ฉบับที่ 110 ข้าว – ถั่ว – งา มากับกุยช่าย

เมนูอันใหม่นี้มีที่มาจากเหตุอันน่ายินดีของเพื่อนพ้องน้องพี่ต่างองค์กร เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์กับหลานสาวคนใหม่เอี่ยม น้องลูกน้ำ - ลูกของศจินทร์ เจ้าของคอลัมน์ connecting ในฉลาดซื้ออาหารตำรับคุณแม่หลังคลอดที่เราคุ้นเห็นจะเป็นแกงส้มกับแกงเลียง แกงอย่างแรกช่วยเรื่องการระบายส่วนอย่างหลังช่วยเพิ่มน้ำนมเพื่อการเลี้ยงลูก นอกจากนี้ยังมีวัตถุดิบอีกหลายชนิดที่ปรุงให้แม่ลูกอ่อนกินเรียกน้ำนม เช่น หัวปลี แมงลัก พริกไทยอ่อน เมล็ดขนุน และกุยช่ายกุยช่าย หมอยาร้านสมุนไพรบุญเหลือที่ตลาดบางบัวทองเคยแนะเพื่อนแม่ลูกอ่อนของฉันให้นำมาต้มกับเนื้อปลา ใส่กระเทียมสด เป็นอีกเมนูที่เพิ่มมาจากผัดกุยช่ายกับตับและขนมกุยช่ายช่วงให้นมลูกซึ่งควรมีระยะเวลายาวนานไม่ต่ำกว่า 6 เดือนเป็นอย่างน้อย ฉันเลยทดลองเมนูใหม่จากวัตถุดิบอินทรีย์ที่มี ทดลองทำมาได้ 2 เมนู คือ ขนมกุยช่ายสุขภาพ กับโจ๊กบำรุงแม่ลูกอ่อน ขนมกุยช่ายสุขภาพเริ่มด้วยการตระเตรียม ข้าวกล้องหอมมะลิ 1 แก้ว ถั่วเขียวอินทรีย์ 1 แก้ว งา 3 สี (ขาว-ดำ-น้ำตาล) อย่างละ 3 ช้อนโต๊ะ เกลือ 1 ช้อนชา กุยช่ายปลูกเอง 1 กำมือ (หั่นเป็นท่อน 1 ซม.) และน้ำ 3 แก้ว ข้าวกล้อง ถั่วและงา ทั้ง 3 อย่างนี้ แยกถ้วยเอาไปซาวน้ำแล้วสงให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นค่อยๆ นำทีละอย่างไปปั่นด้วยเครื่องปั่นไฟฟ้าให้ละเอียด จากนั้นนำส่วนผสมทั้ง 3 อย่างเทลงภาชนะทนไฟ หรือพิมพ์ขนมเค้กก็ได้ เติมน้ำ คนให้เข้ากันดีแล้วเติมเกลือกับใบกุยช่ายลงไป จากนั้นนำไปนึ่ง โดยนำพิมพ์เค้กใส่ลงในหม้อนึ่งหรือซึ้ง หาฝาปิดพิมพ์เค้กไว้เพื่อป้องกันไอน้ำหยดลงไปทำให้หน้าขนมแฉะ นึ่งไฟกลางประมาณ 30 นาที จะได้ขนมกุยช่ายที่เคี้ยวมันๆ มีสารอาหารจากข้าวกล้อง ถั่ว งา พร้อมกากใยที่แม่ลูกอ่อนต้องการอย่างมาก แต่เนื้อขนมไม่เหนียวเหมือนขนมกุยฉ่ายทั่วไปที่ใส่แป้งข้าวเจ้ากับข้าวเหนียว หลังนึ่งใหม่ๆ กินกับน้ำจิ้มที่ทำจากซีอิ๊วดำ ผสมกับน้ำส้มสายชูหมัก น้ำตาลโตนด เคี่ยวบนเตาไฟสัก 10 นาทีแล้วหั่นพริกสดใส่ลงไป ตอนทดลองชิมนี่ไม่มีใครมาชิมด้วย ขนมจึงถูกแช่เก็บไว้ เมื่อจะกินอีกที เอาชิ้นขนมขนาดที่ต้องการมาอังบนกระทะเคลือบ ใช้น้ำมันมะพร้าวเทลงกระทะเล็กน้อย อุ่นให้เหลืองหอม ก็ได้รสชาติแปลกจากตอนเริ่มทำไปอีกแบบ   อีกสูตรที่แปลงจากขนมกุยช่ายสุขภาพ คือ โจ๊กบำรุงแม่ลูกอ่อน เมนูนี้ต้องเตรียมเครื่องปรุงเพิ่มอีก ดังนี้ค่ะ น้ำซุปผัก ผักกะหล่ำปลีอินทรีย์ เห็ดหอม กุ้งแห้งวิธีทำน้ำซุป น้ำซุปผัก เตรียมจากหอมแดง กระเทียม และใบหม่อน และน้ำสะอาด ตั้งไฟอ่อน ใส่กุ้งแห้งกับเกลือไปตั้งแต่ตอนเริ่มต้ม เมื่อเดือดใส่ผักกะหล่ำ จนกะหล่ำนิ่มกำลังกิน เห็ดหอมที่แช่น้ำแล้วหั่นเป็นชิ้น จากนั้นใส่ขนมกุยช่ายที่เราทำไว้ลงไป คนให้เข้ากันก็จะได้เป็นโจ๊กร้อนๆ เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่ความหอมของเครื่องปรุงที่เข้ากันอย่างกลมกล่อมกุ้งแห้งตัวใหญ่คัดพิเศษ ผลิตแบบคนทำรับประกันความสะอาดทุกขั้นตอนได้มาตอนที่ฉันเริ่มทดลองพอดีคนรับประกันไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นพี่บุญยืน คอลัมน์นิสต์ฉลาดซื้อของเราอีกคน ที่กำลังแบกภาระหนักในการผลิตกุ้งแห้งอินทรีย์ปลอดสารเคมีมาจำหน่ายให้พวกเรากินแบบไฟท์บังคับ ดูท่าว่าลูกค้าจะกึ่งบังคับกึ่งขอร้องกันไปอีกยาวนาน เพราะหลังจากที่เครือข่ายผู้บริโภคออกเก็บตัวอย่างกุ้งแห้งทั่วตลาดส่งให้ฉลาดซื้อไปตรวจแล้วเจอสีปนอยู่ในกุ้งแห้งทุกตัวอย่าง มีข่าวดีฝากไว้ก่อนจาก ตอนไปฟังการบรรยายวันเปิดตลาดสีเขียวในโรงพยาบาลต้นแบบปทุมธานีเมื่อต้นมีนาคม วิทยากรอาจารย์สุทธิวัสส์ คำภา ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรและแพนดูลั่ม ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “ต้มข้าวกับถั่วเขียวกินอย่างละเท่าๆ กัน ใช้ล้างพิษโลหะในตัวได้” ดีและง่ายจนน่าปลื้มใจและสนุกสนานไปกับการทดลองดูนะคะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point