ฉบับที่ 232 สังฆทานที่โยมถวายมา มียาหมดอายุ

        เมื่อกล่าวถึงการเข้าวัดทำบุญ พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่อาจนึกถึงกิจกรรมทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน หรือปล่อยนกปล่อยปลา เช่นเดียวกับคุณนริศที่ชอบซื้อชุดสังฆทานไปถวายพระ ซึ่งเดิมเคยคิดว่าการทำบุญนั้นไม่น่าจะยุ่งยากอะไร แต่เมื่อต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้เข้า คุณนริศจึงทราบว่าการทำบุญนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรอบคอบเช่นกัน         เช้าวันหนึ่งคุณนริศได้จอดรถแวะซื้อชุดสังฆทานที่ตลาดแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เพื่อนำไปทำบุญที่วัดแถวละแวกบ้าน  คุณนริศเป็นชาวพุทธคนหนึ่งที่ชอบถวายสังฆทานเป็นประจำ เพราะมีความเชื่อว่าการถวายสังฆทานเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์มาก เมื่อเดินทางมาถึงวัดและถวายสังฆทานเสร็จเป็นที่เรียบร้อย หลวงพี่ท่านหนึ่งก็ได้บอกกับคุณนริศว่า สังฆทานที่โยมเคยนำมาถวายครั้งก่อนนั้น มีของหมดอายุ โดยเฉพาะพวกยาต่างๆ นั้นไม่สามารถใช้การได้เลย         คุณนริศทราบเช่นนั้น จึงเกิดความไม่สบายใจ และคิดว่าทำไมคนขายสังฆทานถึงได้บรรจุของที่ไม่มีคุณภาพ โดยเฉพาะยาที่หมดอายุเอาไว้ในชุดสังฆทานเช่นนี้ หรือคนขายก็ไม่ทราบเช่นกันว่า ของที่ถูกบรรจุอยู่ในชุดสังฆทานนั้นหมดอายุ จึงได้สอบถามมาขอคำแนะนำถึงวิธีแก้ปัญหา เพราะตนนั้นก็ชอบทำบุญด้วยการถวายสังฆทานอยู่บ่อยครั้งแนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณนริศสามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สายด่วน 1166 หรือ สคบ.ประจำจังหวัดให้ช่วยตรวจสอบร้านค้าที่จำหน่ายชุดสังฆทานดังกล่าวได้ เพราะชุดสังฆทาน หรือ ชุดไทยธรรม นั้นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ สคบ.         โดยชุดสังฆทานที่จำหน่ายทั่วไปนั้น ต้องติดหรือแสดงฉลากเป็นข้อความภาษาไทยที่สามารถอ่านได้ชัดเจน มีการระบุขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก จำนวน และแจกแจงราคาของสินค้าแต่ละรายการ รวมถึงวันหมดอายุ และวันเดือนปีที่บรรจุชุดสังฆทาน โดยหากพบผู้จำหน่ายชุดสังฆทานที่ไม่มีฉลาก หรือ แสดงฉลากไม่ถูกต้อง จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         กรณีนี้ ยังพบว่ามียาหมดอายุซึ่งถือว่าเป็นยาที่เสื่อมคุณภาพแล้วบรรจุอยู่ในชุดสังฆทาน ซึ่งตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 121 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาเสื่อมคุณภาพ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72(3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 3,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ดังนั้นหากผู้บริโภคจะเลือกซื้อสังฆทานไปทำบุญ ก็ขอให้เลือกซื้อแบบที่มีฉลากถูกต้อง โดยสามารถดูรายการสินค้าแต่ละชนิด และวันหมดอายุได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำถูกกฎหมายด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ใยอาหารกับความเสื่อมของสมอง

        เวลาพูดถึงใยอาหารเรามักคิดกันว่า มันเป็นเรื่องของความสบายเมื่อต้องเข้าห้องน้ำหลังตื่นนอน ทั้งนี้เพราะใครก็ตามที่กินผักและผลไม้ในปริมาณที่เหล่าหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพประชาชนทั้งไทยและเทศแนะนำคือ ราวครึ่งหนึ่งของมื้ออาหาร ย่อมได้ใยอาหารซึ่งมีผลโดยตรงคือ ช่วยในการขับถ่ายอุจจาระได้สะดวก และผลโดยอ้อมคือ ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และลดโอกาสมีน้ำหนักเกิน        อย่างไรก็ดีมีงานวิจัยหลายชิ้นได้ศึกษาถึงผลของใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี (soluble fiber) ที่มีผลถึงอวัยวะสำคัญอื่นๆ คือ สมอง (ซึ่งจะกล่าวต่อไป) โดยใยอาหารกลุ่มนี้มีบทบาทเป็น prebiotic คือ เป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งทำหน้าที่เป็น probiotic กินใยอาหารแล้วปล่อยกรดไขมันสายสั้นโดยประมาณคือ กรดบิวทิริคร้อยละ 15 กรดโปรปิโอนิคร้อยละ 25 และกรดอะซิติคร้อยละ 65 เป็นผลพลอยได้ (โดยปรกติแล้วในสิ่งมีชีวิตนั้น กรดเหล่านี้จะอยู่ในรูปของเกลือ) ซึ่งเซลล์ของผนังลำไส้ใหญ่ดูดซึมกรดบิวทิริคในรูปเกลือบิวทิเรตไปใช้เป็นพลังงานได้ รายละเอียดดูได้ฟรีในบทความเรื่อง Intestinal Short Chain Fatty Acids and their Link with Diet and Human Health ในวารสารออนไลน์ Frontiers in Microbiology ของเดือนกุมภาพันธ์ 2016 (โดยอาศัย google นำทาง)         กล่าวกันว่าในกรณีของบิวทิเรตนั้น เซลล์ผนังลำไส้ใหญ่ใช้สารนี้เป็นพลังงานราวร้อยละ 70 เพื่อการดำรงชีวิต ดังนั้นในคนที่กินอาหารที่มีใยอาหารต่ำเซลล์ลำไส้ใหญ่อาจมีพลังงานเพื่อดำรงชีวิตของเซลล์ไม่พอ จนต้องทำการย่อยสลายตัวเอง (apoptosis) ปรากฏการลักษณะนี้จะทำให้การทำงานของลำไส้ใหญ่ลดลงจากสภาวะปรกติซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของคนๆ นั้นไปเป็นภาวะไม่ปรกติ        Wikipedia ให้ข้อมูลประมาณว่า งานวิจัยหลายเรื่องกล่าวถึงศักยภาพของบิวทิเรตในการป้องกันและบำบัดอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่และกำจัดเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ ในประเด็นหลังมีการให้เหตุผลว่า แม้บิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานสำหรับเซลล์ปรกติของลำไส้ใหญ่แต่กลับทำให้เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ตายตามหลักการของ Warburg effect (ซึ่งกล่าวประมาณว่า เซลล์มะเร็งนั้นดำรงอยู่ได้ด้วยพลังงานน้ำตาลกลูโคสที่ถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานผ่านกระบวนการ glycolysis เพียงอย่างเดียว) ซึ่งทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถใช้บิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงบิวทิเรตไปเป็นพลังงานนั้นจำต้องผ่านกระบวนการใน ไมโตคอนเดรีย ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในเซลล์เกี่ยวกับการผลิตพลังงานหลักของเซลล์ปรกติ แต่เซลล์มะเร็งนั้นไม่ใช้ไมโตคอนเดรียในการสร้างพลังงานแต่อย่างใด ซึ่งนำไปสู่การสะสมของบิวทิเรตในนิวเคลียสส่งผลให้เกิดการยับยั้งเอ็นซัม histone deacetylase ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในกระบวนการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง กระบวนการนี้ค่อนข้างซับซ้อนเกินขอบเขตของบทความนี้ แต่กล่าวได้โดยสรุปว่า บิวทิเรตน่าจะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้         ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับใยอาหาร ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีคือ ได้มีงานวิจัยใหม่กล่าวว่า ใยอาหารน่าจะชะลอภาวะการอักเสบของสมองที่เพิ่มขึ้นตามอายุ ซึ่งส่งผลให้สมองทำงานได้ยาวนานขึ้น ดังมีงานวิจัยของ Department of Animal Sciences ของ University of Illinois ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Immunology ในปี 2018 เรื่อง Butyrate and Dietary Soluble Fiber Improve Neuroinflammation Associated With Aging in Mice ซึ่งบทความนี้แสดงให้เห็นว่า บิวทิเรตซึ่งเกิดในลำไส้ใหญ่ของหนูสูงอายุที่ได้กินใยอาหารชนิดอินูลิน (inulin) ได้ลดการทำงานของไซโตไคน์ (cytokine) ที่ออกฤทธิ์เกี่ยวกับการชักนำให้เซลล์ไมโครเกลีย (microglia) ก่อการอักเสบในสมองของหนู ส่งผลให้สมองของหนูกลุ่มนี้มีสภาพดีกว่ากลุ่มหนูสูงวัยที่กินเซลลูโลสซึ่งเป็นใยอาหารที่แบคทีเรียใช้ทำอะไรไม่ได้         ไมโครเกลียเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญของสมองสัตว์ทั่วไป เซลล์นี้ทำหน้าที่กำจัดสิ่งที่ก่อปัญหาในสมองเช่น เซลล์ที่แก่หมดหน้าที่แล้วและเชื้อโรคต่างๆ อย่างไรก็ดีในผู้สูงอายุนั้นไมโครเกลียมีแนวโน้มในการก่ออาการสมาธิสั้นและการอักเสบเรื้อรังในสมอง ถ้ามีการทำงานมากเกินไป สมมุติฐานนี้ดูเป็นสาเหตุหลักของอาการความจำเสื่อมและการลดลงของความสามารถในการเข้าใจสิ่งต่างๆ ในวัยชรา         งานวิจัยที่ดูว่าสนับสนุนสมมุติฐานนี้คือ บทความเรื่อง Posttraining systemic administration of the histone deacetylase inhibitor sodium butyrate ameliorates aging-related memory decline in rats ในวารสาร  Behavioural Brain Research ของปี 2011 ซึ่งกล่าวในบทสรุปประมาณว่า บิวทิเรตที่เป็นผลพลอยได้จากการกินใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี (soluble fiber) ของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่สามารถปรับปรุงความจำและลดการอักเสบในสมองหนูได้         ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของจำนวนแบคทีเรียที่ผลิตบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่ ย่อมส่งผลถึงการป้องกันไม่ให้ไมโครเกลียทำงานเกินจำเป็นเมื่อสัตว์มีอายุมากขึ้น ที่น่าสนใจคือ ผลการศึกษานี้เห็นได้ชัดเจนเฉพาะในหนูแก่ (ซึ่งเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับสมองแล้ว) ส่วนหนูวัยรุ่นหนุ่มสาวนั้นไม่ชัดเจน จึงกล่าวได้ว่าการกินอาหารที่อุดมด้วยใยอาหาร โดยเฉพาะส่วนนิ่มของใบผัก เช่น บรอกโคลี คะน้า ผักกาดขาว ฯลฯ ถั่ว ข้าวโอ๊ต แตงต่างๆ ผลไม้ตระกูลส้ม และขนมปังธัญพืชไม่ขัดสี น่าจะช่วยชะลอความแก่ของสมองของผู้สูงอายุได้ดี สำหรับส่วนแข็งของใบผักเช่น ก้าน นั้นมีประโยชน์ในด้านการอุ้มน้ำของอุจจาระจึงทำให้ถ่ายสะดวก และการจับสารพิษที่อาจก่ออันตรายแก่ลำไส้ใหญ่ออกไปจากร่างกาย ซึ่งสอดคล้องกับข่าวหนึ่งในมติชนออนไลน์ประจำวันที่ 24 มกราคม 2563 ที่กล่าวว่า สมาคมสภาผู้สูงอายุจังหวัดพะเยาในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งหญิงและชายที่มีอายุยืนยาวกว่า 100 ปีแล้วพบว่า ผู้สูงอายุนั้นต่างก็กินอาหารแบบพื้นบ้านล้านนาที่เป็นอาหารประเภทผักที่ปลูกเองกับน้ำพริก ปลา กล้วยน้ำว้า แตงกวา และพืชใบเขียวทั่วไปที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช        ประเด็นที่ท่านผู้อ่านควรทำความเข้าใจคือ การที่ผู้ค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งมีเกลือบิวทิเรตสังเคราะห์เป็นองค์ประกอบร่วมกับสารอาหารอื่นๆ ในรูปแคปซูลได้มีการประชาสัมพันธ์ว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้นสามารถช่วยทำให้สุขภาพลำไส้ใหญ่ดีขึ้น มีประเด็นที่ผู้เขียนเสนอให้พิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อคือ สารอาหารอะไรก็ตามที่กินทางปากนั้นเมื่อผ่านลงสู่ลำไส้เล็กแล้วจะถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กไปสู่ตับด้วยระบบเส้นเลือดกลุ่มที่เรียกว่า hepatic portal vein ทั้งสิ้น ซึ่งในกรณีของบิวทิเรตที่ถูกนำเข้าสู่เซลล์ตับแล้วโอกาสที่จะหลุดรอดออกไปถึงเซลล์ลำไส้ใหญ่ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะตับมีระบบเอ็นซัมที่เปลี่ยนบิวทิเรตเป็นอะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอ (acetylcoenzyme A) ซึ่งจะถูกนำไปสร้างเป็นสารพลังงานสูงคือ เอทีพี (ATP) เพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของเซลล์ อย่างไรก็ดีในสถานะการณ์ที่เอทีพีในเซลล์มีมากเกินพอแล้ว ตับจะเลือกใช้อะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์กรดไขมันต่าง ๆ (ซึ่งมีขนาดโมเลกุลใหญ่กว่าบิวทิเรต) ตามความต้องการของร่างกาย ข้อมูลนี้ปรากฏในบทความชื่อ From the gut to the peripheral tissues: the multiple effects of butyrate ในวารสาร Nutrition Research Review ปี 2010 ดังนั้นจะเห็นว่า โอกาสที่บิวทิเรตที่กินเข้าไปทางปากจะไปถึงลำไส้ใหญ่หรือต่อไปถึงสมองนั้นดูน่าจะเป็นไปได้ยาก ต่างจากบิวทิเรตที่สร้างโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ซึ่งเมื่อถูกดูดซึมด้วยเซลล์ของลำไส้ใหญ่ โอกาสที่ส่วนเกินจากการถูกใช้เป็นพลังงานอาจรอดไปสู่ระบบเลือด ซึ่งไปถึงสมองได้บ้างดังสมมุติฐานของงานวิจัยข้างต้นที่ว่า การกินผักผลไม้เพื่อให้ได้ใยอาหารนั้นอาจช่วยให้สมองมีสุขภาพที่ดีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2562

สี่ล้อแดงเชียงใหม่ปรับตัว เริ่มใช้แอปฯ ต้นปี 2563        หลังกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาออกกฎหมายรองรับแกร็ป ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการสี่ล้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีอยู่ทั้งหมด 2,465 คัน ขณะที่สี่ล้อแดงเชียงใหม่ ก็เตรียมพร้อมปรับตัว โดยในต้นเดือน ม.ค.63 สหกรณ์นครลานนาเดินรถ เตรียมเปิดใช้แอปพลิเคชัน CM TAXI ที่ร่วมพัฒนาโดย กระทรวงพลังงานและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยแอปฯ มีการใช้งานทุกอย่างเหมือนกับ Grab มีการแสดงระยะทาง อัตราค่าโดยสาร และข้อมูลรถที่จะให้บริการ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจ ในขณะที่ผู้ใช้เฟสบุ๊คบางรายแสดงความเห็นว่า นอกจากการทำแอปฯ แล้วอยากให้ปรับปรุงเรื่องการให้บริการและการคิดราคาค่าโดยสารด้วย สสส. ชวนเลิกบุหรี่ ผ่าน อสม.        สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที “ชวน ช่วย เลิกบุหรี่” เพื่อให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านแนวคิดและกระบวนการทำงานระหว่างภาคีเครือข่ายที่มีส่วนในการขับเคลื่อน พร้อมประกาศเจตนารมณ์ “ปักหมุด หยุดสูบ” ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่ และสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างปัจจัยเอื้อต่อการลด ละ เลิกสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ         โดยข้อมูลจากระบบบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการปี 2560 พบว่ามีผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคจากบุหรี่ถึง 553,611 ครั้ง คิดเป็นค่ารักษาพยาบาลรวม 21,389 ล้านบาท แต่ละครั้งต้องนอนรักษาที่โรงพยาบาลเฉลี่ย 7 วัน โดยเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในแต่ละครั้งเฉลี่ย 38,638 บาท หรือ 6,806 บาทต่อวันสสส. จึงสนับสนุนโครงการจัดความรู้และสื่อสารการขับเคลื่อนงานตามพันธกิจชวนและช่วยเลิกบุหรี่ ดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัด ผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน “อสม.” โดยมีโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นแกนกลางสนับสนุนให้เครือข่ายและ อสม. ทำหน้าที่ชวนและช่วยคนในชุมชนให้เลิกสูบบุหรี่ตามบริบท วิถีชีวิต สภาพสังคม และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่​ผู้สูงอายุไทยยังรู้สึกว่าดูแลตนเองได้        ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้สัมภาษณ์กลุ่มผู้สูงอายุในประเด็นการดูแลตนเองว่า “จำเป็นต้องมีคนดูแลปรนนิบัติในงานกิจวัตรประจำวันหรือไม่” โดยคำตอบจากกลุ่มผู้สูงอายุ 60 - 69 ปี ร้อยละ 94 บอกว่าสามารถดูแลตนเองได้ ซึ่งสัดส่วนของคำตอบนี้ ลดลงตามอายุที่มากขึ้น ในกลุ่มผู้สูงอายุวัย 80 ปีขึ้นไป เหลือร้อยละ 76.2 ในผู้ชาย และร้อยละ 58.4 ในผู้หญิง         นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้สูงอายุชายร้อยละ 90.9 และผู้หญิงร้อยละ 84.6 ตอบว่าไม่ต้องการผู้ดูแล และส่วนที่ต้องการและมีผู้ดูแลมีร้อยละ 7.4 ในเพศชาย และ 13.4 ในเพศหญิง         ส่วนกลุ่มที่ต้องการ แต่ไม่มีผู้ดูแล มีร้อยละ 1.7 - 2.1 เมื่อจำแนกตามอายุและเพศ โดยกลุ่มอายุ 60 - 69 ปี ที่ไม่ต้องการผู้ดูแล มีสูงถึงร้อยละ 94.6 ในเพศชาย และ 93.4 ในเพศหญิง ซึ่งอาจอธิบายได้ว่ากลุ่มนี้ยังแข็งแรงและช่วยตัวเองได้        ส่วนคำถามที่ว่า ‘ใครเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ’ ผู้สูงอายุที่ตอบว่ามีผู้ดูแลในชีวิตประจำวันซึ่งอาจมีมากกว่าหนี่งคน คือ บุตรสาวมีสัดส่วนสูงสุด (ร้อยละ 45.1) รองลงมาคือ คู่สมรส (ร้อยละ 28.1) บุตรชาย (ร้อยละ 18.4) และหลาน (ร้อยละ 6.2) สรุปได้ว่าเป็นผู้ดูแลในระบบครอบครัว และดูเหมือนว่าผู้ดูแลจากระบบบริการ เช่น ผู้ช่วยพยาบาล หรือ ผู้ดูแลรับจ้าง ยังไม่มีบทบาทมากนัก         อย่างไรก็ตาม แม้จะเชื่อมั่นว่าดูแลตัวเองได้ แต่จากสถิติระบุผู้สูงอายุ ‘พลัดตก-หกล้ม' ต้องเข้ารับบริการทางแพทย์ฉุกเฉินเฉลี่ย 140 ครั้ง/วัน เสียชีวิตเฉลี่ย 3 คน/วัน พบรอบ 3 ปี รับบริการทางแพทย์ฉุกเฉินถึง 141,895 ราย แม้ลักษณะบ้านที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุควรเป็น ‘บ้านชั้นเดียว’ แต่ผู้สูงอายุกลับอยู่ 'บ้านหรือตึกสองชั้นขึ้นไป' มากที่สุดที่ 44% ต้องใช้บันไดขึ้นลงทุกวัน 48.8% ต้องเดินบนพื้นที่ลื่น 31.7% มีผู้สูงอายุเพียง 24.6% เท่านั้นระบุว่าอยู่บ้านที่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับตนเอง เด็กไทยเล่นเกมส์ออนไลน์เกินวันละ 8 ชั่วโมง        สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานอื่นๆ จัดเสวนาเรื่อง “เปิดวิถีออนไลน์...เด็กไทยกับภัยใกล้ตัว” โดยได้นำผลการวิจัยเชิงสำรวจ หัวข้อ "สถานการณ์การเล่นเกมส์ออนไลน์ของเด็กไทย" ประจำปี 2562 ซึ่งสำรวจนักเรียนระดับมัธยมศึกษา, ปวช. และ ปวส. รวม 3,056 คน จากทั่วประเทศใน เดือน ก.ย. – ต.ค.62 พบว่า เด็กส่วนใหญ่ 2,730 คน หรือ ร้อยละ 89.33 เคยเล่นเกมส์ออนไลน์ โดยเล่นเกมเกือบทุกวัน ร้อยละ 64.66 เฉลี่ย 3-5 ชั่วโมง หากเป็นเด็กในพื้นที่ กทม. ร้อยละ 8.1 จะใช้เวลาเล่นเกมส์มากกว่า 8 ชั่วโมงในวันหยุด         โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้เด็กเล่นเกมส์ออนไลน์มากที่สุด คือ เพื่อนชักชวน รองลงมาคือ ข้อมูลจากสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าเกมส์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของเด็กไทย คือ ROV ร้อยละ 51.38 รองลงมา คือ PUBG MOBILE ร้อยละ 18.21 และ Free Fire ร้อยละ 15.53         ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายกับเกมส์ออนไลน์ พบว่าในจำนวนผู้ที่ตอบว่า เคยเสียเงินในการเล่นเกมออนไลน์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.13 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดนั้น พบว่าร้อยละ 30.9 ในจำนวนดังกล่าว ใช้จ่ายมากกว่า 500 บาทต่อเดือน         ทั้งนี้ ยังพบว่า เด็กต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ในหลายรูปแบบ จนอาจนำไปสู่การทำร้ายตนเองและผู้อื่นทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ และทางสังคม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างความฉลาดทางดิจิทัลให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้เท่าทันต่อกระบวนการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ เช่น สอนให้เด็กจัดการตัวตนและรับผิดชอบต่อการกระทำบนโลกออนไลน์ สอนให้ใช้เวลาออนไลน์อย่างพอเหมาะ ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ การงาน และชีวิตด้านอื่น สอนให้ยืดหยุ่น เข้มแข็ง รับมือกับการกลั่นแกล้งได้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร้อง ‘ศาลปกครองสูงสุด’ ระงับขึ้นค่าทางด่วน        เมื่อ 20 ธ.ค.62 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน ระงับการขึ้นเงินค่าผ่านทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมือง - โทลล์เวย์) ที่เตรียมจะปรับขึ้นในวันที่ 22 ธ.ค.62 ซึ่งยังเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด หากยังคงปล่อยให้ขึ้นราคาค่าผ่านทาง จะส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเดือดร้อนและความเสียหายต่อประชาชน และขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษาจะถึงที่สุด         โดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิฯ รู้สึกผิดหวังที่กรมทางหลวงไม่ยอมทำอะไร หลังจากที่มีคำพิพากษาศาลปกครองกลางเมื่อปี 2558 ที่ให้มีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องสัมปทาน ซึ่งความเป็นจริงแล้วขณะนี้ประชาชนควรจะได้รับสิทธิในการใช้ทางดังกล่าวโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน เนื่องจากสัญญาสัมปทานได้สิ้นสุดไปตั้งแต่ปี 2557        แต่ด้วยทางบริษัทฯ ได้มีการทำตัวเลขขาดทุนที่เกินจริง ทำให้มีการขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 20 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2577 และยังมอบอำนาจให้เอกชนสามารถปรับขึ้นค่าผ่านทางได้โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตหน่วยงานใด ตนจึงฝากถึงนายกรัฐมนตรีให้รีบลงมาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งกรมทางหลวงควรรักษาผลประโยชน์ของประชาชนที่ใช้ทางให้มากกว่านี้ อีกทั้งเพื่อรักษาสิทธิและคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคนด้วย        อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ศาลมีคำสั่งไม่รับคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ความเดือดร้อนเสียหายดังกล่าว มิใช่เป็นความเดือดร้อนเสียหายที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ หรือยากแก่การเยียวยาแก่ไข เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดิน สายวิภาวดีรังสิต และพหลโยธิน อยู่ใต้ทางยกระดับ ที่สามารถใช้จร ไปมาได้ ผู้ฟ้องคดี จึงมีโอกาสเลือกที่จะใช้เส้นทางอื่น ที่ไม่ต้องชำระค่าบริการผ่านทางตามที่กล่าวแทนทางด่วนยกระดับอุตราภิมุข ช่วงดินแดง-ดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน ทั้งขาออกและขาเข้าที่ต้องชำระค่าผ่านทางดังกล่าวได้ อีกทั้งยังมีการเปิดให้บริการขนส่งมวลชน ในเส้นทางใกล้เคียง และที่จะเปิดให้บริการในเส้นทางเดียวกัน เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ที่สามารถใช้บริการเป็นทางเลือกในการให้บริการได้         ดังนั้น คำร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านงส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานดังกล่าว ก่อนพิพากษาจนกว่าคดีจะถึงที่สุดนั้น จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอ ตามมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติจัดตังศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง. พ.ศ. 2542 จึงมีคำสั่งไม่รับคำขอให้ศาลกำหนดมาตราการ หรือวิธีการคุ้มครองบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 กลไกความช่วยเหลือทางการเงิน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย : กรณีศึกษาของระบบประกันสังคมเยอรมัน

        ประเทศเยอรมนีได้จัดว่าเป็นต้นแบบของระบบรัฐสวัสดิการ เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน ทุกคนมีสิทธิ และหน้าที่จากการทำงานมีรายได้ จะต้องสมัครเข้าร่วมในกองทุนประกันสังคม ซึ่งผู้มีรายได้รายเดือน จะถูกหักเข้ากองทุน ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงานจนถึงวันเกษียณอายุการทำงาน แบบอัตโนมัติทันที เงินที่ถูกหักจากรายได้ของคนทำงานรายเดือน ประกอบด้วย        · เงินประกันการตกงาน (Arbeitsloenversicherung: ALV)        · เงินบำนาญ (Deutsche Rentenversicherung: DRV)        · เงินประกันสุขภาพ (ภาคบังคับ Gesetzliche Krankkenverischerung: GKV)        · ประกันอุบัติเหตุ (ภาคบังคับ Gesetzliche Unfallversicherung: GUV)        · ประกันการดูแลคนไร้สมรรถภาพ เมื่อไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในยามพิการ หรือชราภาพ (Pflegeversicherung: PV)         เสาหลักของระบบรัฐสวัสดิการ ของกองทุนดังกล่าวได้ถูกบัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายประกันสังคม 5 ชุดในแต่ละประเด็นดังนี้ คือ        · ระบบการช่วยเหลือผู้ตกงาน บรรจุอยู่ใน the 3rd  book of social code  (SGB III)        · ระบบประกันสุขภาพ บรรจุอยู่ใน the 5th book of social code  (SGB V)        · ระบบเงินบำนาญ บรรจุอยู่ the 6th  book of social code  (SGB VI)        · การประกันอุบัติเหตุ อยู่ใน the 7th  book of social code  (SGB VII) และ        · การประกันการดูแลคนไร้สมรรถภาพใน the 11th book of social code  (SGB XI)         ถึงแม้ว่าจะมีกลไกการประกันสังคม ในเรื่องเงินบำนาญหลังเกษียณให้กับประชาชนทุกคนแต่ก็พบว่า ประชาชนวัยชราหลังจากเกษียณแล้ว ได้รับเงินบำนาญในอัตราที่ต่ำกว่าค่าครองชีพอยู่มาก และไม่ได้มีสมบัติเก่าจากมรดกในการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น ดังนั้นรัฐบาลจึงมีกลไกการช่วยเหลือ อีกทางหนึ่ง คือ ระบบการประกันคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ (basic life security: Grundsicherung)         สำหรับความช่วยเหลือของรัฐบาลในกรณีนี้ ก่อนที่จะอนุมัติความช่วยเหลือ ผู้ที่มีสิทธิในการยื่นคำขอจะถูกตรวจสอบ รายได้ และทรัพย์สินอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้มั่นใจว่า เงินช่วยเหลือนี้ ได้ส่งไปถึงผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือจริงๆ จากสถิติของ สำนักงานสถิติแห่งประเทศเยอรมนี ในปี 2018 มีผู้ได้รับสิทธิในการให้ความช่วยเหลือถึง 550,000 คน         กลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถสะสมเงินประกันสังคมได้เพียงพอ สำหรับชีวิตหลังเกษียณ (ซึ่งสะท้อนรายได้ของประชาชน กลุ่มประชากรที่มีรายได้สูง ก็มักจะได้เงินบำนาญที่เพียงพอในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ในขณะที่กลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อย ก็มักจะได้รับเงินไม่เพียงพอ) สาเหตุที่ทำให้ ประชาชนมีรายได้น้อย คือ การเจ็บป่วย การตกงานเป็นระยะเวลานานๆ         ขอยกตัวอย่างคนทำงานที่มีรายได้เฉลี่ย 1,621 ยูโร ส่งเงินประกันสังคม นาน 45 ปี หลังเกษียณจะได้รับเงินบำนาญ เพียงครึ่งเดียว คือเดือนละ 743 ยูโร ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำกว่า ค่าครองชีพตามมาตรฐานขั้นต่ำในการดำรงชีวิตของเงินประกันคุณภาพชีวิต (basic life security) ที่ปัจจุบันอยู่ที่เดือนละ 800 ยูโร         และเนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย เป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิตและจำนวนเงินที่เหลือใช้แต่ละเดือนหลังจากหักค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย รัฐบาลจึงกำหนดพื้นที่อยู่อาศัยในการกำหนดเงินช่วยเหลือ        สำหรับพื้นที่อาศัยของประชาชนที่สามารถได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลประเภทนี้ ได้กำหนด ไว้ว่า        ห้องสำหรับ ผู้อยู่อาศัย 1 คน ขนาด 45- 50 ตารางเมตร         ห้องสำหรับ 2 คน ขนาดไม่เกิน 60 ตารางเมตร         ห้องสำหรับ 3 คน ขนาด ไม่เกิน 75 ตารางเมตร         ห้องสำหรับ 4 คน ขนาดไม่เกิน 90 ตารางเมตร         แต่อย่างไรก็ตาม การกำหนดสิทธิประโยชน์ และจำนวนเงินที่จะได้รับแต่ละเดือน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าพนักงานประกันสังคม ดังนั้นหากมีกรณีพิพาท ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการต่อสู้คดีในศาลประกันสังคมได้ (Sozialgericht: Social Court)        กลไกดังกล่าว จะสามารถทุเลาสภาพยากจนตอนชราภาพได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าจะนำกลไกดังกล่าวมาใช้ในสังคมไทย คงต้องพิจารณ ถึงบริบทครอบครัวไทยตลอดจนสังคมเมือง สังคมชนบท และชุมชนแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะที่พิเศษ แตกต่างกันด้วย          (แหล่งข้อมูล วารสาร Test 3/2017 และ ปรับปรุงข้อมูล ฉบับ 11/2019)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 คิดดี ๆ ถ้าจะเป็นพ่อ...เมื่อแก่

        โดยทั่วไปแล้วคนไทยที่ศึกษาถึงขั้นปริญญาตรี ไม่ว่าสาขาวิชาใด ควรได้รับข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพจากบางวิชาในสถานศึกษาว่า การมีลูกของผู้หญิงอายุมากกว่า 35 ปี นั้นอาจเป็นผลเสียต่อความสมบูรณ์ของเด็กที่เกิดมา ซึ่งว่าไปแล้วแค่อายุที่เริ่มย่าง 30 ปี ผู้ที่ตั้งท้องจะเป็นแม่คนควรตรวจดูโครโมโซมในน้ำคร่ำของมดลูก(ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับโครโมโซมลูก) ว่า ผิดปรกติหรือไม่         การที่ผู้หญิงวัยกลางคนมีความเสี่ยงต่อการมีลูกปัญญาอ่อนในลักษณะกลุ่มอาการดาว์น (Down’s syndrome) สูงนั้น เพราะเซลล์ไข่ในรังไข่นั้นถูกสร้างมา จนเกือบสมบูรณ์ ตั้งแต่ก่อนออกจากท้องแม่แล้วถึงมาพัฒนาให้สมบูรณ์พร้อมผสมกับอสุจิในภายหลัง ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศเมื่อเด็กหญิงเข้าสู่วัยสาว ดังนั้นเมื่อหญิงสาวมีอายุถึง 35 ปี ไข่ในรังไข่จึงกลายเป็น ไข่ที่เก่าเก็บ เสี่ยงต่อการเกิดความผิดปรกติต่อโครโมโซมของไข่ เนื่องจากช่วงเวลาที่สตรีเริ่มพัฒนาไข่จนถึงอายุ 35 ปี นั้นเป็นเวลาที่นานพอสำหรับไข่ที่ยังไม่พัฒนาต้องเผชิญโอกาสการสัมผัสสิ่งเป็นพิษเช่น เชื้อไวรัสที่ก่อโรคต่างๆ สารเคมี ซึ่งรวมถึงยาบำบัดโรค และรังสีต่างๆ ที่สามารถก่ออันตรายต่อโครโมโซมของไข่ได้         ผู้เขียนได้เห็นความเศร้าของเพื่อนบ้าน ซึ่งมีลูกคนที่สองเมื่ออายุ 39 ปี และแม้ได้รับการตรวจน้ำคร่ำจากโรงพยาบาลเอกชนเก่าแก่ โดยผลจากการตรวจบอกว่า โครโมโซมปรกติ แต่ลูกที่คลอดออกมากลับอยู่ในกลุ่มอาการดาว์น ซึ่งแสดงว่าการตรวจโครโมโซมนั้นมีความผิดพลาดได้ ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า ความแม่นยำของการตรวจนั้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 98 – 99 ซึ่งเป็นเรื่องยอมรับได้ทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า ไม่มีอะไรสมบูรณ์ร้อยละ 100        ดังนั้นคนไทยรุ่นเจ็นวาย (Gen Y คือคนที่เกิดในระหว่างช่วงต้นของปี ค.ศ. 1980 จนถึงปลายของช่วง ค.ศ. 1990 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกของ Gen X และเป็นหลานของ Baby Boomer) ที่เป็นคนชั้นกลางและยังมีปัญหาในการตัดสินใจไม่ได้ว่า มีครอบครัวดีหรือไม่ จนอายุล่วงเข้ากว่า 30 ปีแล้ว มักปักใจว่า ไม่มีลูกดีกว่า เพราะยังต้องก่อร่างสร้างตัว  ไปอีกหลายปีจึงพอเก็บเงินไว้กินเมื่อแก่ได้ อีกทั้งการมีลูกนั้นกวนทั้งตัวและกวนทั้งใจ เนื่องจากถ้าเป็นคนระดับคนชั้นกลาง ระหว่างการเลี้ยงลูกให้โตส่วนใหญ่ต้องหันดูสังคมรอบข้างว่า เขาทำอะไรกันบ้าง เพื่อให้เสมอหน้าเสมอตาคนอื่น รวมทั้งปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเมืองที่เอากันทุกท่า จึงทำให้คนในยุคเจ็นวายมองไม่เห็นความสุขในการมีลูก ตลอดถึงการไม่คิดจะมีแม้แต่ครอบครัวที่แยกออกมาจากพ่อแม่ ดังนั้นสุดท้ายแล้วเมื่อคิดไปคิดมาอย่างรอบคอบ พบว่ามันลำบากนักในการสืบเชื้อสาย ตัดวงจรของกรรมโดยไม่มีลูกมันเสียเลยดีกว่า        อย่างไรก็ดีคนชั้นกลางขึ้นไปถึงระดับบน ซึ่งมีเงินและมองเห็นอนาคตว่า ถ้ามีลูกแล้วเขาสามารถกำหนดให้เป็นอย่างไรก็ได้นั้น ก็ยังคงตั้งใจมีผู้สืบสายเลือด แต่กว่าจะคิดตัดสินใจมีลูกได้อายุก็เข้าวัยกลางคน ซึ่งในทางสรีระวิทยาแล้วผู้หญิงสามารถมีไข่สำหรับผสมกับอสุจิเป็นลูกได้จนถึงอายุประมาณ 40-50 ปี (ขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละคน) แต่โดยทั่วไปแล้วผู้หญิงที่มีอายุเกิน 30 ปี ถ้ามีโอกาสได้ตั้งท้องก็ควรตรวจสอบโอกาสเกิดปัญหาของลูกเมื่อยังท้องอ่อนๆ อยู่ และถ้าผลออกมาเป็นบวกว่า โครโมโซมของลูกในถุงน้ำคร่ำมีความผิดปรกติ การตัดสินใจว่าจะเอาไว้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องใหญ่หลวงนัก         สำหรับผู้ชายนั้นส่วนใหญ่มักไม่นึกถึงอะไรเกี่ยวกับคุณภาพของอสุจิ เนื่องจากมักคิดว่า อสุจิของชายซึ่งสร้างในหลอดสร้างตัวอสุจิหรือ seminiferous tubule นั้นเป็นการสร้างแบบ วันต่อวัน (freshly prepare) ทั้งที่ในความจริงแล้วต้องใช้เวลาราว 74 วัน เพื่อพัฒนาเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบของหลอดสร้างตัวอสุจิให้เป็นตัวอสุจิ เพียงแต่ว่ามีการสร้างอยู่ตลอดเวลาแล้วทยอยปล่อยออกมา ตามความต้องการใช้งาน ที่สำคัญคือ ผู้ชายส่วนมากมักไม่เคยได้รับการบอกกล่าวว่า เซลล์ซึ่งถูกนำมาใช้ผลิตเป็นอสุจิในแต่ละวันนั้น มันก็เก่าและแก่ได้ตามวันเวลาที่ผ่านไป เหมือนไข่ในรังไข่ของผู้หญิง         นิตยสาร Time ออนไลน์ มีบทความซึ่งชายทั้งโลกอาจไม่เคยนึกถึงในปี 2018 ชื่อ “Babies Born to Older Dads May Have a Higher Risk of Health Problems, Study Says” โดยมีใจความที่สรุปจากบทความวิชาการเรื่อง Association of paternal age with perinatal outcomes between 2007 and 2016 in the United States: population based cohort study (ปรากฏในวารสารออนไลน์ BMJ เมื่อ 31 ตุลาคม 2018) ซึ่งเป็นการทำวิจัยที่แบ่งกลุ่มพ่อของเด็กออกเป็น 5 กลุ่ม ตามช่วงอายุคือ อายุน้อยกว่า 25 ปี 25-34, 35-44, 45-54 ปีและอายุมากกว่า 55 ปี ขึ้นไป โดยผลสรุปที่ได้คือ ลูกของชายสูงอายุนั้นมีโอกาสสูงในการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกคลอดต่ำ มีปัญหาในการดื่มนม และอาจมีปัญหาทางสุขภาพอื่นแต่กำเนิดเช่น ระบบหายใจไม่ปรกติ         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมที่น่ากังวลใจสำหรับคนที่หวังเป็นพ่อแต่อายุมากคือ บทความเรื่อง Rate of de novo mutations and the importance of father’s age to disease risk ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2012 ว่า ทุกปีที่ผ่านไปสำหรับผู้ชายนั้น โอกาสเกิดการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอจะเพิ่มขึ้น 2 ตำแหน่ง ซึ่งถ้าเกิดแจ๊คพ็อตแตกการกลายพันธุ์นั้นไปปรากฏบนโครโมโซมของอสุจิที่ตำแหน่งซึ่งมีความสำคัญในการได้ลูกเป็นคนปรกติ โอกาสที่เด็กที่เกิดจากการผสมพันธุ์ด้วยอสุจิที่กลายพันธุ์ของพ่อจะเป็นโรคทางพันธุกรรมย่อมเกิดได้ งานวิจัยดังกล่าวได้ตรงกับสมมุติฐานที่มีผู้พบถึงการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงเด็ก (ที่เป็นลูกของพ่อที่แก่) ต่อการเป็นออทิสติก โรคทางจิตเวช โรคทางระบบประสาท ตลอดจนถึงมะเร็งในเด็ก         สำหรับสตรีที่มีสามีแก่นั้น เมื่อท้องแล้วจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของร่างกายที่อาจเสื่อมเร็วกว่าปรกติ โดยเฉพาะการเป็นเบาหวานช่วงตั้งท้อง(gestational diabetes) เนื่องจากขณะตั้งท้องนั้นรกได้สร้างฮอร์โมนบางชนิดในเลือดของแม่เพิ่มขึ้นจากสภาวะปรกติคือ cortisol และ progesterone เป็นตัวหลัก และมี human placental lactogen, prolactin และ estradiol เป็นตัวเสริม จนอาจก่อให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินชั่วคราวเพื่อเพิ่มการใช้พลังงานจากไขมัน แล้วสงวนพลังงานจากน้ำตาลไว้ให้ลูกในท้อง         เหตุผลที่งานวิจัยต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นนั้นมีความสำคัญมากต่อสหรัฐอเมริกา เพราะปัจจุบันชายอเมริกันต่างมีลูกเมื่ออายุมากขึ้นกว่าสมัย baby bloom ดังได้มีบทความวิจัยเรื่อง The age of fathers in the USA is rising: an analysis of 168,867,480 births from1972 to 2015 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Human Reproduction เมื่อปี  2017 กล่าวว่า ระหว่างปี 1972-2015 ค่าเฉลี่ยของอายุพ่อ เปลี่ยนจาก 27.4 ปี ไปเป็น 30.9 ปี อีกทั้งในบทความดังกล่าวได้อ้างต่อว่า อายุของแม่นั้นก็ได้เปลี่ยนจาก 24.7 ปี ในช่วง ค.ศ. 1972 เป็น 28.6 ปี ในช่วง ค.ศ. 2015 ด้วยเช่นกัน        สรุป การที่อายุของพ่อและแม่ที่ตั้งใจมีลูกเพิ่มขึ้นจากเดิมนั้น ว่าไปก็อาจดี เพราะถ้าสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของพ่อแม่ดีแล้วลูกก็ควรได้รับการอบรมให้เป็นคนทำมาหากินเป็น ดีกว่าการมีลูกที่แข็งแรงแต่อยู่ในครอบครัวที่มีเศรษฐานะไม่ดี จนเด็กต้องไร้การศึกษาและอบรม แต่จะเป็นเรื่องน่าเศร้ามากถ้าปรากฏว่า หญิงหรือชายต้องรอสร้างฐานะจนแก่แล้วจึงคิดมีลูก ซึ่งน่าหมายถึงการสร้างทายาทที่อาจต้องกลายเป็นภาระของสังคม ซึ่งปัจจุบันมันดูไร้อนาคตเสียจริง ๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 จดหมายถึงบอกอ

จดหมายถึงบก.        ผมมีความสงสัยเรื่องวันหมดอายุของหมายเลขโทรศัพท์แบบเติมเงินว่าตอนนี้มีเกณฑ์เป็นอย่างไร แล้วถ้าไม่มีกำหนดวันเลยได้ไหมครับ  บ.จะต้องแบกรับต้นทุนอะไรบ้างช่วยอธิบายหน่อยครับ                                                                                                                                                                          สมพรตอบ        ขอบคุณสำหรับคำถามของท่านสมาชิก เรื่องการเติมเงินโทรศัพท์ ทุกครั้งที่เติมเงิน ไม่ว่ามูลค่าเท่าใด จะได้วันใช้งาน 30 วัน กฎหมายมีหลักว่า ห้ามกำหนดวันหมดอายุ เว้นแต่ ค่ายมือถือจะได้รับอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งเมื่อประมาณปี 2557  ทั้ง 3 ค่ายมือถือได้ยื่นขอกำหนดวันหมดอายุ และ กสทช. ได้มีมติอนุญาตให้กำหนดวันได้ที่ 30 วัน ทุกมูลค่าที่เติมเงิน  ในส่วนที่ว่า ถ้าไม่มีกำหนดวันเลยได้ไหมครับ  ต้องตอบว่า บางคนเปิดเบอร์ไว้ มีเงินในระบบ แต่ทิ้งไว้ ไม่ใช้งาน บริษัทมีค่ารักษาเลขหมาย เลขหมายที่เราซื้อมา ควรได้นำไปจัดสรรให้คนได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ คนที่มีหลายเบอร์ แต่ไม่ได้ใช้ เปิดเบอร์เพราะอยากได้โปรโมชัน แล้วเลขหมายนั้นๆ ก็ถูกทิ้ง ไม่ได้ใช้ เบอร์แบบนี้มีไม่น้อยเลย บางคนอาจเติมไว้รับสายอย่างเดียวก็มี การกำหนดวันจึงช่วยให้เบอร์ยังเกิดการใช้งาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ริมฝั่งน้ำ : “คนไกลฝั่ง” กับ “ไม้ใกล้ฝั่ง”…เรารักกันนะ...จุ๊บจุ๊บ

           นั่งเรียบเรียงต้นฉบับครั้งนี้ ผู้เขียนเลือกวันดีๆ และสถานที่ดีๆ มาทอดอารมณ์เขียนงานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรับลมเย็นสบายๆ อันที่จริงแล้ว “ริมฝั่งน้ำ” แบบนี้ ถือเป็นแหล่งรวมของผู้ใช้ชีวิตหลายเพศ หลายรุ่น หลายวัย และหลายหลากสถานะทางสังคม และยังเป็นอาณาบริเวณอันน่าสนใจที่จะให้ผู้คนหลากหลายได้มาเห็นกันและกัน เพื่อเรียนรู้วิถีปฏิบัติและความเป็นไปในชีวิตทางสังคมที่แตกต่างจากตัวเรา            เฉกเช่นเดียวกับละครโทรทัศน์เรื่อง “ริมฝั่งน้ำ” ที่ทำให้เราได้หันมาทบทวนหวนคิดกับชีวิตของคนที่หลากหลายเพศ วัย และสถานะทางสังคม ไม่ต่างจาก “ริมฝั่งน้ำ” ที่เราสัมผัสกันอยู่ในโลกความจริงเลย            และเพราะตอนนี้โรดแม็พของสังคมไทยกำลังเลี้ยวโค้งเข้าสู่ “สังคมแห่งผู้สูงอายุ” กันอย่างแท้จริง ภาพของผู้คนที่ฉายอยู่ในโลกสัญลักษณ์ของละคร “ริมฝั่งน้ำ” ก็ต้องจำลองชีวิตของบรรดาปู่ย่าตายายทั้งหลาย กับมุมมองที่ผู้คนหลากหลายเจนเนอเรชั่นมีต่อผู้สูงวัยเหล่านี้            ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างรุ่นวัยดังกล่าว เวียนวนอยู่ในปริมณฑลแห่ง “บ้านร่มไม้ชายคา” บ้านพักคนชราที่เป็นมรดกตกทอดจากบิดามารดา มาอยู่ในมือของ “พิมพ์วีนัส” นางเอกของเรื่อง            เริ่มแรกเมื่อได้รับมรดกมา พิมพ์วีนัสก็ตั้งแง่รังเกียจบ้านพักคนชราแห่งนี้ ด้วยเพราะในอดีตพ่อแม่ของเธอต้องเสียชีวิต เนื่องจากอาสาช่วยคนแก่จมน้ำจนตัวเองต้องตายไป ยิ่งผนวกกับภาพลักษณ์และความหมายของบ้านพักคนชราในฐานะที่เป็นแหล่งรวมของบรรดา “ไม้ใกล้ฝั่ง” ซึ่งมีแต่จะร่วงโรยจากน้ำที่กัดเซาะตลิ่งจนผุพังไปตามกาลเวลา จึงเป็นสิ่งที่นางเอกคนสวยมิอาจรับได้ เพราะนั่นหาใช่ความฝันของคนรุ่นใหม่ที่ยืนอยู่ “ไกลฝั่ง” อย่างเธอคาดหวังจะถือครองได้เลย            ด้วยเหตุนี้ ในช่วงต้นของเรื่อง พิมพ์วีนัสจึงปฏิบัติการ “ตามล่าฝัน” ด้วยการหนีไปเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ตามแบบอุดมคติที่คนรุ่นใหม่ยุคนี้ฝันอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพอะไรสักอย่างหนึ่งในชีวิต แต่เมื่อต้องมานั่งตบยุงเพราะไม่มีลูกค้าเข้ามานั่งในร้านกาแฟเลย พิมพ์วีนัสก็ได้คำตอบว่า ความฝันกับชีวิตจริงของ “คนไกลฝั่ง” ที่ประสบการณ์อ่อนต่อโลกนั้น ยังอีก “ไกลแสนไกลกว่าจะถึงฝั่งฝัน”            จนเมื่อ “คุณยายพิกุล” ได้มาเตือนสติพิมพ์วีนัสผู้เป็นหลานสาวว่า “พ่อแม่หนูสร้างสร้างบ้านร่มไม้ฯ มาด้วยความรัก แต่หนูอย่าไปทำลายมันด้วยความเกลียดเลยนะ” นั่นจึงเป็นเหตุปัจจัยให้นางเอกของเราลองเปิดใจหันกลับมาดูแลกิจการบ้านพักคนชรา และค่อยๆ เห็นอีกด้านหนึ่งของชีวิต “ไม้ใกล้ฝั่ง” ที่ครั้งหนึ่งเธอมองข้าม หรือไม่อยากแม้แต่จะผาดตามอง            ณ บ้านร่มไม้ชายคาแห่งนี้เอง มีหลายชีวิตที่มาอยู่อาศัยรวมกัน ไม่ว่าจะเป็น “คุณตาชาญชัย” เจ้าของกิจการโรงแรมที่ไม่มีความสุขในช่วงบั้นปลายชีวิต เพราะลูกหลานแย่งชิงสมบัติกัน “คุณตาโตมร” อดีตอธิบดีที่วางอำนาจใส่ทุกคนในบ้าน เพื่อกลบเกลื่อนอาการเจ็บป่วยของตน “คุณยายนิ่มนวล” แม่ค้าขนมเปี๊ยะที่ลูกหลานไม่ดูแลเพราะเป็นอัลไซเมอร์ “คุณยายม้วน” ที่ช่างพูดช่างสมาคม รวมไปถึง “เชาว์” “อี๊ด” “กรรณิการ์” “ดวงใจ” “เฟรดริก” และคุณตาคุณยายหลายคนที่ร่วมกันขับเคลื่อนความเป็นไปในบ้านพักคนชราหลังนี้            จนกระทั่ง วันหนึ่ง “พฤกษ์” ผู้เป็นพระเอกของเรื่อง ได้ตัดสินใจพา “บุษกร” มารดาของตนเข้ามาพำนักร่วมกับเพื่อนผู้สูงวัยในบ้านร่มไม้ชายคา แม้บุษกรจะเคยเป็นคนที่ชอบเสียงเพลงและรักการเต้นรำ แต่ภายหลังจาก “เดชา” บิดาของพฤกษ์ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต มารดาของเขาก็กลายเป็นโรคซึมเศร้านับจากนั้นมา            แม้อาจารย์มหาวิทยาลัยหนุ่มอย่างพฤกษ์จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และร่ำเรียนความรู้เชิงทฤษฎีมาสอนด้านบริหารธุรกิจให้กับลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่กับการบริหารสถาบันครอบครัวจริงๆ ที่อยู่นอกห้องเรียน เขากลับล้มเหลวกับมรสุมชีวิตต่างๆ แบบไม่เป็นท่า ทั้งจากการเลือกปิดบังความลับเรื่องพ่อตายไม่ให้มารดารู้ และจากการตีกรอบชีวิตตัวเองเนื่องจากผิดหวังกับความรักมาก่อน            การผูกโยงให้ตัวละครเอกได้มาพบรักกัน และยังได้เรียนรู้ชีวิตจากผู้สูงวัยที่ “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ซึ่งแน่นอนว่า ครั้งหนึ่งก็เคยมีประสบการณ์ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมายิ่งกว่าเธอและเขาเสียอีก ในที่สุดทั้งพิมพ์วีนัสและพฤกษ์ก็ค่อยๆ ปรับโลกทัศน์ของตนต่อคนสูงอายุเสียใหม่ เหมือนกับหลายๆ ฉากที่ผู้ชมจะได้เห็นภาพคนรุ่นใหม่ที่ “ไกลฝั่ง” เหล่านี้ เดินเข้าไปมองสายน้ำอยู่ริมตลิ่งที่ “ใกล้ฝั่ง” นั่นเอง            ด้านหนึ่ง ด้วยสุขภาพร่างกายที่ป่วยกระเสาะกระแสะบ้าง ขี้หลงขี้ลืมบ้าง ขี้บ่นขี้โวยวายบ้าง แต่นั่นก็เป็นสัจธรรมของผู้สูงวัยที่เดินทางมาอยู่บั้นปลายชีวิต เฉกเช่นที่คุณตาชาญชัยได้พูดกับพิมพ์วีนัสว่า “นาฬิกาของฉันมันเดินถอยหลัง มันต่างจากนาฬิกาของหนู ซึ่งเดินไปข้างหน้า”            แต่อีกด้านหนึ่ง ประสบการณ์ที่มี “นาฬิกาชีวิต” หมุนผ่านมาหลายรอบนี้เอง ทำให้คนสูงวัยต่างมีภูมิความรู้และรู้เท่าทันโลก ในแบบที่อหังการของคนรุ่นใหม่ผู้อ่อนหัดไม่อาจทัดเทียมได้จริง เหมือนกับที่ “อานัส” หลานชายเพลย์บอยของคุณตาชาญชัยต้องเคยพ่ายแพ้เกมเล่นเปตองให้กับคุณตาโตมร ก็เป็นเพราะว่า เกมบางเกมไม่ใช่การใช้เรื่องแรงกาย แต่เป็นเรื่องของสมองและประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตต่างหาก            แม้ “เกิดแก่เจ็บตาย” จะเป็นธรรมดาของโลก แต่ในห้วงปลายทางของชีวิต ผู้สูงอายุในบ้านร่มไม้ชายคาก็ยังต้องเผชิญปัญหารุมเร้ามากมาย บางคนถูกทรมานทั้งกายวาจาใจจากคนรุ่นใหม่ ถูกปอกลอกโกงเงิน ถูกทอดทิ้ง รวมไปถึงถูกทำให้รู้สึกเหงา เหมือนกับที่คุณตาชาญชัยเคยเปรยกับพฤกษ์ว่า “ความเหงาคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตคนแก่”             แต่อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า สิ่งที่จะทำให้บรรดา “ไม้ใกล้ฝั่ง” ต้องเจ็บปวดมากที่สุดก็คือ การเฝ้ามองดูความเสื่อมถอยของบุตรหลานตน เหมือนเมื่อครั้งที่คุณตาชาญชัยต้องเสียน้ำตาให้กับลูกๆ หลานๆ เพราะหลานคนหนึ่งติดยาเสพติด อีกคนหนึ่งหนีคดีขับรถชนคนตาย ในขณะที่ลูกๆ ที่เหลือก็เอาแต่จะแย่งชิงมรดกมาเป็นของตน คุณตาถึงกับตัดพ้อว่า “คนแก่จะอายุยืนถ้าได้อยู่เห็นความกลมเกลียว ความรักกันของลูกหลาน มากกว่าที่จะได้ยินเสียงแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นระหว่างคนสายเลือดเดียวกัน”             หากบ้านร่มไม้ชายคาเป็นภาพจำลองให้เห็นสังคมไทยที่กำลังเดินหน้าสู่ “สังคมแห่งผู้สูงอายุ” ก็คงถึงเวลาแล้วกระมังที่ “คนไกลฝั่ง” จะได้จัดวางจังหวะชีวิตของตนให้หันมามองประสบการณ์และความเป็นไปของ “ไม้ใกล้ฝั่ง” กันบ้าง เมื่อยิ่งเรียนรู้และยิ่งผูกพันกัน บางทีความสัมพันธ์ที่เข้าอกเข้าใจกันของคนต่างวัยก็อาจเป็นดุจดังที่พิมพ์วีนัสได้เคยพูดบ้านร่มไม้ชายคาว่า “เราเคยเกลียดที่นี่ ไม่อยากจะเดินเข้ามาที่นี่ แต่วันนี้พอไม่มีคุณตาคุณยายแล้ว ทำไมเรากลับใจหายก็ไม่รู้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 กระแสในประเทศ

ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2561แนะใช้แอป  EMS 1669 ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน         สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อตอบโจทย์การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินกับประชาชน ภายใต้ชื่อแอปพลิเคชัน EMS 1669 ซึ่งประชาชนสามารถเรียกรถพยาบาลได้ทันที สามารถระบุพิกัดตำแหน่งที่อยู่ของผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างแม่นยำ ทำให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยได้เร็วขึ้น เพียงแค่กดปุ่มสีแดงในแอป เรียกรถพยาบาล นอกจากนี้ยังสามารถแนบไฟล์ภาพเหตุการณ์เพื่อแจ้งสถานการณ์เพิ่มเติม และมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอีกด้วยปี 2574 ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวว่า ไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 โดยอาศัยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าปี 2564 ไทยจะก้าวสู่สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ และจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด ในปี 2574 ซึ่งมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนเท่ากับหรือมากกว่า 14% ประชากรทั้งหมด                ปัจจุบันไทยมีประชากรสูงอายุประมาณ 11 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่ม ติดสังคม 79.5 % ติดบ้าน 19 % และติดเตียง 1.5 % โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังมากถึง 10 % กรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุแนวทางผลักดันและส่งเสริมให้ สังคมสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยเร่งขับเคลื่อน 10 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การสร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการผู้สูงอายุ 2. การทำงานและการสร้างรายได้ 3. ระบบสุขภาพเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 4. ปรับสภาพแวดล้อมชุมชนและบ้านให้ปลอดภัยกับผู้สูงอายุ  5. ธนาคารเวลา(สังคมไม่ทอดทิ้งกัน) โดยที่ผู้สูงอายุในชุมชนต้องได้รับการดูแล  6. การสร้างความรอบรู้ให้คนรุ่นใหม่ 7. กำหนดให้สังคมสูงอายุเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ  8. การปรับเปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติข้อบังคับให้เอื้อต่อการทำงานด้าน ผู้สูงอายุ 9. ปฏิรูประบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนงาน โดยมีฐานข้อมูลรายบุคคลของผู้สูงอายุ และ 10. พลิกโฉมนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงอายุงดเหล้าเข้าพรรษา ลดเสี่ยงตับอักเสบกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า คนไทยเสี่ยงต่อภาวะตับอักเสบโดยไม่รู้ตัว เพราะระยะแรกมักไม่มีอาการ จนละเลยการรักษา แต่เซลล์ตับจะถูกทำลายไปเรื่อยๆ จนเกิดตับแข็ง หรืออาจเป็นมะเร็งตับในที่สุด โดยตับอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ยา สารเคมี สารพิษต่างๆ ซึ่งเเอลกอฮอล์ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบได้ โดยการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อาจทำให้เกิดอาการพิษต่อตับได้ทั้งระยะเฉียบพลัน และเรื้อรัง ทั้งนี้ นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ การหยุดดื่มทันทีอาจทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน และในบางคนอาจได้ยินเสียงแว่ว ประสาทหลอน สับสน และชักได้ ดังนั้นสำหรับผู้ที่ติดเหล้าเป็นเวลานาน อาจจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการ เสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทย แซงหน้าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตและหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคปอด กระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่รายงานว่าในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วย โรคมะเร็งประมาณ 77,566 คน เป็นเพศชาย 44,490 คน เป็นเพศหญิง 33,076 คน ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุ การตายอันดับหนึ่งของคนไทยแล้ว ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย โดยโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ชายไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลําไส้ใหญ่ ส่วนผู้หญิงไทยโรคมะเร็ง 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านมโฆษณาว่า ไขมันทรานส์ 0 % ระวังเข้าข่ายโอ้อวดเกินจริงน.ส.สุภัทรา บุญเสริม ผอ.สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าว ความจริงไขมันทรานส์ ว่า หลังจาก อย.ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ทำให้เกิดไขมันทรานส์ขึ้น โดยมีผลวันที่ 9 ม.ค. 2562 นั้น ไม่อยากให้ประชาชนเกิดความตระหนก ยืนยันว่าน้ำมันที่ใช้ตามบ้าน ทั้งน้ำมันปาล์ม และน้ำมันพืช ยังสามารถใช้ได้ตามปกติ "ที่น่ากังวล คือ ขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายใช้โอกาสนี้โฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์ปลอดไขมันทรานส์ หรือไขมันทรานส์ 0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน จึงขอให้ใช้ข้อความว่า ปราศจาก/ไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์ และแสดงปริมาณไขมันทรานส์ได้เฉพาะในกรอบโภชนาการแบบเต็มร่วมกับการแสดงส่วนประกอบอื่นๆ เท่านั้น โดยให้แสดงไว้ที่ตำแหน่งใต้ไขมันอิ่มตัว และใช้หลักเกณฑ์เดียวกับไขมันอิ่มตัว และเพื่อให้เป็นธรรม อย.จะมีการตรวจสอบว่าข้อความดังกล่าวเป็นจริง โดยการส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ ซึ่งต้องไม่เจอจริงๆ ถึงจะไม่เป็นการโอ้อวด ในกรณีฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาท ถึง 2 หมื่นบาท" น.ส.สุภัทรา กล่าวผู้บริโภคยังร้องเรียน วินมอเตอร์ไซค์ขับขี่หวาดเสียว – เก็บค่าโดยสารเกินราคามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาคเผยข้อมูลเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่ต้นปี 60 - ก.ค.61 พบผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะทั้งสิ้น 729 ราย โดยพบตั้งแต่ ถูกเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตรา หรือแพงเกินกว่าที่ระบุบนป้ายแสดงค่าบริการ, ขับขี่เร็ว หวาดเสียว เกิดอุบัติเหตุ และใช้วาจาไม่สุภาพกับผู้โดยสาร โดยพบปัญหาการใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเกิดจากการที่ผู้บริโภคไม่รู้สิทธิตนเองโดยจากการประสานงานไปยังสำนักงานเขต และกรมการขนส่งเพื่อตรวจสอบข้อมูล ยังพบปัญหาว่าผู้ร้องเรียนไม่ได้จดจำเลขทะเบียน หรือเบอร์เสื้อวินรับจ้าง ทำให้ปัญหาเกิดความล่าช้า ดังนั้นหากผู้บริโภคพบวินรับจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ให้จดจำวัน-เวลา และสถานที่เกิดเหตุ, ชื่อ-สกุล หรือเลขเสื้อวิน, เลขทะเบียน และร้องเรียนไปยัง กรมการขนส่งทางบก ผ่านสายด่วน 1584 หรือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-248-3737

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 อาหารหมดอายุกว่า 4 เดือนแต่ยังวางขายอยู่ในห้าง

ภูผา คุณพ่อวัยรุ่นมือใหม่ กำลังตื่นเต้นเห่อลูกคนแรกมาก อะไรว่าดีก็หามาให้ลูกได้รับประทานเสริม โดยหวังให้ลูกแข็งแรง แต่เรื่องกลับไม่ได้เป็นดังหวัง สาเหตุเกิดจากอะไรมาดูกันคุณภูผาซื้อข้าวกล้องงอกบด ผสมกล้วยและผักขมออร์แกนิค ยี่ห้อหนึ่ง จำนวน 3 กล่อง จากร้านวิลล่ามาเก็ท สาขาเพลินจิต เมื่อคุณภูผาได้นำข้าวกล้องบดผสมน้ำให้ลูกน้อยทาน ปรากฏว่า ลูกสาวมีอาการผิดปกติ ร้องไห้จ้าโดยไม่ทราบสาเหตุ และท้องเสียอย่างรุนแรง ถ่ายเหลวผิดปกติ คุณภูผาจึงลองตรวจสอบฉลากบนผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องงอกที่ให้ลูกน้อยรับประทานก็พบว่า ข้าวกล้องงอกบดนั้นหมดอายุมากว่า 4 เดือนแล้ว เมื่อคาดว่าปัญหาน่าจะมาจากเหตุที่อาหารหมดอายุ  ตัวคุณพ่ออาสาดูแลลูกน้อย ส่วนคุณแม่ ภรรยาของคุณภูผา ได้นำสินค้าที่หมดอายุไปร้องเรียนยังวิลล่ามาเก็ทสาขาที่ซื้อมา ซึ่งวิธีการของวิลล่ามาเก็ทคือ พนักงานได้รับเรื่องร้องเรียนและเก็บสินค้าไว้ก่อน และแจ้งว่าจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไป ซึ่งก็โทรศัพท์ติดต่อมาจริง  โดยแจ้งให้คุณภูผาพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อรักษาพยาบาลและออกใบรับรองแพทย์  คุณหมอให้ความเห็นในใบรับรองแพทย์ว่า “อาหารเป็นพิษ” คุณภูผาจึงได้แจ้งให้ทางห้างทราบ...ต่อมาเมื่อคุณภูผาได้เข้าไปสอบถามความคืบหน้ากับสาขาที่ซื้อสินค้า พนักงานเพียงแจ้งว่าได้แจ้งสำนักงานใหญ่แล้ว คุณภูผาจึงไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐาน แต่ไม่ว่าจะพยายามทวงถามความคืบหน้าเรื่องการแสดงรับผิดชอบของวิลล่ามาเก็ทสักกี่ครั้ง ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงมาร้องเรียนยังมูลนิธิเพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แจ้งผู้ร้องว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแนะนำเรื่องการคำนวณค่าเสียหายคุณภูผาและวิลล่ามาร์เก็ท มาเจราที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ โดยวิลล่าฯ เสนอเยียวยาเป็นหนังสือขอโทษและชี้แจงมาตรการแก้ไขปัญหาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 1 ฉบับ, เงินค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง, และเงินชดเชยเยียวยาความเสียหาย 5,000 บาท คุณภูผาปฏิเสธไม่รับข้อเสนอเรื่องเงินเยียวยา โดยขอให้ชดเชยเยียวยาความเสียหาย 150,000 บาท และทำหนังสือชี้แจงขอให้ระบุแนวทางการแก้ปัญหาเพิ่มเติมและบทลงโทษผู้เกี่ยวข้อง บริษัทรับข้อเสนอไปให้ผู้มีอำนาจพิจารณาต่อมาบริษัทเสนอเงินชดเชยเยียวยาค่าเสียหาย 50,000 บาท และออกนโยบายจัดเก็บสินค้าลงจากชั้นวางก่อนสินค้าหมดอายุ และต้องไม่มีสินค้าหมดอายุอยู่บนชั้นวางสินค้าอีก พร้อมจัดเก็บสินค้าก่อนหมดอายุอย่างสม่ำเสมอ แบ่งเป็น 3 ประเภท  1) สินค้าคืน Supplier ได้ ทำการเก็บสินค้าเพื่อทำการแจ้งคืน 2) สินค้าที่คืนไม่ได้ ทำการเก็บสินค้าเพื่อนำมาลดราคา 3) สินค้าของสดชั่งกิโล เก็บสินค้าเพื่อทำการเปลี่ยนบาร์โค้ด ก่อนหมดอายุ 3 วันและทำการตรวจสอบสินค้าทุกวัน ทุกอาทิตย์ ทุกเดือน และตักเตือนแจ้งพนักงานโดยลงโทษพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างไม่เกิน 7 วันและงดพิจารณาขึ้นค่าจ้าง คุณภูผายอมรับตามที่บริษัทเสนอนับว่าการร้องเรียนของคุณภูผาในครั้งนี้ ทำให้วิลล่ามาร์เก็ทยกระดับมาตรการการจัดเก็บสินค้าหมดอายุออกจากชั้นวางจำหน่าย ช่วยให้ผู้บริโภคปลอดภัยในการซื้อสินค้ามากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ปีใหม่นี้ เลือกอะไรเป็นของฝาก!

นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมมือกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,271 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน 2560  ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่างผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่าผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร การซื้อของฝากให้กับญาติสนิท มิตรสหาย และของฝากประเภทใดที่มีความนิยมในการเลือกซื้อ ซึ่งมีการแบ่งแยกตามแต่ละภาคของประเทศไทย รวมไปถึงการตรวจสอบฉลากเรื่องของวันหมดอายุ สถานที่ผลิต ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าจะซื้อของฝากจากการท่องเที่ยว อันดับหนึ่งคือ ขนม ของทานเล่น ร้อยละ 26.6 อันดับที่สองคืออาหารแห้ง ร้อยละ 26.0 อันดับที่สามคือของชำร่วย พวงกุญแจ ฯลฯ ร้อยละ 24.4 อันดับที่สี่คือเครื่องแต่งกาย ร้อยละ 23.0 และอันดับที่ห้าคือผักสด ผลไม้สด ร้อยละ 20.9ของฝากจากภาคเหนือ อันดับแรกคือน้ำพริกหนุ่ม ร้อยละ 36.1 อันดับที่สองคือแคบหมู ร้อยละ 29.7 อันดับที่สามคือหมูยอ ร้อยละ 25.0 อันดับที่สี่คือไส้อั่ว ร้อยละ 24.6 และอันดับที่ห้าคือใบชา ร้อยละ 18.3ของฝากจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันดับแรกคือแหนมเนือง ร้อยละ 34.7 อันดับที่สองคือหมูยอ ร้อยละ 29.4 อันดับที่สามคือกุนเชียง ร้อยละ 26.9 อันดับที่สี่คือแหนม ร้อยละ 19.7 และอันดับที่ห้าคือน้ำพริก ร้อยละ 18.3ของฝากจากภาคตะวันออก อันดับแรกคือขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 29.1 อันดับที่สองคือข้าวหลาม ร้อยละ 27.5 อันดับที่สามคืออาหารทะเลแห้ง ร้อยละ 26.3 อันดับที่สี่คือผลไม้อบแห้ง ร้อยละ 21.6 และอันดับที่ห้าคือน้ำปลา ร้อยละ 17.5ของฝากจากภาคกลาง อันดับแรกคือขนมเค้ก ร้อยละ 27.3 อันดับที่สองคือสายไหม ร้อยละ 27.1อันดับที่สามคือโมจิ ร้อยละ 26.8 อันดับที่สี่คือกะหรี่พัฟ ร้อยละ 22.0 และอันดับที่ห้าคือขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 21.9ของฝากจากภาคตะวันตก อันดับแรกคือทองหยิบทองหยอด ร้อยละ 27.7 อันดับที่สองคือขนมหม้อแกง ร้อยละ 27.6 อันดับที่สามคือขนมชั้น ร้อยละ 25.3 อันดับที่สี่คือขนมปังสัปปะรด ร้อยละ 23.4 และอันดับที่ห้าคือมะขามสามรส ร้อยละ 19.7ของฝากจากภาคใต้ อันดับแรกคือปลาหมึกแห้ง ร้อยละ 32.5 อันดับที่สองคือกะปิ ร้อยละ 29.3 อันดับที่สามคือกุ้งแห้ง ร้อยละ 24.2 อันดับที่สี่คือน้ำพริก ร้อยละ 22.3 และอันดับที่ห้าคือเครื่องแกง ร้อยละ 21.3กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีการตรวจดูวันเดือนปีที่หมดอายุ ร้อยละ 44.8 รองลงมาไม่มีการตรวจดู ร้อยละ 35.4 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 19.8 และมีการตรวจดูสถานที่ผลิต ร้อยละ 44.8 รองลงมาไม่มีการตรวจดู ร้อยละ 34.2 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 21.0และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่เคยได้รับของฝากที่หมดอายุจากบุคคลอื่น ร้อยละ 54.8 รองลงมาไม่แน่ใจ ร้อยละ 28.8 และเคยได้รับของฝากที่หมดอายุจากบุคคลอื่น ร้อยละ 16.4นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวเสริมเรื่องการเลือกซื้อสินค้าของฝากว่า ฉลากเป็นสิ่งจำเป็นและผู้บริโภคไม่ควรละเลยที่จะตรวจสอบข้อมูลที่แสดงบนฉลากก่อนการตัดสินใจซื้อ เนื่องจากฉลากเป็นหนึ่งในสิทธิของผู้บริโภคที่ว่าด้วยการได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณาคุณภาพที่ถูกต้อง และเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ดังนั้นก่อนการซื้อทุกครั้ง ควรปฏิบัติดังนี้1) ให้พิจารณาว่ามีฉลากหรือไม่ หากเป็นสินค้าที่ไม่มีฉลาก ควรหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ตามหากของฝากประเภทอาหารหลายๆ ชนิดเป็นอาหารประเภทที่ผลิตขายเฉพาะหน้าร้านของตัวเอง กฎหมายอนุญาตให้ไม่ต้องแสดงฉลาก ดังนั้นก่อนซื้อผู้บริโภคควรสอบถามข้อมูลสำคัญอย่าง วันที่ผลิตและวันหมดอายุ การเก็บหรือการดูแลรักษา ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นหรือไม่ เพื่อไม่ให้อาหารบูดเสียเร็ว 2) ถ้าหากมีการแสดงฉลาก ให้พิจารณาการแสดงรายละเอียดบนฉลากว่า เป็นภาษาไทย และ ถูกต้อง ครบถ้วน หรือไม่ ทั้งนี้หากฉลากไม่เป็นภาษาไทยควรหลีกเลี่ยงหากพบผู้ประกอบการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ผู้ประกอบการอาจมีความผิดได้สองกรณี ดังนี้ กรณีแรก หากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิตจะเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (2) ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ 2522 เรื่อง ผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย อาหารปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปีและปรับตั้งแต่ห้าพันถึงหนึ่งแสนบาทกรณีที่สอง หากไม่แสดงฉลากหรือแสดงฉลากไม่ถูกต้องครบถ้วน จะมีความผิดตามมาตรา 6 (10) ของ พ.ร.บ.อาหารฯ  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สามหมื่นบาท  หากซื้อสินค้ามาแล้วพบความผิดปกติหรือได้รับอันตรายจากการบริโภคสามารถใช้สิทธิร้องเรียนได้โดยตรงกับผู้ผลิต/ ผู้จัดจำหน่ายตามที่อยู่ที่ระบุไว้บนฉลากหรือตามสถานที่ที่ซื้อสินค้ามานอกจากนี้ก่อนเลือกซื้อของกินเป็นของฝาก นอกจากพิจารณาเรื่องฉลากเป็นสำคัญแล้ว ยังต้องดูเรื่องอื่นๆ ควบคู่กัน เพื่อให้ได้ของฝากที่สะอาดปลอดภัยต่อการบริโภค ไม่ว่าจะเป็น 1) สถานที่ขายหรือสถานที่เก็บรักษาต้องสะอาด ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสิ่งไม่พึงประสงค์ เช่น แมลง สารเคมี และอาหารควรถูกเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับแต่ละประเภทของอาหาร2) สภาพภาชนะบรรจุต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ฉีกขาด ไม่มีร่องรอยที่อาจทำให้เกิดการรั่วซึมของสิ่งปนเปื้อน3) ลักษณะของอาหารต้องอยู่ในสภาพปกติ ไม่มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อน ไม่มีร่อยรอยของการเกิดเชื้อราหรือเชื่อจุลินทรีย์ หรืออยู่ในสภาพอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยในการบริโภคที่ผ่านมาเคยมีข้อมูลผลทดสอบเรื่องความไม่ปลอดภัยของของฝากกลุ่มอาหารอยู่บ้าง เช่น เมื่อปี 2559 ว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตรวจน้ำพริกพร้อมบริโภค เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาร้าสับ น้ำพริกตาแดง น้ำพริกนรก แจ่วบอง เป็นต้น ที่จำหน่ายตามตลาดสด ตลาดนัด ศูนย์โอทอป ศูนย์ของฝากทั่วประเทศ พบว่าจากทั้งหมด 1,071 ตัวอย่าง พบว่า ไม่ผ่านมาตรฐาน 164 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 15 ส่วนใหญ่พบปัญหาเรื่องการใช้วัตถุกันเสียเกินปริมาณที่อนุญาต การปนเปื้อนจุลินทรีย์และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ เช่น เชื้อบาซีลัส ซีเรียส และ เชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟิงเจน รวมทั้งในกรณีของ ปลาหมึกแห้ง ที่มูลนิธิฯ เคยสุ่มวิเคราะห์ตัวอย่างปลาหมึกแห้ง เมื่อปี 2553 พบการปนเปื้อนโลหะหนักทั้ง 8 ตัวอย่างที่สุ่มทดสอบ ทั้ง แคดเมียม ตะกั่ว และ ปรอท โดยเฉพาะ แคดเมียม ที่พบเกินค่ามาตรฐาน 4 จาก 8 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบส่วนในกลุ่ม ขนมปัง ขนมอบ ขนมเค้ก ก็มักมีความเสี่ยงในเรื่องของสารกันบูด ส่วนอาหารจำพวกแหนมเนือง มีความเสี่ยงของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษที่อาจปนเปื้อนมาพร้อมผักสดที่ล้างทำความสะอาดไม่ดีพอ เช่นเดียวกับอาหารจำพวกเนื้อสัตว์หรือแปรรูปจากเนื้อสัตว์ หากรับประทานโดยที่อาหารไม่ผ่านการปรุงให้สุก หรือผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานก็อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์

ปัจจุบัน ร้อยละ 30 ของเด็กมีพัฒนาการไม่สมวัย ส่วนหนึ่งเพราะ   เด็กทารก เด็ก ใช้สื่อ ดูสื่อ ได้รับสื่อทางอ้อม มากถึง 4 ชม.ต่อวันจากการประชุมเวทีสื่อสาธารณะ เรื่อง “แนวทางการกำหนดช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับเด็กในการใช้สื่ออออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนและแทบเลต”  ซึ่งจัดโดย คณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2560 มีเรื่องที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ เด็กแรกเกิดถึงอายุสองปี ไม่สามารถแปลงภาพและเสียงที่พบเห็นและได้ยินจากสื่อหน้าจอ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท มาเป็นความรู้ที่จะใช้กับโลกแห่งความเป็นจริงได้ด้วยตนเอง เด็ก แรกเกิดถึงอายุ 2 ปี เป็นวัยที่สมองมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการเปลี่ยนแปลง พัฒนาการ ทุกด้าน อย่างรวดเร็ว เด็กวัยนี้จะต้องเรียนรู้โดยการสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวภายใต้การสอนการบอก การแยกแยะ สิ่งถูกผิด การคุ้มครองอันตรายโดยผู้เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีพัฒนาการที่ดี ทั้งด้านกล้ามเนื้อ ภาษา สติปัญญา และด้านอารมณ์สังคม แต่ไม่ใช่จากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการศึกษาวิจัย ของนายแพทย์วีระศักดิ์ ชลไชยะ หัวหน้าสาขาวิชาพัฒนาการและการเจริญเติบโต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนกลุ่มแพทย์สามสถาบันพบว่า เด็กได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่อายุ 1 เดือนครึ่ง และที่อายุ 1 ปีได้รับถึงร้อยละ 99.7 และได้รับเฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็น 5 ชั่วโมงต่อวัน ที่อายุ 18เดือน สื่ออิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่เป็นทีวี แต่แนวโน้มจะมีการดูรายการทีวี รายการเพลง การ์ตูนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และแทบเล็ต เพิ่มมากขึ้น เด็กได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในบ้านในช่วงเย็น ระหว่างทานอาหาร ในห้องนอน ในเวลาก่อนนอนเป็นจำนวนมากการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ดังนี้1. พฤติกรรมก้าวร้าว การศึกษาพบชัดเจนว่าเด็กที่ได้รับสื่อที่มีความรุนแรงความก้าวร้าวนำไปสู่พฤติกรรมความก้าวร้าว2. พฤติกรรมซนสมาธิสั้น มีการศึกษาที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่าเด็กที่ใช้สื่อเป็นระยะเวลายาวนานมีความสัมพันธ์กับภาวะซนและสมาธิสั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นสื่อที่มีความก้าวร้าวรุนแรง 3. การศึกษาของนายแพทย์วีระศักดิ์พบว่าเด็กที่ได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่อายุ 6 - 18 เดือน มีพฤติกรรมการแยกตัวการดื้อต่อต้านมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการได้รับสื่อสำหรับผู้ใหญ่4.พฤติกรรมด้านภาษา สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นสื่อการศึกษาดีสามารถช่วยส่งเสริม พัฒนาการ ด้านภาษา และการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยได้ ที่ถูกออกแบบมา การพูดการใช้ภาษาที่ชัดเจนให้เด็กมีส่วนร่วม จะสามารถพัฒนาทางด้านภาษาให้แก่เด็กได้ แต่ต้องถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ ไปไม่ใช่รายการบันเทิงทั่วไป หากเด็กดูรายการบันเทิงทั่วไปและใช้เวลายาวนานต่อวัน กลับมีผลให้พัฒนาการทางภาษาล่าช้า 5. พัฒนาการด้านการใช้สมองระดับสูงในการแก้ไขปัญหา คิดสร้างสรรค์ พบชัดเจนว่าเด็กที่ใช้สื่อเป็นระยะเวลายาวนานมทำให้ความสามารถระดับสูงล่าช้ากว่าเด็กที่ใช้สื่อในระยะเวลาที่น้อยกว่า แพทย์หญิงมธุรดา  สุวรรณโพธิ์  ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่าผลกระทบต่อพัฒนาการสมองของเด็ก 5 ประการได้แก่  พัฒนาการการพูดช้าลง  สมาธิสั้น กระทบต่อการนอน พฤติกรรมก้าวร้าว  และอ้วน เมื่อเด็กโตเข้าสู่ปฐมวัยและวัยเรียน  ค.ศ.2011 มีการศึกษาปฏิกิริยาของการตอบสนองของเด็กทารกกับตุ๊กตาเปรียบเทียบกับเกมในแทบเล็ต  ผลพบว่าของเล่นทั้งสองอย่างทำให้เด็กมีความสุขพอๆกัน  แต่เด็กทารกมีการติดใจในเกมมากกว่าตุ๊กตา  ดังนั้นการหยิบยื่นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้เด็กจึงต้องมีเงื่อนไขและข้อจำกัด  และต้องไม่ให้สื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นตัวทดแทนเวลาของครอบครัวพ่อแม่หลายๆ ท่านเห็นว่าการปล่อยลูกเล่นเกมที่บ้านปลอดภัยกว่าการให้ลูกออกไปเล่นนอกบ้านไปเจอความเสี่ยงต่างๆ  แน่นอนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆมีข้อดีเสมอ เช่น อีบุ๊ค  หรือแอปพลิเคชัน ต่างๆ ที่ช่วยการอ่าน  ภาษา แต่พ่อแม่ควรพิจารณาช่วงอายุที่เหมาะสม กล่าวคือยิ่งลูกอายุเข้าใกล้วัยเรียนหรือใกล้จะเข้าโรงเรียนยิ่งดี  นอกจากนี่พ่อแม่เป็นผู้เลือกเนื้อหาและอยู่ร่วมกับเด็กเสมอในขณะลูกใช้อุปกรณ์ การศึกษาของเด็กอายุ 2 ปีพบว่าระยะเวลาของการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต่อสัปดาห์ มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของค่า BMI การให้เด็กได้ดูสื่อโฆษณาอาหาร และการดูสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในระหว่างมื้ออาหาร เป็นปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์นี้ ในส่วนของการนอน การศึกษาพบว่า เด็กทารกที่ได้ดูสื่อหน้าจอในช่วงเย็น จะมีระยะเวลาของการนอนหลับในช่วงกลางคืนที่สั้นลง ซึ่งเป็นได้จาก เนื้อหาของสื่อที่กระตุ้นความตื่นเต้น และจากรังสีสีฟ้าที่ผ่านทางหน้าจอ กดการหลั่งสารเมลาโทนินนายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช กล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีกฎหมายคุ้มตรองเด็กด้านสื่อออนไลน์ เราควบคุมแต่สื่อผิดกฎหมาย สื่อไม่ผิดกฎหมายแต่ไม่เหมาะสมกับเด็กสามารถจะถูกผลิตออกไปได้ การส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กในเรื่องนี้ต้องทำทั้งการส่งเสริมคนที่สร้างโปรแกรมที่ดีสำหรับเด็กและการควบคุมโปรแกรมอันตรายหรือไม่เหมาะสมกับเด็กให้ไม่สามารถเข้าถึงตัวเด็กได้ เรื่องนี้ต้องเอาจริงเอาจัง มุ่งที่การคุ้มครองเด็กไม่สับสนกับเสรีภาพผู้ใหญ่ ครอบครัวและชุมชนต้องมีส่วนร่วมข้อสรุป1.หน่วยงานเทคโนโลยีดิจิตอล ผู้ประกอบการ ตำรวจ การแพทย์ การศึกษา การพัฒนาเด็ก   ต้องทำข้อตกลงความร่วมมือกันในการพัฒนาระบบการคุ้มครองเด็ก ให้เท่าทันกับการพัฒนาเทคโนโลยีและการกระตุ้นการใช้งานของสังคม โดยมุ่งไปที่การคุ้มครองเด็กให้ชัดเจน ไม่สับสนกับเสรีภาพผู้ใหญ่ ครอบครัวและชุมชนต้องมีส่วนร่วม2. สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์3. สำหรับเด็กอายุมากกว่า 2 -5 ขวบ หากผู้ดูแลเด็กต้องการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต้องใช้เป็นเครื่องมือประกอบ การสอนการเล่นของผู้ดูแลเด็กเอง หรืออย่างน้อยต้องนั่งดูด้วยกัน ใช้เฉพาะโปรแกรมที่มีคุณภาพ ไม่ใช้โดยเปิดทิ้งไว้ให้เด็กดูด้วยตนเอง และใช้ไม่เกิน 1 ชม ต่อวัน โดยมีการพักเป็นระยะ และไม่เปิด สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในระหว่างกินอาหาร และก่อนนอนให้กับเด็ก4. หน่วยงานทางการแพทย์ การศึกษา การพัฒนาเด็ก เทคโนโลยีดิจิตอล ผู้ประกอบการ   ต้องร่วมกันให้ความรู้ในเรื่องการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสมแก่ผู้ดูแลเด็กตั้งแต่หลังคลอด ให้ความรู้ในเรื่องการพัฒนาการของสมอง ใน 2 ขวบแรก และความสำคัญในการกระตุ้นพัฒนาการ โดยการเล่น อย่างใกล้ชิดกับผู้ดูแลเด็ก รวมทั้งช่วยเหลือในการวางแผนการใช้สื่อในครอบครัวอย่างเหมาะสม 5. รัฐและผู้ประกอบการต้องร่วมกันส่งเสริมคนที่สร้างโปรแกรมที่ดีสำหรับเด็กและควบคุมโปรแกรมอันตรายหรือไม่เหมาะสมกับเด็กให้ไม่สามารถเข้าถึงตัวเด็กได้ 6. รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงทุนกับการเพิ่มของเล่น พื้นที่เล่น ส่งเสริมกิจกรรมการเล่นอิสระที่ปลอดภัย โดยมีผู้ช่วยการเล่นในการจัดการพื้นที่และให้คำแนะนำเพื่อความปลอดภัย ตั้งแต่ในระดับชุมชนขนาดเล็กที่ใกล้ชิดบ้านของเด็ก จนถึงระดับจังหวัด สื่อสำหรับเด็ก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 สินค้าใกล้หมดอายุ วางจำหน่ายได้หรือไม่

ที่ผ่านมาเราเคยเสนอเรื่องสินค้าหมดอายุควรวางจำหน่ายในร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าหรือไม่ เพราะผู้บริโภคอย่างเรา ไม่ได้มีหน้าที่นำสินค้าที่หมดอายุไปคืน แต่ควรเป็นทางร้านมากกว่าที่ต้องวางขายสินค้าที่ไม่หมดอายุให้กับเรา ซึ่งแม้จะยังมีการร้องเรียนเข้ามาบ้าง แต่สถานการณ์ก็ค่อยๆ ดีขึ้น เพราะผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายหลายรายยินดีที่จะปรับปรุงการบริการและชดเชยเยียวยาผู้เสียหายตามสมควร กระนั้นประเด็นดังกล่าวนี้ก็ได้กลับมาสร้างปัญหาให้อีกครั้ง เมื่อมีผู้ร้องเรียนถึงสินค้าที่ “ใกล้” หมดอายุ ซึ่งเขาเห็นว่าการจำหน่ายสินค้าที่ใกล้หมดอายุนั้น ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคเช่นกัน แต่เรื่องราวจะเป็นอย่างไรเราลองไปดูกัน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คุณสมชายซื้อยาสีฟันจากร้านค้าส่งแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา และหลังจากนำกลับไปใช้งานที่บ้านก็สังเกตว่า ยาสีฟันดังกล่าวระบุวันหมดอายุเป็นหนึ่งเดือนข้างหน้า ทำให้คุณสมชาย ซึ่งเป็นผู้ใช้งานยาสีฟันดังกล่าวเพียงคนเดียวรู้สึกว่า ตนเองไม่น่าจะใช้งานทันภายในหนึ่งเดือนแน่ๆ  ดังนั้นการที่ร้านค้านำยาสีฟันที่ใกล้หมดอายุแล้ว มาวางจำหน่ายรวมกับสินค้าอื่นๆ ที่ยังไม่ใกล้วันหมดอายุ อาจเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้แนะนำผู้ร้องว่า ยาสีฟันจัดอยู่ในหมวดเครื่องสำอาง ซึ่งตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง 2558 มาตรา 32 (6) กำหนดว่าห้ามจำหน่ายเครื่องสำอางที่หมดอายุการใช้งานตามที่แสดงไว้บนฉลาก ทำให้จากกรณีนี้ทางร้านค้ายังสามารถวางขายได้จนกว่าสินค้าดังกล่าวจะหมดอายุ ซึ่งผู้บริโภคควรตรวจสอบก่อนซื้อ แต่ในกรณีนี้ที่สินค้าใกล้หมดอายุแล้ว ทางร้านก็ควรมีหลักจริยธรรมในการค้าขายและดูแลคุ้มครองผู้บริโภคของตนเองด้วย โดยหากพบว่า สินค้าใดที่กำลังจะหมดอายุ ควรมีการขายแยกหรือจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายต่างๆ ไม่วางปะปนไปกับสินค้าที่ยังคงสภาพดี และได้ทำเรื่องแจ้งแก่ผู้จัดจำหน่ายดังกล่าวเพื่อให้ปรับปรุงการจัดวางสินค้าในร้านค้าของตนเพื่อมิให้เกิดปัญหานี้ขึ้นอีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ระวังผู้สูงวัยอายุจะสั้นจากผลิตภัณฑ์กตัญญู

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผมมีโอกาสไปร่วมงานรดน้ำขอพรผู้สูงวัยหลายแห่ง  ทำให้มีโอกาสพูดคุยกับผู้สูงวัยหลายท่าน  สิ่งหนึ่งที่ผู้สูงวัยมักจะถามบ่อยๆ ก็คือเรื่องปัญหาสุขภาพ และการใช้ยาต่างๆ  ทำให้ทราบว่า นอกเหนือจากยาที่ต้องทานประจำแล้ว หลายท่านยังรับประทานผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมาย บางชนิดเป็นผลิตภัณฑ์ราคาแพงจากต่างประเทศด้วยซ้ำ เมื่อคุยไปคุยมาจึงทราบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนส่งมาจากลูกหลานของท่านที่ไปทำงานในที่ห่างไกล ท่านบอกว่าลูกหลานมักจะซื้อผลิตภัณฑ์แปลกๆ ส่งมาให้ ทีแรกท่านเองก็ไม่อยากจะกิน  แต่ขัดลูกหลานไม่ได้ ยอมรับว่าเวลาทานมันก็มีความสุขที่ลูกๆ หลานๆ ยังไม่ลืม ยังกตัญญู คอยดูแลอยู่เสมอๆ ผมมีโอกาสตามไปดูที่บ้าน  เลยได้เห็นผลิตภัณฑ์มากมายหลายชนิดจริงดังที่ท่านเล่า  ท่านบอกว่าระยะหลังๆนี้ความดันโลหิตของท่านคุมไม่ค่อยอยู่ ไม่ยอมลดลง  พอสอบถามว่าทานอะไรเพิ่มหรือเปล่า ท่านก็บอกว่ามีแค่โสมชนิดแคปซูลอย่างเดียว  ผมพลิกดูฉลากพบว่าขึ้นทะเบียนเป็นยา มีคำเตือนในผู้ป่วยบางโรค เช่น โรคความดันโลหิต  ซึ่งในแง่ข้อมูลทางวิชาการเขาก็แนะนำในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงต้องระมัดระวังอยู่แล้ว เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตของบางคนสูงขึ้นได้ ผู้สูงอายุอีกราย นำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาให้ ดู  จากฉลากแสดงส่วนประกอบเป็นพวกแร่ธาติและวิตามินชนิดต่างๆ  ฉลากมีรายละเอียดการได้รับอนุญาตถูกต้องครบถ้วน  ท่านเล่าว่าลูกชายไปทำงานที่กรุงเทพ ซื้อมาให้ ราคาขวดละหลายร้อยบาท ลูกชายสั่งให้ทานร่างกายจะได้แข็งแรง ท่านก็เลยทานเป็นประจำ วันละ 2-3 ครั้ง ผมถามท่านว่าทานแล้วมีอาการอะไรมั๊ย ท่านบอกว่าก็ปกติดีนี่  เสียแต่ว่าช่วงนี้คุมน้ำตาลไม่ค่อยอยู่  ผมถึงนึกขึ้นได้ รีบอ่านฉลาก  พบว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มีส่วนผสมของน้ำเชื่อมค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่ระดับน้ำตาลในเลือดของท่านจึงสูงขึ้น ส่วนอีกรายท่านมีอาการปวดข้อเข่า ท่านเล่าว่าในอดีตท่านเคยซื้อยาผงสมุนไพรไทยที่ฉลากเป็นรูปรากไม้สีเขียวมารับประทาน ต่อมามีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตรวจสอบยาให้  พบว่ามีสารสเตียรอยด์ ก็เลยหยุดรับประทาน หันไปรับประทานยาที่หมอโรงพยาบาลจ่ายแทน  แต่หลังๆ ก็มีคนรู้จักมาขายให้อีก เป็นยาสมุนไพรไทยเหมือนเดิม ฉลากก็คล้ายเดิม เพียงแต่ฉลากรูปรากไม้เป็นสีน้ำเงิน  คนขายบอกว่าสีนี้ไม่มีสารสเตียรอยด์ ท่านลองกินก็ได้ผล หายปวดเข่า ก็เลยทานมาเรื่อยๆพอยาหมดก็ฝากเขาซื้อ  บางครั้งก็ได้อีกชนิดที่ราคาแพงกว่า เป็นยาสมุนไพรไทยเหมือนเดิม แต่ฉลากเป็นรูปรากไม้สีส้ม  ท่านเลยเอายามาให้ผมลองตรวจสอบ  ผลปรากฏว่าทั้งชนิดที่ฉลากเป็นรูปรากไม้สีน้ำเงิน และรากไม้สีส้ม ต่างก็พบสารสเตียรอยด์ทั้งหมด ฟังเรื่องของผู้สูวัยแต่ละท่านก็อดเป็นห่วงไม่ได้ สังคมไทยกำลังเข้าสู่ยุคผู้สูงวัย แต่ผู้สูงวัยหลายท่านยังต้องเสี่ยงจากการบริโภคผลิตภัณฑ์อันตราย ที่สำคัญมันเป็นความเสี่ยงที่ท่านไม่ได้หามาเอง แต่เป็นความเสี่ยงที่มาพร้อมๆกับความกตัญญูจากลูกหลาน  ทราบอย่างนี้แล้ว ลูกหลานท่านใดจะดูแลบิดามารดา ก็ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ให้รอบคอบก่อนนะครับ ถ้าไม่จำเป็นหรือไม่แน่ใจ อย่าให้ท่านรับประทานเลย เพราะอาจทำร้ายท่านโดย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 กระแสต่างแดน

มาถูกทางแล้วค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงเป็นประวัติการณ์ในอินเดีย… อีกแล้วผู้ประกอบการโซล่าฟาร์มในรัฐราชสถานของอินเดียบอกว่าปีนี้เขาผลิตขายได้ที่อัตราขายส่ง  2.62 รูปี/kwh (ต่ำกว่าราคา “ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์” ของปีก่อนที่ 4.34 รูปี) พูดง่ายๆ ตอนนี้ถูกกว่าอัตราของค่าไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 3.20 รูปี/kwh เหตุที่ขายได้ถูกลงถึงร้อยละ 40 นั้นเป็นเพราะผู้ที่จะเข้ามาทำธุรกิจนี้สามารถกู้เงินได้ง่ายขึ้น แถมดอกเบี้ยก็ถูกลงเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากความจริงจังและชัดเจนของรัฐบาลในการสนับสนุนธุรกิจด้านนี้ ถามว่าจริงจังแค่ไหน? เอาเป็นว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานพูดออกสื่อแทบทุกวัน  และธุรกิจพลังงานทางเลือกก็ได้รับการยกเว้นภาษีด้วยนอกจากนี้ เพื่อลบภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศที่สร้างมลพิษมากเป็นอันดับสามของโลก อินเดียยังร่วมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ปารีสเมื่อสองปีก่อน และให้คำมั่นว่าจะผลิตพลังงานทางเลือกให้ได้ถึง 175 กิกะวัตต์ภายในปี 2022 และเมื่อถึงปี 2027 เขาจะทำได้ถึง 275 กิกะวัตต์แม้จะมีความท้าทายที่ต้องผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อผู้คนเป็นพันล้าน แต่การเติบโตของธุรกิจพลังงานทางเลือก (ลม น้ำ ขยะ แสงอาทิตย์) ทั้งจากผู้ประกอบการท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติก็ทำให้อินเดียไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ไปอีกอย่างน้อย 10 ปีเหตุที่ของขึ้นการสำรวจความเห็นคุณแม่ชาวสิงคโปร์โดยหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ พบว่าคุณแม่ส่วนใหญ่เชื่อว่าสาเหตุที่นมผงราคาแพงขึ้นเกือบเท่าตัวในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น แต่คณะกรรมการด้านการแข่งขันทางการค้าพบว่า ระหว่างปี 2010 และ 2014 งบการตลาดของผู้ผลิตนมผงสำหรับเด็กนั้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42.4คุณแม่คนหนึ่งเล่าว่าเธอถูกตัวแทนขายนมผงเด็กมาถามซ้ำๆ เรื่องนมผงที่ใช้และถูกตื้อให้ทดลองยี่ห้อใหม่ สถานที่เกิดเหตุก็คือคลินิกเด็กในโรงพยาบาลนั่นเอง คุณแม่ที่มาคลอดบางรายพบว่าลูกตัวเองได้รับการป้อนนมยี่ห้อหนึ่งไปโดยที่เธอไม่ได้เลือกซึ่งหมายความว่าลูกของเธอจะไม่คุ้นชินกับนมแม่ด้วย รัฐบาลสิงคโปร์กำลังเตรียมแบนการอวดอ้างสรรพคุณใดๆ ก็ตามไม่ว่าจะด้วยคำหรือภาพบนฉลากนมผงสำหรับทารก และสื่อสารให้พ่อแม่เด็กเข้าใจว่าราคาของนมผงเหล่านี้ไม่ได้ยืนยันคุณภาพแต่อย่างใด ไม่ใช่แค่กิ้งก่าในที่สุดบริษัทดอยช์บาห์น ผู้รับผิดชอบโปรเจค Stutgart 21 หรือโครงการทางรถไฟมูลค่าหลายพันล้านยูโรทางตอนใต้ของเยอรมนี ยอมจ่ายค่าขนย้ายกิ้งก่าใกล้สูญพันธุ์ออกจากพื้นที่ก่อสร้างรางรถไฟช่วงระหว่างชตุทท์การ์ทและเมืองอุลม์ เป็นมูลค่า 15 ล้านยูโร (ประมาณ 575 ล้านบาท) ตัวเลขนี้มาจากไหน? ดอยช์บาห์นเขาคำนวณจากค่าจ้างทีมมาจับกิ้งก่าหลายพันตัว ค่าใช้จ่ายในการขนส่งเป็นระยะทาง 6 ไมล์ และการจัดหาที่อยู่ใหม่ในเมือง Unterturkheim และค่าดูแลความเป็นอยู่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน เฉลี่ยแล้วตกหัวละ 2,000 – 4,000 ยูโร กลุ่มพิทักษ์สัตว์บอกว่าที่แพงขนาดนี้ก็เป็นเพราะการเตะถ่วงของบริษัทเอง ถ้ารีบจัดการตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2015 ที่รู้ปัญหาก็จะประหยัดเงินได้มากโขโครงการรถไฟสายทรานส์ยูโรเปียนนี้เริ่มก่อสร้างในปี 2010 และมีกำหนดเปิดใช้งานในปี 2021 งบประมาณขณะนี้อยู่ที่ 6,300 ล้านยูโร (204,000 ล้านบาท) ++  ไม่มีต่อเวลากรมสุขภาพของไต้หวันยืนยันว่า วิกเกอร์ โคโบ ผู้ผลิตพายสับปะรดยี่ห้อดัง มีความผิดฐานเปลี่ยนวันหมดอายุบนแพ็คเกจสินค้าจริงแม้การไปสุ่มตรวจในร้านโดยกรมฯ จะไม่พบหลักฐานการกระทำผิด แต่เขาก็ได้รวบรวมหลักฐานจากผู้แจ้งเบาะแสแล้วชงเรื่องต่อให้กับสำนักงานอัยการเมืองชิหลินทำการสืบสวนต่อไปเขาพบว่ามีขนมหลายชนิด เช่น พายสับปะรด พายไข่แดง ถูกเรียกคืนเพื่อเปลี่ยนวันหมดอายุเพื่อยืดเวลาออกไปอีก 10 วันจริง ความผิดนี้มีโทษปรับ 40,000 ถึง 4,000,000 เหรียญ  วิกเกอร์ โคโบ เป็นที่รู้จักกันดีในไต้หวันและในหมู่นักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อขนมดังจากไต้หวันไปเป็นของฝาก แต่พฤติกรรมนี้ทำให้สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวประกาศงดพาลูกทัวร์เข้าร้านชั่วคราวเพราะไม่ต้องการเสียชื่อไปด้วยโฆษกสมาคมฯ บอกว่าเข้าใจดีว่าช่วงนี้ธุรกิจไม่ดีเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวจากจีน แต่การขยายวันหมดอายุนี่มันแก้ปัญหาอะไรได้หนอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 ประกันชีวิต (เพื่อผู้สูงอายุ) ศึกษาให้เข้าใจ ไม่ตกเป็นเหยื่อ

ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่เป็นข่าวโด่งดังทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์และบนสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับปัญหาจากการซื้อ “ประกันผู้สูงอายุ” เนื่องจากมีผู้ทำประกันหลายรายถูกปฏิเสธจากบริษัทประกันในการจ่ายทุนเอาประกันหรือค่าสินไหมทดแทน โดยบริษัทแจ้งว่าผู้เอาประกันเสียชีวิตด้วยโรคร้ายแรงที่เจ็บป่วยเรื้อรังมาก่อนสมัครทำประกัน โดยจุดเริ่มต้นของปัญหาส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของความไม่ตรงไปตรงมาและการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะคำโฆษณาในทำนองที่ว่า “สมัครได้ทันที ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ เบี้ยประกันแค่วันละไม่กี่บาท” ทำให้ผู้เอาประกันตัดสินใจซื้อประกันทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำการศึกษาข้อมูลเงื่อนไขในกรมธรรม์ให้เข้าใจเพียงพอ ปัญหาที่เกิดขี้นทำให้บรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไล่ตั้งแต่ สมาคมประกันชีวิตไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องทำงานร่วมกันเพื่อหามาตรการในการจัดการปัญหา ควบคุมไม่ให้สัญญาประกันผู้สูงอายุเป็นไปในลักษณะเอาเปรียบผู้ทำประกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เกิดประกาศหลายฉบับที่ออกมาจัดการควบคุมประกันเพื่อผู้สูงอายุ ลองไปดูกันดีกว่าว่า จากนี้ไปหากจะทำประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุจะต้องศึกษาข้อมูลตรงไหนบ้างเงื่อนไขที่ควรรู้ก่อนทำประกันผู้สูงอายุสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลควบคุมธุรกิจประกันภัย ได้ออกมาทำหน้าที่จัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อประกันถูกเอาเปรียบจากบริษัทประกัน โดยได้ออกข้อกำหนดที่จะมาควบคุมรูปแบบการทำประกันเพื่อผู้สูงอายุให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ซึ่งประกาศดังกล่าวมีชื่อว่า คำสั่งเรื่อง “ให้แก้ไขเพิ่มเติมแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันชีวิตผู้สูงอายุของบริษัทประกันชีวิตและเอกสารประกอบ” ซึ่งประกาศฉบับนี้จะกำหนดรายละเอียดสำคัญที่ประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุต้องมีเอาไว้ดังนี้1.เติมคำว่า (เพื่อผู้สูงอายุ) ต่อท้ายชื่อแบบประกันต้องมีการเพิ่มคำว่า (เพื่อผู้สูงอายุ) ต่อท้ายชื่อแบบและข้อความในกรมธรรม์ประกันชีวิตผู้สูงอายุ ใบคำขอเอาประกันชีวิต และเอกสารสรุปสาระสำคัญโดยย่อที่ใช้สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งการกำหนดให้เพิ่มเติมคำว่า (เพื่อผู้สูงอายุ) ต่อท้ายชื่อของแบบประกัน ก็เพื่อให้ทั้งผู้ซื้อประกันและบริษัทฯ เข้าใจร่วมกันว่า ประกันฉบับนี้คือประกันเพื่อผู้สูงอายุ ข้อกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์และความคุ้มครองจะต้องเป็นไปตามประกาศที่ทาง คปภ. กำหนด ทางบริษัทประกันไม่มีสิทธิใช้ข้ออ้างอื่นใดในการปฏิเสธหรือไม่ทำตามข้อกำหนดที่มีอยู่ในประกาศ2.อายุผู้ที่สามารถทำประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุได้ต้องมากกว่า 50 ปีขึ้นไปอายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถเอาประกันภัยเพื่อผู้สูงอายุอยู่ที่ 50 ปีขึ้นไป จนถึง 70 หรือ 75 ปี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท โดยจะได้รับเงินทุนเอาประกันเมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิต หรืออยู่ครบอายุสัญญาที่อายุ 90 ปี3. ไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องแถลงสุขภาพในใบคำขอเอาประกันชีวิตส่วนนี้คือจุดเด่นที่สุดของประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุ เพราะเปิดโอกาสที่ผู้สูงอายุทุกคนสามารถทำประกันชีวิตเพื่อมีเงินไว้ใช้เมื่ออายุมากขึ้น หรือมีเงินก้อนไว้ให้ลูกหลานในวันที่จากไป ซึ่งการบังคับให้มีการกำหนดเรื่องการไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องแถลงสุขภาพในใบคำขอเอาประกันชีวิต ทำให้บริษัทประกันไม่สามารถเอาเรื่องการป่วยด้วยโรคเรื้อรังร้ายแรงก่อนทำประกันมาเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธการจากเงินเอาประกันได้อีก4.ผู้เอาประกันเสียชีวิตก่อนครบ 2 ปี จะต้องได้เบี้ยประกันคืน พร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 2หากผู้เอาประกันเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 2 ปี นับแต่วันทำสัญญา บริษัทฯ จะคืนเบี้ยประกันที่ได้รับมาแล้วพร้อมเงินเพิ่มในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่ผู้รับประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ ร้อยละ 2 – 5 ตามแต่ละบริษัทฯ 5.ยกเลิกกรมธรรม์ได้ภายใน 15 วันต้องมีการระบุในสัญญาว่า ผู้เอาประกันภัยสามารถขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตได้ ภายใน 15 หรือ 30 วันแล้วแต่กรณี นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ประกันชีวิตประกันผู้สูงอายุ ให้ผลประโยชน์แบบไหนจุดเด่นของ ประกันชีวิตผู้สูงอายุ ก็คือการเป็นทางเลือกให้กับผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถสมัครทำประกันแบบปกติทั่วไปได้ เพราะประกันชีวิตผู้สูงอายุ มาพร้อมเงื่อนไขที่ว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพและก็ไม่ต้องแจ้งเรื่องสุขภาพลงในสัญญา ทำให้ผู้สูงอายุที่ต้องการมีเงินไว้ให้กับลูกหลานหรืออาจจะเก็บไว้ใช้เองยามแก่เฒ่า สามารถเลือกทำประกันเพื่อผู้สูงอายุได้แต่ทั้งนี้บริษัทประกันก็ได้มีการออกแบบมาไว้แล้ว โดยใน 2 ปีแรก หากผู้ทำประกันเสียชีวิตด้วยโรคร้ายแรง ก็ได้รับเพียงเงินจากเบี้ยประกันที่จ่ายมา บวกเงินเพิ่มที่ทางบริษัทประกันจะจ่ายให้อีกร้อยละ 2 ของเบี้ยประกันที่จ่ายมาแล้ว ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก เช่น ถ้าในช่วง 2 ปีก่อนเสียชีวิต ผู้ทำประกันจ่ายเบี้ยมาแล้วเป็นเงิน 4,000 บาท ก็จะได้เงินเพิ่มอีก ร้อยละ 2 ของเบี้ยประกันคือ 4,000 บาท หรือเท่ากับ 80 บาท รวมแล้วผู้รับผลประโยชน์ก็ได้เงินจำนวน 4,080 บาท ในกรณีที่เสียชีวิตจากโรคในช่วง 2 ปีแรกของการทำประกันส่วนการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วง 2 ปีแรกของการทำประกัน จะได้รับผลประโยชน์เต็มจำนวนของเงินทุนเอาประกัน เช่นเดียวกับเมื่อทำประกันเข้าสู่ปีที่ 3 ก็จะได้รับเงินทุนเอาประกันเต็มวงเงินไม่ว่าเสียชีวิตจากอาการเจ็บป่วยจากโรคหรืออุบัติเหตุกรณีที่อยู่จนครบสัญญาประกันซึ่งส่วนใหญ่กำหนดไว้ที่อายุ 90 ปี ผู้เอาประกันก็จะได้รับเงินทุนเอาประกันเต็มวงเงินเช่นกันประกันชีวิตสูงวัย ไม่คุ้มครองเรื่องรักษาพยาบาลประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุ จะเน้นที่การคุ้มครองในลักษณะประกันชีวิตเพียงอย่างเดียว ตามชื่อแบบประกัน คือจะให้ผลประโยชน์ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตหรืออยู่จนครบอายุสัญญาเท่านั้น ไม่ได้ให้ความคุ้มครองในส่วนของค่ารักษาพยาบาล หรือการจ่ายเงินปันผล แต่บริษัทประกันชีวิตหลายแห่งก็มีการขายสิทธิประโยชน์เหล่านี้เพิ่มเติมกับประกันชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งแน่นอนว่าในเงื่อนไขสัญญาของสิทธิอื่นๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาก็จะมีความแตกต่างไปจากเงื่อนไขสัญญาของประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุทั่วไปรู้ให้ทันโฆษณาประกันชีวิตประเด็นหลักที่ทำให้ก่อนหน้านี้ “ประกันชีวิตเพื่อผู้สุงอายุ” ถูกมองว่าเป็นสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภค ก็คือเรื่องของการโฆษณา ที่จงใจบอกเพียงแต่ผลประโยชน์สูงสุดที่จะได่รับ แต่กลับปกปิดเงื่อนไขสำคัญอย่างเกณฑ์ในการขอรับเงินคุ้มครอง แม้จะบอกว่าสมัครได้โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่ก็กลับพบปัญหาเรื่องการปฏิเสธการจ่ายเงินทุนเอาประกันคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.จึงต้องออกประกาศเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเป็นประกาศที่จะควบคุมเรื่องการโฆษณาขายประกันโดยเฉพาะ ซึ่งกำหนดที่บริษัทประกันต้องปฏิบัติในการโฆษณาขายประกันทุกประเภทมีดังนี้1.ข้อความที่โฆษณาต้องไม่เป็นเท็จหรือเกินความจริง2.ข้อความที่โฆษณาต้องไม่กำกวม มีความชัดเจน เข้าใจง่าย 3.ข้อความที่โฆษณาจะต้องไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยหรือการจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัย4.ไม่ประมาณการผลตอบแทนที่จะได้รับ หรือไม่ประมาณการผลประกอบการธุรกิจผู้เสนอขาย เว้นแต่ กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการจ่ายปันผล, กรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน และกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบยูนิเวอร์แซลไลฟ์ โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าวต้องระบุแหล่งที่มาของสมมุติฐานที่ใช้อ้างอิง5.ในการโฆษณาที่ระบุว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ” จะต้องมีการระบุให้ชัดเจนด้วยว่าต้องแถลงเกี่ยวกับสุขภาพในใบคำขอเอาประกันภัยด้วยหรือไม่ หากมีการแถลงเกี่ยวกับสุขภาพ ต้องระบุเพิ่มด้วยว่าการแถลงสุขภาพเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณารับประกันภัย หรือพิจารณาจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัย6.ในกรณีที่มีการอ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอื่นใด ต้องระบุแหล่งที่มาให้ชัดเจน ต้องไม่ตัดทอนข้อมูลดังกล่าว จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ และต้องมีข้อมูลดังกล่าว พร้อมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้7.กรณีโฆษณาผ่านสื่อโฆษณาที่ใช้ข้อความ หรือภาพ ตัวอักษรของคำเตือนและคำอธิบายรายละเอียดต้องมีความคมชัด และอ่านได้ชัดเจน8.กรณีโฆษณาผ่านสื่อโฆษณาที่มีเฉพาะการใช้เสียง ต้องจัดให้มีการอ่านออกเสียง คำเตือน และคำอธิบายรายละเอียดที่สามารถฟังเข้าใจได้9.ให้มีการระบุคำเตือน โดยใช้ข้อความว่า “ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไขก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง” หรือข้อความอื่นใดที่มีความหมายทำนองเดียวกัน10.ต้องระบุให้ชัดเจนว่าในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสื่อโฆษณาว่า กรมธรรม์ประกันภัยที่เสนอขายเป็นกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทใดที่มา : ประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสือโฆษณาตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต พ.ศ. 2556

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 สารกันบูดใน “ขนมเปี๊ยะ”

ขนมเปี๊ยะ อีกหนึ่งขนมยอดนิยมที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน จัดเป็นขนมที่นิยมซื้อหาไปเยี่ยมเยือนเพื่อนฝูง ญาติมิตร หรือรับประทานเป็นของว่างแสนอร่อย ปัจจุบันจึงมีขนมเปี๊ยะวางขายอยู่ทั่วไปมากมายหลายแบบหลายรสชาติ อย่างไรก็ตามด้วยความที่ขนมเปี๊ยะมีส่วนประกอบหลักคือ แป้ง และไส้ขนมที่มีปริมาณค่อนข้างเยอะทำให้ขนมเปี๊ยะมีความชื้นสูง ซึ่งเหมาะต่อการเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้โอกาสที่ขนมเปี๊ยะจะเน่าเสียหรือเกิดเชื้อราก่อนรับประทานหมดนั้นเกิดได้ค่อนข้างง่าย ดังนั้นผู้ผลิตรายหลายจึงเลือกที่จะใส่หรือเติมสารกันบูดลงไปด้วย เพื่อคงสภาพของขนมให้อยู่ได้นานๆ หลายวัน ทำให้ฉลาดซื้อ ฉบับนี้เลือก ขนมเปี๊ยะ จากหลายสถานที่ผลิต นำมาทดสอบหาปริมาณสารกันบูด มาดูกันว่าบรรดาเจ้าดังเจ้าอร่อยมียี่ห้อไหนบ้างที่พบการปนเปื้อนของสารกันบูดขนมเปี๊ยะ ใส่สารกันบูดได้หรือไม่?สารการบูดที่เราทำการทดสอบครั้งนี้คือ กรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก ซึ่งเป็นสารที่นิยมใส่ในผลิตภัณฑ์กลุ่มเบเกอรี่ สามารถยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ได้ดีโดยจะไปทำให้กระบวนการแทรกซึมของจุลินทรีย์เข้าไปในอาหารอาหารผิดปกติ ทำให้จุลินทรีย์ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ไม่ได้กำหนดเกณฑ์การใช้ กรดเบนโซอิก ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ ซึ่งขนมเปี๊ยะจัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าว เช่นเดียวกับขนมเค้ก ขนมพาย โดยในประกาศระบุเพียงว่า ให้ใช้ใน “ปริมาณที่เหมาะสม” ซึ่งถ้าลองนำไปเทียบกับกลุ่มอาหารชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่กฎหมายจะอนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก ไม่มีการกำหนดปริมาณการใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ อย่างไรก็ตามข้อกำหนดที่อนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมนั้น เท่ากันกับที่กำหนดไว้ในมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ โคเด็กซ์ (Codex) ที่ก็อนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกสูงสุดได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ในกลุ่มอาหารประเภทขนมอบ ส่วน กรดซอร์บิก โคเด็กซ์ กำหนดให้ใช้ได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมเช่นกัน แต่ทั้งนี้หากมีการใช้ทั้ง 2 ชนิดรวมกัน ปริมาณสูงสุดที่พบเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมผลการทดสอบผลทดสอบ ขนมเปี๊ยะ 13 ตัวอย่าง พบว่ามีเพียง 1 ตัวอย่างที่ไม่พบการปนเปื้อนของ เบนโซอิก และ ซอร์บิก คือ ขนมเปี๊ยะเหลือง จากร้าน เอส แอนด์ พี ขณะที่ตัวอย่างขนมเปี๊ยะอีก 12 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนทั้งหมด แต่ปริมาณของ เบนโซอิก และ ซอร์บิก ในขนมเปี๊ยะจากการสุ่มสำรวจครั้งนี้ พบในปริมาณที่น้อยมาก เฉลี่ยอยู่ที่ 20.47 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัมเท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้คือสูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัมข้อสังเกต-มี 3 ตัวอย่างที่มีการแจ้งบนฉลากว่า ไม่ใส่สารกันบูด คือ 1.ขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว ยี่ห้อครูสมทรง 2.ขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว ร้านหมู และ 3.ขนมเปี๊ยะบางกระบือ (โง้วฮั่วเตียง) แต่ทั้ง 3 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนของเบนโซอิก แต่ก็พบในปริมาณเพียงเล็กน้อย จึงมีความเป็นไปได้ว่าเบนโซอิกที่พบนั้น อาจปนเปื้อนอยู่ในส่วนของวัตถุดิบโดยผู้ผลิตไม่ทราบมาก่อน หรือผู้ผลิตมีการใส่สารกันบูดลงไปในส่วนผสม-มี 1 ตัวอย่างที่แจ้งว่ามีการใช้สารกันบูด คือ ขนมเปี๊ยะกุหลาบ ยี่ห้อ แต้ เซ่ง เฮง-ขนมเปี๊ยะที่เราเลือกเก็บมาทดสอบส่วนใหญ่แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกคือ ขนมเปี๊ยะเจ้าดังที่เป็นที่รู้จักของคนที่ชอบกินขนมเปี๊ยะ และมักนิยมซื้อหากันในช่วงเทศกาลสำคัญของชาวจีนอย่าง วันไหว้พระจันทร์ ซึ่งร้านขนมเปี๊ยะชื่อดังเหล่านี้ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในย่านเยาวราช เช่น ขนมเปี๊ยะ อื้อ เล่ง เฮง และ ขนมเปี๊ยะแต้เล่าจิ้นเส็ง กลุ่มที่ 2 คือ ขนมเปี๊ยะที่ขายอยู่ในร้านเบเกอร์รี่ชื่อดังที่มีสาขาหลายสาขา เช่น เอส แอนด์ พี, กาโตว์ เฮาส์ และร้านขนมบ้านอัยการ และกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มตัวอย่างขนมเปี๊ยะที่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่พบว่ามีวางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังอย่าง เทสโก้ โลตัส และ บิ๊กซี ซึ่งถือว่าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก-ถ้าดูจากวันที่ผลิตและวันหมดอายุของตัวอย่างขนมเปี๊ยะที่สุ่มสำรวจครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 1-2 เดือน ถือว่าเก็บไว้ได้ไม่นาน แต่ก็มีหลายตัวอย่างที่ไม่ได้มีการแจ้งเรื่องวันที่ผลิตและหมดอายุ เพราะลักษณะของร้านค้าที่ขายขนมเปี๊ยะส่วนใหญ่จะเป็นแบบทำไปขายไป กฎหมายอนุโลมให้อาหารลักษณะนี้ไม่ต้องมีฉลาก ซึ่งดูแล้วอายุของขนมเปี๊ยะในกลุ่มนี้ก็น่าจะใกล้เคียงกับกลุ่มที่มีการแจ้งข้อมูลบนฉลาก คือไม่เกิน 1-2 เดือนฉลาดซื้อแนะนำ-เลือกซื้อขนมเปี๊ยะจากร้านที่มั่นใจ ดูที่ทำสะอาดผลิตใหม่ทุกวัน -ขนมเปี๊ยะที่ซื้อมาแล้วกินไม่หมด ควรเก็บในตู้เย็น ช่วยยืดอายุของขนมเปี๊ยะให้นานขึ้น-แม้ว่าผลทดสอบที่ออกมาจะบอกว่า ขนมเปี๊ยะ อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยจากสารกันบูด เบนโซอิก และ ซอร์บิก เพราะปริมาณที่พบค่อนข้างน้อย แต่ก็ควรเลือกกินแต่พอดี เพราะในขนมเปี๊ยะมีส่วนผสมทั้งน้ำตาลและน้ำมันเป็นส่วนประกอบ กินมากๆ ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพขนมเปี๊ยะที่ขายกันอยู่ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ โดยแบ่งได้เป็น 2 แบบหลักๆ คือ แบบที่เปลือกนิ่ม เช่น เปี้ยะไหว้พระจันทร์ เปี๊ยะลูกเต๋า เปี๊ยะโมจิ อีกแบบคือขนมเปี๊ยะที่เปลือกแป้งจะมีความกรอบร่วนมีลักษณะเป็นชั้นๆ เช่น เปี๊ยะใหญ่ เปี๊ยะกุหลาบ เปี๊ยะทานตะวัน เป็นต้นตามความเชื่อของประเทศจีน ขนมเปี๊ยะ ถือเป็นขนมมงคล สื่อความหมายถึงความปรารถนาดีต่อกัน ของทั้งผู้ให้และผู้รับ ขนมเปี๊ยะเป็นขนมที่คู่กับเทศกาลไหว้พระจันทร์ ในภาษาจีนคำว่า ขนมไหว้พระจันทร์ เรียกว่า “เย่ว์ปิ่ง” ซึ่งมาจากคำ 2 คำ คือ “เย่ว์” ที่แปลว่า พระจันทร์ และคำว่า “ปิ่ง” ซึ่งหมายถึง ขนมเปี๊ยะ เพราะในเทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นช่วงเวลาที่คนจีนจะได้พบปะญาติพี่น้องแบบพร้อมหน้าพร้อมตา ร่วมกันกินขนมและชมพระจันทร์ไปพร้อมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 อาหารหมดอายุ

แม้เราจะเคยเสนอประเด็นเรื่องอาหารหมดอายุมาแล้วหลายครั้ง แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่เรื่อยๆ ดังเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคทั้ง 2 รายนี้กรณีที่หนึ่ง โยเกิร์ตหมดอายุเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณปาริชาติ เธอได้ซื้อโยเกิร์ตยี่ห้อหนึ่งจำนวน 2 แพ็ค จากห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ในราคาที่ลดกระหน่ำเหลือเพียงแพ็คละ 7.50 บาท แต่ด้วยความเร่งรีบจึงทำให้เธอลืมตรวจสอบ ว/ด/ป หมดอายุของสินค้าดังกล่าว ซึ่งภายหลังนำมารับประทานจึงพบว่าสินค้าทั้ง 2 แพ็ค หมดอายุไปแล้ว ทำให้เธอส่งเรื่องมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ โดยต้องการให้ห้างสรรพสินค้าดังกล่าวรับผิดชอบที่นำอาหารหมดอายุมาวางจำหน่ายแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีนี้สามารถอ้างอิงตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง การจำหน่ายอาหารหมดอายุได้ว่า เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุว่ามีโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับศูนย์ฯ จึงแนะนำให้ผู้ร้องเตรียมเอกสารประกอบการร้องเรียน ได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน รูปถ่ายผลิตภัณฑ์ – ตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้หากมีอาการผิดปกติกับร่างกาย เช่น ท้องเสีย อาเจียน สามารถไปพบแพทย์และขอใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐานเพิ่มเติมได้ และศูนย์ฯ จะช่วยทำหนังสือร้องเรียนไปยังห้างสรรพสินค้าดังกล่าว เพื่อให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยตามข้อเสนอของผู้ร้อง ซึ่งภายหลังการเจรจาได้มีเสนอชดเชยผู้ร้องเป็นจำนวนเงิน 4,000 บาท ซึ่งผู้ร้องยินดีและขอยุติการร้องเรียนกรณีที่สอง เบียร์หมดอายุเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณสมชาย เขาซื้อเบียร์ต่างประเทศ จากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งระบุวันที่ผลิตว่าปี 2015 อย่างไรก็ตามภายหลังซื้อมาดื่ม เขาพบว่ามีอาการปวดท้องและท้องเสีย และเมื่อมาค้นหาข้อมูลเรื่องวันหมดอายุของเบียร์ก็พบว่า โดยปกติเบียร์ต่างประเทศจะมีอายุได้เพียง 1 ปีเท่านั้น ทำให้เขาคาดว่าเบียร์ดังกล่าวน่าจะหมดอายุไปแล้ว และเป็นสาเหตุของอาการท้องเสียที่เกิดขึ้น จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องโทรศัพท์ไปสอบถามยังบริษัทผู้ผลิตสินค้าดังกล่าวก่อนว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผู้ร้องซื้อมามีอายุการบริโภคเท่าไร และหมดอายุไปแล้วจริงหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าหมดอายุแล้วจริง แต่มีการนำสินค้ามาจำหน่ายจะเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กรณีจำหน่ายอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค หรือหากพบว่าอาหารยังไม่หมดอายุแต่เสื่อมสภาพแล้วก็สามารถฟ้องร้องได้เช่นกัน โดยมีโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้ร้องสามารถส่งหลักฐานประกอบการร้องเรียน เช่น ข้อมูลเอกสารผลิตภัณฑ์ ใบรับรองแพทย์ บันทึกประจำวัน มาให้ทางศูนย์ฯ ช่วยเหลือได้ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องไม่ต้องการฟ้องร้องต่อ จึงขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 กระแสต่างแดน

งานวิจัยมีธงเรามักเข้าใจว่าคำแนะนำด้านโภชนาการนั้นมีเป้าหมายเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน แต่ถ้าได้รู้ที่มาที่ไปของงานวิจัยที่เป็นพื้นฐานของคำแนะนำเหล่านั้น เราอาจต้องคิดใหม่เดือนที่แล้วอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ค้นพบเอกสารชิ้นหนึ่งในชั้นใต้ดินของห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ทำให้รู้ว่าในยุค 60 นักวิทยาศาสตร์ที่นั่นรับจ้างอุตสาหกรรมอาหารทำงานวิจัยที่นำไปสู่ข้อสรุปว่า ไขมันคือสาเหตุหลักของโรคหัวใจ (น้ำตาล จึงรอดตัวจากการถูกสังคมรังเกียจ) ทุกวันนี้ค่ายอาหารก็ยังคงใช้วิธีเดิม งานวิจัยที่ได้ข้อสรุปชวนพิศวงว่า เด็กที่ไม่ได้รับประทานช็อคโกแล็ตแท่งมีน้ำหนักมากกว่าเด็กที่ทานบ่อยๆ ก็เป็นงานที่ได้รับทุนจากเฮอร์ชียส์ ผู้ผลิตช็อกโกแล็ตรายใหญ่นั่นเอง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กที่ศึกษาเรื่องการเป็นผู้สนับสนุนงานวิจัยของบริษัทอาหารพบว่าร้อยละ 90 ของงานเหล่านี้ มีข้อสรุปในทิศทางที่เป็นผลดีต่อผู้ให้ทุน นี่นับเฉพาะการสนับสนุนที่ทำอย่างเปิดเผยเท่านั้น ...ไม่เอาวันหมดอายุเงินเป็นสิ่งที่ไม่มีวันหมดอายุ แต่เมื่อเราเปลี่ยนมันเป็นบัตรของขวัญแล้วทำไมอายุของมันจึงถูกจำกัดอยู่แค่ 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี เท่านั้น ผลการสำรวจความเห็นของนักช้อปโดยองค์กรผู้บริโภคนิวซีแลนด์ระบุว่า คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรม และมูลค่าความสูญเสียจากการใช้บัตรกำนัล “ไม่ทันเวลา” สูงถึง 10 ล้านเหรียญต่อปี (250 ล้านบาท) จากกระแสเรียกร้องให้ขยายวันหมดอายุออกไปเป็น 5 ปี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์ให้ “ยกเลิกวันหมดอายุ” สำหรับบัตรกำนัลเหล่านี้ไปเลย เสียงตอบรับอยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีผู้ประกอบการร้านค้าปลีก 25 ราย ยอมเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข บางร้านยกเลิกวันหมดอายุ ในขณะที่บางเจ้าเลือกแบบขยายเวลาแต่ร้านค้าบางแห่งยังยืนยันใช้ระยะเวลา 1 ปีเหมือนเดิม โดยให้เหตุผลว่าผู้ถือบัตรจะไม่ได้รับผลกระทบเพราะเขาจะผ่อนผันหรือไม่ก็ออกบัตรใหม่ให้ ... ถ้าจะทำขนาดนั้นแล้วจะกำหนดวันหมดอายุไปทำไมกันมีขึ้นต้องมีลงผู้ใช้บริการรถเมล์และรถไฟฟ้าที่สิงคโปร์คงจะมีความสุขมากขึ้นในปีหน้า เพราะสภาการขนส่งสาธารณะประกาศปรับลดค่าโดยสารลงร้อยละ 4.2 สำหรับผู้ใช้บัตรโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคมนี้เป็นต้นไปผู้ใช้รถสาธารณะจำนวน 2.2 ล้านคน ทั้งที่ถือบัตรเดินทางสำหรับผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย และนักเรียน ต่างก็จะได้รับส่วนลดต่อเที่ยวระหว่าง 1 ถึง 27 เซนต์แล้วแต่ระยะทางและประเภทของบัตร เขาสามารถลดค่าโดยสารได้เนื่องจากปีนี้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลดลง แต่ไม่แน่ว่าต่อไปจะมีการปรับขึ้นหรือไม่ สิงคโปร์ขาดแคลนพนักงานขับรถ ผู้ประกอบการแต่ละเจ้าจึงแย่งกันเสนอเงินเดือนเพื่อให้ได้ตัวบุคลากรคุณภาพมาอยู่กับบริษัท พขร. ที่ได้เงินเดือนระหว่าง 40,000 ถึง 50,000 บาท นี้ต้องผ่านการอบรมหลายขั้นตอนทั้งจากบริษัทและหน่วยงานรัฐ นอกจากจะขับขี่อย่างปลอดภัยแล้ว ยังต้องมีความรู้เรื่องงานบริการ ระบบการออกตั๋ว ไปจนถึงกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ด้วยเคลียร์ไม่ได้ผลกระทบจากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับมาหลอกหลอนผู้คนที่ฟุกุชิมะอีกครั้ง หลังพบตะกอนกัมมันตรังสีในถังบำบัดน้ำเสียของศูนย์บริการล้างรถสูงเกินระดับที่รัฐกำหนดไปถึง 7 เท่าหลังเหตุระเบิดเมื่อเดือนมีนาคมปี 2011 ฝุ่นเถ้าต่างๆ ก็ปลิวมาติดรถยนต์ที่อยู่ในรัศมี เมื่อผู้คนในเมืองเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติและนำรถไปล้างในศูนย์บริการเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,700 แห่งในจังหวัดฟุกุชิมะ กากตะกอนเหล่านี้จึงไปรวมกันอยู่ที่นั่นห้าปีผ่านไป ถังบำบัดเริ่มเต็มจึงต้องมีการตักตะกอนออก แต่ตะกอนเหล่านี้ไม่ธรรมดา ไม่สามารถใช้พลั่วตักออกเฉยๆ เพราะเป็นอันตรายต่อคนทำงาน ต้องหาวิธีที่ปลอดภัยเพียงพอ และเมื่อตักออกมาแล้วก็ต้องหาวิธีทิ้งที่ปลอดภัยอีกเช่นกันสมาคมผู้ประกอบการศูนย์ล้างรถเคยเรียกร้องให้รัฐบาลและบริษัทโตเกียวพาวเวอร์ออกมารับผิดชอบ แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะกฎหมายดูแลมาไม่ถึงตะกอนในถังบำบัด ... นิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องที่จะเคลียร์กันได้ง่ายๆคุณคิดอะไรอยู่ทุกวันเฟสบุ้คถามผู้คนกว่า 1,700 ล้านคนว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ และผู้คนเหล่านี้ก็ยินดีตอบเสียด้วย งานสำรวจจากสหรัฐฯ ที่ติดตามโพสต์ของคนอเมริกัน 555 คน พบว่าสิ่งที่พวกเขาบอกเฟสบุ้คผ่านถ้อยคำหรือรูปภาพ รวมถึงความถี่ในการบอกนั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของพวกเขา เช่น คนที่ชอบสังคมมักจะโพสต์เรื่องราวกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน คนที่ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของตัวเองมักโพสต์เกี่ยวกับแฟนบ่อยๆ คนมีปัญหา จะเรียกร้องความสนใจหรือแสวงหาการยอมรับ และคนหลงตัวเองจะโพสต์ความสำเร็จเกี่ยวในการออกกำลังกายหรือควบคุมอาหาร เป็นต้น หลายคนบำบัดอารมณ์ตัวเองด้วยระบายความคับข้องใจลงในโพสต์ แต่งานวิจัยจากเม็กซิโกพบว่าการทำแบบนี้จะส่งผลร้ายมากกว่า และถึงกับออกคำเตือนให้คนเหล่านั้นไปพบแพทย์ตัวจริงแต่บอกไว้ก่อน การตัดขาดจากแวดวงออนไลน์ก็ไม่ใช่ทางออก มันอาจเป็นสัญญาณว่าเรากำลังมีปัญหาหรืออยู่ในภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 ป้ายลดราคาปิดทับวันหมดอายุ

ความคุ้มค่าของสินค้าลดราคา สามารถวัดได้จากสินค้าที่ยังอยู่ในสภาพดี เพราะหากเราได้สินค้าที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุไปแล้วก็ไม่ต่างจากการเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ที่ไหวตัวทันก่อนเสียรู้ได้ของหมดอายุที่นำมาลดราคาคุณสมศักดิ์ต้องการซื้อไข่ไก่สดจากห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซึ่งมีโปรโมชั่นลดราคาจาก 89 บาท เหลือ 44.50 บาท อย่างไรก็ตามก่อนตัดสินใจซื้อเขาได้พยายามหา ว/ด/ป หมดอายุที่ต้องระบุไว้ข้างกล่อง แต่ก็ไม่พบรายละเอียดดังกล่าว เขาจึงลองแกะป้ายลดราคาออกดูและพบว่าป้ายลดราคาได้ปิดทับวันหมดอายุไว้ ซึ่งภายหลังการตรวจสอบจึงทราบว่าไข่ไก่ดังกล่าวหมดอายุไปแล้วตั้งแต่ 2 วันก่อน และเมื่อตรวจสอบกล่องอื่นๆ ก็พบว่ามีการติดป้ายราคาทับวันหมดอายุในลักษณะเดียวกัน เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เขาจึงถ่ายรูปรายละเอียดต่างๆ เก็บไว้เป็นหลักฐาน และเขียนเล่าเหตุการณ์ลงสื่อสังคมออนไลน์ จากนั้นจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อให้ช่วยทำข่าวและเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้บริโภคคนอื่นๆแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องทำข่าวดังกล่าว และเผยแพร่ลงเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (http://www.consumerthai.org) พร้อมแนะนำว่าหากผู้ร้องต้องการแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าวก็สามารถทำได้ เนื่องจากการที่ห้างสรรพสินค้ามีการแสดงป้ายราคา โดยปิดทับวันเดือนที่ผลิตหรือหมดอายุ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด อาจเข้าข่ายการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายมาตรา 343 โดยมีโทษจำคุก 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องไม่ต้องการแจ้งความใดๆ เพียงแต่ต้องการแจ้งข่าวผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเตือนให้ผู้บริโภคคนอื่นมีความระมัดระวังในการเลือกซื้อสินค้าเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 นมเสื่อมคุณภาพก่อนวันหมดอายุ

วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริโภคทราบว่าสินค้าดังกล่าวยังคงมีคุณภาพหรือไม่ และจะเสื่อมสภาพเมื่อใด อย่างไรก็ตามใช่ว่าเราจะมั่นใจเช่นนั้นได้เสมอไป ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ที่พบปัญหาสินค้าเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุคุณพรพรรณซื้อนมจืดยี่ห้อไทยเดนมาร์ค จากห้างท๊อป ซุปเปอร์มาร์เก็ต ขนาด 200 มล. จำนวน 1 ลัง ราคา 315 บาท มาให้หลานชายรับประทาน ซึ่งเธอได้ตรวจสอบ ว/ด/ป ที่หมดอายุข้างกล่องแล้วว่าอีกหลายเดือนกว่าจะครบกำหนด อย่างไรก็ตามหลังนำมาเทใส่ขวดนมให้หลานรับประทาน กลับพบว่านมดังกล่าวมีลักษณะจับตัวเป็นก้อนคล้ายนมบูด เมื่อตรวจสอบกล่องอื่นๆ ก็พบว่ามีลักษณะคล้ายกัน เธอจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำปรึกษา โดยต้องการให้บริษัทเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องส่งหลักฐานประกอบการร้องเรียนมาเพิ่มเติม คือ สำเนาใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งรูปถ่ายลักษณะผิดปกติของนมดังกล่าว พร้อมส่งตัวอย่างของสินค้าให้ผู้ผลิตนำไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพ ซึ่งภายหลังการตรวจสอบโดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ภาคกลางพบว่า ผลการวิเคราะห์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการเสื่อมคุณภาพเฉพาะกล่อง ซึ่งมีสาเหตุจากกระบวนการผลิต การเก็บรักษาหรือการขนส่งทั้งนี้ทางบริษัทจึงแจ้งว่าจะเพิ่มความเข้มงวดในกระบวนการผลิต ตรวจสอบคุณภาพการขนส่งโดยปฏิบัติตามระบบคุณภาพ มาตรฐาน GMP HACCP ISO และ HALAL อย่างเคร่งครัด เพื่อปรังปรุงพัฒนาให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น และหากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์ที่กล่องบุบหรือชำรุดสามารถส่งคืนที่ อ.ส.ค. ให้ดำเนินการเปลี่ยนใหม่ได้ นอกจากนี้ก็ได้ชดเชยให้ผู้ร้องเป็นผลิตภัณฑ์นมจำนวน 5 ลัง ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอและไม่ติดใจปัญหาแล้วจึงยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >