ฉบับที่ 125 True Fitness ไม่อนุญาตให้โอนสมาชิกภาพ

ช่วงที่ผ่านมา เว็บไซต์ www.consumerthai.org ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคเกี่ยวกับบริการของ True Fitness อยู่หลายราย ลองมาดูตัวอย่างกัน“ดิฉันสมัครสมาชิก True Fitness ที่สาขาแครายไว้ค่ะ” คุณยุพานามสมมติของผู้บริโภครายหนึ่ง เริ่มเรื่องตอนที่สมัครเซลล์แจ้งว่า ถ้าอนาคตไม่ต้องการใช้บริการต่อก็สามารถโอนหรือขายต่อสมาชิกภาพให้ผู้อื่นได้ ดิฉันจึงเซ็นสัญญาไปและชำระเงินค่าสมาชิกราย 2 ปีไปครบเรียบร้อยแล้วแต่เมื่อวานติดต่อไปที่ฟิตเนสเพื่อสอบถามเรื่องการโอนสมาชิกให้เพื่อน พนักงานปฏิเสธเสียงแข็งว่า "เดี๋ยวนี้" โอนไม่ได้แล้วค่ะ ดิฉันเถียงกลับไปว่าตอนสมัครทำไมเซลล์พูดว่าโอนได้ ขายได้ พนักงานก็ไม่ตอบคำถามนี้ พูดแต่เพียงว่า ปกติเราไม่อนุญาตให้โอนสมาชิกนอกจากจะมีเหตุผลด้านสุขภาพเท่านั้น ส่วนเหตุผลส่วนตัวอื่นๆ เช่น การย้ายที่อยู่ ติดภารกิจเรื่องงาน ฯลฯ ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการโอนได้ดิฉันลองดูในสัญญา ก็เขียนไว้แค่ว่า สมาชิกภาพนี้มีลักษณะพิเศษ ไม่สามารถโอนได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากทางบริษัท ดิฉันสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้างคะ สิ่งที่เซลล์พูดก็เป็นเพียงคำพูดค่ะ ไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีสมาชิกหลายคนที่ได้รับข้อมูลจากเซลล์มาแบบเดียวกันว่าโอนให้คนอื่นได้ คำพูดของเซลล์ถือเป็นการเจตนาบิดพลิ้วสาระสำคัญของสัญญาได้ไหมคะ”ส่วนอีกรายก็เขียนร้องเรียนมาว่า “เจอปัญหาเดียวกันเลยค่ะ” “ตอนสมัครปีที่แล้วน้องเซลล์ก็พูดเป็นมั่นเป็นเหมาะ ว่าสามารถโอนสิทธิได้ แต่ว่าได้แค่ครั้งเดียว โดยมีค่าธรรมเนียม ซึ่งที่ผ่านมาเราก็รู้กันอยู่ว่าเขาโอนกันเยอะแยะ พอมาถึงตอนนี้ดิฉันกับเพื่อนต้องการโอนสิทธิให้คนอื่น กลับมาบอกเราว่าเมื่อก่อนโอนได้ เดี๋ยวนี้ไม่ให้โอนแล้ว ดิฉันไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายนะคะ แต่เห็นว่าถ้าตอนหลังจะยกเลิกเรื่องการโอน ก็ควรมีผลเฉพาะกับคนที่สมัครหลังจากออกกฎนี้หรือเปล่า และสัญญารุ่นใหม่ก็ควรระบุไปเลยว่าไม่ให้โอนสิทธิไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น”ปัญหาเป็นแบบนี้แนวทางการแก้ไขปัญหา จะต้องทำอย่างไร มาดูกัน แนวทางแก้ไขปัญหาขอตอบแบบในมุมของกฎหมายคดีผู้บริโภคเลยนะครับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 ได้บัญญัติไว้ว่า ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของบริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคล หรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตามดังนั้น หากพบว่ามีลูกค้าหลายรายตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ก็สามารถชวนกันมาเป็นพยานพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ว่า เซลล์ได้มีการสัญญาในเรื่องต่างๆ ตรงกันหรือไม่ ถ้าใช้แต่ตัวเองก็จะเป็นหลักฐานที่อ่อนไป ศาลอาจไม่เชื่อได้แต่ก่อนที่เรื่องจะไปศาลนั้น ควรทำหนังสือขึ้นมาฉบับหนึ่ง เรียนถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท เรื่องขอโอนสมาชิกภาพ รายละเอียดก็ว่าไป...ว่าไม่ยอมให้มีการโอนโดยอ้างเรื่องสัญญา แต่สมาชิกคนอื่นๆ ต่างได้รับข้อเสนอจากพนักงานขายเป็นเสียงเดียวกันว่าสามารถโอนสมาชิกได้ จึงขอให้บริษัทพิจารณาดำเนินการโดยเร็วภายในกี่วันก็ว่าไป แล้วให้สำเนาท้ายจดหมายว่า เรียนถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจดหมายที่ส่งไปให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้น ให้ส่งเป็นไปรษณีย์ตอบรับ เก็บสำเนาตัวจดหมายและใบตอบรับไว้เป็นหลักฐานเผื่อต้องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคล่าสุดมีข่าวดีเพิ่มเติม...คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ซึ่งให้สิทธิการเลิกสัญญาของผู้โภคได้ในกรณีต่อไปนี้1. ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่นๆ ให้ตามที่สัญญา หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายมีการชำรุดบกพร่อง หรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกและพื้นที่ออกกำลังกาย โดยผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการที่ใกล้เคียงกันมาทดแทนได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภค2. ผู้บริโภคมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ยืนยันว่า การใช้บริการออกกำลังกายต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกาย หรือทำให้จิตใจผิดปกติได้3. ผู้บริโภคได้รับบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนของผู้ประกอบธุรกิจ ไม่มีความรู้ความชำนาญ หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายที่ไม่มีคำเตือนว่า ชำรุดบกพร่องเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้มีเวลาปรับปรุงคุณภาพการบริการให้เป็นไปตามสัญญาควบคุมฉบับนี้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงกำหนดให้ประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ได้นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 วาระสุดท้ายของสัมพันธ์ประกันภัย

ในช่วงปี สองปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนกรณีบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและประชาชนเข้ามาที่มูลนิธิฯ เป็นจำนวนมากหลายร้อยราย และที่ร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) อีกร่วม 9 พันกว่าราย คุณจินตนา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ของผู้เอาประกันภัยกับบริษัทนี้ได้เป็นอย่างดี คุณจินตนาเล่าว่า ตนทำประกันภัยไว้กับบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และได้เกิดกรณีรถหายตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2549 ซึ่งจะต้องได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำไว้กับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ตอนที่รถหายคุณจินตนายังต้องมีภาระส่งค่างวดกับบริษัทไฟแนนซ์ทิสโก้อยู่ ในขณะที่สัมพันธ์ประกันภัยได้ทำการเลื่อนจ่ายค่าสินไหมทดแทนมาเรื่อยๆ คุณจินตนาส่งค่างวดรถไปได้ประมาณ 6 เดือนจึงหยุดส่ง เพราะเห็นว่าสัมพันธ์ประกันภัยถูกกรมการประกันภัยสั่งให้ระงับการขายประกันชั่วคราวเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2550 ทำให้คุณจินตนากลายเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อกับไฟแนนซ์ทันทีหลังจากที่ไม่ได้ส่งค่างวดติดกัน 3 งวดและถูกบอกกล่าวเลิกสัญญาในเวลาต่อมา คุณจินตนาได้พยายามติดต่อไปทางทิสโก้ให้ตามเรื่องของทางสัมพันธ์ให้ “เพระคิดว่าให้ทางบริษัทใหญ่ตามเรื่องน่าจะดีกว่าเราตัวเล็กๆ ตามเรื่องเอง แต่ก็ไม่ได้ผลอะไรเกิดขึ้น” คุณจินตนาได้ไปแจ้งกับทางกรมการประกันภัยไว้อีกทางหนึ่งแต่ก็ไม่เกิดผลอะไร จนระยะหลังโทรไปที่กรมการประกันภัย กรมฯ ก็เลี่ยงมาตลอดอีกเช่นกัน ให้โทรมาตอนนั้นตอนนี้ แต่ก็ไม่ได้เรื่องอะไรเลย “ในที่สุดก็มีหมายศาลจากทางทิสโก้ ส่งมาให้เรา ซึ่งเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้เรื่องกฎหมายเลยค่ะ ได้แต่รอว่าเมื่อไหร่จะได้เงินจากสัมพันธ์ ทางเราไม่คิดที่จะได้ค่าสินไหมทั้งหมดอยู่แล้วค่ะ ขอแค่บางส่วนมาส่งให้ทิสโก้ก็พอแล้ว หมายศาลนัดให้ไปที่ศาลในเดือนมีนาคมนี้แล้วค่ะ ยังไม่รู้จะทำอย่างไรเลยค่ะ”  แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีนี้แยกได้ 2 ประเด็น 1.คดีที่คุณจินตนาถูกไฟแนนซ์ฟ้อง เนื่องจากผิดสัญญาไม่ส่งค่างวดรถให้ครบตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ได้เคยเขียนไว้ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 93 สรุปสั้น ๆ ว่า ไฟแนนซ์น่าจะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค โดยอ้างข้อสัญญาว่า ถ้ารถที่เช่าซื้อสูญหายไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ หรือสุดวิสัย ผู้เช่าซื้อยินยอมรับผิดและยอมชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาจนครบ ขอให้ศาลบังคับให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบชดใช้ค่าเช่าซื้อที่เหลืออยู่ ข้อตกลงเช่นนี้ศาลฎีกาตัดสินว่าใช้บังคับได้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย แต่ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยดูจากมูลค่าทรัพย์สิน เงินค่าเช่าซื้อที่ได้จ่ายไป และระยะเวลาที่ได้ใช้ประโยชน์จากรถที่หายไป ดังนั้นคุณจินตนาควรไปให้การต่อศาลถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและขอให้ศาลพิจารณาลดหย่อนค่าเสียหายที่ไฟแนนซ์เรียกร้อง แต่หากสัญญาเช่าซื้อที่ทำไม่มีข้อสัญญาที่ว่ามาข้างต้น ทางกฎหมายก็ถือว่าเมื่อรถที่เป็นทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สูญหายไป สัญญาเช่าซื้อถือเป็นอันระงับไปด้วย ผู้เช่าซื้อไม่ต้องชำระเงินค่าเช่าซื้อหรือค่าเสียหายตั้งแต่งวดรถที่หายเป็นต้นไป ถ้าเป็นอย่างนี้คุณจินตนาก็คงจะเบาใจไปเปลาะหนึ่ง2. กรณีสัมพันธ์ประกันภัยไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ได้ถูกกระทรวงการคลังสั่งปิดกิจการโดยเด็ดขาดแล้ว โดยมีมาตรการคุ้มครองประชาชนในฐานะเจ้าหน้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้ไปยื่นเรื่องขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี ของบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และกองทุนประกันวินาศภัย ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2552 โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนาเอกสาร จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นด้วย คือ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำหระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ สำหรับส่วนกลางยื่นได้ 3 แห่ง คือ 1.ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) หรือกรมการประกันภัยเดิม กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี 2. สำนักงาน คปภ. เขต 1 ซอยวิภาวดี 44 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร 3.สำนักงาน คปภ. เขต 2 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี ส่วนต่างจังหวัดนั้นให้ยื่นได้ที่ สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้นจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดลำพูน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดนนทบุรี) หากคุณจินตนาได้ไปฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคและมีคำพิพากษาออกมาแล้ว คำพิพากษาถือเป็นเอกสารที่รับรองถึงมูลหนี้ที่ชัดเจนที่สุดแล้ว นำไปยื่นขอรับชำระหนี้กับ คปภ. ได้เลย ไม่ต้องพิสูจน์อีก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 กระแสต่างแดน

ฮ่องกงกับปัญหา “ห้องกรง” แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่และมีความยอดเยี่ยมในหลายๆ ด้าน แต่ปัญหาที่แก้ไม่ตกของเมืองพื้นที่จำกัดอย่างฮ่องกงเห็นจะหนีไม่พ้นปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย การสำรวจครั้งล่าสุดพบว่าประชากรกว่า 80,000 คน (ส่วนใหญ่เป็นคนว่างงาน  คนรายได้น้อย ผู้อพยพ คนพ้นโทษออกจากคุก หรือคนที่สติไม่ดี) อาศัยอยู่ในที่ๆ แทบไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ที่อยู่อาศัย” ได้เลย “ห้องกรง” หรือ “บ้านกรง” นั้นจะมีพื้นที่ประมาณ 1 เตียงเดี่ยว หรือประมาณ 3 ตารางเมตร ที่ใช้ลูกกรงตาข่ายกั้นห้องแทนผนังทึบ แต่ขอบอกว่าค่าเช่าไม่ถูกเลย เขาจ่ายกันประมาณ 1,400 เหรียญ (5,600 บาท) ต่อเดือน อัตรานี้เพิ่มจาก 1,000 เหรียญเมื่อต้นปี ส่วน “บ้านกล่อง” นั้นก็พอจะอยู่กันได้หลายคนหน่อย ครอบครัวหนึ่งซึ่งประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูกชาย และลูกสาว อาศัยอยู่ในพื้นที่ 4.6 ตารางเมตร พวกเด็กๆบอกว่าไม่มีปัญหา เพราะสามารถขึ้นไปกินข้าว ทำการบ้าน หรือเล่นเกมต่างๆ บนหลังคาตึกได้ ครอบครัวนี้ไม่คิดจะขยับขยายไปไหน เพราะค่าเช่า 1,500 เหรียญ (6,000 บาท) ต่อเดือนนั้นเหมาะสมแล้วกับรายได้ 4,000 เหรียญ (16,000 บาท) ของครอบครัว   บ้านกรงและบ้านกล่องเหล่านี้ สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในย่าน ชัม ชุย โป (ที่คนไทยรู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งขายสินค้าแฟชั่นราคาส่งแบบประตูน้ำบ้านเรา) ที่แคบไม่เท่าไร แต่ปัญหาคือ พื้นที่แออัดในตึกสูงเหล่านี้ทำให้การระบายอากาศไม่ดีเท่าที่ควร เขาสำรวจพบว่าร้อยละ 80 ของผู้อยู่อาศัยใน “กล่อง” และร้อยละ 70 ของผู้อยู่อาศัยใน “กรง” นั้น มีอาการของโรคเรื้อรังอย่างใดอย่างหนึ่ง ร้านนี้สตรีเท่านั้น กระทรวงแรงงานของซาอุดิอาระเบียกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการบังคับให้บรรดาร้านเพชร ร้านทอง เปลี่ยนมาจ้างพนักงานที่เป็นสตรีทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่เคยออกมาก่อนหน้านั้น ที่ระบุว่าห้างร้านใดๆ ที่ขายสินค้าสำหรับผู้หญิงจะต้องใช้พนักงานที่เป็นผู้หญิงเท่านั้น แต่ฝ่ายร้านทองพากันออกมาคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่างานลักษณะนี้ผู้หญิงไม่น่าจะเอาอยู่ เพราะร้านเหล่านี้จะมีผู้คนมากมายเบียดเสียดกันตลอดวัน ปะปนกันไปทั้งลูกค้า ทั้งโจรนอกเครื่องแบบ บ้างก็ว่านโยบายนี้จะส่งผลให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการจ้างงาน เนื่องจากทุกวันนี้พนักงานขายในร้านค้าต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นชายหนุ่ม ซึ่งขายกันมาจนมีความเชี่ยวชาญ ถ้าเปลี่ยนเป็นจ้างผู้หญิงแล้ว หนุ่มๆ เหล่านี้จะไปทำอาชีพอะไร  กินได้โล่ งานวิจัยในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ระบุว่า ปริมาณการบริโภคช็อกโกแลตของประชากรนั้นมีส่วนสัมพันธ์กับจำนวนคนที่ได้รับรางวัลโนเบลในประเทศนั้นๆ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีอัตราส่วนของผู้ได้รับรางวัลโนเบลต่อจำนวนประชากรสูงที่สุด นั้นเขากินช็อกโกแลตกันเฉลี่ยคนละ 120 แท่ง (แท่งละ 85 กรัม) หรือ 10.2 กิโลกรัม/ปี  ตามด้วยประเทศสวีเดน และเดนมาร์ก ที่ประชากรมีการบริโภคช็อกโกแลตรองลงมา ส่วนสหรัฐฯ นั้นอยู่ในระดับกลางๆ งานวิจัยระบุว่าถ้าสหรัฐต้องการมีผู้ได้รับรางวัลโนเบลเพิ่มขึ้น 1 คน ประชากรอเมริกันก็ต้องช่วยกันบริโภคโกโก้เพิ่มขึ้นอีก 125 ล้านกิโลกรัมต่อปี เอริค คอร์เนล แพทย์ชาวอเมริกันที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในปีค.ศ. 2001 ให้ความเห็นว่า ที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะการบริโภคช็อกโกแลตนั้นสัมพันธ์กับความมั่งคั่งของประเทศ และความมั่งคั่งของประเทศนี้เองที่นำไปสู่การสร้างสรรค์งานวิจัยคุณภาพสูงควรค่าแก่รางวัลโนเบล แต่หมอคอร์เนลย้ำว่า ต้องบริโภคช็อกโกแลตชนิดที่น้ำตาลน้อย (dark chocolate) มันถึงจะมีประโยชน์ต่อสมอง หัวใจ และการควบคุมน้ำหนักตัว พูดง่ายๆ คืออย่าพลาดไปทานขนมรสช็อกโกแลตหวานๆ เข้าทีเดียว เดี๋ยวจะได้ผลในทางตรงกันข้าม นี่คงเป็นนิมิตหมายอันดีของคนทั้งโลก เพราะเดี๋ยวนี้คนเราหันมาบริโภคช็อกโกแลตกันมากขึ้น ทุกๆ วินาที เราชาวโลกจะบริโภคช็อกโกแลตกันประมาณ 95 ตัน ที่ญี่ปุ่น ยอดขายช็อกโกแลตเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ในจีนยอดขายก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 แม้แต่ในอินเดียที่คนร้อยละ 50 ไม่เคยลิ้มรสช็อกโกแลต ยอดขายก็ยังเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 แต่คุณทราบหรือไม่ว่าร้อยละ 85 ของตลาดช็อกโกแลตโลก เป็นของบริษัทข้ามชาติเพียง 6 เจ้า ได้แก่ เฮอร์ชีย์  มารส์  ฟิลลิปมอริส เนสเล่  แคดบิวรี่ และเฟอเรโร่   ไม่ร้องก็ต้องลด ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนบริการโทรคมนาคมของออสเตรเลีย ตัดสินใจปลดพนักงานออก เพราะจำนวนเรื่องร้องเรียนลดลงไปจากช่วงต้นปีถึงร้อยละ 20 เนื่องจากองค์กรนี้ได้รับเงินสนับสนุนตามจำนวนเรื่องร้องเรียน รายได้ของหน่วยงานจึงลดลงไปโดยปริยาย พนักงานจำนวนหนึ่งจากทั้งหมด 266 คนจึงต้องออกไปหางานใหม่ เรื่องร้องเรียนอันดับต้นๆ ของที่ออสเตรเลียก็คล้ายๆกับที่บ้านเรา ได้แก่ สัญญาณไม่ดี ค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม และการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภค ณ จุดขาย รัฐที่มีเรื่องร้องเรียนต่อหัวประชากรมากที่สุด ได้แก่ รัฐวิคตอเรีย ซึ่งมีเรื่องร้องเรียนเฉลี่ย 10.6 เรื่อง ต่อประชากร 1,000 คน  แต่ถ้าดูในระดับเมืองแล้ว เมืองบริสเบนของรัฐควีนส์แลนด์ มีเรื่องร้องเรียนมากที่สุดถึง 15.6 เรื่อง ต่อประชากร 1,000 คน   ที่น่าสังเกตคือ แม้ว่าปีนี้จะมีเรื่องร้องเรียนโดยรวมลดลงจากปีก่อน แต่เรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือกลับเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 10 สืบเนื่องจากจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง   แม้ว่าจะมีคนหลายหมื่นที่ยังมีเรื่องอยากร้องเรียน แต่องค์กรนี้เขายังยืนยันจะลดจำนวนพนักงาน โดยให้เหตุผลว่าข้อบังคับใหม่ที่ออกมาควบคุมการให้บริการโทรคมนาคมให้เป็นมิตรต่อผู้บริโภคมากขึ้นนั้น คงจะทำให้เรื่องร้องเรียนลดลงไปกว่าเดิม   ของถูก เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เมืองการาจี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาเป็นอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงที่สุดในปากีสถานที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 250 ราย   ข่าวนี้ทำให้เกิดคำถามมากมาย ตั้งแต่มาตรฐานความปลอดภัยของสถานประกอบการ การคอรัปชั่นในรัฐบาล และความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการ โรงงานดังกล่าว มีคนทำงานอยู่ 500 คน (รวมผู้หญิง 50 คน) ในขณะเกิดเหตุ (หลังหกโมงเย็น) สาเหตุของไฟไหม้ยังไม่ชัดเจน แต่ที่ชัดคือ โรงงานซึ่งเป็นตึกสองชั้นที่เก็บสต๊อกสีย้อมและผ้าฝ้ายไว้ในตัวอาคารนั้น มีทางออกเพียงทางเดียว และไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ทางหนีไฟ” ไฟไหม้ในเอเชียแต่ร้อนกันไปถึงยุโรป เมื่อสื่อมวลชนออกมาเปิดเผยว่าโรงงานดังกล่าวคือโรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าให้กับห้างค้าปลีกสัญชาติเยอรมันที่เน้นสินค้าประเภทเสื้อผ้าราคาประหยัดยี่ห้อ KiK นั่นเอง จึงเกิดเสียงวิพากษ์กันหนาหูว่านักธุรกิจเยอรมันไม่ได้ใส่ใจกับสภาพการทำงานของคนที่ทำงานในโรงงาน เท่าที่ควร KiK แสดงความรับผิดชอบด้วยการมอบเงิน 500,000 เหรียญ ให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่องค์กรพัฒนาเอกชน Sudwind เขาออกมาเรียกร้องให้บริษัทมีมาตรการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่านั้น อย่างน้อยๆ ก็ต้องดูแลผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุไฟไหม้แต่ไม่มีงานทำหรือไม่สามารถทำงานได้ด้วยเช่นกัน ข่าวบอกว่าการณรงค์เรื่องความรับผิดชอบต่อสภาพการทำงานในโรงงานผลิตนี้ ยังไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไร เพราะกฎหมายเยอรมันยังไม่ได้บังคับให้ผู้ประกอบการตรวจสอบสภาพการทำงานในบริษัทที่รับจ้างผลิต ที่ตั้งอยู่ในประเทศอื่น ที่ผ่านมานั้นเป็นการทำตามความสมัครใจมากกว่า แต่เรื่องนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว เพราะขณะนี้คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังพิจารณาออกข้อบังคับให้บริษัทต่างๆ เปิดเผยข้อมูลว่าสินค้าของตัวเองนั้นผ่านกระบวนการผลิตอย่างไร โดยใคร ที่ไหน ในสภาพการทำงานเช่นใด เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 กระแสต่างแดน

      คนบ้านเดียวกันประเทศมั่งคั่งอย่างแคนาดาก็มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารกับเขาเหมือนกันหรือนี่   สมาพันธ์การเกษตรแห่งแคว้นโนวา สโกเชีย บอกว่าในทุกๆ 1 เหรียญที่คนแคนาดาใช้จ่ายกับการซื้ออาหารนั้น มีเพียง 13 เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นรายได้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น งานวิจัยที่ติดตามเรื่องนี้มาเป็นเวลากว่า 3 ปี พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว อาหารที่ประชากรของแคว้นนี้รับประทานกันอยู่นั้น ต้องเดินทางรอนแรมมาไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลเมตร โดยปกติแล้วครัวเรือนในแคนาดานั้นใช้จ่ายกับเรื่องอาหารค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว  เมื่อเทียบกับประชากรในอเมริกา หรือออสเตรเลีย   แต่งานวิจัยเรื่องนี้ระบุว่าปรากฏการณ์ห้างค้าปลีกเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรในแคว้นนี้ต้องปิดกิจการกันไปเป็นจำนวนมาก เช่นปัจจุบันแคว้นนี้มีฟาร์มหมูเหลืออยู่เพียง 4 ฟาร์มเท่านั้น จากที่เคยมีถึง 90 ฟาร์มเมื่อ 10 ปีก่อน อย่างที่รู้ๆ กัน ซูเปอร์มาเก็ตเจ้าใหญ่ๆ สามารถนำเข้าสินค้าเกษตรในปริมาณมากและในราคาที่ค่อนข้างต่ำทำให้สามารถขายให้กับผู้บริโภคในราคาที่ถูกกว่าผลผลิตในท้องถิ่นได้ เกษตรกรในพื้นที่จึงต้องหันไปทำอย่างอื่นแทน  พูดง่ายๆ แคว้นนี้กำลังสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหารนั่นเอง เพราะคนรุ่นใหม่ก็ไม่สนใจที่จะสานต่อกิจการของเกษตรกรรุ่นปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้มีอายุเฉลี่ย 55 ปีแล้วด้วย แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ถึงกับหมดหวัง รายงานดังกล่าวประเมินว่าถ้าผู้คนในแคว้นโนวา สโกเชียหันมาอุดหนุนเนื้อวัวที่ผลิตในท้องถิ่น จะทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 65.5 ล้านเหรียญ และสร้างงานได้ถึง 1,300 ตำแหน่งทีเดียว นั่นไง ฮีโร่ตัวจริงก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ นี่เอง   นักศึกษาก็ผู้บริโภค ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษาในอังกฤษและเวลส์เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยตัวเอง มากขึ้นร้อยละ 50 รายงานของสำนักงานตุลาการอิสระระบุว่า สาขาวิชาที่มีนักศึกษาร้องเรียนมากที่สุดได้แก่ บริหารธุรกิจ กฎหมาย และแพทย์ศาสตร์ และส่วนใหญ่มักเป็นนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาหรือนักศึกษาต่างชาติ รายงานดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า การร้องเรียนที่เพิ่มขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่านักศึกษาเริ่มมองเห็นตนเองในฐานะ “ผู้บริโภค”มากขึ้น และเริ่มรับ “การศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐาน” ไม่ได้ เพราะนักศึกษาทุกวันนี้เริ่มมีหนี้สินมากขึ้น จึงทำให้มีความเครียด และความคาดหวังมากขึ้น   (แม้จะเป็นพียงแค่ร้อยละ 0.05 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นเพราะการร้องเรียนนั้นมีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก)   ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 1,007 เรื่อง และ 1 ใน 5 ของเรื่องร้องเรียนเหล่านี้   "เป็นเรื่องที่ฟังขึ้น" ข้อร้องเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวกับการที่มหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการของตัวเองตามที่ได้แจ้งนักศึกษาไว้  ทั้งนี้สำนักงานตุลาการอิสระสามารถตรวจสอบว่ามหาวิทยาลัยได้ให้สิ่งที่สัญญาไว้กับผู้เรียนหรือไม่ แต่ไม่สามารถตรวจสอบเรื่องของการให้คะแนน การตัดเกรด หรือคุณภาพการสอนได้ในปี พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยเหล่านี้ต้องจ่ายค่าชดเชยไปเป็นจำนวนทั้งสิ้น 163,000 ปอนด์  (ประมาณ 8 ล้านกว่าบาท) ซึ่งเป็นการจ่ายให้กับ การสูญเสียโอกาสในการได้งานทำ โอกาสในการก้าวหน้าทางการงานหรือความเครียด เป็นต้น   นักศึกษาคนหนึ่งได้รับเงินชดเชย 750 ปอนด์ (37,800 บาท) กับการที่ไม่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนเพราะมีคุณสมบัติไม่ครบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เขาร้องเรียนว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้แจ้งคุณสมบัตินั้นไว้ให้ชัดเจน อีกรายหนึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่ได้ค่าชดเชยไป 45,000 ปอนด์ (2 ล้าน 2 แสนบาท) จากการที่เขาต้องเสียเวลาไปกับกระบวนการตรวจสอบทางวินัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งไปถึง 3 ปีเต็ม -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   รถ ICE ที่ไม่เย็น คลื่นความร้อนที่เล่นงานประเทศต่างๆในยุโรป นั้นลุกลามเข้าไปถึงห้องโดยสารติดแอร์ของรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งระหว่างเมืองของเยอรมนี Inter City Express (ที่เรียกย่อๆ ว่า ICE) กับเขาด้วยดอยท์ชบาห์น หรือการรถไฟเยอรมนี จึงต้องรับผิดชอบด้วยการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้โดยสารที่ต้องพบแพทย์เพราะอาการเจ็บป่วยอันสืบเนื่องมาจากความร้อนที่ว่า คนละ 500 ยูโร (20,000 บาท) พร้อมกับคืนเงินค่าตั๋วให้ด้วย ขณะนี้มีคนมารับเงินชดเชยไปแล้วถึง 2,200 คน   สื่อเยอรมันรายงานว่าอุณหภูมิในห้องโดยสารนั้นสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส ในขณะที่ระบบเครื่องปรับอากาศของตู้โดยสารนั้นสามารถรับมือกับอุณหภูมิได้สูงสุดแค่ 32 องศาเท่านั้น รูดิเกอร์ กรูบ ซีอีโอ ของการรถไฟเยอรมันตั้งคำถามกับประสิทธิภาพของรถไฟที่บริษัทใช้วิ่งอยู่ แต่นายกสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟเยอรมนี ปฏิเสธข้อสงสัยดังกล่าว โดยยืนยันว่าบริษัทผู้ผลิตไม่มีทางทำรถไฟไก่กาที่ระบบแย่ๆ ออกมาแน่นอน ปัญหาน่าจะเป็นเพราะการดูแลรักษาที่ไม่ดีพอมากกว่า   อย่างไรก็ตามข่าวเขาบอกมาว่า ด้วยอากาศที่เปลี่ยนไป รถไฟรุ่นหน้าที่จะเข้าประจำการปีหน้านั้นจะทำมาให้สามารถรับมืออุณหภูมิได้ถึง 40 องศาเซลเซียสกันไปเลย@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   เบียดเบียนคนแก่ สถานีโทรทัศน์ Nos ของเนเธอร์แลนด์ ออกมาแฉว่าเดี๋ยวนี้บรรดาบ้านพักฟื้นหรือบ้านพักคนชราจะเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้บริการมากขึ้น ด้วยการเรียกเก็บค่าบริการเล็กๆ น้อยๆ ประปราย เช่น ค่าผลไม้ ค่ากระดาษทิชชู ค่าพาไปเดินออกกำลัง เป็นต้น ที่ต้องแฉก็เพราะว่าบรรดาบริการเหล่านี้ถือเป็นบริการที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของระบบประกันสุขภาพอยู่แล้วนั่นเอง   Nos TV บอกว่า ผู้ป่วยหรือคนชราที่พักอยู่ในสถานบริการเหล่านั้น ต้องจ่ายเงินเพิ่มค่ากาแฟ น้ำอัดลมหรือขนมขบเคี้ยว บางคนถูกเรียกเก็บค่าต่อสัญญาณโทรทัศน์หรือการอาบน้ำเพิ่มอีกหนึ่งครั้ง มีรายหนึ่งที่ต้องจ่ายค่าถุงมือและน้ำยาฆ่าเชื้อที่พยาบาลใช้ด้วย  สำนักงานประกันสุขภาพของเนเธอร์แลนด์บอกว่าได้รับเรื่องร้องเรียนมากขึ้นเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับใบเรียกเก็บเงินของสถานบริการเหล่านี้ และได้ประกาศให้บรรดาศูนย์บริการเหล่านั้นรีบแก้ไข ไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายค่าปรับ แต่ยืนยันว่ายังไม่มีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคถูกเก็บเงินเพิ่มเข้ามาเลย  ปัจจุบันในเนเธอร์แลนด์ มีคนที่ใช้บริการบ้านพักเหล่านี้อยู่ประมาณ 260,000 คน ประชาชนชาวดัทช์ทุกคนจะต้องทำประกันสุขภาพที่เรียกว่า AWBZ ที่ตนเองต้องจ่ายเบี้ยประกันในอัตราร้อยละ 12 ของเงินเดือน ซึ่งครอบคลุมการใช้บริการสถานพักฟื้นและบ้านพักคนชราด้วย ขณะนี้มีคน 600,000 คนภายใต้การดูแลของระบบประกันที่ว่านี้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 22,000 ล้านยูโร (ประมาณ 920,000 ล้านบาท) ต่อปี@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   สวยต้องเสี่ยงลิปสติกสีแดงนั้นท่านว่ามักมีการปนเปื้อนของสารตะกั่ว สาวปากแดงโปรดระวัง องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้ทดสอบหาปริมาณสารตะกั่วในลิปสติกสีแดงทั้งหมด 22 ยี่ห้อ และ พบว่า ลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลและลอรีอัล นั้นมีตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณสูงที่สุด องค์กรผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ลิปสติกสองยี่ห้อที่ว่ามานั้น ได้รับความนิยมในระดับต้นๆ บอกว่า องค์กรนี้กำลังเรียกร้องให้มีกฎหมายที่บังคับให้มีการแสดงส่วนประกอบรอง (เช่นตะกั่ว) ในเครื่องสำอางไว้บนฉลากด้วย(กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้มีการแสดงเฉพาะส่วนผสมหลักเท่านั้น) เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารตะกั่วด้วย ผู้อำนวยการสมาคมน้ำหอมและเครื่องสำอาง การ์ธ วิลลี่ บอกว่าการทำลิปสติกสีแดงให้ปราศจากตะกั่วนั้นแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และปริมาณสารตะกั่วที่เกิดขึ้นในแต่ละล็อตแตกต่างกันไป บางล็อตอาจไม่มีเลย ในขณะที่บางล็อตก็แทบจะสูงเกินมาตรฐานที่กำหนด   ด้านโฆษกพร็อกเตอร์แอนด์แกมเบิล ผู้ผลิตลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลบอกว่าไม่ได้ใช้สารตะกั่วในการผลิต แต่ที่ตรวจพบนั้นเป็นตะกั่วที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่ปริมาณที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทางลอรีอัล ก็ยืนยันว่ามีตะกั่วในลิปสติกในปริมาณต่ำมากเช่นกัน นักพิษวิทยา ดร.ไมเคิล บีสลีย์ บอกว่าการจะระบุว่าปริมาณเท่าใดจึงจะเป็นอันตรายนั้นค่อนข้างยาก เพราะการเป็นพิษนั้นมีปัจจัยในเรื่องของการสะสมด้วย แต่ทั้งนี้ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ได้ประกาศห้ามใช้สารตะกั่วในลิปสติกทุกชนิดแล้ว อ้าว ... เรื่องสวยก็มีสองมาตรฐานกับเขาเหมือนกันหรือนี่

อ่านเพิ่มเติม >