่รวบรวมเบอร์โทรศัพท์สายด่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การไฟฟ้านครหลวง กองปราบปราม ร่วมด้วยช่วยกัน ศูนย์ กทม. ศูนย์ควบคุมจราจร แจ้งเหตุเพลิงไหม้ แพทย์ฉุกเฉิน เป็นต้น และสัญลักษณ์รูปคนจะเป็นหน้าสำหรับแก้ไขข้อมูลส่วนตัว         แอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยทำหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทำให้สามารถเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวได้อย่างใกล้ชิด ดังนั้นขอแนะนำว่าประชาชนที่สนใจโดยเฉพาะประชาชนที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert มาติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมในการรับมือไม่ให้ทรัพย์สินเสียหายได้ทันเวลา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 วิธีจัดการสีตกใส่เสื้อผ้าสีขาว

        ฉบับที่แล้วฉลาดซื้อมีวิธีการจัดการกับปัญหากลิ่นของเสื้อผ้าเหม็นอับ มาฉบับนี้ขอต่อเนื่องด้วยวิธีจัดการกับปัญหาเสื้อผ้าสีขาวที่มักโดนสีจากเสื้อสีอื่นๆ ตกใส่มาฝากกันบ้าง         ส่วนใหญ่ปัญหาสีตกใส่ผ้าขาวนั้น สาเหตุมักเกิดจากเวลาที่เราซักผ้าอาจจะลืมแยกผ้าสี ผ้าขาว แล้วนำผ้าทั้งหมดไปแช่และซักรวมกัน  ดังนั้นการป้องกันย่อมดีกว่าการคอยแก้ไข การป้องกันเบื้องต้น มีดังนี้         1.เราควรแยกผ้าสีออกจากผ้าขาวทุกครั้งทำเป็นประจำเพื่อให้ติดเป็นนิสัยยิ่งดี  เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันผ้าสีตกใส่         2. หากซื้อเสื้อผ้ามาใหม่และเป็นเสื้อผ้าสี ให้ลองนำผ้าจุ่มน้ำให้เปียกหมาดๆ และถูที่บริเวณเสื้อ หากมีติดออกมาแสดงว่าต้องรีบนำผ้าแยกออกจากเสื้อผ้าตัวอื่นๆ           3.หากทำตามแบบที่ 2 แล้วยังไม่ชัดเจนให้เอาเสื้อผ้ามาลองแช่น้ำไว้ก่อนเพื่อดูว่าเสื้อผ้าตัวนั้นสีตกหรือไม่ ถ้าตกก็ควรแยกออกจากเสื้อผ้าตัวอื่นๆ เช่นกัน         4. นำเสื้อผ้าสีสดตัวที่ทดลองแช่น้ำแล้วพบว่าสีตกมาแช่ใส่น้ำที่ผสมเกลือทะเลหรือเกลือสมุทร ทิ้งไว้สัก 6 ชั่วโมงหรือข้ามคืน หลังจากนั้นนำไปซักเพื่อใช้งานตามปกติ ทั้งนี้ หากทำตามวิธีดังกล่าวแล้วพบว่าไม่ได้ผลในส่วนของผ้าสีนั้น  อาจจะต้องเพิ่มปริมาณเกลือมากขึ้น ถ้ายังไม่ดีขึ้นควรแยกซักเดี่ยวๆ ไปเลย         แต่ไม่ว่าเราจะมีวิธีป้องกันยังไง ยังไงคนเราก็อาจพลาดกันได้อาจจะลืมบ้างอะไรบ้าง นำเสื้อผ้าสี ผ้าขาวไปปั่นรวมกันในเครื่องซักผ้าจนสีตกใส่ ก็ลองมาดูวิธีการต่อไปนี้         วิธีแรก คือ ถ้าเป็นผ้าขาวที่เพิ่งถูกสีอื่นตกใส่หมาดๆ อาจจะใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าขาวตามท้องตลาดเป็นอย่างแรกผสมกับผงซักฟอกแล้วแช่ผ้าทิ้งไว้ 15-20 นาที แล้วลองดูว่าดีขึ้นไหม         วิธีที่สอง ตั้งหม้อใส่น้ำบนเตาไฟ ต้มให้เดือดจากนั้นใส่ผ้าที่สีตกใส่ลงไป แล้วตามด้วยน้ำส้มสายชู สักประมาณให้ได้กลิ่นฉุนนิดๆ ทิ้งไว้สักพักจนสีที่ตกใส่จางลงจนออกหมดจด จึงนำออกจากหม้อ และแช่น้ำเย็นพักไว้แล้วนำมาซักใช้ได้ตามปกติ การใช้วิธีนี้หลังจากซักแล้วอาจจะยังคงมีกลิ่นของน้ำส้มสายชูติดอยู่จางๆ บ้าง ไม่ต้องกังวลใจไปว่ากลิ่นจะติดไว้ตลอดไป เมื่อซักไปเรื่อยๆ กลิ่นก็จะจางหายไปเอง         วิธีที่สาม นำผงซักฟอก น้ำส้มสายชู ผสมเข้าด้วยกันจากนั้นทาไปบริเวณเสื้อผ้าที่เปื้อน จากนั้นขยี้ที่บริเวณที่เปื้อนและทิ้งไว้ซักพักประมาณ 15-20 นาที หรือมากกว่านั้นก็ได้ หลังจากนั้นนำมาซักและใช้งานได้ปกติ           ทั้งนี้  วิธีต่างๆ ข้างต้น ควรต้องระวังเกี่ยวกับเนื้อผ้าด้วย เนื่องจากลักษณะผ้าบางชนิดอาจจะไม่เหมาะสำหรับใช้น้ำร้อนในการซัก ให้มั่นสังเกตตรงป้ายเสื้อไว้ เพราะมีสัญลักษณ์สำหรับวิธีการใช้ที่ถูกต้อง และเพื่อป้องกันไม่ให้เสื้อผ้าเสียหายมากกว่าเดิม นอกจากนี้ ต้องระวังเรื่องส่วนผสมแปลกๆ ที่นำมามิกซ์กันด้วย เพราะบางอย่างอาจสั่งซื้อมาตามอินเทอร์เน็ตเพื่อความสะดวกสบาย แต่ผลิตภัณฑ์นั้นอาจไม่ได้มาตรฐานหรือมีสารเคมีที่ห้ามผสมรวมกับสารอื่นๆ ดังนั้น ควรอ่านฉลากก่อนใช้เพื่อความปลอดภัย ข้อมูลจาก  สุดยอดแม่บ้าน : ป้องกันเสื้อผ้าสีตก  https://www.youtube.com/watch?v=SEADSA7qyzohttps://www.cleanipedia.com/thhttps://homeguru.homepro.co.th/6-ways-to-restore-fading-clothes/

อ่านเพิ่มเติม >