ฉบับที่ 128 กลรักลวงใจ : เมนูบุฟเฟ่ต์ของเจ้าหญิงในเทพนิยาย

  เมื่อสักสองเดือนก่อน ผมได้มีโอกาสคุยผ่านทางโลกออนไลน์กับ บก. นิตยสารฉลาดซื้อ และ บก. ได้ปรารภขึ้นมาว่า ช่วงนี้กระแสของละครโทรทัศน์บ้านเรากำลังมาแรงเสียเหลือเกิน ผมจะสนใจลองเปลี่ยนสลับมาเขียนวิจารณ์หรือเชิญชวนให้คุณผู้อ่านได้รู้เท่าทันละครโทรทัศน์กันบ้างหรือไม่ ผมก็ได้ตกปากรับคำคุณ บก. เธอไปว่าจะเริ่มต้นจากนิตยสารฉลาดซื้อฉบับนี้ก็แล้วกัน  ด้วยเหตุดังกล่าว ผมจึงขออนุญาตสลับฉากสลับอารมณ์ของคุณผู้อ่านมาวิเคราะห์ละครโทรทัศน์กันบ้าง โดยเลือกเรื่อง “กลรักลวงใจ” ที่หลายคนหลายบ้านติดกันงอมแงมในขณะที่ผมกำลังนั่งปั่นต้นฉบับส่งกอง บก. ชิ้นนี้ ก็เพราะทั้งความน่ารักของคุณเจนนี่ในบทของบัวระวง และความหล่อเหลาของคุณเคนธีรเดชในบทของพี่รัญ กับทัศนียภาพวิวสวยๆ ในดินแดนฝันอย่างกรุงปรากของสาธารณรัฐเชค  อันที่จริง โครงเรื่องของละครนั้นก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนัก เป็นเรื่องราวสไตล์โรแมนติกคอมเมดี้ของบัวระวงลูกสาวเศรษฐีโรงงานซีอิ๊วที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย กับเลขานุการเอกอัครราชทูตหนุ่มไทยประจำกรุงปรากอย่างพี่รัญ ทั้งคู่ได้ถูกทางบ้านจับคลุมถุงชนกับคนที่ตนเองไม่ได้รู้จักรักกันมาก่อน น้องบัวเธอก็เลยต้องระเห็จปลอมตัวมาเป็นสาวขายบริการ เพื่อไปรับจ้างเป็นภรรยาของพี่รัญถึงอีกฟากหนึ่งของโลก  ด้วยความที่บัวระวงเธอทั้งสวย ฉลาดหลักแหลม และเป็นแม่ศรีเรือนที่ดี จึงทำให้พี่รัญแอบหลงรักเธอตั้งแต่แรกเห็นเป็น “love at the first sight” แต่ทว่า กว่าที่ทั้งคู่จะฝ่าด่าน “กลรัก” มากมายที่มา “ลวงใจ” ได้นั้น ก็ต้องมีบททดสอบจากผู้คนรอบข้างเพื่อพิสูจน์ว่า “รักแท้” ต้องมาจากการพิสูจน์ของชายหญิงเท่านั้น แม้ว่าโดยธีมหลักของเรื่องจะเป็นการเปิดโปงให้ผู้ชมเห็นว่า มนุษย์เราทุกวันนี้ ไม่ใครก็ใคร หรือแม้แต่จะเป็นพ่อแม่ลูกและญาติพี่น้องผองเพื่อนกันเอง ก็ไม่ได้แปลว่า คนเหล่านั้นจะปลอดจากการเสกสรรปั้นแต่งหน้ากาก “กลลวง” มาล่อหลอกจิตใจของกันและกัน แต่อีกด้านหนึ่ง ละครเรื่องนี้ก็ยังได้สะท้อนให้เห็นกลวิธีตัดสินใจของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะบรรดาผู้หญิงชนชั้นกลางยุคนี้ ว่า เมื่อพวกเธอต้องมาเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่รุมล้อมรอบตัว เธอเหล่านั้นจะกากบาททับตัวเลือกทางเดินชีวิตเยี่ยงไร  ก็แบบเดียวกับบัวระวง ที่พอถูกจับคู่คลุมถุงชนกับลูกชายรัฐมนตรีที่เธอไม่ได้เลือกเองอย่างฉัตรชัย แถมเขายังเป็นผู้ชายที่เจ้าชู้เป็นเบอร์หนึ่ง เธอเองก็เลือกกากบาทที่การหลบลี้หนีปัญหาไปตามล่าหาชายในฝันแบบพี่รัญ ซึ่งเธอเองเคยแอบหลงรักมาตั้งแต่ครั้งเมื่อเป็นวัยรุ่น  หนีแล้วก็ไม่หนีเปล่า...บัวระวงก็ได้พาผู้ชมเข้าไปชิม “บุฟเฟ่ต์ยำใหญ่” ของการ “ตัดแปะ” ผสมเอา fairy tales เรื่องนั้นเรื่องนี้ มาสร้างเป็นจินตนิยายแบบที่เธอเองจะได้สนุกสนานจากการหลบเร้นหนีปัญหานั้นไปเสียเลย  เริ่มตั้งแต่ที่หญิงสาวเก็บกระเป๋าออกจากคฤหาสน์โรงงานซีอิ๊วไปเป็นคุณโดโรธีที่ “follow the yellow line” บินลัดฟ้าตามกระต่ายไปสู่ดินแดนมหัศจรรย์แห่ง Oz ที่ไกลโพ้นถึงกรุงปราก ที่บรรยากาศก็ช่างดูไม่แตกต่างจากเทพนิยายแฟนตาซีแต่อย่างใด  และถ้าจะให้ดูเป็นเทพนิยายจริง ๆ แล้ว “Beauty” แบบน้องบัวระวง ก็ต้องไปพบกับเจ้าชายในฝันที่รูปหล่อเลิศเลอเพอร์เฟ็ค (หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นเจ้าชายที่หาได้ยากยิ่งในโลกความจริง) ซึ่งเลขานุการหนุ่มของท่านทูตไทยอย่างคุณพี่รัญก็คือเขาคนนั้นที่เป็น “The Best” ของ “Beauty” อย่างน้องบัว   ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจ ที่ในเทพนิยายแบบนี้ บัวระวงก็ต้องจำแลงกายอีกครั้งเป็นคุณอลิซผู้ท่องวันเดอร์แลนด์ ควงแขนพี่รัญพากันเดินเที่ยวชมทัศนียภาพของกรุงปรากโดย “ไม่สนสายตาใคร” ไล่เลาะกันเรื่อยไปตั้งแต่ย่านโอลด์ทาวน์สแควร์ ผ่านสะพานชาร์ลส์บริดจ์ ไปจนถึงปราสาทแห่งปรากที่มองเห็นแม่น้ำไหลผ่านอยู่ไกลๆ  เมื่อท่องเที่ยวเป็นอลิซอินวันเดอร์แลนด์แล้ว บัวระวงก็มาเป็นซินเดอเรลล่าคอยทำงานบ้าน ปรนนิบัติพัดวี กวาดบ้านถูบ้าน ซักผ้า ล้างถ้วยล้างชาม และสร้างสรรค์เมนูอาหารตำรับนานาชาติมาบำรุงบำเรอพระเอกหนุ่มเลขาท่านทูต  เพราะฉะนั้น ถ้าไม่นับฉากการเดินท่องเที่ยววนรอบกรุงปรากกันแล้ว บัวระวงก็มักจะปรากฏกายในชุดคอสตูมผ้ากันเปื้อน และสาละวนอยู่กับการใช้ชีวิตในห้องครัว รังสรรค์เมนูนานานาชนิดอยู่ตลอดเวลา  และเมื่อ “พ่อแง่” มาเจอกับ “แม่งอน” ในดินแดนในฝันแบบนี้ ที่จะขาดเสียไม่ได้เลย ก็ต้องมีฉากประเภทที่บัวระวงในอารมณ์งอนง้อพี่รัญ และหนีออกไปจากบ้าน จนไปพานพบกับคนร้ายหรือบรรดาปีศาจที่จะเข้ามาทำมิดีมิร้ายกับเธอ และก็ต้องเป็นเจ้าชายอย่างพี่รัญนั่นแหละที่เข้ามาช่วยเธอจัดการกับเจ้าปีศาจเพื่อพิสูจน์ว่ารักแท้ได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว  รวมไปถึงฉากคลาสสิคแบบที่พี่รัญอาบน้ำอยู่แล้วบังเอิญทำสบู่เข้าตา ก็ต้องเป็นบัวระวงนี่เองที่เอาน้ำมาล้างตาให้เขา และแอบสำรวจตรวจสอบเรือนร่างของเจ้าชายหนุ่มที่กำลังสรงสนานอยู่นั้น และไหนๆ ก็สร้างแฟนตาซีในฝันกันมาเสียขนาดนี้ ถ้าจะให้ครบเรื่องกันแล้ว ละครก็ต้องสร้างตัวละครผู้หญิงที่ร้ายกาจอย่างอ้อมคู่หมั้นของพี่รัญขึ้นมา ให้เป็นประหนึ่งนางแม่มดที่คอยหาเรื่องหาราวสโนว์ไวท์บัวระวงกับเจ้าชายรัญรูปงามไม่ให้ “they live happily ever after” กันได้ง่าย ๆ จนกว่าจะถึงตอนจบ กว่าที่สโนว์ไวท์บัวระวงจะฝ่าด่านแม่มดอ้อมตัวร้ายไปได้ เธอก็แทบจะงอมพระรามกันไปเลย เพราะบังเอิญในโลกจินตนาการนั้น สโนว์ไวท์กลับลืมพาบรรดาเพื่อนคนแคระทั้งเจ็ดมาเป็น “ตัวช่วย” ไปเสียนี่ ก็เลยต้องเป็นเธอเองที่ประมือกับนางแม่มดกันโดยตรง  “กลรัก” ที่ “ลวงใจ” ของน้องบัวระวงและพี่รัญนั้น ดูแล้วช่างไม่แตกต่างจากการซื้อตั๋วไปดู “ฮอลิเดย์ออนไอซ์” ที่ผู้สร้างบทได้ “ตัดแปะ” ปรุงบุฟเฟ่ต์เจ้าหญิงในเทพนิยายหลาย ๆ เรื่องที่ลากพาผู้หญิงชนชั้นกลางให้หลีกหนี มากกว่าจะหันกลับไปเผชิญกับปัญหาในชีวิตจริง และที่สำคัญ ยิ่งผู้หญิงกลุ่มนี้หนีจากปัญหาไปมากเท่าไร เธอก็จะยิ่งรู้สึกสนุกสนานกับการท่องโลกแฟนตาซีกันไปอย่างไม่สิ้นไม่สุด ดูชีวิตหญิงชนชั้นกลางแบบบัวระวงที่เลือก “หลบหนี” ปัญหาไปเช่นนี้แล้ว ผมเองก็สงสัยเหมือนกันว่า แล้วถ้าเป็นกรณีของผู้หญิงชายขอบบ้างล่ะ เมื่อพวกเธอต้องเผชิญกับปัญหาในชีวิต เธอจะเลือกสร้างเทพนิยายท่องวันเดอร์แลนด์หรือไม่ หรือเธอจะเลือกครวญเพลงว่า “ก็ฉันเองก็เป็นหมือนคนอื่นทั่วไป ไม่ใช่ดังเจ้าหญิงในนิยาย”…???

อ่านเพิ่มเติม >