ฉบับที่ 127 พริตตี้สามัญประจำบ้าน

  “เนื่องจากทำงานในแวดวงบันเทิง ...จึงมักได้ยินคนที่อยู่ในวงการบันเทิงหลายต่อหลายคน พูดถึง L-Carnitine Tartrate กันมาก จึงทำให้ตัดสินใจลองทานไปได้ 1 เดือนครึ่ง ความรู้สึกที่สัมผัสได้คือ ช่วงเอวเล็กลงอย่างสัมผัสได้ แล้วน้ำหนักก็ลดลงถึง 3 กิโลค่ะ ตอนนี้ดิฉันรู้สึกประทับใจผลิตภัณฑ์...มากเลยค่ะ”   “ด้วยหน้าที่การงานที่เป็นพยาบาลมันก็หนักอยู่แล้ว แถมตอนนี้ยังต้องเรียนต่อ ป.โท อีก ทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน จนได้มารู้จักกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพท่านหนึ่ง ท่านแนะนำ Rice Bean Oil  ให้ดิฉันลองทานเพียงไม่กี่อาทิตย์ ดิฉันก็ไม่รู้สึกอ่อนเพลียเหมือนแต่ก่อน ...”   “ดิฉันคลุกคลีอยู่ในวงการอาหารเสริมมากว่า 20 ปีแล้วค่ะ แต่พอได้มารู้จักกับผลิตภัณฑ์... และได้ทาน Marine Collagen 1,000 mg. ภายใน 2 เดือน ริ้วรอยที่กังวลใจก็ดูตื้นขึ้นอย่างรู้สึกได้ ทำให้ดิฉันตัดสินใจเป็นตัวแทนจำหน่ายรายแรกๆ .. ซึ่งผลตอบรับดีมากๆ ค่ะ ร้อยทั้งร้อยกลับมาซื้อซ้ำ จนทำให้ดิฉันมีรายได้เกินหกหลักต่อเดือนแล้วค่ะ ...”   “...ด้วยหน้าที่การงานที่อยู่ในวงการยาและอาหารเสริม รู้มาว่าผลิตภัณฑ์(...) จะใช้แต่วัตถุดิบเกรดที่ดีที่สุดเท่านั้น และที่สำคัญต้องปลอดภัยต่อร่างกายด้วย ดิฉันจึงมั่นใจลองทาน L-Carnitine Tartrate 550 mg. ตัวแรก ผลออกมาไม่ทำให้ผิดหวังค่ะ ...”   “โปรดระวัง แอล-คานิทีน ปลอม : ที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก อย. ซึ่งสามารถส่งผลอันตรายถึงชีวิต”   เชื่อว่าผู้บริโภคในยุคปัจจุบันหลายคนที่เอาใจใส่สุขภาพ เมื่อมาได้ฟังคำพูดจากพริตตี้สามัญประจำบ้านทั้ง 4 คนนี้ คงมีไม่น้อยที่อดเคลิบเคลิ้มไปทีเดียว ดูเทคนิคที่แฝงมาในคำพูดเหล่านี้ซิครับ  รายแรกจับเอาความรู้สึกที่อยากสวยงามแบบดารามาเป็นจุดโน้มน้าว  รายที่สองเริ่มใช้บุคลากรการแพทย์ ทั้งพยาบาลและแพทย์ (ซึ่งไม่รู้ว่าตัวจริงหรือเปล่า) มาโน้มน้าวเพิ่มขึ้นอีก เพื่อให้เห็นประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์นี้ ส่วนรายที่สามนอกจากจะโน้มน้าวให้ซื้อแล้ว ยังเอารายได้มาล่อใจให้เป็นตัวแทนขายอีกด้วย พระเจ้า! รายได้เกินหกหลักต่อเดือนใครไม่หวั่นไหวใจอ่อนก็ให้มันรู้ไป แต่ที่เด็ดสะระตี่คือรายสุดท้าย เล่นนำเสนอในนามของบุคลากรในวงการยา (ไม่รู้ว่าจริงหรือปลอม) มากระหน่ำตอกย้ำทั้งคุณภาพวัตถุดิบ ความปลอดภัย และผลในการรักษา แบบปิดฝาโลงการบริโภคกันเลยทีเดียว ส่วนคำเตือนท้ายสุด ก็เล่นกับลูกเล่นเดิมๆ คือ รับรองว่าผลิตภัณฑ์ตัวเองได้รับ อย.แล้ว ให้ระวังของปลอม ก็เล่นมาจนเฝือแต่ก็เชื่อว่าได้ผลกับหลายๆ คน  พวกผมตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์เหล่านี้มานับสิบๆ ปี ก็ไม่พ้นเทคนิคเหล่านี้แหละครับ แต่ที่ผู้จำหน่ายไม่เคยบอกคือ ไอ้ที่โฆษณาแบบนี้ มันก็ผิดกฎหมายทั้งนั้น เพราะขึ้นทะเบียนยาแต่ดันมาอ้างสรรพคุณเป็นอาหาร และถึงแม้จะเป็นอาหารก็ไม่สามารถโฆษณาได้โอเวอร์ขนาดนี้ ยังไงผู้บริโภคทั้งหลายตั้งสติกันหน่อยนะครับ  อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคอาจจะไม่ค่อยทราบคือ การประกอบวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพ ทั้ง แพทย์ เภสัชกร พยาบาล ทันตแพทย์ สภาวิชาชีพเขาไม่อนุญาตให้มาโฆษณาเพื่อการค้านะครับ แล้วยิ่งการันตีแบบผิดกฎหมายแบบนี้ ถ้าเป็นตัวจริง จะถือว่ามีความผิดด้านจรรยาบรรณด้วยนะครับ มีบทลงโทษด้วย ยังไงถ้าเจอแจ้งสภาวิชาชีพได้เลยครับ ส่วนผมขอตัวไปตรวจสอบวิชาชีพผมด้วย ว่าตัวจริงหรือปลอมกันแน่  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 จะขายก็หลอก ยังมาบอกให้เจาะเลือด

  เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ผมได้รับแจ้งข่าวจาก ภก.สันติ โฉมยงค์ รุ่นน้องที่ปฏิบัติงานที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า สามารถประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมบุคคลที่มาเจาะเลือด และหลอกขายอาหารเสริมจนชาวบ้านหมดเงินไปหลายหมื่น ได้สำเร็จ แว่วมาว่าจากการหลอกขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนานเกือบปี รายได้เกือบล้านบาท เทคนิคของบุคคลกลุ่มนี้จะเริ่มจากมาออกหน่วยตรวจสุขภาพ โดยจ้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่มาช่วยวัดความดัน ส่วนคนของบริษัทซึ่งแต่งกายคล้ายแพทย์จะเป็นผู้ทำการเจาะเลือด   หรือบางครั้งก็จะมาในลักษณะ “โครงการรักษ์สุขภาพสู่ชุมชน” ไปตามหน่วยงานภาครัฐ เทศบาล อบต. วัด มัสยิด และเวทีประชุมผู้นำชุมชน  โดยหลอกขายอาหารเสริม ด้วยเทคนิคเดิมๆ คือ วัดความดันและตรวจเช็คผลเลือด เคยมีผู้เสียหายบางรายซึ่งเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะสุดท้าย และหลานสาวซึ่งป่วยเป็นทาลัสซีเมีย โดนหลอกจนหมดเงินไปกว่าหนึ่งหมื่นบาท  ผู้กระทำการหลอกลวงกลุ่มนี้ ยังอ้างถึงข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงแรงงาน และสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ให้การสนับสนุนตน และเมื่อเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ก็ใช้เล่ห์เหลี่ยม อาศัยช่องว่างกฎหมายเอาตัวรอดไปได้ โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการบันทึกคำให้การไว้เป็นหลักฐาน แต่ไม่สามารถดำเนินคดีได้ เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ   แต่บริษัทก็ยังไม่หยุดการกระทำ พยายามว่าจ้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือญาติเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้มาร่วมขบวนการด้วย แถมยังมีการปรับกลยุทธ์เพิ่มขึ้นไปอีก โดยการเข้าไปติดต่อกับผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ออกหนังสือเชิญบริษัทมาให้บริการตรวจวัดความดันและเช็คผลเลือดฟรีเสียเอง ทำให้ผู้บริหารหน่วยงานหลายแห่งเกิดความอับอายที่เสียรู้บริษัท จึงไม่ยอมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการจับกุม  อย่างไรก็ตาม ในที่สุดกรรมก็ตามทันซะที สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ประสานงานกับตำรวจ ส่งสายลับไปล่อรับบริการ พบว่าขบวนการหลอกลวงดังกล่าวมีการทำงานเป็นทีม เริ่มตั้งแต่มีการลงทะเบียนผู้มารับบริการ มีเจ้าหน้าที่คอยวัดความดัน 1 คน(บางครั้งจะจ้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาวัดความดันเพื่อให้น่าเชื่อถือ) มีเจ้าหน้าที่คอยจัดคิวเพื่อรอเจาะเลือด 1 คน มีพนักงานแต่งกายคล้ายแพทย์ 1 คน ทำหน้าที่เจาะเลือด เพื่อนำไฟส่องกล้องจุลทรรศน์ โดยเชื่อมต่อกับเครื่องฉายให้ผู้บริโภคมองเห็นภาพจากกล้องจุลทรรศน์ แล้วพยายามพูดวินิจฉัยโรค ร่วมกับการใช้ stethoscope ฟังปอด และใช้ไฟฉายส่องดูคอในบางครั้ง   โดยชายดังกล่าวอ้างตัวว่า มาจากโรงพยาบาลจุฬา มีพนักงาน 1 คนคอยบันทึกคำวินิจฉัยโรคของชายคนดังกล่าวลงในเอกสารแนะนำอาหารเสริม หลังจากทราบผลเลือดตัวเองแล้ว ผู้บริโภคจะต้องไปเข้ารับฟังข้อมูลอาหารเสริมจากพนักงานขาย ซึ่งตั้งโต๊ะให้บริการอยู่ 2 โต๊ะ (โรคส่วนใหญ่จะเป็นพวก ไขมันสูง น้ำตาลสูง ยูริคสูง และเลือดข้น เลือดหนืด)   หลังการจับกุม พวกมิจฉาชีพกลุ่มนี้ก็ยังพยายามติดต่อผู้ใหญ่จากกระทรวงแรงงาน และสำนักนายกฯ เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัว ซึ่ง ภก.สันติ บอกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจแอบกระซิบบอกว่า “มันใหญ่มาก” จริงๆ ยังไงก็ช่วยกันสอดส่องดูแลกันนะครับ เพราะภก.สันติแอบเห็นรายชื่อจังหวัดแว้บๆ จากสมุดจด พบว่ากลุ่มคนไม่ดีเหล่านี้ตระเวนหลอกมาหลายจังหวัด ทั้งอุบลราชธานี  ขอนแก่น นครปฐม ฯลฯ   ฝากทุกท่านช่วยกันประชาสัมพันธ์ด้วยนะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 คำถามสำคัญก่อนที่จะซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

คำถามที่ผู้เขียนได้รับเป็นประจำเกี่ยวกับโภชนาการสำหรับนักวิ่ง และนักออกกำลังกายต่างๆ   ไม่น้อยไปกว่ารายละเอียดการบริโภคเมนูอาหารธรรมชาติที่เป็นประโยชน์  ก็คือ “อาหารเสริม  หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตัวนั้น , ตัวนี้   เป็นประโยชน์จริงหรือไม่?” ถือผู้ถามอยากรู้ว่า   ถ้ามีประโยชน์จริง   จะได้ซื้อกิน   จึงอยากถามความเห็นผู้เขียน ในแง่มุมของผู้เขียน   การที่ผู้ถามเลือกที่จะถามเรา   รู้สึกตัวเองเป็นตรายาง  รับประกันผลิตภัณฑ์   ถ้าพูดอย่างไรไป  หรือตอบไปในทิศทางไหน   อาจถูกตำหนิได้ง่ายๆ  จากช่องโหว่ของคำแนะนำ   ที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก ทั้งๆ ที่ใครก็ตามที่จะสามารถกล่าวคำแนะนำอย่างนี้ได้   ต้องเข้าถึงองค์ความรู้รอบด้าน   ไม่เพียงแต่ต้องติดตามรับรู้ผลวิจัยโภชนาการและเภสัชวิทยาใหม่ๆ เท่านั้น   แต่ยังต้องติดตามกระแสสังคม  และไหวทันเล่ห์กลของบริษัทการค้าให้ทันด้วย ที่ผมยอมรับว่า   สุดวิสัยที่จะทำได้   มันเป็นการยากมากที่ผู้บริโภคปัจเจก หรือ  Exercises Instructor  คนหนึ่งที่มีเครื่องมือแค่อินเตอร์เน็ต  จะไปติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้หากินกับผลิตภัณฑ์คาบเกี่ยวระหว่างสุขภาพและผลประโยชน์เหล่านี้   ที่มีแหล่งทุนมหาศาลจ้างทีมงาน  ทั้งเภสัช   ทั้งแพทย์   และเครื่องไม้เครื่องมืออย่างห้องแล็บที่เป็นของตัวเอง   ตลอดจนนักจิตวิทยาการค้า  Creators   และนักภาษาศาสตร์ กับถ้อยคำชี้นำให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญ   โดยปราศจากข้อที่จะเอาผิดได้ทางด้านกฎหมาย   แต่เราแน่ใจได้อยู่อย่างว่า   ผลิตภัณฑ์เหล่านี้  แต่เดิม มุ่งเป้าหมายผู้ที่อยู่ใต้ระดับโภชนาการมาตรฐาน   ปัจจุบัน   ได้เบนเข็มมุ่งเป้าหมายชนชั้นที่ใฝ่ใจสุขภาพและประชาคมออกกำลังกาย ค่าที่ว่าพวกเขาวิจัยออกมาแล้วว่ากลุ่มเป้าหมายใดที่น่าจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอำนาจซื้อสูง   และพวกเรานักออกกำลังกายจึงถูกผลิตภัณฑ์จากบริษัทเหล่านี้  มองกระเป๋าสตางค์  ตาเป็นมัน เนื่องจากธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง   ของกลุ่มผู้ออกกำลัง ก็คือ   เป็นกลุ่มผู้มีแนวโน้มมีระดับการศึกษาเฉลี่ยกลางค่อนข้างสูง  และฐานะทางการเงินก็เป็นเช่นเดียวกัน   จึงมีความจำเป็นจะต้องใช้ผลวิจัยออกมาเป็นเหยื่อล่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ  จะได้แหวกกระเป๋าสตางค์สำเร็จ บ่อยครั้งที่แม้จะเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์   จะเป็นเช่นที่บริษัทการค้ากล่าว   แต่ในทางปฏิบัติในระดับของการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์   มันกลับไกลจากผลลัพธ์ด้านคุณที่ตั้งความปรารถนาไว้ตั้งแต่ต้นอย่างลิบลับจนมองไม่เห็นเลย   หรือไม่ก็ได้รับน้อยมากๆๆๆๆ แทนที่ผู้เขียนจะตอบคำถามเหล่านี้ทีละราย   อธิบายผลิตภัณฑ์ทีละตัว   ผู้ถามต่างหากควรจะหาคำตอบเอาเองจากคำถามที่ผมตั้งไว้  ดังต่อไปนี้ 1   มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดบ้างกล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์? 2   มีการศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์ใดบ้าง?   ที่สอดคล้องกับคำโฆษณา 3  โดยใคร?.......สถาบันที่บริษัทอ้างถึงนั้น   มีความน่าเชื่อถือทางสาธารณะขนาดไหน?     เป็นเพียงสถาบันที่มีแต่ชื่อหรูๆ  หรือผ่านควอลิฟายด์จากใคร? 4  นักวิจัยเหล่านั้นดำรงสภาพผลประโยชน์ทางการเงินหรือผลประโยชน์แลกเปลี่ยนกับบริษัทหรือไม่? 5  ผลงานวิจัยที่กล่าวอ้างมา  เราจะเชื่อเลยโดยอัตโนมัติเลยหรือ?   โดยเราจะเอาเครื่องมือใดตรวจสอบ   ผลงานวิจัยเหล่านั้นถูกตีพิมพ์ที่ไหน? 6  ผลวิจัยเหล่านั้นมีเนื้อหารายงานฉบับเต็มๆ   ไม่ใช่บางส่วนว่าอย่างไร 7   มีผลวิจัยอื่นคัดค้าน หรือ แสดงผลลัพธ์ไปคนละทิศละทางกับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทกล่าวอ้างหรือไม่?    และจากสถาบันใดที่มีควอลิฟายด์เช่นกัน 8  เหล่าผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เป็นประเด็นนี้   มีความเห็นเช่นไร 9  ใครคือผู้เชี่ยวชาญ  และใครเรียกเขาว่า  “ผู้เชี่ยวชาญ” จะบอกอะไรให้ครับ   ธรรมชาติอย่างหนึ่งของผู้เชี่ยวชาญคือ  มีความขัดแย้งกันเองมาก  เห็นกันไปคนละทาง  อันเป็นลักษณะปัญญาชน  อยู่ที่เรารู้จักเลือกพิจารณา 10  ที่สำคัญผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้  มีผลประโยชน์ติดปลายนวม  ในทางไม่เปิดเผยกับผลิตภัณฑ์หรือไม่? 11  ถ้าคำกล่าวอ้างโฆษณาจากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเป็นความจริง   น่าสนใจว่า   ก่อนหน้าที่ผลิตภัณฑ์จากมานำเสนอ   ถามว่า  ทำไมเรายังดำเนินสภาพความเป็นปกติสุขได้ในชีวิตความเป็นอยู่  ในการออกกำลังกาย   โดยไม่ได้รับอันตรายใดๆ   ตรงกันข้าม   ความผิดปกติต่างๆถูกนำมาขยายจนเราเห็นภาพน่ากลัว  จูงใจให้เปลี่ยนพฤติกรรมภายหลังจากที่เราพบตัวแทนขาย ความสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ที่ดี  ไม่เพียงแต่ต้องอาศัยสุขภาพที่ดีเท่านั้น   แต่ยังต้องยึดกุมเงื่อนไขให้รอบคอบ  อย่างมีบุคลิกตรวจตรา  ใส่ใจ  และกลั่นกรองอีกด้วย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 119 อาหาร 1 ใน 3 ไม่ปลอดภัย

  นับเนื่องจากที่ผมได้ร่วมทำโครงการอาหารปลอดภัย(ชื่อเล่นนะครับ) ผมก็ได้นำเสนอผลการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารไปหลากหลายชนิดมาก มากขนาดรวมเป็นหนังสือ “ถูกปาก” ที่ทางฉลาดซื้อจัดพิมพ์จำหน่ายไปเมื่อตุลาคมที่ผ่านมาได้หนึ่งเล่มเชียวนะครับ   แต่งานในโครงการฯ นี้มีมากกว่าการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารครับ ท่านบอกอเลยขอร้องเสียงแข็งให้ผมช่วยสรุปภาพรวมของโครงการฯ มาเล่าให้สมาชิกฉลาดซื้อได้รับรู้บ้าง ก็เลยขอเบียดคอลัมน์ช่วงฉลาดช้อปหน่อยนะครับ ความเป็นมาโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคเป็นโครงการความร่วมมือของ 3  ภาคี คือระหว่างเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคใน 8 จังหวัด (กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และสตูล)   โดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้ประสานงานกลางกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการทางอาหารในระดับภูมิภาค (ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น และ ม.สงขลานครินทร์) ที่มีสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ประสานงานกลาง และ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี   ทำหน้าที่พัฒนาและดูแลระบบฐานข้อมูลการเฝ้าระวังความไม่ปลอดภัยทางอาหาร ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์หลักสามประการ คือ (1) เพื่อพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค (2) เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจากปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร และ (3) เพื่อพัฒนาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร   เราทำอะไรไปบ้าง จากการดำเนินงานที่ผ่านมา การพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ได้          จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารในระดับจังหวัดขึ้นใน 8 จังหวัด จาก 4 ภูมิภาค โดยมีสมาชิกเครือข่ายที่ตื่นตัวและทำการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารประมาณ 500 คน ในกรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และจังหวัดสตูล โดยศูนย์เฝ้าระวังทั้ง 8 จังหวัดได้พัฒนาร่วมกันเป็นกลไกการเฝ้าระวังระดับประเทศ  จัดกิจกรรมสำคัญ (ก) การสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่พื้นที่ดำเนินงานทุก 2 สัปดาห์  (ข) การฝึกอบรมด้านกฎหมาย เทคนิคการรับเรื่องร้องเรียนด้านอาหาร และการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน   นอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลราชธานี พัฒนาระบบฐานข้อมูลและเว็บไซท์ สำหรับการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร www.tumdee.org/food/ เชื่อมโยงกับเว็บไซท์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org เพื่อสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นและง่ายแก่การนำข้อมูลไปใช้ และได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพในการใช้ฐานข้อมูลและการรายงานข้อมูลความไม่ปลอดภัยด้านอาหารแก่เจ้าหน้าที่ของพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัด   ข้อมูล  อีกทั้งยังได้ดำเนินการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลผลการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ หรือสื่อความรู้แบบอื่น ๆ เพื่อให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และปลอดภัย   อาหาร 1 ใน 3 ไม่ปลอดภัยจากที่ได้รายงานผลทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารอย่างสม่ำเสมอในฉลาดซื้อ อันนี้เกิดจากความร่วมมือกันของศูนย์ฯ ทั้ง 8 จังหวัด ที่แข็งขันช่วยกันลงพื้นที่เก็บตัวอย่างและส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างที่เราส่งวิเคราะห์รวมกว่า 750 รายการ   และจากการวิเคราะห์พบว่าอย่างน้อย 1 ใน 3 ของอาหารที่สุ่มตัวอย่าง มีการปนเปื้อนเกินมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นด้านจุลินทรีย์ หรือเคมี ยกตัวอย่างเช่น สารกันบูดในลูกชิ้นหมู ไก่เนื้อ และปลา ยาฆ่าแมลงในผัก-ผลไม้   ทั้งที่เป็นประเภทปลอดสารและที่ขายอยู่ในตลาดปกติ ยาฆ่าแมลง อะฟลาท็อกซินและโลหะหนักตกค้างในของแห้งจำพวก กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาว และสาหร่ายแกงจืด ทั้งนำเข้าและที่ขายอยู่ภายในประเทศ จุลินทรีย์ปนเปื้อน หรือความผิดปกติของค่าโปรตีน(มีทั้งน้อยและมากจนผิดปกติ)ในนมโรงเรียนทั้งชนิด พาสเจอร์ไรส์ และยูเอชที และคุณค่าทางโภชนาการและโลหะหนักในสาหร่ายขนมเด็ก เป็นต้น ซึ่งคงผ่านตาท่านผู้อ่านฉลาดซื้อไปแล้ว  เรื่องอาหารที่เรานำเสนอนี้สร้างกระแสฮือฮาได้มากนะครับ ผมได้รับจดหมายไถ่ถามจากบริษัทผู้ผลิตเป็นระยะๆ ว่า โครงการฯ เราทำอะไร ทดสอบยังไง โดยส่วนใหญ่ผู้ผลิตเจ้าใหญ่ที่พบว่าเกิดปัญหากับผลิตภัณฑ์ของตน ก็ยินดีที่ทางเราช่วยเป็นหูเป็นตาให้อีกทาง และพร้อมที่จะนำข้อเสนอของเราไปปรับปรุงตัวผลิตภัณฑ์ อันนี้ถือเป็นเรื่องน่ายินดีมากครับ และรายที่แย่ๆ หาผู้ผลิตไม่เจอ ก็พบว่า หายหน้าหายตาไปจากตลาดเหมือนกันครับ อันนี้ผมถือว่า เป็นเรื่องดี แต่อาจจะมาโผล่ในชื่อหรือยี่ห้ออื่นหรือไม่ อันนี้ต้องติดตามกันต่อไป   ข้อเสนอทางด้านนโยบายเมื่อพบว่ามีปัญหาอะไรบ้างในห่วงโซ่ของการผลิตอาหาร ผู้ร่วมดำเนินงานในโครงการฯ ก็ได้ร่วมกันพัฒนานโยบายสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยของอาหารขึ้น ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสมัชชาผู้บริโภค ที่มีผู้บริโภคเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 500 คน คิดว่าหลายท่านก็คงจะได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นด้วย  จากนั้นก็นำเสนอรายละเอียดเผยแพร่ให้กับสาธารณชน เพื่อที่จะได้ผลักดันให้หน่วยงานรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุม กำกับดูแล และส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยด้านอาหารได้พัฒนาต่อไป สำหรับท่านใดที่สนใจเรื่องข้อเสนอนโยบาย เราจัดทำเป็นเอกสารแจก ติดต่อมาที่ผมได้ครับเอกสารยังพอมีเหลืออยู่บ้าง   ก้าวต่อไปเพื่อสังคมที่มีคุณภาพถึงแม้โครงการนี้จะเป็นการทดลองพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารใน 8 จังหวัด และมีความจำกัดด้านความรู้เชิงวิชาการขององค์กรผู้บริโภคในการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องนี้ต่อสาธารณะ แต่โครงการได้ขยายผลเพิ่มเติมในการพัฒนาความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)   โดยมีคณะทำงานในการใช้ประโยชน์จากผลข้อมูลการเฝ้าระวังอาหารร่วมกัน และการพัฒนาความร่วมมือเรื่องอาหารปลอดภัย ในอนาคต ซึ่งหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่นควรจะมีการสนับสนุนระบบการพัฒนาการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร และการรณรงค์เรื่องอาหารปลอดภัยโดยผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารของประชาชนคนไทยทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 อาหารหมดอายุ แต่ทำไมยังวางจำหน่าย

ในคอลัมน์เสียงผู้บริโภคเล่มก่อนๆ เราเคยเสนอประเด็นเรื่อง “ของหมดอายุควรมีอยู่ในห้างหรือไม่” เพราะผู้บริโภคอย่างเรา ไม่ได้มีหน้าที่นำสินค้าที่หมดอายุไปคืน แต่ควรเป็นทางร้านมากกว่าที่ต้องวางขายสินค้าที่ไม่หมดอายุให้กับเรา อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวก็ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ จนเกิดคำถามจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ว่า เมื่อไรที่ปัญหานี้จะได้รับการดูแลอย่างจริงจังจากผู้จัดจำหน่ายสินค้านั้นๆกรณีนี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่ซื้ออาหารจากห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี โดยเขาได้ซื้อฟักทองนึ่ง และปลานิลทอด 4 ตัว เมื่อนำกลับมารับประทานที่บ้าน(ไม่เกิน 20 นาที นับจากเวลาที่ชำระเงินเรียบร้อย) ก็พบว่าฟักทองดังกล่าวมีกลิ่นบูดและมียางเหนียวๆ ติดมือ และปลานิลทอดก็มีกลิ่นเน่าโชยออกมาทุกตัว เขาจึงตัดสินใจเก็บใส่ตู้เย็นไว้ และโทรศัพท์ไปร้องเรียนที่ห้างดังกล่าวในวันรุ่งขึ้นเมื่อได้รับการแจ้งร้องเรียนพนักงานของทางห้างได้แจ้งว่า ให้นำใบเสร็จมารับเงินคืน แต่ผู้ร้องเห็นว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งทางห้างควรให้ความสนใจมากกว่าประเด็นเรื่องการคืนเงิน เขาจึงขอพูดสายกับผู้บริหารระดับสูง เพราะต้องการให้ห้างดังกล่าวมีความรับผิดชอบมากกว่านี้อย่างไรก็ตามพนักงานกลับโอนสายให้ผู้จัดการระดับแผนกเป็นผู้รับเรื่องแทน ผู้ร้องจึงตอบกลับไปว่า จะไม่เป็นฝ่ายไปรับเงินคืนที่ห้าง แต่ให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของห้างเป็นผู้มารับสินค้ากลับไปและมารับเรื่องร้องเรียนด้วยตนเองแทน แต่ก็กลับพบว่าคนที่มารับสินค้าเป็นเพียงหัวหน้าแผนกซีฟู้ด ซึ่งได้ขอโทษและคืนเงินให้ ทำให้ผู้ร้องเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เขาจึงนำคลิปที่ถ่ายอาหารดังกล่าวไว้ลงในสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook ส่วนตัว) และเว็บไซต์ยูทูบ เพื่อเผยแพร่ข่าวสาร และร้องเรียนมายังมูลนิธิ เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แนวทางการแก้ไขปัญหาทางศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องทำจดหมายแจ้งรายละเอียด และความประสงค์ส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของห้างสรรพสินค้าดังกล่าว และนัดให้มีการเจรจาที่มูลนิธิฯ ซึ่งภายหลังการเจรจาตัวแทนของบริษัทฯ ยืนยันที่นำข้อเสนอต่างๆ ของผู้ร้องกลับไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้มีมาตรฐานในการดูแลสินค้าให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคต่อไปทั้งนี้สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการร้องเรียนในประเด็น อาหารหมดอายุ หรือเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ สามารถทำได้ตามขั้นตอนดังนี้1. เก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้า และใบเสร็จรับเงินมาเป็นหลักฐาน อย่างไรก็ตามในกรณีที่ไม่มีใบเสร็จรับเงิน สิ่งที่สามารถเรียกร้องได้โดยทั่วไปคือการเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ (ขึ้นอยู่กับการต่อรองกับผู้ขาย) ซึ่งควรดำเนินการทันทีที่พบว่าได้บริโภคอาหารหมออายุ หรือเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ2. ถ่ายรูป ฉลาก (ที่ระบุ ว/ด/ปี ที่ผลิต – หมดอายุ) รูปสินค้า และใบเสร็จรับเงิน 3. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่4. ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งควรคิดล่วงหน้าว่าต้องการให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร เช่น เปลี่ยนสินค้าใหม่ คืนเงิน จ่ายค่าเสียเวลา หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติดังกล่าว 5. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร โดยบรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง ถึงประธานกรรมการบริหารที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทนั้นๆ ซึ่งสามารถให้ทางศูนย์ฯ ช่วยตรวจสอบข้อมูลก่อนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 ถึงเวลาต้องปฏิรูปการเข้าถึงอาหารปลอดภัย

15 มีนาคม ของทุกปี  คือวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล  เป็นวันที่ผู้บริโภคทั่วโลกลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน  จากการที่ถูกละเมิดสิทธิโดยผู้ประกอบการที่ไร้ธรรมาภิบาล  โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศมีหน้าที่กำหนดนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแท้จริงแล้ว  ประเทศไทยมีการพูดถึงสิทธิผู้บริโภคมาก่อนปี 2520  และผลักดันจนทำให้เกิด พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2522  โดยกำหนดสิทธิผู้บริโภคไว้ถึง 5 ประการ  คือ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ/สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกสินค้าและบริการ/สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา/สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ/สิทธิจะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย   (ยังมีสิทธิผู้บริโภคสากลอีก 3 ข้อ)และให้มี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ  มาเป็นผู้กำกับดูแลงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย  และมีการขยายงานคุ้มครองผู้บริโภค ออกไปอีกหลายหน่วยงานในแต่ละด้านแต่รัฐก็คือรัฐ งานทุกเรื่องเป็นไปอย่างล่าช้า   ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมผู้ประกอบการที่ไร้จริยธรรม  แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มีผลบังคับใช้มากว่า 35 ปีแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจัง!งานสมัชชาผู้บริโภคที่จัดขึ้นวันที่ 15 มีนาคม ปีนี้   เน้นไปที่เรื่องการเข้าถึงอาหารปลอดภัย  เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  จริงจังกับเรื่องอาหารปลอดภัยเพิ่มขึ้น  ไม่ใช่บริโภคอาหารตามที่โฆษณา เช่น  กินชาเขียว(น้ำตาลเยอะ)แล้วได้รถเบนซ์  กินเครื่องดื่มชูกำลังแล้ว ได้เงิน 10 ล้าน  คนก็ระดมกินกันมากมายเพื่อหวังรวย  มิได้กินเพื่อเป็นอาหาร  ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทเครื่องดื่มชูกำลัง มักชอบไปจัดงานอีเว้น  ในต่างจังหวัดโดยมีสิ่งล่อใจ ด้วยของขวัญของรางวัล และเชิญดารานักร้องดังไปปรากฏตัว  แต่มีข้อแม้ใครจะเข้างานต้องมีฝาขวด 10 ฝา  บางคนก็เตรียมมาจากบ้าน  คนที่ไม่ได้เตรียมมาก็ซื้อได้เลยหน้างาน สิ่งที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ เด็กประมาณ 11 ขวบ ยืนกินเครื่องดื่มชูกำลังตรงนั้นรวดเดียว 10 ขวด  เพียงแค่อยากเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับดาราที่ชื่นชอบ  โดยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีใครเสนอตัวเข้ามาเป็นเจ้าภาพจัดการ       ยังไม่รวมถึงการโฆษณาอาหารเสริม  ให้เข้าใจผิดว่าเป็นยารักษาโรค   การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพที่สำคัญ  มี  2 ส่วน ต้องมีการกำกับการโฆษณาอาหารมิให้เกิดการโฆษณาเกินจริง และใช้การพนันมาสร้างแรงจูงใจให้ซื้อสินค้า   ควบคุมความหวานในอาหาร และกำหนดห้ามดื่มเกินวันละ กี่ขวด   เพราะ “ปากคือประตูสู่โรคภัย”  ไม่ควบคุมวันนี้ อนาคตเด็กไทย  จะเป็น “คนอมโรค” ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ  และความมั่นคงของประเทศ   ดังนั้นการทำให้ผู้บริโภคเท่าทัน!  ก่อนหยิบอะไรใส่ปากจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง!  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 เจอค่าอาหารโครตแพง ทำอะไรได้บ้าง

คุณขิ่ม (สุทธินันท์) โทรมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ตนเองและครอบครัวไปฉลองวันเกิดให้คุณพ่อที่ภัตตาคารแถวปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นภัตตาคารอาหารจีน  เมื่อไปถึง พบว่าตัวเองเป็นลูกค้าโต๊ะแรก  พนักงานเข้ามาต้อนรับและแนะนำเมนูให้หลายอย่าง เช่น หูฉลามน้ำแดง กระเพาะปลาน้ำแดง  ฯลฯ  แต่ที่ได้ยินเสียงเชียร์ว่า เป็นอาหารขึ้นชื่อมาก ลูกค้าที่เป็นข้าราชการมักจะแวะมาทานกันบ่อยๆ    คืออาหารประเภทก้ามปูและปลากระพง จึงสั่งก้ามปูผัดน้ำพริกเผาจานเล็กมาลองชิมกัน  และปลากะพงนึ่งซีอิ๊ว  หูฉลามน้ำแดง กระเพาะปลาน้ำแดง  ผัดหมี่ ต้มยำกุ้ง  ข้าวผัดปู ปอเปี๊ยะทอด คะน้าผัดน้ำมันหอย  รวมแล้วประมาณ 9  อย่างเพราะไปกันเกือบ 10 คนหลังจากรับประทานอาหารเสร็จเช็คบิล แทบเป็นลมเพราะเจอราคาอาหารเข้าไป 10,150   บาท  สอบถามราคาอาหารทุกจาน ก็พอรับได้ แต่เจอก้ามปูผัดน้ำพริกเผาจานเดียว 3,500  บาท ถามว่าทำไมถึงคิดราคานี้ในเมื่อจานเล็กแค่ 800  บาท  พนักงานก็ตอบว่า เฉพาะเมนูนี้คิดราคาเป็นก้าม  ก้ามละ 400 บาท  เพราะใช้ปูคัดสรรอย่างดี อ้าวเมนูไม่เห็นเขียนบอกไว้ เถียงกันไปมา  สรุปก็ต้องยอมจ่ายเงินไปเพราะกินไปแล้ว เสียทั้งเงินและความรู้สึก  แต่ที่มาร้องเรียนเพราะไม่อยากให้คนที่ไปรับประทานแล้วพบเจอปัญหาแบบตนเองอีก แนวทางการแก้ไขหลังจากรับเรื่องร้องเรียนศูนย์พิทักษ์สิทธิ ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ร้านอาหารดังกล่าว ด้วยการไปสั่งอาหารรับประทานบางอย่าง พบว่าราคาอาหารนั้นมีเขียนบอกไว้ทุกรายการ  เช่น ปลากะพงนึ่งซีอิ๊วนั้น บอกราคาขายเป็นขีด ขีดละ 140 บาท  ส่วนอาหาร ประเภทอื่นจะระบุราคาตามขนาด เล็ก กลาง ใหญ่   โดยเฉพาะเมนูก้ามปู ที่ทีมศูนย์ฯ ไปลองสั่งพบว่า พนักงานจะพยายามเชียร์และอธิบายให้ฟังว่าจานเล็กจะไม่พอทาน เพราะมี 2 ก้าม ควรสั่งให้ครบตามจำนวนคนที่ไปจะได้รับประทานกันทั่วถึง ซึ่งจะคิดก้ามละ 400 บาท  ที่แพงเพราะเป็นปูที่ไปสั่งจากผู้เลี้ยงเฉพาะไม่ได้ซื้อจากตลาดทั่วไปเพราะไม่ได้ขนาดที่ต้องการ  อีกทั้งช่วงเศรษฐกิจขาลง ทำให้ลูกค้าในร้านน้อยเพราะราคาอาหารค่อนข้างสูง เมื่อทราบข้อเท็จจริง ศูนย์ฯ ได้กลับมาสอบถามคุณขิ่มเพิ่มเติม จึงได้รับทราบว่าทางร้านพยายามเชียร์ให้สั่งอาหารแบบเดียวกันและวันนั้นมีลูกค้าอยู่โต๊ะเดียวแต่วิธีการไม่เหมือนกันภายหลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด  ศูนย์ฯ ได้ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการเพื่อแก้ไขปัญหา เรื่องเมนูที่ไม่ได้แสดงรายละเอียดให้ชัดเจน    ซึ่งทางร้านได้มีหนังสือชี้แจงว่า ได้ปรับเปลี่ยนเมนูใหม่ เพื่อให้ชัดเจนขึ้น //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 แค่ส้มตำปลาร้า ทำให้กระเป๋าฉีกได้

 และแล้วปี 2012 ก็ผันผ่านไป โดยที่โลกยังปลอดภัย “ไม่แตก” ไปตามคำทำนายที่หลายคน  หวาดหวั่น    หลังจากเทศกาลปีใหม่  ที่หลายคนได้หยุดพักผ่อนไป  ลัลลา......  ท้าลมหนาว  กลับไปหาความอบอุ่นกับครอบครัวที่ต่างจังหวัดให้หายคิดถึง เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลชาร์ตพลัง และการเคลื่อนย้ายผู้คนครั้งยิ่งใหญ่   การพักผ่อน การหาความสุขในช่วงสั้นๆ (ที่หาไม่ค่อยได้ในสังคมเมือง)ผู้เขียนจึงขอหยิบยก เรื่องอาหารการกิน ที่คนเมืองอพยพ ได้ไปลิ้มรสชาติ ท่ามกลางบรรยากาศที่สดชื่น     ที่เกริ่นเรื่องนี้มาคืออยากบอกว่า    ผู้บริโภค ที่ต้องบริโภคอะไรก็ตาม ยังคงต้องระมัดระวัง  ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของพวกฉวยโอกาสขายสินค้าราคาเกินจริงด้วยตัวเองอยู่เช่นเดิมๆ ที่ผ่านมา    เพื่อนมาเล่าให้ฟังว่าปีใหม่ ได้เดินทางไปเที่ยวที่เกาะสีชังจังหวัดชลบุรี  ผ่านหาดบางแสนเลยแวะไปนั่งกินข้าวที่ชายหาด เป็นร้านแผงลอยเล็กๆ บริเวณนั้น   สิ่งที่เจอก็คือ หากจะนั่งกินอาหารที่ชายหาดต้องเสียค่าที่นั่งเก้าอี้ตัวละ 30 บาท(โอเคปรกติ) ตามมาด้วยเมนูอาหารที่ไม่บอกราคา  เมื่อถามว่าทำไมไม่เขียนราคา ก็ได้คำตอบว่ามันมีจานใหญ่จานเล็ก ราคาไม่เท่ากัน เลยไม่ได้เขียนราคา    แต่ด้วยกลุ่มที่ไปกินกลัวว่า ราคาอาหารทะเลจะแพงมาก(เพราะไม่มีราคาบอกไว้)   ก็เลยสั่งประเภทส้มตำ หมูน้ำตก  หอยนางรมสด  มากินกัน เพราะเห็นว่าราคาน่าจะเป็นมาตรฐานสักพักเพื่อนในทีมที่เดินไปซื้อข้าวกล่องเดินหน้ามุ่ยกลับมา  พร้อมคำบ่นว่าไปซื้อข้าวกินเหมือนโดนปล้นเลย ข้าวกะเพราไข่ดาวกล่องละ 60 บาท หลายคนพูดตรงกัน ”แพงอ่ะ”   เพื่อนในกลุ่มหัวเราะเยาะสมน้ำหน้าที่ไปซื้อของแพง   และแล้วอาหารที่สั่งก็มาส่งทุกคนก็กินกันอย่างครื้นเครง   แต่เมื่อถึงเวลาจ่ายเงิน  ทั้งกลุ่มตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก   เพิ่งตระหนักว่าข้าวของเพื่อนที่ไปซื้อมาไม่แพงเลย   เพราะส้มตำไทยปู ส้มตำปูปลาร้า (ไมใช่ส้มปูม้าดอง) ราคา 60 บาท ทุกจาน  หอยนางรมสดตัวเล็กๆประมาณ 18 ตัว ราคา 150  บาท(ตัวละเกือบ 10 บาท)  หมูน้ำตกจานเล็กนิดเดียวมีหมูไม่กี่ชิ้นจานละ 80 บาท  บวกรวมๆ อาหารไม่กี่จานเกือบ 800 บาท (เหงื่อตกทั้งกลุ่ม) ก่อนจ่ายเงินได้ถามว่าทำไมราคาอาหารถึงแพงมากอย่างนี้คำตอบคือ  “ราคานี้เป็นราคาที่เทศบาลตำบลแสนสุขเป็นผู้กำหนด” ทุกร้านต้องขายแพงอย่างนี้เหมือนกันทั้งหมดเพื่อนจึงได้โทรประสานไปที่เทศบาลตำบลแสนสุข (038-193500) เพราะอยากทราบว่า เทศบาลฯเป็นผู้กำหนดราคาจริงดังที่แม่ค้ากล่าวอ้างหรือไม่   โทรติดก็มีการโอนสายไปมาหลายครั้งกว่าจะมีคนรับสายก็หมดค่าโทรไปหลายบาท ที่สุดก็ได้คุยกับกองสาธารณสุข   จนได้คำตอบว่าเทศบาลกำหนดราคาจริง คือเป็นส้มตำมะม่วงปูม้าดองให้ขายไม่เกิน 60 บาท  ส้มตำทั่วไปให้ขายไม่เกิน 50 บาท  เราก็ตั้งคำถามว่าราคาที่เทศบาลกำหนดแพงกว่าราคาที่กรมการค้าภายในกำหนดหรือไม่?  คำตอบคือ ไม่ทราบ เพราะราคานี้นายกเทศมนตรีเป็นผู้กำหนดเมื่อข้อมูลไม่ครบก็ต้องหาต่อ  ก็เลยโทรไปที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน   และก็ได้ข้อมูลจริงๆ ว่ากรมการค้าภายในไม่มีการกำหนดราคาอาหารเหล่านี้  ผู้ขายสามารถตั้งราคาได้อย่างอิสระ แต่ต้องเขียนราคากำหนดไว้ เพื่อให้เป็นข้อมูลการตัดสินใจของผู้บริโภค  หากร้านไหนไม่เขียนสามารถสั่งปรับได้ไม่เกิน 10.000 บาท  ดังนั้นผู้บริโภคต้องดูแลตัวเองก่อนซื้อสินค้า “ให้ตรวจสอบราคาก่อน”ได้ฟังข้อมูลแล้วก็ได้แต่สะท้อนใจ     ก็ไหนกระทรวงพาณิชย์ออกมาตีปี๊บโครมๆ ผ่านสื่อ  เรื่องการควบคุมราคาอาหารไม่ให้สูงเกินจริง  แต่สิ่งที่เห็นคือ ดีแต่ตีปี๊บ แต่ “ทำไม่ได้จริง” บางแสนคงเป็นแค่กรณีตัวอย่าง เห็นชัดเจนว่าผู้บริโภคยังไม่มีที่พึ่ง ที่แท้จริง  สิ่งที่ทำได้คือต้อง “พึ่งตัวเองไปก่อน” ทำตัวเป็นผู้บริโภคที่รู้ทัน   ไม่เช่นนั้นก็จะกระเป๋าฉีกเช่นนี้แล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 136 ขนประหลาดในเค้ก

ด้วยชีวิตรีบเร่ง ทำให้เดี๋ยวนี้คนไทยกินข้าวที่บ้านกันน้อยลง หันไปพึ่งอาหารสำเร็จรูปเยอะขึ้น เข้าร้านสะดวกซื้อหยิบปุ๊บ จ่ายเงินปั๊บ แกะห่อเป๊ะ หยิบใส่ปากป๊าบ เอ๋...นี่มันเส้นอะไร อึ๋ยยยย! นี่มันขน.@#@?? “คน” นี่นาเช้าวันที่ 15 มีนาคม 2555 น่าจะเป็นเช้าวันทำงานที่สดใสอีกวันหนึ่งสำหรับคุณบูรณ์มี หากว่าไม่เจอขนเส้นนั้น ก่อนออกไปทำงาน เธอเปิดตู้เย็นเพื่อหาของรองท้อง หมายตาไปที่ขนมเค้กโรลบลูเบอรี่ฟาร์มเฮ้าส์ ที่ซื้อจากร้านเซเว่น อีเฟเว่นใกล้บ้านตั้งแต่เมื่อคืนวันวานเธอแกะมารับประทานได้คำสองคำ ก็เจอเส้นขนประหลาดแทรกอยู่ในเนื้อขนมเค้ก ทีแรกเธอคิดว่าเป็นเศษด้ายสีดำ แต่เมื่อเอานิ้วไปเขี่ยๆ แตะๆ ก็รู้ว่าไม่ใช่ หยิบขึ้นมาดูชัดๆ มันดูเหมือนขนเพชรของคนมากเลย“ทิ้งเลยค่ะไม่กินต่อเลย”พอเจอขนประหลาดในเนื้อขนม สิ่งแรกที่เธอทำคือ การกดเบอร์โทรลูกค้าสัมพันธ์ฟาร์มเฮ้าส์ที่แสดงอยู่บนซองขนมเพื่อจะร้องเรียน ปรากฏว่าไม่มีใครรับสายเพราะตอนนั้นเป็นเวลา 7 โมงเช้ากว่าๆพอถึงที่ทำงานเวลา 9 โมงกว่าโทรเข้าไปใหม่สายก็ไม่ว่าง ประมาณเกือบ 11 โมงจึงโทรติด“พอมีเจ้าหน้าที่มารับสายก็เลยบอกว่าเราได้เจอขนเพชรในขนม เจ้าหน้าที่ถามกลับมาว่าวันผลิต วันหมดอายุเมื่อไหร่ เลยบอกไปว่าผลิต 13 มี.ค. หมดอายุ 18 มี.ค.55 ซื้อจากที่ไหน ก็บอกว่าร้านสะดวกซื้อ(เซเว่น) อยู่แถวฝั่งตรงข้ามสำนักงาน ปปส. ดินแดง” จากนั้นก็ได้มีเจ้าหน้าที่ของฟาร์มเฮ้าส์โทรติดต่อกลับมาอีกครั้ง“ถามว่าจะมาพบได้ที่ไหน ตอนนี้ขนมอยู่ที่มือหรือเปล่า บอกว่าอยู่ เขาบอกว่าจะมีเจ้าหน้าที่มาพบตอนบ่าย แต่ตอนหลังโทรกลับมาบอกว่ารถไม่ว่างจะมาวันพรุ่งนี้ คือวันที่ 16 มี.ค. บอกว่าจะมาประมาณ 11 โมงเช้าวันที่ 16 มี.ค. 55 เวลาประมาณ 11.00 น. ณ ที่ทำงานของคุณบูรณ์มี  มีเจ้าหน้าที่ของบริษัทฟาร์มเฮ้าส์มาขอพบเธอ 2 คน“ก็นำขนมชิ้นนั้นไปให้ดู เขาก็ขอโทษและชี้แจงว่า ช่วงนี้มีพนักงานเข้าออกกันบ่อย บอกขอบคุณที่ช่วยแจ้งข้อมูล และให้ขนมปลอบใจ 1 กระปุกแล้วแยกย้ายกันไป”“ก็มึนๆ ล่ะค่ะ ที่เขาเอาขนมอีกกระปุกมาให้เป็นการขอโทษ จบแค่นี้เองเหรอคะ”คุณบูรณ์มีทิ้งท้าย ก่อนส่งข้อมูลและภาพถ่ายของขนมและเส้นขนในขนม พร้อมสำเนาบันทึกประจำวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจในการร้องเรียนมาให้มูลนิธิฯ เพื่อขอให้ช่วยดำเนินการตรวจสอบปัญหานี้ต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหาการที่มีเส้นขนหรือสิ่งแปลกปลอมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภคปะปนมาในอาหาร โดยที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำของผู้บริโภค ให้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากการผลิต บรรจุ หรือ เก็บรักษาอาหารโดยไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า “อาหารไม่บริสุทธิ์” ซึ่งพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 ได้มีข้อห้ามไม่ให้ผู้ใดผลิตหรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับถ้าจะเปรียบเทียบความรุนแรงของโทษ การจำคุกไม่เกิน 2 ปีก็มีความรุนแรงเท่ากับโทษการทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ซึ่งทำให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้อื่น เช่น  ตบหน้าจนบวมช้ำ ต้องรักษาบาดแผล ส่วนโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทก็เป็นการปรับระดับโทษเดียวกับการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 เช่น รักษาผู้ป่วย  ไม่รอบคอบ ประมาทเลินเล่อทำให้เขาตาย ขับรถประมาทชนคนตาย   มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่โทษจำนั้นหนักกว่าคือมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ดังนั้น การแสดงความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจเพียงแค่กล่าวคำขอโทษแล้วให้ขนมมาปลอบใจดูจะอ่อนไปหน่อย มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือร้องเรียนไปถึงบริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตขนมฟาร์มเฮ้าส์ และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) ผู้ประกอบการร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ในฐานะผู้จำหน่ายขนม ให้ร่วมกันตรวจสอบปัญหาและพิจารณาเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภคตามสมควรไม่นานบริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่ฯ ได้มีหนังสือชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกลับมาที่มูลนิธิฯ โดยใจความสำคัญพอสรุปได้ว่า โอกาสที่สิ่งแปลกปลอมจะปนเปื้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต อาจเกิดจากวัตถุดิบบางประเภท อาทิเช่น ไข่ไก่ตอก เนื่องจากไข่ไก่ที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้น เป็นไข่ไก่สด ซึ่งถูกบรรจุในถุงแช่เย็นจากทางผู้ผลิตไข่ไก่โดยตรงใส่ในถาดตะแกรง เมื่อเข้าสู่โรงงานจะผ่านขั้นตอนการตรวจรับที่อยู่ภายนอกอาคาร เจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพจะทำการสุ่มตรวจสิ่งแปลกปลอม กรณีสุ่มไม่พบ ไข่ไก่จะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตต่อไป“จากกรณีดังกล่าวทางบริษัทฯ จึงเล็งเห็นแนวทางพัฒนาการป้องกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมคุณภาพ โดยเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบสิ่งแปลกปลอม เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าวัตถุดิบที่ใช้ตลอดจนกระบวนการผลิตยังอยู่ในมาตรฐาน”“เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 ทางบริษัทฯ จึงได้ทำการติดต่อลูกค้าอีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจและยืนยันในคุณภาพกระบวนการผลิตภายใต้มาตรฐานหลักปฏิบัติการผลิตที่ดี และดำเนินการส่งมอบผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นการขอบพระคุณลูกค้าที่กรุณาให้ข้อมูลกรณีพบสิ่งแปลกปลอมในผลิตภัณฑ์แก่ทางบริษัทฯ ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อันนำไปสู่การพัฒนากระบวนการตรวจสอบคุณภาพของฝ่ายผลิตของทางบริษัทฯ ภายหลังการดำเนินการทางลูกค้าได้รับความพึงพอใจเป็นอย่างมาก” เป็นคำตอบจาก บริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่ฯในท้ายที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 อยากเห็นจิตสำนึกดารากับการโฆษณาหลอกลวง

 จากข่าวครึกโครมเรื่องคุณค่าทางอาหารของรังนก ที่เราๆ ท่านๆ เชื่อกันมาตลอดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ให้กลับมามีพลังกระชุ่มกระชวยได้เร็วขึ้น ทำให้รังนกเป็นสินค้าที่มีคุณค่าและราคาแพง ที่ผู้คนส่วนใหญ่มักซื้อให้กับคนที่เรารักหรือเป็นของเยี่ยมผู้ป่วย  แต่ผู้เขียนมารู้สึกตกใจมากเมื่อได้ทราบข้อมูลจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เปรียบคุณค่าโปรตีนของรังนกกับถั่วลิสง ที่น่าตกใจคือเรากินรังนก 1 ขวด 100 กว่าบาท  เราจะได้รับโปรตีนเท่ากับเรากินถั่ว 2 เมล็ด และที่น่าตกใจไปกว่าคือ ไข่ไก่ 1 ฟอง 4-5 บาท มีคุณค่าอาหารเท่ากับเราต้องกินรังนก 24 ขวด 3 พันกว่าบาท(พุทโธธัมโมสังโฆ)นี่ยังไม่รวมที่มีการโฆษณารังนก 100% แต่จริงๆ 1 ขวดมีรังนกเพียง 1 % เศษเท่านั้น   สังคมไทยของเราเป็นอะไรกันทำไมถึงปล่อยให้มีเรื่องหลอกลวงได้ยาวนานถึงเพียงนี้  ทั้งที่เรื่องนี้มีหน่วยงานเฉพาะดูแลอยู่ และที่น่าเจ็บใจไปกว่านั้นคือพอเปิดทีวีดูก็จะเห็นดาราที่เป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาสรรพคุณอันเลอเลิศของรังนกอยู่เลย แค่นั้นยังไม่พอยังเอาความรักระหว่างแม่-ลูกมาโน้มน้าวให้ซื้อสินค้าอีก  คือหากรักแม่ต้องให้แม่กินรังนก  ตอนยังไม่รู้ข้อมูลก็ไม่รู้สึกอะไร แต่พอรู้ข้อมูลแล้วจึงมีความรู้สึกด้านอื่นเข้ามา  คือ พรีเซ็นเตอร์ที่โฆษณาสินค้านั้นๆส่วนใหญ่เป็นดาราและนักร้อง ซึ่งได้รับความรักและศรัทธาจากประชาชน แต่เพียงเพื่อรายได้ของตนเองที่ได้รับจากรับจ้างโฆษณา มองแค่รายได้สูงสุด ไม่มองถึงคุณภาพของสินค้า  ก็เท่ากับเอาความรักความศรัทธาที่ประชาชนมีให้มาใช้เป็นเครื่องมือหากิน  โดยไม่คำนึงถึงว่าการโฆษณานั้นหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ ดังนั้นพวกเราในฐานะผู้บริโภคควรช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องจิตสำนึกของเหล่าดารานักร้อง   ให้คำนึงว่าคุณกำลังร่วมมือกับผู้ประกอบการหลอกลวงประชาชนที่เขารักและสนับสนุนพวกคุณอยู่หรือไม่  อย่าเห็นแค่เพียงรายได้ของพวกคุณฝ่ายเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 ฮะจิบังเสนอเงินลูกค้า 5 หมื่น จบเรื่องอาหารทำพิษ

รายงานความคืบหน้า กรณีลูกค้าฮะจิบังร้องเรียนว่ามีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงหลังรับประทานอาหารที่ร้านฮะจิบัง ราเมน สาขาเทสโก้ โลตัส พระราม 3จากความเดิมต่อจากฉบับที่แล้ว กรณีคุณแพรวพรรณ(นามสมมติ) และครอบครัวไปนั่งรับประทานอาหารที่ร้านฮะจิบังสาขาดังกล่าวแล้วเกิดท้องเสียอย่างรุนแรง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 หลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังฟสือแจ้งไปยังบริษัท ไทยฮะจิบัง จำกัด เพื่อขอให้บริษัทพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภคด้วยความเป็นธรรมตามสมควร ต่อมาในวันที่ 2 มิถุนายน 2552 บริษัทไทยฮะจิบัง จึงได้มีหนังสือตอบกลับมาที่มูลนิธิฯ ใจความสรุปได้ว่า ในวันเกิดแหตุที่ผู้บริโภคได้ร้องเรียนนั้น ร้านฮะจิบังสาขาดังกล่าว ได้จำหน่ายอาหารชนิดเดียวกันกับที่ผู้ร้องเรียนและครอบครัวรับประทานให้แก่ลูกค้าอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ปรากฏว่ามีลูกค้ารายใดมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับรายของผู้ร้องเรียนและครอบครัวแต่อย่างใด หากการเจ็บป่วยของผู้ร้องเรียนและครอบครัวเกิดจากอาหารที่รับประทานจากร้านของบริษัทจริง ลูกค้ารายอื่น ๆ จะต้องมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงด้วย ดังนั้น อาการท้องร่วงของนางสาวพรรณราย และครอบครัวอาจเกิดจากการได้รับเชื้อโรคบิดชนิดเฉียบพลันจากที่อื่นก่อนมารับประทานอาหารที่ร้านฮะจิบัง ราเมน เมื่อยังไม่ได้พิสูจน์ว่าเชื้อโรคบิดชนิดเฉียบพลันเกิดจากการรับประทานอาหารของร้านฮะจิบังราเมน บริษัทฯจึงยังไม่อาจพิจารณาเยียวยาค่าเสียหายได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยินดีที่จะพิสูจน์หาความจริงจนเป็นที่แน่ชัดเสียก่อนล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา ตัวแทนของบริษัท ไทยฮะจิบัง ได้เข้าเจรจากับผู้ร้องเรียนที่สำนักงานเขตยานนาวา โดยผู้ร้องเรียนได้เสนอเรียกค่าเสียหายไปทั้งสิ้น 168,000 กว่าบาท แต่ทางบริษัทฯ ยินดีที่จะจ่ายเพื่อเป็นการแสดงความมีน้ำใจให้กับลูกค้าที่อาจเกิดความเข้าใจผิดในบริการของร้านฮะจิบัง ราเมนเป็นเงิน 50,000 บาทถ้วน และขอให้ยุติเรื่องพิพาททั้งหมด ผู้ร้องเรียนปฏิเสธและขอเดินหน้าที่จะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป ความคืบหน้าในการตรวจสอบด้านความปลอดภัยของอาหารในร้านฮะจิบัง ราเมน สำนักงานเขตยานนาวา ได้ดำเนินการตรวจสอบสุขลักษณะของร้านฮะจิบัง ราเมน สาขาเทสโก้ โลตัส พระราม 3 และทำการสุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร น้ำแข็ง และน้ำดื่ม ไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2552 หลังเกิดเหตุประมาณ 3 สัปดาห์ ผลการตรวจวิเคราะห์พบอาหารจำนวน 8 จาก 11 รายการที่ไม่อยู่ในมาตรฐาน โดยส่วนใหญ่พบเชื้อแบคทีเรียโคลิฟอร์ม เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ทั้งในน้ำแข็งและอาหารที่สุ่มตรวจ โดย 1 ตัวอย่างพบเชื้อแบคทีเรียอีโคไลเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดสำหรับอาหารปรุงสุก สำนักงานเขตจึงมีคำสั่งให้ร้านอาหารแห่งนี้มีการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการผลิตอาหารให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค อาทิเช่น การมีคำสั่งให้ไม่แช่สิ่งของอื่นใดในภาชนะที่บรรจุน้ำแข็งที่ใช้ดื่ม ให้ทำความสะอาดวัตถุดิบด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนนำมาปรุงประกอบอาหาร ให้ผู้ที่สัมผัสอาหารทุกคนล้างมือก่อนและหลังสัมผัสอาหาร เป็นต้นต่อมาในวันที่ 28 เมษายน 2552 สำนักงานเขตยานนาวาได้เข้าตรวจสอบสุขลักษณะของร้านฮะจิบัง ราเมนแห่งนี้อีกครั้ง เพื่อติดตามผลการปฏิบัติตามคำสั่งและสุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร รวม จำนวน 11 รายการเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจครั้งนี้พบว่ายังมีการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในผักโรยหน้าและน้ำแข็ง ส่วนอาหารชนิดอื่นไม่พบปัญหาใด ๆ สำหรับผลการตรวจสุขภาพของพนักงานในร้าน พบว่า เป็นใบรับรองแพทย์ที่ส่งให้เจ้าหน้าที่มาจากคลินิกเอกชน เจ้าหน้าที่จึงให้ตรวจสุขภาพใหม่ โดยให้เข้ารับการตรวจสุขภาพที่สถานพยาบาลของรัฐ และแนบผลการตรวจ Lab ส่งต่อเจ้าหน้าที่ด้วยทุกคน ซึ่งสำนักงานเขตยานนาวาได้รายงานผลการดำเนินการเฝ้าระวังทั้งหมดนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ไปด้วยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 ลูกค้าฮะจิบังท้องร่วงอย่างแรงเหตุอาหารทำพิษ

เวลาประมาณ 6 โมงเย็นของวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2552 คุณแพรวพรรณ พร้อมสามีและลูกสาว ได้ไปรับประทานอาหารที่ร้านฮะจิบัง ราเมน สาขาเทสโก้ โลตัส พระราม 3ครอบครัวของคุณแพรวพรรณได้สั่งอาหารมารับประทานทั้งหมด 6 รายการ คือ ซารุเซ็ท ที่ประกอบด้วยซารุราเมนและเกี๊ยวซ่า 2 ชุด , ฮะจังเมน , เนงิเรเมน และทาโกะยากิ อย่างละ 1 ชุด นอกจากนี้ยังมีน้ำดื่มยี่ห้อน้ำทิพย์ 2 ขวดและน้ำแข็งเปล่า 3 แก้ว โดยคุณแพรวพรรณรับประทานเกี๊ยวซ่าและทาโกะยากิ สามีรับประทานซารุเซ็ท ฮะจังเมนและเนงิเรเมน ส่วนลูกสาวรับประทานซารุ ราเมนปรากฏว่า เวลาประมาณตี 1 เศษย่างเข้าวันที่ 10 มีนาคม 2552 คุณแพรวพรรณและสามีเริ่มมีอาการท้องร่วง ถ่ายเป็นน้ำอย่างต่อเนื่องหลายครั้งจนถึงเวลาตีห้า พร้อมอาเจียนมีเลือดปน ในขณะที่ลูกสาวอาเจียนถึง 3 ครั้ง (และมาถ่ายท้องที่โรงพยาบาลอีก 3 ครั้ง) ทั้งหมดถูกส่งเข้าโรงพยาบาลในเช้าตรู่ของวันนั้นนั่นเอง ผลการวินิจฉัยของแพทย์พบว่ามีเชื้อบิดชนิดเฉียบพลันและรุนแรงที่ลำไส้ใหญ่ โดยตัวคุณแพรวพรรณมีอาการรุนแรงที่สุดกว่าทุกคน คือมีอาการท้องร่วงถึงเวลา 6 โมงเช้าของวันที่ 12 มีนาคม 2552 รวม 3 วันนับตั้งแต่วันที่รับประทานอาหารชุดพิเศษจากฮะจิบัง สาขาดังกล่าวต่อมาคุณแพรวพรรณได้ทำเรื่องร้องเรียนไปที่สำนักงานเขตยานนาวา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ตั้งของห้างฯ ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตยานนาวา ได้ทำการตรวจสอบสุขลักษณะของร้านและทำการสุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร น้ำแข็งและน้ำดื่มจากร้านอาหารดังกล่าว เพื่อไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการจำนวน 10 รายการ ผลปรากฏว่ามีอาหารถึง 7 ตัวอย่างที่ไม่อยู่ในค่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งแสดงว่าอาจมีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียในลำไส้หรือจุลินทรีย์อื่นๆ ที่เป็นพิษจนทำให้เกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยในผู้บริโภคได้ อาหารที่ตกมาตรฐาน 7 รายการคือ บะหมี่(ซารุเซ็ท) , บะหมี่และน้ำซุป (ฮะจังเมน), เนงิเรเมน , ทาโกะยากิ , ซาฮั่ง(ข้าวผัดหมูอบซีอิ๊วญี่ปุ่นไข่) ,ทาราเมน(บะหมี่แห้งราดซอสหมูทันตัม) และ ดาโมะนิราเมน (บะหมี่น้ำหน้าเป็ดพะโล้และเห็ดหอม) นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำแข็งหลอดที่จำหน่ายในร้านไม่อยู่ในมาตรฐานอีกด้วย คุณแพรวพรรณได้พยายามเรียกร้องให้ทางร้านฮะจิบังแสดงความรับผิดชอบด้วยการชดใช้ค่าเสียหายซึ่งส่วนใหญ่คือค่ารักษาพยาบาลของสามคนพ่อแม่ลูกจำนวนห้าหมื่นกว่าบาท แต่ไม่มีคำตอบใด ๆ จากทางร้านฮะจิบัง จึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางแก้ไขปัญหาข้อเท็จจริงในทางกฎหมาย การผลิตและจำหน่ายอาหารของร้านฮะจิบังราเมน สาขาดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการผลิตและจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นโทษทางอาญาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการต่อไป ส่วนความรับผิดในทางแพ่งนั้นมูลนิธิฯ ได้ติดต่อประสานงานไปยังบริษัท ไทยฮะจิบัง จำกัด เพื่อเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบด้วยการชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ร้องตามสมควรล่าสุดไทยฮะจิบังได้ติดต่อผ่านเทสโก โลตัสสำนักงานใหญ่ ขอนัดเจรจากับผู้ร้องรายนี้แล้ว ผลความคืบหน้าเป็นอย่างไรจะนำมารายงานในฉลาดซื้อฉบับต่อไป แต่ที่ต้องนำเรื่องนี้มาลงโดยเร่งด่วนเพราะเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะนำเสนอเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจเลือกใช้บริการของผู้บริโภครายอื่น ๆ ต่อไป เพราะเป็นปัญหาที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 อาหารกระป๋อง

อาหารกระป๋องเป็นหนึ่งในความสำเร็จอันน่าทึ่งของการถนอมอาหารที่มนุษย์คิดขึ้นมาได้ ก่อนที่จะรู้ถึงสาเหตุจริงๆ ที่ทำให้อาหารบูดเสีย ประวัติศาสตร์ของอาหารกระป๋องเริ่มต้นที่ขวดแก้ว โดยนาย นิโคลัส ฟรองชัวร์ อัปแปร์ต  ชาวฝรั่งเศส ได้สนองนโยบายด้านการสงครามของกษัตริย์นโปเลียน ที่ประกาศจะให้รางวัลแก่ผู้ที่คิดค้นวิธีการเก็บรักษาอาหารได้นานๆ สำหรับใช้เป็นเสบียงในกองทัพ งานนี้นายนิโคลัส รับเงินไป 12,000 ฟรังส์ กับวิธีการนำอาหารใส่ขวดแก้วแล้วผนึกฝาให้แน่นพร้อมกับต้มขวดบรรจุอาหารในน้ำเดือด วิธีนี้คือการสเตอริไลเซชั่น(Sterilization) หรือกระบวนการใช้ความร้อนเพื่อทำลายจุลินทรีย์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งยังคงเป็นวิธีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นับเป็นเรื่องน่าทึ่งเพราะขณะนั้นยังไม่มีใครทราบว่า สาเหตุที่ทำให้อาหารบูดเสียมาจากจุลินทรีย์ และการใช้ความร้อนคือการทำลายเจ้าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ พวกนี้ จากขวดแก้วได้พัฒนามาเป็นกระป๋องที่ผลิตจากโลหะ และต่อยอดไปสู่การบรรจุอาหารในถุง(pouch) ซึ่งทำจากวัสดุพลาสติกประเภทต่างๆ แต่กระป๋องโลหะยังคงได้เปรียบในเรื่องต้นทุนและการนำวัสดุมารีไซเคิลได้ใหม่ อาหารบรรจุกระป๋องที่ผลิตด้วยกรรมวิธีที่ดี สามารถเก็บรักษาได้นานราว 2 ปี เว้นพวกที่มีความเป็นกรด เช่น ผลไม้กระป๋อง ผลิตภัณฑ์หมักดอง ไม่ควรเก็บเกินกว่า 18 เดือน อาหารกระป๋องควรอยู่ในสภาพดีเมื่อเลือกซื้อ ไม่บุบ บวม และเนื่องจากอาหารกระป๋องอยู่ในสภาพไม่มีอากาศ หากมีลมพุ่งออกมาจากกระป๋องในขณะเปิดควรทิ้งไปทันที ห้ามกิน //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 อาหารเส้น

ชนชาวโลกนั้นชอบกินเส้น ไม่ว่าจะเส้นก๋วยเตี๋ยว หมี่ซัว พาสต้า ราเม็ง อุด้ง ขนมจีนหรือข้าวซอย ต่างล้วนผลิตจากแป้งที่ทำจากธัญพืชหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศของแต่ละพื้นถิ่น ปัญหาที่ถกเถียงกันมานานคือ ใครเป็นผู้ให้กำเนิดอาหารเส้น ถ้าคิดถึงแหล่งอารยธรรมในอดีต ก็ต้องเป็นชนชาติทางอียิปต์โบราณ โรมัน หรือจีน ในอียิปต์ไม่ปรากฏหลักฐานเรื่อง อาหารเส้นที่นั้นเน้นขนมปัง ส่วนโรมันมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า ติดต่อกับราชวงศ์ฮั่น เมื่อ 2,300 ปีก่อนโดยการนำโม่หินมาให้คนจีนรู้จัก และจีนเริ่มใช้โม่บดข้าวสาลีจนเป็นแป้ง   จากนั้นนำแป้งสาลีมาผสมน้ำนวดจนเข้ากันดี แล้วจึงนำไปนึ่งหรือต้มสุกเป็นก๋วยเตี๋ยวแต่มีหลักฐานใหม่สุดพบว่า ไหหินอายุราว 4,000 ปีก่อน ขุดพบที่เมือง Lajia ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจีน   มีเส้นก๋วยเตี๋ยวติดอยู่ ลักษณะของเส้นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง0.3 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร และมีสีเหลือง ทำด้วยข้าวบาร์เลย์ (Hordeum) ข้าวสาลี(Triticum) และข้าวฟ่าง (Panicum) เป็นอันยุติในตอนนี้ว่า จีนนั่นเองคือชาติแรกที่ผลิตอาหารเส้นบ้านเรานิยมกินอาหารเส้นไม่แพ้ชาติอื่น โดยเฉพาะเส้นก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเส้นต่างๆ เหล่านี้ ก็เข้าสู่ระบบการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรม ทำให้มีการเติมแต่งสารเคมีมากมาย รวมทั้งสารกันบูดเพื่อให้เก็บรักษาเส้นไว้ได้นานๆดังนั้นบางทีก็เปลี่ยนจากกินเส้นมาเป็นเกาเหลาบ้างก็น่าจะดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 อะฟลาท็อกซินในถั่วลิสง

  ถั่วลิสง ถือเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อุดมไปด้วยโปรตีนในปริมาณที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ แถมยังให้สารอาหารครบถ้วนทั้ง พลังงาน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต รวมทั้งยังมีแร่ธาตุอีกหลายชนิด โดยเราสามารถนำถั่วลิสงมาปรุงอาหารได้หลากหลายประเภททั้งเป็นส่วนประกอบในเมนูจานหลัก อย่าง แกงมัสมั่น ต้มขาหมูถั่วลิสง ใส่ในยำต่างๆ ใส่ในส้มตำ ฯลฯ หรือจะเป็นของกินเล่น อย่างขนมถั่วทอด ถั่วคั่วเกลือ หรือจะทำถั่วต้มธรรมดาๆ ก็อร่อยทั้งนั้น ยิ่งในช่วงเทศกาลกินเจเราจะเห็นถั่วลิสงเป็นพระเอกในเมนูอาหารเจต่างๆ เพราะเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญทดแทนการใช้เนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือราคาไม่แพงแต่เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับความกังวลเรื่องการปนเปื้อนของ “อะฟลาท็อกซิน” ในถั่วลิสง เนื่องจากสารตัวนี้เป็นสารพิษอันตรายที่ส่งผลต่อสุขภาพของเราหากบริโภคเข้าไปในปริมาณมากหรือได้รับสะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะอะฟลาท็อกซิน เป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้ง กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้พยายามออกมาตรการควบคุมกับผู้ผลิตผู้นำเข้าถั่วลิสงให้เข้มงวดในการป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์ถั่วลิสงของตัวเองปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินอะฟลาท็อกซิน(aflatoxin) เป็นสารพิษที่สร้างขึ้นโดยเชื้อรา โดยเฉพาะแอสเพอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus) และแอสเพอร์จิลลัส พาราซิติคัส (Aspergillus parasiticus) อะฟลาท็อกซินโดยทั่วไปที่พบในถั่วลิสง มี 4 ชนิด คือ อะฟลาท็อกซิน บี1 (B1) บี2 (B2) จี1 (G1) และ จี 2 (G2)นอกจากนี้ถั่วลิสงแล้วก็ยังมีพวกสินค้าทางการเกษตรอีกหลายชนิดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน ไม่ว่าจะเป็น ข้าวโพด ข้าว กระเทียม พริกแห้ง พริกป่น กุ้งแห้ง รวมถึงอาหารจำพวกแป้ง เช่น แป้งข้าวสาลี แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวโพด ฯลฯพิษของอะฟลาท็อกซินหากเรารับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินในปริมาณมาก อาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องเดิน อาเจียน ยิ่งในเด็กเล็กยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับผลรุนแรงเฉียบพลัน อาจเกิดอาการชักและหมดสติ เนื่องจากตับและสมองทำงานผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีผลในระยะยาวหากร่างกายของเราได้รับอะฟลาท็อกซินสะสมเป็นเวลานานต่อเนื่อง อะฟลาท็อกซินที่สะสมอยู่ในร่างกาย จะไปยับยั้งไม่ให้ร่างกายสร้างโปรตีน ส่งผลให้การทำงานของเซลล์ผิดปกติ ส่งผลต่อการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ เพราะสารพิษอะฟลาท็อกซินจะไปรบกวนการทำงานของตับ ทำให้เกิดไขมันมากในตับ และทำให้มีพังผืดขึ้นที่ตับองค์การอนามัยโลก จัดให้สารอะฟลาท็อกซินเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่ง เพราะปริมาณของอะฟลาท็อกซินเพียง 1 ไมโครกรัม สามารถทําให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรีย และทําให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่องที่มา: บทความ “อะฟลาท็อกซิน : สารปนเปื้อนในอาหาร” ศูนย์วิทยบริการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเลือกซื้อถั่วลิสงดิบอย่างไรให้ปลอดภัยจากอะฟลาท็อกซิน-เลือกที่อยู่ในสภาพใหม่ เมล็ดเต็มสวยงาม ไม่แตกหัก ไม่ลีบ รูปร่างและสีไม่ผิดปกติ ที่สำคัญคือต้องไม่ขึ้นรา ลองดมดูแล้วไม่มีกลิ่นเหม็นอับ เหม็นหืน-ถั่วลิสงดิบแบบที่บรรจุถุงจะมีฉลากแจ้งข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ชื่อยี่ห้อ น้ำหนักสุทธิ ชื่อ-ที่อยู่ผู้ผลิต ที่สำคัญคือวันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ ดังนั้นควรใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อ โดยเฉพาะข้อมูลวันที่ผลิตและหมดอายุ เลือกซื้อถั่วลิสงดิบที่ผลิตใหม่ๆ สามารถช่วยลดความเสี่ยงของอะฟลาท็อกซินได้-อะฟลาท็อกซิน สามารถทนความร้อนได้ถึง 260 องศาเซลเซียส ดังนั้นการปรุงให้สุกด้วยความร้อนไม่สามารถฆ่าอะฟลาท็อกซินได้ แต่การนำถั่วลิสงไปตากแดด ความร้อนจากแสงอัลตราไวโอเลต ซึ่งอยู่ในแสงอาทิตย์ก็สามารถทำลายอะฟลาท็อกซินได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ความร้อนจากแสงอาทิตย์จะช่วยลดความชื้นในถั่วลิสง ทำให้ลดความเสี่ยงของการเกิดเชื้อรา ซึ่งเป็นที่มาของอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงได้ ดังนั้นถั่วลิสงที่ซื้อมาแล้วถูกเก็บเอาไว้นานๆ ก่อนจะนำมาปรุงอาหารควรนำออกตากแดด เพื่อไล่ความชื้น -ผลทดสอบครั้งนี้เป็นการทดสอบโดยใช้ตัวอย่างของถั่วลิสงดิบ ซึ่งต้องนำไปปรุงให้สุกอีกครั้งก่อนรับประทาน แต่ถั่วลิสงที่เมื่อทำให้สุกแล้วและมักเก็บไว้ใช้นานๆ ใช้เป็นเครื่องปรุงหรือส่วนประกอบตามร้านอาหารต่างๆ เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านผัดไท ร้านส้มตำ ซึ่งผู้บริโภคต้องไม่ลืมที่จะสังเกตลักษณะของถั่วลิสงให้ดีก่อนปรุงหรือรับประทาน ต้องไม่มีร่องรอยของเชื้อรา ไม่ดูเก่า ไม่อับชื้น ไม่มีกลิ่นเหม็น หากพบลักษณะที่น่าสงสัยดูแล้วเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงที่จะรับประทาน-ความคิดที่ว่า หากพบเจอส่วนที่ขึ้นราแค่ตัดส่วนนั้นทิ้ง ส่วนที่เหลือยังสามารถนำมารับประทานได้นั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะเชื้อราแม้จะไม่แสดงลักษณะให้เห็นแต่อาจแพร่กระจายไปแล้วทั่วทั้งชิ้นอาหาร ดังนั้นเมื่อพบอาหารที่ขึ้นราควรทิ้งทั้งหมด อย่าเสียดายประเทศไทยคุมเข้มการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงถั่วลิสง จัดเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ได้รับการควบคุมดูแลมาตรฐานอย่างเคร่งครัดจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเมื่อปี 2557  ได้มีการออกข้อกำหนดเรื่อง “ปริมาณอะฟลาท็อกซินในเมล็ดถั่วลิสง” เพิ่มขึ้นมาจากเดิมที่ก็มีมาตรฐานสินค้าเกษตรของถั่วลิสงแห้งอยู่แล้ว โดยคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรเห็นว่าประเทศไทยเรามีการบริโภคถั่วลิสงในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเฉพาะที่ผลิตเองในประเทศยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงต้องมีการนำเข้าถั่วลิสง นอกจากนี้ถั่วลิสงถือเป็นต้นทางของการผลิตอาหารอีกหลากหลายชนิด ทางคณะกรรมการฯ จึงเห็นว่าจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานควบคุมเรื่องการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินในถั่ว เนื่องจากอะฟลาท็อกซินเป็นสารพิษที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยข้อกำหนดปริมาณอะฟลาทอกซินของถั่วลิสง ที่กำหนดโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากจะมีการกำหนดเรื่องปริมาณการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินที่กำหนดไว้เท่ากับประกาศกระทรวงสาธารณสุข คือ พบได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อถั่วลิสง 1 กิโลกรัม ยังมีข้อกำหนดอื่นๆ ที่น่าสนใจ อย่างการกำหนดให้ต้องมีการคัดแยกเมล็ดขึ้นรา เมล็ดแตกหัก เมล็ดเสียหาย และสิ่งแปลกปลอมก่อนส่งจำหน่าย ซึ่งเมล็ดที่พบความบกพร่องที่ถูกคัดแยกไว้ ห้ามนำไปจำหน่ายเพื่อบริโภคหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารอื่นอีก และการนำเข้าถั่วลิสงจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยต้องมีการแสดงหลักฐานการตรวจสอบการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินและต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานที่ควบคุมดูแลก่อนนำมาวางจำหน่าย ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของถั่วลิสง (100 กรัม) สารอาหาร ถั่วลิสงแห้ง ถั่วลิสงสุก พลังงาน (กิโลแคลอรี) 548 316 โปรตีน (กรัม) 23.4 14.4 ไขมัน (กรัม) 45.3 26.3 คาร์โบไฮเดรต (กรัม) 21.6 11.4 เหล็ก (มิลลิกรัม) 1.5 2.2 แคลเซียม (มิลลิกรัม) 58 45 ฟอสฟอรัส (มิลลิกรัม) 357 178 ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร   ฉลาดซื้อเราเคยทดสอบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงมาแล้วครั้งหนึ่ง ในฉลาดซื้อฉบับที่ 94 ธันวาคม 2551 ซึ่งตอนนั้นทดสอบอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงชนิดพร้อมรับประทาน ได้แก่ ถั่วลิสงอบเกลือ ถั่วลิสงเคลือบแป้ง และถั่วลิสงอบกรอบทั้งเปลือก รวมแล้วทั้งหมด 10 ตัวอย่าง ซึ่งผลที่ออกมาถือว่าน่ายินดี เพราะแม้จะมีการพบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินอยู่บ้าง คือพบจำนวน 5 ตัวอย่าง แต่ก็เป็นการพบที่ไม่เกินค่ามาตรฐาน คือไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม โดยพบในปริมาณที่น้อยมาก คือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมเท่านั้นผลทดสอบการปนเปื้อนของเชื้อราอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงดิบจากผลการทดสอบครั้งนี้ พบข่าวดี เมื่อตัวอย่างถั่วลิสงดิบที่ฉลาดซื้อสุ่มนำมาทดสอบจำนวนทั้งหมด 11 ตัว พบว่าไม่มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินเลยถึง 10 ตัวอย่าง มีเพียงหนึ่งตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนคือยี่ห้อ Home Fresh Mart ซึ่งก็พบการปนเปื้อนที่ค่อนข้างน้อยมากๆ คือ 1.81 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมเท่านั้น ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กฏหมายกำหนดไว้ที่ 20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม        

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 184 ไนเตรท และ ไนไตรท์ ใน “หมูแผ่นกรอบ หมูหวาน เนื้อเค็ม”

ขอบคุณทุกท่านที่สนใจข้อมูลจากนิตยสารฉลาดซื้อ>>> อ่านแล้วอยากสนับสนุนให้เรามีเงินทุนต่อเนื่อง >>> ร่วมอ่าน online 200 บาท/ ต่อปี  ข้อมูลการสมัครอยู่ด่านล่าง ขอบคุณค่ะ หมูแผ่นกรอบ หมูหวาน หมูเค็มหรือเนื้อเค็ม นอกจากจะเป็นอาหารถูกปากของใครหลายคนแล้ว ยังเป็นของฝากยอดนิยมอีกด้วย เพราะมีรสชาติอร่อยและสะดวกพร้อมรับประทาน โดยสามารถนำมาเป็นของกินเล่น หรือกินคู่กับข้าวสวยหรือเหนียวร้อนๆ ก็ยังได้อย่างไรก็ตามอาหารเหล่านี้ต้องผ่านการแปรรูป เพื่อเพิ่มรสชาติ ช่วยถนอมอาหารและทำให้สามารถจำหน่ายได้สะดวกขึ้น ซึ่งบางเจ้าอาจใส่สารเคมีอย่าง เกลือไนเตรทและเกลือไนไตรท์เข้าไป เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีลักษณะโดยรวมตามที่ควรเป็น โดยหากผู้บริโภคได้รับสารเคมีดังกล่าวในปริมาณที่มากเกินไป สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปดูผลทดสอบ เกลือไนเตรทและเกลือไนไตรท์ใน หมูแผ่นกรอบ หมูหวาน หมูเค็มและเนื้อเค็มจำนวน 14 ยี่ห้อ หลังจากที่เราเคยเสนอผลทดสอบสารดังกล่าวในไส้กรอกกันแล้ว ซึ่งรับรองว่าผลทดสอบคราวนี้ยังน่าสนใจเหมือนเดิม   มาตรฐานสำหรับการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ... ข้อ 6  การใช้วัตถุเจือปนอาหาร ต้องใช้ตามชนิดวัตถุเจือปนอาหาร ชนิดของอาหารและปริมาณสูงสุดที่ให้ใช้ได้ ตามเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่ง ดังนี้  6.1 ตามมาตรฐานทั่วไปสำหรับการใช้วัตถุเจือปนอาหารของโคเด็กซ์ (Codex General Standard for Food Additives) ฉบับล่าสุด 6.2 ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหาร ซึ่งในกรณีของ หมูแผ่นกรอบ หมูหวาน หมูเค็ม เนื้อเค็ม ไม่มีการกำหนดเฉพาะไว้ตามประกาศข้อ 6.2 (ประกาศ อย.) จึงยึดตามเงื่อนไขของประกาศ ข้อ 6.1 (โคเด็กซ์) คือ สามารถใช้ "โซเดียมไนไตรท์" (INS 250) ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทั้งตัวหรือตัดแต่ง แปรรูปโดยไม่ใช้ความร้อน และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทั้งตัวหรือตัดแต่ง ทำให้สุกโดยใช้ความร้อน ซึ่งกำหนดให้ใช้โซเดียมไนไตรท์ ปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม (ตามประกาศ อย. มีกำหนดการใช้ไนไตรท์ไว้เฉพาะเนื้อหมัก เช่น ไส้กรอก แฮม ให้ใช้ได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ซึ่ง หมูแผ่นกรอบ หมูหวาน หมูเค็ม เนื้อเค็ม ไม่น่าจะใช่เนื้อหมักตามประกาศ อย.) สำหรับกรณีการใช้วัตถุเจือปนอาหารที่เป็น "โซเดียมไนเตรท" (INS 251) ในผลิตภัณฑ์เนื้อประเภท หมูแผ่น หมูสวรรค์ เนื้อเค็ม ไม่มีกำหนดไว้ในโคเด็กซ์ และไม่มีการกำหนดเฉพาะไว้ใน ประกาศ อย. แต่คงเทียบเคียงได้กับปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ในเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อหมัก(ไส้กรอก แฮม) ที่มีการกำหนดเฉพาะไว้ คือ “โซเดียมไนเตรท” ปริมาณสูงสุดที่ให้ใช้ได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ทั้งนี้ในประกาศ อย. เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ปี 2548) ยังได้ระบุเพิ่มเติมไว้ว่า “การใช้วัตถุเจือปนอาหารในกลุ่มหน้าที่เดียวกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ต้องมีปริมาณรวมกันแล้ว ไม่เกินปริมาณของวัตถุเจือปนอาหารชนิดที่กำหนดให้ใช้ได้น้อยที่สุด” ซึ่งถ้ายึดตามเกณฑ์นี้ การใช้ทั้งไนเตรทและไนไตรท์ร่วมกัน  ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทั้งตัวหรือตัดแต่งให้สุกโดยใช้ความร้อน และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทั้งตัวหรือตัดแต่ง แปรรูปโดยไม่ใช้ความร้อน ก็คือ ต้องไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ผลการทดสอบ             ตัวอย่างที่มีการใช้ไนเตรทและไนไตรท์ รวมกัน เกิน 80 มิลลิกรัม/อาหารน้ำหนัก 1 กิโลกรัม   ตัวอย่างที่พบการใช้ไนเตรท เกิน 500 มิลลิกรัม/อาหารน้ำหนัก 1 กิโลกรัม      สรุปผลการทดสอบ- จากทั้งหมด 14 ตัวอย่าง พบว่ามี 10 ตัวอย่าง(ร้อยละ 71) ใส่สารไนเตรท ไนไตรท์ ไม่เกินปริมาณสูงสุดที่กำหนดให้ใช้ ตามประกาศ อย เรื่องข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร- มี 1 ตัวอย่างที่มีไนเตรทเกินกว่าค่าปริมาณสูงสุดที่ให้ใช้ได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม คือ ยี่ห้อ หมูสวรรค์ ร้านหมู หมู โดยตรวจพบไนเตรทสูงถึง 2033.16 มก./กก.- พบ 1 ตัวอย่างที่มีการใช้ไนเตรทและไนไตรท์ รวมกัน เกิน 80 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม คือ   ตราบ้านไผ่ เนื้อสวรรค์ พบไนเตรท 94.66 มก./กก. และพบไนไตรท์น้อยกว่า 10 มก./กก. รวมแล้วอยู่ระหว่าง 94.66  - 104.66 มก./กก- พบ 2 ตัวอย่าง. ที่มีการใช้ไนเตรทและไนไตรท์ รวมกัน เกิน 125 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม คือ(1)  เนื้อเค็ม ตราลัดดา พบไนเตรท 169.93 มก./กก. และไนไตรท์ 55.68 มก./กก. รวม 225.61 มก./กก.(2) เนื้อเค็ม ร้านหมู หมู พบไนเตรท 216.05 มก./กก. และไนไตรท์ 17.17 มก./กก. รวม 233.22 มก./กก.ฉลาดซื้อแนะ    ไม่รับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์แปรรูปบ่อยครั้งเกินไป เพราะมีความเสี่ยงต่อการรับเอาสารเคมีที่ใช้เจือปนเพื่อการถนอมอาหารในปริมาณมาก เนื่องจากหลายครั้งพบว่า ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มีการใช้ในปริมาณที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว  ข้อมูลอ้างอิง :•    ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร•    ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ปี 2548)•    ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหารตามมาตรฐานทั่วไปสำหรับวัตถุเจือปนอาหารของโคเด็กซ์ http://food.fda.moph.go.th/data/FoodAdditives/GSFA_2014.pdf •    แนวทางการใช้วัตถุเจือปนอาหารและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2556•    การใช้วัตถุเจือปนอาหารในผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ http://food.fda.moph.go.th/data/news/2558/sum_newser/TrainingFA2011/3.2Meat54.pdf-------------------------------------------------->>>อ่านแล้วอยากสนับสนุนให้เรามีเงินทุนต่อเนื่อง >>> ร่วมอ่านonline 200 บาท/ ต่อปี >>> โอนเงินแล้วแจ้งมาที่ >> อีเมล์ chaladsue@gmail.com + แนบรูปโอน >> เปิดอ่าน full Version ทันทีจ้าาาาาา>>> ต้องการใบเสร็จ >> พิมพ์ชื่อ - ที่อยู่  ใน อีเมล์ด้วยนะครับ---------------------------------ชื่อ บช. "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค"กสิกรไทย : 058-2-86735-6ไทยพาณิชย์ : 319-2-62123-1กรุงไทย : 141-1-28408-9ทหารไทย : 026-2-40760-4กรุงเทพ : 088-0-38742-8กรุงศรีอยุธยา : 463-1-10884-6--------------------------------->>> อ่านย้อนหลังได้กว่า 90 ฉบับ ผลทดสอบเพียบ! >>>นิตยสารนี้ไม่มีโฆษณา...เพื่อข้อมูลที่เป็นกลางและตัดสินใจได้ สำหรับผู้บริโภค--------------------------------

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 อาหารเม็ดสำหรับแมวโตเต็มวัย

ได้เวลาเอาใจคนรักสัตว์กันแล้ว คราวนี้ฉลาดซื้อมีผลทดสอบเปรียบเทียบอาหารสำเร็จรูปแบบแห้งสำหรับแมว ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศทำร่วมกับห้องปฏิบัติการของสถาบันสัตวแพทย์แห่งชาติสวีเดน (http://www.sva.se/en)  อาหารเหล่านี้ทั้งยี่ห้อที่วางตัวเป็นผลิตภัณฑ์ (และราคา) พรีเมียม และยี่ห้อธรรมดาทั่วไป ต่างก็อวดอ้างสรรพคุณทางโภชนาการกันทั้งนั้น ถึงเวลาต้องรู้ให้ได้ว่าสูตรใครดีที่สุดสำหรับแมวของเราแล้วสิ่งที่ตรวจหาในการเปรียบเทียบคุณภาพอาหารแมวครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม: 1.    กลุ่มที่ควรมีให้น้อยเข้าไว้ ได้แก่ ไมโคทอกซิน T-2 และ HT-2 เนื่องจากสารเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อแมว สหภาพยุโรปจึงกำหนดให้มีได้ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/กิโลกรัมในอาหารแมว ซึ่งยี่ห้อ Best Friend Bilanx มีมากถึง 180 ไมโครกรัม/กิโลกรัมไฟเบอร์ ซึ่งไม่จำต้องมีก็ได้เพราะแมวเป็นสัตว์กินเนื้อ หากตรวจพบมากกว่าร้อยละ 1 หมายความว่าผู้ผลิตอาจใส่เพิ่มลงไปเพื่อลดต้นทุน การทดสอบครั้งนี้พบว่าทุกยี่ห้อมีเกินร้อยละ 1 แมกนีเซียม แม้จะยังไม่มีเกณฑ์กำหนดแต่ก็อาจทำให้แมวเป็นนิ่วในไตได้หากได้รับมากไป 2.    กลุ่มที่ยิ่งมีมากยิ่งดี ได้แก่ โปรตีน ไขมัน แคลเซียม ฟอสฟอรัส และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทอรีน (กรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายแมวไม่สามารถผลิตเองได้ หากได้รับน้อยเกินไปอาจทำให้แมวตาบอด ขนหรือฟันร่วงก่อนเวลาอันควร รวมถึงมีความปกติของระบบสืบพันธุ์) เราพบว่ายี่ห้อที่มีทอรีนมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ N&D / Royal Canin / และ Orijenการสำรวจคราวนี้ครอบคลุมอาหารแมว 35 ตัวอย่างที่เก็บจากตลาดในยุโรปเป็นหลัก (ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการทดสอบอยู่ที่ประมาณ 16,000 บาทต่อหนึ่งตัวอย่าง) แต่ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงขอนำเสนอเพียง 20 ผลิตภัณฑ์ รับรองว่ามียี่ห้อที่จำหน่ายในบ้านเราด้วย ... มาดูกันเลยว่ามีปริมาณสารอาหารเท่าไรในอาหารแมว 100 กรัมของแต่ละยี่ห้อ ... สูตรของใครจะตรงใจคุณและน้องแมวกว่ากัน                              

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 ไนเตรท และ ไนไตรท์ ใน “ไส้กรอก”

ไนเตรท และ ไนไตรท์ ใน “ไส้กรอก”ไส้กรอก ถือเป็นของกินยอดฮิตของยุคนี้ ด้วยความที่เป็นของหากินง่าย แค่เดินเข้าร้านสะดวกซื้อก็มีไส้กรอกให้เลือกซื้อเลือกกินแบบละลานตา รับประทานง่าย รสชาติอร่อย จะจัดให้เป็นเมนูอาหารเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น หรือเป็นของทานเล่นระหว่างวันก็ยังได้ มูลค่าการตลาดของผลิตภัณฑ์ไส้กรอกในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 35,000 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณเท่ากับ 3 แสนตัน แบ่งเป็นกลุ่มไส้กรอก 49% และกลุ่มสไลด์ (โบโลน่า,แฮม,เบคอน) 45% และอื่นๆ 6% ไส้กรอกเป็นอาหารแปรรูปที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตที่ต้องพึ่งสารเคมีหลายตัวในการผลิต 1 ในนั้นคือ “ไนเตรท และ ไนไตรท์” ซึ่งเป็นสารที่ช่วยในการคงสภาพของไส้กรอก ทั้งเป็นสารกันบูดช่วยยืดอายุอาหารและช่วยทำให้สีของไส้กรอกดูสวยงามน่ารับประทาน ซึ่งเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นสารเคมีนอกจากจะไม่มีคุณค่าทางอาหารใดๆ ต่อร่างกายของเราแล้ว ยังอาจเป็นโทษต่อสุขภาพของเราถ้าหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป เพราะปัจจุบันเรารับประทานไส้กรอกกันมากขึ้น “ฉลาดซื้อ” จึงขอนำเสนอผลทดสอบปริมาณสาร “ไนเตรท และ ไนไตรท์ ในไส้กรอก” ลองมาดูสิว่าเราเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายของ ไนเตรท และ ไนไตรท์ จากการรับประทานไส้กรอกยี่ห้อต่างๆ ที่วางจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไปมากน้อยแค่ไหนสรุปผลการทดสอบ- จากทั้งหมด 15 ตัวอย่าง มีเพียง 1 ตัวอย่างที่ไม่พบการเจือปนของ ไนเตรทและไนไตรท์ คือ ไทยซอสเซส ค๊อกเทลซอสเซส ของ บ.ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักท์ จำกัด - พบ 3 ตัวอย่าง ที่มีการใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ รวมกันเกินกว่าค่าที่อนุญาตให้ตามข้อกำหนดของ โคเด็กซ์ ที่ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม คือ 1.ตราเอโร่ ไส้กรอกฮอทดอก พบไนเตรท 50.45 มก./กก. พบไนไตรท์ 40.82 มก./มก. รวมแล้วเท่ากับ 91.27 มก./กก., 2.NP ไบร์ทหมู พบไนเตรท 54.86 มก./กก. พบไนไตรท์ 77.47 มก./กก. รวมแล้วเท่ากับ 132.33 มก./กก. และ 3.บางกอกแฮม ไส้กรอกหมูคอกเทล พบไนเตรท 77.13 มก./กก. พบไนไตรท์ 71.48 มก./กก. รวมแล้วเท่ากับ 148.61 มก./กก. - ข้อสังเกตสำคัญที่ได้จากการทดสอบครั้งนี้ก็คือ เรื่องการแสดงข้อมูลบนฉลาก ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ที่กำหนดไว้ว่าถ้าหากมีการใส่วัตถุเจือปนลงในอาหาร บนฉลากต้องมีการแสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับชื่อเฉพาะ หรือแสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับตัวเลขจำแนกชนิดวัตถุเจือปนอาหาร International Numbering System : INS for Food Additives ถ้ามีการใช้หรือมีวัตถุเจือปนอาหารติดมากับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหาร เป็นส่วนประกอบของอาหารในปริมาณที่เกิดผลตามวัตถุประสงค์ของการใช้วัตถุเจือปนอาหาร จากตัวอย่างไส้กรอกที่สำรวจพบว่ามีแค่ 6 จาก 15 ตัวอย่าง ที่แสดงข้อมูลการใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ คือ 1.ไทยซอสเซส, 2. S&P, 3.เซเว่น เฟรช, 4.มิสเตอร์ ซอสเซส, 5.TGM และ 6.บุชเชอร์ แต่ทั้ง 6 ตัวอย่างแสดงข้อมูลว่า ใช้เพื่อ “เป็นสารคงสภาพของสี” และทุกตัวอย่างไม่ได้บอกว่าเป็น ไนเตรทและไนไตรท์ แต่ใช้รหัส INS for Food Additives หมายเลข 250 ซึ่งเป็นรหัสของ โซเดียมไนไตรท์ แทน การแสดงข้อมูลแบบนี้ดูจะไม่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคสักเท่าไหร่ เพราะคงมีผู้บริโภคน้อยรายที่รู้เรื่องรหัสจำแนกชนิดวัตถุเจือปนอาหาร INS for Food Additives เท่ากับว่าผู้บริโภคที่รับประทานไส้กรอกก็ได้รับ ไนเตรทและไนไตรท์ ไปโดยไม่รู้ตัว แถมผลิตภัณฑ์ที่แสดงข้อมูลว่ามีการใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ มีเพียงแค่ 6 จาก 15 ตัวอย่าง ไม่ถึง 50% ซะด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่กฎหมายกำหนดว่าต้องแสดงหมายเลข INS for Food Additivesของ โฟเทสเซียไนไตรท์ คือ 249ของ โซเดียมไนไตรท์ คือ 250ของ โซเดียมไนเตรท คือ 251ของ โฟเทสเซียมไนเตรท คือ 252ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/International_Numbering_System_for_Food_Additives#Numbering_system- มีเพียงแค่ 1 ตัวอย่างจากตัวอย่างไส้กรอกทั้งหมดที่นำมาทดสอบ ที่แจ้งว่ามีการใช้สารกันบูด คือ ยี่ห้อ My Choice ไส้กรอกจูเนียร์ ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่มีการแจ้งเรื่องการใช้สารกันบูด แม้จะมีการใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ เพราะอย่างที่บอกไว้ว่าผลิตภัณฑ์ไส้กรอกส่วนใหญ่ แจ้งว่าใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ เพื่อทำหน้าที่เป็นสารคงสภาพสี - อย่างที่ฉลาดซื้อเราเคยนำเสนอไปแล้วเรื่องการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ไส้กรอกว่า ไส้กรอกในปัจจุบันหลายยี่ห้อทำจากเนื้อหมูผสมกับเนื้อไก่ ซึ่งจากการสำรวจก็พบว่ามี 6 ตัวอย่างจาก 15 ตัวอย่าง ที่แจ้งไว้บนฉลากว่าใช้ทั้งเนื้อหมูและเนื้อไก่เป็นส่วนประกอบ และมี 5 ตัวอย่าง ที่บอกว่าใช้เนื้อหมูเพียงอย่างเดียว ที่น่าสังเกตคือมี 2 ตัวอย่าง ที่แจ้งเพียงว่า ใช้เนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ แต่ไม่ได้บอกลายระเอียดว่าเป็นเนื้อสัตว์ชนิดใด คือ 1.ตราเอโร่ และ 2.เบทาโกร (บอกว่าใช้เนื้อสัตว์อนามัย) ส่วน บางกอกแฮม มีการแจ้งรายละเอียดส่วนประกอบอยู่ 2 ส่วน ตรงด้านหน้าแจ้งว่าใช้เนื้อหมู แต่ที่ด้านหลังซองแจ้งแค่ว่าใช้ เนื้อสัตว์ นอกจากนี้มีอยู่ 1 ตัวอย่าง คือ NP ไบท์หมู แม้ชื่อจะบอกว่าเป็น ไบท์หมู แต่บนบรรจุภัณฑ์ไม่มีจากแจ้งข้อมูลรายละเอียดส่วนประกอบใดๆ เลย -ในการวิเคราะห์ตัวอย่างไส้กรอกครั้งนี้เราได้ดูเรื่องการปนเปื้อนของสีผสมอาหารด้วย ซึ่งผลออกมาว่า ไม่พบการปนเปื้อนของสีในทุกตัวอย่างฉลาดซื้อแนะนำ- ตัวอย่างไส้กรอกที่นำมาทดสอบส่วนใหญ่ยังใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ ในปริมาณที่ไม่เกินจากที่กฎหมายกำหนด เท่ากับว่าเรายังรับประทานไส้กรอกได้ตามปกติ แต่แน่นอนว่าต้องรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากเกินไป เพราะแม้จะปลอดภัยจาก ไนเตรทและไนไตรท์ แต่ก็เสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมจากเครื่องปรุงรสที่อาจสูงเกินความจำเป็นของร่างกาย ส่วนประโยชน์จากโปรตีนก็เทียบไม่ได้กับเนื้อสัตว์ธรรมดาทั่วไป เพราะฉะนั้นต้องเลือกกินอาหารให้หลากหลาย อย่ากินจำเจ กินแต่พอดี - องค์การอนามัยโลกออกคำเตือนตามคำแนะนำของหน่วยงานด้านวิจัยนานาชาติ (International Agency for Research) ว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น เบคอน ไส้กรอก แฮม ฯลฯ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งสำไส้และกระเพาะอาหาร ซึ่งสร้างความตกใจให้กับที่ชอบกิน เบคอน ไส้กรอก ทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลกต้องออกมาชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นแค่คำเตือนเพื่อให้ทุกคนกิน เบคอน ไส้กรอก ในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกินไป ไม่ได้เป็นการออกมาบอกว่าห้ามกินโดยเด็ดขาด นอกจากนี้สาเหตุของโรคมะเร็งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ใช่เพียงแค่การกินเบคอนและไส้กรอกเพียงอย่างเดียวข้อมูลประกอบบทความ : 1.แนวทางการใช้วัตถุเจือปนอาหารและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2556) สำนักงานอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, 2.บทความพิเศษ อันตรายจากการรับประทานอาหารที่มีสารไนเตรทและไนไตรท์: แสงโฉม ศิริพานิช สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค, 3.บทความ ดินประสิว : ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต นิตยสารหมอชาวบ้าน www.doctor.or.th/article/detail/6552--------------------------------------------------------------------------------------------------------ทำไม? ต้องใส่ ไนเตรทและไนไตรท์ลงในไส้กรอกไนเตรท และ ไนไตรท์ มีชื่อเรียกที่รู้จักกันหลายชื่อทั้ง โซเดียมไนเตรท โซเดียมไนไตรท์ หรือ โพแทสเซียมไนเตรท โพแทสเซียมไนไตรท์ และรวมถึงชื่อบ้านๆ ที่คนไทยเรารู้จักกันมานานอย่าง ดินประสิว ไนเตรทและไนไตรท์ สารทั้ง 2 ชนิด นอกจากจะถูกนำมาใช้เพื่อการถนอมอาหารแล้ว ยังใช้ในอุตสาหกรรมอย่างการทำดอกไม้ไฟ ทำดินปืน ใช้ชุบโลหะ นอกจากนี้ยังนิยมนำมาเป็นสารผสมในปุ๋ยเคมีเพื่อใช้ในการเกษตร ไนเตรทและไนไตรท์ ถูกนำมาใช้ในอาหารเนื่องจากมีคุณสมบัติในการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม คลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่มักจะเจริญเติบโตได้ดีในอาหารที่อยู่ในภาชนะปิดสนิท ไม่มีอากาศถ่ายเท เช่นพวกอาหารที่มีพลาสติกห่อปิดไว้อย่างเช่น ไส้กรอก หมูยอ ทำให้ช่วยยืดอายุของอาหารออกไปได้อีก นอกจากนี้ ไนเตรทและไนไตรท์ ยังมีคุณสมบัติในการรักษาสีของเนื้อสัตว์ให้ยังคงสีแดงสดสวยงามดูน่ารับประทาน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม ไนเตรทและไนไตรท์ ถึงเป็นที่นิยมนำมาใช้ในการผลิตเนื้อสัตว์แปรรูป ไม่เฉพาะแค่ ไส้กรอก แฮม หรือ เบคอน แต่ยังรวมถึงพวก เนื้อแห้ง หมู/ไก่ยอ แหนม กุนเชียง ปลาแห้งอันตรายของ ไนเตรทและไนไตรท์แม้ว่ากฎหมายจะอนุญาตให้ใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ ในผลิตภัณฑ์อาหารได้ แต่ก็มีการควบคุมปริมาณที่ใช้อย่างเข้มงวด เพราะถ้ารับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย อันตรายของ ไนเตรทและไนไตรท์ จะส่งผลเสียต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เวียนหัว รู้สึกปวดท้องรุนแรง ท้องร่วง ถ่ายเป็นเลือด นอกจากนี้ ไนเตรทและไนไตรท์ เมื่อเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากยังส่งผลต่อการทำงานของ ฮีโมโกลบิน ในเม็ดเลือดที่ค่อยทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้การนำพาออกซิเจนในร่างกายมีปัญหา จะส่งผลให้ผิวหนังและริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ รู้สึกอ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว คนที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจถึงขั้นหมดสติหรือเสียชีวิตได้ เด็กๆ จะมีความความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ผลการทดสอบ         ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ไนเตรทและไนไตรท์ จัดเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่นำมาใส่เพื่อประโยชน์ในการผลิต การเก็บรักษา หรือปรุงแต่งรสชาติและเพิ่มสีสัน ส่วนใหญ่จะไม่มีคุณค่าทางสารอาหารใดๆ ซึ่ง ไนเตรทและไนไตรท์ ถูกใส่ลงในไส้กรอกก็เพื่อผลในการถนอมอาหารและเพิ่มสีสัน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ได้กำหนดให้กำหนดปริมาณการใช้ของวัตถุเจอปนอาหารโดยยึดตามเกณฑ์ของ โคเด็กซ์(Codex General Standard for Food Additives) หรือ มาตรฐานอาหารสากล ฉบับล่าสุด ซึ่งผลิตภัณฑ์ไส้กรอก จัดอยู่ในกลุ่มอาหารเนื้อสัตว์แปรรูปสับบดที่ผ่านความร้อน (Heat-treated processed comminuted meat, poultry, and game products) ที่ได้มีการกำหนดปริมาณของ “ไนไตรท์” ได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม แต่ไม่ได้มีการกำหนดปริมาณของ “ไนเตรท” ที่อนุญาตให้ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเอาไว้ จึงต้องใช้การอ้างอิงจากมาตรฐานที่ในบ้านเราเคยกำหนดไว้ในท้ายประกาศของสำนักงานอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจอปนอาหาร ที่อนุญาตให้ใช้ ไนเตรท ในผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่ม ไส้กรอก และ แฮม ได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ทั้งนี้ในประกาศของสำนักงานอาหารและยาฉบับดังกล่าว ได้ระบุเพิ่มเติมไว้ว่า “การใช้วัตถุเจือปนอาหารในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ต้องมีปริมาณรวมกันแล้วไม่เกินปริมาณของวัตถุเจือปนอาหารชนิดที่กำหนดให้ใช้ได้น้อยที่สุด” หมายความว่า ถ้าผลิตภัณฑ์ไหนเลือกใช้ ไนไตรท์ เพียงอย่างเดียวก็ควรมีได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม หรือถ้าเลือกใช้ ไนเตรท เพียงอย่างเดียว ก็อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 500  มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้าผลิตภัณฑ์ใดมีการใช้ทั้ง ไนไตรท์ และ ไนเตรท ปริมาณที่ใช้เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ไนไตรท์ ใช้ได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม (ตามข้อกำหนดของโคเด็กซ์) ไนเตรท ใช้ได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม (ตามประกาศของสำนักงานอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจอปนอาหาร)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 สารกันบูดในขนมจีน

“ขนมจีน” อาหารยอดนิยมของคนเกือบทุกภาค เป็นอาหารที่รับประทานสะดวก มีคุณค่าทางสารอาหารจากผักเคียงและมีหลายเมนูให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็นขนมจีนน้ำยากะทิของคนภาคกลาง ขนมจีนน้ำเงี้ยวของภาคเหนือ ขนมจีนราดแกงไตปลาของคนใต้ หรือขนมจีนในต่ำซั่วของคนอีสาน ซึ่งนอกจากจะอร่อยถูกปากแล้ว บางส่วนยังมีความเชื่อว่าการนำขนมจีนเลี้ยงพระในงานมงคล เช่น งานแต่งงาน จะทำให้ชีวิตคู่อยู่ยืนนานเหมือนเส้นขนมจีนอีกด้วย อย่างไรก็ตามในทุกครั้งที่เรากำลังเพลิดเพลินกับขนมจีนที่เอร็ดอร่อยนั้น รู้หรือไม่ว่าส่วนใหญ่แล้วเราได้รับประทาน “สารกันบูด” เข้าไปด้วย ซึ่งหากเรารับประทานสารดังกล่าวมากเกินไปจนทำให้เกิดการสะสมในร่างกาย อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตลดลง หรืออาจส่งผลถึงขั้นพิการได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงออกประกาศ (ฉบับที่ 281 พ.ศ. 2547) เรื่อง ค่ามาตรฐานของสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากลของโคเด็กซ์ (CODEX) สำหรับอาหารจำพวกพาสตา ก๋วยเตี๋ยว และผลิตภัณฑ์ทำนองเดียวกันว่า ต้องมีปริมาณ ไม่เกิน 1,000 มก./กก. ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปทดสอบสารกันบูด(เบนโซอิก) ตกค้างในขนมจีนทั้งหมด 12 ยี่ห้อจากแหล่งซื้อต่างๆ ว่ามีมากน้อยแค่ไหนกัน ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรเราไปดูกันเลย   ผลทดสอบผ่านเกณฑ์ค่ามาตรฐาน                       ไม่ผ่านเกณฑ์ค่ามาตรฐาน    *ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจ เก็บตัวอย่างเดือนมกราคม 2559สรุปผลการทดสอบจากตัวอย่างเส้นขนมจีนที่นำมาทดสอบทั้งหมดพบว่า ทุกยี่ห้อมีการปนเปื้อนของสารกันบูด - 2 ยี่ห้อที่มีปริมาณสารกันบูดตกค้างมากที่สุด และเกินกว่าปริมาณสูงสุดที่ อย . กำหนดไว้คือ ขนมจีนตราดาว จากตลาดยิ่งเจริญสะพานใหม่ จำนวน 1,121.37 มก./กก. รองลงมาคือ ไม่มียี่ห้อ จากตลาดสะพานขาวจำนวน 1,115.32 มก./กก.- ยี่ห้อที่มีปริมาณสารกันบูดตกค้างน้อยที่สุดคือ ขนมจีนจาก ตลาดพระประแดง จำนวน 147.43 มก./กก. เทคนิคการหลีกเลี่ยงสารกันบูดตกค้างในร่างกาย แม้กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) หรือสารกันบูดที่ใส่ในขนมจีน จะมีประโยชน์ในการช่วยยืดอายุของอาหาร ด้วยการยับยั้งหรือทำลายจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสีย และถูกจัดอยู่ในประเภทพิษปานกลาง ซึ่งร่างกายสามารถขจัดออกมาได้เอง แต่ก็สามารถส่งผลอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการตกค้างหรือสะสมในร่างกายมากเกินไปดังที่กล่าวไปข้างต้น เราจึงควรระมัดระวังในการรับประทาน ดังนี้ - บริโภคอาหารให้หลากหลายชนิดหมุนเวียนกัน เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมสารพิษตกค้างในร่างกาย โดยควรทำอาหารรับประทานเองบ้าง เพื่อให้แน่ใจว่าวัตถุดิบที่นำมาปรุงมีความสดใหม่ หรือปลอดภัยจากสารเคมี- เลือกซื้ออาหารที่ระบุ ว/ด/ป ที่ผลิต-หมดอายุ และมี อย เพื่อให้มั่นใจว่าอาหารดังกล่าวไม่ได้ใส่สารกันบูดมากเกินกว่าที่กำหนดไว้- หลีกเลี่ยงอาหารปรุงสำเร็จ หรืออาหารพร้อมบริโภคบรรจุกล่อง เพราะอาหารเหล่านี้หากไม่บรรจุในภาชนะปิดสนิท หรือต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิที่กำหนดไว้ อาจมีสารกันบูดเจือปนในปริมาณมาก- นอกจากขนมจีนแล้วก็ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่นิยมใส่สารกันบูด เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว ผลไม้แช่อิ่ม หรือน้ำผลไม้ ซึ่ง อย . ก็ได้กำหนดค่ามาตรฐานไว้ต่างกัน เราจึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคในปริมาณมากติดต่อเป็นเวลานานข้อมูลอ้างอิง: http://iodinethailand.fda.moph.go.th/food/data/news/2556/560902/Update%20Food%20Additives.pdf กรดเบนโซอิก (Benzoic acid)กรดเบนโซอิก (benzoic acid) เป็นสารเคมีที่นิยมใช้เป็นวัตถุกันเสียในอุตสาหกรรมอาหารอย่างแพร่หลาย เป็นสารที่พบได้ในธรรมชาติ ได้แก่ ลูกพรุน, อบเชย, แอปเปิล, กานพลู และมะกอกสุก เป็นต้น โดยมีจำหน่ายในท้องตลาดในรูปผงผลึกสีขาวหรือเป็นเกล็ด มักใช้ร่วมกับกรดซอร์บิก และพาราเบนส์สำหรับเป็นวัตถุกันเสีย กรดเบนโซอิก และเกลือเบนโซเอตจะต้านเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีในสภาวะเป็นกรดที่ต่ำกว่า 4.5 ดังนั้น อาหารที่ใช้กรดเบนโซอิก และเกลือเบนโซเอตเพื่อช่วยยืดอายุการเก็บ จึงควรเป็นอาหารที่มีความเป็นกรด สูง เช่น เครื่องดื่มชนิดต่างๆ น้ำผลไม้ แยม เยลลี ผักดอง ผลไม้ดอง น้ำสลัด ฟรุตสลัด และเนยเทียม เป็นต้น ปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัมอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 84

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 สารฟอกขาว ในเห็ดหูหนูขาวแห้ง

คราวก่อนฉลาดซื้อพาผู้อ่านไปทดสอบสารกันราในเห็ดหอมแห้ง คราวนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องเห็ดเหมือนเดิม แต่เป็นการทดสอบสารฟอกขาว หรือ Sulphur dioxide ในเห็ดหูหนูขาวแห้งแทน “เห็ดหูหนูขาว” เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญในเมนูอาหารโปรดของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นแกงจืด ยำแซบหรือเย็นตาโฟ ซึ่งชาวจีนได้ยกย่องให้เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยบำรุงร่างกาย รวมทั้งป้องกันมะเร็งลำไส้ได้ เพราะมีส่วนช่วยในการระบายท้อง และมีธาตุชิลีเนียมที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามคุณประโยชน์ที่มากมายของเห็ดหูขาวนั้น อาจต้องเจอกับสารฟอกขาวที่ปนเปื้อนอยู่ในเห็ดหูหนูขาวด้วย โดยจากการสุ่มตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ผ่านมา จะพบปริมาณสารฟอกขาวในอาหารแห้งที่นำมาสุ่มตรวจทุกครั้ง และแน่นอนว่าอยู่ปริมาณที่สูงด้วย     โครงการสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จึงร่วมกับฉลาดซื้อ ออกสำรวจและเก็บตัวอย่างเห็ดหูหนูขาวจากตลาดใหญ่ๆ ในภาคต่างๆ และในห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในกรุงเทพฯ เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์เรื่องความไม่ปลอดภัยจากการฟอกขาวที่ปนเปื้อนในเห็ดหูหนูขาว  ผลทดสอบสารฟอกขาว ในเห็ดหูหนูขาวแห้งแต่ละยี่ห้อ                                 สรุปผลการทดสอบ- มีตัวอย่างเห็ดหูหนูขาวแห้งทั้งหมด 4 ยี่ห้อ คือ เอโร่ Aro, Home Fresh Mart, เทสโก้ และ ปลาทอง ที่ไม่พบสารฟอกขาวปนเปื้อนเลย- มีเพียงตัวอย่างเดียว คือเห็ดหูหนูขาวแห้งยี่ห้อ มายช้อยส์ My choice ที่มีปริมาณสารฟอกขาวน้อยกว่า 10 มก./กก.- ตัวอย่างที่เหลืออีก 7 ยี่ห้อ หรือกว่าครึ่งหนึ่งของตัวอย่างทั้งหมด คือ AAA และไม่ระบุยี่ห้อ จากตลาดที่เชียงราย, กิมหยง, บางกะปิ, คลองเตย, เยาวราช และ Food land สาขาลาดพร้าว มีปริมาณสารฟอกขาวเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด (กระทรวงสาธารณสุขก็ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานให้พบปริมาณสารฟอกขาว ในอาหารแห้งต่างๆ ได้ไม่เกิน 1,500 มก./กก.) แนะนำวิธีบริโภคเห็ดหูหนูขาวแห้งให้ปลอดภัยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ศึกษาวิธีการ ลดปริมาณสารฟอกขาวในเห็ดหูหนูขาวก่อนนำไปปรุงอาหาร คือ ควรนำมาล้างน้ำและลวกในน้ำเดือด 2 นาที ซึ่งพบว่าสามารถลดปริมาณสารดังกล่าวได้ร้อยละ 90ทั้งนี้สำหรับอาหารแห้งอื่นๆ เช่น ดอกไม้จีน ก็ควรนำมาล้างน้ำ 5 นาทีก่อนนำไปปรุงก็จะช่วยลดการปนเปื้อนได้ หรือใช้วิธีการเลือกซื้ออาหารแห้งที่มีสีใกล้เคียงกับธรรมชาติ ไม่ขาวจนผิดปกติ และหลีกเลี่ยงการซื้อถั่วงอกหรือขิงซอย ที่ไม่มีดำคล้ำแม้สัมผัสอากาศมานานแล้ว-----------------------------------------------------------สารฟอกขาวคืออะไรสารฟอกขาว เป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหลายประเภท มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเปลี่ยนสีของอาหารไม่ให้เป็นสีน้ำตาล ทำให้อาหารแห้งมีสีน่ารับประทานยิ่งขึ้น แต่ภายหลังได้มีการนำสารดังกล่าวมาใช้ในอาหารหลายชนิดในปริมาณสูง ทำให้เกิดการตกค้างและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สารฟอกขาวมีพิษต่อร่างกายเราอย่างไรแม้ร่างกายของเราสามารถขับสารดังกล่าวผ่านทางปัสสาวะได้ แต่หากอาหารแห้ง เช่น เห็ดหูหนูขาว ขนมจีน เยื่อไผ่หรือผลไม้อบแห้งต่างๆ เหล่านี้ มีการปนเปื้อนสารฟอกขาวมากเกินกว่าที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO/WHO) กำหนดไว้ คือ 0.7 มิลลิกรัม/วัน/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น น้ำหนัก 60 กิโลกรัม ไม่ควรได้รับสารฟอกขาวเกิน 42 มิลลิกรัมต่อวัน ก็สามารถส่งผลให้ผู้ที่รับประทานเกิดความผิดปกติต่อร่างกายได้ เช่น แน่นหน้าอก อาเจียน ความดันโลหิตลดลง และในกรณีที่ผู้รับประทานมีความไวต่อสารชนิดนี้บริโภคมากเกินไป หรือบริโภคเกิน 30 กรัม/วัน ก็อาจส่งผลให้ไตวาย หรือเสียชีวิตได้  

อ่านเพิ่มเติม >