ฉบับที่ 257 “เราทำกันเอง” ทศวรรษที่สูญหาย

        เพจ Club VI เอาโควทของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ Money Chat Thailand มาเผยแพร่         “ดัชนีตรงนี้เกิดมาเมื่อเก้าปีกว่าแล้ว ถ้ายังอยู่แถวๆ นี้ก็คือ 10 ปีที่หายไป ซึ่งมันก็หายไปพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจ ภาวะที่ไม่ค่อยดีของประเทศไทย ต้องยอมรับอย่างนี้ว่าประเทศไทยแย่มากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จะไปโทษใครก็ไม่ได้ เราทำกันเอง”                  มีคนเข้าไปเม้นท์กันหลากหลายเกี่ยวกับคำพูดนี้ จำนวนมากเลยพูดประมาณว่า อย่าใช้คำว่า ‘เรา’ เพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วย มีแค่คนจำนวนหนึ่งที่ออกมาทำให้ประเทศไทยต้องเป็นแบบนี้         ว่าแต่ ดร.นิเวศน์ พูดถึงอะไร         แกพูดถึงดัชนีตลาดหุ้นไทยหรือ SET INDEX ที่วนเวียนย่ำยืนอยู่กับที่มาเกือบ 10 ปี ถ้าดูของวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 SET INDEX อยู่ที่ 1,552.73 จุด ส่วนดัชนี SET 50 อยู่ที่ 950.20 จุด ขณะที่ดัชนีหุ้นตลาดประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเพื่อนบ้านเดินหน้าทำนิวไฮกันตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา         แปลว่าคนที่ลงทุนในกองทุนดัชนีมา 10 ปีนี่แทบไม่ได้ผลตอบแทนอย่างที่ควรจะเป็นเลย ส่วนใครที่ลงทุนได้ไม่นาน ถ้าใจไม่นิ่งก็อาจถอดใจไปก่อนเพราะดัชนี SET 50 เต้นสามช่ากันทุกวัน ขึ้นหนึ่งลงสองอยู่แบบนี้จนน่าเหนื่อยใจ         อ้างอิงจากบีบีซีไทย ศาสตราจารย์ อาร์ทูโร บริส ผู้อำนวยการศูนย์ความสามารถในการแข่งขันโลก สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ (IMD World Competitiveness Center) เดินทางมาไทยครั้งแรกปี 2557 หลังประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจ ตอนนั้น "เกิดความรู้สึกเชิงบวกอยู่มากในสังคม" และ "ผู้นำภาคธุรกิจหลายคนก็ให้การสนับสนุนรัฐบาล" เพราะมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี ยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในไทย         แล้ววันนี้ล่ะ นักธุรกิจเหล่านั้นบอกว่า "ความรู้สึกด้านบวกเหล่านั้นมันหายไปหมดแล้ว เหล่าผู้บริหารต่างบอกในผลสำรวจว่าพวกเขามีทัศนคติด้านลบต่อรัฐบาลและนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลไทยดำเนินการ"         รายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันฉบับล่าสุด กลางเดือนมิถุนายน พบว่าประเทศไทยตกลงไป 2 อันดับ ผู้อำนวยการบริสบอกว่าที่น่ากังวลมากกว่าอันดับที่ลดลงของไทยคือปัจจัยชี้วัดส่วนใหญ่ที่ร่วงลงมาจากจุดที่ค่อนข้างดีมาถึงอันดับกลางตาราง เมื่อย้อนดู 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปีแรกที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีประกาศลงในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา         เห็นไหมว่าการเก็บออม การลงทุน ความมั่นคงในชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี เกี่ยวข้องกับการเมืองมากแค่ไหน ‘เรา’ กำลังจมหายไปในทศวรรษที่สาบสูญและยังไม่รู้ว่าจะลอยพ้นน้ำได้เมื่อไหร่หากประชาธิปไตยยังง่อนแง่นแบบนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 รู้จักใช้เงินให้เป็นกับ Money Manager

     หลายคนอาจคิดว่าการออมเงินเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ซึ่งมันก็จริงตามนั้น แต่อยากให้มองเห็นถึงความสำคัญของการออมเงิน เพราะเงินที่ออมนั้นจะสามารถนำมาใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินที่เกิดการเจ็บป่วยเกิดอุบัติเหตุ หรือเป็นเงินเก็บเพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือเพื่อใช้จ่ายในวัยเกษียณ วัยที่ไม่สามารถทำงานได้ โดยเฉพาะวัยที่เริ่มทำงานที่ยังไม่มีภาระควรออมเงินบางส่วนไว้สำหรับอนาคต แนะนำว่าควรนำรายได้หักลบจากเงินออม ส่วนเงินที่เหลือก็ค่อยไว้ใช้จ่าย        แต่เชื่อได้เลยว่าคนส่วนใหญ่มักใช้จ่ายเกินเงินที่ควรใช้และต้องมาเอาเงินในส่วนที่ออมไว้ไปใช้จ่ายเพิ่มเติม ผู้อ่านได้มีโอกาสไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งได้ให้ข้อคิดไว้ว่า แค่ขจัดความอยาก ความไม่จำเป็นออกไป เมื่อเกิดความอยากสิ่งที่ตามมาคือการหาเหตุผลในการใช้จ่าย แต่บางครั้งเหตุผลดังกล่าวอาจเป็นแค่ข้ออ้างในความอยากได้เท่านั้น ดังนั้นจึงควรพิจารณาให้ดีว่าสิ่งที่ต้องใช้จ่ายนั้นเป็นแค่ความอยากหรือเป็นความจำเป็น ก่อนที่เงินในกระเป๋าจะหมดเกลี้ยงไปอย่างไม่รู้ตัว         วิธีที่ดีที่สุดนั่นคือการทำบันทึกรายรับรายจ่ายการใช้จ่ายเงินของตนเองในแต่ละวัน เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่ให้เกินตัว นอกจากนี้ควรวางแผนค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ตั้งงบประมาณรายจ่ายค่าอาหารต่อเดือนไว้ประมาณ 3,000 บาท เป็นต้น         การทำบันทึกรายรับรายจ่ายอาจจะใช้วิธีการจดบันทึกลงสมุด หรืออาจจะบันทึกผ่านแอปพลิเคชันก็ได้เช่นกัน ฉบับนี้ขอแนะนำแอปพลิเคชัน Money Manager         ภายในแอปพลิเคชันจะแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ หมวดรายรับรายจ่าย, หมวด Stats, หมวด Accounts และหมวด settings โดยสามารถใช้งานได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว เพียงแค่เข้าไปที่หมวดรายรับรายจ่ายเป็นหลัก เพื่อที่จะเพิ่มข้อมูลจากการเลือกว่าเป็นรายรับหรือรายจ่ายเท่าใด หลังจากนั้นให้เลือกรูปแบบการใช้เงิน เช่น เงินสด บัตรเครดิต เป็นต้น เลือกหมวดค่าใช้จ่ายของสินค้า ระบุตัวเลขที่ใช้จ่าย และกดบันทึก         ทั้งนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถเลือกดูรูปแบบการสรุปการใช้จ่ายเงินเป็นรายเดือน รายสัปดาห์ หรือถ้าต้องการใช้แอปพลิเคชันช่วยสรุปเปอร์เซ็นต์การใช้จ่ายในแต่ละเดือนออกมาเป็นสถิติรูปวงกลมก็ให้ไปดูได้ที่หมวด Stats หรือถ้าต้องการใช้แอปพลิเคชันช่วยแบ่งตามรูปแบบการใช้จ่ายว่าการใช้จ่ายเงินสดใช้เงินไปทั้งหมดเท่าใดและใช้ผ่านบัตรเครดิตไปจำนวนเท่าใดก็สามารถดูได้เช่นกัน         ประโยชน์ของการใช้แอปพลิชัน Money Manager นี้จะช่วยสรุปค่าใช้จ่ายเพื่อทำให้รู้ว่าในแต่ละช่วงสัปดาห์ได้ใช้จ่ายไปในเรื่องใดมากที่สุด และพิจารณาว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนั้นได้หรือไม่ ซึ่งเป็นการบริหารการใช้เงินและควบคุมการใช้จ่ายไม่ให้เกินตัวได้ทางหนึ่ง         อย่าลืมท่องเอาไว้ว่า “เงินจะไม่หมด ถ้ารู้จักใช้เงินให้เป็น”

อ่านเพิ่มเติม >