ฉบับที่ 160 รู้เท่าทันอายุยืนยาว 100 ปี ตอนที่ 3

บทเรียนแห่งการมีอายุยืนยาวถึงหนึ่งร้อยปี อีก 4 บทเรียน มีดังนี้ บทเรียนที่ 5  เข้าเกียร์ต่ำ ใช้ชีวิตให้ช้าลง ผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปีจะมีกระแสแห่งความสงบสันติแผ่ซ่านออกจากตัว ส่วนหนึ่งเกิดจากร่างกายของพวกเขาเชื่องช้าลงโดยธรรมชาติเมื่อสูงวัยขึ้น  ผลที่ได้จากการปรับชีวิตให้ช้าลงทำให้เกิดความเข้าใจและรับรู้เกี่ยวกับสุขภาวะที่ดีเลิศ  การใช้ชีวิตที่ช้าลงสัมพันธ์กับบทเรียนอื่นๆ ด้วย ได้แก่ กินอาหารที่ถูกต้อง เห็นคุณค่าของเพื่อน หาเวลาในการสำรวจจิตวิญญาณของตนอง ให้ความสำคัญกับครอบครัว สร้างเป้าหมายให้ชีวิต วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่ การลดเสียงรบกวน โดยลดเวลาดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ และท่องอินเตอร์เน็ตลงให้เหลือน้อยที่สุด  การถึงที่หมายก่อนเวลานัด ทำให้ลดความเครียดจากการจราจร การหลงทาง เพื่อให้คุณทำตัวช้าลงและสามารถจดจ่อในงานหรือการประชุมได้  การนั่งสมาธิ โดยกำหนดเวลานั่งสมาธิให้เป็นประจำ บทเรียนที่ 6 มีส่วนร่วม เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มศาสนาที่นับถือ  คนสุขภาพดีที่มีอายุเกิน 100 ปี ทุกแห่งมีศรัทธาในศาสนา พวกเขาทุกกลุ่มเป็นส่วนหนึ่งของสังคมศาสนาที่เข้มแข็งพฤติกรรมง่ายๆ ของการกราบไหว้บูชานับเป็นหนึ่งในพฤติกรรมทรงประสิทธิภาพแฝง อันอาจเพิ่มโอกาสให้คุณมีชีวิตที่ดีขึ้นมากได้อีกหลายปี   งานวิจัยต่างๆ แสดงผลว่า การเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาแม้เพียงเดือนละครั้ง อาจมีผลต่ออายุขัยของคนผู้นั้น วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่  การเข้าร่วมของกลุ่มศาสนาที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้น  การศึกษาหรือปฏิบัติแนวทางใหม่ที่มีผลให้จิตใจสงบลงและมีกัลยาณมิตร เช่น กลุ่มปฏิบัติธรรมต่างๆ หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครให้กับกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ  การจัดตารางเวลาสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงต่อเนื่อง 8 สัปดาห์เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าว โดยไม่ต้องคิดหรือคาดหวังผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น บทเรียนที่ 7 คนที่เรารัก มาอันดับแรก ผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปี ให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นอันดับแรก  ชีวิตของพวกเขาเต็มไปด้วยหน้าที่ต่อครอบครัว ประเพณี และให้ความสำคัญที่จะอยู่ด้วยกัน  เมื่อพวกเขาอายุครบ 100 ปี ความทุ่มเทมาตลอดชีวิตก็ผลิดอกออกผล  ลูกหลานต่างตอบแทนความรักความห่วงใยของพวกเขา  ลูกๆ จะดูแลพ่อแม่ และอยู่ร่วมกัน  งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่กับลูกหลานเป็นโรคน้อยกว่า ได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า มีความเครียดน้อยกว่า วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่  การใกล้ชิดกันมากขึ้น การอาศัยในบ้านที่มีขนาดเล็กลงช่วยให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ผูกพันกันและใช้เวลาร่วมกันได้ง่ายกว่า  การสร้างประเพณีของครอบครัว เช่น การกินอาหารด้วยกันทั้งครอบครัวอย่างน้อยวันละหนึ่งมื้อ(หรือสัปดาห์ละหนึ่งมื้อ) และสุดท้าย ครอบครัวต้องมาก่อน บทเรียนที่ 8 อยู่ในกลุ่มชนที่ถูกต้อง การอยู่ในกลุ่มคน ชุมชน หรือหมู่บ้านที่เห็นคุณค่าของการมีสุขภาพและการมีอายุยืน จะช่วยเสริมการใช้ชีวิตที่ส่งเสริมการมีอายุยืน  การเชื่อมโยงทางสังคมเป็นสิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในสังคมของผู้มีอายุยืนยาว คนที่มีสังคมกว้างขวางกว่า จะมีชีวิตยืนยาวกว่า วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่  การค้นหากลุ่มกัลยาณมิตร หาคนที่มีพฤติกรรมที่ดีและคล้ายคลึงกัน  การทำตนให้เป็นที่รักและน่าคบหา  ผูมีอายุยืนยาวไม่มีใครเป็นคนขี้บ่นน่าเบื่อ  และใช้เวลาอยู่ด้วยกันกับกลุ่มกัลยาณมิตร อย่างน้อยวันละ 30 นาที  โดยมาพบปะพูดคุย กินอาหารด้วยกัน ออกกำลังกายด้วยกัน   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 159 รู้เท่าทันอายุยืนยาว 100 ปี ตอนที่ 2

จากการสำรวจหาดินแดนที่มีการกระจุกตัวของผู้ที่มีอายุเกินหนึ่งร้อยปีทั่วโลก พบว่ามีอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ เกาะโอกินาวาในญี่ปุ่น  เกาะซาร์ดิเนียในอิตาลี คอสตาริกาในอเมริกากลาง  และสุดท้ายชุมชนเซเว่นเดย์แอ๊ดเวนตีสในลอสแองเจลิส อเมริกา  ซึ่งหมายถึงดินแดนที่มีผู้มีอายุเกินหนึ่งร้อยปีอยู่กันหนาแน่นกว่าที่อื่นใดในโลก แดน บุทเนอร์ นักเขียนและนักค้นคว้าจากนิตยสาร เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ได้ทำการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบในพื้นที่ทั้ง 4 แห่ง  ลงหาข้อมูลในพื้นที่จริง นำมาวิเคราะห์และหาข้อสรุปของแต่ละพื้นที่ ก่อนนำมาสรุปเป็นภาพรวมของเหตุปัจจัยร่วมที่ทำให้ผู้คนมีชีวิตยืนยาวกว่า 100 ปีอย่างมีสุขภาพดี  และได้สรุปเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้ไม่ยาก บทเรียนแห่งการมีอายุยืนยาวถึงหนึ่งร้อยปี มีดังนี้ บทเรียนที่ 1 เคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ มีความกระตือรือร้นโดยไม่ต้องคิดหรือบังคับ  ผู้มีอายุเกินร้อยปีจะทำกิจกรรมเบาๆ ไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว  เช่น ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ทำไร่ กิจวัตรประจำวันที่ดีคือการผสมผสานระหว่างการออกกำลังกาย การทรงตัว และการเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง  ซึ่งจริงๆ แล้ว การเดิน การทำสวน การทำงานบ้าน เป็นกิจกรรมที่ผสมผสานทุกอย่างได้เป็นอย่างดี วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่ การละความสะดวกสบาย  ใช้ชีวิตให้สนุก เคลื่อนไหวมากๆ  เดินเป็นประจำ การชวนเพื่อนไปเที่ยว การทำสวน การฝึกโยคะ ไทเก๊ก ฤๅษีดัดตน เป็นต้น   บทเรียนที่ 2 ฮารา ฮาจิ บู เป็นการตัดแคลอรีจากอาหารลงร้อยละ 20 อย่างง่ายๆ  ผู้เฒ่าชาวโอกินาวาจะพึมพำภาษิตของขงจื้อ “ฮารา ฮาจิ บู” ก่อนลงมือกินอาหารเพื่อคอยเตือนสติให้หยุดก่อนอิ่ม หรืออิ่มประมาณร้อยละ 80  ทำให้เป็นการลดแคลอรีจากอาหารได้ทุกๆ มื้อ วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่  การตักอาหารให้อยู่ในจานเดียวแล้วกินเพียงแค่นั้น  การจัดอาหารให้ดูใหญ่ขึ้น ใช้ภาชนะเล็กลง ชั่งน้ำหนักตัวทุกวัน กินให้ช้าลงโดยการเคี้ยวอาหารให้ละเอียดและนานขึ้น  กินอาหารมื้อเช้าให้มากกว่ามื้ออื่นๆ บทเรียนที่ 3 กินผักให้มาก หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์และอาหารแปรรูป ผู้มีอายุเกินร้อยปีกินอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูป  หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ ยกเว้นโอกาสพิเศษซึ่งไม่บ่อยครั้ง  ผู้เป็นมังสวิรัติจะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ที่กินเนื้อสัตว์  ถั่ว ธัญพืชและผักสวนครัวเป็นอาหารหลักของผู้มีอายุเกินร้อยปี วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่  กินผัก 4-6 ชนิด ทุกวัน  ลดเนื้อสัตว์  จัดวางผัก ผลไม้ให้เด่นเข้าไว้บนโต๊ะอาหาร  กินถั่วฝัก โดยเฉพาะถั่วเหลือง เต้าหู้  กินถั่วเปลือกแข็งทุกวัน โดยมีของขบเคี้ยวเป็นถั่ว บทเรียนที่ 4 มีจุดมุ่งหมายเดี๋ยวนี้ ผู้มีอายุเกินร้อยปีจะมีความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า เพราะมีจุดมุ่งหมายของชีวิต  ผู้ที่มีเป้าหมายชีวิตชัดเจนคือมีบางสิ่งที่มีความหมายรอให้ตื่นขึ้นมาทำตอนเช้า จะมีชีวิตยืนยาวกว่าและคงความหลักแหลมทางจิตใจได้มากกว่าผู้ที่ขาดเป้าหมายชีวิต เป้าหมายชีวิตอาจเป็นเพียงเรื่องธรรมดาเช่น ดูแลให้ลูกหลานเติบโตด้วยดี หรืองาน และงานอดิเรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีความทุ่มเทจริงจังกับงานนั้นๆ วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่  การเขียนเป้าหมายชีวิต  การหาเพื่อนหรือกัลยาณมิตร  การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  การปฏิบัติธรรม เป็นต้น โปรดติดตามฉบับหน้า อีก 4 บทเรียนนะครับ   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 158 รู้เท่าทันอายุยืนยาว 100 ปี ตอนที่ 1

การอยากมีอายุยืนยาวเป็นความใฝ่ฝันของคนทั่วโลกและทุกยุคสมัย  เพราะชีวิตคือสิ่งที่มีค่าที่สุดของมนุษย์  ในประวัติศาสตร์แต่โบราณมีความพยายามในการแสวงหา “ยาอายุวัฒนะ” มาตลอด ตั้งแต่ยุคการเล่นแร่แปรธาตุใน ค.ศ. 500 - 1500  นักเคมีสนใจการเล่นแร่แปรธาตุให้เป็นทองคำแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเริ่มมาสนใจค้นหายาอายุวัฒนะที่ใช้รักษาโรค และเริ่มสนใจอย่างมากในปี ค.ศ. 1500 - 1600 จนเกิดตำนานหรือความเชื่อเรื่อง น้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว (Fountain of Youth) ขึ้น ใครก็ตามที่ได้ลงไปอาบและดื่มน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาวนี้ก็จะกลับเป็นหนุ่มสาวอีกครั้งหนึ่ง  ความเชื่อเรื่องน้ำพุศักดิ์สิทธิ์นี้มีอิทธิพลไปทั่วทุกมุมโลก ในหลายศาสนาและหลายลัทธิความเชื่อ  เราจะเห็นความเชื่อต่างๆ เหล่านี้ในอินเดีย อินโดนีเซีย และในไทย ที่มักจะมีบ่อน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ในวัด หรือในป่าเขา เมื่อดื่มกินแล้ว โรคร้ายต่างๆ ก็จะหายไป เป็นต้น ในเอเชียเองมีความพยายามค้นหายาอายุวัฒนะเช่นเดียวกัน  ที่มีเรื่องเล่าโด่งดังก็คือ เรื่องของจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งพระองค์เกิดความกลัวว่าจะตายเร็วไป ทำให้ปณิธานที่จะสืบสานนโยบายการรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่นยังไม่ลุล่วง  การแสวงหายาอายุวัฒนะของจิ๋นซีฮ่องเต้จึงเริ่มต้นขึ้น โดยมาจากคำบอกเล่าของเหล่าอำมาตย์หรือที่ปรึกษาว่ายาอายุวัฒนะอยู่ที่โพ้นทะเล จิ๋นซีฮ่องเต้จึงส่งเด็ก 500 คน ผู้ใหญ่ 500 คน และคนแก่ 500 คน ออกเดินทางสู่ทะเลทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นปากทางของแม่น้ำฮวงโหที่ไหลออกสู่ทะเล แต่ก็ไม่เคยมีใครได้กลับมา เหตุที่ต้องส่งเด็กไปด้วย เพราะต้องใช้เวลาในการแสวงหายาอายุวัฒนะนาน หากเอาผู้สูงอายุไปแม้จะมีประสบการณ์มากกว่า แต่ก็ต้องตาย ดังนั้น จึงต้องมีเด็กเพื่อคอยสืบต่อให้ได้สามชั่วอายุคน นี่เป็นที่มาของการแสวงหายาอายุวัฒนะ และเป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อมาอันยาวนาน   ในคัมภีร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านก็มีการบันทึกตำรายาอายุวัฒนะไว้เป็นจำนวนมาก  แต่ละตำรับก็แตกต่างกันไปตามความรู้ ความเชื่อ และสมุนไพรที่หาได้ในท้องถิ่นนั้นๆ การแสวงหายาอายุวัฒนะที่จะทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้นกว่าเดิมโดยที่ยังมีสุขภาพดีนั้น ยังคงสืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้  ที่น่าสนใจและน่าเชื่อถือได้มากที่สุดคือ การค้นหาแหล่งที่มีผู้ที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลกนี้ว่ามีที่ไหนบ้าง และค้นหาวิธีการที่พวกเขาเหล่านี้ปฏิบัติจนทำให้มีอายุยืนยาวกว่าคนปกติทั่วไป  นี่น่าจะเป็นอายุวัฒนะที่แท้จริงและเชื่อถือได้ แดน บุทเนอร์ นักเขียนสารคดีของนิตยสารจีโอกราฟิก ได้ทำการค้นหาดินแดนที่มีการกระจุกตัวของผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปี หนาแน่นหรือมากกว่าปรกติโดยที่ผู้มีอายุเกินร้อยเหล่านี้มีสุขภาพดีและยังทำงานหรือกิจกรรมต่างเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ดินแดนแห่งอายุวัฒนะในโลกนี้มีเพียง 4 แห่ง ได้แก่ เกาะโอกินาวาในญี่ปุ่น  คอสตาริกาในอเมริกากลาง  เกาะซาร์ดิเนียในอิตาลี  และกลุ่มเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสในโลมาลินดา ลอสแอนเจลิส ผู้เขียนได้ทำการศึกษาว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ดินแดนเหล่านี้มีผู้มีอายุเกินร้อยปีหนาแน่นและได้สรุปออกมาเป็นคำแนะนำในการปฏิบัติสำหรับทุกคนเพื่อทำให้ทุกคนสามารถมีอายุยืนยาวขึ้นกว่าเดิมได้อีกหลายปีอย่างมีสุขภาพดี  ถึงแม้จะไม่รับประกันว่าจะมีอายุยืนยาวได้ถึง 100 ปีก็ตาม  ติดตามต่อในฉบับหน้าครับ     //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 125 ปัจฉิมกถา งาน ๑๐๐ ปีชาตกาล

  ท่านทั้งหลายได้รับฟังถ้อยคำที่ยกย่องเชิดชูท่านอาจารย์หมอเสม พริ้งพวงแก้วมาแล้วกว่าครึ่งวัน ทั้งจากกวี นักวิชาการ ศิษยานุศิษย์ จะขาดคนสำคัญไปก็เพียงคนเดียว คืออดีตนายกรัฐมนตรี ที่จำต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ   แท้ที่จริง ถือได้ว่า ท่านอาจารย์หมอเสมเป็นปูชนียบุคคลร่วมสมัยที่สำคัญยิ่งของเรา แม้คนในสังคมส่วนใหญ่จะไม่แลเห็นคุณค่าของท่านเท่าที่ควรก็ตาม แต่อย่างน้อยในวงการของพวกเราซึ่งรวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเจ้าภาพจัดงานเนื่องในชาตกาลครบศตวรรษของท่านในวันนี้ ก็มีมากและหลากหลายพอ และแต่ละหน่วยงานนั้นๆ ยังประกอบไปด้วยผู้คนที่ยืนหยัดอยู่ข้างคุณงามความดี ทั้งบางคนยังมีความกล้าหาญจากจริยธรรม ถึงกับไม่กลัวกับการเสี่ยงชีวิต เพื่อท้าทายอำนาจอันเป็นธรรม นอกเหนือไปจากหลายท่าน ที่ดำรงชีวิตอย่างสมถะเช่นท่านอาจารย์หมอเสม โดยช่วยเหลือเกื้อกูลสังคมทางด้านความดีความงามและความจริง อย่างไม่หวังชื่อเสียงเกียรติยศใดๆ ทั้งหมดนี้พวกเราล้วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากท่านอาจารย์หมอเสมด้วยกันแทบทั้งนั้น แม้เราจะดำเนินชีวิตและบำเพ็ญกรณียกิจต่างๆ ได้ไม่ถึงส่วนเสี้ยวของท่านแต่คุณูปการที่ท่านมอบให้เรามา ทั้งทางตรงและทางอ้อม นับเป็นพลานุภาพที่สำคัญยิ่งนัก ท่านได้ฟังถ้อยคำ มาจากหลายท่านแล้ว แล้วจะมีอะไรให้ข้าพเจ้ากล่าวปิดท้ายอีกเล่า ทั้งท่านอาจารย์หมอเสมยังขอร้องข้าพเจ้าไว้ด้วยว่า ถ้าข้าพเจ้าจะพูด ขออย่าได้พูดปากเปล่า ให้เขียนมาอ่านให้ฟังกัน เพราะท่านเกรงโอษฐภัยของข้าพเจ้า ซึ่งอาจต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้าอีกก็เป็นได้ และทุกครั้งที่ข้าพเจ้าต้องคดีดังกล่าว หรือเผชิญกับโลกธรรมในทางลบ ท่านจะกรุณาหาทางช่วยเยียวยาแก้ไขให้ข้าพเจ้าเสมอๆ มา ไม่แต่ในทางการแพทย์ หากรวมถึงในทางจิตวิทยาและในทางสังคมการเมืองอีกด้วย ดังเชื่อว่าคนอื่นๆ ที่ได้รับอุปการคุณจากท่านยิ่งกว่าข้าพเจ้าย่อมมีอีกมิใช่น้อย   ปาฐกเอย กวีเอย และนักอภิปรายเอย ล้วนพูดถึงท่านอาจารย์เสมกันมามากแล้ว และเชื่อว่าจะบรรยายถึงคุณความดีของท่านอีกต่อไปเท่าไรๆ ก็ได้ หากในที่นี้ ข้าพเจ้าขอสรุปสาระสำคัญของท่านอาจารย์หมอเสมในแง่มุมของข้าพเจ้า กล่าวคือท่านเป็นพุทธศาสนิกก่อนอื่นใด ทั้งๆ ที่คนไทยส่วนใหญ่มักอ้างว่านับถือพระพุทธศาสนา แต่พุทธศาสนาสำหรับชาวพุทธไทยส่วนใหญ่นั้นคือพิธีกรรม ดังงาน ๑๐๐ ปีชาตกาลท่านอาจารย์เสมคราวนี้ ก็มีพิธีกรรมทางฝ่ายพระพุทธแต่ตอนเช้า ทั้งๆ ที่พิธีกรรมดังกล่าวเกือบสื่อสาระมายังชาวพุทธไทยร่วมสมัยไม่ได้เอาเลย อาจมีคุณประโยชน์ก็ตรงที่พอพระฉันภัตตาหารแล้ว เราก็ได้รับประทานอาหารร่วมกัน   แต่ถ้าเราจับสาระแห่งพุทธพิธีได้ เราน่าจะตราไว้ว่า ประการแรกคือการรับไตรสรณคม ซึ่งหมายความว่าเราถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นสิ่งประเสริฐสุดสำหรับเรา ว่าเป็นที่พึ่งอันสำคัญยิ่งสำหรับเรา โดยเราอาจเข้าถึงการตื่นอย่างพระพุทธะก็ได้ เราอาจเข้าไปแนบสนิทกับคุณงามความดีอันสูงสุดอย่างพระธรรมก็ได้ โดยเราอาจดำเนินชีวิตอย่างเป็นชุมชนที่ถือเอาความเสมอภาคเป็นเนื้อหา มีภารดรภาพเป็นแกนกลาง เพื่อให้เราเข้าถึงเสรีภาพจากความโลภ โกรธ หลง อย่างพระอริยสงฆ์ก็ได้   ถ้าเราเข้าถึงสาระของการรับไตรสรณคมได้ ชีวิตเราจะมีความหมายยิ่งนัก ชีวิตเราย่อมจักไม่เป็นไปเพียงทรัพย์ศฤงคาร หรือยศศักดิ์อัครฐาน หรือการแก่งแย่งแข่งดีกัน ดังที่มักเป็นไปอยู่ในสังคมกระแสหลัก อย่างน่าสมเพทเวทนายิ่งนัก   อาจารย์หมอเสม ท่านถือเอาพระรัตนตรัยเป็นนิรัตศัยบุญเขต อย่างยากที่คนทั่วๆ ไปจะเข้าได้ถึง ท่านจึงเต็มไปด้วยการให้ ยิ่งกว่าการรับ ท่านเต็มไปด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ แทนความโกรธเกลียด และท่านเต็มไปด้วยปัญญาที่รับรู้อะไรๆ อย่างเป็นองค์รวม อย่างไม่แยกเป็นเสี่ยงๆ ดังวิทยาการกระแสหลักในโลกสมัยใหม่ อาจารย์หมอเสม ดำเนินรอยตามพระบาทพระบรมศาสดา ซึ่งทรงเป็นทั้งครูและเป็นทั้งแพทย์ ทางนิกายวัชรยาน เขามีพระพุทธรูปปางพระไภษัชคุรุไว้กราบไหว้บูชา เพื่อเตือนพุทธศาสนิกว่า พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงเป็นทั้งแพทย์และเป็นทั้งครู คือครูที่เรียนจากตนเองด้วย เรียนจากผู้อื่นด้วย และเรียนจากธรรมชาติด้วย ผู้ที่ถึงพร้อมในการเรียนรู้ ย่อมอยู่ในสถานะที่พร้อมจักเป็นผู้สอน หากจักไม่สอนเกินความรู้หรือประสบการณ์ของตน โดยที่ความรู้หรือวิชานั้นย่อมควบคู่ไปกับจรณะ หรือความประพฤติปฏิบัติ ที่เป็นคุณประโยชน์ด้วยเสมอไป การสอนตามตำราดังการศึกษากระแสหลัก หรือสอนอย่างแล้วทำอีกอย่าง ย่อมให้โทษยิ่งกว่าให้คุณ และถ้าครูปราศจากองค์คุณของความเป็นคนที่พร้อมจะให้ พร้อมจะเรียนรู้ พร้อมที่จะอ่อนน้อมถ่อมตัวแล้วไซร้ ครูพวกนี้มีโทษยิ่งกว่ามีคุณ   แพทย์ก็เช่นกัน คำๆ นี้เป็นไวพจน์กับวิทยะ คือความรู้ที่แท้ ซึ่งทางภาษาบาลีใช้คำว่า วิชชา อันตรงกันข้ามกับ อวิชชา ความหลง ความยึดถืออย่างผิดๆ หรืออย่างเป็นเสี่ยงๆ โดยอ้าขาผวาปีกว่าตนเรียนรู้มาดีกว่าคนอื่น สูงส่งกว่าคนอื่น ยิ่งได้ไปชุบตัวในต่างประเทศมาด้วยแล้ว ยิ่งมักจะกำเริบเสิบสานกันยิ่งนัก และยิ่งแพทย์ที่มีอติมานะเช่นนี้ บวกไปกับอวิชชา ซึ่งยึดมั่นถือมั่นว่าจำเพาะความรู้ในแวดวงของตนเท่านั้น คือคำตอบ นั่นคือเหตุแห่งความหายนะ โดยไม่จำต้องเอ่ยถึงเอาเลยก็ว่าได้ แพทยศาสตร์ สยบอยู่กับลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมมากเพียงใด โดยมิใยต้องเอ่ยว่า บรรษัทยาและบริษัทที่ควบคุมเครื่องยนต์กลไก ในสิ่งซึ่งอ้างถึงความทันสมัยต่างๆ ในทางการแพทย์สมัยใหม่นั้น นับว่าเป็นอันตรายในวงการแพทย์อย่างมหันต์   เมื่อใดแพทย์ แลเห็นว่าวิชาชีพของตนเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของความรู้ ซึ่งมักถูกผนวกเอาไว้กับอวิชชาแล้วไซร้ นั่นแหละเขาอาจจะเกิดมนสิการขึ้นได้ว่า ความเป็นมนุษย์ของเขา สูงส่งมากกว่าความเป็นแพทย์ โดยเขาน่าจะต้องตราจ่อไปด้วยว่า อวิชชาหรือโมหจริตนั้น มักโยงไปถึงโลภจริต ที่ทำให้หมอมักร่ำรวยเกินคนธรรมดาสามัญเกินไป โดยไม่ต้องเอ่ยถึงก็ได้ว่าการแพทย์สมัยใหม่โยงไปถึงโทสจริตด้วย ดังคงจะสังเกตได้ว่านายแพทย์มักเข้าไปมีบทบาทในการบริหารงานต่างๆ กันมิใช่น้อย เช่น พากันไปเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น โดยที่รู้กันไหมว่า การบริหารจัดการนั้นๆ ทำให้เขาตกอยู่ใต้โทสจริต ซึ่งโยงไปถึงโลภจริตและโมหจริตพร้อมๆ กันไป ยังนายแพทย์ชั้นนำเป็นจำนวนมากไม่น้อย ก็เข้าไปข้องแวะกับนักการเมือง นักการทหาร อย่างรู้ตัวทั่วพร้อมเพียงใด ตระหนักกันบ้างไหม หาไม่นายแพทย์บางคนก็เตรียมให้ทายาทได้ไต่เต้าไปเอาดีทางการเมืองเอาเลย โดยเขาแลเห็นไหมว่านั่นคือผลพลอยได้จากอกุศลมูลทั้งสาม ดังที่กล่าวมาแล้วมากกว่าอะไรอื่น   การกล่าวปิดงานนั้น ควรมีบทสรุป แต่ข้าพเจ้าต้องการเปิดประเด็นไว้ให้ท่านทั้งหลายนำไปคิดนึกตรึกตรอง เพื่อหาสาระจากชีวิตสำหรับตัวท่านเอง และถ้าพิจารณาวิถีชีวิตอาจารย์หมอเสมได้ชัด ก็ย่อมถือได้ว่าท่านเป็นแบบอย่างในทางที่ท่านเป็นทั้งครูและเป็นทั้งแพทย์ โดยที่ท่านเป็นมนุษย์ที่พยายามสนิทแนบแน่นกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาแทบตลอดชีวิตของท่านอันยืนยาวจนครบศตวรรษในวันนี้   ส.ศิวรักษ์ กล่าวปิดในงาน ๑๐๐ ปี ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ววันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว สิ้นลมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2554 ด้วยโรคชราหลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ทั้งนี้นายแพทย์เสมเพิ่งมีอายุครบ100ปีไปเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมานี้เอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point