ฉบับที่ 126 การแลก เปลี่ยน และคืนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องในยุโรป

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ผู้บริโภคทุกคนคงจะเคยเกิดปัญหานี้ขึ้นกับตนเสมอ คือการซื้อสินค้าแล้วต่อมาพบว่าสินค้าที่เราซื้อมานั้นชำรุดและบกพร่อง หลายท่านอาจจะนำสินค้าไปคืน หรือขอเปลี่ยนสินค้าใหม่ บางครั้งก็อาจเปลี่ยนสินค้าได้ในกรณีที่โชคดี ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการที่ตระหนักในสิทธิของผู้บริโภค บางครั้งก็โชคร้ายผู้ประกอบการไม่ยอมรับคืนสินค้าให้ แต่จะขอนำสินค้านั้นไปซ่อมแซมแก้ไขให้ ซึ่งบางครั้งก็ใช้ระยะเวลาในการซ่อมสินค้านานมาก แถมยังผ่อนชำระสินค้านั้นไม่หมดเลย ทำให้ผู้บริโภคอย่างเรารู้สึกหงุดหงิด คิดว่าว่าซื้อสินค้าใหม่แกะกล่องแล้ว ยังต้องมานั่งทนกับของที่ไม่น่าที่จะต้องมีข้อบกพร่องเลย จะไปฟ้องร้องก็ยังติดในเรื่องของมูลค่าสินค้า ที่อาจจะไม่คุ้มกับค่าเดินทางและค่าเสียเวลา หลายๆ กรณีก็เป็นที่ถกเถียงกันว่า ผู้ประกอบการสามารถที่จะแก้ไขสินค้าที่มีข้อชำรุดบกพร่องนี้ได้นานเท่าไหร่ ผู้บริโภคถึงมีสิทธิคืนสินค้าได้ มาดูมาตรการการคืนสินค้าในประเทศเยอรมนีบ้างว่าจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร  องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเมืองเบอร์ลินได้ให้ข้อมูลในกรณีของการซื้อสินค้าแบบปรกติ และกรณีซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต และTelesales โดยอ้างถึงพระราชบัญญัติที่ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการซื้อขายสินค้า เพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคดังนี้  1. ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนคืนสืนค้า ในกรณีที่ชำรุดบกพร่องได้ ในกรณีที่สินค้า ชำรุด บกพร่อง สามารถ reclaim ได้ ซึ่งในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่อง และผู้ประกอบธุรกิจสามารถที่จะซ่อมแซมสินค้าให้กลับมาใช้งานได้ตามปรกติ แต่ถ้าผู้ประกอบธุรกิจลองพยายามซ่อม ถึง 2 ครั้งแล้ว ก็ยังไม่สามารถแก้ไขความชำรุดบกพร่องนั้นได้ ผู้บริโภคสามารถขอคืนสินค้า และขอเงินที่ได้จ่ายไปแล้วนั้น คืนได้(Wandlung) นอกจากนี้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้อีกเช่นกันว่าจะไม่คืนสินค้า แต่สามารถต่อรอง เพื่อขอเงินคืนบางส่วนที่เกิดจากสินค้าชำรุดบกพร่องได้(Minderung) กฎเกณฑ์นี้ใช้กับการซื้อสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต การสั่งซื้อผ่านทางโทรศัพท์(Telesale) และการสั่งซื้อสินค้าตามแคตตาลอก ซึ่งผู้บริโภคมีสิทธิคืนสินค้าภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ นับแต่วันที่ได้รับสินค้า ถึงแม้ว่าสินค้าที่สั่งซื้อนั้นจะไม่มีข้อชำรุดบกพร่องก็ตาม แต่เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้เห็นสินค้าของจริงก่อนซื้อ เหมือนกับการซื้อของตามห้างร้าน สินค้าที่โฆษณาในอินเตอร์เน็ต บนแคตตาลอก อาจจะไม่เหมือนกับสินค้าจริงๆ กฎหมายจึงให้สิทธิผู้บริโภคในการเปลี่ยนหรือคืนสินค้าภายใน 2 สัปดาห์ แม้ว่าสินค้าไม่ได้ชำรุดบกพร่องก็ตาม สำหรับในประเทศเยอรมนีนั้น อัตราการคืนสินค้าจากการซื้อขายด้วยวิธีดังกล่าวประมาณ 30- 50 %  2.ไม่มีใบเสร็จ ก็สามารถคืนสินค้าได้  ในกรณีที่ซื้อสินค้า แล้วทำใบเสร็จรับเงินหาย ผู้บริโภคสามารถคืนสินค้าได้หากมีพยานให้การรับรองว่าได้ซื้อสินค้ามาจริง หรือมีหลักฐานการจ่ายเงินอย่างอื่น เช่น หลักฐานการโอนเงิน หรือสลิปบัตรเครดิต  3. การคืนสินค้านั้น ไม่จำเป็นต้องบรรจุสินค้าลงในกล่องบรรจุภัณฑ์ หรือหีบ ห่อ ให้เหมือนกับตอนที่ซื้อสินค้ามา  4. การเปลี่ยนคืนสินค้า ที่อยู่ในกลุ่ม built in เช่น เครื่องล้างจาน เตาอบ เตาไมโครเวฟ หรือแม้แต่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ตกแต่งในบ้าน เช่น wall paper หากสินค้าชำรุดบกพร่อง ผู้จำหน่ายก็ต้องรับผิดชอบค่าแรง ค่ารื้อถอน ค่าติดตั้งใหม่ที่เกิดขึ้นจากสินค้าชำรุดบกพร่องนั้นด้วย(คำตัดสินของศาลแห่งสหภาพยุโรป EuGH) ซึ่งจะมีระยะเวลาของการรับประกัน 2 ปี หากพ้นกำหนด 2 ปีแล้วสินค้าชำรุดบกพร่อง ผู้บริโภคอาจต้องจ่ายค่าซ่อมแซมบางส่วนที่เกิดขึ้น 5. ถึงแม้นจะเป็นสินค้าลดราคา ก็ยังอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์การรับประกันสินค้าที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ และในการซื้อสินค้าที่ได้ระบุแล้วว่าเป็นสินค้ามีตำหนิ เช่น การซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าลดราคา ถ้าผู้บริโภคทราบแล้วว่าสินค้าที่ลดราคานั้นเนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้ามีรอยขีดข่วน แต่ถ้าสินค้านั้น เกิดความชำรุดบกพร่องอย่างอื่นในภายหลัง การแลกเปลี่ยนคืนสินค้า ก็ยังอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์นี้เช่นกัน แต่ไม่สามารถนำสินค้าที่ซื้อแล้วมาแลกคืนเพราะรอยขีดข่วนนั้นได้ 6. ในกรณีซื้อสินค้าแล้วเกิดการชำรุดบกพร่อง ภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งตามกฎหมายผู้บริโภคเป็นฝ่ายได้เปรียบ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจโต้แย้งว่า สินค้าตอนที่ส่งมอบนั้นอยู่ในสภาพปรกติ ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้มีหน้าที่พิสูจน์ แต่หลังจากเกินกว่า 6 เดือนแล้วภาระการพิสูจน์จะตกอยู่กับผู้บริโภค 7. กรณีที่มีความผิดพลาดของคู่มือการใช้งาน จนทำให้ผู้บริโภคเป็นผู้ทำให้เกิดความเสียหายกับสินค้า เช่น ในกรณีของคู่มือการประกอบเฟอร์นิเจอร์ที่อธิบายวิธีการประกอบที่ผิด และผู้บริโภคก็ได้ปฏิบัติตามคู่มือนั้น ในกรณีเช่นนี้สามารถให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นได้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจ รื้อเฟอร์นิเจอร์และต้องประกอบให้ผู้บริโภคด้วย และถ้าไม่สามารถแก้ไข หรือ ซ่อมแซมได้ ก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่อธิบายไว้แล้ว ต่อรองขอเงินคืนบางส่วน(Minderung) หรือคืนสินค้า(Wandlung)   ก็หวังว่าองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่จะเกิดขึ้นมาในประเทศไทย จะช่วยปรับปรุงมาตรการคืนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องในประเทศไทยให้พัฒนาไปในทิศทางที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ----  บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย เรื่องมาตรการจัดการสินค้าชำรุดบกพร่อง สนับสนุนโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในโครงการวิจัยเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภายใต้โครงการปฏิบัติการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (จำลอง)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 117 พระราชบัญญัติความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย : กรณีศึกษาของประเทศเยอรมนี

  คราวนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่อง แนะนำการซื้อสินค้านัก แต่มีเรื่อง น่าสนใจเกี่ยวกับกฎหมาย ที่บ้านเราก็ออกมาได้พักหนึ่งแล้ว คือ พระราชบัญญัติความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หรือ Product liability law แต่เป็นกรณีของเยอรมันครับ   พระราชบัญญัติความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย : กรณีศึกษาของประเทศเยอรมนี เนื่องจากในบ้านเราเวลามีคดีผู้บริโภค ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ส่วนบุคคล และถึงแม้ว่าเราจะมีกฎหมาย พรบ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 และ พรบ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 แล้วก็ตาม ปรากฏว่ายังมีปัญหาและสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภคมาก แม้กฎหมายนี้จะเป็นกฎหมายที่ดีและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ซึ่งในประเทศเยอรมันเองนั้นไม่ได้มีกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคที่ก้าวหน้าอย่างบ้านเรา แต่สิ่งหนึ่งที่ประเทศเยอรมันมี ก็คือ วิญญาณของระบบกระบวนการยุติธรรมที่ ให้ความเป็นธรรมกับคนเล็กคนน้อย และคนด้อยโอกาส วันนี้ ช่วง ฉลาด ช้อป ขออนุญาตนำคำพิพากษาคดี แอร์แบก ทำงานผิดพลาดมานำเสนอ เพื่อประกอบความรู้ ในเรื่อง Product liability law ครับ   ศาลฎีกาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีพิพากษาวางหลักกฎหมายไว้โดยได้วางหน้าที่ของผู้ผลิตไว้อย่างเคร่งครัด กล่าวคือ ผู้ผลิตใดผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายออกสู่ตลาดจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ใช้สอยและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างเคร่งครัด   ข้อเท็จจริงโดยสรุป นาย ก โจทก์ ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่รายหนึ่ง (รถยนต์ BMW Serie 3 Limousine) โดยได้บรรยายคำฟ้องไว้ว่า เขาได้ขับรถยนต์ของบริษัทผู้ผลิตหลบหลีกสิ่งกีดขวาง ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนต่อแผงควบคุมระบบนิรภัย และทำให้ถุงลมนิรภัยทำงานอัตโนมัติ ถุงลมนิรภัยดังกล่าวได้กระแทกศีรษะโจทก์และไปกดทับเส้นเลือดใหญ่เป็นเหตุให้สมองบางส่วนตาย (cerebral infarct: สมองบางส่วนตาย) โจทก์จึงได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์   การดำเนินคดีในชั้นศาล นาย ก ได้ยื่นฟ้องครั้งแรกต่อศาลมลรัฐแห่งเมือง Erfurt (Landgericht Erfurt) โดยนาย ก ได้ให้เหตุผลว่า จำเลยเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์คันดังกล่าว จึงต้องรับผิดชอบกรณีถุงลมนิรภัยทำงานผิดพลาด แต่ศาลมลรัฐแห่งเมือง Erfurt ได้ยกฟ้อง หลังจากโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์แห่งเมืองเจนา (Oberlandesgericht Jena) ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่า เหตุที่ทำให้ถุงลมนิรภัยทำงานคือแรงกระแทกใต้ท้องรถอย่างรุนแรง ที่ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนคล้ายกับการชน อีกทั้งการป้องกันมิให้ถุงลมนิรภัยทำงานดังเช่นกรณีดังกล่าวในสภาพของเทคโนโลยีปัจจุบันไม่สามารถทำได้ และหากจำเป็นต้องมีการติดตั้งตัวเซนเซอร์เพื่อป้องกันการทำงานที่ผิดพลาดจะทำให้ราคาของรถสูงขึ้นมากจึงพิพากษายกฟ้อง   คำพิพากษาศาลฎีกาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี : การชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ใช้สอยและความเสี่ยง ศาลฎีกาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทผู้ผลิตจำเป็น ต้องมีมาตรการด้านต่างๆที่จำเป็นจำหรับการป้องกันมิให้เกิดอันตรายตั้งแต่การออกแบบและการผลิต ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้ศาลอุทธรณ์แห่งเมืองเจนากลับไปวินิจฉัยใหม่ในประเด็นความเหมาะสม เรื่องการติดตั้งเซนเซอร์แบบอัลตราซาวด์ที่จะทำให้ถุงลมนิรภัยทำงานถูกต้อง เมื่อถุงลมนิรภัยมีการสัมผัสกับตัวถังจริงๆ แม้นว่า วินิจฉัยแล้วว่า ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมีราคาแพงเกินไปนาย ก ก็ยังสมควรมีสิทธิได้รับการชดเชยค่าเสียหาย เนื่องจากศาลอุทธรณ์แห่งเมืองเจนา ต้องวินิจฉัยในประเด็นการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ใช้สอยและความเสี่ยงของการทำงานของถุงลมนิรภัยใหม่ กล่าวคือการชั่งน้ำหนักระหว่างอันตรายหรือความเสี่ยงที่ถุงลมนิรภัยจะทำงานผิดพลาดกับประโยชน์ใช้สอยของถุงลมนิรภัยว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการผลิตและติดตั้งถุงลมนิรภัยประเภทนี้หรือไม่   การคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพผู้บริโภคได้ประโยชน์ และได้รับการเยียวยา: พรบ. ความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย (Produkthaftungsgesetz- Product Liability Law)ได้มีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัดเป็นอย่างมาก หลังจากมีการประกาศใช้ พรบ. ความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย 1990 ทำให้ผู้ผลิตต้องมีหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้น บริษัทผู้ผลิตต้องจ่ายค่าเสียหายแม้ว่าจะไม่ได้มีเจตนากระทำละเมิด ในปี 2002ได้มีการบัญญัติค่าเสียหายทางจิตใจลงไปด้วย และสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจะหมดอายุความหลังจากที่ผู้ผลิตได้นำผลิตภัณฑ์จำหน่ายในท้องตลาดไปแล้ว 10 ปี   (Bundesgerichtshof, Urteil vom 16. Juni 2009 Aktenzeichen: VI ZR 107/08) ที่มา: วารสาร Test ฉบับที่ 7 เดือนกรกฎาคม 2009

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 115 รู้ทันสินค้าราคา sale!

รู้ไหมว่า การซื้อสินค้าลดราคา ก็ไม่คุ้มค่าเสมอไป ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพาผู้อ่านไปรู้เท่าทันกลยุทธการส่งเสริมการขายของร้านค้าปลีก ทั้งโดยสำรวจตลาดคนเดินถนน เพื่อรวบรวมกลวิธีการติดป้ายบอกราคาที่ชวนให้เข้าใจผิดของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าบางคน และตลาดติดแอร์ โดยเจาะลึกถึงช่วงเวลาการส่งเสริมการขายของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่อย่าง Big C, Robinsonและ Central & Zen ฉลาดซื้อสำรวจตลาดนัดสวนจตุจักร จากการสำรวจการติดป้ายราคาของร้านค้าปลีกขนาดเล็กในตลาดนัดสวนจตุจักร (สำรวจเมื่อวันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม 2552) พบว่ามี 7 ร้านที่มีการติดป้ายราคาที่คลุมเครือไม่ชัดเจน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. การเขียนป้ายราคาขนาดใหญ่ในราคาถูก เห็นชัดเจนเพียงป้ายเดียวในร้าน แต่ราคานั้นไม่ได้ครอบคลุมสินค้าทั้งร้าน (พบ 5 ร้าน) 2. การเขียนป้ายราคาขายผลไม้ที่ราคากิโลกรัมละ 30 บาท โดยเขียนคำว่า “ครึ่ง” ด้วยตัวอักษรขนาดเล็กมาก และคำว่า “โล 15” ขนาดใหญ่มาก (พบ 2 ร้าน) 3. รถเข็นขายสตรอเบอรี่สดใส่แก้ว เขียนป้ายราคาด้วยเลข “20” เมื่อเข้าไปถามราคาผู้ขายจะรีบตักพริกเกลือราดสตรอเบอรี่ในแก้ว พร้อมกับบอกราคาว่า 40 บาท เมื่อสอบถามก็จะบอกว่า “20 คือราคาต่อขีด ในแก้วนี้ 2 ขีดก็ 40 บาท” รถเข็นขายมะม่วงหั่นใส่ถุงพร้อมน้ำจิ้ม ติดราคา “10” เมื่อซื้อ มะม่วง 1 ถุงคนขายคิดราคา 30 บาท เมื่อสอบถามผู้ขายบอกว่า 10 บาท คือราคาน้ำจิ้ม ถ้าซื้อมะม่วงด้วยก็ 30 บาท (พบ 2 ร้าน) *กรณีร้านสตรอเบอรี่ที่ตลาดนัดจตุจักรนี้ มีผู้บริโภคหลายรายที่ถูกเอาเปรียบ บางรายพยายามจะคืนสินค้าและเอาเงินคืนผู้ขายก็จะแสดงสีหน้าไม่พอใจและต่อว่าผู้ซื้อเสียงดังเพื่อให้ผู้ซื้ออาย และไม่กล้าต่อรอง(*อ้างอิงจาก http://babyfancy.com/printer_friendly_post.asp?TID=58138) 4. ร้านขายเสื้อผ้าที่คนขายมักจะบอกว่า “ลดราคา วันสุดท้าย” อยู่เสมอ แม้ไปสำรวจครั้งที่ 2 ร้านเดิมก็ยังบอกว่า “ลดราคา วันสุดท้าย” (พบ 1 ร้าน)ดังนั้นการซื้อสินค้าทุกครั้งเราควรถามราคาพ่อค้าแม่ค้าให้แน่ใจก่อนจะซื้อสำหรับใครที่ซื้อสินค้าเพราะหลงกลเจ้าป้ายราคาแบบนี้แล้วอยากคืนสินค้า ฉลาดซื้อแนะนำว่า ถ้าการเขียนป้ายราคานั้นทำให้เราเข้าใจผิดอย่างเจตนา ก็เจรจาขอคืนสินค้ากับแม่ค้าโดยตรงเลย เรามีสิทธิคืนได้ เพราะเขาทำผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคแน่นอน ถ้าเขาไม่ยอม และเราไม่แน่ใจว่าเขาผิดหรือไม่ เก็บหลักฐานไว้แล้วโทรไปปรึกษากับกรมการค้าภายใน เพื่อดำเนินการร้องเรียนได้เลยค่ะที่สายด่วน 1569   ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จากการสำรวจการส่งเสริมการตลาดของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ได้แก่ BigC, Robinson และ Central&Zen ที่มีการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐตลอดทั้งปี 2552 โดยเลือกเฉพาะการส่งเสริมการขายในช่วงเวลาพิเศษต่างๆ ดังนี้     8 วิธีปฏิบัติ เมื่อเจอป้ายโปรโมชั่น1. นับ 1- 10 ก่อน พร้อมถามตัวเองว่าสินค้านั้นมีความจำเป็นต่อเราหรือไม่ ถ้ายังตอบไม่ได้ นับถึง 20 เลยก็ได้ 2. สำรวจเงินในกระเป๋าให้มั่นใจก่อนว่า เมื่อซื้อสินค้าแล้วจะยังมีเงินใช้ไปจนตลอดสิ้นเดือน 3. ตั้งงบประมาณในการซื้อสินค้าไว้ก่อน ถ้าราคาสินค้าเกินกว่านั้น ตัดใจก่อนดีกว่า 4. คำนวณดูว่าลดราคาครั้งนี้ ลดกี่เปอร์เซ็นต์ คุ้มค่าไหม 5. เช็คดูสภาพสินค้ากันก่อนดีกว่า สภาพยังดีอยู่หรือเปล่า ตรวจดูทุกซอกทุกมุม อย่าลืมดูวันผลิตและวันหมดอายุด้วย 6. ถ้าเป็นสินค้าที่มีขายหลายๆ ร้าน ยอมเสียเวลาสักนิดไหม เดินไปดูราคาที่ร้านอื่นก่อน ถ้าถูกกว่า คุ้มกว่าจริง ค่อยกลับมาซื้อ 7. เห็นป้ายโปรโมชั่นติดอยู่ไม่ตรงกับสินค้าที่จะซื้อ สอบถามพนักงานให้มั่นใจก่อนว่าสินค้าที่จะซื้ออยู่ในโปรโมชั่นด้วยหรือไม่ 8. ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าจะมีการลดราคา แล้วอยากจะซื้อจริงๆ แนะนำให้ไปซื้อในวันแรกๆ ของการลดราคา เพราะจะมีโอกาสเลือกสินค้ามากกว่าและได้สินค้าที่มีคุณภาพดีกว่าวันหลังๆ ค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 114 สินค้าตราห้าง..ราคา “ถูก”นี้ ใครได้? ใครเสีย?

เดี๋ยวนี้เวลาเดินซื้อของในห้างสรรพสินค้าไม่ว่าจะเป็นห้างฯ ไหนๆ “สินค้าตราห้าง” หรือเรียกกันอีกชื่อว่า“สินค้าเฮาส์แบรนด์” (House Brand) ที่ผลิตและจำหน่ายเฉพาะในห้างฯ นั้นๆ เช่น ยี่ห้อบิ๊กซี คาร์ฟูร์ เทสโก้ท็อปส์ โฮมเฟรชมาร์ท ฯลฯ ก็มักวางขายให้เราเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และราคาก็มัก “ถูก” ล่อตาล่อใจยิ่งนัก ผู้เขียนเองยังอยากลองซื้อสินค้าตราห้างมาใช้หลายครั้ง เผื่อจะช่วยประหยัดตังค์ในกระเป๋าอันบางๆ ลงบ้าง(ฮา) แต่ติดอยู่ที่รู้สึกไม่มั่นใจในคุณภาพสินค้าสักเท่าไร สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่ควักตังค์ซื้อสินค้าตราห้างมาลองใช้สักทีคราวนี้ได้โอกาส บก. บอกให้ไปซื้อสินค้าตราห้างมาทดสอบคุณภาพดู ฉลาดซื้อฉบับนี้ จึงขอพาคุณผู้อ่านช้อปปิงตระเวนซื้อสินค้าตราห้างตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ มาพิสูจน์กันว่าสินค้าตราห้างจะมีคุณภาพ “ดี” สักแค่ไหน แถมตีตั๋วฟรีลัดเลาะข้ามฟากไปฟังเสียงจากฝั่งของผู้ผลิต ผู้ประกอบการห้างฯ และมุมมองนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์กันดูบ้าง ให้รู้ไปว่าสินค้าตราห้างที่ว่าขายได้ในราคาถูกนั้น มัน “ถูก” มาจากปัจจัยอะไร? ส่งผลดีผลเสียต่อใคร? อย่างไร? ถ้าพร้อมแล้วไปตะลุยหาคำตอบพร้อมๆ กันเลย.....   คุณภาพไม่ต่าง แต่ราคาได้ใจผู้บริโภค ฉลาดซื้อสำรวจพฤติกรรมการซื้อและความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้าตราห้างของผู้บริโภคในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งหมด 295 คน เป็นหญิงร้อยละ 72.9 ชาย ร้อยละ 27.1 อยู่ในช่วงอายุ16 - 25 ปี ร้อยละ48.5 ช่วงอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 34.2 มีผู้บริโภคที่ใช้สินค้าตราห้างมากถึงร้อยละ 80.7 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระดาษชำระ ผงซักฟอก เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ฯลฯ เหตุผลที่ใช้สินค้าตราห้าง “ราคา” เป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจเลือกซื้อ คิดเป็นร้อยละ 73.6รองลงมาคือ ปริมาณ ร้อยละ 23.4 และคุณภาพร้อยละ 18 เปรียบเทียบคุณภาพกับราคาของสินค้าตราห้างที่ใช้ ร้อยละ 35.9 ระบุว่าคุณภาพดีสมราคา ในขณะที่ร้อยละ 29.8 บอกว่าคุณภาพต่ำสมราคา เคยเจอปัญหาเกี่ยวกับการใช้สินค้าตราห้างหรือไม่ ร้อยละ 55.9 บอกไม่เคย อีกร้อยละ 21 เคย ปัญหาที่พบ เช่น วุ้นเส้นไม่เหนียวนุ่ม บรรจุภัณฑ์ชำรุด มีแมลงในขนมปัง น้ำยาซักผ้าเจือจางต้องใช้ปริมาณมาก ฯลฯ พบปัญหาแล้วทำอย่างไร ร้อยละ 14.6 ของผู้เคยเจอปัญหาเลิกใช้สินค้าตราห้าง ร้อยละ 7 ใช้สิทธิร้องเรียน อีกร้อยละ 5.8 เฉยๆ ไม่ทำอะไร สาเหตุที่สินค้าตราห้างมีราคาถูก ร้อยละ 51.5 คิดว่าเพราะไม่มีต้นทุนโฆษณาร้อยละ 27.5 คิดว่าวัตถุดิบคุณภาพต่ำ ร้อยละ 17.6 คิดว่าเป็นกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้า ต่อข้อคำถาม “คุณคิดว่าสินค้าตราห้างกับสินค้าทั่วไปมีคุณภาพต่างกันหรือไม่ อย่างไร” ร้อยละ 27.8 คิดว่าไม่ต่างกัน ร้อยละ 62.7 บอกว่าสินค้าทั่วไปมีคุณภาพดีกว่าสินค้าตราห้าง มีเพียงร้อยละ 6.8 เท่านั้น ที่เห็นว่าสินค้าตราห้างมีคุณภาพดีกว่าสินค้าทั่วไป แสดงว่า แม้ราคาจะเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้บริโภคใช้สินค้าตราห้างก็ตาม แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่มั่นใจในคุณภาพของสินค้ามากเท่าไรนัก ฉลาดซื้อทดสอบฉลาดซื้อสุ่มทดสอบสินค้าตราห้างและไม่ห้างทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ ถ่านอัลคาไลน์ AA, เมล็ดถั่วเขียว, กระดาษทิชชู, สมุดปกอ่อน และไม้จิ้มฟัน เป็นสินค้าเฮาส์แบรนด์ของผู้ค้าปลีกทั้งหมด 6 ราย ได้แก่บิ๊กซี คาร์ฟูร์ โลตัส ท็อปส์ เดอะมอลล์ วัตสัน (สำรวจแล้วบางรายก็ไม่มีสินค้าบางชนิด) และเป็นสินค้าทั่วไปในท้องตลาดอีก 2 ยี่ห้อส่วนเหตุผลที่นำสินค้าเหล่านี้มาทดสอบ เพราะเป็นสินค้าที่หาวิธีทดสอบได้ไม่ยาก ผู้บริโภคอย่างเราๆก็สามารถทดสอบเองได้ แต่ถ้าเป็นเหตุผลที่อาจดูดีหน่อยเพราะฉลาดซื้อเราเห็นว่าผู้บริโภคหลายคนอาจมองข้ามหรือไม่ใส่ใจอะไรมากนักกับคุณภาพของสินค้าเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ซึ่งคงไม่มีใครมานั่งนับเสี้ยนไม้จิ้มฟัน ชั่งเมล็ดถั่วเขียว วัดความยาวกระดาษทิชชู ฯลฯแต่เรื่องเล็กๆ แบบนี้นี่แหละที่เราไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง เราจะได้รู้ว่าผู้ผลิตเขาจะซื่อสัตย์หรือเอาเปรียบเล็กๆ น้อยๆ กับผู้บริโภคหรือไม่ ผลทดสอบ ถึงเวลามาปฏิบัติการล้วงลับหาคำตอบกันแล้วว่าสินค้าตราห้างกับสินค้าทั่วไปที่เราไปเลือกซื้อมา ดูกันว่าการทดสอบและผลที่ได้เป็นอย่างไรบ้าง เชิญติดตาม... - การทดสอบถ่านอัลคาไลน์ AA วิธีนี้ง่ายๆ แค่อาศัยความอดทนในการรอๆๆ แล้วก็รอจนกว่าไฟฉายจะดับ โดยนำถ่านมาใช้กับไฟฉายใหม่เปิดพร้อมกันทั้งหมด 7 ยี่ห้อในห้องสว่าง ยึดเวลาที่ไฟฉายดับครั้งแรกเป็นหลัก และนำเวลามาหาค่าเฉลี่ยถ้าราคา 1 บาทจะใช้ได้นานกี่นาที เราพบว่า ยี่ห้อที่ใช้งานกับไฟฉายได้นานที่สุดคือ เทสโก้ เวลา 4.18 ชม. ยี่ห้อที่ซื้อ 1 บาทแล้วคุ้มก็ยังเป็นเทสโก้ 21.06 นาที ส่วนยี่ห้อที่ใช้งานได้น้อยสุด คือ พานาโซนิค 10.24 นาที (ฉลาดซื้อทดสอบใช้ถ่านกับงานเบาเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงการใช้งานหนัก เช่น กล้องถ่ายรูปที่ต้องชาร์จพลังงานในการถ่ายแต่ละรูป การทดสอบแต่ละวิธีจึงอาจให้ผลต่างกันได้ เช่น ถ่านเทสโก้ ใช้กับไฟฉายได้นาน อาจใช้กับกล้องถ่ายรูปได้ไม่นาน ทางกลับกันถ่านวัตสัน ใช้กับไฟฉายได้ไม่นาน แต่อาจใช้กล้องถ่ายรูปได้นาน เป็นต้น ดังนั้นต้องพิจารณาด้วยว่า ความคงทนของถ่านขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานด้วยนะคะ) - การทดสอบกระดาษทิชชู หากใครยังพอจำได้ ฉลาดซื้อฉบับที่ 97 เราเคยทดสอบความยาวและคุณสมบัติการกระจายตัวในน้ำของกระดาษทิชชูไปแล้ว คราวนี้ก็เช่นกันแต่เราทดสอบกับสินค้าตราห้างด้วย โดยวัดความยาวหาค่าเฉลี่ยยี่ห้อละ 3 ม้วน และทดสอบคุณสมบัติการกระจายตัวในน้ำเพื่อดูความเปื่อยยุ่ย ซึ่งจะนำกระดาษทิชชูเป็นแผ่นมาแช่น้ำ 30 วินาที แล้วใช้นิ้วชี้สอดลงใต้แผ่นกระดาษดึงขึ้นมาด้วยแรงพอประมาณ เพื่อดูผลรอบแรกว่าเป็นอย่างไร จากนั้นก็แช่น้ำต่อไปอีก 30 วินาที ก่อนจะดึงขึ้นมาดูผลอีกครั้งว่ากระดาษทิชชูขาดรุ่ยหรือไม่ ผลออกมาเรื่องความยาวต้องยกนิ้วให้ผู้ผลิต เพราะทุกยี่ห้อมีความยาวมากกว่าที่ระบุไว้ในฉลาก ยี่ห้อที่มีความยาวเกินมามากที่สุด ได้แก่ พริมโรส วัดได้ 20.67 ม. เกิน 3.67 ม. แต่ความเปื่อยยุ่ยนั้นมีทั้งยอดเยี่ยมและยอดแย่ ยี่ห้อที่แช่น้ำ 30 วินาทีแรกเมื่อดึงขึ้นมาก็เริ่มแตกรุ่ย คือ ซิลค์ คอตตอน, โฮมเฟรชมาร์ท Economy และเทสโก้ ส่วนยี่ห้อที่เริ่มแตกรุ่ยเมื่อดึงขึ้นมาครั้งที่2 คือ บิ๊กซี ขณะที่พริมโรส, คาร์ฟูร์, ออริต้า และท็อปส์นั้น แม้จะแช่น้ำ 2 ครั้งก็ยังเป็นแผ่นอยู่ - การทดสอบสมุดปกอ่อน อาศัยวิชาเลขเล็กน้อยในการนับจำนวนแผ่นและชั่งขนาด แกรมของกระดาษสมุด โดยการทดสอบครั้งนี้ฉลาดซื้อใช้กระดาษรูปวงกลม มีพื้นที่ 95 ตร.ซม. นำไปชั่งและอ่านค่าที่ได้ (ขนาดแกรมที่ระบุไว้บนปกสมุดคือ น้ำหนักของกระดาษ เช่น ระบุว่า 60 แกรม ก็หมายถึงกระดาษหนัก 60 กรัมต่อ 1 ตร.ม. ก่อนนำกระดาษไปชั่งเราจึงย่อสัดส่วนลง อาจเป็นรูปวงกลมหรือรูปสี่เหลี่ยมที่ขนาดต้องเท่ากันทุกด้าน (กว้างxยาว) เช่น 10x10 ซม.) ผลออกมา ยี่ห้อที่มีขนาดแกรมน้อยกว่าที่ระบุไว้ในฉลาก คือ คาร์ฟูร์, อนุรักษ์ไทย, และลายไทย น้อยกว่า 5 แกรม ส่วนจำนวนแผ่นกระดาษนั้น ทุกยี่ห้อมีครบตามจำนวนที่ระบุ แต่ต้องรวมปกด้วยนะ ถ้าไม่นับก็จะขาดไป 2 แผ่น ยกเว้นเทสโก้แวลูที่ไม่ต้องนับรวมปก - การทดสอบเมล็ดถั่วเขียว ง่ายๆ แค่ชั่งน้ำหนักถั่วเขียวเทียบกับปริมาณที่ระบุไว้ในฉลาก และสุ่มทดสอบประมาณ 1 ถ้วย เพื่อคัดดูเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์มีรู/ครึ่งซีก และดูสิ่งแปลกปลอมที่ปะปนมา เช่น เศษดิน เมล็ดถั่วเขียวยี่ห้อที่มีปริมาณน้อยกว่าที่ระบุไว้ในฉลาก คือ ท็อปส์ นอกนั้นมีปริมาณมากกว่าส่วนยี่ห้อที่พบเมล็ดไม่สมบูรณ์มากสุด มีรูบ้าง ครึ่งซีกบ้าง คือ เทสโก้ จำนวน 163 เมล็ด และพบเศษดินขนาดเล็กปะปนมา 2 ยี่ห้อ คือ เทสโก้กับข้าวทอง - การทดสอบไม้จิ้มฟัน แค่นับไม้จิ้มฟันๆ ธรรมดา...แต่ก็ไม่ธรรมดาอย่างที่คิด เล่นเอาผู้นับตาเหลือกตาลายถึง 3 วัน 3 คืนมาแล้ว โดยนับจำนวนไม้จิ้มฟันทั้งหมด 7 ยี่ห้อ ยี่ห้อละ 2 แพ็ก นำมาเฉลี่ยเทียบกับปริมาณที่ระบุไว้ในฉลากและนับดูไม้จิ้มฟันที่มีเสี้ยน, ไม้แตกปลาย, ไม้ครึ่งซีก รวมทั้งวัดหาค่าเฉลี่ยความหนาบางของไม้จิ้มฟันโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า เวอร์เนียร์คาลิปเปอร์ งานนี้ภูมิใจเสนอผล พบไม้แตกปลาย,เสี้ยนในทุกยี่ห้อ โดยคาร์ฟูร์พบมากที่สุด 163 ก้าน (จาก480ก้าน) และบิ๊กซี 120 ก้าน (จาก360 ก้าน) ส่วนยี่ห้อที่พบปริมาณไม้จิ้มฟันน้อยกว่าที่ระบุไว้ คือ ไผ่แดง มี 347 ก้าน(ระบุไว้ 360 ก้าน) ยี่ห้ออื่นแม้จะมีปริมาณมากกว่าที่ระบุก็ตาม แต่เมื่อคัดไม้แตกปลาย/เสี้ยนออกแล้ว เกือบทุกยี่ห้อเหลือปริมาณน้อยกว่าที่ระบุไว้เช่นกัน ได้แก่ คาร์ฟูร์, บิ๊กซี, โลตัส,ไผ่แดง ยกเว้นยี่ห้อแบมบีบู, ท็อปส์และโฮมเฟรชมาร์ท สรุปแล้วสินค้าตราห้างก็ไม่ได้มีคุณภาพแย่ตามราคาที่ถูกลงของมัน และบางทีคุณภาพก็อาจไม่ต่างกับสินค้าทั่วไปมากมายนัก แต่ผลนี้เป็นเพียงกลุ่มสินค้าที่สุ่มทดสอบเท่านั้น เพราะสินค้าแต่ละชนิด แต่ละยี่ห้อก็มีให้เราเลือกซื้อเลือกหากันมากมาย ท้ายที่สุดสินค้านั้นจะดีหรือไม่ก็คงขึ้นอยู่กับการใช้งาน ความต้องการและที่สำคัญ คือการตัดสินใจของผู้บริโภคแต่ละคนนั่นเอง --------------------------------------------------------------------------------------------- ข้อสังเกต • ไม้จิ้มฟันยี่ห้อไผ่แดงจะมีขนาดใหญ่และค่อนข้างเท่ากันทุกก้าน ส่วนไม้จิ้มฟันยี่ห้ออื่นมีขนาดเล็กๆ บางๆ ไม่เท่ากัน สงสัยคงเพื่อให้ได้จำนวนมากๆ อย่างยี่ห้อคาร์ฟูร์ก่อนจะนำ มาหาค่าเฉลี่ยนั้น จากที่ระบุไว้ 480 ก้าน/แพ็ก นับจริงมีมากถึง 532 ก้าน หักลบไม้เสี้ยนไปก็เหลือแค่ 344 ก้าน• ฉลาดซื้อเพิ่งรู้เหมือนกันว่าขนาดกระดาษสมุดนั้น เจ้าหน้าที่โรงพิมพ์ที่ช่วยทดสอบเขาบอกว่าโดยทั่วไปผู้ผลิตเขาสามารถเผื่อขาดเผื่อเกินได้ 5 แกรม อย่างนี้ไม่รู้ว่าใครได้  เปรียบเสียเปรียบ แต่ที่รู้แน่ๆ ถ้าไม่ “เกิน” ก็ไม่ควรจะ “ขาด” ใช่หรือไม่?• สมุดส่วนใหญ่จะระบุจำนวนกระดาษไว้บนปกให้รู้ว่ากี่แผ่น แต่ไม่ได้บอกให้ชัดเจนว่า “รวมปก” ด้วย มีเพียงยี่ห้อเทสโก้แวลูที่ระบุไว้ให้เรารู้ว่า “รวมปก”• สมุดยี่ห้ออนุรักษ์ไทยไม่ได้เป็นสินค้าตราห้าง สงสัยราคาจะแพงที่ปกซึ่งเป็นกระดาษอาร์ตพิมพ์สี จำนวนแผ่นกระดาษข้างในก็เลยมีน้อยกว่ายี่ห้ออื่น• ขณะสำรวจเลือกซื้อ สินค้าตราห้างส่วนใหญ่มีตำแหน่งอยู่บนชั้นวางในระดับสายตาใกล้ๆ กับสินค้าแบรนด์ดังๆ โดยโทนสีของบรรจุภัณฑ์ หีบห่อจะดูละม้ายคล้ายคลึงกัน ราคา“ถูก” ที่ใคร?ฉลาดซื้อเคยสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมสินค้าตราห้างส่วนใหญ่มักมีราคาถูก บ้างก็ว่าไม่มีต้นทุนโฆษณา บ้างก็ว่าวัตถุดิบคุณภาพต่ำ ผู้ผลิตถูกกดขี่จากห้างค้าปลีกบ้าง ว่ากันไปสารพัดแง่มุม ข้อมูลจากนิตยสารผู้จัดการรายวันเคยนำเสนอผลศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทยถึงผลกระทบจากการผลิตสินค้าตราห้างว่า ผู้ผลิตรายใหญ่จะต้องทุ่มงบฯ เพื่อตอกย้ำให้ผู้บริโภคภักดีต่อยี่ห้อของตัวเองมากขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตรายย่อยที่มักรับผลิตสินค้าตราห้างก็อาจมีรายได้จากการผลิตสินค้าขาย โดยที่ไม่ต้องทำการตลาดเอง แต่ผู้ผลิตที่มีสินค้าของตัวเองอยู่แล้วหากรับผลิตสินค้าตราห้างอีกก็เท่ากับเป็นการผลิตสินค้าแข่งกับสินค้าตัวเอง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวก็คือ ถ้าห้างค้าปลีกมีคู่แข่งน้อยลงหรือคู่แข่งหมดไป ก็อาจเกิดอำนาจผูกขาดทำให้เป็นผลเสียต่อผู้บริโภคได้ ฉลาดซื้อเราจึงสอบถามไปยังผู้ผลิตและผู้ประกอบการห้างค้าปลีก มาดูกันสิว่าพวกเขาจะให้คำตอบแบบ “ตรงๆ” กับเราอย่างไรบ้าง เสียงที่ “ไม่ค่อยได้ยิน” จากผู้ผลิต• การผลิตสินค้าตราห้างได้รับผลกระทบหรือไม่?“ทำธุรกิจก็ต้องทำใจ 50 - 50” ผู้ผลิตรายหนึ่งให้สัมภาษณ์และว่า บางธุรกิจอาจได้รับผลกระทบ บางธุรกิจอาจไม่ได้รับ แล้วแต่ประเภทการแข่งขันสินค้า “ธุรกิจอื่นๆ ผมไม่รู้นะว่าได้รับผลกระทบหรือไม่ ถ้าเป็นสินค้าที่แข่งขันกันสูงก็อาจได้รับผลกระทบ สำหรับผมเป็นธุรกิจที่รับจ้างผลิตสินค้าอยู่แล้ว ก็เลยไม่เสียเปรียบ แต่ก็เคยถูกกดดันเรื่องราคาเหมือนกันคือ บางครั้งถูกขอลดราคาลงเรื่อยๆ ถูกมากๆ แบบรับไม่ได้ ทางเรามีสิทธิปฏิเสธนะ ถ้ารับไม่ไหวจริงๆ เราจะปฏิเสธ ก็เจรจาตกลงกันได้ ไม่เสียเปรียบอะไร” • “มันเป็นธุรกิจแบบพึ่งพาอาศัยกัน”ผู้ผลิตรายนี้บอกว่า “ทางเราชอบผลิตสินค้าขายให้กับห้างฯ เพราะมีความปลอดภัยด้านการเงิน และข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ ห้างฯ เขาจะเข้ามาตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา มันทำให้เราสามารถควบคุมคุณภาพสินค้าและผู้บริโภคก็มั่นใจได้ มันเป็นธุรกิจแบบพึ่งพาอาศัยกัน” • แล้วสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพล่ะ?“เราควบคุมคุณภาพมาตรฐานในการผลิตสินค้าทุกขั้นตอน และไม่ได้ตั้งใจให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้น สินค้าบางตัวอาจมีตำหนิบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ผลดีมันมากกว่าผลเสีย ผู้บริโภคก็ไม่เสียหายอะไรมาก เราทำสุดความสามารถ ทำให้ลูกค้าซื้อไปแล้วจะต้องไม่ขาดทุน” • “ถ้าอนาคตห้างฯ กลายเป็นหนึ่งเดียว...” นี่คือคำบอกกล่าวของผู้ผลิตรายนี้ที่แอบรู้สึกหวาดกลัวคือ การว่าจ้างผู้ผลิตจากต่างประเทศของห้างค้าปลีกรายใหญ่ๆ ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก อาจทำให้ต่างชาติกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญของผู้ผลิตภายในประเทศได้ “เรื่องผูกขาดน่ากลัวมาก ถ้าอนาคตห้างฯ กลายเป็นหนึ่งเดียว เขาอาจติดต่อกับต่างประเทศจ้างผู้ผลิตเข้ามาแข่งกับผู้ผลิตในประเทศเราได้” เสียงของผู้ผลิตอีกรายหนึ่งกล่าวถึงการผลิตสินค้าตราห้างคล้ายๆ กันว่า เป็นผลดีกับผู้บริโภคด้านราคา เพราะบางคนต้องการของถูก ส่วนผลกระทบต่อผู้ผลิตนั้นก็ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจสินค้าและลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ต่างกันเช่นกัน แต่ผู้ผลิตรายเล็กๆ คงเสียเปรียบเพราะไม่สามารถผลิตสินค้าของตนแข่งขันได้ แต่คำตอบที่ได้รับจากผู้ผลิตรายนี้กลับตรงข้ามกับรายแรก คือ การกำหนดเงื่อนไขในการผลิตสินค้าของห้างฯ ทำให้เกิดผลกระทบในทางลบมากกว่า “แน่นอน เราถูกบีบกดดันเรื่องข้อกำหนดในการผลิตสินค้า ทางห้างเขาจะเป็นผู้กำหนดควบคุมการผลิตตามที่เงื่อนไขที่เขาวางไว้ อย่างบางครั้งอยากได้คุณภาพดีแต่จะเอาราคาถูก เราก็แย่สิ ทางเราก็มีมาตรฐานการผลิตเกรดเดียวกันหมดอยู่แล้ว” อีกฟากฝั่งจากผู้ประกอบการห้าง คุณมนธชา สุดอำพัน รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายกิจการบรรษัทสื่อสารองค์กร ของเทสโก้ โลตัส• สินค้าราคาถูกมีปัจจัยมาจากอะไร?คุณมนธชาบอกว่า 3 ปัจจัยที่ทำให้สินค้าตราห้างมีราคาถูก คือหนึ่ง ไม่มีค่าการทำโฆษณาเหมือนสินค้าที่เห็นทั่วๆ ไปในท้องตลาด เนื่องจากมีร้านเป็นของตนเอง เวลาคนเดินเข้ามาในห้างฯ คนก็เห็นสินค้า จึงไม่จำเป็นต้องโฆษณา สอง ไม่มีค่าวางสินค้าบนชั้นวาง ซึ่งโดยปกติการจำหน่ายสินค้าทั่วไปจะมีเรื่องของค่าจัดตำแหน่งในจุดที่น่าสนใจเพื่อให้ได้อยู่จุดที่ดีกว่าคู่แข่ง สาม สินค้าไม่ได้ผ่านคนกลาง เพราะผลิตโดยตรงจากโรงงานไม่มีการส่งต่อกันหลายทอด ทำให้ราคาต่อหน่วยถูกกว่าสินค้าทั่วไป • บางคนคิดว่าราคาถูกเพราะวัตถุดิบคุณภาพต่ำ?“ถ้าคุณภาพไม่ดีและผู้บริโภคไม่พึงพอใจ มันไม่ได้เสียเฉพาะสินค้าตัวนั้น แต่มันเสียไปทั้งหมด จึงเป็นสิ่งที่เราระวังมาก เราจะช่วยเหลือซัพพลายเออร์ในเรื่องของการทำสินค้าให้ได้มาตรฐาน ทั้งเรื่องเทคนิคการผลิต การทดลองสินค้า เรามีการตรวจโรงงานที่ผลิตสินค้าให้เราเป็นประจำทุกๆ ปีอยู่แล้ว มันทำให้เรามั่นใจว่าคุณภาพสินค้าของเราดี” • แต่ผู้ผลิตบางรายไม่ชอบการกำหนดเงื่อนไข?“มันต้องอยู่ที่การยอมรับตรงนี้ด้วย เพราะว่าผู้ผลิตหลายๆ รายก็ยินดี เพราะว่าตัวของเขาเองก็มีขั้นตอนการผลิตที่มีการรับรองคุณภาพอยู่แล้ว เราจะกรองโรงงานก่อนที่จะให้ผลิต ถ้ามาตรฐานได้อยู่แล้ว อาจจะปรับอีกนิดหนึ่งให้สามารถผลิตให้ดีขึ้น หรือมาตรฐานดีอยู่แล้วก็แค่ผลิตเพิ่มเท่านั้นเอง” • กดขี่ผู้ผลิต?“ถ้าเข้มงวดน่ะใช่ คิดว่ามันน่าจะเป็นผลดีกับผู้ผลิตมากกว่า ทำให้เขาสามารถใช้เครื่องจักรหรือแรงงานคนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น,,,หมายความว่าโรงงานเขาสามารถผลิตงานได้มากขึ้น มีรายได้มากขึ้น ” • เคยประสบปัญหาหรือมีเรื่องร้องเรียนหรือไม่“มีบ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องของคุณภาพหรือความที่ไม่ปลอดภัย เช่น เบเกอรี่ อย่างครัวซองส์ อาจจะอบสีคล้ำหรือสีอ่อนไป ผู้บริโภคก็จะบอกว่าไม่น่าทานหรือว่าอาจจะเป็นสินค้าที่ไม่เป็นไปตามสเป็ก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะถูกคัดออกไปก่อนที่จะถึงมือผู้บริโภค วิธีการจัดการก็คือว่า เราจะคัดกรองให้เรียบร้อยก่อนอยู่บนชั้นวาง ถ้ามันหลุดรอดมาก็จะรีบจัดการดึงออก หรือถ้าผู้บริโภคไม่พึงพอใจในสินค้าก็เอามาคืนได้ในเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ก็จะส่งผู้เชี่ยวชาญไปดูที่โรงงานด้วย เพราะว่าเราไม่อยากให้เกิดซ้ำอีก” • ทิศทางและแนวโน้มของการผลิตสินค้าตราห้างอนาคตธุรกิจของการผลิตสินค้าตราห้างจะเป็นอย่างไรนั้น คุณมนธชาบอกว่า “จะต้องดูตลาดว่าความต้องการของผู้บริโภคอยู่ตรงไหน คงจะขยายไปตามความต้องการของผู้บริโภคมากกว่า สินค้าตัวไหนที่ผลิตออกมาแล้วขายไม่ดีหรือผู้บริโภคอาจจะไม่นิยมก็จะเลิกผลิตเหมือนกัน” คุณฤดี เอื้อจงประสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ ของบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์เมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้สินค้าตราห้างมีราคาถูก คุณฤดีให้คำตอบเช่นเดียวกับโลตัสว่า “เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายงบด้านการตลาด เพราะอาศัยแบรนด์ของทางห้าง จึงทำให้สินค้ามีราคาถูกลง 20-30 เปอร์เซ็นต์” ส่วนที่หลายคนคิดว่าอาจเป็นเรื่องของวัตถุดิบคุณภาพต่ำนั้น คุณฤดีบอกว่า “ไม่ค่ะ เพราะหากมองโดยภาพกว้างแล้ว สินค้าพวกนี้มันจะเป็นโลโก้ของบริษัท มันน่าจะเป็นตัวการันตีของสินค้าพวกนี้ไปในตัว นอกจากนี้โรงงานที่ผลิตจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน”• กดขี่หรือสร้างผลกระทบให้กับผู้ผลิต?“คิดว่ามันไม่น่าจะเกี่ยวกันเลยนะคะ ในตัวของซัพพลายเออร์เราจะมองด้านเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องของกำลังการผลิต อย่างโรงงานหนึ่งอาจจะมีกำลังการผลิตร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เขาอาจจะขายภายใต้แบรนด์ของเขาได้เพียงแค่ 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ เขาก็ผลิตสินค้าตราห้าง มันน่าจะทำให้เขาสามารถใช้กำลังการผลิตได้เต็มที่ มันจึงไม่น่าจะมีปัญหานะคะ” • ผู้ผลิตบางรายบอกว่าถูกกดดันเงื่อนไขมากเกินไป“เหตุผลที่ทางห้างต้องตรวจสอบคุณภาพในการพัฒนาสินค้าตราห้าง เป็นเพราะเรามองว่าสินค้าตราห้างเป็นสินค้าที่ลูกค้าจับตามองอยู่แล้ว การผลิตสินค้าตราห้างให้ลูกค้ามีความชอบหรือมีความไว้วางใจ มันจะต้องมากกว่าเนเชอรัลแบรนด์ด้วยความที่มันไม่ได้ทำการตลาด เราต้องการสร้างความพึงพอใจในสินค้าตราห้างให้กับลูกค้า” • ที่ผ่านมามีปัญหาหรือมีเรื่องร้องเรียนหรือไม่?“ไม่ค่อยมีนะคะ มันเป็นเรื่องของแนวทางป้องกันมากกว่า เพราะสินค้าตราห้างมันเป็นภาพลักษณ์ของบริษัทอยู่แล้ว แนวทางแก้ไขของเราคือ จะตรวจสอบทันที เราเน้นความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ บางอย่างถ้าไม่ชอบก็เปลี่ยนให้ เราจะดูว่าปัญหามันเกิดตรงไหน เกิดจากแหล่งผลิตหรือเปล่า แต่เรามีการดูแลควบคุมที่เคร่งครัดอยู่แล้ว ปัญหาไม่ค่อยเกิดขึ้น” ขอบคุณภาพจากhttp://www.apacnews.net • ผูกขาดในอนาคต?“คิดว่าไม่น่าจะถึงวันนั้น คนไทยเป็นคนที่ชอบความหลากหลาย จะเห็นว่าสินค้าแต่ละชนิดมีซัพพลายเออร์หลายเจ้า แต่เรามองเพียงแค่ว่าเราอยากเป็นหนึ่งในทางเลือกให้กับลูกค้า”• แนวโน้มทิศทางของการผลิตสินค้าตราห้าง?“อยากเน้นเซ็กเมนต์ให้มันเพิ่มมากขึ้น เพราะเรามองว่ามีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว สิ่งที่จะพัฒนาต่อไปคือ ต้องเป็นสินค้าคุณภาพดี คุณภาพสูง” มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ รศ.หงษ์ฟ้า ทรัพย์บุญเรือง อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)• ผลกระทบต่อผู้ผลิต?อาจารย์หงส์ฟ้ากล่าวเช่นเดียวกันกับผู้ผลิตว่า ผลกระทบนั้นขึ้นอยู่กับการแข่งขันแต่ละธุรกิจสินค้า “บางรายรับจ้างผลิต อาจจะเป็นผลดีต่อผู้ผลิตด้วยกันเอง เพราะผู้ผลิตสามารถเอาปัจจัยการผลิตต่างๆ มาผลิตสินค้า เมื่อจำนวนผลิตมากขึ้นราคาก็ต้องถูกลง เขาจึงสามารถต่อรองลดราคาให้กับผู้ที่มาว่าจ้างได้ มันน่าจะเป็นผลดีมากกว่า ยกเว้นว่าผู้ผลิตรายนั้นเป็นเจ้าของเดิมที่ขายสินค้าตนเอง นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” • ผลกระทบในระยะยาวต่อผู้บริโภค?“อะไรก็ตามที่เป็นไปโดยกลไกตลาดและมีการแข่งขันย่อมมีเรื่องราคาและคุณภาพของสินค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง หากวันใดที่ห้างสามารถครองตลาดหรือกีดกันไม่ให้คนอื่นเข้ามาผลิตแข่งได้ตอนนั้นผู้บริโภคจะเริ่มเสียเปรียบ” •แสดงว่าอาจเกิดการผูกขาดได้ในอนาคต?“ไม่คิดว่าจะถึงวันนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วสินค้าอุปโภคบริโภครายวัน ไม่ว่าจะเป็นแชมพู สบู่ เป็นอะไรต่างๆ ลักษณะของสินค้าไม่สามารถที่จะผูกขาดด้วยตัวมันเองได้ ไม่เหมือนกับน้ำมันหรือเหมืองแร่ที่มันผูกขาดและตั้งราคาได้ และหากห้างตั้งราคาเพิ่มทำให้ขายสินค้าได้กำไรดีจริงๆ ก็จะมีผู้ค้ารายย่อยเกิดขึ้นทันทีเข้ามาสู้แข่งขันกันอีก” • “สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของข้อมูลข่าวสาร”หากจะป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่หลายคนหวั่นวิตก อาจารย์หงส์ฟ้าบอกว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของข้อมูลข่าวสาร ถ้าข้อมูลข่าวผู้บริโภคไม่ชัดเจน คลุมเครือ ถูกหลอกโดยการโฆษณาว่าสินค้าชนิดนี้อร่อยมาก กินแล้วสุขภาพดี ในความจริงตัวต้นทุนสินค้าอาจแค่ 5 บาท แล้วขาย 500 บาท มันคือข้อมูลข่าวสารหลอก ถ้าคนรู้ว่าราคา 500 แต่ต้นทุน 50 บาท ก็จะมีผู้ผลิตเข้ามาแข่ง และผู้บริโภคก็ไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้ารายเดิม ราคาจะสูงอย่างเดิมก็ไม่ได้ เพราะข้อมูลข่าวสารเริ่มชัดเจนขึ้น ซึ่งสคบ.ควรที่จะให้ข้อมูลข่าวสารตรงนี้” ลองมาดูอีกแง่มุมหนึ่งที่เราอาจไม่สามารถหาคำตอบได้จากผู้ผลิตกับอาจารย์ท่านนี้ รศ.ดร.สมดี หงส์ไพศาลวิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. • “ยิ่งถูก ยิ่งซื้อ ยิ่งทำให้ฟุ่มเฟือย...ท้ายที่สุดผู้บริโภคก็ตาย” อาจารย์สมดีบอกว่า อำนาจและความยิ่งใหญ่ของห้างสรรพสินค้าสามารถผลิตสินค้าต่างๆ สู่ตลาดและกำหนดราคาให้ถูกได้ เมื่อสินค้ามีราคาถูกในระยะสั้นๆ ก็จะเกิดผลดีต่อผู้บริโภค แต่ในระยะยาวจะทำให้เกิดการบริโภคมากขึ้น ยิ่งถูก ยิ่งซื้อ ยิ่งทำให้ฟุ่มเฟือย ยิ่งเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมห้างสรรพสินค้าผลิตสินค้าต่างๆ ออกมามาก ท้ายที่สุดผู้บริโภคก็ตาย • “เกิดการเอาเปรียบคนงาน...”“เมื่อห้างสรรพสินค้าบีบซัพพลายเออร์ให้ผลิตสินค้าที่มีราคาถูก ผู้ผลิตก็ไปบีบแรงงาน เกิดการเอาเปรียบคนงาน เพื่อลดต้นทุนในการผลิตลงอีกที ทำให้แรงงานมีรายได้กำไรน้อย สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ เดือดร้อนกันหมด เกิดการเอารัดเอาเปรียบในรูปของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ส่งผลทั้งในระยะสั้นและยาว”

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point