ฉบับที่ 171 การเลือกซื้อจักรยาน

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการขี่จักรยานนอกจากจะเป็นการออกกำลังกายแล้ว ยังสามารถช่วยลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่ในอนาคตจะมีราคาสูงขึ้นและนับวันจะมีแต่หมดลงทุกที แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังการขี่จักรยานในเมืองใหญ่ คือ เรื่องความปลอดภัยจากผู้ร่วมใช้ถนนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคนขับมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์โดยสารสาธารณะ และคนเดินทางเท้า การจำกัดความเร็วในการขับขี่รถยนต์บนถนนแต่ละสาย จะทำให้การขับรถบนถนนนั้นมีความปลอดภัยต่อผู้ร่วมใช้ถนนอื่นๆ ด้วย ในเขตที่อยู่อาศัยและสถานที่ราชการ เช่น ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย จะมีป้ายจำกัดความเร็ว ซึ่งกำหนดให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  จากข้อมูลของสมาคมขับขี่จักรยานแห่งเยอรมนี(The German Cyclist’s Association: ADFC) ชี้ให้เห็นว่า การกำหนดความเร็วที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นจะทำให้บรรยากาศและสวัสดิภาพของคนขี่จักรยานและคนเดินถนนดีขึ้น และยังทำให้การไหลลื่นและความคล่องตัวของการจราจรโดยรวมดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังสามารถลดมลภาวะจากเสียง มลภาวะจากควันได้ ตลอดจนสามารถลดการใช้พลังงานกลุ่มฟอสซิล ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นทรัพยากรสิ้นเปลือง มีราคาแพงและมีวันหมดไปในอนาคต ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการเปลี่ยนให้ถนนในเมืองใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในปี 1983 ในเขตเมือง Buxtehude       ที่ได้ประกาศกำหนดความเร็วบนถนนในเมือง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นั้น ปรากฏว่า คนที่ขับรถยนต์ กลับประหลาดใจว่า สภาพการจราจร ในเมืองดีขึ้น การจราจรไหลลื่นขึ้น ผิดความคาดหมายว่าจะเกิด “สภาพจลาจลในเมืองขึ้น” เวลาที่ใช้ในการขับรถผ่านเมืองใช้เวลาเพียง 48 วินาทีเท่านั้น จากการทดลองในเมืองดังกล่าวได้นำไปสู่การขยายผล กำหนดเป็นกฎจราจรที่ใช้บังคับในอีกหลายเมืองตามมา  สำหรับเนื้อหาในวันนี้จะเล่าถึงการเลือกซื้อจักรยานเบื้องต้น จะต้องพิจารณาอะไรบ้างในการลงทุนซื้อจักรยานนอกจากราคาแล้วยังมีปัจจัยด้านอื่นที่เราควรต้องคิดถึงด้วยเช่นกัน   การเลือกระบบเกียร์ ถ้าเราขี่จักรยานบ่อย ๆ ควรจะเลือกซื้อจักรยานที่มีคุณภาพดี สำหรับจักรยานที่มี 27 เกียร์นั้น เราไม่ได้ใช้เกียร์หมดทุกเกียร์ ส่วนใหญ่แล้วเราใช้ 15- 16 เกียร์เท่านั้นเอง เกียร์ที่สำคัญในการขับขี่จักรยาน คือ เกียร์ต่ำสุด และเกียร์สูงสุด การเลือกซื้อจักรยาน 27 เกียร์นั้น เหมาะสำหรับนักกีฬาปั่นจักรยานที่ขับผ่านเทือกเขาสูง เพราะนักกีฬาที่เข้าแข่งขันจะคุ้นเคย ทราบถึงความละเอียดและความเหมาะสมของเกียร์ในสนามแข่งขันดีกว่าคนที่ขับขี่จักรยานทั่วไป ซึ่งใช้เพียง 7 เกียร์ ก็เพียงพอแล้ว ระบบของเกียร์จักรยานแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ ระบบ ·       derailleur gear (Kettenschaltung) ·       internal gear hub (Nebenschaltung) ปัจจุบันมี 4 ยี่ห้อที่เป็นผู้นำในตลาดได้แก่ ·         Shimano ·         SRAM (เดิมคือยี่ห้อ Sachs) ·         Campagnolo และ ·         Rohloff ระบบเบรก การขับขี่จักรยานทั่วๆ ไป ใช้ drum brake และ back pedal brake ก็เพียงพอ เนื่องจากเป็นเบรกที่ประกอบสำเร็จใน gear hub บำรุงรักษาง่าย และใช้งานได้ดีในสภาวะพื้นถนนลื่น เบรกประเภทนี้ ไม่เหมาะสำหรับการขับขี่จักรยานลงภูเขา เป็นระยะเวลานาน ๆ เพราะจะเกิดความร้อนสูงมาก อาจทำให้เบรกไหม้ได้ สำหรับนักกีฬาจักรยาน การใช้เบรก ประเภท caliper brake หรือ disc brake จะเหมาะสมกว่า แต่ caliper brake นั้นความสามารถในการเบรกจะลดลงในสภาวะถนนเปียก ข้อด้อยอีกอย่างหนึ่งของเบรกประเภทนี้ คือ การสึกหรอของผ้าเบรก และการสึกหรอของล้อจักรยาน ในขณะที่ dis brake จะไม่มีปัญหามากเรื่องการสึกหรอนี้ ล้อรถจักรยาน มี 2 ประเภท ตามวัสดุที่ใช้ในการผลิต คือ ล้ออะลูมิเนียม และ ล้อเหล็กกล้า ซึ่งมีราคาถูกกว่า ล้ออะลูมิเนียม ในกรณีที่ใช้ล้อเหล็กกล้า ก็ไม่ควรใช้ กับ caliper brake เพราะความสามารถในการเบรกแย่มาก บนถนนเปียก ปัจจุบัน เรามักพบว่า จักรยานหลายยี่ห้อใช้ล้ออะลูมิเนียม ซึ่งมักจะมีตัวบ่งบอกการสึกของ ล้อ ( wear indicator) ช่วยบอกการสึกหรอที่เกิดจากการเบรก ซึ่งจะช่วยให้คนขับขี่จักรยานสามารถเปลี่ยนล้อได้ทัน ก่อนที่ล้อจะแตกหัก ยางรถจักรยาน แล้วแต่ความชื่นชอบของแต่ละคน สำหรับนักปั่นจักรยานสำหรับการแข่งขัน ชอบยางรถจักรยานทื่มีความกว้างของยางน้อยๆ และไม่มีดอกยาง ในขณะที่นักปั่นจักรยานวิบาก (mountain bike) ชอบยางที่มีความกว้างของยางมากๆ และมีดอกยางหยาบๆ   สิ่งที่สำคัญสำหรับยางรถจักรยานไม่ได้อยู่ที่ความกว้างหรือความแคบของยาง แต่ขึ้นอยู่กับแรงดันอากาศในยางและดอกยาง ถ้านักปั่นที่ขับขี่จักรยานที่มีดอกยางหยาบๆ บนถนนลาดยาง เสียงจะดัง ซึ่งก็คือ การเสียพลังงานจากการปั่น ไปเป็นพลังงานเสียงโดยไม่จำเป็น จริงๆ แล้ว ควรเลือกใช้ยางจักรยานที่มีดอกยางไม่ต้องหยาบมาก และไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ ล้อฟรี (Aquaplanning) ถ้าความเร็วไม่เกิน 400 km/ชั่วโมง เพราะการเกาะถนนไม่ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะของดอกยาง แต่ขึ้นอยู่กับส่วนผสมทางเคมีของวัสดุที่นำมาผลิตยางรถจักรยาน และก่อนจะตกลงซื้อ ควรลองขับขี่ดูก่อนว่า จักรยานคันที่เราสนใจนี้ เป็นอย่างไร เพราะต้องเข้าใจว่า ราคาจักรยานสมัยนี้ไม่ได้มีราคาพันสองพันบาทแล้ว บางคันมีราคาเป็นหลักหมื่น หวังว่าจะพอเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับเพื่อนสมาชิกวารสารฉลาดซื้อ ได้ใช้เป็นแนวทางในการเลือกซื้อจักรยานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่ากับเงินได้บ้างพอสมควร   (ที่มา: http://www.fa-technik.adfc.de/Ratgeber/Fahrradkauf/index.html)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 ฟอร์มัลดีไฮด์ ตัวร้ายในน้ำยายืดผม

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ข่าวแจ้งเตือน: เยอรมันนี ตรวจพบ ผลิตภัณฑ์ยืดผมที่มีฟอร์มัลดีไฮด์ในปริมาณที่อาจก่อให้เกิดอันตราย  วันนี้ผมขออนุญาต ถ่ายทอดข่าวแจ้งเตือนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ครับ เนื่องจาก ตอนนี้ที่ประเทศเยอรมันนี เกิดเหตุการณ์ สินค้าที่ไม่ปลอดภัย เป็นเรื่องใหญ่ๆ สองเรื่อง เรื่องแรกคือ การตรวจพบสารไดออกซิน ปนเปื้อนในอาหารสัตว์ จนทำให้รัฐบาลต้อง กักบริเวณฟาร์มไก่ ที่ใช้อาหารสัตว์นี้ มูลค่าความเสียหายของเกษตรกร ประมาณ หนึ่งร้อยล้านยูโร และบริษัทที่ทำการผลิตอาหารสัตว์ ก็ได้ยื่นเรื่องขอล้มละลายกับศาลล้มละลายระดับมลรัฐแล้ว เนื่องจากความเสียหายนั้นมหาศาลครับ แต่สำหรับเรื่องที่จะเล่าในวันนี้อาจจะทำความกังวลบ้างในหมู่ผู้ที่ชอบยืดผมหยิกให้ตรง เพราะข่าวแจ้งเตือน เรื่องน้ำยายืดผม ที่พบปริมาณของฟอล์มัลดีไฮด์ในปริมาณความเข้มข้นที่สูงมากครับ  สถาบันกลางการประเมินความเสี่ยง -The Federal Institute for Risk Assessment (BfR)) แนะนำไม่ให้ใช้ผลิตภัณฑ์ยืดผมที่มีฟอร์มัลดีไฮด์ที่ระดับเข้มข้นสูง ผลิตภัณฑ์ที่มีฟอร์มัลดีไฮด์ที่ระดับความเข้มข้น 1.7 – 1.8 เปอร์เซ็นต์ เป็นที่จับตาของหน่วยงานเฝ้าระวังของรัฐบาเดน-วูทเท ฟอร์มัลดีไฮด์ก่อให้เกิดความระคายเคืองรุนแรงต่อดวงตา ผิวหนังและเยื่อเมือก ยิ่งไปกว่านั้น สารประกอบดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดอาการแพ้และถูกจัดให้อยู่ในประเภทสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ทางสหภาพยุโรปไม่อนุญาตให้ใช้ฟอร์มัลดีไฮด์ในผลิตภัณฑ์ยืดผม อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคและช่างทำผมมักนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากต่างประเทศโดยตรง หรือสั่งซื้อผ่านทางอินเตอร์เน็ต โดยไม่รู้ว่าพวกมันสามารถก่อให้เกิดอันตรายได้  ฟอร์มัลดีไฮด์สามารถก่อให้เกิดมะเร็งในโพรงจมูก ซึ่งในช่วงหลังวงการวิทยาศาสตร์ยังมีการถกกันถึงความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์ระหว่างฟอร์มัลดีไฮด์และการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดไมอีลอย เป็นที่รู้กันดีว่า ฟอร์มัลดีไฮด์ก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจและผิวหนัง อาจรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะช็อคถึงขั้นเสียชีวิตได้ ยิ่งไปกว่านั้น มันทำให้เกิดความระคายเคืองรุนแรงต่อดวงตา ผิวหนังและเยื่อเมือก สำหรับปริมาณฟอร์มัลดีไฮด์ที่มีอยู่ในอากาศภายในอาคารนั้น ทาง BfR ได้กำหนดค่าความปลอดภัยไว้ที่ระดับ 0.1 ppm   ภายในสหภาพยุโรป ฟอร์มัลดีไฮด์ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นสารออกฤทธิ์ของยาบำรุงเล็บเท่านั้น ที่ระดับความเข้มข้นไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ และได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นสารกันบูดในเครื่องสำอางที่ระดับความเข้มข้นไม่เกิน 0.2 เปอร์เซ็นต์ จากที่ถูกระบุไว้บนฉลากที่ระดับ 0.05 เปอร์เซ็นต์ ผลิตภัณฑ์ยืดผมที่ถูกตรวจสอบจากหน่วยงานเฝ้าระวังในรัฐบาเดน-วูทเทมเบิร์ก พบปริมาณฟอร์มัลดีไฮด์ถึง 1.7-1.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ยืดผมที่มีความเข้มข้นดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้ใช้  BfR แนะนำให้หน่วยงานแต่ละมลรัฐในเยอรมนนี ให้หามาตรการรองรับและทำการตรวจสอบอย่างละเอียด เช่น ร้านทำผมที่ใช้ผลิตภัณฑ์ยืดผมที่มีฟอร์มัลดีไฮด์ โดย BfR แนะนำเร่งด่วนไม่ให้ผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่บ้าน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถสั่งซื้อได้จากอินเตอร์เน็ต   ผลิตภัณฑ์ยืดผมถูกใช้เพื่อยืดเส้นผมที่หยิกตามธรรมชาติให้กลับเป็นผมตรงอย่างถาวร ผลิตภัณฑ์จะถูกทาลงบนเส้นผม และหลังจากรอเวลาทำปฏิกิริยา 30 นาที เส้นผมจะถูกทำให้ตรงโดยใช้ที่รีดผมที่มีความร้อน 230 องศาเซลเซียส ถ้าผลิตภัณฑ์ยืดเส้นผมนั้นมีฟอร์มัลดีไฮด์ ช่างทำผมและลูกค้า หรือผู้ใช้งานตามบ้านจะสูดดมมันเข้าไปพร้อมกับไอน้ำที่เกิดขึ้น ฟอร์มัลดีไฮด์ที่ถูกปล่อยจากผลิตภัณฑ์ที่ถูกตรวจสอบนั้นมีปริมาณสูงมากจนก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนัง เยื่อเมือก ดวงตา ระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ต่อผิวหนังและอาจก่ออันตรายอื่นๆ ต่อสุขภาพ   ผลิตภัณฑ์ฑ์ยืดผมใช้ฟอร์มัลดีไฮด์เพื่อเชื่อมต่อเคราตินในเส้นผมที่เสียไปจากความร้อน โครงสร้างผมหยิกก็ถูกทำให้ตรงด้วยวิธีนี้เช่นกัน  ก่อนจะจากกันในวันนี้ มีข่าวดีมาฝากครับ ตอนนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้จัดตั้ง ศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยสินค้าอันตราย เป็นหน่วยงานภายใน สคบ. หากเพื่อนๆ สมาชิกฉลาดซื้อ สนใจ สามารถแวะเวียนเข้าไปชมที่เวบไซต์ http://upvac.ocpb.go.th ได้ครับ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 164 ยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร

บทนำ เมื่อ อเล็คซานเดอร์ เฟลมมิ่ง ค้นพบเพนนิซิลลิน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลก ถือเป็นความยิ่งใหญ่ในการรักษาโรคติดเชื้อในคน ซึ่งในยุคนั้น มีปัญหาโรคติดเชื้อมากมาย และผู้คนต้องเสียชีวิตจำนวนมาก  เขาได้บรรยายในวันที่รับรางวัลโนเบล เมื่อปีพ.ศ.2492 ว่า มันเป็นการไม่ยากที่จะก่อให้เกิดการดื้อยาในเชื้อแบคทีเรีย เมื่อใช้ยาในขนาดน้อย ๆ ที่ไม่เพียงพอในการกำจัดเชื้อโรค จะนำไปสู่เชื้อที่มีความดื้อด้านทนทานต่อยามากขึ้น แต่ดูเมือนผู้คนยังไม่ตื่นตระหนก จึงยังคงใช้ยาปฏิชีวนะกันมากมาย อย่างไม่ระมัดระวัง ใช้ไม่ถูกต้อง ใช้เกินจำเป็น ตลอดมา องค์การอนามัยโลกได้สะท้อนปัญหาเชื้อดื้อยามานานแล้ว ตั้งแต่ปีพ.ศ.2541 และมีรายงาน มีเอกสารยุทธศาสตร์ มีมติต่าง ๆ ออก มาอยางต่อเนื่อง โดยล่าสุดคือในปีนี้เอง มีรายงานขององค์การอนามัยโลกที่ สะท้อนผลการสำรวจสถานการณ์การดื้อยาทั่วโลก[1] พบว่ามีสถานการณ์เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพอยู่ในระดับเลวร้ายมาก และพบช่องว่างการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหารมาก เมื่อเทียบกับในคน  ในสมัชชาอนามัยโลก ปีพ.ศ. 2557 (WHA67.25)[2] จึงมีมติแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ และเรียกร้องประเทศสมาชิกให้รีบเร่งดำเนินการต่าง ๆ ถึง 10 เรื่อง เช่น การพัฒนาระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา ใน 3 ด้าน คือผู้ป่วยในสถานพยาบาล ผู้ป่วยนอกและชุมชน และรวมถึง ในสัตว์และการใช้ในส่วนที่ไม่ใช่คน เช่น ในการเกษตร  การมีนโยบายของประเทศที่ชัดเจน เป็นต้น เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจ  World Economic Forum ซึ่งเป็นองค์ด้านเศรษฐกิจ มีการประชุมและจัดทำรายงายทุกปี  ซึงเมื่อปีพ.ศ. 2556 ได้จัดทำรายงาน เกี่ยวกับสภาวะปัจจัยเสี่ยงของโลก Global Risk 2013[3] และหนึ่งในความเสี่ยงที่ได้หยิบยกมา เป็นโรคแห่งความอหังกาของมนุษย์โดยแท้  คือเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพและรวมถึงยาปฏิชีวนะด้วย  ที่เกิดทั้งจากการใช้ในคนและใช้สัตว์อย่างไม่ระมัดระวัง ปัญหาเกิดจากการรักษาในคนและ การนำมาใช้ในการเกษตร ทั้งการปลูกพืช และในการเลี้ยงสัตว์ (ปศุสัตว์ และประมง) มีการสะท้อนปัญหาของการดื้อยาปฏิชีวนะ นำไปสู่ปัญหาไม่มียาปฏิชีวนะใช้  และอนาคต ผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร เรื่องสิ่งแวดล้อม และนิเวศน์วิทยา และเรียกร้องทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ผลิต ผู้ควบคุม ไปจนถึงผู้ใช้ในทุกระดับ ให้ตระหนักเรื่องนี้ให้มากกว่าปกติ จึงควรมาทำความเข้าใจถึงเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะและปัญหาเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร  พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ให้คำจำกัดความ ของ “ห่วงโซ่อาหาร[4]” ว่า หมายความว่า วงจรการผลิตอาหารตั้งแต่วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต การเพาะปลูก การเพาะเลี้ยง การตัดแต่ง การแปรรูป การขนส่ง การปรุง การประกอบ การบรรจุ การเก็บรักษา การจัดจำหน่าย การกระจาย จนถึงผู้บริโภค รวมทั้งการนำเข้า การนำผ่าน และการส่งออก สถานการณ์ของประเทศไทย สถานการณ์มีได้ 2 ลักษณะ คือ กลุ่มแรก พบมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์สัตว์ เช่น  ไก่ กุ้ง ซึ่งพบมีรายงานมานานแล้ว อีกกลุ่มที่น่ากลัวและพบรายงานเร็ว ๆ นี้ คือการพบเชื้อ และโดยเฉพาะเชื้อดื้อยาในผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับมนษย์ เช่นไก่ รายงานในปี พ.ศ. 2545 พบว่า มีการตรวจพบ สารตกค้างของยาปฏิชีวนะในกลุ่มไนโตฟูแรน (Nitrofurans) ในสินค้ากุ้งและไก่แช่แข็งจากประเทศไทยที่ส่งไปที่สหภาพยุโรป ส่งผลให้มีการระงับการนำเข้าและส่งคืนสินค้าที่มาจาก ประเทศไทย รวมถึงมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ตั้งข้อกำหนดที่เข้มงวด เช่น การตรวจสอบสารตกค้างทุกครั้งที่นำเข้า ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์ มีการตรวจพบเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาแวนโคมัยซิน (vancomycin) ในเนื้อไก่ที่ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น มีรายงานอื่น ๆ อีกมากมาย เช่นการตรวจพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในบ่อเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ที่สงขลา [5] รุ่งทิพย์ ชวนชื่น[6] (2553) ได้ศึกษาพันธุกรรมการดื้อยาและการปรากฏของ virulence factors ในเชื้อ Salmonella enterica ที่แยกได้จากโคนม เนื้อสุกรและผู้ป่วย  พบการแพร่กระจายของเชื้อ Samonella ดื้อยาในฟาร์มโคนม เนื้อสุกรและผู้ป่วย โดย class 1 integrons มีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายและการถ่ายทอดพันธุกรรมการดื้อยาในเชื้อเหล่านี้ รวมทั้งเชื้อเหล่านี้ยังมีปัจจัยก่อความรุนแรงของโรค ผลการวิจัยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อการบริโภคอย่าง รวมถึงการส่งเสริมให้การศึกษาพันธุกรรมการดื้อยาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทราบปัญหาที่แท้จริงของการดื้อยาในเชื้อและสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ มีรานงานการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล[7] ว่าทำการตรวจสอบเนื้อไก่สดที่แพ็กขายในซุปเปอร์มาร์เกต พื้นที่ใกล้เคียง รพ.ศิริราช จำนวน 200 แพ็ก พบว่าเกินครึ่ง (56.7%) มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในลำไส้ใหญ่ของคนทั่วไป และเชื้อซัลโมเนลลา เอนเตอโรติก้า (Salmonella enteritica) ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง พบว่าเกินค่ามาตรฐานที่ 500 ตัว ต่อ 25 กรัมของเนื้อสัตว์  และในจำนวนเชื้อที่ปนเปื้อนทั้ง 2 ชนิดเป็นเชื้อดื้อยาถึงร้อยละ 40 อาจจะทำให้คนทั่วไปได้รับเชื้อดื้อยาโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงน่าเป็นห่วงว่ายังมีการใช้จนได้ตรวจพบยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับคนอีกต่อไปหรือไม่ และเป็นยาปฏิชีวนะประเภทใด พบในผลิตภัณฑ์ชนิดใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจพบเชื้อดื้อยา พบเชื้ออะไรอีกบ้าง และดื้อต่อยาปฏิชีวนะชนิดใด  เหล่านี้เกิดมาได้อย่างไร ผลเสียหายต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ รุนแรงและมากมายเพียงใด ระบบเฝ้าระวังเรื่องนี้เป็นอย่างไร ศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ [8] (National Antimicrobial Resistance Surveillance Thailand, NARST) ดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2541 มีรายงานต่อเนื่องทุกปีถึงสถานการณ์เชื้อดื้อยาในมนุษย์ โดยได้ตัวอย่างมาจากโรงพยาบาลเป็นหลัก จึงยังมีตัวอย่างจากชุมชนไม่มากนัก รายงานจากกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2556 และ 2557[9] ระบุว่าคนไทยติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะปีละกว่า 1 แสนคน ใช้เวลารักษาตัวนานขึ้นรวมกันปีละกว่า 3 ล้านวัน ในปี 2553 มีผู้ป่วยติดเชื้อชนิดดื้อต่อยาปฏิชีวนะ 5 ชนิด เสียชีวิต 38,481 ราย เชื้อจุลชีพ 5 ชนิด ได้แก่ 1.เอสเชอริเชีย โคไลหรืออี.โคไล (Escherichia coli) ที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและทางเดินอาหาร 2.เคลบซีลลา นิวโมเนอี (Klebsiella pneumoniae) ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอดอักเสบ 3.เชื้ออะซีนีโตแบคเตอร์ บอแมนนิอาย (Acinetobactor baumannii) เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดบวม 4.ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) ทำให้เกิดโรคติดเชื้อหลายระบบของร่างกาย เช่น โรคปอดบวม ติดเชื้อในกระแสเลือด และ5.สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ที่ดื้อต่อยาเมทิซิลิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อันได้แก่ กรมประมง กรมปศุสัตว์ มีหน้าที่เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาเฉพาะในสัตว์ที่หน่วยงานรับผิดชอบ  แต่ยังมีกลุ่มเกษตรกรรมที่ใช้ยาปฏิชีวนะในการปลูกพืช  ยังไม่มีระบบการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาที่ชัดเจน มีเพียงงานวิจัยประปรายที่ระบุการพบการตกต้างของยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์ และมีการศึกษาในภายหลังถึงการพบเชื้อดื้อยาด้วย ที่น่าอันตรายมากต่อผู้รับประทาน และต่อสุขภาพเกษตรกรด้วย ห่วงโซ่อาหาร มียาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยามาอยู่ได้อย่างไร การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์มีวัตถุประสงค์ หลัก 3 ประการ คือ เพื่อการรักษา เพื่อการป้องกันโรค และเพื่อเร่งการเจริญเติบโตวิธีการให้ทั้ง 3 วิธีนี้มีความแตกต่างกันไป เชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้นในสัตว์นั้นสามารถถูกส่งผ่านไปยังคนได้ โดย 3 วิธีหลักๆ คือ[10] 1) การบริโภคเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ จากสัตว์ 2) การสัมผัสกับสัตว์โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสัตว์ และ  3) การรับเชื้อจากสิ่งแวดล้อม เช่น ในแหล่งน้ำและดิน เป็นต้น  มีรายงานของประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า 5 จาก 90 ตัวอย่าง เนื้อหมูที่วางขายในร้านขายของชำในรัฐลุยเซียนามีเชื้อ Methicillin-resistance Staphylococcus aureus (MRSA) อยู่ และมีการศึกษายืนยันความสัมพันธ์ของการใช้ยาในสัตว์และการเกิดเชื้อดื้อยา MRSA ที่ส่งผ่านมายังคน ใจพร พุ่มคำ (2555) อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดปัญหาเชื้อดื้อยาและยาปฏิชีวนะ ตกค้างในเนื้อสัตว์ไว้ 7 ประการ 1. ความจำเป็นของผู้เลี้ยงในการใช้ยาในสัตว์ เนื่องจากโอกาสที่สัตว์จะป่วยมีได้โดยเฉพาะในฟาร์มทีไม่ได้มาตรฐาน 2. การใช้ยาอย่างผิดกฎหมาย เช่นใช้เภสัชเคมีภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาสำเร็จรูป ฉลากไม่ถูกต้องหรือใช้ยาคนไปผสมให้สัตว์กิน ทำให้อาจได้ขนาดไม่ถูกต้อง 3. การใช้ยาอย่างไม่ถูกวิธี เช่น ใช้ยาไม่ตรงกับโรค ผิดขนาด ผิดช่วงเวลา วิธีการใช้ไม่การใช้ยาสูงขึ้น ใช้ยานานขึ้น หรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นที่แรงขึ้น แพงขึ้น 4. ไม่มีการหยุดยาตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้มียาตกค้างในเนื้อเยื่อของสัตว์ในปริมาณที่เป็นอันตรายได้ 5. การไม่ตรวจหาสารตกค้างหรือการตรวจอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ผู้เลี้ยงสัตว์บางรายไม่มีการสุ่มตรวจหาสาร ตกค้างในสัตว์ก่อนการฆ่าหรือจับสัตว์มาบริโภค 6. การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ในการกำกับดูแลสถานที่จำหน่ายยาสัตว์  รวมถึงสถานนำเข้า หรือผลิต เป็นสิ่งสำคัญ หากมีความอ่อนแอและไม่ทั่วถึงย่อมเกิดปัญหาตามมาแน่นอน ถือเป็นการดูแลที่ต้นน้ำ 7. มีระบบติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์การเกิดเชื้อ-ดื้อยา และยาตกค้างในเนื้อสัตว์ ต้องถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และครอบคลุม เช่นเดียวกันว่าหากระบบไม่เข้มแข็งก็ติดตามไม่ทนสถาณการณ์ อย่างไรก็ดี หลายคนตั้งคำถามว่า ประเด็นในเรื่องนี้ อยู่ที่ว่า ในความเป็นจริง การอนุญาตให้ใช้ยาฏิชีวนะในอาหารสัตว์  แล้วพักเวลาก่อนการขาย นั้น ทำให้ตรวจไม่พบไม่มียาปฏิชีวนะตกค้าง   แต่น่าจะป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาในเนื้อสัตว์ ส่วนยาปฏิชีวนะในสวนผลไม้ต่าง ๆ เช่นสวนส้ม ยังไม่มีการศึกษามากนักว่าตกค้างในผลไม้เท่าไหร่ และตกค้างในสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ มีอันตรายแก่ผู้คนอย่างไร โดยเฉพาะการเกิดเชื้อดื้อยา การควบคุมการนำเข้า การกระจายและการใช้ยาปฏิชีวนะของไทย เป็นอย่างไร พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551[11] และฉบับแก้ไข พ..ศ. 2556[12] เป็นการกำหนดมาตรฐาน และออกใบอนุญาต ผลิต ส่งออก และนำเข้า สินค้าเกษตรมาตรฐาน ทั้งนี้ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)[13] ทำหน้าที่ เป็นแกนประสาน รวม 7 ประการ เช่น  เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร   กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้สอดคล้องกับสากล และ รับรองระบบงานผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศไม่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อขายซึ่งอาหารสัตว์ทุกประเภททีมีสารอะโวพาร์ซินเป็นส่วนผสม  จึงมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ ให้ยกเลิกข้อความใน (3) ของข้อ 3 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2538) เรื่อง วัตถุที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นยา ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2538 นั่นคือกลับให้ อะโวพาร์ซิน ( Avoparcin ) ที่อยู่ในสภาพของสารผสมล่วงหน้า กลับไปเป็นยาอย่างเดิม รือยกเลิกไปเลย น่าสับสน น่าสนใจว่า ตั้งแต่พ..ศ. 2522 เป็นต้นมา มีการประกาศยกเว้นให้ยาปฏิชีวนะหลายชนิด ไม่เป็นยา นั่นคือนำไปใช้ผสมในอาหารสัตว์ได้ เช่น ให้ เตตราซัยคลิน และ สเตรปโตมัยซิน ในขนาด ไม่เกิน 15% ใช้ในทางเกษตรกรรมได้ และยกเว้นไม่ถือเป็นยา (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2524 เรื่องวัตถุที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นยา) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 34 (พ.ศ. 2548) เรื่อง วัตถุที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นยา ข้อ 3 ให้ยาต้านจุลชีพที่เป็นสารผสมล่วงหน้า ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการเจริญเติบโตของสัตว์ในด้านเกษตรกรรม ซึ่งได้รับยกเว้นจากการเป็นยาตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2538) รวมทั้งที่ได้ขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 ไว้แล้ว ได้รับยกเว้นจากการเป็นยาเป็นเวลา 2 ปี นับจากวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ และเมื่อพ้นกำหนดแล้ว การผลิต ขายหรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งวัตถุดังกล่าว ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 4 วัตถุตามข้อ 2 และข้อ 3 ต้องไม่แสดงสรรพคุณบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรือความเจ็บป่วยสำหรับสัตว์ จากการสืบค้นในเวปไซต์ ต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะ ความเข้าใจผิด และความละเลยในการใช้    เช่น มีคำถาม ว่าสเตรปโตมัยซิน มีขายที่ไหนเอ่ย?  ที่ใช้กับพืชนะครับ คำตอบคือ  ร้านขายยาปราบศัตรูพืช คุณอยู่ใกล้ที่ไหนลองไปเดินหาดู  ตามตลาดร้านขายยาฆ่าแมลง มีทั่วไป เป็นยาปฏิชีวนะ  ครอบจักรวาล ส่วนมากเขาไม่นิยมใช้ เพราะมีสารตกค้าง  อันตรายต่อคน เขาใช้น้ำหมักชีวภาพ ใช้สารสะเดา หรือไม่  ก็ใช้ตัวฮั่มหรือแตนเบียน ไล่แมลง แต่ในความเป็นจริงมีการอนุญาตตามกฎหมมายให้ยกเว้นจากการเป็นยา ทิศทางการรณรงค์เชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหารของ นานาชาติ การได้เรียนรู้มาตรการจัดการในต่างประเทศมีประโยชน์ในการเสนอแนะต่อหน่วยงานรับผิดชอบของไทยไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง กรมปศุสัตว์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) กระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2548 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้มีมติระงับการใช้สารเสริม (additives) กลุ่มยาปฏิชีวนะ (antibiotic) ประเภทสารเร่งการเจริญเติบโต (growth promoters) เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเลี้ยงสัตว์ จำนวน 4 รายการ[14] ได้แก่  1. Monensin sodium : ใช้ในการขุนเลี้ยงโค กระบือ 2. Salinomycin sodium : ใช้ในการขุนเลี้ยงสุกร 3.  Avilamycin : ใช้ในการขุนเลี้ยงสุกร ไก่ และไก่งวง 4.  Flavophospholipol : ใช้ในการขุนเลี้ยง กระต่าย ไก่ไข่ ไก่ ไก่งวง สุกร ลูกสุกร วัว ลูกวัว มติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2549 โดยยาปฏิชีวนะนี้เป็น 4 รายการสุดท้ายที่ยังเคยคงอนุญาต และยังสอดคล้องกับมติเดิม เกี่ยวกับแผนการควบคุมเชื้อดื้อยาของสภายุโรป [15] ได้ทราบว่ามีการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะบางรายการในการเป็นส่วนผสมอาหารเพื่อการเจริญเติบโต และนโยบายว่าจะควบคุมยาปฏิชีวนะทุกชนิดในการเป็นสารเร่งการเจริญเติบโต แต่ข้อเท็จจริง มีการอนุญาตใช้สารที่เรียกว่า pre-mix ใช้ผสมให้สัตว์ กินทั้งในรูปอาหารและในรูปเป็นน้ำผสม เพื่อระบุว่าเป็นการป้องกันและรักษา การติดเชื้อของโรค การอนุญาตดังกล่าว จะนำไปสู่การใช้ไม่ระมัดระวัง และนำไปสู่การเกิดเชื้อดื้อยาหรือไม่ การเฝ้าระวังสถานการณ์การกระจายและใช้ ตลอดจนการเกิดเชื้ออดื้อยาจึงจำเป็นที่สุด   [1] WHO (2014) ANTIMICROBIAL RESISTANCE: Global Report on Surveillance, Available from  http://apps.who.int/iris/bitstream/10665/112642/1/9789241564748_eng.pdf?ua=1 [2]WHO (2014) SIXTY-SEVENTH WORLD HEALTH ASSEMBLY:   Antimicrobial resistance, Available from http://apps.who.int/gb/ebwha/pdf_files/WHA67/A67_R25-en.pdf?ua=1 [3]WEF (2013) Global Risk 2013  http://www3.weforum.org/docs/WEF_GlobalRisks_Report_2013.pdf [4] พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ.. 2551 http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538973927&Ntype=19 [5] การตกค้างของยาปฏิชีวนะในบ่อเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม http://www.fisheries.go.th/quality/กุ้งขาวแวนนาไม.pdf [6] รุ่งทิพย์ ชวนชื่น (2553) การศึกษาพันธุกรรมการดื้อยาและปัจจัยในการก่อความรุนแรงของโรคของเชื้อซาลโมเนลล่า เอ็นเทอริก้าที่แยกได้จากห่วงโซ่อาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [7] ไทยรัฐ (2555) พบไก่สดในซุปเปอร์มาร์เกตมี “เชื้อดื้อยา” http://www.thairath.co.th/content/264356 [8] http://narst.dmsc.moph.go.th/ [9] http://narst.dmsc.moph.go.th/news001.html  และ http://news.mthai.com/general-news/348974.html [10] ใจพร พุ่มคำ (2555) อาหาร (ไม่) ปลอดภัย ...ผลจากการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ วารสารอาหารและยา กันยายน-ธันวาคม 2555 http://journal.fda.moph.go.th/journal/032555/02.pdf [11] http://www.acfs.go.th/km/download/thai_agrilaw_3.pdf [12]http://www.acfs.go.th/km/download/thai_agrilaw_2.pdf [13] http://www.acfs.go.th/index.php [14]European Commission (2005) Ban on antibiotics as growth promoters in animal feed enters into effect, available from  http://europa.eu/rapid/press-release_IP-05-1687_en.htm [15] European Commission (2001) Commission proposals to combat anti-microbial resistance , available from http://europa.eu/rapid/press-release_IP-01-885_en.htm

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 156 ปั่นสู่กรุงเทพฯ เมืองจักรยาน

พาหนะเรียบง่ายแสนวิเศษ ปี พ.ศ. 2557  ท่ามกลางการจราจรหนาแน่นตามสี่แยกใหญ่ทั่วเมืองกรุง อารมณ์ผู้คนบนถนนต่างขุ่นหมองไม่ต่างจากหมอกควันปลายท่อไอเสียรถยนต์ มีพาหนะชนิดหนึ่งที่เคลื่อนที่ไปได้เรื่อยๆ ซอกแซก ลัดเลาะ ไหลลื่นไปไม่ยี่หระกับสภาพการจราจรที่อยู่ตรงหน้า พาหนะที่ว่านี้ไม่ใช่นวัตกรรมล้ำยุคสุดไฮเทค แต่เป็นเพียงพาหนะเรียบง่ายแสนธรรมดาที่เรียกว่าจักรยานนั่นเอง ด้วยความที่มีขนาดเล็ก ทุ่นแรงได้ดี เคลื่อนที่คล่องตัวแต่ไม่เร็วมาก ไม่ต้องเติมน้ำมัน ไม่ปล่อยมลพิษและไม่ส่งเสียงดัง เลยไม่ก่อความรำคาญสร้างความรบกวนใครสักเท่าไหร่นัก  จักรยานจึงช่วยให้ผู้ที่ขับขี่สามารถเดินทางฝ่าทุกสภาพถนน(หรือแม้แต่ฝ่าม็อบปิดถนน) ไปได้ทุกที่ และหลุดพ้นจากวังวนปัญหารถติดในเมืองกรุงฯ ได้ ทุกวันนี้เราแทบจะสังเกตเห็นผู้คนปั่นจักรยานบนท้องถนนเป็นเรื่องธรรมดา อาจจะยังมีจำนวนไม่มากเท่าไหร่ถ้าเทียบกับจำนวนยานพาหนะอื่นๆ แต่หากเทียบกับสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยบนท้องถนนที่มีให้แก่จักรยานเพียงน้อยนิด ไม่ว่าจะเป็นเลนจักรยาน ที่จอดจักรยาน หรือแม้กระทั่งการรับรู้ว่าจักรยานมีสิทธิในการสัญจรบนถนนเท่าเทียมกับรถยนต์ ผมคิดว่าการที่ยังมีคนขี่จักรยานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสังเกตได้ชัดเช่นนี้เป็นเรื่องที่รัฐไม่ควรเพิกเฉยต่อความต้องการของประชาชน   ผลสำรวจความต้องการใช้จักรยานของคนกรุงเทพฯ[i] ที่มูลนิธิโลกสีเขียวทำการสำรวจขึ้นเนื่องในโอกาสวันคาร์ฟรีเดย์เมื่อปี 2554 เป็นการสะท้อนความต้องการใช้พาหนะเรียบง่ายแสนวิเศษนี้ได้อย่างชัดเจน จากการสอบถามชาวกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น 4,333 คน ทั้งผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ (2,858 คน) และผ่านทางการสำรวจแบบตัวต่อตัวตามย่านชุมชน (1,475 คน) ได้แก่ สยามสแควร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จตุจักรและท่าเตียน โดยมีคำถามสำคัญอยู่ 2 ข้อ คือ ถ้าสามารถขี่จักรยานในกรุงเทพฯ ได้อย่างปลอดภัย คุณจะขี่ไหม ? ถ้าต้องแบ่งพื้นที่บนถนนมากั้นเป็นเลนจักรยาน คุณจะยอมไหม ? ผลสำรวจออกมาว่า ร้อยละ 86 บอกว่าจะออกมาขี่จักรยานบนท้องถนน หากรู้สึกว่าสามารถขี่ได้อย่างปลอดภัย และร้อยละ 93 ที่ยินยอมให้จัดสรรแบ่งปันพื้นที่จราจรบนถนนมากั้นเป็นเลนให้จักรยาน ผลสำรวจสะท้อนความต้องการใช้จักรยาน ทั้งๆ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามมากถึงร้อยละ 48  ไม่เคยใช้จักรยานในกรุงเทพฯ มาก่อนเลย เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาเหล่านั้นรู้สึกว่าถนนหนทางในกรุงเทพฯ ยังไม่ใช่ที่ทางที่จักรยานจะสามารถปั่นได้อย่างปลอดภัยนั่นเอง นี่เป็นที่มาที่ชาวจักรยานและกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องกับจักรยานรณรงค์ร้องขอทางจักรยานที่ปลอดภัย   วิวัฒน์ทางจักรยานในกรุงฯ กับฝันค้างของนักปั่น เท่าที่มีบันทึกในเอกสารของสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานครเริ่มมีทางจักรยานสายแรกตั้งแต่ปี  2535 เป็นทางยกระดับเลียบคลองประปาฝั่งตะวันตก แต่ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ให้ข้อมูลจากความทรงจำว่า ก่อนหน้านั้นเคยมีทางจักรยานตั้งอยู่บริเวณถนนรามคำแหง  เริ่มตั้งแต่สี่แยกคลองตันถึงสนามกีฬาหัวหมาก  แต่เมื่อเวลาผ่านไป ขาดการบำรุงรักษา เส้นทางจักรยานทั้ง 2 เส้นนั้นก็รางเลือนไปตามกาลเวลาจนหายไปในที่สุด ในสมัยของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 12 ดร.พิจิตต รัตตกุล (2539-2543) ความฝันเรื่องทางจักรยานดูจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาใหม่ มีการสร้างทางจักรยานเฉพาะขนานถนนตัดใหม่แยกออกจากพื้นผิวถนนอย่างชัดเจน เส้นทางที่เด่นชัดที่สุดคือ ทางจักรยานถนนประดิษฐ์มนูธรรม(จากถนนพระราม 9  - ถนนรามอินทรา) ระยะทาง ไป - กลับ รวม 24 กิโลเมตรโดยมีต้นปาล์มขั้นกลางยาวตลอดแนว ตลอดสมัยนี้มีการสร้างทางจักรยานยาวรวมกัน 34 กิโลเมตรรวม 5 เส้นทาง แต่เมื่อใช้งานจริงกลับประสบปัญหา เส้นทางไม่มีความต่อเนื่อง อยู่คนละทิศละทาง ไม่ตอบโจทย์การใช้งาน ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้จริง ความฝันเรื่องทางจักรยานจึงเป็นจริงได้เพียงตัวเลขกิโลฯ บนเอกสารและเส้นสีที่เปรอะเปื้อนบนก้อนอิฐที่ค่อยๆ จางลงเรื่อยๆ จนมาถึงสมัยของคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน นโยบายเรื่องทางจักรยานก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างอีกครั้ง โดยเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวจักรยานตื่นเต้นเป็นที่สุดคือเมื่อ มีการริเริ่มโครงการ "จักรยานชมกรุงรัตนโกสินทร์" หรือ Green Bangkok Bike (ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น Bangkok Smiles Bike) ถนนหลายสายในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน เช่น ถนนพระอาทิตย์ ถนนตะนาว ถนนมหาไชย  มีการสร้าง ‘ทางจักรยานบนผิวจราจร’ ด้วยการจัดแบ่งเลนสัญจรใหม่ให้แคบลงนิดหน่อยเพื่อเพิ่มเลนจักรยานทางด้านซ้ายของทางเดินรถ มีการติดป้ายสัญญาณจราจร ป้ายเตือน มีจุดให้บริการยืมคืนจักรยานอยู่ทั่วบริเวณ นับเป็นครั้งแรกที่จักรยานมีเลนของตัวเองบนผิวถนนเฉกเช่นเดียวกับพาหนะติดเครื่องยนต์อื่นๆ แต่ฝันของชาวจักรยานยังต้องกลายเป็นฝันค้างอีกครั้งเมื่อโครงการเริ่มดำเนินการไปโดยไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมายและขาดการสื่อสารกับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเท่าที่ควร ดังนั้นเมื่อขีดสีตีเส้นจนสีแห้งสนิทเพียงไม่กี่วัน เลนจักรยานที่เป็นสิ่งแปลกใหม่บนท้องถนนก็ถูกรถราต่างๆ ที่เคยชินกับการจอดชิดขอบถนน เข้ามาจอดทับทางเฉกเช่นเคย ราวกับว่าไม่เคยมีเลนจักรยานมาก่อน ในสมัยของผู้ว่าฯ อภิรักษ์ เลนจักรยานได้ถูกสร้างขึ้นอีกในถนนหลักหลายสาย ทั้งแบบ ‘ทางจักรยานบนผิวจราจร’ เช่น ถนนโดยรอบวงเวียนใหญ่ ถนนสาธร และแบบ ‘ทางจักรยานร่วมบนทางเท้า’ ให้ขี่จักรยานบนฟุตปาธร่วมกับคนเดิน เช่น ถนนราชดำเนิน ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนสุขุมวิท แต่ทางจักรยานส่วนใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นล้วนประสบปัญหาการตั้งวางสิ่งของ จอดรถกีดขวาง มีผู้คนพลุกพล่าน ผิวทางไม่ราบเรียบ เนื่องจากทางจักรยานบนผิวจราจรจะอยู่เลนด้านซ้ายสุดของถนนซึ่งมักอยู่ในแนวท่อระบายน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการใช้จักรยานอย่างปลอดภัยทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ดีในสมัยของคุณอภิรักษ์ ได้มีการตั้งคณะกรรมการทำงานด้านจักรยานที่ชื่อ “คณะกรรมการโครงการเรารักกรุงเทพฯ เรารักจักรยาน” โดยมีผู้แทนทั้งจากภาครัฐและนักจักรยานจากสมาคม องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้จักรยานเข้าร่วมด้วย ผู้ว่าฯ คนต่อมา มรว.สุขุมพันธ์ บริพัทธ (สมัยที่ 1) ช่วงครึ่งวาระแรกแทบไม่มีการขับเคลื่อนนโยบายจักรยานใดๆ แม้จะเป็นผู้ว่าที่มาจากพรรคการเมืองเดียวกับผู้ว่าฯ อภิรักษ์ก็ตาม จนกระทั่งมูลนิธิโลกสีเขียว ชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ และกลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ “Big Trees” ขอเข้าพบรองผู้ว่าฯ ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ (ตำแหน่งในสมัยนั้น) เพื่อหารือเรื่องการพัฒนาวิถีจักรยาน จนทำให้เกิดการรื้อฟื้น “คณะกรรมการโครงการเรารักกรุงเทพฯ เรารักจักรยาน” ขึ้นมาอีกครั้ง งานในสมัยนั้นเป็นไปในทิศทางด้านการรณรงค์ค่อนข้างมาก มีการจัดกิจกรรม Bangkok Car Free Sunday เป็นประจำทุกเดือนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จักรยานเพิ่มขึ้น มีโครงการให้เช่าจักรยานสาธารณะ “ปันปั่น” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของเมืองไทย เพื่อเอื้อให้ผู้คนที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนหรือชาวบ้านในพื้นที่เดินทางไปถึงจุดหมายด้วยจักรยานได้สะดวกขึ้น แต่นอกจากมีสถานีให้เช่าจักรยานหน้าตาเป็นเอกลักษณ์ที่มาพร้อมระบบสมาร์ทการ์ดและป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ก็ไม่มีปรับปรุงทางกายภาพใดๆ เพื่อการปั่นจักรยานเลย แม้จะฝันค้างมานานแต่ก็ไม่ใช่ไม่มีอะไรคืบหน้า เหตุการณ์การรวมตัวกันของชาวจักรยานที่น่าจดจำที่สุดในยุคนั้นคือการร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ผู้ว่ากรุงเทพมหานครปรับปรุงฝาท่อระบายน้ำที่ไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้จักรยานผ่านทางเว็บไซต์ Change.org[ii] จนทำให้กรุงเทพมหานครเร่งเปลี่ยน/ซ่อมฝาท่อระบายน้ำบนผิวถนนที่ชำรุดหรือมีโอกาสทำให้ล้อเล็กๆ ของจักรยานตกไปได้ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้จักรยานมากเพราะ หากล้อติดตะแกรงจะทำให้คนขี่ล้มทันที หากเลี้ยวหลบก็มีโอกาสถูกเฉี่ยวชนจากพาหนะอื่นๆ  โดยหลังจากผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ รับเป็นนโยบายแก้ไขให้ ชาวจักรยานได้รวมตัวกันหลายครั้งเพื่อสำรวจฝาท่อที่มีปัญหาในเขตพื้นที่ต่างๆ ส่งเป็นรายงานระบุพิกัดพร้อมรูปถ่ายที่ชัดเจนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขต่อไป  นับเป็นแก้ไขปัญหาที่บูรณาการและปลุกให้นักปั่นที่ฝันค้างมานานตื่นและพบว่า เราสามารถทำสิ่งที่ฝันให้เป็นจริงได้ด้วยมือของเราเอง ในส่วนของภาคประชาชน มีการเคลื่อนไหวค่อนข้างคึกคักมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา แวดวงนิตยสารดังต่างทยอยสับเปลี่ยนหมุนเวียนทำเรื่องจักรยาน  มีกิจกรรมใหญ่สำหรับจักรยานเพิ่มขึ้น  แทบทุกวันในสัปดาห์ล้วนมีทริปปั่นจักรยานที่จัดโดยกลุ่ม องค์กรต่างๆ มากมาย  จนทุกวันนี้หากสังเกตดีๆ เราจะเห็นจักรยานอยู่ตามรายการทีวี บิลบอร์ด โฆษณาต่างๆ อยู่เสมอ  จักรยานกำลังสอดแทรกตัวเองเข้าไปในสื่อกระแสหลักเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปในฐานะเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ รักษ์โลก รักสุขภาพ อินดี้ นอกกรอบ พึ่งตนเอง หลังครบวาระ ‘สุขุมพันธ์ 1’ เป็นยุคที่กระแสจักรยานเป็นที่นิยมมากจนผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ทุกคนต่างต้องนำเสนอนโยบายจักรยานควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองทั้งสิ้น เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงการวิวัฒน์ทางความคิดต่อแง่มุมเรื่องจักรยาน  แม้ว่าทางจักรยานส่วนใหญ่ยังมิเปลี่ยนแปลงใดๆ   ************************************************************** ทำไมต้อง ‘จักรยาน’ A cycle-lized city is a civilized city เมืองน่าอยู่คือเมืองน่าปั่น จักรยานเป็นมากกว่ากระแสแฟชั่น ด้วยความเล็ก เคลื่อนที่คล่องตัวแต่ไม่เร็ว ใช้แรงคน จึงไม่ปล่อยมลพิษและส่งเสียงดัง และใครๆ ก็สามารถหามาครอบครองได้ จักรยานจึงเป็นทางออกง่ายๆ ของปัญหาซับซ้อนหลายประการในเมืองใหญ่ เช่น คุณภาพอากาศ การจราจรติดขัด ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นต้น หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกจึงเร่งปรับเปลี่ยนวิถีการสัญจรในเมืองให้สามารถใช้จักรยานได้อย่างสะดวกและปลอดภัยและออกมาตรการสนับสนุนจูงใจให้ผู้คนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น  จักรยานกลายเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เป็นตัวบ่งชี้ของเมืองน่าอยู่ที่ยอมรับกันในสหประชาชาติ[iii] **************************************************************   ทางจักรยานในปัจจุบัน กับเส้นทางสู่กรุงเทพฯ เมืองรถถีบ ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีทางจักรยานรวมทั้งสิ้น 35 เส้นทาง เป็นระยะทาง 232.66 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็นทางจักรยานเฉพาะ 5 เส้นทาง ทางจักรยานบนผิวจราจร 10 เส้นทาง และทางจักรยานร่วมบนทางเท้าอีก 20 เส้นทาง แต่มีทางเพียง 2 กิโลเมตรเศษเท่านั้น (5 เส้นทาง) ที่มีการประกาศรองรับให้เป็น ‘ทางที่จัดไว้ให้สำหรับจักรยาน’ ตามกฎหมาย พ.ร.บ จราจรทางบก พ.ศ. 2522[iv] และที่แย่ไปกว่านั้นมีเส้นทางเพียง 600 เมตรบนถนนพระอาทิตย์เท่านั้นที่ได้รับการดูแล มีหลักล้มลุกกั้นไม่ให้รถยนต์จอดกีดขวาง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด อันเกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำรวจ สน.ชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร กิจการร้านค้าและหน่วยงานต่างๆ ในบริเวณถนนพระอาทิตย์ และชาวจักรยานจากทุกสารทิศ สำหรับทางจักรยานอีกหลายสิบสายที่เหลือ มีการพิจารณาทบทวนความต้องการใช้ ศักยภาพ และความเหมาะสมต่างๆ ใหม่ เพื่อให้การพัฒนาปรับปรุงมีความคุ้มค้าและสามารถใช้งานได้จริง โดยคณะกรรมการเรารักกรุงเทพ ฯ เรารักจักรยานได้คัดเลือกเส้นทางเพื่อพิจารณาปรับปรุงก่อน 10 เส้นทางและมอบหมายให้กลุ่มมหาวิทยาลัยที่สนใจเรื่องจักรยานและมูลนิธิโลกสีเขียวช่วยกันทำการประเมินและนำเสนอแนวทางปรังปรุงให้ใช้ได้จริง ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว กำลังรอหารือกับผู้บังคับการจราจรซึ่งเป็นผู้มีอำนาจประกาศรับรองทางจักรยานตามกฎหมายต่อไป ในส่วนการพัฒนาโครงข่ายทางจักรยานใหม่ กรุงเทพมหานครได้ขอความร่วมมือทั้ง 50 สำนักงานเขตร่วมกับกลุ่มมหาวิทยาลัยช่วยกันคัดเลือกเส้นทางที่มีศักยภาพเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการใช้จักรยานของคนในพื้นที่เพื่อพัฒนาให้เป็นเส้นทางจักรยานใหม่ที่เน้นว่าต้องใช้ได้จริงและเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงถึงกันต่อไป แม้เส้นทางสู่กรุงเทพฯ เมืองจักรยานจะยังอีกไกลโข แต่ผมเชื่อว่าเรากำลังเข้าใกล้ไปเรื่อยๆ และมันจะเร็วขึ้นมากหากเราทุกคนช่วยกัน  กรุงเทพฯ เมืองหายใจสะอาด เมืองสัญจรสะดวก เมืองแห่งความเท่าเทียม เมืองแห่งสุขภาพ เมืองสีเขียวร่มรื่น เมือง.. ฯลฯ กรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการกระทำของพวกเราทุกคน   [i] อ่านผลสำรวจฉบับเต็มได้ที่ http://www.greenworld.or.th/bikemap/1476 [ii] อ่านเรื่องราวการเรียกร้องเปลี่ยนฝาท่อเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.greenworld.or.th/bikemap/2136 ‘Change ฝาท่อ We must believe in’ [iii] อ้างอิงจาก ‘ทำไมจึงเป็นแผนที่ปั่นเมือง’ สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และ ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์. Bangkok Bike Map แผนที่ปั่นเมือง : คู่มือหาเส้นทางจักรยานกรุงเทพมหานคร.กรุงเทพฯ : มูลนิธิโลกสีเขียว, 2555. [iv] อ่านบทความเกี่ยวกับกฎหมายจักรยานเพิ่มเติมได้ที่ http://www.greenworld.or.th/bikemap/2004 ‘กฎหมายจักรยาน... ใครว่าไม่มี ?’   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 ผู้แทนยา ปิดยอดให้ได้ อะไรก็ทำ

  7.30 นาฬิกา “กวาง” หญิงสาวบุคลิกดี แต่งตัวสวย ท่าทางมั่นใจถือถุงบรรจุแก้วกาแฟเดินเข้าไปในห้องตรวจโรคแผนกอายุรกรรม วางแก้วกาแฟลงบนโต๊ะพร้อมห่อกระดาษทิชชูที่มีชื่อยาของบริษัทเธอไว้ข้างๆ เพื่อให้แพทย์รู้ว่าใครเป็นผู้มี “น้ำใจ” หลังจากนั้นก็มายืนที่บริเวณทางเดินไปห้องตรวจโรคของแพทย์ในโรงพยาบาลเพื่อคอย “รีมายด์” หรือบอกชื่อยาของบริษัทพร้อมทั้งสรรพคุณสั้นๆ ว่ายาของเธอดีกว่ายาของบริษัทคู่แข่งอย่างไรแก่แพทย์ที่เดินผ่านไปมา ถุงกระดาษประทับชื่อยาที่วางอยู่บนพื้นเต็มไปด้วยของกระจุกกระจิกที่ประทับชื่อยาหรือชื่อบริษัท เช่น ปากกา เครื่องคิดเลข กระดาษทิชชู สมุด ไดอารี เพื่อใช้เป็นกุญแจนำเข้าบทสนทนาและให้แพทย์คุ้นชินกับชื่อยา ไม่นับรวมช่วงเทศกาลต่างๆ ที่เธอต้องหอบถุงกระดาษบรรจุของขวัญเพื่อมากำนัลแก่แพทย์ หวังให้เกิดความประทับใจและส่งผลให้ช่วยใช้ยาที่เธอขาย  “ผู้แทนยา” คืออาชีพของเธอ อาชีพที่หนุ่มสาวหลายคนอยากจะเข้ามาทำ เนื่องจากอิสระ ไม่มีเวลาการทำงานที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ถ้า “ปิดยอด” หรือทำได้ถึงเป้าของบริษัทเร็ว เดือนนั้นก็ไม่ต้องไปทำงานเลยก็ได้ และที่สำคัญเงินเดือนดี ผู้แทนยาน้องใหม่บางคนหากขยันก็ทำเงินค่าคอมมิชชันได้ถึงหลักแสนในเดือนแรก แต่ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็มาทำอาชีพนี้ได้ เพราะต้องมีบุคลิกและหน้าตาดี ถ้าให้ง่ายก็บวกเส้นสายอีกนิดหน่อย ส่วนกวางเข้ามาทำงานนี้ได้เพราะรุ่นพี่แนะนำให้ ส่วนจะเรียนจบเภสัชศาสตร์หรือสายวิทยาศาสตร์มาหรือไม่นั้น ไม่สำคัญเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่สำคัญสำหรับอาชีพผู้แทนยาคือ ต้อง“คุย” กับแพทย์รู้เรื่อง ไม่นานนักแพทย์ก็เริ่มทยอยกันเดินผ่านทางเดิน ด้วยความที่แพทย์มีเวลาแค่เล็กน้อย ประกอบกับเพื่อนร่วมอาชีพที่รออยู่บริเวณนั้นมีจำนวนมากเช่นกัน ทำให้แพทย์ไม่สามารถจะหยุดคุยกับผู้แทนยาทุกคนได้ เธอจึงต้องใช้วิธีวิ่งเข้าไปหาแพทย์ ยื่นปากกาให้ รีบรีมายด์สั้นๆ พร้อมทั้งประโยคสำคัญ  “อาจารย์ขา ฝากยาของหนูด้วยนะคะ”แพทย์พยักหน้า แล้วรีบเดินจากไป เป็นโอกาสของผู้แทนยาหนุ่มสาวที่ยืนรออยู่ข้างหน้า  แม้จะเป็นการกระทำที่ซ้ำๆ ต้องพูดประโยคเดิมๆ ทุกวัน เหมือนเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและไม่สำคัญ แต่ผู้แทนยาทุกคนก็รู้ว่าการรีมายด์ยาสำคัญมาก เธอรู้ว่าแพทย์บางคนต้องการเห็นผู้แทนยามาทำงานจึงจะสั่งใช้ยา โดยผู้แทนยาต้องมายืนเรียงแถวให้แพทย์เห็นหน้า เรียกว่า “เช็คชื่อ” โดยเฉพาะยาของสองบริษัทที่เหมือนกัน  หากแพทย์มีเวลาให้เธอสัก 5-10 นาที เธอก็จะเข้าไปคุยให้ข้อมูลรายละเอียดเรื่องยาในห้องตรวจหรือ “ฟูลเปเปอร์” แม้จะน่าอึดอัดเล็กน้อยเพราะคนไข้ที่รอตรวจจะมองเธอด้วยสายตาสงสัย หรือบางคนอาจจะชักสีหน้าด้วยความไม่พอใจที่เธอทำให้ต้องเสียเวลารอ...ทำไงได้ นี่คืองานของเธอ แต่วันนี้ทุกอย่างช่างวุ่นวาย เพราะเธอต้องไปเตรียมจัดเลี้ยงอาหารกลางวันให้แก่แพทย์และแพทย์ประจำบ้านที่ห้องประชุมอีก  เกือบ 11 นาฬิกาหลังจากที่แพทย์ทุกคนเข้าห้องตรวจ ก็ถือเป็นเวลาพักของพวกผู้แทนยา กวางและเพื่อนร่วมอาชีพเดินไปทานข้าวที่โรงอาหารของโรงพยาบาล นั่งคุยถึงเรื่องสัพเพเหระ หรือทำกิจกรรมต่างๆ นานา เธอไม่ลืมที่จะโทรไปสั่งอาหารกล่องของภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นกลางห้างดัง ติดต่ออาจารย์แพทย์ที่จะมาบรรยายเรื่องยาอีกครั้ง และภารกิจอื่นๆ อีกมากมายที่เธอต้องบริการแพทย์ซึ่งเป็น “ลูกค้า” เมื่ออยู่ในอาชีพผู้แทนยา   เรื่องธรรมดาในโรงพยาบาล ? กิจวัตรประจำวันของผู้แทนยาเช่น “กวาง” เป็นสิ่งที่คุ้นตาและเกิดขึ้นจริงในโรงพยาบาล นอกจากนี้ผู้แทนยายังมีความเห็นว่า การอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่แพทย์ เช่น ลงชื่อเข้าประชุมวิชาการ จองห้องพักโรงแรมให้เมื่อมีประชุม ขับรถรับส่งไปประชุมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จัดเลี้ยงอาหารหรือกาแฟยามเช้า หรือแม้แต่ไปจัดการธุระที่ธนาคารให้แก่แพทย์ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงาน และเป็นการแสดงน้ำใจ ซึ่งจะทำให้แพทย์ช่วยใช้ยา   “มันเหมือนกับเป็นการเซอร์วิส มายด์ค่ะ เหมือนกับน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า อย่างแพทย์ในช่วงเวลาที่เขาเร่งรีบ เขาก็ “อ่ะ ไปแบงค์ให้ผมหน่อยซิ” หรือ “ไปส่งผมตรงนี้หน่อย” “ไปส่งสนามบินหน่อย” อันนี้ก็เป็นการเซอร์วิส เพราะว่าเขาอาจจะไม่มีเวลาหรือกำลังรีบ เพราะว่าหมอเนี่ย เขาจะมีเวลาไม่ค่อยเพียงพออยู่แล้ว เขาก็จะไหว้วานเรา เขาอยู่โรงพยาบาล ที่จอดรถก็ไม่ค่อยมี หรือไม่งั้นตอนเย็นเขาจะไปประชุม แล้วบริษัทนี้สนับสนุนวิชาการโดยการลงทะเบียนให้เขา ผู้แทนบริษัทนี้ต้องเซอร์วิสโดยการที่ไปส่งหมอ” ซี ผู้แทนยาสาวจากบริษัทยาต่างชาติกล่าว  เช่นเดียวกับน้ำ ผู้แทนยาจากบริษัทยาต่างชาติอีกคนที่มีความเห็นในทำนองเดียวกัน “หมอบางคนทำงานจนดึก ต้องเข้ามาตรวจคนไข้แต่เช้า ตรวจแต่ละครั้งก็ต้องอธิบายให้คนไข้ฟัง หมอก็เหนื่อย เพลีย คอแห้ง แล้วก็ไม่มีคนเอาน้ำไปให้ แล้วใครจะทำ เราก็ทำให้เพราะเป็นการแสดงน้ำใจแก่หมอ เรื่องการประชุมบางครั้งต้องให้บริษัทยาลงชื่อเข้าให้ ถึงหมอมีเงินแค่ไหน แต่ถ้าลงเองก็ลงไม่ได้ แล้วหมอก็ต้องทำงานทั้งวัน จะเอาเวลาที่ไหนไปจองห้องพัก สายการบิน เวลาไปเมืองนอก หมอจะรู้ได้ยังไง บริษัทยาก็ต้องทำให้ ส่วนเรื่องการขับรถรับส่ง หมอไม่มีเวลา บางทีเลิกดึก ก็ต้องขับรถไปรับไปส่ง เวลาหมอเดินทาง ขึ้นเครื่องบินแล้วจะเอารถไปไว้ที่ไหน ก็ต้องไปส่งหมอ เป็นน้ำใจ” เธอกล่าวโดยเน้นย้ำว่าเป็นการแสดง “น้ำใจ” เท่านั้น   สายสัมพันธ์สีเทาในความสัมพันธ์ระหว่างผู้แทนยาและแพทย์ การแสดงถึง “น้ำใจ” เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะยิ่งผู้แทนยาคนไหนแสดง “น้ำใจ” มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่แพทย์จะใช้ยาของผู้แทนยาคนนั้น ซึ่งถือเป็นการ“แสดงน้ำใจกลับคืน”มากเท่านั้น เช่นที่อาจารย์แพทย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัดของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าวไว้ว่า   “เราไม่ได้เป็นเบี้ยล่างคนขายยา เราไม่จำเป็นต้องซื้อยาเขา เขาไม่ใช่พ่อแม่ แต่ถ้าเรามีบริษัทยาเข้ามาก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น มีคนมาให้ไม้บรรทัดเรา ไม่ต้องไปซื้อเอง ปากกาไม่ต้องซื้อเอง มีข้าวกินตอนเที่ยง น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เป็นความสัมพันธ์แบบวินวิน เขาขายยาได้ แล้วก็ช่วยเราบ้างตามความสมควร”   “ถ้ายาตัวนั้นเข้าโรงพยาบาลแล้วผู้แทนยาจะพามาเลี้ยงอาหาร เลี้ยงขนม พอยาเข้าโรงพยาบาลมันจะมีส่วนลด ส่วนเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเขาจะเอาส่วนลดเปอร์เซ็นต์นี้มาเลี้ยงข้าวพวกหมอผู้ใช้ยา คล้ายๆ กับเป็นการตอบแทนที่ใช้ยาเขา อะไรทำนองนี้” นายแพทย์คลินิกโรคกระดูกและข้ออีกคนในโรงพยาบาลเดียวกันกล่าว   แต่แพทย์คนหนึ่งของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้แทนยากล่าวว่า   “ผู้แทนยาจะยืนเกะกะตามทางเดินก่อนถึงห้องตรวจคนไข้ คอยยื่นเอกสารและของแจกพร้อมโฆษณากับแพทย์ว่าอย่าลืมช่วยใช้ยาเขาเป็นที่เอิกเกริก คนไข้ที่นั่งรอก็เห็นกันทั้งนั้น คอยวิ่งตามลงบันไดเพื่อโฆษณาและรีบยัดของฝากใส่มือแพทย์ ชาวบ้านที่เห็น เขาใช้คำว่า นอกจากเกะกะกีดขวางแล้ว ยังทำตัวน่าเกลียดมาก เหมือนเปรตมารอขอส่วนบุญเป็นโขยง”   ที่มากกว่านั้น แพทย์หญิงคนหนึ่งยังกล่าวว่า “เท่าที่ได้ยินเรื่องหมอหนุ่มกับผู้แทนสาวมีเรื่อยๆ เช่น ผู้แทนต้องการให้ยาตัวเองทำยอดให้ได้ภายในเดือนนี้ ไม่เช่นนั้นอาจต้องถูกออกหรือตัดเงินเดือน ทำให้ต้องยอมทำอย่างไรก็ได้ให้แพทย์ยอมใช้ยาของตัวเอง เพื่อให้ยอดขึ้น บางรายก็ยอมมีความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือเพศสัมพันธ์เพื่อแลกกับยอดการใช้ยา อันนี้ยังมีอยู่ให้ได้ยินและเป็นที่รู้กันในบางรายที่ทำเป็นประจำ”  จะเห็นได้ว่าผู้แทนยาพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้แก่แพทย์ เพื่อให้เกิด “ความคุ้นเคย” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้แทนยาหวังให้เกิดขึ้น เพราะจะส่งผลให้แพทย์ “ช่วย” ใช้ยา  “หมอใช้ยาโดยเสน่หาอยู่แล้ว ถ้ายาเหมือนกัน สรรพคุณเหมือนกัน แต่ถ้าให้เลือกสั่งยากับผู้แทนยาที่มามีน้ำใจ ช่วยเหลือ กับคนที่ไม่ทำอะไรให้เลย จะเลือกใครล่ะ” พลอย ผู้แทนยาสาวที่ทำงานกับบริษัทยาต่างชาติมากว่าสิบปีกล่าว เช่นเดียวกับความเห็นของปลา ผู้แทนยาจากบริษัทต่างชาติอีกคน “บางทียามันเข้าในโรงพยาบาลทีนึงหลายตัว แต่หมอสามารถใช้ตัวไหนก็ได้ ถ้าเขาเห็นเรา ตอนเย็นเราไปนั่งรอ เขาเห็นความขยันของเราปุ๊บเนี่ยนะ มีผล คือหมอเขาจะช่วยใช้ยาของเรามากขึ้น นึกถึงยาเราก่อน เขาเรียกว่าความขยัน ความเห็นอกเห็นใจ เหมือนกับความสัมพันธ์ อะไรอย่างนี้”  แพทย์ผู้สั่งยาก็มีความเห็นไปในทำนองเดียวกัน โดยนายแพทย์คลินิกโรคกระดูกและข้อของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งให้ความเห็นสั้นๆ ว่า “ใครมาบ่อยก็ใช้ของเขา ใครไม่มาก็ไม่ใช้ของเขา” หรือความเห็นจากนายแพทย์อีกคนในแผนกเดียวกัน “ผู้แทนยาคนไหนที่เข้ามาประจำ เราคุ้นเคยไง เราก็อาจจะโน้มเอียงมาทางคนคุ้นเคย คนหนึ่งนานๆ โผล่หน้ามาที ทั้งที่ยาดีกว่าแต่ว่าเราไม่คุ้นเคย เราก็อาจจะโน้มเอียงมาทางคนคุ้นเคย เพราะฉะนั้นความสม่ำเสมอมีผลต่อยอดของยา”  “ก็มีผลสิ จะเลือกยาของคนที่คุ้นเคยมากกว่า มีผลนะ ชัดเจน แต่ไม่ถึงขั้นว่าเห็นคนนี้แล้วเป็นคะแนนสงสารหรืออะไร ไม่เกี่ยวกัน เพราะเวลาที่เราเห็นคนนี้ ก็เหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ ถูกไหม สัญลักษณ์ของยี่ห้อนี้ พอเวลาเราเจอคนไข้ปุ๊บ เราก็จะนึกถึงอันนี้ก่อน เช่น คนไข้คนนี้เหมาะกับยากลุ่มนี้ แต่กลุ่มนี้มีสามตัว เรานึกอะไรได้ก่อนล่ะ ความเคยชินเราชินอะไรก่อน ก็คืออันนั้นแหละ” แพทย์หญิงแผนกอายุรกรรมของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าว  ส่วนแพทย์หญิงภาควิชาอายุศาสตร์ของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งก็ให้ความเห็นว่า “มีบางครั้งที่ผู้แทนยาทำตัวไม่เหมาะสม เช่น ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวเกินไปนิดนึง หรือวางตัวแบบ...ถ้าใช้คำว่าเสมอมันก็น่าเกลียดไปเนอะ แต่มันเป็นอย่างนั้น ทำตัวสนิทสนมจนเกินไป มันก็มีบ้าง” หัวหน้าพยาบาลของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์ที่ทำงานมากว่า 20 ปีให้ความเห็นว่า “ผู้แทนยานำเสนอในลักษณะที่ตื้อเหลือเกิน มันไม่ได้เป็นการขายของทั่วไป มันไม่ได้ขายของที่ใช้สำหรับส่วนตัวที่คุณจะต้องมาตื้อหรือว่าอะไร เพราะจริงๆ มันน่าจะแข่งขันกันด้วยคุณภาพที่ไม่ต้องใช้กลยุทธพวกนี้มากนัก และส่วนตัวมองว่าผู้แทนยาก็ทำหน้าที่ในการนำเสนอยาที่เกินบทบาทของผู้แทนมาก ซึ่งก็เป็นความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ด้วย อย่างเช่น การแต่งกาย รูปร่างหน้าตา ที่นำเสนอยามันไม่จำเป็นต้องขนาดนี้ มันยิ่งกว่าแอร์โฮสเตส ยิ่งกว่าอะไรซะอีก นี่มันสวยเหมือนไม่ใช่มาขายยาน่ะ มันไม่ได้พูดกันลักษณะมืออาชีพที่จะมาขายของที่มีคุณประโยชน์ มันใช้กลยุทธอื่นมากเกินไปจนทำให้เราคิดได้ว่ามันไม่น่าจะตรงไปตรงมา เช่นการแต่งกาย หน้าตาที่จะต้องคัด จะต้องสวย และสิ่งของที่เอามานำเสนอที่มากกว่าตัวยา”   บริการยกระดับ “มันไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว”นอกจากการกระทำในระดับส่วนตัวแล้ว ผู้แทนยายังเข้าไปให้ผลประโยชน์ในระดับแผนกหรือภาควิชาต่างๆ ของโรงพยาบาลอีกด้วย เช่น จัดเลี้ยงให้แพทย์ในภาควิชาต่างๆ ของโรงพยาบาลช่วงเที่ยง มีประชุมวิชาการย่อยที่เกี่ยวข้องกับยาโดยผู้แทนยาเอง หรือที่นิยมคือการเชิญอาจารย์แพทย์ที่มีชื่อเสียงในเรื่องที่ต้องการขายยามาบรรยายให้ฟังว่ายาใหม่ดีอย่างไร มีข้อแนะนำใหม่ๆ ว่าให้เริ่มใช้ยานี้อย่างไร ซึ่งการกระทำเช่นนี้ไม่มีข้อจำกัดแน่นอน ขึ้นอยู่กับภาควิชา บางภาควิชาก็จะกำหนดว่าให้มาได้วันใดบ้าง เช่น ทุกวันศุกร์ บางภาควิชาให้มาวันใดก็ได้ เช่น ภาควิชาอายุรกรรมในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งกลางกรุงเทพฯ มีสมุดให้ผู้แทนยาลงชื่อขอเลี้ยงอาหารเที่ยง ซึ่งทุกวันจะมีผู้แทนยาลงชื่อเลี้ยงเต็มไปจนถึงปีหน้า  “แต่ละภาควิชา มีการใช้ยาที่แตกต่างกัน ผู้แทนยาจะขอเข้ามานำเสนอยาโดยแลกเปลี่ยนกับการแจกข้าวประชุม ไม่ว่าจะเป็นเช้า กลางวันหรืออาหารว่างตามแต่มื้อ หมอจะได้กินข้าวฟรี โดยเฉพาะภาควิชาหรือหน่วยงานใหญ่ๆ ที่ใช้ยาราคาแพงเป็นประจำ จะมีข้าวกลางวันเจ้าอร่อยกินฟรีตลอด” แพทย์หญิงภาควิชาอายุรศาสตร์ของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าว  ดาว ผู้แทนยาจากบริษัทยาต่างชาติเล่าว่า “จะมีการประชุม ซึ่งทางเราจะมีการสนับสนุนให้กับแพทย์ เหมือนอย่างแพทย์จะมีการประชุมตอนเช้า ส่วนใหญ่เกือบทุกที่จะมีการเรียนการสอนโดยแพทย์ที่เป็นระดับอาจารย์ซึ่งจบเฉพาะทางแล้ว เขาจะมาสอนเด็กกันตอนเช้า ซึ่งเด็กนี่จะเป็นพวกเรสิเดนท์ที่มาจากนักศึกษาแพทย์เทิร์นขึ้นมาเรียนเฉพาะทาง ก็จะมีการสอนกันตอนเช้า ทางเราก็จะมีการสนับสนุนวิชาการ โดยอาจจะมีการจัดประชุมให้โดยการสนับสนุนพวกเอกสาร ห้องประชุม อาหารเช้า อะไรอย่างนี้”  “นอกจากงบของโรงพยาบาลและงบประมาณแผ่นดินแล้ว ก็จะมีส่วนของบริษัทยาสนับสนุน เช่น น้ำหรืออาหาร เพราะว่าโดยปกติ งบของทางราชการได้มาแค่ส่วนหนึ่ง แล้วถ้าเกิดจะให้ประชาชนหรือคนอื่นเข้ามาเนี่ย ในส่วนค่าอาหารเขาอาจจะจำเป็นต้องจ่ายเอง ก็ไม่ค่อยมีใครอยากจะเข้ามาเท่าไหร่ แต่ถ้าเรามีเงินสนับสนุนตรงนี้ก็โอเค เป็นเหมือนกับการที่ทำให้คนเข้ามาเยอะขึ้น” นายแพทย์คลินิกโรคกระดูกและข้อโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าว ส่วนนายแพทย์อีกคนในโรงพยาบาลและแผนกเดียวกันให้ความเห็นว่า “ถ้ายาตัวไหนที่เข้าโรงพยาบาลแล้วยอดใช้เยอะ ทางบริษัทยาก็จะให้งบสนับสนุนกลุ่มงานหรือสนับสนุนแผนก ไม่ได้ให้เป็นรายส่วนตัว เช่น สมมติว่าแผนกศัลยกรรม ก็ให้งบช่วยเหลืองานปีใหม่ เท่านี้ครับ นอกจากนั้นก็จะมีทางแผนกไปรบกวนบริษัทเขา คือขอเขา เช่นมีงานประชุมวิชาการเกี่ยวกับยา เช่นยารักษาโรคกระดูกพรุน มีประชุมวิชาการเกี่ยวกับกระดูกพรุน แล้วก็มีสปอนเซอร์เกี่ยวกับบริษัทนี้อยู่ คือบริษัทยาตัวนี้เกี่ยวข้องอยู่ เราก็ขอไปประชุมได้ไหม ก็มีทั้งในและต่างประเทศ”   ไม่เว้นแม้แต่การเข้าไปช่วยจัดงานเลี้ยงให้กับแผนกเภสัชกรรม “แผนกเภสัชมีคนทำงานหลายคน ใครก็อยากมีโบนัส อยากจัดงานเลี้ยงปีใหม่ แต่โรงพยาบาลรัฐจะเอาเงินมาจากไหน บริษัทยาก็เข้าไปช่วยทำให้” ทราย ผู้แทนยาสาวจากบริษัทยาต่างชาติกล่าว   ผลประโยชน์ทับซ้อน แล้วคนไทยจะไปทางไหนข้อมูลจากเอกสารหลัก ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมฯ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 กล่าวว่า ประเทศไทยประสบกับปัญหาค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการประมาณ 5 ล้านคน พบว่าเพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่า หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 55,000 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2551 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในระบบประกันสังคมและระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งสองระบบรวม 57 ล้านคน มีมูลค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในปีเดียวกันคิดเป็นเงินรวมเพียง 97,700 ล้านบาทเท่านั้น  ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการสั่งใช้ยาในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการเป็นแบบปลายเปิด จ่ายตามเบิก จึงเป็นเหตุให้ไม่เป็นไปตามหลักการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ด้วยการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม  มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่น่าสนใจหลายทาง เช่น จัดตั้งองค์การอิสระให้ทำหน้าที่รับผิดชอบ จัดระบบ ตรวจสอบ รวบรวมและรายงานสถานการณ์การใช้ยาและการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมในระดับประเทศ โดยมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนและภาคประชาสังคมร่วมตรวจสอบ และเสนอยุทธศาสตร์ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม โดยต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากเครือข่ายสถาบันการศึกษาและสถานพยาบาลที่ต้องพัฒนาหลักเกณฑ์จริยธรรมด้านการส่งเสริมการขายยาที่เป็นของแต่ละสถาบัน บังคับใช้ และปรับปรุงหลักเกณฑ์อย่างต่อเนื่องให้ทันต่อสถานการณ์  และสถานพยาบาลก็ต้องร่วมผลักดันให้เกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายเป็นหนึ่งในการพิจารณามาตรฐานโรงพยาบาลควบคู่กับเกณฑ์มาตรฐานในเรื่องการใช้ยาที่เหมาะสม เสนอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ แจ้งรายงานผลการสั่งจ่ายยาที่ผิดปกติเพื่อให้แพทย์ผู้สั่งใช้ยารับทราบและแก้ไขปรับปรุงเป็นรายปี โดยอาจพิจารณาเชื่อมโยงกับความถี่ของการเข้าพบผู้แทนยา องค์กรวิชาชีพด้านสุขภาพ เช่น แพทยสภา สภาเภสัชกรรม ต้องพัฒนาหลักเกณฑ์จริยธรรมด้านการส่งเสริมการขายยาให้เป็นส่วนหนึ่งของจริยธรรมหรือจรรยาบรรณวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพแต่ละสาขา ร่วมดำเนินการเผ้าระวังการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม จัดให้มีบทลงโทษหนัก กรณีพบว่ามีส่วนร่วมในขบวนการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม เช่น การรับ-ให้ของขวัญ ของชำร่วย การเลี้ยงรับรองโดยมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการสั่งใช้ยา เป็นต้น และนำมาตรการเชิงบวกมาใช้เพื่อสนับสนุนการประกอบวิชาชีพตามหลักการใช้ยาที่เหมาะสม ด้านสื่อมวลชนและภาคีทุกภาคส่วนก็ต้องร่วมกันสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัดของโรงพยาบาลและสนับสนุนให้เกิดกลไกตั้งแต่การคัดเลือกยา การติดตามและประเมินการใช้ยา สนับสนุนระบบติดตามการใช้ยาภายในโรงพยาบาลเพื่อเป็นเครื่องมือให้เกิดการใช้ยาที่เหมาะสม และพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานการรักษา ส่วนภาคประชาชนสามารถร่วมแก้ปัญหานี้ได้โดย ร่วมกันสนับสนุนการรวมตัวของภาคประชาชนในการติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม และนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งนี้ให้จัดงบประมาณสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมเฝ้าระวังด้วย จัดทำแผนการเฝ้าระวังปัญหาและติดตามการดำเนินงานเพื่อแสดงความก้าวหน้าของการดำเนินงาน และประเมินผล โดยนำเสนอผลสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง  ทุกภาคส่วนร่วมกันจัดทำแผนการเฝ้าระวังปัญหาและติดตามการดำเนินงานเพื่อแสดงความก้าวหน้าของการดำเนินงาน และประเมินผล โดยนำเสนอผลสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ต้องจัดให้มีงบประมาณเพื่อให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมเฝ้าระวัง  และสุดท้าย สื่อมวลชนมีบทบาทร่วมกับภาคประชาสังคมในการให้ความรู้ประชาชนเพื่อส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสมและสร้างความเท่าทันต่อขบวนการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม การขายยาจะเทียบกับอาชีพขายของทั่วไปที่ต้องมีการทำโปรโมชั่นไม่ได้ เพราะยานั้นเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคน กินมากไม่ได้แค่ทำให้อ้วนเหมือนกินขนม ใช้มากไม่ได้ทำให้แค่เปลืองเหมือนกระดาษชำระ เลือกยี่ห้อที่ชอบ ไม่ได้ต่างแค่ความพอใจที่ได้...แต่ผลอาจถึงขั้นเสียชีวิต

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point