ฉบับที่ 159 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2557 ประกันสังคมเพิ่มสิทธิผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ประกาศเพิ่มความคุ้มครองกรณีปลูกถ่ายอวัยวะ 5 รายการ ประกอบด้วย 1.การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ 2.การผ่าตัดปลูกถ่ายปอด 3.การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ 4.การผ่าตัดปลูกถ่ายตับอ่อน และ 5.การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่าหนึ่งอวัยวะพร้อมกัน ได้แก่ หัวใจและปอด หัวใจและไต ตับและไต ตับอ่อนและไต โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค.57 เป็นต้นไป ก่อนหน้านี้สำนักงานประกันสังคมก็ได้ให้สิทธิผู้ประกันตนในการ ผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ปลูกถ่ายไขกระดูก และปลูกถ่ายไต ครั้งนี้ได้มีการขยายความคุ้มครองแก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจล้มเหลวชนิดรุนแรง โรคปอดที่มีอันตรายถึงชีวิต โรคตับเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นต้น ซึ่งโรคดังกล่าวไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ จึงต้องได้รับการรักษาโดยการปลูกถ่ายเปลี่ยนอวัยวะ โดยหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและอัตราบริการทางการแพทย์ ทั้งผู้บริจาคอวัยวะและผู้รับบริจาค จะได้รับสิทธิครอบคลุมค่าใช้จ่าย ดังนี้  1. ค่าเตรียมก่อนการผ่าตัด 2. ค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารับการผ่าตัดของผู้รับบริจาค กรณีมีภาวะแทรกซ้อน และกรณีไม่มีภาวะแทรกซ้อน 3. ค่าใช้จ่ายหลังการผ่าตัด ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมกับสำนักงานประกันสังคมที่สามารถทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะได้ 5 แห่งขณะนี้ คือ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลศรีนครินทร์     ขนส่งฯ เข้มเรื่อง “เข็มขัดนิรภัย” ระวังโทษปรับทั้งคนนั่ง-คนขับ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นวันดีเดย์ที่กรมขนส่งทางบกประกาศให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องมีการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง พร้อมเดินหน้าบังคับใช้เข้มงวดจริงจัง (สักที) เป้าหมายเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้ทำข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทพบว่ามีเกิดขึ้นเฉลี่ยถึง 2,000 ครั้งต่อปี ซึ่งมีผลการวิจัยถึงประโยชน์ของการใช้เข็มขัดนิรภัยในประเทศไทยระบุว่า ผู้ที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์มากกว่าผู้ที่คาดเข็มขัดนิรภัยถึง 1.52 เท่าและพบว่าการคาดเข็มขัดนิรภัยสามารถช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้ถึงร้อยละ 34 สำหรับประเภทของรถโดยสารสาธารณะที่ต้องปฎิบัติตามคำสั่งนี้ได้แก่ รถตู้โดยสารสาธารณะ ทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง รถโดยสารประจำทางที่วิ่งระหว่างจังหวัด และรถโดยสารไม่ประจำทาง หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องโดนโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมนังได้มีการออกกฎกระทรวง เรื่องกำหนดความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่ผู้โดยสารต้องปฏิบัติในระหว่างการโดยสาร พ.ศ. 2557 ที่มีข้อบังคับให้ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเป็น 1 ใน 10 บังคับเรื่องความปลอดภัยที่ผู้โดยสารรถโดยสารสาธารณะต้องปฏิบัติ   ยาจุดกันยุงอันตราย ตายทั้งยุง ตายทั้งคน บ้านไหนที่ใช้ยาจุดกันยุงต้องระวัง เพราะเดี๋ยวนี้มียาจุดกันยุงไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงสารอันตรายทำร้ายสุขภาพถูกลักลอบนำเข้ามาขายหลอกลวงผู้บริโภค โดยล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมมือกับกองปราบปรามเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ทำการจับกุมผู้กระทำผิดที่ลักลอบผลิต-จำหน่ายยาจุดกันยุงที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ได้แก่ ยาจุดกันยุงยี่ห้อ LaoJun และ ยี่ห้อgoldeer จากการตรวจสอบพบว่ายาจุดกันยุงทั้ง 2 ยี่ห้อ มีการใช้ “สารเมเพอร์ฟลูทริน” ( Meperfluthrin ) ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มของสารไล่แมลง ไพรีทริน หรือ ไพรีทรอยด์ ที่ อย. ยังไม่รับขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ไม่มีการยืนยันเรื่องความปลอดภัยและผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ใช้ เพราะฉะนั้นก่อนจะซื้อยาจุดกันยุงหรือผลิตภัณฑ์สารเคมีกำจัดแมลงต่างๆ ต้องดูให้แน่ใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองถูกต้อง และอย่าลืมดูวิธีใช้ที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง   เศร้าเพราะ “ผักสด” สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนคนชอบทานผัก ระวังผักสดที่ถูกใส่มาพร้อมในกล่องข้าวที่ปิดสนิท เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคสูง เหตุเพราะผักสดส่วนใหญ่จะมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งผักสดที่ไม่ได้ผ่านการล้างทำความสะอาดที่ดีพอ ก็อาจมีเชื้อแบคทีเรียตกค้าง ซึ่งมาจากดินที่ปลูก ขั้นตอนการเก็บ การขนส่ง หรือแม้แต่จากขั้นตอนการปรุง พอนำมาวางบนอาหารที่ปรุงสุกแล้วภายในกล่องซึ่งมีอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 35-50 องศาเซลเซียส ผักสดที่ได้รับความร้อนจากอาหารเป็นเวลานานๆ ทำให้ผนังเซลล์ของผักถูกทำลาย เชื้อแบคทีเรียจึงเจริญเติบโตได้ง่ายขึ้น ผักจะเน่าเร็วกว่าปกติ ทำให้เชื้อแบคทีเรียอาจปนเปื้อนลงในอาหาร เสี่ยงต่ออาการอาหารเป็นพิษ วิธีป้องกันก็ต้องวอนต่อไปยังพ่อครัว-แม่ครัวว่าควรแยกผักสดออกจากกล่องข้าวกับข้าวที่ทำใหม่ๆ แยกใส่ถุงพลาสติกต่างหาก ส่วนคนกินอย่างเราก็ควรเลือกกินอาหารที่ผลิตสดใหม่ ลดความเสี่ยงจากการอาหารไม่ปลอดภัย   ยกระดับเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลในประกันสังคม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน และกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก แถลงข่าว “ร่วมสร้างระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว” เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบสุขภาพของผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคม ปัญหาที่ต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ เรื่องของการเข้าถึงสิทธิ ที่ต้องสมทบเข้ากองทุนไม่น้อยกว่า 3 เดือน จึงจะได้รับสิทธิการรักษา และกรณีคลอดบุตรต้องสมทบไม่น้อยกว่า 7 เดือน จึงจะได้รับสิทธิค่าคลอดเหมาจ่าย ทำให้คนที่ยังจ่ายสมทบไม่ครบไม่สามารถใช้สิทธิใดได้เลย สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ใช้ไม่ได้ สิทธิประกันสังคมก็ยังไม่ได้สิทธิ ต้องให้สิทธิการรักษาพยาบาลเกิดขึ้นทันทีที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุน นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกจำนวนมากที่รอการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น ให้การคลอดเป็นการรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ยกเลิกการจำกัดการคลอดได้ 2 ครั้ง ยกเลิกการจำกัดสิทธิไม่รักษากรณีการทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ ต้องรักษาทุกกรณี และต้องได้รับการชดเชยตามสิทธิกรณีตายที่ระบุไว้ในประกันสังคม ไม่กำหนดเพดานวงเงินและเงื่อนไขจำนวนครั้งต่อปี  ในการรักษาเกี่ยวกับฟัน ต้องเป็นไปตามความจำเป็น ให้สิทธิการรักษากรณีการบำบัดสารเสพติดต่างๆ รวมทั้งพัฒนาสิทธิประโยชน์การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย ให้ได้รับการบำบัดทดแทนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดอย่างโปรตีนแฟคเตอร์ที่เท่าเทียมเช่นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อีกเรื่องที่มีความสำคัญมาก คือผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการรักษาพยาบาล จะไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองเช่นเดียวกับ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41ทำให้ผู้ประกันตนต้องไปฟ้องศาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งใช้เวลานานไม่ทันต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงควรมีการดูแลคุ้มครองสิทธิด้านนี้ให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมด้วย   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤศจิกายน 2555 ใบจองต้องเป๊ะ ซื้อรถคันแรก หลังจากที่รัฐบาลออกนโยบายรถคันแรกซึ่งเอื้อให้ประชาชนสามารถมีรถยนต์เป็นของตัวเองได้ง่ายขึ้น จากเงื่อนไขที่ภาครัฐที่จ่ายภาษีคืนให้กับผู้ซื้อ ทำให้ยอดการจองรถยนต์มีอัตราสูงขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยการทำสัญญาจองรถยนต์นั้นผู้บริโภคต้องให้ความสำคัญกับ “ใบจอง” เพราะเป็นเอกสารหลักฐานสำคัญที่ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอก โดยทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เคยทำหนังสือถึงผู้ประกอบการจำหน่ายรถยนต์ทุกค่ายพิจารณาการออกใบจองรถยนต์ให้ลูกค้าให้มีมาตรฐาน เป็นประโยชน์กับผู้ซื้อ โดยต้องแสดงรายละเอียดสำคัญให้ครบถ้วน ตั้งแต่รายละเอียดของรถยนต์ สี รุ่น ราคา ระยะเวลาการผลิตรถ ขนาดของเครื่องยนต์ และกำหนดเวลาส่งมอบรถ พร้อมสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ หากค่ายรถยนต์ใดไม่แสดงรายละเอียดข้อมูลดังกล่าวให้ครบถ้วน ถือว่าอาจเข้าข่ายการหลอกลวงผู้บริโภค จากข้อมูลของ สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2555 ทั้งสิ้น 889 เรื่อง เป็นกรณีขอเงินจองคืนเนื่องจากไม่ได้รถยนต์ 100 รายการ ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญา 69 รายการ ยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน 53 รายการ ชำรุด 231 รายการ คืนรถ ค้างค่างวด 91 รายการ ยึดรถคืน 40 รายการ ขอชดใช้ค่าเสียหาย 38 รายการ ค่าปรับสูง 31 รายการ ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ 31 รายการ ขอคำปรึกษา 30 รายการ     ที่พักแพงแจ้ง สคบ. ปีใหม่นี้หลายๆ คนคงเตรียมตัวไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ซึ่งสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องคิดและวางแผนเลือกกันอย่างดีก่อนที่จะออกไปเที่ยวก็คือ “ที่พัก” แม้จะมีให้เลือกมาก แต่รูปแบบและราคาก็แตกต่างกันมากด้วยเช่นกัน ที่สำคัญยิ่งถ้าเป็นช่วงหน้าท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น บรรดาที่พักต่างๆ ก็มักจะฉวยโอกาสขึ้นราคา ถือว่าไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้บริโภค หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงจับมือกันเพื่อหาทางช่วยเหลือผู้บริโภค โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เป็นเจ้าภาพ ร่วมกับกรมการค้าภายใน กรมการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทย ฯลฯ โดยหนึ่งในมาตรการที่อยากขอร้องกับให้ผู้ประกอบการ รวมถึงบริษัททัวร์ ก็คือ ให้จัดทำโบรชัวร์แสดงราคาของที่พักที่ต้องมีความชัดเจน แจ้งทั้งราคาช่วงไฮซีซั่นและโลว์ซีซั่น เพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นและตัดสินใจได้ ซึ่งความจริงแล้วบริษัททัวร์ ที่พัก หรือสถานที่ท่องเที่ยว จัดอยู่ในกลุ่ม 26 สินค้าที่ สคบ. มีโครงการจะมอบตราสัญลักษณ์ให้ด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้หากผู้นักท่องเที่ยวคนใดไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องราคาทั้งที่พัก สามารถร้องเรียนไปได้ที่ สายด่วน สคบ. 1166 บะหมี่สำเร็จรูปเกาหลีไม่มีสารก่อมะเร็ง หลังจากมีที่มีข่าวออกมาว่า มีการตรวจพบสารก่อมะเร็งในบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อดังจากประเทศเกาหลี “นองชิม” (nongshim)  ที่วางจำหน่ายในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งส่งผลมาถึงประเทศไทยเราเพราะบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อดังกล่าวก็มีวางขายในประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยงานนี้ทางคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง จึงออกมาตรการด่วนด้วยการสุ่มเก็บตัวอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนองชิมที่นำเข้าจากประเทศเกาหลีใต้และฮ่องกง จำนวน 20 ตัวอย่าง พร้อมกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย จำนวน 3 ตัวอย่าง รวม 23 ตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อนอันตราย ซึ่งผลวิเคราะห์ที่ได้พบว่าทุกตัวอย่างปลอดภัยจากสารก่อมะเร็ง ผู้บริโภคสามารถหาซื้อมารับประทานได้อย่างสบายใจ โดยการตรวจวิเคราะห์ในครั้งนี้เป็นการตรวจหาสารก่อมะเร็ง (สารเบนโซ (เอ) ไพรีน) ที่อยู่ในเครื่องปรุงรสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเต้าเจี้ยว, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสปลาหมึก, บะหมี่  กึ่งสำเร็จรูปรสอาหารทะเล และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเผ็ด ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ไม่พบสารก่อมะเร็งในเครื่องปรุงรสแต่อย่างใด คปภ. แนะซื้อประกันภัยสุขภาพอย่างถูกต้อง คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แนะนำผู้ที่จะซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนเลือกซื้อ อันดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่าระหว่างการประกันชีวิตและการประกันภัยสุขภาพนั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร สำหรับการประกันชีวิตนั้น เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองทางด้านชีวิตโดยตรง บริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินสินไหมทดแทนเนื่องจากการเสียชีวิต (จากทุกกรณี) หรือเนื่องจากการมีชีวิตอยู่รอดตามระยะเวลาที่กำหนดขึ้นอยู่กับสัญญาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองการเสียชีวิตและการอยู่รอดเต็มจำนวนผลประโยชน์ที่ซื้อจากทุกๆ กรมธรรม์ประกันชีวิต ส่วนการประกันภัยสุขภาพ ซึ่งเป็นสัญญาเพิ่มเติมที่ซื้อเพิ่มจากกรมธรรม์ประกันชีวิตจะให้ความคุ้มครองด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล และเงินชดเชยรายได้เนื่องจากนอนพักรักษาพยาบาลเท่านั้น ไม่ว่าการรักษาพยาบาลนั้น จะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ซึ่งการพิจารณารับประกันภัยของบริษัทประกันภัย จะขึ้นอยู่กับสุขภาพและอายุของผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยส่วนใหญ่จะไม่คุ้มครอง “โรคที่เป็นมาก่อนการทำประกันภัย” เช่น โรคมะเร็งระยะสุดท้าย และโรคเอดส์ และหากผู้ขอเอาประกันภัย มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัวหลายอย่าง บริษัทประกันภัยอาจจะพิจารณารับประกันภัยด้วยเบี้ยประกันภัยที่สูงกว่าคนปกติ หรืออาจจะไม่รับประกันภัยเลยก็ได้ สิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาและควรรู้สำหรับผู้ที่จะทำประกันสุขภาพก็คือ การเบิกค่ารักษาพยาบาลจากการทำประกันภัยสุขภาพ ผู้เอาประกันภัยจะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริงเท่านั้น ดังนั้น การซื้อประกันภัยสุขภาพ ผู้เอาประกันภัยไม่จำเป็นต้องซื้อหลายๆ กรมธรรม์ แต่ควรพิจารณาว่าค่ารักษาพยาบาลที่ได้ทำอยู่แล้วครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลที่ผู้เอาประกันภัยต้องการหรือไม่ และควรศึกษาทำความเข้าใจในรายละเอียดเงื่อนไขความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยทุกครั้ง ว่าตรงกับที่บริษัทประกันภัยเสนอขาย     รถทัวร์เตรียมใช้ “จีพีเอส” ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป รถโดยสารสาธารณะเตรียมนำระบบจีพีเอสมาใช้ เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร โดยจะเริ่มต้นที่รถของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กว่า 800 คัน ก่อนจะขยายผลไปยังรถร่วมบริการของ บขส. และรถตู้โดยสาร ซึ่งระบบจีพีเอสน่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุของรถโดยสารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในปัจจุบัน ระบบจีพีเอสมีเป็นระบบสื่อสารกับดาวเทียม สามารถรู้จุดตำแหน่งของรถที่ติดตั้ง การใช้ความเร็ว สามารถควบคุมให้พนักงานขับรถปฏิบัติตามกฎหมาย และเกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จของผู้บริโภค หลังจากที่องค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยบนท้องถนนหลากหลายภาคส่วน ได้เข้ายื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้จัดตั้ง “ศูนย์ควบคุมการเดินรถโดยสารสาธารณะประจำทางตลอด 24 ชั่วโมง” และให้มีการติดตั้งระบบจีพีเอสและกล่องเก็บข้อมูลในรถโดยสารสาธารณะประจำทาง เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา เห็นหรือยังว่าพลังของผู้บริโภคมีความสำคัญอย่างมากในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ ของผู้บริโภคในสังคม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 255323 เมษายน 2553 จับจริง! เครื่องดื่มอวดอ้างสรรพคุณลดอ้วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข แถลงข่าวการตรวจจับผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่มของเครื่องดื่มที่อวดอ้างสรรพคุณว่าดื่มแล้วสามารถลดน้ำหนักได้ ซึ่ง อย.ตรวจสอบแล้วพบมีความผิดหลายส่วนทั้งปลอมแปลงเลขสารบบอาหารของ อย. แสดงฉลากไม่ถูกต้อง แสดงสรรพคุณของส่วนประกอบที่ อย.ไม่อนุญาต ซึ่งมีผลทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด ของกลางที่ตรวจยึดได้ประกอบด้วย ชามะนาวปรุงสำเร็จผสมคอลลาเจน ยี่ห้อ สลิมคัพ, โกโก้มอลต์ สูตรถั่วขาวและกระบองเพชร ยี่ห้อ ไวท์ เลเบิล, โกโก้ปรุงสำเร็จชนิดผง ยี่ห้อ สลิมคัพ, กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง ยี่ห้อคิงส์คอฟฟี่พลัส และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เข้าข่ายความผิดรวมทั้งหมด 21 รายการ มูลค่ากว่า 9 ล้านบาท ซึ่งสินค้าของกลางทั้งหมดถูกตรวจยึดได้ที่ บริษัท บิ๊กเบนซ์ เฮลท์ โปรดักซ์ จำกัด เลขที่ 203/18 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. ----------------------------------------------------------------------------------------------------- 29 เมษายน 2553 สมอ.ปรับมาตรฐานเข็มขัดนิรภัยใหม่สมอ. ประกาศยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เข็มขัดนิรภัยตาม มอก.721-2539 โดยได้ปรับปรุงมาตรฐานเข็มขัดนิรภัยใหม่ตาม มอก.721-2551 เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ โดยใช้แนวทางตาม ECE Regulation ซึ่งเป็นข้อกำหนดทางเทคนิคด้านยานยนต์ที่ยอมรับกันทั่วโลก มาตรฐานใหม่นี้ได้เพิ่มวิธีการทดสอบในการประกอบชิ้นส่วนเข็มขัดนิรภัยทั้งหมด ได้แก่ หัวเข็มขัด อุปกรณ์ปรับความยาว อุปกรณ์ยึด และอุปกรณ์ปรับความสูง มาทำการทดสอบโดยวิธีการจำลองการชนขณะเกิดอุบัติเหตุ มาตรฐานเข็มขัดนิรภัยใหม่นี้ จะมีผลให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ต้องปรับปรุงสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานใหม่เท่านั้น โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.2554 เป็นต้นไป -------------------------------------------------------------------------------------- 30 เมษายน 2553 ผู้บริโภคไทยใส่ใจสิทธิมากขึ้นสำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ สสช. เปิดเผยผลสำรวจเนื่องในวันคุ้มครองผู้บริโภค 30 เมษายน พบว่าคนไทยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น จากตัวเลขของผู้ร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 5,041 ราย ในปี 2551 เป็น 6,266 ราย ในปี 2552 ปัญหาส่วนใหญ่ที่ผู้บริโภคร้องเรียนเป็นเรื่องของสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า ร้อยละ 72.5 รองลงมาคือปัญหาจากบริการด้านรักษาพยาบาล ร้อยละ 58.5 ปัญหาจากบริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และจานดาวเทียม ร้อยละ 39.4 และปัญหาจากการใช้สินค้าประเภท เครื่องใช้ไฟฟ้าและมือถือ ร้อยละ 36.2 ซึ่งปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ได้รับการดูแลเพียงร้อยละ 50.9 โดยได้รับการแก้ไขแล้วร้อยละ 38.4 ที่เหลือร้อยละ 12.5 อยู่ในระหว่างดำเนินการ ขณะที่ผู้บริโภคร้อยละ 77.6 มีความคิดเห็นว่า ผู้ประกอบการธุรกิจในปัจจุบันมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคดี แต่อีกร้อยละ 22.4 มองว่าผู้ประกอบธุรกิจไม่มีความรับผิดชอบ พร้อมทั้งเสนอแนะว่าควรมีบทลงโทษที่เด็ดขาดกับผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม พบว่ามีผู้บริโภคถึงร้อยละ 89.2 ที่ประสบปัญหาแล้วไม่ร้องเรียน เพราะคิดว่าเสียเวลา ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งต้องช่วยรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้รักษาสิทธิของตนเอง ------------------------------------------------------------------------------------------------------ ทำงานหน้าคอมฯ นาน ระวังป่วยโรค “ซีวีเอส”กระทรวงสาธารณสุขเตือนผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการเกิดโรคทางสายตาและระบบกล้ามเนื้อ หรือที่เรียกกันว่าโรค “ซีวีเอส” โรคซีวีเอส (CVS:Computer Vision Syndrome)เป็นอาการป่วยที่กระทบต่อการทำงานของ ตา เนื่องจากใช้มองคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน และกระทบต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูกซึ่งจะเกี่ยวกับท่านั่งขณะใช้คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีที่มีปัญหาเรื่องโรคต่างๆ เช่น โรคข้อ ระบบกล้ามเนื้อ มีโอกาสป่วยด้วยโรคนี้ค่อนข้างสูง หากใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานและไม่ถูกวิธี นายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า มีผลการวิจัยพบว่า เด็กที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน จะทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ปัจจุบันในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฮ่องกง พบว่ามีเด็กสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้น และมีอาการคอเคล็ด ปวดไหล่ ปวดข้อ ในบางคนจะเป็นระยะยาว สาเหตุที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางตา เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานเกิน 25 นาที และตั้งจอคอมพิวเตอร์ที่ปรับระดับไม่เหมาะสมกับสายตา หรือวางเม้าท์ที่ไม่ได้ระดับกับแขน ความสว่างของไฟ การนั่งเป็นเวลานาน ในการป้องกันปัญหาทางสายตาจากการใช้คอมพิวเตอร์ ควรกะพริบตาบ่อยๆ พักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์บ้าง หรือใช้วิธีมองวิวนอกหน้าต่าง มุมห้อง หรือไปเดินเล่น หลังจากมีอาการเมื่อยล้า ปวดหัว ซึ่งเกิดจากการเครียด ปวดที่ไหล่ ข้อมือ หลัง ขา ซึ่งเป็นอาการทางระบบกล้ามเนื้อและข้อ ต้องไปพบแพทย์ การรักษาจะต้องใช้เวลานานต่อเนื่อง บางรายอาจต้องใช้ยากิน ยาหยอดตา เช่น น้ำตาเทียม บางรายต้องใช้กายภาพบำบัดควบคู่ไปด้วย เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย----------------------------------------------------------------------------------------- สมัชชาผู้บริโภค เดินเครื่องนโยบาย 6 ประเด็นสิทธิผู้บริโภค ปูทางสู่องค์การอิสระฯการประชุมสมัชชาผู้บริโภค “บทบาทผู้บริโภคต่อวิกฤต การเมืองในปัจจุบัน” เรื่อง “เงินทองของเรา สิทธิของใคร (Your Money Your Rights) 10 บาท...เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ระหว่างวันที่ 26-27 เม.ย. 53 ณ โรงแรมริชมอนด์ ถือเป็นการประชุมที่เหล่าองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคหลากหลายหน่วยงาน ร่วมกันผลักดันข้อเสนอในประเด็นสิทธิผู้บริโภคที่หลากหลายที่สุด เป็นเหมือนการจำลอง “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ในการให้ความเห็นและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายต่อประเด็นต่างๆ รวมทั้งสิ้น 6 ประเด็น เพื่อเตรียมความพร้อมขององค์กรผู้บริโภคจากทั่วประเทศให้มีความรู้ความเข้าใจและร่วมกันส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนองค์การอิสระผู้บริโภค พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระผู้บริโภคตามมาตรา 61 เพื่อสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภคได้ทำหน้าที่และบทบาทในฐานะผู้แทนผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จากการประชุมทั้ง 6 ประเด็นนั้น มีข้อเสนอที่น่าสนใจดังนี้ กรณี 3 จี มีการเรียกร้องให้ทบทวนการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการประมูล คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ต้องกระจายเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนทั่วทั้งประเทศ กำหนดราคาและคุณภาพของผู้ประมูลให้ถูกต้องเหมาะสม ส่วนกรณีความเห็นการจัดการเรื่อง แร่ใยหิน (Asbestos) เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกการผลิตการจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนประกอบแร่ใยหินที่สามารถใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนได้ภายใน 1 ปี กรณีนโยบาย ความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ ให้ตั้งกองทุนคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารที่ได้รับอุบัติเหตุเพิ่มเติมจากที่รัฐเคยอุดหนุน โดยแหล่งเงินมาจากค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับผู้กระทำผิดของบริษัทขนส่ง รวมถึงภาษีรถยนต์ส่วนบุคคล พร้อมทั้งเสนอให้ลดอายุใบอนุญาตผู้ประกอบการเหลือ 3-5 ปีจากเดิม 7 ปี สร้างระบบอาสาสมัครเฝ้าระวังการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ และขึ้นบัญชีผู้ให้บริการที่กระทำผิดซ้ำซากโดยไม่มีการแก้ไข ด้านนโยบาย ความปลอดภัยด้านอาหาร ต้องมีองค์การอิสระหรือตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมในกลไกการควบคุมมาตรการต่างๆ ส่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภคผ่านการให้ความรู้ข้อมูลข่าวสาร พร้อมทั้งส่งเสริมเกษตรกรหรือผู้ผลิตที่ผลิตอาหารปลอดภัยให้มีบทบาทในตลาดอาหารของประเทศมากยิ่งขึ้น กรณีข้อเสนอต่อร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ... สร้างกลไกสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมที่เป็นอิสระโดยให้ กสทช.จัดสรรงบประมาณ ให้กองทุนสื่อเพิ่มบทบาทเรื่องการให้ความรู้ที่ชัดเจนเรื่องการใช้สื่ออย่างปลอดภัย และสุดท้าย กรณีการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อ เสนอให้ตั้งศูนย์ประสานงานซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากรัฐและเอกชนในการเป็นแหล่งรวบรวมปัญหาเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อในประเด็นต่างๆ ทั้งโฆษณาแฝง sms การจัดเรตติ้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 กระแสในประเทศ

กระแสในประเทศกองบรรณาธิการ ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 25523 มกราคม 2552กรมวิทย์มุ่งธนาคารสเต็มเซลล์ ปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูกรามารุ่ง นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้การนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้รักษาโรคยังเป็นการศึกษาวิจัยทางคลินิกยังไม่ได้รับการยืนยันมาตรฐานทางการแพทย์ แต่ต้องยอมรับว่า เป็นการศึกษาวิจัยที่ได้ผลการรักษาค่อนข้างดี โดยที่ผ่านมากรมวิทย์ฯ ได้ทำโครงการความร่วมมือกับสถานพยาบาลในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดรักษาโรคแล้ว 2 โครงการ โดยประสบความสำเร็จ 1 โครงการ คือความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ศึกษาการปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูกผ่านหลอดเลือดโคโรนารี่ เพื่อทดแทนกล้ามเนื้อและหลอดเลือดฝอยที่ตายจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจทำงานบกพร่องในผู้ป่วยเด็กจำนวน 2 ราย ส่วนอีก 1 โครงการ คือ ความร่วมมือกับโรงพยาบาลเลิดสิน ศึกษาการปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูกเพื่อรักษาโรคข้อเข่าเทียม แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ในอนาคต กรมวิทย์ฯ จะพัฒนาการเพาะเซลล์ต้นกำเนิดใช้รักษาโรคอื่นๆ ด้วย เช่น โรคเลือดต่างๆ ธาลัสซีเมีย มะเร็งเม็ดเลือดขาว เบาหวาน กระจกตา เป็นต้น และอาจจะพัฒนาเป็นธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อสาธารณประโยชน์เช่นเดียวกับสภากาชาดไทย 6 มกราคม 2552แพทย์เตือนพ่อแม่ซื้อของเล่น ระวังสารปนเปื้อนทำลายลูกนพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า ในปี 2551 ได้เก็บตัวอย่างของเล่นในศูนย์พัฒนาเด็ก กทม. 23 แห่ง ตรวจหาสารตะกั่ว พบว่าของเล่นเด็กจาก 4 แห่ง มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน คือ 600 มล./กก. นอกจากนี้ยังเก็บตัวอย่างของเล่นที่มีการวางขายหน้าโรงเรียนในกรุงเทพฯ 26 แห่ง พบ 4 แห่ง มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน และจากการซื้อของเล่นจากห้างและตลาดทั่วไปในกรุงเทพฯ พิจิตร บุรีรัมย์ สระแก้ว และชลบุรี 126 ชิ้น ส่งตรวจคุณสมบัติทางกายภาพ 50 ชิ้น พบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 9 ชิ้น สภาพปัญหาที่พบคือ มีเสียงดังเกิน 75-85 เดซิเบล ซึ่งเป็นอันตรายต่อเซลล์ประสาทการได้ยิน มีเส้นสายยาวเกินกว่า 30 ซม. ซึ่งเสี่ยงต่อการพันรัดคอเด็ก มีช่องรูที่กว้างระหว่าง 5-12 มล. เสี่ยงต่อนิ้วเด็กติดค้างในช่องรู และมีขอบแหลมคมที่ทำอันตรายเด็กได้ และจากผลการตรวจคุณสมบัติทางเคมีของของเล่น 80 ชิ้น พบว่ามีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน 6 ชิ้น ซึ่งมีผลให้ไอคิวต่ำ "พ่อแม่ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ให้เด็ก ที่มีตรา มอก.รับรอง แม้จะไม่ปลอดภัย 100% แต่ก็พอที่จะบรรเทาอันตรายได้ในระดับหนึ่ง" 9 มกราคม 2552วิจัยพบเด็กโตขึ้นไอคิวยิ่งต่ำลงพญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงเรื่องระดับสติปัญญา (ไอคิว) และระดับความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ของเยาวชนไทย เนื่องจากในโครงการพัฒนาสติปัญญาเด็กไทยที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 เก็บข้อมูลทุกปีจากพื้นที่ตัวอย่างนำร่องจำนวน 1,500 คน 15 จังหวัดมาศึกษาพบว่า ต้นทุนของเด็กไทยในช่วงทารกหรือแรกเกิดอยู่ในระดับสากล คือมีไอคิวประมาณ 100 แต่เมื่อมาอยู่ระดับประถมศึกษาประมาณ 9-10 ขวบ กลับมีระดับไอคิวเหลือเพียง 97-98 แต่เมื่อโตมาในช่วงวัยรุ่นระดับมัธยมศึกษาถึงอุดมศึกษาจะมีค่าไอคิวเฉลี่ยเหลือเพียง 90 ต้นๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง ที่น่าสนใจคือ ปัจจัยแวดล้อมใดที่มีผลต่อการพัฒนาการทางสมองของเด็กไทย เพราะจากระดับไอคิวของเด็กแรกเกิดไทยแสดงให้เห็นว่าเรื่องของพันธุกรรมไม่ได้เป็นปัจจัยหลักเกี่ยวกับการพัฒนาไอคิวเด็ก"วิธีที่จะกระตุ้นให้พัฒนาการของลูกดีคือการที่พ่อแม่เอาใจใส่สนใจในการตั้งคำถามของลูก ไม่ด่าว่า ส่งเสริมให้เด็กตั้งคำถาม เอาใจใส่ต่ออาหารและการออกกำลังกาย การอ่านหนังสือ รวมถึงได้ทำกิจกรรมร่วมกับลูกในช่วงวันหยุด เพราะการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างการเล่นกับลูกให้เหมาะตามวัยจะช่วยให้พ่อแม่ได้รู้จักลูกตัวเองดีขึ้นด้วย อาทิ เกมหมากรุก เกมต่อคำภาษาอังกฤษ จิ๊กซอว์ เกมคอมพิวเตอร์พวกเกมซิมที่เป็นการสร้างเมืองวางแผนต่างๆ ซึ่งระหว่างการเล่นพ่อแม่สามารถสอนลูกไปพร้อมกันได้ ซึ่งเด็กจะซึมซับและนำมาใช้ในชีวิตจริงได้" อย.ชี้อันตราย"คุกกี้เสริมอึ๋ม" ใช้กวาวเครือขาวผิดวิธีเจอดีอย. เตือนอันตรายคุกกี้ผสมกวาวเครือขาว ชื่อผลิตภัณฑ์ F Cup Cookie ขายเกลื่อนเน็ต โอ้อวดสรรพคุณเพิ่มอึ๋ม นอกจากเสียเงินมากแล้วอาจเจออันตรายจากผลข้างเคียงของการใช้กวาวเครือขาวโดยผิดวิธี เนื่องจากจะรบกวนระบบฮอร์โมนเพศ อีกทั้งเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย แสดงฉลากไม่ถูกต้อง และกวาวเครือเป็นพืชสมุนไพรควบคุมที่ยังไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังไม่มีการขออนุญาตนำเข้ากับ อย. เพื่อนำมาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคแต่อย่างใด ซึ่งในกรณีของผู้นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากจำหน่ายอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หากผู้บริโภคพบเห็นการจำหน่ายและโฆษณาผลิตภัณฑ์คุกกี้ดังกล่าว และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ที่คาดว่าจะผิดกฎหมาย โปรดแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย.1556 29 มกราคม 2552หมอเตือนภัยฉีด"คาร์บ็อกซี่" หลุมพรางของคนคลั่ง"ผอม"นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม กล่าวถึงกระแสความนิยมของคาร์บ็อกซี่ (Carboxy) ว่า มีโฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถสลายไขมันและเซลลูไลท์เฉพาะส่วนได้ในระยะเวลาไม่นาน และขั้นตอนไม่ยุ่งยาก แต่ไม่รู้ว่าคาร์บ็อกซี่กำลังเป็นภัยเงียบที่คุกคามผู้บริโภค หากไม่ศึกษาถึงผลกระทบให้ดีก่อนตัดสินใจเข้ารับบริการ การใช้ก๊าซคาร์บอนฉีดยังเป็นการทดลอง ยังไม่มีผลรับรองออกมาอย่างเป็นทางการ ทางที่ดีผู้บริโภคควรรอให้มีรายงานทางการแพทย์รับรอง 10 ฉบับขึ้นไป จึงนับว่าปลอดภัย รศ.นพ.นิยม ตันติคุณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการทำคาร์บ็อกซี่ว่า ฝรั่งเศส คือประเทศแรกที่นำมาใช้ และขยายความนิยมสู่อิตาลี ในปี 2533 จากนั้นได้รับการยอมรับและนิยมใช้อย่างแพร่หลายทั้งในเอเชียและยุโรป คาร์บ็อกซี่ เป็นนวัตกรรมความงามเพื่อใช้ลดไขมันเฉพาะที่ด้วยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่ละลายน้ำได้ดี สลายตัวได้เร็ว เมื่อฉีดเข้าไปยังชั้นไขมันใต้ผิวหนังจะช่วยเพิ่มการขยายตัวของเส้นเลือดและทำให้เซลล์ไขมันสลายตัวและถูกกำจัดออกไป เช่น หน้าท้อง ใต้ท้องแขน สะโพก น่อง ต้นขา ฯลฯ ทั้งนี้ ในวงการแพทย์มีการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้อยู่ก่อนแล้ว เช่น การฉีดเข้าช่องท้องขณะส่องกล้องตรวจอวัยวะภายใน ถ้าใช้เหมาะสมไม่ส่งผลอันตรายใดต่อร่างกาย ที่สำคัญผู้ที่ให้การรักษาควรเป็นแพทย์เท่านั้น ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงการฉีดคาร์บ็อกซี่ ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเลือด โรคเบาหวาน สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เพราะหากก๊าซบางส่วนผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดอาจทำให้อาการดังกล่าวแย่ลง ในปัจจุบันข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่รับรองว่าการทำคาร์บ็อกซี่ปลอดภัยนั้นยังมีน้อย เท่าที่ทำการสืบค้นรายงานทางการแพทย์พบว่า มีเพียง 2 ฉบับเท่านั้น ที่รับรองว่าการทำคาร์บ็อกซี่ได้ผลและส่งผลข้างเคียงน้อย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยรถถึงเวลาต้องยกเลิก?พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำลังมาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า การรักษาพยาบาลที่ได้รับสิทธิคุ้มครองจากบริษัทประกันในช่วงแรก เมื่อรักษาหมดวงเงินประกัน ก็ต้องกลับเข้ามารักษาตามสิทธิของแต่ละบุคคล ซึ่งถือว่าไม่ได้รับการดูแลจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้อย่างเต็มที่ นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า จากการศึกษาเรื่อง "พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถในบริบทของการประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ของ นพ.ดร.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียรและคณะ ระบุว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งเป็นการประกันภัยภาคบังคับมีหลักไม่กำไร ไม่ขาดทุน แต่ผลกำไรของบริษัทประกันวินาศภัยที่ได้จากประกันภัยประเภทนี้กลับมีสูงถึง 3.3 พันล้านบาทใน 4 ปี บวกกับปัจจุบันคนไทยมีหลักประกันสุขภาพทุกคน พ.ร.บ.นี้ไม่น่าจะมีความจำเป็นอีกต่อไป จึงต้องพิจารณาทางเลือกในการปรับปรุงระบบเพื่อให้คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถทุกคน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีประกัน" นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แนวคิดในการเปลี่ยนระบบ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เป็นเพราะขณะนี้กองทุนผู้ประสบภัยจากรถเปลี่ยนแปลงไปจากวัตถุประสงค์เดิมที่ออกกฎหมายไว้ให้มีกองทุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนเพราะไม่มีกองทุนใดคอยดูแล แต่ขณะนี้คนไทยทุกคนได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เมื่อเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินก็สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งได้ อย่างไรก็ตาม หากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ควรจะให้เวลาในการหารือและตัดสินใจ เนื่องจากอาจจะกระทบกระเทือนหลายฝ่าย โดยเฉพาะธุรกิจการประกันภัย “ขณะนี้ได้มอบหมายให้ทีมที่ปรึกษาระดมความคิด พูดคุย ศึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ปัจจุบันรายละเอียดต่างๆ ในสิทธิการรักษาพยาบาลเปลี่ยนไปมากจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ยอมรับว่ามีข้อร้องเรียนเข้ามาเสมอๆ โดยเฉพาะเรื่องความล่าช้าในการจ่ายเงินของบริษัทประกันภัย ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นการโยนหินถามทางว่า สังคมจะมีความคิดเห็นอย่างไร ส่วนจะดำเนินการทันทีหรือไม่นั้น กระทรวงสาธารณสุขมีหลายเรื่องที่ต้องทำขณะนี้ คงจะต้องทำทีละเรื่อง เดือนละเรื่องและแต่ละเรื่องต้องใช้เวลา" นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ประกันภัยรถยนต์อีก เพราะคนไทยทุกคนมีระบบหลักประกันสุขภาพรองรับแล้ว หากรัฐบาลนำมาเป็นนโยบายและดำเนินการจริงจัง สปสช.ก็พร้อมดูแลรับผิดชอบผู้ประสบภัยอุบัติเหตุอย่างเต็มที่ แต่ สปสช.คงไม่เป็นต้นเรื่องในการให้ยกเลิก พ.ร.บ.ดังกล่าวเอง ซึ่งหากยกเลิก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว รัฐสามารถจัดเก็บภาษีอื่นทดแทนได้ เช่น การคิดภาษีจากน้ำมันเชื้อเพลิง 1 สตางค์ต่อลิตร หากยานพาหนะเติมน้ำมันเต็มถัง 50 ลิตร สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในระยะเวลา 1 ปีจะเสียค่าภาษีเพียง 104 บาทต่อคันต่อปีเท่านั้น ถูกกว่าจ่ายเบี้ยประกันภัยในปัจจุบันหลายเท่า ผู้เสียหาย “ซานติก้า” และนักวิชาการ วอนผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง 30 มกราคม 2552 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับกลุ่มแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดเสวนา “ซานติก้า…ปัญหาและทางออกของผู้บริโภค” ขึ้น โดยเชิญผู้เสียหายในเหตุการณ์ และนักวิชาการร่วมหาทางออก นายสันติสุข มะโรงศรี ผู้เสียหายในเหตุการณ์ ไฟไหม้ร้านซานติก้า เมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2551 และเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องผู้ถือหุ้นร้านซานติก้า ได้แก่ นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ และนายสุริยา ฤทธิ์ระบือ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ ตามลำดับ รวมทั้งหมด 31 คน ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้ บริโภค พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา กล่าวว่า สาเหตุหลักของการเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากการออกแบบอาคารและการก่อสร้างที่ผิดแบบ หากมีการก่อสร้างที่ถูกต้อง มีระบบดังเพลิงที่ดี เหตุการณ์ร้ายๆ คงจะไม่เกิดขึ้น “การที่ผมออกมาฟ้องเรื่องนี้ เพื่อจะยกระดับมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย และเพื่อขอความเป็นธรรมให้กับตัวผมเอง และอยากจะใช้กฎหมายตัวนี้เป็นบรรทัดฐานให้ผู้บริโภคต่อไป และผมอยากให้ผู้ที่เสียหายต่อเหตุการณ์นี้ ได้ลุกขึ้นมาทวงสิทธิของตัวเอง” นายสันติสุขกล่าวนายชัยรัตน์ แสงอรุณ ตัวแทนจากสภาทนายความ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวขณะนี้ ได้มีผู้ไปขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความจำนวน 18 รายแล้ว สภาทนายความยินดีให้ความช่วยเหลือทุกท่าน“จากการทำงานที่ผ่านมา กรณีเกิดเหตุไฟไหม้เช่นนี้ซึ่งถือว่าเกิดเหตุโดยประมาท ผู้ประกอบการมักจะหลุดจากข้อหา เพราะภาระการพิสูจน์ตกอยู่กับผู้บริโภค จึงค่อนข้างลำบาก แต่การฟ้องด้วย กม.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะภาระการพิสูจน์จะตกอยู่กับผู้ประกอบการว่า สถานประกอบการถูกต้องอย่างไง ผมคิดว่าข้อเท็จจริงของคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีผู้บริโภคต่อไป และอยากให้ผู้เสียหายออกมาใช้สิทธิของตัวเองและเพื่อให้กฎหมายผู้บริโภคที่ออกมาและมีอยู่ได้ถูกใช้โดยผู้บริโภค” นายชัยรัตน์ กล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 ไม่รู้ ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัย

เช้าวันนี้ (อังคารที่ 9 ตุลาคม 2555) เป็นวันที่พายุ แกมี ซึ่งมีสัญชาติเกาหลีได้เคลื่อนผ่านประเทศไทยเตรียมเข้าไปเยี่ยมเยียนเพื่อนพม่า ดังนั้นปริมาณฝนตกในประเทศไทยจึงลดลงอย่างน่าดีใจ โดยเฉพาะผู้เคยเป็นโรคประสาทจากน้ำท่วมปี 54 พายุลูกนี้มีความรุนแรงน้อยกว่าที่คาดกันเนื่องจากไปพักผ่อนกับเพื่อนในเวียดนามเสียนาน แถมเมื่อเข้ากัมพูชาก็ไปติดใจในโบราณวัตถุสมัยขอมเสียจนดูเหมือนไม่อยากเข้าไทย ผู้เขียนเป็นคนนอนตื่นเช้าจึงได้มีโอกาสดูข่าวทางโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 7 และ ช่อง 9 ก่อนไปทำงานเป็นประจำ เช้านี้ได้ฟังข่าว (ซึ่งภายหลังไปตามรายละเอียดจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ 2 ฉบับในอินเตอร์เน็ต) กล่าวว่า สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโซล เกาหลีใต้ ประกาศเขตภัยพิบัติพิเศษ บริเวณพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศคือ เมืองกูมิ หลังเกิดอุบัติเหตุสารเคมีคือ กรดไฮโดรฟลูออริก 8 ตัน รั่วไหลเนื่องจากการระเบิดขณะทำการขนย้ายในโรงงานแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ส่งผลให้มีคนงานเสียชีวิต 5 ศพ และมีประชาชนเจ็บป่วยกว่า 3,000 คน ด้วยอาการคลื่นไส้ มีผื่นคันตามร่างกาย รวมถึงเจ็บคอและเจ็บหน้าอก อุบัติเหตุนี้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมกว่า 500 เอเคอร์ คร่าชีวิตสัตว์ 3,200 ตัว และทำให้บริษัท 80 แห่ง จำเป็นต้องปิดตัวลง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 17.7 พันล้านวอน (ราว 492 ล้านบาท ) ข่าวกล่าวอีกว่า ประชาชนกว่า 300 คน จากหมู่บ้านบองซานรี และอิมเชินรี ต้องย้ายไปยังสถานที่ปลอดภัยชั่วคราว ท่ามกลางความกังวลต่อปัญหาด้านสุขภาพของประชาชน ในแถลงการณ์ดังกล่าวของรัฐบาลเกาหลีใต้ยังกล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่เมืองกูมิ (ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ห่างจากรุงโซลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 200 กม) ซึ่งได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุครั้งนี้จะได้รับความช่วยเหลือด้านการเงิน ที่ครอบคลุมถึงการได้ลดภาษีเป็นการชั่วคราว และค่าชดเชยจากส่วนราชการในจำนวนที่เหมาะสม จากข่าวดังกล่าวซึ่งดูเหมือนจะธรรมดามาก เพราะนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ของบ้านเราก็มีการรั่วไหลของสารเคมี (ซึ่งเป็นสารที่มีการพิสูจน์แล้วว่าก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง) เป็นประจำ (โดยเฉพาะตอนน้ำท่วมปลายปี 54 นั้น ตอนเข้าไปล้างบ้านผู้เขียนยังพบคราบน้ำมันสีดำลอยอยู่รอบบ้าน ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าคงเป็นสารเคมีจากนิคมอุตสาหกรรมที่ เอาอยู่ ทั้งหลาย) แต่เราก็ยังรู้สึกเฉยๆ ประเด็นสำคัญคือ มีผู้อ่านหรือฟังข่าวสักกี่คนที่รู้ว่า กรดกัดแก้วที่มีชื่อเคมีว่า ไฮโดรฟลูออริก (hydrofluoric acid) นั้นอันตรายเพียงใด ที่สำคัญใกล้บ้านท่านมีใครขายกรดชนิดนี้บ้างหรือไม่ ผู้เขียนเข้าไปในอินเตอร์เน็ตแล้วค้นหาใน Google โดยใช้คำว่า กรดกัดแก้ว ปรากฏว่ามีเว็บเพจขึ้นมา 939,000 รายการ ซึ่งบางรายการก็เป็นความเข้าใจผิดของ Google ที่สับสนระหว่างกรดกัดแก้วและกรดอื่นๆ สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการขายกรดอันตรายต่างๆ ในเว็บ โดยดูไม่ออกว่าหน่วยราชการใดดูแล ในเว็บหนึ่งประกาศว่า  มีสินค้าต่อไปนี้จำหน่ายคือ ปรอท เคมีอุตสาหกรรมสิ่งทอ, กระดาษ ชุบโลหะ, อาหาร, อีเลคโทรนิค, ดอกไม้ไฟ กำจัดน้ำเสีย, น้ำมันพืช, อาหารสัตว์ มีเครื่องหมายรับรองฮาลาล รายการสารเคมีจำนวนกว่าร้อยชนิด ที่สำคัญคือ กรดกัดแก้ว (Hydrofluoric Acid), กรดเกลือ 35% (Hydrochloric Acid), กรดกำมะถัน 98% (Sulfuric Acid), คลอรีน 65-70 % (Calcium Hyprochlorite), โซดาไฟน้ำ 50%, ไนตริก แอซิด 68%, โปตัสเซียม ไฮดร๊อกไซด์ 48%, โปตัสเซียม ไฮดร๊อกไซด์ 95%, โปตัสเซียมเปอร์มังกาเนต, ฟอสฟอริคแอซิด 85%, ฟอร์มิคแอซิด, ฟอร์มาลีน 40% และ แอมโมเนียน้ำ 27% เป็นต้น สารเคมีที่ยกตัวอย่างให้ดูนี้บางชนิดสามารถใช้ทำลายซากสัตว์ (รวมทั้งคน) ให้หายไปจากโลกนี้โดยไม่มีหลักฐานได้ มีตัวอย่างในภาพยนต์จากฝรั่งเศสชื่อ Nikita (La Femme Nikita) ซึ่งฮอลลิวูดนำมาสร้างในภาคอเมริกันชื่อ Point of No Return (เข้าใจว่ามาฉายในเมืองไทยในชื่อว่า The Assassin) ในภาพยนต์เรื่อง Nikita นั้นมีตอนหนึ่งที่ Nikita ซึ่งเป็นนักฆ่าได้ทำลายศพของฝ่ายตรงข้ามในอ่างอาบน้ำที่ทำด้วยกระเบื้องโดยการเอาน้ำกรดเข้มข้นราดลงไปบนศพจนเกิดควัน จากการที่กรดเผาไหม้ศพคนจนกลายเป็นของเหลว จากนั้น Nikita ก็เปิดน้ำก๊อกราดศพละลายลงท่อระบายน้ำไป วิธีการทำลายศพด้วยกรดเข้มข้นนั้นไม่ต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการเคมี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่มีหน้าที่วิเคราะห์แร่ธาตุหรือสารเคมีบางชนิดในอาหาร จำเป็นต้องทำลายเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อให้หมดไป เพื่อให้ทำการวิเคราะห์ได้ตามต้องการ กรดที่นักวิทยาศาสตร์ใช้นั้นเข้มข้น รุนแรง และภาชนะที่ใช้นั้นก็ต้องเป็นแก้วชั้นดีเท่านั้น การวิเคราะห์ถึงจะสำเร็จได้ตามประสงค์ แต่สิ่งเหล่านี้ใช้ไม่ได้กับกรดกัดแก้ว สมัยที่ผู้เขียนจบวิทยาศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใหม่ๆ ได้ไปทำงานเป็นนักวิเคราะห์ที่ศูนย์วิจัย โรงพยาบาลรามาธิบดี มีหน้าที่ในการวิเคราะห์องค์ประกอบของอาหารต่างๆ จนวันหนึ่งก็มีตัวอย่าง ก้อนหิน ระบุให้วิเคราะห์แร่ธาตุหลายชนิด ซึ่งปัญหาที่สำคัญคือ การย่อยสลายองค์ประกอบหลักที่เป็นหินนั้นใช้กรดธรรมดาไม่ได้ ผู้เขียนจึงไปเปิดคู่มือการวิเคราะห์หินก็พบว่า กรดที่ใช้ย่อยสลายหินได้คือ กรดกัดแก้ว ซึ่งเป็นกรดที่สามารถกัดให้ภาชนะที่เป็นแก้วกร่อนได้ ในการวิเคราะห์แร่ธาตุในอาหารนั้น ภาชนะที่ใช้โดยปรกติจะทำจากแก้วเนื้อดี แต่กรณีการวิเคราะห์จากก้อนหินโดยอาศัยกรดกัดแก้วเป็นตัวช่วยนั้น ภาชนะที่ใช้ต้องทำจากโลหะที่ชื่อ เซอร์โคเนียม (Zirconium) เท่านั้น การย่อยสลายถึงจะสามารถทำได้โดยปลอดภัย ดังนั้นถ้าเป็นไปตามข่าวที่เกิดในเกาหลี สิ่งที่จะเป็นหายนะตามมาสำหรับคนเกาหลีในบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุก็คือ คงมีหลายคนติดเชื้อโรคจนตายในภายหลัง เพราะผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ได้สูดดมกรดกัดแก้วเข้าปอดไปในปริมาณที่คงไม่ตายทันที เพราะสามารถถูกอพยพไปอยู่เมืองอื่นได้ แต่สุขภาพของร่างกายโดยเฉพาะปอดคงไม่ปลอดภัย เนื่องจากกรดกัดแก้วคงกัดเนื้อเยื่อปอดทำให้เกิดแผลจนสามารถติดเชื้อโรคในอากาศซึ่งปรกติไม่สามารถทำอันตรายคนที่มีปอดแข็งแรงได้ ความช่วยเหลือด้านการเงิน ที่ครอบคลุมถึงการได้ลดภาษีเป็นการชั่วคราว และค่าชดเชยจากส่วนราชการในจำนวนที่เหมาะสมนั้น จริงแล้วไม่คุ้มกับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อประชาชนเลย ทั้งนี้เพราะอุบัติเหตุของโรงงานอุตสาหกรรมนั้นเป็นสิ่งที่คาดคะเนได้ แต่ที่สำคัญกว่าคือ ประชาชนได้ทราบหรือไม่ว่า โรงงานที่อยู่ในละแวกบ้านของตนนั้นมีสารเคมีที่ก่ออันตรายร้ายแรง สมัยที่ผู้เขียนจบการศึกษากลับมาทำงานใหม่ๆ นั้น เป็นจังหวะเริ่มแรกของการสร้างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งมีการออกแบบและข้อกำหนดต่างๆ เพื่อความปลอดภัยค่อนข้างน่าเชื่อถือ มีอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เคารพมาเล่าให้ฟังว่าได้ไปซื้อที่แถวนิคมไว้บ้างเพื่อเก็งกำไร ซึ่งก็คงได้กำไรอย่างที่ตั้งใจเพราะคนไทยมักมองว่า สถานที่ใดถ้าจะต้องมีคนเข้าไปทำงานเยอะมักมีราคาดี เนื่องจากเป็นทำเลค้าขาย โดยไม่ได้ดูว่า นิคมอุตสาหกรรมนั้นต้องใช้สารเคมีมากๆ ยิ่งถ้าเป็นอุตสาหกรรมด้านปิโตรเคมีนั้น สารเคมีที่เอามาใช้มักก่อมะเร็งได้แทบทั้งนั้น ในหลักการด้านพิษวิทยาที่ผู้เขียนเรียนมาสอนให้รู้ว่า โรงงานอะไรก็ตามที่ผลิตสารพวกโพลีเมอร์มักใช้สารที่เป็นโมโนเมอร์มาผลิต สำหรับตัวผลิตภัณฑ์ที่เป็นโพลีเมอร์แล้วนั้นความเป็นอันตรายมักหมดไปเนื่องจากกลายเป็นสารเฉื่อย ไม่ค่อยทำปฏิกิริยากับใครแล้ว แต่สารตั้งต้นคือ โมโนเมอร์ นั้นโดยธรรมชาติต้องไวมากๆ จึงจะถูกผลิตเป็นโพลีเมอร์ได้ ความไวนั้นรวมไปถึงการที่สามารถทำปฏิกิริยากับ ดีเอ็นเอ หรือหน่วยพันธุกรรมในเซลล์ของร่างกายมนุษย์ด้วย ดังนั้นประเด็นสำคัญที่อยากให้ผู้อ่านเก็บไว้คิดคือ ถ้าบริเวณโดยรอบบ้านท่านนั้นมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ก็ควรรู้ว่าเขาใช้สารเคมีอันตรายหรือไม่ ถ้ามีการใช้แล้วเกิดปัญหาเช่น ไฟไหม้หรือระเบิด ท่านจะทำอย่างไร บางครั้งไม่จำเป็นต้องเป็นโรงงานอุตสาหกรรม แค่บ้านจัดสรรบางแห่งที่ราคาไม่แพง ก็มีคนซื้อบ้านไว้เก็บสารเคมีอันตรายเช่นกัน ดังนั้นถ้าท่านเห็นว่าเพื่อนบ้านไม่ค่อยอยู่บ้านแต่มีถังอะไรไม่รู้กองอยู่เต็ม ก็ไม่ควรเมินเฉย หาเวลาคุยกัยหน่วยงานของรัฐที่ดูแลความสงบของบ้านเมือง ไม่ว่าเป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล ฯลฯ และถ้าพบว่าไม่ไหวจริงหรือไม่รู้จะทำอย่าง ก็ลองติดต่อที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดู อาจมีทางป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างได้หวังรอค่าชดเชยเลย เพราะไม่คุ้มเหมือนตัวอย่างที่เกิดไฟไหม้คลังสินค้าของท่าเรือคลองเตยเมื่อเกือบสามสิบปีก่อน คนที่เหลือรอดชีวิตนั้น ตอนนี้ดูไม่จืดเลย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 123 ฝันร้ายก่อน 2012

  มีนาคม 2554 ที่ผ่านไปแล้วนั้น กลุ่มคนที่ฝันร้ายที่สุดในโลกคงไม่เกินชาวญี่ปุ่น ที่ประสบปัญหาอุบัติภัยในการใช้พลังงานปรมาณูเพื่อสันติที่น่าวิตกครั้งหนึ่งของมนุษย์ชาติ ส่งผลให้อนาคตของการใช้พลังงานปรมาณูในการผลิตไฟฟ้าในหลาย ๆ ประเทศไม่แน่นอนไปเลย  การเกิดปัญหาเกี่ยวกับสารกัมมันตภาพรังสีในประเทศญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะคนญี่ปุ่นมีปูมหลังที่หวาดกลัวสารรังสีมาตั้งแต่สมัยโดนทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ จนเวลาผ่านมาราว 66 ปี และคนในยุคนั้นเหลือน้อยเต็มที่ ความหวาดกลัวได้หายไปเกือบหมด ดูได้จากก่อนเกิดปัญหาที่ฟูกูชิมา หลายจังหวัดของญี่ปุ่นที่ไม่มีโรงไฟฟ้าปรมาณูได้ดำริจะขอจัดตั้งบ้าง เนื่องจากเห็นประโยชน์ของโรงไฟฟ้าชนิดนี้ว่า เป็นพลังงาน (เหมือน) สะอาด และราคา (เหมือน) ถูก ทั้งนี้เพราะชาวญี่ปุ่นปัจจุบันเป็นกลุ่มชนที่ฟุ่มเฟือย ใช้พลังงานมากที่สุดในโลกก็ว่าได้  จะถือว่าเป็นโชคดีหรือเคราะห์ร้ายก็ตาม ที่โรงไฟฟ้าพลังงานปรมาณูที่ฟูกูชิมาเกิดมีปัญหาเนื่องจากแผ่นดินไหวและเกิดสึนามิขึ้นมา โครงการสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณูทั่วโลกจึงหัวทิ่มไปหมด ถึงขนาดที่ประเทศเยอรมันที่กำลังจะต่ออายุโรงไฟฟ้าที่เตรียมยกเลิกแล้วต้องยกเลิกจริงไปเลย เพราะเป็นโรงไฟฟ้ารุ่นเก่า  จึงมีคำถามว่า แล้วคนไทยจะรนหาที่ไปทำไมในเรื่องโรงไฟฟ้าปรมาณู หรือมันตอบสนองความต้องการของใครกันแน่  ถามใหม่ว่า ถ้าประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าปรมาณู ถึงมันจะเป็นเจ็นเนอเรชั่นที่ 3 ซึ่งปลอดภัยสุด ๆ ตามที่เขาบอกแล้วก็ตาม โอกาสจะเกิดปัญหาแบบฟูกูชิมามีได้หรือไม่ คำตอบแบบใช้ไขสันหลังแบบเน้น ๆ คือ มีแน่นอน และเมื่อได้คำตอบนี้แล้ว คนไทยจะทำอย่างไรถ้าเกิดอุบัติภัยเช่นนี้  ผู้เขียนตอบตนเองต่อคำถามดังกล่าวว่า ไม่รู้แฮะ เพราะไม่เคยคิด เหมือนเราไม่เคยคิดเรื่องสึนามิมาก่อน ดังนั้นผู้เขียนจึงลองสร้างสถานการณ์ว่า ถ้าเมืองไทยมีโรงไฟฟ้าปรมาณูตั้งอยู่ที่ ศาลายา นครปฐม สิ่งแรกที่ผู้เขียนจะทำคือ ขายบ้านซึ่งอยู่ถนนพุทธมณฑลสาย 2 ทิ้ง ย้ายไปอยู่ที่ใดก็ได้ที่มีภูเขาที่สามารถบังกระแสลมจากศาลายา ทั้งนี้เพราะเป็นที่ทราบดีว่า ถ้าไม่สามารถควบคุมการทำงานของแกนกลางที่ให้พลังงานของโรงไฟฟ้าปรมาณูได้ สารรังสีที่สามารถลอยไปกับลมสองชนิดหลักคือ ไอโอดีน 131 และซีเซียม 137 มีการกระจายแน่ในเริ่มแรก ภูเขาจึงอาจช่วยได้บ้าง   แล้วเราควรเตรียมร่างกายอย่างไรถ้ามีการตอกเสาเข็มสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณู แต่ย้ายบ้านไม่ได้ สิ่งสำคัญคือ ต้องทำร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง มีระบบภูมิต้านทานดี เพราะอันตรายของสารรังสีที่สำคัญคือ การก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งน่ากลัวเนื่องจากเม็ดเลือดขาวนั้นเป็นระบบที่คอยกำจัดเซลล์มะเร็ง แล้วเมื่อกลายเป็นมะเร็งเสียเอง ทุกอย่างก็จบกัน ดังนั้นที่สำคัญที่สุดคือ ต้องทำให้ระบบเม็ดเลือดขาวแข็งแรงสามารถต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงในร่างกายเนื่องจากสารกัมมันตภาพรังสีได้  สารกัมมันตภาพรังสีนั้น ไม่ว่าชนิดใดก็ไม่ควรให้ปนในอาหารที่เข้าสู่ร่างกาย เพราะการแผ่รังสีภายในร่างกายนั้นสามารถทำให้เซลล์ของระบบต่าง ๆ กลายเป็นมะเร็งได้ทุกระบบ แต่ที่เสี่ยงที่สุดคือ ระบบที่มีความพร้อมในการแบ่งตัวตลอดเวลา คือ ระบบเม็ดเลือดขาว อย่างไรก็ดี แม้เม็ดเลือดขาวจะเสี่ยงต่อการเปลี่ยนไปเป็นเซลล์มะเร็ง เม็ดเลือดขาวเองก็มีระบบซ่อมแซมหน่วยพันธุกรรมของตัวเองเหมือนเซลล์อื่น ๆ เพียงแต่ต้องกินสารอาหารที่มีประโยชน์ครบ  เคยมีงานวิจัยที่พบว่า คนที่รอดตายจากการทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมานั้น ถ้าใครมีพฤติกรรมการบริโภคผักและผลไม้สูงจะมีชีวิตที่ยืนยาวและลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมากกว่าคนที่ไม่ชอบผักและผลไม้  การศึกษาในหนูทดลองที่ถูกฉายรังสีแกมม่า (ซึ่งสามารถได้รับจากไอโอดีน 131 และสารกัมมันตภาพรังสีอีกหลายชนิด) นั้น ถ้าสัตว์ได้รับวิตามินเอ (หรืออาจเป็นเบต้าแคโรตีนก็ได้) วิตามินอี และวิตามินซี ก่อนการทดลอง การแตกหักของเซลล์เม็ดเลือดขาว (ซึ่งเป็นดัชนีชีวัดอันตรายจากรังสี) จะลดลง ดังนั้นการที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง และได้รับสารกลุ่มต้านอนุมูลอิสระเพียงพอ จึงสำคัญมากๆ เพราะอันตรายที่รังสีเช่น แกมม่า ก่อให้เกิดในร่างกายเรานั้น ประเด็นหลักคือ การก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งถ้ากินอาหารมีผักผลไม้สีสดแล้วเราย่อมได้สารต้านอนุมูลอิสระมากพอ แต่ที่สำคัญอย่าไปหลงเชื่อกินสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นเม็ดๆ เพราะท่านอาจได้รับชนิดของสารต้านอนุมูลอิสระไม่ครบเท่าจากการกินอาหารทั่วไป   หลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกานั้นได้มีการเตรียมตัวรับสถานการณ์กันค่อนข้างดี เพราะหลายรัฐมีโรงไฟฟ้าประเภทนี้และในอดีตหลายรัฐก็มีปัญหาบ้างไม่มากก็น้อย ประชาชนจึงมักได้รับการอธิบายและอาจมีการฝึกรับมือเมื่อเกิดปัญหาว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ในเอกสารเรื่อง Radioactive contamination of food: A primer for consumers (ซึ่งสามารถค้นหาได้จาก google แล้ว download มาอ่านนั้น) ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนว่าควรปฏิบัติอย่างไร โดยอาศัยพื้นฐานจากข้อปฏิบัติของรัฐเวอร์มอนต์  โดยทั่วไปแล้วเมื่อเกิดปัญหาแบบที่ฟูกูชิมา ประชาชนจะได้รับคำแนะนำให้ตามข่าวอยู่แต่ในบ้าน หรืออาจต้องอพยพตามความรุนแรงของสถานการณ์ (โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีขโมยออกปฏิบัติการเหมือนในบางประเทศที่น้ำท่วมแล้วชาวบ้านยอมตายคาบ้าน) ผักผลไม้หรือพืชที่ปลูกไว้อื่นๆ ถ้าสามารถคลุมด้วยผ้าใบกันน้ำได้ จะช่วยให้มีอาหารกินได้นานขึ้น  อาหารประเภทที่มีความปลอดภัยในสถานการณ์ดังกล่าวคือ อาหารกระป๋อง สำหรับนมที่จะให้เด็กนั้นต้องมาจากวัวที่ได้รับการดูแลไม่ให้สัมผัสสารรังสีคือ อยู่ในโรงเลี้ยงและกินอาหารที่ได้รับการตรวจสอบ (หรือไม่ก็ดูฉลากว่ามาจากประเทศที่ไม่มีปัญหาการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี) เหตุที่ต้องเป็นเช่นนี้เพราะ เด็กและวัยรุ่นที่กำลังเติบโตนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งสูงสุด ส่วนประเภทแก่เฒ่าเขี้ยวลากดินแล้วนั้น เซลล์มันไม่ค่อยแบ่งแล้ว ความเสี่ยงก็ต่ำลง  อาหารประเภทผักผลไม้ ไม่ว่าปลูกเองหรือซื้อมาควรล้างให้มากเป็นพิเศษ หรือถ้าปอกเปลือกได้ก็ต้องปอกเปลือก แต่ในกรณีสารรังสีซึมเข้าไปอยู่ในเนื้ออาหารแล้ว ก็ตัวใครตัวมันครับ อย่างไรก็ตามในหลักการแล้ว อย. จะต้องดูแลเรื่องนี้  เนื้อสัตว์ต่างๆ ควรมาจากฟาร์มที่เลี้ยงสัตว์แบบปกปิดมิดชิด ซึ่งก็คือฟาร์มขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันบ้านเราก็มีหลายแห่ง อาหารเนื้อสัตว์จากฟาร์มเล็กจะค่อนข้างมีปัญหาจึงควรหลีกเลี่ยง แต่ถ้าเลี่ยงยากให้ลดความเสี่ยงโดยอาศัยหลักการที่ว่า ปรกติแล้วสารรังสีที่ให้รังสีแกมมาเช่น ไอโอดีน 131 นั้นมีอายุค่อนข้างสั้น กล่าวคือ เวลาผ่านไป 8 วัน ปริมาณจะลดลงครึ่งหนึ่ง ดังนั้นอาหารที่ปนเปื้อนสารรังสีไอโอดีน 131 จึงมักจะมีความเสี่ยงลดลงถ้าเก็บไว้ในที่ปลอดภัยสักระยะหนึ่งจึงนำมาบริโภค (หมายความว่าเมื่อไม่มีอย่างอื่นกินแล้ว) ส่วนปลาหน้าดินที่เลี้ยงในบ่อที่อยู่ในบริเวณมีสารรังสีปนเปื้อนนั้น จะมีการปนเปื้อนมากกว่าปลาที่หากินผิวน้ำ ดังนั้นเราอาจต้องลืมผัดเผ็ดปลาดุกสักพักหนึ่งถ้าโรงไฟฟ้าปรมาณูในบ้านเรา(ถ้ามี) เกิดปัญหา สุดท้ายแล้วสิ่งที่ควรพิจารณามากที่สุดคือ ทำไมเราต้องมีโรงไฟฟ้าปรมาณู ทำไมเราไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือ การใช้ไฟเปลืองเกินจำเป็น หรือถ้ามันต้องใช้ไฟฟ้ามาก ทำไมไม่มองพลังงานที่สะอาดจริง ๆ เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือแม้แต่พลังงานน้ำที่ทำในขนาดเล็กพอเพียงใช้ในชุมชน ไม่ใช่ทำเขื่อนกั้นน้ำเบ้อเริ่มบนรอยแยกของเปลือกโลกแล้วทำให้คนท้ายน้ำใส่ชูชีพนอนตลอดเวลา คนไทยเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางจริยธรรมสูงมาก แค่น้ำมันปาล์มขาดตลาดก็แย่งกันกักตุนแล้ว เมื่อใดที่ข้าวสารขาดตลาดจะเกิดภาวะวุ่นวายเพียงใด และถ้าเกิดอุบัติภัยขนาดใหญ่เช่นที่ฟูกูชิมาคนไทยจะต่างคนต่างหาทางเอาตัวรอดเพียงใด ดังนั้นเมื่อใดที่รัฐบาลสามารถทำให้คนไทยมีความเป็นระเบียบ หัดเข้าคิวทำกิจกรรมในสถานการณ์ปรกติได้ ค่อยคิดเรื่องมีโรงไฟฟ้าปรมาณูดีกว่ามั้ง  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 186 ดูแลผู้สูงวัย ใช้ยาปลอดภัย และเป็นสุข

ผมมีโอกาสไปร่วมฟังการนำเสนอผลงานวิชาการของ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในจังหวัด น้องพยาบาลได้เล่าประสบการณ์ที่พบปัญหาของผู้สูงวัยเกี่ยวกับการใช้ยามากมาย เช่น เมื่อแพทย์จ่ายยาขับปัสสาวะเพื่อใช้ในการรักษาโรคความดันให้กับคุณยายท่านหนึ่ง คุณยายกลับไม่ยอมรับประทาน อ้างว่าตนเองก็ปัสสาวะได้เป็นปกติ ทำไมจะต้องทานยาขับปัสสาวะอีก  หรือแพทย์สั่งจ่ายยาให้คุณป้ารายหนึ่งรับประทานครั้งละครึ่งเม็ด เจ้าหน้าที่ก็เข้าใจว่าแกรับประทานยาตามที่ให้จนครบ เพราะยาหมดตามเวลา แต่มารู้ภายหลังว่าแกหักเม็ดยาไม่เป็น เลยใช้มีดสับ หลังๆ ขี้เกียจสับ เลยกินทีละเม็ดวันเว้นวัน เมื่อครบกำหนดยาก็หมดพอดีนี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น เพราะจากประสบการณ์ของน้องๆ เภสัชกรที่ได้ลงเยี่ยมบ้านผู้ป่วยร่วมกับทีมสุขภาพ ก็มักจะมาเล่าให้ฟังเสมอๆ ว่า ผู้ป่วยสูงวัยหลายราย ไม่ได้รับประทานแต่ยา แต่ยังรับประทานผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกด้วย จนได้รับผลข้างเคียงอันตรายหลายรายเช่นกัน  ดังนั้นในขณะที่สังคมเรากำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงวัย การเตรียมเฝ้าระวังและป้องกันความเสี่ยงจากการใช้ยาและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของผู้สูงวัย จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่พวกเราต้องหันมาใส่ใจอย่างละเอียดมากขึ้น ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้สูงวัย และญาติพี่น้องหรือผู้ดูแลทีมเจ้าหน้าที่ ต้องใส่ใจในการพิจารณาสั่งจ่ายยาให้เหมาะสม ควรเลือกยาที่สะดวกในการใช้ของผู้สูงวัย เมื่อจะส่งมอบยาก็ต้องแนะนำข้อมูลต่างๆ ให้ละเอียด สื่อสารให้ผู้สูงวัยหรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลผู้สูงวัยเข้าใจอย่างดี ข้อความบนฉลากควรเป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่าย เขียนด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่เท่าที่ผู้ป่วยหรือผู้ดูแล จะสามารถอ่านได้สะดวก ตัวผู้ป่วยเอง หากสงสัยหรือไม่มั่นใจ ก็ต้องถามให้หมดสิ้นความสงสัย หากเกรงว่าจะลืมหรือจำไม่ได้ ก็ควรจดบันทึกเพิ่มเติม หรือเขียนกำกับไว้ที่ซองยาหรือฉลากยา  ญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วย ต้องพยายามสังเกตให้ดีว่าผู้ป่วย รับประทานยาตรงตามที่ได้รับคำแนะนำมาหรือไม่ และหมั่นสังเกตอาการของผู้ป่วยด้วยว่ามีอาการผิดปกติหรือเปล่า หากมีอาการผิดปกติ ควรสอบถามผู้ป่วยให้ละเอียด เช่น เกิดอาการเมื่อไร  ผู้ป่วยได้รับประทานผลิตภัณฑ์อื่นๆ ร่วมด้วยหรือเปล่าและที่สำคัญทั้งผู้ป่วยและญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วย ไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามคำโฆษณา เพราะผู้ป่วยสูงวัยที่มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังต่างๆ  มักเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะถูกชักชวนให้ซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากผู้ขาย หรือถูกชวนไปตรวจสุขภาพฟรีๆ แล้วโน้มน้าวให้ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดต่างๆ มาใช้  สุดท้ายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ บางทีกลับทำให้อาการป่วยเพิ่มมากขึ้นหรืออาจทำให้ได้รับอันตรายเพราะมีข้อมูลมากมายที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่โอ้อวดสรรพคุณเหล่านี้ มักมีสารปนเปื้อนอันตราย เช่น เครื่องดื่มสมุนไพรแก้ปวดเมื่อยที่ผสมสารสเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์บำรุงตับไตไส้พุง บำรุงตา บำรุงหัวใจ ดังนั้นหากไม่แน่ใจ ขอให้สอบถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านก่อนตัดสินใจนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 เลือกบริโภค “ผัก” ปลอดสาร ต้องมั่นใจว่าปลอดภัยจริง

“กินผักดี  มีประโยชน์” แนวทางหนึ่งที่คนรักสุขภาพเชื่อกันว่าจะทำให้ห่างไกลจากโรควิถีชีวิต ซึ่งเป็นโรคที่รายงานจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนยุคนี้ถึงกว่า 66 % โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจากการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ การบริโภคอาหารนอกบ้าน ประเภทอาหารจานด่วน การมีพฤติกรรมกินอาหารมีไขมันแบบเดิมๆ ซ้ำๆ จึงทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา อาทิ เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ฯลฯ ­­ “เตรียมผักไว้ทำกับข้าว” กินที่บ้านกับคนในบ้าน ดีทั้งสุขภาพ และมีความสุขกับคนในครอบครัว ลูกๆ หลานๆ  แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่า “ผัก” ที่บริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ปลอดสารพิษ กินดี และมีประโยชน์จริง เพราะผักปลอดสารพิษที่นำมาขายตามท้องตลาดและห้างสรรพสินค้า มีมากชนิดเสียจนบางครั้งก็ทำให้สับสนว่าจะเลือกซื้อร้านไหน หรือ ยี่ห้อไหนดี หรือว่าจำเป็นหรือไม่ที่หันมาบริโภคผักปลอดสารพิษที่มีราคาสูงกว่าผักทั่วไปถึง 3-4 เท่าตัว สำหรับผักปลอดสารพิษนั้น หลายๆ คนอาจเข้าใจว่ามีกรรมวิธีการปลูกขึ้นโดยธรรมชาติ และไม่มีการใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น อันที่จริงแล้วอ่านดูจากข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ซึ่งทำหน้าที่ดูแลและตรวจสอบมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร พบว่าเขาอนุญาตให้มีการใช้สารเคมีบางชนิดในผักปลอดสารพิษได้ เช่น ปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง ฮอร์โมน แต่มีข้อแม้คือ สารเคมีดังกล่าวจะต้องมีสารตกค้างในระยะสั้นเท่านั้น และจะต้องหยุดใช้ก่อนการเก็บเกี่ยวที่ทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดไว้  ซึ่งนี่ถือเป็นมาตรการป้องกันระดับหนึ่งของหน่วยงานภาครัฐ จากตารางข้างต้น อธิบายได้ว่า ผักอินทรีย์ หรือผักออร์แกนิค คือผักที่ไม่ใช้สารเคมี ทั้งสิ้นในการปลูก ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีกำจัดโรค กำจัดแมลง กำจัดศัตรูพืช ไม่ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ ไม่ใช้เมล็ดดัดแปลงพันธุกรรม และให้ความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม. ส่วนผักอนามัย จะปลูกแบบใช้สารเคมีในปริมาณที่กรมฯ กำหนด มีการใส่ใจเรื่องความสะอาดทุกขั้นตอน ก่อนและหลังการเก็บและบรรจุลงหีบห่อ สำหรับ  ผักปลอดสารพิษ ต้องไม่มีการใช้สารเคมีแต่ก็มีบางชนิดที่สามารถใช้ได้ ผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเป็นการปลูกโดยน้ำนั้น ยาฆ่าแมลงและยาปราบ ศัตรูพืชจะเข้าสู่ผักได้ แต่ทราบว่ากรมฯ เขาก็ได้กำหนดปริมาณที่เหมาะสมไว้แล้วเช่นกัน ฟังดูอย่างนี้ก็จะรู้สึกว่าผักอินทรีย์ หรือผักออร์แกนิค น่าจะสะอาดที่สุดและปลอดภัย กว่าผักประเภทอื่น แต่ก็มีราคาสูงมาก ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคแล้วว่าจะเลือกซื้อแบบไหน ที่น่าคิดคือ เรามั่นใจได้อย่างไรว่า ข้อความที่พิมพ์ไว้บนถุงผักที่วางขายตามร้าน ได้ผ่านการปลูกแบบปลอดสารพิษจริงๆ ไม่ใช่แค่พิมพ์ข้อความไว้เท่านั้น ก็คงต้องฝากหน่วยงานไปเข้มงวดกวดขันกันหน่อย หรือหากไม่อยากเสียเงินเยอะๆ ก็ซื้อผักธรรมดาตามท้องตลาดก็ได้ แต่ลองเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เช่น อย่าเลือกซื้อแต่ผักที่สวย ไม่มีหนอนหรือแมลงกัดกิน เพราะนั่นแสดงว่าอาจมีการใช้สารเคมีในการปลูก แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไปเพราะได้ข่าวว่าหลังๆ นี้เริ่มมีวิธีการหลอกลวงขั้นเทพ คือสามารถทำให้ผักที่ขายมีร่องรอยเหมือนหนอนกินได้แล้ว เท็จจริงอย่างไรก็ลองสืบหาข้อเท็จจริงกันต่อไป กินผักตามฤดูกาล กินผักหน้าตาแปลกๆ บ้าง ไม่ซ้ำซากอยู่แต่กับผักเดิมๆ ก็ช่วยได้มาก ข้อสำคัญไม่ว่าจะเลือกซื้อผักปลอดสารพิษ หรือไม่ปลอดสารพิษมาแล้วก็ต้องล้างให้สะอาดด้วยอย่างน้อยก็ช่วยลดสารปนเปื้อนลงได้ระดับหนึ่ง(เว้นพวกดูดซึม อันนี้สุดจะเยียวยา) ก่อนนำมารับประทานหรือปรุงอาหาร จะได้มั่นใจขึ้นเป็นสองเท่า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 119 อาหาร 1 ใน 3 ไม่ปลอดภัย

  นับเนื่องจากที่ผมได้ร่วมทำโครงการอาหารปลอดภัย(ชื่อเล่นนะครับ) ผมก็ได้นำเสนอผลการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารไปหลากหลายชนิดมาก มากขนาดรวมเป็นหนังสือ “ถูกปาก” ที่ทางฉลาดซื้อจัดพิมพ์จำหน่ายไปเมื่อตุลาคมที่ผ่านมาได้หนึ่งเล่มเชียวนะครับ   แต่งานในโครงการฯ นี้มีมากกว่าการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารครับ ท่านบอกอเลยขอร้องเสียงแข็งให้ผมช่วยสรุปภาพรวมของโครงการฯ มาเล่าให้สมาชิกฉลาดซื้อได้รับรู้บ้าง ก็เลยขอเบียดคอลัมน์ช่วงฉลาดช้อปหน่อยนะครับ ความเป็นมาโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคเป็นโครงการความร่วมมือของ 3  ภาคี คือระหว่างเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคใน 8 จังหวัด (กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และสตูล)   โดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้ประสานงานกลางกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการทางอาหารในระดับภูมิภาค (ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น และ ม.สงขลานครินทร์) ที่มีสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ประสานงานกลาง และ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี   ทำหน้าที่พัฒนาและดูแลระบบฐานข้อมูลการเฝ้าระวังความไม่ปลอดภัยทางอาหาร ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์หลักสามประการ คือ (1) เพื่อพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค (2) เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจากปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร และ (3) เพื่อพัฒนาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร   เราทำอะไรไปบ้าง จากการดำเนินงานที่ผ่านมา การพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ได้          จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารในระดับจังหวัดขึ้นใน 8 จังหวัด จาก 4 ภูมิภาค โดยมีสมาชิกเครือข่ายที่ตื่นตัวและทำการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารประมาณ 500 คน ในกรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และจังหวัดสตูล โดยศูนย์เฝ้าระวังทั้ง 8 จังหวัดได้พัฒนาร่วมกันเป็นกลไกการเฝ้าระวังระดับประเทศ  จัดกิจกรรมสำคัญ (ก) การสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่พื้นที่ดำเนินงานทุก 2 สัปดาห์  (ข) การฝึกอบรมด้านกฎหมาย เทคนิคการรับเรื่องร้องเรียนด้านอาหาร และการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน   นอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลราชธานี พัฒนาระบบฐานข้อมูลและเว็บไซท์ สำหรับการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร www.tumdee.org/food/ เชื่อมโยงกับเว็บไซท์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org เพื่อสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นและง่ายแก่การนำข้อมูลไปใช้ และได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพในการใช้ฐานข้อมูลและการรายงานข้อมูลความไม่ปลอดภัยด้านอาหารแก่เจ้าหน้าที่ของพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัด   ข้อมูล  อีกทั้งยังได้ดำเนินการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลผลการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ หรือสื่อความรู้แบบอื่น ๆ เพื่อให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และปลอดภัย   อาหาร 1 ใน 3 ไม่ปลอดภัยจากที่ได้รายงานผลทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารอย่างสม่ำเสมอในฉลาดซื้อ อันนี้เกิดจากความร่วมมือกันของศูนย์ฯ ทั้ง 8 จังหวัด ที่แข็งขันช่วยกันลงพื้นที่เก็บตัวอย่างและส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างที่เราส่งวิเคราะห์รวมกว่า 750 รายการ   และจากการวิเคราะห์พบว่าอย่างน้อย 1 ใน 3 ของอาหารที่สุ่มตัวอย่าง มีการปนเปื้อนเกินมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นด้านจุลินทรีย์ หรือเคมี ยกตัวอย่างเช่น สารกันบูดในลูกชิ้นหมู ไก่เนื้อ และปลา ยาฆ่าแมลงในผัก-ผลไม้   ทั้งที่เป็นประเภทปลอดสารและที่ขายอยู่ในตลาดปกติ ยาฆ่าแมลง อะฟลาท็อกซินและโลหะหนักตกค้างในของแห้งจำพวก กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาว และสาหร่ายแกงจืด ทั้งนำเข้าและที่ขายอยู่ภายในประเทศ จุลินทรีย์ปนเปื้อน หรือความผิดปกติของค่าโปรตีน(มีทั้งน้อยและมากจนผิดปกติ)ในนมโรงเรียนทั้งชนิด พาสเจอร์ไรส์ และยูเอชที และคุณค่าทางโภชนาการและโลหะหนักในสาหร่ายขนมเด็ก เป็นต้น ซึ่งคงผ่านตาท่านผู้อ่านฉลาดซื้อไปแล้ว  เรื่องอาหารที่เรานำเสนอนี้สร้างกระแสฮือฮาได้มากนะครับ ผมได้รับจดหมายไถ่ถามจากบริษัทผู้ผลิตเป็นระยะๆ ว่า โครงการฯ เราทำอะไร ทดสอบยังไง โดยส่วนใหญ่ผู้ผลิตเจ้าใหญ่ที่พบว่าเกิดปัญหากับผลิตภัณฑ์ของตน ก็ยินดีที่ทางเราช่วยเป็นหูเป็นตาให้อีกทาง และพร้อมที่จะนำข้อเสนอของเราไปปรับปรุงตัวผลิตภัณฑ์ อันนี้ถือเป็นเรื่องน่ายินดีมากครับ และรายที่แย่ๆ หาผู้ผลิตไม่เจอ ก็พบว่า หายหน้าหายตาไปจากตลาดเหมือนกันครับ อันนี้ผมถือว่า เป็นเรื่องดี แต่อาจจะมาโผล่ในชื่อหรือยี่ห้ออื่นหรือไม่ อันนี้ต้องติดตามกันต่อไป   ข้อเสนอทางด้านนโยบายเมื่อพบว่ามีปัญหาอะไรบ้างในห่วงโซ่ของการผลิตอาหาร ผู้ร่วมดำเนินงานในโครงการฯ ก็ได้ร่วมกันพัฒนานโยบายสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยของอาหารขึ้น ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสมัชชาผู้บริโภค ที่มีผู้บริโภคเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 500 คน คิดว่าหลายท่านก็คงจะได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นด้วย  จากนั้นก็นำเสนอรายละเอียดเผยแพร่ให้กับสาธารณชน เพื่อที่จะได้ผลักดันให้หน่วยงานรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุม กำกับดูแล และส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยด้านอาหารได้พัฒนาต่อไป สำหรับท่านใดที่สนใจเรื่องข้อเสนอนโยบาย เราจัดทำเป็นเอกสารแจก ติดต่อมาที่ผมได้ครับเอกสารยังพอมีเหลืออยู่บ้าง   ก้าวต่อไปเพื่อสังคมที่มีคุณภาพถึงแม้โครงการนี้จะเป็นการทดลองพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารใน 8 จังหวัด และมีความจำกัดด้านความรู้เชิงวิชาการขององค์กรผู้บริโภคในการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องนี้ต่อสาธารณะ แต่โครงการได้ขยายผลเพิ่มเติมในการพัฒนาความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)   โดยมีคณะทำงานในการใช้ประโยชน์จากผลข้อมูลการเฝ้าระวังอาหารร่วมกัน และการพัฒนาความร่วมมือเรื่องอาหารปลอดภัย ในอนาคต ซึ่งหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่นควรจะมีการสนับสนุนระบบการพัฒนาการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร และการรณรงค์เรื่องอาหารปลอดภัยโดยผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารของประชาชนคนไทยทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 ประกันฯ ที่ไม่มั่นคง

คปภ.และบริษัทประกันภัย โหมรณรงค์ให้คนไทยทำประกันภัยกันอย่างครึกโครม  โดยที่จริงๆ แล้วเรื่องประกันภัย ประกันสุขภาพ  ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่รอให้ “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) แก้ไขอย่างจริงจัง   วันก่อนพี่จิ๋ม(นามสมมุติ) มาร้องเรียนว่า  ถูกบริษัทประกันภัยชื่อดัง  ส่งหนังสือมาบอกเลิกสัญญา  ทั้งๆ ที่ได้ซื้อประกัน ในราคา 2 หมื่นกว่าบาทต่อปี มาตั้งแต่ ปี 2552 และซื้อต่อเนื่องมาจนถึง  ตุลาคม 2558   ก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญา(พร้อมแนบเงินที่เหลือปีสุดท้ายส่งมาด้วย)   เมื่อถามต่อก็ได้ทราบว่าเหตุผลที่ถูกบอกเลิกสัญญาคือ  กล่าวหาว่าผู้ซื้อประกันปกปิดข้อมูลการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆมากมาย   ทั้งเบาหวาน ความดัน ฯลฯ ทั้งที่ตอนทำประกันผู้ซื้อยังไม่ได้เป็นโรคเรื้อรังอะไร   ผู้ร้องทุกข์เล่าให้ฟังอีกว่า ในหนังสือที่ส่งมาแจ้งอีกว่า รู้ข้อมูลการเป็นโรคของผู้ซื้อแล้วตั้งแต่เดือน มีนาคม 2558  แต่ไม่มีการแจ้งให้ผู้ซื้อประกันทราบ   นอกจากไม่แจ้งให้ผู้ซื้อทราบแล้ว  ยังเรียกเก็บเงิน   ไปอีกเมื่อ 30 กันยายน 2558   แล้วก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญาในเดือนตุลาคม  ในปีเดียวกัน  ที่เจ็บใจมากคือ  ลงเงินซื้อประกันฯไปตั้งแต่ปี  2552  จนถึงปัจจุบัน รวมๆ แล้วประมาณ 150,000  บาท แต่บริษัทคืนให้เฉพาะเงินที่ลงไปปีล่าสุดเท่านั้น  อย่างนี้เท่ากับหรอกให้เราซื้อประกัน  พอเราเป็นโรคก็ไม่ ก็ปฏิเสธการดูแล  ด้วยการบอกเลิกสัญญาดื้อๆ แบบนี้ เรื่องลักษณะนี้ไม่ได้เกิดกับคุณจิ๋มคนเดียว แต่เกิดขึ้นกับอีกหลายๆ คน  คำถามคือเรื่องแบบนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือฉ้อโกงกันแน่(เรื่องนี้คงต้องรอคำตอบจากคำสั่งศาล) หากอ้างกฎหมายผู้ซื้อประกันหากสู้ยาก เพราะกฎหมายประกันวินาศภัย ข้อหนึ่ง เขียนไว้กว้างๆ ว่า “หากบริษัทเห็นว่ามีความเสี่ยงสามารถบอกเลิกสัญญาได้”  ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องร่วมกันผลักดันคือ  ต้องให้ คปภ. กำหนดระเบียบกติกาที่ชัดเจน  ในการบอกเลิกสัญญาประกันภัยฯ  ว่าลักษณะไหนบ้างที่บริษัทจะบอกเลิกสัญญาได้  และลักษณะไหนที่ห้ามบอกเลิกสัญญา   ถ้าบริษัทฯ ใดละเมิดต้องจัดการให้เป็นตัวอย่าง  ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อ  และเบื่อการซื้อประกันฯ เพราะไม่เป็นผลดีทั้งผู้ซื้อประกันฯ และบริษัทประกันภัย  ก็ขอเรียกร้องให้ คปภ.ขยับเรื่องนี้ให้จริงจังเสียที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 ถึงเวลาต้องปฏิรูปการเข้าถึงอาหารปลอดภัย

15 มีนาคม ของทุกปี  คือวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล  เป็นวันที่ผู้บริโภคทั่วโลกลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน  จากการที่ถูกละเมิดสิทธิโดยผู้ประกอบการที่ไร้ธรรมาภิบาล  โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศมีหน้าที่กำหนดนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแท้จริงแล้ว  ประเทศไทยมีการพูดถึงสิทธิผู้บริโภคมาก่อนปี 2520  และผลักดันจนทำให้เกิด พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2522  โดยกำหนดสิทธิผู้บริโภคไว้ถึง 5 ประการ  คือ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ/สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกสินค้าและบริการ/สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา/สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ/สิทธิจะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย   (ยังมีสิทธิผู้บริโภคสากลอีก 3 ข้อ)และให้มี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ  มาเป็นผู้กำกับดูแลงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย  และมีการขยายงานคุ้มครองผู้บริโภค ออกไปอีกหลายหน่วยงานในแต่ละด้านแต่รัฐก็คือรัฐ งานทุกเรื่องเป็นไปอย่างล่าช้า   ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมผู้ประกอบการที่ไร้จริยธรรม  แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มีผลบังคับใช้มากว่า 35 ปีแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจัง!งานสมัชชาผู้บริโภคที่จัดขึ้นวันที่ 15 มีนาคม ปีนี้   เน้นไปที่เรื่องการเข้าถึงอาหารปลอดภัย  เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  จริงจังกับเรื่องอาหารปลอดภัยเพิ่มขึ้น  ไม่ใช่บริโภคอาหารตามที่โฆษณา เช่น  กินชาเขียว(น้ำตาลเยอะ)แล้วได้รถเบนซ์  กินเครื่องดื่มชูกำลังแล้ว ได้เงิน 10 ล้าน  คนก็ระดมกินกันมากมายเพื่อหวังรวย  มิได้กินเพื่อเป็นอาหาร  ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทเครื่องดื่มชูกำลัง มักชอบไปจัดงานอีเว้น  ในต่างจังหวัดโดยมีสิ่งล่อใจ ด้วยของขวัญของรางวัล และเชิญดารานักร้องดังไปปรากฏตัว  แต่มีข้อแม้ใครจะเข้างานต้องมีฝาขวด 10 ฝา  บางคนก็เตรียมมาจากบ้าน  คนที่ไม่ได้เตรียมมาก็ซื้อได้เลยหน้างาน สิ่งที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ เด็กประมาณ 11 ขวบ ยืนกินเครื่องดื่มชูกำลังตรงนั้นรวดเดียว 10 ขวด  เพียงแค่อยากเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับดาราที่ชื่นชอบ  โดยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีใครเสนอตัวเข้ามาเป็นเจ้าภาพจัดการ       ยังไม่รวมถึงการโฆษณาอาหารเสริม  ให้เข้าใจผิดว่าเป็นยารักษาโรค   การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพที่สำคัญ  มี  2 ส่วน ต้องมีการกำกับการโฆษณาอาหารมิให้เกิดการโฆษณาเกินจริง และใช้การพนันมาสร้างแรงจูงใจให้ซื้อสินค้า   ควบคุมความหวานในอาหาร และกำหนดห้ามดื่มเกินวันละ กี่ขวด   เพราะ “ปากคือประตูสู่โรคภัย”  ไม่ควบคุมวันนี้ อนาคตเด็กไทย  จะเป็น “คนอมโรค” ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ  และความมั่นคงของประเทศ   ดังนั้นการทำให้ผู้บริโภคเท่าทัน!  ก่อนหยิบอะไรใส่ปากจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง!  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 ถูกฟ้องศาลเพราะลิเบอร์ตี้ประกันภัยไม่ยอมจ่ายเงินให้คู่กรณี

คุณภูษิต หนุ่มวัย 39 ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 กับบริษัท ลิเบอร์ตี้ ประกันภัย จำกัด ซึ่งเขาไม่ทราบเลยว่าในขณะนั้นบริษัทประกันภัยรายนี้เริ่มมีภาวะการเงินที่ง่อนแง่น เหตุการณ์เริ่มขึ้นในวันที่ 4 มกราคม 2553 คุณภูษิตขับรถยนต์โตโยต้าคู่ใจไปทำธุระที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จนเวลาเกือบ 2 ทุ่มจึงขับรถเพื่อจะออกจากห้าง ขณะที่ขับรถมาตามถนนภายในห้างสรรพสินค้าที่มีอยู่ 2 ช่องทางการจราจรเพื่อออกถนนใหญ่ มุ่งหน้าไปแยกประตูน้ำ ด้วยความใจร้อน คุณภูษิตนั้นขับอยู่ช่องทางด้านขวาขนาบคู่มากับรถเก๋งอีกคันหนึ่ง ซึ่งมีคุณสุมาลีขับอยู่โดยวิ่งไปในทิศทางที่จะออกจากห้างเหมือนกัน เมื่อรถทั้งสองคันแล่นมาถึงบริเวณทางออกถนนหน้าห้าง แทนที่คุณภูษิตจะยอมให้รถคันซ้ายเลี้ยวออกไปก่อน กลับขับรถตัดหน้ารถของคุณสุมาลีทันที ผลของการขับรถ “ปาด” กัน ทำให้รถยนต์ของคุณสุมาลีทั้งไฟหน้า กันชนและบังโคลนมีรอยครูด ได้รับความเสียหาย คุณสุมาลีนั้นทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ไว้กับบริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) จึงเรียกพนักงานของบริษัทประกันภัยมาจัดการปัญหา ซึ่งคุณภูษิตหลังจากตั้งสติได้ก็ยอมทำบันทึกยอมรับผิดที่ตนเองไปขับรถปาดหน้าคู่กรณีให้กับบริษัท ประกันคุ้มภัยฯ โดยเข้าใจว่า เดี๋ยวบริษัทลิเบอร์ตี้ จะรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแทนตามสัญญาประกันภัยรถยนต์ประเภทที่ 3 ที่ได้ทำไว้ ปรากฏว่าหนึ่งปีให้หลัง วันที่ 4 มกราคม 2554 คุณภูษิตถูกบริษัทประกันคุ้มภัยฯ ซึ่งรับช่วงสิทธิมาจากคุณสุมาลี ในฐานะผู้เสียหายตัวจริงฟ้องเรียกค่าซ่อมรถที่ประกันคุ้มภัยฯ จ่ายซ่อมในฐานะผู้รับประกันเป็นเงินประมาณ 11,000 บาทเศษ พอโดนฟ้องอย่างนี้คุณภูษิตต้องรีบมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้องถามเสียงหลงว่า “ทำไมถึงทำกับผมได้” แนวทางแก้ไขปัญหา คุณภูษิตก็เหมือนลูกค้าลิเบอร์ตี้ประกันภัยอีกหลายราย ที่ไม่เคยทราบเลยว่าบริษัทประกันแห่งนี้มีปัญหาด้านการเงินไม่ต่างจากบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย ซึ่งถูกสั่งปิดกิจการไปแล้ว เมื่อมีปัญหาด้านการเงินก็ไม่มีการบอกกับลูกค้า เอาแต่เงินเข้ากระเป๋ารับทำประกันอย่างเดียว แต่พอถึงเวลาเคลมไม่ยอมมาเคลมและปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมหลายรายที่ไม่รู้ช่องทางการร้องเรียน มูลนิธิฯ จึงได้แนะนำให้คุณภูษิตไปแจ้งเรื่องร้องเรียนกับสำนักงานส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยโดยตรง หลังจากนั้นไม่นานบริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย เมื่อได้รับเรื่องแล้วจึงได้ประสานกับทางฝ่ายกฎหมายของบริษัท ประกันคุ้มภัย เพื่อดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมให้ เมื่อสองบริษัทประกันคุยกัน ท้ายที่สุดยอมยุติตกลงรับค่าสินไหมกันที่ 9,670 บาท จากที่ฟ้องมา 11,000 บาทเศษ และได้ทำการถอนฟ้องคุณภูษิตในท้ายที่สุด นับเป็นความรับผิดชอบของบริษัทประกันภัยชื่อดังที่ล่าช้าไปเป็นปี แต่ก็ยังดีที่มีความรับผิดชอบหลงเหลืออยู่บ้างทำให้คุณภูษิตรอดจากคำพิพากษาไปแบบหวุดหวิด สำหรับบริษัทลิเบอร์ตี้ประกันภัยนั้น กระทรวงการคลังได้ มีคำสั่ง ที่ 709 /2554 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2554 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ไปเป็นที่เรียบร้อยโรงเรียน คปภ.แล้ว เนื่องจากบริษัทฯ มีฐานะการเงินดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย โดยมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 จำนวน 65.78 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 โกงกันเห็นๆ

มีผู้ซื้อประกันภัยมากกว่า 3 ราย ได้ทำหนังสือร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีมุมที่น่าสนใจมาก เขาบอกว่าที่เขาตัดสินใจยอมเสียเงินทำประกันภัยไว้ก็เพื่อประกันความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยที่เขาไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด(จ่ายเพื่อความสบายใจ) โดยเฉพาะการที่ยอมเสียเงินเพิ่มทำประกันภัยรถยนต์ ประเภทประกันชั้น 1   ที่ต้องเสียเงินมากกว่า 10,000 บาทเพราะเห็นว่าสิทธิประโยชน์ตามสัญญาในกรมธรรม์ มีวงเงินจ่ายความเสียหายแต่ละครั้ง 10 ล้านบาท หากมีผู้เสียชีวิตจ่ายในวงเงิน 500,000 หรือ 250,000 บาทต่อราย(แล้วแต่ตกลงกันในสัญญา) และยังมีวงเงินสำหรับประกันตัวในกรณีที่มีคดีความอีกด้วยนับว่าการจ่ายเงินของเขาเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อเกิดเหตุขึ้นบริษัทประกันจะได้มารับภาระแทนเขาตามสัญญาที่ทำไว้ คือ 1. เมื่อเกิดเหตุก็มีคนจ่ายเงินให้ 2.เมื่อมีคดีความก็มีคนดูแลแต่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น คนที่มาร้องเรียนเขาบอกกับเราว่าเขาตัดสินใจทำประกันไว้กับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด     เพราะชอบที่โฆษณาที่ว่าเมื่อเกิดเหตุ   จะไปเร็ว เคลมเร็ว  แต่เมื่อเขาพลาดประสบเหตุเฉี่ยวชนคนตาย เขาต้องใช้เวลาโทรหาตัวแทนประกันนานมาก....  ต่างจากโฆษณาลิบลับ โทรไปที่บริษัทใหญ่ บริษัทฯ ก็ให้เบอร์สาขาโทรไปสาขา สาขาก็ให้เบอร์ตัวแทน  เรียกว่าเอาเข้าจริงที่โฆษณาไว้ก็ไม่จริง เพราะกว่าตัวแทนจะมาถึงก็เป็นชั่วโมงๆ(กว่าจะมาตำรวจลากรถไปไว้โรงพักแล้ว)เมื่อเขาต่อว่า ว่าไม่เห็นมาเร็วเหมือนโฆษณาเลย ก็ได้คำตอบจากตัวแทนว่า อ๋อนั่นเฉพาะในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดไม่เร็วหรอกเพราะคดีเยอะ มีเจ้าหน้าที่น้อย(แล้วทำไมตอนโฆษณาไม่บอกว่าเฉพาะกรุงเทพฯ อย่างนี้มันหลอกลวงกันชัดๆ) เมื่อตัวแทนมาถึงก็จดๆ ถ่ายรูป แล้วตำรวจก็นัดเจรจากันอีกครั้งโดยมีการกำหนดวันเวลาไว้ชัดเจนเมื่อถึงวันนัดคู่กรณีมาพร้อมขาดเพียงตัวแทนบริษัทประกัน ตำรวจบอกให้มาคุยกันต่อหน้าตำรวจเลยจะเอาอย่างไรก็ว่ามา เขาบอกว่าเขางงมาก เพราะไม่รู้จะเจรจาอย่างไร เขาไม่รู้อะไรเลย จริงๆ หน้าที่เจรจาต้องเป็นหน้าที่ของประกัน เขาบอกว่าเขาพยายามโทรหาตัวแทนอยู่หลายครั้ง เริ่มจากคนที่เคยคุยไว้ครั้งแรกก็ได้คำตอบว่าไม่ได้อยู่จังหวัดนี้ย้ายไปจังหวัดอื่นแล้ว และให้เบอร์ตัวแทนคนใหม่มา เขาก็โทรหาอีก คนที่รับสายบอกว่าไม่รู้เรื่อง เขาก็พยายามโทรหาบริษัท บริษัทก็บอกเดี๋ยวจะติดต่อสาขาให้แล้วให้เบอร์สาขามา โทรหาสาขา สาขาก็บอกว่าเดี๋ยวจะส่งตัวแทนไป(เหตุการณ์คุ้นไหม) ซึ่งขณะนั้นเขาอยู่ในสภาพที่ถูกกดดันมาก คู่กรณีก็นั่งจ้องหน้า ตำรวจก็เร่งให้เจรจาเพราะมีคดีอื่นรออยู่ ตัวแทนประกันที่เขาหวังพึ่งก็ยังไม่มา เขาถามตัวเองว่าเขาเสียเงินทำประกันไปทำไม? เมื่อมีปัญหาแล้วพึ่งไม่ได้เมื่อมีการเจรจาจริงคู่กรณีได้เรียกร้อง 700,000 บาท   เขาบอกว่าเขาอุ่นใจ เพราะเขาทำ พรบ.ไว้ 2 ส่วน คือ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ วงเงินที่จ่ายกรณีเสียชีวิต 200,000 บาท และหน้ากรมธรรม์ชั้น1 อีก 500,000 บาท รวมแล้วก็พอดีเลย   ตัวแทนก็รับไปคุยกับบริษัทโดยนัดให้ตอบในนัดต่อไปเมื่อถึงวันนัดตัวแทนประกันบอกว่าบริษัทยอมจ่ายเพียง 300,000  บาท  “จะบ้าเหรอแค่ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ(พรบ.ภาคบังคับที่เขาจ่ายเงินไป 600 บาท)บริษัทก็ต้องจ่ายเต็ม 200,000 บาทแล้ว” เพราะฝ่ายเราเป็นฝ่ายผิด แต่ประกันชั้น 1 ที่เขาเสียเงินเกือบ 20,000 บาท  บริษัทจ่าย 100,000 เดียวเหรอแล้วก็ได้คำตอบจากตัวแทนว่าประกันของเขากำหนดวงเงินไว้เพียง 250,000 บาท “ทางบริษัทพิจารณาอนุมัติวงเงินเพียงเท่านี้ผมไม่มีอำนาจตัดสินใจ” เขาบอกอีกว่าเขาได้คุยกับคู่กรณีเรื่องวงเงิน คู่กรณีบอกว่าหากจ่าย 450,000  บาท เขาก็ยินดีจะจบเรื่องเขาก็ได้แจ้งตัวแทนบริษัทไป จากนั้นมีการนัดเจรจากันอีกหลายครั้ง ครั้งนึงบริษัทก็เพิ่มวงเงินทีละประมาณ 5,000 บาท บ้างไม่เพิ่มบ้าง (โอ้โห....เล่นใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อหวังผลประโยชน์ของบริษัท บนความเดือดร้อนของทั้งผู้ซื้อประกันและผู้เสียหายอย่างนี้ก็แย่ซิ. โกงกันชัดๆ.)จนทำให้คู่กรณีไม่พอใจ และมายืนจ้องเขาแล้วบอกกับเขาว่า  “เอาลูกชั้นคืนมาชั้นไม่ได้อยากได้เงิน” ทั้งๆ ที่เรื่องควรจบได้หากบริษัทยอมจ่ายเงินตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ น้องที่ศูนย์ฯ บอกกับผู้เขียนว่าอย่างนี้แหละพี่ไปเจรจาต่อหน้าเจ้าหน้าที่คปภ. ก็ไม่ได้เรื่อง บริษัทก็ไม่ยอมจ่ายคปภ.ก็ไม่มีน้ำยาผู้เสียหายต้องฟ้องร้องเอง ท่านผู้อ่านรู้สึกเหมือนผู้เขียนไหมว่า ผู้บริโภคอย่างเราๆ ขาดที่พึ่งจริงๆ  ทั้งๆ ที่เรามีสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ยังทำอะไรไม่ได้ น่าเหนื่อยใจจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 ก๊าซเอ็นจีวี พลังงานสะอาด ปลอดภัยจริงหรือ

ยวดยานนับหลายล้านคันที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในปัจจุบัน มีรถยนต์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงอยู่เกือบ 2 แสนคัน คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเอ็นจีวีเป็นพลังงานสะอาดและปลอดภัย แต่ความเชื่อนี้อาจจะไม่เป็นจริงเสียแล้วในวันนี้เราทราบถึงคำถามเรื่องนี้จากการจัดเวทีเสวนาของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล ที่มีนางสาวรสนา โตสิตระกูล วุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน เวทีนี้จัดไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมาจุดเริ่มเรื่องมาจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือร้องเรียน มาถึงคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว โดยแจ้งว่า เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2552 กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวง พลังงาน ได้ออกประกาศขึ้นมาฉบับหนึ่ง เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของก๊าซธรรมชาติ สำหรับยานยนต์ พ.ศ.2552สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้คือ ต้องการให้เอ็นจีวีที่ใช้กับรถยนต์ซึ่งถูกผลิตมาจากแหล่งผลิตต่างๆ เช่น จากฝั่งอ่าวไทย จากฝั่งอันดามัน จากแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ จ.กำแพงเพชร หรือจากแหล่งน้ำพอง จ.ขอนแก่น และมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันโดยธรรมชาติได้มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดค่าดัชนีวอบบี้หรือค่าพลังงานความร้อน ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ได้ให้อยู่ระหว่าง 37-42 เมกกะจูล/ลูกบาก์เมตร(MJ/m3) และให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกินร้อยละ 18 ของปริมาตรอ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้บริโภคอาจคิดว่าก็ดีแล้วนี่ ที่มีการปรับปรุงคุณภาพก๊าซเอ็นจีวี แล้วจะมาร้องเรียนกันทำไม สิ่งที่ผู้บริโภคต้องตั้งคำถามสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมตรงนี้ว่า ผลของประกาศฉบับนี้ ทำให้ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ ใช้เป็นเงื่อนไขที่จะต้องมีการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดค่าดัชนีวอบบี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด ซึ่งจะต้องมีการปิดปั๊มก๊าซเอ็นจีวีหลายแห่งในช่วงเดือนสิงหาคมต่อเดือนกันยายน 2553 เพื่อทำสิ่งที่เรียกว่า “ปรับปรุง” คุณภาพก๊าซเอ็นจีวีที่จะจำหน่ายให้กับผู้ใช้รถยนต์กว่า 2 แสนคันและให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ค่าดัชนีวอบบี้หรือค่าพลังงานความร้อนที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนดน่ะ ดันต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากลของก๊าซธรรมชาติที่หลายๆ ประเทศมีใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่ถูกกำหนดไว้ที่ 46-52.9 MJ/m3 และต่ำกว่าค่าดัชนีวอบบี้ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งต่างๆ ในประเทศ โดยเฉพาะจากแหล่งอ่าวไทยซึ่งถือเป็นแหล่งใหญ่ที่นำมาผลิตเป็นก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งมีค่าดัชนีวอบบี้อยู่ที่ 41.9-44.0 MJ/m3ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค คือ การไปกำหนดค่าดัชนีวอบบี้ที่ต่ำว่ามาตรฐานสากลและต่ำกว่าคุณสมบัติที่เป็นจริงของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ของประเทศเช่นนี้ ทำให้ ปตท. ใช้โอกาสนี้เติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในในเอ็นจีวีเพื่อให้ได้มาตรฐานต่ำๆ ตามที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด และยังปล่อยให้เติมได้ถึง 18% ของเนื้อก๊าซเอ็นจีวีทั้งหมด ในขณะที่มาตรฐานสากลยอมให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกิน 3% หรือในบางมาตรฐานที่บางประเทศใช้กันเขาไม่ยอมให้มีเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน อันเกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลกนั่นเองและสิ่งที่สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ กังวลมากที่สุด คือ หากปล่อยให้มีอัตราส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงมากภายในถังเก็บก๊าซเอ็นจีวีที่ติดตั้งกับรถยนต์ประเภทต่างๆ ทั้งรถบรรทุกหรือรถยนต์ส่วนบุคคลเมื่อใด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อาจทำปฏิกิริยากับน้ำหรือความชื้นที่อยู่ในถังซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย จะทำให้เกิดเป็น Feco3 หรือเหล็กคาร์บอเนต ซึ่งจะทำให้ถังเอ็นจีวีมีโอกาสกัดกร่อนได้เร็วขึ้น เปรียบเสมือนว่า ถังก๊าซเอ็นจีวี(ที่ติดตั้งในรถยนต์กว่า 2 แสนคัน)มีโอกาสระเบิดได้ทุกเมื่อ เนื่องจากก๊าซเอ็นจีวีเป็นก๊าซคุณสมบัติเบากว่าอากาศมากจึงต้องใช้แรงดันอัดมหาศาลและต้องอยู่ในถังที่มีสภาพความทนทานมากๆ เท่านั้น ใช้ถังเหล็กธรรมดาอย่างก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีไม่ได้อ่านมาถึงตรงนี้ จึงขอตั้งเป็นคำถามสำคัญสำหรับผู้บริโภคทุกคนว่า เงินที่เราจ่ายซื้อเอ็นจีวีเติมลงไปในถังนั้นคุ้มค่าจริงหรือไม่ เพราะแทนที่เงิน 100 บาทที่จ่ายไปจะได้เอ็นจีวีที่มีคุณภาพช่วยรถวิ่งปรื๋อเต็มๆ 100 บาท กลับกลายเป็นเงินซื้อขยะอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปถึง 18 บาททั้งๆ ที่ไม่ได้มีความจำเป็นกับรถยนต์ของเราเลยสักนิด และท้ายสุดก็ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก เป็นแรงหนุนทำให้โลกร้อนขึ้นร่วมกับรถยนต์ที่ใช้ก๊าซแอลพีจี เบนซิล หรือดีเซลดังนั้น อ่านเรื่องนี้กันแล้วในฐานะคนอ่านฉลาดซื้อต้องช่วยกันตะโกนถามคำถามนี้กันดังๆ ครับ หวังว่าเมื่อกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ยินคำถามของผู้บริโภคแล้ว จะได้กลับไปใช้สมองคิดทบทวนการกำหนดคุณภาพมาตรฐานก๊าซเอ็นจีวีเสียใหม่โดยเร็ว อย่าปล่อยให้ผู้บริโภคต้องถูกเอารัดเอาเปรียบและตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตแบบนี้เลยขอรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถได้เวลาแก้ใหม่แล้ว

ช่วงนี้หากใครได้ดูข่าวทีวีนอกจากข่าวเรื่องการเมือง เรื่องสนุกสนานของรัฐบาล และเครือข่ายของอดีตนายกทักษินที่ต่อสู้กันด้วยการสาดน้ำลายใส่กันบนหน้าจอทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมถึงการใช้ระบบเทคโนโลยีถล่มกันอย่างเมามันแล้ว ก็ยังมีข่าว(ที่ต้องพยายามดู) ของเครือข่ายผู้บริโภค ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องปัญหาจากการใช้ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ เพราะ พรบ.ฉบับนี้เป็น พรบ.ที่บังคับทุกคนที่มีรถต้อง ทำพรบ.ทุกคนทุกคัน การบังคับดังกล่าวเป็นการบังคับให้ชาวบ้านอย่างเราๆ ต้องจ่ายเงินให้บริษัทประกันภัยเอกชน ที่เวลารับเงินเราแสนจะอำนวยความสะดวกทุกอย่าง มีตัวแทนไว้คอยรับทำประกันทุกที่ ทุกตรอกซอกซอยมีหมด แต่เวลาจะจ่ายสินไหมคืนเราเมื่อเราประสบอุบัติเหตุ กลับเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีเทคนิคมากมายที่จะประวิงเวลาและทำทุกวิถีทาง ที่จะจ่ายเงินให้น้อยที่สุดหรือไม่ต้องจ่ายเลยก็ยิ่งดี (ว่าไปนั่น)ผู้บริโภคเลยสุดทนกับกฎหมายที่แสนจะเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน แต่ชาวบ้านอย่างเราๆแสนจะเสียเปรียบ เสียเปรียบอย่างไรนะหรือ หากพูดไปเรื่อยๆ อาจจะเห็นภาพได้ยาก จึงขอยกตัวอย่างหนึ่งมาเล่าสู่กันฟังเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552 มีโทรศัพท์มาร้องทุกข์กับผู้เขียน กรณีคนถูกรถชนตาย 3 ศพ โดย พ่อ-แม่ ตายหมดเหลือลูกสาวคนเดียวน่าสงสารมาก ผู้เขียนได้ขับรถไปฟังเรื่องราว จึงทราบว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2552 ผู้เสียชีวิตคือนายสำเริง จันทร์รอด(ผู้ขับขี่) โดยมีนายสมโภช ณ บางช้าง และนาง ยุวดี ณ บางช้าง ซ้อนท้ายกลับจากตลาดแม่กลอง มาบนถนนวงแหวนรอบนอก ดอนหอยหลอดจังหวัดสมุทรสงคราม(ที่มีรถไม่หนาแน่น) โดยขับมาปกติ แต่จู่ๆ ก็มีรถฟอร์จูนเนอร์(โตโยต้า) ขับสวนมาด้วยความเร็วสูงและแหกโค้งมาชน ทำให้ทั้ง 3 คนตายคาที่ และรถคันดังกล่าวขับหนีไป แต่ถูกตำรวจสกัดจับไว้ได้ในสภาพมึนเมาเต็มที่รถมอเตอร์ไซด์คันที่ถูกชนได้ทำพรบ.ผู้ประสบภัยจากรถไว้กับบริษัทนำสินประกันภัย แต่ที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ ชาวบ้านไม่รู้เลยว่าเมื่อประสบเหตุอย่างนี้ เขาต้องทำอะไรบ้าง เมื่อผู้เขียนถามว่าตำรวจไม่แนะนำอะไรบ้างหรือ ก็ได้คำตอบว่าไม่มี ไม่เห็นตำรวจบอกอะไรเลย ผู้เขียนถามต่อว่ารู้ไหมว่าพรบ.รถที่เราทำนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วเราจะได้อะไรบ้าง คำตอบคือ ไม่รู้ รู้แต่ว่าต้องทำพรบ.ไม่อย่างนั้นจะถูกตำรวจจับ ผู้เขียนฟังแล้วสะท้อนใจจริงๆ นี่ล่ะชาวบ้านตัวจริง คือไม่รู้อะไรเลยทั้งๆ ที่เป็นสิทธิของตัวเอง กลายเป็นว่าที่ทำประกันเพราะกลัวตำรวจ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็เพิกเฉย ไม่สนใจทุกข์ร้อนของชาวบ้านเลย ตามพรบ.แล้วผู้ซ้อนซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 ต้องได้ค่าปลงศพ ศพละ 100,000 บาท ผู้ขับขี่ต้องได้รับค่าปลงศพเบื้องต้น 35,000 บาทภายใน 7 วัน(ที่เหลือรอพิสูจน์ถูกผิด) แต่นี่ดูรึคนตาย 3 คน 7 วัน แล้วการช่วยเหลือเบื้องต้นจาก พรบ.ยังไม่มีเลยสักบาท (ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงครามได้เข้ามาช่วยเหลือเรื่องนี้แล้ว) เป็นไงล่ะเรื่องที่เล่ามาพอจะเห็นปัญหากันบ้างหรือยัง อาจจะมีบางคนบอกว่าช่วยไม่ได้อยากโง่เอง ก็ให้ลองคิดดูว่าเด็กผู้หญิงที่อายุแค่ 15 ปี ที่เสียทั้งพ่อและแม่ไปในเวลาเดียวกัน เขาจะเอาสมองที่ไหนมาคิด และนี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่ว่าทำไมเครือข่ายผู้บริโภคจึงลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ยกเลิกหรือทบทวน พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ โดยให้มีการเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้านอย่างเราๆ บ้าง เพราะปัจจุบัน องค์กรกำกับดูแลการประกันภัย เช่น คณะกรรมการส่งเสริมและกำกับธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ทำให้เราขาดความเชื่อมั่นในพรบ.ฉบับนี้จะรอรัฐบาลก็ไม่ได้ผู้บริโภคอย่างเราจึงต้องลุกขึ้นมาร่วมกันเขียนกฎหมายในชื่อใหม่คือ “กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ” โดยโอนค่ารักษาพยาบาลไปใช้ตามสิทธิของแต่ละคน โดยพรบ.นี้จะจ่ายเพียงค่าสินไหม กรณีบาดเจ็บต่อเนื่อง ทุพลภาพ เสียชีวิต เท่านั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างล่ารายชื่อนะ ใครเห็นด้วยเร่งมาลงชื่อโดยไว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 โตโยต้าคัมรี่ ACV30 ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน

เป็นเรื่องยากที่คนซื้อรถจะรู้ว่าถุงลมนิรภัยที่ติดมากับรถนั้น จะสามารถทำงานได้เจ๋งลดความรุนแรงของอุบัติเหตุเหมือนอย่างที่โฆษณาไว้หรือเปล่า จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีการชนเกิดขึ้นนั่นแหละ นับเป็นอุปกรณ์นิรภัยที่ต้องลงทุนไม่น้อยเพื่อจะรู้ผลเพียงว่ามันทำงานหรือไม่ทำงานด้วยโฆษณาถึงสมรรถนะในการขับขี่ที่ดีเยี่ยม และมีระบบถุงลมนิรภัยที่ได้รับการรับรองว่าถูกออกแบบมาให้ทำงานเมื่อได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงทางด้านหน้าตลอดทั้งแนวทำให้คุณจิระ(นามสมมติ) ตัดสินใจซื้อรถเก๋งโตโยต้าคัมมรี่ ACV30 ด้วยเงิน 1.5 ล้านเศษ ๆ เมื่อประมาณปี 2545 ขับมาหลายปีดีดักก็ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุให้ได้ทดลองใช้ระบบถุงลมนิรภัยสักครั้ง ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่มีคนใช้รถหน้าไหนอยากจะทดลองใช้มันด้วยซ้ำหรอกครับ คุณจิระจึงเหมือนคนใช้รถส่วนใหญ่ที่เข้าใจว่าถุงลมนิรภัยที่อยู่ในรถยังสามารถทำงานได้ตามปกติหากมีการชนเกิดขึ้นจนเมื่อประมาณกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา คุณจิระได้ขับรถยนต์ไปตามถนนสายดอยสะเก็ด-เชียงราย ซึ่งเป็นเส้นทางตามสันเขามีโค้งหลายโค้ง แม้จะขับด้วยความระมัดระวังใช้ความเร็วประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแต่คุณจิระก็ไม่รอดขับไปชนกับรถกระบะที่วิ่งสวนทางมาอย่างแรงจนรถยนต์ได้รับความเสียหายกันทั้งสองฝ่าย ส่วนถุงลมนิรภัยที่อยู่ในรถแทนที่จะทำงานมันกลับเงียบเฉยไม่มีปฏิกิริยาใด ๆปล่อยให้ทั้งคนขับและผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัสกันทั้งคัน ไม่ว่าจะป็นคุณจิระคนขับได้รับบาดเจ็บซี่โครงซ้ายร้าว เจ็บหน้าอก ภรรยาของคุณจิระที่นั่งคู่กันมาด้านหน้ากระดูกไขสันหลังช่วงกลางหลังถึงกับแตกละเอียด ในขณะที่เพื่อนซึ่งนั่งมาทางด้านหลังของคนขับได้รับบาดเจ็บช้ำบริเวณหน้าอกซ้าย แก้มบวมคุณจิระคิดว่า ถ้าถุงลมนิรภัยทำงานได้จริง ผู้โดยสารจะไม่บาดเจ็บหนักถึงขนาดนี้ และโตโยต้าควรรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง คุณจิระได้ส่งรถไปให้บริษัท โตโยต้าเชียงใหม่ จำกัด ตรวจสอบความเสียหายและสาเหตุที่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2552 ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาในเดือนมีนาคม 2552 โดยโตโยต้าสรุปผลการตรวจสอบออกมาว่า1. ลักษณะการชน เป็นการชนปะทะแบบเฉียงและการชนในลักษณะแบบมุดด้านใต้ซึ่งตำแหน่งที่รถถูกชนอยู่บริเวณด้านบนเหนือแชสซีดูดซับแรงกระแทก ซึ่งทำให้แรงปะทะที่เกิดขึ้นไม่เพียงพอที่จะไปกระตุ้นให้เซ็นเซอร์ถุงลมนิรภัยทางด้านหน้าซ้าย-ขวาทำงาน ดังนั้นจึงทำให้ไม่มีการส่งสัญญาณไปยังกล่อง ECU SRS จึงทำให้ระบบถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ถุงลมนิรภัยจึงไม่พองตัวออกมาตามเงื่อนไขการทำงานของระบบถุงลมนิรภัย2. การชนบริเวณตรงกลางที่ทำให้คานรับแรงกระแทกจากการชนงอตัวเข้าด้านในบริเวณตรงกลาง การชนในลักษณะนี้จะทำให้คานดูดซับแรงจากการชนเสียรูปและดูดซับแรงการชนแล้วเกิดแรงดึงให้แชสซีดูดซับแรงเสียรูปตามแรงบดึงของการชน จึงทำให้แรงปะทะที่เกิดจากการชนไม่ได้รับแรงกระแทกโดยตรงจากจากการชน ดังนั้นแรงหน่วงที่เกิดขึ้นจากการชนจึงถูกซับแรงและแรงหน่วงที่เกิดขึ้นนี้จึงไม่เพียงพอที่จะไปกระตุ้นให้เซ็นเซอร์ถุงลมนิรภัยทำงานได้ ดังนั้นระบบถุงลมนิรภัยจึงไม่ทำงาน ถุงลมนิรภัยไม่พองตัว 3. จากการตรวจสอบระบบการสั่งงานของระบบ Air bag จะแยกอิสระถึงแม้ว่าวงจรเซนเซอร์ด้านซ้ายจะขาดวงจรเนื่องจากการชน แต่เซนเซอร์ด้านขวาและเซนเซอร์ตรงกลางก็ยังสามารถที่จะสั่งการทำงานของถุงลมนิรภัยได้ถ้าแรงปะทะแรงหน่วงที่เกิดขึ้นเพียงพอที่จะทำให้เซนเซอร์ทั้ง 2 ที่เหลือทำงานอ่านเสียยืดยาว ถ้าสรุปให้ง่ายกว่านั้นโตโยต้าพยายามยืนยันนั่งยันว่า การทำงานของระบบถุงลมนิรภัยในรถรุ่นนี้ใช้งานได้ตามปกติ แต่ความผิดพลาดครั้งนี้มีนิดเดียวคือ รถชนกันเบาไปหน่อยไม่พอที่จะปลุกระบบถุงลมนิรภัยให้ทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็นเป็นใครได้ฟังผลการตรวจสอบแบบนี้ก็ต้องโมโหกันบ้างล่ะครับ คุณจิระก็ไม่แพ้กัน“รถชนจนยับ คนในรถเจ็บหนักแต่ถุงลมไม่ออก ตอนซื้อรถยนต์เขาบอกว่าถ้าชนที่ความเร็ว 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถุงลมก็จะพองออกปกป้องคนที่อยู่ในรถ แต่ในวันนั้นผมขับด้วยความเร็ว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และยังเป็นการชนแบบประสานงากับรถกระบะที่วิ่งสวนมา แต่ถุงลมไม่ออกทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส มีจดหมายส่งมาว่าบริษัทจะไม่รับผิดชอบเพราะเราชนเบาไปถุงลมเลยไม่ออก ทำให้เรารู้สึกแย่เอามากๆ ตอนนี้รถก็ไม่มีใช้ งานก็ทำไม่ค่อยได้เพราะอาการบาดเจ็บ อย่างนี้เราจะเรียกร้องอะไรได้ไหมครับ”แนวทางแก้ไขปัญหาน่าเห็นใจครับดูจากสภาพยับเยินของรถและอาการบาดเจ็บของผู้โดยสารแล้ว งานนี้ไม่น้อยเลย และเมื่อดูจากรายงานผลการตรวจสอบของโตโยต้าพบความเสียหายของรถจากการชนหลายจุดยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าการชนครั้งนี้ไม่เบา จากการตรวจวาสอบของโตโยต้าพบความเสียหายภายนอกพบบริเวณด้านหน้ารถ กันชน ไฟหน้าและฝากระโปรงหน้าได้รับความเสียหาย ตรวจสอบภายในห้องเครื่องยนต์พบว่าเครื่องยนต์ถูกกระแทก ฝาหน้าเครื่องแตก หม้อน้ำเสียหาย แบตเตอรี่แตก และกล่องฟิวส์ถูกกระแทก ตรวจสอบคานรับแรงกระแทกด้านหน้ามีการเสียรูปงอตัวบริเวณตรงกลาง ตรวจสอบโครงสร้างแชสซีดูดซับแรงการชน(GOA) ด้านหน้าซ้าย-ขวาได้รับความเสียหายงอตัวเข้าด้านในต่อเนื่องจากการชนตรงกลาง ที่สำคัญตรวจสอบภายในห้องโดยสารไม่พบความเสียหายและถุงลมนิรภัยไม่ทำงานดังนั้นผู้บริโภคจึงมีสิทธิเต็มร้อยที่จะเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะความเสียหายทางด้านร่างกายสุขภาพอนามัยที่เกิดจากการไม่ทำงานของถุงลมนิรภัย รวมถึงค่ารักษาพยาบาลในอนาคตที่เกิดจากการบาดเจ็บเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งสามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ และอาจขอให้ศาลท่านมีคำสั่งเรียกเก็บรถยนต์รุ่นนี้คืนจากผู้ใช้รถทุกคนได้หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นรถยนต์ที่ไม่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถจริงเบื้องต้น ผู้บริโภคควรตรวจสอบว่ามีความเสียหายใดเกิดขึ้นบ้างคิดเป็นมูลค่าหรือตัวเงินจำนวนเท่าไหร่ หลังจากนั้นให้ทำจดหมายเรียกค่าเสียหายดังกล่าวไปยังบริษัทรถยนต์เพื่อให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งเขาอาจจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายให้จำนวนหนึ่ง หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ หากผู้บริโภคเห็นว่าค่าเสียหายที่ทางบริษัทตอบกลับมาไม่สมเหตุสมผล สามารถที่จะยืนฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคในภายหลังก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 วาระสุดท้ายของสัมพันธ์ประกันภัย

ในช่วงปี สองปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนกรณีบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและประชาชนเข้ามาที่มูลนิธิฯ เป็นจำนวนมากหลายร้อยราย และที่ร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) อีกร่วม 9 พันกว่าราย คุณจินตนา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ของผู้เอาประกันภัยกับบริษัทนี้ได้เป็นอย่างดี คุณจินตนาเล่าว่า ตนทำประกันภัยไว้กับบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และได้เกิดกรณีรถหายตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2549 ซึ่งจะต้องได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำไว้กับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ตอนที่รถหายคุณจินตนายังต้องมีภาระส่งค่างวดกับบริษัทไฟแนนซ์ทิสโก้อยู่ ในขณะที่สัมพันธ์ประกันภัยได้ทำการเลื่อนจ่ายค่าสินไหมทดแทนมาเรื่อยๆ คุณจินตนาส่งค่างวดรถไปได้ประมาณ 6 เดือนจึงหยุดส่ง เพราะเห็นว่าสัมพันธ์ประกันภัยถูกกรมการประกันภัยสั่งให้ระงับการขายประกันชั่วคราวเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2550 ทำให้คุณจินตนากลายเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อกับไฟแนนซ์ทันทีหลังจากที่ไม่ได้ส่งค่างวดติดกัน 3 งวดและถูกบอกกล่าวเลิกสัญญาในเวลาต่อมา คุณจินตนาได้พยายามติดต่อไปทางทิสโก้ให้ตามเรื่องของทางสัมพันธ์ให้ “เพระคิดว่าให้ทางบริษัทใหญ่ตามเรื่องน่าจะดีกว่าเราตัวเล็กๆ ตามเรื่องเอง แต่ก็ไม่ได้ผลอะไรเกิดขึ้น” คุณจินตนาได้ไปแจ้งกับทางกรมการประกันภัยไว้อีกทางหนึ่งแต่ก็ไม่เกิดผลอะไร จนระยะหลังโทรไปที่กรมการประกันภัย กรมฯ ก็เลี่ยงมาตลอดอีกเช่นกัน ให้โทรมาตอนนั้นตอนนี้ แต่ก็ไม่ได้เรื่องอะไรเลย “ในที่สุดก็มีหมายศาลจากทางทิสโก้ ส่งมาให้เรา ซึ่งเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้เรื่องกฎหมายเลยค่ะ ได้แต่รอว่าเมื่อไหร่จะได้เงินจากสัมพันธ์ ทางเราไม่คิดที่จะได้ค่าสินไหมทั้งหมดอยู่แล้วค่ะ ขอแค่บางส่วนมาส่งให้ทิสโก้ก็พอแล้ว หมายศาลนัดให้ไปที่ศาลในเดือนมีนาคมนี้แล้วค่ะ ยังไม่รู้จะทำอย่างไรเลยค่ะ”  แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีนี้แยกได้ 2 ประเด็น 1.คดีที่คุณจินตนาถูกไฟแนนซ์ฟ้อง เนื่องจากผิดสัญญาไม่ส่งค่างวดรถให้ครบตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ได้เคยเขียนไว้ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 93 สรุปสั้น ๆ ว่า ไฟแนนซ์น่าจะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค โดยอ้างข้อสัญญาว่า ถ้ารถที่เช่าซื้อสูญหายไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ หรือสุดวิสัย ผู้เช่าซื้อยินยอมรับผิดและยอมชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาจนครบ ขอให้ศาลบังคับให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบชดใช้ค่าเช่าซื้อที่เหลืออยู่ ข้อตกลงเช่นนี้ศาลฎีกาตัดสินว่าใช้บังคับได้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย แต่ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยดูจากมูลค่าทรัพย์สิน เงินค่าเช่าซื้อที่ได้จ่ายไป และระยะเวลาที่ได้ใช้ประโยชน์จากรถที่หายไป ดังนั้นคุณจินตนาควรไปให้การต่อศาลถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและขอให้ศาลพิจารณาลดหย่อนค่าเสียหายที่ไฟแนนซ์เรียกร้อง แต่หากสัญญาเช่าซื้อที่ทำไม่มีข้อสัญญาที่ว่ามาข้างต้น ทางกฎหมายก็ถือว่าเมื่อรถที่เป็นทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สูญหายไป สัญญาเช่าซื้อถือเป็นอันระงับไปด้วย ผู้เช่าซื้อไม่ต้องชำระเงินค่าเช่าซื้อหรือค่าเสียหายตั้งแต่งวดรถที่หายเป็นต้นไป ถ้าเป็นอย่างนี้คุณจินตนาก็คงจะเบาใจไปเปลาะหนึ่ง2. กรณีสัมพันธ์ประกันภัยไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ได้ถูกกระทรวงการคลังสั่งปิดกิจการโดยเด็ดขาดแล้ว โดยมีมาตรการคุ้มครองประชาชนในฐานะเจ้าหน้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้ไปยื่นเรื่องขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี ของบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และกองทุนประกันวินาศภัย ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2552 โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนาเอกสาร จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นด้วย คือ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำหระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ สำหรับส่วนกลางยื่นได้ 3 แห่ง คือ 1.ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) หรือกรมการประกันภัยเดิม กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี 2. สำนักงาน คปภ. เขต 1 ซอยวิภาวดี 44 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร 3.สำนักงาน คปภ. เขต 2 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี ส่วนต่างจังหวัดนั้นให้ยื่นได้ที่ สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้นจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดลำพูน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดนนทบุรี) หากคุณจินตนาได้ไปฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคและมีคำพิพากษาออกมาแล้ว คำพิพากษาถือเป็นเอกสารที่รับรองถึงมูลหนี้ที่ชัดเจนที่สุดแล้ว นำไปยื่นขอรับชำระหนี้กับ คปภ. ได้เลย ไม่ต้องพิสูจน์อีก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ประกันภัยสินค้าใหม่ผ่านสายโทรศัพท์

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ผู้เขียนกำลังจะตักข้าวใส่ปาก(มื้อเช้า) เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น(เล่นเอาสะดุ้ง) จึงวางช้อนลงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมารับสายเพราะคิดว่าอาจมีเรื่องสำคัญ เมื่อรับสายจึงรู้ว่าเป็นการโทรมาเพื่อขายประกัน (โอ้ย..รำคาญจริงๆ) แต่ก็ทนฟังเพราะอยากรู้ว่าเขาจะให้ข้อมูลอะไรบ้าง โอ้ย..จะบอกให้นะ หากใครตัดสินใจฟังคำบรรยายสรรพคุณความดีงามของการประกันภัย ถ้าจิตไม่แข็งพอ ต้องตกหลุมทำประกันกับเขาแน่ๆ เสียงก็เพราะแล้วยังพูดหวานหว่านล้อมสารพัด แต่ผู้เขียนฟังแล้วรู้สึกว่ามันเป็นการให้ข้อมูลฝ่ายเดียวแล้วยังเป็นการละเมิดสิทธิ สิทธิส่วนบุคคลของเราชัดๆ เพราะเราไม่เคยแสดงความจำนงว่าต้องการซื้อประกัน แล้วมาเสนอขายเราทำไม นอกจากนั้นระหว่างสนทนายังบันทึกเสียงเราอีก นึกๆ แล้วก็ควันออกหู คนจะกินข้าว ดันดั้นๆๆๆๆ โทรมาขายของน่าเกลียดจริงไอ้ธุรกิจพรรค์นี้ ก็เลยตอบกลับไปว่า “ไม่สนใจแล้วอย่าโทรมาอีกเป็นอันขาดเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน” (โทรมาจะด่าให้) หันกลับมาที่จานข้าวใหม่เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้นอีก (ไงเนี่ย..ตกลงจะได้กินข้าวไหม) แต่เห็นเบอร์โทรแล้วแสนจะดีใจ เพราะเป็นเบอร์ของเพื่อน และเพื่อนคนนี้เราไม่ค่อยมีเวลาเจอกันซักเท่าไร เพราะต่างคนต่างมีงาน เมื่อเพื่อนโทรหาเราก็พร้อมจะคุย เพื่อนบอกว่าพอดีได้อ่านหนังสือฉลาดซื้อเมื่อเดือนที่แล้ว ในกรณีเสาไฟฟ้าบ้านลุงชุบ พอดีมีเรื่องจะขอปรึกษาเรื่อง การขายประกันทางโทรศัพท์หน่อยได้ไหม(ทำไมจะไม่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นร้อยพันยังช่วยได้นี่เพื่อนเรานะทำไมจะช่วยไม่ได้) จากการพูดคุยก็ได้รายละเอียดว่า เมื่อต้นเดือนมกราคม ตัวเพื่อนและภรรยา(โทรคนละครั้งเพราะใช้โทรศัพท์คนละเบอร์) ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่บริษัทประกันกรุงเทพประกันภัย จำกัด มาชักชวนให้ลงประกัน เพื่อนและภรรยาปฏิเสธไป แล้วก็คิดว่าคงไม่มีอะไรอีกแล้ว แต่เรื่องไม่เป็นเช่นนั้น ปรากฏว่าไปรษณีย์ได้นำจดหมายมาส่งวันที่ 26 มาราคม 2552 หัวจดหมายเป็นชื่อของบริษัทที่เคยโทรมาชวนให้เขาและภรรยาลงประกัน จึงรีบเปิดซองออกดูปรากฎว่า เป็นกรมธรรม์ประกันภัยระบุชื่อผู้เอาประกัน คือลูกสาวของเขาเอง และระบุวันคุ้มครอง วันที่ 23 มกราคม 2552 ด้วยความตกใจ จึงเรียกลูกสาวมาสอบถาม จึงได้ทราบว่าบริษัทประกันนอกจากจะโทรหาเขาและภรรยาแล้ว ยังโทรหาลูกสาวเขาอีก (อุแม่เจ้า นี่มันอะไรกันนี่มันเล่นโทรขายทั้งบ้านเลยหรือเนี่ย....) จึงถามลูกสาวว่าทำอย่างไรเขาถึงส่งกรมธรรม์มาให้ถึงบ้านได้ ลูกสาวก็บอกว่าก็ “เขาบอกว่าทำแล้วดีตั้งหลายอย่างก็เลยตอบตกลงเขาไป ก็ไม่รู้ว่าตกลงปากเปล่าทางโทรศัพท์นี่ จะเป็นจริงเป็นจังขนาดนี้” เพื่อนยังบอกต่ออีกว่าเมื่อเห็นว่าลูกสาวไม่ได้ลงนามในสัญญา สัญญากรมธรรม์ก็ไม่น่าจะมีผลอะไร เพราะการทำสัญญาต้องมีการลงนามทั้งสองฝ่ายหากขาดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสัญญานั้นก็ไม่น่าจะสมบูรณ์ เมื่อคิดอย่างนั้นก็เลยปล่อยเรื่องไว้เฉยๆโดยไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไรตามมา แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันเจ้าหน้าที่บริษัทประกันได้โทรติดต่อกลับมาหาลูกสาวเขาอีกพร้อมบอกให้ลูกสาวโอนเงินงวดแรกจำนวน 1,000 บาท (3 งวด)ไปยังบริษัท ลูกสาวได้ตอบไปว่า พ่อไม่ยอมให้ทำจึงขอยกเลิกการทำประกัน บริษัทตอบกลับมาว่ายกเลิกไม่ได้เพราะบริษัทได้ส่งกรมธรรม์มาให้แล้ว ตามคำยืนยันของลูกค้าที่ทางบริษัทได้บันทึกเสียงไว้ที่ตกลงไว้แล้วทางโทรศัพท์ และจากนั้นก็ได้รับโทรศัพท์ข่มขู่ว่าหากไม่จ่ายเงินบริษัทจะฟ้องเพราะถือว่าลูกค้าทำผิดสัญญา จึงได้โทรมาเพื่อขอคำปรึกษาว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถยกเลิกการทำประกันได้ เมื่อได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดแล้ว จึงได้ส่งเรื่องไปยังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อให้ค้นหาข้อมูลเพื่อช่วยเหลือและตอบข้อหารือ ในเบื้องต้นศูนย์ฯ ได้แนะนำผู้ร้องไปว่า ถ้าผู้ซื้อไม่พอใจ ผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธได้หรือบอกเลิกสัญญาได้ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้ง ดังนั้นเรามีสิทธิยกเลิกการเอาประกันได้ และไม่ต้องกลัวคำขู่ของบริษัทที่ขู่จะฟ้องร้อง แน่จริงก็ให้เขาฟ้องมาเลยศูนย์ฯ จะดำเนินการให้ไม่ต้องกลัวจากนั้นศูนย์ฯได้ดำเนินการสืบค้น พบว่าการที่บริษัทประกันโทรมาขายประกันผ่านโทรศัพท์ได้ เป็นเพราะคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ) กรมการประกันภัยเดิม ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ พ.ศ. 2551 จึงได้ข้อสรุปว่า คปภ. คือต้นเหตุของความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เรื่องนี้ คปภ ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้ออกประกาศมาสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถใช้สิทธิตาม พรบ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภคฟ้องบริษัทและ คปภ. ต่อศาลประจำจังหวัด ฐานที่ส่งเสริมให้บริษัทสร้างความเสียหายต่อจิตใจ และสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ รบกวนสิทธิส่วนบุคคล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 ถอนทะเบียนยา...ความปลอดภัยที่ยังมีช่องโหว่

  เพราะร่างกายของคนเราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการดูแลรักษา ยิ่งในเวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วยตัวช่วยสำคัญที่จะมาทำหน้าที่รักษาบรรเทาโรคภัยต่างๆ คงหนีไม่พ้น "ยา" 1 ในปัจจัย 4 ที่แม้หลายๆ คนจะแอบภาวนาว่าถ้าเป็นไปได้ในชีวิตนี้ก็ไม่อยากพึ่งพาหรือฝากความหวังไว้กับการกินยา เพราะว่าไม่อยากป่วย แต่ในยามที่โรคภัยไข้เจ็บถามหา ยาก็ถือเป็นตัวช่วยที่ดีเพราะคงไม่มีใครอยากจะต้องทนอยู่กับอาการเจ็บป่วยเป็นเวลานานๆ   เมื่อยารักษาโรค อาจกลายเป็นยาพิษ  แม้หน้าที่ของยา คือการบรรเทารักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งนี่ก็คือหน้าที่ที่ถือเป็นคุณประโยชน์ของยา แต่ว่าบางครั้งการใช้ยาก็อาจกลายเป็นโทษได้เหมือนกัน ทั้งจากการใช้ยาไม่ถูกกับโรค การแพ้ยา การใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป การใช้ยาที่ไม่ได้คุณภาพหรือยาปลอม ซึ่งปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาทั้งหมดที่กล่าวมาถือเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเรื่องของการใช้ยาเป็นเรื่องที่พูดได้เลยว่าเกี่ยวโยงกับความเป็นความตาย ยาดีก็ช่วยขจัดปัดเป่าโรคภัยต่างๆ แต่ถ้ายาไม่ดีหรือใช้ยาผิดวิธี ก็อาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต   การจัดการยาก่อนถึงมือผู้บริโภค การควบคุมดูแลเรื่องความปลอดภัยของยา เป็นหน้าที่ที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. จะคอยดูตรวจสอบและให้ข้อมูลกับประชาชน ในเรื่องของยาที่อาจเป็นอันตราย ซึ่ง อย.เองก็มีหน้าที่ทั้งการพิจารณาตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาตในการผลิต จำหน่าย หรือนำเข้า ยาชนิดต่างๆ ก่อนที่จะนำมาวางขายหรือใช้ในโรงพยาบาล คลินิก สถานพยาบาลต่างๆ รวมถึงตามร้านขายยาทั่วไป เพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคหรือผู้ป่วยที่ต้องใช้ตัวยานั้นๆ ในการรักษาโรค ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อ อย.มีอำนาจในการออกใบอนุญาตให้กับยาชนิดต่างๆ การเพิกถอนทะเบียนยาที่เห็นว่าเมื่อนำมาใช้แล้วอาจเป็นอันตรายก็เป็นหน้าที่ของ อย. ซึ่ง อย. จะพิจารณาทบทวนเพื่อทำการเพิกถอนทะเบียนยานั้นๆ พร้อมไปกับการสร้างระบบมาตรฐานยาคุณภาพให้เกิดขึ้นในเมืองไทย ซึ่งเมื่อ อย. ได้มีการสั่งเพิกยาถอนยาตัวใดก็ตาม อย.ก็จะประกาศรายชื่อยาเหล่านั้นเผยแพร่สู่สาธารณะ หน้าที่ของผู้บริโภคจึงต้องคอยติดตามข่าวสาร เป็นการสร้างข้อมูลเรื่องยาให้กับตัวเอง   การเพิกถอนทะเบียนยา การเพิกถอนทะเบียนยา ถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นผู้ออกคำสั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยาที่เห็นว่าจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ หรือเป็นยาไม่มีคุณภาพไม่มีสรรพคุณตรงตามที่อ้าง หรือเมื่อใช้แล้วส่งผลร้ายกับร่างกายมากกว่าให้ผลในทางรักษาโรค หรือมีตัวยาใหม่ที่ให้ผลดีกว่า คณะกรรมการทบทวนตำรับยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ สำนักคณะกรรมการอาหารและยา ก็จะนำตัวยาที่เห็นว่ามีปัญหาเข้าสู่การพิจารณาในการประชุม จากนั้นเมื่อที่ประชุมเห็นชอบให้มีคำสั่งให้เพิกถอนทะเบียนยาตัวดังกล่าว ก็จะมีการออกเป็นคำสั่งกระทรวงให้รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเป็นคนลงนามรับรอง ก่อนจะนำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เป็นอันครบถ้วนกระบวนความว่าตัวยานั้นๆ ได้กลายเป็นยาที่ถูกถอนทะเบียนออกจากระบบยาในประเทศ ห้ามขาย ห้ามผลิต ห้ามใช้ ใครฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย  แม้ขั้นตอนการถอนทะเบียนยาดูเหมือนจะมีไม่มาก แต่เมื่อมาดูถึงระยะเวลากว่าจะถึงในขั้นตอนสุดท้ายคือการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สามารถดำเนินเอาผิดทางกฎหมายได้นั้นต้องใช้เวลาพอสมควร ลองมาดูตัวอย่างระยะเวลาการดำเนินการในการถอนทะเบียนยาที่ผ่านมาว่าต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่  ตัวอย่างข้อมูลแสดงระยะเวลาการถอนทะเบียนยา   ชื่อยาที่ถอนทะเบียน สาเหตุ คำสั่งเลขที่ วันที่ประชุมคณะกรรมการยา วันที่ประกาศเป็นคำสั่งกระทรวง วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ระยะเวลาตั้งแต่ประชุมถึงวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยาสูตรผสมของยามีแธนดีโนน (Methandienone) กับ ยาไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) สูตรยาไม่เหมาะสม เมื่อนำไปใช้ในเด็กอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ 736/2552 14 พฤษภาคม 2551 5 มิถุนายน 2552 31 สิงหาคม 2552 475 วัน ยาคาริโซโพรดอล (Carisoprodol) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง สงบประสาทเป็นยานอนหลับและเสพติดได้ 547/2552 20 พฤศจิกายน 2551 23 เมษายน 2552 19 มิถุนายน 2552 212 วัน ยาผสมสูตรเมโธคาร์บามอล (Methocarbamol) และอินโดเมธาซิน (Indomethacin) ชนิดรับประทาน ไม่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้ยา 848/2552 11 กุมภาพันธ์ 2552 2 กรกฎาคม 2552 24 สิงหาคม 2552 195 วัน ยาคาสคารา ซากราดา (Cascara sagrada) เสี่ยงอันตรายจากสารที่เป็นส่วนประกอบ 859/2552 11 กุมภาพันธ์ 2552 2 กรกฎาคม 2552 19 มิถุนายน 2552 129 วัน *ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนรัฐมนตรีลงนาม ยาคลอร์ซ็อกซาโซน (Chlorzoxazone) ไม่มีประสิทธิผลในการคลายกล้ามเนื้อตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ และได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความเป็นพิษต่อตับ 1115/2552 8 เมษายน 2552 20 สิงหาคม 2552 26 มีนาคม 2553 353 วัน ยาฟีโนเวอรีน (Fenoverine) ตัวยาทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่ร้ายแรง คือ เซลล์กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อเกร็ง (rhabdomyolysis) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 1421/2552 12 มิถุนายน 2552 30 กันยายน 2552 21 กรกฎาคม 2553 405 วัน ยาฟีนอล์ฟธาลีน (Phenolphthalein) และแซนโตนิน (Santonin) | อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ยา โดยฟีนอล์ฟธาลีน เป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง จึงอาจทำให้เกิดมะเร็งในคนจากการใช้ยาในระยะยาว ซึ่งเมื่อยาเข้าสู่ร่างกายจะถูกขจัดออกอย่างช้า ๆ จึงเพิ่มความเสี่ยงจากการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปฏิกิริยาที่ผิวหนัง และระดับโปแตสเซียมต่ำ เป็นต้น แซนโตนิน มีฤทธิ์เพิ่มพิษต่อระบบประสาท (neurotoxic) และมีรายงานการเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงแม้ใช้ในขนาดต่ำ 985/2553 12 มิถุนายน 2552 20 พฤษภาคม 2553 23 มิถุนายน 2553 377 วัน ฟีนอล์ฟธาลีน (Phenolphthalein) เป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง จึงอาจทำให้เกิดมะเร็งในคนจากการใช้ยาในระยะยาว และร่างกายของคนจะขจัดยาออกอย่างช้าๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงจากการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ อาจทำให้เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ยา 1923/2553 12 มิถุนายน 2552 19 ตุลาคม 2553 30 พฤศจิกายน 2553 537 วัน ยาโรซิกลิทาโซน (Rosiglitazone) อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด 447/2554 22 ธันวาคม 2553 4 เมษายน 2554 18 พฤษภาคม 2554 148 วัน อีนาลาพริล มาลีเอท (Enalapril maleate) ยา Paril 5 เลขทะเบียน 1C 173/51 และยา Paril 20 เลขทะเบียน 1C 174/51 มีปริมาณตัวยาสำคัญ คือ อีนาลาพริล มาลีเอท (Enalapril maleate) ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้เกินกว่าร้อยละยี่สิบ เข้าข่ายเป็นยาปลอม 462/2554 22 ธันวาคม 2553 4 เมษายน 2554 8 มิถุนายน 2554 169 วัน ยาน้ำตราบีเวลล์ ตรวจพบตัวยาวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาควบคุมพิเศษผสมอยู่ ยาดังกล่าวจึงไม่ใช่ยาแผนโบราณตามตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้และเป็นยาที่ไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ เข้าข่ายเป็นยาปลอม 506/2554 23 กันยายน 2553 12 เมษายน 2554 8 มิถุนายน 2554 259 วัน     ซึ่งหลังจากมีการลงนามโดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบว่าควรเพิกถอนตัวยาดังกล่าว จะมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ผลิตหรือนำเข้ายาที่เห็นว่าจะเป็นอันตรายตัวดังกล่าว ต้องหยุดการผลิตและเก็บสินค้าที่ได้ส่งไปวางขายตามร้านหรือสถานพยาบาลต่างๆ ให้เสร็จสิ้น ก่อนที่จะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพราะเมื่อถึงในขั้นตอนนี้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายหากพบว่ายังมีการกระทำฝ่าฝืนคำสั่งอยู่ แต่หลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วผู้ผลิตยาที่ถูกคำสั่งให้เพิกถอนทะเบียนก็ยังสามารถยื่นคำโต้แย้งไปยังศาลปกครองได้อีกภายใน 90 วัน ซึ่งช่วงระยะเวลาหลังจากคณะกรรมการยาพิจารณาเห็นชอบให้มีการถอนทะเบียนยาที่เห็นว่าอาจจะเป็นอันตราย ไปจนถึงการรอให้รัฐมนตรีฯ ลงนามรับรอง เพื่อแจ้งให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ายานั้นๆ ดำเนินการตามคำสั่งของกระทรวงนั้น เป็นช่วงที่ผู้บริโภคมีความเสี่ยงอันตรายจากการใช้ยาตัวที่เป็นปัญหา เพราะยาดังกล่าวยังคงมีอยู่ในท้องตลาด หากผู้ใช้ยาไม่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร ขาดความรู้เรื่องข้อมูลยา ก็อาจหลงใช้ยาดังกล่าวจนเกิดอันตราย แม้แต่แพทย์ เภสัชกร ที่ไม่ทราบข้อมูลหรือนิ่งนอนใจรอการประกาศอย่างเป็นทางการหรือรอการดำเนินการจากผู้ผลิตยา ก็อาจสั่งจ่ายยาดังกล่าวให้กับผู้ป่วย   การเพิกถอนทะเบียนตำรับยานั้น เป็นไปในลักษณะที่ตรวจสอบทบทวนตำรับยาทั้งยาใหม่ที่รอการขึ้นทะเบียน และยาเก่าที่เคยได้รับการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ซึ่งการทบทวนทะเบียนยานั้นต้องทำในลักษณะต่อเนื่อง โดยต้องมีการตรวจสอบเป็นระยะ ประเมินดูสถานการณ์การใช้ยาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งหมดก็เพื่อการใช้ยามีความปลอดภัยมากที่สุด   ------------------------------------------------------------------------------------------ การถอนทะเบียนยาโดยภาคประชาชน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 ชมรมเภสัชชนบท ร่วมกับกลุ่มศึกษาปัญหายา กลุ่มเภสัชกรภาคกลาง มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เพิกถอนทะเบียนตำรับยา 4 รายการ คือ 1.ยาแอสไพรินชนิดผง 75-375 มก. 2.ยาแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ยาขับปัสสาวะที่มี Methylene blue เป็นส่วนประกอบ 3.ยาแก้ท้องเสียที่มี Furazolidone และ/หรือมียาปฏิชีวานะเป็นส่วนประกอบ และ 4.ยา Amoxycillin powder 125 มก.ชนิดซอง เพราะเห็นว่าเป็นยาที่มีความไม่เหมาะสม อาจเป็นอันตรายกับผู้ใช้ แต่ยังพบเห็นยาดังกล่าวมีจำหน่ายทั้งในร้านยาและร้านขายของชำเป็นจำนวนมาก ------------------------------------------------------------------------------------------   สามารถตรวจสอบรายชื่อตำรับยาที่ถูกเพิกทอนทะเบียนทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ของ อย. http://wwwapp1.fda.moph.go.th/drug/zone_law/law010.asp ------------------------------------------------------------------------------------------ ขณะนี้มียาที่รอการทบทวนอยู่ทั้งหมดถึง 50 รายการ จากการประชุมของคณะอนุกรรมการทบทวนตำรับยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2554 ซึ่งทาง อย. ตั้งใจให้มีการทบทวนยาทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในปี 2556 (หนึ่งในนั้นมียาที่มีส่วนผสมของ Methylene blue ที่ภาคประชาชนเสนอให้มีการทบทวนรวมอยู่ด้วย) ------------------------------------------------------------------------------------------   การรู้และเข้าถึงข้อมูลยา...ปัญหาใหญ่ของผู้บริโภค  เป็นเรื่องที่น่าเสียดายและน่าตกใจ ที่คนไทยเรายังเข้าถึงข้อมูลของยาต่างๆ ในระดับที่น้อยถึงน้อยมาก นั่นเป็นเพราะคนไทยเราค่อนข้างให้ความเชื่อถือในตัวสถานพยาบาล ตัวบุคลากร ซึ่งก็คือแพทย์ และเภสัชกร ว่าสามารถรักษาและดูแลเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยได้เป็นอย่างดี ทำให้หลายคนมองข้ามที่จะศึกษาข้อมูลยาต่างๆ ที่ใช้อยู่หรือได้เวลาไปพบแพทย์ ซึ่งหากใช้แล้วอาการดีขึ้นหรือรักษาโรคให้หายได้ก็คงไม่มีปัญหา แต่หากเกิดผลในทางตรงกันข้าม คือกินยาแล้วกลับเจ็บป่วยมากกว่าเดิม ได้โรคเพิ่มขึ้น หรือรุนแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งก็สายไปแล้วที่จะแก้ไข การรู้จักหรือเข้าถึงข้อมูลของยาที่ใช้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คำถามที่ตามมาคือแล้วผู้บริโภคธรรมดาๆ จะเข้าถึงข้อมูลยาได้ด้วยวิธีไหน ข้อมูลยาพื้นฐานที่เราทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุดก็คือ ข้อมูลบนฉลากยาและเอกสารกำกับยา ซึ่งต้องมีมาพร้อมกับยาที่เราซื้อมาใช้ หากไม่มีข้อมูลบนฉลากหรือเอกสารกำกับยาแนบมาให้ ก็ควรหลีกเลี่ยงอย่าซื้อมาใช้ ถ้าเป็นยาที่เราได้รับจากแพทย์ที่เราไปรับการรักษาตามสถานพยาบาลต่างๆ ที่มักจะจัดยามาเป็นชุด บรรจุอยู่ในซองยา ไม่ได้มีฉลากหรือเอกสารใดๆ แนบมา ผู้ที่รับยาก็ต้องสอบถามข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับผลของยา วิธีการใช้ยา ให้เข้าใจครบถ้วน เพื่อประโยชน์ของตัวเอง  แม้อาจจะมีอุปสรรคเรื่องภาษา ด้วยว่ายาที่เราใช้กันอยู่เป็นยาฝรั่ง นำเข้าหรือมีการผลิตคิดค้นในต่างประเทศ ชื่อสามัญทางยาชื่อจึงเป็นภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ แถมยังเป็นคำศัพท์เฉพาะทาง อ่านยาก จดจำยาก แต่ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างเราที่อาจต้องใช้ความพยายามสักหน่อยในการทำความเข้าใจ ก็เพื่อความความปลอดภัยในการใช้ยาของตัวเราเอง  การเข้าถึงข้อมูลยาจึงมีประโยชน์ทั้งในเรื่องของความปลอดภัย เป็นข้อมูลสำคัญในการรักษาโรค โดยเฉพาะยิ่งเมื่อเรารู้ชื่อสามัญทางยา ไม่ยึดติดอยู่กับชื่อทางการค้าหรือชื่อยี่ห้อ ก็อาจช่วยให้เราได้ใช้ยาในราคาที่ถูกลง  นอกจากปัญหาที่คนขาดความสนใจ และขาดช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลยาแล้ว อีกหนึ่งปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลยาที่น่ากังวลไม่แพ้กันก็คือ การรับข้อมูลยาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมที่ถูกเผยแพร่ผ่านทางสื่อต่างๆ ทั้ง ทีวี เคเบิ้ลท้องถิ่น วิทยุชุมชน และตามเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการให้ข้อมูลเพื่อมุงหวังทางธุรกิจ คือเป็นการอวดอ้างสรรพคุณในทางรักษาโรคเกินจริง ซึ่งสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภคอย่างมาก แม้ส่วนมากจะเป็นในลักษณะของอาหารเสริมแต่อ้างผลในการรักษาโรค สร้างความสับสันให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก แถมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็จะอ้างเรื่องการรับรองจาก อย. ทำให้ผู้บริโภควางใจหาซื้อมารับประทาน จนเกิดผลร้ายกับร่างกายอย่างที่เคยปรากฏเป็นข่าวหรือที่เคยมีการบันทึกเอาไว้ เช่น กรณีของคุณยายวัยหกสิบกว่าคนหนึ่งที่ทานผลิตภัณฑ์กวาวเครือขาวและกวาวเครือแดงอัดแคปซูลที่สั่งซื้อมาหลังจากได้ยินประกาศโฆษณาทางวิทยุว่ากินแล้ว บำรุงสมอง บำรุงประสาท เสริมสมรรถภาพทางเพศ โดยกินนติดต่อกันมาเป็นเวลาเดือนกว่าๆ ก็ปรากฏว่ามีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอดของคุณยายติดต่อกันถึง 14 วัน เมื่อมาหาหมอ พบว่าเกิดความผิดปกติที่ผนังมดลูก ต้องรักษาด้วยการขูดผนังมดลูก สาเหตุน่าจะมาจากการได้รับสาร Phytoestrogen ที่อยู่ในกวาวเครือมากเกินไป โดยตัวคุณยายแกก็บอกว่าเห็นผลิตภัณฑ์ตัวนี้ผ่าน อย. แล้ว ไม่น่าจะมีอันตราย  ซึ่งนี้ก็เป็นเพราะผู้บริโภคขาดความรู้ในเรื่องข้อมูลยา ไม่รู้ถึงสารที่อยู่ในตัวยา ไม่รู้สรรพคุณที่แท้จริง ไม่รู้ว่าตัวยาดังกล่าวมีความจำเป็นต่อร่างกายมากน้อยแค่ไหน แถมยังถูกป้อนข้อมูลที่ผิดๆ ฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบพัฒนาระบบและวิธีการที่จะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงและตระหนักในการรับรู้ข้อมูลยาให้มากขึ้น รวมถึงการเฝ้าระวังการโฆษณาที่มีผลต่อการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องหรือมุ่งหวังแต่ผลทางการค้าเพียงอย่างเดียว ด้านผู้บริโภคเองก็ต้องสร้างทัศนคติเรื่องการใหม่ในการใช้ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ใช้ยาอย่างระมัดระวัง ให้คิดเสมอว่าการใช้ยาก็อาจให้โทษได้เช่นกัน และโทษของการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องหรือผิดวิธีนั่นร้ายแรงมาก ซึ่งคนที่รับผลนั่นก็คือสุขภาพร่างกายของเราเอง  ใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย  1.รู้จักยาที่จะใช้ ไม่ว่ายานั้นจะได้มาจากการจ่ายยาของแพทย์ หรือผู้ป่วยหาซื้อเองจากร้านขายยา สำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ใช้ยาต้องศึกษายาที่จะใช้ให้ดีว่ามีความปลอดภัย เหมาะสม ถูกต้องตรงตามอาการป่วยที่เราต้องการรักษา  ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับยาที่ควรรู้ ก็คือ  -ชื่อสามัญทางยา การรู้จักชื่อสามัญทางยามีประโยชน์ เพราะเราจะสามารถทราบได้ว่ายาที่เราใช้ คือยาอะไร ตัวเรามีประวัติการแพ้ยาตัวนี้หรือไม่ หรือหากกำลังใช้ยาตัวนี้อยู่แล้วจะได้แจ้งกับแพทย์ที่จ่ายยาป้องกันการใช้ยาซ้ำซ้อน ซึ่งปกติยาที่ได้รับการรับรองอย่างถูกกฎหมายจะต้องมีการแจ้งชื่อสามัญทางยาไว้ในเอกสารกำกับยา หรือถ้าเป็นยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรก็ต้องมีการเขียนแจ้งไว้ที่หน้าซองที่ใช้บรรจุยา  -เมื่อรู้จักชื่อสามัญทางยาแล้ว ก็ต้องรู้จักชื่อทางการค้าด้วย เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญหากพบว่าใช้ยาตัวดังกล่าวแล้วเกิดอันตราย -ลักษณะทางกายภาพของยา ทั้ง สี กลิ่น รูปร่าง เพราะหากวันหนึ่ง ยาตัวดังกล่าวเกิดมีลักษณะทางกายภาพผิดแปลก เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ให้หยุดใช้ยาตัวดังกล่าว เพราะการที่ยาเปลี่ยนแปลงลักษณะอาจเป็นสัญญาณบอกว่าชนิดนี้อาจเป็นอันตรายได้  -ข้อกำหนดในการใช้ยา ขนาดและวิธีใช้ ว่าต้องรับประทานในปริมาณเท่าไหร่ ทานเมื่อไหร่ อย่างไร และยาที่ทานอยู่สามารถทานได้นานแค่ไหน ไม่ควรทานติดต่อกันเป็นเวลาเท่าไหร่  -ต้องรู้ว่าในสถานการณ์ใดที่ควรหยุดใช้ยา เช่น ใช้ยาแล้วแสดงอาการไม่พึงประสงค์ หรือเกิดอาการแพ้ยา ซึ่งควรแจ้งลักษณะอาการด้วย เช่น ใจสั่น ปวดท้อง ฯลฯ  -คำเตือนและข้อห้ามในการใช้ยา  -ผลข้างเคียงของการใช้  -วิธีการเก็บรักษายา 2.อ่านฉลากและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  ทำความเข้าใจยาที่จะใช้อย่างถูกต้องครบถ้วน หากอ่านฉลากหรือเอกสารกำกับยาแล้วยงมีส่วนที่สงสัยให้ปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือสอบถามไปที่ อย.  3.ต้องให้ข้อมูลกับแพทย์ เภสัชกร หรือคนที่มีหน้าที่จ่ายยาให้กับเราให้มากที่สุด  ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลประวัติการแพ้ยา ข้อกำจัดในการใช้ยา เช่น รับประทานยาแคปซูลไม่ได้ หรือปกติต้องทำงานที่ต้องใช้ความระมัดระวังสูงต้องหลีกเลี่ยงยาที่รับประทานแล้วทำให้เกิดอาการง่วงนอน รวมทั้งหากในตอนนั้นมีการใช้ยาตัวอื่นหรือรับประทานอาหารเสริมอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วยก็ต้องแจ้งให้กับผู้ที่จ่ายยาทราบ ที่สำคัญคือคือตัวเราเองมีข้อสงสัยในเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ยาต้องสอบถามให้เข้าใจก่อนใช้ยา  4.สอบถามถึงสาเหตุที่จะทำให้ปฏิกิริยาจากการใช้ยา  ต้องสอบถามกับแพทย์ เภสัชกร หรือคนที่มีหน้าที่จ่ายยาให้กับเรา ว่ายาที่เรารับประทานนั้นจะมีปฏิกิริยากับอาหาร อาหารเสริม หรือยาตัวอื่นๆ ที่เรารับประทานอยู่หรือไม่ อย่างไร แล้วหากทำปฏิกิริยากันจะแสดงอาการอย่างไร มีผลเสียหรือไม่ ต้องหยุดรับประทานยาหรืออาหารเสริมที่รับประทานอยู่หรือไม่  5.ต้องคอยสังเกตดูผลจากการใช้ยาและอาการข้างเคียง  หากเกิดอาการใดๆ ที่รู้สึกผิดปกติระหว่างใช้ยา ต้องปรึกษาแพทย์ทันที และควรมีข้อมูลการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยา  ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ข้อมูลประกอบบทความ : ยาวิพากษ์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 6 กันยายน 2553, แผนงานสร้างกลไกลเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยาวิพากษ์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 9 เมษายน 2554, แผนงานสร้างกลไกลเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสิทธิผู้บริโภคเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา, ผศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ การใช้ยาอย่างปลอดภัย, กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ.... (ฉบับประชาชน), มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และคณะศูนย์ข้อมูลยาปลอมและยาลักลอบนำเข้า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาhttp://wwwapp1.fda.moph.go.th/counterfeit/public/index.aspxสำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาhttp://wwwapp1.fda.moph.go.th/drug/zone_law/law010.asp  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 ผลทดสอบ กระจกนิรภัยกันรอยหน้าจอสมาร์ทโฟน

“แผ่นกันรอยหน้าจอโทรศัพท์มือถือ” เป็น 1 อุปกรณ์เสริมที่ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยสำหรับคนใช้โทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะรุ่นที่เป็นสมาร์ทโฟนที่สั่งการโดยใช้การสัมผัสที่หน้าจอ ส่วนใหญ่เกือบทุกคนต้องหาซื้อมาติดไว้ที่หน้าจอมือถือของตัวเอง เพื่อช่วยให้หน้าจอยังดูเหมือนใหม่ ใช้งานได้นาน ที่สำคัญคือป้องกันไม่ให้เกิดรอยขีดข่วน ซึ่งฟิล์มกันรอยหน้าจอโทรศัพท์มือถือที่ขายอยู่ทั่วไป มีราคาตั้งแต่ไม่ถึงร้อยบาทไปจนถึงหลักพันบาท แตกต่างกันไปตามวัตถุดิบที่นำมาผลิตและคุณสมบัติ โดยชนิดของแผ่นกันรอยที่ถือว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันรอยขีดข่วนบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือได้ดีที่สุดก็คือ กระจกนิรภัยกันรอย (Tempered Glass)ฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่าง แผ่นกันรอยหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ชนิดที่เป็นกระจกนิรภัยกันรอย จำนวน 8 ตัวอย่าง ซึ่งเราเลือกรุ่นที่ใช้สำหรับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน iPhone6 ทั้งหมด  โดยมี “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการทดสอบ    ประเด็นในการทดสอบมี 3 ประเด็น คือ1.ทดสอบความสามารถการต้านทานรอยขีดข่วน โดยประยุกต์วิธีการทดสอบตามมาตรฐาน ASTM D 3359 (cross cut guide test)2.ทดสอบความสามารถการต้านทานการขัดด้วยความเร็วรอบสูง3.การวัดความแข็งซึ่งเแต่ละประเด็นการทดสอบ เป็นการทดสอบคุณสมบัติวัสดุที่นำมาผลิตเป็นแผ่นกระจกป้องกันรอยขีดข่วนบนหน้าจอสมาร์ทโฟน ขั้นตอนการทดสอบ1.ทดสอบความสามารถการต้านทานรอยขีดข่วน โดยประยุกต์วิธีการทดสอบตามมาตรฐาน ASTM D 3359 (cross cut guide test) (มาตรฐาน ASTM หรือย่อมาจาก American Society for Testing and Materials ซึ่งเป็นชื่อของสมาคมวิชาชีพ ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่ก่อตั้งในอเมริกา ทำหน้าที่พัฒนาระบบมาตรฐานต่างๆ ทั้งด้านการผลิต การใช้งาน เพื่อส่งเสริมด้านวิชาการสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นมาตรฐานที่นำมาใช้ได้โดยสมัครใจ)1.1 ติดกระจกนิรภัยแต่ละยี่ห้อ ลงบนหน้าจอสมาร์ตโฟน หลังจากนั้นนำ cross cut guide หลังจากนั้นเปลี่ยนทิศทางของ cross cut guide ให้ตั้งฉากกับรอยตัดเดิม แล้วทำการกรีดตามร่องให้ครบทั้ง 10 ร่อง 1.2 นำเทปกาวมาตรฐาน ที่มาพร้อมกับเครื่องมือทดสอบปิดลงบนรอยกรีดรีดให้ครอบคลุมรอยกรีดทุกร่องรีดเทปกาวให้สนิทบนผิวกระจกนิรภัย1.3 ทำการดึงเทปกาวออกจากผิวกระจกนิรภัยโดยดึงด้วยความเร็วสม่ำเสมอ1.4 สังเกตรอยกรีดว่ามีหรือไม่2 ทดสอบความสามารถการต้านทานการขัดด้วยความเร็วรอบสูง    2.1 ติดกระจกนิรภัยแต่ละยี่ห้อลงบนหน้าจอสมาร์ทโฟนให้สนิทแน่น โดยใช้ฟิล์มพลาสติกใสที่แต่ละยี่ห้อให้มาทำหน้าที่เป็นแผ่นติดประสานระหว่างแผ่นกระจกกันรอยและหน้าจอสมาร์ทโฟน หลังจากนั้นนำเครื่องขัดกระดาษทรายความเร็วสูง (ความเร็วรอบของการขัด 2500 รอบต่อนาที) ขัดลงบนแผ่นกระจกกันรอยนาน 1 นาที2.2 สังเกตรอยแตกที่เกิดขึ้น พร้อมทำการถ่ายรูป เพื่อบันทึกข้อมูล3 ทดสอบความแข็งวัดความแข็งโดยใช้เครื่อง micro hardness tester, model HV-1000B หัวกดที่ใช้ คือ เพชร ซึ่งมีรูปร่างเป็นปิระมิดฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีมุมระหว่างผิวหน้าด้านตรงข้ามกันเท่ากับ 136 องศา และใช้แรงกด 1000 กิโลกรัมฟอร์ซ (kilogram-force:kgf) ระยะเวลากด 20 วินาที รอยที่เกิดขึ้นมีขนาดเล็กในระดับไมครอน ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ในการช่วยคำนวณความแข็งสำหรับทดสอบฟิล์มกระจก ผลการทดสอบ1.ผลการทดสอบความสามารถการต้านทานรอยขีดข่วน โดยประยุกต์วิธีการทดสอบตามมาตรฐาน ASTM D 3359 (cross cut guide test) ไม่พบรอยขีดข่วนทุกตัวอย่างที่ทดสอบ2.ผลการทดสอบความสามารถการต้านทานการขัดด้วยความเร็วรอบสูง พบรอยแตกทุกตัวอย่างที่ทดสอบ3.ผลทดสอบความแข็ง 3 อันดับที่มีความแข็งสูงที่สุด1.Remax มีความแข็งสูงสุด คือ 968.57 วิกเกอร์2.Hishield มีความแข็ง 931.93 วิกเกอร์3.Gorilla มีความแข็ง 848.70 วิกเกอร์ความแข็งของกระจกนิรภัยสามารถเชื่อมโยงไปถึงค่าความสามารถต้านทานการสึกหรอ คือ ค่าความแข็งสูง ก็จะส่งให้ผลค่าความต้านทานการสึกหรอสูงตามไปด้วยฉลาดซื้อแนะนำจากผลการทดสอบจะเห็นว่าทุกยี่ห้อมีผลการทดสอบทั้ง 3 หัวข้อที่ค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก คือ ไม่พบรอยขีดข่วนทุกยี่ตัวอย่าง แต่ในการทดสอบการต้านทานการขัดด้วยความเร็วรอบสูงพบรอยแตกทุกตัวอย่าง ส่วนการทดสอบความแข็ง ผลที่ออกมาก็อยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นคำแนะนำในการเลือกซื้อกระจกนิรภัยกันรอยสำหรับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ก็ควรเปรียบเทียบที่ราคาเป็นอันดับแรก พร้อมดูคุณสมบัติอื่นๆ ประกอบไปพร้อมกัน เช่น ความหนาของกระจก ความคมชัด การลดการสะท้อนของรังสียูวี การป้องกันแสงสีฟ้า (แสงที่เป็นอันตรายต่อจอประสาทตา) จากจอมือถือ การลดหรือป้องกันการเกิดรอยนิ้วมือจากการใช้งาน ฯลฯผลทดสอบแต่ละยี่ห้อ                            

อ่านเพิ่มเติม >