ฉบับที่ 165 สูงวัยอาจถูกหลอก?

ปัจจุบันนี้ นอกจากเทคโนโลยีจะทันสมัยเพิ่มมากขึ้นแล้ว กลุ่มผู้สูงวัยก็เป็นพลเมืองอีกกลุ่มที่จะเพิ่มมากขึ้นไปด้วย หน่วยงานต่างๆ หลายแห่งหันมาให้ความสนใจกับกลุ่มผู้สูงวัยมากขึ้น มีการสนับสนุนการรวมตัวหรือจัดกิจกรรมต่างๆ ให้กลุ่มผู้สูงวัย  โดยบางทีก็ไม่รู้ว่าอาจจะตกเป็นเครื่องมือของคน(ไม่หวังดี) บางกลุ่ม ผู้เขียนได้รับแจ้งข่าวพร้อมภาพจากพลเมืองดีว่า เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ได้ไปเยี่ยมกลุ่มชมรมผู้สูงอายุที่จัดกิจกรรมในพื้นที่แห่งหนึ่ง แต่เมื่อไปถึงกลับพบว่าครั้งนี้มันแปลกไป ไม่ได้หมายถึงผู้สูงวัยท่านจะกลับมาเป็นวัยหนุ่มสาวหรอกนะครับ หากแต่พบว่า มีกลุ่มบุคคลแจ้งว่าตนเองมาจากมูลนิธิแห่งหนึ่ง มาตรวจแนะนำสุขภาพให้ผู้สูงวัย แหม..เริ่มต้นด้วยจิตอันเป็นกุศลอย่างนี้ไม่ว่าวัยไหนๆ คงระทวยไปตามๆ กัน การตรวจก็ง่ายๆ ครับ มีอุปกรณ์เครื่องมือชิ้นเล็กๆ หนีบนิ้ว แล้วมีสายต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะแสดงผลหน้าจอออกมาเป็นกราฟ เห็นอุปกรณ์ทันสมัยไฮเทคขนาดนี้แล้ว ยิ่งบุคคลผู้ตรวจ ซึ่งเป็นเพศชายดูมีบุคลิกดี ทะมัดทะแมง ทรงภูมิ ดูมีการศึกษา แถมอธิบายกราฟให้คุณตาคุณยายฟังเป็นฉากๆ เจอกับตาตนเองขนาดนี้แล้ว ผู้สูงวัยทั้งหลายต่างก็อ้าปากค้างกันไปเลย ทยอยมาต่อคิวกันตรวจกันใหญ่ แต่โลกนี้คงไม่มีอะไรฟรีๆ ดังนั้นถึงจะมาในนามมูลนิธิก็เถอะ บริการฟรีๆ จะมีที่ไหน ถัดไปอีกโต๊ะจะมีกลุ่มพนักงานหญิงมาพร้อมกับผลิตภัณฑ์สินค้ามากมาย อย่าเพิ่งดีใจ เขาไม่ได้มาแจกฟรีนะครับ เอามาจำหน่ายครับ มีขายเป็นชุด เช่น ชุดสมอง-หัวใจ-ไต-กระดูก ชุดละ 6 ขวด ราคา 3,000 บาท แต่ถ้าคุณตาคุณยายเงินน้อยก็ยินดีขายแยกขวดนะครับ มีหลายผลิตภัณฑ์ ราคาประมาณขวดละห้าร้อยถึงหกร้อยบาท ถึงราคาจะสูง แต่คุณตาคุณยายเห็นทั้งกราฟจากจอคอมพิวเตอร์ แถมมีคนแนะนำกระหน่ำโรคให้หวั่นไหวหัวใจขนาดนี้แล้ว คุณตาคุณยายบางคนก็ยอมควักกระเป๋าจ่าย หมดเงินไปตามๆ กัน ฟังเรื่องราวแล้วก็ละเหี่ยใจ แทนที่จะเคารพดูแลผู้สูงวัย กลับมาหลอกลวงท่านให้เสียเงินเสียทองไปอีก ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เท่าที่ดูจากรูปก็เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่วางขายทั่วๆ ไป คุณภาพสรรพคุณก็ไม่ได้สูงตามราคา พลเมืองดีท่านนี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางผู้ขายจะตระเวนไปเรื่อยๆ ตามสถานที่ประชุมกลุ่มหรือชมรมผู้สูงวัยทั้งหลาย  ไม่รู้ว่าจะวนเวียนไปแถวไหนอีก หากใครพบเห็น ขอให้รีบแจ้งกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เลยนะครับ ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้สูงวัยในพื้นที่ หากเจอใครมาติดต่อขอให้บริการผู้สูงวัยในลักษณะนี้ ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคเช่นกัน จะได้มาตรวจสอบและป้องกันการให้ข้อมูลบิดเบือนได้ทัน ก่อนที่คุณตาคุณยายทั้งหลายอาจจะตกเป็นเหยื่อได้นะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 โดนหลอกให้ซื้อของมือสอง

"กระทู้เตือนภัย ระวังร้านมือถือขายส่งในห้างดัง / ระวังโดนหลอกซื้อเครื่องย้อมแมว…”เชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับข้อความเหล่านี้ เมื่อกำลังหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเพื่อเลือกซื้อมือถือใหม่สักเครื่อง แต่ก็อย่างที่เรารู้กันดีกว่าหากไม่ได้เป็นเซียนมือถือจริงๆ การแยกแยะความต่างระหว่างเครื่องจริงกับเครื่องปลอม หรือการตรวจสอบว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งจริงหรือไม่ นับวันยิ่งเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ดังเหตุการณ์ต่อไปนี้ที่ผู้ร้องต้องการซื้อมือถือมือหนึ่ง แต่โดนต้มจนเปื่อยได้เครื่องมือสองมาใช้ ซึ่งหมดประกันไปแล้วเมื่อ 1 ปีก่อนคุณดวงพรต้องการโทรศัพท์ยี่ห้อ iPhone 4s สีดำมือหนึ่งเครื่องใหม่มาใช้งาน เมื่อเดินเลือกตามร้านตู้ (ร้านตู้กระจกค้าปลีกมือถือ) ในห้างดังแถวอนุสาวรีย์ชัยไปเรื่อยๆ ก็พบร้านที่ถูกใจ หลังตรวจสอบเครื่องและอุปกรณ์ต่างๆ ก็พบว่าอยู่ในสภาพดี อีกทั้งทางร้านยังบอกว่าเครื่องรับประกันศูนย์อีก 1 ปี เธอจึงตกลงใจซื้อมาในราคา 10,900 บาท โดยใช้การผ่อนชำระด้วยบัตรเครดิต เหตุการณ์ก็ดำเนินไปได้ด้วยดีจนกระทั่งผ่อนเครื่องหมด ปัญหาจึงเริ่มมาเยือน ผู้ร้องพบว่าเวลาเปิดลำโพงแล้วไม่ได้ยินเสียง หรือเวลารับสายและโทรออกก็ไม่ได้ยินเสียงของฝั่งตรงข้าม จึงนำกลับไปซ่อมที่ร้านเพราะรู้ว่ายังอยู่ในช่วงเวลาการรับประกันตามที่ร้านบอกไว้ อย่างไรก็ตามทางร้านกลับแนะนำว่า ให้เธอนำไปซ่อมที่ศูนย์บริการของโทรศัพท์ iPhone เองจะรวดเร็วกว่า ดังนั้นเธอจึงไปที่ iCare ซึ่งเป็นศูนย์ดูแลหลังการขายของโทรศัพท์ยี่ห้อดังกล่าว แต่แล้วก็ต้องตกใจเมื่อพนักงานนำเครื่องไปตรวจสอบระยะเวลาการรับประกันแล้วพบว่า โทรศัพท์เครื่องนี้ได้มีการเปิดใช้งานตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน และหมดอายุการรับประกันไปกว่า 1 ปีแล้ว! คุณดวงพรจึงกลับมาที่ร้านเดิมและแจ้งเรื่องดังกล่าว ซึ่งก็ได้รับคำตอบที่บ่ายเบี่ยงจากทางร้านว่า ถ้าผู้ร้องไปดำเนินการซ่อมที่ศูนย์เองไม่ได้ ก็จะส่งเครื่องซ่อมที่ศูนย์ให้เอง เพียงแต่อาจจะต้องรอนานกว่าเดิมเท่านั้น เมื่อเหตุการณ์กลายเป็นแบบนี้ ผู้ร้องจึงมั่นใจว่าถูกร้านหลอกให้ซื้อเครื่องมือสองแล้วแน่นอน และที่สำคัญคือทางร้านไม่มีท่าทีจะรับผิดชอบต่อเรื่องนี้เลย เธอจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาโชคดีที่ผู้ร้องมีใบเสร็จการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตเก็บไว้ จึงสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้ ซึ่งสำหรับกรณีนี้ ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์โทรศัพท์เจรจาไกล่เกลี่ยให้ โดยขอให้รับเครื่องคืนพร้อมคืนเงินให้ผู้บริโภคในราคาที่เป็นธรรม เพราะการที่ผู้ขายไม่บอกความจริงกับผู้ซื้อตั้งแต่ทีแรก อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา ฐานฉ้อโกงหรือหลอกลวงผู้บริโภคแม้ตอนแรกร้านดังกล่าวจะบ่ายเบี่ยงไม่ยอมทำตามข้อเสนอ แต่เพื่อเป็นการยุติไม่ให้ปัญหาบานปลาย และเสื่อมเสียชื่อเสียงของร้านไปมากกว่านี้ จึงยินยอมคืนเงินให้ผู้ร้องจำนวน 7,000 บาท ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับเงินจำนวนนั้นไป เพราะไม่อยากเสียเวลาฟ้องร้อง พร้อมสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ซื้อโทรศัพท์มือถือที่ร้านตู้อีก แหม…ใครจะไปซื้อลง มาหลอกกันซะอย่างนี้ข้อแนะนำ ทั้งนี้แม้ไม่ใช่ร้านตู้ทุกร้านที่จะหลอกลวงผู้บริโภค แต่เราก็ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ โดยเบื้องต้นหากต้องการซื้อเครื่องมือหนึ่งก็ต้องตรวจสอบอายุการรับประกัน ซึ่งมีวิธีง่ายๆ ด้วยการตรวจสอบรหัส Serial number (SN) หรือหมายเลข IMEI (อีมี่) หลังเปิดเครื่องที่เบอร์ *#06# โดยบนหน้าจอจะแสดงเลขจำนวน 15 หลัก เราก็นำเลขเหล่านี้ไปกรอกในเว็บไซต์ต่างๆ ที่สามารถตรวจสอบอายุการรับประกันมือถือได้ ซึ่งจะรู้ทันทีว่าเราได้ของมือหนึ่งหรือมือสองมาครอบครอง เพราะหากทางร้านหลอกลวงเราก็แค่คืนเครื่องนั้นไป โดยไม่ต้องเสียทั้งเงินทั้งเวลานั่นเองอย่างไรก็ตามสำหรับการตรวจสอบอื่นๆ เช่น วิธีตรวจสอบของแท้หรือของปลอม หรือเครื่องหิ้วเป็นอย่างไร เราก็ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดจากเว็บไซต์ต่างๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ หรือสำหรับกรณีที่เราตรวจสอบดีแล้วแต่เครื่องก็ยังมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใดเราสามารถนำกลับไปเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ภายใน 7 วัน พร้อมกับไม่ลืมหลักฐานสำคัญต่างๆ เช่น ใบเสร็จรับเงิน เพราะสามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันทางกฎหมายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 เปิ้ลไอริณโดนเต๊นท์หลอกขายรถ

จำได้ว่า เราเคยลงเรื่องการหลอกขายรถและวิธีการแก้ไขในคอลัมน์นี้มาแล้ว น่าเสียดายที่ดาราสาวอย่าง "เปิ้ล ไอริณ" ไม่มีโอกาสได้อ่าน ไม่เช่นนั้นคงจะไม่ประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้อย่างแน่นอนเรื่องนี้เก็บมาจากข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมานี้เองเนื้อข่าวเขาบอกว่า ประมาณบ่าย 2 โมงของวันนั้น  น.ส.ไอริณ ศรีแกล้ว หรือ “เปิ้ล ไอริณ” เข้าแจ้งความต่อ พล.ต.ต.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ดำเนินคดีกับ นายลิขิต ชัยนะกุล เจ้าของเต๊นท์รถออโตเทรด เลียบทางด่วนรามอินทรา หลังจากที่ถูกหลอกให้ซื้อรถมือสองราคาเกือบ 1 ล้านบาทแต่ต้องจอดซ่อมหลายเดือนเปิ้ลไอริณ เธอเล่าว่า นายลิขิต อ้างว่าจะขายรถปี 2008 ให้ แต่ปรากฏว่าทางเต๊นท์ได้นำรถปี 2005 มาขายให้ จึงได้ติดต่อกลับไปยังนายลิขิต แต่นายลิขิตอ้างว่าซื้อไปแล้วไม่สามารถทำอะไรได้ จึงไปแจ้งความที่ สน.โชคชัย 4 ต่อมาเมื่อขับไปได้ประมาณ 7 เดือน รถก็ความร้อนขึ้น จนต้องจอดซ่อมมาแล้วกว่า 3 เดือน"ตอนซื้อมาหนูจ่ายไป 7 แสนบาท บวกค่าโอนอีก 1.5 แสนบาท รวมแล้วก็เกือบ 1 ล้านบาท ถ้าเอารถรุ่น 2005 นี้ไปขายก็ได้แค่ 4-5 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งรถที่ต้องการเป็นปี 2008 ก็ไม่ได้ยังต้องมาจอดซ่อมอยู่ในศูนย์ ซ่อมจุดละ 5,000 บาท ตอนนี้หนูกลุ้มใจมาก ไปแจ้งความที่ สน.โชคชัย 4 ทางตำรวจก็บอกว่านายลิขิตให้ตำรวจชั้นผู้ใหญ่มาปิดคดีแล้ว หนูหมดเงินไปกับรถคันนี้เยอะมาก อยากจะร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมเพราะไม่รู้ว่าจะต้องไปพึ่งใคร แล้ว" เปิ้ล ไอริณ กล่าวขณะที่ พล.ต.ต.พูลทรัพย์ กล่าวว่า จะรับเรื่องไว้ โดยในเบื้องต้นจะเข้าไปดูเรื่องสัญญาการซื้อขาย ซึ่งมี พรบ.ควบคุมการขายรถยนต์ใช้แล้ว และเอาหลักฐานมาดูว่าจะเข้ากฎหมายประเภทใดที่สามารถดำเนินคดีได้ต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหา ข่าวเขาว่ามาแค่นี้ล่ะครับ สรุปว่าน้องไอริณยังต้องรอตำรวจว่าจะดำเนินการยังไงอยู่ แต่มีประเด็นในเรื่องเกี่ยวกับการซื้อรถใช้แล้วที่เราจะเรียนรู้ซ้ำร่วมกันจากข่าวนี้ คือ...สัญญาในการซื้อรถใช้แล้ว เป็นสัญญาที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)ได้มีประกาศควบคุมไว้ สัญญาการซื้อขายรถยนต์ใช้แล้ว สคบ.กำหนดให้เป็นสัญญาที่ต้องควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงินหรือใบเสร็จรับเงินนั่นเอง ซึ่งจะต้องมีการระบุรายละเอียดของรถยนต์ที่ตกลงซื้อขายกัน เกี่ยวกับ ยี่ห้อ รุ่น ปี สี หมายเลขเครื่องยนต์ หมายเลขตัวถัง หมายเลขทะเบียน ระยะทางการใช้รถยนต์ ภาระผูกพันของรถยนต์(ถ้ามี) และชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองรถยนต์ ทีนี้ก็มาตรวจสอบดูครับว่า ในสัญญาที่น้องไอรินไปทำนั้น รถยนต์คันที่ซื้อขายกันได้ระบุปีของรถไว้เป็นปี 2008 หรือไม่ ถ้าระบุไว้อย่างชัดแจ้งแล้วยังนำรถปี 2005 มายัดให้ลูกค้า อย่างนี้ถือว่าผู้ขายผิดสัญญา ผู้ซื้อสามารถบอกเลิกสัญญาขอเรียกเงินคืนได้ รวมทั้งความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย อย่างเช่นค่าซ่อมที่ผ่านมา  เพราะถือว่าจัดรถมาให้ไม่ถูกต้องตามที่ได้ตกลงกัน แต่หากไม่มีการเขียนหรือไม่มีการทำสัญญากัน ผู้ขายรถจะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเมื่อโทษทางอาญาหนักระดับนี้ ผู้บริโภคที่ประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้รวมทั้งคุณเปิ้ลไอริณด้วย ควรใช้แนวทางเรียกค่าเสียหายให้เต็มพิกัด คือทั้งราคารถ ค่าซ่อม ค่าเสียโอกาส จัดมาให้เต็ม หากจะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยค่าใช้จ่ายที่จะยอมถอยให้ได้มีเพียงค่าเสียโอกาสเท่านั้น ส่วนค่าราคารถและค่าซ่อมไม่ควรยอมถอยครับ เพราะหากเจรจากันไม่ได้ผู้บริโภคยังสามารถยกเรื่องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ และคำพิพากษาหากเห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจผิดจริง ยังเพิ่มดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ให้กับผู้เสียหายอีกต่างหาก ส่วนเรื่องทางอาญานั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจกับ สคบ. ไปครับ    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 กลวิธีตุ๋นเงินทางโทรศัพท์

ถ้าคุณเห็นเบอร์ประหลาดแบบที่ชาวบ้านชาวช่องเขาไม่ใช้กันขึ้นโชว์บนโทรศัพท์ ขอเตือนอย่ายุ่งกับมันเด็ดขาด มิเช่นนั้นคุณอาจจะสูญเสียทรัพย์ได้เหมือนเช่นชายคนนี้เช้าวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2553 เวลาประมาณ 10.00 น.ขณะที่สมชายกำลังนั่งดูทีวีอยู่ที่บ้าน พลันเสียงสัญญาณโทรศัพท์เข้าได้ดังขึ้น สมชายหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมองดูเลขหมายที่โทรเข้ามา เป็นเบอร์ลักษณะประหลาดมีเครื่องหมายบวกตามด้วยหมายเลขยาวเหยียดมากกว่า 10 หลัก แต่เขากดรับด้วยความเคยชิน….“สวัสดีค่ะ คุณสมชาย ใช่ไหมคะ”“ครับ...ใช่ครับ”“ดิฉันโทรมาจากธนาคารกรุงเทพ ขอแจ้งว่าคุณมีรายการยอดเงินค้างชำระจากการซื้อสินค้าผ่านทางบัตรเครดิตเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 95,000 บาทค่ะ ขอให้คุณสมชายรีบไปชำระด้วยนะคะ”สมชายตกใจ ย้อนถามกลับไปว่า เขาไปซื้อของที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไมถึงมีราคามากกว่าวงเงินที่ธนาคารให้กับบัตรเครดิตของเขา คุณเธอที่อ้างว่าเป็นพนักงานของธนาคารกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่ามีการไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งเมื่อวันที่นั้น เวลานี้ พร้อมยืนยันว่าธนาคารมีรายละเอียดยืนยันอย่างชัดเจน“เป็นไปไม่ได้ครับ ผมไม่ได้ใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าแน่ อีกอย่างบัตรเครดิตที่ผมถืออยู่วงเงินมันไม่ถึงที่จะซื้อสินค้าได้ถึงเก้าหมื่นบาทหรอกครับ” สมชายบอกปฏิเสธ“ถ้าอย่างนั้นคุณสมชายเคยทำเอกสารพวกบัตรประชาชนสูญหายไหมคะ” คุณเธอขยับหลุมพรางเข้ามาสู่ขั้นที่สอง “ก็เคยครับ แต่นั่นมันนานมาแล้ว แล้วมันเกี่ยวอะไรด้วยครับ”“คุณสมชายอาจโดนมิจฉาชีพนำบัตรประชาชนไปทำบัตรเครดิต ด้วยการปลอมแปลงลายเซ็นต์ค่ะ และเขาอาจจะนำไปใช้รูดซื้อสินค้าเพิ่มเติมอีกก็ได้”“โอยตายล่ะ แล้วอย่างนี้ผมจะทำยังไงดีครับ ไม่งั้นผมมีหนี้ที่ไม่ได้ก่อบานตะไทแน่”“ใจเย็น ๆ ค่ะ คุณสมชาย ธนาคารมีวิธีแก้ไข” คุณเธอกล่าวปลอบด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนพร้อมกล่าวต่อไปว่า“เนื่องจากขณะนี้มีการปลอมแปลงบัตรเครดิตของพวกมิจฉาชีพไปใช้อย่างที่คุณสมชายเจอ ธนาคารกรุงเทพจึงได้มีระบบประสานงานพิเศษกับตำรวจดีเอสไอเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาแบบนี้ค่ะ เดี๋ยวดิฉันจะโอนสายของคุณเข้าสู่ระบบรับเรื่องของตำรวจดีเอสไอให้ โปรดรอสักครู่นะคะ”เสียงสัญญาณรอสายดังขึ้นเพียงแค่ไม่กี่อึดใจ หลุมพรางหลุมที่สามก็หลุดเข้ามาในสาย“สวัสดีค่ะ ดิฉันร้อยตำรวจตรีหญิงปานเดือน เจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุตำรวจดีเอสไอ มีอะไรให้รับใช้คะ”สมชายคลายใจที่ได้ยินเสียงหวาน ๆ ของตำรวจหญิงปานเดือน จึงเล่าถึงปัญหาว่ามีคนใช้บัตรประชาชนของเขาไปออกบัตรเครดิตโดยปลอมลายเซ็นต์แล้วนำไปรูดซื้อสินค้า ซึ่งเป็นข้อมูลที่เพิ่งได้รับแจ้งจากหญิงที่อ้างตัวว่าเป็นพนักงานธนาคารกรุงเทพเมื่อไม่กี่นาทีก่อนหน้านี้ร้อยตำรวตรีหญิงปานวาดได้ซักถามข้อมูลเพิ่มเติมอย่างละเอียด ไล่ตั้งแต่ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน บัตรเครดิตอื่นๆ ที่มีพร้อมวงเงินของแต่ละบัตรเครดิต รวมถึงบัญชีธนาคารที่มีบัตรเอทีเอ็ม“ผมบอกเขาไปหมดเลยครับ บอกว่ามีบัญชีธนาคารกสิกรไทยอยู่และมีบัตรเอทีเอ็มด้วย เพราะหลงเชื่อว่าเขาเป็นตำรวจดีเอสไอจริงๆ” สมชายให้เหตุผลหลังจากได้ข้อมูลจากเหยื่อจนครบถ้วน ร้อยตำรวจตรีหญิงปานวาดจึงเริ่มดำเนินการเปิดหลุมพรางหลุมที่สี่ให้เหยื่อหล่นลึกไปยิ่งขึ้น“จากข้อมูลที่คุณสมชายให้มา ดีเอสไอจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาผู้ร้ายให้อย่างเร่งด่วนค่ะ แต่เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพไปสวมรอยใช้บัตรเครดิตใบอื่นๆ ของคุณได้ ขอแนะนำให้คุณสมชายไปรูดเงินออกจากบัตรเครดิตทุกใบที่มีอยู่ให้หมด แล้วนำเงินทั้งหมดไปฝากเก็บไว้ในบัญชีของธนาคารกสิกรไทยที่คุณเปิดบัญชีอยู่เพราะถือเป็นบัญชีที่ปลอดภัยที่สุด เนื่องจากขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับธนาคารกสิกรไทยเพื่อป้องอาชญากรรมในลักษณะนี้อยู่ค่ะ ให้ไปดำเนินการทันทีเดี๋ยวนี้เลยนะคะก่อนที่มิจฉาชีพจะสามารถใช้บัตรเครดิตของคุณจนเกิดความเสียหายเพิ่มเติมได้”วางหูเสร็จสมชายคว้ากุญแจรถเผ่นผลึงบึ่งไปหาตู้เอทีเอ็มใกล้บ้านทีละตู้ๆ ไล่รูดเงินสดออกมาจากบัตรเครดิตทั้งหมดที่มีอยู่ 3 ใบจนหมดวงเงินรวมเป็นเงิน 90,000 บาท ในระหว่างนั้นได้มีเสียงผู้ชายอ้างตัวว่ามียศเป็นพันตำรวจตรีจากดีเอสไอโทรศัพท์เข้ามาสอบถามอยู่ตลอดเวลาว่าได้กดเงินออกมาหมดหรือยัง เอาเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทยหรือยัง เพราะได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารกสิกรไทยให้เตรียมรับเงินอยู่คุณสมชายเห็นว่าเป็นคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ตำรวจดีเอสไอจึงรีบปฏิบัติตามทุกขั้นตอน ท้ายสุดขับรถมาที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกสิกรไทยเพื่อทำการฝากเงินสดเข้าตู้เอทีเอ็ม ฝากเงินสดเข้าธนาคารเรียบร้อยคุณสมชายถอนหายใจคิดว่าเรื่องจบแล้ว เดินกลับจะไปขึ้นรถ พลันเสียงโทรศัพท์ไม่แสดงเลขหมายก็ดังเข้ามาที่มือถือ หลุมพรางหลุมสุดท้ายเริ่มเปิดฉาก“สวัสดีค่ะ คุณสมชายนะคะ ดิฉันร้อยตำรวจตรีหญิงปานเดือนค่ะ คุณสมชายนำเงินเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทยแล้วหรือยังคะ”“ฝากเข้าแล้วครับ มีอะไรอีกหรือครับ”“คุณสมชายต้องรีบกลับไปที่ตู้เอทีเอ็มธนาคารกสิกรก่อนนะคะ คุณจะต้องดำเนินการเปลี่ยนข้อมูลในแถบแม่เหล็กบัตรเอทีเอ็มของคุณก่อนไม่งั้นอาจเกิดปัญหาได้หากมีการปลอมบัตรเอทีเอ็มของคุณได้อีก เดี๋ยวดิฉันจะบอกขั้นตอนการเปลี่ยนข้อมูลให้ค่ะ ให้ไปที่ตู้เดี๋ยวนี้เลยค่ะ”คุณสมชายกลับไปที่ตู้เอทีเอ็มพร้อมแนบโทรศัพท์ไว้ที่หูฟังขั้นตอนที่ตำรวจหญิงปานวาดแนะนำ ขั้นแรกถูกแนะนำให้กดถอนเงินสดออกมา 100 บาท และถูกสอบถามว่ามีเงินเข้ามีเงินเหลือยู่ในบัญชีอยู่เท่าไหร่ หมายเลขตู้เอทีเอ็มคือหมายเลขอะไร เมื่อตรวจสอบจนแน่ใจว่าเหยื่อนำเงินเข้าบัญชีแล้วจริง และมีเงินอยู่ในบัญชีเป็นจำนวนเท่าไหร่ ตำรวจหญิงปานวาดจึงทำทีบอกรหัสการเปลี่ยนข้อมูลในแถบแม่เหล็กของบัตรเอทีเอ็ม ซึ่งความจริงแล้วคือขั้นตอนการโอนเงินเข้าไปอีกบัญชีหนึ่งที่มิจฉาชีพกลุ่มนี้เปิดรอไว้ และเตรียมที่จะกดเอทีเอ็มถอนออกมาเป็นเงินสดทันทีเมื่อเงินเข้าบัญชีเรียบร้อยคุณสมชายนั้นให้ข้อมูลไปทั้งหมด พร้อมทำตามทุกขั้นตอน เพราะคิดว่าคุยกับตำรวจอยู่จริง รับใบสลิปจากตู้เอทีเอ็มเสร็จจึงขับรถกลับบ้าน กว่าจะเอะใจหยิบสลิปมาดูแล้วพบว่าถูกหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีของมิจฉาชีพก็ช้าไปเสียแล้ว แนวทางการแก้ไขปัญหาถ้ามาถึงขั้นนี้แล้วต้องบอกว่าเรียบร้อยโรงเรียนโจรล่ะครับ เพราะบัญชีที่มิจฉาชีพเปิดทิ้งไว้นั้น ได้มาจากการไปหลอกเหยื่อให้มาเปิดบัญชีพร้อมทำบัตรเอทีเอ็มทิ้งไว้ เงินเข้าไปเมื่อไหร่ก็กดออกมาทันที เป็นเรื่องที่ตำรวจจะต้องตามล่าหาตัวกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้มาลงโทษให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะสร้างความเสียหายให้กับสุจริตชนมากขึ้นเรื่องนี้ถือว่าเป็นช่องโหว่ของกฎหมายด้านโทรคมนาคมที่ยังไม่มีมาตรการป้องกันการก่ออาชญากรรมทางโทรศัพท์และทางโทรคมนาคมอื่นๆ ดังนั้น ประชาชนจะต้องรู้จักป้องกันตนเองเป็นเบื้องต้น คือขั้นที่หนึ่ง หากมีใครโทรมาบอกว่าเราเป็นหนี้ธนาคารหรือสถาบันการเงินใดก็แล้วแต่ ก่อนที่จะคุยอะไรกันต่อไปต้องขอให้เขาส่งเอกสารหลักฐานรายการแจ้งหนี้มาแสดงต่อเราโดยไม่ต้องแจ้งที่อยู่ของเราให้เขาทราบ เพราะหากเป็นเจ้าหนี้ตัวจริงก็จะส่งข้อมูลตามที่อยู่ที่ได้รับแจ้งไว้ได้ หากเป็นตัวปลอมก็จะบ่ายเบี่ยงโยกโย้ หรือเร่งเร้าให้เรานำเงินไปชำระหนี้ตามตู้เอทีเอ็ม เจออย่างนี้ให้ยุติการพูดคุยโดยทันทีขั้นที่สอง หากมีการส่งเอกสารแจ้งหนี้มา ให้ตรวจสอบรายการใช้จ่าย หากพบว่ามีรายการใดหรือทั้งหมดเราไม่ได้เป็นผู้ใช้จ่ายจริง ให้ทำหนังสือทักท้วงปฏิเสธโดยทันที ไม่ควรใช้วิธีโทรศัพท์เพียงอย่างเดียวกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการบัตรเครดิตที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นการกระทำของผู้ใช้บัตรเครดิตจริง หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ หรือเรียกเก็บเงินไปแล้วก็ต้องคืนให้ผู้บริโภคครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 เพื่อนรัก เพื่อนร้ายหลอกเซ็นค้ำประกันเปล่า

การลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันเปล่า ไม่มีข้อความว่าค้ำประกันอะไร เพียงแค่ลงชื่ออย่างเดียว พร้อมแนบหลักฐานแสดงตน ถือเป็นความประมาทอย่างร้ายแรง และไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง คุณบุญเยี่ยม ได้รับการติดต่อจากเพื่อนรักว่า ให้ช่วยเซ็นค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ให้หน่อยเพราะอยากจะได้รถยนต์โตโยต้าที่โชว์รูมราษฎร์บูรณะไว้ใช้สักคัน โดยจะเช่าซื้อผ่านทางบริษัท ลิสซิ่งกสิกรไทย ด้วยความรักเพื่อน กลัวเพื่อนจะเสียน้ำใจจึงตกปากรับคำและลงนามเป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ให้โดยไม่มีข้อความว่าเช่าซื้อรถอะไร จากบริษัทใด ซ้ำยังแนบหลักฐานแสดงตนเพื่อการค้ำประกันไว้ให้กับเพื่อนอีก ในขณะที่ฝั่งเพื่อนแทนที่จะเป็นผู้เช่าซื้อเองกลับให้น้องสาวของตนเป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อ บริษัทลิสซิ่งกสิกรไทยอนุมัติผลการเช่าซื้อให้ แต่มีเงื่อนไขต้องวางเงินดาวน์จำนวน 10,000 บาทก่อน เพื่อนรักของคุณบุญเยี่ยมอยากได้รถแต่ไม่มีเงินสักบาท คิดจะใช้วิธีผ่อนค่างวดอย่างเดียว เลยต้องชวดรถโตโยต้าคันดังกล่าวไป หลังจากไม่ได้รถคันแรกแล้ว เพื่อนของคุณบุญเยี่ยมได้ใช้เอกสารค้ำประกันที่เซ็นต์ลอยๆ ไว้ ไปเที่ยวดูรถยนต์คันใหม่ที่โชว์รูมรถยนต์อีกแห่งหนึ่งบริเวณถนนกาญจนาภิเษก คราวนี้ขอจัดไฟแนนซ์ผ่านทางโตโยต้าลิสซิ่ง โดยใช้ชื่อและเอกสารของน้องสาวและของคุณบุญเยี่ยมเป็นผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันเหมือนเดิม ในครั้งนี้แม้ไม่มีข้อตกลงในการวางเงินดาวน์เหมือนครั้งแรก แต่ไฟแนนซ์ไม่ผ่าน คุณบุญเยี่ยมก็คิดว่า เพื่อนรักน่าจะรู้สภาพฐานะการเงินของน้องสาวและของตัวเองดีแล้วว่าไม่พร้อมที่จะมีรถใช้ และไม่คิดจะไปดูรถที่ไหนอีก และพันธะการค้ำประกันของตนจะหมดสิ้นลงไปด้วย แต่สิ่งที่คุณบุญเยี่ยมไม่ได้ทำก็คือ การขอเอกสารค้ำประกันคืนหรือยกเลิกหรือทำลายเอกสารดังกล่าวไป ปัญหาจึงเกิดขึ้นตามมา ประมาณเดือนกันยายน 2550 คุณบุญเยี่ยมต้องตกใจและรู้สึกสับสนเป็นอย่างมากที่ได้รับหนังสือค้ำประกันรถยนต์ยี่ห้อ เชฟโรเล็ต โคโลราโด้ 3.0LXCAB จาก บริษัท กสิกรไทยลิสซิ่ง ที่มีข้อความระบุว่าตนเป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวให้กับน้องสาวของเพื่อนรัก เนื่องจากไม่เคยรับรู้เรื่องการเช่าซื้อรถยนต์คันล่าสุดนี้เลย จึงได้สอบถามไปยังเพื่อนรักทราบว่า รถยนต์เชฟโรเล็ตคันนี้ เพื่อนเป็นคนอยากได้ จึงได้ใช้ชื่อน้องสาวเป็นผู้ซื้อและใช้ชื่อผู้ร้องเป็นคนค้ำประกันเหมือนเดิมแต่ไม่ได้บอกกล่าวกันล่วงหน้า คุณบุญเยี่ยมคิดว่าเรื่องไม่ดีแน่ เพราะตนไม่ได้รับรู้เรื่องการซื้อขายรถยนต์คันนี้แม้แต่น้อย จึงได้ประสานไปยังฝ่ายกฎหมายของบริษัท กสิกรไทยลิสซิ่ง เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และขอให้บริษัทฯ ติดตามรถยนต์คันดังกล่าวคืน แต่ก็สายไปเสียแล้วเมื่อปรากฎว่า ผู้เช่าซื้อถูกบอกเลิกสัญญาภายหลังค้างค่างวดเกินสามงวดติดต่อกัน และไฟแนนซ์สามารถติดตามรถคืนได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551 และถูกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ที่ขาดอยู่ แต่ขายทอดตลาดแล้วเงินที่ได้ก็ยังไม่พอชำระหนี้ ทางบริษัท ลิสซิ่งกสิกรไทย จึงใช้สิทธิฟ้องร้องผู้เช่าซื้อคือน้องสาวของเพื่อนรักเป็นจำเลยที่ 1 ฐานผิดสัญญาเช่าซื้อ และคุณบุญเยี่ยมเป็นจำเลยที่ 2 ฐานผิดสัญญาค้ำประกัน ให้ร่วมกันรับผิดชอบในหนี้ที่เหลืออยู่จำนวน 434,800 บาท แนวทางแก้ไขปัญหาการลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันแม้จะไม่มีการกรอกข้อความใดๆ แต่เมื่อมีการนำไปใช้เข้าทำสัญญาการซื้อขายหรือเช่าซื้อพร้อมกับแนบสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการแล้วถือว่ามีผลทางกฎหมายทันที โดยที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบในหนี้ที่เกิดขึ้นเสมือนลูกหนี้ร่วมตามที่สัญญาสำเร็จรูปส่วนใหญ่กำหนดไว้ ทั้งนี้เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาไว้อย่างชัดเจน (ฎ.357/2548) ว่า ผู้ค้ำประกันไม่สามารถที่จะอ้างว่าผู้เช่าซื้อและพวกไปกรอกข้อความให้ผิดไปจากเจตนาของผู้ค้ำประกันมาเป็นประโยชน์เพื่อจะให้ผู้ค้ำประกันพ้นจากความรับผิดได้ เพราะถือว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อซึ่งเป็นการยอมเสี่ยงภัยในการกระทำของตนเอง(ผู้ค้ำประกัน)อย่างร้ายแรง จึงต้องร่วมรับผิดกับผู้เช่าซื้อตามสัญญาค้ำประกันดังนั้นทางเลือกที่เหลือของคุณบุญเยี่ยม คือเป็นผู้ชี้เป้าให้เจ้าหนี้คือไฟแนนซ์ไปเรียกเก็บหนี้กับผู้เช่าซื้อให้ได้ หรือไม่ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในหนี้ที่เกิดขึ้นแทนผู้เช่าซื้อแล้วจึงค่อยไปฟ้องไล่เบี้ยเอาในภายหลัง ดังนั้นที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ ขอแนะนำว่าไม่ควรเข้าทำสัญญาค้ำประกันใดๆ โดยที่ตนไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในทรัพย์สินตามสัญญานั้น และหากจะเข้าทำสัญญาค้ำประกันต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า ผู้เช่าซื้อหรือผู้ซื้อสินค้านั้นมีความสามารถทางการเงินพอที่จะชำระค่าสินค้าจนลุล่วงหรือไม่ และสำคัญต้องคอยติดตามการชำระเงินค่างวดอย่างใกล้ชิดไม่ต่างอะไรกับผู้ขายสินค้าเช่นกัน หากปล่อยปละละเลยผู้ค้ำประกันไม่สามารถที่จะอ้างว่าผู้เช่าซื้อและพวกไปกรอกข้อความให้ผิดไปจากเจตนาของผู้ค้ำประกันได้หรือเซ็นชื่อทิ้งขว้างไปตามสัญญาซื้อขายต่างๆ มีสิทธิที่จะได้หนี้มาแขวนคอเหมือนกรณีนี้ก็เป็นได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 เขาหลอกให้เด็กเป็นนักช้อปได้อย่างไร

เรียบเรียงจากหนังสือเรื่อง Born to Buy แต่งโดย จูเลียต บี. ชอร์   เมื่อปี 2546 โครงการวิจัย Child Watch ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ระบุเด็กไทยเป็นนักบริโภค และติดวัตถุมากกว่าครอบครัวและศาสนา ในรอบ 1 เดือนพบว่า เด็กกินอาหารจานด่วนเฉลี่ยราว 3 ครั้ง ไปเดินห้างสรรพสินค้าประมาณ 4 ครั้ง ซื้อเครื่องสำอางค์บำรุงผิวประมาณ 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กวัยรุ่นในต่างจังหวัดราวร้อยละ 50 ที่เข้าร้าน internet เป็นประจำ และร้อยละ 30 มีโทรศัพท์มือถือใช้และจากการที่เด็กวัยรุ่นใช้เวลาไปกับกระแสบริโภคนิยม และหมดเวลาไปกับการเดินห้าง หรือพูดคุยกับเพื่อน หรือเล่นเกมผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เด็กวัยรุ่นใช้เวลากับครอบครัวน้อยลงด้วย  กระแสบริโภคนิยมได้เข้าไปก่อร่างสร้างตัวในเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่เพียงแต่เด็กไทยเท่านั้นที่ต้องเผชิญวิกฤตนี้ เด็กทั่วโลกก็ไม่ต่างกัน  ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำผลงานวิจัยเชิงลึกของจูเลียต บี. ชอร์ ในหนังสือเรื่อง Born to Buy ที่ตีแผ่เทคนิคการโฆษณา และช่องทางในการเข้าถึงเด็กๆ ชาวอเมริกัน รวมถึงศึกษาผลกระทบจากวัฒนธรรมการบริโภคที่มีต่อจิตใจของเด็กเหล่านั้นด้วย โดยมีเด็กประถม 5 – 6 จำนวน 300 คนและผู้ปกครอง 25 คนเข้าร่วมการวิจัยครั้งนี้ มานำเสนอ ท่านสามารถหาอ่านฉบับเต็มได้จาก คุณหนูนักช็อป เมื่อโฆษณาบอกให้ลูกคุณต้องซื้อ. จูเลียต บี. ชอร์ เขียน ศศิวรรณ ปริญญาตร แปล สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก,2553.   คุณหนูนักช้อปงานวิจัย* ที่ทำกับเด็กอเมริกัน ฟันธงแล้วว่าเด็กที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการบริโภคมาก จะมีปัญหาทางจิตใจมากขึ้นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล สมาธิสั้น หรือมีความรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า นอกจากนี้ยังมีสุขภาพแย่ลงด้วย   ในภาพรวมแล้วเด็กอเมริกันทุกวันนี้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง ทั้งๆที่อัตราความยากจนไม่ได้สูงเหมือนเมื่อก่อน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีปัจจัยลบที่บั่นทอนสุขภาวะของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา ปัจจัยที่ว่านั้นได้แก่ค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับวัตถุและการบริโภค  ที่สำคัญการตลาดและโฆษณากำลังจู่โจมพวกเขามากขึ้นทุกวัน ในทุกที่ๆพวกเขาอยู่ จึงไม่ได้มีเพียง “เด็กมีปัญหา” เท่านั้นที่ถูกดึงเข้าสู่วังวนแห่งบริโภคนิยม   เรื่องที่คุณอาจรู้แล้วเกี่ยวกับกลยุทธ์การโฆษณา1. โฆษณาจะนำเสนอภาพโลกของสินค้าดังกล่าวที่เป็นมิตรกับเด็ก โลกนั้นจะไม่มีครู ไม่มีพ่อแม่ที่น่ารำคาญ นี่คือโฆษณาที่สร้างขึ้นจากผลการวิจัยเรื่องเจตคติของเด็กต่อครูและพ่อแม่  2. โฆษณาจะต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าพวกเขาจะไม่เอาไหน ไม่เท่ ถ้าพวกเขาไม่มีสินค้าตัวดังกล่าวในครอบครอง ขอบอกว่ากลยุทธ์นี้ได้ผลกว่าการบอกเด็กให้ไปซื้อสินค้านั้นมาด้วยซ้ำ  3. โฆษณาจะเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับความต้องการทางอารมณ์ของเด็กๆ เช่น การต้องการเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม โฆษณาจึงนิยมส่งสารไปยังเด็กๆว่า ซื้อสินค้าตัวนี้สิ แล้วหนูจะมีเพื่อนแน่นอน   4. โฆษณาที่จะได้ผลนั้นจะต้องทำให้เด็กเกิดความต้องการอย่างท่วมท้นด้วย เราจึงได้เห็นการสร้างความตื่นเต้นเร้าใจด้วยแสง เสียง หรือภาพคลื่นครีมมหึมา หรือทะเลช็อกโกแลต เสมอๆ  5. บริษัทมักอ้างว่าโฆษณาไม่ได้มีผลต่อเด็กมากมายอย่างที่ผู้ใหญ่หลายคนวิตกกัน แต่ก็ยังตอบคำถามไม่ได้ว่าทำไมถึงทุ่มเงินให้กับการโฆษณาเป็นเงินหลายพันล้านเหรียญต่อปี   กลยุทธ์การตลาดที่ผู้ประกอบการใช้ในการเข้าถึงเด็กๆ1. สร้างอาณาจักรที่ทำให้เด็กรู้สึกเป็นอิสระได้โดยผ่านทางการบริโภค  2. เมื่อเด็กมีเงินใช้มากขึ้น หัวใจของวัฒนธรรมการบริโภคของพวกเขาคือการได้รู้สึกพิเศษเหนือคนอื่นๆ บริษัทต่างๆจึงพยายามปรับราคาสินค้าขึ้น เพื่อจะได้ดูเป็นสินค้า “เกินเอื้อม” และทำให้เด็กๆหลงใหล อยากเป็นเจ้าของมากขึ้น  3. สิ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จของการทำการตลาดสินค้าสำหรับเด็กคือความเท่ทันสมัย เพราะนาทีนี้มันคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ได้ในชีวิตของพวกเขา  4. นักการตลาดรู้ว่าเด็กเล็กก็ดูรายการสำหรับวัยรุ่น หรือรายการสำหรับผู้ใหญ่ และเด็กทุกคนก็มีความต้องการลึกๆที่ “อยากจะเป็นผู้ใหญ่” จึงจงใจนำเสนอสินค้าที่ “แก่กว่าวัย” ให้กับกลุ่มเป้าหมาย  5. การสื่อสารสองความหมายก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เช่น ในการโฆษณาอาหารสำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่ง เนื้อหาที่ส่งไปยังพ่อแม่คืออาหารดังกล่าวมีวิตามินและทำจากวัตถุดิบที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ในขณะที่บอกกับเด็กๆ ว่าอาหารนั้นทานแล้วสนุกสนาน มีเพื่อนมากมาย  6. มีงานวิจัยที่ระบุว่าครอบครัวที่มีเวลาให้ลูกน้อยจะให้เงินลูกใช้มากขึ้นเพื่อเป็นการ “ไถ่บาป” และการใช้เงินทดแทนเวลานั้นเป็นสิ่งที่แม่นิยมทำมากกว่าพ่อ นักการตลาดจึงไม่พลาดโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากความรู้สึกผิดดังกล่าว ด้วยการสื่อสารถึงเด็กๆว่าสินค้าต่างหากที่อยู่เคียงข้างพวกเด็กๆเสมอ (ไม่ใช่พ่อแม่)  7. นักการตลาดใช้วิธี “สร้างโลก 360 องศา” ด้วยการจู่โจมผู้บริโภคด้วยข้อมูลจากทุกด้าน ในสื่อทุกประเภท รวมถึงการตลาดแบบ “ใช้ดีแล้วบอกต่อ” ด้วย 8. เงินซื้อได้ทุกอย่าง นักการตลาดสามารถจ่ายเงินให้พ่อแม่เพื่อซื้อเวลาที่จะได้พูดคุยกับลูกของพวกเขาได้อย่างเป็นส่วนตัวแม้กระทั่งการมาถ่ายวิดีโอลูกของตนในห้องนอนหรือห้องอาบน้ำ ---------------------------------------------------------------------------------------- เด็กกับพลังตื๊อเป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยกันดี แต่เรื่องใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นคือเด็กกำลัง “ฝึก” พ่อแม่ให้จัดหาสิ่งที่ต้องการให้โดยไม่ต้องร้องขออีกต่อไป เพราะเมื่อพ่อแม่เรียนรู้ว่าเด็กชอบหรือไม่ชอบอะไร ก็จะพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ลูกไม่ชอบ เพราะไม่อยากเสียเงินหรือเวลาไปกับสิ่งที่ซื้อมาแล้วลูกจะไม่กิน ไม่ใช้ ซึ่งก็เข้าทางทั้งเด็กและทั้งคนที่จะหากำไรจากเด็ก ---------------------------------------------------------------------------------------- - สหรัฐอเมริกามีศูนย์การค้ากว่า 105,000 แห่ง เมื่อปลายปีพ.ศ. 2552 มีพื้นที่ช้อปปิ้งประมาณ 7,000 ล้านตารางฟุต เมื่อนำมาเฉลี่ยกับจำนวนประชากร 300 กว่าล้านคนแล้ว อเมริกันชนแต่ละคนจะมีพื้นที่ศูนย์การค้าประมาณ 23 ตารางฟุต - ข้อมูลจาก The International Council of Shopping Centers จากสถิติของกรุงเทพมหานคร เมื่อปีพ.ศ. 2551 กรุงเทพฯ มีศูนย์การค้าทั้งหมด 136 แห่ง (และตลาดนัดอีกนับไม่ถ้วน)- อัตราการเป็นเจ้าของเครื่องรับโทรทัศน์ของอเมริกันชน เท่ากับ 740 เครื่องต่อ 1,000 คน (เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก เบอร์มิวดาและโมนาโค) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 86 ที่ 236 เครื่องต่อ 1,000 คน ----------------------------------------------------------------------------------------   เด็กติดแบรนด์ ข้อมูลจากการสำรวจของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในอเมริการะบุว่าโดยเฉลี่ยแล้ว เด็กอายุ 10 ขวบ จะสามารถจดจำแบรนด์ได้ระหว่าง 300 ถึง 400 แบรนด์  เวลาที่เด็กอ้อนให้ซื้อของ พวกเขามักจะระบุแบรนด์ของสินค้า และที่แย่กว่านั้นเด็กอเมริกันเดี๋ยวนี้จะร้องอยากได้สินค้า “แบรนด์ดัง” เท่านั้น และประสบการณ์การบริโภคของเด็กอเมริกัน (และก็คงจะไม่ต่างกับเด็กที่บ้านเรา) ทุกวันนี้ก็จะต้องหรูหราขึ้นด้วยเด็กไม่ได้มีทางเลือกมากมาย อย่างที่พวกเขาเข้าใจ ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันธุรกิจสื่อและความบันเทิงสำหรับเด็กก็ อยู่ในมือของ 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ ดิสนีย์ เวียคอม นิวส์คอร์ป และเอโอแอล ไทม์ วอร์เนอร์ เท่านั้น   อย่างนี้จะดีไหมงานวิจัยเรื่องดังกล่าวมีข้อเสนอดังต่อไปนี้ • ให้มีการเก็บภาษีร้อยละ 2 จากโฆษณาที่ออกอากาศทางวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และอินเทอร์เน็ท เมื่อฉายในเวลาที่มีผู้ชมในวัยต่ำกว่า 18 ปี ดูเกินร้อยละ 25  • รวมโฆษณาเอาไว้ในช่องเดียวกัน เมื่อบริษัทอ้างว่าโฆษณานั้นเต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ มีคุณค่า ก็ไม่มีอะไรต้องวิตก คนที่ชอบดูโฆษณาก็จะตามไปดูเอง ดูแต่โฆษณาให้จุใจกันไปเลย • เปลี่ยนระบบจากการให้โฆษณาเป็นผู้สนับสนุนรายการ มาเป็นระบบที่ผู้ชมสามารถจ่ายเงินซื้อสาระที่ต้องการชมได้เลย   หน่วยสืบราชการลับ GIA: Girls Intelligence Agency Girls Intelligence Agency หรือ GIA ที่ว่านี้ไม่ได้เป็นสาขาหนึ่งของซีไอเอ หรือหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด แต่กิจการของเขาก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้างตรงที่ จีไอเอก็มี “สายลับ” เช่นกัน  เว็บไซต์ของจีไอเอ ระบุว่าตนเองมีสายลับหญิงในสังกัดประมาณ 40,000 คน พวกเธออายุระหว่าง 8 – 29 ปี อยู่ทั่วอเมริกา ซึ่งจะทำการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่จีไอเอเพื่อแจ้งข้อมูล ข้อมูลที่ว่านี้ได้แก่ความคิดเห็น ความฝัน เป้าหมาย แรงบันดาลใจของบรรดาสาวๆเหล่านั้นและเพื่อนๆของเธอ จากนั้นบริษัทก็จะแปรข้อมูลที่ได้ให้เป็นข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อ “ลูกค้า” ซึ่งก็คือบริษัทที่ต้องการเพิ่มยอดขายสินค้าสำหรับเด็กและวัยรุ่นหญิงนั่นเอง จีไอเอ จะให้ “สิทธิพิเศษ” กับเด็กที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเป็น “เจ้าหน้าที่” ของตนด้วยการให้โอกาสพวกเธอทดลองใช้ผลิตภัณฑ์หรือไม่ก็เชิญพวกเธอเข้าร่วมงานเปิดตัวสินค้าต่างๆ  เด็กๆเหล่านี้จะได้รับการอบรมเทคนิคการล้วงความลับจากเพื่อนๆ โดยจีไอเอ บอกกับพวกเธอว่าพวกเธอจะต้องสอดรู้สอดเห็นเพื่อองค์กร   หนึ่งในสิ่งที่ “สาวสืบราชการลับ” ตัวน้อยเหล่านี้ต้องทำคือจัดงานปาร์ตี้ชุดนอน เชิญเพื่อนๆอีก 11 คนมาร่วมงาน เพื่อมา “ทดลองใช้สินค้าตัวอย่างก่อนใคร” และ “กินอาหารขยะกันให้พุงกาง” ไม่ว่าเด็กๆเหล่านี้จะรู้ตัวหรือไม่ งานปาร์ตี้ดังกล่าวก็คือการทำโฟกัสกรุ๊ปเพื่อสำรวจความเห็นของผู้บริโภคและเป็นชั่วโมงขายของไปโดยปริยาย  โดยหลังงานเลิก บรรดาเจ้าภาพตัวน้อยๆ เหล่านี้จะต้องรายงานผลกลับไปยังหน่วยเหนือของพวกเธอ นอกจากนี้บางครั้งจีไอเอจะส่งเจ้าหน้าที่ไปบันทึกภาพปาร์ตี้ดังกล่าวไว้ด้วย จีไอเอถึงกับกล้าพูดว่าสายลับแต่ละคนจะสามารถเข้าถึงเพื่อนสาวของพวกเธอได้อีก 512 คน ได้ในทุกแง่มุมของชีวิต ฟังแล้วก็น่าวิตกแทนพ่อแม่ของพวกเธอและของเด็กๆที่พวกเธอเรียกว่า “เพื่อน” เพราะไม่รู้ว่าคำว่า “มิตรภาพ” จะยังมีความหมายเหมือนเดิมหรือไม่---ตลาดสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในสหรัฐคือสินค้าสำหรับเด็กและวัยรุ่นหญิง จีไอเอระบุในเว็บไซต์ว่าขณะนี้สหรัฐอเมริกามีประชากรที่เป็นเด็กหญิงอายุระหว่าง 10 – 19 ปีกว่า 18 ล้านคน และเด็กเหล่านี้มีการใช้จ่ายรวมกันถึงปีละ 75,000 ล้านเหรียญ  นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่าวัยรุ่นมีส่วนในการทำให้เกิดการใช้จ่ายของครอบครัวถึง 700,000 ล้านเหรียญต่อปี และร้อยละ 56 ของวัยรุ่นเหล่านี้เป็นวัยรุ่นหญิง---

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point