ฉบับที่ 271 ‘กองทุนรวมผสม’ ทำทุกอย่างให้เธอแล้ว

        เรามาคุยกันเรื่องกองทุนรวม (mutual fund) กันอีกครั้ง ก่อนๆ นี้พูดถึงหลายครั้งอยู่ แต่เป็นกองทุนรวมประเภท active fund กับ passive fund เป็นหลัก อย่างที่รู้กันว่ากองทุนรวมเป็นเครื่องการลงทุนที่ดีประเภทหนึ่งเพราะมีมืออาชีพมาบริหารเงินให้ว่าจะลงทุนกับหุ้นตัวไหน ตราสารหนี้ตัวไหน หรือ REIT (Real Estate Investment Trust หรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์) ตัวไหน         แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายขนาดนั้น อย่างน้อยก็ต้องเลือกกองทุนรวมเป็น ที่สำคัญกว่านั้นอีกคือต้องจัดพอร์ตให้ดี ลงกับกองทุนรวมหุ้นเยอะไปก็เสี่ยงเกิน ลงทุนกับกองทุนรวมตราสารหนี้มากไปผลตอบแทนก็อาจไม่ได้ตามที่คิด จะลงกับกองทุนรวมในสินค้าโภคภัณฑ์ก็ยิ่งเสี่ยงหนัก แถมยังไม่รู้ด้วยว่าควรจัดสรรเงินไปลงกองทุนรวมแต่ละประเภทอย่างละเท่าไหร่         พวกนักการเงินก็ฉลาด พวกเขาสร้างผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า ‘กองทุนรวมผสม’ หรือ mixed fund มันเป็นกองทุนรวมประเภทที่ผู้จัดการกองทุนนำเงินไปจัดสรรในหุ้น ตราสารหนี้ หุ้นต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ และอื่นๆ ตามนโยบายของกองทุนรวมนั้น         พูดให้เข้าใจง่ายคือกองทุนรวมผสมจัดพอร์ตให้เราเสร็จสรรพ ซึ่งจะยิ่งเหมาะกับมือใหม่ที่ความรู้ยังไม่มาก ไม่มีเวลามาคอยติดตามผลการดำเนินการของกองทุน และปรับพอร์ต (asset allocation) ให้คงสัดส่วนสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการ         กองทุนรวมผสมก็เลยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุน สิ่งที่ผู้ลงทุนต้องเลือกคือจะเอาแบบที่กำหนดสัดส่วนไว้คงที่ ประมาณว่าหุ้น 60 เปอร์เซ็นต์ ตราสารหนี้ 30 เปอร์เซ็นต์ อื่นๆ 10 เปอร์เซ็นต์ กองทุนผสมประเภทนี้ก็จะจัดพอร์ตการลงทุนในสัดส่วนนี้         กับกองทุนรวมผสมที่ไม่ได้กำหนดสัดส่วนการลงทุน หมายความว่าเงินของคุณจะไปลงกับสินทรัพย์ประเภทไหนขึ้นกับการวิเคราะห์ จัดสรร จัดการของผู้จัดการกองทุน สมมติว่าช่วงตลาดหุ้นตกผู้จัดการกองทุนอาจคัดสรรหุ้นดีราคาถูกเข้าพอร์ตมากกว่าเดิมจาก 50 เปอร์เซ็นต์เป็น 70 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าตลาดผันผวนมากๆๆๆ ก็อาจเอาตราสารหนี้เข้าพอร์ตมากขึ้น         ทำให้กองทุนรวมผสมมีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความผันผวนของตลาดได้ดีกว่า         ทว่า โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี เนื่องจากกองทุนรวมผสมต้องมีการติดตามตลาดต่อเนื่องเพื่อจัดพอร์ตการลงทุน นั่นแปลว่าค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมของกองทุนประเภทนี้มักจะสูงกว่ากองทุนประเภทอื่น ก็ขึ้นกับว่าคุณจะยอมแลกหรือเปล่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 Passive กับ Active คุณชอบแบบไหน?

        ขอพูดถึงกองทุนรวมต่อจากคราวที่แล้ว (คงมีอีกเรื่อยๆ นั่นแหละ) เพราะมันยังไม่จบ        กองทุนรวมแบ่งได้หลายแบบ หนึ่งในหลายแบบนั้นคือการแบ่งแบบ Passive Fund หรือ Index Fund กับแบบ Active Fund         ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมที่ลงในตราสารหนี้ ตราสารเงิน หุ้น หรือธีมอะไรก็ตาม จะมีสิ่งที่เรียกว่าเกณฑ์มาตรฐานหรือ Benchmark เพื่อใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงาน กองทุนรวมแบบ Passive จะพยายามทำผลตอบแทนให้เท่าหรือใกล้เคียงกับเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนแบบ Active จะพยายามเอาชนะตลาด         และกองทุนทั้งสองประเภทก็มีข้อดี-ข้อเสียต่างกันไป มาเริ่มกันที่แบบ Active         ข้อดีของกองทุนแบบนี้ที่เห็นกันชัดๆ คือมันมีโอกาสให้ผลตอบแทนดีกว่าหรืออาจขาดทุนน้อยกว่า ในเมื่อเป็นการบริหารแบบ Active ผู้จัดการกองทุนย่อมต้องพยายามทำผลตอบแทนให้สูงๆ เข้าไว้ในยามที่ตลาดกำลังขึ้นและขาดทุนให้น้อยที่สุดในขาลง (หรืออาจมีกำไรก็ได้) เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ผู้จัดการกองทุนและทีมย่อมต้องทำการบ้านเยอะ วิเคราะห์ข้อมมูล ซื้อๆ ขายๆ สินทรัพย์ ฟังแล้วก็ดูเข้าท่า แต่...         ใครจะมาบริหารจัดการเงินให้เราฟรีๆ ล่ะ ของพวกนี้มีค่าใช้จ่ายทั้งนั้นแหละ และจุดนี้เองคือข้อเสียของกองทุนแบบ Active ค่าธรรมเนียมเอย ค่าบริหารจัดการกองทุนเอย นั่นนู่นนี่ ทำให้ในระยะยาวแล้วมันอาจไม่ได้ชนะตลาดจริงอย่างที่กล่าวอ้าง เพราะผู้ถือหน่วยจะถูกค่าจิปาถะพวกนี้กัดกินผลตอบแทนจนต่ำกว่าตลาดในที่สุด         ตรงกันข้ามกับแบบ Passive ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเห็นๆ ผู้จัดการกองทุนก็แค่จัดสรรเงินลงทุนตามตลาด คุณได้ผลตอบแทนเท่ากับตลาด โดยที่มันจะไม่ถูกกัดกินจากค่าใช้จ่ายต่างๆ เหมือนกับกองทุนรวมแบบ Active         จุดอ่อนคือในยามที่ตลาดร้อนแรง กองทุนรวมแบบ Active อาจทำผลตอบแทนได้มากกว่าตลาดจนคุณอิจฉา และในยามตลาดห่อเหี่ยวมันก็อาจขาดทุนน้อยกว่า         อย่างไรก็ตาม นักลงทุนระดับโลกและนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าในไทยบางคนต่างแนะนำกองทุนรวมแบบ Passive ด้วยเหตุผลว่าในระยะยาวแล้วไม่มีใครหรอกที่สามารถเอาชนะตลาดหุ้นได้ เผลอๆ แพ้ด้วย เมื่อเป็นอย่างนั้นเราจะจ่ายเงินแพงๆ ให้กับบริษัทจัดการกองทุนไปทำไม         แต่กูรูด้านกองทุนรวมบางคนก็ให้ความเห็นว่า มันอาจจะจริงกับตลาดหุ้นขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ หรือที่อื่นๆ แต่สำหรับตลาดหุ้นไทยที่จำนวนบริษัทมหาชนยังไม่มากเท่า เรื่องที่ว่ากองทุนรวมแบบ Passive ให้ผลตอบแทนดีกว่าแบบ Active อาจยังไม่เป็นจริง         สุดท้ายอยู่ที่คุณเลือกว่าชอบแบบไหน...หลังจากเจอะเจอสไตล์ของตัวเองและทำความเข้าใจมันแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 กองทุนรวมอีกรอบ รุกและรับ

        เคยพูดถึงวิธีการทำงานของกองทุนรวม (Mutual Fund) ไปแล้ว เหมาะกับคนที่ไม่มีเวลาหาข้อมูลมากมาย ซื้อ-ขายหุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ หรือนั่นนี่ไม่เป็น ไม่ถูก หรือไม่ทัน ก็หันมาใช้กองทุนรวมเพราะมีมืออาชีพคอยบริหารจัดการให้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ต้องยอมรับว่ากองทุนรวมได้รับความนิยมมากขึ้นเยอะ         วันนี้จะชวนลงรายละเอียดกันอีกนิดว่าด้วยประเภทของกองทุนรวม         เคยแตะไปนิดหนึ่งว่ากองทุนรวมแบ่งได้หลายแบบ แบบหนึ่งคือการแบ่งกองทุนรวมเป็น Active Fund และ Passive Fund ถ้าให้แปลเป็นไทยแบบเข้าใจง่ายมันก็คือวิธีการบริหารจัดการกองทุนเพื่อสร้างผลต้นแทน 2 แบบ         แบบ Active Fund คือการบริหารจัดการเชิงรุกหรือสร้างผลตอบแทนให้ชนะตลาด         อันนี้อาจจะงงว่าชนะตลาดคืออะไร เรื่องมีอยู่ว่าสินทรัพย์ต่างๆ จะมีมาตรวัดหรือดัชนีว่าให้ผลตอบแทนในช่วง 6 เดือน หรือ 1 ปี 3 ปี 5 ปี 10 ปีเป็นเท่าไหร่ สมมติว่าปี 2563 ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ A ทั้งตลาดสร้างผลตอบแทนคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ กองทุนรวมแบบ Active Fund ที่ลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้นนั่นแหละก็ต้องทำผลตอบแทนในปี 2563 ให้ได้มากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ จะ 11 12 15 20 อะไรก็ว่าไป         โดยผู้บริหารจัดการกองทุนจะทำหน้าที่เฟ้นหา สลับสับเปลี่ยนหุ้นที่ถือให้เหมาะกับแต่ละช่วงเวลา เช่น ถ้าช่วงนี้การท่องเที่ยวฟุบเพราะพิษโควิด หุ้นของบริษัทที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวราคาหล่น ผลประกอบการก็ยังไม่น่าฟื้น เขาก็อาจจะขายหุ้นกลุ่มนี้ออกมาเพื่อไปซื้อหุ้นตัวอื่นที่น่าจะสร้างผลตอบแทนดีกว่า เขาต้องการชนะตลาดไง         ส่วนแบบ Passive Fund ก็ตรงกันข้าม เดี๋ยวๆ ไม่ได้หมายถึงบริหารให้แพ้ตลาด การบริหารจัดการเชิงรับคือการสร้างผลตอบแทนให้เท่ากับหรือใกล้เคียงกับตลาด ตัวอย่างเดิม ถ้าตลาดหลักทรัพย์ A ทำได้ 10 เปอร์เซ็นต์ กองทุนรวมชนิดนี้ก็จะทำผลตอบแทนเกาะแถวเลข 10 ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัด เป็นเหตุผลให้มันมีอีกชื่อว่า Index Fund         กองทุนรวมแบบนี้ ผู้บริหารจัดการกองทุนแค่มีหน้าที่เอาเงินไปใส่ในหุ้นต่างๆ ตามสัดส่วนของมูลค่าหุ้นของบริษัทนั้น สมมติว่าตลาดหลักทรัพย์ A มีหุ้นอยู่ 10 ตัวคือ ก. ข. ค. ง. จ. ฉ. ช. ซ. ต. ด. ใน 100 เปอร์เซ็นต์ หุ้นบริษัท ก มีมูลค่าตลาดอยู่ 30 จากนั้นก็ 10 5 5 4 6 12 8 6 14 ตามลำดับ เขาจะนำเงินของผู้ลงทุนไปซื้อหุ้นตามสัดส่วนนี้ เมื่อถึงรอบเวลา หุ้นทั้ง 10 ตัวทำผลตอบแทนได้เท่าไหร่หรือขาดทุนเท่าไหร่ ผลที่กองทุนรวมชนิดนี้ทำได้ก็จะล้อกับหุ้นทั้ง 10 ตัวนี้

อ่านเพิ่มเติม >