ฉบับที่ 132 กระแสในประเทศ

 ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 2555 คอนแทคเลนส์ อันตรายต่อดวงตา...ถ้าใช้ไม่เป็น ใครที่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ ต้องใส่ใจดูแลตัวเองให้มากขึ้น เพราะราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ฝากเตือนคนที่ใส่คอนแทคเลนส์ไม่ถูกวิธีอาจมีผลทำให้กระจกตาอักเสบ ซึ่งเกิดจากการไม่รักษาความสะอาดจนเกิดอาการติดเชื้อ และการที่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานานเกินไป ซึ่งเวลาที่เหมาะสมในการใส่คอนแทคเลนส์คือไม่เกิน 7 ชั่วโมง สำหรับคำแนะนำในการใส่คอนแทคเลนส์ให้ปลอดภัย คือ อย่าใส่ในเวลานอน เพราะคอนแทคเลนส์จะไปปิดกั้นออกซิเจนที่จะเข้ามาเลี้ยงดวงตาของเรา ส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อม คนที่มีปัญหาด้านสายตาแล้วต้องการใส่คอนแทคเลนส์ ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ เพราะปัญหาเรื่องสายตาบางอย่างอาจไม่เหมาะกับการใช้คอนแทคเลนส์ เช่น คนที่มีตาแห้ง หรือเป็นโรคภูมิแพ้ในตา------------------------------------------------------------------------------------------   อีกแล้ว!!! อาหารเสริมโม้สรรพคุณ “เอนไซม์ – น้ำเห็ดสกัด”คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ต้องออกมาเตือน (อีกครั้ง) เรื่องของการเข้าใจผิดของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ “เอนไซม์” ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เอนไซม์เจนิฟู้ด เอนไซม์ลี่เป่า เอนไซม์หว้างเหวียนเป่า และรวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำเห็ดสกัด 6 สายพันธุ์ ที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่ารักษาสารพัดโรค  ซึ่ง อย.ได้ตรวจโฆษณาของผลิตภัณฑ์โม้สรรพคุณเกินจริงเหล่านี้ ตามเคเบิ้ลทีวี วิทยุ เว็บไซต์ และแผ่นพับ ใบปลิวต่างๆ ทั้งหมดไม่ได้รับการอนุญาตจาก อย. เพราะฉะนั้นผู้บริโภคอย่าหลงไปซื้อหามารับประทานเด็ดขาด เพราะผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเป็นเพียงแค่อาหารเสริมไม่ใช่ยารักษาโรค การอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ ที่เห็นในโฆษณาเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค นอกจากเป็นการเสียเงินโดยใช่เหตุแล้ว ยังอีกเสี่ยงได้โรคเพิ่มหรือทานไปแล้วอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ใครที่พบเห็นโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงหรือจงใจหลอกลวงผู้บริโภค สามารถร้องเรียนไปได้ที่ สายด่วน อย. 1556------------------------------------------------------------------------------------------     ถ้าไม่มีสัญญาณ ต้องแจ้งล่วงหน้า 3 วัน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมออกเกณฑ์มาตรฐานให้กับบรรดาบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หากต้องการปรับปรุงสัญญาณแล้วส่งผลต่อการใช้งานของผู้บริโภค ต้องมีการแจ้งล่วงหน้าให้ กสทช.ทราบก่อน 30 วัน และประกาศให้ประชาชนรู้ก่อนอย่างน้อย 3 วัน เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเตรียมหาช่องทางสื่อสารอื่นๆ ไว้รับรอง หากเกิดความจำเป็นที่ต้องติดต่อสื่อสาร ก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบดีแทค เกิดปัญหาไม่มีสัญญาณไม่สามารถใช้งานได้ทั้งการโทรออกและรับสาย ซึ่งแม้จะมีการแก้ไขและชดเชยให้กับผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบ แต่ก็สร้างความสงสัยถึงมาตรฐานการบริการ กสทช. จึงต้องออกข้อบังคับดังกล่าวมาใช้ เพื่อป้องกันผลเสียต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค -------------------------------------------------     วันนี้คุณแปรงฟัน (ถูกวิธี) แล้วหรือยัง “ฟัน” สิ่งสำคัญที่หลายคนอาจมองข้ามเรื่องการดูแล เพราะจากผลสำรวจพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของคนไทยอายุ 15 – 60 ปี โดยกรมอนามัย พบว่ายังมีคนที่แปรงฟันไม่ถูกวิธีอยู่ถึง 34% ซึ่งการแปรงฟันที่ผิดวิธีจะส่งผลให้คอฟันสึกเร็วขึ้น แถมผลสำรวจยังบอกอีกว่า เวลาที่มีเศษอาหารติดฟันจะใช้ไม้แคะฟันแคะเศษอาหารมากถึง 43% ซึ่งการใช้ไม้จิ้มฟันเพื่อกำจัดเศษอาหาร เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง ไม่ควรใช้ไม้จิ้มฟันดัน หรือแคะอย่างรุนแรง หรือเสียบไม้จิ้มฟันทะลุซอกฟันจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง แล้วหมุนหรืองัด เพราะจะทำให้เกิดปัญหาซอกฟันโหว่เป็นโพรง ฟันห่าง เหงือกร่น คอฟันหรือผิวรากฟันสึก ทำให้เกิดอาการเสียวฟัน ฟันผุ ทันตแพทย์ของกรมอนามัยแนะนำว่า การดูแลสุขภาพปากและฟันที่ดีที่สุด คือการแปรงฟันทุกครั้งหลังมื้ออาหาร และหากมีการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลระหว่างมื้อควรบ้วนน้ำตาม เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนาดเหมาะสมกับช่องปาก ขนแปรงควรทำจากไนล่อนที่มีความนุ่มปานกลาง ซึ่งการแปรงฟันที่ถูกวิธีนั้นคือการแปรงขึ้นแปรงลงไปตามปลายฟัน หากเศษอาหารที่ติดแน่นในซอกฟันควรใช้เส้นใยขัดซอกฟันเป็นตัวช่วย ส่วนการเลือกยาสีฟัน ควรผสมฟลูออไรด์ไม่เกินร้อยละ 0.11 โดยน้ำหนัก หรือ 1,100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เพราะถ้ามีฟลูออไรด์มากเกินไปจะทำให้ฟันตกกระ ใช้เวลาแปรงฟัน 2 นาทีขึ้นไป เพื่อให้ฟลูออไรด์สัมผัสกับผิวฟันได้อย่างเต็มที่    10 สุดยอดธุรกิจนวัตกรรม ประจำปี 2554สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สนช. ได้ทำการคัดเลือก  “10 สุดยอดธุรกิจนวัตกรรม ประจำปี 2554 (TOP TEN INNOVATIVE BUSINESS 2011)” จากผลงานจากโครงการที่ สนช. ได้ให้การสนับสนุนจำนวนทั้งสิ้น 680 โครงการ โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคือ 1. รูปแบบธุรกิจใหม่ 2. เทคโนโลยีที่โดดเด่น 3. ศักยภาพสูงในตลาดโลก 4. การบริหารจัดการองค์กรที่ดี และ 5. รูปแบบธุรกิจได้ส่งเสริมให้เกิดกระแสตื่นตัวด้านนวัตกรรมในประเทศไทย มาดูสิว่า 10 สุดยอดนวัตกรรม ประจำปี 2554 มีอะไรกันบ้าง 1."ไทเกอร์" มุ้งกันยุงนาโนหน่วงการติดไฟ ของ บริษัท บางกอก เบดเน็ท อาร์แอนด์ดี มาร์เก็ตติ้ง จำกัด มุ้งที่สามารถไล่ยุงและกันไฟได้ในผืนเดียวกัน 2. “โอไรเซ่” แป้งฟัฟจากแป้งข้าวเจ้า ของ บริษัท ไทย โปรดักส์ อินโนเวชั่น จำกัด สวยแบบธรรมชาติ แถมยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับข้าว       3.“โมบายเบิร์น” เตาเผาขยะเคลื่อนที่ ของ บริษัทเชียงใหม่ เอ็นไวรอนเมนท์ โปรเทค จำกัด ร่วมกับบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เทคโนโลยีแก็ซซิฟิเคชั่น ลดการใช้เชื้อเพลิง ไม่สร้างมลภาวะ         4.“เมดซ์เพิร์ล” ระบบสื่อสารข้อมูลการแพทย์ทางไกล ของ บริษัท จี.ไอ.แคปซูล ไดแอ็คโนสติกส์ จำกัด ช่วยวิเคราะห์โรคผู้ป่วย ด้วยเทคโนโลยีกล้องขนาดจิ๋ว ให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถอ่านผลตรวจผ่านระบบเครือข่าย เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา           5. “อีชัวร์” ชุดตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียชนิดรวดเร็ว ของ บริษัท มิตร เมดดิคอล จำกัดชุดตรวจโรคที่ให้ผลรวดเร็วขึ้น และผลที่ได้มีประสิทธิภาพ ไม่คลาดเคลื่อน       6. “อี คอมโพสิม” วัสดุ BMC จากขวดเพทใช้แล้วสำหรับผลิตโคมไฟรถยนต์ ของ บริษัท ไทย โดโน-เกน เกน เคมีคอล จำกัด นวัตกรรมที่ช่วยรีไซเคิลขวดน้ำพลาสติกใส ให้กลายมาเป็นโคมไฟรถยนต์             7.“โทฟุซัง” น้ำเต้าหู้โปรตีนสูง ของ บริษัท โทฟุซัง จำกัด น้ำเต้าหู้โปรตีนสูง เพราะเพิ่มส่วนผสมของฟองเต้าหู้         8.“เอ็กซ์ทียูเอวี” อากาศยานไร้นักบินขนาดกลางสมรรถนะสูง ของ บริษัท จี เอ็ม ที โปรดักส์ชั่น จำกัด อากาศยานไร้นักบินระดับกลาง บังคับทิศทางอัตโนมัติด้วยระบบดาวเทียม (GPS)           9.“สยามนิชชิน” รถเข็นน้ำหนักเบาสำหรับคนพิการ ของ บริษัท สยามนิชชิน จำกัด อุปกรณ์รถเข็นน้ำหนักเบา เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ทุพพลภาพ       10.“กรีนพลาส เอ็นอาร์” ถุงเพาะชำกล้าไม้จากพลาสติกชีวภาพ ของ บริษัท สาลี่ คัลเล่อร์ จำกัด (มหาชน)ฟิล์มพลาสติกชีวภาพสำหรับงานเกษตรกรรมที่สลายตัวได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 25547 สิงหาคม 2554ไม่ถูกจริงมีสิทธิโดนฟ้อง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครจะชอบของฟรีของถูก แต่ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะห้างสรรพสินค้าสมัยนี้ชอบใช้วิธีโฆษณาจูงใจให้คนออกมาซื้อสินค้า โดยบอกว่ามีการจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ที่มักเห็นบ่อยๆ ตามแผ่นโบรชัวร์ที่เดินแจกกันตามบ้าน หรือไม่ก็ลงโฆษณากันในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่พอถึงเวลาไปซื้อสินค้าที่ห้างจริงๆ กลับไม่มีสินค้าที่บอกว่าแถมว่าถูกอย่างที่โฆษณาไว้วางขายอยู่ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็ถือว่าเข้าข่ายโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค งานนี้จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องออกโรงช่วยเหลือผู้บริโภค  สคบ.มีแนวคิดในการจัดทำร่างแนวทางการโฆษณาของการลด แลก แจก แถม หรือการจัดโปรโมชั่นของห้างสรรรพสินค้าใหม่ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค ซึ่งกลยุทธการโฆษณาจัดรายการโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ที่ห้างสรรพสินค้าใช้นั้น จริงๆ ก็เป็นเพียงการตลาดอย่างหนึ่งเพื่อดึงลูกค้าให้มาใช้บริการ และซื้อสินค้าอื่นแทน ถือว่าเป็นการเอาเปรียบ และเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค   สคบ. ก็ได้หาวิธีการแก้ไข หลังจากเริ่มการร้องเรียนถึงปัญหาที่กล่าวมาเพิ่มมากขึ้น โดย สคบ. จะบังคับกับทางห้างสรรพสินค้าว่า ต้องระบุจำนวนของสินค้าที่มีจำหน่ายแต่ละสาขาลงในโฆษณา เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลก่อนตัดสินใจไปซื้อคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา จะร่างแนวทางการโฆษณาสำหรับสินค้าที่จัดโปรโมชันในห้างสรรพสินค้า เพื่อขอความร่วมมือไปยังสินค้าและห้างสรรพสินค้าที่จัดรายการต่างๆ โดยคาดว่าจะสามารถประกาศเป็นกฎกระทรวงได้ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อป้องกันการเอาเปรียบ ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 30,000 บาท รวมทั้งสื่อที่โฆษณาก็จะต้องถูกเทียบปรับกึ่งหนึ่งคือ 15,000 บาทด้วย--------------------     28 สิงหาคม 2554ขวดพลาสติกใช้ซ้ำ ต้องระวังเรื่องความสะอาด บ้านใครที่ใช้ขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ซ้ำสำหรับใส่น้ำดื่มอีกรอบ คงต้องตั้งใจอ่านข่าวนี้ให้ดี เพราะกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกมาเตือนคนที่อยากประหยัดและช่วยลดโลกร้อนด้วยการนำขวดน้ำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ อย่าลืมดูเรื่องความสะอาด ก่อนนำมาใช้ก็ต้องล้างทำความสะอาดให้ดี โดยเฉพาะบริเวณปากขวดและฝาขวด ที่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคจากการสัมผัสกับมือและปากเวลาที่เราดื่มน้ำจากขวด นอกจากนี้ขวดที่นำกลับมาใช้ซ้ำเมื่อใช้ไปนานๆ สีของขวดอาจมีการเปลี่ยนแปลง ต้องคอยสังเกตดูว่าหากมีคราบสีเหลือง มีสีขุ่น ขวดไม่ใสเหมือนเดิม ก็ไม่ควรนำมาใช้ต่อ  ขวดที่บุบ มีรอยร้าว รอยแตก ก็ไม่เหมาะสำหรับนำมาใส่น้ำดื่ม  สำหรับพลาสติกที่ใช้สำหรับผลิตขวดน้ำดื่มจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ ขวดสีขาวขุ่น ทำจากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน (Polyethylene) หรือ PE และขวดใสไม่มีสีทำจากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (Poly Ethylene Terephthalate) หรือ ขวด PET ซึ่งนิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ขวดที่แบบขวดใสควรเก็บในที่แสงสว่างส่องไม่ถึง เพราะน้ำในขวดอาจเสื่อมคุณภาพหรืออาจเกิดตะไคร่ขึ้นภายในขวดได้-----------------------     31 สิงหาคม 2554อย.ลงดาบ “ซันคลาร่า” แค่อาหารเสริม...ไม่ใช่ยารักษาโรคอาหารเสริมตัวร้ายยังสร้างเรื่องวุ่นวายได้เรื่อยๆ ล่าสุด คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เอาผิดผลิตภัณฑ์อาหารเสริม “ซันคลาร่า” ที่กำลังโฆษณาขายกันอย่างแพร่หลาย ทั้งใน เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน และเว็บไซต์ ซึ่งอวดอ้างสรรพคุณครอบจักรวาล ทั้ง ดูแลผิวพรรณ ลดน้ำหนัก กระชับภายใน ต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคเบาหวาน พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ฯลฯ โดย อย. ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการโฆษณาอย่างผิดกฎหมาย เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเพียงแค่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค การโฆษณาในลักษณะดังกล่าวเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง สร้างความสับสนให้ผู้บริโภค ทาง อย. จึงได้ดำเนินคดีกับบริษัท สตาร์ ซันไชน์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งรับว่าเป็นผู้จัดทำข้อความโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ พร้อมทั้งมีหนังสือ ไปยังบริษัทฯ เพื่อระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวในทุกสื่อ  ผู้บริโภคต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี อย่าได้หลงเชื่อสรรพคุณว่าสามารถป้องกันหรือรักษาโรค เพราะนอกจากกินแล้วจะไม่หายป่วย อาจจะซวยได้โรคอื่มเพิ่มมาแทน แถมบรรดาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงที่ขายกันอยู่ทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่มีราคาแพง ใครที่หลงซื้อมารับประทานผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป-----------------------------------------------------------------     คลีนิคสำหรับคนเป็น “หนี้” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เปิดคลินิกให้คำปรึกษาปัญหาหนี้บัตรเครดิต รองรับนโยบายจากภาครัฐที่ใช้วิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนโดยการออกบัตรเครดิตให้กับประชาชนหลายกลุ่ม ทั้งบัตรเครดิตเพื่อเกษตรกร บัตรเครดิตพลังงาน รวมถึงนโยบายการเพิ่มฐานเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท ซึ่งเอื้อต่อการทำบัตรเครดิตเพิ่มมากขึ้น  นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากรัฐบาลเลือกใช้วิธีสนับสนุนให้ประชาชนใช้บัตรเครดิตเพื่อแก้ปัญหาความเป็นอยู่ รัฐบาลก็จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งการกำหนดฐานรายได้และยอดวงเงินรวมของผู้ถือบัตรเครดิตให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำหนี้ได้อย่างเหมาะสม การแก้ไขอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต้องไม่เกินร้อยละ 15 จึงจะถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม การมอบหมายให้มีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบที่ชัดเจนในการรับเรื่องร้องเรียน ให้คำปรึกษา และให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิต และต้องมีกฎหมายทวงหนี้ที่เป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันนี้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตถือเป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนและขอคำปรึกษาเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมากเป็นอันดับหนึ่ง  ด้าน นายชูชาติ  บุญยงยศ ประธานชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เล่าให้ฟังถึงสภาวะของลูกหนี้ในยุคปัจจุบันว่า ลูกหนี้บัตรเครดิตจำนวนมากต้องเจอกับวิธีการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ถูกกดดันจนเกิดภาวะเครียด หวาดกลัว เนื่องจากมองไม่เห็นทางออกในการหาเงินมาชำระหนี้ บางคนก็คิดสั้นจนถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองหรือครอบครัวอย่างที่ได้ยินข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำ ใครที่มีปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตหรืออยากรู้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับบัตรเครดิต สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซอยราชวิถี 7 ในวันทำการจันทร์ถึงศุกร์ตั้งแต่เวลา 09.00 – 18.00 น. เบอร์โทรศัพท์ 02-2483734-37 หรือผ่านทางเว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในส่วนชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ www.consumerthai.org/debt/ --------------------------------------     หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย ต่อไปนี้ใครที่พบเจอปัญหาจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถทัวร์ รถตู้ รถไฟ แท็กซี่ ฯลฯ อย่าเก็บไว้ในใจ เมื่อมีปัญหาเราต้องแก้ไข คิดใหม่ทำใหม่ ด้วยการมาสมัครเป็น “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” โครงการดีเพื่อสังคมโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานสัมมนาระดับชาติ “เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 10 ทศวรรษแห่งการลงมือทำ : Time for Action” เมื่อวันที่ 25 - 26 สิงหาคมที่ผ่านมา โดย “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” จะมีหน้าที่ในการช่วยกันแจ้งข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับความในปลอดภัยจากบริการรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถขับซิ่ง ขับประมาท คนขับหรือพนักงานเก็บเงินบริการไม่สุภาพ รวมทั้งเรื่องสภาพรถที่ไม่ปลอดภัย ผ่านมาที่สายด่วนคุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะ 1584 และที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยทุกครั้งที่แจ้งข้อมูลมายังมูลนิธิฯ จะได้รับแต้มสะสมเพื่อลุ้นของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ จากทางมูลนิธิฯ ซึ่งการบอกต่อปัญหาเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งวิธีในการช่วยแก้ไขปัญหาบริการรถโดยสารสาธารณะซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ที่เราทุกคนต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใครที่สนใจสมัครเป็น “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” สามารถโหลดใบสมัครและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.consumerthsi.org หรือที่ 02-248-3737

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 107 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2552 2 ธ.ค. 52บุกจับอาหารเสริมปลอม กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกันจับกุมและยึดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแอลคาร์นิทีน ตราหมอจุฬา ผลิตภัณฑ์อาหารลดน้ำหนัก ตรา SHAPE MINUS และกาแฟ 7 รายการ กว่า 2,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 1.5 ล้านบาท ของบริษัท ยินดีเนเจอร์โปรดักส์ จำกัด ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ผ่านการตรวจสอบและได้รับอนุญาตจาก อย.   โดยการบุกเข้าจับกุมและยึดผลิตภัณฑ์ครั้งนี้ พบ นาง นพธีรา ยินดี เจ้าของบริษัท ยินดีเนเจอร์โปรดักส์ จำกัด พร้อมกับสินค้าของกลาง ซึ่งตรวจสอบพบว่ามีการปลอมเลข อย. และแสดงเลขสารบบอาหารไม่ถูกต้อง จึงยึดไว้เป็นหลักฐาน เบื้องต้นได้แจ้งข้อหาผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย ซึ่งมีฉลากเพื่อลวง จัดเป็นอาหารปลอม สำหรับของกลางที่ตรวจยึดมาได้จะนำส่งให้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบสารที่ใช้เป็นส่วนผสม หากพบว่ามีการใช้สารอันตรายจะพิจารณาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมกับผู้ต้องหาต่อไป +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ 14 ธ.ค. 52 พบเฝือกคอเก๊ในรถฉุกเฉินของสาธารณสุข นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ได้สั่งห้ามนำเข้าชุดป้องกันกระดูกคอเคลื่อนหรือเฝือกคอของ บริษัท สุพรีม โพรดักส์ จำกัด และบริษัท FIEU Corporation .co.ltd ตัวแทนจำหน่าย PHILADELPHIA COLLAR ในประเทศไทย ซึ่งใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉินในรถพยาบาลหรือรถฉุกเฉินของหน่วยกู้ชีพจำนวน 232 คัน หลังพบความผิดปกติของหมายเลขลิขสิทธิ์สินค้าที่ไม่ตรงกัน ระหว่างเลขบนสติกเกอร์กับเลขตัวนูนบนชุดป้องกันกระดูก และบางชิ้นเลขที่ติดอยู่บนตัวผลิตภัณฑ์ เป็นเลขของผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นที่ไม่ใช่ชุดป้องกันกระดูกคอเคลื่อน จึงเข้าข่ายอุปกรณ์การแพทย์ปลอม ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ชุดป้องกันกระดูกคอเคลื่อน ที่บริษัท สุพรีม นำเข้ามายังไม่มี Certificate of Free Sales หรือการแจ้งขอผ่อนผันการนำเข้า ถือเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 6) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 2.5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่ง อย.จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ 19 ธ.ค. 52 กิน “ปลาร้า” ระวัง! เจอยาฆ่าแมลง นพ.วิชัย ขัตติยวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการออกตรวจสอบและสุ่มเก็บตัวอย่างปลาร้า ปลาแห้ง และอาหารทหารแห้งที่ตลาดย่าโม เขตเทศบาลนครนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ผลตรวจสอบเบื้องต้นพบสารฆ่าแมลงในสินค้าดังกล่าวจำนวน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 32 ซึ่งได้แจ้งตักเตือนผู้จำหน่ายถึงผลการตรวจสอบไปแล้วพร้อมให้หยุดการจำหน่ายทันที และจะขยายผลหาที่แหล่งผลิตเพื่อติดตามผู้ผลิตมาดำเนินคดีต่อไป สำหรับผู้บริโภคแนะให้ควรสังเกตดูว่า หากอาหารที่จำหน่ายใกล้เคียงมีแมลงวันตอม แต่ไม่ตอมปลาร้าก็ให้สงสัยว่าปลาร้านั้นปนเปื้อนสารฆ่าแมลงและควรปรุงสุกทุกครั้งก่อนรับประทาน ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ โฆษณาแฝงครองเมือง มีเดียมอนิเตอร์ ” เผยผลสำรวจ “ โฆษณาตรงโฆษณาแฝง ” พบ 3-5-7-9 โฆษณาตรงเกินกฎหมาย ขณะที่โฆษณาแฝงลามทุกรายการ เว้นข่าวพระราชสำนัก ประชุมรัฐสภา แย่สุดใช้เด็กเป็นร่างทรงโชว์สินค้าในรายการ นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการเฝ้าระวังสื่อฯ กล่าวว่า แม้ไทยใช้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์ พ . ศ . 2551 เพื่อ ควบคุมการโฆษณา แต่ยังพบปัญหาข้อกฎหมายตามไม่ทันกลยุทธ์ของผู้ประกอบการ เนื่องจากปัจจุบันมีการโฆษณาแฝงมาก ไร้กฎหมายควบคุมที่ชัดเจน อีกทั้งมีการใช้วิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบและการโฆษณา ขณะที่กรมประชาสัมพันธ์ ไม่มีอำนาจในการออกประกาศ ระเบียบ การโฆษณาเพื่อบังคับใช้กับสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ นายธาม กล่าวว่า จากการศึกษาโฆษณาตรงทางสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 25-27 ก.ย. 2552 ตลอด 24 ชั่วโมง พบว่า มี 4 ช่องที่โฆษณาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ 1. ช่อง 9 รวม 3 วัน มีการโฆษณาเกิน 192 นาที หรือเฉลี่ยวันละ 1 ชั่วโมง 2. ช่อง 3 โฆษณาเกิน 149 นาที 3. ช่อง 7 โฆษณาเกิน 111 นาที และ 4. ช่อง 5 โฆษณาเกิน 106 นาที ขณะที่ช่อง 11- สทท . ไม่พบการโฆษณาตรงเกินกว่าที่กำหนด นอกจากนี้เมื่อวัดจากจำนวนที่มีการโฆษณาแฝง พบมากที่สุด คือ ช่อง 5 มีการโฆษณาแฝงถึง 85.8% ช่อง 9 มีการโฆษณาแฝง 83.3 % ช่อง 7 โฆษณาแฝง 74.8% ช่อง 3 โฆษณาแฝง 68.7% และช่อง 11 โฆษณาแฝง 48.1% วิธีการโฆษณาแฝงที่พบบ่อยที่สุด คือ 1 . โฆษณาแฝงสปอตสั้นหรือวีทีอาร์ โดยใช้ภาพโฆษณาสินค้า ประมาณ 4-7 วินาที ในช่วงเข้าเนื้อหารายการ 2 .โฆษณาแฝงวัตถุ โดยตั้งใจจัดฉากให้เห็นสินค้าชัดเจน โดยเฉพาะฉากละครซิทคอมที่ร้านขายสินค้าจะเป็นจุดหลักของการโฆษณา ส่วนรายการข่าวจะนิยมใช้แก้วกาแฟ กล่องนม ซองขนมปัง และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ้ค 3.การโฆษณาแฝงภาพกราฟฟิก มีความถี่บ่อย ฉายเวียนซ้ำกันในระหว่างเบรก และ4. การโฆษณาแฝงไปกับเนื้อหา แม้จะพบในระดับที่ไม่มาก แต่มีลักษณะที่แนบเนียน “ การโฆษณาดังกล่าว ถือว่าผิดกฎหมาย ตามพรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 มาตรา 23 ว่าด้วยสัดส่วนการโฆษณาธุรกิจ เนื่องจากการโฆษณาตรงต้องออกอากาศในช่วงที่ไม่ใช่เนื้อหารายการ โดยใช้เกณฑ์การโฆษณาธุรกิจ เฉลี่ยทั้งวันต้องไม่เกิน 10 นาทีต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตามมีหลายช่องที่โฆษณาแฝงแทบทุกรายการ ยกเว้นการถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภา ข่าวพระราชสำนัก นอกจากนี้ยังพบว่ารายการเด็กและเยาวชน มีการใช้กลยุทธโฆษณาแฝงที่แนบเนียน จัดฉากให้เด็กมีส่วนร่วมในการโชว์สินค้า เด็กหรือผู้ร่วมรายการเป็นเหมือนร่างทรง ทั้งที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ ” +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ค้านหลักสูตรแพทย์อินเตอร์ หวั่นกระทบวงการสาธารณสุข น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยที่โรงเรียนแพทย์ผลักดันหลักสูตรแพทย์นานาชาติ เพื่อผลิตแพทย์ไทยให้สามารถรักษาผู้ป่วยต่างชาติ เนื่องจากจะทำให้เกิดผลกระทบกับวงการสาธารณสุข ทั้งการแย่งชิงทรัพยากรบุคคลหรืออุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค “แพทยสภาควรปลดล็อกการสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากภาษาไทยเพียงอย่างเดียวให้เป็นภาษาอังกฤษด้วย แล้วเปิดให้แพทย์ต่างชาติเข้ามาสอบโดยระบุให้แพทย์ต่างชาติต้องรักษาผู้ป่วยของชาติตัวเองในสถานพยาบาลเอกชนเท่านั้น ผู้ป่วยชาติใดมากก็แบ่งเป็นสัดส่วนกันไป น่าจะทำให้การที่ไทยจะเป็นเมดิคัลฮับยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ขณะเดียวกันในส่วนของอาจารย์แพทย์คนไทยที่เก่งๆ ก็จะมีเวลากลับมารักษาคนไทยด้วย” น.ส.สารี กล่าวในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นวันที่ 16-18 ธันวาคม ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ในหัวข้อการประชุมวิชาการในเรื่อง สองแพร่ง หลักสูตรแพทย์นานาชาติทางเลือกระหว่างโลกาภิวัตน์กับสุขภาพคนไทย ด้าน นพ.เสรี หงษ์หยก รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะดูแลเรื่องการจัดสรรกำลังคนด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังมีความต้องการบุคลากรในวิชาชีพสาธารณสุขโดยเฉพาะแพทย์เป็นอย่างมาก นโยบายของสธ.ยังมีการขยายงานให้มีแพทย์บริหารจัดการโรงพยาบาลระดับอำเภอทุกแห่งด้วย ดังนั้นถือว่าประเทศยังขาดแคลนแพทย์อยู่ การผลิตแพทย์หลักสูตรนานาชาติเพื่อรองรับผู้ป่วยต่างชาติจึงไม่เหมาะสมในช่วงเวลานี้ ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ องค์กรผู้บริโภคคัดค้านการขึ้นค่าโทลล์เวย์โหด เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค สถาบันพัฒนานักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ออกมาคัดค้านการขึ้นค่าโทลล์เวย์ จากกรณีที่บริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ประกาศขึ้นราคาค่าโทลล์เวย์ตลอดสาย จาก 55 บาทเป็น 85 บาท ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2552 เพราะเป็นการขึ้นราคาที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และไม่สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพของประชาชน แม้จะเป็นการทำตามสัญญาสัมปทาน แต่ต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคต้องการให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจทางปกครองสั่งการให้กรมทางหลวงยุติการอนุมัติให้ขึ้นราคาค่าโทลล์เวย์ ไม่เช่นนั้นจะดำเนินการฟ้องร้องต่อคณะรัฐมนตรีที่ดำเนินการโดยไม่รักษาผลประโยชน์สาธารณะ เพราะประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณะในอัตราที่อิงกับต้นทุน มิใช่อัตราการคืนทุนตามที่กำหนดโดยสัญญาตามที่เจ้าของทุนต้องการ การอ้างของคณะรัฐมนตรีว่าเป็นไปตามสัญญาสัมปทานนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่ทำลายความชอบธรรมของการมีรัฐบาลเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ เพราะหากให้สัญญาที่ทำกับเอกชนซึ่งมุ่งหวังผลตอบแทนจากการลงทุนมาใช้ปิดปากอำนาจของรัฐในการกำหนดอัตราค่าบริการซึ่งเรียกเก็บจากประชาชนผู้ใช้บริการ ย่อมเป็นสัญญาทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยหลักของกฎหมายและเป็นสัญญาสัมปทานที่ไม่เป็นธรรม เพราะเป็นสัญญาที่อนุญาตให้เอกชนทำบริการสาธารณะแทนรัฐ ที่สำคัญสัญญานี้ไม่ได้เกี่ยวพันเพียงแค่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมากที่ต้องรับผลจากสัญญาดังกล่าว"

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 อาวุโส สูงวัย ไม่โอเค

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด เช่น วิตามิน เกลือแร่ นั้นมีประโยชน์ต่อผู้ที่อยู่ในภาวะขาดสารอาหาร แต่สำหรับผู้ที่บริโภคอาหารได้สมบูรณ์ครบห้าหมู่(ซึ่งมักสูงวัยแล้ว) และมีสุขภาพปรกติ มักให้เหตุผลการกินผลิตภัณฑ์เหล่านี้ว่า น่าจะช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย เช่น มะเร็ง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งโดยสรุปแล้วทำให้เข้าใจว่า ทำให้ตายช้าลง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในภาพรวมแล้ว ทำกำไรมหาศาลให้กับผู้ประกอบการ มูลค่าของยอดขายสินค้านี้ในสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 2014) ไม่ต่ำกว่าสองหมื่นล้านเหรียญดอลลาร์ ส่วนในเมืองไทยนั้นอย่าไปพูดถึงเลย เพราะมันมากพอที่มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งหนึ่งของไทยต้องเปิดหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาผลิตกำลังพลคนขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออกไปให้บริการแก่สังคมคนหวังตายช้าหรือได้อะไรทางลัด เมื่อ 13 สิงหาคม 2014 ผู้เขียนได้อ่านรายงานข่าวเรื่อง Should We Take a Multivitamin? จากเว็บ www.care2.com ซึ่งกล่าวว่า หนึ่งในสามของชาวอเมริกันนิยมกินวิตามินรวมเป็นประจำ(ข้อมูลเดียวกันนี้ก็พบได้ในสหราชอาณาจักร) ทั้งที่มีคำถามว่า มันได้ประโยชน์ มีอันตราย หรือเสียเงินฟรี เนื่องจากมีผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพของสตรีสูงวัยในรัฐไอโอวาว่า การใช้วิตามินรวม(multivitamin) และแร่ธาตุบางชนิดในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น ก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตเร็วกว่าปรกติ ตัวรายงานนั้นชื่อว่า Dietary Supplements and Mortality Rate in Older Women ตีพิมพ์ใน Archives of Internal Medicine ฉบับประจำวันที่ 10 เดือนตุลาคม 2011   งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาทางระบาดวิทยานาน 19 ปี มีการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถามกับ สว.สตรี 38,772 ท่านของรัฐไอโอวาที่มีอายุเฉลี่ย 61.6 ปี (ในปี ค.ศ. 1986) และสัมภาษณ์ซ้ำอีกในปี 1997 และ 2004 และได้สรุปผลว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ซึ่งรวมถึงวิตามินเช่น กรดโฟลิก เหล็กและทองแดง ฯ ของผู้บริโภคในวัยเกษียณซึ่งหวังจะมีสุขภาพดีในทางลัด กลับเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตในสว.สตรี ข้อมูลการศึกษานั้นกล่าวว่า ปี 1986 นั้นร้อยละ 62.7 ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่ากินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างน้อย 1 ชนิด และเพิ่มเป็นร้อยละ 75.1 ในปี 1997 (ปีนี้เหลืออาสาสมัคร 29,230) และ 85.1 ในปี 2004  (ปีสุดท้ายนี้เหลืออาสาสมัคร 20,844 คน) ตามลำดับ สรุปแล้วมีอาสาสมัครหายไปสวรรค์ 15,594 คน คิดเป็นร้อยละของ 40.2% จากนั้นในปี 2004 ก็ได้มีการศึกษาเพิ่มเติมโดยใช้อาสาสมัครชุดเก่า 19,124 คน ไปจบการศึกษาจริงในปี 2008 โดยเหลือผู้รอดตาย 16,690 คน แสดงว่าในช่วงปี 1986 ถึง 2004 คนอเมริกันกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นักวิจัยประเมินว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่ไม่ได้มีผลอะไรที่เกี่ยวกับความตายของ สว.หญิง ยกเว้นกลุ่มวิตามินรวมและแร่ธาตุเช่น วิตามินบี 6 กรดโฟลิก วิตามินบี 12 เหล็ก แมกนีเซียม สังกะสีและทองแดง นั้นที่มีความสัมพันธ์กับการไปสู่สัมปรายภพของผู้ถูกศึกษาเร็วขึ้น มีประเด็นที่ทำให้ใจชื้นหน่อยคือ ในการศึกษาพบว่า การเสริมแคลเซียมน่าจะช่วยให้ตายช้ากว่าปรกติหน่อยหนึ่ง ความจริงในประเด็นของโฟเลต วิตามินบี 6 วิตามิน บี 12 ซึ่งสามสหายนี้เป็นความหวังทางการแพทย์ว่า ควรจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะผิดปรกติของหัวใจได้ โดยเป็นวิตามินที่ช่วยลดปริมาณโฮโมซีสตีอีน (homocystein ซึ่งเป็นดัชนีของความเสี่ยงของโรคหัวใจ) ได้จริง แต่ปรากฏว่าความเสี่ยงต่อภาวะผิดปรกติของหัวใจไม่ได้ลดอย่างที่หวัง ผู้ทำวิจัยได้ยกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ แร่ธาตุที่ดูเหมือนยิ่งเสริมจะยิ่งทำให้ตายเร็วคือ เหล็ก ผู้ทำวิจัยไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไม  แต่จากข้อมูลพื้นฐานด้านพิษวิทยาของเหล็กแล้วพบว่า เหล็กที่อยู่ในสภาวะอิสระในร่างกายเรา (ซึ่งผู้สูงอายุแล้วอาจสร้างโปรตีนเฟอไรติน (ferritin) มาจับกับอะตอมเหล็กน้อยลง) ถ้ามีมากเกินไปจะเป็นปัจจัยในการเพิ่มปริมาณอนุมูลอิสระให้สูงขึ้นตามหลักการทางเคมีที่เรียกว่า Fenton Reaction ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อหลายโรค ในกลุ่มประชาชนที่สูงอายุนี้ นอกจากการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแล้ว ยังมีอีกประเด็นที่น่าพะวงคือ การกินอาหารสำเร็จรูปที่พยายามเติมสารอาหารบางประเภทลงไป เพื่อให้มีคุณค่าโภชนาการสูงเท่าอาหารก่อนปรุง แต่ก็มีที่เลยเถิดไปถึงการเติมแบบ “จัดหนัก” โดยผู้บริโภคไม่ได้รับรู้จากรสสัมผัส และแม้จะมีการติดฉลากโภชนาการ ผู้บริโภคก็มักไม่ได้อ่าน หรือถึงอ่านก็อาจไม่เข้าใจนัก สิ่งที่นักพิษวิทยาด้านโภชนาการกังวลคือ ปรกติสารอาหารอะไรที่ต้องใช้ในปริมาณสูงกว่าปรกตินั้น มักต้องมีการทำวิจัยอย่างลึกซึ้งถึงผลที่อาจเกิดขึ้น เช่น กรณีของโฟเลตและกรดโฟลิค ซึ่งจากชื่อนั้นดูว่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ในความจริงเป็นคนละเรื่อง Dr. Donald Abrams อาจารย์แพทย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งเมืองซานฟรานซิสโก ได้กล่าวในคลิปของ YouTube (www.youtube.com/watch?v=zeZFcIbwCZg) ว่า เมื่อพูดถึงโฟเลตนั้น เราหมายถึงสารนั้นอยู่ในผักใบเขียวและอาหารอื่นๆ ส่วนกรดโฟลิคนั้นแสดงว่ามันเป็นสารสังเคราะห์ ซึ่งสามารถกินเกินได้ไม่ยาก ที่สำคัญก็คือ อาหารสำเร็จรูปที่มีการเติมอะไรต่อมิอะไรมากเกินไปนั้น ไม่เคยต้องถูกทดสอบว่า การเติมสารอาหารปริมาณสูงกว่าความต้องการนั้นมีอันตรายอย่างใดต่อผู้บริโภค เพราะมักเข้าใจกันง่าย ๆ ว่าสารอาหารนั้นไม่ควรมีโทษ ท่านผู้อ่านควรทราบว่า โฟเลต ซึ่งมนุษย์กินจากอาหารสารธรรมชาตินั้นอยู่ในรูปที่เชื่อมต่ออยู่กับสายโพลีกลูตาเมต ซึ่งมีขนาดใหญ่เล็กขึ้นกับชนิดแหล่งอาหาร สายโพลีกลูตาเมตนี้ถูกแยกออกที่ผิวของผนังลำไส้เล็กด้วยระบบเอนไซม์จำเพาะ เหลือเป็นโฟเลตโมโนกลูตาเมต (มีกลูตาเมตติดอยู่ 1 โมเลกุล) ที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นจะเห็นว่า การนำเอาโพลีกลูตาเมตออกจากโฟเลตนั้นเป็นจุดกำหนด ปริมาณโฟเลตที่ร่างกายจะได้ใช้ (ซึ่งมีตัวเลขประมาณร้อยละ 25-50 ที่กินเข้าไป) ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นกรดโฟลิก การดูดซึมจะเป็นเกือบร้อยละ 100 เพราะกรดโฟลิกนั้นถูกสังเคราะห์ในรูปที่ไม่มีสายโพลีกลูตาเมตเชื่อมไว้ ท่านผู้สนใจอ่านข้อมูลนี้ได้จาก http://www.fao.org/docrep/004/y2809e/y2809e0a.htm ซึ่งองค์กรแห่งสหประชาตินี้ก็แสดงความกังวลอยู่เช่นกัน เป็นธรรมดาของชาวโลก งานวิจัยใดมีผู้สนใจมากก็มักมีผู้โต้แย้งอยู่เสมอ เช่น กล่าวว่าเป็นเพียงผลจากการเฝ้าสังเกตกลุ่มคนกลุ่มเดียว โดยไม่ได้ทำการศึกษาที่มีการแบ่งกลุ่มการทดลองที่ได้กินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร(คือวิตามินรวมและแร่ธาตุ) และกลุ่มควบคุมซึ่งได้ยาหลอกเพื่อเปรียบเทียบว่ากลุ่มไหนอายุยืนกว่ากัน  ทำให้ยังสรุปไม่ได้ว่ากลุ่มที่ถูกศึกษานั้นกินวิตามินเพราะป่วยอยู่แล้วจึงตายเร็ว อย่างไรก็ดีได้มีงานวิจัยจริงๆ เรื่องหนึ่งชื่อ Multivitamins in the Prevention of Cardiovascular Disease in Men ซึ่งอยู่ในโครงการ Harvard Physicians’ Study II ในช่วงปี พ.ศ. 1997-2011 (และตีพิมพ์ใน JAMA. 2012; 308(17): 1751-1760)  ซึ่งมีการวางแผนวิจัยด้านระบาดวิทยาที่เป็นการศึกษาในแพทย์เพศชายแบบ randomized double blind ซึ่งหมายความว่า การศึกษานี้มีอาสาสมัครจำนวนนับ 14,641 คนที่ถูกเฝ้าสังเกตโดยไม่รู้ว่าตนได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มวิตามินรวม (7,317 คน ซึ่ง ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2011 เหลือมีชีวิต 5,924 คน ตาย 1,345 คน หายไป 48 คน) หรือยาหลอก (7,324 คน ซึ่ง ณ.วันที่ 1 มิถุนายน 2011 เหลือมีชีวิต 5,855 คน ตาย 1,412 คน หายไป 57 คน) จากเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ป้อนยา ซึ่งเจ้าหน้าที่เองก็ไม่รู้ว่ายาที่ป้อนเป็นวิตามินรวมหรือยาหลอก (สรุปคือ ทั้งคนป้อนยาและคนรับยาต่างไม่รู้ว่าสิ่งที่ผ่านจากมือเข้าปากนั้นคืออะไร คนที่รู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นคือ กลุ่มคนที่รับผิดชอบโครงการเท่านั้น) ได้สรุปผลว่า การเสริมวิตามินนั้นไม่ได้มีผลอะไรต่อการที่อาสาสมัครจะหัวใจวาย สมองขาดเลือด หรือตายด้วยอาการอื่น แต่มีแนวโน้มได้ของแถมติดไม้ติดมือบ้างคือ อาการแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ บ้างท้องผูก บ้างท้องเสีย คลื่นไส้ หมดแรง ง่วงเหงาหาวนอน ผิวหนังเปลี่ยนสี และอาการปวดหัวไมเกรน ดังนั้นถ้าท่านผู้อ่านอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่าเป็น สว. โดยธรรมชาติ ไม่ได้มีใครเลือกตั้งหรือแต่งตั้งแล้ว การจะกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ด้วยความตระหนักว่า ทำไมตนเองจึงกิน แต่ถ้าถามตัวเองแล้วไม่ได้คำตอบว่ากินไปทำไม ก็ย้อนกลับขึ้นไปอ่านบทความนี้อีกที น่าจะดีเหมือนกันนะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 143 ข้อควรรู้เกี่ยวกับอาหารเสริม

  อาหารเสริม หรือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร คือ ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปของเม็ด เกล็ด ผง แคปซูล ของเหลว หรือในรูปลักษณ์อื่นๆ ที่ใช้รับประทานโดยตรงเพื่อเสริมการรับประทานอาหารหลักตามปกติ ในปัจจุบันมีอาหารเสริมมากมายหลากหลายชนิดตามท้องตลาดให้เลือกสรร มีทั้งเพื่อสุขภาพ เพื่อบำรุงสมอง เพื่อป้องกันโรคและ/หรือเพื่อความงาม หลายคนตัดสินใจเลือกซื้อมาบริโภคเพียงแค่ดูสรรพคุณข้างกล่อง คำโฆษณาชวนเชื่อ หรือ ราคาเท่านั้น จนอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจตามมา ดังนั้นเราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณประโยชน์ โทษ วิธีรับประทาน และหลักการเลือกซื้ออาหารเสริมอย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคที่ควรได้รับ   ทำไมต้องมีอาหารเสริม? ถ้าเราสามารถรับประทานอาหารหลากหลายและครบทั้ง 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย การรับประทานอาหารเสริมก็เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่ด้วยรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบและแข่งขันกันมากขึ้นในปัจจุบัน จึงทำให้การรับประทานอาหารเป็นแบบประทังความหิวมากกว่าการคำนึงถึงเรื่องสุขภาพร่างกายและผิวพรรณ อีกทั้งอาหารที่รับประทานส่วนใหญ่ก็เป็นอาหารจานด่วน อาหารห่อถุงพลาสติก หรือรับประทานอาหารซ้ำๆ ก็อาจส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหารบางชนิดได้และเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นอกจากนี้ การใช้ชีวิตท่ามกลางมลพิษต่างๆ ส่งผลให้ภูมิต้านทานโรคลดลง ทำให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอและทรุดโทรมลง รวมถึงผู้ที่ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน เช่น ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด ผู้ป่วย และผู้สูงอายุ เป็นต้น ดังนั้นอาหารเสริมจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จำเป็นเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดี แต่ไม่ใช่อาหารที่สามารถรับประทานแทนมื้อหลักได้   คุณประโยชน์ โทษ และวิธีรับประทานอาหารเสริม ประโยชน์ของอาหารเสริม ได้แก่ ช่วยให้ร่างกายได้รับโภชนาการที่เหมาะสมเพื่อเสริมสร้างความสมดุลและความแข็งแรงให้แก่ร่างกายและผิวพรรณ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค ช่วยบรรเทาหรือรักษาโรคบางชนิดได้ เช่น น้ำมันตับปลาค็อด (Cod liver oil) ช่วยบรรเทาอาการโรคไขข้ออักเสบ เป็นต้น หรือช่วยป้องกันการเกิดโรค เช่น แคลเซียมและวิตามินดีจะช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุได้ แต่การรับประทานอาหารเสริมเกินขนาดที่ระบุไว้ รับประทานอาหารเสริมหลายชนิดร่วมกัน หรือรับประทานอาหารเสริมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ได้รับวิตามินหรือแร่ธาตุบางชนิดที่มากเกินความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะถ้าได้รับกลุ่มวิตามินที่ละลายในไขมัน (วิตามินเอ ดี อี เค) เกินขนาด จะทำให้กำจัดออกจากร่างกายได้ยาก และอาจส่งผลต่อการทำงานของตับหรือไตได้ เช่น ถ้าได้รับวิตามินเอมากเกินไป ทำให้เกิดม้ามและตับโต เป็นต้น   นอกจากนี้ มีการกำหนดปริมาณมาตรฐานของสารอาหารที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน เพื่อความปลอดภัยสำหรับประชาชนในการรับประทานวิตามินและเกลือแร่แต่ละชนิดว่าเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งมีชื่อย่อว่า RDA (Recommended Daily Dietary Allowances) โดยเราสามารถพบเห็นค่าเหล่านี้ได้ตามฉลากโภชนาการที่แปะอยู่ตามผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ทำให้เราทราบได้ว่าเราได้รับสารอาหารนั้นๆ อย่างเพียงพอในแต่ละวันหรือไม่ และควรเลือกอาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของสารอาหารที่แนะนำให้รับประทานในแต่ละวัน (RDA) อย่างน้อย 100% ส่วนวิธีรับประทานอาหารเสริมให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรรับประทานอาหารเสริมตอนเช้าจะดีที่สุด และควรทิ้งช่วงให้ห่างจากการดื่มชา หรือกาแฟอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพราะคาเฟอีนจะขัดขวางไม่ให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารบางชนิดได้ ส่วนช่วงเวลาดีที่สุดในการทานอาหารเสริมคือทานพร้อมอาหาร เนื่องจากจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น   อย่างไรก็ตาม อาหารเสริมบางชนิด เช่น กรดอะมิโนควรรับประทานก่อนอาหาร ดังนั้นควรอ่านฉลากให้แน่ชัดก่อนรับประทานอาหารเสริม สำหรับวิตามินที่ละลายในไขมัน ควรรับประทานกับอาหารที่มีไขมันปนอยู่ด้วย เพื่อที่ไขมันจะได้เป็นตัวพาวิตามินเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น   หลักการเลือกซื้ออาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผลิตหรือนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ก่อน ฉลากต้องมีการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งประกอบด้วย ชื่อสารสำคัญ/ส่วนประกอบและปริมาณ เลขสารบบอาหารในเครื่องหมาย อย. ขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวัน วิธีรับประทาน ประโยชน์ ผลข้างเคียง คำเตือน วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต ผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้นำเข้า รวมทั้งแหล่งผลิตต้องได้รับมาตรฐาน อ่านข้อมูลของผลิตภัณฑ์จากฉลากที่ได้รับอนุญาต และไม่ควรเชื่อข้อมูลจากการโฆษณาของผู้จำหน่ายที่นอกเหนือจากที่ระบุในฉลาก อาหารเสริมนั้นต้องมีข้อมูลวิจัยและข้อมูลทางวิชาการรองรับ ก่อนการตัดสินใจ ควรคำนึงถึงความต้องการของร่างกายและเงื่อนไขทางด้านสุขภาพของแต่ละบุคคลด้วย เช่น หากร่างกายอ่อนแอหรือเป็นหวัดง่าย ก็ควรเลือกรับประทานอาหารเสริมที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่ วิตามินซี หรือรังนก เป็นต้น ข้อควรระวัง หรือ ข้อห้ามใช้อาหารเสริม สำหรับผู้ที่กินยาเป็นประจำ หรือ มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้อาหารเสริม เพราะโรคประจำตัวบางโรคเป็นข้อห้ามใช้กับอาหารเสริมบางชนิด หรือ ต้องระมัดระวังการใช้เป็นพิเศษ สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะอาจส่งผลถึงทารกได้ ควรรับประทานอาหารเสริมในปริมาณที่กำหนดไว้บนฉลาก และไม่ควรทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมส่วนใหญ่ได้มาจากธรรมชาติ แต่อาจทำให้เกิดการแพ้ หรือ มีผลข้างเคียงได้ เอกสารอ้างอิง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร. พฤศจิกายน 2554. (http://newsser.fda.moph.go.th/food/file/BenefitCustomer/11supplement.pdf) Health. กินวิตามินอย่างไรให้ได้ประโยชน์. 2555. (Access December 14, 2012, at http://health.kapook.com/view10770.html)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 127 พริตตี้สามัญประจำบ้าน

  “เนื่องจากทำงานในแวดวงบันเทิง ...จึงมักได้ยินคนที่อยู่ในวงการบันเทิงหลายต่อหลายคน พูดถึง L-Carnitine Tartrate กันมาก จึงทำให้ตัดสินใจลองทานไปได้ 1 เดือนครึ่ง ความรู้สึกที่สัมผัสได้คือ ช่วงเอวเล็กลงอย่างสัมผัสได้ แล้วน้ำหนักก็ลดลงถึง 3 กิโลค่ะ ตอนนี้ดิฉันรู้สึกประทับใจผลิตภัณฑ์...มากเลยค่ะ”   “ด้วยหน้าที่การงานที่เป็นพยาบาลมันก็หนักอยู่แล้ว แถมตอนนี้ยังต้องเรียนต่อ ป.โท อีก ทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน จนได้มารู้จักกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพท่านหนึ่ง ท่านแนะนำ Rice Bean Oil  ให้ดิฉันลองทานเพียงไม่กี่อาทิตย์ ดิฉันก็ไม่รู้สึกอ่อนเพลียเหมือนแต่ก่อน ...”   “ดิฉันคลุกคลีอยู่ในวงการอาหารเสริมมากว่า 20 ปีแล้วค่ะ แต่พอได้มารู้จักกับผลิตภัณฑ์... และได้ทาน Marine Collagen 1,000 mg. ภายใน 2 เดือน ริ้วรอยที่กังวลใจก็ดูตื้นขึ้นอย่างรู้สึกได้ ทำให้ดิฉันตัดสินใจเป็นตัวแทนจำหน่ายรายแรกๆ .. ซึ่งผลตอบรับดีมากๆ ค่ะ ร้อยทั้งร้อยกลับมาซื้อซ้ำ จนทำให้ดิฉันมีรายได้เกินหกหลักต่อเดือนแล้วค่ะ ...”   “...ด้วยหน้าที่การงานที่อยู่ในวงการยาและอาหารเสริม รู้มาว่าผลิตภัณฑ์(...) จะใช้แต่วัตถุดิบเกรดที่ดีที่สุดเท่านั้น และที่สำคัญต้องปลอดภัยต่อร่างกายด้วย ดิฉันจึงมั่นใจลองทาน L-Carnitine Tartrate 550 mg. ตัวแรก ผลออกมาไม่ทำให้ผิดหวังค่ะ ...”   “โปรดระวัง แอล-คานิทีน ปลอม : ที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก อย. ซึ่งสามารถส่งผลอันตรายถึงชีวิต”   เชื่อว่าผู้บริโภคในยุคปัจจุบันหลายคนที่เอาใจใส่สุขภาพ เมื่อมาได้ฟังคำพูดจากพริตตี้สามัญประจำบ้านทั้ง 4 คนนี้ คงมีไม่น้อยที่อดเคลิบเคลิ้มไปทีเดียว ดูเทคนิคที่แฝงมาในคำพูดเหล่านี้ซิครับ  รายแรกจับเอาความรู้สึกที่อยากสวยงามแบบดารามาเป็นจุดโน้มน้าว  รายที่สองเริ่มใช้บุคลากรการแพทย์ ทั้งพยาบาลและแพทย์ (ซึ่งไม่รู้ว่าตัวจริงหรือเปล่า) มาโน้มน้าวเพิ่มขึ้นอีก เพื่อให้เห็นประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์นี้ ส่วนรายที่สามนอกจากจะโน้มน้าวให้ซื้อแล้ว ยังเอารายได้มาล่อใจให้เป็นตัวแทนขายอีกด้วย พระเจ้า! รายได้เกินหกหลักต่อเดือนใครไม่หวั่นไหวใจอ่อนก็ให้มันรู้ไป แต่ที่เด็ดสะระตี่คือรายสุดท้าย เล่นนำเสนอในนามของบุคลากรในวงการยา (ไม่รู้ว่าจริงหรือปลอม) มากระหน่ำตอกย้ำทั้งคุณภาพวัตถุดิบ ความปลอดภัย และผลในการรักษา แบบปิดฝาโลงการบริโภคกันเลยทีเดียว ส่วนคำเตือนท้ายสุด ก็เล่นกับลูกเล่นเดิมๆ คือ รับรองว่าผลิตภัณฑ์ตัวเองได้รับ อย.แล้ว ให้ระวังของปลอม ก็เล่นมาจนเฝือแต่ก็เชื่อว่าได้ผลกับหลายๆ คน  พวกผมตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์เหล่านี้มานับสิบๆ ปี ก็ไม่พ้นเทคนิคเหล่านี้แหละครับ แต่ที่ผู้จำหน่ายไม่เคยบอกคือ ไอ้ที่โฆษณาแบบนี้ มันก็ผิดกฎหมายทั้งนั้น เพราะขึ้นทะเบียนยาแต่ดันมาอ้างสรรพคุณเป็นอาหาร และถึงแม้จะเป็นอาหารก็ไม่สามารถโฆษณาได้โอเวอร์ขนาดนี้ ยังไงผู้บริโภคทั้งหลายตั้งสติกันหน่อยนะครับ  อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคอาจจะไม่ค่อยทราบคือ การประกอบวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพ ทั้ง แพทย์ เภสัชกร พยาบาล ทันตแพทย์ สภาวิชาชีพเขาไม่อนุญาตให้มาโฆษณาเพื่อการค้านะครับ แล้วยิ่งการันตีแบบผิดกฎหมายแบบนี้ ถ้าเป็นตัวจริง จะถือว่ามีความผิดด้านจรรยาบรรณด้วยนะครับ มีบทลงโทษด้วย ยังไงถ้าเจอแจ้งสภาวิชาชีพได้เลยครับ ส่วนผมขอตัวไปตรวจสอบวิชาชีพผมด้วย ว่าตัวจริงหรือปลอมกันแน่  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 จะขายก็หลอก ยังมาบอกให้เจาะเลือด

  เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ผมได้รับแจ้งข่าวจาก ภก.สันติ โฉมยงค์ รุ่นน้องที่ปฏิบัติงานที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า สามารถประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมบุคคลที่มาเจาะเลือด และหลอกขายอาหารเสริมจนชาวบ้านหมดเงินไปหลายหมื่น ได้สำเร็จ แว่วมาว่าจากการหลอกขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนานเกือบปี รายได้เกือบล้านบาท เทคนิคของบุคคลกลุ่มนี้จะเริ่มจากมาออกหน่วยตรวจสุขภาพ โดยจ้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่มาช่วยวัดความดัน ส่วนคนของบริษัทซึ่งแต่งกายคล้ายแพทย์จะเป็นผู้ทำการเจาะเลือด   หรือบางครั้งก็จะมาในลักษณะ “โครงการรักษ์สุขภาพสู่ชุมชน” ไปตามหน่วยงานภาครัฐ เทศบาล อบต. วัด มัสยิด และเวทีประชุมผู้นำชุมชน  โดยหลอกขายอาหารเสริม ด้วยเทคนิคเดิมๆ คือ วัดความดันและตรวจเช็คผลเลือด เคยมีผู้เสียหายบางรายซึ่งเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะสุดท้าย และหลานสาวซึ่งป่วยเป็นทาลัสซีเมีย โดนหลอกจนหมดเงินไปกว่าหนึ่งหมื่นบาท  ผู้กระทำการหลอกลวงกลุ่มนี้ ยังอ้างถึงข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงแรงงาน และสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ให้การสนับสนุนตน และเมื่อเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ก็ใช้เล่ห์เหลี่ยม อาศัยช่องว่างกฎหมายเอาตัวรอดไปได้ โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการบันทึกคำให้การไว้เป็นหลักฐาน แต่ไม่สามารถดำเนินคดีได้ เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ   แต่บริษัทก็ยังไม่หยุดการกระทำ พยายามว่าจ้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือญาติเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้มาร่วมขบวนการด้วย แถมยังมีการปรับกลยุทธ์เพิ่มขึ้นไปอีก โดยการเข้าไปติดต่อกับผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ออกหนังสือเชิญบริษัทมาให้บริการตรวจวัดความดันและเช็คผลเลือดฟรีเสียเอง ทำให้ผู้บริหารหน่วยงานหลายแห่งเกิดความอับอายที่เสียรู้บริษัท จึงไม่ยอมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการจับกุม  อย่างไรก็ตาม ในที่สุดกรรมก็ตามทันซะที สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ประสานงานกับตำรวจ ส่งสายลับไปล่อรับบริการ พบว่าขบวนการหลอกลวงดังกล่าวมีการทำงานเป็นทีม เริ่มตั้งแต่มีการลงทะเบียนผู้มารับบริการ มีเจ้าหน้าที่คอยวัดความดัน 1 คน(บางครั้งจะจ้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาวัดความดันเพื่อให้น่าเชื่อถือ) มีเจ้าหน้าที่คอยจัดคิวเพื่อรอเจาะเลือด 1 คน มีพนักงานแต่งกายคล้ายแพทย์ 1 คน ทำหน้าที่เจาะเลือด เพื่อนำไฟส่องกล้องจุลทรรศน์ โดยเชื่อมต่อกับเครื่องฉายให้ผู้บริโภคมองเห็นภาพจากกล้องจุลทรรศน์ แล้วพยายามพูดวินิจฉัยโรค ร่วมกับการใช้ stethoscope ฟังปอด และใช้ไฟฉายส่องดูคอในบางครั้ง   โดยชายดังกล่าวอ้างตัวว่า มาจากโรงพยาบาลจุฬา มีพนักงาน 1 คนคอยบันทึกคำวินิจฉัยโรคของชายคนดังกล่าวลงในเอกสารแนะนำอาหารเสริม หลังจากทราบผลเลือดตัวเองแล้ว ผู้บริโภคจะต้องไปเข้ารับฟังข้อมูลอาหารเสริมจากพนักงานขาย ซึ่งตั้งโต๊ะให้บริการอยู่ 2 โต๊ะ (โรคส่วนใหญ่จะเป็นพวก ไขมันสูง น้ำตาลสูง ยูริคสูง และเลือดข้น เลือดหนืด)   หลังการจับกุม พวกมิจฉาชีพกลุ่มนี้ก็ยังพยายามติดต่อผู้ใหญ่จากกระทรวงแรงงาน และสำนักนายกฯ เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัว ซึ่ง ภก.สันติ บอกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจแอบกระซิบบอกว่า “มันใหญ่มาก” จริงๆ ยังไงก็ช่วยกันสอดส่องดูแลกันนะครับ เพราะภก.สันติแอบเห็นรายชื่อจังหวัดแว้บๆ จากสมุดจด พบว่ากลุ่มคนไม่ดีเหล่านี้ตระเวนหลอกมาหลายจังหวัด ทั้งอุบลราชธานี  ขอนแก่น นครปฐม ฯลฯ   ฝากทุกท่านช่วยกันประชาสัมพันธ์ด้วยนะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 คำถามสำคัญก่อนที่จะซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

คำถามที่ผู้เขียนได้รับเป็นประจำเกี่ยวกับโภชนาการสำหรับนักวิ่ง และนักออกกำลังกายต่างๆ   ไม่น้อยไปกว่ารายละเอียดการบริโภคเมนูอาหารธรรมชาติที่เป็นประโยชน์  ก็คือ “อาหารเสริม  หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตัวนั้น , ตัวนี้   เป็นประโยชน์จริงหรือไม่?” ถือผู้ถามอยากรู้ว่า   ถ้ามีประโยชน์จริง   จะได้ซื้อกิน   จึงอยากถามความเห็นผู้เขียน ในแง่มุมของผู้เขียน   การที่ผู้ถามเลือกที่จะถามเรา   รู้สึกตัวเองเป็นตรายาง  รับประกันผลิตภัณฑ์   ถ้าพูดอย่างไรไป  หรือตอบไปในทิศทางไหน   อาจถูกตำหนิได้ง่ายๆ  จากช่องโหว่ของคำแนะนำ   ที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก ทั้งๆ ที่ใครก็ตามที่จะสามารถกล่าวคำแนะนำอย่างนี้ได้   ต้องเข้าถึงองค์ความรู้รอบด้าน   ไม่เพียงแต่ต้องติดตามรับรู้ผลวิจัยโภชนาการและเภสัชวิทยาใหม่ๆ เท่านั้น   แต่ยังต้องติดตามกระแสสังคม  และไหวทันเล่ห์กลของบริษัทการค้าให้ทันด้วย ที่ผมยอมรับว่า   สุดวิสัยที่จะทำได้   มันเป็นการยากมากที่ผู้บริโภคปัจเจก หรือ  Exercises Instructor  คนหนึ่งที่มีเครื่องมือแค่อินเตอร์เน็ต  จะไปติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้หากินกับผลิตภัณฑ์คาบเกี่ยวระหว่างสุขภาพและผลประโยชน์เหล่านี้   ที่มีแหล่งทุนมหาศาลจ้างทีมงาน  ทั้งเภสัช   ทั้งแพทย์   และเครื่องไม้เครื่องมืออย่างห้องแล็บที่เป็นของตัวเอง   ตลอดจนนักจิตวิทยาการค้า  Creators   และนักภาษาศาสตร์ กับถ้อยคำชี้นำให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญ   โดยปราศจากข้อที่จะเอาผิดได้ทางด้านกฎหมาย   แต่เราแน่ใจได้อยู่อย่างว่า   ผลิตภัณฑ์เหล่านี้  แต่เดิม มุ่งเป้าหมายผู้ที่อยู่ใต้ระดับโภชนาการมาตรฐาน   ปัจจุบัน   ได้เบนเข็มมุ่งเป้าหมายชนชั้นที่ใฝ่ใจสุขภาพและประชาคมออกกำลังกาย ค่าที่ว่าพวกเขาวิจัยออกมาแล้วว่ากลุ่มเป้าหมายใดที่น่าจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอำนาจซื้อสูง   และพวกเรานักออกกำลังกายจึงถูกผลิตภัณฑ์จากบริษัทเหล่านี้  มองกระเป๋าสตางค์  ตาเป็นมัน เนื่องจากธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง   ของกลุ่มผู้ออกกำลัง ก็คือ   เป็นกลุ่มผู้มีแนวโน้มมีระดับการศึกษาเฉลี่ยกลางค่อนข้างสูง  และฐานะทางการเงินก็เป็นเช่นเดียวกัน   จึงมีความจำเป็นจะต้องใช้ผลวิจัยออกมาเป็นเหยื่อล่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ  จะได้แหวกกระเป๋าสตางค์สำเร็จ บ่อยครั้งที่แม้จะเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์   จะเป็นเช่นที่บริษัทการค้ากล่าว   แต่ในทางปฏิบัติในระดับของการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์   มันกลับไกลจากผลลัพธ์ด้านคุณที่ตั้งความปรารถนาไว้ตั้งแต่ต้นอย่างลิบลับจนมองไม่เห็นเลย   หรือไม่ก็ได้รับน้อยมากๆๆๆๆ แทนที่ผู้เขียนจะตอบคำถามเหล่านี้ทีละราย   อธิบายผลิตภัณฑ์ทีละตัว   ผู้ถามต่างหากควรจะหาคำตอบเอาเองจากคำถามที่ผมตั้งไว้  ดังต่อไปนี้ 1   มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดบ้างกล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์? 2   มีการศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์ใดบ้าง?   ที่สอดคล้องกับคำโฆษณา 3  โดยใคร?.......สถาบันที่บริษัทอ้างถึงนั้น   มีความน่าเชื่อถือทางสาธารณะขนาดไหน?     เป็นเพียงสถาบันที่มีแต่ชื่อหรูๆ  หรือผ่านควอลิฟายด์จากใคร? 4  นักวิจัยเหล่านั้นดำรงสภาพผลประโยชน์ทางการเงินหรือผลประโยชน์แลกเปลี่ยนกับบริษัทหรือไม่? 5  ผลงานวิจัยที่กล่าวอ้างมา  เราจะเชื่อเลยโดยอัตโนมัติเลยหรือ?   โดยเราจะเอาเครื่องมือใดตรวจสอบ   ผลงานวิจัยเหล่านั้นถูกตีพิมพ์ที่ไหน? 6  ผลวิจัยเหล่านั้นมีเนื้อหารายงานฉบับเต็มๆ   ไม่ใช่บางส่วนว่าอย่างไร 7   มีผลวิจัยอื่นคัดค้าน หรือ แสดงผลลัพธ์ไปคนละทิศละทางกับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทกล่าวอ้างหรือไม่?    และจากสถาบันใดที่มีควอลิฟายด์เช่นกัน 8  เหล่าผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เป็นประเด็นนี้   มีความเห็นเช่นไร 9  ใครคือผู้เชี่ยวชาญ  และใครเรียกเขาว่า  “ผู้เชี่ยวชาญ” จะบอกอะไรให้ครับ   ธรรมชาติอย่างหนึ่งของผู้เชี่ยวชาญคือ  มีความขัดแย้งกันเองมาก  เห็นกันไปคนละทาง  อันเป็นลักษณะปัญญาชน  อยู่ที่เรารู้จักเลือกพิจารณา 10  ที่สำคัญผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้  มีผลประโยชน์ติดปลายนวม  ในทางไม่เปิดเผยกับผลิตภัณฑ์หรือไม่? 11  ถ้าคำกล่าวอ้างโฆษณาจากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเป็นความจริง   น่าสนใจว่า   ก่อนหน้าที่ผลิตภัณฑ์จากมานำเสนอ   ถามว่า  ทำไมเรายังดำเนินสภาพความเป็นปกติสุขได้ในชีวิตความเป็นอยู่  ในการออกกำลังกาย   โดยไม่ได้รับอันตรายใดๆ   ตรงกันข้าม   ความผิดปกติต่างๆถูกนำมาขยายจนเราเห็นภาพน่ากลัว  จูงใจให้เปลี่ยนพฤติกรรมภายหลังจากที่เราพบตัวแทนขาย ความสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ที่ดี  ไม่เพียงแต่ต้องอาศัยสุขภาพที่ดีเท่านั้น   แต่ยังต้องยึดกุมเงื่อนไขให้รอบคอบ  อย่างมีบุคลิกตรวจตรา  ใส่ใจ  และกลั่นกรองอีกด้วย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 100 น้ำตาลในอาหารเสริมสำเร็จรูปของเด็กเล็ก

  “อาหารเสริม” เวลาที่พูดถึงคำๆ นี้มักจะชวนให้คิดถึง บรรดาผลิตภัณฑ์ที่อ้างสรรพคุณว่ากินแล้วดีต่อสุขภาพ ทำให้สวย ขาว หรือแข็งแรงเว่อร์ๆ อะไรประมาณนั้น ซึ่งในทางกฎหมายเขามีชื่อที่นิยามไว้เฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมานี้ว่า “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ไม่ใช่ “อาหารเสริม” เพราะอาหารเสริม โดยแท้จริงแล้วจะหมายถึง อาหารที่ให้เด็กรับประทานเสริมจากนมแม่หรือนมผสม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถเตรียมขึ้นเอง หรือบางครั้งก็เลือกใช้ผลิตภัณฑ์แบบสำเร็จรูปที่ขายในท้องตลาดแทน จากงานวิจัยของกองทันตสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2551 พบว่า เด็กอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไปเริ่มมีการบริโภคอาหารเสริมถึงร้อยละ 52.7 ปัญหาคือ เป็นอาหารเสริมปรุงสำเร็จ หรือกึ่งสำเร็จรูป ที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลักในปริมาณสูง ซึ่งมันมีผลต่อการ “ติดรสหวาน” ของเด็กในอนาคต ฉลาดซื้อได้ทดลองหยิบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่วางขายทั่วไป และมียอดขายลำดับต้นๆ มาทดสอบหาปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ว่าจะ “หวาน” กันสักแค่ไหน ผลปรากฏว่า หวานมากเมื่อคิดว่าเป็นอาหารที่ป้อนให้ลูกน้อยรับประทานเสริมในช่วงปีแรกของชีวิต เรียงลำดับ 3 อันดับหวานมาก ได้แก่ 1. เนสท์เล่ ซีรีแลค สูตรผสมน้ำผึ้ง ปริมาณน้ำตาล 19.9 กรัม/ผลิตภัณฑ์ 100 กรัม หรือประมาณ 5 ช้อนชา2. เนสท์เล่ ซีรีแลค สูตรผลไม้รวม ปริมาณน้ำตาล 18.8 กรัม/ผลิตภัณฑ์ 100 กรัม หรือประมาณ 4 ช้อนชาครึ่ง 3. เนสท์เล่ ซีรีแลค ข้าวโอ๊ต&ลูกพรุน ปริมาณน้ำตาล 18.2 กรัม/ผลิตภัณฑ์ 100 กรัม หรือประมาณ 4 ช้อนชา อย่าปล่อยให้เด็กติดหวาน การดูแลเรื่องอาหารการกินในวัยต้นของชีวิต โดยเฉพาะช่วงขวบปีแรกถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากพ่อแม่คิดจะสร้างความแข็งแรง ความมีสุขภาพดีให้แก่ลูกรักที่จะเติบโตต่อไปเป็น “เด็กฉลาด แข็งแรง” และ “ผู้ใหญ่สุขภาพดี” หลังคลอดอาหารที่ดีที่สุดคือ นมแม่ ซึ่งสามารถให้ได้ถึง 6 เดือน โดยไม่ต้องกินอย่างอื่น จากนั้นจึงค่อยๆ เสริมด้วยอาหารอื่นเพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารที่เพียงพอสมวัย หรือหากไม่ได้กินนมแม่ตลอดมีการให้นมผงผสมผสานในการเลี้ยงดู ก็จำเป็นต้องให้อาหารอื่นเสริมไวขึ้น  อาหารเสริมที่คุ้นเคยกันดี ก็เช่น กล้วยน้ำว้าบด ข้าวบด ไข่แดงบด และอาจรวมไปถึงเนื้อสัตว์ผัก และปลา ซึ่งเตรียมเองได้ง่ายๆ ในครัวเรือน แต่ด้วยสภาพสังคมที่อาจจะไม่เอื้อต่อคุณพ่อคุณแม่หลายท่าน ส่งผลให้พ่อแม่ไม่มีเวลามากพอในการจัดเตรียมอาหารเสริมแบบปรุงเองเพื่อป้อนให้ลูกน้อยได้ ก็จำเป็นต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ปรุงสำเร็จรูปมาป้อนเข้าปากลูกแทน ซึ่งจุดนี้อาจถือว่าเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “ติดรสหวาน” จากการศึกษา พบว่า เด็กไทยอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป ร้อยละ 52.7 เริ่มบริโภคอาหารเสริมสำเร็จรูป นั่นเท่ากับว่า เด็ก 1 ใน 2 คน มีโอกาสได้ลิ้มรสชาติ “น้ำตาล” ตั้งแต่อายุเพียง 6 เดือนเท่านั้น เพราะอาหารเสริมปรุงสำเร็จส่วนใหญ่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบเพื่อเพิ่มรสชาติ ติดรสหวานไม่ดีอย่างไร เรื่องนี้พิสูจน์ได้ด้วยสถานการณ์สุขภาพเด็กไทยในปี พ.ศ.2545 ที่พบเด็กฟันผุมากถึงร้อยละ 72 จนหน่วยงานทั้งหลายต้องเร่งออกมาศึกษาและหาทางแก้ไขกันยกใหญ่ ซึ่งจุดหนึ่งของปัญหาคือ พบว่า เด็กไทยเริ่มกินนมสูตรต่อเนื่องที่มีน้ำตาลผสมในปริมาณสูง ทำให้น้ำตาลสะสมในช่องปากก่อให้เกิดฟันผุ แต่หลังจากที่หลายองค์กรทางด้านสุขภาพได้ช่วยกันรณรงค์ผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ สธ.ที่ 286 ห้ามไม่ให้เติมน้ำตาลในนมสูตรต่อเนื่องสำหรับเด็ก รวมทั้งเร่งให้การศึกษาพ่อแม่ให้ดูแลสุขภาพภายในช่องปากของลูก ทำให้พบว่า เด็กไทยมีแนวโน้มฟันผุน้อยลงมาหน่อย คือ ร้อยละ 62.8 ในปี พ.ศ. 2550 ติดรสหวานไม่เพียงทำให้ฟันผุ (ซึ่งอาจแก้ได้ด้วยการแปรงฟันที่ถูกวิธี) แต่ยังทำให้เด็กปฏิเสธอาหารรสชาติธรรมชาติ ตลอดจนอาหารอื่น โดยเรียกร้องแต่จะกินอาหารที่หวานด้วยน้ำตาลเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นขนมขบเคี้ยว ขนมถุง น้ำหวานหรือน้ำอัดลม ส่งผลให้เด็กมีภาวะน้ำหนักเกิน ขาดสารอาหาร และมีแนวโน้มเจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่ควรเกิดในเด็กเล็ก อย่าง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ดังนั้นหากไม่อยากให้ลูกติดรสหวาน ถ้าจำเป็นต้องเลือกอาหารเสริมสำเร็จรูป ก็ควรเลี่ยงที่มีส่วนผสมของน้ำตาล พยายามทำอาหารให้ลูกกินเองให้ได้มากที่สุด ใช้อาหารเสริมเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้ลูกของคุณกลายเป็นเด็กที่อ้วนแต่อ่อนแอ และหากพ่อแม่คนไหนยังมีความเชื่อว่าอาหารเสริมกึ่งสำเร็จรูปสำหรับเด็กเป็นอาหารที่ดี มีประโยชน์มากกว่าอาหารปกติ ขอให้ข้อคิดว่า อาจไม่เป็นเรื่องจริงก็ได้ เพราะความจริงคือ ไม่น่าจะมีอะไรวิเศษไปกว่าอาหารสดที่เราหาซื้อได้จากตลาดและนำมาปรุงเอง อาหารที่เตรียมเองไม่ต้องผ่านกระบวนการผลิต การบรรจุขวด ซึ่งผ่านขั้นตอนที่ทำลายคุณค่าอาหารและยังอาจมีสารกันบูดผสมด้วย ดังนั้นในยุคเศรษฐกิจฝืดๆ แบบนี้ อาหารเสริมสำเร็จรูปจากต่างประเทศ “ราคาแพงเกินไป” ทำเองดีกว่า ถูกกว่าและปลอดภัยกว่าแน่นอน ผลทดสอบปริมาณน้ำตาลในอาหารเสริมกึ่งสำเร็จรูปสำหรับเด็ก   ผลิตภัณฑ์ น้ำหนัก (กรัม) ราคาต่อหน่วย (บาท) วันผลิต – วันหมดอายุ น้ำตาล (กรัมต่อ 100 กรัม) เนสท์เล่ ซีรีแลค สูตรผสมน้ำผึ้ง 120 38.75 10-11-08 09-02-10 19.9 เนสท์เล่ ซีรีแลค สูตรผลไม้รวม 120 38.75 19-11-08 18-02-10 18.8 เนสท์เล่ ซีรีแลค ข้าวโอ๊ต&ลูกพรุน 150 120.75 16-05-08 15-08-09 18.2 เนสท์เล่ ซีรีแลค ข้าว แอปเปิลและแครนเบอรี่ 150 120.75 29-05-08 28-08-09 16.2 ไฮนซ์ แอปเปิ้ลผสมบลูเบอร์มูสลี่ 110 41.25 01-07-08 01-07-10 7.8 ไฮนซ์ คัสตาร์ด กลิ่นวานิลลา 110 41.25 04-06-08 04-06-10 6.7 ไฮนซ์ คัสตาร์ด รสไข่ 110 41.25 06-06-08 06-06-10 5.8   อายุ อาหารเสริม ครบ 4 เดือน ข้าวบดใส่น้ำแกงจืด สลับกับกล้วยน้ำว้าสุกครูด ข้าวบดกับไข่แดงต้มสุก ข้าวบดกับตับ หรือข้าวบดกับถั่วต้มเปื่อย ครบ 5 เดือน เริ่มอาหารปลา และควรเติมฟักทองหรือผักบดละเอียดในข้าวด้วย ครบ 6 เดือน ให้อาหารเสริมเป็นอาหารหลัก 1 มื้อ และให้กล้วย มะละกอสุก องุ่น มะม่วงสุก เป็นอาหารว่างอีก 1 มื้อ โดยตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ถ้วยให้ลูกหยิบรับประทานเองได้ และให้เริ่มดื่มน้ำส้มได้โดยผสมกับน้ำสุก 1 เท่าตัว ควรเริ่มทีละน้อยก่อน เช่น 1 ช้อนชา ครบ 7 เดือน เริ่มเนื้อสัตว์บดผสมในข้าว เริ่มให้ไข่ทั้งฟองได้ แต่ต้องต้มสุก ครบ 8-9 เดือน อาหารมื้อหลัก 2 มื้อ ถ้าลูกน้ำหนักตัวน้อย อาหารอาจเป็นของทอดที่มีน้ำมันด้วย ครบ10-12 เดือน อาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และเปลี่ยนจากบด หรือสับละเอียดมาเป็นอาหารอ่อนนิ่มธรรมดาได้แล้ว   ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับเด็กมีมูลค่าตลาดราว 427 ล้านบาท โดยมีผลิตภัณฑ์ภายใต้เนสท์เล่ เป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่ง 97% หลักเกณฑ์ทั่วไปการให้อาหารเสริมแก่ทารก      1) เริ่มให้อาหารเสริมทีละอย่าง ไม่ควรให้พร้อมกันหลายอย่าง เพราะถ้าเด็กเกิดอาการแพ้ จะได้ทราบว่าเกิดจากอาหารอะไร     2) การเริ่มให้อาหารเสริมแต่ละชนิด ควรเว้นห่างกัน 1-2 สัปดาห์ เพื่อคอยสังเกตดูว่าเด็กมีอาการผิดปกติอะไรหรือไม่ เช่น มีผื่นตามผิวหนัง ร้องกวนมาก ไอ หอบ     3) เริ่มให้ทีละน้อยจากครึ่งช้อนชา แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้น     4) เตรียมอาหารให้เหมาะกับอายุและพัฒนาการของเด็ก     5) ต้องระวังสนใจเรื่องความสะอาดให้มาก ผู้ปรุงต้องล้างมือให้สะอาดก่อนปรุง ภาชนะต้องต้มฆ่าเชื้อให้สะอาด แยกต่างหากจากของผู้อื่น อาหารต้องใหม่สด และต้มให้สุกอย่างทั่วถึง และเมื่อปรุงเสร็จแล้วต้องมีฝาปิดมิดชิดกันแมลงวันตอม     6) อาหารของทารกต้องรสไม่จัด ปรุงรสเพียงเจือจาง และไม่ใส่ผงชูรส     7) ให้เด็กรับประทานอาหารเป็นเวลา เป็นที่เป็นทาง ไม่เล่นไปด้วย ควรสร้างบรรยากาศให้เพลิดเพลินสนุกสนาน และหากเด็กปฏิเสธให้หยุดไปก่อน แล้วค่อยเริ่มใหม่ในอีก 3-4 วัน     8) ให้เด็กหัดช่วยตัวเอง หัดถือช้อนเอง หัดหยิบอาหารเข้าปากเอง โดยทั่วไป เด็ก 6-7 เดือนจะนั่งได้ และเริ่มอยากจะช่วยตัวเอง นำอาหารเข้าปากเอง     9) ไม่ควรให้น้ำหวาน กลูโคส น้ำอัดลม เพราะไม่มีประโยชน์ ทำให้ไม่อยากรับประทานอาหารอื่นที่มีประโยชน์(ข้อมูล ภญ. อ. ดร. สุญานี พงษ์ธนานิกร ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)   วิเคราะห์โดย สถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดลผลการวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point