ฉบับที่ 87 โทรศัพท์มือถือ

ถึงวันนี้ผู้อ่านฉลาดซื้อส่วนใหญ่คงมีโทรศัพท์มือถือกันหมดแล้ว แต่เนื่องจากเรามีผลทดสอบโทรศัพท์มือถือครั้งล่าสุดจากองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) อยู่ จึงคิดว่าน่าจะนำมาบอกต่อกัน เพราะหลายคนอาจสงสัยว่าโทรศัพท์ที่ทุกวันนี้เป็นอุปกรณ์สารพัดนึกที่ทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่โทรออก รับสายเข้า ถ่ายรูป และฟังเพลง มันทำทุกอย่างได้ดีมากน้อยต่างกันอย่างไร เผื่อจะนำมาเปรียบเทียบกับราคาขาย เอาไว้เป็นทางเลือกสำหรับการซื้อโทรศัพท์เครื่องต่อไป รุ่นที่นำมาทดสอบทั้งหมดส่งเข้าทำการทดสอบโดยองค์กรผู้บริโภคจากประเทศในยุโรปตั้งแต่ต้นปี 2551 ทุกรุ่นมีจอสี มีเสียงเรียกเข้าแบบโพลีโฟนิค สามารถเป็นเครื่องเล่น MP3 และมีระบบการเชื่อมโยงข้อมูลแบบไร้สาย (บลูทูธ) ส่วนท่านที่สนใจสมาร์ทโฟนก็อดใจรออีกนิด ICRT ส่งผลทดสอบให้เมื่อไร รับรองว่าฉลาดซื้อจะรีบนำมาบอกต่อทันที ผลการทดสอบในภาพรวมปรากฏว่าโทรศัพท์ส่วนใหญ่ไม่แตกต่างกันมากนักในเรื่องของฟังก์ชั่นการใช้เพื่อโทรศัพท์ แต่จะไปแตกต่างกันที่ฟังก์ชั่นการถ่ายภาพ ฟังเพลง หรือ ส่งข้อความ และโดยส่วนใหญ่จะได้คะแนนในระดับพอใช้ขึ้นไปในทุกๆด้าน จะมีต่ำกว่าขั้น “พอใช้” อยู่บ้างไม่กี่รุ่น เช่น อัลคาเทล OT_C701 ที่ใช้ถ่ายภาพได้ไม่ดีนัก หรือ ลีวายส์ The Original, โนเกีย 5610 Xpress Music, โนเกีย 8600 Luna ที่ยังได้คะแนนจากฟังก์ชั่นการใช้ฟังเพลงที่น้อยกว่ารุ่นอื่นๆ  และโมโตโรล่า Motorazr Z8 และ Motorazr (ยกกำลังสอง) V8 ที่ไม่เข้าตากรรมการเรื่องการออกแบบให้เหมาะกับมือซักเท่าไร  แต่ถ้าพูดเรื่องความทนทาน ที่หลายๆคนให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆนั้นก็ต้องยกให้กับห้ารุ่นต่อไปนี้ ที่สามารถผ่านการทดสอบทั้งน้ำฝน ความสั่นสะเทือน การขีดข่วน ด้วยคะแนนเต็ม ได้แก่ อัลคาเทล OT_C701, โนเกีย 8600 Luna, โมโตโรล่า Motorazr (ยกกำลังสอง) V8, โซนี่ อิริคสัน T650i และ ซัมซุง SGH-E210    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point

ฉบับที่ 132 กระแสในประเทศ

 ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 2555 คอนแทคเลนส์ อันตรายต่อดวงตา...ถ้าใช้ไม่เป็น ใครที่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ ต้องใส่ใจดูแลตัวเองให้มากขึ้น เพราะราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ฝากเตือนคนที่ใส่คอนแทคเลนส์ไม่ถูกวิธีอาจมีผลทำให้กระจกตาอักเสบ ซึ่งเกิดจากการไม่รักษาความสะอาดจนเกิดอาการติดเชื้อ และการที่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานานเกินไป ซึ่งเวลาที่เหมาะสมในการใส่คอนแทคเลนส์คือไม่เกิน 7 ชั่วโมง สำหรับคำแนะนำในการใส่คอนแทคเลนส์ให้ปลอดภัย คือ อย่าใส่ในเวลานอน เพราะคอนแทคเลนส์จะไปปิดกั้นออกซิเจนที่จะเข้ามาเลี้ยงดวงตาของเรา ส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อม คนที่มีปัญหาด้านสายตาแล้วต้องการใส่คอนแทคเลนส์ ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ เพราะปัญหาเรื่องสายตาบางอย่างอาจไม่เหมาะกับการใช้คอนแทคเลนส์ เช่น คนที่มีตาแห้ง หรือเป็นโรคภูมิแพ้ในตา------------------------------------------------------------------------------------------   อีกแล้ว!!! อาหารเสริมโม้สรรพคุณ “เอนไซม์ – น้ำเห็ดสกัด”คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ต้องออกมาเตือน (อีกครั้ง) เรื่องของการเข้าใจผิดของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ “เอนไซม์” ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เอนไซม์เจนิฟู้ด เอนไซม์ลี่เป่า เอนไซม์หว้างเหวียนเป่า และรวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำเห็ดสกัด 6 สายพันธุ์ ที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่ารักษาสารพัดโรค  ซึ่ง อย.ได้ตรวจโฆษณาของผลิตภัณฑ์โม้สรรพคุณเกินจริงเหล่านี้ ตามเคเบิ้ลทีวี วิทยุ เว็บไซต์ และแผ่นพับ ใบปลิวต่างๆ ทั้งหมดไม่ได้รับการอนุญาตจาก อย. เพราะฉะนั้นผู้บริโภคอย่าหลงไปซื้อหามารับประทานเด็ดขาด เพราะผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเป็นเพียงแค่อาหารเสริมไม่ใช่ยารักษาโรค การอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ ที่เห็นในโฆษณาเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค นอกจากเป็นการเสียเงินโดยใช่เหตุแล้ว ยังอีกเสี่ยงได้โรคเพิ่มหรือทานไปแล้วอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ใครที่พบเห็นโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงหรือจงใจหลอกลวงผู้บริโภค สามารถร้องเรียนไปได้ที่ สายด่วน อย. 1556------------------------------------------------------------------------------------------     ถ้าไม่มีสัญญาณ ต้องแจ้งล่วงหน้า 3 วัน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมออกเกณฑ์มาตรฐานให้กับบรรดาบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หากต้องการปรับปรุงสัญญาณแล้วส่งผลต่อการใช้งานของผู้บริโภค ต้องมีการแจ้งล่วงหน้าให้ กสทช.ทราบก่อน 30 วัน และประกาศให้ประชาชนรู้ก่อนอย่างน้อย 3 วัน เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเตรียมหาช่องทางสื่อสารอื่นๆ ไว้รับรอง หากเกิดความจำเป็นที่ต้องติดต่อสื่อสาร ก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบดีแทค เกิดปัญหาไม่มีสัญญาณไม่สามารถใช้งานได้ทั้งการโทรออกและรับสาย ซึ่งแม้จะมีการแก้ไขและชดเชยให้กับผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบ แต่ก็สร้างความสงสัยถึงมาตรฐานการบริการ กสทช. จึงต้องออกข้อบังคับดังกล่าวมาใช้ เพื่อป้องกันผลเสียต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค -------------------------------------------------     วันนี้คุณแปรงฟัน (ถูกวิธี) แล้วหรือยัง “ฟัน” สิ่งสำคัญที่หลายคนอาจมองข้ามเรื่องการดูแล เพราะจากผลสำรวจพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของคนไทยอายุ 15 – 60 ปี โดยกรมอนามัย พบว่ายังมีคนที่แปรงฟันไม่ถูกวิธีอยู่ถึง 34% ซึ่งการแปรงฟันที่ผิดวิธีจะส่งผลให้คอฟันสึกเร็วขึ้น แถมผลสำรวจยังบอกอีกว่า เวลาที่มีเศษอาหารติดฟันจะใช้ไม้แคะฟันแคะเศษอาหารมากถึง 43% ซึ่งการใช้ไม้จิ้มฟันเพื่อกำจัดเศษอาหาร เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง ไม่ควรใช้ไม้จิ้มฟันดัน หรือแคะอย่างรุนแรง หรือเสียบไม้จิ้มฟันทะลุซอกฟันจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง แล้วหมุนหรืองัด เพราะจะทำให้เกิดปัญหาซอกฟันโหว่เป็นโพรง ฟันห่าง เหงือกร่น คอฟันหรือผิวรากฟันสึก ทำให้เกิดอาการเสียวฟัน ฟันผุ ทันตแพทย์ของกรมอนามัยแนะนำว่า การดูแลสุขภาพปากและฟันที่ดีที่สุด คือการแปรงฟันทุกครั้งหลังมื้ออาหาร และหากมีการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลระหว่างมื้อควรบ้วนน้ำตาม เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนาดเหมาะสมกับช่องปาก ขนแปรงควรทำจากไนล่อนที่มีความนุ่มปานกลาง ซึ่งการแปรงฟันที่ถูกวิธีนั้นคือการแปรงขึ้นแปรงลงไปตามปลายฟัน หากเศษอาหารที่ติดแน่นในซอกฟันควรใช้เส้นใยขัดซอกฟันเป็นตัวช่วย ส่วนการเลือกยาสีฟัน ควรผสมฟลูออไรด์ไม่เกินร้อยละ 0.11 โดยน้ำหนัก หรือ 1,100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เพราะถ้ามีฟลูออไรด์มากเกินไปจะทำให้ฟันตกกระ ใช้เวลาแปรงฟัน 2 นาทีขึ้นไป เพื่อให้ฟลูออไรด์สัมผัสกับผิวฟันได้อย่างเต็มที่    10 สุดยอดธุรกิจนวัตกรรม ประจำปี 2554สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สนช. ได้ทำการคัดเลือก  “10 สุดยอดธุรกิจนวัตกรรม ประจำปี 2554 (TOP TEN INNOVATIVE BUSINESS 2011)” จากผลงานจากโครงการที่ สนช. ได้ให้การสนับสนุนจำนวนทั้งสิ้น 680 โครงการ โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคือ 1. รูปแบบธุรกิจใหม่ 2. เทคโนโลยีที่โดดเด่น 3. ศักยภาพสูงในตลาดโลก 4. การบริหารจัดการองค์กรที่ดี และ 5. รูปแบบธุรกิจได้ส่งเสริมให้เกิดกระแสตื่นตัวด้านนวัตกรรมในประเทศไทย มาดูสิว่า 10 สุดยอดนวัตกรรม ประจำปี 2554 มีอะไรกันบ้าง 1."ไทเกอร์" มุ้งกันยุงนาโนหน่วงการติดไฟ ของ บริษัท บางกอก เบดเน็ท อาร์แอนด์ดี มาร์เก็ตติ้ง จำกัด มุ้งที่สามารถไล่ยุงและกันไฟได้ในผืนเดียวกัน 2. “โอไรเซ่” แป้งฟัฟจากแป้งข้าวเจ้า ของ บริษัท ไทย โปรดักส์ อินโนเวชั่น จำกัด สวยแบบธรรมชาติ แถมยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับข้าว       3.“โมบายเบิร์น” เตาเผาขยะเคลื่อนที่ ของ บริษัทเชียงใหม่ เอ็นไวรอนเมนท์ โปรเทค จำกัด ร่วมกับบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เทคโนโลยีแก็ซซิฟิเคชั่น ลดการใช้เชื้อเพลิง ไม่สร้างมลภาวะ         4.“เมดซ์เพิร์ล” ระบบสื่อสารข้อมูลการแพทย์ทางไกล ของ บริษัท จี.ไอ.แคปซูล ไดแอ็คโนสติกส์ จำกัด ช่วยวิเคราะห์โรคผู้ป่วย ด้วยเทคโนโลยีกล้องขนาดจิ๋ว ให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถอ่านผลตรวจผ่านระบบเครือข่าย เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา           5. “อีชัวร์” ชุดตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียชนิดรวดเร็ว ของ บริษัท มิตร เมดดิคอล จำกัดชุดตรวจโรคที่ให้ผลรวดเร็วขึ้น และผลที่ได้มีประสิทธิภาพ ไม่คลาดเคลื่อน       6. “อี คอมโพสิม” วัสดุ BMC จากขวดเพทใช้แล้วสำหรับผลิตโคมไฟรถยนต์ ของ บริษัท ไทย โดโน-เกน เกน เคมีคอล จำกัด นวัตกรรมที่ช่วยรีไซเคิลขวดน้ำพลาสติกใส ให้กลายมาเป็นโคมไฟรถยนต์             7.“โทฟุซัง” น้ำเต้าหู้โปรตีนสูง ของ บริษัท โทฟุซัง จำกัด น้ำเต้าหู้โปรตีนสูง เพราะเพิ่มส่วนผสมของฟองเต้าหู้         8.“เอ็กซ์ทียูเอวี” อากาศยานไร้นักบินขนาดกลางสมรรถนะสูง ของ บริษัท จี เอ็ม ที โปรดักส์ชั่น จำกัด อากาศยานไร้นักบินระดับกลาง บังคับทิศทางอัตโนมัติด้วยระบบดาวเทียม (GPS)           9.“สยามนิชชิน” รถเข็นน้ำหนักเบาสำหรับคนพิการ ของ บริษัท สยามนิชชิน จำกัด อุปกรณ์รถเข็นน้ำหนักเบา เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ทุพพลภาพ       10.“กรีนพลาส เอ็นอาร์” ถุงเพาะชำกล้าไม้จากพลาสติกชีวภาพ ของ บริษัท สาลี่ คัลเล่อร์ จำกัด (มหาชน)ฟิล์มพลาสติกชีวภาพสำหรับงานเกษตรกรรมที่สลายตัวได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 กระแสในประเทศ

 ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2554 สวยด้วยแพทย์...ก็ยังมีเสี่ยง ใครที่อยาก “สวยด้วยแพทย์” ต้องอ่านข่าวนี้ให้ดีๆ เมื่อคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก. คปภ.) ได้ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สำหรับเสริมความงามที่นำเข้าอย่างผิดกฎหมายและไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. ภายในพงศักด์คลินิก สำนักงานใหญ่ใน จ.ระยอง ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดได้ล้วนเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความสวยความงาม ไม่ว่าจะเป็น  ยาฉีดโบท็อกซ์ , ยาฉีดฟิลเลอร์ เสริมจมูก เสริมคาง, ยาฉีดกลูตาไธโอน, ยาฉีดพลาเซนต้า หรือรกแกะ, ยาฉีดแอลคานีทีน และยาฉีดวิตามินซีผสมคอลลาเจล นอกจากนี้ยังมียาลดความอ้วน รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการเสริมความงาม เช่น เครื่องนวดเย็น เครื่องสลายไขมัน เครื่องยิงเลเซอร์ รวมมูลค่าสินค่าทั้งหมดกว่า 20 ล้านบาท อย.ฝากเตือนและขอความร่วมมือไปยังคลินิกเสริมความงามทั้งหลาย อย่าใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจาก อย. เพราะจะทำให้เกิดอันตรายกับผู้ที่มาใช้บริการอย่างที่เคยเห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ อย่างกรณีการฉีดฟิลเลอร์ที่ว่าสามารถช่วยเรื่องริ้วรอยบนใบหน้านั้น เคยมีข้อมูลจากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยว่า เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมาว่า มีผู้ที่ได้รับผลร้ายข้างเคียงจากการฉีดฟิลเลอร์จนทำให้ตาบอดจำนวนถึง 3 คน นอกจากนี้ฟิลเลอร์ยังอาจมีผลต่อสมองในระยะยาว หากฉีดในปริมาณมากหรือฉีดไม่ถูกวิธี คนที่อยากจะสวยทางลัดต้องศึกษาข้อมูลให้ดี ว่าการเสริมความงามแต่ละประเภทมีผลเสียหรือผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง ความน่าเชื่อถือของสถานบริการมากน้อยแค่ไหน และเรื่องผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ต้องให้แน่ใจว่าได้รับรองจากทาง อย.--------------------   ชอบใส่กางเกงฟิตมีสิทธิปวดหลัง ตอนนี้แฟชั่นกางเกงรัดรูป ไม่ว่าจะเป็นกางเกงขาเดฟ สกินนี่ หรือเลกกิ้ง กำลังได้รับความนิยม ฮิตใส่ทั้งหนุ่มๆ และสาวๆ แต่ความสวยความเท่ก็อาจกลายเป็นผลเสียต่อสุขภาพ เมื่อคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำเสนอผลการวิจัยที่น่าสนใจในหัวข้อที่ว่า “การสวมกางเกงขายาวแบบรัดรูปมีผลต่อองศาการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังส่วนเอวและการทำงานของกล้ามเนื้อลำตัว” ซึ่งข้อมูลจากการวิจัยพบว่า ขณะนี้มีวัยรุ่นในภาคอีสานกว่า 80% เป็นโรคปวดหลัง โดยส่วนใหญ่นิยมนุ่งกางเกงรัดรูปเอวต่ำ สำหรับวิธีการศึกษาในครั้งนี้ทำโดย ให้อาสาสมัครทำกิจกรรม 3 ประเภท คือ การนั่งยองๆ แล้วทำกิจกรรมต่างๆ การลองให้ยกของขึ้นจากพื้น และการนั่งเอื้อมมือไปหยิบวัตถุที่อยู่ด้านหน้า โดยใส่กางเกงขายาวแบบรัดรูป เทียบกับกางเกงขายาวแบบสวมใส่สบาย โดยอาสาสมัครจะได้รับการวัดองศาการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังระดับเอวและวัดศักย์ไฟฟ้าของกล้ามเนื้อลำตัวไปพร้อมกัน เพื่อเปรียบเทียบผลระหว่างกางเกงขายาวทั้งสองแบบ ซึ่งกางเกงขายาวแบบรัดรูป จะจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อสะโพก ส่งผลให้องศาการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังระดับเอวเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ การทำงานของกล้ามเนื้อหลังลดลง และทำให้ผู้สวมใส่เกิดความไม่สบายที่บริเวณหลังส่วนล่าง เมื่อเปรียบเทียบกับกางเกงขายาวแบบสวมใส่สบาย ------------------------------------------------   ลูกชิ้น (ต้อง) ไร้สารกันบูด คนที่ชอบลูกชิ้นรู้กันหรือยังว่า ลูกชิ้นที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นเนื้อ ลูกชิ้นไก่ ฯลฯ ถูก อย. ประกาศให้เป็นอาหารที่ห้ามใช้สารกันบูด(เว้นแต่ขออนุญาตก่อน) แต่ก็ยังมีผู้ผลิตบางรายที่ยังคงใส่สารกันบูดในลูกชิ้น จากการสำรวจตลาดของ อย. พบลูกชิ้นยี่ห้อ “หมูสยาม” มีวัตถุกันเสียชนิดกรดเบนโซอิกใน 3 ตัวอย่าง คือ ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นเอ็นหมู และลูกชิ้นเนื้อวัว พบกรดเบนโซอิกปริมาณ 3,745, 4,731 และ 4,770 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมตามลำดับ “หมูสยาม” ทั้งลูกชิ้นเอ็นหมู และลูกชิ้นเนื้อวัว จึงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งทาง อย. ได้ทำการลงโทษผู้ผลิต ระงับการผลิต และเรียกคืนผลิตภัณฑ์ทั้งหมดออกจากตลาดแล้ว------------------- “ตัดสัญญาณ คิดเงินผิด โทรไม่ติด” ปัญหา (ที่ยัง) ยอดฮิตของคนใช้โทรศัพท์นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวง กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยผลการร้องเรียนของผู้บริโภค ในปี 2554 ซึ่งมีจำนวนเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 4,615 เรื่อง เข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาแล้ว 2,077 เรื่อง คิดเป็น 45% ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จจำนวน 1,627 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 75% อินเตอร์เน็ต 19% โทรศัพท์พื้นฐาน 3.9% โทรศัพท์สาธารณะ 2.1% บริษัทผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์ทั้ง เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ และ ฮัทช์ ต่างก็ได้รับการร้องเรียนในหลายๆ เรื่อง ที่มากที่สุดคือ การกำหนดระยะเวลาของบัตรเติมเงินที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีเรื่อง คิดค่าบริการผิดพลาด และมาตรฐานการให้บริการ เช่น สัญญาณไม่ดี ไม่ชัด หลุดบ่อย ปัญหาเกี่ยวกับการใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย ถูกระงับบริการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ถูกยึดเลขหมายแล้วนำไปจำหน่ายให้ผู้บริโภครายใหม่ก่อนครบ 180 วัน ไม่สามารถใช้บริการที่สมัครได้ เปลี่ยนเงื่อนไขบริการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าใครที่มีปัญหาเรื่องบริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต สามารถติดต่อสอบถามไปยั งบริการ Call Center ของแต่ละค่ายผู้ให้บริการ หรือที่ กสทช. โทร.1200-----------------------------------------------------------------------   สรุปปัญหาผู้บริโภค ปี 54ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้สรุปสถานการณ์เรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคในปี 2554 ที่ผ่านมา โดยมีเรื่องร้องเรียนเข้ามายังศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ทั้งสิ้น 895 กรณี และยังมีการร้องเรียนผ่านเครือข่ายผู้บริโภคในส่วนภูมิภาคอีกจำนวนหนึ่ง โดยปัญหาหลักๆ ที่มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ยังคงหนีไม่พ้นปัญหาหนี้บัตรเครดิต ปัญหาด้านสินค้าและบริการ ปัญหาเรื่องผลิตภัณฑ์อาหาร และปัญหาด้านการบริการสุขภาพและสาธารณสุข ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร หลักๆ จะเป็นเรื่องหนี้บัตรเครดิต มีตั้งแต่ปัญหาเรื่องใบแจ้งหนี้ ที่บางบริษัทมีแต่ภาษาอังกฤษ ไม่แสดงรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่สามารถตรวจสอบได้ เหมือนจงใจให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน นอกจากนี้ผู้บริโภคมักจะถูกเชิญชวนกึ่งบังคับให้ทำประกันแบบคุ้มครองหนี้สินแต่ไม่มีค่าสินไหมตอบแทน และการหลอกล่อให้ผ่อนชำระเงินหนี้บัตรเครดิตในอัตราขั้นต่ำ ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ปัญหาด้านสินค้าและบริการ ปัญหาด้านการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร ยังคงเป็นเรื่องของประสิทธิภาพและคุณภาพของสินค้าและบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความไม่ชัดเจนของข้อมูลบนฉลากที่อ่านยากหรือไม่มีข้อมูลภาษาไทย ด้านการบริการก็มักขาดความจริงใจหรือเอาเปรียบผู้บริโภค ส่วนปัญหาด้านบริการสุขภาพ หนีไม่พ้นเรื่องการขาดมาตรฐานในการรักษาพยาบาล ซึ่งเกิดจากการที่มีการแบ่งสิทธิการรักษาพยาบาลออกเป็นหลายประเภท ทั้งระบบประกันสังคม ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง และระบบเฉพาะสำหรับข้าราชการ กลายเป็นปัญหาโดยเฉพาะกับโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งไม่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยที่ใช้บัตรประกันสุขภาพ นอกจากนี้โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งยังมีการโยกย้ายสิทธิของผู้ใช้บริการโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบ ด้านการฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคนั้น ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคในเรื่องการฟ้องคดี ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีผู้บริโภค โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุรถโดยสาร ซึ่งปี 54 ที่ผ่านมามีการฟ้องร้องทั้งสิ้น 124 คดี ผลคดีสิ้นสุดแล้ว 108 คดี สามารถเรียกร้องค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายได้ทั้งสิ้น 27,244,803.39 บาท จากปัญหาต่างๆ ที่พบทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการฟ้องคดีของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคให้มีข้อมูลและรู้เท่าทันการถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งเชื่อว่าถ้าหากมีองค์การอิสระผู้บริโภค จะสามารถทำหน้าที่ทั้งเผยแพร่ข้อมูล ให้ความเห็น และเสนอแนะแนวทางในการหาทางออกให้กับผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ควรมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ปรับปรุงพัฒนากฎหมายที่มีอยู่ในสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่สำคัญต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคให้มากที่สุด--------------------

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 กระแสในประเทศ

5 ตุลาคม 2553อย่าใช้เครื่องสำอาง “สเต็มเซลล์ พืช” ไม่สวยแถมเสี่ยง!!! อย.เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อเครื่องสำอางอวดอ้างสรรพคุณใช้เซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) จากพืชเป็นส่วนผสม เพราะไม่ให้ผลตามสรรพคุณที่กล่าวอ้าง แถมยังอาจก่อให้เกิดอันตรายได้อีกต่างหาก  ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า มีเครื่องสำอางอวดอ้างให้เข้าใจผิดว่า มีการผสมเซลล์ต้นกำเนิดจากพืชในเครื่องสำอาง และนำเสนอสรรพคุณเกินจริง เช่น สามารถทำให้เซลล์มนุษย์มีการแบ่งตัว และเจริญเติบโตได้ 80%, ทำให้เซลล์ทนทานต่อรังสี UV อายุของเซลล์ยาวขึ้น, มีประสิทธิภาพเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งข้อมูลงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากพืชยังมีอยู่ค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นการสกัดสารสำคัญจากพืชมากกว่าการนำเซลล์พืชมาใช้เป็นส่วนผสม เพราะเซลล์จากพืชยังมีข้อจำกัดที่จะนำมาใช้ จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อการโฆษณาอวดอ้างดังกล่าว เพราะนอกจากไม่เกิดผลตามสรรพคุณที่กล่าวอ้างและเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจเกิดอันตรายอีกด้วย..................................................................... 15 ตุลาคม 2553“เต้าหู้ยี้” ดูให้ดีก่อนทาน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหารได้สำรวจคุณภาพของ “เต้าหู้ยี้” ในภาชนะปิดสนิทตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 - 2552 โดยตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเต้าหู้ยี้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 47 ตัวอย่าง พบเชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟรินเจนส์ (Clostridium perfringens) จำนวน 6 ตัวอย่าง บาซิลัสซีเรียส (Bacillus cereus) เกินเกณฑ์ จำนวน 31 ตัวอย่าง โคลิฟอร์ม (Coliforms) เกินเกณฑ์ จำนวน 7 ตัวอย่าง เชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟรินเจนส์ และบาซิลัสซีเรียส หากมีการปนเปื้อนในอาหารและเข้าสู่ร่างกาย ในปริมาณมากที่จะทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย  ใครที่จะซื้อเต้าหู้ยี้มารับประทาน ควรเลือกที่ภาชนะบรรจุปิดสนิท ไม่มีรอยแตกร้าว ไม่มีคราบเปียกชื้น ฉลากมีเลขทะเบียน อย. แจ้งชื่อผู้ผลิต วันที่ผลิต วันหมดอายุ หากเปิดภาชนะแล้วแต่ทานไม่หมด ควรปิดฝาให้สนิทแล้วเก็บไว้ในตู้เย็น และหากพบว่าเต้าหู้ยี้มีลักษณะเนื้อ สีกลิ่นผิดปกติ แปลว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเสื่อมสภาพไม่ควรนำมารับประทานเด็ดขาด........................................................................   18 ตุลาคม 2553“น้ำมันรำข้าว” ไม่ช่วยรักษาโรค ปัญหาอาหารเสริมโฆษณาเกินจริงมีมาให้ผู้บริโภคได้ปวดหัวกันอีกแล้ว คราวนี้เป็นผลิตภัณฑ์ “น้ำมันรำข้าวและจมูกข้าว” ที่อวดอ้างว่ารักษาโรคได้สารพัด ทั้ง โรคมะเร็ง หัวใจ รูมาตอยด์ ภูมิแพ้ อัมพฤกษ์ เบาหวาน ความดัน อย.จึงต้องออกโรงเตือนผู้บริโภคอย่างหลงเชื่อโฆษณา พร้อมย้ำชัดเป็นแค่ผลิตภัณฑ์อาหารไม่ใช่ยารักษาโรค  อย.ฝากเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อนำมาทานรักษาโรค เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานเสริมนอกเหนือจากการรับประทานอาหารหลักตามปกติเท่านั้น ที่สำคัญอาจทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษาโรคที่ถูกต้อง ยิ่งผู้ป่วยที่ต้องเข้มงวดเรื่องการรับประทาน อย่าง เบาหวาน และมะเร็ง อาจส่งผลข้างเคียงหากทานอาหารเสริมโดยไม่ได้รับคำแนะนำหรือการดูแลจากแพทย์....................................................................   ไม่พอใจบริการโทรศัพท์ ผู้บริโภคบอกยกเลิกสัญญาได้สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หรือ สบท. ได้ฝากเตือนมายังผู้ใช้และผู้ที่กำลังให้ความสนใจจะใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนรุ่นต่างๆ ควรศึกษาดูรายละเอียดข้อมูลสัญญาการให้บริการก่อนตัดสินใจซื้อ และหากใช้แล้วไม่พอใจในบริการสามารถบอกยกเลิกสัญญาได้ โดยการยกเลิกสัญญากับเครือข่ายผู้ให้บริการต่างๆ สามารถทำได้ โดยสามารถแยกวิธีการและเงื่อนไขหลักๆ ได้ 3 กรณี กรณีแรก หากผู้ใช้บริการได้รับบริการที่ไม่มีคุณภาพ ผู้ใช้บริการมีสิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานแล้วโทร. ไม่ติดหรือถูกโอเปอเรเตอร์เปลี่ยนโปรโมชั่นโดยผู้ใช้บริการไม่ยินยอม กรณีที่สอง หากผู้ใช้บริการต้องการยกเลิกสัญญาเพราะไม่อยากใช้งานต่อ จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้บริษัททราบล่วงหน้า อย่างน้อย 5 วัน โดยยกเลิกได้ทั้งแบบคืนเครื่องโทรศัพท์และไม่คืนเครื่อง หากต้องการคืนเครื่องโทรศัพท์ ผู้ใช้บริการจ่ายเฉพาะค่าบุบสลายของเครื่อง แต่ไม่เกินราคาเครื่อง แต่ถ้าผู้ใช้บริการต้องการ เก็บเครื่องโทรศัพท์ไว้ก็ต้องซื้อเครื่องจากผู้ใช้บริการตามราคาตลาด  แต่ในกรณีที่ 3 หากบริษัทใช้วิธีให้ผู้ใช้บริการทำสัญญาโดยการหักบัญชีผ่านบัตรเครดิตนั้น ถือเป็นการทำสัญญาด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับบัตรเครดิตโดยเฉพาะ ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ.2542 ผู้บริโภคมีเวลา 30 วันในการยกเลิกสัญญา ซึ่งหากพ้นจากระยะเวลาที่กำหนดแล้วจะถือว่าสัญญานั้นผูกมัดผู้บริโภค และเป็นไปตามสัญญาบัตรเครดิต ไม่ใช่สัญญาโทรคมนาคม .......................................................................   เมื่อคนไทยถูกคุกคาม ด้วยโรค “ข้อเข่าเสื่อม”จากการสัมนาวิชาการเรื่อง “ทศวรรษใหม่ในการรักษาโรคกระดูกและข้อ” เนื่องในวันโรคข้อสากลประจำปี 2553 มีการเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ขณะนี้คาดว่ามีคนไทยมีปัญหาโรคข้อเสื่อม กระดูกพรุนประมาณ 7 ล้านคน กลุ่มที่พบมากที่สุดคือ ผู้สูงอายุมีประมาณ 6 ล้านคน และยังมีผู้มีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ รวมทั้งโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคเก๊าท์อีกประมาณ 1 ล้านคน แม้ว่าการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่ทำให้ผู้ป่วยทนทุกข์ทรมานจากการเจ็บปวด ยิ่งอาการข้อเข่าเสื่อมหากปล่อยทิ้งไว้นาน อาการอาจรุนแรงถึงขั้นลุกขึ้นยืนหรือเดินเองไม่ได้ ซึ่งนิสัยของคนไทยเสี่ยงอย่างมากต่อการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม ทั้งการนั่งพับเพียง นั่งขัดสามาธิ นั่งยองๆ โดยข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันแล้วว่าการนั่งในลักษณะดังกล่าวทำให้กระดูกอ่อนข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น รวมทั้งการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ ก็เสี่ยงต่อการทำให้ข้อเข่าเสื่อมเช่นกัน นอกจากนี้โรคข้อเสื่อมยังเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม น้ำหนักตัว การใช้งานข้อที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งอาชีพที่มีการใช้งานของข้อมากเช่น ช่างเสริมสวย ครู และเกษตรกรเพราะต้องยืนทำงาน เข่าจะต้องรับน้ำหนักประมาณ 3-4 เท่าของน้ำหนักตัว วิธีการป้องกันโรคเข้าเสื่อมด้วยตัวเอง คือต้องพยามยามหลีกเลี่ยงการใช้เข่ามากๆ เช่นการยืนหรือการนั่งงอเข่านานๆ รวมทั้งควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป และหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งวิธีการสร้างกล้ามเนื้อรอบเข่าสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการนั่งเหยียดขาตึงแนบพื้น พร้อมกับกระดกปลายเท้าเข้าหาตัว สลับกับการจิกเท้าไปข้างหน้า ทำเป็นประจำจะช่วยให้กล้ามเนื้อรอบเข่าแข็งแรงขึ้น หรือหากเริ่มรู้สึกตัวว่ามีปัญหาเรื่องเข่าให้รีบไปพบแพทย์แต่เนินๆ เพื่อจะได้รักษาได้ง่ายและลดอาการป่วยที่อาจเรื้อรัง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 รู้จัก “เครดิตลิมิต” ชีวิต 4G จ่ายไม่เกินร้อย

ข่าวดีของผู้ใช้โทรศัพท์แบบรายเดือนก็คือ คุณสามารถควบคุมค่าใช้บริการได้โดยการกำหนดวงเงินค่าใช้บริการ เครดิตลิมิต (Credit Limit) โดยแจ้งกับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่คุณใช้งานอยู่ว่าต้องการจำกัดวงเงินค่าบริการไว้ไม่ให้เกินกี่บาท ดังนั้นค่าบริการ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเน็ต ค่าโทรศัพท์ ค่า sms หรือบางคนอาจจะมีค่าบริการจากการซื้อแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่เรียกเก็บมาในบิล รวมแล้วจะต้องไม่เกินกว่าวงเงินที่คุณกำหนดไว้ โทรศัพท์มือถือ Smart Phone เดี๋ยวนี้ ทำอะไรได้มากมาย นอกจากเป็นโทรศัพท์ เอาไว้ติดต่อ โทรออก-รับสายแล้ว ยังใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ท่องเว็บไซต์ เล่นเกมส์ ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆ พูดคุยติดต่อสื่อสารกับผู้คนผ่าน Social Network หรือจะช็อปปิ้งซื้อของออนไลน์ก็สามารถทำได้ไม่ยาก จะดูหนัง ฟังเพลง ก็มีให้เลือกจนตาลาย หลายคนใช้แล้วก็ติดใจ เพราะมันทำให้ชีวิตมีสีสัน สะดวกสบาย และสนุกสนาน แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า “โลกนี้ไม่มีอะไร ฟรี” ทุกอย่างมีราคาที่เราต้องจ่าย บางคนได้รับบิลค่าโทรศัพท์แล้วแทบจะเป็นลม เพราะถูกเรียกเก็บค่าบริการอินเทอร์เน็ตหลายพัน หลายหมื่น หรือบางรายโดนกันไปเป็นแสนบาท ก็เคยมีมาแล้ว   ปัญหาทำนองนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเจ้าโทรศัพท์ Smart Phone รุ่นใหม่ๆ นี่แหละ ด้วยความที่มันฉลาดแสนรู้ สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เองโดยอัตโนมัติ เพื่อคอยอัพเดท App ต่างๆ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ นอกจากนี้ คนที่มีเพื่อนในโซเชียลเยอะๆ เดี๋ยวคนโน้นอัพรูปขึ้นเฟซบุ๊ค เดี๋ยวคนนี้แชร์คลิปมาในไลน์ เผลอแปล๊บเดียวใช้อินเทอร์เน็ตหมดแล้ว ซึ่งการใช้งานส่วนที่เกินจากแพ็คเกจที่สมัครไว้นี่ ถ้าไม่ได้ซื้อแบบเหมาจ่าย Unlimited บริษัทมือถือจะคิดค่าบริการตามปริมาณข้อมูลที่ใช้งาน ราคาประมาณ 1 -2 บาท/MB ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นของแต่ละค่าย และเป็นแนวโน้มของแพ็คเกจ 4G ที่เราจะไม่ค่อยเห็นโปรโมชั่นเหมาจ่าย Unlimited เพราะโครงข่ายไม่เพียงพอที่จะรองรับลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่มีพฤติกรรมต่อเน็ตทิ้งไว้ตลอดเวลา โปรโมชั่นของ 4G จึงมักจะกำหนดปริมาณข้อมูลที่ลูกค้าสามารถใช้งานได้ เช่น จ่าย 488 บาท เล่นเน็ตได้ 10 GB ส่วนเกินจากนี้คิดตามจริงเป็น MB ตามปริมาณ ซึ่งจะแตกต่างจากลักษณะโปรโมชั่นของ 3 G ที่ผ่านมา ที่เมื่อใช้เกินจะปรับลดความเร็วลงแต่ไม่ได้คิดเงินเพิ่ม ใครที่ใช้โทรศัพท์แบบเติมเงิน ปัญหาก็อาจจะไม่หนักมาก เพราะพอหมดเงินที่เติมไว้ โทรศัพท์มันก็ตัดบริการไปเอง แต่คนที่ใช้แบบรายเดือนจะเสี่ยงหน่อย เพราะค่าใช้จ่ายจะเกิดขึ้นตามการใช้งานของคุณ ซึ่งบอกไว้เลยว่า มือถือ 4G นี่ ยิ่งเน็ตแรงเท่าไร โอกาสที่ค่าบริการจะพุ่งก็มีมากเท่านั้น เพราะยิ่งโหลดไว ผู้บริโภคก็ยิ่งเพลิน ดูหนังฟังเพลงไปเรื่อย อย่างดู youtube นี่ เมื่อคำนวณออกมาจะใช้เน็ตประมาณ 1.5 MB/นาที ถ้าค่าบริการ MB ละ 1 บาท ดู 1 ชั่วโมง ก็ต้องจ่าย 90 บาท แล้วเดี๋ยวนี้คนเราจ้องหน้าจอมือถือวันละกี่ชั่วโมงก็ลองนึกดูแล้วกันครับ ข่าวดีของผู้ใช้โทรศัพท์แบบรายเดือนก็คือ คุณสามารถควบคุมค่าใช้บริการได้โดยการกำหนดวงเงินค่าใช้บริการ เครดิตลิมิต (Credit Limit) โดยแจ้งกับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่คุณใช้งานอยู่ว่าต้องการจำกัดวงเงินค่าบริการไว้ไม่ให้เกินกี่บาท ดังนั้นค่าบริการ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเน็ต ค่าโทรศัพท์ ค่า smsหรือบางคนอาจจะมีค่าบริการจากการซื้อแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่เรียกเก็บมาในบิล รวมแล้วจะต้องไม่เกินกว่าวงเงินที่คุณกำหนดไว้ เมื่อค่าใช้จ่ายใกล้เต็มวงเงินบริษัทจะโทรศัพท์ หรือ sms มาแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า และเมื่อมีค่าใช้จ่ายเกินบริษัทก็จะระงับบริการชั่วคราวเอาไว้ก่อน เพื่อมิให้เกิดค่าใช้จ่ายเกินกว่าวงเงินที่คุณกำหนดไว้ แต่หากวันดีคืนดีเกิดมีค่าใช้จ่ายเกินมา คุณก็สามารถร้องเรียนกับสำนักงาน กสทช. ได้ ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมได้เคยมีมติให้บริษัทมือถือคิดค่าบริการกับผู้ร้องเรียนได้เฉพาะในส่วนที่ไม่เกินกว่าวงเงินที่จำกัดไว้ จริง ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาตั้งแต่สมัย 2G แล้ว เพียงแต่ที่ต้องหยิบมาเล่าให้ฟังอีกครั้งก็เพราะในยุค 4G นี้ โอกาสเกิดปัญหา Bill Shock จากค่าบริการอินเทอร์เน็ตมันจะมีมากกว่า และความเสียหายจะร้ายแรงกว่า ดังนั้นลองหยิบใบแจ้งค่าใช้บริการของคุณมาตรวจสอบดูสิว่า ได้ระบุจำกัดวงเงินค่าใช้บริการไว้ตรงกับที่คุณแจ้งหรือไม่ เพราะเคยมีกรณีที่ผู้บริโภคจำได้ว่ากำหนดวงเงินค่าบริการไว้แค่ไม่กี่ร้อยบาท แต่ถูกเรียกเก็บค่าบริการเป็นพันบาท สอบถามไปจึงได้ความว่า บริษัทเห็นว่าเป็นลูกค้าชั้นดี จึงปรับเพิ่มวงเงินค่าบริการให้โดยพละการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ปัจจุบัน บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแต่ละราย กำหนดเงื่อนไขของเครดิตลิมิตไว้แตกต่างกัน บางค่ายไม่รวมค่าบริการตามแพ็คเกจที่สมัครไว้ เช่น ค่าบริการตามแพ็คเกจ 488 บาท เครดิตลิมิตไว้ 1,000 บาทแบบนี้บริษัทก็จะมีสิทธิคิดค่าบริการได้ในวงเงินไม่เกิน 488 + 1,000 บาท ไม่ใช่ 1,000 บาทถ้วนตามที่เราเข้าใจทั่วไป แต่ส่วนที่เหมือนกันเกือบทุกค่ายก็คือ เครดิตลิมิต นี้จะไม่รวมค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติระหว่างประเทศ (International Roaming) ดังนั้น ลองศึกษาเงื่อนไขจากผู้ใช้บริการของคุณ แล้วกำหนดวงเงินค่าใช้บริการให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์ของคุณ รับรองว่าคุณจะไม่กระเป๋าฉีกเพราะค่าโทร ค่าเน็ตแน่นอน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 167 ไม่ได้ขออะไร แค่ขอให้คิดราคาตามที่ใช้จริง

ท่านผู้อ่านคงได้รับรู้บ้างเรื่องที่  สปช.มีมติให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคม(โทรศัพท์) คิดค่าบริการลูกค้า  ตามที่ใช้จริงเป็นวินาที (ปัจจุบันคิดเป็นนาที) เพราะมีผู้ร้องเรียนว่าถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ  ในการเรียกเก็บค่าใช้บริการ  เช่น  ใช้จริง 1 นาที 1 วินาที  ก็จะถูกเรียกเก็บเป็น 2 นาที  ใช้ 3 นาที  5 วินาที  จะถูกเรียกเก็บ เป็น 4 นาที เป็นต้น  สรุปหากมีเศษวินาที ไม่ว่ามากหรือน้อย จะถูกปัดขึ้นไปเป็นนาทีโดยอัตโนมัติวันที่ 13 มกราคม 2558  ผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค  (ของ สปช.) ร่วมกับผู้ให้บริการทุกค่าย   มีคำถามหลายคำจากผู้บริโภคที่ทำให้ผู้ให้บริการไม่พอใจ  เช่น  หากเราไปซื้อส้ม 1 กิโลกรัม แม่ค้าชั่งให้ 1 โล 1 ขีด  เรียกว่าอะไร  โกงตราชั่งหรือโกงเงิน  การปัดวินาทีเป็นนาที เรียกว่าโกงมั้ย?  ถึงกับออกอาการว่า ไม่ได้โกง  ไม่สบายใจเลย ที่ถูกกล่าวหาว่าโกง  สูตรคิดค่าบริการนี้ เป็นสากล ใครๆ เขาก็ใช้กันมีคำถามอีกว่า  ทำไมไม่ปัดเศษลง   ปรับขึ้นเป็นนาทีทำไม?  ไม่มีคำตอบ   แต่มีคำต่อว่า สปช.ว่าเรื่องเก็บเงินเป็นนาทีหรือวินาทีเป็นเรื่องเล็กๆ ผู้ประกอบการแข่งขันกันอยู่แล้ว  ยังไงค่าโทรก็จะถูกลงเอง  สปช. ควรจะไปทำเรื่องใหญ่ไม่ใช่มาทำเรื่องเล็กเรื่องน้อยอย่างนี้ ( หึ.....เรื่องที่เกี่ยวกับคน 60  กว่าล้านคนนี่นะเรื่องเล็ก)  ผู้ให้บริการยังบอกต่ออีกว่า ผู้บริโภคอาจไม่พอใจ ในการเก็บเงินเป็นวินาที  เพราะคนโทรสั้น จะได้ประโยชน์  แต่นักธุรกิจที่โทรยาวๆ จะเสียประโยชน์ (อ้าว...ตกลงทุกวันนี้คนจนช่วยจ่ายค่าโทรศัพท์ให้คนรวยใช่มั้ย???) คุณหมอประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา  กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค  พูดชัดเจนว่า  ปัจจุบันคนโทรสั้นต้องรับภาระจ่ายค่าโทรให้คนโทรยาว  เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง  ที่ถูกต้องคือ ใครใช้เท่าไร  ต้องจ่ายเท่านั้น  และการคิดค่าบริการเป็นวินาที ก็น่าจะทำได้เลย  เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการ  ก็มีเทคโนโลยี ตรวจการใช้บริการเป็นวินาทีอยู่แล้ว  ปัญหาคือการปัดเศษขึ้นไปเป็นนาที  ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค  และการแก้ปัญหาโดยการใช้โปรโมชั่น  นาทีและวินาที ที่อ้างว่าเป็นทางเลือกน่าจะไม่ถูกต้อง   แต่ต้องกำหนดให้ทุกโปรโมชั่น  ต้องคิดค่าบริการตามที่ใช้จริง   ที่สำคัญในระยะเวลาอันใกล้นี้   จะมีการประมูล 4G   จะเสนอให้ กสทช. กำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการที่จะเข้าประมูลต้องคิดค่าบริการตามที่ผู้บริโภคใช้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 เมื่อลุงผู้ใหญ่ ถูกเรียกเก็บค่าบริการเสริมทางโทรศัพท์มือถือ.....

ปัญหาการคิดค่าบริการโทรศัพท์ โดยระบุว่า เป็นค่าบริการเสริม ค่ารับ SMS หรือ รับข้อมูลอื่นๆ เกิดขึ้นเยอะในกลุ่มผู้ใช้บริการ ทุกเครือข่าย  ช่วงหลัง มักเจอบ่อยเรื่องของการเก็บโหลดข้อมูล Facebook หรือจากทาง แอฟต่างๆ ที่ส่งมาทางข้อความผู้ใช้บริการโดยจะคิดค่าบริการจาก 10-20 บาท และเริ่มจะมากขึ้นเรื่อยๆ หากผู้ใช้บริการไม่สังเกต  โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการเหมาจ่ายรายเดือน และระบบจ่ายรายเดือน เนื่องจากมีรายการหลายอย่าง หรือแม้แต่ผู้ใช้ระบบเติมเงินก็มักถูกหักเงินบ่อยครั้ง แต่ทุกรายมักจะมีคำพูดที่ว่า “ไม่เป็นไร มันไม่เยอะ แค่ 10-20 เอง”  ถ้าลองคำนวณดูว่า 10 บาท กับ 1 ล้านคน ก็เป็น 10 ล้านบาท  เยอะไหมคะ พอที่เราจะต้องเรียกร้องเงินจำนวน 10 บาท ของเราคืนไหม เพื่อที่ประโยชน์จะได้ไม่ต้องไปตกกับกลุ่มเครือข่ายโทรศัพท์ที่เอาเปรียบผู้บริโภคลุงสำเริง เป็นคนหนึ่งที่พบปัญหาการใช้โทรศัพท์ชนิดเหมาจ่ายรายเดือน ลุงสำเริง เป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่แถวเชียงราย จำเป็นต้องใช้โทรศัพท์หลายเครือข่ายและมักหาโปรโมชั่นที่คุ้ม สามารถติดต่อประสานงานได้ทุกช่วงเวลา  ลุงสำเริงสังเกตว่าค่าโทรศัพท์ของตนในแต่ละเดือน มักจะแจ้งยอดค่าบริการเสริม เช่นการรับ SMS หรือบริการดาวน์โหลดข้อมูลอื่นๆ อยู่บ่อยๆ  ซึ่งตนเองก็ไม่ได้เอะใจอะไรมากเนื่องจากเป็นยอดเงินไม่มากจนกระทั่งรอบบิลเดือนพฤษภาคม  ลุงสำเริงได้รับใบแจ้งหนี้ พบว่ามีค่าใช้จ่ายเกี่ยวบริการเสริม คือ ค่าบริการรับข้อมูล/ข่าวสาร จำนวน 12 ครั้ง  เป็นเงิน 78  บาท และบริการดาวน์โหลดต่างๆ จำนวน 10 ครั้ง เป็นเงิน 30 บาท รวมเป็นเงิน  108 บาท  คุณสำเริงบ่นมาตามสายว่า "เอไอเอสเก็บตังค์ลุงแห๋มแล้ว ค่าอะหยังบ่ฮู้  บ่ได้ใจ้สักน้อยโทรศัพท์ก็ใจ้แบบรุ่นเก่า เล่นFacebook ก็บ่ได้  จ่วยลุงกำเต๊อะ หยะอี้บ่เข้าท่าก้า มาไล่เก็บตังค์คนอื่นจ๊ะอี้" น้ำเสียงลุงรู้สึกแย่ๆ  เนื่องจาก ถูกเรียกเก็บแบบนี้มา 2-3 เดือนแล้ว แต่จำนวนไม่เยอะมาก จึงไม่ได้สนใจ แต่พอเจอครั้งนี้ รวมแล้วร้อยกว่าบาท จึงทนไม่ไหว ลุงสำเริงจึงไปทำเรื่องขอย้ายค่าย จากเอไอเอส เป็น ดีแทค (ซึ่งระบบแถวบ้านก็ไม่ได้ดีมาก แต่คิดว่าคงจะไม่มีการเรียกเก็บแบบนี้นัก) แต่พนักงานดีแทคแจ้งว่า ลุงสำเริงต้องไปจ่ายค่าบริการทั้งหมดก่อนจึงจะทำการย้ายค่ายให้ได้   ลุงสำเริง ช่างใจอยู่ว่าจะจ่ายเงินไปเสียเพื่อตัดความรำคาญแล้วก็ทำการย้ายค่ายหนีไปเลย รึจะทำอย่างไรดี เพราะถ้าไม่จัดการ ก็เจออีก  ลุงสำเริงจึงตัดสินใจโทรศัพท์มาเล่าเรื่องให้ฟัง พร้อมกับขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยแก้ไขปัญหาให้   แนวทางการแก้ไขปัญหาปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ ด้วยตนเองโดยการแจ้งเรื่องไปยัง 1175  เพื่อให้ยกเลิกและให้คืนเงินเนื่องจากไม่ได้ใช้บริการดังกล่าว หรือ กด *137 เพื่อยกเลิกการรับข้อมูลข่าวสารหรือ ข้อมูลดาวน์โหลดต่างๆส่วนกรณีลุงสำเริง  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ส่งอีเมล์ ไปยังหน่วยรับเรื่องร้องเรียน ของบริษัท แอ๊ดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เพื่อให้ตรวจสอบและยกเลิกการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค จำนวน 108 บาท ที่ผู้บริโภคถูกเรียกเก็บ เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้ใช้บริการแต่อย่างใด   ซึ่งในวันเดียวกัน ทางหน่วยรับเรื่องรียนของเอไอเอส ได้อีเมล์กลับมาแจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว จะขอตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานโดยตรงว่าเป็นสาเหตุหรือการใช้งานด้านใด7 วัน ต่อมา พนักงานจาก 1175 โทรมาแจ้ง ได้เช็คจากระบบแล้วพบว่า เครื่องของคุณลุงมีการใช้รับ SMS ที่ถูกส่งเข้าไป แล้วกดรับ และมีการดาวน์โหลดข้อมูลจาก Facebook   ซึ่งจากข้อมูลที่ลุงสำเริงให้มาพร้อมกับถ่ายรูปมือถือให้ดูว่าใช้มือถือรุ่นที่ไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ แต่ถูกเรียกเก็บเงิน พนักงานจึงแจ้งว่าในกรณีนี้ จะยกเว้นค่าบริการ จำนวน 108 บาทให้ แต่หากผู้บริโภคไม่ต้องการรับข้อความหรือข้อมูลข่าวสาร ให้ทำเรื่องยกเลิก โดยกด *137 ได้ด้วยตนเอง..... ซึ่งก็อาจจะต้องแก้ไขปัญหากันเป็นรายๆ ไปเพราะเครือข่ายผู้บริโภคพยายามเรียกร้องให้ เครือข่ายมือถือทุกเครือข่ายแก้ไขปัญหาการส่ง SMS กวนใจ กวนเงินให้กับผู้บริโภค อย่างจริงจัง แต่ก็ไม่เห็นมีทางออกที่ดีขึ้น ดังนั้นจึงฝากเตือนผู้บริโภคว่า ควรจะพึงใส่ใจเงินในระบบโทรศัพท์  ใส่ใจใบแจ้งหนี้ค่าโทรศัพท์ให้ดี เพื่อป้องกันการขโมยเงินในกระเป๋าโดยง่ายดายแบบลุงสำเริงที่เจอมา //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 ร้องเรียนกรณี ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ

30 หมู่ที่ 8 ตำบล บางแก้วอำเภอ เมือง จังหวัดสมุทรสงคราม วันที่   28   พฤศจิกายน  2556 เรื่อง  ร้องเรียนกรณี ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ เรียน   กสทชด้วยดิฉัน  นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม  หมายเลขบัตรประชาชน 37501-00253-723    เป็นผู้ใช้โทรศัพท์ หมายเลข 081- 3089020   ใช้แบบชำระค่าบริการรายเดือนของบริษัท DTAC  ได้รับความเสียหาย ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ หลายเดือนโดยที่ไม่ได้ใช้บริการวันที่ 28 พฤศจิกายน  2556  ดิฉันได้ไปจ่ายค่าบริการโทรศัพท์ ที่ศูนย์ DTAC จังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยตัวเอง(ซึ่งเดือนก่อนๆ ให้ลูกน้องไปจ่ายแทน) ซึ่งมียอดต้องชำระ 2 เดือน มียอดรวม 1,622  บาท  จึงได้ถามว่าดิฉัน ใช้บริการโปรฯ 599 ต่อเดือน(รวมอินเตอร์เน็ต) ทำไมค่าบริการจึงสูงกว่า 599  บาท  ได้คำตอบว่า  ส่วนที่เกินมาจากค่าใช้บริการบันเทิงดารา  และการสมัครข่าวฮอตนิวส์  ซึ่งดิฉันไม่เคยสมัครใช้บริการดังกล่าว และไม่เคยได้รับบริการใดๆ (นอกจากสมัครรับข่าวของสำนักข่าวอิศรา) มีเพียงได้รับข้อความทาง SMS เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน  2556  ว่า “ระบบจะต่ออายุบริการHotNews-FT 15D&Normal 29.00 บาท 30 วัน ในวันที่ 2013 -11-14 สอบถามโทร 02-9412815”  ซึ่งดิฉันไม่สนใจและไม่คิดจะรับบริการ  จากนั้นวันที่  14 พฤศจิกายน  2556  ดิฉันก็ได้รับข้อความว่า ระบบได้ต่ออายุบริการแล้ว(ดิฉันได้นำข้อมูลนี้ให้คุณฐากร  ตันฑสิทธิ  เลขา กสทช ดูแล้ว) ส่วนค่าบริการบันเทิงดาราดิฉันมาทราบภายหลังว่า มีการให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2556  ทั้งที่ดิฉันไม่เคยสมัครและไม่เคยรับบริการข่าวบันเทิงใดๆ พฤติกรรมการให้บริการของ  DTAC   เข้าข่ายฉ้อโกงผู้บริโภค อย่างชัดเจน  จึงขอร้องเรียน ให้ DTAC ชดเชยค่าเสียหายดังนี้ เรียกร้องค่าบริการที่เรียกเก็บเกิน  ตามที่เก็บเกินไปจริง เรียกร้องค่าเสียหายกรณีเสียเวลา เสียค่าโทรศัพท์ เสียค่าเดินทางและอื่นๆในกระบวนการร้องเรียน   กรณีถูกฉ้อโกง  จำนวน 5,000  บาท (เพราะผู้บริโภคไม่ได้มีหน้าที่ร้องเรียน  แต่ผู้ให้บริการมีหน้าที่ให้บริการอย่างตรงไปตรงมา มิใช่ช่อโกงผู้บริโภคได้ตามที่ต้องการ) ห้ามมิให้ DTAC ส่งบริการเสริมใดๆโดยไม่ได้มีการส่งคำร้องขอ   ลงชื่อ  นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม ผู้ร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 136 แม่ร้องแทนลูกชาย ไม่ได้เปิดเบอร์แต่ถูกทรูมูฟ เรียกเก็บค่าโทร

บริษัททรูมูฟ เรียกเก็บค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือ โดยที่ลูกค้าไม่ได้เปิดใช้เบอร์โทรศัพท์ ขอยกเลิกก็ไม่ยอมยกเลิกให้ ถูกทวงหนี้เป็นรายเดือนคุณปิยวรรณได้ส่งเรื่องร้องเรียนมาว่า ประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2554 ลูกชายคือคุณชนนภัทร  ได้ไปเข้าคิวซื้อโทรศัพท์ซัมซุง รุ่นกาแลคซี่เอส 2 ที่งานโมบายเอ็กซโป ซึ่งจัดที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ราคาเกือบสองหมื่นบาท โดยต้องจ่ายเงินมัดจำไว้ครึ่งหนึ่งของราคาเต็มสองเดือนต่อมาได้ไปรับเครื่องที่ดิจิตอลเกตเวย์ สยามสแควร์ คนเยอะมากถึงขนาดต้องเข้าคิวจ่ายเงินส่วนที่เหลือ“ในตอนรับเครื่องพนักงานถามว่า มีเบอร์โทรแล้วหรือยัง บุตรชายตอบว่ามีแล้วเป็นชื่อของคุณพ่อ พนักงานว่าใช้ไม่ได้ต้องรับซิมใหม่ด้วย ถ้าซื้อเฉพาะเครื่องจะไม่ใช่ราคานี้”ลูกชายของคุณปิยวรรณรู้สึกงงๆ แต่ก็ได้เซนต์ชื่อในเอกสารที่พนักงานส่งให้ พร้อมรับเครื่องโทรศัพท์และรับซิมใหม่มา ตั้งใจว่าจะใช้ซิมของคุณพ่ออยู่แล้วเพราะใช้มาตั้งแต่เรียนมัธยมไม่ต้องยุ่งยากในการแจ้งเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ไปให้กับเพื่อนๆ และเข้าใจว่าถ้าไม่เปิดใช้ซิมที่ได้มาก็ไม่ต้องเสียเงินพอมาถึงปลายเดือนมกราคม 2555 ที่บ้านของคุณปิยวรรณได้รับใบแจ้งค่าใช้บริการโทรศัพท์จากทรูมูฟ เป็นเงิน 694.50 บาท จึงสอบถามลูกชายว่าเป็นเบอร์อะไรของใคร จึงทราบว่าเป็นเบอร์ของซิมที่ได้รับมาจากดิจิตอลเกตเวย์เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา“ลูกบอกว่าไม่เคยเปิดกล่องซิมเอามาใช้เลย เลยบอกกับลูกว่าไปแจ้งยกเลิกการใช้เบอร์นี้ที่ทรูช็อป” ก็พากันไปทั้งครอบครัว แต่พนักงานบอกให้จ่ายเงินก่อนจึงจะทำเรื่องให้“ลูกชายชี้แจงว่าไม่เคยใช้เบอร์นี้เลย ทำไมต้องเสียเงิน และทำไมเพิ่งจะมาเรียกเก็บเงินทั้งๆ ที่ได้รับมาร่วม 6 เดือนแล้ว”“พนักงานแจ้งว่า เป็นแพ็กเกจที่ให้ใช้ฟรี 5 เดือน และเริ่มคิดเงินเดือนที่ 6 ถึงแม้ไม่ใช้ก็ต้องเสียเงิน”ลูกชายคุณปิยวรรณไม่ยอมจ่าย ส่วนคุณพ่อหยิบใบแจ้งหนี้ของทรูมูฟขึ้นมาเขียนข้อความสั้นบนด้านหลังของกระดาษถึงผู้จัดการว่า “ขอไม่ชำระเงิน เนื่องจากไม่เคยเปิดใช้เลย” แล้วส่งให้พนักงานช่วยแฟกซ์ไปถึงผู้จัดการ“หลังจากนั้น บริษัทได้โทรติดต่อกับมาถึงคุณพ่อ แต่ติดต่อไม่ได้เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการคุณพ่อไม่ได้เปิดมือถือ จึงได้ติดต่อไปทางลูกชาย ลูกชายบอกให้โทรคุยกับคุณพ่อเอง ทางบริษัทแจ้งว่าโทรติดต่อไม่ได้ และวันต่อมาก็ไม่ได้โทรติดต่อกับคุณพ่ออีกเลย ทำให้คิดว่าทางบริษัทคงดำเนินการให้เรียบร้อยแล้ว”แต่ผิดคาด เพราะมาถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 ครอบครัวคุณปิยวรรณก็ได้รับแจ้งค่าบริการรอบเดือนที่ 2 มาอีก เป็นจำนวนเงินเท่าเดิมไม่มีรายละเอียดการใช้บริการเมือนเดิม จึงตัดสินใจส่งรายละเอียดเรื่องราวทั้งหมดร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยแก้ปัญหา ซึ่งคุณปิยวรรณมีข้อข้องใจว่ามาเป็นข้อๆ คือ1. ไม่ได้เปิดใช้ซิมที่ได้รับมา บริษัทไม่น่าจะมีอำนาจเรียกเก็บเงิน2. ได้แจ้งยกเลิกใช้เบอร์โดยตรงกับพนักงาน แต่พนักงานไม่ยอมยกเลิกให้ ซ้ำยังให้ชำระเงินก่อนอีกถึงจะยกเลิกให้3. พฤติกรรมนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเลวร้าย และทำให้เด็กอาจต้องเสียประวัติในการไม่ชำระค่าโทรศัพท์ โดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แนวทางการแก้ไขปัญหาปัญหาลักษณะนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำสัญญาให้บริการโดยไม่สมัครใจ หรือไม่พึงประสงค์ ซึ่งมีอยู่หลายกรณี เช่น ได้รับซิมแจกฟรี ยังไม่เปิดใช้บริการ แต่มีการเรียกเก็บค่ารายเดือน ถูกเปลี่ยนโปรโมชั่นโดยไม่ได้สมัครใจ มีการคิดค่าบริการที่แพงขึ้นและบอกเลิกไม่ได้ ถูกหลอกเข้าเป็นสมาชิกบริการเสริม เช่น ดาวน์โหลดเพลง เพลงรอสาย การรับข้อมูลข่าวสาร โดยไม่สมัครใจ มีการคิดค่าบริการ และบอกเลิกไม่ได้ โหลดเพลงรอสายบอกว่าฟรี แต่ถูกหักเงินเดือนละ 30 บาท ส่วนกรณีนี้ถือว่าใหม่ขึ้นมาอีกหน่อยคือปล่อยฟรีถึง 5 เดือนปล่อยให้ผู้บริโภคตายใจแล้วค่อยมาเก็บเอาเดือนที่ 6 ซึ่งน่าจะมีผู้เสียหายทำนองนี้หลายรายเพราะจากที่เล่าถึงขั้นว่ามีลูกค้าต่อคิวไปจ่ายเงินเพื่อซื้อมือถือ เป็นการ(บังคับ)หลอกเพื่อเปิดใช้บริการโทรมือถือแบบจดทะเบียนจ่ายรายเดือนนั่นเอง ถึงแม้จะไม่ได้เปิดใช้เบอร์โทรก็ต้องจ่ายค่ารายเดือนต่อเนื่องต่อไปสำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 กำหนดไว้ในข้อที่ 6 ว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจน และครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายเพื่อให้ผู้บริโภคทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเข้าทำสัญญาและเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง...ส่วนข้อ 8 กำหนดว่า สัญญาย่อมเกิดขึ้นเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอและสนองถูกต้องตรงกัน โดยชัดแจ้งว่าผู้ให้บริการตกลงให้บริการโทรคมนาคม และผู้ใช้บริการตกลงใช้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการ ในกรณีที่ผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอเกี่ยวกับบริการใดของผู้ให้บริการจะถือว่าผู้ใช้บริการได้แสดงเจตนาตกลงใช้บริการนั้นของผู้ให้บริการมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ใช้บริการได้ใช้บริการนั้นอยู่แล้ว และประสงค์จะใช้บริการนั้นต่อไป...ดังนั้น เมื่อผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ว่ามา จึงถือว่าผู้ให้บริการเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่สามารถที่จะเรียกเก็บค่าบริการกับผู้บริโภคได้ หรือเมื่อเรียกเก็บไปแล้วก็ต้องคืนให้แก่ผู้บริโภคโดยทันทีผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าว สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง โดยให้มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทผู้ให้บริการมือถือ พร้อมแนบสำเนาใบเรียกเก็บเงิน แจ้งปฏิเสธการชำระหนี้ที่มีการทวงถามเนื่องจากไม่ได้ประสงค์เข้าใช้บริการตั้งแต่ต้นเพราะพนักงานขายให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนส่งไปทางแฟกซ์ก็ได้ แล้วไม่ต้องชำระเงินที่มีการติดตามทวงถามอีกต่อไปสำหรับกรณีที่ได้ร้องเรียนเข้ามานี้ มูลนิธิฯได้ช่วยประสานเรื่องไปที่ทรูมูฟ ซึ่งได้รับคำตอบจากบริษัทเรียลมูฟ(บริษัทลูกที่ทำหน้าที่ด้านการตลาดให้กับทรูมูฟ)แล้วว่า ได้ดำเนินการยกเลิกหมายเลขให้เรียบร้อยแล้ว “พร้อมปรับลดค่าบริการทั้งหมดให้ โดยปัจจุบันไม่มียอดค่าบริการค้างชำระแล้ว”“บริษัทฯ ขออภัยอย่างยิ่งสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ท่านไม่ได้รับความสะดวก”ใครที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันนี้กับทรูมูฟ สามารถส่งเรื่องร้องเรียนไปได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของทรูมูฟ โทรศัพท์ 02-900-9000 โทรสาร 02-699-4338  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 ร้องทรูมูฟโกงค่าบริการมือถือ

เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2553 โทรศัพท์มือถือของคุณโอภาส ได้รับข้อความเชิญชวนว่าเป็นผู้โชคดีให้เข้ารับโทรศัพท์มือถือยี่ห้อแบล็ค เบอร์รี่ มีเงื่อนไขง่ายๆ ว่า เพียงพิมพ์ตัวอักษร TA แล้วส่ง SMS มาที่หมายเลข 420XXXX X เสียค่าส่งข้อความ 3 บาท เท่านั้นก็มีสิทธิจะเป็นผู้โชคดีแล้วไม่ต้องใช้เวลาคิดนาน เสียแค่ 3 บาทเพื่อลุ้นมือถือราคาเป็นหมื่น คุณโอภาสกดส่งข้อความ TA ไปยังหมายเลขที่ได้รับแจ้งทันที แต่ส่งไปแล้วเงียบฉี่ ไม่มีการตอบรับข้อความแต่อย่างใด“เออ ก็แค่ถูกหลอกเสียเงิน 3 บาท ไม่ได้อะไร” คุณโอภาสคิดในใจแต่หลังจากนั้นไม่นานสักประมาณสี่โมงเย็นของวันเดียวกัน ปรากฏว่ามีข้อความเกี่ยวกับความรักส่งมาที่โทรศัพท์มือถือของคุณโอภาส ซึ่งเป็นเบอร์จดทะเบียนจ่ายเงินรายเดือนของค่ายทรูมูฟ นับจากครั้งนั้นคุณโอภาสจะได้รับข้อความ SMS ลักษณะนี้วันละสองข้อความด้วยความงงๆ ว่า “มันส่งมาทำไม”คุณโอภาสไม่เคยส่งข้อความตอบกลับเลยสักครั้งเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง มาเป็นเรื่องเอาตอนที่บริษัท ทรูมูฟ ส่งใบแจ้งหนี้รายเดือนมา คุณโอภาสจึงทราบว่าข้อความ ”รัก รัก” ที่ส่งมานั้น เขาจะต้องเป็นผู้ชำระเงิน เมื่อสอบถามไปที่ทรูมูฟก็เจอคำตอบเหมือนผู้บริโภคอีกหลายรายว่า ข้อความที่มีการส่งมานั้นไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทรูมูฟแต่อย่างใด แต่ขอให้ผู้บริโภคจ่ายเงินมา “ผมมีข้อสงสัยจากพฤติการณ์ของบริษัท ทรูมูฟ ว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ เพราะมีการหลอกลวงผู้ใช้บริการด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และการหลอกลวงนั้นก็อาจทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง โดยการใช้อุบายในการส่งข้อความเชิญชวนให้ประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการหลงเชื่อทาง SMS แล้วอ้างว่าเป็นการกระทำของผู้อื่น โดยที่บริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย” คุณโอภาสถามมา แนวทางแก้ไขปัญหา จะเข้าข่ายฉ้อโกงหรือไม่ก็ต้องมาดูกันที่องค์ประกอบในการกระทำผิด หากเป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ถ้าผู้ถูกหลอกลวงหลงเชื่อและส่งมอบทรัพย์หรือยอมให้ทรัพย์สินนั้นไปด้วยความเต็มใจ ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ในกรณีนี้ ข้อเท็จจริงมีว่า มีการส่งข้อความเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปที่เป็นกลุ่มผู้ใช้บริการหมายเลขโทรศัพท์แบบเหมาจ่ายรายเดือนเท่านั้น แล้วจึงมีการเรียกเก็บค่าบริการในภายหลัง ถ้ารายไหนไม่ทักท้วงยินยอมจ่ายไปโดยดีแล้วมารู้ตัวภายหลังว่าถูกหลอก ตรงนี้ก็อาจจะไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ประกอบการที่ส่ง SMS มาเชิญชวน และผู้ให้บริการมือถือที่มีส่วนได้รับประโยชน์จากการรับและส่ง SMS ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนได้ ส่วนผลคดีจะเป็นอย่างไรก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเขาสืบสวนกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ ผู้ให้บริการมือถือจะต้องคืนเงินที่เรียกเก็บไปแล้วในส่วนของการรับส่ง SMS ที่ไม่พึงประสงค์นี้โดยทันทีแต่หากยังไม่มีการชำระค่าใช้จ่ายตามบิลที่เรียกเก็บมา ผู้บริโภคสามารถทักท้วงได้ว่า บริการ SMS ดังกล่าว ตนมิได้มีความประสงค์ที่จะสมัครใช้บริการแต่เกิดจากการหลอกลวง ขอให้บริษัทผู้ให้บริการมือถือระงับการเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวโดยทันที แต่หากจะยังบังคับขืนใจให้ต้องจ่าย เช่น ขู่ว่าหากไม่จ่ายจะถูกตัดสัญญาณระงับการให้บริการ แล้วผู้บริโภคต้องจำยอมจ่าย มาถึงตรงนี้ก็จะเข้าองค์ประกอบความผิดของการกรรโชกทรัพย์ได้เพื่อป้องกันปัญหาด้านคดีความที่อาจจะเกิดขึ้น ผู้ให้บริการมือถือควรทราบถึงหน้าที่ของตนเอง เมื่อผู้บริโภคได้แจ้งว่าไม่ได้ประสงค์ที่จะใช้บริการ SMS ดังกล่าว ควรที่จะระงับการบริการนั้นทันทีและห้ามมิให้มีการเรียกเก็บเงินค่าบริการกับผู้บริโภค หรือหากมีการเรียกเก็บเงินไปแล้วจะต้องคืนให้กับผู้บริโภคทันทีโดยช่องทางใดทางหนึ่ง เช่น เป็นส่วนลดในรอบบิลถัดไป เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 ไอโฟนรุ่นพิเศษ ผ่อนไปซ่อมไป

คุณกีรติ ใช้บัตรอิออนไปเช่าซื้อไอโฟน 3G เครื่องมือสอง ราคา 18,900 บาท ที่ร้านเจมาร์ทสาขาบิ๊กซี พัทยาเหนือ ใช้งานได้เพียง 6 วันโทรศัพท์ก็เสีย คุณกีรติจึงนำโทรศัพท์กลับไปที่ร้าน “ผมแจ้งความประสงค์ว่า ต้องการคืนสินค้า เพราะยังอยู่ในระยะเวลาเปลี่ยนหรือคืนสินค้าใน 7 วัน แต่ทางร้านไม่รับคืนและไม่เปลี่ยนเครื่องให้ บอกว่าถ้าจะให้ซื้อคืนจะรับซื้อในราคา 9,000 บาทเท่านั้น และไม่มีเครื่องเปลี่ยนให้ ผมเลยต้องยอมให้ทางร้านนำเครื่องไปซ่อมจนกว่าจะใช้ได้” ผ่านไปเดือนกว่าโทรศัพท์ก็ยังซ่อมไม่เสร็จเสียที ขณะที่ใบแจ้งหนี้จากอิออนก็มีมาเรียกเก็บแล้ว โดยคุณกีรติจะต้องผ่อนทั้งหมด 12 งวดๆละ 1,841 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 22,000 กว่าบาท ในขณะที่ใช้โทรศัพท์ได้เพียงแค่ 6 วันเท่านั้น “ผมแจ้งให้อิออนทราบ อิออนแจ้งว่าจะช่วยเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย แต่ก็ไม่เห็นมีอะไรคืบหน้า ซ้ำยังมีบิลเรียกเก็บเงินค่างวดที่ 2 พร้อมกับค่าติดตามอีก โทรไปที่คอลเซนเตอร์ของอิออน ก็บอกให้ผมไปตกลงกับทางร้านเอง” “ผมน่ะไปตกลงกับทางร้านหลายครั้งแล้วว่าต้องการคืนสินค้า เพราะสินค้าไม่มีคุณภาพแต่ทางร้านเจมาร์ทก็ไม่ยอมและไม่ทำเรื่องยกเลิกสัญญาซื้อขายให้ เดี๋ยวก็คงจะมีค่างวด 3 งวด 4 ตามมาอีก ผมไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้รับความเป็นธรรมครับ” คุณกีรติร้องถามอย่างน่าเห็นใจ แนวทางแก้ไขปัญหา ใครที่ใช้บัตรเครดิตไปทำสัญญาเช่าซื้อผ่อนสินค้า ขอให้รู้ว่า สัญญาของบัตรเครดิตนั้นเป็นสัญญาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งให้ความคุ้มครองกับผู้ใช้บัตรเครดิตในกรณีที่ใช้บัตรเครดิตไปซื้อหรือผ่อนสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าตามที่เวลาที่กำหนด หรือได้รับสินค้าแต่สินค้านั้นเสียหรือไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ประสงค์ ผู้ใช้บัตรมีสิทธิบอกเลิกสัญญาการซื้อหรือเช่าซื้อสินค้านั้นได้ทันทีและมิต้องชำระเงินให้กับบัตรเครดิตแต่อย่างใด แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่รู้ในข้อสัญญาเหล่านี้เพราะทางบัตรเครดิตถ้าลูกค้าไม่ถามก็มักจะไม่แจ้งให้ลูกค้าของตนทราบ เพราะอยากได้เงินจากลูกค้ากันทั้งนั้น วิธีแก้นั้นง่ายมากครับ ขั้นที่หนึ่ง คือ ให้ผู้บริโภคทำจดหมายส่งถึงร้านค้าที่ขายสินค้าแจ้งถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้าและขอคืนสินค้า พร้อมทั้งส่งสินค้าคืนให้กับทางร้านค้าไปพร้อมกับจดหมายฉบับดังกล่าว ขั้นที่สองให้มีจดหมายอีกฉบับแจ้งไปที่บริษัทบัตรเครดิต เรื่องการยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ เนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่องใช้งานไม่ได้ ไม่ให้มีการเรียกเก็บเงินใดๆ ทำจดหมายเสร็จแล้วให้ส่งเป็นจดหมายไปรษณีย์ตอบรับ แล้วเก็บใบตอบรับพร้อมสำเนาจดหมายไว้เป็นหลักฐาน เท่านี้ก็จะทำให้บริษัทบัตรเครดิตไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้อีกต่อไป หากบริษัทบัตรเครดิตได้ชำระเงินให้กับร้านค้าไปแล้ว ก็ถือเป็นหน้าที่ของบริษัทบัตรเครดิตที่จะไปทวงถามตามเอาเงินของตนที่จ่ายไปคืนเอง สำหรับปัญหาของคุณกีรตินั้น เมื่อได้ทำจดหมายส่งไปถึงร้านเจมาร์ทและบริษัทบัตรเครดิต ไม่นานร้านเจมาร์ทต้องแจ้นส่งเครื่องใหม่เอี่ยมเปลี่ยนมาให้คุณกีรติใช้งานทันทีเพื่อที่จะได้ไม่ต้องคืนเงินค่าโทรศัพท์ให้กับอิออนนั่นเองคุณกีรติแอบยิ้มให้กับตัวเอง “ไหนว่าไม่มีเครื่องเปลี่ยนไงฟะ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 เซลล์ขายประกัน “ไทยคาร์ดิฟ” ลวงผู้บริโภคทำประกันทางโทรศัพท์

ผู้บริโภคแฉตัวแทนประกันชีวิต “ไทยคาร์ดิฟ” ใช้เล่ห์ลวงล้วงข้อมูลส่วนตัวกลายเป็นการสมัครทำประกันภัยทางโทรศัพท์ ต้องเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายในการบอกเลิกการทำประกัน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่งซึ่งขอสงวนนามได้แจ้งว่า ตนถูกบุคคลซึ่งอ้างตัวว่าเป็นตัวแทนประกันของบริษัทประกันภัย ไทยคาร์ดิฟ ประกันชีวิต จำกัด โทรฯ มาเชิญชวนให้ทำประกันภัย ผุ้บริโภครายนี้ได้ให้ข้อมูลว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2554 เวลา 14.58 นาฬิกา ได้มีพนักงานโทรฯ เข้ามาเสนอการทำประกันภัยกับตน ในส่วนของประกันชีวิตกลุ่ม สำหรับลูกค้าแผนความคุ้มครอง AEON BETTER LIFE โดยขอบันทึกเสียงการสนทนาไว้ด้วย ซึ่งผู้บริโภคได้ปฏิเสธไปอย่างชัดเจนว่าไม่สนใจที่จะทำประกันภัยที่ทางพนักงานโทรฯ มาเสนอแทนที่ตัวแทนประกันจะยุติการสนทนาโดยทันที ตัวแทนประกันรายนี้กลับใช้เล่ห์ลวง แจ้งว่าให้ผู้บริโภคบอกข้อมูลเลขบัตรประชาชน และผู้รับผลประโยชน์เพื่อออกเอกสารส่งมาให้ดูก่อนเท่านั้น หากว่าได้รับเอกสารและอ่านแล้วไม่พึงพอใจที่จะทำประกันภัยผู้บริโภคก็เพียงฉีกเอกสารทิ้ง ไม่ต้องไปชำระเงินประกันภัยและจะไม่มีผลใดๆ กับตัวผู้บริโภค ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผู้บริโภคท่านนี้จึงบอกข้อมูลไป ในเวลาต่อมาก็ได้รับเอกสารจากทางบริษัทเป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ตนไม่ได้ต้องการตั้งแต่แรก ทำให้ต้องเสียเวลาเพื่อโทรศัพท์ยกเลิกการทำประกันภัยกับทางบริษัท และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแฟ็กซ์สำเนาบัตรประชาชนไปที่บริษัทเพื่อทำการยกเลิกและเป็นการยืนยันว่าไม่ประสงค์ที่จะทำประกันภัยกับทางบริษัท!!!!! แนวทางแก้ไขปัญหา ในปัญหาที่มีการร้องเรียนมาจากผู้บริโภครายนี้ มีข้อแนะนำคือ ในการเสนอขายประกันทางโทรศัพท์นั้นผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการเจรจาได้ตลอดเวลา ซึ่งการเสนอขายประกันทางโทรศัพท์ เมื่อผู้บริโภคไม่ประสงค์จะทำประกันภัย ไม่ต้องการรับการติดต่อ ตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิตต้องยุติการสนทนาทันทีการที่ยังมีความพยายามเจรจาที่จะเสนอขายประกันต่อไปและใช้วิธีล่อลวงเพื่อให้ได้ข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคในลักษณะนี้ถือเป็นการกระทำผิดต่อประกาศของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเสนอขายกรมธรรมประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ พ.ศ.2552 หากตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้อาจเป็นเหตุให้นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต หรือใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 แนะวิธีคงสัญญา “เม้าท์ไม่อั้น” WE PCT

ทรูอุบไต๋ ปิดปากเงียบ ไม่ยอมบอกลูกค้าที่ใช้พีซีทีโปรฯ “เม้าท์ไม่อั้น” “เม้ากันให้มันส์” ฟรี 1 ปี ว่าทุกคนยังคงมีสิทธิตามสัญญาเหมือนเดิมฉลาดซื้อฉบับที่แล้วได้นำเสนอเรื่องที่มีผู้ใช้บริการ PCT ของบริษัท เอเซีย ไวร์เรส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทในเครือของทรู ร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำนวนมาก  ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้า we PCT ที่ซื้อ PLUS PHONE และ WE PHONE ในราคา 3,990 บาท และ 2,990 บาท โดยจะได้รับสิทธิโทรฟรีไม่จำกัดทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง นาน 12 เดือน นับแต่วันที่เริ่มเปิดใช้บริการ ซึ่งโปรโมชั่นนี้เริ่มในช่วงกลางปีที่ผ่านมา แต่ได้ใช้กันยังไม่ทันพ้นปี กรกฎาคมที่ผ่านมาทรูกลับแจ้งยกเลิกโปรโมชั่นโทรฟรีดังกล่าว โดยขีดเส้นตายวันที่ 1 ตุลาคม 2553 จะยกเลิกโปรโมชั่นโทรฟรีทั้งหมด และให้ลูกค้าเลือกโปรโมชั่นใหม่ 2 ทางเลือก คือ หนึ่ง ให้โทรฟรีได้เฉพาะเครือข่ายของทรูตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ เครือข่ายอื่นคิดนาทีละ 50 สตางค์ ตัวที่สอง Sim ถูก มูลค่า 49 บาท ค่าโทรทุกเครือข่ายนาทีแรก 2 บาท นาทีถัดไปนาทีละ 50สตางค์ โทรครบ 5 บาทโทรครั้งต่อไปนาทีแรก 2 บาท นาทีถัดไปนาทีละ 25 สตางค์นั้นปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีลูกค้า PCT ของทรูหลายรายโทรเข้ามาแจ้งกับมูลนิธิฯว่า ถูกระงับสัญญาณการโทรออกนอกเครือข่าย โทรได้เฉพาะแต่ในเครือข่ายของทรูเท่านั้น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก “มีผู้บริโภครายหนึ่งแจ้งว่า ตนเป็นพนักงานฝ่ายบัญชีของบริษัทแห่งหนึ่ง ได้นำเสนอให้บริษัทซื้อ PCT Plus Phone มาให้พนักงานฝ่ายขายใช้ติดต่อลูกค้าจำนวน 10 เครื่อง ตนมารับทราบในวันที่ 4 ตุลาคมว่า PCT ถูกทรูระงับสัญญาณไม่ให้โทรออกนอกเครือข่ายได้โดยแจ้งเป็นข้อความว่าวงเงินไม่พอทำให้บริษัทของตนได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก” แนวทางแก้ไขปัญหาหลังร้องเรียนกับมูลนิธิฯ ผู้บริโภคหลายรายได้พยายามติดต่อไปที่ศูนย์รับร้องเรียนของทรูที่เบอร์โทรศัพท์ 02-900-8088 ปรากฏว่าเพียงแค่แจ้งยืนยันที่จะใช้บริการตามโปรโมชั่นโทรฟรีเดิมต่อไป ทรูจึงได้ยินยอมเปิดสัญญาณให้โทรออกนอกเครือข่ายได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดทั้งนี้เนื่องจาก ตามประกาศเรื่องสัญญามาตรฐานของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ได้ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคในด้านสัญญาไว้ว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะทำการเปลี่ยนแปลงสัญญาใดๆ ที่ทำไว้กับผู้บริโภคไม่ได้หากไม่ได้รับการยินยอมจากผู้บริโภคอย่างชัดแจ้ง และผู้ให้บริการจะต้องปฏิบัติตามสัญญาและโฆษณาอย่างครบถ้วน ดังนั้นหากลูกค้า PCT ยังคงต้องการใช้โปรโมชั่นโทรฟรี 1 ปีอยู่ ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิตัดหรือระงับสัญญาณโทรออก เบื้องต้นผู้บริโภคที่ประสบปัญหาขอให้แจ้งยืนยันความประสงค์ที่จะใช้โปรโมชั่นเดิมได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของทรู โทร. 02-900-8088 , 02-643-1071 โทรสาร 02-643-0540 และหากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาขอให้แจ้งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่โทร.02-248-3737 เพื่อช่วยเหลือดำเนินการฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 คนใช้โทร WE PCT เจ็บ โดน“ทรู”หักดิบ เลิกโปรโมชั่นโทรฟรี 1 ตุลาคม 53

สัญญาให้ซื้อเครื่องไม่คิดค่าโทร 1 ปี พอซื้อมาใช้ไม่ถึงเดือนกลับถูกเลิกสัญญาโทรฟรีทรูอ้างสัญญาเขียนไว้ชัดสามารถเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่นได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เชื่อมีลูกค้าทรูหลังหักต้องถูกเก็บค่าโทรหลายรายแน่หากปล่อยให้ทรูเปลี่ยนโปรโมชั่นได้โดยไม่มีเงื่อนไขในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ได้มีโปรโมชั่นของทรูชื่อเก๋ “WE PCT พวกเราแน่นปึ๊ก” ออกมาเชิญชวนลูกค้าที่ชอบโทรราคาถูกด้วยการขายมือถือ PCT แถมโปรโมชั่นให้โทรฟรีทุกเครือข่ายนาน 1 ปี ตัวที่หนึ่งชื่อ Plus Phone ราคา 3,990 บาท ตัวที่สองชื่อ We Phone 2,990 บาท ถ้าคิดแปรเป็นค่าโทร PCT ตัวแรกตกเดือนละ 332.50 บาท ตัวที่สองเท่ากับเดือนละ 249.16 บาท เห็นโปรอย่างนี้ผู้บริโภคที่ชอบของถูกก็น้ำลายไหลล่ะครับ ค่าโทรต่อเดือนแค่ 200-300 บาทแถมยังได้ PCT มาใช้สบายๆ อย่างนี้ ก็พากันไปซื้อล่ะครับ แต่ได้ใช้กันยังไม่ทันพ้นปี กรกฎาคมที่ผ่านมาทรูกลับแจ้งยกเลิกโปรโมชั่นโทรฟรีหน้าตาเฉย บอกไม่เอาแล้ว ขีดเส้นตายวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ยกเลิกโปรโมชั่นโทรฟรีทั้งหมด และให้ลูกค้าเลือกโปรโมชั่นใหม่ 2 ทางเลือก ตัวที่หนึ่ง ให้โทรฟรีได้เฉพาะเครือข่ายของทรูตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ เครือข่ายอื่นคิดนาทีละ 50 สตางค์ ตัวที่สอง Sim ถูก มูลค่า 49 บาท ค่าโทรทุกเครือข่ายนาทีแรก 2 บาท นาทีถัดไปนาทีละ 50 สตางค์ โทรครบ 5 บาทโทรครั้งต่อไปนาทีแรก 2 บาท นาทีถัดไปนาทีละ 25 สตางค์“ดู ดู๊ ดู ดู ทรูทำ ทำไม ทรู ทำกับฉันได้...” ถูกบอกเลิกสัญญากันอย่างหักดิบแบบนี้ ผู้บริโภคที่หลงไปซื้อมือถือ PCT ของ ทรู ก็ต้องร้องเพลงนี้กันล่ะครับ ผู้บริโภครายหนึ่งบอกว่า ผมเพิ่งซื้อเครื่องพีซีทีมาเมื่อ 30 มิ.ย. 53 ไม่กี่วันก็โดนประกาศยกเลิกโปรโทรฟรี 12 เดือน เอาเฉยเลย เป็นการหลอกลวงผู้บริโภคชัดๆ หลายคนอยากให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยเหลือในการฟ้องร้องเป็นคดีตัวอย่างให้หน่อย เพราะไม่มีปัญญาไปจ้างทนายความมาสู้คดีกับบริษัทมหาชนยักษ์ใหญ่อย่างทรูได้แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เชิญผู้ร้องเรียนในปัญหาเดียวกันนี้พร้อมตัวแทนของบริษัท เอเซีย ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่นจำกัด บริษัทเครือข่ายของทรูในฐานะผู้ให้บริการและออกโปรโมชั่น ซึ่งตัวแทนบริษัทฯ ได้เสนอการเยียวยาให้กับผู้บริโภคเพื่อการขอเปลี่ยนสัญญาใหม่ที่มีการเรียกเก็บเงินค่าโทรกับเครือข่ายอื่น ด้วยการให้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของทรูในอัตรา 640.93 บาท(รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นระยะเวลา 12 เดือน คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 7,691.16 บาท ให้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี 1 ปี แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ปฏิเสธ พร้อมยืนยันเสนอให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามสัญญาของโปรโมชั่นเดิมที่ทำไว้กับผู้บริโภคจนกว่าจะถึงกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของโปรโมชั่น หรือจนกว่าผู้บริโภคจะเป็นผู้เลือกเปลี่ยนโปรโมชั่นเอง ตัวแทนบริษัทฯ รับที่จะส่งเรื่องนี้ให้ผู้บริหารได้พิจารณาทบทวนกันอีกครั้งเรื่องนี้ต้องตามติดๆ ครับ ถ้าหากบริษัทฯยังยืนยันที่จะบังคับเปลี่ยนโปรโมชั่นในวันที่  1 ตุลาคม 2553  ที่จะถึงนี้ สงสัย “WE PCT พวกเราแน่นปึ๊ก” มีเรื่องขึ้นศาลเป็นคดีผู้บริโภคบานตะไทแน่ เพราะงานนี้ผู้บริโภคสุดทนจริงๆ“สัญญาย่อมเกิดขึ้นเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอและสนองถูกต้องตรงกัน โดยชัดแจ้งว่าผู้ให้บริการตกลงให้บริการโทรคมนาคม และผู้ใช้บริการตกลงใช้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการ ในกรณีที่ผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอเกี่ยวกับบริการใดของผู้ให้บริการจะถือว่าผู้ใช้บริการได้แสดงเจตนาตกลงใช้บริการนั้นของผู้ให้บริการมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ใช้บริการได้ใช้บริการนั้นอยู่แล้ว และประสงค์จะใช้บริการนั้นต่อไป”ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 8

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 กลวิธีตุ๋นเงินทางโทรศัพท์

ถ้าคุณเห็นเบอร์ประหลาดแบบที่ชาวบ้านชาวช่องเขาไม่ใช้กันขึ้นโชว์บนโทรศัพท์ ขอเตือนอย่ายุ่งกับมันเด็ดขาด มิเช่นนั้นคุณอาจจะสูญเสียทรัพย์ได้เหมือนเช่นชายคนนี้เช้าวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2553 เวลาประมาณ 10.00 น.ขณะที่สมชายกำลังนั่งดูทีวีอยู่ที่บ้าน พลันเสียงสัญญาณโทรศัพท์เข้าได้ดังขึ้น สมชายหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมองดูเลขหมายที่โทรเข้ามา เป็นเบอร์ลักษณะประหลาดมีเครื่องหมายบวกตามด้วยหมายเลขยาวเหยียดมากกว่า 10 หลัก แต่เขากดรับด้วยความเคยชิน….“สวัสดีค่ะ คุณสมชาย ใช่ไหมคะ”“ครับ...ใช่ครับ”“ดิฉันโทรมาจากธนาคารกรุงเทพ ขอแจ้งว่าคุณมีรายการยอดเงินค้างชำระจากการซื้อสินค้าผ่านทางบัตรเครดิตเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 95,000 บาทค่ะ ขอให้คุณสมชายรีบไปชำระด้วยนะคะ”สมชายตกใจ ย้อนถามกลับไปว่า เขาไปซื้อของที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไมถึงมีราคามากกว่าวงเงินที่ธนาคารให้กับบัตรเครดิตของเขา คุณเธอที่อ้างว่าเป็นพนักงานของธนาคารกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่ามีการไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งเมื่อวันที่นั้น เวลานี้ พร้อมยืนยันว่าธนาคารมีรายละเอียดยืนยันอย่างชัดเจน“เป็นไปไม่ได้ครับ ผมไม่ได้ใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าแน่ อีกอย่างบัตรเครดิตที่ผมถืออยู่วงเงินมันไม่ถึงที่จะซื้อสินค้าได้ถึงเก้าหมื่นบาทหรอกครับ” สมชายบอกปฏิเสธ“ถ้าอย่างนั้นคุณสมชายเคยทำเอกสารพวกบัตรประชาชนสูญหายไหมคะ” คุณเธอขยับหลุมพรางเข้ามาสู่ขั้นที่สอง “ก็เคยครับ แต่นั่นมันนานมาแล้ว แล้วมันเกี่ยวอะไรด้วยครับ”“คุณสมชายอาจโดนมิจฉาชีพนำบัตรประชาชนไปทำบัตรเครดิต ด้วยการปลอมแปลงลายเซ็นต์ค่ะ และเขาอาจจะนำไปใช้รูดซื้อสินค้าเพิ่มเติมอีกก็ได้”“โอยตายล่ะ แล้วอย่างนี้ผมจะทำยังไงดีครับ ไม่งั้นผมมีหนี้ที่ไม่ได้ก่อบานตะไทแน่”“ใจเย็น ๆ ค่ะ คุณสมชาย ธนาคารมีวิธีแก้ไข” คุณเธอกล่าวปลอบด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนพร้อมกล่าวต่อไปว่า“เนื่องจากขณะนี้มีการปลอมแปลงบัตรเครดิตของพวกมิจฉาชีพไปใช้อย่างที่คุณสมชายเจอ ธนาคารกรุงเทพจึงได้มีระบบประสานงานพิเศษกับตำรวจดีเอสไอเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาแบบนี้ค่ะ เดี๋ยวดิฉันจะโอนสายของคุณเข้าสู่ระบบรับเรื่องของตำรวจดีเอสไอให้ โปรดรอสักครู่นะคะ”เสียงสัญญาณรอสายดังขึ้นเพียงแค่ไม่กี่อึดใจ หลุมพรางหลุมที่สามก็หลุดเข้ามาในสาย“สวัสดีค่ะ ดิฉันร้อยตำรวจตรีหญิงปานเดือน เจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุตำรวจดีเอสไอ มีอะไรให้รับใช้คะ”สมชายคลายใจที่ได้ยินเสียงหวาน ๆ ของตำรวจหญิงปานเดือน จึงเล่าถึงปัญหาว่ามีคนใช้บัตรประชาชนของเขาไปออกบัตรเครดิตโดยปลอมลายเซ็นต์แล้วนำไปรูดซื้อสินค้า ซึ่งเป็นข้อมูลที่เพิ่งได้รับแจ้งจากหญิงที่อ้างตัวว่าเป็นพนักงานธนาคารกรุงเทพเมื่อไม่กี่นาทีก่อนหน้านี้ร้อยตำรวตรีหญิงปานวาดได้ซักถามข้อมูลเพิ่มเติมอย่างละเอียด ไล่ตั้งแต่ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน บัตรเครดิตอื่นๆ ที่มีพร้อมวงเงินของแต่ละบัตรเครดิต รวมถึงบัญชีธนาคารที่มีบัตรเอทีเอ็ม“ผมบอกเขาไปหมดเลยครับ บอกว่ามีบัญชีธนาคารกสิกรไทยอยู่และมีบัตรเอทีเอ็มด้วย เพราะหลงเชื่อว่าเขาเป็นตำรวจดีเอสไอจริงๆ” สมชายให้เหตุผลหลังจากได้ข้อมูลจากเหยื่อจนครบถ้วน ร้อยตำรวจตรีหญิงปานวาดจึงเริ่มดำเนินการเปิดหลุมพรางหลุมที่สี่ให้เหยื่อหล่นลึกไปยิ่งขึ้น“จากข้อมูลที่คุณสมชายให้มา ดีเอสไอจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาผู้ร้ายให้อย่างเร่งด่วนค่ะ แต่เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพไปสวมรอยใช้บัตรเครดิตใบอื่นๆ ของคุณได้ ขอแนะนำให้คุณสมชายไปรูดเงินออกจากบัตรเครดิตทุกใบที่มีอยู่ให้หมด แล้วนำเงินทั้งหมดไปฝากเก็บไว้ในบัญชีของธนาคารกสิกรไทยที่คุณเปิดบัญชีอยู่เพราะถือเป็นบัญชีที่ปลอดภัยที่สุด เนื่องจากขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับธนาคารกสิกรไทยเพื่อป้องอาชญากรรมในลักษณะนี้อยู่ค่ะ ให้ไปดำเนินการทันทีเดี๋ยวนี้เลยนะคะก่อนที่มิจฉาชีพจะสามารถใช้บัตรเครดิตของคุณจนเกิดความเสียหายเพิ่มเติมได้”วางหูเสร็จสมชายคว้ากุญแจรถเผ่นผลึงบึ่งไปหาตู้เอทีเอ็มใกล้บ้านทีละตู้ๆ ไล่รูดเงินสดออกมาจากบัตรเครดิตทั้งหมดที่มีอยู่ 3 ใบจนหมดวงเงินรวมเป็นเงิน 90,000 บาท ในระหว่างนั้นได้มีเสียงผู้ชายอ้างตัวว่ามียศเป็นพันตำรวจตรีจากดีเอสไอโทรศัพท์เข้ามาสอบถามอยู่ตลอดเวลาว่าได้กดเงินออกมาหมดหรือยัง เอาเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทยหรือยัง เพราะได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารกสิกรไทยให้เตรียมรับเงินอยู่คุณสมชายเห็นว่าเป็นคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ตำรวจดีเอสไอจึงรีบปฏิบัติตามทุกขั้นตอน ท้ายสุดขับรถมาที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกสิกรไทยเพื่อทำการฝากเงินสดเข้าตู้เอทีเอ็ม ฝากเงินสดเข้าธนาคารเรียบร้อยคุณสมชายถอนหายใจคิดว่าเรื่องจบแล้ว เดินกลับจะไปขึ้นรถ พลันเสียงโทรศัพท์ไม่แสดงเลขหมายก็ดังเข้ามาที่มือถือ หลุมพรางหลุมสุดท้ายเริ่มเปิดฉาก“สวัสดีค่ะ คุณสมชายนะคะ ดิฉันร้อยตำรวจตรีหญิงปานเดือนค่ะ คุณสมชายนำเงินเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทยแล้วหรือยังคะ”“ฝากเข้าแล้วครับ มีอะไรอีกหรือครับ”“คุณสมชายต้องรีบกลับไปที่ตู้เอทีเอ็มธนาคารกสิกรก่อนนะคะ คุณจะต้องดำเนินการเปลี่ยนข้อมูลในแถบแม่เหล็กบัตรเอทีเอ็มของคุณก่อนไม่งั้นอาจเกิดปัญหาได้หากมีการปลอมบัตรเอทีเอ็มของคุณได้อีก เดี๋ยวดิฉันจะบอกขั้นตอนการเปลี่ยนข้อมูลให้ค่ะ ให้ไปที่ตู้เดี๋ยวนี้เลยค่ะ”คุณสมชายกลับไปที่ตู้เอทีเอ็มพร้อมแนบโทรศัพท์ไว้ที่หูฟังขั้นตอนที่ตำรวจหญิงปานวาดแนะนำ ขั้นแรกถูกแนะนำให้กดถอนเงินสดออกมา 100 บาท และถูกสอบถามว่ามีเงินเข้ามีเงินเหลือยู่ในบัญชีอยู่เท่าไหร่ หมายเลขตู้เอทีเอ็มคือหมายเลขอะไร เมื่อตรวจสอบจนแน่ใจว่าเหยื่อนำเงินเข้าบัญชีแล้วจริง และมีเงินอยู่ในบัญชีเป็นจำนวนเท่าไหร่ ตำรวจหญิงปานวาดจึงทำทีบอกรหัสการเปลี่ยนข้อมูลในแถบแม่เหล็กของบัตรเอทีเอ็ม ซึ่งความจริงแล้วคือขั้นตอนการโอนเงินเข้าไปอีกบัญชีหนึ่งที่มิจฉาชีพกลุ่มนี้เปิดรอไว้ และเตรียมที่จะกดเอทีเอ็มถอนออกมาเป็นเงินสดทันทีเมื่อเงินเข้าบัญชีเรียบร้อยคุณสมชายนั้นให้ข้อมูลไปทั้งหมด พร้อมทำตามทุกขั้นตอน เพราะคิดว่าคุยกับตำรวจอยู่จริง รับใบสลิปจากตู้เอทีเอ็มเสร็จจึงขับรถกลับบ้าน กว่าจะเอะใจหยิบสลิปมาดูแล้วพบว่าถูกหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีของมิจฉาชีพก็ช้าไปเสียแล้ว แนวทางการแก้ไขปัญหาถ้ามาถึงขั้นนี้แล้วต้องบอกว่าเรียบร้อยโรงเรียนโจรล่ะครับ เพราะบัญชีที่มิจฉาชีพเปิดทิ้งไว้นั้น ได้มาจากการไปหลอกเหยื่อให้มาเปิดบัญชีพร้อมทำบัตรเอทีเอ็มทิ้งไว้ เงินเข้าไปเมื่อไหร่ก็กดออกมาทันที เป็นเรื่องที่ตำรวจจะต้องตามล่าหาตัวกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้มาลงโทษให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะสร้างความเสียหายให้กับสุจริตชนมากขึ้นเรื่องนี้ถือว่าเป็นช่องโหว่ของกฎหมายด้านโทรคมนาคมที่ยังไม่มีมาตรการป้องกันการก่ออาชญากรรมทางโทรศัพท์และทางโทรคมนาคมอื่นๆ ดังนั้น ประชาชนจะต้องรู้จักป้องกันตนเองเป็นเบื้องต้น คือขั้นที่หนึ่ง หากมีใครโทรมาบอกว่าเราเป็นหนี้ธนาคารหรือสถาบันการเงินใดก็แล้วแต่ ก่อนที่จะคุยอะไรกันต่อไปต้องขอให้เขาส่งเอกสารหลักฐานรายการแจ้งหนี้มาแสดงต่อเราโดยไม่ต้องแจ้งที่อยู่ของเราให้เขาทราบ เพราะหากเป็นเจ้าหนี้ตัวจริงก็จะส่งข้อมูลตามที่อยู่ที่ได้รับแจ้งไว้ได้ หากเป็นตัวปลอมก็จะบ่ายเบี่ยงโยกโย้ หรือเร่งเร้าให้เรานำเงินไปชำระหนี้ตามตู้เอทีเอ็ม เจออย่างนี้ให้ยุติการพูดคุยโดยทันทีขั้นที่สอง หากมีการส่งเอกสารแจ้งหนี้มา ให้ตรวจสอบรายการใช้จ่าย หากพบว่ามีรายการใดหรือทั้งหมดเราไม่ได้เป็นผู้ใช้จ่ายจริง ให้ทำหนังสือทักท้วงปฏิเสธโดยทันที ไม่ควรใช้วิธีโทรศัพท์เพียงอย่างเดียวกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการบัตรเครดิตที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นการกระทำของผู้ใช้บัตรเครดิตจริง หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ หรือเรียกเก็บเงินไปแล้วก็ต้องคืนให้ผู้บริโภคครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 หัวล้านได้หวี

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดเพชรบูรณ์  เพื่อให้กำลังใจคนทำงาน และดูความก้าวหน้างานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค    รวมถึงได้มีโอกาสตั้งวงคุยกับคณะทำงานของเพชรบูรณ์  เรื่องหนึ่งที่คุยแล้วรู้สึกตกใจ เฮ้ย..มีเรื่องยังงี้ด้วยหรือ   แถมเป็นเรื่องที่ใครได้ฟังก็ขำไม่ออกก็เรื่องมันมีอยู่ว่า ศูนย์ฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้พิการในจังหวัดเพชรบูรณ์   กรณีเขาได้รับแจกบัตรโทรศัพท์  ที่มีมูลค่าในบัตร 100  บาท  โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้แจกให้ เราก็ว่าก็ดีแล้วเขาแจกให้ทำไมเขายังมาร้องเรียนอีก ศูนย์บอกว่า บัตรที่แจกไม่ใช่บัตรเติมเงินโทรศัพท์มือถืออย่างที่เราๆ คุ้นเคย  แต่มันเป็นบัตรที่ต้องใช้กับตู้โทรศัพท์สาธารณะของTOT  เท่านั้น   และที่ขำไม่ออกสุดๆ คือ  มันมีแต่บัตร แต่ตู้โทรศัพท์ของ TOT ยังไม่มีในพื้นที่เลยสักตู้เดียว (ขำไหมล่ะทีนี้)ผู้พิการเขามาบอกว่าแจกมาทำไมบัตรเนี่ย…ยังไงเขาก็ไม่ได้ใช้ ถึงแม้จะมีตู้ก็ตามเพราะถึงมีตู้มันก็เป็นตู้ที่คนพิการใช้ไม่ได้อยู่ดี  เขามีเหตุผลฟังแล้วน่าสนใจคือ ถ้าเป็นผู้พิการที่ต้องนั่งรถเข็น ตู้มันชอบอยู่บนฟุตบาท ทั้งแคบและสูงกว่ารถเข็นคนพิการจะเข้าถึง  เขาก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี   ส่วนผู้พิการทางสายตาตู้โทรศัพท์ก็เป็นตู้แบบไม่มีเสียงนำคนตาบอดก็ใช้ไม่ได้    สำหรับผู้พิการทางหู เขาพูดไม่ได้ต้องสื่อสารเป็นข้อความหรือภาพ  แต่ตู้สาธารณะมันก็ไม่มีภาพก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี  สรุปบัตรที่แจกผู้พิการใช้ไม่ได้เลยซักกลุ่ม    เขาทำนองหัวล้านได้หวี เออ....นั่นสิ  แล้วเขาแจกมาทำไมมันไม่มีประโยชน์เลย ผู้เขียนก็เลยสอบถามข้อมูลกับผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้รู้ว่า  ไอ้ที่เราๆ เสียค่าโทรศัพท์ทั้งพื้นฐานและเคลื่อนที่นั้น มีอยู่ส่วนหนึ่งที่บริษัทต้องส่งเงินเข้ากองทุน UFO (กองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ)ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)  ซึ่งมีวงเงินนับหมื่นล้านบาทกันเลยทีเดียวเชียว โดยมีสำนักงานการบริการอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นสำนักงานหนึ่งในกทช.เป็นผู้รับผิดชอบ สำนักนี้ก็มอบให้ TOT เป็นเจ้าภาพในการจัดการบริการตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ  แทนที่ TOT จะคิดวิธีจัดให้มีบริการอย่างทั่วถึงแต่กลับแปลงกายเป็นช่างตัดรองเท้า และก็ตัดเบอร์เดียวทั้งประเทศ แล้วมาบังคับให้ทุกตีนใส่รองเท้าที่เขาตัดให้   โดยใช้วิธีสะดวกคือแจกบัตรโทรศัพท์ให้ผู้พิการทั่วประเทศผ่าน พมจ.จังหวัด  เรื่องมันก็กลายเป็นว่า TOT ให้บัตรแล้วจบ พมจ.มีหน้าที่แจกแล้วจบ   คนที่เจ็บแล้วเจ็บอีกก็เลยกลายเป็นผู้พิการ   เฮ้อ....ประเทศไทยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาคิดกันได้แค่นี้  แต่ใช้เงินเป็นหมื่นล้าน เราเจ้าของเงินจะนั่งกันตาปริบๆ ทำอะไรไม่ได้อย่างนี้ แล้วปล่อยให้พวกเขาผลาญเงินให้หมดไปวันๆ โดยใช้กลุ่มผู้พิการเป็นเหยื่อกระนั้นหรือ  กทช.ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้แบบเต็มๆ ทราบบ้างไหม ว่ามีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นถ้ายังไม่ทราบก็ควรทราบเสียที  ผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็ไม่ควรอยู่เฉย ต้องลุกขึ้นมาร่วมกันตรวจสอบและกระตุ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(ที่บ้า บอด ใบ้ ทางปัญญา)  เพื่อช่วยทำให้เงินของเราเกิดประโยชน์กับผู้ด้อยโอกาสจริงๆ  ไม่ใช่ปล่อยไว้อย่างนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 ทีโอที ยังเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์

เป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนมานานแล้วว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์ค่ายต่างๆ จะสามารถเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ได้หรือไม่หลังจากที่ผู้ใช้บริการค้างชำระค่าบริการตั้งแต่ 2 งวดขึ้นไป ทั้งๆ ที่เวลาเปิดบริการใช้ครั้งแรกไม่ยักมีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายแต่อย่างใด คุณจิรอร พนักงานขายประกันจากจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเหยื่ออีกรายหนึ่งของผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่มีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายใหม่หลังผิดนัดชำระค่าบริการเกิน 2 งวด คุณจิรอรขอเปิดใช้บริการโทรศัพท์บ้านมาตั้งแต่เป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจนปัจจุบันกลายเป็นกับบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) แต่ด้วยความที่มีภารกิจการงานมากมายในแต่ละวันทำให้เกิดอาการผัดวันประกันพรุ่งไม่มีโอกาสไปจ่ายค่าโทรศัพท์เสียที จนล่าช้าไปถึง 2 เดือน พอไม่จ่ายค่าโทรศัพท์เป็นเดือนที่สองก็เป็นเรื่องล่ะทีนี้ เพราะถูกทีโอทีตัดสัญญาณให้บริการโทรศัพท์ทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า คนขายประกันอย่างคุณจิรอรเลยต้องเดือดร้อนเป็นธรรมดาเพราะไม่มีโทรศัพท์ไว้ใช้งานติดต่อกับลูกค้า“ตายแล้วนี่ฉันลืมจ่ายค่าโทรศัพท์หรือเนี่ย” คุณจิรอรอุทานออกมาหลังจากใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โทรไปสอบถามถึงสาเหตุสัญญาณโทรศัพท์บ้านขาดหายไปหลายวัน“ก็ไม่ได้ตั้งใจจะไม่จ่ายเขาหรอกค่ะ แต่มันลืมจริง ๆ ก็ขอโทษขอโพยเขาไปและคิดว่าแค่จ่ายเงินค่าโทรศัพท์ที่ค้างอยู่เรื่องน่าจะจบและได้กลับมาใช้โทรศัพท์ใหม่ แต่ทางพนักงานเขาบอกว่าเราต้องจ่ายค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ด้วยอีก 107 บาทรวมแวต เราก็เลยถามไปว่าการต่อสัญญาณโทรศัพท์ใหม่สมัยนี้เนี่ยมันยุ่งยากอะไรแค่ไหนถึงต้องเรียกค่าใช้จ่ายกันเป็นร้อย ตามจริงแล้วเงินค่ารักษาเลขหมายที่จ่ายให้ทุกๆ เดือนก็เกินพอแล้วมั้ง ก็ถามเขาไปอย่างนี้” “เขาบอกไงรู้ไหมคะ ยังไงก็ต้องจ่ายถ้าไม่จ่ายก็ไม่ต่อโทรศัพท์ให้ เจอมุขนี้เข้าเราก็เลยต้องจ่ายให้เขาไปด้วยความจำยอม แต่พอกลับมาถึงบ้านเปิดดูหนังสือพิมพ์เจอข่าวว่า กทช. ว่าเขาห้ามเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์แบบนี้ไปแล้ว เราก็เลยเป็นงงค่ะ อ้าว...แล้วทำไมทีโอทียังมาเรียกเก็บเงินกับเราอยู่ มันยังไงกัน” คุณจิรอรจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือเรียกเงิน 107 บาทคืนจากทีโอทีแนวทางแก้ไขปัญหาข่าวที่คุณจิรอรได้อ่านคงเป็นข่าวนี้ครับ ...เมื่อวันที่ 12 มีนาคมทีผ่านมา (12 มี.ค. 2552) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ได้มีมติชี้ชัดในเรื่องการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ หลังจากที่เรื่องนี้ยืดเยื้อมาระยะหนึ่ง โดย กทช. มีมติให้ทุกบริษัทงดเว้นการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ในกรณีที่ผู้ใช้บริการผิดนัดหรือค้างชำระค่าบริการเป็นเวลา 2 เดือนมตินี้จะมีผลให้ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคซึ่งถูกตัดบริการโทรออกเพราะชำระค่าบริการล่าช้า และเมื่อนำเงินไปชำระต้องถูกเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่เป็นจำนวน 107 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือในบางรายเรียกเก็บ 214 บาท ต่อไปนี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์จะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้อีก ไม่ว่าจะเป็นกรณีของโทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ตาม มตินี้จะใช้บังคับทั้งกับ บมจ.ทีโอที บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส บจก.ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมิเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น บมจ.ทีทีแอนด์ที บจก.เอเซีย ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่นอย่างไรก็ดี แม้จะมีมติ กทช. ชี้ชัดออกมาอย่างนี้ ทางมูลนิธิฯ ก็ยังคงได้รับเรื่องร้องเรียนอยู่เป็นระยะๆ จากผู้บริโภคว่ายังคงถูกเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ แม้ผู้บริโภคบางรายได้พยายามทักท้วงด้วยการอ้างถึงมตินี้แต่ก็ไม่เป็นผล พนักงานของผู้ให้บริการโทรศัพท์ตามสาขาต่าง ๆ ได้อ้างว่ายังไม่มีคำสั่งโดยตรงมาจากสำนักงานใหญ่ จึงต้องมีการเรียกเก็บไปก่อนข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาแบบนี้ คือให้จ่ายเงินค่าโทรศัพท์ที่ค้างชำระให้เรียบร้อย หากยังไม่มีการต่อสัญญาณโทรศัพท์ให้และมีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ ผู้ใช้บริการควรเขียนเป็นหนังสือแจ้งถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์นั้นๆ ว่า ขอทักท้วงและปฏิเสธการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ดังกล่าวเพราะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนในมติของ กทช. และขอให้ผู้ให้บริการดำเนินการต่อสัญญาณโทรศัพท์โดยทันที ไม่เช่นนั้นจะถือว่าผู้ให้บริการผิดสัญญาการให้บริการ เราในฐานะผู้ใช้บริการมีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้เป็นรายวันเลยล่ะครับ จะเรียกร้องค่าเสียหายผ่านทางสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนของ กทช. ก็ได้ หรือจะเล่นลูกหนักฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลก็ได้ทั้งนั้นครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ประกันภัยสินค้าใหม่ผ่านสายโทรศัพท์

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ผู้เขียนกำลังจะตักข้าวใส่ปาก(มื้อเช้า) เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น(เล่นเอาสะดุ้ง) จึงวางช้อนลงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมารับสายเพราะคิดว่าอาจมีเรื่องสำคัญ เมื่อรับสายจึงรู้ว่าเป็นการโทรมาเพื่อขายประกัน (โอ้ย..รำคาญจริงๆ) แต่ก็ทนฟังเพราะอยากรู้ว่าเขาจะให้ข้อมูลอะไรบ้าง โอ้ย..จะบอกให้นะ หากใครตัดสินใจฟังคำบรรยายสรรพคุณความดีงามของการประกันภัย ถ้าจิตไม่แข็งพอ ต้องตกหลุมทำประกันกับเขาแน่ๆ เสียงก็เพราะแล้วยังพูดหวานหว่านล้อมสารพัด แต่ผู้เขียนฟังแล้วรู้สึกว่ามันเป็นการให้ข้อมูลฝ่ายเดียวแล้วยังเป็นการละเมิดสิทธิ สิทธิส่วนบุคคลของเราชัดๆ เพราะเราไม่เคยแสดงความจำนงว่าต้องการซื้อประกัน แล้วมาเสนอขายเราทำไม นอกจากนั้นระหว่างสนทนายังบันทึกเสียงเราอีก นึกๆ แล้วก็ควันออกหู คนจะกินข้าว ดันดั้นๆๆๆๆ โทรมาขายของน่าเกลียดจริงไอ้ธุรกิจพรรค์นี้ ก็เลยตอบกลับไปว่า “ไม่สนใจแล้วอย่าโทรมาอีกเป็นอันขาดเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน” (โทรมาจะด่าให้) หันกลับมาที่จานข้าวใหม่เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้นอีก (ไงเนี่ย..ตกลงจะได้กินข้าวไหม) แต่เห็นเบอร์โทรแล้วแสนจะดีใจ เพราะเป็นเบอร์ของเพื่อน และเพื่อนคนนี้เราไม่ค่อยมีเวลาเจอกันซักเท่าไร เพราะต่างคนต่างมีงาน เมื่อเพื่อนโทรหาเราก็พร้อมจะคุย เพื่อนบอกว่าพอดีได้อ่านหนังสือฉลาดซื้อเมื่อเดือนที่แล้ว ในกรณีเสาไฟฟ้าบ้านลุงชุบ พอดีมีเรื่องจะขอปรึกษาเรื่อง การขายประกันทางโทรศัพท์หน่อยได้ไหม(ทำไมจะไม่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นร้อยพันยังช่วยได้นี่เพื่อนเรานะทำไมจะช่วยไม่ได้) จากการพูดคุยก็ได้รายละเอียดว่า เมื่อต้นเดือนมกราคม ตัวเพื่อนและภรรยา(โทรคนละครั้งเพราะใช้โทรศัพท์คนละเบอร์) ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่บริษัทประกันกรุงเทพประกันภัย จำกัด มาชักชวนให้ลงประกัน เพื่อนและภรรยาปฏิเสธไป แล้วก็คิดว่าคงไม่มีอะไรอีกแล้ว แต่เรื่องไม่เป็นเช่นนั้น ปรากฏว่าไปรษณีย์ได้นำจดหมายมาส่งวันที่ 26 มาราคม 2552 หัวจดหมายเป็นชื่อของบริษัทที่เคยโทรมาชวนให้เขาและภรรยาลงประกัน จึงรีบเปิดซองออกดูปรากฎว่า เป็นกรมธรรม์ประกันภัยระบุชื่อผู้เอาประกัน คือลูกสาวของเขาเอง และระบุวันคุ้มครอง วันที่ 23 มกราคม 2552 ด้วยความตกใจ จึงเรียกลูกสาวมาสอบถาม จึงได้ทราบว่าบริษัทประกันนอกจากจะโทรหาเขาและภรรยาแล้ว ยังโทรหาลูกสาวเขาอีก (อุแม่เจ้า นี่มันอะไรกันนี่มันเล่นโทรขายทั้งบ้านเลยหรือเนี่ย....) จึงถามลูกสาวว่าทำอย่างไรเขาถึงส่งกรมธรรม์มาให้ถึงบ้านได้ ลูกสาวก็บอกว่าก็ “เขาบอกว่าทำแล้วดีตั้งหลายอย่างก็เลยตอบตกลงเขาไป ก็ไม่รู้ว่าตกลงปากเปล่าทางโทรศัพท์นี่ จะเป็นจริงเป็นจังขนาดนี้” เพื่อนยังบอกต่ออีกว่าเมื่อเห็นว่าลูกสาวไม่ได้ลงนามในสัญญา สัญญากรมธรรม์ก็ไม่น่าจะมีผลอะไร เพราะการทำสัญญาต้องมีการลงนามทั้งสองฝ่ายหากขาดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสัญญานั้นก็ไม่น่าจะสมบูรณ์ เมื่อคิดอย่างนั้นก็เลยปล่อยเรื่องไว้เฉยๆโดยไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไรตามมา แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันเจ้าหน้าที่บริษัทประกันได้โทรติดต่อกลับมาหาลูกสาวเขาอีกพร้อมบอกให้ลูกสาวโอนเงินงวดแรกจำนวน 1,000 บาท (3 งวด)ไปยังบริษัท ลูกสาวได้ตอบไปว่า พ่อไม่ยอมให้ทำจึงขอยกเลิกการทำประกัน บริษัทตอบกลับมาว่ายกเลิกไม่ได้เพราะบริษัทได้ส่งกรมธรรม์มาให้แล้ว ตามคำยืนยันของลูกค้าที่ทางบริษัทได้บันทึกเสียงไว้ที่ตกลงไว้แล้วทางโทรศัพท์ และจากนั้นก็ได้รับโทรศัพท์ข่มขู่ว่าหากไม่จ่ายเงินบริษัทจะฟ้องเพราะถือว่าลูกค้าทำผิดสัญญา จึงได้โทรมาเพื่อขอคำปรึกษาว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถยกเลิกการทำประกันได้ เมื่อได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดแล้ว จึงได้ส่งเรื่องไปยังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อให้ค้นหาข้อมูลเพื่อช่วยเหลือและตอบข้อหารือ ในเบื้องต้นศูนย์ฯ ได้แนะนำผู้ร้องไปว่า ถ้าผู้ซื้อไม่พอใจ ผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธได้หรือบอกเลิกสัญญาได้ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้ง ดังนั้นเรามีสิทธิยกเลิกการเอาประกันได้ และไม่ต้องกลัวคำขู่ของบริษัทที่ขู่จะฟ้องร้อง แน่จริงก็ให้เขาฟ้องมาเลยศูนย์ฯ จะดำเนินการให้ไม่ต้องกลัวจากนั้นศูนย์ฯได้ดำเนินการสืบค้น พบว่าการที่บริษัทประกันโทรมาขายประกันผ่านโทรศัพท์ได้ เป็นเพราะคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ) กรมการประกันภัยเดิม ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ พ.ศ. 2551 จึงได้ข้อสรุปว่า คปภ. คือต้นเหตุของความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เรื่องนี้ คปภ ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้ออกประกาศมาสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถใช้สิทธิตาม พรบ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภคฟ้องบริษัทและ คปภ. ต่อศาลประจำจังหวัด ฐานที่ส่งเสริมให้บริษัทสร้างความเสียหายต่อจิตใจ และสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ รบกวนสิทธิส่วนบุคคล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 สิทธิของคนใช้โทรศัพท์

เคยเขียนแต่เรื่องที่มีคนมาร้องทุกข์ วันนี้เลยจะคุยเรื่องวีรกรรมของคนเขียนเองบ้าง ในฐานะคนทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิ และก็เป็นคนหนึ่งที่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ นั่นคือโทรศัพท์เคลื่อนที่(มือถือ) ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังเบ่งบานสุดๆ ในประเทศไทย และทั่วโลก ที่น่าตกใจ(หลังจากอ่านบทความการวิจัย) ว่าวัยรุ่นไทยใช้โทรศัพท์มากที่สุดติดอันดับต้นๆของโลกและค่าใช้โทรศัพท์ มากกว่ากินข้าวปลาอาหารบวกเสื้อผ้าเสียอีก อุแม่เจ้า..อะไรจะขนาดน้านนน... ไม่เชื่อก็ไม่ได้ในเมื่อมีข้อมูลว่าประชากรในประไทยมีประมาณ 73 ล้านคน แต่พี่ท่าน..(ผู้ให้บริการ) ขายเบอร์โทรเคลื่อนที่ไปแล้วกว่า 75 ล้านเลขหมาย นั่นหมายความว่าต้องมีคนใช้โทรมากกว่า 1 เลขหมายอยู่หลายคนอย่างแน่นอน (อู้ฮู.....เงินมหาศาลเลย...) แต่ปัญหาของผู้บริโภคคือเรามีหน้าที่ แค่ซื้อ แค่ใช้และจ่ายเงินเท่านั้น โดยไม่ได้คิดถึงสิทธิหน้าที่ ที่พึงมีพึงได้ของผู้บริโภคเอง ผู้บริโภคเรามีหน้าที่เป็นผู้ยอมสยบแต่โดยดี ทั้งๆ ที่เราเป็นผู้จ่ายเงินเข้าระบบธุรกิจการสื่อสาร (ถ้าไม่มีเราเขาก็ไม่รวย) โดยไร้ซึ่งปากเสียง เช่น เขาบอกให้เราเสียเงินค่าต่อสัญญาณกรณีที่ผิดนัดชำระค่าโทรศัพท์ 107 บาท เราก็จ่าย เขากำหนดว่าเติมเงิน 200 บาท ใช้งานได้แค่ 30 วัน เติม 50 บาทใช้แค่ 3 วัน เราก็ยอม ช่างเป็นผู้จ่ายที่ว่าง่ายอย่างเหลือเชื่อ ใช้ๆ ไปก็มีบริการอื่นๆ ที่เราไม่ต้องการเข้ามาในเครื่องโทรศัพท์เรา แถมบอกอีกว่า ถ้าไม่เอาให้โทรกลับ (โทรกลับใครเสียเงิน)ไม่โทร ครบ 15 วันเขาก็คิดสตางค์เรา เราก็ยอม เคยถามตัวเองว่าทำไมเราต้องยอม หลายคนบอกว่าเราอยากใช้บริการเขาเราก็ต้องยอมซิ.. เมื่อผู้บริโภคว่าง่ายขนาดนั้น การโฆษณา โปรโมชั่นหลากหลาย สารพัดรูปแบบอกมาเป็นชุดๆ เลย เราก็ซื้อ เอาเปรียบหรือเปล่าเราไม่เคยรู้ รู้แต่เขาว่าดีเราก็ซื้อแล้วโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ให้บริการ แต่ในฐานะคนจ่ายสตางค์ อย่างผู้เขียน ที่คิดเสมอว่าผู้จ่ายสตางค์(คือพระเจ้า คือผู้มีพระคุณของผู้ให้บริการ) มันต้องมีสิทธิบ้างซิ! เพราะจริงๆ มันก็เป็นสิทธิ และเมื่อเป็นสิทธิเราก็ต้องใช้ ดังนั้นกระบวนการร้องเรียนจึงเกิดขึ้น เริ่มที่ ร้องเรียนเรื่องการยกเลิกการใช้บริการยาก เหตุผลคือเวลาเราซื้อโทรศัพท์ ซื้อเลขหมาย(ซิม)จ่ายสตางค์ค่าใช้บริการ จ่ายที่ไหนก็ได้ จ่ายที่ศูนย์/ร้านสะดวกซื้อ/ไปรษณีย์ และอื่นๆอีกมากมาย เรียกว่าเรื่องจ่ายสตางค์ให้เขามันง่ายจริงๆ แต่เวลาเราจะเลิกใช้บริการมันก็ยากจริงๆ เหมือนไอ้ร้านต่างๆ ที่เราจ่ายสตางค์สะดวกน่ะ ยกเลิกการใช้บริการไม่ได้ เพราะเขาจะสร้างข้อแม้ไว้ให้เรายกเลิกได้ยากมาก คือหากอยู่สมุทรสงครามก็ต้องมายกเลิกที่ เซ็นทรัลพระราม 2 อยู่ลำปางต้องไปยกเลิกเชียงใหม่ เป็นต้น สรุปคือการยกเลิกการใช้บริการมีแต่ในหัวเมืองใหญ่ๆ เห็นไหม ช่องจ่ายสตางค์ ง่ายแสนง่าย ยกเลิกการจ่ายสตางค์ ยากแสนยากแค่ไหน ผู้เขียนร้องเรียนบริษัท ดีแทกซ์ ปรากฏว่าปัจจุบันผู้ใช้บริการของบริษัทนี้สามารถยกเลิกบริการได้แค่เพียงโทรศัพท์บอกก็สามารถยกเลิกได้เลย หรือการยัดเยียดบริการ(โฆษณาผ่านมือถือ) ทั้งๆ ที่เราไม่ต้องการ เช่น ส่งข่าวดูดวง ทายผลฟุตบอล คลิปท์ดารา ฯลฯ ที่สำคัญคือการที่ ส่งข่าวมาให้อ่าน แล้วบอกว่า ให้อ่านฟรี 15 วัน หากไม่ต้องการให้โทรกลับ ทำไมไม่เขียนว่าเอาให้โทรกลับ เพราะโทรกลับเราก็เสียสตางค์ พอไม่โทรกลับก็ถือโอกาสเก็บเงินรายเดือนเราเลย ผู้เขียนก็ร้องเรียนว่าไม่ต้องการรับการยัดเยียดบริการ ปรากฏว่า ปัจจุบันไม่มีข้อความยัดเยียดบริการส่งมาให้อีกเลย (3 เดือนแล้ว) หรือแม้แต่กรณีเราชำระค่าบริการไม่ตรงเวลา แล้วถูกเรียกเก็บค่าต่อสัญญาณ 107 บาท (ไม่รวมค่ารักษาเลขหมาย) ผู้เขียนได้อ่านประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กทช.) เขียนไว้ในมาตรฐานสัญญา สรุปว่าไม่น่าจะเรียกเก็บกรณีนี้ได้ เมื่อรู้ก็เลยลองร้องทุกข์ไปที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.สายด่วน 1200) ผลสรุปมติ กทช.ตัดสินมาว่าให้คืนเงิน 107 บาท ให้ผู้เขียน และห้ามเก็บเงินค่าต่อสัญญาณ 107 บาท กับผู้อื่นอีกต่อไป (บริษัทกำลังดำเนินการอุทธรณ์คำตัดสินอยู่) และมีอีกหลายเรื่องที่ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิและถูกเอาเปรียบอยู่จริงๆ เห็นไหมว่าเรามีสิทธิแต่ยังใช้มันไม่เป็น จึงเขียนมาเล่าสู่กันฟัง และเชิญชวนให้ผู้บริโภคลุกขึ้นมาช่วยกันปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเอง อย่าสยบยอมให้ใครมาละเมิดสิทธิและเอาเปรียบเราลุกขึ้นมาเถอะเพื่อร่วมสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมเพื่ออนาคตของลูกหลานเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 ผลทดสอบการป้องกัน “แสงยูวี” แผ่นกันรอยติดหน้าจอโทรศัพท์มือถือ

เดี๋ยวนี้ “แผ่นกันรอยหน้าจอโทรศัพท์มือถือ” ที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปไม่ได้มีคุณสมบัติแค่การป้องกันรอยขีดข่วนที่จะเกิดกับหน้าจอมือถือของเราเท่านั้น แต่ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับคนใช้งานโทรศัพท์มือถือ 1 ในนั้นก็คือ คุณสมบัติในการป้องกัน “แสงยูวี” และ “แสงสีฟ้า” ซึ่งเป็นแสงที่ถูกส่งผ่านมาจากหน้าจอมือถือ เป็นแสงที่อาจเป็นอันตรายต่อดวงตา ยิ่งทุกวันนี้หลายคนใช้ชีวิตแบบติดหน้าจอ ใช้เวลาอยู่กับการจิ้มและสไลด์ไปบนหน้าจอมือถือสมาร์ทโฟนเกือบตลอดทั้งวัน นั้นเท่ากับว่าดวงตาของเรากำลังถูกแสงจากหน้าจอมือถือทำร้ายไปเรื่อยๆแต่อย่างที่บอกว่าปัจจุบันเรามีแผ่นกันรอยหน้าจอมือถือที่มีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันอันตรายจากแสงยูวีวางจำหน่ายให้คนใช้สมาร์ทโฟนได้เลือกซื้อหามาใช้งาน หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าแผ่นกันรอยหน้าจอมือถือที่เราซื่อมาป้องกันแสงยูวีได้จริง ฉลาดซื้อจึงขอรับอาสานำตัวอย่างแผ่นกันรอยหน้าจอมือถือไปทดสอบดูสิว่า มีคุณสมบัติป้องกันแสงยูวีและแสงสีฟ้าได้จริงตามที่โฆษณาหรือไม่ และแต่ละยี่ห้อมีประสิทธิภาพในการป้องกันแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหนการทดสอบเราได้เลือกตัวอย่าง แผ่นกันรอยหน้าจอโทรศัพท์มือถือจำนวน 5 ตัวอย่าง โดยทั้ง 5 ตัวอย่างเป็นแผ่นกันรอยชนิดที่เป็นกระจกนิรภัย รุ่นที่ใช้สำหรับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน iPhone6 ประกอบด้วย1.    Hishield รุ่น Blue Light Cut Tempered Glass2.    CESSORY รุ่น Glass Protector 9H3.    Focus BC รุ่น Premium Tempered Glass 9H Hardness4.    Dapad รุ่น Glass screen protector Blue light cut5.    Dr. eyes Film by VOX. รุ่น Tempered Glassใช้วิธีการทดสอบโดยนำแสงจากแหล่งกำเนิดที่ทราบค่า (ความยาวคลื่น 380-780 นาโนเมตร) ส่องผ่านฟิล์มตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์ผลของสเปคตรัมของแสงที่ผ่านออกมาว่ามีองค์ประกอบของแสงอย่างไร เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ1.Spectrometer2.Integrating Sphere3.Light sourceวิธีการทดสอบ1.เตรียมกระจกเพื่อใช้ติดฟิล์มกันรอยใช้กระจกใสขนาด 2 มิลลิเมตร ตัดให้ได้ขนาดเท่ากับฟิล์มกันรอย โดยเตรียมกระจกเปล่าที่ไม่ได้ติดฟิล์มเป็นตัวควบคุมด้วย2.วัดสเปคตรัมของแสงของแผ่นกระจกเปล่าที่ไม่ได้ติดฟิล์มกันรอย เปรียบเทียบกับกระจกที่ติดฟิล์มกันรอยทั้ง 5 ตัวอย่าง แล้วนำผลที่ได้มาวิเคราะห์สเปคตรัมของแสงที่ผ่านกระจกที่ติดฟิล์มกันรอยออกมาหา ค่าเฉลี่ยของ % การส่องผ่านของแสงยูวีในช่วง 380 – 400 นาโนเมตร ผลการทดสอบ   เส้นกราฟแสดงผลการทดสอบการกรองแสงยูวีช่วงความยาวคลื่น 380-400 นาโนเมตร           ตัวอย่างแผ่นกันรอยหน้าจอมือถือที่นำมาทดสอบมีความสามารถในการกรองแสงยูวี A, B, C (ความยาวคลื่นของแสง UV-C  100-280 nm, UV-B 280-315 nm และ UV-A 315-400 nm)ได้สูงสุดเกือบ 90 % คือ  CESSORY รุ่น Glass Protector 9H เพียงตัวเดียวที่กรองได้เพียง ประมาณ 85 %   ส่วนแสงที่อยู่ในช่วงมากกว่า 400 nm ขึ้นไป ซึ่งแสงสีฟ้าก็อยู่ในช่วงคลื่นนี้ ตัวอย่างที่นำมาทดสอบยังป้องกันการผ่านของแสงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นอย่างไรก็ตามการติดแผ่นกันรอยป้องการแสงยูวี ก็ยังเป็นสิ่งที่ช่วยลดอันตรายจากการใช้งานสมาร์ทโฟนที่อาจส่งผลกับสายตาของเราได้ หากจำเป็นต้องใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นประจำและต่อเนื่องครั้งละนานๆ ก็ควรหาซื้อแผ่นกันรอยที่ช่วยป้องกันแสงยูวีมาติดไว้เพื่อช่วยถนอมดวงตาของเรา กลุ่มคลื่นแสงที่สายตามองเห็นได้กลุ่มคลื่นแสงที่ตามองเห็น (Visible light) ซึ่งมีความยาวคลื่น 400 – 800 นาโนเมตร เป็นกลุ่มคลื่นแสงสีต่างๆ จำนวน 7 สีตั้งแต่คลื่นแสง สีม่วง สีคราม สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง สีแสด และสีแดง เรียงตามความยาวของคลื่นจากน้อยไปหามาก คลื่นแสงกลุ่มนี้เป็นคลื่นแสงที่ประสาทตาของมนุษย์สามารถรับรู้ได้ทำให้เราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้  กลุ่มแสงที่สายมองเห็นไม่ว่าจะอยู่ที่คลื่นใด ก็มีผลกระทบต่อดวงตาของเราทั้งสิ้น หากดวงตาเขาเราสัมผัสกับแสงเหล่านั้นนานเกินไปส่วนแสงยูวี A B C เป็นกลุ่มแสงที่อยู่ในช่วงคลื่นที่ต่ำกว่า 400 – 280 nm เป็นกลุ่มแสงที่เรามองไม่เห็น แต่ก็มีอันตรายต่อดวงตาเช่นกัน เพราะดวงตาของเราจะดูดซับเอารังสียูวีเอาไว้แบบเดียวกับผิวหนังของเรา ส่งผลทำให้จ่อประสาทตาเสื่อมอันตรายของแสงจากหน้าจอสมาร์ทโฟนแสงจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เป็นแสงที่มีผลต่อดวงตาของเรา เมื่อดวงตาของเราต้องจ้องอยู่กับหน้าจอมือถือ แท็บเล็ต หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ อาการที่เกิดขึ้นทันทีก็คือ ดวงตามีอาการล้า ตาแห้ง อาจมองเห็นไม่ชัดชั่วคราว นอกจากนี้ในระยะยาวอาจส่งผลทำให้จอประสาทตาเสื่อมวิธีดูแลดวงตาของเราให้อยู่กับเราไปนานๆการติดแผ่นกันรอยป้องกันแสงยูวีจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นเพียงแค่วิธีหนึ่ง ในการลดอันตรายของแสงต่อดวงตาของเรา แต่วิธีการดูแลรักษาดวงตาของเราที่ดีที่สุดต้องเริ่มจากพฤติกรรมการใช้งาน1.ใช้แต่พอดี ไม่ว่าจะเป็นมือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ไม่ใช้งานต่อเนื่องกันเกิน 2 ชั่วโมง ควรให้สายตาของเราได้พักบ้าง อย่าจ้องอยู่แต่ถ้าจอ ควรพักสายตาด้วยมองไปยังออกไปไกลๆ ที่จุดอื่น กะพริบตาบ่อย อย่าจ้องหน้าจอจนตาแห้ง2.ใช้งานในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ แสงสว่างที่เพียงพอ ไม่มากและน้อยเกินไป มองแล้วสบายตา และควรอยู่ในระยะห่างที่พอดี ประมาณ 30 ซม.จะช่วยให้สายตาของเราไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป2.ให้ดวงตาได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ การพักผ่อนที่ดีที่สุดก็คือการนอนหลับ ให้ดวงตาที่เมื่อยล้าของเราได้พักอย่างเต็มที่3.ดื่มน้ำเยอะๆ การดื่มน้ำช่วยให้ดวงตาของเราชุ่มชื้นขึ้น เพราะการที่ต้องจ้องอยู่กับหน้าจอนานๆ จะทำให้ตาแห้ง4.กินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผัก-ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินเอสูง เช่น ฟักทอง แครอท มะเขือเทศ มะละกอสุก กล้วย ฯลฯ รวมทั้งอาหารในกลุ่มโปรตีนที่ช่วยซ่อมแซมและบำรุงสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ไข่ นม ปลา เป็นต้นขอขอบคุณ ห้องปฏิบัติการแสงและอุณหภูมิ ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา                 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point