ฉบับที่ 275 เจอแมลงสาบในแพ็คน้ำดื่ม อีกแล้ววว

        ขึ้นชื่อว่า น้ำดื่มสะอาด ก็ต้องสะอาด เพราะเราบริโภคเข้าไปในร่างกายอยู่ทุกวันแต่กรณีของคุณหยาด เมื่อเธอซื้อน้ำดื่มบรรจุแพ็ค กลับเจอแมลงสาบเข้าไปอยู่ในแพ็คเสียอย่างนั้น แล้วแบบนี้จะจัดการอย่างไรดี        เรื่องนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ  คุณหยาดได้ซื้อน้ำดื่มตามปกติแต่ในครั้งนี้กลับพบแมลงสาบตัวเบ้อเริ่มเข้าไปนอนตายสนิทอยู่ในแพ็คน้ำดื่ม ... แถมยังอยู่ตรงใกล้ปากขวดน้ำเสียด้วย  คุณหยาดไม่มีความรู้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรเพราะแมลงสาบไม่ได้เข้าไปอยู่ในขวดน้ำดื่มแต่อยู่ในแพ็คน้ำซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากโรงงานที่ผลิต หรือทางร้านค้าที่จัดจำหน่าย แต่คุณหยาดมองว่าเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะผู้บริโภคควรได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคอาหารทุกชนิด เมื่อข้างขวดมีฉลากระบุข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน คุณหยาดจึงส่งเรื่องเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทันทีแนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณหยาดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำกับคุณหยาดว่า เมื่อพบเจอสินค้าอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่ปลอดภัย คุณหยาดสามารถแจ้งร้องเรียนได้ทั้งกับ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้ลงตรวจสอบสถานที่ไม่ว่าจะเป็นแหล่งจำหน่าย ร้านค้า และโรงงานที่ผลิตได้ ซึ่งหลังจากให้คำปรึกษากับคุณหยาดแล้ว มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  เพื่อขอให้ตรวจสอบสถานที่ผลิต รวมถึงสำเนาไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อตรวจสอบสถานที่จำหน่ายด้วย         ทั้งนี้ในเรื่องน้ำดื่มบรรจุแพ็คต้องสะอาดและถูกสุขลักษณะเป็นไปตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 ที่กำหนดให้น้ำบริโภคและเครื่องดื่มเป็นอาหารควบคุม ต้องมีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน ไม่พบจุลินทรีย์ที่อันตรายต่อสุขภาพ และต้องมีฉลากแสดงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง  ฉลาก ประชาชนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะกรรมการอาหารและยา > กองอาหาร > กฎหมายอาหาร >น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  https://food.fda.moph.go.th/food-law/f2-drinking-water

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 โดนคิดค่าสินค้าไม่ตรงกับป้ายราคา

        เชื่อว่าผู้บริโภคหลายๆ คน เมื่อถึงเวลาต้องจับจ่ายใช้สอยสินค้าเข้าบ้าน การไปเดินห้างค้าปลีกหรือเดินไปซูเปอร์มาร์เก็ตน่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆ เพราะมีสินค้าครบครันในราคาที่อาจมีลด มีแถม แต่หากเมื่อถึงเวลาจ่ายเงิน “ราคาที่จ่าย ดันไม่ตรงกับราคาป้าย” คงเป็นเรื่องที่ไม่โอเคเลยใช่ไหมล่         เหมือนกับคุณจู ที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เธอเล่าว่าได้ไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งแถวบ้าน วันนั้นเธอได้ซื้อเห็ดชิเมจิ ยี่ห้อ Mao Xiong มา 1 ถุง ราคาที่ติดตามป้ายบนชั้นวาง 9 บาท แต่พอถึงเวลาจ่ายเงิน ราคาเห็ดที่ติดป้ายว่า 9 บาท ราคาจริงดัน 13 บาท อ้าว...ไม่ตรงตามป้ายที่ติดซะงั้น! เธอจึงมาสอบถามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าแบบนี้คือการหลอกลวงประชาชาชนหรือไม่ และควรทำอย่างไรดี?                แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ติดต่อไปหาผู้ร้อง เธอแจ้งว่าหลังเกิดเหตุการณ์ได้ให้พนักงานตรวจสอบราคาสินค้าอีกครั้ง เนื่องจากราคาไม่ถูกต้องและทางพนักงานก็ยอมแก้ไขใบเสร็จให้ถูกต้องและคืนเงินเรียบร้อยแล้ว เธอจึงไม่ติดใจอะไร เนื่องจากทางซูเปอร์มาร์เก็ตก็ได้แก้ไขปัญหาให้เธอแล้ว         แต่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยากแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้บริโภคบางรายที่เจอปัญหานี้เช่นกัน ดังนี้หากเจอกรณีราคาสินค้าไม่ตรงตามป้าย สามารถโทรร้องเรียนไปที่สายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทำการร้องเรียน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ อย่าลืมถ่ายรูปราคาบนป้ายสินค้า และเก็บใบเสร็จที่จ่ายเงินเพื่อเป็นหลักฐานอีกด้วยในการร้องเรียนอีกด้วย เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมาย         สำหรับ ผู้ที่แจ้งเบาะแสนั้น ทางหน่วยงานมีรางวัลนำจับให้ ในกรณีมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งผู้ร้องจะได้รับรางวัลนำจับร้อยละ 25 ของค่าปรับ         นอกจากนี้ อย่าลืมรักษาสิทธิผู้บริโภคของตัวเองด้วยการตรวจเช็กราคาความถูกต้อง สินค้าที่ซื้อครบถ้วนหรือไม่ ก่อนออกจากร้านทุกครั้งจะดีที่สุด              

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 ซิมฟรี ไม่มีอยู่จริง

        ในประกาศของ กสทช. ระบุไว้ชัดเจน เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 6 กำหนดให้ ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการใช้บริการโทรคมนาคมในของแต่ละบริการให้ชัดเจนและครบถ้วน และผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้ผู้บริโภคทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ในการเข้าทำสัญญาและเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง         ถ้าทุกค่ายมือถือทำตามมาตรฐานนี้ คุณแก้วคงไม่ต้องมาเสียความรู้สึกจากความไว้วางใจในครั้งนี้         คุณแก้วเป็นลูกค้าของค่ายมือถือสีแดงมานานแล้ว จู่ๆ วันหนึ่งมีพนักงานค่ายมือถือนี้โทร.มาเสนอว่าจะส่งซิมโทรศัพท์มาให้ที่บ้าน เป็นแบบจ่ายรายเดือน 250 บาท ซึ่งถ้าได้รับแล้วยังไม่ใช้ก็ไม่เก็บเงิน สนใจไหม คุณแก้วเห็นว่าเป็นซิมฟรีถ้าไม่ใช้ก็ไม่เสียเงิน จึงตอบตกลง ก็มันฟรีเผื่อจะได้ใช้ประโยชน์ในวันหนึ่ง         หลังส่งสำเนาบัตรประชาชนให้ไปตามที่พนักงานบอกว่าจะใช้เป็นหลักฐานในการรับซิมแจกนี้ จากนั้น 2 อาทิตย์ พนักงานก็โทร.มาถามว่าได้รับซิมหรือยัง เธอก็ตอบไปว่าได้รับแล้ว คิดว่าเรื่องคงจบตรงนี้ใช่ไหม แต่ไม่นานเธอถูกเรียกเก็บเงินจากซิมเบอร์นี้ เป็นเงิน 89.70 บาท ทั้งๆ ที่เธอยังไม่เคยแกะซองและนำซิมมาใช้เลยด้วยซ้ำ         “ตอนแรกยังนึกไปออกว่าเป็นเบอร์ใครนะคะ แต่พอคิดไปคิดมาก็เลยไปหยิบซิมที่ได้แจกมาดู โป๊ะเชะ! เป็นเบอร์เดียวกัน” คุณแก้วเล่าแบบติดโมโห ไหนพนักงานบอกว่ายังไม่ใช้ซิมก็ยังไม่ต้องจ่ายไงล่ะ เธอจึงโทร.ไปถามคอลเซ็นเตอร์ทันที พนักงานตอบว่า “ถึงจะใช้หรือไม่ใช้ ถ้าเกินกำหนดเวลาก็ต้องเสียเงินค่ะ” รู้สึกเหมือนโดนหลอก เธอจึงขอยกเลิกซิมเบอร์นี้ แต่พนักงานไม่ยอมให้ยกเลิกจนกว่าเธอจะจ่ายเงินตามใบแจ้งหนี้เสียก่อน แม้เป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่เธอจะไม่ยอมถูกเอาเปรียบเด็ดขาด จึงโทร.มาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อพิจารณาในส่วนของสัญญาใช้บริการระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้บริโภคนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายได้แสดงเจตนาเสนอสนองถูกต้องตรงกัน แต่ในกรณีนี้ คุณแก้วไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับทางบริษัทแต่อย่างใด เธอให้สำเนาบัตรประชาชนไปก็เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการรับซิมแจกฟรีตามที่พนักงานบอกเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่เกิดเป็นสัญญาการให้บริการหรือใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการรายเดือนเกิดขึ้นระหว่างค่ายมือถือสีแดงกับคุณแก้ว         ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้คุณแก้วทำหนังสือบอกยกเลิกสัญญาและปฏิเสธการชำระเงินที่มีใบแจ้งหนี้ส่งมา โดยส่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทของค่ายมือถือนี้ เพื่อให้ยุติการเรียกเก็บค่าบริการพร้อมระบุเหตุผลว่า ตั้งแต่ได้รับซิมมายังไม่เคยได้ใช้ซิมแต่กลับมีใบแจ้งหนี้ส่งมา หรือการให้บริการไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ แล้วส่งไปแบบไปรษณีย์ตอบรับเท่านั้น เพื่อให้มีหลักฐานในการตอบรับจากค่ายมือถือ โดยสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ กสทช. ด้วย หรือจะโทรศัพท์แจ้งยกเลิกการบริการที่ศูนย์ของซิมฟรีนั้นก็ได้ แต่วิธีนี้จะไม่มีหลักฐานเหมือนกับการส่งจดหมาย

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 275 เบอร์มือถือ...สูญได้...งอกได้ "...ภาพสะท้อนความหละหลวมของผู้ให้บริการ"

        ชายคนหนึ่งประสบเหตุการณ์ระดับ “แจ็กพ็อต” เกี่ยวกับเบอร์มือถือภายในระยะเวลาห่างกันเพียงเดือนเศษ เริ่มจากที่จู่ๆ ในช่วงเย็นวันหนึ่งปลายเดือนพฤษภาคม เขาได้รับ SMS หรือข้อความสั้นว่ามีการลงทะเบียนเบอร์ที่ใช้งานอยู่ตามปกติของเขาโดยบุคคลอื่น จากนั้นซิมการ์ดมือถือของเขาก็ใช้ไม่ได้ขึ้นมา เมื่อติดต่อบริษัทผู้ให้บริการจึงทราบว่าเบอร์ของเขากลายเป็นของคนอื่นแล้ว ดีที่เขาจัดการเรื่องอย่างค่อนข้างรวดเร็วจนเบอร์ดังกล่าวถูกโอนกลับมาเป็นชื่อของเขาอีกครั้งหนึ่งในวันถัดมา แต่ภายในเวลาเพียงคืนเดียวนั้น เบอร์ดังกล่าวก็ถูกนำไปทำธุรกรรมซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงการเปิดใช้บริการกระเป๋าเงินออนไลน์ รวมทั้งมีการแจ้งย้ายค่ายมือถือแล้วด้วย         ต่อมาในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ชายคนเดิมนี้ก็ประสบปัญหาอีกลักษณะหนึ่ง นั่นคือถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือในส่วนของเบอร์ที่เขาไม่ได้เปิด ซ้ำร้าย ปลายเดือนเดียวกันยังถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือเพิ่มเติมอีกเบอร์หนึ่งด้วย ซึ่งเป็นเบอร์ที่เขาทั้งไม่ได้เปิดและไม่ได้ใช้งานเช่นเดียวกัน         นั่นหมายความว่า ในเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว ชายคนนี้ถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือถึง 3 เบอร์ ทั้งๆ ที่เขาใช้งานมือถือเพียงเบอร์เดียวและเครื่องเดียว แต่มีเบอร์งอกแฝงมาถึง 2 เบอร์         ทั้งกรณีเบอร์งอกและเบอร์สูญต่างนำมาสู่การเสียทรัพย์ และดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับการฉ้อฉลหรือมิจฉาชีพทั้งคู่ โดยในกรณีเบอร์งอกเป็นเรื่องของการถูกอ้างชื่อใช้บริการโทรคมนาคมแล้วโยนหนี้ให้ ส่วนใหญ่แล้ว กว่าผู้ถูกแอบอ้างใช้ชื่อเปิดเบอร์จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อถึงรอบชำระค่าบริการและถูกเรียกเก็บค่าบริการมาในนามของตน ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเช่นนี้จึงมีภาระต้องลุกขึ้นมาร้องเรียนปัญหา ซึ่งหากเป็นจริงเช่นนั้น คนกลางอย่างผู้ให้บริการมือถือก็มักยกเว้นหนี้ให้         อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาค่าบริการแล้ว การถูกแอบอ้างเปิดเบอร์ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายอื่นๆ ตามมาได้ไม่ต่างจากกรณีถูกฉกเบอร์ นั่นคืออาจมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือแล้วสร้างหนี้ไว้ให้ หรือซ้ำร้ายกว่านั้น อาจมีการทำธุรกรรมในลักษณะที่ผิดกฎหมายซึ่งทำให้ผู้ถูกแอบอ้างชื่อต้องพลอยติดร่างแหไปด้วย         นอกจากนี้ ทั้งเรื่องเบอร์สูญและเบอร์งอกต่างก็เป็นเรื่องที่ผู้ใช้บริการไม่อาจระมัดระวังได้เอง และไม่มีแนวทางที่จะดูแลตัวเองได้มากนัก หลักๆ แล้วเป็นเรื่องที่ขึ้นกับกระบวนการขั้นตอนการทำงานของบริษัทผู้ให้บริการ ที่จะต้องมีแนวปฏิบัติที่รัดกุมและมีมาตรการควบคุมให้ผู้ปฏิบัติและผู้เกี่ยวข้องทำตามโดยเคร่งครัด ในขั้นตอนการลงทะเบียนใช้บริการ         ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีการกำหนดเอาไว้ชัดเจนให้เป็นหน้าที่ของบริษัทผู้ให้บริการที่จะต้องบริหารจัดการการลงทะเบียนผู้ใช้บริการที่จุดบริการ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงศูนย์หรือสำนักงานให้บริการลูกค้าของผู้ให้บริการ และร้านค้าหรือจุดให้บริการต่างๆ ที่เป็นตัวแทนในการจัดจำหน่ายสินค้า ทำการตลาด หรือให้บริการใดๆ ในนามบริษัทผู้ให้บริการ         ประกาศฉบับนี้มีการกำหนดเงื่อนไขที่สำคัญๆ ในการลงทะเบียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเอกสารหลักฐานแสดงตัวตน เช่น ในกรณีของบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย อย่างน้อยต้องแสดงเอกสารหลักฐานเป็นบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง โดยที่ผู้ให้บริการต้องมีการออกแบบมาตรฐานและวิธีการในการลงทะเบียน ให้จุดบริการต่างๆ ต้องตรวจสอบหลักฐาน รวมทั้งพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการ ด้วยความรอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม         ในกรณีของชายผู้ประสบเหตุถูกลอบเปิดเบอร์ในชื่อของเขาถึง 2 เบอร์ภายในเดือนเดียว ตามที่เล่าข้างต้น ผลจากการร้องเรียนทำให้พบว่า ต้นเหตุเกิดจากร้านค้าที่เป็นตัวแทนของบริษัทผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ และหลักเกณฑ์ตามที่ กสทช. กำหนด ซึ่งในที่สุด บริษัทผู้ให้บริการก็ได้ยกเลิกสัญญากับร้านค้าดังกล่าว รวมถึงยกเว้นค่าบริการให้แก่ชายที่ร้องเรียน         อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของการตามแก้ไขคลี่คลายปัญหาในภายหลัง โดยที่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้ทำอะไรผิดต้องเผชิญปัญหาและได้รับผลกระทบบางประการไปแล้ว         ส่วนในกรณีเบอร์สูญนั้น นอกจากจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความรอบคอบ เคร่งครัด และรัดกุมในการลงทะเบียนแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องกระบวนการขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ์ในเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิกบริการของคนหนึ่งและเข้าสู่บริการของอีกคนหนึ่ง ดังนั้นจึงควรต้องมีความรอบคอบ เคร่งครัด และรัดกุม เช่นเดียวกัน แต่ในมิติด้านนี้ กสทช. ยังไม่ได้วางกติกาที่ชัดเจน         สำหรับในรายของชายคนดังกล่าว ปรากฏว่า บริษัทผู้ให้บริการมือถือได้ชี้แจงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียนผ่านช่องทางแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการ ซึ่งขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านช่องทางแอปพลิเคชันจะมีเพียงเฉพาะผู้จดทะเบียนเท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากจะต้องเข้าสู่ระบบด้วยวิธีการกรอกรหัส OTP ส่วนในขั้นตอนการแสดงตนใหม่ ทางบริษัทผู้ให้บริการก็ได้กำหนดให้ผู้ใช้บริการใหม่ต้องถ่ายรูปบัตรประชาชนและถ่ายภาพเซลฟี่ตนเองเพื่อเป็นการยืนยันตัวตนด้วย ทั้งนี้ ทางบริษัทผู้ให้บริการยืนยันว่า ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียน หรือขั้นตอนการลงทะเบียนแสดงตนใหม่ผ่านทางแอปพลิเคชันนั้นมีความปลอดภัย และถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าของเลขหมายที่ประสงค์จะโอนย้ายเลขหมายหรือเบอร์ให้แก่บุคคลอื่น         จากข้อชี้แจงดังกล่าวของบริษัทฯ สะท้อนถึงมุมคิดที่น่าจะมีความผิดพลาดและขาดความสมดุลระหว่างเรื่องการอำนวยความสะดวกกับความปลอดภัย           ความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ที่บริษัทฯ มีมุมมองว่านี่เป็นเพียงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียน ทั้งที่ความหมายแท้จริงเป็นเรื่องของการโอนกรรมสิทธิ์ในเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเกิดจากความยินยอมของเจ้าของหรือคนครอบครองเดิมอย่างชัดเจน การยอมให้ใช้ช่องทางแอปพลิเคชันจึงนับว่าหละหลวมเกินไป เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสวมรอยโดยบุคคลอื่นเข้ามาแอบอ้างขอเปลี่ยนชื่อและลงทะเบียนใหม่         เช่นเดียวกับเรื่องการยกเลิกบริการที่จำเป็นต้องมีกระบวนการขั้นตอนพิสูจน์ตัวตนของผู้ที่ใช้บริการให้ชัดแจ้งว่ามีความประสงค์เลิกใช้เลขหมายดังกล่าวแล้วจริงๆ ดังนั้น กระบวนการและขั้นตอนในการยกเลิกบริการจึงควรต้องเข้มงวดไม่น้อยกว่าขั้นตอนจากการสมัครหรือลงทะเบียนเข้าสู่การใช้บริการ หรืออาจควรเข้มงวดกว่าด้วยซ้ำไป เนื่องจากในยุคสมัยปัจจุบัน เลขหมายมือถือกลายเป็นสิ่งที่ผูกกับตัวตนของผู้ใช้บริการอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง         การอำนวยความสะดวกเรื่องการเปลี่ยนชื่อคนครอบครองเลขหมายมือถือผ่านแอปพลิเคชันของทางค่ายมือถือจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและควรยกเลิก เพราะตราบเท่าที่เปิดช่องทางนี้ไว้ก็เท่ากับเปิดช่องโหว่ให้เกิดปัญหาการสูญเบอร์ขึ้นได้ โดยที่ฝั่งผู้ใช้บริการไม่มีทางที่จะป้องกันหรือปกป้องตัวเองได้เลย จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น         ทั้งนี้ จะว่าไปแล้ว เรื่องการเปลี่ยนชื่อแล้วลงทะเบียนใหม่ได้ทันทีเช่นนี้เท่ากับรวมเอาทั้งกระบวนการขั้นตอนการยกเลิกบริการและกระบวนการขั้นตอนการลงทะเบียนเข้าสู่บริการเข้ามาเป็นขั้นตอนเดียว จึงไม่ควรเป็นเรื่องปล่อยให้ทำได้อย่างง่ายๆ และขาดการตรวจสอบที่รอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม อย่างที่สุด เพราะมิเช่นนั้นก็จะเกิดการฉกหรือช่วงชิงเบอร์กันได้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการประกอบอาชญากรรมอื่นๆ ตามมาได้อีกมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 กระท่อมอำพราง

        หลังจากที่รัฐสภาได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) ถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไปแล้ว ทำให้พืชกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ ประชาชนทั่วไปจึงสามารถครอบครอง ปลูก และขายใบสดได้เสรี หรืออาจนำมาต้มเป็นน้ำกระท่อมเพื่อดื่มเองหรือแจกจ่ายได้  ภาพที่เราเห็นทั่วไปในระยะแรกๆ คือ มีการนำใบพืชกระท่อมมาวางจำหน่ายในที่ต่างๆ รวมทั้งตามริมถนน         “แต่ระยะหลัง ไม่ได้มีแค่ใบพืชกระท่อมที่วางขาย หลายพื้นที่พบว่ามีการต้มน้ำกระท่อมใส่ขวดขายด้วย” ซึ่งข้อเท็จจริงตามกฎหมาย การนำพืชกระท่อมไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขายนั้น พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ยังไม่ปลดล็อกให้นำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ (อ้างอิงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ.2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย)         “แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลยก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิต เพื่อจำหน่ายตามประกาศฉบับนี้” การฝ่าฝืน โดยผลิต และขายอาหารที่พ.ร.บ.อาหารห้าม มีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือนถึง 2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท         มีข้อมูลว่าที่สมุทรสงคราม ตำรวจได้ดำเนินการตรวจจับการขายน้ำกระท่อมซึ่งผู้ขายใช้วิธีอำรางเพื่อหลีกเลี่ยงโดย โดยนำน้ำกระท่อมไปใส่ในขวดน้ำเชื่อมสำหรับปรุงอาหาร (syrup) แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและสาธารณสุขสงสัย เลยส่งน้ำเชื่อมขวดดังกล่าวไปวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ ผลการตรวจพบว่ามีส่วนผสมยาแผนปัจจุบัน Diphenhydramine HCl และ Chlorpheniramine ในน้ำเชื่อมขวดดังกล่าว สรุปง่ายๆ คือ “ต้มน้ำกระท่อมแล้วนำมาผสมกับยาแก้แพ้แบบ 4x100 ที่เคยระบาดในกลุ่มเยาวชนแล้วตบตาตำรวจโดยนำไปบรรจุในขวดน้ำเชื่อมแทน”         ส่วนกรณีที่สงสัยว่า จะนำพืชกระท่อมไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยแจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆนั้น ต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข เพราะมี พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุมอยู่เช่นกัน         ในขณะที่การควบคุมยังทำได้ไม่เต็มที่ ผู้บริโภคพบเห็นการขายพืชกระท่อมแบบผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือศูนย์ดำรงธรรมติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เลย เพื่อความปลอดภัยของลูกหลานเราเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 ใส่คอนแทคเลนส์อย่างไร ให้ปลอดภัย

        การใส่คอนแทคเลนส์ยังคงเป็นที่นิยม บางคนใส่เพื่อแก้ปัญหาทางด้านสายตา แต่บางรายก็เพื่อแฟชั่นความสวยงามเฉยๆ แต่รู้หรือไม่ แม้การใส่คอนแทคเลนส์จะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรแต่ก็ควรจะต้องระมัดระวังกันไว้ เพราะเกี่ยวพันกับอวัยวะสำคัญอย่างดวงตา ซึ่งเป็นอวัยวะที่บอบบาง หากดูแลไม่ดีอาจทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตาได้ ยิ่งเฉพาะสำหรับมือใหม่ที่หัดใส่คอนแทคเลนส์เป็นครั้งแรกด้วยนั้น ยิ่งต้องดูแลให้ปลอดภัย ฉลาดซื้อจึงมีวิธีที่ถูกต้องมาแนะนำ การเลือกซื้อคอนแทคเลนส์         คอนแทคเลนส์ที่จำหน่ายโดยทั่วไปส่วนมากจะมีระยะเวลาในการใส่ เช่น หลักๆ ก็จะมีเป็นแบบรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายปี เป็นต้น ซึ่งสำหรับผู้ใส่คอนแทคเลนส์ควรจะใส่ตามระยะเวลาที่เลือกซื้อ เช่น หากเลือกซื้อแบบรายวัน ก็ควรใช้แบบวันต่อวันและเปลี่ยนใหม่ในวันถัดไปทันที ไม่ควรเอาแบบรายวันมาใส่เป็นรายเดือนเด็ดขาด รวมถึงแบบอื่นๆ ด้วย ห้ามใช้เกินระยะเวลาที่กำหนดเพื่อความปลอดภัย         ในหมู่วัยรุ่นมักจะนิยมใส่คอนแทคเลนส์โดยซื้อจากตามท้องตลาดทั่วไป โดยไม่ตรวจเช็กรายละเอียดอื่นๆ แนะนำว่า ควรต้องดูฉลากกันสักหน่อย เช่น ชื่อคอนแทคเลนส์ วัสดุที่ใช้ วันเดือนปีที่หมดอายุ ที่สำคัญเลขที่ใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสามารถนำเลขมาตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ ระบบตรวจสอบผลิตภัณฑ์ - กระทรวงสาธารณสุข อย่าลืมติ๊กเครื่องมือแพทย์ก่อนตรวจสอบ  ข้อควรรู้ก่อนใส่คอนแทคเลนส์        1. สำหรับผู้ที่ต้องการใส่คอนแทคเลนส์เนื่องจากปัญหาสายตาสั้นแนะนำให้สอบถามผู้เชี่ยวชาญและเข้าตรวจวัดค่าสายตาก่อนใส่         2. ล้างมือให้สะอาดเสมอก่อนสัมผัสคอนแทคเลนส์ทุกครั้งก่อนใส่         3. ก่อนใส่คอนแทคเลนส์ควรนำออกมาแช่น้ำยาคอนแทคเลนส์ก่อนทุกครั้ง ไม่แนะนำให้แช่เป็นน้ำเกลือหรือน้ำเปล่า         4. ตรวจเช็กก่อนใส่ว่าเลนส์ไม่พลิกหรือกลับด้าน เพื่อป้องกันการใส่ผิดด้านแล้วเกิดการระคายเคือง        5. เมื่อใส่คอนแทคเลนส์แล้วไม่รู้สึกระคายเคืองตา แสดงว่าเข้าที่เรียบร้อยแล้ว หากมีอาการแสบตาระคายเคืองไม่หาย แนะนำควรถอดออกทันที         6. ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นอนข้ามคืน (ต้องถอดออกก่อนเสมอ) เพราะเสี่ยงทำให้เกิดอาการอักเสบ ติดเชื้อ หรืออื่นๆ ที่อันตรายต่อดวงตาได้        7. สำหรับคนที่ปัญหาตาแห้งบ่อยควรพกน้ำตาเทียมเพื่อหยอดระหว่างวัน แนะนำใช้แบบธรรมดาไม่เป็นแบบหยอดตาแล้วเย็นหรือใดๆ ทั้งสิ้น        8. ที่สำคัญคือไม่ควรใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับคนอื่นโดยเด็ดขาด  ดูแลรักษาอย่างไรหลังใช้งาน         สำหรับคนที่ใช้แบบรายสัปดาห์ รายเดือนหรือปี ควรเปลี่ยนน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ในตลับทุกครั้งหลังใช้งาน และควรทำความสะอาดอีกด้วย โดยมีวิธีดังนี้         ล้างมือให้สะอาดและนำคอนแทคเลนส์ ไว้บนฝ่ามือเทน้ำยาลงที่เลนส์แล้วใช้นิ้วถูทำความสะอาดบริเวณเลนส์สักพัก และล้างด้วยน้ำยาอีกรอบ เมื่อเสร็จให้นำใส่ตลับแล้วแช่น้ำยาเหมือนเดิม รวมถึงทำความสะอาดตลับที่ใส่ทุกวัน ในส่วนของตลับใส่ก็ควรเปลี่ยนอย่างน้อยทุก 3 เดือน  ข้อควรระวัง        ·     พิจารณาบรรจุภัณฑ์หรือขวดบรรจุคอนแทคเลนส์ ต้องไม่มีรอยชำรุดหรือเสียหาย หากเจอในลักษณะนั้น ไม่ควรนำมาใช้งาน        ·     น้ำยาคอนแทคเลนส์ ควรดูฉลากให้ชัดเจน โดยเฉพาะวันเดือนปีที่หมดอายุ ถ้าหมดอายุแล้วไม่ควรนำมาใช้ต่อ ไม่ต้องเสียดายให้ทิ้งไปเลย นอกจากนี้อ่านฉลากหรือวิธีการใช้งานให้ละเอียดและควรทำตามอย่างเคร่งครัด เนื่องจากตัวน้ำยาคอนแทคเลนส์ก็มีหลากหลายรูปแบบ บางอันสามารถหยอดตาได้หรือบางอันไม่ได้  และวิธีการใช้งานอาจแตกต่างกัน และอย่าลืม ไม่ควรใช้น้ำเปล่าหรือน้ำเกลือแทนน้ำยาเด็ดขาด         ·     หากมีอาการปวดเจ็บตาผิดปกติจากเดิม เช่น ตาแดง ตามัว ตามแห้ง รวมถึงอาการต่างๆ มากกว่านี้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา  ข้อมูลจาก : วิธีการดูแล คอนแทคเลนส์ ที่ถูกต้อง วิธีใส่คอนแทคเลนส์ที่ปลอดภัย ทำได้ง่ายใน 7 ขั้นตอนคอนแทคเลนส์ ใช้อย่างไรให้ปลอดภัยคอนแทคเลนส์ : เภสัชกรหญิง กิตติมา วัฒนากมลกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลใส่คอนแทคเลนส์อย่างไร ให้ปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 พรหมลิขิต : ตกลงคือพรหมลิขิตใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น

        “พรหมลิขิตบันดาลชักพา ดลให้มาพบกันทันใด ก่อนนี้อยู่กันแสนไกล พรหมลิขิตดลจิตใจ ฉันจึงได้มาใกล้กับเธอ…”         บทเพลง “พรหมลิขิต” ที่ขับร้องโดยคุณวินัย จุลละบุษปะ แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ เมื่อราว 7 ทศวรรษที่ผ่านมาได้ บ่งบอกนัยความเชื่อของสังคมไทยที่รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งนับถือเทพตรีมูรติทั้งสามองค์ คือ พระพรหมผู้สร้างและควบคุมทุกอย่างที่พระเจ้าได้สร้างขึ้น พระวิษณุผู้ปกป้องโลกและควบคุมโชคชะตาของมนุษย์ และพระศิวะผู้ทำลายทุกชีวิตแต่ก็เป็นผู้ให้ชีวิตใหม่ได้เช่นกัน         เฉพาะกับความเชื่อเรื่องพระพรหมในฐานะเป็นผู้สร้างโลกและลิขิตชะตาชีวิตของบุคคลต่างๆ นับแต่เกิดจนตาย หรือแม้แต่ดลบันดาลให้เกิดความรักระหว่างบุคคลดังเนื้อร้องทำนองเพลงข้างต้นนั้น แม้เมื่อเราแปลคำภาษาอังกฤษ “destiny” ที่มีความหมายถึงอำนาจซ่อนเร้นบางอย่างซึ่งกำหนดอนาคตของปัจเจก คนไทยก็ยังซ่อนซุกร่องรอยไว้ด้วยว่า คงเป็นเพราะพระพรหมท่านที่ได้ขีดเขียนชะตากรรมให้เป็นเช่นนั้นแล         อย่างไรก็ดี เมื่อเรื่องราวของ “destiny” มาปรากฏอยู่ในโลกแห่งละครโทรทัศน์กันบ้าง และตัวละครต่างก็พูดคำว่า “destiny” กันซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดทั้งเรื่อง ก็ชวนให้สงสัยและไขข้อข้องใจว่า มาถึงทุกวันนี้แล้ว “ตกลงยังเป็นพรหมลิขิตอยู่ใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น” กันจริงๆ         กับละครโทรทัศน์แนวเดินทางข้ามเวลาภาคต่อ ที่ขานรับกระแส “ออเจ้าฟีเวอร์” ซึ่งฮือฮาเมื่อราว 5 ปีก่อนหน้าเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” มาสู่ภาคใหม่ในชื่อเรื่อง “พรหมลิขิต” ก็สื่อนัยความหมายไม่มากก็น้อยถึงอิทธิฤทธิ์ของพระพรหมท่านที่จะลิขิตบันดาลหรือกำหนดชะตาชีวิตของตัวละครให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้         เรื่องราวของละครโทรทัศน์ภาคต่อเล่าถึงนางเอก “พุดตาน” ณ กาลสมัยปัจจุบัน มีเหตุบังเอิญไปเจอเข้ากับหีบโบราณลึกลับ พลันที่เธอเปิดหีบนั้น ก็ได้พบกับสมุดข่อยโบราณ ซึ่งก็คือ “มนต์กฤษณะกาลี” ที่ถูกฝังดินไว้ และทันทีที่พุดตานได้สัมผัสกับสมุดข่อยศักดิ์สิทธิ์ ร่างของเธอก็ถูกกลืนหายไปจากปัจจุบันขณะ ย้อนกลับไปปรากฏตัวเมื่อกว่า 300 ปีในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาโน่นเลย         และแล้วตำนานรักโรแมนติกบทใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อพุดตานได้ลืมตามาพบกับ “หมื่นมหาฤทธิ์” หรือ “พ่อริด” พระเอกหนุ่มบุตรชายฝาแฝดของ “ออกญาวิสูตรสาคร” และ “คุณหญิงการะเกด” หรือก็คือ “เกศสุรางค์” ผู้ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเดินทางข้ามกาลเวลามา แต่บัดนี้ได้กลายเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาไปเสียแล้ว         ด้วยเป็นภาคต่อของละครโทรทัศน์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” นี้เอง คู่ขนานไปกับการคลี่คลายปมของตัวละครทั้งหลายที่ถูกผูกไว้ตั้งแต่ภาคก่อน เส้นเรื่องของ “พรหมลิขิต” จึงยังคงเดินหน้าถ่ายทอดความรักรุ่นลูกระหว่างพ่อริดกับพุดตาน โดยมีการตั้งคำถามหลักว่า เหตุการณ์อันมหัศจรรย์ที่คนสองคนข้ามเวลามารักกันเยี่ยงนี้เป็นเพราะ “destiny” กันจริงหรือไม่         แม้จุดเริ่มเรื่องพุดตานจะพยายามแย่งสมุดข่อยลึกลับคืนจากพ่อริด เพราะคิดว่าเป็นประตูกาลเวลาซึ่งจะนำพาให้เธอกลับสู่สามร้อยกว่าปีที่จากมาได้ แต่ด้วยเหตุที่ครั้งหนึ่งคัมภีร์กฤษณะกาลีเคยทำให้คุณหญิงการะเกดเกือบต้องตายจากไปตลอดกาล พ่อริดจึงเอาสมุดข่อยต้นเรื่องไปฝากไว้กับ “หมื่นณรงค์ราชฤทธา” หรือ “พ่อเรือง” แฝดผู้พี่ที่พำนักอยู่เมืองสองแควพิษณุโลก อันเป็นเหตุให้พุดตานต้องใช้ชีวิตติดอยู่ในรัชสมัย “ขุนหลวงท้ายสระ” กับดินแดนที่เธอไม่รู้สึกคุ้นเคยแต่อย่างใด         ด้วยเหตุฉะนี้ ใจความหลักของเรื่องจึงวนเวียนอยู่กับการนำไปสู่บทสรุปตอนท้ายว่า ตกลงแล้วพุดตานจะกลับคืนสู่ภพชาติปัจจุบันได้หรือไม่ และยืนยันให้คำตอบที่พ่อริดสงสัยอยู่เนืองๆ ต่อ “destiny” ว่า “ออเจ้ามาที่นี่เพราะพรหมลิขิตกระนั้นหรือ”         ที่น่าประหลาดใจยิ่งก็คือ ในขณะที่พุดตานก็อธิบายถึง “destiny” ให้พ่อริดฟังว่า “คนที่เชื่อเรื่องพรหมลิขิต ไม่เชื่อว่าจะมีอะไรขัดขวางพระพรหมได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพรหมลิขิตไว้” หากทว่า เรื่องราวของละครกลับมีพล็อตที่คู่ขนานกันไปด้วยว่า เหตุปัจจัยที่ตัวละครหลากหลายได้โคจรมาบรรจบพบกันนั้น อีกฟากหนึ่งก็กลับมีกรรมเก่าที่ทำร่วมกันมาแต่ปางก่อนเป็นเงื่อนไขกำหนด         ทั้งนี้ พุดตานผู้เดินทางย้อนเวลาข้ามภพมา จริงๆ ก็คือ “แม่หญิงการะเกด” ที่เพราะทำกรรมไว้แต่ชาติปางบรรพ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็ตั้งแต่ละครภาคก่อน ดังนั้น การที่เธอได้มาพบรักกับพ่อริด พบเจอกับออกญาวิสูตรสาครและเกศสุรางค์ จนถึงกลับมาปะทะคารมกับ “คุณหญิงจำปา” และ “แม่ปริก” หรือมาเจอะเจอกับ “ผิน” และ “แย้ม” บ่าวรับใช้ในอดีต ก็หาใช่เหตุบังเอิญไม่ แต่เป็นเพราะกรรมเก่าที่ยังไม่ได้ชำระปลดเปลื้องไปนั่นเอง         โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวละคร “แม่กลิ่น” หลานสาวของ “ยายกุย” ที่เอาแต่ตั้งแง่รังเกียจกลั่นแกล้งพุดตานแบบไม่รู้ต้นสายปลายเหตุด้วยแล้ว ละครก็มาเฉลยความในตอนท้ายว่า แม่กลิ่นก็คือ “แดง” เจ้ากรรมนายเวรที่เมื่อชาติก่อนเคยถูกการะเกดทำให้ตกน้ำตาย จนชาตินี้พุดตานต้องกลับมาช่วยชีวิตแม่กลิ่นที่กำลังจมน้ำ เพื่อแก้กรรมและอโหสิกรรมให้หลุดพ้นจากวังวนวัฏฏะที่ทำกันมาตั้งแต่ภพภูมิเก่า         อย่างไรก็ตาม แม้ “destiny” ที่พุดตานกับพ่อริดจะร่วมกันสร้างขึ้นด้วยส่วนผสมระหว่าง “พรหมลิขิต” กับ “กรรมลิขิต” ก็ตาม แต่ทว่า ในอีกแง่มุมหนึ่ง ละครก็ได้นำเสนอเส้นขนานคู่ที่สามที่ตั้งคำถามไปอีกว่า แล้วปัจเจกบุคคลอย่างเราๆ มีอำนาจที่จะลิขิตชีวิตของตนเองได้ด้วยหรือไม่         ด้วยเหตุนี้ เมื่อมาถึงฉากตอนท้ายที่พุดตานต้องถูกถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาให้กับขุนหลวง นางเอกสาวก็เลือกประกาศเจตนารมณ์ข้อใหม่กับพ่อริดและใครต่อใครว่า “กฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นต้องเปลี่ยนแปลงได้” และประวัติศาสตร์ที่จะขีดเขียนใหม่ให้เกิดเป็นจริงขึ้นได้ ก็ไม่ใช่รอคอยให้เป็นไปตามยถากรรม แต่ต้องได้มาด้วยจิตสำนึกและลงมือกระทำการโดยตัวของมนุษย์เองเท่านั้น         ดังนั้น ควบคู่ไปกับการพูดคำศัพท์ร่วมสมัยให้กับผู้คนยุคกรุงศรีฯ การลงมือปรุงสำรับอาหารหลากหลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ยั่วน้ำลายผู้ชม หรือการปฏิเสธค่านิยมคลุมถุงชนและหลายผัวหลายเมียแบบโบราณ เราจึงได้เห็นฉากที่ปัจเจกบุคคลอย่างพุดตานลุกขึ้นมาปฏิเสธการเข้าถวายตัว อันเป็นข้อกำหนดที่เคยเชื่อว่ามิอาจเปลี่ยนแปลงได้ จนนำไปสู่บทสรุปความรักที่สมหวังกับชายหนุ่มที่เธอได้รักและได้เลือกจริงๆ         หากจะย้อนกลับไปสู่คำถามว่า แล้วกับ “destiny” นั้น “ตกลงคือพรหมลิขิตใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น” บางทีคำตอบจากละครที่มีชื่อเรื่องว่า “พรหมลิขิต” ก็น่าจะบอกเราได้ว่า พระพรหมอาจจะลิขิตให้คนสองคนรักกัน และกรรมก็อาจลิขิตชีวิตไปตาม “ชะตา(แห่ง)กรรม” แต่กระนั้น ก็ยังเป็นปัจเจกบุคคลที่สามารถลุกขึ้นมาท้าทาย เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ และลิขิตขีดเขียน “destiny” ของตนเอาไว้ได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 องค์กรผู้บริโภคต้องทำงานแบบเสริมพลังกัน

        การรวมตัวกันเพื่อการทำงานคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิผู้บริโภค เริ่มมาอย่างยาวนานและชัดเจนตั้งแต่ปี 2526 กว่า 40 ปี ระบบนิเวศของการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคจึงเต็มไปด้วยความเบ่งบานของกลุ่มองค์กรหลากหลายรูปแบบทุกระดับทุกพื้นที่ที่ต่างล้วนทำงานมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้มแข็งสิทธิได้รับการพิทักษ์คุ้มครอง การเติบโตอย่างเข้มข้นนี้เป็นรูปธรรมชัดเจนโดยเกิดการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้สำเร็จ ในปี 2563 หลังจากเริ่มต้นผลักดันมาตั้งแต่ปี 2540          รศ.ภญ.ดร.วรรณา  ศรีวิริยานุภาพ  ผู้จัดการศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส) และผู้อำนวยการวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท) มีบทบาทอย่างสำคัญในการส่งเสริม สร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภคโดยเฉพาะด้านยาและสุขภาพมาตั้งแต่ต้น สะท้อนมุมมองว่าในทศวรรษปัจจุบันและต่อไปหลังจากนี้ การเกิดขึ้นของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้สำเร็จก็ยังไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคในปัจจุบัน การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรผู้บริโภคในระดับพื้นที่เข้มแข็ง มีคุณภาพยังเป็นเรื่องสำคัญที่ รศ.ภญ.ดร.วรรณา เลือกทำมาตั้งแต่ต้นและยังจะทำต่อไปอย่างแน่นอน      ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส)  คือหน่วยงานอะไร         ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ หรือ คคส. เราเป็นศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เป็นศูนย์วิชาการที่เราทำงานกันมานานตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2549 และปัจจุบันเราขยายงานเป็นวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท) ด้วย         คคส. เป็นโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ สสส. ดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ เมื่อพูดถึง คคส. เราไม่ได้ทำงานแต่เฉพาะองค์กรผู้บริโภค  เราทำงานกับผู้ประกอบการวิชาชีพเภสัชกรรม  นักวิชาการสาธารณสุขเยอะมาก งานของเราจึงออกเป็นลักษณะแผนงานวิชาการที่มีหลายเรื่อง งานวิชาการ งานพัฒนาศักยภาพคน จัดการพวกสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และติดตามเรื่องของกฎหมายด้วย  ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส)  ทำงานอะไรบ้าง         เรามีแผนงานส่งเสริมพัฒนาความเข้มแข็งระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่  มีวัตถุประสงค์ในการทำงาน 4 เรื่อง หนึ่ง คือพัฒนากลไกและศักยภาพเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับพื้นที่ สอง พัฒนาฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่ สาม จัดการความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและบริการสุขภาพเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และสี่ ติดตามอย่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เราทำงานด้วยเราอยากเห็นผลลัพธ์ที่เรามุ่งหวังคือ ชุมชน องค์กรผู้บริโภค ภาคี เครือข่ายมีศักยภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค  มีการจัดการสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย   นิยามองค์กรผู้บริโภคไว้อย่างไร         องค์กรผู้บริโภคที่เราทำงานด้วยต้องบอกว่า เป็นกลุ่มคนที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่เฉพาะการทำงานประจำตามหน้าที่ เป็นราชการเราไม่ได้สนใจเฉพาะตรงนั้น เราทำงานทั้งกับผู้บริโภค อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองผู้บริโภค เราคิดว่าทุกคนเป็นผู้บริโภคตลอดเวลา แต่เป็นข้าราชการบางเวลาเพราะฉะนั้นการก้าวเข้ามาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค คคส. เราถือว่าถ้ารวมกลุ่มกัน เป็นองค์กรผู้บริโภคหมด       ที่จุฬาเองตั้งแต่อดีต  เรามีอดีตอาจารย์กับนิสิตเภสัชศาสตร์ รวมตัวกันมา ตั้งกลุ่มเฝ้าระวังเรื่องยา อาจารย์ในเวลาก็เป็นเป็นข้าราชการสอนหนังสือ แต่อาจารย์ยังนำความรู้ของอาจารย์มาทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้วย จึงเกิดการรวมตัว รวมกลุ่มและกิจกรรมต่างๆ ขึ้นจนถึงปัจจุบันตอนนี้ก็มีข้าราชการทั้งเกษียณและไม่เกษียณทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ เราก็เรียกตัวเองว่าเป็นองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลา ไม่ใช่ข้าราชการก็เป็นองค์กรผู้บริโภคด้วย น้องๆ เภสัชที่อยู่ตามต่างจังหวัด รวมตัวกันเป็นเภสัชชนบทก็เป็นองค์กรผู้บริโภคในนิยามของ คคส.  ภาพรวมขององค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่ คคส. ทำงานร่วมด้วยเป็นอย่างไร           ภารกิจของ คคส. เราทำงานส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ เราจึงทำงานเข้มข้นได้ไม่ทุกเรื่อง เรามองว่าการทำงานกับองค์กรผู้บริโภค เราทำทั้งทางตรงและทางอ้อม  งานที่ทำทางตรงกับองค์กรผู้บริโภค เช่น การพัฒนาศักยภาพ การอบรม การตรวจประเมิน และรับรององค์กรผู้บริโภคเครือข่าย แต่ถ้าเป็นลักษณะของการที่ทำงานเฝ้าระวัง บางจุดหรือประเด็นที่เขาต้องการ เราก็จะพัฒนาศักยภาพน้องๆ เภสัชกรที่เขาก้าวเข้ามาด้วยความสนใจให้เป็นเภสัชกรที่คุ้มครองผู้บริโภคหรือนักวิชาการสาธารณสุขที่ขยับมาทำเรื่องการจัดการสินค้าไม่ปลอดภัย งานจึงมีทั้งทางตรงและทางอ้อม  แบ่งองค์กรผู้บริโภคเป็นแบบไหนบ้าง กี่ประเภท แต่ละประเภทมีความเข้มแข็งแตกต่างกันมากน้อย อย่างไร         ถ้าตามกฎหมาย เราแบ่งเป็น 2 กลุ่ม  คือกลุ่มองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562  คือตามเกณฑ์ เงื่อนไขและกลุ่มที่ 2 คือ องค์กรผู้บริโภคแต่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน         แต่ถ้ามองในมุมของ คคส. เรามีการพัฒนาเกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพขึ้น ซึ่งเราทำมานานก่อนที่จะมีสภาองค์กรผู้บริโภคอีกเพื่อไปตรวจประเมิน และรับรององค์กรผู้บริโภคว่าการทำงานอย่างมีคุณภาพ มีโครงการสร้างองค์กร  กระบวนการทำงาน และผลลัพธ์ของการทำงานที่พัฒนาขึ้นต่อเนื่อง คคส. จึงตั้งเป็นเกณฑ์ผู้บริโภคคุณภาพ และ MOU กับหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เราได้รับการยอมรับ เกิดความเชื่อมั่นเมื่อเราเดินสายไปตรวจและรับรอง หากใช้เกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพเป็นตัวตั้ง  ก็จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ผ่านการรับรองตัวประเมิน และจัดเป็นองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ กับองค์กรทั่วไปที่เขาอาจยังไม่พร้อมให้เราประเมิน หรือว่าเพิ่งเริ่มต้นทำงาน เกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพจะมีมากกว่าเกณฑ์ตามกฎหมาย    ส่วนที่สมาชิกของสภามักจะไม่ค่อยผ่านคือเรื่องของผลงาน และกระบวนการทำงาน  ปัญหาที่พบตอนที่ลงไปทำงานกับองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ ได้เสริมจุดแข็งหรืออะไรไปบ้าง         แน่นอนว่าพอเราลงไปตรวจ เราจะเจอทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง  แต่เราก็บอกเลยว่า เราพร้อมตรวจใครที่คิดว่ามีความเข้มแข็งให้เราไปตรวจ เราก็พร้อม แต่เท่าที่ลงไปตรวจแล้วเราจะเห็นข้อบกพร่องของเขา เช่น เรื่องของการที่ไม่มีรายงานการประชุม ไม่มีการบันทึกเลย คือคนทำงาน เขาทำงานแต่การเก็บบันทึก รายละเอียดงานยังน้อยทำให้มีปัญหาคนภายนอกอาจมองว่าไม่มีผลงานกิจกรรมเลย ก่อนมี พ.ร.บ. สภาฯ  เราตรวจไป 226 องค์กร  พวกนี้เขาก็มีความพร้อมพอสมควร พอมีสภาองค์กรของผู้บริโภคเกณฑ์ของเราถูกนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินองค์กรของผู้บริโภคตามกฎหมายด้วยบางส่วน แต่บางอันในเรื่องของคุณภาพยังไม่ได้นำไปใช้  การทำงานของเราตอนนี้พอลงตรวจแล้วรู้แล้วว่าขาดอะไร เช่นยังขาดส่วนวิชาการในลักษณะของการนำเสนอนโยบายซึ่งมีความสำคัญเวลาเข้าไปมีส่วนร่วมในการนำเสนอนโยบายในการประชุมเป็นคณะกรรมการ อนุกรรมการ ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอหรือระดับประเทศ พอตรงนี้ขาดเราก็พัฒนาหลักสูตร เปิดอบรม ขอแค่สนใจอยากพัฒนาตัวเองเราจะดูแลค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดเพราะเรามีความร่วมมือกับ สสส.         องค์กรผู้บริโภคเล็กๆ จากที่เราไปตรวจราว 300 – 400 องค์กร เราเห็นแล้วว่าบางทักษะอย่าง การ เขียนรายงานการประชุม เขียนโครงการของบประมาณแบบนี้ยังไม่เป็น การจัดทำบัญชีรับจ่าย การทำทะเบียน วัสดุและครุภัณฑ์ต่างๆ เขายังไม่ทำ เขาบอกว่าเขาเป็นจิตอาสา ไม่ต้องใช้ทรัพยากรอะไร ไม่มีการทำบัญชี แต่การเป็นองค์กรที่ทำงานได้ด้วยการสนับสนุน เราสู้เพื่ออะไรหลายเรื่อง เราต้องมีความโปร่งใส  การทำงานกิจกรรมต่างๆ หากไม่รวบรวมเป็นเอกสารข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบวันนี้ เมื่อจะขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรโดยกฎหมายขอสภาองค์กรของผู้บริโภค  สำนักนายกก็ตั้งคำถามแล้วเพราะผลงานกิจกรรมไม่มีแสดง ซึ่งไม่แปลกเพราะเขาไม่ได้ลงมาคลุกคลีใกล้ชิด         เราจะเติมส่วนขาดตรงนี้ลงไปในพื้นที่ เพราะองค์กรผู้บริโภคในจังหวัดเขาอยู่ในพื้นที่ เขาจะดูแลกัน ตลอดไปเป็นอะไรที่ยั่งยืน ขณะที่บางครั้งเราเข้าไปอบรมแล้วกลับมา มันไม่เกิดอะไร เราจึงสร้างคนโดยการให้เข้าอบรม 8 เดือน แล้วเป็นเภสัชกรสาขาคุ้มครองผู้บริโภค  ภายใต้วิชาชีพเภสัชกรรมตอนนี้ เรามี นคบส. หรือผู้ผ่านการอบรมทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ 100 กว่าคนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย เราเหมือนเป็นพี่เลี้ยง คอยสนับสนุน ส่วนน้องๆ เภสัชเขาเองอยู่ในระบบราชการ เขาก็ทำหน้าที่ราชการด้วย หลายคนไปเป็นที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิประจำองค์กรผู้บริโภค ในหน่วยงานประจำจังหวัด เราต่างหนุนเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภค เรามองว่าช่วยกันทำงาน  มันเป็นความงดงาม ความเก่งขององค์กรผู้บริโภค และความเก่งของเภสัชช่วยกันทำงานไร้รอยต่อ สามารถส่งต่ออะไรที่ดีๆ ให้กันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดของตัวเอง  อันนี้มันก็เป็นอะไรที่มันเห็นการขับเคลื่อน  ตัวอย่างของงานที่เป็นความสำเร็จขององค์กรผู้บริโภคและแนวโน้ม         เรื่องของความสำเร็จพี่มองว่าคือการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นการการต่อสู้ยาวนานตั้งแต่ ปี 2540 จนนำมาสู่การจัดตั้งสภาฯ องค์กรได้ แต่การมีอยู่ตอนนี้ยังไม่ถือว่าสำเร็จ เป็นช่วงเริ่มต้น เพราะความสำเร็จที่แท้จริง คือต้องทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง สามารถคุ้มครองตัวเองได้  ซึ่งตอนนี้มีเรื่องของการโฆษณา เรื่องของอะไรที่มันหลอกลวงมากขึ้น  ถ้าผู้บริโภคเข้มแข็งสามารถที่จะคุ้มครองตัวเองได้  ไม่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามนี่คือสุดยอด แต่การทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคตอนนี้มีองคาพยพที่ใหญ่ขึ้น และต้องเคลื่อนไปด้วยกัน และยังเข้มแข็งในบางจังหวัดด้วย เรายังต้องช่วยหนุนเสริมกันอีกมาก  การเกิดของสภาองค์กรผู้บริโภคเพียงพอหรือไม่ต่อการสนับสนุนองค์กรของผู้บริโภค         สภาองค์กรผู้บริโภค อย่างที่บอกว่าเพิ่งเริ่มต้น ตอนนี้ยิ่งมีองคาพยพเยอะขึ้น  การทำงานยังต้องกระจายให้ได้ ครอบคลุมทุกจังหวัด ตอนนี้เรายังพบว่ายังไม่ทั่วประเทศและยังเป็นการกระจุก  บางจังหวัดที่มีองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้นมาก เราวิเคราะห์ว่าเพราะสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา สาธารณสุขจังหวัด เภสัชกร โรงพยาบาล ชมรม อสม. รพสต. องค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ไม่ว่าจะรูปแบบ ชมรม ทั้งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือไม่ เขามีความร่วมมือกัน การลงไปตรวจประเมิน เราทำจริงจังเราได้เห็นทุกอย่าง พื้นที่ที่เขาพร้อม ทำงานจริง ลงไปทุกครั้ง เราจะเห็นคนที่ทำงานอยู่ตลอด หลายครั้งทำให้เราได้เจอคนที่มีศักยภาพเป็นเพชรเป็นแกนได้ เราสามารถพัฒนาส่งเสริมเขาต่อได้ด้วยหลายคนมากแล้ว เราจะไม่มีวันเจอถ้าเราไม่ได้ออกไปทำงาน ออกไปติดตามโครงการแลกเปลี่ยนพูดคุย  เราได้คนที่เราไม่รู้จักเยอะเป็นน้องเภสัชที่ประกาศตัวและก้าวเท้าเข้ามาฝึกอบรมเป็นเภสัชกรเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคแล้วหลายคน  สิ่งที่อยากฝาก         วันนี้องค์กรผู้บริโภคต้องมีทักษะทั้งขับเคลื่อนได้ งานวิชาการได้  แต่ยังมีหลายจุด ทักษะที่เขายังขาด แต่เขาต้องทำงานหลายด้าน  หน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยกันหนุนเสริมองค์กรผู้บริโภคเราต้องทำให้เขาเข้มแข็งจริงๆ  ความเข้มแข็งจะต้องไม่อยู่ที่หน่วยงานของเราเพียงอย่างเดียว จะต้องไม่ได้อยู่แต่ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค อย. แต่ต้องอยู่ที่หน่วยงานประจำจังหวัดและองค์กรสมาชิกด้วย สมาชิกต้องเข้มแข็งเพราะพื้นที่ หากเราทำให้ระดับจังหวัดเข้มแข็ง เขาจะต่อยอดในพื้นที่ได้ เป็นในระดับอำเภอ ตำบล  วันนี้เรามองว่าแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ วันนี้คนในจังหวัดที่เขามีหน่วยงานประจำจังหวัด ถ้ามีเขามีทุกข์ แล้วหน่วยงานรัฐไม่ตอบโจทย์เขาได้ การเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดตอบโจทย์เขาได้แต่จังหวัดที่ไม่มีก็แสดงว่าเขายังขาดอีกหลายจุด และเมื่อมีแล้ว เราฝากว่าการทำงานร่วมกัน  การช่วยกันทำงานมันควรเหมือนยา ช่วยกันทำงานต้องเสริมพลังกัน เราต้องรู้ว่าเราเก่งกันคนละแบบ เราต้องให้กำลังใจกัน หากเข้าขากัน ผลลัพธ์ประสิทธิภาพมันไม่ใช่ 1 บวก 1 แล้ว 2 มันอาจจะเป็น 3 หรือ 4  หรืออาจจะมากกว่านี้ได้มากๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 นัดยานัตถุ์แทนสูบบุหรี่ลดมะเร็งปอด

        เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2556 ในเว็บ pantip.com มีกระทู้หนึ่งถามว่า ยานัตถุ์ อันตรายมั้ยคะ โดยมีใจความสำคัญว่า “คุณพ่อดิฉันเลิกบุหรี่ได้ ก็มานัดยานัตถุ์ได้หลายปีแล้วค่ะ ห้ามเท่าไรก็ไม่ฟัง เคยเห็นเสมหะคุณพ่อมีสีดำๆ วันก่อนลูกสาวดิฉันเห็นคุณตาจามมีน้ำมูกเป็นสีดำๆ เลยมาบอกดิฉัน ดิฉันเลยกังวล ว่าจะอันตรายไหม แล้วที่สูดผงๆนั่ นเข้าไป มันจะไปอยู่ไหน ถ้าไม่ใช่ในหลอดลมกับปอด ตามความเข้าใจของดิฉัน ขอผู้รู้ช่วยตอบด้วยค่ะ”         จากนั้นก็มีผู้เข้ามาตอบกระทู้ว่า “มันน่าจะเข้าไปที่ปอดได้บ้าง แต่จังหวะที่เป่านั้น เท่ากับหายใจออกครับ ผงยาจะเคลือบฝังจมูกอย่างรวดเร็ว เพราะน้ำมูกจะถูกขับออกมา เพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอม พิษนั้นมีน้อยกว่า ควันที่ได้จากใบยาสูบ อันเป็นส่วผสมหลักเดียวกันกับบุหรี่ โดยยานัด XXX มีใบยาสูบ ประมาณ 50 % นอกนั้นเป็นสมุนไพร และที่ช่วยทำให้เย็นอย่างหนึ่งคือพิมเสนครับ ยานัตถุ์สามารถช่วย ระงับการจามจากภูมิแพ้ได้ชะงัก และสามารถลดความตึงเครียดทางอารมณ์ได้อย่างดี เพราะมีส่วนผสมของสารนิโคตินนั้นเอง....” ซึ่งโดยสรุปแล้ว เมื่อมีทั้งคำถามและคำตอบ นั่นแสดงว่า การนัดยานัตถุ์นั้นยังมีปรากฏอยู่ในบ้านเรา         พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า “นัตถุ์” แปลว่า จมูก และคำว่า “ยานัตถุ์” จึงมีความหมายโดยรวมว่า ผงยาละเอียดที่ปรุงขึ้นจากใบยาสูบหรือวัตถุสมุนไพรอย่างอื่น ใช้สำหรับนัดหรือเป่า สูด เข้าในจมูกนั่นเอง ปัจจุบันการใช้ยานัตถุ์พบเห็นได้น้อยมาก เนื่องจากมีรูปแบบการใช้ยาแบบอื่นที่สะดวกกว่า         ในประเทศไทยนั้น ยานัตถุ์ (ภาษาอังกฤษคือ snuff) คือ ยาผงที่ใช้สำหรับเป่าเข้าทางจมูกเพื่อบำบัดโรคหรือวัตถุประสงค์อื่น ตัวยาอาจประกอบด้วยส่วนผสมหลายอย่างที่มีผงใบยาสูบเป็นหลัก อาจผสม สเปียร์มินต์ (มีองค์ประกอบเป็น คาร์โวน ลิโมนีน เมนทอล และเมนโทนให้ความหอมเย็น) อบเชย เมนทอล การบูร เป็นต้น เพื่อเพิ่มความรื่นรมย์ ส่วนในสหรัฐอเมริกานั้นยานัตถุ์ถูกจัดเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควัน         ยานัตถุ์มี 2 ประเภทคือ ยานัตถุ์แบบชื้น (Moist snuff) ซึ่งผู้ใช้เหน็บยานัตถุ์แบบนี้ที่หลังริมฝีปากบนหรือล่างหรือระหว่างแก้มกับเหงือก (ว่าไปแล้วน่าจะเป็นลักษณะเดียวกับการใช้ยาฉุนของคนไทยโบราณ) ซึ่งผู้บริโภคต้องคายหรือกลืนน้ำยาสูบที่สะสมอยู่ซ้ำๆ หลังจากนั้นเมื่อผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งมักคายทิ้ง ส่วนยานัตถุ์ประเภทที่ 2 เป็นแบบแห้ง (Dry snuff) ซึ่งใช้โดยการสูดหายใจเข้าทางจมูกที่มีการใช้มานานพอควรในประเทศไทย โดยนำผงยานัตถุ์บรรจุลงไปในท่อเหล็กรูปตัวยู ใส่ปลายท่อด้านหนึ่งเข้ารูจมูกแล้วใช้ปากเป่าปลายท่ออีกด้านหนึ่ง เพื่อให้ตัวยาฟุ้งกระจายเข้าไปในโพรงจมูก ผู้ที่ใช้ยานัตถุ์จะรู้สึกเคลิบเคลิ้มเหมือนได้สูบบุหรี่ ปัจจุบันการนัดยาในประเทศไทยนั้นยังพบเห็นได้ในกลุ่มผู้สูงอายุตามชนบทบางจังหวัด         ในประเทศไทยนั้นยานัตถุ์จัดเป็นยาสามัญประจำบ้านตามประกาศพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ของกระทรวงสาธารณสุข แต่ต้องเป็นสูตรที่ไม่มีส่วนผสมของยาเสพติดให้โทษ ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษใด ๆ ร่างกายดูดซึมนิโคตินและสารเคมีอื่นๆ เข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางเยื่อบุปากหรือจมูก ระดับนิโคตินในเลือดมีความคล้ายคลึงกันระหว่างผู้สูบบุหรี่และผู้ใช้ยานัตถุ์         เมื่อ 16 มีนาคม 2023 www.fda.gov มีบทความเรื่อง FDA Authorizes Copenhagen Classic Snuff to be Marketed as a Modified Risk Tobacco Product มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า หลังจากการตรวจสอบหลักฐานที่มีอยู่อย่างเข้มงวด รวมถึงคำแนะนำจากคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ (Tobacco Products Scientific Advisory Committee) ความคิดเห็นสาธารณะ และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่มีอยู่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาสรุปว่า คำกล่าวอ้างเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงมะเร็งปอดในส่วนที่เกี่ยวกับยานัตถุ์นั้น มีความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า หากผู้สูบบุหรี่ในปัจจุบันเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่โดยสิ้นเชิงมาใช้ผลิตภัณฑ์นี้ พวกเขาจะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดลดลงได้ อย่างไรก็ดีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯไม่ได้กล่าวว่า ยานัตถุ์นั้นไม่มีอันตรายใด ๆ ดังนั้นใครที่ไม่เคยเสพยานัตถุ์ก็ไม่ควรเริ่มเสพ เพราะถ้าไปดูข้อความบนตลับยานัตถุ์ที่มีขายในสหรัฐอเมริกาบางยี่ห้อนั้นจะพบคำเตือนประมาณว่า  ผลิตภัณฑ์นี้ทำให้เกิดโรคเหงือกและการสูญเสียฟันได้ (This product can cause gum disease and tooth loss)         ในเว็บ www.health.harvard.edu เมื่อ 17 เมษายน 2023 มีบทความเรื่อง Is snuff really safer than smoking? ซึ่งให้ข้อมูลตอนหนึ่งว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้รับการอนุมัติเป็นระยะเวลา 5 ปี ให้ทดลองโครงการใช้ยานัตถุ์เป็นทางลดการสูบบุหรี่ โดยบริษัทผู้ขายยานัตถุ์ต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ อย่างไรก็ดีแม้อัตรามะเร็งปอดลดลง แต่ถ้ากระบวนการทางการตลาดแบบใหม่ของยานัตถุ์กลายเป็นการดึงดูดผู้ที่ไม่สูบบุหรี่รวมถึงวัยรุ่นที่ไม่ได้ใช้ยานัตถุ์มาก่อนมาใช้ยานัตถุ์จนกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพให้กับคนจำนวนมาก โครงการนี้ต้องถูกยกเลิก         ในสหรัฐอเมริกานั้นยานัตถุ์เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามสถิติของ US.CDC (Centers for Disease Control and Prevention) นั้น ผู้ใหญ่ 5.7 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันเป็นประจำซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2 ของประชากรผู้ใหญ่ ส่วนนักเรียนมัธยมปลายก็ใช้เช่นกันด้วยร้อยละที่ใกล้เคียงกันคือร้อยละ 1.6 % และประเด็นที่น่าสนใจคือ มีข้อมูลว่า การใช้ยานัตถุ์นั้นมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการสูบบุหรี่คือ แค่ $300 ถึง $1,000 ต่อปี เทียบกับหลายพันดอลลาร์ต่อปีที่บางคนจ่ายในการสูบบุหรี่ และที่น่าสนใจคือ ไม่ทำให้ผู้อื่นสัมผัสควันบุหรี่มือสอง         ในด้านความปลอดภัยของยานัตถุ์นั้น ผู้บริโภคจำต้องรับสภาพว่า มีความเสี่ยงต่อการรับสารพิษใดบ้างเมื่อเริ่มใช้ ในบทความเรื่อง Smokeless tobacco and cigarette smoking: chemical mechanisms and cancer prevention ในวารสาร Nature Reviews Cancer ของปี 2022 ได้ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันจำนวนมากนำไปสู่การสัมผัสสารก่อมะเร็งหลายชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึง ซึ่งรวมถึงสารกลุ่มไนโตรซามีนเช่น  เอ็น-ไนโตรโซนอร์นิโคติน (N'-nitrosonornicotine) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งช่องปากที่พบได้ทั่วไปโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สารไนโตรซามีนที่พบเฉพาะในใบยาสูบ (ที่ยังไม่ถูกเผาไหม้หลังบ่ม) เกิดจากปฏิกิริยาของอัลคาลอยด์ในยาสูบกับเกลือไนไตรต์ ซึ่งมี 3 ชนิด ได้แก่ N'-nitrosonornicotine (NNN), 4-(methylnitrosamino)-1-(3-pyridyl)-1-butanone (NNK) และ 4-(methylnitrosamino)-1-(3-pyridyl)-1-butanol (NNAL) ซึ่งมีศักยภาพในการก่อมะเร็งปอด         จากการตั้งความหวังว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดในการใช้ยานัตถุ์ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่นั้น แต่โอกาสก่อปัญหาสุขภาพยังมีอยู่ เพราะเมื่อพิจารณาข้อมูลจาก US.CDC ที่กล่าวว่า ยานัตถุ์เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพอื่นๆ มากมาย ซึ่งรวมถึงข้อมูลงานวิจัยที่กล่าวว่า มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งในช่องปาก (เช่น ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม) หลอดอาหาร และตับอ่อน มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ก่ออันตรายต่อสมองของวัยรุ่นที่กำลังพัฒนา ก่อปัญหาเกี่ยวกับฟัน เช่น ฟันเปลี่ยนสี โรคเหงือก ฟันเสียหาย สูญเสียกระดูกรอบฟัน ฟันหลุด เพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและการคลอดก่อนกำหนดในผู้ใช้ที่ตั้งครรภ์ และเนื่องจากนิโคตินเป็นสิ่งเสพติดดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบใด ๆ จึงกลายเป็นนิสัยที่ยากจะเลิกได้อย่างรวดเร็ว         สุดท้ายแล้วสถานะของการนัตถุ์ยาต่อผู้บริโภคทั่วไปนั้นคือ ควรหลีกเลี่ยงถ้าไม่ใช่ผู้เสพติดบุหรี่ที่ต้องการเลิกบุหรี่ แม้ว่าแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันระบุว่า การนัตถุ์ยาปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ แต่สิ่งสำคัญคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้ย้ำตลอดเวลาว่า ไม่มีการสนับสนุนการใช้ยานัตถุ์และไม่รับรองให้ยานัตถุ์เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการสันทนาการ ที่ปลอดภัยแก่ประชาชน เพราะสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนคือ การไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 ฝึกฝนภาษาบนสมาร์ทโฟนด้วยปลายนิ้ว

        การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุใดก็ตาม เมื่อได้เรียนรู้ ทักษะความสามารถย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเป็นการเรียนรู้ผ่านห้องเรียนเท่านั้น การอ่านหนังสือ การอ่านข้อมูลจากแหล่งต่างๆ การเล่าสู่กันฟัง การอธิบายยกตัวอย่าง ฯลฯ รวมถึงการฝึกฝนทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เช่นกัน         ปัจจุบันภาษาเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาสากลที่ช่วยในการสื่อสารกันทั่วโลก ดังนั้นการมีความรู้ความเข้าใจในภาษาอังกฤษ ทั้งทางด้านการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียน ก็มีความสำคัญอย่างมาก        ฉบับนี้มาแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องใช้ทักษะด้านการอ่าน การเขียน และการฝึกพูด ด้วยแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Johnny Grammar Word Challenge ของ British Council ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ แอปพลิเคชันนี้เป็นการทดสอบคำศัพท์ การสะกดคำ และไวยากรณ์สำหรับภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันของผู้เรียนภาษาอังกฤษ โดยทดสอบผ่านการทำแบบฝึกหัดจากการแข่งขันกับเวลาภายในระยะเวลา 60 วินาที การเข้าใช้แอปพลิเคชัน ผู้ใช้สามารถเลือกลงทะเบียนเข้าใช้โดยการกรอกข้อมูลส่วนตัว หรือเข้าใช้ผ่าน facebook หรือเลือกเข้าใช้แบบ guest ซึ่งไม่ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว โดยภายในแอปพลิเคชันจะมีหมวดการทดสอบ 3 หมวด ได้แก่ หมวด Grammar (ไวยากรณ์) หมวด Words (คำศัพท์) และหมวด Spelling (สะกดคำ)         หมวด Grammar เป็นหมวดที่ทดสอบด้านไวยากรณ์ แบ่งตามหัวข้อจากระดับง่ายไปจนถึงระดับยาก ดังนี้ หัวข้อคำบุพบท (preposition) หัวข้อกริยาไม่ปกติ (Irregular verbs) หัวข้อคำคุณศัพท์และคำกริยาวิเศษณ์ (Adjectives & adverbs) หัวข้อคำนามนับได้และคำนามนับไม่ได้ (Countable and uncountable) หัวข้อกริยาที่มี  to และไม่มี  to หรือกริยาที่เติม ing และใช้แบบ noun (Infinitives or gerunds) หัวข้อการใช้คำ More or less หัวข้อเกี่ยวกับสี (Expression with colour) หัวข้อการใช้คำ Few and little หัวข้อคำวิเศษณ์ (Adverbial Clauses) หัวข้อกริยาช่วย (Modals) หัวข้อคำเชื่อม (Linkers) และหัวข้อคำสันธาน (Conjunctions)         หมวด Words (คำศัพท์) เป็นหมวดที่ทดสอบด้านคำศัพท์ แบ่งตามหัวข้อตามกิจกรรม ดังนี้ หัวข้อร้านอาหาร หัวข้อการท่องเที่ยว หัวข้อการสนทนาสั้นๆ หัวข้องานอดิเรก หัวข้อคำ idioms หัวข้อแสดงความเป็นตัวตน หัวข้อความสนใจ หัวข้อการทำงาน หัวข้อการสนทนาง่ายๆ และหัวข้อช้อปปิ้ง ส่วนหมวด Spelling เป็นหมวดที่ทดสอบด้านการสะกดคำ เมื่อกดในหมวดนี้แอปพลิเคชันจะนำไปสู่การทดสอบโดยกำหนดโจทย์ในรูปแบบประโยคและให้ผู้ใช้เลือกคำให้เหมาะสม ซึ่งในหมวดนี้จะเป็นการทบทวนการใช้ประโยคไปในตัว ทั้งนี้เมื่อจบบททดสอบการสะกดคำแล้ว แอปพลิเคชันจะสรุปและเฉลยคำตอบทีละข้อเพื่อให้ตรวจสอบและทำความเข้าใจอีกครั้งมาฝึกฝนเพื่อเพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษกันผ่านแอปพลิเคชันนี้กัน เพราะการเรียนและฝึกฝนทุกวันจะช่วยพัฒนาศักยภาพของเราได้อย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 แผ่นพับโฆษณา คือส่วนหนึ่งของสัญญา

        ถ้าเราจะซื้อบ้านหรือคอนโดสักหลัง แน่นอนว่าเราย่อมต้องอยากเห็นก่อนว่าบ้านหรือคอนโดที่จะซื้อนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร         ปัจจุบันผู้ประกอบการมักชอบประกาศขายบ้านตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จ มีการโฆษณาในช่องทางต่างๆ รวมถึงใช้เอกสารแผ่นพับโฆษณาเพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราได้เห็นได้ศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ อย่างไรก็ตามภาพที่นำมาใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อก็มักทำให้เราวาดฝัน หลงเชื่อว่าจะได้บ้านหรือคอนโดตามที่โฆษณาไว้ เมื่อจ่ายเงินไปแล้ว บางครั้งเราก็ไม่ได้บ้านหรือคอนโดตามโฆษณาเรียกว่าได้ของไม่ตรงปกเช่นนี้ ทำให้เกิดปัญหาฟ้องร้องของผู้บริโภคตามมา อย่างเช่นในคดีหนึ่งเรื่องมีอยู่ว่า...         แผ่นพับโฆษณาขายอาคารชุดของผู้ประกอบการ แสดงรูปแผนผังทางพิพาทที่เป็นทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดติดต่อกับพื้นที่อาคารชุด ผู้ซื้ออาคารชุดเมื่อเห็นรูปแผนผังก็ทำให้เข้าใจว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นพื้นที่ที่เจ้าของร่วมจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของอาคารชุด แต่ปรากฎว่าผู้ประกอบการไม่ยอมจดทะเบียนที่ดินทางพิพาทให้เป็นทรัพย์ส่วนกลาง ผู้บริโภคก็เห็นว่าแผ่นพับข้อมูลโฆษณาทำให้เกิดความเข้าใจผิด คิดว่าได้คอนโดติดชายหาด จึงนำเรื่องฟ้องต่อศาลซึ่งในคดีนี้ ศาลฏีกาได้ตัดสินไว้ว่า แผ่นพับโฆษณาขายคอนโดของผู้ประกอบการถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อห้องชุด เมื่อผู้ประกอบการทำการโฆษณาโดยปกปิดไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับที่ดินทำให้ผู้ซื้อเข้าใจไปว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นพื้นที่ที่เจ้าของร่วมจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของอาคารชุด การโฆษณาของผู้ประกอบการจึงเป็นการโฆษณาด้วยข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค จึงตัดสินให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนโอนที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของโจทก์โดยปลอดภาระผูกพัน เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค         คำพิพากษาฎีกาที่  5351/2562         แผ่นพับโฆษณาเป็นประกาศโฆษณาที่จำเลยแจกจ่ายแก่ผู้ซื้อห้องชุด เพื่อจูงใจให้ผู้พบเห็นเข้าทำสัญญากับจำเลย สิ่งที่จำเลยกำหนดในแผ่นพับที่เป็นสื่อกลางโฆษณาให้ผู้ซื้อทราบว่าจะได้รับสิ่งใดเป็นการตอบแทนการเข้าทำสัญญาซื้อห้องชุดจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างจำเลยกับผู้ซื้อ ดังที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจจึงมีหน้าที่ตามมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมที่จะต้องแจ้งข้อที่ผู้บริโภคควรทราบให้กระจ่างชัด ทั้งต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมในการโฆษณาต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับ สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการไม่ว่าในทางใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) บัญญัติว่า ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรม ดังนี้ แม้จำเลยไม่มีเจตนาให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด แต่ตามแผ่นพับโฆษณา รูปแผนผังที่ปรากฏทางพิพาทที่เป็นทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดติดต่อกับพื้นที่อาคารชุด มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยอันมีผลต่อสถานะความเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ทำให้ผู้ซื้อเข้าใจไปว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นพื้นที่ที่เจ้าของร่วมจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของอาคารชุด การโฆษณาของจำเลยจึงเป็นการโฆษณาด้วยข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดังบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) จำเลยจึงต้องรับผลแห่งการโฆษณานั้น การที่จำเลยไม่แสดงให้ชัดแจ้งเพื่อให้ปรากฏแก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนในการโฆษณา ในขอบมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมกับภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม แม้จำเลยไม่มีเจตนาลวงผู้บริโภค จำเลยก็ต้องผูกพันตามแผนผังในแผ่นพับโฆษณา ซึ่งถือเป็นข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย ดังที่บัญญัติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 และแม้ลักษณะที่แสดงตามแผ่นพับจะแสดงว่า ทางและที่ดินติดชายหาดเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันของโรงแรมและอาคารชุดก็ตาม ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ก็ยังคงมีสถานะเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมอยู่ด้วย         การที่โรงแรมมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์ด้วย หาทำให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมไม่ ทั้งทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดนั้น นอกจากทรัพย์สินอื่น ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ยังหมายความถึงทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ถือเป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วยดังบัญญัติความตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 และมาตรา 15 ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะขึ้นทะเบียนอาคารชุดระบุว่าเป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่หรือเจ้าของทรัพย์สินนั้นจะแสดงเจตนายกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นให้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นกรณีตกเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดโดยผลของกฎหมาย พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 66572 และโฉนดเลขที่ 66574 เฉพาะส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของโจทก์โดยปลอดภาระผูกพัน         จากคดีนี้ จึงเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคทุกท่าน เวลาที่เราซื้อบ้านหรือคอนโดควรเก็บหลักฐานแผ่นพับ หรือภาพการโฆษณาต่างๆ ไว้ เพื่อหากวันหนึ่ง บ้านหรือคอนโดที่เราซื้อไม่มีตามที่โฆษณาจะได้นำเป็นหลักฐานในการเรียกร้องสิทธิหรือให้ชดเชยเยียวยาได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 กรแสต่างแดน

เงินขวัญถุง         คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเมืองเดลลี สั่งปรับห้างจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป lifestyle เป็นเงิน 3,000 รูปี (ประมาณ 1,300 บาท) และขอให้ห้างคืนเงิน 7 รูปีที่เรียกเก็บเป็นค่าถุงกระดาษ ให้กับลูกค้าด้วย         คณะกรรมการได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่ง ว่าด้วยความบกพร่องในการให้บริการของห้าง ซึ่งอ้างว่าถุงกระดาษมีต้นทุนแพงกว่าถุงพลาสติก (ที่รัฐบาลประกาศห้ามใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565) จึงขอเรียกเก็บค่าถุงจากลูกค้า         คำถามคือห้างควรผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้ลูกค้าที่จ่ายเงินค่าสินค้าแล้วหรือเปล่า สำคัญกว่านั้นคือลูกค้าได้รับการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่         จากหลักฐานภาพถ่ายที่ยืนยันว่าห้างไม่ได้แจ้งให้ลูกค้านำถุงมาเอง รวมถึงไม่ได้บอกราคาและประเภทของถุงกระดาษ บริษัทจึงไม่สามารถเก็บค่าถุงที่ใช้ใส่สินค้าที่ซื้อจากทางร้านได้ และต้องจ่ายค่า “ทำขวัญ” ลูกค้าเป็นจำนวนดังกล่าว   ชื่อไฮเอนด์         เทศบาลกรุงโซลขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ลดความยาวและความซับซ้อนของโครงการอพาร์ตเมนท์ หลังผลสำรวจพบว่าชาวเมืองส่วนใหญ่ไม่ถูกใจสิ่งนี้         หลายปีที่ผ่านมาเกิดเทรนด์การตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์เป็นภาษาเกาหลีผสมกับภาษาต่างประเทศ ยำรวมกันทั้งชื่อย่าน ชื่อบริษัทที่ก่อสร้างรวมถึงชื่อแบรนด์เพื่อแสดงถึงความ “ไฮเอนด์” ทั้งที่ชื่อเหล่านี้ไม่ได้การันตีคุณภาพของที่อยู่อาศัย         เทศบาลฯ ได้สำรวจความเห็นประชากรกว่า 1,000 คน และพบว่าร้อยละ 77.3 ไม่ชอบชื่อยืดยาวแบบนี้ บางหมู่บ้านถึงกับร้องขอให้เอาชื่อของตัวเองออกจากชื่ออพาร์ตเมนท์ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวกันด้วย         หลังการพูดคุยมีผู้ประกอบการ 9 ราย (Samsung Hyundai และ Posco ก็อยู่ในกลุ่มนี้) ให้คำมั่นว่าจะตั้งชื่อโครงการให้สั้นและง่ายกว่าเดิม รวมถึงใช้คำภาษาเกาหลีให้มากขึ้น         เทศบาลโซลมีกำหนดจะประกาศ “แนวทางการตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์” ภายในครึ่งปีแรกของปี 2024  ซ่อมกันก่อน         เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนไม่ทิ้งขว้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหายเพียงเล็กน้อย รัฐบาลฝรั่งเศสจึงให้ “โบนัสช่วยซ่อม” แบบเหมาจ่ายมาตั้งแต่ปี 2022  โดยเงินช่วยเหลือดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการลดขยะและสร้างเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่ประกาศใช้เมื่อปี 2020         สิ่งที่จะเพิ่มมาในปี 2024 คือค่าซ่อมหน้าจอโทรศัพท์ 25 ยูโร (ประมาณ 950 บาท) และค่าซ่อมโน๊ตบุ๊ค 50 ยูโร         รวมแล้วจึงมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าข่ายได้รับเงินช่วยเหลือ 73 รายการ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน กาต้มน้ำ เครื่องทำกาแฟ โทรทัศน์และเครื่องเล่นดีวีดี         เงินช่วยเหลือนี้จะปรากฎเป็นส่วนลดในบิลค่าซ่อมโดยอัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องลงทะเบียน เพียงแต่ต้องไปใช้บริการกับร้านซ่อมที่เข้าร่วมโครงการ         ฝรั่งเศสตั้งเป้าเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ารับการซ่อมจากปีละ 10 ล้านชิ้น เป็น 12 ล้านชิ้นให้ได้ภายในปี 2027   ไม่ใช่ที่สูบ         อุตสาหกรรมท่องเที่ยวญี่ปุ่นออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการห้ามสูบบุหรี่ให้มากขึ้น โดยอาจระบุ “พื้นที่สูบบุหรี่” ผ่านแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวในภาษาต่างๆ เป็นต้น         ญี่ปุ่นห้ามการสูบบุหรี่ทั้งในอาคารและกลางแจ้ง (ยกเว้นในพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่) มาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงการระบาดของโควิด 19 จึงไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากนัก แต่เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว จำนวนชาวต่างชาติที่ถูกปรับเพราะ “เดินไปสูบไป” ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในบางเมืองเช่น โกเบ มีถึงร้อยละ 40 ของผู้ฝ่าฝืนที่เป็นนักสูบจากต่างแดน         นอกจากกฎหมายที่ใช้ทั่วประเทศแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมบางแห่งมีค่าปรับสำหรับการสูบบุหรี่ในพื้นที่ด้วย เช่น การสูบบุหรี่ในสวนนารา มีค่าปรับ 1,000 เยน (ประมาณ 240 บาท) โดยเจ้าหน้าที่สามารถแสดงตนและปรับผู้ฝ่าฝืนได้ทันที   ลดเวลาหน้าจอ         กระทรวงเด็กและโรงเรียนของเดนมาร์กเล็งออกกฎหมายห้ามศูนย์รับดูแลเด็กเล็กใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ช่วยเลี้ยงเด็ก         ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ดูแลจะให้เด็กดูหน้าจอแท็บเล็ตหรือโทรทัศน์ไม่ได้ เพียงแต่ต้องจำกัดเวลา เช่น สำหรับเด็กอายุไม่เกินสองปี จะอนุญาตให้ดูหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตได้ในกรณีที่ “จำเป็นอย่างยิ่ง” เท่านั้น เพราะเด็กเล็กไม่ควรมี “เวลาหน้าจอ” มากเกินไป         ขณะที่เด็กอายุระหว่างสามถึงห้าปีจะอนุญาตให้ใช้หน้าจออย่างเหมาะสม โดยเด็กจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้รับผิดชอบ         สรุปว่าสถานรับเลี้ยงเด็กจะอ้างว่าจำเป็นต้องปล่อยให้เด็กดูจอเพราะ “วันนี้ยุ่งมาก” หรือ “ใกล้เวลาพ่อแม่มารับแล้ว” ไม่ได้ รัฐมนตรีฯ เขามองว่ามันเป็นความบกพร่องในการดูแลเยาวชนของชาติ กระทรวงฯ คาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านเป็นกฎหมายได้ในเดือนกรกฎาคมปี 2024   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 ชวนคิดเรื่องการประหยัดค่าไฟฟ้าภายในบ้าน

        นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศผิวโลกในปี 2567 จะสูงกว่าของปีที่แล้วซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่มีการจดบันทึกมา  สาเหตุสำคัญเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล) แล้วลอยขึ้นไปทำหน้าที่เป็นผ้าห่มโลก ดังนั้นเมื่อเรายังคงปล่อยก๊าซฯ ต่อไปผ้าห่มก็จะหนาขึ้น โลกจึงร้อนขึ้นตามกลไกที่ตรงไปตรงมาที่เราเข้าใจกันอยู่แล้ว         คราวนี้หันมามองตัวเราเองบ้าง เมื่ออุณหภูมิอากาศสูงขึ้นและจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเยอะด้วย เนื่องจากเราอยู่ในเขตร้อนของโลก เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร  แต่ไม่ว่าจะแก้ไขอย่างไรก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ทั้งจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่มากขึ้นและอัตราค่าไฟฟ้าที่เป็นอัตราก้าวหน้า นั่นคือยิ่งใช้จำนวนมาก อัตราค่าไฟฟ้าก็จะกระโดดขึ้นเป็นเหมือนขั้นบันได บางคนพูดตลกว่า “เห็นใบแจ้งค่าไฟฟ้าแล้วจะหนาว”         เรื่องที่ผมขอชวนคิดในวันนี้เกี่ยวกับการประหยัดค่าไฟฟ้าภายในบ้าน หากท่านใดพิจารณาแล้วเห็นว่าพอจะปฏิบัติได้ก็ลงมือทำเลยครับ ท่านที่ไม่สามารถทำได้ก็ขอเพียงรับรู้และบอกเล่ากันต่อไป         เรื่องมีอยู่ว่า ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 800 หน่วยต่อเดือนควรเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU  ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าคิดตามเวลาที่ใช้ (Time of Use)         กล่าวคือ ตั้งแต่ 4 ทุ่มจนถึง 9 โมงเช้าของวันจันทร์ถึงวันศุกร์และตลอด 24 ชั่วโมงของวันเสาร์และอาทิตย์ (เราเรียกว่าเป็นช่วงนอกพีค Off Peak) อัตราค่าไฟฟ้าจะมีราคาถูกและเป็นอัตราคงที่ด้วย จะใช้มากหรือใช้น้อยก็มีอัตราเท่าเดิม (เฉพาะค่าไฟฟ้าอย่างเดียวหน่วยละ 2.6369 บาทต่อหน่วย) แต่ถ้าใช้นอกเหนือจากช่วงเวลาดังกล่าว(ช่วงพีค) อัตราค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้น (ค่าไฟฟ้าอย่างเดียว 5.7982 บาทต่อหน่วย) ในขณะที่มิเตอร์แบบธรรมดาประเภทผู้อยู่อาศัย 1.2 อัตราค่าไฟฟ้าประมาณ 4.19 บาทต่อหน่วยและเป็นอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้มาก อัตรายิ่งเพิ่มขึ้น        โปรดอ่านช้าๆ อีกครั้งครับ         ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้มิเตอร์แบบ TOU ถ้าเราใช้ไฟฟ้าไม่มากพอ เราจะไม่ได้ประโยชน์ บางกรณีค่าไฟฟ้าจะมากกว่ามิเตอร์แบบเดิมเสียด้วยซ้ำ  สมมุติว่าเราใช้ไฟฟ้าเดือนละ 1,000 หน่วย หากใช้มิเตอร์แบบเดิม (ประเภท 1.2) จะเสียค่าไฟฟ้ารวมในช่วงมกราคมถึงเมษายน 2567 เดือนละ 4,941 บาท   เมื่อเปลี่ยนมาใช้มิเตอร์แบบ TOU  และมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าในพีคและนอกพีค ดังตาราง         อนึ่ง จากข้อมูลของการไฟฟ้านครหลวง พบว่าค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนมิเตอร์ TOU ประเภทแรงดันต่ำ เท่ากับ 6,640 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)  ดังนั้นหากสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าเท่ากับ 200:800 การเปลี่ยนมิเตอร์ก็จะคุ้มทุนในเวลาประมาณ 7 เดือน  หากเปลี่ยนสัดส่วนการใช้เป็น 300:700 ก็จะใช้เวลาประมาณ 10 เดือนจึงจะคุ้มทุน         เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นทางเลือกที่มากขึ้น ผมจึงลองสมมุติสถานการณ์ใหม่ คือ ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 800 หน่วย ถ้าใช้มิเตอร์เดิมจะเสียค่าไฟฟ้าเดือนละ 3,910 บาท ถ้าเปลี่ยนเป็น TOU แล้วมีสัดส่วนการใช้เป็น 200:600 ค่าไฟฟ้าใหม่จะเป็น 3,300 บาท ลดลง 610 บาท นั่นคือ ระยะเวลาคุ้มทุนจะเป็น 11 เดือน         ถ้าใช้ไฟฟ้าเดือนละ 600 หน่วย มิเตอร์เดิมจะจ่ายค่าไฟฟ้ารวม 2,878 บาท แต่ถ้าเป็นมิเตอร์ TOU โดยมีสัดส่วน 200:400 ค่าไฟฟ้าใหม่จะเท่ากับ 2,651 บาท ลดลง 227 บาท ดังนั้นต้องใช้เวลานาน 29 เดือน จึงจะคุ้มทุน ข้อควรระวังและคำแนะนำ          (1)        ต้องมีการวางแผนการใช้ไฟฟ้าตามเวลาที่กำหนด เช่น ซักผ้า (ด้วยเครื่อง) ก่อน 8 โมงเช้า เปิดแอร์นอนหลัง 4 ทุ่ม และรีดผ้าวันเสาร์ เป็นต้น ผู้บริโภคควรพิจารณารายละเอียดอย่างอื่นประกอบด้วย เช่น ในแต่ละวันเราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่นอกบ้านหรือในบ้าน         (2)        จากผลการคำนวณดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าใช้ไฟฟ้าน้อยเดือนละ 600 หน่วย ต้องใช้เวลา 29 เดือนจึงจะคุ้มทัน แต่ถ้าใช้ตั้งแต่เดือนละ 800 หน่วยขึ้นไปยิ่งมีความน่าสนใจ ยิ่งใช้มากยิ่งคุ้มทุนเร็วขึ้น        (3)        ผู้บริโภคที่มีรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ควรเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU ครับ รถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ชาร์จไฟฟ้าครั้งละ 20 หน่วย สามารถแล่นได้ 100 กิโลเมตร ถ้าเราชาร์จแบตเตอรี่หลัง 4 ทุ่ม ก็ยิ่งเพิ่มสัดส่วนการใช้นอกพีคเพิ่มขึ้น ความคุ้มทุนก็จะยิ่งเร็วขึ้น ใช้ไฟฟ้าอัตรา 2.64 บาทต่อหน่วย แล่นได้ 5 กิโลเมตร เฉลี่ยรถยนต์คันนี้ใช้เชื้อเพลิงกิโลเมตรละ 53 สตางค์ ถูกกว่าการใช้น้ำมันหลายเท่าตัว         ถ้าไม่คุ้มแล้วจะเรียกว่าอะไร          อ้อ ขอย้ำอีกครั้งว่านี่เป็นการคิดบนฐานของการประหยัดค่าไฟฟ้าเท่านั้น อันเนื่องมาจากกติกาของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน ตอนต่อไปผมจะชวนคิดเรื่องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ซึ่งเป็นเรื่องของการประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญของโลก โปรดติดตามกันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 สมาร์ตวอทช์

        ฉลาดซื้อขอนำเสนอผลทดสอบเปรียบเทียบนาฬิกาอัจฉริยะหรือสมาร์ตวอทช์ ที่สมาชิกองค์ทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) ร่วมกันทำไว้อีกครั้ง ตัวอย่างที่ทดสอบเป็นรุ่นที่วางจำหน่ายช่วงครึ่งหลังของปี 2566 คราวนี้เราคัดมาเฉพาะรุ่นที่ได้คะแนนรวมในระดับต้นๆ มีให้คุณได้เลือก 17 รุ่น และสมาร์ตแบนด์อีก 4 รุ่น ในสนนราคาระหว่าง 899 ถึง 31,900 บาท          การทดสอบครั้งนี้แบ่งคะแนนออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่         - ร้อยละ 35 ความแม่นยำในการวัด “ความฟิต” เช่น จำนวนก้าวขณะเดิน วิ่ง และเคลื่อนไหวทั่วไป รวมถึงระยะทางและอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น        - ร้อยละ 20 ความสะดวกในการใช้งาน เช่น ตั้งค่า เลือกเมนู ดูหน้าจอ และความรู้สึกคล่องตัวขณะสวมใส่         - ร้อยละ 15 ฟังก์ชันสมาร์ต เช่น การโทร/รับสาย รับ/ส่งข้อความ อีเมล ใช้โซเชียลมีเดีย ฟังเพลง                    - ร้อยละ 15 แบตเตอรี เช่น ระยะเวลาชาร์จและระยะเวลาการใช้งาน                - ร้อยละ 10 การใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชันต่างๆ             - ร้อยละ 5 รูปลักษณ์ วัสดุ คุณภาพการประกอบ เป็นต้น             - ร้อยละ 5 รูปลักษณ์ วัสดุ คุณภาพการประกอบ เป็นต้น         ในภาพรวมอุปกรณ์สมาร์ตทั้ง 21 รุ่นที่เรานำเสนอได้คะแนนรูปลักษณ์ภายนอกในระดับ 5 ดาว คะแนนด้านประสิทธิภาพการทำงานและความสะดวกในการใช้งานก็ไม่ต่างกันมาก แต่ความแตกต่างของคะแนนอยู่ที่ความหลากหลายและการใช้งานของฟังก์ชันสมาร์ต รวมถึงแบตเตอรี และการใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชัน พลิกหน้าต่อไปเพื่อเลือกสมาร์ตวอทช์ที่ถูกใจ ในงบประมาณที่อยากจ่ายกันได้เลย         หมายเหตุ ราคาที่แสดง เป็นราคาในช่วงเดือนธันวาคม 2566 โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ                 (ติดตามผลทดสอบเปรียบเทียบที่เราเคยนำเสนอได้ในฉลาดซื้อฉบับที่ 265, 256, 242, 215 และ 177)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 274 ภัยครีมผิวขาวผิดกฎหมาย

ธันวาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงผลการทดสอบเครื่องสำอางที่ขายผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์พบสารห้ามใช้ 8 รายการ อาทิ ปรอท สารสเตียรอยด์ ที่อาจทำให้เกิดการแพ้ เกิดฝ้าถาวร เสี่ยงพิษร้ายแรง  ทำให้หวนนึกถึงเหตุการณ์เมื่อต้นปี 2566 ที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) EcoWaste Coalition จากประเทศฟิลิปปินส์ และเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IPEN-SEA) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีสมาชิกองค์กรภาคประชาสังคมจากกว่า 120 ประเทศทั่วโลกที่ติดตามปัญหามลพิษในระดับนานาชาติ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อวันที่  6 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อเรียกร้องให้ อย. เปิดเผยรายชื่อรายการเครื่องสำอางที่ปนเปื้อนสารปรอทที่มีการเพิกถอนแล้วให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงขอให้นำระบบการแจ้งเตือนภายหลังออกสู่ท้องตลาดของอาเซียน (ASEAN Post-Marketing Alert System: PMAS) มาใช้แจ้งเตือนหน่วยงานรัฐและผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนให้ทราบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตขึ้นโดยไม่คำนึงถึงข้อกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะที่ปนเปื้อนสารปรอทและสารต้องห้าม หรือสารควบคุมอื่นๆ  “ได้โปรดดำเนินการจัดการผู้กระทำความผิด เพื่อยุติการขายเครื่องสำอางที่มีการปนเปื้อนของสารปรอทอย่างผิดจริยธรรมและกฎหมาย และเพื่อปกป้องสิทธิทางสุขภาพที่ดีและสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ไร้มลพิษ”         เครื่องสำอางที่เอ็นจีโอฟิลิปปินส์ EcoWaste Coalition  ตรวจพบการปนเปื้อนของสารประกอบของปรอทนั้น ได้แก่       ครีมเลดี้โกลด์ สาหร่ายทองคำ ผสมกลูต้า, ครีม Super Gluta Brightening, ครีมหมอยันฮี จำนวน 5 สูตร (Dr. Yanhee), ครีม Dr. วุฒิ-ศักดิ์ จำนวน 2 สูตร (Dr. Wuttisak), ครีมสมุนไพรสาหร่ายเหมยหยง ซุปเปอร์ไวท์เทนนิ่ง (Meyyong Seaweeds Super Whitening), ครีมพอลล่าโกลด์ (Polla Gold Super White Perfects), ครีมไข่มุกนาโน (White Nano), ครีมบำรุงหน้า 88 สูตรกลางคืน (88 Whitening Night Cream), ครีมรักแร้ขาว 88 (88 Total White Underarm Cream) และครีมรักแร้ขาว สโนว์ไวท์ (Snow White Armpit Whitening Underarm Cream) ซึ่งพบสารปรอทในปริมาณที่สูงมากระหว่าง 2,486 ppm ไปจนถึง 44,540 ppm และทุกตัวอย่างฉลากระบุว่า “ผลิตในประเทศไทย”          ต่อมาทาง อย.ได้สื่อสารต่อสาธารณะในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 โดย ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ว่า  “อย. ตรวจสอบพบว่าเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง 13 รายการ จดแจ้งแล้ว 1 รายการ ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่ามีการกระทำผิดหรือลักลอบใส่สารห้ามใช้ จะถูกดำเนินการตามกฎหมายและประกาศผลวิเคราะห์ทันที สำหรับเครื่องสำอางเถื่อน อย. จะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบหาแหล่งผลิตและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” ในไทยก็ขายเกลื่อน         จากข้อสรุปข้างต้นคือ เครื่องสำอางที่เอ็นจีโอฟิลิปปินส์พบการปนเปื้อนสารประกอบของสารปรอทนั้น เกือบทั้งหมดเป็นเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ไม่มีการกำกับเบื้องต้นจากหน่วยงาน อย. หรือไม่มีเลขจดแจ้ง (เครื่องหมาย อย.สำหรับเครื่องสำอาง) สำหรับ 1 ตัวอย่างที่พบเลขจดแจ้ง ต้องรอดูว่า ทาง อย.จะดำเนินการอย่างไร จะยกเลิกสถานะและดำเนินคดีทางกฎหมายหรือไม่         อย่างไรก็ตามทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคกลาง ตั้งข้อสังเกตว่า แล้วทำไมสินค้าเครื่องสำอางปลอมจึงระบาดไกลไปถึงฟิลิปปินส์ และในประเทศไทยจะยังมีวางขายหรือไม่ หาซื้อง่ายหรือไม่  จึงได้ทดลองหาซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทอ้างว่าทำให้ผิวขาวหรือครีมผิวขาวผิดกฎหมาย โดยตั้งใจตามหายี่ห้อเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ทางเอ็นจีโอฟิลิปปินส์พบว่ามีการปนเปื้อนสารประกอบของปรอท ในเดือนมีนาคม 2566 หลังจากนั้นเพื่อยืนยันในเบื้องต้นว่า ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปรากฎแลขจดแจ้ง หรือจะเรียกอีกอย่างว่า เป็นสินค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ มีการใส่สารต้องห้าม อย่างปรอทจริงหรือไม่ (เมื่อจำหน่ายในประเทศ) ฉลาดซื้อและมูลนิธิบูรณะนิเวศ จึงได้ทดสอบผลิตภัณฑ์จำนวน 12 ตัวอย่างที่เก็บตัวอย่างมา โดยทดสอบด้วย  ชุดตรวจปรอทในเครื่องสำอางเบื้องต้น (Mercury test kit in cosmetic)    พบว่า มีสารประกอบของปรอททุกตัวอย่าง ในไทยก็ขายเกลื่อน         จึงฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้บริโภค อย่าซื้อ อย่าใช้เครื่องสำอางผิดกฎหมาย ถ้าไม่แน่ใจเลขจดแจ้งที่ผู้ผลิตระบุ ตรวจสอบได้ที่  https: //oryor.com/check-product serial ลิ้งก์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. ) (oryor.com)  อันตรายของเครื่องสำอางที่มีการพบสารปรอท อาจทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ       ข้อแนะนำ         1.ซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน น่าเชื่อถือ และมีหลักฐานการซื้อขายที่ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจน         2.ฉลากภาษาไทยมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน ได้แก่ ชื่อเครื่องสำอาง ชื่อทางการค้า ประเภทเครื่องสำอาง ชื่อของสารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตหรือปีเดือนที่ผลิต คำเตือน (ถ้ามี) และเลขที่ใบรับจดแจ้ง         3.กรณีที่พบผลิตภัณฑ์ ที่สงสัยว่าจะเป็นอันตราย สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ                   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 สำรวจฉลากโภชนาการ “ขนมในกระเช้าปีใหม่”

        ช่วงเทศกาลส่งความสุขในปีใหม่นี้ ผู้บริโภคคนไหนกำลังคิดจะเลือกซื้อขนมอบกรอบหวานหอม และขนมขบเคี้ยวเค็มๆ มันๆ ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์สีสันสดใส มาจัดกระเช้าปีใหม่ ด้วยหวังว่าผู้รับจะชอบใจ อยากให้แตะเบรกไว้ก่อน เพราะแม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ยอดฮิตที่มักมอบให้กันในโอกาสพิเศษต่างๆ แต่อย่าลืมว่าขนมเหล่านี้มีส่วนผสมหลักเป็นแป้ง น้ำตาล เนย นม เกลือ ผงฟู และสารกันเสีย ซึ่งหากกินเข้าไปเยอะๆ บ่อยๆ อาจเกิดการสะสมของน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดได้         นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างขนมในกระเช้าปีใหม่ (คุกกี้ บิสกิต แครกเกอร์ และพาย) จำนวน 11 ตัวอย่าง ในช่วง 1 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2566 มาเปรียบเทียบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ (ปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม) และราคาต่อปริมาณ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคว่าจะเลือกขนมเหล่านี้จัดใส่กระเช้าปีใหม่ดีไหมหนอ  ผลการสำรวจ        ·     ทุกตัวอย่างระบุเลขที่ใบอนุญาตจาก อย. ไว้ถูกต้อง ตรวจสอบข้อมูลได้         ·     เมื่อพิจารณาฉลากโภชนาการของขนม 11 ตัวอย่าง พบว่า ยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค มีปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำมากที่สุดคือ 34 กรัม ส่วนยี่ห้อไฮไท แครกเกอร์ รสดั้งเดิม และ ยี่ห้อเดนม่า คุกกี้สอดไส้รสผลไม้ มีน้อยที่สุดคือ 25 กรัม         ·     เมื่อเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 หน่วยบริโภค พบว่า            -        ปริมาณพลังงานมากที่สุด = 180 กิโลแคลอรี คือยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค ส่วนยี่ห้อล็อตเต้ ช็อกโกพาย บานาน่า มีน้อยที่สุด  = 120 กิโลแคลอรี            -        ปริมาณน้ำตาลมากที่สุด = 11 กรัม  คือยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม ส่วนยี่ห้อไฮไท แครกเกอร์ รสดั้งเดิม มีน้อยที่สุด = 2 กรัม             -        ปริมาณไขมันมากที่สุด = 9 กรัม ได้แก่ ยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค และยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ส่วนยี่ห้อล็อตเต้ ช็อกโกพาย บานาน่า และยี่ห้อแซง มิเชล กาเลต โอ เบอร์ ทิน บัตเตอร์ คุกกี้ มีน้อยที่สุด = 5 กรัม             -        ปริมาณโซเดียมมากที่สุด = 135 มิลลิกรัม คือ ยี่ห้อแมคไวตี้ส์ ไดเจสทีฟ ออริจินอล(บิสกิตข้าวสาลี) ส่วนยี่ห้อเดนม่า คุกกี้สอดไส้รสผลไม้  มีน้อยที่สุด = 40 มิลลิกรัม         ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อบาวเซ่น เดโลบา บลูเบอร์รี่ แพงสุดคือ 0.95 บาท ส่วนยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม ถูกสุดคือ  0.22 บาท  ข้อสังเกต        - เมื่อคำนวณในปริมาณ 1 หน่วยบริโภคที่เท่ากัน คือ 30 กรัม (ปริมาณเฉลี่ย ได้จากผลรวมของปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ÷ 11) พบว่า ยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ มีปริมาณพลังงานมากที่สุด = 160 กรัม ส่วนยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม มีทั้งน้ำตาล (11.96 กรัม) และโซเดียม (141.30 มิลลิกรัม) ในปริมาณมากที่สุด         - หากเรากินโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม 1 ห่อ (3 ชิ้น) จะได้รับน้ำตาลเกือบครึ่งหนึ่งของที่แนะนำให้กินได้ต่อวัน(ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 24 กรัมต่อวัน) ถ้าเผลอกินเพลินเกิน 2 ห่อต่อวัน ร่างกายจะได้น้ำตาลเกินจำเป็น         - วัยผู้ใหญ่ไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้น หากกินขนมแมคไวตี้ส์ ไดเจสทีฟ ออริจินอล (บิสกิตข้าวสาลี) 2 ชิ้น หรือโอรีโอ ช็อกโกแลตครีม 3 ชิ้น ก็จะได้รับโซเดียมเกินครึ่งหนึ่งของที่แนะนำไว้แล้ว        - เมื่อลองนำเกณฑ์สัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกสุขภาพ” มาพิจารณา ในปริมาณขนม 100 กรัม         ขนมบิสกิตและแครกเกอร์   กำหนดให้มีน้ำตาล ≤ 7 กรัม  และโซเดียม ≤ 500 มิลลิกรัม พบว่าทุกตัวอย่างมีน้ำตาลเกิน และมีโซเดียมอยู่ในเกณฑ์        ขนมคุกกี้  กำหนดให้มีน้ำตาล ≤ 20 กรัม และ โซเดียม ≤ 300 มิลลิกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างมีน้ำตาลเกิน และมีโซเดียมเกินเกณฑ์นี้ 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม (471.01 มก.)  ยี่ห้อบาวเซ่น เดโลบา บลูเบอร์รี่ (348.48 มก.) และยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค (323.53 มก.)         - ทุกตัวอย่างบอกวันผลิตและวันหมดอายุไว้ มีอายุตั้งแต่ 10 – 21 เดือน โดยมี 8 ตัวอย่างที่อายุ 1 ปี         - ยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ระบุวันหมดอายุ 01.12.23 และมีอายุนับจากวันผลิตนานถึง 21 เดือน         - มี 3 ตัวอย่างที่ผลิตในประเทศไทย ส่วนใหญ่ผลิตจากต่างประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เยอรมันฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร         - ทุกตัวอย่างแสดงข้อความเตือนว่า “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ”     ฉลาดซื้อแนะสำหรับผู้ให้        - หากจะซื้อขนมมาจัดกระเช้าปีใหม่ ต้องดูวันหมดอายุให้ดีๆ เพราะอาจมีสินค้าใกล้หมดอายุมาวางขายปะปนบนชั้นได้ ยิ่งถ้าใครซื้อแบบกระเช้าสำเร็จรูปก็ต้องตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ         - เลือกซื้อขนมที่ผลิตในประเทศไทย สนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ         - เปลี่ยนเป็นขนมที่ดีต่อสุขภาพแทน เช่น กระเจี๊ยบมอญอบกรอบ บร็อคโคลี่อบแห้ง งาดำอัดแท่งหวานน้อย ลูกเดือยกล้อง ถั่วเปลือกแข็ง (อัลมอนด์ วอลนัท) อบไม่ปรุงรส ดาร์คช็อคโกแล็ต (มี %cocoa มากกว่า 70%) เป็นต้น         - อย. แนะนำให้มอบกระเช้าของขวัญปีใหม่ในแบบ “สุขใจผู้ให้ ห่วงใยผู้รับ” โดยเลือกที่มีสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองแล้วว่ามีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมต่อสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สำหรับผู้รับ        - เมื่อได้รับขนมเหล่านี้เป็นของขวัญ มักได้เป็นกล่องหรือกระป๋องใหญ่ แกะแบ่งห่อเล็กปันคนอื่นๆ ด้วยก็ดีไม่ต้องเก็บไว้เยอะ และอย่าเผลอกินเกินจำนวนหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลากโภชนาการ เดี๋ยวจะอ้วน         - ถ้าวันไหนรู้ตัวว่ากินคุกกี้ แครกเกอร์ เยอะเกินแล้ว ก็ควรจะออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไป จะได้กินขนมให้อร่อยต่อไปได้โดยไม่ต้องกลัวอ้วนหรือรู้สึกผิดต่อตัวเอง         - กินขนมคู่กับน้ำเปล่าดีที่สุด หากไม่อยากได้รับน้ำตาล ไขมันและโซเดียมเพิ่มอีก         - อย่าชะล่าใจ กินขนมอบกรอบรสหวานๆ เสี่ยงเป็นเบาหวานแล้วยังเสี่ยงเป็นโรคไตด้วย เพราะโซเดียมไม่ได้มีแต่ในเกลือที่ให้รสเค็ม แต่ยังแฝงอยู่ในผงฝูและสารกันบูดที่เป็นส่วนผสมของขนมเหล่านี้ด้วย  ข้อมูลอ้างอิงwww.thaihealth.or.thwww.oryor.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่274 ปี 2567 สู่ประเทศไทยที่ธุรกิจโทรคมนาคมผูกขาดแล้วโดยสมบูรณ์

        วันที่ 1  มีนาคม 2567  จะครบรอบระยะเวลา 1 ปี  หลังบริษัททรู และดีแทค ดำเนินการควบรวมเป็นบริษัทใหม่ร่วมกันเสร็จสมบูรณ์ อย่างเป็นทางการในชื่อ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)”        ปัจจุบันกว่า 10 เดือนภายหลังการควบรวม สถานการณ์ไม่ผิดแผกและยังใกล้เคียงกับหลายคำเตือนที่หลากหลายฝ่ายได้ส่งเสียงเตือน ก่อน กสทช.ส่งสัญญาณ ไฟเขียวให้เกิดกการควบรวม ครั้งสำคัญในครั้งนี้        คือตลาดและอุตสาหกรรมโทรคมคมในประเทศไทย จาก 3 ราย จะเหลือเพียง 2 รายที่มีส่วนแบ่งตลาดที่ใกล้เคียงกัน ส่งผลต่อการแข่งขันอย่างเสรี ไม่อาจมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเปิดให้บริการได้อีกแล้วโดยง่าย และผลกระทบต่างๆ สุดท้ายย่อมตกถึงประชาชน         แรกเริ่มผลกระทบที่ประชาชนได้รับ ไม่ได้เด่นชัดมาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่มาจากศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ 101 Public Policy Think Tank ที่ได้ติดตามศึกษาวิจัยในชื่อว่า "กสทช. กับการ (ไม่?) บังคับใช้ตามมาตรการควบรวม TRUE-DTAC" เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา         งานศึกษาชิ้นนี้ได้สัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดตามมาตรการการควบรวมที่ กสทช. กำหนดให้บริษัทต้องดำเนินการและเรื่องสำคัญคือ การลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของทั้งสองค่ายที่จะต้องลดลงร้อยละ 12  ใน 90 วัน แต่ข้อค้นพบจากงานวิจัยครั้งนี้กลับไม่เป็นไปอย่างนั้น         รายงานวิจัยซึ่งสำรวจประสบการณ์ผู้บริโภคจำนวน 99 หมายเลข จาก "ทุกค่ายมือถือ" ใน 50 จังหวัดทุกภูมิภาค (ระบบเติมเงิน 48 หมายเลข และระบบรายเดือน 51 หมายเลข) พบว่า หลังจากการควบรวมของทรู-ดีแทค ผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมไทยทั่วประเทศจ่ายค่าบริการโทรศัพท์มือถือโดยเฉลี่ยลดลงราว 0.5-3.1% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการรวมธุรกิจ แต่นาทีการโทรและปริมาณอินเทอร์เน็ตมือถือที่ผู้บริโภคได้รับก็ลดลงด้วยเช่นกัน         อย่างไรก็ตาม เมื่อดูเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้เครือข่ายของทรูและดีแทค กลับพบว่ากลุ่มนี้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยรวมราว 2.9% โดยกลุ่มที่ใช้แพ็กเกจแบบรายเดือนจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นสูงถึง 12.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยที่นาทีการโทรได้เพิ่มเพียง 1.4% เท่านั้น ส่วนปริมาณอินเทอร์เน็ตที่ได้รับกลับลดลง 3.3%         ราคาค่าบริการจริง ๆ ยังลดลงไม่ถึงตามเกณฑ์ 12% ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจจะลดลงไปเพียง 2-3% เท่านั้น...หรือหากมองว่านาทีการโทรได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนปริมาณอินเทอร์เน็ตที่ได้รับกลับลดลงด้วย...ค่าบริการย่อมไม่เคยลดลงเลย         อีกฟากหนึ่ง ผลเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการไม่ได้อยู่เพียงในรายงานวิจัยชิ้นนี้เท่านั้น เมื่อประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมากขึ้นๆ อย่างต่อเนื่อง ถึงปัญหาจากการใช้บริการสัญญาณมือถือ ทั้งความเร็วอินเตอร์เน็ตที่มีปัญหา ต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น และอีกหลากหลายปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญและอาจเป็นสัญญาณถึงปัญหาอื่นอีกมากมายที่ยังไม่ได้รวบรวมให้สังคมได้รับรู้ จึงเป็นที่มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับสภาผู้บริโภค จัดทำแบบสำรวจ เรื่อง ผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนของผู้บริโภคที่ใช้บริการทุกเครือข่าย ตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566         การสำรวจครั้งนี้ มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 2,924 ราย ผลการสำรวจพบ 5 ปัญหาใหญ่คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า , สัญญาณหลุดบ่อย ,โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น, ค่าแพ็กเกจ ราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก, และ call center โทรติดยาก โดยร้อยละ 81 ที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้ใช้บริการค่ายมือถือที่ควรวมธุรกิจโทรคมนาคม         นอกจากผลสำรวจความคิดเห็น ผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายหลังควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม  ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2566 นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาดำเนินโครงการทดสอบการใช้งาน call center ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ได้แก่ AIS, DTAC, NT และ TRUE โดยเก็บข้อมูลการทดสอบในระหว่างวันที่ 5 - 17 กันยายน 2566         เพื่อเฝ้าระวังมาตรฐานการให้บริการ  Call Center หลังทรูและดีแทคได้ควบรวมกิจการเมื่อวันที่ 1 มี.ค. และประชาชนจำนวนมากยังหวังพึ่ง Call Center ในการสอบถามข้อมูล รับปัญหา และแก้ไขปัญหาให้พวกเขา          การทดสอบครั้งนี้สำรวจในกลุ่มผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,116 ราย โดยใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือของทั้ง 4 เครือข่าย และเบอร์โทรศัพท์พื้นฐาน (02) โทร.ติดต่อ call center ของทุกค่ายมือถือ         ผลการทดสอบตอกย้ำถึงปัญหา call center โทรติดยาก โดยพบว่า ระยะเวลานานสุดที่จับคือนานถึง 28.10 นาที เมื่อใช้เบอร์เครือข่าย NT โทร.ไปยัง call center ของ TRUE call center ของ TRUE ยังเป็นค่ายมือถือที่ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยนานสุดทุกขั้นตอน         นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ และรองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ฝ่ายเผยแพร่ ผู้ริเริ่มโครงการทดสอบการใช้งาน call center ของมือถือค่ายต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หลังบริษัททรูและดีแทคได้ควบรวมธุรกิจตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566เผยด้วยความห่วงกังวลว่า บริการ Call Center เป็นช่องทางสำคัญที่คอยรับเรื่อง แก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค การควบรวมธุรกิจที่ไม่มีการปรับเพิ่มการให้บริการ ยิ่งทำให้ Call Center กระจุกตัวและมีสัดส่วนน้อยลงเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้บริการที่ค่ายมือถือต้องดูแลมากขึ้นหลังการควบรวมจึงต้องไม่ลดมาตรฐานลง ด้วยการมีเจ้าหน้าที่ call center ที่เป็นมนุษย์อย่างเพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่บริการด้วย AI เพียงอย่างเดียวซึ่งเป็นข้อเสนอที่ประชาชนได้เสนอผ่านการสำรวจด้วยเช่นกัน         ย้อนกลับไปดู กสทช. ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง                 ก่อนเสียงร้องเรียนถึงปัญหาจากการใช้บริการค่ายมือถือของประชาชนจะดังขึ้นเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปดูกันสักนิดว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล โดยตรง ได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง         ตั้งแต่เริ่มแรก แม้ กสทช.มีท่าทีหลีกเลี่ยงบทบาทหน้าที่ของตนเอง ด้วยการยืนยันว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่เพียง ‘รับทราบ’ การควบรวมธุรกิจครั้งนี้เท่านั้น           อย่างไรก็ตามแม้ในวันที่  20 ต.ค. 2565  กสทช. จะใช้อำนาจเพียง ‘รับทราบ’ แต่มติดังกล่าว ยังมาพร้อมกำหนดเงื่อนไข/ มาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคมที่ กสทช. วางกำหนดไว้เองคือ        1.  การกำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย                •  อัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลงร้อยละ 12                •  ให้มีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการ                •  ให้นำส่งข้อมูลต้นทุนและข้อมูลที่จำเป็นโดยให้มีหน่วยงานตรวจสอบ                •  ให้ประกาศให้ผู้ใช้บริการรับทราบ เพื่อมีการตรวจสอบและมีบทลงโทษกรณีทำไม่ได้         2.  การกำหนดราคาค่าบริการ โดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ (Average Cost Pricing)                •  จัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญเพื่อทำหน้าที่สอบทาน (Verify) ความถูกต้องของข้อมูลตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนเฉลี่ย (AC) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (MC) ที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันของแต่ละรายบริการ และข้อมูลต่างๆ เมื่อมีการรวมธุรกิจให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยผู้ยื่นคำร้องรวมธุรกิจเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดพร้อมจัดจ้างที่ปรึกษา         3.  การคงทางเลือกของผู้บริโภค                •  กำหนดให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี         4.  สัญญาการให้บริการ                •  บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างบริษัทและผู้ใช้บริการ รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับตามที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์และได้รับการยินยอมจากผู้ใช้บริการแล้ว         5.  การประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ ภายหลังการรวมธุรกิจ                •  บริษัทต้องประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการคงไว้ซึ่งคุณภาพในการให้บริการและค่าบริการที่เป็นธรรม และจะต้องกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการหลังการรวมธุรกิจ โดยสำนักงาน กสทช. อาจกำหนดแนวทางและระยะเวลาการดำเนินการ รวมถึงเงื่อนไขในการปฏิบัติในเรื่องการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ดำเนินการต่อไป          ฉัตร คำแสง หนึ่งในคณะวิจัย ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ 101 Public Policy Think Tank ชี้ว่า ข้อมูลภายหลังการควบรวมคือ เครือข่ายคู่แข่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการควบรวมครั้งนี้ ซึ่งก็คือเอไอเอส ยังมีการปรับเปลี่ยนราคา ปริมาณการโทรและอินเทอร์เน็ตมือถือให้เท่ากับกลุ่มทรู-ดีแทคด้วย รายงานการดำเนินการของทรู-ดีแทค ชี้ว่า อาจไม่ได้มีการปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะตามที่รายงานต่อ กสทช. และข้อมูลยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของการแข่งขันที่ลดลงในตลาดโทรคมนาคมที่อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงเสนอแนะว่า กสทช. ควรนำข้อมูลอื่น ๆ เช่น ข้อมูลสำรวจประสบการณ์ที่ผู้บริโภคได้พบเจอ มาประกอบการพิจารณาด้วย         "ทั้ง 3 เจ้า แพ็กเกจแทบจะก๊อป (copy) วางกันหมด มันเห็นหลักฐานอยู่ว่า การแข่งขันที่ลดลงทำให้ผู้บริโภคไม่ได้ประโยชน์จากการควบรวมครั้งนี้ตามที่โฆษณา" นักวิจัย 101 PUB ระบุ         ณัฐวดี เต็งพาณิชย์กุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)   ผู้รวบรวมผลกระทบจากการรวมธุรกิจ ทรู- ดีแทค และเสนอต่อคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า “ หลังประกาศควบรวมธุรกิจวันที่ 1 มี.ค. 2566 เพียง วันที่ 3 มี.ค. เราก็พบว่ามีการสำรวจราคาแพ็กเกจทั้ง 3 เครือข่าย มีการปรับราคาแพ็คเกจมือถือรายเดือนทั้ง 3 เครือข่าย จนเท่ากันหมด เคสร้องเรียนที่เข้ามาที่มูลนิธิ ยังมีทั้งปัญหาความเร็วอินเตอร์เน็ตลดลง, เน็ตไม่พอต้องซื้อแพคเกจเสริม หลังการควบรวมสัญญาณอ่อน  ใช้ได้บางพื้นที่ ไม่ครอบคลุม ถูกเปลี่ยนโปรโมชั่นโดยไม่ได้แจ้งล้วงหน้าและต้องจ่ายราคาสูงขึ้น ปัญหาการเปลี่ยนสิทธิพิเศษ ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้ร้องเรียนมีหลักฐานเข้ามาประกอบชัดเจน”         ที่ผ่านมากสทช.  ได้จัดแถลงข่าวด่วน วันที่19 ธ.ค.66 กสทช.ในเรื่อง ”เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้บริโภค หลังทรู – ดีแทค ถูกร้องเรียนเรื่องคุณภาพ - บริการ “ ยืนยัน ค่าบริการเฉลี่ยลดลง 12 เปอร์เซ็นต์ หลังทรูควบรวมดีแทค ยังไม่พบปัญหาตามที่ผู้บริโภคร้องเรียนทุกกรณี ที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินการการยุบเสาไปยังพื้นที่ซึ่งครอบคลุมมากกว่า จึงทำให้สัญญาณให้บริการไม่เสถียรในบางช่วงเวลาและไม่ได้สื่อสารให้ผู้ใช้บริการในพื้นที่ทราบ โดย กสทช. ได้สุ่มตรวจความเร็วของอินเทอร์เน็ตในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ยืนยันได้ว่า คุณภาพการให้บริการไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ นี่คือเสียงจากนาย ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.         อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากภาพรวมการทำงานของ กสทช. กลับไม่ได้ราบรื่น เรียบร้อยตามถ้อยแถลงดังกล่าวเมื่อการประชุมของ กรรมการของ กสทช. ไม่อาจขึ้นได้ สะท้อนความขัดแย้งภายในจนไม่อาจขับเคลื่อนวาระสำคัญที่ กสทช.จะต้องดำเนินการมาตลอดปี 2566 โดยประชุมของ กรรมการ กสทช. ล่มต่อเนื่องถึง 7 ครั้ง  ซึ่งแม้จะมีความพยายามจัดการประชุมให้เกิดขึ้นสำเร็จโดยเป็นการประชุม 3 วันต่อเนื่องในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาคือ วันที่ 20 25 และ 26 ธันวาคม 2566 แต่ในการประชุมครั้งแรกของปี 2567 คือวันที่ วันที่ 10 ม.ค.ยังมีวาระเพื่อพิจารณา 52 วาระ ทั้งยังมีวาระที่ค้างพิจารณาอยู่ถึง 72 วาระ  วาระสำคัญจำนวนมากเป็นเรื่องสำคัญ เร่งด่วนที่ควรพิจารณาให้แล้วเสร็จเมื่อ 4- 6 เดือนมาแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ลุล่วงได้         การทำงานของ กสทช.ที่ผ่านมาจึงทั้งล่าช้า ไม่อาจตัดสินใจเรื่องสำคัญจนคั่งค้างจำนวนมาก ไม่เท่าทันต่อความเดือดร้อนของประชาชน การกำกับติดตามการดำเนินการของบริษัทที่ไม่เป็นไปอย่างเชิงรุก รอให้บริษัทรายงานผลการดำเนินการเข้ามาให้พิจารณาเท่านั้น  อะไรที่ยังเป็นความหวังอยู่บ้าง         แม้ประชาชนได้รับปัญหา และมีภาระที่ต้องจ่ายมากขึ้นจากการควบรวมธุรกิจของทรูและดีแทคแล้ว และการทำงานของ กสทช. ยังล่าช้า ไม่อาจให้ความชัดเจนและเชื่อมั่นต่อสังคมได้ อย่างไรก็ตามในรอบปีที่ผ่านมา ยังมีสัญญาณที่ดีในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เมื่อศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. ที่อนุญาตให้ควบรวมกิจการของทรู-ดีแทค ที่ออกมาเมื่อเดือน ต.ค. 2565 โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่าแม้เป็นการยื่นฟ้องพ้นเวลาแต่มีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการเป็นวงกว้าง ถือเป็นการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ         “บริการโทรคมนาคม เป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย จึงทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ การที่ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมจะควบรวมธุรกิจกันหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม  มีผลทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบในวงกว้าง จึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง กรณีจึงเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามนัยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับฟ้องคดีไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 52 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว         การที่ศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบมความนั่น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป ”  ข้อความดังกล่าวนี้คือคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด          “ข้อมูลจากสำนักบริหารและจัดการเลขหมายโทรคมนาคม ในปี 2565 หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทั้ง ทรูและดีแทค รวมกันแล้วมีมากกว่า  77,000,000 เลขหมาย การควบรวมธุรกิจครั้งนี้จึงส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ตอนนี้คดีนี้จึงเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลปกครองชั้นต้นแล้ว และเราจะรวบรวมผลกระทบต่อประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชั้นศาลต่อไป ”         “การดำเนินการหลังจากนี้ เรากำลังทำแนวทางเพื่อการทดสอบความเร็วของอินเตอร์เน็ต (Speed Test) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเราตระหนักดีว่าเราจะต้องทำงานบนฐานข้อมูลที่ชัดเจน รัดกุมมากขึ้น เช่นที่เราได้ทำในการสำรวจที่ผ่านมา ทำให้ความเดือดร้อน ปัญหาต่างๆ ถูกรวบรวมและสื่อสารมาได้อย่างมีพลัง และเราจะดำเนินการอีกหลายอย่าง เราจะไม่ทำให้เรื่องนี้เงียบเพียงเพราะ กสทช. หรือบริษัทออกมาบอกว่าเขาได้ดำเนินการอะไรแล้วบ้าง แต่ความเดือดร้อนยังมีอยู่ ถึงทุกวันนี้เรายุติการสำรวจไปแล้วแต่เรื่องร้องเรียนปัญหาจากการใช้บริการค่ายมือถือก็ยังเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ อยู่ต่อเนื่อง ” นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวถึงสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป         โดยที่ผ่านมา วันที่ 22 ธันวาคม 2566 นฤมล ได้ร่วมกับ นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายคณะทำงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมถึง คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช. เพื่อเรียกร้องให้ กสทช. เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวม TRUE – DTAC พร้อมแนบหลักฐานผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากเครือข่ายมือถือทุกระบบ จำนวน 2,924 ราย        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า การดำเนินการที่ดีที่สุดในเวลานี้เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการมือถือให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค และการแข่งขันในตลาด คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กสทช. ควรกำกับดูแลให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการเฉพาะ ที่ กสทช. ได้เป็นผู้กำหนดวางแนวทางไว้ด้วยตนเองอย่างเข้มงวด         นอกจากเงื่อนไข/ มาตรการเฉพาะ ที่ กสทช.ได้วางไว้แล้วสิ่งที่ในวันนี้ กสทช.ไม่อาจปฏิเสธได้แล้วอีกต่อไปจะต้องดำเนินการเปิดรับฟังเสียงและข้อเสนอแนะจากประชาชน ที่วันนี้พร้อมเข้ามีส่วนร่วมและทุกปัญหาที่ร้องเรียน มีหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้         เพราะเพียงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดำเนินการสำรวจเพียงช่องทางออนไลน์ระหว่างวันที่   9 - 23 พฤศจิกายน 2566 ประชาชนยังสามารถให้ข้อเสนอได้ต่อทั้ง กสทช.และบริษัทผู้ให้บริการอย่างชัดเจน         จึงไม่ยากเลยที่ กสทช. จะดำเนินการรับฟังข้อเสนอเหล่านี้ไปตรวจสอบ หากวันนี้ กสทช.มองเห็นแล้วว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนแล้วจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 พนมนาคา : เชื่อในสิ่งที่(ไม่ควร)เห็น เห็นในสิ่งที่(ไม่อยาก)เชื่อ

        เมื่อครั้งสังคมบุพกาลนานมา คนไทยได้ถักทอความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกรอบตัวเอาไว้อย่างซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับสิ่งที่มองเห็นจับต้องได้ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน หรือมนุษย์กับสิ่งของหรือธรรมชาติแวดล้อม ไปจนถึงความสัมพันธ์กับโลกแห่งนามธรรม ที่แม้จะจับต้องไม่ได้ แต่คนเราก็ยึดโยงตนเองกับสายสัมพันธ์ที่มิอาจเข้าถึงได้ด้วยอายตนสัมผัสทั้งห้าด้าน         ตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกนามธรรมที่มองไม่เห็นและสัมผัสไม่ได้นี้ สะท้อนออกมาในลักษณะของความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เช่น เรื่องของภูตผีปีศาจ วิญญาณ การบูชาทวยเทพเทวดา รวมไปถึงการเคารพบูชาพญานาค หรือที่เรียกว่า “นาคาคติ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นมนุษย์อันผูกโยงความสัมพันธ์กับคู่ตรงข้ามที่มีความเป็นอื่น หรือที่คนเราเรียกว่าเป็น “อมนุษย์”         เสฐียรโกเศศ อันเป็นนามปากกาของพระยาอนุมานราชธน นักปราชญ์ผู้เอกอุทางด้านวัฒนธรรม เคยอธิบายว่า ผีเป็น “อะไรๆ ที่ลึกลับ ซึ่งเรายังไม่รู้และยังคิดไม่ออก ทั้งโดยปกติก็ไม่เคยเห็นตัว หากว่าเคยเห็นผี ก็ต้องเป็นรูปร่างต่างๆ แล้วแต่ผู้เห็น เพราะฉะนั้น ผีจึงเป็นพวกไม่ใช่คน เป็นอมนุษย์อยู่เหนือคน แต่ผีก็มีลักษณะลางอย่างคล้ายคน คือ มีทั้งผีชั้นสูงชั้นต่ำ มีทั้งผีดีผีร้าย”         ด้วยคำอธิบายของปัญญาชนแห่งสยามประเทศในอดีตเช่นนี้ บรรดาอมนุษย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผีหรือพญานาค จึงไม่เพียงแต่มีความเป็นอื่น หากทว่าคือความเป็นอื่นที่มนุษย์เองก็เชื่อโดยมิพักต้องสงสัยหรือสืบถาม แม้ว่าเราจะเคยเห็น หรือไม่เคยเห็น หรือไม่ควรเห็นในสิ่งเหนือธรรมชาติลี้ลับดังกล่าวนั้นก็ตาม         ความเชื่อในความเป็นอื่นที่ไม่ควรเห็น หรือการเห็นในสิ่งเราเองก็มองไม่เห็นหรือไม่ควรเห็นเช่นนี้ ดูจะเป็นความคิดหลักที่กลายเป็นแก่นเรื่องซึ่งเล่าผ่านละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซีดรามาอย่าง “พนมนาคา” อันมีเนื้อหาว่าด้วยตำนานพญานาคผู้รอคอยหญิงคนรักแบบข้ามภพข้ามชาติมานับเป็นพันๆ ปี         เรื่องราวของละคร “พนมนาคา” นำเสนอภาพกาลสมัยปัจจุบันของ “เอเชีย” นางเอกสาวผู้เป็นกุมารแพทย์สมัยใหม่ และเบื้องลึกปฏิเสธที่จะเชื่อในเรื่องเร้นลับซึ่งวิทยาศาสตร์มิอาจพิสูจน์ให้ประจักษ์เห็นได้ โดยตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องนั้น ความเชื่อมั่นในศาสตร์ความรู้สมัยใหม่ของหมอเอเชียก็ถูกท้าทาย เมื่อคุณหมอสาวที่กำลังรักษาคนไข้อยู่ถูกญาติของคนไข้เอาน้ำมนต์สาดหน้า เพราะเธอไม่เชื่อว่าผู้ป่วยถูกสิ่งเหนือธรรมชาติเล่นงาน และยังไปปรามาสว่าสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาช่างดูไร้สาระงมงาย         ต่อมาละครก็ค่อยๆ เพิ่มบททดสอบอีกหลายระลอกเพื่อสั่นคลอนความยึดมั่นถือมั่นในองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในห้วงสำนึกของหมอเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นฉากที่หญิงสาวพลัดตกจากดาดฟ้าของโรงพยาบาล แล้วทุกอย่างก็หยุดนิ่ง พร้อมกับมีกายทิพย์ของชายหนุ่มรูปงามคนหนึ่งลอยตัวมาโอบรับตระกองเธอลงมาสู่พื้นดิน หรือการที่นางเอกสาวเริ่มรู้สึกลึกๆ ว่า ชายหนุ่มลึกลับคนเดียวกันนี้ เฝ้าติดตาม “ส่อง” ดูชีวิตเธออยู่ในโลกนิมิตหรือโลกคู่ขนานที่เกินกว่าอายตนะทั้งห้าของเธอจะสัมผัสได้         การปะทะกันระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เช่นนี้ ต่อมาได้กลายเป็นเหตุปัจจัยนำพาให้หมอเอเชียเดินทางสู่หมู่บ้านไกลโพ้นริมตะเข็บชายแดนไทย-เขมรที่ชื่อ “พนมนาคา” และ ณ หมู่บ้านอีสานโบราณแห่งนี้เอง ที่เด็กจำนวนมาก รวมทั้งเด็กชาย “วันเนตร” ป่วยเป็นโรคประหลาดคล้ายกับมีเกล็ดงูขึ้นตามตัว ซึ่งชาวบ้านต่างเชื่อกันว่าเป็นเพราะคำสาปของพญานาค ในขณะที่คุณหมอกุมารเวชกลับยืนกรานว่านี่คืออาการของโรคที่ชื่อฟังดูแปลกหูว่า “อิชไธโอซิส”         ในขณะที่กำลังสืบหาสาเหตุต่ออาการป่วยแปลกประหลาดของเด็กๆ ในหมู่บ้านอยู่นั้น ยิ่งค้นหาคำตอบ ก็ยิ่งพบกับเรื่องเร้นลับปาฏิหาริย์ชวนสนเท่ห์ใจขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหมอเอเชียก็ได้พบกับ “อนันตชัย” ชายหนุ่มลึกลับในภาพนิมิตของเธออีกครั้ง และบังเกิดความรู้สึกว่า เธอกับเขาผูกพันกันมานานแสนนาน         จากนั้นความจริงของเรื่องก็ค่อยๆ เปิดเผยออกมาว่า พระเอกหนุ่มอนันตชัยก็คือ “พ่อปู่” หรือพญานาคผู้คุ้มครองหมู่บ้านพนมนาคา และในอดีตชาตินับพันปีก่อน เอเชียก็คือ “อนัญชลี” หญิงคนรักของเขา แต่เพราะ “อเนกชาติ” พญานาคผู้น้องมีความอิจฉาพี่ชาย และหวังจะครอบครองอนัญชลีเพื่อขึ้นเป็น “นาคาธิบดี” หรือเจ้าผู้เป็นใหญ่ในหมู่พญานาคทั้งปวง จึงวางแผนให้อนัญชลีเข้าใจเขาผิดจนฆ่าตัวตายและกล่าวสัจวาจาสาปแช่งให้ตนรังเกียจอนันตชัยในทุกภพทุกชาติไป         เพราะอนันตชัยเองก็ตระหนักว่า “วันวานมันคืนย้อนมาไม่ได้ และวันพรุ่งนี้ยังไม่รู้ ฉันพร้อมจะอยู่ ฉันพร้อมจะตายเพื่อรักคำเดียว…” เขาจึงติดตามและปกป้องเธอจากอเนกชาติมาแบบข้ามภพชาติ โดยมุ่งหมายจะรื้อถอนไฟล์ความทรงจำที่ผิดพลาด และทำพิธีกรรมถอนคำสาปให้หญิงคนรักได้กลับมาครองคู่กับเขาอีกครั้งในชาติปัจจุบัน         “ไม่ว่าเธอจะเคยเป็นใคร จะผ่านอะไรมาขอจงอย่าเป็นกังวล นี่คือคนของเธอ” อนันตชัยจึงต้องฝ่าฟันกับคำสาปในอดีตที่อนัญชลีได้ปฏิญาณว่า “ไม่ว่าชาติไหนก็จะไม่ขอรักชายคนนี้อีก” และยังต้องฝ่าด่านความรู้สมัยใหม่ เพื่อยืนยันกับเอเชียว่า “ในโลกนี้มีอะไรอีกมากมายที่วิทยาศาสตร์ของคุณพิสูจน์ไม่ได้ สิ่งที่มองไม่เห็นใช่ว่าจะไม่มี” และทำให้เธอเชื่อการมีอยู่ของพญานาคด้วยตนเอง ไม่ใช่เชื่อเพียงเพราะคนอื่นบอกว่ามีจริง         โดยโครงเรื่องที่พระเอกหนุ่มจากต่างภพภูมิเฝ้ารอคอยการกลับมาครองคู่กับหญิงคนรักเช่นนี้ เราก็พอจะคาดเดาฉากอวสานได้ไม่ยากว่า หลังจากผ่านอุปสรรคนานัปการ อนันตชัยก็สามารถกอบกู้และดีลีทไฟล์ความทรงจำอันผิดพลาดคลาดเคลื่อน และลงเอยความรักกับหมอเอเชียได้ในที่สุด ซึ่งตรงข้ามกับอเนกชาติที่ก็ต้องถูกเมืองบาดาลลงโทษไปตามกฎแห่งกรรม         ในด้านหนึ่ง การวางพล็อตเรื่องแบบรักอมตะระหว่างพญานาคากับมนุษย์ปุถุชนก็ไม่ต่างจากการสืบทอดคติความเชื่อลึกๆ ของคนไทย ที่ยอมรับการดำรงอยู่ของสายสัมพันธ์ข้ามเผ่าพันธุ์หรือข้ามวัฒนธรรม         แต่ในอีกทางหนึ่ง เมื่อหมอเอเชียกับผองมิตรที่ทำกรรมร่วมกันในปางก่อนอย่าง “พุ่มข้าวบิณฑ์” และ “สิทธา” ได้สัมผัสเรื่องเหลือเชื่อครั้งแล้วครั้งเล่า และประจักษ์แก่สายตาว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของพ่อปู่นาคราชผสานกับการรักษาโรคด้วยแพทย์แผนใหม่ช่วยเยียวยาให้เด็กๆ พนมนาคาหายขาดจากอาการโรคเกล็ดงูได้ จากที่เคย “ไม่เชื่อแต่ไม่กล้าลบหลู่” ก็กลายเป็น “เชื่อได้โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถาม” แต่อย่างใด        กับโลกที่เรามองเห็นและสัมผัสด้วยอายตนะทั้งห้านั้น เรื่องบางเรื่องเราอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และพิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ทั้งเรื่องชาติภพ บุญกรรม การกลับชาติมาเกิด หรือคติความเชื่อในพญานาค แต่ความรักข้ามภพของอนันตชัยกับอนัญชลีกับความศรัทธาต่อพ่อปู่ที่ชาวบ้านพนมนาคาต่างเคารพ คงให้ข้อสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเห็นหรือไม่เห็น แต่ขอเพียงเชื่อโดยไม่ตั้งคำถาม เราก็สัมผัสถึงได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >