ฉบับที่ 215 7 วันอันตราย

เริ่มต้นปีใหม่ ปี 2562 ที่หลายคนบอกว่าเป็นปีหมูทอง แสดงว่าน่าจะเป็นปีที่มีแต่สิ่งดีๆ เป็นปีที่พวกเราทุกคนน่าจะมีความหวังเรืองรองเหมือนดั่งทองกับการงานด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงการลดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยแม้ว่าในรอบปีที่ผ่านมาต้องเรียกว่าเป็นปีหมาไฟก็ว่าได้ เพราะเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่ที่มีความรุนแรงติดต่อกันหลายครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตบาดเจ็บหลายราย มีการประท้วงขอขึ้นค่าโดยสารของกลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารเกือบทุกประเภททั้งรถแท็กซี่ รถตู้ รถทัวร์โดยสาร หรือแม้กระทั่งรถเมล์          รวมถึงประเด็นห้ามรถตู้โดยสารที่อายุ 10 ปี วิ่งรับส่งคนโดยสารที่เรียกได้ว่าสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่ใช้บริการเป็นจำนวนมาก นำไปสู่การประท้วงและรวมกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร 731 รายยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวและยกเลิกคำสั่งห้ามรถตู้สิบปีวิ่งรับส่งคนโดยสาร          อย่างที่ทุกคนทราบกันเป็นอย่างดีแล้วว่า ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของโลกเรื่องความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน โดยมีภาพรวมดีขึ้นขยับจากอันดับที่ 2 มาเป็นอันดับที่ 9  แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้ลดลง ที่สำคัญประเทศไทยยังติดอยู่ใน 10 อันดับอยู่ดี ขณะที่อัตราการตายจากรถจักรยานยนต์ยังคงสูงติดอันดับ 1 ของโลก โดยเป็นการเสียชีวิตที่เกิดตลอดทุกช่วงของปี          ซึ่งหากจะนับตัวเลขเฉพาะช่วง 7 วันอันตราย คือ ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม – 2 มกราคม  ในสองปีหลังสุดพบว่า ในปี 2561 เกิดอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศทั้งหมด 3,841 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 423 คน ผู้บาดเจ็บ 4,005 คน ขณะที่ในปี 2562 เกิดอุบัติเหตุรวมทั้งสิ้น  3,791 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 463 คน และมีผู้บาดเจ็บรวม 3,892 คน โดยมีจังหวัดนครศรีธรรมเป็นจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดจำนวน 118 ครั้ง และเป็นจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุดจำนวน 137 คน ขณะที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดจำนวน 25 ราย          ทั้งนี้จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วง 7 วันอันตรายปี 2562 พบว่า มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย หรือลดลง 1.3% และ 5.5% ตามลำดับ  ขณะที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงกว่าปีที่แล้วถึง 10%  โดยสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการดื่มสุราแล้วขับรถ ขับรถด้วยความเร็ว การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย รวมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง          ขณะที่อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะในช่วง 7 วันอันตรายของปี 2562 นี้ จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกระบุว่า มีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะจำนวน 5 ครั้ง ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ โดยผลการตรวจสภาพความพร้อมรถโดยสารทั่วประเทศ 132,813 คัน พบรถโดยสารบกพร่อง 7 คัน สั่งเปลี่ยนรถ 6 คัน และพ่นสีห้ามใช้รถทันที 1 คัน นอกจากนี้ยังได้ตรวจความพร้อมพนักงานขับรถ 132,813 ราย พบพนักงานขับรถที่ไม่มีความพร้อมร่างกายอ่อนเพลีย 2 ราย          แต่จากรายงานผลการตรวจเข้มของกรมการขนส่งทางบกจากสถานีขนส่งและจุดจอดรถ 196 แห่งทั่วประเทศที่ระบุว่าไม่มีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะเลยนั้น อาจจะคลาดเคลื่อนขัดกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอยู่บ้าง          เพราะเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2561 ในช่วง 7 วันอันตราย เกิดอุบัติเหตุรถตู้โดยสารประจำทางของบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด เสียหลักตกข้างทางบริเวณถนนสายฮอด – แม่สะเรียง เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บมากถึง 8 ราย โชคดีที่เหตุครั้งนี้ไม่มีผู้เสียชีวิต ไม่งั้นก็คงเป็นข่าวใหญ่สะเทือนขวัญส่งท้ายปีกัน แต่จำนวนผู้บาดเจ็บในครั้งนี้กลับไม่ถูกนำรวมกับข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกในช่วง 7 วันอันตราย          อย่างไรก็ดีแม้ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่ จะไม่มีความรุนแรงชนิดที่มีคนเสียชีวิตกับอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะให้เราได้เห็นกันก็ตาม แต่ทุกฝ่ายทุกคนก็ไม่อาจนิ่งเฉยหรือปล่อยปละละเลยกันเหมือนเคยได้ การเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดไม่ควรทำแค่ช่วง 7 วันอันตราย แต่ควรมีมาตรการที่สามารถทำได้ในทุกวัน         แน่นอนแม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรการแล้ว อาจจะมีผู้กระทำความผิดบางรายที่หลุดเล็ดลอดไปบ้าง แต่ภาพรวมต้องถือว่าสถานการณ์ของรถโดยสารสาธารณะดูดีมีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นจากมาตรการที่เข้มข้นและความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ภาคประชาชน อาสาสมัครเฝ้าระวัง ผู้ประกอบการ ที่ร่วมด้วยช่วยกันอยู่ในกฎกรอบกติกา ที่ร่วมกันสร้างให้ประชาชนและทุกฝ่ายทุกคนตระหนักถึงวัฒนธรรมความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะและความปลอดภัยทางถนนร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม >