ฉบับที่ 140 กล้วยแขก

อาหารว่างที่คงความนิยมมาโดยตลอด กินกันมาตั้งแต่จำความได้พร้อมๆ กับการหาข้อมูลข่าวสารต่างๆ บนถุงกล้วยแขก ที่ว่ากันว่าสร้างนักอ่าน นักเขียน นักวิชาการกันมาหลายคน กล้วยแขกหรือกล้วยน้ำว้าชุบแป้งทอดนี้ มีสันนิษฐานถึงที่มากันหลายสำนัก บ้างก็ว่าน่าจะมาพร้อมๆ กับการมาเยือนของคนต่างถิ่นอย่างชาวอินเดีย ที่คนไทยเรียกว่า แขก (แขกหมายถึงผู้มาเยือน สมัยก่อนคนอินเดียมาค้าขายกับคนไทย ก็มีลักษณะมาๆ ไปๆ ไม่ได้อยู่ประจำ) เพราะวิธีการทำอาหารด้วยการทอดแบบน้ำมันท่วมนั้นทางอินเดียเขาทำกันมานานแล้ว แต่บางหลักฐานก็ว่าน่าจะมาจากอาหารว่างของชาวมลายู ที่เรียกว่า Pisang goreng เป็นกล้วยชุบแป้งทอดเหมือนกัน แต่ของเขาไม่ใส่มะพร้าวและงา และทอดทั้งลูกไม่ได้ฝานบางอย่างไทย Pisang goreng ไม่ใช่อาหารพื้นเมืองของชาวมลายูแท้ๆ แต่เป็นชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายในดินแดนแถบนี้เห็นว่า กล้วยเป็นพืชพื้นเมืองที่มีอยู่ดาษดื่น จึงนำมาชุบแป้งทอดเป็นอาหารเช้า ในพระราชนิพนธ์ของ รัชกาลที่ 5 เมื่อคราวเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์ ปี พ.ศ. 2433 มีบันทึกไว้ว่า ทรงเที่ยวเล่นไปอย่างชาวบ้าน “ไปซื้อซาเต๊ะกับกล้วยแขกตามที่หน้าตึกริมถนนกิน” ซึ่งถึงกับทรงสรรเสริญว่า "กล้วยแขกของเขาดีกว่าของเราร้อยเท่าพันทวี” (พระราชนิพนธ์เรื่องระยะทางเสด็จพระราชดำเนิรประพาสทางบกทางเรือรอบแหลมมะลายู รัตนโกสินทรศก 109) จึงเป็นไปได้ว่า กล้วยแขกอย่างไทยเราอาจเป็นการต่อยอดมาจาก “กล้วยแขก  Pisang goreng” ของชาวมลายู กินกล้วยแขกกันมานานจนชิน แต่หลังๆ หลายคนชักขยาดเพราะกล้วยแขกที่ต้องทอดด้วยน้ำมันท่วมๆ นั้น ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการทำให้อ้วนและน้ำมันที่นำมาทอดซ้ำๆ นั้นเป็นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็ง ซึ่งจริงๆ ก็ไม่เฉพาะกล้วยแขกเท่านั้น อาหารทอดด้วยน้ำมันท่วมความร้อนสูง ล้วนก่อปัญหาให้สุขภาพได้ทั้งสิ้น ถ้ากินกันแบบจริงๆ จังๆ ทุกมื้อทุกวัน แต่ถ้ากินไม่มาก พอได้รสได้ชาติ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร

อ่านเพิ่มเติม >