ฉบับที่ 121 บริษัท บุญแปด ยอมถอนฟ้องคดีขี้ไก่เหม็น

ทนายความของฟาร์มไก่ไข่ บริษัทบุญแปด ใส่เกียร์ถอยหลัง ขอถอนฟ้องคดีชาวบ้าน “ร้องขี้ไก่เหม็น” หลังเจรจาในศาลร่วม 2 ชั่วโมง โดยมีข้อตกลงร่วมหากเกิดข้อร้องเรียนอีก ให้ตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเข้าทำการตรวจสอบทันที เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราได้นัดชาวบ้านในเขตตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 27 ราย ซึ่งถูกบริษัท บุญแปด จำกัด ของ นายบุญยง ศรีไตรราศรี หนึ่งในกรรมการบริหารสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ดำเนินคดีฟ้องร้องเป็นคดีอาญาเกี่ยวเนื่องคดีแพ่ง ฐานความผิด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและหมิ่นประมาท เรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 2,300,000 บาท เพื่อมาเจรจาไกล่เกลี่ยกันอีกครั้งหลังจากที่เคยมีการเจรจาก่อนหน้านี้มาแล้ว 2 ครั้ง โดยศาลออกนั่งบัลลังก์เมื่อเวลาประมาณ 14.40 น. และได้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการเจรจาไกล่เกลี่ยกับคู่กรณี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายจำเลยซึ่งมีตัวแทนชาวบ้านพร้อมนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินคดีจากชาวบ้านที่ถูกฟ้องทั้ง 27 ราย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิงกับปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีเพิ่มเติมอีก 2 ราย กับทนายความและตัวแทนของบริษัทบุญแปด จำกัด โจทก์ผู้ฟ้องคดี ผลของการเจรจาไกล่เกลี่ย ทนายความของบริษัทบุญแปดได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งหมด 29 ราย โดยแถลงว่า ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป และได้มีข้อตกลงร่วมกันว่า หากมีข้อร้องเรียนในกรณีที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญของกลิ่นเหม็นจากมูลไก่ และคาดว่าจะมาจากฟาร์มให้สามารถทำการร้องเรียนได้ผ่านช่องทางปกติถึงองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง และให้ตั้งคณะกรรมการที่ได้รับการยอมรับของทุกฝ่ายขึ้นมาตรวจสอบเหตุที่ร้องเรียนนั้น ตามวิธีปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ประกอบกับกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นายวันชัย ฤทธิ์ลิขิต ตัวแทนชาวบ้านที่เข้าร่วมการเจรจาไกล่เกลี่ย ได้กล่าวถึงผลของคดีว่า การที่บริษัทถอนฟ้องคดีกับชาวบ้านเป็นสิ่งที่ควรทำมาตั้งนานแล้ว เพราะดคีไม่มีมูล ชาวบ้านให้ข้อมูลในปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็น ซึ่งเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการประกอบกิจการของฟาร์มไก่ไข่แห่งนี้แก่ อบต.ลาดกระทิงไปตามความเป็นจริง ไม่ได้มีเจตนากล่าวร้ายป้ายสีให้บริษัทบุญแปดเสียหาย แต่ต้องการให้มีการแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นให้หมดไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองระยอง ซึ่งมีคำสั่งให้ อบต.ลาดกระทิงระงับเหตุรำคาญให้หมดสิ้นไปภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ศาลปกครองระยองได้พิพากษาไปเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 และหลังจากนี้ตนและชาวบ้านจะได้ร่วมมือกับ อบต.ลาดกระทิง จัดการปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็นอย่างจริงจัง หากบริษัทฯ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้คงต้องเร่งรัดขอให้ อบต.ลาดกระทิง สั่งให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการไว้ก่อนเพื่อจะได้ไม่ขัดต่อคำสั่งของศาลปกครองระยองสำหรับเหตุข้อพิพาทเรื่องนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 บริษัท บุญแปด จำกัด ได้เข้ามาประกอบกิจการเลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้รับใบอนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง(อบต.ลาดกระทิง) ให้ประกอบกิจการเลี้ยงไก่ จำนวน 2 โรงเรือน เลี้ยงไก่ไข่ได้ 100,000 ตัว แต่บริษัทฯมีการเลี้ยงไก่ไข่เพิ่มขึ้นอีก 7 โรงหรือ 350,000 ตัว โดยไม่ได้รับอนุญาต ซ้ำยังละเมิดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งที่จะต้องตั้งอยู่ห่างจากชุมชน วัด ศาสนสถาน โบราณสถาน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล หรือสถานที่อื่นๆ ในระยะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและไม่ก่อเหตุรำคาญต่อชุมชน แต่ปรากฏว่าฟาร์มไก่แห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับสถานีอนามัยลาดกระทิง วัดลาดกระทิง รวมถึงโรงเรียนบ้านลาดกระทิงซึ่งสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยม 3 อันเป็นศูนย์กลางของชุมชนเพียงแค่รั้วกั้น การประกอบกิจการฟาร์มไก่ของบริษัท บุญแปดฯ ทำให้ชาวบ้านไม่น้อยกว่า 250 หลังคาเรือนที่อยู่อาศัยโดยรอบฟาร์มไก่ภายในรัศมี 1-2 กิโลเมตร ต่างได้รับความเดือดร้อนรำคาญทั้งด้านร่างกายและจิตใจจากกลิ่นเหม็นของมูลไก่ที่เกิดจากฟาร์มไก่แห่งนี้มาโดยตลอดและได้พากันร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 ไม่มีให้ซื้อตามโฆษณา ก็ต้องฟ้องสิจ้ะ

วันที่ 30 ธันวาคม 2553 ได้มีโอกาสหยิบหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ขึ้นมาอ่าน และได้เห็นการโฆษณาของห้างโลตัส เป็นภาพสีคู่ 2 หน้า และแสดงภาพสินค้าราคาขายอย่างชัดเจน มีทั้งสินค้าลดราคา ซื้อ 1 แถม 1 ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2553 ถึง 2 มกราคม 2554 พร้อมคำบรรยายว่าซื้อแล้วจะได้สิทธิคูณ แต้ม 3 เท่าในคลับการ์ด และมีข้อความตัวเล็กๆ ด้านล่างของกรอบโฆษณา ถึงข้อจำกัดการซื้อ เช่น กรณีสินค้าขาดตลาด จำหน่ายหมดก่อนกำหนดหรือปฏิบัติตามคำสั่งราชการ โดยไม่มีการระบุว่าสินค้ามีจำนวนจำกัดเมื่ออ่านข้อมูลครบถ้วน ผู้เขียนได้ชวนพี่สาวและหลานๆ เดินทางไปที่ห้างโลตัสสมุทรสงคราม เวลาประมาณ 10.40 น. เพื่อไปซื้อสินค้าตามโฆษณา ไปถึงชั้นวางของปรากฏว่าไม่มีของตามที่โฆษณาวางอยู่ ผู้เขียนจึงไปสอบถามเจ้าหน้าที่ ได้คำตอบว่า ของหมดแล้ว(ฮ้า....นี่เพิ่งวันแรกแต่เช้าหมดแล้วเหรอ..) เอ้า...หมดก็หมด ผู้เขียนเตรียมกลับบ้าน หันมาเจอพี่สาวและหลานๆ เห็นซื้อของกันมาเต็มมือก็เลยถามว่าอ้าว...ของที่ตั้งใจมาซื้อไม่มีแล้วซื้ออะไรกันมา ก็ได้คำตอบว่าไหนๆ ก็เสียเวลามาแล้ว ก็ซื้อๆไปเถอะ (อ้าว...อีกครั้ง)ผู้เขียนเริ่มรู้สึกว่าการโฆษณาของเขาได้ผล เพราะเมื่อผู้บริโภคเห็นโฆษณาก็อยากจะมาที่ห้าง มาแล้วไม่เจอของที่ตั้งใจซื้อ ก็ต้องซื้อสินค้าอื่นๆ เพื่อไม่ให้เสียเวลา ซึ่งตรงนี้หรือเปล่า คือเป้าของการโฆษณา แต่คิดอีกที เออ..สินค้าเขาคงหมดจริงๆจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2554 หลังเสร็จภารกิจส่วนตัวประจำวันผู้เขียนได้เดินทางไป ที่ห้างโลตัสอีกครั้ง ก่อนเที่ยง ปรากฏว่าก็ไม่มีสินค้าอีก เอาละอันนี้เริ่มชัด(อะไรว่ะ....มากี่ทีก็ไม่มีของ..) ผู้เขียนจึงไปแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าต้องการคุยกับผู้จัดการ รอสักพักผู้จัดการ(หรือเปล่าไม่รู้) ก็มาคุยและแจ้งว่าสินค้าหมดแล้วจริงๆ ผู้เขียนจึงได้นำหนังสือพิมพ์ที่โฆษณาของห้างไปแสดงและชี้ให้เห็นว่า ไม่มีข้อความไหนบอกว่า สินค้ามีจำนวนจำกัด และไม่ได้บอกว่าต้องมาซื้อสินค้าเวลาไหนจึงจะซื้อสินค้าตามที่โฆษณาได้ เป็นการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ขณะที่มีการเจรจาก็มีผู้บริโภครายอื่นๆ มายืนฟังด้วย(ที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ..มีผู้บริโภคบางคนพูดว่า...ของมันหมดแล้วมาโวยทำไม หมดก็ซื้ออย่างอื่นซิ..กลายเป็นว่าคนใช้สิทธิเป็นคนผิดอีก..แส้นนนน....ดี...จริงผู้บริโภคไทย) ผู้จัดการบอกว่าขอเบอร์โทรไว้แล้วกันหากสินค้ามาและจะโทรบอก อันนี้ล่ะ..ที่ผู้เขียนรับไม่ได้ พอใครโวยก็ให้สินค้าใครไม่โวยก็หลอกลวงกันเรื่อยๆไป โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่เข้ามากอบโกยรายได้จากผู้บริโภคไทย ด้วยการใช้เทคนิคทางการตลาด นำสินค้าชิ้น 2 ชิ้น มาโฆษณาเป็นเหยื่อล่อ หลอกลวงให้หลงเชื่อ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าไปที่ห้างของตนนั้น เป็นเทคนิคการตลาดที่ขาดจริยธรรมอย่างสิ้นเชิง(จริงๆ) ผู้เขียนได้โทรไปที่สายด่วนผู้บริโภค มีเสียงอัตโนมัติตอบกลับมาว่า ผู้ให้บริการติดบริการรายอื่นอยู่โปรดรอสักครู่ จนสายถูกตัด แต่ก็พยายามโทรอีกหลายครั้งใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง ก็ไม่สามารถติดต่อได้ เลยต้องโทรหาท่านเลขา สคบ.ท่านก็รับเรื่องแล้วบอกว่าจะดูแลให้ แต่เมื่อคิดอีกทีไปแจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ก็คงดีก็เลยไปแจ้งความไว้ที่โรงพักเพื่อที่จะได้ดำเนินการฟ้อง พรบ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค เพื่อสร้างบรรทัดฐานต่อไป และในวันเดียวกันก็มีผู้บริโภครายอื่นโทรมาร้องเรียนว่าถูกหลอกเช่นกัน โดยดูทีวีมีการโฆษณาว่ามีกล้องโซนี่ ซื้อ 1แถม 1 ไปซื้อจริงๆไม่มีสินค้าเช่นกัน จึงแนะนำให้ไปแจ้งความไว้อีกคดี กลายเป็นว่าผู้บริโภคได้ร่วมกันให้ของขวัญปีใหม่กับห้างโลตัสไปแล้วโดยไม่ตั้งใจ ที่เขียนเรื่องนี้เพราะผู้เขียนมั่นใจว่าหลายห้างใช้เทคนิคนี้เช่นกัน ไม่อยากจะฝากหน่วยงานแล้วเพราะฝากไปก็เหนื่อยเปล่า ผู้บริโภคอย่างเราๆต้องร่วมมือกันเมื่อเจอเหตุช่วยกันแจ้งความ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเหล่านี้มีจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ พลังของเราจะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนสังคมไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 แม่บ้านดวงอับ ถูกแบงค์ฟ้องหนี้บัตรเครดิต

แทบเป็นลมล้มทั้งยืนเมื่อเห็นหมายศาลส่งมาถึงบ้านแจ้งให้ไปศาลในวันที่ 17 สิงหาคม 2552 และให้ชำระหนี้บัตรเครดิตให้กับธนาคารกรุงเทพ เป็นเงินสามหมื่นกว่าบาท“ได้รับเงินแค่เดือนละ 4-5 พันบาท จะเอาปัญญาที่ไหนไปใช้เงินเขา ที่สำคัญยังไม่รู้เลยว่าเคยไปทำบัตรเครดิตใบนี้ไว้ตอนไหน”คุณชิดชนก แม่บ้านทำความสะอาดอยู่ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) โอดครวญ“ก็เคยได้รับจดหมายทวงหนี้จากธนาคารมาก่อนเหมือนกัน เขาบอกว่าเราได้รับอนุมัติให้ใช้บัตรเครดิตของธนาคาร และก็มียอดหนี้แจ้งมาในจดหมาย เรากับสามีก็งงๆ เพราะบัตรเครดิตสักใบก็ไม่เคยเห็น ไม่เคยใช้แล้วจะมีหนี้ได้อย่างไร ไม่มีความรู้ทางข้อกฎหมายด้วยว่าจะต้องทำยังไงต่อไป คิดในแง่ดีไปว่าเขาอาจจะส่งผิดก็ไม่ได้สนใจอะไร”เมื่อไม่มีการทักท้วงใดๆ ออกไป ในที่สุดหมายฟ้องคดีจึงมาเกาะที่หน้าประตูบ้านทันที คราวนี้ทั้งบ้านเหมือนร้อนเป็นไฟอยู่เฉยกันไม่ได้ ต้องมานั่งตรวจเอกสารต่างๆ ที่แนบมากับหมายฟ้อง ก็มาสะดุดกับลายเซ็นชื่อของตัวเองในใบสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิต“ไม่ใช่ลายเซ็นของเราแน่นอน” คุณชิดชนกยืนยัน”“คนอื่นอาจจะดูเหมือนมาก แต่เราเห็นแล้วบอกเลยว่าไม่ใช่ ส่วนรายละเอียดอย่างอื่น เช่น ยอมรับว่าชื่อ-นามสกุลเป็นของเรา เลขบัตรประชาชนก็เป็นของเรา แต่ที่อยู่บ้าน เบอร์โทรศัพท์ ไม่ใช่ เป็นบ้านใครเบอร์โทรศัพท์ใครก็ไม่รู้ มาดูชื่อสถานที่ทำงานก็ไม่ใช่บริษัทที่เราทำงานให้อยู่ แถมแจ้งรายได้ถึง 3 แสนบาทต่อปีอีก มันไม่ใช่ตัวเราเลยน่ะ เงินเดือนเราแค่ 4-5 พันเท่านั้น” หลังจากนั้นคุณชิดชนกจึงหอบหลักฐานประจำตัว หลักฐานตามสำนวนฟ้องคดีที่ได้รับมาโดยไม่ต้องการวิ่งไปหาธนาคารกรุงเทพ เพื่อปฏิเสธภาระหนี้ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2552 แต่ด้วยความร้อนใจที่วันนัดของศาลใกล้เข้ามาเรื่อยๆ คุณชิดชนกจึงดิ้นรนไปร้องทุกข์กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้รับเรื่องในเวลาต่อมาแนวทางแก้ไขปัญหา สำหรับผู้บริโภคที่โดนแจ็คพอตมีหนี้บัตรเครดิตทั้งที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของบัตรหรือใช้บัตร ให้ใช้หลักทักท้วงและปฏิเสธโดยทันที ดังนี้ครับ1.เมื่อผู้บริโภคตรวจสอบพบว่าตนไม่ได้เป็นผู้เข้าทำสัญญาขอใช้บัตรเครดิตกับธนาคาร หรือไม่ได้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือบริการตามที่มีใบแจ้งหนี้มา ให้ทำหนังสือปฏิเสธสัญญาหรือรายการใช้จ่ายดังกล่าวโดยทันทีและส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนตอบรับถึงธนาคารโดยทันที(การโทรไปที่ศูนย์บริการของผู้ประกอบธุรกิจมีข้อดีคือสะดวก ง่าย แต่ผู้บริโภคจะไม่มีหลักฐานไว้ยืนยันในภายหลัง)2.ถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต หรือธนาคารที่จะเป็นผู้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการทำสัญญาว่ามีผู้ปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสารมาทำสัญญาหรือไม่3. หนี้ที่เกิดขึ้นถือเป็นหนี้เสียของธนาคารที่ธนาคารจะต้องติดตามดำเนินคดีเองกับผู้กระทำผิด มิใช่ผู้บริโภคในส่วนผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาของคุณชิดชนกได้รับการชี้แจงจากธนาคารกรุงเทพว่าหลังคุณชิดชนกมาแจ้งเรื่อง ธนาคารจึงได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการขอทำบัตรเครดิตและยอมรับว่าเป็นเอกสารที่ไม่เกี่ยวข้องกับคุณชิดชนกแต่ที่ช้าไปบ้างก็เพราะธนาคารต้องใช้เวลาตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้แน่ใจโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 3 อาทิตย์ ท้ายที่สุดธนาคารยินยอมที่จะถอนฟ้องคุณชิดชนกในวันที่ศาลนัดโดยทันที แต่เพื่อความปลอดภัย... มูลนิธิฯ จึงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่พร้อมทนายไปเป็นพี่เลี้ยงในวันขึ้นศาลด้วย หากธนาคารเกิดเปลี่ยนใจคุณชิดชนกจะสามารถต่อสู้คดีได้ทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 เตรียมพร้อมก่อนใช้ “การฟ้องคดีแบบกลุ่ม”

ประเทศไทยเรากำลังจะมีกฎหมายการฟ้องคดีฉบับใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เชื่อว่ามีประโยชน์และช่วยให้เราในฐานะผู้บริโภคได้มีเครื่องมือสำหรับการฟ้องร้องปกป้องสิทธิของตัวเองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับกรณีที่มีผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากปัญหาในลักษณะเดียวกันจากผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการคนเดียวกัน ซึ่งกฎหมายการฟ้องคดีที่ว่านี้ก็คือ “กฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม” หรือ “Class Action” ซึ่งจุดเด่นของกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่มก็คือ การฟ้องคดีเพียงครั้งเดียว ด้วยโจทก์คนเดียว แต่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับสังคมในวงกว้าง ช่วยให้ผู้เสียหายเกิดการรวมตัวกัน นอกจากจะช่วยลดภาระและขั้นตอนในการฟ้องคดีต่อกลุ่มผู้เสียหายแล้วนั้น ยังช่วยให้ศาลสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น ที่สำคัญการฟ้องคดีแบบกลุ่มยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังของผู้บริโภคในการรวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองที่ชัดเจนที่สุดวิธีหนึ่งกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม จะสามารถใช้ได้จริงในช่วงเดือนธันวาคม 2558 ที่จะถึงนี้ หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา เราลองมาทำความรู้จักกฏหมายการฟ้องคดีแบบใหม่นี้กันดูดีกว่าว่ามีวิธีการใช้อย่างไร และเมื่อมีแล้วผู้บริโภคอย่างเราจะได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้อย่างไรบ้างแบบไหนถึงเรียกว่าเป็น “การฟ้องคดีแบบกลุ่ม”?การดำเนินคดีแบบกลุ่ม มีจุดสำคัญคือเป็นคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก (ตามกฎหมายไม่ได้มีการระบุจำนวนเอาไว้ หมายความว่า แค่มีผู้เสียหายหลัก 10 คน หรือมากเป็นหลัก 1,000 คน ก็สามารถฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ ถ้าศาลเห็นสมควร) โดยผู้เสียหายทั้งหมดจะต้องมีข้อเท็จจริงของความเสียหายที่ได้รับร่วมกัน และใช้ข้อกฎหมายในการพิจารณคดีแบบเดียวกัน เช่น ในคดีผู้บริโภค ที่มีกลุ่มคนที่ได้ความเสียหายจากการซื้อสินค้ายี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน สามารถรวมกลุ่มกันเพื่อฟ้องร้องต่อบริษัทผู้ผลิตด้วยวิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ โดยหลักสำคัญๆ ที่ศาลจะใช้ในการพิจารณาว่าคดีที่ต้องการฟ้อง เข้าข่ายที่จะใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้หรือไม่ มีดังนี้1.ความเหมือนของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของกลุ่มสมาชิกที่ต้องการฟ้องร้อง ข้อกล่าวหาได้แสดงให้เห็นว่ามีผลกระทบต่อกลุ่มคนทั้งหมดที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มฟ้อง และเมื่อเกิดการพิจารณาคดีจนถึงขั้นมีบทลงโทษแล้ว กลุ่มสมาชิกผู้เข้าร่วมฟ้องทั้งหมดจะได้รับการชดเชยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม2.เป็นคดีที่ผู้เสียหายหลายคนรวมกลุ่มกันแสดงตัวว่ามีความประสงค์จะเข้าร่วมการฟ้องคดีเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากใช้การดำเนินคดีแบบคดีสามัญทั่วไปจะทำให้เกิดความยุ่งยากต่อการดำเนินคดี สร้างภาระต่อศาลและทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของคดี3.ถ้าหากใช้วิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว จะเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีอย่างคดีสามัญ4. “โจทก์” หรือ ตัวแทนของกลุ่มผู้ที่จะทำหน้าที่ในการดำเนินคดีตามขั้นตอนต่างๆ ในศาล ได้แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะที่เหมือนกันของกลุ่มบุคคลที่ต้องการฟ้องคดีที่ชัดเจนเพียงพอ เป็นตัวแทนที่สามารถแสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพพอในการทำหน้าที่แทนสมาชิกทั้งหมดในกลุ่ม 5.โจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับสมาชิกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม โดยศาลจะต้องพิจารณาผู้ที่เป็นโจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์โดยละเอียดและรอบคอบข้อดีของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม1.ช่วยลดจำนวนคดีที่จะขึ้นสู่ศาล ส่งผลให้การดำเนินการพิจารณาและบังคับคดีเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วขึ้น และเกิดแนวทางตัดสินที่ไม่ขัดแย้งกัน เพราะหากใช้วิธีการฟ้องคดีแบบทั่วไป คดีในลักษณะเดียวกันแต่มีผู้เสียหายจำนวนมาก หากผู้เสียหายแต่ละคนต่างคนก็ต่างไปฟ้องคดี จะทำให้มีคดีเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก ทำให้การพิจารณาคดีล่าช้า 2.ลดภาระของผู้เสียหายบางกลุ่ม บางคน ที่อาจไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินคดีในศาล การฟ้องคดีแบบกลุ่มจึงเหมือนเป็นการลดภาระให้กับกลุ่มคนจำนวนมากที่ได้รับความเสียหาย และสมควรได้รับการชดเชยเยียวยาหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีตัวแทนของผู้เสียหายด้วยกันทำหน้าที่ต่างๆ ในการฟ้องคดีแทนให้3.ช่วยสร้างบรรทัดฐานของการพิจารณาคดี เพราะมีผู้เสียหายจำนวนมาก เพราะหากผู้เสียหายจำนวนมากใช้วิธีฟ้องแบบทั่วไป ต่างคนต่างฟ้อง ผลของคดีที่ออกมาอาจไม่เหมือนกัน การชดเชยเยียวยาที่ผู้เสียหายแต่ละคนจะได้อาจไม่มีความเท่าเทียมกัน การฟ้องคดีแบบกลุ่มจะทำให้ผลของคดีที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ผู้เสียหายทุกคนที่มีชื่อร่วมอยู่ในกลุ่มจะได้รับการชดเชยเยียวเฉลี่ยกันอย่างเหมาะสมเท่าเทียม4.เป็นเครื่องเตือนใจให้หน่วยงานต่างๆ ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้า ไม่กล้าทำละเมิดหรือสร้างความเสียหายต่อผู้บริโภค ประชาชนทั่วไป เพราะหากมีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ไม่ว่าความผิดที่เกิดขึ้นจะเล็กน้อยแค่ไหน ก็อาจถูกนำมาฟ้องร้องเป็นคดีความได้ด้วยการรวมกลุ่มฟ้อง ทำให้ความเสียหายที่เคยมองว่าเล็กน้อย กลายเป็นความเสียหายที่ใหญ่ขึ้น การชดเชยก็ย่อมมากขึ้นตามไปด้วย จากเดิมที่ผู้ที่ได้รับความเสียหายส่วนมากเมื่อได้รับความเสียหายที่เล็กน้อยมักจะเพิกเฉย ไม่ได้เรียกร้องสิทธิหรือฟ้องร้องเป็นคดีความเพราะมองว่าไม่คุ้มกับเงินและเวลาที่ต้องใช้ในการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มการฟ้องร้องต่อศาลก็จะง่ายขึ้น คนไม่รู้กฎหมายหรือไม่เข้าใจเรื่องการฟ้องคดีก็สามารถเข้าร่วมการฟ้องคดีได้คดีอะไรบ้าง ที่สามารถฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม1.คดีละเมิด 2.คดีผิดสัญญา3.คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การแข่งขันทางการค้า“โจทก์” = คนที่มีบทบาทสำคัญในฐานะ “ตัวแทนกลุ่ม” เป็นธรรมดาที่การฟ้องร้องคดีความต่อศาลจะต้องมีฝ่ายผู้ร้องหรือก็คือฝ่าย “โจทก์” เป็นผู้ตั้งต้นเรื่องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีกับฝ่ายที่สร้างความเสียหายหรือก็คือฝ่าย “จำเลย” นั่นเอง ถ้าเป็นในคดีทั่วไปย่อมไม่มีปัญหาในการกำหนดคนที่เป็นฝ่ายโจทก์ ซึ่งก็คือผู้ที่ร้องต่อศาลในการดำเนินคดี แต่สำหรับในกรณีที่เป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม ผู้ที่จะทำหน้าที่โจทก์ถือว่าเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญไม่น้อยในดำเนินรูปแบบของคดีให้ไปถึงยังจุดที่ตั้งไว้ บทบาทไม่แพ้ทนายที่รับดูแลคดีเลยทีเดียว    คุณสมบัติที่ดีของผู้ที่จะมาเป็นโจทก์ในคดีแบบกลุ่ม ซึ่งก็คือผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนของสมาชิกกลุ่มทั้งหมดในการดำเนินคดีในศาล ดูแลการดำเนินการทุกๆ อย่าง เรื่องค่าใช้จ่าย เอกสารหลักฐานต่างๆ ข้อมูลสำคัญ การหาพยาน ที่สำคัญคือต้องเป็นผู้ที่เข้าใจถึงปัญหา ความเป็นมาของคดีอย่างถ่องแท้ สามารถสื่อสารข้อมูลทั้งหมดให้กับทั้งทนายและสมาชิกทุกคนในกลุ่มที่ร่วมกันฟ้อง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่ประสบปัญหาและริเริ่มที่จะนำเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลแล้วเกิดเล็งเห็นว่าคดีนั้นสร้างความเสียหายในวงกว้างน่าจะเป็นคดีฟ้องร้องแบบกลุ่มได้แน่นนอนว่าผู้ที่ทำหน้าที่โจทก์หรือผู้แทนกลุ่มอาจไม่เคยรู้จักคุ้นเคยกับสมาชิกทุกคนในกลุ่ม แต่ผู้ที่รับหน้าที่โจทก์ก็ต้องแสดงตัวให้เห็นตนเองเป็นผู้แทนของกลุ่มจริงๆ โดยมีข้อร้องเรียนในคดีที่ให้ผลในส่วนรวม และพร้อมที่จะรักษาผลประโยชน์ของกลุ่ม เพราะต้องไม่ลืมว่าการฟ้องคดีแบบกลุ่มนั้นมุ่งหวังผลที่จะปกป้องสิทธิของคนทั้งกลุ่ม ไม่ใช่แต่ของโจทก์เพียงคนเดียว ซึ่งศาลก็จะมองในจุดนี้เป็นเหตุผลประกอบในการจะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ฟ้องเป็นคดีกลุ่มหรือไม่“โจทก์” แบบไหน? ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ทำหน้าที่ตัวแทนกลุ่ม1.โจทย์ขาดคุณสมบัติในความเชื่อมโยงต่อคดีและกลุ่มสมาชิก2.โจทก์เสียชีวิตหรือกลายเป็นผู้ไร้ความสามารถ3.เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์4.โจทก์ทิ้งฟ้อง5.เมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณา6.โจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบ7.เมื่อโจทก์ร้องขอต่อศาลว่าไม่ประสงค์ที่จะเป็นโจทก์ดำเนินคดีแทนกลุ่มต่อไป***เมื่อเปลี่ยนตัวโจทก์ซึ่งเป็นผู้ดำเนินคดีแทนกลุ่ม โจทก์เดิมยังสามารถเป็นสมาชิกกลุ่มต่อไปได้***ถ้าหากศาลไม่อนุญาตให้สมาชิกกลุ่มเข้าแทนที่โจทก์ผู้ดำเนินคดีแทนกลุ่ม หรือไม่มีการร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่มและให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยให้ถือว่ากระบวนพิจารณาที่ได้กระทำไปแล้วมีผลผูกพันการดำเนินคดีสามัญของโจทก์ต่อไปด้วย***เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต***ในกรณีที่โจทก์ไม่นำเงินค่าใช้จ่ายมาวางศาล โดยไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุผล ให้ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีการตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันสมาชิกกลุ่มที่ร่วมฟ้องคดีมีสิทธิดังต่อไปนี้1.เข้าฟังการพิจารณาคดี หรือจะแต่งตั้งทนายของตัวเองมารับฟังในศาลก็ได้2.ร้องขอให้ศาลสั่งแสดงความเหมาะสมและคุณสมบัติของผู้ที่ทำหน้าที่โจทก์ 3.ขอตรวจเอกสารทั้งหมดหรือบางส่วนในสำนวนความหรือขอคัดสำเนาเอกสารเหล่านั้นได้4.จัดหาทนายความคนใหม่มาดำเนินคดีแทนทนายความกลุ่ม 5.ร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ หากศาลพิจารณาแล้วว่าโจทก์มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม6.คัดค้านการร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ 7.ตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้สมาชิกที่ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่ม มีสิทธิในการขอถอนตัวออกจากกลุ่ม ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้***สมาชิกกลุ่มมีสิทธิออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มได้โดยแจ้งความประสงค์เป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด และให้ถือว่าสมาชิกกลุ่มดังกล่าวไม่เป็นสมาชิกกลุ่มนับตั้งแต่วันที่ได้แจ้งความประสงค์นั้นต่อศาล***เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลกำหนดในการแจ้งขอออกจากลุ่ม สมาชิกจะออกจากลุ่มไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และคำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด***บุคคลที่ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มแล้ว จะร้องขอกลับเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มอีกไม่ได้***สมาชิกกลุ่มและบุคคลที่ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มจะร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในการดำเนินคดีแบบกลุ่มไม่ได้ ***ห้ามไม่ให้สมาชิกกลุ่มที่ไม่ได้ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม ยื่นฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องคุณอาจมีส่วนร่วมในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม “โดยไม่รู้ตัว”ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการฟ้องคดีแบบกลุ่มก็คือ การฟ้องคดีจะมีผลในการสร้างกลุ่มแบบอัตโนมัติ คือ แค่เพียงโจทก์สามารถแสดงในศาลให้เห็นว่าเรื่องที่ร้องต่อศาลนั้นเป็นเหตุที่สร้างผลกระทบให้กับคนจำนวนมากจริงๆ ที่เห็นชัดคือ คดีสิ่งแวดล้อม เช่น โรงงานแห่งหนึ่งปล่อยสารเคมีออกมาทำให้ประชาชนให้ชุมชนใกล้เคียงชุมชนหนึ่ง ได้รับผลกระทบเรื่องมลพิษ มีโจทก์ไปยื่นฟ้องต่อศาลให้ดำเนินคดีกับโรงงานต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม หากศาลรับเป็นคดี นั่นเท่ากับว่าประชาชนที่อาศัยมีชื่อตามทะเบียนบ้านในชุมชนดังกล่าว ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มการฟ้องคดีดังกล่าวด้วย มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลของคดีที่จะออกมาหากคำพิพากษาเสร็จสิ้นเพราะฉะนั้นศาลจึงได้ออกข้อบังคับเพื่อให้สิทธิในการรับรู้ข้อมูลการฟ้องคดีแบบกลุ่ม เป็นเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลในวงกว้างโดยทั่วถึง เพื่อให้คนที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องคดีโดยไม่รู้ตัว ได้รับรู้ว่าขณะนี้ตัวเองได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟ้องคดีดังกล่าว โดยมีสิทธิที่จะขอถอนตัวจากกลุ่มในการฟ้องคดีได้แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดศาลจะต้องส่งคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มให้สมาชิกกลุ่มรับทราบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน รวมทั้งทางสื่อมวลชนอื่นหรือวิธีการอื่นใดเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควรคำบอกกล่าวและประกาศอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้1.ชื่อศาลและเลขคดี2.ชื่อและที่อยู่ของคู่ความและทนายความฝ่ายโจทก์3.ข้อความโดยย่อของคำฟ้องและลักษณะของกลุ่มบุคคลที่ชัดเจน4.ข้อความที่แสดงว่าศาลอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และวันเดือนปีที่ศาลมีคำสั่ง5.สิทธิของสมาชิกกลุ่มตามกฎหมาย6.กำหนดวันเพื่อให้สมาชิกกลุ่มแจ้งความประสงค์ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม ทั้งนี้ ตามที่ศาลเห็นสมควรแต่ต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน7.ผลของการออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม8.ผลของคำพิพากษาเมื่อพิจารณาเสร็จสิ้น ที่จะมีผลผูกพันกับสมาชิกในกลุ่ม9.ชื่อและตำแหน่งผู้พิพากษาผู้ออกคำสั่งฉบับนี้ขั้นตอนและวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มขั้นตอนการขออนุญาต1.โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องเริ่มคดีเพื่อขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม2.โจทก์ต้องแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่ศาลจะอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม3.คำฟ้องของโจทก์ต้องทำเป็นหนังสือและแสดงโดยชัดเจนถึงข้อหาหรือข้อบังคับ ที่ตัวโจทก์และสมาชิกกลุ่มทั้งหมดที่เข้าร่วมฟ้องได้รับความเสียหายอันเป็นเหตุผลที่ต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล และกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน ต้องมีการระบุหลักการและวิธีคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิกกลุ่มเท่าที่จะระบุได้ลงไปด้วย 4.ในการพิจารณาคำร้องขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลต้องจัดส่งสำเนาคำฟ้องไปให้จำเลยที่ถูกฟ้องด้วย จากนั้นศาลต้องฟังคู่ความทุกฝ่ายและมีการไต่สวนตามที่เห็นสมควร เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาว่าคดีนี้ศาลจะอนุญาตให้ใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่มหรือไม่5.เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลจะรับคำร้องนั้นไว้ดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอนของศาลต่อไป โดยทนายความของโจทก์ก็ถือว่าเป็นทนายความของกลุ่มด้วย6.ในกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ หรืออาจทำการขออุทธรณ์อีกครั้งภายใน 7 วันหลังจากศาลมีคำสั่งแรกออกมา โดยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สิ้นสุดการพิจารณาคดี1.เมื่อคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ขั้นต่อไปก็เข้าสู่ระบบการพิจารณาในชั้นศาล โดยจะต้องมีการแจ้งคำสั่งเรื่องการฟ้องคดีแบบกลุ่มเผยแพร่เพื่อให้ผู้ที่อยู่ร่วมในกลุ่มฟ้องทราบผ่านทางหนังสือพิมพ์รายวันเป็นเวลา 3 วัน และเพื่อให้สิทธิในการออกจากกลุ่ม2.ในกรณีที่การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะไม่คุ้มครองหรือเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกกลุ่มอย่างเพียงพอ หรือไม่มีความจำเป็นที่จะดำเนินคดีแบบกลุ่มอีกต่อไป ศาลมีอำนาจที่จะสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่มและดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยให้ถือว่ากระบวนพิจารณาที่ได้พิจารณาไปแล้วมีผลผูกพันต่อการดำเนินคดีสามัญของโจทก์และจำเลยต่อไปด้วย3.หากในระหว่างการพิจารณาคดี แล้วพบว่าทนายความฝ่ายโจทก์ไม่สามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มบุคคลได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม หรือทนายความฝ่ายโจทก์ขอถอนตัวจากการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์และสมาชิกกลุ่มจัดหาทนายความคนใหม่มาดำเนินคดีแทนภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่หากโจทก์และสมาชิกกลุ่มไม่ดำเนินการตามที่ศาลสั่ง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่มและดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ คำพากษาและการบังคับคดี1.คำพิพากษาของศาลมีผลผูกพันกับโจทก์และสมาชิกทั้งหมดในกลุ่มตามที่ได้แจ้งไว้ต่อศาลในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ให้โจทก์หรือทนายฝ่ายโจทก์มีอำนาจในการบังคับคดี2.หากทนายความฝ่ายโจทก์ไม่สามารถดำเนินการบังคับคดีเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของสมาชิกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม ศาลอาจสั่งให้โจทก์และสมาชิกกลุ่มจัดหาทนายคนใหม่มาดำเนินการบังคับคดีแทนได้3.ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน ต้องระบุจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณในการชำระเงินให้สมาชิกกลุ่ม4.จำเลย หรือ คู่ความ มิสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาของศาลในคดีฟ้องแบบกลุ่มได้ตัวอย่างการฟ้องคดีกลุ่มในต่างประเทศเฟซบุ๊คละเมิดสิทธิส่วนบุคคลผู้ใช้งานผ่านโปรแกรมเสริม Beaconในปี 2007 ฌอน เลน หนุ่มชาวอเมริกันตั้งใจจะซื้อแหวนเพชรสักวง เพื่อจะมอบให้เป็นของขวัญเซอร์ไพรซ์แฟนสาว โดยเขาได้สังซื้อแหวนทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ที่ชื่อ Overstock.com แต่แล้วกลับเกิดเรื่องที่ทำให้เขาถึงกับอึ้ง เมื่อการกดคลิ้กสั่งซื้อแหวนเพชรผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าว กับถูกเผยแพร่แบบอัตโนมัติทางเฟซบุ๊ค ซึ่งทำให้เพื่อนในเฟซบุ๊คของเขานับร้อยคน ซึ่งแน่นอนว่า 1 ในนั้นมีแฟนสาวของเขารวมอยู่ด้วย รู้ในทันทีว่า เลน ได้สั่งซื้อผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าว ไอ้ที่ตั้งใจว่าจะเซอร์ไพรซ์ก็เลยกลายเป็นทุกคนรู้เรื่องที่เขาซื้อแหวนเพชรกันหมดฌอน เลน จึงเอาเรื่องนี้ไปฟ้องต่อศาล ด้วยวิธีการฟ้องเป็นคดีกลุ่ม โดย เลน อ้างว่าปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้เฟซบุ๊คอีกกว่า 3.6 ล้านคน ในเรื่องที่เฟซบุ๊คกระทำการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้เฟซบุ๊คในส่วนของกิจกรรมที่นอกเหนือจากการที่ทำในเว็บไซต์เฟซบุ๊ค ซึ่งผลจากการพิจารณาคดี ศาลตัดสินว่าเฟซบุ๊คได้กระทำการละเมิดผู้ใช้เฟซบุ๊คจริง เฟซบุ๊คจึงต้องทำการยกเลิกโปรแกรม Beacon พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนด้วยเงินจำนวน 9.5 ล้านดอลล่าร์ ในการดูแลและพัฒนาเรื่องโปรแกรมความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยเรื่องการใช้จ่ายเงินผ่านสังคมออนไลน์(ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Lane_v._Facebook,_Inc.)เมื่อผู้พิการทางสายตาเรียกร้องให้เว็บไซต์ขายสินค้าทำระบบเพื่อให้พวกเขาใช้งานได้เหมือนคนปกติในปี 2006 สภาผู้พิการทางสายตาแห่งชาติอเมริกาฟ้องเว็บไซต์ของร้านค้าเฟรนไชส์ชื่อดังอย่าง Target ที่ไม่ยอมจัดทำระบบที่เอื้อต่อผู้พิการให้สามารถใช้บริการและสั่งซื้อสินค้าในเว็บไซต์ ซึ่งเมื่อได้มีการนำเรื่องฟ้องต่อศาล ศาลก็ตีความให้คดีนี้เป็นการฟ้องคดีแบบกลุ่ม เพราะโจทก์ฟ้องคดีเพื่อมุ่งหวังประโยชน์ต่อส่วนรวมคือผู้พิการทางสายตาทั่วไปไม่ใช่เพื่อองค์กร ซึ่งผลของคดีนี้ทำให้เว็บไซต์ Target ก็ได้สร้างระบบในส่วนที่เอื้อให้ผู้พิการสายตาสามารถเข้าถึงการซื้อสินค้าได้และยังทำความร่วมมือกับสภาผู้พิการทางสายตาแห่งชาติอเมริกาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา(ที่มา :https://en.wikipedia.org/wiki/National_Federation_of_the_Blind_v._Target_Corp.)เติมน้ำมันแล้วเครื่องยนต์พัง เจ้าของรถรวมตัวฟ้องเรียกค่าชดเชยผู้ใช้รถยนต์ในอเมริการวมตัวกันฟ้องบริษัทน้ำมัน “เชลล์” ในแคนาดา เนื่องจากขายน้ำมันเบนซินที่มีการเติมสารบางตัวซึ่งทำให้เครื่องยนต์ของรถที่เติมน้ำมันชนิดดังกล่าวเข้าไปเกิดปัญหา ซึ่งเชลล์ยอมรับว่าน้ำมันที่เป็นปัญหาถูกผลิตออกมาขายในช่วงปี 2001 ถึง 2002 คาดว่าน่าจะมีผู้ที่เติมน้ำมันชนิดนี้ไปอยู่ที่ 1 แสนถึง 2 แสนคน ซึ่งเชลล์ก็ยอมรับที่จะชดเชยความเสียหายให้กับลูกค้าที่เติมน้ำมันไปตามสัดส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้น(ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Shell_Canada_lawsuit)โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยสารพิษลงแหล่งน้ำทำประชาชนป่วยโรคมะเร็งตัวอย่างคดีฟ้องกลุ่มที่โด่งดังมากๆ คดีหนึ่ง โด่งดังถึงขั้นถูกสร้างเป็นหนังมาแล้ว นั้นคือคดีของ “อิริน บร็อคโควิช” สาวลูก 3 ที่ทำงานเป็นเสมียนในสำนักงานกฏหมาย ได้ฟ้องบริษัท PG&E ที่ปล่อยสารพิษลงในแหล่งธรรมชาติในเมืองฮินกี้ รัฐแคริฟอร์เนีย ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นจำนวนมาก อิริน เป็นต้นเรื่องในการส่งเรื่องนี้ให้ศาล พร้อมไปกับการล่ารายชื่อเชิญชวนผู้ที่ได้รับเสียหายรวมกันฟ้องคดี สุดท้ายศาลสั่งให้ PG&E ต้องชดเชยความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเงินสูงถึง 333 ล้านดอลล่าร์ ถือเป็นการจ่ายเงินชดเชยสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การพิจารณาคดีในอเมริกา (ฉบับภาพยนตร์ใช้ชื่อว่า Erin Brockovich (ปี 2000))( ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Erin_BrockovichXคดีฟ้องกลุ่มที่ปลุกจิตสำนึกเรื่องการคุกคามทางเพศในอเมริกาปี 1988 หลุยส์ เจนสัน กับเพื่อนร่วมงานหญิงอีก 14 คน ฟ้องร้องให้ศาลเอาผิดกับ Eveleth Taconite Co บริษัทที่พวกเธอทำงาน ฐานที่ปล่อยให้บรรดาเพื่อนร่วมงานผู้ชายแสดงกิริยา ท่าทาง วาจา คุกคามทางเพศพนักงานผู้หญิงที่อยู่ร่วมบริษัทเดียวกัน แม้จะต้องต่อสู้นานร่วม 10 ปี แต่สุดท้ายศาลก็มีคำสั่งให้บริษัท Eveleth จ่ายเงินชดเชยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหญิงสาวทั้ง 15 คนเป็นเงิน 3.5 ล้านดอลล่าร์ ที่สำคัญที่สุดคดีนี้ให้ทำผู้คนทั่วสหรัฐอเมริกาหันมาให้ความสำคัญและเคารพเรื่องสิทธิสตรีมากขึ้น (คดีนี้ได้ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน นั่นคือเรื่อง North Country (ปี 2005))(ที่มา : http://www.iveyengineering.com/blog/class-action-lawsuits-2/)การฟ้องคดีแบบกลุ่มกับปัญหาด้านคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เกิดข้อพิพาทของผู้บริโภคที่ลักษณะความเสียหายหรือถูกละเมิดในลักษณะกลุ่มเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณี ลูกค้าสถานออกกำลังกาย “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” ที่ถูกยกเลิกการให้บริการโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบและไม่มีการคืนเงินค่าบริการที่ผู้ใช้บริการได้จ่ายไว้ล่วงหน้า ซึ่งมีผู้เสียหายจำนวนกว่า 2,000 คน มูลค่าความเสียหายสูงกว่า 50 ล้านบาท หรือจะเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคพบเจอปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐาน อย่างเช่น กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต ครูซ และแคปติวากว่า 20 ราย พบว่ารถที่ใช้งานอยู่มีปัญหาที่ระบบเกียร์ซึ่งเสี่ยงต่อความปลอดภัย แม้จะแจ้งกับทางบริษัทผู้ผลิตแต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขที่เหมาะสม จนเกิดการรวมกลุ่มกันแล้วเข้าฟ้องร้องต่อ สคบ. แต่เหมือนปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องเหมาะสม ลองคิดกันดูว่าถ้ามีกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ตัวอย่างปัญหาที่ยกขึ้นมาน่าจะได้ช่องทางและวิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบและรวดเร็วมากกว่าที่เป็นอยู่ แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะมีกฎหมายที่ช่วยผู้บริโภคในการฟ้องคดี อย่าง กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค แต่กฎหมายฟ้องคดีแบบกลุ่มจะช่วยในกรณีที่ความเสียหายเกิดกับผู้บริโภคจำนวนมาก ทำให้ศาลเห็นถึงภาพความเสียหายที่ชัดเจนกว่าการแยกกันฟ้องเป็นรายบุคคล เป็นการลดขั้นตอน ลดภาระในการฟ้องคดีของทั้งผู้บริโภคและศาล แม้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจะมีข้อดีตรงที่ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทางศาลในการดำเนินคดี แต่หากเป็นกรณีที่ความเสียหายไม่มากผู้บริโภคก็อาจไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินเรื่องฟ้องเป็นคดีต่อศาล แต่หากใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ไม่ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากน้อยเพียงใด แต่หากเป็นความเสียหายในลักษณะเดียวกัน มีคู่ความเป็นคนเดียวกัน ก็สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกในการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ โดยไม่ต้องทำหน้าที่เป็นโจทก์ เพียงแค่อาจต้องให้ข้อมูลในส่วนของการพิจารณาคดีเท่านั้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point