ฉบับที่ 251 สั่งซื้อกางเกงออนไลน์ใส่ไม่ได้เพราะมันคือกางเกงเด็ก

        การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์นั้น แม้จะเลือกซื้อจากเว็บขายสินค้าของบริษัทที่มีชื่อเสียง ก็ยังคงต้องรอบคอบ และอย่ารีบร้อน มิฉะนั้นจะยุ่งยากทั้งการขอเปลี่ยนสินค้าหรือขอเงินคืน        คุณภูผา ท่องเว็บไซต์ขายสินค้าเพราะต้องการหาของขวัญวันเกิดให้พี่สาวคุณบุปผา ทันใดนั้นก็สะดุดตาเข้ากับกางเกงตัวหนึ่ง ที่ปักลายแบบที่คุณพี่สาวชอบ จึงคลิกเข้าไปดูรายละเอียดทันที “แหม ราคาดีมาก” เลยรีบกดสั่งซื้อเนื่องจากทางหน้าเว็บบอกว่า ราคาลดไปถึง 30 %          ภูผาสั่งซื้อด้วยวิธีการเก็บเงินปลายทาง ไม่กี่วันต่อมาเมื่อพนักงานขนส่งนำพัสดุมาให้ ภูผาก็รีบแกะถุงเพื่อเตรียมห่อของขวัญให้คุณพี่สาว “อ้าว นี่มันกางเกงเด็กนี่นา”  จึงรีบโทรศัพท์ไปแจ้งกับคอลเซ็นเตอร์ของเว็บไซต์ที่ขายเสื้อผ้าแห่งนั้น         เขาแจ้งพนักงานว่า การแสดงภาพสินค้าในเว็บไซต์ไม่มีตรงไหนบอกเลยว่า เป็นกางเกงของเด็ก ไซส์ที่ให้เลือกก็เป็นเบอร์อย่างไซส์ฝรั่ง คือ 2 4 6 8 เขาก็เข้าใจว่าเบอร์ที่เลือกให้พี่สาวคือเบอร์ 6 ต้องพอดีกับพี่สาวแน่ๆ เพราะเป็นไซส์กางเกงที่พี่สาวใส่อยู่ เขาอยากขอเปลี่ยนสินค้าได้หรือไม่ แต่พนักงานคอลฯ แจ้งว่า “กางเกงตัวนี้เป็นสินค้าราคาพิเศษไม่สามารถแลกหรือเปลี่ยนคืนเงินได้นะคะ” ภูผาจึงต่อรองขอตนเองลองคุยกับผู้จัดการได้ไหม ตนเองไม่ได้ต้องการเงินคืนแต่อยากขอซื้อสินค้าใหม่แล้วเพิ่มเงินจากยอดเดิมที่จ่ายไปได้ไหม (ก็ชอบกางเกงตัวนี้นะ) พนักงานคอลฯ ก็ตอบเหมือนเดิมว่า เป็นนโยบายของบริษัท ถ้าเป็นสินค้าลดราคา ไม่สามารถเปลี่ยนได้ค่ะ        ภูผาจึงมาปรึกษากับเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเองพอจะทำอะไรได้บ้างไหมแนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีคุณภูผา ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิได้แนะนำ ให้ทำหนังสือส่งถึงบริษัทเพื่อแจ้งขอคืนเงินพร้อมส่งสินค้าไปยังบริษัทตามสิทธิผู้บริโภคอ้างอิง  พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ซึ่งคุณภูผาก็ได้ดำเนินการตามคำแนะนำของมูลนิธิฯ           ต่อมาทางบริษัทได้ติดต่อกลับมาหาคุณภูผาว่า ทางบริษัทจะให้การชดเชยเป็นส่วนลด และลูกค้าสามารถนำส่วนลดนี้กลับมาซื้อสินค้าที่บริษัทใหม่ได้ ทั้งนี้ยังบอกด้วยว่า กางเกงแบบที่คุณภูผาสั่งซื้อมีแบบของผู้ใหญ่ด้วยนะคะ  ลูกค้าใส่กางเกงเบอร์อะไร คุณภูผาจึงตอบไปว่า เบอร์เอสหรือเอ็ม ซึ่งทางบริษัทวางสายไปสักพักและโทรกลับมาใหม่ว่า ไม่มีขนาดที่บอกสินค้าหมด คุณภูผาจึงยืนยันไปว่า ถ้างั้นขอเงินคืน พนักงานบริษัทแจ้งว่า จะต้องนำเรื่องกลับไปขออนุมัติกับหัวหน้าก่อนว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ คุณภูผารู้สึกร้อนใจจึงถามกับทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิฯ ว่า ถ้าบริษัทไม่คืนเงินเราจะทำอะไรเพิ่มได้ไหม         ผู้บริโภคสามารถดำเนินการได้โดยใช้สิทธิเลิกสัญญา กล่าวคือให้ส่งสินค้าคืนไปยังผู้ประกอบธุรกิจ หรือเก็บสินค้าไว้ภายในระยะเวลา 21 วันนับแต่วันที่ใช้สิทธิเลิกสัญญา และจะต้องคืนสินค้าให้ผู้ประกอบธุรกิจ โดยให้มารับสินค้าที่ภูมิลำเนาของผู้บริโภค หรือส่งสินค้าคืนทางไปรษณีย์โดยเรียกเก็บเงินปลายทาง ตามคำขอของผู้ประกอบการ และผู้บริโภคมีสิทธิยึดหน่วงสินค้าไว้ได้จนกว่าจะได้รับคืนเงินที่ผู้บริโภคจ่ายไปเพื่อซื้อสินค้านั้น เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาผู้ประกอบธุรกิจจะต้องคืนเงินเต็มจำนวน ภายในกำหนดเวลา 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา (พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง)         แต่ยังไม่ทันจะเตรียมตัวฟ้องร้อง บริษัทก็โทรมาแจ้งคุณภูผาว่า บริษัทจะคืนเงินให้ เป็นอันว่าจบ

อ่านเพิ่มเติม >