สคบ. ออก“สัญญาเช่าซื้อรถ” เพิ่มความคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้ถูกเอาเปรียบ

            เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 (ฉบับใหม่ล่าสุด) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้            โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับใหม่ ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก ที่แก้ไขเป็นเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้, การปรับลดดอกเบี้ยกรณีผู้บริโภคต้องการชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียวกัน, ค่าใช้จ่ายจากการบังคับยึดรถกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระหนี้เกิดกำหนด ซึ่งเดิมผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อหรือบริษัทลีซซิ่ง สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการยึดรถจากผู้บริโภคได้ แต่กฎหมายใหม่กำหนดข้อห้ามไว้ ซึ่งประกาศฉบับใหม่ มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้1.      กำหนดดอกเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระ ไม่เกิน 15% (เดิม 17%)2.      บริษัทเช่าซื้อต้องทำตารางแสดงค่างวด แยกเงินต้น-ดอกเบี้ย วันเดือนปีชำระค่างวดให้ผู้บริโภคทราบชัดเจน3.      กรณีผู้เช่าซื้อต้องการชำระเงินทั้งหมด (โปะ) บริษัทลีสซิ่งต้องให้ส่วนลดดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 50%4.      ให้สิทธิ์ผู้เช่าซื้อ ซื้อรถคืนได้ภายใน 7 วัน หลังยึดรถ และให้สิทธิ์ผู้ค้ำประกันอีก 15 วัน5.      กรณีจะนำรถขายทอดตลาด ต้องแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบล่วงหน้า 7 วัน โดยจะซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ6.      บริษัทเช่าซื้อสามารถเก็บค่าธรรมเนียมทวงถามได้ตามใช้จ่ายจริง แต่ห้ามเก็บค่าใช้จ่ายดำเนินการยึดรถ7.      มีผลบังคับใช้ 1 กรกฎาคม 2561            นอกจากนี้ ในประกาศยังระบุว่า ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อ ชำระเงินค่าเช่าซื้อและค่าใช้จ่ายต่างๆ ครบถ้วนแล้ว ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อเป็นของลูกค้าทันที โดยบริษัทลีสซิ่งต้องดำเนินการจดทะเบียนรถให้เป็นชื่อของลูกค้าภายใน 30 วัน หากเกินกำหนด บริษัทลีสซิ่งต้องเสียเบี้ยปรับในอัตราที่เท่ากับเบี้ยปรับที่ลูกค้าต้องชำระเมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 มีสิทธิยกเลิกสัญญาหรือไม่

หากเราตกลงทำสัญญาใดๆ ไปแล้ว แต่ต้องการยกเลิกในภายหลังจะสามารถทำได้หรือไม่ ลองไปดูเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้กันคุณสมพรได้รับการเชิญชวนให้ตรวจสุขภาพฟรี ซึ่งภายหลังการตรวจเลือด พนักงานก็แจ้งว่าเลือดในร่างกายไม่ปกติ เพราะมีการสะสมของไขมันและโลหะหนัก ทำให้เลือดขาดออกซิเจน โดยอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ ได้ในอนาคต นอกจากนี้เมื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดก็ยังพบอีกว่า ระบบทางเดินอาหารไม่ดีและตับเสื่อม ด้วยผลการตรวจเช่นนั้น ทำให้คุณสมพรวิตกกังวลอย่างมาก จึงยินดีเข้ารับการรักษาแบบคีเลชั่น (Chelation) เพื่อเอาสารพิษออกจากเลือดตามที่พนักงานแนะนำ ในราคาพิเศษเหลือ 149,000 บาท สามารถใช้บริการได้ 50 ครั้ง อย่างไรก็ตามในอีกอาทิตย์ถัดมา เมื่อคุณสมพรได้เข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาดังกล่าว แพทย์กลับแจ้งว่าการทำ 50 ครั้งมากเกินไป ควรทำแค่ 10 ครั้งก็เพียงพอแล้ว เพราะหากทำมากเกินไปสามารถส่งผลให้ไตวายได้ คุณสมพรจึงยังไม่เข้ารับการรักษาทันที เพราะเห็นว่าแพทย์และพนักงานให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกัน และไปหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำคีเลชั่นเพิ่มเติมจากในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเธอพบว่าแพทย์สภาไม่รับรองการรักษาดังกล่าว จึงต้องการยกเลิกการรักษาและขอเงินคืนทั้งหมด แต่พนักงานกลับต่อรองให้ทำการรักษาตามที่แพทย์แนะนำต่อไป ทำให้คุณสมพรส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า หลักในการยกเลิกสัญญามี 3 วิธีดังนี้ 1. คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องการยกเลิกสัญญา 2. คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งต้องการยกเลิกสัญญา แล้วทำคำเสนอขอยกเลิกสัญญา เมื่อคู่สัญญาเห็นพ้องด้วย ทำคำสนองตอบกลับมา 3. การบอกเลิกสัญญาเพียงฝ่ายเดียว โดยอีกฝ่ายไม่ต้องเห็นพ้องด้วยโดยในกรณีที่การบอกเลิกสัญญาเพียงฝ่ายเดียวนั้น คู่สัญญาที่ต้องการยกเลิกสัญญา ต้องมีสิทธิในการบอกเลิก คือ ในข้อสัญญามีการระบุไว้ว่าถ้ามีการผิดสัญญา อีกฝ่ายสามารถยกเลิกสัญญาได้ หรือตามบัญญัติของกฎหมาย กรณีที่ไม่ได้มีข้อสัญญาระบุไว้ ดังนี้ 3.1 สิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อคู่สัญญาอีกฝ่ายไม่ชำระหนี้3.2 สิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อคู่สัญญาอีกฝ่ายไม่ชำระหนี้ตามเวลา ในกรณีที่เวลาเป็นสาระสำคัญ และ 3.3 สิทธิบอกเลิกสัญญาเพราะการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย โดยโทษลูกหนี้ได้อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ ผู้ร้องอาจเจรจาต่อรองและรับการรักษาตามที่แพทย์แนะนำคือ 10 ครั้ง โดยจ่ายราคาตามจริงได้ ส่วนการรักษาแบบคีเลชั่นนั้น เป็นการขจัดโลหะหนักที่เป็นพิษออกจากร่างกาย ซึ่งเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับโลหะหนักเข้าสู่ร่างกายเป็นประจำ หรือผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่มีปัญหาธาตุเหล็กเกินในร่างกายแต่หากพบว่าสถานบริการหรือโรงพยาบาลใด ที่ระบุว่าการทำคีเลชั่นสามารถช่วยรักษาโรคหลอดเลือด โรคหัวใจหรือออทิสติคได้ จะถือว่าเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และไม่ได้อยู่ในการรับรองของแพทยสภา ซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม หรือสามารถสอบถามข้อมูลต่อได้ที่สมาคมแพทย์คีเลชั่นไทย (http://www.cmat.or.th/)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 สิทธิของผู้ซื้อบ้านที่ก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญา

ผมจะพาทุกท่านมารู้จักกับเรื่องสิทธิของผู้บริโภคอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในสัญญา โดยขอยกกรณีตัวอย่างของการทำสัญญาซื้อขายบ้านนะครับ ก่อนทำสัญญาใดๆ ก็ตามเราต้องตรวจดูข้อสัญญาให้ดีๆ เพราะสัญญาที่กำหนดขึ้นนั้น ผู้ขายเขาร่างมาให้ เราต้องดูให้ดีว่ามีข้อใดที่เอาเปรียบเราหรือไม่ หากเห็นข้อใดไม่สมเหตุผล ก็คุยกันและขอให้แก้ไขได้นะครับเพราะเป็นสิทธิของเราในฐานะผู้บริโภคครับ เพราะเมื่อทำสัญญาไปแล้วจะเกิดสิทธิและหน้าที่ทั้งผู้ซื้อผู้ขายต้องปฏิบัติให้เป็นตามสัญญา เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเรื่องของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้าน ซึ่งตอนไปทำสัญญาก็แน่นอนว่า บ้านยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง หลังทำสัญญาไปแล้ว ก็จ่ายเงินผ่อนบ้านเรื่อยมา แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ ปรากฏว่า กลับจ่ายเงินเขาไม่ครบ จ่ายไม่ตรงเวลา ทั้งที่สัญญาก็ระบุไว้ว่าต้องจ่ายเมื่อไหร่ ส่วนผู้ขายก็สร้างบ้านไม่เสร็จตรงตามกำหนด เรียกว่าทั้งสองฝ่ายไม่ปฏิบัติให้ตรงตามสัญญากันเลย ผู้บริโภคท่านนี้เห็นบ้านสร้างไม่ยอมเสร็จสักที ก็ไปฟ้องศาลขอเรียกเงินค่างวดคืน ปัญหาที่เกิดคือ แบบนี้ตัวเองก็ผิดนัดเขาไม่ชำระเงินให้ตรงตามเวลาที่ตกลง จะมีสิทธิทวงเงินคืนได้หรือไม่  ซึ่งสุดท้ายเรื่องก็ไปสู่ศาลฎีกา และศาลก็ได้ตัดสินให้ผู้ขายคืนเงินแก่ผู้บริโภค เนื่องจากก่อนฟ้อง ผู้ขายมีหนังสือทวงถามให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อชำระค่างวด แต่ผู้ซื้อไม่ยอมจ่ายและมีหนังสือเลิกสัญญาไปถึงผู้ขายเช่นกัน ศาลมองว่าทั้งสองฝ่ายต่างต้องการเลิกสัญญาต่อกัน จึงมีผลให้สัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน ซึ่งตามกฎหมาย ผลของการเลิกสัญญา ทำให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องกลับสู่ฐานะเดิม ดังนั้น ผู้ขายจึงต้องคืนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระทั้งหมดให้แก่ผู้บริโภคพร้อมดอกเบี้ย คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6327/2549           โจทก์มิได้ชำระเงินค่างวดตรงตามเวลาและครบถ้วนในกำหนดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนจำเลยก็มิได้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในกำหนดวันที่โจทก์ต้องชำระเงินค่างวด งวดสุดท้ายและจำเลยตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ จึงถือว่าต่างฝ่ายต่างมิได้ถือกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นสาระสำคัญต่อไป หนี้ที่ต่างต้องชำระต่อกันจึงไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนต่างฝ่ายย่อมเรียกอีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลันโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคแรก          สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนและล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้มาแล้วประมาณ 10 เดือน ดังนั้นหนังสือบอกกล่าวของจำเลยที่ทวงถามให้โจกท์ชำระเงินค่างวดที่ค้างเพื่อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้น จำเลยจะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ด้วยว่าจำเลยพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิไม่ชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยยังก่อสร้างบ้านไม่แล้วเสร็จในขณะที่มีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ค่างวดที่ค้าง จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะที่พร้อมที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนให้แก่โจทก์ได้ การที่โจทก์ไม่ชำระเงินค่างวดที่ค้างให้แก่จำเลยจึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่โจทก์ชำระแล้ว          หลังจากที่จำเลยมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระค่างวดที่ค้างแล้ว โจทก์ไม่ชำระแต่ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย และต่อมาจำเลยก็ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์อีก ดังนี้เท่ากับคู่สัญญามีเจตนาเลิกสัญญาต่อกัน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ในคดีนี้ มีประเด็นน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต้องรู้หน้าที่ของตน ผู้ขายรู้ว่าตนมีหน้าที่ต้องสร้างบ้านให้เสร็จ และโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินให้โจทก์ แต่ปรากฎว่าในขณะมีหนังสือแจ้งให้โจทก์จ่ายเงินค่างวดบ้าน ตนเองก็ยังไม่พร้อมจะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินให้โจทก์ แสดงว่าจำเลยผู้ขายไม่สามารถปฏิบัติตามหน้าที่ของตนตอบแทนตามสัญญา  ดังนั้น การที่โจทก์ยังไม่จ่ายเงินค่างวดจึงยังไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา ผลที่ตามมาคือ ผู้ขายไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและจะริบเงินของโจทก์ไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 สัญญามาตรฐานรถเช่า(2)

ฉบับที่แล้วผมค้างไว้ว่าจะมาบอกเล่าถึงการขับเคลื่อนของคณะทำงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา โดยมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ที่ทำยังไงถึงสามารถผลักดันการใช้สัญญาเช่ารถโดยสารรับจ้างไม่ประจำทางให้เป็นนโยบายของจังหวัดได้แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น คงต้องเริ่มกันที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. (ที่มีทั้ง อบจ. อบต. เทศบาล) ก่อนว่า เดิมทีหากจะต้องเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางเพื่อไปดูงานในแต่ละปีนั้น ปกติหน่วยงานเหล่านี้จะใช้ระเบียบสัญญาจัดซื้อจัดจ้างทั่วไป ที่มีเพียงข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจ และราคาที่ตกลงว่าจ้าง โดยไม่มีข้อมูลหรือรายละเอียดที่เกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยและเงื่อนไขความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจหากไม่สามารถปฏิบัติตามการว่าจ้าง เพราะไม่เคยมีนโยบาย คำสั่ง หรือข้อมูลอื่นใดมากำหนดให้ปฏิบัติมาก่อน ทำให้ในแต่ละครั้งที่เช่ารถโดยสารไปดูงาน หากเจอรถที่ไม่มีคุณภาพ ขับไปรถดับสตาร์ทไม่ติด คนขับดูอ่อนเพลีย เหมือนรับงานมาหลายวัน หรือนัดหมายเอารถคันนี้ แต่วันเดินทางเอารถคันอื่นมารับ เชื่อเลยว่าถึงเวลาแล้วก็ต้องเดินหน้ากันต่อไป จะเปลี่ยนรถเปลี่ยนใจกันก็ไม่ได้ซะแล้ว นอกจากนี้ก็ยังไม่รู้จะไปเรียกร้องอะไรได้อีก เพราะไม่มีเงื่อนไขบังคับผู้ประกอบธุรกิจให้ต้องรับผิดนั่นเอง ประกอบกับที่ผ่านมามีสถิติการเกิดอุบัติจากรถโดยสารไม่ประจำทางบ่อยครั้ง เป็นเหตุเกิดความเสียหายด้านทรัพย์สิน และต้องสูญเสียบุคลากรที่เป็นกำลังหลักของหน่วยงานมาโดยตลอดยกตัวอย่าง เมื่อปี 2560 เทศบาลตำบลรวมใจพัฒนาจังหวัดพะเยา มีแผนจะพาสมาชิกสภาเทศบาลจำนวน 45 คนไปดูงานที่ประจวบคีรีขันธ์ และทำการเช่าตามระเบียบราชการ หลังจากตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของรถที่มารับจ้างเป็นที่ตกลงกันแล้ว ปรากฏว่าในวันเดินทางจริง ผู้รับจ้างไม่ได้นำรถคันที่ตรวจรับมาให้บริการ  แถมรถคันใหม่ที่มารับเมื่อลองตรวจสภาพแล้วพบว่าประตูฉุกเฉินเปิดออกไม่ได้ จะให้แก้ไขเปลี่ยนรถก็ทำไม่ได้แล้วตอนนั้น เพราะทุกคนพร้อมเดินทางตามนัดหมาย จึงต้องยอมรับเดินทางด้วยความระแวงไม่สบายใจไปตลอดทาง  และต้องถือว่าเป็นความโชคดีที่ไม่มีอะไรรุนแรงเกิดขึ้นกับการเดินทางครั้งนั้น ซึ่งหากมีเหตุไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ใครจะต้องรับผิดกัน คงเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ แล้วมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนาทำอย่างไร การใช้สัญญาเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง ถึงถูกนำไปขับเคลื่อน เป็นนโยบายร่วมของจังหวัดที่กำหนดให้ต้องใช้สัญญาเช่าเมื่อต้องไปนอกสถานที่ได้ ต้องมองกันที่จุดเริ่ม มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนานั้น มีต้นทุนประสบการณ์ด้านการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดพะเยามาอย่างยาวนาน โดยมีภารกิจสำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานด้านรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย   ในปี 2558 มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ได้เลือกเทศบาลตำบลในอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่นำร่องในการเก็บข้อมูล การเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง เมื่อได้ผลออกมาแล้วจึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับฟังแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ความเสี่ยง เพื่อสร้างความเข้าใจในการเลือกใช้บริการรถโดยสารที่ปลอดภัย รวมถึงการสนับสนุนการทำสัญญาเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางที่เป็นธรรมทุกครั้งจนนำไปสู่ความสำเร็จขั้นแรก ด้วยการลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อพัฒนารถโดยสารสาธารณะที่ปลอดภัยในระดับองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอแม่ใจจังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2559  ซึ่งกำหนดให้แต่ละท้องถิ่นมีการทดลองใช้ “สัญญาจ้างขนส่งผู้โดยสาร” ทุกครั้ง เมื่อต้องเช่ารถไปแลกเปลี่ยนดูงานนอกสถานที่ ซึ่ง “สัญญาจ้างขนส่งผู้โดยสาร” นั้น จะมีเนื้อหาสาระที่คุ้มครองสิทธิผู้ว่าจ้างและกำหนดหน้าที่ของผู้รับจ้างมากกว่าสัญญาจัดซื้อจัดจ้างทั่วไป ต่อมาใน 2560 คณะทำงานได้เริ่มเก็บข้อมูลการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางอีกครั้ง คราวนี้เลือกเทศบาลตำบล/องค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ 9 อำเภอจังหวัดพะเยา รวมจำนวน 72 แห่ง หลังจากนั้นจึงนำผลการเก็บข้อมูลไปรายงานในเวทีประชุม “คณะทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพรถโดยสารสาธารณะและรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยต่อผู้บริโภคจังหวัดพะเยา” เพื่อนำเสนอข้อมูลและข้อเสนอต่อการยกระดับให้การใช้ “สัญญาจ้างขนส่งผู้โดยสาร” เป็นนโยบายระดับจังหวัด ความสำเร็จขั้นถัดมา คือ การลงนามบันทึกความร่วมมือการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อพัฒนารถโดยสารสาธารณะที่ปลอดภัยจังหวัดพะเยา ในวันที่ 28  ธันวาคม 2560  โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาและหน่วยงานอื่นๆ ทั้งจังหวัดได้พร้อมใจกัน ให้ความสำคัญกับการใช้ “สัญญาจ้างขนส่งผู้โดยสาร” และกำหนดเป็นมาตรการให้หน่วยงานในจังหวัดพะเยาใช้สัญญาเช่าทุกครั้งของการดำเนินการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง อย่างไรก็ดี แม้ทุกภาคส่วนจะเห็นชอบด้วยกับการใช้สัญญาเช่าโดยสารไม่ประจำทางและมีมาตรการจังหวัดกำหนดข้อตกลงให้ปฏิบัติ แต่หากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานยังไม่เข้าใจจนละเลยต่อความสำคัญในการใช้สัญญาเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง ที่มุ่งเน้นด้านการดูแลผลประโยชน์ของหน่วยงานและปกป้องความปลอดภัยของบุคลากรที่ต้องเดินทาง การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่ทำไปคงไม่เกิดผล ปัญหาเดิมๆ ก็จะมีมาให้เห็นอีกเรื่อยๆ แน่นอน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 สัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง

เข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ หลายเทศกาลแห่งความสุขรอเราอยู่ ทั้งวาเลนไทน์ ตรุษจีน ต่อด้วยเด็กๆ ได้หยุดปิดเทอม แต่คนทำงานบางหน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำลังดีใจที่ได้จะเดินทางไปศึกษาดูงานตามต่างจังหวัดไกลๆ เหตุผลหนึ่งที่อ้างกันบ่อย คือ เพื่อพัฒนาศักยภาพและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์คนทำงาน  ทั้งนี้ในแต่ละปีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศต้องมีกิจกรรมดูงานทางไกลแบบนี้ทั้งนั้น นี่ยังไม่นับรวมถึงโรงเรียนที่มีอีกมากกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ที่ต้องจัดแผนพาเด็กนักเรียนไปเข้าค่ายหรือทัศนศึกษาตามที่ต่างๆ เช่นเดียวกัน ซึ่งแน่นอนทั้งหมดที่ว่ามานี้ต้องเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางในการเดินทาง แล้วรถโดยสารไม่ประจำทางที่นิยมใช้กันมากที่สุดนั่น คือ รถโดยสารสองชั้น ที่ปัจจุบันมีให้บริการมากกว่า 5,000  คันทั่วประเทศ และเหตุผลที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้รถโดยสารสองชั้น ก็เพราะสะดวก สบาย เบาะเอนนอนได้ มีอุปกรณ์บันเทิงครบครัน เครื่องเสียง คาราโอเกะ ขณะที่เสียงสะท้อนจากหน่วยงานที่เลือกรถเดินทางบอกว่า บางทีก็ไม่อยากเลือกรถโดยสารสองชั้น แต่มีความจำเป็นเพราะในพื้นที่หารถโดยสารชั้นเดียวไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องนโยบายหน่วยงานที่ต้องการบริการที่มีต้นทุนราคาถูก มุ่งเน้นการประหยัดด้านงบประมาณและความสะดวกสบายของการเดินทาง จนละเลยถึงความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของการเดินทางไป ทำให้รถโดยสารสองชั้นเป็นเป้าหมายที่ต้องการ เพราะตอบโจทย์เรื่องราคาและการบรรทุกคนได้ครั้งละมากๆ ไปคันเดียวได้เกือบ 50 คน มิเช่นนั้นหากเลือกรถโดยสารชั้นเดียวจะต้องว่าจ้างหลายคันส่วนการว่าจ้างรถโดยสารไม่ประจำทางนั้น หลายพื้นที่ใช้ความใกล้ชิดรู้จักกับผู้ประกอบการท้องถิ่นในการว่าจ้างหรือวิธีการเสนอราคาค่าบริการรถโดยสารไม่ประจำทาง รวมถึงวิธีการว่าจ้างที่เป็นไปตามรูปแบบการจัดจ้างตามแบบหนังสือราชการทั่วไป ที่ยังขาดสาระสำคัญและข้อปฏิบัติในเรื่องความรับผิดของผู้ประกอบการ และความคุ้มครองสิทธิผู้ของเช่าและผู้โดยสารจากการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายเกิดขึ้น ผู้รับจ้างหรือผู้ประกอบการอาจใช้เป็นช่องทางประวิงการชดใช้ค่าเสียหายหรือปฏิเสธความรับผิดชอบได้  ดังความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับองค์การบริหารส่วนตำบลอย่างน้อยสองแห่ง คือ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตากูก จังหวัดสุรินทร์ เมื่อ 3 มีนาคม 2558 และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ต๋ำ จังหวัดเชียงราย เมื่อ 8 มีนาคม 2559  ที่เราต้องสูญเสียบุคลากรระดับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและผู้บริหารระดับสูงไปทั้งสองครั้งเลยทีเดียว หากย้อนดูสถิติอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารไม่ประทาง ทั้งประเภทชั้นเดียวและสองชั้นในปี 2560 แล้วพบว่า ในที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารไม่ประจำทางมากถึง 65 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 20 คน  บาดเจ็บถึง 536 คน มากกว่าครึ่งเป็นการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี  และในแต่ละปีจะมีอุบัติเหตุความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับการว่าจ้างรถโดยไม่ประจำทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่เสมอ จากความเสียหายที่เกิดขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้สัญญามาตรฐานในการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการยกร่างและพัฒนาข้อความสำคัญในสัญญาโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และเครือข่ายนักวิชาการร่วมกันจัดทำขึ้น โดยมุ่งเน้นที่การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง ตั้งแต่การจัดทำสัญญาเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางที่มีมาตรฐานการป้องกันและความคุ้มครองความปลอดภัย พร้อมหลักการปฏิบัติของผู้โดยสารและความรับผิดของผู้รับจ้างหากไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขที่ตกลงกันได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ เครือข่ายนักวิชาการ โดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนจะขับเคลื่อนงานสัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางนี้ ส่งผ่านถึงกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดนโยบายสั่งการ แต่ในทางปฎิบัติก็ยังไม่เห็นผลของการใช้สัญญามาตรฐานที่เป็นแบบของสัญญาในการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางนัก เหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาอ้าง เมื่อได้มีโอกาสไปคุยกับเทศบาลตำบลบางแห่ง คือ กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ใช้สัญญาอื่นนอกเหนือไปจากระเบียบจัดซื้อจัดจ้างที่ราชการกำหนดไว้ แต่เราไม่เชื่อในเหตุผลนั้น และได้ทดลองนำร่องการขับเคลื่อนการใช้สัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยไม่ประจำทางกับเทศบาลตำบลของอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ซึ่งได้ผลตอบรับที่น่าพอใจ จนนำไปสู่การขยับเป็นนโยบายของจังหวัดที่เห็นชอบร่วมกันในการนำสัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางไปใช้ได้ และในฉบับหน้าเราจะมาวิเคราะห์ถึงความสำเร็จและวิธีการขับเคลื่อน ที่ทำยังไงถึงเป็นนโยบายของจังหวัดพะเยาได้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่นกันครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 บอกเลิกสัญญาฟิตเนสไม่ได้

เพราะสุขภาพดีไม่มีขาย ใครอยากได้ต้องทำเอง ส่งผลให้ผู้บริโภคปัจจุบันเริ่มหันมาออกกำลังกายกันเป็นประจำมากขึ้น ซึ่งหลายคนก็นิยมออกกำลังกายในฟิตเนส เพราะสะดวก มีอุปกรณ์หลากหลาย แต่หากวันหนึ่งเกิดปัญหาและต้องการยกเลิกสัญญาใช้บริการ เราสามารถทำได้ง่ายๆ จริงหรือคุณณรงค์สมัครใช้บริการฟิตเนสเจ้าหนึ่ง มาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี แต่วันหนึ่งเขากลับประสบอุบัติเหตุขณะกำลังออกกำลังกาย ทำให้ต้องพักรักษาตัวและงดออกกำลังกาย 1 เดือน เขาจึงไปแจ้งกับพนักงานของฟิตเนสดังกล่าวว่า ขอระงับการใช้บริการชั่วคราว โดยยินดีเสียค่าธรรมเนียมการระงับตามระเบียบของบริษัท อย่างไรก็ตามพนักงานกลับแจ้งว่าไม่สามารถระงับชั่วคราวในทันทีได้ เพราะตอนที่คุณณรงค์มาแจ้งนั้น เริ่มเข้าเดือนใหม่แล้ว ซึ่งกฎของบริษัทกำหนดให้สามารถระงับได้ในเดือนถัดไป เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณณรงค์จึงเห็นว่าในเดือนถัดไป เขาน่าจะอาการดีขึ้นและสามารถกลับมาออกกำลังกายได้ตามปกติแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องขอระงับชั่วคราว ดังนั้นเมื่อถึงวันสุดท้ายของเดือนดังกล่าว คุณณรงค์จึงไปขอยกเลิกสัญญา และแจ้งระงับการชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต ซึ่งปกติจะตัดยอดอัตโนมัติ พร้อมนำกุญแจล็อกเกอร์ไปคืน แต่พนักงานของฟิตเนสกลับแจ้งว่า ไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้อีกเช่นกัน เพราะตามกฎการบอกยกเลิกสัญญานั้น จะต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน แสดงว่าจะในเดือนที่กำลังจะถึงนี้ คุณณรงค์ยังคงต้องชำระค่าบริการก่อนและบอกยกเลิกได้ในเดือนถัดๆ ไป ส่งผลให้เขารู้สึกว่าโดนเอาเปรียบและส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยผู้ร้องร่างหนังสือแจ้งขอยกเลิกสัญญาและปฏิเสธการชำระค่าบริการ เนื่องจากการที่ผู้ร้องประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถออกกำลังกายได้นั้น เป็นเหตุในบอกระงับการใช้บริการได้ ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผุ้บริโภค เรื่องสิทธิในการบอกเลิกสัญญาฟิตเนสที่กำหนดว่า หากมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์(ใบรับรองแพทย์) ยืนยันว่าการใช้บริการออกกำลังกายต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกายหรือจิตใจปกติ ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ นอกจากนี้ทางบริษัทยังไม่มีการดูแลหรือแจ้งข้อเสนออื่นๆ ให้ผู้ร้องทราบก่อนเลย เช่น กฎของบริษัทในการบอกเลิกสัญญา ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวของบริษัท อาจเข้าข่ายข้อสัญญาไม่เป็นธรรมได้เช่นกัน ขณะนี้ยังอยูระหว่างเจรจา ได้ผลเช่นไรเราจะติดตามกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 หนังสือรับสภาพความผิด ไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ

ครั้งนี้ผมจะนำเกร็ดความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับการทำสัญญารับสภาพความผิด มาเล่าสู่กันฟัง หากกล่าวถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ คงไม่เข้าใครออกใคร ตัวอย่างที่จะยกมาเล่าครั้งนี้ ก็เป็นเรื่องของเหรัญญิกคนหนึ่งที่ต้องดูแลเงินของกองทุนหมู่บ้าน แต่ด้วยความโลภก็เอาเงินดังกล่าวไปใช้ส่วนตัว ต่อมามีการทำหนังสือสัญญารับสภาพความผิด และมีข้อตกลงจะรับผิดชอบหาเงินมาคืน แต่สุดท้ายเหรัญญิกก็ผิดสัญญา ไม่คืนเงิน คณะกรรมการกองทุนจึงมาฟ้องคดีให้คืนเงิน ซึ่งก็มีประเด็นที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาว่า หนังสือรับสภาพความผิดที่ทำกัน มีผลทำให้มูลหนี้เดิมระงับไปแล้วหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาก็ได้ตัดสินโดยวางหลักไว้ว่า หนังสือรับสภาพความผิดไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ และมิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไป โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่6271/2558 หนังสือรับสภาพความผิดจำเลยทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้นำเงินของโจทก์ไปใช้ส่วนตัวในระหว่างดำรงตำแหน่งเหรัญญิกของโจทก์ และจำเลยยินยอมชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยให้ครบถ้วนภายในวันที่ 1 มิถุนายน  2554 หนังสือรับสภาพความผิดดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานที่จำเลยทำขึ้นฝ่ายเดียวตกลงยอมรับผิดชำระหนี้ที่จำเลยนำเงินของโจทก์ไปใช้โดยไม่ชอบ มิใช่คู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมที่จำเลยนำเงินของโจทก์ไปใช้ระงับไปแล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งไม่มีการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้ระงับไปอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีข้อเท็จจริงใกล้เคียงกัน ศาลฎีกาได้ตัดสินว่า เมื่อกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหายแล้ว ต่อมาผู้กระทำผิดได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้และตกลงจะชำระเงินคืนให้ผู้เสียหาย หากผิดนัดยินยอมให้ผู้เสียหายดำเนินคดี ยังไม่ถือเป็นการยอมความกัน เมื่อต่อมามีการผิดสัญญารับสภาพหนี้ ก็ยังมีสิทธิฟ้องคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์ได้คำพิพากษาฎีกาที่ 270/2558เดิมจำเลยได้กระทำการยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหายในคดีนี้และก่อนมีการดำเนินคดีผู้เสียหายกับจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้กัน มีใจความว่า จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้ผู้เสียหายเนื่องจากได้กระทำทุจริตยักยอกเงินค่าไม้และวัสดุก่อสร้างของผู้เสียหายไป เป็นเงิน 260,597.80 บาท จำเลยตกลงชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเงิน 100,000 บาท วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเงิน 80,289.90 บาท และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเงิน 80,289.90 บาท หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดและยินยอมให้ผู้เสียหายเรียกเงินส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 10 และยินยอมให้แจ้งความดำเนินคดีฐานทุจริตยักยอกเงินของผู้เสียหาย ปัญหามีว่าถ้อยคำตามหนังสือรับสภาพหนี้เป็นการยอมความกันหรือไม่ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อตกลงตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว เป็นข้อตกลงที่จำเลยรับว่าเป็นหนี้ผู้เสียหายในเงินที่จำเลยยักยอกไปและจะชดใช้หนี้ให้ผู้เสียหายโดยวิธีการผ่อนชำระเท่านั้น ซึ่งมีผลผูกพันกันทางแพ่งและเป็นสิทธิทางแพ่งที่ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าผู้เสียหายตกลงสละสิทธิ์ในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39(2) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงยังไม่ระงับไปจากตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองข้างต้น ทุกท่านจะเห็นว่า เวลามีการตกลงทำหนังสือรับสภาพความผิดก็ดี หนังสือรับสภาพหนี้ก็ดี ในกรณีมีการทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ สัญญาดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นการทำให้หนี้ที่เกิดขึ้นระงับไป ไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ผู้เสียหายที่ถูกยักยอกเงินยังมีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องคดีเพื่อติดตามเอาเงินคืนได้ และมีสิทธิดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ได้ด้วย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 อดได้ของ เพราะสัญญาซื้อขายผิดแบบ

ผู้บริโภคจำนวนมากตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมเป็นของตนเอง ซึ่งบางคนโชคดีไม่เจอปัญหาใดๆ ในขณะที่หลายคนเจอปัญหามากน้อยต่างกันไป และหนึ่งในปัญหาเหล่านั้นคือเรื่องของมาตรฐานหรือรูปแบบของสัญญาในการซื้อขาย ซึ่งจะมีเรื่องราวเป็นอย่างไรนั้น เราลองไปดูกันคุณชาลาชื่นชอบคอนโดของโครงการ Arcadia Beach Continental ซึ่งเป็นคอนโดหรูสไตล์ยุโรป เธอจึงตัดสินใจเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดห้องหนึ่งของโครงการดังกล่าว และได้ชำระเงินจองเป็นจำนวน 50,000  บาท อย่างไรก็ตามภายหลังทำสัญญาเสร็จแล้วเรียบร้อย คุณชาลาก็มาทราบว่าสัญญาที่เธอทำไปนั้น ไม่สามารถบังคับใช้ตามกฎหมายได้ เนื่องจากเป็นสัญญาที่ใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด เธอจึงติดต่อไปยังผู้ประกอบการเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งได้เสนอกลับมาว่าให้เธอเปลี่ยนมาจองห้องของอีกโครงการหนึ่งแทน โดยจะลดราคาให้เป็นพิเศษ แต่ต้องชำระค่าเงินจองเพิ่มอีกประมาณ 300,000 บาทด้านคุณชาลาเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวน่าสนใจ จึงตกลงทำตามที่บริษัทแนะนำและชำระเงินเพิ่มไป อย่างไรก็ตามหลังเวลาผ่านไปหลายเดือน เธอก็ได้เข้าไปติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างของโครงการดังกล่าว แต่กลับพบความจริงว่า ทางบริษัทได้นำห้องที่เธอจองไว้ ไปขายให้กับบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เธอจึงตัดสินใจทำหนังสือขอยกเลิกสัญญาทั้งหมดไปยังบริษัท แต่ทางบริษัทไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ กลับมา ทำให้คุณชาลาไปร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) พร้อมส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลืออีกทางแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ให้คำแนะนำในการทำสัญญาเพื่อจะซื้อจะขายห้องชุดว่า ต้องใช้แบบสัญญามาตรฐาน(อ.ช.22) ทั้งยังต้องให้เป็นไปตามประกาศของ สคบ.กำหนด คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุม พศ.2543 (3) ที่กำหนดให้สัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร ซึ่งในกรณีที่ผู้ประกอบการใช้ข้อความในสัญญาเป็นภาษาอื่นนั้น สัญญาย่อมไม่มีผลบังคับใช้ได้นอกจากนี้ในกรณีห้องชุดที่ได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายกันแล้ว ผู้ประกอบการไม่สามารถนำห้องดังกล่าว ไปขายให้กับบุคคลอื่นได้ เพราะจะถือว่าเป็นการผิดสัญญา โดยผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินพร้อมทั้งดอกเบี้ยคืนจากผู้ประกอบการได้ โดยต้องทำเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญา ซึ่งสามารถเข้าไปดูตัวอย่างรูปแบบของหนังสือบอกเลิกสัญญาได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (http://www.consumerthai.org/data-storage/non.html)ทั้งนี้ก่อนที่ศูนย์ฯ จะได้ช่วยผู้ร้องดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ผู้ร้องที่มูลนิธิ ก็พบว่าทาง สคบ. ได้เรียกให้ผู้ร้องเข้าไปเจรจาก่อน ซึ่งผลปรากฏว่า ทาง สคบ. ได้ช่วยเหลือผู้ร้องให้ได้เงินคืนส่วนหนึ่งแล้ว โดยเป็นส่วนที่ผู้ร้องได้ชำระไปในรอบที่สอง เนื่องจากเงินส่วนที่ผู้ร้องได้ชำระไปรอบแรกนั้น ทาง สคบ. มองว่าผู้ร้องไม่ได้มีเจตนาซื้อคอนโดดังกล่าวไว้เพื่ออยู่อาศัยเอง แต่ซื้อไว้เพื่อขายต่อหรือออกให้เช่าเพื่อเก็งกำไร ดังนั้นจึงไม่รับไกล่เกลี่ยให้ เพราะไม่เข้าข่ายเป็นผู้บริโภค ซึ่งผู้ร้องก็ยินดีรับเงินจำนวนดังกล่าว เพราะไม่ต้องการให้เรื่องยืดเยื้อไปมากกว่านี้และขอยุติการร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 “ย้ายค่ายใช้เบอร์เดิมไม่ได้ เพราะติดสัญญาส่วนลดค่าเครื่อง” บริษัทมือถือ อ้างอย่างนี้ก็ได้เหรอ ??

มหกรรมช้อปช่วยห้าง เอ๊ย !! ไม่ใช่ ช้อปช่วยชาติ ประจำปี 2560 นี้ หลายคนตัดสินใจควักกระเป๋า เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ เพราะค่ายมือถือทุกค่าย จัดโปรโมชั่นลดราคา ค่าเครื่อง Smart Phone หลายรุ่น และโปรโมชั่นที่ HOT HIT ก็คือ ซื้อโทรศัพท์พร้อมสมัครใช้งานแพ็กเกจรายเดือน จะสามารถซื้อโทรศัพท์ได้ในราคาถูกกว่าซื้อเครื่องเปล่า ๆ  โดยมีเงื่อนไขให้ลูกค้าจะต้องใช้บริการรายเดือนประมาณ 6 – 24 เดือน แล้วแต่โปรโมชั่น  ดูแล้วโปรโมชั่นแบบนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะโทรศัพท์ซื้อมาแล้วยังไงก็ต้องใช้บริการ ไม่ใช่ซื้อมาตั้งเฉยๆ ใช่ไหมครับ หลายคนคงคิดอย่างนี้ แต่ปัญหาดันมาเกิดตรงที่ บางคนซื้อโทรศัพท์มาแล้วใช้งานไม่ได้ เพราะคุณภาพสัญญาณไม่ดี ต่อเน็ตก็ไม่ได้ ติดๆ หลุดๆ เสียงก็ขาดๆ หายๆ เพราะตอนซื้อมัวแต่สนใจเรื่องส่วนลดค่าเครื่อง ลืมตรวจสอบว่าบ้านเราอยู่ในพื้นที่ให้บริการรึเปล่า พอแจ้ง Call Center ก็ได้คำตอบว่า คนเยอะ หนาแน่น ก็ต้องแบ่ง ๆ กันใช้ ส่วนการเข้ามาติดตั้งอุปกรณ์ ปรับปรุงคุณภาพสัญญาณเมื่อไรนั้น ก็ให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้เพราะเป็นเรื่องนโยบายลงทุนของบริษัท จบ  เจอปัญหาแบบนี้ แล้วจะเอาโทรศัพท์ตั้งไว้เฉยๆ จ่ายค่าบริการรายเดือนไปเรื่อยๆ ก็ใช่ที่ “โทรศัพท์ดี แต่สัญญาณห่วย ก็ย้ายค่ายสิครับ จะรออะไร” ลูกค้าหลายคน จึงติดต่อขอย้ายเลขหมายไปใช้ค่ายอื่น เผื่อสัญญาณจะดีกว่า แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาก็คือ “ให้ย้ายค่าย ใช้เบอร์เดิมไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขส่วนลดค่าเครื่องที่ต้องใช้บริการให้ครบตามสัญญา ถ้าไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะต้องเสียค่าปรับอีกต่างหาก” ข้ออ้างแบบนี้ ฟังขึ้นหรือไม่   ตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 32 กำหนดว่า ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ และ ข้อ 15 ได้ห้ามผู้ให้บริการกำหนดเงื่อนไขอันก่อให้เกิดภาระ ห้ามเรียกเก็บค่าปรับ หรือค่าเสียหาย จากการที่ผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ปัญหาในทำนองนี้ ก็เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ยุคที่บริษัทอินเทอร์เน็ตแข่งกันทำตลาด แจก Modem Router แลกกับการผูกสัญญาให้ต้องใช้บริการ 1 -2 ปี ฟังดูคุ้น ๆ ไหมครับ ที่ผ่านมา กสทช. ก็ได้เคยพิจารณาเรื่องร้องเรียนในลักษณะนี้ว่า ผู้ใช้บริการมีสิทธิยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด และบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่สามารถคิดค่าปรับในกรณีนี้ได้ สิ่งที่แตกต่างกัน ก็คือ เดิมบริษัทผู้ให้บริการจะเอาเงื่อนไขการรับโทรศัพท์ เครื่องอุปกรณ์ ต่างๆ เขียนรวมกันไว้ในสัญญาใช้บริการฉบับเดียว แต่เมื่อ กสทช. มีแนววินิจฉัยเรื่องร้องเรียนชัดเจนแล้วว่า ตามกฎหมาย สัญญาใช้บริการโทรคมนาคม(ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต หรือ โทรศัพท์พื้นฐาน มือถือ ก็ตาม) ห้ามมีข้อกำหนดเรื่องค่าปรับ ค่าเสียหาย ถ้าผู้บริโภคยกเลิกสัญญาก่อนกำหนด ในกรณีที่มีการแจกเครื่องฟรี หรือ ขายให้ในราคาถูก หลังจากนั้น บริษัทก็เลยไม่เขียนเรื่องค่าปรับ หรือเงื่อนไขว่าต้องใช้บริการนานเท่าไร ไว้ในสัญญาใช้บริการโทรคมนาคม แต่แยกเงื่อนไขเรื่องเครื่องฟรี เรื่องส่วนลดราคาพิเศษออกมาเป็นสัญญาอีกฉบับหนึ่ง   การแก้เกมหนีการกำกับ ดูแลของ กสทช. โดยแยกสัญญาออกไปแบบนี้ ว่ากันตามตัวบทกฎหมาย สัญญา หรือ ข้อตกลงเรื่องส่วนลดค่าเครื่อง ค่าอุปกรณ์นี้ ก็ไม่ใช่สัญญาบริการโทรคมนาคม จึงไม่อยู่ในอำนาจกำกับดูแล ควบคุมของ กสทช. ถือว่า เป็นเรื่องทางแพ่งที่คู่สัญญาจะไปตกลงเงื่อนไขกันเองตามความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย  แล้วบริษัทมือถือจะเอาเรื่องอยู่ไม่ครบสัญญาและไม่จ่ายค่าปรับ นี้เป็นเหตุปฏิเสธไม่ให้ผู้บริโภคย้ายค่ายไปใช้บริการค่ายอื่น เพราะถือว่ายังมีหนี้ค้างชำระ ได้หรือไม่  ตามข้อ 17 ของประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และข้อ 4.9  ของเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เหตุหนึ่งที่ผู้ให้บริการจะปฏิเสธมิให้ย้ายค่าย ก็คือ ลูกค้ามีค่าบริการค้างชำระ ดังนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อมาก็คือ การไม่จ่ายค่าปรับกรณีอยู่ไม่ครบสัญญานั้น ถือว่าเป็นการค้างชำระค่าบริการหรือไม่ ซึ่งโดยความเห็นส่วนตัวผมแล้ว ก็เห็นว่า ค่าปรับกรณีนี้ เป็นคนละเรื่องกับหนี้ค่าบริการโทรคมนาคม จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะปฏิเสธการโอนย้ายเครือข่าย บริษัทต้องยอมให้ลูกค้าย้ายเครือข่ายไปใช้บริการค่ายอื่น แต่ก็ยังมีสิทธิฟ้องร้องเรียกให้ผู้ใช้บริการมาชำระค่าปรับตามสัญญาทางแพ่ง ส่วนฟ้องแล้ว ศาลจะพิจารณาว่าข้อกำหนดเรื่องค่าปรับนี้ เข้าข่ายข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ หรือจะให้จ่ายค่าปรับจำนวนเท่าไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากันในศาล แต่ไม่ใช่กรณีที่บริษัทจะถือเอาเป็นเหตุว่า “อยู่ไม่ครบสัญญาและไม่ยอมจ่ายค่าปรับ จึงไม่ให้ย้ายค่าย”  แต่ถ้าจะว่ากันแบบ “แฟร์ แฟร์” ส่วนลดค่าเครื่องที่บริษัทเขาให้มาเพื่อชวนเรามาใช้บริการ ถ้าเราอยู่ไม่ครบตามสัญญา ก็สมควรจะต้องคืนบริษัทเขาไปตามส่วนจึงจะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 รู้จักกฎหมาย “ขายฝาก” เป็นสัญญาซื้อขายแบบหนึ่ง ไม่ใช่สัญญาประกันหนี้

ช่วงเดือนที่ผ่านมา หลายท่านคงได้ติดตามข่าวฆาตกรรมที่มีปมจากเหตุฝากขายที่ดิน ที่ชาวบ้านหลายคนบอกว่าโดนหลอกให้ขายฝากที่ดิน แล้วถูกเอาที่ดินไปขายต่อโดยไม่รู้เรื่อง  ดังนั้นวันนี้ เรามาทำความรู้จักเรื่องการทำสัญญาขายฝากให้มากขึ้นกันดีกว่า เพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราเท่าทันเรื่องการขายฝากมากขึ้นครับ ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การขายฝาก คืออะไร ต่างกับสัญญาจำนองอย่างไร ซึ่งหากไปดูข้อกฎหมายจะทราบว่า การทำสัญญาจำนอง คือการเอาทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน ไปเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือบ้านยังเป็นของเราอยู่ไม่ได้โอนไป หากเราไม่ชำระหนี้เขาจะบังคับจำนองต้องลำบากไปฟ้องศาล ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ แต่ถ้าทำเป็นสัญญาขายฝาก เหมือนเอาทรัพย์ไปขายและถ้าครบกำหนดก็ให้ซื้อคืนได้ ฉะนั้นกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือบ้านก็จะโอนไปด้วย หากเราผิดนัดชำระหนี้แค่วันเดียว ก็มีสิทธิจะเอาทรัพย์เราไปขายต่อหรือไปทำอะไรก็ได้เพราะกรรมสิทธิ์มันโอนมาแล้ว ไม่ต้องลำบากไปขอศาลด้วย ดังนั้นในมุมผู้ที่เดือดร้อนเงิน แล้วจะนำที่ดินหรือบ้านไปกู้เงิน จึงขอแนะนำว่าไม่ควรทำเป็นสัญญาขายฝากนะครับ เพราะโอกาสที่จะเสียทรัพย์สินจะมีสูงกว่าเพราะกรรมสิทธิ์โอนให้เขาไปตั้งแต่วันทำสัญญาแล้ว  เราจะเห็นว่า สัญญาขายฝากมีเรื่องของ “กำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน” ไว้เป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากไม่มาไถ่คืนตามกำหนดเวลาที่ตกลงไว้ก็จะเสียสิทธิไถ่ทรัพย์คืน และทำให้ทรัพย์สินที่ขายฝากนั้นตกเป็นของผู้รับฝากทันที  อย่างไรก็ตามระยะเวลาไถ่ทรัพย์อาจขยายเวลาได้  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18460/2557            การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ จึงจะบังคับกันได้ การไม่นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คงมีผลทำให้คู่สัญญาไม่อาจยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง ดังนั้น การตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ตามหนังสือขอต่อสัญญาขายฝาก ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ผู้รับไถ่ลงลายมือชื่อไว้ แม้มิได้นำไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ไม่ได้ลงลายมือชื่อ แต่การที่จำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมในการกระทำของจำเลยที่ 1 กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการตกลงและทำหนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับไถ่ด้วย หนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่จึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยนำทรัพย์สินที่รับซื้อฝากไปขายก่อนครบกำหนดเวลาไถ่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ นอกจากนี้ ถ้ามีการกำหนดราคาไถ่ทรัพย์ที่สูงกว่าราคาแท้จริงที่ขายฝาก กฎหมายก็ให้ถือว่า ให้ไถ่กันตามราคาขายฝากที่แท้จริง และรวมประโยชน์ตอบแทนไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี เท่านั้น โดย “ราคาขายฝากที่แท้จริง” คือ ราคาที่ผู้ซื้อฝากได้ชำระราคาแก่ผู้ขายฝากในขณะทำสัญญากัน ซึ่งอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าราคาทรัพย์สินที่แท้จริง  เช่น ราคาขายฝากบ้าน 300,000 บาท กำหนดเวลาไถ่ 3 ปี กำหนดสินไถ่ เป็นเงิน 500,000 บาท เช่นนี้ ถือว่ากำหนดไว้เกินร้อยละ 15 ต่อปี เนื่องจากเมื่อคิดประโยชน์ตอบแทนจะได้ 155,000 บาท เท่านั้น(ราคาขายฝากที่แท้จริง x ประโยชน์ตอบแทน ร้อยละ 15 x กำหนดเวลาไถ่) จึงได้เท่ากับ 455,000 บาทเท่านั้น ดังนั้นค่าสินไถ่ที่กำหนดไว้ 500,000 บาทจึงตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับได้เพียงไม่เกินที่กฎหมายกำหนดกล่าวคือ ผู้มีสิทธิไถ่ย่อมชำระสินไถ่เพียง 455,000 บาท เท่านั้น     อีกทั้ง กฎหมายเขียนเรื่องประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี  ทำให้บางคนเข้าใจว่าเป็นสัญญาประกันหนี้ เพราะมีลักษณะคล้ายดอกเบี้ยเงินกู้  แต่แท้จริงคือการทำสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2559       บันทึกเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความสรุปว่า จำเลยได้รับขายฝากที่ดินพิพาท จำเลยยินดีจะทำสัญญาซื้อขายตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2556 ตามสัญญาเดิมที่ทำไว้พร้อมดอกเบี้ย โดยบันทึกดังกล่าวมีการอ้างถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมที่ น. มารดาโจทก์ทำไว้ก่อนตาย ซึ่งหากเป็นการตกลงจะซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างกันใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมไว้ ทั้งยังตกลงให้โจทก์ต้องชำระสินไถ่พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาขายฝากเดิมให้แก่จำเลยภายในวันที่ 26 มกราคม 2556 กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์  โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้รับไถ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง แล้ว น. มารดาโจทก์ผู้ขายฝากและจำเลยผู้รับซื้อตกลงคิดดอกเบี้ยเดือนละ 12,000 บาท กรณีนี้จึงเป็นการกำหนดราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากสูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ราคาสินไถ่ที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 บอกเลิกสัญญาจองรถได้หรือไม่

เชื่อว่ามีหลายคนที่เคยตัดสินใจวางเงินมัดจำจองรถ แต่มาเปลี่ยนใจภายหลัง เพราะไม่อยากได้รถคันดังกล่าวแล้วด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งมักเกิดคำถามตามมาว่า เงินจองที่เสียไป จะสามารถขอคืนได้หรือไม่ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมใจตัดสินจองรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด ภายในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา โดยชำระเงินจองเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังเธอพบว่า ตนเองประสบปัญหาด้านการเงิน และเกรงว่าจะไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดรถในอนาคตได้ จึงต้องการยกเลิกการซื้อรถดังกล่าว เธอแจ้งความจำนงกลับไปที่บริษัทพร้อมขอเงินจองคืน ซึ่งพนักงานตอบกลับมาว่า สามารถคืนเงินให้ได้เมื่อจบงานมอเตอร์โชว์ อย่างไรก็ตามเมื่อจบงานดังกล่าวแล้ว ทางบริษัทก็บ่ายเบี่ยงการคืนเงินมาตลอด คุณสมใจจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า การบอกเลิกสัญญาสามารถทำได้ หากมีเหตุแห่งการบอกเลิก ซึ่งตามมาตรา 378 (2) ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ดังนี้ข้อ 3 ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้3.1 ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น3.2 ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด3.3 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มี ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญา3.4 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญาข้อ 4 ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์และผู้บริโภคไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ดังนั้นหากไม่มีเหตุให้บอกเลิกสัญญาตามข้อกำหนดเบื้องต้น ผู้ร้องจะไม่สามารถเรียกร้องเงินจองหรือเงินมัดจำคืนได้ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ศูนย์ฯ เสนอว่าสามารถช่วยให้เกิดการเจรจาระหว่างผู้ร้องกับบริษัทรถยนต์ เพื่อขอให้มีการคืนเงินบางส่วนได้ ซึ่งจะมีการหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงไป แต่ผู้ร้องได้ขอกลับไปตัดสินใจก่อน และจะแจ้งความจำนงมายังมูลนิธิฯ ในภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 การขอสินเชื่อของผู้บริโภค กับข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน  ในฉบับนี้ เราจะมาคุยกันถึงเรื่องสิทธิผู้บริโภคด้านสัญญากันครับ ก่อนอื่นต้องถามก่อนว่าใครไม่เคยยืมเงินบ้าง เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็คงมีประสบการณ์ในการไปกู้หนี้ยืมสินกันบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ แต่สำหรับวันนี้ผมขอกล่าวถึงการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน  ซึ่งเวลาที่เราจะไปซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ เรามักจะไปทำเรื่องขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินกันใช่ไหม แต่ก่อนลงชื่อในสัญญา มีท่านใดอ่านเอกสารตอนทำสัญญาทุกข้อบ้าง ผมเชื่อว่าน้อยคนนักจะอ่านโดยละเอียด ซึ่งก็แน่นอนว่า สถาบันการเงินมักจะซ่อนข้อสัญญาที่ทำให้เราเสียเปรียบอยู่ด้วย เช่นกันกับคดีที่จะยกตัวอย่างมาให้ทุกท่านศึกษา เป็นเรื่องของลูกค้าธนาคารแห่งหนึ่งที่ไปขอสินเชื่อกับธนาคาร และได้ทำสัญญากู้เงิน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และสัญญากู้เงินประเภทวงเงินกู้หมุนเวียนในการใช้วงเงินสินเชื่อ โดยได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้แก่ธนาคาร และก็ได้ชำระเงินกู้และใช้วงเงินสินเชื่อโดยเบิกถอนจากบัญชีและชำระหนี้ตลอดมา จนอยู่มาวันหนึ่ง เขาไม่ประสงค์จะกู้เงินและใช้วงเงินสินเชื่ออีกต่อไป จึงแจ้งธนาคารขอชำระหนี้ปิดบัญชีและไถ่ถอนหลักประกัน ธนาคารจึงได้แจ้งยอดหนี้และคิดค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อกู้เบิกเงินเกินบัญชี เงินกู้หมุนเวียนและหนังสือค้ำประกัน ในอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินสินเชื่อที่ขอยกเลิก  ลูกค้าท่านนี้เขาเห็นว่าการคิดค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงทำหนังสือโต้แย้งธนาคารและขอสงวนสิทธิที่จะเรียกคืน แต่เมื่อได้มีการชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวไป จึงได้มีหนังสือทวงถามให้ธนาคารคืนเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว แต่ปรากฎว่าธนาคารก็เพิกเฉยไม่คืน ทำให้เขาไปฟ้องคดีต่อศาล และศาลฏีกาได้ตัดสินให้ธนาคารคืนเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว เนื่องจากข้อตกลงให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินไม่เป็นธรรม ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 4904/2557คำพิพากษาฎีกาที่ 4904/2557“ พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวได้แยกข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ กับข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูป เป็นคนละส่วนกัน ทั้งนี้โดยคู่สัญญาในสัญญาสำเร็จรูปไม่จำต้องเป็นสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ เมื่อพิจารณาเอกสารสัญญาสินเชื่อแต่ละประเภทและบันทึกแล้ว เห็นได้ว่าเป็นการจัดทำโดยใช้แบบพิมพ์สัญญา และบันทึกข้อตกลงที่จำเลยเป็นผู้กำหนดขึ้นล่วงหน้าและนำไปใช้ได้กับลูกค้าทั่วไปที่ขอสินเชื่อประเภทเดียวกันจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูป ซึ่งการจะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าข้อตกลงนั้นเป็นผลให้ผู้กำหนดสัญญาแต่ละประเภทและบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้จำเลยเรียกค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อ เป็นข้อตกลงที่ให้สิทธิจำเลยผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปเรียกค่าธรรมเนียมจากโจทก์คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้ทุกกรณี ไม่ว่าโจทก์จะใช้วงเงินสินเชื่อหรือไม่ อย่างไร  จึงเป็นข้อตกลงที่ให้สิทธิจำเลยเรียกร้องหรือกำหนดให้โจทก์ต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญามีผลให้โจทก์รับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ ตาม พ.รบ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม (5) จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรม และพอสมควรแก่กรณีนั้น แม้โจทก์จะทำสัญญาสินเชื่อแต่ละประเภทและบันทึกข้อตกลงด้วยความสมัครใจ โดยจำเลยคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยประกาศเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไป และโจทก์ได้รับประโยชน์ในรูปของดอกเบี้ยที่ลดลงตลอดมา แต่เมื่อพิจารณาบันทึกข้อตกลงในส่วนของวงเงินตามสัญญากู้เงินที่ตกลงให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนเงินกู้ หากโจทก์ชำระคืนต้นเงินก่อนครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี ซึ่งดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินดังกล่าว จำเลยคิดในอัตราต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยประกาศเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปเช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าโจทก์ใช้วงเงินสินเชื่อแต่ละประเภทมาเกินกว่า 3 ปี โดยเสียดอกเบี้ยให้จำเลยมาตลอด ถือได้ว่าจำเลยได้รับผลตอบแทนจากการใช้วงเงินสินเชื่อของโจทก์มาพอสมควรแก่กรณีแล้ว หากกำหนดให้โจทก์ต้องชำระค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อให้จำเลยอีกย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าธรรมเนียม การยกเลิกวงเงินสินเชื่อให้แก่โจทก์” จากตัวอย่างคดีข้างต้น  ชี้ให้เห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิด้านสัญญา  โดยเฉพาะสัญญาสำเร็จรูปที่ผู้ประกอบธุรกิจทำขึ้นฝ่ายเดียว โดยเราไม่มีโอกาสแก้ไขข้อสัญญา เราต้องตรวจสอบสัญญาก่อนลงลายมือชื่อทุกครั้ง และหากพบว่ามีข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ทำให้เราเสียเปรียบ ก็ควรเรียกร้องโต้แย้งไว้โดยทำเป็นหนังสือให้ปรากฎหลักฐาน อย่างเช่นในคดีนี้ที่โจทก์พบว่าหลังจากทำสัญญาสินเชื่อกับธนาคาร  ตนถูกธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม ก็ต่อสู้จนได้เงินคืนในที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ผลของสัญญาต่างตอบแทนที่ควรรู้

การทำสัญญาที่อยู่ใกล้ตัวทุกท่านอย่างหนึ่ง ก็คือสัญญาต่างตอบแทน ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าสัญญาต่างตอบแทนคืออะไร มันคือสัญญาที่มีลักษณะที่คู่สัญญาต่างมีหนี้ต้องชำระตอบแทนซึ่งกันและกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงเป็นทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ในสัญญาเดียวกัน เช่น สัญญาจะซื้อจะขายบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียม ซึ่งผู้ขายนอกจากมีหน้าที่ในฐานะลูกหนี้ต้องส่งมอบบ้านที่พร้อมอยู่อาศัยแก่ผู้ซื้อ ก็มีสิทธิในฐานะเจ้าหนี้ที่จะได้รับเงินค่าขายบ้านจากผู้ซื้อด้วย นอกจากนี้ บรรดาสัญญาเช่าหอพัก สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ก็ถือว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนทั้งสิ้น เมื่อเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทำให้เกิดหนี้ที่ต้องตอบแทนกันทั้งสองฝ่าย ต่างจากสัญญาทั่วไป ที่เกิดหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น ผลของสัญญาต่างตอบแทน คือ ถ้าฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายมีสิทธิที่จะไม่ชำระหนี้ได้เช่นเดียวกัน เว้นแต่หนี้ของฝ่ายแรกยังไม่ถึงกำหนด ซึ่งเพื่อให้เข้าใจง่าย ขอยกตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาหนึ่ง ที่ผู้บริโภคไปทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านจัดสรรของโครงการแห่งหนึ่ง โดยผู้ประกอบการโฆษณาว่า โครงการจะมีการทำคลับเฮ้าส์ ทะเลสาบ ลู่วิ่ง และสวนหย่อม แต่เมื่อมีการติดต่อให้ผู้บริโภคไปรับโอน ปรากฎว่าผู้ประกอบการยังไม่ก่อสร้างสาธารณูปโภคตามที่โฆษณาไว้ ผู้บริโภครายนี้จึงขอเลิกสัญญาและให้คืนเงิน ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการไม่คืน จึงต้องมาฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งคดีนี้ ศาลได้ตัดสินไว้ว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน และผลคือเมื่อจำเลยยังมิได้ก่อสร้างสาธารณูปโภคอันเป็นส่วนสาระสำคัญของโครงการตามที่ได้โฆษณาในแผ่นพับในขณะโจทก์เข้าทำสัญญาจองซื้อบ้าน โจทก์จึงยังไม่จำต้องรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินและชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย มีสิทธิบอกเลิกสัญญา และจำเลยต้องคืนเงินให้แก่โจทก์คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2552สาธารณูปโภคที่โครงการจัดให้ตามแผ่นพับที่พิมพ์โฆษณาว่ามีคลับเฮ้าส์ ทะเลสาบ ลู่วิ่ง และสวนหย่อมเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญ แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะมีข้อตกลงเฉพาะเกี่ยวกับแบบแปลนสิ่งปลูกสร้าง กำหนดเวลาการก่อสร้าง กำหนดเวลาการตรวจรับอาคารสิ่งปลูกสร้างเฉพาะตัวบ้านตามที่โจทก์จองซื้อก็ตาม แต่ตามสัญญาข้อ 16 ได้กำหนดให้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคส่วนกลางจำนวน 30,000 บาท ซึ่งเมื่อดูจากแผ่นพับโฆษณาแล้ว ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามที่กำหนดไว้นั้นน่าจะหมายถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลสวน ลู่วิ่ง รอบทะเลสาบและทะเลสาบซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ร่วมกัน แต่ขณะที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยสร้างบ้านเสร็จแต่พื้นที่รอบบ้านยังอยู่ในสภาพรกร้างว่างเปล่า ยังมิได้ดำเนินการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสาระสำคัญในการเอื้อต่อการเข้าอยู่อาศัยของผู้ซื้อบ้านซึ่งสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้ก่อสร้างสาธารณูปโภคอันเป็นส่วนสาระสำคัญของโครงการตามที่ได้โฆษณาในแผ่นพับในขณะโจทก์เข้าทำสัญญาจองซื้อบ้าน โจทก์จึงยังไม่จำต้องรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินและชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย ทั้งกรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยจึงต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อีกตัวอย่าง เป็นเรื่องของสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์ ซึ่งศาลตีความว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทน ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าให้ผู้เช่าสามารถใช้งานได้ ดังนั้น ระหว่างที่ปรับปรุงโรงภาพยนตร์ ผู้เช่าจึงมีสิทธิที่จะไม่ชำระค่าเช่าได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1215/2535สัญญาเช่าโรงภาพยนตร์มีข้อความว่า ผู้เช่าสัญญาว่าจะจัดการดูแลรักษาทรัพย์สินที่เช่าให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย และบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้เสมอด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าเองหากมีการชำรุดบกพร่อง แตกหักเสียหายด้วยประการใด ๆ ผู้เช่าจะต้องรีบแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบทันที และดำเนินการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิมด้วย ค่าใช้จ่ายของผู้เช่าเองทั้งสิ้นนั้น หมายถึงการซ่อมแซมบำรุงรักษาตามปกติและเป็นการซ่อมแซมเล็กน้อยเท่านั้นผู้เช่าจึงจะมีหน้าที่ซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่า แต่อาคารโรงภาพยนตร์ทรุด และพื้นคอนกรีตแตกร้าวเสียหายมากหลายแห่ง เป็นความเสียหายร้ายแรงจนอาจเกิดการพังทลายเป็นอันตรายแก่ผู้เข้าชมภาพยนตร์ได้จึงเป็นเรื่องมีความจำเป็นและสมควรที่จะต้องซ่อมแซมใหญ่อย่างรีบด่วนเพื่อรักษาโรงภาพยนตร์ให้สามารถใช้การต่อไปไม่ให้พังทลายไปเสียก่อนมิใช่กรณีต้องซ่อมแซมเพียงเล็กน้อย ผู้ให้เช่าจึงมีหน้าที่ต้องซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 547หาใช่หน้าที่ของผู้เช่าไม่ โจทก์อ้างว่าจำเลยค้างชำระค่าเช่าเดือนกันยายน 2525 แต่โจทก์รับค่าเช่าจากจำเลยโดยไม่ได้ทวงถามค่าเช่าสำหรับเดือนดังกล่าวจนล่วงเลยมาถึงเดือนกันยายน 2526 การรับเงินค่าเช่าโจทก์ได้ออกใบรับเงินให้จำเลยทุกครั้ง กรณีจึงต้องด้วยบทสันนิษฐานของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 327 ที่ว่า ในกรณีชำระดอกเบี้ยหรือชำระหนี้อย่างอื่นอันมีกำหนดชำระเป็นระยะเวลานั้นถ้าเจ้าหนี้ออกใบเสร็จรับเงินให้เพื่อระยะหนึ่งแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เพื่อระยะก่อน ๆ นั้นด้วยแล้ว เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมาหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายนี้ได้ จึงต้องฟังว่าจำเลยได้ชำระค่าเช่าเดือนกันยายน 2525 ให้โจทก์แล้ว โจทก์ปิดและบูรณะปรับปรุงโรงภาพยนตร์ที่ให้เช่า จำเลยผู้เช่าจึงไม่อาจใช้ฉายภาพยนตร์ได้ตามสิทธิการเช่าของตน สัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยย่อมมีสิทธิไม่ยอมชำระค่าเช่าในระหว่างที่โรงภาพยนตร์ต้องปิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ระวังเสาสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน

แม้เสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่ช่วยนำพาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย แต่ในปี 2555 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า มีความเป็นไปได้ที่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณดังกล่าว อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งสมอนอกจากนี้ยังมีงานวิจัยถึงผลกระทบต่อผู้อาศัยในบริเวณใกล้เสาสัญญาณการสื่อสารว่า ภายในรัศมี 400 เมตร ผู้อาศัยส่วนใหญ่มีอาการคล้ายกัน ได้แก่ ปัญหาทางสุขภาวะ เช่น มีอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม ขาดสมาธิ วิงเวียน สั่นกระตุก เศร้าสลด สายตาพร่ามัว รวมทั้งพบอัตราความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเพิ่มสูงกว่า 3 - 4 เท่าตัว ทำให้หลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทยมีนโยบายต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเรากลับพบว่าในบางพื้นที่ได้มีการติดตั้งเสาสัญญาณ โดยไม่คำนึงถึงอันตรายของผู้อยู่อาศัย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนของผู้ร้องรายนี้ คุณสุชัยร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า ในชุมชนของเขามีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ โดยขัดกับนโยบายป้องกันการเกิดอันตราย เพราะเสาดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านของเขาที่อยู่ติดกับโรงพยาบาลชุมชนเพียง 20 เมตร ซึ่งตามหลักการติดตั้งเสาสัญญาณ ต้องอยู่ห่างจากชุมชนเกิน 2 กิโลเมตรและควรอยู่บนเนินสูง รวมทั้งขอบของลำคลื่นหลัก (main beam) ที่ระดับพื้นดินต้องอยู่ห่างจากสถานที่กลุ่มผู้อ่อนแอ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานเลี้ยงเด็ก บ้านพักฟื้นคนชรา ไม่น้อยกว่า 100 เมตร เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้ ดังนั้นคุณสุชัยจึงขอคำปรึกษาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยต้องการให้มีการย้ายเสาสัญญาณดังกล่าวออกจากชุมชนแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมที่ อบต. ว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการขออนุญาตจากผู้ประกอบการหรือทำประชาพิจารณ์ ในการติดตั้งเสาสัญญาณดังกล่าวหรือไม่ โดยหากพบว่าไม่มีการดำเนินการเหล่านั้น สามารถล่ารายชื่อของคนในชุมชนที่ไม่ต้องการให้มีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ดังกล่าว และทำหนังสือส่งถึง กสทช. เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบปัญหา หรือโทรศัพท์ร้องเรียนโดยตรงต่อ กสทช. ได้ที่สายด่วน 1300 นอกจากนี้สามารถทำหนังสือถึงผู้ประกอบการให้ชี้แจงข้อสงสัยได้ด้วย ทั้งนี้ภายหลังการดำเนินการ พบว่า กสทช. ได้เข้ามาเจรจากับผู้ประกอบการ และขอให้ถอนการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ดังกล่าวออกจากชุมชนไป ตามหลักการติดตั้งเสาส่งสัญญาณในประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนี้ 1. การขออนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใบอนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ตรวจสอบจาก กสทช. ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.25352. การขออนุญาตก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารในจุดติดตั้งเสาส่งสัญญาณ ตรวจสอบจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (กฎกระทรวงกำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 ข้อ 4)3. ขั้นตอนการชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน ตรวจสอบจาก กสทช. ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 12.54. ตรวจสอบการดำเนินการเรื่อง การแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม เนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องส่งรายงานประเมินระดับความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และต้องมีระดับความแรงของคลื่นที่ได้มาตรฐานตาม ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 10 และ 11

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 บอกเลิก (บริการโทรคมนาคม) อย่างไรให้ได้ผล (ตอนที่ 2)

ตอนที่แล้ว ผมได้แนะนำวิธียกเลิกบริการโทรคมนาคมแบบง่าย ๆ แต่ได้ผล นั่นก็คือ การบอกเลิกสัญญาโดยทำเป็นหนังสือส่งถึงบริษัท ซึ่งจะส่งทางจดหมายไปรษณีย์ อีเมล์ หรือ แฟกซ์ ไปก็มีผลตามกฎหมายเหมือนกัน วิธีนี้สะดวกและประหยัดสุดเพราะทำการยกเลิกจากที่บ้านได้เลย ไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์บริการและไม่ต้องเสียอารมณ์กับลูกตื้อกวนใจของพนักงานที่สำคัญ จำไว้นะครับ การโทรศัพท์ไปแจ้งยกเลิกบริการกับ call center ไม่มีผลในทางกฎหมาย ต้องแจ้งยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรนะครับ ปัจจุบัน บริการมือถือและอินเทอร์เน็ต มักจะมีรายการส่งเสริมการขายที่ผูกสัญญาให้ลูกค้าต้องใช้บริการอย่างน้อยกี่เดือน กี่ปีก็ว่ากันไป เช่น ซื้อโทรศัพท์รุ่นยอดฮิตได้ในราคาพิเศษ แต่ต้องใช้บริการนาน 2 ปี หรือสมัครใช้บริการอินเทอร์เน็ต ฟรีค่าธรรมเนียม ค่าติดตั้ง ถ้าใช้บริการครบ 1 ปี เป็นต้นเมื่อสมัครใช้บริการแล้ว แต่มีเหตุจำเป็น ต้องยกเลิกบริการ เช่น ต้องย้ายบ้าน ย้ายที่ทำงาน หรือใช้บริการแล้วคุณภาพสัญญาณไม่ดี ฯลฯ กรณีแบบนี้ หลายคนสงสัยว่า จะยกเลิกบริการก่อนครบกำหนดได้ไหม และจะต้องเสียค่าปรับ หรือไม่1. เรื่องนี้ โดยหลักการแล้ว “ผู้ใช้บริการ มีสิทธิบอกเลิกสัญญาใช้บริการโทรคมนาคมเมื่อใดก็ได้” (รายละเอียดหาอ่านได้ในตอนที่แล้ว) และกรณีจัดโปรโมชั่นลด แลก แจก แถมอุปกรณ์โทรคมนาคมในราคาพิเศษ ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิคิดค่าปรับ ถ้าผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549ข้อ 15 ในกรณีที่ผู้ให้บริการได้ส่งมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ใช้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือคิดค่าใช้จ่ายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดของค่าอุปกรณ์ ในขณะที่ส่งมอบเพื่อประโยชน์ในการใช้บริการโทรคมนาคมนั้น ผู้ให้บริการจะถือเอาเหตุดังกล่าวมากำหนดเป็นเงื่อนไขอันก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ใช้บริการหรือเรียกเก็บค่าปรับหรือค่าเสียหายจากการที่ผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดมิได้ผู้ใช้บริการที่ได้รับมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้เครื่องอุปกรณ์ดังกล่าว และต้องส่งคืนให้แก่ผู้ให้บริการเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง หากผู้ใช้บริการก่อให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องอุปกรณ์นั้น ผู้ให้บริการมีสิทธิเรียกให้ผู้ใช้บริการรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแก่เครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวได้ ทั้งนี้ จะต้องไม่เกินกว่าราคาตลาดของค่าอุปกรณ์ดังกล่าวในขณะนั้น ในกรณีที่ผู้ให้บริการประสงค์จะคิดค่าใช้จ่ายจากการส่งมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องตามวรรคหนึ่งจากผู้ใช้บริการ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะต้องไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด2. แม้ผู้ใช้บริการจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด แต่เพื่อความเป็นธรรมสำหรับทั้ง 2 ฝ่าย สิทธิประโยชน์ที่บริษัทเขาให้มาอาทิ ส่วนลดค่าเครื่องต่าง ๆ ตามโปรโมชั่น ถ้าใช้บริการไม่ครบตามสัญญา ก็ต้องคืนเขาไป เช่น แพ็กเกจรายเดือน 599 บาท รับส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์ 3,000 บาท เมื่อใช้บริการครบ 6 เดือน ถ้าเกิดใช้บริการไปได้ 3 เดือน แล้วเกิดเหตุต้องยกเลิกบริการ ก็สามารถยกเลิกบริการได้ แต่ผู้ใช้บริการก็ต้องคืนส่วนลดค่าเครื่องตามสัดส่วนที่ใช้งานไป ถ้าตามตัวอย่างนี้ แทนที่จะได้ส่วนลดค่าเครื่องเต็ม 3,000 บาท ก็เหลือแค่ 1,500 บาท แต่ก็ไม่ต้องจ่ายค่าบริการรายเดือนส่วนที่เหลือ3. ในส่วนของบริการอินเทอร์เน็ต ปัญหาที่พบบ่อยเมื่อต้องยกเลิกบริการก่อนครบกำหนดก็คือ บริษัทผู้ให้บริการจะคิดค่าปรับ และเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าติดตั้งที่ได้ยกเว้นให้คืน กรณีนี้ นอกจากบริษัทจะคิดค่าปรับไม่ได้เพราะขัดกับข้อ 15 แล้ว ก็ยังไม่สามารถเก็บค่าธรรมเนียม ค่าติดตั้งย้อนหลังได้ด้วย แม้สัญญาใช้บริการจะระบุเอาไว้อย่างนั้น ก็ไม่มีผลบังคับใช้เพราะตามกฎหมาย สัญญาบริการโทรคมนาคมไม่ว่ามือถือ หรืออินเทอร์เน็ต จะมีผลบังคับใช้ได้ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กสทช.ก่อน และที่ผ่านมา กสทช. ไม่เคยอนุญาตให้บริษัทคิดค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใด หากผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ดังนั้น ข้อสัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลเรื่องของการยกเลิกบริการ ยังไม่จบนะครับ เพราะจะเลิกกันโดยสมบูรณ์ก็ต้องจ่ายค่าบริการให้ครบถ้วนก่อน ดังนั้น ตอนหน้าเราจะมาดูกันว่า ค่าบริการรอบสุดท้ายจะต้องจ่ายเท่าไร ถึงจะเป็นธรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 ไม่พอใจหลังเซ็นสัญญา

สิ่งสำคัญก่อนตกลงเซ็นชื่อลงในสัญญาใดๆ คือ เราต้องรู้และเข้าใจรายละเอียดต่างๆ ของสัญญานั้น เพราะบางทีคู่สัญญาของเราก็ไม่ได้บอกทุกรายละเอียดที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งจะมีผลผูกพันทางกฎหมายกับเรา และอาจทำให้เรารู้สึกภายหลังว่าสัญญาดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม หรือรู้อย่างนี้ไม่เซ็นชื่อไปก็ดี ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมศรีได้ดูโฆษณาทางโทรทัศน์เกี่ยวกับการนวดแผนไทย โดยศูนย์บริการนวดแผนไทยแห่งหนึ่ง ซึ่งโฆษณาว่าช่วยรักษาโรคให้ดีขึ้นได้ เธอจึงโทรศัพท์ไปสอบถามรายละเอียดต่างๆ แต่ศูนย์บริการแนะนำว่าให้มาตรวจอาการดูก่อน จึงสามารถวินิจฉัยการรักษารวมทั้งค่าใช้จ่ายได้ ทำให้เธอและคุณแม่เดินทางไปที่ศูนย์ดังกล่าว ภายหลังการวินิจฉัยด้วยเครื่องมือต่างๆ แพทย์ก็แจ้งว่าเธอควรรักษาอาการเข่าเสื่อม บ่าแข็งและตะคริว เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงไปมากกว่านี้ ส่วนคุณแม่ที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นก็ควรทำการรักษาด้วยการนวดบำบัด เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้พิการได้ ทั้งนี้สำหรับค่าใช้จ่ายจะคิดราคาเป็นคอร์สรักษา 10 ครั้ง 65,000 บาท โดยแบ่งจ่ายล่วงหน้า 55,000 บาทก่อนได้ หลังได้รับทราบรายละเอียดดังกล่าว คุณสมศรีก็ตัดสินใจตกลงเข้ารับบริการ และทำการรักษาในครั้งแรก ซึ่งเมื่อรักษาเสร็จพนักงานก็นำเอกสารมาให้เซ็นเพิ่มเติม โดยแจ้งว่าเป็นส่วนของการรับทราบผลการรักษา และยอดค้างชำระ อย่างไรก็ตามปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเธอรู้สึกว่าพนักงานเร่งรัดให้เธอรีบเซ็นชื่อและไม่ให้ใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งไม่ให้สำเนาของเอกสารดังกล่าว วันรุ่งขึ้นเธอจึงโทรศัพท์ไปสอบถามถึงเอกสารที่ได้เซ็นชื่อไป โดยขอให้พนักงานถ่ายรูปข้อความในเอกสารส่งมาให้ดู และเมื่อได้อ่านเอกสารดังกล่าวแล้วก็รู้สึกว่าข้อสัญญาเอาเปรียบมากเกินไป เช่น หากทำผิดสัญญาจะต้องเสียค่าปรับและโดนฟ้องคดีอาญา นอกจากนี้ยังตะหนักว่าค่าบริการของที่นี่แพงกว่าที่อื่นที่เคยใช้บริการมา เธอจึงต้องการยกเลิกสัญญาดังกล่าวและขอเงินคืนในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้บริการแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิช่วยผู้ร้องตรวจสอบรายละเอียดของสัญญา และสอบถามถึงข้อเท็จจริงก่อนการตกลงทำสัญญาดังกล่าว ซึ่งพบว่าผู้ร้องรับทราบรายละเอียดต่างๆ ก่อนเซ็นชื่อแล้ว เช่น ราคาหรือจำนวนครั้งที่สามารถใช้บริการได้ เพียงแต่เธอไม่พอใจที่พนักงานเร่งรัดให้เซ็นเอกสาร โดยไม่แนะนำให้อ่านรายละเอียดก่อน หรือไม่แจ้งข้อผูกมัดต่างๆ รวมทั้งเรื่องค่าบริการที่เพิ่งตระหนักได้ภายหลังว่าแพงเกินไป เมื่อเทียบกับที่อื่นที่เคยใช้บริการมา จากกรณีนี้หากผู้ร้องต้องการยกเลิกสัญญา พบว่าเป็นไปได้ยากเพราะเธอรับทราบรายละเอียดของการเข้ารับบริการและพึงพอใจก่อนตัดสินใจเซ็นชื่อแล้ว ซึ่งแม้ภายหลังศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ แล้วพบว่าค่าบริการของที่นี่แพงกว่าที่อื่นก็ไม่สามารถบอกเลิกได้ อย่างไรก็ตามศูนย์พิทักษ์สิทธิได้แนะนำให้ผู้ร้องไปเจรจาต่อรองกับแพทย์ที่ทำการรักษาให้ก่อน โดยหากเห็นว่าค่าบริการแพงเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นที่เคยรักษาในวิธีการอย่างเดียวกันมาก็ควรขอต่อรองราคา ซึ่งนับว่าโชคดีที่ทางศูนย์บริการยินยอมลดให้ 10,000 บาท และทางผู้ร้องก็พอใจและยินดีใช้บริการต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของสัญญาที่ผู้ร้องรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เช่น การกำหนดให้เสียค่าปรับและโดนฟ้องคดีอาญาหากทำผิดสัญญานั้น จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องปกติที่ผู้ใช้บริการจะถูกฟ้องร้อง หากทำผิดข้อตกลงในสัญญาที่กำหนดไว้ แต่หากถูกฟ้องแล้วก็ต้องมาตรวจสอบว่า สัญญาดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคเกินไปจริงหรือไม่ โดยหากพิสูจน์ได้ว่าเอาเปรียบเกินสมควรจริง ตามกฎหมายก็จะบังคับให้ชดใช้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี หรือตีความในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายที่ไม่ได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 ทันเล่ห์ประกันภัย

ต้องยอมรับว่าธุรกิจประกันภัย มีการแข่งขัน และแย่งชิงลูกค้ากันสูงมาก   หากการแข่งขันนั้น เป็นการแข่งขันกันด้านคุณภาพ  สื่อตรง มีธรรมาภิบาล คงเป็นความโชคดีของผู้บริโภค   และคงสร้างความตื่นตัวให้ผู้บริโภค มีความต้องการที่จะทำประกันมากขึ้น  แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น จากข้อมูลเรื่องร้องเรียนปรากฏชัดว่า มีปัญหาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  เช่น ประกันภัยผู้สูงอายุ ที่ระบุว่า ไม่ต้องถามโรค  แต่พอพบว่า เมื่อป่วยเข้าจริง หลายรายกลับถูกบอกเลิกสัญญา โดยใช้ข้อกฎหมายว่าหากบริษัทเห็นว่ามีความเสี่ยง  บริษัทมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ รวมถึงเทคนิคต่างๆ ในการจ่ายคืนสินไหมล่าช้า ฯลฯ จนทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่เข็ดขยาดกับบริษัทประกันภัยล่าสุดได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า  ถูกเชิญชวนให้จ่ายเงินซื้อประกันชีวิตเพิ่ม โดยไม่รู้ว่าถูกหลอกจ่ายเงินไปแล้ว ต่อมาภายหลังจึงเพิ่งนึกได้ว่าน่าจะถูกหลอก  เรื่องมีอยู่ว่า “คุณมา”(นามสมมุติ)ได้ซื้อประกันชีวิตกรณีอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิต เบี้ยประกันปีละ 2,100 บาท(วงเงินประกัน 4 แสนบาท) จะได้เบี้ยประกันต่อเมื่อเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเท่านั้น  ต่อมาได้รับโทรศัพท์จากตัวแทนบริษัทประกันภัย  แจ้งว่ามีทางเลือกที่ดีกว่ามาให้  เพราะการซื้อประกันอุบัติเหตุนั้นหากไม่เกิดอุบัติเหตุ เงินก็จะสูญเปล่า พร้อมเชิญชวนให้ซื้อประกันแบบสะสมเป็นรายปี  เสียชีวิตจากเหตุใดก็จะได้สินไหมทันที โดยเพิ่มวงเงินประกันเป็น 6 แสนบาท แต่ต้องจ่ายเบี้ยประกันปีละ 14,000  บาท  ตอนถูกชวนไม่ทันคิดเลยตอบตกลงและจ่ายเงินไป   เมื่อได้กรมธรรม์จึงได้อ่านรายละเอียด ทำให้ทราบว่า กรณีจะได้เงินประกันจากเหตุใดก็ได้ตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างแต่จะต้องเลย 2 ปีขึ้นไป หรือ  หากตายก่อนเวลา 2 ปี ก็ต้องตายจากอุบัติเหตุถึงจะได้สินไหมจากบริษัท  แต่ถ้าตายจากโรคทั่วไปบริษัทจะไม่จ่ายสินไหม  แต่จะคืนวงเงินที่ซื้อประกันไว้พร้อมดอกเบี้ย 10%  เมื่อคิดดูแล้ว จึงรู้ว่าเสียท่าบริษัทประกันภัย เพราะต้องจ่ายเงินซื้อประกันมากกว่าเก่าถึง 5 เท่า แต่การคุ้มครองเพิ่มเพียงเล็กน้อย   กระบวนการแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนก็ดำเนินต่อไป  ที่เขียนมาเพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภคว่า ก่อนตัดสินใจซื้อประกันฯ โปรดอ่านรายละเอียดในสัญญาให้รอบคอบ          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือกับ Police i lert u

เหตุฉุกเฉินมักจะไม่บอกสัญญาณเตือนล่วงหน้า ดังนั้น สติ คือสิ่งที่ควรมีที่สุดในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีสติ สิ่งต่อไปคือต้องมีผู้ช่วยที่จะคอยช่วยเหลือชีวิตและทรัพย์สินของเราด้วย ก่อนหน้านี้เมื่อเกิดเหตุด่วน ทุกคนจะต้องนึกถึงหมายเลขโทรศัพท์ 191 โดยมีความหวังให้ตำรวจเดินทางมาช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ ล่าสุดได้มีแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาลทำออกมาเพื่อตอบสนองกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเหนือจากหมายเลขโทรศัพท์ 191แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า Police i lert u แอพพลิเคชั่นนี้สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ทั้งในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และระบบปฏิบัติการ ios หลังจากที่ได้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นมาไว้บนสมาร์ทโฟนแล้ว ขั้นตอนแรกคุณจะต้องคลิก sign up เพื่อสมัครและกรอกรายละเอียดสำคัญ อาทิเช่น ชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ สำหรับให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดต่อกลับมายังเจ้าของสมาร์ทโฟนเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ในแอพพลิเคชั่น Police i lert u คุณสามารถ sign in และ log out ออกจากแอพพลิเคชั่นได้ตลอดภายในแอพพลิเคชั่นจะสามารถส่งข้อความแบบ chat กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่บริเวณเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  อีกส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องของการแก้ไขข้อมูลส่วนตัว ทั้งเรื่องรูปภาพ พาสเวิร์ด หมวดที่สำคัญอีก 2 หมวดสำหรับแอพพลิเคชั่นนี้ อย่างแรก คือ หมวด i lert เป็นหมวดที่มีไว้สำหรับส่งสัญญาณเพื่อแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายที่เกิดขึ้นจากแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน โดยเมื่อเข้าหมวดนี้ แอพพลิเคชั่นจะค้นหาตำแหน่งสมาร์ทโฟนว่าอยู่ตรงไหน จะเห็นว่ามีพิกัดเป็นตัวเลขลองจิจูดและละติจูด ด้านล่างคุณสามารถเขียนข้อความเพื่อแจ้งรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ พร้อมทั้งสามารถแนบรูปถ่ายสถานที่เกิดเหตุ ต่อจากนั้นให้กดปุ่มสัญลักษณ์สัญญาณบริเวณด้านบนขวา ข้อมูลต่างๆ ก็จะถูกส่งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนกลาง เพื่อที่จะส่งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใกล้บริเวณที่เกิดเหตุ และแจ้งให้เดินทางมาถึงสถานที่นั้นๆ ได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่คุณไม่สามารถเขียนข้อความหรรือถ่ายรูปได้ ก็สามารถที่จะกดปุ่มส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือได้เลย หมวดสุดท้ายที่สำคัญ คือ หมวด i call เป็นหมวดที่แจ้งเบอร์โทรศัพท์ที่จะสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณที่ใกล้คุณมากที่สุด เพื่อให้สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้รวดเร็วมากขึ้นแอพพลิเคชั่น Police i lert u ถือว่าเป็นแอพพลิเคชั่นที่มีประโยชน์ และควรดาวน์โหลดไว้บนสมาร์ทโฟน เพื่อไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินที่เกิดขึ้น และที่สำคัญควรกดปุ่มเพื่อส่งสัญญาณของความช่วยเหลือเมื่อจำเป็นเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 สัญญาต้องเป็นสัญญา”’

 สิ่งที่น่าปวดใจ เมื่อเราได้ตกลงทำนิติกรรมสัญญาใดๆ ไว้คือการที่อีกฝ่ายไม่ทำตามสัญญา ซึ่งจะนำมาสู่ความสูญเสียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียเงินสำหรับการฟ้องร้องคดีหากไม่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ หรือเสียเวลาหากคดีนั้นต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย หรืออาจจะเสียใจหากคดีของเราถูกตีกลับมาพิจารณาใหม่เพราะฟ้องร้องคดีผิดประเภท!! ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นต่อไปนี้สิ่งที่ผู้ร้องต้องการ เป็นเพียงการเช่าพื้นที่ขายของในโครงการ ตลาดน้ำสวนทวดจีบ กับบริษัท วัชรธร ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนรังสิต-นครนายก ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี  โดยผู้ร้องทั้ง 15 คนได้จ่ายเงินไปแล้วรวมกันมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทฯ ก็ได้มีกำหนดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้ผู้เช่าตั้งแต่เมื่อปลายปี 2554 อย่างไรก็ตามเมื่อถึงกำหนดเวลาก็ไม่มีการดำเนินงานแต่อย่างใดสิ่งที่บริษัทฯ ทำ มีเพียงการแจ้งขอเลื่อนส่งมอบพื้นที่ไปเป็นปลายปี 2555 และกำหนดใหม่ว่าโครงการจะเปิดต้นปี 2556 แน่นอนว่าการเลื่อนระยะเวลาการเปิดตลาดออกไปเรื่อยๆ ย่อมทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย เพราะเงินที่เสียไปแล้วไม่สามารถสร้างประโยชน์อะไรได้เลย อีกทั้งการที่บริษัทฯ มาแจ้งใหม่ว่าจะเปิดโครงการในต้นปี 2556 ทำให้ผู้ร้องเกิดความรู้สึกไม่เชื่อถือ เพราะเห็นว่าเป็นกำหนดการที่ไม่มีความชัดเจน ดังนั้นผู้ร้องจึงต้องการยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ก็ได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ผู้ร้องจึงรวมตัวกันร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา  สิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อ สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนคือ ช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ผู้เสียหาย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะบริษัทฯ จะคืนเงินด้วยการฝากขาย แต่ผู้ร้องต้องการให้คืนเงินในงวดเดียว ต่อมาเมื่อมีการนัดไกล่เกลี่ยอีกครั้ง ผู้ร้องก็พบว่าบริษัทฯ ได้มีการแอบเปลี่ยนข้อความในข้อเท็จจริงว่ายินยอมให้มีการฝากขาย ดังนั้นเมื่อตกลงกันไม่ได้ สคบ. จึงมีมติดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทฯ แทนผู้ร้องเพื่อบังคับให้คืนเงิน คดีจึงเข้าสู่ชั้นศาลเมื่อกลางปี 2558 แม้เหตุการณ์ดูเหมือนว่ากำลังทำให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม แต่ศาลอุทธรณ์กลับวินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีผู้บริโภคแต่เป็นคดีแพ่งทั่วไป ทำให้ สคบ.ไม่มีอำนาจในการฟ้องแทน และต้องกลับไปเริ่มฟ้องใหม่โดยการเปลี่ยนประเภทคดี!! แนวการการแก้ปัญหา    สิ่งที่เสียไปแล้ว คือเวลา 4 ปีที่รอศาลอุทธรณ์พิจารณาคดี เพียงเพื่อพบว่าฟ้องคดีผิดประเภท แม้ผู้บริโภคจะเสียใจ แต่สิ่งที่ยอมให้เสียไปอีกไม่ได้ก็คือสิทธิของเราเอง ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้ผู้ร้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหลักฐานต่างๆ ในการทำสัญญา คัดลอกคำตัดสินของศาล และตรวจสอบว่ายังมีการเปิดพื้นที่ให้เช่าในโครงการดังการดังกล่าวหรือไม่ รวมทั้งหากมีการเปิดพื้นที่จริง ปัจจุบันรายละเอียดของสัญญาเป็นอย่างไร นอกจากนี้ก็จะมีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ประกอบการอีกครั้ง พร้อมหาช่องทางดำเนินการกฎหมายกับบริษัทฯ ซึ่งสำหรับกรณีนี้ยังไม่ต้องกลัวหมดอายุความ เพราะเป็นเรื่องของการผิดสัญญาที่มีอายุความ 10 ปี ทั้งนี้ก็ยังต้องรอคำตัดสินของศาลชั้นต้นอีกครั้งว่าจะยกฟ้องและให้ฟ้องใหม่ หรือให้แก้ฟ้องจากคดีผู้บริโภคเป็นคดีแพ่งทั่วไป โดยทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ก็จะติดตามคดีนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 อุทาหรณ์ ของ ลูกหนี้ ที่ทำสัญญา “ขายฝาก”

ธุรกิจรับจำนำ  ขายฝาก  เฟื่องฟูมากในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงเปิดเทอม เงินในกระเป๋าของผู้ปกครองคงชักหน้าไม่ถึงหลัง  ช่วงนี้โรงรับจำนำ  ร้านทอง  จึงเนื่องแน่นไปด้วยผู้คนที่นำทรัพย์สินมาจำนำเพื่อหาเงินไปต่อชีวิตตัวเอง   กรณีคุณรัชนี ก็เช่นกัน  แต่เธอไม่ได้พึ่งพาโรงรับจำนำ  กรณีของเธอคือ นำเครื่องไอโฟน 5  ไปทำสัญญาขายฝากกับร้านโทรศัพท์มือถือ  เพราะต้องการใช้เงินด่วนมากคุณรัชนีได้เงินมา 7,000 บาท    โดยตกลงกับร้านว่าครบกำหนดไถ่ถอน ในวันที่ 27 ตุลาคม 57 จะต้องนำเงินไปไถ่ถอนจำนวน 7,700  บาท  แต่ปรากฏว่าเธอไม่ได้ไปไถ่ถอนตามกำหนด      เพราะหาเงินไม่ทันและคิดว่าไม่เป็นไร เพราะร้านอื่นที่เคยทำสัญญาขายฝากไม่เคยมีปัญหาอะไร  ถ้าเลยกำหนดไปบ้าง  ในวันที่  28 ตุลาคม  จึงได้ติดต่อไปที่ร้านโทรศัพท์ ล่าช้าไปเพียง  1  วัน  เธอบอกว่าไม่สามารถติดต่อได้แล้วและหลังจากนั้นอีกวันเธอเดินทางไปที่ร้านโทรศัพท์  แต่เจ้าของร้านบอกว่าขายโทรศัพท์ไปแล้ว  แกรู้สึกเสียดายโทรศัพท์อยากได้คืน  จึงมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดีศูนย์พิทักษ์สิทธิได้รับฟังปัญหา  ได้ชี้แจงเบื้องต้นให้กับผู้ร้องฟังว่า การขายฝาก เป็นสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่ง   ซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกเป็นของผู้ซื้อฝากทันที แต่มีข้อตกลงว่าผู้ขายฝากอาจไถ่ทรัพย์คืนได้ภายในเวลาที่กำหนด  โดยต้องชำระค่าไถ่ถอนตามที่ตกลงกัน เรียกว่า สินไถ่ สัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายทรัพย์สินได้ทุกประเภททั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์โดยมีข้อตกลงว่า ให้ผู้ขายมีสิทธิมาไถ่ทรัพย์สินที่ขายคืนได้ภายในกำหนดระยะตามที่ตกลงกัน  ซึ่งสัญญาประเภทนี้ หากผู้ขายฝากทราบอยู่แล้วว่าจะไถ่ถอนไม่ทัน ผู้ขายฝากสามารถที่จะแจ้งต่อผู้ซื้อฝากก่อนครบกำหนดไถ่ถอนได้   แต่ต้องทำข้อตกลงการขยายระยะเวลาเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน   แต่หากไม่ติดต่อและไม่ไถ่ถอนตามกำหนด  ร้านค้าจะยึดทันทีโดยเฉพาะทรัพย์สินที่มีราคาสูงเป็นที่ต้องการของตลาด  ร้านค้าได้กำไรงาม จึงเห็นได้ว่าสัญญาขายฝากเป็นสัญญาที่เอาเปรียบผู้ขายฝากเป็นอย่างยิ่ง และยิ่งหากเผลอไผลไม่ไปไถ่ถอนในกำหนดเวลาก็จะต้องเสียกรรมสิทธิทันที   ต่างกับ “สัญญาจำนำ” ที่ผู้รับจำนำต้องมีแนวปฏิบัติก่อนยึดทรัพย์จำนำดังนี้ 1.ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ลูกหนี้จัดการชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่างๆ (ถ้ามี) ภายในเวลาอันสมควรซึ่งได้กำหนดไว้ในหนังสือบอกกล่าว 2. ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามหนังสือบอกกล่าว ผู้รับจำนำมีสิทธินำเอาทรัพย์สินที่จำนำออกขายทอดตลาดได้ 3. ผู้รับจำนำต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้จำนำทราบถึงวันที่จะขายทอดตลาดและสถานที่ที่จะขายทอดตลาด ข้อยกเว้น แต่ถ้าลูกหนี้ค้างชำระเกินกว่าเวลาที่กำหนด 1 เดือน และไม่สามารถจะบอกกล่าว ก่อนได้ผู้รับจำนำไม่ต้องบอกกล่าวให้ลูกหนี้ทราบก่อนแต่อย่างใด ผู้รับจำนำมีอำนาจนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดได้ทันที (ป.พ.พ. มาตรา 765)เรื่องนี้จึงเป็นอุทาหรณ์ แก่ผู้ที่จะนำทรัพย์สินไปขายฝาก   ต้องรู้ว่าหน้าที่ของตนเองต้องไปไถ่ถอนตามเวลา  เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ซื้อทรัพย์

อ่านเพิ่มเติม >