ฉบับที่ 162 กระยาสารท

กระยา หมายถึง ของกิน สารท หมายถึง ฤดู ตามรากศัพท์เดิม หรือหมายถึง วันสารทของไทย ที่ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 จึงต้องเขียนว่า กระยาสารท ไม่ใช่ กระยาสาด กระยาสารทเป็นขนมโบราณ เดิมจะหากินได้เฉพาะช่วงงานวันสารท ซึ่งเป็นงานบุญประเพณีของไทย ที่เลียนแบบมาจากเมืองแขกอีกที คำว่าสารทในภาษาอินเดีย มีความหมายว่า ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับฤดูการผลิดอกออกผลของพืชพันธุ์ โบราณจึงถือกันว่าควรจะนำผลผลิตเหล่านั้นมาถวายแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นการสักการะและขอพรให้พืชของตนออกดอกออกผลดกดีในฤดูกาลถัดไป ของไทยเราช่วงเวลาที่ตรงกับระยะข้าวเริ่มออกรวง(ปลายฝนต้นหนาว) ชาวบ้านจะเกี่ยวข้าวที่ยังมีเปลือกอ่อนๆ และเมล็ดยังไม่แก่เอามาคั่ว ตำ ให้เป็นเมล็ดข้าวแบน ๆ ที่เรียกว่า ข้าวเม่า แล้วนำมากวนผสมถั่ว งา น้ำตาล ให้จับตัวกันเป็นขนมสำหรับนำไปทำบุญถวายพระ และแบ่งปันกันในช่วงเทศกาลวันสารทพอดี ขนมกระยาสารทถือเป็นสัญลักษณ์ของผลิตผลทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ สมัยก่อนว่ากันว่า ถ้าจะกินกระยาสารทให้อร่อยต้องกินกับกล้วยไข่ คงเพราะว่า กระยาสารทหวานมากกินพร้อมกล้วยไข่ ซึ่งจะสุกในหน้าสารทไทยพอดีนั้น จะช่วยให้ไม่ต้องกินขนมกระยาสารทมากเกินไป เรียกว่าเป็นอุบายอย่างหนึ่งของคนโบราณที่เข้าท่ามากๆ  

อ่านเพิ่มเติม >