ฉบับที่ 134 กระแสต่างแดน

  จับจริงปรับจริง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ดานัง ซึ่งเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่อันดับ 4 ของประเทศเวียดนาม เขาจะเพิ่มความเข้มข้นของการปราบปรามการทำผิดกฎจราจรขึ้นอีกระดับ อย่างแรก ถ้าคุณทำผิดกฎจราจร คุณจะต้องเสียค่าปรับแพง อย่างที่สอง ตำรวจจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 4 เส้นทางหลักในการเข้า/ออกตัวเมืองดานัง ซึ่งมีความวุ่นวายจอแจไม่ธรรมดา จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกคนละ 5 ล้านด็อง (ประมาณ 7,400 บาท) จากอัตราเงินเดือนปกติ 2 ล้านด็อง (ประมาณ 3,000 บาท) ในขณะที่สารวัตรจราจรจะได้เงินเพิ่มอีกเดือนละ 2 ล้านด็อง (ประมาณ 3,000 บาท) แถมด้วยส่วนแบ่งอีกร้อยละ 10 จากค่าปรับที่เรียกเก็บจากพวกที่ทำผิดกฎจราจรอีกต่างหาก เท่านั้นยังไม่พอ เขาจะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ตามจุดตรวจเพื่อลดการติดสินบนเจ้าหน้าที่อีกด้วย ใครมีภาพตัวเองรับสินบน ไม่ว่ามากหรือน้อย จะต้องถูกไล่ออกทันที อีกหน้าที่หนึ่งของตำรวจจราจรที่ดานังคือการตรวจคุณภาพของหมวกกันน็อคของบรรดาผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ด้วย เพราะเมืองนี้กำลังมีปัญหาหมวกกันน็อคปลอมระบาด ที่คนนิยมซื้อมาใช้เพราะราคาถูกกว่ากันครึ่งต่อครึ่ง   ข่าวบอกว่าตำรวจเขาจะเชิญสิงห์มอเตอร์ไซค์เข้าไปนั่งรอการตรวจหมวกกันน็อคในที่ร่มๆ ให้สบายใจ ถ้าพบว่าเป็นชนิดที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เขาก็จะเก็บไว้ แล้วให้ซื้อหมวกกันน็อค ที่ทั้งคุณภาพดี มีมาตรฐาน และราคาเพียงใบละ 80 บาทใส่กลับบ้านไปด้วย เหตุที่ผลิตออกมาได้ถูกนั้นก็เพราะ เทศบาลเมืองดานังเขาให้เงินกู้แบบไม่คิดดอกเบี้ย (ประมาณ 11.7 ล้านบาท) กับผู้ผลิตหมวกกันน็อค เพื่อเป็นต้นทุนในการผลิตหมวกนิรภัยที่มีมาตรฐาน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องผลิตหมวกนิรภัยให้กับเทศบาล 100,000 ใบ ภายในระยะเวลา 2 ปี   รถไฟสายพิเศษ การรถไฟแห่งประเทศฝรั่งเศส ถูกศาลสั่งให้จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 1,500 ยูโร (ประมาณ 60,000 บาท) ให้กับสาวนางหนึ่งที่ไปทำงานสายถึง 6 ครั้งในช่วงทดลองงาน เพราะรถไฟที่เธอใช้เพื่อเดินทางจากบ้านไปยังสำนักงานในเมืองลียงนั้นมาไม่ตรงเวลา เธอคนนี้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก SNCF หรือ Société Nationale des Chemins de fer Français (ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟเจ้าใหญ่ของยุโรป รวมถึงเป็นเจ้าของกิจการรถไฟความเร็วสูง TGV ด้วย) ไปทั้งหมด 45,000 ยูโร (ประมาณ 1.8 ล้านบาท) โทษฐานที่ทำให้เธอต้องได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ และสูญเสียรายได้ที่อาจเกิดขึ้นถ้าเธอผ่านการทดลองงานด้วย เธอบอกว่าระยะเวลาที่ต้องรอนั้นมีตั้งแต่ 10 ถึง 75 นาที และสำนักงานกฎหมายที่เธอเข้าทดลองงานในเดือนมิถุนายน ปี 2010 ก็ยืนยันว่าการมาสายของเธอเป็นผลเสียต่อกิจการของบริษัท ศาลเห็นด้วยว่าการที่รถไฟมาไม่ตรงเวลานั้น ทำให้เธอเกิดความเครียด จึงสั่งให้ SNCF จ่ายเงินชดเฉยให้กับเธอเป็นเงิน 1,500 ยูโร แม้ว่าผู้บริโภคจะไม่ได้ค่าชดเชยทั้งหมดที่เรียกร้องไป แต่ข่าวบอกว่านี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่การรถไฟฝรั่งเศสจะต้องเตรียมตัวรับมือต่อไป สองปีก่อน การรถไฟฝรั่งเศสเคยถูกศาลสั่งให้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ทนายคนหนึ่งเป็นเงิน 5,000 ยูโร (ประมาณ 200,000 บาท) เพราะรถไฟมาสายและทำให้เขาพลาดรถที่จะต้องต่อไปพบลูกความที่เมืองนีมส์ มาแล้ว     วันนี้ห้ามขาย สำนักงานเทศบาลของ 25 เขตในกรุงโซลลงความเห็นร่วมกันว่า แต่นี้ต่อไป ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และสาขาย่อยที่เรียกกันว่า SSM (super supermarkets) ของห้างเหล่านั้น จะต้องปิดทำการในวันอาทิตย์ที่สองและสี่ของเดือน นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะช่วยให้ร้านค้าแบบดั้งเดิม (หรือที่บ้านเราเรียก “โชว์ห่วย”) ให้สามารถอยู่ควบคู่กันไปกับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องปิดกิจการนั่นเอง กรุงโซลเป็นหนึ่งในหลายๆ เมือง ที่กำลังปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ ที่ให้อำนาจแก่องค์กรท้องถิ่น ในการสั่งให้ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่และสาขาย่อย ปิดทำการได้ถึงเดือนละ 2 ครั้ง และการฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 30 ล้านวอน(ประมาณ 800,000 บาท) ทั้งนี้มีข้อยกเว้นสำหรับห้างที่ยอดขายเกินร้อยละ 50 มาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากการเกษตรและปศุสัตว์ ร้าน Hanaro Club ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกที่ดำเนินงานโดยสหพันธ์สหกรณ์การเกษตรแห่งชาติของเกาหลีก็เข้าข่ายนี้เช่นกัน และแน่นอนที่สุด สมาคมร้านค้าปลีกของเกาหลี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ทบทวนกฎหมายดังกล่าว เพราะ “มันเป็นการละเมิดสิทธิของห้างในการประกอบธุรกิจ และละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในการจับจ่าย”  นอกจากนี้ยังบอกว่าจะล่ารายชื่อ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อคัดค้านกฎหมายนี้ สมาคมฯ โอดครวญว่า ทีพวกขายของทางโทรทัศน์หรือทางอินเตอร์เน็ทยังขายได้ทุกวัน วันละ 24 ชั่วโมงเลย (ว่าแต่ร้านโชว์ห่วยเขาขายของแบบเดียวกันกับร้านพวกนี้หรือไงนะ?)     แคลอรี่ บลา บลา? เนื่องจากประชากรของเขามีอัตราการเกิดโรคอ้วนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของยุโรป รัฐบาลอังกฤษเลยตัดสินใจประกาศแผนลดความอ้วนระดับชาติ ด้วยการกำหนดให้ผู้ผลิตลดปริมาณแคลอรี่ในอาหารสำเร็จรูปลง เบื้องต้นได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ 17 ราย ซึ่งรวมถึง โคคา โคล่าที่ประกาศว่าจะลดปริมาณแคลอรี่ในเครื่องดื่ม (บางชนิด) ของตนเองลงร้อยละ 30 เช่นเดียวกับ Mars ที่บอกว่าจะทำขนมหวานรสช็อคโกแล็ต แต่ละชิ้นให้มีแคลอรี่ไม่เกิน 250 หรือห้าง Asda ที่ประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์แบรนด์ใหม่ที่จะผลิตเฉพาะอาหารแคลอรี่ต่ำ เป็นต้น เรื่องนี้จะว่าดีก็ใช่ แต่มันยังไม่ถึงที่สุด พรรคแรงงานออกมาตั้งคำถามกับรัฐบาลว่าทำไมถึงไม่คิดถึงทางเลือกอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากกว่านี้ เช่น กำหนดให้ผู้ประกอบการปรับปรุงฉลากอาหาร หรือจำกัดการโฆษณาอาหารขยะทั้งหลายที่เด็กๆ พบเห็นบ่อยเกินไปในโทรทัศน์ เป็นต้น อีกความพยายามที่น่าสนใจของรัฐบาลอังกฤษคือการขอให้ผู้ผลิตทำบรรจุภัณฑ์ที่เอื้อต่อการเก็บไว้รับประทานในคราวต่อไปได้ด้วย     ถนนนี้เราจอง คุณอาจเคยได้ยินชื่อ เอมิเรตส์ สเตเดียม ในกรุงลอนดอน หรือถ้าคุณเป็นแฟนของทีมฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ คุณก็คงจะรู้จักคิง พาวเวอร์ สเตเดียม แต่ “แบรนด์” ต่างๆ สามารถไปได้ไกลกว่านั้น อย่างน้อยๆ ก็ที่รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เพราะเขาประกาศขายสิทธิในการตั้งชื่อถนน ทางหลวง สะพาน ฯลฯ ให้กับใครก็ตามที่ยินดีให้ราคาสูงสุดในการประมูล เวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับที่ 12 ของอเมริกา ตัดสินใจผ่านกฎหมายดังกล่าวเพื่อหางบประมาณมาซ่อมแซมถนน ซึ่งแต่ละสายก็อายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี นักการตลาดบอกว่านี่เป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการในยุคที่ “แบรนด์” ทั้งหลายแข่งกันสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค แทนที่จะไปทุ่มเทเงินให้กับนักกีฬาหรือทีมกีฬาที่รวยอยู่แล้ว บริษัทต่างๆ ควรใช้เงินเพื่อสนับสนุนการดูทรัพย์สินสาธารณะดีกว่า ในทางกลับกัน ฝ่ายที่คัดค้านมองว่ามันเป็นการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการค้า ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องถูกแวดล้อมไปด้วยโฆษณาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >