ฉบับที่ 109 กระแสต่างแดน

คุณค่าที่ไม่คู่ควร องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ลุกขึ้นมาประกาศสงครามกับผู้ผลิตที่ติดฉลาก อวดอ้างสรรพคุณที่ไม่เป็นจริงบนผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากมีให้เห็นกันแพร่หลายจนเกินทน ถึงวันนี้มีผู้ประกอบการที่ได้รับจดหมายเตือนไปแล้ว 17 บริษัท หนึ่งในนั้นคือเนสท์เล่ที่เรารู้จักกันดี ข่าวบอกว่าข้อความบนฉลากของน้ำผลไม้ยี่ห้อจูซี่ จูซ ของเนสท์เล่นั้น ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเครื่อง ดื่มดังกล่าวทำมาจากผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่ความจริงแล้วเป็นการนำเอาน้ำผลไม้หลายชนิดมารวมกัน แล้วแต่งกลิ่น นอกจากนี้บริษัทยังถูกตักเตือนเรื่องอาหารเสริมสำหรับเด็กยี่ห้อเกอเบอร์ ด้วยเหตุที่ข้อมูล โภชนาการที่แจ้งบนฉลากนั้นยังไม่ได้รับการรับรองสำหรับเด็กอายุ 2 ปี อีกหนึ่งบริษัทที่ถูกอย. สหรัฐฯ จับจ้องอยู่ได้แก่ผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำทับทิมยี่ห้อ POM ที่ให้ข้อมูลกับผู้บริโภคบนเว็บไซต์ของตนเอง (โดยแจ้งเว็บไซต์ไว้ที่ฉลาก) ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถป้องกันหรือรักษาอาการเครียด เบาหวาน หรือมะเร็งได้ แม้จดหมายเหล่านี้จะเป็นเพียงการขอความร่วมมือจากบริษัท แต่อย่างน้อยๆ ก็เป็นการส่งสารไป ยังผู้บริโภคว่าอย่าเชื่อในสิ่งที่เห็นเสมอไป และถ้าอะไรมันดูเหมือนจะดีเกินจริง ก็คงเป็นเพราะมันไม่จริงนั้นแล ... -------------------------------------------------------------------------------------------------------------- คุมน้ำหนักด้วยอาหารฟาสต์ฟู้ด ?นาทีนี้อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ในโลกของธุรกิจ แม้แต่ผู้ให้บริการโปรแกรมลดน้ำหนัก Weight Watchers ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกก็ยังจับมือกับร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดแมคโดนัลด์ ต่อไปนี้ แมคนักเก็ต เบอร์เกอร์ปลา และแร็พไก่ ที่ขายในร้านแมคโดนัลด์สาขาในนิวซีแลนด์ จะมีโลโก้ของ Weight Watchers อยู่ด้วย เพื่อเป็นการรับรองว่าคนที่กำลังควบคุมน้ำหนักนั้น สามารถกินได้ ไม่ต้องกังวลWeight Watchers ชื่อที่ได้รับการเชื่อถือมานานด้วยระบบ การให้แต้มกับอาหารแต่ละประเภท โดยคิดจากปริมาณแคลอรี่ และไขมันอิ่มตัว ถ้าต้องการจะลดน้ำหนักด้วยโปรแกรมนี้เรา จะต้องควบคุมปริมาณอาหารให้อยู่ที่วันละ 18 – 40 แต้ม โดย แต่ละคนก็จะมีแต้มที่ต่างกันไปตามแต่น้ำหนัก ส่วนสูง อายุ เพศ และกิจกรรมในแต่ละวัน งานนี้ Weight Watchers ถึงขั้นออกมารับรองว่าอาหารชุดของแมคที่เสิร์ฟพร้อมสลัดและน้ำ/น้ำอัดลม แบบไร้น้ำตาล จะมีค่าเท่ากับ 6.5 แต้ม บริษัทอ้างว่าอยากจะส่งสารไปยังคนที่ควบคุม น้ำหนักว่าพวกเขายังมีความสุขกับชีวิตได้แม้จะอยู่ในช่วงลดน้ำหนัก (ว่าแต่ความสุขนี่มันหาได้จากอาหาร ฟาสต์ฟู้ดอย่างเดียวรึ)มองในทางกลับกัน มันจะทำให้ผู้คนหันมาบริโภคอาหารประเภทนี้กันด้วยความเข้าใจว่ามันดีต่อสุขภาพ และยังไม่นับว่าเมื่อเข้าไปในร้านแล้วลูกค้าก็อาจจะสั่งโดนัทหรือมิลค์เชคเพิ่มจากอาหารสามประเภทที่ว่า นั้นด้วย หลายฝ่ายมองว่ามันคือแผนเพิ่มยอดขายด้วยการดึงลูกค้ากลุ่มที่ควบคุมน้ำหนักตัวให้เข้าร้าน จะมีหรือไม่มีโลโก้ ไก่ชุบแป้งทอดก็ยังเป็นไก่ชุบแป้งทอดอยู่นั่นเอง ----------------------------------------------------------------------------------------------------------ห่อให้ด้วย ช่วยลดโลกร้อน เพิ่งรู้ว่าคนญี่ปุ่นเขาไม่นิยมเก็บอาหารที่ทานไม่หมดในร้านติดตัวกลับบ้านไปด้วย การสำรวจเมื่อสองปีก่อนพบว่ามีคนญี่ปุ่นพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่เข้าใจแนวคิดเรื่องการนำอาหารเหลือกลับบ้าน ดังนั้นเขาถึงมีการก่อตั้งองค์กรขึ้นมารณรงค์เปลี่ยนทัศนคติคนให้ช่วยกันลดขยะจากอาหารเหลือตามร้าน ปีนี้องค์กร DoggyBag Committee ได้ทำการสำรวจอีกครั้งและพบว่าร้อยละ 90 ของผู้ตอบเห็นด้วย กับการนำอาหารที่กินเหลือกลับบ้าน (องค์กรนี้บอกว่าความจริงแล้วเมื่อ 20 -30 ปีก่อนคนญี่ปุ่น ก็นิยมเก็บอาหารที่เหลือจากงานเลี้ยงกลับบ้านกันเป็นปกติ) เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วก็เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของภัตตาคารบุฟเฟ่ต์ในญี่ปุ่นที่มีบริการห่อกลับบ้านให้กับลูกค้า ร้านที่เป็นผู้บุกเบิกได้แก่ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ 3 แห่งของโรงแรมในเครือโคคุไซ แต่เขาก็มีการจำกัดปริมาณในการห่อกลับบ้านและต้องตรวจสอบก่อนว่าอาหารที่จะให้ลูกค้านำกลับนั้นจะยังอยู่ได้อีกหลายชั่วโมง นอกจากนี้ยังกำชับให้กินให้หมดภายในวันเดียวด้วย ขณะนี้ร้านเล็กๆ เริ่มให้ความร่วมมือกับการบรรจุถุง/กล่องกลับบ้านให้ลูกค้า แต่ร้านใหญ่ๆ บอกว่ายังไม่อยากทำเรื่องนี้เต็มตัวจนกว่าจะแน่ใจว่าสังคมญี่ปุ่นให้การยอมรับเรื่องนี้อย่างจริงจัง กระทรวงเกษตรของญี่ปุ่นบอกว่า ในปี พ.ศ. 2550 มีขยะจากอุตสาหกรรมอาหารถึง 11 ล้านตันต่อปี นับเป็นสถิติที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศที่พัฒนาแล้ว และการจัดการกับขยะเศษอาหารในญี่ปุ่น นั้นมีค่าใช้จ่ายประมาณ 36 บาทต่อ 1 กิโลกรัม --------------------------------------------------------------------------------------------------------------ขวดเก่าไปบอลโลกกำลังรออยู่ว่าฟุตบอลโลกที่อัฟริกาใต้ปีนี้จะมีมุขอะไรออกมารณรงค์เพื่อการลดโลกร้อนกันบ้าง ข่าวแรกออกมาแล้วว่าบรรดานักเตะจาก 9 ทีมดังที่มีไนกี้เป็นสปอนเซอร์หลักจะสวมเสื้อที่ทำจากใยโพลีเอสเตอร์ที่ผ่านการรีไซเคิลมาจากขวดพลาสติกที่ใช้แล้ว ขวดพวกนี้จะเดินทางมาจากญี่ปุ่นและไต้หวัน เพื่อเข้าแถวรับการตัด หลอม แล้วปั่นเป็นเส้นใย ซึ่งสามารถนำไปทอเป็นผืนผ้าและเย็บเป็นตัวเสื้อ เขาบอกว่าเสื้อหนึ่งตัวจะใช้ขวดประมาณ 8 ขวด บริษัทบอกว่า “เสื้อขวด” นั้นจะมีราคาเท่ากับเสื้อปกติ แม้ว่าวัสดุรีไซเคิลนั้นจะมีราคาแพงกว่า ผ้าธรรมดาอยู่บ้างแต่ก็สามารถชดเชยด้วยการประหยัดงบในส่วนอื่นๆ เพราะจะว่าไปแล้วการ ผลิตเสื้อแบบนี้สามารถลดการใช้พลังงานในการผลิตได้ถึงร้อยละ 30 เลยทีเดียว การตัดสินใจผลิตเสื้อรุ่นดังกล่าวออกมาช่วยทำให้ขวดพลาสติก จำนวน 13 ล้านขวด ได้อวตารมาเป็นเสื้อ 1.5 ล้านตัว แทนจะกลาย เป็นวัสดุถมดิน------------------------------------------------------------------------------------------------------------------มาสอนก็มีเสี่ยงนับถึงวันนี้มีครูชาวอังกฤษเสียชีวิตไปแล้ว 178 คน จากอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน (แอสเบสทอส) และนั่นคือสาเหตุที่หน่วยงานท้องถิ่น 34 หน่วยงานกำลังถูกสอบสวนอยู่ในขณะนี้ การสุ่มสำรวจโรงเรียน 16 โรงโดยสมาคมให้คำปรึกษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับแร่ใยหินพบว่า ไม่มีโรงเรียนไหนเลยที่มีระบบป้องกันอันตรายจากแร่ใยหินซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิด โรคมะเร็งที่เยื่อหุ้มปอด ข่าวดังกล่าวทำให้สมาคมครูในอังกฤษออกมาเรียกร้องให้มีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมากำกับ ดูและและให้คำแนะนำในเรื่องแร่ใยหินและการกำจัดหรือจัดการมันในเขตโรงเรียน รัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้ประกาศว่ารัฐบาลจะจัดทำคู่มือเรื่องการจัดการแร่ใยหิน เพื่อแจกให้กับบรรดาครูใหญ่ ผู้ว่าการรัฐ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานท้องถิ่นได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เนื่องจากประมาณร้อยละ 75 ของโรงเรียนในอังกฤษนั้นมีการใช้แร่ใยหินในวัสดุก่อสร้าง เบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้กำจัดวัสดุอาคารที่ชำรุดเสียหายที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินออกไปก่อน ส่วนวัสดุที่ยังไม่เสียหายนั้นให้ปล่อยไว้อย่างนั้นโดยเพิ่มการจัดการที่ดีแทน โชคดีที่อังกฤษเขามีกฎหมายเรื่องนี้เข้มพอสมควร จึงทำให้เรื่องนี้ได้รับการจัดการอย่างรวดเร็ว ส่วนประเทศไทย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราซึ่งมีการใช้วัสดุก่อสร้างที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบกันอย่างแพร่หลายเช่นกัน จะหันมาให้ความสนใจกับการจัดการแร่ใยหินอย่างเป็นรูปธรรมเหมือนเขาบ้าง --------------------------------------------------------------------------------------------------------------- สายการบินสปิริตสูงออสเตรเลียก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เกิดกรณีร้องเรียนจำนวนมากจากผู้ใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ รัฐบาลจึงออกกฎให้สายการบินเหล่านี้เสนอสิ่งที่เรียกว่า “ข้อตกลงกับผู้โดยสาร” เพื่อเป็นการรับประกัน ว่าผู้โดยสารจะได้รับบริการที่ดีขึ้น สายการบินเจ็ทสตาร์รีบลงมือทำเรื่องนี้ก่อนใคร หลังจากเสียคะแนนไปเยอะเมื่อปลายเดือนมกราคม ที่ผ่านมาเมื่อเครื่องบินที่จะต้องพาผู้โดยสารจากเกาะภูเก็ตกลับไปออสเตรเลีย เกิดเหตุขัดข้อง ทางเทคนิค ทำให้ผู้โดยสารจำนวน 290 คนต้องติดค้างอยู่ที่ภูเก็ตถึง 2 คืน แต่บริษัทก็รีบกู้ชื่อกลับมาด้วยการให้การชดเชยและปลอบใจผู้โดยสารแบบที่สายการบินอื่นๆ ต้องอึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจ็ทสตาร์บอกว่างานนี้ใช้เงินไปประมาณ 1 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (เกือบๆ 30 ล้านบาท) สำหรับการส่งเครื่องบินเปล่ามารับผู้โดยสาร และจ่ายเงินคืนเต็มจำนวน ให้กับผู้โดยสารทุกคน เฉลี่ยคนละ 1,000 เหรียญ (ประมาณ 29,500 บาท) เงินชดเชยอีกคนละ 600 เหรียญ (ประมาณ 17,600 บาท) และค่าที่พัก 2 คืนในโรงแรมที่ภูเก็ตด้วย สายการบินอื่นจะไม่อึ้งได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาอย่างเก่งสายการบินก็ยอมคืนเงินให้ บางส่วนหรือไม่ก็แจกเวาเชอร์มูลค่า 50 เหรียญ (ประมาณ 1,500 บาท) ให้ผู้โดยสารเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 The World is Fat … ละตินอเมริกากับการแก้ปัญหา “โลกอ้วน”

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการฉลาดซื้อได้มีโอกาสเข้าฟังการบรรยายโดย ดร.แบรี่ พอบกิ้น นักเคลื่อนไหวและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และโภชนาการ ผู้ทำการศึกษาความเปลี่ยนแปลงด้านโภชนาการและพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้คนในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The World is Fat (ฉบับแปลเป็นภาษาไทยชื่อ โรคกลม: เศรษฐศาสตร์ในความตุ้ยนุ้ย สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์) คราวนี้เขามาเล่าถึงความคืบหน้าของขบวนการลดพุงลดโรคในละตินอเมริกาให้เราฟัง เริ่มจากประเทศเม็กซิโกที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานกว่า 500,000 คน ระหว่างปี 2006 ถึงปี 2012 นี่คือการเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จาก 6 ปีก่อนหน้านั้น และเม็กซิโกยังชิงตำแหน่ง “ประเทศที่อ้วนที่สุดในโลก” จากอเมริกามาหมาดๆ ด้วยอัตราการบริโภคน้ำอัดลม ถึง 3.6 ล้านกระป๋องต่อวัน แถมด้วยการทำการตลาดเชิงรุกของผู้ประกอบการ และการใช้ฉลากอาหารแบบ GDA ที่อ้างว่าเป็นประโยชน์ต่อการเลือกของผู้บริโภค แต่งานวิจัยพบว่าแม้แต่นักโภชนาการเองก็ยังอ่านไม่เข้าใจ เม็กซิโกมีความตื่นตัวในเรื่องนี้มาก ผลการสำรวจความคิดเห็นระบุว่าประชาชนมากกว่าร้อยละ 70 เชื่อว่าการดื่มน้ำอัดลมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นโรคเบาหวาน และเห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีจากเครื่องดื่มดังกล่าว ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐที่ดูแลด้านสุขภาพ นักวิชาการ องค์กรผู้บริโภค อุตสาหกรรมอาหาร ไปจนถึงประธานาธิบดี นำไปสู่การประกาศใช้ “ภาษีน้ำหวาน” ซึ่งเริ่มเก็บในเดือนมกราคมปี 2014 สาระสำคัญคือเครื่องดื่มที่มีการแต่งกลิ่นทุกชนิด รวมถึงหัวเชื้อ ผง หรือน้ำเชื่อมที่ใช้ในการทำเครื่องดื่มเหล่านั้น จะต้องเสียภาษีให้รัฐในอัตราร้อยละ 10 หรือพูดง่ายๆ คือเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 1 เปโซ ต่อเครื่องดื่ม 1 ลิตร เรื่องนี้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงพอสมควรทีเดียว การสำรวจพบว่าการซื้อลดลงในช่วง 3 เดือนแรกหลังมีการเก็บภาษี ข้อมูลจากผู้ผลิตก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยอดขายของ Coca-Cola Femsa ในครึ่งแรกของปี 2014 ลดลงร้อยละ 6.4 ในขณะที่ Arca Continental ก็มียอดขายลดลงร้อยละ 4.7 ในช่วงเดียวกัน ต่อมาในเดือนสิงหาคมมีการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค และพบว่าผู้บริโภคมากกว่าครึ่ง บอกว่าตัวเองดื่มน้ำอัดลมน้อยลง ซึ่งตัวเลขนี้อาจสะท้อนว่าเมื่อน้ำอัดลมราคาแพงขึ้น ผู้คนก็จะลดการบริโภคลง แต่ผลทางอ้อมของมาตรการภาษีคือการส่งสารออกไปให้คนทั่วๆ ไปได้รับรู้ถึงอันตรายจากการบริโภคน้ำตาลเกินความต้องการของร่างกาย นอกจากมาตรการภาษีแล้ว เม็กซิโกยังมีการควบคุมการโฆษณาอาหารต่อเด็กอย่างเคร่งครัดด้วยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา โดยกำหนดให้อาหารที่สามารถโฆษณาได้ในช่วงรายการเด็ก(รายการที่มีผู้ชมเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีมากกว่าร้อยละ 35) เป็นอาหารที่ผ่านเกณฑ์โภชนาการเท่านั้น ขนมหวาน ช็อคโกแลต ขนมกรุบกรอบ หรือน้ำอัดลม จึงไม่สามารถปรากฏตัวในเวลานั้นได้ แต่นั่นยังไม่ดีพอ เพราะเด็กไม่ได้ดูแค่รายการสำหรับเด็กเท่านั้น จากการสำรวจพบว่าเด็กยังดูรายการกีฬา หรือรายการอื่นที่ดูกันทั้งบ้านด้วย จึงเกิดความพยายามที่จะผลักดันให้มีกฎหมายที่แบนอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเหล่านี้ออกจากจอทีวีไปโดยสิ้นเชิง แรงกระเพื่อมจากเม็กซิโก ยังส่งผลต่อประเทศข้างเคียงอย่างชิลี เอกวาดอร์ และเปรู ด้วย ชิลีกำหนดให้มีการแจ้งเตือนบนฉลากว่าอาหารดังกล่าวมีปริมาณน้ำตาล โซเดียม ไขมัน หรือแคลอรีสูง โดยสัญลักษณ์นี้ต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของบรรจุภัณฑ์ ในขณะที่เอกวาดอร์และเปรู มีกฎหมายห้ามใช้ตัวการ์ตูน ของเล่น หรือตัวละครใดๆ ในการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับอาหาร (ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ) สำหรับเด็ก ส่วนบราซิลนั้นยังห่างไกลเพื่อนบ้าน จนถึงวันนี้กฎหมายควบคุมการทำการตลาดอาหารโภชนาการต่ำ(อาหารที่มีน้ำตาล โซเดียม ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์มากเกินไป) ยังไม่ถูกประกาศใช้ แม้จะเคยถูกนำเข้าพิจารณาตั้งแต่ปี 2006 ก็ตาม ความท้าทายหลักๆ ของผู้บริโภคในทุกระดับรายได้วันนี้คือ การลดการบริโภคอาหารที่มีไขมัน น้ำตาลและโซเดียมในปริมาณสูง เพื่อการเจริญวัยและสูงวัยอย่างมีคุณภาพปราศจากอาการเจ็บป่วย ในวันที่เราถูกแวดล้อมไปด้วยอาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูปซึ่งมีคุณสมบัติตรงข้าม สิ่งที่หลายประเทศในละตินอเมริกากำลังทำอยู่คือการดูแลเกื้อกูลสุขภาพของประชาชนผ่านการใช้กฎหมาย แต่ผลที่ได้ในระยะยาวจะเป็นอย่างไร เราคงต้องติดตามดูกันต่อไปว่าอุตสาหกรรมอาหารจะมีการตอบโต้อย่างไร ... นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น *การบรรยายครั้งนี้จัดขึ้นที่สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point