ฉบับที่ 176 ประเด็นร้อน “ผู้บริโภคไทย” 2558

1.    คิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที สุดท้ายก็มีแค่ “โปรโมชั่น”หลายคนน่าจะยังจำได้ถึงกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรียกร้องให้ กสทช. กำหนดให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือทั้ง 5 ราย ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค ทรู TOT และ CAT คิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที เพราะที่ผ่านมาการคิดค่าโทรแบบเดิม หรือการคิดค่าโทรเป็นนาที ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เนื่องจากค่าโทรจะถูกปัดเศษขึ้นทุกครั้ง แม้ว่าเราจะโทรไม่ครบหนึ่งนาที โดยหากนับเป็นจำนวนเงิน ผู้บริโภคจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ไปกว่า 3,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งภายหลัง กสทช. ก็ได้มีมติอนุมัติประกาศดังกล่าว และกำหนดให้ทุกเครือข่ายมีโปรโมชั่นเป็นวินาทีตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเนื่องจากประกาศของ กสทช. ไม่มีความชัดเจนว่า หากไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าฝ่าฝืนกฎหมายใดหรือมีโทษอย่างไร ดังนั้นแม้จะได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ แต่สิ่งที่ผู้บริโภคได้รับกลับเป็นเพียง “โปรโมชั่นทางเลือก” เท่านั้น ไม่ใช่การยุติหรือเปลี่ยนทั้งระบบตามข้อเรียกร้องของ สปช. โดยผู้ประกอบการได้อ้างว่า หากต้องการเปลี่ยนทั้งระบบ ก็ต้องใช้ระยะเวลานานกว่านี้ ซึ่งไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนได้ ภายหลังการออกโปรโมชั่นใหม่คิดค่าโทรเป็นวินาทีของทุกเครือข่าย ก็ได้สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคส่วนใหญ่ เพราะไม่แน่ใจว่าจะได้จ่ายถูกลงหรือแพงขึ้นกันแน่ ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงออกมาชี้แจงว่า โดยสรุปแล้วการออกโปรโมชั่นคิดค่าโทรเป็นวินาทีของทุกเครือข่าย ไม่มีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค เพราะ ทำให้ต้องจ่ายในราคาค่าบริการที่แพงขึ้น แต่ได้สิทธิประโยชน์ลดลง จึงขอเรียกร้องให้ กสทช. ปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลอย่างจริงจัง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภค เหนือกว่าการแสวงหากำไรส่วนเกินของผู้ประกอบการ และควรสั่งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหลาย เลิกคิดค่าบริการโดยการปัดเศษเป็นนาทีในทุกครั้งของการโทรได้แล้ว จนปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการ ยกร่างประกาศเรื่องปัดเศษค่าโทรตามจริงเป็นวินาทีอย่างชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราก็คงต้องรอความเป็นธรรมกันต่อไป 2.     “โฆษณาเกินจริง ช่องดับแน่นอน”การนำเสนอขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผ่านช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุน สื่อโทรทัศน์ดาวเทียม หรือเคเบิล นำไปสู่การเฝ้าระวังการโฆษณาเกินจริงที่เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค จากผลการสำรวจการเฝ้าระวังโฆษณา ทางสื่อโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวี ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2557 โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัด พบว่า เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โดยส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก ลดความอ้วน เน้นความขาว สวย ใส และการรักษา บำบัด ป้องกันสารพัดโรคตั้งแต่หัวจรดเท้า บางครั้งมีการให้ข้อมูลกล่าวอ้างเชิงวิชาการว่าสามารถรักษาโรคได้ ซึ่งโฆษณาต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่เป็นเท็จ เกินจริง บางกลุ่มขาดการรักษาที่เหมาะสม ถึงขั้นถึงเสียเงินเสียทอง จนสุดท้ายเสียชีวิต เครือข่ายผู้บริโภคจึงได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการต่อสำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ อย. เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการโฆษณาในสื่อโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งภายหลังทั้งสองหน่วยงานได้มีการร่วมมือกันสั่งระงับ และปรับช่องรายการที่กระทำผิดกฎหมาย จนหลายช่องต้องปิดการดำเนินงาน ทั้งนี้ กสทช. และ อย. ยังคงยืนยันจะดำเนินการต่อไปและยกระดับการติดตาม ตรวจสอบและระงับการกระทำความผิดเพิ่มขึ้น โดยตั้งงบประมาณสำหรับการติดตามตรวจสอบ และเฝ้าระวังการกระทำที่มีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค สำหรับการโฆษณาอาหารและยาที่ผิดกฎหมาย ไปยังสำนักงาน กสทช.ทั้ง 4 ภาค เพื่อเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ต่อไป อย่างไรก็ตามแม้จะมีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แต่สถานการณ์การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพยังคงอยู่ ล่าสุด กสทช. จึงออกมาตรการเด็ดขาดว่า หากพบว่าบางช่องกลับมาออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอีก นับจากนี้ไปจะเริ่มการพักใช้ใบอนุญาตอย่างจริงจัง นับว่าเป็นข่าวดีของผู้บริโภคที่จะเริ่มได้รับข้อมูลข่าวสาร ด้านสุขภาพหรืออาหารและยาที่เป็นประโยชน์ และไม่หลอกลวงผ่านสื่อต่างๆ เหมือนที่แล้วมา3.    ปมร้อน ควบคุมค่ารักษาแพง โรงพยาบาลเอกชนเดือน พ.ค. เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ จุดประกายเรื่อง ค่ารักษาพยาบาลแพงของโรงพยาบาลเอกชนขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร มีการพูดคุยกันในสังคมไทยมานานแล้ว แต่ในยุคของโลกโซเชียล เมื่อทางเครือข่ายผู้เสียหายฯ เปิดแคมเปญ เสนอให้มีการตั้ง “คณะกรรมการกลางเพื่อควบคุมค่ารักษาพยาบาลในโรง พยาบาลเอกชน” และล่ารายชื่อผ่านทาง www.change.org  ปรากฏว่ามีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 33,000 คนในเวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยเห็นตรงกันว่าค่ารักษา ของโรงพยาบาลเอกชนนั้นแพงจริงเมื่อได้รายชื่อครบตามจำนวนที่ต้องการ วันที่ 12 พ.ค. นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธาน เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้เข้ายื่นรายชื่อทั้งหมดต่อ นายกรัฐมนตรี ผ่านทางนายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน ภายใน 1 เดือน     การเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ และนำสู่การจัดประชุมเพื่อหาแนวทางในการดูแลปัญหาดังกล่าว แน่นอนว่า มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่าง ฝ่ายที่เห็นด้วย แม้เข้าใจว่า การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนเป็นทางเลือก แต่เมื่อเกิดค่าใช้จ่ายที่มีมูลค่าสูง  ก็ต้องการจะทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร ดังที่นางปรียนันท์ กล่าวว่า “เราไม่ได้ขอให้ รพ.เอกชนลดราคา คิดแพงได้แต่ห้ามโกง ห้ามโก่งราคา ห้ามค้ากำไรเกินควร แค่ขอให้ทำธุรกิจตรงไปตรงมา โปร่งใสตรวจสอบได้ และรับผิดชอบต่อสังคม แต่ที่ผ่านมากลับไม่เคยมีใครพูดว่าจะจัดการกับการโกงอย่างไร มีแต่ท้าทายประชาชนว่าถ้าแพงก็อย่าเข้า มันไม่ใช่การหาทางออกที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบได้” จึงเสนอให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน เพื่อเป็นกลไกในการตรวจสอบ ข้างฝ่ายโรงพยาบาลเอกชน ได้พยายามเน้นที่จุดสำคัญของเรื่องการค้าเสรี และมองว่า โรงพยาบาลเอกชนนั้นมีค่าบริหารจัดการที่สูง จะนำราคามาเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลรัฐ ไม่ได้ เพราะโรงพยาบาลรัฐนั้นได้รับการสนับสนุนในด้านงบประมาณ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แสดงทัศนะว่า “หากมองความเป็นจริงแล้ว ค่ายาและค่าบริการในโรงพยาบาลเอกชนนั้น “ไม่แพง” แต่เป็นการสะท้อนต้นทุนที่จะสนับสนุนศักยภาพการดูแลสุขภาพของประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไปสู่ระดับสากล และทั้งหมดคือการลงทุน และการลงทุนนี้เป็นคำตอบว่าทำไมจึงมีความแตกต่างเรื่องราคา การสะท้อนต้นทุนของโรงพยาบาลเอกชนเป็นการตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจเสรี ...” ส่วนเรื่องที่มีการเสนอผลวิจัยที่พบว่า ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐหลายเท่านั้น นพ.เฉลิมมองว่า  “ผมไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีการเปรียบเทียบค่ารักษาพยาบาลทั้งๆ ที่รู้ว่าต้นทุนเราต่างกัน” ฝั่งภาคประชาสังคม โดยคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.ด้านบริการสุขภาพ) ร่วมกับ เครือข่ายผู้ป่วย และ เครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร แถลง "นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินใช้สิทธิได้ทุกที่ จริงหรือไม่ ถ้าต้องจ่ายแพง" ได้จัดทำข้อเสนอเพื่อเป็นทางออกต่อปัญหาดังกล่าวเช่นกัน โดยแบ่งเป็นมาตรการ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว โดยสรุปดังนี้ แม้โรงพยาบาลเอกชนเป็นทางเลือกในการรักษาพยาบาล แต่ในกรณีฉุกเฉิน ก็ควรเป็นหน่วยที่ดูแลชีวิตของประชาชนด้วยเช่นกัน ดังนั้นไม่ควรมีการเรียกเก็บเงินกับผู้ป่วยและญาติในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ภายในเวลา 72 ชั่วโมง หรือปลอดภัยเพียงพอที่จะนำส่งไปรับการรักษาพยาบาลต่อในโรงพยาบาลต้นสังกัดตามสิทธิของผู้ป่วย จัดระบบบริหารจัดการเรื่องการส่งต่อให้มีประสิทธิภาพ และให้ภาครัฐดำเนินการทำข้อตกลงกับรพ.เอกชน เกี่ยวกับอัตราค่ารักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน และให้มีบทลงโทษสำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ทำตามเงื่อนไข ระยะถัดไป ให้กระทรวงสาธารณสุข ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการหนึ่งชุดที่มีองค์ประกอบจากทุกฝ่าย ทำหน้าที่ในการควบคุมหรือการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการ ของสถานพยาบาล ให้รวมถึง การวินิจฉัย การรักษา ที่มากเกินความจำเป็น ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา หรือค่าใช้จ่ายทางการแพทย์อื่นๆ ที่แพงเกินจริง  และกระทรวงสาธารณสุข ควรเร่งรัดการออก พระราชบัญญัติยา ที่มีการเสนอขอปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์โดยภาคประชาชน ทั้งนี้ ต้องยืนยันไม่ให้มีการตัดเรื่องกลไกการควบคุมราคายา ในระยะยาวต้องควบคุมการทำธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ไม่ให้มุ่งเน้นผลกำไร แต่มุ่งเน้นการดำเนินการทางมนุษยธรรม ยกเลิกการสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาล และเร่งรัดการออกกฎหมายควบคุมการควบรวมกิจการการแข่งขันทางการค้า เปิดให้มีการสมัครใจของโรงพยาบาลเอกชนที่จะดำเนินการด้านบริการสาธารณะให้ เป็นการดำเนินการแบบองค์กรสาธารณะประโยชน์ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น  แต่จนถึงปัจจุบัน แม้จะยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง ค่ารักษาพยาบาลที่แสนแพง และดูเหมือนมีหลายหน่วยงานพยายามยื่นมือเข้าไปดูแล แต่ก็ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นจากกระทรวงสาธารณสุขหรือกระทรวงพาณิชย์ ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ผลการศึกษาอัตราค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนในปี 2552 ว่า โรงพยาบาลเอกชนคิดอัตราค่าบริการต่างกันหลายเท่าตัว โดยเอกชน 5 ดาวจะคิดค่าบริการสูงกว่าของรัฐ 2.5-7 เท่า และเอกชนแสวงหากำไร 1.4-4 เท่า จากผลการศึกษาความแตกต่างระหว่างสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน ในปี 2557 เปรียบเทียบเฉพาะโรคต้อกระจกและไส้ติ่ง ค่ารักษาพยาบาลจะมีความห่างกันค่อนข้างมาก คือ มีอัตราค่าบริการสูงในโรคต้อกระจกมากกว่าของรัฐ 11.7 เท่า ส่วนไส้ติ่งสูงกว่าของรัฐ 8.3 เท่าข้อมูล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)    ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++รายงานวิจัยพัฒนารูปแบบและอัตราการจ่ายเงิน ชดเชย การให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตร่วม 3 กองทุน ภายใต้นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2555 - 30 ก.ย. 2556 โดยเก็บข้อมูลจาก รพ.เอกชน 353 แห่ง คนไข้ กว่า 22,000 ราย พบว่า รายการยาแพงกว่าโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) ตั้งแต่ 60-400 เท่า อาทิ ไวตามินบีคอมเพล็กใน รพศ.หลอดละ 1.50 บาท ใน รพ.เอกชนกลายเป็น 600 บาท ยาฉีดแก้ปวดขนาด 50 มก.ใน รพศ.ราคา 6.50 บาท ใน รพ.เอกชนแพงถึง 450 บาท หรือรายการเวชภัณฑ์ก็มีราคาต่างกัน 16-44 เท่า เช่น ราคาท่อดูดเสมหะใน รพศ.ชิ้นละ 10 บาท เป็น 440 บาทใน รพ.เอกชน หรือ ไหมเย็บแผลสีดำใน รพศ.ชุดละ 28.5 บาท เป็น 460 บาทใน รพ.เอกชน นอกจากราคาแพงกว่าแล้ว ยังมีข้อบ่งชี้การให้บริการเกินจำเป็น โดยในตัวอย่างคนไข้ 80 ราย พบว่า มีการให้เลือดในคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือด มีการตรวจวินิจฉัยเกินจำเป็น เช่น คนไข้มีอาการนิ่วเฉียบพลันแต่ส่งตรวจการทำหน้าที่ของต่อมไทรอยด์และตรวจองค์ ประกอบดีเอ็นเอ คนไข้เป็นปอดบวมจำเป็นต้องได้รับการรักษาด่วน แต่ส่งตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก คนไข้เป็นถุงลมพองกำเริบฉุกเฉินแต่มีการเรียกเก็บค่าสายสวนปัสสาวะ เป็นต้น    ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน รพ.รามาธิบดี ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++    4.  แฉเล่ห์ประกันผู้สูงอายุ “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ”    และแล้วก็ถึงวันที่ผู้บริโภคได้ตระหนักในความจริงที่ว่า โฆษณาของบริษัทประกันชีวิต ซึ่งเจาะกลุ่มผู้สูงวัยนั้น เข้าข่ายไม่เป็นธรรม กับประโยคที่ย้ำชัดว่า ไม่ถามเรื่องสุขภาพสัก...คำ หรือ ไม่ต้องตรวจสุขภาพอะไรเลย     เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยว่า ในแต่ละปีจะมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาเกี่ยวกับปัญหาบริษัทประกันชีวิต ปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหม โดยอ้างว่าผู้ทำประกันชีวิตเป็นโรคร้ายแรงมาก่อนที่จะทำประกัน รวมถึงที่เป็นปัญหาล่าสุดคือ กรณีการทำประกันชีวิตของผู้สูงอายุที่มีการโฆษณาว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพก่อนทำ แต่เมื่อผู้สูงอายุเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล  แล้วไม่สามารถเคลมประกันได้ ขณะเดียวกันก็ถูกบอกเลิกสัญญาด้วย โดยทางบริษัทอ้างว่า ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวมาก่อนที่จะทำประกันชีวิต ไม่สามารถเคลมได้ตามโฆษณา     ทั้งนี้การทำประกันชีวิตที่มีการโฆษณาว่า "ไม่ต้องตรวจสุขภาพนั้น" จริงๆ แล้วคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่าการโฆษณาเงื่อนใขใดๆ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจในการทำประกันชีวิตของประชาชน จะต้องมีการระบุเงื่อนไขนั้นเอาไว้ในกรมธรรม์ด้วย ซึ่งในกรมธรรม์จริงจะไม่ปรากฏเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมาย     ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า การที่บริษัทประกันชีวิตใช้ข้อความโฆษณาว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพ ถือว่าผิดกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย มาตรา 31 (15) ซึ่งห้ามไม่ให้บริษัทกระทำการโฆษณาจูงใจด้วยข้อความอันเป็นเท็จ และในกรณีที่ไม่มีการคุ้มครองตามที่โฆษณาไว้ ยังอาจเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 22 (1) ซึ่งระบุว่าการโฆษณาต้องไม่เป็นข้อความเท็จ เกินจริง ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของกรมธรรม์ประกันภัย รวมทั้งต้องเขียนข้อความที่โฆษณาไว้ในกรมธรรม์ด้วย แต่ไม่พบบริษัทใดดำเนินการดังกล่าว     เมื่อเกิดเป็นกระแสดัง ทางหน่วยงานกำกับดูแล อย่าง คปภ. จึงได้ประชุมร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย ได้ข้อสรุปว่า ทุกบริษัทต้องดูแลการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คปภ. กำหนด โดยเฉพาะการระบุเงื่อนไขที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน...  นอกจากนี้ในการโฆษณาที่ระบุว่า "ไม่ต้องตรวจสุขภาพ" จะต้องมีการระบุให้ชัดเจนด้วยว่าต้องแถลงเกี่ยวกับสุขภาพในใบคำขอเอาประกัน ภัยด้วยหรือไม่       ด้านสมาคมประกันชีวิตไทย รับปากดำเนินการถอนโฆษณา ณ ปัจจุบัน(1 กันยายน) เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข โดยมีแนวทาง ดังนี้ 1) ปรับเปลี่ยนข้อความโฆษณาให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะเงื่อนไขการจ่ายผลประโยชน์ กรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยใน 2 ปีแรก บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยพร้อมเงินเพิ่ม 2-5 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ได้รับทุนประกัน จากนั้นในปีที่ 3 เป็นต้นไปจึงได้รับเงินคืนทั้งหมดตามทุนประกัน 2) ในการเสนอขาย พนักงานขายจะต้องแจ้งรายละเอียดตามข้อ 1 รวมทั้งข้อกำหนด เงื่อนไข และข้อยกเว้นของกรมธรรม์ ให้ลูกค้าทราบและเข้าใจ 3) กรณีการเสนอขายประกันชีวิตผ่านทางโทรศัพท์ ภายใน 7 วันนับแต่วันที่บริษัทส่งกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย บริษัทจะต้องโทรศัพท์ไปขอคำยืนยันจากผู้เอาประกันภัยอีกครั้งหนึ่ง โดยจะต้องมีรายละเอียดตามข้อ 2 พร้อมทั้งแจ้งสิทธิว่าผู้เอาประกันภัยสามารถขอยกเลิกกรมธรรม์ได้ภายใน 30 วัน หากรายละเอียดในกรมธรรม์ที่ได้รับไม่ตรงกับความต้องการ 4) นำสรุปเงื่อนไขที่สำคัญมาไว้หน้าเล่มกรมธรรม์ พร้อมระบุข้อความ เมื่อได้รับเล่มกรมธรรม์มาแล้ว ให้ศึกษาและทำความเข้าใจ ในรายละเอียดและเงื่อนไขความคุ้มครอง หากพบไม่ตรงกับความต้องการ สามารถขอยกเลิกได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้เล่มกรมธรรม์ในกรณีซื้อทางโทรศัพท์ หรือขอยกเลิกภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับเล่มกรมธรรม์ กรณีซื้อผ่านตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้า     ปัจจุบัน เราก็ได้เห็นโฆษณาที่มีการเพิ่มเงื่อนไข ตามข้อปฏิบัติที่ 1) แล้ว สำหรับในส่วนของแนวทางปฏิบัติที่เหลือ ต้องจับตากันต่อไป ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++นางจิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกัน ภัย (คปภ.) ขอให้ออกมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องการทำสัญญาประกันชีวิต เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าผู้บริโภคไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังที่บริษัทประกัน ชีวิตเคยโฆษณาไว้ผ่านสื่อ  จึงขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา 3 ข้อ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค คือ              1. ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในการทำสัญญาประกันชีวิตของผู้สูงวัย โดยหากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตหลังจาก 30 วัน นับแต่ทำสัญญาประกันชีวิต ก็มีสิทธิได้รับเงินคืนทั้งหมดตามทุนประกันที่ทำไว้กับบริษัทประกันชีวิต  ทั้งนี้บริษัทประกันภัยไม่ควรกำหนดเงื่อนไขในสัญญาในทำนองว่า กรณีผู้เอาประกันเสียชีวิตในช่วง 2 ปีแรก ให้คืนเบี้ยประกันภัยพร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 2-5 ให้กับผู้รับผลประโยชน์ตามสัญญา แต่ถ้าเสียชีวิตในปีที่ 3 เป็นต้นไปจะได้รับเงินคืนทั้งหมด ตามทุนประกัน เพราะเงื่อนไขดังกล่าวถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภค              2. ขอให้ คปภ. สั่งปรับในอัตราสูงสุด 500,000 บาท กับบริษัทประกันที่โฆษณาทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสาระสำคัญเกี่ยวกับกรมธรรม์ และขอให้บริษัทประกันชีวิตบรรจุข้อความที่โฆษณาเอาไว้อย่างชัดเจนในกรมธรรม์ ที่ทำกับผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะกรณีที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพต่าง ๆ มักมีเนื้อหาเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อทำสัญญา แต่สุดท้ายกลับไม่ได้รับเงินจริง              3. ขอให้ คปภ. ออกมาตรการบังคับให้บริษัทประกันภัยทุกแห่ง มีระบบบริการให้ผู้บริโภคติดต่อยกเลิกสัญญา หรือสอบถามปัญหาต่างๆ ได้อย่างสะดวกและเข้าถึงง่าย ชัดเจนและประหยัดค่าใช้จ่าย++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++สิ่งที่ต้องรู้สำหรับประกันชีวิต ผู้สูงอายุ แบบประกันสำหรับผู้สูงวัยเป็นแบบประกันชีวิตที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ โดยมีลักษณะสำคัญดังนี้ 1.       ผู้เอาประกันจะต้องมีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป ซึ่งอาจมีการกำหนดอายุสูงสุดของผู้เอาประกันไว้ไม่เกิน 70-75ปี2.       ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตเป็นหลัก 3.       บางแบบประกันชีวิตสามารถซื้อสัญญาเพิ่มเติมได้ ยกตัวอย่างเช่น3.1    สัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ3.2    สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยด้วยปัญหาสุขภาพ หรือโรคร้ายแรง หรืออาจเป็นในลักษณะการจ่ายค่าชดเชยรายวันกรณีพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แล้วแต่กรณีตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต               4         สามารถซื้อได้ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณารับประกันชีวิตของบริษัทแล้วแต่กรณี ได้แก่ ต้องตรวจสุขภาพ หรือ ไม่ต้องตรวจสุขภาพแต่ต้องตอบคำถามสุขภาพ หรือ ทั้งไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ               5         แบบประกันชีวิตที่ไม่ตรวจสุขภาพ จะมีเงื่อนไขว่าหากเสียชีวิตใน 2 ปีแรกของการทำประกันชีวิต บริษัทจะจ่ายเงินเท่ากับเบี้ยประกันภัยที่รับมาแล้ว บวกผลตอบแทนให้ในอัตรา 2-5% แล้วแต่บริษัท เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นโรคใดๆ มาก่อนทำประกันชีวิต และหากผู้เอาประกันภัย เสียชีวิตในปีที่ 3 เป็นต้นไป ก็จะได้รับเงินเต็มตามจำนวนเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในสัญญา ข้อมูล สมาคมประกันชีวิตไทย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 175 บ้าน..ปลอดภัยสำหรับเด็กปฐมวัย

นอกจาก“บ้าน...คือวิมานของเราแล้ว บ้านยังเป็น”โลก”ของเด็กๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นที่อาศัย ยังเป็นโลกแห่งจินตนาการ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความคิดสร้างสรรค์ทั้งมวล ซึ่งผู้ใหญ่จะต้องสนับสนุน แต่ขณะเดียวกันบ้านก็เป็นตำแหน่งที่เด็กเล็กวัยต่ำกว่า 5 ปีเกิดการบาดเจ็บได้มากที่สุดเช่นเดียวกัน “การดูแลความปลอดภัยในบ้าน” จึงเป็นหน้าที่อันสำคัญอย่างยิ่งของคุณพ่อคุณแม่และผู้ดูแลเด็ก หลักการสำคัญสำหรับการจัดบ้านให้ปลอดภัยสำหรับเด็กปฐมวัยได้แก่ “จัดพื้นที่ให้ปลอดภัย เพื่อให้ลูกเล่นได้อิสระ..แต่ไม่ให้คลาดสายตา”เด็กปฐมวัย หมายถึงเด็กแรกเกิดถึง 6 ปีบริบูรณ์ เด็กปฐมวัยใช้ชีวิตภายในอาคารเป็นส่วนใหญ่ การจัดการความปลอดภัยสำหรับเด็กปฐมวัยจะต้องใช้ทั้งสามองค์ประกอบได้แก่ ประการที่หนึ่งการเฝ้าดูแลโดยผู้ดูแล ประการที่สองการสอนเด็ก ฝึกเด็กให้รู้ความเสี่ยง มีทักษะในการป้องกันความเสี่ยงอันตราย และประการที่สามได้แก่การจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก แต่เนื่องจากพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้ยังไม่สามารถเข้าใจเหตุและผลอย่างแท้จริง จึงยังไม่สามารถใช้การเรียนรู้ของเด็กเป็นวิธีการป้องกันอันตรายต่างๆได้ การดูแลเด็กให้ปลอดภัยนั้น ผู้ดูแลเด็กไม่ควรใช้วิธีการเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดและห้ามเด็กสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ผู้ดูแลเด็กต้องมีความรู้ในเรื่องความเสี่ยงอันตรายต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ และจัดการความเสี่ยงให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กในอาคารมีลักษณะปลอดภัย เพื่อให้เด็กได้สร้างเสริมพัฒนาการตนเองทุกด้านโดยการสำรวจสิ่งแวดล้อมได้อย่างอิสระ ในพื้นที่ที่มีการจัดการความปลอดภัย รั้ว และประตูรั้ว รั้วมีหลายรูปแบบเช่นเป็นโครงเหล็ก เป็นไม้ หรือเป็นกำแพงปูน ประตูรั้วอาจทำจากวัสดุได้หลายแบบเช่นเดียวกับรั้ว กลไกการเปิดประตูรั้วอาจเป็นบานเปิดหรือบานเลื่อน กรณีประตูรั้วบานเลื่อนมีความเสี่ยงต่อการหลุดออกจากรางเลื่อนและล้มทับเด็กได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักเกิดขึ้นขณะที่เด็กปีนป่ายและเลื่อนประตูเล่น รั้วต้องสร้างให้มั่นคงแข็งแรง ไม่ล้มหรือหลุดออกจากรางและมีการตรวจสอบความแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ สำหรับประตูรั้วบานเลื่อนควรเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ออกแบบให้มีอุปกรณ์ป้องกันการหลุดออกจากรางแล้วล้มทับผู้ใช้โดยมีกลไกป้องกันการล้มหลายระบบร่วมกันเช่น มีล้อบังคับบานที่วางระดับให้สามารถประคองประตูไว้ได้ตลอดเวลา ประตูไม่หลุดออกจากล้อบังคับบานได้ง่าย และมีเสาป้องกันการล้ม ร่วมกับส่วนยื่นเพื่อไม่ให้ส่วนริมประตูเลยออกจากเสาป้องกันการล้มเมื่อเลื่อนปิดประตู รางเลื่อนและชุดล้อเลื่อนต้องเป็นวัสดุที่ไม่เป็นสนิม เคลื่อนที่ได้ง่าย ตัวหยุดการเลื่อนของบานประตูซึ่งมักใช้น๊อตหรือสกรูต้องมีขนาดที่ใหญ่ แข็งแรง เหมาะสมกับขนาดและน้ำหนักของประตู ซึ่งถ้าเป็นประตูบานขนาดใหญ่ รางเลื่อนและชุดล้อเป็นสนิมต้องออกแรงลากมาก ล้อและตัวบานประตูอาจกระโดข้ามตัวน๊อตไปได้ ซึ่งก็จะสัมพันธ์กับส่วนป้องกันบานประตูล้ม ทั้งสามส่วนที่กล่าวมา คือเมื่อน๊อต หยุดบานประตูไม่ได้ ก็จะเลยระยะส่วนยื่นกันบานประตูล้มที่ผู้ออกแบบได้กำหนดไว้ รวมทั้งอาจหลุดออกจากรางเลื่อน ชุดบนได้ด้วย ฉะนั้นการออกแบบส่วนหยุดนี้ก็มีความสำคัญมากโดยเฉพาะบานประตูที่มีน้ำหนักมากเมื่อเคลื่อนที่แล้วจะหยุดได้ยากรั้วและประตูรั้งต้องได้รับการบำรุงรักษาที่ หากขาดการดูแลเป็นประจำขณะใช้งานเช่น บริเวณล้อราง มักจะมีเศษวัสดุอยู่บริเวณรางประตู เมื่อเปิดปิด ล้อจะกระดกตกรางได้ หรือประตูและอุปกรณ์ต่างๆที่อยู่ในสภาพผุกร่อน ชำรุดทรุดโทรม หรือ รางประตู จะมีปัญหาเรื่องการทรุดตัวของพื้นบริเวณรางประตู ทำให้รางประตูคดงอ บิดเบี้ยว การทรุดตัวของพื้นหน้าประตูทำให้ล้อวิ่งออกนอกราง ผนังอาคาร ต้องมีความแข็งแรง สิ่งของที่แขวนบนผนังต้องถูกยึดติดอย่างมั่นคงและต้องตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเช่นการแขวนโทรทัศน์ไว้กับผนังเป็นต้น ไม่ควรจัดให้พื้นที่ใต้วัสดุที่ถูกแขวนไว้กับผนังเป็นพื้นที่กิจกรรมต่างๆของเด็ก สิ่งที่ใช้แขวนไว้โดยไม่ได้ยึดติดเช่นกรอบรูปควรมีน้ำหนักเบาและแขวนไว้สูงเกินกว่าที่เด็กจะคว้าถึงได้ นอกจากทางกายภาพแล้ว ทางเคมีต้องไม่มีความเป็นพิษด้วย ผนังอาคารสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของเด็กต้องไม่ทาด้วยสีที่มีสารตะกั่ว (lead) สารตะกั่วเป็นโลหะหนักที่มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของคนโดยเฉพาะต่อพัฒนาการของเด็กเล็ก เนื่องจากสารตะกั่วสามารถสะสมในร่างกายคนได้ยาวนาน และมีอันตรายโดยตรงต่อพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทของเด็ก โดยอาจก่อผลกระทบถาวรต่อเด็กคนนั้นไปชั่วชีวิต องค์การอนามัยโลกเคยทำการศึกษาและเปิดเผยถึงอันตรายจากพิษตะกั่วเมื่อปี พ.ศ. 2553 ว่า สารตะกั่วมีอันตรายต่อร่างกายของคนไม่ว่าจะได้รับเข้าไปในปริมาณเล็กน้อยเพียงไรก็ตาม นอกจากนี้ยังระบุว่า “โรคปัญญาอ่อนจากสารตะกั่ว” เป็น 1 ใน 10 โรคร้ายแรงที่สุดอันเกิดจากปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันพบว่า ยังมีบริษัทจำนวนมากทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยที่ผลิตสีผสมสารตะกั่วเกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะสีน้ำมันทาอาคาร และผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีการวางจำหน่ายตามท้องตลาดอย่างแพร่หลาย สารตะกั่วที่ปนเปื้อนอยู่ในสีทาอาคาร สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการหายใจและการกิน สำหรับเด็กปฐมวัยจะได้รับสารตะกั่วในสีโดยการกินตามพฤติกรรมที่ชอบหยิบของเข้าปากหรือพฤติกรรมอยากรู้อยากเห็น องค์การอนามัยโลกชี้ว่า เด็กอาจกลืนฝุ่นและดินที่สารตะกั่วปนเปื้อนที่มีอยู่รอบตัวโดยไม่ตั้งใจ ประมาณวันละ 100 มิลลิกรัม จากนั้นก็จะถูกดูดซึมโดยระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดและสะสมที่กระดูก สมองเป็นระยะเวลายาวนาน โดยร่างกายสามารถขับออกจากร่างกายได้อย่างช้าๆ พื้น การพลัดตกจากพื้นที่ต่างระดับและการหกล้มจากพื้นระนาบอาคารเดียวกันเป็นความเสี่ยงต่ออันตรายภายในบ้านที่พบได้บ่อยมากที่สุดสำหรับเด็กปฐมวัย ควรจัดเตรียมป้องกันการหกล้ม โดยเตรียมพื้นให้ไม่ลื่น เช่นไม่เปียกน้ำเฉอะแฉะ หรือ เป็นคราบมัน ไม่สะดุดหกล้มได้ง่ายเช่น ไม่มีความต่างระดับ เก็บของเล่น ของใช้ ไม่ให้เรี่ยราดตามพื้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งของชิ้นเล็กที่เด็กสามารถนำเข้าปากและสำลักได้บันได ระเบียง นับว่าเป็นจุดที่เด็กชอบปีนป่าย อุบัติเหตุที่พบได้บ่อยคือ การพลัดตกจากที่สูง เช่นการพลัดตกจากการปีนราวกันตก หรือมุดลอดราวกันตก หรือมุดลอดได้แต่ลำตัว แต่ศีรษะของเด็กติดคาระหว่างราวกันตก เกิดการติดค้างของศีรษะหรือลำคอ (head or neck entrapment) หากลำตัวเด็กที่มุดลอดออกก่อนตกจากที่สูงโดยศีรษะติดค้างทำให้เกิดการขาดอากาศหายใจในลักษณะแขวนคอ (strangulation) งานวิจัยของ คาล์เวเนอร์ (Culvenor, 2002) ประเทศออสเตรเลียซึ่งศึกษาเด็กได้รับบาดเจ็บจากการพลัดตกจากที่สูง 6,642 คน พบว่าเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปีถึงร้อยละ 33 ของการบาดเจ็บทั้งหมด โดยเหตุการณ์การตกส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากการตกจากเครื่องกั้นหรือราวกันตกที่สูงไม่เกิน 90 เซนติเมตรเท่านั้น หรือไม่ก็เป็นการมุดลอดตามช่องของซี่ราวกันตกซึ่งมีความกว้างมากจนเด็กสามารถมุดลอดได้ โดยระบุว่าช่องว่างระหว่างราวระเบียงเป็นจุดที่ดึงดูดให้เด็กเข้าไปเล่นมาก เพราะเนื่องจากมีขนาดที่เหมาะต่อการสอดแขน ขา หรือศีรษะ หรืออีกพฤติกรรมหนึ่งของเด็กคือการปีนราวกันตกหรือที่กั้นกันตก การป้องกันคือ ควรจัดพื้นที่เล่นปลอดภัยสำหรับเด็ก ไม่ให้เด็กเล่นปีนป่ายบันได ควรมีประตูกั้นไม่ได้เด็กเล็กขึ้นลงบันไดได้เองตามลำพัง (ภาพที่1)  ภาพที่1 ลักษณะที่ปลอดภัยของราวระเบียงของอาคารที่มีความสูงหรือแผ่นกั้นกันตกควรมีความสูงจากพื้นถึงขอบราวไม่ต่ำกว่า 100 เซนติเมตร โดยอาคารตั้งแต่สามชั้นขึ้นไป (ซึ่งพบว่ามีการบาดเจ็บรุนแรงจากการตก) ต้องมีความสูงของราวหรือแผ่นกันตก ไม่ต่ำกว่า 120 เซนติเมตรจากพื้น ไม่มีจุดที่สามารถปีนป่ายได้ หมายถึงต้องไม่มีโครงสร้างลักษณะที่เป็นแท่งในแนวนอนและมีช่องรูให้วางเท้าที่เอื้อต่อการปีนป่าย รวมไปถึงตำแหน่งการวางของที่ใกล้ราวกันตก ที่ทำให้สามารถปีนป่ายได้ เช่น ตู้แอร์ (คอมเพรสเซอร์) ที่วางไว้บริเวณระเบียง เป็นต้น ถ้าไม่เป็นผนังทึบกันตกแล้วราวกั้นกันตกควรเป็นลักษณะแนวตั้งโดยมีราวแนวนอนเฉพาะคานล่างและบนหรือคานแบ่งที่ระยะ 100 เซนติเมตร เมื่อราวกันตกมีความสูงมากกว่า 100 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้เด็กปีนป่ายได้ โดยช่องว่างระหว่างราวควรมีระยะห่างที่พอเหมาะไม่กว้างเกินกว่า 9 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะที่แคบที่สุดที่เด็กเล็กจะสามารถมุดลอดโดยเอาเท้า ขา และลำตัวสอดเข้าไปได้แต่ศีรษะติดค้างเกิดการเสียชีวิตในลักษณะแขวนคอได้ หรือมิฉะนั้นก็ควรหาไม้ ตาข่าย หรือ แผ่นพลาสติคมาปิดกั้น (ภาพที่ 2)  ภาพที่2ประตู เป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บได้บ่อยๆ เช่น ปิดประตูโดยไม่ระวังทำให้หนีบนิ้ว หรือกระแทกศีรษะ การบาดเจ็บจากประตูพบได้บ่อยในอาคารที่มีเด็กหลายคนอยู่อาศัยร่วมกัน และเปิดประตูห้องต่างๆไว้ให้เดินไปมาระหว่างห้องได้ โดยไม่มีการยึดติดประตูไม่ให้เด็กปิดได้เอง หากเป็นประตูที่ต้องเปิดปิดสามารถใช้อุปกรณ์ป้องกันการหนีบนิ้วมือได้ทั้งด้านที่เป็นลูกบิดประตู และด้านที่เป็นส่วนของบานพับ (ภาพที่3) สำหรับการใช้ประตูบานเลื่อนที่เป็นกระจกธรรมดานั้นมีความเสี่ยงที่เด็กปฐมวัยจะวิ่งชนกระแทกด้วยความไม่ระมัดระวังทำให้กระจกแตกและชิ้นส่วนกระจกอาจบาด หรือทิ่มแทงเด็กก่อให้เกิดบาดแผลรุนแรงได้ ภาพที่ 3  ประตูกระจกควรเป็นกระจกนิรภัย หรือกระจกที่มีความแข็งแรงไม่แตกหักง่าย ควรเป็นกระจกมีสี สังเกตได้ง่าย เพื่อป้องกันการวิ่งชนกระแทกของเด็ก หน้าต่าง เป็นจุดที่เด็กให้ความสนใจในการปีนเพื่อมองเห็นภายนอกอาคาร หน้าต่างที่ปลอดภัยต้องอยู่สูงจากพื้นอย่างน้อย 90 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กปีนป่ายออกนอกหน้าต่างได้ ไม่จัดวางเฟอร์นิเจอร์เช่นเก้าอี้หรือเตียงไว้ชิดกับหน้าต่างเพราะเด็กใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับปีนป่ายสู่หน้าต่างได้ หากติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันเด็กปีนออกหรือโจรขโมยปีนเข้าจากช่องหน้าต่างเช่นเหล็กดัด ต้องออกแบบให้ผู้ใหญ่สามารถเปิดเปิดออกได้จากด้านใน หน้าต่างในห้องต่างๆที่มีผ้าม่าน มีมู่ลี่ แล้วมีสายยาวๆให้ดึง ต้องระวังเส้นสายยาวรัดคอได้ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมาพบเด็กที่เสียชีวิตจากเชือกกระตุกมู่ลี่ที่ขดเป็นวงกว่า 200 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปี ในเด็กทารกมักถูกจัดให้นอนบนเตียงที่อยู่ใกล้กับหน้าต่าง แล้วเด็กสามารถคว้าเล่นสายมู่ลี่ได้ ในเด็กอายุมากกว่า 1 ปีมักจะปีนป่ายโดยต่อเก้าอี้บ้าง กล่องบ้าง แล้วเล่นเชือกสายเหล่านั้น ก่อนจะพลัดตกจากสิ่งของ เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ปีน ทำให้เชือกสายรัดคอเสียชีวิต การเปลี่ยนสายจากลักษณะเป็นวง กลายเป็นปลายเปิดทั้งสองข้าง (ภาพที่ 4) จะสามารถลดความเสี่ยงได้   ภาพที่ 4 ก.ภาพจำลองการการรัดคอเด็กโดยสายกระตุกมู่ลี่ ข.การแก้ไขลักษณะเส้นสายที่ขดเป็นวงที่มีความเสี่ยงต่อการรัดคอเด็ก เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ ตู้ จัดให้ปลอดภัยจากการชนกระแทกเช่น ไม่มีเสาหรือเฟอร์นิเจอร์ที่มีเหลี่ยมมุม โต๊ะและตู้ไม่มีขอบคม มุมคม เช่นโต๊ะเป็นรูปทรงกลม หรือ รูปไข่ หรือติดตั้งอุปกรณ์กันกระแทกมุมขอบโต๊ะ ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ที่ล้มคว่ำได้ง่ายเมื่อเด็กปีนป่าย เฟอร์นิเจอร์ที่มีความสูง มีน้ำหนักมากควรยึดติดผนัง เช่นตู้ ชั้นวางของต่างๆ ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากกระจกเพื่อป้องกันการทิ่มแทงบาดหากมีการแตกหักของกระจกการจัดวางเฟอร์นิเจอร์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับความปลอดภัยที่หลายคน อาจคาดไม่ถึง เช่น โซฟาที่ไม่ควรวางใกล้หน้าต่าง โดยเฉพาะเด็กๆที่เริ่มตั้งแต่วัยเตาะแตะ กระทั่งเด็กโตที่มักจะชอบปีนป่าย ใช้โซฟาปีนป่ายไปยังหน้าต่างเป็นสาเหตุให้เด็กตกตึกจากหน้าต่างได้ โต๊ะวางทีวี หรือตู้วางเครื่องเสียงหรือชั้นวางของโชว์ต่างๆต้องถูกออกแบบมามั่นคงไม่ล้มง่าย หรือควรจะหาอุปกรณ์ยึดติดกับกำแพง (ภาพที่5)  ภาพที่5 โต๊ะวางทีวี หรือตู้วางเครื่องเสียงหรือชั้นวางของโชว์ต่างๆต้องถูกออกแบบมามั่นคงไม่ล้มง่ายปลั๊กไฟ เต้าเสียบ เด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนจะมีพัฒนาการในการสอดใส่ส่วนของร่างกายเข้าไปในช่องรู เช่นแหย่นิ้วเข้าไปในปลั๊กไฟเป็นต้น เต้าเสียบปลั๊กไฟควรจะอยู่สูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตรเพื่อป้องกันเด็กไม่ให้เล่นปลั๊กไฟ หากติดตั้งปลั๊กไฟไว้ต่ำควรมีฝาครอบ หรือมีที่เสียบสำหรับปิดรูปลั๊ก ในอาคารทุกอาคารระบบไฟฟ้ารวมควรมีเครื่องตัดไฟอัตโนมัติ และมีการวางระบบสายดินให้ถูกต้องเสมอ ห้องนอน เตียง เครื่องนอน การจัดการนอนที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดการขาดอากาศหายใจจากการกดทับทางเดินหายใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการนอนของทารก (อายุต่ำกว่า 1 ปี) ลักษณะที่นอนที่ปลอดภัยสำหรับทารกคือ เบาะบาง ที่มีความแข็งกำลังดีไม่อ่อนนุ่มจนเกินไป ต้องจัดเด็กให้นอนหลับในท่านอนหงายเสมอ นอนคว่ำหน้าจะมีความเสี่ยงต่อการขาดอากาศหายใจ จากการกดทับใบหน้า ปาก จมูกบนที่นอน ไม่ควรมีผู้ใหญ่หรือเด็กโตนอนใกล้กว่า 1 เมตรเพราะมีความเสี่ยงต่อการนอนทับ (overlying) โดยเฉพาะหากผู้นอนข้างทารกมีลักษณะอ้วนมาก มีอาการเมา ขาดสติลึกจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด หรือเซื่องซึมจากการรับประทานยาแก้หวัด หรือยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงทั้งหลาย เตียงนอนสำหรับเด็กอาจมีอันตรายได้ทั้งเด็กทารกและเด็กปฐมวัย หากเป็นเตียงแบบที่มีราวกั้นกันการตกซึ่งเหมาะสมสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ซี่ราวกั้นแต่ละซี่ควรห่างกันไม่เกิน 6เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเอาลำตัวลอดซี่ราวและติดค้างที่บริเวณลำคอหรือศีรษะได้ภาพที่6) ภาพที่ 6 ความเสี่ยงของเตียงเด็กจากซี่ราวกันตกและมุมเสา ห้องน้ำ     ห้องน้ำเป็นพื้นที่ที่เด็กหกล้มได้ง่าย พื้นผิวห้องน้ำควรทำด้วยวัสดุที่ไม่ลื่นเมื่อเปียกน้ำ ผู้ดูแลต้องหมั่นทำความสะอาดและทำให้พื้นแห้งอยู่เสมอ สุขภัณฑ์ที่ใช้ต้องมีขนาดและการติดตั้งที่เหมาะสมกับเด็ก เพื่อให้เด็กสามารถใช้สุขภัณฑ์ได้พอดี ไม่ต้องปีนป่ายในแต่ละปีมีเด็กปฐมวัยทั้งทารก วัยเตาะแตะ และวัยอนุบาลต้องเสียชีวิตเพราะจมน้ำในถังน้ำ กะละมัง ตุ่ม โอ่ง อ่างอาบน้ำในบ้าน ไห โถชักโครก ร่องน้ำ และ บ่อน้ำข้างๆบ้าน สระว่ายน้ำในบ้าน (ภาพที่ 4 ) ดังนั้นการกำจัดแหล่งน้ำที่ไม่จำเป็นในบ้านเช่นการคว่ำกะละมัง ปล่อยน้ำในอ่างอาบน้ำทิ้งทันทีหลังใช้งานเสร็จ การปิดแหล่งน้ำ แยกแหล่งน้ำไม่ให้เด็กเข้าถึงเช่นการปิดฝาตุ่ม โอ่ง ปิดประตูห้องน้ำ ทำรั้วกั้นบ่อเลี้ยงปลา การจำกัดพื้นที่เด็กไม่ให้เข้าใกล้แหล่งน้ำเช่นการทำรั้วเสริมปิดกั้นไม่ให้เด็กออกนอกบ้าน กั้นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กเคลื่อนไหว (ภาพที่ 7) เป็นสิ่งที่จำเป็นในการป้องกันการจมน้ำในเด็กปฐมวัยเด็กเล็กปีนป่ายตุ่มน้ำแล้วหน้าทิ่มลงไป เพียง 4นาที เด็กจะขาดอากาศหายใจจนสมองเสียหายนำไปสู่การตายหรือพิการถาวร เด็กวัยนี้จึงจัดอยู่ในวัยที่ผู้ดูแลจะต้องมองเห็นเด็กตลอดเวลา และเด็กต้องอยู่ในระยะที่เอื้อมคว้าถึง ดังนั้นความเผอเรอของผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็ก แม้แต่เพียงแค่ชั่วขณะ หมายถึงวินาทีแห่งความเป็นความตายที่อาจคาดไม่ถึง ปัจจุบันสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดให้ผู้ผลิตอ่างน้ำ กะละมัง ถังน้ำต้องมีคำเตือนเรื่องการจมน้ำของเด็กเล็กเพื่อเตือนสติพ่อแม่ผู้ดูแลเด็ก คำเตือนต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีความกว้าง 3 นิ้ว ยาว 4 นิ้ว และข้อความที่เป็นคําเตือนต้องใช้ตัวอักษรทึบขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรอื่น ในกรอบสี่เหลี่ยม สีของกรอบและข้อความตัดกับสีพื้นของฉลากในกรอบสี่เหลี่ยม สีของกรอบและข้อความตัดกับสีพื้นของฉลาก แสดงไว้ในลักษณะที่คงทน (ภาพที่9)นอกจากนั้นในห้องน้ำมักมีน้ำยาทำความสะอาดรูปแบบต่างๆเป็นสารพิษที่พบบ่อยในเด็ก เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่ชอบสำรวจสิ่งแวดล้อม รื้อค้นของ น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาเคมีหรือสารพิษชนิดต่างๆควรเก็บไว้ที่ในที่สูงที่เด็กปีนค้นไม่ถึง หรือเก็บในตู้ที่สามารถปิดล๊อกซึ่งเด็กไม่สามารถเปิดเองได้  ภาพที่ 7 แสดงการจมน้ำของเด็กในถังที่สูงประมาณ 35-40 เซนติเมตร ภาพที่ 8 กั้นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กเคลื่อนไหว    ภาพที่ 9 สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดให้ผู้ผลิตอ่างน้ำ กะละมัง ถังน้ำต้องมีคำเตือนเรื่องการจมน้ำของเด็กเล็กห้องครัว ห้องครัวเป็นบริเวณที่มีอันตรายหลายประเภทต่อเด็ก เช่นของมีคม ของร้อน สารเคมีทำความสะอาด ไฟ เป็นต้น ลักษณะห้องครัวที่ปลอดภัยควรแยกพื้นที่ครัวออกจากพื้นที่อื่น โดยใช้ประตูหรือรั้วเตี้ยๆ เพื่อกั้นไม่ให้เด็กเล็กเข้าไปในพื้นที่ห้องครัวได้ เก็บของมีคม และสารเคมีไว้ในตู้ที่สามารถล๊อกได้ หรือหากไม่สามารถล๊อกได้ให้ติดตั้งอุปกรณ์เสริมสำหรับการปิดล๊อก อุปกรณ์เหล่านี้ออกแบบมาให้ติดตั้งได้ง่าย (ภาพที่ 10)ผู้ใหญ่สามารถเปิดออกได้ง่ายในขณะที่เด็กไม่สามารถเปิดออกได้ และต้องไม่ให้เด็กอยู่ใกล้เตาแก็สหรือเตาไฟฟ้าที่กำลังหุงต้ม และไม่ให้เด็กอยู่ในบริเวณที่กำลังแจกจ่ายอาหารที่ร้อน  ภาพที่ 10 อุปกรณ์เสริมสำหรับล๊อคตู้ไม่ให้เด็กเปิดออกได้เอง         เด็กจะต้องซนได้อย่างปลอดภัย เพราะธรรมชาติของเด็กๆย่อมต้องชอบ ปีนป่ายกระโดด โลดเต้น การจัดการสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยเสียแต่แรกเป็นสิ่งจำเป็นควบคู่ไปกับการเฝ้าดูแลระวังใกล้ชิด ความผิดพลาดมักเกิดเสมอเมื่อคิดว่า “ไม่เป็นไรหรอก” “เอาไว้ก่อน” “ไม่ต้องหรอกเดี๋ยวดูแลเองได้” “ประเดี๋ยวเดียว” 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 174 คอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้า บนมิติความเหลื่อมล้ำ

ภายใต้การเร่งรัดของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้รถไฟฟ้าทั้ง 10 สายแล้วเสร็จภายในปี 2562 ลองมโนถึงวันที่โครงข่ายรถไฟฟ้าแผ่คลุมทั่วกรุงเทพ ชีวิตคนเมืองน่าจะสะดวกสบายกว่านี้ ไม่ต้องทุกข์ทนกับสภาพการจราจรอันเจ็บปวด มันเป็นภาพดีๆ ในอนาคตที่โครงสร้างพื้นฐานมอบให้เรา    ทว่า ยังมีอีกด้านของเหรียญที่ไม่ถูกพูดถึง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมันไม่ได้กระทบโดยตรงต่อปัจเจกในเวลาอันสั้น แต่มีแนวโน้มจะหมักหมมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่บ่มเพาะความเหลื่อมล้ำและปัญหาด้านผังเมืองในอีกหลายปีข้างหน้า เรากำลังพูดถึงการกระจุกตัวของที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าและการผุดคอนโดมิเนียมอย่างแทบจะไร้การควบคุม ซึ่งวันนี้เราเริ่มเห็นบ้างแล้วตามแนวรถไฟฟ้าทั้งเส้นเก่า เส้นใหม่ และเส้นที่กำลังจะสร้าง---------------------------------------------------------------------เส้นทางรถไฟฟ้า 10 สาย1.ชานเมืองสายสีแดงเข้ม เส้นทางหัวหมาก-บางซื่อ-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต2.ชานเมืองสายสีแดงอ่อน เส้นทางตลิ่งชัน-บางซื่อ-หัวหมาก3.ส่วนต่อขยายแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เส้นทางพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง4.สายสีม่วง เส้นทางบางใหญ่-บางซื่อ5.สายสีเขียว เส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ6.สายสีน้ำเงิน เส้นทางบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค7.สายสีส้ม เส้นทางศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี8.สายสีชมพู เส้นทางแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี9.สายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง10.สายสีเขียวเข้ม เส้นทางยศเส-สนามกีฬาฯ-สะพานตากสิน-บางหว้า---------------------------------------------------------------------รถไฟฟ้ามา ที่ดินราคาพุ่ง    จากการศึกษาของดวงมณี เลาวกุล และเอื้อมพร พิชัยสนิธ ในปี 2551 พบว่า พื้นที่รวมผู้ถือครองที่ดินเนื้อที่มากที่สุด 50 อันดับแรกในกรุงเทพฯ คือ 41,509.67 ไร่ ขณะที่พื้นที่รวมผู้ถือครองที่ดินเนื้อที่น้อยที่สุด 50 อันดับสุดท้ายมีเพียง 0.32 ไร่ เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนการถือครองที่ดินมากที่สุด 50 อันดับแรกต่อ 50 อันดับสุดท้าย ช่องว่างนี้เท่ากับ 129,717.72 ไร่ แม้ตัวเลขนี้จะเป็นตัวเลขปี 2551 แต่ในภาวะที่ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ ถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขข้างต้นน่าจะยังไม่ล้าสมัย     ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ ถีบตัวสูงขึ้นอย่างมหาศาลคือการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าและปริมาณที่ดินในเขตเมืองมีน้อยลง ยกตัวอย่างย่านรัตนาธิเบศร์ ปัจจุบันราคาที่ดินตารางวาละประมาณ 2.5-3 แสนบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณร้อยละ 20 แต่ถ้าเทียบย้อนหลังไป 3 ปี พบว่าราคาขยับสูงขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 100-120การสำรวจการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลปี 2558 ของ บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) ซึ่งมี ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นประธานกรรมการบริหาร พบว่า ในรอบ 16 ปี ตั้งแต่ปี 2541-2557 ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 84 แต่ในเขตชั้นในกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 158 เนื่องจากเขตใจกลางเมืองมีระบบขนส่งมวลชน ส่วนเขตชั้นนอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 69-89 ขณะที่ในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2557 ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 55 ทำเลที่ราคาที่ดินเพิ่มสูงสูงสุดยังคงเป็นเขตชั้นใน เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.8 เขตชั้นนอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9-49.9 โดยเฉพาะในศูนย์ธุรกิจ (CBD: Central Business District) ปรับตัวสูงสุดถึงร้อยละ 59.5-92.2ส่วนในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าปรับเพิ่มร้อยละ 3.5 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ส่วนต่อขยาย อ่อนนุช-แบริ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 ส่วนต่อขยายตากสิน-บางหว้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 ส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0ส่วนราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าใต้ดินหรือ MRT ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 แนวแอร์พอร์ต ลิงค์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 รถไฟฟ้าสายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 สายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 และสายหัวลำโพง-บางแค เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 โดยราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้าที่มีอัตราการเพิ่มต่ำสุดคือสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7    ถามว่า ราคาที่ดินบริเวณใด เพิ่มขึ้นมากที่สุดในการสำรวจของ AREA ครั้งนี้ คำตอบคือที่ดินบริเวณรถไฟฟ้าสยาม ชิดลม และเพลินจิต คิดเป็นตารางวาละ 1.75 ล้านบาท หรือไร่ละ 700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ตารางวาละ 1.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 ทั้งยังคาดการณ์ว่า สิ้นปี 2558 ราคาที่ดินในบริเวณนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.9-2.0 ล้านบาท---------------------------------------------------------------------จำนวนคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าข้อมูลจาก TerraBKK Research สำรวจคอนโดมิเนียมตามแนวส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2010-2015 และกำลังเปิดขายในปัจจุบัน มีดังนี้ส่วนต่อขยายสายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จำนวน 12 โครงการ 4,253 ยูนิต ช่วงราคา 50,500-91,500 บาท/ตร.ม.แนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว กรุงธนบุรี-บางหว้า จำนวน 8 โครงการ 4,958 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 61,000-28,000 บาท/ตร.ม. แนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว บางจาก-แบริ่ง จำนวน 21 โครงการ 7,353 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 60,000-127,500 บาท/ตร.ม.แนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี จำนวน 17 โครงการ 7,943 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 43,000-72,000 บาท/ตร.ม.ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค จำนวน 20 โครงการ 16,857 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 46,000-125,000 บาท/ตร.ม.สายสีม่วง เตาปูน–บางใหญ่ จำนวน 42 โครงการ 34,373 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 45,000-85,000 บาท/ตร.ม.    ขณะที่ข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ (14 พฤษภาคม 2558) รายงานจำนวนโครงการตั้งแต่ช่วงแคราย-หลักสี่ พบจำนวนโครงการดังนี้       บริเวณแยกแคราย 4 โครงการ ได้แก่ เดอะ พาร์คแลนด์ 635 ยูนิต สร้างเสร็จและขายหมดแล้ว, ศุภาลัย ปาร์ค แคราย-งามวงศ์วาน 697 ยูนิต, เดอะ ไพรเวซี่ ติวานนท์ 156 ยูนิต และศุภาลัย วิสต้า 404 ยูนิตบริเวณแจ้งวัฒนะ 8 โครงการ ได้แก่ โครงการฮอลล์มาร์ค 427 ยูนิต, แอสโทร 484 ยูนิต, เดอะซี้ด 210 ยูนิต, เดอะ เบส 2 อาคาร 1,231 ยูนิต, โครงการกรีเน่ 376 ยูนิต, เรียล 837 ยูนิต, ศุภาลัย ลอฟท์ 435 ยูนิต และศุภาลัย ซิตี้ รีสอร์ท 752 ยูนิตโครงการใกล้ศูนย์ราชการ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการมิกซ์ทาวน์ 38 ยูนิต, เรสต้า แจ้งวัฒนะ เฟส 1 80 ยูนิต เฟส 2 78 ยูนิต และรีเจนท์ โฮม รวม 1,358 ยูนิต---------------------------------------------------------------------อนาคตจะเห็นคอนโดฯ ตารางวาละ 3 แสนบาทแน่นอนว่า ราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบลูกโซ่ต่อราคาคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า ยิ่งใกล้สถานีมากเท่าไหร่ ราคาก็ยิ่งขยับสูงขึ้น เช่น คอนโดมิเนียม 2 แห่งที่กำลังก่อสร้างใกล้สถานีรถไฟฟ้าสะพานควายอย่าง The Signature และ The Editor ของพฤกษา แห่งแรกราคาเริ่มต้นที่ 4.9 ล้านบาท ส่วนแห่งที่ 2 ราคาเริ่มต้นที่ 4.29 ล้านบาท เรียกว่าเป็นราคาที่ซื้อบ้านเดี่ยวในเขตชานเมืองและต่างจังหวัดได้สบายๆผู้บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งยืนยันตรงกันในเรื่องนี้ว่า โครงข่ายรถไฟฟ้ามีส่วนสำคัญทำให้ที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าราคาประเมินของราชการ บางแห่งสูงขึ้นกว่าเท่าตัว ยิ่งถ้าเป็นที่ดินตามเส้นสุขุมวิทราคาที่ดินจะปรับสูงกว่าบริเวณอื่น 3-4 เท่า ซึ่งการที่ผู้ประกอบการคอนโดมิเนียมได้ที่ดินมาในราคาสูง จึงผลักให้ราคาขายคอนโดมิเนียมสูงตามเพื่อให้คุ้มกับต้นทุนราคาที่ดินเฉลี่ยแล้วราคาที่ดินจะปรับขึ้นปีละประมาณร้อยละ 8-20 โดยราคาเฉลี่ยคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 9.4 หมื่นบาทต่อตารางเมตร ปรับขึ้นจาก 8.8 หมื่นบาทต่อตารางเมตรในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และยังคาดว่าในอนาคต คนกรุงเทพฯ จะได้เห็นคอนโดมิเนียมราคา 3 แสนบาทต่อตารางเมตรอย่างเลี่ยงไม่ได้รถไฟฟ้ากับการจัดการที่ดิน    การเกิดขึ้นของโครงข่ายรถไฟฟ้าผูกโยงกับการพุ่งขึ้นของราคาที่ดินและราคาคอนโดมิเนียม หากมองในมิติเศรษฐกิจ มันก็ดูสมเหตุสมผลตามกลไกตลาดและกฎอุปสงค์-อุปทาน ใครมีกำลังซื้อย่อมสามารถเข้าถึงที่พักอาศัยตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งมีความสะดวกสบายในการเดินทางได้ ...ถือเป็นเรื่องปกติ    แต่จริงๆ แล้วไม่ปกติ ไม่ปกติตรงที่ โดยทั่วไปแล้ว การสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างรถไฟฟ้าในเมืองจะต้องคิดควบคู่ไปกับการจัดการที่ดิน เนื่องจากรถไฟฟ้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดิน“บางครั้งการจัดการที่ดินที่ดีอาจไม่ต้องใช้รถไฟฟ้าก็ได้ หรือทำให้รถไฟฟ้านั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเปิดพื้นที่ให้รถไฟฟ้าวิ่งเข้าไปจุดหนึ่ง แล้วจัดรูปแบบการใช้ที่ดินให้ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ใช่มองแต่จะเอารถไฟฟ้าถมลงไปที่ปากซอยหรือมองว่าที่ดินเป็นเรื่องของเอกชน” ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ และอาจารย์พิเศษ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวหลักการประการหนึ่งของการจัดการที่ดินก็เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้ระหว่างเอกชนและชุมชน/สังคม เช่น คนที่รถไฟฟ้าผ่านที่ดินของตน ทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้น ดังนั้น ส่วนหนึ่งของมูลค่าที่ได้เพิ่มขึ้นจะต้องถูกจัดสรรคืนให้แก่สังคม อาจจะเป็นพื้นที่บางส่วน ผศ.ดร.พิชญ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมสังคมไทยจึงคิดเรื่องการแบ่งปันที่ดินแค่ระหว่างคนจนแบ่งที่ดินกับราชการ แต่ไม่มีคนรวยในสมการนี้ ทั้งที่ถ้าพื้นที่หนึ่งแปลงได้กำไรมากมหาศาลจากรถไฟฟ้า ก็ควรเวนคืนครึ่งแปลงมาสร้างประโยชน์ให้คนอื่น เพราะพื้นที่ครึ่งแปลงเดิมก็ได้ประโยชน์อยู่แล้วทำไมต้องสนใจเรื่องนี้ทำไมเราต้องสนใจเรื่องรถไฟฟ้ากับการจัดการที่ดิน ทำไมเราต้องสนใจว่าราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าจะสูงขึ้นหรือไม่ ทำไมราคาคอนโดมิเนียมที่สูงถึงเกี่ยวข้องกับเรา มันเกี่ยวข้องกับเราๆ ที่เป็นผู้บริโภคอย่างไรในภาพเล็ก คอนโดมิเนียมที่ผุดขึ้นอย่างไร้การควบคุมย่อมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในละแวกนั้นๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการถ่ายเทอากาศและความร้อน กระทบต่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยและประชาชนใกล้เคียงหากเกิดเหตุไฟไหม้ แต่เพราะที่ดินมีราคาแพง ผู้ประกอบการจึงพยายามใช้สอยที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งอาจหมายถึงการละเลยพื้นที่สำหรับให้รถดับเพลิงเข้าถึงจุดเกิดเหตุ ในที่นี้หมายถึงทั้งตัวคอนโดมิเนียมเองและที่อยู่อาศัยใกล้เคียงในเชิงมหภาค รถไฟฟ้ากำลังผลักไสผู้คนที่เป็นฟันเฟืองของเมืองจำนวนมากให้ออกห่างจากเมืองยิ่งขึ้น และหากคุณเป็นผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลาง การเข้าถึงที่พักอาศัยตามแนวรถไฟฟ้าก็คงเป็นสิ่งที่เกินเอื้อม และนี่คือความเหลื่อมล้ำครั้งแรกที่รถไฟฟ้าเกิดขึ้นเมื่อ 16 ปีก่อนในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 วัตถุประสงค์หลักเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ณ เวลานั้น การจัดการที่ดินยังเป็นประเด็นที่ไม่มีใครกล่าวถึง แต่ผลของรถไฟฟ้าสายแรกเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันผศ.ดร.พิชญ์ อธิบายว่า ส่วนตัวแล้วไม่แน่ใจว่าภาครัฐไม่มีการวางแผนจัดการที่ดินหรือมีมุมมองในการวางแผนจัดการที่ดินในแบบที่ภาครัฐเข้าใจ แต่อาจไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสังคม เมื่อขาดกลไกการจัดการที่ดินที่ดีพอจึงทำให้ผลประโยชน์ไม่ตกแก่สังคมทั้งหมด โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรายได้น้อยที่เป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง ขณะที่มิติการแก้ไขปัญหาจราจร การไม่จัดรูปที่ดิน ยังส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของกิจกรรมในสถานีสุดท้าย“คำถามคือคนที่มีรายได้น้อยจะสามารถเข้าถึงรถไฟฟ้าได้มากน้อยแค่ไหน เขายังจะต้องต่อไปอีกกี่ต่อ เช่น รถเมล์ รถมอร์เตอร์ไซค์ รถสองแถว ที่อยู่อาศัยเดิมที่เขาเคยอยู่ราคาค่าเช่าอาจเพิ่มขึ้น จนเขาต้องขยับต่อไปอีก ส่วนพวกที่มีเงินก็ซื้อคอนโดฯ ปล่อยให้เช่า มีเก็บภาษีเขาไหม อันนี้ไม่นับการที่ขาดการวางแผนชุมชนที่ชัดเจนว่าจำนวนคอนโดฯ มากมายที่โถมถล่มลงมาในซอยบ้านแล้วมาแย่งพื้นที่ถนน พื้นที่กินข้าว หรือกระทั่งมาเปลี่ยนรูปแบการใช้ที่ดินเดิม มันจะส่งผลกระทบให้ชุมชนเดิมอย่างไร”กล่าวคือผู้ที่เข้าถึงคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าเป็นชนชั้นกลางระดับบนขึ้นไปที่มีรายได้ค่อนข้างสูง มีความสามารถผ่อนจ่ายได้ และเมื่อที่พักอาศัยใกล้แนวรถไฟฟ้ามีราคาสูง ราคาค่าหอพักย่อมถีบตัวสูงตาม ภาระจึงตกอยู่บนบ่าของผู้ที่มีรายได้น้อย หากต้องการหอพักราคาย่อมเยาก็ต้องถอยห่างจากแนวรถไฟฟ้าออกไป กลายเป็นว่าจุดมุ่งหมายของรถไฟฟ้าที่ต้องการเป็นระบบขนส่งแก่คนทุกกลุ่ม ผู้ที่มีฐานะดีกลับได้ประโยชน์มากกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงที่พักอาศัยใกล้แหล่งงานในเมืองไม่ได้ พวกเขาก็ต้องขยับออกไปไกลขึ้น ค่าเดินทางสูงขึ้น ทั้งที่คนกลุ่มนี้คือกลุ่มแรงงานที่ขับเคลื่อนเมือง-ผู้ใช้แรงงาน, แม่บ้าน, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย, พ่อค้าริมทาง เมื่อจักรกลสำคัญของเมืองเหล่านี้ถูกกระทบ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองคงไม่สามารถเลี่ยงผลพวงที่ตามมาได้ นี้จึงเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่เกิดจากการขาดการวางแผนการจัดการที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า แต่ส่งผลแผ่คลุมคนเมืองส่วนใหญ่ สิ่งที่พอทำได้กับอนาคตรถไฟฟ้า 10 สายถึงตรงนี้ บางคนอาจคิดว่าการจัดการที่ดินให้สอดคล้องกับแนวรถไฟฟ้าคงเป็นไปไม่ได้ในมหานครอย่างกรุงเทพฯ ซึ่งไม่จริง กรณีสิงคโปร์ถือเป็นต้นแบบความสำเร็จของการจัดการที่ดินกับระบบขนส่ง ในสิงคโปร์เราจะไม่เห็นที่พักอาศัยผุดเป็นดอกเห็ดตามแนวรถไฟฟ้า แต่ที่พักอาศัยจะขยับออกห่างจากแนวรถไฟฟ้าในระยะทางที่พอเดินถึง แต่อยู่ใกล้แนวรถเมล์มากกว่า ส่วนบริเวณที่มีรถไฟฟ้าก็มักจะเป็นจุดกระจายคนและท่ารถ“คำถามก็คือคุณจะวัดการประสบความสำเร็จจากอะไร? จากการที่คนมีบ้านอยู่ เข้าถึงรถไฟฟ้าได้ และมีทางเลือกในการจราจร หรือจะวัดจากการที่มีโครงการขึ้นมากมาย มีการเก็งกำไร และมีคนที่มีบ้านอยู่แล้วปล่อยคอนโดให้คนอื่นเช่า? คุณจะวัดความสำเร็จจากคนที่มีอาหารการกินที่ดีใกล้บ้าน หรือจะวัดจากโฆษณาตลกร้ายของคอนโดฯ หรูระยับที่ไม่เคยบอกเลยว่าพวกนี้หาข้าวหาปลากินที่ไหน ถ้าไม่ลงมาเบียดกับคนอื่นๆ บนถนนอยู่ดี” ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวอนาคตรถไฟฟ้า 10 สายในกรุงเทพฯ จึงไม่ได้มีภาพสวยงามของความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางเพียงอย่างเดียว ผศ.ดร.พิชญ์ ประเมินสถานการณ์ข้างหน้าว่า คนจะต้องออกไปอยู่ไกลขึ้นเรื่อยๆ เพราะสู้ราคาไม่ได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่สถานีสุดท้ายของรถไฟฟ้าแต่ละเส้นทางจะมีคนกระจุกตัวเพื่อต่อรถ ส่วนกรณีคนที่ต้องการพักอาศัยในบ้านเดี่ยวก็จะต้องอยู่ออกไปไกลขึ้นเช่นกัน ทำให้ต้องเลือกขับรถเข้ามาในเมืองเหมือนเดิม อีกคำถามที่ ผศ.ดร.พิชญ์ ชวนให้ขบคิดต่อคือ ในพื้นที่ที่มีแต่คอนโดมิเนียมเหล่านั้น มีโรงเรียน โรงพยาบาล และสิ่งอำนาวยความสะดวกเพียงพอหรือไม่ และใครจะรับผิดชอบให้มีสวนสาธารณะส่วนประเด็นระยะยาว คือคอนโดมิเนียมเหล่านี้มีวันหมดอายุเมื่อใด เนื่องจากคอนโดมิเนียมไม่สามารถทุบได้ตามอำเภอใจเพราะมีเจ้าของร่วม หากไม่มีการเตรียมรับมือในประเด็นนี้ ในอนาคตยาวๆ คอนโดมิเนียมสวยงามในวันนี้อาจเป็นแหล่งเสื่อมโทรมลอยฟ้าทว่า ในสถานการณ์ที่แผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าเดินหน้าไปแล้วโดยปราศจากแนวทางการจัดการที่ดินเช่นนี้ ยังพอมีหนทางใดที่จะบรรเทาปัญหาได้บ้าง ผศ.ดร.พิชญ์ แสดงทัศนะว่า ต้องเพิ่มอำนาจให้เขตต่างๆ เขตต้องมีอำนาจการจัดวางผังในระดับเขตโดยประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เพิ่มข้อบังคับการจัดหาพื้นที่สาธารณะให้เขตมากขึ้น“เขตในวันนี้ โครงสร้างขาดการมีส่วนร่วม เพราะผู้อำนวยการเขตเป็นข้าราชการแต่งตั้งมาจากส่วนกลางของ กทม. สมาชิกสภาเขตไม่มีอำนาจในการจัดทำงบประมาณ โครงการต่างๆ นอกจากจะต้องรับผิดชอบในพื้นที่ของตน จะต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวมคือเขตด้วย จะสนใจแค่ค่าส่วนกลางของโครงการอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีเงินส่วนหนึ่งในการรับผิดชอบค่าส่วนกลางของเขต เพราะคุณเข้ามาเปลี่ยนสภาพที่ดินอย่างมากมาย ทำให้คนที่อยู่เดิมเดือดร้อน“หรือเราอาจต้องจัดรูปแบบใหม่ เช่น รถไฟฟ้าวิ่งเข้าไปในพื้นที่ราชการขนาดใหญ่ที่แปรสภาพเป็นที่พักอาศัยให้เช่า เป็นต้น และจากนั้นเราจะสามารถออกแบบชุมชนทุกอย่างได้ สิ่งนี้จะทำให้เรามองเรื่องการแก้ปัญหาการใช้ที่ดินในอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่มองแค่ว่าใครจะโชคดีที่มีที่ติดรถไฟฟ้า มาสู่การเอาที่ติดรถไฟฟ้ามาเวนคืน แล้วแบ่งสรรประโยชน์ เช่น เป็นทั้งที่พักอาศัยและแหล่งธุรกิจ เอาผลกำไรจากธุรกิจมารองรับส่วนของที่พักอาศัย”ขณะเดียวกัน การจัดการที่ดินจะต้องเน้นคุณภาพชีวิตของผู้คนให้มาก เช่น ถ้าโครงการคอนโดมิเนียมแห่งใดเพิ่มความร้อนหรือเพิ่มมลพิษให้กับพื้นที่ โครงการนั้นก็จะต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ด้าน รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การเก็บภาษีที่ดินรอบสถานีรถไฟฟ้าจะช่วยลดการเก็งกำไร และทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินมีประสิทธิภาพมากขึ้น และควรลดข้อกำหนดเกี่ยวกับที่จอดรถที่จะต้องมีสำหรับอาคารที่ก่อสร้างใกล้สถานี เพราะว่าในปัจจุบันนี้ แม้อาคารจะอยู่ติดสถานีรถฟ้า แต่ก็ยังต้องสร้างที่จอดรถเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่จำเป็นและทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงโดยใช้เหตุ ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงเกินไป อีกทั้งทำให้คนที่ไม่ใช้รถแต่ต้องการซื้อทรัพย์สินใกล้สถานีต้องแบกรับต้นทุนในส่วนนี้โดยไม่จำเป็น และกล่าวเสริมว่า“โดยเฉพาะคนที่อยู่ใกล้สถานีบางส่วนกลับขับรถยนต์ ไม่ได้ใช้รถไฟฟ้า หรือพวกนักเก็งกำไร ซื้อแล้วไม่ได้อยู่ เป็นการเสียโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากที่พักอาศัยเหล่านั้น ขณะที่คนจนที่ต้องการใช้รถไฟฟ้าก็ไม่สามารถซื้อได้ รัฐจึงควรแทรกแซงโดยสร้างที่พักให้คนจน อาจไม่ต้องใกล้รถไฟฟ้ามาก เช่น ในรัศมี 1 กิโลเมตรก็พอ ไม่ต้องมีที่จอดรถ ทำทางเดินเท้าหรือจักรยานเชื่อมต่อให้ดี”ยังมีประเด็นน่าสนใจที่ ผศ.ดร.พิชญ์ ทิ้งท้ายเอาไว้ว่าด้วยเทคโนโลยีและอำนาจ กล่าวคือในนิวยอร์คมีพื้นที่บางส่วนที่รถไฟฟ้าเข้าไม่ถึงหรือเข้าถึงได้น้อย ทำให้เป็นแหล่งที่พักอาศัยของคนที่มีรายได้ไม่สูงนัก แต่ก็รัฐก็ยังสามารถจัดรูปที่ดินได้โดยใช้รถเมล์เข้าไปรองรับการเดินทาง วิธีคิดเรื่องการขนส่งจึงไม่จำเป็นต้องหมกมุ่นในเชิงเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ต้องมองว่าเรื่องการจัดการเมือง การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจเช่นเดียวกับการจราจร รถเมล์ควรต้องไปก่อนรถยนตร์หรือรถยนต์ต้องไปก่อนรถเมล์ รถเมล์เร็วหลายเมืองในโลกใช้รถเมล์เร็วแทนรถไฟฟ้าโดยใช้หลักการง่ายๆ ว่าใครควรไปก่อนใคร แล้วจึงกั้นเลนให้รถเมล์วิ่ง“อำนาจสำคัญกว่าเทคโนโลยีครับ เทคโนโลยีต้องรองรับอำนาจ ถ้าเราไม่จัดการอำนาจ เทคโนโลยีก็รองรับคนที่มีอำนาจเดิมนั่นแหละ”    อาจกล่าวได้ว่า ทั้งหมดนี้คือผลกระทบที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาการจราจรในเมือง โดยขาดการเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ –ที่ดิน คนเมือง แรงงาน การขนส่ง ฯลฯ  ผลลัพธ์ที่ได้ เมืองอาจดูทันสมัยและพัฒนา แต่ถึงที่สุดแล้ว ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมีและไม่มีกลับไม่เคยหดแคบลงเลยในมหานครกรุงเทพฯ แห่งนี้---------------------------------------------------------------------ซื้อคอนโดฯ อย่างไรไม่เจ็บตัว    คอนโดมิเนียมเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาสูง มันอาจหมายถึงภาระผูกพันนานหลายสิบปี การซื้อคอนโดจึงจำเป็นยิ่งยวดที่ต้องมีสติพอๆ กับสตางค์ ไม่ว่าบริษัทที่ขายคอนโดมิเนียมให้คุณจะมีชื่อเสียงน่าเชื่อถือแค่ไหน หากคุณคิดจะซื้อคอนโดมิเนียมสักห้องเพื่ออยู่อาศัย สิ่งที่ นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายต่อจากนี้ คุณควรทำโดยเคร่งครัดเพื่อรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคเช่นคุณ1.ประเมินความสามารถในการผ่อนชำระ เป็นหัวใจสำคัญข้อแรกที่ต้องคำนึงถึง หากผ่านข้อนี้ได้จึงพิจารณาข้อต่อไป2.ตรวจสอบว่าคอนโดมิเนียมแห่งนั้นก่อสร้างหรือยัง ตรวจสถานะของผู้ประกอบการให้ชัดเจนว่ามีความมั่นคงมากพอที่จะก่อสร้างคอนโดมิเนียมหรือไม่ ถ้าก่อสร้างแล้ว จะแล้วเสร็จประมาณเมื่อไหร่“ถ้าคุณซื้อคอนโดฯ ที่มีแต่ที่ดินก็มีโอกาสเสี่ยงที่คอนโดฯ อาจไม่สร้าง เคยมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น เพราะการก่อสร้างคอนโดฯ มีกรอบกำหนดว่า การจะประกาศขายคอนโดฯ ได้ต้องผ่านการขออนุญาตก่อสร้างให้เรียบร้อย แต่ผู้ประกอบการบางรายลักไก่ขายเพื่อเอาเงินดาวน์มาสร้างบางส่วนก่อน ถ้าตรงไหนกฎหมายบอกว่าผิดก็ค่อยไปแก้ ทั้งที่ที่ดินตรงนั้นอาจสร้างไม่ได้ เพราะเป็นที่ดินที่ไม่เหมาะกับการก่อสร้างอาคารสูง”3.แบบของสัญญาที่ใช้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แบบสัญญาดังกล่าวเรียกว่า อช.22 ซึ่งจะมีการระบุรายละเอียดสำคัญและสิทธิของผู้บริโภคตามแนวทางที่กรมที่ดิน เช่น กำหนดความรับผิดของผู้ประกอบการว่า ถ้าไม่ส่งมอบตามระยะเวลา ผู้บริโภคมีสิทธิ์เลิกสัญญาหรือใช้สิทธิ์เรียกค่าปรับ เป็นต้น ซึ่งถึงแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องใช้แบบสัญญานี้ มิเช่นนั้นจะถือว่าโมฆะ ผู้บริโภคก็ควรตรวจดูให้แน่ใจ อย่างน้อยจะได้ไม่ต้องเสียเวลาภายหลัง4.ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือการตรวจสภาพห้องก่อนรับโอน มีผู้บริโภคหลายรายที่ต้องประสบปัญหาห้องไม่ได้คุณภาพ อันเนื่องจากความเผลอเรอในจุดนี้ นฤมล แนะนำว่า ก่อนจะทำสัญญารับโอน ผู้บริโภคต้องตรวจสภาพห้องอย่างละเอียด ควรมีลิสต์รายการที่ต้องตรวจรับและช่างส่วนตัวร่วมตรวจสอบด้วย เช่น หลอดไฟสามารถใช้ได้ทุกดวงหรือไม่ ห้องน้ำมีจุดไหนชำรุดหรือเปล่า มีการติดตั้งสายดินเรียบร้อยหรือไม่ ฯลฯ หากตรวจภายในวันเดียวไม่เสร็จ ก็ต้องยอมเสียเวลาตรวจต่อวันที่ 2เมื่อพบจุดบกพร่องให้แจ้งผู้ประกอบการดำเนินซ่อมแซมแก้ไข โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน ผู้บริโภคควรเก็บสำเนาไว้ที่ตนเอง 1 ฉบับ หากผู้ประกอบการไม่ดำเนินการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อย อย่ารับโอนเด็ดขาดนฤมล อธิบายว่า ปกติแล้วการซื้อคอนโดมิเนียมจะมีการรับประกันตัวโครงสร้าง 5 ปีและส่วนควบ 2 ปี ซึ่งอายุการรับประกันจะเริ่มต้นเมื่อเกิดการโอนกรรมสิทธิ์ ดังนั้น หากผู้บริโภครับโอนกรรมสิทธิ์ตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จหรือรับโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่ตรวจสภาพห้องอย่างถี่ถ้วน ผู้บริโภคอาจได้รับความเสียหายเมื่อห้องมีความชำรุดบกพร่อง กรณีที่มักเกิดขึ้นเสมอๆ คือผู้ประกอบการอ้างว่า ผู้รับยินยอมรับโอนห้องในสภาพนั้นเองหรือไม่ก็อ้างว่าความเสียหายส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคหลังจากที่เข้าอยู่อาศัยแล้วนอกจากนี้ การซ่อมแซมบางครั้งอาจยืดเยื้อเกินกว่าที่คาดไว้หรือผู้ประกอบการผัดผ่อนจนครบกำหนดการรับประกัน ถึงตอนนี้ผู้ประกอบการสามารถบอกปัดความรับผิดชอบได้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ผู้บริโภคจะกลายเป็นผู้รับภาระเอง เหตุนี้การตรวจสภาพห้องก่อนการรับโอนจึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากในการซื้อคอนโดมิเนียม“ถ้าเป็นคอนโดฯ มือสองมือสามก็ทำเหมือนกัน ไปเรียกร้องกับผู้ขายที่เป็นเจ้าของห้องเดิมให้จัดการห้องให้เรียบร้อยก่อนรับโอน แต่กรณีซื้อต่อมือสองจะแตกต่างอยู่ตรงที่ว่า มันเป็นเรื่องที่สองฝ่ายจะตกลงกัน ผู้ขายอาจขายซากห้องก็ได้ ถ้าผู้ซื้อพอใจหรือต้องการตกแต่งเองก็สามารถทำได้ เป็นข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 เตรียมพร้อมก่อนใช้ “การฟ้องคดีแบบกลุ่ม”

ประเทศไทยเรากำลังจะมีกฎหมายการฟ้องคดีฉบับใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เชื่อว่ามีประโยชน์และช่วยให้เราในฐานะผู้บริโภคได้มีเครื่องมือสำหรับการฟ้องร้องปกป้องสิทธิของตัวเองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับกรณีที่มีผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากปัญหาในลักษณะเดียวกันจากผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการคนเดียวกัน ซึ่งกฎหมายการฟ้องคดีที่ว่านี้ก็คือ “กฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม” หรือ “Class Action” ซึ่งจุดเด่นของกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่มก็คือ การฟ้องคดีเพียงครั้งเดียว ด้วยโจทก์คนเดียว แต่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับสังคมในวงกว้าง ช่วยให้ผู้เสียหายเกิดการรวมตัวกัน นอกจากจะช่วยลดภาระและขั้นตอนในการฟ้องคดีต่อกลุ่มผู้เสียหายแล้วนั้น ยังช่วยให้ศาลสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น ที่สำคัญการฟ้องคดีแบบกลุ่มยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังของผู้บริโภคในการรวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองที่ชัดเจนที่สุดวิธีหนึ่งกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม จะสามารถใช้ได้จริงในช่วงเดือนธันวาคม 2558 ที่จะถึงนี้ หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา เราลองมาทำความรู้จักกฏหมายการฟ้องคดีแบบใหม่นี้กันดูดีกว่าว่ามีวิธีการใช้อย่างไร และเมื่อมีแล้วผู้บริโภคอย่างเราจะได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้อย่างไรบ้างแบบไหนถึงเรียกว่าเป็น “การฟ้องคดีแบบกลุ่ม”?การดำเนินคดีแบบกลุ่ม มีจุดสำคัญคือเป็นคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก (ตามกฎหมายไม่ได้มีการระบุจำนวนเอาไว้ หมายความว่า แค่มีผู้เสียหายหลัก 10 คน หรือมากเป็นหลัก 1,000 คน ก็สามารถฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ ถ้าศาลเห็นสมควร) โดยผู้เสียหายทั้งหมดจะต้องมีข้อเท็จจริงของความเสียหายที่ได้รับร่วมกัน และใช้ข้อกฎหมายในการพิจารณคดีแบบเดียวกัน เช่น ในคดีผู้บริโภค ที่มีกลุ่มคนที่ได้ความเสียหายจากการซื้อสินค้ายี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน สามารถรวมกลุ่มกันเพื่อฟ้องร้องต่อบริษัทผู้ผลิตด้วยวิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ โดยหลักสำคัญๆ ที่ศาลจะใช้ในการพิจารณาว่าคดีที่ต้องการฟ้อง เข้าข่ายที่จะใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้หรือไม่ มีดังนี้1.ความเหมือนของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของกลุ่มสมาชิกที่ต้องการฟ้องร้อง ข้อกล่าวหาได้แสดงให้เห็นว่ามีผลกระทบต่อกลุ่มคนทั้งหมดที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มฟ้อง และเมื่อเกิดการพิจารณาคดีจนถึงขั้นมีบทลงโทษแล้ว กลุ่มสมาชิกผู้เข้าร่วมฟ้องทั้งหมดจะได้รับการชดเชยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม2.เป็นคดีที่ผู้เสียหายหลายคนรวมกลุ่มกันแสดงตัวว่ามีความประสงค์จะเข้าร่วมการฟ้องคดีเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากใช้การดำเนินคดีแบบคดีสามัญทั่วไปจะทำให้เกิดความยุ่งยากต่อการดำเนินคดี สร้างภาระต่อศาลและทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของคดี3.ถ้าหากใช้วิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว จะเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีอย่างคดีสามัญ4. “โจทก์” หรือ ตัวแทนของกลุ่มผู้ที่จะทำหน้าที่ในการดำเนินคดีตามขั้นตอนต่างๆ ในศาล ได้แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะที่เหมือนกันของกลุ่มบุคคลที่ต้องการฟ้องคดีที่ชัดเจนเพียงพอ เป็นตัวแทนที่สามารถแสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพพอในการทำหน้าที่แทนสมาชิกทั้งหมดในกลุ่ม 5.โจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับสมาชิกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม โดยศาลจะต้องพิจารณาผู้ที่เป็นโจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์โดยละเอียดและรอบคอบข้อดีของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม1.ช่วยลดจำนวนคดีที่จะขึ้นสู่ศาล ส่งผลให้การดำเนินการพิจารณาและบังคับคดีเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วขึ้น และเกิดแนวทางตัดสินที่ไม่ขัดแย้งกัน เพราะหากใช้วิธีการฟ้องคดีแบบทั่วไป คดีในลักษณะเดียวกันแต่มีผู้เสียหายจำนวนมาก หากผู้เสียหายแต่ละคนต่างคนก็ต่างไปฟ้องคดี จะทำให้มีคดีเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก ทำให้การพิจารณาคดีล่าช้า 2.ลดภาระของผู้เสียหายบางกลุ่ม บางคน ที่อาจไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินคดีในศาล การฟ้องคดีแบบกลุ่มจึงเหมือนเป็นการลดภาระให้กับกลุ่มคนจำนวนมากที่ได้รับความเสียหาย และสมควรได้รับการชดเชยเยียวยาหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีตัวแทนของผู้เสียหายด้วยกันทำหน้าที่ต่างๆ ในการฟ้องคดีแทนให้3.ช่วยสร้างบรรทัดฐานของการพิจารณาคดี เพราะมีผู้เสียหายจำนวนมาก เพราะหากผู้เสียหายจำนวนมากใช้วิธีฟ้องแบบทั่วไป ต่างคนต่างฟ้อง ผลของคดีที่ออกมาอาจไม่เหมือนกัน การชดเชยเยียวยาที่ผู้เสียหายแต่ละคนจะได้อาจไม่มีความเท่าเทียมกัน การฟ้องคดีแบบกลุ่มจะทำให้ผลของคดีที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ผู้เสียหายทุกคนที่มีชื่อร่วมอยู่ในกลุ่มจะได้รับการชดเชยเยียวเฉลี่ยกันอย่างเหมาะสมเท่าเทียม4.เป็นเครื่องเตือนใจให้หน่วยงานต่างๆ ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้า ไม่กล้าทำละเมิดหรือสร้างความเสียหายต่อผู้บริโภค ประชาชนทั่วไป เพราะหากมีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ไม่ว่าความผิดที่เกิดขึ้นจะเล็กน้อยแค่ไหน ก็อาจถูกนำมาฟ้องร้องเป็นคดีความได้ด้วยการรวมกลุ่มฟ้อง ทำให้ความเสียหายที่เคยมองว่าเล็กน้อย กลายเป็นความเสียหายที่ใหญ่ขึ้น การชดเชยก็ย่อมมากขึ้นตามไปด้วย จากเดิมที่ผู้ที่ได้รับความเสียหายส่วนมากเมื่อได้รับความเสียหายที่เล็กน้อยมักจะเพิกเฉย ไม่ได้เรียกร้องสิทธิหรือฟ้องร้องเป็นคดีความเพราะมองว่าไม่คุ้มกับเงินและเวลาที่ต้องใช้ในการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มการฟ้องร้องต่อศาลก็จะง่ายขึ้น คนไม่รู้กฎหมายหรือไม่เข้าใจเรื่องการฟ้องคดีก็สามารถเข้าร่วมการฟ้องคดีได้คดีอะไรบ้าง ที่สามารถฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม1.คดีละเมิด 2.คดีผิดสัญญา3.คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การแข่งขันทางการค้า“โจทก์” = คนที่มีบทบาทสำคัญในฐานะ “ตัวแทนกลุ่ม” เป็นธรรมดาที่การฟ้องร้องคดีความต่อศาลจะต้องมีฝ่ายผู้ร้องหรือก็คือฝ่าย “โจทก์” เป็นผู้ตั้งต้นเรื่องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีกับฝ่ายที่สร้างความเสียหายหรือก็คือฝ่าย “จำเลย” นั่นเอง ถ้าเป็นในคดีทั่วไปย่อมไม่มีปัญหาในการกำหนดคนที่เป็นฝ่ายโจทก์ ซึ่งก็คือผู้ที่ร้องต่อศาลในการดำเนินคดี แต่สำหรับในกรณีที่เป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม ผู้ที่จะทำหน้าที่โจทก์ถือว่าเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญไม่น้อยในดำเนินรูปแบบของคดีให้ไปถึงยังจุดที่ตั้งไว้ บทบาทไม่แพ้ทนายที่รับดูแลคดีเลยทีเดียว    คุณสมบัติที่ดีของผู้ที่จะมาเป็นโจทก์ในคดีแบบกลุ่ม ซึ่งก็คือผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนของสมาชิกกลุ่มทั้งหมดในการดำเนินคดีในศาล ดูแลการดำเนินการทุกๆ อย่าง เรื่องค่าใช้จ่าย เอกสารหลักฐานต่างๆ ข้อมูลสำคัญ การหาพยาน ที่สำคัญคือต้องเป็นผู้ที่เข้าใจถึงปัญหา ความเป็นมาของคดีอย่างถ่องแท้ สามารถสื่อสารข้อมูลทั้งหมดให้กับทั้งทนายและสมาชิกทุกคนในกลุ่มที่ร่วมกันฟ้อง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่ประสบปัญหาและริเริ่มที่จะนำเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลแล้วเกิดเล็งเห็นว่าคดีนั้นสร้างความเสียหายในวงกว้างน่าจะเป็นคดีฟ้องร้องแบบกลุ่มได้แน่นนอนว่าผู้ที่ทำหน้าที่โจทก์หรือผู้แทนกลุ่มอาจไม่เคยรู้จักคุ้นเคยกับสมาชิกทุกคนในกลุ่ม แต่ผู้ที่รับหน้าที่โจทก์ก็ต้องแสดงตัวให้เห็นตนเองเป็นผู้แทนของกลุ่มจริงๆ โดยมีข้อร้องเรียนในคดีที่ให้ผลในส่วนรวม และพร้อมที่จะรักษาผลประโยชน์ของกลุ่ม เพราะต้องไม่ลืมว่าการฟ้องคดีแบบกลุ่มนั้นมุ่งหวังผลที่จะปกป้องสิทธิของคนทั้งกลุ่ม ไม่ใช่แต่ของโจทก์เพียงคนเดียว ซึ่งศาลก็จะมองในจุดนี้เป็นเหตุผลประกอบในการจะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ฟ้องเป็นคดีกลุ่มหรือไม่“โจทก์” แบบไหน? ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ทำหน้าที่ตัวแทนกลุ่ม1.โจทย์ขาดคุณสมบัติในความเชื่อมโยงต่อคดีและกลุ่มสมาชิก2.โจทก์เสียชีวิตหรือกลายเป็นผู้ไร้ความสามารถ3.เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์4.โจทก์ทิ้งฟ้อง5.เมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณา6.โจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบ7.เมื่อโจทก์ร้องขอต่อศาลว่าไม่ประสงค์ที่จะเป็นโจทก์ดำเนินคดีแทนกลุ่มต่อไป***เมื่อเปลี่ยนตัวโจทก์ซึ่งเป็นผู้ดำเนินคดีแทนกลุ่ม โจทก์เดิมยังสามารถเป็นสมาชิกกลุ่มต่อไปได้***ถ้าหากศาลไม่อนุญาตให้สมาชิกกลุ่มเข้าแทนที่โจทก์ผู้ดำเนินคดีแทนกลุ่ม หรือไม่มีการร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่มและให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยให้ถือว่ากระบวนพิจารณาที่ได้กระทำไปแล้วมีผลผูกพันการดำเนินคดีสามัญของโจทก์ต่อไปด้วย***เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต***ในกรณีที่โจทก์ไม่นำเงินค่าใช้จ่ายมาวางศาล โดยไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุผล ให้ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีการตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันสมาชิกกลุ่มที่ร่วมฟ้องคดีมีสิทธิดังต่อไปนี้1.เข้าฟังการพิจารณาคดี หรือจะแต่งตั้งทนายของตัวเองมารับฟังในศาลก็ได้2.ร้องขอให้ศาลสั่งแสดงความเหมาะสมและคุณสมบัติของผู้ที่ทำหน้าที่โจทก์ 3.ขอตรวจเอกสารทั้งหมดหรือบางส่วนในสำนวนความหรือขอคัดสำเนาเอกสารเหล่านั้นได้4.จัดหาทนายความคนใหม่มาดำเนินคดีแทนทนายความกลุ่ม 5.ร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ หากศาลพิจารณาแล้วว่าโจทก์มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม6.คัดค้านการร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ 7.ตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้สมาชิกที่ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่ม มีสิทธิในการขอถอนตัวออกจากกลุ่ม ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้***สมาชิกกลุ่มมีสิทธิออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มได้โดยแจ้งความประสงค์เป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด และให้ถือว่าสมาชิกกลุ่มดังกล่าวไม่เป็นสมาชิกกลุ่มนับตั้งแต่วันที่ได้แจ้งความประสงค์นั้นต่อศาล***เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลกำหนดในการแจ้งขอออกจากลุ่ม สมาชิกจะออกจากลุ่มไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และคำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด***บุคคลที่ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มแล้ว จะร้องขอกลับเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มอีกไม่ได้***สมาชิกกลุ่มและบุคคลที่ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มจะร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในการดำเนินคดีแบบกลุ่มไม่ได้ ***ห้ามไม่ให้สมาชิกกลุ่มที่ไม่ได้ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม ยื่นฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องคุณอาจมีส่วนร่วมในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม “โดยไม่รู้ตัว”ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการฟ้องคดีแบบกลุ่มก็คือ การฟ้องคดีจะมีผลในการสร้างกลุ่มแบบอัตโนมัติ คือ แค่เพียงโจทก์สามารถแสดงในศาลให้เห็นว่าเรื่องที่ร้องต่อศาลนั้นเป็นเหตุที่สร้างผลกระทบให้กับคนจำนวนมากจริงๆ ที่เห็นชัดคือ คดีสิ่งแวดล้อม เช่น โรงงานแห่งหนึ่งปล่อยสารเคมีออกมาทำให้ประชาชนให้ชุมชนใกล้เคียงชุมชนหนึ่ง ได้รับผลกระทบเรื่องมลพิษ มีโจทก์ไปยื่นฟ้องต่อศาลให้ดำเนินคดีกับโรงงานต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม หากศาลรับเป็นคดี นั่นเท่ากับว่าประชาชนที่อาศัยมีชื่อตามทะเบียนบ้านในชุมชนดังกล่าว ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มการฟ้องคดีดังกล่าวด้วย มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลของคดีที่จะออกมาหากคำพิพากษาเสร็จสิ้นเพราะฉะนั้นศาลจึงได้ออกข้อบังคับเพื่อให้สิทธิในการรับรู้ข้อมูลการฟ้องคดีแบบกลุ่ม เป็นเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลในวงกว้างโดยทั่วถึง เพื่อให้คนที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องคดีโดยไม่รู้ตัว ได้รับรู้ว่าขณะนี้ตัวเองได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟ้องคดีดังกล่าว โดยมีสิทธิที่จะขอถอนตัวจากกลุ่มในการฟ้องคดีได้แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดศาลจะต้องส่งคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มให้สมาชิกกลุ่มรับทราบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน รวมทั้งทางสื่อมวลชนอื่นหรือวิธีการอื่นใดเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควรคำบอกกล่าวและประกาศอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้1.ชื่อศาลและเลขคดี2.ชื่อและที่อยู่ของคู่ความและทนายความฝ่ายโจทก์3.ข้อความโดยย่อของคำฟ้องและลักษณะของกลุ่มบุคคลที่ชัดเจน4.ข้อความที่แสดงว่าศาลอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และวันเดือนปีที่ศาลมีคำสั่ง5.สิทธิของสมาชิกกลุ่มตามกฎหมาย6.กำหนดวันเพื่อให้สมาชิกกลุ่มแจ้งความประสงค์ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม ทั้งนี้ ตามที่ศาลเห็นสมควรแต่ต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน7.ผลของการออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม8.ผลของคำพิพากษาเมื่อพิจารณาเสร็จสิ้น ที่จะมีผลผูกพันกับสมาชิกในกลุ่ม9.ชื่อและตำแหน่งผู้พิพากษาผู้ออกคำสั่งฉบับนี้ขั้นตอนและวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มขั้นตอนการขออนุญาต1.โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องเริ่มคดีเพื่อขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม2.โจทก์ต้องแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่ศาลจะอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม3.คำฟ้องของโจทก์ต้องทำเป็นหนังสือและแสดงโดยชัดเจนถึงข้อหาหรือข้อบังคับ ที่ตัวโจทก์และสมาชิกกลุ่มทั้งหมดที่เข้าร่วมฟ้องได้รับความเสียหายอันเป็นเหตุผลที่ต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล และกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน ต้องมีการระบุหลักการและวิธีคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิกกลุ่มเท่าที่จะระบุได้ลงไปด้วย 4.ในการพิจารณาคำร้องขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลต้องจัดส่งสำเนาคำฟ้องไปให้จำเลยที่ถูกฟ้องด้วย จากนั้นศาลต้องฟังคู่ความทุกฝ่ายและมีการไต่สวนตามที่เห็นสมควร เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาว่าคดีนี้ศาลจะอนุญาตให้ใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่มหรือไม่5.เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลจะรับคำร้องนั้นไว้ดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอนของศาลต่อไป โดยทนายความของโจทก์ก็ถือว่าเป็นทนายความของกลุ่มด้วย6.ในกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ หรืออาจทำการขออุทธรณ์อีกครั้งภายใน 7 วันหลังจากศาลมีคำสั่งแรกออกมา โดยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สิ้นสุดการพิจารณาคดี1.เมื่อคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ขั้นต่อไปก็เข้าสู่ระบบการพิจารณาในชั้นศาล โดยจะต้องมีการแจ้งคำสั่งเรื่องการฟ้องคดีแบบกลุ่มเผยแพร่เพื่อให้ผู้ที่อยู่ร่วมในกลุ่มฟ้องทราบผ่านทางหนังสือพิมพ์รายวันเป็นเวลา 3 วัน และเพื่อให้สิทธิในการออกจากกลุ่ม2.ในกรณีที่การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะไม่คุ้มครองหรือเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกกลุ่มอย่างเพียงพอ หรือไม่มีความจำเป็นที่จะดำเนินคดีแบบกลุ่มอีกต่อไป ศาลมีอำนาจที่จะสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่มและดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยให้ถือว่ากระบวนพิจารณาที่ได้พิจารณาไปแล้วมีผลผูกพันต่อการดำเนินคดีสามัญของโจทก์และจำเลยต่อไปด้วย3.หากในระหว่างการพิจารณาคดี แล้วพบว่าทนายความฝ่ายโจทก์ไม่สามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มบุคคลได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม หรือทนายความฝ่ายโจทก์ขอถอนตัวจากการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์และสมาชิกกลุ่มจัดหาทนายความคนใหม่มาดำเนินคดีแทนภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่หากโจทก์และสมาชิกกลุ่มไม่ดำเนินการตามที่ศาลสั่ง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่มและดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ คำพากษาและการบังคับคดี1.คำพิพากษาของศาลมีผลผูกพันกับโจทก์และสมาชิกทั้งหมดในกลุ่มตามที่ได้แจ้งไว้ต่อศาลในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ให้โจทก์หรือทนายฝ่ายโจทก์มีอำนาจในการบังคับคดี2.หากทนายความฝ่ายโจทก์ไม่สามารถดำเนินการบังคับคดีเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของสมาชิกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม ศาลอาจสั่งให้โจทก์และสมาชิกกลุ่มจัดหาทนายคนใหม่มาดำเนินการบังคับคดีแทนได้3.ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน ต้องระบุจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณในการชำระเงินให้สมาชิกกลุ่ม4.จำเลย หรือ คู่ความ มิสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาของศาลในคดีฟ้องแบบกลุ่มได้ตัวอย่างการฟ้องคดีกลุ่มในต่างประเทศเฟซบุ๊คละเมิดสิทธิส่วนบุคคลผู้ใช้งานผ่านโปรแกรมเสริม Beaconในปี 2007 ฌอน เลน หนุ่มชาวอเมริกันตั้งใจจะซื้อแหวนเพชรสักวง เพื่อจะมอบให้เป็นของขวัญเซอร์ไพรซ์แฟนสาว โดยเขาได้สังซื้อแหวนทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ที่ชื่อ Overstock.com แต่แล้วกลับเกิดเรื่องที่ทำให้เขาถึงกับอึ้ง เมื่อการกดคลิ้กสั่งซื้อแหวนเพชรผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าว กับถูกเผยแพร่แบบอัตโนมัติทางเฟซบุ๊ค ซึ่งทำให้เพื่อนในเฟซบุ๊คของเขานับร้อยคน ซึ่งแน่นอนว่า 1 ในนั้นมีแฟนสาวของเขารวมอยู่ด้วย รู้ในทันทีว่า เลน ได้สั่งซื้อผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าว ไอ้ที่ตั้งใจว่าจะเซอร์ไพรซ์ก็เลยกลายเป็นทุกคนรู้เรื่องที่เขาซื้อแหวนเพชรกันหมดฌอน เลน จึงเอาเรื่องนี้ไปฟ้องต่อศาล ด้วยวิธีการฟ้องเป็นคดีกลุ่ม โดย เลน อ้างว่าปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้เฟซบุ๊คอีกกว่า 3.6 ล้านคน ในเรื่องที่เฟซบุ๊คกระทำการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้เฟซบุ๊คในส่วนของกิจกรรมที่นอกเหนือจากการที่ทำในเว็บไซต์เฟซบุ๊ค ซึ่งผลจากการพิจารณาคดี ศาลตัดสินว่าเฟซบุ๊คได้กระทำการละเมิดผู้ใช้เฟซบุ๊คจริง เฟซบุ๊คจึงต้องทำการยกเลิกโปรแกรม Beacon พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนด้วยเงินจำนวน 9.5 ล้านดอลล่าร์ ในการดูแลและพัฒนาเรื่องโปรแกรมความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยเรื่องการใช้จ่ายเงินผ่านสังคมออนไลน์(ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Lane_v._Facebook,_Inc.)เมื่อผู้พิการทางสายตาเรียกร้องให้เว็บไซต์ขายสินค้าทำระบบเพื่อให้พวกเขาใช้งานได้เหมือนคนปกติในปี 2006 สภาผู้พิการทางสายตาแห่งชาติอเมริกาฟ้องเว็บไซต์ของร้านค้าเฟรนไชส์ชื่อดังอย่าง Target ที่ไม่ยอมจัดทำระบบที่เอื้อต่อผู้พิการให้สามารถใช้บริการและสั่งซื้อสินค้าในเว็บไซต์ ซึ่งเมื่อได้มีการนำเรื่องฟ้องต่อศาล ศาลก็ตีความให้คดีนี้เป็นการฟ้องคดีแบบกลุ่ม เพราะโจทก์ฟ้องคดีเพื่อมุ่งหวังประโยชน์ต่อส่วนรวมคือผู้พิการทางสายตาทั่วไปไม่ใช่เพื่อองค์กร ซึ่งผลของคดีนี้ทำให้เว็บไซต์ Target ก็ได้สร้างระบบในส่วนที่เอื้อให้ผู้พิการสายตาสามารถเข้าถึงการซื้อสินค้าได้และยังทำความร่วมมือกับสภาผู้พิการทางสายตาแห่งชาติอเมริกาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา(ที่มา :https://en.wikipedia.org/wiki/National_Federation_of_the_Blind_v._Target_Corp.)เติมน้ำมันแล้วเครื่องยนต์พัง เจ้าของรถรวมตัวฟ้องเรียกค่าชดเชยผู้ใช้รถยนต์ในอเมริการวมตัวกันฟ้องบริษัทน้ำมัน “เชลล์” ในแคนาดา เนื่องจากขายน้ำมันเบนซินที่มีการเติมสารบางตัวซึ่งทำให้เครื่องยนต์ของรถที่เติมน้ำมันชนิดดังกล่าวเข้าไปเกิดปัญหา ซึ่งเชลล์ยอมรับว่าน้ำมันที่เป็นปัญหาถูกผลิตออกมาขายในช่วงปี 2001 ถึง 2002 คาดว่าน่าจะมีผู้ที่เติมน้ำมันชนิดนี้ไปอยู่ที่ 1 แสนถึง 2 แสนคน ซึ่งเชลล์ก็ยอมรับที่จะชดเชยความเสียหายให้กับลูกค้าที่เติมน้ำมันไปตามสัดส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้น(ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Shell_Canada_lawsuit)โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยสารพิษลงแหล่งน้ำทำประชาชนป่วยโรคมะเร็งตัวอย่างคดีฟ้องกลุ่มที่โด่งดังมากๆ คดีหนึ่ง โด่งดังถึงขั้นถูกสร้างเป็นหนังมาแล้ว นั้นคือคดีของ “อิริน บร็อคโควิช” สาวลูก 3 ที่ทำงานเป็นเสมียนในสำนักงานกฏหมาย ได้ฟ้องบริษัท PG&E ที่ปล่อยสารพิษลงในแหล่งธรรมชาติในเมืองฮินกี้ รัฐแคริฟอร์เนีย ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นจำนวนมาก อิริน เป็นต้นเรื่องในการส่งเรื่องนี้ให้ศาล พร้อมไปกับการล่ารายชื่อเชิญชวนผู้ที่ได้รับเสียหายรวมกันฟ้องคดี สุดท้ายศาลสั่งให้ PG&E ต้องชดเชยความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเงินสูงถึง 333 ล้านดอลล่าร์ ถือเป็นการจ่ายเงินชดเชยสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การพิจารณาคดีในอเมริกา (ฉบับภาพยนตร์ใช้ชื่อว่า Erin Brockovich (ปี 2000))( ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Erin_BrockovichXคดีฟ้องกลุ่มที่ปลุกจิตสำนึกเรื่องการคุกคามทางเพศในอเมริกาปี 1988 หลุยส์ เจนสัน กับเพื่อนร่วมงานหญิงอีก 14 คน ฟ้องร้องให้ศาลเอาผิดกับ Eveleth Taconite Co บริษัทที่พวกเธอทำงาน ฐานที่ปล่อยให้บรรดาเพื่อนร่วมงานผู้ชายแสดงกิริยา ท่าทาง วาจา คุกคามทางเพศพนักงานผู้หญิงที่อยู่ร่วมบริษัทเดียวกัน แม้จะต้องต่อสู้นานร่วม 10 ปี แต่สุดท้ายศาลก็มีคำสั่งให้บริษัท Eveleth จ่ายเงินชดเชยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหญิงสาวทั้ง 15 คนเป็นเงิน 3.5 ล้านดอลล่าร์ ที่สำคัญที่สุดคดีนี้ให้ทำผู้คนทั่วสหรัฐอเมริกาหันมาให้ความสำคัญและเคารพเรื่องสิทธิสตรีมากขึ้น (คดีนี้ได้ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน นั่นคือเรื่อง North Country (ปี 2005))(ที่มา : http://www.iveyengineering.com/blog/class-action-lawsuits-2/)การฟ้องคดีแบบกลุ่มกับปัญหาด้านคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เกิดข้อพิพาทของผู้บริโภคที่ลักษณะความเสียหายหรือถูกละเมิดในลักษณะกลุ่มเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณี ลูกค้าสถานออกกำลังกาย “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” ที่ถูกยกเลิกการให้บริการโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบและไม่มีการคืนเงินค่าบริการที่ผู้ใช้บริการได้จ่ายไว้ล่วงหน้า ซึ่งมีผู้เสียหายจำนวนกว่า 2,000 คน มูลค่าความเสียหายสูงกว่า 50 ล้านบาท หรือจะเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคพบเจอปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐาน อย่างเช่น กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต ครูซ และแคปติวากว่า 20 ราย พบว่ารถที่ใช้งานอยู่มีปัญหาที่ระบบเกียร์ซึ่งเสี่ยงต่อความปลอดภัย แม้จะแจ้งกับทางบริษัทผู้ผลิตแต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขที่เหมาะสม จนเกิดการรวมกลุ่มกันแล้วเข้าฟ้องร้องต่อ สคบ. แต่เหมือนปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องเหมาะสม ลองคิดกันดูว่าถ้ามีกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ตัวอย่างปัญหาที่ยกขึ้นมาน่าจะได้ช่องทางและวิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบและรวดเร็วมากกว่าที่เป็นอยู่ แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะมีกฎหมายที่ช่วยผู้บริโภคในการฟ้องคดี อย่าง กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค แต่กฎหมายฟ้องคดีแบบกลุ่มจะช่วยในกรณีที่ความเสียหายเกิดกับผู้บริโภคจำนวนมาก ทำให้ศาลเห็นถึงภาพความเสียหายที่ชัดเจนกว่าการแยกกันฟ้องเป็นรายบุคคล เป็นการลดขั้นตอน ลดภาระในการฟ้องคดีของทั้งผู้บริโภคและศาล แม้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจะมีข้อดีตรงที่ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทางศาลในการดำเนินคดี แต่หากเป็นกรณีที่ความเสียหายไม่มากผู้บริโภคก็อาจไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินเรื่องฟ้องเป็นคดีต่อศาล แต่หากใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ไม่ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากน้อยเพียงใด แต่หากเป็นความเสียหายในลักษณะเดียวกัน มีคู่ความเป็นคนเดียวกัน ก็สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกในการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ โดยไม่ต้องทำหน้าที่เป็นโจทก์ เพียงแค่อาจต้องให้ข้อมูลในส่วนของการพิจารณาคดีเท่านั้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 172 จำไว้ เธอไม่ใช่นม(ข้นหวาน)

เครื่องดื่มเย็นชื่นใจ ไม่ว่าจะเป็นกาแฟเย็น ชาเย็น โกโก้เย็น คนขายที่เป็นแม่ค้าพ่อค้าจะปรุงด้วยส่วนผสมที่เราเรียกกันติดปากว่า “นมข้นหวาน และนมข้นจืด” แถมด้วยผง “ครีมเทียม” และน้ำตาลทราย เพื่อให้ได้รสชาติ หวาน มัน สะใจลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคนั่นเอง โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะปลอบใจตนเองจากการที่นิยมชมชอบดื่มเครื่องดื่มที่ทั้งหวานและมันจัดว่า ถึงอย่างไรก็ยังได้รับประโยชน์เชิงสุขภาพจากน้ำนมที่มีใน “นมข้นหวาน นมข้นจืด” อยู่บ้างล่ะน่า เพราะยังเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทำจากน้ำนมโค ซึ่งมีสารอาหารโปรตีนและแคลเซียมคุณภาพดี เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ แต่หากได้อ่านฉลากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในท้องตลาดแล้ว ผู้บริโภคอาจจะต้องตั้งคำถามใหม่ว่า นมข้นหวาน หายไปไหน เพราะฉลากที่เคยระบุเป็นนมข้นหวาน นมข้นจืด ไม่มีอีกแล้ว แต่กลายเป็น “ผลิตภัณฑ์นม” “ครีมเทียมข้นหวาน” “ครีมเทียมข้นจืด????.เช็คหน่อย” กันไปหมด แล้วผลิตภัณฑ์ชื่อใหม่ๆ เหล่านี้มันคืออะไรกัน แต่ที่แน่ๆ ถ้าไม่อ่านฉลากก็จะไม่รู้อะไรกันเลยทีเดียว นมข้นมาจากไหนรองศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลเรื่องผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่า ในประเทศที่ผลิตนมโคเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มักมีน้ำนมผลิตออกมามากจนเกินความต้องการของตลาด ซึ่งนิยมถนอมรักษาเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ เช่น นมผง นมข้นจืด ทั้งนี้ เพื่อมีอายุการเก็บรักษายืนยาวขึ้น ประหยัดพื้นที่การเก็บรักษาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า โดยนมข้นจืด ทำจากการนำน้ำนมไประเหยเอาน้ำออกเพื่อให้เข้มข้นขึ้น โดยการให้ความร้อนในเครื่องระเหยภายใต้ระบบสุญญากาศ คล้ายกับการต้มหรือเคี่ยวให้น้ำงวดลง น้ำที่ถูกระเหยออกไปเป็นประมาณครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) นมชนิดนี้จึงมีปริมาณสารอาหารประเภทหลักๆ ได้แก่ โปรตีน ไขมันและแร่ธาตุ เป็นสองเท่าของนมสด จึงเรียกกันว่า “นมข้น” และเพราะมีรสจืด ก็กลายเป็น “นมข้นจืด” บางทีก็เรียกว่า “นมข้นไม่หวาน” ในบางประเทศจะเรียกว่า “นมระเหย” (Evaporated Milk) โดยนมข้นจืดมักนำไปบรรจุกระป๋อง และถูกส่งไปช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่มีปัญหาขาดสารอาหาร เช่น ในทวีปอัฟริกา เพื่อให้นำไปเจือจางน้ำสะอาดอีก 1 เท่า และใช้ดื่มเป็นนมสด หลายสิบปีก่อน เมื่ออุตสาหกรรมนมในประเทศไทยยังไม่พัฒนา ก็ได้มีการนำนมข้นจืดมาเจือจางและดื่มเป็นนมสดเช่นกัน คนไทยเราเลยมีความคุ้นเคยว่านมที่อยู่ในกระป๋องสูงๆ มีประโยชน์ดี ส่วนนมข้นหวานผลิตโดยใช้นมข้นจืดมาผสมกับน้ำตาลทรายในสัดส่วนประมาณ 55 ต่อ 45 มีรสหวานจัด ไม่ต้องเก็บในตู้เย็น แต่ห้ามใช้ชงเลี้ยงทารก เพราะต้องเจือจางถึง 5 เท่า ถึงจะหวานพอดี สารอาหารจึงไม่เพียงพอสำหรับทารก ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงบังคับให้ระบุบนฉลากว่า “ห้ามใช้เลี้ยงทารก” สำหรับในต่างประเทศ นมข้นหวานและนมข้นจืด ใช้ทำขนมอบ พวกเบเกอรี่ เพราะเป็นน้ำนมและมีความหวานมัน คนไทยก็นิยมเติมในชา กาแฟ โกโก้ ที่เรียกกันไปต่างๆ เช่น ชานม กาแฟเย็น โอเลี้ยงยกล้อ ผู้บริโภคยังได้สัมผัสรสชาติ และสารอาหารธรรมชาติในน้ำนมตามปริมาณเติมเพื่อปรุงแต่งความอร่อย เมื่อมีการผลิตนมข้นทั้ง 2 ชนิดในบ้านเรา ผู้ผลิตไม่สามารถนำน้ำนมสดมาเป็นวัตถุดิบโดยตรง เพราะไม่มีการผลิตอย่างเพียงพอ ทำให้มีราคาสูง จึงได้นำนมผงที่นำเข้าจากต่างประเทศมาผสมน้ำในสัดส่วนที่เหมาะสม แล้วนำมาบรรจุกระป๋อง ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจึงผลิตได้ในประเทศและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันเราไม่สามารถหาซื้อ “นมข้นหวาน” และ”นมข้นจืด” ในท้องตลาดในบ้านเราอีกแล้ว เพราะ “นมข้นหวาน” และ “นมข้นจืด” ในเมืองไทยเราเปลี่ยนชื่อเป็น ”ผลิตภัณฑ์นม.....” “ครีมเทียมข้นหวาน” และ “ครีมเทียมข้นจืด” หมดแล้ว โดยที่สภาพหน้าตาของผลิตภัณฑ์ยังคงมีรูปลักษณะเดิม แต่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์แตกต่างไปจากเดิม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อเรียกบนฉลากว่า “นมข้นหวาน” และ”นมข้นจืด” ดังที่เคยใช้มา แต่คนไทยเรายังคงคุ้นเคยกับชื่อเดิมและใช้เรียกอย่างทั่วไป จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในคุณประโยชน์ได้ครีมเทียมคืออะไรคำว่า “ครีมเทียม” เข้ามาอยู่ในชื่อของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้อย่างไร และมันคืออะไรกันแน่ ครีมเทียมคือ ผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นเลียนแบบครีมแท้ ครีมแท้ทำมาจากน้ำนมโคที่เหวี่ยงแยกไขมันออกมา จึงมีแต่ไขมันในสัดส่วนที่สูงมาก และมีโปรตีนและสารอาหารอื่นจากนมน้อย ครีมเทียมจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เน้นให้มีไขมันเป็นหลักแต่ไม่ใช้ไขมันนมเพื่อลดต้นทุนลง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ครีมเทียม จึงหมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ทำจากนมและมีไขมันอื่นนอกจากมันเนย เป็นส่วนที่สำคัญ ส่วนประกอบหลักในครีมเทียม จึงเป็นแป้งที่ผ่านการย่อยบางส่วนที่เรียกกันว่า กลูโคสไซรัป หรือ มัลโตเด๊กตริน (คนไทยจะคุ้นชินในชื่อ แบะแซ) ผสมกับไขมัน โดยบางยี่ห้อก็เป็นน้ำมันปาล์ม บางยี่ห้อก็เป็นน้ำมันพืชชนิดอื่นหวาน มัน ครั้งต่อไป จำไว้ เธอไม่ใช่นม นมข้นหวานและนมข้นจืด ได้มีการเปลี่ยนแปลงสูตรไปจากเดิม ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือผู้ผลิตต้องการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งไม่ใช่เพิ่งทำ แต่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว ในระยะแรก เริ่มจากการใช้ไขมันเนยที่มีราคาแพงไปเป็นการใช้ไขมันพืชแทน เช่น การใช้น้ำมันปาล์มบ้าง น้ำมันมะพร้าวบ้าง ผสมกับนมผงขาดมันเนย ต่อมาจึงได้เริ่มมีการลดปริมาณนมผงที่เติมลงไป จนมีปริมาณนมในผลิตภัณฑ์น้อยมากจนกฎหมายไม่อนุญาตให้คำเรียกว่า “นม” เพราะผลิตภัณฑ์ที่จะเรียกว่า “นม” ได้นั้น จะต้องมีเนื้อนมไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ผลิตภัณฑ์ที่คนไทยส่วนใหญ่ยังหลงเรียกกันว่า “นมข้นหวาน และนมข้นจืด” จึงตกจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์นม และเพื่อให้สามารถปรับปริมาณนมได้ตามอิสระมากขึ้น ผู้ประกอบการบางรายเลือกที่จะให้ผลิตภัณฑ์เข้าไปอยู่ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ครีมเทียม แทน เพราะทำให้สามารถปรับลดต้นทุนได้ง่ายขึ้น ด้วยการเพิ่มการใช้กลูโคสไซรัป (แบะแซ) ในปัจจุบันนี้ ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันว่า ครีมเทียมทั้งในรูปผง ข้นจืดและข้นหวานในกระป๋อง ที่เรานิยมใส่ในเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ โกโก้ ทั้งร้อนและเย็น รวมทั้งที่มีในผง 3 in 1 ทั้งหลาย มีสัดส่วนของน้ำนมน้อยมากหรืออาจไม่มีเลย ถ้าจะเลือกใช้แบบที่บรรจุกระป๋อง ก็ใช้ที่ผู้ผลิตเรียกว่า “ผลิตภัณฑ์นม” ก็จะได้บริโภคเนื้อนมมากกว่า เพราะมีกฏหมายคุมอยู่บ้าง เข้าทำนอง “กำขี้ดีกว่ากำตด” จึงต้องฝึกการอ่านฉลากและส่วนประกอบไว้ให้เป็นนิสัย ซึ่งกฎหมายบังคับให้ผู้ผลิตต้องแสดงข้อความดังกล่าวเป็นร้อยละหรือเปอร์เซ็นต์ เท่าทันคำอ้างบนฉลากเรื่องแรกที่ควรรู้ให้เท่าทันคือ สิ่งที่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ไม่ว่ายี่ห้อไหน ชอบระบุว่า “ไม่มีโคเลสเตอรอล” หรือ “ปราศจากโคเลสเตอรอล” (No Cholesterol) ในความจริงตามธรรมชาตินั้น ไขมันจากพืชไม่มีโคเลสเตอรอลอยู่แล้ว แต่หากเป็นไขมันอิ่มตัวเช่น ไขมันปาล์ม เมื่อบริโภคเข้าไปร่างกาย ร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นโคเลสเตอรอลได้และยังมีผลในการเพิ่มไขมันตัวไม่ดี แอลดีแอล (LDL) อีกด้วย ไขมันที่ใช้ทดแทนไขมันนม ต้องการไขมันที่มีความอิ่มตัวสูง เพราะทำให้รสชาติมันอร่อย เวลาเติมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ลงในเครื่องดื่มถ้วยโปรด จึงต้องใช้สติ ควบคุมอารมณ์ความยากให้ดี อย่า หวาน มัน มากเกินไป เพราะในแต่ละวันเราก็ยังมีโอกาสที่ได้รับไขมันอิ่มตัวจากอาหารมื้อหลักในปริมาณที่สูงมากได้อีกหลายทาง เรื่องที่สอง คือการสร้างความกลัวเรื่องไขมันทรานส์ สิ่งที่น่ากังวลคือ ผู้ผลิตมักมีการกล่าวอ้างเรื่องไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์ครีมเทียมว่า “ปราศจาก” ซึ่งต้องเข้าใจและไม่หลงคล้อยตาม เพราะปัญหาเรื่องไขมันทรานส์มักพบในประเทศแถบตะวันตกเป็นหลัก เนื่องจากการผลิตครีมเทียมด้วยน้ำมันพืชที่มีไขมันไม่อิ่มตัว ต้องใช้กระบวนการไฮโดรจิเนชั่น (Hydrogenation) ซึ่งจะทำให้เกิดไขมันทรานส์ ที่มีผลให้ไขมันแอลดีแอล และโคเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นแล้ว ยังไปทำให้ไขมันตัวดีหรือเอชดีแอลลดลงด้วย แต่สถานการณ์นี้จะไม่เกิดในเมืองไทยเพราะเราใช้ไขมันอิ่มตัวที่ไม่ผ่านกระบวนการไฮโดรจิเนชั่น การกล่าวอ้างดังกล่าวจึงเป็นการกลบเกลื่อนหรือเบี่ยงเบนข้อเสียของผลิตภัณฑ์ตนเองที่อุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัว แต่เปลี่ยนเป็นการทำให้คนไทยเกิดความกลัวไขมันทรานส์จนลืมปัญหาที่แท้จริงของตนเองคือไขมันอิ่มตัว จึงต้องระวังกันให้มากเมื่อมีการใช้ครีมเทียมมาผลิตเป็น ครีมเทียมข้นหวาน ครีมเทียมข้นจืด สิ่งที่ทำให้คนเรารู้ไม่เท่าทันนั่นก็คือ หน้าตาและรสชาติที่ยังคงเดิม น้ำมันปาล์มที่ใช้ยิ่งใส่มากยิ่งได้ความมันอร่อย คนไทยกินอาหารมักคำนึงถึงความอร่อยมาก่อนสุขภาพ ปัจจุบันคนไทยจึงประสบปัญหาของไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจขาดเลือด ตลอดจน เบาหวานและความดันโลหิตสูงมากขึ้น การอ่านฉลากก่อนซื้อจึงมีความสำคัญมาก และนั่นก็คือ การฉลาดซื้อนั่นเอง          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 ขาวอย่างมีสติ!!!

  “เซ็ตราชนิกลูผิวขาวถาวร ขาวจนคนเกลียด”“เซ็ตกลูต้านีออน ขาวลืมกรรมพันธุ์!!!”“ครีมหัวเชื้อตัวขาว ขาวใสขึ้นภายใน 1 สัปดาห์”“ขาวโบ๊ะ ขาวเร่งด่วนใน 1 ชั่วโมง”“โสมโดส ขาวไว ขาวจริง ท้าพิสูจน์ใน 7 วัน ดำแค่ไหนก็ขาวได้”“กลูต้าผีดิบ ขาวไวปรอทแตก”ซื้อครีมหน้าขาวผ่านเฟซบุ๊ค ระวังทุกข์จะตามมาแหม...ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าข้อความข้างบนคือคำโฆษณาสรรพคุณของเหล่า “ผลิตภัณฑ์เพื่อความขาว” ไม่ว่าจะเป็นครีมทาหน้า กลูต้าพร้อมรับประทาน หรือสบู่ถูปุ๊บขาวปั๊บ ที่ใช้คำได้หวือหวาน่าตกใจ ดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ทั้งหมดนี้คำโฆษณาจริงๆ ของผลิตภัณฑ์เพื่อผิวขาวที่มีขายอยู่จริง บนโลกออนไลน์ แถมที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ เท่านั้น ยังมีผลิตภัณฑ์เอาใจคนอยากขาวอีกสารพัดที่ขายเกลื่อนอยู่ตามเว็บไซต์บนโลกออนไลน์ และอีกสารพัดช่องทางผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม ยูทูป เพราะพื้นที่เหล่านี้ ไม่ต้องเสียค่าโฆษณา แค่มีสื่อสังคมออนไลน์เป็นหน้าร้านไว้โฆษณาขายสินค้าและติดต่อกับลูกค้าได้โดยตรง แต่ในผลิตภัณฑ์เพื่อความขาวที่วางขายจำนวนมหาศาลหลายร้อยยี่ห้อ โดยเฉพาะที่ยึดพื้นที่สื่อออนไลน์หรือในโซเชียลเน็ตเวิร์ค มีจำนวนไม่น้อยที่เข้าข่าย “สินค้าไม่ปลอดภัย” คนซื้อไปใช้เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ อย่างที่เห็นเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่า มีหญิงสาวต้องเสียโฉมจากการใช้ครีมที่ไม่ได้คุณภาพ แม้หน่วยงานของรัฐอย่าง อย. จะพยายามตรวจจับจัดการเชือดพวกผลิตภัณฑ์ผิวขาวอันตรายที่ตั้งใจหลอกลวงผู้บริโภค แต่จับเท่าไหร่ก็ไม่หมดเพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีขายอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่เชื่อลองพิมพ์คำว่า “ครีมหน้าขาว” ในช่องค้นหาของหน้าเฟซบุ๊ค จะเจอกับหน้าเพจขายผลิตภัณฑ์ผิวขาวจำนวนมหาศาล!!!ความคิดเรื่องการดูแลตัวเองนั่นเป็นเรื่องที่ดี แต่หากดูแลผิดวิธีแทนที่ตัวเองจะดูดีหรือมีสุขภาพดีขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้มันอาจกลับกลายเป็นตรงกันข้าม ความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์เพื่อผิวขาวที่มาพร้อมยี่ห้อที่ไม่คุ้นเคย สารพัดคำโฆษณาสรรพคุณที่ฟังแล้วน่าตกใจมากกว่าน่าเชื่อถือ ข่าวคราวการเฝ้าระวังพร้อมกับคำเตือนจากหน่วยงานรัฐอย่าง อย. ก็มีออกมาเตือนสติคนอยากขาวอยู่เรื่อยๆ แต่ทำไมของที่ดูไม่น่าปลอดภัยแบบนี้จึงยังหาซื้อได้ง่าย ทำไมหลายคนถึงอยากขาวจนมองข้ามความปลอดภัย สังคนไทยเรากำลังละเลยกับปัญหานี้อยู่หรือเปล่า?เหตุผลที่คนกล้าซื้อผลิตภัณฑ์ผิวขาวผ่านโซเชียลมีเดีย-อิทธิพลของโซเชียลมีเดียข้อมูลจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) Digital Advertising Association (Thailand) หรือ DAAT  พบว่า ในปี 2014 ประเทศไทยเรามีจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊คสูงถึง 30 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นกลุ่มผู้ใช้งานผ่านมือถือต่อเดือนสูงถึง 28 ล้านคน ขณะที่ YouTube มียอดผู้ใช้งาน 26.25 ล้านคน ส่วนแอพลิเคชั่นแชร์รูปออนไลน์อย่าง Instagram มียอดผู้ใช้งาน 1.7 ล้านคนจากจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊คจำนวนมาก ทำให้เฟซบุ๊คกลายเป็นช่องทางหลักในการขายสินค้าของเราบรรดาแม่ค้า - พ่อค้าขายครีมและผลิตภัณฑ์หน้าขาว เพราะเข้าถึงคนซื้อได้เป็นจำนวนมาก ข้อมูลต่างๆ ส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊คส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นอายุ 18-24 ปี มากถึง 32% ของผู้ใช้ทั้งหมด ซึ่งสาวๆ ในวัยนี้ถือเป็นกลุ่มเป้าหลายหลักของพ่อค้า - แม่ค้าขายครีมออนไลน์ เพราะสาวๆ ในวัยนี้เป็นวัยที่รักสวยรักงามอย่างที่สุด เมื่อเจอค่านิยมเรื่องว่าต้องขาวถึงจะสวย สาวๆ วัยนี้ก็พร้อมที่จะเกาะกระแสและเชื่อในโฆษณาขายฝัน-เชื่อมั่น + ชื่นชอบ ในตัวดารา นักแสดงชื่อดัง หรือพริตตี้สาวสวยที่มาเป็นพรีเซนเตอร์ขายสินค้ากลยุทธ์หลักอย่างหนึ่งของบรรดาครีมที่ขายอยู่ในโซเชียลมีเดีย คือการนำดาราสาวหรือนางแบบสาวชื่อดังมาเป็นพรีเซนเตอร์ขายครีม เป็นเสมือนการการันตีว่าถ้าใครใช้ครีมนี้รับรองว่าจะขาวสวยใสเหมือนกับดาราสาวที่มาเป็นพรีเซนเตอร์ถ่ายรูปคู่ช่วยขายครีมยี่ห้อนั้นแน่นอน แม้ครีมหรือสินค้าต่างๆ ที่ขายจะไม่ได้มียี่ห้อดังหรือเป็นที่รู้จักมาก่อน แต่พอมีดาราดังมาช่วยขาย ช่วยถือสินค้าถ่ายรูปคู่ สินค้าตัวนั้นก็เหมือนได้รับการรับรองไปในทันที ซึ่งแน่นอนว่าเหล่าดารา - นางแบบถือว่ามีภาษีเรื่องความสวยความขาวอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จูงใจให้ตัดสินใจซื้อครีมยี่ห้อนั้น -เชื่อในรีวิวของลูกค้าคนอื่นๆ ที่เคยใช้สินค้าอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่เป็นอาวุธหลักของการขายครีมผ่านทางโซเชียลมีเดียก็คือ รีวิวจากคนที่เคยใช้สินค้า แม้การใช้ดารา – นางแบบชื่อดังมาช่วยขายสินค้าจะเป็นการใช้คนดังมาช่วยการันตีสินค้าให้ดูน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นแล้ว แต่การมีคนที่อ้างว่าใช้ผลิตภัณฑ์จริง คนธรรมดาๆ ที่ออกตัวว่าเป็นลูกค้าจริงๆ มาช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ มาให้ข้อมูลการันตีว่าครีมที่ซื้อไปใช้แล้วดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ กลายเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้คนที่กำลังคิดอยากจะซื้อครีมยี่ห้อดังกล่าวกล้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ช่วยเป็นเครื่องมือยืนยันว่าสินค้าของพ่อค้า – แม่ค้าเจ้านี้ขายจริง ส่งจริง คนที่เคยใช้ใช้แล้วดีจนต้องบอกต่อ-ราคาถูกกว่าราคาของครีมและสารพัดผลิตภัณฑ์เพื่อผิวขาวที่ขายในโซเชียลมีเดียราคาถูกกว่าครีมยี่ห้อดังที่ขายตามเคาน์เตอร์แบรนด์ในห้างสรรพสินค้า ครีมยี่ห้อดังจากต่างประเทศหลายยี่ห้อ ราคาเริ่มที่หลักพัน แต่ครีมหน้าขาวที่ขายในโซเชียลมีราคาตั้งแต่หลักร้อยบาท บางผลิตภัณฑ์อย่างสบู่ผิวขาวราคาแค่หลักสิบเท่านั้น หรือถ้าเป็นกลูต้าแบบแคปซูลราคาอยู่ที่ 2-10 บาทต่อเม็ดเท่านั้น!!! ยิ่งพอขายผ่านเฟซบุ๊ค ซึ่งคนที่ใช้เฟซบุ๊คส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ซึ่งรายได้ยังไม่สูงนักหรือยังไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง เมื่อเจอตัวเลือกที่คิดว่าจะทำให้สวยขาวขึ้นได้ในราคาถูก มีหรือที่หลายคนจะไม่ตกลงปลงใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เมื่อราคามันจูงใจจึงทำให้หลงลืมคิดเรื่องคุณภาพมาตรฐานของสินค้าและเรื่องสำคัญอย่างความปลอดภัยเจอแบบนี้อย่าซื้อ!!!    โฆษณาเกินจริง ตั้งสติแล้วคิดก่อน    ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่า ผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาโดยใช้ถ้อยคำที่สื่อในลักษณะที่ว่า “ขาวเร็ว ขาวไว ขาวใน 3 วัน 7 วัน” มีโอกาสสูงที่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะมีส่วนผสมของสารเคมีอันตรายอย่าง ปรอท หรือ สารไฮโดรควิโนน เพราะสารเหล่านี้มีฤทธิ์รุนแรงต่อผิวหน้าและทำลายเม็ดสีในผิวหนัง ซึ่งจริงอยู่ที่ผิวหน้าของคุณอาจจะดูขาวใสขึ้นในการใช้ในช่วงแรก แต่หลังจากใช้ไปสักพักผิวหน้าจะเริ่มเกิดปัญหาเริ่มเกิดรอยฝ้า เกิดจุดด่างดำ เป็นสิว เพราะผิวหน้าถูกสารเคมีกัดกร่อนจนผิวบางลง เม็ดสีในชั้นผิวหนังถูกทำลาย ทำให้ผิวหน้าไวต่อแสงแดด สารเคมี และมลพิษต่างๆดารา - พริตตี้ไม่ได้การันตีว่าผลิตภัณฑ์นั้นปลอดภัย    การมีดาราดังหรือพริตตี้หน้าตาดีมาเป็นพรีเซนเตอร์ถ่ายรูปคู่กับสินค้า อาจช่วยกระตุ้นให้คนอยากใช้ผลิตภัณฑ์ตัวนั้นมากขึ้น เพราะอยากจะขาวสวยเหมือนกับดาราหรือพริตตี้ที่ถ่ายรูปคู่กับสินค้า แต่นั้นก็ไม่ได้การันตีว่าเราใช้ผลิตภัณฑ์นั้นแล้วเราจะสวยขาวดูดีเหมือนกับดาราหรือพริตตี้ที่มาเป็นพรีเซนเตอร์ แถมที่สำคัญดาราและพริตตี้เหล่านั้นอาจจะแค่ “ถ่ายรูปคู่กับสินค้า” เพราะถูกจ้างมาให้ช่วยโปรโมทเท่านั้น ไม่เคยใช้เองจริงๆ แม้แต่ครั้งเดียว นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ผิวขาวที่ขายโดยดาราหรือพริตตี้ก็เคยมีที่ตรวจพบว่าใช้สารเคมีต้องห้ามคนซื้อใช้หน้าพังจนเป็นข่าวฮือฮามาแล้วรีวิวสินค้าคืออาชีพ        การรีวิวสินค้ากลายเป็นอาชีพใหม่ของเหล่าสาวสวย-หนุ่มหล่อ โดยจะรู้จักกันในชื่อ “พริตตี้รีวิว” ซึ่งมีหน้าที่ คือ รีวิว ทอสอบ ทดลองใช้สินค้า บริการหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้วถ่ายภาพคู่กับสินค้า โดยต้องรู้มุมกล้องที่ถ่ายออกมาแล้วทำให้ภาพตัวเองออกมาดูดี ดูสวย ขาว ส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ดูดี ถ้าภาพออกมาสวยโดนใจเจ้าของสินค้าภาพนั้นก็ถูกโพสลงโซเชียลมีเดีย แค่นี้งานก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย ค่าจ้างก็จะอยู่ที่หลักพันสำหรับพริตตี้ที่ยังไม่มีชื่อเสียง แต่ถ้าเป็นดารา นางแบบ พริตตี้ที่เป็นที่รู้จัก หรือ “เน็ตไอดอล” ซึ่งหมายถึงคนดังในโลกโซเชียลมีเพื่อนหรือคนกดติดตามระดับแสนคน ค่าจ้างในการช่วยถ่ายรูปคู่กับสินค้าก็อาจจะสูงระดับหลักหมื่นไม่มีฉลาก ไม่มีชื่อ - ที่อยู่ผู้ผลิต ไม่มีเลข อย.    ผลิตภัณฑ์เพื่อผิวขาวที่ขายกระหน่ำอยู่ตามเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม หลายยี่ห้อบรรยายสรรพคุณสารพัด ใช้ดาราหรือพริตตี้ขาวสวยมาช่วยอวยสินค้า มีการโชว์คอนเม้นจากคนที่อ้างว่าเคยใช้แล้วดีอย่างงั้นดีอย่างงี้ แต่พอไปดูที่ตัวผลิตภัณฑ์กับไม่มีข้อมูลสำคัญอย่าง ชื่อ - ที่อยู่ผู้ผลิต เลขที่ อย. ก็ไม่มี ฉลากก็ถูกต้องครบถ้วน แบบนี้ถือว่าเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยสูง ถ้าหากซื้อไปใช้แล้วเกิดหน้าพังขึ้นมาจะไปเรียกร้องขอความรับผิดชอบจากใครก็ลำบาก เพราะเราไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นใครเป็นผู้ผลิตแค่ซื้อออนไลน์ก็เสี่ยงแล้วการซื้อสินค้าออนไลน์ในปัจจุบัน ถือว่ายังมีความเสี่ยง ด้วยว่าผู้ซื้อไม่ได้เห็นสินค้าของจริง เห็นเพียงแค่รูปเท่านั้น ยิ่งเป็นพวกเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพย่อมมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการต้องสูญเงินเพราะได้ของไม่มีคุณภาพแล้ว ยังเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดกับสุขภาพ หน้าพัง เสียโฉม เมื่อเกิดปัญหาการตรวจสอบย้อนหลังก็เป็นเรื่องยาก ก่อนซื้อสินค้าออนไลน์จึงควรตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้านครบถ้วน เลือกซื้อสินค้ากับผู้ขายที่น่าไว้วางใจตรวจสอบได้ไม่ยาก ถ้าอยากจะทำธุรกิจขายครีมหน้าขาว     เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ครีมหน้าขาวขายระเบิดไปทั่วโซเชียลมีเดีย ก็คือการที่ธุรกิจนี้สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยากด้วยเงินทุนเริ่มต้นไม่กี่พันบาท!!! แถมไม่ต้องคิดสูตรครีมเอง ไม่ต้องรู้เรื่องสารเคมี ไม่ต้องจ้างห้องแล็ป ไม่ต้องมีหน้าร้าน“ครีมกิโล” คือคำศัพท์ที่พ่อค้า – แม่ค้าขายครีมคุ้นเคยดี เพราะพ่อค้า – แม่ค้าครีมหลายเจ้าใช้ครีมสำเร็จรูปพร้อมใช้ที่ขายกันเป็นกิโลๆ มาแบ่งขายใส่บรรจุภัณฑ์ใหม่ แล้วก็ทำการติดฉลากคิดยี่ห้อของตัวเอง นำมาขายต่อให้กับคนอยากขาว ครีมกิโลหาซื้อได้ง่าย ลองค้นหาข้อมูลได้ใน google จะเจอทั้งเว็บไซต์และเฟซบุ๊คที่ขายครีมกิโลจำนวนมาก ใน กทม.จะมีแหล่งขายครีมกิโลและอีกสารพัดเครื่องสำอางอยู่ที่ตลาดใหม่ ดอนเมือง ใครที่คิดอยากจะเป็นพ่อค้า – แม่ค้าขายครีมไปที่นี่ที่เดียวก็พร้อมเปิดร้านได้ทันทีครีมกิโลที่ขายกันอยู่ส่วนใหญ่มีราคาตั้งแต่หลักร้อยบาทไปจนถึงหลักหลายพันบาทต่อ 1 กิโลกรัม โดยทางร้านบอกว่าคุณภาพและวัตถุดิบในการผลิตครีมต่างกันราคาจึงมีความแตกต่างกัน ร้านขายครีมกิโลบางเจ้าก็มีแบบที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์มาให้แล้วเรียบร้อย ออกแบบแพ็คเก็จให้สวยงาม บางเจ้าก็มีเลขที่จดแจ้ง อย. ให้ด้วย แต่หลายเจ้าก็ไม่มีเลข อย. ให้ ซึ่งถึงแม้ทางร้านจะมีเลข อย. ให้ แต่ถ้าใครไปซื้อมาแล้วนำมาบรรจุใหม่ตั้งชื่อยี่ห้อใหม่ ก็ถือว่าเป็นสินค้าอีกตัวจะใช้เลข อย. เดียวกันไม่ได้***ตรวจสอบ – สืบค้นข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทั้งเครื่องสำอางและอาหารได้ที่ www.fda.moph.go.th***อันตรายที่เกิดขึ้นจากการใช้ครีมไม่ได้มาตรฐานหากใครที่ได้ติดตามข่าวสารทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์ ทีวี และโดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ น่าจะได้เห็นข่าวคราวที่นำเสนอถึงอันตรายที่เกิดจากการใช้ครีมหน้าขาวผ่านหูผ่านตาอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ทั้งเรื่องคำเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง อย. ที่มักจะมีการประกาศชื่อผลิตภัณฑ์ที่ตรวจสอบแล้วว่าเป็นอันตรายห้ามใช้เด็ดขาด อย่างครั้งหนึ่งที่ อย. เคยประกาศรายชื่อออกมามากถึง 390 ผลิตภัณฑ์!!! เนื่องจากพบการใส่สารอันตรายต้องหามอย่าง สารปรอท ไฮโดรควิโนน และกรดเรทิโนอิก นอกจากนี้ยังมีข่าวการตรวจจับครีมที่ถูกลักลอบนำเข้ามาขายและที่ว่างจำหน่ายแล้วแต่ไม่มีการขอเลขที่ อย. หรือจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่น่าสนใจคือข่าวหรืออาจจะเป็นในรูปแบบของการตั้งกระทู้จำพวกที่เป็นการบอกเล่าประสบการณ์ผ่านเว็บสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่าง pantip.com ที่เป็นตัวอย่างของคนที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ครีมแล้วนำมาเล่าสู่กันฟัง หรือที่เดี๋ยวนี้เขานิยมใช้คำว่า “แฉ” ว่าได้ไปใช้ครีมยี่ห้ออะไรมา แล้วหน้าไม่ได้สวยไม่ได้ขาวอย่างคำโฆษณา แถมหน้ากลับเสียโฉม หน้าพัง ต้องเสียเงินไปรักษากับโรงพยาบาล ซึ่งคนขายหรือคนผลิตครีมก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใดๆในเว็บไซต์ pantip.com จะมีห้องที่รวบรวมกระทู้ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสำอางที่ชื่อว่า “ห้องโต๊ะเครื่องแป้ง” ซึ่งนอกจากจะมีรีวิวว่าครีมยี่ห้อไหนใช้แล้วขาว ใช้แล้วสวย ยังมีกระทู้ที่รีวิวว่าครีมที่เข้าข่ายสินค้าอันตราย มีคนเคยใช้แล้วหน้าพัง หรือมีการสุ่มตรวจแล้วเจอสารอันตราย เป็นการนำข้อมูลและประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังนิตยสารฉลาดซื้อของเราก็เคยนำเสนอผลทดสอบ “สารปรอทในครีมหน้าขาว” พบว่ามีตัวอย่างครีมที่พบสารปรอทปนเปื้อนถึง 10 ผลิตภัณฑ์จาก 47 ผลิตภัณฑ์ (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 137)สารอันตรายที่มักพบในครีมหน้าขาวกรดทีซีเอกรดทีซีเอ หรือ Trichloroacetic Acid เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์รุนแรง ปกติจะใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคผิวหนัง เช่น หูด กระ ริ้วรอย จุดด่างดำ ไฝ และติ่งเนื้อเล็กๆ ที่ขึ้นตามลำคอ ซึ่งต้องใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเท่านั้น อันตรายของกรดทีซีเอ คือ มีฤทธิ์กัดทำลายผิวหนังถึงชั้นหนังแท้ ทำให้เกิดรอยแผลเป็นบนใบหน้า ซึ่งหากผิวหน้าได้รับอันตรายจากกรดทีซีเอแล้วจะไม่มีวิธีรักษาให้หายกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีกสารปรอทสารปรอท เป็นสารที่ถูกประกาศให้ห้ามใช้เด็ดขาดในเครื่องสำอาง เพราะปรอทเป็นสารที่ทำปฏิกิริยารุนแรงกับผิว ด้วยฤทธิ์ที่ยับยั้งการสร้างเม็ดสีในผิวหนัง ทำให้สีผิวจางลง ส่งผลให้ผิวจะมีความไวต่อแสงมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นผื่นแดงง่าย แม้จะทำให้ผิวจะดูขาวใสขึ้นในช่วงแรก แต่จากนั้นผิวจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ นอกจากนี้ด้วยความที่สารปรอทเป็นโลหะหนักหากได้รับสารปรอทเป็นเวลานาน ร่างกายจะดูดซึมสารปรอทเข้ากระแสเลือด ส่งผลเสียต่อไต ตับ และระบบการไหลเสียนของเลือด ทำลายระบบการทำงานของสมอง นอกจากนี้สารปรอทยังส่งผลร้ายจากแม่ไปสู่ทารกในครรภ์ด้วยสารไฮโดรควิโนนไฮโดควิโนนมีฤทธิ์ในการยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง แต่มีผลข้างเคียงคือทำให้เกิดอาการระคายเคือง ไฮโดรควิโนนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อภายในผิวหนังทำให้เกิดเป็นฝ้าถาวรรักษาไม่หาย กฎหมายบังคับให้ไฮโดรควิโนนเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางกรดเรทิโนอิกเป็นสารที่ช่วยให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังและหลุดลอกได้ จึงช่วยให้สิวเสี้ยนและผิวหนังที่หยาบกร้านหลุดลอกออกง่ายขึ้น ความเป็นพิษของกรดเรนิโนอิก คือ ทำให้หน้าแดง และแสบร้อนรุนแรง เกิดการระคายเคือง อักเสบ แพ้แสงแดดหรือแสงไฟได้ง่ายสารสเตียรอยด์ ฤทธิ์ของสเตียรอยด์ส่งผลร

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 169 15 มีนาคม: วันสิทธิผู้บริโภคสากล…สังคมไทยเอาไงดี?

วันที่ 15 มีนาคม ของทุกปี กลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคทั่วโลกที่ใช้ชื่อว่า “สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumer International, CI)” ได้จัดให้มี “วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day, WCRD)” ได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1985 ซึ่งเป็นปีที่องค์การสหประชาชาติได้ออกประกาศคำแนะนำสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค (UNGCP) หลังจากได้เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่ม CI มาร่วม 10 ปี ว่าไปแล้วทุกความก้าวหน้าของสังคมมนุษยชาติต่างได้มาด้วยความพยายามที่ยากลำบากของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนน้อยที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาทั้งสิ้น  สำหรับการที่เลือกเอาวันที่ 15 มีนาคม ก็เพราะว่าเป็นวันที่ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ได้กล่าวสุนทรพจน์เรื่อง “สิทธิผู้บริโภค” ในสภาคองเกรสเมื่อปี 1962 หรือ 53 ปีมาแล้ว ความใน 2-3 ประโยคแรกในสุนทรพจน์ดังกล่าวยังคงเป็นความจริงมาถึงวันนี้ก็คือ “ผู้บริโภคโดยนิยามแล้วหมายถึงพวกเราทุกคน ผู้บริโภคเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบเศรษฐกิจที่ทั้งส่งผลและได้รับผลกระทบจากเกือบทุกการตัดสินใจทั้งของภาครัฐและเอกชน  แม้ว่า 2 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมาจากผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคก็เป็นเพียงกลุ่มสำคัญกลุ่มเดียวที่ไม่มีการจัดตั้งอย่างมีประสิทธิผล ดังนั้น ความเห็นของพวกเขาจึงมักไม่ได้มีการรับฟัง” กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ภาคธนาคารและอื่นๆ ต่างก็มีองค์กรของตนเองไว้ต่อรองกับรัฐบาล แต่ผู้บริโภคกลับไม่มี ปัจจุบัน สหพันธ์ผู้บริโภคสากล ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศอังกฤษ มีสมาชิก 250 องค์กร จาก 120 ประเทศทั่วโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค คือองค์กรสมาชิกจากประเทศไทย CI คือกลุ่มสหพันธ์ผู้บริโภคในระดับโลกที่ทำงานรณรงค์ร่วมกับสมาชิกทั่วโลกเพื่อเป็นเพียงปากเสียงเดียวที่เป็นอิสระและเป็นสะท้อนถึงถึงอำนาจเพื่อผู้บริโภคในระดับโลก “เรากำลังสร้างการเคลื่อนไหวของผู้บริโภคสากลให้มีพลัง  เพื่อช่วยปกป้องและสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคทั่วทุกหนทุกแห่ง” วันสิทธิเพื่อผู้บริโภคสากล วันสิทธิเพื่อผู้บริโภคสากล 15 มีนาคม 2558 เมื่อปีที่แล้ว ทาง CI ได้ยกประเด็นความไม่เป็นธรรมในการให้บริการโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคทั่วโลก ในขณะที่การให้บริการในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว มาปีนี้ทาง CI ได้ยกประเด็น “อาหารปลอดภัย” ขึ้นมารณรงค์ทั่วโลก รวมทั้งในเวทีที่จะจัดในประเทศไทยในวันที่ 15-16 มีนาคม ที่โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค ถนนราชปรารภ เขตราชเทวี กทม. ผมอยากจะนำเสนอที่มาของปัญหาว่า ทำไม CI จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ผมมาพบคำถามที่ท้าทายในปัญหารวมๆของผู้บริโภคที่ประธานาธิบดีเคนเนดี ได้ตั้งไว้เมื่อ 53 ปีก่อน แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีนัยสำคัญ ทาง CI ได้นำเสนอสิ่งที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ใหม่ของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (CI’s New Strategy)” ทาง CI ได้ตั้งคำถามชวนให้เราคิดว่า “ลองจินตนาการดูว่า ถ้าโลกนี้คือสถานที่ ซึ่งปัจเจกชนแต่ละคนมีอำนาจหรือมีพลังเท่ากับรัฐบาลและบรรษัท ในตลาดสินค้าผู้บริโภคมีอำนาจที่จะท้าทายต่อสินค้าที่ไม่ยุติธรรม ไม่ปลอดภัย และการกระทำใดๆ ที่ไม่มีจริยธรรมของบริษัท แล้วปัจเจกได้รับความสำเร็จ เราในฐานะผู้บริโภคแต่ละรายควรจะทำอย่างไร” เพื่อให้ได้รับสิ่งดังกล่าวตามที่เราจินตนาการไว้ เราต้องคิดการใหญ่ (think big) และเราจำเป็นต้องกระทำร่วมกันทั่วโลก (act global) เพราะสินค้าทุกวันนี้ไม่มีพรมแดน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานภายในประเทศ ดังนั้นในโลกที่ (1) มีความเป็นโลกาภิวัตน์มากขึ้นและ (2) มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เราจะต้องเพิ่มพลังของปัจเจกและการจูงใจให้ CI และสมาชิกทั่วโลกให้บรรลุความสำเร็จมากขึ้น ผมได้พยายามฟังวิดิโอประชาสัมพันธ์ของ CI อยู่หลายรอบ ผมจับความได้ว่าจะใช้ 2 วิธีการใหญ่คือ (1) สร้างความร่วมมือกันในระดับโลก และ (2) ต้องเข้าใจถึง “หัวใจของพลวัฒน์ใหม่” และใช้ประโยชน์ให้เต็มศักยภาพ ถ้าพูดกันให้ดูง่ายขึ้นก็คือการสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือนั่นเองซึ่งเราสามารถเชื่อมกันจากปัจเจกเป็นกลุ่ม จากกลุ่มถึงกลุ่ม CI ยังย้ำอีกว่า “เราไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้ตามลำพัง ความเข็งแกร่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือความลึกและความกว้างของสมาชิกของเรา พลังของพวกเขา ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ประสบการณ์และศักยภาพที่เหนือกว่าในการระดมพลผู้บริโภคของพวกเขา คือกระดูกสันหลังของสิ่งที่เราสามารถส่งต่อถึงกัน” เราจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับสมาชิกของเรา รวมถึงผู้บริโภคที่พวกเขาให้บริการอยู่ โดยการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากโอกาสที่ก้าวหน้าของยุคข้อมูลข่าวสาร เราจะสร้างเวทีของการทำงานร่วมกันบนระบบออนไลน์เพื่อการเคลื่อนไหวของผู้บริโภคในระดับโลก เวทีที่ว่านี้ ได้แก่ การสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ การปฏิบัติที่ดี การวิจัยและเอกสารประกอบการรณรงค์ วิสัยทัศน์เพื่ออนาคตของ CI ทั้งหลายทั้งปวง ก็คือการสนับสนุนพลังและภูมิปัญญาของการเคลื่อนไหวของผู้บริโภคทั่วโลก วิสัยทัศน์ของ CI คือการปลดปล่อยพลังของผู้บริโภคในระดับนานาชาติ และสร้างสำนึกในกลุ่มผู้บริโภคถึงความเร่งด่วนอันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน เราจึงต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้สิทธิของผู้บริโภคเป็นพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกที่ทรงพลังที่สุด ในความเห็นของผมแล้ว ยุทธศาสตร์ใหม่ของ CI นั้นดีมากและทันสมัย เท่าที่กลุ่มพลเมืองในยุคนี้จะพึงกระทำได้ ในยุคที่บรรษัทข้ามชาติมีความเข็มแข็งมาก แต่ผมเห็นว่าประเด็นสำคัญมากๆ คือการทำให้ผู้บริโภคเห็นพลังที่แท้จริงของตนเองในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีความก้าวหน้ามากๆ ในเว็บไซต์ของ CI ได้แขวนวิดีโอคำบรรยายของ Gerd Leonhard หลังจากที่ผมได้ค้นคว้าเพิ่ม ผมชอบสไลด์ของเขาซึ่งผมนำมาเสนอในที่นี้   เขาบอกว่าเศรษฐกิจของโลกได้เคลื่อนจากบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ (Big Oil) มาสู่บริษัทด้านสารสนเทศขนาดใหญ่ (Big Data) แล้ว “ข้อมูลคือน้ำมันชนิดใหม่” ใช่ครับ ผมกำลังจะบอกว่าพลังของข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารนั้นมีพลังมาก พลังที่ว่านี้คือพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงโลก เป็นพลังที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลและบริษัทผู้ผลิตสินค้าได้ นอกจากนี้ คุณ Gerd Leonhard ยังได้ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์อีกหลายประการ เช่น การแบ่งปันทำให้ความรู้เติบโตเพิ่มขึ้น  ควรการกระจายทุกสิ่งทุกอย่าง และให้ใช้แนวคิดที่ได้จากเชื้อไวรัส ผมไม่แน่ใจว่า คุณ Leonhard หมายถึงอะไร แต่ในความเข้าใจของผมเองว่าหมายถึง 2 ประการ คือ (1) การปรับตัวเองเพื่อสร้างภูมิต้านทานซึ่งเป็นความหมายที่ตรงไปตรงมาในทางชีววิทยา แต่ในความหมายที่ (2) เป็นความหมายทางสังคม ที่เชื้อไวรัสจำนวนน้อยนิด แต่สามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วและสามารถระบาดและส่งผลกระทบอย่างมหาศาลในวงกว้างอย่างรวดเร็ว การทำงานของกลุ่มผู้บริโภคจึงควรจะเอาอย่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งเงื่อนไขในยุคเทคโนโลยีก้าวหน้าได้เอื้อให้เราพร้อมทุกอย่างแล้ว คุณ Leonhard ได้ยกเอาคำพูดของคุณ Peter Drucker ที่ว่า “The greatest danger in times of turbulence is not the turbulence, itself, but to act with yesterday’s logic” ซึ่งหมายความว่า “อันตรายที่สำคัญที่สุด ในเวลาที่มีกระแสอันเชี่ยวกราก (turbulence) นั้น ไม่ใช่กระแสอันเชี่ยวกรากในตัวมันเอง  แต่มันคือการกระทำด้วยตรรกะของเมื่อวาน” ตรรกะของเมื่อวานอาจเป็นตรรกะที่ในทางคณิตศาสตร์เรียกว่า Linear Logic หรือตรรกะเชิงเส้น หรือตรงไปตรงมา ซึ่งต่างกันอย่างมากกับสภาพที่เป็น Turbulence ทั้งที่มาของทฤษฎีและวิธีการหาผลเฉลยก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 169 สมัชชาผู้บริโภคไทย ปี 2558 องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคจะได้ในรัฐบาลนี้หรือไม่ หลังรอมา 17 ปี

ในทุกวันที่ 15 มีนาคม ซึ่งเป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ จะร่วมกันจัดงานสมัชชาผู้บริโภคไทย เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวในประเด็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ทั้งประเด็นที่องค์กรสิทธิผู้บริโภคสากลกำหนดเป็นเรื่องเด่นประจำปี และเรื่องที่ยังอยู่ในกระแสรณรงค์ของภาคประชาชนในประเทศต่างๆ ซึ่งในปี 2558 นี้ เครือข่ายผู้บริโภคไทย ก็ยังคงติดตามและพยายามเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 15 มีนาคม ปี พ.ศ. 2558 นี้ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ได้ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และ สสส. จัดงานวัน “สมัชชาผู้บริโภค” ขึ้นเมื่อวันที่ 15-16 มีนาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยมีประเด็นหลักในการจัดงานคือ สิทธิผู้บริโภคในการได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องเด่นประจำปี ขององค์กรผู้บริโภคสากล โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมปฏิรูปการคุ้มครองตัวเองในเรื่องอาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ รวมทั้งการจัดทำข้อเสนอในเชิงนโยบาย และกำหนดทิศทางในการพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิผู้บริโภคในการได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หมายถึง ความปลอดภัยจากการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่มีผลต่อชีวิตและทรัพย์สินในการบริโภคสินค้าและบริการ เช่น  การควบคุมสินค้าจำพวกอาหารเจือปนสารพิษ ยารักษาโรคที่หมดอายุและมีสารพิษ ตลอดจนของเล่นหรือเครื่องใช้ที่ก่อให้เกิดอันตราย เป็นต้น ซึ่งภายในงานได้ชวนให้ผู้บริโภคร่วมกันผลักดันในเรื่องของอาหารปลอดภัย ควรมีฉลากอาหารที่ดี ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และการควบคุมคุณภาพอาหารในโรงเรียน โรงพยาบาล รวมถึงส่งเสริมและติดตามการกำหนดมาตรการอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ภายในงานมีการนำตัวอย่างอาหารปลอดภัยมาตั้งร้านได้แก่ ผักปลอดสารพิษ ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีราคาเพียงแค่ถุงละ 10 บาท หรือ กุ้งแห้งตัวใหญ่ๆ เนื้อแน่นถุงละ 100 บาท ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมงานพากันจับจ่ายใช้สอยซื้ออาหารที่ทั้งถูกและปลอดภัยกันอย่างสบายๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการปนเปื้อนสารเคมี ทั้งยังมีการนำตัวอย่างของอาหารที่ไม่ปลอดภัยมาเปิดเผยด้วยเช่นกัน โดยแสดงจำนวนปริมาณน้ำตาลและโซเดียมที่เกิดกำหนดอย่างไม่ปิดบังตรายี่ห้อ ซึ่งก็เป็นที่น่าตกใจว่าอาหารที่ไม่ปลอดภัยเหล่านั้น เป็นอาหารที่พวกเราต่างก็บริโภคกันทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งมีปริมาณโซเดียมสูงลิบ มากกว่าปริมาณสูงสุดที่องค์การอนามัยโลกกำหนดปริมาณโซเดียมที่เราควรได้รับต่อวัน คือ วันละ 6 กรัม หรือ 2,400 มิลลิกรัม หรือน้ำตาลปริมาณมากในชาเขียวสำเร็จรูป ที่ไม่โฆษณากันด้วยเรื่องคุณค่าแล้วแต่ใช้วิธีการชิงโชครถยนต์แทน   ความคืบหน้าขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ประเด็นสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ เรื่องความคืบหน้าขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ที่หลังจากได้มีการรณรงค์องค์การอิสระมาอย่างยาวนานถึง 17 ปี จนเรื่องเข้าสู่ สส. และ สว. ไปแล้ว แต่ก็ยังโดนเคราะห์ถูกยกกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่นั่นก็ไม่ได้ลดพลังของผู้บริโภคในการผลักดันกฎหมายนี้ต่อแต่อย่างใด เพราะ หากกฎหมายนี้สำเร็จก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคทุกคน ขณะนี้สถานะปัจจุบันของกฎหมายองค์การอิสระ คือ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สปช. ซึ่งหากผ่านแล้วขั้นตอนต่อไปคือเข้าสู่ ครม. โดยการทำงานขององค์การอิสระ จะร่วมมือกับ สปช. ในการปฏิรูปโดยการใช้พิมพ์เขียว (blueprint) เพื่อการปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็นขององค์กรทั่วประเทศ หากเราจะพูดถึงความสำคัญของกฎหมายนี้ ก็สามารถสรุปเป็นประเด็นสั้นๆ ได้ 6 ประการดังนี้ ประการแรก กฎหมายฉบับนี้จะทำให้สามารถเปิดเผยชื่อสินค้าที่เอาเปรียบผู้บริโภคได้ ประการที่สอง เป็นปากเสียงของผู้บริโภคในการถูกเอารัดเอาเปรียบ ประการที่สาม เผยแพร่ข้อมูลเฉพาะด้านที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ประการที่สี่ รับเรื่องร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาผู้บริโภคแบบครบวงจร (one stop service) ประการที่ห้า ตรวจสอบงานคุ้มครองผู้บริโภคทั้งรัฐและเอกชน และประการสุดท้าย ดำเนินงานเชิงรุก ผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เรียกได้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้ใช้สิทธิได้เต็มที่ในฐานะพลเมือง เป็นการสร้างความเข็มแข็งให้องค์กรผู้บริโภคนั่นเอง อย่างไรก็ตามหากมีองค์การอิสระเกิดขึ้นแล้วสิ่งที่ตามมาคือ ต้องทำความเข้าใจกับผู้บริโภค ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ทั้งในส่วนของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการคุ้มครองผู้บริโภคด้านต่างๆ ให้สามารถใช้อำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพในการจับปรับลงโทษผู้กระทำผิด และในส่วนขององค์การอิสระทำหน้าที่พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ องค์กรผู้บริโภค ตรวจสอบและให้ความเห็นต่อหน่วยงานของรัฐ สำหรับใครที่พลาดอดไปก็ไม่เป็นไร รอพบกันใหม่อีกครั้งในปีหน้า เพราะ กิจกรรมดีๆ แบบนี้ยังคงจัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงสิทธิในการคุ้มครองตนเองและพัฒนาให้ผู้บริโภคเข้าใจสิทธิผู้บริโภคสากล โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับข้อมูลความรู้อันจำเป็นต่อการบริโภคอย่างเท่าทันในยุคบริโภคนิยมเช่นนี้ต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 168 2 ทศวรรษพืชและอาหารจีเอ็มโอ

2 ทศวรรษพืชและอาหารจีเอ็มโอผลกระทบต่อสุขภาพและการต่อต้านของผู้บริโภค การถกเถียงเกี่ยวกับจีเอ็มโอ(genetically engineered organism) หรือสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและอาหารดัดแปรพันธุกรรม (genetically engineered food) ปะทุขึ้นในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติได้ผลักดันให้รัฐบาลปัจจุบันเปิดให้มีการทดลองพืชจีเอ็มในแปลงเปิด และเตรียมให้มีการปลูกเชิงพาณิชย์ แต่ได้รับการคัดค้านจากเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อย องค์กรผู้บริโภค และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย เป็นต้น อาหารดัดแปลงพันธุกรรม เป็นอาหารที่ได้มาจากผลิตภัณฑ์ของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นจากกระบวนการดัดแปลงพันธุกรรม โดยมีการตัดต่อหน่วยพันธุกรรม(gene) ของสิ่งมีชีวิตไปสู่สิ่งมีชีวิตเป้าหมายเพื่อให้ได้ลักษณะที่ต้องการ เช่น ตัดต่อหน่วยพันธุกรรมจากแบคทีเรียเข้าไปใส่ในถั่วเหลือง หรือข้าวโพดเพื่อให้พืชดังกล่าวสามารถผลิตสารพิษขึ้นในเนื้อเยื่อของพืช ดังนั้นเมื่อแมลงกัดกินพืชนั้น ทำให้แมลงตายโดยหวังว่าวิธีการนี้จะทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง หรือตัดต่อหน่วยพันธุกรรมของไวรัสใส่ในพืช เพื่อให้พืชนั้นสามารถต้านทานสารเคมีกำจัดวัชพืช เกษตรกรสามารถพ่นสารเคมีได้มากโดยไม่ต้องกลัวว่าพืชนั้นจะได้รับผลกระทบ เป็นต้น การตัดต่อพันธุกรรมดังกล่าวถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบทั้งในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปัญหาการผูกขาด เพราะแม้แต่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่มีความเห็นเป็นที่ยุติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังที่ ดร.เดวิด ซูซูกิ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม-พันธุศาสตร์ที่มีชื่อเสียงผู้เขียนตำราเกี่ยวกับพันธุศาสตร์ซึ่งเป็นตำราที่ใช้แพร่หลายมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวเอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “นักวิทยาศาสตร์คนใดที่บอกคุณว่าจีเอ็มโอปลอดภัยหรือไม่ต้องกังวล ถ้าไม่ใช่เพราะไม่ประสีประสากับความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์แล้ว ก็เป็นเพราะเขาจงใจโกหก แท้จริงแล้วไม่มีใครทราบหรอกว่าผลกระทบระยะยาวของจีเอ็มโอจะเป็นเช่นไร”   ปัญหาสำคัญที่เป็นศูนย์กลางของการคัดค้านของผู้บริโภค กลุ่มสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยมีอยู่สามเรื่องสำคัญคือ ปัญหาความไม่เชื่อมั่นต่อความไม่ปลอดภัยของอาหารดังกล่าว ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากจีเอ็มโอ และปัญหาการผูกขาดของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่มาพร้อมระบบกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้เกิดการผูกขาดพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ซึ่งเป็นฐานรากของระบบอาหาร ผลกระทบต่อสุขภาพของเรื่องจีเอ็มโอ ปัญหาผลกระทบต่อเรื่องสุขภาพที่เกิดขึ้นจากอาหารดัดแปรพันธุกรรมเกี่ยวข้องกับความกังวลเกี่ยวกับความเป็นพิษจากสารที่ถูกผลิตขึ้น  โอกาสที่จะเกิดการแพ้และการที่การต้านทานยาปฏิชีวนะจากยีนแปลกปลอมที่ใช้ในกระบวนการตัดต่อพันธุกรรม ตลอดจนสัดส่วนและองค์ประกอบของสารอาหารที่แตกต่างไม่เทียบเท่ากับอาหารทั่วไปที่เราเคยรับประทาน เป็นต้น กลุ่มผู้สนับสนุนมักอ้างว่า กระบวนการประเมินความเสี่ยงทำให้สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าวได้ แต่ยังไม่สามารถทำให้เกิดความมั่นใจได้เนื่องจากเหตุผล 3 ประการคือ หนึ่ง งานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของอาหารจีเอ็มโอมักเป็นการทำการทดลองในระยะสั้นๆ เท่านั้น ในขณะที่ผลกระทบนั้นเป็นเรื่องระยะยาว สอง อุปสรรคสำคัญสำหรับการทดสอบความปลอดภัยของพืชจีเอ็มโอ เกิดจากการขัดขวางของบริษัทผู้ผลิตจีเอ็มโอไม่ให้มีการนำผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อให้นักวิชาการอิสระทำการประเมินเรื่องความปลอดภัยนั้น เรื่องนี้ทำให้ประชาคมวิทยาศาสตร์อดรนทนไม่ได้จนต้องทำจดหมายร้องเรียนรัฐบาลสหรัฐ สาม สาธารณชนตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาเรื่องความปลอดภัยทางอาหารของ FDA สหรัฐเนื่องจากพวกเขาพบว่าเหล่าผู้บริหารระดับสูงหลายคนมาจากผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่จีเอ็มโอ คณะทำงานของ UN ที่ใช้ชื่อว่า International Assessment of Agricultural Knowledge Science and Technology for Development (IAASTD) ซึ่งเป็นคณะทำงานระหว่างประเทศเพื่อประเมินความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทางการเกษตรสำหรับการพัฒนา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกระบวนการประเมินจาก 110 ประเทศ 900 คน ได้เผยแพร่เอกสารที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของจีเอ็มโอว่า “ผลกระทบของจีเอ็มโอยังเป็นที่เข้าใจน้อยมากในปัจจุบัน ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางนโยบายและทำให้การวิจัยเรื่องความเสี่ยงเปิดเผยต่อสาธารณะ” “การประเมินเทคโนโลยีนี้ยังตามหลังการพัฒนาของมัน ข้อมูลที่มียังไม่เพียงพอ กระจัดกระจายและขัดแย้งกันเอง ทั้งประเด็นความเสี่ยง ผลกระทบและผลประโยชน์ของมัน ทั้งในประเด็นทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ” เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ไคล์ฟ เจมส์ ผู้ก่อตั้งและประธานกิตติมศักดิ์ ISAAA (International Service for the Acquisition of Agri-Biotech Application) องค์กรที่ตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น มอนซานโต้ ซินเจนทา ดูปองท์ ได้เข้าพบกับนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อผลักดันให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย เจมส์บอกกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของไทยว่า พืชจีเอ็มโอนั้นมีความปลอดภัย จากการที่ผู้บริโภคในสหรัฐได้บริโภคผลิตภัณฑ์มานานถึง 19 ปีแล้ว แต่กลับไม่พบปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพแต่ประการใด คำกล่าวข้างต้นเคยถูกตอบโต้โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาที่รวมตัวกันในนาม เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรป (The European Network of Scientists for Social and Environmental Responsibility- ENNSSER) ว่าที่จริงยังไม่มีงานศึกษาเชิงระบาดวิทยา (epidemiological studies)เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จากการบริโภคอาหารจีเอ็ม ดังนั้นการอ้างว่ามีผู้บริโภคในอเมริกาเหนือบริโภคจีเอ็มโอมาเป็นเวลานานนับสิบปี แต่ก็ไม่เห็นปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นเพียงการพูดลอยๆ โดยไร้การศึกษาทางวิทยาศาสตร์รองรับ ในทางตรงกันข้ามกลุ่มนักเคลื่อนไหวและผู้ที่ติดตามปัญหาเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอในสหรัฐกลับพบว่า การปลูกพืชจีเอ็มโอในสหรัฐเพิ่มขึ้นทำให้มีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชไกลโฟเสทเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว( 90% ของพืชจีเอ็มโอในสหรัฐเป็นพืชที่ตัดต่อยีนต้านทานยาปราบวัชพืช) ไกลโฟเสทเหล่านั้นกระจายไปในดิน น้ำ และอากาศ รวมทั้งพบปนเปื้อนในผลผลิตถั่วเหลืองและข้าวโพด และล่าสุดนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้พบว่าสถิติการใช้สารไกลโฟเสทที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐมีลักษณะคล้ายกับกราฟการเพิ่มของโรคหลายชนิดเช่น อัลไซม์เมอร์ ออร์ทิสติค และมะเร็งตับ เป็นต้น     ขณะนี้เริ่มมีงานวิจัยเป็นจำนวนมากที่พบว่าไกลโฟเสทซึ่งมาพร้อมกับพืชจีเอ็มโอนั้นมีพิษเรื้อรังต่อสุขภาพของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น “สารกำจัดวัชพืชที่มีไกลโฟเสทเป็นส่วนผสมมีความเป็นพิษและรบกวนการทำงานของเซลล์ต่อมไร้ท่อของมนุษย์” (Gasnier C. และคณะ ตีพิมพ์ใน Toxicology. 2009 Aug 21; 262(3): 184 – 91) งานวิจัยนี้พบว่าแม้ใช้สารนี้ใน ระดับที่ต่ำเช่นเพียง 0.5 ppm ก็มีผลกระทบต่อต่อมไร้ท่อ และมีผลกระทบต่อ DNA ในระดับที่ใช้เพียง 5 ppm เท่านั้น นักวิจัยได้เสนอให้มีการพิจารณาสารเคมีนี้เป็นสารก่อมะเร็งและก่อกลายพันธุ์ งานวิจัยชิ้นสำคัญในประเทศไทยต่อประเด็นเรื่องจีเอ็มโอ งานวิจัยชิ้นสำคัญในประเทศไทยที่สนับสนุนข้อค้นพบของประชาคมวิทยาศาสตร์คืองานวิจัยของ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (โดย Thogprakaisang S., Thiantanawat A., Rangkadilok N., Suriyo T., Satayavivad J.) ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Food and Chemical Toxicology( Food and Chemical Toxicology 59 (2013) 129–136) เรื่อง “ไกลโฟเสท ชักนำให้เซลล์มะเร็งเต้านมของมนุษย์เจริญเติบโต โดยผ่านทางตัวรับของฮอร์โมนเอสโตรเจน” ข้อค้นพบสำคัญของงานศึกษานี้คือ “ไกลโฟเสท ทำให้เพิ่มการเจริญขยายตัวเฉพาะในโรคมะเร็งเต้านมที่ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนของมนุษย์” และ “ไกลโฟเสท ในขนาดความเข้มข้นต่ำก็มีผลกระทบต่อการทำงานของเอนไซม์เอสโตรเจน” อาจจะเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า จีเอ็มโอเกี่ยวข้องโดยตรงกับโรคออร์ทิสติค อัลไซม์เมอร์ และมะเร็งชนิดต่างๆ แต่อย่างน้อยที่สุดข้อมูลเหล่านี้ควรทำให้ผู้ที่กล่าวอ้างว่าประชาชนบางภูมิภาคที่บริโภคอาหารจีเอ็มโอเป็นเวลานานหลายปีไม่เห็นว่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพต้องสงบปากสงบคำลงไปในที่สุด การต่อต้านที่ขยายตัวออกไปมากยิ่งขึ้น แม้จะเริ่มมีการปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1996 แต่กลับเป็นประชาชนในทวีปยุโรปที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเป็นภูมิภาคแรก โดยกระแสการต่อต้านพืชและอาหารจีเอ็มโอได้เริ่มต้นในยุโรปมานานเกือบ 20 ปี กลุ่มผู้สนับสนุนจีเอ็มโอเคยเชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปกระแสการต่อต้านจะค่อยๆ ลดลงในที่สุด แต่กลับเป็นไปในทางตรงข้าม โดยผลการสำรวจพบว่า กระแสการสนับสนุนอาหารจีเอ็มโอกลับยิ่งลดลง ทั้งในยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออก ที่น่าสนใจคือ ประเทศที่อนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอได้ในพื้นที่จำกัด เช่น สเปน และโปรตุเกส ซึ่งประชาชนมากกว่า 60% เคยสนับสนุนอาหารจีเอ็มโอเมื่อปี 1996 บัดนี้กลับลดเหลือเพียง 35-37% เท่านั้น บางประเทศที่มีประชากรเป็นจำนวนมากและเป็นตลาดสำคัญของการส่งออกอาหารของไทย เช่น ฝรั่งเศสและเยอรมนี มีผู้สนับสนุนอาหารจีเอ็มโอเพียง 16% และ 22% ตามลำดับเท่านั้นเมื่อเวลาผ่านไป ประชาชนได้รับทราบข้อมูลมากขึ้น พวกเขาจึงปฏิเสธอาหารดัดแปลงพันธุกรรม และเลือกระบบอาหารที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงความเป็นธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับเรื่องจีเอ็มโอในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาคือการแพร่ขยายการต่อต้านไปยังสหรัฐอเมริกา ประเทศซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดและประเทศที่มีพื้นที่ปลูกพืชประเภทนี้มากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของโลก จุดเริ่มต้นการต่อต้านที่สำคัญที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2556 เมื่อประชาชนในหลายรัฐทั่วสหรัฐร่วมเดินขบวนต่อต้านจีเอ็มโอและบริษัทที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันเรื่องนี้ โดยประมาณการว่ามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนั้นประมาณ 2 ล้านคน  พวกเขาเคลื่อนไหวต่อต้านสินค้าทุกชนิดที่ผลิตจากจีเอ็มโอ โดยให้การสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์แทน พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการติดฉลากสินค้าจีเอ็มโอเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการตัดสินใจ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดาราและศิลปินอเมริกันคนแล้วคนเล่าพร้อมใจกันลุกขึ้นเรียกร้องให้มีการติดฉลากอาหารจีเอ็ม ลงนามในคำแถลงต่อต้านจีเอ็มโอ บอยคอตบริษัทที่ต่อต้านการติดฉลาก และหลายคนเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านบรรษัท ดาราและศิลปินเหล่านั้น ได้แก่ Neil Young, Danny DeVito, Susan Sarandon, Daryl Hannah, Michael J Fox, Elijah Wood, James Kaitlin, Olson Taylor, Bill Maher,James Taylor, Dave Matthews, Maroon 5, Chevy Chase, Roseanne Barr, Kristin Bauer van Straten, Kimberly Elise, Mariel Hemingway, Bianca Jagger, Vivienne Westwood, Jeremy Irons, Bill Pullman, Amy Smart, Sara Gilbert, Ed Begley Jr, Anne Heche, Frances Fisher, Rashida Jones, Kimberly Elise, Ziggy Marley, Julie Bowen,Emily VanCamp เป็นต้น กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทุ่มเงินหลายร้อยล้านเหรียญโหมโฆษณาเพื่อต่อต้านการติดฉลากของบรรดารัฐต่างๆ ในขณะที่จำนวนเงินการระดมทุนของฝ่ายที่เรียกร้อง "สิทธิที่จะรู้ที่มาของอาหาร" น้อยกว่าหลายเท่าตัว บางรัฐผู้บริโภคได้รับชัยชนะในการออกกฎหมายติดฉลาก บางรัฐก็พ่ายแพ้ แต่ทุกคนบอกตรงกันว่า "นี่เป็นแค่เพียงการเริ่มต้น" เท่านั้น กระแสการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อต่อต้านจีเอ็มโอ และตอบโต้การผูกขาดระบบเกษตร/อาหารของบรรษัทกำลังเติบโต   ขณะนี้รัฐบาลไทยได้ตั้ง "คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์มาใช้ในประเทศไทย" เพื่อพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์และบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะไม่ตัดสินใจให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทยเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่ม ในขณะที่ผลกระทบเกี่ยวกับจีเอ็มโอนั้นจะส่งผลกระทบไม่เฉพาะต่อการส่งออก หรือปัญหาที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่จะส่งผลอย่างสำคัญต่อความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อยและความมั่นคงทางอาหารของประเทศโดยรวมด้วย เพราะเมื่อใดที่ประเทศไทยเดินหน้าพืชจีเอ็มโอ เท่ากับเราได้ละทิ้งเกษตรกรรมที่ยืนอยู่บนความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นจุดแข็งของเราไปพึ่งพาต่างชาติ ระบบเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากบรรษัทจะสร้างความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารได้อย่างไร ?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 ธุรกิจสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ

จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ประเทศไทยเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ตัวชี้วัดก็คือ จำนวนประชากรสูงวัย(อายุ 60 ปีขึ้น) ณ ปัจจุบันมีมากกว่า 9 ล้านคน ซึ่งเกิน 10% ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ ที่ระบุว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกิน 10% หรืออายุ 65 ปี ขึ้นไปเกิน 7% ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่ตามมากับตัวเลขอายุที่มากขึ้น คือ ความเสื่อมถอยของร่างกาย ทั้งหูตาที่ฝ้าฟาง ข้อ กระดูกที่เปราะบาง ความกระฉับกระเฉงลดลง ไม่อาจเคลื่อนไหวได้ตามใจนึก อีกทั้งความเสื่อมถอยของร่างกายทำให้เป็นโรคได้ง่ายโดยเฉพาะกลุ่มโรคติดเชื้อ และถ้ายิ่งใช้ชีวิตแบบไม่ค่อยระวังตัว โรคเรื้อรังในกลุ่มหัวใจ เส้นเลือด ก็กลายเป็นโรคประจำตัวที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการทุพพลภาพหรือพิการได้มากที่สุด ระดับผู้สูงอายุไทยอาจแบ่งได้เป็นสามระดับ คือ กลุ่มสูงอายุวัยต้น 60-79 ปี วัยปลาย 80-99 ปี และกลุ่มอายุเกิน 100 ปีขึ้นไป  ซึ่งในช่วงวัยต้นร่างกายยังไม่เสื่อมถอยมาก ประกอบกับความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ ทำให้ยังสามารถทำงานได้ เป็นประโยชน์ทั้งกับครอบครัวและชุมชน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ต้องเข้าสู่ระยะพักผ่อน งานการต่างๆ ที่เคยทำได้ ก็อาจไม่สามารถทำได้อีกและต้องการผู้ช่วยเหลือดูแลในบางกิจกรรม เช่น  การเดินทาง  การใช้ขนส่งสาธารณะ การใช้โทรศัพท์ การเข้าใช้ห้องสุขา การอาบน้ำ การประกอบอาหาร เป็นต้น และเมื่อเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงมากที่สุด คือ ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ต้องนอนติดเตียง ภาระทั้งหมดก็จะตกมาที่ผู้ดูแล ซึ่งสังคมไทยแต่เดิมมาก็ฝากไว้กับลูกหลาน หรือญาติพี่น้อง แต่สถานการณ์ปัจจุบันคือ ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งไม่มีลูก ต้องอยู่ตามลำพัง และถึงแม้จะมีลูก พวกเขาเหล่านั้นก็มีภาระที่มากมายรอบด้าน อาจทั้งในฐานะของพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูกของตน ตลอดจนภาระในการทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ถ้าผู้สูงอายุต้องเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงไม่ว่าจะมากหรือน้อย ใครจะเป็นผู้ดูแล?   สถานบริการดูแลผู้สูงอายุ จำนวนผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลไม่ว่าจะระดับมากหรือระดับน้อย ที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ส่งผลให้มีความต้องการการดูแลในสถานบริการเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่ปรากฏว่าภาครัฐยังไม่มีการจัดให้มีบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุกลุ่มนี้อย่างชัดเจน มีเพียงสถานสงเคราะห์คนชรา(บ้านพักคนชรา) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่ออุปการะผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาทุกข์ยากเดือดร้อนไม่มีผู้ดูแลหรือไม่ก็ไร้ที่อยู่อาศัยเท่านั้น ขณะที่สถานบริการดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ของภาคเอกชน ทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาล หรือจดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ หรือที่เราเรียกว่า เนอร์สซิ่งโฮม (Nursing Home) จะมีราคาค่าใช้จ่ายที่สูง และยังพบปัญหาในเรื่องของมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุที่ยังไม่มีมาตรฐานชัดเจนโดยตรง ตลอดจนอุปกรณ์การดูแลและสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ไม่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่นเรื่องแสงสว่าง พื้นผิวห้อง ทางลาด จำนวนผู้ดูแลที่ไม่พอต่อจำนวนผู้สูงอายุ เป็นต้น เนื่องจากยังไม่มีบริการการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวในภาครัฐ  มีแต่การบริการโดยภาคเอกชน   แต่ด้วยการจดทะเบียนของสถานพยาบาลเอกชนของไทยนั้นมีหลายลักษณะมาก ทำให้เราไม่สามารถทราบจำนวนสถานบริการผู้สูงอายุที่แน่ชัดได้ อีกทั้งในการประกอบธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุ ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลก็ได้ แค่จดทะเบียนการค้าเท่านั้นก็สามารถดำเนินธุรกิจนี้ได้แล้ว ธุรกิจสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ อาจหมายถึง สถานบริการที่ไม่ใช่โรงพยาบาล แต่มีการให้บริการที่พำนัก บริการยาแก่ผู้สูงอายุที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเป็นประจำ โดยทั่วไปจะครอบคลุม การให้บริการที่พักค้างคืน บริการอาหารการดูแลความสะอาดเสื้อผ้าและที่พัก ตลอดจนความสะอาดของร่างกาย พร้อมทั้งติดตามดูแลสุขภาพเบื้องต้นอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ได้ให้การรักษาพยาบาล หากมีความเจ็บป่วยจะบริการนำส่งต่อแผนกคนไข้ของโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่อรับการรักษาพยาบาลต่อไป โดยอาจมีบริการเสริมอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมพิเศษ ที่ช่วยส่งเสริมให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ถ้าการให้บริการเน้นการดูแลเพื่อการฟื้นฟูสภาพสำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพาและทุพพลภาพช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และต้องการบริการพยาบาลและยาเป็นประจำ จะจัดเป็น “สถานพยาบาล” ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 และเป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยการประกอบกิจการสถานพยาบาล พ.ศ. 2545 อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปัจจุบัน คือ การให้บริการในธุรกิจนี้จะมีลักษณะของการผสมผสาน  โดยที่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลแม้จะให้บริการในลักษณะของการบริบาลผู้สูงอายุก็ตาม และสถานบริการดูแลผู้สูงอายุหลายแห่งแม้แต่จดทะเบียนการค้าก็ยังไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้อง ประเภทของการให้บริการ การบริการในสถานดูแลผู้สูงอายุในกลุ่มที่ไม่เน้นเรื่องการฟื้นฟูบำบัด ซึ่งผู้รับบริการส่วนใหญ่ไม่มีภาวะพึ่งพิง หรือพึ่งพิงไม่มาก ยังพอสามารถช่วยตัวเองได้ ส่วนใหญ่จะครอบคลุมการบริการหลักและมีการให้บริการเสริมเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและดึงดูดใจลูกค้า ดังนี้   บริการหลัก บริการเสริม Ø บริการดูแลผู้สูงอายุด้านความเป็นอยู่ทั่วไป Ø บริการที่พักค้างคืน Ø บริการอาหาร 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 มื้อ Ø ดูแลทำความสะอาดของร่างกาย Ø ดูแลทำความสะอาดเสื้อผ้า Ø ติดตามดูแลสุขภาพเบื้องต้นแต่ไม่ได้ให้การรักษาพยาบาล หากมีความเจ็บป่วย Ø จะบริการนำส่งต่อแผนกคนไข้ของโรงพยาบาลใกล้เคียง Ø กิจกรรมกายภาพบำบัดเบื้องต้น Ø กิจกรรมสันทนาการต่างๆ และกิจกรรมตามวัฒนธรรมประเพณี Ø บริการรถรับ-ส่งจากบ้าน Ø นำส่งผู้สูงอายุตามแพทย์นัด Ø ทัศนศึกษา Ø บริการด้านจิตใจ เช่น การจัดกิจกรรมทางศาสนา Ø บำบัดในรูปแบบพิเศษต่างๆ เช่น วารีบำบัด Ø บริการด้านความรู้ข่าวสารใหม่และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ Ø การบรรยายจากวิทยากรรับเชิญต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลในการดำเนินชีวิต Ø การบริการประสานงานกับองค์กรอื่นๆ เช่น การให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และการฌาปนกิจ   สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงสูง เช่น เป็นผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หรือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องหรือพักฟื้นจากการเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ลักษณะการให้บริการของสถานดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะอยู่ในข่าย เนอร์สซิ่งโฮม ซึ่งบริการที่จัดให้ได้แก่ บริการบำบัดทางการแพทย์ เช่น บริการยา การตรวจวัดอุณหภูมิ ความดันโลหิต บริการให้อาหารทางสายยาง ดูดเสมหะ บริการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสภาพ การป้องกันแผลกดทับ ฯลฯ แต่ดังที่ได้กล่าวไป ส่วนใหญ่การให้บริการของสถานดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันจะมีลักษณะผสมผสาน จึงจำเป็นต้องเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการในการเข้ารับบริการ   ค่าใช้จ่ายไม่ธรรมดา ผู้ที่เลือกใช้บริการในสถานดูแลผู้สูงอายุ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นลูกหลานของผู้สูงอายุ บางทีผู้สูงอายุก็เป็นผู้เลือกใช้บริการสถานดูแลเหล่านี้ด้วยตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นต้องมีความสามารถในการจ่ายพอสมควร ปกติราคาจะขึ้นอยู่กับบริการที่นำเสนอ ค่าบริการมีทั้งแบบรายวันและรายเดือน รวมทั้งเงินค้ำประกันหรือค่าประกันแรกเข้า(ส่วนนี้จะคืนเมื่อบอกเลิกใช้บริการ)   ในลักษณะรายวันค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 800-1000 บาท ส่วนรายเดือนประมาณ 10,000-25,000 บาท ทั้งนี้สถานบริการบางแห่ง ยังมีค่าบริการเสริมอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากค่าบริการปกติ เช่น การเฝ้าไข้เฉพาะบุคคล ค่ายานพาหนะรับส่งโดยกะทันหัน ค่ายาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งโดยรวมแล้วอาจสูงถึง 30,000 บาท/เดือน จากการสำรวจหากเป็นสถานบริการดูแลผู้สูงอายุในโรงพยาบาลจะมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด เพราะได้รวมค่าแพทย์และพยาบาลเข้าไว้ด้วย ค่าใช้จ่ายตกอยู่ที่ประมาณเดือนละ 30,000-50,000 บาท และจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการบางท่านให้ความเห็นว่า การเรียกเก็บค่าบริการสูง ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันปัญหาการทิ้งผู้สูงอายุไว้กับสถานดูแล   มาตรฐานควบคุมและการคุ้มครองด้านบริการ กรณีสถานดูแลผู้สูงอายุในส่วนของเอกชน ยังไม่มีมาตรฐานกำกับที่ชัดเจน เว้นแต่ที่จดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลสำหรับดูแลผู้สูงอายุ ตามกฎหมายสถานพยาบาล ที่มีกองการประกอบโรคศิลปะเป็นผู้กำกับดูแล นอกจากนี้ต้องบอกว่า ไม่มีองค์กรกำกับดูแลโดยตรง ทั้งในส่วนมาตรฐานการให้บริการ การกำกับดูแลและการขึ้นทะเบียน ดังนั้นหากเกิดปัญหาจากการใช้บริการ คงต้องดำเนินการร้องเรียนในเรื่องสัญญากับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ถ้าสถานบริการดูแลผู้สูงอายุได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกองการประกอบโรคศิลปะ ก็สามารถร้องเรียนได้โดยตรง หรืออาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้โดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค   การเลือกสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ สถานดูแลผู้สูงอายุที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง ควรจัดให้เป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะในการดูแลผู้สูงอายุ หากเป็นไปได้ การดูแลโดยคนในครอบครัวย่อมดีที่สุด แต่หากบางครั้งมีความจำเป็น เช่น ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง อาจพิจารณาเลือกจ้างผู้ดูแลพิเศษประจำบ้าน ซึ่งท่านสามารถดูแลต่อได้เมื่อผู้ดูแลกลับไป อีกทั้งผู้สูงอายุก็ได้อยู่ในบ้าน ซึ่งสร้างความอบอุ่นใจได้มากกว่า การเลือกสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ ควรพิจารณาเรื่องทำเลที่ตั้ง ซึ่งควรจะใกล้บ้านและสะดวกในการเดินทาง สิ่งแวดล้อมรอบอาคารที่ให้บริการควรมีความสงบไม่พลุกพล่าน ไม่มีมลภาวะที่เป็นพิษ อีกทั้งควรพิจารณาในส่วนของอุปกรณ์เช่น เตียงนอน เครื่องมือแพทย์ การรักษาความสะอาดของสถานที่ ลักษณะทางกายภาพบางอย่างที่อาจไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น บันไดลาดชันเกินไป ประตูแคบไป ห้องน้ำสุขภาพภัณฑ์ต่างๆ   ควรได้รับการออกแบบให้เหมาะกับผู้สูงอายุ  ส่วนเรื่องราคาค่าบริการให้พิจารณาเปรียบเทียบกับการบริการที่จะได้รับ และระมัดระวังเรื่องค่าบริการเสริม ที่ไม่รวมอยู่ในค่าบริการปกติ และที่สำคัญอีกประการคือ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ควรเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนสอนหลักสูตรดังกล่าวหลายแห่ง และควรมีจำนวนที่เหมาะสมกับผู้ใช้บริการ เพื่อให้สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงอย่างมีคุณภาพ   แม้ว่าผู้สูงอายุจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เหมือนในอดีต แต่ก็ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นควรช่วยกันเรียกร้องและผลักดันให้รัฐได้เข้ามามีส่วนในการดำเนินงาน สถานดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่เป็นของรัฐ หรือหน่วยงานของชุมชน หรือในรูปแบบที่เหมาะสม ได้มาตรฐานและเป็นธรรมโดยถือเป็นสวัสดิการที่รัฐพึงมอบให้กับประชาชนกลุ่มสูงวัยที่ได้มีส่วนร่วมสร้างสังคมมา   ไทยสู่ยุค “คนชราเต็มเมือง” จี้รัฐกันเงินก้อนโตไว้ดูแล หมอแนะผู้สูงวัยตุนเงิน “3 ล้านบาท” ไว้รักษา 2 โรคยอดฮิต! ผู้จัดการออนไลน์ 6 กุมภาพันธ์ 2556 ประเทศไทยใกล้เข้าสู่ภาวะคนชราเต็มเมือง แพทย์ชี้โรคหัวใจ-มะเร็ง ผลาญงบดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอ่วม แนะว่าที่ “คนแก่” ต้องเตรียมเงินค่ารักษาตัวโรคละ 1.5 ล้านบาท พร้อมเตรียมใจรับสภาพปัญหาขาดแคลนผู้ดูแลระดับวิกฤต “สิ่งที่รัฐบาลจะต้องรีบทำก็คือการส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยน วิถีชีวิตไปสู่แนวทางที่จะไม่เป็นโรคอย่างจริงจัง ซึ่งทำได้หลายระดับ ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ในรูปแบบของข้อมูลเฉยๆ แต่รวมไปถึงการส่งเสริมทางสังคม เช่น จัดถนนหนทางให้คนขี่จักรยานได้โดยไม่มีรถมาชน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนออกกำลังกายระหว่างเดินทางไปทำงาน เพราะตอนนี้โอกาสที่คนไทยจะได้ออกกำลังกายแทบจะเหลืออยู่อย่างเดียวคือ การเดินทางไปทำงาน” นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ แพทย์หัวหน้าศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลพญาไท 2 แสดงทัศนะต่อบทบาทเชิงรุกที่รัฐบาลควรทำในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของ ประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยแล้ว   อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” เมื่อมีสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มสูงถึงร้อยละ 14 และต่อจากนั้นอีกไม่เกิน 10 ปี ไทยจะเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ในปี พ.ศ. 2575 เมื่อประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ประชากร 1 ใน 5 จะมีอายุสูงกว่า 65 ปี และประชากรครึ่งหนึ่งในประเทศไทยจะมีอายุสูงกว่า 43 ปี! อาจจะช้าเกินไปด้วยซ้ำที่ประเทศไทยเพิ่งมาตั้งคำถามกันว่า จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้างเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคผู้สูงวัยเต็มอัตรา ? นพ.สันต์กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้แม้แต่ชาวไร่ชาวนาก็ไม่ได้ออกแรง ส่งผลให้ชาวไร่ชาวนามีอัตราการเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นโรคของคนไม่ออกแรง สูงพอๆ กับคนที่อยู่ในเมือง เพราะชาวไร่ชาวนาในปัจจุบันกลายเป็นผู้จัดการท้องนาที่ไม่ต้องออกแรงเหมือนเดิม กิจกรรมการเกี่ยวข้าวไถนาล้วนแต่เป็นหน้าที่ของรถเกี่ยวรถไถที่ถูกจ้างมาแทน ที่แรงคน “ทำอย่างไรจะให้คนได้เดินทางไปทำงานพร้อมกับออกกำลังกายไปในตัว เป็นเรื่องที่ต้องทำในระดับรัฐบาล โดยอาจจะตั้งต้นด้วยเมืองเล็กๆ นำร่องขึ้นมาสักเมือง กำหนดถนนสำหรับคนเดินและขี่จักรยานโดยเฉพาะ แล้วค่อยๆ ขยายออกไป ในที่สุดคนก็จะได้ออกกำลังกาย เพราะอย่างไรเขาก็ต้องเดินทางไปทำงานอยู่แล้ว ทุกวันนี้บางคนเขาก็อยากเดินหรือขี่จักรยานไปทำงาน แต่ทำไม่ได้ เพราะกลัวถูกรถชน” ดังนั้นรัฐต้องส่งเสริมให้คนเริ่มรักษาสุขภาพตนเองตั้งแต่วันนี้ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นคนจะเสี่ยงต่อ 3 กลุ่มโรควัยชราต่อไปนี้ 1. กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคกลุ่มหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง จากข้อมูลปัจจุบันคนไทยราว 55% มีปัจจัยเสี่ยงของโรคเหล่านี้ ทำให้คนไทยเกินครึ่งเสียชีวิตจากโรคกลุ่มนี้ 2. โรคสมองเสื่อม ซึ่งมากับคนอายุยืน 3. โรคซึมเศร้า ซึ่งตามมากับภาวะสมองเสื่อมและโรคเรื้อรัง และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า “3 โรคนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตของประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมคนชรา โดยเฉพาะ 2 โรคที่ค่ารักษาพยาบาลแพงกว่าเพื่อนคือ โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง เพราะทางการแพทย์ยังไม่รู้วิธีรักษา จึงต้องรักษาที่ปลายเหตุ ส่งผลให้เป็นกลุ่มโรคที่กินเงินมากที่สุด โดยสังเกตได้จากการลงทุนของโรงพยาบาลภาคเอกชนที่จะเน้นลงทุนในกลุ่มนี้ เพราะสามารถเก็บเงินได้มาก” นพ.สันต์บอกอีกว่า ต้นทุนค่ารักษาพยาบาล 2 โรคแพงในโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งค่ารักษาพยาบาลขั้นต้นของโรคมะเร็งในโรงพยาบาลเอกชนจะตกอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาท ไม่นับรวมต้นทุนการดูแลเมื่อคนไข้ทุพพลภาพหรือเป็นผู้ป่วยเรื้อรังระยะสุด ท้าย ซึ่งในทางการแพทย์อาจจะหยุดให้การรักษา เมื่อถึงจุดที่รักษาแล้วคุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้น ขณะที่ต้นทุนการรักษาโรคหัวใจ เฉพาะค่ารักษาขั้นต้นในโรงพยาบาลเอกชน จะมี 2 ชนิด คือ ชนิดที่จบลงโดยไม่ต้องผ่าตัด ค่ารักษาอยู่ที่ประมาณ 400,000 บาท และชนิดที่ต้องจบลงด้วยการผ่าตัดมีค่ารักษาประมาณ 800,000 บาท “นี่เป็นค่ารักษาขั้นต้นที่ยังไม่ได้นับรวมความยืดเยื้อเรื้อรังและ ค่าเสียโอกาสที่ทำงานไม่ได้ ดังนั้น ถัวเฉลี่ยแล้วโรค 2 กลุ่มนี้จะมีต้นทุนการรักษาขั้นต้น 6-8 แสนบาทต่อคนต่อโรคโดยประมาณ ไม่นับรวมภาวะทุพพลภาพที่เกี่ยวเนื่องจากโรค และการรักษาในฐานะผู้ป่วยที่สิ้นหวังระยะสุดท้าย ซึ่งการรักษาลุกลามจนเสียชีวิตก็ไม่น่าจะถูกกว่าการรักษาขั้นต้น โดยอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่พอๆ กัน หรือมากกว่า ดังนั้นโดยประมาณแล้วจะต้องใช้เงินต่อโรค 1,500,000 บาทต่อการดูแลผู้ป่วย 1 คน” ในขณะที่โรคสมองเสื่อมกับโรคซึมเศร้า มีต้นทุนการรักษาไม่แพง แต่ต้นทุนที่แพงไม่แพ้กันคือต้นทุนในแง่ของคุณภาพชีวิต เพราะคนที่เป็น 2 โรคนี้ชีวิตจะไม่มีคุณภาพ ยิ่งไปกว่านั้นคือจะไปมีต้นทุนที่ผู้ดูแล ซึ่งโครงสร้างสังคมไทยในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ยังมีผู้ดูแลเป็นคนในครอบครัวอยู่ แต่หลังจาก 10 ปีข้างหน้าไปแล้ว ยังไม่มีหลักฐานว่าใครจะเป็นผู้ดูแลคนชราเป็นที่คาดการณ์ว่าผู้ที่จะต้องทำหน้าที่ดูแลคงจะเป็นภาระของสังคม นั่นหมายความว่ารัฐอาจจะต้องจัดตั้ง Nursing Home ขึ้นมาดูแลคนสูงอายุที่ไม่มีใครเอา เพราะลูกไม่พอเลี้ยงดู จากขนาดครอบครัวที่เล็กลง และผู้สูงอายุส่วนหนึ่งไม่มีลูกหลาน เพราะฉะนั้นถึงจุดหนึ่งโรคในกลุ่มโรคชราเรื้อรังจะต้องตกเป็นภาระของสังคม โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดี๋ยวนี้เป็นต้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 ต้อนรับปี 2558 ด้วยการปรับทัศนคติ

จั่วหัวเช่นนี้ ก็ไม่มีอะไรมากแค่อยากเล่นกับกระแสนิดหน่อย จริงๆ เรื่องที่ “ฉลาดซื้อ” จะนำเสนอต่อไปนี้ไม่ใช่เรื่อง “ทัศนคติ” ตรงๆ  แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดทัศนคติ นั่นคือ “ความเชื่อ” ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาช้านาน ความเชื่อ คือ ความมั่นใจต่อสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นความจริง ต่อเมื่อมีข้อมูลใหม่ๆ มาหักล้าง ความเชื่อก็เปลี่ยนไปได้ เช่น ครั้งหนึ่งมนุษย์เชื่อกันว่า โลกแบน แต่เชื่อไหมว่า ความเชื่อบางอย่างแม้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันไปแล้ว ก็ยังเป็นความเชื่อที่ฝังหัวของคนส่วนใหญ่อยู่ พิสูจน์ได้จากการที่ยังมีคนหยิบเอาความเชื่อ(ผิดๆ) มาเอ่ยอ้างในสื่อต่างๆ  ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดขึ้นจากการบอกเล่าสืบต่อกันมา โดยผู้ฟังเองก็ไม่ได้ใส่ใจกันนักว่า ความเชื่อนั้นเป็นเรื่องจริงหรือแค่มายาคติ ดังนั้นเพื่อต้อนรับปีใหม่ 2558 ฉลาดซื้อ จึงขอเชิญท่านมาปรับทัศนคติ...ไม่ใช่ มาปรับความเชื่อ 58 เรื่อง ที่หลายคนยังคงเชื่อกันอยู่                    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 165 เตรียมตัว รู้ทัน รับมือ ป้องกัน “สังคมก้มหน้า”

กลายเป็นภาพชินตาในสังคมยุคนี้ไปเสียแล้ว กับภาพที่ผู้คนต่างก้มหน้าก้มตาจดจ่ออยู่กับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของตัวเอง ทั้งติดต่อสื่อสารพูดคุย ดูหนังฟังเพลง เล่นเกม ท่องอินเตอร์เน็ต ฯลฯ ไม่ว่าจะบนรถเมล์ รถไฟฟ้า ร้านอาหาร หรือแม้แต่ตามท้องถนนทั่วไป จนมีการให้คำจำกัดความกับยุคที่ผู้เอาแต่ก้มหน้าเข้าหาจอมือถือและแท็บเล็ตว่าเป็น “สังคมก้มหน้า” (Phubbing) ซึ่งหมายถึงสังคมที่ผู้คนเลือกใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์หรือโซเชียลเดีย (social media) มากกว่าจะปฏิสัมพันธ์กับสังคมรอบข้าง ว่างเมื่อไหร่เป็นต้องเปิดเฟซบุ๊ค เช็คทวิตเตอร์ตลอดเวลา เฝ้าแต่จะกดถูกใจในอินสตาแกรม วันไหนไม่ได้เซลฟี่แล้วรู้สึกเหมือนจะเป็นไข้ เหล่านี้คืออาการที่บอกให้รู้ว่าคุณได้เป็นพลเมืองของสังคมก้มหน้าแบบเต็มตัวเรียบร้อยแล้ว   “สังคมก้มหน้า” สังคมของคนป่วย “โรคติดจอ” เป้าหมายของการใช้เทคโนโลยีคือการทำให้ชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น เรื่องของการติดต่อสื่อสารที่ทุกวันนี้เราสามารถพูดคุย ส่งข้อความ หรือรูปภาพต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วผ่านระบบอินเตอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ เรามีสังคมออนไลน์หรือที่เรียกกันว่าโซเชียลเน็ตเวิร์ค เอาไว้คอยติดตามข่าวสารต่างๆ หรือพบปะแลกเปลี่ยนพุดคุยในเรื่องราวที่เราสนใจกับกลุ่มคนที่มีความสนใจแบบเดียวกับเรา ที่สำคัญคือเป็นแหล่งหาข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่ช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ที่กล่าวมาทั้งหมดคือข้อดีที่เราได้รับจากใช้งานสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเพื่อท่องไปในโลกอินเตอร์เน็ตหรือโลดแล่นอยู่ในสังคมออนไลน์ ...แต่ทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนมี 2 ด้านเสมอ...เมื่อมีข้อดี ย่อมมีข้อเสียที่ถูกซ่อนเอาไว้ รอเวลาปรากฏตัวออกมาให้เห็น หากว่าเราใช้ของสิ่งนั้นอย่างขาดการยับยั้งชั่งใจ หรือใช้อย่างไม่เหมาะสม เพราะการที่เราสามารถเข้าถึงสิ่งต่างๆ ได้อย่างง่ายดายเพียงปลายนิ้วสัมผัส ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตบนมือถือและแท็บเล็ต ทำให้หลายคนใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมือถือและแท็บเล็ต มากกว่าจะสนใจเหตุการณ์รอบๆ ตัว หลายคนอยากพูดคุยกับคนที่ไม่เคยพบเจอกันมากกว่าที่จะสื่อสารกับคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัว หลายคนรู้สึกมีความสุขที่ได้โพสรูปภาพหรือบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านสังคมออนไลน์ มากกว่าที่จะเล่าให้เพื่อนฝูงหรือคนรู้จักฟัง การที่เราค่อยๆ ให้ความสำคัญกับโลกออนไลน์หรือที่หลายคนเรียกว่า “โลกเสมือนจริง” (หมายถึงโลกที่ถูกสมมติขึ้น แต่ว่าส่งผลกระทบต่อชีวิตจริง) เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน หน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ต่อผู้คนรอบข้าง และรวมถึงสุขภาพ  ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ   สัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเป็น “โรคติดจอ” -เป็น “โนโมโฟเบีย” (Nomophobia) ที่ย่อมาจาก “no mobile phone phobia” แปลว่า “โรคกลัวไม่มีมือถือใช้” จัดเป็นโรคจิตประเภทหนึ่ง อยู่ในกลุ่มของพวกที่มักวิตกกังวลมากเกินไป เป็นที่อาการของคนติดมือถือแบบสุดๆ จะเริ่มรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวายใจทันทีที่โทรศัพท์มือถือแบตหมด หรือไปอยู่ในที่ที่ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต เพราะปกติจะเป็นคนที่หมกมุ่นอยู่กับหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ต คอยแต่จะเช็คข้อความ จดจ่ออยู่กับเฟซบุ๊ค เฝ้าหน้าจอว่าใครจะมากดไลค์เราบ้าง ถ้าได้ยินเสียงเตือนจากมือถือเมื่อไหร่จะต้องรีบคว้ามือถือขึ้นมาเช็คทันที หรือตื่นเช้าปุ๊บก็ต้องรีบคว้ามือถือขึ้นมาดูเป็นสิ่งแรก ใครที่กำลังมีพฤติกรรมแบบนี้ขอเตือนว่าคุณกำลังเข้าข่ายเป็น “โนโมโฟเบีย”   -อัพสเตตัส คือ กิจวัตรประจำวัน หลายคนให้คำนิยามว่า เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ คือไดอารี่ของคนในยุคปัจจุบัน รู้สึกอะไร คิดอะไร ก็เขียนระบายลงไปในเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เขียนปุ๊บก็โพสต์ปั๊บออนไลน์ทันที กลายเป็นไดอารี่ที่ต้องการสื่อสารสู่โลกภายนอก ไม่ได้แค่อยากเขียนระบายเงียบๆ เก็บไว้อ่านคนเดียวเหมือนการเขียนไดอารี่แบบเมื่อก่อน เพราะมีความอยากบอกต่อให้คนอื่นได้รู้ แถมบางครั้งก็ต้องการการโต้ตอบกลับจากคนอื่นๆ ในสังคมออนไลน์ เกิดเป็นความคาดหวัง การต้องการความสนใจ ซึ่งบางคนเมื่อไม่ได้รับการสนองตอบหรือได้รับแต่ไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง ความรู้สึกไม่ดี ความทุกข์ใจ ไม่พอใจ ก็อาจเกิดขึ้นตามมา กลายเป็นว่าต้องมาทุกข์ใจกับสิ่งที่ตัวเองโพสต์ไว้   -อะไรมาใหม่ก็ต้องขอมีส่วนร่วม พฤติกรรมอย่างหนึ่งของคนที่คอยเฝ้าอยู่แต่หน้าจอ ก็คือกลัวตามกระแสไม่ทัน เรื่องไหนที่โลกออนไลน์กำลังนิยมกัน ก็ต้องขอเข้าไปมีส่วนรวม ต้องขอแชร์ ขอเขาไปคอมเม้นต์ บางคนก็เอาใจไปฝักใฝ่กับเรื่องนั้นๆ มากเกินไป ทั้งๆ ที่เรื่องนั้นไม่ได้เกี่ยวกับข้องใดๆ กับเรา ไม่ได้มีผลกับชีวิต กลายเป็นว่าต้องไปเสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่ได้มีความสำคัญกับตัวเอง แถมบางคนก็จริงจังเอาเก็บมาคิดให้ปวดหัวให้เป็นทุกข์กับตัวเองโดยใช่เหตุ   -“เฟซบุ๊ค” ทุก (ข์) เวลา หลายคนอาจจะคิดว่าเฟซบุ๊คช่วยให้เรามีเพื่อนเพิ่มขึ้น ได้เจอกับเพื่อนเก่าที่ไม่ได้ติดต่อกันมานาน แล้วก็ยังได้เจอกับเพื่อนใหม่ๆ อยู่เสมอ คนที่เล่นเฟซบุ๊คก็น่าจะเป็นคนที่มีความสุข มีเพื่อนเยอะ แต่ก็มีนักจิตวิทยาหลายคนที่ระบุว่าจริงๆ แล้วคนที่ติดเฟซบุ๊คหลายคนมีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า (Facebook Depression Syndrome) เพราะคนเหล่านั้นยึดติดอยู่กับโลกในสังคมออนไลน์มากเกินไป จนลืมคิดถึงโลกของความเป็นจริง เวลาที่ไม่ได้รับการตอนสนองจากสังคมออนไลน์ก็จะรู้สึกเหมือนว่าตัวเองถูกทอดทิ้ง รู้สึกเหงา ไม่มีคนสนใจ เมื่อยิ่งรู้สึกไม่ดีมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งหาทางระบายผ่านในโลกออนไลน์มากขึ้นเท่านั้น ในโลกของสังคมออนไลน์หลายอย่างเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ในเฟซบุ๊คคนส่วนใหญ่คงไม่มีใครที่อยากจะโพสต์ภาพหรือเรื่องราวแย่ๆ หรือส่วนที่ไม่ดีของตัวเองให้คนอื่นรู้ เราจึงได้เห็นแต่ชีวิตที่สมบูรณ์แบบของใครต่อใครอยู่ในสังคมออนไลน์ บางคนนำสิ่งเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับตัวเองแล้วรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า ก็กลายเป็นการสร้างความทุกข์ให้กับตัวเอง   -รู้สึกเหงาใจถ้าไม่มีใคร line มาหา โปรแกรมไลน์ (line) ถือเป็นโปรแกรมสื่อสารผ่านข้อความที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอยู่ในเวลานี้ หลายคนสื่อสารผ่านไลน์มากกว่าที่จะพุดคุยโดยตรงด้วยการโทรศัพท์เพราะสะดวกกว่า ที่สำคัญโปรแกรมไลน์สามารถส่งข้อความคุยพร้อมกันแบบเป็นกลุ่มครั้งละหลายๆ คนได้ ส่งภาพ ส่งวิดีโอ และมีลูกเล่นต่างๆ ที่น่าสนใจ หลายคนจึงเลือกใช้ไลน์เป็นโปรแกรมแรกๆ ในการติดต่อสื่อสาร นอกจากนี้ไลน์ยังกลายมาเป็นโปรแกรมที่หลายคนนิยมใช้สำหรับหาเพื่อนใหม่ ผ่านเว็บไซต์ที่มีการโพสไอดีไลน์หาเพื่อนคุย หาเพื่อนแชท ทำให้หลายๆ คนติดการสื่อสารในไลน์ บางคนแชทคุยไลน์ได้เป็นวันๆ แต่บางครั้งการที่เราแชทไลน์ไปหาเขาใช่ว่าเขาจะต้องไลน์ตอบกลับมา บางคนถึงขั้นทุกข์หนักหากเวลาที่แชทไลน์ไปแต่อีกฝ่ายแค่เปิดอ่านไม่ยอมตอบกลับ   -ยอด like ไม่กระเตื้อง เห็นแล้วเคืองใจ คนที่ติดเฟซบุ๊ค ชอบโพสต์ชอบแชร์สิ่งต่างๆ มักจะเป็นคนที่โหยหาการกด “ถูกใจ” หรือ “ไลค์” (like) จากคนในสังคมออนไลน์ บางคนที่ขั้นนั่งเฝ้านั่งคอยยอดไลค์ เพราะถ้าเห็นคนมากดไลค์มาคอมเม้นต์เยอะๆ แล้วรู้สึกดีมีความความสุข แต่ถ้าเป็นตรงกันข้ามโพสต์อะไรไปก็ไม่มีคนมาไลค์ แชร์อะไรไปก็ไม่มีคนสนใจ ก็จะกลายเป็นไม่สบอารมณ์ขึ้นมาทันที รู้สึกแย่ รู้สึกตัวเองด้อยค่า ไม่มีใครสนใจ กลายเป็นโรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ค -“เซลฟี่” นี้เพื่อทุกคน การเสพติดการถ่ายภาพตัวเอง หรือที่นิยามกันแบบสากลว่า “เซลฟี่” (selfie) กำลังเป็นพฤติกรรมของคนติดจอทั่วโลก ซึ่งการรักการถ่ายภาพตัวเอง ความอยากที่จะแสดงตัวตนในสังคมออนไลน์ไม่ใช่เรื่องผิด แต่หากมีอาการถึงขั้นที่จะต้องเซลฟี่ในทุกๆ เรื่องที่ทำ บอกโลกให้รู้ในทุกอย่างที่ตัวเองทำ แถมยังต้องเป็นรูปที่ตัวเองต้องดูดีที่สุดเท่านั้น หากไม่ดีพอก็จะต้องขอถ่ายใหม่ หรือจะต้องใช้โปรแกรมแต่งภาพช่วยก็ยอม ขอแค่รูปที่โพสต์ไปมีคนมากดไลค์กดถูกใจ มีคนมาคอมเม้นต์ชื่นชมจนตามอ่านไม่ทัน แต่ถ้ารูปไหนโพสต์ไปแล้วไม่ได้รับการตอบรับก็จะรู้สึกแย่ทันที นักจิตวิทยาหลายคนออกมาแสดงความเป็นห่วงคนที่ชอบเซลฟี่แล้วซีเรียสกับการปรับแต่งรูปภาพของตัวเองให้ดูดี ดูสวย ดูขาว กว่าความเป็นจริงว่า อาจกลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในโลกความเป็นจริง แม้ในสังคมออนไลน์จะดูเป็นคนมีความมั่นใจกล้าแสดงออก แต่นั่นเป็นเพราะได้ผ่านการปรุงแต่งจนตัวเองพอใจแล้ว แต่พอมาในโลกความเป็นจริงไม่มีโปรแกรมหรือแอพลิเคชั่นมาช่วย ก็คอยแต่รู้สึกกังวลใจว่าตัวเองจะดูไม่ดี คนที่มองมาจะคิดกับเราแบบไหน กลายเป็นว่าชีวิตจริงก็อาจจะหันไปหาวิธีช่วยอย่างการผ่าตัดศัลยกรรมหรือพึ่งพวกอาหารเสริมนู้นนี่นั่นที่ขายกันเกลื่อนในอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็มีข่าวอาหารเสริมเครื่องสำอางปลอมใช้แล้วหน้าพัง กินแล้วป่วย หรือพวกหมอศัลยกรรมเถื่อนทำคนไข้เสียชีวิตให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวของคนที่เสพติดเซลฟี่และแสวงหาความสมบูรณ์แบบมากจนเกินไป ----------------------------------   รีบจัดการตัวเองก่อนเป็น “โรคติดจอ” -วิธีที่จะทำให้เราไม่เป็นโรคติดจอในยุคสังคมก้มหน้า สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการต้องรู้จักควบคุมตนเอง รู้จักใช้อุปกรณ์สื่อสาร โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์ เท่าที่จำเป็น เลือกใช้ในด้านที่เป็นประโยชน์กับตัวเรา ไม่ใช่ใช้จนไปเบียดบังกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน -เราสามารถเลือกใช้โปรแกรมโซเชียลมีเดียเท่าที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อเรา ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกอย่างที่มี ไม่จำเป็นต้องตามกระแส -อย่าไปจริงจังหรือยึดติดกับเรื่องราวในโซเชียลมีเดีย -รู้จักที่จะใช้เวลากับคนรอบข้างให้มากขึ้น เวลาไปกินข้าวกับเพื่อนๆ คนในครอบครัว ก็ควรเก็บมือถือไว้บ้าง ไม่ต้องเอาขึ้นมาวางไว้ใกล้ตัว -ไม่จำเป็นต้องพกมือถือตลอดเวลา -ปิดมือถือเวลาที่เข้านอน -ไม่ต้องตั้งเตือนเมื่อมีข้อความเข้า เราจะได้ไม่ต้องคอยพะวงว่ามีใครส่งอะไรมาหาเรา ค่อยมาอ่านเมื่อมีเวลาว่างก็ได้ -หากิจกรรมอย่างอื่นทำนอกจากแค่เล่นมือถือหรือแท็บเล็ต อย่างเช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ไปดูหนัง ฯลฯ -ใช้วิธีโทรศัพท์คุยกันบ้าง แทนที่จะส่งเพียงข้อความ โดยเฉพาะยิ่งถ้าเป็นธุระสำคัญๆ -ลองหาวันหยุดสัก 1 วันใน 1 สัปดาห์หรือใน 1 เดือน ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือหรือโซเชียลมีเดียใดๆ ลองดูสิว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรบ้าง   10 เรื่องที่  “ไม่” ควรทำ เมื่อใช้โซเชียลมีเดีย 1.ไม่โพสข้อมูลสำคัญของตัวเองลงในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น เลขที่บัตรประชาชน เลขที่บัตรเครดิต ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือแม้แต่อีเมล เพราะอาจมีมิจฉาชีพที่แฝงตัวอยู่ในโซเชียลมีเดีย นำข้อมูลสำคัญเหล่านี้ของคุณไปใช้หาประโยชน์ ทำให้คุณเสียทรัพย์ เสียชื่อเสียง ใครที่ยังคิดว่าเฟซบุ๊คคือพื้นที่ส่วนตัว อยากจะโพสต์อะไรก็ได้เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ โพสต์นะโพสต์ได้แต่คุณก็ต้องพร้อมจะรับผิดชอบในผลที่ตามด้วยเช่น ที่สำคัญคือเฟซบุ๊คไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว ถึงแม้คุณจะตั้งค่าความเป็นส่วนตัว แต่ถึงอย่างไรสิ่งที่คุณโพสต์ก็จะถูกบันทึกไว้โดยผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียเหล่านั้นไป ไม่ว่าจะเป็นการกดไลค์กดแชร์ใดๆ ในเฟซบุ๊ค ทุกสิ่งจะถูกระบบนำไปประมวล แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นที่ได้จากคุณไปขายหรือแลกเปลี่ยนให้บริษัทธุรกิจต่างๆ ทั้งบริษัทวิจัย บริษัทสถิติ บริษัทโฆษณา 2.ไม่ส่งต่อ รูปภาพ ข้อความ ที่อาจสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น เพราะในโลกของโซเชียลมีเดียทุกอย่างล้วนแต่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งบางครั้งความเร็วอาจสร้างความเสียหายอย่างที่คุณเองอาจคาดไม่ถึง การส่งต่อข้อมูลต่างในโซเชียลมีเดีย จึงต้องมีความระมัดระวัง เพราะการกดแชร์เพียงครั้งเดียวของคุณ อาจสร้างความเสียหายให้กับคนอื่นๆ หรือแม้แต่ตัวคุณเอง หากสิ่งที่คุณแชร์เป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย ข้อมูลที่สร้างความความใจผิดในสังคม หรือเป็นข้อมูลที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับผู้อื่น เพราะใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มีการระบุไว้ชัดเจนว่า แม้คุณจะใช้คนต้นคิดที่สร้างความเสียหายนั้น แต่ในฐานะคนที่ส่งต่อก็มีความผิดด้วยเช่นกัน 3.ไม่รับคนที่ไม่รู้จักเป็นเพื่อน ยิ่งคุณมีเพื่อนในเฟซบุ๊คมากเท่าไหร่ก็ยิ่งอันตรายมากขึ้นเท่านั้น คนที่รู้สึกดีกับการที่มีเพื่อนเป็นพันๆ คนในเฟซบุ๊ค จงตระหนักไว้ให้ดีว่าในเพื่อนจำนวนหลายพันคนนั้น อาจจะมีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาหวังหาประโยชน์จากตัวคุณก็เป็นได้ เชื่อแน่ว่าคนที่มีเพื่อนในเฟซบุ๊ค 1,000 คน อาจมีคนที่คุณรู้จักจริงๆ ไม่ถึง 100 คนด้วยซ้ำ อย่าลืมว่าสิ่งที่คุณโพสต์ลงในเฟซบุ๊ค มีคนจำนวนหลายพันคนเห็นสิ่งนั้น หากมันเป็นข้อมูลสำคัญของคุณอาจถูกมิจฉาชีพนำไปใช้ประโยชน์หรือสร้างความเสียหายให้กับคุณ 4.ไม่คลิ้กหรือโหลดโปรแกรมที่ไม่น่าไว้ใจ ในโปรแกรมโซเชียลมีเดียมักจะมีโปรแกรมเสริมอื่นๆ คอยมาเสนอให้เราโหลดเพิ่มอยู่เสมอ หรือจะเป็นพวกคลิปวิดีโอแปลกๆ ที่ชอบโผล่ออกมาล่อใจให้คนใช้โซเชียลมีเดียต้องเผลอคลิ้กเข้าไปดู ซึ่งมันอาจเป็นไวรัสทำลายมือถือหรือคอมพิวเตอร์ของคุณ หรืออาจเป็นโปรแกรมของแฮ็กเกอร์ที่หวังจะมาล้วงข้อมูลต่างๆ ของคุณไปหาประโยชน์ 5.ไม่โพสต์หรือให้ข้อมูลของญาติ เพื่อน หรือคนที่คุณรู้จัก นอกจากข้อมูลของตัวคุณเองที่ไม่ควรเปิดเผยในโซเชียลมีเดียแล้ว ข้อมูลสำคัญๆ ของคนใกล้ตัวคุณอย่างญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน ก็ไม่ควรนำมาเปิดเผยในโซเชียลมีเดีย เพราะเคยมีกรณีที่มิจฉาชีพนำข้อมูลของผู้ใช้โซเชียลมีเดียไปแอบอ้างสร้างเรื่องโกหกกับญาติของผู้ใช้โซเชียลมีเดียคนนั้น แล้วหลอกให้โอนเงินไปเข้าบัญชีของมิจฉาชีพ เพราะฉะนั้นการแสดงข้อมูลที่ระบุถึงตัวเราและคนใกล้ตัวจึงต้องอาศัยความระมัดระวังอย่างมาก 6.ไม่แสดงสถานที่ที่คุณอยู่หรือกำลังจะไป ในโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ค หรือ อินสตาแกรม จะมีส่วนที่เรียกว่า “check in” หรือการแสดงตำแหน่งที่อยู่ของเรา ซึ่งการแสดงที่อยู่ ณ ขณะนั้นของเราอาจกลายเป็นภัยแก่ตัวเอง เพราะไม่แน่ว่าอาจมีมิจฉาชีพหรือผู้ที่ไม่หวังดีต่อเรา จ้องคอยทำร้ายเราอยู่ ซึ่งหากใครไม่ต้องการแสดงตำแหน่งที่อยู่ในเวลาที่โพสต์สิ่งต่างๆ ในโซเชียลมีเดียสามารถเลือกปิดการแสดงตำแหน่งที่อยู่ได้ โดยปิดในมือถือหรือแท็บเล็ตที่เมนูตั้งค่าความเป็นส่วนตัว 7.ไม่ตั้งรหัสผ่านที่เดาง่ายเกินไป สิ่งแรกๆ ที่เหล่าแฮ็กเกอร์จะขโมยในระบบโซเชียลก็คือ รหัสผ่าน (password) เพราะถ้าสามารถรู้รหัสผ่านได้ก็สามารถเจาะเข้าไปหาข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นการป้องกันขั้นแรกคือต้องตั้งรหัสผ่านให้มีความยากต่อการคาดเดาของพวกแฮ็กเกอร์และมิจฉาชีพ วิธีที่นิยมใช้กันก็คือ ตั้งรหัสผ่านที่มีทั้งตัวอักษรและตัวเลขผสมกัน มีทั้งตัวอักษรเล็กและอักษรใหญ่ 8.ไม่พิมพ์แอดเดรสของโซเชียลเว็บไซต์ที่ใช้งานอยู่ลงบนเบราเซอร์ที่ไม่น่าไว้วางใจ อีกหนึ่งกลยุทธ์ของพวกแฮ็กเกอร์ก็คือสร้างหน้าเบราเซอร์ (web browser) หรือลิงค์ (link) ปลอมขึ้นมา เพื่อหลอกให้ผู้ใช้คลิ้กหรือกดเข้าไปยังเว็บโซเชียลมีเดียที่ใช้งานอยู่ เพื่อลอบขโมยข้อมูลอย่าง ชื่อผู้ใช้งาน (username) และรหัสผ่าน (password) ไปใช้งานในทางที่ผิด 9.ไม่เปิดโปรแกรมโซเชียล มีเดียทิ้งไว้ในเวลาที่คุณไม่ได้อยู่ที่หน้าจอ การล็อคอินหน้าเว็บโซเชียลมีเดียของคุณทิ้งไว้ ขณะที่คุณไม่ได้อยู่ตรงหน้าจอ อาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่คุณคาดไม่ถึง หลายคนคงเคยเจอเหตุการณ์เปิดเฟซบุ๊คทิ้งเอาไว้ แล้วมีเพื่อนมาแอบเล่นโฟสต์อะไรบ้าๆ บอๆ แกล้งเรา กลายเป็นภาระให้ต้องตามแก้ตัว ตามลบสิ่งที่เพื่อนโพสต์แกล้งเราไว้ แต่หากบังเอิญว่าคนที่แอบใช้โซเชียลมีเดียของเราไม่ใช่เพื่อนเรา แต่ถ้าเป็นผู้ไม่หวังดีหรือมิจฉาชีพ เข้ามาขโมยข้อมูลสำคัญๆ ของเราไป อาจนำความเสียหายร้ายแรงมาสู่เราได้ 10.ไม่เชื่อข้อความแปลกๆ ที่ส่งมาโดยเพื่อนของคุณในทันที การแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นในโซเชียลมีเดียถือเป็นเรื่องพบเห็นได้ทั่วไป เพราะฉะนั้นถึงแม้จะมีข้อความที่มาจากเพื่อนของคุณหรือในคนที่คุณรู้จักในโซเชียลมีเดีย แต่ก็อย่าเพิ่งแน่ใจว่านั้นเป็นเพื่อนของคุณจริงๆ ยิ่งถ้าเป็นข้อความที่น่าสงสัย หรือเป็นลิงค์ที่ต้องมีการโหลดหรือคลิ้กต่อ ห้ามคลิ้กดูทันทีโดยเด็ดขาด เพราะนั้นอาจเป็นไวรัสคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือของพวกแฮ็กเกอร์ ที่หวังมาลวงข้อมูลหรือสร้างความเสียหายให้กับคอมพิวเตอร์ของคุณ เพื่อความแน่ใจที่สุด คุณควรสอบถามกับเพื่อนของคุณก่อนว่านั้นคือข้อความที่เขาตั้งใจส่งมาหาคุณหรือเปล่า ถ้าเป็นไปได้ควรใช้วิธีโทรศัพท์ถามกับเพื่อนของคุณโดยตรง   สังคมก้มหน้ากับผลเสียต่อสุขภาพ สายตา – การมองภาพในมือถือ แท็บเล็ต หรือ คอมพิวเตอร์นานๆ จะทำประสาทตาล้า ตาแห้ง ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นสาเหตุให้จอประสาทตาเสื่อมเร็วขึ้น คอ – เวลาที่นั่งก้มหน้าเล่นมือถือหรือแท็บเล็ตนานๆ จะทำให้คอและบ่าเกิดอาการเมื่อยล้า ถ้าอาการหนักมากๆ ก็อาจจะส่งผลรุนแรงถึงขั้นปวดคอ ขยับคอลำบาก ไปจนถึงทำให้รู้สึกหัวหรือเวียนหัว หลัง – การนั่งในท่าเดิมนานๆ อาจทำให้หลังเกิดอาการเกร็ง ซึ่งการก้มคอนานๆ ก็ส่งผลให้หลังเกิดอาการปวด เมื่อยล้า ได้ด้วยเช่นกัน ระบบการหายใจ – การนั่งเล่นมือถือ แท็บเล็ต ในท่าเดิมนานๆ นอกจากจะทำให้ปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่แล้วนั้น ยังส่งผลต่อระบบการไหลเวียนของเลือด ระบบการหายใจ การนั่งหลังงุ้มจะทำให้หายใจไม่สุดปอด หายใจสั้นติดขัด ส่งผลเสียต่อสุขภาพ นิ้วมือ – การใช้นิ้วมือกด พิมพ์ จิ้ม บนจอมือถือและแท็บเล็ตนานๆ จะทำให้นิ้วรู้สึกชา ปวดข้อมือ ปวดที่บริเวณโคนนิ้วโป้ง หากทิ้งไว้นานๆ อาจทำให้เกิดอาหารนิ้วล็อก เส้นเอ็นข้อมืออักเสบ สภาวะอารมณ์ – การเล่นโซเชียลมีเดียมากเกินไป จนขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างในโลกความจริง อาจทำให้กลายเป็นคนเก็บตัว บางคนสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ขาดทักษะในการสื่อสารกับผู้อื่น หากหมกมุ่นในโลกโซเชียลมีเดียมากเกินไป หรือเจอเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจในโลกโซเชียล ก็จะมีอาการเครียดและเป็นทุกข์ใจมากกว่าเวลาที่อยู่ในโลกความจริง   อย่าปล่อยให้สมาร์ทโฟน – แท็บเล็ตเป็นพี่เลี้ยงเด็ก พ่อ-แม่หลายคนเต็มใจซื้อสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตให้ลูก เพราะคิดว่าลูกจะได้มีความรู้ เป็นเด็กทันสมัย ลูกจะได้มีกิจกรรมทำเวลาว่าง ซึ่งเหตุผลที่ยกมาก็ต้องบอกว่าพ่อ – แม่คิดไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะแท็บเล็ตแม้จะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ดีๆ ที่เด็กสามารถค้นหาได้จากในอินเตอร์เน็ต มีโปรแกรมดีๆ ที่ใช้ฝึกความรู้ของเด็กๆ ได้ แต่เรื่องที่ไม่ดี สิ่งที่เป็นอันตรายต่อเด็กก็มีซ้อนเร้นอยู่มากไม่แพ้กัน การปล่อยให้เด็กใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเราจะวางใจได้อย่างไรว่าเด็กจะไม่ถูกสิ่งที่ไม่ดีทำร้าย? เด็กที่ใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมากเกินไป จะส่งผลให้กลายเป็นเด็กสมาธิสั้น มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย นอกจากนี้ยังทำให้ขาดปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหา ขาดการคิดไตร่ตรองในการวิเคราะห์ข้อมูล บางคนก็มีปัญหาในเรื่องทักษะการพูด การสื่อสารกับผู้อื่น เด็กบางคนติดมากจนไม่ยอมกินข้าว ไม่ทำกิจกรรมอื่น ในระยะยาวก็ส่งผลต่อสุขภาพทั้งเรื่องของสายตา นิ้วมือ ข้อมือ การควบคุมการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตกับเด็กๆ จึงเป็นหน้าที่สำคัญของพ่อ – แม่ ควรมีการกำหนดเวลาในการใช้ให้กับเด็กๆ ไม่ควรเกินวันละ 1 – 2 ชั่วโมง เวลาที่เด็กใช้ควรอยู่ในสายตาของพ่อ – แม่ ถ้าเป็นไปได้พ่อ – แม่ควรเล่นไปพร้อมกันกับเด็ก คอยสอนให้เด็กรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี สอนให้เด็กรู้ว่าอันตรายจากการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต และโซเชียลมีเดียมีอะไรบ้าง -ประเทศไทยมีผู้ใช้ facebook สูงถึง 28 ล้านคน หรือคิดเป็น 42% ของประชากรทั้งประเทศ -ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีผู้ใช้ facebook มากเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยอันดับ 1 คือประเทศสหรัฐอเมริกา ที่จำนวน 180 ล้านราย -โซเชียลมีเดีย 3 อันดับยอดนิยมของคนไทย คือ 1.facebook 28 ล้านราย, 2.instagram 1.7 ล้านราย และ 3.twitter  4.5 ล้านราย -สิ่งคนไทยนิยมใน facebook มากที่สุดคือ  โพสต์รูปภาพ 57% รองลงมาคือ เช็คอิน 33% โพสต์พร้อมลิงค์ 21% วิดีโอ 3% และ โพสต์สถานะเฉยๆ 2% ที่มา : ข้อมูลจากงาน Thailand Zocial Awards 2014 โดย Zocial inc

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 164 ยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร

บทนำ เมื่อ อเล็คซานเดอร์ เฟลมมิ่ง ค้นพบเพนนิซิลลิน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลก ถือเป็นความยิ่งใหญ่ในการรักษาโรคติดเชื้อในคน ซึ่งในยุคนั้น มีปัญหาโรคติดเชื้อมากมาย และผู้คนต้องเสียชีวิตจำนวนมาก  เขาได้บรรยายในวันที่รับรางวัลโนเบล เมื่อปีพ.ศ.2492 ว่า มันเป็นการไม่ยากที่จะก่อให้เกิดการดื้อยาในเชื้อแบคทีเรีย เมื่อใช้ยาในขนาดน้อย ๆ ที่ไม่เพียงพอในการกำจัดเชื้อโรค จะนำไปสู่เชื้อที่มีความดื้อด้านทนทานต่อยามากขึ้น แต่ดูเมือนผู้คนยังไม่ตื่นตระหนก จึงยังคงใช้ยาปฏิชีวนะกันมากมาย อย่างไม่ระมัดระวัง ใช้ไม่ถูกต้อง ใช้เกินจำเป็น ตลอดมา องค์การอนามัยโลกได้สะท้อนปัญหาเชื้อดื้อยามานานแล้ว ตั้งแต่ปีพ.ศ.2541 และมีรายงาน มีเอกสารยุทธศาสตร์ มีมติต่าง ๆ ออก มาอยางต่อเนื่อง โดยล่าสุดคือในปีนี้เอง มีรายงานขององค์การอนามัยโลกที่ สะท้อนผลการสำรวจสถานการณ์การดื้อยาทั่วโลก[1] พบว่ามีสถานการณ์เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพอยู่ในระดับเลวร้ายมาก และพบช่องว่างการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหารมาก เมื่อเทียบกับในคน  ในสมัชชาอนามัยโลก ปีพ.ศ. 2557 (WHA67.25)[2] จึงมีมติแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ และเรียกร้องประเทศสมาชิกให้รีบเร่งดำเนินการต่าง ๆ ถึง 10 เรื่อง เช่น การพัฒนาระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา ใน 3 ด้าน คือผู้ป่วยในสถานพยาบาล ผู้ป่วยนอกและชุมชน และรวมถึง ในสัตว์และการใช้ในส่วนที่ไม่ใช่คน เช่น ในการเกษตร  การมีนโยบายของประเทศที่ชัดเจน เป็นต้น เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจ  World Economic Forum ซึ่งเป็นองค์ด้านเศรษฐกิจ มีการประชุมและจัดทำรายงายทุกปี  ซึงเมื่อปีพ.ศ. 2556 ได้จัดทำรายงาน เกี่ยวกับสภาวะปัจจัยเสี่ยงของโลก Global Risk 2013[3] และหนึ่งในความเสี่ยงที่ได้หยิบยกมา เป็นโรคแห่งความอหังกาของมนุษย์โดยแท้  คือเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพและรวมถึงยาปฏิชีวนะด้วย  ที่เกิดทั้งจากการใช้ในคนและใช้สัตว์อย่างไม่ระมัดระวัง ปัญหาเกิดจากการรักษาในคนและ การนำมาใช้ในการเกษตร ทั้งการปลูกพืช และในการเลี้ยงสัตว์ (ปศุสัตว์ และประมง) มีการสะท้อนปัญหาของการดื้อยาปฏิชีวนะ นำไปสู่ปัญหาไม่มียาปฏิชีวนะใช้  และอนาคต ผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร เรื่องสิ่งแวดล้อม และนิเวศน์วิทยา และเรียกร้องทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ผลิต ผู้ควบคุม ไปจนถึงผู้ใช้ในทุกระดับ ให้ตระหนักเรื่องนี้ให้มากกว่าปกติ จึงควรมาทำความเข้าใจถึงเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะและปัญหาเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร  พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ให้คำจำกัดความ ของ “ห่วงโซ่อาหาร[4]” ว่า หมายความว่า วงจรการผลิตอาหารตั้งแต่วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต การเพาะปลูก การเพาะเลี้ยง การตัดแต่ง การแปรรูป การขนส่ง การปรุง การประกอบ การบรรจุ การเก็บรักษา การจัดจำหน่าย การกระจาย จนถึงผู้บริโภค รวมทั้งการนำเข้า การนำผ่าน และการส่งออก สถานการณ์ของประเทศไทย สถานการณ์มีได้ 2 ลักษณะ คือ กลุ่มแรก พบมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์สัตว์ เช่น  ไก่ กุ้ง ซึ่งพบมีรายงานมานานแล้ว อีกกลุ่มที่น่ากลัวและพบรายงานเร็ว ๆ นี้ คือการพบเชื้อ และโดยเฉพาะเชื้อดื้อยาในผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับมนษย์ เช่นไก่ รายงานในปี พ.ศ. 2545 พบว่า มีการตรวจพบ สารตกค้างของยาปฏิชีวนะในกลุ่มไนโตฟูแรน (Nitrofurans) ในสินค้ากุ้งและไก่แช่แข็งจากประเทศไทยที่ส่งไปที่สหภาพยุโรป ส่งผลให้มีการระงับการนำเข้าและส่งคืนสินค้าที่มาจาก ประเทศไทย รวมถึงมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ตั้งข้อกำหนดที่เข้มงวด เช่น การตรวจสอบสารตกค้างทุกครั้งที่นำเข้า ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์ มีการตรวจพบเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาแวนโคมัยซิน (vancomycin) ในเนื้อไก่ที่ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น มีรายงานอื่น ๆ อีกมากมาย เช่นการตรวจพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในบ่อเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ที่สงขลา [5] รุ่งทิพย์ ชวนชื่น[6] (2553) ได้ศึกษาพันธุกรรมการดื้อยาและการปรากฏของ virulence factors ในเชื้อ Salmonella enterica ที่แยกได้จากโคนม เนื้อสุกรและผู้ป่วย  พบการแพร่กระจายของเชื้อ Samonella ดื้อยาในฟาร์มโคนม เนื้อสุกรและผู้ป่วย โดย class 1 integrons มีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายและการถ่ายทอดพันธุกรรมการดื้อยาในเชื้อเหล่านี้ รวมทั้งเชื้อเหล่านี้ยังมีปัจจัยก่อความรุนแรงของโรค ผลการวิจัยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อการบริโภคอย่าง รวมถึงการส่งเสริมให้การศึกษาพันธุกรรมการดื้อยาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทราบปัญหาที่แท้จริงของการดื้อยาในเชื้อและสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ มีรานงานการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล[7] ว่าทำการตรวจสอบเนื้อไก่สดที่แพ็กขายในซุปเปอร์มาร์เกต พื้นที่ใกล้เคียง รพ.ศิริราช จำนวน 200 แพ็ก พบว่าเกินครึ่ง (56.7%) มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในลำไส้ใหญ่ของคนทั่วไป และเชื้อซัลโมเนลลา เอนเตอโรติก้า (Salmonella enteritica) ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง พบว่าเกินค่ามาตรฐานที่ 500 ตัว ต่อ 25 กรัมของเนื้อสัตว์  และในจำนวนเชื้อที่ปนเปื้อนทั้ง 2 ชนิดเป็นเชื้อดื้อยาถึงร้อยละ 40 อาจจะทำให้คนทั่วไปได้รับเชื้อดื้อยาโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงน่าเป็นห่วงว่ายังมีการใช้จนได้ตรวจพบยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับคนอีกต่อไปหรือไม่ และเป็นยาปฏิชีวนะประเภทใด พบในผลิตภัณฑ์ชนิดใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจพบเชื้อดื้อยา พบเชื้ออะไรอีกบ้าง และดื้อต่อยาปฏิชีวนะชนิดใด  เหล่านี้เกิดมาได้อย่างไร ผลเสียหายต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ รุนแรงและมากมายเพียงใด ระบบเฝ้าระวังเรื่องนี้เป็นอย่างไร ศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ [8] (National Antimicrobial Resistance Surveillance Thailand, NARST) ดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2541 มีรายงานต่อเนื่องทุกปีถึงสถานการณ์เชื้อดื้อยาในมนุษย์ โดยได้ตัวอย่างมาจากโรงพยาบาลเป็นหลัก จึงยังมีตัวอย่างจากชุมชนไม่มากนัก รายงานจากกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2556 และ 2557[9] ระบุว่าคนไทยติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะปีละกว่า 1 แสนคน ใช้เวลารักษาตัวนานขึ้นรวมกันปีละกว่า 3 ล้านวัน ในปี 2553 มีผู้ป่วยติดเชื้อชนิดดื้อต่อยาปฏิชีวนะ 5 ชนิด เสียชีวิต 38,481 ราย เชื้อจุลชีพ 5 ชนิด ได้แก่ 1.เอสเชอริเชีย โคไลหรืออี.โคไล (Escherichia coli) ที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและทางเดินอาหาร 2.เคลบซีลลา นิวโมเนอี (Klebsiella pneumoniae) ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอดอักเสบ 3.เชื้ออะซีนีโตแบคเตอร์ บอแมนนิอาย (Acinetobactor baumannii) เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดบวม 4.ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) ทำให้เกิดโรคติดเชื้อหลายระบบของร่างกาย เช่น โรคปอดบวม ติดเชื้อในกระแสเลือด และ5.สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ที่ดื้อต่อยาเมทิซิลิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อันได้แก่ กรมประมง กรมปศุสัตว์ มีหน้าที่เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาเฉพาะในสัตว์ที่หน่วยงานรับผิดชอบ  แต่ยังมีกลุ่มเกษตรกรรมที่ใช้ยาปฏิชีวนะในการปลูกพืช  ยังไม่มีระบบการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาที่ชัดเจน มีเพียงงานวิจัยประปรายที่ระบุการพบการตกต้างของยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์ และมีการศึกษาในภายหลังถึงการพบเชื้อดื้อยาด้วย ที่น่าอันตรายมากต่อผู้รับประทาน และต่อสุขภาพเกษตรกรด้วย ห่วงโซ่อาหาร มียาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยามาอยู่ได้อย่างไร การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์มีวัตถุประสงค์ หลัก 3 ประการ คือ เพื่อการรักษา เพื่อการป้องกันโรค และเพื่อเร่งการเจริญเติบโตวิธีการให้ทั้ง 3 วิธีนี้มีความแตกต่างกันไป เชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้นในสัตว์นั้นสามารถถูกส่งผ่านไปยังคนได้ โดย 3 วิธีหลักๆ คือ[10] 1) การบริโภคเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ จากสัตว์ 2) การสัมผัสกับสัตว์โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสัตว์ และ  3) การรับเชื้อจากสิ่งแวดล้อม เช่น ในแหล่งน้ำและดิน เป็นต้น  มีรายงานของประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า 5 จาก 90 ตัวอย่าง เนื้อหมูที่วางขายในร้านขายของชำในรัฐลุยเซียนามีเชื้อ Methicillin-resistance Staphylococcus aureus (MRSA) อยู่ และมีการศึกษายืนยันความสัมพันธ์ของการใช้ยาในสัตว์และการเกิดเชื้อดื้อยา MRSA ที่ส่งผ่านมายังคน ใจพร พุ่มคำ (2555) อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดปัญหาเชื้อดื้อยาและยาปฏิชีวนะ ตกค้างในเนื้อสัตว์ไว้ 7 ประการ 1. ความจำเป็นของผู้เลี้ยงในการใช้ยาในสัตว์ เนื่องจากโอกาสที่สัตว์จะป่วยมีได้โดยเฉพาะในฟาร์มทีไม่ได้มาตรฐาน 2. การใช้ยาอย่างผิดกฎหมาย เช่นใช้เภสัชเคมีภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาสำเร็จรูป ฉลากไม่ถูกต้องหรือใช้ยาคนไปผสมให้สัตว์กิน ทำให้อาจได้ขนาดไม่ถูกต้อง 3. การใช้ยาอย่างไม่ถูกวิธี เช่น ใช้ยาไม่ตรงกับโรค ผิดขนาด ผิดช่วงเวลา วิธีการใช้ไม่การใช้ยาสูงขึ้น ใช้ยานานขึ้น หรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นที่แรงขึ้น แพงขึ้น 4. ไม่มีการหยุดยาตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้มียาตกค้างในเนื้อเยื่อของสัตว์ในปริมาณที่เป็นอันตรายได้ 5. การไม่ตรวจหาสารตกค้างหรือการตรวจอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ผู้เลี้ยงสัตว์บางรายไม่มีการสุ่มตรวจหาสาร ตกค้างในสัตว์ก่อนการฆ่าหรือจับสัตว์มาบริโภค 6. การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ในการกำกับดูแลสถานที่จำหน่ายยาสัตว์  รวมถึงสถานนำเข้า หรือผลิต เป็นสิ่งสำคัญ หากมีความอ่อนแอและไม่ทั่วถึงย่อมเกิดปัญหาตามมาแน่นอน ถือเป็นการดูแลที่ต้นน้ำ 7. มีระบบติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์การเกิดเชื้อ-ดื้อยา และยาตกค้างในเนื้อสัตว์ ต้องถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และครอบคลุม เช่นเดียวกันว่าหากระบบไม่เข้มแข็งก็ติดตามไม่ทนสถาณการณ์ อย่างไรก็ดี หลายคนตั้งคำถามว่า ประเด็นในเรื่องนี้ อยู่ที่ว่า ในความเป็นจริง การอนุญาตให้ใช้ยาฏิชีวนะในอาหารสัตว์  แล้วพักเวลาก่อนการขาย นั้น ทำให้ตรวจไม่พบไม่มียาปฏิชีวนะตกค้าง   แต่น่าจะป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาในเนื้อสัตว์ ส่วนยาปฏิชีวนะในสวนผลไม้ต่าง ๆ เช่นสวนส้ม ยังไม่มีการศึกษามากนักว่าตกค้างในผลไม้เท่าไหร่ และตกค้างในสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ มีอันตรายแก่ผู้คนอย่างไร โดยเฉพาะการเกิดเชื้อดื้อยา การควบคุมการนำเข้า การกระจายและการใช้ยาปฏิชีวนะของไทย เป็นอย่างไร พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551[11] และฉบับแก้ไข พ..ศ. 2556[12] เป็นการกำหนดมาตรฐาน และออกใบอนุญาต ผลิต ส่งออก และนำเข้า สินค้าเกษตรมาตรฐาน ทั้งนี้ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)[13] ทำหน้าที่ เป็นแกนประสาน รวม 7 ประการ เช่น  เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร   กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้สอดคล้องกับสากล และ รับรองระบบงานผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศไม่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อขายซึ่งอาหารสัตว์ทุกประเภททีมีสารอะโวพาร์ซินเป็นส่วนผสม  จึงมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ ให้ยกเลิกข้อความใน (3) ของข้อ 3 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2538) เรื่อง วัตถุที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นยา ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2538 นั่นคือกลับให้ อะโวพาร์ซิน ( Avoparcin ) ที่อยู่ในสภาพของสารผสมล่วงหน้า กลับไปเป็นยาอย่างเดิม รือยกเลิกไปเลย น่าสับสน น่าสนใจว่า ตั้งแต่พ..ศ. 2522 เป็นต้นมา มีการประกาศยกเว้นให้ยาปฏิชีวนะหลายชนิด ไม่เป็นยา นั่นคือนำไปใช้ผสมในอาหารสัตว์ได้ เช่น ให้ เตตราซัยคลิน และ สเตรปโตมัยซิน ในขนาด ไม่เกิน 15% ใช้ในทางเกษตรกรรมได้ และยกเว้นไม่ถือเป็นยา (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2524 เรื่องวัตถุที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นยา) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 34 (พ.ศ. 2548) เรื่อง วัตถุที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นยา ข้อ 3 ให้ยาต้านจุลชีพที่เป็นสารผสมล่วงหน้า ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการเจริญเติบโตของสัตว์ในด้านเกษตรกรรม ซึ่งได้รับยกเว้นจากการเป็นยาตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2538) รวมทั้งที่ได้ขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 ไว้แล้ว ได้รับยกเว้นจากการเป็นยาเป็นเวลา 2 ปี นับจากวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ และเมื่อพ้นกำหนดแล้ว การผลิต ขายหรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งวัตถุดังกล่าว ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 4 วัตถุตามข้อ 2 และข้อ 3 ต้องไม่แสดงสรรพคุณบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรือความเจ็บป่วยสำหรับสัตว์ จากการสืบค้นในเวปไซต์ ต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะ ความเข้าใจผิด และความละเลยในการใช้    เช่น มีคำถาม ว่าสเตรปโตมัยซิน มีขายที่ไหนเอ่ย?  ที่ใช้กับพืชนะครับ คำตอบคือ  ร้านขายยาปราบศัตรูพืช คุณอยู่ใกล้ที่ไหนลองไปเดินหาดู  ตามตลาดร้านขายยาฆ่าแมลง มีทั่วไป เป็นยาปฏิชีวนะ  ครอบจักรวาล ส่วนมากเขาไม่นิยมใช้ เพราะมีสารตกค้าง  อันตรายต่อคน เขาใช้น้ำหมักชีวภาพ ใช้สารสะเดา หรือไม่  ก็ใช้ตัวฮั่มหรือแตนเบียน ไล่แมลง แต่ในความเป็นจริงมีการอนุญาตตามกฎหมมายให้ยกเว้นจากการเป็นยา ทิศทางการรณรงค์เชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหารของ นานาชาติ การได้เรียนรู้มาตรการจัดการในต่างประเทศมีประโยชน์ในการเสนอแนะต่อหน่วยงานรับผิดชอบของไทยไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง กรมปศุสัตว์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) กระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2548 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้มีมติระงับการใช้สารเสริม (additives) กลุ่มยาปฏิชีวนะ (antibiotic) ประเภทสารเร่งการเจริญเติบโต (growth promoters) เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเลี้ยงสัตว์ จำนวน 4 รายการ[14] ได้แก่  1. Monensin sodium : ใช้ในการขุนเลี้ยงโค กระบือ 2. Salinomycin sodium : ใช้ในการขุนเลี้ยงสุกร 3.  Avilamycin : ใช้ในการขุนเลี้ยงสุกร ไก่ และไก่งวง 4.  Flavophospholipol : ใช้ในการขุนเลี้ยง กระต่าย ไก่ไข่ ไก่ ไก่งวง สุกร ลูกสุกร วัว ลูกวัว มติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2549 โดยยาปฏิชีวนะนี้เป็น 4 รายการสุดท้ายที่ยังเคยคงอนุญาต และยังสอดคล้องกับมติเดิม เกี่ยวกับแผนการควบคุมเชื้อดื้อยาของสภายุโรป [15] ได้ทราบว่ามีการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะบางรายการในการเป็นส่วนผสมอาหารเพื่อการเจริญเติบโต และนโยบายว่าจะควบคุมยาปฏิชีวนะทุกชนิดในการเป็นสารเร่งการเจริญเติบโต แต่ข้อเท็จจริง มีการอนุญาตใช้สารที่เรียกว่า pre-mix ใช้ผสมให้สัตว์ กินทั้งในรูปอาหารและในรูปเป็นน้ำผสม เพื่อระบุว่าเป็นการป้องกันและรักษา การติดเชื้อของโรค การอนุญาตดังกล่าว จะนำไปสู่การใช้ไม่ระมัดระวัง และนำไปสู่การเกิดเชื้อดื้อยาหรือไม่ การเฝ้าระวังสถานการณ์การกระจายและใช้ ตลอดจนการเกิดเชื้ออดื้อยาจึงจำเป็นที่สุด   [1] WHO (2014) ANTIMICROBIAL RESISTANCE: Global Report on Surveillance, Available from  http://apps.who.int/iris/bitstream/10665/112642/1/9789241564748_eng.pdf?ua=1 [2]WHO (2014) SIXTY-SEVENTH WORLD HEALTH ASSEMBLY:   Antimicrobial resistance, Available from http://apps.who.int/gb/ebwha/pdf_files/WHA67/A67_R25-en.pdf?ua=1 [3]WEF (2013) Global Risk 2013  http://www3.weforum.org/docs/WEF_GlobalRisks_Report_2013.pdf [4] พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ.. 2551 http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538973927&Ntype=19 [5] การตกค้างของยาปฏิชีวนะในบ่อเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม http://www.fisheries.go.th/quality/กุ้งขาวแวนนาไม.pdf [6] รุ่งทิพย์ ชวนชื่น (2553) การศึกษาพันธุกรรมการดื้อยาและปัจจัยในการก่อความรุนแรงของโรคของเชื้อซาลโมเนลล่า เอ็นเทอริก้าที่แยกได้จากห่วงโซ่อาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [7] ไทยรัฐ (2555) พบไก่สดในซุปเปอร์มาร์เกตมี “เชื้อดื้อยา” http://www.thairath.co.th/content/264356 [8] http://narst.dmsc.moph.go.th/ [9] http://narst.dmsc.moph.go.th/news001.html  และ http://news.mthai.com/general-news/348974.html [10] ใจพร พุ่มคำ (2555) อาหาร (ไม่) ปลอดภัย ...ผลจากการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ วารสารอาหารและยา กันยายน-ธันวาคม 2555 http://journal.fda.moph.go.th/journal/032555/02.pdf [11] http://www.acfs.go.th/km/download/thai_agrilaw_3.pdf [12]http://www.acfs.go.th/km/download/thai_agrilaw_2.pdf [13] http://www.acfs.go.th/index.php [14]European Commission (2005) Ban on antibiotics as growth promoters in animal feed enters into effect, available from  http://europa.eu/rapid/press-release_IP-05-1687_en.htm [15] European Commission (2001) Commission proposals to combat anti-microbial resistance , available from http://europa.eu/rapid/press-release_IP-01-885_en.htm

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 163 รับมือกับความเสี่ยงเรื่อง บ้าน

บ้าน..เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตของคนทุกคน  หลายคนคงมีความฝันที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเพราะความจำเป็นของครอบครัว หรือการอยากมีบ้านหลังแรกในชีวิตเป็นของตนเอง แต่การลงทุนเรื่องที่อยู่อาศัยทุกวันนี้ มีปัจจัยความเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งจากตัวผู้ซื้อที่ไม่มีความพร้อมจากสภาพเศรษฐกิจ และความไม่สนใจในสิทธิผู้บริโภคของผู้ประกอบการ  ทำให้การจะได้บ้านสักหลังกลายเป็นเรื่องที่ยากเสียแล้ว แต่การจะมีบ้านในสภาพแวดล้อมที่ดีที่เหมาะสมกลับเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า เพราะเราพบว่าปัญหาที่เกิดหลังการซื้อบ้าน มีอยู่มากมาย ดังนั้นการรู้วิธีแก้ไขปัญหาก่อนที่ปัญหาจะเกิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ   ภาพรวมปัญหาด้านที่อยู่อาศัย จากข้อมูลการร้องเรียนของผู้บริโภคต่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย สามารถจัดกลุ่มปัญหาได้ดังนี้ บ้าน / ที่ดิน / อาคารพาณิชย์ ไม่สร้างบ้านตามสัญญา , ไม่ได้สร้างตามแบบที่ขออนุญาต ไม่สามารถโอนบ้านได้ตามสัญญา วัสดุที่นำมาสร้างบ้านไม่มีคุณภาพ ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการประมูลของธนาคาร แต่ต้องรับภาระฟ้องขับไล่ผู้อยู่อาศัยเดิม ชำรุดหลังปลูกสร้าง ,  ผู้รับเหมาทิ้งงาน ก่อสร้างล่าช้า สัญญาไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้บริโภค 2.  อาคารชุด / คอนโดมิเนียม สร้างไม่เสร็จตามสัญญา ปัญหาการบริหารจัดการงานของนิติบุคคล ที่ไม่รักษาผลประโยชน์ลูกบ้าน ไม่โอนตามสัญญา พื้นที่ไม่ครบตามสัญญา ไม่คืนเงินมัดจำ วัสดุไม่มีคุณภาพ ชำรุดหลังรับโอน สัญญาไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้บริโภค 3.  สาธารณูปโภค / พื้นที่ส่วนกลาง (รวมทั้งบ้านและอาคารชุด) ไม่สร้างสาธารณูปโภคตามสัญญา ไม่มีพื้นที่ส่วนกลางตามแบบที่ขออนุญาตจัดสรร ปัญหาการบริหารจัดการงานของนิติบุคคล ที่ไม่รักษาผลประโยชน์ของลูกบ้าน นำพื้นที่ส่วนกลางไปจำหน่ายให้กับบุคคลหรือหน่วยงานอื่น 4.  อื่นๆ เช่น การขอคำปรึกษาการฟ้องคดี   เรื่องควรรู้เพื่อเตรียมรับมือกับความเสี่ยง Ø ปัญหาระหว่างการจองหรือก่อนตกลงทำสัญญา ผู้บริโภคขาดข้อมูลการตัดสินใจในการซื้อ หรือละเลยการแสวงหาข้อมูล เรื่องความพร้อมของผู้บริโภคเองและความมั่นคงของผู้ประกอบการในโครงการที่ต้องการซื้อขาย รวมถึงปัญหาของสัญญาจะซื้อจะขายที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ส่งผลให้เกิดปัญหาการเสียเงินจองเงินมัดจำ แล้วเมื่อเกิดปัญหาก็เรียกคืนไม่ได้   ก่อนเสียเงินจอง ผู้ซื้อต้องรู้อะไรบ้าง แม้ปัญหาที่อยู่อาศัยจะมีหลายระดับ แต่ก้าวแรกของปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย  คือ การทำสัญญาจอง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา  ซึ่งขั้นตอนหนึ่งที่ผู้ซื้อสามารถเริ่มได้ด้วยตัวเอง  โดยไม่ต้องรอหน่วยงาน เพื่อจะได้ที่อยู่อาศัยดีๆ อย่างที่วาดหวังไว้ คือ การใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง ด้วยวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้ 1.  รู้จักตัวเองให้ดีก่อน  จำไว้ ก้าวแรกของปัญหา คือเราต้องป้องกัน เมื่อมีความคิดอยากจะมีบ้านสักหลัง  ผู้ซื้อต้องประมาณกำลังซื้อและความพร้อมของตนเองก่อน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ว่ามีเพียงพอหรือไม่ เพราะท่านอาจเจอปัญหาผิดนัดชำระ  กลายเป็นซื้อบ้านไม่ได้บ้าน แถมยังต้องเป็นหนี้ก้อนโตอีกต่างหาก 2. ศึกษาข้อมูลและรายละเอียดของโครงการที่สนใจ  ตรวจสอบโครงการที่สนใจ ว่าเป็นโครงการบริษัทใด มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ บริษัทเป็นที่รู้จักหรือมีผลงานการบริหารจัดการโครงการในอดีตหรือไม่ เพื่อเปรียบเทียบผลงาน โดยดูจากใบโฆษณาการขาย หรือ เว็บไซด์ของโครงการนั้นๆ ที่สำคัญ ผู้ซื้อต้องไม่ลืมที่จะเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องของโครงการทั้งหมดไว้ด้วย 3. ต้องรู้กฎหมายเบื้องต้น   การอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ใช่คำตอบที่ดีนัก ผู้ซื้อควรต้องรู้ว่า เบื้องต้นมีกฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายบ้านและที่ดิน  เพื่อเป็นอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบการ หรือ เป็นการเพิ่มศักยภาพทางข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของผู้ซื้อได้ 4. ไปดูสถานที่จริง  มีหลายกรณีที่ ภาพจากหน้าเว็บไซด์หรือเอกสารแนะนำโครงการ(โบรชัวร์) มีความแตกต่างจากสถานที่จริง ดังนั้นผู้ซื้อควรตระหนักถึงข้อนี้ มิใช่เพียงแค่ดูจากใบโบรชัวร์หรือหน้าเว็บไซด์ ผู้ซื้อต้องไปสำรวจสภาพของสถานที่ตั้ง ตัวอย่างบ้านหรือห้องชุดของโครงการว่าเป็นอย่างไร  มีความสะดวก เหมาะสมสอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันและตรงกับความต้องการหรือไม่ 5.  ศึกษาสัญญาจะซื้อจะขายให้ดี  ก่อนการทำสัญญาและวางเงินจอง  ผู้บริโภคควรสอบถามถึงรูปแบบของสัญญาว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ หรือขอตัวอย่างหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายจากผู้ขายเพื่อมาศึกษาเป็นตัวอย่างก่อนตัดสินใจ  รวมถึงข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับโครงการมาพิจารณาก่อน เพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจ โดยต้องเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไว้เป็นหลักฐานด้วย กรณีสัญญาจะซื้อจะขายบ้านจัดสรรนั้น  ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543  กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องใช้แบบมาตรฐานสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร ตามประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2546 ซึ่งหากผู้จัดสรรที่ดินใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา  34 มีโทษตามมาตรา 63 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือกรณีอาคารชุด  ตามมาตรา 6/2 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551  กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องใช้แบบมาตรฐานสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ระหว่างผู้มีกรรมสิทธิในที่ดินและอาคารกับผู้จะซื้อห้องชุด  หรือแบบ อช.22 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย  ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา  6/2  มีโทษตามมาตรา 63  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท 6. มีสติ อย่าหลงเชื่อพนักงานขาย ผู้ซื้อไม่ควรเร่งรีบที่จะเสียเงินจองเพราะของแถม สิทธิพิเศษ บรรยากาศ การให้บริการของโครงการ เช่น เห็นมีผู้คนสนใจจองเป็นจำนวนมาก หรือพนักงานสวยๆ พูดจาหวานๆ มาคอยต้อนรับดูแลอย่างดี เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการหาลูกค้าและกลวิธีอย่างหนึ่งเพื่อดึงดูดผู้สนใจ 7. ทำสัญญาต้องมีใบจอง    การทำสัญญาจองบ้านหรือคอนโดแต่ละครั้ง ผู้ประกอบการต้องมีใบจองหรือสัญญาจองให้กับผู้ซื้อ เพื่อใส่รายละเอียดข้อมูลการซื้อขายเป็นหลักฐาน เช่น วันเวลาสถานที่ทำสัญญาจอง , ชื่อผู้จองและผู้รับจอง , รายการทรัพย์สินและราคา ต่อกัน (ถ้าไม่มีห้ามทำสัญญาจองด้วยเด็ดขาด)     วิธีแก้สุดแนว ของการจองบ้าน มีอะไรบ้าง ? หากเสียเงินทำสัญญาจองแล้ว แต่กู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อจะได้เงินจองคืนได้หรือไม่ ก่อนทำสัญญาจอง ผู้ซื้อต้องตรวจสอบเครดิตการเงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินก่อน ว่าสามารถกู้เงินได้หรือไม่ หากพร้อม ค่อยทำสัญญาต่อไป ผู้ซื้อต้องไม่อาย ที่จะสอบถามผู้ประกอบการให้ชัดเจน ว่าหากผู้ซื้อกู้ธนาคารไม่ผ่าน จะคืนเงินหรือไม่ เพื่อความชัดเจนในการตัดสินใจของผู้ซื้อ ผู้ซื้อต้องรู้จักสังเกตเงื่อนไขในสัญญาให้ดี หากพบข้อความในทำนองว่า ถ้ากู้ธนาคารไม่ผ่านจะถูกริบเงิน  ผู้ซื้อต้องโต้แย้งและขอให้แก้ไขข้อความดังกล่าวโดยทันที หากผู้ประกอบการไม่ยอมแก้ไขสัญญา ผู้ซื้อก็ไม่ควรทำสัญญาด้วย การทำเรื่องกู้เงินกับธนาคารเดียวอาจจะมีความเสี่ยง ผู้ซื้อควรขอยื่นกู้มากกว่าหนึ่งธนาคาร และอาจหาผู้ค้ำประกันหรือผู้กู้ร่วม เพื่อเพิ่มโอกาสในการกู้ให้ผ่านมากขึ้น   หลังทำสัญญาจองแล้ว กู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อต้องกลับไปดูสัญญาให้ละเอียดว่ามีข้อความเกี่ยวกับ ถ้าผู้ซื้อกู้ธนาคารไม่ผ่านแล้วผู้ประกอบการจะคืนเงินหรือไม่ หากไม่มีข้อความระบุ ว่าจะไม่คืนเงิน กรณีกู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อมีสิทธิเรียกร้องผู้ประกอบการขอเงินคืนได้ทันที ด้วยการทำหนังสือขอเงินคืน โดยทำเป็นจดหมายลงทะเบียนแนบใบตอบรับ แต่หากมีข้อความระบุ ว่าจะไม่คืนเงิน กรณีกู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อก็ยังมีสิทธิเรียกร้องขอเงินคืนด้วยการทำหนังสือถึงผู้ประกอบการ เพื่อขอเงินคืน โดยทำเป็นจดหมายลงทะเบียนแนบใบตอบรับได้เช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการต้องใช้สัญญามาตรฐานในการทำสัญญาซื้อขายกับผู้ซื้อ ซึ่งสัญญามาตรฐานจะไม่มีสัญญาข้อนี้อยู่ หากผู้ประกอบการปฏิเสธการคืนเงินทุกกรณี ผู้ซื้อมีสิทธิร้องเรียนต่อหน่วยงาน เช่น สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย และฟ้องคดีต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภคเพื่อเรียกร้องเงินคืนได้       สิ่งที่ผู้บริโภคควรรู้ ก่อนรับโอนกรรมสิทธิ หลังจากที่เราทราบวิธีการเบื้องต้นในการที่จะซื้อบ้านแล้ว หลังจากวางเงินมัดจำหรือเงินจองแล้ว ก็จะอยู่ในระหว่างที่เราต้องใส่ใจในเรื่องการผ่อนชำระค่าบ้านแก่โครงการ ก่อนที่จะรับโอนบ้าน หรือการโอนกรรมสิทธิ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้ซื้อบ้านต้องใช้ความระมัดระวัง มากกว่าก่อนการทำสัญญา เพราะเงินเฉลี่ยประมาณ 10-20 % ของราคาขายได้ถูกชำระไปแล้วกับการทำสัญญา หากภายหลังพบว่า บริษัทเอาเปรียบเช่นไม่ก่อสร้างตามกำหนด บ้านไม่เป็นไปตามแบบบ้านตัวอย่าง ฯลฯ ผู้ซื้อบ้านบางรายส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าที่จะหยุดผ่อนชำระ เพราะหากไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิตามกำหนดก็จะเป็นผู้ผิดสัญญา และถูกริบเงินดาวน์   ข้อสังเกตและคำเตือนมีดังนี้ 1. ผู้บริโภคต้องชำระเงินค่าผ่อนบ้านให้ตรงตามกำหนดเวลาและเงื่อนไขในสัญญา  ไม่ควรผิดนัด หรือค้างชำระหนี้ มิฉะนั้น ท่านอาจถูกทางโครงการบอกเลิกสัญญาซื้อขายเอาได้เนื่องจากตกเป็นผู้ผิดสัญญา  และอาจถูกริบเงินค่ามัดจำในที่สุด 2. ในระหว่างที่ผ่อนบ้านนั้น ก็ควรเตรียมเอกสารและหลักฐานต่างๆ  ในการทำเรื่องขอกู้เงินผ่อนบ้านกับสถาบันการเงินหรือธนาคารต่างๆ ให้เรียบร้อย  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ตามมาคือ กู้เงินไม่ผ่านและถูกริบเงินมัดจำเนื่องจากผิดสัญญา ไม่สามารถรับโอนบ้านได้ 3. ก่อนที่จะรับโอน  ควรใส่ใจ แวะตรวจดูบ้านที่ทำสัญญาซื้อขาย  หากยังไม่ดำเนินการหรือดำเนินการก่อสร้างล่าช้า  ผู้บริโภคควรระงับการชำระเงินค่าผ่อนบ้านเอาไว้ก่อน และทำหนังสือแจ้งไปยังโครงการให้รีบดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา 4. แต่หากทำหนังสือแจ้งแล้ว โครงการยังเพิกเฉยหรือดำเนินการล่าช้า ไม่สร้างให้เสร็จตามสัญญา  กรณีเช่นนี้ ถือว่าโครงการเป็นผู้ผิดสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอเงินที่ชำระไปแล้วคืน  และหากมีค่าเสียหายเกิดขึ้นจากการที่บ้านสร้างไม่เสร็จ เช่น ต้องไปซื้อบ้านที่อื่น ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็สามารถเรียกร้องให้โครงการรับผิดในส่วนนี้ได้อีกเช่นกัน 5. หรือหากบ้านที่จะซื้อ ทางโครงการได้สร้างเสร็จแล้ว ก่อนการรับโอนกรรมสิทธิ ผู้บริโภคควรตรวจดูสภาพของบ้านอย่างละเอียด โดยแจ้งนัดตรวจบ้านกับเจ้าหน้าที่โครงการให้ชัดเจน อาจทำเป็นหนังสือแจ้งทางโครงการและควรนัดช่วงเช้า เพื่อให้มีเวลาตรวจสอบได้ทั้งวัน อีกทั้งมีแสงสว่างเพียงพอ ทำให้สามารถตรวจสอบได้ละเอียดอีกด้วย หากตรวจสอบบ้านแล้ว พบว่าบ้าน ยังไม่เรียบร้อย   ไม่เหมาะสมกับการพักอาศัยอยู่ คำตอบเดียวที่ทำได้ คือ ห้ามรับโอนกรรมสิทธิ์ โดยเด็ดขาด !!  แม้จะถูกรบเร้า ขอร้อง อ้อนวอน จากพนักงานขาย ผู้บริโภคควรทำหนังสือแจ้งไปยังโครงการให้รีบดำเนินการแก้ไข  และขอขยายกำหนดเวลารับโอนกรรมสิทธิออกไปก่อน จนกว่าทางโครงการจะดำเนินการเสร็จเรียบร้อย จึงจะยอมรับโอนกรรมสิทธิบ้านตามสัญญาได้   Ø ปัญหาหลังการโอนกรรมสิทธิ ผู้บริโภคจำนวนมากมักเจอปัญหาหลังการโอนกรรมสิทธิแล้ว ไม่ว่าจะพบการชำรุดเสียหาย บ้านจัดสรรปลูกสร้างผิดแบบ การไม่มีสาธารณูปโภคตามสัญญา การบริหารจัดการของนิติบุคคลที่เอารัดเอาเปรียบ ฯลฯ เมื่อผู้บริโภคเรียกร้อง ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักเพิกเฉย ทำให้ผู้บริโภคต้องฟ้องคดีต่อศาลเป็นหนทางสุดท้าย เกิดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมาย   Ø หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน ด้านที่อยู่อาศัย 1. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. ร้องเรียนด้วยตัวเองได้ที่ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10120 สายด่วน 1166 http://www.ocpb.go.th Email : consumer@ocpb.go.th2. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ (ศาลากลางประจำจังหวัดทุกจังหวัด)3. กรมที่ดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 โทรศัพท์ : 02-1415555 http://www.dol.go.th4. การเคหะแห่งชาติ เลขที่ 905 ถนนนวมินทร์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240 โทรศัพท์ 0-2351-7777 สายด่วน 1615 Email : prdi@nha.co.th5. ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 02 248 3734-7 โทรสาร 02 248 3733  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 162 สำรวจราคากล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี

หลายคนคงมีโอกาสได้รับชมช่องรายการทีวีระบบดิจิตอลกันบ้างแล้ว ซึ่งประเทศไทยเราได้เริ่มทำการออกอากาศช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลทีวี (Digital Television) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา โดยระยะแรกจะยังรับชมได้แค่ในบางพื้นที่ของประเทศ แต่คาดว่าจะสามารถออกอากาศครอบคลุมให้ได้ในพื้นที่ 80% ของประเทศภายในต้นปี 2558 เชื่อว่าบางคนก็คงสัมผัสได้ถึงความแตกต่างจากการรับชมทีวีแบบแต่ก่อนเคยดูมา อย่างน้อยก็เรื่องของช่องรายการที่มีเพิ่มมาให้ได้รับชมกันมากขึ้น แต่เชื่อว่าหลายคนก็อาจมีข้อสงสัยว่า ทีวีดิจิตอลจริงๆ แล้วมันคืออะไร ทำไมต้องเปลี่ยนเป็นดิจิตอลทีวี จำเป็นมั้ยที่ต้องเปลี่ยน แล้วถ้าที่บ้านอยากจะดูดิจิตอลทีวีบ้างต้องทำอย่างไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของราคาคูปองแลกกล่องรับสัญญาณดิจิตัลทีวีที่ทาง กสทช. จะแจกให้ 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ โดยเคาะราคาออกมาอยู่ที่ 690 บาท ปรับลดลงมาจากเดิมที่เคยตั้งไว้ที่ 1,000 บาท คูปองนี้เอาไปใช้ยังไง และทำไมต้อง 690 บาท เอาเป็นว่าเรามาค่อยๆ ทำความเข้าใจไปพร้อมกันได้เลย จาก 1,000 ทำไมถึงกลายมาเป็น 690 หลายคนที่ติดตามข่าวเรื่องแผนการแจกคูปองสำหรับเป็นส่วนลดแลกกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีของทาง กสทช. คงจะพอทราบแล้วว่าเกิดปัญหามาต่อเนื่องเรื่องวงเงินของมูลค่าคูปอง จากที่ กสทช. บอกว่าจะแจกคูปองทุกบ้านบ้านละ 1 ใบ มูลค่า 1,000 บาท ซึ่งไม่นานหลังจากนั้น องค์กรผู้บริโภคโดยคณะทำงาน “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน” ก็ได้ออกมาคัดค้านว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ไม่เหมาะ และเรียกร้องให้ปรับลดลงมาให้เหลือที่ 690 บาท   ต้นทุนจริงกล่องดิจิตอลทีวีแค่ไม่กี่ร้อยบาท ผู้บริโภคหลายคนคงจะสงสัยว่า ทำไมต้องเรียกร้องให้ลดราคาคูปอง ได้ 1,000 ก็น่าจะดีกว่าได้แค่ 690 ไม่ใช่หรือ? ผู้บริโภคต้องไม่ลืมว่าคูปองที่ได้นำไปแลกเป็นเงินสดไม่ได้ ใช้ได้แค่เป็นส่วนลดในการซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีหรือทีวีที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณทีวีดิจิตอลพร้อมในตัวเท่านั้น การตั้งราคาคูปองที่สูงเกินไปของทาง กสทช. ส่งผลให้การตั้งราคากล่องรับสัญญาณสูงตามไปด้วย ทั้งที่มีการศึกษาข้อมูลมาแล้วว่าต้นทุนของราคากล่องรับสัญญาณจริงๆ อยู่ในหลักไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.alibaba.com ซึ่งเป็นเว็บขายอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคออนไลน์ทั่วโลก พบว่า ราคากล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี รุ่น DVTB T2 มีราคาขายอยู่ที่เพียง 403 บาท สำหรับการสั่งซื้อที่ขั้นต่ำ 5,000 ชิ้น นอกจากนี้ ทาง กสทช. น่าจะทราบดีอยู่แล้วถึงราคาต้นทุนของกล่อง เพราะมีอำนาจในการตรวจสอบโครงสร้างราคาต้นทุนที่แท้จริงได้ แรกเริ่มเดิมที่ กสทช. มีมติเรื่องแนวทางการแจกคูปองส่วนลดเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลทีวี ซึ่งกำหนดมูลค่าคูปองไว้ที่ 690 บาท แจกให้กับผู้บริโภค 22 ล้านครัวเรือน รวมเป็นงบประมาณที่ใช้คือ 15,190 ล้านบาท แต่หลังจากนั้น คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) กลับมีมติเห็นชอบอนุมัติมูลค่าราคาคูปองขึ้นเป็น 1,000 บาท ทำให้งบประมาณที่ใช้พุ่งสูงไปถึง 25,000 ล้านบาท โดยที่ไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ไม่มีการเปิดเผยต้นทุนต่อสาธารณะและไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งคูปองส่วนลด 1,000 บาทนี้ ถูกกำหนดให้สามารถนำไปแลกเป็นส่วนลดได้ทั้ง 1.กล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี พร้อมสายอากาศแบบติดตั้งภายในอาคารที่มีภาคขยาย (Active Antenna) 2.เครื่องรับโทรทัศน์ที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลในตัว และ 3.กล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี รุ่นที่รองรับการรับชมความคมชัดสูง หรือ HD ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลัง กสทช. ปรับราคาคูปองขึ้นเป็น 1,000 บาท นอกจากงบประมาณของประเทศจะถูกใช้เพิ่มมากขึ้น ผิดไปจากหลักการที่กำหนดไว้แต่แรกแล้ว ยังส่งผลเสียโดยตรงกับผู้บริโภค เพราะทำให้ราคากล่องรับสัญญาณมีราคาสูงขึ้นตามมูลค่าของคูปอง ซึ่งจากการสำรวจราคากล่องดิจิตอลที่วางขายอยู่ในท้องตลาด ราคาจะอยู่ที่ 1,000 – 2,000 บาท แต่อย่างที่ได้ให้ข้อมูลไปแล้วว่าต้นทุนจริงๆ ของกล่องดิจิตอลต่อให้บวกราคาที่บริษัทผู้ผลิตได้กำไรแล้ว ราคาขายก็ไม่น่าเกิน 1,000 บาท   ผลเสียของคูปอง 1,000 บาท กลายเป็นภาระของผู้บริโภค การประกาศให้ราคาคูปองที่ 1,000 บาทจึงเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน ทำให้ประเทศชาติเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งมีเพียงกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการที่ กสทช. อนุมัติราคาคูปองที่ 1,000 บาท มีเพียงแค่ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ค้ากล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลที่สามารกำหนดราคากล่องสูงๆ ตามราคาคูปองได้ 2 .บริษัทจำหน่ายดิจิตอลทีวี ซึ่งราคาคูปอง 1,000 บาทสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคนำไปใช้เป็นส่วนลดซื้อทีวี และ 3.ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวี เพราะผู้บริโภคสามารถนำคูปองไปเป็นส่วนลดในการซื้อกล่องดาวเทียมหรือเคเบิล ซึ่งแม้ราคาจะแพงกว่ากล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีธรรมดา แต่รายการที่มีให้รับชมดึงดูดใจผู้บริโภคได้มากกว่า แต่นั้นก็ถือเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเข้าถึงการรับชมดิจิตอลทีวีในรูปแบบฟรีทีวี ไม่ต้องมีภาระในการจ่ายค่าบริการรายเดือน เครือข่ายผู้บริโภคจึงได้เรียกร้องให้ กสทช. ต้องปรับลดราคาคูปองจาก 1,000 บาท ลงมาเหลือที่ 690 บาท เพื่อไม่เป็นสร้างภาระให้กับผู้บริโภค ไม่ใช้งบประมาณของประเทศไปอย่างไม่เหมาะสม พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากบรรดาผู้ผลิตกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลปรับลดราคาสินค้าของตัวเองลงให้เหมาะสมกับต้นทุนจริง เพื่อคูปองถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่อยากให้เป็นเครื่องช่วยให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเข้าถึงการรับชมดิจิตอลทีวีอย่างทั่วถึงเท่าเทียม   พลังของผู้บริโภคมีผล กสทช.ยอมปรับราคาคูปองที่ 690 ในที่สุดความตั้งใจดีขององค์กรผู้บริโภคก็เป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. กสทช. ก็ได้มีมติสรุปราคาคูปอง (น่าจะเป็นที่แน่นอนแล้ว) ให้ลดลงมาอยู่ 690 บาท โดยคูปองราคา 690 บาทนี้จะสามารถใช้เป็นส่วนลดแลกซื้อได้เฉพาะ โทรทัศน์ระบบดิจิตอลที่มีภาครับในตัว และอุปกรณ์แปลงสัญญาณระบบดิจิตอล (Set-Top-Box) มาตรฐาน DVB-T2 ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงาน กสทช. (มีสติ๊กเกอร์ตราครุฑแปะอยู่ที่กล่อง) เท่านั้น ไม่สามารถนำไปแลกกล่องรับสัญญาณดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีแบบที่เคยกำหนดไว้ในคูปองราคา 1,000 บาท โดยคูปองแลกซื้อดิจิตอลทีวีจะแจกให้กับ 22.9 ล้านครัวเรือน ตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง ณ เดือนมีนาคม 2557 โดยจะส่งทางไปรษณีย์  คาดว่าจะเริ่มส่งได้ช่วงปลายเดือนกันยายนหรือกลางเดือนตุลาคม ซึ่งจะเริ่มแจกก่อนใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เชียงใหม่ สงขลา และขอนแก่น *สำรวจราคาล่าสุดสิงหาคม 2557 --------------   ขอต้อนรับเข้าสูยุค “ดิจิตอลทีวี” ดิจิตอลทีวี เป็นชื่อเรียกของระบบการส่งสัญญาณโทรทัศน์ ทั้งภาพและเสียงเข้าสู่เครื่องรับโทรทัศน์ของแต่ละบ้าน ซึ่งก็คือช่องรายการต่างๆ ที่เรารับชมกันอยู่ แต่ก่อนแต่ไรมาระบบสัญญาณโทรทัศน์ในบ้านเราจะเป็นระบบที่เรียกว่า ระบบอนาล็อก (Analog) ซึ่งส่งสัญญาณช่องรายการทีวีที่ทุกบ้านสามารถดูได้ฟรีๆ 6 ช่องรายการ คือ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 (NBT) และ ไทยพีบีเอส โดยการรับชมก็ขอแค่มีทีวีสักเครื่องติดเข้ากับเสาอากาศสักอัน จะเป็นก้างปลาหนวดกุ้งก็แล้วแต่ แค่นี้ก็รับชมฟรีทีวี 6 ช่องรายการที่บอกไว้ได้แล้ว แต่การมาถึงของดิจิตอลทีวีจะทำให้การรับชมฟรีทีวีของคนไทยต้องเปลี่ยนไป และน่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพราะการส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลจะช่วยทำให้คุณภาพของภาพและเสียงมีความคมชัดสูงมากกว่าระบบอนาล็อกเดิม ระบบเสียงจะเปลี่ยนเป็นระบบ Surround จากเดิมที่เป็นแค่ระบบ Stereo ส่วนภาพก็มีช่องรายการที่ออกอากาศด้วยระบบความคมชัดสูง (High Definition – HD) ต่างจากระบบอนาล็อกที่มีแค่ช่องรายการที่ความคมชัดของภาพอยู่ในระดับปกติ (Standard Definition – SD) เท่านั้น แถมช่องรายการที่เป็นฟรีทีวีก็มีเพิ่มมากขึ้นจาก 6 ช่อง เพิ่มเป็น 48 ช่อง เพียงแต่การที่จะรับชมช่องรายการทีวีระบบดิจิตอลนั้น จำเป็นต้องมีตัวช่วย คือ กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล หรือ Set top Box นำมาติดตั้งเข้ากับทีวีเครื่องเดิมที่บ้านเพื่อแปลงสัญญาณดิจิตอลแสดงผลผ่านหน้าจอทีวี กลายเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงต้องหาซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีมาต่อเข้ากับทีวีที่บ้าน ซึ่งทาง กสทช. ก็ช่วยเหลือประชาชนส่วนหนึ่งด้วยการแจกคูปองมูลค่า 690 บาท ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นส่วนลดสำหรับแลกซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีและทีวีรุ่นใหม่ๆ ทีมีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลทีวีในตัวไม่ต้องติดกล่องก็ชมได้     นอกจากนี้ดิจิตอลทีวี จะได้เปรียบทีวีดาวเทียม คือ หากมีการถ่ายทอดสดรายการกีฬาสำคัญๆ ทีวีดาวเทียมจะมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด จึงทำให้จอดำ แต่ทีวีดิจิตอล สามารถรับได้ปกติ เพราะเป็นระบบฟรีทีวีแบบเดียวกับการใช้เสาหนวดกุ้ง (ไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด)   อยากดูดิจิตอลทีวีต้องทำยังไง? ถ้าหากอยากให้ทีวีทีบ้านออกอากาศช่องรายการในระบบดิจิตอลทีวี มีวิธีหลักๆ อยู่ 3 วิธีด้วยกัน หาซื้อทีวีเครื่องใหม่ที่มีตัวรับสัญญาณหรือจูนเนอร์ที่รองระบบดิจิตอลทีวีในตัว (integrated Digital Television หรือ iDTV) ซึ่งสามารถรับสัญญาณระบบดิจิตอลทีวีได้ทันที ไม่ต้องติดกล่องรับสัญญาณ หรือ Set Top Box แค่นำทีวีต่อเข้ากับเสารับสัญญาณโดยตรงก็สามารถรับชมช่องรายการทีวีดิจิตอลได้ทันที (สามารถตรวจสอบ ยี่ห้อ รุ่น ของทีวีที่รองรับระบบสัญญาณดิจิตอลในตัวเครื่องได้ที่ https://broadcast.nbtc.go.th/tools/idtv) ส่วนถ้าใครไม่อยากเสียเงินซื้อทีวีใหม่ แต่ทีวีที่บ้านยังเป็นรุ่นเก่า ไม่ว่าจะเป็นทีวีจอตู้ หรือจะเป็นทีวีจอแบนรุ่นใหม่ๆ ทั้งพลาสม่า, LCD, LED ถ้าหากเขาไม่ได้เป็นทีวีรุ่นที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลทีวีในตัว ยังไงก็ดูช่องรายการดิจิตอลทีวีไม่ได้ ถ้าไม่มีตัวช่วยอย่าง กล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี โดยกล่องรับสัญญาณต้องเป็นรุ่นที่สามารถแปลงสัญญาณที่เรียกว่า DVB T2 ได้ โดยขั้นตอนการติดตั้งเพื่อรับชมก็ไม่ยากแค่นำกล่องรับสัญญาณไปต่อสายนำสัญญาณที่มาจากเสาอากาศ ก้างปลา หรือหนวดกุ้ง ก็แล้วแต่สะดวก จากนั้นก็ใช้สาย AV หรือสาย HDMI ต่อเข้าที่ทีวีแค่นี้ก็ชมดิจิตอลทีวีได้แล้ว (ข้อควรรู้สำหรับคนที่ตั้งใจจะชมช่องรายการความคมชัดสูง หรือ ช่อง HD จากกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล ต้องต่อสายรับสัญญาณจากกล่องรับสัญญาณเข้าสู่ทีวีด้วยสาย HDMI เท่านั้น เพราะสายสัญญาณ AV เป็นการส่งสัญญาณแบบอนาล็อก การรับชมช่องแบบ HD ก็จะได้คุณภาพความคมชัดไม่สมบูรณ์ 100% เพราะฉะนั้นถ้าอยากดูช่อง HD ที่คมชัดจริงๆ ต้องต่อด้วยสายสัญญาณ HDMI นั้นแปลว่า ทีวีที่จะรับชมก็ต้องมีช่องสำหรับเสียบสัญญาณ HDMI มาพร้อมด้วยเช่น งานนี้ใครที่ยังใช้ทีวีรุ่นเก่าพวกทีวีจอตู้ก็จะต้องเจอปัญหาเพราะไม่มีช่องรับสัญญาณ HDMI ถ้าอยากชมก็ต้องยอมเปลี่ยนเป็นทีวีจอแบนรุ่นใหม่ๆ แทน) แต่ถ้าที่บ้านใครปกติรับชมทีวีผ่านกล่องจานดาวเทียมหรือเคเบิลอยู่แล้ว (เช่น True, GMMZ, IPM, sunbox, PSI ฯลฯ) สามารถรับชมช่องรายการดิจิตอลทีวีได้ทันที 48 ช่องเช่นกัน แต่รูปแบบการเรียงลำดับช่องรายการก็แตกต่างจากช่องรายการที่เรียงไว้เป็นมาตรฐานของกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีทั่วไป นอกจากนี้หากอยากจะรับชมช่องรายการที่เป็นแบบ HD ก็ต้องเลือกกล่องรับสัญญาณดาวเทียมที่รองรับระบบ HD ด้วยเช่นกัน การรับชมก็แค่ถอดปลั๊กกล่องรับสัญญาณดาวเทียมที่รับชมอยู่ แล้วเสียบใหม่ไปที่เครื่อง เครื่องจะเริ่มทำงานใหม่และค้มหาสัญญาณดิจิตอลทีวีโดยอัตโนมัติ   วิธีการติดตั้งกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี 1. ตรวจสอบสายอากาศ สายสัญญาณ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ว่ายังสามารถใช้งานได้เป็นปกติดีหรือไม่ 2. นำสายสัญญาณที่เชื่อมต่อมาจากเสาอากาศต่อเข้ากับกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล 3. เชื่อมต่อสายสัญญาณจากกล่องดิจิตอลทีวี ด้วยสายสัญญาณ AV หรือสาย HDMI เข้าสู่ทีวี 4. เปิดเครื่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี เมื่อกล่องรับสัญญาณทำงานที่หน้าจอทีวีจะแสดงหน้าเมนู อันดับแรกให้เลือกภาษาที่แสดงเป็นภาษาไทย (กล่องรับสัญญาณทุกรุ่นทุกยี่ห้อที่ได้รับการรับรองจาก กสทช. ต้องมีเมนูเลือกเป็นภาษาไทย) จากนั้นให้ตั้งค่าเปิดไฟเลี้ยงสำหรับทีวีที่ใช้เสาสัญญาณแบบที่มีไฟเลี้ยง (Active Indoor Antenna ส่วนใหญ่จะเสาอากาศขนาดเล็กที่ติดตั้งภายในอาคาร) จากเลือกเมนูคำสั่งค้นหาช่องรายการ กล่องรับสัญญาณก็จะทำการค้นหาสัญญาณและช่องรายการแบบอัตโนมัติ เท่านี้ก็ดูทีวีดิจิตอลได้แล้ว   มาตรฐานด้านเทคนิคของเครื่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี 1.ต้องสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอลในระบบ Second Generation Digital Terrestrial Television Broadcasting System (DVB-T2) ได้ทั้งแบบมาตรฐานความคมชัดปกติ (Standard Definition: SD) และแบบมาตรฐานความคมชัดสูง (High Definition: HD) 2. เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลต้องมีคุณลักษณะทางไฟฟ้าและความปลอดภัยตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน มอก. 1195  หรือฉบับที่ใหม่กว่า 3. ข้อกําหนดทางเทคนิคด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Compatibility) ข้อกําหนดทางเทคนิคด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าสําหรับเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดินให้เป็นไปตามที่กําหนดไว้ในมาตรฐาน CISPR 13 หรือ มอก. 2185-2547 4. ครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลต้องมาพร้อมกับคู่มือการติดตั้งและใช้งานทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 5. รีโมทคอนโทรล (Remote Control) ต้องมีปุ่มนูนสัมผัส (Tactile marking) บนปุ่มกดตัวเลข “5” 7. รีโมทคอนโทรล (Remote Control) ต้องมีปุ่มสําหรับการเลือกช่องสัญญาณเสียงที่รองรับการใช้งานการบรรยายด้วยเสียง (Audio Description) ได้ โดยอาจเป็นปุ่มสําหรับเลือกช่องสัญญาณเสียงโดยทั่วไป เช่น ปุ่ม “Audio” หรือเป็นปุ่มสําหรับเปิดหรือปิดการบรรยายด้วยเสียงเป็นการเฉพาะ เช่น ปุ่ม “AD” 8. การแสดงผลภาพ ต้องรองรับการแสดงผลความคมชัดสูง ดังต่อไปนี้ -ความละเอียด 1920x1080 แบบ interlace (1080i) ที่มีอัตราเฟรม (frame rate) 25 ภาพต่อวินาที และอัตราส่วนภาพ (aspect ratio) 16:9 รองรับการแสดงผลความคมชัดสูง -ความละเอียด 1280x720 แบบ progressive (720p) ที่มีอัตราเฟรม (frame rate) 50 ภาพต่อวินาที และอัตราส่วนภาพ (aspect ratio) 16:9 รองรับการแสดงผลความคมชัดปกติ -ความละเอียด 720x576 แบบ interlace (576i) ที่มีอัตราเฟรม (frame rate) 25 ภาพต่อวินาทีและ อัตราส่วนภาพ (aspect ratio) 16:9 และ 4:3 9. การถอดรหัสสัญญาณเสียงแบบ 2 ช่องเสียง (stereo) แบบ MPEG-4 HE AACv2 ตามมาตรฐาน ISO/IEC 14496-3 10. เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลต้องรองรับการแสดงผลเมนูบนจอภาพเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีค่าเริ่มต้นเป็นภาษาไทยหรือผู้ใช้ต้องสามารถเลือกภาษาได้ในการใช้งานครั้งแรก   (ที่มา : ประกาศ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคสำหรับเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2556)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 161 Consumer Report 2013

การออกกฎ ระเบียบ การทำสัญญา ตลอดจนมาตรการต่างๆ โดยรัฐ มีผลกระทบต่อผู้บริโภคหรือประชาชนโดยตรง เช่น การเสนอปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน  การปรับขึ้นราคาค่าทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ต่างส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชน เพราะต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้น สำคัญคือ จะประท้วงคัดค้านอย่างไรก็ไม่ประสบผล เพราะจำนนด้วยเงื่อนไขที่รัฐไปผูกพันไว้ อย่างกรณีการปรับขึ้นราคาค่าทางด่วน ประชาชนจะคัดค้านก็ไม่ทันแล้ว เมื่อเอกชนอ้างว่า เป็นไปตามเงื่อนไขในการทำสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนที่เกิดขึ้นในอดีต ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งต่างก็ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนนั้น จึงได้ตราบทบัญญัติเรื่องของการมีส่วนร่วมไว้ในมาตราที่ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค (มาตรา 57 ในรัฐธรรมนูญ ปี 40 และมาตรา 61 ในรัฐธรรมนูญปี 50) โดยกำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น เพื่อทำหน้าที่สำคัญคือ “ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ...” ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาจากการกระทำที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่...ในระหว่างรอให้เกิด องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ (ติดตามกระบวนการจัดทำกฎหมายได้จาก http://www.indyconsumers.org/index.php/know/introduce )  ภาคประชาสังคมด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ได้ร่วมมือกันทดลองสร้างรูปแบบ “คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน” ขึ้นมา และได้ทดลองทำหน้าที่   ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ใน 7 ประเด็นสำคัญ ดังนี้   1.ด้านการเงินและการธนาคาร 2.ด้านการบริการสาธารณะ 3.ด้านที่อยู่อาศัย 4.ด้านบริการสุขภาพ 5.ด้านสินค้าและบริการทั่วไป 6.ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม 7.ด้านอาหาร ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางฉลาดซื้อ จึงขอนำสรุปผลการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ในปี 2556 มาเผยแพร่ เพื่อที่เราผู้บริโภค จะได้ร่วมกันติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง -------------------------------------------------------------------------------- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 61 บัญญัติไว้ว่า… สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูล ที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการ บังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้ บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย -------------------------------------------------------------------------------- ด้านการเงินและการธนาคาร ร้องกันเพียบ ขายบัตรเดบิตพวงประกัน! เคยไหม? แค่จะเปิดบัญชีใหม่ ทำบัตรเอทีเอ็มธรรมดา ทำไมธนาคารหลายแห่งต้องเสนอบัตรเดบิตพ่วงประกันอุบัติเหตุ โดยอ้างว่าบัตรเอทีเอ็มธรรมดาหมด หรือได้ยกเลิกบริการบัตรแบบธรรมดาไปแล้ว ทำให้ลูกค้าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น อีกทั้งพนักงานธนาคารยังพูดจาหว่านล้อมกึ่งบังคับให้ทำบัตรเดบิตพ่วงประกันชีวิต ที่มา http://www.talkystory.com/?p=56419 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดเวทีสาธารณะ พร้อมจัดทำข้อเสนอ 3 เรื่อง ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แก่ 1.ยกเลิกการขายพ่วงบัตรเดบิต บัตร เอทีเอ็ม พ่วงการขายประกันภัย ข้อเสนอนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหนังสือตอบว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทย จะขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการ และออกประกาศ หรือกำหนดมาตรการบังคับ การขายพ่วงบัตรเครดิต บัตร ATM และประกันภัย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย จะให้แยกแบบฟอร์มการสมัคร (ออกประกาศในวันที่ 1 มกราคม 2557) 2.ยกเลิกการบังคับทำบัตรเครดิตแทนบัตร เอทีเอ็ม ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดการปัญหาการบังคับทำบัตรเดบิต แทนบัตร ATM แล้ว (ความจริงคือ เป็นทางเลือกอยู่แล้ว แต่พนักงานธนาคารมักโน้มน้าวให้ลูกค้าเชื่อหรือบังคับว่าต้องทำเป็นบัตรเดบิตเท่านั้น) 3.ลดราคาค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต ข้อเสนอนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการ   ความก้าวหน้า : หากมีเรื่องของการร้องเรียนด้านการเงินการธนาคารผ่านคณะกรรมการฯ สามารถส่งต่อเรื่องร้องเรียนไปที่ “ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน(ศคง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทันที ขณะเดียวกันหากมีประกาศเรื่องมาตรการใดๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการเงินการธนาคารจากธนาคารแห่งประเทศไทย จะแจ้งมาที่คณะกรรมการฯ ทันที เพื่อประกาศให้ผู้บริโภครับทราบ   ด้านการบริการสาธารณะ v ขึ้นค่าทางด่วน ขึ้นค่าทางด่วน(อีกแล้ว) ข่าวร้ายที่สุดของผู้ใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพฯ ในรอบปี 2556 เห็นจะไม่พ้นข่าวการขึ้นค่าทางด่วน ทางด่วน 1 และทางด่วนขั้นที่ 2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน(56) นี้!!!! “ทำไมถึงต้องขึ้นค่าทางด่วน?????” คงเป็นคำถามของผู้ใช้รถใช้ถนนหลายคนสงสัย” ที่มา http://www.thairath.co.th/content/331581 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ จัดเวทีสาธารณะ  “บทบาทองค์การอิสระฯ” เรื่องการขึ้นค่าทางด่วน ในวันที่ 21 สิงหาคม 56 และ “ทำหนังสือถึงการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)” เรื่องขอให้ยุติการขึ้นราคาอัตราค่าผ่านทางขั้นที่ 1-2 พร้อมยื่นข้อเสนอ 3 เรื่อง ได้แก่ ให้ยุติการขึ้นค่าผ่านทาง ให้ทบทวนการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษ ให้พิจารณาแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 โดยคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ผลการดำเนินการ : การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ตอบเป็นหนังสือชี้แจงว่า การปรับอัตราค่าผ่านทางเป็นไปตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ระหว่าง กทพ. กับบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด ( BECL ) โดยในสัญญากำหนดให้มีการจัดเก็บค่าผ่านทางและกำหนดให้ปรับค่าผ่านทางทุกระยะเวลา 5 ปี เพื่อคงมูลค่าที่แท้จริงของอัตราค่าผ่านทางไว้ โดยการปรับตามอัตราเพิ่มของดัชนีผู้บริโภคสำหรับกรุงเทพมหานครที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์และตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด การพิจารณาต่อสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่   กทพ. ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย   v ขึ้นราคาก๊าซ ดีเดย์ ขึ้นราคาก๊าซ 1 กันยา มติ ครม. ตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค. 2556 ให้ขึ้นราคาก๊าซภาคครัวเรือนในวันที่ 1 ก.ย. 2556 จากราคาเดิม 18.13 บาทต่อกิโลกรัม สามารถขึ้นราคาได้เดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ไปจนถึงราคา 24.82 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 1 ปี   คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ ได้ทำความเห็นเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและกระทรวงพลังงานในการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG เป็นหนังสือคัดค้านเรื่อง “การปรับขึ้นราคาราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือน” พร้อมข้อเสนอสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ 1.ควรการเก็บเงินจากธุรกิจปิโตรเคมีในอัตรา 12.55 /ก.ก. เข้ากองทุนน้ำมัน เช่นเดียวกับ ภาคอุตสาหกรรมอื่น 2.ปรับลดอัตราค่าผ่านท่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ 3.กำหนดราคาเนื้อก๊าซที่จำหน่ายให้กับผู้ซื้อทุกรายเป็นอัตราเดียวกัน   ผลการดำเนินการ : กระทรวงพลังงานหนังสือ ตอบเป็นหนังสือชี้แจงว่า ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก๊าซ LPG เป็นราคาตามกลไกตลาดและไม่ได้รับการชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ตั้งแต่ต้นทางเหมือนกับภาคอื่นๆ จึงทำให้ราคาขายก๊าซ LPG ภาคปิโตรเคมีสะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริง โดยไม่ได้รับการอุดหนุนมาตั้งแต่แรก (ภายหลังมีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนในอัตรากิโลกรัมละ 1 บาท เพื่อช่วยเหลือภาคส่วนอื่นในการลดภาระของกองทุนน้ำมันอีกด้วย)  ส่วนของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งใช้ ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงนั้น กองทุนน้ำมันได้ชดเชยต้นทุนมาตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ราคาขายถูกลง ดังนั้นจึงมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ คืนในภายหลังทำให้ราคาราคาขายปลีกสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ในการปรับอัตราค่าผ่านท่อนั้น เป็นไปตามมติของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ( กพช.)  โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการทบทวนทุกระยะเวลา 5 ปี หรือกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้ดำเนินการพิจารณาการปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซทางท่อให้มีความเหมาะสมตามที่ กพช. กำหนดต่อไป รัฐไม่ได้ให้อภิสิทธิ์แก่กลุ่มธุรกิจหนึ่งธุรกิจใด ซึ่งความจริงก๊าซที่มาจากอ่าวไทยนั้นก็ได้จำหน่ายให้กับผู้ใช้ทุกรายในอัตราเดียวกัน เพียงแต่ก๊าซธรรมชาติที่จำหน่ายให้กับภาคไฟฟ้า ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมนั้น เป็นราคาที่มีการเฉลี่ยรวมกับก๊าซจากพม่าแล้วก๊าซ LNG ซึ่งโรงแยกก๊าซก็ไม่ได้มีการนำก๊าซจากทั้งสองแหล่งนี้ไปใช้แต่อย่างใด   ด้านบริการสุขภาพ ชี้ป่วยฉุกเฉินทำบัตรทองเสียสิทธิ ...เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ภายหลังตั้งกองทุนเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรีโดยไม่ถามสิทธินั้น ส่งผลกระทบให้ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ได้รับผลกระทบไม่สามารถใช้สิทธิตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ระบุว่าประชาชนมีสิทธิ์เข้ารับการรักษาฟรีเมื่อมีการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ มีเหตุอันควร ซึ่งตอนนี้ไม่สามารถใช้ได้แล้ว ต้องเสียเงินหมด เพราะคำว่าฉุกเฉินจะถูกตีความตามนิยามของสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ซึ่งการตีความค่อนข้างแคบ ที่มา http://www.thaipost.net/news/231213/83745 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ ได้ทำหนังสือให้ความเห็นต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ขอให้ ทบทวนข้อบังคับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุอันควร กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ. 2555  ที่อาจขัดต่อกฎหมาย ข้อเสนอนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สปสช.   ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ฟิตเนสดังเอาเปรียบผู้บริโภค ประเด็นร้อนปี 55-56 เกี่ยวกับธุรกิจออกกำลังกาย คือ กรณีแคลิฟอร์เนียฟิตเนส โดนผู้บริโภคร้อง ทั้งปิดบริการโดยไม่แจ้งให้ทราบ มีการรับสมัครสมาชิกตลอดชีพทั้งที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้แล้ว ผิดสัญญาแต่ไม่คืนเงินค่าสมาชิกให้กับลูกค้า ปัญหาใหญ่คือ ปัญหาข้อสัญญาไม่เป็นธรรม เช่น ทำสัญญาแล้วต้องใช้บริการให้ครบ 1 ปีจึงจะสามารถบอกเลิกสัญญาได้ ทั้งนี้ศูนย์บริการส่วนใหญ่จะหักเงินบัตรเครดิตผู้บริโภคทันทีในคราวแรก  หรือบางรายต้องจ่ายค่าใช้บริการอื่นเพิ่มจากการชักชวนของพนักงานขาย เช่น ครูฝึกส่วนตัว โปรแกรมเสริมที่หลากหลาย   ซึ่งมีผู้บริโภคมาร้องเรียนถึง 680 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท ที่มา ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการได้จัดทำความเห็นต่อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ขอให้ปรับปรุง ประกาศ สคบ. ว่าด้วยธุรกิจออกกำลังกาย ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากอนุกรรมการด้านสัญญาหมดวาระ   ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม คลื่นความถี่ คือหัวใจของการสื่อสาร ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการใช้งาน 3G และ 4G และผู้ให้บริการมือถือเจ้าใหญ่ในประเทศไทยทั้ง 3 ราย ต่างต้องการการเติมเต็มช่วงคลื่นความถี่ต่ำ-สูงของตนเพื่อการแข่งขัน การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ส่งผลดีต่อธุรกิจโทรคมนาคมและส่งผลบวกทางอ้อมต่อเศรษฐกิจประเทศ ที่นอกเหนือจากเม็ดเงินที่ได้จากการประมูล โดยเฉพาะที่เกิดจากการลงทุนโครงข่ายของผู้ให้บริการมือถือและการเติบโตของ ธุรกิจแอพพลิเคชั่นหรือคอนเทนต์ ซึ่งล้วนทำให้เกิดการจ้างงานและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศเช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย ทำให้ผู้ให้บริการมือถือต้องถือครองคลื่นหลายช่วงความถี่เพื่อการแข่งขัน คุณสมบัติของคลื่นแต่ละช่วงความถี่แตกต่างกัน คลื่นความถี่ต่ำเช่น 700, 850 และ 900 MHz จะสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้กว้าง แต่ไม่เหมาะสำหรับการใช้งานในบริเวณที่มีความต้องการข้อมูลในปริมาณสูงหรือ หนาแน่น ในทางกลับกัน คลื่นความถี่สูงเช่น 1800, 2100 และ 2600 MHz จะครอบคลุมพื้นที่ได้แคบกว่าคลื่นความถี่ต่ำ แต่จะสามารถรับส่งข้อมูลได้ปริมาณมากและรวดเร็วมากกว่า โดยปกติแล้วผู้ให้บริการมือถือจึงต้องการถือครองอย่างน้อยสองช่วงความถี่ คือ ช่วงคลื่นความถี่ต่ำเพี่อให้บริการในต่างจังหวัดที่มีความต้องการใช้ข้อมูล ไม่ค่อยหนาแน่นแต่ต้องครอบคลุมพื้นที่กว้าง และช่วงคลื่นความถี่สูงเพื่อให้บริการในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้บริการ ข้อมูลที่สูงและมีการใช้งานหนาแน่นเช่น กรุงเทพฯ ที่มา http://www.scbeic.com/document/note_20140402_1800   v การประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ จัดทำความเห็นเสนอต่อ กสทช. เรื่องการประมูลคลื่นความถี่ 2100  MHz โดย ขอให้ กสทช. ดำเนินการโดยคำนึงถึง “ประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมและต้องดำเนินการในลักษณะที่มีการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึงในกิจการด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมแก่การเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ” ผลการดำเนินการ : กสทช. จัดประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz โดยไม่ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการฯ แต่อย่างใด   v กรณีหมดอายุสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ ได้จัดเวที “ ทางออกผู้บริโภค กรณีซิมดับฯ ” เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 และจัดทำ ทำความเห็นเสนอต่อ กสทช. เรื่องกรณีหมดอายุสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz ข้อเสนอ ดังนี้ ขอให้มีการเร่งรัดการดำเนินการโอนย้ายเครือข่ายให้เต็มตามศักยภาพ คือ 300,000 เลขหมายต่อวัน กสทช. ต้องให้มีการเพิ่มประเด็นในการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญากาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... กสทช. ต้องเร่งตั้งคณะทำงานประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และกำหนดวันในการจัดการประมูลคลื่นโดยเร่งด่วน บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองรายคือ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (มหาชน) จะต้องคืนเงินคงเหลือในระบบให้กับผู้ให้บริการ และในกรณีที่บริษัทจะตัดสัญญาณผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่พรีเพดบริษัทจะต้องแจ้งผ่านข้อความสั้นให้ทราบล่วงหน้าก่อน  3 วัน พร้อมทั้งระบุจำนวนเงินคงค้างในระบบให้ผู้บริโภครับทราบและเพื่อให้ขอคืนเงินได้ด้วยอย่างชัดเจน ขอให้ซูเปอร์บอร์ดดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ในกรณีที่ กสทช. ไม่สามารถดำเนินการให้เกิดการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ทั้งที่เป็นภาระหน้าที่ที่ทราบล่วงหน้ามาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเป็น กสทช.   ผลการดำเนินการ : ไม่มีการตอบรับจาก กสทช.แต่ประการ   v กรณีโฆษณาผิดกฎหมายในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ ได้จัดทำข้อเสนอต่อ กสทช.  ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกรณีโฆษณาผิด กฎหมายในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์  โดยขอให้ กสทช. ยึดหลักการการกระจายการถือครองและใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ให้ครอบคลุมองค์กรสาธารณประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในทีวีดิจิตอลประเภทบริการสาธารณะ นอกเหนือจากหน่วยงานรัฐกำหนดสัดส่วนคลื่นความถี่ไว้ไม่น้อยกว่า 20% ในทุกพื้นที่เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการบริการชุมชนรวมทั้งเร่งเผยแพร่ความรู้ที่ชัดเจนกับผู้บริโภค ก่อนการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์ระบบอะนาล็อกไปสู่ระบบทีวีดิจิตอล   ผลการดำเนินการ : ไม่มีการตอบรับจาก กสทช.แต่ประการ   รายชื่อคณะกรรมการ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รศ.ดร.จิราพร  ลิ้มปานานนท์        ประธาน / ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ นายจุมพล  ชื่นจิตต์ศิริ                 รองประธาน / ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ ดร.เดือนเด่น  นิคมบริรักษ์            กรรมการ / ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคาร ผศ.ประสาท  มีแต้ม                    กรรมการ / ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ ผศ.รุจน์  โกมลบุตร                     กรรมการ / ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและโทรคมนาคม ผศ. ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง              กรรมการ / ผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและบริการทั่วไป นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา             กรรมการ / ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ นางสาวชลดา บุญเกษม              กรรมการ / ผู้แทนเขต 1 ภาคกลาง นายน้ำค้าง มั่นศรีจันทร์               กรรมการ / ผู้แทนเขต 2 ภาคตะวันออก 10.  นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ                   กรรมการ / ผู้แทนเขต 3 ภาคอีสานตอนบน 11.  นางอาภรณ์ อะทาโส                   กรรมการ / ผู้แทนเขต 4 ภาคอีสานตอนล่าง 12.  นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล              กรรมการ / ผู้แทนเขต 5 ภาคเหนือ 13.  นางสาวบุญยืน ศิริธรรม               กรรมการ / ผู้แทนเขต 6 ภาคตะวันตก 14.  ภญ.ชโลม  เกตุจินดา                  กรรมการ / ผู้แทนเขต 7 ภาคใต้ 15.  นายศิริศักดิ์ หาญชนะ                 กรรมการ / ผู้แทนเขต 8 กรุงเทพมหานคร   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 160 เรื่องต้องรู้ก่อนซื้อคอนโด

จากเดิมที่คอนโดมิเนียมหรืออาคารชุดเคยเป็นที่อยู่อาศัยที่ถูกสร้างขึ้นในพื้นที่เฉพาะอย่างย่านธุรกิจสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ เช่น สาธร สีลม สุขุมวิท เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการเดินทางเข้ามาทำงาน ของคนที่อยู่อาศัยห่างออกไปในพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากการจราจรที่แสนแออัด คอนโดมิเนียมจึงเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับคนที่ทำงานในพื้นที่ดังกล่าว แม้มีข้อจำกัดในแนวราบ แต่คอนโดสามารถทำแนวดิ่งได้หลายชั้น และแม้จะมีพื้นที่น้อยแต่สามารถแบ่งพื้นที่ใช้สอยได้จำนวนมากกว่าบ้านจัดสรร ที่สำคัญคือผู้บริโภคหรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของคอนโดนิเนียมในย่านธุรกิจมีกำลังทรัพย์มากพอที่จะจับจองเป็นเจ้าของได้ แต่ปัจจุบันการขยายตัวของแนวรถไฟฟ้า ที่เริ่มออกสู่พื้นที่ชั้นนอกแถบชานเมืองของกรุงเทพฯ ยกตัวอย่างสถานีกรุงธนบุรี – บางหว้าที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อช่วงปลายปี 56 ซึ่งการเกิดของเส้นทางรถไฟฟ้ามาพร้อมกับการเกิดขึ้นของคอนโดมิเนียมจำนวนมาก เชื่อหรือไม่ว่า โครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายตั้งแต่ปี 2552 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่อยู่รอบรัศมี 500 เมตรจากแนวรถไฟฟ้าสถานีกรุงธนบุรีถึงสถานีบางหว้ามีทั้งสิ้นประมาณ 31 โครงการ รวมประมาณ 14,900 หน่วย ซึ่งใน 31 โครงการนี้มีที่สร้างเสร็จแล้ว 14 โครงการ และขายหมดแล้วเรียบร้อยถึง 12 โครงการ ข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  พบว่ามีสถิติการจดทะเบียนอาคารชุดทั่วประเทศ ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2540 จนถึง พฤษภาคม ปี 2557 พบว่ามีการจดทะเบียนอาคารชุดทั่วประเทศจำนวน 6,606 โครงการ เป็นจำนวนห้องหรือยูนิตรวม 624,434 หน่วย ซึ่งหากแบ่งเฉพาะพื้นที่ในกรุงเทพฯ จะมีอาคารชุดที่จดทะเบียนเท่ากับ 2,460 โครงการ เป็นจำนวนยูนิต 362,553 หน่วย ต่างจังหวัด 4,146 โครงการ เป็นจำนวนยูนิต 261,878 หน่วย โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่มีการเกิดขึ้นของอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมมากที่สุด คือ เฉพาะในกรุงเทพฯ มีการจดทะเบียนถึง 371 โครงการ เป็นจำนวนยูนิตถึง 50,602 หน่วย   ปัญหาจากการซื้อคอนโด เรื่องร้องเรียนอันดับ 1 สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาพร้อมปริมาณที่เพิ่มขึ้นของคอนโดก็คือ เรื่องร้องเรียนจากผู้ซื้อ ผู้ที่อยู่อาศัย มีตัวเลขยืนยันจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่สรุปจำนวนเรื่องร้องเรียนตลอดปี 2556 ที่ผ่านมา เรื่องร้องเรียนในกลุ่มที่อยู่อาศัย ถือเป็นเรื่องร้องเรียนมากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 1,324 ราย จากจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 3,150 ราย โดยเรื่องร้องเรียนในกลุ่มที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์ สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.ปัญหาจากบ้านจัดสรร 2.ปัญหาการเช่าพื้นที่ และ 3.ปัญหาจากอาคารชุดและคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุด คือมีจำนวนผู้ร้องเรียนถึง 629 ราย เป็นเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 1,390 เรื่อง ปัญหาที่ร้องเรียนส่วนใหญ่ ได้แก่ ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา คอนโดนิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วไม่ตรงตามสัญญา สร้างไม่ได้มาตรฐาน คอนโดที่สร้างไม่เป็นไปตามที่โฆษณา บ้านไม่เรียบร้อยตอนโอนกรรมสิทธิ์ บ้านชำรุดบกพร่องภายหลังโอนกรรมสิทธิ์ ฯลฯ ปัญหาที่ผู้บริโภคต้องเตรียมพร้อมรับมือเมื่อซื้อคอนโด 1.สร้างเสร็จช้ากว่ากำหนด คอนโดส่วนใหญ่จะมีการเปิดให้จองก่อนที่สร้างแล้วเสร็จ บางโครงการเปิดให้จองตั้งแต่ยังไม่ลงเสาเข็ม ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นตามมาก็คือ คอนโดสร้างเสร็จล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดที่ได้แจ้งไว้กับผู้ซื้อเมื่อตอนที่มีการตกลงทำสัญญา ผู้ซื้อย้ายเข้าอยู่ไม่ได้ ซึ่งผู้ซื้อบางรายมีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องย้ายเข้าไปอยู่ตามช่วงเวลาที่ตกลงไว้แต่แรก เมื่อย้ายเข้าไปอยู่ไม่ได้ก็จึงกลายเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ซื้อ บางรายก็ต้องเสียเงินเพิ่มเพื่อหาที่อยู่อาศัยชั่วคราว เพราะคอนโดก็จ่ายเงินซื้อไปแล้ว ผ่อนมาก็หลายเดือนยังไงก็คงต้องรอ ปัญหานี้ ผู้ซื้อมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยได้ เพราะเป็นการผิดสัญญา ซึ่งผู้ซื้อต้องตรวจสอบให้ชัดเจนตั้งแต่ตอนทำสัญญา เพราะในหนังสือสัญญาต้องมีการระบุด้วยว่า หากเป็นการสร้างคอนโดเสร็จล่าช้าไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ ผู้ซื้อมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยโดยคิดดอกเบี้ย เป็น % จากเงินต้นทั้งหมดที่ได้จ่ายไป ซึ่งในสัญญาเจ้าของโครงการต้องมีการระบุไว้ การก่อสร้างอาจมีการล่าช้ากว่าที่กำหนดได้ไม่เกินกี่เดือนหรือหากเกิดปัญหาสุดวิสัย อย่าง เกิดภัยธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งทางโครงการต้องมีการแจ้งให้ผู้ซื้อทราบล่วงหน้า Tip วิธีแก้ปัญหาคือ ผู้ซื้อต้องส่งจดหมายแบบตอบรับถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทเจ้าของโครงการ (โดยเก็บสำเนาไว้กับตัวเอง 1 ชุด) พร้อมแนบสำเนาหลักฐานต่างๆ เช่น เอกสารการทำสัญญา หลักฐานการซื้อขาย แผ่นโฆษณาหรือหนังสือสัญญาที่มีการแจ้งรายละเอียดการรับผิดชอบกรณีสร้างคอนโดนแล้วเสร็จล่าช้ากว่ากำหนด หากไม่ได้รับการตอบรับความรับผิดชอบจากโครงการ ให้นำเรื่องฟ้องต่อ สคบ. ซึ่งหากท้ายที่สุดต้องมีการฟ้องร้องเป็นคดีความ ก็สามารถฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ 2.โครงการไม่ได้รับอนุญาตให้สร้าง สิ่งที่ผู้ซื้อคอนโดหลายคนอาจยังไม่รู้และอาจจะมองข้ามไป คือเรื่องของการขอใบอนุญาตก่อสร้างและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment (EIA) Report) ซึ่งตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มีข้อกำหนดให้อาคารชุดที่มีที่อยู่อาศัยรวมกันตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป รวมถึงอาคารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ฝั่งทะเล ทะเลสาบหรือชายหาด หรือที่อยู่ใกล้ หรือในอุทยานแห่งชาติ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ ที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่รวมกันทุกชั้น หรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกัน ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  คือ รายงานที่โครงการก่อสร้างต่างๆ ต้องทำการศึกษาถึงผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินการก่อสร้างโครงการ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพิจารณาถึงความเหมาะสมของการพัฒนาโครงการดังกล่าว หากพบว่าโครงการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะไม่ได้รับใบอนุญาติก่อสร้างจากสำนักโยธาธิการในพื้นที่ Tip เพราะฉะนั้นหากคอนโดใดที่มีห้องมากกว่า 80 ห้อง ผู้ซื้อต้องไม่ลืมสอบถามเรื่องใบขออนุญาตก่อสร้าง เพราะโครงการนั้นเข้าข่ายต้องมีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยิ่งเดี๋ยวนี้คอนโดส่วนใหญ่เปิดจองตั้งแต่ยังไม่เริ่มมีการก่อสร้าง ซึ่งการทำรายงานอาจทำในภายหลัง หากโครงการนั้นไม่ผ่านเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม  โครงการต้องหยุดการก่อสร้าง ผู้ซื้อคอนโดก็จะได้รับความเสียหาย ต้องมาเสียเวลาเรียกร้องขอเงินคืน และก็ไม่อาจจะแน่ใจได้ว่าจะได้รับเงินคืนทั้งหมดภายในระยะเวลานานแค่ไหน สามารถตรวจสอบเรื่องใบอนุญาตก่อสร้างโครงการได้ที่ จากกรมโยธาธิการ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร สำนักโยธาธิการจังหวัด   3.เชิดเงินจองหนี สาเหตุของการถูกเชิดเงินจองหรือเงินมัดจำจองซื้อห้องคอนโด มักจะเกิดจากการที่หลงเชื่อนายหน้าหรือตัวแทนขายที่มาเสนอขายคอนโด จนตกลงทำสัญญาซื้อขายกันโดยที่สัญญาดังกล่าวไม่ไปถึงบริษัทที่รับผิดชอบโครงการ พอผู้ซื้อจะไปติดต่อแสดงตัวเป็นเจ้าของห้อง ก็พบว่าไม่มีการทำสัญญาใดๆ ไว้ นายหน้าหรือตัวแทนขายที่ได้ตกลงจ่ายเงินกันไว้ก็หนีหายไปพร้อมเงิน กลายเป็นว่าทุกข์ก็ตกมาอยู่กับผู้ซื้อ สุดท้ายก็ต้องแจ้งความดำเนินคดีกันไป ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เป็นคดีความบนหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง Tip การป้องกัน เวลาตกลงทำสัญญาใดๆ มีการจ่ายเงินล่วงหน้า ต้องทำกับบุคคลหรือบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ มีเอกสารยืนยันรับรองชัดเจน แสดงที่มาที่ไป หรือหากไม่มั่นใจสามารถตรวจสอบข้อมูลบริษัทกับทาง สคบ.หรือที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์   4.สร้างเสร็จแต่ไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้ อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เกิดจากการที่คอนโดเปิดให้จองตั้งแต่ยังไม่ดำเนินงานสร้าง ผู้ซื้อส่วนใหญ่จึงได้แต่มองดูห้องตัวอย่างหรือภาพโฆษณานำมาใช้ประกอบการตัดสินใจ เมื่อคอนโดสร้างเสร็จเรียบร้อยพร้อมย้ายเข้าไปอยู่ก็มักเจอเข้ากับปัญหา เมื่อสภาพห้องจริงๆ ไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้ Tip ใน พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2551 มีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาอาคารชุด ที่ช่วยให้ผู้ซื้อไม่ต้องถูกเอาเปรียบจากการโฆษณาของผู้ประกอบการเจ้าโครงการ โดยใน พ.ร.บ.ระบุไว้ว่า ใหข้อความหรือภาพที่โฆษณาหรือหนังสือชักชวนเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อ-ขาย หากข้อความหรือภาพใดในโฆษณามีความหมายขัดแย้งกับข้อความในสัญญาให้ตีความเป็นประโยชน์ต่อผู้ซื้อ ป้องกันการเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ โดยเจ้าของโครงการต้องมีการเก็บสำเนาเอกสารที่เป็นสื่อโฆษณาทุกประเภท ทุกชิ้นไว้ จนกว่าจะขายห้องชุดหมด และต้องมีการส่งสำเนาให้นิติบุคคลอาคารชุดเก็บไว้อย่างน้อยหนึ่งชุด นอกจากนี้ข้อความและภาพโฆษณาจะต้องตรงกับหลักฐานและรายละเอียดที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้ ซึ่งต้องมีการระบุรายละเอียดเรื่องของทรัพย์สินส่วนกลางเอาไว้ด้วย   กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ที่เป็นข้อกำหนดเพื่อคุ้มครองผู้ซื้อบ้านและห้องชุดในอาคารชุด ผ่านการควบคุมการโฆษณา ได้มีการกำหนดรายละเอียดข้อความโฆษณาขายคอนโดที่ลงในหนังสือพิมพ์ แผ่นพับ โบร์ชัวร์ ซึ่งคอนโคที่ดีควรมีข้อความดังต่อไปนี้อยู่ในโฆษณา -ข้อความที่แสดงว่าโครงการได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารถูกต้องเรียบร้อยแล้วหรือยัง -เดือน ปีที่เริ่มต้นก่อสร้างและที่กำหนดว่าจะก่อสร้างอาคารชุดแล้ว -ข้อความที่แสดงว่าจะไปจดทะเบียนเป็นอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ -ตำแหน่งที่ดิน เลขที่ของโฉนดที่ดิน จำนวนที่ของที่ดินของโครงการ และแผนผัง -ข้อความที่แสดงว่าที่ดินและอาคารชุดมีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน บุคคล หรือนิติบุคคลใด หรือไม่ -จำนวนชั้นและจำนวนห้องชุดของอาคารชุดนั้น -ข้อความที่แสดงที่ว่าในอาคารชุดหลังเดียวกันนี้ มีห้องชุดเพื่อใช้เป็นเฉพาะที่อยู่อาศัย หรือใช้เป็นเฉพาะสำนักงาน หรือเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและสำนักงาน -ข้อความที่แสดงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและค่าภาษีอากรที่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในห้องชุด มีหน้าที่ต้องชำระตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด -รายการและขนาดของทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลและทรัพย์ส่วนกลาง ในกรณีที่มีการโฆษณาว่าจะจัดให้มีทรัพย์ส่วนบุคคลภายนอกห้องชุดหรือทรัพย์ส่วนกลาง นอกจากที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด รวมทั้ง เดือน ปี ที่เริ่มต้นก่อสร้างหรือจัดหาและที่กำหนดว่าจะก่อสร้างหรือติดตั้งทรัพย์สินนั้นแล้วเสร็จ -ชื่อและที่อยู่ของผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุด ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลต้องระบุทุนจดทะเบียน ทุนชำระแล้ว ชื่อกรรมการผู้จัดการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการผู้มีอำนาจ ลงลายมือชื่อผูกพันนิติบุคคล -ข้อความที่แสดงว่าภาพโฆษณาเป็นภาพของจริงหรือภาพจำลองจากของจริง   5.ถูกบังคับให้โอนกรรมสิทธิทั้งที่ยังสร้างไม่เสร็จ คอนโดบางแห่งอาจมีการยื่นข้อเสนอให้ผู้ซื้อรีบรับโอนกรรมสิทธิห้อง ทั้งๆ ที่ตัวห้องยังสร้างไม่แล้วเสร็จดี โดยทางเจ้าของโครงการมักจะมีข้อเสนอต่างๆ มาเย้ายวนยั่วใจแก่ผู้ซื้อห้อง ทั้งส่วนลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการโอน ลดค่าส่วนกลาง ทำให้ผู้ซื้อหลายคนตัดใจยอมโอนกรรมสิทธิทั้งที่ห้องยังไม่เสร็จ ทำให้ไม่มีโอกาสได้ตรวจดูห้อง ซึ่งพอถึงเวลาย้ายเข้าไปอยู่จริงเมื่อเจอปัญหาความบกพร่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากอุปกรณ์เครื่องใช้ทั้งหลาย ระบบประปา ไฟฟ้า ฯลฯ ถึงเวลานั้นการเรียกร้องการแก้ปัญหาก็จะยิ่งเป็นปัญหา เพราะการเรียกร้องความรับผิดชอบจากเจ้าของโครงการก็เป็นเรื่องยาก เพราะเขาก็จะอ้างว่าห้องได้ถูกโอนให้เป็นกรรมสิทธิของผู้ซื้อแล้ว เมื่อเป็นแบบนี้การแก้ปัญหาก็จะต้องกลายเป็นภาระของผู้ซื้อ คำแนะนำที่ดีที่สุดคือ อย่ารับโอนกรรมสิทธิห้องหากผู้ซื้อยังไม่เห็นห้องที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว  เพื่อผู้ซื้อจะได้มีโอกาสตรวจสอบคุณภาพของห้อง หากพบจุดชำรุดบกพร่องจะได้มีการแจ้งให้ทางโครงการทำการแก้ไขให้แล้วเสร็จเรียบร้อยเสียก่อน จะได้ไม่ต้องมาเป็นภาระของผู้ซื้อในภายหลัง Tip หากผู้ซื้อเจอกับกรณีที่เจ้าของโครงการพยายามบังคับหรือใช้ข้อกำหนดใดๆ มาบังคับให้ผู้ซื้อต้องรีบทำการรับโอนกรรมสิทธิห้อง ทั้งๆ ที่ผู้ซื้อเห็นว่าสภาพห้องยังไม่แล้วเสร็จเรียบร้อย หรือยังมีข้อบกพร่องที่ต้องมีการแก้ไข ซึ่งข้อชำรุดบกพร่องในบางจุดอาจเสี่ยงตาอความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย ผู้ซื้อสามารถแจ้งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สคบ. หรือ กรมที่ดิน เพื่อให้ดำเนินการกับเจ้าของโครงการเพื่อดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อย   6.พบความเสียหายในคอนโดหลังโอนกรรมสิทธิ ปัญหาบางอย่างถ้าไม่ได้เข้าไปอยู่เสียก่อน ก็คงไม่มีโอกาสได้รู้ ผู้ซื้อหลายๆ คนต้องเจอปัญหาหนักใจหลังจากย้ายข้าวย้ายของเข้าไปอยู่ บางคนอยู่มาเป็นปีถึงเจอ บางคนไม่กี่เดือน บางคนซ้ำร้ายย้ายไปอยู่ไม่ทันข้ามคืนก็เจอเข้ากับปัญหาซะแล้ว ซึ่งปัญหาต่างๆ มี่เกิดขึ้นแน่นอนว่าต้องดำเนินการแก้ไข แต่ใครละเป็นผู้รับผิดชอบ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดแบบสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายห้องชุด ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ในส่วนของสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด (อ.ช. 22) ในข้อที่ 8 ได้มีการกำหนดเรื่องความรับผิดชอบของผู้ขายหรือเจ้าของโครงการในส่วนของความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นไว้ดังนี้ 1.ผู้ขายต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากความชำรุดบกพร่องของอาคารชุดหรือห้องชุด ในกรณีดังต่อไปนี้ 1.1 กรณีที่เป็นโครงสร้างและอุปกรณ์อันเป็นส่วนประกอบอาคารที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันจดทะเบียนอาคารชุด 1.2 กรณีส่วนควบอื่นนอกจากโครงสร้างและอุปกรณ์อันเป็นส่วนประกอบอาคารตามข้อ 1.1 ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี 2.ผู้ขายต้องแก้ไขความชำรุดบกพร่องของอาคารชุดที่เกิดขึ้นภายใน 30 วันนับแต่วันที่ผู้ซื้ออาคารชุดได้แจ้งเป็นหนังสือให้ทราบถึงความชำรุดบกพร่องนั้น เว้นแต่ในกรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้น เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน ผู้ขายต้องดำเนินการแก้ไขในทันทีที่ได้รับแจ้ง หากผู้ขายไม่ดำเนินการแก้ไขความชำรุดบกพร่องดังกล่าวข้างต้น ผู้ซื้อมีสิทธิดำเนินการแก้ไขเองหรือจะให้บุคคลภายนอกแก้ไขให้ก็ได้ โดยผู้ขายยินยอมชดใช้ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแก้ไขความชำรุดบกพร่องดังกล่าว   Tip หากพบเจอปัญหาความชำรุดบกพร่องภายในคอนโดนหลังโอนกรรมสิทธิ ซึ่งเป็นความบกพร่องในส่วนที่ทางเจ้าของโครงการต้องเป็นผู้รับผิดชอบแก้ไข ให้ลองสอบถามเจ้าของห้องรายอื่นๆ ในโครงการ ว่าพบปัญหาในลักษณะเดียวกันหรือไม่ เพราะหากมีผู้เสียหายหลายๆ รายที่พบปัญหาในลักษณะเดียวกันแล้วรวมตัวกันเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ประกอบการ พลังในการต่อร้องจะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น หากยังไม่ได้รับการรับผิดชอบจากเจ้าของโครงการ ก็ให้รวมตัวไปแจ้งต่อ สคบ. ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่กลุ่มผู้อาศัยในคอนโดรวมตัวกันไปฟ้องร้องเรียกร้องเงินชดเชยจากเจ้าของโครงการผ่าน สคบ. สำเร็จมาแล้ว   หัวใจของการซื้อคอนโด -เข้มเรื่องสัญญา สัญญาคือเอกสารหลักฐานที่สำคัญที่ผู้ซื้อสามารถนำมาใช้เป็นข้อยืนยันกรณีที่เกิดปัญหาจากการซื้อขาย เพื่อใช้เรียกร้องต่อรองกับผู้ขายหรือเจ้าของโครงการ เพราะฉะนั้นต้องให้ความสำคัญกับรายละเอียดต่างๆ ที่อยู่ในสัญญา โดยต้องให้สัญญานั้นเป็นธรรมกับทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมากที่สุด ซึ่งทาง สคบ. ได้มีออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 โดยหลักเกณฑ์ของสัญญาซื้อขายคอนโดที่ดีควรมีรายละเอียดดังนี้ 1.สัญญาที่ผู้ขายทำกับผู้ซื้อต้องมีข้อความภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัด มีขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่า 2 มิลลิเมตร 2.ข้อสัญญาที่รองรับว่าผู้ขายมีกรรมสิทธิในที่ดิน และมีคำมั่นว่าจะดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดให้แล้วเสร็จและจะนำไปจดทะเบียนอาคารชุด หรือดำเนินการก่อสร้างอาคารชุด หรือก่อสร้างอาคารชุดเสร็จแล้วจะนำไปจดทะเบียนอาคารชุด หรือมีกรรมสิทธิห้องชุดในอาคารชุดและผู้ลงนามในสัญญาเป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันตามสัญญาไว้ท้ายสัญญาแล้ว 3.ข้อสัญญาต้องแสดงว่าที่ดิน อาคารและห้องชุดในอาคารชุดมีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน หรือบุคคลใด 4.บอกตำแหน่งที่ดิน เลขที่ของโฉนดที่ดิน จำนวนเนื้อที่ของที่ดินโครงการ แผนผังแสดงเขตที่ดินหรือที่ตั้งของอาคารชุด 5.ต้องแจ้งราคาขายต่อตารางเมตร และพื้นที่ห้องชุดที่จะซื้อขาย 6.ราคาซื้อขายที่ทำการตกลงกัน การชำระเงิน วิธีการ ระยะเวลา ขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ 7.วัตถุประสงค์การใช้พื้นที่ทุกส่วนของอาคารชุด รายละเอียดที่เกี่ยวข้องของห้องชุดในอาคารชุด รายการและขนาดของทรัพย์ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวก 8.ข้อมูลการก่อสร้าง ลักษณะ ยี่ห้อ ชนิด รุ่น คุณภาพ ขนาด สี ของวัสดุ ผิวพื้น ผิวหนัง ผิวเพดาน หลังคา สุขภัณฑ์ต่างๆ ประตูหน้าต่าง และอุปกรณ์ประกอบประตูหน้าต่าง ตามมาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ถ้าหากไม่สามารถหาวัสดุตามที่กำหนดไว้จากท้องตลาดได้ ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดหาวัสดุที่มีคุณภาพดีกว่าหรือเทียบเท่ามาใช้ก่อสร้างแทน โดยผู้ขายจะต้องดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามรูปแบบและรายการที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย นอกจากนี้ผู้ขายจะต้องเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งมาตรวัดปริมาตร และปริมาณการใช้สาธารณูปโภคทั้งในส่วนกลางและส่วนที่แยกต่อภายในห้องชุด กรณีมาตรวัดในส่วนที่แยกต่อภายในห้องชุดผู้ขายเป็นผู้ดำเนินการขอติดตั้งโดยชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการติดตั้งไปก่อน และเมื่อได้โอนกรรมสิทธิห้องชุดให้แก่ผู้ซื้อโดยโอนมาตรวัดให้เป็นชื่อของผู้ซื้อแล้ว ผู้ขายจึงจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากผู้ซื้อได้แต่ไม่เกินจำนวนเงินที่จ่ายไปก่อนนั้น 9.รายละเอียดเบี้ยปรับ กรณีผิดนัดชำระของผู้ซื้อ การบอกเลิกสัญญา 10.การชดเชยกรณีผู้ขายสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา หรือมีการเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งใดไปจากที่เคยตกลงกันไว้ในสัญญา   ใบโบชัวร์ แผ่นพับ หรือแม้แต่สปอร์ตโฆษณาทางทีวี อินเตอร์เน็ต ก็ถือเป็นเอกสารหลักฐานชิ้นสำคัญ เพราะการโฆษณาต่างๆ ถูกนับร่วมเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสัญญาที่ผู้ขายได้ทำกับผู้ซื้อ หากผู้ซื้อพบว่าคอนโดที่ซื้อจากผู้ขายสภาพจริงไม่ต้องตามที่ได้โฆษณาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ดำเนินงานสร้าง หรือแม้แต่สาธารณูปโภคต่างๆ หากไม่เป็นตามที่โฆษณาไว้ สามารถนำหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏในสื่อโฆษณามาใช้ฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยได้   -จริงจังเรื่องการเงิน การวางแผนการชำระเงินถือเป็นขั้นตอนสำคัญ หากต้องการเป็นเจ้าของห้องพักในคอนโดสักห้อง สิ่งสำคัญก็คือการสำรวจสถานภาพการเงินของตัวเองให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อคอนโด ดูความสามารถในการรับภาระหนี้สินที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ความมีวินัยในการผ่อนชำระเงินในแต่ละงวด ซึ่งอย่างน้อยควรมีเงินออมที่สามารถนำมาใช้ผ่อนชำระได้นาน 3 – 6 เดือน ในกรณีที่หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น เจ็บป่วย หรือขาดรายรับ เพื่อให้การชำระเงินค่างวดยังสามารถดำเนินต่อไปได้ หากผู้ซื้อผิดนัดชำระค่างวด จ่ายไม่ตรงตามกำหนดที่ได้ทำสัญญาไว้กับผู้ขาย ผู้ซื้อก็มีสิทธิ์           ถูกบอกเลิกสัญญา ซ้ำร้ายอาจถูกริบเงินมัดจำที่จ่ายไว้เมื่อตอนตกลงทำสัญญา   -ให้ความสำคัญเรื่องส่วนกลาง-สาธารณูปโภค พื้นที่และสาธารณูปโภคส่วนกลาง ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ผู้ซื้อคอนโดต้องให้ความสำคัญและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะค่าส่วนกลางที่จะต้องมีการเรียกเก็บกับผู้อยู่อาศัยในคอนโด จะเป็นค่าใช้จ่ายที่ผูกมัดตลอดการอยู่อาศัย เพราะฉะนั้นหากเห็นว่าบริการส่วนกลางใดที่มีอยู่ในคอนโดแล้วต้องเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย อย่างเช่น สระว่ายน้ำ ฟิตเนส โซนพักผ่อน ห้องประชุม ฯลฯ หากเราคิดว่าไม่ค่อยได้ใช้ หรือคงใช้ได้ไม่คุ้มกับค่าส่วนกลางที่ต้องจ่ายทุกเดือน ก็ควรเลือกคอนโดที่ไม่มีสาธารณูปโภคส่วนกลางที่เราไม่ต้องการ ลองเปรียบเทียบราคาค่าส่วนกลางเทียบกันหลายๆ โครงการ เลือกสิ่งที่เราต้องการและราคาที่เหมาะสมกับกำลังเงินของเรา แต่ต้องไม่ลืมให้ความสำคัญการบริการสาธารณูปโภคที่มีความจำเป็นอย่าง ที่จอดรถ ที่ต้องมีเพียงพอให้กับเจ้าของห้องทุกห้อง อย่างน้อย 1 ห้องต่อ 1 คัน ระบบรักษาความปลอดภัย ที่โครงการต้องระบุให้ชัดเจนว่ามีระบบและอุปกรณ์ที่ช่วยเรื่องความปลอดภัยอะไรบ้างในโครงการ ไม่ว่าเป็น การทำงานของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ระบบป้องกันอัคคีภัย รวมถึงสภาพแวดล้อมรอบคอนโด ที่เหมาะแก่การเป็นพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัย ไม่ใกล้แหล่งอันตราย หรือเสี่ยงอาชญากรรม   -ตรวจรับต้องรอบคอบ การตรวจรับคอนโดถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก เพราะหากตรวจรับไม่ดีมีปัญหาในภายหลังก็จะกลายมาเป็นปัญหาปวดใจ ได้บ้านหลังใหม่แต่ก็ต้องอยู่ไปแบบไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นเมื่อถึงวันที่ต้องมีการตรวจรับคอนโด ผู้ซื้อควรสละเวลาในการตรวจรับให้มากที่สุด ตรวจดูความเรียบร้อยต่างๆ ภายในห้องให้ครบถ้วนทุกซอกทุกมุม ควรมีผู้รู้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในการตรวจรับคอนโดมาช่วยตรวจ โดยต้องเตรียมอุปกรณ์อย่าง กล้องถ่ายรูป สมุด ปากกาไว้สำหรับจดความชำรุดบกพร่องต่างๆ ที่พบจากการตรวจ เพื่อจะใช้เป็นข้อมูลแจ้งให้กับผู้ที่รับผิดชอบในการดูแลแก้ไข สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในตรวจรับคอนโดประกอบด้วย วัสดุปูพื้น ผนัง เพดาน ประตู หน้าต่าง บันได การติดตั้งสุขภัณฑ์ ระบบสุขาภิบาล ระบน้ำ การปั้มน้ำ การระบายน้ำ การรั่วซึม ระบบไฟฟ้า การเดินสายไฟทั้งตามผนัง และบนฝ้า รวมทั้งเรื่องแสงสว่างของหลอดไฟ ระบบรับสัญญาณโทรทัศน์ สัญญาณโทรศัพท์ ตรวจดูโครงสร้างอาคาร ต้องไม่มีรอยร้าว การแอ่น – เอียงของโครงสร้าง ดูงานสี สีที่ทามีความสม่ำเสมอของเนื้อสี ความกลมกลืน ไม่มีรอยด่าง เนื้อสีไม่หลุดลอกหรือปูดโป่ง วัสดุที่ทำด้วยเหล็กไม่ร่องรอยสนิม ส่วนวัสดุที่ทำด้วยไม้ก็ต้องไม่มีสภาพผุกร่อน -มีปัญหาต้องร้องเรียน ข้อมูลจาก คณะอนุกรรมการด้านที่อยู่อาศัย โดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 159 รถโดยสารสองชั้น : ความปลอดภัย “สร้างได้”

ในปัจจุบันแม้ว่ารถโดยสารสาธารณะ ได้แก่ รถโดยสารขนาดใหญ่ (หมวด ม.4) หรือ รถตู้โดยสารสาธารณะ (หมวด ม.2จ) จะมีมาตรฐานขั้นพื้นฐานที่กำหนดขึ้นโดยกรมขนส่งทางบกไว้บางประการแล้วนั้น อย่างไรก็ตาม จากสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารขนาดใหญ่อย่างรถโดยสารสองชั้นที่ผ่านมาล่าสุด ไม่ว่าจะเป็น กรณีที่รถโดยสารนำเที่ยวเสียหลักตกเหวข้างทางที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.ลำปาง ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 หรือกรณีรถโดยสารนำเที่ยวสองชั้นพลิกคว่ำตกเหวข้างทางที่อ.แม่สอด จ.ตาก ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 รวมถึงล่าสุดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 ที่รถโดยสารนำเที่ยวสองชั้น เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำบนถนนเลี่ยงเมือง ที่จ.ตรัง ล้วนทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเดินทางด้วยรถโดยสารสองชั้น ยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่สูงอยู่ อีกทั้งยังมีความเสียหายและรุนแรงต่อชีวิตของผู้โดยสารสูงมากเช่นกัน โดยสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุนั้น นอกเหนือจากพฤติกรรมและความชำนาญในเส้นทางของผู้ขับขี่ สภาพของถนนหรือเส้นทางในการเดินรถแล้วนั้น อีกสาเหตุหลักของความสูญเสียชีวิตของผู้โดยสารคือ รถโดยสารสาธารณะเหล่านี้ ยังไม่มีโครงสร้างที่มีความแข็งแรง หรืออุปกรณ์พื้นฐานด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพเพียงพอตามมาตรฐานสากล หรือไม่มีการถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง บทความนี้ จะอธิบายถึงสาเหตุหลักและลักษณะรูปแบบส่วนใหญ่ของอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นโดยสังเขป และชี้เน้นเชิงเสนอแนะถึงวิธีการและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้นตามหลักการเชิงวิศวกรรมที่สำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้น ที่ควรจะมีการนำมาใช้กับรถโดยสารสาธารณะในประเทศไทยโดยเร่งด่วน ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้โดยสารเท่านั้นที่ควรรู้และเข้าใจ แต่รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอีกด้วย   สาเหตุหลักสามประการของการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสองชั้น สามปัจจัยหลัก ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยในการโดยสารรถโดยสารสองชั้น มีดังต่อไปนี้ 1) คนชับและผู้โดยสาร - พฤติกรรม วินัย มารยาทในการใช้รถและถนนของคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ขับขี่รถ ผู้ร่วมใช้ถนน และผู้โดยสารรถ เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุด ที่มีผลต่อความปลอดภัยบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการขับขี่ การเคารพกฎจราจร ความชำนาญเส้นทางของผู้ขับขี่เอง นอกจากนี้การตระหนักถึงความปลอดภัยด้วยตนเองของผู้โดยสารก็มีความสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การคาดเข็มขัดนิรภัย หรือไม่โดยสารรถที่มีจำนวนผู้โดยสารมากกว่าที่นั่งที่มีอยู่ เป็นต้น 2) ยานพาหนะและอุปกรณ์ภายใน – นอกเหนือจากโครงสร้างตัวถังรถ แชสซี รวมไปถึงชิ้นส่วนพื้นฐานอย่างระบบบังคับเลี้ยว สภาพช่วงล่าง สภาพยางรถ และอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยต่างๆ ของรถ เช่น ระบบเบรก แล้วนั้น การออกแบบรถที่ครอบคลุมถึง ขนาดความสูงของรถ การจัดวางเก้าอี้โดยสาร ซึ่งส่งผลต่อน้ำหนักรวม การกระจายน้ำหนัก และตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วง ยังมีผลโดยตรงต่อสมรรถนะการขับขี่และการทรงตัวของรถอีกด้วย 3) สิ่งแวดล้อม - อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการจราจร ก็คือ รูปแบบเส้นทางที่คดเคี้ยว ลาดชัน สภาพของถนนที่ชำรุดผุผัง เป็นหลุมเป็นบ่อ มีการจัดวางตำแหน่งของอุปกรณ์กั้นข้างทางที่ไม่เหมาะสม มีสิ่งกีดขวางการจราจร ทำให้ที่รถต้องชะลอความเร็วหรือเปลี่ยนเส้นทางโดยกะทันหัน รวมถึง สัญญาณจราจรที่ไม่ชัดเจน อาทิ ป้ายจราจร เส้นแบ่งทางเดินรถ สิ่งเหล่านี้เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด ลักษณะและรูปแบบของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสองชั้น จากข้อมูลสถิติจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบว่า เหตุการณ์เสียหลักพลิกคว่ำ หลุดโค้ง เบรกไม่อยู่ เป็นลักษณะและรูปแบบของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสองชั้นที่พบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิศวกรรม และอธิบายถึงผลความของความรุนแรงอันตรายต่อชีวิตผู้โดยสารได้ดังนี้ 1) การพลิกคว่ำ (Rollover) จากผลงานวิจัยจากประเทศฮังการี หนึ่งในประเทศในยุโรปที่มีจำนวนรถโดยสารสองชั้นสูงพบว่า รูปแบบของการเสียหลักพลิกคว่ำของรถโดยสารสองชั้น สามารถแบ่งตามมุมองศาของการพลิกคว่ำ ได้เป็นสามรูปแบบ ดังที่ได้อธิบายไว้ในรูปที่ 1 ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า ลักษณะของมุมของการพลิกคว่ำที่ 90 องศา จะเกิดความเสียหายน้อยที่สุด โดยที่มุมของการพลิกคว่ำระหว่าง 45 ถึง 60 องศา จะสามารถส่งผลให้เกิดความเสียหายในระดับเล็กน้อยถึงขั้นรุนแรง ในขณะที่กรณีของการพลิกคว่ำที่ 90 องศาขึ้นไป ที่พบส่วนใหญ่ จะส่งผลให้เกิดความเสียหายขั้นรุนแรง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งรูปแบบลักษณะของการพลิกคว่ำของเหตุการณ์แต่ละแบบนั้น จะสัมพันธ์กับความเร็วของรถ สภาพถนนหรือความสูงของอุปกรณ์กั้นข้างทาง รวมถึงขนาดของตัวรถ โดยปัจจัยด้านขนาดของตัวรถที่มีผลโดยตรงต่อเสถียรภาพในการขับขี่ ได้แก่ ตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงของรถ ซึ่งในการพลิกคว่ำของรถโดยทั่วไปนั้น จะสามารถอธิบายได้ดังที่แสดงในรูปที่ 2 ในกรณีที่จุดศูนย์ถ่วงของรถยนต์ (จุดสีแดง) อยู่ในตำแหน่งภายในแนวแกนตั้งของฐานล้อรถยนต์ รถคันนั้นจะยังคงมีเสถียรภาพอยู่จนกว่าจุดศูนย์ถ่วงจะเลยพ้นแกนตั้ง ซึ่งจะส่งผลให้รถทั้งคันเกิดการพลิกคว่ำ โดยทั่วไปแล้ว สถานการณ์การขับขี่ที่สามารถทำให้รถเกิดอัตราเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำ ได้แก่ การขับชี่ในพื้นที่ต่างระดับ ลาดชัน รัศมีวงเลี้ยวแคบ รวมไปถึงการหักเลี้ยวรถเพื่อเปลี่ยนเลนอย่างกะทันหันที่ความเร็วสูง เกณฑ์ที่หน่วยงานด้านความปลอดภัยของรถสาธารณะสากลอย่าง สถาบัน National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) ใช้ในการวิเคราะห์การ “ป้องกันการพลิกคว่ำ” (Rollover resistance) และเปรียบเทียบวิเคราะห์อัตราเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำของรถสาธารณะแต่ละประเภท คือ ค่า Static Stability Factor (SSF)  ซึ่งสามารถคำนวณได้จากสูตร SSF = T ÷ (2 ×H) โดยจากรูปที่ 3 ตัวแปร T (Track Width) คือ ความกว้างของฐานล้อของรถโดยกำหนดจากระยะห่างระหว่างตำแหน่งจุดศูนย์กลางของรถ และตัวแปร H (Center Gravity of Height) หมายถึง ค่าความสูงของจุดศูนย์ถ่วงรถถึงพื้น ซึ่งตามทฤษฏีแล้วโครงสร้างของรถที่มีค่า SSF ที่ต่ำ รถจะมีแนวโน้มที่จะพลิกคว่ำได้ง่ายกว่า รถที่มีค่า SSF สูงกว่า ตัวอย่างของค่า SSF ที่ได้จากการวิเคราะห์รถโดยสารประเภทต่างๆ ที่มีจำนวนที่นั่งผู้โดยสารต่างๆ กัน โดยสถาบัน Transport Canada และ NHTSA แสดงไว้ในตารางที่ 1 ซึ่งจะพบว่ารถที่มีจำนวนที่นั่งมากกว่า ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีแนวโน้มที่จะพลิกคว่ำได้ง่ายกว่าเสมอ ยกตัวอย่างเช่น รถ 30ที่นั่งที่มีค่า SSF มากกว่า รถ 19 ที่นั่งบางคัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของตัวรถเป็นหลัก ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัย อาทิ เช่น การจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีผลต่อน้ำหนักรวมหรือตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงรถ ฐานความกว้างของรถแต่ละคัน หรือระบบกันสะเทือนช่วงล่าง ที่จะมีผลต่อตำแหน่งความสูงของจุดศูนย์ถ่วงรถ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญในการออกแบบและปรับปรุงพัฒนาสมรรถนะของรถให้มีค่า SSF ที่สูง เพื่อหลีกเลี่ยงการพลิกคว่ำให้ได้มากที่สุด   ประเภทรถ ค่า Static Stability Factor (SSF) รถโดยสาร 7 ที่นั่ง 1.27 รถตู้โดยสาร 12 ที่นั่ง 1.06 รถตู้โดยสารฐานล้อกว้าง 15 ที่นั่ง 1.06 - 1.08 รถโดยสารชั้นเดียว 15  ที่นั่ง 1.06 รถโดยสารชั้นเดียว 30 ที่นั่ง 0.99 รถโดยสารชั้นเดียว 19  ที่นั่ง 0.94 รถโดยสารสองชั้น 0.60 – 0.80   1) การเสียหลักหลุดโค้ง/ท้ายปัด (Spinout/Oversteering)  การเลี้ยวโค้งของรถเป็นหนึ่งในสถานการณ์ระหว่างการขับขี่และจราจรที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด และหนึ่งในประเภทของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดก็คือ การที่รถเสียหลักรถหลุดโค้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายๆ ปัจจัย ได้แก่ ความเร็วในการขับขี่สูงเกินกำหนดในรัศมีความโค้ง สภาพถนนลื่น และการบรรทุกผู้โดยสารเกิน รวมไปถึงการกระจายน้ำหนักของตัวรถที่เพลาหน้าและเพลาท้ายไม่เหมาะสม ซึ่งตามทฤษฏีพลศาสตร์ยานยนต์แล้วนั้น ในกรณีที่รถที่มีการกระจายน้ำหนักที่ล้อหลัง มากกว่าล้อหน้า แล้วถูกขับเลี้ยวเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง (หรือที่เรียกว่า “การเลี้ยวเร็ว“) รถจะมีแนวโน้มของการเคลื่อนที่ที่เรียกว่า  ”โอเวอร์สเตียริง” (Oversteering) หรือ “การหลุดโค้งท้ายปัด“ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ง่ายกับรถยนต์ที่มีสัดส่วนน้ำหนักส่วนท้ายมากกว่าด้านหน้า โดยสามารถอธิบายได้จากสถานการณ์ที่ส่วนท้ายของรถนั้น ถูกหมุนปัดในทิศทางที่ทำให้รถเสียการทรงตัวเป็นมุมมากกว่าความรัศมีความโค้งของถนน ในขณะที่ส่วนหน้าของรถถูกบังคับเลี้ยวปกติดังที่แสดงในรูปที่ 4 2) การเบรกไม่อยู่ (Insufficient Brake Force) อีกหนึ่งในเหตุการณ์ที่พบบ่อยในการเกิดอุบัติเหตุคือ สถานการณ์ “เบรกไม่อยู่” โดยปกติแล้ว แรงเบรกที่ถูกสร้างในระบบเบรก จะเกิดจากแรงเบรกจากเท้าของคนขับที่ได้รับการเสริมแรงจากหม้อลมเบรก ซึ่งมีหลักการทำงานโดยอาศัยแรงสูญญากาศจากสร้างจากเครื่องยนต์ ดังที่แสดงในรูปที่ 5 ในกรณีที่แรงเบรกในระบบเบรกของรถไม่เพียงพอ อาจจะมีสาเหตุจากสองกรณี ได้แก่ การที่ระบบเบรกมีการรั่วซึมของระบบท่อลม ทำให้ระบบเบรกทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ และการที่หม้อลมเบรกไม่ได้รับแรงสูญญากาศที่พอเพียงกับความต้องการ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับรถโดยสารสองชั้นที่มีน้ำหนักมาก ที่เคลื่อนที่ลงจากทางที่สูงหรือลงจากภูเขาเป็นระยะทางยาวๆ จนคนขับต้องเหยียบเบรกบ่อยและต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้แรงสูญญากาศที่ได้จากเครื่องยนต์ส่งไปยังหม้อลมเบรกไม่เพียงพอ ทำให้คนขับ ต้องออกแรงในการเหยียบเบรกมากขึ้นกว่าปกติหลายเท่า เกิดความรู้ว่า “แป้นเบรกหนัก” ไม่สามารถหยุดรถได้อย่างปลอดภัย ซึ่งมักจะมีความเข้าใจผิดว่า “เบรกแตก” (หมายถึงการที่หม้อลมเบรกได้รับความเสียหาย) ซึ่งแท้จริงแล้วมีความหมายที่แตกต่างกัน ความปลอดภัยที่ “สร้างได้” ของรถโดยสารสองชั้น” - วิธีการและระบบอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย วิธีการและระบบอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยในรถยนต์นั้นสามารถแบ่งตามลำดับเหตุการณ์ก่อนและหลังการการอุบัติเหตุได้เป็น แนวทางความปลอดภัยที่ช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุหรือที่เรียกว่า “Active safety” และแนวทางความปลอดภัยที่ช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ หรือที่เรียกว่า “Passive safety” ดังที่แสดงในรูปที่ 6 ซึ่งอธิบายถึงทุกอย่างที่ช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งในกรณีนี้ นอกเหนือจากระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ระบบเตือนคนขับ ระบบช่วยเหลือคนขับคนแล้ว ยังครอบคลุมวิธีการออกแบบ รูปร่างและการกระจายน้ำหนัก ซึ่งส่งผลลัพธ์ออกมาในรูปของตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงของรถ ซึ่งมีผลการเสถียรภาพการทรงตัวดังที่อธิบายไว้แล้วเบื้องต้น จากข้อเท็จจริงพบว่า ทั้งรถโดยสารชั้นเดียวและสองชั้นที่มีให้บริการอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วนั้น ได้รับการประกอบจากอู่ประกอบรถภายในประเทศ โดยมีการนำเข้าแชสซีจากต่างประเทศ ซึ่งจะประกอบด้วยโครงสร้างส่วนช่วงล่างทั้งหมด เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และระบบเบรก ซึ่งมีทั้งแบบใหม่และแบบใช้แล้ว โดยอู่จะเป็นผู้ประกอบโครงสร้างและตัวถังขึ้น โดยใช้ประสบการณ์ของช่าง ที่จะเน้นด้านความสวยงาน แต่ไม่มีการคำนึงความแข็งแรงที่ถูกต้องตามแบบวิศวกรรม และไม่มีการควบคุมความถูกต้องอย่างจริงจัง ซึ่งผลกระทบเชิงลบที่เห็นได้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนคือ ความเสียหายที่รุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน กรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุครั้งต่างๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสาเหตุต่างๆ จากตัวรถ ได้แก่ ความสูงของรถที่มีอัตราเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำสูง (ค่า SFF ต่ำ) โครงสร้างของตัวรถที่ไม่มีความแข็งแรงรองรับสถานการณ์การพลิกคว่ำ ความแข็งแรงของอุปกรณ์ยึดเก้าอี้โดยสารที่ไม่แข็งแรง ทำให้เก้าอี้หลุดออกจากพื้นรถกรณีเกิดอุบัติเหตุ ความแข็งแรงของเข็มขัดนิรภัยที่ไม่เพียงพอ เป็นต้น คำว่า “รถโดยสารสองชั้นที่ปลอดถัย”สำหรับหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล หรือผู้ประกอบการ อาจมองว่าเป็นเรื่องที่ทำสำเร็จได้ยาก แต่หากพิจารณาด้วยหลักการวิศวกรรมแล้วจะพบว่า “การสร้างความปลอดภัย” ให้แก่ตัวรถนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีไกลเกินจริง เนื่องด้วย หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือ ผู้ประกอบการในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบโครงสร้างตัวถังขึ้นเอง สามารถเลือกประเภทของเก้าอี้โดยสาร การจัดวางตำแหน่งที่นั่งได้เอง กำหนดความสูงของรถได้เอง รวมทั้งเลือกรูปแบบของแชสซี และอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยพื้นฐานอย่างระบบเบรกได้เอง  ดังที่ผู้เขียนเสนอแนะ แนวทางการ”สร้าง” รถโดยสารสองชั้นที่ปลอดภัย ดังต่อไปนี้ (รูปที่ 7) 1) จุดศูนย์ถ่วงต่ำ มาตรการการลดตำแหน่งจุดศูนย์ถ่วง เป็นหนี่งในวิธีการด้าน Active safety ที่สามารถทำได้ ดังที่ได้อธิบายไว้แล้วนั้น รถประเภทที่มีตำแหน่งจุดศูนย์ถ่วงต่ำ (ค่า H ต่ำ) จะมีเสถียรภาพการทรงตัวที่ดีและอัตราเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำต่ำกว่า รถประเภทที่มีจุดศูนย์ถ่วงสูงกว่า (ค่า  H สูง) จากหลักการนี้เอง สามารถอธิบายถึงเหตุผลที่มีการผลักดันให้ยกเลิกการเดินรถรถโดยสารสองชั้นในหลายพื้นที่ที่มีความคดเคี้ยว ลาดชัน และทดแทนด้วยรถโดยสารชั้นเดียว ซึ่งมีตำแหน่งจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกรณีที่มีผู้โดยสารเท่ากัน ในเส้นทางเดียวกัน นอกจากนี้ การควบคุมความสูงของรถให้ได้ค่า SSF ที่สูงขึ้น ก็เป็นสิ่งผู้ประกอบการควรนำไปใช้เป็นอย่างยิ่ง 2) เพิ่มประสิทธิภาพระบบเบรกในสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยระบบ ABS และ Brake-Assist อุปกรณ์ชนิด Active safety ที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเบรกในรถโดยสารสองชั้น ได้แก่ ระบบป้องกันการล็อคล้อหรือระบบ ABS (Anti-lock Braking System) ซึ่งจะช่วยคนขับให้สามารถควบคุมรถได้อย่างปลอดภัยในสถานการณ์ที่สามารถเกิดการหลุดโค้งท้ายปัดได้ โดยทั่วไปแล้วระบบ ABS จะถูกติดตั้งและจำหน่ายมาพร้อมกับแชสซีรถอยู่แล้ว  ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกชนิดและประเภทได้ ซึ่งในปัจจุบัน หลายประเทศในยุโรปได้มีการออกกฏหมายบังคับให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันติดตั้งระบบเบรกประเภทนี้แล้ว นอกจากนี้ อุปกรณ์ที่สำคัญที่สามารถช่วยสร้างแรงเบรกให้แก่รถที่มีน้ำหนักมาก อาทิ เช่น อุปกรณ์หน่วงความเร็ว (Retarder) ที่มีใช้แพร่หลายในรถบรรทุก หรือปั๊มสูญญากาศ (Vacuum-assisted Pump) โดยในกรณีที่ผู้ขับขี่เหยียบแป้นแบรกบ่อยและต่อเนื่อง จนแรงสูญญากาศจากเครื่องยนต์ไม่เพียงพอ อุปกรณ์นี้จะช่วยเติมแรงสูญญากาศให้แก่หม้อลมเบรก (รูปที่ 8) ทำให้ผู้ขับขี่ยังคงสามารถออกแรงเหยียบแป้นเบรกอย่างปกติ และสามารถชะลอรถได้อย่างปลอดภัย 1) โครงสร้างของห้องโดยสารที่รองรับการพลิกคว่ำ มาตรการประเภท Passive safety ที่ควรกำหนดให้อู่ประกอบรถโดยสารนำมาใช้อย่างเร่งด่วนคือ การพัฒนาโครงสร้างของห้องโดยสารที่มีความแข็งแรงรองรับการพลิกคว่ำ (Rollover) หรือที่เรียกว่า “โครงสร้างแบบ Superstructure” ซึ่งตามมาตรฐานสากล UN ECE R 66 ได้มีบังคับใช้ในรถโดยสารที่มีผู้โดยสารจำนวน 16 ที่นั่งขึ้นไป โดยมาตรฐานนี้จะกำหนดให้โครงสร้างของรถโดยสารต้องผ่านการทดสอบ ด้วยการปล่อยโครงสร้างลงมาจากแท่นเอียง (Tilt table) ที่ระดับความสูงจากพื้น 80 เซนติเมตร ดังแสดงใน รูปที่ 9 โดยโครงสร้างที่จะนำมาทดสอบนี้ จะเป็นโครงสร้างทั้งหมดของรถโดยสารทั้งคัน หรือเป็นโครงสร้างเฉพาะส่วนที่เรียกว่า “Bay-Section”ก็ได้ โดยโครงสร้างเฉพาะส่วนนี้ จะต้องมีการกำหนดคุณสมบัติทางกายภาพที่เหมือนรถโดยสารที่ประกอบเสร็จ เกณฑ์การทดสอบความแข็งแรงของโครงสร้างที่ตามมาตรฐานนี้ คือหลังจากการทดสอบนั้น จะต้องไม่ส่วนหนึ่งส่วนใดของโครงสร้างล้ำเข้าไปในขอบเขตความปลอดภัย (หรือที่เรียกว่า “Residual space”) ที่กำหนดไว้ดังแสดงในรูปที่ 10 นอกจากนี้การทดสอบนี้ยังสามารถทำได้ทั้งการทดสอบภาคสนามบนโต๊ะเอียงจริงหรือทำการทดสอบในสภาวะเสมือนในคอมพิวเตอร์โดยอาศัยระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ช่วยในการวิเคราะห์ความแข็งแรงของโครงสร้าง 2) เก้าอี้โดยสาร การจับยึดกับพื้นรถและเข็มขัดนิรภัย มาตรการประเภท Passive safety อีกประการที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิตของผู้โดยสาร คือความแข็งแรงของเก้าอี้โดยสาร การจับยึดและเข็มขัดนิรภัย ซึ่งมาตรฐานความแข็งแรงของที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และจุดยึดเข็มขัดนิรภัยของรถโดยสารที่เป็นที่ยอมรับกับอย่างกว้างขวางคือ UN ECE R 16 (Uniform provisions concerning the approval of Vehicles equipped with safety-belts, safety-belt reminder, restraint systems, child restraint systems and ISOFIX child restraint systems) โดยระบุถึงข้อกำหนดความแข็งแรงของระบบการยึดรั้งทั้งระบบ ซึ่งประกอบด้วย เข็มขัดนิรภัย อุปกรณ์ยึดเข็มขัดนิรภัยกับตัวรถ เก้าอี้โดยสาร และอุปกรณ์จับยึดเก้าอี้โดยสารกับพื้นรถ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยึดผู้โดยสารไม่ให้เกิดการเคลื่อนที่หลุดออกจากพื้นรถในกรณีที่เกิดการเบรกกะทันหัน การพุ่งชนสิ่งกีดขวาง รวมไปถึงการพลิกคว่ำ ซึ่งโดยทั่วไป จะทดสอบด้วยแรงฉุดเก้าอี้โดยสารเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสิบเท่าของน้ำหนักผู้โดยสาร ซึ่งตามมาตรฐานนี้ จะทำการทดสอบอุปกรณ์ทั้งหมดพร้อมกัน นอกเจากนี้ ยังมีมาตรฐานการทดสอบอุปกรณ์นิรภัยอื่นๆ อาทิ เช่น การรองรับการกระแทกของศีรษะ หรืออวัยวะอื่นๆ ของผู้โดยสารให้ไม่เกิดอันตราย อีกทั้งการทดสอบภาคสนามอื่นๆ ที่เพื่อบ่งชี้พฤติกรรมการเคลื่อนที่และเสถียรภาพของรถ ได้แก่ การทดสอบการเลี้ยวโค้งที่รัศมีการเลี้ยวโค้งคงที่ (Steady state circular test) หรือการทดสอบการเปลี่ยนเลนกะทันหัน (Double lane change หรือ Elch test) เพื่อศึกษาที่จะส่งผลการดื้อโค้ง (understeering) หรือท้ายปัด (oversteering) ของรถเป็นต้น ซึ่งมาตรการเชิงวิศวกรรมเหล่านี้ เป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการผลักดันอย่างเร่งด่วน ควบคู่กับแนวทางการจัดการทั้งในด้านพนักงานขับรถ เส้นทางเดินรถ รวมไปถึงสภาพถนนและป้ายสัญลักษณ์จราจร ด้วยความหวังที่ว่า การเดินทางด้วยรถโดยสารสองชั้นอย่างปลอดภัย จะไม่ต้องพึ่งค่ำว่า “โชค” อีกต่อไป   ข้อมูลและภาพประกอบอ้างอิง Matyas, M. (2010), Behaviour of the Lower Level (Deck) of Double-Deck Vehicles in Rollover UN ECE R 66 Uniform technical prescriptions concerning the approval of large passenger vehicles with regard to the strength of their superstructure EOBUS project http://www.eobus.com/news/105.htm National Highway Traffice Safety Administration (NHTSA) Transport Canada UN ECE R 66 Uniform technical prescriptions concerning the approval of large passenger vehicles with regard to the strength of their superstructure   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 การแจกยาเบญจอำมฤตย์ เป็นความหวังดีต่อผู้ป่วยมะเร็งจริงหรือ

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีข่าวดังเกิดขึ้นในแวดวงการสาธารณสุขไทย เมื่ออธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธวัชชัย กมลธรรม ออกข่าวเรื่องแจกสูตรยาสมุนไพรต้านมะเร็งตับ เบญจอำมฤตย์ที่โรงพยาบาลการแพทย์ผสมผสานที่ยศเสเพื่อให้บริการรักษาและติดตามผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้าย ข่าวนี้สร้างความหวังให้กับผู้ป่วยมะเร็งตับอย่างมาก ขนาดแห่กันไปขอรับการรักษาจนแน่นโรงพยาบาล และทำให้วัตถุดิบในการผลิตยา ราคาพุ่งกระฉูด และก่อให้เกิดคำถามสำคัญขึ้นมาว่า วิธีการแจกยาให้แก่ผู้ป่วยนี้ อาจเข้าข่ายผิดจริยธรรม เพราะสูตรยาเบญจอำมฤตย์ที่ทางกรมฯ นำมาแจกจ่ายให้กับประชาชน เป็นสูตรยาในโครงการติดตามผลการใช้ยาเบญจอำมฤตย์ ที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคนด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก(The Ethic Committee for Research in Human Subjects In the Fields of Thai Traditional and Alternative Medicine)   3 ก.พ. 57 นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าว “ศาสตร์การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง” ว่าจากฐานข้อมูลภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยพบว่าตำรับยาแผนไทยที่มีสรรพคุณในการ รักษาโรคเรื้อรังมี จำนวน 12,428 ตำรับ ในจำนวนนี้เป็นตำรับยารักษาโรคมะเร็ง จำนวน 3,115 ตำรับ อย่างไรก็ตาม ตำรับยาที่น่าสนใจและเป็นอีกทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็งร่วมกับการรักษา แพทย์แผนปัจจุบัน คือ สูตรยาสมุนไพรโบราณที่เรียกว่า เบญจอำมฤตย์   ซึ่งประกอบด้วยสูตรยาในคัมภีร์แพทยศาสตร์สงเคราะห์  9 ตัว ได้แก่ มหาหิงค์ ยาดำบริสุทธิ์ รงทอง มะกรูด ขิงแห้ง ดีปลี พริกไทย รากทนดี และดีเกลือ โดย สูตรยาดังกล่าวได้ทำการศึกษาร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตั้งแต่ปี 2554 โดยได้ทดสอบในระดับหลอดทดลอง และหนูทดลอง โดยให้ยาสูตรดังกล่าวพบว่า หนูมีภูมิต้านทานขึ้นมีประสิทธิภาพต้านเซลล์มะเร็ง เมื่อเทียบกับหนูที่ไม่ได้รับยาดังกล่าว “ยาสูตรนี้จะได้ผลดีต่อการต้านทานเซลล์มะเร็งตับดีกว่ามะเร็งชนิดอื่น โดยได้ผ่านการรักษาผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งในรพ.เคียนซา และรพ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ อยู่ระหว่างทดลองในระดับคลินิกในผู้ป่วยอาสาสมัครในโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยและ การแพทย์ผสมผสาน (ยศเส) ได้จัดทำเป็นยาชนิดแคปซูล เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการรักษา โดยไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้กับผู้ป่วยที่มารักษา ด้วยสิทธิบัตรทอง หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น แต่สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการก็สามารถมาติดต่อเพื่อขอรับยาตัวนี้ ได้ฟรี แต่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แผนไทยที่รพ.ก่อน และต้องรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันร่วมด้วย” นพ.ธวัชชัย กล่าว ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20140203/178149.html     เบญจอำมฤตย์ ชื่อนี้มาจากไหน ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งรวบรวมคัมภีร์แพทย์แผนโบราณไว้จำนวนมากนั้น ยาที่ชื่อว่า เบญจอำมฤตย์(หรือออกเสียงเหมือนกัน) ปรากฏอยู่ในคัมภีร์สามเล่ม คือ คัมภีร์ปฐมจินดา คัมภีร์โรคนิทาน และคัมภีร์ธาตุบรรจบ มีรายละเอียดดังนี้ คัมภีร์ปฐมจินดา ยาชื่อเบ็ญจอำฤต ขนานนี้ท่านให้เอา มหาหิงคุ์ ๑ ยาดำ ๑ สิ่งละส่วน รงทอง ๒ ส่วน มะกรูดใหญ่ ๓ ผล แล้วจึงเอามหาหิงคุ์ รงทอง ยาดำ ทั้ง ๓ สิ่งนี้ยัดเข้าในผลมะกรูดสิ่งละผล แล้วจึงเอามูลโคสดพอกสุมไฟแกลบให้สุกระอุดี แล้วจึงเอารากตองแตก ๔ ส่วน ดีเกลือ ๑๖ ส่วน ทำเปนจุณแล้วประสมกันเข้าจึงบดทั้งเนื้อมะกรูดปั้นแท่งไว้เอาหนัก ๑ สลึง ละลายน้ำส้มมะขามเปียก กินลงสดวกดี นัก ยาขนานนี้ถ้ากุมารได้ ๓, ๔ ขวบกินก็ได้ ดีเหมือนกัน คัมภีร์โรคนิทาน กล่าวถึงชื่อยา เบญจอำมฤตย์ (ชื่อนี้ปรากฏในสมุดไทยซึ่งเป็นฉบับหลวงชำระในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่เมื่อนำมาตีพิมพ์เป็นตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ใช้ชื่อว่า บุญจอำมฤตย์) โดยไม่ได้ระบุส่วนประกอบของตำรับ   คัมภีร์ธาตุบรรจบ ยาชื่อเบ็ญจะอำมฤตย์ เอามหาหิงคุ์ ๑ ยาดำบริสุทธิ์ ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง รงทอง ๒ สลึง มะกรูด ๓ ผล (เอามหาหิงคุ์, ยาดำ, รงทอง ใส่ในมะกรูดสิ่งละผล แล้วเอามูลโคพอกสุมไฟแกลบให้สุก) ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ พริกไทย ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง รากทนดี ๑ บาท ดีเกลือ ๔ บาท ยา ๕ สิ่งนี้ประสมกับมะกรูดที่สุมไว้ทำเปนจุณละลายน้ำ ส้มมะขามเปียกให้รับประทานหนัก ๑ สลึง ฟอกอุจจาระอันลามกให้สิ้นโทษ ชำระลำไส้ซึ่งเปนเมือกมันแลปะระเมหะทั้งปวง   ไม่ควรใช้ชื่อ เบญจอำมฤตย์ เพราะไม่เป็นไปตามตำรายาการแพทย์แผนไทย ยาเบญจอำมฤตย์ที่นำมาแจกจ่ายในขณะนี้ เป็นสูตรยาจาก โครงการติดตามผลการใช้ยาเบญจอำมฤตย์ ในผู้ป่วยมะเร็งทางเดินท่อน้ำดี และอ้างอิงว่า นำมาจากคัมภีร์ธาตุบรรจบ ซึ่งประกอบด้วยตัวยาจากวัตถุดิบ 9 ชนิด แต่สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาคือ ยาเบญจอำมฤตย์ที่คณะผู้วิจัย(โครงการติดตามความปลอดภัยของตำรับยาเบญจอำมฤตย์ ในผู้ป่วยมะเร็งตับ, ลำไส้, ปากมดลูก และต่อมลูกหมาก) ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการจริยธรรม มีความต่างจากต้นตำรับเดิม   ตำรับยาเบญจอำมฤตย์   (ตาม protocol ที่เสนอคณะกรรมการจริยธรรม) ลำดับที่ รายการ ปริมาณ มาตราไทย มาตราเมตริก (กรัม) 1 มหาหิงคุ์ 1 สลึง 3.75 กรัม 2 ยาดำบริสุทธิ์ 1 สลึง 3.75 กรัม 3 รงทอง 2 สลึง 7.5 กรัม 4 มะกรูด 3 ผล 50 กรัม 5 ขิงแห้ง 1 สลึง 3.75 กรัม 6 ดีปลี 1 สลึง 3.75 กรัม 7 พริกไทย 1 สลึง 3.75 กรัม 8 รากทนดี 1 บาท 15 กรัม 9 ดีเกลือ 4 บาท 60 กรัม   ขั้นตอนการผลิต 1.ชั่งยาตามสูตร 2. เอามหาหิงคุ์ ยาดำ รงทอง ทำการสะตุหรือประสะตามวิธีของแต่ละตัว 3. นำมหาหิงคุ์ ยาดำ รงทอง แยกบดให้ละเอียดทีละชนิดแยกจากกันแล้วนำไปละลายน้ำ พักเอาไว้ 3. นำสมุนไพรที่เหลือมาอบที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส แล้วบดสมุนไพรทั้งหมดรวมกันพอหยาบ 4. นำสมุนไพรที่ได้คลุกเคล้ารวมกับน้ำที่ละลาย มหาหิงคุ์ รงทองและยาดำ 5. นำสมุนไพรไปอบที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส อีกครั้งจนสมุนไพรแห้ง จากนั้นนำไปอบจนสามารถบดเป็นลงละเอียดได้ 6. นำผงละเอียดที่ได้บรรจุลงแคปซูล   รูปแบบ/ความแรง แคปซูล 300 มิลลิกรัม วิธีใช้ รับประทาน ครั้งละ 3 แคปซูล ก่อนอาหาร วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น วิธีปรุงยาตำรับนี้ ในคัมภีร์ธาตุบรรจบระบุว่า “เอามหาหิงคุ์ ๑ ยาดำบริสุทธิ์ ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง รงทอง ๒ สลึง มะกรูด ๓ ผล (เอามหาหิงคุ์ ยาดำ รงทอง ใส่ในมะกรูดสิ่งละผล แล้วเอามูลโคพอกสุมไฟแกลบให้สุก) ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ พริกไทย ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง รากทนดี ๑ บาท ดีเกลือ ๔ บาท ยา ๕ สิ่งนี้ประสมกับมะกรูดที่สุมไว้ทำเปนจุณละลายน้ำ ส้มมะขามเปียกให้รับประทานหนัก ๑ สลึง”   จะเห็นว่าคณะผู้วิจัยฯ มีวิธีการเตรียมยา ที่ผิดไปจากในคัมภีร์ธาตุบรรจบ ดังนั้นผลในการรักษาอาจแตกต่างจากยาที่ปรุงตามตำรับยาดั้งเดิม จึงต้องถือว่า สูตรยาเบญจอำมฤตย์ตาม  protocol เป็นยาใหม่ ซึ่งหากจะนำมาทดลองวิจัยทางคลินิก จำเป็นต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกก่อน การดำเนินการแจกยาให้แก่ผู้ป่วยที่กระทำอยู่ในขณะนี้จึงสุ่มเสี่ยงว่า เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค(ผู้ป่วย) ซึ่งอาจไม่รู้ตัวว่า ตนเองได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการทดลองยาสูตรนี้อยู่ และเมื่อฉลาดซื้อได้สอบถามกับผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย ซึ่งทำงานอยู่ในสังกัดกรมพัฒนาการแพทย์ฯ ท่านหนึ่ง ได้ทราบข้อมูลเพิ่มว่า “ทางกรมฯ นำสูตรยานี้มาเปลี่ยนชื่อโครงการทีหลัง เน้นเฉพาะเจาะจงที่มะเร็งตับ ส่วนเหตุผลที่ทางกรมฯ อ้างว่า ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต EC (คณะกรรมการจริยธรรม) เพราะเป็น Actual Use Research (AUR) แบบที่ทางประเทศญี่ปุ่นใช้ แต่ประเด็นคือ AUR ในญี่ปุ่น เขาใช้วิธีนี้ในการศึกษายาแผนโบราณ ที่มีการใช้กันในท้องตลาดอยู่แล้ว ไม่ใช่กับยาใหม่ ซึ่งยังไม่มีการใช้มาก่อน”   ทัศนะจากประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ ฉลาดซื้อ : ตามที่ มีการแจก ยาเบญจอำมฤตย์ให้กับประชาชนทั่วไป โดยกรมพัฒนาแพทย์แผนไทยฯ เป็นผู้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้นั้น เมื่อมีข้อสังเกตพบว่า ยาสูตรที่แจกนี้ มิใช่สูตรดั้งเดิมตามตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ กล่าวคือ เป็นสูตรดัดแปลงไปจากตำรับเดิม หากจะทำตามขั้นตอนการปฏิบัติในทางกฎหมายให้ถูกต้อง(เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค)  ต้องมีขั้นตอนอย่างไร   รศ.ดร. จิราพร  : ยานี้จะใช้ชื่อว่า ยาเบญจอำมฤตย์ ไม่ได้ เพราะสูตรได้มีการดัดแปลง จึงถือว่าเป็นยาใหม่ ซึ่งต้องมีการวิจัยเริ่มจากห้องปฏิบัติการในสัตว์ทดลอง และในมนุษย์ตามลำดับ   ฉลาดซื้อ : สูตรยาเบญจอำมฤตย์ สูตรนี้ ยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรม การที่กรมฯ นำมาแจกจ่ายให้กับประชาชน ถือว่าผิดขั้นตอนหรือไม่ และอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร   รศ.ดร. จิราพร :  ยาสูตรดัดแปลงจากยา เบญจอำมฤตย์ เมื่อจะทำการวิจัยทางคลินิก ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ก่อน การแจกจ่ายและโฆษณารักษาโรคเป็นการทำผิดกฎหมาย ที่สำคัญอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อผู้ใช้ได้ เน้นว่าผิดทั้งกฎหมายและจริยธรรม   การวิจัยทางคลินิกด้านการแพทย์แผนไทย การวิจัยทางคลินิก หมายถึง การทำวิจัยที่เกี่ยวกับการรักษาโรคในคน การทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัย ระบาดวิทยา ธรรมชาติของโรค ซึ่งประกอบด้วยอาการและอาการแสดงทางคลินิก การพัฒนาของโรค เครื่องบ่งชี้ในการพยากรณ์โรค การใช้ยา การผ่าตัด และอุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์ การป้องกันโรค เช่น วัคซีน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสืบค้นรายงานผู้ป่วย การกรวดน้ำคัดหลั่ง เลือด หรือส่วนของเลือด เนื้อเยื่อของผู้ป่วย เป็นต้น ความสำคัญในการวิจัยทางคลินิกด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร คือ การทำให้การแพทย์แผนไทยมีความปลอดภัย ประสิทธิผล และมีคุณภาพที่คนไทยจะนำมาใช้อย่างแพร่หลาย โครงร่างวิจัยทางคลินิกนี้จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อ ผ่านการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแล้วเท่านั้น     เจาะประเด็นวันนี้ เราจะไปเจาะลึกทำความรู้จักกับสูตรยาสมุนไพรที่อยู่ในคัมภีร์แพทย์แผนไทย ที่ชื่อ"เบญจอำมฤตย์"ว่ามีคุณสมบัติอย่างไร ประกอบไปด้วยสมุนไพรชนิดใดบ้าง สามารถต้านมะเร็งตับได้เด็ดขาดจริงหรือไม่ วันนี้จะไปเจาะลึกกันค่ะ     "เบญจอำมฤตย์" เป็นสูตรยาสมุนไพรโบราณที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้คิดค้นวิจัยร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่ปี 2554 ผ่านการทดสอบการออกฤทธิ์ทั้งในหลอดทดลอง หนูทดลองและผู้ป่วยมะเร็งหลายชนิด ที่ รพ.เคียนซา และรพ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี ทั้งมะเร็งต่อมลูกหมากมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด รวมถึงมะเร็งตับ พบว่า มีประสิทธิภาพต้านเซลล์มะเร็งตับดีที่สุด หลังกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ บรรจุและเผยแพร่ตำรับยาสมุนไพร"เบญจอำมฤตย์" ปรากฏมีผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ แห่มารับยาสมุนไพรฟรี ที่โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานยศเส จำนวนมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาด้วยอาการมะเร็งระยะสุดท้าย อย่างคุณลุงท่านนี้อยู่ไกลถึงเพชรบูรณ์ ทันทีที่ทราบข่าว ก็รีบเดินทางมาด้วยความหวังว่า อาการป่วยมะเร็งตับจะดีขึ้น จะได้อยู่กับลูกหลานนานๆ ขณะที่ทางโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยฯ ยสเส เปิดเผยว่าเพียงแค่วันเดียว มีผู้ป่วยมะเร็ง มาขอรับยามากถึงวันละ 3,000 แคปซูล และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น  ตามขั้นตอนผู้ป่วยต้องผ่านการตรวจคัดกรองสุขภาพ ก่อน เพื่อระวังผลข้างเคียง ย้ำว่าสมุนไพร"เบญจอำมฤตย์" ไม่ใช่ยารักษามะเร็งให้หายขาด  แต่ช่วยต้านการแพร่กระจายเซลล์มะเร็ง ลดภาวะแทรกซ้อน เสริมให้ระบบการทำงานของร่างกายดีขึ้นแต่จะให้ได้ผลดีที่สุดต้องรักษาควบคู่ กับการแพทย์แผนปัจจุบัน เมื่อเจาะลึกสูตรยา"เบญจอำมฤตย์" พบว่าประกอบด้วยสมุนไพรไทย 9 ชนิด ซึ่งสมุนไพรแต่ละตัวมีสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆ อยู่แล้ว  แต่เพิ่งวิจัยค้นพบว่าเมื่อนำมาผสมรวมกัน จะออกฤทธิ์ต้านมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทีมงานเจาะประเด็นลงพื้นที่ โรงพยาบาลอู่ทอง ซึ่งเป็นศูนย์ผลิตยาสมุนไพรไทยที่ได้มาตรฐาน ส่งทั่วประเทศ เจาะลึกสูตรยาสมุนไพรแคปซูล"เบญจอำมฤตย์"พบว่า ประกอบด้วยสมุนไพร  9  ชนิด  คือ มหาหิงค์ ยาดำบริสุทธิ์ รงทอง มะกรูด ขิงแห้ง ดีปลี พริกไทย รากทนดี และดีเกลือ เป็นสูตรยาในคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ตำรายาโบราณของไทย แต่ละชนิดมีสรรพคุณบำรุงธาตุ และรักษาโรคอยู่แล้ว เช่น  ดีปลี พริกไทย ขิง ช่วยลดแก๊ส ขับลม แก้ท้องอืด ,ดีเกลือช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น โดยเมื่อเอามาผสมรวมกัน จะมีฤทธิ์ เสริมสร้างระบบในร่างกายให้สมดุล โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง ที่มีปัญหาใหญ่ คือเรื่องระบบขับถ่าย ล่าสุด ยอดผู้ป่วยต้องการยาเพิ่มขึ้น วัตถุดิบสมุนไพรบางชนิดเริ่มไม่เพียงพอ จำเป็นต้องสั่งซื้อจากนอกพื้นที่ สำหรับประเทศไทย มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ปีละกว่า 60,000 ราย พบผู้ชายป่วยเป็นมะเร็งตับมากที่สุด ส่วนผู้หญิง ส่วนใหญ่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และลำไส้ใหญ่ แพทย์แนะผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากรักษาด้วยยาควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย และเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์เสริมภูมิต้านทานโรค ทำให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในทุกสิทธิการรักษา สามารถมาขอรับยาฟรีได้ที่โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยฯ ยสเส โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มารับยา จะถือเป็นกลุ่มอาสาสมัครเพื่องานวิจัยด้วย เป็นการพัฒนาอีกขั้นของการแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือกความหวังของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่มา CH7 NEWS   มะเร็งกับการแพทย์แผนไทย ความปลอดภัยคือหัวใจสำคัญ มะเร็งเป็นโรคร้ายที่คุกคามต่อชีวิตมนุษย์ในปัจจุบัน ในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุมะเร็งเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยทั้งจากอาการของโรคและผลข้างเคียงจากการรักษา การรักษาผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งตามทฤษฎีการแพทย์แผนตะวันตก มี 2 วิธีหลักที่ปฏิบัติกันแพร่หลายคือการใช้รังสี และการใช้เคมีบำบัด ซึ่งทั้งสองวิธี ต่างก็ใช้หลักการเดียวกันคือทำลายเนื้อร้าย แต่ทั้งนี้ไม่สามารถเลือกทำลายเฉพาะเนื้อร้ายได้ เซลล์ดีจำนวนมากต้องถูกทำลายไปด้วย จึงเกิดผลข้างเคียงตามมาเช่น ผมร่วง แผลในปาก ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เกล็ดเลือดต่ำทำให้เลือดออกง่าย อีกทั้งผู้ป่วยยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีก จากการกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง จึงมีผู้แสวงหาแนวทางอื่นในการรักษามากขึ้น และการแพทย์แผนไทย คือทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งภาครัฐโดยกระทรวงสาธารณสุขเองก็ให้ความสำคัญ จากการติดตามการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุข ตำรับยาแผนไทยที่เริ่มนำมาศึกษาถึงผลการต้านมะเร็งของกระทรวงสาธารณสุขมีที่เด่นๆ อยู่สองตำรับคือ ตำรับยา "เบญจามฤต"(เบญจอำมฤตย์) และ "ตรีผลา" การวิจัยทั้งสองตำรับยานี้เป็นกระบวนการวิจัยที่จะมีขั้นตอนการศึกษาทดลองในมนุษย์ด้วย (หลังผ่านการทดลองความปลอดภัยในสัตว์ทดลองมาแล้ว) ซึ่งจะสามารถยืนยันผลหรือสรรพคุณยาในคนได้เป็นอย่างดี ต่างกับการวิจัยอื่นที่อาจทดลองเฉพาะในสมุนไพรเดี่ยว ค้นหาส่วนประกอบสารสำคัญ/สารออกฤทธิ์ในสมุนไพร และทดสอบความเป็นพิษในสัตว์หรืออื่นๆ เท่านั้น แต่จากการสืบค้นข้อมูล พบว่า โครงร่างการวิจัย “โครงการติดตามความปลอดภัยของตำรับยาเบญจอำมฤตย์ ในผู้ป่วยมะเร็งตับ, ลำไส้, ปากมดลูก และต่อมลูกหมาก” ไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคนด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงเป็นที่มาของข้อกังขาสำคัญว่า เหตุใดอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ จึงนำยาเบญจอำมฤตย์สูตรนี้มาแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งเสี่ยงที่จะเข้าข่ายการละเมิดสิทธิผู้ป่วย “ตำรับยาดังกล่าวจากการวิจัยเริ่มต้นที่หลอดทดลอง ปรุงยาขึ้นมาโดยนำมาทดสอบกับเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง ผลที่ได้คือ ยามีผลต่อเซลล์มะเร็งตับอันดับแรกโดยฆ่าเซลล์มะเร็งตับได้ดี จากนั้นก็นำมาทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลองซึ่งผลการทดสอบความเป็นพิษพบว่า ยาตำรับนี้ปลอดภัยในสัตว์ทดลอง  ความเป็นพิษค่อนข้างต่ำจึงมีความมั่นใจว่ายาตัวนี้น่าจะมีความปลอดภัยในคน แต่อย่างไรก็ตามงานวิจัยยังคงศึกษาทดลองต่อเนื่อง ติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัยของตำรับยาในผู้ป่วยมะเร็งตับ ในกลุ่มอาสาสมัครที่เข้าร่วมในงานวิจัยการศึกษาวิจัยจะมีการเจาะเลือด ตรวจร่างกายเป็นระยะ ๆ...การวิจัยซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการเก็บตัวอย่างข้อมูล เก็บตัวอย่างผู้ป่วยที่ได้ยาเป็นการติดตามผลการรักษา ประเมินเป็นระยะโดยเริ่มในผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ทีมวิจัยกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ด้วยตำรับยาไม่เป็นที่ปิดบังตำรับยาอยู่ในคัมภีร์โบราณซึ่งเมื่อเปิดแพทยศาสตร์สงเคราะห์ก็จะเห็นถึงรายละเอียด...” (ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ ผู้ร่วมวิจัยของโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานใน โครงการติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัยของตำรับยาเบญจอำมฤตย์ ที่มา : เดลินิวส์ 5 มีนาคม 2557) ปัญหาคือ ยานี้ไม่ได้ปรุงตามคัมภีร์ธาตุบรรจบ แล้วอะไรคือหลักประกันความปลอดภัยของผู้รับยาที่กรมฯ นำมาแจก ----------------------------   วัตถุดิบทยอยขึ้นราคาทันทีที่เป็นข่าวดัง การให้ข่าวพร้อมกับการแจกจ่ายยาได้ก่อให้เกิดกระแสและสร้างความคาดหวังให้กับผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้าย จนไม่เพียงแต่แห่กันไปรับยาจนแน่นโรงพยาบาล(สำรวจ ณ วันที่ 25 เมษายน ฉลาดซื้อพบว่า ยังมีการแจกยาอยู่) แต่ยังกลายเป็นช่องทางให้ผู้ค้าวัตถุดิบสมุนไพรตามตำรับยาดังกล่าว โก่งราคาวัตถุดิบจนแพงลิ่ว ภญ.ดลิชา ชั่งสิริพร หัวหน้างานแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี(แหล่งผลิตวัตถุดิบยาตำรับเบญจอำมฤตย์) กล่าวว่าในช่วงหลังการออกข่าวมีประชาชนบางคนนำตัวสมุนไพรไปต้มสกัดยามารับ ประทานเองซึ่งขอเตือนว่าไม่สมควรทำอย่างยิ่งนอกจากจะไม่สามารถช่วยรักษา อาการได้แล้วยังมีผลตามมาถึงขั้นเสียชีวิตได้เนื่องจากตัวยาบางตัวถ้าใช้ใน ปริมาณที่ไม่เหมาะสมจะให้โทษอย่างมหันต์ เช่น ดีเกลือที่มีฤทธิ์ในการขับถ่าย อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรงได้และสำหรับผู้ป่วยมะเร็งอาจส่งผลให้ เซลล์มะเร็งลุกลามมากขึ้นได้จึงขอเตือนว่าห้ามนำมาต้มรับประทานเองเด็ดขาด ซึ่งปริมาณที่ใช้ในการใช้วัตถุดิบเพียง 0.22 ไมโครกรัมต่อซีซี เท่านั้น ประชาชนห้ามผลิตเอง "สำหรับราคาวัตถุดิบที่ไปตรวจสอบมานั้นบางชนิดมีราคาสูงขึ้นเป็นเท่าตัวคือ มหาหิงค์ จาก 350 - 450 บาท เป็น 400 - 450 บาท ยาดำบริสุทธิ์ 400 - 500 บาท เป็น 600 -800 บาท รงทอง 300 - 400 บาท เป็น 800- 1,000 บาท มะกรูด 100 บาท เป็น 100 -150 บาท ขิง 500 - 600 บาท เป็น 600 -800 บาท ดีปลี 200 - 300 บาท เป็น 300- 350 บาท พริกไทย 500 บาท เป็น 500 -600 บาท รากทนดี 150 บาท เป็น 150 -200 บาท และดีเกลือ ราคาประมาณ 50 - 80 บาทซึ่งเป็นราคาต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ขอฝากให้ผู้ค้าวัตถุดิบเห็นใจและไม่ปรับราคาให้สูงขึ้นอีก"   รู้จักตัวยาสำคัญใน เบญจอำมฤตย์ >> มหาหิงคุ์ ยาดำ รงทอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 156 ปั่นสู่กรุงเทพฯ เมืองจักรยาน

พาหนะเรียบง่ายแสนวิเศษ ปี พ.ศ. 2557  ท่ามกลางการจราจรหนาแน่นตามสี่แยกใหญ่ทั่วเมืองกรุง อารมณ์ผู้คนบนถนนต่างขุ่นหมองไม่ต่างจากหมอกควันปลายท่อไอเสียรถยนต์ มีพาหนะชนิดหนึ่งที่เคลื่อนที่ไปได้เรื่อยๆ ซอกแซก ลัดเลาะ ไหลลื่นไปไม่ยี่หระกับสภาพการจราจรที่อยู่ตรงหน้า พาหนะที่ว่านี้ไม่ใช่นวัตกรรมล้ำยุคสุดไฮเทค แต่เป็นเพียงพาหนะเรียบง่ายแสนธรรมดาที่เรียกว่าจักรยานนั่นเอง ด้วยความที่มีขนาดเล็ก ทุ่นแรงได้ดี เคลื่อนที่คล่องตัวแต่ไม่เร็วมาก ไม่ต้องเติมน้ำมัน ไม่ปล่อยมลพิษและไม่ส่งเสียงดัง เลยไม่ก่อความรำคาญสร้างความรบกวนใครสักเท่าไหร่นัก  จักรยานจึงช่วยให้ผู้ที่ขับขี่สามารถเดินทางฝ่าทุกสภาพถนน(หรือแม้แต่ฝ่าม็อบปิดถนน) ไปได้ทุกที่ และหลุดพ้นจากวังวนปัญหารถติดในเมืองกรุงฯ ได้ ทุกวันนี้เราแทบจะสังเกตเห็นผู้คนปั่นจักรยานบนท้องถนนเป็นเรื่องธรรมดา อาจจะยังมีจำนวนไม่มากเท่าไหร่ถ้าเทียบกับจำนวนยานพาหนะอื่นๆ แต่หากเทียบกับสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยบนท้องถนนที่มีให้แก่จักรยานเพียงน้อยนิด ไม่ว่าจะเป็นเลนจักรยาน ที่จอดจักรยาน หรือแม้กระทั่งการรับรู้ว่าจักรยานมีสิทธิในการสัญจรบนถนนเท่าเทียมกับรถยนต์ ผมคิดว่าการที่ยังมีคนขี่จักรยานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสังเกตได้ชัดเช่นนี้เป็นเรื่องที่รัฐไม่ควรเพิกเฉยต่อความต้องการของประชาชน   ผลสำรวจความต้องการใช้จักรยานของคนกรุงเทพฯ[i] ที่มูลนิธิโลกสีเขียวทำการสำรวจขึ้นเนื่องในโอกาสวันคาร์ฟรีเดย์เมื่อปี 2554 เป็นการสะท้อนความต้องการใช้พาหนะเรียบง่ายแสนวิเศษนี้ได้อย่างชัดเจน จากการสอบถามชาวกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น 4,333 คน ทั้งผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ (2,858 คน) และผ่านทางการสำรวจแบบตัวต่อตัวตามย่านชุมชน (1,475 คน) ได้แก่ สยามสแควร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จตุจักรและท่าเตียน โดยมีคำถามสำคัญอยู่ 2 ข้อ คือ ถ้าสามารถขี่จักรยานในกรุงเทพฯ ได้อย่างปลอดภัย คุณจะขี่ไหม ? ถ้าต้องแบ่งพื้นที่บนถนนมากั้นเป็นเลนจักรยาน คุณจะยอมไหม ? ผลสำรวจออกมาว่า ร้อยละ 86 บอกว่าจะออกมาขี่จักรยานบนท้องถนน หากรู้สึกว่าสามารถขี่ได้อย่างปลอดภัย และร้อยละ 93 ที่ยินยอมให้จัดสรรแบ่งปันพื้นที่จราจรบนถนนมากั้นเป็นเลนให้จักรยาน ผลสำรวจสะท้อนความต้องการใช้จักรยาน ทั้งๆ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามมากถึงร้อยละ 48  ไม่เคยใช้จักรยานในกรุงเทพฯ มาก่อนเลย เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาเหล่านั้นรู้สึกว่าถนนหนทางในกรุงเทพฯ ยังไม่ใช่ที่ทางที่จักรยานจะสามารถปั่นได้อย่างปลอดภัยนั่นเอง นี่เป็นที่มาที่ชาวจักรยานและกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องกับจักรยานรณรงค์ร้องขอทางจักรยานที่ปลอดภัย   วิวัฒน์ทางจักรยานในกรุงฯ กับฝันค้างของนักปั่น เท่าที่มีบันทึกในเอกสารของสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานครเริ่มมีทางจักรยานสายแรกตั้งแต่ปี  2535 เป็นทางยกระดับเลียบคลองประปาฝั่งตะวันตก แต่ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ให้ข้อมูลจากความทรงจำว่า ก่อนหน้านั้นเคยมีทางจักรยานตั้งอยู่บริเวณถนนรามคำแหง  เริ่มตั้งแต่สี่แยกคลองตันถึงสนามกีฬาหัวหมาก  แต่เมื่อเวลาผ่านไป ขาดการบำรุงรักษา เส้นทางจักรยานทั้ง 2 เส้นนั้นก็รางเลือนไปตามกาลเวลาจนหายไปในที่สุด ในสมัยของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 12 ดร.พิจิตต รัตตกุล (2539-2543) ความฝันเรื่องทางจักรยานดูจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาใหม่ มีการสร้างทางจักรยานเฉพาะขนานถนนตัดใหม่แยกออกจากพื้นผิวถนนอย่างชัดเจน เส้นทางที่เด่นชัดที่สุดคือ ทางจักรยานถนนประดิษฐ์มนูธรรม(จากถนนพระราม 9  - ถนนรามอินทรา) ระยะทาง ไป - กลับ รวม 24 กิโลเมตรโดยมีต้นปาล์มขั้นกลางยาวตลอดแนว ตลอดสมัยนี้มีการสร้างทางจักรยานยาวรวมกัน 34 กิโลเมตรรวม 5 เส้นทาง แต่เมื่อใช้งานจริงกลับประสบปัญหา เส้นทางไม่มีความต่อเนื่อง อยู่คนละทิศละทาง ไม่ตอบโจทย์การใช้งาน ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้จริง ความฝันเรื่องทางจักรยานจึงเป็นจริงได้เพียงตัวเลขกิโลฯ บนเอกสารและเส้นสีที่เปรอะเปื้อนบนก้อนอิฐที่ค่อยๆ จางลงเรื่อยๆ จนมาถึงสมัยของคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน นโยบายเรื่องทางจักรยานก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างอีกครั้ง โดยเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวจักรยานตื่นเต้นเป็นที่สุดคือเมื่อ มีการริเริ่มโครงการ "จักรยานชมกรุงรัตนโกสินทร์" หรือ Green Bangkok Bike (ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น Bangkok Smiles Bike) ถนนหลายสายในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน เช่น ถนนพระอาทิตย์ ถนนตะนาว ถนนมหาไชย  มีการสร้าง ‘ทางจักรยานบนผิวจราจร’ ด้วยการจัดแบ่งเลนสัญจรใหม่ให้แคบลงนิดหน่อยเพื่อเพิ่มเลนจักรยานทางด้านซ้ายของทางเดินรถ มีการติดป้ายสัญญาณจราจร ป้ายเตือน มีจุดให้บริการยืมคืนจักรยานอยู่ทั่วบริเวณ นับเป็นครั้งแรกที่จักรยานมีเลนของตัวเองบนผิวถนนเฉกเช่นเดียวกับพาหนะติดเครื่องยนต์อื่นๆ แต่ฝันของชาวจักรยานยังต้องกลายเป็นฝันค้างอีกครั้งเมื่อโครงการเริ่มดำเนินการไปโดยไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมายและขาดการสื่อสารกับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเท่าที่ควร ดังนั้นเมื่อขีดสีตีเส้นจนสีแห้งสนิทเพียงไม่กี่วัน เลนจักรยานที่เป็นสิ่งแปลกใหม่บนท้องถนนก็ถูกรถราต่างๆ ที่เคยชินกับการจอดชิดขอบถนน เข้ามาจอดทับทางเฉกเช่นเคย ราวกับว่าไม่เคยมีเลนจักรยานมาก่อน ในสมัยของผู้ว่าฯ อภิรักษ์ เลนจักรยานได้ถูกสร้างขึ้นอีกในถนนหลักหลายสาย ทั้งแบบ ‘ทางจักรยานบนผิวจราจร’ เช่น ถนนโดยรอบวงเวียนใหญ่ ถนนสาธร และแบบ ‘ทางจักรยานร่วมบนทางเท้า’ ให้ขี่จักรยานบนฟุตปาธร่วมกับคนเดิน เช่น ถนนราชดำเนิน ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนสุขุมวิท แต่ทางจักรยานส่วนใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นล้วนประสบปัญหาการตั้งวางสิ่งของ จอดรถกีดขวาง มีผู้คนพลุกพล่าน ผิวทางไม่ราบเรียบ เนื่องจากทางจักรยานบนผิวจราจรจะอยู่เลนด้านซ้ายสุดของถนนซึ่งมักอยู่ในแนวท่อระบายน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการใช้จักรยานอย่างปลอดภัยทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ดีในสมัยของคุณอภิรักษ์ ได้มีการตั้งคณะกรรมการทำงานด้านจักรยานที่ชื่อ “คณะกรรมการโครงการเรารักกรุงเทพฯ เรารักจักรยาน” โดยมีผู้แทนทั้งจากภาครัฐและนักจักรยานจากสมาคม องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้จักรยานเข้าร่วมด้วย ผู้ว่าฯ คนต่อมา มรว.สุขุมพันธ์ บริพัทธ (สมัยที่ 1) ช่วงครึ่งวาระแรกแทบไม่มีการขับเคลื่อนนโยบายจักรยานใดๆ แม้จะเป็นผู้ว่าที่มาจากพรรคการเมืองเดียวกับผู้ว่าฯ อภิรักษ์ก็ตาม จนกระทั่งมูลนิธิโลกสีเขียว ชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ และกลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ “Big Trees” ขอเข้าพบรองผู้ว่าฯ ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ (ตำแหน่งในสมัยนั้น) เพื่อหารือเรื่องการพัฒนาวิถีจักรยาน จนทำให้เกิดการรื้อฟื้น “คณะกรรมการโครงการเรารักกรุงเทพฯ เรารักจักรยาน” ขึ้นมาอีกครั้ง งานในสมัยนั้นเป็นไปในทิศทางด้านการรณรงค์ค่อนข้างมาก มีการจัดกิจกรรม Bangkok Car Free Sunday เป็นประจำทุกเดือนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จักรยานเพิ่มขึ้น มีโครงการให้เช่าจักรยานสาธารณะ “ปันปั่น” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของเมืองไทย เพื่อเอื้อให้ผู้คนที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนหรือชาวบ้านในพื้นที่เดินทางไปถึงจุดหมายด้วยจักรยานได้สะดวกขึ้น แต่นอกจากมีสถานีให้เช่าจักรยานหน้าตาเป็นเอกลักษณ์ที่มาพร้อมระบบสมาร์ทการ์ดและป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ก็ไม่มีปรับปรุงทางกายภาพใดๆ เพื่อการปั่นจักรยานเลย แม้จะฝันค้างมานานแต่ก็ไม่ใช่ไม่มีอะไรคืบหน้า เหตุการณ์การรวมตัวกันของชาวจักรยานที่น่าจดจำที่สุดในยุคนั้นคือการร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ผู้ว่ากรุงเทพมหานครปรับปรุงฝาท่อระบายน้ำที่ไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้จักรยานผ่านทางเว็บไซต์ Change.org[ii] จนทำให้กรุงเทพมหานครเร่งเปลี่ยน/ซ่อมฝาท่อระบายน้ำบนผิวถนนที่ชำรุดหรือมีโอกาสทำให้ล้อเล็กๆ ของจักรยานตกไปได้ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้จักรยานมากเพราะ หากล้อติดตะแกรงจะทำให้คนขี่ล้มทันที หากเลี้ยวหลบก็มีโอกาสถูกเฉี่ยวชนจากพาหนะอื่นๆ  โดยหลังจากผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ รับเป็นนโยบายแก้ไขให้ ชาวจักรยานได้รวมตัวกันหลายครั้งเพื่อสำรวจฝาท่อที่มีปัญหาในเขตพื้นที่ต่างๆ ส่งเป็นรายงานระบุพิกัดพร้อมรูปถ่ายที่ชัดเจนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขต่อไป  นับเป็นแก้ไขปัญหาที่บูรณาการและปลุกให้นักปั่นที่ฝันค้างมานานตื่นและพบว่า เราสามารถทำสิ่งที่ฝันให้เป็นจริงได้ด้วยมือของเราเอง ในส่วนของภาคประชาชน มีการเคลื่อนไหวค่อนข้างคึกคักมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา แวดวงนิตยสารดังต่างทยอยสับเปลี่ยนหมุนเวียนทำเรื่องจักรยาน  มีกิจกรรมใหญ่สำหรับจักรยานเพิ่มขึ้น  แทบทุกวันในสัปดาห์ล้วนมีทริปปั่นจักรยานที่จัดโดยกลุ่ม องค์กรต่างๆ มากมาย  จนทุกวันนี้หากสังเกตดีๆ เราจะเห็นจักรยานอยู่ตามรายการทีวี บิลบอร์ด โฆษณาต่างๆ อยู่เสมอ  จักรยานกำลังสอดแทรกตัวเองเข้าไปในสื่อกระแสหลักเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปในฐานะเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ รักษ์โลก รักสุขภาพ อินดี้ นอกกรอบ พึ่งตนเอง หลังครบวาระ ‘สุขุมพันธ์ 1’ เป็นยุคที่กระแสจักรยานเป็นที่นิยมมากจนผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ทุกคนต่างต้องนำเสนอนโยบายจักรยานควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองทั้งสิ้น เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงการวิวัฒน์ทางความคิดต่อแง่มุมเรื่องจักรยาน  แม้ว่าทางจักรยานส่วนใหญ่ยังมิเปลี่ยนแปลงใดๆ   ************************************************************** ทำไมต้อง ‘จักรยาน’ A cycle-lized city is a civilized city เมืองน่าอยู่คือเมืองน่าปั่น จักรยานเป็นมากกว่ากระแสแฟชั่น ด้วยความเล็ก เคลื่อนที่คล่องตัวแต่ไม่เร็ว ใช้แรงคน จึงไม่ปล่อยมลพิษและส่งเสียงดัง และใครๆ ก็สามารถหามาครอบครองได้ จักรยานจึงเป็นทางออกง่ายๆ ของปัญหาซับซ้อนหลายประการในเมืองใหญ่ เช่น คุณภาพอากาศ การจราจรติดขัด ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นต้น หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกจึงเร่งปรับเปลี่ยนวิถีการสัญจรในเมืองให้สามารถใช้จักรยานได้อย่างสะดวกและปลอดภัยและออกมาตรการสนับสนุนจูงใจให้ผู้คนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น  จักรยานกลายเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เป็นตัวบ่งชี้ของเมืองน่าอยู่ที่ยอมรับกันในสหประชาชาติ[iii] **************************************************************   ทางจักรยานในปัจจุบัน กับเส้นทางสู่กรุงเทพฯ เมืองรถถีบ ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีทางจักรยานรวมทั้งสิ้น 35 เส้นทาง เป็นระยะทาง 232.66 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็นทางจักรยานเฉพาะ 5 เส้นทาง ทางจักรยานบนผิวจราจร 10 เส้นทาง และทางจักรยานร่วมบนทางเท้าอีก 20 เส้นทาง แต่มีทางเพียง 2 กิโลเมตรเศษเท่านั้น (5 เส้นทาง) ที่มีการประกาศรองรับให้เป็น ‘ทางที่จัดไว้ให้สำหรับจักรยาน’ ตามกฎหมาย พ.ร.บ จราจรทางบก พ.ศ. 2522[iv] และที่แย่ไปกว่านั้นมีเส้นทางเพียง 600 เมตรบนถนนพระอาทิตย์เท่านั้นที่ได้รับการดูแล มีหลักล้มลุกกั้นไม่ให้รถยนต์จอดกีดขวาง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด อันเกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำรวจ สน.ชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร กิจการร้านค้าและหน่วยงานต่างๆ ในบริเวณถนนพระอาทิตย์ และชาวจักรยานจากทุกสารทิศ สำหรับทางจักรยานอีกหลายสิบสายที่เหลือ มีการพิจารณาทบทวนความต้องการใช้ ศักยภาพ และความเหมาะสมต่างๆ ใหม่ เพื่อให้การพัฒนาปรับปรุงมีความคุ้มค้าและสามารถใช้งานได้จริง โดยคณะกรรมการเรารักกรุงเทพ ฯ เรารักจักรยานได้คัดเลือกเส้นทางเพื่อพิจารณาปรับปรุงก่อน 10 เส้นทางและมอบหมายให้กลุ่มมหาวิทยาลัยที่สนใจเรื่องจักรยานและมูลนิธิโลกสีเขียวช่วยกันทำการประเมินและนำเสนอแนวทางปรังปรุงให้ใช้ได้จริง ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว กำลังรอหารือกับผู้บังคับการจราจรซึ่งเป็นผู้มีอำนาจประกาศรับรองทางจักรยานตามกฎหมายต่อไป ในส่วนการพัฒนาโครงข่ายทางจักรยานใหม่ กรุงเทพมหานครได้ขอความร่วมมือทั้ง 50 สำนักงานเขตร่วมกับกลุ่มมหาวิทยาลัยช่วยกันคัดเลือกเส้นทางที่มีศักยภาพเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการใช้จักรยานของคนในพื้นที่เพื่อพัฒนาให้เป็นเส้นทางจักรยานใหม่ที่เน้นว่าต้องใช้ได้จริงและเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงถึงกันต่อไป แม้เส้นทางสู่กรุงเทพฯ เมืองจักรยานจะยังอีกไกลโข แต่ผมเชื่อว่าเรากำลังเข้าใกล้ไปเรื่อยๆ และมันจะเร็วขึ้นมากหากเราทุกคนช่วยกัน  กรุงเทพฯ เมืองหายใจสะอาด เมืองสัญจรสะดวก เมืองแห่งความเท่าเทียม เมืองแห่งสุขภาพ เมืองสีเขียวร่มรื่น เมือง.. ฯลฯ กรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการกระทำของพวกเราทุกคน   [i] อ่านผลสำรวจฉบับเต็มได้ที่ http://www.greenworld.or.th/bikemap/1476 [ii] อ่านเรื่องราวการเรียกร้องเปลี่ยนฝาท่อเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.greenworld.or.th/bikemap/2136 ‘Change ฝาท่อ We must believe in’ [iii] อ้างอิงจาก ‘ทำไมจึงเป็นแผนที่ปั่นเมือง’ สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และ ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์. Bangkok Bike Map แผนที่ปั่นเมือง : คู่มือหาเส้นทางจักรยานกรุงเทพมหานคร.กรุงเทพฯ : มูลนิธิโลกสีเขียว, 2555. [iv] อ่านบทความเกี่ยวกับกฎหมายจักรยานเพิ่มเติมได้ที่ http://www.greenworld.or.th/bikemap/2004 ‘กฎหมายจักรยาน... ใครว่าไม่มี ?’   //

อ่านเพิ่มเติม >