ฉบับที่ 130 คู่มือกำจัดเชื้อราและเชื้อโรคหลังน้ำท่วม

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ข้อมูลนี้ผมได้นำมาจากแผ่นพับของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้พิมพ์แจกประชาชนทั่วไป ที่ประสบปัญหา เชื้อราขึ้นในบ้านและสิ่งของ ตอนน้ำท่วม หวังว่าสมาชิกฉลาดซื้อที่ประสบกับอุทกภัยน้ำท่วม จะยังครองสติ ตั้งมั่นและไม่ยอมแพ้ต่อปรากฎการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ สามารถแก้ปัญหาและฝ่าฟันวิกฤติได้อย่างดี นำข้อมูลนี้ไปเป็นแนวทางในการทำความสะอาดบ้านหลังน้ำท่วมได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย การทำความสะอาดบ้านเรือน โรงเรียนและอาคารหลังน้ำท่วม เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการหลังน้ำลดหลังจากที่สามารถเข้าไปในบ้านเรือนได้แล้วโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการเพื่อความปลอดภัยคือ • ตรวจเช็คไฟฟ้าก่อนเข้าไปสำรวจในบริเวณบ้าน ซึ่งอาจขอความช่วยเหลือจากการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าภูมิภาค • เปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท • สำรวจพื้นที่ในบ้านอย่างระวังเพราะอาจมีสัตว์อันตรายที่หนีน้ำท่วมเข้าอยู่ในตัวบ้าน หลังจากนั้นจึงกวาดล้าง ทำความสะอาดพื้นและผนังบริเวณที่ถูกน้ำท่วม โดยใช้น้ำสะอาดฉีดล้างในเบื้องต้นเพื่อกำจัดเศษโคลนและขยะที่มากับน้ำท่วมที่ยังคงค้างอยู่ในบ้านและขัดล้างเช็ดถูด้วยแปรง กับน้ำผสมผงซักฟอกและล้างด้วยน้ำตามอีกครั้งจนสะอาด จากนั้นจึงทำการสำรวจพื้นผนังหรือฝ้าที่มีเชื้อราเกาะอยู่ หรือเห็นเป็นคราบดำชัดเจน วิธีการจัดการกับเชื้อราในบ้าน หรือบนวัสดุอุปกรณ์ที่เกิดราขึ้นควรปฏิบัติดังนี้ • แยกวัสดุออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มของวัสดุติดเชื้อราที่ต้องทิ้ง และกลุ่มที่สองเป็นวัสดุติดเชื้อราที่สามารถทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่เกิดอันตราย • กลุ่มของวัสดุที่เกิดราที่ต้องทิ้งประกอบด้วยวัสดุที่มีรูพรุนเปียกน้ำ มีราปกคลุมทั้งชิ้น วัสดุที่เสียสภาพไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงกระดาษ ไม้อัด ไม้ธรรมชาติที่เกิดรา เนื่องจากสปอร์ของเชื้อราจะเข้าไปฝังตัวอยู่ในรูพรุนของวัสดุเหล่านี้ ทำให้ไม่สามารถกำจัดเชื้อราได้หมด และเชื้อราสามารถที่จะแพร่กระจายบนวัสดุนั้นได้ใหม่ โดยกลุ่มวัสดุเหล่านี้รวมทั้งเสื้อผ้า หรือพรมที่เปียกน้ำหลายวันจนมีเชื้อราขึ้นเต็ม ต้องแยกเก็บไว้นอกบ้านในที่อากาศถ่ายเทสะดวกหรือบรรจุลงในถุงดำถ้ามีขนาดไม่ใหญ่มาก รอการจัดเก็บเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้องจาก กทม. อบต. หรือเทศบาลต่อไป • กลุ่มของวัสดุติดเชื้อรา ที่ปนเปื้อนผิววัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่โดยไม่เกิดอันตราย ได้แก่วัสดุที่ไม่มีรูพรุน เช่น พลาสติก แก้ว โลหะ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ที่มีเชื้อราเล็กน้อยบนพื้นผิววัสดุ   สารที่ใช้กำจัดเชื้อรา• ใช้น้ำยากำจัดเชื้อรา ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพัฒนาขึ้น คือ “ราอะเวย์” ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่ 02-470-9999 และรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://antifightflood.kmutt.ac.th หรือ http://aff.kmutt.ac.th • เตรียมทำน้ำยาเองโดยใช้สารฟอกผ้าขาว 1 ถ้วยตวงต่อน้ำ 1 แกลลอนหรือใช้สารฟอกผ้าขาว 50 มิลลิลิตรต่อน้ำหนึ่งลิตร • ห้ามผสมน้ำยากำจัดเชื้อราและเชื้อโรคที่มีสารฟอกผ้าขาวกับแอมโมเนียหรือน้ำยาเช็ดกระจก   ขั้นตอนการทำความสะอาดพื้นผนังหรือฝ้าที่มีเชื้อรา 1. สวมถุงมือยางชนิดหนา และสวมหน้ากากปิดจมูกก่อนทำงาน2. ทำความสะอาดพื้น/ผนัง โดยการขัดและล้างด้วยผงซักฟอกเพื่อขจัดคราบสิ่งสกปรกออก3. เทน้ำยากำจัดเชื้อราและเชื้อโรคใส่ขันหรือภาชนะพลาสติก ใช้ผ้าหรือฟองน้ำชุบน้ำยากำจัดเชื้อราให้ชุ่ม เช็ดเชื้อราและคราบสกปรกที่ติดบนผนัง ออกให้หมด โดยระวังไม่ให้ราฟุ้งกระจาย ให้เช็ดไปในทิศทางเดียว เพื่อป้องกันราลุกลามไปยังบริเวณอื่น4. เช็ดให้ทั่วบริเวณที่ต้องการทำความสะอาด ไม่ควรนำผ้าที่เช็ดแล้วกลับมาใช้ใหม่5. เปลี่ยนน้ำยาเมื่อน้ำยาชุดแรกสกปรก6. ฉีดพ่นน้ำยาด้วยหัวฉีดแบบฝอยหรือใช้ฟองน้ำชุบน้ำยากำจัดเชื้อราเช็ดให้ชุ่ม ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อราที่อาจหลงเหลืออยู่ จนน้ำยาแห้ง7. ฉีดน้ำยาหรือเช็ดด้วยฟองน้ำผสมน้ำยาฆ่าเชื้อราอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง นานสามอาทิตย์ จนมั่นใจว่า ผนังและพื้นปราศจากเชื้อรา ทิ้งผนังไว้ให้แห้งอย่างน้อย 3-4 อาทิตย์ก่อนทาสีใหม่   การจัดการความชื้นภายในบ้านและทำบ้านให้แห้งหลังจากทำความสะอาดและจัดแยกวัสดุแล้วสิ่งที่สำคัญคือ ต้องเร่งดำเนินการกำจัดความชื้นภายในบ้านและทำให้บ้านแห้งในระยะเวลาอันสั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราลุกลาม เนื่องจากเชื้อราสามารถเติบโตและก่อให้เกิดปัญหาได้ใหม่ภายในเวลาสองถึงสามวันหากภายในบ้านยังมีความชื้นอยู่ การกำจัดความชื้นภายในบ้านและทำให้บ้านแห้งสามารถดำเนินการได้ดังนี้ • ใช้พัดลมเป่า เพื่อไล่ความชื้นภายในตัวบ้านให้ทั่ว• เปิดเครื่องปรับอากาศหลังจากทำความสะอาดเสร็จแล้วเพื่อดูดไล่ความชื้นออกจากห้อง• เปิดเครื่องดูดความชื้น  (Dehumidifier) เพื่อช่วยดูดความชื้นจากวัสดุภายในบ้าน   ที่มาของข้อมูลคู่มือกำจัดเชื้อราและเชื้อโรคหลังน้ำท่วม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 110 แอร์ฆ่าเชื้อโรค จำเป็นแค่ไหน

ฟิลเตอร์ที่ติดมากับเครื่องในลักษณะนี้จะไม่สามารถกรองจุลินทรีย์ได้เลย เนื่องจากจุลินทรีย์มีขนาดที่เล็กมากที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นและจะหลุดรอดฟิลเตอร์ได้ทั้งหมด ฟิลเตอร์ที่จะกรองจุลินทรีย์ได้นั้นจะต้องเป็นฟิลเตอร์เฉพาะที่เรียกว่า HEPA filter (High Efficient Particulate Absorbing filter) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับไส้กรองอากาศในรถยนต์ ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมานี้ ผมได้รับคำถามจากสื่อมวลชนต่างๆ เกี่ยวกับ “แอร์ฆ่าเชื้อ” หลายครั้ง เนื่องจากเครื่องปรับอากาศหลายยี่ห้อได้เสนอทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภคโดยอ้างว่า สามารถฆ่าเชื้อได้ด้วยทั้งแบคทีเรียและไวรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคระบาดต่างๆ เช่น SARS หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นต้น แอร์ฆ่าเชื้อมีจริงหรือไม่? ทำงานได้จริงหรือไม่? ทำไมมีโฆษณาแอร์ที่มีระบบฆ่าเชื้อด้วย? เลยถือโอกาสมาบอกเล่าให้ชาว ”ฉลาดซื้อ” ทราบ เชื้อโรคกับฟิลเตอร์“เชื้อ” หรือ “เชื้อโรค” ที่ทุกคนเข้าใจกันเป็นส่วนใหญ่คงจะหมายถึงจุลินทรีย์ต่างๆ ที่ให้เกิดโรคได้ ที่เรารู้จักกันดีก็ได้แก่แบคทีเรีย ไวรัส รา ยีสต์ เป็นต้น แต่ในความเป็นจริง จุลินทรีย์นั้นมีอยู่ทั่วไป ทุกที่ทุกเวลาและทุกชนิดที่กล่าวมา ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์ คือไม่ก่อให้เกิดโรค เชื้อที่ก่อโรคจริงๆ ก็สามารถพบได้ด้วยแต่จะมีอยู่น้อยมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวกจะพบได้น้อยมากๆ ถ้าถามว่า แอร์ที่ฆ่าเชื้อได้มีจริงหรือ ผมคงต้องตอบว่ามี แต่พวกที่สามารถฆ่าเชื้อหรือกรองเชื้ออย่างละเอียดนั้นจะไม่ได้มีใช้ทั่วไป แต่จะมีใช้เฉพาะแห่งเท่านั้น เช่นในห้องที่ต้องการการปลอดเชื้อปลอดฝุ่นอย่างมาก เช่น ห้องผ่าตัด ห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ห้องวิจัย ห้องทำแผงวงจรต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากเครื่องเหล่านี้จะมีราคาแพงมาก บางครั้งเครื่องที่ฆ่าเชื้อหรือดักฝุ่น อาจไม่อยู่รวมกับเครื่องปรับอากาศ แต่จะแยกต่างหากเป็นระบบการกำจัดเชื้อจากอากาศ กลไกในการกำจัดจุลินทรีย์ที่มีในเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่นิยมใช้คือ การกรองด้วยฟิลเตอร์ ฟิลเตอร์ที่ใช้นี้จะไม่ใช่ฟิลเตอร์ที่กรองฝุ่นที่ติดมากับเครื่องปรับอากาศ ลักษณะจะเป็นคล้ายฟองน้ำบางๆ มีรูพรุน หากส่องแสงจะเห็นแสงลอดออกมาได้หรืออาจเป็นฟิลเตอร์ที่มีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายมุ้งลวดพลาสติก ฟิลเตอร์ที่ติดมากับเครื่องในลักษณะนี้จะไม่สามารถกรองจุลินทรีย์ได้เลย เนื่องจากจุลินทรีย์มีขนาดที่เล็กมากที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น (เฉลี่ยจะมีขนาดประมาณ 1 ไมครอนหรือ 1/1000 มิลลิเมตร) และจะหลุดรอดฟิลเตอร์ได้ทั้งหมด ฟิลเตอร์ที่จะกรองจุลินทรีย์ได้นั้นจะต้องเป็นฟิลเตอร์เฉพาะที่เรียกว่า HEPA filter (High Efficient Particulate Absorbing filter) มีลักษณะคล้ายกับไส้กรองอากาศในรถยนต์ (แบบที่เป็นใยสีขาว) แต่จะมีจำนวนชั้นเรียงทบกันหนากว่า สามารถกรองอนุภาคฝุ่น แบคทีเรีย รา ซึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.3 ไมครอนได้ อย่างไรก็ตามฟิลเตอร์ชนิดนี้จะไม่สามารถกรองไวรัสได้(ฟิลเตอร์ที่จะกรองไวรัสได้ต้องมีขนาด 0.1 ไมครอน) HEPA filter นั้นจะมีราคาแพง ในประเทศอเมริกา HEPA filter หนึ่งตารางฟุตหรือ 30 ซม x 30 ซม. หนาประมาณ 2 นิ้ว ราคาประมาณ 3,000 บาท และเช่นเดียวกับฟิลเตอร์ต่างๆ HEPA filter ก็มีอายุการใช้งานด้วย แม้เครื่องปรับอากาศมีระบบกรอง HEPA filter นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้ตลอด จะต้องมีการเปลี่ยนด้วย(ไม่สามารถล้างได้) และถ้าไม่เปลี่ยนก็จะไม่มีประสิทธิภาพในการดักจับจุลินทรีย์ได้อีกต่อไปอีกวิธีการหนึ่งที่มีการโฆษณาว่าใช้ระบบไอออนเพื่อฆ่าเชื้อรวมทั้งกำจัดกลิ่น หลักการทำงานของระบบไอออนนี้ก็คือจะสลายน้ำเพื่อให้ได้อนุมูลออกซิเจนที่มีประจุลบ (O2-) และอนุมูลไฮดรอกซิล (OH-) ซึ่ง อนุมูลทั้งสองชนิดนี้เป็นอนุมูลอิสระ สามารถทำปฏิกิริยากับโปรตีนหรือพอลิแซ็กคาไรด์ที่เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์หรือผิวของแบคทีเรียหรือไวรัสทำให้เกิดการทำลายแบคทีเรียหรือไวรัสได้ อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีรายงานคำยืนยันใดๆ จากนักวิชาการอิสระ(ที่ไม่ใช่ผู้ผลิต) ที่ยืนยันคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นจากการใช้เครื่องปรับอากาศแบบนี้ นอกจากนี้ในทางเดินหายใจของมนุษย์เราก็มีโปรตีนเช่นเดียวกัน จึงยังเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปอีกว่า จะมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของคนด้วยหรือไม่ (Bolashikov & Melikov, Building and Environment 44(2009), 1378-1385) แอร์ไม่ได้มีไว้ฟอกอากาศผู้บริโภคจำเป็นต้องเข้าใจความจริงอย่างหนึ่งคือ ในทุกที่บนโลกจะมีจุลินทรีย์อยู่แล้ว ในดิน ในน้ำ ในอากาศ มากน้อยต่างกันไป พบได้ทั้งในบ้าน ในห้องทำงาน ห้องประชุม ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องเลี้ยงเด็กเล็ก จุลินทรีย์ที่พบส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่ไม่ก่อโรค ดังนั้น แม้ว่าจะมีแอร์หรือเครื่องฟอกอากาศจะสามารถทำงานได้จริงตามที่กล่าวอ้างก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะเมื่อเปิดประตูห้องออกไป เราก็จะเจอกับจุลินทรีย์สารพัดชนิด และที่สำคัญ เมื่อเราเปิดประตูห้อง จุลินทรีย์จากภายนอกก็จะปะปนเข้ามาในห้องได้ใหม่ และถ้าเป็นห้องที่เปิดเข้าออกบ่อยครั้ง แอร์ฆ่าเชื้อยิ่งไม่มีประโยชน์เลยแม้แต่น้อย หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีวันฆ่าจุลินทรีย์ได้หมดนั่นเอง และต่อให้ในห้องมีแอร์ฆ่าเชื้อโรคได้ หากคนที่นั่งข้างๆ หรือคนในห้องเป็นหวัด 2009 เราก็คงมีโอกาสติดได้มากเช่นเดียวกัน ดังนั้นในการเลือกซื้อแอร์ สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาคือประโยชน์ที่สำคัญของแอร์นั่นเอง คือเป็นเครื่องทำความเย็นให้แก่ห้อง การเลือกซื้อ จึงควรให้ความสนใจในเรื่องของความสามารถในการทำความเย็น อัตราการใช้ไฟ (ควรเป็นเบอร์ 5) หรือความเงียบในการทำงานมากกว่า ส่วนเรื่องของการฆ่าเชื้อ น่าจะเป็นเรื่องรอง ซึ่งเป็นเรื่องการเพิ่มมูลค่าและความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดของผู้ผลิต และจะทำให้เครื่องมีราคาแพงมากขึ้นโดยได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า แต่ถ้าผู้บริโภคยังยืนยันที่จะต้องการการฆ่าเชื้อในอากาศ เครื่องฟอกอากาศน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point