ฉบับที่ 140 กาเฟอีนในชาพร้อมดื่ม

เราทราบกันดีว่าเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน (เครื่องดื่มชูกำลัง) เป็นเครื่องดื่มที่มีคำเตือน “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด เพราะหัวใจจะสั่น นอนไม่หลับ เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ก่อน” อยู่บนฉลาก อีกทั้ง ด้วยเป็นเครื่องดื่มที่ผสมสารเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ควบคุมปริมาณกาเฟอีนที่เป็นส่วนผสมไว้ว่าห้ามเกิน 50 มิลลิกรัม ต่อขวดหรือกระป๋อง (หน่วยบรรจุ) นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมเรื่องการโฆษณาอีกต่างหากเพื่อให้ผู้บริโภคไม่เกิดความเข้าใจที่ขาดเคลื่อนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เช่น ต้องมีการระบุคำเตือนในสปอตโฆษณาทุกครั้ง และต้องไม่โฆษณาในลักษณะการแถมพก หรือให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคหรือมีการให้ของแถม เป็นต้น อย่างไรก็ดี เรื่องที่ฉลาดซื้อจะนำข้อมูลมาให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้นหากแต่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีกาเฟอีนเหมือนกันแต่เป็นกาเฟอีน (Caffeine) ตามธรรมชาติ ซึ่งก็คือ ชาเขียว และกาแฟพร้อมดื่ม ด้วยเหตุผลที่ว่า มันไม่มีคำเตือน! และไม่ได้รับการควบคุมครับพี่น้อง   ด้วยกระแสความนิยมชาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง (โดยเฉพาะชาเขียว) กับ กระแสกาแฟที่อ้างว่ากินแล้วหุ่นดี ไม่อ้วน ทำให้ผู้บริโภคหลายคนลืมไปว่าสิ่งที่ตนจะดื่มมีสารเสพติดเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย (ถึงแม้จะมีการบังคับให้แสดงปริมาณกาเฟอีนบนฉลาก ชา – กาแฟ ก็ตาม) ผู้บริโภคบางคนถึงขนาดเคยพูดให้ผู้เขียนฟังว่า “ดื่มน้ำอัดลมไม่ดี ดื่มชา (เขียว) ดีกว่า ดีกับสุขภาพด้วย” ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขออาสาเอาฉลากชา แต่ละยี่ห้อ จำนวน 23 ตัวอย่าง (13 ยี่ห้อ) ทั้งชาเขียว ชาขาว ชาดำ ฯลฯ และปิดท้ายด้วยกาแฟกระป๋อง โดยนำฉลากกาแฟจำนวน 3 ตัวอย่างบวกกับฉลากเครื่องดื่มชูกำลังจำนวน 4 ตัวอย่าง มากางเห็นกันอย่างชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์ของเจ้าใด มีกาเฟอีน มากน้อยต่างกันเพียงใด นอกจากนี้ เรามีสมนาคุณพิเศษแถมข้อมูลน้ำตาลบนฉลาก กับการแสดงฉลากโภชนาการ มาให้ท่านผู้อ่านได้ยลกันอีกด้วย     ภาพรวมจากการเปรียบเทียบฉลาก ชาสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทั้งหมดที่สุ่มมาจะมีส่วนประกอบหลัก 2 ประการคือ น้ำชาและน้ำตาล (หรือสารอื่นที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล) โดยในน้ำชานั้นจะมีกาเฟอีนอยู่ระหว่าง เกือบ 7 ถึง 20 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ขณะที่กาแฟกระป๋องมีกาเฟอีนอยู่ที่ 40 – 80 มล.ต่อ 100 มิลลิกรัม หากคำนวณเป็นปริมาณกาเฟอีนต่อภาชนะบรรจุแล้วจะพบว่าอยู่ในช่วง ประมาณ 23 ถึง 101 มิลลิกรัมต่อภาชนะบรรจุ ส่วนกาแฟกระป๋องจะมีกาเฟอีนอยู่ที่ 98 – 144 มิลลิกรัมต่อกระป๋อง และเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนทั้งหมดจะมีกาเฟอีนอยู่ที่ 50 มิลลิกรัม/ขวด สำหรับการแสดงฉลากโภชนาการ สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 3 โดยมีการแสดง 1 ส่วน ขณะที่ อีก 2 ส่วนไม่มีการแสดงซึ่งทำให้ผู้บริโภคที่ใช้ฉลากเพื่อการตัดสินใจจะพบความลำบากเมื่อต้องการทราบปริมาณน้ำตาลว่ามีอยู่เท่าไร บทวิเคราะห์ ชาพร้อมดื่ม(ทุกประเภท) เป็นเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนตามธรรมชาติในปริมาณต่อหน่วยบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ต่างกันกับเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน นอกจากนี้ยังมีน้ำตาลสูง ยิ่งไปกว่านั้นด้วยมีการบังคับแสดงคำเตือน ว่า “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด เพราะหัวใจจะสั่น นอนไม่หลับ เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ก่อน” สำหรับเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน ดังนั้นชาพร้อมดื่มจึงไม่ใช่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพตามที่ผู้ประกอบการทำให้เราเข้าใจแต่อย่างใด การบริโภคชาพร้อมดื่มเกินกว่าวันละ 2 ขวดคู่กับการดื่มกาแฟวันละ 1 – 2 แก้ว หรืออาหารอื่นที่มีกาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ อาจจะนำมาซึ่งอาการติดกาเฟอีน (Caffeinism) ได้ (การได้รับกาเฟอีนเกินกว่า 250 มก./วันนำมาซึ่งอาการติดกาเฟอีน : อาการหงุดหงิด ทำงานไม่ได้ จนกว่าจะเพิ่มปริมาณคาเฟอีนในกระแสเลือดก่อน) อีกทั้งยังอาจนำมาซึ่งโรคอ้วนและโรคเบาหวาน (จากการได้รับน้ำตาลมากเกินไป – เกณฑ์น้ำตาลต่อวันที่นักโภชนาการแนะนำคือ 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัมต่อวัน) หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการแสดงฉลากอาหาร หรือ อย. จึงควรมีการบังคับให้มีฉลากคำเตือนแบบเดียวกันกับที่มีในเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ฉลาดซื้อแนะนำ 1. ถ้าต้องการดื่มชาเพื่อสุขภาพ ขอแนะนำให้ชงชาดื่มเองเพราะไม่ได้ยุ่งยากอะไรแค่ใส่ใบชาลงในน้ำร้อน ทิ้งไว้ไม่เกิน 3 นาที (เกินกว่านี้ สารแทนนินจะออกมามากทำให้มีรสขม) 2. อย่าเข้าใจว่า ชาเขียวพร้อมดื่มดีต่อสุขภาพ เพราะในระหว่างกระบวนการผลิตชาพร้อมดื่มที่ต้องใช้ความร้อนสูงในการฆ่าเชื้อโรค ทำให้สารที่เป็นประโยชน์ในชาหายไปจนเกือบหมดแล้ว 3. สำหรับผู้ชื่นชอบชาพร้อมดื่ม เราขอแนะนำให้ดื่มไม่เกินวันละ 2 ขวด (แบบไม่มีน้ำตาล) โดยเด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน และผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อน 4. สำหรับท่านที่ชอบดื่มชาปกติ (มีน้ำตาล) ฉลาดซื้อแนะว่า ขวดเดียวต่อวันก็เกินพอครับ (หวานเกิ๊น )

อ่านเพิ่มเติม >