ฉบับที่ 163 ผลลัพธ์สุดท้าย “กินเจ” = กินอย่างมีคุณภาพ

เดือนนี้ขอเกาะติดกระแส เทศกาล “กินเจ” ช่วงเวลาที่ธงสีเหลืองแต้มด้วยข้อความสีแดง เห็นคำว่า “เจ” ชัดเจน และไม่ว่าท่านผู้บริโภคจะเดินไปย่านไหนก็จะเจอแต่อาหารที่โรยด้วยผักสีสันน่ารับประทาน ปราศจากเนื้อสัตว์หลากหลายเมนูทยอยออกมาวางขาย ทุกปีเราจะเห็นคนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง กินเจ บรรยากาศตามท้องถนนจึงคึกคักไปด้วยผู้ประกอบการขายอาหารเจ ตั้งแต่ร้านริมทางจนถึงห้างสรรพสินค้า ต่างก็งัดเมนูมาให้ผู้บริโภคได้เลือก ยิ่งในปีนี้จะมีเทศกาลกินเจ 2 รอบ เป็นครั้งแรกในรอบ 132 ปี คนจีนเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “หยุ่ง ง้วย” หรือมีเดือน 9 จำนวน 2 ครั้ง กล่าวคือ รอบแรกเริ่มวันที่ 24 กันยายน-2 ตุลาคม และอีกรอบตามศรัทธา วันที่ 24 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน รวม 18 วัน อย่างไรก็ตามจากผลสำรวจเมีอปี 2556 พบว่า คนไทยทานเจในช่วงเทศกาลเจสูงขึ้นและมีการใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหาร เพิ่มมากกว่า 10% โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายราวๆ 3.2 พันล้านบาท   โดยหากคิดค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มต่อคนจะเฉลี่ยอยู่ที่ 200 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งคาดว่าในปี 2557 นี้ มูลค่าการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลเจจะมีถึงประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 6.2% เท่ากับค่าเฉลี่ยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ยิ่งทราบข้อมูลผู้บริโภคหันมากินเจ ละเนื้อสัตว์มากขึ้นอย่างนี้แล้ว ก็อดดีใจไม่ได้ แต่นอกจากผักที่มีอยู่ในจานหลักของอาหารเจแล้ว สิ่งที่ผู้บริโภคต้องคำนึงที่สุด คือ สุขภาพ เพราะในจานยังอุดมไปด้วย แป้ง , ไขมัน และเกลือ  หากยิ่งกินไปมากๆ การกินเจที่เราคิดว่ากินผักดีไม่มีเนื้อสัตว์ ก็อาจส่งผลข้างเคียงให้กับร่างกายได้เช่นกัน เพราะเนื่องจาก แป้งและไขมัน ถ้ารับประทานไปเกินความพอดีของร่างกาย ก็จะทำให้โรคร้ายถามหา..!! อาทิ โรคอ้วน โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด เร็วๆ นี้ก็มีคนรู้จักสนิทสนมกันมานานของผมต้องป่วยด้วยโรคไขมันอุดตัน  ยังมีโรคเบาหวาน หรือโรคอัลไซเมอร์ ที่ไม่เห็นผลของโรคใน 5 ปี 10 ปี แต่พอเราสูงวัยมากขึ้นจะปรากฏให้เห็นเด่นชัด  ดังนั้นจึงอยากจะแนะนำวิธี “กินเจให้อิ่มใจ” ห่วงใยสุขภาพกับผู้บริโภคทุกท่าน รวมถึงสามารถนำไปใช้แม้ไม่ได้อยู่ในเทศกาลก็ตาม ว่า อาหารที่แม้จะไม่มีเนื้อสัตว์ปะปนอยู่เลย แต่ โปรตีน ที่นำมาใช้นั้นเป็นสารอาหารประเภททดแทน ที่หาได้จากพืช อาทิ ฟองเต้าหู้ นมถั่วเหลือง ถั่ว ธัญพืช เป็นต้น ก็ควรจะบริโภคให้เหมาะสมกับอายุและปริมาณที่สมควร  โดยจะขอแบ่ง โภชนาการอาหารอย่างเหมาะสม เป็น 3 วัย ดังนี้   วัยรุ่น : แม้แป้งหรือไขมัน จะไม่ค่อยมีผลต่อวัยนี้ เพราะเป็นช่วงอายุที่ใช้พลังงานสูง แต่เพื่อป้องกันการสะสมของไขมัน อันจะเป็นต้นเหตุของโรคอ้วน จึงควรกิจอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน หรือแป้งที่ไม่ขัดขาว เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ธัญพืช เผือก แทนข้าวขาว และของทอด จะทันสมัยหน่อยก็ลองกินเต้าหู้กับซอสญี่ปุ่น เพราะนอกจากอร่อยแล้วยังดีต่อร่างกายด้วย วัยทำงาน : คนทำงานออฟฟิศส่วนใหญ่ เดินน้อย แต่ใช้กำลังสมองมาก และมักบ่นอุบว่าไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ ของว่าง “เจ” เช่น งาขาว งาดำ ถั่วปากอ้า ซึ่งเป็นธัญพืชประเภทไขมันชนิดดี ทำหน้าที่เก็บขยะ หรือไปเก็บคราบไขมันที่เกาะอยู่ตามผนังเส้นเลือดไปที่ตับและขับออกทางน้ำดี หากเคี้ยวของว่างพวกนี้ในยามบ่ายจะทำให้อยู่ท้อง และทำให้สมองแล่น เพราะการเคี้ยวช่วยเสริมกระบวนการคิดได้ ส.ว. (สูงวัย) : อยากให้หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีกากใย รวมถึงผักสด เช่น กะหล่ำปลีสด ผักกาดหอม เพราะจะทำให้ท้องอืดและมีปัญหาเรื่องแก๊สในกระเพาะอาหาร อาหารที่แนะนำจึงเป็นประเภทน้ำ ทั้งน้ำงาดำ น้ำลูกเดือย และเพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของโรคอัลไซเมอร์ จึงแนะให้ทานมื้อว่างเสริมเป็นอาหารนิ่มๆ เช่น ผัดเต้าหู้สามรส , จับฉ่ายเห็ดหอมเต้าหู้ , เต้าหู้ผัดเปรี้ยวหวานสับปะรด โดยเอนไซม์จากสับปะรดจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหารให้ดีขึ้น ทราบอย่างนี้แล้ว “กินเจ” หรือ “มื้อไหนๆ” ก็อยากให้ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพ กินของดีมีคุณภาพ ให้สมกับคำฝรั่งว่าไว้ You are what you eat  เพิ่มคุณค่าให้ร่างกายด้วยคุณประโยชน์จากอาหารที่เลือกกิน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point